--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หลอกหลอนกลางวัน : คุณชายเกมขย่มซ้ำจาก พท.สะเทือนถึง ปชป. !!!?

ขณะที่ในห้วงเวลาไล่เรี่ยกันได้เกิดปรากฏการณ์กระหน่ำซ้ำจากการแถลงข่าวของรองโฆษกพรรคเพื่อไทย จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ออกมาเปิดเกมรุกต่อกทม.ซ้ำ ด้วยการประกาศถึงความพร้อมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของพรรคเพื่อไทยที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ปี 56 แถมยังพยายามโชว์ฟอร์มการเป็นกูรูด้วยการประเมินว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อาจตัดสินใจไขก๊อกพ้นตำแหน่งก่อนหมดวาระ ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ภายในสิ้นปี 2555

พร้อมกันนั้นยังได้คณะทำงานในการเตรียมความพร้อม 5 ชุดที่ประกอบด้วย ชุดติดตามตรวจสอบผลงานระดับเขต, ชุดติดตามตรวจสอบผลงานระดับผู้บริหาร กทม. เช่นผลงานผู้ว่าฯกทม., รองผู้ว่าฯกทม., ชุดติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณของกทม., ชุดเผยแพร่ผลงานที่ย่ำแย่ของกทม. และชุดยุทธศาสตร์ “ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม” โดยคนกทม.เพื่อคนกทม.เพื่อพัฒนากทม.อย่างจริงจัง รายงานข่าวยังได้ระบุว่ากรรมการทั้ง 5 ชุดจะชี้ให้คนกรุงเทพฯได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นจากคณะผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบันที่มี “คุณชาย” สุขุมพันธุ์ กำกับดูแล

เรียกว่าเป็นการส่งสัญญาณชักธงรบกันตั้งแต่หัววัน ประเภทขอพื้นที่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ชนิดที่ไม่มีปี่มีขลุ่ยหรือมีสัญญาณอะไรแจ้งกันล่วงหน้า แถมยังพ่วงท้ายรายการด้วยการเปิดรายชื่อบุคคลเข้าประกวดประเภทสะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรในพรรคมีเยอะเป็นเข่งๆ ไม่ว่าจะเป็น ประภัสร์ จงสงวน กรรมการผู้ช่วยรมว.คมนาคม อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม., นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการระบายน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.), นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หรือแม้กระทั่งแกนนำรุ่นลายคราม ประมุขภาคกทม.อย่าง “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

แค่นั้นยังไม่พอตามรายงานข่าวที่แถลงโดย “จิรายุ” ยังได้กล่าวพาดพิงไปถึง รองผู้ว่าฯธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ว่าอาจจะลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. พร้อมกับอ้างว่าเห็นท่านรองผู้ว่าฯเดินทางเข้าออกพรรคปชป.บ่อยๆ พร้อมยังระบุว่าอาจเป็นประเด็นที่ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เกิดอาการน้อยใจจนมีข่าวว่าจะตัดสินใจไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะได้เห็นภาพการออกมาตอบโต้จากผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ด้วยลีลาท่าทางนิ่มๆ แต่แฝงด้วยคำคมในแบบฉบับพรรคประชาธิปัตย์ผ่านสื่อมวลชนว่า หากจะลาออกจริงจะบอกผู้สื่อข่าวเป็นกลุ่มแรก ก่อนที่นายจิรายุจะรู้ พร้อมกับหัวเราะด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ความจริงปฏิบัติการเขย่าเก้าอี้ผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ไม่ได้เพิ่งมาเปิดฉากอย่างเป็นทางการตามที่ “จิรายุ” เปิดการแถลงตามที่ได้กล่าวในข้างต้น ก่อนหน้านี้หากยังจำกันได้กรณีเรื่องของกล้องซีซีทีวีที่เป็นประเด็นร้อนก็ถูกเขย่ามาแล้วจากพลพรรคเพื่อไทย ถัดจากนั้นมาก็มาเปิดปฏิบัติเขย่าต่อจากการยึดคืนตลาดนัดจตุจักรจากกทม.ในเงื้อมมือของผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ คือบททดสอบด่านแรกที่ทางพรรคเพื่อไทยจัดหนักโดยเฉพาะสำหรับกทม.ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอย่าลืมว่าผลประโยชน์ในตลาดนัดจตุจักรมีค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ใต้โต๊ะหรือบนโต๊ะสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ใครต่อใครหลายคนมาแล้ว และดูเหมือนว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา การเมืองแต่ละยุคสมัยต่างเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากรายได้ของตลาดนัดกันทั้งสิ้น กระทั่งมีการมองว่านี่คือแดนสนธยาที่ยาก ต่อการตรวจสอบ ระหว่างมาเฟียกับกลุ่มผู้ค้าแทบจะแยกกันไม่ออก ไม่รู้ใครเป็นใคร

และแล้วพรรคเพื่อไทยก็สามารถยึดคืนพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรแห่งนี้ได้สำเร็จ แถมเจ้ากระทรวงยังได้ประกาศไว้ชัดเจนเสียงดังฟังชัดว่ายังไงก็ไม่ให้กทม.เข้าไปบริหารตลาดนัดจตุจักรอีกแล้ว พูดกันง่ายๆ ก็คือปิดประตูตลาดนัดสำหรับกทม.เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าขณะนี้ตลาดนัดจตุจักรถูกเปลี่ยนผ่านจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเพื่อไทยเรียบร้อย พร้อมๆ กับมีรายงานข่าวที่เชื่อถือได้ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้มอบหมายให้คนของตนซึ่งเคยมีตำแหน่งในการบริหารตลาดนัดเดินทางไปกลุ่มผู้ค้าบางกลุ่มเพื่อเช็กตรวจสอบกระแส จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีกระแสข่าวบนหน้าสื่อระบุว่า “คุณหญิง” คือผู้อยู่เบื้องหลังในการยึดคืนพื้นที่ตลาดนัดแห่งนี้มาโดยตลอด

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงได้มีชื่อของ “คุณหญิง” ปรากฏบนหน้าสื่ออยู่เรื่อยๆ ในฐานะผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ขณะที่เจ้าตัวไม่เคยออกมาตอบรับหรือปฏิเสธว่าจะลงหรือไม่ลงเลือกตั้ง แต่ก็คงเป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่งสำหรับทีมงาน “คุณหญิง” เพราะอย่าลืมว่าครั้งหนึ่งเคยพ่ายต่อ “นายสมัคร สุนทรเวช” มาแล้วจากการเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. จนกลายเป็นฝันร้ายสำหรับ “เจ้าแม่กทม.” เพราะหากพ่ายอีกเป็นคำรบสอง ก็คงจะบอกได้คำเดียวว่างานนี้ “จบเห่” หาโอกาสแจ้งเกิดอีกยาก ดีไม่ดีอาจจะเป็นเงาที่ตามหลอกหลอนเธอไปตลอดชีวิต งานนี้จึงเชื่อว่าทีมงานคงต้องชั่ง น้ำหนักกันอีกหลายยก

แต่ไม่ว่าใครจะได้รับมอบฉันทานุมัติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยในการสู้ศึก คงบอกได้คำเดียวว่าศึกนี้ใหญ่หลวงนัก เชื่อว่าทางพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยอมให้ยึดสนามเมืองหลวงแห่งนี้ไปได้ง่ายๆ เหมือนเช่นที่ถูกยึดคืนตลาดนัดจตุจักรไปก่อนหน้านี้ ล่าสุด ทางพรรคเพื่อไทยจึงเตรียมเปิดแผนใหม่ด้วยการเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ด้วยการเสนอให้มีการเลือกตั้งใน 2 ระดับ กล่าวคือ ระดับแรกเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภากทม. (ส.ก.) ส่วนระดับที่สอง เป็นการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต พร้อมกับยกฐานะบทบาทของสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เสียใหม่ โดยมองว่าการเลือกตั้งในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการกระจายอำนาจไม่ต้องมากระจุกตัวอยู่ที่ผู้ว่าฯกทม.เพียงผู้เดียว งานนี้ทางพรรคมอบหมายให้ “เสี่ยวิชาญ มีนชัยนันท์” ส.ส.กทม.เป็นโต้โผใหญ่ในการขับเคลื่อน ว่ากันว่าตามเกมที่ได้วางไว้ ทางพรรคกำหนดจะให้แล้วเสร็จในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งใหม่ที่จะมาถึงในปี 2556 งานนี้คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อให้ดีอย่ากะพริบตา สำหรับศึกชนช้างครั้งใหม่ระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นศึกศักดิ์ศรีที่วางเดิมพันไว้สูง

ที่มา:สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อานิสงส์ลดภาษีนิติบุคคล หนุนกำไร บจ.ปี55 ทะยานแตะ 6 แสนล้าน ...

โบรกฯคาดปีนี้รัฐลดภาษี รายได้หนุนกำไร บจ.พุ่ง 17% ลุ้นแตะ 6 แสนล้านบาท จับตาบริษัทฟื้นจากน้ำท่วมเร่งเดินหน้าแผนลงทุนครึ่งปีหลัง ส่วนปี"54 ยอดทะลุ 5 แสนล้าน โต 10% กลุ่ม"พลังงาน-ธนาคาร- ปิโตรฯ" กำไรโด่ง

รายงานข่าวจากบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ระบุว่า บริษัทได้จัดทำประมาณการกำไรปี 2554 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 496,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,943 ล้านบาท หรือ 10.44% จากปี 2553 ที่มีกำไรรวม 449,597 ล้านบาท กลุ่มที่มีกำไรสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน 182,196 ล้านบาท เติบโต 12.90% ตามด้วยกลุ่มธนาคาร 120,481 ล้านบาท โต 21.65% และกลุ่มปิโตรเคมี 51,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.29%

สำหรับกลุ่มหุ้นที่กำไรเติบโตลดลง 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ กำไรรวม 1,782 ล้านบาท ลดลงเกือบ 10,000 ล้านบาท หรือ-89.91% จากสิ้นปี 2553 ที่มีกำไรสูงถึง 17,670 ล้านบาท รองลงมากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 4,488 ล้านบาท ลดลง 2,414 ล้านบาท หรือ -34.97% และกลุ่มยานยนต์ 2,240 ล้านบาท ลดลง 922 ล้านบาท หรือ -29.15%

นอกจากนี้ บล.กรุงศรียังได้ประมาณการกำไรของหุ้นกลุ่มหลัก ๆ ในตลาด เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กำไรรวม 25,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,000 ล้านบาท หรือ 43.61% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 31,338 ล้านบาท ลดลง 10,000 ล้านบาท หรือ -23.94% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 17,660 ล้านบาท ลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือ -10% กลุ่มสื่อสาร 29,433 ล้านบาท ลดลง 8.4%

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรคผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวเลขคาดการณ์กำไร บจ.ใน ปี 2554 อยู่ที่ 516,376 ล้านบาท เติบโต 10% ซึ่งเติบโตได้ดีเนื่องจากมีกำไรสะสม ในช่วง 9 เดือนแรกที่สูง เมื่อไตรมาส 4/54 เกิดภาวะน้ำท่วม บางบริษัทบางธุรกิจได้รับผลกระทบจนกำไรลดลง บางรายขาดทุน แต่เมื่อรวมกำไรทั้งปี ไม่ได้ส่งผลกระทบหนักมาก

โดยกลุ่มที่เห็นชัดว่าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมคือ กลุ่มส่งออก กลุ่มขนส่ง กลุ่มประกัน ที่มีกำไรลดลงแต่ไม่ถึงกับขาดทุน ขณะที่กลุ่มยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบทางตรง จะมีผลกำไรขาดทุนในช่วงไตรมาส 4/54 แต่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วในไตรมาส 2/55 และจะกลับมามีผลประกอบการปกติก็ไตรมาส 3-4 ประกอบกับปีนี้รัฐลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการ บจ. คาดว่าปีนี้กำไรรวมของ บจ.จะอยู่ที่ 583,876 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14%

นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวว่า แม้ผลประกอบการของ บจ.ใน ปี 2554 จะเติบโตน้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ แต่เชื่อว่า บจ.ยังจะจ่ายเงินปันผลงวดสิ้นปี 2554 ตามปกติ แม้ได้รับผลกระทบ น้ำท่วม เพราะบริษัทที่มีประวัติจ่ายเงิน ปันผลสูงอย่าง ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่ยังจ่ายเงินปันผลได้ในอัตราสูง

ขณะที่เม็ดเงินการลงทุนก็ยังมีมองว่าบริษัทที่มีแผนการลงทุนอยู่แล้วก็จะยังลงทุนต่อเนื่อง และมีหลายบริษัทที่มี แผนลงทุนแต่ก็ยังสามารถจ่ายปันผลในอัตราที่สูงได้ เช่น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) ซึ่งมีแผนลงทุนสร้างโรงงานและรุกธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติม

"การลงทุนในช่วงต้นปีนี้ ตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้นไปรับข่าวการฟื้นตัวของกำไร บจ.ปี 2555 บล.กสิกรฯแนะนำการลงทุนให้ทยอยซื้อ จากที่ปลายปีที่แล้วยังไม่แนะนำให้ลงทุน ปีนี้คาดดัชนีปรับตัวตั้งแต่ 1,110-1,150 จุด และหลังจากนั้นจะเห็นตลาดปรับฐาน ซึ่งต้องระมัดระวังแรงเทขายหากมีข่าวลบยุโรปเข้ามา" นายกวีกล่าว

ด้านนายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ คาดว่า ตลาดยังจับตาดูการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งแนวโน้ม บจ.ที่จะลงทุนเพิ่มในปีนี้ และปีนี้คาดการณ์ผลประกอบการจะเติบโต 17% กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจและมี ผลประกอบการเติบโตคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ธนาคาร รับเหมาก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ต้องรอดูในครึ่งปีหลังว่าจะมีความต้องการซื้อโดยเฉพาะบ้านแนวราบ

"ส่วนตลาดหุ้นได้รับรู้ข่าวการฟื้นของกำไร บจ.บางกลุ่ม รวมทั้งการเติบโตของกำไรในปีนี้ไปหมดแล้ว หากจะให้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปมากกว่า 1,100 จุด จะต้องอาศัยข่าวดีเซอร์ไพรส์ตลาด ซึ่งเป็นข่าวนอกเหนือการคาดการณ์ที่จะหนุนเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้น"

นายจักรกริช เจริญเมธาชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบการของ บจ. ปีนี้จะชะลอเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับกลุ่มธนาคารที่มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโดยรวมได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอ และต้องจ่ายเงินค่านำส่งเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรกลุ่มนี้ออกมาฉุดกำไรของ บจ.โดยรวม แม้จะมีปัจจัยบวกจากการลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาลก็ตาม

"เราประเมินว่า EPS (อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น) ปีนี้ยังเติบโตอยู่ 10% กลุ่มที่น่าลงทุนยังคงเป็นกลุ่มยานยนต์ ปิโตรเคมี พลังงาน ที่มีทิศทางขาขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ต้นทุนสูงจากการปรับเงินเดือนหรือค่าแรงขั้นต่ำ เช่น กลุ่มก่อสร้าง อุตสาห กรรมการผลิต" นายจักรกริชกล่าว

ที่มา:มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แกไม่มีสิทธิ์.. ข้าเท่านั้นที่มีสิทธิ์ (ว่าด้วยเรื่อง เงินกู้) !!?



หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลา 2 วัน รวม 15 ชั่วโมง พิจารณาร่าง พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเป็น 2 ใน 2 พ.ร.ก.ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้านตั้งป้อมถล่ม

เพราะหากทำให้ พ.ร.ก.ของรัฐบาลถูกตีตก หรือเดี้ยงได้ ย่อมมีผลทางการเมืองกระทบต่อสถานะของรัฐบาลอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของการดิสเครดิตกันในทางการเมือง

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ก้าวแรกที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหน้าผลักดันที่จะออก พ.ร.ก.ที่เกี่ยวโยงกับการกู้เงินจำนวน 4 ฉบับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจการลงทุน และเพื่อการบริหารจัดการน้ำ

พรรคฝ่ายค้านก็เดินหน้าสกัดตั้งแต่ก้าวแรกเรื่อยมา

โดย 2 ฉบับถูกฝ่ายค้านยื่นให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความไปแล้ว ซึ่งก็เท่ากับถูกแช่ให้เรื่องต้องสะดุดหรือล่าช้าจากกระบวนการตีความตรงนี้อย่างน้อยก็เดือน 2 เดือน

ในขณะที่อีก 2 ฉบับก็ถูกขึ้นเขียงในที่ประชุมสภาฯ และกลายเป็นประเด็นปะทุขึ้นมาอย่างที่คาด เพราะเมื่อเห็นว่าการชี้แจงการทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการที่จะต้องออก พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับนี้ของ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถที่จะทำได้ดี
ฝ่ายค้านก็มีการเสนอขอให้นับองค์ประชุมทันที เพราะเห็นว่ามีจำนวนสมาชิกอยู่ในห้องน้อย และไม่มีรัฐมนตรีรับฟังการประชุม ซึ่งเมื่อเล่นเกมด้วยการให้นับองค์ประชุม ก็เลยโดนเล่นเกมกลับ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้ปิดการอภิปรายเพื่อลงมติ เพราะเห็นว่าได้อภิปรายมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มเติม อีกทั้งยังมี พ.ร.ก.การเงิน อีก 2 ฉบับที่จะอภิปรายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

และเมื่อที่ประชุมประชุมเสียงข้างมากลงมติปิดการอภิปราย และลงมติรับรอง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ฝ่ายค้านก็วอลค์เอาท์ออกจากห้องประชุม ไม่ร่วมลงคะแนนด้วย
ซึ่งแม้ไม่มีฝ่ายค้านร่วมลงคะแนน แต่การลงคะแนนรับ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับก็สามารถผ่านคะแนนได้ทั้ง 2 ฉบับ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มองถึงผลกระทบต่อแผนบริหารจัดการน้ำกรณีที่ พ.ร.ก.กู้เงิน ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 2 ฉบับ เพราะอีก 2 ฉบับ ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน ว่าความจริงต้องการให้ผ่านการพิจารณาทั้งหมดโดยเร็ว เพื่อเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำได้ แต่คงต้องรอ

เราต้องเคารพในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ จะพยายามต่อไป และต้องจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำไปก่อน

ส่วนที่ฝ่ายค้านวอล์คเอ้าท์ออกจากห้องประชุมสภาฯ ไม่ยอมลงมติ พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาลนั้น ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาอะไร เพราะเท่าที่ฟังต่างเห็นด้วยในการออก พ.ร.ก. และเห็นด้วยในการนำเงินต่าง ๆ ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจริง ๆ เพราะมีภาระ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยที่สูง

อย่างน้อย พ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าว จะช่วยพยุงและแก้ปัญหาเบื้องต้นให้ได้

แต่สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ถือว่ามีศักยภาพด้วยตัวเอง และธนาคารต่าง ๆ ก็ประสานงานเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามหากจะให้การดำเนินการสอดคล้องกันทั้งหมด ก็ควรจะผ่านความเห็นชอบ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับโดยเร็ว

ปัญหาก็คือ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับจะเดินหน้าได้เร็ว ทันกับสถานการณ์น้ำในปีนี้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ คนใน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) หลายคนก็ยอมรับแล้วว่า ปีนี้โอกาสที่น้ำจะท่วมนั้นมีความเป็นไปได้สูง อย่างนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ กยน. ก็ระบุว่า รัฐบาลเน้นหลักการแนวทางการจัดการน้ำภาพรวมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม และได้มีการเตรียมพื้นที่รับน้ำ หรือหน่วงน้ำให้น้ำนองไว้ 2 ล้านไร่ ตั้งแต่พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ตามแนวแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน จากนั้นลงมาที่พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ อ.บางบาล อ.เสนา อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยแบ่งพื้นที่กันประมาณกลุ่มละ 1 ล้านไร่

“เราตั้งสมมุติฐานไว้ที่ ปริมาณน้ำฝนมากเท่าปีที่แล้ว ทุกอย่างเหมือนปี 2554 ทั้งหมดเราจะสามารถป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯและปริมณฑล เพราะในปีนี้เรามีการบริหารจัดการ แต่ทุกอย่างต้องทำได้ตามแผนด้วยจะทำให้เราสามารถลดการท่วมขังลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีจุดที่กังวล และเป็นอุปสรรคคือเรื่องพื้นที่น้ำนอง เพราะมาตรการในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดการท่วมขังในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและพื้นที่เมือง อาจจะทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ทุ่งรับน้ำเร็วขึ้น ซึ่งจากปีที่แล้วเริ่มท่วมในเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. แต่ปีนี้อาจจะเร็วขึ้นคือเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.ก็จะมีน้ำท่วมขังแล้ว มันท่วมขังนานก็จริง แต่ไม่ลึก พื้นที่ไม่มาก”นายอานนท์ กล่าว

สถานการณ์เช่นนี้ มุมมองแบบนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในพื้นที่น้ำท่วมอย่างหลีกไม่พ้น มีใครบ้างจะทำใจได้กับคำว่า ปีนี้จะต้องโดนน้ำท่วมซ้ำ เพราะมาถึงวันนี้บรรดา 2.6 ล้านครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมนั้น ล้วนแล้วแต่ยังไม่ฟื้น ยังซ่อมแซมบ้านและทรัพย์สินไม่ได้ครบทั้งหมดเลย
เงินเยียวยาครอบครัวละ 5,000 บาท ไม่ได้มากหรือไม่ได้เพียงพอที่จะซ่อมบ้าน ซ่อมรถยนต์ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ด้วยซ้ำ แถมเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกครอบครัวละไม่เกิน 30,000 บาท ก็โดนเงื่อนไขของกรมป้องกันสาธารณภัยบีบยุบบีบยิบไปหมด และหาก อบต.ไหน แกล้งซื่อบื้อยึดตามตัวอักษร โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงด้วยแล้ว

หลายๆหลังวงเงินเยียวยา 30,000 บาท ได้ตัวเงินจริงๆไม่กี่ร้อยบาท เจ้าหน้าที่ อบต.ที่ลงพื้นที่ไปประเมินเพื่อตีราคาชดเชยโดนด่าจนหูชา โดนไล่ออกจากบ้านเหมือนหมูเหมือนหมา

ซ้ำร้ายการไฟฟ้านครหลวง ที่มี นายอาทร สินสวัสดิ์ เป็นผู้ว่าการ และการประปานครหลวง ที่นายเจริญ ภัสระ นั่งเป็นผู้ว่าการ ก็ติดโรคดีแต่พูด ว่าจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้น้ำใช้ไฟฟ้าในพื้นที่น้ำท่วม แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้กำชับดูแลลูกน้อง หรือไม่ได้ทำงานให้เป็นระบบ จึงปรากฏว่าบิลค่าน้ำค่าไฟที่ออกมาได้สร้างความสยดสยองให้กับผู้เดือดร้อนน้ำท่วมกันเป็นอย่างมาก

น้ำท่วมต้องอพยพหนีออกจากบ้านไปเป็นเดือน 2 เดือน ดันทะลึ่งมีค่าใช้น้ำใช้ไฟ แถมปริมาณที่ใช้ดันมากกว่าการใช้ปกติตอนน้ำไม่ท่วมเสียอีก ต้องมีการร้องเรียนกันอุตลุด ขนาดที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายประวิช รัตนเพียร ต้องออกมาช่วยตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนในเรื่องนี้โดยเฉพาะแล้วเวลานี้
แต่การประปา การไฟฟ้า ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุง หรือไม่ได้ลดค่าน้ำค่าไฟให้เป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม อย่างที่ผู้ว่าฯคุยฟุ้งเอาไว้

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ จากผลกระทบทางจิตใจของคนที่โดนน้ำท่วม และกำลังวิตกจริตเรื่องการจะต้องโดนน้ำท่วมซ้ำอีกหรือไม่ ทำให้ประชาชนผู้เดือดร้อนทั้งหมด จึงไม่เข้าใจการเอาแต่เล่นเกมการเมืองของฝ่ายค้าน ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งแง่กับ พ.ร.ก. ทั้ง 4 ฉบับ

ที่สำคัญไม่เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.ก. ในครั้งนี้ แม้แต่สมาชิกวุฒิสภาขั้วตรงข้ามรัฐบาล คือ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และคณะ 69 คน ก็ลงชื่อยื่นคำร้องประธานวุฒิสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่ากฎหมายฉบับหลังมีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้จนต้องออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่เช่นกัน

แผนของรัฐบาลที่จะใช้ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำ 4 ฉบับ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการทำงาน ทั้งการป้องกันน้ำท่วมและการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ก็เลยสะดุดไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น

เพราะเมื่อมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความชี้ขาด พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ตอนนี้เท่าที่ทำได้ก็คือต้องรอคอย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะบอกง่ายๆว่าคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาไม่น่าจะเกิน 1 เดือน

ขณะที่ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ก็ออกตัวไว้ล่วงหน้าว่าที่ผ่านๆมาในกรณีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ศาลพิจารณาไม่เกิน 2 เดือน

แล้วในช่วง 2 เดือนนี้ จะทำอย่างไร กับการดำเนินงานตามจุดมุ่งหมายของ พ.ร.ก. ที่จะไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา

รวมทั้ง พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสืบเนื่องกัน แม้จะไม่ได้ถูกตีความ และผ่านสภาไปแล้ว แต่ก็ต้องถูกดึงๆเกมเพื่อรอคอยผลอันสมบูรณ์จากอีก 2 ฉบับที่ถูกตีความไปด้วย

คำถามก็คือในระหว่างรอผลวินิจฉัยของพ.ร.ก การลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันน้ำท่วมครั้งต่อไปของรัฐบาลจะทำอย่างไร?

หากทุกอย่างล่าช้า จนทำให้การแก้ไขป้องกันน้ำท่วมล่าช้า ประชาชนต้องถูกน้ำท่วมซ้ำอีกปี พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ และนายคำณูนกับบรรดา ส.ว. ขั้วตรงข้าม จะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่?
เพราะจริงแล้วเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ ควรที่จะรู้ดีว่า การออก พ.ร.ก. การเงินนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีแนวทางในการยื่นตีความ พ.ร.ก.ทุกฉบับมาแล้ว่า จะจบลงด้วยการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญว่า
เป็นอำนาจในการบริหารของรัฐบาล

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยคดีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ตรา “พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท” (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552) โดยไม่ผ่านสภา

ฝ่ายค้านในขณะนั้น ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ก็ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มี คำวินิจฉัยที่ 11/2552 โดยมติเอกฉันท์ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้ดำเนินการตรา “พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท” โดยถูกต้องแล้ว จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นในวันนี้เมื่อรัฐบาลเพื่อไทย เป็นผู้ตรา พ.ร.ก. และประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน สถานการณ์จึงแค่กลับด้านกันเท่านั้น ที่สำคัญตุลาการผู้พิจารณาคดีทั้ง 9 คน ยังเป็นชุดเดิม แม้จะมีการสลับตำแหน่งประธานศาลแล้วก็ตาม

แต่ในเมื่อบริบทในทางกฎหมาย ซึ่งศาลจะต้องนำมาใช้พิจารณานั้นเหมือนกัน นั่นคือ หลักเกณฑ์ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ซึ่งใน คำวินิจฉัยที่ 11/2552 ศาลได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยเป็นสองประเด็นด้วยกัน คือ ประเด็นแรก พ.ร.ก. นั้น ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?

และประเด็นที่ 2 ก็คือ พ.ร.ก. นั้น ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่?

ช่วงแ รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้อ้างเหตุสภาพวิกฤติเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำ จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย ส่วนรัฐบาลเพื่อไทย ได้อ้างถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังมหาวิกฤตอุทกภัย โดยการกู้เงินและโอนหนี้จำนวนมหาศาลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ

ดังนั้นแล้วหากกรณีที่ กรณ์ จาติกวณิช ขอออก พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์สามารถทำได้เพราะเป็นอำนาจบริหาร ซึ่งถือเป็นคำวินิจฉัยที่มีมาตรฐานในระดับหนึ่งนั้น
แม้นายกรณ์ อาจจะคิดแบบเด็กๆว่า ถ้าเป็นตัวเองต้องการจะกู้เงิน ก็ต้องทำได้ แต่หากเป็นคนอื่นจะใช้หลักการเดียวกันบ้างกลับทำไม่ได้ ทำนองว่า “ข้ากู้ได้ แต่เอ็งกู้ไม่ได้”นั้น น่าจะเป็นสไตล์ความคิดแบบเด็กๆ ที่ไม่ควรมีน้ำหนักต่อการวินิจฉัยหรือตีความของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

เพราะอย่างน้อยศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เคยมีบุคลิกเด็กเล่นขายของ เหมือนกับแก๊งการเมืองทำมาก่อน
ดังนั้นแม้จะมีหลายฝ่ายที่ห่วงเรื่อง 2 มาตรฐาน ห่วงเรื่องจุดยืนที่ผ่านมาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคน ว่าไม่มีใครสามารถให้ความมั่นใจได้ว่าผลการตีความในครั้งนี้จะออกมาเช่นเดิมหรือไม่

แต่บางกอก ทูเดย์ ยังเชื่อมั่นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุคนี้ที่มี วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีมาตรฐานเดียว

เพราะทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ก็ชี้แจงยืนยันแล้วว่า หลักการที่จำเป็นจะต้องเร่งออก พ.ร.ก. ก็เพื่อมาใช้เป็นหลักประกันความมั่นใจให้กับทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ไม่ถอดใจ ไม่ย้ายฐานการผลิตหนีประเทศไทย

ก็คงต้องดูว่าสุดท้าย 4 พ.ร.ก.ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำแผน และการลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันน้ำท่วม จะฝ่าพงหนามได้หรือไม่???

ที่มา.บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เดินแต่เกมการเมือง !!?

ประสิทธิภาพ ฟอร์มการทำงาน ช่างบ่มิไก๊ ไม่ได้เรื่อง
คิดแล้วก็เคือง, เรื่องไม่เป็นสับประรดขลุ่ย ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ค้าน พรก.โอนหนี้ให้แบ็งค์ชาติ และ พรก.กู้เงิน ๓.๕ แสนล้านบาท
น้ำฝน น้ำเขื่อน น้ำเหนือ น้ำทุ่ง เตรียมประชิดมิดท่วมหัวอีก อย่างระเนระนาด
แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขวางอย่างตาลีตาเหลือก ไม่ให้มีการกู้เงิน มาแก้ปัญหาน้ำท่วมเสร็จสรรพ
เป็นศัตรูกับ “รัฐบาลปู”ก็เป็นไป...เอาประชาชนเป็นตัวประกันทำไม?..น้ำท่วมบรรลัย รับผิดชอบไปนะครับ

------------------------------------

ปราบให้เกลี้ยง
ผับนรก ผับอุบาทว์ ค้ายาไอซ์ ยาเลิฟ ทำลายเยาวชนของชาติ.. “ท่านสุรพล พงษ์ทัตศิริกุล” ผู้ว่าฯชลบุรี ต้องใช้มาตรการเอาให้เดี้ยง
คำสั่งกวาดล้างแหล่งนรก สถานเริงรมย์อเวจี ทั่วพัทยา เหนือ ชลบุรี เสียงชมไม่ขาดปาก
แต่มีอิทธิพลเหลือหลาย ผับดังหลังโลตัส แอเรีย นาเกลือ บางละมุง ชื่อหวานเจี๊ยบ ค้ายาเย้ย “ท่านผู้ว่าฯสุรพล” เป็นอันมากส์
ได้คุณอา คุณน้า อดีตนายพลสีกากีใหญ่?..เป็นแบ็กหนุน จึงทำอะไรไม่เกรงกลัวกฎหมาย
เสียงชมผู้ว่าฯสุรพลไม่ขาด..ปราบยาเสพติดได้เก่งชะมัด?.ช่วยปราบที่นี่ให้ขยาดด้วยได้มั้ย

---------------------------------

มาด้วยไฟ ไปด้วยน้ำ
“รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเดินหน้าเต็มพิกัด ไม่มีอะไรในกอไผ่
แม้บางฝ่าย, พยายามจะจุดไฟ เพื่อให้เกิดการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ให้ได้ ..เพื่อคว่ำรัฐบาลให้จม
อาศัย “นายกฯยิ่งลักษณ์” เป็นคนที่พูดกับปากตรงกับใจ จึงแก้ปัญหาทุกอย่างจนคลายปม
แต่ยังมีคน “มือบอน” สร้างเรื่องเท็จ กรุเรื่องลวง ปั้นน้ำเป็นตัว เพื่อโค่น “นายกฯปู”อยู่ไม่หยุด
นึกหรือว่า, ทำแล้วมีเกียรติ...อย่าหาว่ายัดเหยียด?...ท่านช่างทำตัวน่าเกลียด อย่างสุด..สุด

---------------------------------

ยกตัวเองเสียลอย
“เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคตัวจริง เอ่ยปากคุยอย่างเอนจอย
ว่าตัวเองมี “ความหล่อ” เกินห้ามใจ
ก้อ,คุยว่าหล่อลากดินหยั่งงี้, จึงมีคนเฮิร์ทอย่างมาก จะบอกให้
โดยเฉพาะกับ “วรวุฒิ วิชัยดิษฐ์” นักรบประชาธิปไตย แห่งกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ว่าถ้า “สุเทพ”หล่อระดับเทพ เขาก็หล่อยิ่งกว่าเทวดา
ดูทุกส่วนหล่อมีแขก....แต่ที่บ้านสุเทพทุบกระจกแตก?..ไฉนจึงโวแหลก ว่าหล่อนักหนา

--------------------------------

“ประชาธิปไตย”ต้องมีอันดับ
ให้อยู่อำนาจลากยาว มันเป็นเผด็จการ นะครับ
ในยุค”ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกุล นั่งหัวโด่เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” ไปต่อวีซ่าให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน สืบทอดอำนาจได้เกิน ๘ ปี
ต้นฉบับแห่งโลกประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกา หรือ อังกฤษ ให้เอกเขนกอยู่ได้ ๒ เทอม แล้วต้องใส่เกียร์ถอยหลัง ออกจากตำแหน่ง ทั้งนั้นแหละคุณพี่
เมื่อให้มีการต่อวีซ่าโควตาอยู่ในตำแหน่งกันจนตายไปข้าง จึงเกิดเหตุสังหารฆ่ากันตายเป็นว่าเล่น
รอยบาปที่เกิด....ชักจะเลยเถิด?..ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น เลยนะเนื้อเย็น

ที่มา:คอลัมน์ ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เคลียร์หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แบงก์เอกชนอ่วม !!?

โดย : ศรัณย์ กิจวศิน

ผ่าแผนเคลียร์หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แบงก์เอกชนอ่วม-แบงก์รัฐรวย! ความเหลื่อมล้ำการแข่งขัน เสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวที่กำลังถูกสั่นคลอน

แม้ขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปว่า ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ปี 2555 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้หรือไม่ แต่ภาระการหาเงินชำระหนี้ พร้อมดอกเบี้ยก้อนมหึมาตกมาอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ "แบงก์ชาติ" เกือบจะเรียบร้อยแล้ว

ภาระอันหนักอึ้งที่ แบงก์ชาติ ถูกยัดใส่มือนี้ คงไม่ใช่งานง่ายเหมือนที่เคยคาดคิดไว้ในช่วงแรก เพราะเดิมแบงก์ชาติ คิดสูตรเรียกเก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ จนได้ตัวเลขค่อนข้างชัดเจนว่า หากเก็บอัตรา 0.55-0.6% จะเป็นอัตราที่ "ปลอดภัย" โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาว่าจะหาเงินจากแหล่งใดมาชำระดอกเบี้ยเพิ่มในปีแรกๆ ที่มีกว่า 6-6.8 หมื่นล้านบาท

แต่ฝั่งกระทรวงการคลังโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ต้องการให้เก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์เพราะจะไปเพิ่มภาระแก่ผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน รวมถึงผู้ถือหุ้น ...ดังนั้น "โจทย์การหาเงินมาชำระหนี้ก้อนนี้" จึงถูกย้อนกลับมาที่แบงก์ชาติให้ปวดสมองกันอีก

ปัจจุบันหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) มียอดคงค้างรวม 1.14 ล้านล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่เกือบๆ 6% หรือเฉลี่ยปีละ 6.8 หมื่นล้านบาท แต่ในจำนวนนี้จะทยอยครบกำหนดชำระ และหนี้ก้อนใหม่ที่จะรีไฟแนนซ์ มีดอกเบี้ยลดลง คาดว่าอยู่ที่กว่า 3% แต่ต้องขึ้นกับฝีมือของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ด้วยว่าจะบริหารหนี้ล็อตใหม่ที่ออกมารีไฟแนนซ์ และมีดอกเบี้ยถูกลงมากน้อยแค่ไหน

สำหรับปี 2555 จะมีหนี้หรือพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ ครบกำหนดชำระ ประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งพันธบัตรที่ออกใหม่ คาดว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% เศษ ลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยเดิม เท่ากับปีถัดไปจะช่วยประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยลงได้กว่า 8 พันล้านบาท ดังนั้นยอดดอกเบี้ยที่ต้องชำระปีถัดไป ซึ่งเป็นปีแรกที่แบงก์ชาติรับภาระจึงตกอยู่ที่ประมาณ หมื่นล้านบาท

คำถาม คือ แบงก์ชาติจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายดอกเบี้ย!!?

แน่นอนว่า ถ้าไม่ต้องการเพิ่มภาระให้ธนาคารพาณิชย์จนส่งผลกระทบกับผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และผู้กู้เงิน ตามโจทย์ที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ แบงก์ชาติก็ต้องเก็บค่าธรรมเนียมอัตราเดิมที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งแก่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือ 0.4% เพียงแต่จะครอบคลุมไปถึงตั๋วบี/อีด้วย จากเดิมที่ตั๋วบี/อีไม่ถูกนับรวม

จากข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2554 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ มียอดเงินฝากคงค้างรวม 7.75 ล้านล้านบาท ขณะที่ตั๋วบี/อี มียอดคงค้างรวม 1.57 ล้านล้านบาท เมื่อรวมยอดเงินฝากและตั๋วบี/อีเข้าด้วยกันจะมียอดรวม 9.32 ล้านล้านบาท

ดังนั้นหากเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบนฐานเงินนี้ที่ 0.4% เท่ากับว่า แบงก์ชาติจะได้เงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.72 หมื่นล้านบาท ซึ่งห่างไกลกับดอกเบี้ยที่ต้องชำระร่วมๆ 2.28 หมื่นล้านบาท ...คำถามที่ตามมาคือ แบงก์ชาติ จะหาเงินจากไหนมาโปะในส่วนที่ขาดตรงนี้

หากดูแหล่งรายได้อื่นๆ ที่แบงก์ชาติเคยส่งสัญญาณไว้ว่า จะนำผลตอบแทนที่ได้จากการบริหารทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯ และผลการดำเนินงานของแบงก์ชาติกรณีที่มีผลกำไรมาร่วมจ่ายหนี้ก้อนนี้ด้วย แต่ตามข้อเท็จจริง ผลตอบแทนก็ไม่สูงมาก เช่นกรณี ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ เฉลี่ยปีละ 5 พันล้านบาท โดยมาจากผลตอบแทนเงินปันผลจากหุ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ หุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนแหล่งรายได้จากการดำเนินงานของแบงก์ชาตินั้น เป็นแหล่งรายได้ที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนแต่ละปี ซึ่งปีใดที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ปีนั้นแบงก์ชาติจะขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ แต่ถ้าปีใดเงินบาทอ่อนค่าลง แบงก์ชาติจะมีกำไร ดังนั้นรายได้จากแหล่งนี้ จึงเป็นเพียง “ตัวแถม” ที่แบงก์ชาตินำมาใช้ คือ ปีใดมีกำไรก็นำมาใช้ชำระหนี้เงินต้น
โดยสรุป คือ แหล่งรายได้ที่แบงก์ชาตินำมาใช้ชำระดอกเบี้ยจากหนี้ก้อนนี้ น่าจะแค่ รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ภายใต้การดูแลของกองทุนฟื้นฟูฯ และรายได้ค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากและตั๋วแลกเงิน ดังนั้นถ้าคิดค่าธรรมเนียมที่อัตรา 0.4% ซึ่งจะได้เงินประมาณ 3.72 หมื่นล้านบาท รวมกับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ อีก 5 พันล้านบาท เท่ากับแบงก์ชาติจะมีรายได้รวมเพียง 4.22 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงไม่พอสำหรับจ่ายหนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามสูตรเดิมที่แบงก์ชาติ เคยวางไว้ว่าจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอัตรา 0.55% กรณีนี้จะได้เงินประมาณ 5.12 หมื่นล้านบาท เมื่อบวกกับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ อีก 5 พันล้านบาท เท่ากับรายได้รวมจะอยู่ที่ 5.6-5.7 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระที่ 6 หมื่นล้านบาท ...สูตรนี้จึงเป็นสูตรที่แบงก์ชาติวางใจในการหาเงินมาชำระหนี้ รวมทั้งสามารถทยอยปรับลดลงได้ในปีหลังๆ หากฐานเงินฝากและตั๋วบี/อีขยายตัวขึ้น

ทั้งนี้ หลังมีกระแสข่าวว่า นายกิตติรัตน์ไม่เห็นด้วยหากจะเรียกเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่ม จนกระทบกับผู้ฝาก ผู้กู้เงิน และผู้ถือหุ้นนั้น ทำให้แบงก์ชาติ ต้องปรับสูตรคิดค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ใหม่ และเคาะตัวเลขออกมาอยู่ที่ 0.52% หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.12%

สำหรับตัวเลข 0.52% นี้ คำนวณจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของนิติบุคคล ที่ภาครัฐลดอัตราจาก 30% เหลือ 23% เมื่อตีมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้ส่วนนี้แล้ว เฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.12% ของฐานเงินฝากและตั๋วบี/อีของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นหากแบงก์ชาติขอเก็บเพิ่ม จากส่วนต่างจุดนี้ ก็ไม่น่ากระทบกับธนาคารพาณิชย์จนต้องผลักภาระไปยังผู้ฝาก และผู้กู้เงิน

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขที่ 0.52% แบงก์ชาติจะมีรายได้ประมาณ 4.84 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมรายได้จากผลตอบแทนของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 5 พันล้านบาท เท่ากับแบงก์ชาติ มีรายได้รวมอยู่ที่ 5.34 หมื่นล้านบาท แต่ยังขาดเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อชำระดอกเบี้ยปีแรกๆ ดังนั้นก็คงไม่ที่กระทรวงการคลังจะช่วยอุดหนุนส่วนที่ขาดตรงนี้ในช่วงปีแรกๆ

สำหรับฝั่งของธนาคารพาณิชย์นั้น เรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระเพิ่ม ดูจะไม่เป็นปัญหาหนักเท่ากับปัญหา "ความเหลื่อมล้ำการแข่งขัน"โดยเฉพาะหากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากรวมถึงตั๋วบี/อี ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยปัจจุบันจ่ายอยู่ 0.4% เฉพาะบนฐานของเงินฝาก ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

กรณีนี้ ฝ่ายวิจัยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาพบว่า ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มทุกๆ 0.01% จะมีผลให้เงินฝาก 7 พันล้านบาท ไหลออกจากธนาคารพาณิชย์ไปยังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ดังนั้นถ้าแบงก์ชาติเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 0.15% อาจทำให้ยอดเงินฝากไหลออกจากแบงก์พาณิชย์ 1.05 แสนล้านบาท โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์โตเพียง 5% เท่านั้น

"ปัจจุบันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มากกว่าเงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพียง 2.5 เท่า จาก 4 ปีก่อนที่เคยมากกว่าถึง 4.2 เท่า ล้อไปกับดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นจึงใช้พฤติกรรมการไหลออกของเงินฝาก จากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาประเมินความเป็นไปได้ที่เงินฝากจะไหลออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปสู่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ” ฝ่ายวิจัยธนาคารทหารไทยประเมินไว้"

แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลต่อเนื่องถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปถึงดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ หากเครื่องมือเหล่านี้ขาดประสิทธิภาพที่ดี ก็คงหนีไม่พ้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ที่อาจถูกสั่นคลอนได้!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บุกสำรวจ แม่สอด-เมียวดี บูมเศรษฐกิจ 2 เมือง 2 ประเทศ !!?

คอลัมน์ เจาะลึกเศรษฐกิจ

เมืองแม่สอด และ "เมืองเมียวดี" ประเทศพม่า หลังมีความพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด รองรับการพัฒนาตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกคือจังหวัดมุกดาหาร และฝั่งตะวันตกคือ ฝั่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

หากประเทศไทยสามารถจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดสำเร็จ ประตูแม่สอด-เมียวดี จะเป็นจุดเปลี่ยนการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและพม่าที่สำคัญในอาเซียน

จากการสำรวจพื้นที่พบว่า "แม่สอด" แม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ กลางหุบเขา มีพื้นที่ประมาณ 1,986 ตารางกิโลเมตร แต่ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจคึกคักอย่างมาก เมืองเจริญเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ โชว์รูมรถยนต์ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็กอีกหลายสิบแห่ง

นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทั้งชาวเขา ชาวพม่า ชาวกะเหรี่ยง คนอพยพจากอำเภอเมืองตากเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน รวมทั้งชาวพม่าที่มีภรรยาหรือสามีเป็นคนไทย นอกจากนี้ยังมีชุมชนอิสลาม ตั้งถิ่นฐานอยู่กันมายาวนาน โดยไม่มีความขัดแย้งกัน

เชื่อหรือไม่ว่า สาวพม่าในแม่สอดบางคน อยู่แม่สอดตั้งแต่เล็กจนโต พูดไทยชัดเปรี๊ยะ แต่พูดพม่าแทบไม่ได้สักคำ เพราะไม่เคยข้ามฝั่งกลับบ้านเกิด แต่วันนี้ยังคงถือสัญชาติพม่า เธอเล่าว่า อยู่เมืองไทยทำมาหากิน ค้าขายได้สะดวก ทุกวันนี้มีเงินทองใช้สอยไม่ขาดมือ

ชาวบ้านในแม่สอดหลายคนเห็นว่า แม่สอด แม้จะเป็นเมืองหลายวัฒนธรรม แต่ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรในแง่การดึงดูดการท่องเที่ยว แต่ก็มีความพยายามในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน เพราะจุดแข็งของแม่สอด คือ การท่องเที่ยวชายแดน ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมทัวร์ไหว้พระ 2 ฝั่งไทย-พม่า

ทุกวันนี้จึงมีความพยายามผลักดัน "แม่สอด" ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพราะแม่สอดมีศักยภาพในการค้าขายชายแดน เฉพาะการค้าระหว่างไทยกับพม่าที่ด่านแม่สอดอยู่ ที่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญรัฐบาลพม่าได้เปิดด่านแม่สอด-เมียวดีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 หลังจากปิดด่านมานานนับปี เริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางมาเที่ยวแม่สอด และข้ามด่านไปไหว้พระในวัดชื่อดังที่เมียวดี ไม่ว่าจะเป็นวัดจระเข้ วัดหินใหญ่ หรือวัดเจดีย์ทอง ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชะเวดากอง ส่งผลให้ช่วงหลังมานี้มีโรงแรมขนาดเล็กเกิดขึ้นจำนวนมากในแม่สอด เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยว

นอกจากจุดแข็งด้านการค้าชายแดนที่สำคัญแล้ว "แม่สอด" ยังมีตลาด ค้าพลอยที่ขึ้นชื่อ ส่วนหนึ่งเพราะจังหวัดตากเป็นตลาดนำเข้าพลอยจากพม่าที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีเพียงแม่น้ำเมยกั้นเขตแดนเท่านั้น และยังอยู่ใกล้แหล่งพลอยหลายแห่งในพม่า เช่น เหมืองโมกก เหมืองพลอยที่อยู่ทางตอนเหนือของพม่า ทั้งนี้พลอยที่นำจากพม่าสู่เมืองตาก มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นทับทิมและไพลิน

นาทีนี้ เสียงจากแม่สอดได้แต่ คาดหวังว่า หากนครแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้จริง การค้าชายแดน การลงทุน การท่องเที่ยวในเมืองแม่สอดจะเติบโตคึกคักกว่านี้หลายเท่าตัว

จาก "แม่สอด" ทีมข่าวได้ข้ามไปฝั่งจังหวัด "เมียวดี" ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่า โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเขตกั้น สภาพของเมืองเมียวดีเป็นเมืองเปิด ในตัวเมืองมีการพัฒนา ไปพอสมควร มีโรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด และวัดวาอาราม แต่ถนนหนทางยังขรุขระ มีฝุ่นคละฟุ้ง แต่บรรยากาศคึกคักในยามที่ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย

บรรยากาศการค้าค่อนข้างคึกคัก สินค้าที่วางจำหน่ายในเมียวดี โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่าส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยแทบทั้งสิ้น ส่วนการปกครองเป็นแบบท้องถิ่น มีทหารพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยผสมกัน

ผู้รู้อธิบายว่า "เมียวดี" อาจเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่จุดเด่นสำคัญคือเป็นเมืองผ่านสินค้านำเข้าและส่งออกหลักที่สำคัญจากไทย และอินโดจีนเข้าสู่ตลาดย่างกุ้ง และบางส่วนส่งตรงไปถึงอินเดีย ล่าสุดมีการเปิดธนาคาร KBZ ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในพม่า สาขาเมียวดีแล้ว เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแม่สอด-เมียวดี พร้อมกับรองรับเขตเศรษฐกิจชายแดนของทั้งสองเมือง

ทว่าจุดเด่นของ "เมียวดี" นอกจากเป็นเมืองผ่านสินค้าแล้ว งานสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนากับวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนถือเป็นจุดขายเช่นกัน โดยเฉพาะวัด อาทิ วัดมิเจากง หรือวัดจระเข้ วัดเด้ถั่นเอ่ หรือวัดอธิษฐาน และวัดเจ๊าลงจี หรือวัดก้อนหิน ซึ่งมีเรื่องราวตำนานที่น่าค้นหาแตกต่างกัน

นี่คือ "แม่สอด" และ "เมียวดี" 2 เมือง 2 ประเทศ ที่มีเศรษฐกิจชายแดนเติบโตคู่กัน เป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญ ยิ่งของกลุ่มอาเซียน


ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พม่า.ดาวรุ่งน้องใหม่ ทุนนอกหลั่งไหล..ดันเสือศก.เอเชีย !!?

โดย บลจ. บัวหลวง จำกัด

พม่าว่าที่เสือเศรษฐกิจของเอเชีย?
หลังจากที่โดดเดี่ยวและถูกลืมอยู่นานกว่า 2 ทศวรรษ หลังจากที่โดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตก

ในที่สุด พม่าก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด นับตั้งแต่ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ มาเยือนเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่สหรัฐส่งตัวแทนไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ เป็นสัญญาณว่า พม่ากำลังเปิดประตูกว้างเพื่อรับประชาธิปไตยและโลกตะวันตกมากขึ้น

ก่อนหน้าการมาเยือนของนางฮิลลารี คลินตัน พม่าได้มีการปฏิรูปประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เช่น การดำเนินโยบายผ่อนปรนแก่ชนกลุ่มน้อยมากขึ้น เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ พม่ามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่างๆ รวมทั้งเตรียมปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกับ มาตรฐานสากล



ล่าสุด การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 19 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการตกลงรับรองพม่าเป็นประธานอาเซียน ประจำปี 2557 ก่อนการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ส่งผลให้พม่ากลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมสุดสุด นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกต่างจับจ้องความเคลื่อนไหวของพม่าอย่างใกล้ชิด เพื่อหาช่องทางในการเข้าไปลงทุน

ในอดีตภายใต้การปกครองของประเทศ อังกฤษในช่วงปี 1930 ประเทศพม่าเคยรุ่งเรืองเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่มีการศึกษา และมีการลงทุนจากต่างชาติ แต่แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พม่ากลับกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุด จากการปกครองของรัฐบาลทหาร นโยบายทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และการโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อคน (GDP per Capita) อยู่ที่เพียง 804 เหรียญสหรัฐต่อปี เป็นอันดับ 156 ในโลก เปรียบเทียบกับคนไทยที่มีรายได้ต่อหัว 5,281 เหรียญสหรัฐ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นิยามทั่วไปของคนชั้นกลางที่เริ่มจะมีกำลังซื้อคือ คนที่มีรายได้ 3,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป ส่วน GDP ของประเทศพม่าอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับ GDP ประเทศไทยที่ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันพม่ากำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งนักลงทุนไทยอีกครั้งในฐานะแหล่งลงทุนแห่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ทรัพยากรธรรมชาติ นักลงทุนต่างชาติได้หลั่งไหลสู่ธุรกิจพลังงาน และทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ดีบุก สังกะสี ทองแดง และอัญมณีจำพวกเพชร พลอย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตสำคัญของพม่า อีกทั้งประชากรจำนวน 55 ล้านคน ก็ทำให้พม่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจและยังมีแรงงานจำนวนมาก

ที่ตั้งของพม่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมีชายแดนเชื่อมต่อกับ 5 ประเทศ และสามารถเข้าถึงประชากร 2.6 พันล้านคน หรือ 40% ของประชากรโลก พม่าจึงเป็นประตูสำคัญของทั้งจีนและอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ต้องการขยายเส้นทางการค้าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับมณฑลทางตะวันตก เช่น มณฑลยูนนาน ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล ดังนั้น จึงต้องใช้พม่าเป็นประตูสู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันจีนนำเข้าน้ำมัน 80% ผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นช่องทางที่แออัดและกว้างเพียงไม่กี่กิโลเมตร หลังจากที่ท่าเรือน้ำลึกและระบบการขนส่งระบบรางและระบบท่อส่งก๊าซได้รับการ สร้างขึ้นในพม่า จะทำให้เรือขนส่งไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ซึ่งจะทำให้การขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกาไปจีนและประเทศลุ่มแม่ น้ำโขงเร็วขึ้น และจะช่วยประเทศในอาเซียนเชื่อมต่อกับอินเดียได้ดีขึ้น

ตัว เลขการลงทุนในพม่าของต่างชาติ (Foreign direct investment) ปี 2554 สูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ที่มีเม็ดเงินลงทุนเพียง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่สุดคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 70% ของนักลงทุนต่างชาติ บริษัทข้ามชาติระดับใหญ่หลายราย อย่างเช่น คอมเมิร์ซ แบงก์ เอจี ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของเยอรมนี สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแห่งชาติเยอรมนี (DEG) บริษัท เชฟรอน และเอ็กซอนโมบิล ผู้สำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติชั้นนำของโลก และบริษัทโคคาโคลา ต่างแสดงความสนใจในการไปลงทุนในพม่า




บริษัทไทย ก็ไม่น้อยหน้า นำโดยบริษัท อิตัลไทย จำกัด (มหาชน) ที่เดินหน้าก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย หลังศึกษามานานถึง 11 ปี บนพื้นที่ 200,000 ไร่ หรือใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึง 10 เท่า เฟสแรกใช้งบลงทุนประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน และท่าเรือ จากนั้นจะเปิดรับผู้สนใจร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงปิโตรเคมี โรงเหล็ก ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันว่า ต้องการมาลงทุนในโครงการนี้ ส่วนบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ อายุสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท

นักลงทุน ยังมองเห็นว่าเสน่ห์ของพม่านั้นอยู่ที่ "ความสดใหม่" ของประเทศ เนื่องจากเป็นเวลานานกว่า 21 ปี ที่ชาติตะวันตกได้ออกมาตรการคว่ำบาตรพม่า ซึ่งหมายความว่า ชาติตะวันตกอย่างสหรัฐและยุโรปไม่ได้เข้าไปทำการค้าหรือเข้าไปลงทุนในพม่า เลย ดังนั้น ในสายตานักลงทุน พม่าจึงเปรียบเสมือนตลาดใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสและช่องทางลงทุนมากมาย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ได้เริ่มหลั่งไหลเข้ามาตั้งแต่ปี โดยมีวัดที่งดงาม และสถาปัตยกรรมในยุคอาณานิคม เป็นจุดดึงดูด และคาดว่า จำนวนห้องพักโรงแรมจะขาดแคลนอย่างหนักในปีนี้



อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศในพม่าขณะนี้ จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความคึกคักและความหวัง แต่เส้นทางของพม่าในการก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็น "เสือเศรษฐกิจ" ของภูมิภาคนั้นยังคงอีกยาวไกล ทั้งนี้ เพราะสภาพแวดล้อมในพม่ายังคงไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ไร้ประสิทธิภาพ ระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะไฟฟ้า ถนน และท่าเรือ ที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีปัญหา ล่าสุดพม่าตกลงที่จะให้ประเทศสิงคโปร์ มาอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิรูปภาคกฎหมาย ธนาคาร และการเงิน รวมถึงชี้แนะแนวทางการพัฒนา การค้าขาย การวางผังเมือง และการท่องเที่ยว

พม่า จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่า "พร้อม" ที่จะเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชีย โดยจะต้องแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและจริงใจในการเปลี่ยนแปลงประเทศและการ ปฏิรูปการเมือง ขณะเดียวกัน ยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นอิสระจากร่มเงาของกองทัพและลด ปัญหาการทุจริต เมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เชื่อว่าอีกไม่นาน ชาติตะวันตกก็จะเริ่มผ่อนมาตรการคว่ำบาตร ตามสหภาพยุโรป และนักลงทุนต่างชาติจะพากันมาลงทุนในประเทศดาวรุ่งที่น่าจับตาแห่งนี้ ถึงแม้ ณ ตอนนี้ อาจจะยากที่จะไปลงทุนโดยตรงในประเทศพม่า แต่เราควรตื่นตัวกับการเปิดเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเรา ยิ่งพม่าเปิดประเทศมากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับประเทศไทย เพราะต่างชาติย่อมต้องใช้ประเทศไทยเป็นเกตเวย์สู่ประเทศพม่า


ที่มา นสพ.มติชน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ล้มเจ้าหรือล้มรัฐ..

เผือกร้อนตกเรี่ยราดตามรายทางปริมณฑลการเมืองไทยจนน่าวังเวงหัวใจ!!!

นิติราษฎร์ ณ ม.112 สอดคล้องกับ โปรเจกต์ล้มรัฐได้โดยเผอิญและบังเอิญเหมือนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน..ภาพ 4 ผบ.ทบ. “บิ๊กป้อม-พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีต ผบ.ทบ. “พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์” อดีตผู้บัญชาการสูงสุด (ผบ.สส.) และอดีต ผบ. ทบ. “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” อดีต ผบ.ทบ. และ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ. ทบ.) ร่วมเป็นประธานเททองหล่อพระเกตุมาลาพระนาคปรก “ปกเกล้า ปกแผ่นดิน” และยกองค์ฐานองค์พระฯ ขึ้นประดิษฐาน ที่วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ในมุมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ มันย่อม สะท้อนให้เห็นนัยยะสำคัญทางการเมืองไทย ในยามที่บรรยากาศประเทศเริ่มไม่ปกติธรรมดา ยิ่งเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของ โครงการ ที่จัดสร้างพระมหาพุทธพิมพ์นาคปรก “ปกเกล้า ปกแผ่นดิน” นี้ขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูที่มีต่อแผ่นดิน และต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่ง หลวงปู่พุทธอิสระ ได้ดำริให้จัดสร้างพระนาคปรก โดยใช้เหรียญสตางค์ ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ติดเป็นเกล็ดพญานาค มันก็ล้วนสามารถตีความไปได้ต่างๆ นานา โดยเฉพาะในท่ามกลางที่มีข้อเสนอ อันล่อแหลมออกมาจากคณะนิติราษฎร์ ไฟฟอนสุมขอนหนักข้อหลัง “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาจุดพลุลูกใหญ่.. “ขณะนี้มีขบวนการพยายามล้มล้าง รัฐบาลด้วยการเคลื่อนไหวอย่างมีระบบ และใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยว่าจะแก้ไขประมวล กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และพรรคเทิดทูนสถาบัน และจะไม่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างแน่นอน”

สำทับซ้ำอีกดอกออกจากปาก “บิ๊กโอ๋-พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต” รมว. กลาโหมคนใหม่..“แน่นอนว่ามีความพยายาม อย่างไร ก็ตาม ยืนยันว่าไม่มีการล้มรัฐบาลอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องที่มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือไม่ เป็นเรื่องที่ว่ากันยังไม่มีสาระมากนัก แต่แน่นอนว่ามีความพยายามเมื่อพูดคุยออก ทีวีในเรื่องแบบนี้ ก็ไม่ควรนิ่งเฉยต้องดูว่าเป็นอย่างไร ส่วนจะเป็นใครอยู่ในใจคงบอกไม่ได้”สืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปอีกนิดครั้งเหตุบึ้มหน้ากองสลาก “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยออกทิ้งบอมบ์ถึงวาระมือที่มองไม่เห็นไว้อย่างมีนัยยะสำคัญยิ่ง“วันนี้มีคนคนหนึ่งที่เป็นโรคพาร์กินสัน ที่ยังมีความวุ่นวายทางการเมือง เพราะปากพูดรู้เรื่องแต่มือสั่น รวมทั้งยังหัวดี แต่ คิดเรื่องไม่เข้าท่า ต้องพูดว่าไอ้พวกโรคจิต แพ้ไม่เป็น คนพวกนี้อยู่แถวสุขุมวิท และไปหากินหลัง รสช.เรืองอำนาจ เพราะเงิน เก่ายังไม่หมด จึงออกมาเคลื่อนไหว” ยิ่งตัวจริงเสียงจริงอย่าง “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” โดดลงมาเล่นเองผ่านโฟนอินพิฆาตที่เมืองนนท์ มันล้วน สะท้อนให้เห็นชั้นบรรยากาศอันเขม็งเกลียว ที่กำลังก่อหวอดก่อตัวเพื่อรอสึนามิลูกใหญ่ “ความจริงมันมีปัญหาที่ไม่ยาก ปัญหา บ้านเมืองของเราแก้ง่าย อย่าปล่อยให้ประเทศอื่นรวย ประเทศไทยจะรวยได้แค่เลิกทะเลาะกัน บางเรื่องที่ทะเลาะกันนั้นตนนึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่จริงเป็นเรื่องปัญญาอ่อนเท่านั้น พวกหัวแก่หัวหงอกเท่านั้นที่ทะเลาะกัน วันนี้ถ้าหยุดปัญญา อ่อนบ้านเมืองจะเจริญ อดทนกันอีกนิดบ้านเมืองก็จะเจริญขึ้น ผมมั่นใจว่าถ้าการ ปรองดองเกิดขึ้นทุกอย่างก็จะมีความสุข แล้วเราจะได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน”กุข่าวหรือเรื่องจริงมิอาจทราบได้ แต่ เมื่อมีการริเริ่มจากอีกฝั่งมันก็เป็นธรรมดา ที่อีกฝั่งต้องมีเอฟเฟ็กต์กลับมา แน่นอนและหวังให้นอนฟุบแน่ๆ มันย่อมเลี่ยงที่จะ ยกกรณีที่พรรคเพื่อไทยเป็นเนื้อเดียวกันกับคณะนิติราษฎร์ขึ้นมาทิ้งบอมบ์ไปไม่พ้น

นั่นก็สอดคล้องกับสิ่งที่ “ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นำคลิปข่าวการเคลื่อนไหวของแกนนำคนเสื้อแดงและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย และคณะนิติราษฎร์ออกมาแฉต่อหน้าสื่อโดยคลิปแรกเป็นการปราศรัยของ “สุนัย จุลพงศธร” ส.ส.พรรคเพื่อไทยบน เวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงที่จังหวัดราชบุรี โดยในภาพที่ปรากฏนายสุนัยยืน ปราศรัยบนเวทีที่มีสัญลักษณ์ต่อต้านกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างชัดเจน ส่วนอีกคลิปหนึ่งเป็นการแถลงข่าวของ “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” ประธาน นปช. ที่ประกาศว่าคณะนิติราษฎร์มีหัวใจเดียวกับคน เสื้อแดงและเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สองแขนของคนเสื้อแดง คือ แขนหนึ่งหมายถึง มวลชน ส่วนอีกแขนหนึ่งคือ นิติราษฎร์

ต่อเนื่องมาถึงมวยใหญ่อย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยิงตรงเป้าถึง “นายใหญ่” โดย ตรงเปิดปมกรณีเดียวกันในรหัสร้อน 112.. “เวลาที่เคลื่อนไหวกันเรื่องนี้ เสื้อแดงก็พูด คุณยิ่งลักษณ์ก็พูดตอนหลังเลือกตั้ง ผมถามหน่อยว่า นายอัมสเตอร์ดัมนี่ใครจ้าง มาสนใจเรื่องนี้ด้วยตัวเองเลยเหรอ เพราะ ฉะนั้นไปแก้ที่ตัวเองดีกว่าครับ อย่ามาพาล คนอื่น”เครื่องแกงการเมืองไทยสุดเผ็ดร้อน ประเทศเดินมาถึงทางสองแพร่ง เลี้ยวซ้าย เจอ ม.112 ข้อหาล้มเจ้า เลี้ยวขวาเจอมือ ที่มองไม่เห็นข้อหาปฏิวัติคนหน้าฉากและคนหลังฉากกำลัง จะนำพาชาติย้อนไปสู่จุดตั้งต้นแห่งความ วังเวง ไม่ว่าจะ “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มรัฐ”.. ประชาชนซวยตลอดศก..เอวัง!!!

ที่มา:สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ธรรมศาสตร์ การเมือง !!?

มาตรา 112 โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ในขณะนี้มีสภาพไม่ต่างไฟป่าที่ตีโอบล้อมเข้าสู่ศูนย์กลาง คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พานให้ร้อนไปถึงเก้าอี้ผู้ปกครองสถาบันบ่มเพาะการศึกษาด้านการเมือง การปกครองอันเก่าแก่ อย่าง “อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์”

“วันนี้คนไทยพูดเรื่องมาตรา 112 กันมาก แม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่า กลุ่มนิติราษฎร์มีเจตนาไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคนมาเผาหุ่น อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่คณะนิติศาสตร์ ในการเปิด หอประชุมเล็ก ก็ยังมีคนมาคาดคั้นให้กลุ่มนิติราษฎร์ต้องตอบคำถามให้ได้ ซึ่งเป็น ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น”

เป็นอธิการฯ มธ.ก็ลำบากหน่อย เพราะ 1.แสดงความไม่เห็นด้วยทางวิชาการ กับนิติราษฎร์ก็มีคนออกมาประท้วง ด่าและข่มขู่คุกคาม ให้ปลดจากตำแหน่ง 2.อนุญาต ให้นิติราษฎร์ใช้ที่มหาวิทยาลัยก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมากดดันคัดค้านต่อว่า 3.เห็นว่าควร พอได้แล้วกับ 112 (หลังจากอนุญาตไปแล้ว 4-5 ครั้ง) คนกลุ่มแรกก็ออกมาอีก 4.เห็น ว่าไม่ควรไล่ล่าแม่มดก้านธูป คนกลุ่มแรกออกมาชม คนกลุ่ม 2 ออกมาว่าอีกสังคมไทยไม่ยอมให้คนยืนบนความถูกต้องและพอดีพองามเลยหรือไง..อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้โอกาสนิติราษฎร์ใช้สถานที่ในการจัดงานเสวนามาหลายครั้งแม้ว่าตัวอธิการบดีเองจะไม่เห็นด้วยในเรื่องของการแก้ไข มาตรา 112 แต่ก็มองว่าธรรมศาสตร์เป็นสถานที่เปิดกว้างในด้านของความคิด แลกเปลี่ยน ในเชิงวิชาการแต่เมื่อเรื่องดังกล่าวถูกแปลประเด็นไปในเชิงการเมือง สร้างให้เงื่อนไขจน ธรรมศาสตร์เองแทบลุกเป็นไฟเพราะการเปิดกว้างทางความคิดครั้งนี้

สุดท้าย อ.สมคิด ต้องสั่งระงับการใช้พื้นที่ของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยฉับพลันเพื่อไม่ ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายไปมากกว่านี้เพราะไม่ว่าบรรดาศิษย์เก่าและปัจจุบัน ได้ออกมา ต่อต้านการกระทำของคณะนิติราษฎร์อย่างรุนแรง ที่ใช้ชื่อมหาวิทยาลัย สร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่มีการเรียกร้องให้สอบวินัย และปลดคณาจารย์ที่ร่วมในกลุ่มนิติราษฎร์ด้วย

สำหรับในเรื่องดังกล่าว อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ได้แสดงความเห็นผ่านบันทึกชื่อ “วิพากษ์ผู้วิพากษ์” และนำไปแบ่งปันบนเฟซบุ๊กของนายสมคิด มีเนื้อหาว่า “มีหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์เคลื่อนไหวเรื่อง ม.112 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกต่อไป โดย มองว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นี่ก็เป็นมุมมองหนึ่งที่เข้าใจได้ครับ แต่ผมอยากให้พวกเรามองอีกมุมมองหนึ่งด้วยว่า การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องออกมาตรการนี้ คงเป็นกรณีฉุกเฉินเพราะเกรงว่าอาจจะลุกลามจนกลายเป็น ‘6 ตุลาครั้งที่สองได้’ และถ้าจะเกิดก็คงจะเกิดที่ธรรมศาสตร์เหมือนเมื่อปี 2519...เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่ามาตรการนี้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็น ‘การตัดไฟแต่ต้นลม’ มากกว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพครับ เพราะที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ก็เปิดโอกาสให้กลุ่ม นิติราษฎร์ใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่เคลื่อนไหวมาหลายครั้งแล้ว...สรุปก็คือผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยครับ”

ในด้านของฝ่ายต่อต้านการตัดสินใจของอธิการบดี ซึ่งเห็นว่าคำสังนี้เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางความคิด ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสถาบันแห่งนี้ อย่างองค์การ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้มีการออกหนังสือคัดค้านว่าองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ขอแสดงจุดยืนที่มีต่อ มติดังกล่าว ดังนี้

1) อมธ. ร้องขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ตามที่ท่านอธิการบดีได้ระบุไว้ข้างต้น เพราะมติดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสาระสำคัญแห่ง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

2) มหาวิทยาลัยเปรียบได้กับห้องทดลองในทางสังคมศาสตร์เป็นสถานที่หลัก ในการขับเคลื่อนพัฒนาการในทางวิชาการ เปรียบได้กับพัฒนาการในทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องอาศัยห้องทดลองเป็นสำคัญ การไม่อนุญาตให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ต่างอะไรกับการทำลายเสาค้ำยันในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพในทางความคิดทิ้งไป

3) เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ท่านอธิการบดี ชี้แจงถึงมติดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน
สุดท้ายนี้ อมธ. ยังคงยืนยันในจุดยืนแห่งการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรายังคงเคารพในความเห็นที่แตกต่าง ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม ตราบเท่าที่ความคิดเห็นเหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ทั้งนี้ อมธ. ในฐานะผู้แทนของนักศึกษาซึ่งมีความหลากหลายทางความคิด ขอรับรองว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองใด และไม่มีกลุ่มทาง การเมืองใดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแต่ความสวยงามในความคิดเห็นที่แตกต่างคือภาพสะท้อนแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แท้จริง

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวจะจบลงในรูปแบบไหนก็ถือว่าไม่มีถูก ไม่มีผิด หากเป็นเพียงเรื่องของวิชาการองค์ความรู้ หากแต่ถูกเชื่อมโยงไปในประเด็นการเมืองก็นับว่าน่าเป็นห่วงเพราะเป็นเรื่องที่บอบบางและเกี่ยวเนื่องกับสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของคนทั้งประเทศ

ที่มา.สยามธุกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ถอดเนื้อหาสัมนาบูรพาภิวัตน์ ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่ ฤาโลกจะกลับขั้วอํานาจ...

กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต

เวทีสัมมนาใหญ่ “บูรพาภิวัตน์: ฤาโลกจะกลับขั้วอำนาจ” งานสัมมนาที่จะให้มุมมองยุทธศาสตร์ประเทศไทย รับกระแสเอเชียผงาดในวันอังคาร ที่ 31 มกราคม 2555 เวลา 13.00-16.30 น. ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล


 

กล่าวต้อนรับโดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานนโยบายสาธารณะที่ดี


เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปตั้ง แต่ต้นศตวรรษที่ 21 สหรัฐอเมริกา เริ่มเสื่อมถอยทางธุรกิจ เอเชียกำลังผงาดขึ้น จีนได้เข้ามามีอำนาจเป็นผู้นำปรากฎการบูรพาภิวัติน์ และอินเดียที่กำลังตามเข้ามา นอกจากนี้ยังมีประเทศผู้นำเศรษฐกิจใหม่อย่าง บราซิล เม็กซิโก อิหร่านอิน ตุรกี เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้ล้วนเข้ามาแทนประเทศตะวันตก ขณะที่หลายๆประเทศจะก้าวต่อไป แต่ประเทศไทยกำลังอยู่ในวังวลโกลาหลทั้งการเมืองและอุทกภัย คนไทยจำเป็นจะต้องตื่นตัวและมองไปรอบๆ และพลิ้วไหวไปในโลกาภิวัตน์และบูรพาภิวัตน์

ปาฐกถาพิเศษ “บูรพาภิวัตน์ ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่” โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมทำงานชิ้นนี้ทำไปก็ค่อยข้างมีความสุขที่มีความสุข เพราะไม่คิดว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ตอนผมเป็นเด็กประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมก็พึ่งพ้นจากความเป็นอาณานิคม ตอนนี้ผมอายุ 58 ไม่คิดว่าจะประเทศต่างๆจะพัฒนาขนาดนี้ ทั้งจีน อินเดีย สิงค์โปร์ มาเลเซีย 200 ปีที่ผ่านมาสมัยรัชการที่ 3 ท่านจะเห็นว่าเราอยู่ในโลกที่ตะวันตกเป็นใหญ่มานาน ไม่ต่ำว่า 200 ปี โดยเฉพาะช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ตะวันตกเหนือกว่า และมีอำนาจมากกว่า แต่ตอนนี้ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นกลับกลายเป็นผู้นำนำได้อย่างน่าพิศวง ท่านทั้งหลายคงทราบว่าจีนเจริญก้าวหน้า แต่ไม่เพียงแค่จีน อินเดียก็ตามาห่างไม่เร็วเท่าจีน แต่ภายใน 10 ปี คาดว่าอินเดียคงเติบโตเร็วกว่าจีน จีนจะเริ่มช้าลง อินเดียมีอะไรดีๆอีกมากนออกจากสังเวชนียสถานที่เราชอบไปกันอินเดียมีอะไรเจริญกว่านั้นอีกเยอะ

ถัดจากอินเดียก็ตะวันออกลาง เรามักคิดถึงเฉพาะการก่อความไม่สงบ แถวซีเรีย อิสราเอล อิรัก อิหร่าน แถบนี้เจริญมีอย่างมาก มหาวิทยาลัยมีชื่อกำลังไปเปิดที่ดูไบ กาตาร์ พิพิธพันธ์ louvre ก็จะเปิดสาขาแถวนี้ และกำลังทำเมืองสีเขียวชื่อเมืองมัสก้า ที่สำคัญคือตะวันออกกลางมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ในการลงทุนที่ต่างๆ เช่น มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งติดแอฟฟริกา อินเดีย จนกระทั่งถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้ง 3 จังหวัดภาคใต้ก็อาจจะมีโอกาสได้รับการลงทุนด้วย ที่ตะวันออกกลางรวยขึ้นมาก็เพราะจีนอินเดียเพิ่มกำลังการซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้นมาเมื่อก่อนตะวันออกกลางขายแต่ตะวันตกทำให้ตะวันออกกลางร่ำรวย อิหร่านและตุรกีต่างจากตะวันออกส่วนอื่นเพราะพื้นที่ใหญ่มาก อิหร่านมีความสำคัญกับการต่างประเทศสูง ตุรกีพยามเข้าไปอยู่ตะวันตกแต่ไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้อยากมาตะวันออกแล้วด้านบนของตุรกีคือทะเลดำด้านล่างคือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตุรกีอยู่ชิดกับตะวันออกของยุโรป แต่ EU ไม่สนใจ ตุรกีเลยทำตัวเป็นตัวเชื่อมก๊าซและน้ำมันเหล่านี้ ซึ่งตอนนี้ตุรกีเศรษฐกิจดีมากทั้งที่เมื่อก่อนเป็นคนป่วยของยุโรป แต่ตอนนี้เป็นจีนของยุโรป

ฉะนั้นทุกวันนี้ท่านอย่าติดภาพเดิมๆที่เคยได้ยิน รัสเซียเองตอนนี้ก็ร่ำรวยจากก๊าซธรรมชาติ บราซิลตอนนี้เป็นเจ้าหนี้ใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีอุตสาหกรรมทำเครื่องบินไอพ่นเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีเทคโนโลยีการเกษตรไม่แพ้สหรัฐอเมริกา
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ


ผมรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ประมาณ 2000 ปีที่แล้ว เอเชียมีระบบเศรษฐกิจประมาณเกือบ 80% ของโลก ศาสนาพุทธอยู่ในยุคที่เจริญที่สุด เป็นยุคของจีนและอินเดียและค่อยๆลดลงเรื่อยๆ แต่ในปี 1990 สัดส่วนเศรษฐกิจของเอเชียกำลังเพิ่มขึ้น บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ต่อไปจะเป็นผู้เล่นหลัก รูปขนาดเศรษฐกิจต่างๆ อีก 10 ปีข้างหน้า สหรัฐจะใกล้กับจีนขนาดของเศรษฐกิจจะใกล้เคียงกันมากและยุโรปจะติดอันดับลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม11ประเทศต่อไปที่จะเข้ามามีบทบาท บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปินส์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิยิปต์ ตุรกี ไนจีเรีย เม็กซิโก เวียดนาม แต่ที่ผมดูๆมาไม่มีประเทศไทยเลยก็ค่อนข้างน่าตกใจ

การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะเห็นว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียมีการเติบโตมากขึ้น


การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตในปี ค.ศ. 2025


การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตในปี ค.ศ. 2032


ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าตะวันตกเศรษฐกิจจะเริ่มถดถอยลง แต่ส่วนที่ไม่ค่อยถอย คือแคนนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่ไม่ถอยเพราะเขาปรับนโยบายมาทางตะวันออกมากขึ้น

ส่วนยุโรปหนี้สาธารณะสูงมาก เยอมันที่เราคิดว่าเศรษฐกิจเขาดี ก็มีหนี้สาธารณะสูงเช่นกัน เงินยูโรก็อาจจะต้องผลักบางประเทศออกไป ตอนนี้ยุโรปกำลังป่วย ซึ่งยุโรปเป็นต้นแบบ AEC บ้านเราฉะนั้นต้องกลับมาดูทบทวน AEC ด้วย ผมว่าเราต้องคิดให้ดีว่าจะทำอย่างไร เราอาจต้องใช้สมองชุดใหม่คิด



กลับมามองไทยควรทำอะไร

เรามีปัญหาเยอะ แต่เรามีที่ตั้งที่ดีเหลือเกิน ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศผมมองว่าเราต้องใช้ปัจจัยนอกประเทศ เพราะปัจจัยในประเทศยังอ่อนล้าเหลือเกิน จากทางภูมิประเทศ ทางตะวันตกคือมหาสมุทรอินเดียซึ่งในยุคบูรพาภิวัตน์จะกลับมาเป็นมหาสมุทรที่สำคัญที่สุด ซึ่งติดกับอินเดียและตะวันออกกลาง ด้านขวามือเราออกจากอ่าวไทยคือ มหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ ติดจีน ประเทศไทยอยู่ในระหว่างทางเชื่อมไทยและอินเดีย ต่อมาช่องแคบมะละกา ซึ่งสตูลเป็นปากช่องแคบมะละกา และมีสิงคโปร์ สินค้าผ่านช่องนี้ 2 เท่าครึ่ง คอคอดกละ ผมว่าน่าทำมาก จีนก็อยากทำแต่ไทยก็เฉยๆ ไทยเป็นพวกเฉยๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรกับเขาเลย ผมคิดต่อว่าถ้าเราทำรถไฟร่วมกับจีนอย่าหยุดที่ภาคใต้ อยากให้ไปต่อที่มาเลเซียและต่อไปอีก 30 กิโลเมตรไปสุมาตรา จากนั้นไปเชื่อมต่อกับชวา ถ้าทำที่ชวาได้ประชากรที่นั่น 100 กว่าล้านคน ไทยควรจะเป็นตัวเชื่อมอาเซียนคนประมาณ 200 ล้าน ตอนนี้อินเดียก็อยากมาที่อาเซียนตัวที่เชื่อมอาเซียนคือ พม่ากับไทย การที่นายกไปปรากฏตัวที่อินเดียที่ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ผมว่าการที่โลกเปลี่ยนมันเป็นโอกาสที่ดี เราต้องปรับปรุงตัวเองหลายอย่าง เช่น การศึกษา ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความรู้ชุดเดียวจากตะวันตก

การพัฒนาประเทศอย่าไปมองแค่กรุงเทพ อย่างภาคเหนืออย่าคิดว่าคือส่วนปลายของประเทศต้องคิดว่าคือส่วนเชื่อมต่อกับพม่า อิสานก็เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับเวียดนาม ภาคใต้ก็ติดมาเลเซีย เวลาวางแผนต้องทำให้ทุกจุดเป็นศูนย์กลางของประเทศได้ทั้งหมด

ปาฐกถาพิเศษ “เมื่อเอเชียผงาด: ไทยจะปรับตัวอย่างไร” โดย ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ

ผมดีใจที่อาจารย์เอนกพูดไว้ดีมาก คือพวกเราไม่ค่อยสนใจนอกประเทศหรือสนใจก็แต่ประเทศที่เคยค้าขายจะไปไหนก็ไปแต่ประเทศที่เคยไป แต่ตอนนี้เราเข้าสู่บูรพาภิวัตน์ ผมขอเกริ่นนำก่อนตอบคำถาม มีตัวเลขที่น่าสนมากเป็นตัวเลขและยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ อย่างแรก คือการเคลื่อนจาก G7 ไป G20 ซึ่งสำคัญมากแต่เราไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะนอกจาก 7 ประเทศที่มีความสำคัญด้านอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาแล้ว ในนั้นมีจีน อินเดีย บราซิล แอฟฟริกาใต้ เมื่อมี ASEAN 10 ก็จะเชิญประเทศที่เป็นเจ้าภาพที่ไปประชุมด้วยทุกปีใน G20 ฉะนั้นการตัดสินใจในเศรษฐกิจโลกก็จะมีหลายประเทศเข้าไปตัดสินใจ

จากากรเสื่อมถอยของเศรษฐกิจทั้งอเมริกา ยุโรป และ การชะลอตัวของญี่ปุ่นชี้เราเห็นเป็นตัวเลข เมื่อปี 2001 สัดส่วนเศรษฐกิจของเอเชียเป็น 30% ของโลกข้อมูลจากที่อาจารย์เอนกนำเสนอไปในปี 2020 คาดว่าสัดส่วนทางเศรษฐกิจ จะเกือบครึ่งหรือเกินครึ่งของของสัดส่วนGDP ของโลก จำนวนประชากรเกินครึ่งหนึ่งของโลก เงินสำรองก็จะเกินครึ่งหนึ่งของโลกในไม่ช้านี้ การนำเข้าในเอเซียเกิน 1 ใน 4 ของโลก ผู้ผลิตน้ำมันในเอเซียก็ติด 1 ใน 4 ของโลก ผู้บริโภคน้ำมันก็ 1 ใน 10 ก็อยู่ในเอเชีย ตะวันออกกลางที่เราเรียกกัน ซึ่งผมชอบเรียกเอเชียตะวันตก เราเองชอบเรียกอะไรตามยุโรป เราชินกับคำว่า Far East ซึ่งผมก็ถามเสมอว่ามัน far from where มันคือ far from London นั่นแหละครับ และเรามักจะเรียกว่า Near East ก็คือมัน Near London และเราก็จะชินกับ Middle East ก็ตะวันออกกลาง และต้องถามว่ามันอยู่ตรงกลางระหว่างลอนดอนกับตะวันออกไกล

เราก็ต้องมาคิดว่าทำไมเราไม่นั่งในเอเชีย เหมือนที่ยุโรปเขานั่งในยุโรปแล้วเรียกยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ยุโรปใต้ ทำไมเราไมนั่งอยู่เอเชีย แล้วบอกว่าเอเชียตะวันออกคือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เอเชียตัวนออกเฉียงใต้คืออาเซียน เอเชียใต้คือปากีสถานบังคลาเทศ อินเดีย ภูฏาน เอเชียกลางก็พวกปากีสถาน และสถานทั้งหลาย พวกตะวันออกกลางกลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council) 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์



สิ่งที่น่าสนใจคือ อินเดียมีชนชั้นกลางที่พูดภาษาอังกฤษและพร้อมจะ take off อยู่ 300 ล้านคน มีคนจน 700 ล้านคนที่พร้อมจะเป็นชนชั้นกลาง จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก เป็นผู้ค้าอันดับต้นๆของประเทศต่างๆทั่วโลก ดูไบมีสนามบินรองรับคนได้ 120 ล้านคนต่อปี ท่าเรือ ที่ UAE มีคนใช้บริการเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ทางด้านยุทธศาสตร์ ทั้งในและนอกเอเชียบ้าง ออสเตรเลียใช้ภาคตะวันออกเชื่อมเอเชียอยู่ในความร่วมมือ Indian Ocean Rim จัดเป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย นิวซีแลนด์เปิดการค้าเสรีกับหลายประเทศ

อเมริกาเริ่มเห็นว่าต้องให้ว่าต้องปรับนโยบายใหม่หลายอย่าง เช่นกับจีนโดยเลิกไปกดดันจีนเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและเรื่องค่าเงิน โดยเริ่มดึงจีนเข้ามาร่วมในอะไรต่างๆ ก็ตามและจำกัดไว้ไม่ให้โตเกิน อเมริกาเข้ามาหาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างน่าอัศจรรย์เพื่อคานจีน เมื่อ 2 ปีที่ แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับพม่าก่อนที่จะมีเลือกตั้ง อเมริกาคิดอยู่ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความร่วมมือทางแม่น้ำโขงที่ไม่มีจีน อเมริกาเห็นว่าจีนมีความร่วมมือกับกลุ่มแม่น้ำโขงที่เรียกว่า GMS อเมริกาจึงคิดขึ้นมาใหม่ว่า US Lower Maekhong พออเมริกาเรียกว่าช่วงล่างของแม่น้ำโขงได้ ก็สามารถตัดพม่ากับจีนออกได้ร่วมมือกันได้อย่าไม่ตะขิดตะขวง ซึ่งอเมริกาแต่เดิมไม่เคยสนใจประเทศในลุ่มน้ำโขงเลย

ในอาเซียนของเรามีความร่วมมือ และมีการประชุมสุดเอเชียตะวันออกอยู่เรียกว่า East Asia Summit ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญของการจำกัดความภูมิศาสตร์ ว่ามันเรียกว่า East Asia แต่จริงๆแล้วมันมีอินเดียซึ่งอยู่เอเชียใต้ และมีสมาชิกในแปซิฟิกอย่าง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมอยู่ด้วยแต่เรียกว่า East Asia Summit เมื่อปีที่แล้วอเมริกามาก็ไม่ได้สมัครอะไรหรอกครับ มาถึงก็บอกว่าข้าพเจ้าจะเป็นสมาชิก East Asia Summit ด้วย อาเซียนก็ไม่รู้จะว่ายังไงในที่สุดก็ได้เป็นสมาชิก เราก็พยามให้เกิดความสมดุลย์ด้วยการไปดึงรัสเซียเข้ามาด้วยฉะนั้นการจำกัดความของเอเชียตะวันออกก็ตะเหลิดเปิดเปิงไปไกล จะเห็นได้ชัดว่าภูมิศาสตร์ไม่ได้ช่วยอะไร แต่สิ่งที่เห็นคือทุกประเทศกำลังโดดเข้ากระบวนรถด่วนบูรพาภิวัตน์

อเมริกามียุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจได้น่าจับตามอง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 1997 เรามีปัญหาทางเศรษฐกิจท่านคงได้ยินชื่อ Washington Consensus ที่เขาตกลงกันมาในปี 1970 ที่ว่าหลักเศรษฐกิจที่ถูกต้องจะต้องมีวินัยการเงินการคลังอย่างไร ต้องเปิดเสรี ต้องพึ่งมือที่มองไม่เห็น ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในปี 1997 ที่เราเกิดวิกฤต IMF ซึ่งรับความคิดเหล่านี้มาเต็มๆจะใช้เงินภาษี ประชาชนไปอุ้มธนาคาร ไปซื้อหนี้เสียไม่ได้ เวลานี้เมื่อเกิดกับอเมริกา อเมริกาบอกว่าต้องเอาเงินภาษีไปอุ้มธนาคาร ประกันภัย ให้หมด แต่ของไทยบอกว่าให้รัฐขายทันทีเข้าใจว่าต่ำสุดคือ 8 % ของมูลค่า สูงสุดคือ 28% แต่ตอนอเมริกาบอกว่าห้ามขายทรัพย์สินเพราะราคาจะตกและตั้งกองทุนขึ้นมาเอาภาครัฐเอกชนเข้ามาร่วมกันประครองทรัพย์สิน

ฉะนั้นแล้วอเมริกาเขาไม่ใช้แล้ว Washington Consensus เขาใช้ Post Washington Consensus คือไปพึ่งมือซึ่งมองเห็น เช่นการพึ่งรัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วย แล้วพวกเราก็ถามกันว่าธรรมาภิบาลการเงินคืออะไร สิ่งไหนคือถูกต้อง สิ่งที่สหรัฐทำคือไม่พึ่ง Consensus แล้ว

ญี่ปุ่นก็เข้ามาที่แม่น้ำโขงอยากจะมี Japan-Mekong Cooperation โดยไม่มีจีน รัฐเซียให้ความสำคัญก็เข้ามา เป็นข้อเสนอของไทยที่คิดขึ้นมาเรียนกว่า ACD หรือ Asia Cooperation Dialogue หรือที่เรียกว่าเวทีความร่วมมืออาเซียน ซึ่งสำคัญมากมีประเทศสมาชิกประมาณ 30 ประเทศแต่ไทยไม่ให้ความสำคัญเพราะเราไม่มีความต่อเนื่องเชิงยุทธศาสตร์ รัฐเซียมีพื้นที่ยื่นมาทาง Asia ประมาณ 70% คนรัสเซียหน้าตาก็ไม่ต่างกันคนเอเซีย ในที่สุดรัสซียก็ได้เข้ามาใน East Summit และให้ความร่วมมือเป็นอันมาก

แคนนาดาก็น่าสนใจ The Asia-Pacific Gateway and Corridor Initiative ประตูเชื่อมเอเชียเขาสร้างสิ่งต่างๆ ท่าเรือ รถไฟ เชื่อมเมือง ต่างๆในเอเชีย เช่นที่โตเกียว เซี่ยงไฮ้ พูซาน เซินเจิ้น สิงคโปร์ อินเดียก็เน้นเอเชียกลางสร้างท่าเรือให้อิหร่าน สร้างทางรถไฟกรณีของ SAARC (South Asian Association for Regional Cooperation) สมาชิกได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกาและได้เชิญอัฟกานิสถานเป็นองค์กรความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในแง่ประชากร (1 ใน 5 ของประชากรโลก) กำลังสร้างทางส่งน้ำมันขึ้น เกิดการรวมกลุ่ม Brazil, Russia, India และ China รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อให้ชาติมหาอำนาจฟัง ตอนหลังมาเป็น BRISA มีแอฟริกาใต้เข้ามาด้วย

ส่วนจีนใช้ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก สร้างท่าเรือรอบมหาสมุทรอินเดียเพื่อเชื่อมเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออก เท่ากับว่าจีนมียุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก จีนเสนอความร่วมมือ Pan-Beipu Gulf Economic Cooperation หรือ PBG ใช้หลักคิด 1 แกนสองปีก ซึ่งตอนหลังได้ไทยได้เข้ามาร่วมภายหลังในปี 2009 เพราะเราทะเลาะกันมากจนเขาไม่รู้จะคุยกับใคร

(อธิบายเพิ่ม) หนึ่งแกน คือ แกนกลาง ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมทางบก จากนครหนานหนิงไปยังสิงคโปร์ โดยแบ่งเส้นทางออกเป็น 2 สาย คือ

1 เส้นทางทางบกเลียบฝั่งตะวันออก คือ หนานหนิง-ฮานอย-ดานัง-โฮจิมินห์-พนมเปญ-กรุงเทพฯ-มาเลเซีย-สิงคโปร์

2 เส้นทางทางบกสายกลาง คือ หนานหนิง-ฮานอย-บินห์-เวียงจันทน์-หนองคาย-กรุงเทพฯ-มาเลเซีย-สิงคโปร์

สองปีก คือ ปีกของกรอบความร่วมมือ

1 ปีกด้านซ้าย คือ กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ประกอบด้วย จีน (ยูนนาน และกว่างซี) ไทย พม่า กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม

2 ปีกด้านขวา คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวตังเกี๋ย (เป่ยปู้) (Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation – PBBG) ประกอบด้วย จีน (กว่างซี กวางตุ้ง ไหหลำ) เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน

โดยระบุวัตถุประสงค์ของแนวคิดดังกล่าวว่า เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่ง ในเรื่องการขนส่งทางทะเล อุตสาหกรรมท่าเรือ พัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจทางทะเล พัฒนาความร่วมมือระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวตังเกี๋ย (เป่ยปู้) รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินการภายใต้ความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อสร้างเขตความเจริญแห่งใหม่ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และจีนทุ่มงบมหาศาลไปในแผนนี้

หลายประเทศเทศพยามสร้างความร่วมมือลดความขัดแย้งต่อเพื่อนบ้าน

แอฟฟริกาใต้ เสนอยุทธศาสตร์ผีเสื้อ คือ แอฟฟริกาใต้เป็นตัวผีเสื้อ และให้อินเดียและบราซิลเป็นปีกผีเสื้อ
ตุรกี เสนอยุทธศาสตร์ใหม่และใช้มาตลอด Zero Problem With Neighbor Policy คือไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านซึ่งอันนี้อาจจะไม่คุ้นกับประเทศไทยช่วงที่ผ่านมานะครับ อินโดนีเซีย Thousand, Friends Zero Enemy ซึ่งภาษาไทยแปลว่าเพื่อนมากมายศัตรูไม่มีเลย แต่บางประเทศกลับใช้เพื่อนน้อยศัตรูเยอะ
เรื่องพลังงานเกิด East West Corridor ได้เชื่อมจีน เอเชียกลาง ยุโรป ต่อไปอาเซียนจะเป็นอ่าวเปอร์เชียของก๊าซธรรมชาติแต่ไทยกับกัมพูชาพูดกันไม่รู้เรื่อง ที่ผมพูดมาต้องการจะให้เห็นการเชื่อมโยงต่างๆ เช่น ทางกายภาพ ทางพลังงาน นโยบายเศรษฐกิจ ทางยุทธศาสตร์ เช่น กลุ่มต่างๆเชื่อมธุรกิจการค้าบริการอาหาร พลังงาน เชื่อมโยงทางวิชาการ นวัตกรรมต่างๆ และการเชื่องโยงทางวัฒนธรรม กีฬา ภาพยนตร์

มาตอบคำถามว่าไทยจะปรับตัวอย่างไร มี 6 ประการด้วยกัน

ทัศนคติแปลกๆ ของคนไทย คือเราชอบคิดว่าเราเป็นมหาอำนาจ ไม่รู้ว่ามาจากไหน สังเกตว่าเราทำอะไรที่ไหน ใครมาแหยมเรานิดนึงเราจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่สนใจประเทศเพื่อนบ้านว่าเขามีอะไรติดกับภาพเก่าๆของเขา เราชอบสบายชอบค้าขายประเทศเดิมๆ เราชิน ชอบอะไรเดิมๆมาตลอด

1 พิจารณายุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ เช่นจีน EU ญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย รัสเซียเขามีต่ออาเซียอย่างไร
การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบก่อนและหลัง Washington Consensus ผลเป็นอย่างไร

2 เราต้องวิจัยยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้าน
ลองดูบ้านว่าสอดคล้องกับเราไหม เช่น ลาวเขาจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย เราคิดยังไงทำอะไรบ้าง พม่า กัมพูชาก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราเข้าใจเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียสร้างความโดดเด่นในอาเซียนได้เป็นสมาชิก G20 เขาเป็นเจ้าภาพจัด World Economic Forum เมื่อปีที่แล้วสิ่งต่างๆเหล่านี้เราได้ศึกษาไหม

3 ศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์ประเทศที่มีบทบาทในภูมิภาคเรา
เช่น ตะวันออกกลางเราได้ศึกษา การ์ตา บาเรนห์ โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เราได้มองหรือมียุทธศาสตร์กับเขาอบ่างไรบ้างไหม

4 วิเคราะห์ศึกษายุทธศาสตร์การร่วมกลุ่มของประเทศต่างๆ
เช่น การรวมกลุ่มของ BRIC,BRICSA ว่าเขามีนโยบายอย่างไรต่อกัน ยุทธศาสตร์เขาคืออะไร และเราจะอยู่ตรงไหน

5 ศึกษาประเด็นทางยุทธศาสตร์
อย่างแรก Politics of Oil การเมืองเรื่องน้ำมัน อันนี้เป็นชนวน ส่งผลต่อการมีนโยบายวางท่อน้ำมันของประเทศต่างๆ เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ต่อมา การขนส่งทางเรือ ท่าเรือที่เกิดขึ้น ทำไมจีนญี่ปุ่นและอินเดียถึงสนใจจะแย่งลงทุนที่ทวาย

6 ศึกษายุทธศาสตร์ของอาเซียน และกลุ่มมหาอำนาจว่าเขามีต่ออาเซียนอย่างไร เราจะใช้อาเซียนให้สอดรับกับยุทธศาสตร์เราอย่างไร

สิ่งที่กล่าวมาคือรู้เขา ต่อไปที่จะกล่าวคือรู้เรา

1 ต้องสร้างสมดุลให้มหาอำนาจที่สนใจภูมิภาคของเรา ปัญหาเราจะสร้างสมดุลอย่างไร เราจะได้อยู่ในระดับพอดีกับจีน สหรัฐ อินเดีย และมหาอำนาจต่างๆ เพราะว่าหากใกล้ไปก็ร้อน ไกลไปก็หนาว เราต้องมียุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุล

2 เราต้องรู้จุดแข็งของประเทศไทยคือที่ตั้ง ความสามารถในการเชื่อมประเทศต่างๆได้หลายทิศทาง ประเทศจึงมีลักษณะเชื่อมเป็นศูนย์กลาง จุดแข็งที่สองคือสินทรัพย์ของเรา คือความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านเรา ทำให้เรามีอำนาจในการต่อรอง อีกอันหนึ่งคือความพอดีของเราในอาเซียน ใครทะเลากันเราเป็นเพื่อนเราหมด เราเชื่อมได้ทั้งอาเซียนเก่าและใหม่มีอะไรก็มาคุยกัน ฉะนั้นเรื่องที่เขาไม่เข้าใจกันเขาก็ให้เราอธิบาย แต่ช่วงที่ผ่านๆ มาเราก็มีปัญหาบ้างเพราะเราลงไปทะเลาะกับเขาด้วย เราสามารถเชื่อมมหาอำนาจได้ เราจะเป็นสะพาน ฉะนั้นใครมีปัญหามาคุยที่ไทยทุกคนสบายใจ

3 เราต้องมีบทบาทที่ต่อเนื่องในเวทีที่เรามีบทบาท ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรามีนโยบายไม่ต่อเนื่อง ขาดยุทธศาสตร์ในการประชุมแต่ละครั้ง เช่น ACD เราควรจะเน้นเพราะมี 30 ชาติจากทุกภูมิภาค

4 เราต้องมีกรรมการถาวรระดับชาติเสียที เฉพาะเรื่องการต่างประเทศ โดยยุทธศาสตร์ต้องสะท้อนด้านต่างๆ เช่นพลังงาน การค้า บริการ รวมกันเป็นแพคเก็จและสะท้อนยุทธศาสตร์ของชาติเรา หรือมีสถาบันยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนนายก เปลี่ยนรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติไม่เปลี่ยนหากจะเปลี่ยนก็ต้องมาคุยกันว่าเปลี่ยนเพราะอะไร

เมื่อเศรษฐกิจตะวันตกชะงักและเสื่อมถอย : ผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้



เนื่องจากเศรษฐกิจของตะวันตกหยุดชะงัก ใครจะคิดว่า Lehman Brothers ที่มีทรัพย์สิน 6 แสนล้านจะล้มละลาย ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากภาคการเงินของอเมริกาและยุโรป ภาคสินเชื่อมีความไม่แน่นอน การใช้จ่ายเงินเกินตัวของสหรัฐ ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ตะวันตกสามารถใช้เงินเกินตัวได้นานก็เพราะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ประเทศที่มีเงินเยอะอย่างตะวันออกกลางมีเงินเยอะไม่รู้จะเอาไปไหนก็เลยเอาไปไว้ที่สหรัฐและตะวันตก ผมเคยเจอ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผมเจอเขา เขาก็พูดเชิงเล่นๆว่า เพราะพวกคุณนั่นแหละเอาเงินมาให้เราใช้เกินจนเกิดวิกฤติ


ผมอาจจะเห็นต่างจากสองท่านที่ผ่านมานะครับ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ต่อไปโลกจะมีหลาย center โลกที่เป็นขั้วนำคือเอเชียแปซิฟิก ขั้วเหมือนเก้าอี้สี่ขา มีเอเชีย สหรัฐ ยุโรป ตะวันออกกลาง ณ เวลานี้ผมมองว่าเอเชียแปซิฟิกเป็นตัวนำ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ของใหม่ มันเคยเกิดขึ้นในปี 1600 ถึง 1800 คือตอนที่ตะวันตกมาเอเชีย แต่ผมยังมองว่าสหรัฐยังเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่ รองลงมาก็ยุโรป ส่วนตะวันออกกลางผมมองอยู่สองเรื่องคือเรื่องการปกครองจะเอาแบบไหน เรื่องต่อมา ยิวกับอาหรับตีกันไม่เลิกเป็นปัญหาต่อเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา


ผมมองว่าพื้นฐานของเอเชียดีดูอย่างวิกฤติทางเศรษฐกิจ ปี 2008 เราทรุด ปี 2009 เราฟื้นมาอย่างรวดเร็ว ตอนนี้ทุกอย่างกลับกันไปมา เมื่อก่อนอินเดียโวยว่าตะวันตกแย่งงานซึ่งเนรูห์ก็เคยกล่าวเช่นกันในบันทึก (อธิบายเพิ่ม เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีเครื่องมือที่ทันสมัยทดแทนการใช้แรงงานเช่นอุตสาหกรรมทอผ้า) แต่สมัยนี้เอเชียก็แย่งงานกลับมา จีนเป็นโรงงานขนาดใหญ่ของโลก อินเดียพูดภาษาอังกฤษเก่งก็ทำ call center แย่งงานตะวันตก






สำหรับเนื้อหาของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ในงานสัมมนากรุณาเข้าไปที่ลิงค์ด้านล่าง
ยุทธศาสตร์การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21: บทเรียนจากงานสัมมนา “บูรพาภิวัตน์”

ที่มา:Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เกษียร เตชะพีระ ชี้ไทยมีโครงสร้าง ปชต. แต่ ปชช.ยังคิดแบบสมบูรณาฯ ย้ำ มธ.ไม่มีล้มเจ้า.. !!?

ที่ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง "ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยมีนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. และนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนา

นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวว่า ผู้สำเร็จการศึกษามีภารกิจสองด้าน หน้าที่หนึ่งยืนหยัดประชาธิปไตย หน้าที่ที่สองต้องช่วยให้ประชาชนใกล้ชิดประชาธิปไตยมากขึ้น นั้นคือเหตุผลว่า ทำไมต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าคณะราษฎรเกิดขึ้น เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2475 และมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกรอบว่าคนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน รวมทั้งผู้นำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย อาจารย์ปรีดีไม่เคยถกเถียงเรื่องประชาธิปไตย แต่ถกเถียงเรื่องคำ 3 คำคือ สิทธิ เสมอภาค และเสรีภาค และสิ่งที่อาจารย์ปรีดีต้องการบอกคือ อย่างแรก เราต้องทำการผลิตมนุษย์ยุคใหม่เพื่อเข้าสู่ระบอบทางการเมืองใหม่ ภารกิจของ มธ.คือผลิตคนที่จบ มธ.เข้าสู่การเป็นราชการและนักการเมือง อาจารย์ปรีดีจึงสถาปนาชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อบอกนักศึกษาทุกคนว่า คุณต้องเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าคุณจะต้องการหรือไม่ ดังนั้น นักศึกษา มธ.จึงต้องยืนยันหลักการทางการเมืองต่อไป

นายธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า คำถามที่นักศึกษาของตนมักจะถามคือ ทำไมต้องเกิดคณะราษฎรขึ้น และทำไมต้องมีการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2475 คำตอบก็คือ เพราะเราไม่สามารถแยกออกจากกระแสโลก คณะราษฎรสามารถบรรลุความสำเร็จได้ เพราะการรวมตัวของคน 7 คน แต่ตนจะชี้ประเด็นว่า 7 คนนี้อายุสูงสุดคือ 29 ปี คือร้อยโทแปลก พิบูลสงคราม คน 7 นั่งคุยกันแล้วบอกว่าบ้านเมืองเราวันนี้ไม่ศิวิไลซ์ ถามต่ออีกว่าแผ่นดินนี้เป็นของใคร คณะราษฎรบอกว่าแผ่นดินนี้เป็นของราษฎร ดังนั้น เราต้องทำให้แผ่นดินนี้ศิวิไลซ์ลงไปสู่ราษฎรและรัฐธรรมนูญคือความศิวิไลซ์ และนี่คือพลังอันสำคัญ เมื่อคณะราษฎรประสบความสำเร็จ จึงเกิดหลัก 6 ประกัน คือ เอกราช ความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ที่สำคัญเรามักจะบอกว่าการปฏิวัติในสมัย 2475 เป็นการปฏิวัติที่ไม่นองเลือด แต่มันมีการนองเลือดหลังจากนั้น เห็นได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นมรดกที่ได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2475

ผมเคยตั้งคำถามว่า หากมีกรณีของนิติราษฎร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น จะเกิดเหตุการณ์แบบที่นี่หรือไม่ คำตอบคือ เกิดไม่ได้ ทั้งนิติราษฎร์และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว เพราะการกำเนิดของ มธ. เป็นแบบพิเศษ นิติราษฎร์ไม่สามารถไปเกิดที่ไหนได้ นอกจากที่ มธ. และเมื่อเกิดที่ มธ. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกสมัยต้องเผชิญหน้า เวที มธ.เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคมไทยตลอดมา แน่นอนเมื่อคุณก่อให้เกิดสิ่งใหม่คุณต้องเจ็บปวด ในด้านผู้บริหารนับแต่ปี 2500 มา ผู้บริหาร มธ.ได้รับแรงกดดันมาตลอด แต่ท่านจะเล่นบทนั้นอย่างไร ขอบอกว่าท่านต้องเล่นบทสองหน้า คือบอกกับสังคมว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ อาจารย์และนักศึกษาต้องถกเถียงกัน เพราะหากท่านเล่นบทหน้าเดียว นั่นหมายความว่าท่านได้สวามิภักดิ์แล้ว” นายธำรงศักดิ์กล่าว

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า มธ.เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐ แต่ขณะเดียวกันในสถานที่ราชการก็มีพื้นที่สาธารณะ แต่ มธ.อาจจะแตกต่างจากสถานที่ราชการอื่น ที่ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เราเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์ปรีดีเรียกในวันเปิดมหาวิทยาลัยว่า เสรีภาพทางการศึกษา แต่เสรีภาพทางวิชาการได้มีการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดว่ามีความหมายแค่ไหน อย่างไร เพราะยุคปัจจุบัน อาจเป็นวิกฤตทางภาษา เพราะมีคนใช้คำๆ เดียว แต่หลายความหมาย สิ่งที่ยังเป็นวาทะกรรมถกเถียงกันในการปฏิวัติเมื่อปี 2475 คือ คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ เพราะประชาชนยังไม่มีความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่อีกฝ่ายเถียงว่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยก็มีผู้มีการศึกษาค่อนข้างสูงเกิดขึ้น และเท่าที่ตนได้ศึกษา คิดว่ายุคนั้นน่าจะมีเสรีภาพทางความคิดและมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุคนี้ ขณะที่เสรีภาพทางวิชาการหรือการแสดงออกทางความคิดเห็นในยุคหลัง มธ.ได้ชื่อว่า ณ สถานที่แห่งนี้เรามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ดังที่อธิการบดีคนปัจจุบันก็ยืนยัน โดยประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายพนัสกล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2500 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นใน มธ.มาก และจริงๆ เป็นการดิ้นรนต่อสู้ของนักศึกษารุ่นพี่ มธ. โดยมีการต่อสู้ของนักศึกษามาทุกรุ่นเป็นจิตวิญญาณที่อาจารย์ปรีดีประสาทให้ ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน มธ.ขณะนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ ถ้าคิดแบบนักกฎหมาย ต้องมากำหนดกันว่า เสรีภาพทางวิชาการต้องมีขอบเขต เสรีภาพระบอบประชาธิปไตยต้องมีขอบเขต เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตคืออนาธิปไตย คำถามคือ เสรีภาพทางวิชาการใน มธ. มีมากน้อยเพียงใด แต่ประกาศของอธิการบดีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น เสดงให้เห็นว่าเสรีภาพใน มธ. มีทุกตารางนิ้ว ยกเว้นเรื่องเลขสามตัว ซึ่งอาจเป็นประเด็นนำไปสู่การตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่อย่างน้อยที่สุดจุดเริ่มต้นก็เกิดที่ มธ. ที่อาจารย์กลุ่มเล็กๆ จุดขึ้นในฐานะอาจารย์นิติศาสตร์คนหนึ่งตนมีความภูมิใจ

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า อาจารย์ปรีดีบอกว่า ราษฎรไม่โง่ ต่อมาคือความรู้ใดที่ราษฎรขาด หมายถึง ประชาชนไม่สามารถคุมอะไรได้เลย ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีอำนาจอะไรเลย ในระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนไม่สามารถมีอำนาจใดๆ เลย แต่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น อาจารย์ปรีดีจึงตั้ง มธ. เพื่อสอนวิชากฎหมายและการเมืองให้ประชาชน เพื่อให้ความรู้ประชาชน
"เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมีคนวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คุณจะโกรธและรับไม่ได้ จึงทำให้ประมวลกฎหมายมาตรา 112 เกิดปัญหามาก ทันทีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่ขัดแย้งกับความคิดของคุณที่มีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุณก็คิดทันทีว่าต้องเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คุณดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาต่ำ ท่านคิดแบบนี้ได้ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเกิดปัญหา ทำลายความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข รู้หรือปล่าว" นายเกษียรกล่าว

นายเกษียรกล่าวต่อว่า ตนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน มธ. บางช่วง เช่น วันที่ 20 สิงหาคม 2518 นักศึกษาอาชีวะบุกเผา มธ. วันที่ 21 สิงหาคม 2519 มีอันธพาลการเมืองยิงถล่มกระทิงแดง และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยกเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่า นี่เป็นพันธสัญญาที่ชาว มธ.พึงมีและหาทางแก้ น่าเสียใจที่ประกาศห้ามใช้พื้นที่ของ มธ. ลืมและละทิ้งความรับผิดชอบและศีลธรรมดังกล่าวไปเสีย เพราะทั้งหมดเกิดมาโดยกระบวนการเดียวกัน วิธีการเดียวกัน สุดท้ายตนคงต้องบอกว่าไม่ต้องกลัว มธ. เท่าที่ตนทราบไม่ใครใน มธ.คิดล้มเจ้า แม้แต่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. แต่สิ่งที่คนใน มธ.คิดจะล้มคือ ล้มการเมืองที่คิดจะใช้เจ้าเป็นเครื่องมือไล่ล้างทำลายคนดีไปจากแผ่นดินไทย

นายเกษียรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ตนไม่เห็นด้วยกับประกาศผู้บริหาร มธ.อย่างมาก คือ ตนวิเคราะห์ว่า เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ 6 ตุลาคม ประการที่สอง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แม้จะมีเสียงข้างมาก แต่ความชอบธรรมยังบกพร่อง เป็นรัฐบาลที่สั่นคลอน รัฐบาลที่คลอนจะใช้เวลามากในการตัดสินใจ ไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น รัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอแบบนี้ โดยตัวรัฐบาลเอง ไม่น่าจะใช้กำลัง และประการที่สาม เรื่องใหญ่ที่สุดของไทยคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นถ้าเป็นความรุนแรงแบบจัดตั้งจากรัฐ ตนคิดว่าไม่มี แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ม็อบที่เกิดแบบเป็นไปเอง แบบปลุกความโกรธ ความเกลียด อะไรก็ว่าเขาล้มเจ้า ทั้งที่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่รักในหลวง แต่คุณใช้คำพวกนี้เพราะอะไร เพราะคุณกลัวว่าจะไม่ได้ใช้เจ้าเป็นข้ออ้างทางการเมืองอีกต่อไป การเปิดพื้นที่ใน มธ. ถ้าจะเปิดก็ไม่ควรเลือกข้าง และการตัดสินใจควรมีกระบวนการปรึกษาหารือ และถ้ามติการบริหารมีปัญหา ก็ควรจะมีกระบวนการแก้ไข การรับผิดไม่ใช่เรื่องน่าอาย

ที่มา: มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เผด็จการข้าวราดแกง

คงว่างมากจนไม่มีอะไรจะทํา

กรมการค้า ภายในกระทรวงพาณชิย์...ถึงไปคิดคุมราคาข้าวแกง ไม่ให้เกินจานละ 25 บาท... รวม ไปถึง ข้าวผัด ข้าวผัดกระเพรา ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว

ก็ต้องถามไว้ตรงนี้ว่า...กรมการค้าภายในลุ แก่อํานาจจนเกินไปหรอืเปล่า...
เรื่องราวของข้าวแกงหรือข้าวราดแกงนั้น... มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้ขายหรือ ผู้ซื้อ..ซึ่งเกินกว่าจะมีผู้ใดเข้าไปแทรกแซงได้...

ร้านข้าวแกงที่ตั้งอยู่ติดกัน..ร้านหนึ่งมีคน นั่งกินแน่นหนา อีกร้านหนึ่งว่างเปล่า...มันไม่ใช่ เรื่องของราคาแต่เป็นเรื่องของฝีมือในการ ประกอบกับข้าวที่ทำไว้ราดข้าว

ข้าวราดแกง...ไม่ใช่อาหารกระป๋องที่ผลิต ขึ้นมาบนสายพานการผลิต...
ข้าวราดแกงกับราคาของข้าวราดแกง เป็นการ ตกลงเฉพาะกรณี ระหว่าง…ผู้ซื้อกับผู้ขาย... มันจึงไม่สามารถกําหนดราคาบนป้ายได้.. ราคาเป็นเรื่องสมยอมกันระหว่าง..ปริมาณ-คุณภาพ-และสัมพันธไมตรี..ระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภค

ข้าวราดแกงเนื้อโพนยางคํา หรือโคขุน.. จะมีราคาเดียวกับข้าวราดแกงที่ทำจากเนื้อใน ตลาดปกติธรรมดาได้อย่างไร..

ปริมาณทีตักใส่..ก็ไร้สติปัญญาจะชั่ง ตวง วัด ไม่ว่าจะอยากวัดอยากทํากันอย่างไร..เพราะเป็นเรื่องของน้ำจิตน้ำใจและมิตรไมตรีระหว่างกัน

อีกประการหนึ่ง..กรมการค้าภายในเอากําลังคนที่ไหน เพื่อทําให้กฎหมายนี้มีผลในทางบังคับใช้..และตํารวจสถานีไหน..จะรับ แจ้งความเรื่องขายเกินราคาของแม่ค้าข้าวแกง

เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่ความโง่แล้วขยันของผู้ออกกฎนํามาบังคับใช้..แต่น่าจะเป็นความฉลาดที่จะให้ อํานาจครอบงําเหนือประชาชนคนที่ต้องอยู่ใต้ บังคับแห่ง กฎหมาย

เพื่อผลประโยชน์ในการจับกุมมาเปรียบเทียบปรับ

เพราะการจะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยพร้อมเพรียงกันน้ัน..ไม่มีทางเป็นไปได้.. เป็นกฎหมายหรือข้อบังคับที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++