--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สงครามกับความเชื่อ !!?

โดย. สมหมาย ปาริจฉัตต์

การที่มนุษย์มีความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องและพยายามทำให้ความเชื่อนั้นเป็นความจริงจนถึงที่สุด ตราบใดที่ไม่ไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือรุกล้ำ ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ผู้นั้นย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการ

แต่ในความเป็นจริงของสังคมมนุษย์นั้นความเชื่อมีหลากหลายหรือมีหลายชุดมนุษย์มีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป

ธรรมชาติของมนุษย์จึงต่างจากสัตว์ตรงที่มนุษย์มีความคิดมีวิจารณญาณ หาใช่มีแต่สัญชาตญาณอย่างเดียว

เมื่อมนุษย์มีความเชื่อหลากหลาย การทำให้ผู้ที่มีความเชื่อต่างไปจากตน เห็นคล้อยและเห็นชอบกับความเชื่อของตนโดยสมัครใจไม่บังคับจึงเป็นหลักการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์

แต่การที่ผู้มีความเชื่อหนึ่งใช้วิธีการบังคับด้วยรูปแบบใดก็ตามให้คนที่เห็นต่างต้องเชื่อและปฏิบัติตามโดยไม่สมัครใจนั่นย่อมเท่ากับก้าวล่วงหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่มีความคิด ความเชื่อที่แตกต่างออกไป

ความเชื่อมีหลากหลาย ความดีมีหนึ่งเดียว

ความเชื่อกับความดีจึงแตกต่างกัน

ความเชื่อจึงไม่ใช่ความดี ความดีจึงไม่ใช่ความเชื่อ

ขณะที่ฝ่ายหนึ่งมีความเชื่อว่าตนเองทำดี อีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่เชื่อเช่นนั้น กลับเห็นตรงกันข้ามว่า ความเชื่อดังกล่าวไม่ใช่ความดี จึงเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของมนุษย์

การที่คนๆ หนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งมากน้อยเพียงใดก็ตามคิดว่า ความเชื่อของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งเดียวกับความดีซึ่งมีหนึ่งเดียวนั้น จึงผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง

การคิดว่าความเชื่อกับความดีเป็นสิ่งเดียว กันและเอามาปนกัน มนุษย์ผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมบีบบังคับ หรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่มีความเห็น ความเชื่อตรงกันข้ามต่างกับตน

ด้วยเหตุนี้สังคมมนุษย์จึงเกิดความขัดแย้งจากพฤติกรรมเผด็จการ บีบบังคับผู้อื่นให้เห็นด้วย และกระทำตามความเชื่อของตน ใครไม่เห็นด้วย ไม่ทำตามเป็นคนทรยศต่อประชาชน ไม่รักชาติรักแผ่นดิน

การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเองจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะไม่ยอมรับความหลากหลายในความเชื่อ อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง

ความเป็นจริงของมนุษย์คือ ความหลากหลาย ดี ไม่ดี ดีมาก ดีน้อย ดีปานกลาง เลวมาก เลวน้อย เลวปานกลาง

การนิยามความดี คนดี ความเลว คนเลว ในความคิดของมนุษย์จึงแตกต่างกันอย่างหลากหลาย

ความเชื่อเรื่องสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน และกติกาในการอยู่ร่วมกันของประชาชนก็เช่นกัน เป็นเรื่องของความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกัน หาใช่เป็นหนึ่งเดียวเช่นความดีไม่

ฉะนั้น การที่ผู้คนจำนวนเท่าใดก็แล้วแต่ มีความเชื่อไปในทางตรงกันข้ามหรือแตกต่างออกไปจากอีกฝ่ายหนึ่ง จึงเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติมนุษย์

พระพุทธองค์ถึงตรัสว่า มนุษย์นั้นมีสี่เหล่า นั่นย่อมสะท้อนความจริงว่า ความคิดความสามารถของมนุษย์นั้นไม่เท่ากัน

ตราบใดก็ตาม หากทำให้คนที่มีความเชื่อแตกต่าง หลากหลายอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข ไม่เกิดการบีบบังคับ กดขี่ข่มเหงให้อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อและทำตามความเชื่อแห่งตน ตรงนี้ต่างหากจึงเป็นความดี

ความดีอันเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ความดีที่เกิดจากความใจกว้าง ยอมรับความเป็นจริงของธรรมชาติของมนุษย์ ความดีที่เห็นมนุษย์ที่เห็นตรงกันข้ามยังมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับตน

การบีบบังคับให้คนอื่นคิดทำและเป็นเช่นเดียวกับตนเท่านั้น คือความถูกต้อง ดีงาม ห้ามคิดต่าง เห็นต่าง กระทำต่างไปจากตัว จึงเป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนความเป็นจริงแห่งโลกมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายความคิด ความเชื่อ

ในความเป็นจริงของโลกที่ชุดความเชื่อมีหลากหลาย เมื่อชุดความเชื่อเรื่องประชาภิวัฒน์กำลังเชี่ยวกราก มาแรง ถ้ายึดคติโบราณว่า น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ ไหนๆ รัฐบาลตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว การยอมถอยอีกก้าว เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของแกนนำความคิดดังกล่าว ด้วยการลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงไม่น่าเหลือบ่ากว่าแรงอะไร

เก็บข้าวของกลับไปพักผ่อนนอนบ้านกับครอบครัว ไม่ต้องมานั่งแบกรับภาระให้ปวดหัว รอเวลาสนามเลือกตั้งตามกติกาใหม่ เปิดเมื่อไหร่ค่อยว่ากันใหม่

รอดูว่า สภาประชาชนจะคลี่คลายต่อไปอย่างไร ระยะเวลา 1 ปีกับการจัดระเบียบ ปฏิรูปประเทศใหม่จะเป็นไปอย่างไร ภายใต้ความคิดและผลประโยชน์อันหลากหลาย

แกนนำประชาภิวัฒน์ จะทำอย่างไรกับพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

ที่สำคัญ สิทธิ เสรีภาพต่างๆ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม จะเป็นเช่นไรต่อไป จะยังคงอยู่จริงหรือไม่ อนาคตเท่านั้นคือคำตอบ

ที่มา.มติชน
--------------------------------------------

สงคราม กลางเมืองเกิดขึ้นได้ หรือไม่ ในประเทศไทย !

ในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังพุ่งสูง สิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการจะรู้คำตอบคงไม่พ้นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะจบลงเมื่อไร และจบลงอย่างไร

บางคนอาจมีความเห็นว่าความขัดแย้งผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว วิกฤตการณ์นี้กำลังจะคลี่คลายลงในเวลาไม่นาน และกระบวนการฟื้นฟูความเสียหายของประเทศชาติ ไม่ว่าจะในแง่ของชีวิต ทรัพย์สิน ชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้เริ่มขึ้น ก่อนที่ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง แต่อีกหลายๆ คนกลับมีความเห็นต่างจากนั้นว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ซับซ้อนกว่าที่เห็น ไม่จบลงง่ายๆ นี่เป็นแค่การ “พักรบ” สักระยะ แต่สุดท้ายแล้ว สังคมที่ประชาชนแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนจะพัฒนาไปสู่ “สงครามกลางเมือง” ขนาดใหญ่ในระยะยาว

ตามนิยามโดยทั่วไปแล้ว สงครามกลางเมือง (civil war) หมายถึงสงครามที่เกิดภายในขอบเขตของประเทศหรือรัฐเพียงแห่งเดียว ต่างจากสงครามปกติที่เป็นสงครามระหว่างรัฐ สงครามกลางเมืองนั้นเป็นสงครามที่ประชาชนในประเทศเดียวกัน หยิบอาวุธขึ้นมาประหัตประหารกันเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อชิงอำนาจรัฐหรือขับเคลื่อนนโยบายตามที่ตัวเองต้องการ ความเสียหายของสงครามกลางเมืองนั้นมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงทั้งในแง่จำนวนผู้เสียชีวิต รวมไปถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองต้องใช้เวลายาวนานในการเยียวยา กว่าจะกลับเข้ามาแข่งขันในตลาดโลกได้อีกครั้งหนึ่ง

งานวิจัยของ Paul Collier อดีตหัวหน้าฝ่ายวิจัยของธนาคารโลก (ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด) และ Anke Hoeffler ศาสตร์จารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามกลางเมือง ได้ศึกษาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในโลกสมัยใหม่ และพบว่าฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐจะทำสงครามกลางเมือง ถ้าประเมินว่าผลประโยชน์ที่ได้รับหลังชนะสงคราม นั้นสูงกว่าต้นทุนในการเป็นฝ่ายต่อต้านและกบฎ บวกกับต้นทุนในแง่เศรษฐกิจที่ใช้ระหว่างการทำสงคราม
Paul Collier และ Anke Hoeffler ได้ศึกษาว่า “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ตามสมมติฐานของพวกเขา 4 ชนิด มีอย่างใดบ้างที่มีผลทำให้เกิดสงครามได้ โดยเทียบกับสงครามกลางเมืองที่ผ่านๆ มาในอดีต ต้นทุนทั้ง 4 ชนิดได้แก่

รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในชาติ ก่อนเริ่มสงคราม

ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติในชาติ ก่อนเริ่มสงคราม

จำนวนประชากรในชาติ ก่อนเริ่มสงคราม

ความแตกแยกทางเผ่าพันธุ์ในชาติ

ผลการศึกษาพบว่าปัจจัย 3 ชนิดแรกนั้นมีผลต่อการเกิดภาวะสงครามกลางเมืองไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่ง คือถ้ารายได้เฉลี่ยต่อหัวมาก โอกาสเกิดสงครามกลางเมืองจะมีต่ำลง ส่วนประเทศที่มีปริมาณทรัพยากรธรรมชาติมีมาก จะส่งผลให้สงครามกลางเมืองเกิดได้ง่ายขึ้นในระยะแรก และสุดท้ายยิ่งจำนวนประชากรในชาติมีมาก โอกาสเกิดสงครามกลางเมืองจะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่สำหรับข้อสุดท้ายมีสิ่งที่น่าประหลาดใจ จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่าถ้าภายในประเทศนั้นมีเผ่าพันธุ์จำนวนมากเท่าไร จะยิ่งเกิดสงครามการเมืองง่ายมากเท่านั้น การศึกษานี้พบว่าประเทศที่มีจำนวนเผ่าพันธุ์แตกต่างกันมาก กลับมีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองได้ไม่ต่างกับประเทศที่มีความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์น้อยกว่า

ทั้ง Paul Collier และ Anke Hoeffler ได้ศึกษาต่อไปและพบว่า สภาวการณ์ที่ประเทศจะเกิดสงครามกลางเมืองได้ง่ายที่สุด คือ สภาวะที่ประชาชนในประเทศแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน (ไม่ว่าจะเป็นในแง่ชาติพันธุ์ ศาสนา หรืออุดมการณ์) และแต่ละฝ่ายมีขนาดหรือจำนวนใกล้เคียงกัน สังคมที่มีลักษณะเป็นสองขั้วเช่นนี้จะมีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองได้ง่ายกว่าสังคมที่แบ่งออกเป็นขั้วเล็กๆ จำนวนมาก หรือสังคมที่ประชาชนทั้งประเทศมีชาติพันธุ์เดียวกันถึง 50%

สำหรับประเทศไทยนั้นเคยเกิดสงครามกลางเมืองสมัยใหม่ ตามนิยามของ Paul Collier และ Anke Hoeffler มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งนิยมประชาธิปไตยตามอย่างตะวันตก กับกบฎบวรเดชที่ต้องการเปลี่ยนประเทศกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ส่วนครั้งที่สองคือสงครามระหว่างรัฐบาลไทยที่กุมอำนาจโดยนายทหาร กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา สงครามครั้งแรกเป็นการต่อสู้แบบจำกัดวงเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำที่กุมกำลังทหาร แต่สงครามครั้งหลังนั้นมีผลกระทบต่อประชาชนสูงกว่ามาก ขับเคลื่อนโดยกำลังนักศึกษาที่หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และกำลังชาวบ้านในต่างจังหวัด ทำให้การเจรจาหรือการเอาชนะสงครามแบบเบ็ดเสร็จทำได้ยากกว่า และเกิดสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า

ความขัดแย้งที่เป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมืองนั้น โดยทั่วไปมักมีหลายสาเหตุประกอบกัน แต่สาเหตุหลักคือความขัดแย้งทางความคิด วิถีชีวิต ความเชื่อ ซึ่งอาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ (เช่น เผ่าทมิฬ-สิงหล ในศรีลังกา) ศาสนา (อิสลาม-ฮินดู ในแคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย) หรืออุดมการณ์ทางการเมือง (เช่น ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ในหลายๆ ประเทศช่วงสงครามเย็น) เดิมทีประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศที่จะเกิดสงครามกลางเมืองนั้นมีความกระทบกระทั่ง หรือความเกลียดชังกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ (เช่น ฝนแล้ง อาหารไม่เพียงพอ ความเป็นอยู่ยากลำบาก) หรือเหตุการณ์ระยะสั้นที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง (เช่น รัฐประหาร ยุบสภา ลอบสังหาร ก่อการร้ายหรือวินาศกรรม) ความขัดแย้งเดิมจะพัฒนาขึ้นมาเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของประเทศที่มีความขัดแย้งเดิมอยู่แล้ว และพัฒนามาเป็นสงครามกลางเมืองหลังจากพบกับปัญหาเศรษฐกิจได้แก่ ไอวอรี่โคสต์ (2002-2004) ซูดาน (2003-ปัจจุบัน) และรวันดา (1990-1994)

ลักษณะของสงครามกลางเมืองนั้นจะยืดเยื้อกว่าความขัดแย้งภายในประเทศรูปแบบอื่นๆ อย่างการเดินขบวนประท้วง หรือการจัดตั้งขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม จากการศึกษาพบว่าระยะเวลาเฉลี่ยของสงครามกลางเมืองก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปีครึ่ง ในขณะที่สงครามกลางเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะรุนแรงและยาวนานขึ้นถึง 4 ปีโดยเฉลี่ย สงครามกลางเมืองบางแห่งอาจยาวนานเกิน 20 ปี โดยหยุดต่อสู้กันเป็นระยะแต่ความขัดแย้งในภาพรวมยังคงอยู่ ตัวอย่างเช่น สงครามกลางเมืองในประเทศแองโกลา ซึ่งยาวนานถึง 28 ปี (1974-2002) หรือสงครามกลางเมืองในโมซัมบิก มีระยะเวลา 25 ปี (1977-2002)

ผลเสียหายที่เกิดจากสงครามกลางเมืองนั้นถือได้ว่ารุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประเทศนั้นๆ มีความเกลียดชังในเชิงชาติพันธุ์อยู่ก่อนแล้ว สงครามกลางเมืองในประเทศคองโก ใช้เวลาเพียง 5 ปี (1998-2003) แต่มีผู้เสียชีวิตถึง 5 ล้าน 4 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคนไทยมากคือ สงครามกลางเมืองในกัมพูชาระหว่างเขมรแดงที่นิยมคอมมิวนิสต์ กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลัง สงครามครั้งนั้นใช้เวลา 8 ปี (1967-1975) ถึงแม้ว่าจะจบลงด้วยชัยชนะของเขมรแดง แต่ก็ต้องสังเวยชีวิตของประชาชนไปถึง 6 แสนคน และบาดเจ็บอีกกว่า 1 ล้านคน

สำหรับสงครามกลางเมืองที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในด้านความโหดร้ายทารุณ คงไม่มีครั้งไหนเกินสงครามกลางเมืองในประเทศรวันดา ระหว่างปี ค.ศ. 1990-1993 ซึ่งเป็นสงครามระหว่างกองทหารติดอาวุธด้วยกัน และมีความเสียหายไม่มากนัก แต่หลังจากการเจรจาหยุดยิงไม่นาน ในปี 1994 ความเกลียดชังระหว่างสองฝ่ายหลังจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองครั้งนั้น ส่งผลกระทบให้เกิดการปลุกระดมจากสื่อต่างๆ ภายในเผ่า Hutu ที่มีจำนวนมากกว่าถูกกดขี่มานาน ให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Tutsi ซึ่งเป็นชนชั้นสูงกลุ่มน้อย ผลจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1 ล้านคนในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี

ผลเสียหายทางเศรษฐกิจนั้นประเมินได้ยากกว่ามาก ในสงครามกลางเมืองของคองโก ศาลโลกได้ตัดสินให้ฝ่ายกบฎที่สนับสนุนโดยรัฐบาลอูกันดาแพ้คดี และทางรัฐบาลคองโกได้เรียกค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (4 แสนล้านบาท) ส่วนสงครามกลางเมืองในประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสงครามสั้นๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1922-1923 มีการประเมินความเสียหายรวมว่าอยู่ประมาณ 50 ล้านปอนด์ (4 พันล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีความเสียหายในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ ค่าเสียโอกาส การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก ปัญหาผู้อพยพ และอื่นๆ อีกมาก

ประเทศไทยจะเกิดสงครามกลางเมืองหรือไม่?

การเกิดสงครามการเมืองมักมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ที่สะสมมายาวนาน และไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยง่าย สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดอยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่นำโดยรัฐบาลพลังประชาชน กับอุดมการณ์จารีตนิยมที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งเข้าข่ายตามนิยามเรื่องความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ เช่นเดียวกับการปะทะกันของอุดมการณ์ทางศาสนาหรือการเมืองของประเทศอื่นๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว

เมื่อนำหลักของ Collier และ Hoeffler มาพิจารณาประกอบ จะเห็นว่าจำนวนผู้สนับสนุนของทั้งฝ่ายรัฐบาล และพันธมิตรนั้นมีจำนวนใกล้เคียงกัน ไม่มีฝ่ายใดที่มีจำนวนผู้สนับสนุนมากกว่าฝ่ายตรงข้ามอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่ได้ นอกเหนือไปจากการปะทะกันในวงจำกัดระหว่างผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายที่มีให้เห็นบ้างแล้ว อย่างเช่นเหตุการณ์ที่อุดรธานี หรือเหตุการณ์ที่ถนนวิภาวดี ซอย 3

อย่างไรก็ตาม ประชาชนเสียงข้างมากในสังคมไทย ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอยู่ ทำให้สังคมยังไม่แบ่งเป็นสองขั้วโดยสมบูรณ์ ยังมีฝ่ายเป็นกลางที่รักสันติและไม่ต้องการเข้าสนับสนุนทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งพันธมิตรและรัฐบาลต่างตระหนักถึงประชาชนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี และพยายามเรียกร้องเชิญชวนให้ฝ่ายเป็นกลางนี้ไปเข้ากับฝ่ายตัวเองให้ได้มากที่สุด ถ้าฝ่ายเป็นกลางยังคงเกาะกลุ่มกันแน่นและไม่ไปเข้าร่วมกับฝ่ายใด ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองลงได้

ในกรณีที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา มีความเป็นไปได้สูงว่าสงครามกลางเมืองจะยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี มีการหยุดปะทะเป็นระยะ โดยการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว แต่ความขัดแย้งในภาพรวมจะยังคงอยู่ และพร้อมจะปะทุขึ้นมาได้เสมอถ้ามีเหตุการณ์พลิกผัน เช่น การยุบพรรค หรือการลอบสังหารผู้นำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

มาตรการหนึ่งที่สามารถทำได้ทันทีเพื่อหยุดยั้งสงครามกลางเมือง หรืออย่างน้อยก็ลดความรุนแรงของมันลง คือการหยุดเผยแพร่สื่อที่ยุแหย่ ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังในสังคม มิฉะนั้นสงครามกลางเมืองที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ก็อาจมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฝ่ายตรงข้าม เหมือนกับที่เกิดมาแล้วในรวันดา

ที่มา.Siam Intelligence Unit
------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เนลสัน แมนเดลา.

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ในขณะที่บ้านเรากำลังร้อนระอุด้วยความแตกแยกทางความคิดจนไม่สามารถจะดูข่าวทางโทรทัศน์ได้ เพราะฝูงชนที่กำลังถูกปลุกปั่นจนลืมหลักการ ลืมเหตุผล กลายเป็นจิตวิทยาฝูงชน จะพูดจะเขียนอะไรก็คงจะไม่เป็นประโยชน์อะไรมากนักในยามนี้ นอกจากการสมัครเป็น "ไทยเฉย" หรือ "ไทยงง" น่าจะดีที่สุด เพราะไม่ทำให้เกิดอารมณ์เครียด ทำให้เสียสุขภาพ

ในขณะที่บ้านเรากำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด ก้าวร้าว ดุดัน ราวกับกำลังเตรียมจะทำสงครามห้ำหั่นกันนั้น ก็มีข่าวที่น่าเศร้าสลดใจเกิดขึ้น คือข่าวการถึงอสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีของสหภาพแอฟริกาใต้ ที่ผู้นำทั่วโลกรวมทั้งอดีตคู่ต่อสู้เก่า คืออดีตประธานาธิบดีของชาวผิวขาว รัฐบาลของคนฝ่ายข้างน้อยที่ปกครองชาวผิวดำ เดอ เคลิร์ก ก็ได้ส่งสารมาแสดงความเสียใจ

ความยิ่งใหญ่ของนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะคนผิวดำกับคนผิวขาวในแอฟริกาใต้เท่านั้น แต่รวมถึงมวลมนุษยชาติด้วย เขาเคยแสดงวิสัยทัศน์ว่าต้องการเห็นสหภาพแอฟริกาใต้เป็น "ชาติสายรุ้ง" ที่ประกอบด้วยคนหลายสีผิว หลายเชื้อชาติ หลายศาสนา มาร่วมอยู่ในชาติเดียวกัน

ในงานไว้อาลัยอดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก เป็นงานไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนี้ เพราะมีผู้นำคนสำคัญๆ ทั่วโลก เช่น พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ ประธานาธิบดีประเทศต่างๆ นายกรัฐมนตรีจากหลายประเทศ รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ด้วย ซึ่งต้องถือว่าเป็นงานศพที่ยิ่งใหญ่อาจจะใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้ก็ได้

แมนเดลา มีอายุยืนยาวถึง 95 ปี เกิดในปี 1918 ในแอฟริกาใต้ เริ่มงานทั้งบนดินและใต้ดิน ต่อสู้กับระบอบการปกครองแบ่งแยกผิวหรือที่เรียกว่า "Apartheid" อย่างรุนแรง แมนเดลาถูกจับติดคุกอยู่ถึง 27 ปีเต็ม

แอฟริกาใต้นั้นเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน โดยการอพยพเข้ามาของชาวอังกฤษและชาวยุโรปผิวขาวเมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยแร่ทองคำและอื่นๆ มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งเป็นแหลมยื่นไปในมหาสมุทรที่เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างยุโรปกับเอเชีย ก่อนที่จะมีการขุดคลองสุเอซเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงย่นระยะทางเดินเรือเป็นอันมาก

เมื่อได้รับเอกราช คนผิวขาวซึ่งมีจำนวนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เข้ายึดอำนาจการปกครอง สร้างรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แบ่งแยกผิว แยกกันอยู่ การสมสู่ระหว่างผิวถือเป็นความผิดทางอาญา รถไฟ รถเมล์ และยานพาหนะต่างๆ ก็แยกกัน ความผิดทางอาญาคนผิวขาวกับคนผิวดำก็ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน เสมือนว่าคนผิวดำมิใช่มนุษย์ อย่าว่าแต่จะเป็นประชาชนเลย

เมื่อมีกระแสต่อต้านจากคนผิวดำ รัฐบาลของคนผิวขาวส่วนน้อยก็ใช้กำลังเข้าปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า การถูกจองจำโดยคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ไม่ได้ทำให้อิทธิพลการต่อสู้ของเขาเปลี่ยนไป จนในที่สุดรัฐบาลเสียงข้างน้อยของคนผิวขาวก็ต้องยอมปลดปล่อยให้ออกจากคุกในปี 1990 และรัฐบาลนายเดอ เคลิร์ก ก็ทนแรงกดดันจากสหประชาชาติและมหาอำนาจต่างๆ ไม่ไหว ต้องประกาศให้มีประชาธิปไตย และเนลสัน แมนเดลา ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหภาพแอฟริกาใต้

สิ่งที่ทั่วโลกยกย่องแมนเดลาอย่างล้นหลามก็เพราะมีความวิตกกังวลกันว่า เมื่อสหภาพแอฟริกาใต้ได้ถูกปลดปล่อยจากรัฐบาลคนผิวขาวแล้ว รัฐบาลคนผิวดำคงจะลุกฮือขึ้นเข่นฆ่าแก้แค้น บ้านเมืองคงจะลุกเป็นไฟ คนผิวขาวแอฟริกาใต้ก็คิดเช่นนั้น จึงพากันอพยพออกนอกประเทศไปออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้จำนวนมาก

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ แมนเดลาเรียกร้องชาวแอฟริกาใต้ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ร่วมกันสร้าง "ชาติสีรุ้ง" ให้กับแอฟริกาใต้ และก็สามารถทำได้สำเร็จ การผ่องถ่ายอำนาจจากรัฐบาลเดอ เคลิร์ก มาเป็นรัฐบาลร่วมกันระหว่างผิวขาวกับผิวดำเพื่อดำเนินการเลือกตั้ง จนทั้งสองคนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี 1993 และต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สวยงามอย่างยิ่งของมนุษยชาติ

ในที่สุดคนผิวขาวหลายคนก็อพยพกลับมาอยู่ที่แอฟริกาใต้ตามเดิม เมื่อเห็นว่าประเทศชาติภายหลังจากมีการโอนถ่ายอำนาจ จากรัฐบาลของคนผิวขาวส่วนน้อยมาเป็นรัฐบาลของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนผิวดำ เหตุการณ์เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย บรรดาบริษัท ธุรกิจต่างๆ ของคนผิวขาวก็ยังอยู่ บรรดาข้าราชการทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจที่ระดับสูง ก็ยังเป็นชาวผิวขาวอยู่ การโยกย้ายก็เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป กว่าจะเป็นรัฐบาลของคนผิวดำจริงๆ หมดก็คงจะต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย ความเหลื่อมล้ำในทางการเมืองกำลังค่อยๆ หมดไป แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็คงจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนาน

การที่ชาวโลกต่างให้เกียรติแก่อดีตประธานา ธิบดีเนลสัน แมนเดลา จึงเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง เป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมนานาชาติได้ก้าวพ้นความล้าหลังทางการเมืองไปอีกหนึ่งก้าว

อุดมการณ์ประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานของสังคมโลก อันได้แก่ สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ ได้กลายเป็นโลกาภิวัตน์ทางการเมือง หรือ Political Globalization หรือ Democratic globalization ได้ก้าวมาอีกก้าวหนึ่งแล้ว

งานศพของท่านแมนเดลา ซึ่งจะมีประมุขของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน หรืออดีตเลขาธิการสหประชาชาติกว่า 70 ประเทศมาร่วมในพิธีศพ ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของมวลมนุษยชาติที่ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ของความเท่าเทียมกัน อุดมการณ์ของการเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ โลกาภิวัตน์ทางการเมืองจึงน่าจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมตะวันออกหรือในทวีปเอเชียก็มีวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง ยังห่างไกลกว่าสังคมในยุโรปและอเมริกา กล่าวคือเป็นสังคมที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นสังคมที่ใช้ความรู้สึกมากกว่าปัญญา ยังยึดตัวบุคคลมากกว่าระบบ ยึดเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนมากกว่าวิธีการ หลายครั้งก็ไม่อาจจะอธิบายได้ว่าเป้าหมายคืออะไร และวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นถูกต้องหรือไม่

ในสังคมตะวันตกที่พากันยกย่องท่านเนลสัน แมนเดลา นั้นมีเป้าหมายและอุดมการณ์ที่ชัดเจน ประชาธิปไตยความเท่าเทียมกันและเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ อาจจะมากกว่าประชาชนชาวแอฟริกา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น "กระแสโลกาภิวัตน์ทางการเมือง" จากตะวันตกก็คงจะเป็นกระแสกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วิธีคิด วิธีปฏิบัติของคนในโลกตะวันออกได้

หลังจากปรากฏการณ์ "เทียน อัน เหมิน" ในจีน การสลายการชุมนุมในพม่า และเหตุการณ์รุนแรงอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีก

เหตุที่ความคิดโลกาภิวัตน์ทางการเมืองจะถูกกระแสกดดันให้เกิดขึ้นก็เพราะ กระแสโลกาภิวัตน์ทางการค้าและการลงทุนได้เกิดขึ้นนำหน้าไปกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ผลประโยชน์ของชาติต่างๆ ได้แทรกซึมอยู่ในชาติต่างๆ อย่างแน่นหนามากขึ้น ผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนที่ไม่มีพรมแดนจะบีบบังคับให้ชาติต่างๆ ต้องสถาปนาระบบการเมือง ระบบกฎหมาย ระบบตุลาการให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ทางการค้าและการลงทุนด้วย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น AEC เท่านั้น

ทีแรกนึกว่าเราพร้อมกว่าพม่า บัดนี้ไม่แน่ใจเสียแล้ว

ที่มา:มติชนออนไลน์.

กติกา ของ ชาติ ?

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

แม้การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) มาถึงจุดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย กำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองที่ยังไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม กปปส.เสียทีเดียว

กระนั้นสถานการณ์ที่สื่อต่างชาติให้ความสำคัญเกาะติดนี้ยังคงวิเคราะห์ในมุมมองการเมืองเป็นหลัก ยังไม่วิเคราะห์ลงลึกในเชิงผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมแต่อย่างใด วอลล์สตรีต เจอร์นัล เขียนถึงการชุมนุมโดยแตะไว้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัจจัยการชุมนุมทางการเมืองเป็นตัวแปรหลัก นักเศรษฐศาสตร์เองก็มองผลของการยุบสภาจะไม่กระทบเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์จีดีพีปี 2557 ขยายตัวที่ 4.5%

แม้แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาทจะต้องหยุดชะงัก แต่ด้านหนึ่ง กรณีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็ยังอยู่ในชั้นรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ส่วนโครงการบริการจัดการน้ำของรัฐบาล ในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของบริษัทเค วอเตอร์ ต้องรอ "รัฐบาลใหม่" เข้ามาดำเนินโครงการต่อ ทั้งหมดที่ยังอยู่ในช่วงหยุดชะงักนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นประเด็นกระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซะทีเดียว แม้จะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ หรือต้องรอ "รัฐบาลใหม่" หลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

ที่ว่ายังไม่กระทบ คือ หากยังเป็นกระบวนการที่คงอยู่ในกรอบกติกา เพราะการยุบสภาด้านหนึ่งถือเป็นการแสดงความชัดเจนทางการเมืองที่จะคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่จะกระทบและน่าเป็นห่วง คือ กรณีไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงได้ ตรงนี้เองที่จะเริ่มส่งผลให้การลงทุนภาครัฐและเอกชนสะดุด เพราะในสายตานานาชาติเองก็ยังต้องการระบบกติกาสากลเพื่อความมั่นใจในการเข้ามาลงทุน

ไม่กี่วันมานี้ จนถึงวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา บทวิเคราะห์ของสื่อต่างชาติพยายามหาความชัดเจนการลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ แม้โฆษก ปชป.ระบุว่า ยินดีลงเลือกตั้งหากเป็นทางออกของประเทศ กระนั้นยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้ฝ่ายใดได้ จนนำมาสู่ข้อเสนอว่าควรทำสัตยาบันที่จะลงเลือกตั้ง ความชัดเจนจาก ปชป.เป็นสิ่งที่จะเป็นคำตอบของกติกาของระบบการเมืองสากล

ยิ่งความชัดเจนไม่ส่งสัญญาณมาเท่าไหร่ ความมั่นใจของนักลงทุนจะยิ่งน้อยลง เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้นักลงทุนได้รับความชัดเจนจากปัจจัยทางการเมืองเพิ่มขึ้น แต่อีกปัจจัยที่สำคัญยังคงเป็นท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมเองด้วยที่มีต่อการประกาศยุบสภาว่าพร้อมจะเข้าสู่กติกาเลือกตั้งหรือไม่

แม้การยุบสภาอาจไม่ใช่เป้าหมายของแกนนำ กปปส. แต่ความพยายามเคลื่อนไหวให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองนั้นน่าห่วงมาก เพราะจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อทั้งสังคม การเมือง และเศรษฐกิจไทยเลย

หากทุกคนที่รักประเทศชาติอยากเห็นการปฏิรูปการเมืองไทยให้เป็นอย่างที่ถูกควร ก็ควรดำเนินการภายใต้กลไกของระบบรัฐสภาและอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เพราะการรักษาระบบกติกา รวมถึงหากหวังการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นก็ต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย นี่คือสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในอนาคตของคนไทยทั้งชาติ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------

ทำไมกองทัพไม่ไปรายงานตัวสุเทพ !!?

วิเคราะห์คำตอบในมิติทางอำนาจและความมั่นคง

คนจำนวนมากในฟากที่สนับสนุนรัฐบาลต่างก็เชื่อว่า กปปส. ฝ่ายค้าน ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ สว.แต่งตั้ง และกองทัพ คือกลุ่มคนเดียวกัน หรือพวกเดียวกัน ที่ทำงานเป็นทีมซึ่งดูแล้วสนุกไม่แพ้ดูรายการฟุตบอลแมตช์ใหญ่ๆ ที่คนในทีมเลี้ยงบอล ส่งลูก รับลูก โดยอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นได้อย่างน่าตื่นเต้น และจบด้วยการทำประตูได้จริงๆ พวกเขาชนะมาหลายแมตช์ แต่ยังไม่ชนะทัวร์นาเมนต์ มาวันนี้พวกเขาคาดว่าจะปิดเกมให้ได้โดยพยายามจ่ายบอลไปให้กองทัพ และหวังให้กองทัพยิงประตู แต่กองทัพไม่รับบอล กองทัพไม่ไปรายงานตัวสุเทพ และไม่มีทางที่กองทัพจะทำตามอะไรที่เป็นความริเริ่มของสุเทพหรือ กปปส. แน่นอน คำถามคือเพราะอะไร

1. คำตอบแรกเป็นการวิเคราะห์ในมิติความมั่นคง

กองทัพติดหล่มในสาม จว. ภาคใต้ และขาดความมั่นใจจากประสบการณ์การรัฐประหารที่ผ่านมา

แม้ว่าการแก้ปัญหาในสาม จว. ภาคใต้จะไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพแต่ฝ่ายเดียว แต่ในฐานะกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลที่ลงไปต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในระดับยุทธวิธีแล้ว ถือว่ากองทัพล้มเหลวและยังมองไม่เห็นชัยชนะจากการประลองกำลังกันมาเกือบสิบปี สิ่งที่เป็นความล้มเหลวคือกองทัพไม่สามารถกำจัดเสรีในการปฏิบัติ (freedom of action) ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนได้ ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนยังสามารถวางระเบิดได้เรื่อยๆ และก่อเหตุในรูปแบบที่หลากหลายไม่รู้จบ ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพความสูญเสียที่ชาวไทยแม้จะเสียใจแต่เกิดความรู้สึกชาชิน ซึ่งเข้าทางฝ่ายแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการให้ชาวไทยมีความรู้สึกถึงจุดที่ว่าถ้าสามจังหวัดจะปกครองตนเองไม่ว่าในระดับความเข้มข้นไหนก็ทำไปเถอะ นั่นเป็นการติดหล่มของกองทัพ

ประสบการณ์ต่อมาคือการรักษาความสงบภายหลังการรัฐประหารที่ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ในอดีต เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพ รัฐประหารสำเร็จก็จบเรื่อง แม้พฤษาทมิฬก็จำกัดตัวอยู่ในกรุงเทพ ไม่ขยายออกไปในภูมิภาค ก่อนรัฐประหารปี 49 กองทัพยังมองไม่เห็นมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ถนัด แต่พอรัฐประหารแล้วถึงรู้ว่ามวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมีอยู่จริง และพร้อมต่อสู้ จะเห็นจากการเผาโรงเรียนในภาคอีสานหลังการปฏิวัติใหม่ๆ การรักษาที่มั่นในกรุงเทพแบบป้อมค่าย และการปฏิเสธอำนาจรัฐในพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล การลุกลามไปถึงภูมิภาคนี้ได้รับการตอกย้ำจาก กปปส. ที่ประกาศให้ผู้ที่สนับสนุนปิดล้อมหน่วยงานราชการในต่างจังหวัด กองทัพจึงคิดหนักที่จะเข้ามาแทรกแซงในครานี้ คือจะไม่ใช่แค่การรักษาความมั่นคงเฉพาะในกรุงเทพเท่านั้นในการรัฐประหารครั้งต่อไป แต่จะเป็นการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคด้วย คำถามคือจะเอากำลังทหารที่มากพอมาจากที่ไหน ทั้งๆ ที่ก็ยังติดหล่มในสาม จว. ภาคใต้อยู่ เหมือนกับเป็นการเปิดศึกสองด้าน เป็นการเปิดศึกในสองสมรภูมิ (theater) ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีไม่กี่กองทัพในโลกที่ทำได้ เช่น กองทัพสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่สองที่สามารถทำศึกในสมรภูมิยุโรปและแปซิฟิกได้ (แต่ก็ต้องรอให้สมรภูมิยุโรปจบก่อนถึงไปทุ่มสมรภูมิแปซิฟิก) หรือกองทัพสหรัฐในช่วงสงครามเย็นที่มีทหารของตนนับล้านคนประจำตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในยุโรป แต่สามารถเปิดสมรภูมิเกาหลีและเวียดนามได้ แต่นี่เป็นข้อยกเว้น กองทัพไทยไม่มีกำลังคนและยุทโธปกรณ์ที่จะเปิดสมรภูมิสองสมรภูมิได้ในเวลาเดียวกัน อย่าลืมว่าศัตรูของศัตรูคือเพื่อน หากเกิดรัฐประหารแล้วกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสาม จว. ภาคใต้ และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประสานการปฏิบัติในทางยุทธวิธีกันเข้า กองทัพก็จะเหนื่อยมากขึ้น ทหารก็จะล้ามากขึ้น และหากกองทัพไม่สามารถรักษาความปลอดภัยในการรัฐประหารครั้งหน้าได้ กองทัพจะเสียชื่อเสียง เกียรติภูมิ และอาจถูกปฏิรูปจนถึงแก่น และจะลดบทบาททางการเมืองของกองทัพในสังคมไทยไปมาก นั่นแหละคือ point กองทัพคงวิเคราะห์แล้วว่าการไม่รัฐประหารครั้งนี้เป็นการรักษาอำนาจทางการเมืองของกองทัพในระยะยาวนั่นเอง

2. คำตอบที่สองเป็นการวิเคราะห์ในมิติอำนาจและศักดิ์ศรี

กองทัพเสี่ยงที่จะสูญเสียอำนาจทางการเมืองในการรัฐประหารครั้งต่อไป สู้อยู่เฉยๆ ให้คนอื่นเขาเกรงใจจะดีกว่า กองทัพไม่ไปรายงานตัวสุเทพ หรือรับปฏิบัติตามความริเริ่มของสุเทพหรือ กปปส. แน่นอน เพราะกองทัพจะไม่มีเครดิตหรืออำนาจที่จะจัดการอะไรด้วยตนเองเหมือนกับภายหลังการรัฐประหารโดยกองทัพ เช่น ถนนทุกสายจะไม่มุ่งมาที่ ผบ.ทบ. หรือกองทัพ แต่จะมุ่งไปที่สุเทพ หรือ กปปส. แทน ซึ่งระดับผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพรับไม่ได้แน่นอน อันเป็นทั้งเรื่องอำนาจและศักดิ์ศรี โดยเฉพาะประการหลังนี้กินไม่ได้แต่ทหารยอมตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีแน่นอน การประกาศให้ ผบ.เหล่าทัพ มารายงานตัวออกสื่อของสุเทพ จึงเป็นการช่วยการตัดสินใจของกองทัพในคราวนี้ว่าอยู่เฉยๆ คุ้มกว่า เพราะถ้าปฏิวัติเองก็เข้ากับเงื่อนไขการวิเคราะห์ตามข้อ 1 หรือถ้าทำตาม กปปส. ก็หนีไม่พ้นต้องออกแรงตามการวิเคราะห์ในข้อ 1 อยู่ดี แถมซ้ำร้ายใครจะไว้ใจคนอย่างสุเทพ หากสุเทพได้อำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว มีโอกาสที่แม่ทัพนายกองอาจโดนโยกย้ายกันชนิดถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว

การวิเคราะห์ชั่งน้ำหนักของกองทัพจึงไม่ยุ่งยากอะไร

ถ้ารักษากติกาของประเทศไว้ กองทัพจะไม่ต้องออกแรงมาก สถานะของกองทัพยังอยู่เท่าเดิมหรืออาจสูงขึ้นด้วยซ้ำ บทบาททางการเมืองของกองทัพในสังคมไทยยังอยู่ ผบ.เหล่าทัพยังมีศักดิ์ศรีเหมือนเดิม แม้จะมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการโยกย้ายอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่น่าเกลียดและมีหลักประกัน (เป็นไปตามที่ตกลงกันในหมู่ผู้บังคับบัญชา)

แต่ถ้าไม่รักษากติกาของประเทศไว้ สิ่งที่จะตามมาก็คือตรงข้ามกับที่พูดมาข้างต้น กองทัพจะเหนื่อยและล้ามากกว่าการรัฐประหารทุกครั้งในประวัติศาสตร์ประเทศ ผู้บังคับบัญชาสูญเสียศักดิ์ศรี และจะเกิดความไม่แน่นอนสำหรับบทบาทของกองทัพในสังคมไทยในอนาคต และที่สำคัญ จะมีการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ มากกว่าเดิม และไม่มีหลักประกันอะไรเลย

ที่มา.ประชาไท
---------------------------------------

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สงครามไม่รู้จบ !!?

โดย.ณรงค์ ปานนอก

บทความนี้เขียนล่วงหน้าถึง 5-6 วัน ย่อมไม่อาจทราบได้ว่า การเมืองวันนี้ ฝ่าย ไหนชนะฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ และใครจะได้ประโยชน์หรือเสียโอกาสมากน้อยแค่ไหน

แต่ประเทศไทยก็ฉิบหายวายวอดไปอีกคำรบหนึ่ง

เป็นความเสียหายอย่างไม่อาจเปรียบเป็นมูลค่าได้

ถ้าฝ่ายรัฐบาลยังสามารถรักษาสถานภาพความเป็นรัฐบาลต่อไปได้ ก็เป็นรัฐบาลที่ป้อแป้เต็มทน

คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกอีกาเกาะกินหางตาทั้งสองข้างเป็นริ้วๆ หาความสง่างามไม่ได้เหมือนเดิม อันเนื่องเพราะถูกสารพัดม็อบตำหนิติเตียนทั้งเรื่องจริงและเรื่อง ใส่ร้ายป้ายสีกลางม็อบใหญ่และสื่อต่างๆ ผสมปนเปจนเข้าขั้น "อัปลักษณ์"

พอๆ กับหัวหน้าม็อบอย่างคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ นอกจากโชคดีที่คุณทักษิณ ชินวัตร วางแผนมอบ "นกหวีดทองคำ" ให้เป่าจนดังลั่นไปทั้งเมืองแล้ว การเป็นแกนนำ ม็อบของคุณสุเทพที่พยายามพูดตลอดเวลาว่าเป็นม็อบที่สงบ สันติ "อหิงสา" แต่ช่วง เวลาเริ่มจากเดือนธันวาคม อันเป็นเดือนที่ควรจะซาๆ เพื่อเฉลิมฉลองวันอันเป็นมหามงคล "เฉลิมพระชนมพรรษา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ไฟเฉลิมพระชนมพรรษาที่เคยถูกประดับประดาสวยงามลานตาไปทั่วถนนราชดำเนินไม่อาจติดตั้งได้

ลองเป็นฝ่ายเสื้อแดงทำแบบเดียวกับที่ผู้นำม็อบอย่างคุณสุเทพทำ ป่านนี้ม็อบเสื้อแดงถูกก่นด่าและกล่าวหาว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ไม่เคารพสถาบันกษัตริย์กันป่นปี้แทบไม่มีแผ่นดินจะเหยียบกันไปแล้ว

สรุปวรรคนี้ข้อหาหมิ่นสถาบันร้ายแรง ฝ่ายไหนหรือที่มีความชอบธรรมในการกล่าวหา ซึ่งก็ตรงกับความจริงที่ฝ่ายเสื้อแดงเคยถามหามาตลอดว่า "ความยุติธรรมของแผ่นดินอยู่ที่ไหน"

คุณสุเทพนั้น ด้วยคารมคมคายที่เชี่ยวชาญยิ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ จึงเปล่งวาจาออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับ "เส้นตาย" จากต้นพฤศจิกายนมากลางเดือนแล้วเลื่อนถึงสิ้นเดือน "ถ้าล้มรัฐบาลไม่ได้ภายใน 30 พฤศจิกายนนี้ ผมจะไปผูกคอตาย" ...จนเลยเข้าวันที่ 1 ธันวาคม คุณสุเทพก็ลืมสัจจะวาจาที่ควรจะเป็นคำสัตย์ของผู้นำที่ดี กลับแสร้งทำเป็น "ลืมเชือก" หน้าตาเฉย

แล้วคุณสุเทพก็เสกสรรปั้นคำในเวลาใหม่ ให้ม็อบบุกยึดกองบัญชาการตำรวจ นครบาลให้ได้ในตอนเช้าของวันที่ 3 ด้วยคำพูดย้ำแน่นว่า "...พรุ่งนี้ต้องไปยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้ได้"

นี่หรือ คือนิยามที่บอกว่า สงบ สันติ อหิงสา ที่คุณพูดพร่ำตลอดเวลาในสถานการณ์ม็อบที่ควรพึงระวังยิ่งเมื่อเป็นผู้นำม็อบ แต่คุณกลับเอานิสัยนักการเมืองที่พูดพลิก พริ้วเชื่อถือไม่ได้มาใช้ตลอดการชุมนุม

ลืมไปสิ้นแม้กระทั่งใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัว ที่คุณไม่ รู้สึกรู้สาเลยว่า มันหมิ่นเหม่ต่อสถาบันอันสูงสุดของประเทศ ซึ่งอยู่ในขั้นระคายเคือง เบื้องพระยุคลบาทโดยสมบูรณ์ระดับหนึ่งแล้ว

ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์พ่ายแพ้ต่อเกมการเมืองที่ตัดขาดการเจรจา ไม่ฟังเสียงทัดทาน จากใครเลย เอาแต่มุ่งหน้าจะสัมฤทธิผลเพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณอย่างที่คุณตั้งเป้าไว้ มันก็ตรงตามทฤษฎี "เป้าหมายมีไว้พุ่งชน" ของโฆษณาสินค้ายี่ห้อหนึ่ง...ซึ่งการเมืองระดับชาติมันควรจะมีเทคนิคและศิลปะเพื่อความสง่างามประดับประเทศมากกว่านี้ไม่ใช่หรือ

การตั้งเป้าแบบคุณสุเทพ ก็คงไม่ต่างอะไรกับเป้าหมายของคุณทักษิณที่หวังจะ "ลักไก่" พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ชาวบ้านฝ่ายเดียว แต่แอบไป "เหมาเข่ง" ให้แกนนำและผู้สั่งการทั้ง 2 ฝ่ายด้วย อาการอย่างนี้ถ้าคุณสุเทพเอาชนะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ ก็อาจประเมินได้มั้ยว่า หลังสงครามครั้งนี้ พันธมิตรหรือแนวร่วมที่ช่วยกันล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ ก็จะเจออารมณ์ที่ตั้งเป้าแบบ "สุดโต่ง" ของคุณสุเทพ

พันธมิตรที่เคย "แสวงจุดร่วม" ในสงครามครั้งนี้ ก็จะเจอสงครามการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแกนนำที่ชนะจะต้องช่วงชิงการนำเพื่อการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและความสงบสุขของแผ่นดิน

เห็นพลังในม็อบคุณสุเทพ มีทั้งแกนนำเสื้อเหลือง "แป๊ะลิ้ม" ม็อบโค่นล้มทักษิณ ม็อบแช่แข็งประเทศไทย กลุ่ม 40 ส.ว. ม็อบหลากสี ม็อบหน้ากากขาว ม็อบสันติอโศก และกลุ่มอาจารย์หลายสถาบันที่มีความคิดต่างไม่เคยยอมรับแนวคิดของคนต่างสำนัก หรือแม้แต่ความคิดต่างของแกนนำในพรรคประชาธิปัตย์เอง จะต้องเป็น "สนิมในเนื้อ" ชิงไหวชิงพริบ

ฟ้าหลังฝนจึงไม่ใช่ฟ้าใสดังใจคิด แต่น่าจะเป็นช่วงเพาะเชื้อให้กลายเป็น "สงครามไม่รู้จบ" ต่อไป

เพราะไม่อาจคาดได้ว่า ขุมกำลังพรรคเพื่อไทย และม็อบเสื้อแดงที่ยังทรงพลังอยู่จะฮึดสู้ขึ้นมาอีกในเมื่อทั้งพลังแดง และคะแนนที่เคยลงเลือกตั้งชนะพรรคประชาธิปัตย์

ก็ยังเอาชนะได้ทุกเกมของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้ จะปฏิรูปใหม่แบบถอดด้ามออก มากี่ฉบับๆ

ที่สุดประเทศไทยก็จะจมปลักอยู่กับการเมืองที่ "ดีแต่พูด" "เอาดีใส่ตัว โยนชั่วให้คนอื่น" ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใดจะขยันปลุกเร้าให้อารมณ์คนไทยเอนเอียงไปรักและชิงชังฝ่ายไหนที่ยึด "ความขัดแย้ง" เป็นสรณะ!

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

การเมืองไทย-กัมพูชา จบแบบไหน.

วิกฤติการเมืองไทยกลับสู่จุด เดือดทางออกมีหลายทาง แต่ไม่มีใครยอมออก ต่างมีจุดยืนของตัวเอง กลาย เป็น..ตัวกู..ของกู..

วิกฤติการเมืองไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาก็กำลังเจอภาวะคล้ายคลึงกัน ผู้ชุมนุมนับหมื่นปักหลักประท้วงนายก-รัฐมนตรี สมเด็จฮุนเซน ชนิดไม่เคยเกิดมาก่อน

เหตุเนื่องมาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ของนายสม รังสี ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าพรรครัฐบาลของสมเด็จฮุนเซนโกงการเลือกตั้ง โดยผลการเลือกตั้งประกาศว่า พรรคของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นฝ่ายชนะได้ 68 ที่นั่ง จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง และพรรค CNRP ของนายสม รังสี ได้ไป 55 ที่นั่ง แต่พรรค CNRP ปฏิเสธที่จะยอมรับผลดังกล่าว อ้างว่ามีความผิดปกติร้ายแรงเกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง

ท่าทีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยน แปลงอย่างล้นหลาม การชุมนุมเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม และเริ่มรุนแรงขึ้นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ

โดยคำแถลงของพรรค CNRP ระบุว่าจะจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 10 ธ.ค. ที่ตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล ใน จ.เสียมราฐ และจัดชุมนุมประท้วงอีกครั้งในวันที่ 15 ธ.ค. ที่สวนเสรีภาพในกรุงพนมเปญ และยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. พรรคจะจัดการชุมนุมประท้วงทุกๆ วันอาทิตย์

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ข้อเรียกร้องของพรรค CNRP ยังคงเป็นข้อเรียกร้องเดิมคือ ต้องการจัดให้มีการสอบสวนย้อนหลัง ในข้อกล่าวหาว่ามีความผิดปกติระหว่างการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน โดยองค์กรอิสระ หาก ยังไม่มีการสอบสวนการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว พรรคกู้ชาติกัมพูชาจะยังคงคว่ำบาตรรัฐสภาต่อไป

บรรยากาศการประท้วงก็ไม่ต่างจากบ้านเรา มีการขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย ได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ นายเจียม เยียบ สมาชิกอาวุโสของพรรคประชาชนกัมพูชา ที่เป็นพรรครัฐบาล กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่สามารถทำได้ แต่ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมาย การชุมนุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

เช่นเดียวกับการเมืองบ้านเราเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน จากปัญหาต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม บานปลายกลายเป็นต่อต้านรัฐบาล ต้อง การล้มล้างระบอบทักษิณ จัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาบริหารประเทศแทน ซึ่งมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนถาโถมเข้ามา ด้วยบทสรุปว่าทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการเจรจากัน

ดังความคิดเห็นของเครือข่ายภาคเอกชน อันได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งและการกระทำที่นำไปสู่อุบัติการณ์ที่ร้ายแรง ซึ่งได้ทำความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ และอาจจะลุกลามโดยไม่มีข้อยุติ จึงเรียกร้องร่วมกัน ดังนี้

1.ภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย โดยยึดถือหลักการของกฎหมาย ความถูกต้องชอบธรรม ตามหลักของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี โดยจะร่วมกับสถาบันต่างๆ อาทิ สถาบันภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน รวมทั้งผู้ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม

2.ปัญหาข้อขัดแย้งควรแก้ไขด้วยการเจรจา ไม่ใช้ความรุนแรงหรือการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมายและกติกาประชาธิปไตย ทั้งนี้ ภาคเอกชน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่ทุกๆ ฝ่าย ที่ได้ริเริ่มให้มีการเจรจากันแล้ว และยินดี เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทุกทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศอันเป็นที่รักของเรา

3.การแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิอันชอบธรรมภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ทำให้เกิดความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาของชาติ ผู้ที่ใช้ความรุนแรงจนทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย และเสียเลือดเนื้อ จะถูกจดจำและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

4.ภาคเอกชน เห็นว่าหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่สันติ คือการทำตามกติกาโดยหาทางออกในวิถีประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในลักษณะเดิมภายหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา จึงขอเสนอให้มีการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยว-ข้องทุกฝ่ายเพื่อให้มีข้อยุติเบื้องต้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยมีผู้แทนองค์กรที่เป็นที่ยอมรับของทุกๆ ฝ่าย ร่วมในการเจรจาประเด็นต่างๆ

ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่อย่างยืดเยื้อ ก็จะทำให้ประเทศไทยถูกจัดเป็น "Failed State" และ/หรือ "อนาธิปไตย" ทั้งนี้ ภาคเอกชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ได้โปรดหาทางออกให้กับประเทศของเราอย่างสันติวิธีโดยเร็ว

ไทยกับกัมพูชา ใครจะหาทาง ออกได้ก่อนกัน ใครจะถูกทิ้งไว้ปลายแถวกลุ่มประเทศอาเซียน!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
----------------------------------------

ADB คาด ศก.อาเซียน ขยายตัวลดลง เหตุการเมืองไทย-พายุถล่มฟิลิปปินส์.

รายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่าจากการที่แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาดีขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทาให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะยังคงขยายตัวได้ดีรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียปี 2556 ฉบับล่าสุดนี้ ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 45 ประเทศในเอเชียจะขยายตัวโดยรวม 6% ในปี 2556 และขยายตัวดีขึ้นเป็น 6.2% ในปี 2557 ตามที่คาดไว้เดิมในรายงานฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “ถึงแม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง เศรษฐกิจของประเทศกาลังพัฒนาในเอเชียยังคงรับมือได้ ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดี และจะสามารถได้รับประโยชน์จากการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักในปีหน้า” นายชางยองรี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีกล่าว

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น จะสามารถขยายตัวได้ 0.9% ในปี 2556 ตามที่คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับเดือนตุลาคม ส่วนในปี 2557 นั้น เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะขยายตัวได้ 1.9% สูงว่าที่คาดการไว้เดิมในเดือนตุลาคม 0.1% การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% จากที่คาดการไว้เดิมเป็น 7.7% ในปี 2556 และ7.5% ในปี 2557 โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยรวม จึงปรับขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน เป็น 6.7%

สำหรับปี 2556 และ 2557 เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอื่นในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นเหมือนที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมภูมิภาคเอเชียใต้คาดว่าจะมีการขยายตัวของเศรษฐกิจตามที่ประมาณการไว้เดิม คือ 4.7% ในปี 2556 และ 5.5% ในปี 2557 หลังจากที่การขยายตัวของเศรษฐกิจลงต่าสุดในไตรมาสแรก เศรษฐกิจอินเดียได้ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมและการเกษตรที่เพิ่มขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวได้ 4.7% ในปีงบประมาณ 2556 (สิ้นสุดมีนาคม 2014) และ 5.7% ในปีงบประมาณ 2557 ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม

มีการปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงเล็กน้อย เป็น 4.8% ในปี 2556 และ 5.2% ในปี 2557 ซึ่งเป็นการปรับลง 0.1% ทั้งสองปี จากที่คาดไว้เดิมในเดือนตุลาคม การปรับลงดังกล่าวเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยซึ่งมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งเกิดจากการส่งออกที่อ่อนแอ การบริโภคที่ลดลง และผลกระทบของเหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง โดยในปี 2556 ในส่วนของประเทศฟิลิปปินส์ พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2556 แต่คาดว่ากิจกรรมการซ่อมสร้างจะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2557 ดีขึ้น

เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียกลางค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จึงมีการปรับประมาณการจากที่คาดไว้เดิมในเดือนตุลาคมว่าจะขยายตัว 5.4% เป็น 5.7% ในปี 2556 และจาก 6.0% เป็น 6.1% ในปี 2557 โดยประเทศที่มีการขยายตัวดีขึ้นคือ คาซัคสถาน และเตอร์กเมนิสถาน

เศรษฐกิจของหมู่เกาะแปซิฟิคชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะชะลอตัวลงจาก 7.1% ในปี 2555 เป็น 5.0% ในปี 2556 ก่อนที่จะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 5.4% ในปี 2557 ประมาณการดังกล่าวเป็นการปรับลง 0.2% สาหรับปี 2556 และ 0.1% สาหรับปี 2557 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมในเดือนตุลาคม โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าในตลาดโลกที่ลดลงส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร แร่ และป่าไม้ ของประเทศเช่น ปาปัวนิวกินี และ หมู่เกาะโซโลมอนอัตราเงินเฟ้อของประเทศกาลังพัฒนาในเอเชียคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6% ในปี 2556 และ 3.7% ในปี 2557 ไม่ต่างจากที่คาดไว้เดิม

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

เลื่อนจ่ายเงินจำนำข้าว นักวิชาการชี้ส่อวิกฤติ.

คลังหารือกกต.ยันเดินหน้าจำนำข้าวนาปี2556/57 ได้ แม้ยุบสภา นักวิชาการชี้โครงการเริ่มส่อวิกฤติ หลังชะลอจ่ายเงิน เชื่อรัฐไม่มีเงินดำเนินการต่อ

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (10 ธ.ค.) ว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2556/57 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดย กกต. ยืนยันว่าโครงการยังสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้

ขณะนี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการวันละหลายพันล้านบาท ขณะนี้จ่ายเงินให้เกษตรกรรวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่ยังมีปัญหาการรับเงินจากโครงการล่าช้าตั้งแต่เดือนต.ค. นั้น คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่นำใบประทวนมาขึ้นเงินได้ครบภายในกลางเดือนม.ค. 2557

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มรับจำนำวันที่ 1 ต.ค. ถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2556 มีข้าวเข้าโครงการแล้ว 5.91 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 ล้านตัน

นายทนุศักดิ์ กล่าวว่าในส่วนของโครงการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังปี 2557 รัฐบาลจะต้องรอสอบถามจาก กกต. ว่าจะยังสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะดำเนินการได้ทัน เพราะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยจะเปิดให้เกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการภายในวันที่ 28 ก.พ. 2557 และนำใบประทวนมาขึ้นเงินไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2557

นายอำพน กิตติอำพน รักษาการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวยังดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ได้เป็นการอนุมัติงบประมาณที่ผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาลต่อไป และไม่ต้องขออนุญาตกับกกต.ก่อน เพราะงบประมาณที่ต้องขออนุญาตจาก กกต.อย่างชัดเจน คือ งบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

นายอำพน กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่สามารถออกได้เพราะอาจจะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป ยกเว้นกรณีตอนนี้ที่เศรษฐกิจ และการส่งออกไม่สามารถเติบโตได้เลย ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่จะสามารถออกมาตรการได้เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระบุไว้ชัด คือเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

นักวิชาการชี้ปีที่3เข้าขั้นวิกฤติ

นายสมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวในปีที่ 3 จะสร้างวิกฤติจากงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการ แต่หากรัฐบาลมีการระบายข้าวเร็วก็จะต่ออายุโครงการได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งการออกพันธบัตรเพื่อมาใช้ในโครงการ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชะลอจ่ายเงิน และกระทรวงการคลังไม่สามารถหาช่องอื่นได้ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไม่มีประสิทธิภาพในการระบายข้าว

นายสมพร กล่าวว่า ปัญหาการจ่ายเงินให้กับชาวนาในฤดูกาลผลิตใหม่ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวได้ หรือแม้จะขายข้าวได้ แต่ได้ในราคาต่ำ โดยเฉพาะการขายข้าวระดับรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก็ไม่คิดว่าจะได้ราคาสูง

"ในที่สุดหนี้จะกลับมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งเป็นภาษีที่จ่าย ในที่สุดก็จะไปกระทบด้านอื่น จะถูกดึงมาเรื่องข้าว ตอนนี้ทรัพยากรของกระทรวงอื่นที่เกี่ยวกับจำนำข้าวมันวิ่งมาอยู่ที่จำนำข้าวหมดแล้ว ไม่มีทำอย่างอื่น"

นายสมพร กล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าความไม่มีประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องระบายข้าวออก เพราะฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น มันจะลามไปเศรษฐกิจมหภาค

"ผลกระทบวันนี้ก็คือ มันจะถูกตีขนาบมาจากภายนอก ภายนอกจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้โครงการเหล่านี้ เครดิตของประเทศจะลดลง คนไทยตระหนักว่าโครงการนี้ไม่มีประโยชน์ ถึงตอนนั้นโครงการนี้จะอยู่ไม่ได้ ผมยังเชียร์ให้เขาระบายออก แต่ต้องยอมรับว่าขาดทุนเยอะขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเน่าเหมือนลำไย ก็จะขาดทุนหนักอีก"

คาดขาดทุนตันละหมื่นบาท

นายสมพร กล่าวว่า ผลขาดทุนจากโครงการนี้คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนตันละ 1 หมื่นบาท รวมทั้งหมดของโครงการทั้งหมดในเวลานี้ รัฐบาลจะขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

"ตอนนี้ถึงจุดเริ่มเสื่อมแล้ว สู่ภาวะคุณภาพเริ่มเสื่อมเร็วกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนเก็บได้ 1-2 ปี ผมคิดว่าแม้รัฐบอกว่าระบายข้าวได้ส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การระบายสู่ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เป็นตัวกดดันให้ราคาข้าวสารในประเทศไม่ได้สูงขึ้น ในแง่ของเอาใจผู้บริโภค ใช่ แต่ดูราคาข้าวสารกับราคาข้าวเปลือก จะเห็นว่าราคาข้าวสารต่ำกว่า ราคาข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาท ตอนนี้ราคาข้าวสารที่โรงสีขายอยู่ที่ 1.3 หมื่นบาท ข้าวเปลือก 1 ตันสีเป็นข้าวสารได้ 650 กิโลกรัม ดังนั้น ข้าวเปลือก 1 ตันที่รัฐบาลซื้อมานั้น ขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท จากราคาตลาดตอนนี้"

นายสมพร ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ขาดทุนอยู่แล้วจากโครงการนี้ หากใช้ข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดถึง ต้องยอมขาดทุน 300-360 ดอลลาร์ต่อตัน นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเกิดขึ้น แล้วเราเอา 300-360 คูณด้วย 31 บาท ก็อยู่ที่หมื่นบาทขึ้นไปต่อตัน

เชื่อรับจำนำข้าวไปไม่รอด

นายสมพร กล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินนโยบายต่อไป จะเกิดผลเสียที่สังคมเห็นชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้สังคมเริ่มเห็นชัดเจนกว่าเมื่อปีแรกๆ

"ต่อไปผมคิดว่าเน่าเฟะ ไม่สามารถเอาใบบัวไปปิดช้างตายได้แล้ว ผลที่สุดก็ต้องเลิก ประเทศอื่นก็เลิก เมื่อคุณอุดหนุนมาก ในที่สุดก็จะสะท้อนกลับมาที่ตัวเอง การศึกษาเราก็จะตกต่ำ สาธารณสุขก็แย่ ตัวนี้เป็นเคพีไออย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศที่จะก้าวไป เครดิตของประเทศก็จะกระทบ ในที่สุดก็กระทบลงทุน ถึงวันนี้ รัฐบาลก็ควรตระหนักข้อเท็จจริงว่าฝืนกลไกตลาดไม่ได้"

นายสมพร กล่าวว่า อียูเคยทำก็เคยอุดหนุนสูง แต่ในที่สุดหลังจากทำไปได้ 8-9 ปี ก็ต้องเลิก สินค้าแข่งขันไม่ได้ ก็ถอนตัวออก ออสเตรเลียก็ถอนตัวออกในเรื่องอ้อย ปรับไปใช้กลไกตลาด เกษตรกรก็ต้องปรับตัวเองให้แข่งขันได้

ชี้ปีหน้าราคาข้าวช่วงขาลง

นายสมพร กล่าวว่า ในปีนี้ ข้าวอยู่ในช่วงขาลง แม้ฟิลิปปินส์จะมีปัญหาเรื่องอุทกภัย อินโดฯ จะนำข้าวเพิ่มขึ้น แต่ว่าพม่าจะเป็นตัวแปร และละตินอเมริกาคนจะหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เมื่อข้าวมีราคาแพง ข้าวจากละตินอเมริกาก็จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์และอินโดฯ ก็พยายามพึ่งตัวเอง แม้แต่จีน 140 ล้านตันข้าวสาร ปีที่แล้ว 2 ล้านตัน ปีนี้อาจนำเข้ามากขึ้น ในที่สุดก็พึ่งพาตนเอง แม้แต่เกาหลี ญี่ปุ่น ก็พยายามพึ่งพาตนเอง

"โอกาสสำหรับตลาดข้าวไม่มี เพราะทุกคนพยายามพึ่งตนเอง อีกทั้งเทคโนโลยีไปเร็วมาก ประเทศกัมพูชาและพม่าก็พยายามเข้ามาในตลาด"

นายสมพร กล่าวว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า ราคาข้าวโลกยังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งหากไม่มีภัยพิบัติขนาดใหญ่จริงๆ เนื่องจากมีผู้ส่งอีกรายใหม่เข้ามา เช่น พม่า หากส่งออกเพิ่มอีก 2-3 ล้านตัน ก็ทำให้ตลาดแย่ลงอีก ซึ่งพม่าสามารถทำได้แน่นอน ขณะเดียวกันอินเดียมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวกดราคาในตลาดโลก

"ราคาข้าวจะลงมาระดับ 380-390 ความแปรปรวน จะอยู่ 390-440 แต่ไม่ขึ้นไปถึง 500 หรือ 600 รัฐบาลหวังว่าราคาข้าวจะอยู่ 500 ปลายๆ เราซื้อมา 800 ขาดทุนตันละ 3000 บาทเราก็อยู่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ตันละ 3 พันบาท แต่ตันละหมื่นบาท คงยากลำบากที่จะเอาเงินไปอุดหนุน"

อย่างไรก็ตาม หากรัฐยอมลดราคารับจำนำจาก 1.5 หมื่นบาท มาเป็น 1.2 หมื่นบาทต่อตัน ตลาดเอกชนก็จะทำงานได้ เอกชนก็สามารถซื้อแข่งได้ การทำข้าวนึ่ง เนื่องจากข้าวไทยเป็นข้าวเปลือก เราพัฒนาพันธุ์มาดี ข้าวนึ่งมีคุณภาพมากกว่าเวียดนาม ต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะตามทัน การส่งออกของเอกชน ส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นข้าวนึ่ง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

ถ้าไม่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง พึงระวังสงครามกลางเมือง !!?

การถอยแบบ “สุดซอย” ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่น่ายกย่อง ในฐานะการใช้กลไกทางการเมืองเพื่อเลี่ยงการปะทะที่อาจเสียเลือดเนื้อ และช่วยลดอารมณ์ที่รุนแรงของผู้ชุมนุมที่สนับสนุน กปปส. ลงมาบ้าง

แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาเท่านั้น เพราะม็อบ กปปส. เองก็ประกาศข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่า ไม่พอใจกับแค่การยุบสภาหรือการเลือกตั้ง แต่ต้องการให้รัฐบาลรักษาการณ์ลาออก เพื่อเปิดทางไปสู่ “รัฐบาลพิเศษ” ที่อ้างว่าสามารถใช้มาตรา 3 และ 7 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นฐานอำนาจทางกฎหมายได้

(ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ม็อบ กปปส. ยังชุมนุมยืดเยื้ออยู่รอบทำเนียบรัฐบาล)



(ภาพจากเพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)

SIU เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับท่าทีของหลายภาคส่วนของสังคมที่เสนอให้ “กลับสู่การเลือกตั้ง” คืนอำนาจกับประชาชนตามวิถีทางของประชาธิปไตยสากล โดยให้ “ประชาชนทั้งประเทศ” เป็นผู้ตัดสินใจผ่านคูหาเลือกตั้งอีกครั้งว่าอยากให้พรรคการเมืองใดทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป

และเราขอน้อมเตือนม็อบ กปปส. ด้วยความหวังดีว่าการกดดันให้รัฐบาลรักษาการณ์ลาออกเพื่อเปิดช่องให้เกิด “สภาประชาชน” นั้นไม่เป็นผลดีแก่ประเทศไทยเลย ทั้งด้วยเหตุผลว่าเป็นกลไกที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และไม่ใช่กลไกที่เป็นไปได้ตามกรอบอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือ การกดดันโดยไม่รู้จักผ่อนปรนของ กปปส. จะสร้าง “ความโกรธแค้น” ให้กับฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล ที่ยังไม่ได้ออกมาแสดงตัวชัดเจนนัก เว้นเสียแต่กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่มาชุมนุมกันที่สนามรัชมังคลากีฬาสถานเพียงไม่กี่วันเท่านั้น (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้สนับสนุนรัฐบาลมีเพียงเท่านี้)

ณ จุดนี้ ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่าไรนัก และยังมองไปถึงการแสดงพลังผ่าน “การเลือกตั้ง” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อยู่ โดยผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยยังมองว่าคะแนนเสียงของฝ่ายตนยังเป็นต่อและน่าจะชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง

แต่ถ้าหากมี “อุบัติเหตุทางการเมือง” ทำให้การเลือกตั้งที่เป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้น “ความโกรธแค้น” ที่สั่งสมมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะ “ปะทุ” ออกมาเป็นการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อาจยิ่งใหญ่ไม่แพ้การชุมนุมในปี 2553

และถ้าหากผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายมาปะทะกันบนท้องถนน สถานการณ์อาจลุกลามกลายเป็น “สงครามกลางเมืองในประเทศไทย” (Thailand civil war) ที่คงไม่มีฝ่ายใดอยากเห็น

ถ้าย้อนเวลาไปไม่นานนัก “กลุ่มคนเสื้อแดง” ถือเป็นแรงปฏิกริยาที่เกิดจากความเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อเหลือง” ที่สนับสนุน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงปี 2548-2549 เป็นต้นมา กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจความเป็น “ม็อบมีเส้น” ของกลุ่มคนเสื้อเหลือง การล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และการก่อตัวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจากกรณี “งูเห่า 2″ ทำให้เกิดผลออกมาเป็นการชุมนุมในปี 2552 และ 2553 จนเกิดความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากมาย

เราสามารถเปรียบเทียบ “ม็อบ กปปส.” ได้เฉกเช่นเดียวกับ “พันธมิตรฯ” (และในความเป็นจริงแล้ว แกนนำของทั้งสองม็อบก็มีความซ้อนทับกันอยู่มาก อ่าน ใครเป็นใครใน กปปส.) ดังนั้น กปปส. เองก็ควรพึงระลึกว่า การออกมากดดันทางการเมืองด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมจะสร้าง “ปฏิกริยา” ในหมู่คนเสื้อแดงที่อาจจะรุนแรงกว่าปี 2553 ด้วยซ้ำ

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง “สงครามกลางเมือง” ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด กปปส. ควรชะลอความเคลื่อนไหวที่อยู่นอกวิถีทางของรัฐธรรมนูญ และกลับเข้าสู่กลไกของการเลือกตั้งโดยเร็ว

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่น ได้เล็งเห็น “ความเสี่ยง” ของสงครามกลางเมืองนี้มาก่อนแล้ว และได้เตือนผ่านบทกวีไว้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน ว่า


ก่อนจะถึงชัยชนะไม่ว่าของฝ่ายใด
ท่านเห็นหรือไม่ว่าสงครามใหญ่รออยู่เบื้องหน้า
และใช่จะมีแต่ทัพของท่านที่ดาหน้า
เสียงกลองที่ดังมาแต่ไกลๆ ทั่วนครา
คือการยาตราทัพใหญ่ของฝ่ายตรงข้าม

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////



ที่มา.

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ธีรยุทธ์ บุญมี มองอนาคตหลังปฎิวัตินกหวีด !!?

ธีรยุทธ : การปฏิวัตินกหวีด มองเชื่อมโยงกับปัญหาอนาคตการเมืองไทย

การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว

1. คนไทยจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านได้ไหม? ประเทศไทยเลยเวลาที่จะปฏิรูปมาเนิ่นนานแล้ว เพราะ

- ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาธิปไตยเลือกตั้งมีการใช้เงินและผลประโยชน์ซื้อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงขั้นการใช้นโยบายประชานิยม แจกเงินโดยตรงแก่ประชาชน

- การคอร์รัปชั่นพัฒนาไปทุกรูปแบบ เป็นคอร์รัปชั่นด้วยนโยบาย เช่น การจำนำข้าว การเปิดเสรีรัฐวิสาหกิจ ฯ นักการเมืองกินเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% การส่งส่วยของตำรวจจากผู้น้อยไปสู่ผู้ใหญ่มีทุกระดับ การใช้เงิน การรับใช้ทางการเมืองหรือเรื่องสกปรกแลกตำแหน่งมีทุกวงการ หลังสุดถึงขั้นว่าเมื่อส่วนกลางจัดงบประมาณให้หน่วยงานต่างจังหวัด หน่วยงานจะต้องส่งคืนกลับ 10-20% ให้ผู้บังคับบัญชาที่อนุมัติ

- ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ คนทุกกลุ่มเลิกสนใจคุณธรรมหน้าที่ต่อบ้านเมือง มีการสมคบร่วมกันแย่งทึ้งประเทศชาติ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะได้เปรียบไม่เสียเปรียบคนอื่นในทุกวงการ อย่างที่โบราณว่าไว้ว่า “ฝูงแร้งสมจร ฝูงแร้งด้วยกัน” ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาบ่งว่าเราอยู่ใต้ระบบสมจรของทักษิณ ใต้รัฐบาลสมจรหุ่นของทักษิณ และสภาก็คือขี้ข้าทักษิณมาสมจรกัน

- การใช้อำนาจของนักการเมืองมีลักษณะเหิมเกริม ไร้ความละอายมากขึ้นเรื่อยๆ

- ข้าราชการสมคบสยบยอมนักการเมืองเปิดเผยชัดเจนเกือบทั้งหมด

- นโยบายจำนำข้าวเป็นดัชนีที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจประเทศล้มเหลวและเกิดปัญหาร้ายแรงในที่สุด

ทั้ง 6 ปัจจัยนี้จะทำให้ประเทศและสังคมไทยแตกวิ่นเป็นกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์กลุ่มเล็กและใหญ่กระจายไปทั่ว และจะแตกวิ่นในลักษณะภูมิภาค ท้องถิ่น ชนชั้น กลุ่มอาชีพ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เคยเป็นมา ทั้ง 6 ปัจจัยเป็นเหตุผลให้ควรเร่งแก้วิกฤติการเมืองไทยอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบขอไปที

2. ทำไมประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปสำเร็จ ที่ปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะมีไทยเฉยเยอะ ที่เป็นไทยเฉยมี 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1) ชาวบ้านในเมือง รากหญ้าในชนบท เฉย ไม่ใช่เพราะโง่เง่าหรือขาดการศึกษา แต่เพราะต้องดิ้นรนทำกิน และปัจจุบันก็ตื่นตัวในเรื่องข้อมูลข่าวสาร สิทธิของตนเองมากขึ้น ทั้งในแนวเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือในขบวนการนกหวีด

2) ชนชั้นกลางเฉยเพราะต้องตั้งเนื้อตั้งตัว แต่ก็ดีขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจสีลม อโศก รัชดา กลุ่มอาชีพต่างๆ

3) ผู้ดี ราชครูปุโรหิตทำหน้าที่สรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวเฉยๆ แต่ไม่กล้าหาญพอจะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุ ในการรักษ์ความยุติธรรม ป้องกันการโกง การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนแทนพระองค์

4) ข้าราชการ เสนาอำมาตย์ เฉย ไม่นำพาต่อการโกงกินบ้านเมือง แม้คนเป็น 1-2 ล้านออกมาเรียกร้องก็ไม่นำพา กลับเริ่มเสวยสุขกับนักการเมืองโกงกินทั้งหลาย

5) เจ้าสัวเฉย ไม่ยอมลงทุนเพื่อสร้างสรรค์การเมือง มีแต่ลงทุนเฉพาะทางธุรกิจเพื่อให้ครอบครัวร่ำรวย และออกมาคร่ำครวญเดือดร้อนอย่างน่าเห็นใจทุกคนเมื่อมีวิกฤติการเมือง

3. มองพลังประชาชนอย่างมีความหวัง ขบวนนกหวีดที่เริ่มขึ้นเล็กๆ จากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ที่อุรุพงษ์ กลุ่มกองทัพธรรมที่ผ่านฟ้า กลุ่มคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่สามเสนและราชดำเนิน จนเกิดเป็น กปปส. ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านมีโอกาสเป็นจริงขึ้นได้ เราสามารถอธิบายได้ว่าการแข็งขืนของ กปปส. หรือ “ขบวนนกหวีด” ครั้งนี้ โดยแก่นแท้ไม่ใช่ปัญหาว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่หรือเป็นขบถ

แต่เป็นทั้งการใช้ “สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้” สิทธิและหน้าที่ที่ว่าก็คือ การต่อต้านล้มล้างรัฐบาลที่ฉ้อฉลหรือเป็นทรราช (tyrannicide) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีและปรัชญาการเมืองประชาธิปไตย และมีการกระทำที่เป็นจริงมาตั้งแต่สมัยประชาธิปไตยของกรีก โรมัน งานของนักคิดสำคัญๆ จำนวนมาก เช่น Juan de Mariana, Hugo Grotius, John Locke ซึ่งเป็นบิดาของการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ ล้วนยืนยันสิทธิในการขับไล่ล้มล้างรัฐบาลฉ้อฉลทั้งสิ้น เช่น Locke มองว่าสิทธิในการปฏิวัติของประชาชนเป็นการป้องกันให้พ้นจากระบบทรราช

และถือว่าเมื่อมีการละเมิดผลประโยชน์ของประชาชนภายใต้สัญญาประชาคม ประชาชนมีสิทธิปลุกระดมเพื่อก่อการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน (ดูงาน Mariana, De rege et regis institutione (1598), Locke, Two Treatise of Government (1689), Grotius, Truth of the Christian Religion (1627) และ The Rights of War and Peace, including the Law of Nature and of Nations (1901))

โทมัส เจฟเฟอร์สัน, เบนจามิน แฟรงคลิน ต่างใช้สิทธิและหน้าที่นี้ในการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ ดังแฟรงคลินได้เสนอแบบเหรียญมหาลัญจกรของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อความการขับไล่ทรราชเป็นพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้าในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่เขียนไว้ว่า “เมื่อการใช้อำนาจไม่ชอบ การฉกฉวยดำเนินไปต่อเนื่องไม่ผันแปร … จะเป็นระบบทรราชแบบสมบูรณ์

จึงเป็นสิทธิเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะล้มล้างรัฐบาลเช่นนั้นเสีย” ในคำปรารภรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี 1793 ก็มีกำหนดไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 27 “… เมื่อรัฐบาลละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนย่อมต้องลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยถือว่าเป็นสิทธิที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และเป็นหน้าที่ที่จักขาดเสียไม่ได้มากที่สุด” และยังมีคำยืนยันสิทธินี้ในรัฐธรรมนูญอีกหลายประเทศ และยังมีกำหนดไว้โดยนัยยะในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน

การใช้สิทธิดังกล่าวส่วนใหญ่ต้องมีการยกเลิกกฎหมายหรือละเมิดกฎหมายบางข้อ แต่ก็มีการอ้างได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชนสูงสุดของประเทศชาติ เช่น โทมัส เจฟเฟอร์สัน กล่าวว่า “การเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นหน้าที่ที่สูงส่งอย่างไม่ต้องสงสัยของพลเมืองที่ดี แต่การรักษาประเทศของเราจากอันตรายเป็นพันธกิจที่สูงกว่า การสูญเสียประเทศของเราโดยการติดยึดกับกฎหมายที่ตราไว้โดยสำนึกทางศีลธรรมของเรา จะเท่ากับเป็นการสูญเสียระบบกฎหมายทั้งหมด ชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินทั้งหมดของเรา จึงเท่ากับเป็นการเสียสละเป้าหมาย (ประเทศและชีวิต) เพื่อรักษาเครื่องมือ (คือตัวบทกฎหมายบางข้อ – ผู้เขียน) ไว้อย่างไร้เหตุไร้ผลโดยสิ้นเชิง”

อย่างไรก็ตาม ศาลมักเตือนว่าการใช้สิทธิดังกล่าว รัฐธรรมนูญ กฎบัตรต่างๆ มักพิจารณาให้ใช้ในสภาวะที่เป็นความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นมาตรการสุดท้าย โดยการไตร่ตรองด้วยเหตุผลและสามัญสำนึก ไม่ใช่การโน้มน้าวจูงใจด้วยอารมณ์หรือความเคียดแค้นชิงชัง

4. การปฏิวัตินกหวีด หรือ ประชาภิวัฒน์ กปปส. ปฏิเสธการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทางเลือกของ กปปส. จึงเหลือเพียง 2 ทาง ทางแรกคือการกดดันให้เกิด “สุญญากาศ” ทางการเมือง เพื่อใช้มาตรา 3 มาตรา 7 แต่คาดว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ยินยอม และหนทางดังกล่าวจะทำให้เกิดความอึดอัดไม่สบายใจของฝ่ายต่างๆ ที่จะตีความรัฐธรรมนูญหรือปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว

อีกหนทางไม่เคยเกิดในประเทศไทย คือการปฏิวัติของประชาชน ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการปฏิวัติของทหารร่วมกับพลเรือน เพื่อล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนมีส่วนเฉพาะการโค่นล้มระบอบเผด็จการ

แต่ไม่มีส่วนในการออกแบบระบอบการเมืองที่ใช้กันต่อมา เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ประชาภิวัฒน์หรือ “การปฏิวัตินกหวีด” จึงอาจถือเป็นการ “ปฏิวัติประชาชน” ครั้งแรก เพราะเรียกร้องสภาที่ประชาชนมีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เนื่องจากระบอบการเมืองที่ถูกล้มไป

มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม [หมายเหตุ การปฏิวัติกับประชาธิปไตยเป็นคนละสิ่งกัน การปฏิวัติไม่เคยเกิดจากประชาชนหมดทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิแบบการเลือกตั้ง ไม่ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ (1688) การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) การประกาศอิสรภาพของอเมริกา (1776) การปฏิวัติกำมะหยี่ (1989) ของเชกโกสโลวาเกีย การปฏิวัติสีส้ม (2004) ของยูเครน

ล้วนเป็นประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งอ้างเจตนารมณ์ร่วม (General Will) ของประชาชนทั้งสิ้น อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศทั่วโลกก็มาจากตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ทำการปฏิวัติทั้งสิ้น]

จึงอธิบายได้ว่าประชาชนทำปฏิวัติได้ เพียงแต่ต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่า “การปฏิวัติประชาชน” ครั้งนี้จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมาก มีสิทธิเสรีภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่า มีความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น ทำให้ประเทศมีสภาพที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาเลวร้ายที่เรียกว่าระบอบทักษิณได้จริงหรือไม่ บ่อยครั้งการอ้างความเป็นตัวแทนของประชาชนก็ไม่เป็นจริง แม้ในสหรัฐเองตัวแทนจากหลายรัฐก็มาจากอภิสิทธิ์ชนเกือบทั้งหมด สวิสเซอร์แลนด์อาจเป็นข้อยกเว้นประเทศเดียว (ดู R.R.Palmer, The Age of the Democracy Revolution vol.I,II (1989)) ประเด็นสำคัญคือเนื้อหาและการปฏิบัติให้เป็นจริงมากกว่า

5. ความยากลำบากที่สุดของการนำพาให้การปฏิวัติประชาชนสำเร็จ และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในเมืองไทย การปฏิวัติประชาชนเกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะของประเทศไทยในครั้งนี้ซึ่งอาศัยเพียงนกหวีดเป็นอาวุธ และโดยประเพณีในการเมืองไทยต้องประกอบไปด้วยปัจจัย

ก. การรับรองจากประมุขของประเทศ

ข. การยอมรับจากกองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ

ค. ในปัจจุบันประชาชนซึ่งตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยมีมากขึ้น การยอมรับของประชาชนทุกส่วนและภาคเอกชนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง

ผู้เขียนสนับสนุนแนวทางการปฏิวัติของประชาชน เพราะเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการตระหนักถึงสิทธิอำนาจของประชาชน อยากให้ประสบความสำเร็จ ให้มวลมหาประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้สมหวัง จึงขอออกแรงในทางความคิดเสนออย่างจริงจังและตั้งใจจริง ดังนี้

กปปส. ควรตระหนักว่า การประกาศทวงอำนาจสูงสุดคืออำนาจอธิปไตยคืนเป็นของประชาชน ซึ่งโดยนัยยะมี กปปส. เป็นตัวแทนถืออำนาจนั้น เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำคัญมาก ไม่เคยปรากฏมาก่อนในบ้านเรา เพราะมันหมายถึงการยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองอำนาจในการจัดการสิทธิเสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน ของแต่ละคน รวมทั้งทิศทางทั้งหมดของประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่ กปปส. ต้องตระหนักดังนี้

ก. การเร่งรัดให้คนกลุ่มอาชีพต่างๆ ยอมรับการตัดสินใจของ กปปส. โดยไวเกินไป ยิ่งทำให้คนลังเล การใช้เวลาให้คนส่วนใหญ่ได้ครุ่นคิด ตริตรอง ทำความเข้าใจ และมีโอกาสได้ไต่ถามพูดคุยกับ กปปส. กระบวนการเกิดนโยบายหรือการจัดตั้งสภาประชาภิวัฒน์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรต้องเป็นการปรึกษาหารือเพื่อสร้างฉันทามติอย่างกว้างขวางจริงใจ จากนั้นอาจต้องผ่านประชามติและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน กปปส. ควรแสดง

1) การมีเจตจำนงการเมืองที่แน่วแน่ (Political Will) ที่จะบรรลุภารกิจที่ตัวเองประกาศไว้ นั่นคือการแก้ไขการขยายตัวของการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นตัวฉุดดึงทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของชาติ ให้ล่มสลายตามไปด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เข้มงวด มีการสร้างหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นที่มีอำนาจสูง การปฏิรูประบบยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ให้ทำงานสอดคล้องกัน พิสูจน์ลงโทษให้เห็นชัดเจน

2) ต้องมีคำประกาศอุดมการณ์การเมืองที่ชัดเจน ผูกมัดตัวเอง ผูกมัดสังคมที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาคมและชุมชน ท้องถิ่น จริงจัง ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยไว

3) ต้องมีอุดมการณ์เศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งควรเป็นเสรีนิยมที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นประชานิยมเอียงซ้าย หรือชาตินิยมแบบอเมริกาใต้ ซึ่งนำความเสื่อมโทรมมาสู่เศรษฐกิจชาติอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเป็นธรรม อำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร ความมั่งคั่งที่กระจายอย่างยุติธรรมมากขึ้น

4) ควรเน้นเนื้อหาการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค เน้นการเคารพการตัดสินใจในการดูแลผลประโยชน์ของท้องถิ่น

5) เคารพภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอาใจใส่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

6) พัฒนาแลกเปลี่ยนระดับความรู้ของทุกภูมิภาคให้เท่าเทียมกัน ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย การพัฒนา

7) ดังที่ได้ย้ำหลายหนว่า การปฏิวัติเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีการอ้าง “อำนาจประชาชน” หรือเจตจำนงของประชาชน โดยไม่เคยเป็นประชาธิปไตย 100% ทุกที่ แต่ก็ต้องให้สภาประชาภิวัฒน์หรืออื่นๆ มีลักษณะเป็นระบบตัวแทนที่กว้างขวางที่สุด

ข. กปปส. มีความสามารถในการโน้มน้าวจูงใจ แจกแจงเหตุผลให้กับมวลชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งก็คือลักษณะของขบวนการต่อต้านคัดค้านรัฐบาล (protest movement) เป็นทุนหรือเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ แต่แม้จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมอีกก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้

แต่การจะได้มาซึ่งอำนาจอธิปัตย์โดยเฉพาะการยอมรับจากประมุขประเทศ และการสนับสนุนถึงขั้นให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน มารายงานตัว ยังต้องอาศัยการยอมรับ ความไว้วางใจในเจตจำนงทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง บุคลิกท่วงทำนองประชาธิปไตย การเคารพซึ่งกันและกัน การอดทนต่อความแตกต่าง บุคคลเข้าร่วมหรือพร้อมจะเข้าร่วมที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถด้านต่างๆ มาประกอบ ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ กปปส. และมวลมหาประชาชนเป็นเสมือนฐานราก ยังจำเป็นต้องมีส่วนอื่นๆ คือ เสา ฝา หลังคา รั้ว เพื่อประกอบเป็นโครงสร้างหน้าที่ที่สมบูรณ์

ถ้าใช้ศัพท์การเมืองก็คือการมีองค์กรแนวร่วม (united front) ที่ประกอบด้วยบุคคลที่เสมือนเป็นทุนทางสังคม ทุนทางสัญลักษณ์ ทุนทางศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ความสามารถและมีประสบการณ์ ซึ่งที่จริง กปปส. สามารถที่จะแสวงหาทรัพยากรเหล่านี้ได้ไม่ยาก

ทั้งจากผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่แล้ว และจากพรรคประชาธิปัตย์ จากองค์กรภาคธุรกิจเอกชน 7 องค์กรที่ประกาศพร้อมจะเป็นคนกลาง บุคคลผู้อาวุโสในสังคม เทคโนแครตบางส่วน การเน้นคนเหล่านี้อาจถูกหาว่าเป็นอภิชนนิยม การเปิดทางให้ชนชั้นสูงเป็นใหญ่ (elitism แต่ถ้าเน้นเฉพาะหลักการให้การเลือกตั้งเป็นตัวสินในทุกสถานการณ์ ก็เป็นแนวธนานิยม moneyism คือแนวโน้มการให้อำนาจเงินเป็นใหญ่ไปอีกทาง) จึงควรมีองค์ประกอบจากตัวแทนรากหญ้า ผู้นำปัญญาชนการเมืองท้องถิ่นทุกจังหวัดด้วย

โครงสร้างแนวร่วมประชาภิวัฒน์ที่ควรจะเป็น

การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว และถ้ารักษาพลังนี้ได้เราก็อาจได้แนวร่วมของขบวนการตรวจสอบภาคการเมืองต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคตได้

ธีรยุทธ บุญมี

แถลงที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

10 ธันวาคม 2556 วันรัฐธรรมนูญ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
------------------------------------------

นายกฯแจง 4 เหตุผล ประกาศยุบสภา !!?

ขณะที่นักวิชาการชี้ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ

ในที่สุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพูล) ว่าได้ตัดสินใจยุบสภา ซึ่งถือว่าพลิกความคาดหมายไม่น้อย เพราะหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่ารัฐบาลยังยื้อสถานการณ์ต่อได้ และยังมีไพ่ให้เลือกเล่นอีกหลายใบ

งานนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลแสดงท่าที "ถอยสุดซอย"

แต่คำถามคือการยุบสภาในจังหวะเวลานี้ จะช่วยให้สถานการณ์การเมืองดีขึ้นจริงหรือไม่?

นางสาวยิ่งลักษณ์ ให้เหตุผลของการตัดสินใจทูลเกล้าฯ ถวาย ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 จำนวน 4 ข้อ คือ

1.การยุบสภาเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศที่ใช้ระบอบนี้ ขณะที่ประเทศไทยก็มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับ

2.ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อถึงจุดที่ความคิดขัดแย้งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ และมีความรุนแรงจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นวิถีทางที่เป็นไปตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางใด และจะให้ใครมาบริหารประเทศตามแนวทางนั้น

3.เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะย่อมพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามมาตรา 180 (2) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ซึ่งกำหนดไว้ด้วยว่า คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว

4.ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งจะได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงการกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

ด้านความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การประกาศยุบสภาของนายกฯ ไม่สามารถสยบการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ออกมาชุมนุมได้ อีกทั้งยังเป็นการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งๆ ที่บ้านเมืองไม่มีความพร้อม อาจจะยิ่งทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งข้อเสนอของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) คือต้องการ "สภาประชาชน" แต่รัฐบาลเลือกที่จะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อาจทำให้การเมืองทั้ง 2 ขั้วไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน และส่งผลให้สังคมไม่สงบได้

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ขอถามไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ทำไมถึงประกาศยุบสภาในช่วงที่มีการเดินขบวนของประชาชนแล้ว มองว่าสถานการณ์ตอนนี้ไปไกลกว่าที่จะมีการยุบสภาหรือเจรจาระหว่างแกนนำทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนทางออกของประเทศตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่เมื่อพิจารณาดูรายละเอียดของสถานการณ์ เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งทางออกในตอนนั้นคือผู้นำรัฐบาลเผ่นออกจากประเทศ

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออกของปัญหาทางการเมือง แต่เมื่อรัฐบาลเลือกจะยุบสภาแล้ว ฝ่ายทหารควรออกมามีบทบาทเรียกร้องให้มวลชนยุติการชุมนุม เพื่อยุติความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศ และหลังจากนั้นต้องแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิถีประชาธิปไตย เช่น ให้แกนนำตัวจริงมาคุยกัน โดยผ่านคนกลางที่ได้รับการยอมรับ หรือให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เจรจากับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ต้องการและให้ประชาชนเป็นสักขีพยาน

นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การยุบสภาถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเพื่อเลี่ยงการนองเลือด แต่อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด และหลังจากนี้มองว่ากลุ่มมวลชนควรจะถอยด้วย ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่จบ อาจส่งผลให้สังคมเป็นอัมพาต เศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมถึงทำให้เกิดสภาพของความตึงเครียดได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////