--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กึ่งเจ๊า-กึ่งเจ๊ง !!?

โดย.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

มองปัญหาพระวิหารไทย-กัมพูชา"กึ่งเจ๊า-กึ่งเจ๊ง" ขณะที่ "วีรพัฒน์"แนะอย่าด่วนสรุปเสียดินแดนต้องรอผลเจรจา ย้ำรัฐต้องเปิดเผยโปร่งใส

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา "เขาพระวิหาร-ชาตินิยม-ประชาคมอาเซียน"ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวานนี้(17 พ.ย.) ว่า คดีปราสาทพระวิหารเป็นคดีแย่งมรดก เพราะคู่ความไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้น จึงนำเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก พิพากษาลงมา

แม้ผลออกมาไม่ยอมรับแต่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะอยู่รอดหรือไม่ต้องติดตาม แต่ในแง่ประวัติศาสตร์การเมือง น่าจะเป็นเรื่องของลัทธิชาตินิยมที่ทำให้บานปลาย และปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องของไทยและกัมพูชา อย่างไรก็ดี หลังคำพิพากษาศาลโลก ส่วนตัวคิดว่าคือ กึ่งเจ๊า กึ่งเจ๊ง เพราะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่วิตก เป็นลักษณะวินวินทั้งไทยและกัมพูชา เนื่องจากไม่ได้เสียมากอย่างที่ไทยคิดและกัมพูชาไม่ได้อย่างที่คิดเอาไว้ ตรงนี้จะทำให้ไทยอยู่กับเพื่อนบ้านได้

"งานนี้แผนที่ไม่เกี่ยว แต่งานที่แล้วจบลงด้วยแผนที่ 1:200,000 ที่ผมเรียกว่าเป็นแผนที่แบร์นาร์ด-ชาติเดชอุดมแผนที่ทั้งหมดมี 11 ระวาง เป็นแผนที่อินโดจีนฝรั่งเศส-สยาม ดังนั้น สรุปได้ว่าแผนที่ดังกล่าวสยามได้ทำร่วมกับฝรั่งเศส และถ้าเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ถือว่าตาบอดหนึ่งข้าง แต่ถ้าเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่ทำการศึกษาก็ถือตาบอดสองข้าง” นายชาญวิทย์ กล่าว

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า ประเด็นนี้มี 2 เรื่องใหญ่ คือ กฎหมายและการเมือง แต่ยังมีสภาวะวิถีชีวิต ภูมิศาสตร์ เข้ามาเกี่ยวข้อง ถามว่าขัดแย้งหรือไม่ ถ้าบอกตามกฎหมายระหว่างประเทศบอกได้ว่า ไม่ได้ขัดแย้งโดยตรง แต่อาจจะเอื้อกันด้วยซ้ำ เช่น ภูมะเขือชัดเจนมันแยกออกจากกัน เพราะเอามารวมกันไม่ได้

"คำพิพากษาผูกพันในประเด็นสู้คดี ศาลไม่ได้บอกเรื่องดินแดนไทย-กัมพูชาหรือเส้นสันปันน้ำ ศาลสนใจตัวปราสาทเป็นของใคร และไทยต้องถอนทหาร แต่ศาลใช้คำกำกวม คือ vicinity ทิศใต้ ตะวันตก ชัดเจน เป็นหน้าผา ทิศเหนือปราสาทที่ลาดไม่ชัด จึงต้องใช้ส่วนหนึ่งของแผนที่ภาคผนวกที่ 1 มากำหนดขอบเขต

อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่า เสียดินแดนใหญ่หรือเล็ก แต่การเอาเส้นนี้ลากลงแผนที่จริงมันทำให้งง ท่านทูตวันนี้บอกว่ายังสรุปไม่ได้ ดังนั้นต้องรอการเจรจา และทำฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะเวลาท่านทูตพูดมีน้ำหนักเพียงพอในการผูกมัด และการที่ท่านทูตพูดกับนายศิริโชค โสภา ก็เหมือนเป็นการสอนไปยังกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล ต้องระวังในการพูด เพราะเมื่อมีผลผูกมัดทำให้ยากต่อการเจรจา"

แต่สิ่งดี คือ ขณะนี้ทุกอย่างได้คลายปม พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูดคุย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเส้นเขตแดนที่แต่ละฝ่ายเคยขีดไว้” นายวีรพัฒน์ กล่าวและว่า ส่วนกรอบการเจรจาก็อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายเดินหน้า แต่รัฐบาลต้องแสดงความโปร่งใส คือ ตรวจสอบได้แล้วนำผลเจรจามาบอกประชาชนด้วย

นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแบ่งเส้นพรมแดนคนไทยเข้าใจในเชิงรัฐศาสตร์มากกว่า ดังนั้น จะมีความรู้สึกแตกต่าง คือ ลักษณะรัฐทั่วไปสมัยก่อนไม่มีพรมแดน อาจจะใช้สิ่งสังเกตในธรรมชาติแบ่งขอบเขต เช่น กรณีพระวิหาร หน้าผาเป็นตัวแบ่งที่ดี ถ้ามุมมองชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ การใช้หลักสันปันน้ำจับต้องได้ยากกว่าหน้าผาแม้กระทั่งคนกัมพูชา และความเป็นกรรมสิทธิ์ทำให้เกิดความรู้สึกยากต่อการสูญเสีย

อย่างไรก็ตาม พรมแดนนำไปสู่ความนิยมเชิงอัตลักษณ์ ทำให้พื้นที่กับคนเป็นสิ่งเดียวกัน และให้เข้าใจกัมพูชาว่าเป็นชาวอพยพ อดีตปัจจุบันต้องแบ่งแยกจากกัน แต่ปัญหามรดกโลกขาดการทำความเข้าใจในอดีต เพราะพระวิหารเป็นศูนย์กลางสำหรับคนหลายๆ กลุ่ม พื้นที่ดังกล่าวก่อนประกาศเป็นมรดกโลก หลายแห่งเป็นโบราณคดี

ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงถึงคำพิพากษาของศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร ว่า คำตัดสินของศาลโลกช่วยพิสูจน์ความจริงว่าตนไม่ใช่คนขายชาติตามที่ถูกกล่าวหามาตลอด 5 ปี คำตัดสินของศาลในวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนรู้ว่าพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ได้ตกเป็นของกัมพูชา และสิ่งที่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำไว้ก็เพื่อปกป้องดินแดนไม่ได้ขายชาติ ดังนั้นทุกฝ่าย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และ กลุ่ม 40 ส.ว.ควรยุติเผยแพร่ข้อความเท็จเรื่องปราสาทพระวิหาร

นายนพดล กล่าวว่า ปี 2551 รัฐบาลสมัคร ที่มีตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้คัดค้านและบังคับให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรออก และห้ามไม่ให้นำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก กัมพูชาต้องยื่นแผนผังตัวปราสาทใหม่แทนแผนที่รุกล้ำพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรที่ได้ยื่นไว้ในปี 2549 จนสามารถขึ้นทะเบียนได้เฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าเส้นรั้วลวดหนามตามเส้นมติ ครม.เสียอีก โดยไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน ตามที่ระบุในข้อ 9 ของมติกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32

นายนพดล กล่าวว่า คำตัดสินของศาลโลกพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าคำแถลงการณ์ร่วมที่ตนได้ลงนามไว้ ไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดน และยังเป็นการปกป้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทีมกฎหมายของไทย ก็ยังใช้คำแถลงการณ์ร่วมของตนในการสู้คดีด้วย และเมื่อความจริงปรากฏว่าตนไม่ใช่คนขายชาติ ก็ขออโหสิกรรมให้นักการเมืองกลุ่มที่ใส่ร้ายตนมาตลอด 5 ปี และฝ่ายต่างๆ ควรหยุดวิจารณ์คำตัดสินของศาลโลกเพื่อหวังผลทางการเมืองได้แล้ว แต่ควรให้ข้าราชการมืออาชีพทำงาน เลิกสร้างปัญหาแต่ควรร่วมมือกันแก้ปัญหา

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เปลี่ยนผ่าน..สู่อุดมการณ์มวลชน !!?

โดย.นพคุณ ศิลาเณร

แรงต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "เหมาเข่งสุดซอย" ตามแบบฉบับของแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จัดเป็นการยกระดับทางการเมืองอย่างมีนัยยะลุ่มลึก

เพราะมีท่วงทำนอง "จุดยืนผสมอุดมการณ์มวลชน" ซึ่งหาได้ยากยิ่งจากนักการเมืองในระบบเลือกตั้งที่เน้นเฉพาะ "เสียงข้างมาก" เป็นเกณฑ์เข้าถือครองอำนาจ

นั่นสะท้อนว่า แนวคิดและจิตวิญญาณ ประชาธิปไตยประชาชนเกิดปะทะกับแนวทางเลือกตั้งในพรรคเพื่อไทย

นี่คือ ความแตกต่างของนักการเมือง ในฐานะ "ผู้แสดง" อำนาจ จะเลือกเล่นบทตัวแทนประชาชนหรือของพรรค การเมืองที่มีเงา "บุคคล" ผู้ทรงอำนาจคอยคัดท้ายอย่างคนหูเบา โลเล

หากไม่มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษเหมาเข่ง สุดซอยเกิดขึ้น ความแตกต่างในเชิงอุดมการณ์ย่อมไม่ปรากฏได้แจ่มแจ้งในพรรคเพื่อไทย

รวมทั้งอุดมการณ์มวลชนของ นปช. ย่อมไม่ทอแสงวาววาบขึ้นท่ามกลางวงล้อมแนวทางเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

กลุ่ม นปช.กำเนิดขึ้นด้วยชุดอุดม- การณ์ประชาธิปไตยประชาชน มีแกนนำคนสำคัญอย่าง "จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" เป็นผู้แสดงบทบาทจุด ยืนมวลชนอย่างโดดเด่นในการต่อสู้กับอำนาจแฝงนอกรัฐธรรมนูญและพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำตัวเป็นลิ่วล้อฝ่ายอำมาตย์

ในฐานะนักการเมือง "จตุพร-ณัฐวุฒิ" สังกัดพรรคเพื่อไทย ด้วยบทผู้แสดงจุดยืนมวลชนจึงถูกแนวทางนักเลือกตั้งของพรรคกลบแทบมิด

หนำซ้ำยังถูกครหาว่า นำจุดยืนมวลชนไปรับใช้ "ทักษิณ" เพื่อแลกเปลี่ยนกับตำแหน่ง "รัฐมนตรี"

เมื่อพรรคเพื่อไทยเล่นทีเผลอ แล้วแปรรูปร่าง พ.ร.บ.นิรโทษเป็นเหมาเข่งและมุ่งผลักดันให้สุดซอย ทั้งๆที่ "จตุพร-ณัฐวุฒิ" ได้ประโยชน์ แต่เขาทั้งคู่ประกาศต่อต้านการนิรโทษกรรมฉบับปล่อยฆาตกรฆ่าประชาชน 100 ศพ กลางกรุงเทพฯ เมื่อ เมษา-พฤษภา 2553

หากฆาตกรยังไม่ถูกลงโทษ จตุพร บอกว่า จะละทิ้งความรับผิดชอบต่อความ ตายของประชาชนจากการต่อสู้กับเผด็จ การไม่ได้ "แม้จุดยืนนี้ทำให้ไม่ได้เป็นอะไรเลยในชีวิต แต่ตำแหน่งคนเสื้อแดง ไม่มีใครมาถอดถอนได้"

ณัฐวุฒิ สอดประสานว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้สั่งการไม่ว่าฝ่ายรัฐ หรือแกนนำผู้ชุมนุมฝ่ายต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดการเสียชีวิตและทรัพย์สิน "จึงควรไปพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม"

ทั้ง "จตุพร-ณัฐวุฒิ" แจ่มชัดในจุด ยืนมวลชน เขาทั้งสองคนต้องการแบกรับภารกิจ "ล่าฆาตกรอำมหิต" มาลงโทษตามกฎหมายให้สาสมกับจิตใจ "อมนุษย์" สั่งฆ่าประชาชนมือเปล่า

ด้วยภารกิจเช่นนี้ จึงทำให้ทั้งคู่เป็นเสียงส่วนน้อยในพรรคเพื่อไทย ราวกับเป็นนักการเมืองชายขอบของพรรค ประหนึ่งเป็นพวกบ้าจุดยืนมวลชนแทรกผสมอยู่กับพวกยึดมั่นแนวทางเลือกตั้งที่ไม่ใส่ใจจิตใจประชาชนผู้หย่อนคะแนนให้พรรค

ด้วยจุดยืนมวลชนในฐานะนักการเมืองสังกัดพรรค มีหลักพื้นฐานง่ายๆ เพื่อ บ่งบอกถึงชนทุกชั้นในสังคมมีความเสมอภาคและเท่ากันในสิทธิทางการเมือง ไม่ใช่ ยอมรับแบบผิวเผินเพียงรูปแบบ "หนึ่งคนหนึ่งสียง" แต่ต้องยึดมั่น พร้อมเคารพฉันทามติจากเสียงที่แสดงออกด้วย นั่นทำให้สังคมราบรื่น เกิดสันติ แล้วพัฒนาไปอย่างสร้างสรรค์

แต่สังคมไทย ไม่ใส่ใจความเท่าเทียม สิทธิทางการเมืองทั้งในรูปแบบและเนื้อหา ด้วยเหตุนี้ นปช.จึงต่อสู้ทางการเมือง ในเบื้องต้น "จตุพร-ณัฐวุฒิ" ประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการในรหัส "โค่นอำมาตย์"

เนื่องจากอำมาตย์เผด็จการซ่อนตัว ในรูปแบบสังคมประชาธิปไตย คอยกัดเซาะ ฐานอำนาจพรรคเพื่อไทยที่ได้รับฉันทามติจากเสียงประชาชนข้างมากให้เป็นรัฐบาล

ดังนั้น การต่อสู้กับอำมาตย์จึงเท่า กับรักษาอำนาจประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งในรูปแบบเสียงข้างมาก แต่พรรคเสียงข้างมาก ไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้หากขาด "ความชอบธรรมทางการเมือง" ในเชิงเนื้อหา

ความจริงคือ ความชอบธรรมนั้นอัดแน่นในจุดยืนแนวทางมวลชน ไม่ใช่แนวทางนักเลือกตั้งที่คอยเอาใจแต่เฉพาะ นายทุนพรรคการเมือง

การเกิดขึ้นของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษเหมาเข่งและการส่งเสียงเชียร์จากนักการเมืองเลือกตั้ง จึงทำให้แรงต่อต้านน้อยนิดของ "จตุพร-ณัฐวุฒิ" มีความแตกต่างในเชิงคุณภาพของนักการเมืองอย่างเด่นชัด

เสียงต่อต้านเพียงน้อยนิด แต่เต็มไปด้วยความชอบธรรมทางการเมืองที่ยึดมั่นจุดยืนมวลชน ย่อมทำให้ "จตุพร-ณัฐวุฒิ" ก้าวล้ำหน้าหนีจากนักเลือกตั้งในพรรคเพื่อไทย และพร้อมกับมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุดมการณ์มวลชนของนักการเมืองมากขึ้นทุกขณะ

ที่สำคัญย่อมทำให้กลุ่ม นปช.มีแนว ทางชัดเจนต่อการยกระดับให้เสื้อแดงแนว ประชาธิปไตยมวลชนมีคุณค่ามากกว่าพวก เสื้อแดงนักเลือกตั้งที่หลับหูหลับตาทำตัวเป็นเกราะป้องกันภัยในพรรคเพื่อไทย

ชัดเจนว่า สถานการณ์นิรโทษเหมา เข่งได้จำแนกให้นักการเมืองและกลุ่มเสื้อแดงเกิดขั้วพลังระหว่างแนวทางมวลชนกับแนวทางนักเลือกตั้ง

"ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย" แพ้ราบคาบแล้วในสถานการณ์ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษเหมาเข่ง แม้กระบวนการสภาเดินมาเพียงกลางซอย แต่ด้วยผิดพลาดในด้านความชอบธรรมทางการเมือง จึงถูกรุมสกรัมรอบทิศทางจากชนชั้นกลาง

กระแสกระหน่ำตีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ เหมาเข่งที่ไหลเทมาเชี่ยวกราก ย่อมสะท้อนว่า อารมณ์ชิงชัง ไม่ต้อนรับ "ทักษิณ" กลับบ้านมีอยู่สูง แต่ซ่อนตัวเงียบๆ รอคอย "ความชอบธรรมทางการเมือง" มาจุดให้ระเบิดขึ้น

ป้ายข้อความเขียนว่า "คัดค้านนิรโทษกรรม" ถูกชูอวดปรากฏเป็นภาพสื่อสาร แต่น้ำเสียงกลับเปล่งตะโกน "ล้างผิดคนโกง ไล่ทักษิณ ล้มยิ่งลักษณ์" นั้น บ่งถึงแนวทางการเมืองของความชิงชังและได้ผุดขึ้นเป็นคู่ต่อสู้ทางอำนาจอย่างแหลมคม

เมื่อ "ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย" พลาด เพราะแปรรูปร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่งให้มีเนื้อหาเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การกลับบ้าน อย่างผู้บริสุทธิ์ จึงเท่ากับขาดความชอบธรรมทางการเมือง จึงทำให้แรงต่อต้านมีความชอบธรรมมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น กระแสชิงชังต่อต้าน ทักษิณได้ลากมาเชื่อมต่อแรงอารมณ์ "ไล่" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ ซึ่งถูกประทับตราว่า เป็นทายาททางอำนาจ จนเกิดเสถียรภาพสั่นคลอนครั้งใหญ่

บทเรียนจากแรงต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษเหมาเข่ง ย่อมสะเทือนถึงแนวทาง พรรคเพื่อไทยต้องถูกตรวจสอบ และกล้าปฏิรูปพรรคครั้งสำคัญ เพราะการเน้นแนว ทางนักเลือกตั้งอาศัยคะแนนเสียงไม่เพียง พอต่อการนำพาพรรคการเมืองให้เติบใหญ่ มั่นคงเสียแล้ว

ดังนั้น จุดยืนมวลชนของนักการเมืองชื่อ "จตุพร-ณัฐวุฒิ" ที่มาจากแนวทาง นปช.จึงมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มและกำลังท้าทายพรรคเพื่อไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนจะสายเกินเยียวยาได้ทัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------------

หอกข้างแคร่อาเซียน 3

มีข้อตกลงในกรอบทวิภาคีอีกเรื่องหนึ่ง ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1995 ตกลงเรื่องความปลอดภัยในการเดินเรือ ในการวิจัยทางทะเล ในเรื่องการช่วยชีวิตและเรื่องการป้องกันสิ่งแวดล้อม และการจัดการเจรจาต่อรองตกลงความขัดแย้งต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเหล่านี้ ก็หาได้ช่วยให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ตกลงกันได้ดีขึ้นแต่อย่างใดไม่ ทำ ให้เห็นกันว่า การทำความตกลงกันในกรอบของพหุภาคีนั้นยังเป็นสิ่งจำเป็นในการทำความตกลงต่อกัน

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1997 นั่นเอง อาเซียนได้มีการตกลงที่จะพิจารณาร่างข้อเสนอของฝ่ายจีน เพื่อตกลงกรอบความร่วมมือทางการเมือง และทางเศรษฐกิจต่อกัน ข้อเสนอดังกล่าวยังรวมเอาเรื่อง "บรรทัดฐานในทางปฏิบัติ" (norms of conduct) ในความสัมพันธ์ต่อกัน และเพื่อให้เป็นแนวทาง (guidelines) สำหรับการตกลงความขัดแย้งต่อกันอย่างสันติ

ข้อที่จะต้องตั้งข้อสังเกตให้ดีก็คือว่า ร่างข้อเสนอดังกล่าว นี้ไม่ได้อ้างถึงการเจรจาตกลงกันในเรื่องอธิปไตยแต่อย่างใด ทางฟิลิปปินส์ได้ส่งร่างข้อเสนอนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ซึ่งประชุมกันในกรุงมะนิลาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1999

ที่น่าสังเกตอีกก็คือว่า ร่างข้อเสนอนี้ มีลักษณะค่อนข้างเป็นเรื่องการจัดการเกี่ยวกับการขนถ่าย (logistics) สินค้ามากเกินไป และยังมีลักษณะเป็นสนธิสัญญา (Treaty) ใน ขณะที่สมาชิกรัฐอาเซียนต้องการที่จะให้มีรูปแบบที่เป็นแนวทาง (guidelines) มากกว่า เพื่อว่าจะได้สอดคล้องกับแนวทางวิถีอาเซียน (ASEAN WAY) นั่นเอง

ถึงจุดนี้ทำให้เห็นขึ้นมาว่า มีจุดเสี่ยงต่อความลงรอยกันในอาเซียนกับการทำความตกลงกับจีน เริ่มเห็นชัดขึ้น ทางฝ่ายจีนเองดึงดันที่จะให้เจรจากันในกรอบทวิภาคีกับประเทศที่อ้างสิทธิครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ และยังดึงดันแข่งขันเอากับมาเลเซียให้หันมายอมรับการเจรจาในกรอบทวิภาคี ที่ว่านี้

แต่เดิมนั้น ตั้งแต่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิครอบครองของตนในทะเลจีนใต้ ก็ไม่ค่อยมีประเทศใดให้ความสนใจนัก จนเมื่อฝ่ายฟิลิปปินส์พบว่า ทางมาเลเซียก่อสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นในเกาะแก่งที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิครอบครองสองแห่งด้วยกัน เรื่องนี้เกิดตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ.1999 มาแล้ว และนี่เองทำให้ความสัมพันธ์ในระหว่างอาเซียนกันเองเกิดมึนตึงขึ้น

ทางฝ่ายมาเลเซียนั้น ดูเหมือนจะเห็นไปตามแนวทางของจีนในการหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้งต่อกันในกรอบการเจรจาทวิภาคี ซึ่งเห็นได้จากการประชุม ARF ที่สิงคโปร์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1999

เอ้า! มีข้อสังเกตที่น่าคิดไหมเล่าว่า นี่น่าจะเป็นจุดสำคัญลึกๆ หรือไม่ ที่ประธานาธิบดี สี จี้ผิง ของจีนวางกำหนดการเดินทางไปเยี่ยมเยือนมาเลเซียเป็นพิเศษมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ขณะเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เคอะ เฉียง เดินทางมาไทยเป็นพิเศษ เพราะไทยได้รับการแต่งตั้งในที่ประชุม สุดยอดเอเชียตะวันออกที่ประชุมกันในกัมพูชา เมื่อพฤศจิกายน ค.ศ.2012 ให้เป็นตัวกลางในเรื่องข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้

รูปการอย่างนี้มีข้อฉุกใจให้คิดกันบ้างไหม ที่มีการออกข่าว เรื่องจีนจะซื้อข้าวจากไทยนั้น เป็นส่วนปลีกย่อยเท่านั้นเอง เราไม่ได้ข่าวเลยไม่ใช่หรือว่า ฝ่ายจีนได้เดินแนวการทูตอย่างไรกับไทย ในกรณีทะเลจีนใต้ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่จีนน่าจะวางเป้าหมายหนึ่งในการเดินทางมาเยือนรัฐในอาเซียน จีนคงไม่ได้มาไทยเพื่อประกาศ ความช่วยเหลือต่อไทยแต่เรื่องข้าวอย่างเดียวเท่านั้นกระมัง

อาการอันไม่ลงรอยระหว่างรัฐสมาชิกของอาเซียน เกิดขึ้น จากประเด็นนี้มาแต่ปี ค.ศ.1999 ในกรณีความขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้ แต่นั้นแล้ว ทางฟิลิปปินส์รู้สึกว่าฝ่ายมาเลเซียทรยศหักหลังตนและยังรู้สึกผิดหวัง หัวเสีย ที่รัฐสมาชิกของอาเซียนเอง ก็ดูจะวางเฉยกับเรื่องนี้ จึงปล่อยให้จีนหว่านล้อมยอมตามกันไป

แต่การเจรจาระหว่างจีนกับอาเซียนก็ยังคงดำเนินต่อไป จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2002 จึงได้มีการลงนามใน "ประกาศกฎจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้" (Declaration on a Code of Conduct in the South China Sea) ในที่ประชุมสุดยอดของอาเซียนที่กัมพูชา

ถ้อยคำสำคัญของประกาศกฎจรรยาบรรณนี้ ก็คือการให้ทุกฝ่ายยอมรับดำเนินการหลีกเลี่ยงกระทำการในกิจกรรมใดๆ อันจะนำไปสู่ความซับซ้อน หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งยิ่งขึ้น ต่อการเกิดผลกระทบถึงสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งขอให้หลีก เลี่ยงต่อปฏิบัติการนำคนเข้าไปอยู่ในเขตไร้ถิ่นฐานตามหมู่เกาะต่างๆ และลักษณะอื่นใด โดยให้จัดการกับความแตกต่างในลักษณะอันสร้างสรรค์ต่อกัน

ประกาศจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้นี้ ไม่ได้กล่าวรวมเอาเรื่องอันเป็นพันธกรณีเฉพาะให้หยุดการก่อสร้างโครงสร้างใหม่ใดๆ ในเขตซึ่งมีความขัดแย้งต่อกัน ทางฟิลิปปินส์นั้นต้องการให้เกิดเป็นพันธกรณีที่รวมเอาเรื่องนี้ไว้ด้วย แต่ก็ถูกฝ่ายจีนปฏิเสธ

ทางฝ่ายเวียดนามนั้น เรียกร้องว่า ข้อเสนอในกฎจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้นั้นควรจะประยุกต์ได้กับหมู่เกาะพาราเซล (ซึ่งทางฮานอยอ้างสิทธิครอบครองในตอนนั้น แต่ตอนนี้จีนกลับยึดคืนไปครอบครองแล้ว) จีนไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องของเวียดนาม ทั้งที่เรื่องน่าจะจบจากการที่ทางฟิลิปปินส์เสนอใหม่ว่า ไม่ให้งดอ้างถึงเขตดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่กล่าว ถึงไว้ในประกาศดังกล่าว

เพราะเมื่อยอมรับตามข้อเสนอริเริ่มของฟิลิปปินส์เช่นนี้ ก็จะช่วยให้เวียดนามเรียกร้องเขตที่อ้างสิทธิครอบครองได้ตลอดทั้งทะเลจีนใต้

ต้องเข้าใจว่า ถึงอย่างไรก็ตาม คำประกาศกฎจรรยาบรรณทะเลจีนใต้นี้ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย (no legally binding) การที่ออกประกาศนี้มาจนได้ถึงขั้นนี้ คงเป็นแต่เพียงเป้าหมายระยะยาวของทุกฝ่ายเท่านั้นเอง จะเห็นว่า การที่มาเลเซียสอดแทรกให้มาตรการชั่วคราวนี้ผ่านพ้นไป แม้ว่าฝ่ายฟิลิปปินส์จะยืนยันอยากให้มีพันธกรณีทางกฎหมายรวมอยู่ด้วยก็ตาม

แม้จะมีเรื่องจุกจิกอยู่อย่างนี้ก็แล้วแต่ ก็น่าจะได้เห็นกันว่าคำประกาศกฎจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้ดังกล่าว ทำ ให้จีนค่อยๆ ขับเคลื่อนไปสู่การเจรจาตกลงเรื่องในเขตที่ขัดแย้งกันนั้น ด้วยการเจรจาในกรอบพหุภาคี (ตามคำประกาศ) ในเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นจีนยืนยันแต่จะเจรจากันกับคู่กรณีขัดแย้ง ในรูปการเจรจากรอบทวิภาคีเท่านั้น

แหมนึกว่าจะจบให้กระจ่างแจ้งกันเสียที กับกรณีความขัดแย้งต่างๆ ในเขตทะเลจีนใต้ แต่เอาไว้เสาร์หน้ามาสรุปกันให้จบไปเลยก็แล้วกันนะครับ นักศึกษาวิชาอาเซียนอย่า ลืมตัดทุกตอนแต่ต้นไว้ศึกษาต่อ เอาไปใช้สอบได้เลย

ที่มา.สยามธุรกิจ
------------------------------------

ระวังเครื่องดับ !!?

โดย.สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

สถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยเวลานี้ ถือว่ามีความเปราะบางอย่างมากเพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ ต่างใช้ยุทธวิธีปลุกกระแสมวลชน ทำให้ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงก้าวเข้าสู่โซนอันตราย

อันตราย ที่จะเผชิญหน้ากับความรุนแรง จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่รัฐบาลบอกว่าเป็น พ.ร.บ.ปรองดองฯ เดินหน้าแบบไม่ฟังเสียงประชาชน เพราะคิดว่าเสียงข้างมากในสภาทำได้ทุกอย่าง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้จึงกลายเป็นจุดตายทำให้รัฐบาลสะดุดขาตัวเองแบบหัว ทิ่ม

การแสดงพลังของประชาชนที่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จากบุคคลทุกวิชาชีพ ทุกภาคส่วน แม้กระทั่งข้าราชการ อย่างสร้างสรรค์ โดยสันติ ที่เกิดขึ้นในจุดต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน น่าจะเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาลได้ว่าการมีเสียงข้างมากในสภาไม่ได้หมายความ ว่าคุณจะทำทุกอย่างได้ตามใจ ถึงขั้นที่จะล้างผิดให้คนโกงแบบไม่มีขอบเขต

ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการแสดงพลังประชาชน ที่พร้อมมีส่วนร่วมในการนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะน่าจะเป็นโอกาสดีของสังคมไทยในการชูธงปลูกฝังเรื่องการต่อต้าน คอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง อย่าให้เป็นแค่กระแสต่อต้านเฉพาะคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบในสังคมไทยให้ลดน้อยลงเพราะที่ผ่านมาการสำรวจทัศนคติของประชาชนโดยเอแบคโพลล์ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ถ้าตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย

และประเทศไทยก็ได้คะแนนจาก "องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ" 37 คะแนน จากเต็ม 100 ติดอันดับ 88 ของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นจาก 176 ประเทศทั่วโลก

แต่เมื่อการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เวทีราชดำเนินถูกยกระดับและเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปสู่การขับไล่รัฐบาล

แม้ ว่ารัฐบาลจะใส่เกียร์ถอย และวุฒิสภาจะมีมติโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุดซอยไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ทำให้ประชาชนไม่เชื่อใจอีกแล้ว

ขณะที่คนเสื้อแดงก็ยังเดินหน้า ท้าทายเติมเชื้อไฟ โดยที่ต่างฝ่ายต่างฉกฉวยข้อมูลแบบเข้าข้างตัวเอง เพื่อตอบโต้ฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ได้มองหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริง

ทำให้เวลานี้นักธุรกิจที่เป็นแนวร่วมออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เริ่มส่งสัญญาณเตือนไม่เห็นด้วยกับการยกระดับม็อบเป็นการขับไล่รัฐบาล เพราะเกรงว่าปัญหาลุกลามบานปลายและจบลงด้วยความรุนแรง

เพราะหากแกนนำ ทั้ง 2 ฝ่ายนำพาสถานการณ์ประเทศเข้าสู่โซนอันตราย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดบาดแผลจากความรุนแรง รวมถึงผลพวงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างที่ อาจารย์สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า จากที่มีการศึกษาประเมินว่า หากการเมืองมีความรุนแรงจะกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีทันทีในไตรมาสนั้น 0.5% และหากไม่รุนแรงหรือเพียงยุบสภาก็จะกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.2%

ขณะที่เศรษฐกิจของไทยเวลานี้ก็อยู่ในสภาพไม่สม ประกอบ เพราะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับไปหลายเครื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งตัวเลขส่งออกเดือน ก.ย.ติดลบ 7.09% ด้วยมูลค่าส่งออกเพียง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ 9 เดือนแรกปีนี้มูลค่าส่งออกรวม 172,139 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 0.05% จากที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปีสูงถึง 15% เรียกว่าห่างกันลิบโลก

ฟาก กำลังซื้อในประเทศก็อ่อนกำลังลงอย่างมาก จากการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน (โดยเฉพาะหนี้รถคันแรก) และค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐที่ถือว่าเป็นความหวังสุดท้ายที่จะพลิก ฟื้นเศรษฐกิจไทย เวลานี้ก็เริ่มเป็นที่กังวลว่าการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอาจสะดุดลงจากปัญหา ความขัดแย้งทางการเมือง และทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดับหมดทุกเครื่องยนต์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------------

เป่านกหวีดใส่กัน ไม่ควรทำ สะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงในสังคม !!?

ปวีณา หงสกุล รณรงค์ยุติความรุนแรง พร้อมระบุ การเป่านกหวีดใส่กัน เป็นการละเมิดสิทธิและไม่ควรทำ ถือเป็นการสะท้อนปัญหาความรุนแรงในสังคม
             
นางปวีณา หงสกุล   รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งจะเห็นสัญลักษณ์การติดริบบิ้นสีขาว โดยนางปวีณา กล่าวว่า ทั้งเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และ ครอบครัวทุกรูปแบบ  และในปี 2542 มติครม.ของไทยประกาศให้เดือนพ.ย.ของทุกปี เป็นเดือนยุติความรุนแรงต่อปัญหาเด็ก และสตรี ทุกรูปแบบ เราก็มีริบบิ้นสีขาวติดกันมาเป็นสิบกว่าปีนี้ เป็นเรื่องสากล เป็นเรื่องระดับชาติ เพราะจะเห็นว่าปัญหาสังคมตอนนี้มากมาย มีการตั้งศูนย์ OSCC และนายกฯก็มีนโยบายเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมครบวงจร

นอกจากนั้น พิธีกรถามถึง การเป่านกหวีดใส่กัน เป็นความรุนแรงหรือไม่ นางปวีณา กล่าวว่า ก็ถือว่าเป็นความรุนแรง  เพราะจริงๆต้องเป็นมารยาทพอสมควร การจะมาดำเนินการทางการเมือง คิดว่าทำได้โดยเคารพสิทธิ์ ซึ่งกันและกัน แต่การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำ แต่ถ้าจะทำก็ปล่อยไป ถือว่าพระพุทธเจ้ายังมีมารผจญ เราเป็นคนธรรมดาก็ต้องยอมตรงนี้ แต่ก็ต้องระลึกถึงความถูกต้องของสังคม การอยู่กันอย่างสันติสุข การเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเคารพสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ สิทธิ์ที่จะต้องเคารพซึ่งกันและกัน สิทธิ์ที่จะยุติความรุนแรง จะต้องมี 365 วัน เราต้องให้เด็กๆได้รับรู้ ในการดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างผาสุก ไม่ริดลอนสิทธิคนอื่น เราขอรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนร่วมกัน จับมือกันและเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในทุกรูปแบบ

ที่มา.ทีนิวส์
///////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กิตติรัตน์ หนุนแบงก์ฯเข้มสินเชื่อบ้าน ชี้สกัดหนี้เสีย !!?

ย้ำอสังหาฯ ยังสดใส ไร้ฟองสบู่ ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมกระตุ้น ชี้แบงก์เข้มปล่อยกู้เป็นเรื่องดี สกัดหนี้เสีย เอกชนคาดงานมหกรรมบ้าน ยอดขาย 3 พันล้านบาท "แสนสิริ-มั่นคง" ควงคู่โชว์กำไร
   
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ ครั้งที่ 29 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-17 พ.ย.2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดยสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันได้ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่ ซึ่งผู้ประกอบการมีการแข่งขันด้านราคา ทั้งไม่ต้องวางเงินดาวน์และแถมเฟอร์นิเจอร์เพื่อกระตุ้นยอดขายนั้น ขณะนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป มีการกำหนดการวางเงินดาวน์ที่เหมาะสมมากขึ้น จึงมองว่าภาคอสังหาฯ ยังมีความสดใส เพราะปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จและยังมีกำลังซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
   
ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยืนยันว่ายังเดินหน้าไปได้ด้วยตัวเอง กระทรวงการคลังจึงไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะมาตรการการปล่อยสินเชื่อ เพราะมองว่าการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ จะส่งผลดีต่อระบบสถาบันการเงิน แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่และหนีเสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้น" นายกิตติรัตน์กล่าว
   
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาริทรัพย์บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอัตราการเติบโต 5% มูลค่ารวมกว่า 300,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 10% โดยมีปัจจัยจากสถานการณ์ทางการเมือง และหนี้สินครัวเรือน ประกอบกับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบุคคลเพิ่มมากขึ้น
     
ตอนนี้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากเดิม 16-17% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 20% จากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินบางแห่งได้เป้าสินเชื่อตามแผนที่วางไว้แล้ว จึงได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อ และคาดว่าจะเริ่มปล่อยใหม่ในต้นปีหน้า” นายอธิปกล่าว
   
นายรุ่งอนันต์ ลิ่มทองแท่ง ประธานจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ ครั้งที่ 29 กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าผู้เข้าชมงานมากกว่า 100,000 คน และมียอดขายภายในงาน 3,000 ล้านบาท
   
นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI กล่าวว่า ผลดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 มียอดขาย 8,000 ล้านบาท รายได้รวม 7,136 ล้านบาท เติบโต 36% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 438 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 9 เดือน ยอดขายรวม 37,183 ล้านบาท มียอดรายได้ 20,020 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 872 ล้านบาท เติบโต 25%
   
นายชวน ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.มั่นคงเคหะการ หรือ MK กล่าวว่า ในไตรมาส 3 บริษัทรับรู้รายได้จากการขายและบริการ 737.26 ล้านบาท เติบโต 90.92% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีรายได้ 386.17 ล้านบาท สำหรับช่วง 9 เดือน มียอดขาย 2,020.14  ล้านบาท เติบโต 60.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังสูงกว่ารายได้จากทั้งปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 1,724.24 ล้านบาท ถึง 17.16%.

ที่มา.ไทยโพสต์
/////////////////////////////////////

ชี้ชะตา. เพื่อไทย รอวัดใจ ศาลรัฐธรรมนูญ !!



พลังประชาชน พลังม็อบบริสุทธิ์ ที่ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ฉบับสุดซอย

ถือเป็นบทเรียนทางการเมืองสำหรับนักการเมือง และพรรคการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

มันคือคำเตือน หากเป็นสิ่งที่ประชาชนรับไม่ได้ ก็ยากที่จะฝืนหรือต้านทานกระแสความรู้สึกของประชาชน

นับตั้งแต่วันแรกที่กรรมาธิการฯ ที่นำโดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ออกมาแปลงสาร แก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมะ ที่ผ่านสภามาในวาระที่ 1 โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่รับได้ ให้กลายเป็นเหมาเข่งที่ประชาชนรับไม่ได้ จนออกมาคัดค้านกันพรึ่บนั้น

“บางกอก ทูเดย์” ได้ออกโรงเตือนตั้งแต่แรกแล้วว่า กรรมาธิการฯกำลังเล่นกับไฟ และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นในฐานะจิตวิญญาณประชาธิปไตย

แล้วก็เป็นอย่างที่เตือนจริงๆ เพราะเมื่อกรรมาธิการฯดันทุรังยืนยันด้วยเสียงข้างมาก พร้อมดันเข้าสภาฯพิจารณาวาระ 2 แล้วลงมติเร่งจังหวะผ่านวาระ 3 ไปด้วยเลยในช่วงตี 3 ตี 4 แรงต้านแรงคัดค้านจึงออกมาหลากหลายกลุ่มในทันที

และทำให้กลายเป็นโอกาสของม็อบขั้วตรงข้าม ของพรรคการเมืองตรงข้ามอย่างพรรคประชาธิปัตย์ฉกฉวยสถานการณ์ในทันทีเช่นกัน

ไม่เพียงเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย และกลายเป็นบาดแผลของความน่าเชื่อถือในสายตาของสังคมที่ขั้วตรงข้ามนำไปใช้ขยายแผลหวังผลกันอุตลุด

แต่ยังต้องถือว่าเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่ประเมินผิดพลาดจนพรรคเกือบพัง ซึ่งหากเป็นในการสงครามสมัยก่อน คณะกรรมการยุทธศาตร์พวกนี้หากไม่ถูกประหารหมด ก็ต้องถูกถอดยศเป็นไพร่ราบทหารระดับล่างไปหมดแล้วแน่นอน

ไม่สามารถที่จะมานั่งทำทองไม่รู้ร้อนได้เหมือนอย่างวันนี้แน่ๆ

มีอย่างที่ไหนปล่อยให้ขบวนการเชลียร์นายใหญ่ เล่นกันจนพัง กลายเป็นทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกที่นั่งลำบากอย่างในขณะนี้

ทำให้บรรดาลูกเด็กเล็กแดงที่เคยอยู่สบายๆ ไปเที่ยวไปไหนตามถนนตามห้างได้โดยไม่ต้องหวาดกังวล กลายเป็นต้องลำบาก จะไปไหนก็ไม่กล้า เพราะพรรคการเมืองตรงข้ามพยายามปลุกเร้ามวลชนให้ขยายผลไปเล่นงานในระดับตระกูล

ยังดีที่สังคมไทยโดยรวมที่เป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่ได้มึนเมาไปกับกระแสปลุกเร้าของแกนนำอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พูดราวกับคนเมายา ทำให้เมื่อพรรคเพื่อไทยถอยกรูด ถอนร่างต่างๆอย่างหมดสภาพ บรรดาผู้ที่คัดค้านร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จึงพึงพอใจและหยุด ณ จุดที่ลงตัว

แต่ก็ใช่ว่าจะไว้ใจเสียทีเดียว ก่อนหยุดก็ยังปรามเหมือนให้รู้ว่า หากมีการตระบัดสัตย์ ยัดไส้สอดไส้กลับมาอีกครั้งเมื่อใด เป็นเจอของจริงชุดใหญ่จัดหนักกว่าเดิมอีกแน่นอน
180 วันจากนี้ไป ถือเป็นจุดวัดใจ วัดความบริสุทธิ์ใจของพรรคเพื่อไทยกับพลังบริสุทธิ์

ฉะนั้นจากนี้ไปทางเลือกของพรรคเพื่อไทยมีแต่ช่วยกันประคับประคองให้รัฐบาลได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนจริงๆ
เลิกซะทีเถอะกับการปล่อยให้ใครบางคนทำให้รัฐบาลต้องเสียรังวัด ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเชลียร์ อย่างที่ โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ตีแสกหน้าตรงๆว่า พวกนี้ก็ดีแต่ประจบสอพลอ... ใช่ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย

แต่สุดท้ายก็... ฉิบหายแล้วครับท่าน!!!

รวมทั้งเลิกซะทีกับการปล่อยให้คนรอบข้างมูมมามตะกละตะกรามกันจนปากมัน ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ จนแซ่ดสนั่นไปทั้งประเทศ กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ทำให้คะแนนนิยมตกลงไปอย่างน่าเสียดาย

อย่าลืมสิ ประชาชนไม่ได้โง่!!

หากวันนี้ทุกองคาพยพของพรรคเพื่อไทย ช่วยกันหยุดกิเลสและความอยาก หนุนให้รัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่ในช่วง 2 ปีที่เหลือ รับรองได้ว่าประชาชนจะเห็นได้เอง

หากทำได้อย่างนั้น แม้แต่อำนาจนอกระบบใดๆ ก็คงไม่กล้าที่จะเสี่ยง

ดูง่ายๆก็คงเห็นแล้วว่า ประชาชนไม่ได้โง่ ประชาชนไม่ใช่ไม่มีเหตุผล เมื่อเพื่อไทยยอมถอยร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่ง บรรดาองค์กรที่มีเกียติ คณาจารย์ นักศึกษา ประชาชน ที่ต้านเรื่องนี้ ก็ยอมที่จะหยุด

ไม่ใช่หยุดเฉยๆ ยังดาหน้ากันออกมาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการสร้างสถานการณ์ป่วนบ้านเมือง สร้างผลกระทบต่อประเทศเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองทั้งหลายนั้นด้วย

ไม่มีองค์กรที่มีเกียรติเอาด้วยเลยสักแห่ง

นี่คือบทเรียนที่เห็นชัด... อยู่เพียงแค่ว่า เพื่อไทยเห็นหรือไม่ ประชาธิปัตย์เห็นหรือไม่เท่านั้นเอง

แต่เชื่อว่ายังคงมีคนไม่เห็นหรือมองข้ามพลังบริสุทธิ์ของประชาชนอยู่ จึงมีความพยายามที่จะลากยาวม็อบบ้างล่ะ หรือบางกลุ่มถึงขนาดแต่งกายในเครื่องแบบทหาร เรียกผู้บริหารหน่วยงานโน่นนี่นั่น โดยเฉพาะบรรดาผู้นำรัฐวิสหกิจ มาที่โรงแรม เดอะ ลอร์ดฯ รัชดาภิเษก เพื่อจะให้ร่วมมือโค่นล้มรัฐบาล

เล่นเอาผู้คนอึดอัด เอือมระอาเป็นอย่างยิ่ง... นี่มันยุคประชาธิปไตยแล้ว จะแต่งทหารมาชวนแช่แข็งประเทศไทยแบบนี้... เอารอยหยักส่วนไหนมาคิด

ก็เลยไม่มีใครเอาด้วย กับความพยายามปลุกเกมปฏิวัติรัฐประหารเพื่อแช่แข็งประเทศชาติ
เพราะทุกคนมองตรงกันว่า จะเล่นเกมเป็นคู่อาฆาตทางการเมือง จะเป็นขั้วตรงข้าม จะแย่งชิงผลประโยชน์แย่งอำนาจอะไรกันก็ช่างเถอะ แต่ไม่ควรที่จะสร้างความปั่นป่วนเสียหายให้กับประเทศชาติ

ที่สำคัญหากเล่นการเมืองกันแบบนี้ ใครขึ้นมาก็ถูกฝ่ายตรงข้ามโค่น อย่างที่ประชาธิปัตย์พยายามกระทำ ถามว่าถ้าประชาธิปัตย์พลิกเกมกลับขึ้นมาได้ โดยไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งจะยอมหรือ?

ก็ต้องโค่นกันไม่จบไม่สิ้น แล้วประชาชนแล้วประเทศชาติจะเดินหน้าได้อย่างไร

ทำไมประชาธิปัตย์ไม่ใช้เวลา 2 ปีที่เหลือสร้างผลงานให้ประชาชนยอมรับ แล้วกลับมาชนะการเลือกตั้งให้ได้ด้วยตัวเอง ปฏิรูปพรรคให้มีคุณค่าในสายตาประชาชนอย่างที่นายอลงกรณ์ พลบุตร เสนอ

ถามจริงๆ ประชาธิปัตย์ทำในสิ่งที่ดีสิ่งที่สร้างสรรค์ไม่เป็นหรืออย่างไร

วันนี้วิธีการเล่นการเมืองแบบทำลายล้างควรต้องหยุดได้แล้ว รวมทั้งการใช้อำนาจพิเศษต่างๆด้วย

อย่างที่กำลังลือกันสนั่นว่า จะมีความพยายามใช้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการเล่นงานพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้

จริงเท็จไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆคือหวาดเสียวกันทั่วบ้านทั่วเมือง

อย่าลืมว่า 6-7 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ ด้วยการยุบพรรค ด้วยการเว้นวรรคการเมือง ไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาจบสิ้นลงได้เลย

มีแต่ทำให้เสียงครหา 2 มาตรฐาน เสียงครหา ชั่ง เอียง เอียง ดังก้องประเทศ และทำให้คนประชาธิปไตยเฮละโลไปช่วยฝ่ายที่ถูกตุลาการภิวัฒน์รังแก

มีอย่างที่ไหน ขั้วหนึ่งทำอะไรก็ผิดไปหมดทุกเรื่อง ส่วนอีกขั้วหนึ่งทำอะไรไม่ผิดเลย จนแต้มขึ้นมาชนะฟาล์วแบบด้านๆก็ยังทำกัน... ปัญหาก็เลยยิ่งไม่จบ

ดังนั้นท่ามกลางข่าวลือเรื่องวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ บางกอก ทูเดย์ ยังเชื่อมั่นว่า ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่มีนายจรูญ อินทจาร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ และมีนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่มขึ้นอีกคน แทนนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกไปนั้น

จะทำหน้าที่อย่างมีอิสระ บนความถูกต้อง ให้สมกับเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง!!!

และคงไม่คิดเลือกข้างใครเหมือนอย่างที่เคยมีเสียงครหาชุดก่อนๆในอดีตมาตลอด ซึ่งหากจะเลือกข้างก็เชื่อว่าจะเลือกข้างประชาธิปไตยและความถูกต้องเป็นสำคัญ

ไม่ใช่การเลือกข้างม็อบอย่างที่ร่ำลือกันสนุกปากในเหล่าแกนนำม็อบบางคนขณะนี้ ว่าเตรียมเปิดแชมเปญฉลองกันแล้วอะไรทำนองนั้น

วันนี้ต้องบอกว่าความรับผิดชอบต่อประเทศชาติของ 9 ตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นสูงยิ่ง

เพราะประชาชนทุกชีวิต และความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ อยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันนี้แหละ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร???

จะวุ่น จะสงบ หรือแม้แต่จะพัง... ศาลรัฐธรรมนูญคือตัวแปรสำคัญ

โดยที่มีอดีตเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าอคติส่วนตัวใช่หรือไม่ ที่ทำให้ปัญหาบานปลายมาจนวันนี้

อย่าลืมสิว่า... ประชาชนไม่ได้โง่!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-----------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รบ.โต้ไอเอ็มเอฟไม่เข้าใจวิถีไทย ยัน จำนำข้าว เดินถูกทาง !

 นักวิชาการเตือนรัฐควรรับฟัง เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจรวม
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศไทย (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเสนอแนะให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เพื่อลดภาระการคลัง โดยใช้วิธีการจ่ายเงินโดยตรงในการช่วยเหลือชาวนา แทนการรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาด โดยระบุว่า ยังอ่านรายงานของไอเอ็มเอฟไม่ละเอียด แต่คิดว่ายังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในหลายส่วน ควรทำความเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยให้ลึกซึ้งก่อนจะให้ความเห็นที่ออกเป็นทฤษฎีให้แก่ประเทศอื่นๆ เพราะต้องดูความเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ ด้วย
                       
ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่ไอเอ็มเอฟออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าว อาจเป็นเพราะไม่เข้าใจว่าโดยปกติในทุกๆ รัฐบาลจะต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลืออุดหนุนสินค้าเกษตรไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปีอยู่แล้ว การใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวก็อาจใช้เงินมากกว่าเดิมอีกนิดหน่อย และนอกจากการรับจำนำข้าวแล้ว รัฐบาลยังมองว่าในอนาคตจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการผลิตมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคู่ขนานกันไป รวมทั้งดูการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่สร้างรายได้ควบคู่กันไปด้วย
                       
ขณะที่นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การที่ไอเอ็มเอฟเสนอแนะรัฐบาลไทยให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ก็เพื่อลดความเสี่ยงอันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย เพราะการที่รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับนโยบายประชานิยม จะทำให้รัฐขาดงบประมาณไปสนับสนุนด้านอื่นๆ จนกระทบต่อการกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งมองว่าเมื่อความเสี่ยงต่อประเทศเพิ่มขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง ก็จะกระทบไปยังการลดอันดับเครดิตของประเทศ
                       
ไอเอ็มเอฟออกมาเตือนรัฐบาลว่าควรจะยกเลิกและเปลี่ยนมาใช้วิธีการใหม่เสีย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาได้ในที่สุด และหากไทยถูกดาวน์เกรด ผลกระทบอื่นๆ ก็จะมีอีกมากกว่า ซึ่งหากรัฐบาลยอมฟังข้อเสนอของไอเอ็มเอฟ เชื่อว่าน่าจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับประเทศไทยได้ทัน” นายสมพรกล่าว
                       
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้ประกาศจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลผ่านทางเว็บไซต์กรม ด้วยวิธียื่นซองเสนอราคาซื้อ โดยเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2554/55, นาปรังปี 2555 และนาปีปี 2555/56 (รอบ1) รวมทั้งสิ้น 452,537 ตัน กำหนดยื่นซองเสนอราคาวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เวลา 09.00-16.30 น. ที่กรมการค้าต่างประเทศ
                       
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า ธ.ก.ส.จะเริ่มจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 คาดว่าจะเริ่มจ่ายให้แก่เกษตกรในบางภาคก่อน ซึ่งนำข้าวมาเข้าโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคมแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน หลังจากนั้นจะทยอยจ่ายในภาคอีสานคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
                       
ต้องยอมรับว่าโครงการมีความติดขัดเรื่องการเงินอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับจำนำช่วงที่ผ่านมา 4 ครั้งรัฐบาลใช้งบประมาณไปสูงมากถึง 6.8 แสนล้านบาท เกินวงเงินที่กำหนดไว้ 5 แสนล้านบาท และโครงการปี 2556/57 กำหนดที่จะใช้วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ทาง ครม.จึงให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังหารือร่วมกัน เพื่อหาเงินมาดำเนินโครงการต่อ ซึ่งได้เงินก้อนแรกมาแล้ว 2-3 หมื่นล้านบาท การจ่ายเงินแม้จะช้าแต่ได้รับแน่นอน

ที่มา.คมชัดลึก
---------------------


ปลดล็อก..ก่อนเศรษฐกิจพัง !!?

เสียงสะท้อนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ แม้กระแสต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะได้รับการขานรับ เพราะมองว่ารัฐบาลพลาดที่เดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ยกประโยชน์ให้ผู้กระทำผิดทั้งทางการเมือง คอร์รัปชั่น ปราบปรามทำร้ายประชาชน ฯลฯ โดยไม่ฟังเสียงค้านที่มีรอบด้าน แต่หวั่นเกรงว่าการขยายปมสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาลจะบานปลายเกิดเหตุรุนแรง กระทบเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจส่งออกที่กำลังเผชิญวิกฤต ยอดส่งออกสินค้าไทยไปตลาดต่างประเทศช่วง 3 ไตรมาสแรกต่ำกว่าเป้าที่วางไว้มาก อีกทั้งมีแนวโน้มว่า ยอดส่งออกทั้งปีจะเติบโตลดน้อยลงจากปี 2555 ที่ผ่านมา

ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นความหวังเดียวที่ยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ก็ถูกบั่นทอนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง อาจส่งผลกระทบทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติลดน้อยลง

เช่นเดียวกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยระยะยั่งยืน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่อาจจะล่าช้าออกไปไม่มีกำหนดจากปัญหาทางการเมืองเท่ากับกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 4 เครื่องยนต์ ประกอบด้วย การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถทำงานหรือเดินเครื่องได้เต็มที่ เนื่องจากบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งไม่อาจควบคุมได้ ขณะที่บางเครื่องยนต์ซึ่งน่าจะสร้างรายได้ทดแทนก็กลับมีปัญหา

ขณะเดียวกัน หลังศาลโลกมีคำพิพากษาชี้ขาดคดีปราสาทพระวิหารเมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศจะเน้นย้ำว่า คำตัดสินของศาลโลกชี้ชัดว่าพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ไม่ได้เป็นของกัมพูชา แต่ไทยอาจเสียพื้นที่ขนาดเล็กมากบริเวณโดยรอบปราสาท และศาลโลกแนะนำให้ไทยกับกัมพูชาร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะเป็นมรดกโลก ขณะที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศก็ยืนยันจะเจรจากันภายใต้คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา หรือเจซี

ซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้ประเด็นข้อพิพาทปราสาทพระวิหารคลี่คลายลงระดับหนึ่ง จะมีก็แต่ปมขัดแย้งทางการเมืองที่ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าได้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง

ต้องยอมรับว่านอกจากภัยธรรมชาติ วิกฤตมหาอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้แล้ว เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ข้อพิพาทขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตชาติหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงยิ่งกว่าทั้งต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของประเทศ

เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดวิกฤตซ้ำรอย ถ้าหากทุกที่เกี่ยวข้องไม่พยายามปลดล็อกหาทางออก ปล่อยให้ลุกลามกระทบเศรษฐกิจซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงไทยทั้งชาติ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------

อีกครั้งกับความรู้สึก : ไทยและกัมพูชา !!?

ดิอิโคโนมิสต์ วิเคราะหฺ์ว่า การตัดสินของศาลโลกจะช่วยลดอารมณ์ความเกลียดชังของสองชาติได้เล็กน้อย แต่อีกตัวแปรหนึ่งคือสภาพการเมืองภายในประเทศไทยที่มีการปลุกเร้าอารมณ์และดึงเอาความเกลียดชังนักการเมืองมาเป็นเครื่องมือ ทำให้ถูกเพ่งเล็งและสร้างสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่เต็มที่



14 พ.ย.2556 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2556 เว็บไซต์นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีปราสาทเขาพระวิหารหลังจากการตัดสินของศาลโลกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยระบุตามคำตัดสินของศาลว่าพื้นที่เขตป่าโดยรอบปราสาทเขาพระวิหารเป็นส่วนพื้นที่ของปราสาทซึ่งจัดเป็นของกัมพูชาเอง อย่างไรก็ตามศาลโลกยังได้กล่าวอีกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นของตนเองนั้นศาลไม่ได้ตัดสินยกให้กัมพูชา แต่ตัดสินให้ไปเจรจาตกลงกับทางการไทยเอง รวมถึงพื้นที่ 100 กม. โดยรอบเขตแดนด้วย

ดิอิโคโนมิสต์ ระบุว่า การตัดสินในครั้งนี้หากมองในแง่ดี ประเทศไทยก็สามารถบอกได้ว่าเป็นการตัดสินในแบบที่ไม่ลำเอียงเข้าข้างกัมพูชาจากการที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายกัมพูชา และดูเหมือนว่าทั้งสองประเทศจะยอมรับผลการตัดสิน เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของไทยยังยิ้มขณะอยู่ในพิธีกรรม (ภาพ พล.ต.ธรากร ธรรมวินทร ผบ.กกล.สุรนารี กองทัพภาคที่ 2 สวม กอดกับ พล.อ.สไล ดึ๊ก ผบ.กองพลสนับสนุนที่ 3 ของกัมพูชา ระหว่างที่ทั้ง 2 ฝ่ายหารือพัฒนาความสัมพันธ์ ที่จุดประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2556)

ปราสาทเขาพระวิหารซึ่งเป็นที่สถิตย์ของพระศิวะตามตำนานฮินดูกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชามาเป็นเวลานาน ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า "ความตึงเครียดทวีเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2551 เมื่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาได้ยื่นจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้รัฐบาลไทยในสมัยนั้นนำโดยพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนทหารและ 'รอยัลลิสต์' ที่พยายามสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองโดยอาศัยความขัดแย้งกับกัมพูชา"

อิโคโนมิสต์ ระบุอีกว่า การตัดสินในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นไปได้ที่จะทำให้ความเกลียดชังลดน้อยลง แต่การตัดสินมีขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์กำลังประสบกับวิกฤติความชอบธรรมพอดี และกลายเป็นว่าฮุนเซน ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ค.อย่างเฉียดฉิวกลับสร้างความชอบธรรมให้ตนเองได้มากขึ้น ทำให้ตอนนี้การเมืองภายในของไทยจึงเป็นปัจจัยหลักต่อความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชา

บทวิเคราะห์ยังได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินพลาดท่าในกรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมุ่งหวังเปิดทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณกลับมา เป็นการจุดฉนวนอารมณ์ให้กับกลุ่ม 'รอยัลลิสต์' จัด และชาตินิยมจัด รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งพากันออกมาชุมนุมบนท้องถนน ทำให้ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถแสดงตัวเป็นมิตรกับกัมพูชามากเกินไปและหากเดินเกมพลาดในประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับพื้นที่เขตแดนไทยก็อาจทำให้กลุ่มชาตินิยมขุ่นเคือง ซึ่งมีโอกาสเปิดทางให้กับกองทัพสร้างความชอบธรรมในการแทรกแซงเพื่อหาโอกาสมีบทบาทในการเมืองไทย

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ประเทศไทยยังหลีกเลี่ยงการรัฐประหารได้ แต่ก็มีการปลุกเร้าอารมณ์โดยกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น กลุ่มคนไทยรักชาติซึ่งเป็นกลุ่มย่อยที่แยกมาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องการปกป้องเขตแดนไทย แต่การกล่าวหาของพวกเขาที่บอกว่าการยอมรับผลการตัดสินของศาลโลกเท่ากับเป็นการ "ขายชาติ" นั้นดูจะใช้ไม่ได้นานเนื่องจากการตัดสินเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม

ดิอิโคโนมิสต์ ชี้ว่าเรื่องข้อพิพาทเขาพระวิหารถูกนำมาผูกโยงกับทักษิณเช่นเดียวกับเรื่องการเมืองไทย เมื่อทักษิณดูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับฮุนเซน นำมาซึ่งความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในเขตชายแดน จนกระทั่งในยุคสมัยของยิ่งลักษณ์ซึ่งศาลโลกได้มีคำสั่งชั่วคราวให้ทั้งสองประเทศถอนทหารออกจากพื้นที่บริเวณ 17 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาท

ภู โสธิรักษ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันกัมพูชาเพื่อสันติภาพและความร่วมมือ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหารและความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ ระบุว่ามีความขัดแย้งสองช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงที่ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อปี 2505 โดยอาศัยแผนที่ของอาณานิคมจากปี 2451 และช่วงที่สองคือหลังเกิดการรัฐประหาร 2549 ในไทย ทางกัมพูชาได้อ้างสิทธิในพื้นที่โดยอาศัยแผนที่เก่าของฝรั่งเศส ขณะที่ประเทศไทยอ้างตามแผนที่ปี 2550 ที่เขียนขึ้นฝ่ายเดียว


กรณีการขีดเส้นเขตแดนโดยฝรั่งเศส

ดิอิโคโนมิสต์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องในระดับปราสาทเขาพระวิหาร แต่ชนชั้นนำไทยมีแนวทางการเล่าประวัติศาสตร์ของชาติไทยผ่านเรื่องการเสียดินแดนให้กับต่างชาติและประเทศเพื่อนบ้านที่คิดไม่ซื่อ โดยปราสาทเขาพระวิหารเคยอยู่ในพื้นที่ของสยาม ในช่วงศตวรรษที่ 20 จึงถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสบีบให้มอบพื้นที่จังหวัดพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ ให้กับกัมพูชาซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส

บทวิเคราะห์ในอิโคโนมิสต์ เปิดเผยว่า ผู้ทำแผนที่ของฝรั่งเศสพยายามปักเส้นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำ (แนวสันเขาที่แบ่งลุ่มน้ำเวลาฝนตกให้ไหลออกไปสองฝั่ง) ของเทือกเขาพนมดงรักซึ่งตั้งขึ้นเป็นเขตแดนตามธรรมชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เจ้าหน้าที่ 4 คนของฝรั่งเศสผู้เขียนแผนที่ก็ได้ขีดเส้นพรมแดนส่วนของปราสาทโดยให้เข้าไปในเขตของกัมพูชาอย่างไม่มีคำอธิบายซึ่งเป็นการวางเขตผิดด้านของสันปันน้ำ แต่ทางสยามก็ไม่ได้ท้าทายเรื่องการขีดเส้นของฝรั่งเศสมาตลอด 50 ปี แต่พวกเขาขอบคุณที่ชาวฝรั่งเศสช่วยทำแผนที่ให้ ซึ่งการที่ไทยเคยแสดงยอมรับแผนที่นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพ้คดีเมื่อปี 2505

การตัดสินของศาลโลกในครั้งแรก (ปี 2505) ให้ความชอบธรรมแก่การขีดเส้นของฝรั่งเศส แต่ดูเหมือนว่าการตัดสินครั้งหลังนี้มีการลดขนาดของเส้นที่ขีดลง และให้กัมพูชากับไทยหารือกันเรื่องการปักเขตแดนในส่วนที่ยังไม่ได้ปักเพื่อให้มีแผนที่ซึ่งยอมรับได้กับทั้งสองฝ่าย แต่คิดว่าคงจะหารือไม่เสร็จสิ้นภายในเร็ววันนี้

ที่มา.ประชาไท
-------------------------------

นายกฯอ้างไม่เคยพูดรับคำตัดสินศาลโลก !!?

"อภิสิทธิ์"จี้นายกฯอย่ารับคำพิพากษา-ถอนร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 "ยิ่งลักษณ์" ยันไม่เคยประกาศจะรับคำพิพากษาศาลโลก

ทีมสู้คดีปราสาทพระวิหาร เข้าแจงในสภา พร้อมยืนยันพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่บริเวณตัวปราสาท โดยวานนี้ (13 พ.ย.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เข้าสู่เนื้อหาของการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลโลกต่อคดีปราสาทพระวิหาร

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ศาลโลกมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ว่า ศาลโลกมีอำนาจตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก ในการตีความคำพิพากษาศาลโลก ปี 2505 ต่อกรณีที่กัมพูชาได้ยื่นร้องขอตีความอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร

และจะขอรับฟังคำอภิปรายของ ส.ส.และส.ว. เพื่อใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการหารือกับกัมพูชา ภายใต้กรอบกลไกคณะกรรมาธิการร่วม (เจซี) ไทย-กัมพูชา และผลจากการเจรจาจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายของไทยต่อไป

"ขอยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อประชุมเสร็จก็จะนำผลหารือเจซีนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย นอกจากนี้ ในวันที่ 15 พ.ย. จะเปิดให้นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแสดงความคิดเห็น เพื่อนำมาเป็นแนวทางการดำเนินการ" นายสุรพงษ์ กล่าว

"ทูตวีรชัย"ย้ำพื้นที่4.6ตร.กม.ไม่ใช่บริเวณพระวิหาร

ด้าน นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะการดำเนินการทางกฎหมายฝ่ายไทยคดีปราสาทพระวิหาร ได้ขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ในคำพิพากษาของศาลโลก ได้ระบุว่า ศาลมีอำนาจในการรับตีความตามคำร้องของกัมพูชา แต่ไม่มีอำนาจชี้ชัดเส้นเขตแดน

ศาลตีความสิ่งที่เคยได้พิพากษาไปแล้ว และศาลได้ตีความในขอบข่ายของบทปฏิบัติการในคดีเดิมคืออำนาจอธิปไตยเหนือยอดเขา (promontory) พระวิหารเท่านั้น เนื่องจากศาลโลกเห็นว่า ไทย - กัมพูชามีความเห็นที่แตกต่างต่อคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 ซึ่งคำว่า "Promontory" เป็นภาษาฝรั่งเศส ทางฝ่ายไทยได้นิยามความหมายว่า ยอดเขา ภายหลังที่ศาลโลกมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยใช้คำว่า "ชะง่อนผา" โดยตนจะรับไปพิจารณา

ทั้งนี้ "Promontory" ได้กลายเป็นข้อถกเถียงกันว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีขนาดเท่าไร แม้ว่าศาลโลกจะเห็นว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทหรือพื้นที่ในคดีเดิม มีขนาดเล็กที่เห็นได้โดยชัดเจนตามลักษณะภูมิศาสตร์อย่างที่กัมพูชาได้กล่าวเป็นข้อสนับสนุนในการยื่นขอตีความ แต่ในคำตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ เห็นว่า ภูมะเขือที่เป็นพื้นที่ใน 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร และศาลก็ไม่ได้รับตีความพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่พิพาทในคดีเดิม

"อภิสิทธิ์"ชี้ศาลไม่ตัดสินตามเหตุผลปี 2505

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ตนสงสัยมาโดยตลอดว่าปัญหาเรื่องการตีความเรื่องเขตแดนทำไมต้องส่งให้ศาลโลกเป็นผู้ตีความ ทั้งที่ศาลฯได้ระบุไว้ในคำตัดสิน เมื่อปี 2505 ระบุให้ทั้ง 2 ประเทศไปเจรจาตกลงร่วมกัน

ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ความสูญเสียของพื้นที่ จากคำพิพากษาศาลโลก มีอย่างแน่นอน โดยจะเป็นอย่างที่มีคนตีความว่ากินพื้นที่ 0.3-2 ตารางกิโลเมตรหรือไม่ แต่จะจริงหรือไม่ต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่นอกเขตรั้วลวดหนามเดิมที่เป็นดินแดนของประเทศไทย ทั้งนี้เราปฏิเสธข้อเท็จจริงว่าคำพิพากษาของศาลได้ระบุไว้เช่นนั้นไม่ได้ ตนเสียใจและผิดหวังว่าศาลไม่ได้ตัดสินไปตามเหตุผลของปี 2505 อย่างเคร่งครัด เพราะ ปี 2505 ศาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับสัณฐานทางภูมิศาสตร์ หรือ แนวสันปันน้ำ ดูแค่ประเด็นกฎหมายปิดปากประเทศไทย ยอมรับพื้นที่

ย้ำคำพิพากษาศาลโลกไทยเสียดินแดน

นายอภิสิทธิ์ อภิปรายต่อว่า คำว่า “promontory” หรือ ยอดเขา หรือ ชะง่อนผาที่มีการระบุถึง ตามคำพิพากษา พ.ศ. 2505 ปรากฏอยู่ 3 ครั้ง ตนไม่เชื่อว่าจะมีบุคคลใดตีความได้ว่าหมายถึงอาณาบริเวณของปราสาท ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อได้อ่านแล้วจะทำให้เข้าใจว่าหมายถึง พื้นที่ที่ใหญ่กว่ายอดเขา แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ศาลโลกตีความว่า พื้นที่พิพาท คือทั้งหมดของยอดเขา

ทั้งนี้ ศาลฯ ได้กำหนดพื้นที่ของยอดเขา ตามคำพิพากษาของศาล ตามวรรคที่ 98 กล่าวคือ ครอบคลุมถึงเชิงเขา หรือตีนเขาของภูมะเขือ ซึ่งข้องใจทำไมไม่ครอบคลุมแค่เชิงเขาพระวิหาร ขณะที่ด้านทิศเหนือ ระบุว่าให้ยึดเส้นตามแผนที่ 1:200000 และพิจารณาว่าทางตะวันออกไปตัดกับหน้าผาตรงไหน และทางตะวันตกไปตัดกับพื้นที่บริเวณเชิงเขาภูมะเขือตรงไหน

มองว่าอาจจะเรียกว่าพื้นที่เล็ก หรือ แคบ แต่มีความหมาย เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าเป็นจุดใด คือ แผนที่ 1:200000 ฝ่ายไทยได้ยกเป็นข้อต่อสู้ว่าไม่สามารถแปลงในพื้นที่จริงได้ ศาลจึงเขียนในวรรคที่ 99 ว่า ในเส้นดังกล่าวขอให้ 2 ประเทศไปตกลงด้วยความสุจริตและเคารพต่อคำตัดสินของศาล

แนะนายกฯอย่ารับคำตัดสินศาลโลก

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายอีกว่าขอให้รัฐบาลเร่งไปแก้ไข และหาแนวทางปฏิบัติต่อการเรียกร้องจากฝ่ายผู้นำประเทศกัมพูชาว่าให้มีการถอนทหารไทยออกจากพื้นที่เขาพระวิหารทั้งหมด นอกจากนั้นตนขอคำยืนยันจากนายกฯว่า จะรับคำพิพากษาของศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหารหรือไม่ หากนายกฯ ยืนยันว่ารับต้องชี้แจงกับประชาชนคนไทยด้วยว่าประเทศไทยจะเสียพื้นที่ที่เรียกว่า promontory ทันที

สำหรับแนวทางปฏิบัติต่อไปรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นหรือไม่ ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ และต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าการเจรจาจะไม่มีผลประโยชน์อื่นๆ เช่น พลังงาน , มรดกโลกเข้ามาเกี่ยวข้อง

จี้ถอนร่างแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190

นอกจากนั้นแล้วสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยหนังสือสัญญาที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ ที่คาดว่านายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประมาณ วันที่ 24 พ.ย. หรือ 25 พ.ย. นี้ หากนายกฯ จริงใจ ต้องนำความกราบบังคับทูลถวายคำแนะนำและถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกพระราชทานคืน รัฐสภาจะต้องไม่ยืนยัน เพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ตกไป และใช้มาตรา 190 ในบทบัญญัติเดิม

"การเจรจาตามกรอบของเจซี จะรวมถึงการพัฒนาและปัญหาชายแดน รัฐบาลต้องยืนยันว่าจะไม่มีผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้อง ตามคำพิพากษาศาลโลก ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนชัดเจน ดังนั้น ทางเลือกของรัฐบาลต้องมีคำอธิบาย ว่าได้รักษาอธิปไตยอย่างสุดความสามารถอย่างไร และขณะนี้ประชาชนเป็นห่วง เพราะหากพลาด จนเกิดความสูญเสีย เชื่อว่าจะนำประเด็นไปขยายผลต่อในอนาคตอย่างแน่นอน"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ ยันไม่เคยพูดว่ารับคำพิพากษา

จากนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุม ว่าตามเจตนารมณ์ที่ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อขอรับฟังคำแนะนำจากรัฐสภา ซึ่งตนดีใจที่มีโอกาสรับฟังความเห็นต่างๆ ทั้งนี้ตามที่มีการระบุว่าตนจะยอมรับคำพิพากษาของศาลโลกหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่เคยพูดว่าจะยอมรับคำพิพากษา มีแต่พูดว่าไม่ว่าผลตัดสินเป็นอย่างไร จะดูแลความเรียบร้อยและความสัมพันธ์ที่ดีให้คงอยู่ และตนได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ยืนยันว่าจะรักษาความสัมพันธ์ รักษาอธิปไตยของประเทศ รวมถึงคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก

"ไม่ว่ารัฐบาลไปดำเนินการอย่างไร เราจะนำเข้ามารับฟังความเห็นรัฐสภา จะขอมติรัฐสภา ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ทำการใด ๆ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และยืนยันว่าการดำเนินการใดๆ จะเป็นภายใต้คณะกรรมการ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว หรือประโยชน์ทับซ้อน ที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติ ประชาชน และ อธิปไตยเป็นหลัก"นางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้แจง

สภาทนายความจี้รัฐทบทวน มาตรา 190

วันเดียวกัน ที่ สภาทนายความ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์กรณีศาลโลกมีคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร โดยเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่รายละเอียดคำพิพากษาศาลโลกต่อประชาชนทั้งฉบับภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทย พร้อมชี้แจงให้ชัดเจนว่า ภาษาใดที่ใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากประชาชนยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยระหว่างข่าวของภาครัฐและเอกชนว่า ประเทศไทยเสียดินแดนและพ่ายแพ้คดีหรือไม่

นอกจากนี้ สภาทนายความยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เกี่ยวกับการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ ให้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อนจะมีผลผูกพันใดๆ ซึ่งจะทำให้การตกลงเรื่องพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ตามที่ศาลโลกมีคำพิพากษาระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ไม่มีข้อเสียเปรียบเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

เผด็จการใหม่ ในสถาบันการศึกษา !!?

โดย.พีร์  พงศ์พิพัฒนพันธุ์

สิทธิเสรีภาพในการพูดจัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในคำพูด  Freedom of speech รวมทั้งสิทธิในการแสดงออก หรือ Freedom  of expression ได้รับการยอมรับเป็นสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้ถูกยอมรับในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR)

ข้อ 19 แห่งกติกาดังกล่าว บัญญัติว่า "ทุกคนมีสิทธิออกความเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง" และ "ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพการพูด สิทธินี้จักรวมไปถึงเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับและส่งต่อข้อสนเทศและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขต ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียนหรือการพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือผ่านสื่ออื่นใดที่เป็นทางเลือกของคนพูดหรือแสดงออก"

บัญญัติข้อ 19 ยังระบุด้วยว่าการใช้สิทธิเหล่านี้มี "หน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษ" และอาจต้องถูกจำกัดบ้างในกรณีจำเป็น เพื่อความเคารพถึงสิทธิหรือชื่อเสียงของคนอื่น หรือ เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของชาติหรือเพื่อความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อการสาธารณสุข หรือเพื่อศีลธรรม

ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาเป็นประเทศที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้นำวาทกรรมนี้มาใช้บ่อย มากที่สุดนับแต่ Bill of rights  ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยถูกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกันเมื่อปี  1791 สภาคองเกรสได้เพิ่มบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพ 4 ประการ ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพในทางศาสนา สิทธิและเสรีภาพในการพูด สิทธิและเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิและเสรีภาพของสื่อ

จากหลักพื้นฐานด้านสิทธิเสรีภาพการพูดและการแสดงออกดังกล่าวทำให้กระบวนการประชาธิป ไตยในอเมริกาถูกพัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง โดยอาศัยหลักการสื่อสารจากคำพูดและรูป แบบการแสดงออกต่างๆ ที่ไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นข้อจำกัดในแง่การละเมิดรุกล้ำสิทธิของคน อื่น และส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออก กระทำผ่านการวิพากษ์หรือวิจารณ์ จนเกิดเป็น รูปแบบและลักษณะการวิจารณ์ ซึ่งถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง

หมายความว่าสังคมอเมริกันยอมรับการวิจารณ์ในประเด็นสาธารณะและประเด็นซึ่งเป็นองค์ความรู้ทั่วไป มีการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์มาเนิ่นนาน ผ่านสื่อประเภทต่างๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบันคือ สื่อใน ยุคดิจิตัล และสื่ออิเลคทรอนิกส์อย่างอินเตอร์เน็ต หรือสื่อออนไลน์

อย่างเช่น ในการทำงานข่าวของสื่อมวลชนอเมริกัน งานวิจารณ์ข่าวถือว่ามีความสำคัญพอๆ กับงานข่าวเลยทีเดียว สถานีโทรทัศน์ค่ายใหญ่ต่างๆ ต่างก็มีนักวิจารณ์หรือ commentator  ประจำสถานี หรือไม่ก็หานักวิจารณ์ขาจร(ผู้รู้)จากข้างนอก เพื่อให้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังหรือที่มาที่ไปของแต่ละเหตุการณ์ หรือของสถานการณ์ ผู้รับสื่อจึงไม่เพียงรู้สถานการณ์ที่เป็นเนื้อหาข่าวเพียงอย่างเดียว หากยังรู้ถึง ปริมณฑลของข่าวนั้นๆอีกด้วย ทั้งนับเป็นการต่อยอดข่าวหรือเหตุการณ์ออกไปอย่างครอบคลุมภาคส่วนที่สมควรเกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น  ประเด็นข่าวการนิรโทษกรรมต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่สามารถโยงถึงอาชญากรรมความเกลียดชัง (Hate crime) อันเนื่องมาจากสีผิว ได้ เป็นต้น

ผู้แสดงความเห็นจึงสำคัญมากสำหรับ สื่ออเมริกัน  เพราะผู้บริโภคไม่เพียงต้องการรับรู้ข้อมูลแบบทื่อๆเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการรับสื่อ ที่ทำให้พวกเขาคิดได้ เลือกได้ สำหรับตัวของพวกเขาเอง

นอกจากการวิจารณ์หรือการแสดงความเห็นในวงการสื่อสารมวลแล้ว อีกวงการหนึ่งที่ดูเหมือน วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์จะโดดเด่นมากเช่นกัน คือ วงการการศึกษา โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการอเมริกัน ที่ถือเสมือนว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์คือการพัฒนาองค์ความรู้ โดยการวิจารณ์นิยมกระทำผ่านการสนทนา ตอบโต้ในห้องเรียนหรือสถานที่สาธารณะ การสนทนาผ่านสื่อประเภทต่างๆ  อย่างเปิดเผยตรงไปตรง มา เรื่องนี้ทำให้สังคมอเมริกันในแวดวงการศึกษาเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ออกไปอย่างกว้าง  เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะการแสดงความเห็นเชิงเหตุเชิงผลว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับงานวิชาการแต่ละชิ้น เป็นการกระทำอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เป็นแบบซุบซิบนินทากันแต่เพียงในกลุ่ม

การวิจารณ์ จึงเป็นการแสดงความรู้ความสามารถของผู้วิจารณ์อย่างชัดเจน ในเมื่อสังคมอเมริกันเป็นสังคมเปิด การยอมรับการวิจารณ์ยังช่วยเป็นกระจกส่องตัวตนของคนที่ถูกวิจารณ์ รวมกระทั่งถึงความเป็นไปของสังคมนั้นอีกด้วย

สังคมอเมริกันจึงมีพื้นที่ในการวิจารณ์มาก และวัฒนธรรมการวิจารณ์ในแบบฉบับอเมริกันไม่ได้ดึงสังคมไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ความขัดแย้งนั้นถ้าจะมี ก็เป็นเพียงความขัดแย้งหรือความไม่เห็นด้วยทางความคิดเท่านั้นซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ผู้บริหารการศึกษาตั้งแต่ชั้นต้นๆ อย่างเช่น ในชั้นมัธยมอเมริกันส่งเสริมให้นักเรียนวิจารณ์งานเขียน งานวรรณกรรม เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางความคิด เกิดเป็นความคิดใหม่ๆขึ้นมา  เพราะการวิจารณ์ที่ดีนั้น ผู้วิจารณ์ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องที่ตนวิจารณ์มาอย่างดี ถึงจะเรียกว่าเป็นนักวิจารณ์ที่ดี การวิจารณ์จึงเป็นการมองจากรากคือ ฐานความรู้เดิมและการต่อยอด ซึ่งอาจหมายถึงความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม

ในชั้นเรียนของโรงเรียนอเมริกันแทบทุกระดับ การโต้แย้ง โต้เถียงกันแบบแรงๆ จึงไม่ใช่ของแปลก และไม่ใช่ของแปลกเช่นกันหากว่า ครูอาจารย์กับนักเรียนนักศึกษามีความเห็นในเรื่องวิชาการความรู้ไม่ตรงกันและเกิดโต้เถียงกัน อย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งเรื่องนี้ในสังคมไทยไม่อาจรับได้ มิหนำซ้ำ หากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้  ก็จะมีผู้นำ“กรอบศีลธรรม” มาจับ กลายเป็นการเนรคุณ ไม่เคารพครูบาอาจารย์ไป

ดังเหตุการณ์ล่าสุด คือ การประท้วงไม่เอาด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของอาจารย์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในเมืองไทย อาจารย์บางคนดำเนินการในลักษณะของการบังคับให้นักศึกษา ต้องออกไปประท้วงหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.เหมือนกับตน  โดยไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ แสดงความเห็นที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง มีการครอบงำความคิดของผู้เรียน โดยใช้คะแนนหรือเกรด ที่เป็นตัวกดดัน เช่น จะมีคะแนนให้ถ้านักศึกษาไปร่วมกิจกรรมประท้วง แต่ถ้าไม่ไปประท้วง ไม่มีคะแนนให้ ซึ่งเป็นการบังคับให้นักศึกษาเหล่านั้นต้องสยบยอม ไม่กล้าโต้แย้ง แม้มีความเห็นไม่ตรงกับอาจารย์ เป็นการสร้างความเก็บกดให้เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนโดยตรง

การที่อาจารย์คนใดมีพฤติกรรมเช่นนี้ จึงเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ และเข้าข่ายละเมิดจรรยาบรรณ ของความเป็นครูอาจารย์อย่างมาก ที่ผ่านมาเราพูดถึงจรรยาบรรณของคนทำอาชีพอื่น แต่เราไม่ค่อยได้พูดถึง จรรยาบรรณของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทย เพราะมองกันว่า ครูอาจารย์คือ ปูชนียบุคคล ตลอดกาล ขณะที่ในโลกสมัย การทำหน้าที่ของครูอาจารย์เชื่อมโยงกับเหตุปัจจัยต่างๆ มากกว่า “สมัยก่อน”มากมาย เช่น ระบบทุน(เงินเดือน ค่าตอบแทน ผลประโยชน์แฝง)  ระบบการเมือง(ความคิดทางการเมือง) ค่านิยมหรือกระแสสังคม(การรับงานข้างนอกมา การนิยมออกสื่อ) ที่เปลี่ยนไป

อย่าว่าแต่นักเรียนจะแย้งครูอาจารย์เลยครับ ในสังคมไทยนั้นแม้แต่นักเรียนแย้งนักเรียนกันเองก็น่าจะยากด้วยซ้ำ วัฒนธรรม การวิพากษ์วิจารณ์ของไทยแท้จริงแล้วจึงยังไม่เกิด หากที่มีเป็นวัฒนธรรมการตามอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ลัทธิประชาธิปไตยฝังรากลงได้ช้า คติเดินตามผู้ใหญ่สุนัขไม่กัด ยังใช้ได้เสมอทุกยุคทุกสมัยแม้กระทั่งในสมัยปัจจุบัน  เป็นคติเดียวกับคติที่ใช้ได้ดีที่สุดในสังคมเส้นสายอุปถัมภ์

ในรั้วมหาวิทยาลัยของไทยส่วนใหญ่ยังเต็มไปด้วยการตั้งรับของนักศึกษา การจะหาคนที่กระทำ เชิงรุกในเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องยาก แถมดีไม่ดีอาจถูกเขม่นจากอาจารย์ผู้สอนเอาได้ด้วยซ้ำ การดำรงตน อย่างมีอัตลักษณ์ของผู้เรียนในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย ยิ่งในระดับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไป การประเมินผลการศึกษาของผู้เรียนถูกกำหนดโดยอาจารย์ที่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่อง นวัตกรรมองค์ความรู้ มุ่งเพียงการยักย้ายถ่ายเทเล่นแร่แปรธาตุองค์ความรู้เดิม

แน่นอนว่าความรู้เดิมมีค่าความผิดพลาดของการวิจัยน้อยกว่าความรู้เชิงนวัตกรรม แต่งานวิจัยที่ให้ผลผลิตเป็นนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และควรได้รับการใส่ใจสนับสนุนมากกว่าความรู้เดิม ซึ่งนับวันการวิจัยประเภทนี้จะกองสูงพะเนินเทินทึกกลายเป็นขยะกระดาษเต็มเมือง คือ เป็นงานวิจัยที่นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ เรียกกันว่า งานวิจัยประเภทเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งนิยมทำกันเพื่อขอให้ผ่านและได้วุฒิการศึกษา

เหนือไปกว่านั้น แม้นมีนวัตกรรมการวิจัยก็จริง แต่ก็ปรากฎว่างานวิชาการดังกล่าว หลายชิ้นไม่ได้ รับการต่อยอดด้วยการวิจารณ์ งานวิชาการจำนวนมากที่มีการสร้างสรรผลผลิตเชิงนวัตกรรมกลับตกอยู่ใน “ความเงียบ” เหมือนไม่เคยมีงานวิจัยเหล่านี้เกิดขึ้น  สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจต่อการวิจารณ์เพื่อต่อยอดองค์ ความรู้ อย่างน้อยการวิจารณ์ก็จะได้เห็นข้อดีข้อด้อยของงานวิจัย นวัตกรรมน่าจะถูกวิจารณ์ตรวจสอบมาก กว่าที่เป็นอยู่นี้

จึงสรุปได้ว่า ไทยไม่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์ เหมือนเราเกรงกลัวอะไรบางอย่าง เกรงจะสูญเสีย สถานะที่กำลังเป็นอยู่ เกรงที่จะหลุดออกไปจากระบบอุปถัมภ์แบบเดิมๆ หรือเกรงระบบอุปถัมภ์จะลงโทษ แยกไม่ออกว่าอันไหนคือข้อเท็จจริง อันไหนคือการวิจารณ์

ขณะที่การประเมินคุณภาพการศึกษาของไทย ยังไม่มีการนำระบบหรือวัฒนธรรมการวิจารณ์มาใช้ เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน ทำให้สถาบันการศึกษาเองไม่ค่อยส่งเสริมวัฒนธรรมการวิจารณ์  เพราะเกรงว่าวันหนึ่งนิสิตนักศึกษาจะย้อนกลับมาวิจารณ์ตัวสถาบันหรือตัวอาจารย์ผู้สอนเอง ซึ่งว่าไปแล้วหากนิสิต นักศึกษาสามารถวิพากษ์สถาบันการศึกษาของตนเอง  การวิพากษ์ดังกล่าวจะเป็นเหมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปของสถาบันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สถาบันจะต้องยอมรับทัศนะวิจารณ์เหล่านั้น

นอกเหนือไปจากการสยบยอมกับงานศึกษาวิจัยเอาดื้อๆ โดยไม่ค่อยมีความเห็นโต้แย้งมากมายนัก ให้เห็น  อาจารย์หรือกรรมการคุมสอบว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น

การวิจารณ์ในสถาบันการศึกษาจึงเป็นประเด็นย่อยในประเด็นใหญ่ คือ สิทธิเสรีภาพในการพูด และการแสดงออกซึ่งจะต้องสร้างให้กลายเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา และจะต้องไม่ให้การวิจารณ์นั้นถูกริดรอน โดยเงามืดของระบบเส้นสายอุปถัมภ์ ซึ่ง “เงามืด” ดังกล่าวส่วนหนึ่งหมายถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการแสดงออกซึ่ง ความคิดเห็น ตามหลักการ ตามหลักแห่งเหตุและผล

ที่มา.ประชาไท
///////////////////////////////////////