--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

3 ปมร้อน รัฐบาลสุมไฟเผาตัวเอง !!?

สถานการณ์ร้อนปมเสี่ยงรัฐบาลพังพินาศ ยิ่่งนับวันยิ่่งเห็นลาง..ไม่ค่อยดีอาการรัฐบาล กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่อแร่สุ่มเสี่ยงต้องเก็บฉากลาโรงก่อนกำหนด ดีเดย์ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนพ.ย.
     
ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ร้อนๆหลายเหตุการณ์ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปในวันที่ 29 พ.ย. เรื่องของโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลคุยเขื่องคุยโตเรื่อยมาว่าเป็นนโยบายที่ดีฉุดกระชากกระแสคะแนนนิยมให้ติดลมบนมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พลังประชาชนเรื่อยมาจนถึงเพื่อไทย
     
 แต่มาวันนี้คงเงียบปากคุยโวไม่ได้ มีแต่การแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ
     
ล่าสุด "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ออกมาขย่มแรงๆรัฐบาลขาดทุนกระเป๋าฉีก 4 แสนกว่าล้านบาทจนถึงบัดนี้รัฐบาลยังตอบคำถามสังคมแบบจะๆ แจ้งๆ ไม่ได้หลบเลี่ยงซ่อนเร้นตัวเลขที่แท้จริงเรื่อยมา หาทางแก้ลำ เบี่ยงกระแสไปเรื่อยพอนายกฯจีนมาประเทศไทยพูดถึงข้อตกลงซื้อข้าวจากไทยเบื้องต้นทั้งที่ยังไม่สะเด็ดน้ำดี  ก็รีบเอาไปตีปี๊บโพนทะนาเหมือนถูกหวยรางวัลที่ 1
     
ท่ามกลางเสียงคนนินทาหมาดูถูกว่าเออออห่อหมกันไปเองนายกฯจีนแค่พูดคุยกันแค่กรอบคร่าวๆ สุดท้ายเมื่อจี้ถามกันมากๆก็ได้รับคำตอบแบบอ้อมแอ้มจาก "ยรรยง พวงราช" รมช.พาณิชย์ว่ามันเป็นแค่การเจรจาที่ยังไม่ลงตัว ที่บอกว่าจะซื้อปีละล้านตันอาจไม่ใช่ที่แท้อาจเป็น 5 ปี ล้านตัน ฮ่วย!!
     
เรื่องข้าวเปรียบเสมือนปัญหาวัวพันหลัก รัฐบาลพยายามออกมาเบี่ยงเบนโกหกตัวเลขไปเรื่อย เหมือนทำธุรกิจการค้าต้องปั่นตัวเลขรักษาชีวิตธุรกิจไว้ก่อนแต่อันนี้ไม่ใช่ มันเป็นการปั้นตัวเลขโกหกประชาชนไม่รู้จะปิดบังข้อเท็จจริงไปได้อีกสักกี่น้ำ
     
ปัญหาเรื่องข้าวนายกฯยิ่งลักษณ์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้วย่อมหนีไม่พ้นต้องถูกลากมาประจานในฐานะผู้บริหารสูงสุดน่าสนใจเหลือเกินว่าคดีที่ค้างอยู่ในป.ป.ช. จะมีการชี้มูลกันในเดือนพ.ย.ถ้าเกิดชี้เปรี้ยงว่านายกฯมีความผิดขึ้นมา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีอะไรมันจะเกิดขึ้น คิดแล้วก็หนาวแทนสถานะของรัฐบาลเหลือเกินช่วงนี้ยิ่งลูกผีลูกคนอยู่ด้วย
     
อีกเรื่องที่กลายเป็นประเด็นประจวบเหมาะเข้ามาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายก็คือการตัดสินคดีเขาพระวิหารของศาลโลก ที่เลื่อนมาตัดสินกันในวันที่11พ.ย.จากเดิมที่บอกว่าจะตัดสินกันต้นปีหน้า เร้าสถานการณ์เร้าเหตุการณ์หลายอย่างให้มาสุมไฟกันช่วงนี้พอดี ต้องไม่ลืมว่าประเด็นนี้ถูกจุดติดมาหลายครั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เช่นกลุ่มพันธมิตรฯหยิบยกมาพูดถึงเมื่อไหร่รัฐบาลเป็นต้องสะดุ้งทุกทีไป งวดนี้เป็นคำตัดสินสุดท้าย หากเพลี่ยงพล้ำขึ้นมาสู้แล้วแพ้ ไทยเสียเปรียบเขมร มีหวังรัฐบาลเจอข้อหาทำไทยเสียดินแดนกระแสถล่มล้มทั้งยืนแน่!!
     
ทุกคนเห็นทุกคนทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ ไทย-เขมรภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รัฐบาลเครือข่ายชินวัตร แน่นแฟ้นเพียงใด ต่างจากสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดยสิ้นเชิงหนำซ้ำยังสนิทชิดเชื้อเกี่ยวดองถึงขั้นเป็นญาติกัน ลูกสาว สมชาย กับ เยาวภาวงศ์สวัสดิ์ ไปแต่งงานกับลูกชายนักธุรกิจ นักการเมืองใหญ่ ใกล้ชิด "ฮุน เซน" ถ้าเพลี่ยงพล้ำเสียทีฝ่ายเขมรจะต้องโดนหนักแน่ เพราะแทนที่ใกล้ชิดกันจะคุยกันรอมชอม แต่กลับเสียประโยชน์ชาติต้องโดนถล่มเละเทะข้อหาซูเอี๋ยเอื้อประโยชน์ให้เขมรสมยอมเพื่อแลกบางสิ่งบางอย่างหรือไม่!!
     
แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์และเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ คือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สุดท้ายก็เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต ว่าจะมีการยัดไส้ลุยแบบสุดซอย แทรกเนื้อหาช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดง แต่ไม่ช่วยเสื้อแดงที่ติดคุก ในชั้นกรรมาธิการ แล้วที่สุดก็เป็นแบบนั้นจริงๆ!!
     
มีการเสนอแปรญัตติโดย ประยุทธ์ ศิริพานิช มือกฎหมายก้นกุฏิพรรคเพื่อไทย ดันเนื้อหาแบบสุดโต่งสุดซอยรับใบสั่งจากหน่วยเหนือมาปฏิบัติการแม้กระทั่งส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นกรรมาธิการอยู่ยังตกใจ ไม่รับรู้มาก่อนเลยต้องออกหน้ามาแสดงท่าทีคัดค้าน ถึงแม้สุดท้ายจะรู้ว่าเมื่อ"นายใหญ่" จะเอาก็ต้องได้ ไม่มีทางบิดพลิ้วเป็นอย่างอื่น
     
น่าสนใจและน่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่าจะลุยกันสุดซอยจริงๆหรือเอาตอนนี้เลยหรือ ซึ่งคำตอบก็คือ ใช่รัฐบาลได้รับซิกมาแล้วให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เตรียมพร้อมต่อสู้แรงเสียดแทนระดับสูงสุดสืบเนื่องจากการเดินหน้าสุดลิ่มทิ่มประตูนิรโทษกรรมแบบล้างกระดานสะอาดเอี่ยม
     
เมื่อประเมินแล้วม็อบมาแน่สุมไฟเติมคนมาแน่ จึงประกาศคงการใช้พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไปจนถึงสิ้นเดือนพ.ย.หรือปิดสมัยประชุมสภา นัยว่า จะเอาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในสมัยประชุมนี้ ทักษิณ รอการกลับบ้านไม่ไหวอีกแล้วหมายมั่นปั้นมือว่าครั้งนี้เป็นไงเป็นกัน เพื่อวางแผนเลือกตั้ง จัดตัวผู้สมัครกันไว้เบื้องต้นแล้วพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทุกเมื่อ หากเกิดเหตุฉุกเฉินรัฐบาลต้องล้มไปหรือต้องประกาศยุบสภา ก็พร้อมลงสนามเลือกตั้งทุกเมื่อ
     
อีกทั้งยังมีการประสานกลุ่มการเมืองอื่นๆ ใครอยากเข้ามาร่วมเชื้อเชิญไว้หมด ไม่เว้นแม้แต่ขุนพลระดับแม่เหล็กเชี่ยวสนามเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์โฟกัสไปที่ภาคกลางที่มีปัญหาระหองระแหงกับพรรคต้นสังกัดเครือข่าย "ทักษิณ" ไม่กลัวอะไรแล้ว เตรียมพร้อมไว้หมดแล้วเรื่องปฏิวัติก็ดูเหมือนว่าจะวางใจว่าทหารไม่ทำแน่ เข้าใจกันดีจนเงียบกริบ
     
กระนั้นก็ตามการเดินเกมแบบสายฟ้าแลบสอดไส้นิรโทษฯแบบนี้ จะเป็นผลกระแทกกระเทือนให้รัฐบาลพินาศย่อยยับโดยไม่ได้อะไรเลยมากกว่า หากเดินตามการแปรญัตติสุดโต่ง สุดซอยอย่างนี้
     
เสื้อแดงส่วนหนึ่งคงรับไม่ได้ที่ไม่เห็นคนที่จ้องอาฆาตอย่าง มาร์ค-เทือก ไม่ถูกลงโทษ พาลเลิกสนับสนุน ผนังทองแดงกำแพงเหล็กกลายเป็นขี้ผึ้งโดนไฟลน พ่วงด้วยข้อครหาไม่ช่วยเหลือประชาชน หวังช่วยคนๆเดียวการเมืองมันก็ชั่วแบบนี้ ทำคนเลิกศรัทธา ก็จะเป็นชนวนแห่งการชุมนุมแบบแตกหักหวังเอา ทักษิณ กลับประเทศชี้ชัดถึงจุดมุ่งหมายใหญ่หลวงเพียงหนึ่งเดียว การกระทำที่ผ่านๆมาล้วนเสแสร้งสามารถเอาทุกอย่างไปเดิมพันได้ เพื่อช่วยเหลือคนๆ เดียว เศรษจกิจการเมือง ไม่สนใจใยดี
     
ด้วยปัจจัยทั้งหลายแหล่ที่ประจวบเหมาะกันเข้ามารับประกันได้ว่ารัฐบาลต้านไม่ไหวแน่ เหตุการณ์เงื่อนไขต่างๆ ง่ายต่อการปลุกเร้าปลุกระดม ไม่เกินสิ้นปีนี้อาจเห็นจุดจบของรัฐบาลและเครือข่าย ทักษิณ ต้องกอดเสาเข่าทรุดเมื่อแผนการณ์ทั้งหมด พินาศ โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย!!

ที่มา.ผู้จัดการ
////////////////////////////////////////////////////////

บทเรียน

โดย. ศรี อินทปันตี

วันที่ ๑๔ ตุลาคมได้เวียนมาบรรจบครบรอบ ๔๐ ปี โดยมีการจัดงานเฉลิมฉลองทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์อันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของประชาชนชาวไทย
วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นวันที่นิสิตนักศึกษาประชาชน ผนึกกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย จิตวัญญาณดังกล่าวมิอาจมองข้ามและปฏิเสธได้

แม้ว่าวันที่ ๑๔ ตุลาคมจะมิได้นำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง หากมันเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากระบอบเผด็จการทหาร ไปเป็นระบอบเผด็จการซ่อนรูป ที่ระบอบอำนาจเก่าสามารถยึดคืนไปได้จากฝ่ายทหาร

และดังนั้น มันจึงนำมาซึ่งการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน ทั้งในวันที่ ๖ ตุลาคม๒๕๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ และเมษา-พฤษภา ๒๕๕๓ เพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองการปกครองของพวกเขาไว้อย่างถึงที่สุด

๔๐ ปีที่ผ่านไปจึงมิได้ทำให้ความขัดแย้งหลักที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยเปลี่ยนไปเป็นอื่น แม้ว่าห้วงเวลาดังกล่าวจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “โลกาภิวัฒน์” ก็ตามที

โดยระบอบอำนาจเก่าได้มีการพัฒนาเป็นกลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เติบใหญ่และมั่งคั่งกว่ากลุ่มทุนเกิดใหม่อย่างเทียบกันไม่ติด ยิ่งใหญ่ทั้งในแง่สินทรัพย์และตลาดหุ้น

ดังนั้น ความคิดเห็นที่ว่า...ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่ากับกลุ่มทุนใหม่จึงไม่ถูกต้อง เพราะความขัดแย้งนั้นเป็นแค่ความขัดแย้งรอง

โดยความขัดแย้งหลักยังเป็นความขัดแย้งระหว่างระบอบเผด็จดั้งเดิมกับประชาชนที่ประสพการณ์จากการต่อสู้ผ่านการถูกปราบปรามและจากโลกในระบบที่เรียกว่า “โลกาภิวัฒน์” ทำให้ประชาชน “ตาสว่าง” มองเห็นว่า ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู และใครเป็นผู้กดขี่ที่แท้จริงอย่างแจ่มชัด

งานวันที่ระลึก ๑๔ ตุลาคมปีนี้ ได้มีการปาฐกถาและการจัดสัมนาเกี่ยวกับสิทธิประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง อันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ประชาชนได้เรียนรู้ถึงข้อมูล แนวคิดทั้งในแนวทางการต่อสู้และและความเป็นจริงเกี่ยวกับระบอบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่มีการพัฒนาไปอย่างกว้างไกลพร้อมๆกับกาลเวลาที่ผ่านเลยไป

ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาคประชาชนและฝ่ายชนชั้นปกครอง ได้รับรู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในชนบท ชนชั้นกลางในเมืองเป็นอย่างไร และปัญญาทั้งชั้นล่าง ชั้นกลางและชั้นสูงเป็นประการใด

ทั้งหมดล้วนให้กำลังใจแก่ประชาชนที่จะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////

ดร.นิพนธ์ พัวพงศธร แจง 3 ข้อ การขาดทุนทางบัญชีจากการจำนำข้าว !!?

ดร.นิพนธ์ พัวพงศธร นักวิชาการเกียรติคุณ-ผู้อำนวยการฝ่ายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ออกบทความ การขาดทุนทางบัญชีจากการจำนำข้าว ระบุว่า

หลังจากที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นำเสนอผลคำนวณการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวในงานสัมมนาเรื่องมหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริตฯ ว่ารัฐบาลจะขาดทุนอย่างน้อยปีละ 2 แสนล้านบาท รัฐมนตรีหลายท่านต่างออกมาปฏิเสธว่า โครงการรับจำนำไม่ได้ขาดทุนมากขนาดนั้น รัฐมนตรีพาณิชย์ นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล ให้สัมภาษณ์ว่า การขาดทุนแบบสมเหตุสมผลจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายยรรยง พวงราช ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าคิดอย่างโง่สุด ยอมขายราคาครึ่งเดียวของราคารับจำนำก็ยังขาดทุนไม่ถึง 2 แสนล้านบาท…. และที่ระบุว่ามีเงินรั่วไหล เงินถึงชาวนาเพียง 210,000 ล้านบาทนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะจ่ายโดยตรงเข้าบัญชีชาวนา”

ยิ่งกว่านั้นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่า “การขาดทุน 4.25 แสนล้านนั้น มองว่าเป็นการเข้าใจผิดของหม่อมอุ๋ย ยอมรับว่านักเศรษฐศาสตร์หลายท่านไม่ได้เรียนบัญชี อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการขาดทุนทางบัญชีและการขาดทุนจริงของโครงการ เมื่อนำข้อมูลออกมาเปิดเผย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้”

บทความฉบับนี้ต้องการทำความกระจ่าง ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ มูลค่าการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว และประโยชน์ “ส่วนเพิ่ม”ที่ชาวนาได้รับจากการขายข้าวให้รัฐบาล บทความจะตอบคำถาม 3 ข้อ คำถามแรก คือ ทำไมตัวเลขการขาดทุนของรัฐบาลจึงแตกต่างจากตัวเลขการขาดทุนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คำถามที่สอง คือ วิธีการคำนวนการขาดทุนทางบัญชีของโครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวนอะไร คำถามที่สาม การขาดทุนจริงของโครงการจำนำข้าว “จะ” เป็นเท่าไหร่กันแน่

คำถามแรกเรื่องมูลค่าการขาดทุนที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอนั้น ต่างเป็นตัวเลขผล   ขาดทุน”ทางบัญชี”ทั้งสิ้น แต่สาเหตุที่ตัวเลขผลขาดทุนทางบัญชีของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกัน เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลตีมูลค่าของข้าวในสต๊อกด้วยต้นทุนข้าวที่ซื้อมา ในราคาข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาทหรือคิดเป็นข้าวสารตันละ 24,000 บาท ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ซึ่งอ้างอิงข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวใช้วิธีตีมูลค่าข้าวในสต๊อกด้วยราคาตลาด

คำถามที่สอง คือ โครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวนวิธีใด หากย้อนกลับไปดูตำราวิชาการบัญชีว่าด้วยการตีมูลค่าสินค้าคงคลัง (inventory valuation methods) จะมีหลักการตีราคา 2 รูปแบบ คือ (1) คำนวนด้วยต้นทุนของสินค้า  หรือ (2) คำนวนด้วยราคาตลาดในการจัดหาสินค้านั้นมาทดแทน ทั้ง 2 วิธีต่างก็เป็นวิธีการที่ได้ยอมรับให้ใช้และมีสอนกันในวิชาการบัญชีทั่วไป

ฝั่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เลือกที่จะใช้วิธีการแรกในการตีมูลค่าข้าวที่เหลืออยู่ในคลังด้วยราคาต้นทุนที่ซื้อข้าวมา ผลการขาดทุนทางบัญชีจึงมีประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เลือกที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่า LCM  หรือราคาตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่าของข้าวที่เหลืออยู่ในคลัง ผลขาดทุนจึงสูงกว่า
ประเด็นจึงมีอยู่ว่าในกรณีการจำนำข้าวรัฐบาลควรใช้วิธีทางบัญชีวิธีใดจึงจะเหมาะสม

ในวงการธุรกิจที่สินค้าคงคลังมีราคาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นักบัญชีทราบดีว่าหลักวิชาการทางบัญชีที่นิยมใช้กันคือการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยราคาตลาด เพราะว่าการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยต้นทุนสินค้าที่ได้มาจะไม่สามารถแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า  โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาตลาดของสินค้านั้นๆ ตกต่ำลงกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมาอย่างรวดเร็ว การใช้ราคาต้นทุนจะก่อให้เกิดการบิดเบือนสถานะทางบัญชี ขัดกับวัตถุประสงค์ของวิชาบัญชีที่มุ่งเน้นให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรับทราบสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจที่แท้จริงเพื่อให้การตัดสินใจบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีการจำนำข้าว รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารของประเทศจำเป็นต้องรับทราบสถานการณ์รายได้-รายจ่ายที่เป็นจริงให้มากที่สุด หากตัวเลขระบุว่าจะมีโอกาสขาดทุนมาก รัฐบาลก็จะได้เตรียมรับมือกับความเสี่ยงทางการคลัง  ไม่ใช่ปล่อยให้ไฟไหม้บ้าน แล้วค่อยคิดซื้อประกันไฟที่หลัง

นี่คือเหตุผลที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายข้าว เลือกใช้วิธีการ LCM โดยตีมูลค่าสต็อคข้าวด้วยราคาตลาด เพื่อสะท้อนฐานะที่แท้จริงของโครงการจำนำข้าว แม้ในตอนต้นรัฐบาลจะไม่ยอมรับตัวเลขขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯจนกลายเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับว่าการจำนำข้าว2 ฤดูแรก (นาปี2554/55 และนาปรัง 2555) ขาดทุนถึง 136,896 ล้านบาท มาวันนี้ราคาข้าวในตลาดลดลงไปมากจากวันที่ปิดบัญชี การขาดทุนก็ย่อมมากขึ้นเพราะรัฐบาลขายข้าวได้น้อยมาก

อนึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการทำบัญชีของธุรกิจเอกชนทั่วประเทศ และทราบดีถึงหลักบัญชีที่ถูกต้อง หรือแม้แต่องค์การคลังสินค้าที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์เองยังเลือกตีราคามูลค่าสต๊อคข้าวในโครงการจำนำข้าวด้วยราคาตลาด บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังดูแลก็มีบัญชีแบบ mark to the market แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ทำบัญชีอีกแบบหนึ่ง

การที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีตีมูลค่าข้าวด้วยต้นทุนการซื้อข้าว จึงเป็นการหลอกลวงตนเองและประชาชน ว่าจะมีภาระทางการคลังในอนาคตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

คำถามที่สาม การจำนำจะขาดทุนจริงเท่าไหร่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน เพราะรัฐบาลปิดบังข้อมูลการขายข้าวทั้งๆที่การปกปิดดังกล่าวผิดกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลของทางราชการ (ยกเว้นข้อมูลบางประภท) แม้รัฐบาลจะมีการเปิดเผยตัวเลขเงินรายได้จากการขายข้าว แต่ก็ไม่ยอมบอกว่าขายข้าวไปจำนวนเท่าไร เพราะขืนเปิดเผย ประชาชนก็จะรู้ว่ารัฐบาลขายข้าวขาดทุนหนักกว่าที่รัฐบาลพูด และอาจหนักกว่าที่นักวิชาการประมาณการไว้ เพราะรัฐบาลขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดมาก ทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมา

หลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลจะขาดทุนหนักมากเพราะขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาจากรายงานการปิดบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ที่รมว.วราเทพนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ผู้เขียนพบว่าราคาข้าวที่ขายต่ำกว่าราคาตลาด คือราคาข้าวนาปี 2554/55 ที่ขายเฉลี่ย 14,435.71 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาขายส่งข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯในเวลาเดียวกันที่เฉลี่ย 19,635 บาทต่อตัน เนื่องจากมีต้นทุนค่าซื้อข้าวและต้นทุนดำเนินการ 29,605.52 บาทต่อตันข้าวสาร จึงขาดทุนจริงตันละ 15,169.31 บาท  และสำหรับข้าวนาปรังปี 2555 พาณิชย์ขายเฉลี่ยเพียง 12,839.45  บาทต่อตัน เทียบกับราคาตลาด 17,266 บาทต่อตัน  และขาดทุนตันละ 11,781.61 บาท ถ้าคิดเฉพาะข้าวที่ขายไปจริงจำนวน 3.62 ล้านตันข้าวสารในสองฤดู มูลค่าการขาดทุนจริงคือ 49,561.10 ล้านบาท (ณ 31มกราคม 2556) ผู้เขียนประมาณการว่าเฉพาะการขายข้าวราคาต่ำให้พ่อค้าบางรายที่เป็นพรรคพวกทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก 30% ของภาระขาดทุนทั้งหมด...นี่แหละคือเหตุผลแท้จริงที่รัฐบาลต้องปกปิดข้อมูลการข่ายข้าว ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อความจริงถูกเปิดเผยเมื่อไร บรรดาข้าราชการที่มีส่วนในการขายข้าวและปกปิดข้อมูลเพื่อหวังลาภยศ มีหวังติดคุกกันหัวโต

บทความนี้ไม่ได้หวัง และ คิดว่าคงไม่มีความหวังที่จะให้รัฐมนตรีบางคนเข้าใจและยึดหลักบัญชีที่ถูกต้อง  แต่หวังว่าประชาชนจะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และเลือกคนที่พูดความจริงมาบริหารประเทศ

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
/////////////////////////////////////////////

ชั่งไข่ ถึง เก็บภาษีรถยนต์เก่า ความเหมือนที่ ไม่แตกต่าง !!?

การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ หากไม่นับการใช้อำนาจเงิน ความไม่ซื่อสัตย์และเหลี่ยมคูทางการเมืองแล้ว

ประชาชนควรจะได้เลือกผู้แทนโดยพิจารณาจากความแตกต่างของเนื้อหาสาระของนโยบายที่นำเสนอตามที่ตนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง โดยนโยบายที่ใช้หาเสียงไม่ก่อให้เกิดความลักลั่นเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ส่วนรวมมากที่สุด

ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้นโยบาย "ชั่งไข่ขาย" เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น "นวัตกรรม" ของการดำเนินนโยบายที่กลายเป็นประเด็นให้ผู้คนได้ตลกขบขันถึงความไม่เข้าท่าเข้าทาง แม้ว่าจะมีการท้วงติงจากบุคคลตั้งแต่ระดับนักวิชาการจนมาถึงประชาชนหาเช้ากินค่ำ ที่ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ถูกนำเสนอขึ้นมา นอกจากนี้นโยบายที่จุดประกายดังกล่าวยังไม่อาจตอบสนองความเดือดร้อนตามที่ประชาชนเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเข้าไปแก้ไข ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากภูมิปัญญาของรัฐบาล ทั้งนี้ เชื่อว่านโยบายที่นำเสนอนี้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อมาแม้ว่าจะมีผลกระทบไม่มากนักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นโยบายในลักษณะแบบนี้ก็ไม่ได้ส่อให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของนักการเมืองที่ต้องการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้แต่อย่างใด แตกต่างจากนโยบายอื่นๆ ที่ดูไม่ประสีประสาหรือดูไร้เดียงสาอ่อนต่อโลกแต่สามารถนำมาใช้เป็นช่องทางสำหรับกอบโกยประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ โดยที่ประชาชนไม่รู้ตัวเลยก็ได้

เช่นเดียวกับการนำเสนอ "โครงการจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์" ต่อรัฐบาล โดยระบุว่ารถยนต์ที่มีอายุเกิน 7-10 ปี ห้ามนำเข้ามาวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งหากนำเข้ามาวิ่งจะต้องเสียภาษีเทียบเท่ารถใหม่ โดยอ้างถึงแนวความคิดของโครงการดังกล่าวได้มาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่โครงการ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างเห็นผล ทั้งที่แนวคิดนี้มองข้ามหรือไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่มีความแตกต่างกันอย่างมากในการนำมาบังคับใช้กับบ้านเมืองและประชาชนที่มีเงื่อนไขและองค์ประกอบต่างๆ ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการถอนเรื่องนี้ออกไปอันเนื่องมาจากเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยของประชาชนจำนวนมากก็ตาม แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า หากนโยบายจำพวกนี้มีการนำมาบังคับใช้จะช่วยเหลือประชาชนได้สมตามเจตนามรณ์ของผู้คิดค้นนโยบายนี้จริงหรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการบังคับใช้นโยบายประเภทนี้

น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองต่างก็มีบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมาก ไฉนจึงปล่อยให้มีนโยบายประเภท “จำอวด” หรือ “ปล่อยไก่” ออกมามากมายเช่นนี้ สร้างความอิดหนาระอาใจแก่ประชาชนที่มองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดแปลกๆ ทางการเมืองที่ถูกนำเสนอออกมาของพรรคการเมืองไทยที่มีให้ (จำใจ) เลือกอยู่ไม่มากนักในเวลานี้

ลำพังคิดด้วยสามัญสำนึกของคนธรรมดาทั่วไปก็ไม่เห็นว่าแนวคิดที่ว่านี้จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดพิจารณาโดยอาศัยหลัก "ตรรกะ" หรือด้วยเหตุผลทั้งที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) อย่างใดก็ตาม ก็ยังไม่อาจมองเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง หรือไม่ก็เป็นนโยบายอ่อนหัดที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นจริงและบริบทของสังคมไทย ทั้งที่ผู้คิดค้นนโยบายเหล่านี้ต่างก็เกิดและเติบโตในประเทศไทยอันศิวิไลซ์แห่งนี้ น่าจะทราบถึงความเป็นไปได้ของนโยบายที่นำเสนอว่าสามารถนำมาปรับใช้กับสังคมไทยได้จริงหรือไม่ … ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า “แค่คิดก็ผิดแล้ว” ขอรับท่านผู้ทรงเกียรติ

เรื่องราวทั้งหมดจึงย้อนกลับมาที่ประชาชนคนไทยที่เสียภาษีเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ท่านผู้ทรงเกียรติเพื่อมาให้สรรสร้างนโยบายเพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชนตาดำๆ ต้องกลายเป็นผู้น่าสมเพชเวทนาที่ต้องกลายเป็น “หนูทดลองยา” เพื่อให้ท่านทั้งหลายประเคนนโยบายที่ไม่ทราบว่าทำเพื่อใครกันแน่มาบังคับใช้โดยไม่อาจปฏิเสธได้ ยิ่งกว่านั้นยังไม่อาจทราบได้ว่านโยบายเช่นนี้จะเกิดขึ้นมาเพื่อให้เกิดเป็นประเด็นทางสังคม หรือมีเลศนัยที่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากบางเรื่องราวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนสนใจ (หรือไม่)

ต้องรอคอยต่อไปว่าในอนาคตจะมีนโยบายน่าสนใจแปลกใหม่ออกมา เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีเวทีลับสมองกันอีกบ้าง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กระดาษ 3 แผ่น เป้าหมายจุดประกายการศึกษาเรื่อง AEC.

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
มหาวิทยาลัยสยาม

สิ่งที่บริษัทต้องการจากพนักงานระดับปริญญาตรี ไม่ใช่ทักษะการค้นหาข้อมูลจาก Google หากเป็น “กระบวนการคิด” ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทมีชัยชนะเหนือคู่แข่ง

ผมไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจที่ต้องมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แต่สิ่งที่สร้างความชอกช้ำให้ผมที่สุด ก็คือ การที่นักศึกษาถามผมว่า “การทำรายงาน ไม่ใช่การคัดลอกข้อมูลจาก Google มาส่งหรือคะ”

หลังจากตั้งสติได้ ผมก็เปิดใจยอมรับความจริงของชีวิต ผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่ผิดพลาดมาหลายสิบปีได้ หน้าที่ของผมจึงมีเพียงสอนนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่ผมมีอำนาจในมือให้ดีที่สุด

ที่ชวนหดหู่กว่านั้นก็คือ แม้แต่วิชา “อาเซียน ในโลกยุคใหม่” ที่ผมรับผิดชอบ ผมก็ยังไม่มีอำนาจในมือที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเนื้อหาตามใจชอบ เพราะมีอาจารย์คนอื่นที่ร่วมสอนด้วยกำหนดไว้แล้วตั้งแต่อดีต ผมจึงทำได้เพียงสร้างโลกเล็กๆของผมขึ้นมา โดยเจียดเวลา 3 ครั้งจากทั้งหมด 15 ครั้งของการบรรยาย เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตนักศึกษาที่รักของผม นั่นคือ การสั่งทำรายงานแบบพิเศษสุด โดยมีเนื้อหาเพียง 3 หน้ากระดาษ ไม่ต้องมีคำนำ ไม่ต้องมีสารบัญ ไม่ต้องใช้สแตนด์อิน



photo from aseansec.org

จุดประสงค์คือ การบีบบังคับให้นักศึกษาต้องใช้ความคิดว่าจะใส่อะไรลงไปในพื้นที่จำกัดเพียง 3 หน้า โดยไม่สามารถไปหยิบยืมข้อมูลจาก Google มาตัดแปะให้ดูรกรุงรัง เพื่อจะใช้กระดาษ 100 แผ่นในการกลบเกลื่อนเนื้อหาที่ตนเองเขียนแบบไม่ได้เรื่อง หรือยิ่งกว่านั้น ไม่ได้มีส่วนที่เป็นความคิดของตนเองเลย (Original) หากเป็นการนำขยะความรู้จากที่ต่างๆมากองสุมรวมกัน

ทุกคนคงอยากจะทราบ “ผลลัพธ์” ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ผมได้เปลี่ยนเกมบางอย่างให้แตกต่างจากที่นักศึกษาเคยชิน ปฏิกิริยาของหนูทดลองทั้งหลายจะเป็นอย่างไร

บทเรียนแรก ก็คือ การที่นักศึกษานิยมลอกข้อมูลจาก Google ไม่ได้เกิดจากความมักง่ายเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นผลเนื่องมาจาก “วัฒนธรรมกลัวผิด” ที่ฝังหัวว่าสิ่งที่เราคิดเองมักจะไม่ดี แต่สิ่งที่อ้างอิงจากตำราหรือผู้เชี่ยวชาญจะมีความปลอดภัยสูงกว่า เพราะกลั่นกรองตรวจสอบมาเรียบร้อยแล้ว

นี่เป็นต้นตอตัวร้ายที่ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว เพราะเมื่อนักศึกษาเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่ได้อ้างอิงมีโอกาสที่จะผิดพลาดสูงแล้ว นักเรียนก็ย่อมไม่กล้าคิด เพราะนอกจากไม่ได้รางวัลตอบแทนแล้ว ยังอาจถูกลงโทษอีกด้วย

วัฒนธรรมกลัวผิดนั้น นอกจากจะทำให้นักเรียนบางคนไม่กล้าคิดแล้ว ยังส่งผลเลวร้ายยิ่งกว่าด้วยการบังคับให้นักเรียนเลือกข้อมูลจาก Google เฉพาะในส่วนที่เป็น “ข้อมูลดิบ” หรือข้อมูลที่เป็นภววิสัย นั่นคือ จำนวนประชากรอาเซียนมีเท่าไร พื้นที่ของประเทศอินโดนีเซียมีกี่ตารางเมตร เพราะนี่เป็นข้อมูลที่ไม่มีวันผิดพลาด

โดยละเลยข้อมูลที่เป็นการวิเคราะห์เจาะลึกของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ธุรกิจในการบุกเบิกตลาดอาเซียน การปรับตัวของโรงพยาบาลไทยในยุคอาเซียน เพราะแม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าน่าสนใจกว่า แต่ก็ยังมีโอกาสผิดพลาดได้สูงกว่าข้อมูลแบบภววิสัย

ดังนั้น วัฒนธรรมแบบกลัวผิดจึงเลวร้ายยิ่งกว่าวัฒนธรรมแบบมักง่าย เพราะการลอก Google ของคนมักง่าย ก็อาจมีนวัตกรรมได้ โดยเลือกหยิบข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอขาย ทำให้อาจารย์หลงเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาสาระที่ดึงดูด โดยลืมจับผิดว่านักเรียนคิดเองหรือลอกคนอื่นมาที่สำคัญยังทำให้อาจารย์ได้คุณค่าจากการได้อ่านบทความดีๆ ที่นักศึกษาอุตส่าห์ไปสรรหามาประเคนให้โดยบังเอิญ

หากทว่า วัฒนธรรมกลัวผิด กลับทำให้การลอกที่น่ารังเกียจอยู่แล้วกลับยิ่งมีประสิทธิภาพต่ำต้อยลงไปอีก เพราะเต็มไปด้วยข้อมูลแบบกว้างๆ ครอบจักรวาล ซึ่งรู้ไปก็ไม่ได้อะไร เต็มไปด้วยตัวเลขที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าสนใจให้ใช้ในการต่อยอดเลย

บทเรียนที่สอง ก็คือ นักศึกษาไทยไม่ใช่คนโง่ พวกเขามีศักยภาพในการคิดแบบล้นเหลือ เพียงแต่ไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม เนื่องจากระบบการศึกษาไทยยังไม่กล้าให้รางวัลกับการคิด เพราะการให้คะแนนกับความคิดจะมีความเป็นอัตวิสัยสูง เปิดช่องให้นักศึกษาฟ้องร้องอาจารย์ได้ว่าให้คะแนนไม่เป็นธรรม เพราะการตัดสินว่าความคิดของใครดีกว่าใคร ความคิดของใครถูกต้องกว่าใครเป็นเรื่องยาก

โชคดีที่คะแนนรายงานของวิชาอาเซียน รวมอยู่ในคะแนนเก็บ 40 คะแนน ผมจึงค่อนข้างมีอิสระในการให้คะแนนได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผมได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว หากว่าถูกฟ้องร้องแล้วต้องออกจากงาน จะหาอะไรเลี้ยงชีพได้บ้าง

เนื่องจากรายงานที่ผมให้ทำมีเพียง 3 หน้า ขณะที่สมาชิกในกลุ่มมีถึง 10 คน ดังนั้น ถึงแม้ว่าในตอนแรกนักศึกษาบางกลุ่มจะทำรายงานแบบลอก Google มาทั้งหมด หากทว่า ต้นทุนเวลาและแรงงานที่นักศึกษาต้องเสียให้กับรายงานจึงมีไม่สูงนัก ผมจึงสามารถให้นักศึกษานำรายงานกลับไปแก้ไขได้อีกหลายรอบ จนกว่าจะได้ผลงานที่น่าพึงใจ

สิ่งที่ผมค้นพบ ก็คือ นักศึกษาที่ส่งงานมาให้ผมก่อนกำหนดเส้นตาย 1 สัปดาห์ ซึ่งผมจะให้คะแนนพิเศษ 3 คะแนน นอกจากได้คะแนนจากความใส่ใจแล้ว ยังมีเวลามากกว่าคนอื่น 1 สัปดาห์ ในการรับฟังคำวิจารณ์จากผม และมีโอกาสกลับไปแก้ไขให้ดีได้มากกว่าเพื่อน

บางคนแก้ไขไปถึง 3 ครั้ง กว่าจะเข้าใจได้ว่า การทำรายงานที่ดีเป็นอย่างไร การเน้นจุดโฟกัสไปที่ประเด็นสำคัญเพียง 1 ประเด็น ไม่ใช่เหวี่ยงแหครอบคลุมตามแบบข้อมูลที่ได้จาก Google อย่างกระจัดกระจาย อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจะมีโอกาสได้รับบทเรียนแบบนี้ได้ ก็ต้องมีกระบวนการให้คะแนนที่เหมาะสมด้วย นั่นคือ เกณฑ์ให้คะแนนที่ไม่ใช่การแข่งขันแบบยุติธรรม คือ ส่งงาน 1 ครั้ง ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ ไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะนี่เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

หากทว่า การศึกษาไม่ใช่การแข่งขันในโลกธุรกิจ แต่คือการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน ดังนั้น ผมไม่อาจใช้เกณฑ์วัดผลแบบปกติมาตัดสินรายงานได้ จึงต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาปรับแก้รายงาน 3-4 ครั้ง จนกว่าจะพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมย่อมมีแน่นอน เพราะคะแนนสอบกลางภาคและปลายภาคอีก 60 คะแนน ซึ่งเป็นข้อสอบปรนัย จะเป็นตัวตัดสินนักศึกษาอย่างเที่ยงธรรม



photo from dreamtimes.com

ยิ่งกว่านั้น ความยุติธรรมที่ผมมอบให้นักศึกษา คือ โอกาสในการปรับตัว โดยไม่จำเป็นต้องถูกต้องในครั้งแรก หากยังสามารถแก้ไขในครั้งต่อไปได้ แต่สำหรับนักศึกษาที่ไม่ค่อยใส่ใจ โดยกว่าจะส่งรายงานก็ล่าช้าไป 1 สัปดาห์ ให้ไปปรับแก้งานก็หายไป 2 อาทิตย์ ดังนั้น การที่นักศึกษากลุ่มนี้ได้โอกาสปรับแก้งานในจำนวนครั้งที่น้อยกว่าคนอื่น ก็ย่อมเป็นเรื่องยุติธรรมแล้ว

บทเรียนที่สาม ก็คือ นักศึกษาแต่ละคนมีศักยภาพและความถนัดที่แตกต่าง เราจึงควรเปิดกว้างและออกแบบกระบวนการพัฒนาความคิดให้เหมาะสมกับแต่ละคน

ผมไม่สนใจว่านักศึกษาจะรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอาเซียน แต่ผมใส่ใจว่านักศึกษาจะมอบความรู้อะไรให้อาเซียนบ้าง

หากบอกว่า นักศึกษายังเยาว์วัยยากจะมอบคุณูปการอะไรให้อาเซียน ผมก็เห็นด้วยระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมต้องการจากนักศึกษาไม่ใช่ความรู้ที่เลิศเลอหรือความรู้ที่ไม่มีวันผิดพลาด

ผมต้องการเพียงความรู้หรือความคิดของนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในอาเซียน โดยไม่สนใจว่าจะผิดหรือถูก สิ่งสำคัญคือ การใส่มุมมองของตัวเองเข้าไป กล้าที่จะต่อยอดองค์ความรู้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วใน Google

สิ่งที่ผมได้เจอก็คือ นิสิตบางคนเมื่อเข้าใจความต้องการของผมแล้ว ก็สามารถทำรายงานออกมาได้น่าสนใจ อย่างกรณีการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การปรับปรุงแหลมฉบังของไทยให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า โดยมีคู่แข่งคือ การเป็นศูนย์กลางท่าเรือของประเทศสิงคโปร์ ทำให้ผมอดเป็นปลื้มไม่ได้ที่สามารถปลุกปั้นให้นักศึกษามีความกล้าแสดงออกและใส่มูลค่าเพิ่มทางความคิดเข้าไป โดยไม่ต้องสนใจถึงคุณวุฒิในการศึกษาและประสบการณ์ที่น้อยนิดของตน

อย่างไรก็ตาม มีนักศึกษาบางคนไม่สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ดี ยังคงคัดลอกจาก Google มาเป็นแก่นหลัก ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนว่า การเน้นไปที่การวิเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หากการใส่มูลค่าเพิ่มของตัวเองเข้าไปสามารถกระทำได้ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวในอาเซียนของตนเอง แม้ว่าเราจะไปเยี่ยมชม “เจดีย์ชเวดากอง” เหมือนคนอีกหลายล้านคนในโลกใบนี้ แต่อัตลักษณ์ความเป็นตัวเรา ช่วงเวลาที่ไป และสถานการณ์ที่พบเจอ ก็อาจทำให้เรามีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับ Creative Economy มากกว่าความจริงแบบเครื่องจักรกล

ผลปรากฎว่า มีนักศึกษาบางคนสามารถพลิกเปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแค่เปลี่ยนเกณฑ์วัดคะแนนจากการวิเคราะห์มาเป็นศิลปะการเล่าเรื่อง เราก็จะได้ผลงานคุณภาพเพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น โดยไม่แทบไม่ต้องลงแรงอะไรเลย

เมื่อมองไปสู่ห้วงอนาคต ผมก็ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย หากทว่าการจะทำให้คนไทยปลดปล่อยพลังความสามารถออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้นั้น เราจะต้องมีใจเปิดกว้างในการให้รางวัลกับความสามารถที่แตกต่างกันไป โดยไม่จำเป็นต้องวัดออกมาเป็นตัวเลขได้เหมือนในยุคเครื่องจักรกล

ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เผยคดีคตส.สั่งฟ้อง ทักษิณ ซุกหุ้นและยึดทรัพย์4.6หมื่นล้าน ไม่มีความผิด

กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสร็จแล้ว เผยคดีคตส.สั่งฟ้อง"ทักษิณ"ซุกหุ้นและยึดทรัพย์4.6หมื่นล้าน ไม่มีความผิด

ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือของประชาชน (กมธ.นิรโทษกรรม) ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการฯ ช่วงบ่าย หลังจากที่มีมติแก้ไขถ้อยคำมาตรา 3 แล้วได้เข้าสู่การพิจารณาเนื้อหาของมาตรา 4 ที่ระบุให้ระงับการดำเนินคดี การสอบสวน รวมถึงการพิจารณาที่อยู่ในการพิจารณาของกระบวนการ รวมถึงให้คนที่ต้องคำพิพากษา ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดและหากอยู่ระหว่างการรับโทษให้ถือว่าการลงโทษสิ้นสุด

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะเลขานุการกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอปรับเพิ่มถ้อยคำโดยกำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ให้เหตุผลประกอบว่าเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ประชุมได้มีการซักถาม โดยนายแก้วสรร อติโพธิ กรรมาธิการฯ ระบุว่าการบัญญัติถ้อยคำดังกล่าวหรือผลของมาตรา 4 นั้นจะเข้าข่ายที่ทำให้คดีที่คตส. ได้ดำเนินการและมีการสั่งฟ้อง จนคดีมีการสิ้นสุดแล้ว จะได้รับผลกระทบหรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อแปลตามมาตรา 3 ที่ผ่านมา จะพบว่าคดีที่คตส.ดำเนินการ เช่น คดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวน 4.6 หมื่นล้าน ก็จะถือว่าไม่มีความผิด และหากไม่มีความผิดต้องมีการคืนเงินให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ

ทั้งนี้นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี ฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า แม้ว่าการยึดทรัพย์จะเป็นคดีอาญา แต่กรณีที่ให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินต้องพิจารณาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆประกอบ อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดกรรมาธิการฯ พรรคเพื่อไทยเสนอปิดอภิปรายและลงมติ ผลคือมติเสียงข้างมากมีมติให้แก้ไขโดยใช้ถ้อยคำตามที่นายชวลิต เสนอ

จากนั้น ที่ประชุมได้เข้าสู่การพิจารณารายละเอียดมาตรา 5 ว่าด้วยการระงับสิทธิ์ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะดำเนินการเรียกร้องสิทธิ์หรือประโยชน์ใดๆ โดยนายอภิสิทธิ์ ได้ซักถามว่าในกรณีผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะเข้าข่ายได้รับการเยียวยาตามนโยบายของทางรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทาการเมืองด้วยหรือไม่ โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวต้องพิจารณาตามคุณสมบัติ แต่เข้าใจว่ากรณีดังกล่าว ต้องมีการลงทะเบียนเหมือนกับการลงทะเบียนเกษตรกรที่เข้าโครงการหรือการเยียวยากับรัฐ

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการฯ เสนอให้เพิ่มถ้อยคำ ที่ว่า อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง และมีการเสนอให้ลงมติ ผลปรากฎว่ามติเสียงข้างมาก 15 เสียงเห็นด้วยให้ปรับแก้ถ้อยคำเพิ่มเติมตามนายประเสริฐ

ต่อจากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยการตัดสิทธิ์ที่หน่วยงานรัฐ จะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่เอกชน โดยที่ประชุมได้ซักถามถึงกรณีที่มีการเผาศาลากลางจังหวัด จำนวน 4 แห่งอาทิ จ.มุกดาหาร และมีการสั่งจำคุกบุคคลที่เผาแล้ว ทั้งนี้ในงบประมาณ พ.ศ.2557 รัฐบาลได้ขออนุมัติงบจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ประเด็นดังกล่าวอัยการสามารถเรียกค่าเสียทางแพ่งคืนจากผู้เผาได้หรือไม่ โดยนายวิศิษฎ์ ชี้แจงว่าหากเป็นไปตามมาตรา 6 รัฐไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ นอกจากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้เสนอถ้อยคำเพื่อแก้ไข โดยมีสาระสำคัญ คือเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐหรือบุคคลเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง กับผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากกรรมาธิการฯ ท้ายสุดได้มีการลงมติ พบว่าเสียงข้างมาก 18 เสียงให้คงไว้ตามร่างเดิม

จากนั้นนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะกรรมาธิการฯ ได้ขอเพิ่มมาตรา 6 ตามที่นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง อีก 3ทับได้แก่ 6/1 ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ต้องยอมรับว่าตนได้ละเมิดกฎหมาย และมีการทำทัณฑ์บนว่าจะไม่เข้าร่วมการชุมุนมุที่ละเมิดกฎหมายอีก, 6/2 ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลความจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงแก่องค์กรที่เกี่ยวข้อง, 6/3 รัฐบาลและหน่วยานที่รัฐได้รับมอบหมายจะต้งอทำความเข้าใจกับประชาชนว่าพระราชบัญัตินี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรองดองเท่านั้น แต่มติที่ประชุม 19เสียง ไม่เห็นควรให้เติมข้อความดังกล่าว

และเมื่อเวลา 16.45 น. นายสามารถ ได้ระบุว่าสำหรับกรรมาธิการฯ ที่สงวนความเห็นให้เสนอความเป็นเป็นเอกสารต่อเจ้าหน้าที และสำหรับส.ส.ที่เสนอคำแปรญัตติ ขอนัดให้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯในวันที่ 30 - 31 ต.ค. นี้ ตั้งแต่เวลา 09.30 น. จากนั้นได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------

เฟด ชะลอ QE ปั่น หุ้น-เงิน รอบใหม่ !!?

หุ้น-เงิน เอเชียทะยาน เงินทุนต่างชาติไหลกลับรอบใหม่ คลายกังวลเพดานหนี้ คาดเฟดชะลอลดคิวอียาวถึงต้นปีหน้า ธปท.เตือนระวังเงินทุนเคลื่อนย้าย

นักลงทุนคลายกังวลปัญหาการคลังสหรัฐและการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น-เงินเอเชียทั่วภูมิภาค ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คล้ายกับที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้

การตกลงแก้ปัญหาปิดหน่วยงานรัฐและขยายเพดานหนี้ของคองเกรสไปต้นปี ได้กระตุ้นนักลงทุนให้เกิดความเชื่อมั่น ตลอดจนท่าทีของเฟดยังไม่ลดคิวอีในการประชุมวันที่ 29-30 ต.ค.นี้ โดยตลาดคาดว่าเฟดอาจชะลอลดคิวอีไปจนถึงต้นปีหน้า

สกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน และความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาได้กระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3 ของปีนี้ โต 7.8% เทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ และสูงกว่าไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ 7.5% โดยไตรมาส 3 ถือเป็นไตรมาสที่มีการขยายตัวสูงสุดในปีนี้

เงินรูปีแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือนตามตลาดหุ้นที่ทะยานขึ้นมากกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค

ค่าเงินวอนแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 9 เดือน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นเกาหลีใต้ติดต่อกัน 36 วัน ซึ่งเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุด

การคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดได้ส่งผลให้เงินของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียร่วงลงอย่างหนักตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่กำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

นักวิเคราะห์กล่าวว่าสกุลเงินเอเชียมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นต่อไป ขณะที่นักลงทุนลดการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด และเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ตลาดหุ้นเอเชียพุ่งทุบสถิติ

ตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดอ่อนตัวลงในวานนี้จากแรงขายทำกำไรหลังจากดีดตัวขึ้น 7 วันติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากการปิดทำการของหน่วยงานรัฐบาลนาน 16 วัน

ดัชนีนิกเคอิปิดตลาดลบ 24.97 จุด หรือ 0.17% มาที่ 14,561.54 หลังจากที่ดีดตัวขึ้น 7 วันติดต่อกันจนถึงเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นสถิติช่วงขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีนิกเคอิพุ่งขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสัปดาห์ ที่ 2 ติดต่อกัน

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน ในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นของจีน และปริมาณเงินลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีคอมโพสิตปิดเพิ่มขึ้น 11.79 จุด หรือ 0.58% มาที่ 2,052.40 ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2554 ในสัปดาห์นี้ ดัชนีพุ่งขึ้น 1.4%

ตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นและคาดว่าจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในภูมิภาค หลังการแถลงผลประกอบการรายไตรมาสที่สดใส และข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนช่วยหนุนความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นเอเชีย

ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ปรับตัวขึ้น 0.3% และคาดว่าจะปรับตัวขึ้น 0.6% ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่พุ่งขึ้น 1.3% ในสัปดาห์ที่แล้ว

ตลาดหุ้นไทยและฟิลิปปินส์พุ่งขึ้นมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาคโดยดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดเที่ยงพุ่งขึ้น 0.9% และดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นมะนิลาปิดบวก 0.72% โดยดัชนีทั้งสองตลาดพุ่งขึ้นราว 1.7% แล้วในสัปดาห์นี้

ธปท.เตือนเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน

นายปฤษันต์ จันทน์หอม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าหลังจากที่สหรัฐขยายเพดานหนี้สหรัฐออกไป อาจส่งผลให้เงินทุนต่างชาติ ปรับสถานะและมีบางส่วนไหลออกจากประเทศไทยบ้าง แต่อยากให้นักลงทุนมองระยะยาวมากกว่า ซึ่งเม็ดเงินน่าจะมีทิศทางไหลกลับไปยังสหรัฐเพราะเงินที่ออกมาจากสหรัฐค่อนข้างมาก จึงต้องติดตามเม็ดเงินต่างชาติจะไหลกลับไปเมื่อไร

"ส่วนปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ มีความยืดเยื้อในการขยายเพดานหนี้ เชื่อว่าที่ผ่านมาสหรัฐ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนในภาพเศรษฐกิจสหรัฐเองด้วย เพราะสถานการณ์การคลังของสหรัฐ ก็ยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งรอให้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มนิ่ง และอยากให้รอดูการขยายเวลาเพดานหนี้ครั้งต่อไปในเดือนก.พ. ซึ่งทุกคนกลัวว่าเดือนก.พ. อาจมีปัญหาการขยายเพดานหนี้เหมือนในครั้งนี้อีก แต่เชื่อว่าสหรัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาได้"

มั่นใจ ธปท.มีมาตรการรับบาทผันผวน

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่น่ามีปัญหา เพราะว่าธปท.มีเครื่องมือและมาตรการยืดหยุ่นในการดูแล

นายสมชัย กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ต.ค.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ธปท. ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว

"ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีสูงถึง 170,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าแข็งแกร่งเพียงพอ ที่จะรับมือกับเหตุการณ์ได้ และการแข็งค่าของเงินบาทขณะนี้เห็นว่ายังไม่มากจนทำให้ธปท.ต้องเข้าไปดูแล"

ต่างชาติซื้อบอนด์ยาว8.6พันล้าน

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (THAIBMA) กล่าวว่า หลังจากสหรัฐแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐได้ในระยะสั้น ทำให้มีเงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมาก โดยในวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 7,700 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 3,700 ล้านบาท

"ทำให้ผลตอบแทนบอนด์อายุ 10 ปี ปรับตัวลงมา 0.05% และวานนี้ (18 ต.ค.) ผลตอบแทนบอนด์ 10 ปี ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องอีก 0.05-0.10% ซึ่งสะท้อนว่า ยังมีแรงซื้อเข้ามาในตราสารหนี้ของไทยต่อเนื่อง และมีปริมาณที่ไม่ได้น้อยไปกว่าวันที่ 17 ต.ค."

นางสาวอริยา กล่าวว่า ในเดือนต.ค. ต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 8,600 ล้านบาท เป็นการขายตราสารหนี้ระยะสั้น 1,100 ล้านบาท และ ตราสารหนี้ระยะยาว 9,800 ล้านบาท ส่งผลให้ต่างชาติมียอดถือครองสุทธิ ณ 11 ต.ค. รวม 760,000 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนระยะสั้น 25% และระยะยาว 75%

"สะท้อนว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่ ยังเน้นเข้าลงทุนจริงๆ และการไหลกลับครั้งนี้ จะเป็นภาพเดียวกันทั่วภูมิภาคหลังตลาดคลายความกังวลลง"

นางสาวอริยา กล่าวว่าต่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะการชะลอมาตรการคิวอี และแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐในอนาคต ต้นปีหน้าตลาดอาจกลับมากังวลในประเด็นเหล่านี้อีกครั้ง จะเห็นว่าเงินยังไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ หากดูช่วง 9 เดือนแรก มีเงินไหลเข้า 62,300 ล้านบาท ถ้านับยอดซื้อสุทธิเดือนต.ค. อีก 8,600 ล้านบาท เงินไหลเข้าถึงปัจจุบัน 70,000 ล้านบาท ขณะที่เงินต่างชาติในตลาดหุ้นไทยยังขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาท

เงินไหลเข้ากดผลตอบแทนลดลง

นางสาวอริยา กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้จนถึงสิ้นปีจะเห็นเงินลงทุนของต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง และจะกดไม่ให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรตลาดปรับตัวขึ้นได้ จึงช่วยผลักดันให้เอกชนทยอยออกหุ้นกู้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และจะทำให้ยอดออกหุ้นกู้ทะลุเป้าที่เคยวางไว้ปีนี้ 350,000 ล้านบาท เพราะนับถึงปัจจุบัน (17 ต.ค.) มียอดออกหุ้นกู้ 313,000 ล้านบาท

"ในปีหน้าการชะลอคิวอี ยังคงเป็นประเด็นที่กลับเข้ามากระทบตลาดตลอด จนแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐในอนาคต ย่อมส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้าออกของต่างชาติ และหากมีการไหลออก ย่อมทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น ช่วงนี้จึงเป็นจังหวะดีในการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน"

นางสาวอริยา กล่าวว่า สภาพคล่องในขณะนี้ไม่น่าเป็นกังวล เพราะยังรองรับการระดมทุนได้และหุ้นกู้ที่ออกมาก็ขายได้หมด

เฟดส่งสัญญาณเลื่อนหั่นคิวอี

นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก และนายริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเลื่อนการตัดสินใจปรับลดวงเงินในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ออกไปอย่างน้อยจนกว่าจะถึงเดือนธ.ค.

ทั้งนี้ ความขัดแย้งด้านงบประมาณและการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลต้องปิดทำการเป็นเวลานาน 16 วัน และทำให้รัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ และปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา

นายอีแวนส์ กล่าวว่า "เราต้องการข้อมูลเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีสภาพเป็นอย่างไรต่อไป และเราได้รับมือกับการปิดหน่วยงานรัฐบาลครั้งล่าสุดอย่างไร โดยผมคิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่เฟดจะยังคงประเมินเรื่องนี้ต่อไปในการประชุม 2-3 ครั้งข้างหน้า"

เฟดจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินทุก 6 สัปดาห์ โดยการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 29-30 ต.ค. และ 17-18 ธ.ค.

นักวิเคราะห์คาดเฟดหั่นคิวอีต้นปีหน้า

นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีปัจจัยหลายประการที่เฟดจำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจว่าจะลดวงเงินคิวอีจากระดับ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อใด โดยเฟดดำเนินคิวอีในปัจจุบันด้วยการเข้าซื้อ

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในอัตรา 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนและเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองในอัตรา 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

"เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดขนาดคิวอีในการประชุมเดือนต.ค. แต่เฟดมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดในเดือนธ.ค. อย่างไรก็ดี เฟดกำลังมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ ที่จะทำเช่นนั้น ตอนนี้เฟดกำลังเลือกระหว่างการปรับลดคิวอีในการประชุมเดือนม.ค. 2557 หรือในเดือนมี.ค. 2557"

นายไมเคิล เฟโรลี นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน กล่าวว่าถ้าเฟดต้องการปรับลดคิวอีอย่างต่อเนื่อง เฟดก็จะไม่มีโอกาสเริ่มต้นทำสิ่งนี้จนกว่าจะถึงเดือนมี.ค. เพราะว่าเดือนมี.ค. จะเป็นโอกาสแรกสำหรับเฟด ในการได้ประเมินสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นับถอยหลัง 6 เดือน ยุติให้บริการ Windows XP

ไม่น่าเชื่อว่า ระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ เอ็กซ์พี (Windows XP) จะเป็นระบบปฏิบัติการที่มีมายาวนานถึง 11 ปีแล้ว และแม้ว่าไมโครซอฟท์จะออกระบบปฏิบัติการใหม่ๆ มา ไม่ว่าจะเป็น วินโดวส์ 7 (Windows7) หรือ วินโดวส์ 8 (Windows 8) มาแล้ว แต่เครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในบ้านเรา ก็ยังใช้ระบบปฏิบัติการเอ็กซ์พีอยู่

ตัวเลขจากสแตทเคาน์เตอร์ ประจำเดือนกันยายน 2556 ระบุว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอ็กซ์พี สูงสุดในแถบเอเชียแปซิฟิก โดยมีอยู่ราว 28 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนคอมพิวเตอร์มากถึง 5.7 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าประชากรทั้งหมดของสิงคโปร์เสียอีก แต่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีผู้บริโภคและธุรกิจในไทยได้อัพเกรดไปเป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ โดยมีการอัพเกรดเป็นวินโดวส์ 7 และวินโดวส์ 8 แล้วราว 57 เปอร์เซ็นต์

ตอนนี้ ทางไมโครซอฟท์เองได้ออกมาแจ้งต่อธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไปในไทยที่ยังใช้ระบบปฏิบัติการเอ็กซ์พีอยู่ว่า ไมโครซอฟท์จะหยุดการสนับสนุนและการให้บริการระบบปฏิบัติการเอ็กซ์พีอย่างเป็นทางการในอีก 6 เดือนข้างหน้า คือวันที่ 8 เมษายน 2557 โดยระบุว่าด้วยความที่อายุของเอ็กซ์พีเก่าแก่ถึง 11 ปีแล้ว ก็จะไม่สามารถรับมือกับการโจมตีที่ซับซ้อนผ่านระบบไซเบอร์ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่การปกป้องข้อมูลส่วนตัวและการเพิ่มประสิทธิผล

เมื่อไมโครซอฟท์หยุดการสนับสนุน เอ็กซ์พี ก็จะหยุดอัพเดตระบบรักษาความปลอดภัย การซ่อมแซมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย หยุดให้บริการด้านเทคนิคทางโทรศัพท์ และจะไม่มีการอัพเดตข้อมูลด้านเทคนิคผ่านระบบออนไลน์สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอ็กซ์พีอีกต่อไป นั่นหมายความว่า ผู้ใช้ก็จะไม่ได้รับอัพเดตต่างๆ ที่สามารถช่วยปกป้องคอมพิวเตอร์จากไวรัสอันตราย สปายแวร์ และซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายอื่นๆ ผลที่ตามมาก็คือ ระบบอาจหยุดทำงาน หรือเกิดปัญหาซอฟต์แวร์ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้

รชฏ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจและการตลาดวินโดวส์ และ เซอร์เฟซ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า "แม้ผู้คนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องหันมาใช้ระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่กว่าอย่าง วินโดวส์ 7 หรือ วินโดวส์ 8 เพื่ออัพเกรดให้ดีไวซ์ของตนทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีผ่านระบบไซเบอร์และปัญหาข้อมูลสูญหายด้วย โดยปกติแล้ว ธุรกิจขนาดเล็กมักใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในการอัพเกรดระบบ ส่วนธุรกิจขนาดกลางต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน เราจึงมีความกังวลว่าบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยอาจตัดสินใจอัพเกรดในเวลากระชั้นชิดใกล้กับวันสิ้นสุดการให้บริการมากจนเกินไป ไมโครซอฟท์มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในไทยให้สามารถอัพเกรดระบบได้อย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

อย่างเช่นโรงพิมพ์ "ฟาสต์บุ๊คส์" ที่ตัดสินใจอัพเกรดจากเอ็กซ์พี เปลี่ยนไปใช้วินโดวส์ 8 โดยคุณเทอดทูล ไชยเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ ฟาสต์บุ๊คส์ บอกว่าฟาสต์บุ๊คส์ ในฐานะโรงพิมพ์ที่รับพิมพ์หนังสือด้วยเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล พบว่า ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอ็กซ์พีนั้น ไม่เอื้อต่อการอัพเกรดโปรแกรมดีไซน์และซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ใช้ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานด้านไอทีได้อย่างเต็มที่ต่อไป จึงได้ตัดสินใจอัพเกรดใช้เป็นวินโดวส์ 8 เพราะสามารถใช้งานง่ายแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ มีระบบการจัดการและรักษาความปลอดภัยที่ดี ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์ในแวดวงได้แนะนำให้ธุรกิจต่างๆเลิกใช้วินโดวส์ เอ็กซ์พี อย่าง นายฮานโดโกะ แอนดี

ผู้จัดการด้านงานวิจัยอุปกรณ์ลูกค้า ของบริษัท ไอดีซีเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า หากต้องการสร้างความมั่นใจว่าคอมพิวเตอร์ของคุณจะยังคงได้รับการบริการสนับสนุนและทำงานได้อย่างปลอดภัยแล้วผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องอัพเกรดไปใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ทันที เพราะวินโดวส์ เอ็กซ์พี เหลือเวลาอีกแค่ 6 เดือนเท่านั้น

ใครที่ยังใช้วินโดวส์ เอ็กซ์พี อยู่ ก็รีบศึกษาหาความรู้และพิจารณาหาทางอัพเกรดให้เรียบร้อย เพื่อการใช้งานที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์

ที่มา : นสพ.มติชน
---------------------------------

รัสเซียส่ง สปุตนิค. แข่งกูเกิล !!?

รัสเซียเตรียมเปิดศึกครั้งใหม่ ผุดโครงการ "สปุตนิค" ชื่อเดียวกับดาวเทียมดวงแรกของโลกพัฒนา "เสิร์ช เอ็นจิ้น" เทียบกูเกิล

สหพันธรัฐรัสเซียเปิดศึกสหรัฐครั้งใหม่เตรียมแผนพัฒนาระบบค้นหาข้อมูล หรือเสิร์ช เอ็นจิ้น แข่งกับสหรัฐ โดยยังใช้ชื่อโครงการเดิมว่า "สปุตนิค (Sputnik)" เหมือนเมื่อครั้งที่สหภาพโซเวียต (ในขณะนั้น) ริเริ่มโครงการพัฒนาดาวเทียมดวงแรกของโลกและสามารถส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จแซงหน้าสหรัฐเมื่อกว่า 50 ปีก่อนซึ่งถือเป็นการทำสงครามกันบนห้วงอวกาศและชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในยุคนั้น แต่สำหรับโครงการสปุตนิคครั้งใหม่จะเป็นการแข่งกันบนสังเวียนที่สหรัฐเป็นผู้นำตลาดอยู่ก่อนแล้ว

รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศเผยว่า โครงการดังกล่าวรับผิดชอบโดย "โรสเทเลคอม (Rostelecom)" บริการระบบสื่อสารที่ควบควบคุมโดยรัฐบาลรัสเซียที่จะเป็นผู้สร้างระบบสืบค้นข้อมูลเพื่อแข่งกับบริการ เช่น กูเกิล รวมถึงระบบเสิร์ช เอ็นจิ้นชื่อดังในท้องถิ่น เช่น แยนเด็กซ์ (Yandex) จากเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตามแม้จะมีรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอยู่เบื้องหลัง แต่ก็อาจยังต้องเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน ซึ่งจากข้อมูลบนเว็บไซต์แยนเด็กซ์ระบุว่าปัจจุบันครองสัดส่วนการใช้งานในรัสเซียถึง 62%

แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็เริ่มมีกระแสข่าวรายงานถึงสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงของบริษัทแยนเด็กซ์ หลังผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทป่วยเป็นมะเร็งซึ่งได้ส่งผลต่อบริษัท โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับแผนในระยะยาวของบริษัท

ทั้งนี้ในขณะที่แยนเด็กซ์ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดเสิร์ช เอ็นจิ้น ส่วนกูเกิลตามมาด้วยสัดส่วนราว 25% ของผู้ใช้เสิร์ช เอ็นจิ้นในรัสเซีย ดังนั้นแผนการเปิดตัว "สปุตนิค" ของโรสเทเลคอมก็อาจเป็นเวลาที่เหมาะสม

ปัจจุบันโรสเทเลคอมลงทุนพัฒนาโครงการดังกล่าวแล้ว 20 ล้านดอลลาร์ และเริ่มเปิดให้ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ผ่านเว็บไซต์ www.Sputnik.ru พร้อมกับคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้อย่างเป็นทางการช่วงไตรมาสแรกของปี 2557

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เตือนไทยรับมือการเงินผันผวน สศค.ชี้เพดานหนี้สหรัฐ จบ !!

สศค.มั่นใจสหรัฐขยายเพดานหนี้สำเร็จ พร้อมเตือนนักลงทุนไทยรับมือความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน เชื่อมือ ธปท.มีไม้เด็ดรับสถานการณ์ได้ ครม.เศรษฐกิจก้นร้อน "ปู" นัดถก คลัง-ธปท.จับตาสถานการณ์ใกล้ชิด
   
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อํานวยการ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค.ถึงกรณีเพดานหนี้สหรัฐว่า ขณะนี้ทั้งตลาดเงินและตลาดทุนต่างมองว่าสหรัฐจะสามารถตกลงเรื่องขยายเพดานหนี้ได้ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ เพราะหากตกลงไม่ได้จะมีผลกระทบอย่างมาก ทั้งต่อสหรัฐเองและตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกค่อนข้างมาก
   
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ ในเรื่องของการพิจารณาลดและยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่จะมีการพิจารณาช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งหลายๆ ฝ่ายประเมินว่าสหรัฐจะยังขยายการใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป เห็นได้จากยังมีเงินทุนมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
   
สำหรับประเทศไทยคงต้องจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนให้ดี แม้ว่าสุดท้ายเพดานหนี้ของสหรัฐจะขยายออกไป และแม้ว่าตลาดระยะสั้นมองว่าการยกเลิกคิวอีทำได้ไม่เร็วอย่างที่สหรัฐกำหนดไว้ ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องยังมีอยู่และไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทไทย
   
นายเอกนิติกล่าวว่า ไทยคงต้องเฝ้าระมัดระวังและติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะตลาดเงิน ตลาดทุนยังมีความผันผวนมาก ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้ สศค. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยติดตามสถานการณ์ของสหรัฐที่จะกระทบไทยอย่างใกล้ชิด
   
อย่างไรก็ตาม สศค.มั่นใจว่ากลไกและเครื่องมือที่ ธปท.มีอยู่ขณะนี้ ยังสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดเงินที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งนายสมชัยสั่งให้ทำแบบจำลองกรณีเลวร้ายสุด หากสหรัฐไม่สามารถตกลงกันได้ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น
   
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้ประเมินถึงผลกระทบจากปัญหาการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งที่ประชุมได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง และ ธปท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อหามาตรการในการรองรับผลกระทบที่จะขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ย. ที่สหรัฐต้องชำระหนี้รอบใหม่สูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในที่ประชุม กระทรวงการคลังและ ธปท.ยืนยันมีมาตรการในการรับมือเรื่องนี้อย่างเต็มที่
   
นายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจกำชับให้  ธปท.ดูแลค่าเงินบาท หลังจากช่วงนี้มีเงินทุนไหลเข้ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่าค่าเงินบาทอาจจะเคลื่อนไหวประมาณ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
   
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้จัดตั้งคณะทำงานย่อย ประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง สศช. และ ธปท. โดยจะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 17 ต.ค. เพื่อติดตามสถานการณ์ของสหรัฐอย่างใกล้ชิด.

ที่มา.ไทยโพสต์
-------------------------------

แนวคิดทฤษฎีด้านประชาคมความมั่นคง AEC

แนวคิดและทฤษฎีด้านประชาคมความมั่นคงเสียที เกรงว่าจะเป็นข้อเขียนเชิงวิชาการมากไป คุยไปคุยมาจะน่าเบื่อแต่ที่นำเสนอแนวคิดต่างๆ มานี้ ก็เพื่อให้เข้าใจเป็นพื้นฐานกันว่า การรวมตัวเป็นอาเซียนและที่จะเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะเสาหลักที่ว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนนั้น มีฐานของความคิดของบรรดานักทฤษฎีรัฐศาสตร์เหล่านี้มาอย่างไร

ประมวลแนวคิดเหล่านี้แล้ว บางทีเราจะเห็นว่าลักษณะ ของอาเซียนนั้นเป็น "กลุ่มอำนาจด้านความมั่นคง" (Security regime) เป็นการอธิบาย การจัดตั้งทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในระหว่างรัฐด้วยกัน ในอันที่จะ "ธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยในสภาพการดำรงสันติภาพในกลุ่มเดียวกันกับรัฐอื่นๆ ของกลุ่ม"

งานด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนบางเรื่องนั้น มีรูปแบบตามแนวคิดนี้ งานเหล่านี้จึงถูกมองว่า บทบาท ของอาเซียน คือการเป็นหน่วยงานในการประสานนโยบาย เป็น องค์ประชุมปรึกษาหารือในการเปิดเสรีทางการค้า เป็นหน่วยงานที่ใช้ข้อมูลข่าวสารร่วมกัน และเป็นเวทีของการรวบรวมพลังแห่งการต่อรองในเรื่องความร่วมมือพัฒนา และการเข้าถึงตลาดในต่างประเทศ หรือสร้างความมั่นคงผลิตสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สมาชิกสามารถส่งสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานออกสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น

จะเห็นว่า กฎระเบียบของภูมิภาคนั้นขยายตัวเติบโตขึ้นจาก การที่ต้องพึ่งพาต่อกันมากขึ้น โดยผ่านการบีบเค้นทางการค้า การ ลงทุน และโดยความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ แต่อาเซียน ก็ยังเป็นพาหะเริ่มแรกที่ทำให้สมาชิกของอาเซียนต่างพากันแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติกันเอง

ภูมิภาคนิยมจึงยังคงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์กันเองให้มากที่สุด โดยที่ไม่มีเรื่องของอธิปไตยมากัดกร่อน หรือมีผลก่อรูปแก่อัตลักษณ์โดยตรงของอาเซียน

กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือว่า เหตุผลสำคัญสำหรับความสำเร็จ หรือล้มเหลว น่าจะดูได้จากกระบวนการหล่อหลอมของสังคม (Socialization process) ที่มีคุณภาพและจากกฎจรรยาบรรณที่กำกับไว้ในอาเซียน

ว่าไปแล้ว แนวทรรศนะนี้เป็นแนวคิดของพวก Construc tionist ซึ่งอนุมานว่า ผลประโยชน์แห่งรัฐ และอัตลักษณ์นั้น มาจากการปฏิบัติของสังคม และไม่ใช่แต่เพียงภาพฉาบฉวยเท่านั้น ความเป็นสถาบันช่วยให้เกิดการจัดตั้งอย่างสำคัญจากภายใน ที่รัฐต่างๆ จะพัฒนาข้อปฏิบัติทางสังคม และทำให้เป็นที่เข้าใจ และ ยอมรับร่วมกัน และขยายให้เป็นที่ยอมรับกับที่แห่งอื่นๆ ต่อไป

อาเซียนไม่ใช่องค์กรที่หลอมออกมาในสภาพวัสดุ เช่น ดุลแห่งอำนาจหรือผลพลอยได้ทางวัตถุ เช่น การคาดหวังต่อผล อันเกิดจากการพึ่งพากันในทางเศรษฐกิจ กรอบงานในปฏิสัมพันธ์ และการหลอมรวมของสังคมในตัวเองนั้น กลายเป็นปัจจัยหลักสำคัญอันมีผลต่อผลประโยชน์ และอัตลักษณ์ของชาติสมาชิก

แนวคิดเรื่องประชาคมความมั่นคง ย่อมเป็นที่เข้าใจกันดีใน ทางสังคมวิทยา ซึ่งช่วยให้เราวิเคราะห์อาเซียนได้ในฐานะของความเป็นสถาบันในระดับภูมิภาค ซึ่งทั้งกำกับกฎเกณฑ์ต่างๆ และนำมาซึ่งผลประโยชน์ และนโยบายของรัฐสมาชิก ในเรื่องของสงครามสันติภาพ และความร่วมมือ

บทบาทของอาเซียนในเรื่องระเบียบของภูมิภาคสามารถศึกษา และประเมินผลได้โดยดูจาก

1.เรื่องอันเป็นกระบวนการของกฎจรรยาบรรณ และกระบวนการหล่อหลอมของสังคม และความริเริ่มในการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา ว่าได้สร้างรูปแบบทัศนคติและพฤติกรรมของรัฐ สมาชิก เกี่ยวกับความขัดแย้ง และกฎระเบียบของภูมิภาค

2.ในเรื่องซึ่งนำไปสู่พัฒนาการความเข้าใจร่วมกัน ความคาดหวังและประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับจรรยาบรรณสันติภาพร่วมกัน

ทั้งหมดนี้คือประมวลแนวคิด ข้อถกเถียง โต้แย้ง และคำวิพากษ์วิจารณ์ต่ออาเซียน ทั้งที่เป็นสมาคมอาเซียน ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา และที่จะพัฒนาสู่การบูรณาการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะกรณีการเป็นประชาคมความมั่นคงของอาเซียนที่อยู่ในกระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ว่าโดยเฉพาะเสาหลักเรื่องประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนที่จัดตั้งขึ้นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหวังว่า จะทำให้ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนมีพัฒนา การมากยิ่งขึ้น โดยเป็นหลักประกันต่อประชาชน และประเทศสมาชิกอาเซียนให้อยู่อย่างสันติระหว่างกันกับโลกภายนอกในบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และการมีความปรองดองต่อกัน

หลักการสำคัญของเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงนั้น ยึดหลักความเป็นประชาธิปไตย นิติธรรม ธรรมาภิบาล ความเคารพ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้กฎบัตรอาเซียน

ในแนวทางดังกล่าวนี้ จะทำให้อาเซียนเป็นตัวเชื่อมต่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการติดต่อ และมีความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ และกลไกร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายอาเซียนในด้านการเมืองและความมั่นคง

การแยกเสาหลักเฉพาะด้านการเมืองและความมั่นคงนี้ ก็เพื่อประโยชน์และส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค มีจุดประสงค์ส่งเสริมความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและมิตรประเทศ

กล่าวโดยรวมแล้ว ในเสาหลักเรื่องการเมืองและความ มั่นคงของประชาคมอาเซียนนี้ เราต้องดูลักษณะมิติสามด้าน คือ มิติที่เกี่ยวกับความขัดแย้งกันเองของรัฐสมาชิกอาเซียน และความขัดแย้งกับรัฐนอกภูมิภาค มิติต่อมา คือ มิติที่เป็นเครื่องมือกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งที่อาเซียนพัฒนาขึ้น รวมถึงกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งจากนอกภูมิภาค เช่นอนุญาโต ตุลาการ ศาลโลก หรือกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ เป็นต้น

มิติสุดท้ายคือแนวคิดยุติความขัดแย้ง ไม่ใช้กำลังต่อ กัน สร้างสันติภาพร่วมกัน จนถึงในที่สุดพัฒนาร่วมกัน เพื่อ เติบโตไปด้วยกันและเพื่อความมั่นคงตามเจตนารมณ์ของการเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคงร่วมกัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

ลาว.เสือเศรษฐกิจตัวใหม่ใน AEC

ย้อนหลังไปไม่เกิน 20 ปี นักลงทุนไทยหลายคนไปพลาด ท่าเสียทีในลาว ทำให้ภาพพจน์การลงทุนลาวของคนไทยไม่ดีเท่าที่ควร

แต่มาถึงวันนี้สถานการณ์ เปลี่ยนไป ลาวกำลังก้าวเข้าสู่การลงทุนยุคใหม่ เป็นยุคที่มีสถาบันการเงินจำนวนมากรองรับและมีสิทธิพิเศษทางการ ค้ามากมายเป็นตัวกระตุ้น

ผมสรุปแบบนี้โดยยึดเอาข้อมูลที่ได้จากการบอกเล่าของ ดร.อ๊อด พงสะหวัน ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่ม บริษัท พงสะหวัน กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ เป็นเจ้าของกิจการธนาคาร พาณิชย์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งสายการบินพงสะหวันที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นลาวเซ็นทรัลแอร์ไลนส์สายการบินต้นทุนต่ำรายแรกของลาว นอกจากนี้ พงสะหวันกรุ๊ปยังมีธุรกิจค้าไม้และก่อสร้างในมือด้วย

ดร.อ๊อด บอกว่า ทุกวันนี้ลาวมีสถาบันการ เงินอยู่ 28 แห่งและจะเพิ่มเป็น 50 แห่งภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสรุปได้ว่า ขณะนี้ลาวมีแหล่งเงินที่จะให้การสนับสนุนการลงทุนอย่างเหลือเฟือเมื่อประกอบเข้ากับศักยภาพพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายและสิทธิพิเศษทางการค้าในฐานะของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ลาวกลายเป็นแม่เหล็กก้อนใหญ่ที่จะดึง ดูดนักลงทุนมากขึ้น

ส่วนภาพฝังใจในอดีตของนักลงทุนไทยนั้น ดร.อ๊อดบอกว่า ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของคนไทยที่ไม่เข้าใจคนลาว มองการลงทุนในลาวว่าจะต้องอิงกับกลุ่มผู้มีอิทธิพล หลายรายเข้าไปลงทุนในฐานะของคนร่ำรวย คิดว่าผู้มีอิทธิพลจะสามารถให้การสนับสนุนในเรื่องการทำธุรกิจได้ เมื่อทำไม่ได้เงินลงทุนก็สูญทวงคืนไม่ได้

สำหรับเคล็ดลับการลงทุนในลาวนั้น ดร. อ๊อดแนะนำว่า หากคิดจะลงทุนในประเทศไหน เราต้องทำความเข้าใจกับคนในประเทศนั้นก่อนแล้วก็อย่าไปเจรจาธุรกิจกับผู้มีอิทธิพลควรเจรจา กับนักธุรกิจโดยตรง ที่สำคัญต้องอย่าอวดร่ำอวดรวยจนถูกหลอก

ช่วงหนึ่งของการพูดคุย ดร.อ๊อด เล่าให้ฟังถึงการแข่งขันของสถาบันการเงินในลาวว่า ก่อนหน้านี้ใครๆ ก็มองว่าประเทศลาวจน คนลาวคงไม่มีเงิน แต่ท่านสามารถระดมเงินฝากเข้าแบงก์ตอนก่อตั้งได้ 1,000 ล้านดอลลาร์ ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า คนลาวที่มีฐานะดีและมีเงินยัง มีอยู่มาก เพียงแต่เงินฝากของคนลาวจะอยู่กับแบงก์ไทยตามจังหวัดชายแดน

ท่านเล่าว่า ตอนที่ท่านระดมเงินฝากนั้น แบงก์พาณิชย์ ไทยระดับแนวหน้าแถวชายแดน ถึงกับกระเทือนเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในลาวจึงไม่ใช่เรื่องระดมเงินฝาก หากแต่อยู่ในฟากของการปล่อยสินเชื่อ

และนี่คือเคล็ดลับ ที่ดร.อ๊อดไม่ได้บอก แต่ผมจับประเด็นมาฝากเพื่อให้นักลงทุนไทยได้รู้ว่า สถานการณ์ทางด้านสินเชื่อในลาวขณะนี้ เอื้อ ต่อการที่จะไปลงทุนเพราะแต่ละแบงก์ในลาวต่าง ก็ต้องแบกรับภาระการหารายได้เพื่อมาจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงิน

ตอนหนึ่งของการพูดคุยผมได้เรียนถาม ดร.อ๊อดว่า การเป็นประเทศที่ไม่มีชายฝั่งทะเลจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนหรือไม่ ดร.อ๊อดตอบ อย่างมั่นใจว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะลาวมีทาง ออกทะเลอยู่แล้ว 2 ด้านคือ ไทยและเวียดนาม อีกไม่นานเมื่อท่าเรือทวายในพม่าเสร็จ ลาวก็จะมีทางออกทะเลสู่มหาสมุทรอินเดีย

ที่สำคัญ เมื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โอกาสที่ลาวจะกลายเป็นศูนย์กลาง ทั้งธุรกิจการเงินและการลงทุนก็จะยิ่งสูงขึ้น

ยิ่งฟังท่านคาดคะเนผมยิ่งมองว่า ในอนาคต อันไม่ไกลนัก ลาวจะก้าวขึ้นทัดเทียมกับทุกชาติในอาเซียนได้ไม่ยาก

ผมมองอย่างนี้เพราะผมเห็นว่าลาวเหมือน กับผืนแผ่นดินใหม่ที่ยังไม่มีใครบุกเบิก เมื่อถึงครา ต้องบุกเบิกถากถางลงทุน ทุกอย่างจะก้าวล้ำนำสมัย แถมเป็นการลงทุนโดยเงินของคนอื่นด้วย

เมื่อถึงเวลานั้น พี่ใหญ่ทั้งหลายก็จะกลายเป็นคนอุ้ยอ้ายปล่อยให้น้องน้อยอย่างลาว แซงหน้า แซงเหมือนกับที่ทุกวันนี้การสื่อสาร ของลาวก้าวข้ามไปถึง 4จี ในขณะที่ไทยยังทน ใช้ 3จี บกพร่องนี่แหละ

ที่มา.สยามธุรกิจ
--------------------------------------