--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎีด้านประชาคม ความมั่นคง !!?

จะเห็นได้ว่า อาเซียนก็พยายามปฏิรูปตัวเอง เมื่ออาเซียนล่วงมาจนมีอายุกว่า 40 ปีของการก่อตั้ง อาเซียนก็ดำเนินการริเริ่มเรื่องที่เป็นวิสัยทัศน์ ในหลายเรื่องด้วยกัน รวมถึงเรื่องของการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วยสามเสาหลักสำคัญในปี ค.ศ.2020 ซึ่งต่อมาปรับเปลี่ยนเวลาของการเป็นประชาคมอาเซียนมาเริ่มต้นในปี ค.ศ.2015

สามเสาหลักของอาเซียนที่ว่านี้ คือ เสาหลักเรื่องประ-ชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาคมอาเซียน ด้านเศรษฐกิจ และประชาคมอาเซียนด้านวัฒนธรรม

ว่าโดยประชาคมความมั่นคงของอาเซียนนั้น เกิดจากแรงบันดาลใจของนักวิชาการที่คิดแนวทางของด๊อยซ์ (Deut chian) นี่เอง ส่วนกฎบัตรอาเซียนนั้น (ASEAN Charter) จัด ว่าเป็นธรรมนูญสำหรับอาเซียน ที่จะทำให้การรวมตัวเป็นประ-ชาคมอาเซียน มีลักษณะที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางนิติบัญญัติ ซึ่งอาเซียนยอมรับนำมาเป็นกฎบัตรของอาเซียนในปี ค.ศ.2007

เพราะฉะนั้นหากมองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมุมกว้าง อาเซียนก็ใช้แต่ความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะดึงเอาจีนเข้ามารวมกลุ่มด้วยเพียงเท่านั้น แต่ยังพยายามดึงเอาอินเดียเข้ามาด้วยเช่นกัน

ซึ่งหากมองในมุมนี้ ก็จะเห็นว่าอาเซียนในตัวเองนั้น ก็ช่วยพัฒนากระบวนการใหม่ของภูมิภาคนิยมเอเชียตะวันออกขึ้นมาด้วย

การปรับเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ กับการพูดถึงอาเซียนในช่วงสิบปีเศษของการจัดตั้งอาเซียนขึ้นมานั้น ถือให้เกิดคำถามหลายคำถามตามมา เช่น

- อาเซียนจะก่อตั้งอยู่ได้อย่างไรต่อไป จากที่เริ่มต้นกันมาอย่างหลวมๆ เบาะแว้ง แก่งแย่งกันเองตลอดมา

- จะอธิบายอย่างไรกับบทบาทของอาเซียน ในการจัดระเบียบของภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

- อะไรคือสิ่งที่จะอธิบายความตกต่ำของอาเซียน ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษที่ 1980 กับ 1990

- วิถีอาเซียน (ASEAN WAY) ในอดีต ที่เคยสร้างความ น่าเชื่อถือให้กับอาเซียนนั้น เป็นสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้น (Myth) หรือความเป็นจริง (Reality)

- ความริเริ่มใหม่ๆ ของอาเซียนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เช่น เรื่อง การสร้างประชาคมอาเซียน และเรื่องกฎบัตรอาเซียนนั้น มีความ หมายถึงการพลิกฟื้นอาเซียนขึ้นมาใหม่อีกครั้งหรือเปล่า

คำตอบต่อคำถามข้างต้นนี้ ในหมู่นักวิชาการด้วยกันแล้ว มีเรื่องต้องถกเถียงกันอีกมากทีเดียว นักทฤษฎีในฝ่ายที่มองความเป็นจริง จะนำเอาสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงในภูมิทัศน์ทางการ เมืองของอาเซียน มาใช้อธิบายอาเซียนในความหมายที่จะตั้งคำถามถึงสมรรถนะของอาเซียน ต่อการกำหนดรูปแบบระเบียบของภูมิภาค

นักวิชาการในกลุ่มนี้ มองบทบาทและการดำรงอยู่ของอาเซียนนั้นว่า ขึ้นอยู่กับการกำหนดรูปแบบโดยระบบดุลอำนาจของภูมิภาค ที่กำหนดโดยกองทัพของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค

หัวใจสำคัญอันเป็นแบบฉบับในสมมติฐานของกลุ่มนักวิชาการฝ่ายความเป็นจริงก็คือว่า บรรดารัฐเล็กรัฐน้อย และรัฐอ่อนแอทั้งหลายในระบบระหว่างประเทศนั้นล้วนขาดสมรรถนะต่อ การแสดงบทบาทในการจัดการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระเบียบ ต่างๆ ของนานาชาติ เพราะฉะนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับการพึ่งพาในทรัพยากรและความเป็นผู้นำของชาติมหาอำนาจ

นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกกลุ่มที่ยึดแนวคิดเรื่อง ความเป็นสถาบันคือกลุ่ม Institutions เป็นกลุ่มที่มองในแง่ของความเป็นอาเซียนแตกต่างกันออกไป โดยมองว่า อาเซียนมีสมรรถนะในการจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระหว่างอาเซียน ด้วยกันเองได้ และยังสร้างมูลฐานระเบียบของภูมิภาคอย่างเข้มแข็งขึ้นมาได้

มองในแง่ทฤษฎีแล้ว จะเห็นว่าแนวทรรศนะของกลุ่มนี้ ยกย่องแนวคิดอื่นๆ กว้างขวางทีเดียว คือรวมเอานักทฤษฎีในกลุ่ม Liberal Institutionalizm ซึ่งก็รวมกลุ่ม Neo Liberal Institutions รวมถึงทฤษฎีผู้ทรงอำนาจปกครอง Regione theory

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วแนวทรรศนะของกลุ่ม Libe ral Institutions ก็ดูจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับการอธิบายถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องทางการเมือง และเรื่องความมั่นคง

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า ทฤษฎีความร่วมมือของพวกเสรี นิยม ใหม่ ยังอนุมานเอาสภาพภูมิหลังเข้ามาไว้ในแนวคิดของตน เช่น คุณค่าร่วมในความเป็นเสรีประชาธิปไตย สภาพแวดล้อม ภายในประเทศ และการพึ่งพาร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง เพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จในความเป็นภูมิภาคนิยม

แนวทรรศนะของพวกเสรีนิยมใหม่ รวมถึงนักทฤษฎีผู้ทรงอำนาจปกครองไม่ได้รับการยอมรับความเชื่อในรูปแบบของพวกนักทฤษฎีในแนวบูรณาการ (Integration model) เกี่ยวกับอธิปไตยของสถาบัน

ในกรณีของอาเซียนนั้น บางเจ้าทฤษฎี มองการโผล่ขึ้น มาของอาเซียนว่าเป็นกลุ่มอำนาจด้านความมั่นคง และ เศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งปล่อยให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐ คง ไว้ซึ่งอธิปไตยและแสวงหาผลประโยชน์ของชาติของแต่ ละประเทศและของแต่ละรัฐไปกันเอง

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------

อดีตข้าราชการ-ทนายความ แห่สมัครรับสรรหาเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเปิดรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1-10 ต.ค. ล่าสุดหลังการปิดรับสมัคร เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ที่เข้าสมัคร รวม 17 คน ได้แก่ 1.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 9, 2.นายวิสูตร สีหนนท์ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), 3.พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม, 4.นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม อดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที), 5.นายสุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 6.พล.ต.ต.สังวรณ์ ภูไพจิตรกุล ผู้บังคับการสถาบันฝึกอบรมและวิจัยการพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, 7.นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, 8.นายสามารถ จิตมหาวงศ์ ข้าราชการบำนาญ, 9.พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา กกต.ประจำกทม.,

10.นายอนุชา วงษ์บัณฑิตย์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์ในคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กพค.), 11.นายอรรครัตน์ รัตนจันทร์ ทนายความ, 12.พล.อ.สถาพร เกียรติภิญโญ ข้าราชการบำนาญ, 13.น.ส.อุดมลักษณ์ แสงธิวงศ์ อดีตหัวหน้าหน่วยโรคผิวหนังโรงพยาบาลราชบุรี, 14.นายสาธิต อนันตสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญ, 15.นายวรรณยุทธ ไวยวุฒิ วิทยากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 16.นายพิพัฒน์ วงศาโรจน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ 17.นายวรชาติ เพชรนันทวงศ์ กรรมการสรรหากำหนด่าตอบแทนอาคารสงเคราะห์

ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการสรรหา ที่มี นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา จะนัดประชุมเพื่อลงมติเลือกให้เหลือ 1 คนในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอชื่อให้นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อเรียกประชุมวุฒิสภาให้ลงมติเห็นชอบต่อไป

ที่มา.เนชั่น
--------------------------

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ฟ้อง ประกันโลก เบี้ยวเงินน้ำท่วม บริษัทไทยทำเคลมไร้มาตรฐาน !!??

ส.วินาศภัย/บ.ประกัน : ประกันเปิดศึกฟ้องค่ายประกันต่อระดับ โลก "ซีซีอาร์" ของรัฐบาลฝรั่ง เศสเบี้ยวสินไหมน้ำท่วมส่วนที่เหลือ อ้างเหตุประกันไทยจัด การเคลมด้อยมาตรฐาน ด้าน ส.วินาศภัยลั่นยอมไม่ได้ขอสู้ ยันชั้นศาล ชี้หากยอมระบบประกันพังทั้งโลก เผยเตรียมขอตั้งอนุญาโตฯ ยันศาลฝรั่งเศสต้องยึดตามคำตัดสินในไทย

ขณะที่ประกันหลายค่ายเตรียมฟ้องรักษาสิทธิ์ "สามัคคีฯ" จ่อฟ้อง "เบสท์รี" ข้อหาลดหนี้ ขณะที่วิกฤติน้ำท่วมระลอก ใหม่กำลังสร้างความหวาดผวาให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ธุรกิจประกันภัยกำลังเจอฝันร้ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เนื่องจากต้องแบกรับค่าสินไหมวงเงินสูงกว่า 4.3 แสนล้านบาท แล้วล่าสุดยังประสบปัญหาผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ต่างประเทศทยอยเบี้ยว สินไหมที่ต้องจ่ายตามสัญญา เริ่ม ตั้งแต่บริษัทเบสท์รี ที่ขอจ่ายสินไหมครึ่งเดียว บริษัทเอเชียน รี ที่มีปัญหาเพิ่มทุนไม่ได้ และรายล่าสุดบริษัท ซีซีอาร์ ค่ายประกันภัยต่อของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีส่วนแบ่งในตลาดประกันต่อภัยน้ำท่วมในไทยมากที่สุดเตรียมชักดาบเช่นกัน

นายอานนท์ วังวสุ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย ถึงกรณีบริษัท ซีซีอาร์ มีหนังสือถึงบริษัทประกันภัยทุกแห่งที่มีสัญญา ด้วยจะขอจ่ายค่าเสียหายน้ำท่วมปี 2554 ส่วนที่ยังค้างจ่ายอยู่แค่บางส่วน ไม่ชำระเต็ม 100% เหมือนปกติเป็นว่า การกระทำที่ไม่ถูก ต้องและสร้างความเดือดร้อนให้กับสมาชิก ทั้งนี้สมาคมฯ เตรียมที่จะทำหนังสือโต้แย้งไปยังซีซีอาร์ว่าบริษัทประกันภัยทำเคลมน้ำท่วมถูกต้อง โดยใช้ผู้สำรวจภัย (แอดจัสเตอร์) และผู้เชี่ยวชาญระดับสากลมาประเมิน ความเสียหายทรัพย์สินที่เอาประกันจึงไม่มีเหตุผลที่ซีซีอาร์จะมาตัดทอนค่าเสียหายส่วนที่ค้างจ่ายอยู่ โดยจะทำหนังสือไปยังซีซีอาร์ภายในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ สมาคมฯเตรียมยื่นเรื่องขอตั้งอนุญาโตตุลาการในไทยเป็นผู้ชี้ขาดซึ่งตามสัญญากรมธรรม์สามารถทำได้โดยต้องเร่งทำก่อนสัญญากรมธรรม์จะหมดอายุความ 2 ปีภายในเดือนตุลาคมนี้เพราะหากขาดอายุความไม่สามารถเรียกร้องได้ โดยสามารถ นำคำตัดสินไปยื่นต่อศาลฝรั่งเศสซึ่งอยู่ภายใต้สนธิสัญญาประเทศภาคีที่มีสมาชิกกว่า 100 ประเทศ รวมไทยและฝรั่งเศสกำหนดให้ศาลแต่ละประเทศยอมรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศสมาชิก

"น้ำท่วมตอนนั้นสร้างความเสียหายให้กับผู้เอาประกันและบริษัทประกันที่ต้องจ่าย ค่าสินไหมตามสัญญาในกรมธรรม์เป็นเงินเยอะ ซีซีอาร์เป็นบริษัทแข็งแรงไม่ใช่มีปัญหา เหมือนเบสท์รีหรือเอเชียนรี แม้เขาจะถอนตัวออกจากตลาดไทยไปแล้วแต่ในวันข้างหน้า อาจจะกลับมาอีกก็ได้ เราจะไม่ยอมต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อความถูกต้องยังไม่ได้คุยกับคปภ." นายอานนท์กล่าว

นายกสมาคมประกันวินาศภัยฯกล่าวด้วยว่า แม้การฟ้องร้องอาจใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะมีคำตัดสินแต่ต้องทำเพื่อปกป้องสิทธิ์ของบริษัทประกันภัย ซึ่งหากไม่ดำเนินการใดๆ ก็อาจกระทบกับระบบประกันภัยพังทั้งโลก และเมื่อทำหนังสือไปแล้ซีซีอาร์ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กลับมา สมาคมฯอาจจะใช้มาตร-การรุนแรงอื่นๆ เพิ่ม เช่น ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส, หอการค้า 2 ประเทศ, ตลาดประกันทั่วโลก เป็นต้น

สำหรับกรุงเทพประกันภัย นายอานนท์ บริษัทได้ทำหนังสือถึงซีซีอาร์จะตั้งอนุญาโตตุลาการมาเป็นผู้ตัดสินใจเช่นกัน โดยยอดสินไหมที่ซีซีอาร์ค้างจ่ายบริษัทอยู่เป็นหลัก 100 ล้าน

นายสุจินต์ หวั่งหลี ประธานกรรมการ บมจ.นวกิจประกันภัย เปิดเผยว่า บริษัทจะดำเนินการรักษาสิทธิ์ของบริษัทให้ถึงที่สุด เพราะการที่ซีซีอาร์ซึ่งเป็นบริษัทประกันต่อของรัฐบาลฝรั่งเศสมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากมาขอตัดหนี้โดยอ้างว่าบริษัทจัดการสินไหมทดแทนน้ำท่วมไม่ถูกต้องตามมาตร-ฐานเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งที่การจัดการเคลมน้ำท่วม บริษัทได้จ้างบริษัทสำรวจภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาทำเซอร์เวย์รีพอร์ตให้ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาท

"เรายึดถือความถูกต้อง รักษาสิทธิ์ของเราที่มี เราจ่ายผู้เอาประกันทุกเคสอย่าง เป็นธรรมไม่เคยอ้างกับลูกค้ายังไม่ได้เงินจากรีอินชัวเรอส์ ค่าเสียหาย 3.4 หมื่นล้านบาทเราจ่ายไปเกิน 95% แล้วเอาเงินของเรา จ่ายไปก่อนทั้งนั้น อยู่ๆ มาขอตัดหนี้ ยอดสินไหมน้ำท่วมไทยของซีซีอาร์น่าจะประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเขาจ่ายมาเยอะแล้ว ของเราเหลือหลายร้อยล้าน อย่างเอเชียนรีแนว ทางที่เขาจะแปลงหนี้เป็นหุ้นเราสนใจถ้าจะช่วยเขาแก้ไขฐานะการเงินได้"

นายปิติพงศ์ พิศาลบุตร กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.นวกิจกล่าวเสริมว่า บริษัทรู้ตั้งแต่แรกความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่มากจึงใช้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับระดับโลกถึง 4 บริษัทมาประเมิน และตรวจสอบความเสียหายให้

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ซีซีอาร์จะยึดยอดหนี้แค่ถึงสิ้นมิ.ย. 2556 ส่วนยอดหนี้หลังจากนั้นขอแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่มเพื่อจ่ายตามสัดส่วนคือ กลุ่ม A จ่าย 90% ของมูลหนี้ กลุ่ม B จ่าย 80% กลุ่ม C จ่ายแค่ 70% ส่วนรายอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 กลุ่ม จะจ่ายในสัดส่วน 90% ของมูลหนี้ โดยลูกค้า A เช่น บ.คาร์เปทอินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เป็น ต้น กลุ่ม B เช่น บ.ไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจอริ่ง เป็นต้น กลุ่ม C เช่น บ. ฮอนด้า ออโตโมบิล บริษัท สยามคูโบต้า เป็นต้น

"เมื่อเขาระบุแบบนี้ บริษัทประกันที่ได้ รับผลกระทบคือบริษัทที่ตั้งสำรองสินไหมทั้งประกันทรัพย์สินและประกันธุรกิจหยุดชะงัก (BI) ก่อนมิ.ย.ไว้น้อยหรือยังไม่ได้ตั้งสำรองไว้เลยก็จะมีปัญหา รวมถึงบริษัทประกันภัยที่มี ลูกค้าตามรายชื่อ" แหล่งข่าวระบุ

นายจิรวุฒิ บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย กล่าวว่า กรณีซีซีอาร์ บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการชดใช้สินไหมเกือบครบ โดยมีความเสียหายที่ต้องเรียกร้องกับซีซีอาร์ทั้งหมด 400 ล้านบาท และบริษัทได้ตั้งสำรองสินไหมทั้งหมดตั้งแต่สิ้นปีที่ผ่านมาแล้วจึงไม่มีปัญหา ส่วนกรณีของ บ.เบสท์ รี มียอดค้างอยู่ 330 ล้านบาท บริษัทตัดสินใจจะฟ้องร้อง และในไตรมาส 3 ปีนี้จะตั้งสำรอง 100% แต่ยืนยันไม่มีผลกระทบ ต่อกำไรขาดทุนของบริษัท

ที่มา.สยามธุรกิจ
------------------------------

สำรวจความความพร้อมของไทย ในการเข้าสู่ AEC

 โดย สกุณา ประยูรศุข

ระยะเวลาของการประกาศรวมตัวกันเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ของประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า เหลือเวลาอยู่แค่สองปี ซึ่งต้องนับว่าไม่ได้มากมายอะไรนัก หากเปรียบเทียบกับการดำเนินการที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่

ไม่ว่าในส่วนของหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความรู้สึกให้เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยส่วนใหญ่กล่าวได้ว่า ความรู้สึกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนไม่ถึง 50% ดี ซึ่งเป็นการคาดคะเนที่ใกล้เคียงกับผลการศึกษาของหน่วยงานภาครัฐเอง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนไทยออกมา ระบุว่าปัจจุบัน ประชาชนโดยทั่วไปของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งรวมถึงคนไทยด้วย ยังไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเป็น "พลเมืองอาเซียน" จากรายงานผลการสำรวจข้อคิดเห็นทัศนคติเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องอาเซียน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็น "พลเมืองอาเซียน" ไม่ถึงร้อยละ 65 ฉะนั้น สองปีที่เหลืออยู่ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเหยียบคันเร่งเต็มที่อีกเรื่อง


เพราะอย่าลืมว่า ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งอาเซียน รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของประเทศ เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ที่เน้นการปฏิบัติและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาค ตามที่ปรากฏใน ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2552-2558 ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันร่วมกับสมาชิกอาเซียน ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการรวมตัวของอาเซียน และกระบวนการเป็นประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ ในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเมื่อปี 2522 รัฐบาลไทย
ได้ผลักดันให้เกิดการบรรลุเป้าหมายกฎบัตรอาเซียน (Realizing the ASEAN Charter) การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Revitalizing a People-Centred ASEAN Community) และการเน้นย้ำความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค (Reinforcing Human Security For All) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินการอยู่เวลานี้ แม้จะมีแผนการดำเนินงานออกมาเป็นระยะ ๆ พร้อมกับการเสนอข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนและจริงจัง และมีประสิทธิภาพ ไม่นับรวมเรื่องที่ทางฝั่งเอกชนดำเนินการในหน่วยงานของตัวเอง เช่น การปรับเปลี่ยนเสริมสร้างบุคลากรในหน่วยงานให้สอดรับกับการเป็น AEC
ดังนั้น หากนับเวลาสองปีที่เหลือแล้ว น่าหนักใจ !!

สิ่งที่เห็นเป็นความคืบหน้าของไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ล่าสุด เห็นจะเป็นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือโอกาสใช้เวลาการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมนัดพิเศษแถลงนโยบายรัฐบาล 1 ปี ต่อรัฐสภา เพื่อรายงานผลดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐครบรอบ 1 ปี (23 สิงหาคม 2554-23 สิงหาคม 2555) ของการบริหารราชการรัฐบาลยิ่งลักษณ์

นายกฯยิ่งลักษณ์กล่าวแถลงหัวข้อเกี่ยวกับ AEC ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็น ประชาคมอาเซียนที่สมบรูณ์ในปี 2558 โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง ให้ความสำคัญของสามเสาหลักเท่าเทียมกัน เพื่อประกอบกันเป็นประชาคมอาเซียนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมี คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ เป็นกลไกระดับประเทศ ในการประสานการดำเนินงาน และติดตามความคืบหน้าในภาพรวมทุกเสา และได้มีการจัดทำแผนงานแห่งชาติสำหรับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ขยายความเพิ่มเติมถึงแผนที่ดำเนินการไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานที่รับผิดชอบประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรง (ASEAN Unit) ในแต่ละหน่วยงาน การพัฒนาศักยภาพข้าราชการ ทั้งด้านการทำงานในเวทีระหว่างประเทศ และทักษะภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ กำลังเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กรอบอาเซียน

2.การเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน โดยการสร้างความตระหนักรู้ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ผ่านกิจกรรมอาเซียนสัญจร กิจกรรมวันอาเซียน โครงการสัมมนาครูต้นแบบสู่ประชาคมอาเซียน ค่ายยุวทูตอาเซียน การจัดทำสื่อเผยแพร่ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ ฯลฯ รวมทั้งการจัดสัมมนาและการส่งวิทยากรบรรยาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้วปีละกว่า 200 ครั้ง

3.การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน มีผู้แทนภาคเอกชนในคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถใช้โอกาสจากการเปิดตลาดเสรีอาเซียนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งความสำคัญกับการจัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อลดทอนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมนับเป็นความคืบหน้าที่ยังมีผลสำรวจความรู้สึกต่อการเป็นประชาคมอาเซียนของคนไทยไม่ถึงร้อยละ 65

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------

วิพากษ์ : นโยบายการเงินการคลังของ สหรัฐ !!??

 โดย วีรพงษ์ รามางกูร

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ และมีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดในโลก แต่นโยบายการเงินการคลังของอเมริกากลับเป็นนโยบายที่ล้มเหลวมากที่สุดในโลก

สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลมากที่สุดในโลกในเรื่องการกำหนดรูปแบบ กฎระเบียบ กติกา จริยธรรม ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส หลักธรรมาภิบาลให้รัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงินการคลังให้ชาวโลกปฏิบัติ เพราะสหรัฐมีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดนโยบายของธนาคารโลก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ หรือธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนของโลก ประเทศใดหรือบริษัทใหญ่ ๆ จะระดมทุนก็ต้องทำผ่านบริษัทเงินทุนของสหรัฐเท่านั้น สหรัฐจึงเป็นประเทศที่ผูกขาดตลาดทุนของโลก

เมื่อระบบเศรษฐกิจการเงินของโลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด ประเทศต่าง ๆ จึงต้องปฏิบัติตามกฎกติการะเบียบแบบแผนที่องค์กรต่าง ๆ เหล่านี้กำหนด มิฉะนั้นก็จะถูกลงโทษ

ตัวอย่างเช่น เมื่อประเทศของเราเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือประเทศหลายประเทศในยุโรปเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน ต้องเข้าโครงการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ ก็ต้องปฏิบัติตาม

กฎเกณฑ์ที่ไอเอ็มเอฟและธนาคารเพื่อชำระเงินระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า กฎบาเซิล 1-2-3 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ คอยบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตาม มิฉะนั้นสหรัฐก็จะคอยเล่นงาน มีประเทศจีนเท่านั้นที่กล้าขัดขืน เมื่อสหรัฐและไอเอ็มเอฟพยายามกดดันให้จีนขึ้นค่าเงินหยวน หรือเปลี่ยนจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการตรึงค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว พอจีนหอบเงินดอลลาร์ไปซื้อเครื่องบินโดยสารจากสหรัฐ 250 ลำ สหรัฐก็เลยเงียบ ไม่กล้าลงโทษอะไรกับประเทศจีน เพราะจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

แต่การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของสหรัฐ กลับไม่เป็นไปอย่างที่ตนสอนและบังคับให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาการขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กฎต่าง ๆ ที่ตนบัญญัติขึ้นตนก็ละเมิดหมด

สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายการขาดดุลการคลัง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด อาศัยว่าดุลบัญชีเงินทุนยังเกินดุลอยู่ เพราะโลกยังหาเงินสกุลอื่นมาแทนเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ ธนาคารกลางและบริษัทใหญ่ ๆ ยังใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองอยู่ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร ตลาดสินค้าและตลาดการเงินของโลกยังต้องใช้เงินดอลลาร์อยู่ ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ยังพอไปได้ ถ้าเป็นเงินสกุลอื่นป่านนี้ก็คงจะกลายเป็นเศษกระดาษไปนานแล้ว

เมื่อยอดหนี้สาธารณะของอเมริกาพุ่งสูงขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ รัฐสภาอเมริกาก็มีปฏิกิริยา ออกกฎหมายกำหนดเพดานยอดหนี้สาธารณะ หรือนัยหนึ่งควบคุมการกู้ยืมเงินของรัฐบาลจากประชาชน พยายามให้ขึ้นภาษี ลดการใช้จ่ายภาครัฐบาล รัฐบาลต้องลดจำนวนข้าราชการ ลูกจ้าง รวมทั้งปิดหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล และเจรจากับรัฐสภาไม่ให้ลดการกู้ยืมลงเร็วเกินไป จนจะเกิดสถานการณ์ทีเรียกว่า "หน้าผาการคลัง" หรือ "Fiscal Cliff" กล่าวคือ รัฐบาลล้มละลายทางการเงิน ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้าง ไม่มีเงินชำระคืนเงินกู้ หรือไถ่ถอนพันธบัตรของตนจากผู้ถือ ธนาคารกลางของเราเองก็ถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันไว้เป็นจำนวนมากเหมือนกัน

เมื่อเข้าตาจนอย่างนี้ ธนาคารกลางของสหรัฐก็ออกมาตรการทางการเงินที่เรียกโก้ ๆ ว่า คิวอี หรือ Quantitative Easing 1-2-3 ที่จริงก็คือ Open Market Operation นั่นเอง โดยอัดฉีดเงินจากธนาคารกลางมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด ก็เลยซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ของเอกชนที่มีหลักทรัพย์ เช่น ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันด้วย เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยพยุงฐานะของรัฐบาลและบริษัทเอกชนให้เป็นหนี้ธนาคารกลางแทน เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนก็คงจะอะลุ้มอล่วยให้ต่ออายุการไถ่ถอนออกไปได้อีก หรือถ้าไม่มีเงินชำระดอกเบี้ยก็คงจะยอมให้ยืดอายุต่อไปได้อีก เจ้าหนี้รัฐบาลอเมริกันทั้งในและนอกประเทศก็จะได้สบายใจขึ้นได้บ้าง

แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นเหตุให้ดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มขึ้น แม้ดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดลงบ้าง แต่ก็คงจะลดลงไม่ได้มาก เพราะดอกเบี้ยก็ต่ำสุดอยู่แล้ว จากผลของดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 0.01-0.25 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว มาตรการคิวอีจึงเป็นเพียงยาหม่องหรือพาราเซตเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหา อัตราการว่างงานก็ยังสูงอยู่ต่อไป ประสิทธิภาพของแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจยังทำงานในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่มีการจ้างงานอย่างเต็มที่ หรือในระดับที่เครื่องจักรทำงานอย่างเต็มที่ การเพิ่มประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐออกมาให้สัญญาณว่าถึงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องลดจำนวนเงินอัดฉีดเข้าตลาดตามมาตรการคิวอีแล้ว สัญญาณดังกล่าวเป็นการ "ช็อก" ตลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว พอมาถึงปลายเดือนกันยายนกรมการนโยบายการเงินกลับมีมติให้คงปริมาณเงินที่จะอัดฉีดเข้าตลาดไว้ตามเดิม เป็นการ "ช็อก" ตลาดครั้งที่ 2 ครั้งนี้ความเชื่อมั่นและเกียรติภูมิของ ดร.เบน เบอร์นันเก้ รวมทั้งธนาคารกลางของสหรัฐเสียหายอย่างหนัก

ปัญหายังมีต่อไปว่า แล้วธนาคารกลางจะทำอย่างไรต่อไป จะหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัว ก็ยังไม่เห็นวี่แวว อัตราการว่างงานก็ยังไม่ลดลง ธนาคารกลางสหรัฐจะพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าไปในตลาดเรื่อย ๆ ซึ่งผิดวินัยทางการเงินอย่างยิ่ง คงทำไม่ได้ วันหนึ่งก็ต้องค่อยลดลงและหยุดทำในที่สุด เพราะถ้าธนาคารกลางสหรัฐยังขืนทำไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งถ้าปริมาณเงินดอลลาร์ล้นตลาดโลก กล่าวคือ มีค่ากว่าความต้องการถือเงินดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์รวมทั้งค่าเงินยูโร ค่าเงินปอนด์ ค่าเงินเยน เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าและบริการที่ตนผลิตหรือทั่วโลกผลิตได้ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ จะเกิดภาวะเงินเฟ้อเพราะปริมาณเงินอย่างรวดเร็ว โดยที่เศรษฐกิจก็ยังซบเซา การว่างงานทั้งในอเมริกาและยุโรปก็ยังสูง

ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลกไปทั่ว ประเทศต่าง ๆ ที่มีทุนสำรองเป็นเงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินปอนด์ ก็ควรคิดอ่านเปลี่ยนทุนเหล่านี้เป็นโครงการพัฒนาต่าง ๆ เช่น โครงการฟื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม ระบบสื่อสาร และอื่น ๆ เพราะจะได้ไม่ขาดทุน หรือเสียหาย ถ้าอะไรเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป สหรัฐอเมริกาเมื่อถึงจุดหนึ่งก็คงต้องหยุดอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ถึงตอนนั้นก็จะเกิดช็อกอีกครั้งหนึ่ง ความไม่แน่นอนจากธนาคารกลางสหรัฐโดย นายเบน เบอร์นันเก้ ก็จะยังคงอยู่

ขณะนี้ทุกประเทศควรเรียกร้อง "การปฏิรูประบบการค้าและการเงินของโลก" หรือ "World Economic and Financial Order Reform" ใหม่ จะเอาชะตากรรมทางเศรษฐกิจของโลกไปแขวนไว้กับการตัดสินใจหรือผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เสียแล้ว

ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า องค์การการค้าโลกก็ดี ไอเอ็มเอฟก็ดี เวทีเศรษฐกิจโลกก็ดี หรือเวทีอื่นควรจะมีประเทศที่มีความกล้ามากพอที่จะเสนอให้มีการปฏิรูประบบการค้าและการเงินของโลกเสียใหม่ ลดอำนาจอิทธิพลของอเมริกาลง ควบคุมให้อเมริกาสร้างวินัยการเงิน การคลังของตนเองให้มากขึ้นและเร็วขึ้น บังคับให้อเมริกาต้องมีความรับผิดชอบต่อชาวโลกให้มากขึ้น มิฉะนั้นก็จะพังกันทั้งโลก ไม่ใช่อเมริกาพูดอะไรก็ถูกไปหมด

อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ๆ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------

ดึง จีน ร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน !!??

ครม.อนุมัติร่างเอ็มโอยูไทย-จีน 3 ฉบับ "ยิ่งลักษณ์"พร้อมลงนามร่วม"หลี่ เค่อเฉียง"นายกฯจีน 11 ต.ค.ดึงจีนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (8 ต.ค.) รับทราบกำหนดการการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. นี้ ขณะเดียวกันจะมีการหารือทวิภาคีร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11 ต.ค.นี้
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 ฉบับคือ 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ว่าด้วยความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยแผนระยะยาวในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และ 3.บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยและกระทรวงศึกษาธิการจีน
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจว่า ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย ที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วย "สินค้าเกษตร" กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้ ครม.พิจารณา โดยมีสาระสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่

1.การบันทึกความเข้าใจจะจัดทำในรูปแบบสนธิสัญญาในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล
จีนยอมไทยรับแลกสินค้าเกษตร

2.กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของจีน ในการพัฒนาโครงสร้างฐานของไทย การหารือดังกล่าว ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบของแต่ละฝ่าย

3.กำหนดเงื่อนไขของการเจรจาเบื้องต้นว่า จีนจะยอมให้ไทยชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนเป็นสินค้าเกษตรได้

4.ให้ทั้งสองประเทศจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อทำหน้าที่เจรจาในรายละเอียดต่างๆ ต่อไป

5.หากทั้งสองฝ่ายเจรจาการตกลงกันเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการชำระเงินด้วยสินค้าเกษตรบางส่วนได้ จึงจะให้มีการจัดทำสัญญาในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อการดำเนินการในรายละเอียดต่อไป โดยให้จัดทำสัญญา เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบภายในของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ครม.ได้ให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว

สาระสำคัญความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัฐบาลไทย-จีน จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเป็นกรอบความร่วมมือกว้างๆ ครอบคลุมสาขาพลังงานต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินผลิตไฟฟ้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงพลังงาน เสนอให้ไทยและจีนจัดตั้งคณะทำงานเรื่องพลังงานร่วมกันเพื่อสร้างความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต

ไทย-จีนลงนามร่วมพัฒนาวิทยาศาสตร์

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน จะลงนามข้อตกส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน 4 โครงการ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระหว่าง 2 ประเทศ ได้แก่ 1.โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วม เน้นการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และวิจัยพัฒนารถไฟความเร็วสูง 2.โครงการศูนย์การให้บริการข้อมูลสำรวจดาวเทียมระยะไกล 3.โครงการร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 4.โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไทย-จีน ทั้งนี้ไทยและจีนจะร่วมกันผลักดันการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้าน และตั้งคณะทำงานระหว่าง 2 ประเทศ มีผู้ช่วยรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ ของจีน และปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย เป็นประธานร่วม

คมนาคม ถกจีนโครงสร้างพื้นฐาน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือร่วมกับผู้แทนรัฐบาลจีน เพื่อเตรียมความพร้อมเจรจาความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน สำหรับความร่วมมือในส่วนของกระทรวงคมนาคม จะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอ็มโอยูเดิม ที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ เป็นความร่วมมือด้านเทคนิค

ในเอ็มโอยูดังกล่าว น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย เพื่อพิจารณาว่า จะมีความร่วมมือใดๆ ได้บ้าง ซึ่งความร่วมมือในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้ระบุว่าเป็นเส้นทางสายใด เป็นการหารือในภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐาน

เล็งบาร์เตอร์เทรดลงทุนรถไฟความเร็วสูง

ด้าน นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจีนกับนายชัชชาติ ได้พูดคุยเกี่ยวกับการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-จีน หากจีนจะเข้ามาลงทุน ระบบรางในไทย ก็มีแนวคิดว่า จะนำสินค้าเกษตรบางส่วนของไทยแลกเปลี่ยน เป็นค่าซื้อขายอุปกรณ์ ในการใช้ดำเนินโครงการระบบราง แต่ยังไม่มีการหารือในรายละเอียดว่า จะมีลักษณะคล้ายกับบาร์เตอร์เทรดหรือไม่ คงต้องมาหารือต่อไป เพื่อความชัดเจนว่าจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องการนำสินค้าเกษตร แลกเปลี่ยนกับการลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั้น รัฐบาลไทย-จีน จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาความเหมาะสม เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ที่ผ่านมาการใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า

ปัญหาของวิธีบาร์เตอร์เทรด คือ สินค้าที่จะใช้แลกเปลี่ยนไม่ตรงกับความต้องการ ดังนั้นต้องสรุปร่วมกันก่อนว่า จีนต้องการลงทุนระบบรางในเส้นทางใด ไทยมีความต้องการนำสินค้าใดไปแลกเปลี่ยน ต้องเป็นความต้องการที่ตรงกันทั้งสองฝ่าย"แหล่งข่าวกล่าว

นักวิชาการค้านรัฐแลกสินค้าเกษตร

ด้าน นางอักษรศรี พานิชสาส์น รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะใช้นโยบายแลกสินค้าเกษตรกับจีน ในการชำระเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้มีผู้เข้าไปหาผลประโยชน์ได้มาก เพราะไม่มีการกำหนดเป็นมูลค่าที่ตายตัว อีกทั้งไทยจะไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่า จะต้องส่งสินค้าในปริมาณเท่าไร จะทำให้สินค้าการเกษตรไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้น ควรกำหนดการจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ หรือพัฒนาการค้าเงินหยวนกับบาทให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าที่จะให้มีการลงทุนร่วมระหว่างไทยกับจีนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจะสร้างผลประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งจีนจะได้ในเรื่องของภาพลักษณ์ ส่วนไทยจะได้ในเรื่องของการลงทุน แต่ทั้งนี้ภาครัฐควรสงวนท่าทีในการต่อรองมากกว่านี้ เพื่อสร้างผลประโยชน์ เช่น เรื่องคุณภาพ เรื่องความปลอดภัย

กำหนดนายกฯ จีนเยือนไทย

สำหรับกำหนดการเดินทางเยือนประเทศของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. นั้น ในวันที่ 11 ต.ค. นายกรัฐมนตรีจีน จะหารือร่วมกับประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานวุฒิสภา จากนั้นจะหารือร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมลงนามข้อตกลง 5 ฉบับ

ส่วนวันที่ 12 ต.ค. นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นประธานเปิดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงและเยี่ยมชมนิทรรศการ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จากนั้นเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจีน มีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนเวลา 11.00 น. จะเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จากนั้นจะเดินทางไปที่หอการค้าไทย-จีน ในเวลา 11.30 น. เพื่อพบปะกับชุมชนชาวจีนในไทย

สำหรับวันที่ 13 ต.ค. นายกรัฐมนตรีจีน มีภารกิจเยี่ยมชมโรงเรียนช่องฟ้า ซินเซิง วาณิชบำรุง และศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อป จ.เชียงใหม่ จากนั้น เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีจีน จะออกเดินทางจากไทย ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
------------------------------------------------

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การอุดหนุนราคาสินค้าทางการเกษตร กับการอุดหนุนราคาพลังงาน .....

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ โดยให้ใช้งบกลางในรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 21,248.95 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรชาวสวนยางในอัตราไร่ละ 2,520 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่ เป็นเวลา 7 เดือน ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรชาว สวนยางได้รับความช่วยเหลือประมาณ 12 บาท/กก. เมื่อรวมกับราคายางในปัจจุบันที่ประมาณ 80 บาท/กก.แล้ว ก็เท่า กับราคาที่รัฐบาลรับปากไว้ที่ 90 บาท/กก. หรืออาจจะสูงกว่าถ้าราคายางในตลาดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

การแก้ปัญหาในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหา ในลักษณะพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลกับเกษตรกรชาวสวน ยางแล้ว ยังเป็นความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคา สินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ด้วยการไม่เข้าไปประกันราคาหรือรับจำนำผลิตภัณฑ์ในราคาสูงกว่าราคาตลาดอย่างที่เคยทำมาในอดีต เพราะรัฐบาลได้รับบทเรียนจากการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดมาก จนกระทั่งเป็นปัญหาทำให้รัฐบาลแก้ไม่ตกมาจนทุกวันนี้

ความจริงแล้วการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถจำหน่าย พืชผลได้ในราคาดี มีรายได้สูง เป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นนโยบายที่รัฐบาลทุกรัฐบาลในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนาล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวกับการอยู่ดีกินดีและความมั่นคงด้านอาหารของคนในประเทศ

เพียงแต่แนวทางในการสนับสนุนหรืออุดหนุนเกษตรกรในประเทศต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันออกไป แล้วแต่วัฒนธรรม สภาพทางภูมิศาสตร์และดินฟ้าอากาศของแต่ละประเทศ ตลอดจนความสำคัญของพืชผลทางการเกษตรที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการ อุดหนุนเกษตรกรของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยืนอยู่บนขาของ ตัวเองได้ และส่งเสริมให้อาชีพเกษตรกรมีการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งเรื่องอย่างนี้มีการพูดถึงอยู่ตลอดเวลาในบ้านเราทุกครั้ง ที่มีปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น การเพิ่มพื้นที่ ชลประทาน การปรับปรุงพันธุ์พืช การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร การจัดรูปที่ดิน และล่าสุดมีการพูดถึงการจัดโซนนิ่งทางการเกษตร แต่พูดมาหลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าการเกษตรของเราจะก้าวหน้าไปถึงไหน

จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่เราจะได้ยินว่า ประเทศไทยเป็น ประเทศผู้ (เคย) ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ปรากฏว่าผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำกว่าประเทศอื่น และต้นทุนของเราสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน

ในเมื่อเป็นเช่นนี้เราจะไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร ใน ภาวะปกติหรือในภาวะที่ตลาดมีความต้องการสูง ตลาดเป็นของผู้ขาย ก็ไม่เป็นไร ผลิตออกมาเท่าไรก็ขายหมด ราคาแพงเท่าไรก็ขายได้

แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างเช่นในปัจจุบัน ตลาดเป็น ของผู้ซื้อ ราคาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเราขาด ความสามารถในการแข่งขัน เราก็ขายไม่ได้

ยิ่งเรามีนโยบายกินตัวเองด้วยการเรียกร้องให้มีการประกัน ราคาพืชผลให้สูงจนเกินไป ก็จะยิ่งซ้ำเติมทำให้ราคาตลาดปรับลด ลงไปอีก เพราะเขารู้ว่าในเมื่อรัฐต้องรับซื้อ (จำนำ) ในราคาสูง รัฐ ก็จะมีสต็อกมากและขายไม่ออก ในที่สุดก็ต้องระบายออกมาในราคาถูกๆ

ในกรณีประกันราคาหรือประกันส่วนต่างราคาก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อค้ารู้ว่ารัฐบาลประกันราคาสูง เขาก็จะตั้งราคารับซื้อต่ำ เพื่อ ให้เกษตรกรไปเรียกร้องส่วนต่างเอาจากรัฐบาล จึงไม่มีทางที่ราคา ตลาดจะสูงขึ้นจากมาตรการประกันราคาของรัฐบาล นอกจากราคา ในตลาดโลกจะสูงขึ้นเอง (ซึ่งไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลไหนทั้งสิ้น)

อีกประการหนึ่งการแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาสินค้าทางการเกษตรให้สูงกว่าราคาในตลาดโลกนั้น ยังเป็นการทำลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตรที่ใช้สินค้าทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย

ลองคิดคดูก็แล้วกันว่าถ้าเราเป็นนักลงทุน อยากตั้งโรงงาน ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ เราจะอยากไปลงทุนที่ไหน ที่ประเทศไทยที่มีการเรียกร้องให้ประกันราคายางที่ 100 บาท/กก. หรือที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ที่ราคายางอยู่ที่ 80 บาท/กก. และขึ้นลงตามราคาตลาดโลก

ดังนั้น การแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาสินค้าทางการ เกษตรให้สูงกว่าราคาในตลาดโลก จึงเป็นนโยบายที่สวนทางกับนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พืชผลทางการเกษตรมาต่อยอดเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยสิ้นเชิง

คำถามก็คือ ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรปล่อยให้ราคาสินค้าทางการ เกษตรเป็นไปตามยถากรรมไม่ควรไปอุดหนุนหรือแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเลยใช่หรือไม่

คำตอบคือไม่ใช่ครับ แต่การอุดหนุนหรือแทรกแซงราคาสินค้าทางการเกษตรนั้นต้องทำอย่างรอบคอบ และด้วยวัตถุประสงค์สองข้อด้วยกันคือ

1.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ โดยนัยนี้หมายความว่า การช่วยเหลือหรือการอุดหนุนใดๆ ที่เป็นลักษณะหว่านแห คือช่วยไปหมดทุกคนไม่ว่ารายใหญ่ รายย่อย คนมี คนจน ย่อมเป็นการอุดหนุนที่ผิดวัตถุประสงค์นี้

2.การอุดหนุนหรือการแทรกแซงราคานั้นต้องเป็นลักษณะชั่วคราว และเป็นไปเพื่อการบรรเทาผลกระทบจากการ ที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการชดเชย รายได้ที่ขาดหายไปในยามปกติของเกษตรกร รัฐบาลต้องให้เกษตรกรเรียนรู้และพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงในการประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งย่อมต้องมีความเสี่ยงเหมือนกับผู้ประกอบอาชีพในสาขาอื่นๆ เช่นกัน

ว่ากันที่จริงแล้วการแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาสินค้า ทางการเกษตรให้สูงกว่าราคาในตลาดโลกนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาพลังงานให้ต่ำกว่า ราคาในตลาดโลกเลยแม้แต่น้อยและหลักการในการแทรกแซงหรืออุดหนุนราคาก็ต้องใช้หลักการเดียวกันนั่นเอง

โดยในเรื่องของพลังงานนั้น เราก็เริ่มเห็นการปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เพื่อลดการอุดหนุนในลักษณะหน้ากระดาน (across the board) คือทุกคนได้รับการอุดหนุนให้ใช้ก๊าซในราคาถูกหมด ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน แต่ต่อไปนี้คนที่ช่วยตัวเองได้ มีรายได้สูง ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่รัฐจะไปช่วยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น ให้ได้ใช้ก๊าซในราคาเดิม ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้องในการให้การอุดหนุน คือให้กับผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือเท่านั้น

ผมคิดว่าถ้าเราเดินในแนวทางที่ถูกต้องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ต้องห่วงว่านโยบายประชานิยมจะพาเราลงเหวหรือเข้ารกเข้าพงอย่างที่หลายคนวิตกกัน

สำคัญแต่ว่าที่ผิดพลาดไปแล้ว จะกล้ายอมรับแล้วแก้ไขให้มันถูกต้องหรือไม่...

ที่มา.สยามธุรกิจ
-----------------------------------------

เปิดสงครามชี้ความต่าง เทียบศรัทธากับโยนความผิด !!?

ผลไม้พิษจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนวันนี้ก็ยังทำให้เกิดการแบ่งแยกแตกขั้วอย่างชัดเจนในสังคมอย่างกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. ได้มีการโพสต์เฟสบุ๊คตอบโต้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการไประบุสาเหตุบ้านเมืองวุ่นวายเพราะมีการปลุกระดมประชาชนเพื่อประโยชน์พวกพ้อง

ได้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกสนานในโลกออนไลน์

ซึ่งจุดเริ่มต้นของประเด็นนี้มาจากการที่สมาคมนักข่าววิทยุและนักข่าวโทรทัศน์ไทย จัดประชุมใหญ่ประจำปี 2556 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล แล้วก็ถือโอกาสจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ทางออกประเทศไทย”

นายจรัญเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีในวันนั้นด้วย

แล้วก็มีการพูดทำนองที่ว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือ เรื่องการล่มสลายความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งของนักการเมือง จนนำไปสู่การปลุกระดมมวลชนเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม ไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศ

ส่วนปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งนั้น ก็เป็นผลมาจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมที่ประชาชนต้องเผชิญ จึงทำให้นักการเมืองใช้โอกาสในการซื้อเสียงเข้าสภา นำไปสู่การรวมตัวของนายทุนกับนักการเมือง

และปัญหาของนโยบายประชานิยมสะสมประโยชน์เป็นโครตโกง หรือปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

แต่นายจรัญเองก็ยอมรับว่าการทำรัฐประหารของทหารไม่ใช่ทางออกของการเมืองไทย

ปัญหาก็คือ นายจรัญ ได้เสนอทางออกของการเมืองไทยไว้ 5 ข้อ ประกอบด้วย

ข้อแรก ต้องจำกัดพื้นที่ของนักเลือกตั้งให้แคบลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ของนักการเมืองที่ทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

2. เพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย

3. สกัดกั้นธุรกิจการเมืองของกลุ่มนายทุนที่แอบเข้ามาบริหารประเทศผ่านนักการเมืองสุนัขรับใช้

4. เพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน และที่สำคัญการทุจริตเชิงนโยบายที่กำลังลุกลามไปสู่ผลประโยชน์ข้ามชาติ

และข้อสุดท้าย ต้องยึดมั่นว่าประชาธิปไตยของไทยต้องดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งชาติ ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือประชาชนบางกลุ่มเท่านั้น

หากเป็นข้อเสนอของคนทั่วไป ก็อาจจะถูกมองแค่ว่าเป็นพวกขั้วการเมืองเข้มข้นรุนแรง และมีอคติอย่างมากกับนักการเมืองเลือกตั้ง ถึงขนาดที่ต้องการประชาธิปไตยแบบล้อมกรอบนักการเมือง

แต่เมื่อเป็นมุมมองของคนในระบบยุติธรรม เป็นระดับผู้ใหญ่ของกระบวนการตุลาการ แถมยังอยู่ในหมวกของตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยในเรื่องการเมืองแบบมีอำนาจในมือชัดเจน

จึงสร้างความสะดุ้งให้กับสังคมเป็นอย่างมากว่า... คิดสุดขั้วได้ขนาดนี้เชียวหรือ?

แต่ก็มีมุมมองในโลกออนไลน์ ให้ข้อสังเกตุว่า จริงๆแล้วในการเสวนาวันนั้น บรรดาผู้ที่ถูกเชิญไป ก็ล้วนแล้วแต่สามารถมองได้ว่ามีจุดยืนมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายอุทัย พิมพ์ใจชน หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล นายเทพชัย หย่อง และแม้แต่ตัวนายจรัญเองก็ตาม

แถมเวทีที่จัด ก็คือ โรงแรม เดอะ สุโกศล ซึ่งกลุ่มม็อบสนามม้า กลุ่มเสื้อหลากสีต่างๆ นิยมไปใช้เป็นเวทีถล่มทางการเมืองอยู่แล้ว บรรยากาศการเมืองขั้วตรงข้ามอาจจะยังอบอวลอยู่ในโรงแรม จนทำให้นายจรัญพูดออกมาอย่างที่ปรากฏชัดเจนก็ได้ว่า

ทัศนคติต่อนักการเมืองเลือกตั้งของนายจรัฐก็คือติดลบ

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อ นายณัฐวุฒิ ได้เห็นแนววิธีคิดของนายจรัญ ก็เลยโพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้แนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่า...

เห็นข่าวคุณจรัญบอกว่าบ้านเมืองมีปัญหาเพราะมีพวกปลุกระดมให้เสียหาย ผมว่า ที่มีปัญหา 7 ปีจนถึงวันนี้ เพราะมีคนบางกลุ่มฝักใฝ่เผด็จการ ขาดความเคารพประชาชน รวมตัวกันเคลื่อนไหว เปิดประตูให้มีการรัฐประหาร แล้วเข้าไปรับประโยชน์จากการรัฐประหาร

คุณจรัญได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ตุลาการศาล รธน.ก็จากอำนาจนี้

พรรคพวกอีกหลายคนก็เป็น สนช. สสร. บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ส.ว.สรรหา พรรคการเมืองที่ร่วมขบวนการไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

เห็นชัดเจนว่า ใครเป็นตัวตั้งตัวตีค้านแก้ รธน. หาทางล้มรัฐบาลตลอดเวลา หลังรัฐประหาร พันธมิตรจัดงานเลี้ยง คุณจรัญก็ไปร่วม ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคลิปอื้อฉาวก็ไม่รับผิดชอบ ตีความรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจจนสุ่มเสี่ยงจะนำบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้งใหญ่อีกครั้ง

ปัญหาการเมืองที่ไม่ไปไหนเพราะคนกลุ่มนี้ หยุดเสียบ้างเถอะ ไม่เห็นแก่ประชาชน ก็ควรอาย พล.อ.สนธิ "บิ๊กบัง" แกสำนึกถึงขั้นยกมือสนับสนุนแก้ รธน.แล้ว

แต่หางเครื่องที่ได้ประโยชน์จากรัฐประหาร ยังดิ้นกันไม่หยุดจนวันนี้

แน่นอนว่าเสียงสะท้อนออกมาว่า เต้นเขียนแรง แต่ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่า บนความแรงนั้นคือข้อเท็จจริง และที่สำคัญ คือเป็นปมปัญหาของบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้จริงๆ

ภาษิตฝรั่งมีบทหนึ่งที่ว่า “Put the blame on everybody but myself”

ซึ่งไม่อยากเห็นใครในสังคมเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบุคคลในระบบยุติธรรม บุคคลในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ อย่างนายจรัญ เพราะหากนายจรัญเกิดไปเข้าข่ายของคนที่มีมุมมองเช่นว่าเข้าให้ ปัญหาของบ้านเมืองก็คงไม่จบ และที่เสวนากันปาวๆว่าจะหาทางออกให้กับประเทศไทย... ก็คงเป็นแค่ทางตันจากพิษอารมณ์เคียดแค้นที่ปิดกั้นเท่านั้นเอง

ฝรั่งมักจะบอกว่า ใครก็ตามที่มีแนวคิดมีบุคลิกอย่างที่ว่า ต้องถือว่าเป็นบุคคลที่น่ากลัวที่สุด เพราะคนประเภทนี้จะไม่มีวันตำหนิตัวเองเลยไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม แต่จะโยนความผิดไปให้คนอื่นหมด โดยเฉพาะกับคนขั้วตรงกันข้าม

ฝรั่งเชื่อว่าในยุโรปและอเมริกามีคนประเภทนี้อยู่บ้าง โดยที่อาจจะไม่รู้ว่าในประเทศไทย หลังรัฐประหาร 19 กันยายน ได้มีคนประเภทนี้เกิดขึ้นมาไม่น้อยเหมือนกัน

ดังนั้นนายจรัญอาจจะต้องตั้งสติให้นิ่งๆ แล้วถามตัวเองว่าเข้าข่ายคนประเภทนี้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นโชคของประเทศชาติ

เพราะคนที่มีทัศนคติอย่างที่ว่าหากเป็นคนระดับชาวบ้านทั่วไป ยังไม่น่ากลัวเท่าไรนัก แต่หากว่าเป็นคนในระดับผู้นำองค์กร เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในสังคม ล่ะก็ยุ่งแน่

ยิ่งหากบังเอิญเป็นคนในระบบตุลาการด้วยแล้ว... ก็ยิ่งวังเวง

ส่วนนายณัฐวุฒิ ซึ่งถือเป็นนักรบรุ่นใหม่ มีทั้งความเฉลียวฉลาดและกล้าที่จะปะทะคารม กล้าที่จะเอาความจริงมาตีแผ่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็ต้องรู้จักประคองตัวให้เป็น ประคองตัวให้ดีด้วย

เพราะการออกมาโพสต์เฟสบุ๊คเปรี้ยงๆไม่อ้อมค้อมเช่นนี้ สำหรับคนที่มีใจรักความเป็นธรรมอาจจะบอกว่าสะใจดี แต่หากเป็นคนที่มีจิตใจคุมแค้นอยู่ลึกๆ นายณัฐวุฒิอาจจะอันตรายก็ได้

ผู้คนในสังคมออนไลน์ยังระบุเลยว่า พูดตรงแบบนี้ระวังจะโดนถอนประกันตัว
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วมันเกี่ยวกันตรงไหน... การพูดสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ทำให้คนพูดเสี่ยงขนาดนั้นเชียวหรือ

แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ไม่น่าจะยุ่งยากอะไรนักหากนายณัฐวุฒิจะประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยไปนานๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้งในระดับแกนนำมวลชล ทั้งในระดับนักการเมือง นายณัฐวุฒิคือคนรุ่นใหม่ที่ยังมีเวลาอีกยาวนาน

บรรดาผู้นำ บรรดานักการเมืองรุ่นปัจจุบันที่เห็นๆอยู่มีแต่เริ่มโรยราลงไปเรื่อยๆ อีกไม่นานคนรุ่นใหม่คนรุ่นเยาว์ย่อมต้องขึ้นมาแทนอย่างแน่นอน ฉะนั้นถนอมเนื้อถนอมตัวไว้ก็ไม่เสียหลาย มิใช่หรือ?

ที่สำคัญทุกวันนี้นายณัฐวุฒิ แม้ว่าจะเป็นที่ชื่นชมของมวลชนคนเสื้อแดง คนรากหญ้า แต่สำหรับคนขั้วตรงข้ามมีไม่น้อยที่มองนายณัฐวุฒิเป็นศัตรูที่จะต้องทำลายทิ้ง ฉะนั้นการจะพูดอะไรที่แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่เป็นการเพิ่มศัตรู เพิ่มแรงแค้นให้มากขึ้น อาจจะไม่ใช่วิถีที่เหมาะสมนักก็ได้

วันนี้เต้นอาจจะต้องคิดในเรื่องของการดึงศัตรูให้กลายมาเป็นมิตร ด้วยการทำให้ขั้วตรงข้ามยอมรับในความเป็นจริง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่าย แต่หากทำได้ไม่ต้องมาก สักเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็น 20 เปอร์เซ็น ถ้าทำได้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

วันนี้เต้นต้องคิดสร้างมิตรเพิ่ม ไม่ต้องไปรีบร้อนเปิดศึกฉะใคร... อย่างน้อยที่สุดก็ได้เปรียบเรื่องวันเวลาอยู่แล้วนี่นา... อย่าลืมสิ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------------

40ปี 14 ตุลา 2516 นิยาม เหลือง-แดง !!??



โดย : อนพัทย์ ดีช่วย, เสถียร วิริยะพรรณพงศา

40 ปี 14 ตุลาฯ 2516 นิยามในสีเสื้อ "เหลือง-แดง" อุดมการณ์ที่ต่าง

ใกล้ครบวาระ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีการจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีโดยผู้จัดต่างก็เป็นผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์ หรือที่เรียกกันว่า "คนเดือนตุลา"

แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป สถานการณ์เมืองที่เปลี่ยนแปลงได้แบ่งแยก "คนเดือนตุลา"ออกจากกัน แม้จะผ่านการต่อสู้มาด้วยกันแต่ด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกันทำให้วันนี้คนสองข้างอยู่ในลักษณะผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ดังนั้น ณ โอกาสครบรอบปีที่ 40 เราจึงเห็นการจัดงานรำลึกโดยคนสองกลุ่ม และมองได้ไม่ยากว่าเป็นกลุ่มที่มีสีเสื้อเหลือง-แดง ครอบอยู่

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เรียกว่า "มูลนิธิ 14 ตุลา" ซึ่งกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มของ "เสื้อเหลือง" และในวันนี้มี "น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์" เป็นประธานกรรมการ โดยกลุ่มนี้เป็นผู้จัดงานรำลึกเหตุการณ์มาโดยตลอด

ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาใหม่ในปีนี้ โดยใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" ซึ่งมี "จรัล ดิษฐาอภิชัย" เป็นประธานกรรมการ และฝั่งนี้นี่เองที่ถูกมองว่าเป็น "เสื้อแดง"

ทั้งสองต่างเลือกที่จะจัดงานในแบบของตนเอง โดย "คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" จะจัดงานในวันที่ 6 ตุลาฯ และวันที่ 13 ตุลาฯ โดยทั้ง 2 วัน จะจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีทั้งพิธีสงฆ์ พิธีรำลึก การปาฐกถา การเสวนา ที่สำคัญคือมีการปาฐกถาของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" หนึ่งในแกนนำนักศึกษาสมัยนั้น

นอกจากนี้ยังมีภาคบันเทิงที่เป็นการแสดงดนตรี ลิเกล้อการเมือง และ งิ้วล้อการเมือง

ขณะที่งานซึ่งจัดโดย "มูลนิธิ 14 ตุลา" จะจัดขึ้นในวันที่ 14-15 ต.ค. โดยมีจุดจัดงาน 2 แห่งคือ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รูปแบบงานที่ออกมาก็จะไม่ต่างนัก แต่ที่ดูจะเป็นไฮไลต์คือ การปาฐกถาของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" และ "ธีรยุทธ บุญมี" สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งเหตุการณ์

แต่คำถามที่หลายคนคงสงสัยคือ เมื่อรูปแบบคล้ายกัน เหตุใดต้องแยกกันจัด และจะรวมกันได้หรือไม่

น.พ.วิชัย ได้เล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมากต่อสังคมไทย หลัง 14 ตุลา ได้มีกลุ่มทุนได้เข้ามาอยู่ในการเมืองมากขึ้น ทุกฝ่ายได้เรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ เพื่ออยู่รอด กลุ่มทุนต่างๆ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ ก็มีโอกาสที่เติบโตขึ้นมา โดยเดิมทีกลุ่มที่ผูกขาด ก็จะมีสิทธิประโยชน์ ทั้งอำนาจตามกฎหมาย และอำนาจแฝง ทำให้อีกฝ่ายซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ในเมื่อกลุ่มนี้ถูกสั่นคลอน กลุ่มอื่นจึงเติบโตขึ้นมาโดยธรรมชาติ และส่งคนเข้าไปในทุกเวทีทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ประชาชน

น.พ.วิชัย ยังระบุด้วยว่า หลัง 14 ตุลา เป็นการตื่นตัวของประชาชนครั้งใหญ่ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ มีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศ แล้วระบบการกุมอำนาจโดยเผด็จการทหารไม่สามารถอยู่ได้ต่อไป ฉะนั้นทางเลือกของประเทศไทยคือ การเลือกตั้ง แม้จะมีการยึดอำนาจต่อมาอีกหลายครั้ง ก็ไม่สามารถปิดกั้นกระแสที่จะมีการเลือกตั้งได้จนปัจจุบัน

"อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้ง เป็นระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งไม่ใช่ระบบที่จะเป็นคำตอบในปัจจุบันได้ เพราะผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งขึ้นมา ไม่ใช่ตัวแทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาของประเทศ แต่เป็นตัวแทนของการที่จะรักษาอำนาจไว้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนต่อไป อย่างที่เขาใช้คำศัพท์ว่า ประชาธิปไตยสามานย์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" น.พ.วิชัย เริ่มเปิดมุมมองของประชาธิปไตยในรูปแบบของตัวเอง

เมื่อเจอกับคำถามที่ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้วันนี้คน 14 ตุลา เชื่อในเจตนารมณ์ประชาธิปไตยต่างกัน น.พ.วิชัย ตอบว่า เป็นธรรมชาติของคนไทย แต่แม้มีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่จุดหมายเป็นจุดหมายเดียวกัน เพียงแต่วิธีการและความเชื่อมันแตกต่างกันไปในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน แต่เป้าหมายสุดท้ายเชื่อว่าทั้ง 2 กลุ่มมีเป้าหมายหลักเหมือนกัน คือทำอย่างไรที่จะให้ประเทศไทยมีความเจริญ เป็นแผ่นดินที่คนอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข และความเจริญมั่งคั่งแผ่กระจายออกไป รักษาความเอกลักษณ์ของคนไทยคือ การเป็นคนที่มีจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่างๆ

นั่นคือสิ่งที่ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่มีความเห็นตรงกัน แต่วิธีการคือกลุ่มหนึ่งอาจจะเห็นว่า ณ ขณะนี้ถือว่าเป็นภาวะที่น่าพอใจ เราควรที่จะไปทำงานกับกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในเวลานี้ และชักจูงกลุ่มผู้มีอำนาจไปสู่เป้าหมาย แต่อีกกลุ่มเห็นว่าสภาพปัจจุบันไม่น่าพอใจ สิ่งที่ผู้มีอำนาจทำอยู่ไม่ถูกครรลองครองธรรม ควรที่จะต้องต่อสู้ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของการต่อสู้ทางความคิด

ส่วนที่ทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถร่วมกันจัดงาน 14 ตุลาในอนาคตได้หรือไม่นั้น น.พ. วิชัย ระบุว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจังหมด ไม่มีอะไรเป็นถาวร ครั้งหนึ่งเราเป็นมิตรกัน สักระยะอาจเป็นปฏิปักษ์กัน อีกระยะอาจจะกลับมาร่วมมือกันก็ได้

ขณะที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย ระบุว่า "40 ปี 14 ตุลานั้น จะเรียกว่าไม่นานก็ได้ถ้าคิดจากประวัติศาสตร์สังคมในทั่วประเทศ แต่จะว่านานก็ได้ โดย 40 ปีนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางทั้งดีและไม่ดี และคำขวัญของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" คำว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์คือทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเจตนารมณ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันมีอย่างเดียวเท่านั้น คือ เสรีภาพ ถ้าไม่มีเสรีภาพ ผมไม่เชื่อว่าประชาชนจะมีเสรีภาพเหมือนเช่นปัจจุบัน ส่วนผลพวงอย่างอื่นนั้นค่อยๆ หายไป อย่างเช่นเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งหลังๆ คนค่อนประเทศไม่ฟังแล้ว"

เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ทำไมวันนี้เสรีภาพจากคน 14 ตุลา ถึงถูกตีความต่างกัน จรัล ตอบว่า ในเรื่องเสรีภาพมีการตีความเหมือนกัน ซึ่งคนเดือนตุลา ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่าเหลือง แดง ก็ยังเสพดอกผลของ 14 ตุลา ในเรื่องเสรีภาพ โดยทีแรกมีคนคิดว่าจะมีการตีความในเรื่องประชาธิปไตยต่างกัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเป็นฝ่ายรับใช้ทุนนิยม อีกฝ่ายบอกว่าประชาธิปไตย ที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้ ดีกว่าเป็นอมาตยาธิปไตย

จรัล ชี้แจงต่อว่า ใหม่ๆ คนพูดกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นความขัดแย้งในความคิดเห็น ความต่อประชาธิปไตยต่างกัน แต่ที่สำรวจดูปรากฏว่า ทุกวันนี้มันเป็นเรื่องของความเชื่อหรือไม่เชื่อประชาธิปไตยแล้ว โดยฝ่ายหนึ่งยังเชื่ออยู่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มไม่เชื่อแล้ว

สำหรับตัวชี้วัดที่ไม่เชื่อคือ 1.เวลามีอะไรก็เรียกร้องทหารอยู่เรื่อย 2.พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ คิดเองไม่ได้จึงถูกซื้อเสียง ถูกชักจูงด้วยประชานิยม ซึ่งคนที่ไม่เชื่อรวมถึงในสภาด้วยซ้ำ ตนกล้าพูดเลย แต่ที่เข้ามาเป็นผู้แทนเพราะมีฐานะทางการเมือง และปกป้องแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนตัวเอง ฉะนั้นตรรกะที่ว่าคนที่เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร เพราะเขาเชื่อประชาธิปไตยนั้นไม่จริง

ส่วนที่สุดแล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่คนตุลาทั้งสองสีจะมาร่วมมือกัน หรืออย่างน้อยก็จัดงานรำลึกวันเดียวกันจะเป็นไปได้หรือไม่ จรัล ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เชื่อเรื่องของกลุ่มคนเดือนตุลาแล้ว เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้มันลึกลงไปถึงระดับครอบครัว ทุกบริษัท ทุกองค์กร ทุกส่วนราชการ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ค้านการตั้ง กระทรวงน้ำ !!?

ครบรอบ 2 ปีวิกฤตน้ำท่วม 2554 อยากจะสะท้อนข้อมูลปัญหาการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามิได้ตั้งใจ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบ หรือกลไกเดิมที่มีอยู่แล้วของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสามารถการันตี เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้ว่า "จะไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่อีกต่อไปในประเทศไทย"
   
แต่ดูเหมือนว่า การเกิดน้ำท่วม ความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน กำลังเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักการเมือง เพื่อที่จะใช้เป็นเหตุผลแบบมัดมือชก ในการผลักดันเมกกะโปรเจกต์ และใช้เงินจากภาษีของประชาชนอย่างสบายมือ โดยไร้การตรวจสอบ เงินกว่า 3.5 แสนล้าน มั่นช่างเป็นอะไรที่หอมหวนชวนอยากเร่งรีบใช้เสียเหลือเกิน กลางคืนก็นอนฝันเคลิ้มและหลงละเมอออกมาว่า "เมื่อไรจะได้เซ็นต์สัญญาซักที"
   
ก่อนหน้านี้งบกลาง 1.2 แสนล้านบาท ถูกนำมาใช้เป็นงบฉุกเฉิน หลังน้ำท่วมปี 2554 ใหม่ ๆ โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อรีบเร่งในการชดเชย เยียวยา และป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า ถูกนำไปเยียวยาผู้ประสบภัยเพียง  37.51% นอกนั้นทั้งหมดถูกนำไปละลายเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคม เสริมถนนหนทางถึง 22.49% สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ 21.26% นำไปซ่อมแซมฟื้นฟูสถานที่ราชการ 6.65% นำไปซ่อมแซมสถานที่ศึกษา การบริการทางการแพทย์ 5.27% นำไปซื้ออุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยน้ำท่วม 4.08% นำไปซ่อมแซมศาสนสถาน โบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยว 2.33% และอื่น ๆ อีก 0.39%
   
โครงการ สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นมีใครตรวจสอบหรือไม่ว่ามีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วหรือไม่ ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้วหรือไม่ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่แล้วหรือไม่
   
ณ วันนี้ เราจึงเริ่มเห็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุจาดทัศน์กันทั่วท้องถนนเกือบทุกสายในภาคกลาง และริมแม่น้ำ คือ "กำแพงกั้นน้ำริมแม่น้ำ ริมคลอง" และ "ผนังกั้นน้ำบนเกาะกลางถนน" ซึ่งมิได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายเลย ข้อมูลที่ภาครัฐพยายามกรอกหูโฆษณาชวนเชื่อต่อชาวบ้านคือ ถ้าสร้างแล้วน้ำจะไม่ท่วม
   
ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ กำแพงกั้นน้ำจะเป็นตัวกีดกันทางเดินของน้ำ จะทำให้น้ำถูกกั้นยกระดับให้สูงขึ้นเอ่อล้นไปในพื้นที่เหนือน้ำ โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมจะมีมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีใครบอกชาวบ้าน
   
หลังปี 2554 ทำให้รู้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับน้ำเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมและนำมาบิดเบือนอย่างบูรณาการ ด้วยกลุ่มคนที่มีเครือข่ายถึงกัน ทั้งข้าราชการ และนักการเมือง รวมไปถึงนายทุนใหญ่ด้านการเกษตร การบูรณาการข้อมูลนี้นำไปสู่การจัดการกับทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้เกิดผลด้านลบกับประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนและพัฒนาเมกกะโปรเจกต์ต้องการ
   
ยิ่งน้ำท่วมมากเท่าไร ก็ยิ่งบูรณาการผลักดันเมกกะโปรเจกต์ออกมาได้มากเท่านั้น โดยไม่สนใจเลยว่าโครงการเหล่านั้นเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วในอนาคต จะส่งผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลข้างหน้า แต่ ณ วันนี้ขอให้ข้าได้เซ็นต์สัญญาว่าจ้างก่อนเป็นพอ
   
น้ำท่วมกว่า 30 จังหวัดในปีนี้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ อีกตามเคย เพราะระบบสั่งการถูกรวบอำนาจมาไว้ที่ กบอ. พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่เฝ้าดูแล บริหารประตูระบายน้ำต่าง ๆ ไม่กล้าแม้กระทั่งจะเปิดปิดประตูระบายน้ำ ให้น้ำเอ่อล้นขนาดไหนก็ตาม เพราะกลัวถูกชาวบ้านฟ้องร้อง หากเปิดไปแล้วไปทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อื่น จึงต้องรอการสั่งการจากส่วนกลาง จาก กบอ. ทั้ง ๆ ที่ในอดีตปัญหาเหล่านี้ไม่เคยเกิด
   
บางพื้นที่รู้ทั้งรู้ว่าถ้าเร่งระบายน้ำจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ก็มีความพยายามของใครบางคนที่ต้องการให้ทุกประตูน้ำปิดกั้นน้ำไว้ จนในที่สุดน้ำต้องมีทางไป จึงไปเอ่อล้นท่วมพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน หลังจากนั้นก็ต่อสายส่งซิกให้แกนนำหัวคะแนนไปบอกกับชาวบ้านว่า เป็นเพราะเราไม่มีเขื่อน น้ำจึงท่วมบ้าน ท่วมไร่นาเรา ดังนั้นชาวบ้านต้องช่วยกันออกมาสนับสนุนการสร้างเขื่อน และด่าพวกนักวิชาการ พวกเอ็นจีโอที่ต่อต้านเขื่อน
   
ในที่สุดปีนี้น้ำก็เกิดท่วมอีกในหลาย ๆ พื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะท่วม จึงไม่น่าแปลกใจ ที่กระแสการดันกระทรวงน้ำ กระแสให้เร่งรีบในการสร้างเขื่อน จะปรากฏออกมาในช่วงนี้ เพื่อใช้เป็นทางออกให้กับทางตัน ในการจัดการน้ำในวันนี้ เพื่อซื้อเวลา ต่อรองผลประโยชน์ สร้างภาพที่สับสนให้คนไทยทะเลาะกันเอง และยืมมือบริษัทต่างชาติมาเอี่ยวด้วย ทั้งจีน และเกาหลี
   
กระทรวงน้ำนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในการทำงานระดับชาติ เรามีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกรมชลประทาน อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแยกออกมา แต่เพื่อการจัดการกับงบประมาณที่ต้องเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ตรงนี้จำเป็นและเข้าใจได้ แต่ผลกระทบทั้งแบบสะสม แบบเฉียบพลันจากการทำงานที่ไร้รูปแบบ ไร้กึ๋น และไร้ประสบการณ์เช่นนี้ เราจะสูญเสียอะไรอีกมาก และนี่จะกลายเป็นต้นแบบในการอ้างการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม มาสู่การจับเอาคนไทยเป็นข้ออ้าง เพื่อกระทำ และละเว้นการกระทำ อะไรบางอย่างต่อไปหรือไม่
   
การตั้งกระทรวงน้ำครั้งนี้ อยู่ในรูปแบบการคิดเดิมๆ เปลี่ยนเพียงกิจกรรม และรูปแบบของผลกระทบ แต่จะสร้างปัญหาออกมาแบบไร้รูปแบบ เพราะจะเป็นการลากเอาเรื่องสำคัญ เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศไปไว้ในระบบงานของนักการเมืองที่กระสันอยากจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการน้ำ ไม่อยากจะเชื่อว่าผู้กุมอำนาจใน กบอ. เคยเป็นถึงอาจารย์พิเศษ ในสถาบันการศึกษา ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรศาสตร์ มาแล้ว ถ้าท่านคิดว่านี่เป็นคำตอบของปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำของไทย ขอให้ท่านคิดถึงวันที่มาสอนหนังสือนักศึกษา วันนั้นท่านคิดอะไร ท่านสอนคนเหล่านั้นว่าอะไร
   
กระทรวงน้ำหากคิดจะตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคนแล้ว ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 วรรคสอง โดยการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ
   
กระทรวงน้ำ หากจะตั้งขึ้นมาก็เพียงเพื่อสนองตอบต่อความทะยานอยากที่ต้องการเป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรกของใครบางคน คงไม่ใช่มีไว้สำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่มีไว้เพื่อเป็นกระทรวงพ่นน้ำลาย หรือกระทรวงปั้นน้ำเป็นตัวตามสไตล์ของผู้อยากเป็นรัฐมนตรีอย่างแน่นอน เพราะปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ไม่อาจแก้ได้ด้วยการตั้งกระทรวงเพื่อเพิ่มโควต้ารัฐมนตรีให้กับพรรคของตน เพราะการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีทั้งหลาย แต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่มีอำนาจและมีความจริงใจในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งอาจเป็นแก่ระดับหัวหน้าหน่วยงาน เช่น ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี ส่วนตำแหน่งทางการเมืองอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่สวมชุดเทวดาเป็นพญาเม็งรายชาตินี้หรือชาติไหนไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เลย

ที่มา.สยามรัฐ
---------------------------------------------

ความเสี่ยงจากสหรัฐที่ควรจับตา ในช่วงที่เหลือของปี !!?

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตทักทายสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสเขียนบทความลงในประชาชาติธุรกิจ แน่นอนครับว่าช่วงนี้สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ความเคลื่อนไหวของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมคิดว่ามี 3 ประเด็นที่น่าจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนทั่วโลก

โดย ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

Government Shutdown ไม่น่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก โดยจากการต่อรองที่ไม่เป็นผลสำเร็จในการจัดทำงบประมาณประจำปีของสหรัฐ ระหว่างพรรค Democrat ซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา และพรรค Republican ซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง ทำให้ท้ายที่สุดรัฐบาลสหรัฐต้องประกาศหยุดทำการ (Government Shutdown) ซึ่งนับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายงบประมาณใหม่ของสหรัฐในปี 1976 ความขัดแย้งของสภาได้นำไปสู่ Government Shutdown ทั้งหมด (รวมครั้งนี้ด้วย) เป็นจำนวน 18 ครั้ง

โดยครั้งล่าสุดเกิดในปี 1995 สมัยประธานาธิบดีคลินตัน โดยหยุดทำการเป็นเวลา 21 วัน อย่างไรก็ตาม ในอดีตการปิดทำการมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการปิดทำการระยะเวลาสั้น ๆ (น้อยกว่า 3 วัน) ซึ่งเราคาดว่าในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นการปิดทำการในช่วงสั้นเช่นกัน และจะมีผลกระทบที่จำกัดต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ (ไม่แน่ครับในขณะที่ท่านอ่านบทความนี้อยู่ การหยุดทำการอาจจบไปแล้ว)

สิ่งที่น่าจะมีผลมากกว่าคือ การยกเพดานหนี้สาธารณะในช่วงปลายตุลาคม โดยความเสี่ยงทางการคลังอีกความเสี่ยงหนึ่งที่

นักลงทุนต้องลุ้นว่าทางสภา Congress จะจัดการยังไงคือการขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ (Public Debt Ceiling) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐและเดนมาร์ก เป็น 2 ประเทศที่มีกฎหมายเพดานหนี้สาธารณะ โดยในสหรัฐกฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้ในปี 1917 ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมามีการยกเพดานหนี้มาแล้วถึง 91 ครั้ง ครั้งล่าสุดก็คือเมื่อต้นปี 2013 นี้เอง นั่นหมายความว่าการยกเพดานหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาทำกันบ่อยอยู่แล้ว

แต่ที่ต้องลุ้นคือจะทำทันรึเปล่า ? เพราะในช่วงวันที่ 17 ตุลาคม ทาง Congressional Budget Office (CBO : คล้าย ๆ กับสำนักงบประมาณบ้านเรา) ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นช่วงที่เงินสดของรัฐบาลสหรัฐจะเหลือค่อนข้างน้อย และอาจจะหมดลงในช่วงตั้งแต่วันที่ 22-สิ้นเดือนตุลาคม

นั่นหมายความว่าถ้าจะยกเพดานหนี้ก็ควรจะยกก่อนวันที่ 17 ตุลาคม น่าจะทำให้ตลาดตกใจน้อยที่สุด

Fed ไม่น่าจะลดขนาด QE ในการประชุมเดือนตุลาคม อย่างเร็วน่าจะเป็นเดือนธันวาคม จากความเสี่ยงทางการคลัง

ที่มีค่อนข้างสูง TISCO ESU เชื่อว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (The Federal Reserve : Fed) จะประกาศการลดขนาดของโครงการ Quantitative Easing (QE) ในการประชุมวันที่ 30 ตุลาคมนั้นน่าจะเป็นไปได้น้อยมาก อย่างเร็วก็น่าจะประกาศในการประชุมวันที่ 18 ธันวาคม อีกสาเหตุหนึ่งที่เราเชื่อว่า Fed น่าจะประกาศลดขนาด QE ในเดือนธันวาคม เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคมนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจหลาย ๆ ตัวที่ Fed ใช้เป็นตัวชี้วัดในการทำนโยบาย อาจไม่ได้มีการประกาศตัวเลขออกมา เนื่องจากหน่วยงานที่เก็บตัวเลขเหล่านี้ก็ถูกผลกระทบจาก Government Shutdown เช่นเดียวกัน

โดยรวมเรายังคงมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ความเสี่ยงทางการคลังดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นความเสี่ยงระยะสั้น โดยรวมแล้วจากตัวเลขการจ้างงาน การผลิต และภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ท่าทีล่าสุดของ Fed ที่ตัดสินใจคงขนาดโครงการ QE ต่อก็แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะยังดำเนินนโยบาย

ผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ TISCO ESU จึงยังคงมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สับขาหลอกหรือกดดัน !!??

คงติดตามค้นหาความจริงกรณีที่นายกฯ  ยังไม่นำเอาร่างแก้ไขรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่ก่อนนี้มีการยืนยันค่อนข้างชัดเจน ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าเป็นเกมสับขาหลอกหรือเป็นเพราะสภาวะที่กดดันกันแน่

ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึกประจำวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556

เรายังคงติดตามค้นหาความจริงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่นำเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.ขึ้นทูลเกล้าทูกระหม่อม ทั้งที่ก่อนนี้มีการยืนยันค่อนข้างจะชัดเจนว่ามีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าไปแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงเกิดข้อคำถามว่าสาเหตุที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้านั้นเป็นเพราะเป็นเกมสับขาหลอกหรือเป็นเพราะสภาวะที่กดดันกันแน่

หลังจากที่รัฐสภาลงมติวาระ3 แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กันยายน หลังจากนั้นนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนากยกรัฐมนตรีก็ออกมาเปิดเผยว่าน่าที่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯในวันที่ 1 ตุลาคม

หลังจากนั้นวันที่ 1 ต.ค.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่า ในเบื้องต้นฝ่ายเลขาธิการ ครม.ได้รับเรื่องจากทางรัฐสภาแล้ว โดยฝ่ายเลขาฯครม. ได้ร่วมตรวจสอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญแล้ว ดำเนินการเรียบร้อย
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ใช่ ทางฝ่ายเลขาครม.ได้ตรวจสอบทุกอย่างถูกต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นก็ต้องทำตามหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ ในการนำเสนอ”

2 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาย้ำอีกครั้งว่ากระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและได้มีหนังสือแจ้งมาว่ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบวาระ 3 ซึ่งถือเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ในส่วนของรัฐบาลโดยฝ่ายเลขานุการ ครม.ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวต้องตรวจสอบ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ได้ดำเนินการตรวจสอบในข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่นำเสนอตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ โดยไม่สามารถไปยึดตามหลักอื่นได้ ตนก็ต้องยึดหลักตามข้อกฎหมาย ในส่วนของความเห็นนั้นก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องยึดตามหลักของข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งขั้นตอนต่างๆถือว่าเสร็จสมบูรณ์

นายกรัฐมนตรีพยายามอธิบายว่า อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติคืออำนาจของประชาชนและรัฐสภา อำนาจของฝ่ายบริหารก็ต้องแยกกัน และตนเองก็มีหน้าที่ทำตามของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามเอกสาร ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ของ ส.ว.แล้ว หลังจากเลขาธิการคณะกรรมการฤษฎีกา และเลขาธิการคณะรัฐมมนตรี  ได้จัดทำเอกสารและตรวจสอบความเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานกับสำนักพระราชวัง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ลงพระปรมาภิไธย

แต่ปรากฎว่าในวันที่ 3 ตุลาคม นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับสำนักราชเลขาธิการ

ขณะที่ นายพงษ์เทพ เทพกาจนา รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ สว.ขึ้นทูลเกล้า เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พร้อมระบุว่า นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า กระแสข่าวดังกล่าวเป็นเพียงแค่ข่าวลือ รวมถึงได้ปฏิเสธกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการสอดไส้ เนื้อเพิ่มเติมโดยที่ รัฐสภาไม่รับทราบ

พิจารณาจากลำดับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะพบเห็นได้ถึงความผิดปกติอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการค้นหาคำตอบถึงอาการลังเลของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ก็ต้องมาดูว่าเกิดจากแผนสับขาหลอกหรือเป็นเพราะแรงกดดันทางการเมืองกันแน่

พิจารณาจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา ๑๕๐ ที่ระบุว่าร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

การนับ  20 วันตามบทบัญญัตินั้นเป็นการเริ่มต้นนับตั้งแต่ที่สภาส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้นายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าแบบไม่มีเงื่อนไขจริงๆ ก็ไม่ควรให้สภารีบส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้นายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรก

เพราะฉะนั้นเมื่อมีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ปรากฏว่าสถานการณ์หลังจากนั้นมีกลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในลักษณะกดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการกระทำที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท วึ่งอาจเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยังไม่นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า

อย่างไรก็ตามหากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าแล้ว ตามบทบัญญัติ มาตรา ๑๕๑ ระบุว่าร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน

ที่มา.ทีนิวส์
--------------------------------------