--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ป.ป.ช.ลุยต่อ คดีสรยุทธ์-ไร่ส้ม. !!??



ภักดี. เผย ป.ป.ช.เตรียมตั้งคณะทำงาน ลุยคดีสรยุทธ์-ไร่ส้มยักยอกเงินโฆษณา อสมท. 138 ล้านต่อ หลังสำนวนถูกตีกลับ ชี้ชัดคำตัดสินศาล ปค.กลางไม่มีผลต่อคดีนี้

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีการยักยอกเงินโฆษณาส่วนเกินของ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด กล่าวถึงกรณีที่ อัยการสูงสุด ตีกลับสำนวนคดี บริษัท ไร่ส้มจำกัด ยักยอกเงินโฆษณาเกินเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมผลิตรายการกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 138ล้านบาท ว่า เมื่ออัยการสูงสุด ส่งกลับมา แสดงว่ายังมีข้อที่ไม่สมบูรณ์ โดยต้องมีการพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นต่อไป ทั้งนี้ ทางอัยการสูงสุด จะแจ้งรายชื่อเพื่อเป็นกรรมการร่วมกับ ป.ป.ช. ในการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถทำให้สมบูรณ์ได้โดยความเห็นร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย คือ อัยการ กับ ป.ป.ช. ทางอัยการ ก็จะดำเนินการต่อไป เพื่อที่จะส่งฟ้องศาล แต่ถ้าคณะทำงานร่วมได้มีการพิจารณาร่วมกันแล้ว ยังมีประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ป.ป.ช. ก็ต้องส่งฟ้องเองตามหลักการ
 
ทั้งนี้ การดำเนินการที่เกี่ยวกับการไต่สวนคดีถือว่าจบไปแล้ว จะไม่มีการนำคำตัดสินของศาลปกครอง มาประกอบการพิจารณาอีก โดยจะมีการพิจารณาเฉพาะข้อที่ไม่สมบูรณ์ ที่ฝ่ายอัยการ แจ้งมาเท่านั้น ส่วนคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ที่ให้ บริษัท อสมท จ่ายเงินค่าโฆษณาเกินในสัญญาแก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด กว่า 55 ล้านบาท ก็ไม่เกี่ยวข้องกันกับการพิจารณา

ที่มา.ทีนิวส์
----------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กับ ภาคการเกษตร !!??

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ประมาณปลายปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็จะเปิดกันเต็มรูปแบบ ซึ่งก็หมายความว่าสินค้าส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริการ จะเปิดถึงกันอย่างเสรี ยกเลิกภาษีขาเข้าระหว่างกัน รวมทั้งกฎระเบียบอุปสรรคอย่างอื่นที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันก็คงจะยกเลิกไปด้วย เพื่อให้การค้าขายระหว่างกันเป็นไปอย่างเสรี จนจะกลายเป็นการค้าที่ไร้พรมแดนระหว่างกัน

การเปิดเสรีระหว่างกันเป็นการขยายตลาดอาเซียนให้ใหญ่โตขึ้น รัฐบาลก็ทำประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมากให้ประชาชนได้รู้ จะได้ปรับตัวให้ทันเมื่อเวลามาถึง

สำหรับประเทศไทย โดยส่วนรวมน่าจะได้ประโยชน์เพราะตั้งอยู่ใจกลางของประชาคม รายล้อมด้วยประเทศอาเซียนใหม่ อันได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อีกทั้งอยู่ใกล้จีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก เมื่อเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย ในแง่ของที่ตั้งและระดับของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เราน่าจะได้ประโยชน์กว่าประเทศอาเซียนเก่าอื่น ๆ

แต่เมื่อคำนึงถึงภาคเกษตรกรรมแล้วน่าห่วง โดยเฉพาะพืชหลักที่เราผลิตส่งออกเป็นจำนวนมาก เป็นผู้นำของโลก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม พืชดังกล่าวขณะนี้เป็นพืชที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรเป็นจำนวนมากชดเชยการผลิต ต้นทุนการผลิตสูงเพราะขาดแคลนแรงงาน ต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักร ใช้น้ำมัน รวมทั้งใช้แรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ในกรณีเรื่องข้าว ไทยคงได้เปรียบมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับสิงคโปร์นั้นไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร แต่เราก็ไม่ได้เปรียบพม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเทศเหล่านี้ก็เสียเปรียบในเรื่องระบบการขนส่ง แต่ต่อไปข้างหน้าเมื่อถึง พ.ศ. 2558 สินค้าเกษตรเหล่านี้จะสามารถส่งข้ามพรมแดนกันได้อย่างเสรี ถ้าประเทศไทยยังคงไม่มีการเตรียมตัวก็น่าจะมีปัญหาราคาข้าว ราคายางพารา ราคามันสำปะหลัง ราคาข้าวโพด ราคาลำไย ต้องเป็นไปตามราคาตลาด หากยังคงโครงการรับจำนำพืชผลต่าง ๆ ในราคาที่สูงกว่าตลาด สินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้านก็คงจะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ นำเข้ามาจำนำ ซึ่งที่จริงก็คือเอามาขายให้กับรัฐบาลไทยนั่นเอง รัฐบาลจะเอาเงินภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนไทยไปรับซื้อข้าวพม่า ข้าวกัมพูชา ข้าวเวียดนาม หรือไปรับซื้อยางพาราจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีก็ไม่ควรจะยอม

แม้ทุกวันนี้การที่รัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชนไปทำโครงการรับจำนำข้าว จำนำยางพารา มันสำปะหลัง ใช้เงินภาษีอากรไปชดเชยการขาดทุนจำนวนมหาศาล และชาวไร่ชาวนาก็ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่สูญเสียไปกับค่าขนส่ง ค่าเช่าโกดัง ค่าสินค้าสูญหาย เสื่อมสภาพ ความสามารถส่งออกไม่มี หรือมีก็ต่ำกว่าเอกชนผู้ส่งออก ประเทศผู้นำเข้าถ้าซื้อก็ซื้อกดราคาลง เพราะรู้หมดว่าประเทศไทยมีข้าว มียาง มีมัน เก็บอยู่ในโกดังเท่าไหร่ ประชาชนผู้เสียภาษียังไม่รู้สึก แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถรักษาวินัยทางการคลังไว้ได้และต้องขึ้นภาษี เมื่อนั้นผู้เสียภาษีคงจะรับไม่ได้

หากไม่เตรียมตัว ไม่ปรับตัวเสียแต่เนิ่น ๆ เกษตรกรที่เคยได้รับผลประโยชน์จนเคยชินจากนโยบายของรัฐบาลก็คงจะไม่เข้าใจและยอมรับไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัญหาการเมืองทันที จะไม่เกิดความโกลาหลขึ้นหรือเมื่อเวลานั้นมาถึง รัฐบาลก็คงจะเปลี่ยนวิธีมาใช้วิธีชดเชยตามเนื้อที่การเพาะปลูกเหมือนกับ

กรณีของยางพาราในขณะนี้ แต่ก็คงจะทำไปตลอดกาลไม่ได้ มิฉะนั้นก็เท่ากับเราเอาภาษีอากรของประชาชนไปอุดหนุนผู้นำเข้าในต่างประเทศเราควรจะต้องตระหนักว่า เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดเสรีสำหรับสินค้าเกษตรกรรมกับประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียน ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศเหล่านี้ต้องสอดคล้องกับราคาในตลาดโลก สามารถขึ้นลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก

เนื่องจากระดับการพัฒนาของประเทศอาเซียนเก่าสูงกว่าประเทศอาเซียนใหม่ แม้ว่าผลผลิตต่อไร่ของเราอาจจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราใช้เครื่องจักร ใช้พลังงาน ใช้ปุ๋ยในอัตราที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานเสียแล้ว ต่อไปข้างหน้าก็คงจะขาดแคลนยิ่งขึ้น

ถ้าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขยายตัวมากขึ้น การจะคงปริมาณการผลิตไว้ในระดับที่สูงแล้วชดเชยด้วยเงินภาษีอากร ก็ยิ่งจะเป็นภาระอย่างหนักกับประชาชนผู้เสียภาษี จะเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ไม่ให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

ไม่น่าจะมีทางเลือกอื่น นอกจากวางแผนลดการผลิตสินค้าเกษตรที่ต้องการเงินชดเชยช่วยเหลือลงตามลำดับ ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้ายังมัวแต่ตั้งงบประมาณจากภาษีอากรไปชดเชยราคาสินค้าที่เราไม่มีความได้เปรียบในการผลิตเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

อีกทางหนึ่งที่จะลดปริมาณการผลิตของสินค้าเกษตรราคาลงก็คือ จำกัดเนื้อที่เพาะปลูก ลดการส่งออกลง เพราะการชดเชยราคาให้เกษตรกรไทยก็เท่ากับรัฐบาลจ้างเกษตรกรไทยผลิตข้าว ผลิตยางพารา แล้วขายให้กับผู้บริโภคหรือ

ผู้ใช้ในต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่าต้นทุนการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตเมื่อรวมกับต้นทุนของเกษตรกรและต้นทุนจากภาษีอากรของประชาชนแล้ว มีอัตราสูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคและผู้ใช้สินค้าเกษตรของไทยจ่าย ในระยะยาวประชาชนผู้เสียภาษีก็คงจะยอมไม่ได้ ถ้ายังต้องใช้เงินเป็นแสน ๆ ล้านอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ทางเดียวก็คือต้องให้การศึกษากับสังคมว่า เราคงจะทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าราคาถูก เช่น ข้าวนาปรัง ต้องปรับเปลี่ยนระบบชลประทานที่มีให้เหมาะสมและคุ้มค่ากับสิ่งที่ผลิต เช่น สินค้าเกษตรชนิดอื่น หรือเปลี่ยนไปเป็นการประมง ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

เมื่อประเทศเพื่อนบ้านของเรา พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว พัฒนาระบบการขนส่งภายในประเทศของเขา เปิดพื้นที่อันกว้างใหญ่ของเขาให้ติดต่อตลาดโลก ประกอบกับจำนวนประชากรที่มาก ค่าแรงงานยังต่ำกว่าเรา ระดับการพัฒนายังต่ำกว่าเรา การเมืองได้รับการปฏิรูปให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกมากขึ้น นักลงทุนย่อมจะพากันไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น เราเองต้องถอยออกจากภาคเศรษฐกิจนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะอยู่กับความภูมิใจว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งต่อไปไม่ได้

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา คงจะมาถึงเร็วขึ้นจากการเกิดเออีซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมและบริการคงจะไม่มีผลกระทบอะไรมาก เพราะการลดภาษีขาเข้าและสิ่งกีดขวางทางการค้าได้ค่อย ๆ ลดลงมา ได้ปรับตัวกันมานานแล้วแต่ภาคเกษตรกรรมของเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////

เล็งผุดสนามบินเชียงใหม่สอง ล้อแผนยกศูนย์ประชุมสู่นานาชาติ !!??

นายนพรัตน์ เมธาวีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) กล่าวว่า จากกรอบแนวทางดำเนินงานเพื่อพัฒนาศูนย์ประชุมนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ให้ เป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการของประเทศและภูมิภาคอาเซียนภายในระยะ เวลา 5 ปีนั้น ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือระยะแรก ปี 2556 เน้นการทำตลาดภายในประเทศและวางรากฐานอุตสาหกรรมไมซ์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชียงใหม่เป็นเมืองยุทธศาสตร์ไมซ์ ระยะที่ 2 ปี 2557-2558 ขยายการส่งเสริมการตลาดระดับภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือในอนุภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และประเทศในอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ระยะที่ 3 ยกระดับเชียงใหม่ให้เป็นจุดหมายการประชุมระดับนานาชาติ

"แผนระยะที่ 2 นอกจาก สสปน.จะพัฒนาฐานข้อมูลไมซ์จังหวัดเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ยังร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ส่งเสริมตลาดในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มน้ำโขง และประเทศในอ่าวเบงกอล โดยกำหนดอุตสาหกรรมหลักเป็นหัวหอกในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ เช่น ศิลปหัตถกรรมและหัตถศิลป์ สิ่งทอ สมุนไพรและสปา สุขภาพและอาหาร โดยยังคงเสน่ห์ล้านนาด้านงานแสดงสินค้าภายในประเทศ พร้อมร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ส่งเสริมและดึงงานประชุมสัมมนาจากกลุ่ม GMS และ BIMSTEC เข้ามาจัดในเชียงใหม่ เชื่อว่าตั้งแต่ปี 2560 ศูนย์ประชุมนี้จะพร้อมรับการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ระดับนานาชาติแห่งใหม่ของไทย" นายนพรัตน์กล่าว

นายฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปี 2557 จะเพิ่มกิจกรรมต่างประเทศต่อเนื่อง พร้อมกับต่อยอดกิจกรรมในอดีต ตามแผนแม่บทเชียงใหม่ซิตี้ เน้นตลาดอาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลางเป็นหลัก ทั้งนี้ จังหวัดอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่สอง รวมถึงแผนการพัฒนาขนส่งมวลชนในตัวเมืองเชียงใหม่รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์ในอนาคต

"ปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมไมซ์ของเชียงใหม่จะเติบโตด้านจำนวนคน 5% เมื่อเทียบกับปี 2555 หรือคิดเป็นผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 72,424 คน ส่วนรายได้เติบโตสูงถึง 10% คิดเป็น 4,245 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ คาดว่าจะเติบโต 15% คิดเป็นจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 4.3 ล้านคน สร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศ 1.37 หมื่นล้านบาท" นายฤทธิพงศ์กล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน
--------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

อดีตในอนาคต 1

โดย.พญาไม้

ความสำเร็จของ ทักษิณ ชินวัตร ในการแย่งชิงทำเนียบไทยคู่ฟ้าจากพรรคประชาธิปัตย์..ไม่ใช่มาจากป้ายโฆษณา..และคำพรรณนามากมายที่จะทำความร่ำรวยให้กับประชาชนคนยากจนในประเทศ

หากแต่มาจากความเบื่อหน่าย..ในการต่อสู้อันยาวนานของพรรคประชาธิปัตย์กับฝ่ายตรงกันข้ามในยุคนั้น และการทรยศหักหลังกันไปมาในระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองและพรรคการเมือง

ประชาชนไม่ได้อะไรจากการมีผู้แทนปวงชนในสภา..

ประชาชนยากจนมากขึ้นทุกวัน..ในขณะที่คนในสภากล่าวหากันไปมาในเรื่องคอรัปชั่น..และเมื่อตัวเลขความมั่งคั่งของนักการเมืองปรากฏในบัญชีทรัพย์สิน

ร้อยล้านพันล้านบาทนั้นมาจากไหน..

ดังนั้น เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร เสนอตัวเข้ามาในฐานะพรรคไทยรักไทย..จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ประชาชนใช้เป็นทางหลีกจากความเบื่อหน่ายกับพรรคการเมืองเก่าๆ

ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ทำให้ประชาชนผิดหวัง..มีโครงการต่างๆ มากมายที่ทำให้ประชาชนได้สัมผัสและเข้าถึงในสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

บวกกับการใช้การประชาสัมพันธ์อย่างมีรูปแบบ..รัฐบาลของเขาจึงโดดเด่น..และได้รับการตอบรับจากประชาชนในการเลือกตั้งใหญ่คราวใหม่

ก่อนจะถึงวันปฏิวัติ 19 กันยายน..รัฐบาลของเขาถูกกล่าวหามากมายในเรื่องคอร์รัปชั่น..ประชาชนเริ่มคล้อยตามกับข้อกล่าวหา..

คนในครอบครัวของเขาเริ่มถูกตะโกนด่าว่า..เมื่อปรากฏตัวในที่สาธารณะ..การปรากฏตัวของฝ่ายต่อต้านได้รับความเชื่อถือ..

ถ้าไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้น..พรรคไทยรักไทยก็จะประสพกับชะตากรรมเช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ในเรื่อง สปก 4-01

แต่เพราะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น..ขบวนการประชาธิปไตยจึงกลายเป็นแนวร่วมของเขา..จนเมื่อประชาชนได้ชัยชนะจากการเรียกร้องการเลือกตั้ง..พรรคการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร จึงจัดตั้งรัฐบาล
คงต้องว่ากันอีก..กับอดีตที่กำลังจะกลับมาเป็นอนาคต

ที่มา.บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////

พท.โหวตแก้ รธน.ที่มา ส.ว.-ปชป.เสนอเลื่อน !!??

"เพื่อไทย" ยันเดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว. ขณะที่ปชป.เตรียมเสนอเลื่อนลงมติวาระ 3

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. แต่ไม่มีคำสั่งชะลอการลงมติในวาระ 3 นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่า ขณะนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาได้ออกหนังสือเพื่อเรียกประชุมรัฐสภาในวันที่ 28 ก.ย. ในเวลา 10.00 น. เพื่อลงมติ ในวาระ 3 แล้ว และเพื่อให้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ยังยืนยันที่จะเดินหน้าลงมติ ทั้งนี้ตามกระบวนการก็ได้ระบุชัดเจนว่าหลังจากผ่านการพิจารณาวาระสองต้องโหวตใน 15 วัน ตนเชื่อว่าการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงมติของสมาชิกรัฐสภา

นายอำนวยกล่าวต่อว่า ที่หลายฝ่ายกังวลว่าแม้จะลงมติได้ แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากพิจารณาตาม รธน. มาตรา 90 ที่ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัติริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจาเพื่อประกาศใช้บังคับต่อไป ประเด็นนี้เมื่อสภาได้ให้ความเห็นชอบในวาระสามแล้ว จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงในกระบวนการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับความยินยอม ขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย

"การลงมติเป็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และฝ่ายนิติบัญยัติที่จะเดินหน้าได้" นายอำนวย กล่าว

"คำนูณ"ถามความเหมาะสมหากจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอการลงมติ ดังนั้นการนัดหมายในวันที่ 28 ก.ย. นี้ เชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนมองเรื่องปัญหาการขึ้นทูลเกล้าฯ หากพิจารณาตามกระบวนการที่ระบุใน มาตรา 291 ก็เป็นกระบวนการที่สภานิติบัญญัตติสามารถทำได้ โดยมีกำหนดระยะเวลาให้รัฐสภานำร่างแก้ไขที่ได้รับความเห็นชอบส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วัน เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย และไม่ได้มีการเว้นช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ดังนั้นอาจจะมีปัญหาว่าการนำร่างที่ยังอยู่ในระหว่างตีความขึ้นทูลเกล้าฯจะมีความเหมาะสมหรือไม่

ปชป. เตรียมเสนอเลื่อนลงมติวาระ 3

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าจากาารที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว แต่ไม่ได้ชะลอ ตนมองว่าประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ทางรัฐสภาต้องมาพิจารณาว่าจะเดินหน้าลงมติในวาระสามต่อหรือไม่ โดย ส่วนตัวมองว่าการลงมติวาระสามสามารถที่จะชะลอ ยกตัวอย่างเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ลงมติ ดังนั้นทำให้เห็นว่ายังมีเวลาที่จะชะลอได้ เบื้องต้น 28 ต.ค. ประชาธิปัตย์ ต้องหารือและเสนอให้เลื่อนการลงมติออกไปปแต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นกะบเสียงข้างมากในที่ประชุม หากที่ประชุมยังเดินหน้าลงมติ ก็อาจจะเป็นปัญหาต่อไปในกระบวนการที่นายกฯจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าภายใน 20วัน ดังนั้นก็ควรรอให้ครบ 20 วันแล้วจึงทูลเกล้าฯ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการใช้พระราชวินิจฉัย

จุฬาฯชี้ศาลรธน.เร่งวินิจฉัย หวั่นเกิดปัญหา

ขณะที่นันทวัฒน์ บรมานันท์ อ.นิติศาสตร์จุฬา กล่าวว่าเรื่องนี้ทางสภายังคงที่จะเดินหน้าเพื่อทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้อยู่ถึงแม้ว่าจะมี สมาชิกส่วนหนึ่งมองว่าควรชะลอ แต่อย่าลืมว่าแม้จะส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน ทางสภาสามารถเดินหน้าลงมติได้

ส่วนประเด็นนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายนันทวัฒน์ได้ยกตัวเอย่า กรณีการแต่งตั้ง กสทช. ซึ่งมีผู้ยื่นต่อศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ว่ากระบวนการได้มามิชอบ และ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะนะงับไว้ก่อน แต่ก็มีเสียงว่านายกไม่ควรระงับเพราะเท่าากับเป็นการแทรกแซง นายกจึงไม่ระงับไว้ ทั้งๆที่มีการยื่นคำร้องต่อศาลอยู่ ตามกระบวนการนี้เมื่อลงมติผ่านวาระสามไปแล้ว กฎหมายให้อำนาจนายกนำขึ้นทูลเกล้าโดยทันที

นายนันทวัฒน์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามิชอบอาจจะเป็นปัญหาได้ว่ายกเลิกได้หรือไม่ ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นเรื่องด่วนก็ควรไต่สวนหรือพิจาณราให้แล้วสร็จก่อนที่จะลงมติหรือนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ระบุศาลรธน. มีอำนาจรับเรืองไว้พิจารณา

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการยื่นคำร้องครั้งนี้ต้องมองเป็นสองกรณี คือ 1.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68 ว่าด้วยการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่ และ 2.กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยข้อบังคับตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยทีเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาที่มีการสงวนความเห็นและคำแปรญัตติได้อภิปรายอย่างครบถ้วนหรือไม่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ตนมองว่าเป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะรับคำร้องได้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการใช้สิทธิของสมาชิกรัฐสภาและตัวรัฐสภา ที่สมาชิกรัฐสภาถูกมองว่าถูกจำกัดสิทธิ ส่วนที่จะขัดกับ ม. 68 หรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าหากศาลพิจารณาเรื่องการจำกัดสิทธิ การวินิจฉัยเรื่อง ม. 68 น่าจะสอดคล้องกัน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

สัมภาษณ์พิเศษ : ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ต้นทุนแฝงแพงกว่าที่คิด !!??

การค้าขายในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ซึ่งกระบวนการผลิตสินค้ามีต้นทุนแฝงมากมาย โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งพลังงานนอกจากจะทำให้สูญเสียเม็ดเงินแล้ว หากปล่อยขึ้นไปในอากาศมากๆ ยัง ก่อให้เกิดผลเสียต่อโลก และกำลังจะกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ ที่กลุ่มประเทศอาเซียนหยิบยก มาพูดถึง

ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ถึงแนวทางการทำอุตสาหกรรมยุคใหม่ และการเข้ามาเป็น แรงขับเคลื่อนของสถาบันมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

อยากให้เล่าถึงบทบาทของสถาบันฯโดยสังเขป?

งานที่เราทำมีหลายด้าน เช่นการ นำเสนอข้อมูลให้คนศึกษาเพื่อมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและปรับตัว โดยดึงทุกภาค ส่วนมาทำงานร่วมกัน เมื่อขับเคลื่อนในประเทศเสร็จได้ผลดีก็ขยายผลไปสู่ต่างประเทศ ถ้าต่างประเทศมีเรื่องใหม่ๆ ก็นำมาขยายผลในประเทศไทย

 โครงการที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรม? 

ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้น อากาศจะร้อนขึ้น ผลไม้จะเปลี่ยนฤดูกาล สื่อสารให้คนไทยปรับตัวในการสร้างผลผลิตหรือการบอก กับประเทศเพื่อนบ้านว่าน้ำในแม่โขงจะลดลงแล้วนะ ต้องมาคุยว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร ถ้าจีนสร้างเขื่อนกักน้ำเรา จะหาทางออกอย่างไร หรือเจรจาต่อรองกับจีน เพื่อให้เกิดการปรับตัวอย่างไร สร้างเขื่อนอย่างไรโดยไม่กระทบกับประเทศที่อยู่ปลาย น้ำ หรือในอนาคตเราจะต้องเจอแน่ๆ ถ้าไม่ เตรียมการคือเรื่องพลังงาน เราซื้อพลังงาน ข้างนอกมาใช้ ไม่ลดการใช้ลง ไม่หาแหล่งพลังงานใหม่ๆ อย่างแอลพีจีถ้าไม่มีการปรับ ราคาเปิดประชาคมอาเซียน คนจะแห่มาซื้อเมืองไทยจนหมด เพราะเราขายถูก

 อนาคตการทำเกษตรบ้านเราควรปรับตัวอย่างไร?

เกษตรมี 2 แบบคือปลูกเพื่อกินในประเทศ ต้องมีระบบการจัดการว่าพื้นที่ไหนปลูกพืชอาหาร พื้นที่ไหนปลูกพืชพลัง งาน ทุกวันนี้เกษตรกรไทยมีปัญหาผลผลิต ต่อไร่ต่ำ จึงต้องมีการนำระบบวิจัยและพัฒนามาใช้ ทำยังไงให้เพิ่มผลผลิตได้ ต้อง ปลูกของดีแล้วขายราคาแพง ไม่ใช่ปลูกของถูกเพื่อส่งออก อุตสาหกรรมก็เหมือน กัน อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงแล้วส่งออก ถ้าราคาไม่ดีมาก ควรทำหรือเปล่า หรือว่าควรหยุดการส่งเสริม

ในอาเซียนดำเนินการเรื่องเหล่านี้อย่างไร? 

ประเทศที่ฉลาดสุดคือสิงคโปร์ โรง งานที่มีมลพิษมากๆ เขาไม่เอา มาเลเซียก็ ใช้วิธีนี้ เวียดนามก็เริ่มใส่ใจเพราะบริษัทใหญ่ๆ เข้าไปลงทุนในเวียดนามมาก ซึ่งเขาก็เรียนรู้จากเรา เอาไปตั้งกติกาในประเทศของเขา สำหรับประเทศไทยก็ต้องประเมินว่าควรจะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากๆ หรือเปล่าเพราะถ้าเรา ต้องผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานเช่นน้ำมันจำนวนมาก โดยต้องจัดหาพลังงานมาให้กับอุตสาหกรรมนั้นๆ อาจจะไม่ฉลาดนัก เพราะคนที่ได้คือเจ้าของโรงงาน แต่ประเทศ เหนื่อย ต้องหาพลังงานจำนวนมากมาให้บริษัทนี้เพื่อผลิตของขาย เราน่าจะมีหลัก ในการคิดใหม่ว่าอุตสาหกรรมไทยจะไปทาง ไหน ควรจะมีอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากๆ ได้แค่ไหน ถ้าดูแล้วได้เงินเข้ามาพัฒนาประเทศไทยไม่มาก กำไรนิดหน่อย แต่ต้องคอยหาพลังงานมาอุดหนุน เกิดผล กระทบต่อสุขภาพ ระบบนิเวศเสีย วัตถุดิบ ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาจจะต้องเลิกการส่งเสริมสนับสนุน เหมือนสิงคโปร์ที่เลือกอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพเข้า ไปตั้งในประเทศ

เห็นว่าร่วมกับบริษัทดาว เคมิคอลทำโครงการพี่ช่วยน้อง?

คุยกันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คอนเซปต์บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด มองว่าอยากทำซีเอสอาร์ แต่สถาบันไม่ได้ มองว่าซีเอสอาร์สำคัญ ก็พยายามคุยให้เปลี่ยนใจ หาจุดดีของดาวจนเจอว่าดาวมี โรงงานที่จีน ซึ่งมีกฎระเบียบเรื่องคลีนเนอร์เทคโนโลยีถึงขั้นผลิตตำราภาษาจีน มีระบบการลดความสูญเสียในกระบวน การผลิตสินค้า การป้องกันอุบัติเหตุกับบุคลากร จึงเอาบทเรียนที่เขาทำได้ดีในจีน มารวมกับประสบการณ์ของเราที่เคยทำเรื่อง Lean แล้วนำเสนอในรูปแบบพี่ใหญ่ ดูแลน้อง ช่วยอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

รูปแบบการทำงานเป็นอย่างไร?

เริ่มต้นด้วยการพัฒนาแนวคิดและจัดทำคู่มือ Lean Management for Environment ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยดำเนินการร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และหุ้นส่วนเชิง สร้างสรรค์ไทย-สหรัฐฯ ในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและการป้องกันมลพิษที่ยั่งยืน ให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมแล้ว กว่า 2,000 คน โดยแก้ไขปัญหาที่ต้นทางอย่างครบวงจรเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดมลพิษ ลดการใช้พลังงาน แต่เกิดประสิทธิภาพที่ดีต่อการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งจะทำให้ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโตควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมได้ในระยะยาว ช่วยยกระดับองค์กรให้ก้าวไปสู่การเป็น "Green Industry" รวมทั้งเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างระบบ "เศรษฐกิจสีเขียว" ขยายผลไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จากนั้นขยายสู่ภาคส่วนอื่นๆ ให้มีการนำองค์ความ รู้ที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติในลักษณะ "Good Practice" และมีการประยุกต์ใช้ Lean Management for Environment ในโรงงานนำร่อง

คัดเลือกโรงงานที่เข้ามาร่วมอย่างไร?

ตอนแรกเรามองโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปัญหาด้านต้นทุนและมลพิษเยอะ เช่น โรง งานเซรามิก โรงงานฟอกย้อม ซึ่งจบโครงการเฟสแรกไปแล้ว ปัจจุบันขึ้นเฟสใหม่ คัด เลือกโรงงานทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเน้นการ ฝึกอบรมเชิงลึกว่าการลดการสูญเสียทำได้อย่างไร โดยจะคัดเลือกโรงงานที่มีความตั้งใจอยากปรับปรุงกระบวนการผลิตจริงๆ

อุตสาหกรรมที่ทำตามระบบดังกล่าวจะดีขึ้นอย่างไร?

ยกตัวอย่างเซรามิก เวลาขึ้นรูปจะสูญเสียประมาณ 50% เบี้ยวบ้าง สีเพี้ยนบ้าง ต้องทิ้ง เราก็ต้องสอนให้เขาควบคุมกระบวนการผลิตให้สูญเสียน้อยที่สุด เผา แจกันใบหนึ่ง พลังงานก็ต้องเสีย ดินก็ต้อง เสีย สีก็ต้องเสีย หลักการคือเอาระบบลีนเข้าไปลดการสูญเสีย ให้ได้ของเกรดดีขายได้ราคาแพงขึ้น หรือการผลิตยามีกติกาว่ายาที่ผลิตแล้วเสีย สามารถนำกลับ มาใช้ใหม่ได้แค่ 10% ห้ามเกินเป็นกติกาสากล ถ้าไม่ทำตามนี้ถือว่ามีความผิด ถ้าเสีย 15% ก็ต้องทิ้ง 5% เราต้องอบรมว่า ทำยังไงจะลดความสูญเสียเรื่องยาได้ทำยังไงให้ประหยัดพลังงานได้ ทำยังไงให้ใช้แรงงานได้คุ้มที่สุด บางอย่างเป็นต้นทุนที่คิดไม่ถึง เช่น พนักงานเลิกงานกลับบ้านเอาเครื่องลมเย็นฉีดไล่ความสกปรกก็เกิด ความสูญเสียแล้ว

ถ้าเปิดเออีซีอุตสาหกรรมไทยสู้อาเซียนได้ไหม? 

ฝีมือแรงงานต้องพัฒนา ภาษาอังกฤษต้องได้ ถ้าแรงงานเราไม่พัฒนา โรงงานเขาก็ย้ายไปหาที่ใหม่ที่มีต้นทุนถูกกว่า แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเราต้องลดต้นทุนแฝงให้ได้ ถ้าลดต้นทุนแฝงได้ ก็เท่า กับลดคอสต์การผลิต ศักยภาพการแข่งขันก็สูงขึ้น

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////

การแทรกแซงราคาพืชผล : บทเรียนที่ต้องจดจำ !!??

การออกมาชุมนุมประท้วงราคายางพาราตกต่ำของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและมีอาชีพเกี่ยวกับยางพาราทั่วประเทศ จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการปิดถนน ปิดทางรถไฟ ยึดสถานที่ราชการ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แน่นอนว่าย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และไม่ใช่เป็นการชุมนุมประท้วงตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวอ้างอย่างแน่นอน

เพราะการชุมนุมดังกล่าวมีการละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างชัดแจ้ง และการชุมนุมในลักษณะเช่นนี้ ถ้าเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีอำนาจอย่างเต็มที่ตามกฎหมายในการเข้าสลายการชุมนุม เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องรอฟังคำสั่งจากนักการเมืองหรือรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม อาจถูกกล่าวหาฟ้องร้องจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ว่าเจ้าหน้าที่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการชุมนุมประท้วงจนบานปลาย กลายเป็นม็อบและมีการปิดถนนไปหลายแห่งนั้น สาเหตุหลักก็คือ เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ในอดีตก็มีการประท้วงกันอยู่เป็นประจำ รัฐบาลก็แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง วิธีการแก้ไขก็วนเวียนกันไปมา ระหว่างการรับจำนำ การประกันราคา การให้เงินช่วยเหลือ ฯลฯ ซึ่งก็ทำกันอยู่อย่างนี้เรื่อยมา โดยไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาวกันแต่อย่างใด

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในเมื่อเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติเป็นประจำ ทำไมปีนี้บรรยากาศการประท้วงจึงรุนแรงกว่าทุก ปี ทั้งๆที่ราคายางก็ยังไม่ได้ตกต่ำอะไรมากมายจนเกินไปนัก ว่า กันที่จริงราคายางที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท ก็ยังพออยู่กันได้ เพียง แต่ไม่มีกำไรมากมายนัก แต่แน่นอนว่าถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับ ราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 140-150 บาท/กก. ก็จะรู้สึกว่าราคา ตกต่ำลงมามาก แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าราคานั้นเป็นราคาที่สูงเกินปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง และเป็นราคาที่ไม่ยั่งยืน อยู่ได้ไม่นาน

ผมมาวิเคราะห์ดูแล้วก็เห็นว่า มีปัจจัยอยู่สองประการที่ทำ ให้การประท้วงในปีนี้ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าทุกปี คือ

1.บรรยากาศทางการเมืองที่มีการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งมีความพยายามที่จะปลุก ระดมมวลชนนอกสภาให้เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองของพรรค การเมืองทั้งสองฝ่าย ยิ่งทำให้การต่อสู้ทางการเมืองมีความเข้มข้นมากขึ้น และลุกลามออกมานอกสภา

ถึงแม้ว่าทางฝ่ายเกษตรกรผู้ชุมนุมจะปฏิเสธว่าไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองหนุนหลัง แต่การที่การชุมนุมมีความเข้มข้นรุนแรงมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของพรรคฝ่ายค้าน ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการประท้วงครั้งนี้ปลอดจากการเมืองโดยสิ้นเชิง

2.นโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดมากถึง 40% ของรัฐบาล นโยบายนี้เป็นนโยบายดาบสองคมของรัฐบาล ทางหนึ่งทำให้รัฐบาลชนะการเลือกตั้ง และเมื่อทำได้จริง ก็ได้รับความนิยมจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้รัฐบาลเผชิญกับปัญหาข้าวล้นสต็อก ขายไม่ออก ขาดทุนมหาศาลจากโครงการนี้ ถูกตรวจสอบอย่างหนักจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

มาคราวนี้รัฐบาลยังถูกเกษตรกรชาวสวนยางย้อนรอยว่า รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายสองมาตรฐานกับเกษตรกร โดยรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาในตลาดโลกมาก แต่กับยางพารารัฐบาลกลับไม่ยอมประกันราคาหรือรับจำนำในราคาสูงเช่นเดียว กันกับข้าว แต่กลับบอกว่าต้องเป็นไปตามราคาในตลาดโลก

ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญครับ และรัฐบาลคงดิ้นไม่หลุด เพราะเป็นผู้ไปผูกปัญหาเอาไว้เอง โดยลืมไปว่า การรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดโลกมาก จะเป็นตัวอย่าง ให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นเรียกร้องเอาอย่างตาม

เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่หาทางออกลำบากครับ เพราะรัฐบาลจะไปบอกว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความสำคัญกว่าเกษตรกรชาวสวนยางก็พูดไม่ได้ หรือจะบอกว่าข้าวสำคัญกว่า ยางพาราก็พูดได้ไม่ถนัดปากนัก พูดมากไปจะกลายเป็นการแบ่งพื้นที่ช่วยเหลือตามพื้นที่คะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งเสีย อีก ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพรรครัฐบาลที่ถูกโจมตีในเรื่องนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว

ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายที่ไม่รอบคอบ มองไม่รอบด้านเท่าที่ควร และข้อสำคัญไม่มีความเข้าใจว่า นโยบายประชานิยมนั้น เมื่อนำมาใช้ก็เหมือนยาเสพติด มีแต่จะต้องใช้ยาแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนโยบายอุดหนุนหรือแทรกแซงราคาสินค้าทางการเกษตรนั้นกูรูทางการตลาดเขาบอกเอาไว้แล้วว่า เป็นประชานิยมขั้นสุดยอด ทำแล้วได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ แต่ต้องทำให้เป็นนะครับ ถ้าทำไม่เป็น มันก็จะหันกลับมาบาดมือจนเลือดสาดแบบนี้ละครับ

อย่างที่เขาเรียกกันว่า "ประชานิยมไร้เดียงสา" ไงล่ะครับ !!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

จัดระบบเทรดทอง สกัดค่าเงินป่วน !!??

สมาคมค้าทองเตรียมเสนอแผนตั้งศูนย์กลางตลาดค้าทองในประเทศ จัดระเบียบการซื้อขาย ลดแรงกดดันค่าเงินผันผวน ก.ล.ต.ผนึกธปท.ดูแลการเก็งกำไรค่าเงิน

นายภควต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า สมาคมค้าทองคำมีแนวคิดจัดตั้งศูนย์กลางตลาดซื้อขายทองคำ (Gold Exchange) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของนักลงทุนที่ต้องการซื้อและขายทองคำแท่ง สามารถมาซื้อขายในตลาดนี้ซึ่งอยู่ภายในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายทองคำแท่งจะเป็นลักษณะนักลงทุนแต่ละรายซื้อ สั่งซื้อขายทองผ่านผู้ประกอบการแล้วผู้ประกอบการค้าทองก็จะนำเข้าทองจากต่างประเทศ

ดังนั้น หากมีตลาดซื้อขายทองคำแท่งในประเทศ เชื่อว่าจะลดแรงกดดันต่อการเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการสั่งซื้อ-ขายทองคำแท่งจากต่างประเทศ จะเกี่ยวข้องกับการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไปกระทบกับการดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะทำหน้าที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ เนื่องจากปริมาณการเทรดทองคำแท่งในประเทศช่วง 2-3 ปีผ่านมามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นมาก จนติดอันดับ 3 ของเอเชีย

"หากมีตลาดซื้อขายทองคำแท่งในประเทศ ถ้านักลงทุนซื้อทองแท่งมากกว่าที่มีนักลงทุนเสนอขาย ก็ค่อยนำเข้าทองแท่งมา เฉพาะส่วนต่างระหว่างซื้อกับขาย ก็จะช่วยลดแรงกดดันเรื่องการซื้อเงินตราต่างประเทศ เพราะจะซื้อเฉพาะที่เป็นส่วนต่างกันเท่านั้น" นายภควัต กล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า ข้อดีของการมีตลาดซื้อขายทองคำแท่ง จะเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาซื้อขายทองในประเทศไทยได้ด้วย แทนที่ผู้ประกอบการจะออกไปเทรดต่างประเทศ เช่น ที่ตลาดสิงคโปร์ ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอมาให้ผู้ประกอบการค้าทองในประเทศไปตั้งบริษัท เพื่อดึงรายการซื้อขายทองแท่งในไทยไป

นอกจากนี้ยังเป็นการจัดระเบียบการค้าทองในประเทศด้วย โดยอาจให้ตลาดหลักทรัพย์มาวางระบบให้ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์มีประสบการณ์ทั้งตลาดหุ้นและตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็จะช่วยให้ตลาดซื้อขายล่วงหน้า มีความคึกคักเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากทั้งสองตลาดจะลิงค์ถึงกันได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่ทำให้ตลาด Gold Exchange ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครเป็นเจ้าภาพที่จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลความเรียบร้อย ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมก็เคยไปหารือกับหลายหน่วยงาน แต่ไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ ทั้งที่ตลาดซื้อขายทองแท่งในประเทศปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาล บางรายเทรดกันปีละเป็นแสนล้านบาท

"เท่าที่ผมทราบคุณจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทอง ได้มีแนวคิดการเรื่องจัดตั้งตลาดค้าทองมานานแล้วประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปในสมาคมฯ รวมทั้งยังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ ในการจัดตั้งและกำกับหากตั้งเป็นตลาดค้าทองแท่งในประเทศ"นายภควัตกล่าว

ทั้งนี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเอเชีย ที่นิยมการบริโภคและลงทุนทองคำอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริหารของ ธปท. และดีลเลอร์ในตลาดเงิน ระบุตรงกันว่า ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำ จะมีผลต่อค่าเงินบาท โดยถ้าราคาทองคำปรับตัวลง จะมีการซื้อดอลลาร์เพื่อนำไปซื้อทอง แต่ในทางกลับกัน ถ้าราคาทองคำปรับขึ้น จะทำให้มีการขายทำกำไรทอง และขายดอลลาร์ เช่นกัน

ก.ล.ต.พร้อมร่วมมือธปท.สอบเก็งกำไร

ด้าน นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.พร้อมหารือและให้ความร่วมมือกับ ธปท. ในการกำกับดูแลผู้ประกอบการทองคำในเรื่องการเก็งกำไรค่าเงิน อย่างไรก็ตาม บทบาทหน้าที่ของก.ล.ต.กำกับดูแลเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายล่วงหน้า หรือฟิวเจอร์สเท่านั้น

ขณะที่การซื้อขายทองแท่งหรือรูปพรรณอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้าใจว่าทาง ธปท.มีความกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นหาก ธปท.เห็นว่ามีส่วนใด หรือแนวทางใดที่ ก.ล.ต.ช่วยเหลือได้ ก็ยินดี ซึ่งจะต้องมีการหารือกัน แต่ ปัจจุบัน ยังไม่ได้หารือกัน และ ธปท.เอง ก็ยังไม่ได้มีการข้อมูลใดๆ เข้ามา

ย้ำดูแลเฉพาะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

"หากเป็นการซื้อขายทองคำที่ไม่ใช่สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก.ล.ต.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจ ก.ล.ต. อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าจาก ก.ล.ต. ก็มีทั้งส่วนที่เป็นโบรกเกอร์ และผู้ประกอบการร้านค้าทองคำ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่เสมอ ในการหารือครั้งถัดไป อาจจะมีการสอบถามพูดคุย และตักเตือนว่าไม่ควรทำอะไรที่ไม่เหมาะสม"

สำหรับการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สนั้น ปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) อาจจะลดลงบ้าง แต่ไม่มาก และมองว่าไม่มีความสัมพันธ์กันกับประเด็นการเก็งกำไรค่าเงินของผู้ประกอบการร้านค้าทองคำ ขณะที่จำนวนการขออนุมัติวงเงินไปลงทุนต่างประเทศ ของนักลงทุนไทยก็อยู่ในระดับปกติ

เปิด 3 ขั้นตอนสอบซื้อขายล่วงหน้าทอง

ด้าน นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในการกำกับดูแลผู้ประกอบการร้านค้าทองคำนั้น ก.ล.ต.ทำได้เฉพาะในส่วนที่ ก.ล.ต.รับผิดชอบเท่านั้น โดย ก.ล.ต.จะตรวจสอบใน 3 ส่วน คือ 1.ดูว่าการซื้อขายทองคำนั้น เป็นการซื้อขายล่วงหน้าล่วงหน้าหรือไม่ 2.หากพบว่าเป็นการซื้อขายล่วงหน้า ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง หรือเป็นผู้ประกอบการเถื่อนหรือไม่ และ 3.หลังจากนั้นถึงจะตรวจสอบว่าได้ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามที่ใบอนุญาตกำหนดหรือไม่

เล็งพบธปท.แจงข้อมูลค้าทอง

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า สมาคมฯ จะขอเข้าหารือกับธปท. เพื่อชี้แจงและกำหนดแนวทางการป้องกันปัญหาการเก็งกำไรค่าเงินผ่านตลาดทองคำ ซึ่งผู้ประกอบการไม่มีการเก็งกำไรค่าเงินผ่านการซื้อขายในตลาดทองคำ เนื่องจากได้มีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน ผ่านสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าอยู่แล้ว และการซื้อขายทองคำในแต่ละครั้ง จะมีการรายงานข้อมูลให้กับทาง ธปท.รับทราบ ซึ่ง ธปท.จะมีข้อมูลในส่วนนี้ชัดเจน

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มบริษัท แม่ทองสุก เอ็มทีเอส โกลด์ กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมผู้นำเข้าและส่งออกทองคำ อยู่ระหว่างการรอคำตอบจากทางผู้ว่าการธปท.ว่าจะให้เข้าพบเมื่อใด เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ยังไม่แน่ใจว่าจะได้เข้าพบภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ ทั้งนี้ปัจจุบันสมาคมผู้นำเข้าและส่งออกทองคำ มีผู้ประกอบการร้านทองเป็นสมาชิก 7 ราย มีสัดส่วนการนำเข้าส่งออกกว่า 90% ของประเทศ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

สัญญาณ.เลือกตั้ง !!??

จังหวะก้าว ของสองพรรคใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ในวันนี้ มองเป็นไปอย่างอื่นได้ยาก ต่างมองไปจุดข้างหน้า...

สนามเลือกตั้งที่ต้องพร้อมรับสถานการณ์ยุบสภา ได้ตลอดเวลา "

การเคลื่อนไหวของทั้งสองพรรคการเมือง วันนี้ไม่อาจคิดเป็นไปอย่างอื่น..!

โดยเฉพาะในประเด็น โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท

เพื่อไทย โดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะประกาศคิ๊กออฟแคมเปญโรดโชว์ จุดดีของ ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันที่ 26 ก.ย.2556 ก่อนที่จะ ตะลุยโรดโชว์สัญจรไปต่างจังหวัด ในเดือน ต.ค.นี้ โดยเชื่อว่าประเทศต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากที่ล่าช้ามานาน จากอุปสรรคการเมือง จึงต้องออกเป็นกฎหมายพิเศษ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เสนอ “อนาคตที่เลือกได้” แนวทางการลงทุนเงิน 2 ล้านล้านบาทใน 7 ปีข้างหน้า ที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า "เพียงถนนกับรางไม่เพียงพอ แต่ถ้าคนเข้มแข็ง อนาคตไทยเข้มแข็งได้ โดยสามารถใช้งบประมาณปกติและลงทุนทั้งด้านคมนาคม การศึกษาและสาธารณสุขด้วย"

ทั้งสองพรรคประเมินตรงกัน ช่วงสิ้นปีนี้ จะมีจุดหักเหทางการเมือง ทั้งปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจ ที่จะกดดันรัฐบาล ขณะที่กฎหมายสำคัญๆ 4-5 ฉบับจะเดินเข้าสู่การพิจารณาของศาล

ทางเลือกรัฐบาลมีไม่มากนัก การเลือกตั้งเพื่อ"Restartทางการเมือง"ใหม่ ช่วงชิงความได้เปรียบ และนโยบายในการหาเสียงแน่นอนว่า ชูโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เดินหน้าแผนปรองดองของประเทศ

ฝ่ายค้านเอง ก็ประเมินเบื้องต้นแล้ว หากยังเดินแผน"ค้าน"อย่างเดียวโดยไม่มี"ข้อเสนอ" ย่อมไม่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ในเชิงนโยบาย หากเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไร "จะเสียเปรียบมากขึ้น" ไม่มีทั้งเงินและนโยบาย เลือกตั้งเมื่อไร ส.ส.ในสภาอาจจะหายมากกว่าปัจจุบัน

จึงเป็นที่มากับข้อเสนอ “อนาคตที่เลือกได้” กับแนวทางการลงทุนเงิน 2 ล้านล้านบาท

ทั้งสองฝ่ายจึงมองไปข้างหน้า...สู่การเลือกตั้ง

การขับเคลื่อนที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้...ฝ่ายหนึ่งจึงลุยโรดโชว์ ฝ่ายหนึ่งประกาศ"ทางเลือกใหม่"...ตัดสินกันที่สนามเลือกตั้ง

ทีมา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

สื่อนอกวิพากษ์ 2 นโยบายประชานิยม รบ.ไทย !!??


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร,ประชานิยม

สื่อนอกวิพากษ์ นโยบายประชานิยม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ "รถคันแรก-จำนำข้าว" สร้างแรงกดดันเศรษฐกิจ บิดเบือนตลาด เป็นภาระงบประมาณ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน การตัดสินใจของรัฐบาลไทย ที่จะยืดระยะเวลาอุดหนุนราคาข้าว และยางพาราออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงขึ้นมานั้น นับเป็นการบ่อนทำลายความพยายามที่จะควบคุมภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และยังเกิดขึ้นแม้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างลดโครงการอุดหนุนต่างๆ แล้ว

รายงานระบุว่า รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินรวม 21,200 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อชดเชยราคาที่ร่วงลงมา เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 10,000 ล้านบาท ที่เคยตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ จนทำให้เกิดการประท้วงขึ้นมา ทั้งยังให้คำมั่นถึงการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดต่อไปอีก 1 ปีเพาะปลูก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 270,000 ล้านบาท หลังชาวนาขู่ที่จะออกมาเดินขบวนประท้วง

ปริมาณเงินอุดหนุนดังกล่าว อาจทำให้แผนการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะจัดทำงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 ต้องชะลอออกไป และทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.3% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา จากระดับ 38.2 % ช่วงสิ้นปี 2551

นายยูเบน พาราคูลเลส นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ โฮลดิ้งส์ อิงค์ ในสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างจะประหลาด เมื่อพิจารณาจากความต้องการของผู้ประท้วง โดยรัฐบาลมีพื้นที่เหลืออีกไม่มานักสำหรับการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรดังกล่าว ความเสี่ยงของเรื่องนี้ ยังอยู่ตรงที่ว่า กลุ่มผู้ประท้วงอาจขยายวงออกไป และยิ่งการประท้วงยืดเยื้อไปนานเท่าใด ก็จะยิ่งสร้างความกังวลมากเท่านั้น และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้ว

ทั้งนี้ นับแต่เดือนต.ค. 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจ่ายเงินไปแล้ว 675,000 ล้านบาท ในการรับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนา ซึ่งรัฐบาลประเมินว่า ขาดทุนไปราว 137,000 ล้านบาท ในฤดูเพาะปลูก 2554/2555 จากการที่ต้องขายข้าวออกไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รับซื้อมา

นายสเตฟเฟน ดิค ผู้ช่วยรองประธานบริหาร มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ในสิงคโปร์ ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวของไทย ได้สร้างเงื่อนไขขึ้นมาสำหรับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งความเสี่ยงของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ในอนาคตรัฐจะมีการปรับ หรือเก็บโครงการนี้ไว้ต่อไปหรือไม่

นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า ราคาโภคภัณฑ์ที่กำลังร่วงลง ได้สร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจไทย หลังในช่วง 3 เดือนนับถึงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยปรับลดลงเหลือ 1.7% ทั้งยังมีการหั่นตัวเลขคาดการณ์สำหรับปีนี้ ลงมาอยู่ระหว่าง 3.8-4.3% จากเดิมที่ 4.2-5.2% ส่วนเป้าส่งออกอยู่ที่ 5%

ขณะที่บทวิเคราะห์จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ ประเมินว่า ราคาข้าวไทยอาจร่วงลงมาอยู่ที่ 425 ดอลลาร์ต่อตันภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่ 458 ดอลลาร์ และลดลงไปเหลือเพียง 400 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2557 ซึ่งนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย รองประธานบริหาร บล.ภัทรซิเคียวริตีส์ บอกว่า นอกจากภาคส่งออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไม่มีแรงขับเคลื่อนที่แท้จริง โดยราคาสินค้าเกษตรที่ลดต่ำลง จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ และการใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่การลงทุนก็จะไม่เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังมืดหม่นอยู่

รถยนต์คันแรกทำความต้องการร่วง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โครงการรถคันแรกของไทยให้ผลไม่เป็นไปตามคาด เมื่อลูกค้ากว่าแสนคนผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ครองตลาดในไทย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อปกป้องผลกำไร

ผลวิจัยจากไอเอชเอส โกลบอล ออโตโมทีฟ บริษัทวิจัยในอุตสาหกรรมรถยนต์ แสดงให้เห็นว่าราว 10% ของผู้ซื้อรถในโครงการรถยนต์คันแรกจำนวน 1.2 ล้านราย เปลี่ยนใจไม่ซื้อรถ หรือผ่อนค่างวดรถยนต์ไม่ไหว ซึ่งเมื่อผู้ซื้อยกเลิกการผ่อน สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ก็จะเข้าไปยึดรถ และนำไปขายต่อเป็นรถมือ 2 สถานการณ์ที่ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ บรรดาค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ครองส่วนแบ่งตลาดท้องถิ่นรวมกันมากถึง 80% รายงานยอดขายร่วงลงโดยเฉลี่ย 30%

รายงานระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวของไทย ที่ธนาคารโลกประเมินว่า ทำให้รัฐบาลไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่าย 2,500 ล้านดอลลาร์ มีผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกับโครงการ "รถเก่าแลกเงินสด" ที่สหรัฐประกาศเมื่อปี 2552 ที่แรงจูงใจดังกล่าว ทำให้ตลาดบิดเบือนไป เพราะความต้องการที่เฟื่องฟูจะหมดไปทันทีหลังจากที่กำหนดการลดหย่อนภาษีดังกล่าวยุติลงในเดือนธ.ค.

ผู้จัดการเซ็นเตอร์ ยูสคาร์ บริษัทจำหน่ายรถยนต์มือ 2 ที่มีสาขาอยู่ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง เปิดเผยว่า ราคารถยนต์ที่มาจำหน่ายร่วงลงไปโดยเฉลี่ย 20% ในปีนี้ และว่า ดีลเลอร์รายย่อยจำนวนหนึ่งต้องประสบปัญหาในการขายรถ บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ

"เมื่อลูกค้าเริ่มตระหนักว่าพวกเขาผ่อนค่างวดต่อไปไม่ไหว รถของพวกเขาก็กลายเป็นรถยนต์มือ 2 ไปแล้ว ซึ่งยิ่งทำให้ราคาตกลงไปอย่างมาก"

จำนวนรถยนต์ที่เรียกได้ว่าแทบจะใหม่เอี่ยม ที่มีอยู่ล้นตลาดรถยนต์มือ 2 นั้น ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบรรดาค่ายรถยนต์ และกดดันให้บริษัทเหล่านี้ต้องหาวิธีส่งเสริมการขาย และลดราคารถยนต์ เพื่อให้รถยนต์ออกไปพ้นสต็อก

ช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่สุด ซึ่งมีโรงงาน 3 แห่งในไทย มียอดขายลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ เหลือประมาณ 20,800 คัน และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทต้องดำเนินโครงการส่งเสริมการขายทั่วประเทศ ทั้งจับรางวัล และผ่อนรถปลอดดอกเบี้ยนาน 48 เดือน

เช่นเดียวกับค่ายรถยนต์จากสหรัฐ จากเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป ที่ระบุว่า ช่วง 3 เดือนล่าสุด สภาพตลาดไม่ค่อยดีนัก ซึ่งบริษัทต้องทำงานร่วมกับดีลเลอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อออกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ และหาทางดึงความสนใจจากลูกค้า

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ระหว่างประเทศ องค์กรที่มีฐานการดำเนินงานอยู่ในฝรั่งเศส ระบุว่า ในปี 2555 อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ และคิดเป็นสัดส่วน 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มียอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 70% มาอยู่ที่ 2.43 ล้านคัน และคาดว่า ในปี 2556 ยอดการผลิตจะพุ่งเกิน 2.5 ล้านคัน แต่ความต้องการที่ลดลงในประเทศ ทำให้บรรดาผู้ผลิตจำเป็นต้องส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

อยู่ในความมืด !!??

คอลัมนิสต์ผู้ทรงคุณวุฒิ- พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

ไม่ทราบว่าใครประกาศว่าประเทศไทยเป็น "ครัวของโลก"  และผู้ประกาศนั้นเชื่อในสิ่งที่ตนประกาศไปหรือเปล่า  ที่เห็นชัดเจนคือไม่เคยมีแผนดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น นอกจากการจัดรายการส่งเสริมการขายและส่งออกซึ่งเน้นไปในเชิงการตลาดเท่านั้น คำว่า "ครัว"

มีความหมายรวมถึงการผลิตให้ได้ปริมาณที่เพียงพอและสม่ำเสมอเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก มีความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี และสุดท้ายคือต้นทุนที่แข่งขันได้ ความล้มเหลวในโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่บอกเราอีกครั้งว่าระบบการบริหารเศรษฐกิจยังมีปัญหา
   
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะดำเนินการด้วยตัวเอง แต่เมื่อเป้าหมายของธุรกิจคือการทำกำไร ความมั่นคงของ "ครัวของโลก" จึงสั่นคลอนไปตามสภาพของผลตอบแทน เช่น การย้ายฐานการผลิตข้ามประเทศ ความจริงแล้วการย้ายฐานการผลิตได้เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แต่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอาหาร ปัจจัยหลักที่เร่งให้มีการลงทุนเพิ่มในกลุ่มสินค้านี้คือ 1) จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดินและน้ำ ลดลง 2) การลงทุนที่ผ่านมาถูกจำกัดอยู่ภายในประเทศ 3) มีการกีดกันทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากโดยประเทศพัฒนาแล้ว  4) น้ำมันจากธรรมชาติยังมีมากและราคาถูก พลังงานทดแทนจึงยังไม่คุ้มต่อการลงทุน
   
ที่น่าถามคือนโยบายประเทศไทยจะเป็นอย่างไร? เช่น 1)  เราควรจะส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปขยายการลงทุนนอกประเทศให้มากขึ้น 2) ส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น  3) ปิดประตูในประเทศแต่ส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าเราจะเลือกนโยบายใดผลกระทบจะต้องเกิดขึ้นตราบเท่าที่เราไม่ปรับมาตรการการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างของการเคลื่อนไหวของประเทศจีนและไต้หวันในเรื่องนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ประเทศจีนใช้กรอบข้อตกลง ASEAN+3 ส่วนไต้หวันใช้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) แม้ว่าทั้ง 2 กรอบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันโดยตรงแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการเพิ่มผลผลิตเพื่อแก้ปัญหาขาดอาหารเนื่องจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม อากาศแล้ง บทบาทของกระทรวงเกษตรฯ ไทยมีค่อนข้างสูงในกรอบทั้งสอง แต่เนื่องจากขาดนโยบายรัฐที่ชัดเจน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะมียุทธศาสตร์อะไรในการ "เจรจา" ที่ค่อนข้างจะยืดเยื้อ
   
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปร่วมงานสัมมนาที่จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้หัวข้อ How  Can Myanmar Prepare For AEC? ที่มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ หรือพม่า โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์เป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN และเป็นประเทศเกิดใหม่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้นการเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องต้องเร่งดำเนินการทั้งภาครัฐและเอกชน และผมก็เชื่อว่าเขาสามารถทำได้ดีเพราะมีตัวอย่างจากหลายประเทศ เมียนมาร์จึงเป็นประเทศที่เราต้องจับตามองว่าจะเป็นคู่แข่งหรือคู่ค้าของเราในด้านเกษตรและอาหาร แต่ไม่ว่าเขาจะเลือกเป็นแบบไหนประเทศไทยก็ต้องเดินหน้าต่อไปโดยการปรับนโยบายการผลิต การค้า การลงทุน และมาตรการการอุดหนุนให้สอดคล้องกันซึ่งผมยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้แม้แต่เงา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
.................................................................

จับตา ดีลลับ : สภาปฏิรูปการเมือง ฉบับ เติ้ง vs สปท. !!??



ช่วง เวลาที่อุณหภูมิทางการเมืองเข้าโหมดร้อน อันเนื่องมาจากฝ่ายบริหารโดย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนงานการเมืองเรื่องร้อนๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม

แม้ก่อน หน้านี้รัฐบาลจะทำงานตามนโยบายอย่างมีอุปสรรคบ้างราบรื่นบ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นภัยต่อเสถียรภาพความมั่นคง เพราะไม่มีเรื่องการเมืองร้อนๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงกระนั้นเรื่องต่างๆ ที่ทำก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ตามแนวคิดของพรรคเพื่อไทย (พท.) และมวลชนผู้สนับสนุน

เมื่อการเมืองเข้าโหมดร้อน รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยใช้ช่วงเวลาที่หลายฝ่ายพูดถึงและวิพากษ์การเมืองอย่างเข้มข้น มาเป็นประตูเพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหาในอนาคต ด้วยการเดินหน้าแนวคิดสภาปฏิรูปประเทศ

พร้อมกับเชิญฝ่ายต่างๆ มาร่วมถกเถียง เสนอทางออกกับประเทศ

เวที ปฏิรูปอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา มีบุคคลสำคัญระดับประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง จะขาดก็แต่คู่ขัดแย้งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

แต่ปัญหาหลักของ เมืองไทย คือความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาก่อนรัฐประหารปี 2549 ดังนั้น "นายกฯ ปู" จึงมอบหมายให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีความอาวุโสและบารมีทางการเมือง เดินสายทาบทามคนอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าร่วม ให้มาอยู่ในเวทีเดียวกันให้ได้

ถาม ว่าทำไมเป็นงานที่หนักหรือไม่ งานนี้หินแค่ไหน ก็ต้องตอบได้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ปชป. และพันธมิตรฯ ต่างมีจุดยืนที่อยู่คนละขั้วกับรัฐบาลเพื่อไทย (พท.)

ถามว่าที่ รัฐบาลเลือกใช้บริการ "บรรหาร" คำตอบคือ "เชื่อมือ" หมายถึงเชื่อว่าจากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงการเมืองมาเกือบทั้งชีวิตจะทำ งานนี้ได้ดีกว่าใครเพื่อน อีกทั้งจะเห็นว่า "บรรหาร" สามารถเข้าได้กับทุกฝ่าย ที่สำคัญ เขาเป็นผู้ที่มีเครือข่ายคอนเน็กชั่นอย่างดีเยี่ยม

ดังนั้น นายกฯ จึงมอบความไว้ใจให้เต็มร้อย แม้ด้วยบุคลิกจะคล้ายเป็นคนพูดไม่เก่ง ไม่เหมาะกับการตอบโต้กับ ปชป. และพันธมิตรฯ แต่ทุกคนต่างมองข้ามเรื่องนี้อย่างไม่ต้องเหลียวหลัง

อย่าง ที่รู้กันว่า "บรรหาร" ผู้มีความอาวุโสทางการเมือง สามารถเข้านอกออกในได้อย่างทั่วถึง เมื่อใดก็ตามที่ปิดห้องคุยหรือพูดคุยเป็นการส่วนตัว ดีลในครั้งนั้นแทบจะลุล่วงเหมือนโปรยกลีบกุหลาบ

ทว่า งานประสานคู่ขัดแย้งทางการเมืองให้มาร่วมลงเรือปฏิรูปการเมืองลำเดียวกัน ของ "บรรหาร" ในครั้งนี้ถือว่าไม่ง่าย เพราะก่อนหน้านี้เดินสายเข้าหา "สนธิ ลิ้มทองกุล" และ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" แห่งบ้านพระอาทิตย์ ก็มีคนปล่อยข่าวพร้อมโชว์ภาพว่าเป็นกิ๊กกับดาราสาว "มะนาว" น.ส.ศรศิลป์ มณีวรรณ์ แห่งวิก 7 สี ยังดีที่ "อาบรรหาร" และ "หลานมะนาว" ออกมาแจงได้ทันถ่วงที ไม่งั้นเรื่องนี้เห็นทีจะยาว

งานนี้เห็นได้ ชัดเจนว่ามีคนต้องการทำลายความชอบธรรม หรือดิสเครดิตการเดินหน้าในฐานะผู้ประสานงานเวทีปฏิรูปของ "บรรหาร" แต่ด้วยความที่เป็นคนตรงไปตรงมา บวกกับบารมีบุญเก่าจึงรอดตัวมาได้

แม้ การเดินหน้าเข้าหา ปชป. พันธมิตรฯ รวมถึง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่ได้รับการตอบรับ ซ้ำยังถูกสวนกลับอย่างรุนแรง แต่ก็ต้องนับถือน้ำใจของนายบรรหาร เพราะนี่เป็นงานหิน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าผลรับจะออกมาแบบไหน แต่ก็ต้องทำด้วยความเต็มใจ

เพราะ เจ้าตัวรู้อยู่เต็มอกอยู่แล้วว่า ปชป. และพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงย่อมไม่ตอบรับการเข้าร่วมเวทีปฏิรูปกับรัฐบาลอย่าง เป็นแน่ เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายบริหารกำลังสร้างความขัดแย้งเสียเอง เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงแก้รัฐธรรมนูญ

ไม่ร่วมด้วยเพราะยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล ไม่ใช่ไม่เชื่อใจนายบรรหาร

งาน นี้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อย่าง "ปชป." นอกจากจะไม่เข้าร่วมแล้ว ยังผุดเวทีปฏิรูปของตัวเองขึ้นมาเป็นคู่ขนานอีก เหมือนกับเวทีผ่าความจริงที่เดินสายตามเวทีของเสื้อแดงอย่างไม่ผิดเพี้ยน

รวม ทั้งเพื่อนเก่าของเหล่าพันธมิตรฯ อย่าง "สุริยะใส กตะศิลา" พร้อมมิตรสหาย ร่วมกันเปิดตัวสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 2556 หรือ สปท. ก็ถือเป็นคู่ขนานกับเวทีปฏิรูปของ "ยิ่งลักษณ์" อีกเวทีหนึ่ง

ดู อย่างไรก็มองไม่เห็นว่าแนวทางที่นายกฯ ต้องการจะเกิดขึ้นได้ จากเดิมที่รัฐบาลต้องการเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นแล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ก็กลับกลายเป็นว่ามีเวทีคู่ขนานพูดคนละเรื่อง จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่าเวทีปฏิรูปของรัฐบาลจะไปไม่ถึงจุดหมายในที่สุด

แต่มังกรเมืองสุพรรณ อย่าง "บรรหาร" กลับบอกว่า "อยากให้ตั้งหลายๆ สภา และหลายๆ เวที เพื่อจะได้มีความเห็นที่หลากหลาย"

เขา เห็นว่า การที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิด ขึ้นได้ในเร็ววัน จึงเป็นไปได้ที่ระหว่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนเวทีปฏิรูปของรัฐบาล ปชป. และ "สปท." จะเดินหน้าในแบบต่างคนต่างทำ ต่างดำเนินไปในรูปแบบของตัวเอง

รัฐบาลจะเฝ้าดูทั้ง 2 เวทีนี้อยู่เนืองๆ ขณะที่อีก 2 เวทีก็จะจับตาดูเวทีของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

เชื่อ ว่าวันหนึ่ง เมื่อฝ่าย "ปชป." และ "สปท." มีมติออกมาแล้วรัฐบาลคิดว่า สามารถเดินเข้าไปพูดคุยกันต่อได้ วันนั้น "บรรหาร" คนเดิม จะถือธงนำหน้าเข้าหากลุ่มเหล่านี้อีกครั้ง

ที่สำคัญเวลานี้ "บรรหาร" ยังไม่ได้ใช้ความสามารถพิเศษอย่างเต็มขั้นในการดีลแบบลับๆ เลยแม้แต่น้อย ที่เห็นอยู่เป็นเพียงฉากหน้าที่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจัดขึ้นมาเพื่อแสดงออก ผ่านสื่อเพียงเท่านั้น

และทั้ง ปชป. และพันธมิตรฯ ที่ต่างจับจ้องมายังรัฐบาลเพื่อเช็กว่า แผนการเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปนั้น จะออกมาหน้าตาอย่างไร แน่นอนหากออกมาดี แล้วกลุ่มดังกล่าวไม่เข้าร่วมก็ถือว่าตกขบวน

การตั้งเวทีคู่ขนานอย่างที่เป็นอยู่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี นั่นคือ เป็นไปได้ที่ทุกฝ่ายจะได้มาร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิรูปประเทศในอนาคต

ส่วน ข้อเสีย ก็เป็นไปได้ที่เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดยืนของตัวเอง ไม่ยอมผ่อนปรนยอมรับเงื่อนไขของอีกฝ่าย ย่อมเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง และจะนำไปสู่ฉากจบของ "สภาปฏิรูปทางการเมือง" ไปในที่สุด

จากนี้ไปคง ต้องจับตาดูปฏิกิริยาของทุกฝ่าย และการเดินหน้าประสานสิบทิศในแบบฉบับจัดเต็มสไตล์ "บรรหาร" ว่าจะฝ่าด่านหินปฏิรูปการเมืองไปสู่ "ความปรองดอง" ได้จริงหรือไม่

ที่มา:มติชน
//////////////////////////////////////////////////