--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จับตา : ข้าวแกง ลักไก่โขกราคา รับวัตถุดิบพุ่ง !!??

จับตาอาหาร "จานด่วน" พาเหรดขึ้นราคาทั้งประเทศ หลังราคาวัตถุดิบปรุงอาหารขยับขึ้นกันถ้วนหน้า เผยเนื้อหมูจ่อขึ้นราคาแตะกิโลกรัมละ 70 บาท ขณะที่ "ร้านข้าวแกง" ย่านสีลมได้ขยับขึ้นราคาก่อนก๊าซหุงต้มปรับโครงสร้างราคาวันที่ 1 กันยายน นี้

ทีมข่าว "สยามธุรกิจ" ได้สำรวจร้านอาหารจานด่วนและร้านข้าวแกงในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพบว่า ย่านสีลมได้มีการปรับราคาข้าวแกงกันแล้ว แต่ได้ปรับเทคนิคการขึ้นราคาสำหรับกับข้าวไปถุงและใส่ถ้วยกลับบ้าน โดยได้ปรับจากถุงละ 35 บาท ปรับขึ้นเป็น 40 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นก่อนที่จะมีการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในวันที่ 1 กันยายน นี้

ดังนั้น จึงน่าจับตาราคาอาหารจานด่วนในตลาดที่อาจจะฉวยปรับขึ้นราคา ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาแนะนำอาหาร 10 เมนูยอดนิยม ไม่เกินจานละ 30-35 บาท เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารได้ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ พิษน้ำท่วมในหลายพื้นที่จังหวัด ส่งผลให้พืชผักบางชนิดและอาหารสดในตลาดสดมีราคาแพงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาผักหลายชนิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้ปรับราคาสูงขึ้น อาทิ ผักคะน้า จากเดิมราคากิโลกรัมละ 45 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ต้นหอม เดิมกิโลกรัมละ 30 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 35 บาท ผักชี เดิมกิโลกรัมละ 85 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 90 บาท

ส่วนราคาเนื้อสุกรชำแหละ อยู่ในราคากิโลกรัมละ 135 บาท ยกเว้นหมูตัดแต่ง ราคากิโลกรัมละ 140 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าที่สูงเกินกว่านี้ได้ เพราะว่าผู้บริโภคจะหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อย่างอื่น เช่น ไก่ และปลา

ด้าน นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร การค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจราคาพืชผัก และอาหารสดในตลาดสดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันพ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค หากตรวจพบพ่อค้าแม่ค้ารายใดฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าแพงเกินความเป็นจริง ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

"หากประชาชนรายใดถูกเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานการค้าภายในจังหวัดฯ พาณิชย์จังหวัดฯ และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ร้องเรียนผ่านสายด่วนแม่บ้าน 1569 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการเอาผิดกับพ่อค้าแม่ค้าดังกล่าว"

ขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่กรุงเทพฯ ก็ได้สำรวจราคาสินค้าเกษตรในตลาดสดย่านกรุงเทพฯ พบว่า ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 135-140 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อนที่หมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่กิโลกรัมละ 130-135 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มขยับราคาขึ้นมาอีกกก.ละ 2-3 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มได้ปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 67-69 บาท เพิ่มขึ้น 2-3 บาท จากเดิมที่ราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท ซึ่งเป็นผลจากปริมาณหมูในตลาดลดน้อยลง จากการที่เกษตรกรลดการเลี้ยงหมูตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จากภาวะการขาดทุน ประกอบการเกิดภาวะโรคในหมู ซึ่งหากปริมาณหมูลดลงมาก ก็อาจต้องปรับราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ขึ้นมาอีก จะทำให้หมูเป็นหน้าฟาร์มทะลุเกินกิโลกรัมละ 70 บาทขึ้นไป ส่งผลให้ราคาขายปลีกหมูหน้าเขียงต้องปรับราคาตามไปด้วย

นอกจากนี้ ราคาสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อาหารปรุงสำเร็จเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารจานเดียวปรับตัวเพิ่มขึ้น

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การรถไฟ ในยุค รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงค์..

หลังจากร่วมเป็นกรรมการของการรถไฟแห่งประเทศไทยมานาน เมื่อถึงคราวที่องค์กรต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้รับความวางใจจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ ให้นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) แทนนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตประธานบอร์ดที่ลาออกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา  เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปกำกับดูแลการพัฒนาหน่วยงานการรถไฟฯ ตลอดจนการผลักดันโครงการต่างๆที่กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งรัดงบประมาณภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งพ.ศ.2556-2563 หรือโครงการตามพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่ง รศ.ดร.บุญสมได้ให้สัมภาษณ์ ถึงนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการในฐานะประธานบอร์ดร.ฟ.ท.ไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็นดังนี้

มีแนวทางการบริหารแตกต่างจากบอร์ดชุดอื่นหรือไม่
   
ระยะเวลาประมาณ 7 เดือนที่ได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการบอร์ดและประธานคณะอนุกรรมการทรัพย์สินร.ฟ.ท.ผมได้เรียนรู้หลายเรื่อง ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน โดยเฉพาะจุดแข็งด้านความรู้ความสามารถของบุคลากรและจุดอ่อนด้านภาพลักษณ์การให้บริการ แต่ก็น่าชมเชยเรื่องการเดินรถ การซ่อมบำรุงภายใต้ข้อจำกัดมากมายทั้งในเรื่องงบประมาณและสภาพของอุปกรณ์ที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานานมาก นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการพัฒนาที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เพื่อนำไปพัฒนาการรถไฟฯของประเทศไทย  แต่ทั้งนี้ยังมีความจริงหนึ่งที่ต้องพูดถึง หากนับถึงปัจจุบันนี้ก็ล่วงเข้าสู่ 115 ปี ยิ่งดูเหมือนว่าจะได้รับการยอมรับน้อยลงจากประชาชนผู้ใช้บริการส่งผลให้หลายคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการรถไฟไปสู่ระบบอื่นๆ
   
"ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรทุกฝ่าย โดยจะไม่เน้นการบริหารจัดการบนแผ่นกระดาษ แต่จะให้ความสำคัญในการเร่งเปลี่ยนภาพลักษณ์โดยเร็วด้วยการเร่งสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป พร้อมกับการส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟอย่างปลอดภัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มศักยภาพความรู้ความสามารถของบุคลากรควบคู่กับการหล่อหลอมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดจนการพัฒนาทางด้านกายภาพสถานี ปรับปรุงสภาพรถ ความแข็งแรงของรางและหมอนในแนวเส้นทางและสถานีต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ชนชั้นกลาง-ชนชั้นล่างได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง อย่างมั่นใจมากขึ้น ผ่านระบบรถไฟทางคู่เส้นทางต่างๆ อีกทั้งเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางให้กับชนชั้นสูงผ่านระบบรถไฟฟ้าที่การรถไฟฯรับผิดชอบอีกหลายเส้นทาง เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน จึงเตรียมบรรจุเงื่อนไขการก่อสร้างที่พักให้กับพนักงานไว้ในทีโออาร์การพัฒนาที่ดินแปลงต่างๆอีกด้วย"

นโยบายการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่กำหนดไว้อย่างไร
   
นโยบายที่ดีหลายข้อยังคงเดินหน้าต่อไปหากโครงการไหนมีความพร้อมจะนำออกประมูลหารายได้หล่อเลี้ยงร.ฟ.ท. จะเร่งรัดโดยจะเร่งผลักดันไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการอื่นๆให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วทั้งที่ดินแปลงมักกะสัน สถานีแม่น้ำ หรือพื้นที่กิโลเมตรที่ 11 ย่านพหลโยธิน เช่นเดียวกับที่ดินตามสถานีต่างๆในโครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดประมูลปลายปีนี้และในปี 2557 โดยเฉพาะหัวเมืองสำคัญๆทั่วทุกภาค
   
พร้อมกันนี้ยังจะดึงงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการประชาชนออกมาดำเนินการพร้อมกับเค้นเอาความรู้ความสามารถของบุคลากรให้แสดงออกให้ตอบโจทย์ไปในทิศทางเดียวกัน จัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาอย่างตรงตามเป้าหมาย

อะไรคืองานเร่งด่วนที่ต้องทุ่มเทให้เกิดผล
   
ปัจจุบันฝ่ายบริหารและปฏิบัติการมีผู้ว่าการการรถไฟฯเป็นผู้นำที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายนโยบายอย่างบอร์ดถือเป็นความปรารถนา ความตั้งใจให้รถไฟเป็นทางเลือกที่ 1 ในการเดินทางของประชาชน แต่จะทำอะไรก่อน-หลังเท่านั้นเอง โครงการใหม่ตามแผนเดินหน้าให้ต่อเนื่อง ปัจจุบันควรเร่งฟื้นภาพลักษณ์เป็นลำดับแรกให้เป็นที่ยอมรับโดยเร็ว
   
ส่วนการพัฒนาบุคลากรให้ทุกคนสร้างความภาคภูมิใจในองค์กร  ทำงานอย่างทุ่มเท ดังนั้นสิ่งที่ปฏิบัติลงไปจึงต้องเกิดเป็นรูปธรรมได้จริง เช่น งานการบริหารจัดการทรัพย์สิน-ที่ดินทำเลต่างๆที่สามารถนำไปพัฒนาหารายได้
   
เช่นเดียวกับฝ่ายการเดินรถ และฝ่ายซ่อมบำรุงเพราะหากเทียบกับต่างประเทศแล้วการรถไฟฯของไทยสามารถทำได้ดีกว่าหลายเท่า ศักยภาพของบุคลากรไทยดีกว่าเนื่องจากถูกจำกัดให้อยู่สถานการณ์ที่ต้องพยายามเอาตัวรอดมานานภายใต้ข้อจำกัดอุปกรณ์และงบประมาณ นี่แหละคือจุดแข็งที่จะถูกนำไปขับเคลื่อนองค์กรการรถไฟฯให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ใช้บริการ"
   
ก็ต้องตามไปดูผลงานการทำงานของ รศ.ดร.บุญสม ในฐานะประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.ที่ถือว่าจัดคนได้เหมาะสมกับภารกิจจะสามารถขับเคลื่อน ร.ฟ.ท.ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมต้องการอยากจะให้เป็นไปหรือไม่

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////

รบ.เร่งดัน พรบ.คุ้มครองข้อมูลบุคคล !!??

วราเทพ.เร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ...หวังแก้ปัญหาละเมิดนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทางธุรกิจ

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าภายหลังจากได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ตนจะเร่งเดินหน้าผลักดันการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของรัฐสภาตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามตนจะพยายามผลักดันให้รัฐสภามีการหยิบยก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้สามารถคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทุกคน

นายวราเทพก ล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2554 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่รัฐบาลมีอยู่ เช่น ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติสุขภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯห หน่วยงานราชการจะสามารถเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อมีการยินยอมจากผู้นั้นเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งช่วยปกป้องสิทธิของประชาชนในการปกปิดข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ต้องการเปิดเผยได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่เอกชนมีอยู่เป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงเกิดปัญหาการละเมิด เช่น เอาข้อมูลเช่นที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ไปใช้ในทางธุรกิจและสร้างความรำคาญและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนได้

"เชื่อว่าทุกคนก็ต้องเคยเจอว่าอยู่ๆมีโทรศัพท์ เข้ามามาเสนอขายประกัน บัตรเครดิต หรือเสนอขายสินค้าอื่นๆ โดยที่เราไม่เคยให้เบอร์โทรศัพท์กับผู้นั้น หรือบริษัทนั้นๆ ซึ่งหากมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่บังคับใช้กับเอกชนหากมีคนที่โทรเข้ามาหรือติดต่อเข้ามาด้วยวิธีการต่างๆ เราสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายในการสอบถามว่าเขาเอาข้อมูลมาจากไหน สอบถามถึงต้นตอแล้วให้เอกชนที่เอาข้อมูลของเราไปเผยแผร่รับผิดชอบในความเสียหายหรือลบข้อมูลในส่วนนี้ออกจากฐานระบบได้ ซึ่งเชื่อว่าเอกชนจะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เพราะเรื่องนี้เป็นการปกป้องสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งหากเอกชนทำได้ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจในแง่ของความเชื่อถือที่ลูกค้าจะมีต้อบริษัทนั้นๆ" นายวราเทพกล่าว

นายวราเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2554 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ช่วยสร้างบรรยากาศการติดต่อระหว่างประชาชนและหน่วยงานข้าราชการได้ดีขึ้นเป็นลำดับและทำให้ข้อมูลราชการที่สำคัญอย่างเช่นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นข้อมูลที่หน่วยราชการมีหน้าที่ต้องเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ด้วยความโปร่งใส ซึ่งช่วยลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นลงไปได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามตนได้ให้นโยบายกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารว่าให้รอบครอบระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ เนื่องจากอาจถูกผู้ไม่หวังดีกับภาครัฐเอาข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดจนสร้างความเสียหายกับประเทศได้

"รัฐบาลมีความตั้งใจแน่วแน่ในการปราบปรามและป้องกันการทุจริตของรัฐบาลซึ่งการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารจะเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตไว้ 3 ประการ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และสร้างความเท่าเทียมในทางปฏิบัติให้กับเอกชนผู้เข้าประมูลงานของรัฐทุกราย 2.การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้าง โดยอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการร่วมที่มีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้าง โดยรูปแบบคล้ายกับคณะกรรมการร่วมที่รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว และ3.การตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

บทเรียน:คราบน้ำมัน กลางทะเลระยอง อุตสาหกรรมภายใต้กระแสสีเขียว !!??

ปัญหาคราบน้ำมันจากกรณีข้อต่อท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเล จ.ระยอง ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบของระบบนิเวศน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากความร่วมมือระหว่าง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนงบเบื้องต้น 2 ล้านบาทให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ลงพื้นที่สำรวจ และเก็บตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อาทิ คุณภาพน้ำทะเล ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น กุ้ง หอย ปะการัง เป็นต้น เพื่อให้เป็นข้อมูลกลาง เป็นที่เชื่อถือของทุกฝ่าย สำหรับนำไปประเมินความเสียหายจริง และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเปรียบเทียบหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในอนาคต

ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล ระบุว่า กรณีน้ำมันรั่วไหลกว่า 5 หมื่นลิตร ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ขณะนี้หลายฝ่ายควบคุมสถานการณ์และเร่งขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดให้แล้วเสร็จ แต่ปัญหานี้ คือ ยังไม่มีข้อมูลความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทางวิชาการที่ทุกฝ่ายยอมรับ รวมทั้งการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันยังไม่มีการพิสูจน์ว่า จะทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศ และมีสารตกค้างในธรรมชาติจริงหรือไม่ จำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เพื่อสำรวจและติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ทะเลอย่างเร่งด่วน และต้องมาจากองค์กรที่เป็นกลาง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อถือ

"เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกสถาบันการศึกษาเข้ามาทำการวิจัย เพื่อความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ และมีกระบวนการวิจัยที่โปร่งใส ชัดเจน ข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับ นำไปใช้ประโยชน์ทั้งการเรียกร้องความเสียหายจากผู้ได้รับผลกระทบ และใช้ในการตรวจสอบสำหรับหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบประเมินและจ่ายค่าเสียหาย ใช้เทียบเคียงกับผลของการวิเคราะห์ของภาครัฐได้"

ขณะนี้มี 3 มหาวิทยาลัยยื่นข้อเสนอทำการสำรวจมาแล้ว ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบูรพา เพื่อสำรวจในเรื่องสารเคมีในตะกอนดินจากการกำจัดคราบน้ำมัน และผลต่อปะการัง เป็นต้น ขณะนี้ยังรับข้อเสนออยู่ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า งานวิจัยดังกล่าวจะต้องสำรวจและเก็บตัวอย่างให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

บทเรียนรับมือภาวะฉุกเฉิน

ดร.ขวัญฤดี กล่าวต่อว่า กรณีการรั่วไหลน้ำมันครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับกระบวนการรับมือกับภาวะฉุกเฉินใหม่

"ต้นเหตุและปัญหาที่ขยายในวงกว้างมาจากคลื่นลมทะเล การหย่อนยานเรื่องการซักซ้อม ความชะล่าใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการซ้อมแผนอุบัติภัย ที่ระบุว่ามีการซักซ้อมต่อเนื่อง แต่กลับไม่สามารถเรียกมาแก้ไขปัญหาได้"

การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเป็นอีกปัญหาของเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเอกชนมุ่งแต่แก้ปัญหาหน้างาน ไม่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในภาพรวม ประกอบกับไม่มีการตั้งศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลตั้งแต่ต้น ทำให้ข่าวสารมาจากทุกทิศทาง สร้างความสับสน ส่งผลให้การโฟกัสแก้ปัญหาของสังคมไม่ถูกจุด เช่น กระแสใช้เส้นผมไปขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังทำให้เกิดขยะ เป็นต้น

ส่วนกรณีที่มีผลกระทบไปถึงความศรัทธาของปตท.ในภาพรวมเป็นอีกปัญหาหนึ่ง จากการที่นำเหตุการณ์หนึ่งมาตัดสินองค์กรในภาพรวมโดยไม่แยกแยะ ซึ่งสิ่งที่สังคมต้องเรียกร้องต่อปตท.คือ ให้เร่งแก้ปัญหาคราบน้ำมัน และกู้ภาพลักษณ์ของเกาะเสม็ดในฐานะผู้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการท่องเที่ยวของเกาะ

ส่วนปัญหาความไม่วางใจต่อกันระหว่างรัฐและเอกชน กับประชาชนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมาบตาพุดมีปัญหามลภาวะหลายครั้ง ดังนั้นความชัดเจนของข้อมูล และเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นเรื่องจำเป็นมากในกรณีแบบนี้ แต่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมาก่อนที่จะเกิดเหตุ ส่วนเอกชน สิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจัง คือ การตรวจสอบและซ่อมบำรุงสม่ำเสมอ แม้ยังไม่หมดอายุการใช้งาน

"พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น มาตรฐานการปล่อยมวลสารต้องเข้มข้น เพราะความสามารถของธรรมชาติในการฟอกตัวต่ำกว่าพื้นที่อื่นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเบาบางกว่า"

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปตรวจสอบและให้ความรู้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่กฎหมาย และรัฐควบคุมไม่ทั่วถึง เช่น โรงงานที่อยู่ตามห้องแถวต่างๆ โรงงานบัดกรีเหล็ก เป็นต้น

ล่าสุดมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด ให้ความรู้ในเรื่องนี้ภายใต้งานสัมมนา "วิจัยขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลงสังคม สู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน" ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ 2556 เวลา 09.30- 12.30 น. ณ รร.แลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ

โดยมีหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจ อาทิ "Trends & Challenges of ASEAN Business toward AEC 2015" เป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด และเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และ ภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกระแสสีเขียว กุญแจสำคัญต่อภาคธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาทิ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID), คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) , Asian Development Bank Institute (ADBI) เป็นต้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต กับความรับผิดทางอาญา !!

โดย.ณรงค์ ใจหาญ

การที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นติชม ต่อเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ของคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อมเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในทุกสังคม ทั้งนี้เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ เว้นแต่การแสดงความคิดเห็นนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในนสังคม หรือการก้าวล่วงต่อสิทธิส่วนตัวของผู้อื่นจนเกินสมควร ประเทศที่ถือหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยจึงให้อิสระแก่ประชาชนที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็น โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา
 
 กฎหมายไทยมีหลักการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน หากพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความผิดที่คุ้มครองชื่อเสียงของคนที่จะไม่ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากการใส่ความ (นินทาว่าร้าย) จากคนอื่น ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือการโฆษณา แต่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อติชม หรือเพราะตนเองมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น ก็สามารถแสดงความคิดเห็นหรือข้อเท็จจริงได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อเท็จจริงนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หลักวิชาและความเป็นกลางในการแสดงความคิดเห็น (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329)
 
 ในทำนองเดียวกัน ความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งมีความประสงค์ที่จะรักษาอำนาจอธิปไตยของรัฐ หรือเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมือง หากมีการยุยงให้ทหารหรือตำรวจก่อการกำเริบ หรือยุยงให้ประชาชนก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือละเมิดต่อกฎหมาย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิที่เกินขอบเขตและเป็นความผิดอาญา เพราะการที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องอยู่ภายในกรอบที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงถือเป็นเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้ของประชาชนทุกคนที่จะใช้สิทธิภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจดำเนินคดีอาญาแก่ผู้นั้นได้แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นนั้น จะทำให้ผู้มีอำนาจรัฐหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเสียประโยชน์ที่หวังไว้ก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
 
 ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า หากเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต ได้แก่การบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนหลงผิด หรือนำหลักการทางวิชาการมาบิดเบือนเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ โดยตั้งใจและขาดความรับผิดชอบในทางวิชาการ หรือตั้งใจกระทำการใดๆ เพื่อทำให้ประชาชนตื่นตระหนกเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จะมีความผิดอย่างไร กรณีนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มีฐานความผิดที่ลงโทษไว้หลายฐาน ดังนี้

      1. ในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต และเป็นการนินทาว่าร้ายคนอื่น กรณีนี้ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326

     2. ในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นและยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นการแสดงไฮปาร์ก ยุยงโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกลียดผู้บริหารประเทศ โดยปราศจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง กรณีนี้ถือว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่มุ่งคุ้มครองสถาบันนิติบัญญัติ และความมั่นคงของรัฐมิให้ได้รับอันตรายจากการใช้สิทธิไม่สุจริต

     3.ในกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นและยั่วยุให้มีการปิดถนน หรือปิดบริการสาธารณะหรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งเกินกว่าสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมหรือขอความช่วยเหลือจากรัฐตามหลักในกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องการชุมนุมหรือการเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้ายตามมาตรา 135/1
 
     4.ในกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยไม่มีเหตุที่ควรกระทำ กรณีนี้ถือว่าเป็นการชุมชุมโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายและเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดการยั่วยุดังกล่าวจึงเป็นการแสดงออกด้วยวาจาที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
 
     จากหลักกฎหมายและข้อยกเว้นความรับผิดข้างต้น การที่ประชาชน สื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะโดยวาจาหรือการประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชน หรือด้วยการโฆษณาทางอื่น และก่อให้เกิดผลในการที่จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในสังคมนั้น หากเป็นการใช้สิทธิสุจริต เป็นการกระทำโดยความหวังดี ไม่ได้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนหลงผิด ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดและไม่มีเหตุใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะห้ามการกระทำนั้นได้ แต่ถ้าเกินขอบเขตของเสรีภาพหรือเป็นการบิดเบือนความจริง บิดเบือนหลักวิชาการ แอบอ้างหลักการของประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของตนหรือพวกพ้องแล้ว จะถือว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเสรีภาพให้ทำได้ กฎหมายจะกำหนดความรับผิดทางอาญาไว้ตามฐานที่กล่าวไว้ข้างต้น

ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อุตสาหกรรมโรจนะสบช่อง ลุย ทวายโปรเจกต์ !!?

แม้ว่าโครงการ "ทวายโปรเจกต์" ในพม่าจะได้ข้อสรุปถึงรูปแบบการระดมทุน ด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้ง คอมปะนี โดย เป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและพม่า และจัดตั้งนิติ บุคคลย่อย (Special Purpose Companies : SPCs) ขึ้น อีก 7 บริษัท เพื่อให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าลงทุนในแต่ละสาขา ได้แก่ ท่าเรือ ถนน ผลิตไฟฟ้า ผลิตน้ำและบำบัดน้ำเสีย นิคมอุตสาหกรรม สื่อสารโทรคมนาคม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์..

โดยเฉพาะการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นหัวใจของโครงการ รองรับ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งยังไม่มีเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไทยรายใดตัดสินใจเดินหน้า

บางรายถึงขั้นปฏิเสธ เพราะมองว่าความเสี่ยงสูง

ยกตัวอย่าง นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยและพม่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันในการผลักดันโครงการทวาย แต่ถึงยังไงโครงการนี้ยังมีความเสี่ยงสูงในการขับเคลื่อน เนื่อง จากปัญหาความขัดแย้งภายในของพม่าที่มีชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธุ์ ขณะที่กฎหมายการลงทุนก็ยังไม่นิ่ง เปลี่ยน แปลงได้ตลอดเวลา

ประกอบกับโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากกว่าแสนล้านบาท ถ้าตัดสินใจลงทุนแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังจะเกิดความเสียหายมหาศาล

หันไปมองด้านกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อมตะ แม้จะมีความสนใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจว่าจะเข้าไปลงทุนในรูปแบบไหน

โดย นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่ามีความสนใจที่จะเข้า ไปลงทุนในทวาย เนื่องจากอยู่ในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ เบื้องต้นมีการพูดคุยกับคณะกรรมการของอมตะฯ แล้ว ทุกคนเห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการนี้

แต่หนึ่งรายที่วันนี้ตัดสินใจแล้วคือส่วนอุตสาหกรรมโรจนะ

โดยทำสัญญาร่วมทุนกับอิตาเลียน ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก่อตั้งบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ครอบคลุมพื้นที่ 127,000 ไร่ ตั้งเป้ารองรับการลงทุนในอาเซียนที่กำลังขยายตัว

ซึ่งนายจิระพงษ์ วินิชบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนอุตสาหกรรม โรจนะ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท เล็งเห็นถึงโอกาสการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ตกลงทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในการก่อตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ครอบคลุมพื้นที่ 127,000 ไร่

โดยจะมีการทยอยพัฒนาเป็นขั้นตอนในแต่ละเฟส ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ทั้งจากไม้และยางพารา พลาสติก วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องหนัง และอาหารทะเล

"การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกิดความคล่องตัวมากขึ้น เราจึงต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับความเปลี่ยน แปลงและความต้องการของนักลงทุน โดยให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ ซึ่งพม่าถือเป็นประเทศที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ทวายซึ่งเป็นประตูสำคัญในการเชื่อมต่อระบบลอจิสติกส์ไปยังประเทศแถบตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว สำหรับโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการและทำการตลาดได้ภายในสิ้นปี 2556 โดยผู้ซื้อจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณ ต้นปี 2557" นายจิระพงษ์ กล่าว

นายอู เย เมียน ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า แผนดังกล่าวซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินงานเฟสละ 5 ปี แบ่งเป็น 3 เฟส คือ โครงการ เฟสแรกจะเน้นอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องหนัง อาหาร ยางพารา อุตสาหกรรม ที่ใช้ผลิตผลเกษตรเป็นพื้นฐานและเฟอร์นิเจอร์ มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 5 ปี บน พื้นที่ราว 6,025 ไร่ โครงการ เฟสสอง 5 ปีเช่นเดียวกัน บนพื้นที่ 5,000 ไร่ ประกอบด้วย โรงงานเหล็ก ปุ๋ย โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานผลิตรถยนต์ โครงการระยะที่สาม 10 ปี ประกอบด้วยโรงงานผลิตพลาสติก เคมีภัณฑ์ และโรงกลั่นน้ำมันดิบ

"ธุรกิจที่ดำเนินงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะต้องไม่สร้างมลภาวะ ต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถือเป็นโครงการแรกของประเทศ ที่เน้นในเรื่องนี้และเราพร้อมจะเดินหน้าเต็มที่" นายอู กล่าว

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////

กลุ่มคนผู้ได้รับสิทธิพิเศษในการทำผิดแล้วลอยนวล !!

บุคคลผู้แสวงหากระบวนการค้นหาความจริง ความยุติธรรม และการปรองดองที่แท้จริงควรยินดีกับข่าวในวันนี้ที่ศาลอาญาในกรุงเทพฯระบุว่า ไม่มีคนเสื้อแดงหรือผู้สนับสนุนคนเสื้อแดงคนไหนในวัดปทุมวนารามติดอาวุธในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 และกองทัพภายใต้การสั่งการของรัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องรับผิดชอบการเสียชีวิตของพลเรือน 6 รายในวัดปทุมฯ เราต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีเพื่อให้ความจริงเริ่มเปิดเผย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความลวงโลกของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีข้อตำหนิ เพราะคณะกรรมการไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการค้นหาความจริง กล่าวคือไม่มีอำนาจในการออกหมายเรียกพยาน

หากปราศจากความจริง ความยุติธรรมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ และเมื่อไม่มีความยุติธรรม จึงไม่มีการนิรโทษกรรมที่แท้จริงและประสบผลสำเร็จ บางคนอาจกล่าวว่าในทางพฤตินัยแล้ว กลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยหัวรุนแรงและกลุ่มพันธมิตรของพวกเขา รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ได้รับนิรโทษกรรมไปแล้ว นายอภิสิทธิ์และอดีตรองนายกรัฐมนตรีสุเทพถูกแจ้งข้อหาสังหารผู้ชุมนุมพลเรือนในปี 2553 แต่กลับแสดงพฤติกรรมยะโสโอหัง เพิกเฉยต่อเงื่อนไขการประกันตัว ซึ่งเป็นการยืนยันสิทธิพิเศษของพวกเขาในการทำผิดแล้วลอยนวล

ทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในปี 2553 ปฏิเสธอย่างโผงผางที่จะไม่ตอบคำถามใดๆเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมชาติจากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สอบสวนคดีดังกล่าวทั้งสิ้น หน้ากากของการทำผิดแล้วลอยนวลเช่นนี้แตกต่างอย่างมากจากการนิรโทษกรรมที่เป็นธรรมและมีประสิทธิผล เพราะเป็นสิ่งชัวร้ายที่นายอภิสิทธิ์นำมาใช้เพื่อเพิกเฉยต่อข้อหาที่เขาถูกแจ้ง

ในทางกลับกัน การนิรโทษกรรมในทางพฤตินัยและสิทธิพิเศษในการทำผิดแล้วลอยนวลของพธม. กองทัพและพรรคประชาธิปัตย์ หมายถึงการที่คนเสื้อแดงทั่วไปยังคงถูกคุมขังในเรือนจำอย่างน่าเศร้า หลายคนถูกป้ายสี ลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมที่มีมลทิล และมีการสร้างหลักฐาน คนเสื้อแดงเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว ไม่ได้ประกันตัว และบางครั้งได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี และอาจเรียกได้ว่าเป็นการทารุณกรรม หลายคนยังคงเศร้าเสียใจกับการสูญเสียมิตรสหายของการสังหารหมู่ปี 2553 หลายคนยังคงมีบาดแผลทางร่างกายและจิตใจจากการสังหารหมู่ครั้งนั้น

กระนั้น กลุ่มคนที่ออกคำสั่งสังหารหมู่และเสวยสุขจากการทำผิดแล้วลอยนวลกลับกำลังโจมตีการนิรโทษกรรมอย่างแท้จริงซึ่งจะปลดปล่อยเหยื่อของพวกเขา โดยการใช้ตรรกะที่ไร้สาระและคลุมเครือ มีการอ้างถึงกองกำลังติดอาวุธปริศนาซึ่งไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าเชื่อมโยงกับคนเสื้อแดง พวกเขาใช้เรื่องดังกล่าวสร้างอำนาจทางศีลธรรมและกฎหมายในการยิง คุมขังและสังหารผู้ชุมนุม แม้จะมีความพยายามจากนายอภิสิทธิ์ในการจัดตั้งกระบวนการค้นหาความจิรงผ่านทางคณะกรรมการจอมปลอมอย่างคอป. แต่พวกเขากลับไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผย “ความจริง” ใดๆ สิ่งเหล่านี้เป็นภาระหน้าที่ในทางกฎหมายก่อนมีจะการนิรโทษกรรมที่แท้จริง

นิรโทษกรรมคือวิธีการหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความจริง ไม่มีความยุติธรรม และคนเพียงกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิพิเศษในการทำผิดแล้วลอยนวลเท่านั้น การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนย่อมไม่เกิดขึ้น

Read more from นปช
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เปิดสถิติ : ม็อบล่มปากอ่าว ไม่ทันแข็ง แค่ 2ชม. 45นาที !!??

ทุบทุกสถิติ !!!

เมื่อม็อบพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศรวมตัวเคลื่อนไหวใหญ่ 7 ส.ค. 2556 ในเวลา 09.00 น.จากนั้นเคลื่อนขบวนมายังอาคารรัฐสภา ตามถนนราชวิถี แล้วมาประกาศยุติการชุมนุม ให้ประชาชนแยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วน ส.ส.ปชป. จะเข้าไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 11.45 น.
รวมเวลาทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 45 นาที !!!

เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ “จบ” แบบ “รวดเร็วที่สุด” ครั้งหนึ่ง ตามสถิติเกี่ยวกับการ “ชุมนุมทางการเมือง” ซึ่งมีข้อมูลหลายอย่างที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

โดยเวลา 09.10 น. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ปชป. ขึ้นชี้แจงการเดินขบวนจากที่ตั้งไปยังรัฐสภา นำโดย ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา และบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา พร้อมส่ง 10 ส.ส.พรรคเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อนำมวลชนเข้าพื้นที่บริเวณสภา

09.20 น. องอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมไปรวมตัวเพื่อรอตั้งขบวนก่อนเคลื่อนพลในเวลาต่อมา ไปถามถนนพระราม 6 และถนนราชวิถี

โดยมีรายงานว่า “แฟนนานุแฟน ปชป.” มาร่วมการชุมนุมครั้งนี้มีประมาณ 3 พันคน แม้ “พลพรรคประชาธิปัตย์” และ “สื่อสารมวลชนในเครือข่าย ปชป.” ไม่ว่าจะเป็น “สำนักทีนิวส์” หรือ “สถานีบลูสกาย” จะยืนยันว่ามีผู้มาร่วมนับหมื่นก็ตาม !!

10.19 น. อลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ทวิตข้อความในทวิตเตอร์ ที่มีผู้สอบถามว่าไม่พบ อลงกรณ์ อยู่ในขบวนของ ปชป.ว่า “จะเห็นผมในสภาผู้แทนฯ เว้นแต่เข้าไปไม่ได้ครับ”

10.45 น. อภิสิทธิ์ สุเทพ และ ชวน นำทีมไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ เพื่อขอพาผู้สนับสนุนพรรค ปชป. เข้าไปพื้นที่รัฐสภา

จากนั้นเวลา 11.45 น. สุเทพ เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับแกนนำพรรค จะขอเดินเข้าไปภายในรัฐสภา เฉพาะ ส.ส. เท่านั้น โดยจะให้ผู้สนับสนุนพรรค ปชป. แยกย้ายกลับบ้าน !!!
สรุป “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประกาศยุติการชุมนุม ให้ผู้สนับสนุน ปชป.ที่เกณฑ์กันมาประมาณ 3 พันคน กลับบ้าน โดยใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 45 นาที

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2555 เมื่อครั้ง “เสธอ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นำการชุมนุมนาม “องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่มีเป้าหมายในการจะ “โค่นล้มรัฐบาล แช่แข็งประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปี”

เวลา 09.01 น.”เสธอ้าย” ขึ้นเวทีทำพิธีเปิดเวทีการชุมนุม “วันนี้จะสามารถโค่มล้มรัฐบาลได้อย่างแน่นอน” !!!

จากนั้นสลับสับเปลี่ยน แกนนำภาคส่วนต่างๆ ขึ้นเวทีปราศรัย รวมไปถึงกลุ่มสันติอโศก โดย “เสธอ้าย” ผู้นำการชุมนุมได้เก็บตัวเงียบและหายไปจากเวทีระยะหนึ่ง

โดยระหว่างนั้นมีรายงานว่า สำนักข่าวต่างๆ ได้ประเมินกันว่ามีผู้มาร่วมชุมนุมกับเสธอ้าย ประมาณ 1 หมื่นคน

กระทั่ง เวลา 17.20 น. “เสธอ้าย” ได้กลับขึ้นเวทีอีกครั้ง พร้อม “ประกาศยุติการชุมนุม” แบบไม่มีสาเหตุ พร้อมเดินทางออกจากสถานที่ชุมนุมในทันที !!!

โดยสรุป การชุมนุมของ “องค์การพิทักษ์สยาม” มีมวลชนประมาณ 1 หมื่นคน โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง 19 นาที

ขณะที่ “ม็อบ ปชป.” 3 พันคน ใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 45 นาที “ทุบสถิติ” ที่ “เสธอ้าย” เคยทำเอาไว้ราบคาบ !!

ซึ่งถ้า เปรียบเปรยกรณีการล่มลงของ “ม็อบเสธอ้าย” ครั้งนั้นว่า “ม็อบเสธอ้าย ไม่แข็ง” แล้ว “ม็อบ ปชป.” เรียกได้ว่า “ยังมิทันแข็ง” ด้วยซ้ำ !!!

ที่มา.พระนครสาส์น
//////////////////////////////////////////////////////////////

คนไทยเอือมการเมือง : หอการค้า ชี้ให้รัฐบาลเร่งใช้จ่ายงบ ฟื้นเศรษฐกิจ !!??

หอการค้าเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่ำสุดรอบ 7 เดือน ปชช.ชะลอใช้จ่าย จี้ภาครัฐเร่งใช้จ่ายงบ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชี้คนไทยเบื่อเที่ยว-ห่วงการเมือง ดัชนีต่ำสุดรอบ 25 ปี หวั่นเหตุการณ์รุนแรง ฉุดจีดีพี 0.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการพยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ 80.3 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนและมีแนวโน้มลดลงต่อ เนื่องจากความกังวลในด้านผลกระทบทางการเมือง การชะลอตัวของเศรษฐกิจ เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลง ปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายสินค้า และลดการท่องเที่ยวในประเทศ ฉะนั้นรัฐบาลต้องเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลายในระยะยาว

ทั้งนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือการท่องเที่ยว จากสำรวจพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวได้อยู่ในระดับ 98.1 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 100 ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เพราะคนไทยเบื่อท่องเที่ยวและข่าวความวุ่นวายการเมือง และหากปัญหาเรื่องความขัดแย้งจบลงภายใน 3 เดือน ก่อนช่วงไฮซีซั่น ก็ยังถือว่าโชคดีสำหรับเศรษฐกิจไทย และไม่กระทบต่อรายได้ท่องเที่ยวของไทยมากนัก และความวิตกต่อปัญหาการเมือง ทำให้เกิดชะลอการลงทุนเอสเอ็มอี ส่งผลให้ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนอยู่ในระดับ 80.2 ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.9 ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 8 เดือน สะท้อนการบริโภคชะลอตัว

"ผลสำรวจสะท้อนประชาชนกังวลมากสุดในเรื่องสถานการณ์การเมือง โดยดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง อยู่ที่ 65.3 ต่ำสุดในรอบ 25 ปี หากเหตุการณ์ยืดเยื้อไม่เกิน 3 เดือนและไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ประเมินว่าเศรษฐกิจจะชะลอในระดับ 0.1-0.2% แต่หากรุนแรงจนบานปลายจะกระทบต่อเศรษฐกิจ 0.5%"

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เงินบาทอ่อนตัว ค่าราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัวที่ 29.99 บาทต่อลิตร

นางเสาวณีย์กล่าวว่า ปัจจัยลบคือความกังวลต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่อาจจะยืดเยื้อ ประกอบกับการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่เริ่มประกาศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ จาก 5.1% เหลือ 4.2% รวมทั้งความกังวลเรื่องน้ำมันรั่วที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ ความกังวลเรื่องของราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่มากและกำลังซื้อของคนต่างจังหวัดไม่สูงมากนัก ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่มา.มติชน
/////////////////////////////////////////////////////////

เปิดคำสั่งศาล คดี 6 ศพวัดปทุมฯ โดยย่อ..!!??

คำสั่งศาลคดี 6 ศพ วัดปทุมโดยย่อ แสดงเหตุผลว่าทำไมทั้ง 6 เสียชีวิตจากทหาร ในมือของทั้ง 6 ไม่มีเขม่าดินปืน ไม่เชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมฯจริง และไม่มีชุดดำ ในคำสั่งศาลคดีดังกล่าว

6 ส.ค.56 เวลา 9.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนการตายของ นายสุวรรณ ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6 ศาลได้ประกาศไต่สวนตามระเบียบแล้วนับแต่ญาติของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขออนุญาตซักถามและขอนำพยานนำสืบ โดยประชาไทสรุปคำสั่งที่ศาลได้อ่านในวันนี้เพื่อหาเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.

รวมไปถึงข้อสรุปของศาลที่ว่า ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิต การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว ดังนี้

กว่าจะถึง 19 พ.ค. 53 ที่วัดปทุมฯ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติของผู้ร้องโดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและได้มีการขยายบริเวณการชุมนุมตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยวันที่ 7 เมษายน 2553 นายกฯ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง จังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดนครปฐม อำเภอพุทธมณฑล และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง ทั้งยังออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นผู้ช่วย และยังแต่งตั้งนายสุเทพ เป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการ และหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

ปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ตายทั้ง 6 คือใคร ได้ความจากนายจ้างของผู้ตายทั้ง 6 ได้มีการนำสืบจากเอกสารใบมรณบัตร ประกอบกับการไต่สวน คดีจึงฟังได้ว่า ผู้ตายที่ 6 ชื่อนายสุวรรณ ศรีรักษา ผู้ตายที่2 ชื่อนายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 ชื่อนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 ชื่อนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 ชื่อนางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 6 อ นายอัครเดช ขันแก้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ผู้ตายทั้ง 6 ตายที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เหตุการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะทราบได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 5

ร่องรอย บาดแผล คราบเลือด วิถีกระสุน

สำหรับผู้ตายที่ 1, 3 ,4 ,5 ,6 ได้ความจากพยานหลายปาก รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญหลายปากเห็นว่า แม้ผู้ร้องและญาติของผู้ตายที่ 1,3 ถึงที่ 6 จะไม่ประจักษ์พยานในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ที่ 6 ถูกกระสุนจากอาวุธจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน และผู้ร้องมีพยานทุกปากซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ได้อย่างสอดคล้องต้องกัน เริ่มตั้งแต่จุดตำแหน่งของพยานแต่ละคนที่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ กระทั่งจุดตำแหน่งของผู้ตายที่ 1 และผู้ตายที่ 3 ถูกยิง โดยเฉพาะพยานปากสำคัญ นายธวัช แสงทน และนายศักดิ์ชาย แซ่ลี้ ที่เข้าไปช่วยนำพผู้ตายที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เข้ามาปฐมพยาบาลในเต็นท์ตามแผนที่เกิดเหตุในเอกสาร ส่วนพยานปากนางสาวนัฏธิดาและผู้ตายที่ 3 ได้ช่วยกันปฐมพยาบาลผู้ตายที่ 2 ก่อนถึงแก่ความตายภายในเต็นท์พยาบาล โดยจุดตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิงตามที่พยานทุกปากยืนยันสอดคล้องกับรายงานผลการตรวจที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่  20 พ.ค. พบคราบเลือดบนพื้นปูนซีเมนต์ด้านหลังสหกรณ์และบนพื้นใกล้ประตูทางออก  จากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 4 กับคราบโลหิตบนฟูกนอนสีชมพู และคราบโลหิตติดอยู่ที่โทรโข่งบนโต๊ะสีขาวภายในเต็นท์ผ้าใบสีขาว จากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 6 กับคราบโลหิตบนพื้นใกล้โต๊ะสีขาว ภายในเต็นท์ จากการตรวจพิสูจน์พบว่าคราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 3

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุคือวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 พบคราบโลหิตมนุษย์บริเวณถนนทางออกด้านหน้าวัด จำนวน 2 จุด แต่ละจุดห่างจากกำแพงแนววัด 5.3 และ 6.7 เมตรตามลำดับ และห่างจากแนวอาคารสหกรณ์ประมาณ 5.2 และ 3.2 เมตรตามลำดับ  กับพื้นที่เกิดเหตุด้านหลังสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกด้านหน้าวัดจำนวน 1 จุด ห่างจากแนวรั้วกำแพงประมาณ 8 เมตร กับบริเวณพื้นขั้นบันไดคอนกรีตทางขึ้นสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกหน้าวัดอีก 1 จุด ห่างจากแนวกำแพงหน้าวัดประมาณ 8 เมตร จุดตำแหน่งเหล่าตรงกับถ้อยคำของพยานผู้ร้องที่ยืนยันว่าผู้ตายถูกยิง ด้วยผลการตรวจคราบโลหิตของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วเชื่อว่าผู้ร้อง พยานผู้ร้องทั้ง 6 ปากเห็นเหตุการณ์ในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิงจริง ส่วนทิศทางของวิถีกระสุนปืนที่ยิงผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 นั้น ได้ความจากพยานปาก พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า พยานเป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายที่ 3 ถึงที่ 6 เพื่อทำการหาสาเหตุการตาย ผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่า

ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลฉีกขาดเป็นรูปทรงกลมบริเวณต้นแขนซ้าย 2 แห่ง ขนาด 1x2.5 ซม. และขนาด 0.8x0.5 ซม. บาดแผลทะลุผิวหนังบริเวณทรวงอกด้านซ้าย ขนาด 3.2x1 ซม. สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ และตับ พบเศษทองแดงในเสื้อ เศษตะกั่วเล็กๆ ในปอดและหัวใจ ทิศทางมาทางซ้ายไปขวา หน้าไปหลัง บนลงล่าง

ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขนขวาด้านนอก รูปลี ขนาด 0.6x5 ซม. ต่ำจากบ่า 17 ซม. บาดแผลต้นแขนขวาด้านใน และบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านขวา ขนาด 3.5x2.5 ซม. ต่ำจากบ่า 21 ซม. บาดแผลถลอกบริเวณกว้างหน้าท้องด้านขวา โหนกแก้มขวา ใต้คางขวา ริมฝีปากซ้าย สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ พบเศษทองแดง 2 ชิ้นบริเวณขั้วลิ้นลำไส้ ทิศทางขวาไปซ้าย หน้าไปหลัง บนลงล่าง

ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณก้นด้านขวา 2 แห่งทะลุถึงกัน ขนาด 0.8x0.5 ซม.  และ 0.9x0.7 ซม. บาดแผลทะลุบริเวณก้นด้านซ้ายขนาด 0.8x0.4 ซม. บาดแผลผิวหนังทะลุหลังด้านซ้ายส่วนล่าง 2 แห่ง 0.7x 1.2 ซม. บาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขน ขวาด้านนอก ขนาด 1x0.5 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณไหล่ขวา 4.5x3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณใบหน้าด้านขวาขนาด 5.3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณโคนนิ้วชี้ซ้าย สาเหตุการตายเกิดจากเลือดออกใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นนอก เนื้อสมองช้ำ  จากการถูกแรงกระแทกเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก ถูกยิง 2 นัด

และได้ความจากพยานปากแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.นพ.ปกรณ์ วะศินรัตน์ ที่พิสูจน์ศพผู้ตายที่ 1 และ 5 พบว่า

ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดรูปวงลี ขนาด .7x.5ซม. บริเวณไหล่ซ้ายด้านหน้า บาดแผลฉีกขาดรูปวงกลมขนาด .5 ซม.  บริเวณสะโพกด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบใกล้กับรูทวารหนักขนาด 1.7x0.5 ซม. บาดแผลฉีกขาดขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณต้นขาซ้ายด้านนอก บาดแผลฉีกขาดขนาด 0.8x0.5 ซม. บริเวณขาหนีบด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดรูปขนาด ขนาด 4.3 ซม. บริเวณโคนอวัยวะเพศ และบาดแผลฉีกขาดรูปวงรีบริเวณโคนข้อเท้าขวาด้านในและด้านนอก และหลังเท้า สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก พบเศษโลหะคล้ายหัวกระสุนปืนทองแดงบริเวณกล้ามเนื้อชายโครงด้านขวา ทิศทางซ้ายไปขวา บนลงล่าง  หลังไปหน้าเล็กน้อย

ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลฉีกขาด ขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณหลังด้านขวา บาดแผลฉีกขาดรูปวงรีขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณสีข้างด้านขวา สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมองและบริเวณศีรษะ ตรงฐานกระดูกด้านซ้ายมีรูแตก ทะลุสมองฉีกขาดเล็กน้อยและสมองใหญ่ซีกซ้ายมีเลือดออกเป็นแผล พบชิ้นส่วนโลหะคล้ายลูกกระสุนปืนลูกทองแดง ในกระโหลกศีรษะด้านขวา ทิศทางจากล่างขึ้นบน หลังไปหน้า

ประเด็นเกี่ยวกับวิถีกระสุนนี้ได้ความจากพยานปาก พ.ต.ท.สุรนาท วงศ์พรหมชัย กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 21-29 พ.ค.53 พยานได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ในวัดปทุมวนาราม พร้อมทั้งบริเวณด้านหน้าวัด พบรอยลักษณะคล้ายถูกยิงด้วยลูกกระสุนปืนบริเวณพื้นถนนทางออกและทางเข้าหน้าวัดจำนวนมาก

พ.ต.ท.ธีรนันท์ นคินทร์พงษ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจอาวุธและกระสุนปืน กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความโดยสรุปว่าได้ตรวจรอยกระเทาะที่พื้นถนนดังกล่าว เชื่อว่ารอยทั้งหมดถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จากด้านหน้าไปด้านหลัง จากขวาไปซ้าย ทำมุมกดลง ส่วนรอยถูกยิงที่บริเวณอาคารมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร เชื่อว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จำนวน 2 นัด โดยยิงจากภายนอกเข้าสู่ภายในวัด จากด้านหน้าไปด้านหลัง

จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุทั้งภายในวัดและบริเวณด้านนอกจนถึงบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าภายในวัดมีร่องรอยกระสุนปืน 23 รอย ร่องรอยกระสุนปืนบริเวณประตูทางออกวัดจำนวน 10 รอย ประตูทางเข้า 2 รอย บริเวณแผ่นป้ายโฆษณา 3 รอย ทั้งนี้ 15 รอยนั้น เกิดจากแนววิถีกระสุนที่ยิงมาจากบนลงล่าง  พยานยืนยันว่าน่าจะยิงลงมาจากบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้นที่ 1 หรือ ชั้นที่ 2 ด้านหน้าวัด

เมื่อพิจารณาจากผลการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายของแพทย์ รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับได้ความว่าด้านหลังของรางรถไฟฟ้าบีทีเอสตรงข้ามกับวัดนั้น มีอาคารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงอาคารเดียว และอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าดังกล่าวประมาณ 100 เมตรเศษ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีบุคคลใดใช้อาวุธปืนยิงจากอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มายังที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ เนื่องจากหากยิงมาจากอาคารดังกล่าว วิถีกระสุนจะต้องผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอส จึงเชื่อว่า ทิศทางของแนววิถีกระสุนที่ยิงผู้ตายที่ 1 ผู้ตายที่ 3-6  ยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ส่วนผู้ตายที่ 5-6 แม้แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์จะลงความเห็นว่า บาดแผลของผู้ตายที่ 5 มาจากทิศทางล่างขึ้นบน หลังไปหน้า บาดแผลของผู้ตายที่  6 ไม่สามารถระบุถึงทิศทางกระสุนปืนที่ยิงได้ก็ตาม เนื่องจากทางเข้าของกระสุนรวมถึงตำแหน่งพบตะกั่วในร่างกายสั้นมากก็ตาม

แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในขณะที่ผู้ตายที่ 5 และ 6 ถูกยิงนั้น ผู้ตายที่ 5 และ 6 กำลังคุกเข่า ก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าเข้าไปในวัด จึงเป็นเหตุให้ดูเสมือนหนึ่งว่าทิศทางวิถีกระสุนที่ยิงมายังผู้ตายที่ 5 และ 6 นั้น ยิงมาจากล่างขึ้นบน  และหลังไปหน้า

 เสียงปืนดังตรงจุดที่เจ้าพนักงานอยู่บนรางรถไฟฟ้า และไม่มีท่าทีหลบกระสุน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า บุคคลใดที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯ ประเด็นนี้ได้ความจากพยานปาก   ส.ต.ท.อดุลย์ พรหมนอก เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด.ต.สุชาติ ขอมปวน เจ้าพนักงานตำรวจสังกัดกลุ่มงานบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด.ต.อานนท์ ใจก้อนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 31 พิษณุโลก เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานได้รับคำสั่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยปราบจลาจล  กองกำลังสนับสนุน ขณะนั้นเวลา 17.30น. พยานทั้งสามอยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้นที่ 12 อาคาร 19 ในส่วนดาดฟ้า พยานทั้งสามเห็นเหตุเกิดเพลิงไหม้ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะบริเวณหน้าวัดปทุมฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานได้ใช้กล้องถ่ายรูปบริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้น 1 และชั้น 2 บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน้าวัดปทุมฯ เห็นเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งต่อมาใช้อาวุธปืนเล็งไปภายในวัด ในลักษณะเตรียมยิง โดยไม่มีเหตุการณ์ต่อสู้กับบุคคลใดๆ จากนั้น พยานทั้งสามได้ยินเสียงปืนดังตรงจุดที่เจ้าพนักงานอยู่บนรางรถไฟฟ้า และไม่มีท่าทีหลบกระสุน

ทหารบนราง BTS เบิกความรับยิงไปบริเวณวัดปทุมฯ

ประเด็นนี้ พยาน  พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์  จ.ส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทด  ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.ญ.สาวตรี สีนวล  ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำ  เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 8 รายได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้ไปประจำบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ระวังคุ้มกันเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ ประจำบริเวณพื้นถนนพระรามที่ 1 พ.ท.นิมิตร เป็นหัวหน้าชุดใช้อาวุธปืน M16A4 เป็นอาวุธประจำกาย ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา ใช้อาวุธปืน M16A2 พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาอีกหนึ่งนายประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 2 ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา ประกอบด้วย  จ.ส.อ.สมยศ  ส.อ.เดชาธร  ส.อ.ภัทรนนท์  ส.อ.สุนทร   ส.อ.เกรียงศักดิ์  ส.อ.ชัยวิชิต  ส.อ.วิทูรย์  ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหน้าสนามกีฬาแห่งชาติถึงหน้าวัดปทุมวนารามด้วย กระทั่งเมื่อเวลา 15.00น. พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 บริเวณแยกปทุมวัน มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ขณะนั้นมีชาย 2 คนใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าพนักงานชุดของพยานโดยแจ้งว่า ทั้งสองคนยืนตรงแยกเฉลิมเผ่า ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่รถ 6 ล้อ ที่จอดอยู่ที่แยกเฉลิมเผ่าและบริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า  เกาะกลางถนนพระรามที่ 1 ขณะนั้น เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2  ประจำการอยู่ที่แยกปทุมวัน ถ.พระราม 1 ได้เคลื่อนกำลังพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยของพยานบนพื้นถนนพระรามที่ 1 ในลักษณะพร้อมกัน

จนกระทั่งเวลา 18.00 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้เคลื่อนกำลังจากสถานีรถไฟฟ้าสยามเรื่อยไปจนบริเวณลานรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานจำนวน 7 นาย ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุม จ.ส.อ.สมยศ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรงเกาะกลางถนนพระราม 1 จำนวน 4-5 นัด และบริเวณกำแพงด้านนอกวัดปทุม 1 นัด โดยอ้างว่าเห็นชายชุดดำบริเวณดังกล่าว ส.อ.เกรียงศักดิ์ ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณที่สังเกตเห็นชายชุดดำยืนอยู่ จำนวน 14 นัด ส.อ.ชัยวิชิต ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงขึ้นฟ้าจำนวน 4 นัด ส.อ.วิทูรย์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ 4-5 นัดและบริเวณท้ายรถยนต์ซึ่งจอดที่บริเวณลานจอดรถของวัด 1-2 นัด พร้อมทั้งตะโกนให้ออกมาจากใต้รถและถอดเสื้อ ส.อ.ภัทรนนท์ได้ใช้อาวุธปืนยิงที่บริเวณกำแพงด้านนอกของวัด ส.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัด 4 นัด

ส.อ.ภัทรนนท์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่กำแพงด้านนอกของวัด ส.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัดจำนวน 4 นัด นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่าบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนารามไม่มีบุคคลใดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี โดยมีพ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น เชื่อว่าพ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าชั้นที่สอง โดยมีส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทด ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.เกรียงศักดิ์ สีบุ ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำ ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่งตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ สถานีรถไฟฟ้าสยาม แยกเฉลิมเผ่าจนถึงหน้าวัดปทุมวนาราม รวมทั้งสะพานลอยทางเดินสกายวอล์คด้านล่างตั้งแต่รถไฟฟ้าบีทีเอสสยามเรื่อยมาจนถึงหน้าวัดปทุมวนารามเท่านั้น

ผ่าศพพบ เศษกระสุนปืนเล็กกลขนาด.223 หรือ 5.56 มม.

และเมื่อพิจารณาประกอบกับของกลางที่ได้มาจากการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายที่1 ผู้ตายที่ 3-5 ของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ศพ โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลการตรวจพิสูจน์พบว่าวัตถุของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนโดยเป็นเศษรองกระสุนปืนเล็กกลหุ้มทองแดง ขนาด.223 หรือ 5.56 มม. เศษกระสุนปืนเล็กกลทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่วขนาด.223 หรือ 5.56 มม. สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตผู้อื่นและวัตถุได้

ประเด็นนี้ได้ความจากพ.ต.ท.ไพชยนต์ สุขเกษม สังกัดกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนได้เบิกความว่า อาวุธปืนเอ็ม16 ทุกรูปแบบอาทิเช่น เอ็ม16 เอ1-เอ4 และเอ็ม4จะต้องใช้กระสุนปืนขนาด.223 หรือ 5.6 มม. เศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตามภาพถ่ายนั้นเป็นเศษรองกระสุนปืนและเศษของกระสุนปืนเอ็ม16 เอ1-เอ4 เป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูงและเป็นอาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ อาทิเช่น เจ้าพนักงานทหาร เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าเมื่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันชุดจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านหน้าวัดปทุมวนารามได้ใช้ประจำกายคืออาวุธปืนเอ็ม16 เอ2และเอ4 แม้หลังเกิดเหตุกรมสอบสวนคดีพิเศษจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 4 กระบอก และพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 8 กระบอก ให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. ทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืน ผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่าเศษรองกระสุนและลูกกระสุนไม่ได้ใช้ยิงมาจากอาวุธปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอกก็ตาม ปรากฎว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันได้จัดส่งอาวุธปืนเล็กกลดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2553 และ 14 มี.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันหลังจากเกิดเหตุเป็นระยะเวลานาน  ในประเด็นนี้ได้ความจาก พ.ต.อ.พิภพและพ.ต.ท.ไพชยนต์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืนสงครามยืนยันว่าอาวุธปืนเล็กกลนี้สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนได้อาทิเช่นลำกล้อง ลูกเลื่อน เครื่องลั่นไก หากมีการถอดชิ้นส่วนดังกล่าวก่อนส่งไปตรวจพิสูจน์ก็ไม่สามารถตรวจเปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืน  ทั้งนี้ตามระเบียบการทำความสะอาดก่อนจะทำการเก็บทำความสะอาดอาวุธปืนที่ใช้  หลังจากการยิงอาวุธปืนที่ใช้หลังจากยิงทุกครั้งไม่ว่าจากการฝึกยิงหรือยิงในราชการอื่นใดจะต้องทำความสะอาดอาวุธปืนดังกล่าวทุกครั้ง การทำความสะอาดแต่ละครั้งย่อมทำให้ร่องรอยพยานหลักฐานอาวุธปืนกระบอกนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่สามารถทำการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอก เปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตรงกับความเป็นจริงได้

ไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือได้ว่ามีชายชุดดำหรือเสื้อขาวถือ M16

และเมื่อพิจารณาจากจุดตำแหน่งเจ้าพนักงานซึ่งเป็นหน่วยทหารนี้ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่ประตูทางออกด้านในวัด บริเวณเต็นท์ด้านในวัด บริเวณกุฏิพระภายในวัดและกำแพงรั้วด้านนอกวัดบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับแนววิถีกระสุน  ซึ่งผู้ตายที่  1 ผู้ตายที่ 3-6 ถูกอาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย  ส่วนจ.ส.อ.สมยศ  ส.อ.เกรียงศักดิ์ ส.อ.ชัยวิชิต ส.อ.วิทูรย์ ส.อ.ภัทรนนท์ เบิกความว่ามีชาย 4 คนสวมชุดดำ ถืออาวุธปืนยาวบริเวณเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดปทุมฯ ยิงมายังเจ้าพนักงาน และมีชายสวมเสื้อสีขาวกางเกงลายพรางสวมหมวกไหมพรมถืออาวุธเอ็ม 16 หลบอยู่ข้างกุฏิวัดภายในวัด พร้อมเล็งมายังเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าดังกล่าว จึงเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาทำข่าวและบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  แต่กลับไม่ภาพถ่ายของชายชุดดำหรือบุคคลดังกล่าวมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจากการยิงต่อสู้

นอกจากนี้ยังได้ความจากปากส.อ.สุนทร จันทร์งามและส.อ.เดชาธร มาขุนทด เจ้าพนักงานทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ เบิกความว่าในวันที่เกิดเหตุประจำการอยู่ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่ง หน้าวัดปทุม ได้ตอบทนายญาติผู้ตายที่ 1,4 ว่า ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณดังกล่าวไม่มีภัยคุกคามเกิดขึ้นภายในวัดปทุมพยานจึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิง แสดงให้เห็นว่าถอยคำของเจ้าพนักงานทหารขัดแย้งกันเองทั้งที่ประจำการอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ข้อกล่าวหานี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือได้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น

 ช่างทำบั้งไฟปากคำไม่มีน้ำหนักเนื่องจากถูกจูงใจจากทหาร

แม้พยานปากนายอภิสิทธิ์ แสงแก้วจะเบิกความว่าพยานได้ถูกว่าจ้างให้มาทำบั้งไฟในบริเวณสี่แยกราชประสงค์  ขณะเกิดเหตุได้หลบภายในวัดปทุมวนาราม เห็นปากกระบอกปืนโผล่ออกมาจากกุฏิวัดภายในวัดและยิงไปยังเจ้าพนักงานทหารซึ่งประจำการอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัด โดยมีการยิงตอบโต้ซึ่งกันและกัน ปรากฎว่าพยานปากนี้คำถามญาติผู้ตายที่ 1, 3, 4 ว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานทหารจะนำตัวไปให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆทำการสอบปากคำ พยานถูกเจ้าพนักงานพาไปที่ค่ายทหารและรับเงินเจ้าพนักงานทหารเป็นค่าใช้จ่าย กรณีนี้ถือได้ว่าเจ้าพนักงานทหารเป็นผู้นำพยานไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำ มิใช่เป็นความสมัครใจของพยาน ทั้งที่เจ้าพนักงานที่ถูกกล่าวหาก่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการให้เงินพยานปากนี้ก็มีลักษณะเพื่อที่จะจูงใจดังนั้นถ้อยคำของพยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง

ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานนำสืบว่ามีชายชุดดำถืออาวุธปืนยาวอยู่ภายในวัดปทุมฯแล้วใช้อาวุธปืนยิงมายังเจ้าพนักงานจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณี ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวน ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว เชื่อว่าผู้ตายที่ 1, 3-6 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนของอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุมวนาราม

ส่วนผู้ตายที่ 2 ได้ความจากพยานยืนยันทำนองเดียวกันว่าพยานได้เข้าไปร่วมชุมนุมตั้งแต่มี.ค. 2553 – 19 พ.ค. 2553 เวลา 13.00 น. แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุม ได้มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปสนามกีฬาแห่งชาติเพื่อขึ้นรถโดยสารประจำทางกลับภูมิลำเนา โดยให้เด็กและคนชราเข้าไปพักในวัดปทุมวนาราม ในขณะนั้นพยานทั้งสามได้เห็นผู้ตายที่ 2 ได้ถูกอาวุธปืนยิง โดยทิศทางกระสุนมาจากบริเวณ ถ.พระราม 1 ทางด้านห้างสรรพพสินค้าสยามพารากอน

แล้วศาลก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้นผู้ร้องและญาติผู้ตายที่ 2 จะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน รวมทั้งประจักษ์พยานยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 2 อย่างละเอียดทุกขั้นตอนได้อย่างสอดคล้องต้องกัน  โดยเริ่มตั้งแต่จุดที่พยานแต่ละคนเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนจากทิศทางแยกเฉลิมเผ่า บนถ.พระราม 1 หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง โดยพยานทุกปากได้เข้าไปช่วยนำผู้ตายที่ 2 เข้าปฐมพยาบาลภายในเต็นท์ โดยเฉพาะพยานปากน.ส.ณัฎฐธิดา ผู้ตายที่ 3 และผู้ตายที่ 6 ช่วยกันปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจให้กับผู้ตายที่ 2 ก่อนสิ้นใจตายในเต็นท์พยาบาล

ประกอบกับได้ความจากพยานร.ท.พิษณุ ทัดแก้ว เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารจากสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหาราบที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความว่า 19 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัด กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.  ให้เคลื่อนกำลังประมาณ 500 นาย จากแยกปทุมวัน เพื่อกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์โดยมาตามถ.พระราม 1 ทั้งฝั่งซ้ายและขวา พยานได้ใช้ปืนเล็กยาวทาโวร์ เป็นอาวุธปืนประจำกายพร้อมด้วยกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.

จนกระทั่งเวลา 17.30 น. ของวันดังกล่าวขณะที่พยานประจำตำแหน่งอยู่เห็นชาย 2 คน ยืนอยู่ที่บริเวณขอบปูนกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า บุคคลดังกล่าวได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาที่พยาน พยานจึงได้ใช้อาวุธปืนต่อสู้กับชายคนดังกล่าวจำนวน 10 นัด กระสุนปืนถูกที่ขอบปูนกั้น

หน้าวัดปทุมฯ เจ้าพนักงานควบคุมพื้นที่ไว้แล้วทั้งหมด

เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ ร.ท.พิษณุกับ พลฯสมรักษ์ ส.อ.โสพล  ธีระวัฒน์ พลฯไกรสร เชื้อวัฒน์ ประจำการอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง และแนวกระสุนที่ ร.ท.พิษณุยิงไปที่บริเวณขอบกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า แล้วจะเห็นได้ว่าจุดที่ร.ท.พิษณุกับพวกอีกสามนายประจำการอยู่บนถ.พระราม 1 นั้น เป็นฝั่งเดียวกับผู้ตายที่ 2 ถูกยิง และแนววิถีกระสุนที่ร.ท.พิษณุยิงไปก็อยู่ในแนวระนาบกับแนววิถีกระสุนปืนซึ่งผู้ตายที่ 2 ถูกยิง  ซึ่งแนววิถีกระสุนนี้จากผลการตรวจศพของผู้ตายที่ 2 ตามรายงานการตรวจศพของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ ว่ามีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านซ้ายส่วนบนเกิดจากกระสุนปืน ทิศทางหลังไปหน้า แนวตรง แนวระดับ  โดยเฉพาะพื้นที่ถ.พระราม 1 นั้นทั้งด้านซ้ายและด้านขวาตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติจนถึงหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนไม่ปรากฎว่ามีบุคคลใดนอกจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารหน่วยนี้ประจำการและเข้าไปควบคุมพื้นที่ถ.พระราม 1 ไว้ทั้งหมดแล้ว

ประกอบกับได้ความจาก น.ส.ผุสดี งามขำ พยานญาติผู้ตายที่ 2  ร่วมเบิกความสนับสนุนว่า ได้เข้ารวมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.- 19 พ.ค. 2553 ณ เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงเวทีแยกราชประสงค์ จนกระทั่งถึงเวลา 13.00 น. ของวันที่ 19 พ.ค.2553 กลุ่ม นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์และได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมไปขึ้นรถโดยสารประจำทางที่สนามกีฬาแห่งชาติเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่วนหนึ่งให้เข้าไปพักที่วัดปทุมวนารามซึ่งได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน พยานยังคงนั่งอยู่ที่หน้าเวทีและเดินรอบเวทีปราศรัย รวมทั้งเส้นทางของถ.พระราม 1 ขณะนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. เศษ พยานได้เห็นเจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่ทั้ง 4 ด้านล้อมรอบแยกราชประสงค์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณถ.พระราม 1 หน้าวัดปทุมวนารามเจ้าพนักงานได้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้แล้วทั้งหมดเช่นเดียวกัน

 ผู้ตายที่ 2 ตายจากกระสุนปืนของทหาร ร.31 พัน.2 รอ.

ส่วนร.ท.พิษณุเบิกความว่าเห็นชายสองคนอยู่บริเวรขอบปูนกั้นของตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่าได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาจุดที่พยานประจำการนั้นเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ไม่บันทึกภาพถ่ายของชายคนดังกล่าวมาแสดงซึ่งเป็นข้อพิรุธและสงสัย อีกทั้งถ้อยคำของ ร.ท.พิษณุ  ยังขัดแย้งกับเจ้าพนังงานทหารในหน่วยเดียวกันและประจำจุดเดียวกันและไม่ไกลกัน ตามแผนที่ในแผนผังประกอบการพิจารณา (หมาย ร.97)โดยเฉพาะ ส.อ.สมพงษ์ จินดาวัตน์ ซึ่งประจำการอยู่ใกล้กับ ร.ท.พิษณุ ตามปรากฏในแผนผังประกอบการพิจารณา กล่าวเบิกความว่าไม่มีบุคคลใดเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณดังกล่าวแล้วไม่มีปลายกระบอกปืนพาดกับขอบตอหม้อรถไฟฟ้า BTS ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.100 พยานทั้ง 3 จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่จบริเวณดังกล่าว หากชาย 2 คนบริเวณดังกล่าวใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับ ร.ท.พิษณุ ทัสแก้ว เจ้าพนักงานนายอื่นที่บริเวณดังกล่าวคงไม่ปล่อยให้ ร.ท.พิษณุ ใช้อาวุธปืนเพียงลำพังเพียงคนเดียวนานถึง 40 นาที

ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติของผู้ตาย ประกอบกับประจักษ์พยายาน พยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องการตาย เชื่อว่าผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนความเร็วสูงขนาด .223 ของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่ถนนพระรามที่ 1 หน้าห้างสรรพสินค้าพารากอน

 ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน

สำหรับการตรวจหาคลาบเขม่าดินปืนของมือผู้ตายทั้ง 6 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับการตรวจของกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ความจาก พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.53 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานมายังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้มาดูสถานที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กับเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้เดินทางไปยังวัดปทุมฯ ขณะไปถึงเวลา 8.00 น. เศษ พบศพทั้ง 6 ศพ นอนเรียงอยู่ใกล้ศาลา แต่ละศพมีเสื่อคลุม พยานตรวจสถานที่เกิดเหตุ คลาบโลหิต รวมทั้งตรวจมือของผู้ตายทั้ง 6 เพื่อหาอนุภาคที่มาจากการยิงปืน ซึ่งผลการตรวจนั้นไม่พบอนุภาคที่มาจากการยิงปืนทั้ง 6 ศพ ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสาร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานราชการหน่วยแรกที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ตรวจสภาพศพทั้ง 6 ศพ รวมทั้งจัดเก็บหลักฐานการตรวจเม่าดินปืนบริเวณมือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ก่อนหน่วยงานอื่น โดยแสดงถึงวิธีการ จัดเก็บหลักฐานคลาบเขม่าดินปืนดังกล่าวตามหลักการวิทยาศาสตร์ไว้อย่างละเอียด ดังนั้นผลของการตรวจเขม่าดินปืนที่มือของผู้ตายทั้ง 6 ศพ ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ด้วยหลักฐานจึงเชื่อว่ามือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีเขม่าดินปืน แสดงว่าผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน

ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1

สำหรับอาวุธปืน กระสุนปืน และปลอกกระสุนปืน ลูกระเบิดชนิดต่างๆ ที่ตรวจยึด เห็นว่าหลังจากการตรวจยึดอาวุธปืนขอกางดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์หรือกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตวรจหาลายนิ้วมือแฝงและสายพันธุกรรมดีเอ็นเอ ในการสืบหาคนร้ายที่ครอบครองของกลางดังกล่าว แม้กระทั้งปัจจุบันก็ไม่พบว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวกับของกลาง อีกทั้งของกลางดังกล่าวก็ไม่ได้ตรวจยึดในวันเกิดเหตุ คือวันี่ 19 พ.ค.53 ทันที ขณะนั้นเจ้าพนักงานทหารได้ควบคุมพื้นที่ด้านภายในวัดปทุมฯ และถนนพระรามที่ 1 ไว้หมดแล้ว ก่อนที่เจ้าหน้าที่กลุ่มงานกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ อีกทั้งการตรวจยึดของกลางก็ตรวจยึดหลังจากเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาหลายเดือน การตรวจยึดของกลางดังกล่าวนั้นจึงมีข้อพิรุธ

ประกอบกับได้ความจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศอฉ. และ พ.ต.อ. ปรีชา เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.53 ศอฉ. ได้มีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.53 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ออกประกาศ ศอฉ. ห้ามใช้เส้นทางเข้าหรือออกเส้นทางที่กำหนดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป ในวันดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งระงับการให้บริการเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และในวันดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งให้งดบริการรถไฟฟ้าสถานีราชดำริ สยาม ชิดลม รวมทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินในสถานีสีลม สถานีลุมพินี ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป นอกจากนี้วันที่ 13 พ.ค.53 กองบังคับการตำรวจนครบาลได้ออกคำสั่งกำหนดจุด 13 จุด โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จภารกิจ เจ้าหน้าที่หน่วยประจำหลักพกปืนพกประจำกาย การตั้งด่านดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องการจัดการคนเข้าและออกในพื้นที่ดังกล่าวโดยห้ามไม่ให้บุคคลนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ แสดงให้เห็นว่าการตั้งด่านเข้มแข็งของเจ้าพนักงานในพื้นที่ดังกล่าวย่อมเป็นการยากที่บุคคลใดจะนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่วัดปทุมฯ และพื้นที่ถนนพระราม 1 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ควบคุมได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหาร จากพยานหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1

จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายที่ 1 คือนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 2 คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 คือนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 คือนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 คือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด  ผู้ตายที่ 6 คือนายอัครเดช ขันแก้ว ถึงแก่ความตายภายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ ตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ที่มา.ประชาไท
/////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาชน ถูกดำเนินคดีหลังรัฐประหาร 1,888 คน !!??

4พ.ร.บ.เข้าพิจารณาในสภา ระบุพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหลังรัฐประหาร19ก.ย.49ปชช.ถูกดำเนินคดี1,888คน ยังมีจำนวนหนึ่งถูกคุมขังและคดี

1. ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมตัวเลขนักโทษจากความขัดแย้งทางการเมือง หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ก.ย.2549 ที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม(ศปช.)รวบรวมเอาไว้ พบว่ามีประชาชนทั้งที่ร่วมชุมนุมและไม่ได้ร่วมชุมนุม ถูกดำเนินคดี 1,833 คน นับเป็น 1,451 คดี รวมถึงยังมีหมายจับที่ยังจับกุมตัวผู้ต้องหาไม่ได้อีกหลายร้อยคดีในหลายจังหวัดและยังมีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์อื่นอันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร 55 คน

โดยสรุป ตัวเลขประชาชนที่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร รวมแล้ว 1,888 คน ขณะที่นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่ง ยังถูกคุมขังและดำเนินคดี

ปัจจุบันมีข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา 5 ฉบับ โดยเป็นข้อเสนอของ ส.ส. 2 ร่าง ซึ่งเสนอเข้าสู่วาระการประชุมของสภาไปแล้ว และข้อเสนอโดยภาคประชาชน 2 ร่าง อยู่ระหว่างล็อบบี้เสนอให้ ส.ส.บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ ดังนี้

1. ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นฉบับแรกที่ถูกบรรจุเข้าวาระ วันที่ 7 ส.ค.2556 นี้ 2.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เสนอโดยนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี และคณะ 3.ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง เสนอโดยคณะนิติราษฎร์ 4. ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เสนอโดยกลุ่มญาติวีรชน โดยนางพะเยาว์ อัคฮาดและ 5. ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง จ.ลพบุรี ล่าสุด 31 ก.ค.ได้ยื่นต่อสภาฯ

ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย เหมะจะมีเนื้อหานิรโทษฯดังนี้

1.นิรโทษกรรมให้ใครบ้าง
- คดีอาญาทุกคดี ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือคดีที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง รวมไปถึงการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณา เพื่อให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนเจ้าหน้าที่รัฐ

2. ไม่นิรโทษกรรมให้ใครบ้าง
- คดีของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือผู้สั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง (ระดับแกนนำ)
- ผู้กระทำผิดตามมาตรา 112

3. ช่วงเวลานิรโทษกรรม
การกระทำระหว่าง 19 ก.ย.2549 - 10 พ.ค.2554

2. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557
จำนวน 2,525,000,000,000 บาท (สองล้านห้าแสนสองหมื่นห้าพันล้านบาท) เป็นการพิจารณาวาระ 2 -3 โดยฝ่ายรัฐบาลกำหนดไว้เป็นวันที่ 14-15 ส.ค.2556

3. ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ

เมื่อผ่านขั้นตอนรัฐสภาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วน แสดงเจตนาไว้ชัดเจนว่า จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะมองว่า พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายประเด็นรวมทั้ง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้มีหนังสือที่ คปก. 01/721 เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169

โดยมาตรา 169 เกี่ยวกับเรื่องวิธีจัดทำงบประมาณ ที่กำหนดว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้ที่อนุญาตไว้ต้องเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับการเงิน การโอนงบที่เป็นเงินคงคลัง เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนย่อมทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ กรณีการออกพระราชกำหนดกฎหมายกู้ยืมเงิน จึงจะเป็นข้อยกเว้น โดยที่รัฐบาลต้องไปทำรายจ่ายเพื่อข้อยกเว้นเงินคงคลัง แต่กรณี 2 ล้านล้านบาทไม่ใช่การตราพระราชกำหนดเป็นการตราพระราชบัญญัติทั่วไป จึงมีประเด็นว่า เป็นเงินแผ่นดินหรือไม่

ประเด็นที่อาจขัดต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน 2 ประเด็นใหญ่ ในมาตรา 57 วรรคสอง ระบุว่า การวางแผนออกกฎที่มีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของประชาชนให้รัฐควรสำรวจต้องฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ 4 ประการ 1.อีไอเอ 2.อีเอชไอเอ 3.รับฟังความคิดเห็น 4.มีองค์การอิสระให้ความคิดเห็น ...เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีมาตรา 154 เมื่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ผ่านนายกรัฐมนตรี จะเสนอลงพระปรมาภิไธย ส.ส.หรือ ส.ว.สามารถจะเข้าชื่อ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกระบวนการตรากฎหมายฉบับนี้ได้อีกขยักว่า เนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

4. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดมี 4 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนดังนี้

1. ร่างแก้ไขมาตรา 291 เสนอโดยรัฐบาล พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) พรรคชาติไทยพัฒนา
ประเด็นสำคัญ คือ ให้มี ส.ส.ร. 99 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร. มี 2 ประเภท คือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจังหวัดละ 1 คน และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมสภาฯ 22 คน ขั้นตอนขณะนี้ รอโหวตวาระที่ 3

2. ร่างแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. ได้แก่ มาตรา 111-115 มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 เสนอโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยประเด็นสำคัญ ให้มี ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด 200 คน (จากเดิมมี 150 คน โดยมาจากแต่งตั้งและเลือกตั้งจากจังหวัดละคน) ตัด ส.ว.สรรหาทิ้ง มีวาระ 6 ปี และให้ ส.ว.สามารถลงรับสมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันได้ (จากเดิมห้ามเป็นติดต่อกันเกิน 1 วาระ) ขั้นตอนขณะนี้ ผ่านวาระแรก กรรมาธิการแปรญัตติเสร็จแล้ว รอเข้าสภาวาระ 2-3

3. ร่างแก้ไขมาตรา 237 และมาตรา 68 เสนอโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี
ประเด็นสำคัญ คือ ตัดเรื่องการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จากกรณีผู้สมัครของพรรคนั้นทุจริตเลือกตั้งและให้คืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีที่ผ่านมาด้วย อีกประเด็นคือ เรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาสั่งยุบพรรคกรณีบุคคลหรือพรรคนั้นกระทำการที่เป็นการล้มล้างการปกครอง ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อน จะยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ขั้นตอนล่าสุด ผ่านสภาวาระแรกแล้ว อยู่ระหว่างแปรญัตติ รอเข้าสภาวาระ 2-3

4. ร่างแก้ไขมาตรา 190 เสนอโดยนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี
ประเด็นสำคัญ คือ ตัดข้อความที่ระบุว่า "หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา "ออกไป โดยขั้นตอนล่าสุด ผ่านสภาวาระแรก อยู่ระหว่างแปรญัตติ รอเข้าพิจารณาวาระ 2-3

5. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ มีทั้งหมด 5 ฉบับ
เนื้อหาหลัก เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขณะนี้อยู่ในระเบียบวาระ 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 ร่างของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ร่างของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ร่างของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ส่วนฉบับหลังสุด คือร่างของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เนื้อหาหลักคือการนิรโทษกรรมให้ทุกคดี ทุกคน ทุกระดับ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงคดีของนักการเมืองและอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กำลังรอ(ลุ้น)บรรจุเข้าสู่วาระ

6. ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
สมัยประชุม สมัยสามัญทั่วไป เป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมกำหนดเวลาในการยื่นญัตติเอาไว้ช่วงท้ายสมัยประชุม โดยเน้นประเด็นความล้มเหลวของนโยบายและโครงการที่ส่อทุจริตคอร์รัปชัน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

คำสัมภาษณ์สุดท้ายของ อิหม่ามยะโก๊ป !!??

อยากให้ทุกฝ่ายสร้างความเข้าใจ จริงใจ และมีความอดทนในการแก้ปัญหา แล้วปัญหาจะจบลงได้" เป็นคำให้สัมภาษณ์สุดท้ายของ อิหม่ามยะโก๊ป หรือ นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี



อิหม่ามกล่าว ที่มัสยิดกลางเมื่อเวลาประมาณบ่ายโมงเศษของวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.2556 จากนั้นอีกเพียง 3 ชั่วโมงเขาก็ถูกยิงในบริเวณตลาดจะบังติกอ

ยะโก๊ปเป็นอิหม่ามที่มีชื่อเสียง ประกอบกับเป็นผู้นำศาสนาที่ใจดี คุยง่ายและไม่ถือตัว ทำให้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของนักข่าวในพื้นที่เป็นอย่างดี

และในวันที่เกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวจากศูนย์ข่าวอิศราได้แวะเวียนไปหาอิหม่ามเพื่อสอบถามถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเทศกาลฮารีรายอ เนื่องจากในวันรายอก็เป็นอีกหนึ่งวันที่พี่น้องมุสลิมจะไปร่วมละหมาดที่มัสยิดเป็นจำนวนมาก ทำให้อิหม่ามยะโก๊ปต้องเตรียมพร้อมทั้งตนเองและสถานที่ก่อนถึงเทศกาลสำคัญทุกปี

เช่นเดียวกับการละหมาดตะรอเวียะห์ทุกค่ำคืนในช่วงเดือนรอมฎอนที่อิหม่ามะยะโก๊ปจะเป็นผู้นำละหมาดด้วยตนเองด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์...ใครๆ ก็จำได้

อิหม่ามยะโก๊ปอายุได้ 51 ปี อยู่กินกับภรรยาและมีลูกด้วยกัน 2 คน เป็นชาย 1 หญิง 1 ย้อนหลังกลับไปเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ช่วงค่ำวันที่ 11 ต.ค.2553 เขาเคยถูกคนร้ายลอบยิงที่หน้าบ้าน แต่รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด เพราะกระสุนโดนเพียงหมวกกะปิเยาะห์

ครั้งนั้นเขาให้สัมภาษณ์ ว่า "คนร้ายไม่รู้จะไปยิงใคร อิหม่าม ครู ทุกอาชีพ ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหมดแล้ว โดนกันหมด โจรเลยไม่รู้จะไปยิงใคร อิหม่ามก็ยิงมาเยอะแล้ว ก็เลยมาลงที่ผม แต่โชคดีที่อัลเลาะฮ์คุ้มครอง เพราะผมอยู่ในแนวทางของอัลเลาะฮ์มาตลอด"

พร้อมกับทิ้งประเด็นต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ช่วงนั้นไว้อย่างน่าคิดว่า "ผมคิดว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงหลังๆ ดีขึ้นมาก แต่ดูเหมือนมีคนไม่อยากให้สถานการณ์สงบ"

เหตุรุนแรงที่กระทำต่ออิหม่ามคนสำคัญในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐพุ่งเป้าไปที่การกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง มีรายงานเบื้องต้นถึงผลตรวจปลอกกระสุนปืนจากปากกระบอกปืนที่ใช้ยิงอิหม่าม พบว่าเคยใช้ก่อเหตุรุนแรงมาแล้ว 6 เหตุการณ์ ส่วนบุคคลที่ทางการเชื่อว่าเคยลอบยิงอิหม่ามเมื่อปี 2553 ก็เพิ่งถูกจับกุมได้เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

สาเหตุสำคัญที่อิหม่ามยะโก๊ปถูกลอบยิง เจ้าหน้าที่ประเมินว่าเป็นเพราะการทำงานร่วมกับรัฐอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เมื่อเร็วๆ นี้เขาเคยกล่าวต่อสาธารณะถึงความหมายของเดือนรอมฎอนว่า เป็นช่วงเวลาของการให้อภัยและไม่ทำร้ายกัน ขณะที่ก่อนหน้านั้นก็เคยพูดหลายครั้งว่า การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เป็นการกระทำที่ผิดหลักศาสนาอิสลาม เพราะไม่มีคำสอนใดที่มุ่งให้ทำร้ายผู้อื่น

อิหม่ามเพิ่งให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับความหมายและข้อปฏิบัติของเดือนรอมฎอน เพิ่งนำเสนอบนเว็บไซต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง (25 ก.ค.) น่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นสุดท้ายของอิหม่าม บางช่วงบางตอนอิหม่ามเน้นย้ำถึงสภาพพื้นที่ชายแดนใต้ว่าทุกฝ่ายต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายว่ามีอยู่จริง และเข้าใจอัตลักษณ์ของศาสนาอื่นด้วย

"ข้อเสนอบางข้อ (เงื่อนไขแลกยุติเหตุรุนแรงของบีอาร์เอ็น มี 7-8 ข้อ) อย่างกรณีให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กระทำละหมาด คนเหล่านี้ก็ละหมาดเป็นปกติอยู่แล้ว หรือไม่ให้ขายเหล้า ถ้ามุสลิมขายเหล้าก็หะรอมอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ใช่มุสลิมกระทำได้ เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย คนพุทธห้ามขายหมูมันไม่ใช่ เราต้องเข้าใจว่าอัตลักษณ์ของศาสนาเป็นอย่างไร ศาสนาของเขาก็ของเขา ของเราก็ของเรา ในเรื่องวิถีชีวิต สังคม เราอยู่ร่วมกันได้ อันไหนที่ทำได้ก็ทำ อันไหนที่ขัดกับระบบอิสลามกำหนดก็มาว่ากันไป"

อิหม่ามยะโก๊ปเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนาอิสลามที่มีผลงานโดดเด่นและเคยได้รับรางวัลมากมาย เช่น โล่รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมด้านศาสนา ประจำปี 2552 รางวัลพระราชทาน ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายใต้ ปี 2536 รางวัลพระราชทานผู้ดำเนินรายการวิทยุดีเด่น สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยปี 2535 รางวัลพระราชทานโครงการคัดเลือกผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สาขาการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ และยังเป็นวิทยากรบรรยายศาสนธรรมตามสถานีวิทยุทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล

นอกจากนั้น อิหม่ามยะโก๊ปยังเป็นตัวแทนประเทศไทยในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบต่อองค์กรโลกมุสลิม เช่น องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี องค์กรสันนิบาตโลกมุสลิม รวมไปถึงองค์กรมุสลิมประเทศต่างๆ ด้วย



การเสียชีวิตของบุคคลผู้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางอย่างอิหม่ามยะโก๊ป สร้างความรู้สึกตกใจ สูญเสีย และเศร้าสลดกับผู้คนจำนวนไม่น้อย นางรอเมาะ มือลอ แม่ค้าในตลาดจะบังติกอ เล่าว่า เธอเห็นอิหม่ามยะโก๊ปมาซื้อของที่ตลาดทุกวัน บางวันมากับภรรยา บางวันก็จะมากับเพื่อน แต่วันเกิดเหตุอิหม่ามมากับภรรยา

"ฉันไม่คิดเลยว่าคนร้ายจะกล้าเข้ามาก่อเหตุถึงในตลาด น่ากลัวมาก ตอนที่เกิดเหตุแรกๆ ก็ไม่รู้ว่ายิงใคร มารู้อีกทีก็ตอนที่อิหม่ามฟุบลงกับพื้นแล้ว รู้สึกตกใจมาก ไม่คิดว่าคนที่ตกเป็นเป้าจะเป็นอิหม่าม"

ขณะที่ นายนัน วัย 65 ปี คนทำความสะอาดมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี บอกว่า ตอนที่รู้ข่าวร้ายรู้สึกตกใจ ทำอะไรไม่ถูกเลย เหมือนจะเป็นลม อิหม่ามเป็นคนจริงจังกับงานมาก ตั้งแต่ท่านเป็นอิหม่าม จำไม่ได้ว่ากี่ปีแล้ว แต่มัสยิดแห่งนี้พัฒนามาก ท่านตกแต่งจนมัสยิดกลางปัตตานีเป็นมัสยิดที่สวยงามเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้

"ผมเองอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากท่านอิหม่าม ท่านให้เงินผมเดือนละ 500 บาทเป็นค่าตอนแทนที่ผมทำความสะอาดมัสยิด ถึงแม้ว่าเงินจะน้อย แต่ผมก็ภูมิใจ" นายนัน กล่าว

ส่วนผู้ที่ทำงานด้านประชาสังคมในพื้นที่ซึ่งต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐ ต่างพากันวิตกกังวลหลังเกิดเหตุร้ายกับอิหม่ามยะโก๊ป เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าอิหม่ามให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด และยังมีแนวคิดเป็นกลาง มองปัญหาอย่างรอบด้าน

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เข้าเยี่ยมปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่ญาติของอิหม่าม

คืนวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. การละหมาดตะรอเวียะห์ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานียังคงดำเนินไปตามปกติ แต่เสียงนำละหมาดไม่ใช่เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของอิหม่ามยะโก๊ปอีกแล้ว...

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
----------------------------------------------------------------------------------------------------