--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธ.ทหารไทย เตือนไทยอาจติดหล่มเศรษฐกิจ หากคลังถังแตก !!?

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินแรงส่งเศรษฐกิจไทยกำลังแผ่วลงต่อเนื่อง หลังนโยบายภาครัฐหนุนการใช้จ่ายในประเทศหมดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า ทำให้ภาคส่งออกยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่หลังภาครัฐกังวลต่อระดับการแข็งค่าของเงินบาท จนอาจทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจและแสดงความพร้อมในเรื่องนโยบายเพื่อรับมือกับเงินทุนไหลเข้า กอปรกับจังหวะที่นักลงทุนกังวลกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจลดปริมาณเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจลง ทำให้ต่างชาติขายสุทธิทั้งในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของไทย ผลพวงดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก จากระดับ 28.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็น 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้วยระยะเวลาอันสั้นเพียงสองเดือนเศษ

แม้ว่าการกลับมาอ่อนค่าของเงินบาท อาจทำให้ผู้ส่งออกวางใจเรื่องความสามารถด้านการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้จากการส่งออกมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทว่าแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดเริ่มบ่งชี้ว่าสถานะของคู่ค้าสำคัญเริ่มซวนเซ อาทิ จีน ซึ่งตอนนี้ขึ้นแท่นเป็นคู่ค้าเบอร์หนึ่งของไทยแล้วนั้น เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาสแรก แม้กระทั่งผู้นำจีนเองก็ออกมายอมรับว่า จีนอาจต้องยอมเผชิญกับการชะลอตัวของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อความมีเสถียรภาพในระยะยาว ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกได้ประกาศปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งในปีนี้และปีหน้าลงมาต่ำกว่าระดับร้อยละ 8

ส่วนคู่ค้าอันดับสองของไทยอย่างสหรัฐฯ มีดัชนีภาคการผลิต (ISM manufacturing) ล่าสุดกลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนภาวะหดตัวของกิจกรรมเกี่ยวเนื่องในภาคดังกล่าว แม้ว่าดัชนีบ่งชี้ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

มองกลับมาด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ อานิสงค์จากนโยบายภาครัฐที่ได้ดำเนินการมาแล้วพักใหญ่ อาทิ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก กำลังอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบและยอดยกเลิกใบจองพุ่ง) รวมไปถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนกว่าล้านบาท ที่มีความเป็นไปได้สูงมาก  ว่าอาจพลาดเป้าการเบิกจ่าย 7 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2556 ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยคาดหวังไว้ เพราะโครงการต่างๆ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกมากกว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขั้นตอนการทำสัญญาเงินกู้ ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

อีกทั้งส่อเค้าว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เมกะโปรเจคท์ 2 ล้านล้านบาท จะล่าช้าออกไปจนไม่สามารถเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างแท้จริงได้ทันภายในสิ้นปี ซึ่งแนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณที่ถูกเลื่อนออกไปจะส่งผลกระทบทางอ้อมมายังการลงทุนของภาคเอกชน (Crowding-in effect) ให้ชะลอตามออกไปด้วย อันเนื่องมาจากภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่นต่อความไม่แน่ชัดของระยะเวลาที่นโยบายโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น แรงส่งจากนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังจะหดหายไป ในขณะที่เม็ดเงินคาดหวังก้อนใหม่ก็เหมือนจะไม่สามารถรับช่วงต่อได้อย่างทันท่วงที ความคาดหวังของการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ คงยากที่จะเกิดขึ้น และนั่นจะทำให้เกิดช่องว่างในการช่วยผลักดันให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศ สามารถช่วยต้านทานภาวะการส่งออกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจเหมือนเช่นในอดีต

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จะเติบโตได้สูงเกินกว่าระดับร้อยละ 4 และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2556 นี้ อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในไครมาสแรกที่ขยายตัวต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึง "หล่มเศรษฐกิจ" ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นับจากนี้ไป หากนโยบายการคลังสะดุด ไม่สามารถผลักดันให้การใช้จ่ายในประเทศเดินต่อไปได้ บางทีเราอาจได้เห็น กระสุนดอกเบี้ยของนโยบายการเงิน อาจถูกนำมาใช้เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปก็เป็นไปได้

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

รมว.คลัง ยันลดราคาจำนำไม่ขัดนโยบาย !!?

กิตติรัตน์.ยันรัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อสภาฯโดยได้รับจำนำข้าวในราคา 1.5 หมื่นล้านบาทต่อตันแล้ว อ้างราคาตลาดโลกไม่เป็นไปตามคาด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงการจำนำข้าวตามนโยบายที่ประกาศไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ราคา 15,000 บาทต่อตันแล้ว แต่เนื่องจาก ราคาข้าวในตลาดโลกไม่ได้ตอบสนองทิศทางตามอย่างที่คาดหวังไว้ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศปรับลดราคาจำนำลงมา อย่างไรก็ดี ราคาขายข้าวไทยในตลาดถือว่า ยังดีกว่าคู่แข่ง เพียงแต่ราคาข้าวของคู่แข่งต่างๆล้วนตกลง

"เราต้องการที่จะดูแลเกษตรกรของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากว่า ราคาข้าวในตลาดโลกตอบสนองในทิศทางที่เราหวังไว้หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้เมื่อแปลงมาเป็นเงินบาทก็จะเป็นรายรับของโครงการรับจำนำเพื่อมาดูแลต้นทุนค่าใช้จ่ายของโครงการ เราก็จะดำเนินการจนสุดความสามารถ"

ทั้งนี้ เมื่อผลของการปิดบัญชีจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวปรากฏชัดว่ามีผลขาดทุนมากกว่าที่รัฐพร้อมจัดสรรให้ รัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ดูแลภาพรวมทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ในความคิดเห็นส่วนตัวก็เชื่อว่า ไม่ได้เกิดผลเสียแต่อย่างใด เพราะการดูแลที่มากก็จะกลายเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้ง การใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"ในเมื่อกรอบที่จะต้องดูแลมากกว่าที่กำหนด รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องปรับ โดยมีการพูดกันว่า หากราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นหรือรายได้ที่จะเกิดจากการขายสินค้าให้เกินกว่ากรอบ เราก็พร้อมที่จะปรับให้สอดคล้อง ดังนั้น จึงต้องการขอความเห็นใจจากชาวนาด้วยว่า การปรับลดราคาลงดังกล่าวเป็นเรื่องของการรักษาวินัยทางการคลัง"

เขากล่าวด้วยว่า ได้เรียนไปแล้วว่า หากเราเป็นประเทศที่มีความพร้อมที่จะขาดดุลการค้าจำนวนมากอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ การที่จะดูแลในระดับที่ผ่านมาหรือต่อเนื่องไป ก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากนัก แต่ด้วยความที่ประเทศจะต้องประกาศทิศทางของความเข้มแข็ง โดยให้วินัยการคลังเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 2560 แนวทางในการปรับลดราคาจำนำลงมา เพื่อให้สามารถดูแลชดเชยผู้ปลูกข้าวได้ในระดับที่เป็นกรอบวินัยทางการคลังที่เหมาะสม ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่จำเป็น

"ขอยืนยันว่าเราจะดำเนินโครงการรับจำนำต่อไป เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการปลูกจริง มีข้าวมาส่งมอบจริง อีกทั้ง หากราคาข้าวในระหว่างที่เกษตรกรมาจำนำไว้มีแนวโน้มในตลาดโลกที่ดีขึ้น เกษตรกรก็สามารถได้รับสิทธิ์ตรงนั้นด้วย เพราะเป็นเรื่องของการจำนำไม่ใช่ขายขาด"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปัญหาสภาพแวดล้อม : ทนยอม ดิ้นรนหนี หรือจะสู้ !!?

ยินข่าวว่าอีกสักระยะหนึ่งรัฐบาลท่านจะปรับคณะรัฐมนตรี แถมยังมีข่าวลือคาดเก็งกันอีกว่ารัฐมนตรีท่านใดจะถูกปรับออก
   
อย่าไปเครียดกับข่าวประเภทนี้ เพราะการทำงานของรัฐบาลนี้มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้วว่าทำตามคำสั่งใคร ดังนั้นจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกันกี่รอบ ๆ ก็ไม่มีอะไรต่างจากเดิม
   
ทิศทางที่เตรียมไว้สำหรับช่วงเปิดรัฐสภาก็คงจะเป็นไปตามแนวทางเดิม
   
ส่วนเรื่องที่หลง ๆ ลืม ๆ ก็จะเก็บเงียบ ๆ ไว้ต่อไป
   
เช่นปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม แม้ขบวนการ CSR จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้กับบรรษัทอภิทุนว่าดูแลเอาใจใส่สภาพแวดล้อมอย่างดี แต่ในทางเป็นจริง   ปัญหาสภาพแวดล้อมก็ยังจะรุนแรงต่อไป
   
เมื่อสื่อมวลชนเขียนบ่นเรื่องพวกนี้ หลายคนก็อาจเบื่อหน่าย เพราะรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า อำนาจรัฐในสังคมทุนนิยมนั้น ย่อมจะถูก "ทุน" บงการเสมอไป ไม่ว่าประเทศไหน
   
ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางนั้น การครอบงำบงการจะต้องแนบเนียน ไม่อาจละเมิดกฏหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และนี่ก็เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่อุตสาหกรรมของต่างชาติหลายประเภท นิยมมาตั้งโรงงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ละเมิดหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายกันได้ง่าย ๆ
   
ในเรื่องทางการเมือง ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับ ข้ออ้าง "ข้อจำกัดทางการเมือง"
   
อย่าได้คาดหวังอะไรกับพรรคการเมืองแบบเก่า ๆ ที่ยังต้องพึ่งพาอำนาจ "ทุน" เลย
   
บ้านเมืองไทยเสื่อมโทรมลงทุกวัน ด้วยข้ออ้างเรื่อง "ข้อจำกัดทางการเมือง"
   
ท่านผู้อ่านอาจจะไม่นึกว่า ในทางเศรษฐกิจ ก็มีเรื่องทำนองเดียวกับ "ข้อจำกัดทางการเมือง" เหมือนกัน ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" ก็ได้
   
คำอ้างเรียกร้องให้พลเมืองในบางท้องที่เสียสละ ต้องยอมทนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เป็นปฏิกูล ต้องเสียสละพื้นที่ให้สร้างเขื่อนฯ ก็มักจะใช้คำว่า "เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ"
   
ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเขาก็ถือ "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" เหมือนกัน แต่เมื่อพื้นที่หนึ่งรองรับอุตสาหกรรมที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมเต็มที่ ไม่อาจจะเพิ่มเติมข้าไปอีก เขาก็ต้องไปตั้งนิคมในพื้นที่แห่งอื่น
   
สรุปแล้วก็คือ ผลกำไรของธุรกิจ มีความสำคัญเหนือกว่า "ธรรมชาติ" และ "ความเป็นมนุษย์" ของคนในประเทศด้อยพัฒนา?
   
อำนาจรัฐทุกแห่งก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน
   
แล้วพลเมืองเล่า จะมีท่าทีอย่างไรกับปัญหาที่ "ทุน" ทำลายสภาพแวดล้อมหนักอย่างนี้ พูดกันตรง ๆ ไม่ดัดจริต สรุปสิ่งที่ประชาชนจะทำได้มีเพียงสามทาง
   
1. ยอมทน ก็อยู่มันไปกับขยะปฏิกูลมลพิษจนกว่าจะตายไปเอง
   
2. หลบหนี กรณีนี้อาจทำได้สำหรับผู้มีอันจะกิน เช่น ย้ายบ้านหนีจากมาบตาพุด ไปอยู่เมืองเล็ก ๆ ที่ไม่มีโรงงานมาก เช่น นครพนม , หนองคาย , อำเภออมก๋อย แต่ท่านก็ทำมาค้าขายอะไรไม่ได้ใหญ่โตเพราะเป็นตลาดเล็ก
   
3. ลุกขึ้นสู้ ถึงแม้ท่านจะมีกำลังหนีไปได้ แต่สังคมทุนิยมสามานย์ก็จะไม่ปล่อยให้ท่านอยู่อย่างสมถะไปได้นาน มันจะติดตามไปทำลายสภาพแวดล้อมในถิ่นที่อยู่ของท่านจนได้สักวันหนึ่ง
   
เมื่อไม่อยากทนตายเปล่า ไม่มีกำลังทรัพย์จะหลบหนี ก็เหลือทางเดียวคือ "สู้" กับมัน

ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

เสียงสะท้อนชาวนา:ลดราคาจำนำข้าว !!?


เจ๊งจำนำข้าว ,ลดราคาจำนำ

การขาดทุนไม่ได้มาจากเกษตรกรแต่เป็นการจัดการของรัฐ : เสียงสะท้อนชาวนา รัฐจ่อลดราคาจำนำข้าว

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผย กรณีที่รัฐจะลดราคาโครงการรับจำนำข้าวเหลือ 12,000-13,000 บาท/ตันนั้น จะต้องหารือกับเกษตร และสมาคมเกษตรกรและชาวนาไทย หากเสียงส่วนใหญ่ยอมรับได้ ก็ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตามปัจจุบันที่ราคาข้าวในโครงการรับจำนำกำหนดไว้ที่ ตันละ 15,000 บาทที่ความชื้น 15 % นั้น ในทางปฏิบัติเกษตรกรขายข้าวได้ที่ราคาตันละ 12,000-13,000 บาทเท่านั้นเนื่องจากโรงสีต้องหักค่าความชื้นที่เกินกว่ากำหนด

ดังนั้นหากรัฐบาลปรับลดราคารับจำนำมาที่ ตันละ 12,000-13,000 บาท ในขณะที่ค่าความชื้นยังอยู่ที่ 15 % นั้น จะส่งผลให้เกษตรกรได้รับราคาที่ตันละ 10,000-11,000 บาทหรืออาจจะหย่อนกว่า 10,000 บาทเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะข้าวในเขตภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่จะมีการเก็บเกี่ยวช่วงที่ฝนตกทุกปี ในขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวยังสูงอยู่ประมาณไร่ละ 6,500 บาท ผลผลิตต่อไร่ หรือเฉลี่ยที่ตันละ 8,000 บาท จะเท่ากับว่าเกษตรกรได้รับกำไรจากการปลูกข้าวน้อยมาก อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลต้องการปรับลดราคาลงเพื่อลดการขาดทุนนั้นทางเกษตรกรก็ยินดี แต่รัฐบาลควรพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบด้วย

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นประโยชน์ ถึงเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง รัฐบาลควรทบทวนโครงการจากเป้าหมายที่ต้องการรับจำนำทุกเม็ด เป็นการกำหนดโควตารายได้เกษตรกรรายย่อยที่ครอบครัวละ 500,000 บาท วิธีการนี้จะดีกว่าที่รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณา กำหนดเพดานรับจำนำไว้ที่ครอบครัวละ 25 ตัน ทั้งนี้เพราะเกษตรกรรายย่อยบางส่วนสามารถผลิตได้ถึง 30 ตัน ข้าวที่เกินกว่าโควตาที่ได้รับจำเป็นต้องขายในตลาดที่ราคาต่ำกว่า

นายภาณุพงศ์ ภัทรคนงาม รองประธานสภาเกษตรกร จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ทางสภาเกษตรกรทั้งในส่วน จ.ขอนแก่นและทั่วประเทศ ต่างไม่เห็นด้วย เนื่องจากราคาจำนำข้าวที่กำหนดไว้ตันละ 15,000 บาทนั้น จริงๆ เกษตรกรจำนำได้ไม่ถึงอยู่แล้ว ได้ราคาอยู่ที่ตันละ 12,000-13,000 บาท หากมีการปรับราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000-13,500 บาท เกษตรกรก็ไม่ได้อะไรเลย

เมื่อนำไปจำนำจริงๆ จะเหลือประมาณ 7,000-8,000 บาท เหมือนกับตอนไม่ได้มีโครงการรับจำนำข้าว หากได้เงินจากการจำนำข้าวเท่านี้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย แรงงาน แต่ปัญหาการขาดทุนของรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของเกษตรกร เป็นเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาลมากกว่า ที่ส่งผลกระทบทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

ดังนั้นสภาเกษตรกร จ.ขอนแก่น รวมทั้งสภาเกษตรกรจากทั่วประเทศ จึงได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าที่จะมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

"ปัญหาที่มีผลต่อการขาดทุนเป็นเรื่องของข้าวในโกดังที่หายไป รวมทั้งการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เป็นผลทำให้รัฐบาลขาดทุนมากกว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสนใจกับข้าวนึ่งส่งออกมากกว่า เพราะเป็นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการ”นายภาณุพงศ์ กล่าว

นายสมัย สายอ่อนตา เกษตรบ้านหนองแต้ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อก่อนไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยไม่ได้ดีตามไปด้วย ตอนนี้ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น

ปัญหาของรัฐบาลตอนนี้อยู่ที่ การบริการจัดการด้านการเงิน มากกว่าที่จะมาจากเกษตรกร หากรัฐบาลจะปรับลดราคาจำนำข้าวจริงคงไม่ได้แตกต่างจากเมื่อก่อน ดังนั้นไม่ต้องมีโครงการเลยจะดีกว่า

นายบุญเลี้ยง ศรีบัวขับ ชาวนา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า หากรัฐลดราคาจำนำข้าวลง ชาวนาคงเดือดร้อนแน่นอนเพราะปีที่ผ่านมารัฐบาลประกาศราคาจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท แต่ฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาตนนำข้าวเข้าโครงการแต่ขายได้ตันละ 11,500 บาท เพราะว่าถูกหักความชื้น และกว่าจะได้รับเงินก็ต้องรอถึง 3 เดือน หากรัฐบาลลดราคารับจำนำข้าวเปลือกลงอีก 15-20% รับไม่ไหวแน่นอน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปรับใหญ่ ครม. รบ.ตั้งลำอยู่ครบเทอม !!??

นโยบาย "จำนำข้าว" ของรัฐบาล "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญหาเสียง โดยพรรคเพื่อไทยประกาศจะทำทันทีภายใน 1 ปี เมื่อคราวหาเสียง ปี 2554 ที่วันนี้กลายเป็นนโยบาย "เรียกแขก" มารุมกินโต๊ะ ทอดกฐินสามัคคี มีแนวร่วมรุมต่อต้านข่าวกันพรึ่บพรั่บ

ส่งผลให้ถึงจุดนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกที่นั่ง "ขี่หลังเสือ" ถอยหลังลำบาก ล้มเลิกโครงการไม่ได้ "นายกฯปู" ยืนกราน ย้ำชัด "เป็นนโยบายที่ดี ต้องเดินหน้าต่อไป"

การเข้าเกียร์เดินหน้า สู้ไม่ถอย เท่ากับว่า "นายกฯยิ่งลักษณ์" พร้อมที่จะเล่นเกมวัดดวง เนื่องเพราะหากพลาด ท่าอาจพังทั้งรัฐบาล ในทางกลับกันหาก "จำนำข้าว" สัมฤทธิผล "ชาวนา" อยู่ดีมีสุข กระแสนิยมจะเพิ่มความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับกุมฐานเสียงคนส่วนใหญ่ไว้ได้โดยอัตโนมัติ

วันนี้ จึงเห็นนายกฯปู "จัดแถว" เอาคนพูดจารู้เรื่อง ลำดับข้อมูลถูกต้อง แม่นยำ ด้วยการดัน "วราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งกำกับดูแลงบประมาณอยู่แล้ว มาทำหน้าที่ชี้ แจงข้อมูลต่อสาธารณะ แทน บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์

รวมทั้งการ "เซ็ต" ทีมใหญ่ ระดมมันสมอง ทั้งรัฐมนตรี-ส.ส.-นักวิชาการ เพื่อรวมศูนย์ ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย "จำนำข้าว" เน้นน้ำหนัก เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอ่อนไหวอย่าง "ทุจริตคอร์รัปชั่น" ต้องสกัดให้อยู่หมัด โดยมอบหมายภารกิจให้ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รับผิดชอบ

"เผือกร้อน" ว่าด้วย "จำนำข้าว" จึงทำให้กระแส "ปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์" กลับมากระหึ่มอีกครั้ง แม้ "นายกฯปู" จะประกาศสู้ไม่ถอย แต่ก็เป็นเงื่อนไขให้การปรับ ครม. "ยิ่งลักษณ์ 4" ลื่นไหล ปฏิบัติได้ฉับไวยิ่งขึ้น จากเดิมทีที่จะชิงลงมือในเดือนสิงหาคม หลัง "พ.ร.บ.งบประมาณ" ผ่านวาระ 3

แต่ข่าวล่ามาเร็ว อาจจะขยับมาเป็น ปลายเดือนมิถุนายน ด้วยสูตร "ปรับใหญ่" เพื่อตั้งลำอยู่ครบเทอม!

ข่าวที่ว่อนไปทั่ว โดยรัฐมนตรีที่เข้าข่ายว่าจะถูกปรับออกหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่ง มีรายชื่ออย่าง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.กระทรวงมหาดไทย คาด ว่าจะถูกปรับเปลี่ยนไปดำรงตำแหน่งอื่น หรือโดนปรับออกเพราะมีข้อร้องเรียนหลายเรื่องจาก ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย

ส่วนพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช. กระทรวงมหาดไทย นายประชา ประสพดี รมช.กระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.กระทรวงพาณิชย์นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะถูกปรับออกหลุดเก้าอี้ไปเลย

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะย้ายไปเป็น รมว. กระทรวงยุติธรรม โดยจะดึงพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกฯ กลับมา เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่า จะถูกปรับเปลี่ยนให้ไปรับ "เผือกร้อน" โดยเข้าไปดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงพาณิชย์ แทน นายบุญทรง จากโครงการ รับจำนำข้าว

ขณะที่รายชื่อ "แคนดิเดต" ที่คาดว่าจะถูกแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น เช่น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โควตาเสื้อแดง ที่คาดว่าจะเป็น รมว.กระทรวงมหาดไทย โดยมาแทนโควตาของนายณัฐวุฒิ แต่ตำแหน่งนี้ รมว.กระทรวงมหาดไทยนั้น ยังมีชื่อนายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกฯ และพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกฯ และรมว.กระทรวง มหาดไทยเข้ามามีชื่อคั่วในตำแหน่งนี้ เช่นกัน

ส่วนนางสิริกร มณีรินทร์ สมาชิก บ้านเลขที่ 111 จะมาเป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ แทน น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ บิดานางวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. เชียงราย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในโควตาเจ้าแม่วังบัวบาน

การขยับของนายกฯปู ด้วยการเดินหน้าเปิดโผรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 1/5" นอกจากสร้างความแข็งแกร่งให้รัฐบาล ปูแล้ว ยังจะเป็นการปิดประตู "ยุบสภาฯ" เพราะการยุบสภาย่อมเป็นการชี้ชัดได้ว่า "ยิ่งลักษณ์" ยอมรับสารภาพต่อข้อกล่าวหาทั้งหมดว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการรับจำนำข้าว

แต่ในทางกลับกัน การที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อใช้อำนาจรัฐและกลไกที่ตัวเองมีแก้ข้อครหาทั้งหมด โดยมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะอยู่ให้ครบเทอมจนถึงปี 2558 เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความชอบธรรม

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจว่าทำไมกระแสข่าวการปรับครม.เริ่มมีเสียงดังขึ้น จนรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกเขี่ยทิ้งถึงต้องออกมาเคลื่อนไหวทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดและมัดใจนายกฯ ในระยะนี้

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////

ชาวนากับทักษิณ

ปัญหาของข้าวไม่ใช่ปัญหาการซื้อขายขาดทุนกำไร..แต่เพียงอย่างเดียว..
ปัญหาของชาวนา..ต้องถือว่าสำคัญกว่าปัญหาข้าว..เพราะชาวนาคือประชาชนส่วนใหญ่..ก่อนจะเป็น

ชาวไร่ชาวสวน..ปัญหาของชาวนาจึงเป็นปัญหาของประเทศ

กว่าหกสิบปีที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมา..ปัญหาของชาวนาไม่เคยได้รับการแก้ไข..หรือได้รับการแก้ไขแต่ก็ไม่ทำให้ชาวนาดีขึ้น

ที่ดินทำนาแปลงแล้วแปลงเล่า..ถูกยึดไปเป็นของธนาคารและบริษัทค้าปุ๋ย..กับนายทุนพ่อค้าคนกลาง..
ก่อนการเมืองจะมี ทักษิณ ชินวัตร..ปัญหาของคนไทยไม่ได้รับการแก้ไข..ยิ่งโดยเฉพาะชาวนา..
จนเมื่อ พรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล..มีนายกรัฐมนตรีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร..ได้มีสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย..เม็ดเงินหลั่งไหล..เข้าไปสู่ชุมชนที่ยากจนและอ่อนแอ...กองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้นมาสติ

ปัญญากับผลผลิตของแต่ละหมู่บ้านปรากฏตนขึ้นบนท้องตลาด

เงินเดือนขั้นต่ำกลายเป็นสามร้อยบาท..

แต่สารพัดความช่วยเหลือที่ประเทศจัดให้กับประชาชนคนของประเทศนั้น..กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีที่..ประเทศประกาศให้ราคาข้าวคือเกวียนละ หนึ่งหมื่นห้าพันบาท..

แน่นอนว่า..ถ้าประเทศไม่เป็นเจ้าภาพ..ข้าวราคาเกวียนละ หนึ่งหมื่นห้าพันบาท..จะไม่มีทางเกิดขึ้น..แน่นอนการปรับราคาข้าวให้สูงขึ้นขนาดนี้..มันเป็นการผ่าตัดใหญ่..ไม่มีการผ่าตัดไหนที่เลือดไม่ไหล..และไม่มีความเจ็บปวด

ความสุขที่ชาวนาได้รับย่อมส่งกลับเป็นความเจ็บปวดให้กับรัฐบาลผู้ดำเนินการ..แน่นอนว่า..ผู้เคยหากินอยู่บนหลังชาวนาจะต้องพากันต่อต้าน..และหากล่มรัฐบาลลงได้เขาก็จะพยายาม..

พรรคประชาธิปัตย์..ระวัง..ชาวนาจะเกลียดชังพรรคท่าน..เพราะพรรคท่านขัดขวางการช่วยชาวนา...และการสูญเสียชาวนาคือหายนะของคะแนนเสียง..ในวันเลือกตั้ง..

ใครก็ตามที่ขัดขวาง..ความกินดีอยู่ดีของชาวนา..ประวัติศาสตร์โลกจารึกไว้ว่า..เขาคือผู้ที่รอวันถูกทำลาย

โดย:พญาไม้,บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ส่องกล้อง มองค่าแรงกัมพูชา !!?

โดย ฌกฤช เศวตนันท์

กัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ราชอาณาจักรกัมพูชา" (The Kingdom of Cambodia) หรือชื่อที่คนไทยมักจะเรียกกันติดปากว่าเขมร กัมพูชานั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยทั้งทางทิศ ตะวันตกและทิศเหนือ มีเมืองหลวงชื่อกรุงพนมเปญ มีประชากรเฉลี่ย 14.8 ล้านคน กัมพูชาเข้าร่วมกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN : The Association of South East Asian Nations) เป็นลำดับสุดท้ายในปี พ.ศ. 2542 ในการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในระยะเวลาอันใกล้จะถึงนี้นั้น ในคอลัมน์ฉบับนี้จะขอนำผู้อ่านไปทำความรู้จักแง่มุมต่าง ๆ ของประเทศกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนจุดแข็งของประเทศ รวมทั้งโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจกับกัมพูชาสำหรับนักลงทุนชาวไทย

หลัง จากที่ประเทศกัมพูชาถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496 ประเทศนี้เผชิญกับสงครามกลางเมืองโดยมีการแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝั่งรัฐบาล และฝ่ายสังคมนิยม หลังสงครามกลางเมืองนานหลายทศวรรษ สงครามการเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสังคมนิยมซ้ายจัดหรือเขมรแดง จากนั้นกัมพูชาได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์

กล่าวคืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.0% เป็นเวลานาน 10 ปี ภาค

สิ่ง ทอเกษตรกรรม ก่อสร้าง เสื้อผ้า และการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งได้นำไปสู่การลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่าง ประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติใต้น่านน้ำอาณาเขตของกัมพูชาเป็นที่ เชื่อกันว่าเมื่อมีการสำรวจและขุดเจาะภายในปี พ.ศ. 2556 นี้ จะพบน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

นอก จากการลงทุนของต่างชาติแล้ว การท่องเที่ยวก็ยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กัมพูชาอย่างมาก เนื่องจากกัมพูชาถือเป็นเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากที่สุดประเทศ หนึ่งในทวีปเอเชีย ในทุก ๆ วันจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปชื่นชมความงามของอารยธรรมขอมโบราณและความงามทาง ประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลือในสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ

นครวัด นครธม และปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาจำนวนมาก

สาเหตุ หนึ่งที่ทำให้กัมพูชามีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นก็เนื่องจากอัตราค่า จ้างแรงงานที่ต่ำที่สุดในประเทศอาเซียน คิดแล้วตกอยู่ที่ 61 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,830 บาทต่อเดือนเท่านั้น จึงทำให้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นนักลงทุนชาวต่างชาติยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลกัมพูชา ผ่านมาตรการต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้โดยเสรีไม่ มีข้อจำกัด นักลงทุนสามารถกำหนดราคาสินค้าเพื่อส่งออกได้ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจในกัมพูชาได้ 100% และสามารถซื้อทรัพย์สินทุกประเภทได้ยกเว้นที่ดิน แต่ทว่าชาวต่างชาติก็ยังมีสิทธิเช่าที่ดินทำกินระยะยาวถึง 99 ปี หลังจากนั้นสามารถต่อสัญญาได้ และในกรณีที่แรงงานภายในประเทศนั้นไม่พอ นักลงทุนสามารถนำแรงงานต่างชาติเข้ามาเพิ่มได้ โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายรองรับการอนุญาตแรงงานต่างชาติอีกด้วย

นอกจาก นั้นการทำธุรกรรมต่าง ๆ สามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐแทนเงินเรียลของกัมพูชาได้โดยสะดวก เพราะนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่กว่า 60% ของธุรกิจทั้งหมดในกัมพูชาจะเป็นของคนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม กัมพูชาเองนั้นยังมีสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับที่ต่ำ การพัฒนาในเรื่องนี้ยังต่ำ รัฐบาลก่อสร้างได้น้อย และแม้แรงงานจะมีราคาถูกตามที่ได้เสนอไปในข้างต้น แต่ทว่าแรงงานที่ทักษะนั้นกลับมีค่อนข้างน้อย รัฐบาลกัมพูชาจึงพยายามสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติให้เข้าประกอบกิจการใน ประเทศเพื่ออาศัยเงินลงทุนเป็นรายได้เข้าประเทศ กับเพื่อไปจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และพัฒนาจำนวนแรงงานที่มีทักษะต่อไป

จุด อ่อนอีกประการของกัมพูชาคือการที่มีภูมิประเทศเพาะปลูกทำการเกษตรได้น้อย แต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9% ทุกปี ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคต่าง ๆ จากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

แม้รัฐบาลกัมพูชาจะสนับสนุนการ ลงทุนจากต่างชาติ แต่ยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักธุรกิจจากไทยจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชานั้นในปัจจุบันไม่ค่อยจะราบ รื่นนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพิพาทเรื่องแย่งชิงพื้นที่ทับซ้อนในเขาพระวิหาร ซึ่งล่าสุดได้มีการฟ้องร้องต่อศาลโลก

และในปัจจุบันยังรอฟังคำวินิจ ชี้ขาดอยู่ จึงมีผู้เกรงว่าความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในประเด็นดังกล่าวอาจบั่น ทอนโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศในอนาคตได้ แต่ถ้าหากรัฐบาลทั้งสองประเทศตกลงกันระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ก็จะเป็น ประโยชน์ต่อไทยหลายประการ

อนึ่งไทยสามารถที่จะส่งออกสินค้าเกษตร อุปโภค ซึ่งไทยผลิตได้มากไปยังกัมพูชา ซึ่งการขนส่งทำได้ง่ายกว่าชาติอื่น เพราะพรมแดนติดกันและคนกัมพูชายังนิยมสินค้าจากไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเข้าไปลงทุนในกัมพูชาที่มีค่าแรงงานถูกน่าจะคุ้มค่าต่อนักลงทุนไทย ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นไทยและกัมพูชา

มีโอกาสที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันโดยอาศัยพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นประโยชน์ จะสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โอกาสของนักลงทุนไทยในกัมพูชายังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศเป็นหลัก

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดร.วีรพงษ์ มองดัชนีตลาดทุน ไม่ประมาทไว้ก่อนจะดีกว่า !!?

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ ท่านผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขณะนี้มูลค่าหุ้นทั้งหมด กล่าวคือราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดและหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทถือไว้ หรือ "Market Capitalization" เพื่อรักษาเสียงข้างมากในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่า ๆ กับมาเลเซีย และอยากจะให้เพิ่มขึ้นไปถึง 700 ล้านเหรียญใน 3 ปีข้างหน้า อยากจะให้แซงหรือมีมูลค่าใกล้เคียงกับสิงคโปร์และไต้หวัน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าหุ้นทั้งหมดสำหรับบริษัท

จดทะเบียนประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะว่าปริมาณซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแต่ละวันมีมูลค่าสูงกว่าตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน กล่าวคือประมาณวันละ 6-7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าสิงคโปร์ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์

ฟังดูแล้วก็เป็นข่าวที่น่ายินดี แต่ก็อดกังวลใจแทนคนไทยไม่ได้ เพราะเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่า การที่ปริมาณการซื้อขายก็ดี การที่ดัชนีราคาหุ้นของเราโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดเป็นเวลากว่าปีครึ่งแล้ว กล่าวคือตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2554 ดัชนีเพิ่มสูงขึ้นมากจากประมาณ 1,000 จุด ขึ้นไปแตะสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1,640 จุดในเดือนพฤษภาคม 2556

บรรยากาศตอนนี้อาจจะคล้าย ๆ กับสมัยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว คือเมื่อต้นปี 2534 ที่ดัชนีราคาหุ้นทะยานสูงขึ้นไปถึง 1,700 กว่าจุด แล้วหลังจากนั้นดัชนีหุ้นก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดวิกฤตการณ์ "ต้มยำกุ้ง" อันโด่งดังในกลางปี 2540 และโรคต้มยำกุ้งก็กลายเป็นโรคระบาดไปทั่วทวีปเอเชีย แล้วข้ามไปถึงรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ยังความเสียหายให้กับคนไทยและผู้คนที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่น ๆ อย่างมหาศาล

สาเหตุที่ปริมาณการซื้อขายของ

ดัชนีตลาดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯของเราในสมัยนั้นพุ่งสูงขึ้น ก็เพราะเงินทุนมหาศาลจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทย ประกอบกับเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ตรึงไว้กับตะกร้าเงินตราสกุลหลัก 2-3 สกุล แต่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีน้ำหนักมากที่สุดประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ อัตราดอกเบี้ยก็สูงกว่าต่างประเทศเป็นอันมาก

ฝรั่งต่างชาติก็ยกย่องว่าประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของนักลงทุน ดอกเบี้ยก็สูง ค่าเงินก็คงที่ ใครไม่กู้เงินดอลลาร์เข้ามาใช้ก็ถือว่าไม่ฉลาด

ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ รวมทั้งห้างร้านต่าง ๆ ก็พากันกู้เงินดอลลาร์เข้ามาใช้ กินกำไรจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ย ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ราคาก็พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน จนเศรษฐกิจกลายเป็น "ฟองสบู่" อย่างไม่รู้ตัว

ความจริงถ้าสังเกตสักหน่อย มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนเริ่มสูงกว่ารายได้ประชาชาติหรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ คิดในราคาตลาด หรือ Nominal GDP มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2536 มาเรื่อย ๆ จนถึงเดือนธันวาคม 2538 คือประมาณ 4 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 105 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งขณะนั้นมีประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท

ขณะที่ดัชนีราคาหุ้นต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ Price-Earning Ratio หรือ P/E สูงถึง 27-28 เท่า ขณะที่ราคาหุ้นตามมูลค่าทางบัญชีในปี 2536-2537 ควรจะเป็นเพียง 4-5 เท่าเท่านั้น

ในขณะนี้ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของบริษัทอาจจะยังไม่สูงเท่ากับสถานการณ์เมื่อปี 2536 กล่าวคือขณะนี้มีเพียงประมาณ 2.5 เท่า ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่ายังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน

เหตุการณ์ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ก็มีส่วนคล้ายกับกรณีเหตุการณ์ก่อนปี 2537 กล่าวคือมีเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศจากผลของนโยบายการเงินของสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของเราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ เงินต่างประเทศจึงไหลเข้ามาในประเทศเพื่อซื้อหุ้นและตราสารหนี้ราคาหุ้นจึงดิ่งลงอย่างรวดเร็วจนจุดต่ำสุดหลังเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งใน

ปี 2540 แล้วค่อยฟื้นตัวตื่นหลังจากปี 2546 เป็นต้นมา จนถึงเมื่อมีวิกฤตการณ์หนี้ด้อยคุณภาพเกิดขึ้นในปี 2550 และค่อยทะยานขึ้นในปี 2552 เป็นต้นมา จนบัดนี้เป็นเวลาประมาณ 4 ปีแล้ว

มาในขณะนี้ เมื่อดัชนีราคาหุ้นได้พุ่งสูงขึ้นถึง 1,640 จุด มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบกับบริษัทผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือรายได้ประชาชาติจะมีสัดส่วนถึงกว่า 120 เปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นจึงดำดิ่งลงมาถึง 1,480 จุด แม้ว่าสัดส่วนของราคาหุ้นต่อผลประกอบการจะอยู่ในระดับประมาณ 20 เท่า ราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีไม่ถึง 3 เท่า อาจจะยังถือว่าอยู่ในช่วงปกติก็ตามข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็คงต้องคาดการณ์ให้ได้ เงินทุนยังจะไหลเข้ามาในตลาดทุนของเรา เพื่อซื้อพันธบัตรและหุ้นในตลาดทุนของเรามากน้อยเพียงใด ผลประกอบการของบริษัทในตลาดเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจพลังงาน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ธนาคารพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนของเรา เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลกว่าจะยังสามารถแข็งค่าต่อไป และที่สำคัญคืออัตราการขยายตัวของการส่งออก และผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือรายได้ประชาชาติจะมีแนวโน้มสูงขึ้นหรือต่ำลง

เมื่อมองไปข้างหน้า อัตราการขยายตัวของการส่งออก อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่จะเป็นฐานรองรับผลประกอบการของบริษัทห้างร้านเอกชน อัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มลดลงหรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนถ้าแข็งขึ้นอีกก็จะเป็นการซ้ำเติมผู้ส่งออก ตลาดของเรามีแนวโน้มอ่อนตัวอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่อเมริกาและญี่ปุ่น แต่ถ้าอ่อนลงกำไรจากการแข็งขึ้นของค่าเงินบาท สำหรับผู้ลงทุนที่จะนำเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาเก็งกำไรก็จะน้อยลง การเกินดุลการค้าและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็น่าจะน้อยลง

ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานดังกล่าว ผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ที่นำเงินเข้าออกเพื่อเก็งกำไรก็ต้องรู้ แต่พวกเรารายย่อยอาจจะไม่รู้หรือไม่ได้คาดการณ์ หรือไม่ก็ถูกกิเลสครอบงำ จึงต้องระมัดระวัง อย่าได้ประมาท

ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพูดกันมากว่า วิธีอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบอย่างที่อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นทำอยู่ไม่น่าจะได้ผลในระยะยาว เพราะไม่ทำให้ประเทศต่าง ๆ นั้นมีความสามารถแข่งขันได้สูงขึ้น เมื่อความสามารถในการแข่งขันไม่ได้สูงขึ้น ความสามารถในการผลิตหรือประสิทธิผลของแรงงาน หรือ Productivity ก็ไม่น่าจะสูงขึ้น การฟื้นตัวจากฟองสบู่ก็ไม่น่าจะยั่งยืน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเหล่านั้นคงจะเป็นฟองสบู่แล้วก็ได้ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในอเมริกาและญี่ปุ่นจะออกมาบอกว่ายังไม่เห็นฟองสบู่ก็ตาม

คงต้องระมัดระวัง ไม่ประมาทไว้ก่อนจะดีกว่า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////

เศรษฐกิจถดถอย เมกะโปรเจ็กต์ตัวดับฝัน คลังเร่งเบิกจ่าย-ดันรายได้ เอสเอ็มอี !!??

 หวั่นเมกะโปรเจ็กต์รัฐ  ดับฝันเป้าจีดีพี 5 %    ก.คลังลุ้นตัวโก่ง มาตรการคลัง-การเงินอุ้มครึ่งหลัง เหตุปัจจัยเสี่ยง- เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ    เร่งเบิกจ่าย - ดันกลุ่มธุรกิจSME เพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 40% สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ เพิ่ม 4 แสนล้าน "โต้ง" รับเศรษฐกิจโลกผันผวน ฉุดบริโภคในประเทศลงเร็ว  สั่งธปท.คุมเงินบาทให้เสถียร   สศค.-หอการค้าไทย - ธปท. -แบงก์  จ่อหั่นจีดีพี  ภาคธุรกิจชี้เหตุ "ประชานิยมรัฐ"หมดฤทธิ์กระตุ้นเศรษฐกิจ ตอกย้ำเม็ดเงินไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เครื่องยนต์ศก.หนืด
   
ล่วงมาครึ่งปีแรก  หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจทยอยปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์)ได้ปรับลดจีดีพีปีนี้มาที่ 4.2-5.2 % หลังไตรมาสแรกจีดีพีหดตัว 2.2% ( เทียบต่อไตรมาส)หรือมีอัตราการเติบโตที่ 5.3% และปลายเดือนนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ,หอการค้าไทย ก็จะทบทวนปรับเป้าจีดีพีลง จากที่คาดไว้ที่  5.3 % และ 5% ตามลำดับ
   
เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จ่อปรับเป้าจีดีพีในเดือนกรกฎาคม จากตัวเลขที่ 5.1%  เนื่องจากความกังวลในประเด็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในช่วงที่เหลือของปีและปัจจัยเสี่ยง (ตารางประกอบ : เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยช่วง 4 เดือน ส่อแววชะลอ )  โดยเฉพาะมูลค่าภาคส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี หลังจาก 4 เดือนแรกโตเฉลี่ยเพียง 4.5 % ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไทยต่างชะลอตัว
   
ล่าสุดธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์  ได้ปรับประมาณการจีดีพีโลกปีนี้มาอยู่ที่ 2.2 % ลดจากตัวเลขเดิมเมื่อต้นปีที่ 2.4%  และคาดเศรษฐกิจอาเซียนจะโตที่ 5.7% และปี 2557 ที่ 5.9 % ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2556-2557 เวิลด์แบงก์คาดโตในอัตราเท่ากันที่ 5.5 %   โดยเป็นการปรับประมาณการตามหลัง องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา  หรือโออีซีดี  ที่ได้ปรับลดเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงมาที่ 3.1% จากระดับ 3.4%  และปี 2557 จาก 4.2% มาเป็น 4.0%
   
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาท และที่เป็นห่วงคือการบริโภคของประชาชนจะลดลง  จึงจำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในเรื่องสถานการณ์เรื่องค่าเงินบาท ต้องการให้ทางธปท. ใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่แล้วบริหารจัดการเงินบาทให้มีเสถียรภาพ
   
ขณะที่การบริหารเศรษฐกิจประเทศ รัฐบาลตั้งเป้าหมายใน 3 ด้านคือ 1.ขยายตัวเศรษฐกิจหรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 2.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และ 3. การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น  ทั้ง 3 ประเด็นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
   
เดือนที่แล้วทุกคนยังเป็นห่วงว่า อสังหาริมทรัพย์ไทยจะเป็นฟองสบู่ แต่ตอนนี้ห่วงเรื่องการบริโภคของประชาชนลดลง  เศรษฐกิจไทยจึงต้องเข้มแข็งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโลกที่รวดเร็ว"

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"  ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ได้นั้นยังต้องลุ้น และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการการคลังและการเงินควบคู่  โดยด้านมาตรการคลัง เรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2557 ( เริ่ม 1 ต.ค. 56-30 ก.ย. 57)  ได้สร้างความคล่องตัวและเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกู้ ในโครงการบริหารจัดการน้ำให้ทันกำหนดเวลา  คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะใช้เม็ดเงินได้ทันทีประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท  พร้อมผลักดันพ.ร.บ. กู้เงินในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท  ซึ่งน่าจะใช้เงินได้จริงปี 2557
   
ขณะนี้กำลังให้กรมบัญชีกลาง เข้าไปปัดฝุ่นลดภาระรายจ่ายในรายการงบประมาณประจำ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งงบผูกพัน 5 ปี, รายจ่ายประจำ เบี้ยบำเหน็จบำนาญ  และการแก้ไขกฎหมาย กบข.  เพื่อเพิ่มงบลงทุนให้เพิ่มขึ้น " นายพงษ์ภาณุกล่าว

นายอารีพงศ์  ภู่ชอุ่ม  ปลัดกระทรวงการคลัง  กล่าวถึงสาเหตุที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐว่า จุดใหญ่ที่เป็นอุปสรรคคือ 1.การส่งออกที่ไม่เป็นตามเป้าหมาย  และ2.ราคาของสินค้าเกษตรที่ไม่สูงอย่างที่คาดการณ์
   
"ตอนที่หารือเมื่อต้นปี  สิ่งที่เราไม่ได้คิดไว้ก็คือเรื่องของเงินบาทเกิดแข็งค่า  ทำให้ตัวเลขการส่งออกลดลงมากกว่าที่คาด   อย่างไรก็ตามที่เข้ามาขับเคลื่อนทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ก็คือภาคท่องเที่ยวที่ดีเกินคาด"
   
ทั้งนี้ภาครัฐคาดหวังว่า  เมื่อมีการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าเงินบาทไปได้แล้วระดับหนึ่ง  ตัวเลขการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลงจะไม่ลดต่ำกว่าที่คาด  รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่จะพยายามจะสรุปตัวเลขแท้จริงให้ชัดเจนว่าในส่วนของ 2 ล้านล้านบาท  และ 3.5 แสนล้านบาทนั้น จะสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบได้เท่าใด "
   
ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้า มาตรการตามกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจ 22 ข้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน  ได้แก่มาตรการทางด้านการเงินซึ่งมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบ  และมาตรการทางด้านการคลังที่จะมีความรับผิดชอบอยู่ 7-8 ข้อ เช่น การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การบริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น  โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการดำเนินการที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ  เพียงแต่นำมาจัดให้อยู่ในภาพรวมให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
   
นอกจากนี้มาตรการคลัง ยังมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมากขึ้นจาก 37% เป็น 40% ซึ่งการเพิ่มขึ้น 3% ต่อจีดีพี ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 แสนล้านบาท  โดยถือว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตของเอสเอ็มอี

โครงการรัฐ ดับฝันจีดีพี 5%.
   
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค  สศค. กล่าวว่า ปลายเดือนนี้ สศค. จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย จากเดิมคาดไว้ที่  5.3%   หลังไตรมาสแรกชะลอลง โดยเฉพาะกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศที่แผ่วลงหลังหมดโครงการรถคันแรก  ประกอบกับผลกระทบค่าเงินบาทแข็งก่อนหน้านี้ ทำให้ส่งออกขยายตัวเพียง 3.9% และการลงทุนภาครัฐยังล่าช้า ทำให้มีความเป็นห่วงเศรษฐกิจไตรมาส 2 ชะลอตัวต่อเนื่อง
   
นอกจากนี้ยังต้องรอความชัดเจนของแผนการเงินกู้บริหารจัดการน้ำ ที่ต้องรอดูมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ว่าจะส่งผลต่อการปรับจีดีพีหรือไม่
   
แรงกระตุ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะมาจากไหนยังเป็นโจทย์ต่อไป แต่กลไกสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง หนีไม่พ้นรัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ ต้องเร่งเบิกจ่ายได้เร็ว เพราะจะเป็นตัวช่วยภาคลงทุนภาคเอกชน และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4  ให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมายที่ 5 %ได้ทัน  เพราะปกติช่วงไตรมาส 4  การขยายตัวเศรษฐกิจจะแผ่วอยู่แล้ว "
   
สศค. ยังประเมินอีกว่า แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายครึ่งปีหลังยังลงได้อีก   เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยง และเศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณการชะลอตัว โดยไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ

ห่วงQ3 ไร้ตัวช่วย-มาตรการเดี้ยง
   
สอดคล้องกับนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี มีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะไตรมาส 3 น่าห่วง เนื่องจากไม่มีเครื่องมือภาครัฐที่พอจะกระตุ้นเศรษฐกิจในอัตราเร่งได้ ดังนั้นจึงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้เพียง 3-4% ทำให้ทั้งปีธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับต่ำกว่า 5% หรือ 4-4.5%
   
ความหวังเดียวของประเทศไทยระยะถัดไปมีเพียงการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ ตามพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เท่านั้น แต่ในปีนี้คงไม่มีเม็ดเงินลงสู่ระบบไม่มากนัก โดยการบริหารจัดการน้ำยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ส่วนพ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา และจะเห็นการเบิกจ่ายจริงน่าจะในปี 2557 เป็นต้นไป
   
ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้  อาจมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาร์/พีลงอีกครั้งในระดับ 0.25% ต่อปี หลังการประชุมถัดจากปลายเดือนกรกฎาคม ( กนง.ประชุมครั้งหน้า 25 ก.ค.) หรือรัฐอาจต้องออกมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ แต่เป็นที่กังขาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันหนี้สินภาคครัวเรือนก็เร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก

ธปท.จับตาหนี้ครัวเรือน
   
ทั้งนี้รายงานจากธปท. ระบุผลการประชุมร่วมระหว่างกนง. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันถึงภาพรวมระบบเศรษฐกิจการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว แม้จะชะลอตัวลงในไตรมาส 1/56 จากอุปสงค์ในประเทศ
   
พร้อมจับตาแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งยังผันผวนและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินจากผลของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของประเทศเศรษฐกิจหลัก และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนเงินทุนไหลเข้า
   
รายงานที่ประชุมระบุต่อว่า ภาคสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวต่อเนื่องจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นหลัก  แต่เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและเร่งขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนลดลง ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ จ่อปรับเป้าเศรษฐกิจไทยลงเช่นกัน อาทิ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงเทพ  กล่าวว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังว่ายังมีปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่  ขณะที่ครึ่งปีหลังองค์ประกอบสำคัญจะมาจากการลงทุนภาครัฐ
   
โดยล่าสุดงานโครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูล มูลค่ารวม 3.5 แสนล้านบาท ได้ผู้รับเหมาทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย  ITD-Power China, K-Water, Summit SUT และ LOXLEY นั้น  โดย ITD-Power China ได้เข้ามายื่นขอวงเงินกับทางธนาคาร ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบเวลาก็เชื่อว่าอย่างเร็วจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2556
   
เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง การขับเคลื่อนจะมาจากนโยบายการลงทุนภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบของรัฐบาลยังมีไม่มากนัก  แบงก์กรุงเทพจึงได้ปรับจีดีพีใหม่ปีนี้ กรอบล่างที่ 4% และคาดจะไม่ถึง  5%  ส่งผลให้สินเชื่อธนาคารขยายตัวอยู่ที่ 6% ซึ่งยังอยู่ในแผนธุรกิจที่แบงก์วางไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว"
   
สอดคล้องกับนางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าธนาคารอยู่ระหว่างการประเมินเพื่อปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ใหม่  จากที่คาดไว้ที่ 5% ส่งออกโต 7.1% โดยนำปัจจัยทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมพิจารณา

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว  นายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย และ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์  ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น  กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีหลังว่า  ยังยากที่จะคาดเดาว่าจะเติบโตในอัตราเท่าไร เพราะยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่โดดเด่น ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งยุโรป  สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็ยังไม่ดีขึ้น การส่งออกของเราก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย  
   
แม้ราคาสินค้าเกษตรเช่น ยางพาราจะขยับราคาดีขึ้น แต่ปาล์ม และสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็ยังราคาตก ส่วนค่าแรงที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาท ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกตื่นตัว แต่หลังจากนั้นก็นิ่งมาตลอด และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อไปในครึ่งปีหลังด้วย"   (อ่านต่อ "ค้าปลีก"วัดดวง"ครึ่งหลัง หน้า 17 )

ขณะที่บรรดาผู้ประกอบให้ความเห็นถึงสาเหตุที่โครงการประชานิยมรัฐ ไม่มีประสิทธิภาพแรงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ โดยนายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่นโยบายประชานิยมไม่มีผลชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แสดงว่านโยบายยังไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือไปถึงแต่ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้กำลังซื้อของประชาชนขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมาย
   
ตัวอย่าง เช่นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงแม้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งต้นทุนปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูพืช ค่าเช่านา ค่าจ้างแรงงาน และอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้น   ส่งผลให้เป้าหมายที่รัฐที่เคยประกาศว่าโครงการรับจำนำข้าวจะทำให้เศรษฐกิจหมุน 5-6 รอบจึงไม่เกิดขึ้น รวมถึงการเกิดทุจริตในโครงการ ทำให้เม็ดเงินไปไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  โครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลแต่ได้ผลน้อย จึงเปรียบเสมือน "ขี่ช้างไล่จับตั๊กแตน"
   
ประกอบกับภาคธุรกิจได้รับผลกระทบค่าเงินบาท ค่าจ้าง 300 บาทรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดังนั้นการส่งออกของไทยปีนี้มองว่าจะขยายตัวไม่ถึง 7-7.5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ ดีสุดคงไม่เกิน 5% และประเมินว่าจีดีพีปีนี้น่าขยายตัวต่ำกว่า 5%
   
นายอิสระ  ว่องกุศลกิจ  ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางโครงการกลับทำให้ประชาชนกำลังซื้อลดลง เช่นโครงการรถคันแรกที่ประชาชนแห่กันไปจับจองเพื่อรักษาสิทธิ์ แต่พอได้รถมาแล้วต้องผ่อนค่างวด มีค่าใช้จ่าย ทำให้มีเงินเหลือในแต่ละเดือนเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยอย่างอื่นลดลง ขณะที่การปรับค่าจ้างขึ้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศก็ทำให้สถานประกอบการมีภาระต้นทุนเพิ่ม หลายแห่งต้องปิดกิจการ   ส่วนโครงการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการระบบสาธารณโภคพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาทก็ยังไม่ได้เริ่มอย่างเต็มรูปแบบจึงยังไม่มีผลต่อการขับเคลื่อนจีดีพี
   
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯดีขึ้น นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 94.3 เพิ่มขึ้นจาก 92.9 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.4 จากปัจจัยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

AIMS เพื่อ เออีซี !!?



ทางออกของความอยู่รอดและความยั่งยืนของโครงการดีๆ อย่างนี้ ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นการบริหารโครงการเชิงกลยุทธ์ เพื่อที่จะให้ประเทศสมาชิกที่ยังไม่พร้อม ไม่ถูกเบียดสิทธิ์จากประเทศนอกภูมิภาค ตามรูปแบบเชิงความคิดที่ดิฉันได้นำเสนอด้านล่าง และเป็นอันเดียวกันกับที่ได้นำเสนอไปในการประชุมที่อินโดนีเซียเมื่อต้นเดือนนี้

กล่าวคือ ผู้บริหารโครงการควรกำหนดกลุ่มอาเซียนตามความพร้อมทางโครงสร้างภายในก่อน เช่น MIT พร้อมก่อนก็ริเริ่มเป็นศูนย์กลาง จากนั้นเรามีกลุ่มที่ขยับตัวเร็วพร้อมรับส่ง คือ CLMV โดยเวียดนามพร้อมลงนามระดับกระทรวงแล้วก็เริ่มต่อได้ในระยะที่สอง สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ (PBS) มีความพร้อมในระดับกระทรวงมาก เพียงแต่ระดับมหาวิทยาลัยยังเชื่อมต่อกันไม่ติดกับคู่สาขา คาดว่าในปีหน้าบรูไนน่าจะเริ่มได้ทันที และตามด้วยอีกสองประเทศภายในปีถัดไป

ส่วนกลุ่มที่เป็นอาเซียนบวก 3 บวก 6 หรือกลุ่มอื่นๆ ที่อาเซียนได้ลงนามร่วมมือเชิงเศรษฐกิจไว้นั้น หากต้องการจะเข้ามาแลกเปลี่ยนนักศึกษา รัฐบาลท้องถิ่นคงไม่ต้องลงทุนออกเงินจูงใจให้ไป เขาก็นิยมไปกันอยู่แล้ว

เราเหนื่อยยากกันพอสมควรที่จะเบี่ยงเบนความสนใจเยาวชนอาเซียนให้กลับมาอาเซียน หากผู้บริหารโครงการไม่ระวังในการลื่นไหลของอุปสงค์กลับไปสู่สภาพเดิมก่อนความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก เราจะไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ของวิสัยทัศน์และการลงทุนในการสร้างคนไว้เป็นทุนมนุษย์สำหรับภูมิภาคอาเซียนเราเลย เพราะการลงทุนในการศึกษาเป็นการลงทุนระยะยาวมาก

ยุทธศาสตร์ต้องชัดเจนและต้องได้รับการขานรับอย่างแน่ชัดในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาล กระทรวงศึกษาแต่ละประเทศ มหาวิทยาลัย ตัวแทนสาขาวิชา และฝ่ายวิเทศน์ฯ ว่าเป้าหมายระยะไกลเราคืออะไร มิฉะนั้นเราจะไปไม่ถึงฝันที่วาดไว้

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////

ถอดรหัส : ขาดทุน 2.6 แสนล้าน สารพัดคำถาม จำนำข้าว คำตอบที่รัฐบาลไม่อยากฟัง !!?

ไม่เพียงแต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก อย่าง มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จะตั้งคำถามถึง ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว พร้อมผูกโยงไปถึงการลดอันดับเครดิตของไทยในอนาคต

แต่คนไทยก็สงสัยและตั้งคำถามต่อ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงผลดี-ผลเสีย และ ประโยชน์ที่แท้จริงของการดำเนินโครงรับจำนำข้าวเปลือก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สโลแกนจับใจชาวนา "รับจำนำข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ"

ด้วยราคาสูงลิบลิ่ว ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท

แน่นอนว่า ราคาข้าวเปลือกขนาดนี้เป็นราคาสูงมากกว่าความเป็นจริงของตลาดข้าวโลกพอสมควร และกำลังกลายเป็นภาระทางด้านงบประมาณของประเทศ ส่งผลกระทบไปถึงอัตราการเติยบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม อันเนื่องมาจากการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเพื่อโครงการประชานิยมโครงการนี้

จากตัวเลขเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำ 3 ครอป (3 รอบการผลิต) ที่ผ่านมา กล่าวคือ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 และ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 คาดว่าจะถูกใช้ไปแล้วมากกว่า 661,000 ล้านบาท

โดยมีข้าวจากชาวนาทั่วประเทศไหลรวมเข้ามาเป็นข้าวในสต๊อกรัฐบาลระหว่าง 39.5-40 ล้านตันข้าวเปลือก หรือราว 25 ล้านตันข้าวสารและปลายข้าว

ทว่า มีการขายข้าวและคืนเงินกลับสู่รัฐบาลเพียง 120,000 ล้านบาท มากกว่า 90% เป็นการขายผ่านวิธีการแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ขายให้กับรัฐบาลประเทศใด จำนวนเท่าไหร่ และราคาเท่าใด โดยอ้างว่า "เป็นความลับ บอกใครไม่ได้"

ประโยคนี้เองที่กำลังจะกลายเป็นเชือกมัดคอ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เจ้าของอมตะวาจาดังกล่าว

การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ได้ถูกปิดเป็นความลับดำมืด ไม่มีใครรู้กำไร-ขาดทุน รวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงข้าวในสต๊อกรัฐบาล พากันออกมาตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณส่งออกข้าวไทยที่หดหายไป ราคาส่งออก ปริมาณข้าวหมุนเวียนในตลาด และพฤติกรรมของผู้ส่งออกข้าวบางรายที่แสดงตนเป็น "นายหน้า" เร่ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลกันอย่างเอิกเกริก

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเกิดความไม่ชอบมาพากลในโครงการรับจำนำข้าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาถึง 2 ครอปยังไม่สามารถแสดงต่อสาธารณชน อีกทั้งไม่เคยมีการรายงาน ครม. ให้ทราบ

ล่าสุด จึงเกิดกระบวนการ "ปูด" ตัวเลขการรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินเกษตร ชุดที่มี นางสาวสุภา ปิยจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 คณะอนุกรรมการ คำนวณการขาดทุนจากการระบายสต๊อกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สต๊อกข้าว ถึง 260,000 ล้านบาท

แน่นอน ตัวเลขผลการขาดทุนสูงมโหฬารขนาดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการนี้ "รับ" ใน "ความจริง" ที่เกิดขึ้นไม่ได้

แถมความจริงนั้นยังเป็นชุดความจริงที่ออกมาจาก คณะอนุกรรมการ ที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้นมากับมือเองอีกด้วย

สถานการณ์ของ นายบุญทรง และคณะข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถูกผลักให้ลงเรือลำเดียวกัน จึงเต็มไปด้วยความอึดอัด ทำได้เพียงออกมายืนกราน "ปฏิเสธ" ผลการตรวจบัญชีของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่า ใช้ตัวเลขที่ "ยกเมฆ" เพื่อหวังผลทางการเมือง

ก่อนจะสรุปให้เหตุผลแบบห้วนๆ ว่า การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ยังไม่สามารถทำได้ จนกว่าจะมีการระบายข้าวในสต๊อกออกไปจนหมด

แน่นอน พิจารณาตามเหตุผลแบบนี้ จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในการปิดบัญชีได้ พร้อมกับย้ำความเชื่อส่วนตัวที่ไม่มีเหตุผลรองรับเช่นกันว่า โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลน่าจะขาดทุนแค่ประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท หรือไม่เกินไปกว่าโครงการประกันราคาข้าวของ พรรคประชาธิปัตย์ ในอดีต

ในอีกมุมหนึ่งของความพยายามที่จะ "ชี้แจง" ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของรัฐบาล ว่า ผลการดำเนินโครงการรับจำนำนั้น ขาดทุนแน่นอน

แต่เป็นการขาดทุนที่ "ชาวนา" เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ช่วยทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้น 83,000 ล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5-1% ในปี 2555 ที่ผ่านมา

คำแถลงข่าวแบบนี้ นอกจากจะไม่สร้างความกระจ่างให้เกิดแก่สาธารณชนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวด้วย

ยังมีผลสะท้อนทางการเมืองตามมาอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน การขาดทุนโครงการนำไปสู่การ "โยน" ความรับผิดชอบของคนในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จนสุดท้ายมาตกหนักอยู่กับ "นายบุญทรง" ที่ถูกดันออกมาอยู่แถวหน้าให้เผชิญกับผลการขาดทุนในครั้งนี้

ในขณะที่ทุกคนกำลังรอผลการแถลงการขาดทุนอย่างเป็นทางการของรัฐบาล ก็มีชุดข้อมูลจากผู้ส่งออกข้าวที่เข้าไม่ถึงข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมา ว่า ถ้าคำนวณตามต้นทุนการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 1 ตัน ราคารับจำนำตันละ 15,000 บาท เมื่อนำมาสีแปรเป็นข้าวสารจะมีราคา 24,000 บาท โดยข้าวเปลือก 1 ตันหรือ 1,000 ก.ก.ได้ข้าวสาร 600 ก.ก.

ฉะนั้น การรับจำนำข้าวเปลือก 40 ล้านตันของรัฐบาล จะคิดเป็นข้าวสาร (40 ล้านตัน X 1,000 ก.ก. ได้เป็น ก.ก. แล้วนำมาคำนวณเปลี่ยนสัดส่วนเป็นข้าวสาร) ประมาณ 24-25 ล้านตัน X 15,000 บาท จะเป็นต้นทุนข้าวเปลือก 375,000 ล้านบาท

หรือหากคิดเป็นต้นทุนแบบข้าวสารประมาณ 600,000 ล้านบาท

เมื่อนำมารวมกับกับค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายครั้งเดียวคือ ค่าจ้างผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว 16 บาท/ตัน จ่ายครั้งเดียว, ค่าจ้างกรรมกร 30 บาทรวมเป็น 46 บาท และ ค่าใช้จ่ายรายเดือน แยกเป็น ค่าเช่าเดือนละ 20 บาท/ตัน หรือปีละ 240 บาท/ปี ค่าจ้างรมยาเดือนละ 6 บาท/ตัน หรือปีละ 72 บาท และ ค่าเบี้ยประกันน้ำท่วมอีก 1,700-1,800 บาท/ปี รวมเป็น 2,012-2,112 บาท/ตัน

ดังนั้น หากเก็บข้าวสาร 25 ล้านตันไว้เป็นเวลา 1 ปี จะมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายครั้งเดียว 1,150 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรายเดือนอีก 52,850 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่าย 54,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับต้นทุนข้าวสาร 600,000 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินที่ใช้จ่ายไปประมาณ 654,000 ล้านบาท

เท่ากับว่า "ต้นทุน" ข้าวของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 26,160 บาท

หากขายข้าวได้ต่ำกว่าราคานี้ แปลว่ารัฐบาลจะขาดทุนแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาข้าวที่รัฐบาลขายได้

และหากเก็บข้าวไว้นานกว่า 1 ปี นอกจากค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นแล้ว มูลค่าของข้าวจะต่ำลงเพราะ การเก็บรักษาข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรย่อมจะมี ความเสื่อม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหักค่าความเสื่อมอีก

หากหักไปปีละ 10% จากต้นทุนข้าวสาร 600,000 ล้านบาท จะเหลือมูลค่าข้าวอยู่เพียง 540,000 ล้านบาท แต่มีค่าบริหารจัดการเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันมาโดยตลอด ว่าได้คืนเงินจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล คืนกลับไปให้ ธ.ก.ส. แล้ว 120,000 ล้านบาท แต่ไม่ยอมแจ้งปริมาณข้าวสารที่ถูกระบายขายออกไป บอกเพียงว่า เป็นการขายข้าวแบบ G to G จำนวน 7.328 ล้านตัน

คำนวณง่ายๆ หากรัฐบาลส่งมอบข้าวครบตามจำนวนดังกล่าว จะมีราคาขาย G to G เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 16,400 บาท เท่ากับขาดทุนตันละเกือบ 10,000 บาท

เฉพาะขายข้าวแบบ G to G ตามตัวเลขที่ปรากฏไป 7.328 ล้านตัน จึงมีผลการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 70,000 กว่าล้านบาท

แต่การขายข้าวไม่หมดเพียงแค่นี้ เนื่องจากมีข้าวในสต๊อกรัฐบาลเหลืออยู่ในโกดังขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ถึง 17-18 ล้านตัน ดังนั้น ฤหากขายข้าวในสต๊อกคงเหลือทั้งหมดไปในราคาเฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน เท่ากับว่า รัฐบาลจะขาดทุนถึง 163,000 ล้านบาท

และยังมีข้าวบางล็อตที่ อคส. แจ้งว่ามีการขายไปแบบราคามิตรภาพประมาณตันละ 10,000 บาท ก็จะยิ่งทำให้ยอดขาดทุนโครงการนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 256,000 ล้านบาท

ผลคำนวณแบบคร่าวๆ เช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่า โดยไม่จำเป็นต้องรอปิดบัญชี ก็มีข้อมูลฟ้องอยู่ในระดับหนึ่งแล้วว่า รัฐบาลจะขาดทุนเกินกว่า 80,000-90,000 ล้านบาท ตามการกล่าวอ้างของ นายบุญทรง แน่นอน

และนี่คือคำเฉลยหรือคำตอบที่ไม่ว่ารัฐบาลจะหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยงอย่างไร ความจริงจากโครงการจำนำข้าว ก็จะยังคงเป็นบาดแผลและจุดเปราะบางทั้งในด้านการบริหาร และผลกระทบด้านการเมืองที่จะตามมาอย่างแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

รมว.พาณิชย์ บีบอนุฯ ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว !!?

บุญทรง. บีบอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ทบทวนมูลค่าสต็อกข้าวใหม่ ยึดราคาผู้ส่งออกคำนวณหวังลดผลขาดทุนโครงการ

การสรุปบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังคงไม่สามารถดำเนินการ เมื่อตัวเลขการคำนวณออกมาแตกต่างกันมาก ระหว่างอนุกรรมการปิดบัญชี กระทรวงการคลังกับกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะตัวเลขผลขาดทุนที่ออกมาสูงมากกว่า 1.3 แสนล้าน ในรอบปี 2555

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มีรองปลัดกระทรวงการคลัง นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ได้รายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)แล้ว ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลการปิดบัญชี แต่กระทรวงพาณิชย์ โดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องการเปลี่ยนวิธีการคำนวณมูลค่าสินค้าข้าวคงเหลือใหม่ เพื่อลดผลขาดทุน

"ทาง รมว.พาณิชย์ ได้ขอให้ทางคณะอนุกรรมการ ทบทวนวิธีการคำนวณผลขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการคำนวณผลขาดทุนของข้าวในสต็อกของรัฐบาล ที่ยังไม่ถูกขายออกไป" รายงานข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ความแตกต่างของวิธีการคำนวณ ระหว่างของกระทรวงพาณิชย์กับของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี คือ การคำนวณผลขาดทุนของข้าวที่ยังอยู่ในสต็อกนั้น คณะอนุกรรมการฯใช้วิธี การคำนวณค่าเฉลี่ย โดยนำปริมาณข้าวที่สามารถระบายออกจากสต็อกของรัฐบาลและหารด้วยรายได้ที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับกลับมา จะได้ราคาขายต่อตันโดยเฉลี่ย แล้วนำมาเทียบกับต้นทุนของโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด

เผยอนุฯคิดต้นทุน800ดอลล์ต่อตัน

นอกจากเงินที่จ่ายเป็นค่าจำนำให้กับชาวนา ที่นำมาคำนวณผลการดำเนินโครงการแล้ว คณะอนุกรรมการฯยังนำค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการมาคำนวณผลการดำเนินโครงการด้วย ซึ่งก็คือ ค่าสีข้าว ค่าโกดังเก็บข้าว ค่าดอกเบี้ย ค่า SURVEYOR เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 800 ดอลลาร์ต่อตัน ฉะนั้น ผลต่างระหว่างราคาเฉลี่ยที่ขายได้กับต้นทุนของรัฐบาล ก็คือ ผลขาดทุน ซึ่งวิธีการคำนวณดังกล่าว ก็นำมาใช้กับการคำนวณมูลค่าของข้าวที่ยังอยู่ในสต็อกของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ วิธีการคำนวณดังกล่าวของคณะอนุกรรมการดังกล่าว ทำให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้ ที่เริ่มมาเป็นปีที่สอง โดยสามารถปิดบัญชีได้สามฤดูกาล คือ ฤดูกาลผลิตนาปี 2554/2555, ฤดูกาลผลิตนาปรัง 2554/2555 และฤดูกาลผลิตนาปี 2555/2556 รวมผลขาดทุนจำนวน 2.20 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลข ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2556 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางคณะอนุกรรมการฯ คาดว่า ผลขาดทุนที่เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท จะส่งให้เมื่อสิ้นฤดูนาปรัง 2555/2556 คือในวันที่ 15 ก.ย. นี้ ผลขาดทุนรวม 4 ฤดูกาล จะสูงกว่า 3 แสนล้านบาท

พาณิชย์ยึดราคาผู้ส่งออกลดขาดทุน

สำหรับวิธีการคำนวณของกระทรวงพาณิชย์นั้น ต้องการใช้ราคาขายของผู้ส่งออก ในตลาดต่างประเทศ เป็นเกณฑ์ในการคำนวณผลขาดทุนของข้าวที่ยังเหลืออยู่ในสต็อก โดยที่ราคาขายของผู้ส่งออกจะสูงกว่า ราคาของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากพ่อค้าซื้อข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ในราคาต่ำแล้ว นำไปขายในราคาที่สูง วิธีการคำนวณดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ จะช่วยลดผลขาดทุนของข้าวที่ยังเหลืออยู่ในสต็อกลงมาได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทางกระทรวงพาณิชย์ยืนยันที่จะขอเปลี่ยนวิธีการคำนวณ ทางคณะอนุกรรมการฯก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามข้อเท็จจริง แต่จะไม่มีการผ่อนปรนเกี่ยวกับวิธีการคำนวณที่เป็นไปตามมาตรฐาน และ การพิจารณาจะต้องเกิดขึ้นในรูปของคณะอนุกรรมการฯ

รายงานข่าวกล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะอนุกรรมการฯ นำราคาเฉลี่ยจากการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์มาคำนวณมูลค่าสินค้าข้าวคงเหลือ ก็เพราะที่ผ่านมา ทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมเปิดเผยราคาขายข้าวที่แท้จริง ทำให้คณะอนุกรรมการฯจึงต้องคำนวณราคาด้วยวิธีการดังกล่าว โดยเหตุผลที่ไม่ยอมเปิดเผยราคาขายที่แท้จริง ระบุว่า เป็นความลับทางการค้า

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังใช้วิธีการขายข้าวแบบคละ คือ เอาข้าวเก่าในสต็อกมาขายคละกับข้าวใหม่ ทำให้ได้ราคาข้าวเฉลี่ยออกมา ผลก็คือ ข้าวเก่าในสต็อกมีราคาเฉลี่ยที่สูงขึ้น ขณะที่ ราคาข้าวใหม่มีราคาค่าเฉลี่ยที่ต่ำลง

"บุญทรง" เล็งปิดบัญชีจำนำ 17 มิ.ย.

นายบุญทรง กล่าวว่า ที่ประชุม กขช. 17 มิ.ย. จะมีการหารือเพื่อสรุปผลการตรวจสอบตัวเลข การปิดงบประมาณโครงการจำนำข้าวนาปี 2554/2555 และนาปรังปี 2555 ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน 2 วิธี คือ ทั้งวิธีคิดสินค้าคงเหลือแบบใช้ตัวเลขต้นทุน จากโครงการรับจำนำที่ขาดทุนประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท หรือใช้วิธีคำนวณสินค้าคงเหลือจากราคาต่ำสุดในขณะนั้นที่อาจขาดทุน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อหาข้อสรุปทางตัวเลขให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องที่สุด

วราเทพไม่เคาะผลขาดทุนชงครม.ตัดสิน

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวมาหารือและรวบรวมตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการรายงานตัวเลขจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ และกระทรวงพาณิชย์ใน 1 ปี คือ นาปี 2554/2555 และโครงการนาปรัง 2555 ผลสรุปคือผลขาดทุนของคณะอนุฯ ปิดบัญชีอยู่ที่ 136,908 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ อยู่ที่ 49,908 ล้านบาท

นายวราเทพ กล่าวว่า ผลการขาดทุนที่แตกต่างกันมาก ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ใช้ตัวเลขมูลค่าของข้าว จากราคาต้นทุน ณ เวลาที่รับจำนำ ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตัวเลขของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากคณะกรรมการปิดบัญชีฯใช้ตัวเลขราคาที่ต่ำที่สุด เป็นต้นทุนมาเทียบเคียง ราคาเฉลี่ยของกรมการค้าภายใน หรือราคาประกาศขาย โดยใช้ราคาที่ต่ำที่สุดมาตีมูลค่าข้าวในสต็อกของรัฐบาล จึงทำให้ตัวเลขการขาดทุนแตกต่างกัน

"ต้องมีการรายงานทั้งสองตัวเลขไปที่ครม.ทั้งการคิดคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯและตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นจึงมาหาข้อสรุปกันอีกทีว่าในอนาคตจะใช้วิธีการใดเป็นวิธีปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งการปิดบัญชีในลักษณะปีต่อปีเป็นการคาดการณ์ ส่วนการปิดบัญชีที่แท้จริงจะเกิดขึ้นภายหลังการขายข้าวออกไปได้ทั้งหมด ซึ่งตัวเลขจะหยุดนิ่งหลังจากนั้น จะมีการตั้งงบประมาณมาชดเชยการขาดทุนของโครงการ" นายวราเทพ กล่าว

กิตติรัตน์จ้องสอบข้อมูลขาดทุนรั่ว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นประโยชน์กับเกษตรกรให้มีรายได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมที่เกิดจากการใช้จ่ายของเกษตร ดังนั้น รัฐบาลยังจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ส่วนจะมีการทบทวนราคารับจำนำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการหารือของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ แต่ส่วนตัวมองว่าโครงการต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

ส่วนตัวเลขการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวนั้น นายกิตติรัตน์ มองว่า เกิดจากความคิดเห็นด้านตัวเลขที่แตกต่างกันเท่านั้น ดังนั้น เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในไม่ช้า และยืนยันรัฐบาลทำงานทุกอย่างอย่างเต็มที่ จึงไม่ห่วงเรื่องความเชื่อมั่นที่หลายฝ่ายจะมีต่อรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตถึงข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรที่รั่วไหลออกไปก่อนที่จะมีการเสนอตัวเลขต่อ กขช. จะต้องมีการสอบสวนหนังสือความลับที่รอการอนุมัตินั้น ทางฝ่ายค้านมีข้อมูลได้อย่างไร คาดว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการต่อไป

"บุญทรง" เด้งรับลดราคาจำนำ

ขณะที่ นายบุญทรง กล่าวว่า การประชุม กขช.วันที่17 มิ.ย. ที่ประชุมจะหารือประเด็นการลดราคารับจำนำข้าว ซึ่งที่ประชุมจะนำข้อมูลรายละเอียด จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา เพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ รวมถึงการประเมินผลกระทบ หากมีการลดราคารับจำนำจริง รวมถึงการพิจารณาว่าหากมีการลดราคารับจำนำจริง ควรนำมาใช้ในช่วงเวลาใด

"การหารือจะนำข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงจากอีกหลายๆ ความเห็นเข้ามาประกอบในการกำหนดหลักเกณฑ์การรับจำนำปีหน้า แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีการแจ้งให้เกษตรกรรับรู้ล่วงหน้า ก่อนการปลูกข้าวฤดูกาลใหม่จะเริ่มขึ้น" นายบุญทรง กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามแผนเดิมรัฐบาลมีแผนเป็นไปได้ว่าการลดราคารับจำนำข้าวในระยะแรก จะดำเนินการในลักษณะกำหนดโซนนิ่ง โดยใช้พื้นที่ชลประทานเป็นเขตกำหนด ชาวนาที่อยู่นอกพื้นที่จะไม่ได้ราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท เพื่อจำกัดไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวมากเกินไป และไม่ทำให้โครงการรับจำนำต้องแบกภาระมากเกินไป เช่นกัน ส่วนราคาที่จะรับจำนำจะเป็นเท่าใด ยังไม่ได้ข้อสรุป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////