--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

4 กูรู รัฐบาล ฟันธง เศรฐกิจไทย ปี 56 โต 5.2% !!?


ผ่ามุมมอง 4 กูรูรัฐบาล "คณิศ-โอฬาร-ชัยวัฒน์-ณรงค์ชัย" มองเศรฐกิจไทยปี"56 โต 5.2% อานิสงส์ ลงทุนภาครัฐ

มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ ร่วมกับที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ 3 คน ประกอบด้วย นายโอฬาร ไชยประวิติ ,นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี จัดทำบทวิเคราะห์มองอนาคตเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกปี 2556

เศรษฐกิจไทยปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องประมาณ 5.2% โดยคาดว่าจะมีแรงขับเคลื่อนพิเศษจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนในปี 2556 เพิ่มเติมจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวค่อนข้างสูง

ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คาดว่าสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2555 แม้จะยังมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่เอเชียจะยังมีความมั่นคงในการขยายตัวมากกว่าปี 2555

@เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะมีโครงสร้าง ดังนี้

1. การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสม่ำเสมอที่ 4% และ 10% ตามลำดับ

2. การบริโภคภาครัฐขยายตัว 3.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูง 16.9% จากรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 2556 (ยังไม่นับรวมการลงทุนตามพ.ร.บ.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลอาจเสนอในปี 2556)

3. ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 7.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำเมื่อเทียบกับการขยายตัวในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เป็นอัตราที่สูงกว่าปีก่อนเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน ตามการขยายตัวของประเทศคู่ค้าไทยที่ดีขึ้น

4. ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำ 5.4% ตามการส่งออกและตามการชะลอตัวของการลงทุนเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

สำหรับภาคการผลิตในปี 2556 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและนโยบายในประเทศ จะยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศอย่างต่อเนื่องจากปี 2555

1. นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะภาคเกษตร ยังทำให้การผลิตภาคเกษตรมีอัตราเร่งของการขยายตัวสูง 4.5% ตามมาตรการจูงใจด้านราคาของภาครัฐและการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

2. ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวสูงที่ 6.5% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตและมีความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป เป็นต้น

3.ภาคบริการมีการขยายตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวในะดับปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมหาอุทกภัย

ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่า จะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในด้านเสถียรภาพทางราคา การจ้างงาน และดุลบัญชีเดินสะพัด โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2555 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 ตามราคาน้ำมันที่ค่อนข้างทรงตัว ดุลบัญชีเดินสะพัด จะขาดดุลเล็กน้อยที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ขณะที่อัตราการวางงานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมเท่ากับปีก่อน

@ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเสริม

ปี 2556 แม้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2555 มากนัก คือ ขยายตัว 5.2% และอัตราเงินเฟ้อประมาณ 3.5 %แต่มีปัจจัยพิเศษ คือ การลงทุนของภาครัฐตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาววงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท

ประมาณดังกล่าวเป็นภาพรวมเศรษฐกิจกรณีฐาน ซึ่งอาจมีความผันผวนค่อนข้างมาก เพราะสภาวะแวดล้อมในต่างประเทศและนโยบายในประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงได้มาก

โดยสามารถแยกปัจจัยเสริมและปัจจัยเสี่ยงเป็น 3 ประการ คือ

1)สถานการณ์เศรษฐกิจโลกค่อนข้างอ่อนไหวง่าย ทั้งนี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกา ต้องอาศัยการตัดสินใจของรัฐบาลและรัฐสภาเป็นสำคัญ เช่น ในการแก้ปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงของรัฐสภาและหนี้ของยูโรโซนขึ้นอยู่กับกลไกไตรภาคี ประกอบด้วย คณะมนตรียุโรป ธนาคารกลางยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น ในกรณีของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจีน เกาหลีเหนือ ญี่ปุ่น ปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดน ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนสูง

2)สถานการณ์ความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นปัจจัยใหม่จากการที่พม่าเปิดประเทศสู่สังคมโลกอีกครั้ง การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับไทยก็สูงมากด้วย

3)การดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยการปรับทิศทางของนโยบายการพัฒนามาสู่การสร้างกำลังให้เศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการสร้างรายได้ให้กับฐานรากเศรษฐกิจจะยังคงดำเนินต่อไปในปีที่2 ของรัฐบาล ขณะที่มีการวางนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างที่สำคัญ โดยเฉพาะการวางมาตรการดูแลครอบครัว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

@ทิศทางนโยบายรัฐบาล

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2556 มีทิศทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการผลักดันเศรษฐกิจในประเทศด้วยการพัฒนาเชิงโครงสร้างที่สอดประสาน 3 เป้าหมายเข้าด้วยกัน คือ

1. การเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม

2.การสร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

3.การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม มีความท้าทายอย่างมาก เพราะจะเป็นการปรับโครงสร้างให้การเจริญเติบโต มาจากฐานรากของเศรษฐกิจ และเป็นการเติบโตที่เปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วม โดยให้มีโอกาสการทำงาน มีรายได้ในวงกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และให้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ มาตรการตามแนวทางดังกล่าวจะเป็นมาตรการเชิงเศรษฐกิจ และสังคมประกอบกัน คือ จะเป็นการเน้นเป้าหมายที่กลุ่มคน ชุมชน และพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งจะต่างจากมาตรการเศรษฐกิจมหภาค หรือนโยบายสาขาเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว ตามที่เคยปฏิบัติกันมา

นโยบาย และมาตรการเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภายในมีความแข็งแกร่ง และมีภุมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นแนวทางใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงโดยใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

@รัฐดันพ.ร.บ.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ในปี 2556 คาดว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. .... วงเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท สำหรับระยะเวลา 7 ปี (2556-2563) จะเริ่มดำเนินการได้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแบบยุทธศาสตร์ฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ

ทั้งนี้ กรอบการลงทุนจะมีวงเงินลงทุนที่จะเบิกจ่ายใน 5 ปี (2556-2560) ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และวงเงินลงทุน ที่จะเบิกจ่ายภายหลังจากปี 2560 จนจบโครงการอีกประมาณ 5 แสนล้านบาท

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยเสริมที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ หากการเสนอพ.ร.บ.ดังกล่าว และการลงทุนจริง ทำได้เร็วขึ้น และมากขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้ นอกจากนั้น การรวมทุนดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.4-0.5 ต่อปี (ซึ่งยังไม่ได้นับรวมเข้าในการประมาณปี 2556) สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 43 ในปี 2555 จนสูงสุดในปี 2560 เท่ากับร้อยละ 51.5 ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คำขวัญวันเด็ก : รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน !!?



ยิ่งลักษณ์. มอบคำขวัญวันเด็กแห่งชาติปี2556 "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงการจัดกิจกรรมวันเด็กในงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2556 ใน ภายใต้แนวคิดจากคำขวัญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มอบให้ในปีนี้ว่า “รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู้อาเซียน” ว่า ในวันเด็กที่จะมาถึงทำเนียบรัฐบาลจะเปิดต้อนรับให้เด็กๆได้มาฉลองงานวันเด็ก ทั้งนี้จะมีการปรับเปลี่ยนงานให้มีความทันสมัยภายใต้คำขวัญของนายกรัฐมนตรีโดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 - 15.00 น.

น.ส.ศันสนีย์ กล่าวอีกว่า จะมีการกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้และสนุกสนานออกเป็น 5 โซน ดังนี้ 1.โซน เรียนรู้ ภูมิใจ ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งถือว่าโซนนี้ได้รับความสนใจจากเด็กๆ เพราะจะมีการเปิดโอกาสให้เด็กๆสามารถนั่งเก้าอี้ทำงานของนายกรัฐมนตรี โดยเด็กที่เข้าชมจะได้รับของที่ระลึก ไดแก่ กระเป๋าแห่งการเรียนรู้ ภายในบรรจุเครื่องเขียนและของที่ระลึกต่างๆ รวมถึงการ์ตูนความรู้เรื่อง “นายกรัฐมนตรีของเรา” โดยนายกฯจะเป็นผู้อธิบายด้วยตัวเองว่าบทบาทหน้าที่ของนายกฯเป็นอย่างไร 2.โซนเรียนรู้ ร่วมใจ ก้าวไปในอาเซียน เนื่องจากรัฐบาลเห็นความสำคัญของการเปิดอาเซียนดังนั้นจึงได้มีการจัดบูธนิทรรศการหมู่บ้านอาเซียนในพื้นที่บริเวณน้ำพุดด้านหน้าตึกสันติไมตรี ทั้งนี้เด็กๆจะได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ รวมถึงข้อมูลทั่วไปและยังมีเกมที่จะทำให้เข้าถึงความรู้เรื่องประชาคมอาเซียนเพื่อชิงของรางวัล

รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า 3.โซน เรียนรู้ ร่วมพัฒนาเด็กไทย สดใสสู่อนาคต ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเด็กโดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดกิจกรรมในส่วนนี้มีการจำลองความรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมของภาครัฐและภาคเอกชนที่มาให้บริการด้านสุขภาพ เช่น การบริการด้านทันตกรรม และด้านจักษุแพทย์ รวมทั้งการตัดผมฟรี โซนที่ 4. โซน เรียนรู้ กว้างไกล ใส่ใจเทคโนโลยี ประกอบไปด้วยกิจกรรมด้านการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เด็กๆจะได้มีส่วนร่วมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันและการศึกษาของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) จะมีการจัดทำแท็ปเล็ตขนาดใหญ่เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงแอพพิเคชั่นต่างๆ และโซนที่ 5.โซน อนาคตชาติก้าวไกล ศักยภาพเด็กไทยน่าทึ่ง จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมสิ่งที่เด็กสนใจให้ได้มีการแสดงออกถึงความสามารถทางด้านต่างๆมากขึ้น ทั้งนี้จะมีคนคอยให้คำปรึกษาและแนะนำ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาความสามารถและการส่งเสริมในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งนี้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมงานวันเด็กในทำเนียบรัฐบาลจะได้รับแจกคู่มือนำชม ในการนำไปประทับตราจากโซนกิจกรรมต่างๆเพื่อมาแลกของรางวัล

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กลาโหม.อนุมัติทหารประทวนอายุ 55 ปี ขึ้นไป เป็น สัญญาบัตร !!?


พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินการตามนโยบายของพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ในการให้ข้าราชการทหารชั้นประทวนที่อายุครบ 55 ปีขึ้นไป ขึ้นเป็นนายทหารสัญญาบัตร จำนวน 9 พันราย โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2556 ทั้งนี้หลักเกณฑ์การพิจารณานั้น จะพิจารณาจากประสบการณ์ คุณวุฒิ คุณงามความดี ผลงานจากการปฏิบัติหน้าที่ และ ต้องไม่มีประวัติในการรับราชการที่เสื่อมเสียต่อกองทัพ และ กระทรวงกลาโหม ซึ่งจะพิจารณาจากผู้ที่อยู่ในชั้นยศ จ่าพิเศษ ถึง ร้อยโท โดยการริเริ่มนโยบายดังกล่าวก็เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจของทหารชั้นผู้น้อยก่อนเกษียณ และจะทำเป็นระยะแรกในปีนี้ หากมีปัญหาติดขัดก็จะปรับให้เหมาะสมต่อไป สำหรับงบประมาณที่จะใช้เพื่อดำเนินการนั้นจะจัดมาจากกองทัพ ซึ่งไม่ได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลแต่อย่างใด

พ.อ.ธนาธิป กล่าวด้วยว่า กระทรวงกลาโหม ได้วางมาตรการสนับสนุน คณะกรรมการลดอุบัติเหตุตามท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยแบ่งเป็น มาตรการธรรมดาตั้งแต่วันที่1-26 ธ.ค.2555 และมาตรการเข้มข้นระหว่างวันที่ 27ธ.ค.2555- 2 ม.ค.2556 โดยกระทรวงกลาโหมจัดทหารสนับสนุนตามจุดตรวจตามถนนกว่า 1 หมื่น เพิ่มขึ้น15 % จากปีที่แล้ว พร้อมทั้งให้ตั้งจุดอำนวยให้กับประชาชนในบริเวณพื้นที่เขตทหาร และเปิดค่ายทหารให้ประชาชนที่สัญจรไปมา เข้าไปพักผ่อน หากมีปัญหาเรื่องการขับขี่ หรือปัญหายานพาหนะ ก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลให้ พร้อมกันนั้นได้สนับสนุนโรงพยาบาลในส่วนของกระทรวงกลาโหม โดยสำรองเตียงฉุกเฉิน15 % สั่งการให้แพทย์ และพยาบาลเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า ทั้งนี้ในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ตั้งเเต่วันที่29 ธ.ค.2555 - 1 ม.ค. 2556 อาจมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก อาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี และขบวนการผิดกฎหมายฉวยโอกาสก่อความไม่สงบ รวมทั้งลักลอบขนยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายขึ้นได้ รมว.กลาโหมขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ เข้มงวดกวดขันการรักษาความปลอดภัยในที่ตั้ง และ พื้นที่รับผิดชอบของทุกหน่วย รวมทั้ง กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามกฎจราจร และ มาตรการความปลอดภัยทางถนนอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกัน และ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รมว.กลาโหม มีแนวคิด ในการจัดตำรวจตระเวนชายแดน ทหารหลัก และทหารพราน เข้าไปช่วยเรื่องการเรียนการสอนในส่วนของครูไทยพุทธในพื้นที่ที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือกับกอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ที่ได้แจ้งว่าได้รับผลกระทบ

ที่มา.เนชั่น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ฝ่าวังวน : วิกฤติการเมืองสู่เศรษฐกิจก้าวหน้า !!?


ไทย จะก้าวกระโดดจากประเทศชั้นกลางสู่ประเทศก้าวหน้าได้อย่างไร ท่ามกลางวังวนของปัญหาการเมือง และไร้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่ชัดเจน

ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลต้องเป็นแกนนำในการสร้าง “ฉันทามติ” ทางการเมืองและสังคม เพื่อนำสู่การวาง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย” ให้ทุกฝ่ายก้าวไปในทิศทางเดียวกัน หากมี 2 เป้าหมายนี้ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างชัดเจน สิ่งที่เป็นปัญหาก็จะถอยออกไปเอง

“ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศชั้นกลาง เป็น Middle Income ไม่ใช่ยากจน และไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่ไปถึงขั้นสูง กำลังไต่ แต่ก็ตกลงมาทุกที เพราะไม่มีฉันทามติทางการเมือง นี่คือปัญหาในทุกประเทศเมื่อเกิดวิกฤติ และทำให้การเมืองไทยไม่พ้นตรงนี้สักที ” ดร.สารสินกล่าว

“ฉันทามติ” นับว่าสำคัญมากต่อประเทศที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจก้าวหน้า แต่ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายที่มีบทบาททางการเมืองรวมตัวกันได้หรือไม่เพื่อสร้างฉันทามติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องมี “ภาพใหญ่” เป็น ฉันทามติ มิเช่นนั้นนโยบายและแนวทางพัฒนาในทุกเรื่องจะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งการบริหารเศรษฐกิจ ภาคเอกชน การศึกษา ฯลฯ

ฉันทามติ ยังจะเป็นกลไกในการลดความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของกลุ่มก้อนที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย
ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ มีหลายกลุ่มก้อนทางความคิดที่แตกต่างกันแต่การแสดงออกของความขัดแย้งอยู่ในกรอบได้ ตำรวจสามารถใช้แก๊สน้ำตา หรือมีการกระทบกระทั่ง แต่สังคมไม่แตกแยกเหมือนบ้านเรา นั่นเป็นเพราะบ้านเมืองมีฉันทามติ

“หากตกลงกันได้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา นายกฯ ต้องเป็นแกนนำเรียกทุกฝ่ายมาตกลงกันในการจัดการวิกฤติ ลืมทุกอย่างหมด หัวหน้าฝ่ายบริหารต้องเริ่มต้นในกระบวนการทางการเมืองด้วยตัวเอง จะมีฉันทามติเดินหน้าไปได้อย่างไร นายกฯ ต้องคุยกับวิป อย่าง อเมริกามีปัญหาหน้าผาการคลัง ก็เป็นกระบวนการที่บารัก โอบามาเรียกฝ่ายค้านมาคุย เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกที่ดี แต่บ้านเราแค่แสดงออกยังไม่มี”
เตือนวิกฤติใน 5-10 ปีข้างหน้า

ดร.สารสิน กล่าวต่อว่า คำถามใหญ่ในเวลานี้ คือ ประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหนใน 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ท่ามกลางวิกฤติสินค้าไทย เป็น “สาละวันเตี้ยลงทุกวัน” มองว่าวิกฤติไม่ใช่พรุ่งนี้จะพัง!! แต่โอกาสไปถึงดวงดาวจะไม่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างจีนและอเมริกา ไทยต้องรู้ว่าจะก้าวไปทางไหน เร่งไต่ระดับจากประเทศตรงกลางไปอยู่ข้างบน เพื่อให้พ้นจากแรงบีบทางการแข่งขันของการอยู่ "ตรงกลาง"

ไทยต้องเร่งแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้คนเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น หากเศรษฐกิจมั่นคงถาวรได้ความมั่นคงในสังคมก็เกิดขึ้น ทุกคนก็อยากปฎิบัติในกรอบระเบียบไม่ให้เกิดความผันแปร เสถียรภาพจะเกิดขึ้น

“การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ต้องมาคิดว่าจะวางระบบเสริมสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานอย่างไร ไม่ใช่คิดแค่ 300 บาทแจกเงินอย่างเดียว แต่ต้องดูแลสวัสดิการแบบครบวงจร ระบบการศึกษาจะแข่งขันกับต่างประเทศอย่างไร ครูสอนภาษาต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนอีกเท่าตัว รัฐบอกเลยว่าจะเพิ่มรายได้ให้เป็นการตอบแทน” ดร.สารสินกล่าว

ในเชิงอุตสาหกรรมของประเทศไทย จากเดิมพึ่งพาการส่งออก จะสามารถส่งข้าวไปขายอย่างเดิมได้ไหม ท่ามกลางคู่แข่ง พื้นที่เพาะปลูกมีปัญหา หรือในเรื่องของพลังงานในประเทศ หากจะมีบทบาทด้านการผลิตมากขึ้น จะบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างไร

“เรากำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ก็กลับไปที่ฉันทามติ เริ่มหาฉันทามติก่อนได้ไหม เพื่อประเทศชาติจะแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง เสมือนสุภาษิตจีน บอกว่า ดึงกองฟืนออกมาจากใต้หม้อต้ม อุณหภูมิก็ลดลง”

ชูไทยได้เปรียบศูนย์กลางอาเซียน

ประเทศไทยต้องมามองว่ามี “จุดแข็ง” หรือสร้างสถานะความเป็น “บวก” ในอาเซียนได้อย่างไร ทั้งนี้ในความเป็น "อาเซียน" ทำให้ภูมิภาคนี้มี “ราคา” เพราะสมาชิกไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาซึ่งกันและกัน อาเซียนจะไม่มีสงคราม
ประการสำคัญ พลเมืองกว่า 600 ล้านคนเป็นตลาดใหญ่รองจากจีน และอินเดีย ทั้งมีโอกาสเชื่อมต่อจีน อินเดีย อีกด้วย ต้องวางกรอบของ Connectivity ให้ชัดเจนและขับเคลื่อนได้จริง

ดร.สารสิน ยกตัวอย่างด้วยว่า กรณีโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็ค “ทวาย” ถามว่าใครได้ประโยชน์ไทยหรือพม่า เวลานี้มองไม่เห็นว่าไทยได้ประโยชน์อะไร แต่พม่าได้ทันที ซึ่งไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่สามารถทำได้ทันที และเป็นจุดเริ่มต้นของ Connectivity ทางทะเล หรือ ทางน้ำ ที่สามารถขยายโครงข่ายไปได้กว้างไกลกว่าเทียบทวายแล้วเห็นได้ชัดว่าไม่มีความพร้อมเท่าอีสเทิร์นซีบอร์ด

การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ อาเซียน ซัมมิต ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าและกำหนดเส้นทางเดินของภูมิภาคนี้ ที่ประเทศไทยต้องเอามาตีโจทย์ว่ามองเห็น “โอกาส” อย่างไรจากความได้เปรียบของความเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน

ยุทธศาสตร์ประเทศไทยเชื่อมเออีซีด้วย Connectivity เป็นเรื่องใหญ่ ต้องมี “เชิงรุก” มากขึ้น...ช้าไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
----------------------------------------------------------------------------------

อรุณรุ่งที่ บู๊ตึ๊ง.. !!?


โดย.ชาธิป.

ต้นหนาวปีนี้ มีโอกาสไปรับลมหนาวที่ "อู่ฮั่น" เมืองประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวยาวนานกว่า 3,500 ปี

โดยเหตุการณ์สำคัญหลายตอนในเรื่อง "สามก๊ก" อย่างตอน "โจโฉแตกทัพเรือ" หรือการยุทธที่ "ผาแดง" ก็อยู่ในเมืองอู่ฮั่นนี่เอง

จากดอนเมืองเราใช้บริการสายการบินของไทยบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่อู่ฮั่น ใช้เวลาบินประมาณ 4 ชั่วโมง "อู่ฮั่น" (Wuhan) เป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ย มีพื้นที่ประมาณ 8,467 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 12 ล้านคน

มณฑลหูเป่ยนับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางการคมนาคมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีนตอนกลาง การคมนาคมทางบกมีเส้นทางรถไฟขนส่งสายหลักของประเทศ คือ ปักกิ่ง - กว่างตง พาดผ่านทิศตะวันออกของมณฑล ในช่วงทศวรรษ 1970 มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายสำคัญในมณฑลจากตะวันตกไปตะวันออก และจากเหนือลงใต้ จนถึงปี 1990 มณฑลนี้มีเส้นทางรถไฟรวมระยะทาง 1,673 กิโลเมตร และยังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟด่วนที่ใช้ไฟฟ้าและทางหลวงอีกหลายสาย มณฑลหูเป่ยยังมีอุตสาหกรรมการเดินเรือที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศจีนอีกด้วย ส่วนการขนส่งทางอากาศในมณฑลหูเป่ยมีบริษัทสายการบิน 4 แห่ง สนามบินพลเรือน 5 แห่ง สนามบินทหาร 1 แห่ง เปิดเส้นทางบินทั้งในและนอกประเทศ 107 เส้นทาง

ในส่วนของเมืองอู่ฮั่น เมื่อก่อนมีชื่อเสียงในการผลิตอาวุธสงคราม ปัจจุบันสินค้าที่สร้างรายได้คือการผลิตเครื่องจักรกลและน้ำมันพืช และด้วยมีแม่น้ำสำคัญ 2 สายไหลผ่านคือแม่น้ำแยงซี (แม่น้ำฉางเจียง) และแม่น้ำฮั่นเจียง จึงเป็นที่ตั้งของท่าเรือใหญ่ที่สุดบนสายแม่น้ำแยงซีตอนล่าง และสนามบินเทียนเหอที่เมืองอู่ฮั่นยังเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของประเทศจีน

ไปเที่ยวนี้เน้นที่การขึ้น "เขาบู๊ตึ๊ง" เป็นหลัก ดังนั้นแม้ในเมืองอู่ฮั่นยังมีอีกหลายที่ที่น่าเที่ยว แต่ขอเล่าเพียงสังเขป อาทิ หอกระเรียนเหลือง (หวงเห่อโหลว) เป็นหอ 1 ใน 3 ที่มีชื่อเสียงของจีนเคียงคู่กับหอเอี้ยหยางแห่งมณฑลหูหนานและหอเถิงหวังเก๋อแห่งมณฑลเจียงซี สร้างขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ.223 ต่อมาถูกทำลายและได้รับการบูรณะใหม่ จนกระทั่งในปีค.ศ.1884 หอแห่งนี้ได้ถูกไฟไหม้จนหมดและถูกสร้างขึ้นใหม่รวม 4 ครั้ง ได้รับการบูรณะใหม่ในลักษณะของอาคารแบบดั้งเดิม ปัจจุบันหอนี้เป็นที่จัดแสดงงานเขียนอักษรจีนและงานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงหลายยุคสมัย

วัดกุยหยวน (Guiyuan Temple) หรือ "กุยหยวนซื่อ" วัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง 1 ใน 4 ของเมืองอู่ฮั่น สร้างขึ้นในราวปลายราชวงศ์หมิงต่อเนื่องถึงต้นราชวงศ์ชิง ภายในมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ที่ชาวจีนนิยมไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล รายล้อมด้วยรูปปั้นพระอรหันต์ 500 องค์ที่ปั้นจากดินเหนียวเคลือบทองซึ่งมีรูปร่างหน้าตาและอากัปกริยาที่ไม่ซ้ำกันเลยตามตำนาน

อีกสถานที่ที่น่าไปเดินเล่นหย่อนอารมณ์ คือ กู่ฉินไถ (Heptachord Terrace) เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงมิตรภาพผ่านเสียงดนตรีของ "หยูโป๋หยา" เซียน "กู่ฉิน" (เครื่องดนตรีโบราณ บรรพบุรุษของ "กู่เจิง") และ "จงซีจี" พ่อค้าทางไกล สถานที่นี้สร้างขึ้นในสมัยรางวงศ์ซ่งแต่ถูกทำลายไปก่อนจะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์ชิง ไปที่นี่อย่าลืมขอให้อาจารย์อู๋ฉู่ฉีผู้ดูแลสถานที่สาธิตการเล่นกู่ฉินและกู่เจิงให้ฟังสดๆ ฟังแล้วซาบซึ้งตรึงใจก็สามารถซื้อซีดีกลับไปไว้ฟังที่บ้านได้ด้วย

และ Han Street ถนนคนเดินที่ลงทุนกว่า 5,000 ล้านหยวน โดย Wanda Group ข้างแม่น้ำชู ถนนสายสั้นๆ ความยาวเพียง 1.5 กิโลเมตร แต่อัดแน่นไปด้วย shop สินค้าแบรนด์เนมที่พร้อมจะดูดวิญญาณนักช้อปให้แน่นิ่งไปไหนไม่รอด (มีคนแนะนำว่าถ้าพาทัวร์ไทยมาลงที่นี่ควรเผื่อเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง)

สรุปว่าอู่ฮั่น คือเมืองท่องเที่ยวที่มีครบทั้งประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ไปจนถึงแหล่งช้อปปิ้ง ถามว่าน่าไปไหม...ตอบได้ว่า "มาก" แต่อยากบอกว่าไม่ควรไปเองถ้าไม่สามารถใช้ภาษาจีนได้อย่างชาญฉกาจ แนะนำว่าไปกับทัวร์ดีที่สุด

ช่วงเวลาต่อจากนี้เป็นการเดินทางมุ่งหน้าสู่ เมืองเสียงฝาน เมืองโบราณทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย ใช้เวลาเดินทางจากอู่ฮั่นประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง เสพทิวทัศน์สองข้างทางที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนบนเน้นทางอันคดเคี้ยวของเขาอู่ตัง ก่อนจะเข้าสู่โรงแรมที่พักซึ่งตั้งอยู่ติดกับสถานีรถกระเช้า เพื่อรอขึ้นเขาในเช้าวันรุ่งขึ้น

และแล้วรุ่งเช้าที่รอคอยก็มาถึง ไม่ทันที่แสงแรกของวันจะผลิพ้นเส้นขอบฟ้า ปวงประชาชาวจีนก็มารอที่สถานีรถกระเช้ากันล้นหลาม สังเกตดูมีไม่น้อยที่เป็นประชาชนอาวุโสรุ่นอากงอาม่า ยังนึกสงสัยว่าปูนนี้จะเดินเขาไหวละหรือ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมาหลังจากรถกระเช้าลอยข้ามหุบเขาไปส่งถึงทางขึ้นเขาที่ฝั่งตรงข้ามแล้วจะเป็นรายการเดิน...เดิน...และเดินล้วนๆ

ชื่อขุนเขาที่เรารู้จักในนาม "บู๊ตึ๊ง" นั้น ภาษาจีนกลางเรียก "อู่ตังซาน" หรือ "เขาอู่ตัง" เป็นเทือกเขาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะจุดต้นกำเนิดของปรัชญาคำสอนของ "ลัทธิเต๋า" มีเรื่องเล่าสืบมาว่า "ปรมาจารย์เจินอู่" หรือ "เสวียนอู่" ได้ใช้วิชาทั้งบุ๋นและบู๊ต่อกรกับภิกษุหลายรูปของฝ่ายพุทธจนสามารถยึดเขาแห่งนี้เป็นที่พำนักสืบมา และได้บำเพ็ญตบะจนกระทั่งสำเร็จเป็นเซียนหรือเทพบนยอดเขาแห่งนี้ เขาบู๊ตึ๊งจึงได้กลายมาเป็นแหล่งศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ ของนักพรตลัทธิเต๋ามาหลายยุคหลายสมัย และยังเป็นที่กำเนิดของวิชากังฟูฉบับบู๊ตึ๊งอีกด้วย จนปัจจุบัน บนเขาอู่ตังยังเป็นสำนักเรียนของลัทธิเต๋า ยังมีนักพรตผู้ฝึกตนและผู้สนใจเข้ามาหาความรู้อยู่ไม่ขาดสาย ทั้งความรู้เชิงปรัชญาของลัทธิเต๋าและเรียนวิชากังฟูควบคู่กันไป

จากจุดจอดกระเช้า ท่ามกลางอากาศหนาวจนหูชา เราเริ่มรายการ "เดินทัพทางไกล" ย่อยๆ ด้วยการค่อยๆ เดินไปตามทางเดินหินโบราณที่วกเวียนขึ้นสู่ยอดเขา ท่ามกลางสหายชาวจีนโดยเฉพาะบรรดาผู้สูงวัยหลายราย (ด้วยความเคารพ) ประมาณวัยคงไม่ต่ำกว่า 70 ค่อยย่องค่อยย่างขึ้นเขาอย่างช้าๆ ดูไม่มั่นคงแต่ก็เดินได้ไม่หยุด น่าทึ่งที่เหล่าผู้อาวุโสรักษาสุขภาพได้อย่างดีจนมาเดินขึ้นเขาแข่งกับลูกหลานได้อย่างนี้ อีกอย่างที่น่าชมคือการดูแลรักษาความสะอาดและความปลอดภัย ทางเดิน ราวกั้น บันไดหินอายุหลายร้อยปียังคงได้รับการดูแลรักษาให้มั่นคงได้เป็นอย่างดี

กลุ่มพระราชวังโบราณและศาสนสถานที่กระจายตัวอยู่บนเขาอู่ตัง สร้างในยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907)และได้รับการสร้างต่อเติมเรื่อยมา แต่มาถึงจุดสุดยอดเอาในสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อจักรพรรดิ์จูตี้ ส่งทหารและแรงงานราว 300,000 คน มาที่เขาอู่ตังในปีค.ศ.1412 และเริ่มโครงการ 12 ปีในการก่อสร้างพระราชวังและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนเขาอู่ตัง สถานที่สำคัญอีกแห่งคือพระราชวังจื่อเซียว หรือ "จื่อเซียวกง" (อารามเมฆม่วง) พระราชวังเก่าแก่ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับพระราชวัง "กู้กง" ที่กรุงปักกิ่ง เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีสำหรับฮ่องเต้ที่ปัจจุบันได้รับการบูรณะไว้เป็นอย่างดี

เขตโบราณสถานบนเขาอู่ตังมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 321 ตารางกิโลเมตร เป็นสถานที่ที่รวมสิ่งก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีนหลายยุคหลายสมัย ประกอบด้วยหมู่ตึกโบราณที่ทั้งหมดได้รับการออกแบบตามหลักการความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติตามแนวคิดของลัทธิเต๋า และยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ อาทิ สระน้ำ บ่อน้ำพุร้อน ถ้ำ หน้าผา และยอดเขารวมกว่า 400 แห่ง ที่นี่ยังอุดมไปด้วยพืชสมุนไพรตามตำรายาจีน ว่ากันว่าในจำนวนสมุนไพร 1,800 ชนิดที่ถูกบันทึกไว้ในตำรับยาสมัยราชวงศ์หมิงนั้น 600 ชนิดมีอยู่ในพื้นที่เขาอู่ตังแห่งนี้ เขาอู่ตังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติจากองค์การยูเนสโกเมื่อปีค.ศ.1997 ภายใต้ชื่อ “หมู่โบราณสถานบนเทือกเขาอู่ตัง”

ถามว่าไปช่วงไหนดี ตอบว่าอู่ตังซานสวยตลอดปี ในฤดูใบไม้ผลิเต็มไปด้วยสีสันของดอกไม้ ส่วนฤดูใบไม้ร่วงทั้งเทือกเขาปกคลุมด้วยสีเหลืองส้มของใบไม้ใกล้ผลัด ส่วนในฤดูหนาวเขาอู่ตังจะมีหิมะตกหนัก ทั่วทั้งเขาปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนไปทั้งเทือกราวกับเอาผ้าขาวมาคลุมไว้

จุดหมายของทุกดวงใจ ณ เวลานี้คือการเดินขึ้นไปยัง เทียนจู้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,612 เมตร เป็นที่ตั้งของ วิหารทอง (จินเตี้ยน) วิหารที่เคารพของลัทธิเต๋า มีความสูง 5.5 เมตร กว้าง 5.8 เมตร ภายในประดิษฐานรูปสำริดของเทพเจ้าเจินอู่ (เสวียนอู่) สร้างขึ้นในปีที่ 14 ของรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1416) จุดนี้คือยอดเขาหลักที่ถือเป็น "สุดยอด" ของบู๊ตึ๊งที่ต้องไปให้ถึงให้ได้ ชาวจีนเชื่อกันว่าหากไปขอพรที่นี่มักจะได้รับโชคลาภตามประสงค์

แว่วเสียงเพลงจีนสะท้อนก้องมาในหุบเขา เดินไปสักครู่พบนักพรตท่านหนึ่งยืนสง่าริมผาพลางสาธิตกังฟูฉบับบู๊ตึ๊งคลอเสียงดนตรี ท่านนักพรตร่ายรำมวยแล้วเสร็จก็หันมาสนทนากับเราเป็นอันดี และดูเหมือนความจริงที่ว่าเราพูดภาษาจีนไม่ได้นั้นไม่ได้สร้างปัญหาแก่ท่านนักพรตแต่อย่างใด เพราะท่านยังคงพยายามแบ่งปันความหมายของวิชากังฟู คุยกันไม่รู้เรื่องแต่ก็ดูเหมือนจะเข้าใจกันได้ดีพอใช้

ใครคนหนึ่งตั้งคำถามน่าสนใจว่า สิ่งก่อสร้างทั้งหมดนี้เหลือรอดมาจากยุค "ปฏิวัติวัฒนธรรม" ได้อย่างไร ท่านนักพรตรูปหนึ่งชี้ให้ดูผนังที่ยังหลงเหลือข้อทำนองว่า "ขอให้ประธานเหมาอายุยืนหมื่นปี" เพียงเพราะข้อความไม่กี่คำนี้ที่ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมสำคัญแห่งนี้ไม่ถูกทำลายลง

การเข้าสู่ศาสนสถานลัทธิเต๋าบนเขาอู่ตังมีข้อปฏิบัติบางอย่างคล้ายกับวัดไทยเหมือนกัน คือถ้าทางเข้ามีธรณีประตูอยู่ไม่ควรเหยียบให้ก้าวข้าม ไม่ควรคุยเล่นส่งเสียงเอะอะอื้ออึง เสียงระเบิดหัวเราะอย่างขาดสำรวมหรือคำสบถให้งดเสีย และให้เพิ่มความสำรวมเป็น 2 เท่าหากเข้าไปในอาคารที่กำลังมีการทำพิธีหรือสวดมนต์

ที่สำคัญ นักพรตโดยเฉพาะรุ่นใหญ่มักไม่ชินและไม่โปรดกล้องถ่ายรูป ยิ่งถ้าไปถ่ายจ่อๆ ต่อหน้าถือว่าไม่ควรอย่างยิ่ง ส่วนการถ่ายรูปเทพเจ้าในวิหารต่างๆ ทำได้แต่ห้ามใช้แฟลช (อันที่จริงแม้แต่แสงช่วยโฟกัสของกล้องถ้าไม่ใช้ได้ก็จะดี) เพราะถือกันว่าเทพเจ้าเท่านั้นที่ทรงฤทธิ์ก่อกำเนิดแสงสว่าง มนุษย์เดินดินอย่างเราไม่ควรขันแข่ง

ไปคราวนี้โชคดีหลายอย่าง เพราะนอกจากจะครบรอบ 600 ปีของการก่อสร้างพระราชวังบนเขาอู่ตัง (นับตั้งแต่ปีค.ศ.1412) ยังประจวบเหมาะเป็นวันพระใหญ่คือวันที่ 9 เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน อีกวันคือวันที่ 3 เดือน 3) ทำให้ได้เห็นพิธีฉลองเป็นการใหญ่ มีผู้นับถือลัทธิเต๋าทั้งจากจีนและต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ มาร่วมงานคับคั่ง จนทางเดินขึ้นเขาดูจะคับแคบไปเล็กน้อย เพราะใครๆ ก็อยากเดินขึ้นให้ถึงยอดเขาทันรับอรุณรุ่ง

ถ้าถามว่าอะไรคือที่สุดแห่งความรู้สึกของการได้ไปเหยียบยืนอยู่บนยอดเขาอู่ตังครั้งนี้ คงต้องบอกว่าอยู่ที่ช่วงเวลาเมื่อปลายฟ้าเปิด ตะวันส่องแสงทะลุม่านเมฆระบายท้องฟ้าด้วยสีของแสงที่ให้ความรู้สึกเหนือจริง ราวกับว่าเช้าวันนี้พระอาทิตย์ตั้งใจแสดงฝีมือการส่องประกายเป็นพิเศษ ทำเอาคนที่เพิ่งจะรู้สึกตัวพองโตหลังพิชิตยอดเขาได้หมาดๆ ตัวหดกลับไปเป็นมนุษย์เล็กกระจ้อยร่อยอีกครั้ง

แทบไม่อยากยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ เพราะรู้ว่าภาพถ่ายฝีมือมนุษย์ไม่มีทางเทียบบรรยากาศงามอลังการของอรุณแรกรุ่งบนยอดเขาอู่ตังซานที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ได้เลย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การสร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นชาตินิยม !!?


โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ชื่อบทความเดิม “‘ประวัติศาสตร์’ กับ ‘การสร้างประวัติศาสตร์’”

ประเทศไทยเปลี่ยนไปไวเหมือนโกหก แต่ก็มีอะไรหลายอย่างที่ไม่เปลี่ยน ประวัติศาสตร์มันจึงไม่ตาย กลับโลดแล่น พลิกผัน เกิดใหม่ แปลงร่าง พรางกายอย่างพิสดารพันลึก นักเรียนประวัติศาสตร์ (ปวศ.) ต่างเฝ้ามองมันอย่างพินิจ พิเคราะห์ และหาคำอธิบาย “ความเปลี่ยนแปลง” อย่างใจจดจ่อ
แต่กระนั้น เราไม่อาจอธิบายทั้งโลกได้อย่างที่มันเป็น แต่เราอธิบายภายใต้ “สิ่งที่เราเป็น” หรือว่า “นักเรียน ปวศ.” อธิบาย “อดีต”
(๑) เป็นเรื่องที่เหมือน/ เกี่ยวกับเรา
(๒) หรือเพื่อเข้าใจในสิ่งที่แตกต่างจากที่เราเป็น (ในไชยันต์ รัชชกูล. ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์, ๒๕๔๙ )
วิชาประวัติศาสตร์ในอดีตเราพยายามศึกษา ‘ประวัติศาสตร์จริงๆ อย่างที่เราเป็น’ แต่ในที่สุดเราก็พบว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ย่อมมี ‘อคติ’ ‘ตัวตน’ ‘ภูมิปัญญา’ ‘บริบท’ ของคนศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ไชยันต์ รัชชกูล 2547) ฉะนั้น การศึกษา ปวศ. จึงมีความสัมพันธ์กับมิติที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนปม และทำให้ใครต่อใครลุ่มหลงอย่างไม่รู้ตัว
การศึกษาประวัติศาสตร์มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบ ‘ปัญหาของอดีต’ หรือ ‘ปัจจุบัน’ ว่าเราอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร และ ‘การไม่รู้อดีตของตนจึงเป็นความเจ็บปวด เพราะการไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร ทำให้ไม่รู้ว่าปัจจุบันจะอยู่อย่างไร และไม่อาจก้าวสู่อนาคตได้’
ในที่นี้ผมจะสรุปอย่างย่นย่อ ถึงห้วงจังหวะและกระของการผลิตสร้างประวัติศาสตร์ในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่เกิดภายใต้ความคิดประวัติศาสตร์ 3 กระแสด้วยกัน คือ

กระแสที่หนึ่ง คือ ประวัติศาสตร์ชาตินิยม

(ในสมัยหลังนิยมเรียกว่า “ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” เป็นแนวคิดเสนอโดยธงชัย วินิจกูล ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของอุดมการณ์ที่ถือเอาพระมหากษัตริย์เป็นผู้ผลักวิธีการพัฒนา ในที่นี้จะขอเรียกว่า ประวัติศาสตร์ชาตินิยม เพื่อสอดคล้องกลับประวัติศาสตร์สกุลท้องถิ่นชาตินิยม)
ที่ถือเอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแก่นแกนในการอธิบายประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์สกุลนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยชนชั้นนำให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ภายใต้บริบทของการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้เกิดการรวบรวมประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านอย่างละเอียด
การกลับมาค้นหาตัวตน หรือการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของคนในยุคนี้เกิดจากวิกฤติอัตลักษณ์ว่า “ฉันคือใคร และฉันจะอยู่ในโลกยุคใหม่นี้ได้อย่างไร? (นิธิ เอียวศรีวงศ์. 200 ปี ของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และทางข้างหน้า. ใน กรุงแตกพระเจ้าตากฯและประวัติศาสตร์ไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์. มติชน. 2550, หน้า 3-39.)”
รวมถึงการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันสิทธิเหนือดินแดนที่ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม คือ ล้านนา และภาคอีสาน ความสนใจในประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5
แม้ว่า ภายหลังในช่วงรัชกาลที่ 6 จะเกิดความซบเซาของการศึกษาประวัติศาสตร์ เนื่องด้วยวิกฤติอัตลักษณ์ของชนชั้นนำได้บรรเทาเบาบางลง (นิธิ เอียวศรีวงศ์. 200 ปี ของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และทางข้างหน้า. มติชน. 2550)
แต่ในรัชสมัยนี้มีความมุ่งหมายในการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อสร้าง “ชาติ” “ชาติ” ที่มีกษัตริย์เป็นแก่นแกน หรือผู้นำ เป็นผู้ผลักวิถีประวัติศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อความไม่มั่นคงในสถานะของรัชกาลที่ 6 ที่เกิดความแตกแยกในกลุ่มเจ้านาย และเกิดการเปรียบเทียบรัชสมัยของพระองค์ และพระบิดา (รัชกาลที่ 5) ยุคนี้จึงได้เกิดแนวคิดชาตินิยม “ไทย” เป็นใหญ่ภายใต้วาทะที่สำคัญที่เป็นหัวใจของชาติว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และเบียดขับคนกลุ่มอื่นที่ไม่ยอมเป็น “ไทย” ให้เป็นอื่น เช่น คนจีน เป็นต้น
จังหวะต่อมาที่มีการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้าง “ชาติ” ที่สำคัญ คือ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ช่วงทศวรรษที่ 2480) มีการใช้ประวัติศาสตร์สร้าง “ชาติ” โดยในยุคนี้ถือว่าเป็นยุค “ชาตินิยม” เพื่อนำไทยสู่อารยะ มีการออก “รัฐนิยม” เพื่อให้ราษฎรปฏิบัติ ทั้งการใส่หมวก ห้ามกินหมาก (สายชล สัตยานุรักษ์ ในโครงการ “ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ. 2435-2535”)
รวมถึงมีการสร้างความเป็นไทยผ่านประวัติศาสตร์ วรรณกรรม นิยาย ละคร เพื่อสร้างมหาอาณาจักรไทย โดยมีปัญญาชนที่สำคัญ คือ หลวงวิจิตรวาทการ โดยแก่นแกนสำคัญของชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็คือ “ผู้นำ” เป็นผู้นำที่เป็น “สามัญชน” มิใช่ผู้นำที่เป็นกษัตริย์ดั่งเช่นรัชกาลที่ 6
เนื่องด้วยจอมพล ป. เป็นผู้ก่อการที่สำคัญในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประวัติศาสตร์ในสมัยนี้ลดบทบาทและพื้นที่ของพระมหากษัตริย์ลง และเพิ่มพื้นที่ให้แก่ผู้นำที่เป็นสามัญชน (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. 2546.) เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังคำขวัญว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” แต่อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ชาตินิยมทำนองนี้ก็ไม่มีพื้นที่ให้แก่คนตัวเล็กตัวน้อยและท้องถิ่นอื่นนอกศูนย์กลางในประวัติศาสตร์
หลังทศวรรษที่ 2500 -ปัจจุบัน เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของกระแสประวัติศาสตร์ชาตินิยม หรือราชาชาตินิยม คือ เป็นยุคแห่งการพัฒนาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในยุคนี้ได้นำแนวคิด “ราชาชาตินิยม” (ธงชัย วินิจจะกูล . ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยม ใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน. ศิลปวัฒนธรรม, 23: 1 (พฤษจิกายน) 2544)
มาเป็นอุดมการณ์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้บริบทของการยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่ขาดความชอบธรรมจากสังคม และนานาชาติ วิธีการหนึ่งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้ คือ การอ้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ ที่ถูกลดบทบาทในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2490-2500)
อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นภายหลังจากรัชกาลที่ 9 ทรงกลับมาประทับในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 2490 แต่บทบาทของพระองค์ก็ไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากนัก เพราะในสมัยจอมพล ป. เป็นยุคที่เน้นผู้นำที่เป็นสามัญชน แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงพระปฏิบัติพระราชกรณียกิจก็เป็นแต่เพียงงานทางด้านพิธีการ แต่พระองค์ทรงได้ความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินตามภูมิภาคต่างๆ มีผู้คนมาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินในภาคอีสานรัฐบาลก็ไม่สนับสนุนในพระราชกรณียกิจนี้อีกต่อไป เพราะเกรงว่าสถานะของรัฐบาลจะสั่นคลอน รวมถึงเกรงว่าพระองค์จะทรงมีบทบาทนำเหนือจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ชนิดา ชิตบัณฑิต. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2550, หน้า 58-87)
ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นชาตินิยม ภาพจาก wikipedia
ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นชาตินิยม ภาพจาก wikipedia
อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ เป็น “หัวใจของชาติ” เป็นผู้นำทางด้านศีลธรรม คุณธรรม พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีลำดับชั้นสูงสุดในสังคมไทย เป็นผู้พระราชทานคำแนะนำให้แก่ผู้นำ เพราะฉะนั้นประชาชนไม่ต้องคอยตรวจสอบถ่วงดุลผู้นำ เพราะผู้นำมีคุณธรรมและศีลธรรมอยู่แล้ว รวมถึงได้รับคำแนะนำจากกษัตริย์ด้วย
อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” สนองตอบต่อการปกครองระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ได้สร้างเสริมพระบารมีให้แก่สถาบันกษัตริย์เป็นอย่างมาก เช่น การส่งเสริมให้เสด็จประพาสยังต่างประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งการเสด็จประพาสต่างประเทศสร้างความประทับใจให้แก่ประเทศไทย ประชาชนไทย และรัฐบาลไทย รวมทั้งหันเหความสนใจของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล และลดคำวิจารณ์ของชาวต่างชาติต่อรัฐบาลเผด็จการของไทย (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2548, หน้า 255-259.)
นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ ยังได้เปลี่ยนแปลงวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรืออีกนัยยะหนึ่งคือตัวแทนคณะราษฎรได้กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2481 มาเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมแทน ในปี พ.ศ. 2503 รวมถึงรื้อฟื้นสถานภาพและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น การเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค งานเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา. ใน ฟ้าเดียวกัน, 2 : 2(เมษายน-มิถุนายน 2547) : 70-121.) เป็นต้น
รวมถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่กระทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ชนิดา ชิตบัณฑิต. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. 2550.) หรือทรงระงับวิกฤติในสังคมไทยหลายครั้ง เช่น 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535
ทำให้พระบารมีของพระองค์ทรง “สถิต” ในใจราษฎร ทำให้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ฝังลึกในสังคมไทย และมีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การเขียน/ สร้าง(อนุสาวรีย์) ประวัติศาสตร์ ‘ใหม่’ ต่างเกิดภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม
แม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้จะเกิดแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์แนวอื่น เช่น ท้องถิ่นนิยม(หลัง พ.ศ. 2526) ประวัติศาสตร์แนวสังคมนิยม แต่ไม่ได้ทรงพลังเท่าประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ครอบงำการรับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย และคงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน

กระแสที่สอง คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม

เป็นประวัติศาสตร์กระแสใหม่ที่เกิดในทศวรรษที่ 2520 เป็นประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับสังคม ความเป็นมาของผู้คนในท้องถิ่นเดียวกัน ทั้งด้านประเพณี ความเชื่อ และความทรงจำ โดยถือเอาท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการอธิบายประวัติศาสตร์ เกิดภายใต้ความเปลี่ยนแปรสำนึกทางประวัติศาสตร์ หลังการปฏิวัติของนักศึกษาประชาชนในปี พ.ศ. 2516 ที่หันมาให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ยงยุทธ ชูแว่น. โครงการประมวลวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้เพื่อเขียนตำรา เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย. 2548.)
ทำให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยครูในท้องถิ่นต่างๆในช่วงทศวรรษที่ 2520 ทำให้เกิดความตื่นตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น ดูได้จากงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น
  • ปริศนา ศิรินาม เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศราชในหัวเมืองลานนาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในปี พ.ศ. 2516
  • ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์ เรื่อง การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ทางภาคเหนือของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2439 ถึง พ.ศ. 2475 ในปี พ.ศ. 2521
  • ชูสิทธ์ ชูชาติ เรื่อง วิวัฒนาการเศรษฐกิจหมู่บ้านในภาคเหนือของประเทศไทย (พ.ศ.2394-2475) ในปี พ.ศ. 2523
  • สรัสวดี ประยูรเสถียร เรื่อง การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ. 2436-2476) ในปี พ.ศ. 2522 เป็นต้น
การศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นอื่น นอกเหนือจากประวัติศาสตร์รัฐราชาธิราชในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงแรกเป็นความสนใจ และขับเคลื่อนจากสถาบันการศึกษามิได้เกิดจากความตื่นตัวของท้องถิ่นอย่างแท้จริง และการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในสกุลนี้ก็มีความหลากหลายอาทิเช่น
(ก) ศึกษาท้องถิ่นในฐานะส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง
(ข) หาตัวตนของท้องถิ่น เช่น งานคลาสสิค 2 ชิ้นของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ผลิตในยุคนี้ คือ จากรัฐชายขอบถึงมณฑลเทศาภิบาล: ความเสื่อมสลายของกลุ่มอำนาจเดิมในภูเก็ต (2528)
และนครศรีธรรมราชในอาณาจักรอยุธยา รวมถึงการปริวรรตเอกสารในท้องถิ่น เช่น ตำนานพระยาเจือง (2524) กฎหมายมังรายศาสตร์ (2528) หัตถกัมมวินิจฉัยบาฬีฎีการอมสมมุติราช (2527) เป็นต้น
การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน (ยงยุทธ ชูแว่น. โครงการประมวลวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้เพื่อเขียนตำรา เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย. 2548.) จะเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำให้ผู้คนในท้องถิ่นตระหนักในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตนเองมากขึ้น จนทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ในสกุล“ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (นิยม)” ความตื่นตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในช่วงทศวรรษที่ 2520 เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภูมิภาคต่างๆ
นอกจาก “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏ หรือ ฯลฯ ก็ได้รับการรื้อฟื้น “สร้างใหม่” ในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระนั้นใน ‘อดีต’ และสร้างตำแหน่งแห่งที่ให้คน ‘ปัจจุบัน’ เช่น ประวัติศาสตร์ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” (จะกล่าวต่อไปในครั้งหน้า)
อย่างไรก็ตาม ความเฟื่องฟูของสกุล “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” มาได้รับความสนใจอย่างจริงจังภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ที่มีหลายมาตราเอื้อต่อการสร้างสำนึกท้องถิ่นนิยม เช่น มาตราที่ 46 ที่กำหนดให้ “บุคคลที่รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ…(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540)”
และมาตราที่ 56 “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง…” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540) โดยเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้เข้ามาจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น
ดังปรากฏในงานวิจัยประวัติศาสตร์ชุมชนของกลุ่มอาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ที่ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยทางประวัติศาสตร์ (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ . ประวัติศาสตร์เพื่อชุมชนทิศทางใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์, 2548) รวมถึงการสนับสนุนอย่างจริงจังของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเฉพาะฝ่าย 4 ที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นแพร่หลายอย่างไม่เคยมีมา
ภายใต้บริบทที่เอื้อต่อการสร้าง รื้อฟื้น ประวัติศาสตร์และความทรงจำท้องถิ่นเช่นนี้นำมาสู่การสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในภูมิภาคต่างๆ กอปรกับในปี พ.ศ. 2539 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี จึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น งานฉลองเชียงใหม่ 700 ปี การสร้างอนุสาวรีย์พญาพลเมืองแพร่ เป็นต้น การสร้างอนุสาวรีย์ และหนังสืออนุสรณ์จึงเฟื่องฟูภายใต้บริบทของความเป็นปีมหามงคล และการเฉลิมฉลองนี้

กระแสที่สาม ประวัติศาสตร์ ‘ท้องถิ่นชาตินิยม’

คือ การผสมระหว่างประวัติศาสตร์ชาตินิยม และท้องถิ่นนิยม เกิดในราวทศวรรษที่ 2530 ภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” อันทรงพลัง ‘สูงสุด’ ทำให้พลังท้องถิ่นนิยมอย่างเดียวไม่มีพลังในการจัดตำแหน่งแห่งที่แก่ท้องถิ่นได้ จึงได้เกิดประวัติศาสตร์แบบ “ท้องถิ่นชาตินิยม” โดยเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติ
เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ชาตินิยมกระแสหลักทรงอิทธิพลจนทำให้การอธิบายประวัติศาสตร์จากมุมมองของท้องถิ่นไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ จึงต้องอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติเพื่อให้มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งประวัติศาสตร์กระแสนี้มีอิทธิพลสูง และมีสัมพันธภาพกับการจัดวาง ‘ตำแหน่งแห่งที่’ ของคนกลุ่มต่างๆ อย่างซับซ้อน ผมจึงขอยกรายละเอียดเอาไว้ครั้งหน้า
การสร้างประวัติศาสตร์ในโครงเรื่องต่างๆ ภายใต้กระแสประวัติศาสตร์ข้างต้น เกิดภายใต้คนหลากหลายกลุ่มเพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ในหน้าประวัติศาสตร์ และจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่ ‘สร้าง’ ในสมัยหลัง
  • (๑) ขาหนึ่งวางอยู่บนการหาตัวตนของท้องถิ่น
  • (๒) แต่ขาอีกข้างกลับวางอยู่บนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ซึ่งแสดงให้เห็นการผสม/ลงเอยกันอย่างลงตัว และบ้างครั้งก็ลักลั่นระหว่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมและอุดมการณ์ราชาชาตินิยม
การเกิดการเขียนประวัติศาสตร์ภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” “ท้องถิ่นนิยม” และ “ท้องถิ่นชาตินิยม” เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย แตกต่างกันเพียงกระแสประวัติศาสตร์แบบใดจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน และมิได้เกิดขึ้นเฉพาะแห่งหนึ่งแห่งใด แต่สัมพันธ์แนบแน่นกับ “บริบท” และความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างลึกซึ้ง
และประวัติศาสตร์ก็ “กลับมาโลดแล่น และมีชีวิต ตื่นจากนิทรา” อีกครั้ง แต่มันได้ ‘เผยร่าง พรางกาย สร้างใหม่’ เอาไว้

ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ผุด ปชต. 3 บาท หนุนแก้ รัฐธรรมนูญ ส.ค.ส.ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ !!?


โรงแรมออลซีซั่น ถนนวิภาวดีรังสิต พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มนปช. และนายจิรเดช วรเพียรกุล ผู้ช่วยรมว.คลัง ร่วมแถลงเปิดตัวโครงการ "ประชาธิปไตย 3 บาท" เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยพ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ขณะนี้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะยิ่งกระบวนการในเรื่องของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร เป็นเผด็จการซ่อนรูป ทำให้อำนาจของประชาชนมีข้อจำกัดทั้งที่อำนาจของประชาชนเป็นอำนาจที่สำคัญ แม้รัฐธรรมนูญ2550 แม้จะมีการทำประชามติ แต่เป็นทำประชามติแบบกำมะลอมีการขู่ว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สามารถไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาบังคับใช้ก็ได้จึงทำให้ประชาชนต้องรับร่างดังกล่าวไปก่อน ซึ่งมีประชาชนรับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ 14 ล้านเสียง ถ้าการทำประชามติครั้งนี้มีเสียงสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มากกว่า 14 ล้านเสียงก็ชี้ชัดแล้วว่าประชาชนคิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้หลายคนจะเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่รัฐบาลเดินตามแนวทางสร้างความปรองดอง จึงให้มีการออกเสียงประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นไปตามข้อเสนอของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญดักทางไว้เรื่องจำนวนผู้ที่ออกมาลงประชามติจะผ่านได้ต้องไม่ต่ำกว่า 23 ล้านเสียง ซึ่งเราก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่รัฐบาลเห็นว่าการทำประชามติเป็นวิถีทางเดียวตามระบอบประชาธิปไตย เราจึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เต็มที่เพื่อให้รัฐบาลฝ่าฟันอุปสรรคไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข " พ.อ.อภิวันท์ กล่าว

ด้านนายอริสมันต์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมาประชาชนเสียงข้างมากลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จึงเห็นว่าประชาชนได้เลือกแล้วควรเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย แต่เมื่อรัฐบาลประสงค์ให้ทำประชามติเพื่อป้องกันความขัดแย้ง จึงมีแนวคิดโครงการ "ประชาธิปไตย 3 บาท" ซึ่งหมายถึง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประเทศ ประชาชน ประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยไม่ต้องออกมาเดินขบวนแสดงพลังทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านให้บ้านเมืองเกิดปัญหา ทั้งนี้จึงจัดทำไปรษณียบัตร ราคาแค่ 3 บาทให้ประชาชนแค่เขียนข้อความ "ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยรัฐบาลของประชาชนเพื่อประชาชน" ส่งผู้รับ ยู ชาแนล เลขที่ 555 10/188-189 อาคารชุดเดอะเทรนดี้ ซอยสุขุมวิท 13 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โดยจะเริ่มเดินสายแจกจ่ายในวันที่ 22 ธ.ค.ที่คอนเสิร์ตเสื้อแดง โบนันซ่า เขาใหญ่ วันที่ 25 ธ.ค. ที่จ.ราชบุรี และ 29 ธ.ค.ที่จ.สระบุรี คู่ไปกับการแจกจ่ายส.ค.ส.อวยพรปีใหม่ที่เป็นรูปน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และขอรับไปรษณียบัตรได้ที่พรรคเพื่อไทย จากนี้ 15 วันตนจะรวบรวมไปรษณียบัตรมอบให้นายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีกำลังใจเดินหน้าทำงานต่อไป

ที่มา.เนชั่น
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทำไม ? ต้อง ร้องเพลง กับเหตุผลที่แฝงอยู่ !!?



เพราะข้อสงสัยจากคำว่า "ทำไม" แท้ๆ ที่ทำให้เราต้องไล่ถามคนในแวดวง ว่าทำไมเวลารายการไหนๆจะประกวดหาคนเก่ง เป็นต้องจบที่ประกวดร้องเพลงทุกที

จะบอกว่าประกวดการแสดงก็มี อย่างของ "ดิ ไอดอล" และของ "ดัชชี่ บอย แอนด์ เกิร์ล" ก็ใช่ หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นน่ะเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่จะออกมาในรูปของเพลง เพลง เพลง และก็เพลง

เราจึงได้เห็นคนมาอวดความสามารถด้านเสียงกันไม่ขาด ผ่านรายการ "เอเอฟ-ทรู อคาเดมี่ แฟนเทเชีย", "เดอะ สตาร์ ค้นฟ้า คว้าดาว", "เดอะ เทรนเนอร์", "ซิงกิ้ง คิดส์", "เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์" ฯลฯ และที่กำลังจะมีอีกหลายรายการในปีหน้า

คนทำ "เดอะ สตาร์ฯ" ศศิภา กฤดากร ณ อยุธยา ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ ตอบคำถามนี้ตามตรงว่า ที่เอ็กแซ็กท์เลือกทำรายการประกวดร้องเพลงเพราะอยากตอบสนองบริษัทแม่คือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัททำเพลง ในการหานักร้องน้องใหม่มานำเสนอ

ส่วนที่เห็นหลายคนจากการประกวดกลายมาเป็นนักแสดงนั้น นั่นเป็นผลพลอยได้จากความสามารถของคนประกวดกับฐานแฟนคลับที่ดูรายการแล้วสนับสนุนมาบวกกัน แล้วลงตัวพอดี

ขณะที่ สรกฤต ลัทธิธรรม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มช้าง เจ้าของโปรเจ็กต์ ช้าง มิวสิคคอนเทสต์ 2012 ที่ต้องการเฟ้นหาวงดนตรีที่มีพรสวรรค์บอกว่า ที่เลือกทำอย่างนี้ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีดนตรีในหัวใจ อีกทั้งการประกวดผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อปีก่อนก็ได้รับการต้อนรับท่วมท้น จนตัดสินใจขยายมาเป็นรายการโทรทัศน์

การจับการตลาดแบบมิวสิก มาร์เก็ตติ้ง ที่เชื่อว่าเข้าถึงคนอันเป็นกลุ่มลูกค้าได้ง่าย คือเหตุผลใหญ่ของการจัดประกวดดนตรีของเขา

ด้าน วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ซึ่งจะทำรายการ "The session : ปรากฏการณ์ดนตรี" ที่จะนำคนดนตรี 2 เจเนอเรชั่นมาเจอกัน บอกว่า สำหรับเขาแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่าความถนัดล้วนๆ ค่าที่โตมากับสายเพลง อีกทั้งกระเเสรายการเหล่านี้ยังดี เลยยิ่งกระตุ้นให้คนยิ่งอยากทำ

ซึ่งก็จริง- สถาพร พานิชรักษาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด ที่ทำ "ไมค์ ไอดอล" ทั้งยังเป็นกรรมการในการประกวดนั่น โน่น นี่ เห็นด้วยในเรื่องกระแส แต่ขณะเดียวกันเขาว่าที่ใครๆ ต่างเลือกทำรายการประกวดเพลงนั้นยังมีเหตุผลอื่น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกวดประเภทอื่นทำได้ยาก อย่างประกวดการแสดง ที่หลายครั้งจะเห็นความเคอะเขินของผู้เข้าแข่งขัน จนดูไม่ลื่น

ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าการเฟ้นหาผู้เข้าประกวดนั้น หาคนประกวดร้องเพลงง่ายกว่าหาคนแข่งประกวดการแสดงเยอะ

"จากที่ผมเห็น คนที่อยากเป็นนักร้องจริงๆ จะขวนขวายและแสดงตัวเองออกมาประกวด แต่คนที่อยากเป็นนักแสดง ประกาศตัวว่าอยากเป็นนักแสดงอย่างเดียวจริงๆ มักไม่ค่อยมี"

ที่เป็นอย่างนั้นอาจเป็น "ไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถทางด้านนี้"

เพราะจะว่าไปการลองเล่นอยู่หน้ากระจกเอง แล้วฟันธงเองว่าเก่ง ก็ยาก ต่างจากการร้องเพลงที่มีโอกาสร้องให้คนอื่นได้ยินมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหน้าชั้นเรียน ในงานเลี้ยง ซึ่งถ้าร้องเก่ง มีคนชม ก็จะพัฒนาเป็นความอยากร้อง และกล้าร้องให้คนอื่นฟัง

"โอกาสที่คนคนหนึ่งจะรู้ว่าฉันอยากเป็นนักแสดงเพราะฉันแสดงเก่งจึงค่อนข้างยาก นอกจากมองกระจกแล้วเห็นว่าฉันสวย ฉันหล่อ หรือมีคนมายอว่าหน้าตาอย่างนี้เป็นนักแสดงได้ แต่ไม่มีเวทีการแสดงออก จึงเกิดเป็นเรื่องแมวมองมากกว่า อย่างเอ-ศุภชัย (ศุภชัย ศรีวิจิตร ไปชวนณเดชน์ (คูกิมิยะ) แล้วให้เป็นนักแสดงเลย ไม่ต้องผ่านเวทีประกวด"
ขณะเดียวกันในการตัดสินนักแสดงนั้น กรรมการต่างคนมักต่างความเห็น บางคนมองว่าคนนี้ไม่มีแวว ขณะที่อีกคนมองว่านำไปขัดเกลาอีกนิดก็จะออกมาดี

มติจึงยากที่จะเป็นหนึ่งเดียว

ต่างจากการตัดสินนักร้องที่กรรมการมักเห็นไม่ต่าง เพราะฟังดูก็รู้ว่าใครร้องดีกว่าได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม แม้รายการเหล่านี้กระแสจะดี แต่หากจะให้ยั่งยืนเขาก็ว่าจะต้องดูผลที่ตามมาหลังจบรายการด้วย

เพราะความหวังของคนที่มาแข่งไม่ได้จบอยู่ที่ "การชนะ" เท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมาหลังชนะต่างหากที่สำคัญกว่า

การต่อยอดให้มีงานทำ และมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นๆ นี่แหละที่สุดท้ายแล้วจะเป็นตัววัดความสำเร็จของการประกวดเหล่านั้น เพราะจะเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้ใครต่อใครพากันสมัครเข้าร่วมแข่งขันครั้งต่อๆ ไป และหากรายการไหนทำไม่ได้ ก็ทำใจไว้เลยว่า นอกจากจำนวนคนสมัครจะค่อยๆ ลดลงแล้ว ก็อาจมีผลถึงคุณภาพของผู้เข้าประกวด

ด้วยใครๆ ก็อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ยิ่งเป็นคนเก่งยิ่งมีสิทธิเลือก

เลือกว่าจะเข้าร่วมรายการประกวดร้องเพลงรายการไหน ในบรรดามากมายหลายรายการที่มีอยู่

หน้า 24,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2555

***********************************************************

ศาลนัดฟังคำสั่งเหตุการตาย น้องอีซา วันนี้ !!?




ศาลนัดฟังคำสั่งสาเหตุการตายของ"น้องอีซา"ในเหตุสลายชุมนุมเสื้อแดงปี53 วันนี้(20 ธ.ค.) ทนายเชื่อผลเหมือนคดีนายพัน คำกอง กระสุนมาจากเจ้าหน้าที่

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี หรือ อีซา ที่เสียชีวิตช่วงสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนหาสาเหตุการตายของ ด.ช.คุณากร ภายหลังจากที่ได้ไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้ว โดยตนคาดว่าแนวทางคำสั่งของศาลจะออกมาในทิศทางเดียวกับคดีของ นายพัน คำกอง โชเฟอร์แท็กซี่ ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทั้งหมดในคดีเป็นชุดเดียวกันกับคดีของนายพัน คำกอง ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่มีการยิงสกัดรถตู้ของนายสมร ไหมทอง ซึ่งเป็นผู้ขับขี่ โดยมีรูกระสุนรอบคันรถ ซึ่ง ด.ช.คุณากร ได้เสียชีวิตอยู่ใกล้กับนายพัน คำกอง โดยเชื่อว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาในทิศทางเดียวกันอย่างแน่นอนเพราะทั้งสองคดีเป็นเหตุการณ์เดียวกัน

นายโชคชัย กล่าวอีกว่า หากศาลมีคำสั่งว่าการเสียชีวิตของด.ช.คุณากร เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่จริง ก็จะสรุปสำนวนส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรสงเคราะห์ มุสลิมนานาชาติ ซึ่งเป็นผู้ปกครองของด.ช.คุณากร จะเดินทางมาร่วมฟังคำสั่งของศาลด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าว พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาสาเหตุการตายของ ด.ช.คุณากร ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้อง ทำให้เลือดออกมากในช่องท้อง เหตุเกิดที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ ช่วงที่มีการกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุม นปช. โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อกลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคา 2553

โดยคดีนี้ ถือเป็นสำนวนชันสูตรการเสียชีวิตในช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. ที่ศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นสำนวนที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลอาญาเคยมีคำสั่งแล้ว 2 สำนวนคือนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ และนายชาญณรงค์ พลศรีลา โดยศาลมีคำสั่งว่าการเสียชีวิตของทั้งสองเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนจากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม โดยถึงแก่ความตายขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งคล้ายกับสำนวนคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในคดีของนายชาติชาย ชาเหลา ผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกยิงที่ศรีษะเสียชีวิตบริเวณถนนพระราม 4

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++

ต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้า !!?


ต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้า

การพัฒนาประชาธิปไตยบ้านเราที่เป็นไปอย่างติดๆ ขัดๆ ตลอด 80 ปีที่ผ่านมานั้น มักมีการชี้นิ้วกล่าวโทษนักการเมืองว่าเป็นต้นเหตุหลัก

     เนื่องเพราะพฤติกรรมนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน หรือพรรคพวกมากกว่าส่วนรวม ทำการทุจริตคอร์รัปชั่น ล้วนเป็นชนวนหรือข้ออ้างในการปฏิวัติ ยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับแล้วฉบับเล่า

     จริงๆ แล้ว แวดวงการเมือง ก็เหมือนกับแวดวงอื่นๆ ทุกสาขาอาชีพที่มีทั้งคนดีและคนเลวปะปนกัน แต่ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่านักการเมืองทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น ต่างมีที่มาจากประชาชน ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

     คุณภาพของนักการเมือง จึงนับเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของประชาชน คุณภาพของสังคม

     ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยมีความพยายามในการปฏิรูปการเมืองหลายครั้ง มีการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมืองต่างๆ มากมาย ใช้งบประมาณแผ่นดินไปเป็นจำนวนมิใช่น้อย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เห็นได้จากปัญหาการเมืองในขณะนี้ ที่กลายเป็นหลุมดำฉุดรั้งประเทศชาติจนไม่สามารถก้าวเดินไปข้างหน้า  ก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งอย่างรุนแรง

     จึงน่าจะถึงเวลาที่เราต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ไม่ควรมุ่งปฏิรูปเพียงเฉพาะด้านการเมือง หรือนักการเมือง หากแต่ต้องเป็นการปฏิรูปสังคมไทยทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน

     แม้การปฏิรูปสังคมไทยนั้น จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ เพียงต้องใช้เวลา และความอดทนในการรอคอย

     ทั้งนี้การปฏิรูปที่ควรทำทันทีเป็นลำดับแรกในเวลานี้ คือการปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยทำให้คนมีคุณภาพ สังคมมีคุณภาพ

      กระนั้น การปฏิรูปการศึกษา มิได้หมายถึงแค่การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ช่วยให้เด็กไทยมีความเฉลียวฉลาด อ่านออกเขียนได้ บวกเลขเก่ง พูดภาษาอังกฤษคล่อง ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ เท่านั้น

     หากแต่ต้องเน้นการอบรมสั่งสอนบ่มเพาะสร้างจิตสำนึกให้เด็กไทย รู้จักมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีคุณธรรม เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดี

     ถ้ายังมัวแต่พัฒนาในวิชาการ มิได้มีการปลูกฝังให้เด็กไทยคิดดี ทำดี ทัศนคติของเด็กไทยก็จะเป็นไปอย่างที่โพลล์หลายๆ สำนักเคยสำรวจ หรือทำวิจัยไว้ นั่นคือ  ยอมรับกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่ผิดอะไร ขอเพียงแต่ให้ตัวเองได้รับประโยชน์ด้วยเป็นพอ

     ทัศนคติดังกล่าว เป็นปัญหาร้ายแรงที่ควรได้รับการแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษา

     ถ้าเราไม่สามารถลบล้างทัศนคติเช่นนี้ ก็ยากที่จะเห็นสังคมไทยมีคุณภาพ และเมื่อสังคมไทยไร้คุณภาพ ก็ยากที่จะเรียกร้องแสวงหาคุณภาพจากนักการเมือง

     ต่อให้มีการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่กี่ฉบับ การเมืองไทยก็ยังคงจมปลักอยู่ในวงจรอุบาทว์ จะแก้ไขปัญหาการเมืองให้ได้ผล จึงต้องแก้ที่รากเหง้าอย่างแท้จริง

ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จูบ ใครคิดว่าไม่สำคัญ : จูบการเมือง สไตล์ พญาอินทรี !!?

บทความพิเศษ
"จูบ" ใครคิดว่าไม่สำคัญ (1) : จูบการเมือง สไตล์ "พญาอินทรี"



การจูบ (Kiss) จัดเป็น "วัฒนธรรมต่างด้าว" เป็นเรื่องของ "ท้าวต่างแดน"อย่างแท้จริง

เพียงแค่คนไทยเห็นภาพนี้ก็เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ว เมื่อ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จุ๊บแก้ม และโอบกอด นางออง ซาน ซูจี หลังทั้งคู่เสร็จสิ้นการแถลงข่าวหน้าบ้านพักริมทะเลสาบ ณ เมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555

ภาพนี้จะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่ง ซึ่งโอบามาตั้งใจปล่อยภาพนี้ออกมา ตั้งใจเพราะหวังผลทางการเมือง เพื่อแสดงความสนิทสนม ส่งข้อความว่า สหรัฐเลือกที่จะยืนอยู่ข้างฝ่ายค้าน สหรัฐเข้าข้างฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า

วันนี้ "โปรดปราน" จะขอเริ่มโปรยเรื่องการจูบจากช็อตเด็ดที่คุ้นตาคนไทย คือ เพราะเพิ่งผ่านไปหยกๆ และเป็นภาพ "ไฮไลต์" การเดินทางของโอบามา ที่แย่งซีน เนื้อหาสาระและผลประโยชน์ของชาติ (national interest) อันเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของทริป การเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย พม่า กัมพูชา ในครั้งนี้

เรียกได้ว่า โอบามา นับว่าเป็นผู้นำคนหนึ่งที่ชำนาญและนิยมใช้ภาษากายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ผู้ที่ติดตามข่าวต่างประเทศเสมอๆจะพบว่า"จูบ"ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองบนเวทีระดับโลกอยู่บ่อยๆ และ ใช้มาเนิ่นนานแล้ว ไม่ได้เพิ่งใช้

ผู้เขียนไม่ทราบว่านานเท่าใดที่ "การจูบ" ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เริ่มเมื่อไหร่ อย่างไร

คนเอเชียโดยเฉพาะคนไทยนั้น ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการถูกเนื้อต้องตัวกัน โดยเฉพาะการจูบ

สำหรับคนไทยเราที่ยังอุดมเต็มไปด้วยกรอบทางสังคม การจูบถูกสงวนไว้เฉพาะคู่รักหนุ่มสาว

การหอมแก้มถูกสงวนไว้เฉพาะพ่อแม่หอมแก้มลูกวัยเด็ก เมื่อโตๆ กันแล้ว คนไทยไม่ค่อยนิยมถูกเนื้อต้องตัวกัน แม้กระทั่งคนในครอบครัว และ อันนี้รวมไปถึงการโอบกอดด้วย

คนไทยจึงแยกไม่ออกว่า การจูบ ชนิดต่างๆ มันแตกต่างกันอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร ไม่ว่าจะการจูบปาก จุ๊บมือ จุ๊บแก้ม การหอมแก้ม หรือแก้มแนบแก้ม



ธรรมเนียมการจูบในระดับสากล ถือว่าเป็นธรรมเนียมแสดงความยินดีและต้อนรับแบบยุโรป แตกต่างกันไปในรายละเอียด ชาติเจ้าแม่แห่งการจูบอันเป็นต้นแบบที่นักการเมืองระดับโลกนำมาประยุกต์ใช้ เห็นจะไม่พ้นการจูบแก้มแบบที่ชาวฝรั่งเศส (ซึ่งจริงๆ ยังมีขนบของการจูบแบบอื่นๆ เพียงแต่ไม่เป็นที่นิยม และไม่กล่าวถึงในที่นี้ อาทิ แบบชาวตะวันออกกลาง ทั้งแบบยิว แบบอาหรับ แบบรัสเซีย แบบละตินอเมริกา ฯลฯ)

รวมถึงต้นตำรับ "การจูบปากอย่างดูดดื่ม" ที่เราพบเห็นได้บ่อยๆ ในภาพยนตร์ตะวันตก ชาวอเมริกันเรียกการจูบปากแบบดูดดื่มถึงขั้นแลกลิ้น ว่า French kiss แต่ชาวฝรั่งเศสเอง กลับเรียกว่า tongue kiss หรือ baiser avec la langue

จริงๆ แล้ว การทักทายกันผู้นำประเทศเมื่อพบกันครั้งแรก มักจะทำเพียง "เช็กแฮนด์" กันเท่านั้น เป็นการแสดงออกมาตรฐาน



ต่อเมื่อได้พบปะกันแล้ว ได้คุยกันแล้ว และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาตินั้น ต้องมีทิศทางในทางที่ดีต่อกัน

เมื่อพบกันในครั้งที่ 2 หากต้องการ "โชว์" ความพิเศษ หรือ ตั้งใจส่งสัญญาณ จะแสดงออกทางภาษากายบ่งบอกถึงแสดงความสนิทสนมกัน หยอกล้อกัน

อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการส่งข้อความให้โลกรู้ถึงความแน่นแฟ้นของสัมพันธภาพ คือ สถานที่ที่ใช้ในการรับรองแขก หากระดับความสัมพันธ์สนิทสนมเป็นพิเศษ ทางเจ้าภาพ คือ รัฐบาลอเมริกัน จะจัดให้เข้าพบที่ห้องทำงานส่วนตัวของท่านประธานาธิบดี คือ Oval office



หรือ แน่นแฟ้นกว่านั้น จะนั่ง ฮ. ไปพักผ่อนกันถึงที่ Camp David เลยที่เดียว ใครๆ ก็ทราบว่าที่นี่คือบ้านพักตากอากาศส่วนตัวของพญาอินทรี ยกตัวอย่างในภาพเป็น ท่านประธานาธิบดีบุช ขับรถกอล์ฟให้นายกฯ บราวน์ นั่ง ที่ Camp David ก.ค. 2007 นั่นหมายถึง ระดับความสัมพันธ์ของสหรัฐ-อังกฤษ ที่สนิทสนมมากเป็นพิเศษ

2 ภาพที่ โอบามา ออกรับนางซูจี ที่ Oval office ในทริปแรกของการออกเดินทางสู่โลกภายนอกของซูจี โดยไปเยือนทำเนียบขาวในวันที่ 19 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับเกียรติมาก แม้จะเป็นการพบกันในครั้งแรก แต่ทางทำเนียบขาว "จงใจปล่อยภาพ" ที่เผยถึงบรรยากาศที่เป็นส่วนตั๊วส่วนตัว สบายๆ แบบกันเอง ของการเข้าพบครั้งนี้ ด้วยฉากการหยอกล้อทักทายหมา (หมาก็ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นกัน) ด้วยการมี เจ้า " Bo" มาเข้าฉากด้วย



สุนัขตัวนี้เป็นหมาเพศผู้ สายพันธุ์โปรตุเกส สีดำ มีแซมขาวนิดๆ เป็นสุนัขหมายเลข 1 คือ ของครอบครัวโอบามา ในภาพจะเห็น ฮิลลารี่ คลินตัน เข้าร่วมหารือด้วย

ในภาพเป็นการโพสท่าของ 3 ผู้นำ ในเวที G20 London Summit 2009 ในภาพคือ โอบามา (ผู้นำสหรัฐ) แบร์ลุสโคนี่ (ผู้นำอิตาลี) และ เมดเวเดฟ (ผู้นำรัสเซีย) หยอกล้อ เล่นกล้อง

การล้อผู้สื่อข่าวแบบนี้คือ ความตั้งใจอยากเป็นข่าว เพื่อแสดงความสนิทสนมกลมเกลียวของ 3 ชาติ ทุกการกระทำ ล้วนมีความหมายทางการเมืองทั้งสิ้น ทุกการกระทำหวังผลทางการเมืองทั้งสิ้น

ภาพการพบกันของ 2 นายกรัฐมนตรีหญิง ภาพแรก นายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ด ให้การต้อนรับนายกฯ ปู ในโอกาสเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ เมื่อ 28 พฤษภาคม 2555 ทั้งคู่พบกันอีก 2 หน คือ การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ที่นั่งประชันความงามอยู่ด้านขวามือของ นายกฯ ปู คือ นายกฯ หญิงเฮลเล่ ธอร์นิง-ชมิตต์ จากเดนมาร์ก

นายกรัฐมนตรีจูเลียและนายกฯ ปู มาพบกันเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 1 ปี ที่กัมพูชา ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2555 เมื่อรู้จักคุ้นเคยกันดีแล้ว การทักทายด้วยการหอมแก้มกันจึงเป็นเรื่องธรรมดาดังเห็นในภาพ

อย่างไรก็ตาม ขอบคุณที่ โอบามา เลือกที่จะหอมแก้ม นางซูจี ภาพออกมาน่ารักดี ดูอบอุ่นและเป็นกันเอง และไม่(บ้าจี้)หอมแก้มประธานาธิบดี เต็ง เส่ง หรือ สมเด็จฮุน เซน ไม่งั้นภาพจะออกมาเช่นไร ไม่อยากจินตนาการ

ขอบคุณอย่างยิ่งที่ โอบามา ผู้รับการติวเข้มเรื่องวัฒนธรรมไทยมาเป็นอย่างดี ว่าในบ้านเรานั้น สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ โอบามาและคลินตันจึงถอดรองเท้าเดินเข้าชมความงามในพระอุโบสถวัดโพธิ์

เดินประสานมืออย่างเรียบร้อยในการสนทนากับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณเทียบอย่างมิได้เคอะเขิน
และที่สำคัญไม่เผลอไป"หอมแก้มนายกฯ ยิ่งลักษณ์" แต่เลือกที่จะ "เช็กแฮนด์" แต่ก็ไม่วายแอบหยอดเสน่ห์ แตะที่ศอก ที่แขนอีกเล็กน้อย รวมทั้งส่งแค่ตาหวานใส่ ไม่งั้นคงมีรายการดราม่าเกิดขึ้นอีกแน่ๆ 

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ 
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เผย ทักษิณ. เคยเคาะสุดารัตน์ลงชิงผู้ว่าฯกทม. !!?


แหล่งข่าววงในจากกลุ่มส.ก.และส.ข. กทม. สังกัดพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงสาเหตุที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถอนตัวจากการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ว่า ในการประชุมพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมามีการวอล์คเอ๊าท์ออกจากที่ประชุมกว่าครึ่งเมื่อที่ประชุมเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์จริญ รองผบ.ตร. และเลขาธิการป.ป.ส. ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. แทนที่จะเป็นชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์ เนื่องจากไม่เป็นไปตามที่ 4-5 เดือนก่อน ได้มีการคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ กันแล้วและสรุปแล้วว่าให้คุณหญิงสุดารัตน์ลงสมัคร ทั้งนี้จากผลโพลที่ระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คะแนนนำคุณหญิงสุดารัตน์แค่เปอร์เซ็นต์เดียว แต่พล.ต.อ.พงศพัศ ห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ถึง 10% อีกทั้งหากเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ก็จะทำให้ส.ก. และ ส.ข.ช่วยหาเสียงแบบไม่ต้องเหนื่อยมากนัก

"แต่พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่ใช่นักการเมือง หาเสียงก็ไม่เป็น พวกส.ก. ส.ข.ก็จะเหนื่อยมากขึ้น แต่ต้องช่วยหาอีก 10% เพื่อให้เท่ากับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่ได้หาเพื่อแซงเขา ต้องช่วย พล.ต.อ.พงศพัศหาอีก 20% เพื่อจะได้ชนะ ตอนนี้จึงถือว่าแพ้ตั้งแต่ก่อนลงสมัคร"แหล่งข่าว กล่าว

ที่มา.เนชั่น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++