โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์
เช้าวันหนึ่ง ในรายการของ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีข่าวเล็กๆ ที่ได้จากคลิปวิดีโอที่ผู้ชมส่งให้ อุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดขึ้นบนถนนแห่งหนึ่ง รถบัสชนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขี่ตกไปถูกล้อรถบัสทับตาย ส่วนผู้โดยสารเป็นผู้หญิง ตกจากรถขาซ้ายหักและคงจะสลบไป จึงนอนอยู่กลางสี่แยกแห่งหนึ่ง ส่วนรถบัสขับต่อไปโดยไม่หยุด
สี่แยกนั้นไม่ถึงกับรถติด แต่การจราจรขวักไขว่พอสมควร มีรถยนต์นั่งหลายชนิด, กระบะตู้, มอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล และอื่นๆ ขับผ่านตลอด ต่างหลบหลีกไม่ทับร่างของหญิงผู้นั้น แต่ไม่มีคันใดหยุดให้ความช่วยเหลือเลย ซึ่งคุณสรยุทธอุทานออกมาดังๆ ว่า อ้าว ทำไมไม่หยุด
แล้วก็มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคันหนึ่ง ขับฝ่าการจราจร (คงจากมุมใดมุมหนึ่งของสี่แยก) ออกมาจอดขวางร่างหญิงผู้นั้นไว้ แล้วลงจากรถเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทันใดก็มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีก 2 คันตามมาทำอย่างเดียวกัน คือเอารถของตนเองช่วยจอดล้อมวงร่างของผู้หญิง เพื่อเป็นสัญญาณให้รถคันอื่นระมัดระวัง ลงจากรถเพื่อให้ความช่วยเหลือร่วมกัน
พวกเขาจะช่วยอย่างไรไม่ทราบได้ เพราะคลิปหมดแค่นั้น คุณสรยุทธก็รู้ดีว่าไม่จำเป็นต้องพูดอะไรอีก เพราะภาพเล่าไว้โดยไม่ต้องใช้เสียงหมดแล้ว
เป็นปรากฏการณ์ที่ปกติธรรมดามากสำหรับคนที่อยู่เมืองไทยมากว่า70 ปีอย่างผม เราจะเห็นสำนึกคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเล็กคนน้อยที่ถูกเรียกว่าควาย มากกว่าคนนั่งรถเก๋งเสมอ แม้กระนั้นคำถามเชิงอุทานของคุณสรยุทธก็ยังก้องอยู่ในใจ
ผมพยายามหาคำตอบที่ตัวเองพอใจอยู่นานและในที่สุดก็มาลงเอยที่มิติทางเศรษฐกิจ
คนขับกระบะตู้จอดให้ความช่วยเหลือไม่ได้เพราะบริษัทมีกำหนดส่งของไว้แน่นอนแล้ว หากลงมาให้ความช่วยเหลือก็ไม่สามารถทำตามกำหนดเวลาของบริษัทได้ บางบริษัทมีจีพีเอสติดบนรถส่งของด้วย ฉะนั้น ผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์ของบริษัทย่อมรู้ว่าเขาหยุดรถเป็นเวลานานระหว่างทาง คำอธิบายของคนขับว่าเพื่อช่วยคนบาดเจ็บจะเป็นที่ยอมรับของผู้จัดการหรือไม่ก็ไม่แน่ จึงถือว่าเสี่ยงต่ออาชีพการงานของตน
คำอธิบายนี้คงใช้ได้หมดกับแท็กซี่และตุ๊กตุ๊กซึ่งมีผู้โดยสาร,จักรยานยนต์ของพ่อค้าแม่ขาย ฯลฯ แต่จะใช้อธิบายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยเฉพาะคันใหญ่ๆ ได้หรือไม่?
ผมคิดว่าไม่ได้โดยตรง แต่ก็ใกล้ๆ ล่ะครับ การหยุดให้ความช่วยเหลือต้องใช้เวลามากพอสมควร สมมุติว่าใช้รถยนต์หรือคนขับรถกันการจราจรเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงคนนั้น แล้วโทรศัพท์เรียกตำรวจหรือหน่วยงานสาธารณกุศล ก็ต้องรอจนกว่าเขาจะมา หากถึงกับเอาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง ก็ยิ่งเสียเวลาหนักขึ้นไปอีก เพราะต้องแจ้งความด้วย ทั้งหมดนี้อาจหมดไปครึ่งวัน
ครึ่งวันหรือสี่ชั่วโมงสำหรับคนทำงานระดับนั้น หมายถึงขาดทั้งรายได้และ "โอกาส" ไปไม่รู้เท่าไร ("โอกาส" ในทางเศรษฐกิจแปลว่าความเป็นไปได้ที่จะทำรายได้เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่แคบมาก เพราะ "โอกาส" ช่วยชีวิตคนอื่น ไม่นับรวมอยู่ใน "โอกาส" ทางเศรษฐกิจ) ดังนั้น การหยุดให้ความช่วยเหลือจึงมีต้นทุนที่สูงมาก (อย่างน้อยก็ในการประเมินของตนเอง) ต้องคิดไตร่ตรองและชั่งน้ำหนักให้ดี รถมันผ่านไปเร็วครับ คิดไม่ทัน แต่เมื่อผ่านไปแล้ว ก็ถือเป็นคำตอบไปในตัว
อันที่จริงมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เสีย "โอกาส" ทางเศรษฐกิจไปไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะแทนที่จะคิดจากเม็ดเงินที่ต้องเสียไปในการหยุดให้ความช่วยเหลือ แต่คิดถึงสัดส่วนของรายได้ว่าเขาต้องสละไปกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะเห็นว่าเขาสูญเสียเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากกว่าคนนั่งรถเก๋งหลายเท่า แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดได้เร็ว เพราะเขาไม่ทันประเมิน "โอกาส" ทางเศรษฐกิจของเขาเอง มันมีปุ่มอัตโนมัติที่พ่อแม่และสังคมของพวกเขาสอนมาแต่อ้อนแต่ออกว่า คุณค่าความเป็นมนุษย์ย่อมสูงกว่าคุณค่าอื่นใดทั้งสิ้น
(น่าเสียดายที่พวกเขาคงไม่ถูกเชิญไปร่วมในการปฏิรูปการศึกษาซึ่งสนใจที่จะปลูกฝัง "ความเป็นไทย" มากกว่า "ความเป็นคน")
เมื่อคิดได้อย่างนี้ ผมจึงอดไม่ได้ที่จะนำประเด็นนี้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจ แต่อาจเป็นเพราะคำอธิบายจากมิติทางเศรษฐกิจของผมดูน่ารังเกียจชิงชังเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบ เขากลับพยายามยกปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจมาอธิบายแทน
เขาบอกว่าคนนั่งรถเก๋งคงยังจำได้กระมังว่า ดาราทีวีท่านหนึ่งที่หยุดรถไปช่วยผู้บาดเจ็บ กลับถูกรถอื่นชนจนพิการ จึงไม่อยากลงไปช่วยใคร ผมท้วงว่านั่นมันบนทางหลวง ไม่ใช่สี่แยกกลางกรุงอย่างนั้น และการที่ดาราท่านนั้นได้รับการยกย่องจากสังคมอย่างกว้างขวาง ก็แสดงอยู่แล้วไม่ใช่หรือว่า คนนั่งรถเก๋งไม่ค่อยหยุดรถไปช่วยใคร
เขาจึงยกอีกปัจจัยหนึ่งขึ้นมาว่า ด้วยเหตุใดก็ตาม คนมีฐานะและมีการศึกษามักไม่ค่อยมีทักษะชีวิตในเรื่องเหล่านี้ เช่นลงไปแล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป เป็นต้น ฝากความหวังไว้กับรัฐว่าเดี๋ยวตำรวจและหน่วยสาธารณกุศลคงมาเอง เขาอาจยกโทรศัพท์ไปแจ้งหน่วยงานเหล่านั้นแล้วก็ได้ ผมยอมรับว่าผมไม่รู้ว่าเขาได้โทร.แจ้งหรือไม่ และยอมรับว่าหากขาดทักษะชีวิตในเรื่องเช่นนี้ เขาคงไม่รู้ว่า เมื่อเขาหยุดรถลงมาช่วย จะมีคนอีกมากมา "มุง" และให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไรต่อไป
แม้ว่าเพื่อนผมไม่สนใจปัจจัยที่เป็นมิติทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเราคุยถึงความยั่งยืนของอำนาจ คสช. เขากลับพูดว่า ปัจจัยเดียวที่จะตัดสินว่า คสช.จะดำรงอำนาจของตนสืบไปได้หรือไม่ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ หมายความว่าหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คสช.ก็จะได้รับการยอมรับจากคนต่างๆ มากขึ้น จนกระทั่งอาจตั้งอยู่ต่อไปได้อีกนาน เหมือนสมัยสฤษดิ์
ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นนี้กว่าครึ่ง คือยอมรับเหมือนกันว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญ และ คสช.เองก็รู้ว่าสำคัญ แต่อำนาจใดก็ตามที่จะดำรงอยู่ได้อย่างสืบเนื่องยาวนานนั้น ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีกมากกว่าความจำเริญทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ที่ผมคิดถึงนั้น สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ ปัจจัยของความเป็นคน หรือคุณค่าความเป็นมนุษย์นั่นเอง เพราะเป็นปัจจัยของระบอบปกครองนานาชนิดที่เราพบตั้งแต่สมัยหินลงมา
ผมไม่ได้แจกแจงปัจจัยเหล่านั้นแก่เพื่อนนักธุรกิจ(เพราะคิดไม่ทัน) แต่ขอแจกแจงในที่นี้
ปัจจัยแรกที่จะทำให้อำนาจใดดำรงอยู่ได้ก็คือ การใช้อำนาจอันประณีต น่าประหลาดที่ว่าไม่ว่าจะมีอำนาจเด็ดขาดสักเพียงไร การใช้อำนาจกลับต้องทำโดยประณีตอย่างยิ่ง คนจำนวนมากมักเข้าใจว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปกครองด้วยความเด็ดขาด แต่ผมคิดว่าเราต้องแยกระหว่างบุคลิกภาพของสฤษดิ์ กับวิธีปกครองของสฤษดิ์ เขาใช้กลวิธีอันประณีตหลายอย่างมาก เพื่อให้คนยอมรับอำนาจของเขา เช่น หลังจากการปกครองแบบประชาธิปไตย (อย่างน้อยโดยรูปลักษณ์) ต่อเนื่องกันมา 25 ปี การเปลี่ยนไปสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบไม่ใช่เรื่องง่าย เขาใช้คนมีฝีมือจำนวนไม่น้อย ในการทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตย จริงอยู่บริวารของเขามีโอกาสพูดฝ่ายเดียวก็จริง แต่การพูดฝ่ายเดียวนั้นยากนะครับ เพราะถึงคนอื่นไม่กล้าเถียงดังๆ เขาก็อาจเถียงในใจได้ บริวารของสฤษดิ์ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เถียง และยอมรับ (มาจนบัดนี้) ว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่เหมาะกับสังคมไทย ต้องสร้างระบอบปกครองขึ้นมาใหม่และตั้งชื่อว่าประชาธิปไตยแบบไทย (ซึ่งไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตรงไหนเลย)
นี่คือความประณีตของการใช้อำนาจอย่างหนึ่งครับ
จอมพลป.พิบูลสงคราม นั้น ถืออำนาจเด็ดขาดต่อเนื่องกันหลายปีเมื่อก่อนและระหว่างสงคราม แต่ใครที่ได้มีโอกาสพบท่านต่างเห็นตรงกันว่า ท่านเป็นคนอ่อนหวาน มีเสน่ห์ในการพูดโน้มน้าวใจคนมาก โดยไม่ต้องมีมาตรา 17 (ของสฤษดิ์) ศัตรูทางการเมืองของท่านถูกพิพากษาประหารชีวิต และเนรเทศไปอยู่ในดินแดนกักกัน โดยศาลยุติธรรมจำนวนมาก... จะสั่งเองหรือให้ศาลสั่ง ก็ได้ผลเท่ากัน แต่เป็นการใช้อำนาจอย่างประณีตกว่ากันมาก
"พิธีกรรม" เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการใช้อำนาจอย่างประณีต สฤษดิ์รื้อฟื้นพิธีกรรมเก่า เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของตนได้อย่างแนบเนียน จอมพล ป.สร้างสรรค์พิธีกรรมใหม่อีกหลายอย่าง เพื่อทำให้อำนาจของท่านเป็นอำนาจแห่งความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นอารยะ นั่นคือการให้เหตุผลแก่อำนาจที่อาจละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อเป้าประสงค์ที่เราทุกคนต้องการร่วมกัน เราอาจชอบหรือไม่ชอบ "พิธีกรรม" เหล่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลยั่งยืนไปยาวนานกว่าระบอบปกครองของคนทั้งสองด้วยซ้ำ อำนาจดิบถูกทำให้ประณีตจนใครๆ ก็ลืมไปว่านั่นคืออำนาจดิบ แต่จดจำและใช้พิธีกรรมที่อำนาจดิบสร้างขึ้นสืบมา
นอกจากการใช้อำนาจอย่างประณีตแล้ว ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ อันจะทำให้อำนาจปกครองใดๆ ยั่งยืนได้ ความคาดการณ์ได้ของกฎหมายและการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ความกลัวของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากการคาดไม่ได้ เช่นกลัวผีเพราะไม่แน่ใจว่ามันจะมาใบ้หวยหรือจะมาแลบลิ้นปลิ้นตาให้เราช็อกตาย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับระบอบปกครองเป็นเผด็จการหรือไม่นะครับ ถึงเป็นเผด็จการอย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องคาดการณ์ได้ว่าทำอะไรแล้วผิด รวมทั้งผิดแล้วจะโดนอะไรบ้าง ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงธุรกิจนะครับว่า อัตราการรีดไถต้องคาดการณ์ได้ ไม่อย่างนั้นทำธุรกิจไม่ได้ เพราะไม่รู้จะคำนวณการลงทุนและผลกำไรอย่างไร
ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ระบอบเผด็จการที่รักษาความคาดการณ์ไม่ได้เพื่อทำให้อำนาจของตนเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แล้วยังรักษาอำนาจสืบมาได้นานๆ เช่น สตาลิน, ฮิตเลอร์ หรือเหมา เป็นต้น ก็มีอยู่ แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีอะไรแลกครับ และสิ่งที่จอมเผด็จการเหล่านี้เอามาแลกคือ "ความสำเร็จ" หนึ่ง กับอุดมการณ์อีกหนึ่ง ในท่ามกลางความล่มสลายของเศรษฐกิจสังคมรัสเซีย, เยอรมันหลังสงคราม และจีน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจอมเผด็จการทั้ง 3 สร้างความแข็งแกร่งอันใหม่ให้บนความหวาดกลัวของผู้คน
ทางด้านอุดมการณ์ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่าทั้ง 3 กรณีต่างอ้างอุดมการณ์ของความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนทั้งสิ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ในนามของการ "ปฏิวัติ" ทุกคนต้องเสียสละที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย ต้องยอมรับว่าชีวิตในสังคมปฏิวัติคือ ชีวิตที่ถูกปิดล้อมทุกด้าน เพื่อให้ลูกหลานได้พบสังคมใหม่ที่ดีกว่าเก่า ผมไม่คิดว่าอุดมการณ์ที่จะนำสังคมย้อนกลับไปหาอดีตมีพลังพอจะรักษาความคาดการณ์ไม่ได้ไว้เป็นเครื่องมือของอำนาจได้นานๆแน่
นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะทำให้ระบอบอำนาจใดๆ สามารถดำรงอยู่ได้ ผมคิดว่าการวิเคราะห์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดยดูจากความสำเร็จหรือความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจหรือคาดการณ์อะไรได้
ที่มา.มติชน
-------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น