โดย. อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล
ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นไม่กี่วันก่อน คือเรื่อง "ปฏิรูปการศึกษา" ตามแนวนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะยกเครื่องการศึกษาไทยทั้งระบบ
และหนึ่งในภาควิชาที่ต้องปรับโฉมการเรียนการสอนใหม่ คือ วิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้วางกรอบ มุ่งส่งเสริมเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติไทย ความมีวินัย มีคุณธรรม ศีลธรรม
การปฏิรูปจะเพิ่มเนื้อหาที่จะใช้ในการเรียนการสอนตามจุดเน้นของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ การส่งเสริมความรักชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ เอกลักษณ์ของชาติ วัฒนธรรมไทย
ซึ่งการปรับเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ได้นำหนังสือเรียนที่ใช้กันอยู่เดิมมาปรับปรุงและเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด เช่น เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เพิ่มเติมเนื้อหาของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เช่น เรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ท้าวสุรนารี เป็นต้น
ที่มองว่า เดิมในวิชาประวัติศาสตร์ใช้เรียนกันอยู่ก็มีเนื้อหาเหล่านี้อยู่แล้ว แต่อาจจะมีแค่บางส่วนและเนื้อหาไม่ละเอียด จึงต้องปรับปรุงใหม่เพราะประวัติศาสตร์ไทยมีเรื่องราวให้เขียนมากกว่า 2 บรรทัด
เเม้เพิ่งจะเริ่มต้น เเต่การยกเครื่องครั้งนี้เป็นที่จับตามองอย่างมากโดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา
หนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของสยามประเทศ
เพราะปัญหาเรื่องการศึกษาของประเทศไทยสะสมมายาวนาน ยิ่งในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดหมาง ประวัติศาสตร์บาดแผล ความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่อดีตที่สร้างผลกระบทบกับเพื่อนบ้านมาโดยตลอด และอนาคตอาจส่งผลต่อการรวมเป็นประชาคมอาเซียน
"ปฏิรูปการศึกษา" โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการชำระประวัติศาสตร์ครั้งนี้ มาถูกทางหรือไม่ หรือควรเป็นแบบไหน?
"นักปฏิรูป" ทั้งหลายลองฟัง ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ลักษณะของวิชาประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างไร?
ประวัติศาสตร์ไทยโดยรวมมีลักษณะเป็นพงศาวดาร เป็นตำนานเสียมาก ลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์มีค่อนข้างจะน้อย ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ซ้ำซากน่าเบื่อ ถ้าเราพลิกดูตำราแบบเรียนประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่ามีความซ้ำซ้อนเยอะ เช่น เรื่องสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ มีการพูดซ้ำหลายหนอยู่ในตำราเรียนระดับมัธยม เป็นการสร้างความเบื่อหน่ายแต่แรก เมื่อมาถึงระดับมหาวิทยาลัยวิชาประวัติศาสตร์ไม่หนีไปจากเรื่องเดิมนัก เป็นความเบื่อหน่ายในแง่ที่ไม่เห็นประวัติศาสตร์สังคมโดยรวม เห็นแต่ระดับข้างบน ซึ่งเป็นเรื่องของมหาบุรุษ มหาสตรี
ผมคิดว่าตรงนี้ยิ่งทำให้วิชาประวัติศาสตร์เมืองไทยไม่น่าสนใจ เป็นวิชาที่คนเรียนไม่อยากเรียน คนสอนไม่อยากสอน อาจารย์หลายคนก็เฉไฉว่าสอนวิชาสังคมศึกษาไม่ได้สอนวิชาประวัติศาสตร์ ประโยชน์ของประวัติศาสตร์ คือเอาไว้อ้างว่าเราห่วงใยประเทศชาติ แต่ในความเป็นจริงเป็นวิชาที่ไม่มีใครอยากเรียน
ผมเรียนประวัติศาสตร์มา มีความรู้สึกว่าเป็นวิชาที่เพื่อนร่วมรุ่นที่จบมัธยมปลายด้วยกันมาดูถูกดูแคลนมากกว่าเรียนอะไรวะ (หัวเราะ) ซึ่งผมยังไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร
ความสำคัญของวิชานี้?
ประวัติศาสตร์ไทยที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐสมัยใหม่ เริ่มประมาณรัชกาลที่ 4-6 เป็นต้นมา ใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรวมชาติ ในการรักษาอำนาจ ดังนั้น แม้ด้านหนึ่งประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่อีกด้านประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือการปกครองของรัฐบาล หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจในการควบคุมรัฐบาล ที่ต้องการให้เขียนประวัติศาสตร์หรือรักษาประวัติศาสตร์ให้เป็นไปตามแนวทางที่เขาต้องการ ในขณะเดียวกัน สังคมก็มีคนใหม่ๆ ขึ้นมา เรียกร้องประวัติศาสตร์ในแบบที่พัฒนาก้าวหน้ากว่านั้น เป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงการตีความประวัติศาสตร์
มองการปฏิรูปตามแนวทางของนายกฯอย่างไร?
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้มีการชำระปฏิรูปประวัติศาสตร์ ทำให้ผมต้องไปค้นตำราประวัติศาสตร์ ซึ่งตำราระดับมัธยมมีความน่าสนใจมาก มีเรื่องราวประวัติศาสตร์พอสมควร และมีมากกว่า 2 บรรทัด ตำราระดับมัธยมปลายเป็นเรื่องของยุโรปอเมริกา รวมความแล้วผมไม่แน่ใจว่าปัญหาอยู่ที่ตำราเรียน หรืออยู่ที่คนสอนและคนเรียนกันเเน่
เพราะเวลาเราพูดถึงปัญหาเรื่องการศึกษา เราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา มักคิดถึงการแก้หลักสูตร เราไม่ได้พูดถึงการแก้ที่คนสอนหรือคนเรียน
ส่วนเรื่องการปฏิรูป ผมมองว่าเป็นคำของฝ่ายมีอำนาจ ถูกนำขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้าง ล่าสุดคือการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ถ้ามองเฉพาะหน้า เป็นข้ออ้างในการล้มการเลือกตั้ง ส่วนความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปประวัติศาสตร์ เพราะเกิดปัญหาว่าการศึกษาของเราล้าหลัง ไม่ทันต่อสถานการณ์ และคับแคบ ตรงนี้เป็นเรื่องจริงที่ต้องทำ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนปฏิรูป ที่เราเห็นเป็นการปฏิรูปโดยตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าเป็นส่วนใหญ่ เป็นตัวแทนของความคิดเก่า คนที่อายุมากแล้ว
ในแง่ของวิชาประวัติศาสตร์ ผมมองว่าเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงจะปฏิรูปสยาม พระองค์พระชนมายุ 20 พรรษา เท่านั้น ซึ่งกว่าจะสำเร็จ ทรงเวลานานหลายสิบปี และกว่าจะปฏิรูปการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาล ระบบการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม แบบที่เรารู้จักกันดีใช้เวลานานถึง 30 ปี และเป็นการปฏิรูปโดยกลุ่มคนที่มีพลัง มีอำนาจ และมีอายุไม่มาก ซึ่งขณะนั้นก็ยังคงยากเย็น
ผมเองมองไม่เห็นเรื่องการปฏิรูปในวันนี้ ไม่ค่อยเชื่อว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเป็นตัวแทนของกลุ่มปฏิรูปจะสามารถปฏิรูปได้ แต่ละท่านอายุมากกันแล้ว ไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้สำเร็จ เป็นความพยามที่จะรักษาอำนาจเดิม ความคิดเดิมมากกว่า
ทิศทางการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ควรเป็นแบบไหน?
ผมว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์จะต้องเปิดให้กว้าง ให้มีอิสรเสรีมากกว่านี้ คือต้องปลดปล่อยประวัติศาสตร์ออกจากพันธนาการของกลุ่มอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะกลับไปสู่ปัญหาเดิม
การผลักดันประวัติศาสตร์ภาคประชาชนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะในวิธีคิดของนักประวัติศาสตร์ทั่วไปยังยึดติดอยู่กับกรอบเดิมอยู่ ซึ่งเป็นกรอบที่มีลักษณะเป็นพงศาวดาร กรอบที่เน้นบทบาทของมหาบุรุษ มหาสตรี แต่ในระยะหลังๆ ผมคิดว่าเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญ คือมีนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ที่โดดเด่นมากๆ คือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งมีวิธีมองที่เห็นในภาคสังคมมากกว่า มีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากขึ้น
รูปแบบการปฏิรูปที่ออกมา?
หลักสูตรใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกมา เป็นการตอกย้ำความคิดเดิมของกลุ่มอำนาจเดิมอย่างชัดเจน ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกเบื่อหน่ายอยู่แล้วน่าเบื่อยิ่งขึ้น ผมคิดว่าคนเรียนคงไม่อยากเรียน คนสอนคงไม่อยากสอน เพราะไม่มีอะไรใหม่ เป็นการตอกย้ำรูปแบบเก่า เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ อาจจะมีเนื้อหาเพิ่มแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นความคับแคบ มองไม่เห็นสังคมกว้าง มองไม่เห็นโลก ไม่เห็นประวัติศาสตร์ร่วมของภูมิภาคอาเซียน เน้นไปทางชาตินิยม ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง
การรักชาติเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ารักชาติมากจนเกินเลยจะทำให้เรื่องของภูมิภาคไร้ความหมาย
การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์อาเซียนในปัจจบัน?
ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจสูงสุดในแง่ของการผันตัวเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีการพูดคุยเรื่องอาเซียน
จากการศึกษา ในยุคสงครามเย็น วิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ก่อเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลอเมริกา ที่จะมาทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น พูดได้ว่าวิชาเหล่านี้เป็นกำเนิดที่มากับการเมือง ในช่วงที่ผมไปเรียนต่างประเทศ ได้ให้ความสนใจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมากโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะเป็นช่วงของสงครามเย็น เป็นช่วงที่อเมริกามารบในอินโดจีน และเป็นช่วงที่อเมริกามามีฐานทัพในเมืองไทย ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้
สิ่งหนึ่งที่เหมือนตีแสกหน้าเราคือ เพื่อนร่วมชั้นในอเมริกาพูดอย่างดูถูกดูแคลนเราว่า "ไม่รู้เหรอว่าสงครามในอินโดจีน ท่านอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ บอกว่าเป็นสงครามที่ป่าเถื่อนที่สุด และประเทศไทยเป็นฐานทัพให้ไปถล่มเวียดนาม ลาว กัมพูชา" ตรงนี้ทำให้ผมฉุกใจคิดว่าเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับบ้านเรา ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านเราเลย และสิ่งที่ผมไปพบแล้วทำให้ช็อกมากก็คือ อยุธยาไปตีนครวัดนครธม ทำให้ประเทศกัมพูชาเสียกรุงศรียโสธรปุระ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมมึนงงมากว่าเป็นไปได้อย่างไร ในยุคที่ผมเรียนประวัติศาสตร์ไม่มีเรื่องนี้ ในปีที่แพ้คดีเขาพระวิหารผมยังออกไปเดินขบวนประท้วงเลย เราถูกสร้างให้เกลียดประเทศกัมพูชาอย่างรุนแรงมากในตอนนั้น
และผมจำได้ว่าในตอนที่ยังเป็นนักศึกษา เรามีความรับรู้ว่าขอมไม่ใช่เขมร ขอมสร้างนครวัดนครธมแล้วสูญหายไปเลย เหลือแต่เขมรที่ไม่ได้เรื่อง ซึ่งถ้าไปอ่านงานของ หลวงวิจิตรวาทการ จะเห็นเลยว่าเรื่องนี้เป็นทัศนคติว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้มา ถ้าจะชำระ จะปรับปรุง จะปฏิรูปเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอก ถามว่าตรงนี้จะทำอย่างไร?
ความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ไทยกับอาเซียน?
เรื่องของประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ยังไม่เชื่อมโยงกันเท่าไหร่ เพราะต่างคนต่างเขียน ต่างคนต่างมองจากความเชื่อของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ ประวัติศาสตร์ของชาติไม่ว่าจะเป็นชาติไทย ชาติลาว ชาติกัมพูชา ฯลฯ ก็มองจากด้านของตัวเอง อย่างประเทศไทยมีเรื่องน่าตกใจคือ ไม่ใช่เราเสียกรุงศรีอยุธยาเพราะพม่าไปตี แต่เราได้กรุงศรียโสธรปุระจากกัมพูชา เราได้กรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง ร่มขาวเวียงจันทน์ ในสมัยเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งข้อมูลนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อยู่ในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย
ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ต้องมองจากหลายด้าน ต้องข้ามพรมแดนของประเทศชาติให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความเข้าใจกันได้ ตรงนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ มีความพยายามในระดับยูเนสโกที่จะระดมสมอง ด้วยการนำตัวแทนของประเทศต่างๆ มาประชุมปรึกษากันว่าจะเขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่มองคับแคบเฉพาะจากสายตาของประเทศตัวเองได้อย่างไร ตรงนี้เป็นความพยายามที่เขากำลังทำกันอยู่ เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะมักจะถูกบดบังโดยลัทธิชาตินิยม อาจจะพูดได้ว่าเป็นความล้าหลังความคลั่งชาติด้วยซ้ำไป
การเขียนประวัติศาสตร์ร่วม ในอนาคตต้องเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและอาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรค หรืออาจจะเจอตอ อย่างกรณียุโรปที่ไปเจอกรณีของความคลั่งชาติมาก จนฆ่ากันตายเป็นจำนวนหลายล้านคนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เป็นบทเรียนที่ดีว่าเราจะต้องหันหน้าเข้าหากันเป็นประชาคมแบบยุโรป
ประวัติศาสตร์ไทยกับเพื่อนบ้านมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
มีความคล้ายคลึงกันมาก แกนนำส่วนใหญ่อยู่ในลัทธิชาตินิยม ทำให้เกิดความพยายามสร้างศัตรู บัดนี้ การจะทำให้เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดความปรองดองเป็นไปได้ยากมาก จะต้องมีการพบปะแลกเปลี่ยนกัน พูดคุยกัน คนเราจะเป็นมิตรกันได้ ต้องมีการคบหาสมาคมกัน แต่ผมคิดว่าโอกาสเกิดมีมากขึ้น อย่างกรณีอาเซียน เดิมเป็นเหมือนสมาคมของข้าราชการ เป็นเรื่องระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่ในตอนนี้ อย่างน้อยในระดับล่างลงมาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อายุยังน้อย อคติก็จะไม่มากในการคบหาสมาคม
ความตื่นตัวและความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน?
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความตื่นตัวสูงมาก ผมคิดว่าการผลักดันจากระดับรัฐบาลได้ผลสำเร็จพอสมควร มีการพูดถึง มีการจัดกิจกรรม มีการทำหนังสือ การสัมมนาอภิปรายมากมาย ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดี นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจกับการเรียนภาษาที่ 3 นอกเหนือจากการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า เวียดนาม
ในเรื่องความพร้อม วันนี้คนระดับกลางระดับล่างดูจะพร้อมมากกว่าระดับบนๆ เหมือนกับเรื่องประชาธิปไตย คนระดับกลางล่าง ลงไประดับรากหญ้าดูเหมือนจะเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าคนระดับบน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่พัฒนาในเรื่องความคิดความอ่าน เป็นคนระดับบน เป็นผู้ดี เป็นชาวกรุง มีการศึกษาสูง หรือไปโตที่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีอคติในการคบหาสมาคมกับเพื่อนบ้านสูงมาก นี่คือปัญหา
ประวัติศาสตร์บาดแผลมีผลต่อประชาคมอาเซียนหรือไม่?
มีอย่างมาก แต่ทำอย่างไรถึงจะแก้เรื่องนี้ได้ ปัญหานี้สำหรับประเทศไทยสั่งสมมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยพงศาวดาร สมัยตำนาน และถูกตอกย้ำในสมัยของอำมาตยาธิปไตย สมัยหลวงวิจิตรวาทการ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยมารวมถึงละครอิงประวัติศาสตร์ทั้งหลาย เป็นเหมือนการตอกย้ำ ผมคิดว่าถ้าคนที่คุมกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ไม่เคยอ่านผลงานของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผลงานของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็จะจมปลักอยู่แบบนี้
ส่วนประเทศในอาเซียนทุกชาติ พบว่ามีการใช้ข้อมูลในแง่ของอคติทางประวัติศาสตร์หรือใช้ข้อมูลของประวัติศาสตร์บาดแผลมาปลุกระดม ซึ่งทุกประเทศเผชิญปัญหานี้ ประเทศไทยมีกับกัมพูชา พม่า และลาว ประเทศอินโดนีเซียกับมาเลเซีย หรือมาเลเซียกับสิงคโปร์ หากเราจะคบค้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรื่องของประวัติศาสตร์นอกจากจะชำแหละแล้วยังต้องชำระด้วย ถ้าเราอยากจะเป็นแบบอียู เราต้องไปดูว่าประเทศในยุโรปซึ่งมีการสู้รบกันมาหลายชั่วคน ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ปัจจุบันเขาเขียนประวัติศาสตร์กันอย่างไร อย่างกรณีของฝรั่งเศสกับเยอรมนี เคยแย่งแคว้นอาลซัสกัน ซึ่งคล้ายกับกรณีของประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา เขามีทางออกอย่างไร
สถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะมีผลกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือไม่?
สถานการณ์ปัจจุบัน สวนทางกับการเปิดประเทศ ดูเหมือนเป็นการปิดมากกว่า รัฐบาลใหม่ก็ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ถ้าดูลึกๆ จะเห็นว่าปัญหาเยอะมาก ปัญหาระยะเวลาที่สั้น ในหนึ่งปีต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ต้องมีการเลือกตั้ง ทุกอย่างรัดตัวหมด ซึ่งจะมีปัญหามากทำให้ คสช.และรัฐบาล ไม่สามารถดำเนินการปกครองได้โดยง่าย โดยรวมแล้วน่าวิตก
ส่วนปัญหาการเมืองของเราต่อประเทศในอาเซียนอาจจะมีไม่มาก เพราะในอาเซียน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่พอพูดได้แบบไม่ขายหน้าคือ อินโดนีเซีย ขณะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนจะเป็นกลุ่มคณาธิปไตย
ดังนั้น ในอาเซียนด้วยกันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ถ้าจะมีก็คงเป็นกับประเทศมหาอำนาจมากกว่า
ที่มา.มติชนออนไลน์
//////////////////////////////////////////////