โดย. วีรพงษ์ รามางกูร
สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยตั้งใจหรือโดยธรรมชาติก็คือ "ตลาด" อันเป็นที่ผู้ต้องการซื้อกับผู้ต้องการขายสินค้าและบริการมาพบกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดราคาที่ซื้อขายกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องผลิตของทุกอย่างที่ตนต้องการใช้อุปโภคบริโภคได้ แต่สามารถผลิตได้ แล้วนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่นที่มีความสามารถในการผลิตของอย่างอื่นได้
เมื่อความต้องการซื้อสามารถมาพบกับการต้องการขายได้ทำให้เกิดราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่แต่เฉพาะชนิดของสินค้า แต่ลึกลงไปถึงคุณภาพสินค้าสีสันรูปแบบต่าง ๆ มากมาย
ตลาดไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ใดที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม อาจจะไม่มีสถานที่ใดเลยก็ได้ เพียงแต่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทางจดหมาย ทางโทรเลข ทางโทรศัพท์ ทางอินเทอร์เน็ต หรืออื่น ๆ ก็สามารถเป็นตลาดซื้อขายได้
การค้นพบการใช้เงินโลหะแล้วพัฒนามาเป็นเงินกระดาษ ตลอดจนระบบธนาคารและระบบการชำระเงินผ่านทางสถาบันการเงิน ก็ทำให้ตลาดสามารถพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ทำให้ตลาดสินค้าและบริการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ในระบบเศรษฐกิจก็เหมือนกัน ในระบบตลาดเสรี กลไกตลาดก็จะเป็นตัวกำหนด หรือมี "มือที่มองไม่เห็น" เข้ามาจัดการว่าสังคมนั้น ระบบเศรษฐกิจนั้น หรือประเทศนั้น ควรจะผลิตอะไร สิ่งไหน ที่ตนได้เปรียบ เช่น ประเทศที่มีแรงงานมากเมื่อเทียบกับทุน ก็ควรจะผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมากเมื่อเทียบกับทุน ประเทศที่มีทุนมากเมื่อเทียบกับแรงงาน ก็ควรจะผลิตสินค้าที่ใช้ทุนมากเมื่อเทียบกับแรงงาน แล้วก็นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ และถ้าปล่อยให้ประเทศต่าง ๆ มีการซื้อขายกันอย่างเสรีภายในภูมิภาคเดียวกัน
โดยการขจัดอุปสรรคกีดขวางการค้าซึ่งกันและกัน อันได้แก่ ภาษีขาเข้า ภาษีขาออก ข้อจำกัด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตลาดก็จะขยายใหญ่ขึ้น สามารถรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพได้ เหตุผลดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจ เริ่มจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ
การรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ ภายในภูมิภาคเพื่อลดภาษีขาเข้าขาออกและข้อจำกัดกีดขวางการค้าต่าง ๆ ระหว่างกันเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกระแสความกดดันให้เกิดระบบการค้าเสรีทั่วโลก โดยมี "องค์การค้าโลก" เป็นแกนกลางที่จะกดดันประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกให้เปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งเปิดตลาดการลงทุนได้อย่างเสรี นอกจากนั้น การเปิดตลาดการเงินเพื่อให้เงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี ก็เป็นกระแสกดดันที่สำคัญในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้ทุกระดับตลาดทุกชนิดสินค้าและบริการ ทั้งในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค เรื่อยไปถึงในระดับโลก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กดดันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
ความจริงแล้วระบบตลาดเสรี หรือการให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ก็มีจุดอ่อนและปัญหามากมาย จุดอ่อนที่สำคัญก็คือตลาดที่เสรีอย่างเต็มที่จะก่อให้เกิด "วัฏจักร" ซึ่งเริ่มตั้งแต่วัฏจักรของสินค้าแต่ละชนิด เช่น วัฏจักรหมู ก็เกิดขึ้นเพราะเมื่อราคาหมูแพงขึ้น คนเลี้ยงหมูก็จะเพิ่มการผลิตหมูเพราะราคาดี เมื่อทุกคนเพิ่มการผลิต ปริมาณหมูมากขึ้นราคาก็ตก พอราคาตกทุกคนก็ขาดทุนก็ลดการผลิต เมื่อปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดน้อยราคาก็ถีบตัวสูงขึ้น วนเวียนอยู่อย่างนประมาณ 3-4 ปีมีครั้งหนึ่ง แล้วแต่วงจรการผลิต สินค้าเกษตรอย่างอื่นก็ประสบปัญหาเช่นว่านี้ แม้แต่สินค้าอุตสาหกรรมก็มีวัฏจักร
"วัฏจักร" เช่นว่ามิได้เกิดขึ้นเฉพาะสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งเรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า ขณะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หรือเศรษฐกิจขาลง
เนื่องจากโลกในปัจจุบันเปิดกว้างถึงกันมากขึ้นเป็นลำดับ ตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงินก็เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของราคาค่าเงินก็ดี อัตราดอกเบี้ยก็ดี สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุที่เป็นวัตถุดิบก็ดี
โดยกลไกตลาดก็จะมีผลเชื่อมโยงไปถึงกันทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะตลาดสินค้าบริการ ตลาดการเงินเท่านั้นที่มีการเชื่อมโย′ถึงกัน แม้แต่ตลาดแรงงานซึ่งปกติก็จะมีข้อจำกัดทั้งในตัวแรงงานเอง ที่ปกติถ้าไม่มีมูลเหตุจูงใจมากจริง ๆ หรือมีมูลเหตุผลักดันมากจริง ก็ไม่น่าจะมีใครอยากเคลื่อนย้ายตนเองไปทำงานในถิ่นที่อยู่ที่ตนไม่คุ้นเคย หรือโยกย้ายไปสู่ที่อื่นที่ตนไม่อาจจะมีสิทธิเสรีภาพ หรือฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อยกว่าคนอื่น นอกเสียจากมีเหตุจูงใจ เช่น ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่ามาก ฐานะความเป็นอยู่ รวมทั้งสุขภาพชีวิตที่ดีกว่า และมั่นคงกว่า รวมทั้งอนาคตของบุตรหลานของตน ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย
พลังของกลไกตลาดมีอยู่สูงมาก แม้ว่าจะมีข้อเสียที่ทำให้เกิดวัฏจักรระบบเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ แต่ก็ไม่มีใคร หรือประเทศใดฝ่าฝืนต่อต้านพลังของ "กลไกตลาด" ได้
ครั้งหนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดทางสังคมนิยมแพร่หลายมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ไขภาระขึ้นลงทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ไม่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ประเทศหลายประเทศกลายเป็นประเทศที่จัดระบบเศรษฐกิจในรูปแบบ "คอมมิวนิสต์" หรือไม่ก็เป็นแบบสังคมนิยมโดย "รัฐ" เข้ามาแทรกแซงระบบตลาดและระบบเศรษฐกิจตั้งแต่แบบอ่อนเรื่อยไปจนถึงแบบที่เข้มข้น แต่ไม่ถึงกับเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรปตะวันตก แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด เมื่อนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์แห่งอังกฤษ ประกาศต่อสู้กับสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ประกาศขายกิจการรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยรัฐบาล จนกลายเป็นรูปแบบสำคัญ กลายเป็นกระแสการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกระจายไปทั่วโลกมาจนทุกวันนี้
การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในทศวรรษ1980 ที่กระจายไปทั่วโลกและเป็นสาเหตุหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายของค่ายระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์และค่ายสังคมนิยม อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองของโลก
สำหรับจีนและอินเดีย แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดูจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนกับค่ายของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก แต่การเปลี่ยนแปลงความคิดทางเศรษฐกิจก็รุนแรงไม่แพ้กัน เพราะระบบคอมมิวนิสต์ในจีนและระบบสังคมนิยมของพรรคคองเกรสของอินเดียก็ล่มสลายทั้ง 2 ประเทศ และหันกลับมาใช้ระบบตลาดหรือ "กลไกตลาด" ในการจัดการระบบการผลิตและระบบการจัดสรรทรัพยากรของประเทศมากขึ้น เพราะครั้งหนึ่งถ้าใครพูดถึง "กลไกตลาด" ในสหภาพโซเวียตหรือในจีน อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็น "คนบ้า" ต้องเอาไปล้างความคิดให้หมด
สำหรับจีนนั้นประสบความสำเร็จในด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งบริการทางด้านการศึกษา การสาธารณสุข และอื่น ๆ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างยิ่ง สมัยที่ยังไม่ได้ใช้ระบบตลาดหรือกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร เป็นสมัยที่สังคมไม่อาจจะให้คำตอบได้เพราะ "รัฐ" เข้ามาแทรกแซงจัดการเสียเอง
ตัวอย่าง "กลไกตลาด" ที่เห็นได้ชัด คือระบบบริการทางการแพทย์ของเราที่เป็นระบบผสม มีระบบที่จัดบริการโดยรัฐโดยแท้ ให้บริการโดยใช้สถานที่เครื่องไม้เครื่องมือโดยรัฐ บุคลากรของรัฐ คิดราคาค่าบริการได้ แต่ก็ไม่สูงเท่ากับราคาตลาด ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ที่จัดโดยเอกชน โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลของเอกชน
ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ตามแต่ฐานะทางเศรษฐกิจของตน ผู้ที่รายได้ไม่มากก็อาจจะใช้บริการของรัฐในเวลากลางวัน แต่ถ้าไม่ต้องการรอเข้าแถวที่ยาว หรือไม่ต้องการเสียเวลารอที่นาน เพราะเวลาของตนมีค่ามากกว่าจะต้องมาต่อแถวรอ อาจจะมาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐนอกเวลาราชการ โดยมีค่าบริการที่สูงขึ้น หรืออาจจะเลือกใช้สถานบริการของเอกชนที่มีบริการครบถ้วนมากกว่า สะดวกสบายมากกว่า แต่ก็ต้องจ่ายในราคาตลาด เป็นต้น
บทบาทของกลไกตลาดยังมีอีกมาก
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////
สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยตั้งใจหรือโดยธรรมชาติก็คือ "ตลาด" อันเป็นที่ผู้ต้องการซื้อกับผู้ต้องการขายสินค้าและบริการมาพบกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดราคาที่ซื้อขายกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องผลิตของทุกอย่างที่ตนต้องการใช้อุปโภคบริโภคได้ แต่สามารถผลิตได้ แล้วนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่นที่มีความสามารถในการผลิตของอย่างอื่นได้
เมื่อความต้องการซื้อสามารถมาพบกับการต้องการขายได้ทำให้เกิดราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่แต่เฉพาะชนิดของสินค้า แต่ลึกลงไปถึงคุณภาพสินค้าสีสันรูปแบบต่าง ๆ มากมาย
ตลาดไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ใดที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม อาจจะไม่มีสถานที่ใดเลยก็ได้ เพียงแต่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทางจดหมาย ทางโทรเลข ทางโทรศัพท์ ทางอินเทอร์เน็ต หรืออื่น ๆ ก็สามารถเป็นตลาดซื้อขายได้
การค้นพบการใช้เงินโลหะแล้วพัฒนามาเป็นเงินกระดาษ ตลอดจนระบบธนาคารและระบบการชำระเงินผ่านทางสถาบันการเงิน ก็ทำให้ตลาดสามารถพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ทำให้ตลาดสินค้าและบริการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ในระบบเศรษฐกิจก็เหมือนกัน ในระบบตลาดเสรี กลไกตลาดก็จะเป็นตัวกำหนด หรือมี "มือที่มองไม่เห็น" เข้ามาจัดการว่าสังคมนั้น ระบบเศรษฐกิจนั้น หรือประเทศนั้น ควรจะผลิตอะไร สิ่งไหน ที่ตนได้เปรียบ เช่น ประเทศที่มีแรงงานมากเมื่อเทียบกับทุน ก็ควรจะผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมากเมื่อเทียบกับทุน ประเทศที่มีทุนมากเมื่อเทียบกับแรงงาน ก็ควรจะผลิตสินค้าที่ใช้ทุนมากเมื่อเทียบกับแรงงาน แล้วก็นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ และถ้าปล่อยให้ประเทศต่าง ๆ มีการซื้อขายกันอย่างเสรีภายในภูมิภาคเดียวกัน
โดยการขจัดอุปสรรคกีดขวางการค้าซึ่งกันและกัน อันได้แก่ ภาษีขาเข้า ภาษีขาออก ข้อจำกัด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตลาดก็จะขยายใหญ่ขึ้น สามารถรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพได้ เหตุผลดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจ เริ่มจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ
การรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ ภายในภูมิภาคเพื่อลดภาษีขาเข้าขาออกและข้อจำกัดกีดขวางการค้าต่าง ๆ ระหว่างกันเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกระแสความกดดันให้เกิดระบบการค้าเสรีทั่วโลก โดยมี "องค์การค้าโลก" เป็นแกนกลางที่จะกดดันประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกให้เปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งเปิดตลาดการลงทุนได้อย่างเสรี นอกจากนั้น การเปิดตลาดการเงินเพื่อให้เงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี ก็เป็นกระแสกดดันที่สำคัญในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้ทุกระดับตลาดทุกชนิดสินค้าและบริการ ทั้งในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค เรื่อยไปถึงในระดับโลก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กดดันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
ความจริงแล้วระบบตลาดเสรี หรือการให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ก็มีจุดอ่อนและปัญหามากมาย จุดอ่อนที่สำคัญก็คือตลาดที่เสรีอย่างเต็มที่จะก่อให้เกิด "วัฏจักร" ซึ่งเริ่มตั้งแต่วัฏจักรของสินค้าแต่ละชนิด เช่น วัฏจักรหมู ก็เกิดขึ้นเพราะเมื่อราคาหมูแพงขึ้น คนเลี้ยงหมูก็จะเพิ่มการผลิตหมูเพราะราคาดี เมื่อทุกคนเพิ่มการผลิต ปริมาณหมูมากขึ้นราคาก็ตก พอราคาตกทุกคนก็ขาดทุนก็ลดการผลิต เมื่อปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดน้อยราคาก็ถีบตัวสูงขึ้น วนเวียนอยู่อย่างนประมาณ 3-4 ปีมีครั้งหนึ่ง แล้วแต่วงจรการผลิต สินค้าเกษตรอย่างอื่นก็ประสบปัญหาเช่นว่านี้ แม้แต่สินค้าอุตสาหกรรมก็มีวัฏจักร
"วัฏจักร" เช่นว่ามิได้เกิดขึ้นเฉพาะสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งเรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า ขณะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หรือเศรษฐกิจขาลง
เนื่องจากโลกในปัจจุบันเปิดกว้างถึงกันมากขึ้นเป็นลำดับ ตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงินก็เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของราคาค่าเงินก็ดี อัตราดอกเบี้ยก็ดี สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุที่เป็นวัตถุดิบก็ดี
โดยกลไกตลาดก็จะมีผลเชื่อมโยงไปถึงกันทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะตลาดสินค้าบริการ ตลาดการเงินเท่านั้นที่มีการเชื่อมโย′ถึงกัน แม้แต่ตลาดแรงงานซึ่งปกติก็จะมีข้อจำกัดทั้งในตัวแรงงานเอง ที่ปกติถ้าไม่มีมูลเหตุจูงใจมากจริง ๆ หรือมีมูลเหตุผลักดันมากจริง ก็ไม่น่าจะมีใครอยากเคลื่อนย้ายตนเองไปทำงานในถิ่นที่อยู่ที่ตนไม่คุ้นเคย หรือโยกย้ายไปสู่ที่อื่นที่ตนไม่อาจจะมีสิทธิเสรีภาพ หรือฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อยกว่าคนอื่น นอกเสียจากมีเหตุจูงใจ เช่น ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่ามาก ฐานะความเป็นอยู่ รวมทั้งสุขภาพชีวิตที่ดีกว่า และมั่นคงกว่า รวมทั้งอนาคตของบุตรหลานของตน ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย
พลังของกลไกตลาดมีอยู่สูงมาก แม้ว่าจะมีข้อเสียที่ทำให้เกิดวัฏจักรระบบเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ แต่ก็ไม่มีใคร หรือประเทศใดฝ่าฝืนต่อต้านพลังของ "กลไกตลาด" ได้
ครั้งหนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดทางสังคมนิยมแพร่หลายมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ไขภาระขึ้นลงทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ไม่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ประเทศหลายประเทศกลายเป็นประเทศที่จัดระบบเศรษฐกิจในรูปแบบ "คอมมิวนิสต์" หรือไม่ก็เป็นแบบสังคมนิยมโดย "รัฐ" เข้ามาแทรกแซงระบบตลาดและระบบเศรษฐกิจตั้งแต่แบบอ่อนเรื่อยไปจนถึงแบบที่เข้มข้น แต่ไม่ถึงกับเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรปตะวันตก แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด เมื่อนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์แห่งอังกฤษ ประกาศต่อสู้กับสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ประกาศขายกิจการรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยรัฐบาล จนกลายเป็นรูปแบบสำคัญ กลายเป็นกระแสการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกระจายไปทั่วโลกมาจนทุกวันนี้
การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในทศวรรษ1980 ที่กระจายไปทั่วโลกและเป็นสาเหตุหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายของค่ายระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์และค่ายสังคมนิยม อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองของโลก
สำหรับจีนและอินเดีย แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดูจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนกับค่ายของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก แต่การเปลี่ยนแปลงความคิดทางเศรษฐกิจก็รุนแรงไม่แพ้กัน เพราะระบบคอมมิวนิสต์ในจีนและระบบสังคมนิยมของพรรคคองเกรสของอินเดียก็ล่มสลายทั้ง 2 ประเทศ และหันกลับมาใช้ระบบตลาดหรือ "กลไกตลาด" ในการจัดการระบบการผลิตและระบบการจัดสรรทรัพยากรของประเทศมากขึ้น เพราะครั้งหนึ่งถ้าใครพูดถึง "กลไกตลาด" ในสหภาพโซเวียตหรือในจีน อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็น "คนบ้า" ต้องเอาไปล้างความคิดให้หมด
สำหรับจีนนั้นประสบความสำเร็จในด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งบริการทางด้านการศึกษา การสาธารณสุข และอื่น ๆ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างยิ่ง สมัยที่ยังไม่ได้ใช้ระบบตลาดหรือกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร เป็นสมัยที่สังคมไม่อาจจะให้คำตอบได้เพราะ "รัฐ" เข้ามาแทรกแซงจัดการเสียเอง
ตัวอย่าง "กลไกตลาด" ที่เห็นได้ชัด คือระบบบริการทางการแพทย์ของเราที่เป็นระบบผสม มีระบบที่จัดบริการโดยรัฐโดยแท้ ให้บริการโดยใช้สถานที่เครื่องไม้เครื่องมือโดยรัฐ บุคลากรของรัฐ คิดราคาค่าบริการได้ แต่ก็ไม่สูงเท่ากับราคาตลาด ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ที่จัดโดยเอกชน โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลของเอกชน
ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ตามแต่ฐานะทางเศรษฐกิจของตน ผู้ที่รายได้ไม่มากก็อาจจะใช้บริการของรัฐในเวลากลางวัน แต่ถ้าไม่ต้องการรอเข้าแถวที่ยาว หรือไม่ต้องการเสียเวลารอที่นาน เพราะเวลาของตนมีค่ามากกว่าจะต้องมาต่อแถวรอ อาจจะมาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐนอกเวลาราชการ โดยมีค่าบริการที่สูงขึ้น หรืออาจจะเลือกใช้สถานบริการของเอกชนที่มีบริการครบถ้วนมากกว่า สะดวกสบายมากกว่า แต่ก็ต้องจ่ายในราคาตลาด เป็นต้น
บทบาทของกลไกตลาดยังมีอีกมาก
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น