--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เงินกำลังจะหมุนไป... หนี้ใหม่ กำลังจะหมุนมา... !!?

โดย. รัตนา จีนกลาง

หลังจากอมทุกข์มานานเกือบค่อนปี ชาวนาไทยก็ได้แฮปปี้ซะที หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รุกรบเร็ว ประเดิมผลงานชิ้นโบแดงโปรเจ็กต์แรกด้วยการคืนความสุขให้ชาวนา ได้รับเงินจำนำข้าวในเวลาอันรวดเร็ว

โดยอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแม่งานดำเนินการจ่ายเงินที่ค้างอยู่ให้ชาวนาประมาณ 8 แสนราย วงเงินรวมทั้งสิ้น 92,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเร่งจ่ายเงินได้ครบจำนวนทั้งหมดไม่เกินสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ปฏิบัติการ "ปลดทุกข์ชาวนา" แบบว่องไว เฉียบขาดของ คสช. ทำให้ความทุกข์ระทมแปรมาเป็นรอยยิ้ม มีความหวัง โลกสดใสกลับคืนมาเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากที่ต้องหลังขดหลังแข็ง ลงทุนลงแรงปลูกข้าวมาแรมปี

แต่หากพิจารณาดูในสภาพความเป็นจริงในวิถีชีวิตของชาวนาไทย เงินก้อนนี้จะอยู่ในมือชาวนาเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่เงินก็กำลัง "จะหมุนไป" เพียงชั่วข้ามคืนเช่นกัน

เพราะส่วนใหญ่จำเป็นต้องนำเงินไปชำระสารพัดหนี้ ทั้งหนี้ในระบบ-หนี้นอกระบบ และสำรองไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของครอบครัว สภาพที่เป็นอยู่ของชาวนาแต่ละครอบครัวต้องแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนล้นพ้นตัว

เอาเข้าจริงก็แทบจะไม่เหลือเงินให้ออม ไม่เหลือกิน-เหลือเก็บสักเท่าไหร่ เพราะ "รายจ่าย" มักจะมากกว่า "รายรับ" แถมยังไม่มีรายได้เสริมอื่น ๆ เข้ามา มีรายได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น

ฉะนั้น เงินที่จะสำรองไว้ใช้สำหรับการลงทุนปลูกข้าวในรอบต่อไป หรือนำไปลงทุนค้าขายอื่น ๆ ก็ยังต้องกลับไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้เหมือนเดิม ไม่สามารถหนีออกจากวงจรของการเป็นหนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินคนอื่น

ในมุมบวก ไม่เฉพาะชาวนาเท่านั้นที่ยิ้มออกเพราะอำนาจซื้อกลับคืนมา แต่ยังมีผู้ที่ได้รับอานิสงส์กับเงินก้อนโตนี้อีกหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ห้างค้าปลีก โมเดิร์นเทรด โชห่วย บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ ร้านทอง โชว์รูมรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ร้านวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ก็พากันหายใจคล่องขึ้น จากกำลังซื้อของชาวนาที่สะพัดออกมากระตุ้นยอดขายให้กระเตื้องขึ้น

ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในต่างจังหวัดเริ่มคึกคักขึ้นมาอีกนิดแล้วหลังจากที่ซบเซาเงียบเหงามานาน ชาวนามีการนำเงินออกมาใช้จ่าย จุดแรกที่ชาวนาไม่กล้าเบี้ยวก็คือ การจ่ายหนี้ ธ.ก.ส. จ่ายค่าบัตรเครดิตเกษตรกร ที่นำไปรูดปรื๊ด ๆ เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต

จากนั้นก็เป็นคิวไปจ่ายหนี้นอกระบบ จ่ายค่าปุ๋ยเคมี ค่าเกี่ยวข้าว ค่าน้ำมัน ค่ายาฆ่าแมลง หรือค่าเช่านาที่ค้างมาตั้งแต่ฤดูกาลปลูกข้าว

ถัดมาก็จะเป็นกลุ่มของรายจ่ายประจำ อาทิ ค่าผ่อนงวดรถยนต์-มอเตอร์ไซค์-รถไถนา-รถเกี่ยวข้าว ค่าประกันภัย ค่าซื้อชุดนักเรียน/อุปกรณ์การเรียนลูกหลาน เรียกว่ามีสารพัดหนี้ที่ต้องจ่ายพัวพันรัดตัวแทบทุกครัวเรือน

ดังนั้นการเลือกที่จะปลดล็อกโครงการรับจำนำข้าว จึงนับได้ว่าเกิดประโยชน์ถ้วนหน้าหลายเด้ง ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะการจับจ่ายใช้สอยเงินจำนำข้าวทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเปลี่ยนมือไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้หลายเซ็กเตอร์ไปพร้อม ๆ กัน

วันนี้เงินกำลังค่อย ๆ หมุนไป...แต่หนี้ก้อนใหม่ก็กำลังคืบคลานมา นี่คือสภาพของเหรียญสองด้านที่เกิดขึ้น ซึ่งชาวนายากที่จะสลัดออกไปได้

ในท้ายที่สุดแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงทางผ่านของเงินก้อนนี้

วันนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวนาจะต้องวางแผนชีวิตตนเองใหม่ เพราะจากนี้ไป คสช.ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีโครงการรับจำนำหรือประกันราคาข้าวอีกแล้ว ขณะที่ราคาผลผลิตยังคงผันผวนอยู่เหมือนเดิม ส่วนวิธีการทำนาแบบพึ่งพาปุ๋ยและสารเคมีแบบเดิม ๆ ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ทำนาแล้วไม่คุ้มทุน ฉะนั้นต้องรู้จักวิธีการลดต้นทุน

ตอนนี้ชาวนาหลายพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว มีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ มีการหันมาปลูก "ข้าวเป็นยา" เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวสายพันธุ์สีดำ ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยในยุคนี้ หากส่งเสริมให้มีการปลูกและบริโภคกันอย่างจริงจัง ก็จะช่วยทำให้สุขภาพคนไทยดีขึ้นทั้งประเทศ

นอกจากนั้นก็ต้องช่วยกันขยายตลาดข้าวอินทรีย์ หรือข้าวออร์แกนิกส์ให้มากขึ้น เพราะเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความใส่ใจกับสุขภาพและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวไทยได้หลายเท่าตัวในตลาดโลกอีกด้วย

ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งประเทศลืมตาอ้าปากได้ และมีความสุขตลอดไป คสช. สถาบันการศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องให้การส่งเสริมสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบจริงจัง โดยเฉพาะการควบคุมการใช้สารเคมีซึ่งเป็นตัวการทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญคือต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบชลประทาน เพราะภาคเกษตรกรรมของไทยแขวนไว้กับธรรมชาติ หากปีใดน้ำท่าบริบูรณ์ดี ผลผลิตก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าปีใดฝนแล้ง หรือเจอน้ำท่วม หนี้สินก็จะพอกพูน

นี่คือการบ้านข้อใหญ่ของ คสช.

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น