คสช.ลากไส้ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน พัวพันนักการเมืองชงเองกินเอง เผยปี 57 ตั้งลำ 104 โครงการ 6 พันล้าน กูรูแนะปลดแอก ออกคำสั่งปฏิวัติตั้งเป็นกองทุนอิสระเหมือนสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เพื่อความโปร่งใส ชงเช็กบิลอีก “ซื้อเครื่องบิน-โซล่าร์เซลล์-สุวรรณภูมิ”
ได้นำเสนอข่าวความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบก้อนโตในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนใจเข้าไปตรวจสอบ โดยล่าสุดคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ที่มีพล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน ได้ส่งคณะอนุกรรมการเข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าว พร้อมกับอีก 7 โครงการที่ใช้งบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
แฉ อนุรักษ์พลังงาน เข้าเป้าแค่ 12%
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการใช้เงินในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ไม่โปร่งใสยังหลั่งไหลออกมาต่อเนื่อง โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า เนื่องจากการใช้จ่ายเงินในกองทุนดังกล่าวเป็นเงินนอกงบประมาณอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง พลังงาน ทำให้มีช่องโหว่ในการนำเงินไปใช้อย่างไม่โปร่งใส ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนตนเคยทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพบว่า มีการดำเนินการนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์เพียง 12% เท่านั้น ที่เหลืออีก 88% รั่วไหลออกไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมามีนักการเมืองทุกพรรค การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง
“ที่เกี่ยวข้องกับเงินในกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมี 2 ชุด คือคณะกรรมการนโยบายและแผน มีรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแล และคณะอนุกรรมการประเมินผล ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบาย ทำให้การตรวจสอบความโปร่งใสเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อมี คสช. เชื่อว่าจะมีการตรวจสอบให้โปร่งใส และควรมีคำสั่งตั้งกองทุนฯ ออกมาจากกระทรวงพลังงาน เพื่อความเป็นอิสระและโปร่งใสในการตรวจสอบ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น”
104 โครงการ 6 พันล้านระทึก
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้รับเม็ดเงินจำนวน 6,524 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ได้เห็นชอบเพื่อดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมทั้งสิ้น 104 โครงการ วงเงิน 6,524 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573)
สำหรับโครงการสำคัญในการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2557 ประกอบด้วย 1.โครงการอนุรักษ์พลังงานสำหรับการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง (หลอด LED) 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) ในภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ 3.โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอาคารภาครัฐ เน้นการส่งเสริมในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 4. โครงการส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์พลังงาน โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 5.โครงการส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงในภาคประชาชน เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงในราคาถูก
ส่วนอีก 7 โครงการ ที่ คตร.กำลังตรวจสอบในลำดับแรก ได้แก่ 1.โครงการจัดหารถรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2. โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คัน ของ ร.ฟ.ท. 3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ปี 2554-2560 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 4.โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบ และคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า ของ ทอท. 5.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล(กสทช.) 6.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 7.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ของทีโอที
เครื่องบิน-โซล่าร์เซลล์จ่อเช็กบิล
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศ ไทย) เสนอให้ คสช. เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท 2.โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 800 ชุมชน 800 เมกะวัตต์ มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่จะใช้งบประมาณปี 2558
โครงการเหล่านี้ใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ จึงเสนอให้ คสช.เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม เพราะการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ ที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่จะทำให้ไม่มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น” นายประมนต์ กล่าว
บิ๊กรัฐวิสาหกิจพลังงานทยอยไขก๊อก
ทางด้านความเคลื่อนไหวของหน่วยงานด้านพลังงานนั้น นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยว่า ตนเองได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้ คสช. ทำการปฏิรูปพลังงานทั้งระบบตามนโยบาย ซึ่งตนขอยืนยันว่า ไม่ได้ถูกกดดันแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานคือ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง มีผล 16 มิถุนายน 2557 เช่นเดียวกับนายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ส่งหนังสือถึงตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งลาออกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 เช่นกัน
ที่มา.สยามธุรกิจ
----------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น