--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เทียบประชานิยม สีเขียว 2501 กับ2557 !!


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา,ประชานิยม,คสช.,รัฐประหาร

ประชานิยม2ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปรียบเทียบ2501กับ2557

ดูเหมือนหลังการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การทำงานของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีความมุ่งมั่นอย่างสูงที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนในทันที จนถูกมองว่า คสช. กำลังทำนโยบาย "ประชานิยม" กับคนไทยอยู่หรือไม่

อย่างแรกที่ คสช.ลงมืออย่างเร่งด่วนคือ การเร่งรัดการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ติดค้างชาวนาอยู่จำนวนมาก

ที่น่าสนใจต่อมา คือ เรื่องพลังงาน ที่ดูเหมือนเป็นอีกอย่างที่ถูกจับตามอง ซึ่งหัวหน้า คสช.เตรียมเสนอแผนการปรับโครงสร้างพลังงานต่อ คสช. และเรื่องพลังงานทดแทน พร้อมทั้งการตรึงราคาก๊าซฯ น้ำมัน และไฟฟ้า

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเน้นนโยบายคืนความสุขให้กับคนในชาติ ด้วยการดำเนินปราบปรามอบายมุข ยาเสพติด และการพนันต่างๆ รวมทั้งเรียก "ผู้มีอิทธิพล" เข้ามารายงานตัวต่อ คสช.

พร้อมกับขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้หนี้สินต่างๆ ทาง คสช.จะช่วยดูเรื่องความเป็นธรรม ชอบธรรม การประนีประนอม หรือการชะลอหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ

การที่คณะ คสช.ดูแลความเดือดร้อนประชาชนอย่างลงลึกถึงครัวเรือน ทำให้มีการเปรียบเทียบกับการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมทั้งประกาศอมตวาจาว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ประกาศคำมั่นสัญญาต่อประชาชนว่า จะต้องทำให้ได้คือ

"การคืนความสุขให้กับทุกคนในชาติ"

ย้อนกลับไป เมื่อหลังการรัฐประหาร 2501 จอมพลสฤษดิ์ ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

1.มีคำสั่งให้ลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าในย่านกรุงเทพฯ-ธนบุรี

2.ออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ

3.ออกพระราชกฤษฎีกาให้ลดราคากาแฟขายปลีกจากราคา 70 สตางค์ เหลือ 50 สตางค์ต่อแก้ว ซึ่งในขณะนั้นกาแฟดำเย็นเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันมากในประเทศไทย

4.ลดอัตราค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน

5.สั่งให้เทศบาลยกเลิกภาษีบางประเภท ค่าธรรมเนียมทะเบียน และค่าธรรมเนียมการบริการของราชการ

6.ให้ครอบครัวที่ยากจนก็ได้รับบริการฟรีในเรื่องยาและการรักษาสุขภาพต่างๆ ที่โรงพยาบาล

7.ให้เทศบาลแจกจ่ายตำราเรียนฟรีให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนตามโรงเรียนต่าง ๆ ภายในเขตเทศบาล 30 แห่ง

8.ช่วยเหลือแก่ข้าราชการ ได้เสนอให้จำกัด วันทำงานของข้าราชการพลเรือนให้เหลือเพียง 5 วัน ให้จ่ายเงินพิเศษแก่ผู้ที่มีบุตรมาก

9.ตั้งกองทุนสงเคราะห์สำหรับข้าราชการพลเรือนระดับล่างได้กู้ยืม

10.ให้เปิดตลาดแห่งใหม่ๆ อนุญาตให้บรรดาพ่อค้าสามารถนำเอาสินค้าของตนมาขายให้แก่ประชาชนโดยตรงซึ่งไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

11.ให้เปิดตลาดกลางแจ้งที่ขายทั้งอาหารและเครื่องนุ่งห่มนั้นจัดตั้งขึ้นในเขตที่ดินของรัฐบาล พ่อค้าที่นำสินค้าเข้ามาขายเพียงแต่จ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อย

นโยบายดังกล่าวข้างต้น อย่างเช่นการลดราคากาแฟขายปลีก ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ของจอมพลสฤษดิ์ ต่อความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนภายในประเทศ

เปรียบได้กับประกาศ คสช.ฉบับที่ 46/2557 ที่ระบุว่าบุคคลติดตามทวงหนี้ชาวนา ผู้ใดข่มขืนใจชาวนา เพื่อให้ได้ทรัพย์สินมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แสดงให้เห็นว่า คสช.เป็นห่วงชาวนาที่ได้รับค่าจำนำข้าวไปแล้ว จะถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้แบบทบต้นทบดอก จนไม่มีเงินเหลือไว้สำหรับเป็นทุนทำนาในฤดูกาลต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่มีคนพูดถึงผลงานของจอมพลสฤษดิ์อยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการป้องกันอัคคีภัย และการสั่งประหารชีวิตคนวางเพลิง

จอมพลสฤษดิ์ จึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะความเอาใจใส่ของจอมพลสฤษดิ์ใน การแก้ปัญหาโดยตรงและตรงกับความต้องการของประชาชนซึ่งแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างแท้จริง

ในส่วนภูมิภาค จอมพลสฤษดิ์ให้ความสนใจต่อปัญหาของประชาชนตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะในบริเวณภาคต่างๆ ที่อยู่นอกเขตเมืองหลวงได้รับความสนใจน้อยมากจากรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นภาคอีสาน

เมื่อมีโอกาสจอมพลสฤษดิ์จะเดินทางโดยรถยนต์ และชอบที่จะเดินทางไปตามถนนหนทางที่มีสภาพย่ำแย่และไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึง ความอดทนต่อความยากลำบากและการใช้ชีวิตที่ไม่มีพิธีรีตรอง

บางเวลาจอมพลคนดัง จะเลือกที่จะกางเต็นท์นอน ซึ่งไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่ใด จอมพลสฤษดิ์ก็จะพยายามพูดคุยกับประชาชนและรับฟังความต้องการของประชาชนโดยตรง

ข้อมูลข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งในผลงานการศึกษาของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เรื่อง "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ซึ่งได้ฉายภาพจอมพลสฤษดิ์ และการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง อันเนื่องมาจากการควบคุมอำนาจของคณะทหารใน พ.ศ.โน้น

หนังสือเล่มนี้ ได้มีการสังเคราะห์และการสร้างปรัชญาทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในหลายแง่มุม

แม้เวลาจะผ่านมากว่า 56 ปี แต่ผู้คนในยุคนั้น ก็ยังพูดถึงจอมพลสฤษดิ์ อย่างเช่นเรื่องการดูแลทุกข์สุขของประชาชน หรือคำขวัญ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก" ก็ยังเป็นที่จดจำ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น