--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เปิดพิมพ์เขียว : คณะรักษาความสงบแห่งชาติ !!?

เล็งตั้งสนช.200คน-สภาปฏิรูปจากองค์กรวิชาชีพ140คน มอบ"วิษณุ"นำทีมยกร่างรธน.ชั่วคราว จ่อคืนชีพพรรคการเมือง

คสช.ตั้ง"วิษณุ เครืองาม"เป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว แย้มพิมพ์เขียว ตั้งสนช. 200 คน มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ส่วนสภาปฏิรูป 150 คน คัดจากองค์กรวิชาชีพ-การศึกษา 140 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 10 คน เผยเตรียมสั่งคืนชีพ "พรรคการเมือง" หลังสิ้นสภาพไปตามรธน. ด้านตำรวจออกหมายจับ 7 มือบึ้มเวทีกปปส.ตราดแล้ว

ในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กำลังเร่งขับเคลื่อนงานในกลุ่มงานการบริหารราชการแผ่นดิน และกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อยนั้น อีกด้านหนึ่งก็มีความคืบหน้าการเตรียมการยกร่างธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการกำหนดพิมพ์เขียวสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งสภาปฏิรูปด้วย

แหล่งข่าวจาก คสช.เปิดเผยว่า ในการแถลงต่อประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคสช.เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ พูดค่อนข้างชัดเจนว่า หลังจากดูแลความสงบเรียบร้อยและทำให้สังคมไทยยุติความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงได้ระดับหนึ่งแล้ว จะเร่งดำเนินการเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูป พร้อมทั้งมีรัฐบาลชุดใหม่ก่อนเริ่มปีงบประมาณ 2558 (ก่อน 1 ต.ค.2557)

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม นักกฎหมายชื่อดัง ซึ่งปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษา คสช. เป็นหัวหน้าคณะยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ได้วางพิมพ์เขียวคร่าวๆ แล้วว่า จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จำนวน 200 คน มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

ขณะที่สภาปฏิรูป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้นโยบายว่าจะต้องทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป.ซึ่งได้ตั้งศูนย์ฯย่อยๆ ขึ้นทั่วประเทศนั้น สภาปฏิรูปจะมีสมาชิก 150 คน ที่มาแยกเป็น 2 ส่วน คือ คัดเลือกจากองค์กรวิชาชีพและองค์กรการศึกษา จำนวน 140 คน ส่วนอีก 10 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเรียบร้อยลงตัวตามกรอบเวลาที่หัวหน้า คสช.กำหนดไว้

คสช.จ่อออกก.ม.คืนชีพพรรคการเมือง

อีกด้านหนึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือสอบถามมาที่ คสช. ถึงสถานะพรรคการเมือง หลัง คสช.มีประกาศฉบับที่ 11 ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ส่งผลให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองสิ้นสภาพการบังคับใช้ไปด้วย เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีประกาศรับรองการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

แหล่งข่าวจากทีมกฎหมาย คสช.เปิดเผยว่า เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปแล้ว ส่งผลให้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองสิ้นสภาพการบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีอยู่ก็ต้องสิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้หัวหน้าคสช.ได้สั่งการให้ทีมที่ปรึกษากฎหมายไปศึกษาข้อดีข้อเสียของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่สิ้นสภาพไปแล้วว่าควรจะมีการประกาศใช้ต่อไปหรือไม่ หากเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลดีก็อาจจะออกเป็นประกาศหรือบรรจุลงในธรรมนูญปกครองชั่วคราว

“ในกรณีที่เห็นว่าพ.ร.บ.พรรคการเมืองควรมีผลบังคับใช้ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าผลเสีย และคิดว่าควรจะออกเป็นประกาศ เราก็จะให้มีผลย้อนหลังให้กฎหมายคงสภาพไปเหมือนก่อนประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550”

ตั้ง"วิษณุ"นำทีมยกร่างรธน.ชั่วคราว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในขณะนี้นายวิษณุ เป็นหัวหน้าคณะดำเนินการ ซึ่งทีมกฎหมายอยู่ระหว่างการร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวอยู่ เป็นไปตามที่หัวหน้า คสช.เคยบอกว่ากรอบในการร่างเป็นไปตามประเพณี ซึ่งการประกาศใช้เป็นไปตามห้วงระยะเวลาที่ต้องให้สิ้นสุดสถานการณ์ในระยะที่ 1 ในการดูแลสถานการณ์ให้สงบก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 11 ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ฉบับสิ้นสภาพไปด้วย ได้แก่ 1. พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2.พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง 3. พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 4. พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความคดีอาญา 5.พ.ร.บ.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6.พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือกตั้ง สว. 7. พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 8.พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 9.พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีประกาศ คสช.ให้คงบังคับใช้กฎหมาย 5 ฉบับแรก ส่งผลให้กฎหมาย 4 ฉบับหลังสิ้นสภาพการบังคับใช้ลง

คสช.ตั้งคณะทำงานลุยปฏิรูป

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคสช. กล่าวถึงเรื่องการสร้างความปรองดองว่า มีการประชุมโดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคสช.เป็นประธาน ได้ตั้งโครงสร้างปรองดองสมานฉันท์สองขา ขาแรกคือการตั้งศูนย์ปรองดอง ซึ่งเป็นงานสร้างบรรยากาศความเป็นมิตร โดยจะมีการประสานหน่วยงานต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน และอีกขามีการตั้งคณะเตรียมการทำงานปฏิรูป เพื่อให้ได้ข้อยุติเรื่องการปฏิรูปในอนาคตต่อไป

มอบกรมประชาฯทำสปอตสร้างความเข้าใจ

ขณะที่น.ส.ปัฐมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะทำงานทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังดำเนินงานเรื่องความปรองดอง โดยในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์จะจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ที่ใช้งบประมาณปกติของกรมประชาสัมพันธ์ในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างคสช.กับประชาชน โดยจะผลิตและเผยแพร่สปอตโฆษณาต่าง ๆ ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง ทีวี ทีวีดาวเทียม สื่อออนไลน์ทุกช่องทางของกรมประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ทุกเย็นวันพฤหัสบดีที่สวนหย่อมภายในกรมประชาสัมพันธ์ จะมีการแสดงดนตรีในสวนโดยวงดนตรีของกรมฯ เพื่อสร้างความปรองดอง โดยเริ่มเย็นวันพฤหัสบดีนี้เป็นต้นไป

มท.เปิดแผน4เดือนลุยงาน4ด้าน

ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมหารือข้อราชการร่วมกับผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถึงความคืบหน้าการสนับสนุนแนวนโยบายของ คสช.ว่า ได้รวบรวมความคิดจากรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าฯ และรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง โดยทุกคนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงโรดแมพของกระทรวงมหาดไทย มีทั้งหมด 4 เรื่องคือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์, การรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคง, การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน

"เราจะแยกออกเป็นระยะๆ จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย.แค่ 4 เดือน ทุกเรื่องที่เป็นภารกิจตามปกติ ไม่ว่าเรื่องที่มีการใช้งบประมาณ และที่ไม่ใช้งบประมาณ เหล่านี้จะทำในทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ แล้วจึงจะลงไปยังพื้นที่ในระดับ จังหวัด อำเภอ และตำบล หมู่บ้าน โดย 4 เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยเราจะได้นำเสนอต่อ คสช."

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการดำเนินการต่างๆ ทางกระทรวงมหาดไทย จะไม่ใช้งบประมาณ จะใช้วิถีชีวิตแบบที่เคยปฏิบัติมา เพราะมีหลายเรื่องที่สามารถร่วมมือกันทำสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ได้ โดยเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความรัก ความเข้าใจกันทางด้านสังคม วัฒนธรรม

ซึ่งการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ในส่วนอื่นๆ ที่ได้สั่งไปก็คือ ขอให้จังหวัดตั้งศูนย์ที่อำเภอ ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ได้ตั้งศูนย์รองรับในส่วนนี้ ส่วนการปฏิบัติจะได้รับนโยบายอีกทางหนึ่งจาก กอ.รมน. แล้วผู้ว่าฯ กับกระทรวงมหาดไทย กับองคาพยพต่างๆ จะได้ทำงานร่วมกันไป

"ผมได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดไปหลายส่วนแล้ว ในขณะนี้ขอให้วิเคราะห์สภาพภายในพื้นที่ว่า มีการขัดแย้งกันเรื่องอะไร หนักหนาขนาดไหน แล้วใครที่จะเป็นคนที่มาร่วมในการที่จะพูดคุย หรือพูดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เลิกสลายสีเสื้อไม่ให้มี เพื่อให้สังคมสงบสุข และเป็นหลัก เป็นรากฐานในการพัฒนาต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น