สถาบันพระปกเกล้าได้จัดงานสัมนาทางวิชาการในหัวข้อ “นำเสนอประเด็นการอภิปราย การปฏิรูปประเทศไทย : ดุลแห่งอำนาจ” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองงแก่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ทั้งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และเพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมสำหรับข้อมูลประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยมีนายลิขิต ธีรเวคิน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง นายกิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรผู้บรรยาย
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาทำนองนี้ควรหมดไปจากเมืองไทย เพราะได้มีการพูดลักษณะนี้มา 30 กว่าปีแล้ว รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต่างชาติบอกเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ในปลายศตวรรษที่ 20 แต่รัฐธรรมนูญนี้ก็มีอายุแค่ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 จนนำมาสู่การร่างใหม่กลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งสุดท้ายก็ถูกยกเลิกไปอีก จนทำให้เรายังต้องมาพูดเรื่องปฏิรูปการเมือง แม้จะเหนื่อยแต่ก็ต้องพูดเพราะปัญหามีอยู่จริง ดุลแห่งอำนาจเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย จำเป็นที่ต้องมานั่งรื้อดูกันว่าดุลแห่งอำนาจที่แท้จริงคืออะไร เกิดมาจากการแบ่งอำนาจของข้าราชการทหารพลเรือน คนมั่งมีระดับบน พรรคการเมือง หรือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือไม่ หรือมีมากกว่านั้น ที่ต้องมาหากันใหม่เพราะเห็นว่ามีผู้เสนอให้มีการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปการเมือง วันนี้จึงต้องมีการเปิดรับฟังความเห็น และเสนอความรู้ในเรื่องดุลแห่งอำนาจเพื่ออภิปรายว่าข้อเสนอที่รวบรวมมาเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเสนออะไรก็ตามให้นึกเสียก่อนว่าอะไร คือ ปัญหาที่แท้จริงและจะทำอย่างไร จึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งและปฏิรูปการเมืองไทยที่เหมาะสมต่อไป
จากนั้นนายลิขิต กล่าวว่า การที่เกิดความพยายามแบ่งแยกหรือถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งในข้อเท็จจริงมันคือการแบ่งอำนาจการปกครอง บางทีทุกวันนี้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่เหมือนฝ่ายบริหารไปแล้ว พูดตรงๆ ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 พยายามทำให้เกิดดุลยภาพที่ได้ก่อตั้งองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อจัดแจงการถ่วงดุลอำนาจ แต่การถ่วงดุลนั้นขึ้นอยู่กับตัวแปรคือตัวผู้มีอำนาจ ตัวองค์กร และผู้ที่ตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจถ้าแข็งระบบจะไม่เป็นระบบ ถ้าคุมจนกระดิกไม่ได้ก็จะแข็งหรือถ้าหลวมไปก็คุมไม่ได้ ดังนั้นการถ่วงดุลที่ดีต้องมีระบบที่มีเสรีภาพแต่ไม่ละเมิดเสรีภาพ ต้องไม่มีคำว่าเผด็จการเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย
นายลิขิต กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการปฏิรูปตนมีข้อเสนอ ได้แก่ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ระบบการเมืองที่ตั้งขึ้นมาต้องคุยกันก่อนว่าจะเอาอย่างไร ต้องถามก่อนว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือไม่และเอาแบบไหน ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นต้องสร้างระเบียบการเมืองให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติซึ่งประชาชนต้องมีความผาสุก ต้องมีคามหวัง สังคมต้องยุติธรรมและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถ้าการปฏิรูปไม่มีประเด็นนี้ก็จะกลายเป็นการปฏิวัติ มีการใช้ความรุนแรง โดยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ อีกทั้งสังคมต้องมีความเป็นพลเมืองมีวินัยสิทธิและเสรีภาพ การปฏิรูปมีตัวแปร คือ การปฏิรูปที่คนโดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา ต้องมีการศึกษาวัฒนธรรมทางการเมือง ไม่รู้ไม่ได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองและระบบการเมืองต้องตอบสนองทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีการทำประชามติทุกมาตรา
ด้านนายณวัฒน์ ศรีปัดถา และ น.ส.ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอข้อมูลที่สถาบันพระปกเกล้ารวบรวมจากบทความวิชาการ เวทีเสวนา ตลอดจนสื่อต่างๆ แต่ไม่ใช่ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเอง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดดุลอำนาจของสถาบันการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสภาไทย ประเด็นเรื่องงขอบเขตอำนาจ หน้าที่ขององค์กรนั้นๆ และได้นำข้อเสนอมาจัดกลุ่มและวิเคราะห์ผลดีผลเสียเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอการปฏิรูป โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มีปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี เท่ากับถ้าหาก ส.ส.ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีก็จะยังดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้ จึงมีข้อเสนอว่าเมื่อ ส.ส.ได้รับการแต่งเป็นรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งจะมีข้อดีในแง่ทำให้ไม่เกิดผลประโยชน์ขัดกันและสร้างความมีเสถียรภาพให้รัฐบาล แต่ข้อเสีย คือ อาจทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจต่อรองมาก เนื่องจากถ้านายกรัฐมนตรีปลดรัฐมนตรีออกแล้ว ก็จะหลุดจากตำแหน่ง ส.ส.ไป
นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายรัฐมนตรี โดยต้องเลือกจากผู้ที่เป็น ส.ส. ทำให้ฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรีและเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นพวกเดียวกัน ไมม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ โดยมีการเสนอว่าให้ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างนายกและรัฐสภาที่กำหนดให้นายกมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งข้อดีคือนายกและเสียงส่วนใหญ่ในสภาอาจไม่ใช่พวกเดียวกันและทำให้ได้ฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนข้อเสียจะทำให้ระบบรัฐสภาซึ่งประมุขของรัฐกับประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนละคน การเลือกตั้งนายกฯ ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารโดยตรงอาจทำให้เกิดการนำฐานเสียงประชาชนไปตั้งคำถามกับความขอบธรรมประมุขของรัฐได้ อีกทั้งหากนายกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้น นายกฯ ย่อมอ้างได้ว่าตนเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง อาจทำให้รัฐสภาหมดความชอบธรรมที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารทันที
ส่วนดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการโดยจะเน้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าใช้อำนาจกระทบฝ่ายบริหาร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหลัก คือ ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ทั้งนี้การใช้อำนาจในการวินิจฉัยในหลายคดีของศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าก้าวล่วงการใช้อำนาจในส่วนที่เป็นของรัฐสภา จึงมีข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและกลับไปใช้รูปแบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมาจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งตุลาการที่มาจากศาลปกครองและศาลฎีกา หรืออีกข้อเสนอหนึ่งคือต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องใดเป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งให้องค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องใดเป็นเรื่องการเมืองก็ให้องค์กรการเมืองเป็นผู้ตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง
ที่มา.ข่าวสด
------------------------------------