--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตบหน้า ป.ป.ช. หลักฐานทุจริตระบายข้าว รบ.อภิสิทธิ์ ไม่ได้จมน้ำหาย !!?

ช่วงอุทกภัย54 แฉหนังสือ อคส. มี.ค.56 เพิ่งมอบข้อมูลโกง นับหมื่นชิ้น ให้ ดีเอสไอ.

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าว เร่งรัด ให้ นายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจง “กรณีโครงการรับจำนำข้าว” ภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ 14 มีนาคม อันเป็นวันครบกำหนดที่ “ป.ป.ช.” ได้ขีดเส้นใต้เอาไว้ก่อนหน้านี้ เป็นต้นไป

เป็นความชัดเจนจาก ป.ป.ช. อีกครั้ง ในการพยายามทำให้ คดีโครงการรับจำนำข้าว ถึง จุดสิ้นสุด โดยไว
ซึ่งหาก “ทุกคดี” ในมือ “ป.ป.ช.” สอบสวน-สรุปจบ-ชี้มูลความผิด “รวดเร็ว” เหมือนดังกรณีดังกล่าวนี้ทุกคดี…ประเทศไทยก็คงเจริญกว่านี้ไปแล้ว

เพียงแต่วันนี้ “หลายคดี” ในมือ “ป.ป.ช.” ยังคงไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะ “คดีทุจริตระบายข้าวรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552-2553 ซึ่งจนถึงวันนี้ พ.ศ.2557 เท่ากับปมปัญหาการทุจริตระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ที่เกิดขึ้นมากว่า 5 ปีแล้วนั้นไม่มีความคืบหน้าใดๆทั้งสิ้น !

ซ้ำร้ายเมื่อย้อนดูคำให้สัมภาษณ์ของ วิชา มหาคุณ โฆษกและกรรมการ ป.ป.ช. ที่อ้าง “น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้เอกสาร-หลักฐานต่างๆ สูญหาย จนหน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถส่งข้อมูลทุจริตระบายข้าวยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ให้กับ ป.ป.ช. ได้

ยิ่งเป็น “เหตุผล” ที่แทบจะไม่น่าเชื่อว่า “คณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต อันดับ 1 ประเทศไทย” จะกล้าใช้ “ข้ออ้าง” เหล่านี้

เนื่องจากล่าสุดได้มีการตรวจสอบพบว่า “องค์กรคลังสินค้า (อคส.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล” มาตลอดทุกยุคทุกสมัย ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานการส่งออกตามสัญญาซื้อขายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลให้กับองค์กรตรวจสอบอย่าง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” เป็นจำนวนมากแล้วในช่วงเดือนมีนาคม 2556

ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ระดับหนึ่งหรือไม่ว่า ข้ออ้างที่ “ป.ป.ช.” ระบุว่า “น้ำท่วมใหญ่ 2554 ทำให้เอกสาร หลักฐานสูญหาย จนหน่วยงานต่างๆไม่สามารถส่งให้กับ ป.ป.ช.ได้” นั้น แท้ที่จริงแล้ว เอกสาร-หลักฐาน ต่างๆ อาจจะไม่ได้สูญหายไปกับน้ำท่วมใหญ่ 2554 ตามที่ “ป.ป.ช.” อ้างแต่ประการใด

จากการตรวจสอบพบว่า องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้มีหนังสือเลขที่ อคส.10131/1906 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2556 แจ้ง ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 (พันตำรวจโท อนุรักษ์ โรจนิรันดร์กิจ) อ้างถึง หนังสือของ สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ยธ 0811/089 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

ระบุว่าตามหนังสือที่สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้องค์การคลังสินค้าส่งมอบสำเนาเอกสารหลักฐานพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องในส่วนของสัญญาซื้อขายเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร พร้อมทั้งเอกสารประกอบสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสัญญาทุกฉบับ เช่น หลักประกันสัญญา , รายละดเอียดการรับมอบข้าวสาร , หลักฐานการส่งออกนอกราชอาณาจักร , รายละเอียดการชำระเงินค่าข้าวสารและหลักฐานการคืนหลักประกันสัญญา หรือเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นกระบวนการจำหน่ายข้าวสารและหลักฐานการคืนหลักประกันสัญญา หรือเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อจนเสร็จสิ้นกระบวนการจำหน่ายข่าวสารในสต็อกของรัฐบาล ในระหว่างปี พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ.2553 ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การคลังสินค้านั้น

องค์การคลังสินค้าได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องสัญญาซื้อขายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ระหว่างปี พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ.2553 ตามรายละเอียดดังนี้

1.เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2552

1.1 สำเนาบันทึกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การคลังสินค้า เรื่องการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2552 จำนวน 123 แผ่น

1.2 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ.2552 จำนวน 15 สัญญา (สัญญาซื้อขายข้าวสารเลขที่ คชก.ชข.24-38) จำนวน 296 แผ่น

1.3 สำเนาบันทึกด่วนที่สุด ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวสารเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมด และระงับการอนุญาตให้ภาคเอกชนที่ชำระเงิน ค่าข้าวสารบางส่วน ตามสัญญาซื้อขายข้าวสาร ทำการขนย้ายข้าวสารออกจากคลังกลาง จำนวน 1 แผ่น

1.4 สำเนาบันทึกที่ อคส.9000/98 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 เรื่องการประชุมผู้ซื้อข้าวสาร ตามสัญญาซื้อขายเพื่อการส่งออก นอกราชอาณาจักร จำนวน 14 ราย และสำเนาคู่ฉบับบันทึก ที่ อคส.1091/419 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 จำนวน 5 แผ่น

1.5 รายละเอียดการจำหน่ายข้าวสารตามสัญญาซื้อขาย และสำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อ ที่ได้ชำระเงินค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสาร และการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขายจำนวน 20 แผ่น

1.6 สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งออกข้าวสาร ออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 6 สัญญา จำนวน 205 แผ่น

2.เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2553

2.1 สำเนาบันทึกกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การคลังสินค้า เรื่องการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2553 จำนวน 65 แผ่น

2.2 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออก นอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ.2553 จำนวน 22 สัญญา (สัญญาซื้อขายข้าวสารเลขที่ คชก.ชข.39-42 , 44-48 , 50-59 และ 61-63) จำนวน 328 แผ่น

2.3 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสารเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ปี พ.ศ.2553 จำนวน 1 สัญญา (สัญญาซื้อขายข้าวสารเลขที่ คชก.ชข.53) จำนวน 16 แผ่น

2.4 รายละเอียดการจำหน่ายข้าวสารตามสัญญาซื้อขาย และสำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อที่ได้ชำระเงินค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสาร และการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขาย จำนวน 23 สัญญา จำนวน 169 แผ่น

2.5 สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งออกข้าวสาร ออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 18 สัญญา จำนวน 8,667 แผ่น

จึงเรียนมาเพื่อทราบ …

ชัดเจนนะ …ป.ป.ช.





ที่มา.พระนครสาส์น

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วรรคทองที่ ป๋าเปรม อยากให้ บิ๊กตู่ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง !!?

ขณะไปเป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ "พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา" ที่ค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้มองเห็นป้ายข้อความแกะสลักใต้ฐานอนุสาวรีย์ ซึ่งอ้างอิงมาจากคำพูดของ พล.กฤษณ์ ที่ระบุว่า

"ทหารเรายืนอยู่บนเกียรติอันสูงส่ง ที่ประชาชนคนไทยหวังเป็นที่พึ่งขั้นสุดท้ายของเขา"

จากนั้น จึงพูดกับนายทหารที่มาร่วมงานว่า "ต้องบอก ผบ.ทบ. ให้มาอ่านตรงนี้"

 

ผู้คนต่างตีความแตกต่างกันออกไปถึง คำพูดล่าสุดของ "ป๋าเปรม"

บางคนเห็นว่ามีนัยยะสำคัญทางการเมือง ในบริบทที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังถูกโยกคลอนอย่างหนักจากกลุ่มกปปส. เรื่อยมาจนถึงกระบวนการทำงานต่อเนื่องของบรรดาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

บางคนเห็นว่า"ป๋า"แค่พูดแซวเล่นๆไม่มีนัยยะทางการเมืองลึกซึ้งอะไร

ขณะที่ "พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง" แม่ทัพภาคที่ 2 ก็แปลงสาส์นให้ "ป๋าเปรม" เสร็จสรรพว่า ป๋าท่านเรียกให้ "ผบก.จทบ.สกลนคร" มาดูป้ายข้อความ ไม่ใช่"ผบ.ทบ."

แต่พร้อมๆ กับที่ "สาส์น" ของท่านแม่ทัพถูกเผยแพร่มายังสื่อมวลชน "คลิป" ที่นักข่าวถ่ายทำไว้ก็เดินทางมาถึงกองบรรณาธิการในกทม.เช่นกัน

และ "ป๋าเปรม" ในคลิป ก็พูดเสียงดังฟังชัดว่า "ต้องบอก ผบ.ทบ. ให้มาอ่านตรงนี้"

พ้นไปจากการแปลความคำพูดของประธานองคมนตรี ผู้เป็น "ทหารแก่ที่ไม่มีวันตาย"

คนยุคนี้จำนวนมากอาจไม่รู้แล้วว่า "พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา" ที่ พล.อ.เปรม ไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์ให้

รวมทั้งยังเป็นเจ้าของ "วรรคทอง" ที่ป๋าอยากให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ได้มาอ่าน นั้นคือใคร? และมีความสำคัญอย่างไร?




พล.อ.กฤษณ์เป็นอดีตผบ.ทบ.และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของ "ป๋าเปรม"

ถือเป็น "ทหารการเมือง" คนสำคัญอีกรายหนึ่ง ในช่วงทศวรรษ 2510

ในยุคที่ข้าราชการประจำสามารถควบตำแหน่งข้าราชการเมืองได้

นายทหารใหญ่อย่างพล.อ.กฤษณ์จึงเคยดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งรมช.ศึกษาธิการ, รมช.กลาโหม, รมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาล "จอมพลถนอม กิตติขจร" และสมาชิกวุฒิสภาพแบบแต่งตั้ง

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กลุ่ม "ถนอม-ประภาส-ณรงค์" กระเด็นหลุดวงโคจรอำนาจ

พล.อ.กฤษณ์ ซึ่งกลายเป็นตัวแทนของ "ทหารการเมือง" อีกขั้วหนึ่ง จึงได้รักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด อีกหนึ่งตำแหน่ง

ก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี 2557

ต่อมา พล.อ.กฤษณ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม ในรัฐบาล "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช"

ทว่าหลังจากรับตำแหน่งได้ไม่นาน นายทหารท่านนี้ก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519

สาเหตุของการถึงแก่อสัญกรรมยังเป็นที่สงสัยกัน ตั้งแต่ช่วงเวลานั้นมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะก่อนหน้าการเสียชีวิต พล.อ.กฤษณ์ ก็แค่เดินทางไปเล่น "กอล์ฟ" และทาน"ข้าวเหนียวมะม่วง" เท่านั้นเอง

ไม่กี่เดือนถัดมา หลังจาก พล.อ.กฤษณ์ ถึงแก่อสัญกรรม

"จอมพลถนอม กิตติขจร" ที่เดินทางออกนอกประเทศไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ผ่านการบวชเป็นสามเณรที่สิงคโปร์ และเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร

อีกไม่นานนัก เหตุการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ก็อุบัติขึ้น

ที่มา.มติชน
///////////////////////////

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความจริงประเทศไทย : จับตาหนี้สาธารณะพุ่ง..!!?



เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่งบประมาณตามปกติ นั่นคือ ภาพความจริงของประเทศ..จับตาหนี้สาธารณะพุ่ง หลังโยกเงินลงทุน'2ล้านล้าน'

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตีตกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากร่างกฎหมายต้องตกไป มีทั้งภาครัฐและเอกชน อันเนื่องมาจากความคาดหวังว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 7 ปี ตามที่รัฐบาลประเมิน และจะส่งผลให้ประเทศไทย"พลิกโฉม"ครั้งใหญ่ด้านคมนาคมของประเทศ

ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเตรียมแผนเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งแผนการลงทุนของตัวเอง จึงต้องมีการปรับครั้งใหญ่ แต่ผลกระทบ"ทันที"คือหน่วยงานภาครัฐ

สิ่งที่ต้องมีการปรับครั้งใหญ่ตามไปด้วย คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะก่อนหน้านั้น โครงการลงทุนสำคัญของรัฐบาลได้โอนไปใช้เงินตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการลงทุนในงบประมาณรายจ่าย โดยขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่าหากไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมาอีก โครงการลงทุนภาครัฐทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณตามปกติ นั่นหมายถึงว่า ต้องมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการ

การกู้เงินเพื่อพัฒนาประเทศเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งไทย โดยในอดีตประเทศไทยได้กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อมาใช้พัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากเราจะไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้ทดแทน

แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอาจ"ขยับ"ขึ้น และหากมีสัดส่วนเกินระดับ"ความยั่งยืน"ทางการเงินการคลัง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ดังนั้น การออกพระราชบัญญัติกู้เงินครั้งนี้ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการนำมาใช้คิดคำนวณเป็นหนี้สาธารณะ

แต่เมื่อกลับไปใช้งบประมาณปกติ ก็จะต้องนำเงินลงทุนแต่ละโครงการมาคิดเป็นหนี้สาธารณะด้วย หากมีการกู้เงินและรัฐบาลค้ำประกัน

หากพิจารณาจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ก็จะพบว่าหากมีการเดินหน้าโครงการ 2 ล้านล้านในงบปกติก็จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้น

ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จากการดำเนินการตามแผนล่าสุด คือ ประจำปีงบประมาณ 2557 ทางสบน.คาดว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2557 (30 ก.ย.) คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ในระดับ 47.1% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับ 7.4%

ระดับหนี้สาธารณะดังกล่าวไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่เกิน 60% และภาระหนี้ต่องบประมาณแผ่นดินไม่เกิน 15%

คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะของไทยก็ยังไม่เกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง

แต่การประเมินข้างต้น สบน.ไม่นับรวมการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตีตกไปแล้ว

หากนับรวมโครงการ"พิเศษ"ที่ไม่อยู่ในกรอบงบประมาณปกติ และถูกโอนมาในงบประมาณปกติแล้ว จะเห็นว่าเป็นวงเงินมหาศาล

ตามร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีการแบ่งจ่ายรวม 7 ปี ดังนี้ ในปี 2557 เบิกจ่าย 25,707 ล้านบาท จากนั้นในปี 2558 เบิกจ่าย 250,806 ล้านบาท ปี 2559 เบิกจ่ายเท่ากับ 380,034 ล้านบาท ปี 2560 เบิกจ่าย เท่ากับ 408,269 ล้านบาท ปี 2561 เบิกจ่าย 394,893 ล้านบาท ปี 2562 เบิกจ่าย 302,592 ล้านบาท และ ปี 2563 เบิกจ่าย 220,582 ล้านบาท

แต่หากนับรวมกับพระราชกำหนดบริหารจัดการน้ำ ยอดการเบิกจ่ายจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี กล่าวคือ โครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ กำหนดไว้ว่าในปี 2557 เบิกจ่าย 93,616 ล้านบาท ปี 2558 เบิกจ่าย 86,351 ล้านบาท ปี 2559 เบิกจ่าย 74,336 ล้านบาท ปี 2560 เบิกจ่าย 52,226 ล้านบาท และ ปี 2561 เบิกจ่าย 27,970 ล้านบาท

หากประเมินที่ต้อง"โยก"มาใช้งบปกติ จะเห็นว่าส่วนใหญ่มาจากโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเมินการเบิกจ่ายแต่ละปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าแต่ละปีจะต้องมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

ยกเว้น หากรัฐบาลในอนาคตจะยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูง เม็ดเงินที่จะใช้งบปกติในงบประมาณแผ่นดินก็อาจลดลง แต่หากยังต้องการก่อสร้างโครงการนี้ ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณแต่ละปีจำนวนมาก นั่นหมายถึงต้องกู้เงินมาดำเนินโครงการทุกปี

หาก"โยก"โครงการมาใช้งบปกติ สิ่งที่ตามมาคือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อาจขยับขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้แค่ไหน

เพราะหากจีดีพีขยายตัวได้ต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในระดับ"ความยั่งยืน"ได้ แต่หากเศรษฐกิจโตอย่างช้าๆ และไม่ทันต่อสัดส่วนหนี้ ก็จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปด้วย

ดังนั้น เมื่อมีการโยกงบโครงการ 2 ล้านล้าน มาสู่งบประมาณปกติ จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อหนี้ภาครัฐอย่างไร เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมา รัฐบาลมีโครงการประชานิยมมาหลายยุคหลายสมัยและเป็นภาระต่องบประมาณทั้งสิ้น

โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลตั้งงบประมาณวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณในอนาคต

นั่นเท่ากับว่า เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่งบประมาณตามปกติ เราจะเห็นข้อจำกัดมากขึ้น และอาจเป็นไปได้ว่านั่นคือ ภาพความจริงของประเทศ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ชำแหละ P-NET องค์กรต้นสังกัด สมชัย ศรีสุทธิยากร !!?

ปมปีนเกลียว กกต.2543 โชว์ตัวตน ขาใหญ่ ผูกขาด งบฯตรวจสอบเลือกตั้ง ตะลึง ขอแล้วไม่ให้ ขู่ฟ้องเอาตาย

จากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในยุคปี 2543 ที่ปรากฏผ่านหน้า “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2543 ซึ่งระบุถึง พฤติกรรมของ “องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” ที่ใช้จ่ายงบประมาณในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส.ว. 3 ครั้ง ในปี 2543 กว่า 85 ล้านบาท แต่กลับปรากฏว่า “รายงานการทุจริตการเลือกตั้ง” ที่ “พีเน็ต” ส่งให้ กกต.นั้น…ไร้คุณภาพอย่างสิ้นเชิง !

รวมไปถึงปรากฏข้อมูลว่า ในการเลือกตั้ง ส.ว.ดังกล่าว “องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” กลับ รายงานบัญชีค่าใช้จ่ายกับทาง “กกต.” ยังไม่ครบจำนวน 4 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 7.6 ล้านบาท !
ซึ่งนับถึงขณะนี้ ระยะเวลาก็ยืดยาวมากว่า 15 ปีแล้ว
และเรื่องดังกล่าวนี้ คนที่ “ชี้แจงแถลงไข” ได้ดีที่สุด จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจาก “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.มือ 1 ผู้เคยสวมหมวก “เลขานุการใหญ่องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” และนั่งครองเก้าอี้ “ผู้ประสานงานองค์กรฯ” มายาวนานต่อเนื่องกันมากกว่าสิบปี !!
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เมื่อปรากฏ “ข้อมูล” ดังกล่าวข้างต้นออกมา ได้ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้ว “องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” เป็นใคร มาจากไหน ?
เข้าไปรับ “งบประมาณ” ของ “กกต.” และมีกิจกรรม-พฤติกรรม การใช้เงินงบประมาณอย่างไร ?
ที่สำคัญคือ เกี่ยวโยงกับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.แถวหน้าประเทศไทย อย่างไร ?
โดย “เว็บไซด์มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” ระบุเอาไว้ว่า เริ่มแรกมีการจัดตั้ง “องค์กรกลางการเลือกตั้ง” ตาม “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 3/2535” เพื่อเป็นองค์กรที่เข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จากนั้นได้มีการจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” พร้อมจัดตั้ง “เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง” (People Network for Election in Thailand – P-NET (พีเน็ต)) ขึ้นในเวลาต่อมา
แม้คำสัมภาษณ์ของ “ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ” อดีตเลขาธิการ กกต. ที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปี 2543 จะทำให้เห็น “การทำงาน” และ “ผลงาน” ของ “พีเน็ต” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการ “งบประมาณ จำนวนมากกว่า 85 ล้านบาท”
แต่นั่นเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” เท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงที่ปรากฏผ่าน “สื่อสารมวลชน” ในช่วงที่เกิดปัญหา ระหว่าง “กกต.” และ “พีเน็ต” ระหว่างปี 2543-2544 กลับกลายเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นการใช้ “งบประมาณ” และ “การทำงานไ ของ “พีเน็ต” ได้อย่างลึกซึ้ง
โดยหลังจากที่ “ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ” อดีตเลขาธิการ กกต. ออกมา เปิดฉากแฉข้อเท็จจริง “ผลงานไร้คุณภาพ” ของ “พีเน็ต” จากงบประมาณตรวจสอบการเลือกตั้ง 85 ล้านบาท ในการเลือกตั้ง ส.ว.3 ครั้งในปี 2543 ทำให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเคลือบแคลงในวิธีการปฏิบัติของ “พีเน็ต” และส่งผลให้ “กกต.” ต้องกลับมาพิจารณาการทำงานร่วมกับ “พีเน็ต” ครั้งใหญ่ และมีที่ท่าที่จะยกเลิกการทำงานร่วมกันและการให้งบประมาณในการเลือกตั้งครั้งต่อมา คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 6 มกราคม 2544
โดยเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2543 “พล.อ.สายหยุด เกิดผล” ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง ขณะนั้นแถลงข่าวร่วมกับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” เลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางฯ ว่าได้เสนอโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 6 มกราคม 2544 ต่อ กกต.ไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 ในรูปแบบโครงการเดียว เพื่อของบประมาณสนับสนุนในการจัดทำโครงการตรวจสอบการเลือกตั้งเป็นโครงการเดียวทั่วประเทศจำนวน 43.4 ล้านบาท
จากนั้น 20 พฤศจิกายน 2543 มีการประชุมร่วมกันของ กกต. นำโดย นายโคมธม อารียา กกต.ขณะนั้น กับ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ตัวแทนพีเน็ต เพื่อหารือถึงแนวทางการให้งบประมาณและการทำงานในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งภายหลังการประชุมยาวนานกว่า 2 ชั่วโมงนายโคทม อารียา กกต.กล่าวว่า องค์กรเอกชนที่ลงทะเบียนกับ กกต.กว่า 100 องค์กร จึงเห็นว่าการจะให้พีเน็ตตรวจสอบการเลือกตั้งเพียงองค์กรเดียวอาจจะไม่เหมาะสม
“พีเน็ต” ที่เคยใหญ่คับการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา และผูกขาดการตรวจสอบการเลือกตั้งเพียงรายเดียวหลายปี จึงถูกปฏิเสธจาก กกต.ชุดนั้น แบบไม่มีแม้กระทั่งเยื่อใย


ไม่กี่วันหลังจากนั้น พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานพีเน็ต ได้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยระบุว่า “เสียใจที่นายโคทม อารียา กกต.บอกว่าพีเน็ต ต้องการผูกขาดการตรวจสอบการเลือกตั้งเป็นโครงการเดียวทั้งประเทศ และกล่าวหาพีเน็ต ต้องการครอบงำองค์กรเอกชนอื่น” พร้อมทั้งระบุว่า “กกต.ชุดนี้เพี้ยนไปแล้ว พวกผมตรวจสอบการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ แต่ กกต.กลับปฏิเสธองค์กรเอกชนที่เข้มแข็งและไปให้งบสนับสนุนองค์กรเอกชนเล็กๆน้อยๆ”
นอกจากนี้ยังระบุว่า “ กกต.มีหน้าที่สนับสนุนองค์กรเอกชน ที่ต้องการเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจน หาก กกต.ไม่ให้เงินสนับสนุนพีเน็ต เครือข่ายพีเน็ตทั่วประเทศ ก็จะยื่น กกต.ต่อศาลปกครองในข้อหาทำผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งยื่นห้องให้ทบทวนการทำงานของ กกต.ที่ทำหน้าที่บกพร่อง ทำให้ประเทศชาติต้องเสียงบประมาณเป็นพันล้านในการเลือกตั้ง ส.ว.ซ้ำซาก”
กลายเป็น “คำประกาศ” จาก “ขาใหญ่” ที่ส่งผลสะเทือนถึง “กกต.” ขณะนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ !!
ซึ่งสุดท้าย “กกต.” ก็เจียด “งบประมาณ” ให้กับ “พีเน็ต” เพื่อทำโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 โดย “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” ในฐานะเลขานุการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 ชี้แจงถึงสาเหตุที่พีเน็ต ลดระดับโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศเหลือเพียงโครงการตรวจสอบการเลือกตั้งเขตพิเศษ 200 เขต ระบุว่า “ไม่ได้เกิดจาก พีเน็ต ของบประมาณมากเกินไปจน กกต.ไม่สามารถจัดหางบประมาณให้ได้ แต่เกิดจากแนวคิดการทำงานที่ไม่ตรงกัน พีเน็ตของบประมาณไปเพียง 43 ล้านบาท ในการดำเนินการตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งน้อยกว่างบที่ กกต.ให้กับ ธกส. การสื่อสารฯ สภาทนายความ และองค์กรอิสระในท้องถิ่น ดำเนินการจำนวน 68 ล้านบาท”
โดยมีรายงานว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2544 “กกต.” ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับ “โครงการตรวจสอบการเลือกตั้งเขตพิเศษ 200 เขต” ให้กับ “มูลนิธิองค์กรกลางฯ”ไปดำเนินดำเนินงาน “เขตเลือกตั้งละ 15,000 บาท” (รวม 200 เขต เป็นเงิน 3,000,000 บาท !!!
เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับ “พีเน็ต-กกต.และงบประมาณการตรวจสอบการเลือกตั้ง” ในช่วงปี 2543 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป 6 มกราคม 2544
ซึ่งในปัจจุบัน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กระโดดจากเก้าอี้ “บิ๊กพีเน็ต” ที่เป็นผู้คอยประสานงานกับ กกต. ในการเสนอโครงการเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง มาเป็น “กกต.ด้านบริหารจัดการการเลือกตั้ง” ที่มี “งบประมาณ” ในการ “จัดการเลือกตั้ง ส.ส.”หลายพันล้านบาท

ส่วน “พล.อ.สายหยุด เกิดผล” ประธานพีเน็ต ที่เคยเรียกร้องให้ กกต. ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ในการให้ “งบประมาณ” กับ “พีเน็ต” ถึงขั้นขู่ที่จะฟ้องร้อง กกต. ดังกล่าวนั้น ล่าสุดก็คือหัวแถว “คณะรัฐบุคคล” ที่ประกอบไปด้วย “อดีตนายทหาร-นักวิชาการตกรุ่น” นั่งประชุมสุมหัวกันร้องขอ ให้ “กองทัพ” เลือกข้างในสถานการณ์การเมือง พร้อมสนับสนุนให้สรรหา “คนดี” เข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด !!!

ที่มา.พระนครสาส์น
------------------------------------------

การเมือง กับ กระแส รัฐประหาร !!?

มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า

 ทหาร จะไม่ทำ รัฐประหาร

 ความเชื่อมั่นของ 2 คนอาจมีรากฐาน ความเชื่อ อันแตกต่างไปจาก นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยบ้าง

 ตรงที่ให้น้ำหนักไปยังกระแสกดดันอันมาจาก ต่างประเทศ

 ขณะที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่า การเคลื่อนไหวของ คนเสื้อแดง ที่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยจะเป็นพลัง 1 ซึ่งกองทัพต้องให้ความสนใจ

 เพราะว่า คนเสื้อแดง ต้องไม่ยอมและไม่อยู่นิ่งเฉยๆ แน่นอน

 แม้ความเชื่อของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอันมีสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับขบวนการ คนเสื้อแดง

 แต่ก็ควร ล้างหู ให้การรับฟัง

 ในความเป็นจริง ต่างประเทศไม่ให้การยอมรับต่อกระบวนการรัฐประหารเลยนับแต่ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เป็นต้นมา

 เห็นได้จากปฏิกิริยาของ สหรัฐ ต่อ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์

 ไม่ว่าปฏิกิริยาจากสหรัฐอเมริกา จากสหราชอาณาจักรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหภาพยุโรปล้วนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารนี้

 แต่แล้วก็เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 จนได้

 ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายรัฐประหารโดยเฉพาะในเดือนกันยายน 2549 มิได้ให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาจากต่างประเทศมากเท่าใด ความต้องการในทางการเมืองเฉพาะหน้าต่างหากคือบทสรุปอย่างเบ็ดเสร็จ

 แล้วปฏิกิริยาจาก ประชาชน เล่ามีความสำคัญหรือไม่

 ปฏิกิริยาของ ประชาชน เป็นปัจจัย 1 ซึ่งเครือข่าย รัฐประหาร แง่หูรับฟังอยู่ แต่นั่นก็ขึ้นว่าเป็นปฏิกิริยาที่กว้างขวางและลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด

 เพราะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็มีคนต้าน

 เป็นการต้านจากลักษณะในแบบตัวใครตัวมันกระทั่งรวมตัวกันเป็น ขบวนการใหญ่โตอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

 นั่นก็คือ นปช.แดงทั้งแผ่นดินในปี 2552 และในปี 2553

 น่าสังเกตว่าการปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อปี 2553 มิอาจทำให้พลังของ คนเสื้อแดง หมดสิ้นไป ตรงกันข้าม กลับรวมตัวและแสดงออกได้ใหม่อย่างรวดเร็ว

 กลายเป็น ฐานค้ำบัลลังก์ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 ความขัดแย้งที่กปปส.แสดงออกนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นความขัดแย้งลักษณะเดิม-เดิม

 เป็นความขัดแย้งระหว่าง เครือข่ายรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับกลุ่มการเมือง พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนอันดำรงอยู่ผ่าน พรรคเพื่อไทย

 การต่อสู้นี้ยืดเยื้อมา 8 ปีแล้วและยังดำรงอยู่

ที่มา.ข่าวสดออนไลน์
---------------------------------------

ลางร้าย.แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ !!?



โดย.ราช รามัญ

คนที่มีความคิดกลางๆ ทางการเมือง เริ่มมองเห็นอะไรบางอย่างแล้วว่า...พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ต้องโดนโหมกระหน่ำด้วยพายุทางการเมืองเสมอครั้งแล้วครั้งเล่า คนชอบทักษิณมีมาก แต่คนไม่ชอบก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน

แม้เขาจะพูดจริงทำจริงจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนคนไทยในชนบทชื่นชอบเขามาก เพราะได้รับผลประโยชน์โดยตรง แต่อีกมุมหนึ่งถูกมองกันว่าเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย...บอกตรงๆรั ฐบาลไหนๆ ก็ใสเหมือนน้ำมะพร้าวที่เอาไว้ล้างหน้าตอนเปิดฝาโลงทั้งนั้น

ความเป็นธรรม หมายถึง ความเป็นกลาง  ถ้าโลกนี้ไม่มีความเป็นธรรมต่อทั้งโจทย์และจำเลย อะไรจะเกิดขึ้น??

การจะกำจัดคนในทางการเมือง โดยใช้วิธีแบบการเมืองที่ไม่อิงกฎบัตรกฎหมาย ถือว่าเป็นความสิ้นคิดอย่างแรง ที่นอกจากจะทำให้คนที่มีความคิดกลางๆ ในทางการเมืองมองเห็นความอยุติธรรมแล้ว ต่างประเทศเขาก็ส่ายหน้าไม่เห็นดีเห็นงามตามไปด้วย

ผู้ที่ตั้งธงเอาไว้ด้วยการคิดจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการการเมืองอาจจะชื่นชอบ แต่ในความชื่นชอบมันขัดซึ่งหลักแห่งธรรมะ การที่ทำในสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมะแล้วจะมาบอกว่าตนเองเป็นคนดี มันช่างเป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก และตรงกันข้ามกับคำสอนของพระพุทธศาสนา

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พยายามสื่อออกไปหลายครั้งหลายหนโดยนัยว่า...ถ้าจะไปก็ขอให้ไปตามระบบของกฎหมาย ซึ่งถ้าผู้ตั้งธงทางการเมืองคิดแบบนี้ตรงกันตั้งแต่แรก...คงจะไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงแบบนี้ ที่ทำให้เกิดคนตายคนเจ็บ ซึ่งหันซ้ายแลขวาก็คนไทยด้วยกันทั้งนั้น...

ลองตั้งสติ...ใช้หลักธรรม เข้ามาแก้ไข อะไรๆ ก็จะง่ายขึ้นกว่านี้...ถ้าพวกคุณมั่นใจในคุณธรรมของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย ก็ลองใช้ตราชั่งในจิตใจ "ชั่ง-ตวง-วัด" ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

สิ่งที่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นกำลังทำ มันใช่สิ่งที่ควรเชิดชูว่าเป็นคุณธรรมหรือไม่??

เพราะตราบใดที่คนเหล่านั้นยังคงใช้เพียงแค่ความรู้สึก...ใช้พรรคใช้พวกมาแก้ไขปัญหาอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ยุติธรรม ไม่คงจะหาคำว่า "คุณธรรม" จากที่ไหนมาแต่งเติมเสริมแต่งให้ดูดีคงไม่ได้

สุดท้ายก็ได้แต่ภาวนาว่า ลางร้ายที่แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ...อย่าได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองผืนนี้เลย

ที่มา.บางกอกทูเดย์
--------------------------

ปรับแผนรับหลังเงินกู้ 2 ล้านล้าน สดุด..

รัฐ-เอกชน ชี้กระทบลงทุน- สศค.เผยฉุดเป้าหมายจีดีพี1% รฟม.จัดลำดับสร้างรถไฟฟ้าใหม่ คาดล่าช้า 3 ปี ขณะ สนพ. รื้อแผนผลิตไฟฟ้า

ภาครัฐ - เอกชนปรับแผนใหม่ หลังจากโครงการ 2 ล้านล้านสะดุด คลังประเมินกระทบเป้าเศรษฐกิจ คาดส่งผลกระทบจีดีพี 1% ด้านรฟม. คาดรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ล่าช้า 3 ปี ต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ ขณะที่ สนพ. ปรับแผนผลิตไฟฟ้า "พีดีพี" ฉบับใหม่ ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์" ชี้เสียดายโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ น้ำตาคลอเจอถามประชาธิปัตย์จ่อยื่นถอดถอน

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....วงเงิน 2 ล้านล้าน ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไป แม้ว่าจะเป็นตามความคาดหมายก่อนหน้านี้ แต่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เตรียมตัวก่อนหน้านี้ ต้องปรับแผนงานกันใหม่

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้น คือ จะกระทบต่อแผนการลงทุนของประเทศในปีนี้ แม้ว่า สศค.จะใส่ตัวเลขการลงทุนในหลักไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่ผลบวกเนื่องจากการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น และเมื่อบวกกลับกรณีที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และ ปัญหาการเมืองยืดเยื้อ ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้จาก 3.1% ซึ่งอาจจะลดลงมาเหลือไม่ถึง 2%

"ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายต่อการลงทุนอย่างไร หากมีนโยบายลงทุนต่อ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า จะใช้วิธีในการระดมเงินทุนอย่างไร หากใช้วิธีการกู้เงินก้อนใหญ่และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การลงทุนเกิดขึ้นต่อเนื่อง ขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะไม่ถูกกระทบ แต่หากเลือกใช้วิธีการใช้จ่ายตามระบบงบประมาณ ผลที่เกิดขึ้น คือ การลงทุนอาจไม่ต่อเนื่อง และ เป้าหมายการทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 ก็จะถูกกระทบ เพราะรัฐบาลจะต้องกู้เงินมาใช้จ่ายผ่านการขาดดุลงบประมาณ"

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ สศค. เคยประมาณการไว้จากการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ดังกล่าว คือ จีดีพีของประเทศจะสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากศักยภาพประมาณ 1%

"หากการลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่เราเคยคาดการณ์ว่า จีดีพีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในแต่ละปี ก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่า จะมีนโยบายการลงทุนดังกล่าวอย่างไร"

สนพ.เตรียมทบทวนแผนผลิตไฟฟ้า

ด้าน นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คำตัดสินดังกล่าวกระทบต่อการทำแผนพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศระยะยาว (พีดีพี) ฉบับใหม่ เพราะก่อนหน้านั้น คาดการณ์ว่าโครงการลงทุนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

"สนพ. ทำแผนพีดีพีเบื้องต้นไปแล้ว โดยพิจารณาปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อโครงการ 2 ล้านล้านบาทตกไป จะมีผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลง"

นายเสมอใจ กล่าวว่า โครงการนี้สะดุดลงจะไม่มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าระยะสั้นช่วง 5-6 ปีนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้ายังคงเป็นไปตามแผนพีดีพีฉบับ 2010 และมีการลงนามสร้างโรงไฟฟ้ากันไปเรียบร้อยแล้ว โดยกระแสไฟฟ้าจะทยอยเข้าระบบจนถึงปี 2561

รฟม.ปรับแผนสร้างรถไฟฟ้า

ด้าน นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางยังคงดำเนินการต่อไปได้ แม้ไม่มีพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่การก่อสร้างให้ครบทั้ง 10 สายทาง จะทำไม่ได้ทั้งหมดใน 7 ปีตามแผน ซึ่งอาจล่าช้าออกไปไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี และอาจต้องจัดลำดับเส้นทางที่จะก่อสร้างใหม่ เพราะงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจะไม่สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายไปพร้อมกันได้

“พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจัดทำขึ้นมาให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินมาใช้เงินได้มากกว่า พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 20% ต่อปี เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ สามารถเดินหน้าได้แล้วเสร็จทั้งหมดตามแผนงานที่กำหนด แต่เมื่อไม่มี พ.ร.บ.กู้เงิน การหาเงินมาดำเนินโครงการจะทำได้น้อยลง วงเงินที่จะนำมาลงทุนจึงไม่เพียงพอที่จะทำได้ทั้งหมด และอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี จึงจะก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ครบทุกสาย”

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่ของ รฟม.ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด ตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภา เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาอนุมัติโครงการก่อน ส่วนการก่อสร้างในเส้นทางเดิมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่กำหนด

สำหรับการดำเนินงานของ รฟม. หลังจากนี้ จะยังคงศึกษาออกแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่เพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะก่อสร้างเส้นทางใดก่อน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่จะพิจารณา และเห็นว่าความล่าช้าของการดำเนินโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างกำไร แต่เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ

ด้าน นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า แผนการลงทุนในโครงการบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค จำนวน 56 โครงการ และโครงการก่อสร้างขยายทางหลวง 4 ช่องจราจรเพื่อประสิทธิภาพทางหลวงทั่วประเทศ วงเงินรวม 2.4 แสนล้านบาท จะต้องชะลอออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันถนนทางหลวงหลายสายมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก หากรัฐบาลไม่เร่งรัดบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักบนทางหลวง เนื่องจากโครงการขยายถนน 4 ช่องจราจรไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย

หากรัฐบาลเห็นว่าโครงการของกรมทางหลวงมีความจำเป็น ต้องการเร่งรัด ก็สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณปี 2558 หรืออาจจะพิจารณากู้เงินจากแหล่งอื่น เช่น จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) หรือ ธนาคารโลก

ก่อสร้างชี้กระทบอสังหาฯ

นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่าแม้โครงการลงทุนต้องล้มลงไป แต่หน่วยงานราชการก็ได้เตรียมปรับตัว นำบางส่วนของโครงการนี้เข้าไปสู่งบดำเนินงานตามปกติของแต่ละกระทรวง เนื่องจากในโครงการ 2 ล้านล้านบาทนี้ มีบางส่วนที่ถูกดึงมางบลงทุนตามปกติ เช่น การก่อสร้างรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟฟ้า และโครงการสร้างถนนต่างๆ เป็นต้น แต่ทั้งนี้โครงการที่ลงทุนสูงก็ยังคงต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสินต่อไป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% ของโครงการ 2 ล้านล้านบาท โดยส่วนที่ใช้งบมากที่สุดกว่า 60% จะมาจากรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลหน้าว่าจะสานต่อโครงการนี้หรือไม่

"ส่วนที่กระทบมากที่สุด คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะบางรายได้เข้าไปกว้านซื้อที่ดินตามแนวเส้นทางคมนาคมในโครงการนี้แล้ว เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นหากรัฐบาลใหม่เปลี่ยนเส้นทางไป ส่วนผู้ประกอบการก่อสร้าง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นเพียงผู้รับจ้างก่อสร้าง รวมทั้งยังมีโครงการภาครัฐที่ค้างอยู่พอสมควร"

นายจักรพร กล่าวว่า ความเชื่อมันของนักลงทุนต่างชาติอาจลดลง เพราะมองว่านโยบายของรัฐบาลไทยขาดความแน่นอน กระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน

'พยุงศักดิ์'เสียดายลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเนื้อหาสาระโครงการ 2 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการดังกล่าวถูกตีตกไปแล้ว ทำให้ไทยต้องเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้วยกระบวนการเดิมๆ ที่เคยทำมา อาทิ การกู้เงิน การรอใช้งบประมาณแผ่นตามขั้นตอนปกติ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้ไทยเสียโอกาส โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในหลายๆ ด้านของอาเซียน

นอกจากนี้ บรรยากาศเศรษฐกิจที่คาดหวังกันว่าจะกลับมาคึกคักอาจสะดุดไปบ้าง และทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง และการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ อาจได้รับผลกระทบ และเสียโอกาสทางธุรกิจไป

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่ายังไม่กระทบภาพรวมความเชื่อมั่นการลงทุนของประเทศ เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนตามกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำไปรวมอยู่ในแผนการลงทุนประจำปี 2557 เพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งไว้ 2.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น การที่กฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณาก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้

นายกฯเสียดายโอกาสพัฒนา

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ จังหวัดชัยภูมิ ว่ารู้สึกเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐบาลได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว อยากเห็นประเทศพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะนับจากมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเห็นได้ว่าขีดแข่งขันของไทยกับต่างประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นรองเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามกฎหมายฉบับนี้

"เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา เราก็เสียดายกับสิ่งที่เราควรจะได้พัฒนาให้เราได้ก้าวนำในการเชื่อมโยงต่อภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่นอกจากเรื่องการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในภูมิภาค" นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว และว่าหวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะรับฟังความต้องการและนำเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปสานต่อ เพราะเรื่องนี้เป็นโอกาสของทุกคน ไม่ใช่เป็นโครงการของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง

น้ำตาคลอถูกถามเจอยื่นถอดถอน

ผู้สื่อข่าวถามถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่สามารถดำเนินโครงการตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทได้ จะทำอย่างไร นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ รัฐบาลได้เสนอไปยังรัฐสภา และมีการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ หลังจากนี้คงต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ และหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งจากกรณีนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวพร้อมมีน้ำตาคลอว่า "วันนี้ดิฉันก็เจอทุกรูปแบบแล้ว ก็อยากขอว่าอย่างน้อยให้เรามีความยุติธรรมอยู่ในสังคม และอยากให้มองที่เจตนา อย่ามองการใช้ข้อกฎหมายเป็นข้อที่จะลิดรอนหรือเป็นข้อที่จะตัดสิทธิทุกคนเลย เพราะอย่างนี้เราจะไปกันลำบาก การพัฒนาประเทศก็ลำบาก จึงอยากขอความยุติธรรมและความเห็นใจ"

ม็อบเฮลั่น-ปชป.จี้นายกฯลาออก

ที่เวที คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) สวนลุมพินี ปรากฏว่าเมื่อแกนนำขึ้นเวทีประกาศแจ้งข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตกไปทั้งฉบับ ได้ทำให้ผู้ชุมนุมปรบมือและเป่านกหวีดแสดงความดีใจกันดังลั่น

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เรื่องนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง แม้จะอยู่ในสถานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการก็ตาม เพราะว่านายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้ว่าถ้าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง จะอ้างว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นนายกฯแล้วไม่ได้ อีกทั้งในการพิจารณาของสภา ก็มีการชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของกฎหมายมากมาย แต่รัฐบาลไม่ฟัง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------

วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

ศาลฎีกาตัดสิทธิ์การเมือง สลักจฤฏดิ์ นายก อบจ.เชียงราย 10 ปี...

ที่ศาลจังหวัดเชียงราย ได้มีการนัดอ่านคำพิพาษาศาลฎีฎา กรณีคำร้องของฝ่ายจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 2318/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 1131/2549 ในชั้นศาลฏีกาคดีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 137 ประมวลกฎหมายอาญา และกระทำการอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือบริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 โดยมีโจทย์คือนางรัตนา จงสุทธนามณี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมาศักดิ์นายกเทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย และจำเลยคือนางสลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช ภรรยานายยงยุทธ ติยะไพรัช และเป็นนายก อบจ.เชียงราย คนปัจจุบัน

หลังก่อนหน้านี้จำเลยได้ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว 2 ครั้งคือเมื่อวันที่ 13 ก.ย.โดยระบุว่าป่วยปวดศีรษะและวันที่ 2 ส.ค.ได้ยื่นให้ตีความอำนาจการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาโดยศาลชั้นต้น โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากมีบรรดาผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มสตรี อ.เทิง และ ส.อบจ.เชียงรายนำดอกไม้และป้ายเดินทางมาให้กำลังเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลานัดหมายปรากฏว่าทั้งฝ่ายนางสลักจฤฎดิ์และนางรัตนา ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษาศาลด้วยตนเอง แม้ทางฝ่ายทนายของจำเลยจะพยายามยื่นคำร้องขอสอบพยานเพิ่มเติมถึง 3 ฉบับ แต่ศาลเห็นว่ามีการสอบพยานที่เพียงพอและมีการผลัดเลื่อนนัดการอ่านคำพิพากษาศาลมาแล้วหลายนัด

นายมหันต์โชค แฉล้มเขตต์ ผู้พิพากษาศาลเชียงรายได้ขึ้นบังลังค์ห้องพิจารณา 14  อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยศาลฎีกาตัดสินให้จำคุกนางสลักจฤฏดิ์ จำเลยเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท และเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี  แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อนเป็นเวลา 2 ปี  ซึ่งจะได้มีการส่งผลคำตัดสินไปยัง อบจ.เชียงราย เพื่อเสนอไปยัง จังหวัดพิจารณาคุณสมบัติก่อนเพื่อจัดการเลือกตั้งต่อไป ทั้งนี้คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ในการเลือกตั้ง อบจ.เชียงราย ซึ่งนางรัตนาเป็นผู้สมัครหมายเลข 1 และนางสลักจฤฎดิ์เป็นผู้สมัครหมายเลข 2 ผลปรากฏว่านางรัตนาได้รับการเลือกตั้ง  ทำให้ทางนางสลักจฤฎดิ์ได้มีการฟ้องร้องและแจ้งความกล่าวหาว่านางรัตนาพร้อมด้วยนายวันชัย จงสุทธนามณี สามี ทำการมอบอุปกรณ์เด็กเล่นให้กับชาวชุมชนประตูเชียงใหม่เพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าทางนางรัตนาได้ชี้แจงและนำพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำจริง จนเป็นเหตุให้มีการยก ฟ้อง จนนางรัตนาได้นำสืบและร้องกลับต่อนางสลักจฤฎดิ์ว่าได้ดำเนินการกลั่นแกล้งไม่ให้ประกาศแต่งตั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย  พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่ามีการแจกสิ่งของจูงใจเพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง

 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อปี 2549 ให้จำคุกนางสลักจฤฎดิ์เป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนโดยไม่รอลงอาญา โทษปรับจำนวน 75,000 บาท รวมทั้งให้เว้นวรรคทางการเมือง 10 ปี แต่มีการยื่นประกันตัวออกมาสู้คดีกระทั่งศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้อง จนมีการต่อสู้กันอีกครั้งในชั้นศาลฎีกาและศาลฎีกาได้มีคำตัดสินในครั้งนี้

ที่มา.มติชนออนไลน์
----------------------------------

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ยุทธวิธีใหม่ นปช.

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ย่อมทำให้ทุกคนตาบอดหมด (รวมทั้งฟันหลอหมดด้วย)

ไม่ต้องบอกก็คงทราบอยู่แล้วว่า คำพูดที่คมอย่างนี้ไม่ได้เป็นของผม แต่เป็นของมหาตมะคานธี ผมอ้างคานธีขึ้นมา ไม่ต้องการจะเสนออะไรเกี่ยวกับอหิงสา แต่ออกจะเกี่ยวกับยุทธวิธีและเป้าหมายที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่า

อย่าว่าแต่เอา "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" เป็นนโยบายในการตอบโต้กับผู้บ่อนทำลายประชาธิปไตยเลย แม้แต่ยกขึ้นมาเพื่อข่มขู่ ก็ไม่ควรทำแล้ว เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น แม้ไม่กลัวความรุนแรง แต่การยกระดับการต่อสู้มาให้เสมอเหมือนกับฝ่าย กปปส. ก็เท่ากับชำระล้างการกระทำทั้งหมดของ กปปส.ด้วยความสกปรก จนทุกฝ่ายสกปรกเท่าๆ กัน อย่าลืมว่า ในที่ซึ่งไม่มีความสะอาดเหลืออยู่เลย ก็ย่อมไม่มีความสกปรกเช่นกัน

เสียงลั่นกลองรบของแกนนำ นปช.จากโคราช ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวไปในทาง "รบ" แก่ นปช.ทั่วประเทศ บ้างก็ออกสู่สนามโดยตรง ด้วยวิธีอันธพาลอย่างเดียวกับกปปส. แต่ส่วนใหญ่ระดมพลและแสดงพลังพร้อมเข้าสู่สนาม "รบ" อย่างเต็มที่

แต่จะ "รบ" กับใคร และ "รบ" อย่างไร มีความสำคัญกว่าอื่นใดทั้งสิ้นในสถานการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนแกนนำ นปช.คิดถึงสองอย่างนี้น้อยเกินไป

หากเป้าหมายคือปกป้องประชาธิปไตยอันน้อยนิดที่มีอยู่ (หรือประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม) กปปส.และสุเทพนั้น เกินกว่าที่จะลงมา "รบ" ด้วย ใครคือปรปักษ์ของประชาธิปไตยไทย ต้องมองให้ชัด

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ("มายาคติว่าด้วยชาติ"ในถอดรื้อมายาคติ) ชี้ให้เห็นว่า ในกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ของสยามนั้น สถาบันและองค์กรที่จำเป็นสำหรับรัฐสมัยใหม่หลายอย่างได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนที่รัฐชาติไทยจะถือกำเนิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ (อย่างน้อยตามทฤษฎี) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เช่นระบบราชการแบบใหม่, กองทัพ, ระบบตุลาการ, ระบบกฎหมายอาญา, ฯลฯ ล้วนมีมาก่อนการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

คิดต่อจากที่อาจารย์เสกสรรค์ชี้ไว้ ยังมีสถาบันองค์กรและ "กระบวนการ" อีกหลายอย่าง ที่ถูกสร้างเป็นปึกแผ่นพอสมควรแล้ว เช่นระบบการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบราชการสูงมาก ย่อมผลิตคนที่ไม่มีพันธผูกพันกับระบอบประชาธิปไตย หรือชาติในความหมายถึงสมบัติร่วมกันของประชาชน (ในแง่นี้ การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองใน 2477 จึงเป็นการปฏิวัติทางอุดมศึกษาที่มีความสำคัญมาก แม้ล้มเหลวในที่สุดก็ตาม) การศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาทั้งหมด ไม่เคยถูกปลดปล่อยจากการบังคับควบคุมอย่างเข้มงวดของระบบราชการ ในนามของกระทรวงศึกษาฯ องค์กรปกครองคณะสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีระบบเกียรติยศของตนเองที่เป็นอิสระจากระบอบเก่าเลย

อย่าว่าแต่อะไรเลย โรงเรียนแพทย์ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมากหลายต่อหลายแห่ง ล้วนสืบทอดโดยตรงกับโรงเรียนแพทย์เดิมซึ่งถือกำเนิดขึ้นภายใต้ระบอบเก่า ในฐานะเครื่องมือของรัฐเพื่อจะสงเคราะห์ข้าราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วย จึงเป็นธรรมดาที่แพทย์ไทยย่อมสำนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของ "ชนชั้นนำอุปถัมภ์" (patronizing elite) ซึ่งไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อสังคมวงกว้าง (หรือแม้แต่คนไข้ของตน ???)

ตรงกันข้าม สถาบันองค์กรและกระบวนการซึ่งเกิดขึ้นกับการปฏิวัติประชาธิปไตย มีน้อยมาก และมักจะอ่อนแอ เพราะขาดการสั่งสมกำลังอำนาจมานานและขาดฐานความชอบธรรมของระบอบเก่า เช่นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (น่าสนใจที่จะสังเกตว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งสาธารณะเดียวของไทย ที่ไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เปรียบเทียบกับตำแหน่งราชการแม้ไร้ความสำคัญเช่นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องมีโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง) ความอ่อนแอของรัฐสภาทำให้สถาบันองค์กรและกระบวนการทั้งหมดที่ได้ฐานอำนาจและความชอบธรรมจากรัฐสภาอ่อนแอไปด้วยเช่น ครม.ที่มาจากรัฐสภา, หรือกฎหมายและกระบวนการตามนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่นการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือนโยบายแรงงานต่างด้าว มาจากการตัดสินใจของรัฐสภาน้อยกว่าหน่วยราชการฝ่ายความมั่นคง

เมื่อมองจากมุมนี้ ก็จะเห็นได้ว่า กปปส.ก็ตาม สุเทพ เทือกสุบรรณก็ตาม ไร้ความหมาย พวกเขาเป็นเพียงตัวแทนของสถาบันองค์กรและกระบวนการซึ่งอ้างความชอบธรรมจากระบอบเก่า ต่อสู้ด้วยวิถีทางอนารยะทุกอย่าง (ยกเว้นการทำรัฐประหารด้วยกองทัพ ซึ่งก็อนารยะพอๆ กัน) เพื่อกีดกันมิให้สถาบันองค์กรและกระบวนการที่มากับประชาธิปไตยได้เติบโตกล้าแข็งมากไปกว่านี้

การยกกำลังมาต่อสู้ด้วยความรุนแรงกับม็อบกปปส.จึงไร้ความหมาย ถึงเอาชนะโดยบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมาก ก็ไม่สั่นคลอนอำนาจและความชอบธรรมของสถาบันองค์กรที่เกิดในระบอบเก่าได้จริง แม้เขาไม่ตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงในครั้งนี้ ก็เพราะยังไม่ใช่โอกาสต่างหาก ไม่ใช่เพราะพวกเขาสูญเสียอำนาจแห่งความรุนแรงไป ได้โอกาสเมื่อไร พวกเขาก็กลับมาใช้อำนาจแห่งความรุนแรงซึ่งอยู่ในมือของเขา

และบัดนี้ดูเหมือนโอกาสนั้นได้มาถึงแล้วกองทัพบกกระจายหน่วยทหารออกยึดกรุงเทพฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว แม้อ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย แต่ดูอาวุธที่ขนมาทำภารกิจนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ปืนยิงรถถังขนาดใหญ่ ไปจนถึงรถถังด้วย ก็เข้าใจได้ว่า จุดมุ่งหมายต้องมีมากกว่าการรักษาความปลอดภัยของประชาชนอย่างแน่นอน

พูดอย่างนิยายจีน นี่คือค่ายกลที่ นปช.ยกล่วงลงมาเข้าค่ายกลเมื่อไร ก็จะถูกบดขยี้ยิ่งเสียกว่าเมื่อ 2553

ค่ายกลนี้ตั้งขึ้นทำไม ในเมื่อสถานการณ์ดูจะรุนแรงน้อยลง เมื่อ กปปส.รวมเวทีไว้ที่สวนลุมฯ เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ก็อาจคาดเดาได้ไม่ยากว่า วาระแห่งความจริงกำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้ นั่นคือการรัฐประหารด้วยกำลังทหาร, ตุลาการภิวัตน์ หรือองค์กรอิสระ พวกเขาคาดเดายุทธวิธีของ นปช.ว่า คือการระดมกำลังลงมาแสดงพลังในกรุงเทพฯ หรือค่ายกลที่ได้ตั้งรอรับไว้แล้ว

แกนนำ นปช.ต้องไม่ลืมว่า ชนชั้นนำไทยคิดมานานแล้วว่า จะเสียสละชีวิตของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสักเท่าไรก็ได้ เพื่อรักษาสถานะเดิมไว้ (ซึ่งในทรรศนะของเขาคือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง) ตัวเลขที่เขาคาดเอาไว้นั้นสูงได้เป็นหลายพันถึงหมื่นชีวิต ไม่ว่าในครั้ง 6 ตุลา, พฤษภามหาโหด ทั้งใน 2535 และ 2553, และในครั้งนี้ ก็มีนักธุรกิจผู้ถนัดในการปั่นชื่อตนเอง เสนอตัวเลขเป็นหมื่นอีกเช่นกัน ชีวิตของไพร่เป็นผักหญ้าที่ไร้ความหมายแก่พวกเขา

จะมีประโยชน์อะไรที่ยอมเสียชีวิตของกำลังปกป้องประชาธิปไตยเป็นพันเป็นหมื่นเช่นนั้นคนตายปกป้องประชาธิปไตยไม่ได้ ถึงเวลาที่ นปช.ต้องคิดยุทธวิธีใหม่ ที่ได้ผลมากกว่าการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ และสามารถถนอมรักษาชีวิตและเสรีภาพของผู้คนผู้สนับสนุน นปช.ด้วย

การประกาศแยกประเทศ แม้ทำด้วยอารมณ์ประชดประชัน ไม่ส่งผลดีแต่อย่างไร นอกจากถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองแล้ว ในความเป็นจริงประเทศอย่างล้านนา+อีสานซึ่งไม่ติดทะเลเลย งอกงามต่อไปได้ยาก (viability) ฉะนั้น ในสถานการณ์นี้ แม้แต่การใช้อารมณ์เยี่ยงมนุษย์ปุถุชน ก็อาจทำให้พลังของตนเองอ่อนแอลงได้ แกนนำนปช.จึงต้องระวังให้ดี

สิ่งที่ นปช.ไม่ควรลืมเป็นอันขาดก็คือ ส่วนใหญ่ของประชากรไทยไม่ใช่เสื้อแดง ไม่ใช่เสื้อเหลือง ไม่ใช่สลิ่ม ไม่ใช่กระฎุมพีที่เป็นอณู แต่เขาคือคนที่มีเหตุผล คิดเองเป็น และมีสำนึกความเป็นธรรมตามธรรมชาติของเขา


ชัยชนะของ นปช.คือได้รับการสนับสนุนจากคนเหล่านี้ การเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่ผลักคนเหล่านี้ออกไป หรือสร้างกำแพงขวางกั้นคนเหล่านี้ คือความอัปราชัย ยิ่งเสียกว่าถูกทหารล้อมปราบ

วิธีต่อต้านการรัฐประหารที่ได้ผลที่สุด ต้องเป็นวิธีที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน และอาจเข้าร่วมได้ เช่นต่อต้านประท้วงด้วยวิธีที่กองทัพไม่มีสมรรถนะจะใช้กำลังของตนปราบปรามได้ เช่นชุมนุมในที่สาธารณะและพร้อมจะสลายตัวทันทีที่เห็นว่าไม่ปลอดภัย คนที่ยังไม่ตายมีโอกาสจัดการประท้วงได้อีก และควรทำไปเรื่อยๆ ทุกโอกาสที่ปลอดภัย ฝ่ายแรงงานและข้าราชการที่สนับสนุนอาจใช้วิธีเฉื่อยงาน การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยผู้สั่งไม่อาจลงโทษได้ หรือปฏิบัติงานให้ผิดหรือเกินคำสั่ง และการเผยแพร่ความรู้และความคิดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะทหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันองค์กรที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย

พอจะคาดได้ว่า ทันทีที่มีการยึดอำนาจรัฐ แกนนำของนปช.จะต้องถูกทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ (ซื้อ หรือจับกุม หรือ "เก็บ") ดังนั้น โดยโครงสร้างในขณะนี้ ดูเหมือน นปช.จะถูกทำให้เป็นหมันไปทันที แกนนำต้องคิดการจัดองค์กรใหม่ที่จะทำให้นปช.สามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้ แม้ไม่มีแกนนำเด่นๆ ให้เห็นอีกแล้ว ไม่ใช่คิดแต่เพียงแกนนำรุ่นสองรุ่นสาม แต่ต้องคิดถึงการจัดองค์กรใหม่ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องคิดถึงโครงสร้างการสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพ หากเตรียมการเหล่านี้ได้ดี แกนนำอาจใช้วิธี "ล่องหน" คือหลบหนีอยู่ภายในประเทศ (ไม่ใช่กัมพูชา หรือดูไบ) อย่างที่แกนนำของฝ่ายต่อต้านในไอร์แลนด์ได้ทำมาแล้ว แล้วกำกับการต่อต้านอยู่ในมุมมืดที่ฝ่ายรัฐประหารมองไม่เห็น เส้นทางล่องหนเช่นนี้เตรียมการไว้ได้แต่บัดนี้

การปรับโครงสร้างองค์กร หมายถึงบทบาทและสถานะของแกนนำ นปช.ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไป จะมีคนที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตาอีกจำนวนมากเข้ามาเป็นแกนนำในหน่วยที่ย่อยลงมา จนกระทั่งแกนนำระดับชาติอาจด้อยความสำคัญลง หมดเวลาสำหรับการปราศรัยเอามันหรือปลุกความฮึกเหิมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับโครงสร้างองค์กรอาจกระทบถึงเป้าหมายขององค์กรด้วย เช่น คุณทักษิณ ชินวัตรจะได้กลับบ้านหรือไม่ และจะกลับในฐานะอะไร อาจไม่มีความสำคัญแก่ นปช.อีกเลยก็ได้

ที่มา:มติชนออนไลน์
---------------------------------------------------------

ญวนเปิดศึกข้าวไทย...!!?



เวียดนามดั๊มพ์ตลาดสู้ไทย เอกชน34รายแย่งซื้อสต็อก5แสนตัน โรงสีชี้ข้าวไทยแนวโน้มอ่อนตัวลง เหตุรัฐเร่งระบาย ชาวนาอ่วม

เวียดนาม ประกาศลดราคาข้าวขาวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน หวังกระตุ้นการส่งออก ลดภาระสต็อกหลังผลผลิตเข้าตลาด ด้านพาณิชย์เปิดประมูล 5 แสนตัน เอกชน 34 รายแห่ยื่นซอง ชี้รัฐขายข้าวแข่งชาวนาฉุดราคาลงต่อเนื่อง เผยประมูลข้าวต่างจังหวัดใช้ทีโออาร์เดียวกับส่วนกลาง

รัฐบาลกำลังเร่งระบายข้าวในสต็อกที่ยังเหลือกว่า 16.7 ล้านตันอย่างเต็มที่ เพื่อหวังนำเงินมาใช้หนี้ชาวนาที่นำข้าวเข้าโครงการจำนำปี 2556/57 โดยรัฐบาลยังคงค้างหนี้ชาวนากว่าแสนล้านบาท แต่การระบายข้าวรัฐบาลกำลังมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อเวียดนามในฐานะผู้ผลิตรายสำคัญกำลังลดราคาข้าวในตลาดโลกอย่างรุนแรง เพื่อแข่งขันกับข้าวจากไทย

แหล่งข่าวในสมาคมอาหารเวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามลดราคาฐานสำหรับส่งออกข้าวเกรดต่ำ เป็นครั้งที่สองในรอบ 1 เดือน เนื่องจากต้องการกระตุ้นการส่งออกในช่วงที่ปริมาณข้าวทั่วโลกล้นตลาด

แหล่งข่าวระบุว่า เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ปรับลดราคาฐานสำหรับการส่งออกข้าว 25% เกรดต่ำลงอีกเกือบ 3% เหลือ 355 ดอลลาร์ต่อตัน หลังจากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเวียดนามได้ลดราคา สำหรับการส่งออกเหลือ 365 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อช่วยบรรดาผู้ส่งออกให้สามารถแข่งขันกับประเทศไทย อินเดีย และปากีสถานได้ แต่ยอดส่งออกข้าวของเวียดนาม ในเดือนม.ค.-ก.พ. ยังคงลดลง 12% จากปีก่อนเหลือ 702,000 ตัน

ทั้งนี้ ข้าวเกรดต่ำประกอบด้วยข้าวหักระหว่าง 25%-100%

หนังสือพิมพ์ทางการของเวียดนาม รายงานอ้างคำพูดของประธานสมาคมข้าวเวียดนาม ว่า ฟิลิปปินส์เตรียมเปิดประมูลซื้อข้าวปริมาณ 800,000 ตัน ถือเป็นปริมาณสูงสุดในการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว สะท้อนให้เห็นว่าฟิลิปปินส์กำลังขาดแคลนข้าว

ด้านผู้ค้ารายหนึ่งจากบริษัทค้าข้าวต่างชาติ ในนครโฮจิมินห์ ซิตี้ กล่าวว่า บรรดาผู้ซื้อต่างชาติยังคงรอให้ราคาข้าวในเวียดนามลดลง ขณะนี้จึงยังไม่ได้สั่งซื้อข้าวเพิ่มเติม

เวียดนามดั๊มพ์ราคาแข่งไทย

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ข้าวขาว 25% ไทยโค้ดราคา 378 ดอลลาร์ต่อตัน เวียดนามโค้ดราคา 365 ดอลลาร์ต่อตัน ก่อนปรับลงอีกครั้งวานนี้ ขณะที่ข้าว 5% ไทยโค้ดราคา 448 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนเวียดนามขายที่ 400 ดอลลาร์ต่อตัน

"ราคาข้าวขาว 25% ห่างกันอยู่ 13 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ราคาไทยกับเวียดนามขยับมาใกล้เคียงกัน ทางเวียดนามจึงต้องปรับลดราคาลงไปอีก และจากการประเมินสต็อกของไทย ที่กำลังระบายออกมา ทำให้ราคาตลาดโลกลดลง เข้าใจว่าเวียดนามพร้อมดั๊มพ์ราคาสู้อย่างแน่นอน เพื่อระบายผลผลิตออกไปให้ได้" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ราคาข้าวเวียดนามร่วงลงอย่างหนัก จากการที่ชาวนาเริ่มเกี่ยวข้าวในพื้นที่เพาะปลูกลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ โดยคาดว่าการเก็บเกี่ยวจะเพิ่มขึ้นสูงสุดราวกลางเดือนมี.ค. นี้

ชี้สต็อกข้าวไทยกดราคาข้าว

นายเกา ดึ๊ก รัฐมนตรีเกษตรเวียดนาม ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเวียดนามว่า บริษัทท้องถิ่นจะเริ่มต้นการซื้อข้าวเพื่อเก็บสำรองตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.นี้ โดยจะมีระยะเวลาการรับซื้อนาน 1 เดือน

ขณะที่ สมาคมอาหารเวียดนาม กล่าวเพิ่มเติมว่า การเก็บสำรองข้าวจะดำเนินการตั้งแต่เดือนมี.ค. ถึงกลางเดือนเม.ย. โดยจะเป็นการสำรองข้าวในคลัง 1 ล้านตัน เพื่อช่วยพยุงราคาข้าว ช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกซบเซา และการแข่งขันจากผู้ส่งออกรายอื่นๆ ทั้งไทย อินเดีย และ พม่า เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน เวียดนามต้องรับมือกับการแข่งขันในตลาดส่งออกข้าวที่รุนแรงอย่างมากในปีนี้ เพราะสต็อกข้าวที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในไทย และข้าวราคาถูกจากอินเดีย และปากีสถาน ได้ดึงดูดผู้ซื้อที่แต่เดิมเคยเป็นลูกค้าของเวียดนาม อย่าง ประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ไป

พาณิชย์ยันไม่ขายราคาต่ำ

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การเปิดประมูลข้าววานนี้ (10 มี.ค.) รวม 5.17 แสนตัน ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นจำนวนมากถึง 34 ราย และคาดว่าน่าจะระบายได้หมด โดยวันนี้ (11 มี.ค.) จะเปิดซอง และเจรจาต่อรองกับผู้ที่เสนอราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดมากที่สุด หากผู้ประกอบการรายใดเสนอต่ำกว่าเกณฑ์ราคากลางก็จะไม่พิจารณา และยืนยันว่าไม่ระบายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าตลาดแน่นอน

ทั้งนี้ การขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับ คอฟโก คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน จำนวน 1 ล้านตัน ก็ขายในราคาสูงกว่าเวียดนามถึง 20% และคาดว่าราคา รวมถึงความต้องการซื้อข้าวจะดีขึ้น เพราะมีสถานการณ์ภัยแล้ง

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้จำหน่ายข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 นาปรัง ปีการผลิต 2555 ปีการผลิต 2555/56 (รอบ 1) และปีการผลิต 2556/57 เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและ/หรือส่งออกต่างประเทศ แบ่งเป็นชนิดข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ข้าวหอมจังหวัด ข้าวปทุมธานี ข้าวขาว 5% และปลายข้าวขาวเอวันเลิศ ปริมาณรวม 5.17 แสนตัน

โรงสีไม่ซื้อเก็บสต็อกหวั่นขาลง

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เอกชนให้ความสนใจมากขึ้น เพราะราคาข้าวในตลาดปรับลดลง และแนวโน้มยังลดลงต่อเนื่อง จากการระบายข้าวของรัฐ ขณะที่การซื้อขายข้าวในตลาดค่อนข้างซบเซา และโรงสีไม่ซื้อข้าวมาเก็บสต็อกไว้ เพราะกังวลแนวโน้มราคาอาจปรับลดลงอีก โดยขณะนี้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 7,500 -7,800 บาท ส่วนข้าวขาว 5% อยู่ที่ ตันละ 12,500 บาท แต่ชาวนาอาจขายได้ราคาต่ำกว่านี้ เพราะความชื้นสูง

แหล่งข่าวจากโรงสีข้าวกล่าวว่า ราคาข้าวไทยขณะนี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงไปอีก เนื่องจากรัฐบาลมีการขายข้าวแบบเร่งด่วน มีคาดว่าเสนอซื้อจะเฉลี่ยที่ ตันละ 9,000-10,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวในตลาด อยู่ที่ ข้าวขาว 5% ตันละ 13,000 บาท ข้าวนึ่ง ตันละ 12,800 -13,000 บาท และยิ่งหมดโครงการรับจำนำ จะทำให้ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีราคาเฉลี่ยที่ตันละ 7,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลดต่ำลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว

ชี้รัฐบาลขายข้าวแข่งชาวนา

"สภาพการค้าข้าวของไทย เมื่อมีผลผลิตจะต้องเร่งขายทันที ไม่สามารถเก็บไว้ที่ชาวนาได้ ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ตลาดข้าวในประเทศ เข้าสู่การแข่งขันกันระหว่างข้าวจากชาวนาและข้าวจากรัฐบาลที่ต้องแย่งกันเข้าสู่ตลาด ส่งผลให้ทิศทางราคาข้าวเปลือกน่าจะลดลงต่อเนื่อง"

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีจำนวนผู้เสนอซื้อ ข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มีการเปิดประมูลข้าวนั้น เพราะโรงสีให้ความสนใจเสนอซื้อร่วมด้วย ขณะที่ผู้ส่งออกยังมีผู้ประกอบการรายสำคัญๆ และผู้ประกอบการทั่วไปให้ความสนใจเสนอซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ส่งออกต้องหาข้าวส่งมอบให้ได้ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ได้รับไว้

พาณิชย์เชื่อราคาไม่ลงอีก

สำหรับทิศทางราคาข้าวในตลาดโลกไม่น่าจะตกต่ำไปกว่านี้ เพราะราคาข้าว เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน เริ่มมีเสถียรภาพทำให้ปัจจัยภายใน จะไม่กระทบต่อราคาข้าวไทยให้ลดต่ำลงไปอีก

ส่วนแผนการระบายข้าวในภูมิภาค กรมการค้าต่างประเทศ จะใช้ทีโออาร์เดียวกันกับที่ส่วนกลางใช้ แต่เปลี่ยนเฉพาะคลังที่จะเปิดขายซึ่งจะกำหนดให้อยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกส่วนสามารถเข้าเสนอซื้อข้าวได้ และรักษาหลักการการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันไว้ ส่วนผลการเคาะราคาขายจะต้องเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้พิจารณาและเสนอให้รมว.พาณิชย์อนุมัติเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องราคาและรู้ข้อมูลรายละเอียดโกดังข้าวแต่ละแห่งว่าได้ถูกระบายไปก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ และมีความพร้อมสำหรับเปิดขายหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ จะเปิดประมูลข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) ปริมาณ 2 แสนตัน ซึ่งเป็นการเปิดประมูลข้าวผ่านเอเฟท ครั้งที่ 6 มั่นใจว่าการระบายข้าวในแต่ละเดือน จะเป็นตามเป้าหมาย เดือนละ 1 ล้านตัน และส่งเงินคืนกระทรวงการคลังได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท

34 เอกชนแห่ประมูลสต็อกรัฐ

รายชื่อเอกชนที่ร่วมยื่นซองเสนอราคา ได้แก่ บริษัท ประกรวรรณรวมการ จำกัด, บริษัท กำแพงเพชร เอ๊กซ์ปอร์ต จำกัด, บริษัท ทีเอ็มมีไรซ์มิลล์ จำกัด, บริษัท เจ.พี.ไรซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1998) จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพรกิจอินเตอร์ไรซ์, บริษัท สหธัญ จำกัด, บริษัท โรงสีขุนศรี จำกัด, บริษัท โรงสีข้าวทวีพัฒนา จำกัด (นครปฐม), บริษัท กิจเจริญพรชัยชุมพล, บริษัท กิจเจริญชัยรุ่งเรือง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจประเสริฐ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟสมบูรณ์การค้า, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีนิวัตรพาณิชย์, บจก.โรงสีเทพมงคล, บจก.มหาทรัพย์พีค, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟศรีกรุงลาดกระบัง, บจก.เจียเม้ง, บริษัท อุดมสุขไรซ์ จำกัด, บจก. อิสเทิร์นไรซ์, บริษัท โกลเด้นเกรนเอ็นเตอร์ไพรส์, บริษัท โรงสีข้าวหนองหานไทยง่วน, ห้างหุ้นส่วนกำจัดสมบูรณ์พืชผล, ห้างหุ้นส่วนจำกัด มโนรมย์ธัญญกิจ, บจก.โรงสีข้าวเจริญผล, บจ.โรงสีข้าวยิ่งไพบูลย์ (2007), บจก.กรุงไทยพืชผล, บจก.เอเชียโกลเด้นไรซ์, บจก.ข้าว ซี.พี., บจก.โคสตอล เทรดดิ้ง, บริษัท ไทยฟ้า (2511) จำกัด, บริษัท นครหลวงค้าข้าว, บจก. พงษ์ลาภ หจก.โรงสีไฟทรัพย์เจริญ, บริษัท ย้งเซี๊ยะ จำกัด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

4 ทศวรรษ ตระกูล ศรีวิกรม์..

จากยุค ชอบทุกพรรค รักทุกคน สู่ยุคเลือกข้าง-การเมืองท้องถนน

ุกลางปี 2531 เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อตัดสินใจนำทีม "กลุ่ม 10 มกรา" ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ มาจัดตั้ง "พรรคประชาชน" โดยตัวเขาเองนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค

ในการเลือกตั้งทั่วไปปีเดียวกันนั้น "เฉลิมพันธ์" นักอุตสาหกรรม และแลนด์ลอร์ดย่านถนนสุขุมวิท หิ้วกระเป๋าใบใหญ่ไปลงสมัคร ส.ส.นครราชสีมา

จำได้ว่า "เจ้าสัวเฉลิมพันธ์" ให้สัมภาษณ์นิตยสาร "สู่อนาคต" (ฉบับวันที่ 22-28 มิ.ย.2531) ว่าด้วยการเข้ามาสู่วงการการเมืองอย่างหมดเปลือก จึงเป็นที่มาของคำโปรยตรงหน้าปกว่า "เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หมดไปแล้ว 20 ล้าน" และเงิน 20 ล้านบาทเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา

จากรุ่นพ่อรุ่นแม่อันโด่งดัง ตระกูล "ศรีวิกรม์" ไม่เคยห่างหายไปจากถนนการเมืองสายเลือกตั้ง และเมื่อถึงวันหนึ่ง "ลูกสาว-ลูกเขย" ออกไปเล่นการเมืองบนท้องถนน ก็นำมาซึ่งความวุ่นวายภายในครอบครัว

"เจ้าสัวเฉลิมพันธ์" จากไปแล้ว เหลือแต่ "คุณหญิงศศิมา" ที่ยังต้องดูแลธุรกิจของตระกูล และเป็นเสาหลักของครอบครัว

ก้าวแรกนำโดย "คุณหญิงอ๋อย"

ก่อนจะมาเป็น "คุณหญิงอ๋อย" หรือ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ นั้น มีนามสกุลเดิมว่า "วุฑฒินันท์" เป็นบุตรีของ พ.ต.อ.สวงศ์ วุฑฒินันท์ กับ ประกอบกูล อภัยวงศ์

คุณตาของคุณหญิงศศิมาคือ พระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งในวงการเมืองทราบดีว่า ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนแรกเป็นทายาทของพระยาอภัยภูเบศร์ แต่ตอนที่คุณหญิงศศิมาเล่นการเมือง กลับไม่เลือกพรรค ปชป.

จุดหักเหของชีวิตคุณหญิงอ๋อย คือการพบรักกับ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หนึ่งในทายาทของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ ผู้ที่เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทรณ์

พระยาศรีวิกรมาฑิตย์ ลาออกจากราชการก็ดำเนินธุรกิจค้าขายทองและซื้อขายที่ดิน จนมีที่ดินในกรุงเทพฯ มากมายกลายเป็นแลนด์ลอร์ดแห่งมหานครกรุงเทพฯ และส่งมอบมรดกกับลูกทั้งสาม คือ ท่านผู้หญิงสมศรี, สิทธิพงศ์ และเฉลิมพันธ์

ว่ากันว่า เฉลิมพันธ์ทำธุรกิจพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคุณหญิงอ๋อยยืนอยู่เคียงข้าง บุกเบิกทำธุรกิจใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ

หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ประชาธิปไตยบานสะพรั่งบานพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด

พงส์ สารสิน เพื่อนของคุณหญิงอ๋อย มาชักชวนให้ไปอยู่พรรคกิจสังคม ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคกิจสังคม พ.ศ.โน้นคือศูนย์รวมของกลุ่มทุนใหม่ และที่สุด คุณหญิงศศิมา ก็ตัดสินใจเล่นการเมืองครั้งในชีวิต ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคกิจสังคม โดยรับหน้าที่เป็นรองเลขาธิการพรรค

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2518 คุณหญิงศศิมา ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตพระโขนง แต่ผลออกมาแพ้ พิชัย รัตตกุล ผู้สมัครพรรค ปชป.เพียง 200 กว่าคะแนน

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2519 คุณหญิงศศิมาลงเขตเดิมคือเขตพระโขนง แข่งกับคนเดิม แม้เธอจะค่อนข้างมั่นใจ แต่ก็ปรากฏว่าพ่ายแพ้ไปพันกว่าคะแนน

บนถนนการเมือง ดูเหมือนคุณหญิงศศิมาจะไม่ค่อยมีโชคนัก แม้การเลือกตั้งปี 2531 เธอจะกลับมาลงสมัคร ส.ส.เขตพระโขนง ในสีเสื้อพรรคประชาชน (พรรคที่มาสามี-เฉลิมพันธ์ ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรค) ก็ยังสอบตกอีกครั้งจนได้

"เฉลิมพันธ์" เดิมพันการเมือง

แม้จะเป็นคู่คิดกันในเรื่องการทำธุรกิจ แต่ในการเมือง เฉลิมพันธ์คิดไม่ตรงกับภรรยา เฉลิมพันธ์ชอบพรรค ปชป.มานานแล้ว แถมยังชักชวนให้คุณหญิงอ๋อยเข้า ปชป.ตอนแพ้เลือกตั้งปี 2518

พอคุณหญิงศศิมาวางมือ เฉลิมพันธ์จึงเข้าพรรค ปชป.ในยุคตกต่ำ หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 โดยเวลานั้น พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค และเฉลิมพันธ์เคยเป็นเลขาธิการของพรรค

เฉลิมพันธ์ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกที่เขตพระโขนง ในสีเสื้อ ปชป. ก็สอบตก พ่ายกระแสประชากรไทยฟีเวอร์ และเว้นวรรคไปหนึ่งสมัย ก่อนจะมาลงสนาม ส.ส.อีกครั้งปี 2529 จึงได้เป็น ส.ส.กทม.สมัยแรก

ปี 2531 สมาชิกพรรค ปชป.ส่วนหนึ่งหนุนให้เฉลิมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. แต่ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเหตุนี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งกันเองในพรรค และสุดท้ายเฉลิมพันธ์กับอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่งก็ลาออกจากพรรค อันเป็นตำนาน "กลุ่ม 10 มกรา" ให้เล่าขานกันจนถึงบัดนี้

เมื่อตั้ง "พรรคประชาชน" เฉลิมพันธ์ ย้ายสนามไปลงสมัคร ส.ส.ที่นครราชสีมา ด้วยการชักชวนของ เลิศ หงษ์ภักดี อดีต ส.ส.นครราชสีมา (เลิศ หงษ์ภักดี เป็นบิดาของระนองรักษ์ และเป็นพ่อตาของไพโรจน์ สุวรรณฉวี)

ปี 2533 เฉลิมพันธ์ในฐานะ ส.ส.โคราช และหัวหน้าพรรคประชาชน ได้นำพรรคไปรวมตัวกับพรรคก้าวหน้าของ อุทัย พิมพ์ใจชน พรรครวมไทยของ ณรงค์ วงศ์วรรณ และพรรคกิจประชาคมของ บุญชู โรจนเสถียร กลายเป็น "พรรคเอกภาพ"

หลังรัฐประหาร 2534 คณะทหาร รสช.จั้งตั้ง "พรรคสามัคคีธรรม" โดยมีพ่อเลี้ยงณรงค์ เป็นหัวหน้าพรรค เฉลิมพันธ์ถูกดึงเข้าไปร่วมด้วยและมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2535/1 เฉลิมพันธ์ไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่ก็หนุนช่วย ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ลูกเขยของ เลิศ หงษ์ภักดี เป็น ส.ส.นครราชสีมา สมัยแรกได้สำเร็จ

กล่าวสำหรับเฉลิมพันธ์ บุตรชายคนสุดท้องของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ แต่งงานกับคุณหญิงศศิมา มีบุตรรวม 4 คนคือ พิมล, ชัยยุทธ, วิกร และทยา เมื่อเขาวางมือทางการเมือง ก็มีบุตรชายคนโตเข้ามาเล่นการเมืองในยุคมนต์รักประชานิยม

"ลูกคนโต" ใต้ร่มเงาทักษิณ

ก่อนจะก้าวสู่สังเวียนการเมืองเหมือนบิดามารดา "เอ" พิมล ศรีวิกรม์ เคยเป็นอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2543-44 พิมลติดสอยห้อยตาม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาร่วมก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย และได้เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเป็นเลขานุการของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ

นอกจากนั้น พิมลยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย 2 สมัย หลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 พิมลถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคการเมือง

ปี 2550 พิมลได้ช่วย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก่อตั้งกลุ่มธรรมาธิปไตย แล้วจึงไปร่วมกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

เงียบหายไปพักใหญ่ พิมลก็หวนกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2555 ซึ่งเวลานั้น น้องสาวคนเล็กได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง ในฐานะรองผู้ว่า กทม. โดยมีน้องเขยเป็นผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์

อีกด้านหนึ่ง พิมลเป็นที่รู้จักของสาธารณชน จากการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ปี 2550 โดยมีเพื่อนรักของเขาคือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นเลขาธิการสมาคมเทควันโดฯ

"เอ พิมล" กับ "ตั้น ณัฏฐพล" เป็นทั้งเพื่อนและญาติ เมื่อณัฏฐพลแต่งงานกับ "อีฟ ทยา" น้องสาวสุดรักของพิมล

"ลูกเขย-ลูกสาว"ก้าวสู่ท้องถนน

ชั่วโมงนี้ "อีฟ" ทยา ทีปสุวรรณ ลูกสาวคนเล็กของคุณหญิงศศิมา และสามี "ตั้น" ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กำลังเด่นดังในฐานะแม่ทัพ กปปส.

"ตั้น ณัฏฐพล" เกิดที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของ วีระพันธ์ ทีปสุวรรณ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และผู้บริหารองค์กรธุรกิจอีกหลายแห่ง

ณัฏฐพลเคยดูแลกิจการของครอบครัวภรรยาเช่น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรีย์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัลไทย จำกัด ประจำสาขาดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูแลการขยายตลาดพรม แบรนด์ Royal Thai ในพื้นที่ประเทศตะวันออกกลาง

ปี 2550 ณัฏฐพลเข้ามาสู่ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ส.เขต 10 กทม. ตอนแรกสอบตก แต่มีเลือกตั้งซ่อมปี 2552 จึงสอบได้ และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการพรรคฯ ส่วนภรรยา "ทยา" ก็เข้ามารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.

นัยว่า ทั้งณัฏฐพล-ทยา ต่างก็เป็นคนสนิทสายกำนันสุเทพ แม้ว่า "ลุงกำนัน" จะวางมือในฐานะเลขาธิการพรรค แต่ ณัฏฐพล ก็ยังเป็น ผอ.พรรค จนถึงวันที่ลาออกมาเป็นแกนนำ กปปส.

แล้วสถานการณ์การเมืองในตระกูล "ศรีวิกรม์" ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกสาว-ลูกเขย ในฐานแกนนำ กปปส.ไปเป่านกหวีด แสดงการประท้วง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร

จากนั้น ก็มาด้วยการเหตุปาระเบิดใส่บ้านใหญ่ของตระกูลศรีวิกรม์ ที่สุขุมวิท, ยิงกราดบ้านพักตากอากาศของคุณหญิงศศิมาที่เขาใหญ่ และแขวนระเบิดที่บ้านของณัฏฐพล ย่านสุขุมวิท

7 มี.ค.2557 ทยาได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า จะขอเว้นวรรคทางการเมือง ขอยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองชั่วคราวและคงจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมอีก แต่ณัฏฐพล-สามีในฐานะแกนนำ กปปส.ยังเคลื่อนไหวต่อไป

ก่อนหน้าที่ทยาจะตัดสินใจเว้นวรรคทางการเมือง พิมลได้โทรไปขอโทษคุณหญิงพจมาน ซึ่งฝ่ายหลังได้รับคำขอโทษ และบอกว่าไม่เป็นไร และพิมลยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลายสำนักทำนองว่า ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของน้องสาวและน้องเขย รวมทั้งการเคลื่อนไหวของ กปปส.ที่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ

ไม่ว่าการเมืองเรื่องของครอบครัว "ศรีวิกรม์" จะลงเอยอย่างไร? แต่สังคมการเมืองไทย ได้บันทึกไว้ว่า ตระกูลศรีวิกรม์ เป็นต้นแบบของการเล่นการเมืองสไตล์ "ชอบทุกพรรค รักทุกคน"

อยู่มาวันหนึ่ง คนในตระกูลศรีวิกรม์ ออกไปเล่นการเมืองบนท้องถนน ก็เจอทั้งปืน และระเบิด ซึ่งไม่เคยพานพบมาก่อน

40 ปีแล้วที่คนไทยได้เห็นตระกูลศรีวิกรม์โลดแล่นอยู่ในหลายพรรคการเมือง อาทิ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคเอกภาพ พรรคสามัคคีธรรม พรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป "ตระกูลศรีวิกรม์" คือบันทึกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย จากยุคนักเลือกตั้ง สู่ยุคนักเคลื่อนไหวบนท้องถนนเรียบร้อยแล้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ภริยา ตุลาการรัฐธรรมนูญ...?

โกงที่ดิน 51แปลง ปลอมหนังสือ หลอกโอนที่ดินเป็นของตัวเอง ศาลสั่งโอนคืน/ชดใช้ค่าเสียหายอ่วม 45 ล้าน

ไม่เพียงแค่ แทน เทือกสุบรรณ เท่านั้นที่มีชนักติดหลัง ปมปัญหา เรื่อง โกงที่ดิน

แต่หากย้อนเวลากลับไป “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำ กปปส. ผู้เป็นพ่อ ก็เคยสร้างความอื้อฉาวมาแล้ว เมื่อครั้งเป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”สมัย “รัฐบาล ชวน หลีกภัย” พ.ศ.2538 (ชวน 1 ) แล้วดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินเกษตรกร “สปก.4-01” เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในภาคใต้ แต่สุดท้ายมีแต่ชื่อ “นายทุน” และ “คนใกล้ชิดนักการเมือง” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยเฉพาะ “ทศพร เทพบุตร” สามีของ “อัญชลี เทพบุตร” เลขานุการส่วนตัวสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าถือครองที่ดิน สปก.4-01 ด้วย

ซึ่งเรื่องนี้ สุดท้ายแล้วมี “คำพิพากษาศาลฎีกา” ออกมาให้มีการ “คืนที่ดิน สปก.” อย่างชัดเจน

อีกกรณีที่น่าสนใจ ก็คือ “การถือครองที่ดินเขายายเที่ยง” จ.นครราชสีมา ของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานทท์” องคมนตรี ที่เรื่องอื้อฉาวขึ้นมาขณะดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จนสุดท้ายต้องจำใจ ย้ายสำมะโนครัว ลงมาจากเขายายเที่ยงในท้ายที่สุด

กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละกรณีดังที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เกิดกับ “กลุ่มคน” ที่ “มวลมหาสาวกประชาธิปัตย์(ปชป.)” เชิดชูว่า “คนดี” ทั้งสิ้น

แต่ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีข่าวกระเส็นกระสายมาตลอดว่า “คู่ชีวิต” ของหนึ่งใน “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ก็มี “คดีความ” เกี่ยวกับเรื่อง “ที่ดิน” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

โดย “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คนนี้ก็เป็นอีกคนที่ “มวลมหาสาวก ปชป.” นั่งยัน ยอนยันว่า “คนดี๊-คนดี” เช่นกัน !!!

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาเลขที่ 435/2556 กรณีที่ พ.ต.หญิงสินเสริม เลขะวนิช โดยนางกัลยาณี รุทระกาญจน์ มูลนิธิสินเสริมธรรม และ น.ส.สุภา วงศ์เสนา ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้องร้อง นางทีปสุรางค์ ภักดีธนากุล (สกุลเดิม สุนทรพันธ์) ภรรยานายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนางจินดา สุนทรพันธ์ กรณีที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20550 และ 23716 ถึง 23765 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวม 51 แปลง โดยเมื่อปี 2538 ได้ดำเนินการรวมทั้งดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นแปลงเดียวกันแล้วแบ่งเป็นแปลงย่อยไม่เกินแปลงละ 50 ตารางวา เพื่อนำออกขายแก่บุคคลทั่วไป โดยนางทีปสุรางค์ ภักดีธนากุล ตกลงรับเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทย์เพื่อยื่นเรื่องราวของรวมโฉนดที่ดินแล้วแบ่งแยกที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง

จากนั้นนางทีปสุรางค์นำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจประมาณ 15 ฉบับ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ ซึ่งไม่ได้กรอกข้อความไว้ โดยนางทีปสุรางค์ อ้างว่าจะนำไปกรอกข้อความที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจนโจทก์หลงเชื่อได้ลงลายมือชื่อ และมอบหนังสือมอบอำนาจทั้ง 15 ฉบับ ให้นางทีปสุรางค์ไป ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2540 โจทก์ทราบว่านางทีปสุรางค์ มิได้รวมและแบ่งแยกโฉนดที่ดินทั้ง 51 แปลง ตามเจตนาของโจทก์ตั้งแต่แรก แต่กลับสมคบกับจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ดังกล่าว ไปกรอกข้อความจดทะเบียนโอนที่ดินไปเป็นของจำเลยทั้งสอง โดยนางทีปสุรางค์ กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจจำนวน 5 ฉบับ

โดยหนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 1 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 11 แปลง ให้แก่นางทีปสุรางค์เอง และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 2 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 24 แปลงแก่นางทีปสุรางค์เอง และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 3 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 7 แปลงแก่จำเลยที่ 2 โดยใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 4 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 7 แปลงแก่จำเลยที่ 2 และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

และ หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 5 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 2 แปลงแก่จำเลยที่ 2 และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2539

ซึ่งการกรกอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์มิได้ขายที่ดินและไมเคยได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปโดยผิดเจตนาของโจทก์ การกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เป็นการร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือมอบอำนาจทั้ง 5 ฉบับ จึงเป็นเอกสารปลอม จะนำมาใช้จดทะเบียนนิติกรรมใดๆไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสอง นำไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินจึงเป็นโมฆะ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินแล้วทะเบียนโอนคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์เกิดความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันที่ดินมีราคาเป็นเงิน 45,000,000 บาท และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวทั้ง 5 ฉบับข้างต้นทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 51 แปลงและจดทะเบียนโอนคืนแก่โจกท์โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนให้ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าที่ดิน จำนวน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จตามโจทก์

โดยในการพิพากษาของ “ศาลฎีกา” ได้วินิจฉัยว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่เป็นกรณีที่ นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยไม่ได้กรอกข้อความแล้วนำไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตัวเอง และจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นไปตามเจตนาของโจทก์และโจทก์ร่วม ที่มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 ไปแบ่งแยกที่ดินพิพาท เป็นแปลงย่อยเพื่อขายต่อเท่านั้น การกระทำของนางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นความเสียหายต่างๆ หากเกิดขึ้นจริงดังที่นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ก็เกิดจากการทำผิดกฎหมายและศีลธรรมทั้งสิ้น

โดยพิพากษากลับให้นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม โอนขายที่ดินตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 ทุกฉบับ ระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทจำนวน 35 แปลงแล้วทะเบียนโอนกลับมาเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ร่วม โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม การโอนขายที่ดิน ตามหนังสือมอบอำนาจ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2538 และฉบับลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 ระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในที่ดินพิพาทจำนวน 16 แปลง แล้วจดทะเบียนโอนกลับมาเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนที่ดินกลับมาเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ชดใช้ราคาที่ดิน 45,000,000 บาท ให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสามศาลแทนโจทก์และโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียม ในส่วนของฟ้องแย้งทั้ง 3 ศาลให้ !

คนดี…คนดี !!!









ที่มา.พรนครสาส์น
----------------------------------------------------------