--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

3 ปีแห่งการฟอกถ่านให้ขาว !!?


โดย.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

หลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวปาฐกถาที่มองโกเลียเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นปัญหาประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่เกิดจากการรัฐประหาร การคุกคามของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย และการกวาดล้างปราบปรามประชาชน ในที่สุด วันที่ 8 พฤษภาคม พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ออกแถลงการณ์ของพรรค ส่งให้กับนานาประเทศ เพื่อคัดค้านคำปาฐกถา ซึ่งแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งของการโกหกบิดเบือน ฟอกถ่านให้ขาว และใส่ร้ายป้ายสีประชาชน แถลงการณ์นี้เท่ากับว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ขยายวาทกรรมโกหกบิดเบือนในสังคมไทยให้เผยแพร่ไปทั่วโลก

ในคำแถลงของพรรคประชาธิปัตย์ ได้อ้างว่าที่มาของปัญหาการเมืองในประเทศไทยว่า เกิดจากการบริหารของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น จนทำให้ฝ่ายทหารต้องเข้าแทรกแซงในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 และแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว ซึ่งเป็นการอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร ทั้งที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ได้เลยว่า การบริหารของรัฐบาลทักษิณมีการทุจริตมากมายเช่นนั้น และยิ่งไม่สามารถที่จะเป็นข้ออ้างสำหรับการก่อรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยได้เลย ต่อมา แถลงการณ์ก็อธิบายการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 ว่า มาจากการที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ และทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่งหันมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ โดยไม่อธิบายพลังทางการเมืองที่แวดล้อมกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญในการใช้ข้อกฏหมายอันเหลวไหลมาล้มรัฐบาลพลังประชาชนและเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่การโกหกบิดเบือนเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ เรื่องการกวาดล้างปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างจนมีผู้เสียชีวิตถึง 91 คนและบาดเจ็บนับพันคน แถลงการณ์ได้ให้คำอธิบายดังนี้

“ในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ สภาพการเมืองไทยมีการเผชิญหน้า และมีความรุนแรง สืบเนื่องมาจากแนวทางแก้ว 3 ประการ ของพ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มผู้สนับสนุน คือ พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรนั้นก็ได้มีส่วนร่วมในการประท้วงกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ใช่เป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การชุมนุมได้มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของผู้อื่น และยังมีกองกำลังที่เรียกว่า ชายชุดดำ ใช้อาวุธสงคราม เช่น ลูกระเบิด M67 M79 และอาวุธสงครามต่างชนิด แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ,,,เป็นการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ ก่อการร้ายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติด้วยกลไกต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎหมาย ผู้เสียชีวิต 91 คน...มีทั้งข้าราชการ ทหาร และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษากฎหมายและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และผู้ประท้วงหลายคนถูกเข่นฆ่าด้วยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ”

คำอธิบายเช่นนี้ ก็เป็นการตอกย้ำถึงการโกหกโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 นั้นเป็นการใช้ความรุนแรงและก่อการร้ายของประชาชนต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่วนการเข่นฆ่าสังหารเกิดจากกลุ่มชายชุดดำ ซึ่งเป็นกองกำลังของฝ่ายผู้ชุมนุม โครงเรื่องในการเล่าเรื่องนี้แบบพรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์ โดยตั้งกองกำลังติดอาวุธมาด้วย จากนั้น ก็ใช้อาวุธเหล่านั้นยิงเจ้าหน้าที่ทหาร และยิงกันเองจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการกระชับพื้นที่จนประชาชนจำนวนมากหนีไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม คนชุดดำก็ยังตามไปยิงผู้บริสุทธิ์ในวัดอีก 6 ศพ ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)มาควบคุมสถานการณ์ ส่งทหารติดอาวุธสงครามพร้อมมาล้อมที่ชุมนุม และแม้ว่าจะมีการยิงกระสุนนับแสนนัดก็ไม่ได้สังหารใครเลย แต่ในที่สุดก็สามารถนำประเทศคืนสู่ภาวะปกติได้ด้วยกลไกกฎหมาย

การเล่าเรื่องแบบนี้อาศัยการข้ามเรื่องหรือแกล้งไม่เล่าข้อเท็จจริงจำนวนมาก เช่น การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม โดยไม่มีความรุนแรงเลย ไม่มีหลักฐานใดเลยที่แสดงว่า คนเสื้อแดงที่มาชุมนุมขนอาวุธมาจากบ้าน ข้อเรียกร้องของการชุมนุมคือ ให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ การจัดตั้งกำลังอาวุธจะไม่มีส่วนใดเลยที่จะช่วยให้บรรลุข้อเรียกร้อง ความรุนแรงเริ่มเกิดในวันที่ 10 เมษายน โดยการที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเริมเปิดฉาก”กระชับพื้นที่”โดยการใช้อาวุธเข้าสลายฝูงชน จากนั้น ศอฉ.ได้ประกาศ”ผังล้มเจ้า”เพื่อกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมว่า ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้กองทหารปิดล้อมการชุมนุมทุกด้าน การกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่เรียกว่า “ขอพื้นที่คืน”เริ่มจากการสังหาร พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ด้วยการยิงด้วยสไนเปอร์ ในวันที่ 13 พฤษภาคม จากนั้น ก็ยังได้ใช้สเปอร์ยิงประชาชนจำนวนมาก การล้อมกระชับและเข่นฆ่า จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมจึงประกาศยุติการชุมนุมแล้วถูกจับกุม หลังจากนั้นจึงเกิดการเผาห้างเซนทรัลเวิร์ล และศูนย์การค้าอีกหลายแห่ง โดยคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำ จึงถูกโจมตีว่าเป็นพวก”เผาบ้านเผาเมือง” แต่ในกรณีนี้ เมื่อผ่านมาแล้ว 3 ปี ก็ไม่มีหลักฐานใดที่จะระบุได้เลยว่า คนเสื้อแดงเป็นคนเผาสถานที่เหล่านั้น คนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมดำเนินคดีก็ถูกยกฟ้องเพราะหลักฐานอ่อน และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การโจมตีเรื่องเผาบ้านเผาเมืองกลายเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล

สรุปได้ว่า โครงเรื่องที่เล่าแบบพรรคประชาธิปัตย์เป็นโครงเรื่องที่เหลวไหลมาก แต่โครงเรื่องแบบนี้มีความจำเป็น เพื่อที่จะปกปิดความชั่วของรัฐบาลอภิสิทธิ์และ ศอฉ. ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการกวาดล้างสังหารประชาชน แต่ที่น่าแปลกใจคือ โครงเรื่องแบบนี้ได้รับการยอมรับ และฝ่ายพันธมิตรกลุ่มเสื้อเหลือง ส่วนมากก็ยอมรับและเล่าเรื่องในแบบเดียวกัน และกลับโจมตีแกนนำของผู้ชุมนุมว่าเป็นต้นเหตุของการเข่นฆ่าสังหาร

จนมาถึงขณะนี้เมื่อถึงโอกาสครบรอบ 3 ปีของการเข่นฆ่าสังหารประชาชน การดำเนินคดีต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้รับผิดชอบในการเข่นฆ่าก็ยังคืบหน้าช้ามาก และนายทหารที่เข้าร่วมสั่งการ ก็ยังไม่มีใครถูกจับกุมดำเนินคดีเลย ทั้งยังมีข่าวถึงการเสนอกฎหมายปรองดอง ที่จะนิรโทษให้กับฝ่ายทหารและผู้สั่งการ จึงคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า คดีสังหารประชาชนครั้งใหญ่นี้ ก็จะเป็นมวยล้ม ศาลที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่นงานประชาชนตลอดมา จะไม่มีประสิทธิภาพในการเอาผิดฆาตกรตัวจริงได้

นี่คือความอยุธิธรรมในสังคมไทย และเป็นชะตากรรมของฝ่ายประชาชนไทย

ที่มา: นสพ.โลกวันนี้วันสุข
////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดร.โกร่ง ชวนให้คิด เหตุการณ์หลังต้มยำกุ้ง 2540 !!?


คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เหตุการณ์ต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นที่นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ประเทศไทย เมื่อมีการประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ค่าเงินบาทที่เราต่อสู้กับ "กองทุนตรึงค่า" หรือ Hedge Funds เมื่อเราประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทก็ดำดิ่งลงทันทีจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ ลงไปถึง 56 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเราเอาทุนสำรองไปต่อสู้จนทุนสำรองเกือบหมด เหลือเพียง 800 ล้านเหรียญเท่านั้น แล้วเราก็ต้องขอกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 17,000 ล้านเหรียญ และต้องยอมรับเงื่อนไขมหาโหดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ความผิดพลาดก่อนหน้านั้นคงไม่ต้องพูดถึง

หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ซบเซาอย่างหนัก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างน่าใจหาย ธุรกิจสถาบันการเงิน ห้างร้านต่าง ๆ ประสบกับการขาดทุนจนต้องปิดตัวเองลงเกือบหมด มีคนเคยเปรียบเทียบความเสียหายครั้งนี้เทียบเท่ากับการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 เมืองถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง

เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก การนำเข้าลดลงอย่างฮวบฮาบ ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและบริการพังพินาศราบเรียบ เหลือแต่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้นที่ยังยืนยงคงอยู่ได้ แถมขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะค่าเงินที่ตกต่ำลงทำให้สินค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตรสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัวแรงงานที่ถูก"ลอยแพ"จากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการหลั่งไหลกลับบ้านไปสู่ภาคเกษตรอีกครั้งหนึ่ง



ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเคยขาดดุลถึง8เปอร์เซ็นต์ก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งกลับมาเกินดุลถึง 8 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาอันสั้น คือประมาณ 12 เดือนหลังจากนั้นทางการพยายามแก้ไขโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงจนต่ำติดดิน เพื่อหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การณ์กลับมิได้เป็นอย่างที่คาดหวังเอาไว้ แทนที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินที่ได้จากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับไหลออก

เข้ามาเท่าไหร่ก็ไหลออกหมด เพราะดอกเบี้ยข้างนอกสูงกว่าดอกเบี้ยข้างในมีเรื่องเรียกร้องให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยข้างนอกทางการก็ไม่ฟังเคยเปรียบเทียบว่า"เงิน" ก็เหมือน "น้ำ" น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ เงินไหลจากที่มีผลตอบแทนต่ำไปยังที่ให้ผลตอบแทนสูง ตนเป็น "นายประตูน้ำ" น้ำไหลออกแทนที่จะตำหนิตัวเอง กลับไปต่อว่าด่าทอ "น้ำ" ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้น ไม่มีเสถียรภาพจนเริ่มกระทบต่อการส่งออกอีกครั้งหนึ่ง ทางการที่กำหนดนโยบายการเงินก็ไม่ฟัง ไม่มีใครสนใจลงทุนที่นี่ ไปลงทุนต่างประเทศดีกว่า ผลตอบแทนสูงกว่า สภาพคล่องในประเทศแห้งผาก

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี 2544 จากรัฐบาลประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลไทยรักไทยจึงตัดสินใจเปลี่ยนตัว

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการคนใหม่จึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นขั้นเป็นตอน เงินจึงหยุดไหลออก สภาพในตลาดการเงินจึงฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และอีกปีต่อมาคือปี 2545 เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังเกินดุลมาเรื่อย ๆ เพราะเราลงทุนต่ำกว่าเงินออมที่เราทำมาขายได้ด้วยลำแข้งเราเอง ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ ค่าเงินบาทก็แข็งตัวเรื่อย ๆ มา สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกรเป็นระยะมาเรื่อย ๆ ผู้ส่งออกและเกษตรกรก็ต้องปรับตัวเรื่อยมา

มาบัดนี้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ลดอัตราดอกเบี้ยของตนลงจนใกล้ศูนย์ เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น จึงเพิ่มปริมาณเงินขึ้นมาจำนวนมหาศาล เงินก็หลั่งไหลมาหาที่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จีนนั้นยังไม่เปิดเสรีทางการเงิน ประเทศบางประเทศก็ไม่น่าลงทุน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แม้แต่มาเลเซียที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ก็เหลือแต่ไทย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนฮ่องกงก็มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ

ก็เหลือไทยเราที่พื้นฐานดีกว่าคนอื่นขณะเดียวกันทางการก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยทางการไว้ที่2.75เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐ เยน และยูโร มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแค่ 0.0 ถึง 0.25 เปอร์เซ็นต์ เงินก็ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทจึงแข็งขึ้นมาเรื่อย ๆ จนบัดนี้

เมื่อค่าเงินแข็งขึ้น ทางการก็ออกมาเอาเงินบาทซื้อดอลลาร์ไปเก็บ พร้อม ๆ กับออกพันธบัตรดอกเบี้ยแพงตามที่ตนกำหนด เอาดอลลาร์และเงินอื่น ๆ เช่น เยนและยูโร เข้ามาเก็บเป็นทุนสำรองซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำ ก็เกิดการขาดทุนมโหฬาร เรื่องมันก็ง่าย ๆ อย่างนี้

ที่อ้างว่ากลัวเงินจะเฟ้อถ้าลดดอกเบี้ยลงเพราะค่าเงินบาทจะไม่แข็ง อย่างนี้ก็อาจจะจริงอยู่บ้าง แต่ทางการก็ไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งเกินไปไม่ใช่หรือ จึงออกมาแทรกแซงตลาดจนขาดทุนมากมายอย่างนี้ ส่วนเงินเฟ้อนั้นมันไปกับอัตราเงินเฟ้อของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่คิดเป็นเงินบาทเป็นหลัก

มีสื่อมวลชนบางคนออกมาโจมตี หรือมาถามตรง ๆ ต่อหน้าว่า เมื่อก่อนปี 2544 เห็นพูดดัง ๆ ว่าให้ทางการขึ้นดอกเบี้ย แล้วทำไมผ่านมา 10 ปีจึงกลายมาเป็นคนบ้าเลือดมาตะโกนให้ลดดอกเบี้ย จะเอาอย่างไรแน่ ถ้าเมื่อ 10 ปีก่อนถูก เที่ยวนี้ก็ต้องผิด ที่เคยเชื่อถือก็เชื่อถือไม่ได้แล้ว เพราะดูจะเปลี่ยนไป สงสัยมีเหตุผลการเมือง

ฟังแล้วก็เหนื่อย ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรกับ คนไม่รู้สถานการณ์แต่ละช่วงเวลา รู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ สุก ๆ ดิบ ๆ และไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

"ต้มยำกุ้ง" เมื่อระหว่างปี 2540-2544 กับปัจจุบัน สถานการณ์มันไม่เหมือนกัน มันกลับตาลปัตร ก่อนปี 2540 เราไปกำหนดดอกเบี้ยเอาไว้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ ดอกเบี้ยเงินดอลลาร์มันไม่ได้คงที่ตายตัว เงินที่ไหลออกหมดเราทำมาหาได้เท่าไหร่ก็ออกไปกินดอกเบี้ยสูง ๆ นอกประเทศ เงินในประเทศจึงเหลือน้อย สภาพคล่องไม่มี ดอกเบี้ยต่ำก็จริงแต่ไม่มีใครกู้ การลงทุนก็ไม่เกิด การจ้างงานก็ไม่มี การบริโภคในเมืองก็หด เพราะความต้องการไม่มี การค้าระหว่างประเทศก็ซบเซา

หลังจากนั้นมาดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุลมาตลอด เหตุการณ์ขณะนี้กลับกันกับเมื่อหลังปี 2540 กล่าวคือ อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ทยอยกันลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำก็เพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ เงินเยน เงินยูโรเป็นจำนวนมาก เรากลับตรึงดอกเบี้ยไว้สูง เงินก็ไหลเข้าจากการเกินดุลเพิ่มขึ้น ๆ เงินก็แข็งขึ้น ๆ ทำให้ผู้ส่งออกเดือดร้อน เกษตรกรได้ราคาต่ำลง โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรก็ต้องขาดทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น แถมราคาสินค้าเกษตรเราในต่างประเทศก็แพงเกินเหตุ

อุตสาหกรรมรายย่อยที่ผลิตวัตถุดิบ ชิ้นส่วนส่งโรงงานใหญ่ก็เดือดร้อน เพราะโรงงานใหญ่ก็สั่งวัตถุดิบชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ราคาถูกกว่าชิ้นส่วนวัตถุดิบในประเทศ เดือดร้อนกันไปหมด
ความคิดและจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เหตุการณ์ของโลกมันเปลี่ยนไป นโยบายการเงินก็ต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่อย่างที่ถูกต่อว่า
สังคมไทยเป็นสังคมเปิด เสรีภาพในเรื่องความคิดความเห็นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสำคัญ ต้องอย่าหยุดคิด การเปลี่ยนแปลงล้วนมีเหตุปัจจัย ตามหลัก "อนิจจัง" เราอย่าหยุดอยู่กับที่ 


ตรรกะนั้นไม่เปลี่ยน ไม่มีอะไรแอบแฝง อธิบายได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////

บาทผันผวน : จับตา กนง. !!?


ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 29.82/84 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ 29.76/77 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทในช่วงเช้านี้ เงินบาทอ่อนค่าตั้งแต่เปิดตลาดตามทิศทางสกุลเงินต่างประเทศ หลังจากที่นักลงทุนยังคงตอบรับกระแสตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของตลาดสหรัฐ ประกอบกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงความเห็นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หลังจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชุมหารือเพื่อหาทางออกที่ดีสำหรับความผันผวนของค่าเงินบาท

ปัจจุบันก็รู้สึกพอใจที่เงินบาทเริ่มอ่อนค่าอย่างสมเหตุสมผลและดูมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสหนึ่ง ประจำปี 2556 (1/56) เติบโต 5.3% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.7% โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันเงินบาทในช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายหลังจากยุโรปเปิดตลาด ค่าเงินบาทได้เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากไม่สามารถทะยานทะลุแนวต้านที่ระดับ 29.90 บาท/ดอลลาร์ได้ จึงทำให้นักลงทุนเทขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออมา ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 29.77-29.91 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.81/84 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.2833/34 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ 1.2887/88 ดอลลาร์/ยูโร โดยในช่วงเช้าของตลาดเอเชียสกุลเงินยูโรยังคงรับข่าวจากตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ และมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงไปอีก ประกอบกับรับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ภายในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นผลบวกต่อเงินดอลลาร์สหรัฐและกดดันเงินยูโร อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากที่นักลงทุนกลับมาซื้อคืนเงินยูโร หลังจากที่เงินยูโรไม่สามารถผ่านแนวรับที่ระดับ 1.2800 ดอลลาร์/ยูโร ได้ ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินยูโรระหว่างวันนั้นอยู่ที่ระดับ 1.2820-1.2878 ดอลลาร์/ยูโร ได้ ทั้งนี้ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินยูโรระหว่างวันนั้นอยู่ที่ระดับ 1.2820-1.2878 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2869/72 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 102/74/76 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ 102.29/32 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนนั้นปรับตัวอ่อนค่าหลังจากที่นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมาให้แสดงความเห็นในช่วงสุดสัปดาห์ว่า เขาจะเป็นพนักงานขายที่ดีที่สุดในการเยือนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลักดันและช่วยเหลืออุตสาหกรรมการส่งออกภายในประเทศให้มากที่สุด แต่หลังจากเปิดตลาดได้ไม่นานสกุลเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากนายอากิระ อามาริ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาระบุว่า รัฐบาลรู้สึกพอใจกับระดับค่าเงินเยนในปัจจุบัน และการอ่อนค่ามากเกินไปของค่าเงินเยนอาจส่งผลเสียและทำลายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 21-22 พ.ค.นี้ ว่าจะมีการเพิ่มมาตรกรใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับการดำเนินการของตลาดพันธบัตรเพื่อสกัดความผันผวนในตลาดหรือไม่ ทั้งนี้ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเยนระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 102.02-103.09 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดุบ 102.54/56 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) (21-22/5), รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เฟด) (22/5), ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือน เม.ย. (23.5), ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (24/5)

อัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.5/5.75 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +8.5/9.5 สตางค์/ดอลลาร์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

เวทีคู่ขนานจัดการน้ำที่เชียงใหม่ เรียกร้องการมีส่วนร่วมของชุมชน !!?

เครือข่ายลุ่มน้ำเหนือ-อีสานจัดเสวนาคู่ขนานเวทีจัดการน้ำที่เชียงใหม่ พร้อมอ่านแถลงการณ์-ทำหุ่นล้อ 'ปลอดประสพ' - 'หาญณรงค์' ห่วงใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน แต่ชุมชนลุ่มน้ำยังขาดข้อมูลและไม่มีส่วนกำหนดนโยบาย ด้าน 'Thai Flood' ติงเวทีประชุมเรื่องน้ำที่เชียงใหม่ขาดเรื่องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมประชาชน
19 พ.ค. 56 เวลา 10.00 น. ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้จัดเวทีประชาชน “การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า” ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

โดยเวทีครั้งนี้เป็นการจัดคู่ขนานไปกับการจัดประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “ความมั่นคงด้านน้ำ” โดยเวทีประชาชนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ และแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจ ขาดการเคารพต่อประชาชนในท้องถิ่น และไม่เปิดโอกาสให้มีประชาชนมีส่วนร่วม

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าได้ติดตามการจัดประชุมนานาชาติมาตั้งแต่ต้น แต่มีความจำเป็นของการจัดเวทีคู่ขนานนี้ เพราะการจัดนิทรรศการและไฮไลต์ของงานในครั้งนี้ เราเคยนึกว่าจะพูดเรื่องการจัดการน้ำของชุมชน วิธีอยู่กับน้ำหรือสู้กับน้ำของชุมชนต่างๆ แต่ปรากฏว่าเราเห็นแต่นิทรรศการของบริษัทเค-วอเตอร์ บริษัทจีน ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทย หรือบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ แต่ไม่เห็นว่าการทำงานของประชาชนว่าจะมีมีส่วนร่วมได้อย่างไร

แผนการจัดการน้ำที่เป็นอยู่ ซึ่งใช้งบเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท มีลักษณะเป็นการจัดการจากข้างบนลงข้างล่าง คนในพื้นต่างๆ ซึ่งอยู่ในแผนของพื้นที่การจัดการน้ำนี้แทบไม่ทราบข้อมูลและไม่มีส่วนร่วมใดๆ ไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้มีการจัดประชุม ให้มีการนำเสนอข้อมูลทางเทคนิคจากทั้งนักวิชาการ และภาคประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่มีการหารือในเรื่องนี้เลย ทั้งที่จะมีการเซ็นสัญญาโครงการแล้ว และนำเรื่องเข้าครม. นี่คือสิ่งที่ตนกังวล และรัฐบาลกลับมองการเรียกร้องเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยอยากให้มีการเสียสละ แต่กลับมองว่าเราเป็นขยะทางสังคม

ตนยืนยันว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ไม่ได้ไปก่อความวุ่นวาย หรือทำลายการประชุม แต่เห็นว่ากระบวนการที่ควรจะเป็นในแผนการจัดการน้ำ 3.5 หมื่นล้าน นั้น ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนก่อน และค่อยไปดำเนินการเรื่องการออกแบบและผู้รับเหมา นอกจากนั้นยังต้องมีการคิดถึงการจัดการน้ำระหว่างประเทศ ที่มีพรมแดนใกล้กัน เช่น แม่น้ำโขง หรือสาละวิน แต่กลับไม่มีหัวข้อหรือท่าทีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในการประชุม

xxxxxxxxxxx
มนตรี จันทรวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.เหนือ) ได้ตั้งคำถามถึงแผนการจัดการน้ำโดยภาครัฐในสามประเด็นใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง ระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นมาหลังน้ำท่วมในปี 2554 ที่เรียกว่า “Single command” ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับลุ่มน้ำ โดยเฉพาะการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ (EIA/HIA) ทำให้เกิดคำถามในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรัฐบาลกับบริษัทที่เข้ามาประมูลต่างๆ

แผนนี้ยังได้ทำลายโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ ในรูปของ “คณะกรรมการจัดการน้ำแห่งชาติ” และ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” แต่กลับไปตั้ง “คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ” (กบอ.) ขึ้นมาแทน และแผนบริหารยังมุ่งที่ผลลัพธ์ คือน้ำต้องไม่ท่วมภาคกลางและกทม.ตลอดไป มากกว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการ ทั้งกระบวนการวางแผน กระบวนการมีส่วนร่วม หรือกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งระบบ Single command นี้ยังสะท้อนความผิดพลาดในระดับปฏิบัติมาแล้ว เมื่อปี 2555 ที่มีการสั่งให้ระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งที่สองในอยุธยา ทั้งที่สามารถผันออกไปตามประตูระบายน้ำต่างๆ ได้ แต่กลับไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบจากความผิดพลาดนี้ได้

ประเด็นที่สอง คือ คำถามเรื่องประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นมาช่วยศึกษาการจัดการน้ำ โดย JICA ทำร่วมกับสภาพัฒน์ และได้รายงานเสนอแนะแผนการจัดการน้ำท่วมที่ใช้งบแสนกว่าล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องเงินถึง 3.5 แสนล้าน แต่มีประสิทธิภาพ และเน้นการใช้โครงสร้างเดิมที่มี ไม่เลือกวิธีการสร้างเขื่อนใหม่ แต่รัฐบาลยังไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนใดๆ ต่อสังคม ในการที่ไม่เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาจากงานศึกษาของ JICA แต่กลับเลือกใช้แผนของ กบอ. แทน

ประเด็นที่สาม คือประเด็นสิทธิของประชาชนในทรัพยากรน้ำ รัฐบาลได้อาศัยโอกาสนี้อ้างว่าไม่มีหน่วยงานกลางในการจัดการน้ำ จึงต้องมีการตั้งกระทรวงน้ำหรือออกกฎหมายน้ำ โดยน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติเดียวที่ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม ถ้ากฎหมายนี้ออกมา ส่งผลทำให้ประชาชนทุกระดับมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าน้ำ และค่าขอใบอนุญาตใช้น้ำ เช่นเดียวกับการเก็บค่าน้ำบาดาล รวมทั้งทำลายความรู้ในการใช้น้ำของประชาชนออกไป

รวมทั้งปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือการจัดการลุ่มน้ำในระดับข้ามพรมแดน ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีของคุณสมบัด สมพอน นักพัฒนาของลาว ที่ได้ถูกอุ้มหายตัวไป โดยเขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว เป็นตัวอย่างหนึ่งของความรุนแรงของรัฐในการเข้ามาแก้ปัญหา หวังว่าประเทศไทยจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น และเรายังต้องมีการพัฒนาดูแลปัญหาเรื่องนี้ในระดับภูมิภาคด้วย

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ปรเมศวร์ มินศิริ จากศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Thai Flood) ได้เล่าถึงการเข้าไปชมนิทรรศการของงานประชุมเรื่องการจัดการน้ำ และพบบูธของบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่ เช่น บูธเกาหลีแต่งชุดเกาหลีเลย แต่ว่าเล่าเรื่องที่จะทำในเมืองไทย ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเขาได้รับงานแล้วหรือ ในกรณีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเกิดน้ำท่วม แม้ว่าเขาจะต้องรีบแก้ปัญหามาก แต่เขาตั้งกรรมการ 600 กว่าคน โดยไม่ได้มีแต่มุมมองด้านวิศวะ แต่มีมุมมองด้านสังคม เกษตร กฎหมาย สุขภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างรวมกัน แล้วจึงบอกว่าอันนี้มีผลกระทบอะไร แต่วิธีที่ไทยใช้คือรีบๆ ทำ ให้บริษัทหนึ่งมารับไป แล้วคิดไปทำไป ในเวทีของสภาวิศวกร ในที่ประชุมน้ำครั้งนี้ ก็มีการพูดถึงความเป็นห่วงในเรื่องเหล่านี้ เช่น เรื่องเขตระยะเวลาที่ใช้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตอนแรกระหว่างดูงานนิทรรศการเรื่องน้ำ ตนคาดหวังว่าจะเจอว่ารัฐบาลทำบูธบอกว่าหนึ่งปีหลังประสบปัญหาน้ำท่วมมา เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และแผนงานที่จะให้ประชาชนดู แล้วซีกหนึ่งจะให้เอกชนเช่าบูธขายของ หรือให้หน่วยงานต่างๆ มาออกก็ได้ แต่ปรากฏว่าพอเดินเข้าไปกลับอินเตอร์มาก มีบริษัทเกาหลี-จีน และบอร์ดนิทรรศการของรัฐบาลกลับเป็นเนื้อหาเดิมที่จัดเมื่อปีที่แล้ว แต่ย่อส่วนลง เราได้ข่าวว่ารัฐบาลบอกว่าอยากจะเป็นผู้นำทางด้านน้ำในประเทศแถบนี้ ก็เลยร่างปริญญาเชียงใหม่ขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่า ครม.อนุมัติแล้ว แต่ประชาชนยังไม่ได้เห็น แล้วจะเอาร่างนี้ไปให้ผู้นำโลกที่มาร่วมงานเซ็น โดยไม่ได้ใช้ความรู้นำในการเชิญชวนคนมาร่วมกันคิดกันทำเลย

นอกจากนั้นการพิจารณาเรื่องน้ำ จำเป็นต้องพิจารณาสามเรื่องร่วมกัน คือเรื่องน้ำ เรื่องอาหาร และเรื่องพลังงาน สามส่วนนี้แนวโน้มของโลกคือการคิดและพิจารณาร่วมกัน การขยายเครือข่ายเรื่องนี้จึงน่าจะคิดเรื่องเหล่านี้ด้วย

ในเวทีช่วงต่อมายังได้มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ เช่น ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนชมพู เขื่อมปากมูน และเขื่อนโป่งอาง ได้กล่าวถึงผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งยังมีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในลุ่มน้ำโขงและสาละวิน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาระบบการจัดการน้ำในระดับภูมิภาคด้วย




หลังจากนั้นในเวลาราว 12.00 น. เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค” (ดูรายละเอียดด้านล่าง) นอกจากนั้นทางเครือข่ายยังได้มีกิจกรรมการชูป้ายเรียกร้องสิทธิการจัดการลุ่มน้ำต่างๆ การแสดงออกล้อเลียนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานบริหารกบอ. ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

ทั้งนี้ จากที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าทางกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้มีการจัดตั้ง "กองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เมืองเชียงใหม่" และประกาศว่าจะต่อต้านหากมีการชุมนุมของเอ็นจีโอใกล้กับประชุมผู้นำน้ำโลกนั้น ล่าสุดกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เดินทางมาในเวทีการประชุมคู่ขนานของภาคประชาชนนี้แต่อย่างใด แต่มีการชุมนุมอยู่บริเวณโรงแรมแกรนด์วโรรสแทน โดยในเวทีคู่ขนานครั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยอีกด้วย

xxxxxxxx

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค

19 พฤษภาคม 2556

ในวาระที่มีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 นั้น แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำจากหลายประเทศ แต่พบว่าการประชุมกลับมิได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความพยายามข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักปฏิบัติของประเทศประชาธิปไตย

เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน มีข้อกังวลและข้อเสนอต่อปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค ดังนี้

กรณีโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เป็นโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดและข้อมูลที่หลากหลาย ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีขั้นตอนและมาตรการที่รับรองว่าจะสามารถดำเนินโครงการไปจนสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง และมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า นอกจากการคอรัปชั่นแล้ว โครงการ 3.5 แสนล้าน อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

โครงการภายใต้ชุดโครงการ 3.5 แสนล้านบาท อาทิ เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อโป่งอาง เขื่อนแก่งเสือเต้น (หรือเขื่อนยมบน ยมล่าง) เขื่อนคลองชมพู และเขื่อนแม่วงศ์ ถูกนำมาบรรจุในแผน โดยยังไม่มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ที่ชี้ชัดว่าสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง ที่สำคัญ รัฐบาลไม่สร้างกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่ได้รับข้อมูลโครงการ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

กรณีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานมานับตั้งแต่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีนสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว การขึ้นลงของน้ำผิดธรรมชาติเนื่องจากการใช้งานเขื่อนทางตอนบนส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อพันธุ์ผลาธรรมชาติแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะพรมแดนไทย-ลาวที่จังหวัดเชียงราย สร้างความเสียหายต่อการประมง การเก็บไก การปลูกผักริมน้ำ และวิถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2551 และเหตุการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 60 ปีในปี 2553 จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีการเจรจาการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนดังกล่าวระหว่างรัฐบาลประเทศท้ายน้ำและรัฐบาลจีนแต่อย่างใด คนหาปลาและชาวบ้านริมโขงจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

แม่น้ำโขงทางตอนล่างยังมีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว และอีก 11 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2555 ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมายจนกลายเป็นกรณีความขัดแย้งในระดับนานาชาติ โครงการเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัทไทย เงินกู้จากธนาคารไทย 6 แห่ง ไฟฟ้าส่งขายประเทศไทย เป็นเขื่อสัญชาติไทยในดินแดนลาว ที่จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและพันธุ์ปลาธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลระบุว่าร้อยละ 70 ของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพทางไกลวางไข่และหากิน

เขื่อนไซยะบุรี เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ยังไม่ผ่านข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่4ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างลงนามไว้ คณะมนตรีแม่น้ำโขงยังไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะที่เขื่อนอื่นๆ อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากลาย กำลังจะเริ่มกระบวนการเร็วๆ นี้

แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำนานาชาติระหว่างจีน พม่า ไทย ก็เกิดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 โครงการตลอดลุ่มน้ำ ทั้งในเขตทิเบตและยุฯนานของจีน ในรัฐชาติพันธุ์ของพม่า อาทิ เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนโดยบริษัทและรัฐวิสาหกิจจากไทยและจีน เพื่อส่งออกไฟฟ้า

สถานการณ์ในพม่าพบว่าทุกเขื่อนที่วางแผนบนแม่น้ำสาละวิน เป็นเขื่อนกลางสนามรบ ที่ยังคงมีความขัดแย้งและการปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ทั้งชาวไทใหญ่ คะยา กะเหรี่ยง ต้องหนีภัยความตายมายังชายแดนไทย ไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงเพื่อปกป้องทรัพยากรของตน

การเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักธรรมภิบาล มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ดังเช่นโครงการเขื่อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนคัดค้าน การพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ไม่เคารพสิทธิของชุมชน และระบบ single-command หรือ ระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่คำตอบของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรม เพื่อทรัพยากรน้ำที่เราจะรักษาให้ลูกหลาน

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน


รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)

2.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

3.เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

4.เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

5.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

6.เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

7.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

8.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.พอช.อีสาน)

9.เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

10.มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)

11.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ

12.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)

13.ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง

14.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

15.คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv. จ.อุดรธานี

16.กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง

17.กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย

18.กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

19.มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่

20.เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม 19 สาขา จ.เชียงใหม่

21.สถาบันอ้อผะญา

22.คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่

23.กลุ่มคัดค้านใหม่

24.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่

25.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

26.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอง จ.พะเยา และจ.เชียงใหม่

27.เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

28.สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล

29.สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)

30.สหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.)

31.เครือข่ายสลัม 4 ภาค

32.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

33.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

34.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปท.)

35.เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา

36.เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล

37.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

38.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

39.กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่

40.โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า

41.เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น

42.กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

43.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

44.เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ

45.เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน

46.สถาบันปัญญาปีติ

47.กลุ่มเยาวชนจิตอาสาหญ้าแพรกสาละวิน

ที่มา.ประชาไท

////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ค่าเงินบาทของไทย !!?


นับตั้งแต่ปี 1960(พ.ศ. 2503) ประเทศที่เคยบอบช้ำจากผลพวงสงครามโลก ไม่ว่าเป็นประเทศในยุโรป หรือผู้แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่น เยอรมัน เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของสหรัฐ ขณะที่ตัวสหรัฐเองกลับมีค่าใช้จ่ายมโหฬาร เช่น การให้ความช่วยเหลือประเทศที่บอบช้ำจากการทำสงคราม การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการทำสงครามเวียดนาม  การใช้จ่ายเหล่านี้นำไปสู่การขาดดุลการค้าต่อประเทศคู่แข่งทางการค้าที่เกิดขึ้นมาใหม่ ทำให้สหรัฐประสบปัญหาการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศทุกปีๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มขาดความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงนำเอาเงินดอลลาร์สหรัฐที่ตนถือไว้ไปแลกเปลี่ยนกลับเป็นทองคำบริสุทธิ์แทนที่ธนาคารกลางสหรัฐเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุนสำรองที่เป็นทองคำของสหรัฐลดลงถึงหนึ่งในสามในระยะเวลาเพียง 7 เดือนของปี1971  ดังนั้นเพื่อระงับความแตกตื่นของประชาคมโลก รัฐบาลสหรัฐจึงประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนทองคำกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ15 สิงหาคม 1971 ถือเป็นการยกเลิกข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1944 โดยปริยาย

ยุคที่สี่ : ระบบการเงินระหว่างประเทศภายหลังระบบเบรตตัน วูดส์พ.ศ. 2514 – ปัจจุบัน  (The Post-Bretton Woods  System :  1971 – Today )

ภายหลังการประกาศออกจากระบบเบรตตัน วูดส์ของสหรัฐเมื่อสิงหาคม 1971 เดือนธันวาคมปีเดียวกัน ประเทศกลุ่มผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลกได้ประชุมกันที่กรุงวอชิงตัน บรรลุข้อตกลงกำหนดให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือ 38 ดอลลาร์ต่อทองคำบริสุทธิ์หนึ่งทรอยออนซ์ และอนุญาตให้เงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ 2.25%จากค่าเสมอภาค (Par Value) จากเดิมที่เคลื่อนไหวได้เพียง 1% อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี ค่าเงินสกุลตราหลักต่างๆเกิดความผันผวนขึ้นอย่างมาก จนหลายประเทศต้องประกาศลอยตัวค่าเงินสกุลตนเอง เช่น

ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ ประกาศลอยตัวค่าเงินสกุลปอนด์ เดือนมิถุนายน ค.ศ.1972

ธนาคารกลางแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิส มกราคมค.ศ. 1973

ธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดค่าเงินอีกเป็นครั้งที่สอง ในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973 จาก 38 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งทรอยออนซ์ เป็น 42.22 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งทรอยออนซ์

เหตุการณ์ผันผวนของเงินตราสกุลต่างๆ นำไปสู่การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ที่ประเทศจาไมก้า ในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) โดยบรรลุข้อตกลงให้มีการประกาศ“ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว”(Flexible Exchange Rate System) อย่างเป็นทางการ ซึ่งค่าเงินของแต่ละประเทศจะถูกกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดเงินตราในประเทศและต่างประเทศ โดยแต่ละประเทศต้องพยายามรักษาเสถียรภาพค่าเงินตนเองไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในค่าเงินนั้นๆ

ปัจจุบัน ระบบการเงินระหว่างประเทศยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัวที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1976 เพียงแต่ประเทศต่างๆ เลือกใช้ระบบปริวรรต (แลกเปลี่ยน) เงินตราต่างประเทศแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของระบบเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เพราะปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาเลือกระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้น ล้วนแตกต่างกันไป เช่น อัตราว่างงาน อัตราดอกเบี้ยในประเทศ อัตราเงินเฟ้อในประเทศ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาตลาดเงินในประเทศ ดุลการค้า ดุลชำระเงินระหว่างประเทศ โดย IMF ได้จัดกลุ่มระบบปริวรรตเงินตราในประเทศต่างๆออกเป็น 8 กลุ่มดังนี้

(1) ระบบปริวรรตเงินตราที่พึ่งพาเงินสกุลต่างประเทศหรือสหภาพการเงิน (Exchange Arrangements with No Separate Legal Tender)

(2) ระบบปริวรรตเงินตราที่ควบคุมโดยคณะกรรมการ (Currency Board Arrangements)

(3) ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น (Other Conventional Fixed-Peg Arrangements)

(4) ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินไว้กับเงินสกุลอื่นแบบยืดหยุ่น (Pegged Exchange Rate within Horizontal Bands)

(5) ระบบปริวรรตเงินตราที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (Crawling Pegs)

(6) ระบบปริวรรตเงินตราที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Exchange Rate within Crawling Bands)

(7) ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ (Managed Floating with No Pre-announced Path for the Exchange Rate)

(8) ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี(Independent Floating)

ค่าเงินบาทของไทยภายหลังระบบเบรตตัน วูดส์ ถึง ปัจจุบัน

ดังที่กล่าวมา การล่มสลายของระบบเบรตตัน วูดส์ ทำให้ระบบการเงินระหว่างประเทศเกิดความผันผวนขึ้นมาก เพราะประเทศต่างๆขาดความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินตราสกุลหลักของโลกที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง ประเทศไทยที่ผูกติดค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องปรับค่าเสมอภาคเงินบาทหลายครั้ง เพื่อรักษาให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐคงอยู่ในอัตรา 20.80 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเดิม โดยเริ่มจาก.....

ครั้งแรก วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ด้วย“ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่143” ข้อ 1ให้ยกเลิก พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ. 2506 และข้อ 2 ให้กำหนดค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.03935157  กรัม

ครั้งที่สอง วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2516 ด้วย “พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ.  2516” ได้กำหนดให้ ค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.0354164  กรัม

ครั้งที่สาม วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ด้วย “พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ.2516(ฉบับที่ 2)”กำหนดให้ ค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.0368331  กรัม ผลของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐกลับมาคงอยู่ในอัตรา 20 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเดิมที่ประเทศเคยไทยใช้อยู่ในช่วงระบบเบรตตัน วูดส์

ในปี พ.ศ. 2519 เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศบรรลุข้อตกลงให้มีการประกาศ “ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว” ประเทศไทยก็ต้องยอมรับกติกาใหม่ของระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัว

ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์(พ.ย. 2520 – มี.ค. 2523)  ออก “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 พ.ศ.2521”  มีผลทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจากเดิมที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐสกุลเดียว มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าของเงินตราหลายสกุลหรือ“ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น”  ตามการจัดกลุ่มระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศของ IMF หรือ เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “ระบบตะกร้าเงิน” (Basket of Currencies)

ในช่วงปี พ.ศ. 2522-2524 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันโลก รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ต้องลาออกเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากได้ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์(มี.ค. 2523 – ส.ค. 2531) ที่เข้ามาบริหารประเทศใหม่นอกจากน้ำมันแพงแล้ว ยังเผชิญปัญหาขาดดุลการชำระเงินอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นเงินบาท ผลคือเงินบาทมีค่าลดลงมาก รัฐบาลจึงตัดสินลดค่าเงินบาทถึง 2ครั้ง

ครั้งแรก  วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทจากอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นที่ 21 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลงไปเป็น 23 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ครั้งที่สอง วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทอีกครั้ง จาก 23 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลงไปเป็น 27 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี 2540 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ(พ.ย. 39 – พ.ย. 40) ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์การเงินและสถาบันการเงิน ค่าเงินบาทถูกนักเก็งกำไรต่างชาติโจมตีอย่างหนัก รัฐบาลต้องประกาศเปลี่ยนระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศจาก"ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น” หรือ“เงินระบบตะกร้าเงิน” ไปเป็น “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี”เพราะไม่สามารถปกป้องค่าเงินบาทจากการถูกโจมตีได้อีกต่อไป

ภายใต้“ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี” รัฐบาลไทยต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้อย่างเสรี ซึ่งในระยะแรก ภายหลังประกาศปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆจากประมาณ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ตกลงไปต่ำสุดถึงประมาณ 56 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2541

ปี 2542 ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพขึ้น ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี 2544 - 2548  ค่าเงินบาทอ่อนลงไปอีก อยู่ที่ระดับ 40-41บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี  2549 – 2555 ค่าเงินบาทก็แข็งขึ้นมาเรื่อยๆอยู่ที่ระดับ 33-30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

และ ขณะเขียนบทความนี้อยู่ (16 พ.ค. 2556)  ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.68 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน IMF จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ใช้ “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ” ซึ่งค่อนข้างมีลักษณะที่คล้ายกับ“ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี” ที่รัฐบาลต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้อย่างเสรี เพียงแต่ “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ” นั้น รัฐบาลสามารถเข้าแทรกแซงค่าเงินตนเองได้ทันที กรณีมีความจำเป็น เพื่อให้ค่าเงินสกุลตราของตนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการและเห็นว่าเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเวลานั้น

เรื่องราวการเดินทางของค่าเงินบาทไทย ในรอบร้อยปีที่ผ่านมาก็ขอจบลงด้วยเพียงเท่านี้ ครับ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

ข้อพิพาท ที่ไม่สิ้นสุด !!?


โดย : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช
กรณีตำรวจตระเวนชายฝั่งทะเลฟิลิปปินส์ยิงชาวประมงไต้หวันตาย ต่อมาทางการไต้หวันมีหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้แสดงความรับผิดชอบรวม 4 ข้อ
     1. ขอโทษ 2.ลงโทษผู้กระทำความผิด 3.เปิดเจรจาการประมง 4.ชดใช้สินไหม
     ทั้งนี้ให้เวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งถึงกำหนดวันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 24.00 น.
   
ขณะเขียนต้นฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม รัฐบาลฟิลปปินส์ได้มีหนังสือตอบ "ยอมรับ" 3 ข้อแรก ส่วนกรณี "ชดใช้สินไหม" มิได้ระบุในหนังสือ
     ไต้หวัน "ไม่พอใจ" ต่อการตอบสนองของฟิลิปปินส์ และยืนยันจะสู้ต่อไป
     ไต้หวันถือว่าการเข้าไปจับปลายังน่านน้ำที่เกิดเหตุนั้น มิใช่เป็นการละเมิด
     เพราะเป็นน่านน้ำที่อยู่ภายในระยะทาง 170 ไมล์ทะเลของดินแดนไต้หวัน
     เป็นพื้นที่ "ทับซ้อน" ทางทะเลที่ไต้หวันและฟิลิปปินส์ใช้ทำการประมงจนกลายเป็นประเพณีมาเป็นเวลานานแล้ว
   
การที่ฟิลิปปินส์ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือในการประกาศศักดิ์ดา เพื่อเจตนาในการครอบครองน่านน้ำ ย่อมมิชอบด้วยกฎหมาย
     รัฐบาลจีนและไต้หวันคัดค้านพฤติการณ์ของฟิลิปปินส์อย่างที่สุด
     อีกทั้งประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง
   
เหตุการณ์หน่วยลาดตระเวนฟิลิปินส์ได้ทำลายชีวิตชาวประมงไต้หวันได้เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต อีกทั้งทำการปล้นสดมเรือประมงไต้หวัน และเรียกค่าไถ่ ฯลฯ
     จนกลายเป็นประเพณี
     ไต้หวันได้ทำการประท้วงและเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไร้ผล
     สุดท้ายก็เลิกรากันไป ไม่มีข้อสรุป
     แต่ครั้งนี้มิใช่ครั้งก่อน ไต้หวันดูเหมือนเอาจริง เพราะมีจีนหนุนหลังและสั่งการ
   
 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ฟิลิปปินส์รับข้อเสนอของไต้หวันไม่เต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็แสดงว่า ฟิลิปปินส์กลัว ความแข็งŽ เพราะในอดีตเมื่อเกิดเหตุแล้วก็เงียบหายไป
     ก็เพราะฟิลิปปินส์เจอกับคู่กรณีที่เสมือนขนมจีนเปล่าๆ ประการ 1
     ก็เพราะผู้บริหารไต้หวันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อีกประการ 1
     คนไต้หวันส่วนใหญ่ดีแต่พูด แต่มุ่งเน้น "ผลประโยชน์" เป็นหลัก
     ถ้าปราศจากผลประโยชน์ คนไต้หวันจะไม่ค่อยสนใจ
     แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ราชการไต้หวันคงจะ "ลักไก่" ไม่ได้อีกแล้ว
     เพราะว่ามี "รัฐบาลแม่" ดูแลกำกับอยู่อย่างใกล้ชิด
     หลายปีที่ผ่านมา ข้าราชการฟิลิปปินส์ทำร้ายชาวประมงไต้หวัน กลายเป็นกิจวัตร
   
ปี 2006 กัปตันเรือประมงไต้หวันถูกยิงตายด้วยน้ำมือของตำรวจน้ำฟิลิปปินส์ ตำรวจจะนำศพทิ้งทะเล แต่จากการร้องขอของชาวประมงในเรือลำเดียวกัน จึงยอมให้นำศพขึ้นฝั่ง
     ในที่สุด เรื่องก็หายเงียบไป
     หายเงียบเพราะการละทิ้งหน้าที่ของราชการไต้หวัน
     ดูอย่างฮ่องกง เขามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เขาทำงานด้วยความจริงใจ เขาเอาใจใส่ชีวิตมนุษย์
     กรณีรถทัวร์ฮ่องกงถูกปล้นที่ฟิลิปปินส์ เป็นนิทัศน์อุธาหรณ์ที่ดี
   
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2010 การปล้นรถทัวร์ชาวฮ่องกง เป็นเหตุให้คนฮ่องกงตาย 8 คน บาดเจ็บ 7 คน รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่แสดงความรับผิดชอบ
   
รัฐบาลฮ่องกงได้ทำการคัดค้านและต่อต้าน โดยได้ออกสัญญาณเตือนภัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ตั้งแต่คืนที่เกิดเหตุการ์ณ์ จนบัดนี้ยังไม่ได้ยกเลิก
     ผู้บริหารไต้หวันต้องเลียนแบบฮ่องกง
     แผ่นดินไต้หวันก็จะดูสูงขึ้น
     กรณีพิพาททางทะเลระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์ ความจริงไต้หวันได้เปรียบกว่าหลายขุม
   
วันนี้ รายได้สำคัญของฟิลิปปินส์คือส่งออก "แรงงาน" มีคนฟิลิปปินส์ประมาณ 10 % คือ "ขายแรงงาน" ให้ต่างชาติ แต่มิใช่เร่ขายชาติ
     มีชาวฟิลิปปินส์เกือบ 2 แสนคนรับจ้างทำงานบ้านที่ฮ่องกง
     และอีก 8.7 หมื่นคนทำงานที่ไต้หวัน
   
ฟิลิปปินส์มีรายได้จากการขายแรงงานให้ไต้หวันปีละประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน (เท่ากับประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)
     เพียงแค่ไต้หวันทำการ "แช่แข็ง" แรงงานฟิลิปปินส์
     ก็เป็นผลกระทบอย่างแรง
     เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีปัญหาโดยพลัน แต่ทำไมไม่ทำ
     ก็เพราะคนไต้หวันเห็นแก่ผลประโยชน์
     ผลประโยชน์นั้นคือ "ค่าจ้างแรงงาน"
     ถ้าจ้างคนไต้หวัน ค่าจ้างแพงกว่าหลายเท่า ถ้าจ้างแรงงานชาติอื่นก็ยังแพงกว่าจ้างชาวฟิลิปปินส์
     ถ้าให้คนไต้หวันเลือกระหว่าง "ผลประโยชน์" กับ "ชีวิตชาวประมง"
     "ผลประโยชน์" คือ "คำตอบสุดท้าย"
   
ที่มาของพิพาทที่มิสิ้นสุด

ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปมทะเลจีนใต้ : สหรัฐฯ หวังผล 5 เด้ง !!?


สหรัฐ'หวังผล5เด้ง'ปมทะเลจีนใต้ "ภราดร"ย้ำมีความจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของชาติ

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ท่าทีและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยต่อกรณีสถานการณ์ในทะเลจีนใต้" เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการและความมั่นคงเข้าร่วมอภิปรายอย่างคับคั่ง

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความอ่อนไหวและกระทบต่อความมั่นคง ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับประเทศจีนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือต้องมีจุดยืนที่แสดงต่อประชาคมระหว่างประเทศ โดยต้องคำนึงถึงกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความร่วมมือทางการทหาร ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีการแสดงจุดยืนของประชาคมอาเซียนก่อนจึงจะแสดงท่าทีต่อจีนได้

นายประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้เริ่มดีขึ้นจากที่เคยขัดแย้งอย่างหนักถึงขั้นรบกันในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมีปฏิญญาว่าด้วยกรอบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ DOC แล้ว ทุกอย่างก็ดูดีขึ้น เริ่มมีการเจรจา เน้นในเรื่องของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง วิเคราะห์ว่ามาจากมิติทางเศรษฐกิจของทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐทำให้สถาณการณ์คุกรุ่นมากขึ้น

"การเข้ามาของสหรัฐเหมือนเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 5 ตัว คือ 1.เพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคนี้ 2.ปิดล้อมจีนทางทหาร 3.ยุให้จีนโกรธ 4.ทำให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และ 5.ทำให้อาเซียนแตกแยก ฉะนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยต้องรู้ว่าวาระซ่อนเร้นของสหรัฐคืออะไร ของจีนและคู่กรณีต่างๆ คืออะไร ขณะเดียวกันเราจะทำอย่างไรให้ทั้งจีนและสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดี หากไทยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทั้งสองได้ ก็จะกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้ง"
ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนต่างๆ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในทะเลจีนได้ แต่สุดท้ายปัญหาหมู่เกาะอาจทำให้ความสัมพันธ์พังลงได้ ส่วนประเทศไทยในฐานะผู้ประสานระหว่างอาเซียนกับจีน ต้องรักษาประโยชน์และวางตัวให้เหมาะสม พร้อมหาทางแก้ปัญหา โดยการเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

"วิธีการจัดการปัญหา ผมแนะนำว่าเราต้องมุ่งเจรจาเพื่อเปลี่ยน DOC ไปสู่การปฏิบัติเพื่อถ่วงเวลาทุกอย่างไว้ไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้ และจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct for the South China Sea หรือ CoC) ให้สำเร็จ ส่วนการสร้างไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ไทยต้องผลักดันนโยบายความโปร่งใสทางทหาร การแจ้งล่วงหน้าหากมีการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ มุ่งสู่การยุติความเคลื่อนไหวทางทหาร เพิ่มการแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางทหาร แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้คืออาเซียนไม่เป็นเอกภาพ เห็นได้จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปีที่แล้วก็มีความแตกแยกกัน จึงต้องเร่งให้เกิดการเจรจาโดยเร็ว" นายประภัสสร์ กล่าว

ขณะที่ นายชุมพร ปัจจุสานนท์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่พูดเรื่องเส้นเขตแดนหรือใครเป็นเจ้าของเขตแดน เพราะปัญหาจะไม่จบ แต่เมื่อทุกฝ่ายต้องการผลประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ก็ควรตกลงกันหรือแบ่งเค้กกันให้ชัดเจน

พล.ต.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร กล่าวว่า ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีมาก นักการศึกษาด้านความมั่นคงจะเห็นว่าโลกขณะนี้เป็นของเอเชียแปซิฟิก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาของภูมิภาค ย่อมเป็นปัญหาของประเทศด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

ต่างด้าวเป็นเจ้าของที่ดินในไทย !!?


ระบบการค้าเสรีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น  ซึ่งประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการและถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้  ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

หากเป็นบริษัทต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  สามารถซื้อที่ดินได้ แต่ต้องใช้เพื่อเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  และเมื่อเลิกประกอบกิจการก็ต้องขายที่ดิน นอกจากนี้ ชาวต่างด้าวยังสามารถซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่  โดยจะต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท  และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่าห้าปี   ทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยแสดงหลักฐาน คือ

1) หนังสือรับรองการลงทุนจากผู้ขายพันธบัตรว่า ได้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย

2) หนังสือรับรองการลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว่าได้ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักฐานการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว

3) หลักฐานการลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล และบัตรส่งเสริมที่แสดงว่านิติบุคคลดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

4) หลักฐานการลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล และหนังสือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ระบุว่ากิจการที่นิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการอยู่เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้

5) หลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร หรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุน

               ในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทต่างด้าวและชาวต่างด้าวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อาศัยช่องว่างของกฎหมาย  เช่น ตั้งเป็นบริษัทไทยและให้คนไทยถือหุ้นแทนและซื้อที่ดิน หรือคนต่างด้าวที่สมรสกับคนไทย  หรือการว่าจ้างให้คนไทยซื้อที่ดินและให้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับชาวต่างด้าว

                การที่ชาวต่างประเทศสนใจซื้อและถือครองที่ดินในประเทศไทยนั้น  มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน หากเป็นบริษัทต่างด้าวจะมุ่งการลงทุนในเชิงธุรกิจ เช่น การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การทำกสิกรรมขนาดใหญ่ และยังรวมถึงการขายเก็งกำไร  ส่วนชาวต่างด้าวที่เป็นเอกชนจะซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย  หรือเป็นบ้านพักตากอากาศ  และหากมีโอกาสก็อาจจะขายเพื่อทำกำไร

                รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถร่วมกันตรวจสอบการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเข้าข่ายการทำธุรกรรมอำพราง   ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในนิติบุคคลสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นจากนิติบุคคลไทยเป็นนิติบุคคลต่างด้าวหรือมีการเพิ่มทุนจนมีสภาพที่เป็นนิติบุคคลต่างด้าวแต่เคยรับโอนที่ดินในขณะที่เป็นนิติบุคคลไทย  นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ควรสอดส่องดูแล คนในท้องถิ่นที่มีพฤติการณ์ช่วยคนต่างด้าวหลีกเลี่ยงกฎหมาย หากมีการซื้อขายที่ดินในท้องที่ของตน

                การถือครองที่ดินโดยชาวต่างด้าวที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ   เพราะที่ดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต  และเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หากปล่อยให้ที่ดินถูกถือครองโดยคนต่างด้าวโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายในอนาคตอันใกล้ย่อมทำให้คนไทยได้รับความเดือดร้อน ต่อไปลูกหลานคนไทยจะมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินได้ยากขึ้น  อาจถึงขั้นต้องรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัย และเช่าที่ดินจากชาวต่างประเทศเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำมาหากิน

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายความรับผิดชอบ !!?


ในยุคนี้  องค์กรรัฐที่ใหญ่โตมหึมานั้นเป็นสิ่งล้าหลัง  ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว
   
องค์กรรัฐที่รวมศูนย์ก่อตัวขึ้นมาตามขั้นตอนพัฒนาการทางสังคม  มันเป็นสิ่งที่จำเป็นในช่วงการก่อตัวเป็นรัฐชาติ (nation state)  แต่ในยุคนี้  รัฐควรกระจายงานออกไป  ลดขนาดองค์กรรัฐ  เพื่อให้คล่องตัว  ทำงานได้รวดเร็ว  และบริการรับใช้พลเมืองในท้องถิ่นได้ตรงกับภาวะรูปธรรมของแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น
   
สังคมไทยเราก็เริ่มเกินหน้าเรื่องนี้มานานแล้ว  จนผู้คนคุ้นเคยกับคำว่า "กระจายอำนาจ"
แต่ในทางเป็นจริง  การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์  ยังไม่เป็นไปตามอุดมคติ
งานหลายอย่างที่ควรจะโอนให้ อปท.ไป  ก็ยังทำไม่ได้
อปท.บางแห่งก็มีการโกงกินกันอย่างหน้าด้าน ฯลฯ
ปัญหาการเรียกร้องส่วนแบ่งของเงินงบประมาณของ อปท. ขณะนี้  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด
   
เงินงบประมาณจำนวน 30%  จะต้องจัดสรรให้แก่ อปท. เป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนมานานแล้ว  แต่ทุกรัฐบาลดึงเรื่องเอาไว้  โดยอ้างว่า  ไม่มีเงินงบระมาณพอ
   
มันไม่ใช่เรื่อง  มีเงินหรือไม่มีเงิน
เงินงบประมาณมีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น  โดยรัฐบาลกลางมีสิทธิ์ใช้ 70%  ส่วนอีก 30% แบ่งให้ อปท.ใช้
รัฐบาลก็ต้องทำงานตามงบประมาณที่มีเท่านั้น  ทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น
   
ถ้า อปท.ได้งบประมาณไปตามข้อกำหนดคือ 30% แล้ว  ทำงานพัฒนาท้องถิ่นไม่ได้  ผู้บริหาร อปท.แห่งนั้นก็ต้องรับผิดชอบ
   
ถามว่าชาวบ้านเขากลัวไหม  เขาไม่กลัวหรอก  เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ อปท.ทำได้ง่ายกว่าตรวจสอบรัฐบาล  กระทั่งจะขับไล่ ผู้บริหารระดับ อปท. ก็ทำได้ง่ายกว่าขับไล่รัฐบาลเยอะ
   
เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย  รัฐบาลก็ควรให้สำนักงบประมาณเขาตัดเงินไปเลย 30%  แล้วรัฐบาลก็ทำงานตามที่มีเงินงบประมาณ  งานหลาย ๆ อย่างต้องโอนให้ อปท.ไป  
อย่าหวงเอาไว้เลย  ปล่อยไปเถิด  แล้วรัฐบาลจะสบายตัวขึ้นเยอะ
   
การเปลี่ยนแปลงงบประมาณในปี 2557 คงทำไม่ทัน  ก็ไม่เป็นไร  ทาง อปท.เขาก็คงมีเหตุมีผล  ยอมรับไปก่อนได้  ถ้ารัฐบาลให้คำมั่นสัญญาแน่นอนว่า  จะเริ่มจัดสรรงบประมาณให้ครบแน่เริ่มตั้งแต่ ปี 2557  เป็นต้นไป
   
ซึ่งต่อจากนั้น  อปท.ก็จะต้องรับผิดรับชอบกันเอาเองแล้ว
   
ถ้าทำตัวไม่ดี  ก็ให้คนท้องถิ่นจัดการเสียให้เข็ด  !!  

ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////

อดีต รมว.คลัง แนะแก้บาทแข็ง กิตติรัตน์-ประสาร ผนึกกำลัง เลิกตั้งป้อม !!?


เมื่อ ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ กระทบตรงถึงธุรกิจการส่งออก ร้อนถึงทุกองคาพยพที่รับผิดชอบต่อนโยบายการเงินการคลังของประเทศ จำเป็นต้องระดมสมองหาทางแก้ไข

ฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผู้รับผิดชอบโดยตรงชื่อ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รมว.คลัง และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำนำทัพโดย "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กินเวลาหลายเดือนที่ 2 องค์กรใหญ่ระดมสมอง เพื่อค้นหายุทธวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ที่สุด

"กิตติรัตน์" มีความเห็นให้ ธปท. ผลักดัน ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือเพื่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่ "ประสาร" เสนอมาตรการจากอ่อนไปถึงเข้มรวม 4 ข้อ เพื่อสกัดเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่จนถึงวินาทีนี้ "บาทแข็ง" ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกจากปาก 2 ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินการคลังของประเทศ
ปรากฏเพียงแต่ภาพงัดข้อประลองกำลังระหว่าง "กิตติรัตน์-ประสาร" ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ผู้เคยผ่านสมรภูมิรบ 2 องค์กรข้างต้น เคยเป็นทั้ง รมว.คลังคนแรกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเคยนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าการ ธปท. เพื่อวิเคราะห์หาทางออกอีกแรงหนึ่ง

ถามความเห็นเรื่องแรงกดดันจาก รมว.คลัง ถึงการปลดผู้ว่าการ ธปท. เขาบอก "no comment" และขอพูดแต่เรื่องปัญหาค่าเงินเพียงอย่างเดียวโดย ทั้งหมดเป็นความเห็น บทวิเคราะห์ล่วงหน้า 3 วัน ก่อนที่ "กิตติรัตน์" จะเรียกประชุมทุกหน่วยงานเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พ.ค. โปรดติดตามได้บรรทัดต่อจากนี้

- มอง 4 มาตรการที่เสนอโดย ธปท. อย่างไร

เมื่อ มองดูแล้วว่าโจทย์วันนี้เป็นเรื่องของบาทแข็ง 4 มาตรการนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ ผมคิดว่าสิ่งที่เขาเสนอเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมาตรการ capital control ที่ต้องการควบคุมเงินทุนไหลเข้าโดยตรง ซึ่งเป็นมาตรการที่ ธปท.ออกแบบจากอ่อนไปหาเข้มอยู่แล้ว ทั้งหมดสามารถทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ โดยประเมินปฏิกิริยาของนักลงทุนควบคู่ไปด้วย

ผมขอยกตัวอย่าง หากเราบังคับให้นัก ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ว่าต้องมีการคุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยน ผลตอบแทนที่เขาได้ก็จะน้อยลงทันที อาจเริ่มต้นคุ้มครอง 10-30% ก่อนที่จะไปถึง 100% แล้วสังเกตดูว่าเงินยังไหลเข้ามาหรือไม่ นี่คือการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และทำได้ทันทีโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย

- ถ้าดำเนินการตามข้อเสนอ ธปท. ก็ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย

ผม ว่าเรื่องมาตรการของ ธปท. และการลดดอกเบี้ย แยกส่วนเป็นอิสระต่อกัน ฉะนั้นการประชุมวันจันทร์จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่า เศรษฐกิจในต่างประเทศมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเศรษฐกิจภายในยังคงมีความร้อนแรงหรือเบาบางลง เมื่อได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน กนง.ก็อาจจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็ได้

สิ่ง ที่ ธปท.เสนอมา ทั้งการเก็บภาษี การบังคับให้เงินไหลเข้าต้องคุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยน ผมไม่มั่นใจว่าเป็นอำนาจของ ธปท.หรือไม่ แม้แต่การห้ามซื้อพันธบัตร ธปท. ก็อาจเป็นอำนาจของเขาหรือไม่ แต่ตามมารยาทการทำงาน ข้อเสนอทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก รมว.คลัง เพราะทุกมาตรการเป็นการใช้อำนาจของ ธปท.ที่เกินกว่ากรณีปกติ

ประเด็น คือ เราจะไปเน้นว่ามาตรการใดเป็นอำนาจของใครมันเป็นเรื่องรอง เพราะทุกมาตรการล้วนมีผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน และจำเป็นต้องอธิบายให้สังคมรับรู้ ฉะนั้นเรื่องหลักคือ Big Move ที่ ธปท.จะได้ตัดสินใจอะไรก็ควรได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมืองอย่างเต็มที่

- ที่ผ่านมาทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ต่างมี Big Move คนละเส้นทาง

มันเป็นการตั้งป้อม ผมก็ไม่อยากจะวิจารณ์มากว่ามันมีอะไรอยู่นอกเหนือเรื่องนี้หรือไม่

- แต่ละมาตรการควรใช้เมื่อไรถึงจะเหมาะสมที่สุด

ต้องกลับ มาดูเรื่องอัตราค่าเงิน นี่เป็นสิ่งที่ตอบยาก เพราะถามแต่ละคนว่าค่าเงินระดับไหนสมควรทำอะไร ก็จะให้คำตอบแตกต่างกัน ฉะนั้นในแง่ระดับค่าเงินบาท ผมคิดว่า ธปท.จำเป็นต้องหาข้อมูลอย่างกว้างขวางจากภาคเอกชน จากผู้เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจ ซึ่งการที่ รมว.คลัง นัดประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องเสียที หลังจากที่ตั้งป้อมยิงปืนใหญ่ใส่ ธปท.มาโดยตลอด

- การตั้งป้อมยิงอย่างนี้มีแต่ผลเสีย

เป็น ผลเสียมากกว่า ผมว่าต้องเลิกตั้งป้อมยิงเสียที ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลตามที่อยากได้ เพราะ กนง.มีหน้าที่ตามกฎหมาย เขาต้องรับผิดชอบเศรษฐกิจโดยภาพรวม หมายความว่าปัญหาค่าเงินเป็นแค่ไพ่ใบเดียวในมือ กนง. ฉะนั้นการดำเนินการโดยให้ตั้งเป้าหมายไปที่ใบเดียวคงเป็นไปไม่ได้

ดัง นั้นการที่ รมว.คลังเป็นเจ้าภาพนัดหารือ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ผมเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วว่า ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำจะต้องเอาหัวชนกัน ไม่ใช่ขวิดเขาใส่กัน และเวลานี้ก็ต้องเอาภาคธุรกิจมาคุยด้วยก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

- บางฝ่ายวิเคราะห์ว่า การตั้งป้อมอย่างนี้ก็ช่วยให้นักลงทุนถอยออกไปส่วนหนึ่ง

ถ้า ผมเป็น รมว.คลัง และมีข้อตกลงกับผู้ว่าการ ธปท.ชัด ๆ ผมจะเดินออกมาพูดพร้อมกันว่า เรามีความเห็นว่าเงินไหลเข้าประเทศมากไปแล้วนะ หรือเงินบาทแข็งขึ้นไปหน่อยแล้วนะ ผมว่าทำแค่นี้เงินทุนก็ไหลกลับไปเอง หัวใจคือทุกฝ่ายต้องพูดเป็นเนื้อเดียวกันถึงจะจูงตลาดได้

- หากเป็น รมว.คลังอยู่จะแก้ปัญหาอย่างไร

สมัย ที่ผมดำรงตำแหน่ง สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการหารือกับภาคเอกชนเป็นประจำ เพราะข้อมูลจากส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญ และโดยตำแหน่ง รมว.คลังเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ธปท. คุมอำนาจทางการเมือง คุมอำนาจรัฐ และเป็นผู้ดูแลกฎหมาย ธปท. ในแง่นี้ ผมจะนัดคุยกับ ธปท. และภาคเอกชนแบบเงียบ ๆ แสดงข้อกังวล เสนอทางออกให้เขาเต็มที่ ทำแบบเงียบ ๆ และต้องแสดงให้คนข้างนอกเห็นว่า ผู้บริหารการเงินการคลังยังผนึกกำลังเป็นเนื้อเดียวกัน

- ทำไมต้องหารือทุกฝ่ายแบบเงียบ ๆ

การ ถกเถียงระหว่าง รมว.คลัง กับ ธปท. ในที่สาธารณะ มันก็เหมือนเอาผ้าปูที่นอนที่เปื้อนแล้วมาซักในที่สาธารณะ เรื่องขัดแย้งทางความคิดมันคุยกันได้แบบเงียบ ๆ เหมือนสมัยท่านสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ท่านนัดประชุมแบบเงียบ ๆ เป็นประจำ เราเรียกว่า breakfast meeting เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งกินข้าวกันไป หารือกันไป แบบนี้มันทำให้ประเทศมีความราบรื่น

นโยบายทางการเงินการคลัง มันมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีข้อมูลต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่ทุกฝ่ายทำได้คือให้ข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจรับรู้อย่างเต็มที่

- หากเป็นผู้ว่าการ ธปท. ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำอย่างไร

ใน มุมนี้จะยากนิดหนึ่ง เพราะขึ้นอยู่กับหมากที่ รมว.คลังจะเดินอย่างไร สมัยนี้ต้องยอมรับว่าเหนื่อย เพราะ รมว.คลังออกมาพูดเรื่องขาดทุน ที่เป็นการตีราคาทางบัญชี อีกส่วนหนึ่งเป็นการขาดทุนจากการ

ออก พันธบัตรเพื่อดูแลปริมาณการเงิน ซึ่งการขาดทุนจากการตีราคานี้เกิดจากการที่ ธปท. มีทรัพย์สินเป็นดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินอ่อนตัว ทรัพย์สินทางบัญชีก็ย่อมขาดทุน

ผมไม่ได้หมายความว่าทรัพย์สินเหล่า นี้เกิดจากที่ท่านประสารเป็นผู้ซื้อมา แต่มันซื้อมาตั้งแต่สมัยผู้ว่าการคนเก่า ๆ ฉะนั้นจะเหมารวมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือท่านประสาร ผมว่ามันก็ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก

มองลึกลงไปจะพบว่า กรณีขาดทุนของ ธปท. ทำเพื่อให้เงินบาทแข็งตัวช้าลง ให้เวลาคนปรับตัวมากขึ้น ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะล้มหายตายจาก เกิดการปลดคนงาน วุ่นวายไปหมด ฉะนั้นสิ่งที่ ธปท.ยอมขาดทุน

มันทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับประเทศ เราจะมามองแต่การขาดทุน แต่ไม่มองกระจกเงาที่สะท้อนกลับมาไม่ได้

- เมื่อฝ่ายการเมืองตั้งต้นแนวคิดอย่างนี้ ธปท.ที่เป็นข้าราชการประจำควรทำอย่างไร ตอบโต้หรือก้มหน้ารับผิดชอบ

มัน เป็นสิ่งที่ยากทั้งสองทาง ถ้าออกมาอธิบายมาก คนก็หาว่าอวดดี แก้ตัว แต่ในความเห็นผม ท่านประสารควรออกมาอธิบายมากกว่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลานี้ก็มีความเสี่ยงที่คนจะไม่ฟัง เพราะมันมีคนตั้งป้อมรออยู่แล้ว

- เศรษฐกิจไทยตอนนี้ถึงเวลาลดดอกเบี้ยหรือไม่

ผม เองไม่ได้ตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เลยแสดงความเห็นไม่ได้ แต่ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่าภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนตัว จากจีน ยุโรป สหรัฐ ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หากรัฐบาลไทย

ไม่ได้เหยียบคันเร่งนโยบายประชานิยมเข้าไปผสม ไม่อัดเงินผ่านนโยบายการคลังลงไป กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยได้ง่ายกว่านี้

- ถ้าสุดท้ายต้องมีการลดดอกเบี้ย

จะ ถือว่า ธปท.แพ้แรงกดดันหาก กนง.ประเมินแล้วว่า ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอฉับพลัน จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องของเขา แต่ต้องให้เวลาเขาดูไพ่ทั้งมือ ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเสียก่อน

ภาพรวมมาตรการที่เสนอผ่านมาทั้งของ ธปท. และของกระทรวงการคลังที่พยายามจะใช้หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นสิ่งที่ตลกมาก เพราะ รมว.คลังเสนอมาตรการในความรับผิดชอบของ กนง.

ขณะ ที่ ธปท.กลับเสนอมาตรการที่เป็นหน้าที่ของคลัง มันสวนทางกัน ดังนั้นกระทรวงการคลังทำอะไรได้มากกว่าการกดดัน ธปท.ให้ลดดอกเบี้ย ทำอะไรได้มากกว่าการใช้หนี้รัฐวิสาหกิจเยอะแยะ โดยเฉพาะมาตรการที่ ธปท.เสนอมาเป็นอำนาจของท่านรัฐมนตรีโดยเฉพาะ อยู่ที่ว่าท่านจะทำหรือไม่เท่านั้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อลงกรณ์ ฉุนขาด! ซัดขาใหญ่ ปชป.มั่ว !!?


อภิสิทธิ์. แจงแถลงปฏิรูปประชาธิปัตย์ ยันให้เลื่อนเหตุ “อลงกรณ์” ติดภารกิจ สั่ง “เฉลิมชัย” คุยรองหัวหน้าอีกรอบ ลั่นรักษาอุดมการณ์เดิม ด้านโฆษกพรรคระบุไม่มีผิดปกติ ด้าน “อลงกรณ์” โวยขาใหญ่จ้อสื่อมั่วหาว่า “ชวน” โกรธ แถมดิสเครดิตยับ ซัดไม่ใช่ลูกผู้ชาย ก่อนแจงยิบวิถีปฏิรูปพรรค ย้ำไม่ กก.บห.ไม่ขัด
     
       ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการเลื่อนการแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ว่าตนเองก็เดินทางไปถึงตอนก่อนเวลาแถลง กรรมการบริหารก็มากันหลายคนแล้วก็รอนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ภาคกลางอยู่ เพราะช่วงเช้าก็ยืนยันว่าจะมาแถลงตอนบ่าย 2 แต่ว่าติดภารกิจด่วน และอยู่ระหว่างขับรถจะไปเพชรบุรี ตนจึงให้เลื่อนการแถลงข่าวออกไปก่อนเพราะอยากให้ทุกคนมาร่วมกันแถลง เพราะว่าบรรยากาศในการประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี และทุกคนก็อยากมีส่วนร่วม และตนก็บอกว่าต่อไปนี้การปฏิรูปนั้นถ้าจะเป็นงานสำคัญต้องเป็นงานที่ทุกคนมาพูดด้วยกัน เคลื่อนให้มันเป็นเอกภาพถึงจะเกิดพลังขึ้น
     
       เมื่อถามว่า การแถลงข่าวเป็นเรื่องของกรอบแนวคิดการปฏิรูปพรรคใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในการประชุมก็ได้หารือประเด็นใหญ่ๆ ที่คิดว่ามีสิ่งที่จะต้องเดินหน้าในการปรับปรุงแต่ก็จะเกี่ยวข้องในเชิงตัวโครงสร้างของการบริหารพรรค ไปจนถึงการบริหารจัดการในตัวสำนักงาน บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่จะต้องทำคือขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำงาน และยังไม่ถือเป็นกรอบกำหนด แต่ว่าในรายละเอียดที่อาจจะต้องไปแก้ไขข้อบังคับ หรือโครงสร้างนั้นจำเป็นจะต้องไปจัดทำกันขึ้นมา ในกรอบเวลาประมาณ 1 เดือนนี้ก็ไปทำมาให้เสร็จเรียบร้อย และถ้าจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขข้อบังคับ จะได้มีการเรียกประชุมใหญ่ด้วย ส่วนจะมีการแถลงได้เมื่อไรนั้น เวลานี้ให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคไปติดต่อนายอลงกรณ์อีกครั้ง
     
       “เป้าหมายเราคือชัยชนะของอุดมการณ์ของพรรค การชนะการเลือกตั้งเป็นความต้องการความปรารถนาทั้งของสมาชิก ของผู้สนับสนุนอยู่แล้ว แต่ว่ามันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แปลว่าจะเอาชนะการเลือกตั้งโดยอะไรก็ได้ มันต้องเป็นการเดินหน้าที่รักษาอุดมการณ์ แล้วก็มุ่งไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง และการทำงานให้แก่ประเทศ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
     
       ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขอยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดผิดปกติ แต่นายอลงกรณ์ดูแลพื้นที่ภาคกลางติดภารกิจด่วน ซึ่งพรรคไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ก็ไปร่วมสัมมนากับภาคกลางที่จังหวัดนครนายกด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาพรรค เพื่อตอบสนองการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดเร็วขึ้นกว่ากำหนด
     
       อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าหลังจากที่นายอลงกรณ์อ้างว่าติดภารกิจด่วนที่ จ.เพชรบุรี จึงไม่มาเข้าร่วมการแถลงข่าวเมื่อวานนี้นั้น ทำให้มีการล้มเลิกนัดหมายแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปพรรค และผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อนายอลงกรณ์ได้ ล่าสุดวันนี้เวลาประมาณ 08.00 น.นายอลงกรณ์ได้ใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์เขียนข้อความโดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าแหล่งข่าวอาวุโสในพรรคอ้างว่านายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ โกรธมากที่ข้อเสนอการปฏิรูปพรรคของตนขัดอุดมการณ์พรรคที่เน้นประชานิยม โดยแหล่งข่าวอาวุโสในพรรคให้ข่าวแบบบิดเบือน หลังจากที่ผมเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อ 13 พ.ค. การกล่าวหาว่า ข้อเสนอปฏิรูปพรรค ขัดอุดมการณ์พรรค เน้นประชานิยม เลียนแบบพรรคเพื่อไทย นั้นนับว่า บิดเบือนและเป็นการดิสเครดิต
     
       “ผมรักษาวินัยโดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อใดๆ หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค แต่กลับมีบางคนให้ข่าวใส่ร้ายบิดเบือนการปฏิรูป การอ้างคำพูดท่านชวนที่ผมให้ความเคารพแบบจงใจพูดโกหกขาวเป็นดำเช่นนี้ไม่ใช่ลูกผู้ชาย จะทำร้ายผมได้แต่อย่าทำร้ายการปฏิรูป 22 ปีไม่เคยไปไหน พรรคให้เป็นประธานตรวจสอบทุจริตยุคทักษิณเรืองอำนาจสูงสุด 5 ปีเต็ม เสี่ยงคุกเสี่ยงตาย คนแบบนี้ไม่มีอุดมการณ์หรือ” นายอลงกรณ์ระบุ
     
       นายอลงกรณ์กล่าวว่า นายชวนเป็นต้นแบบต่อต้านการซื้อเสียงและคอร์รัปชัน ตนก็ต่อสู้พวกซื้อเสียงพวกทุจริตและไม่สนับสนุนนโยบายประชานิยมแบบมอมเมา ตนเชื่อมั่นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเอง นายชวนและนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ทำเรื่องเอทานอลตามแนวพระราชดำริก็ทุ่มเททำงานจนวันนี้มีแก๊สโซฮอล์ขายทั่วประเทศ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ให้ตนเป็นประธานตรวจสอบทุจริตสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจสูงสุด 5 ปีเต็ม (ปี 45-49) จนโดนฟ้องโดนแจ้งความเกือบ 20 คดี นายอภิสิทธิ์ให้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์และลอจิสติกส์ตอนเป็น รมช.พาณิชย์ ก็บริหารจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและอาเซียน นายอภิสิทธิ์ให้ตนปฏิรูปราชการเพราะขีดความสามารถประเทศลดลงโดยเฉพาะการเริ่มต้นธุรกิจในไทยก็สามารถลดเวลาจาก 4 วันเหลือ 60 นาที ตนเชื่อเรื่องปฏิรูปเพราะการปฏิรูปราชการที่ว่ายากยังสามารถปรับปรุงระบบและพัฒนาคนจนสำเร็จทำให้กรมพัฒนาธุรกิจได้รางวัลที่ 1 ของประเทศ ตนนำร่องปฏิรูปภาคกลาง เช่น จัดอบรมแกนนำสมาชิกตั้งแต่ต้นปีกว่า 1,200 คนเน้นปลูกฝังอุดมการณ์สร้างวิสัยทัศน์ คิดเก่ง-ทำเก่ง
     
       “ตัวอย่างที่ยกมาเพื่อให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการกล่าวหาใส่ร้ายว่าผมเป็นคนไร้อุดมการณ์ ไร้หลักการจริงหรือไม่ หรือการกล่าวหาใส่ร้ายเกิดขึ้นเพราะผมและเพื่อนๆ เสนอ พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค และความพ่ายแพ้ซ้ำซาก 21 ปี” แบบตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนใส่ร้ายข้อเสนอการปฏิรูปพรรคอีกต่อไป จึงต้องเผยแพร่พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์” นายอลงกรณ์ระบุ
     
       นายอลงกรณ์ระบุว่า พิมพ์เขียวปฏิรูปมี 36 หน้า หน้า 1 ถึง 19 เป็นการกล่าวถึงความเป็นมาของการปฏิรูปพรรคและการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและปัญหา หน้า 20 ถึง 36 เป็นแนวทางการปฏิรูปพรรค ซึ่งตนจะนำเสนอเฉพาะข้อเสนอในส่วนนี้เท่านั้น โดยจุดยืน 1. ยึดมั่นประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ 2. ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง 3. ต่อต้านคอร์รัปชัน ขณะที่วิสัยทัศน์ปฏิรูปพรรคนั้น (1. เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประชาชนและประเทศชาติ (2. เพื่อปฏิรูปการเมืองสู่การเมืองคุณภาพและสร้างสรรค์ (3. ปฏิรูปพรรคเพื่อเอกภาพและประสิทธิภาพของพรรค (4. ปฏิรูปพรรคสู่ความทันสมัยก้าวหน้า วิสัยทัศน์กว้างไกล
     
       ขณะที่เป้าหมายการปฏิรูปพรรค นายอลงกรณ์ระบุว่า 1. เพิ่มจำนวน ส.ส.และเพิ่มความศรัทธาที่มีต่อพรรค 2. เพิ่มโครงสร้างและระบบการดูแลประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศ 3. สร้างพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองและองค์กรทันสมัยทรงประสิทธิภาพเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน 4. สร้างสรรค์พรรคสู่ทางเลือกที่ดีของประชาชนและสู่ความหวังของชาติด้วยอุดมการณ์คุณธรรมนำการเมือง 5. Democrat Effects ส่งผลต่อการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน 6. Democrat Effects ส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศไทยสู่อนาคตที่ดีกว่า 7. เพื่อเป็นพรรคที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเป้าหมายการปฏิรูปพรรคทั้ง 7 ข้อ คือความฝันของประชาธิปัตย์ (Democrat Dream) และต้องทำให้เป็นความหวังของชาติ (Nation's Hope)
     
       รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า แนวทางการปฏิรูปพรรคแบบองค์รวม 1. ต้องปฏิรูปพร้อมกันทุกด้าน 2. ต้องปฏิรูปพรรคอย่างต่อเนื่อง 3. ต้องปฏิรูปพรรคแบบมีส่วนร่วม โดยมี 3 ด้าน 1. ปฏิรูปโครงสร้างและระบบ มี 5 แนวทาง 2 โครงสร้างใหม่ ดังนี้ 1. แนวทางขับเคลื่อนแบบบนลงล่าง ล่างขึ้นบน 2.มีโครงสร้างในการสื่อสารภายในและภายนอกที่มีประสิทธิภาพ 3.มีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา 4.มีโครงสร้างระดับพรรค ภาค โซน จังหวัด เขตเลือกตั้ง อำเภอ ตำบล หมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ 5.มีโครงสร้างและพื้นที่ทำงานให้แก่ผู้มีความสามารถไม่ว่าจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่าได้ทำงาน
     
       ขณะที่โครงสร้างใหม่ประกอบด้วย 1.โครงสร้างใหม่สำนักงานใหญ่ ได้แก่ 1. สำนักวิจัยและพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ 2. สำนักวิจัยและพัฒนางบประมาณแผ่นดิน 3. สำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย 4. ศูนย์ปราบปรามคอร์รัปชั่น 5. ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน 6. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ 7. สำนักกิจการสาขาและสมาชิก 8. สำนักกิจการสตรีและยุวประชาธิปัตย์ 9. สถาบันประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่พัฒนาบุคคลากรและคิดค้นนวัตกรรมการบริหารจัดการรวมทั้งงาน e-Library 10. สำนักกิจการรายได้ 11. สำนักงานอำนวยการ โดยมีผู้อำนวยการพรรคเป็นนักบริหารมืออาชีพทำงานเต็มเวลา โดย เน้นภารกิจหลักของพรรคการเมือง (funtional designed organisation) รองรับงานไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน การวิจัยและพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ประเทศ กฎหมายและงบประมาณแผ่นดินสำคัญสำหรับอนาคตประเทศเช่นเดียวกับการดูแลประชาชนและปราบทุจริต 2. โครงสร้างส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 1. สำนักงานภาค 5 ภาค 2. สำนักงานโซน (กลุ่มจังหวัด) 3. คณะกรรมการจังหวัด 4. สำนักงานสาขาพรรค 5. คณะกรรมการอำเภอ 6. ศูนย์ตำบล ทั้งนี้ โครงสร้างส่วนภูมิภาคในทุกระดับต้องบริหารโดยนักบริหารมืออาชีพหรือผู้มีทักษะด้านบริหารภายใต้การกำกับของคณะกรรมการฝ่ายการเมือง
     
       นายอลงกรณ์ระบุว่า 2. ปฏิรูปการบริหารจัดการพรรค การบริหารจัดการเน้นความเด็ดขาดฉับไวในการตัดสินใจและปฏิบัติโดยกระจายอำนาจและมอบอำนาจชัดเจน ต้องปฏิรูประบบงบประมาณพรรคเน้นเป้าหมายและภารกิจโดยมีตัวชี้วัดผลลัพท์ชัดเจน การบริหารงานการเมืองแบ่งงานเป็น 2 ส่วน 1. งานตรวจสอบนโยบายโดยรัฐบาลเงา (shadow government), อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.อาวุโส 2. งานการเมืองเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์, วิปฝ่ายค้านและ ส.ส. การบริหารองค์กรระดับสำนักงานใช้นักบริหารมืออาชีพหรือผู้มีทักษะบริหารทำงานเต็มเวลามีคณะกรรมการการเมืองกำหนดนโยบาย เป้าหมาย โดยสรุปแล้ว การปฏิรูปการบริหารพรรคเน้นการบริหารโดยนักบริหารมืออาชีพเน้นความฉับไวเด็ดขาดและแยกงานตรวจสอบนโยบายจากงานการเมือง
     
       นายอลงกรณ์ระบุต่อว่า 3. ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและบุคคลากรของพรรค มี 7 ข้อ 1.สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบเปิดกว้าง 2. ปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตย 3. พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลทันสมัย 4. ปรับวัฒนธรรมองค์กรสู่การทำงานเชิงคุณภาพ 5. พัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นเลิศทางบริหารและคุณธรรม 6.สร้างพื้นที่งานและความรับผิดชอบให้บุคลากรทั้งเก่า ใหม่อย่างชัดเจน 7. นำระบบไพรมารี่และคอคัสมาใช้ในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.และท้องถิ่นเพื่อสร้างวัฒนธรรมแบบเปิดกว้างและเสมอภาคเป็นธรรม
     
       “การปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ เน้นประสิทธิภาพของพรรค อุดมการณ์ประชาธิปไตยและคุณภาพของคนเพื่อคุณภาพของการเมืองและคุณภาพของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิรูปแบบองค์รวมต้องยกเครื่องใหญ่ ต้องกลับมาเป็นทางเลือกที่ดีไม่ใช่เป็นทางเลือกสุดท้าย ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการบริหารควรใช้พิมพ์เขียวปฏิรูปเป็นร่างหลักแล้วส่งให้ที่ประชุม ส.ส.กับสภาที่ปรึกษาพิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ” นายอลงกรณ์ระบุ
     
       อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ได้เขียนข้อความชี้แจงสมาชิกเพิ่มเติมโดยระบุด้วยว่า กรรมการบริหารพรรคไม่มีความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปฏิรูปพรรคก็ไม่เกี่ยวประเด็นการเมืองเรื่องปรองดองกับใครทั้งนั้น

ที่มา.ผู้จัดการ
//////////////////////////////////////////////////////////////

ไทยคม - 6 เลื่อนยิงไปปลายปี เร่งจัดหาดาวเทียม ดวงอื่นมาให้บริการแทน !!?


ไทยคม.เร่งจัดหาดาวเทียมมาให้บริการรองรับธุรกิจบรอดแคสต์โตดีมานด์การใช้ช่องสัญญาณพุ่งทั้งยอมรับแผนจัดส่งไทยคม 6 เลื่อนจากกลางปีไปปลายปี

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม เปิดเผยว่า เพื่อรองรับความต้องการการใช้งานช่องสัญญาณของลูกค้า ไทยคมได้จัดหาดาวเทียมมาให้บริการที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกเป็นการชั่วคราวก่อนการส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งตามแผนที่กำหนดไว้ ดาวเทียมดังกล่าวจะเริ่มให้บริการได้ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

โดยดาวเทียมที่นำมาให้บริการชั่วคราวนี้ มีลักษณะทางเทคนิคที่เหมาะสมสามารถรองรับการใช้งานของลูกค้าได้อย่างเพียงพอตามความต้องการ โดยเฉพาะการให้บริการด้านโทรทัศน์ดาวเทียมและการให้บริการตามกฎ Must Carry ของช่องโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial Television; DTT) ของ กสทช.

และดาวเทียมดวงดังกล่าวจะเดินทางมาถึงตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก และเริ่มให้บริการภายในปลายเดือนกรกฎาคมนี้   และเมื่อดาวเทียมไทยคม 6 ได้รับการส่งขึ้นสู่วงโคจรและพร้อมจะให้บริการแล้วก็จะย้ายดาวเทียมดวงนี้ออกไป ซึ่งการจัดหาดาวเทียมมาให้บริการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดของสัญญาสัมปทาน และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงไอซีทีแล้ว

เดิมดาวเทียมไทยคม 6 มีกำหนดการส่งดาวเทียมในช่วงกลางปี 2556 ล่าสุด บริษัท สเปซ เอ็กซพลอเรชั่น เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น (Space Exploration Technologies Corporation- SpaceX) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้รับจัดส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร ได้แจ้งว่า เกิดความล่าช้าในกำหนดการส่งของดาวเทียมดวงอื่นที่มีลำดับการส่งขึ้นสู่วงโคจรก่อนดาวเทียมไทยคม 6 ทำให้กำหนดการส่งดาวเทียมไทยคม 6 ต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปีนี้

“การเลื่อนกำหนดการจัดส่งดาวเทียม ในการดำเนินธุรกิจดาวเทียมถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้  เพราะการยิงดาวเทียมแต่ละดวงมีปัจจัยหลายประการที่สามารถจะส่งผลกระทบต่อกำหนดการส่งดาวเทียม อย่างกรณีนี้ ก็เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการจัดส่งดาวเทียมดวงอื่นที่มีลำดับการส่งขึ้นสู่วงโคจรก่อนดาวเทียมไทยคม 6 แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา เพราะการจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 6 ยังคงเป็นไปตามแผนงานและขั้นตอนทางเทคนิคที่กำหนดไว้  และไทยคมก็สามารถจัดหาดาวเทียมมาให้บริการเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าก่อนการส่งไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร” นางศุภจีกล่าว
       
การจัดหาดาวเทียมมาให้บริการในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ลูกค้าที่ใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมจะมีช่องใช้ตามความต้องการซึ่งเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยรวมของประเทศทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเติมจากการให้บริการของดาวเทียมดังกล่าวและในส่วนของไทยคมเองก็จะมีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาก่อนการยิงดาวเทียมไทยคม 6 อีกด้วย
       
“การจัดหาดาวเทียมที่มีลักษณะทางเทคนิคที่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีนั้น มิใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจดาวเทียมของทีมงานของไทยคม ประกอบกับความตั้งใจที่จะหาแนวทางดำเนินการเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุดโดยยึดถือประโยชน์ของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญทำให้ไทยคมประสบความสำเร็จในการจัดหาดาวเทียมเพื่อมาให้บริการในครั้งนี้” นางศุภจีกล่าวเพิ่มเติม
       
ปัจจุบัน ไทยคม สามารถขายช่องสัญญาณล่วงหน้าบนดาวเทียมไทยคม 6 ได้แล้วกว่าร้อยละ 60 ซึ่งดาวเทียมไทยคม 6 จะช่วยตอกย้ำความเป็นดาวเทียม Hotbird ที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกของไทยคมต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////