ในปี 2558 หลังจากรวมเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว คนไทยหลายคนคิดว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสินค้า การบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการเคลื่อนย้ายทุน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ปริวรรต กนิษฐะเสน จะพาไปหาคำตอบ โดยนำเสนอเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่มายาคติ สิ่งที่ชาติอาเซียนทำข้อตกลง และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดงานเสวนาวิชาการ “รื้อถอนมายาคติ AEC” ณ ห้อง 01-003 อาคารปฏิบัติการ ชั้น 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ปริวรรต กนิษฐะเสน ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรรับเชิญ
“คนไทยมักจะคิดไปเองว่าหลังจากรวมเป็นประชาคมอาเซียนแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ซึ่งหลายอย่างเป็นเหมือนการเอาแพะมาชนแกะ ซึ่งอันที่จริงแล้วมันมีความแตกต่างระหว่างมายาคติอันนี้กับเป้าหมายที่สิบประเทศได้ตกลงกัน ทั้งในด้านการค้า บริการและการลงทุน และที่สำคัญเป้าหมายกับความเป็นจริงก็อาจจะไม่ตรงกันด้วย” ปริวรรต กล่าว
อันที่จริงการรวมเป็นประชาคมอาเซียนเริ่มต้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่การเริ่มในปี 2558 มันเป็นเพียงแค่จุดๆหนึ่งเท่านั้นเอง ในที่นี้ตนจะกล่าวถึงมิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
อาเซียนเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 ในช่วงนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็น บางประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ และยังมีการสู้รบอยู่ จึงก่อให้เกิดการรวมตัวกันของ 5 ประเทศโดยมีอเมริกาเป็นแกนกลาง เพื่อผนึกกำลังทางการเมืองระหว่างประเทศสู้คอมมิวนิสต์ที่เรามักถูกสอนให้เกลียด
จนกระทั่งปี 2524 เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง อาเซียนเริ่มคิดว่าจะขยายแนวความร่วมมือไปเรื่องอื่น โดยเริ่มจากทำ “ข้อตกลงทางด้านการค้า” ช่วงแรกที่ทำก็ไม่ค่อยได้ผลสักสักเท่าไหร่ เพราะแต่ละประเทศยังคงปกป้องสินค้าด้านการส่งออกของตน จะเปิดให้เฉพาะสินค้าที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่ เช่น อุปกรณ์สกี เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของอาเซียนว่าไม่ค่อยจริงจังกัน
ปี 2535 เริ่มจริงจังมากขึ้น โดยเริ่มเซ็นสัญญา Asian free trade area (AFTA) ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะลดภาษี ศุลกากรเท่าไหร่ ในสินค้าอะไรบ้าง ที่นำเข้าส่งออกกันจริงๆ ไม่ใช่สินค้าแบบในปี 2524
สินค้าเป็นสิ่งที่ชัดเจนแต่เรื่องการบริการ เป็นสิ่งที่ไม่เห็นไม่ชัดและเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาษีเพียงอย่างเดียว โดยเรื่องการบริการเราเริ่มเซ็นเมื่อปี 2538
หลังจากเรื่องบริการก็เป็นการลงทุน เช่น การสร้างโรงงาน การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นต้น โดยลงนามข้อตกลงในปี 2542
ในปี 2550 เริ่มมีการพูดคุยถึงการเป็น AEC ที่ชัดเจนและมีเป้าหมายมากขึ้นจึงเกิดพิมพ์เขียวขึ้นมา โดยจากเดิมกำหนดไว้ปี 2563 แต่ร่นมาเป็นปี 2558
หลังจากนั้น ก็ได้ทำข้อตกลงเรื่องวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้เพิ่มจากเจ็ดเป็นแปดแล้ว และทำข้อตกลงทางการค้า FTA ด้านการค้า การลงทุน และการบริการ ในนามอาเซียนกับประเทศต่างๆที่อยู่รอบอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ด้วย
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า AEC เป็นเพียงก้าวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จะเกิดเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด เกิดการเคลื่อนย้ายคน มีสินค้าและบริการต่างๆเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะวิวัฒนาการต่างๆมันเกิดขึ้นมากกว่า 20 ปีแล้ว
“กลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน เป็นกลุ่มที่สมาชิกมีความแตกต่างมากที่สุดในโลก ไม่ได้แตกต่างด้านวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่ด้านเศรษฐกิจก็แตกต่าง ด้านประชากร บรูไนมีไม่ถึง 1 ล้านคน ในขณะที่อินโดนีเซียมี 200 กว่าล้านคน รายได้ของประเทศที่จนที่สุดกับรวยที่สุดมีความแตกต่างกัน 60 เท่า ส่วนระดับการพัฒนา ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ในอาเซียนมีประเทศที่พัฒนาแล้ว 1 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ประเทศตลาดเกิดใหม่ 6 ประเทศ ที่เหลือเป็นประเทศพัฒนาน้อย จะเห็นว่าค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก และการตกลงกันจะใช้ระบบ “ฉันทามติ” แทนการลงคะแนนเสียง”
ดังนั้น การรวมตัวกันของอาเซียนทำแบบค่อยเป็นค่อยไป “baby steps” ยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมเรื่องอะไร จะพร้อมเข้าร่วมเมื่อไหร่ หรือจะร่วมในเรื่องอะไรบ้าง แตกต่างจากกการรวมตัวกันของภูมิภาคอื่นๆ
มายาคติ เป้าหมาย กับข้อเท็จจริงเรื่องสินค้า
เราจะเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีกลุ่มธุรกิจจี้รัฐบาลให้ออกมาตรการปกป้องสินค้าต่างชาติที่จะทะลักเข้าไทยหลังเปิดเออีซีปี 2558 ประเด็นนี้เป็นการจับแพะชนแกะ คือ เอาการเปิดเออีซีในปี 2558 กับการเปิดสินค้าเสรีมาชนกัน และคิดไปเองว่า หลังจากปี 58 สินค้าจะทะลักเข้ามา ณ ปีนั้น
เมื่อเราพิจารณาถึงเป้าหมายในการค้าสินค้าในอาเซียน จะเห็นว่า การค้าสินค้าไม่ใช่เพียงเรื่องการลดภาษีเพียงอย่างเดียว อย่างเช่น เราส่งขายปากกาไปประเทศเพื่อนบ้าน มีต้นทุนค่าขนส่งและภาษีด่านศุลกากร ถ้าราคา 10 บาท ลาวเก็บภาษีร้อยละ 10 เราต้องขายปากกาแท่งละ 11 บาท แต่อุปสรรคไม่ได้มีแค่นั้น เช่น หากลาวมีนโยบายให้นำเข้าเฉพาะปากกาสีแดงเท่านั้น หรือปากกาต้องมีมาตรฐานทางเทคนิคพิเศษ หรือนำเข้าปากกาเพียง 1 ล้านด้ามต่อปี อันนี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง อีกอันหนึ่งในการขนสินค้าข้ามศุลกากรก็อาจจะต้องกรอกแบบฟอร์ม เจอศุลกากรที่มีความเข้มงวดต่างกัน เป็นต้น
ฉะนั้นข้อตกลงทางการค้าของอาเซียน คือพยายามจะลดอุปสรรคปัญหาเหล่านั้น สิ่งแรกที่ทำ คือ ลดภาษีศุลกากรตั้งแต่เซ็นสัญญา จนเหลือ ร้อยละ 0 ในปี 2553 คือ ตอนนี้ไทยลดภาษีให้สินค้าจากประเทศอื่นแล้ว มีเพียงบางรายการเท่านั้นที่ไทยยังคงไว้ซึ่งสินค้าพิเศษของไทย ส่วนอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีก็พยายามทำข้อตกลงกันและเริ่มไปแล้ว
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงก็จะพบตรงกับเป้าหมาย แค่ 2 ใน 3 ด้านภาษีศุลกากรก็พบว่าลดจนเกือบร้อยละ 0 แล้ว แต่ปัญหาก็คือว่า คนที่เป็นผู้ประกอบและนำเข้าไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากตรงนี้เท่าไหร่ ตามงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่าใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพียงครึ่งเดียว เพราะเห็นว่าขั้นตอนในการขอรับสิทธิค่อนข้างยุ่งยาก
“ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาจริงๆคือ อุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพราะประเทศต่างๆไม่ได้ถูกบังคับให้ลดจริงๆ ตอนแรกเพียงแต่ให้แต่ละประเทศเขียนว่ามีอุปสรรคอะไรบ้าง พอเขียนไปแล้วประเทศต่างๆก็ไม่ได้ทำตาม เพราะมันยาก การลดภาษีนั้นทำได้ง่ายเนื่องจากอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ด้านอุปสรรคทางการค้า บางอย่างก็เกี่ยวพันกับกระทรวงเกษตร หรือกระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ นอกจากนี้ในบางประเทศพอรู้ว่าต้องลดภาษีก็ใช้มาตรการด้านนี้ในการกีดกันสินค้าด้วย และอย่างที่กล่าวมา การรวมเป็นอาเซียนให้ความยืดหยุ่นมาก ใครอยากทำอะไรก็ทำได้ไม่มีศาลมาลงโทษถ้าไม่ทำตามสิ่งที่เขียนไว้ในพิมพ์เขียว”
การเปิดเสรีด้านการบริการ
ในระดับการค้าโลก เราแบ่งการบริการข้ามชาติเป็นสี่รูปแบบ อันแรกการให้บริการข้ามพรหมแดน เช่น ธุรกิจ call center คนอเมริกาอยู่นอกประเทศจะโทรศัพท์ไปอเมริกา แต่โทรผ่านบริษัทอินเดีย ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับบริษัทอินเดีย โดยผู้ใช้บริการอยู่นอกประเทศ
สอง การบริโภคในต่างประเทศ เช่น การไปเที่ยวใช้จ่ายในต่างประเทศ
สาม การจัดตั้งบริการในต่างประเทศ เช่น คนจีนมาตั้งโรงพยาบาลในเมืองไทย
สี่ การประกอบอาชีพในต่างประเทศ เช่นหมอจีนมาทำงานในเมืองไทย หรือ สถาปนิกไทยไปทำงานที่ลาว
ในพิมพ์เขียวของอาเซียนระบุว่า ข้อหนึ่งกับข้อสองไม่มีมาตรการกีดกัน ส่วนแบบที่สาม กำหนดไว้ว่า ในปี 2010 คนอาเซียนสามารถเป็นหุ้นส่วนในประเทศอาเซียนด้วยกันในด้าน IT สุขภาพ ท่องเที่ยว การบิน โลจิสติกโดยถือหุ้นได้ไม่เกินร้อย 70
แต่ในความเป็นจริง ถ้าย้อนไปดูกรอบข้อตกลงในปี 2010 จะพบว่า ไทยให้ด้านต่างๆ เพียง 49 49 49 และเรายังเป็นประเทศที่คุ้มครองภายในอยู่ และไม่ใช่เราเพียงประเทศเดียว ประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ก็เช่นกัน แต่ประเทศอื่นอย่างกัมพูชาก็เปิดเต็มที่เลย (ดูในตาราง) และถึงแม้ว่าจะเปิดแล้วก็มีผู้ประกอบการในอาเซียนมาลงทุนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งกับญี่ปุ่น
ลงทุนในอาเซียนอย่างเสรีจริงหรือ?
การลงทุนก็คือ การมาตั้งในสิ่งที่ไม่ใช่การบริการ เช่น ตั้งกิจการ บริษัท โรงงานอุตสาหกรรม ผลิตของ ซื้อที่ดิน ซื้อหุ้นในกิจการต่างๆที่ไม่ใช่การบริการ
“หลายคนเกิดคำถามว่า AEC ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจริงหรือไม่ เมื่อเราดูจากข้อตกลงระบุว่า นักลงทุนชาวอาเซียนสามารถไปลงทุนในประเทศต่างๆได้ แต่จริงๆแล้วประเทศต่างๆไม่ยอมที่จะให้มีเสรีด้านการลงทุน โดยมักจะใช้วิธีระบุแนบท้ายสัญญาว่าสิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ อย่างประเทศไทยก็ระบุไว้เป็นจำนวนมาก และค่อนข้างกว้างมาก เช่น ห้ามถือครองที่ดิน ทำนา เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ ประมง ผลิตของที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม(บาตรพระ) เป็นต้น”
ด้านการคุ้มครองการลงทุน ข้อตกลงอาเซียน ค่อนข้างจะระบุชัดถึงการให้ความคุ้มครองนักลงทุน เช่น จะไม่ไปยึดทรัพย์ หรือเมื่อยึดต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นต้น ซึ่งหากเกิดข้อพิพาทนักลงทุนสามารถฟ้องศาลได้
แต่ในความเป็นจริงโดยสรุป หนึ่งเราไม่ได้เปิดมากและเปิดจริง สอง พอเปิดแล้วก็ไม่ค่อยมีนักลงทุนจากอาเซียนมาลงทุนสักเท่าไหร่ เพราะคนที่มาลงทุนในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป มากกว่าอาเซียน
แรงงานเคลื่อนไหวอย่างเสรี ?
เรามักจะมีคำพูดติดหูว่าหลังจากรวมเป็นประชาอาคมปี 2558 อาชีพ 8 อาชีพจะเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เมื่อดูจากไทยพีบีเอส เขาก็บอกว่า หมอไทยจะค่อยๆจากไปหลังจากปี 2558 และคนที่จะมารักษาคนไทยคือหมอพม่า ด้านบางกอกโพสต์ก็นำเสนอว่า จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีมากขึ้น”
“หากเราดูเป้าหมายจะพบว่าไม่ใช่ว่าแรงงานจะเคลื่อนย้ายอย่างเสรี แต่เป็นการเคลื่อนย้ายของ Skill labor ซึ่งทำผ่านสัญญา AFAS หมวดสี่ เรื่องแรงงาน ซึ่งเปิดเพียงแค่สองกรณีเท่านั้น คือ หนึ่งสามารถโอนย้ายภายในบริษัทข้ามชาติเครือเดียวกัน เช่นพนักงานบริษัท ปิโตรนาสในไทยสามารถย้ายไปทำงานบริษัทปิโตนาสสิงคโปร์ได้ภายใน 90 วัน สอง ผู้มาติดต่อทางธุรกิจภายในหนึ่งปี สามารถต่ออายุได้”
และในความเป็นจริงประเทศไทย ทำข้อตกลงยอมรับคุณสมบัติทางวิชาชีพใน 8 สาขาวิชาชีพ หากพิจารณาตรงนี้จะพบว่ามันไม่ใช่การปิดเสรีเลย อย่างเช่น เรื่องการแพทย์ ในสัญญาระบุว่า ต้องได้รับใบอนุญาตหรือผ่านมาตรฐานจากประเทศต้นทาง และถ้าจะย้ายมาประเทศปลายทางก็ต้องผ่านหลักเกณฑ์บางอย่างของประเทศนั้นก่อน เช่น หมอสิงคโปร์จะมาไทย ไทยยอมรับในมาตรฐานของหมอจากสิงคโปร์ แต่ถ้ามาไทยก็ต้องผ่านหลักเกณฑ์ของไทยบางอย่าง อาทิ พูดไทยได้ เป็นต้น หรืออาชีพสถาปนิกก็จะมีบอร์ดมาพิจารณาว่าเป็นสถาปนิกจริงหรือเปล่า ซึ่งจะเห็นว่ามีอะไรกีดกันอีกมาก ไม่ใช่ว่าจะเปิดเสรีเลย
สิ่งที่พิมพ์เขียวของเซียนไม่พูดถึง คือแรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานกึ่งไร้ฝีมือ ซึ่งแรงงานนี้หากเปิดเสรี คิดว่าจะเกิดการเคลื่อนย้ายมากที่สุด จากสถิติมีแรงงาน อาเซียน 1.43 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย คือร้อยละ 93 ของแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เท่ากับร้อยละ 3.6 ของแรงงานในไทย แต่แรงงานใน 7 วิชาชีพที่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้ในไทยมีอยู่ 390 คนซึ่งถือว่าน้อยมาก ฉะนั้นสัยญาที่แต่ละประเทศเซ็นไปก็ไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ในทางความเป็นจริง
เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี?
อาจารย์คนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การรวมเป็น AEC จะอำนวยความสะดวกจะทำให้เงินไหลเข้าออกได้อย่างสะดวกเสรี
สิ่งที่ถูกคือ มีการเปิดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าหรือออกเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ที่ผิดคือ มันไม่ใช่เสรี และไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2558
ถ้าเราดูพิมพ์เขียวของอาเซียนจะพบว่ามีเป้าหมายอยู่สองเรื่อง คือ การพัฒนาและการรวมตัวของตลาดทุน ตอนนี้เรามีตลาดหลักทรัพย์แปดแห่งในอาเซียน (มีที่เวียดนามสองแห่ง ฮานอย กับโฮจิมิน) และนักลงทุนไทยสามารถไปซื้อหุ้นสิงคโปร์หรือที่อื่นๆได้ ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้แล้ว
แต่สิ่งที่สำคัญ คือเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเราแบ่งเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็น 5 ลำดับ อันแรก การค้าสินค้าและบริการ เช่น การซื้อของจากต่างประเทศโดยที่เราต้องโอนเงินเข้าไป สอง การลงทุนโดยตรง เช่น นำเงินไปซื้อหรือลงทุนโรงงานในกัมพูชา สาม ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น การเป็นหุ้นในบริษัทต่าง ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีข้อยกเว้นต่างกันไปดังที่ได้กล่าวมา สี่ การออกไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ห้า การเคลื่อนย้ายอื่นๆ อาทิ คนไทยกู้เงินต่างชาติมาลงทุนเองได้
ฉะนั้น ความหมายในการเปิดเสรีของเงินทุนคือเปิดหมดทั้ง 5 ระดับ แต่ตอนนี้มีแค่สิงคโปร์เท่านั้นที่ทำ โดยมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อยบางประการ ไทย มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ ถึงระดับสี่เพราะจำกัดการออกไปลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากกลัวเงินไหลออก
วิธีเปิดเสรีเงินทุนของไทย คือ วิธีแรก หากจะลงทุนต่างประเทศสามารถลงทุนได้ผ่านกองทุนต่างๆ โดยกำหนดเพดานไว้ว่าไม่เกินเท่าไหร่ ถ้าพยายามเปิดมากขึ้น ก็ขยับเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ วิธีที่สองเพิ่มรูปแบบกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมธนาคาร LTF กบข ฯลฯ พวกนี้จะสามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ แต่ตัวเราเองไม่สามารถไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ต้องผ่านกองทุนเท่านั้น
ส่วนข้อเท็จจริงด้านเงินทุนที่เกิดขึ้นนักลงทุนในไทยก็ยังไม่ค่อยกล้าออกไปลงทุนในอาเซียนเท่าไหร่ เราไปลงทุนประเทศอื่นมากกว่าในอาเซียน อาจจะด้วยกังวลถึงปัจจัยที่ไม่แน่นอน
จะได้ใช้เงินสกุลอาเซียน ?
หลายคนเกิดคำถามว่าอาเซียนจะมีการใช้เงินสกุลเดียวกันหรือไม่ ถ้าเทียบกับสหภาพยุโรปนั้นจะเห็นได้ชัดเลยว่า อาเซียนเดินคนละเส้นทาง
ยุโรปไม่ได้เริ่มจากเอฟทีเอ แต่เขาไปไกลกว่านั้น คือ รวมกันเป็น “สหภาพศุลกากร” ที่ไม่ได้ลดแค่ภาษีระหว่างประเทศภายในสหภาพยุโรปเอง แต่สินค้าที่ส่งไปยังประเทศในยุโรปนั้นจะต้องจ่ายภาษีเท่ากันหมด แต่อาเซียนทำแบบนั้นไม่ได้เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการค้า และเก็บภาษีร้อยละศูนย์อยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะทำเป็นสหภาพศุลกากร เราต้องเก็บภาษีสินค้านอกอาเซียนร้อยละ 0 เท่าสิงคโปร์ หรือสิงคโปร์ต้องขึ้นภาษีเท่ากับประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งไม่มีใครยอมทำตามนี้”
หลังจากเป็นสหภาพศุลกากรแล้ว ในช่วงก่อนปี 1992 จึงเริ่มคิดทำ “ตลาดร่วม” คือดูปัจจัยการผลิต ได้แก่ทุน แรงงาน ให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีจริงๆ
พอมีตลาดร่วมแล้วเขาก็เริ่มทำนโยบายต่างๆให้สอดคล้องกันจนเกิดเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจขึ้น เช่น กำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จัดตั้งสถาบันต่างๆเช่น สภา ศาล ที่ดูแลกลไกการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ถ้าประเทศใดทำผิด ก็มีมาตรการลงโทษ ซึ่งอาเซียนไม่มีเลย
“จนในปี 1999 ก็เกิด สหภาพทางการเงิน (Monetary Union) จึงมีสกุลเงินยูโรขึ้นมา มีธนาคารกลาง ฯลฯ ซึ่งในช่วงแรกประมาณปีค.ศ. 2000 กว่า ดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ก็เกิดปัญหาบางประการ เพราะบางประเทศก็ขยัน แต่บางประเทศใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย เช่น กรีซใช้เงินจัดโอลิมปิก ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาเพราะมีแต่การรวมกันด้านการเงิน แต่ไม่มีด้านการคลัง จึงมีแนวคิดที่จัดการด้านการคลังขึ้น เช่น จำกัดเพดานการก่อหนี้ที่ชัดเจน ประเทศที่ร่ำรวยสามารถโอนเงินให้ประเทศที่ยากจนได้ เป็นต้น”
หากย้อนกลับมาดูอาเซียนจะพบว่า การรวมเป็น AEC นั้น ยังไม่กลายเป็นตลาดร่วมเหมือนที่ EU เป็น และยังอยู่ไกลกับเป้าหมายที่จะก้าวไปถึงสหภาพการเงิน ซึ่งถึงแม้ว่าเราสามารถก้าวกระโดดไปได้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะพังเพราะอาเซียนมีความแตกต่างกันมาก วงจรทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกัน
สรุป
กล่าวโดยสรุป หนึ่ง AEC เป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งของกระบวนการรวมกลุ่มอาเซียน ที่ได้เริ่มมากว่า 20 ปีแล้ว โดยจะไม่เกิด big bang ในปี 2558
สอง การเปิดเสรีการค้าสินค้าคืบหน้าไปมากแล้วในด้านการลดภาษีศุลกากร แต่ยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่ยังเป็นอุปสรรคทางการค้าอยู่
สาม ด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศสมาชิกยังยึดกฎหมายภายในประเทศ
สี่ ด้านแรงงานไม่ได้เปิดเสรีอย่างจริงจัง โดยทำเพียงข้อตกลงยอมรับคุณสมบัติวิชาชีพ ซึ่งเกือบจะไม่มีผลกระทบเลยกับการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในประเทศ และไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานไร้ทักษะ หรือกึ่งทักษะ ที่เป็นแรงงานส่วนใหญ่ที่เคลื่อนย้ายในอาเซียน ซึ่งตรงนี้ต้องคุยกันอีกมากกว่าจะทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายอย่างเสรี
ห้า ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายเปิดเสรีตามความพร้อมของแต่ละประเทศ และให้เปิดมากขึ้นมากว่าปัจจุบัน
และสุดท้าย อาเซียนและยุโรปเดินคนละทางในการรวมกลุ่ม ปัจจุบันอาเซียนไม่มีเป้าหมาย และไม่พร้อมที่จะมีเงินสกุลเดียวกัน.
ที่มา.สำนักข่าวประชาธรรม
///////////////////////////////////////////////////////