--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ประชาชน ไม่ใช่ขยะแผ่นดิน !!?

โดย.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวใหญ่สองข่าวที่แสดงถึงความเป็นสังคมแห่งความรุนแรงของประเทศไทย ข่าวแรกคือคุณเนวินในฐานะผู้จัดงานสงกรานต์ที่บุรีรัมย์จับเด็กวัยรุ่นที่คุณเนวินเห็นว่าเป็นอันธพาลกวนเมืองต่อยกับนักมวยอาชีพก่อนส่งตัวต่อให้ตำรวจ ข่าวที่สองคือหมอเหรียญทองประกาศตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดินเพื่อไล่ล่าคนที่กลุ่มหมอเชื่อว่าเป็นภัยต่อสถาบันโดยประกาศชัดๆ ว่าพร้อมจะใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ
สำหรับผู้ที่เห็นว่าพฤติกรรมของคุณเนวินและหมอเหรียญทองไม่ได้เป็นความรุนแรง ลองไปคุยกับมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอยดูก็จะรู้ว่าการตั้งกฎเถื่อนแบบเนวินหรือไล่ล่าแบบหมอเหรียญทองเป็นความรุนแรงอย่างไร

อันที่จริง นอกจากทั้งสองข่าวจะแสดงความเป็นสังคมแห่งความรุนแรง (ซึ่งคนไทยจำนวนน้อยอาจไม่คิดว่าเป็นปัญหา) ข่าวทั้งสองยังแสดงความเป็นสังคมที่เข้าใกล้สภาวะปราศจากระเบียบกฎเกณฑ์อีกด้วย เพราะคุณเนวินและหมอเหรียญทองประกาศตั้งกฎของตัวเองและประกาศใช้กำลังบังคับให้ผู้อื่นปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเปิดเผย พฤติกรรมนี้จึงทำลายกติกาพื้นฐานของโลกสมัยใหม่ที่รัฐต้องเป็นฝ่ายผูกขาดการใช้ความรุนแรงในสังคม

ต้องอธิบายว่าการผูกขาดการใช้ความรุนแรงในสังคมไม่ได้หมายถึงสภาวะที่ความรุนแรงหมดไปโดยสมบูรณ์ เพราะในทุกสังคมต้องมีอันธพาล ทหารนอกแถว พ่อแม่ มาเฟีย อิทธิพลมืด ฯลฯ ที่ใช้ความรุนแรงทางใดทางหนึ่งเสมอ แต่โลกสมัยใหม่ถือว่ารัฐเท่านั้นใช้ความรุนแรงได้โดยชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการใช้ความรุนแรงตามข้อตกลงของคนในสังคมเพื่อจรรโลงความสงบของสังคมทั้งหมด

ด้วยตรรกะแบบนี้ ถ้ารัฐผูกขาดความรุนแรงไม่ได้ ความรุนแรงก็จะกระจายไปทั่วสังคม ผลก็คือสังคมก็ไม่ต่างสภาพสงครามที่ทุกฝ่ายมุ่งใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

เมื่อพูดว่ารัฐผูกขาดความรุนแรงตามอาณัติที่เกิดจากข้อตกลงร่วมของสังคม ก็ควรพูดต่อไปด้วยว่าไม่มีสังคมไหนในโลกที่มีการรวมตัวของผู้คนเพื่อประชุมร่วมกันจริงๆ จนได้มาซึ่งข้อตกลงแบบนี้ แท้จริงแล้ว “ข้อตกลง” จึงเป็นเรื่องสมมติทางทฤษฎีเพื่อให้รู้สึกว่าการผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐเกิดจากความยินยอมพร้อมใจจนชอบธรรมที่จะยอมรับในที่สุด พูดอีกแบบก็คือโดยเนื้อแท้แล้วการผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐเกิดจากการใช้กำลัง

ในแง่ประวัติศาสตร์เอง การใช้กำลังเพื่อให้รัฐผูกขาดความรุนแรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐสมัยใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ กระบวนการสถาปนารัฐสมัยใหม่ในสังคมไทยจึงเต็มไปด้วยเรื่องการยกกองทัพของกรุงเทพและหัวเมืองไปทำลายกองกำลังของกษัตริย์ปัตตานี ล้านนา เงี้ยว ฯลฯ รวมทั้งประกาศเลิกทาสเพื่อไม่ให้ขุนนางมีกองกำลังในครอบครอง เพราะการกระจายตัวของกองกำลังทำให้พระราชอำนาจถูกคุกคามได้ตลอดเวลา

เพราะเหตุนี้ การใช้กำลังเพื่อให้รัฐผูกขาดความรุนแรงจึงเป็นกลไกสำคัญในยุคต้นของการสถาปนาพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงขั้นที่กำลังคือพื้นฐานแห่งความเป็นปึกแผ่นของอำนาจโดยตรง

เมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายเพราะความล้มเหลวแทบทุกมิติในปี 2475 การผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐไม่ได้ยุติตามไปด้วย การขจัดความรุนแรงโดยคนกลุ่มอื่นหรือการทำให้ความรุนแรงอยู่ใต้การควบคุมจึงเป็นโครงการของรัฐสมัยใหม่ที่ดำเนินต่อเนื่องจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่รัฐยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสมอ ต่อให้รูปแบบของรัฐจะเปลี่ยนจากรัฐเผด็จการเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยก็ตามที

ในแง่นี้แล้ว การคงอยู่ของความรุนแรงจึงเป็นภาพแสดงความล้มเหลวของรัฐ หรือไม่อย่างนั้นก็คือรัฐจงใจให้ความรุนแรงบางแบบปรากฏขึ้นมา

ปัญหาคือกรณีเนวินและหมอเหรียญทองเป็นความรุนแรงที่คงอยู่ได้เพราะอะไร?

ในกรณีคุณเนวิน การบังคับให้เด็กต่อยกับนักมวยอาชีพนั้นเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจแน่ ต่อให้คุณเนวินเป็นเจ้าของพื้นที่และเด็กผิดจริง กฎหมายก็ไม่ได้มอบหมายให้คุณเนวินมีอำนาจเหนือใครแบบนี้ วิธีลงโทษจึงแสดงความเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายที่ทำให้กฎหมายสูญเสียความเป็นกฎหมายจนเปิดโอกาสให้เจ้าของพื้นที่อื่นประกาศกฎแบบเดียวกันได้เสมอ ผลก็คือสังคมจะถอยไปสู่สภาพก่อนสมัยใหม่ที่ทุกคนตั้งกฎเหนือพื้นที่ตามความพอใจ

แน่นอนว่าการละเมิดกฎหมายและความรุนแรงในกรณีคุณเนวินดำรงอยู่ได้เพราะเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสถานะผู้อยู่เหนือกฎหมาย อิทธิพลของคุณเนวินมีส่วนแน่ต่อเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคนจำนวนหนึ่งยอมรับกฎเถื่อนเพราะเห็นว่ากฎหมายแก้ปัญหาอันธพาลวัยรุ่นไม่ได้ กฎเถื่อนของคุณเนวินจึงเป็นความรุนแรงที่สังคมและรัฐขยิบตาให้มีอยู่เพราะเชื่อว่าคุมได้และเป็นภัยคุกคามความสงบน้อยกว่า “อันธพาล” ป่วนเมือง

คำถามคือมีอะไรเป็นหลักประกันว่าวิธีตั้งกฎแบบนี้จะไม่เป็นภัยต่อสังคมกว่าอันธพาลวัยรุ่นในระยะยาว? รู้ได้อย่างไรว่าผู้ออกกฎเถื่อนจะไม่ใช้อิทธิพลเดียวกันไปออกกฎอื่นที่คุกคามประโยชน์ส่วนรวมในอนาคต? การใช้มาตรการนอกกฎหมายอาจทำให้เด็กเข็ดหลาบ แต่จะเกิดอะไรหากต่อไปเด็กตอบโต้ฝ่ายนอกกฎหมายด้วยอาวุธที่รุนแรงขึ้น? ฝ่ายบ้านเมืองที่ให้ท้ายผู้มีอิทธิพลในการใช้ความรุนแรงจะรักษาบ้านเมืองจากผู้มีอิทธิพลอย่างไร?

ยิ่งไปกว่านั้น สมควรหรือที่เราจะแก้ปัญหาอันธพาลและความรุนแรงจากเด็กโดยผู้มีอิทธิพลและความรุนแรงที่รุนแรงกว่าเดิม?

ในกรณีหมอเหรียญทอง การประกาศตั้งกองกำลังติดอาวุธไล่ล่าผู้ที่กลุ่มคิดว่าเป็นพวกล้มสถาบันจนเป็น “ขยะแผ่นดิน” 300 คน เป็นการสถาปนากฎเถื่อนเหมือนคุณเนวินโดยไม่ต้องสงสัย แต่ขณะที่คุณเนวินอ้างความวุ่นวายเฉพาะหน้าเป็นเหตุในการสถาปนาอำนาจแบบดิบๆ การจัดตั้งองค์กรกำจัด “ขยะแผ่นดิน” กลับไม่อ้างอิงอะไรเลย นอกจากความรู้สึกไปเองว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นภัยต่อสถาบันจนสมควรที่จะไล่ล่าได้ตามอำเภอใจ

จนกว่าจะถึงวันที่ “ขยะ” บาดเจ็บหรือตายไปหมดด้วยน้ำมือของกองกำลังปกป้องสถาบันจริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าหมอเหรียญทองวางแผนนำมวลหมู่สมาชิกไปประทุษร้ายใครหน้าไหนในสังคมบ้าง จึงไม่มีทางที่ใครจะชี้แจงหรือปกป้องตัวเองจากการทำร้ายของกองกำลังนอกกฎหมายกลุ่มนี้ได้เลย ผลก็คือทุกคนเป็นเป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็งโดยองค์กรกำจัดขยะเพื่อประเมินว่าสมควรถูกประทุษร้ายหรือไม่และในระดับความรุนแรงใดได้ตลอดเวลา

ภายใต้สภาพที่ปลายหอกแห่งความรุนแรงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความพอใจของฝ่ายผู้ประทุษร้ายล้วนๆ แบบนี้ องค์กรกำจัดขยะสถาปนาตัวเองเป็นเสมือนยักษ์นนทุกข์ที่ชี้ให้ใครเป็นหรือตายก็ได้ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการประทุษร้ายเกิดจากความมุ่งหมายเพื่อส่วนรวมหรือสภาวะวิปริตส่วนบุคคล และยิ่งไปกว่านั้นไม่มีการตั้งคำถามกระทั่งว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การประทุษร้ายเกิดจากโรคคลั่งความรุนแรงที่อ้างส่วนรวมเป็นเครื่องมือ

แน่นอนว่าไม่มีใครยอมให้ตัวเองอยู่ในข่ายตกเป็นเป้าของการประทุษร้ายถึงแก่ชีวิตโดยไม่พยายามทำอะไรเพื่อปกป้องตัวเอง และด้วยวิธีไล่ล่านอกกฎหมายแบบนี้ ทางเลือกที่ทุกคนในสังคมถูกหมอเหรียญทองบังคับให้เลือกจึงมีแค่สามอย่างระหว่าง ก) รอให้กองกำลังของหมอทำร้าย ข) เตรียมกองกำลังในที่ตั้งเพื่อป้องกันการถูกทำร้ายไว้ให้พร้อมเพรียง หรือ ค) จัดตั้งกองกำลังไปทำร้ายฝ่ายหมอเหรียญทองก่อนเอง

เห็นได้ชัดว่าทางเลือกทั้งสามล้วนล้วนเป็นทางด่วนนำสังคมไทยสู่นรก ยักษ์นนทุกข์ทำให้ทุกคนรู้สึกชอบธรรมที่จะสถาปนาตัวเองเป็นพระนารายณ์เพื่อกำราบภัยพิบัติจากยักษ์ที่ป่วยด้วยโรคนิยมความรุนแรงจนไร้สติ องค์กรกำจัดขยะในฐานะกองกำลังเพื่อการประทุษร้ายที่ดึงสังคมเข้าสู่วงจรแห่งการประชันการประทุษร้ายซึ่งมีศักยภาพจะกลายเป็นสังคมในสภาวะสงครามจนไม่เหลือใครเลย นอกจากผู้ชนะที่ช่ำชองในการใช้ความรุนแรงกว่าทุกคน

ยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror) ที่นำไปสู่การออกแบบกิโยตินเพื่อตัดหัวทุกฝ่ายจากกษัตริย์ถึงฝ่ายปฏิวัติในฝรั่งเศสก็เกิดท่ามกลางสภาวะการณ์แบบนี้เอง

แม้คุณเนวินจะไม่ได้เอานักมวยอาชีพไล่ต่อยอันธพาลวัยรุ่นด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับหมอเหรียญทอง แต่วิธีการของคุณเนวิน (ตลอดจนผู้สนับสนุนวิธีการนี้) ก็วางอยู่บนโลกทัศน์ที่มองอันธพาลวัยรุ่นเหมือนขบวนการกำจัดขยะมองฝ่ายตรงข้ามเป็นขยะสังคมอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ผลก็คือจะกวาดขยะไปทำลายล้างด้วยวิธีอย่างไรก็ได้ จะยุ่งยากหน่อยก็ตรงที่ต้องทำให้สังคมเห็นเหมือนที่คุณเนวินและหมอเหรียญทองเห็นว่า คน = ขยะ

ถ้าทำเรื่องนี้ไม่ได้ ในที่สุดสังคมก็อาจเห็นว่าคุณเนวินและหมอเหรียญทองต่างหากที่เป็นขยะซึ่งสมควรที่จะถูก “กำจัด” เพื่อสวัสดิภาพร่วมกันของคนทุกฝ่ายในสังคม

รัฐควรทำอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้?

ได้กล่าวไว้แล้วว่าอุดมคติของรัฐในโลกสมัยใหม่คือการเป็นองค์กรที่ผูกขาดความชอบธรรมของความรุนแรงในสังคม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลเถื่อนแปลงร่างเป็นยักษ์นนทุกข์ ถ้ารัฐทำเรื่องนี้ไม่ได้ สถานะรัฎฐาธิปัตย์ของรัฐก็จะเป็นอันสูญไป ไม่ต้องพูดถึงการปกครองโดยกฎหมายซึ่งถูกกัดกร่อนไปก่อนแล้วในวินาทีที่พฤติกรรมวิปริตผุดขึ้นมา

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
---------------------------------------------------------

วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

ดับข่าวลือ:ทหารปฏิวัติ !!?

กองทัพเชื่อวิกฤติจบที่โต๊ะเจรจา

แม้สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จะคลี่คลายไปแล้วเปลาะหนึ่ง เพราะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ของทั้ง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ จะเลื่อนออกไป และอย่างเร็วที่สุดก็น่าจะถึงคิวตัดสินในเดือนพฤษภาคม แต่บ้านเมืองก็ยังอยู่ในภาวะ "ระเบิดเวลา" ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ดูสิ้นหวังไร้ทางออก "กองทัพ" ดูเหมือนว่าจะเป็นสถาบันสุดท้ายที่ทุกฝ่ายนึกถึง โดยเฉพาะมวลชนหลักทั้งกลุ่มหนุน และกลุ่มต้านรัฐบาล ต่างก็พยายามลากดึงให้กองทัพเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ หรือวางบทบาทเข้าข้างกลุ่มตนให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่า กองทัพคือตัว "จบเกม" ในฉากสุดท้าย

ปรากฏการณ์ที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) อ้างว่า ตัวแทนเหล่าทัพ และส่วนราชการอื่นๆ ที่ร่วมประชุมกับ ศอ.รส. มีจุดยืนสนับสนุนแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของศอ.รส. ที่มีท่าทีกดดันการทำงานขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังพิจารณาตัดสินคดีของนายกฯ รวมทั้งข้อเสนอทางออกตามมาตรา 7

เป็นความพยายามใช้กองทัพมา "ตีตราประทับ" ความชอบธรรมของฝ่ายตนในการเคลื่อนไหวเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองที่ว่ากันว่าเป็น "สงครามครั้งสุดท้าย" แล้ว !!

ร้อนถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ต้องออกมาชี้แจงถึงจุดยืนที่แท้จริงของ ผบ.เหล่าทัพ ว่า "ถ้ามองตามหลักการถือว่าเขาพูดถูก เพราะการประชุม ศอ.รส.แต่ละครั้งจะมีผู้แทนจากเหล่าทัพ ตำรวจ ข้าราชการ เข้าร่วมกันครบ เพื่อรับฟังพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ ส่วนการตั้งหัวข้อ ประเด็น เป็นหน้าที่ของประธาน และเลขาฯ ศอ.รส."

"ถ้าเขาจะอ้างเช่นนั้นก็ถือเป็นสิทธิ์ เพราะคำพูดก็ตรงตามตัวอยู่แล้วคือผู้แทน ไม่ใช่ ผบ.เหล่าทัพ ทั้งนี้ ผู้แทนเหล่าทัพทำหน้าที่เพียงให้ข้อมูล ข้อเสนอ หรือการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่สามารถตกลงใจหรือปฏิเสธเรื่องใดๆ ในที่ประชุม ศอ.รส.ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ"

"เพราะผู้แทนจะต้องทำรายงานในที่ประชุม ศอ.รส. เพื่อเสนอให้ ผบ.แต่ละเหล่าทัพรับทราบทุกครั้ง และถ้าเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ผบ.เหล่าทัพก็จะมาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนจะมีมติเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวทางเหล่าทัพยังไม่มีโอกาสหารือกันเลย ถ้าจะให้พูดเป็นการแจ้งให้ทราบโดยผ่านตัวแทนเหล่าทัพเท่านั้น"

ชัดเจน และจบในตอนว่า ผบ.เหล่าทัพ ยังไม่ได้ตอบรับ หรือปฏิเสธจุดยืนของศอ.รส. และที่แน่ๆ การที่ "ตัวแทน" เหล่าทัพเข้าร่วมประชุมด้วย ก็ใช่ว่าจะนำไปอ้างว่าเป็นจุดยืนของกองทัพได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กองทัพยังพยายามดำรงบทบาทความ "เป็นกลาง" ทางการเมือง เช่นที่เคยเน้นย้ำมาโดยตลอด

ทั้งนี้ เมื่อชัดเจนว่า กองทัพไม่เล่นด้วยกับบท "แบ็กอัพ" ทางการเมืองให้ฝ่ายรัฐบาล จึงมีการปูดข่าวจากแกนนำ นปช.ว่า มีความพยายามที่จะ "ปฏิวัติ" แต่คนที่ทำจะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่จะมีการดัน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แล้วให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทน

นอกจากนี้ แกนนำ นปช.ยังให้ข่าวด้วยว่า ความพยายามนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการพบกันของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. โดยใช้คอนเนกชั่น "บูรพาพยัคฆ์"

แหล่งข่าวความมั่นคงประเมินความพยายามที่จะดึงกองทัพเข้าไปยุ่งกับการเมืองว่า ขณะนี้หน่วยงานความมั่นคงต้องเกาะติดสถานการณ์เป็นพิเศษ เพราะสถานการณ์มีความอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของมวลชนทั้ง 2 กลุ่ม ที่ประกาศให้มวลชนเตรียมพร้อมในการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลความสงบเรียบร้อย

ทั้งนี้ รัฐบาล และกปปส. ต่างก็ต้องการให้กองทัพเข้าไปสนับสนุนฝ่ายตน แต่ถ้ากองทัพเข้าไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่จบอย่างที่ทุกฝ่ายต้องการ และการแก้ไขปัญหานี้จะต้องให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน ซึ่งปัญหาอาจจะเบาบางลงไปบ้าง เพราะถ้าต่างฝ่ายต่างเดินเกม และไม่ยอมฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย ปัญหาก็จะยืดเยื้อ ไม่มีวันจบลงง่ายๆ

ส่วนที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเมินว่า กลุ่มนายทหารเก่าแห่งบูรพาพยัคฆ์เตรียมที่จะปฏิวัตินั้น แหล่งข่าวความมั่นคงมองว่า การปฏิวัติคงเกิดขึ้นได้ยาก หรือถ้าเกิดขึ้นคงจะเกิดในห้วงสุดท้าย หากสถานการณ์บ้านเมืองไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่การปฏิวัติไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด แต่การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือ ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยกันเท่านั้น

“ผบ.เหล่าทัพมีจุดยืนเดียวกัน ที่หวังให้การเมืองแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง ถ้าเอากองทัพเข้าไปยุ่งจะทำให้สถานการณ์ไม่จบ หรืออาจจบก็ได้ ไม่มีใครรู้ได้ การพูดว่าทหารเก่าบูรพาพยัคฆ์จะปฏิวัติคงทำไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. การปฏิวัติก็ไม่สำเร็จ เพราะกำลังทหารอยู่ในมือพล.อ.ประยุทธ์” แหล่งข่าวความมั่นคง กล่าวย้ำ

จากบทวิเคราะห์ของคน "วงใน" กองทัพ จะเห็นได้ว่า 2 ปรากฏการณ์ร้อนๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสอดรับกันย่อมไม่ใช่ "เรื่องบังเอิญ" หากแต่เป็นขบวนการที่ต้องการหยั่งท่าทีของกองทัพว่า จะมีจุดยืนในสถานการณ์ที่แหลมคมเช่นนี้อย่างไร และคล้ายเป็นการ "ดักคอ" กองทัพด้วยว่า ฝ่ายของตนรู้ว่ากองทัพจะเดินเกมอย่างไร และจะต้องเจอแรงต้านอย่างไรบ้าง หลังผ่านช่วงฮันนีมูนอันแสนสั้น

ที่มา.กกรุงเทพธูรกิจ
----------------------------------

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ชี้ ศาลรธน.วินิจฉัยคดีไร้กฎหมายรองรับ-ขาดความชอบธรรม !!?

ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2 เรื่อง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายที่ฝ่าฝืนหลักนิติธรรมเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

โดยมีเนื้อหาพอสังเขปดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญหลายคดีที่ผ่านมา ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นคำวินิจฉัยที่มีปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรม และหลายคดีศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดีโดยได้ก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่อาจนำมาสนับสนุนความเห็นที่ว่า การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ดำเนินการไปโดยความยุติธรรม คือการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับหรือไม่

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคหก ได้บัญญัติไว้ให้ วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 300 วรรคห้า และบทเฉพาะกาล มาตรา 300 วรรคห้า ได้บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
                       
นายอุกฤษ ระบุต่อว่า นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังละเลยที่จะดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้นำเอาข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียวมาใช้ในการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยเรื่อยมา ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ใช้ข้อกำหนดนั้นได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น

 ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมานี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ประเทศที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรมไม่อาจที่จะมองข้าม การพิจารณาคดีจะต้องมีกฎเกณฑ์หรือกติกาว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน กฎเกณฑ์หรือกติกาว่าด้วยวิธีพิจารณาดังกล่าวจะต้องถูกกำหนดขึ้นโดยองค์กรที่มีความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย นั่นก็คือจะต้องมีการตราขึ้นเป็นกฎหมายโดยองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่ศาลเป็นผู้กำหนดเอง

อย่างไรก็ตามนับแต่เมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับไปแล้วกว่า 350 เรื่อง แยกเป็นที่ทำในรูปคำวินิจฉัยกว่า 92 เรื่อง และที่ทำเป็นคำสั่งอีกกว่า 258 เรื่อง และการละเลยต่อหลักการดังกล่าวข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งผลทำให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ บิดเบี้ยว ขาดความชัดเจนในกระบวนการพิจารณา เพราะไม่มีกรอบแห่งการใช้อำนาจ
                       
นายอุกฤษ ระบุอีกว่า จะเห็นได้จากกรณีเหล่านี้ เช่น 1.ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาในแต่ละประเภทคดีไว้อย่างชัดเจน ส่งผลทำให้กระบวนการพิจารณาและการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางคดีได้กระทำไปด้วยความรีบเร่งผิดปกติ

2.การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคสอง ได้กำหนดไว้ หรือไม่ เพียงใด

 3.ไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลทำให้บางคดีมีการอ่านคำวินิจฉัยไปแล้วหลายเดือนแต่คำวินิจฉัยกลางยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคสาม กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ รวมทั้งการละเลยต่อกระบวนการหรือวิธีพิจารณาคดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเสียเอง และอาจทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับได้

ที่มา.มติชนออนไลน์
-------------------------------------------------

สกุลเงิน Digital ใหม่ปฏิวัติโลก !!?

โดย.เมธา มาสขาว

ก่อนหน้านี้โลกของเราวิวัฒน์มาหลายช่วงเวลาและยุคสมัย จนกระทั่งวันที่สังคมของเราพัฒนาแบบก้าวกระโดดด้วยระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และ Internet จนถึงวันนี้ Google ได้ปฏิวัติระบบความรู้ในโลกให้ง่ายเหมือนรับประทานแคปซูล และ Facebook ก็ได้เชื่อมโยงผู้คนในสังคมโลกให้ใกล้ชิดกันแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสายสัมพันธ์ของมนุษยชาติ



อีกเรื่องหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยก็คือ การถือกำเนิดของ BitCoin สกุลเงินตราสกุลใหม่ของโลกที่เพิ่งกำเนิดขึ้นได้ไม่นาน และว่ากันว่าจะมาปฏิวัติรูปแบบการเงินครั้งใหม่ของโลกในอนาคต ไม่ใช่สกุลเงินของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นสกุลเงินในรุปแบบ Digital ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันทาง Internet ทั่วไป ไม่มีพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจกเหมือนธนบัตร

BitCoin เป็นสกุลเงิน Digital ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคารกลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน ถูกออกแบบขึ้นครั้งแรกโดย Satoshi Nakamoto บุรุษไร้เงาชาวญี่ปุ่น ซึ่งนำเสนอผ่านรายงานที่ชื่อว่า Bitcoin : A Peer-to-Peer Electronic Cash System อันลือลั่นของเขา และนำมาสู่สกุลเงิน Digital ดังกล่าวในเวลาต่อมา



ประเด็นสำคัญของการกำเนิด BitCoin ก็คือ มันเป็นสกุลเงิน Digital ที่อยู่ภายใต้การดูแลของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกของผู้ใช้ทุกๆ คน โดยไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรเหมือนสกุลเงินทั่วไป ไม่ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของธนาคารกลางประเทศใด เพื่อลดบทบาทของธนาคารในการกำหนดค่าเงินและการพิมพ์ธนบัตร โดยเฉพาะการบันทึกการทำธุรกรรมการเงิน ซึ่งแทนที่จะต้องให้ธนาคารเป็นผู้ดูแลการโอนเงินของผู้ใช้ แต่ BitCoin ออกแบบให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถรับรู้และช่วยยืนยันการโอนเงินซึ่งกันและกัน ผ่าน Software เครื่องคอมพิวเตอร์ของทุกคนที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก

อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ BitCoin ไม่ต้องพึ่งธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ในการยืนยันสถานะต่างๆ ให้ และบันทึกลงในระบบของธนาคารหรือในสมุดบัญชีเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา แต่ผู้ใช้ BitCoin ทั่วโลกรับรู้และยืนยันกันเองผ่านระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ใช้โปรแกรมการเงินดังกล่าวร่วมกัน ผ่านระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้ BitCoin ทั้งหลายมี address หรือเลขที่บัญชีของตนเองอยู่ และซื้อขายสินค้ากันผ่านบัญชีต่างๆ ดังกล่าวได้โดยตรง (โดยไม่ต้องพึ่งนายธนาคารมาการันตีการเงิน)

หากเป็นธนาคารทั่วไปนั้น ธนาคารจะบันทึกข้อมูลทางการเงินของเจ้าของบัญชีไว้ในระบบของธนาคาร แต่ระบบของ BitCoin จะถูกบันทึกไว้ในระบบชื่อว่า Block Chain ซึ่งจะมีข้อมูลของทุกรายการธุรกรรมที่เคยเกิดขึ้นทั้งหมดในระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ เงินตราหรือธนบัตรโดยปกติแล้วอาจจะถูกกำหนดโดยรัฐบาลและแจกจ่ายโดยธนาคาร แต่ BitCoin เกิดจากการคำนวณและแจกจ่ายให้กับ Miners หรือคนที่สร้างมูลค่าเงิน Digital ในระบบคอมพิวเตอร์ Internet โดยวิธีการ “สร้างเหมือง” ที่มีจำกัดและสมดุลกับผู้ใช้ทั่วโลกผ่านระบบคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่ถูกลงทุน หรือที่เรียกว่าการ run BitCoin mining software บนคอมพิวเตอร์ของ miners โดย mining software จะทำงานและนำรายการธุรกรรมที่เกิดขึ้นผ่าน Network หรือพื้นที่ในระบบคอมพิวเตอร์โครงข่ายของทุกคนและใส่เข้าไปใน Block Chain (ระบบการโอนเงินจะเคลื่อนที่ผ่าน software ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนที่ run BitCoin mining software หรือ Miners ที่อุทิศพลังงานบางส่วนในคอมพิวเตอร์ให้ระบบ Software BitCoin ดังกล่าว ซึ่งเท่ากับว่า ให้ทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมดังกล่าว เป็นเหมือน “ธนาคาร” ร่วมกัน โดยไม่ต้องมีคนกลางมาทำหน้าที่แทนเหมือนธนาคารในโลกจริง)



ข้อดีของ BitCoin สกุลเงินที่กำลังแพร่หลายและสะเทือนวงการการเงินโลกในเวลานี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ถูกมากกว่าหลายเท่าและรวดเร็ว เมื่อเทียบกับวิธีการทำธุรกรรมผ่านสถาบันทางการเงินทั่วไป เท่าที่ทราบในขณะนี้ค่าธรรมเนียมอาจอยู่ที่ 0.0005 BTC หรือน้อยกว่า 25 สตางค์ต่อ 1 รายการการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงประหยัดกว่าการใช้บัตรเครดิต ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงมากกว่า จนได้รับการยอมรับในการใช้แลกเปลี่ยนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน BitCoin เป็นเงินสกุลหนึ่งของโลกไปแล้วที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะการไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่ง ในเมืองไทยทราบว่ามีประมาณ 9 บริษัทที่รับทำธุรกรรมการเงินด้านนี้ ขณะที่ประเทศเยอรมนีได้ออกประกาศรับรองให้ BitCoin เป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคล เช่นเดียวกับหุ้นและพันธบัตร สามารถถือครองและซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ถือครอง BitCoin ต้องแจ้งจำนวนที่ถือครองต่อทางการทุกปีเพื่อแสดงว่าเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บภาษีจากกำไรในการค้า

นอกจากนี้ BitCoin ยังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน นักธุรกิจชาวจีนจำนวนมากถือสินทรัพย์ของตัวเองในรูปของเงิน BitCoin ไว้เพื่อเก็งกำไรค่าเงิน และอีกส่วนหนึ่งอาจเพื่อหลบหนีการควบคุมของทางการ เพราะการเคลื่อนย้ายเงินตราเข้า-ออกประเทศจีนนั้นทำได้ค่อนข้างลำบาก ในขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ออกมาห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมการเงินและซื้อขาย BitCoin พร้อมคำเตือนว่า BitCoin ไม่มีสถานะทางกฎหมายและไม่ได้รับการยอมรับจากทางการจีนในฐานะเงินตรา รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการค้า BitCoin เพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท

ขณะที่ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ออกมายืนยันว่าจะไม่เข้าแทรกแซงการรับรองเงิน Digital อย่าง BitCoin โดยเปิดเสรีให้องค์กรธุรกิจต่างๆ สามารถเลือกได้เองว่าจะยอมรับการจ่ายค่าสินค้าและบริการด้วยเงิน BitCoin หรือไม่ แม้หลายประเทศยังไม่ยอมรับให้สถานะทางกฎหมายในฐานะเงินตราก็ตาม 


อย่างไรก็ตาม BitCoin อาจจะกลายเป็นสกุลเงิน Digital ที่จะมาปฏิวัติระบบการเงินโลกในไม่ช้าก็เร็วนี้อย่างแน่นอน, นับตั้งแต่ อาณาจักร Rothschilds ได้เข้าควบคุมระบบการเงินและยึดกุมธนาคารกลางในหลายประเทศเมื่อกว่า 200 ปีก่อน จนกลายมาเป็นผู้ควบคุมระบบการเงินโลกในปัจจุบัน จนกระทั่งพวกเขามีอำนาจใน ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งสามารถผลิตธนบัตรเองได้โดยไม่ต้องมีทองคำสำรองประเทศเดียวในโลกในเวลานี้ และยังเป็นเจ้าของธนาคารขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

เพราะว่าระบบการเงินในปัจจุบัน แม้ถูกควบคุมด้วยธนาคารชาติต่างๆ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ในการกำหนดค่าเงินของตนเองด้วยการพิมพ์ธนบัตร, ดอกเบี้ย, เงินสำรองหรือกระบวนการต่างๆ ก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราถูกควบคุมระบบการเงินโดยกลุ่มทุนการเงินระดับโลกอีกต่อหนึ่งอยู่ดี

ดังนั้น แนวคิดการสร้างระบบการเงินสกุล Digital แทนที่นโยบายการเงินจากธนาคาร โดยออกแบบให้ทุกคนช่วยกันยืนยันรับรองเงินตราและการโอนเงินซึ่งกันและกันแทนที่ระบบธนาคารดังกล่าวนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและท้าทายระบบการเงินในโลกทุนนิยมแบบเก่ายิ่งนัก.

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก คอลัมน์โลกและเรา (เมธา มาสขาว) หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2557

1) ปัจจุบัน Federal Bureau of Investigation (FBI) เข้ามาถือครอง BitCoin จำนวนมากจนว่ากันว่าเป็นรายใหญ่รายหนึ่งของโลก เพื่อเข้ามาสืบสวนติดตามการฟอกเงินหรืออาชญากรรมทางการเงินในเครือข่ายยาเสพติดที่อาจใช้เงิน DIgital ในการซื้อข่ายถ่ายโอนและแลกเปลี่ยนเงินตรา เนื่องจากการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของทุกคนเป็นตัวผ่านและยืนยันการโอน จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบัญชีทางการเงินต่างๆ เป็นของผู้ใดบ้าง ผ่านระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งค่อนข้างแฮกยาก หากมีผู้ใช้มากขึ้นๆ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีผู้ใช้หลายล้านคน

2) ค่าเงิน BitCoin ปัจจุบันอยู่ที่ 1 BitCoin ต่อ 13,954-15,219 บาท (7 เมษายน 2557 - https://bitcoin.co.th) และเคยขึ้นถึง 30,000 บาทต่อ 1 BitCoin ซึ่งถือว่าค่าเงิน BitCoin มีความผันผวนเป็นอย่างมาก และขึ้นลงตามอุปสงค์(demand) และอุปทาน (supply) ของโลก ปัจจุบันมีมีผู้คนจำนวนมากเกร็งกำไรค่าเงินดังกล่าวในทางที่ผิด เหมือนการเล่นพนัน โดยขายบ้าน ขายรถ ซื้อ-ขาย เกร็งกำไรค่าเงินดังกล่าว ซึ่งอาจนำมาสู่การล้มละลายได้

จำนวนผู้ใช้บิทคอยน์ ในจำนวนนี้ประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวกับอิฐและครก ธุรกิจร้านอาหาร อพาร์ตเมนท์ให้เช่า บริษัทกฎหมายและธุรกิจบริการออนไลน์เช่น Namecheap, WordPress, Reddit และ Flattr ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 มูลค่าบิทคอยน์ทั้งหมดในระบบอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้าน USD โดยมีมูลค่าการทำธุรกรรมเกี่ยวกับบิทคอยน์ประมาณหลายล้าน USDในแต่ละวัน

3) BitCoin สร้างขึ้นโดย Satoshi Nakamoto บุคคลลึกลับที่อ้างว่าตัวเองมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่มีข้อมูลอื่นใดเดี่ยวกับตัวเขา เขาใช้อีเมลจากบริการฟรีเพื่อพูดคุยในเมลลิ่งลิสด้านการเข้ารหัส เขาเริ่มพัฒนา BitCoin ในปี 2007 และเปิดเผยมันออกมาในปี 2009 (เอกสารการออกแบบ (PDF)) จากนั้นจึงค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองลงไป จนกระทั่งหายตัวไปในที่สุด เชื่อกันว่าชื่อ Satoshi ถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อโครงการนี้ เมื่อพิจารณาจากความเชี่ยวชาญด้านการเข้ารหัสที่สูงมาก แต่กลับไม่มีชื่อนี้ในวงการวิชาการการเข้ารหัส เช่น บทความในวารสารวิชาการหรืองานประชุมวิชาการใดๆ ที่เป็นที่รู้จัก โดเมนหลักของโครงการคือ BitCoin.org นั้นถูกจดทะเบียนกับบริษัทรับจดทะเบียนแบบปกปิดตัวตนก่อนจะโอนให้กับ Martti Malmi หนึ่งในนักพัฒนาหลักของโครงการชาวฟินแลนด์ สิ่งที่ระบุตัวตนของ Satoshi เข้าได้จริงๆ มีเพียงกุญแจ PGP ที่ใช้ติดต่ออีเมลกับเขาเท่านั้น

BitCoin เป็นหน่วยเงินใช้ชื่อย่อสกุลเงินว่า BTC ใช้สัญลักษณ์ B⃦ แทนหน่วยเงินแต่เนื่องจากเป็นอักขระที่ไม่ได้รับความนิยม หลายครั้งเราจึงเห็นเว็บที่รับเงิน BitCoin ใช้สัญลักษณ์เงินบาท (฿) แทน โดยตัวเงินจะสามารถแบ่งย่อยไปได้ถึงทศนิยมแปดหลัก เรียกหน่วยย่อยที่สุดว่า satoshi ตามชื่อผู้ให้กำเนิดมัน

การออกแบบของ BitCoin อาศัยการเชื่อมต่อ P2P ของโลกอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก โดยหลักการแล้ว การโอนเงินทุกครั้งจะต้องประกาศออกไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลกที่รันโปรแกรม BitCoin อยู่ ทำให้ทุกคนรับรู้ว่ามีการโอนเงินก้อนใดไปยังใครบ้าง เงินแต่ละก้อนสามารถแตกออกเป็นเงินย่อยๆ ได้ ทุกครั้งที่คนๆ หนึ่งจะโอนเงินไปให้กับคนอื่นจะเป็นการแตกเงินออกเป็นสองก้อน นั่นคือการโอนให้ยังปลายทาง และที่เหลือโอนกลับเข้าตัวเอง (https://www.blognone.com/node/35180)

หลายคนเชื่อว่าชื่อนี้สร้างขึ้นมาปิดบังตัวตนที่แท้จริงของผู้สร้าง BitCoin โดยเฉพาะ หลักฐานทุกอย่างของ Satoshi ถูกเข้ารหัสปิดบังตัวตนไว้เป็นอย่างดี ทำให้การสืบกลับไปถึงตัวผู้สร้างแทบเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถึงกระนั้น Ted Nelson โปรแกรมเมอร์ผู้โด่งดัง ก็ได้กล่าวอ้างว่าผู้สร้าง BitCoin คือ Shinichi Mochizuki โดยสังเกตจากระดับความรู้ความสามารถและรูปแบบการนำเสนอผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Shinichi Mochizuki สำเร็จการศึกษาระดับ Ph.D. ในสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Princeton ด้วยวัย 22 ปี และได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์ใน 11 ปีให้หลัง ผลงานที่สำคัญคือการพิสูจน์ข้อคาดการณ์ abc

อย่างไรก็ตามก็ไม่เป็นที่ยืนยันว่า Shinichi Mochizuki กับ Satoshi Nakamoto เป็นคนๆ เดียวกันแต่อย่างใด

ขณะที่นิตยสาร Newsweek ได้ตีพิมพ์สกู๊ปข่าวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบิตคอยในสัปดาห์นี้ Leah McGrath Goodman นักเขียนและนักข่าวสืบสวนของ Newsweek ได้ไปค้นพบกับ Satoshi Nakamoto ที่เป็นตัวเป็นตนจริง ซึ่งน่าแปลกใจว่าชายที่ดูท่าทางอ่อนน้อมถ่อมตนนี้จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความนิยมใน Cryptocurrency

Satoshi ที่ Newsweek อ้างว่าเป็นตัวจริงนี้ไม่ใช่เด็กฉลาดในโตเกียว หรือสายลับ หรือกลุ่มนักพัฒนา ไม่มีความลึกลับอะไรแม้แต่นามแฝงก็ไม่มี เค้าอายุ 64 ปี เป็นคนแคลิฟอร์เนียที่รักในคณิตศาสตร์ การเข้ารหัส และโมเดลรถไฟจำลอง McGrath Goodman อ้างว่าแบ็คกราวของเค้ายังไม่ชัดเจนทั้งหมด แต่ที่เด่นชัดคือเค้าเป็นนักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ทำงานในโครงการลับขององค์กรเอกชนและกองทัพสหรัฐ

เค้าไม่ได้มีไลฟ์สต์ชิวิตแบบที่ออกไปจิบค๊อกเทลและใช้จ่ายด้วยบิตคอยที่เฟรนช์ริวีเอราหรูหราอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ Nakamoto อาศัยอยู่ที่เมืองเทมเปิล รัฐแคลิฟอร์เนียอันเงียบสงบ ปลอดภัย ไม่ใช่อย่างที่คุณคาดคิดว่าชายคนนี้จะมีบิตคอยมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์

ตามที่ McGrath Goodman รายงาน Nakamoto ไม่ได้ตื่นเต้นเมื่อเจอผู้สื่อข่าวที่บ้านของเค้า และเค้าโทรเรียกตำรวจ จนนักข่าวต้องบอกกับตำรวจว่าเค้าเป็นผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้นบิตคอย และทำให้ตำรวจแปลกประหลาดใจเช่นกัน

Nakamoto บอกกับนักข่าวว่า ผมไม่ได้มีส่วนร่วมกับมันอีกแล้วและไม่สามารถจะพูดคุยเกี่ยวกับมันได้

อีกทั้งไม่มีใครรู้เลยว่าเค้าเป็นคนสร้างบิตคอยน์แม้แต่ครอบครัวของเค้าเอง ไม่ แม้แต่เพื่อนหรือคนในท้องที่ พี่ชายของเค้าบอกกับ Newsweek ว่าเค้าเป็นคนอัจฉริยะแต่ชอบสันโดษและไม่ชอบคุยเกี่ยวกับงานของเค้าเอง ทั้งเค้าก็ไม่เคยรับรู้การมีส่วนร่วมของ Nakamoto ในบิตคอยน์เลย

Newsweek ติดตาม Nakamoto ผ่านทางบริษัทหนึ่งที่เค้าเคยซื้อส่วนประกอบของโมเดลรถไฟไอน้ำ ซึ่งได้รับชิ้นส่วนจากอังกฤษและญี่ปุ่น และเค้าได้ทำรถไฟจำลองตั้งแต่วัยรุ่น อีกทั้งยังทำเครื่องจักรเองด้วย

Nakamoto ไม่ใช้เวลากับการพูดคุยกับนักข่าว เค้าบอกว่ามีสิ่งที่ดีกว่าต้องทำ (ที่มา: coindesk)

* ทั้งนี้ล่าสุดยังไม่ยืนยันว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ และเค้าได้ปฏิเสธในสิ่งที่ Newweeks กล่าวอ้าง*

หลังข่าวของ Newsweek เผยแพร่ออกมาว่าพบ Satoshi Nakamoto ตอนนี้บัญชีของ Satoshi Nakamoto บนเว็บ P2P Foundation ที่ไม่เคลื่อนไหวมานานสามปีเต็มก็โพสความเห็นสั้นๆ อีกครั้งว่า“ผมไม่ใช่ Dorian Nakamoto”

Gavin Andresen หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Bitcoin Foundation ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกบน Reddit ระบุว่าผิดหวังกับนักเขียนและสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์บทความที่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากจนกระทั่งคนอื่นๆ สามารถตามหาตัวคนในบทความได้โดยง่าย และหลักฐานทั้งหมดที่ Newsweek แสดงได้ก็เป็นเพียงหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น นอกจากข้อความที่บอกว่า “ผมไม่ได้เกี่ยวกับมันแล้ว” ซึ่ง Dorian อาจจะพูดเพื่อให้นักข่าวออกไปให้พ้นๆ จากบ้านของเขาเท่านั้น

Leah McGrath Goodman นักเขียนของ Newsweek ผู้เขียนบทความนี้ระบุว่าจะพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับบทความนี้ และอ้างว่าข้อมูลเช่นที่อยู่และทะเบียนรถของ Dorian Nakamoto นั้นเป็นข้อมูลสาธารณะอยู่แล้ว (Forbes)

4) อ่านรายงาน Bitcoin : A Peer-to-Peer Electronic Cash System ของ Satoshi ์Nakamoto ได้ที่
https://bitcoin.org/bitcoin.pdf

ที่มา.Siam Intelligence Unit
------------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

สเปน : กลียุค !!?

โดย.พญาไม้

ในประวัติศาสตร์โลก..เรื่องราวของสงครามกลางเมืองในสเปน..เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งได้ถูกนำมาศึกษาตีแผ่..
ประเทศที่เคยยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจของโลก..แบบที่เรียกว่าจักรวรรดิสเปน..พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน...จะมีชาติที่เทียบเคียงได้ก็คืออังกฤษ..

ก่อนสงครามกลางเมืองสเปนกับคนสเปนก็เป็นเมืองน่าอยู่แผ่นดินที่มีทะเลล้อมอยู่ถึงสามด้านความสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน..ทำให้คนสเปนเป็นคนสนุกรื่นเริงมองโลกในส่วนของความรื่นรมย์และเป็นสุข..เป็นมิตรกับคนแปลกหน้า..

แต่เมื่อถึงคราวแห่งความพินาศ..ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า..ชนเผ่าศาสนาและผู้นำทางการเมืองได้เริ่มแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน..

อำนาจมาจากที่ที่อำนาจจากไป..เมื่อสถาบันกษัตริย์สูญเสียความเข็มแข็ง..ประเทศจึงมีสหภาพมีคณะรักชาติเกิดขึ้น..ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับในกติกาเดิมอันเป็นหลักแล้วปักหลักมาเอาชนะคะคานกันด้วยกำลังประชากรและอาวุธ..

ทั้งสองฝ่ายต่างเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ..คนต่างชาติแบกอาวุธเข้ามาเป็นทหารอาสาสมัคร..ฮิตเล่อร์และมุสโสลินี..ซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของเยอรมันและอิตาลี..ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่กับคณะรักชาติของนายพลฟรังโก..วีระบุรุษสงครามและผู้ปราบกบถ

ด้วยจำนวนนักรบหกแสนปืนใหญ่และเครื่องบินที่มากกว่า..ฟรันซิสโกฟรังโก..จึงเป็นผู้ชนะในสงคราม..หลังจากที่ชาวสเปนมากกว่าห้าแสนคนต้องล้มหายตายจาก..ให้กับสงครามแย่งอำนาจของสัตว์การเมืองทั้งหลาย

หลังชัยชนะ..ผู้ชนะได้จำคุกคนจำนวนมากและประหารศัตรูอีกมากกว่าสองหมื่นห้าพันคน..เพื่อขจัดเสี้ยนหนามแห่งอำนาจ..ชาวสเปนอีกหลายแสนคนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ..เพราะหวั่นหวาดกับภัยการเมือง..

กว่าสเปนจะเป็นประชาธิปไตยเช่นวันนี้..มีสถาบันกษัตริย์ที่จอมเผด็จการ..ฟื้นฟูขึ้นมา..แต่โลกไม่เคยลืม..ความทารุณโหดร้ายของสงครามกลางเมือง..

สเปน..มีขนาดประเทศ..ห้าแสนสี่พันเจ็ดร้อยแปดสิบสองตารางกิโลเมตร..ไทย..มีขนาดประเทศห้าแสนหนึ่งหมื่นสี่พันตารางกิโลเมตร..

แต่ไทยยังไม่เคยตายห้าแสนในสงครามกลางเมือง..

ที่มา.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

สธ. ของใคร !!?

โดย.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

สิ่งที่น่าอนาถใจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาในสังคมไทยคือข้าราชการถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมกับกระบวนการทางการเมือง  กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่พ้นจากวังวนนี้ แต่ที่น่าสังเวชยิ่งกว่าคือจากการที่เคยเป็นกระทรวงที่มีลักษณะก้าวหน้าที่สุด กล้าหาญที่สุดที่จะปฏิรูปตัวเองและปฏิรูปสังคม แต่ที่สุดแล้วความลุแก่อำนาจ การได้กำกับควบคุมประชาชนเป็นสิ่งที่หอมหวานกว่า เมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นในสังคมไทย กระทรวงสาธารณสุขโดยหัวหน้ากระทรวง หมอในกระทรวง ซึ่งเคยมีส่วนร่วมในกระบวนการก่อเกิดระบบนี้ ยอมเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นเทพเจ้าผู้ใจดีมีอำนาจในการรักษาชีวิตมาเป็นผู้ให้บริการทำหน้าที่บริการประชาชนผู้เจ็บป่วยที่เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนพึงได้รับ โดยยึดหลักรัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจัดระบบให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุดให้กับประชาชน ดังกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่บริการประชาชน

แต่สิ่งที่ปลัดกระทรวงปัจจุบันและผู้บริหารบางส่วนร่วมกับกลุ่มหมอออกมาแถลงข่าวฟาดหัวฟาดหางว่าตนเองถูกท้วงติงจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ว่าปล่อยให้ลูกน้องสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ใช้เงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เหมาะสมไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เลยออกมาขู่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะไม่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) โรงพยาบาลในสังกัด ให้บริการประชาชนอีกต่อไปหากไม่ยุติการโอนเงินไปให้ สสจ. แล้วโอนเงินตรงไปให้กระทรวงจัดการเองแทน ถือเป็นคนละเรื่องกันเลย เมื่อตนเองถูกตรวจสอบก็ควรจะต้องพิจารณาจัดการแก้ไขตามข้อท้วงติงจาก สตง. และต้องปรึกษาหารือกับ สปสช.ว่าจะร่วมกันรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร จะทำให้รัดกุมขึ้นอย่างไร จะแก้ปัญหาไม่ให้เกิดการคอรัปชั่นได้อย่างไร ไม่ใช่มาเอาประชาชนเป็นตัวประกันว่าจะไม่ให้บริการเพราะไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพ

ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในสังคมไทยและในอารยะประเทศที่รัฐทำหน้าที่จัดการบริหารภาษีของประชาชนพลเมืองทั้งมวลอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักการความเป็นธรรม ความเสมอภาค รัฐทำหน้าที่รับประกันว่าประชาชนทุกคนเมื่อต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพ การดูแลรักษา การฟื้นฟูเยียวยา

ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับบริการนั้นทันทีอย่างเหมาะสมทุกคนด้วยมาตรฐานคุณภาพเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นคนจนคนรวยเมื่อไปรับบริการไม่ต้องถูกเรียกเก็บเงิน ไม่ต้องถูกปฏิเสธการรักษา ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือในฐานะผู้ป่วยอนาถาอีกต่อไป นี่เป็นการบริหารของรัฐที่ยึดมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมอจึงไม่ใช่เทพเจ้าแต่เป็นผู้ให้บริการประชาชนด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและมีหัวใจอาสาสาธารณะ ซึ่งการสั่งสอนวิชาชีพหมอก็ควรปรับตัวให้เข้ากับจิตตารมณ์นี้เช่นกัน

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพในแง่การบริหารจึงจำเป็นต้องแยกผู้มีส่วนได้เสียออกจากกัน กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความชำนาญในการเป็นผู้ดูแลรักษาจึงควรเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุดของประเทศ(Health Provider) ไม่ควรต้องทำหน้าที่ในการบริหารงบประมาณซึ่งเป็นงบค่าใช้จ่ายที่ประชาชนเป็นเจ้าของ(ภาษี) ประชาชนควรเป็นผู้บริหารงบประมาณนั้นเอง โดยมีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่นี้ ซึ่งในปัจจุบันคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่บริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเป็นกรรมการทั้งจากประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากหน่วยงานรัฐอื่นๆร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และจากผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข คือ รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง คณะกรรมการทำหน้าที่กำหนดนโยบายให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างดีที่สุดมีคุณภาพและคุ้มค่างบประมาณที่ใช้ในแต่ละปี กำหนดชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาซึ่งก็คือกำหนดงบประมาณในแต่ละปี กระตุ้นให้ระบบการรักษามีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิประชาชนให้ได้รับหลักประกันว่าจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ได้รับการส่งต่อตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม การออกแบบระบบแยกผู้ให้บริการออกจากผู้บริหารงบเพื่อจัดหาบริการให้ประชาชนออกจากกันเพื่อให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด โปร่งใส ตรวจสอบได้

แต่ปัญหาคือ กระทรวงสาธารณสุขยังเล่นบทบาททับซ้อนกันอยู่ คืออยากเป็นทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับนโยบาย ผู้บริหารงบ และอื่นๆนั่นคือขอทำตัวเหมือนกับ 10 ปีที่แล้วที่ยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ ความเป็นกระทรวงที่ก้าวหน้า มีการปฏิรูปตนเอง เลือนหายไป ขณะที่ปากก็ป่าวร้องว่าต้องปฏิรูปประเทศ ( ดูจากเปิดกระทรวงต้อนรับ กลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปที่เดินสายไปหา)  แต่การกระทำกลับถอยหลังเข้าคลอง หากมีรัฐบาลใหม่เราจะไว้ใจได้อย่างไรหากปลัดกระทรวง หรือหมอในกระทรวงที่ฟาดหัวฟาดหางที่อาจได้เป็นใหญ่ขั้นรัฐมนตรี แต่ระบบหลักประกันสุขภาพต้องการผู้บริหารที่หัวก้าวหน้ามากกว่าเป็นนักอนุรักษ์นิยม

ยุคการปฏิรูปคือการที่ประชาชนเป็นพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันและควรได้รับการบริการบนหลักการสิทธิ และโปร่งใส กระทรวงสาธารณสุขควรทำตัวหดเล็กลง ทำหน้าที่ด้านวิชาการกำกับทิศทางการดูแลรักษาให้ทันสมัยก้าวหน้า ขณะที่โรงพยาบาลควรมีอิสระปฏิรูปถ่ายโอนเป็นองค์กรมหาชนที่ประชาชนเข้าไปถือหุ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแล ให้บริการสอดคล้องสอดรับกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในพื้นที่นั้นๆ หรือเขตสุขภาพนั้นๆ

แต่เฉพาะหน้านี้ หากกระทรวงไม่ยอมให้บริการ มีการสั่งการให้โรงพยาบาลไม่รับเงินจาก สปสช.โดยตรง ประชาชนเป็นตัวประกันเพราะเจ็บป่วยต้องไปรักษาแต่จะถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราต้องเตรียมตัวฟ้องศาลปกครองกันแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ปฏิบัติหน้าที่ หวังว่าศาลปกครองจะรับฟ้องและคุ้มครองชั่วคราวโดยพลัน

ที่มา.ประชาไท
--------------------------------------------------

เฝ้าระวัง.เมิร์สคอฟ !!?

 ผวา.เชื้อโคโรน่าไวรัส 2012 หรือ เมิร์สคอฟ กระทรวงสาธารณสุขสั่งทุกจังหวัดเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังระบาดหนักใน 11 ประเทศ ตายแล้ว 92 ราย ระบุเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรงคล้าย “โรคซาร์ส” เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว แถมติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม เตือนมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน รีบไปพบแพทย์ด่วน พร้อมแนะยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนคนไทยในภาคตะวันตกของประเทศซาอุดีอาระเบีย ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมิร์สคอฟ ภายหลังมีพบการแพร่ระบาดของโรคนี้ ว่ากระทรวงสาธารณ สุขได้ตื่นตัวในการเฝ้าระวังโรคนี้ หลังจากที่เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยเมื่อวันที่ 20 ก.ย.55 เป็นต้นมา และให้กรมควบคุมโรคตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด

ปลัด สธ. กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย แต่สถานการณ์ก็ยังไม่อาจวางใจได้ เนื่องจากยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องใน 11 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย  กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนิเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน และคูเวต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย ล่าสุดองค์การอนามัยโลกรายงาน วันที่ 16 เม.ย. 57 พบผู้ป่วยยืนยัน 238 ราย เสียชีวิต 92 ราย

“ในการป้องกันโรคนี้ ได้เน้นย้ำ 2 มาตรการหลัก คือ 1. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและ รพ.ทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน และมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่พบผู้ป่วย จัดไว้อยู่ในข่ายสงสัย ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส และ 2. มอบให้กรมควบคุมโรควางแผนการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมประมาณ 10,000 คน ที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ประจำปี 57 รวมถึงให้จัดทำคำแนะ นำในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง” นพ.ณรงค์ กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสจัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดร้อยละ 96 มีโรคประจำตัว 1 โรคหรือมากกว่า ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และยังพบผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรคร้อยละ 72 ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย กรมควบคุมโรคได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างกรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค รวมทั้งมีทีมให้คำปรึกษาด้านการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นหวัดและการอยู่ในสถานที่แออัด หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดคือ ไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วันให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา พร้อมบอกประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วัน หากประชาชนมีข้อสงสัย โทรฯ สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง.

ที่มา.เดลินิวส์
--------------------------------------------

จำอวดการเมือง !!?

โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวใหญ่ในช่วงสงกรานต์ขึ้นศักราชใหม่ จุลศักราช 1376 ปีมะเมีย ฉศก ร.ศ.233 ปี 2557 นี้ คงจะไม่มีข่าวใดเด่นกว่าข่าวการประกาศตนเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ของแกนนำมวลมหาประชาชน ที่เริ่มจากการชุมนุมต่อต้านคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งถูกตีตกไปแล้วตั้งแต่วาระแรกของวุฒิสภา แต่การชุมนุมก็ยังดำเนินต่อไป เพราะกองทัพประกาศตนเป็นกลาง ไม่เป็นฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ตำรวจประกาศไม่ติดอาวุธ

การชุมนุม ย้ายที่ชุมนุมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อผู้มาร่วมชุมนุมน้อยลง เริ่มมีความรุนแรง มีผู้บาดเจ็บล้มตาย และในที่สุดก็มาชุมนุมกันอยู่ในสวนลุมพินี ปักหลักอยู่ที่นั่น แต่ออกกระทำการปิดสถานที่ราชการที่นั่นที่นี่เป็นครั้งคราวในเวลากลางวัน

เมื่อมีการคาดการณ์กันว่าคณะกรรมการ ปปช.จะประณามกล่าวโทษนายกรัฐมนตรี ในความผิดเรื่องโครงการจำนำข้าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา แต่ในยุคนี้การพิจารณาตัดสินของตุลาการภิวัฒน์ จะพิจารณาตัดสินอย่างไรก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ก็เป็นที่คาดการณ์กันได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสินให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อาจจะให้พ้นเฉพาะกิจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) หรือให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก็ได้ไม่มีใครรู้ เพราะคำวินิจฉัยชี้ขาดสมัยนี้จะออกมาอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครทราบ เพื่อจะได้ทำให้เกิดช่องว่าง จะได้ใช้ความในมาตรา 7 แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี "คนกลาง" ที่เป็นคนดีมาทำการปฏิรูปประเทศไทยเป็นเวลาปีครึ่งถึงสองปี

เข้าใจว่าเพื่อให้เป็นไปตามนี้จึงได้มีการประกาศตนเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" หรือ "องค์อธิปัตย์" หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า "sovereign" แปลตรงๆ ก็คือผู้ถือ "อำนาจอธิปไตย" หรือ "sovereignty" ซึ่งจะทำได้ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้ในมาตรา 3 ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

"รัฏฐาธิปัตย์" หรือ "องค์อธิปัตย์" ในการปกครองของไทยที่ผ่านมา ถ้าก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือองค์พระมหากษัตริย์ ถ้าหลังจากนั้นรัฏฐาธิปัตย์ หรือ องค์อธิปัตย์ ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ถืออำนาจอธิปไตย ก็คือหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ทำการยึดอำนาจสำเร็จ ถ้าพูดให้เต็มก็ต้องพูดว่าคณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจอธิปไตยจากปวงชนชาวไทยได้สำเร็จ

ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับสั้นและชั่วคราว ซึ่งปกติจะมีอยู่เพียง 20-30 มาตรา ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือ องค์อธิปัตย์

รัฏฐาธิปัตย์ หรือ องค์อธิปัตย์ ย่อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของตัวเอง ไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนใครๆ ทั้งนั้น แม้แต่ปวงชนชาวไทย

เมื่ออำนาจอธิปไตยถูกยึดไปจากปวงชนชาวไทยแล้ว ผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย หรือรัฏฐาธิปัตย์ หรือ องค์อธิปัตย์ ย่อมถืออำนาจเด็ดขาดอย่างสมบูรณ์ เหนือสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองทั้งหมด คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ย่อมเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือบรรดากฎหมายทั้งปวง รวมถึงรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงที่สุดด้วย ในขณะที่รัฏฐาธิปัตย์ยังไม่ยอมจำกัดอำนาจของตนเอง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในทางทฤษฎีรัฏฐาธิปัตย์อาจจะออกคำสั่งให้คงไว้หรือยกเลิกสถาบันหรือองค์กรการเมืองใดๆ ก็ได้ จะประกาศเปลี่ยนรูปแบบของรัฐหรือรูปแบบการปกครองของประเทศไปในรูปแบบใดๆ ก็ได้ แม้แต่จะออกคำสั่งประหารชีวิตผู้ใดก็ได้

ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในทางทฤษฎีอีกเช่นกัน องค์อธิปัตย์ จะประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศใดๆ ก็ได้ จะประกาศสงครามกับประเทศใดๆ ก็ได้ หรือจะประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศใดๆ เช่น สหประชาชาติ อาเซียน แล้วประกาศปิดประเทศเสียเฉยๆ ก็ได้ เช่นสมัยนายพลเนวิน สถาปนาคนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของประเทศพม่า

เรื่องใครจะประกาศตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่มีใครที่ยังมีสติสัมปชัญญะจะกล้าประกาศตนเช่นนั้น แม้แต่หัวหน้าคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร ซึ่งเมื่อประกาศยึดอำนาจอธิปไตย จากพระมหากษัตริย์หรือจากปวงชนได้เป็นผลสำเร็จ ก็ไม่กล้าประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างชัดแจ้ง แม้ว่าผลของการทำปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จ ตนเองจะกลายเป็นองค์อธิปัตย์หรือรัฏฐาธิปัตย์ ออกคำสั่งออกประกาศคณะปฏิวัติ คณะรัฐประหารหรือคณะปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ไม่กล้าประกาศว่าตนเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" คนทั่วไปจึงไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไร เพราะเข้าใจว่าการกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยการชุมนุมเดินขบวนจะได้รับการต่อต้านจากประชาชนสื่อมวลชน และประชาคมระหว่างประเทศ ความเป็นไปได้แทบไม่มี หรือถ้าจะมีก็ต้องใช้กองกำลังติดอาวุธเข้ายึดอำนาจอธิปไตย หรือ "อำนาจรัฐ" อย่างที่ เหมา เจ๋อ ตุง เคยกล่าวเอาไว้ว่า "อำนาจรัฐย่อมมาได้จากปากกระบอกปืน" เท่านั้น

แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ เมื่อมีการประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ผ่านทางการชุมนุม ผ่านทางสื่อต่างๆ กลับปรากฏว่าผู้คนรู้สึก "เฉยๆ" หรือไม่ก็อาจจะเห็นด้วยเสียด้วยซ้ำ กองทัพที่ถืออาวุธก็ "เฉยๆ" ไม่มีปฏิกิริยาอะไร ยกเว้นแต่กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้นที่แสดงปฏิกิริยาในเชิงลบและต่อต้านการประกาศนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจจะด้วยเหตุผลหลายอย่างเช่น

ผู้คนในกรุงเทพฯหรือคนชั้นสูงที่สนับสนุนการชุมนุมในสวนลุมพินีก็ไม่เข้าใจ แปลว่าอะไร มีความหมายอย่างไร ผลที่ตามมาจะมีอะไรบ้าง กระทบต่อระบบกฎหมาย กระทบต่อขบวนการการปกครองประเทศอย่างไร ต่างจากการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งพวกเราเคยชินกันมา แล้วเข้าใจเอาเองว่าคณะปฏิวัติคงไม่เปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม รวมทั้งสถาบันการเมืองที่สำคัญๆ ของประเทศ หรือผู้คนในกรุงเทพฯเข้าใจดี จึงไม่ต่อต้าน แต่การประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อมีช่องว่างจากการวินิจฉัยตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้เพราะยังไม่เคยมีเป็นตัวอย่าง

หรือไม่ที่ผู้คนหรือสื่อมวลชนรู้สึก "เฉยๆ" ก็เพราะเห็นว่าเป็นเพียง "จำอวด" หรือ "วาทกรรม" ทางการเมือง เป็นเรื่องตลกที่เป็นไปไม่ได้ นอกเสียจากมีการปฏิวัติรัฐประหารก่อนที่แกนนำจะได้เป็นองค์อธิปัตย์ หรือ รัฏฐาธิปัตย์ จริงๆ ก็ได้ ทางกองทัพก็คงจะคิดอย่างนั้นก็ได้ จึงไม่มีปฏิกิริยาอะไร เพราะถ้าเกิดเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็อาจจะถูกสับเปลี่ยนโดยองค์อธิปัตย์ใหม่เอาง่ายๆ ก็ได้

หรือเป็นไปได้ว่า "กลอนพาไป" ผู้พูดไม่ได้จริงจังอะไรกับสิ่งที่ตนพูด จะว่าผู้พูดไม่รู้สึกผลของการได้มาซึ่ง "อำนาจรัฐ" กับสิ่งที่ตนพูด จะว่าผู้พูดไม่รู้ถึงผลของการได้มาซึ่ง "อำนาจรัฐ" จนตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถทำอะไรก็ได้ จะแต่งตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ ใครเป็นสมาชิกสถานิติบัญญัติก็ได้ จะแต่งตั้งถอดถอนตุลาการหรือยกเลิกหรือเพิ่มศาลขึ้นมาอีกก็ได้ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้เพราะพื้นฐานการศึกษาก็ดี ประสบการณ์ทางการเมืองอันยาวนานก็ดี ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น ถ้าหากเป็น "กลอนพาไป" ผู้พูดไม่ได้จริงจังอะไร พวกผู้ฟังจึงไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องจริงจังมีสาระอะไรที่จะไปเอาใจใส่ ผู้ที่ไม่จริงจังก็คำพูดเล่นๆ ว่าจะสถาปนาตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ต่างหากเป็นคนที่ไม่ปกติ

อาจจะเป็นไปได้เหมือนกันที่ผู้ที่พูดว่า จะสถาปนาตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ต้องการจะพูดยั่วยุฝ่ายตรงกันข้ามให้โกรธแค้น หัวเสียจะได้ออกมาเดินขบวนคัดค้าน เกิดความวุ่นวายทำให้มีการปะทะกัน อย่างที่หลายคนหลายฝ่ายวิเคราะห์จนเป็นที่วิตกวิจารณ์กัน

ก็เป็นไปได้อีกนั่นแหละว่าต้องการเป็นข่าวพาดหัว เพื่อจะได้ยึดพื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ เหมือนข่าว "ปิดกรุงเทพฯ" หรือ Shut Down Bangkok หรือสร้างข่าวว่าประเทศไทยอุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน จะต้องยึดคืน ปตท. การสร้างข่าวต่างๆ เหล่านี้แพร่สะพัดอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่เป็นข่าวโจ๊ก ก็เพราะผู้ชุมนุมมีแนวร่วมที่เป็นสื่อกระแสหลักโดยทั่วไป

เมื่อคราวเปิดข่าว "ปิดกรุงเทพฯ" ก็เป็นข่าวพาดหัวยักษ์ของหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน คนกรุงเทพฯก็เฉยๆ ไม่ว่าอะไรแม้ว่าจะหวาดวิตก ถ้าปิดตรงนี้ก็เลี่ยงไปทางอื่น สื่อมวลชนก็ไม่ว่าอะไร แถมยังแอบสนับสนุนเอาใจช่วยเสียด้วยซ้ำไป จึงไม่มีใครที่ทำใจเป็นกลางๆ เข้าใจว่าคนในกรุงเทพฯคิดอะไรและทำไมจึงคิดเช่นนั้น

เมื่อบรรยากาศเป็นอย่างนี้ก็คงจะเดาได้ว่า สถานการณ์การต่อสู้ขัดแย้ง ระหว่างคนกรุงเทพฯที่ไม่ชอบรัฐบาลกับผู้คนในต่างจังหวัด ก็คงจะดำรงคงอยู่กับเราอีกนาน เพราะผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯและสื่อมวลชนซึ่งส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯก็เฉยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีใครว่า ส่วนคนต่างจังหวัดไม่เห็นด้วยจะชุมนุมคัดค้าน ก็คัดค้านอยู่ในต่างจังหวัด ไม่เข้ามาปะทะกัน อำนาจรัฐก็อ่อนแรงลง ทหารก็ประกาศตนเป็นกลาง ตำรวจก็ถูกสั่งไม่ให้ติดอาวุธ เพราะกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงเป็นเหตุให้ทหารเข้ามาแทรกแซง

คงต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่อจากศาลปกครองอย่างไร ในคดีโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ถ้าวินิจฉัยถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อให้เกิดช่องว่าง แล้วมีรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ โดยไม่ยึดอำนาจอธิปไตยจากปวงชนชาวไทย ด้วย "ปากกระบอกปืน" อย่างที่อดีตประธาน เหมา เจ๋อ ตุง ว่าไว้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

น่าจะเป็นจำอวดมากกว่า

ที่มา.มติชนออนไลน์
___________________________________

เลือกตั้ง ก.ค.57 แน่หรือ !!?

โดย : ธวัชชัย อินทรประดิษฐ์

ผลการหารือร่วมระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับ หน่วยงานด้านความมั่นคง 12 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ ได้ข้อสรุปที่เห็นตรงกันว่า สถานการณ์ใน 45-60 วันนี้ ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่สงบขึ้นได้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์กันแบบวันต่อวัน

อีกทั้งที่ประชุมยังได้ข้อสรุปร่วมกัน 5 ข้อประกอบด้วย 1.ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ เพราะการที่รัฐบาลรักษาการเป็นเวลานานจะกระทบกับเศรษฐกิจและสังคม

2.กกต.และหน่วยงานความมั่นคงยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งในสถานการณ์ปกติ ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่คลี่คลายความขัดแย้งลงไปแล้ว

3.สถานการณ์ในปัจจุบันยังเป็นอุปสรรคที่จะจัดเลือกตั้งให้สำเร็จ หากจะจัดเลือกตั้งใหม่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา

4.ที่ประชุมยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะต้องรอฟังความเห็นจาก 73 พรรคการเมืองในวันที่ 22 เม.ย.นี้ก่อน อีกทั้ง กกต.ขอเชิญชวนให้ ทุกภาคส่วน ทั้ง 7 องค์กรธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมหารือเพื่อนำแนวทางประกอบการตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้ง

และ 5.ระหว่างการประเมินสถานการณ์ทางกกต.จะแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการเลือกตั้ง

"สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เบาลงจึงยังไม่เหมาะสมที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะกลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยเหมือนวันที่ 2 ก.พ.จนทำให้เสียงบประมาณ 3.8 พันล้านบาท" ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ระบุ

ขณะที่ในการประชุมร่วมกับพรรคการเมือง วันที่ 22 เม.ย.นี้ กกต.เตรียมนำข้อสรุปจากการประชุมร่วมกับตัวแทนเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคง เสนอต่อที่ประชุมพรรคการเมือง โดยเมื่อหารือกับพรรคการเมืองแล้ว จะนำข้อสรุปจากทั้งสองฝ่ายไปพูดคุยหารือกับรัฐบาล เพื่อวางกรอบการจัดการเลือกตั้งส.ส.ในเวลาที่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ กกต.ได้วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่เสร็จเรียบร้อยมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนกกต.ไม่สามารถที่จะให้มีการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ใน 28 เขตได้

ดังนั้น กกต.ต้องพิจารณาว่าหากจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และให้เกิดความสำเร็จ กกต.ต้องคำนึงเรื่องสถานการณ์ความสงบเป็นสำคัญ ถ้ากกต.จัดการเลือกตั้งแล้วเกิดปัญหาซ้ำเดิม กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่ 53 พรรคการเมืองยื่นข้อเสนอให้กกต.จัดเลือกตั้งภายใน 45-60 นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แม้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติ แต่ก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ เป็นแนวทางที่ให้กกต.สามารถนำมาปฏิบัติได้

โดยทางสำนักงานกกต.ได้เสนอว่า ตอนปี 2549 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจนถึงวันเลือกตั้งใหม่ที่มีการกำหนดให้เป็นวันที่ 15 ต.ค.2549 ใช้เวลาทั้งสิ้น 160 วัน โดยในห้วงเวลา 160 วันดังกล่าว มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ดังนั้นกกต.น่าจะใช้กรอบระยะเวลาดังกล่าวเป็นหลักในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งได้มีการเสนอเป็น 3 รูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบจะยึดกรอบกำหนดจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลา 60 วัน นับแต่พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ โดยให้นับย้อนจากเวลาดังกล่าวขึ้นไป 30 วัน หรือ 60 วัน หรือ 90 วัน สำหรับให้กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้การเลือกตั้งใหม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

รวมทั้งจะต้องแก้ไขระเบียบกกต.ที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง เช่น ระเบียบการรับสมัคร ส.ส. ที่อาจจะนำระบบการรับสมัครทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษมาใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไป

ดังนั้นการกำหนดวันเลือกตั้งจะมี 3 รูปแบบ คือในกรอบระยะเวลา 90 วัน 120 วัน และ 150 วัน

ล่าสุด สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้งไทย (ที่ไม่เกี่ยวกับป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ ) มีเนื้อหาระบุถึงแนวทางการเลือกตั้ง ว่า ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ กกต.เชิญ 70 พรรคการเมืองหารือกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหมาะสม

นอกจากนั้น น่าจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลและ กกต. เพื่อกำหนดวันออกพ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 29-30 เม.ย. โดยรัฐบาลน่าจะเลือกสูตรที่เร็วที่สุดคือ 90 วัน จึงคาดว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 20 หรือ 27 ก.ค.2557

"การเลือกตั้งครั้งใหม่ ไม่น่าจะมีเหตุโมฆะ เนื่องจาก กกต.ได้กำหนดวิธีการรับสมัครด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทำให้น่าจะมีผู้สมัครครบทุกเขต แต่การได้ ส.ส.ครบร้อยละ 95 ภายใน 30 วันหลังจากการเลือกตั้งยังเป็นปัญหา เนื่องจากต้องเลือกตั้งครบทุกหน่วยจึงจะสามารถประกาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ และหากสถานการณ์ไม่เลวร้ายมาก สภาน่าจะเปิดได้ในเดือนก.ย.และมีรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนต.ค."

สมชัย ยังกล่าวติดตลกทิ้งด้วยว่า "แนวทางคร่าวๆ นี้ เป็นการมองโลกในแง่ดี"

"การเลือกตั้ง" ถือเป็น "ไพ่" ของฝ่ายรัฐบาล ที่จะทำให้ตัวเองได้หวนกลับมายึดครอง "อำนาจ" ไว้ในมืออย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง แต่ตราบใดที่การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น และยิ่งทอดยาวออกไป ก็ย่อมทำให้รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เกิดอาการหวั่นไหวว่า "อำนาจรัฐ" ยังจะอยู่ในมือตัวเองอีกต่อไปหรือไม่

ดังนั้นการที่กกต.คาดหมายว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 20 หรือ 27 ก.ค.นี้ น่าจะไม่เป็นที่ "สบอารมณ์" ของพรรคเพื่อไทยแน่นอน จึงเป็นไปได้มากที่ กกต.จะถูก "กดดัน" จากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ให้ร่นเวลาจัดเลือกตั้งใหม่ให้เร็วขึ้น

ขณะที่ "กลุ่มกปปส." ก็คงจะทำทุกวิถีทาง เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้งได้สำเร็จ แต่ต้องการให้เกิดการ "ปฏิรูป" เสียก่อนแล้วค่อยไป เลือกตั้ง

ดูแล้ว"การเลือกตั้ง"จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และเมื่อไหร่ จึงยังเป็นอะไรที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในขณะนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////

พรีอุส... รัฐเสียหาย หมื่นล้าน...!!?

ในขณะที่นายประมนต์สุธีวงศ์ประธานคณะกรรมการบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยก็ยังเลือกที่จะหลีกเลี่ยงในการพูดถึงเรื่องนี้

เช่นเดียวกับนายประมนต์สุธีวงศ์ที่เป็นประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)ก็นิ่งสนิทจนทำให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่ประกาศการต้านโกงทุกรูปแบบเลือกที่จะเอามือซุกหีบไม่ขอเข้ามายุ่งเกี่ยวกับคดีนี้

ยังดีที่วันนี้ประเด็นนายกรัฐมนตรีคนดีนายกรัฐมนตรีคนกลางได้กลายเป็นเผือกร้อนทางการเมืองที่โยนทิ้งกันอุตลุดรวมทั้งนายประมนต์สุธีวงศ์ซึ่งก็มีข่าวว่าอยู่ในข่ายที่เหมาะสมในการที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางด้วยเช่นกันนั้นก็ปัดตอบในเรื่องนี้ไปแล้ว

ไม่เช่นนั้นมีหวังโดนวิพากษ์วิจารณ์อ่วมอย่างแน่นอนเพราะเรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจของภาคธุรกิจเอกชนก็จริงแต่ส่วนต่างของมูลค่าภาษีระดับหมื่นล้านบาทนั้นถือเป็นผลประโยชน์รายได้ของประเทศไทยผ่านระบบการจัดเก็บภาษีศุลกากรของกรมศุลกากร

ซึ่งหากเก็บได้ก็จะเป็นเงินภาษีเพื่อการพัฒนาประเทศจึงกลายเป็นมุมที่นายประมนต์จะต้องคำนึงให้มากว่าระหว่างผลประโยชน์ของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยที่นายประมนต์นั่งเป็นประธานกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ

จะเลือกยึดถือประโยชน์ใดเป็นหลักให้สมกับเป็นคนดีคนที่มีผู้คนเชื่อว่าน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพราะต้องไม่ลืมว่าคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีควรต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
ซึ่งวันนี้จากการตรวจสอบความคืบหน้าของบางกอก ทูเดย์กรณีโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้ารุ่นพรีอุสจำนวนมากหลายล็อตหลายครั้งแบบแยกสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดรวมทั้งใช้สิทธิยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามมาตรา 12 ยกเว้นอากรและลดอัตราอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่นด้วย

โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 แล้วที่ฝ่ายปฏิบัติการตรวจสอบสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ตรวจสอบพบความผิดปกติและได้จัดทำ“ใบทักท้วงการตรวจสอบอากร” ระบุว่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในลักษณะCKD (COMPLETE KNOCK DOWN) แล้วนำไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปขายนั้นจริงๆแล้วไม่ควรสามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้

ที่สำคัญด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นทางบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยใช้การแจ้งว่านำเข้าชิ้นส่วนจนทำให้จ่ายอัตราภาษีศุลกากรอยู่ที่ 1-5% เท่านั้นในขณะที่หากเป็นการนำเข้ารถยนต์ทั้งคันจะต้องเสียภาษีนำเข้า 80%

สำหรับบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยนั่นคือการวางแผนภาษีเพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์สูงสุดตามที่กล่าวอ้างก็จริงแต่สำหรับในมุมของประเทศไทยแล้วไม่ใช่เลยเพราะนั่นคือการขาดไปของรายได้ที่พึงได้ของประเทศชาติ

อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าแหล่งข่าวระดับสูงในกรมศุลกากรยืนยันกับบางกอกทูเดย์ว่ากรณีการแจ้งนำเข้าในลักษณะนี้มีเพียงแค่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ทำในลักษณะดังกล่าว

บริษัทหรือค่ายรถยนต์อื่นๆในเมืองไทยซึ่งหลายแห่งก็เป็นค่ายรถยนต์สายพันธุ์ญี่ปุ่นเหมือนกันกับโตโยต้าก็ยังไม่ได้ใช้วิธีการแจ้งการนำเข้าแบบโตโยต้าเลยแม้แต่รายเดียว

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของคดีนี้ปรากฏว่าทางบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยได้อุทธรณ์เพื่อสู้คดีตามสิทธิ์โดยได้มีการนำเงินหมื่นกว่าล้านบาทไปวางศาลไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งประเด็นในการสู้คดีของทางโตโยต้าก็คือการอ้างว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อการผลิตต่อเนื่องจากชิ้นส่วนที่นำเข้ามาทั้งหมดนั้นยังไม่สามารถที่จะประกอบเป็นรถยนต์เพื่อออกขายได้ในทันทีแต่ยังต้องมีการนำชิ้นส่วนอื่นๆมาประกอบเพิ่มด้วย

แต่ในขณะที่ทางกรมศุลกากรก็สู้ในประเด็นที่ว่าจริงๆแล้วชิ้นส่วนที่นำเข้ามานั้นถือว่าเป็นองค์ประกอบที่ครบในการที่จะประกอบเป็นรถยนต์แล้วเพราะมีชิ้นส่วนประกอบเกินกว่า 80% ของรถยนต์ที่จะประกอบเพื่อจำหน่าย

การที่อ้างว่ายังมีชิ้นส่วนประดับยนต์อีก 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ต้องนำมาประกอบเพิ่มเติมก่อนจึงจะออกขายได้นั้นไม่ได้เป็นองค์ประกอบสาระสำคัญในการเป็นรถยนต์เป็นแค่เพียงส่วนที่เพิ่มเข้ามาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าเป็นการนำชิ้นส่วนCKDเข้ามานั่นเอง

คือทางโตโยต้าจะอ้างว่าไม่ได้นำเข้าชิ้นส่วนมาครบทั้งคันยังมีส่วนอื่นที่ใช้ชิ้นส่วนในไทยเข้าไปประกอบเช่นมียางซีลมีผ้าบุอะไรพวกนี้แต่ทางกรมศุลกากรเรามองว่าการที่มีตัวถังมีประตูมีเครื่องยนต์มีล้อมีอุปกรณืหลุกๆเข้ามาเกิน 80% มันก็คือรถยนต์ทั้งคันแล้วตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่สู้กันอยู่โดยเรื่องไม่ได้เงียบไปแต่อย่างใด”

แต่สิ่งที่ทางกรมศุลกากรมองด้วยความเป็นห่วงก็คือกรณีของโตโยต้าพรีอุสกำลังถูกจับตามองจากบรรดาผู้นำเข้ารถยนต์จดประกอบว่าสุดท้ายแล้วหากการอ้างว่าโตโยต้าพรีอุสต่างจากรถยนต์จดประกอบที่เอาเข้ามาขันน๊อตประกอบเข้าด้วยกันก็เป็นรถสำเร็จได้เลยแต่มีชิ้นส่วนเล็กๆน้อยๆเข้ามาประกอบเพิ่มเติมด้วยซึ่งหากว่าโตโยต้าชนะและสามารถทำได้เชื่อว่าบรรดาผู้นำเข้ารถยนต์จดประกอบก็จะเอาบ้างคือเอาชิ้นส่วนเข้ามา 80% แล้วมาหาชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มเติมภายหลังอีกแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นก็สามารถทำได้แล้ว

ถึงตอนนั้นไม่เพียงแต่รถจดประกอบจะเต็มไปหมดแต่รายได้รัฐที่พึงได้ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมากด้วยดังนั้นจึงอยากให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่หากินในเมืองไทยมานานกว่า 51 ปีมีกำไรไปแล้วมากมายมหาศาลน่าจะคำนึงถึงจุดละเอียดอ่อนตรงนี้บ้างไม่ใช่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลักแล้วพยายามหาช่องเลี่ยงกฏเลี่ยงบาลีอย่างที่มีการต่อสู้คดีกันอยู่ในขณะนี้

งานนี้ก็คงต้องดูฝีมือของนายราฆพศรีศุภอรรถอธิบดีกรมศุลกากรว่าจะรักษาผลประโยชน์ของชาติได้เพียงใดซึ่งทางบางกอกทูเดย์อยู่ระหว่างนัดหมายเพื่อขอสัมภาษณ์พิเศษอยู่

ส่วนนายประมนต์ สุธีวงศ์ เองก็คงต้องปล่อยให้เป็นจุดวัดใจว่าในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าวิธีการนี้กำลังถูกจ้องมองตาเป็นมันจากกลุ่มธุรกิจรถยนต์จดประกอบสีเทาๆ ทั้งหลายว่าหากโตโยต้าทำได้ก็จะทำบ้างนั้นนายประมนต์คิดเช่นไร

ในเมื่อไม่ต้องการให้คนโกงมีที่ยืนแต่คนที่อยู่ในขบวนการต้านโกงกลับกำลังสร้างตัวอย่างหรือชี้ช่องให้คนอื่นซิกแซกบ้าง


อย่างนี้จะเรียกว่าต้านโกงอย่างจริงจังได้หรือ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

เพื่อไทย ดึงองค์กรระหว่างประเทศแทรกแทรง องค์กร์อิสระ สำเร็จ..

ที่พรรคเพื่อไทย คณะทำงานฝ่ายต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย โดยน.ส.จารุพรรณ กุลดิลก อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และน.ส.ภูวนิดา คุณผลิน อดีตส.ส.กรุงเทพฯ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเดินทางไปยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหภาพรัฐสภาสากล (ไอพียู) เพื่อขอให้ไอพียูย้ำเตือนประเทศไทยกรณีการบังคับใช้กฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ภายหลัง ส.ส.และส.ว. 308 คน ถูกกล่าวหาว่า ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และถูกยื่นถอดถอนสิทธิทางการเมือง โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยน.ส.จารุพรรณ แถลงว่า ภายหลังการยื่นหนังสือในเดือน มี.ค. ขอให้ไอพียูตรวสอบองค์กรที่กำลังตรวจสอบกรณี 308 ส.ส.และส.ว. รวมถึงขอให้ตรวจสอบการถอนประกันนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และเลขาธิการนปช.ในคดีการก่อการร้าย และกรณีการสอบสวนโครงการรับจำนำข้าว ล่าสุดไอพียูได้แจ้งมายังคณะทำงานฯว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าว และส่งหมายเตือนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"องค์กรระหว่างประเทศทั้งไอพียู สหประชาชาติ และนานาประเทศกำลังติดตามว่า องค์กรอิสระที่มีอำนาจเทียบเท่าศาล ป.ป.ช. ที่มีการตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปสังเกตการณ์ได้ จะอธิบายความเป็นนิติรัฐ นิติธรรมได้ยากลำบาก ดังนั้นองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลและคุ้มครองหลักประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชน จึงต้องตรวจสอบการพิจารณาคดีอย่างใก้ลชิด โดยจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หากเจ้าพนักงานงานยุติธรรมคนใดละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศจะถูกขึ้นบัญชีดำในระดับนานาชาติได้ " น.ส.จารุพรรณ กล่าว

เมื่อถามว่าหากป.ป.ช.ยืนยันว่า การตรวจสอบดังกล่วเป็นกระบวนการภายในประเทศองค์กรต่างชาติไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายได้ น.ส.จารุพรรณ กล่าวว่า ป.ป.ช.จะไม่สามารถอ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตรวจสอบเฉพาะภายในประเทศ เพราะประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญาต้องยึดตามกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยต้องให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิในการพิจารณาอย่างเป็นธรรม เรื่องการตรวจสอบ 308 ส.ส.และส.ว.ว่า มีความผิดล้มล้างประชาธิไตย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่มีผู้คนให้ความสนใจ รวมถึงเรื่องการถอนประกันนายณัฐวุฒิและนายจตุพร ซึ่งจะมีผลในวันที่ 18 เม.ย. ทำให้สงสัยว่า เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ นานาอารยะประเทศจึงให้ความสำคัญ

ขณะที่น.ส.ภูวนิดา กล่าวว่า การไปยื่นหนังสือของคณะทำงานฯ ดำเนินการไปตามหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไทย โดยอยากให้ไอพียูพิจารณาตรวจสอบ และติดตามกระบวนการยุติธรรม และการอำนวยความยุติธรรมของไทยเพื่อให้มีพัฒนาการที่เป็นมาตรฐานสากล.

ที่มา.นสพ.เดลินิวส์
-------------------------------------------

เปิดประชุมวุฒิฯ เพื่ออะไร ...!!?

สัมภาษณ์

หมายเหตุ - นายคณิน บุญสุวรรณ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกรณี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา เสนอให้รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด โดยรัฐบาลยืนยันว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

คณิน บุญสุวรรณ

ประเด็นการเปิดประชุมวุฒิสภา หากเปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้ก็ไม่ได้ส่งผลอะไร เพียงแค่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดใคร วุฒิสภาก็ประชุมไม่ได้ และก็กรณีที่ค้างอยู่เรื่องถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ก็ทำไม่ได้ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบในกระบวนการทางการเมือง เพราะจริงๆ แล้วเมื่อมีการยุบสภา กระบวนการทางการเมืองมันหยุดพักชั่วคราว เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีคณะรัฐมนตรี ก็ไม่มีกระบวนการทางการเมือง วุฒิสภาจะเล่นการเมืองโดยลำพังคงไม่ได้ เมื่อก่อนนี้ เมื่อมีการยุบสภา วุฒิสภาก็จะประชุมไม่ได้ เว้นแต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง เช่น ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ รับทราบ เรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ หรือให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิญาณตน หรือประกาศสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 เขาบัญญัติในเรื่องของการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเรื่องของการถอดถอนทั้งที่ไม่ควรจะมี เพราะเมื่อมีการยุบสภานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.ก็พ้นจากตำแหน่งไปหมดแล้ว ฉะนั้นจะให้วุฒิสภาไปถอดถอนอะไรเขาอีกก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่ที่สำคัญคือ ถึงแม้ในมาตรา 132 บัญญัติให้มีการประชุมวุฒิสภาได้ในเรื่องของการแต่งตั้ง-ถอดถอน แต่เขาก็ไม่ได้ระบุวิธีไว้ เพราะจะบอกว่าเปิดสมัยวิสามัญ ก็ต้องมีรัฐสภาก่อน ซึ่งจะไปตอนที่เปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ตามมาตรา 127 แต่บังเอิญคราวนี้ การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา 127 ทำไม่ได้ เพราะมีการขัดขวางการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บอยคอตการเลือกตั้ง และ กกต.ก็หน่วงเหนี่ยวการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้นเมื่อเปิดรัฐสภาไม่ได้ กระบวนการทางการเมืองก็ยังไม่ได้เริ่มต้น นายกฯก็ไม่มี รัฐมนตรีก็ไม่มี สภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่มี เมื่อไม่มีจะให้ ส.ว.เล่นการเมืองกันไปโดยลำพังก็คงไม่ถูก ดังนั้น การเรียกเปิดประชุมรัฐสภาไม่ได้ จะไปหาว่ารัฐบาลไม่ออก พ.ร.ฎ.หน่วงเหนี่ยวเอาไว้ ก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับเอาไว้ว่า นายกฯต้องเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลเพื่อตรา พ.ร.ฎ.จะมีประชุมสมัยวิสามัญได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่มีสมัยสามัญที่เริ่มต้นตามมาตรา 127 ต่อมาจึงจะเปิดสมัยวิสามัญ โดยการตราเป็น พ.ร.ฎ.หรือเป็นพระบรมราชโองการที่ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ แต่นี่ไม่มีอะไรสักอย่าง ประเทศนี้ไม่ได้มีแค่วุฒิสภา จะเล่นกันตามลำพังไม่ได้ แต่ประเทศนี้ต้องมีรัฐสภา แล้วเล่นไม่เล่นเปล่า จะไปเอาตัวคนที่เขาพ้นจากตำแหน่งไปแล้วมาเล่นด้วย

การแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ 1 คน ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องรีบร้อน เร่งด่วน ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ มีรัฐสภาอยู่ การที่คณะกรรมการสรรหาจะต้องเลือกกรรมการ ป.ป.ช.เข้ามา แล้วให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ ตามกำหนดเวลาที่กำหนดเอาไว้ก็เป็นเรื่องของภาวะปกติ แต่ในขณะนี้ไม่มีรัฐสภา จะไปเอาระยะเวลาที่ว่านี้มาดำเนินการให้เกิดประชุมวิสามัญก็คงจะไม่ได้ เพราะถึงแม้กรรมการ ป.ป.ช.อีก 1 คนนี้จะยังไม่เข้ามา อีก 8 คนที่เหลือก็ทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว สำหรับกรณีปี 2549 นั้น เป็นเหตุบังเอิญที่ตอนนั้นต้องมีการขอเปิดประชุมเพื่อเลือก กกต. และตอนนั้น ส.ว.ครบวาระไปหมดพร้อมกัน 200 คน ถ้าไม่มี กกต.ก็จะเลือก ส.ว.ใหม่ไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นจะว่าไปก็ไม่ถูก ไม่รู้นักกฎหมายในขณะนั้นเขาวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร เพราะอย่างที่บอกง่ายๆ ไม่มีสมัยสามัญ จะมีสมัยวิสามัญได้อย่างไร ข้อสำคัญคือ รัฐสภาที่ยุบไป เป็นการสิ้นสุดรัฐสภาชุดที่ 33 ดังนั้น วุฒิสภาที่มีอยู่ตอนที่ยุบสภาก็เป็นชุดที่ 33 เพราะฉะนั้นเมื่อยุบสภาไปแล้ว วุฒิสภาก็ยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอจนกว่ารัฐสภาชุดที่ 34 จะเกิดขึ้น ซึ่งวุฒิสภาชุดที่ 34 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามมาตรา 127 ดังนั้น วุฒิสภาถึงมีอยู่ก็ตาม แต่ไม่ใช่ชุดที่ 33 แล้ว เพราะชุดที่ 33 ได้ยุติไปแล้ว ในขณะที่ชุดที่ 34 ยังไม่เกิด วุฒิสภาปัจจุบันจะบอกว่าคุณต้องออก พ.ร.ฎ.วิสามัญให้ฉัน แล้วฉันจะเล่นกันลำพังมันก็ไม่ได้ จึงตอบคำถามที่ว่า เปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้จะเกิดความเสียหายอะไรหรือไม่ ก็บอกได้ว่าไม่เกิดอะไรเลย ป.ป.ช.อีก 8 คน ก็ยังทำงานได้ จะถอดถอนใครก็รอไปอีกนิดหนึ่งจนกว่าจะมีรัฐสภาแล้ว ต่อจากนั้นคุณจะทำอะไรก็ได้ เพราะถ้าไม่เป็นไปอย่างนี้ต่อไปไม่พอใจอะไรก็ขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อให้เปิดรัฐสภาไม่ได้ แล้วฉวยโอกาสให้วุฒิสภาเล่นงานคนอื่นกันตามลำพัง ความเสียหายจะเกิดขึ้นหากเปิดโอกาสให้วุฒิสภาเล่นงานคนอื่นตามลำพังโดยที่เขาไม่มีโอกาสมาโต้ตอบมากกว่า

ถ้าคุณต้องการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคุณ ก็มีทางเดียว คือ ให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เสร็จเร็วที่สุด แล้วเปิดรัฐสภาตามมาตรา 127 จากนั้นไปคุณจะทำอะไรก็ได้สารพัด แต่เวลานี้จะให้เปิดเพื่อให้คุณเล่นกันตามลำพังฝ่ายเดียวมันไม่ได้ เหมือนการพูดเอาแต่ได้ ข้อกฎหมายก็ไม่ชัดเจน รองประธานวุฒิสภาที่มีหนังสือมาตอนแรกก็บอกให้นายกฯเป็นผู้กราบบังคมทูล แต่ก็ไม่มีช่องทางไหนทำได้ จะเปิดวิสามัญก็ไม่ได้เพราะยังไม่มีรัฐสภา ไม่มีประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลและลงนามสนองพระบรมราชโองการ สรุปคุณก็รู้ว่าทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ตอนหลังก็ให้เลขาธิการวุฒิสภาส่งหนังสือมา ซึ่งเลขาธิการวุฒิสภาก็ไม่ใช่เลขาธิการสภา ถ้าจะทำเรื่องที่เกี่ยวกับธุรการของรัฐสภาก็ต้องให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำ ยิ่งบอกให้เปิดประชุมรัฐสภา นอกจากนี้นายนิคมก็ยังอยู่ แม้จะหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่เขาก็ยังเป็นรองประธานรัฐสภาอยู่แม้ในขณะที่ไม่มีรัฐสภา เขาก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน ทางเดียวคือ กกต.ต้องเร่งจัดการเลือกตั้ง เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอะไรขึ้นมาที่ส่งผลกระทบต่อคณะรัฐมนตรีก็จะยุ่งกันไปใหญ่

สำหรับเรื่อง ส.ว.ชุดใหม่ แม้จะรับรองครบ 95% ก็เปิดประชุมไม่ได้อยู่ดี เพราะจะปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิญาณตน แล้วนี่สภายังไม่เปิดคุณจะไปปฏิญาณตนกับใคร เมื่อปฏิญาณตนไม่ได้ก็เข้าทำหน้าที่ไม่ได้ ก็ไม่สามารถลงมติถอดถอนใครได้ แล้วก็จะวนกันไปอยู่ทางเดิม ขอย้ำอีกครั้งว่าทางออกมีทางเดียวคือการจัดการเลือกตั้งให้ลุล่วง หรือไม่ก็ฉีกรัฐธรรมนูญ ปฏิวัติ ทำรัฐประหารไปเลย แต่จะปฏิวัติก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

จึงมีทางเดียวจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องจัดการเลือกตั้ง และถ้ายังยื้อกันอยู่แบบนี้งบประมาณปี 2558 ใครจะเป็นคนทำ จะให้สภาประชาชนมาทำเหรอ เพราะงบประมาณอย่างช้าเดือนมิถุนายนก็ต้องเข้าสภาแล้ว แต่วันนี้ดูแล้วแค่เรื่องงบประมาณปี 2558 อย่างเดียวก็มืดมนแล้ว

 พนัส ทัศนียานนท์

ต้องแยกการพิจารณาเป็น 2 ประเด็น เปิดเพื่ออะไร หากเป็นการเปิดเพื่อถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ไม่สามารถเปิดได้ ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 273 วรรค 2 เนื่องจากไม่มีประธานสภา นำความกราบบังคมทูล ส่วนที่จะมีการเปิดเพื่อพิจารณาเพื่อการเห็นชอบนางสุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มองว่าการเปิดเพื่อพิจารณานางสุภาทำไมต้องเปิด ภายในวันที่ 24 เมษายน แสดงว่าผู้ที่ทำหน้าที่ในช่วงนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดเก่าและจะปฏิบัติหน้าทีได้เพียง 5 วันเท่านั้น เมื่อพ้นไปก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาใหม่จากสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ที่จะมีการประกาศรับรอง ในวันที่ 28 เมษายน ดังนั้นควรเปิดประชุมในช่วงที่มีการรับรองสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ครบ 95% ซึ่งการพิจารณาเรื่องนางสุภานั้น สามารถทำได้ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม

ส่วนที่มีการยกการออก พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เมื่อปี 2549 นั้น เนื่องจากครั้งนั้นมีความจำเป็นต้องพิจารณา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ เพราะ กกต.ชุดเก่าถูกลงโทษให้พ้นจากตำแหน่งหากไม่มี กกต.ชุดใหม่ก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ จึงต้องมีการเปิดประชุม โดยอย่างไรการพิจารณาถอดถอนนายนิคมนั้น แม้จะยังไม่สามารถเปิดประชุมพิจาณาเรื่องนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะตกไปหรือเป็นโมฆะ

ส่วนเงื่อนเวลาที่บอกต้องทำภายใน 20 วัน เมื่อได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช.เป็นเพียงข้อบังคบเพื่อให้ขั้นตอนการทำงานเร็วขึ้น เพราะเรื่องการพิจารณานางสุภาก็เช่นกันตามข้อบังคับให้ทำภายใน 20 วัน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ 30 วัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มีผลต่อการพิจารณา

ที่มา.มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////