--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

วินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ความน่าเอือมระอาของศาล รธน.

สัมภาษณ์โดย:ประชาไท

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นอีกครั้งที่ศาลวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ชี้ การเมืองไทยวิกฤตเพราะใช้หลักกฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งสื่อและสังคมไม่เคยตามทัน และสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำคือการ “ทำซ้ำ” เงื่อนปมทางการเมืองไปสู่การหาทางออกนอกระบอบประชาธิปไตย แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่จะไม่ซ้ำเดิมคือประชาชนจำนวนไม่น้อยนั้นตื่นตัวและ เรียนรู้เพิ่มขึ้นแล้ว และสามารถวิจารณ์การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญได้เองด้วยซ้ำ สำหรับประเด็นการพิจารณาพ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านนั้น เขาเห็นว่าศาลมีอำนาจในการวินิจฉัย แต่เมื่อพิจารณาแนวทางการไต่สวนวันนี้ เขาเห็นว่าศาลกำลังก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงนโยบาย และแสดงความผิดหวังที่นักการเมืองไทยกลัวศาลจนลนลาน ไม่กล้าปฏิเสธคำถามที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาล

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 190 ซึ่งอ้างหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

วรเจตน์: ความจริงต้องเริ่มต้นจากประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลก่อน ว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหรือไม่ในการเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคงเป็นเหมือนเดิมที่เราเคยวิพากษ์วิจารณ์ไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดี เพราะเหตุว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐสภา แล้วรัฐธรรมนูญไทยไม่เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบกระบวนการอันนี้ได้

ข้อพิจารณาอยู่ที่มาตรา 68 เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย กรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยห้ามเอาไว้อยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ห้ามแก้เรื่องรูปของรัฐจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ กับห้ามแก้ไขรูปแบบการปกครอง ก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ เรื่องอื่นไม่ได้ห้าม

เพราะฉะนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้มาตรา 190 ว่าได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเลย และเกินไปกว่าเรื่องที่รัฐธรรมนูญห้ามแก้ด้วย คล้ายๆ ว่าตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องห้ามแก้ขึ้นมาเต็มไปหมด โดยอ้างหลักนิติธรรมบ้าง อ้างหลักเรื่องการแบ่งแยกอำนาจบ้าง ซึ่งมันไม่เป็นข้อห้ามในทางรัฐธรรมนูญ

เราจะเห็นได้ว่า อันนี้ศาลรัฐธรรมนูญผิดทั้งในแง่ที่ว่า เขาไม่มีเขตอำนาจเหนือคดี แล้วก็แม้เขาจะรับเข้ามาแต่เหตุที่อ้างในการวินิจฉัยก็เป็นเหตุที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามเอาไว้

ประเด็นการวินิจฉัยการแก้มาตรา 190 ถ้าดูจากเหตุผลที่ศาลให้ไว้ เราจะเห็นได้ว่า ในแง่ของรูปแบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแบบพิธีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงอำนาจของสภาอย่างมาก คล้ายๆ กับศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมสภา คล้ายๆ กับจะบอกว่าที่ประธานสภากำหนดกรอบการแปรญัตติ หรือกำหนดการปิดอภิปรายนั้นทำไม่ได้ ทั้งที่ความจริงเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ผลของการวินิจฉัยนี้ กลายเป็นว่าต่อไป เวลาสภาประชุมอะไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปก้าวล่วงได้ว่า การประชุมของสภา ประธานสภาสั่งยุติการประชุมโดยที่ไม่ถูกต้อง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นผู้ที่ควบคุมการประชุมสภาเอง อำนาจก็จะใหญ่มากกว่าประธานสภา ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกจะเป็นแบบนี้

เรื่องของกรอบแปรญัตติก็เหมือนกันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง อันนี้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมอยู่แล้ว ผมแปลกใจที่บอกว่าขัดกับข้อบังคับการประชุม เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างว่าขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อไหน นี่ก็จะเป็นปัญหาเหมือนกับที่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่บอกว่า การแก้ไขมาตรา 190 เหมือนกับลิดรอนอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภา คำตอบก็คือ เรื่องนี้รัฐสภาแก้ของเขาเอง ศาลรัฐธรรมนูญไปยุ่งอะไร คนที่แก้คือรัฐสภา เขาเห็นว่าการแก้มาตรา 190 แบบนี้จะให้ความสะดวกมากกว่าในเชิงของการทำหนังสือสัญญา แล้วความจริงในทางหลักการ อำนาจในการทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจในทางบริหาร ไม่ใช่อำนาจทางนิติบัญญัติ เพียงแต่เรื่องสำคัญๆ รัฐธรรมนูญก็จะกำหนดว่าอาจจะต้องผ่านหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน ส่วนว่าแค่ไหนเพียงใด เป็นดุลยพินิจของสภาเองในการกำหนด

พูดง่ายๆ คือเรื่องนี้สภาพอใจจะกำหนดแบบนี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปบอกว่าเป็นการละเมิดอำนาจของสภา คำตอบก็คือรัฐสภาเป็นคนแก้เอง แล้วคุณจะไปยุ่งอะไรกับเขา เขาเห็นว่าการแก้ในลักษณะแบบนี้มันถูกต้องอยู่แล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปอ้างเรื่องการทำลายดุลยภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง สุดท้ายก็ไปสรุปว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

คำถามก็คือแล้วอะไรคือผลของคดีล่ะ ตกลงในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ทำอะไร มันก็ไม่ได้บอกว่าตกลงแล้วจะยังไงต่อ ก็เหมือนกับคดีแก้ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ อันนี้ในความเห็นผม มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือผิดตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง คือผิดตลอดสาย เป็นการซ้ำรอยเรื่องของการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ตั้งแต่ผมศึกษา และเห็นคำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลมาเยอะ ผมไม่พบว่ามีคำวินิจฉัยที่ไม่สามารถยอมรับได้เลยในทางกฎหมายได้เท่ากับเรื่องแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และเรื่องแก้มาตรา 190 เป็นอันที่ 2 ซ้ำรอยเดิม ผลก็คือตอนนี้ประเทศไทยก็ปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ในทางหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างถึงการไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกสบายใจขึ้นที่รัฐสภามีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้มันซ้ำอันเดิม

วรเจตน์: อันนี้ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ที่ใช้คำว่า ‘ตรวจสอบถ่วงดุล’ มันผิด คือเราต้องแยกระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลกับการที่องค์กรๆ หนึ่งมีอำนาจเหนือองค์กรอีกองค์หนึ่งอย่างสิ้นเชิง ผมถามว่าอะไรคือการตรวจสอบถ่วงดุลเมื่อคุณล้วงเข้าไปถึงเรื่องของการควบคุมการประชุมสภาของประธานสภา คุณบอกว่าประธานสภาขอมติให้ปิดการอภิปราย คำถามก็คือ เวลาคุณจะไปตรวจสอบถ่วงดุล ตรวจสอบถ่วงดุลแค่ไหน ตรวจสอบถ่วงดุลจนคุณเป็นคนควบคุมการประชุมรัฐสภาเลยหรือ ถ้าอย่างนั้นรัฐธรรมนูญก็ออกแบบให้คุณเป็นประธานที่ประชุมสภาไปเลยหมดเรื่องหมดราว คงไม่ต้องมีข้อบังคับการประชุมสภาหรอก

จริงๆ ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล แต่เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นไปเหนือองค์กรอื่นและเหนือรัฐธรรมนูญภายใต้เสื้อคลุมของการตรวจสอบถ่วงดุล เอาเสื้อคลุมตรวจสอบถ่วงดุลมาสวม ทำให้คนทั่วไปเห็นหรือเคลิ้มไปว่ามันคือการตรวจสอบถ่วงดุล แต่จริงๆ มันไม่ใช่แล้ว มันคือตัวเองขึ้นไปเหนือรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ผมเรียนแบบนี้

สำหรับผม ผมยืนยันมาตลอดว่า คำวินิจฉัยแบบนี้ไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรค 5  จึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เนื่องจากผลเห็นว่ากรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 197 เพราะไม่มีฐานแห่งอำนาจจากรัฐธรรมนูญ นี่เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะเขาจะมีมติได้ ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐสภาไม่มีมติแบบนี้

พูดง่ายๆ ในระบบพวกนี้ นักการเมืองกลัวศาล กลัวจนในที่สุดศาลสั่งอะไรมาก็ยอมตามหมด ทำตามหมด ไม่ต้องดูว่าตกลงมันใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด แล้วมันก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจของตัวไหม แล้วต่อไปจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันยังไง เวลาจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญไปตลอดกาล ซึ่งระบบอย่างนี้เป็นไปไม่ได้หรอก วันหนึ่งมันก็ต้องล้มไปโดยสภาพ

อันนั้นเป็นผลในทางกฎหมาย แล้วผลทางการเมืองล่ะ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาแบบนี้มันสร้างเงื่อนปมอะไร

วรเจตน์: ก็เหมือนอันเดิม ทำให้ศาลโดยอาศัยคำวินิจฉัยนี้ แล้วสภาในตอนนี้ไม่อยู่ในสภาวะที่จะตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาตัวเองขึ้นไปเหนือองค์กรอื่นในทุกองค์กร

เราต้องเข้าใจว่าในสภามีความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ความเห็นไม่มีทางตรงกัน เมื่อไม่มีทางตรงกันก็ขึ้นกับว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบให้ความเห็นที่ไม่ตรงกันแก้ไขแบบไหน บางกรณีออกแบบให้คุ้มครองเสียงข้างน้อยเอาไว้โดยการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นกลไกคุ้มครอง บางกรณีเขาเห็นว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาคุ้มครองทุกกรณีแล้วจะกลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น เขาจะเปิดโอกาสให้สภาวินิจแยไปโดยเสียงข้างมากในสภานั้นเอง แต่ละเรื่องจะมีการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น กรณีสภาตราพระราชบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เขาเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบว่า พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

แต่กรณีของการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญวางกลไกการแก้ไขยากกว่าการตรากฎหมายธรรมดาอยู่แล้ว ต้องใช้เสียงข้างมากเป็นพิเศษ เขาจึงไม่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ เขาให้แก้กันโดยกลไกเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ไม่เหมือนกรณีการตรา พ.ร.บ.ที่ใช้เสียงมากธรรมดา แล้ว พ.ร.บ.ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ อันนี้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้

เรื่องนี้คนไม่เข้าใจ มักจะสับสนว่า ทำไมเวลารัฐสภาตราพระราชบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ แต่ทำไมสภาแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญถึงตรวจสอบไม่ได้

เวลาที่ผมอธิบาย ผมบอกว่ามันไม่เหมือนกันไง อำนาจในการตราพระราชบัญญัติเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญในระดับรองลงมา เพราะ พ.ร.บ.อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญสูงกว่า พ.ร.บ. ศาลรัฐธรรมนูญเขาคุมอยู่ เวลาสภาตรา พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ เขาตรวจสอบได้โดยกลไกรัฐธรรมนูญ

แต่ว่าอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่สูงกว่า มันเป็นระนาบของการเข้าไปแก้ตัวรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามช่วงชิงหรือสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นมา ในคำวินิจฉัยครั้งที่แล้วเรื่อง ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องตลกที่เข้ามาชี้ว่าการแก้ไข ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งขัดต่อหลักประชาธิปไตย ในโลกนี้ใครก็หัวเราะ ผมให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ เขาก็หัวเราะ ต่างประเทศเองก็เขียนว่าไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจในลักษณะแบบนี้ มีที่เดียวในโลกคือที่ อะเมซซิ่งไทยแลนด์ แห่งนี้นี่เอง

ดูแนวทางศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวางหลักมาตรา 3 เพื่อเชื่อมโยงมาตรา 68

วรเจตน์: คือมาตรา 3 เขียนเรื่องหลักนิติธรรม ก็เป็นเรื่องที่ศาลหยิบเข้ามาอ้างตามใจ อย่างที่ผมเคยบอกว่าโดยการวินิจฉัยแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คุ้มครองความเป็นสูงสุดของกำหมายรัฐธรรมนูญในทัศนะของผม แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้แทนของเสียงข้างน้อยไป คือเป็นฝ่ายในทางการเมืองไป ไม่ใช่เป็นคนกลางในการตัดสินคดีในทางกฎหมาย อันนี้ดูจากเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เองนะ

ผมถึงบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีทัศนะในทางการเมือง ทัศนะส่วนตัวที่มีต่อฝ่ายค้าน ต่อฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภาอย่างไรก็ได้ มันเป็นสิทธิในทางการเมืองของคุณ ไม่เป็นปัญหา คุณแสดงออกโดยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อคุณเป็นตุลาการ บทบาท ข้อจำกัดอำนาจมีอยู่แค่ไหน ต้องตระหนัก ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา

คำวินิจฉัยแบบนี้ จริงๆ ผมอาจจะไม่ต้องให้สัมภาษณ์เลย เพราะผมคิดว่าวันนี้คนทั่วๆ ไปเขาเห็น เขาสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ได้เองแล้ว การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านคดีเรื่อง ส.ว.มาจากการเลือกตั้งมันมาถึงจุดที่ว่าไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคเข้ามาอธิบายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คือคนทั่วๆ ไปที่มีจิตใจเป็นธรรมที่พอจะเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด เขาสามารถบอกได้ว่าอันนี้มันใช่หรือไม่ใช่ มันมาถึงจุดที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถเห็นได้แล้ว

ตอนนี้สังเกตดูประเด็นที่ตอบไม่ได้ อย่างเช่น มาตรา 68 ที่เขียนว่าต้องผ่านอัยการก็ไม่มีการพูดถึงแล้ว ลืมไปโดยปริยาย มาตรา 68 บอกไว้ว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่พูดถึงแล้ว เพราะตอบไม่ได้

มาตรา 68 ออกแบบมาเพื่อกรณีที่บุคคลหรือคณะบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น กรณีการชุมนุมของ กปปส.นี่แหลเป็นเรื่องของมาตรา 68 เป็นเรื่องใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แล้วมีปัญหาว่าจะไปล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ การเสนอสภาประชาชนอะไรต่างๆ จะทำให้กลไกรัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้หรือเปล่า อันนี้แหละที่ตรงกับมาตรา 68 ที่จะเอามาใช้ ของที่มันตรงๆ บอกว่าไม่ใช่ แต่ของที่มันไม่ใช่เลย เขาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับบอกว่าเป็นสิทธิหน้าที่ หรือไม่พูดถึงเลย

ตอนนี้มีกระแสเรื่องการปฏิรูป ศาลรัฐธรรมนูญก็สร้างเงื่อนปมทางการเมืองมาหลายครั้ง อาจารย์มองว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิรูปอะไร

วรเจตน์: ไม่ต้องปฏิรูปอะไร ทำตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ว่ายุบไป คือตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องถูกยุบอย่างเดียว ไม่มีทางอื่น ยุบแล้วตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเป็นองค์กรชั่วคราวเพื่อทำภารกิจของตัวศาลรัฐธรรมนูญ ที่นิติราษฎร์เคยเสนอเป็นคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

ผมอยากจะอธิบายบางอย่างเพิ่มเติมคือ มีสื่อมวลชนฉบับหนึ่งได้โค้ทคำพูดของผม ตอนที่ผมวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่บอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยจะไม่ผูกพันรัฐสภาตามาตรา 216 วรรค 5 กับอีกทีหนึ่ง ผมพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญยังมีผลบังคับใช้อยู่ และเราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไปจนกว่าจะมีการแก้

สื่อมวลชนฉบับหนึ่ง ได้เอาคำพูดของผม 2 ครั้งไปเทียบกัน แล้วพยายามจูงให้คนเห็นว่าผมพูด 2 ครั้งแตกต่างกัน จริงๆ ไม่ได้แตกต่างกันเลย ผมพูดจากหลักการเดียวกัน แต่คนซึ่งอาจจะมีอคติ หรือมีสติปัญญาพร่องอยู่ไม่บริบูรณ์ อาจจะรู้สึกว่ามันขัดกัน
อธิบายง่ายๆ ว่า เวลาที่เราบอกคำว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เรายกรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุด เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำวินิจฉัยต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าคำวินิจฉัยขัดหรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นของรัฐ อย่างเช่น รัฐสภามีสิทธิที่จะบอกว่าคำวินิจฉัยนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญผูกพันที่จะวินิจฉัยไปตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น ที่ผมบอกว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดกับรัฐธรรมนูญเอง คำวินิจฉัยต้องไม่ผูกพันองค์กรอื่น อันนี้คือการเคารพรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ทำนองเดียวกับที่ผมบอกต่อไปว่า รัฐธรรมนูญตราบที่ยังไม่แก้ คุณก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น เว้นแต่ว่าคุณจะแก้ไขมัน พูด 2 ครั้งไม่ได้ขัดกันเลย พูดในหลักการอันเดียวกันคือ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

แต่บางคนเข้าใจว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เท่ากับรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐธรรมนูญ มันเป็นเพียงการกระทำขององค์กรของรัฐที่เกิดขึ้นจากตัวรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นมันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

คำถามก็คือว่า เวลาที่องค์กรอื่นของรัฐกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนบอกว่าขัด คำถามของผมง่ายๆ เลยก็คือว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเองวินิจฉัยเรื่องขัดกับรัฐธรรมนูญ จะทำยังไง นักกฎหมายบางคนบอกว่า ไม่ต้องสนว่าจะเป็นยังไง คำวินิจฉัยมาก็เป็นไปตามคำวินิจฉัย แล้วยกตัวอย่างว่า ถ้าคนไม่เคารพคำวินิจฉัยแล้วบ้านเมืองจะอยู่ยังไง ตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล จะเป็นอะไรยังไง ไปยกตัวอย่างพวกนั้นไป

ผมถามง่ายๆ ถ้าคำวินิจฉัยของศาลมันผิดชัดๆ อย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประหารชีวิตคนผมถามว่าจะมีใครหน้าไหนในประเทศนี้อ้างว่าคำวินิจฉัยนี้ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร แล้วราชทัณฑ์จะต้องบังคับและต้องปฏิบัติตาม มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ แค่นี้ก็พิสูจน์แล้วว่าโดยตรรกะ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจละเมิดรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเขาละเมิดรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นที่เป็นองค์กรในทางรัฐธรรมนูญเหมือนกัน เขาย่อมมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงมิได้ผูกขาดของศาลรัฐธรรมนูญเอง

ถ้าองค์กรอื่นกระทำขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการลงโทษได้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีบทลงโทษ

วรเจตน์: ใช่ จะมีปัญหาว่าใครเป็นคนชี้ ซึ่งผมบอกว่าคนชี้ก็คือตัวองค์กรในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน รัฐสภาก็ชี้ได้นี่ ก็มีมติได้ ทีนี้พอมีมติก็จะมีคนเอาไปพูดกันว่าสภาไม่เคารพศาล ผมถามว่าแล้วศาลเคารพรัฐธรรมไหมล่ะในความเห็นของสภา มันเป็นแบบนี้

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญคือ การควบคุม ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการตรากฎหมาย การตราพระราชบัญญัติ เป็นภารกิจหลัก ซึ่งเวลาเขาคุม คุมโดยเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ เขาไม่มีอำนาจคุมในเรื่องความเหมาะสม

ผมยกตัวอย่าง ในวันนี้ (8 ม.ค.2557) มีการไต่สวนเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ผมเห็นว่าคำถามบางคำถามเป็นคำถามในแง่ความเหมาะสมทางนโยบายนะ ถามเรื่องข้อดีข้อเสีย มันเป็นเรื่องความเหมาะสมทางนโยบาย ไม่ใช่เรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเหมาะสมทางนโยบายศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปคุม เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะวินิจฉัยเอง

พูดง่ายๆ ในระบบแบบนี้ เราไม่ได้ถือศาลรัฐธรรมนูญเป็นพระเจ้าที่จะวินิจฉัยทุกอย่าง ผูกพันทุกคนได้ในทุกเรื่อง อำนาจของเขาจำกัดอยู่ที่ว่าเขาต้องผูกพันกับกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ ถ้าเรายอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปก้าวล่วงเรื่องที่เป็นนโยบายเมื่อไหร่ เสร็จครับ มันก็ทำนโยบายกันไม่ได้ พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนทำนโยบายไม่ได้ เพียงเพราะศาลอาจจะมองว่านโยบายอันนี้ไม่ดี

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่คนคุมศีลธรรมที่จะบอกว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี มาตรที่ศาลจะต้องใช้คือรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าคุณไปคุมเรื่องเกณฑ์ความเหมาะสม มันเกินไปกว่ากรอบความชอบธรรมที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ คุณจะขาดความชอบธรรมในทางรัฐธรรมนูญเอง

แล้วเรื่องนี้ผมคิดว่า ถึงจุดหนึ่งคนทั่วๆ ไปก็จะฉุกคิดว่า เราเลือกพรรคการเมืองนี้มาเพื่อจะให้ทำนโยบาย เช่น ทำรถไฟความเร็วสูง เป็นเสียงข้างมากเลือกมา แล้วจะมีคนบอกว่านโยบายนี้ไม่เหมาะสม ถามว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม ใครตัดสิน ประชาชนต้องตัดสินผ่านกลไกในกระบวนการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่องค์กรที่เป็นศาลที่จะมาชี้เรื่องความเหมาะสมในเชิงการใช้อำนาจ

ที่ผมรู้สึกเบื่อหน่ายก็คือว่า ผมรู้สึกว่าบ้านเราโดยเฉพาะนักการเมือง ผมว่ากลัวศาลมากเกินไป คำถามบางคำถามที่ศาลถามมา ถ้าไม่เป็นประเด็น เป็นเรื่องความเหมาะสม ศาลต้องใช้เกียรติรัฐมนตรีหรือฝ่ายการเมือง แล้วรัฐมนตรีก็ต้องตอบว่านี่เป็นประเด็นเรื่องความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของศาล เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะเป็นคนตัดสินใจเอง ถ้าเป็นประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเขาอาจจะต้องตอบ ถ้าเป็นเรื่องความเหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องตอบ

ปัญหาอันหนึ่งของบ้านเรา คือคำวินิจฉัยของศาลจำนวนหนึ่ง เป็นการคล้ายกับว่าใช้โอกาสในแง่การทำคำวินิจฉัยในการตำหนิประณามบุคคล บางทีผมยังแปลกใจเลยว่าบางทีฟังคำวินิจฉัยเหมือนฟังคำฟ้อง เป็นคำฟ้องมากกว่าเป็นคำวินิจฉัย

ประเด็นหนึ่งที่ติดมากๆ และผมคิดว่าคำถามนี้ทุกคนควรถามให้ดังสนั่นหวั่นไปเลยว่า ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วอ้างว่าสภาทำผิดข้อบังคับการประชุม ผมอยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยถามหน่อย ข้อไหน อ้างข้อหน่อย เพราะว่าผมไปดูแล้วไม่มี และผมเห็นว่าสภาทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม

นิติราษฎร์เคยแถลงเรื่องนี้ไป อาจจะมีประเด็นเยอะ แล้วมีคนไปพูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญปลอม พูดถึงเรื่องไม่ให้เวลาในการแปรญัตติ พูดถึงเรื่องเสียบบัตรแทนกัน แล้วก็ใช้ประเด็นนี้เป็นวาทกรรมว่ารัฐสภาทำผิด แล้วผมแปลกใจมากๆ เลยที่ฝ่ายนักกฎหมายของรัฐบาลทำไมไม่พูดประเด็นนี้ อันนี้มันมีเหตุผลและน้ำหนักที่จะต้องพูด ร่างรัฐธรรมนูญปลอมก็ไม่ใช่ ไปอ่านดูดีๆ ไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะรัฐธรรมนูญที่ทุกคนได้รับตอนที่รับหลักการวาระ 1 เป็นฉบับเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล

เรื่องที่บอกสภาทำผิดข้อบังคับการประชุม เรื่องกำหนดเวลาแปรญัตติน้อยเกินไปนั้น ไม่จริง สภาทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม แถลงการณ์นิติราษฎร์ระบุเลขข้อด้วยว่าเป็นข้อไหน ที่ไม่ระบุนั้นเป็นศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ไม่บอกว่าที่ผิดข้อบังคับการประชุมคือข้อไหน ผมยังรออยู่ทุกวันนี้ว่าช่วยเอามาให้ดูหน่อยว่าเขาผิดข้อไหน ไม่มี

เรื่องเสียบบัตรแทนกันก็เหมือนกัน การพิสูจน์ในทางหลักฐานก็ไม่ชัด ต่อให้ตรวจสอบได้ชัด ก็ไม่เป็นจำนวนเสียงพอที่จะล้มตัวรัฐธรรมนูญได้ มันเหมือนกับนักศึกษาเข้าสอบ ห้องหนึ่งมีคนเข้าสอบ 300 คน คนหนึ่งทุจริตการสอบ ผู้คุมสอบปรับตกทั้ง 300 คน คนอื่นไม่เกี่ยวด้วย ทำนองเดียวกันเหมือน ส.ส.ลงคะแนน ส.ส.ส่วนใหญ่ลงคะแนนไปตามเจตนาที่บริสุทธิ์ถูกต้องของเขา มีจำนวนหนึ่งฝากคนอื่นลงคะแนนแทนซึ่งผิดข้อบังคับการประชุม ก็ต้องตัดเสียงส่วนนั้นออกไป ไม่ได้เอาเสียงตรงนั้นมาทำลายคนอื่น มันก็เปรียบกับห้องสอบ คุณก็สอบของคุณไป อีกคนทุจริตการสอบ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับผม ทำให้ข้อสอบที่ผมเขียนไปมันเจ๊งไปด้วย มันไม่ถูกหรอก โดยระบบ มันไม่ถูกต้อง

อย่างที่ผมบอก แล้วนี่เป็นปัญหาของสังคมไทย ปัญหาของสื่อด้วย คือการเลือกข้าง หมายถึงพอใจแบบนี้แล้วไปพูดต่อกัน เหมือนคดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ ถามว่ามีใครสักกี่คนอ่านคำวินิจฉัยละเอียด มีใครสักกี่คนตามไปตรวจสอบว่าที่ตัดสินมาถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า รวมทั้งคนที่มาวิจารณ์ด่าๆ กันด้วย ผมท้าได้เลย พูดตามๆ กันทั้งนั้น ไปถามจริงๆ ไม่เคยอ่าน ก็เชื่อตามกัน แล้วศาลใช้เรื่องคอร์รัปชั่นทุจริตเชิงนโยบายมันคืออะไร แล้วมันเป็นองค์ประกอบความผิดในทางกฎหมายหรือเปล่าที่จะเอาใช้ในการวินิจฉัยตัดสิน นี่คือปัญหาทั้งหมดของการใช้กฎหมายในบ้านเราแล้วแก้ยากด้วย

อาจารย์กำลังพูดถึงปัญหาที่ค่อนข้างยาวนานหลายปีแล้ว ซึ่งใช้เทคนิคในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยที่สังคมไทยไม่สามารถตามได้ทัน หรือลงไปในรายละเอียดได้

วรเจตน์: ผมติดตามเรื่องนี้มาหลายปี เห็นมาโดยตลอด ลองย้อนบางประเด็นนะ บางเรื่องสังคมไทยเราก็ลืมไปเฉยเลย เรื่องล่าสุดเรื่อง กกต. คุณวาสนา เพิ่มลาภ

หลายปีก่อนตอนที่ประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง แล้วในบางเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครคนเดียว กกต.ต้องเปิดรับสมัครใหม่แล้วมีผู้สมัครคนอื่นมาสมัครเพิ่ม ต่อมาก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีว่าทำผิดกฎหมาย

ในตอนนั้นในทางวงการกฎหมายมันชัดเจนว่า ผู้ที่ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นตอนนั้นรับฟ้อง แล้วไม่ให้ประกัน กกต. ผมจำได้เลยเรื่องนี้ผมไปออกทีวีรายการถึงลูกถึงคนของคุณสรยุทธหลายปีก่อน ไปนั่งเถียงกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ปัจจุบันท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาของงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมบอกว่าการไม่ให้ประกันนั้นไม่ถูก เพราะการได้รับการประกันเป็นสิทธิ แต่ตอนนั้นสังคมตามสื่อก็เรียก กกต.ชุดสามหนาทำไม่ถูก เวียนเทียนสมัครนู่นนี่ สุดท้ายก็ไม่ให้ประกัน จับ กกต.ขังไว้ ต่อมา กกต.ก็ลาออก แล้วเปลี่ยน กกต. ผ่านไปหลายปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แล้วคดีไปถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาก็พิพากษากลับบอกว่าที่ดำเนินการวันนั้นคนฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ก็เหมือนกับที่ผมพูดในเวลานั้นว่าไม่มีอำนาจฟ้อง

ถึงวันนี้ โอเค กกต.ชุดคุณวาสนาพ้นความรับผิดไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นใครรับผิดชอบ เขาถูกไม่ให้ประกันตัว เขาเสียตำแหน่ง กกต.มีใครรับผิดชอบให้เขา สังคมไทยเคยคิดย้อนกลับไปตรงนี้ไหม และผลมันสะเทือนมาขนาดไหน สุดท้ายพอเปลี่ยนตัว กกต.เสร็จ ไทยรักไทยยังยืนยันให้มีการเลือกตั้งต่อ กกต.ชุดใหม่มาคุณกลัวอีกว่าไทยรักไทยจะชนะเลือกตั้ง ก็รัฐประหารวันที่ 19 กันยาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แล้วเรากำลังจะทำซ้ำประวัติศาสตร์แบบนี้อีกรอบหนึ่งในเวลานี้

เราไม่เคยสนใจอะไรเลย แล้วสังคมนี้ไม่เคยมองเลยว่าใครยืนอยู่ตรงจุดไหน หลักการคืออะไร เป็นสังคมอื่นเขาสว่างจ้ากันจนตาจะมืดบอดอีกรอบหนึ่งแล้ว คือสว่างแล้วสว่างอีกจนจะบอดอีกทีหนึ่งแล้ว สังคมเราก็ยังเหมือนเดิม สื่อมวลชนก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีจรรยาบรรณเหมือนเดิมที่เคยเป็น เขียนข่าวก็เลอะเทอะมั่วซั่วเหมือนเดิม แล้วคนก็เชื่อกันไปเหมือนเดิม

แต่ว่ามันอาจจะไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะถ้าดูจากพัฒนาการทางสังคม คนจำนวนหนึ่งเขาตื่นขึ้นแล้ว อันนี้ดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงยากกว่าเดิม ถามว่าเขามีเครื่องมืออย่างอื่นไหม ก็ไม่มี ต้องใช้เครื่องมือแบบเดิมๆ ในสภาวะปัจจัยของประชาชนที่เปลี่ยนไป สื่ออาจจะเหมือนเดิม ผมยังไม่เห็นสำนึก ยังทำเหมือนเดิม สื่อที่โจมตีผมก็โจมตีเหมือนเดิม หนักกว่าเดิมอีก เขียนผิดๆ ถูกๆ ใครเป็นสมาชิกนิติราษฎร์บ้างยังผิดๆ ถูกๆ เลย บอกนิติราษฎร์แปลงกายเป็นสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย แปลงกายที่ไหน นิติราษฎร์ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่มีการแปลงการก็บอกว่าแปลงร่าง เละเทอะเรื่อยเปื่อย กลับดำเป็นขาวกลับขาวเป็นดำ กลับสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก และสิ่งที่ถูกให้เป็นผิด

คนจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะอินไปแล้ว ไม่ใช้สติปัญญาคิดตรึกตรอง ไม่ดูอดีต ผมถึงพูดว่าคุณย้อนกลับไปดูข้อกฎหมายสิ ผมสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มีนักศึกษาคนหนึ่งผมไม่แน่ใจโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊ก บอกว่าที่ผมสอนว่าในหลักการเขาเถียงไม่ได้ มันถูกต้อง แต่เขาขอทิ้งหลักการนี้ไปก่อน เขาขอไปกู้ชาติ ที่ผมพูดมาเรื่องนายกรัฐมนตรีรักษาการลาออกไม่ได้ ถูกต้องหมดเลย เขาบอกว่านี่เป็นหลักการในทางกฎหมายมหาชน แต่เขาบอกขอทิ้งหลักการตรงนี้เถอะ เขาจะไปกู้ชาติ

ในความรู้สึกผม นักศึกษาคนนี้ยังดีที่รู้ว่าอันนี้ถูก แต่ยังไม่บิดหลัก ที่แย่คือพวกนักกฎหมายที่บิดหลักการหมด เวลาผมเห็นนักกฎหมายบางคนที่บอกรักษาการนายกรัฐมนตรีลาออกได้ ผมพูดจริงๆ นะ ผมอยากจะอาเจียนเลย เพราะคนที่พูดครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนบอกว่า ลาออกไม่ได้ สื่อไม่เคยไปดุว่าคนพวกนี้เคยมีความเห็นอะไรยังไง พอมาวันนี้ข้าพเจ้าอยากได้รัฐบาลพระราชทานคนกลางเต็มแก่เลย บอกว่าลาออกได้

อาจารย์บอกว่ากำลังเกิดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

วรเจตน์: ใช่ หมายถึงว่าการทำซ้ำคงไม่เหมือนเดิมทั้งหมด แต่ลักษณะการซ้ำของเรื่อง ตอนนี้เรามาถึงจุดเหมือนกับเลือกตั้งโมฆะ แล้วจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ แล้วมันไปไม่ถึงการเลือกตั้งอันนั้น มันมีรัฐประหารก่อน

ตอนนี้ก็จะอยู่ในสภาวะก่อนถึงวันเลือกตั้ง แล้วคำถามเป็นเหมือนเดิมเลย จะมีรัฐประหารก่อนไหม รัฐประหาร 19 กันยาคืออะไร บอกว่าคาราวานคนจนกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะปะทะกันในวันที่ 20 บอกว่ามีรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าไม้ขนคนเข้ามาเตรียมจะตีกัน

พลเอกสนธิ (บุญยรัตกลิน) เอาเหตุนี้มาอ้าง แล้วก็ยึดอำนาจเลย คนก็ดีใจบอกว่าเราหลีกเลี่ยงการปะทะ การนองเลือดได้ ผมขำมากๆ เลย คุณจินตนาการเอาเองทั้งนั้นเลย ผมพูดง่ายๆ นะถ้าเกิดจะตีกัน ทำไมคุณไม่มาช่วยรัฐบาลรักษาความสงบล่ะ เวลาคนตีกันคุณต้องยึดอำนาจเหรอ คนตีกันเป็นเหตุให้ต้องยึดอำนาจเหรอ ผมตลก งงมากๆ เลย นี่จะเอาอีกแล้ว เดี๋ยวจะออกมาตีกัน ตีกันคุณก็เข้ามารักษาการณ์ จัดการ ทหารก็มาเป็นผู้ช่วยตำรวจในการจัดการได้ คำถามคือคุณจะจัดการได้ไหม

แต่ว่าอะไรคือ คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้ คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้ก็คือคำตอบของพลเอกสนธิไง ที่ถามว่าแล้วใครสั่งให้ท่านทำรัฐประหาร พลเอกสนธิตอบให้ตายก็ตอบไม่ได้ ตราบเท่าที่เรามีคีย์เวิร์ดแบบนี้อยู่ในสังคมไทย ‘ให้ตายก็พูดไม่ได้’ แล้วคุณจะแก้ปัญหากันยังไง คุณจะปฏิรูปอะไรผมถามหน่อย มันไม่มีหวังหรอกตราบเท่าที่สิ่งแบบนี้ คำพูดแบบนี้หมดไป ที่บอกว่าตายก็พูดไม่ได้ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป นั่นแหละเราถึงจะแก้ปัญหาของประเทศนี้ได้

ที่มา.ประชาไท
-------------------------------

วิจารณ์เดือด หลัง ศาล รธน.แนะทำถนนลูกรังให้หมด ก่อนทำรถไฟความเร็วสูง.

ภายหลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยาน วันที่ 8 มกราคม ในคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือไม่

โดยระหว่างการไต่สวน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.กู้เงินฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งให้ความเห็นส่วนตัวแสดงความเป็นห่วงถึงการกู้เงิน อาจเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับลูกหลาน และยังเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรทำให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน

จากการข้อซักถามและการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระหว่างการไต่สวน ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะในเพจที่ชื่อว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" (http://www.facebook.com/constitutionalcourt.thai) เป็นเพจที่ไว้สำหรับเผยแพร่คำวินิจฉัย รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏว่า มีประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนถึงหน้าเพจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกลิ้งค์เว็บไซต์ข่าวที่นำรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ระบุว่า ลาวลงนามข้อตกลง 4 พันล้านดอลล์ สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมประเทศเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางรถไฟเชื่อมภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยด้วย ไปแปะไว้ที่หน้าเพจดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

ที่มา.มติชนออนไลน์
------------------------------------

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ทุบหม้อข้าว !!?

โดย.ฐากูร บุนปาน

ก่อนจะพูดถึงเหตุการณ์เมืองไทย ขออนุญาตพาไปประเทศไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเราอย่างบังกลาเทศ ที่มีคนบอกว่าสถานการณ์คลับคล้ายกัน

ที่นั่นจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสุดสัปดาห์แรกของปี และมีพรรคการเมืองมากกว่า 20 พรรค รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด ประท้วงด้วยการไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง

ไม่ได้ประท้วงไม่ลงรับสมัครอย่างเดียว แต่ระดมประชาชนออกมาต่อต้านการเลือกตั้ง จนกระทั่งเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนการเลือกตั้งด้วย

ตามรายงานบอกว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อย

ทำให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิทั่วประเทศเพียงประมาณร้อยละ 26

และตามฟอร์ม ผู้ต่อต้านรัฐบาล ผู้ไม่ต้องการการเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านในเมืองไทย ออกมา "เตือนกึ่งขู่" รัฐบาล ผู้จัดการเลือกตั้ง รวมถึงผู้ต้องการเลือกตั้งทันที

ว่าให้ดูตัวอย่างเอาไว้

ขืนเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง อาจจะเดินซ้ำรอยบังกลาเทศได้

ฟังแล้วก็น่าคิด-ถ้า

1.ไม่สะกิดใจว่าสาระสำคัญของเหตุการณ์ทั้งสองประเทศนั้นแตกต่างกันหลายประการ

ตั้งแต่รากเหง้าความเป็นมาของปัญหา จำนวนพรรคการเมืองที่คัดค้านการเลือกตั้ง และปริมาณของผู้ที่คาดว่าจะออกมาใช้สิทธิ

2.เวลาตั้งคำถามคนอื่น แล้วกลับมาตั้งคำถามตัวเองด้วยว่า ถ้าไม่อยากให้เผชิญหน้ากันถึงเลือดตกยางออก ทำไมไม่เลือกการเลือกตั้งซึ่งเป็นวิธีตัดสินข้อขัดแย้งที่ไม่ต้องเอาชีวิตคนอื่นมาเสี่ยง

แต่เลือกตั้งยังเป็นฉากถัดไป

เพราะวันนี้คนไทย-โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ กำลังใจจดใจจ่อกับคำขู่ เอ๊ยประกาศ "ปิดกรุงเทพฯ" ของม็อบกำนันเทือกอยู่

ถึงแม้จะพยายาม "ลดดีกรี" ลงหลังจากประกาศกร้าวไปหนแรกแล้ว "เรียกแขก" ให้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านได้ทั่วกรุงเทพฯ

แต่ก็ยังส่อนัย "กร้าว" อยู่ดี

เพราะที่ประกาศว่าจะยุบเวทีปราศรัยราชดำเนินแล้วไปปักหลักอยู่ตามสี่แยกใหญ่ๆ แทน จนกว่าจะชนะนั้น

ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

แค่ปิดราชดำเนิน การจราจรการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน-ลูกเล็กเด็กแดงทั่วไป การค้าการขายของคนตัวเล็กตัวน้อยย่านนั้นก็ยับเยินอยู่แล้ว

กระจายไปแยกใหญ่ๆ ก็หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

ไอ้ที่ประกาศว่าจะทุบหม้อข้าวนั้น น่าสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วทุบหม้อข้าวใคร

ถ้าทุบหม้อข้าวตัวเอง แล้วจะเอาเงิน เอาสรรพกำลังจากไหนมาจัดเวทีขวางทางสัญจร ทางทำมาหากิน ทางเล่าเรียนของคนทั่วไป

แต่ถ้าทุบหม้อข้าวชาวบ้าน ไม่กลัวชาวบ้านกับชาวบ้านลุกขึ้นมาตีกัน ไม่ว่าจะด้วยความเหลืออด อุบัติเหตุ หรือความจงใจบ้างหรือ

ถ้าประเมินแล้วยังทำ

ต้องถามว่าท่านอยากได้อะไร ถึงขนาดเอาชีวิตคนอื่นไปเป็นเดิมพัน

ถ้ายิ่งใหญ่ขนาดนั้น ไม่สละชีวิตตัวเองให้ดูก่อนหรือ?

ที่มา:มติชนรายวัน
-----------------------------------

สิทธิที่จะมีชีวิตในเมือง ท่ามกลางสงครามการผลิตพื้นที่ !

โดย.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในห้วงเวลาของการนับถอยหลังไปสู่การ "ปิดกรุงเทพฯ" ในวันที่ 13 มกราคม ที่จะมาถึงนี้ ผมก็อยากจะมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์เรื่องราวของการปิดกรุงเทพฯในหลายมิติสักหน่อยที่แตกต่างไปจาก "คำอธิบายที่เป็นทางการ" ของฝ่ายผู้รณรงค์การปิดกรุงเทพฯเอง

ในมิติแรก การปิดกรุงเทพฯนั้นก็เป็นเรื่องของ "สงครามของความภักดี" ว่าตกลงจะภักดีกับ "รัฐบาล" หรือ ระบอบทักษิณ ในด้านหนึ่ง หรือจะภักดีกับ "ระบอบสุเทพ" หรือคำอื่นๆ เช่น มวลมหาประชาชน และ การปฏิวัตินกหวีด

การรณรงค์ในเรื่องนี้ในทางหนึ่งอ้างว่าเป็นเรื่องที่กระทำได้ หากเป็นเรื่องของการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และจะต้องเข้าสู่การตีความจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังมีการอ้างว่าได้รับการรับรองคุณภาพของความเป็นสันติวิธีจากบรรดานักสันติวิธีบางท่าน ไม่ว่าที่ผ่านมาจะตายกันไปกี่ศพ บาดเจ็บไปแล้วกี่ราย หรือจะมีความรุนแรงที่กระทบจิตใจไปแล้วเท่าไหร่ก็ตาม

ที่สำคัญก็คือเมื่อสังคมไทยอยู่ในตรรกะที่ว่าผู้ชนะคือผู้กำหนดเกมส์ การกระทำใดๆ ที่จะนำไปสู่ชัยชนะก็จะทำให้มีแรงผลักดันในส่วนลึกว่าจงมุ่งมั่นที่จะกระทำให้สำเร็จเถิด (วาทกรรมแบบทุบหม้อข้าว หรือ สู้ไม่ถอย ก็น่าจะมาจากเรื่องแบบนี้นี่แหละครับ)

คำถามเรื่องของสงครามความภักดีนี้เป็นเรื่องที่ "ยิ่งใหญ่" จริงๆ ตามการกล่าวอ้างหรือไม่? หรือว่าคำถามนี้ถูกทำให้ใหญ่ขึ้นทั้งที่ฐานคิดในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อาจไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น?

กล่าวคือเรื่องการปิดกรุงเทพฯนั้นเป็นเรื่องของความยิ่งใหญ่ของการปิดกั้นหรือเชิญชวนด้วยเสียงนกหวีดและ(เสาธง) ให้เลิกให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งที่เป็นอยู่คือสถานการณ์ของการเลือกตั้งที่รัฐบาลเป็นเพียงผู้รักษาการณ์? ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากอยู่ว่าการเชิญชวนให้เลิกภักดีต่อรัฐบาล และหันมาภักดีกับการปฏิวัตินกหวีดนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะในขณะนี้สิ่งที่เผชิญหน้ากับระบอบการปฏิวัตินกหวีดหรือระบอบสุเทพนั้นคือการเลือกตั้งที่อยู่ในมือขององค์กรอิสระและระบอบรัฐธรรมนูญ?(หรือนี่คือเหตุผลจริงของการพยายามจูงใจให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญตัดสินไปในแนวทางที่พวกเขาต้องการไม่ว่าการตีความและตัดสินนั้นจะละเมิดเขตอำนาจขององค์กรตัวเองมากขึ้นทุกวันๆ?)

พูดง่ายๆก็คือเรากำลังเผชิญหน้ากันระหว่าง "มวลมหาประชาชน" ที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางที่ตนต้องการที่ถูกต้องหนึ่งเดียว กับ "ประชาชน" ที่เข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อกำหนดชีวิตของพวกเขาท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดที่สามารถสะท้อนออกมาในระดับหนึ่งจากสัดส่วนและกระบวนการเข้าสู่อำนาจตามรัฐธรรมนูญ?

จริงหรือที่การปิดกรุงเทพฯนั้นจะสามารถส่งสารว่าจะเกิดปรากฏการณ์"รัฐล้มเหลว" ในความหมายของ "รัฐบาลล้มเหลว" ทั้งที่สิ่งที่อาจจะเปิดขึ้นก็คือกระบวนการ "รัฐธรรมนูญและระบอบรัฐธรรมนูญล้มเหลว" หรือเปล่า? และถ้าใช่ก็หมายถึง "ระบอบองค์กรอิสระล้มเหลว" มิใช่หรือ?

ประการต่อมา การปิดกรุงเทพฯแล้วถามว่าประชาจะภักดีต่อระบอบสุเทพ หรือรัฐบาล นั้นอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก หากนึกถึงพื้นที่เล็กๆ สักแห่งในระดับตำบล ทั้งในแง่ตำบลชนบท หรือ ตำบลในเมือง ที่มีผู้มีอิทธิพลส่งลูกสมุนลงไปถามหาค่าคุ้มครองจากประชาชนและผู้ประกอบการที่ใช้ชีวิตตามปกติ ที่ฝ่ายผู้มีอิทธิพลมองว่าเป็นการภักดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ภักดีต่อฝ่ายของตน ดังนั้น การแสดงออกถึงความภักดีที่มีต่อฝ่ายของตนนั้นย่อมจะต้องถูกกระทำขึ้นง่ายๆ เช่นไปทำให้ชีวิตปกตินั้นเกิดขึ้นไม่ได้

ในมิติที่สอง การยึดกรุงเทพฯนั้นถูกนำเสนอในเชิงพื้นที่อย่างน่าสนใจ ว่าพื้นที่ที่ต้องการปิด (แต่ปิดแบบไม่ปิดระบบขนส่งมวลชน และเปิดไว้หนึ่งเลนเพื่อการขนส่งและรองรับเหตุฉุกเฉิน นั้นเป็นพื้นที่ที่ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในกรุงเทพฯในปัจจุบัน และเป็นการทำให้พื้นที่เศรษฐกิจเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ซ้อนทับกับพื้นที่ทางการเมือง)

เรื่องนี้เป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากในอดีตนั้นมุ่งเน้นที่ชุมนุมหน้าหน่วยงานหรือในพื้นที่อย่างถนนราชดำเนินเป็นหลักมาสู่การตั้งประจันหน้าทางยุทธศาสตร์ใกล้สถานที่ราชการอย่างเป็นระบบที่ยืดเยื้อยาวนาน เช่นแยกมัฆวานฯ และต่อมามุ่งสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจ

ในทางหนึ่งอาจมีการสร้างแรงบันดาลใจจากการยึดครองถนนเศรษฐกิจอย่างเช่นพื้นที่ถนนวอลล์ในนิวยอร์กเป็นต้นเพื่อเป็นการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ต่อระบอบทุนนิยมโลกที่เลวร้าย

นำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่าในกรณีของการปิดกรุงเทพฯ 20 จุด นั่นคือ แยกอุรุพงศ์ แยกเจริญผล หัวลำโพง ถนนบางรัก ถนนสีลม สามย่าน แยกพญาไท ราชเทวี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สยามสแควร์ ห้าแยกลาดพร้าว ดินแดง ประตูน้ำ ราชประสงค์ สวนลุม คลองเตย สี่แยกอโศก ราชดำเนิน แยกเพชรบุรี และเยาวราช นั้นการปิดพื้นที่เหล่านี้ผู้ชุมนุมต้องการ "แสดงสัญลักษณ์" อะไรในทางการยึดครองพื้นที่?

ยี่สิบจุดนี้คือพื้นที่ของ "ทุนนิยมสามานย์" ที่ควรจะต้องถูกต่อต้านหรือปฏิรูปด้วยหรือไม่? หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการ "ระเบิดตัวเอง" หรือทำร้ายตัวเองของบรรดาผู้ทรงมูลค่าทั้งหลาย ต่อความเลวร้ายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวันนี้

คำถามที่น่าถามต่อก็คือ หากเราสนใจว่าพื้นที่ 20 จุดนี้คือจุดที่มูลค่าสูงสุดของกรุงเทพฯ และจะทำให้กรุงเทพฯนั้นเป็นอัมพาต และเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง เราก็คงจะต้องเจาะลึกกันต่อไปล่ะครับว่าพื้นที่ 20 จุดนี้มีมูลค่ามาในวันนี้ได้อย่างไร? ใครเป็นเจ้าของ? ใครร่วมผลิตมูลค่าเหล่านั้น? หรือว่าความเลวร้ายทางการเมืองที่สมควรจะถูกปฏิรูปในวันนี้มันเพาะสร้างพื้นที่แห่งความรุ่งเรืองทั้ง 20 จุดนี้ขึ้นมาได้อย่างไร?

ในแง่นี้ หนึ่งในแนวคิดที่กำลังเป็นที่ฮือฮา ในระดับโลกก็คือเรื่องของสิทธิ (ที่จะมีชีวิตใน) เมือง (Right to the City) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีความหมายที่กว้างขวางมาก และถือเป็นกระแสของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนครที่สำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับเรื่องของพื้นที่ เรื่องเมือง และเรื่อง "ชีวิตประจำวัน" (ต้นธารของความคิดมาจากนักปรัชญาและสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Henri Lefebvre (1901-1991)

แนวคิดสำคัญของเลอเฟฟที่เป็นที่สนใจในวันนี้ (ต่างจากยุคแรกที่ถูกนำเข้ามาในโลกวิชาการภาษาอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70) ก็คือการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์พื้นที่ โดยมองถึงพื้นที่ที่เราใช้ชีวิตหรือพื้นที่ที่ "มีชีวิต" (lived space) ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างซับซ้อน โดยเขาสนใจปฏิบัติการทางอำนาจที่ปรากฏและเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ทางกายภาพ กับพื้นที่ทางจินตนาการ โดยพื้นที่ที่เราใช้และมีชีวิตนั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกสร้างอย่างสำเร็จแล้วโดยรัฐ หรือเป็นเพียงพื้นที่ในจินตนาการของเรา แต่เป็นปฏิบัติการของการต่อสู้ต่อรองในชีวิตประจำวันของการสร้างสรรค์ชีวิตบนพื้นที่จริงของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายที่ใช้ชีวิตจริงในพื้นที่นั้นโดยเฉพาะที่เห็นอย่างเด่นชัดก็คือพื้นที่เมืองซึ่งความเป็นเมืองนั้นกำลังจะกลายเป็นตัวแทนหลักของอารยธรรมใหม่ของโลกในยุคนี้ (ยุคแห่งเมือง)

เลอเฟฟมองว่า สิทธิที่จะอยู่ในเมืองนั้นเป็นของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่ลงทะเบียนเป็นพลเมืองในพื้นที่นั้น หรือในระดับชาติ แต่หมายถึงคนที่มีชีวิตในเมืองนั้น (citadins) ที่จะต้องมีโอกาสใช้ชีวิตหรือ "ผลิตพื้นที่" ในเมืองขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของสิทธิตามกฎหมายในการออกนโยบาย แต่เป็นสิทธิของคนทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และ "ยึดครอง" พื้นที่ตามความต้องการของคนที่มีชีวิตในเมืองนั้นโดยไม่ปล่อยให้พื้นที่นั้นถูกครอบครองโดยมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว(อาทิการต้องมีพื้นที่ทางศิลปะ พื้นที่ทำมาหากิน หรือพื้นที่พักอาศัยของคนรายได้น้อย เป็นต้น)

นอกเหนือจากแนวคิดของเลอเฟฟแล้ว กระบวนการยึดครองพื้นที่เมืองผ่านการสร้างถนนคนเดินในอดีตนั้นก็มีความมุ่งหวังที่จะนำกลับมาซึ่งพื้นที่ในทางจินตนาการให้เป็นจริงชั่วคราวถึงการมี"พื้นที่สาธารณะ"ที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้ได้มาซึ่ง "เหตุผลจากการติดต่อสื่อสาร" (communicative rationality) และสร้างความเชื่อมโยงกันของอัตวิสัย (intersubjectivity) มากกว่าการยอมรับอำนาจในแบบที่เชื่อว่าเหตุผลของฝ่ายตนนั้นถูกอยู่ฝ่ายเดียว หรือเหตุผลของฝ่ายตนนั้นเป็นเครื่องมือที่จะต้องบรรลุเป้าหมายที่ตนมุ่งหวังให้ได้ ซึ่งแนวคิดแบบที่เน้นความถูกต้องหนึ่งเดียวโดยไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นๆ ด้วยนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่จัดว่าเป็นการสร้างอาณานิคมทางความคิดแบบหนึ่ง ซึ่งรูปแบบของการปิดถนนให้คนเดินนั้นเดิมมุ่งหวังที่จะก้าวพ้นจากสิ่งนี้มิใช่หรือ?

หรือกล่าวง่ายๆการปลดปล่อยผู้คนไปสู่เสรีภาพและความจริงที่ร่วมกันสร้างให้จริงตามความหมายของเหตุผลจากการติดต่อสื่อสารนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจว่าการครอบงำนั้นเกิดจากการพูดฝ่ายเดียวและการ"ปิดถนนเพื่อเปิดพื้นที่" นั้น ก็เพื่อทำให้คนได้พูดและฟังกันด้วย ซึ่งต่างจากการ "ปิดถนนเพื่อปิดกั้นพื้นที่" ซึ่งเปิดให้พูดอยู่ฝ่ายเดียวนั่นแหละครับ

ในมิติที่สาม ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เรียกว่า "ใบอนุญาตปิดเมือง" หรืออาจเรียกมันว่า "คำอธิบายที่ปลอบประโลมใจอันเป็นที่สุดในการเคลื่อนไหว" ก็คือ ความเชื่อที่ว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นอาจจะทำให้เดือดร้อนไปบ้าง แต่ถ้าไม่เสียหายเท่ากับ (หรือถ้าจะเสียหายเหมือนกับหรือมากกว่า) อะไรๆ ที่ตนเชื่อว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อนนั้นโดย "คนเสื้อแดง" สิ่งนั้นก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

หรือถ้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่มีความรุนแรงเท่าที่คนเสื้อแดงเป็นผู้ทำมาก่อน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ถือเป็นเรื่องของความสงบ สันติ และอหิงสา เสียเช่นนั้น ทั้งที่ในเรื่องของการกล่าวหาเสื้อแดงนั้นยังไม่มีผลถึงที่สุดในการสืบหาความจริง และในหลายเรื่องสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำของเสื้อแดงก็ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี

หากการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นเรื่องของการมีอคติในใจที่มีต่อคนเสื้อแดงมากกว่าการพยายามค้นหาความจริงของความสูญเสียจากครั้งที่ผ่านมาหรือข้ามพ้นตรรกะของความรุนแรงจากการเคลื่อนไหวในหลายๆครั้งในอดีต ก็เชื่อได้ว่าการปิดกรุงเทพฯครั้งนี้ย่อมเป็นการยืนยันอคติทางการเมืองที่ยังมีต่อเนื่องมาโดยตลอดของคนกลุ่มที่อ้างถึงความถูกต้องหนึ่งเดียวของความจริงที่ไม่ต้องผ่านการพิสูจน์ใดๆนอกจากหมุนวนหล่อเลี้ยงกันเองอยู่เช่นนั้นท่ามกลางการก่อร่างสร้างพื้นที่ในจินตนาการที่ต้องการยืนยันให้เป็นจริงด้วยการจ่ายราคามหาศาลที่ไม่มีหลักประกันในขั้นสุดท้ายแต่อย่างใดว่าความเสียหายนั้นจะย้อนกลับมาถึงพวกเขาในคุณภาพและปริมาณขนาดไหน

ท่ามกลาง"สงครามการผลิตพื้นที่" ที่ยังไม่จบลงง่ายๆ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 นี้ครับผม

ที่มา:มติชนรายวัน
-------------------------------------------------

วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

เมืองไทยดีที่สุด !!?

สัมภาษณ์ : ซันโตส คูมาร์ กรรมการผู้จัดการ บ. เอสทีมาร์เก็ตติ้ง แอนด์ ดิสทริบูชั่น จก.

ประเทศไทยเป็นฐานการทำธุรกิจยอดนิยมของนักลงทุนต่างชาติ หนึ่งในนั้นคือ ซันโตส คูมาร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสทีมาร์เก็ตติ้ง แอนด์ ดิสทริบูชั่น จำกัด บริษัท ผลิตรองเท้าสุขภาพยี่ห้อ "คอมฟอร์ตโต้" ที่ส่งขายไปทั่วโลก

เขาเป็นคนมาเลเซียโดยกำเนิด เดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่ออายุ18 ปี ช่วยธุรกิจคุณพ่อซึ่งนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ ส่งไปตามสวนสัตว์ในเมืองไทย เช่น สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เขาเขียว ก่อนจะเริ่มมองเห็นโอกาสและลงทุนทำธุรกิจรองเท้าสุขภาพ

"ผมรู้สึกว่าอยู่เมืองไทยปลอด ภัยกว่ามาเลเซีย ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรง่าย ทำธุรกิจด้วยความ สบายใจ แต่ที่มาเลย์ความกดดันเยอะ ทุกอย่างดูจริงจังไปหมด เช่น นัดส่งของวันนี้คือวันนี้ ถ้าเลื่อนนัดละก้อเรื่องใหญ่ บางครั้งส่งของตรงเวลาจริง แต่คุณภาพไม่สมบูรณ์ จะเอาเงินคืนก็ไม่ได้เพราะจ่ายไปแล้ว มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อย ซึ่งบางครั้งไม่ใช่ประชาชนมาเลย์เป็นคนทำ แต่ เป็นคนต่างด้าวมาจากอินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม ซึ่ง มีจำนวนมาก สรุปคือบรรยากาศเมืองไทยดีกว่า และหาก รวม 10 ประเทศอาเซียน ผม ก็เชื่อว่าเมืองไทยดีที่สุด คนที่มาจากยุโรป อเมริกา จะมาลงทุนในอาเซียนก็อยากเปิดสำนักงานใหญ่ที่นี่ แล้วค่อยเจาะตลาดอาเซียน เนื่องจากเมืองไทยเปิดกว้าง เมืองไทยจึงมีโอกาสเป็นฮับอาเซียนอย่างมาก" ซันโตส กล่าวถึงความประทับใจในเมืองไทย

เขาเริ่มต้นด้วยการสร้างโรงงาน เล็กๆ ใช้คนไม่กี่คน เมื่อได้เงินมาแล้ว ค่อยหมุนต่อ เป็นการขยายแบบมั่นคง ปัจจุบันเขาขยายโรงงานใหญ่ขึ้น มีแรงงาน 60 คน ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี

+ เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์การเมืองของไทย?

เขาตอบว่า "ความวุ่นวายทาง การเมืองทำให้เมืองไทยเสียโอกาสค่อนข้างมาก อย่างผมอยากลงทุนปีที่แล้วประมาณ 100 ล้านในเมืองไทย เปิดช็อปขายสินค้าประมาณ 10 ช็อป แต่ทำไม่ได้เพราะติดปัญหา การเมือง ต้องเปลี่ยนแผนไปลงทุนในประเทศกาตาร์แทน ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาการเมืองเราต้องลงทุนในเมืองไทยแน่นอน แต่พอมีปัญหาการเมืองเรากลัวว่าเปิดแล้วไม่มีคนมาเดิน"

+ นั้นคือ สิ่งที่นักลงทุนข้ามชาติมองประเทศไทย

ถามเขาถึงผลกระทบค่าแรง 300 บาทว่า เขายอมรับว่าส่งผลกระทบบ้าง แต่สามารถบริหารจัดการได้ และมองต่อไปในอนาคตว่าอีกไม่นานอาเซียนน่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเท่ากับประเทศไทย

"ผมเริ่มมองเห็นค่าแรงขั้นต่ำ ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ที่มีการปรับขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เชื่อว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ค่าแรงขั้นต่ำใน กลุ่ม CLMV จะต้องปรับเป็นวันละ 300 บาทเท่ากับไทย และบางบริษัท อาจจ่ายมากกว่านั้น เพื่อรักษาแรง งานเอาไว้" ซันโตส กล่าว

+ ปิดท้ายด้วยคำถามว่า เขาพร้อมหรือเปล่ากับการเป็นเออีซี

"เราประชุมร่วมกับพนักงานระดับบริหารบ่อยๆว่าจะเปลี่ยนระบบ ยังไงวิธีการใหม่ๆ มีอะไรบ้าง ถ้าเรา ไม่อยากขยายบริษัท บริหารให้อยู่ ในระดับนี้ ทำรายได้ขนาดนี้ทุกปี ดูแล ยอดขายให้คงที่ ก็ไม่ต้องเครียดมาก แต่ถ้าเราต้องการเติบโต เราต้องเปลี่ยนแปลง ต้องเพิ่มเงินลงทุน ต้องพุ่งไปข้างหน้า ตลาดหลังจากปี 2558 ไม่ใช่เมืองไทยแล้ว เป็นอาเซียน แล้ว ทุกพื้นที่ในอาเซียนสำคัญเท่ากันหมด"

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีอำนาจ ยังขนาดนี้ !!?

การเมืองไทยขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า “จบไม่ลง”
ป่วยการที่จะมาถามกันอีกต่อไปว่า จะจบอย่างไร

เพราะแม้จะขึ้นปีใหม่ 2557 แล้ว ยังไงก็ไม่ยอมจบ จนกว่าแกนนำที่ชื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”จะได้ทุกอย่างตามความต้องการ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปี ในวันจับหมายเลขพรรคการเมือง สะท้อนชัดเจนว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม แม้จะพูดตลอดเวลาว่าไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือไม่เอาเลือกตั้ง ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

ไม่ว่าจะต้องดำเนินการขัดขวางด้วยวิธีการใดหรือรูปแบบใดก็ตาม
ฉะนั้นถึงแม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้จริง ปัญหาก็ไม่จบ เพราะนายสุเทพ จะต้องปักหลักโค่นล้มผลการเลือกตั้ง โค่นล้มรัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์อยู่ดี

รวมทั้งแม้จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่ขยับไปเป็นวันอื่นใดก็ตาม ปัญหาก็ไม่จบอยู่ดี เพราะจะต้องเลื่อนไปเรื่อยๆไม่มีวันจบ ตราบเท่าที่นายสุเทพและกลุ่มแกนนำยังไม่ได้สมใจปรารถนา

นั่นคือจะต้องมีการปฏิรูปภายใต้การกำกับแบบเบ็ดเสร็จของนายสุเทพและแกนนำเสียก่อน จึงจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในภายหลังได้

เหมือนอย่างที่มีการแซวกันสนั่นลั่นไปหมดในโลกออนไลน์นั่นแหละว่า
ก่อนจะ “เลือกตั้ง”ได้ จะต้องให้ “เทือกตั้ง”เสร็จเสียก่อนเท่านั้น!!!

เป็นการแซวที่ใช่ว่าจะไม่มีเค้ามูลของความเป็นจริงเสียเมื่อไหร่ เพราะในขณะที่ข้อเสนอในการปฏิรูปของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้มีคณะกรรมการ 11 คน มาพิจารณาวางหลักเกณฑ์ คุณสมบัติในการคัดเลือก ตัวแทนประชาชนจำนวน 499 คน จากจำนวนทั้งหมด 2,000 คน

ซึ่งนายสุเทพก็บอกว่า ไม่รับ เพราะไม่ไว้ใจ เนื่องจากในคน 11 คนที่จะมากำหนดคุณสมบัติตัวแทน 499 คนนั้น เป็นคนที่รัฐบาลสั่งได้ถึง 8 คน จึงไม่ไว้ใจและไม่ยอมรับแนวทางข้อเสนอในการปฏิรูปของรัฐบาล
ยืนกรานให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อให้นายสุเทพได้ตั้งสภาประชาชน ตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีขึ้นมารักษาการ เพื่อปฏิรูปประเทศเสียก่อน จึงจะให้มีการเลือกตั้งได้

แน่นอน ลึกๆแล้วนายสุเทพเองก็รู้ดีว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามต้องการ ไม่เช่นนั้นนายสุเทพ คงไม่ประกาศกลางเวทีว่า

ต่อไปนี้ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องกฎหมาย กฏเกณฑ์กติกาใดๆอีกแล้ว เพราะไม่สนใจ จะมีก็แต่ส้นตีนของมวลชนที่ออกมาโค่นล้มรัฐบาลเท่านั้น ที่จะสู้ให้ถึงที่สุด

แสดงว่าการที่มีบรรดาผู้รู้มีสารพัดบุคคลออกมาให้แง่มุมของกฎหมายที่บอกว่าสิ่งที่นายสุเทพต้องการนั้นทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีอำนาจที่จะทำ ได้ทำให้นายสุเทพและแกนนำเริ่มเถียงด้วยเหตุผลที่ลำบากขึ้น จึงต้องออกมาในรูปของการสู้ไม่ถอย โดยไม่สนใจเรื่องของกฎหมายและความถูกต้องใดๆอีกต่อไป

ด้วยการใช้ข้ออ้างที่ว่า รัฐบาลหมดความชอบธรรม ไม่มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว
แต่ในมุมกลับกัน ก็เกิดคำถามย้อนกลับมาทิ่มใส่นายสุเทพและแกนนำเช่นกันว่า แล้วนายสุเทพยังมีความชอบธรรม ยังมีความน่าเชื่อถืออยู่ต่อไปอีกหรือไม่???

การที่นายสุเทพไม่ไว้ใจคน 11 คนที่จะถูกตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการเฟ้นหาคน 499 คน โดยที่ไม่ได้เป็นคนชี้หรือเป็นคนเลือกตัวบุคคลเองเลยด้วยซ้ำ นายสุเทพยังบอกไม่เชื่อถือ

แล้วการตั้งสภาประชาชน โดยนายสุเทพและอาจจะมีแกนนำอีกหลายคน ร่วมกันชี้ระบุเลือกคนเข้ามาจำนวน 100 คนเลยนั้น ไม่หนักยิ่งกว่าหรือ จะให้สังคมเชื่อถือได้อย่างไร ว่าจะไม่มีการเอียงข้างเหมือนการตั้ง คตส. เหมือนการตั้ง ส.ว.สรรหา หรือเหมือนการตั้งองค์กรอิสระที่ผ่านมา
สังคมย่อมมีสิทธิที่จะไม่เชื่อถือในตัวนายสุเทพและเหล่าแกนนำใช่หรือไม่

ซึ่งหากยันกันไม่จบเช่นนี้ แล้วจะหาทางออกให้กับประเทศชาติได้อย่างไร จะต้องให้ประเทศชาติยับเยินไปถึงขนาดไหนก่อนอย่างนั้นหรือ ถึงจะพอใจกัน

ยิ่งหากถึงที่สุดจะวัดกันด้วยจำนวนมวลชน ซึ่งทั้ง 2 ขั้วก็ล้วนรู้ดีแก่ใจว่า แต่ละฝ่ายใช่ว่าจะมีแต่มวลชนบริสุทธิ์เพียงเท่านั้นไม่ มวลชนจัดตั้ง มวลชนจัดหา ตลอดจนบรรดาแฟนคลับก็ล้วนมีด้วยกันทั้งนั้น
ซึ่งความหลากหลายตรงนี้แหละที่ควบคุมยาก ถึงเวลาปรอทแตกอุณหภูมิเดือดขึ้นมา มิปะทะกันจนบาดเจ็บล้มตายหรือ??? แกนนำจะรับผิดชอบไหวหรือ???

หรือพอใจที่จะสนุกกับตราบาปที่ทำให้คนไทยเข่นฆ่ากัน ทำให้ประเทศบอบช้ำเสียหาย
นี่ขนาดยังไม่ได้มีอำนาจในมือไม่มีกฎหมายรองรับ ยังเถลิงอำนาจกันขนาดนี้ แล้วถ้าหากว่ามีอำนาจในมือแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กุมอำนาจกฎหมายไว้ในมือตามที่ต้องการ จะยิ่งกว่านี้สักกี่ร้อยพันเท่า
ถึงยืนยันว่า ถึงเวลาที่ทั้ง 2 ขั้วจะต้องถูกลดบทบาททางการเมืองลงได้แล้ว

จะต้องถูกโทษแบนทางการเมือง จากสังคมไทย จากประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดินที่มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่ากับนายสุเทพ และบรรดาแกนนำทั้งหลาย

มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากับนักการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด หรือนักการเมืองหน้าไหนก็ตาม

วันนี้นักการเมืองที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับประเทศชาติบ้านเมือง เพียงเพราะหวังแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง จะต้องถูกแบน หรือต้องถูกกำจัดไปจากเวทีการเมืองของไทย เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นขั้วขัดแย้ง ได้มีโอกาสมาช่วยปลดล็อกความขัดแย้งทางการเมืองให้หมดไปเสียที

ขืนประเทศไทยยังจมปลักเพราะนักการเมืองชั่วๆที่แอบแฝงตัว คอยแต่จ้องหาประโยชน์และอำนาจอยู่ไม่รู้เช่นนี้ ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีทั้งสิ้น 10 ประเทศนั้น

ประเทศไทยจะอยู่อันดับที่ 12!!!

เพราะล้าหลังชาวบ้านจนแม้แต่จะเป็นอันดับ 10 หรืออันดับ 11 ยังไม่ได้เลย
ถึงตอนนั้น นักการเมืองชั่วๆทั้งหมดจะมองหน้าลูกหลานไทยได้อย่างไร เมื่อเด็กไทยที่เติบโตขึ้นมาภายใต้ความขัดแย้ง จนซึมซับการด่าเป็นไฟ การเอาแต่ได้โดยไม่เคารพกฎเกณฑ์กฎหมาย
แล้วตั้งคำถามโพล่งขึ้นมาด้วยภาษาของนักรบหน้าคอมพ์ว่า

เล่นการเมืองกันจัญไรขนาดไหนนะ ไอ้สัส ถึงทำให้พวกกูต้องกลายเป็นคนรุ่นต่อมาที่ต้องรับเคราะห์เช่นนี้”

งามหน้ากันหรือไม่ ที่ปลูกฝังผลไม้พิษเอาไว้ในจิตใจเด็ก จนทุกวันนี้ด่ากันเป็นไฟไปหมดแล้ว
เชื่อเถอะในวันนั้น “ตราบาป”ที่จารึกลงบน “ตระกูลการเมือง”ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ คงไม่ได้มีเพียงแค่ตระกูลเดียวอย่างแน่นอน

ดังนั้นยังไม่สายที่จะหยุดม้าที่ริมเหว คืนความสงบสุขให้กับแผ่นดินเกิด เลิกดื้อรั้นดันทุรังด้วยกันทั้ง 2 ขั้ว เปิดโอกาสให้คนไทยทั้งแผ่นดินได้ตัดสินอนาคตประเทศด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือขั้วใดขั้วหนึ่งมาบงการชี้นิ้ว ว่าต้องเลือกอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้

นักการเมืองไม่ได้วิเศษวิโสไปกว่าคนไทยคนใดคนหนึ่งเลย
อย่าต้องให้เป็นเหมือนกับตลกล้อเลียนแสบๆที่ว่า ประเทศไทยมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สวยงาม และสมบูรณ์ มีแค่นักการเมืองเท่านั้นที่เลว และทำให้บ้านเมืองที่ควรเพอร์เฟ็กท์ กลายเป็นเมืองต้องสาป
จะหลุดพ้นคำสาปได้ ต้องส่งออกนักการเมืองไทยไปประเทศอื่นให้หมด แล้วนำเข้านักการเมืองของประเทศอื่นเข้ามาแทน

ซึ่งจริงๆไม่ต้องส่งออกไปทั้งหมดหรอก แค่เอารุ่นเจ้าปัญหา เอารุ่นแก่กระโหลกกะลาออกไปพรรคละ 20-30 คนเท่านั้น การเมืองไทยก็ดีขึ้นพะเรอเกวียนแล้ว

อย่างน้อยนัการเมืองรุ่นใหม่ๆจะได้มีโอกาสเกิดขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องมีต้นแบบที่บิดๆเบี้ยวๆอีกต่อไป
บางกอก ทูเดย์ เชื่อมั่นในพลังบริสุทธิ์ของประชาชน ว่าจะสามารถล้างคราบไคลชั่วร้ายทางการเมืองลงได้

ดังนั้นหากยังดื้อเล่นเกมทำลายประเทศกันอยู่อย่างนี้ ประชาชนทั้งแผ่นดินต้องแสดงพลังกันได้แล้วกระมัง.

ที่มา.บางกอกทูเดย์
----------------------------

ทางออกจากวิกฤต !!?

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

เรากำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่สุด และเราจะออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร

สิ่งที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนก็คือ วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งกันทางการเมือง เพราะความขัดแย้งนี้ดำเนินมาในสังคมไทยกว่า 7 ปีแล้ว แม้ทำให้การเมืองไทยลุ่มๆ ดอนๆ แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ รวมแม้แต่การริเริ่มนโยบายใหม่เช่นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ อันอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

วิกฤตครั้งนี้เกิดจากการล้มล้างระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งมวล ที่ช่วยกำกับความขัดแย้งไม่ให้เหลือแต่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน จะดีจะชั่ว สังคมไทยก็มีระเบียบกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ที่ทำให้เราต่างจากซ่องโจรที่คนกำปั้นใหญ่รวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือ หนักข้อกว่าการรัฐประหารของกองทัพเสียอีก

เมื่อกองทัพทำรัฐประหาร กฎหมายที่คณะรัฐประหารทุกคณะล้มล้างทันทีคือรัฐธรรมนูญ แต่ยังรักษากฎหมายอื่นๆ ไว้ทั้งหมด ในครั้งนี้ นอกจากม็อบสุเทพจะล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังละเมิดกฎหมายอื่นๆ อีกหลายมาตรา ขัดขวางการทำงานโดยปกติของรัฐ เช่นยึดที่ทำการของรัฐ ปิดล้อมมิให้โรงพักรับแจ้งความ ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ขัดขวาง กกต.มิให้จัดการเลือกตั้งโดยสงบ ก่อวินาศกรรมกับรถตำรวจ ทำโจรกรรมในสถานที่ราชการที่ปิดล้อมไว้ ฯลฯ

ความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งดำเนินมาหลายปี ได้แปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งระหว่างอาชญากรกับรัฐ

ผมคิดว่าผิดถนัดที่หลายองค์กรมองวิกฤตครั้งนี้ เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา การเสนอตัวเป็น "คนกลาง" เพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่างอาชญากรและรัฐ เป็นการเสนอตัวที่หลงประเด็น เพราะรัฐหรือผู้ถืออำนาจรัฐแทนปวงชนชาวไทย ไม่มีอำนาจที่จะรอมชอมกับอาชญากรให้ละเมิดกฎหมายได้ตามใจชอบเช่นนี้ ทั้งกฎหมายและรัฐไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ที่จะเอาไปยื่นให้แก่ใครเพื่อยุติความขัดแย้งได้ เช่นหาก ครม.ทั้งคณะยอมลาออก นอกจากละเมิดรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้ต้องทำหน้าที่จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่แล้ว ยังเท่ากับยกประเทศไทยให้แก่อันธพาลการเมือง หักหลังประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจนั้นแก่นายกรัฐมนตรี

ผิดถนัดอีกเช่นกัน ที่ไปคิดว่าสภาพจลาจลซึ่งกลุ่มอันธพาลการเมืองก่อขึ้นในการบุกรุกเข้าไปในสถานที่รับเลือกตั้ง จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตา เป็นความน่าอับอายและทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสื่อมเสียในสายตาของต่างชาติ ตรงกันข้ามหากปล่อยให้อันธพาลเข้าไปยึดสถานที่ จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ต่างหาก ที่น่าอับอายและทำลายภาพพจน์ของสมรรถภาพของรัฐในการอำนวยความมั่นคงและปลอดภัยแก่สังคม ใครอยากมาเที่ยวในประเทศนี้ ใครอยากทำสัญญากับคนไทยซึ่งไม่มีรัฐให้หลักประกันใดๆ

เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักอีกมาก ที่รายงานข่าวฝ่ายอันธพาลทางการเมืองประหนึ่งวีรบุรุษ มองรัฐและกลุ่มอันธพาลว่ามีความชอบธรรมเท่ากัน หรือแม้แต่เห็นอันธพาลมีความชอบธรรมมากกว่า ทำให้สังคมหลงประเด็นว่า เรากำลังเผชิญทางเลือก 2 ทางที่มีความชอบธรรมเท่ากัน ทั้งๆ ที่ทางเลือกที่ฝ่ายอันธพาลการเมืองเสนอ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นคำสั่งที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างปราศจากเงื่อนไข โดยอาศัยฝูงชนเป็นเครื่องมือ ไม่ต่างจากในซ่องโจร ที่ผู้นำซึ่งรวบรวมกำลังโจรได้มากกว่า ย่อมสามารถประกาศิตความเป็นไปของซ่องโจรได้ตามใจตนเองแต่ผู้เดียวหรือฝ่ายเดียว

กลุ่มอันธพาลการเมืองเหล่านี้ไม่ได้ท้าทายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ท้าทายกฎหมายและระเบียบแบบแผนทางการเมืองของสังคมไทยทั้งหมด

ที่น่าเศร้าก็คือ ประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯ (และที่ขนกันมาจากภาคใต้) คิดว่า นี่คือการแสดงความรักชาติ

ชาติจะดำรงอยู่ได้อย่างไร หากพลเมืองของชาติไม่มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง หากกฎเกณฑ์ระเบียบของชาติถูกทำลายลงหมด เพื่อสนองตอบความทะเยอทะยานทางการเมืองของคนกลุ่มเล็กๆ หากกลไกของชาติพอใจจะนั่งดูเฉยๆ (หรือแอบเข้าข้างอันธพาล) เพื่อรอเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กับฝ่ายชนะ นี่คือชาติที่มีแต่ปัจจุบัน ไม่มีอนาคต เพราะไม่มีใครมองไกลไปกว่าการยกระดับวันต่อวันของอันธพาลการเมือง

หนทางที่จะออกจากวิกฤตนี้แคบ ข้อจำกัดในการใช้อำนาจรัฐก็มาก (ทั้งที่ควรและไม่ควร) ยากที่จะฝ่าฟันออกไปได้ นอกจากได้รับความร่วมมือจากสังคมในวงกว้าง

และด้วยเหตุดังนั้น จึงทำให้บางคนคิดหาทางออกที่ลัดและมักง่าย นั่นคือทำรัฐประหาร แต่รัฐประหารคือทางตันไม่ใช่ทางออก นอกจากต้องเผชิญกับการต่อต้านจากคนจำนวนมาก กระทำในหลายรูปแบบ และบางรูปแบบก็อาจทำให้รัฐยิ่ง "ล้มเหลว" หนักขึ้นไปอีก

คิดง่ายๆ แค่ว่า คณะรัฐประหารจะจัดการกับอันธพาลการเมืองอย่างไร แต่ละคนมีคดีติดตัวหลายสิบคดี หากออกคำสั่งนิรโทษกรรมทั้งหมด คณะรัฐประหารจะจัดการอย่างไรกับการละเมิดกฎหมายของฝูงชนใหม่ที่ต่อต้านการรัฐประหาร ฆ่าเขาอย่างที่ได้ฆ่ามาใน 2553 ก็ยิ่งทำลายความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ปล่อยทิ้งไว้รัฐก็ล่มสลายไปในมือของคณะรัฐประหาร

จนถึงที่สุด ใครก็ตามที่ยังสามารถมองอะไรได้ไกลกว่าปลายจมูกของตนเอง จะให้การรับรองแก่การรัฐประหารที่ทำลายชาติให้ย่อยยับลงไปกว่านี้ได้

ทางออกเดียวที่เหลืออยู่จึงเป็นทางแคบ มีข้อจำกัดมาก ยากจะฝ่าฟันออกไป และต้องได้รับความร่วมมือจากสังคมในวงกว้าง และภาระเป็นของรัฐบาลรักษาการต้องทำให้สำเร็จ

คุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงการนำที่ชัดเจน และเข้มแข็ง ชัยชนะจากการเลือกตั้งที่จะมาถึงเพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะเงื่อนไขของวิกฤตครั้งนี้ ไม่ใช่การแข่งขันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นวิกฤตของชาติ จะรักษาชาติให้ดำรงอยู่สืบไปโดยไม่เสื่อมทรามลงเป็นซ่องโจรได้อย่างไร คุณยิ่งลักษณ์ต้องหวังว่าการนำของตนจะไม่ดึงเฉพาะคนไทยที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาร่วมรณรงค์เท่านั้น แต่ต้องรวมคนไทยทุกคนแม้แต่ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่นๆ ด้วย

ภาระสำคัญที่สุดของคุณยิ่งลักษณ์ก็คือ ต้องทำทุกวิถีทางมิให้รัฐ "ล้มเหลว" การยอมถอยให้แก่อันธพาลในการยึดถนนและยึดสถานที่ราชการนั้น พอรับได้ เพราะพื้นที่ทางการเมืองของสาธารณชนไทยมีจำกัด ในขณะที่แม้จะถูกยึดที่ทำการรัฐบาล แต่รัฐยังทำหน้าที่ของตนต่อไปได้ ยังแจ้งความได้ ยังจัดการจราจรได้ เด็กยังได้ไปโรงเรียน เจ็บป่วยก็เข้าโรงพยาบาลได้ ฯลฯ แต่เมื่ออันธพาลการเมืองปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง จนรัฐไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามกฎหมายได้ รัฐเริ่ม "ล้มเหลว" เป็นครั้งแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งโดยผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และผ่านการใช้กองกำลังทั้งหมดของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายที่ไม่จำเป็น (ดังเช่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำอย่างเหมาะสมในวันที่ 28 ธ.ค.) เพื่อประกันความปลอดภัยของผู้สมัครและกรรมการเลือกตั้ง จนทำให้กระบวนการรับสมัครดำเนินไปได้

กระบวนการเลือกตั้งเพิ่งเริ่มขึ้น รัฐบาลรักษาการต้องดูแลให้กระบวนการนี้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น แม้ต้องใช้มาตรการแข็งกร้าวก็ตาม (โดยระวังมิให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกินกว่าที่จำเป็น) ทุกคนมีสิทธิหาเสียงอย่างถูกกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิเข้าคูหาเลือกตั้งอย่างปลอดภัย

สังคมไทยต้องมองเห็นอย่างชัดเจน ระหว่างทางเลือกการอยู่ในสังคมที่มีกฎหมาย และสังคมอันธพาล

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีต้องออกหน้าแทนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่นนายกฯต้องมีคำสั่งอย่างชัดเจนว่า ต้องทำให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินไปได้โดยราบรื่น หากจำเป็นต้องใช้มาตรการที่รุนแรงเด็ดขาดก็ต้องใช้ (แต่อย่าทำ "เกินกว่าเหตุ") ตราบเท่าที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกระทำไปตามกฎหมาย เขาไม่ต้องรับผิดชอบ แต่นายกฯ ผู้ออกคำสั่งจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมาย หรือทางที่ถูกอันธพาลก่นด่า

รวมทั้งออกคำสั่งให้กองทัพส่งกำลังอีกมาก มาเป็นผู้ช่วยตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องไม่อนุญาตให้กองทัพปฏิบัติงานโดยลำพัง เพราะกองทัพไม่มีสมรรถภาพในการควบคุมฝูงชน เขาไม่ใช่หน่วยงานที่มีภาระหน้าที่เช่นนี้ จึงไม่ถูกฝึกให้ทำเป็น สมรรถภาพของกองทัพอยู่ที่การทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างเฉียบพลันรุนแรง จึงไม่เหมาะที่จะปฏิบัติงานเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องอยู่ในบังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ (เรื่องนี้ "เล็งเห็นผล" ได้ หากไม่โง่หรือโหดเหี้ยมจนเกินไป)

คำสั่งที่ให้แก่กองทัพเช่นนี้ ต้องประกาศให้สังคมรับรู้โดยทั่วกัน หากกองทัพไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็ต้องแจ้งให้สังคมรู้เช่นกัน คุณยิ่งลักษณ์อย่าคิดเป็นอันขาดว่า จะควบคุมกองทัพได้ด้วยตนเอง โดยปราศจากการหนุนหลังของสังคม

หากการปฏิบัติงานเพื่อรักษากฎเกณฑ์และระเบียบของบ้านเมือง เป็นเหตุให้ กกต.ลาออกเกิน 3 คน ผมไม่มีความรู้ทางกฎหมายว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่เชื่อว่าต้องมีช่องทางที่จะจัดการเลือกตั้งตามกฎหมายจนได้ มิฉะนั้นก็เท่ากับยกสังคมประชาธิปไตยของเราทุกคนให้แก่คนกะล่อนเพียง 3 คนเท่านั้น ใครก็ตามที่มีหน้าที่คัดสรรกรรมการของ กกต. ก็ควรรับผิดชอบต่อวิจารณญาณห่วยแตกของตนเองบ้าง

การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเข้มแข็งดังกล่าวทั้งหมดนี้ จะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสังคมในวงกว้าง หากจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดแก่บ้านเมือง ก็ต้องใช้ เพื่อจะได้มีอำนาจในการควบคุมสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ ใช้สื่อนั้นในการสื่อสารสถานการณ์ที่เป็นจริง และจุดยืนของรัฐที่จะรักษากฎระเบียบที่ขาดไม่ได้ของความเป็นชาติ คุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อาจเป็น ผอ.ของ ศอ.รส.ต่อไปได้ แต่ต้องจัดทีมประชาสัมพันธ์ที่มีความสามารถขึ้น เพื่อสื่อสารกับสังคมวงกว้างในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องเลือกตั้ง แต่เกี่ยวกับวิกฤตครั้งนี้ และความจำเป็นที่รัฐจะต้องนำสังคมฝ่าวิกฤตความชอบธรรมทางกฎหมายออกไปให้ได้ เพื่ออนาคตของชาติที่เป็นของเราทุกคน

หลังจากการถอยอย่างไม่มีหลักที่ผ่านมา (ตั้งกรรมการปฏิรูป, แสดงท่าทีพร้อมเจรจากับอันธพาล, และปล่อยให้อันธพาลปิดล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง) จะสายเกินไปหรือไม่ที่จะพลิกนโยบายมาสู่การรักษา "ชาติ" ซึ่งต้องรวมถึงกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน ผมไม่แน่ใจ แต่ในวิกฤตทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในครั้งนี้ ไม่มีอะไรที่สายเกินไป

ที่มา: www.matichon.co.th
-----------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

สันติวิธี แก้วิกฤต !!?

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ก้าวเข้าสู่ปีม้าคะนองศึก สถานการณ์การเมืองไทยยังย่ำอยู่กับที่ไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ชนิดนับเคานต์ดาวน์ข้ามศักราชใหม่แล้วต้องปรับโหมดรอรับประกาศ "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ" กันทันที

ความประสงค์ของการชุมนุมที่ต้องการสร้าง "สภาวะไร้รัฐ" ด้วยกิจกรรม "ปิดเมือง" วันที่ 13 มกราคมเป็นต้นไป กับการคาดการณ์จะปิดถนนและแยกสำคัญในกรุงเทพฯไม่น้อยกว่า 20 แห่ง โดยจัดตั้งเวทีปราศรัยทุกจุดที่ชุมนุม ส่วนเรื่องการตัดน้ำ-ไฟมีการประกาศว่าจะทำเฉพาะบ้านนายกฯและรัฐมนตรี รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานบริหารของรัฐบางจุด

แม้กรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทย แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในเมืองหลวงอีกจำนวนมาก และอีกสถานะกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง เมืองเศรษฐกิจ เมื่อมีพลังกดดันก็พร้อมสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประเทศได้

แต่คำถามคือ คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศพร้อมรับราคาที่ต้องจ่ายจากสถานการณ์อันแกว่งไกวนี้หรือ ?

วันนี้การคัดค้านไม่ให้มีการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เป็นสถานการณ์อันแหลมคมที่บรรดานักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศต่างไม่มั่นใจประเมินว่า กว่าจะถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์สถานการณ์จะเขยิบไปไกลจนไม่มีการเลือกตั้ง หรือหากมีการเลือกตั้งก็อาจล่มในที่สุด ?

มีคำเตือนสติจาก "พระไพศาล วิสาโล" ภิกษุสันติวิธีที่ให้สัมภาษณ์ผ่านทีมงานเฟซบุ๊ก We Vote เมื่อเร็ว ๆ นี้ เสนอแนวทางสันติวิธีเบื้องต้นเพื่อเป็นทางออกให้แก่วิกฤตครั้งนี้ ผู้เขียนขอนำบางช่วงมาถ่ายทอดให้อ่านกัน

"การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะในปัจจุบันมันเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกคนในประเทศได้มีโอกาสตัดสินใจเรื่องบ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับคนทุกคน มันมีความหมายว่าคนทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน ก็คือหนึ่งคนหนึ่งเสียง อาตมาคิดว่ากระบวนการอย่างนี้สำคัญในเมืองไทยยุคปัจจุบันที่มีความคิดเป็นกลุ่มก้อนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

การเลือกตั้งเป็นวิธีแก้ไขความขัดแย้งของคนในชาติด้วยสันติวิธี มันหมายถึงการที่คนมีสิทธิ์คิดต่างกันได้แทนการใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน แทนที่ใครที่มีอำนาจเหนือกว่าจะได้ชัยชนะ ก็สู้กันด้วยเหตุด้วยผลซึ่งสุดท้ายก็ต้องใช้การลงคะแนนเสียง ถ้าไม่อยากให้บ้านเมืองเกิดความรุนแรงตัดสินด้วยกำลังก็ต้องใช้การเลือกตั้งเป็นทางออก

ในประเทศอื่นที่มีความขัดแย้งรุนแรงยิ่งกว่าบ้านเมืองเรา เช่น แอฟริกาใต้ เขายังใช้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งแล้วสงครามระหว่างคนผิวขาวและผิวดำคงจะยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้...

ผลจากการลงคะแนนเสียงอาจมีข้อบกพร่อง ไม่ดีที่สุด หรือพูดอีกอย่างคือเลวน้อยกว่าวิธีการอื่น อาตมาคิดว่าเราควรให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ในฐานะที่เป็นกลไกในการตัดสินว่าบ้านเมืองเราจะไปทางไหน เพราะวิธีนี้มันบังคับให้เราต้องใช้เหตุผลที่จะหว่านล้อมชักชวนเอาชนะใจของคนที่คิดต่างจากเรา ซึ่งมันจะทำให้เกิดทางออกที่เป็นประโยชน์ประกอบด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งน่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ผลักดันประเทศไปสู่ทางที่ถูกต้องเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่และทุกฝ่ายไม่มากก็น้อย" เป็นคำกล่าวของพระไพศาล

ณ วันนี้เหตุการณ์การชุมนุมที่ดูมีความคุกรุ่นดำเนินมากว่า 2 เดือน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ หากนึกถึงความรุนแรงข้างหน้าที่อาจบานปลาย ความเห็นที่เสนอทางออกอย่างสันติวิธีที่หยิบยกมานี้...ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายคัดค้าน ฝ่ายบอยคอต และฝ่ายจัดการเลือกตั้ง น่านำมาใคร่ครวญยิ่งนัก

ประเด็นซื้อสิทธิขายเสียงที่กังวลกันนั้น ต้องวางใจให้มีสติ ไม่มองแบบตีค่าผู้อื่นในเชิง Dehumanize เพราะรังแต่จะสร้างสังคมแบ่งแยก เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่ถอยหลังไปไม่ได้อีกแล้ว ผู้คนอีกมากในประเทศนี้ไม่อยากติดหล่มกับดักการเมือง วนไปวนมาจนประเทศชาติเศรษฐกิจเดินหน้าไม่เต็มสูบเสียที

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------

วันตัดสิน 318 ส.ส.-ส.ว.

381ส.ส.-ส.ว."ลุ้นระทึก! ปปช. "เหมาเข่ง"หรือ"รายคน" ปมแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. วิบากกรรม รัฐบาลยิ่งลักษณ์

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดสรุปสำนวนและลงมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 381 คน หรือไม่

หลังจากเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อหากล่าวหากับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ไปแล้ว และนัดให้ทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ม.ค.นี้

สำหรับข้อกล่าวหาที่ทั้ง นายสมศักดิ์ และ นายนิคม ถูกร้องเรียนคือ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 66 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554

โดยร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270 กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ .... พ.ศ. ... เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คำร้องดังกล่าวมีผู้ยื่นร้องต่อ.ป.ป.ช. 5 สำนวน โดยป.ป.ช.มีมติให้รวมเป็นสำนวนเดียวกัน

หนึ่งในนั้น เป็นสำนวนของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าให้ปากคำต่อป.ป.ช. โดยระบุเกี่ยวกับความผิดของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 383 คนไว้ว่า

มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยในคำร้องยังได้อ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วย

พร้อมระบุถึงพฤติการณ์เฉพาะตัวของผู้ที่กระทำความผิดไว้เป็น 3 ส่วน คือ การกระทำความผิดของผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาและประธานในที่ประชุมรัฐสภา

ส่วนที่ 2 คือ การกระทำความผิดของผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. นำโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ร่วมกับสมาชิกรัฐสภารวม 310 คน และส่วนที่ 3 เป็นการกระทำความผิดในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา

โดยมีพฤติกรรมการกระทำความผิด ดังต่อไปนี้ ในส่วนของสมาชิกรัฐสภา 310 คนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. เสนอร่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านดุลยภาพในการตรวจสอบตามระบบรัฐสภา ทำให้ ส.ว.มีสภาพไม่แตกต่างจาก ส.ส.

ส่วนพฤติกรรมของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ มีคำสั่งนัดประชุมรัฐสภาโดยแจกจ่ายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวคนละฉบับกับร่างที่นายอุดมเดช และคณะเสนอ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากร่างเดิมในหลายประการ

อาทิ การเพิ่มเติมหลักการที่ให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ยังมีการเรียกประชุมวันที่ 18 เม.ย.2556 เพื่อกำหนดวันแปรญัตติโดยให้เริ่มต้นนับวันแปรญัตติย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2556 ทำให้เหลือเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคือ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ตัดสิทธิผู้ขออภิปรายและผู้เสนอคำแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นจำนวน 57 คน โดยที่ยังไม่มีการฟังอภิปราย

อีกทั้งยังมีการใช้เสียงข้างมากลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. ทำให้ ส.ว.กลับไปเป็นสภาผัวเมีย และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปีก่อนลงสมัคร ส.ว.อีกด้วย

ส่วนที่ 3 คือ พฤติกรรมการลงมติของสมาชิกรัฐสภา มีการทุจริตในการลงคะแนน จากกรณีที่นายนริศร ทองธิราช ได้เสียบบัตรแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่นด้วยการเสียบบัตรแทนหลายบัตรในการลงมติคราวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อบังคับรัฐสภาและละเมิดรัฐธรรมนูญ

และสมาชิกรัฐสภา 381 คน ไม่รวมนายสมศักดิ์ กับ นายนิคม ยังได้ร่วมลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวาระที่สามด้วย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2556

สำหรับ ส.ส.และส.ว.อีกจำนวน 381 คน ที่เหลือ ถูกร้องเรียนในข้อหาลักษณะเดียวกันกับ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ส่วนจะถูกแจ้งข้อหาแบบ "เหมาเข่ง" หรือเป็น "รายบุคคล" ต้องรอลุ้นในวันที่ 7 ม.ค.นี้

แต่ที่แน่ ๆ งานนี้ต้องมีคนถูกแจ้งข้อหาอย่างแน่นอน

ในจำนวนส.ส.และส.ว. 381 คน ที่ป.ป.ช.กำลังจะลงมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่นี้ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็น 1 ที่ร่วมลงคะแนนผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.ในวาระที่ 3 รวมอยู่ด้วย

เมื่อผ่านกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงแล้ว

สมมติหากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้ถอดถอนบุคคลทั้งหมดตามคำร้อง ก็จะทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ทันที ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังส.ว.ให้ลงมติถอดถอนต่อไป

ในกรณีถอดถอนออกจากตำแหน่ง สำหรับ "ส.ส." อาจไม่มีปัญหาอะไร เพราะขณะนี้ได้พ้นจากหน้าที่ส.ส.ไปกันหมดแล้ว แต่สำหรับ "ส.ว." กว่า 50 ชีวิต ยังต้องเจอกับ "วิบากกรรม" หยุดปฎิบัติหน้าที่ และเข้าสู่กระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา

นอกจากนั้น หากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีอาญาด้วย คดีก็ต้องถูกส่งไปยัง "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"

ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวหนักหนาสำหรับ "นักการเมือง" เพราะมีสิทธิถูกสั่ง "เว้นวรรค" ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และอาจมีโทษทางคดีอาญาอีกด้วย

คาดหมายกันว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน ป.ป.ช.น่าจะสรุปได้ว่าจะชี้มูลความผิดใครบ้าง "คอการเมือง" คงรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อแน่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

วาระประเทศไทย ปี 57

 ปัญหาของประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะมีพรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของนักธุรกิจ นายทุน และเครือญาติ ที่มุ่งแต่จะหาช่องทางกระทำการทุจริตคอร์รัปชันรวมถึงออกกฎหมายเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องจนเกิดความวุ่นวายขัดแย้ง แบ่งแยกในสังคมจนทุกวันนี้ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อให้หลุดพ้นจาก “หลุมดำ” และเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  อ่าน “ปฏิรูปประเทศไทย วาระที่คุณปฏิเสธไม่ได้ และสัมภาษณ์ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงมุมมองจาก 10นักคิด-นักธุรกิจ ที่อยากให้มีการปฏิรูปประเทศไทย
   
พลิกเข้าไปติดตามรายละเอียด หน้า 8, 9และ 10

ปฏิรูปประเทศไทย วาระที่คุณปฏิเสธไม่ได้

ผลจากวิกฤติการเมืองที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และยืดเยื้อข้ามปีมาถึงวันนี้   แม้ด้านหนึ่ง นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งส่งกระทบต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่นๆในวงกว้างกว่าวิกฤติการเมืองที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งของความสับสนทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ได้จุดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปดังกระหึ่มออกมาจากทุกภาคส่วนของสังคมที่เรียกร้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพมุมกลับ แตกต่างจากก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิงที่ การปฏิรูปไปได้ไกลสุดคือรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำการศึกษา

-เมื่อปฏิรูปผุดเป็นดอกเห็ด
   
ปลายปีที่ผ่านมา เวทีหาทางออกประเทศไทย ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด หลังนายกฯยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 กันยายน  เพื่อผ่าทางตันทางการเมือง  ในซีกรัฐบาลได้จัดตั้งเวที "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน"  นักวิชาการต่างความเชื่อ ต่างแข่งกันเปิดเวทีถกกัน   เช่นเดียวกับตัวแทนภาคธุรกิจที่กระโดดลงมาอาสาเป็นผู้ประสาน  รวมทั้งเวทีของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยทุกเวทีต่างพูดเหมือนๆกันว่า "เราต้องปฏิรูปประเทศไทย" ท่าทีที่ไปทางเดียวกันจากเวทีทั้งหลายนั้น เหมือนสังคมให้ฉันทนามติยกเรื่องปฏิรูปขึ้นเป็น วาระประเทศไทย โดยเนื้อหาที่เรียกร้องการปฏิรูปประเทศ   มุ่งไป 2 ด้านหลัก 1. กติกา การเลือกตั้งที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. ระบุว่ากติกาปัจจุบันเอื้อให้มีการซื้อสิทธิขายเสียงและเปิดทางให้ระบอบทักษิณเข้าครอบงำประเทศ และ 2.ปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
   
ประเด็นที่ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย ออกมาระบุว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น ปีหนึ่งไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท

-ก่อนเป็นกระแส
   
อย่างไรก็ดีก่อนหน้าที่การปฏิรูปจะถูกชูขึ้นเป็นวาระประเทศ การปฏิรูปถูกกล่าวถึงเป็นระยะมาตั้งแต่ปี 2553  หลังจลาจลเผาเมืองรัฐบาล  อภิสิทธิ์ ได้ตั้งกลไกขึ้นมา 4 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริงที่มาของปัญหาและทางออกจากวิกฤติการเมือง โดยคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) มี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กับคณะกรรมการสัมมัชชาปฏิรูป(คสป.)มี หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส  เป็นประธาน เป็นกลไกชุดหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้น  อานันท์   เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า ปัญหารากเหง้าของสังคมไทย เกิดจากความแตกต่างเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เปิดพื้นที่ให้กับ คนส่วนใหญ่ในประเทศ และนำไปสู่การกระจุกตัวของ อำนาจและความมั่งคั่งในเมืองหลวงและหัวเมืองหลัก (เลือกตั้งทั้งที ควรต้องมีการปฏิรูป โดย สำนักงานปฏิรูปสังคมไทยที่เป็นธรรม วันที่ 14 พฤษภาคม 2554) และคสป.ได้เสนอกรอบการปฏิรูป 8 ด้าน (ดูตารางประกอบ)  ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจการเมืองสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยส่วนหนึ่งในชุดข้อเสนอที่ถูกกล่าวถึงอย่างจริงจังคือ  รื้อโครงสร้างอำนาจ “กระจายอำนาจ” และ "กระจายความมั่งคั่ง"
   
คปร.ได้รวบรวมผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปไว้ใน "แนวทางปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"  แต่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นกุมอำนาจรัฐหลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เรื่องการปฏิรูปถูกวางเป็นเรื่องแก้ปัญหาการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากกว่าเป็นพันธกิจต้องทำ  ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมาให้ความสนใจเรื่องปฏิรูปอีกครั้ง เมื่อการเมืองร้อนขึ้นมา

-ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ จุดไฟปฏิรูป
   
การปฏิรูปกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2556 เมื่อกระแสการเมืองเริ่มร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่เข้มข้นทั้งในและนอกสภา  ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี  หาทางออกทางการเมืองให้ตัวเอง ด้วยการได้จัดตั้งเวทีปฏิรูปโดย ยิ่งลักษณ์ได้เสนอแนวปฏิรูป 8 ประการไว้ด้วย(ดูตาราง ประกอบ)  ก่อนที่เวทีนี้จะกลายเป็นสินค้าหมดอายุ หลังการต่อต้านร่างกฎหมายอื้อฉาวฉบับนั้น  ยกระดับเป็นโค่นระบอบทักษิณ และนำการเมืองเข้าโหมดวิกฤติเช่นเดียวกับปี 2551-2553 แม้รัฐบาลตัดสินใจยุติผลักดันแล้วก็ตามที  และเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าด้วย  ควรมีการปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง หลังนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา (9 ธันวาคม )  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวหนุนแนวทางปฏิรูปของหมอประเวศเป็นครั้งแรกนับแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างการสัญจรในภาคเหนือ
   
ในห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้นการปฏิรูปถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง  สถาบันและบุคคลชั้นนำ พาเหรดออกมาเสนอความเห็นกันถ้วนหน้า สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เสนอชุดความคิดขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจการเมืองและสังคมโดยจัดวางการปฏิรูปการเมืองไว้อันดับ 1 การปฏิรูประบบตรวจสอบอันเข้มแข็งจากภาคประชาชนเป็นอันดับ 2  และยังพ่วงเรื่องปฏิรูปสื่อไว้ด้วย  สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯเศรษฐกิจรัฐบาลทักษิณที่ผันตัวมาเป็นนักวิชาการ  ย้ำว่าประเทศไทยต้องปฏิรูปครั้งใหญ่และรวดเร็ว โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า "สถานะการเมืองเป็นสถานะที่จะทำให้ประเทศอ่อนแอ" สมคิดมองว่า กลไกรัฐซึ่งเป็นตัวคิดขับเคลื่อน ผลักดันและสนับสนุน  มีปัญหาเรื่องการยอมรับ   ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ชูจัดตั้งสภาปฏิรูปเป็นทางออกจากวิกฤติการเมืองที่รุมเร้าประเทศไทยอยู่  

-เหตุที่ต้องเปลี่ยน
   
อย่างไรก็ดีกระแสปฏิรูปที่เชี่ยวกรากอยู่เวลานี้นอกจากวิกฤติการเมือง กับปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังเป็นผลจากปัญหาสะสมของประเทศไทยที่ยังไม่มีการสะสางอย่างจริงจังจนประเทศไทยเป็นประเทศที่มี "วาระแห่งชาติ" มากระดับโลก ตั้งแต่เรื่องความอ้วนไปจนถึงปัญหาระดับชาติอย่างโครงสร้างอำนาจ เป็นอีกสาเหตุเช่นกัน เช่นมิติ ด้านการศึกษาที่ผลสะท้อนจากการทดสอบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าไทยกำลังจะล้าหลัง  หรือมิติทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายออกมาเตือนว่า ไทยแลนด์กำลังเสื่อมถอย  ตัวอย่างที่ถูกนำมาสนับสนุนข้อสังเกตดังกล่าวคือความจริงที่ว่า  ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานนับทศวรรษแล้ว หรือก่อนหน้านี้ประเทศไทยถูกจับประกบมาเลเซีย ในฐานะคู่แข่งชิงตำแหน่งเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย  แต่วันนี้เพื่อนบ้านทางใต้ของเราได้ ขยับขึ้นไปอยู่ข้างหน้า และไทยถูกนำไปเปรียบกับ เวียดนาม ประเทศสังคมนิยมที่เศรษฐกิจกำลังร้อนแรง  พร้อมกับการหยิบยก ฟิลิปปินส์ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาอ้างอิงว่าไทยมีอาจจะเดินตามรอยสมาชิกอาเซียนที่เคยถูกจับตาว่าจะเป็นดาวเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว ก่อนกลายเป็นประเทศป่วยจากปัญหาคอร์รัปชันและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เกาะกินประเทศมาอย่างยาวนาน
   
จากวิกฤติการเมืองที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า กับ ปัญหาสะสมในหลายมิติๆจนกลายเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง  คือแรงกดดันให้เกิดกระแส  เมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลง   จนอาจกล่าวได้ว่า ณ  นาทีนี้  ไม่ว่าเกมการเมืองที่หมุนติ้วอยู่เวลานี้ จะพลิกออกมาหน้าไหน ปฏิรูปประเทศไทย คือวาระที่ไม่ว่าใคร ก็ไม่กล้าปฏิเสธ แน่นอน

-ร่างพิมพ์เขียวประเทศไทย

นับแต่การรัฐประหารในปี 2549 จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้กับดักการเมือง   ล่าสุดกระแสสังคมลุกฮือขึ้นมาคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ก่อนยกระดับสู่การเป่านกหวีดต้านโกงขับไล่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"จนต้องชิงยุบสภา โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. สวมบทแกนนำ เรียกร้อง นายกฯรักษาการที่ไม่ผูกโยงกับการเมือง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
   
ขณะที่ 7 องค์กรเอกชนออกมาหนุนตั้งองค์กรอิสระปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง โดยออกแถลงการณ์ร่วมกันหลังจากที่ความคิดเห็นของสังคมต่างกันแบบสุดขั้ว ระหว่าง
ปฏิรูป"ก่อน"หรือ"หลัง"การเลือกตั้งท่ามกลางที่การปฏิรูปถูกชูขึ้นเป็นวาระประเทศไทยโดยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนในสังคม
   
ฟังเสียงมุมมองตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจ นักวิชาการ นักการเมือง สถาบันการเงิน  "อยากเห็นประเทศไทยไปทางไหน"จาก 12 กูรู ที่ส่วนใหญ่สะท้อนภาพทิศทางเดียวกันว่า อยากเห็นประเทศไทยมีการปฏิรูปประเทศ หลังจากติดหล่มปัญหาจนกระทบความเชื่อมั่นด้านต่างๆ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
   
อยากเห็นปี 2557 เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศไทย  เนื่องจากขณะนี้ดูเหมือนว่า สังคมเห็นตรงกันว่า ควรมีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ แต่ยังถกเถียงกันว่า ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และควรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป   ส่วนตัวเห็นว่า การเลือกตั้งควรต้องมีในเร็ววัน แต่ต้องไม่ทิ้งการปฏิรูป  อันที่จริง การเริ่มปฏิรูปสามารถทำก่อนเลือกตั้ง โดยรัฐบาลรักษาการออกกฎหมายตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายขึ้นมา  เพื่อให้ดำเนินการปฏิรูปต่อเนื่องหลังมีการเลือกตั้ง    
   
ผมอยากเห็นทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน โดยรัฐบาลควรส่งสัญญาณในการปฏิรูปบางอย่างก่อน หลังจากนั้นพรรคการเมืองควรมาร่วมกันทำสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม จะต้องมุ่งมั่นปฏิรูปประเทศ ไม่ต้องทำทุกเรื่อง ควรเลือกทำเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งเช่น การคอร์รัปชัน  การใช้อำนาจเกินขอบเขต และปัญหาความเหลื่อมล้ำ"
   
โดยควรตั้งเป้าผลักดันการปฏิรูป รวมทั้งการออกกฎหมายต่างๆ  ให้เสร็จโดยเร็ว  ทั้งนี้ควรมีการตั้งเป้าหมายว่า เรื่องที่น่าจะเห็นตรงกันทุกฝ่ายอยู่แล้ว เช่น การให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ ควรต้องแล้วเสร็จใน 3 เดือนหลังรัฐบาลแถลงนโยบาย   เรื่องที่ต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น มาตรการลดความเหลื่อมล้ำบางด้าน ควรต้องเสร็จใน  6 เดือน  ส่วนเรื่องยากขึ้นไปอีก ไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ปี
   
อยากเห็นทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน โดยรัฐส่งสัญญาณปฏิรูปบางอย่างก่อน"

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO)
   
ปี 2557 อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้า 4 เรื่อง เรื่องแรก การต่อต้านคอร์รัปชันโดยสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยก่อน เนื่องจากมีความสำคัญที่สุดและเป็นบ่อเกิดของปัญหา เรื่องที่ 2 เสนอให้ทำเรื่องวินัยทางการคลัง ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็แล้วแต่เข้ามาบริหารประเทศ หากมีวินัยในการใช้จ่ายเงินและดูแลภาระหนี้แล้ว ก็จะส่งผลดีให้การปฏิรูปประเทศไทยประสบความสำเร็จ
   
นอกจากนี้ด้านบทบาทเวทีกลางรับฟังความเห็นโดยตรงจากทั้ง 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตรง ฉะนั้นหลังจากบทบาทเป็นเวทีกลางจบสิ้นลงแล้ว สภาธุรกิจตลาดทุนก็จะอาศัยจังหวะนี้เพื่อเสนอทางออกใน 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นโดยผ่าน 7 องค์กรภาคตลาดทุน
   
เรื่องที่ 3 ควรอาศัยจังหวะนี้ปฏิรูป ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเสียใหม่ด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ไทยพึ่งพิงภาคส่งออกมากเกินไป ซึ่งในอดีตได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการที่ประเทศพึ่งพิงการส่งออกสูงถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น ดังนั้นควรส่งเสริมภาคธุรกิจอื่นๆให้มีบทบาทเพิ่มขึ้น อาทิ สนับสนุนในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอ็สเอ็มอี)    เรื่องที่ 4 ควรกำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางประเทศไทยให้ชัดเจนไปว่าจะเดินไปทางไหน โดยควรทำเป็นแผนระยะยาวด้วย
   
เสนอให้ทำเรื่องวินัยทางการคลัง ก็จะส่งผลดีให้การปฏิรูปประเทศไทย"

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
   
วาระของประเทศไทยในปี 2557 ที่ตลท.เสนอและอยากเห็นนั้น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ 7 องค์กรภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมีสมาชิก 7 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เสนอตัวจัดเวทีกลางเพื่อระดมความคิดเห็น พร้อมสนับสนุนต่อต้านคอร์รัปชัน และสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย เป็นต้น
   
เห็นด้วยที่จัดเวทีกลางระดมความคิดเห็น พร้อมหนุนต้านคอร์รัปชันและปฏิรูป"

นายชาติศิริ  โสภณพนิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
   
วิสัยทัศน์ต่อ "บริบทวาระประเทศไทย"ช่วงเวลานี้คือโอกาสสำหรับประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ กำลังเกิดขึ้น ทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค  การหลอมรวมในระดับภูมิภาคภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  การพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค  และการเติบโตของสังคมเมืองสู่จังหวัดต่างๆ ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
   
ดังนั้นวาระที่ประเทศไทยควรคำนึงถึง คือ 1. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. การศึกษา ทั้งในด้านคุณภาพและความทั่วถึง  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทรัพยากรบุคคลของชาติสามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานอาเซียน และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ 3.  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัว เมื่อความเป็นเมืองขยายตัวออกไป ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านพลังงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
   
4.การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลง จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการวางแผนทางการเงินเพื่อให้ประชากรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีในวัยหลังเกษียณ โดยไม่เป็นภาระของประเทศและลูกหลาน  5.การก้าวพ้นปัญหาวิกฤติทางการเมืองในขณะนี้ให้ได้ทั้งนี้ในส่วนของสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนในการหาทางออกให้แก่ประเทศ โดยยึดหลักการของกฎหมาย ความถูกต้องชอบธรรม ตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และปราศจากความรุนแรง
   
วาระประเทศไทยช่วงนี้คือโอกาสของไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ กำลังเกิดขึ้น"

ศาสตราพิชาน ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  ประธานกรรมการสถาบันอนาคตไทยศึกษา
   
นาทีนี้คนไทยจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่เฉพาะการเลือกตั้ง  เพราะเรามีปัญหาสั่งสมมาตั้งแต่อดีตที่ยังมิได้แก้ไข  เราแก้ไม่ได้และไม่อาจแก้  หรือแม้แต่มุ่งมั่นที่จะแก้  เพราะสภาพการเมืองในบ้านเมืองที่มุ่งเน้นแต่การแสวงหาซึ่งอำนาจและใช้อำนาจที่ได้มานั้นเพื่อจรรโลงอำนาจ  แทนที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อพัฒนาบ้านเมืองอย่างที่ควรจะเป็น  จนประเทศเสื่อมถอยลงทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ท่ามกลางความรุดหน้าของชาติเพื่อนบ้านที่เคยมองดูเราด้วยความอิจฉา
   
แต่วันนี้ไทยตื่นตัวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   ในด้านหนึ่งอาจดูเสมือนว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงและแตกร้าว  แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเราเชื่อว่าในหัวใจของคนไทยทุกคนล้วนรักและไม่อยากทำร้ายประเทศไทย   เราคนไทยจะต้องไม่ใช้ความตื่นตัวนั้นเพื่อใช้ในการต่อสู้ฟาดฟันเพื่อเอาชนะ  
ในทางตรงข้าม   เราทุกฝ่ายต้องส่งเสริมพลังที่ไม่เคยเกิดขึ้นนี้ผลักดันร่วมกันในทางบวกเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองในบ้านเมือง อันจะนำไปสู่การปฏิรูปในด้านอื่นๆ  อย่างสันติ อย่างมีสติ อย่างใช้ปัญญา  และอย่างร่วมมือร่วมใจ  และหากเรายังละทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ยังคงคิดถึงอำนาจและชัยชนะทางการเมือง คงยากที่จะสร้างไทยให้สมบูรณ์รุดหน้าได้อีกแล้ว
   
ฉะนั้น ณ นาทีนี้  เราคิดว่ามันไม่ใช่นาทีแห่งการเลือกตั้งเพียงเพื่อรักษาเปลือกที่ผุกร่อนของประชาธิปไตยเท่านั้น   แต่เป็นนาทีที่ทุกฝ่ายต้องละทิ้งเป้าหมายส่วนตน  และหันมาร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างแก่นแท้แห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงให้จงได้
   
เราทุกฝ่ายต้องส่งเสริมพลังที่ไม่เคยเกิดขึ้นนี้ ให้เกิดปฏิรูปการเมือง อย่างสันติ"

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ  ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
   
ในนามตัวแทน 7 องค์กรภาคเอกชนมองว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไข จึงเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองทันทีไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ โดยการปฏิรูปไม่สามารถทำได้ภายใน 2 เดือน และการปฏิรูปบางเรื่องอาจใช้เวลานาน 5-10 ปี  แต่สามารถเริ่มจากบางส่วนได้ก่อน
   
ทั้งนี้กรอบการทำงานการปฏิรูป มีข้อเสนอ  เช่น การกำหนดกติกาเข้าสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน เช่น ระบบการเลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียงและใช้อิทธิพลใดๆ และความโปร่งใสของกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ  รวมถึงการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของผู้แทนประชาชน องค์กรอิสระและสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ  รวมถึงขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม  ขณะที่โครงการที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และวินัยการคลัง ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก และมีกระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
   
อย่างไรก็ตามการปฏิรูปมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องทำทันที  จึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้ความสุขุมรอบคอบและวิจารณญาณที่จะช่วยแก้ไขปัญหาชาติ  จึงขอเรียกร้องให้นักการเมืองและคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศ และหันมาเจรจาหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และขอให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป  รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปตามข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อการปฏิรูป และในเวลาเดียวกันให้บริหารประเทศและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดและชะงักงัน และควรทำภารกิจข้างต้นให้เสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 1 ปี
   
กำหนดกติกาสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เช่น เลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียง"

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
   
ปี 2557 อยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ให้ทุกฝ่ายมีความสามัคคีกันเกิดขึ้น และอาศัยศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ เป็นจุดดึงดูดนักลงทุน และพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดความเข้มแข็ง มีการสร้างความเท่าเทียม สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพราะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ที่จะต้องมีการดำเนินงานในรูปแบบคลัสเตอร์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบอุตสาหกรรม ที่จะต้องอาศัยภาคเอกชน รัฐบาล สถาบันการศึกษา ฯ ช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งหากเศรษฐกิจดี ย่อมหมายถึงประชาชนในประเทศอยู่ดีกินดีด้วย ซึ่งวันนี้เราต้องใช้ศักยภาพของประเทศที่มีอยู่ให้เต็มที่ ในการรองรับนักลงทุนหรือการขยายงานเพื่อเปิดโอกาสออกไปสู่การแข่งขันนอกประเทศมากขึ้น
   
พร้อมสะท้อนให้เห็นว่าการที่จะปฏิรูปประเทศไทย คงไม่สามารถเริ่มจากด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เพราะทุกด้านมีความเกี่ยวเนื่องกัน รวมไปถึงตัวบทกฎหมาย ระบบราชการ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะต้องมีการนำมาปรับปรุง และทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
   
อีกทั้ง การปฏิรูปประเทศไทยนั้น  มีหลายเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการทุกด้านพร้อมกัน ซึ่งอาจจะต้องมีการนำมาจัดหมวดหมู่ ในการเข้าไปแก้ไขหรือปรับปรุง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ให้เกิดความรู้สึกน้อยใจว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม
   
การปฏิรูปประเทศไทย ต้องไปพร้อมกันทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง"

นายประสิทธิ์  บุญเฉย  นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย
   
อยากเห็นรัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพราะเห็นแล้วว่าโครงการไปไม่รอด มีการทุจริตสูง และมีปัญหาจ่ายเงินล่าช้าทำให้ชาวนาเดือดร้อน และเป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งเมื่อยกเลิกโครงการรับจำนำแล้วจะเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคา หรือประกันรายได้ เราขอให้ชาวนาได้ราคาที่ 1 หมื่นบาทต่อตันพอ ที่ความชื้นข้าว 25%  ไม่จำเป็นต้องเป็นราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตันเหมือนปัจจุบันแต่ได้เงินล่าช้า
   
ทั้งนี้เมื่อมีการยกเลิกโครงการรับจำนำแล้วอยากเห็นทุกฝ่ายร่วมกันปฏิรูปชาวนาที่มีอยู่ 3.7 ล้านครัวเรือน รวมกว่า 20 ล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง โดยทางหนึ่ง ส่วนตัวมีแนวคิดอยากให้มีการตั้งสภาการข้าวและชาวนาไทย โดยลักษณะมีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งจากชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก บริษัทผู้ค้าปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และปัจจัยการผลิต มาร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ในลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน (วิน วิน) ไม่เอาเปรียบกัน และจุดศูนย์กลางในการประสานงาน
   
นอกจากนี้อยากเห็นแนวทางของรัฐบาลในการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ลูกหลานชาวนาเพื่อรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีที่จะมาถึงในปี 2558  อยากเห็นภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของบริษัทผู้ผลิต หรือค้าปัจจัยการผลิตร่วมมือกับชาวนาในการจัดตั้งร้านค้าต้นแบบเพื่อจำหน่ายปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาในราคาถูก โดยหนึ่งร้านมีสมาชิก 1-2 พันรายร่วมเป็นสมาชิก และซื้อสินค้า สิ้นปีมีเงินปันผลคล้ายสหกรณ์ และในอนาคตมีการกระจายร้านค้าในลักษณะนี้ไปทั่วทุกอำเภอของประเทศในลักษณะแฟรนไชส์
   
และที่อยากเห็นคือ การสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในชนบท รวมกลุ่มกันทำโครงการเกษตรเพื่อการศึกษา เพื่อห่างไกลยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ โดยสมาคม หรือผู้ที่เห็นความสำคัญออกค่าเช่าพื้นที่ให้ก่อนในการปลูกพืชผัก ปลอดสารพิษ และจัดหาตลาดค้าส่งให้ รวมถึงการเปิดบัญชีให้เด็ก และแบ่งเงินรายได้จากการขายให้จำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งวิธีการนี้แทนที่หลังเลิกเรียนเด็กๆ จะไปเล่น หรือไปมั่วสุมก็จะใช้เวลาว่างให้เป็นโยชน์ และมีรายได้ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่มากเกินไป  
   
อยากเห็นรัฐบาลใหม่เลิกโครงการรับจำนำข้าว เพราะเห็นว่าไปไม่รอด มีทุจริตสูง"

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT)
   
องค์กรของเราประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นต่างชาติ จึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ผมจึงอยากเห็นความมีเสถียรภาพทางการเมือง ถ้ายืดเยื้อจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับโอกาสการลงทุนในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากภาพข่าวถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ผมคิดว่าทุกฝ่ายจำเป็นต้องพูดคุยกัน เจรจา และประนีประนอม นั่นเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่จะปฏิรูปอย่างไรจะต้องขึ้นอยู่กับคนไทย เพราะคนไทยรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่ไม่ว่าจะเลือกตั้งแล้วค่อยปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ต้องขึ้นอยู่กับคนไทยว่าคิดว่าวิธีการใดจะดีที่สุด
   
ถ้าไม่จำกัดอยู่เพียงการปฏิรูปทางการเมือง ผมคิดว่าเวลานี้ผู้คนพูดกันมากถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน สำหรับเรา JFCCT สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันและมีส่วนร่วมในเรื่องนี้เสมอมา เราช่วยนำความรู้และประสบการณ์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันจากต่างชาติมาแลกเปลี่ยน เพราะเชื่อว่าการคอร์รัปชันเป็นการเพิ่มต้นทุนของการลงทุนทุกประเภท และลดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
   
สำหรับประเทศไทยในปี 2557 ผมอยากเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอยากเห็นว่าเราพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หรือยัง ต้องอย่าลืมว่าปี 2558 จะเป็นปีที่เกิดเออีซี และเราต้องพร้อม ซึ่งยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ ผมคิดว่าการปฏิรูปทางการเมืองต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่ในด้านเศรษฐกิจเราต้องแน่ใจว่าเรามีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน มีความสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ผมไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก แต่อย่างน้อยเราจะวางตำแหน่งอย่างไรให้เป็นผู้นำในเออีซี นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น
   
อยากเห็นการเมืองมีเสถียรภาพถ้ายืดเยื้อน่ากังวลสำหรับโอกาสการลงทุน"

นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท.)
   
สิ่งที่อยากเห็นในปี 2557 คือ เป็นปีที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างบรรยากาศให้อยู่ในลักษณะของความไม่รุนแรง อยากให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวไทย สามารถลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยปี 2557ทาง สทท. ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยไว้ที่ 29.92 ล้านคน เติบโตขึ้น 12.1% และสร้างรายได้เข้าประเทศคาดว่าจะมากถึง 1.35 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 18%
   
อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ภายในประเทศไม่เกิดความรุนแรง การประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของทางการต่างประเทศในการเดินทางมาเที่ยวไทย ก็จะมีจำนวนลดลง จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเช่นเดิม ทั้งนี้โดยส่วนตัวนั้น เป็นห่วงตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยมากกว่าต่างชาติ เนื่องจากคนไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์โดยตรง ซึ่งเป็นผลกระทบต่อความรู้สึก สืบเนื่องไปยังอารมณ์ในการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในปีหน้า สทท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเดินหน้าโปรโมตกิจกรรม "หลงรักประเทศไทย" เพื่อผลักดันการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
   
นอกจากนี้มองว่าตลอดปี 2557 จะเป็นปีทองของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาหนาตา โดยเฉพาะตลาดจีน ที่หลังจากกฎหมายการท่องเที่ยวฉบับใหม่ออกมาเพื่อคัดกรองทัวร์ที่มีราคาไม่สมเหตุสมผล ทำให้ตลาดจีนที่เคยเติบโตดีอย่างก้าวกระโดดต้องชะงักไปเกือบเท่าตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่เชื่อว่าปีหน้าจะกลับมาสดใสเช่นเดิม เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าใจกับกฎหมายใหม่ อีกทั้งบริษัทนำเที่ยวก็เริ่มทำแพ็กเกจที่มีคุณภาพเสนอขายมากขึ้น ซึ่งเหตุนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีคุณภาพมากขึ้นด้วย  แต่ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนตลอดปี 2557 ว่าจะคึกคักมากน้อยแค่ไหน
   
อยากให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ  ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย"
สัมภาษณ์คำต่อคำ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ , ประมนต์  สุธีวงศ์

 การลุกฮือของประชาชนทั่วสารทิศจากแสนเป็นล้านคน และมีแนวโน้มยกระดับการต่อสู้กับ"ระบอบทักษิณ" และขับไล่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"หนักหน่วงและต่อเนื่อง แต่เป็นไปอย่างสันติอหิงสา เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่ธรรมดาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา    "ฐานเศรษฐกิจ"ในฉบับต้อนรับปีมะเมีย สัมภาษณ์พิเศษ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ สะท้อนมุมมอง ให้แง่คิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง พร้อมชี้ทางออกปัญหาเพื่อ  "อภิวัฒน์ประเทศ" ให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างแท้จริง  ท่านแรก  ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์    คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของทฤษฎี "2 นคราประชาธิปไตย"
   
ผู้ทรงคุณวุฒิลำดับถัดมา"ประมนต์  สุธีวงศ์" ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ถือเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยออกแถลงการณ์ต่อต้านกฎหมายล้างผิดคดีโกงเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2556 ที่รัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
   
ศ. ดร.เอนก เจ้าของทฤษฎี "2 นคราประชาธิปไตย"  เปิดมุมมองต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า เราควรจะเอาความเคลื่อนไหวของประชาชนแต่ละครั้ง นำมาเป็นบทเรียนเป็นแง่คิดให้เราได้เรียนรู้ว่า ประชาชนที่มาประชุมเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านเขาต้องการอะไรบ้าง และประชาชนที่มาชุมนุมเป็นประชาชนที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ เราต้องเรียนรู้จากทุกๆการชุมนุมของสีแดง และราชดำเนิน  อย่าเอาการชุมนุมไปผูกติดกับคำถามเดิมปัญหาเดิมอยู่ตลอด ให้มีโจทย์ใหม่ คำตอบใหม่อยู่เสมอ เช่น ไม่ควรมองแต่เพียงว่าม็อบจะเอาชนะรัฐบาลได้อย่างไร  รัฐบาลจะจัดการม็อบได้อย่างไร
   
หากมองในแง่พัฒนาการทางการเมืองมันก็ดี  ได้เรียนรู้จากขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาว่า ไม่ควรเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจ ได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ไม่มีการนองเลือดไม่มีการใช้ความรุนแรง  ฟันฝ่ากับจุดเปลี่ยนจุดผกผันหลายๆอย่างมาได้ เช่น เหตุการณ์ปะทะกันที่รามคำแหง ไม่ได้ทำให้ลุกลามใหญ่โต ต้องชมทั้งทางสีแดงและราชดำเนินว่าเขากอบกู้สันติวิธีกลับมาได้  หรือช่วงที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่กัน 2-3 วัน ก่อนที่ไม่มีแก๊สน้ำตา ไม่ได้มีการเผาหรือทำร้ายคำหรือข้าวของ หรือเข้าสู่สถานที่ราชการก็ไม่ยึดนาน ชี้ให้เห็นและเรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่คลี่คลายไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็เลือกที่จะไม่ปะทะ เลือกใช้สันติวิธีให้มากที่สุด สีแดงก็ไม่เคลื่อนมาปะทะ มันก็ดีขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย การชุมนุมที่รักษาสันติวิธีได้มันก็จะเป็นประวัติศาสตร์

-ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ
   
ผมหาคำที่จะมาใช้แทน "ปฏิรูป" ไม่ได้ มันต้องใช้คำ "อภิวัฒน์" คำที่ไม่ใช่รัฐ หรือส่วนกลางอย่างเดียว ไม่ใช่นักการเมืองที่ควบคุมรัฐบาล มันอาจจะต้องเป็นประชาชน สังคม ท้องถิ่น  การอภิวัฒน์ต้องทำด้านวัฒนธรรมให้มากที่สุด  รวมทั้งการแสวงหากรอบคิดใหม่ๆที่จะทำให้เราออกจากกรอบเดิมด้วย สำคัญมาก ที่เลี่ยงใช้คำว่า"ปฏิรูป"เพราะไม่อยากเห็นอะไรที่มันเป็นช่องเป็นซอง มันอาจจะมีอะไรที่มันอาจจะกระจัดกระจายแยกกันเป็นคนละพวง จะไปคิดให้เป็น Total change เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอาจไม่ใช่
   
สิ่งที่ผมอยากเห็นคำว่า"อภิวัฒน์" ไม่ใช่"ปฏิรูป"ให้คนชั้นล่างหรือคนชั้นกลางมีอะไรที่มากกว่าการหย่อนบัตร ให้เขาเอาความอยากความต้องการของเขามาแบบนโต๊ะ แล้วทำอย่างไรจะให้นักการเมืองฟังตรงนั้น คนชั้นกลาง คนชั้นสูง มารับฟังสิ่งเหล่านั้น แล้วก็ผลักดันให้คนชั้นล่าง หรือชนชั้นกลางระดับล่างมีความสำคัญมากขึ้น  เกษตรกรมี 60-70% แต่ไม่มีส.ส.เข้ามาอยู่ในสภาเลย ต้องมีวิธีการสรรหา วิธีการเลือกตั้งผู้แทนที่มาจากอาชีพเกษตรกรให้มากขึ้น ที่มาจากเกษตรกรทุกภาคตามสัดส่วนประชากร  หรือทำอย่างไรให้มีสภาคนต่างจังหวัด สภาคนกลาง ให้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพิ่ม
   
อีกด้านหนึ่งต้องอภิวัฒน์ให้ชนชั้นกลาง คนชั้นสูง ซึ่งอะไรดีอยู่แล้วให้สนใจปัญหา นอกเหนือจากอาชีพ นอกเหนือจากหุ้นตก เป็นห่วงจีดีพี โตไม่พอ ให้มาสนใจในเรื่องอื่นๆของชาติบ้านเมืองมากขึ้น ให้เขาได้มามองปัญหาและทางออกของประเทศด้วยมุมมองใหม่ๆ ทำอย่างไรให้เห็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางเป็นพันธมิตรของเขา  เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็จะอยู่แบบ 2 นคราอยู่อย่างนี้
   
ม็อบใหญ่ที่จะไล่รัฐบาลในวันที่ 22 ธันวาคม ที่ผ่านมา  เหมือนปี 2538-39 คนชั้นกลางออกมาประท้วง ออกมาขับไล่รัฐบาล  ไปสรุปง่ายๆว่าม็อบเป็นแสนเป็นล้านเป็นเสียงข้างน้อย คงไม่ใช่ เพราะมันคนหลายแสนถึงล้านมันใหญ่มาก  วันที่ 9 ธันวาคม  มันเป็นประวัติศาสตร์ เพื่อไทย ควรเอาเรื่องม็อบเป็นบทเรียนอย่ามองเป็นศัตรู ผมคิดว่าเป็นคู่ปรับเป็นคู่แข่งพอได้ ต้องเรียนรู้จากเขาด้วย เหมือนที่ฝ่ายม็อบราชดำเนินไม่ควรคิดว่าสีแดงเป็นปรปักษ์ ควรเอาการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์
   
เรื่องใหญ่ๆของบ้านเมือง เป็นเรื่องของโชคชะตาของบ้านเมืองด้วย  มันเป็นอะไรที่เราคาดได้ยาก ทายได้ยาก หวังได้ยาก   ตอนที่เหตุการณ์มันเริ่มเกิด หรือกำลังขึ้นสู่ยอดสูงสุดมันทายยาก  ตอนนี้ยังไม่ถึงที่สุด ก็คงจะใกล้เต็มทีแล้ว"
   
การปฏิรูปปัจจัยอยู่ที่ประชาชน สังคม และตนเอง  เรื่องนี้มันถึงไม่ง่าย มันจะปฏิรูปครั้งเดียว มันจะจบ ผมว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้พูดเพื่อให้สั่นคลอนความคิดความเชื่อของเขา  ไม่รู้ว่าใครคิดถูก เป็นเรื่องที่จะต้องให้เวลามันบอกเรา การจะจบลงแบบไหน เรื่องใหญ่ๆของ "มหาเหตุการณ์"แบบนี้เราจะเข้าใจมันได้ดีตอนที่เหตุการณ์มันใกล้จะจบ

- ทางออกของปัญหาทหารจะช่วยได้แค่ไหน
   
ทหารต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ฝ่ายที่คิดเรื่องปฏิรูปอะไรต่างๆ ต้องคิดว่า อีกฝ่ายมีราก จะไปโยกต้นไม้จะต้องรู้ว่าต้นไม้มันใหญ่ขนาดไหน ต้องคิดอะไรที่ไร้รูปแบบให้มากขึ้น อย่าไปคิดที่มันเป็นรูปแบบจนเกินไป และต้องใช้เวลา  เวลานี้ก็เป็นเวลาที่ให้การศึกษา ทำอะไรไม่ต้องคิดว่ารอบเดียวครั้งสุดท้าย มันจะทำให้ตัวเองลำบาก ที่จะวางตนเองไปในอนาคตข้างหน้า  จะเป็นการผูกมัด
   
ผมเชื่อว่าทั้ง 2  ฝ่ายคงฉลาดกันทั้งคู่ ทำอย่างไรจะช่วยกันดูแลเหตุการณ์จากนี้ไป มันอาจจะมีหรือไม่มีการเลือกตั้ง อาจจะมีการเลือกตั้งสงบ หรือไม่สงบ  หลังเลือกตั้งจะมีม็อบอีกหรือเปล่า เป็นอะไรที่เราคาดได้ยาก ต้องตามไปดู
   
น่าสังเกตว่า การชุมนุมเที่ยวนี้ไม่มีการอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นพวกของตัวเอง    เป็นการเรียนรู้จากความบกพร่องในครั้งก่อนๆ บางอย่างก็ต้องให้เป็นของทุกๆฝ่าย ไม่งั้นก็จะแก้ปัญหาแบบสันติวิธีได้อย่างไร  การที่จะแก้ปัญหาแบบสันติวิธีได้ก็ต่อเมื่อเรามีอะไรร่วมกันอยู่ ถ้าเราไม่ร่วมอะไรกัน มันก็เหมือนศัตรู เหมือนศัตรูสู้กับชาติเรา    บางที 2 ฝ่ายคุยกันไม่ได้ เพราะขาดตัวกลางและต้องใช้เวลา        
   
การที่ฝ่ายเพื่อไทยเอาคุณยิ่งลักษณ์มาเป็นหมายเลขหนึ่ง ผมว่าไม่ต้องว่าอะไร ถ้าได้รับเลือกตั้งอีก  หลังเลือกตั้งตั้งแต่วันแรก ก็ต้องไล่กันอีก  ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะสงบ" เสียงสะท้อนที่น่าคิดจากเจ้าของทฤษฎี  "2 นคราประชาธิปไตย"

ประมนต์  สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
   
ประมนต์  กล่าวถึงสาเหตุที่ออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากเห็นแล้วว่า เป็นการนิรโทษให้กับคนทุจริต ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนในสังคมโลก อีกทั้ง พ.ร.บ.นี้ยังนิรโทษกรรมให้กับคนต่างชาติที่มาร่วมก่อทุจริตในประเทศไทยได้รับอานิสงส์ล้างผิดไปด้วย ตัวอย่างคดีทุจริตรถดับเพลิงของ กทม.ที่ศาลตัดสินไปแล้ว หาก พ.ร.บ.นี้ผ่านก็หมายความว่าไม่มีโทษ แน่นอนว่าประเทศที่เป็นคู่สัญญาเขารับไม่ได้แน่เพราะนิรโทษให้กับคนที่ทำผิดที่เป็นคนของประเทศเขา
   
ถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่านประเทศไทยเจ๊งแน่ๆ และผมเชื่อว่าเราจะหมดความชอบธรรม ไม่มีประเทศไหนมาคบค้าสมาคมด้วยจึงต้องออกมาต่อต้าน ซึ่งไม่กี่วันหลังจากนั้นก็มีคนลุกฮือกันออกมา เรียกว่าไป "เรียกแขก"ออกมาเยอะแยะเลย ทำให้งานของเราก้าวหน้าไปเร็วกว่าที่คิด เพราะส่วนหนึ่งได้สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนลุกขึ้นต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมถือว่าตรงนี้เป็นอานิสงส์จากการที่มี พ.ร.บ.นี้ออกมา ทำให้เราได้พลังมาช่วยกันขับเคลื่อนมากขึ้น"

-คอร์รัปชันนับวันยิ่งรุนแรง
   
สำหรับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยังไร้ทางออกในเวลานี้มองว่า มีต้นตอจากการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศและหมักหมมมานาน และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากดัชนีทุจริตคอร์รัปชันที่วัดภาพลักษณ์ของประเทศโดยองค์กรนานาชาติ สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยเลวร้ายลงทุกปีและไทยสอบตกมาโดยตลอด ซึ่งหากให้คะแนนเต็ม 100 ไทยจะได้ประมาณ ที่ 30 ต้นๆ อันดับคอร์รัปชันจากเคยอยู่อันดับที่ 88 หล่นลงต่ำกว่า 100  แสดงให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทั้งในระดับต่ำ  ระดับทั่วๆ ไป และระดับสูง ซึ่งลามไปในทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่เรียกร้องให้มีการจ่ายเงิน
   
เศรษฐกิจไทยนับแต่ปี 2549 ที่มีการรัฐประหารถือว่าไม่ได้เลวร้าย แต่เศรษฐกิจไทยดูแลตัวเองได้ดีพอสมควร นักธุรกิจไทยก็สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้ โดยนโยบายรัฐไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาที่หนักที่สุดที่ถ่วงความเจริญของประเทศ และเป็นตัวซ้ำเติมทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและของภาคธุรกิจลดลง เพราะต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเสียงข้างมากทำให้การตรวจสอบหรือคัดค้านในเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยได้ผล ตรวจสอบยาก และมีการทุจริตคอร์รัปชันสูง เมื่อมาผนวกกับการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคนโกง และการไม่ยอมรับอำนาจศาลจึงถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนออกมาต่อต้านมาก "
-ต้องปฏิรูป 5 ด้าน
   
สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยเสียใหม่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูป ซึ่งจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ( 2 ก.พ. 57)ค่อยว่าอีกที ซึ่งการปฏิรูปใหญ่ๆ มองว่า มี 4-5 เรื่อง เรื่องแรก ต้องปฏิรูปเรื่องคอร์รัปชันที่ถือเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด เรื่องที่ 2 การปฏิรูปเรื่องการเมือง ในเรื่องกระบวนการเลือกตั้งที่จะทำอย่างไรให้มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมอย่างแพร่หลายมากขึ้น เรื่องที่ 3 การปฏิรูปเรื่องการบริหารการปกครองโดยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เรื่องที่ 4 การปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะต้องมาดูว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจจะแก้ไขอย่างไร เราเคยมีความคิดว่า อาจจะต้องมีภาษีที่ดิน อาจจะต้องมีภาษีมรดกเพื่อที่จะทำให้คนรวยต้องมีภาระมากขึ้น และนำเงินจำนวนนั้นไปช่วยคนจนมากขึ้น การปฏิรูปพวกนี้คงต้องไปคิดว่าจะต้องมี และเรื่องที่ 5 การปฏิรูปทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการที่จะทำให้คนที่ด้อยโอกาสมีโอกาสมากขึ้น  "4-5 เรื่องนี้ เป็นการปฏิรูปที่คนพูดกัน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าต้องทำ ส่วนจะต้องทำอย่างไรมาดูรายละเอียดกันอีกทีหนึ่ง"
   
ส่วนที่มีคำถามว่าแล้วจะปฏิรูปเมื่อไหร่ ก่อนเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็มีคนจำนวนมากที่อยากจะเห็นมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าดูตามกรอบเวลาที่ต้องเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือเหลือแค่ 1 เดือนคงทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจริงๆ จะต้องมีความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายว่าให้ยืดเวลาเลือกตั้งออกไป ซึ่งในกระบวนการหรือทางเทคนิคทำได้หรือไม่ ได้รับทราบจากผู้รู้หลายคนว่า ถ้ามีความเห็นชอบด้วยกันทั้งหมดน่าจะทำได้ ซึ่งต้องไปดูในช่องกฎหมาย หรือที่พูดกันว่าสามารถขยับไปได้ และก็ให้มีผู้บริหารประเทศที่เป็นคนกลางๆ ที่คัดเลือกร่วมกันมา แล้วมาช่วยกันทำเรื่องปฏิรูปเรื่องเดียว พอปฏิรูปคุณก็ไปเลือกตั้ง อันนี้ก็เป็นความเห็นที่น่าจะลองไปคิดดูในเรื่องนี้
   
อย่างไรก็ดีหากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ก็มีการพูดกันอีกเหมือนกันว่า อยากจะขอให้มีการเซ็นข้อตกลงในสัตยาบันโดยพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องให้ยอมรับหลังเลือกตั้งเสร็จแล้วจะเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป 4-5 เรื่องที่กล่าวถึง และทำให้เสร็จภายในเมื่อไหร่แล้วก็ไปเลือกตั้ง วิธีนี้ก็ยังมีความหวังว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ซึ่งภายใต้กฎกติใหม่นี้แม้ผู้เล่น(นักการเมือง)ยังเป็นหน้าเดิมๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องปฏิบัติตามกฎ กติกาใหม่ โดยมีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น"

-ผลงาน3ปีสำเร็จระดับหนึ่ง
   
ประมนต์ กล่าวอีกว่า  ตลอดระยะเวลาประมาณ 3 ปีที่ได้เข้ามาเป็นแม่งานในองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยไม่ได้ลดลง แต่ยังคงมีการทุจริตในทุกภาคส่วนของสังคมมากขึ้น ซึ่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นซึ่งปัจจุบันมีภาคีสมาชิกทั้งประเทศ 47 องค์กรได้ติดตามและจับตาผ่านเครือข่ายทั่วประเทศที่เรียกว่า "หมาเฝ้าบ้าน"อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการปลุกจิตสำนึกของประชาชนต่อต้านในเรื่องนี้ ตัวอย่างเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้วเช่น การเสนอรัฐบาลว่าในอนาคตการประมูลงานใหญ่ๆของภาครัฐจะต้องมีการตรวจสอบโดยกลุ่มของบุคคลที่เป็นคนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งในเรื่องทีโออาร์มีล็อกสเปกให้ใครหรือไม่ เวลาประมูลได้เชิญคนเข้าร่วมประมูลมากพอหรือไม่ การตั้งราคากลางมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ได้นำต้นแบบมาจากต่างประเทศที่ภาษาไทยแปลว่า "สัญญาคุณธรรม"มาประยุกต์ใช้ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันได้รับที่จะไปร่างเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
   
ส่วนด้านการปลุกจิตสำนึกของเยาวชนได้ทำหลายโครงการ เช่น ร่วมกับ กทม.ในโครงการ "โตไปไม่โกง"โดยนำหลักสูตรเข้าไปอยู่ในโรงเรียนในสังกัด กทม. และอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดทำหลักสูตรกระจายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ส่วนเรื่องจำนำข้าวได้สรุปเรื่องการทุจริตส่งให้กับทั้งรัฐบาล และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เพื่อติดตามตรวจสอบไปแล้ว
   
ในเรื่องทุจริตรับจำนำข้าวนี้ผมรู้สึกผิดหวังที่ ป.ป.ช.ดำเนินการล่าช้า และไม่ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดเท่าที่ควร เรื่องควรจะจบได้เร็วกว่านี้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้มีเรื่องที่ ขสมก.จะจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3 พันคัน เราได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็น ส่วนเรื่องที่จับตาดูอยู่คือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง"

 ประมนต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชันทุกโครงการรวมกันตกหลายแสนล้านบาทต่อปี มีการพูดถึงการขอผลประโยชน์ 30% หรือ 10% ของมูลค่าโครงการบ้าง ซึ่งในส่วนของการติดตามตรวจสอบของภาคเอกชนก็ทำได้ในข้อจำกัด หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชัน ทำให้ประเทศมีภาพลักษณ์ที่โปร่งใสน่าลงทุนแล้วเป็นผลจากคนที่ขับเคลื่อนหลักในเรื่องนี้คือมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นงานต่อต้านคอร์รัปชันของไทยในอนาคตที่จะทำได้สำเร็จ รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
--------------------------------------------------------

พอเหอะ !!?

การชุมนุมต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ฉบับสุดซอย ที่กลายเป็นประเด็นจุดฟืนเปียกให้ติดไฟ และกลายเป็นการโอกาสในการแสดงพลังบริสุทธ์ของประชาชนที่ต้องการสั่งสอนนักการเมือง ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของถนนการเมืองของไทย

แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายกลับถูกนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง และพรรคการเมืองบางพรรคฉวยโอกาสใช้พลังมวลชนบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ด้วยการปลุกเร้าความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับผู้คน ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เลือกข้าง

บนความพยายามแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง และความพยายามที่จะบดขยี้ทำลายล้างคู่แข่งขันทางการเมือง ในลักษณะของการฉวยโอกาสแบบไม่ลืมหูลืมตา ผ่านบุคคลกล้าตายทางการเมืองที่ชื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

สถาปนาตนเองขึ้นเป็นแกนนำ โดยสร้างภาพแห่งความชอบธรรมเพียงแค่การลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้เกิดภาพที่ว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง หรือผู้ที่จะเสวยสุขแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองในภายหลัง

แต่เพราะการดำเนินการของนายสุเทพ ไม่มีกฎหมายใดๆมารองรับ มีเพียงกลุ่มประชาชนที่นายสุเทพ เรียกขานเป็นมวลมหาประชาชน ที่เป็นฐานสนับสนุนการกระทำในแง่ของการต่อสู้เรียกร้องตามสิทธิในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ที่ให้ประชาชนมีสิทธิชุมนุมประท้วงได้โดยสงบ และสันติ
แต่ในความเป็นจริง ภายใต้การนำและการปลุกเร้าของนายสุเทพ ร่วมกับ 8 อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และโดยที่มีพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นแนวร่วมในการสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องในครั้งนี้ ได้เกิดภาพของความพยายามกดดัน ข่มขู่ คุกคาม บุกยึดสถานที่ การปิดล้อมสถานที่ การสร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป

ทำให้ความชอบธรรมของนายสุเทพและกลุ่มแกนนำได้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนาๆกลับทวีเสียงสะท้อนที่ดังมากขึ้น

และไม่ใช่เพียงแค่เสียงสะท้อนจากภายในประเทศเท่านั้น บรรดาต่างประเทศกว่า 50 ประเทศก็ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเรียกร้องของนายสุเทพและแกนนำที่อาศัยพลังมวลชนเป็นแรงบีบ

แม้แต่สื่อต่างประเทศก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เกรงใจ ไม่ได้ถนอมน้ำใจแกนนำผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน
ทำให้จังหวะและโอกาสที่จะล้มรัฐบาล ที่จะทำลายคู่แข่งหมดสิ้นไป จนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ
และส่อแววที่จะลากยาว เหมือนกับคำประกาศของนายสุเทพ ที่ว่าจะสู้จนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง แม้จะต้องปิดประเทศก็จะทำ

ปัญหาก็คือ แล้วคนทั้งประเทศจะยอมให้คนที่ไม่เคารพกฎหมายใดๆอีกต่อไปแล้วอย่างนายสุเทพ กระทำการย่ำยีประเทศชาติให้บอบช้ำ โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินกระนั้นหรือ

เพราะการกล่าวอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดย สงบ สันติ ได้หมดความชอบธรรมไปพร้อมกับความพยายามขมขู่กดดัน สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้กับประเทศชาติในทุกวิถีทาง

เพียงเพราะต้องการให้เกิดความรุนแรง ต้องการให้ทหารออกมาปฏิวัติ จะได้มีการนองเลือด รัฐบาลชุดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้ต้องคดีมือเปื้อนเลือด เช่นเดียวกับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นายสุเทพเคยเป็นรองนายกฯอยู่...
เช่นนั้นใช่หรือไม่???

แล้วความเสียหายบอบช้ำของประเทศ นายสุเทพและบรรดาแกนนำผู้ปลุกปั่นประชาชนอยู่ในเวลานี้ไม่ได้ใส่ใจเลยใช่หรือไม่ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน บรรยากาศของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ซึ่งช่วงปลายปีควรจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ กลับกลายเป็นป่นปี้ฉิบหายวายวอดไปตามๆกัน

นายสุเทพและพวกกำลังสนุกกับการเผาประเทศ เผาเศรษฐกิจ เผาธุรกิจของคนจำนวนมากอยู่ ไม่รู้ตัวเลยหรืออย่างไร

การเอาแต่อ้างว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ของนางสาวยิ่งลักษณ์ เพราะดื้อดึงไม่ยอมทำความต้องการของนายสุเทพและกลุ่มประชาชน หมายความว่ารัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้นหรือที่จะต้องรับผิดชอบ

ความดื้อดึงไม่ยอมเจรจาใดๆ ดื้อดึงที่จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวของนายสุเทพ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะจัดตั้งเองหมดนั้น ไม่ใช่ความดื้อดึงที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเลยหรือ
จริงๆนายสุเทพควรที่จะทบทวนตัวเองได้แล้วว่า จากในตอนแรกที่ท่าทีของกลุ่มต่างๆ แม้แต่กระทั่ง 7 องค์กรเอกชน อย่าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ก็ยังดูเหมือนจะคล้อยตามการเรียกร้องไปด้วย

แต่เมื่อรัฐบาลยอมยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่นายสุเทพยังคงลากยาว สร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องหวังแค่จะกดดันรัฐบาลให้ลาออกจากการรักษาการ เพื่อที่ตนเองจะได้ตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐมนตรี ตั้งสภาประชาชน ได้แบบเบ็ดเสร็จ

หวังที่จะยึดกุมการปฎิรูปประเทศตามแต่อำเภอใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับความยินยอมและเห็นพ้องด้วยจากทุกภาคส่วน ทำให้ประเทศชาติล่อแหลมต่อการเกิดสงครามระหว่างประชาชนที่คิดเห็นต่างกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นแน่นอนว่าประเทศชาติจะต้องย่อยยับอีกไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไหร่
เสียงสะท้อนที่ว่า เบื่อโว้ย จึงเริ่มที่จะดังมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้แต่ 7องค์กรเอกชน ยังทนความบอบช้ำของประเทศ ของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ไหว จนต้องออกแถลงการณ์ เสนอเดินหน้าปฏิรูปประเทศทันที ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่

โดยเสนอให้มีการปฏิรูปทันที ที่สำคัญให้ดำเนินการโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะและมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งต้องปราศจากอิทธิพลของพรรคการเมือง

7 องค์กรภาคเอกชน พูดชัดเจนว่า ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนอย่างครอบคลุมแล้วต่างมีความเห็นว่าไม่อาจให้ประเทศเข้าสู่ภาวะสิ้นหวัง แต่การที่จะยุติความขัดแย้ง จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงเครือข่ายปฏิรูปที่มีความหลากหลาย

“จะต้องจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปฏิรูปโดยทันทีก่อนการเลือกตั้งโดยความเห็นชอบของพรรคการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีการรับรองตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย เช่น อาจให้รัฐบาลรักษาการในขณะนี้ออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งวาระการทำงานขององค์กรเป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำการปฏิรูปโดยเฉพาะ”

การออกตัวของ 7 องค์กรเอกชน เป็นสิ่งที่ทั้งฝั่งนายสุเทพและฝั่งรัฐบาลจะต้องรับฟัง เพราะเป็นข้อเสนอเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายรองรับ มีรายละเอียดต่างๆเพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปที่ชัดเจน

ไม่ใช่การกระทำตามอำเภอใจโดยไม่สนใจว่าจะมีกฎหมายรองรับหรือไม่เหมือนที่ผ่านมา
การที่ 7 องค์กรเอกชน ได้เชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความสุขุมรอบคอบและวิจารณญาณที่จะช่วยแก้ปัญหาชาติ และขอเรียกร้องใน 3 ข้อ คือ

1.ให้นักการเมืองและคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติและหันมาเจรจาหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ชาติ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.ให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของประเทศ โดยการเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป
และ 3.รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปตามข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อการปฏิรูปและในเวลาเดียวกันให้บริหารประเทศและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดและชะงักงันต่อการพัฒนาประเทศ และทำภารกิจข้างต้นให้เสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุด แต่ไม่เกิน 1 ปี
ถือเป็นทางลงที่สวยสดงดงามที่สุดแล้วของทุกฝ่าย และสำคัญที่สุดก็คือเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนทุกคน

ปีเก่ากำลังผ่านพ้นไป วิงวอนทั้ง 2 ขั้วขัดแย้งเลิกเอาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเป็นที่ตั้ง แล้วหันมาเสียสละเพื่อประเทศชาติสักครั้งจะได้ไหม

ให้สิ่งเน่าๆ ให้เกมการเมืองและวงจรอุบาทว์ จบสิ้นไปพร้อมกับปี 2556 จะได้หรือไม่
วันนี้คนไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ที่แท้จริงของประเทศ ไม่ใช่มวลชนของขั้วใดทั้งสิ้น ต่างเบื่อหน่ายอย่างที่สุดแล้ว และเริ่มทนเห็นความบอบช้ำของประเทศไม่ไหวกันแล้ว

หากยังมีนักการเมืองเลวๆที่ยังคงดื้อดึงไม่ยอมจบ ทั้งๆที่ 7 องค์กรเอกชนเสนอทางลงให้กับทั้ง 2 ขั้วแล้วเช่นนี้ ระวังประชาชนจะลงโทษให้นักการเมืองเหล่านี้ต้องสาปสูญไป

อย่าให้ปี 2557 เป็นปีที่ประชาชนเจ้าของประเทศที่แท้จริง ต้องลุกฮือออกมาไล่นักการเมืองทั้ง 2 ขั้ว เพื่อกำจัดปัญหาเน่าๆทางการเมืองเลย ขอร้องล่ะ พลีส!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

ศก.เอเชีย ปี 57 ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ไม่โดดเด่น !!?

โดย มร.เฟรเดอริก นิวมานน์ ธนาคารเอชเอฟบีซี

ระยะหลังเราเห็นพาดหัวข่าวไม่น้อยที่คาดว่าปี 2557 จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในอัตราที่สูงกว่าในอดีต แต่ท่ามกลางห้วงเวลาของการเฉลิมฉลองอย่างนี้ก็อย่ามัวลิงโลดใจจนเกินไป คงจำกันได้ว่าเราก็เคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้ว เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ก็คาดกันว่าเศรษฐกิจจะเติบโตดี แต่กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ในบรรดาตลาดเกิดใหม่เอเชียปีที่ผ่านมา พบว่าจีนและอินเดียทำผลงานได้น่าผิดหวังที่สุด เพราะเมื่อตอนต้นปี หลายสำนักเห็นตรงกันว่าอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะอยู่ที่ร้อยละ 8.1 และร้อยละ 6.5 และแม้ตัวเลขจริงจะยังไม่ประกาศออกมา แต่จีดีพีของจีนและอินเดียน่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 7.7 และร้อยละ 4.2 เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดมาก เทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และหากถามว่าต้นตอของปัญหามาจากสหรัฐและยุโรปหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่แน่ ๆ เพราะทั้งสหรัฐและยุโรปก็ไม่อาจเติบโตเศรษฐกิจได้ตามเป้าเหมือนกัน เพียงแต่ต่ำกว่าที่คาดหมายเล็กน้อย มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่สามารถเติบโตเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง อันเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาล

ย้อนมาดูเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในเอเชียกันบ้าง ก็พบว่าย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน อัตราการขยายตัวโดยรวมของภูมิภาคในปีนี้จึงอาจจะอยู่ในระดับต่ำสุดนับแต่ต้นทศวรรษ 2000 ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ต่างก็ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด เว้นแต่ฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่น เศรษฐกิจก็ยังเติบโตได้ดีเกือบตลอดทั้งปี ในขณะที่เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ก็ยังประคองตัวได้ดี เพราะผลิตภัณฑ์อาหารนมที่มีราคาสูงขึ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตได้ดี

หลายคนก็คาดว่าเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะฟื้นตัวกลับมาได้ แต่การตีความแบบนี้มองข้ามปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เอเชียประสบอยู่ การที่เศรษฐกิจโลกแข็งแกร่งขึ้นจะไม่ช่วยแก้ปัญหาของเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเงินกู้ต้นทุนถูก เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมมาก เพราะความต้องการบริโภคในโลกตะวันตกยังคงซบเซา ดังนั้นการเติบโตเศรษฐกิจจึงมาจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก หรืออาจมาจากการส่งออกไปตลาดเกิดใหม่ที่ใหญ่กว่า และเป็นตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างจีน แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคดังกล่าวก็ยังต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเงินกู้เป็นหลัก การกู้เงินไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป

ที่จริงในระยะหลัง ทั่วโลกจำเป็นต้องใช้เงินกู้เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ที่เป็นอยู่ลุกลามเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ด้วยซ้ำ แต่การเติบโตเศรษฐกิจที่อาศัยเงินกู้ก็มีข้อเสีย เพราะหากผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้วไม่นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตได้มากพอ การเติบโตในลักษณะนี้ก็จะไร้ประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำเงินที่ได้มาง่ายจะไม่จูงใจให้เกิดการปฏิรูป และไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

เริ่มมีสัญญาณว่าอัตราผลผลิตได้ชะลอตัวลงในเอเชีย บ่งชี้ว่าถ้าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มกระเตื้องขึ้นในปีหน้า จะไม่ส่งผลดีต่อภูมิภาคนี้มากเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น การปรับโครงสร้างอย่างจริงจังจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดเสรีทางการค้า การลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ

การปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การลดการอุดหนุนภาครัฐในเรื่องไม่จำเป็น การผ่อนคลายกฎระเบียบควบคุมการลงทุนของต่างชาติ และกฎระเบียบด้านการเงิน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่วาระแห่งชาติของจีนเท่านั้น แต่ควรเป็นข้อพิจารณาของเอเชียโดยรวมด้วย

ปี 2556 เอเชียได้แสดงศักยภาพด้านการเงินที่แข็งแกร่งเกินกว่าที่หลายคนเคยหวั่นวิตก อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงดีต่อเนื่อง ถึงแม้ตลาดเงินจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารของจีนไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่หรือผลกระทบ

ต่อภูมิภาคนี้มากนัก อินเดียและอินโดนีเซียก็สามารถรอดพ้นจากขีดอันตราย ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และในท้ายที่สุดก็มีสัญญาณที่น่ายินดีว่าเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มลงมือจัดการปฏิรูปแล้ว แต่หนทางข้างหน้านั้นยังอีกยาวไกล ขณะนี้เราจึงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าปีหน้าจะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------