--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

วาระประเทศไทย ปี 57

 ปัญหาของประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะมีพรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของนักธุรกิจ นายทุน และเครือญาติ ที่มุ่งแต่จะหาช่องทางกระทำการทุจริตคอร์รัปชันรวมถึงออกกฎหมายเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องจนเกิดความวุ่นวายขัดแย้ง แบ่งแยกในสังคมจนทุกวันนี้ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อให้หลุดพ้นจาก “หลุมดำ” และเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  อ่าน “ปฏิรูปประเทศไทย วาระที่คุณปฏิเสธไม่ได้ และสัมภาษณ์ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงมุมมองจาก 10นักคิด-นักธุรกิจ ที่อยากให้มีการปฏิรูปประเทศไทย
   
พลิกเข้าไปติดตามรายละเอียด หน้า 8, 9และ 10

ปฏิรูปประเทศไทย วาระที่คุณปฏิเสธไม่ได้

ผลจากวิกฤติการเมืองที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และยืดเยื้อข้ามปีมาถึงวันนี้   แม้ด้านหนึ่ง นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งส่งกระทบต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่นๆในวงกว้างกว่าวิกฤติการเมืองที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งของความสับสนทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ได้จุดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปดังกระหึ่มออกมาจากทุกภาคส่วนของสังคมที่เรียกร้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพมุมกลับ แตกต่างจากก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิงที่ การปฏิรูปไปได้ไกลสุดคือรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำการศึกษา

-เมื่อปฏิรูปผุดเป็นดอกเห็ด
   
ปลายปีที่ผ่านมา เวทีหาทางออกประเทศไทย ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด หลังนายกฯยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 กันยายน  เพื่อผ่าทางตันทางการเมือง  ในซีกรัฐบาลได้จัดตั้งเวที "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน"  นักวิชาการต่างความเชื่อ ต่างแข่งกันเปิดเวทีถกกัน   เช่นเดียวกับตัวแทนภาคธุรกิจที่กระโดดลงมาอาสาเป็นผู้ประสาน  รวมทั้งเวทีของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยทุกเวทีต่างพูดเหมือนๆกันว่า "เราต้องปฏิรูปประเทศไทย" ท่าทีที่ไปทางเดียวกันจากเวทีทั้งหลายนั้น เหมือนสังคมให้ฉันทนามติยกเรื่องปฏิรูปขึ้นเป็น วาระประเทศไทย โดยเนื้อหาที่เรียกร้องการปฏิรูปประเทศ   มุ่งไป 2 ด้านหลัก 1. กติกา การเลือกตั้งที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. ระบุว่ากติกาปัจจุบันเอื้อให้มีการซื้อสิทธิขายเสียงและเปิดทางให้ระบอบทักษิณเข้าครอบงำประเทศ และ 2.ปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
   
ประเด็นที่ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย ออกมาระบุว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น ปีหนึ่งไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท

-ก่อนเป็นกระแส
   
อย่างไรก็ดีก่อนหน้าที่การปฏิรูปจะถูกชูขึ้นเป็นวาระประเทศ การปฏิรูปถูกกล่าวถึงเป็นระยะมาตั้งแต่ปี 2553  หลังจลาจลเผาเมืองรัฐบาล  อภิสิทธิ์ ได้ตั้งกลไกขึ้นมา 4 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริงที่มาของปัญหาและทางออกจากวิกฤติการเมือง โดยคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) มี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กับคณะกรรมการสัมมัชชาปฏิรูป(คสป.)มี หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส  เป็นประธาน เป็นกลไกชุดหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้น  อานันท์   เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า ปัญหารากเหง้าของสังคมไทย เกิดจากความแตกต่างเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เปิดพื้นที่ให้กับ คนส่วนใหญ่ในประเทศ และนำไปสู่การกระจุกตัวของ อำนาจและความมั่งคั่งในเมืองหลวงและหัวเมืองหลัก (เลือกตั้งทั้งที ควรต้องมีการปฏิรูป โดย สำนักงานปฏิรูปสังคมไทยที่เป็นธรรม วันที่ 14 พฤษภาคม 2554) และคสป.ได้เสนอกรอบการปฏิรูป 8 ด้าน (ดูตารางประกอบ)  ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจการเมืองสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยส่วนหนึ่งในชุดข้อเสนอที่ถูกกล่าวถึงอย่างจริงจังคือ  รื้อโครงสร้างอำนาจ “กระจายอำนาจ” และ "กระจายความมั่งคั่ง"
   
คปร.ได้รวบรวมผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปไว้ใน "แนวทางปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"  แต่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นกุมอำนาจรัฐหลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เรื่องการปฏิรูปถูกวางเป็นเรื่องแก้ปัญหาการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากกว่าเป็นพันธกิจต้องทำ  ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมาให้ความสนใจเรื่องปฏิรูปอีกครั้ง เมื่อการเมืองร้อนขึ้นมา

-ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ จุดไฟปฏิรูป
   
การปฏิรูปกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2556 เมื่อกระแสการเมืองเริ่มร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่เข้มข้นทั้งในและนอกสภา  ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี  หาทางออกทางการเมืองให้ตัวเอง ด้วยการได้จัดตั้งเวทีปฏิรูปโดย ยิ่งลักษณ์ได้เสนอแนวปฏิรูป 8 ประการไว้ด้วย(ดูตาราง ประกอบ)  ก่อนที่เวทีนี้จะกลายเป็นสินค้าหมดอายุ หลังการต่อต้านร่างกฎหมายอื้อฉาวฉบับนั้น  ยกระดับเป็นโค่นระบอบทักษิณ และนำการเมืองเข้าโหมดวิกฤติเช่นเดียวกับปี 2551-2553 แม้รัฐบาลตัดสินใจยุติผลักดันแล้วก็ตามที  และเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าด้วย  ควรมีการปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง หลังนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา (9 ธันวาคม )  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวหนุนแนวทางปฏิรูปของหมอประเวศเป็นครั้งแรกนับแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างการสัญจรในภาคเหนือ
   
ในห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้นการปฏิรูปถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง  สถาบันและบุคคลชั้นนำ พาเหรดออกมาเสนอความเห็นกันถ้วนหน้า สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เสนอชุดความคิดขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจการเมืองและสังคมโดยจัดวางการปฏิรูปการเมืองไว้อันดับ 1 การปฏิรูประบบตรวจสอบอันเข้มแข็งจากภาคประชาชนเป็นอันดับ 2  และยังพ่วงเรื่องปฏิรูปสื่อไว้ด้วย  สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯเศรษฐกิจรัฐบาลทักษิณที่ผันตัวมาเป็นนักวิชาการ  ย้ำว่าประเทศไทยต้องปฏิรูปครั้งใหญ่และรวดเร็ว โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า "สถานะการเมืองเป็นสถานะที่จะทำให้ประเทศอ่อนแอ" สมคิดมองว่า กลไกรัฐซึ่งเป็นตัวคิดขับเคลื่อน ผลักดันและสนับสนุน  มีปัญหาเรื่องการยอมรับ   ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ชูจัดตั้งสภาปฏิรูปเป็นทางออกจากวิกฤติการเมืองที่รุมเร้าประเทศไทยอยู่  

-เหตุที่ต้องเปลี่ยน
   
อย่างไรก็ดีกระแสปฏิรูปที่เชี่ยวกรากอยู่เวลานี้นอกจากวิกฤติการเมือง กับปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังเป็นผลจากปัญหาสะสมของประเทศไทยที่ยังไม่มีการสะสางอย่างจริงจังจนประเทศไทยเป็นประเทศที่มี "วาระแห่งชาติ" มากระดับโลก ตั้งแต่เรื่องความอ้วนไปจนถึงปัญหาระดับชาติอย่างโครงสร้างอำนาจ เป็นอีกสาเหตุเช่นกัน เช่นมิติ ด้านการศึกษาที่ผลสะท้อนจากการทดสอบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าไทยกำลังจะล้าหลัง  หรือมิติทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายออกมาเตือนว่า ไทยแลนด์กำลังเสื่อมถอย  ตัวอย่างที่ถูกนำมาสนับสนุนข้อสังเกตดังกล่าวคือความจริงที่ว่า  ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานนับทศวรรษแล้ว หรือก่อนหน้านี้ประเทศไทยถูกจับประกบมาเลเซีย ในฐานะคู่แข่งชิงตำแหน่งเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย  แต่วันนี้เพื่อนบ้านทางใต้ของเราได้ ขยับขึ้นไปอยู่ข้างหน้า และไทยถูกนำไปเปรียบกับ เวียดนาม ประเทศสังคมนิยมที่เศรษฐกิจกำลังร้อนแรง  พร้อมกับการหยิบยก ฟิลิปปินส์ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาอ้างอิงว่าไทยมีอาจจะเดินตามรอยสมาชิกอาเซียนที่เคยถูกจับตาว่าจะเป็นดาวเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว ก่อนกลายเป็นประเทศป่วยจากปัญหาคอร์รัปชันและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เกาะกินประเทศมาอย่างยาวนาน
   
จากวิกฤติการเมืองที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า กับ ปัญหาสะสมในหลายมิติๆจนกลายเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง  คือแรงกดดันให้เกิดกระแส  เมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลง   จนอาจกล่าวได้ว่า ณ  นาทีนี้  ไม่ว่าเกมการเมืองที่หมุนติ้วอยู่เวลานี้ จะพลิกออกมาหน้าไหน ปฏิรูปประเทศไทย คือวาระที่ไม่ว่าใคร ก็ไม่กล้าปฏิเสธ แน่นอน

-ร่างพิมพ์เขียวประเทศไทย

นับแต่การรัฐประหารในปี 2549 จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้กับดักการเมือง   ล่าสุดกระแสสังคมลุกฮือขึ้นมาคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ก่อนยกระดับสู่การเป่านกหวีดต้านโกงขับไล่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"จนต้องชิงยุบสภา โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. สวมบทแกนนำ เรียกร้อง นายกฯรักษาการที่ไม่ผูกโยงกับการเมือง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
   
ขณะที่ 7 องค์กรเอกชนออกมาหนุนตั้งองค์กรอิสระปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง โดยออกแถลงการณ์ร่วมกันหลังจากที่ความคิดเห็นของสังคมต่างกันแบบสุดขั้ว ระหว่าง
ปฏิรูป"ก่อน"หรือ"หลัง"การเลือกตั้งท่ามกลางที่การปฏิรูปถูกชูขึ้นเป็นวาระประเทศไทยโดยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนในสังคม
   
ฟังเสียงมุมมองตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจ นักวิชาการ นักการเมือง สถาบันการเงิน  "อยากเห็นประเทศไทยไปทางไหน"จาก 12 กูรู ที่ส่วนใหญ่สะท้อนภาพทิศทางเดียวกันว่า อยากเห็นประเทศไทยมีการปฏิรูปประเทศ หลังจากติดหล่มปัญหาจนกระทบความเชื่อมั่นด้านต่างๆ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
   
อยากเห็นปี 2557 เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศไทย  เนื่องจากขณะนี้ดูเหมือนว่า สังคมเห็นตรงกันว่า ควรมีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ แต่ยังถกเถียงกันว่า ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และควรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป   ส่วนตัวเห็นว่า การเลือกตั้งควรต้องมีในเร็ววัน แต่ต้องไม่ทิ้งการปฏิรูป  อันที่จริง การเริ่มปฏิรูปสามารถทำก่อนเลือกตั้ง โดยรัฐบาลรักษาการออกกฎหมายตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายขึ้นมา  เพื่อให้ดำเนินการปฏิรูปต่อเนื่องหลังมีการเลือกตั้ง    
   
ผมอยากเห็นทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน โดยรัฐบาลควรส่งสัญญาณในการปฏิรูปบางอย่างก่อน หลังจากนั้นพรรคการเมืองควรมาร่วมกันทำสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม จะต้องมุ่งมั่นปฏิรูปประเทศ ไม่ต้องทำทุกเรื่อง ควรเลือกทำเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งเช่น การคอร์รัปชัน  การใช้อำนาจเกินขอบเขต และปัญหาความเหลื่อมล้ำ"
   
โดยควรตั้งเป้าผลักดันการปฏิรูป รวมทั้งการออกกฎหมายต่างๆ  ให้เสร็จโดยเร็ว  ทั้งนี้ควรมีการตั้งเป้าหมายว่า เรื่องที่น่าจะเห็นตรงกันทุกฝ่ายอยู่แล้ว เช่น การให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ ควรต้องแล้วเสร็จใน 3 เดือนหลังรัฐบาลแถลงนโยบาย   เรื่องที่ต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น มาตรการลดความเหลื่อมล้ำบางด้าน ควรต้องเสร็จใน  6 เดือน  ส่วนเรื่องยากขึ้นไปอีก ไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ปี
   
อยากเห็นทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน โดยรัฐส่งสัญญาณปฏิรูปบางอย่างก่อน"

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO)
   
ปี 2557 อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้า 4 เรื่อง เรื่องแรก การต่อต้านคอร์รัปชันโดยสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยก่อน เนื่องจากมีความสำคัญที่สุดและเป็นบ่อเกิดของปัญหา เรื่องที่ 2 เสนอให้ทำเรื่องวินัยทางการคลัง ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็แล้วแต่เข้ามาบริหารประเทศ หากมีวินัยในการใช้จ่ายเงินและดูแลภาระหนี้แล้ว ก็จะส่งผลดีให้การปฏิรูปประเทศไทยประสบความสำเร็จ
   
นอกจากนี้ด้านบทบาทเวทีกลางรับฟังความเห็นโดยตรงจากทั้ง 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตรง ฉะนั้นหลังจากบทบาทเป็นเวทีกลางจบสิ้นลงแล้ว สภาธุรกิจตลาดทุนก็จะอาศัยจังหวะนี้เพื่อเสนอทางออกใน 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นโดยผ่าน 7 องค์กรภาคตลาดทุน
   
เรื่องที่ 3 ควรอาศัยจังหวะนี้ปฏิรูป ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเสียใหม่ด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ไทยพึ่งพิงภาคส่งออกมากเกินไป ซึ่งในอดีตได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการที่ประเทศพึ่งพิงการส่งออกสูงถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น ดังนั้นควรส่งเสริมภาคธุรกิจอื่นๆให้มีบทบาทเพิ่มขึ้น อาทิ สนับสนุนในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอ็สเอ็มอี)    เรื่องที่ 4 ควรกำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางประเทศไทยให้ชัดเจนไปว่าจะเดินไปทางไหน โดยควรทำเป็นแผนระยะยาวด้วย
   
เสนอให้ทำเรื่องวินัยทางการคลัง ก็จะส่งผลดีให้การปฏิรูปประเทศไทย"

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
   
วาระของประเทศไทยในปี 2557 ที่ตลท.เสนอและอยากเห็นนั้น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ 7 องค์กรภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมีสมาชิก 7 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เสนอตัวจัดเวทีกลางเพื่อระดมความคิดเห็น พร้อมสนับสนุนต่อต้านคอร์รัปชัน และสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย เป็นต้น
   
เห็นด้วยที่จัดเวทีกลางระดมความคิดเห็น พร้อมหนุนต้านคอร์รัปชันและปฏิรูป"

นายชาติศิริ  โสภณพนิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
   
วิสัยทัศน์ต่อ "บริบทวาระประเทศไทย"ช่วงเวลานี้คือโอกาสสำหรับประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ กำลังเกิดขึ้น ทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค  การหลอมรวมในระดับภูมิภาคภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  การพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค  และการเติบโตของสังคมเมืองสู่จังหวัดต่างๆ ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
   
ดังนั้นวาระที่ประเทศไทยควรคำนึงถึง คือ 1. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. การศึกษา ทั้งในด้านคุณภาพและความทั่วถึง  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทรัพยากรบุคคลของชาติสามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานอาเซียน และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ 3.  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัว เมื่อความเป็นเมืองขยายตัวออกไป ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านพลังงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
   
4.การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลง จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการวางแผนทางการเงินเพื่อให้ประชากรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีในวัยหลังเกษียณ โดยไม่เป็นภาระของประเทศและลูกหลาน  5.การก้าวพ้นปัญหาวิกฤติทางการเมืองในขณะนี้ให้ได้ทั้งนี้ในส่วนของสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนในการหาทางออกให้แก่ประเทศ โดยยึดหลักการของกฎหมาย ความถูกต้องชอบธรรม ตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และปราศจากความรุนแรง
   
วาระประเทศไทยช่วงนี้คือโอกาสของไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ กำลังเกิดขึ้น"

ศาสตราพิชาน ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  ประธานกรรมการสถาบันอนาคตไทยศึกษา
   
นาทีนี้คนไทยจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่เฉพาะการเลือกตั้ง  เพราะเรามีปัญหาสั่งสมมาตั้งแต่อดีตที่ยังมิได้แก้ไข  เราแก้ไม่ได้และไม่อาจแก้  หรือแม้แต่มุ่งมั่นที่จะแก้  เพราะสภาพการเมืองในบ้านเมืองที่มุ่งเน้นแต่การแสวงหาซึ่งอำนาจและใช้อำนาจที่ได้มานั้นเพื่อจรรโลงอำนาจ  แทนที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อพัฒนาบ้านเมืองอย่างที่ควรจะเป็น  จนประเทศเสื่อมถอยลงทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ท่ามกลางความรุดหน้าของชาติเพื่อนบ้านที่เคยมองดูเราด้วยความอิจฉา
   
แต่วันนี้ไทยตื่นตัวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   ในด้านหนึ่งอาจดูเสมือนว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงและแตกร้าว  แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเราเชื่อว่าในหัวใจของคนไทยทุกคนล้วนรักและไม่อยากทำร้ายประเทศไทย   เราคนไทยจะต้องไม่ใช้ความตื่นตัวนั้นเพื่อใช้ในการต่อสู้ฟาดฟันเพื่อเอาชนะ  
ในทางตรงข้าม   เราทุกฝ่ายต้องส่งเสริมพลังที่ไม่เคยเกิดขึ้นนี้ผลักดันร่วมกันในทางบวกเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองในบ้านเมือง อันจะนำไปสู่การปฏิรูปในด้านอื่นๆ  อย่างสันติ อย่างมีสติ อย่างใช้ปัญญา  และอย่างร่วมมือร่วมใจ  และหากเรายังละทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ยังคงคิดถึงอำนาจและชัยชนะทางการเมือง คงยากที่จะสร้างไทยให้สมบูรณ์รุดหน้าได้อีกแล้ว
   
ฉะนั้น ณ นาทีนี้  เราคิดว่ามันไม่ใช่นาทีแห่งการเลือกตั้งเพียงเพื่อรักษาเปลือกที่ผุกร่อนของประชาธิปไตยเท่านั้น   แต่เป็นนาทีที่ทุกฝ่ายต้องละทิ้งเป้าหมายส่วนตน  และหันมาร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างแก่นแท้แห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงให้จงได้
   
เราทุกฝ่ายต้องส่งเสริมพลังที่ไม่เคยเกิดขึ้นนี้ ให้เกิดปฏิรูปการเมือง อย่างสันติ"

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ  ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
   
ในนามตัวแทน 7 องค์กรภาคเอกชนมองว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไข จึงเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองทันทีไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ โดยการปฏิรูปไม่สามารถทำได้ภายใน 2 เดือน และการปฏิรูปบางเรื่องอาจใช้เวลานาน 5-10 ปี  แต่สามารถเริ่มจากบางส่วนได้ก่อน
   
ทั้งนี้กรอบการทำงานการปฏิรูป มีข้อเสนอ  เช่น การกำหนดกติกาเข้าสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน เช่น ระบบการเลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียงและใช้อิทธิพลใดๆ และความโปร่งใสของกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ  รวมถึงการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของผู้แทนประชาชน องค์กรอิสระและสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ  รวมถึงขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม  ขณะที่โครงการที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และวินัยการคลัง ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก และมีกระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
   
อย่างไรก็ตามการปฏิรูปมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องทำทันที  จึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้ความสุขุมรอบคอบและวิจารณญาณที่จะช่วยแก้ไขปัญหาชาติ  จึงขอเรียกร้องให้นักการเมืองและคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศ และหันมาเจรจาหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และขอให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป  รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปตามข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อการปฏิรูป และในเวลาเดียวกันให้บริหารประเทศและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดและชะงักงัน และควรทำภารกิจข้างต้นให้เสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 1 ปี
   
กำหนดกติกาสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เช่น เลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียง"

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
   
ปี 2557 อยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ให้ทุกฝ่ายมีความสามัคคีกันเกิดขึ้น และอาศัยศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ เป็นจุดดึงดูดนักลงทุน และพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดความเข้มแข็ง มีการสร้างความเท่าเทียม สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพราะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ที่จะต้องมีการดำเนินงานในรูปแบบคลัสเตอร์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบอุตสาหกรรม ที่จะต้องอาศัยภาคเอกชน รัฐบาล สถาบันการศึกษา ฯ ช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งหากเศรษฐกิจดี ย่อมหมายถึงประชาชนในประเทศอยู่ดีกินดีด้วย ซึ่งวันนี้เราต้องใช้ศักยภาพของประเทศที่มีอยู่ให้เต็มที่ ในการรองรับนักลงทุนหรือการขยายงานเพื่อเปิดโอกาสออกไปสู่การแข่งขันนอกประเทศมากขึ้น
   
พร้อมสะท้อนให้เห็นว่าการที่จะปฏิรูปประเทศไทย คงไม่สามารถเริ่มจากด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เพราะทุกด้านมีความเกี่ยวเนื่องกัน รวมไปถึงตัวบทกฎหมาย ระบบราชการ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะต้องมีการนำมาปรับปรุง และทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
   
อีกทั้ง การปฏิรูปประเทศไทยนั้น  มีหลายเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการทุกด้านพร้อมกัน ซึ่งอาจจะต้องมีการนำมาจัดหมวดหมู่ ในการเข้าไปแก้ไขหรือปรับปรุง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ให้เกิดความรู้สึกน้อยใจว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม
   
การปฏิรูปประเทศไทย ต้องไปพร้อมกันทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง"

นายประสิทธิ์  บุญเฉย  นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย
   
อยากเห็นรัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพราะเห็นแล้วว่าโครงการไปไม่รอด มีการทุจริตสูง และมีปัญหาจ่ายเงินล่าช้าทำให้ชาวนาเดือดร้อน และเป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งเมื่อยกเลิกโครงการรับจำนำแล้วจะเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคา หรือประกันรายได้ เราขอให้ชาวนาได้ราคาที่ 1 หมื่นบาทต่อตันพอ ที่ความชื้นข้าว 25%  ไม่จำเป็นต้องเป็นราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตันเหมือนปัจจุบันแต่ได้เงินล่าช้า
   
ทั้งนี้เมื่อมีการยกเลิกโครงการรับจำนำแล้วอยากเห็นทุกฝ่ายร่วมกันปฏิรูปชาวนาที่มีอยู่ 3.7 ล้านครัวเรือน รวมกว่า 20 ล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง โดยทางหนึ่ง ส่วนตัวมีแนวคิดอยากให้มีการตั้งสภาการข้าวและชาวนาไทย โดยลักษณะมีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งจากชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก บริษัทผู้ค้าปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และปัจจัยการผลิต มาร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ในลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน (วิน วิน) ไม่เอาเปรียบกัน และจุดศูนย์กลางในการประสานงาน
   
นอกจากนี้อยากเห็นแนวทางของรัฐบาลในการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ลูกหลานชาวนาเพื่อรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีที่จะมาถึงในปี 2558  อยากเห็นภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของบริษัทผู้ผลิต หรือค้าปัจจัยการผลิตร่วมมือกับชาวนาในการจัดตั้งร้านค้าต้นแบบเพื่อจำหน่ายปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาในราคาถูก โดยหนึ่งร้านมีสมาชิก 1-2 พันรายร่วมเป็นสมาชิก และซื้อสินค้า สิ้นปีมีเงินปันผลคล้ายสหกรณ์ และในอนาคตมีการกระจายร้านค้าในลักษณะนี้ไปทั่วทุกอำเภอของประเทศในลักษณะแฟรนไชส์
   
และที่อยากเห็นคือ การสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในชนบท รวมกลุ่มกันทำโครงการเกษตรเพื่อการศึกษา เพื่อห่างไกลยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ โดยสมาคม หรือผู้ที่เห็นความสำคัญออกค่าเช่าพื้นที่ให้ก่อนในการปลูกพืชผัก ปลอดสารพิษ และจัดหาตลาดค้าส่งให้ รวมถึงการเปิดบัญชีให้เด็ก และแบ่งเงินรายได้จากการขายให้จำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งวิธีการนี้แทนที่หลังเลิกเรียนเด็กๆ จะไปเล่น หรือไปมั่วสุมก็จะใช้เวลาว่างให้เป็นโยชน์ และมีรายได้ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่มากเกินไป  
   
อยากเห็นรัฐบาลใหม่เลิกโครงการรับจำนำข้าว เพราะเห็นว่าไปไม่รอด มีทุจริตสูง"

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT)
   
องค์กรของเราประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นต่างชาติ จึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ผมจึงอยากเห็นความมีเสถียรภาพทางการเมือง ถ้ายืดเยื้อจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับโอกาสการลงทุนในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากภาพข่าวถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ผมคิดว่าทุกฝ่ายจำเป็นต้องพูดคุยกัน เจรจา และประนีประนอม นั่นเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่จะปฏิรูปอย่างไรจะต้องขึ้นอยู่กับคนไทย เพราะคนไทยรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่ไม่ว่าจะเลือกตั้งแล้วค่อยปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ต้องขึ้นอยู่กับคนไทยว่าคิดว่าวิธีการใดจะดีที่สุด
   
ถ้าไม่จำกัดอยู่เพียงการปฏิรูปทางการเมือง ผมคิดว่าเวลานี้ผู้คนพูดกันมากถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน สำหรับเรา JFCCT สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันและมีส่วนร่วมในเรื่องนี้เสมอมา เราช่วยนำความรู้และประสบการณ์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันจากต่างชาติมาแลกเปลี่ยน เพราะเชื่อว่าการคอร์รัปชันเป็นการเพิ่มต้นทุนของการลงทุนทุกประเภท และลดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
   
สำหรับประเทศไทยในปี 2557 ผมอยากเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอยากเห็นว่าเราพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หรือยัง ต้องอย่าลืมว่าปี 2558 จะเป็นปีที่เกิดเออีซี และเราต้องพร้อม ซึ่งยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ ผมคิดว่าการปฏิรูปทางการเมืองต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่ในด้านเศรษฐกิจเราต้องแน่ใจว่าเรามีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน มีความสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ผมไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก แต่อย่างน้อยเราจะวางตำแหน่งอย่างไรให้เป็นผู้นำในเออีซี นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น
   
อยากเห็นการเมืองมีเสถียรภาพถ้ายืดเยื้อน่ากังวลสำหรับโอกาสการลงทุน"

นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท.)
   
สิ่งที่อยากเห็นในปี 2557 คือ เป็นปีที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างบรรยากาศให้อยู่ในลักษณะของความไม่รุนแรง อยากให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวไทย สามารถลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยปี 2557ทาง สทท. ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยไว้ที่ 29.92 ล้านคน เติบโตขึ้น 12.1% และสร้างรายได้เข้าประเทศคาดว่าจะมากถึง 1.35 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 18%
   
อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ภายในประเทศไม่เกิดความรุนแรง การประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของทางการต่างประเทศในการเดินทางมาเที่ยวไทย ก็จะมีจำนวนลดลง จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเช่นเดิม ทั้งนี้โดยส่วนตัวนั้น เป็นห่วงตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยมากกว่าต่างชาติ เนื่องจากคนไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์โดยตรง ซึ่งเป็นผลกระทบต่อความรู้สึก สืบเนื่องไปยังอารมณ์ในการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในปีหน้า สทท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเดินหน้าโปรโมตกิจกรรม "หลงรักประเทศไทย" เพื่อผลักดันการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
   
นอกจากนี้มองว่าตลอดปี 2557 จะเป็นปีทองของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาหนาตา โดยเฉพาะตลาดจีน ที่หลังจากกฎหมายการท่องเที่ยวฉบับใหม่ออกมาเพื่อคัดกรองทัวร์ที่มีราคาไม่สมเหตุสมผล ทำให้ตลาดจีนที่เคยเติบโตดีอย่างก้าวกระโดดต้องชะงักไปเกือบเท่าตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่เชื่อว่าปีหน้าจะกลับมาสดใสเช่นเดิม เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าใจกับกฎหมายใหม่ อีกทั้งบริษัทนำเที่ยวก็เริ่มทำแพ็กเกจที่มีคุณภาพเสนอขายมากขึ้น ซึ่งเหตุนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีคุณภาพมากขึ้นด้วย  แต่ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนตลอดปี 2557 ว่าจะคึกคักมากน้อยแค่ไหน
   
อยากให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ  ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย"
สัมภาษณ์คำต่อคำ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ , ประมนต์  สุธีวงศ์

 การลุกฮือของประชาชนทั่วสารทิศจากแสนเป็นล้านคน และมีแนวโน้มยกระดับการต่อสู้กับ"ระบอบทักษิณ" และขับไล่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"หนักหน่วงและต่อเนื่อง แต่เป็นไปอย่างสันติอหิงสา เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่ธรรมดาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา    "ฐานเศรษฐกิจ"ในฉบับต้อนรับปีมะเมีย สัมภาษณ์พิเศษ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ สะท้อนมุมมอง ให้แง่คิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง พร้อมชี้ทางออกปัญหาเพื่อ  "อภิวัฒน์ประเทศ" ให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างแท้จริง  ท่านแรก  ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์    คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของทฤษฎี "2 นคราประชาธิปไตย"
   
ผู้ทรงคุณวุฒิลำดับถัดมา"ประมนต์  สุธีวงศ์" ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ถือเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยออกแถลงการณ์ต่อต้านกฎหมายล้างผิดคดีโกงเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2556 ที่รัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
   
ศ. ดร.เอนก เจ้าของทฤษฎี "2 นคราประชาธิปไตย"  เปิดมุมมองต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า เราควรจะเอาความเคลื่อนไหวของประชาชนแต่ละครั้ง นำมาเป็นบทเรียนเป็นแง่คิดให้เราได้เรียนรู้ว่า ประชาชนที่มาประชุมเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านเขาต้องการอะไรบ้าง และประชาชนที่มาชุมนุมเป็นประชาชนที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ เราต้องเรียนรู้จากทุกๆการชุมนุมของสีแดง และราชดำเนิน  อย่าเอาการชุมนุมไปผูกติดกับคำถามเดิมปัญหาเดิมอยู่ตลอด ให้มีโจทย์ใหม่ คำตอบใหม่อยู่เสมอ เช่น ไม่ควรมองแต่เพียงว่าม็อบจะเอาชนะรัฐบาลได้อย่างไร  รัฐบาลจะจัดการม็อบได้อย่างไร
   
หากมองในแง่พัฒนาการทางการเมืองมันก็ดี  ได้เรียนรู้จากขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาว่า ไม่ควรเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจ ได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ไม่มีการนองเลือดไม่มีการใช้ความรุนแรง  ฟันฝ่ากับจุดเปลี่ยนจุดผกผันหลายๆอย่างมาได้ เช่น เหตุการณ์ปะทะกันที่รามคำแหง ไม่ได้ทำให้ลุกลามใหญ่โต ต้องชมทั้งทางสีแดงและราชดำเนินว่าเขากอบกู้สันติวิธีกลับมาได้  หรือช่วงที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่กัน 2-3 วัน ก่อนที่ไม่มีแก๊สน้ำตา ไม่ได้มีการเผาหรือทำร้ายคำหรือข้าวของ หรือเข้าสู่สถานที่ราชการก็ไม่ยึดนาน ชี้ให้เห็นและเรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่คลี่คลายไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็เลือกที่จะไม่ปะทะ เลือกใช้สันติวิธีให้มากที่สุด สีแดงก็ไม่เคลื่อนมาปะทะ มันก็ดีขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย การชุมนุมที่รักษาสันติวิธีได้มันก็จะเป็นประวัติศาสตร์

-ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ
   
ผมหาคำที่จะมาใช้แทน "ปฏิรูป" ไม่ได้ มันต้องใช้คำ "อภิวัฒน์" คำที่ไม่ใช่รัฐ หรือส่วนกลางอย่างเดียว ไม่ใช่นักการเมืองที่ควบคุมรัฐบาล มันอาจจะต้องเป็นประชาชน สังคม ท้องถิ่น  การอภิวัฒน์ต้องทำด้านวัฒนธรรมให้มากที่สุด  รวมทั้งการแสวงหากรอบคิดใหม่ๆที่จะทำให้เราออกจากกรอบเดิมด้วย สำคัญมาก ที่เลี่ยงใช้คำว่า"ปฏิรูป"เพราะไม่อยากเห็นอะไรที่มันเป็นช่องเป็นซอง มันอาจจะมีอะไรที่มันอาจจะกระจัดกระจายแยกกันเป็นคนละพวง จะไปคิดให้เป็น Total change เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอาจไม่ใช่
   
สิ่งที่ผมอยากเห็นคำว่า"อภิวัฒน์" ไม่ใช่"ปฏิรูป"ให้คนชั้นล่างหรือคนชั้นกลางมีอะไรที่มากกว่าการหย่อนบัตร ให้เขาเอาความอยากความต้องการของเขามาแบบนโต๊ะ แล้วทำอย่างไรจะให้นักการเมืองฟังตรงนั้น คนชั้นกลาง คนชั้นสูง มารับฟังสิ่งเหล่านั้น แล้วก็ผลักดันให้คนชั้นล่าง หรือชนชั้นกลางระดับล่างมีความสำคัญมากขึ้น  เกษตรกรมี 60-70% แต่ไม่มีส.ส.เข้ามาอยู่ในสภาเลย ต้องมีวิธีการสรรหา วิธีการเลือกตั้งผู้แทนที่มาจากอาชีพเกษตรกรให้มากขึ้น ที่มาจากเกษตรกรทุกภาคตามสัดส่วนประชากร  หรือทำอย่างไรให้มีสภาคนต่างจังหวัด สภาคนกลาง ให้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพิ่ม
   
อีกด้านหนึ่งต้องอภิวัฒน์ให้ชนชั้นกลาง คนชั้นสูง ซึ่งอะไรดีอยู่แล้วให้สนใจปัญหา นอกเหนือจากอาชีพ นอกเหนือจากหุ้นตก เป็นห่วงจีดีพี โตไม่พอ ให้มาสนใจในเรื่องอื่นๆของชาติบ้านเมืองมากขึ้น ให้เขาได้มามองปัญหาและทางออกของประเทศด้วยมุมมองใหม่ๆ ทำอย่างไรให้เห็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางเป็นพันธมิตรของเขา  เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็จะอยู่แบบ 2 นคราอยู่อย่างนี้
   
ม็อบใหญ่ที่จะไล่รัฐบาลในวันที่ 22 ธันวาคม ที่ผ่านมา  เหมือนปี 2538-39 คนชั้นกลางออกมาประท้วง ออกมาขับไล่รัฐบาล  ไปสรุปง่ายๆว่าม็อบเป็นแสนเป็นล้านเป็นเสียงข้างน้อย คงไม่ใช่ เพราะมันคนหลายแสนถึงล้านมันใหญ่มาก  วันที่ 9 ธันวาคม  มันเป็นประวัติศาสตร์ เพื่อไทย ควรเอาเรื่องม็อบเป็นบทเรียนอย่ามองเป็นศัตรู ผมคิดว่าเป็นคู่ปรับเป็นคู่แข่งพอได้ ต้องเรียนรู้จากเขาด้วย เหมือนที่ฝ่ายม็อบราชดำเนินไม่ควรคิดว่าสีแดงเป็นปรปักษ์ ควรเอาการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์
   
เรื่องใหญ่ๆของบ้านเมือง เป็นเรื่องของโชคชะตาของบ้านเมืองด้วย  มันเป็นอะไรที่เราคาดได้ยาก ทายได้ยาก หวังได้ยาก   ตอนที่เหตุการณ์มันเริ่มเกิด หรือกำลังขึ้นสู่ยอดสูงสุดมันทายยาก  ตอนนี้ยังไม่ถึงที่สุด ก็คงจะใกล้เต็มทีแล้ว"
   
การปฏิรูปปัจจัยอยู่ที่ประชาชน สังคม และตนเอง  เรื่องนี้มันถึงไม่ง่าย มันจะปฏิรูปครั้งเดียว มันจะจบ ผมว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้พูดเพื่อให้สั่นคลอนความคิดความเชื่อของเขา  ไม่รู้ว่าใครคิดถูก เป็นเรื่องที่จะต้องให้เวลามันบอกเรา การจะจบลงแบบไหน เรื่องใหญ่ๆของ "มหาเหตุการณ์"แบบนี้เราจะเข้าใจมันได้ดีตอนที่เหตุการณ์มันใกล้จะจบ

- ทางออกของปัญหาทหารจะช่วยได้แค่ไหน
   
ทหารต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ฝ่ายที่คิดเรื่องปฏิรูปอะไรต่างๆ ต้องคิดว่า อีกฝ่ายมีราก จะไปโยกต้นไม้จะต้องรู้ว่าต้นไม้มันใหญ่ขนาดไหน ต้องคิดอะไรที่ไร้รูปแบบให้มากขึ้น อย่าไปคิดที่มันเป็นรูปแบบจนเกินไป และต้องใช้เวลา  เวลานี้ก็เป็นเวลาที่ให้การศึกษา ทำอะไรไม่ต้องคิดว่ารอบเดียวครั้งสุดท้าย มันจะทำให้ตัวเองลำบาก ที่จะวางตนเองไปในอนาคตข้างหน้า  จะเป็นการผูกมัด
   
ผมเชื่อว่าทั้ง 2  ฝ่ายคงฉลาดกันทั้งคู่ ทำอย่างไรจะช่วยกันดูแลเหตุการณ์จากนี้ไป มันอาจจะมีหรือไม่มีการเลือกตั้ง อาจจะมีการเลือกตั้งสงบ หรือไม่สงบ  หลังเลือกตั้งจะมีม็อบอีกหรือเปล่า เป็นอะไรที่เราคาดได้ยาก ต้องตามไปดู
   
น่าสังเกตว่า การชุมนุมเที่ยวนี้ไม่มีการอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นพวกของตัวเอง    เป็นการเรียนรู้จากความบกพร่องในครั้งก่อนๆ บางอย่างก็ต้องให้เป็นของทุกๆฝ่าย ไม่งั้นก็จะแก้ปัญหาแบบสันติวิธีได้อย่างไร  การที่จะแก้ปัญหาแบบสันติวิธีได้ก็ต่อเมื่อเรามีอะไรร่วมกันอยู่ ถ้าเราไม่ร่วมอะไรกัน มันก็เหมือนศัตรู เหมือนศัตรูสู้กับชาติเรา    บางที 2 ฝ่ายคุยกันไม่ได้ เพราะขาดตัวกลางและต้องใช้เวลา        
   
การที่ฝ่ายเพื่อไทยเอาคุณยิ่งลักษณ์มาเป็นหมายเลขหนึ่ง ผมว่าไม่ต้องว่าอะไร ถ้าได้รับเลือกตั้งอีก  หลังเลือกตั้งตั้งแต่วันแรก ก็ต้องไล่กันอีก  ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะสงบ" เสียงสะท้อนที่น่าคิดจากเจ้าของทฤษฎี  "2 นคราประชาธิปไตย"

ประมนต์  สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
   
ประมนต์  กล่าวถึงสาเหตุที่ออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากเห็นแล้วว่า เป็นการนิรโทษให้กับคนทุจริต ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนในสังคมโลก อีกทั้ง พ.ร.บ.นี้ยังนิรโทษกรรมให้กับคนต่างชาติที่มาร่วมก่อทุจริตในประเทศไทยได้รับอานิสงส์ล้างผิดไปด้วย ตัวอย่างคดีทุจริตรถดับเพลิงของ กทม.ที่ศาลตัดสินไปแล้ว หาก พ.ร.บ.นี้ผ่านก็หมายความว่าไม่มีโทษ แน่นอนว่าประเทศที่เป็นคู่สัญญาเขารับไม่ได้แน่เพราะนิรโทษให้กับคนที่ทำผิดที่เป็นคนของประเทศเขา
   
ถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่านประเทศไทยเจ๊งแน่ๆ และผมเชื่อว่าเราจะหมดความชอบธรรม ไม่มีประเทศไหนมาคบค้าสมาคมด้วยจึงต้องออกมาต่อต้าน ซึ่งไม่กี่วันหลังจากนั้นก็มีคนลุกฮือกันออกมา เรียกว่าไป "เรียกแขก"ออกมาเยอะแยะเลย ทำให้งานของเราก้าวหน้าไปเร็วกว่าที่คิด เพราะส่วนหนึ่งได้สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนลุกขึ้นต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมถือว่าตรงนี้เป็นอานิสงส์จากการที่มี พ.ร.บ.นี้ออกมา ทำให้เราได้พลังมาช่วยกันขับเคลื่อนมากขึ้น"

-คอร์รัปชันนับวันยิ่งรุนแรง
   
สำหรับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยังไร้ทางออกในเวลานี้มองว่า มีต้นตอจากการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศและหมักหมมมานาน และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากดัชนีทุจริตคอร์รัปชันที่วัดภาพลักษณ์ของประเทศโดยองค์กรนานาชาติ สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยเลวร้ายลงทุกปีและไทยสอบตกมาโดยตลอด ซึ่งหากให้คะแนนเต็ม 100 ไทยจะได้ประมาณ ที่ 30 ต้นๆ อันดับคอร์รัปชันจากเคยอยู่อันดับที่ 88 หล่นลงต่ำกว่า 100  แสดงให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทั้งในระดับต่ำ  ระดับทั่วๆ ไป และระดับสูง ซึ่งลามไปในทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่เรียกร้องให้มีการจ่ายเงิน
   
เศรษฐกิจไทยนับแต่ปี 2549 ที่มีการรัฐประหารถือว่าไม่ได้เลวร้าย แต่เศรษฐกิจไทยดูแลตัวเองได้ดีพอสมควร นักธุรกิจไทยก็สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้ โดยนโยบายรัฐไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาที่หนักที่สุดที่ถ่วงความเจริญของประเทศ และเป็นตัวซ้ำเติมทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและของภาคธุรกิจลดลง เพราะต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเสียงข้างมากทำให้การตรวจสอบหรือคัดค้านในเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยได้ผล ตรวจสอบยาก และมีการทุจริตคอร์รัปชันสูง เมื่อมาผนวกกับการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคนโกง และการไม่ยอมรับอำนาจศาลจึงถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนออกมาต่อต้านมาก "
-ต้องปฏิรูป 5 ด้าน
   
สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยเสียใหม่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูป ซึ่งจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ( 2 ก.พ. 57)ค่อยว่าอีกที ซึ่งการปฏิรูปใหญ่ๆ มองว่า มี 4-5 เรื่อง เรื่องแรก ต้องปฏิรูปเรื่องคอร์รัปชันที่ถือเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด เรื่องที่ 2 การปฏิรูปเรื่องการเมือง ในเรื่องกระบวนการเลือกตั้งที่จะทำอย่างไรให้มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมอย่างแพร่หลายมากขึ้น เรื่องที่ 3 การปฏิรูปเรื่องการบริหารการปกครองโดยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เรื่องที่ 4 การปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะต้องมาดูว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจจะแก้ไขอย่างไร เราเคยมีความคิดว่า อาจจะต้องมีภาษีที่ดิน อาจจะต้องมีภาษีมรดกเพื่อที่จะทำให้คนรวยต้องมีภาระมากขึ้น และนำเงินจำนวนนั้นไปช่วยคนจนมากขึ้น การปฏิรูปพวกนี้คงต้องไปคิดว่าจะต้องมี และเรื่องที่ 5 การปฏิรูปทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการที่จะทำให้คนที่ด้อยโอกาสมีโอกาสมากขึ้น  "4-5 เรื่องนี้ เป็นการปฏิรูปที่คนพูดกัน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าต้องทำ ส่วนจะต้องทำอย่างไรมาดูรายละเอียดกันอีกทีหนึ่ง"
   
ส่วนที่มีคำถามว่าแล้วจะปฏิรูปเมื่อไหร่ ก่อนเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็มีคนจำนวนมากที่อยากจะเห็นมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าดูตามกรอบเวลาที่ต้องเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือเหลือแค่ 1 เดือนคงทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจริงๆ จะต้องมีความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายว่าให้ยืดเวลาเลือกตั้งออกไป ซึ่งในกระบวนการหรือทางเทคนิคทำได้หรือไม่ ได้รับทราบจากผู้รู้หลายคนว่า ถ้ามีความเห็นชอบด้วยกันทั้งหมดน่าจะทำได้ ซึ่งต้องไปดูในช่องกฎหมาย หรือที่พูดกันว่าสามารถขยับไปได้ และก็ให้มีผู้บริหารประเทศที่เป็นคนกลางๆ ที่คัดเลือกร่วมกันมา แล้วมาช่วยกันทำเรื่องปฏิรูปเรื่องเดียว พอปฏิรูปคุณก็ไปเลือกตั้ง อันนี้ก็เป็นความเห็นที่น่าจะลองไปคิดดูในเรื่องนี้
   
อย่างไรก็ดีหากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ก็มีการพูดกันอีกเหมือนกันว่า อยากจะขอให้มีการเซ็นข้อตกลงในสัตยาบันโดยพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องให้ยอมรับหลังเลือกตั้งเสร็จแล้วจะเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป 4-5 เรื่องที่กล่าวถึง และทำให้เสร็จภายในเมื่อไหร่แล้วก็ไปเลือกตั้ง วิธีนี้ก็ยังมีความหวังว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ซึ่งภายใต้กฎกติใหม่นี้แม้ผู้เล่น(นักการเมือง)ยังเป็นหน้าเดิมๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องปฏิบัติตามกฎ กติกาใหม่ โดยมีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น"

-ผลงาน3ปีสำเร็จระดับหนึ่ง
   
ประมนต์ กล่าวอีกว่า  ตลอดระยะเวลาประมาณ 3 ปีที่ได้เข้ามาเป็นแม่งานในองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยไม่ได้ลดลง แต่ยังคงมีการทุจริตในทุกภาคส่วนของสังคมมากขึ้น ซึ่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นซึ่งปัจจุบันมีภาคีสมาชิกทั้งประเทศ 47 องค์กรได้ติดตามและจับตาผ่านเครือข่ายทั่วประเทศที่เรียกว่า "หมาเฝ้าบ้าน"อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการปลุกจิตสำนึกของประชาชนต่อต้านในเรื่องนี้ ตัวอย่างเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้วเช่น การเสนอรัฐบาลว่าในอนาคตการประมูลงานใหญ่ๆของภาครัฐจะต้องมีการตรวจสอบโดยกลุ่มของบุคคลที่เป็นคนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งในเรื่องทีโออาร์มีล็อกสเปกให้ใครหรือไม่ เวลาประมูลได้เชิญคนเข้าร่วมประมูลมากพอหรือไม่ การตั้งราคากลางมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ได้นำต้นแบบมาจากต่างประเทศที่ภาษาไทยแปลว่า "สัญญาคุณธรรม"มาประยุกต์ใช้ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันได้รับที่จะไปร่างเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
   
ส่วนด้านการปลุกจิตสำนึกของเยาวชนได้ทำหลายโครงการ เช่น ร่วมกับ กทม.ในโครงการ "โตไปไม่โกง"โดยนำหลักสูตรเข้าไปอยู่ในโรงเรียนในสังกัด กทม. และอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดทำหลักสูตรกระจายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ส่วนเรื่องจำนำข้าวได้สรุปเรื่องการทุจริตส่งให้กับทั้งรัฐบาล และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เพื่อติดตามตรวจสอบไปแล้ว
   
ในเรื่องทุจริตรับจำนำข้าวนี้ผมรู้สึกผิดหวังที่ ป.ป.ช.ดำเนินการล่าช้า และไม่ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดเท่าที่ควร เรื่องควรจะจบได้เร็วกว่านี้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้มีเรื่องที่ ขสมก.จะจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3 พันคัน เราได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็น ส่วนเรื่องที่จับตาดูอยู่คือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง"

 ประมนต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชันทุกโครงการรวมกันตกหลายแสนล้านบาทต่อปี มีการพูดถึงการขอผลประโยชน์ 30% หรือ 10% ของมูลค่าโครงการบ้าง ซึ่งในส่วนของการติดตามตรวจสอบของภาคเอกชนก็ทำได้ในข้อจำกัด หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชัน ทำให้ประเทศมีภาพลักษณ์ที่โปร่งใสน่าลงทุนแล้วเป็นผลจากคนที่ขับเคลื่อนหลักในเรื่องนี้คือมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นงานต่อต้านคอร์รัปชันของไทยในอนาคตที่จะทำได้สำเร็จ รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
--------------------------------------------------------

พอเหอะ !!?

การชุมนุมต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ฉบับสุดซอย ที่กลายเป็นประเด็นจุดฟืนเปียกให้ติดไฟ และกลายเป็นการโอกาสในการแสดงพลังบริสุทธ์ของประชาชนที่ต้องการสั่งสอนนักการเมือง ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของถนนการเมืองของไทย

แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายกลับถูกนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง และพรรคการเมืองบางพรรคฉวยโอกาสใช้พลังมวลชนบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ด้วยการปลุกเร้าความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับผู้คน ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เลือกข้าง

บนความพยายามแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง และความพยายามที่จะบดขยี้ทำลายล้างคู่แข่งขันทางการเมือง ในลักษณะของการฉวยโอกาสแบบไม่ลืมหูลืมตา ผ่านบุคคลกล้าตายทางการเมืองที่ชื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

สถาปนาตนเองขึ้นเป็นแกนนำ โดยสร้างภาพแห่งความชอบธรรมเพียงแค่การลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้เกิดภาพที่ว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง หรือผู้ที่จะเสวยสุขแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองในภายหลัง

แต่เพราะการดำเนินการของนายสุเทพ ไม่มีกฎหมายใดๆมารองรับ มีเพียงกลุ่มประชาชนที่นายสุเทพ เรียกขานเป็นมวลมหาประชาชน ที่เป็นฐานสนับสนุนการกระทำในแง่ของการต่อสู้เรียกร้องตามสิทธิในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ที่ให้ประชาชนมีสิทธิชุมนุมประท้วงได้โดยสงบ และสันติ
แต่ในความเป็นจริง ภายใต้การนำและการปลุกเร้าของนายสุเทพ ร่วมกับ 8 อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และโดยที่มีพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นแนวร่วมในการสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องในครั้งนี้ ได้เกิดภาพของความพยายามกดดัน ข่มขู่ คุกคาม บุกยึดสถานที่ การปิดล้อมสถานที่ การสร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป

ทำให้ความชอบธรรมของนายสุเทพและกลุ่มแกนนำได้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนาๆกลับทวีเสียงสะท้อนที่ดังมากขึ้น

และไม่ใช่เพียงแค่เสียงสะท้อนจากภายในประเทศเท่านั้น บรรดาต่างประเทศกว่า 50 ประเทศก็ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเรียกร้องของนายสุเทพและแกนนำที่อาศัยพลังมวลชนเป็นแรงบีบ

แม้แต่สื่อต่างประเทศก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เกรงใจ ไม่ได้ถนอมน้ำใจแกนนำผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน
ทำให้จังหวะและโอกาสที่จะล้มรัฐบาล ที่จะทำลายคู่แข่งหมดสิ้นไป จนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ
และส่อแววที่จะลากยาว เหมือนกับคำประกาศของนายสุเทพ ที่ว่าจะสู้จนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง แม้จะต้องปิดประเทศก็จะทำ

ปัญหาก็คือ แล้วคนทั้งประเทศจะยอมให้คนที่ไม่เคารพกฎหมายใดๆอีกต่อไปแล้วอย่างนายสุเทพ กระทำการย่ำยีประเทศชาติให้บอบช้ำ โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินกระนั้นหรือ

เพราะการกล่าวอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดย สงบ สันติ ได้หมดความชอบธรรมไปพร้อมกับความพยายามขมขู่กดดัน สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้กับประเทศชาติในทุกวิถีทาง

เพียงเพราะต้องการให้เกิดความรุนแรง ต้องการให้ทหารออกมาปฏิวัติ จะได้มีการนองเลือด รัฐบาลชุดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้ต้องคดีมือเปื้อนเลือด เช่นเดียวกับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นายสุเทพเคยเป็นรองนายกฯอยู่...
เช่นนั้นใช่หรือไม่???

แล้วความเสียหายบอบช้ำของประเทศ นายสุเทพและบรรดาแกนนำผู้ปลุกปั่นประชาชนอยู่ในเวลานี้ไม่ได้ใส่ใจเลยใช่หรือไม่ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน บรรยากาศของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ซึ่งช่วงปลายปีควรจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ กลับกลายเป็นป่นปี้ฉิบหายวายวอดไปตามๆกัน

นายสุเทพและพวกกำลังสนุกกับการเผาประเทศ เผาเศรษฐกิจ เผาธุรกิจของคนจำนวนมากอยู่ ไม่รู้ตัวเลยหรืออย่างไร

การเอาแต่อ้างว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ของนางสาวยิ่งลักษณ์ เพราะดื้อดึงไม่ยอมทำความต้องการของนายสุเทพและกลุ่มประชาชน หมายความว่ารัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้นหรือที่จะต้องรับผิดชอบ

ความดื้อดึงไม่ยอมเจรจาใดๆ ดื้อดึงที่จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวของนายสุเทพ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะจัดตั้งเองหมดนั้น ไม่ใช่ความดื้อดึงที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเลยหรือ
จริงๆนายสุเทพควรที่จะทบทวนตัวเองได้แล้วว่า จากในตอนแรกที่ท่าทีของกลุ่มต่างๆ แม้แต่กระทั่ง 7 องค์กรเอกชน อย่าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ก็ยังดูเหมือนจะคล้อยตามการเรียกร้องไปด้วย

แต่เมื่อรัฐบาลยอมยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่นายสุเทพยังคงลากยาว สร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องหวังแค่จะกดดันรัฐบาลให้ลาออกจากการรักษาการ เพื่อที่ตนเองจะได้ตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐมนตรี ตั้งสภาประชาชน ได้แบบเบ็ดเสร็จ

หวังที่จะยึดกุมการปฎิรูปประเทศตามแต่อำเภอใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับความยินยอมและเห็นพ้องด้วยจากทุกภาคส่วน ทำให้ประเทศชาติล่อแหลมต่อการเกิดสงครามระหว่างประชาชนที่คิดเห็นต่างกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นแน่นอนว่าประเทศชาติจะต้องย่อยยับอีกไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไหร่
เสียงสะท้อนที่ว่า เบื่อโว้ย จึงเริ่มที่จะดังมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้แต่ 7องค์กรเอกชน ยังทนความบอบช้ำของประเทศ ของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ไหว จนต้องออกแถลงการณ์ เสนอเดินหน้าปฏิรูปประเทศทันที ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่

โดยเสนอให้มีการปฏิรูปทันที ที่สำคัญให้ดำเนินการโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะและมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งต้องปราศจากอิทธิพลของพรรคการเมือง

7 องค์กรภาคเอกชน พูดชัดเจนว่า ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนอย่างครอบคลุมแล้วต่างมีความเห็นว่าไม่อาจให้ประเทศเข้าสู่ภาวะสิ้นหวัง แต่การที่จะยุติความขัดแย้ง จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงเครือข่ายปฏิรูปที่มีความหลากหลาย

“จะต้องจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปฏิรูปโดยทันทีก่อนการเลือกตั้งโดยความเห็นชอบของพรรคการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีการรับรองตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย เช่น อาจให้รัฐบาลรักษาการในขณะนี้ออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งวาระการทำงานขององค์กรเป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำการปฏิรูปโดยเฉพาะ”

การออกตัวของ 7 องค์กรเอกชน เป็นสิ่งที่ทั้งฝั่งนายสุเทพและฝั่งรัฐบาลจะต้องรับฟัง เพราะเป็นข้อเสนอเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายรองรับ มีรายละเอียดต่างๆเพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปที่ชัดเจน

ไม่ใช่การกระทำตามอำเภอใจโดยไม่สนใจว่าจะมีกฎหมายรองรับหรือไม่เหมือนที่ผ่านมา
การที่ 7 องค์กรเอกชน ได้เชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความสุขุมรอบคอบและวิจารณญาณที่จะช่วยแก้ปัญหาชาติ และขอเรียกร้องใน 3 ข้อ คือ

1.ให้นักการเมืองและคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติและหันมาเจรจาหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ชาติ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.ให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของประเทศ โดยการเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป
และ 3.รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปตามข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อการปฏิรูปและในเวลาเดียวกันให้บริหารประเทศและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดและชะงักงันต่อการพัฒนาประเทศ และทำภารกิจข้างต้นให้เสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุด แต่ไม่เกิน 1 ปี
ถือเป็นทางลงที่สวยสดงดงามที่สุดแล้วของทุกฝ่าย และสำคัญที่สุดก็คือเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนทุกคน

ปีเก่ากำลังผ่านพ้นไป วิงวอนทั้ง 2 ขั้วขัดแย้งเลิกเอาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเป็นที่ตั้ง แล้วหันมาเสียสละเพื่อประเทศชาติสักครั้งจะได้ไหม

ให้สิ่งเน่าๆ ให้เกมการเมืองและวงจรอุบาทว์ จบสิ้นไปพร้อมกับปี 2556 จะได้หรือไม่
วันนี้คนไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ที่แท้จริงของประเทศ ไม่ใช่มวลชนของขั้วใดทั้งสิ้น ต่างเบื่อหน่ายอย่างที่สุดแล้ว และเริ่มทนเห็นความบอบช้ำของประเทศไม่ไหวกันแล้ว

หากยังมีนักการเมืองเลวๆที่ยังคงดื้อดึงไม่ยอมจบ ทั้งๆที่ 7 องค์กรเอกชนเสนอทางลงให้กับทั้ง 2 ขั้วแล้วเช่นนี้ ระวังประชาชนจะลงโทษให้นักการเมืองเหล่านี้ต้องสาปสูญไป

อย่าให้ปี 2557 เป็นปีที่ประชาชนเจ้าของประเทศที่แท้จริง ต้องลุกฮือออกมาไล่นักการเมืองทั้ง 2 ขั้ว เพื่อกำจัดปัญหาเน่าๆทางการเมืองเลย ขอร้องล่ะ พลีส!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

ศก.เอเชีย ปี 57 ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ไม่โดดเด่น !!?

โดย มร.เฟรเดอริก นิวมานน์ ธนาคารเอชเอฟบีซี

ระยะหลังเราเห็นพาดหัวข่าวไม่น้อยที่คาดว่าปี 2557 จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในอัตราที่สูงกว่าในอดีต แต่ท่ามกลางห้วงเวลาของการเฉลิมฉลองอย่างนี้ก็อย่ามัวลิงโลดใจจนเกินไป คงจำกันได้ว่าเราก็เคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้ว เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ก็คาดกันว่าเศรษฐกิจจะเติบโตดี แต่กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ในบรรดาตลาดเกิดใหม่เอเชียปีที่ผ่านมา พบว่าจีนและอินเดียทำผลงานได้น่าผิดหวังที่สุด เพราะเมื่อตอนต้นปี หลายสำนักเห็นตรงกันว่าอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะอยู่ที่ร้อยละ 8.1 และร้อยละ 6.5 และแม้ตัวเลขจริงจะยังไม่ประกาศออกมา แต่จีดีพีของจีนและอินเดียน่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 7.7 และร้อยละ 4.2 เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดมาก เทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และหากถามว่าต้นตอของปัญหามาจากสหรัฐและยุโรปหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่แน่ ๆ เพราะทั้งสหรัฐและยุโรปก็ไม่อาจเติบโตเศรษฐกิจได้ตามเป้าเหมือนกัน เพียงแต่ต่ำกว่าที่คาดหมายเล็กน้อย มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่สามารถเติบโตเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง อันเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาล

ย้อนมาดูเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในเอเชียกันบ้าง ก็พบว่าย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน อัตราการขยายตัวโดยรวมของภูมิภาคในปีนี้จึงอาจจะอยู่ในระดับต่ำสุดนับแต่ต้นทศวรรษ 2000 ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ต่างก็ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด เว้นแต่ฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่น เศรษฐกิจก็ยังเติบโตได้ดีเกือบตลอดทั้งปี ในขณะที่เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ก็ยังประคองตัวได้ดี เพราะผลิตภัณฑ์อาหารนมที่มีราคาสูงขึ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตได้ดี

หลายคนก็คาดว่าเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะฟื้นตัวกลับมาได้ แต่การตีความแบบนี้มองข้ามปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เอเชียประสบอยู่ การที่เศรษฐกิจโลกแข็งแกร่งขึ้นจะไม่ช่วยแก้ปัญหาของเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเงินกู้ต้นทุนถูก เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมมาก เพราะความต้องการบริโภคในโลกตะวันตกยังคงซบเซา ดังนั้นการเติบโตเศรษฐกิจจึงมาจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก หรืออาจมาจากการส่งออกไปตลาดเกิดใหม่ที่ใหญ่กว่า และเป็นตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างจีน แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคดังกล่าวก็ยังต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเงินกู้เป็นหลัก การกู้เงินไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป

ที่จริงในระยะหลัง ทั่วโลกจำเป็นต้องใช้เงินกู้เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ที่เป็นอยู่ลุกลามเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ด้วยซ้ำ แต่การเติบโตเศรษฐกิจที่อาศัยเงินกู้ก็มีข้อเสีย เพราะหากผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้วไม่นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตได้มากพอ การเติบโตในลักษณะนี้ก็จะไร้ประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำเงินที่ได้มาง่ายจะไม่จูงใจให้เกิดการปฏิรูป และไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

เริ่มมีสัญญาณว่าอัตราผลผลิตได้ชะลอตัวลงในเอเชีย บ่งชี้ว่าถ้าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มกระเตื้องขึ้นในปีหน้า จะไม่ส่งผลดีต่อภูมิภาคนี้มากเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น การปรับโครงสร้างอย่างจริงจังจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดเสรีทางการค้า การลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ

การปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การลดการอุดหนุนภาครัฐในเรื่องไม่จำเป็น การผ่อนคลายกฎระเบียบควบคุมการลงทุนของต่างชาติ และกฎระเบียบด้านการเงิน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่วาระแห่งชาติของจีนเท่านั้น แต่ควรเป็นข้อพิจารณาของเอเชียโดยรวมด้วย

ปี 2556 เอเชียได้แสดงศักยภาพด้านการเงินที่แข็งแกร่งเกินกว่าที่หลายคนเคยหวั่นวิตก อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงดีต่อเนื่อง ถึงแม้ตลาดเงินจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารของจีนไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่หรือผลกระทบ

ต่อภูมิภาคนี้มากนัก อินเดียและอินโดนีเซียก็สามารถรอดพ้นจากขีดอันตราย ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และในท้ายที่สุดก็มีสัญญาณที่น่ายินดีว่าเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มลงมือจัดการปฏิรูปแล้ว แต่หนทางข้างหน้านั้นยังอีกยาวไกล ขณะนี้เราจึงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าปีหน้าจะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปฏิวัติประชาชน !!?

โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

สภาประชาชนของ กปปส.ถูกอาจารย์ธีรยุทธ์ บุญมียกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติของประชาชนไปแล้ว

คำว่า "ประชาชน" นี้น่าสนใจเป็นพิเศษ และควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน "ประชาชน" เป็นนามธรรม หมายถึงองค์รวมของคนทั้งหมดในชาติ ไม่ใช่คน 65 ล้านคนรวมกัน ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนๆ ได้ และอาจตรวจวัดว่าแต่ละคนมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างไรได้

ดังนั้น "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมจึงไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถยึดกุม "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ แล้วอ้างเอาเจตจำนงทางการเมืองของตนไปเป็นเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่อยู่ในหมอกควันนี้เท่านั้น

วิธีในการยึดกุมหมอกควัน "ประชาชน" นี้ ทำได้หลายอย่าง อาจารย์ธีรยุทธยกกรณีที่ประมุขแห่งรัฐให้การรับรอง ซึ่งก็ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองทัพอ้าง "ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า ประชาชน" เข้าไปยึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารในนามของ "ประชาชน" ที่เป็นแค่หมอกควัน นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคนไทยคุ้นเคย

แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมาก เช่นตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ทำสงคราม "ประชาชน" จนได้ชัยชนะแล้วก็สถาปนาระบอบปกครองของตนเองขึ้น ตามเจตจำนงของหมอกควัน "ประชาชน"

บางคนยังสามารถทำให้การอ้างของตนน่าเชื่อถือกว่านั้นอีก เช่น ฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ด้วยการปราบปรามเข่นฆ่าศัตรูทางการเมืองของตนราบคาบไปแล้ว หรือนโปเลียนจัดให้ลงประชามติหลอกๆ ว่า "ประชาชน" ในหมอกควันมีเจตจำนงที่จะให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ

แม้ว่า "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมเป็นเพียงหมอกควันที่ไม่มีใครจับต้องได้ แต่คำนี้กลับมีพลังไพศาล เพราะมันเกิดความชอบธรรมใหม่สำหรับอำนาจทางการเมือง ที่ทำลายล้างความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองแบบเก่าไปหมด นับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ก็ถูกนักการเมืองแย่งยื้อกัน เพื่อแปรเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม

ในหมู่คนทั่วไป พลังของคำนี้อยู่ที่ตัวเขาเองถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเป็นครั้งแรก ฉะนั้นแม้เป็นหมอกควัน แต่ก็เป็นความมัวซัวที่มีตัวเขาอยู่อย่างเด่นชัดในนั้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ใช้คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ โดยแบ่งแยกคนจำนวนมากให้กลายเป็นคนนอก เพราะมีการศึกษาต่ำ ถูกซื้อเสียง หรือยากจน (sans-culottes-ไร้สมบัติ) คาถา "ประชาชน "ของเขาจึงไร้มนตร์ขลัง ที่จะปลุกคนส่วนใหญ่ให้ลุกขึ้นมาร่วม "ปฏิวัติ" ด้วย

ก่อนที่คำนี้จะมีความหมายเป็นนามธรรม เราใช้คำว่า "ราษฎร" มาก่อน และนั่นคือที่มาของคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เพื่อประกาศว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็น "ราษฎร" ไม่ใช่ "ข้าราษฎร" และคำนี้หมายรวมถึงทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยก

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ที่เกิดการ "ปฏิวัติประชาชน" ตามมาอีกมากมาย อันที่จริง แม้แต่ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส คำนี้ก็ถูกใช้มาแล้วในการปฏิวัติของอเมริกัน เพียงแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษถูกมองว่าเป็นสงคราม "ประกาศอิสรภาพ" มากกว่าการ "ปฏิวัติประชาชน" เท่านั้น สงครามกู้เอกราชของนักชาตินิยมซึ่งเริ่มในละตินอเมริกามาก่อนใคร ก็เป็น "ปฏิวัติประชาชน" เหมือนกัน เพราะนักชาตินิยมอ้างเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้เช่นกัน ลัทธิชาตินิยมขยายไปทั่วโลก นำไปสู่"ปฏิวัติประชาชน"ในทุกทวีปของโลกต่อมา

"ปฏิวัติประชาชน" จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ตรงกันข้าม เกิดขึ้นบ่อยทั่วทั้งโลก และ (เท่าที่ผมนึกออก) การ "ปฏิวัติประชาชน" ทุกครั้ง หากทำสำเร็จก็มักจบลงที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง สามารถยึดกุมอำนาจไว้เหนือผู้คนทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นหมอกควัน

แม้แต่การปฏิวัติอเมริกัน ก็มีคนอเมริกันอีกมากในช่วงนั้นที่ไม่ต้องการเป็นกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน เฉพาะคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ผลักดันให้แยกตัวจากอังกฤษ ชนชั้นนำเหล่านี้เป็นใคร มีการตีความของนักประวัติศาสตร์ไว้หลายอย่าง นับตั้งแต่เจ้าที่ดินรายใหญ่ ไปจนถึงพ่อค้าในเมืองใหญ่ และพวกเคร่งศาสนา เป็นต้น

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการ "ปฏิวัติประชาชน" ในที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่นรัสเซีย, จีน, ละตินอเมริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อ้างหมอกควัน "ประชาชน" เข้ามายึดกุมอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง เพื่อชนชั้นของตน, ตระกูลของตน, หรือพรรคของตน

มีตลกอเมริกันที่เล่ากันว่า มัคคุเทศก์ซึ่งนำคณะทัวร์เที่ยวมหานครนิวยอร์ก ประกาศว่า บัดนี้เราเริ่มเข้าสู่มหานครนิวยอร์กแล้ว ระวังกระเป๋าสตางค์ของท่านให้ดี ผมจึงอยากสรุปอย่างเดียวกันว่า เมื่อไรได้ยินใครอ้างถึง "ประชาชน" ในความหมายนามธรรม จงระวังสิทธิเสรีภาพของท่านให้ดี

"ประชาชน" ในความหมายหมอกควันเช่นนี้มีใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ ก็มีใช้เหมือนกัน แต่ในความหมายตามหลักการบางกรณี เช่นในการฟ้องร้องคดีอาญาของสหรัฐ โจทก์จะเป็น"ประชาชน"เสมอ เป็นคดีระหว่าง"ประชาชน"กับนาย ก. นาย ข. เพราะความผิดทางอาญา คือการล่วงละเมิดต่อ "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ ในอังกฤษซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ใช้คำว่า The Crown แทน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่หมายถึงสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน

"ประชาชน" ในความหมายเชิงนามธรรมเช่นนี้ หากเป็นกรณีประเทศไทย ก็ต้องหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่มิใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากหมายถึงอธิปไตยของปวงชน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่นทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อาจทรงใช้ผ่านสภาเทือกตั้งได้

ส่วนใหญ่ของ "ประชาชน" ที่ใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงหมายถึงอะไรที่เป็นรูปธรรม เช่นกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นพลเมืองของรัฐ กลุ่มคนทั้งหมดที่ชุมนุมกันอยู่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของรถติดในกรุงเทพฯ

เพราะเป็นรูปธรรม จึงอาจนับหัวได้ แม้ว่าอาจนับยาก แต่ก็นับได้หากอยากนับ ระบอบเสรีประชาธิปไตยวางอยู่บนหัวของคน ซึ่งนับได้ กิจการสาธารณะใดๆ ย่อมตัดสินใจกันที่จำนวนของหัว เสียงข้างมากจึงมีความสำคัญในระบอบเสรีประชาธิปไตย และการเลือกตั้งอย่างเสรีและอิสระจึงเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของระบอบปกครองนี้

เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงที่มีคุณภาพที่สุด ตราบที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เราย่อมเห็นผิดได้เสมอ รวมทั้งเห็นผิดพร้อมกันจำนวนมากๆ จนกลายเป็นเสียงข้างมากก็ได้ เสรีประชาธิปไตยจึงต้องเป็นระบบที่เปิดให้เสียงข้างน้อย ได้แสดงออกอย่างอิสระเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและประเพณี เพื่อจะได้ขี้แจงแสดงเหตุผล จนทำให้คนส่วนใหญ่ที่หลงผิด คิดใหม่และตัดสินใจใหม่จากข้อมูลและเหตุผลที่ดีกว่า

เสียงข้างน้อยของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เคยทำอย่างนี้สำเร็จมาไม่รู้จะกี่แห่งแล้ว แต่ที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ ต้องมีความเคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความอดทนที่จะชี้แจงแสดงเหตุผล ทำให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของนโยบายที่แตกต่างกัน

เสียงข้างน้อยที่ปราศจากความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จะไม่มีความอดทนเช่นนี้ หันไปใช้การขว้างเก้าอี้และเข้าของในสภา หรือลาออกจากสมาชิกภาพ หรือบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะเชื่อเสียแล้วว่า ถึงพูดไปคนส่วนใหญ่ซึ่งโง่เง่ากว่าพรรคพวกของตนก็ไม่มีวันเขัาใจ

การสงวนกระบวนการปฏิรูปไว้ในมือคนกลุ่มน้อย ก็มาจากความไม่เคารพในศักยภาพอันเท่าเทียมกันของมนุษย์นั่นเอง เพราะกระบวนการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย คือการต่อรองกันของคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ไม่ควรมีคนกลุ่มใดมีอำนาจสั่งให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงไปตามผลประโยชน์ของตนเองเพียงฝ่ายเดียว

แต่เพราะต้องการยึดกุมอำนาจไว้กับกลุ่มของตนเพียงฝ่ายเดียวต่างหาก จึงเหยียดหยามดูถูก "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ยกย่องสรรเสริญ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรม เพราะ "ประชาชน" ประเภทหลังนี้แหละที่คนกลุ่มนี้สามารถอ้างตนเองเป็นตัวแทนได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ สามารถจัดการประโยชน์สาธารณะให้เข้ามือตนเองฝ่ายเดียวได้ง่าย การปฏิรูปของพวกเขา (ซึ่งถูกอาจารย์ธีรยุทธยกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติไปแล้ว) โดยเนื้อแท้แล้วคือการปล้นกันกลางวันแสกๆ นี่เอง

 ที่มา:มติชนรายวัน
--------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

9 เหตุการณ์หายนะ ปี 2556




แม้มนุษย์จะระวังป้องกันกันอย่างไร หายนภัยไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งหายนะจากฝีมือมนุษย์ที่หยิบอาวุธมาประหัตประหารกันเองเนื่องจากความขัดแย้ง ก็เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ได้ไม่เว้นแต่ละปี

เหตุการณ์ดังต่อไปนี้คือ 9 เหตุการณ์หายนะในปี 2556 ที่จะถูกบันทึกไว้ อย่างน้อยเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้มนุษย์ใช้ชีวิตทุกก้าวย่างอย่างระมัดระวัง มีสติพร้อมเผชิญสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดในปีต่อๆ ไป

1.ภัยจากนอกโลก อุกกาบาต เชลยาบินสก์

15 กุมภาพันธ์ ชาวเมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย ตกอยู่ในความตระหนกหลังอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าสู่น่านฟ้าก่อนเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเหนือพื้นดินราว 30-50 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แรงระเบิดมีความรุนแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ถึง 20 เท่า และได้เกิดคลื่นกระแทกสร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนถึง 3,000 แห่ง นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 1,500 คน ขณะที่ภาพจากคลิปวิดีโอของชาวเมืองถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกถึงความเสี่ยงจากภัยที่มาจากห้วงลึกในอวกาศที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่มนุษย์ไม่อาจตั้งตัว

2.บอสตันมาราธอน สหรัฐอเมริกา

เมื่อเวลา 14.49 น. วันที่ 15 เมษายน เกิดเหตุระเบิดขึ้น 2 ครั้งซ้อนบริเวณใกล้เส้นชัยของการแข่งขันบอสตันมาราธอน ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 264 คน

เหตุระเบิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการไล่ล่าผู้ก่อเหตุ หลังจากมีการเปิดเผยภาพผู้ต้องสงสัย 2 พี่น้อง ทราบชื่อในภายหลังคือนายโจคาร์ ซานาเยฟ และนายทาเมอร์ลัน ซานาเยฟ ชาวอเมริกันเชื้อสายเชเชน อายุ 20 และ 27 ปี ตามลำดับ

ผลของการไล่ล่าส่งผลให้ซานาเยฟคนพี่ต้องจบชีวิตลงในการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่โจคาร์ถูกจับกุม

นายโจคาร์ยอมรับว่าเป้าหมายต่อไปที่จะวางระเบิดคือจัตุรัสไทม์สแควร์ และยอมรับว่าเป็นนักรบทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องศาสนาอิสลามจากการโจมตี โดยล่าสุด นายโจคาร์อยู่ระหว่างการไต่สวนในข้อหาร้ายแรง และอาจต้องเจอกับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต



3.ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ฟิลิปปินส์

เช้ามืดของวันที่ 8 พฤศจิกายน พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ความเร็วลมสูงถึง 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เคลื่อนตัวเข้าพัดถล่มตอนกลางของฟิลิปปินส์ ความรุนแรงของพายุส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "สตอร์ม เซิร์จ"หรือคลื่นพายุซัดฝั่ง คล้ายสึนามิสร้างความเสียหายในพื้นที่

ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถูกจัดให้เป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นหายนะใหญ่หลวงที่สุดในปี 2556 โดยหลังเกิดเหตุเมืองทาโคลบันตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากนรก บ้านเรือนพังพินาศ

ศพผู้เสียชีวิตนอนเกลื่อน ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตมีมากถึงเกือบ 8,000 รายแล้ว นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 1,700 คน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนกว่า 4 ล้านคนต้องอพยพออกจากพื้นที่และอาจต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมาเหมือนเดิมได้

4.รานา พลาซ่าถล่ม บังกลาเทศ

ชีวิตอันลำเค็ญของชนชั้นแรงงานในบังกลาเทศ ถูกเปิดเผยขึ้นด้วยเหตุการณ์โรงงานผลิตเสื้อผ้าในอาคารรานา พลาซ่า ความสูง 8 ชั้น ชานกรุงธากา เกิดถล่มลงมาเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตใต้ซากมากถึง 1,135 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 1,500 คน เหตุการณ์ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในวงการอุตสาหกรรมของโลก นำไปสู่การจับกุมเจ้าของโรงงานที่ละเลยมาตรการเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าจากตะวันตก กลับมาทบทวนมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิภาพแรงงานใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่มีมติที่จะมอบเงินชดเชยจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเหยื่อผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว

5.สงครามกลางเมือง ซีเรีย

เหตุการณ์นองเลือดในซีเรียเริ่มต้นขึ้นจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลก่อนแปรผันเป็นความรุนแรง หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกองกำลังต่อต้านรัฐบาลขึ้นสู้รบกองทัพของรัฐบาลเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2554 ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นถึง 120,000 ราย ชาวซีเรียเกือบ 9 ล้านคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย บางส่วนอพยพไปต่างประเทศ ขณะที่บางส่วนต้องอาศัยอย่างอดอยากในซีเรีย

ล่าสุด รัฐบาลซีเรียยินดีที่จะส่งมอบอาวุธเคมีที่อยู่ในประเทศ หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย เมื่อเดือนสิงหาคมซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่สหรัฐรับอาสาเป็นผู้ทำลายอาวุธเคมีทั้งหมดให้ทันภายในกลางปี 2557 อย่างไรก็ตาม สัญญาณแห่งการเจรจาสงบศึกยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น

6.แผ่นดินไหว 7.1 ริกเตอร์ ฟิลิปปินส์

08.12 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหววัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.1 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางใกล้กับจังหวัดโบฮอล ตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้บ้านเรือนกว่า 8,500 หลังคาเรือนถูกทำลาย ขณะที่อีก 26,000 หลังคาเรือนได้รับความเสียหาย เหตุดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 198 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 500 คน นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่สูงที่สุดในฟิลิปปินส์นับ

ตั้งแต่ปี 2530 นอกจากนี้ธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ยังส่งผลกระทบกับประชาชนถึง 3.5 ล้านคนใน 6 จังหวัด โดยประชาชนกว่า 370,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเพื่อหาที่พักชั่วคราว ภาพเศษซากอาคารบ้านเรือนรวมไปถึงโบสถ์คริสต์เก่า ที่พังถล่มยับเยินถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

7.คนร้ายบุกกราดยิงห้างสรรพสินค้า เคนยา

21 กันยายน คนร้ายจำนวนหนึ่งถืออาวุธและระเบิด บุกกราดยิงผู้คนอย่างไม่เลือกหน้าในห้างสรรพสินค้าเวสต์เกต กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ก่อนที่ทางการเคนยาจะใช้เวลาถึง 4 วันควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 72 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 200 คน

กลุ่มอัล-ชาบับ กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงจากโซมาเลีย ออกมายอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวเพื่อตอบสนองต่อการส่งทหารเคนยาเข้าแทรกแซงในประเทศโซมาเลีย ในเบื้องต้นทางการเคนยาระบุว่ามีผู้ก่อการร้ายก่อเหตุดังกล่าวมากถึง 15 คน อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนล่าสุดของสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ก่อการร้ายมีเพียง 4 คน และยังสามารถหนีออกไปได้ในวันที่ 2 ของเหตุการณ์ นับเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนการจัดการกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของเจ้าหน้าที่เคนยา

8.ศึกสองศาสนา แอฟริกากลาง

ปัญหาในแอฟริกากลางมีต้นต่อมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ที่แก้แค้นกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากนายมิเชล โจโทเดีย ผู้นำกลุ่มมุสลิมติดอาวุธเซเลกา บุกยึดกรุงบังกี เมืองหลวงแอฟริกากลาง ขับไล่ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งก่อนที่นายโจโทเดียจะตั้งตนเป็นประธานาธิบดีเสียเอง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธเซเลกายังคงมีอิทธิพลและก่อเหตุวุ่นวายโดยพุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวคริสต์ ส่งผลให้ชาวคริสต์ตั้งกลุ่มติดอาวุธตอบโต้ด้วยการฆ่าชายชาวมุสลิมไปราว 60 รายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มเซเลกาตอบโต้ด้วยการสังหารชาวคริสต์กว่า 1,000 รายในช่วงระยะเวลาเพียงสองวัน

การแก้แค้นกันไปมาอย่างโหดเหี้ยมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มสมาชิกสหภาพแอฟริกา (เอยู) ส่งทหารเข้ารักษาความสงบโดยมีฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมสนับสนุนกำลังทหาร อย่างไรก็ตาม กองกำลังรักษาความสงบยังคงไม่สามารถหยุดความรุนแรงในประเทศแอฟริกากลางเอาไว้ได้

9.เหตุนองเลือดระหว่างชนเผ่า ซูดานใต้

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นายซัลวา คีร์อีร์ ประธานาธิบดีซูดานใต้ ผู้มาจากเผ่าดิงกา ชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในซูดานใต้ กล่าวหานายริค มาชาร์ อดีตรองประธานาธิบดีซูดานใต้ผู้น้ำกลุ่มกบฏจากเผ่านูเออร์ เผ่าใหญ่อันดับ 2 ที่เพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งไป ว่ากระทำการซ่องสุมกำลังเพื่อล้มรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือดระหว่างชนเผ่า บ้านเมืองกลายเป็นดินแดนมิคสัญญี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือนของแต่ละฝ่าย โดยในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 450 ราย

ล่าสุด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติส่งกำลังเข้ารักษาความสงบในพื้นที่แล้ว แต่ความรุนแรงดูเหมือนจะยังไม่ยุติลง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่าซูดานใต้จะมีชะตากรรมที่เหมือนกับรวันดา ที่เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 500,000-1 ล้านคน

ที่มา:มติชนรายวัน

--------------------------------------------

ห่วงการเมืองวุ่น ฉุดเศรษฐกิจปีหน้าวูบ !!?

แบงก์มองวิกฤติการเมืองไทยเป็นตัวการฉุดเศรษฐกิจปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเลวร้ายสุด หากยืดเยื้อไม่มีรัฐบาล ส่งออกไม่ถึง 3% จีดีพี อาจโตแค่ 0.5% แบงก์กรุงเทพ เชื่อเศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงปีนี้ ที่ 3% ขณะที่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้รัฐบาลถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุน

ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังให้น้ำหนักทางการเมืองในระยะข้างหน้า ซึ่งยังคงเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่น ของภาคเอกชนในด้านการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศนั้น ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯ ความคืบหน้าล่าสุดมีข้อสรุปในเรื่องของงบประมาณแล้ว ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในเรื่อง shut down ลดลง แต่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดวงเงิน QE ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนต่อเงินทุนไหลเข้า-ออกในภูมิภาคนี้ ขณะที่ยุโรปนั้นมีความชัดเจน แล้วว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำไปแล้ว ด้านจีนและญี่ปุ่นน่าจะเติบโตได้ในระยะที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ น่าจะส่งผลดีต่อภาคการ ส่งออกของไทย โดยคาดว่าส่งออกปีหน้าเติบโตที่ระดับ 7%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ตั้งสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ขึ้นอยู่กับปัจจัยทาง การเมืองเป็นหลัก ใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะที่ 1 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2557 และรัฐบาลสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที การส่งออกของไทยขยายตัวได้ในระดับ 7% จะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวที่ 4.5% กรณีที่ 2 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกปี 2557 แต่รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และภาคการส่งออกเติบโตในระดับ 5% จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ 3%

กรณีที่ 3 หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้าออกไปเกินกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2557 ของภาครัฐล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2558 หากภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7 โดยที่เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐไม่ขยายตัว อัตราการขยายตัวของจีดีพีจะอยู่ที่ 2.5% และกรณีสุดท้าย หากไม่สามารถจัดตั้ง รัฐบาลใหม่ได้ รวมถึงภาคการส่งออกขยายตัว ไม่ถึง 3% จะส่งผลให้จีดีพีลดเหลือเพียง 0.5%

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจใน ช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ กรอบช่องว่างขั้นสูง-ต่ำของแต่ละตัวเลขค่อนข้างจะกว้าง แต่เชื่อว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หากภาคการเมืองมีความชัดเจนขึ้นช่องว่างนี้ก็จะค่อยๆ แคบลง

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า หากยังไม่สามารถมีรัฐบาลในการ บริหารประเทศได้ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยบ้าง เพราะว่ารัฐบาลถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ และการลงทุน ดังนั้นการมีรัฐบาล จะทำให้การทำงานได้ผลที่ดี เพราะรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้

ส่วนนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ 3% โดยการส่งออกน่าจะดีขึ้นเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน โดยปัจจัยที่น่าห่วงคือความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนว่าจะพัฒนาและได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งน่ากังวลมากกว่าสถานการณ์การเมือง เนื่องจากภาคเอกชนกำลังประสบปัญหาการแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น จากการขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน และการขาดแคลนแรงงาน หากเอกชนแข่งขันไม่ได้ ก็อาจมีผลให้เศรษฐกิจโตได้ยาก

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////

การเคลื่อนไหวมวลชน ท่ามกลางความขัดแย้งของประชาชน !!?

โดย.นพคุณ ศิลาเณร

ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในประเทศ ขณะนี้มีอยู่ 2 ความขัดแย้งคือ "ความขัดแย้งหลัก" กับ "ความขัดแย้งรอง"

ความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งระหว่าง "ประชาชน" กับ "ระบอบเผด็จการ"

ความขัดแย้งรองคือความขัดแย้งระหว่าง "ขบวนเผด็จการ" กับ "ขบวนเผด็จการ" หรือตามภาษาของธีรยุทธ บุญมี เรียกว่า "พลังอนุรักษนิยม" กับอีกกลุ่มที่ ดร.เสกสรร ประเสริฐกุล เรียกว่า "กลุ่มทุนใหม่"

การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นความเคลื่อนไหวภายใต้ความขัดแย้งหลักคือ ประชาชนต่อสู้กับระบอบเผด็จการ แต่เนื่องจากการรวมตัวของประชาชนไม่ได้เรียงโมเลกุลทางความคิดกันแบบพรรคปฏิวัติ มวลชนจึงเป็นได้แค่ "กลุ่มผลักดัน" (Pressure Group) คือ ผลักดันให้เผด็จการฝ่ายหนึ่งโค่นล้มเผด็จการอีกฝ่ายหนึ่ง

โดยหวังว่า ขบวนเผด็จการที่ตนไปผลักดันให้มาโค่นอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยให้กับพวกเขา

ความหวังดังกล่าวเป็นความหวังแบบเดียวกับคนในยุค 14 ตุลาคม 2516 หรือการเคลื่อนไหวอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดประชาชนก็ได้มาซึ่งการปกครองแบบเผด็จการทุกๆ ครั้ง

การเคลื่อนไหวนิสิตนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ ถูกทหารฝ่ายตรงข้าม พล.อ. ถนอม กิตติขจร และ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เอาไปกิน

การเคลื่อนไหว 6 ตุลาคม 2519 ก็ไปรับใช้ "แนวทางคอมมิวนิสต์" ซ้ายจัดเอาไปกิน

ที่ผ่านมามวลชนทั้งเหลืองและแดงก็ถูก "ปั่นจิ้งหรีด" ให้ต่อสู้กันเองเพื่อให้ขบวนเผด็จการเหลืองแดงสลับกันขึ้นมาครองอำนาจ

แต่อย่างไรก็ตาม พอขบวนเผด็จการ (ไม่ว่าเหลืองหรือแดง) "บรรลุประโยชน์สูงสุด" คือได้ "อำนาจอธิปไตย" โดยไม่สร้างประชาธิปไตยแล้ว มวลชนก็จะทิ้งเผด็จการลง เช่น เมื่อแดงได้อำนาจรัฐมาจากการเลือกตั้ง บรรดามวลชนประชาธิปไตยที่ไปขับเคลื่อนให้เหลืองถึงกับ "สู้ตาย" กันเลยทีเดียว

แต่พอเหลืองได้อำนาจรัฐจากการ "รัฐประหาร" บวก "ตุลาการภิวัฒน์" แล้ว กลับไม่สร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย พรรคเหลือง ผู้นำมวลชนฝ่ายเหลืองจึงถูกประชาชนทิ้ง

วันนี้แม้จะพยายามปั่น พยายามปลุก ระดมมวลชนแบบเดิมอย่างไรด้วยวิธีไหนก็ "จุดไม่ติด" ยกเว้นรัฐบาลปราบปรามก็จะจุดติด ยิ่งดิ้นก็ยิ่งกลายเป็นแนวร่วม มุมกลับยืดอายุทางการเมืองให้แดง

ทั้งๆ ที่แดงกำลังจะร่วงที่อยู่ได้ใน เวลานี้ก็เพราะหลอกเอากำลังยุทธศาสตร์ คือ ชาวนาให้มาอุ้มตัวเอาไว้นั่นเอง

ก่อนหน้าที่ขบวนเผด็จการ "แดง" ครั้งยังไม่ได้ครองอำนาจอธิปไตยผู้นำมวลชน คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ-การแห่งชาติ (นปช.) ก็ได้รับการสนับสนุน จากมวลชนประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน

จนถึงขนาดชุมนุมขนาดใหญ่กลางเมืองได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

หลายคนสู้ตายถวายหัว พออเมริกา เข้ามาแทรกแซงให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนก็ลงมติสั่งสอนคว่ำรัฐบาลเหลืองลงอย่างง่ายดาย แต่พอแดงได้เป็นรัฐบาลแล้วไม่สร้างประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเหลือง

ประชาชนจึงค่อยๆ ถอดแบตเตอรี่ ที่สนับสนุน นปช.และพรรคเพื่อไทยลง แบบเดียวกับที่ประชาชนถอดการสนับสนุน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนต้องสลายกลุ่ม

หลายคนสงสัยเรื่องการแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่าของเหลืองก็ดี ของแดงก็ดี ของข้าราชการทหาร ของข้าราชการพลเรือนก็ดี นายทุนก็ดี กรรมกรก็ดี อาชญากรรม การปล้นธนาคาร ร้านทองเกิดขึ้นทุกวัน ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ทวีความรุนแรงอย่างไม่มีจุดจบว่า เกิดจากสาเหตุใด

ดังนั้น วันนี้ประเทศไทยจึงตกอยู่ใน สภาวะที่เรียกว่า "สถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง" แล้วสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ "ประชาชนไม่ยอมรับการปกครอง" กับสถานการณ์ "ผู้ปกครองหมดความสามารถในการปกครอง"

จนนำมาซึ่ง "อนาธิปไตย" ราวกับสภาพเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก

ทางออกมีทางเดียว คือ ก่อนอื่นประชาชนต้องมีสัมมาทิฐิก่อนว่า การปกครอง 80 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นการปกครองแบบเผด็จการ ขบวนเหลืองหรือแดงที่เป็น กำลังทางการเมืองให้พวกเขานั้น ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ของผู้ร่ำรวย 2 กลุ่ม ที่ชิงอำนาจทางการเมือง เพื่อมาสูบเลือดเนื้อประชาชนเท่านั้น

ยังมีกลุ่มผลประโยชน์ กรรมกร ชาว ไร่ชาวนา ที่ไม่เคยมีผู้แทนของเขาเข้าไปถือครองอำนาจอธิปไตยร่วมเพื่อสะท้อนประโยชน์ของพวกเขาเลย

การสู้กันของนายทุนผู้ขูดรีดกับชนชั้นสูงผู้กดขี่จะเป็นเรื่องธรรมดาในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ถ้าประชาชน ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรมไปเห็นว่า การปกครองของทั้งเหลืองและแดงที่ไปเป็นกำลังทางการเมืองให้โดยผ่านการเลือกตั้ง หรือตุลาการภิวัฒน์นั้น ยังเป็นการปกครอง แบบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เป็นการปกครอง แบบเผด็จการเสียแล้ว

ระยะเปลี่ยนผ่านนี้ก็จะยาวออกไปโดยไม่จำเป็น ถ้าประชาชนเปลี่ยนการเคลื่อนไหวมวลชนมาเป็นการเคลื่อนไหวประชาชน เพื่อนำมาสู่การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้สามารถ แก้ได้

ถ้าไม่เอาสิ่งชั่วออกไปเสียก่อนแล้ว จะเอาสิ่งดีใส่ลงไปได้อย่างไร!

การที่ "ธีรยุทธ" บอกว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล นั้นเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง

ส่วนการที่ ดร.เสกสรรค์ ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลในระบอบเผด็จการว่า ให้บริหารความเป็นธรรมและแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ฟังเสียงประชาชนที่หลากหลายทุกขั้นตอน การตัดสินใจเพื่อแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส นั้นเป็นเรื่อง "เพ้อเจ้อ" ราวกับไปขอร้องให้เสือไม่กินเนื้อได้อย่างไร

รวมทั้ง น.พ.ประเวศ วะสี ที่เคยขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองในปี 2540 จนนำมาซึ่งปัญหามาในทุกวันนี้ "ธีรยุทธ" คนเดือนตุลาไร้เดียงสาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เรียกร้องประชาธิปไตยจนบ้านเมืองปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พยายามร่วมกันทำผิดหลักวิชาการเมืองด้วยการชวนคนให้ไป "กระจายอำนาจการปกครอง" แทนที่จะให้ "กระจายอำนาจอธิปไตย"

อบต. อบจ. ที่กระจายอำนาจการปกครองไปให้นั้น ยังฆ่ากันไม่จุใจอีกหรือ?

40 ปีแล้วที่คนเหล่านี้ยังก้าวไม่พ้นมิจฉาทิฐิของตนเอง แถมยังมาชวนประชาชนให้หลงทางหนักขึ้นไปอีก

ดังนั้น ถ้าประชาชนเจอพวก "ปฏิกิริยา" กับพวก "ปฏิปักษ์ปฏิวัติ" พร้อมๆ กัน

ประชาชนก็ไม่ต้องไปตีพวกปฏิกิริยาหรอก เพราะพวกปฏิกิริยาจะขัดขาล้มกันไปเอง ตีพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติดีกว่า

ที่พวกปฏิกิริยาอยู่ได้ก็เพราะพวกปฏิปักษ์ปฏิวัตินั่นแหละค้ำเอาไว้ จะเรียกพวกนี้ว่าพวก

เสาค้ำเผด็จการนั่นแหละเหมาะที่สุด!

ที่มา.สยามธุรกิจ
----------------------------------------

วิกฤตเลือกตั้ง ถ้าไม่เดินหน้า ทั้งหมดคือรัฐประหารแน่นอน !!?

โดย.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง

แต่ ณ วันนี้ ถามใครต่อใครว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ นักวิชาการ นักการเมืองที่เป็นผู้วิเคราะห์-หยั่งเชิงการเมือง ยังไม่มีใครกล้าฟันธง

นักวิชาการรัฐศาสตร์ เขาทำนายว่าวันนี้กระบวนการรัฐประหารเงียบกำลังเกิดขึ้น ถ้าไม่มีวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แปลว่ารัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว

- สถานการณ์การเมืองขณะนี้ คิดว่ามีหรือไม่มีการเลือกตั้ง

คงคาดเดาไม่ได้ แต่การที่คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร (กรรมการการเลือกตั้งด้านบริหารงานเลือกตั้ง) ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป อ้างกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.บางมาตรา ว่าการเลื่อนเลือกตั้งเป็นเรื่องทำได้ แต่ถ้าเราดูเนื้อหาสาระกฎหมาย การเลื่อนการเลือกตั้งใน พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้พูดถึงการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ ในมาตรา 78 วรรค 3 บัญญติไว้ว่า ถ้ามีเหตุสุดวิสัยให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆโดยเร็ว ฉะนั้น เรื่องเลื่อนการเลือกตั้งมันมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.เลื่อนได้เฉพาะกรณีสุดวิสัย และ 2.ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อย ๆ แต่ต้องประกาศจัดใหม่โดยเร็ว ดังนั้น สิ่งที่กปปส.กำหนด มันทำไม่ได้

ส่วนในแง่การเมืองกลัวว่าจะทำได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ กปปส.เรียกร้องทุกเรื่องทำไม่ได้ในแง่กฎหมาย แต่ในแง่การเมืองมันก็เกิดขึ้นตามนั้นทุกเรื่อง คิดว่ามีอย่างน้อย 2 สัญญาณเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการเลือกตั้งไม่เกิด คือ 1.ท่าทีของ กกต.ตั้งแต่พบกับ กปปส.หลังจากนั้นก็นำมาสู่การประชุมของ กกต.ที่แถลงว่าจะเอายังไงกับการเลือกตั้ง ในที่สุดก็ย้ำประเด็นว่าการเลื่อนเลือกตั้งทำได้ นี่คือเคสที่ประหลาด 2.ท่าทีของเหล่าทัพ ที่ปลัดกระทรวงกลาโหมบอกว่ากองทัพสนับสนุนการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดบอกว่ากองทัพไม่ได้พูดแบบนี้ เป็น 2 สัญญาณที่ประหลาดมาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไปไล่ดูสถิติการเลือกตั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2535 คิดว่ามีปรากฏการณ์ประหลาดมาก2 ข้อ คือ 1.จำนวนคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ และการเลือกตั้งปี 2554 คนไปใช้สิทธิเกือบร้อยละ 75 คำถามคือถ้าไม่มีการเลือกตั้ง จำนวนคน 75 เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการเลือกตั้งมีสูงมากในช่วงหลัง เราจะตัดคนเหล่านี้ออกไปจากการเลือกตั้งไม่ได้

2.ตัวเลขของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมันสูงมากจนน่าตกใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2535 พรรคอันดับ 1 คือสามัคคีธรรมได้ 80 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง หรือได้แค่ 1 ใน 4 ของสภา พรรคประชาธิปัตย์ได้ 79 จาก 360 ที่นั่ง 1 ใน 5 ของสภา ปี 2539 พรรคความหวังใหม่ได้ 125 ที่นั่ง จาก 400 ที่นั่งไม่ถึงครึ่ง

แต่ตั้งแต่ 2544 เป็นต้นมา พรรคไทยรักไทย ได้ 270 จาก 500 ที่นั่ง คือครึ่งหนึ่ง รอบที่สองได้ 375 จาก 500 ที่นั่งได้เกินครึ่ง ปี 2550 ได้ 233 จาก 480 ที่นั่งได้เกินครึ่ง ดังนั้น คะแนนเสียงพรรคอันดับหนึ่งมันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมา 1 ทศวรรษแล้ว การทำให้ประเทศไม่มีการเลือกตั้ง คือการลบคนเหล่านี้ออกไปจากสารบบการเมืองไทย มันทำไม่ได้อีกต่อไป

- 2 สัญญาณที่ดูประหลาด คิดว่าอะไรอยู่เบื้องหลัง

ไม่คิดว่ามีอะไรซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ถ้าเรามองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ตั้งแต่มีม็อบคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549 สังคมไทยถูกครอบงำด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสงครามการเมืองกลางเมืองภายในประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากต่อต้านรัฐบาล มีการปะทะ มีความขัดแย้ง มีการใช้กำลัง ในรอบหลังปี 2549 เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ประมาณ 6 ครั้ง

ถ้าหากมองเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโจทย์หลังปี 2549 คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน คือการพยายามให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจ ขณะที่ทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นในแง่เบื้องหลังตัวบุคคลอาจจะมี แต่ในแง่ภาพรวมตลอด 6 ปี มันคือธีมเดียวกัน

- คือธีมที่เสียงข้างน้อยบนท้องถนนสามารถใช้มวลชนไปกดดันอำนาจรัฐได้

ใช่ ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์ที่เสียงข้างน้อยไปกดดันผู้มีอำนาจรัฐได้ คิดว่า 1.ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดมาก่อน 14 ตุลา 2516 ก็ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวแบบนี้ พฤษภา 2535 ก็ไม่ใช่ แต่ผมคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นในเวลาที่การเมืองเดินมาถึงการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง 2 ขั้ว ซึ่งการเลือกตั้ง 18 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ชนะจริง ๆ แค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของฝ่าย ซึ่งไม่เคยชนะการเลือกตั้งคือทำอย่างไรให้เสียงข้างน้อยจะดูเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาได้ การเดินออกไปสู่ท้องถนนมันคือการทำให้เสียงข้างน้อยเคลมว่าเป็นเสียงข้างมาก การทำดังกล่าวจะทำได้ในบริบทที่ไม่มีการเลือกตั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้งจำนวนคนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งให้ฝ่ายตรงข้ามมันจะเป็นเครื่องชี้วัดที่แท้จริงกว่าว่าคนที่อยู่บนท้องถนนไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

- แต่มวลชนเสียงข้างน้อยที่อาจารย์บอกระบุว่าเลือกตั้งไปแล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม

คิดว่าเป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะถ้าดูในสังคมไทยหรือสังคมโลกส่วนใหญ่ การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเหตุให้นำไปสู่ความขัดแย้งของคนกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเทียบกับไม่มีการเลือกตั้ง

- ถ้ามีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาตามที่ กปปส.สร้างจินตนาการไว้ไหม

เป็นไปได้ แต่มันไม่ใช่ความขัดแย้งซึ่งเป็นธรรมชาติในสังคม แต่เป็นความขัดแย้งซึ่งเกิดจากการจงใจสร้างสถานการณ์ กรณีอย่างนี้เราพูดไม่ได้ว่าการเลือกตั้งทำให้เกิดความขัดแย้ง สิ่งที่ต้องพูดกลับกัน คือมีคนจำนวนมากจงใจสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง เพื่อเป็นเหตุไม่ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ในต่างประเทศก็มีปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายสังคม

- ในต่างประเทศจบวิกฤตความขัดแย้งที่ถูกสร้างสถานการณ์ขึ้นอย่างไร

ถ้าดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ เรื่องแบบนี้ใช้เวลานานกว่าจะจบ เวลา 10 ปี บวก ๆ ขึ้นไป แล้วบางสังคมที่โชคดีจบลงโดยไม่เกิดความรุนแรง แต่หลายสังคมจบด้วยความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.ฝ่ายเสียงข้างน้อยใช้อำนาจเผด็จการทหารปราบปรามประชาชนเสียงส่วนใหญ่ เกิดที่อินโดนีเซีย จีน พม่า แบบที่ 2.เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย ที่เสียงส่วนใหญ่ทนไม่ได้แล้วใช้การลุกฮือ เพื่อกำจัดเสียงส่วนน้อยแบบถอนรากถอนโคน ดังนั้นการทำให้สังคมไทยไม่เดินไป 2 จุดนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ การมีการเมืองที่ประนีประนอมทุกฝ่ายได้ แล้วอยู่ในกติกาถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดในปัจจุบัน

- โทนการเมืองขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะประนีประนอมกันได้ไหม

เสียงส่วนใหญ่แสดงท่าทียอมรับการประนีประนอมได้ เช่น การที่พรรคเพื่อไทยเลือกคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ซึ่งมีแบ็กกราวนด์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลังปี 2549 และยังไม่เคยแสดงความเห็นทางการเมืองโดยการโจมตีชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มไหนเลย ซึ่งการหยิบชื่อคุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการต้องการประนีประนอมของฝ่ายเสียงส่วนใหญ่ของประเทศนี้อย่างถึงที่สุดแล้ว

ฉะนั้น โจทย์ของการไม่ประนีประนอมในวันนี้อยู่ที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่ยอมปรองดองกับเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดีมาก ๆ เพราะคุณกำลังบีบให้เสียงส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก นอกจากลุกฮือขึ้นก่อการจลาจล ในที่สุด ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง มีนายกฯ มีสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมันก็คือรัฐประหารเงียบดี ๆ นั่นเอง

- สถานการณ์วันนี้กำลังนำไปสู่รัฐประหารเงียบหรือไม่

กระบวนการริเริ่มแล้ว ไม่รู้มันจะสำเร็จหรือเปล่า แต่ในแง่กระบวนการการเขี่ยบอล เพื่อนำไปสู่รัฐประหารเงียบมันเริ่มแล้ว และคิดว่ายังไม่หยุดด้วย การเรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์ลาออก การพยายามเลื่อนการเลือกตั้งของ กกต. คิดว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ดีมาก ๆ

- การแสดงตัวของ กกต.ที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้วิกฤตมันคลี่คลาย

ความขัดแย้งในสังคมไทยมีหลายเรื่อง มันสะสมมาเป็นเวลานาน เป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกัน การเลือกตั้ง 2 ก.พ. มันแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่ทำได้ คือหยุดความขัดแย้งที่เป็นการเมืองบนท้องถนนไปสู่คูหาเลือกตั้งแทน เพราะการเลือกตั้งโดยตัวมันเอง สามารถดีไซน์ ออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูป ระดมความเห็นของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ว่าจะปฏิรูปสังคมยังไงได้

การเลือกตั้งในสังคมไทยมันเป็นเครื่องมือในการทำนโยบายปฏิรูปสังคมไทยมาต่อเนื่องมากกว่าที่เราคิด เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ถือว่าเป็นการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่ปฏิรูปผ่านการเลือกตั้ง กฎหมายประกันสังคมก็เกิดมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2533

- ควรมีการเลือกตั้งก่อนแล้วให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากปฏิรูปการเมือง

ผมคิดว่าทำได้ทุกส่วน การปฏิรูปไม่ใช่ให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากทำ แต่โดยการเลือกตั้งมันจะเป็นเครื่องมือในการระดมความเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งประเทศว่าเขาต้องการนโยบายแบบไหน เช่น ช่วงเลือกตั้งที่คุณทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นของพรรคไทยรักไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อต้าน การโหวตของประชาชนให้คุณทักษิณปีนั้น คิดว่าประชาชนต้องการปฏิรูประบบสาธารณสุข 30 บาท แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ทำเรื่องการศึกษาฟรีก็เกิดขึ้นในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง

- ไม่จำเป็นต้องนำมวลชนออกมาบนท้องถนนแล้วเรียกร้องการปฏิรูป

ในประสบการณ์ของประเทศเรา การเมืองบนท้องถนนไม่เคยนำไปสู่การปฏิรูปอะไร ยิ่งการเดินขบวนบนท้องถนนในเวลาซึ่งสังคมมีความแตกแยกสูง มีช่องว่างทางชนชั้นสูง การปฏิรูปไม่มีทางเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว

- มองการบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

เขาไม่ลงเลือกตั้งบนสมมติฐานที่เชื่อว่า 1.จะไม่มีการเลือกตั้ง 2.จะมีนายกฯ และสภารักษาการ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมให้ตัวเองหายไปจากเวทีการเมือง 4 ปีอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้ประเทศนี้ไม่มีการเลือกตั้ง และมีนายกฯ มาจากอำนาจนอกระบบ มาจากการแต่งตั้ง

- เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารเงียบ

ในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ต้องจบลงที่รัฐประหารเงียบ ไม่มีทางอื่น เช่น ถ้าคุณต้องการให้มีนายกฯรักษาการซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คุณก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง จะแก้ยังไง คำตอบคือแก้ไม่ได้ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ทางออกเดียวคือต้องรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ

- เมื่อวันนี้ทหารยังอยู่ในที่ตั้ง การเคลื่อนไหวของ กปปส.อะไรคือจุดชี้ขาดว่าชนะหรือไม่ชนะ

ปัญหาของประเทศซึ่งปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเมืองไทยคือการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล หรือการตั้งคนมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งหมดต้องมีพระปรมาภิไธย จะต้องมีการทูลเกล้าฯ ถ้าคุณรัฐประหารล้มรัฐบาลเดิมไป ที่ทำกันในอดีตคือทหารเป็นคนทำ คุณสุเทพไม่สามารถเดินไปทูลเกล้าฯด้วยตัวเองได้ ทหารต้องออกมา แต่จะเป็นเวลาไหนแค่นั้นเองที่ทหารยังไม่ออกมา เพราะเขาสรุปบทเรียนความผิดพลาดปี 2549 ที่ออกมาเร็วเกินไป เมื่อออกมาเร็วเกินไปก็เกิดการตั้งคำถามว่า การที่คุณออกมาโดยอ้างว่ามารักษาความสงบจริง ๆ มันไม่ใช่ เพราะมันไม่มีความไม่สงบในเวลานั้น

ดังนั้น ถ้าสรุปบทเรียนจากปี 2549 ต้องออกมาในเวลาที่มีความขัดแย้งรุนแรงมาก ๆ ฉากที่เราเห็นทั้งหมด ขู่การปิดล้อม กกต. กกต.บอกจะเลื่อนเลือกตั้ง ป.ป.ช.ที่กำลังรอเล่นงานรัฐบาลกับสภาอยู่ ผมคิดว่าทั้งหมดอยู่ในซีนเดียวกัน คือการยกระดับสถานการณ์ให้อยู่ในภาวะที่คนรู้สึกว่าเกิดความไม่สงบทางการเมือง ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง จนยอมรับการรัฐประหารได้ แต่ทั้งหมดจะจบตรงที่การรัฐประหารแน่นอน

- สรุป 2 ก.พ.จะต้องเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป

ใช่ เพราะถ้าไม่เดินหน้าเลือกตั้ง ทั้งหมดคือการรัฐประหารแน่นอน ยังไงก็ต้องมีรัฐประหารรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------

คุณร่างกติกาเอง แล้วจะปฏิรูปอะไร !!?

โดย.พงศ์เทพ เทพกาญจนา

 สะท้อนท่ามกลางการเมืองขัดแย้งรุนแรงฝ่ายท่านเป็นคนเขียนกติกาเอง พวกผมไม่เคยทำเลย รัฐธรรมนูญปี50ที่พวกท่านยกร่าง นายกฯไม่เกี่ยวเลย

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านทางการเมืองที่ขยับเข้าใกล้คำว่า "สงครามกลางเมือง" เข้าไปทุกที ดูเหมือนทุกฝ่ายจะมีถ้อยคำ วลี ที่เป็นเหตุผลสนับสนุนและอธิบายจุดยืนของฝ่ายตนมากมาย

บางเหตุผลก็พอฟังได้ แต่หลายเหตุผลก็บิดเบือน...

การรู้เท่าทันเหตุผลเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจะรู้เท่าทันได้ ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถานการณ์ ณ ปัจจุบันเสียก่อน

แต่ประวัติศาสตร์ก็มีหลายด้าน หลายมุมมอง วันนี้ลองมาฟังมุมมองของคนในรัฐบาลอย่าง พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับภาระหนักอึ้งในช่วงนี้ ทั้งงานด้านกฎหมายและการปฏิรูปประเทศ

เราไม่เคยร่างกติกา

ประเด็นที่ พงศ์เทพ ตั้งคำถามย้อนกลับก่อนที่จะตอบคำถามแรกเรื่องโมเดล "สภาปฏิรูปประเทศ" ก็คือ เขาไม่รู้ว่า "กติกาการเลือกตั้ง" ที่ผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำ กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องการให้ปฏิรูปและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ถึงขนาดยอมให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ได้นั้น หมายถึงอะไรกันแน่ เพราะแกนนำ กปปส.คือผู้ที่ยกร่างกติกาการเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

"ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รัฐธรรมนูญปี 50 นั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้ร่วมยกร่าง นักวิชาการที่ร่วมร่าง ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็มีกติกาการเลือกตั้งด้วย วันนี้นักวิชาการเหล่านั้นบางส่วนก็ขึ้นเวที กปปส. บางส่วนก็อยู่ในองค์กรอิสระ เช่น ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"

"ตอนที่จะมีการยกร่างก็มีการเชิญผู้แทนพรรคการเมืองไปคุยในลักษณะขอรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคก็เสนอรูปแบบเขตเดียวคนเดียว ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอแบบพวง (เขตใหญ่ 3 คน) ปรากฏว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยกร่างกติกาการเลือกตั้งไปแบบนั้น รวมทั้งระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นบัญชีเดียวทั่วประเทศ แต่เป็นแบบสัดส่วนแยกรายภาค"

พงศ์เทพ อธิบายว่า กติกานี้ใช้ในการเลือกตั้ง 1 ครั้ง เมื่อ 23 ธ.ค.50 พรรคพลังประชาชน (พรรคใหม่ของสมาชิกพรรคไทยรักไทย) ก็ชนะการเลือกตั้ง ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งปี 54 ก็แก้รัฐธรรมนูญ กลับไปใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว และในระบบบัญชีรายชื่อก็กลับไปเป็นบัญชีเดียวทั่วประเทศ แต่เพิ่มเป็น 125 คน

"กติกาใหม่นี้เลขาธิการ กปปส. คือ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ นี่แหละเป็นคนแก้เอง ทีนี้พอมาพูดถึงการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ผมก็เลยไม่เข้าใจว่าจะปฏิรูปอะไร ปฏิรูปไปเป็นแบบไหนอีก เพราะฝ่ายท่านเป็นคนเขียนกติกาทั้งหมด พวกผมไม่เคยทำเลย แม้แต่กติกาการเป็นรัฐบาลรักษาการหลังยุบสภาเราก็ไม่ได้เป็นคนยกร่าง แต่เป็นรัฐธรรมนูญปี 50 ที่พวกท่านยกร่าง ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย"

"วันนี้คุณสุเทพบอกว่ามีมวลมหาประชาชนสนับสนุนท่าน ถ้าหมายความว่าเป็นเสียงข้างมากที่เห็นด้วยกับท่าน ทำไมกลุ่มของท่านไม่ไปสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง จะได้ชนะเลือกตั้ง จากนั้นท่านจะทำอะไรก็ได้ ปฏิรูปอะไรก็ได้ แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้ ได้ปฏิรูปอะไรบ้าง วันนี้ท่านบอกปฏิรูปได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ตอนนั้นท่านอยู่ในอำนาจ 2 ปีกว่าเกือบ 3 ปี ก็น่าจะทำเสร็จแล้วสิ"

ปฏิรูป...งานระยะยาว

พงศ์เทพ ซึ่งเคยรับราชการเป็นผู้พิพากษา เล่าว่า เรื่องปฏิรูปนั้น จริงๆ แล้วไม่สามารถทำให้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียงสั้นๆ

"ผมเคยรับราชการในศาลยุติธรรม เคยผลักดันเรื่องปฏิรูปในองค์กรศาล ใช้เวลา 5-6 ปีกว่าจะเห็นผลบางส่วน เช่น ให้สามารถตรวจสอบ ก.ต. (คณะกรรมการตุลาการ) ได้ ตอนที่รับราชการอยู่ผมทำเรื่องนี้ แต่เสนอไปก็เงียบ มาเป็นผลในเวลาหลายปีต่อมา ซึ่งต้องใช้เวลานาน"

"หรืออย่างการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 40 จากนั้นก็มีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แต่วันนี้ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ถามว่าการกระจายอำนาจเสร็จหรือยัง เพราะวันนี้ก็ยังพูดกันอยู่ แม้แต่บนเวทีของ กปปส.เอง"

"หรือการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีการตั้ง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญปี 40 ทำไมวันนี้ยังต้องมาพูดถึงปัญหาการทุจริตกันอยู่ ทั้งๆ ที่เราเขียนกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.เยอะมาก สร้างกลไกที่ดีที่สุดให้ ผมว่าต้องย้อนกลับไปดูว่ากลไกมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำไมเราให้อำนาจ ป.ป.ช.เต็มที่จึงยังมีการทุจริตกันอยู่ คดีค้างเก่าก็เยอะ และเยอะกว่านี้มากช่วงก่อนที่จะแยกตั้ง ป.ป.ท. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม) ซึ่งการที่มีคดีค้างเก่ามากย่อมมีผลต่อการปราบปรามการทุจริตด้วย"

พงศ์เทพ สรุปแนวคิดของเขาว่า การปฏิรูปประเทศไม่ว่าเรื่องอะไร ย่อมเนรมิตให้เสร็จไม่ได้ใน 1-2 ปี แต่บางอย่างบางประเด็นที่ทำได้ทันที ก็ได้ทำไปแล้ว

"จริงๆ การปรับระบบการเลือกตั้งผมว่าทำได้เร็ว แต่ไม่ใช่ปรับให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งชนะเลือกตั้งนะ เพราะคงไม่มีเหตุมีผลเพียงพอ ถ้าปรับเพื่อให้การเลือกตั้งสะท้อนเสียงของคนส่วนใหญ่ รับผิดชอบต่อคนที่ลงคะแนนให้ อย่างนี้พอทำได้ภายใน 1 ปี แต่ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญด้วย ไม่รู้ต้องไปเชิญศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าทุกคนเห็นตรงกันหมด แต่ศาลท่านไม่ให้แก้จะทำอย่างไร"

"จริงๆ แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มี 3 คนที่ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย แล้วก็มาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ที่อำนาจบังคับบัญชาคนทั้งประเทศในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างนี้น่าจะเขียนเลยว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบก่อน แต่นี่ในรัฐธรรมนูญกลับไม่เขียนไว้ ซึ่งแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติที่ระบุไว้ชัดว่าสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไม่มีเขียนไว้ ก็แสดงว่าไม่ต้องส่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเหตุเป็นผล เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรเสียก็ต้องขัดกับรัฐธรรมนูญเดิมอยู่แล้ว"

"ทุกวันนี้มีการแสดงความเห็นที่ผมเองก็งงๆ อยู่เหมือนกัน เช่น บางท่านพูดแบบไม่เชื่อถือประชาชน ต่อต้านการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วยซ้ำ แต่กลับจะให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างนี้มันจะขัดกันไหม"

สภาปฏิรูป...แค่ตุ๊กตา

กับโมเดลสภาปฏิรูปประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และถูกวิจารณ์ในทางลบค่อนข้างมาก พงศ์เทพ บอกว่า ทุกฝ่ายต้องการเห็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปและเริ่มได้เร็ว รัฐบาลจึงให้ภาคราชการไปพิจารณารูปแบบหลังจากที่มีเครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชนเสนอประเด็นขึ้นมา ฝ่ายราชการก็ไปทำมาว่าสมาชิกสภาปฏิรูปจะมาจากไหน มีกระบวนการได้มาอย่างไรในแบบที่เป็นไปได้ แล้วก็เสนอขึ้นมา จากนั้นก็ส่งให้ภาคส่วนต่างๆ ได้พิจารณา รวมทั้งภาคเอกชนด้วย แต่ที่เสนอยังถือเป็นเพียงตุ๊กตาว่าถ้าเราตั้งตัวแทนสาขาอาชีพไว้ที่ 2,000 คน ที่มาจะเป็นอย่างไร แล้วสมาชิกสภาปฏิรูปจริงๆ ที่มี 499 คน จะมาอย่างไร

"ฝ่ายราชการก็เสนอมาให้มีคณะกรรมการสรรหา 11 คน ประกอบด้วยหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวมทั้งกองทัพ ให้คนเหล่านี้มาวางกรอบตัวแทนสาขาอาชีพ มิฉะนั้นก็จะครหาว่ารัฐบาลเลือกเองอีก จะเห็นได้ว่ารูปแบบที่เสนอ รัฐบาลไม่ได้ยุ่งเลย"

"แต่พอเปิดเผยออกมาก็มีคนตั้งข้อสงสัย เราอยากจะชี้แจงว่านี่เป็นแค่ตุ๊กตา คณะกรรมการสรรหา 11 คน จะเพิ่มเป็น 12-13 คนก็ได้ หรือตัดเหลือ 9 คนก็ได้ ก็สามารถแสดงความเห็นเข้ามา แต่ไม่มีคนของรัฐบาลอยู่ด้วยแน่นอน สาเหตุที่เราต้องมีตุ๊กตา เพราะไม่อยากพูดลอยๆ ว่ามีสภาปฏิรูป แล้วแต่ละคนก็คิดไปคนละอย่าง"

"ที่ผ่านมามีผลการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านต่างๆ มากมาย สิ่งไหนที่ทำได้เลยก็ทำไป ที่ทำไปแล้วก็มี เช่น ปฏิรูปการศึกษา แค่พูดคงไม่ได้ ต้องมีคนไปทำต่ออีกเยอะ อย่างการยกระดับความรู้เด็กไทย จะทำอย่างไร ไปอ่านรายงานดูได้ บางเรื่องก็เขียนไม่ชัดเจน ต้องศึกษาเพิ่มก็มี หรือให้คนไปทำต่อ แต่บางอย่างที่มีรายละเอียดก็ทำได้ทันที"

ส่วนที่มีการเสนอให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันว่าจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไม่บิดพลิ้วนั้น พงศ์เทพ บอกว่า เมื่อคนไทยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันว่าจะปฏิรูป ทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็เห็นด้วย ก็ต้องมาขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งก็ตาม

ปฏิรูปคน-ค่านิยม

ในฐานะที่คร่ำหวอดในแวดวงกฎหมาย และเคยผ่านงานปฏิรูปมา พงศ์เทพ บอกว่า การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปคน ค่านิยม และทัศนคติ

"อย่างประเทศสิงคโปร์ เมื่อก่อนมีปัญหาทุจริตมาก แล้วเขาก็แก้ทั้งระบบ แล้วเอาคนดีเข้าไปทำงาน สุดท้ายก็แก้ทุจริตได้สำเร็จ ผมอยากถามว่าถ้าข้าราชการเงินเดือนไม่พอกิน จะไม่ให้โกงคงยาก เพราะฉะนั้นนอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ต้องปรับปรุงเรื่องเงินเดือนข้าราชการด้วย อย่างนี้เป็นต้น"

"นอกจากนั้นยังต้องปฏิรูปทัศนคติของคนในประเทศ ค่านิยมของคน เช่น การทุจริต มันมีทั้งผู้รับและผู้ให้ ผู้รับมีหลายส่วน เช่น นัการเมือง ข้าราชการ องค์กรอิสระ ผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหมด ทุกคนมีโอกาสใช้อำนาจอย่างบิดเบือนทั้งสิ้น ส่วนผู้ให้ก็อาจจะเป็นภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ประชาชนทั่วไป การทุจริตนั้น ถ้าไม่มีผู้ให้ก็ไม่เกิดขึ้น ขณะที่คนรับ แค่เรียกรับก็ผิดแล้ว ด้วยเหตุนี้จะแก้ทุจริตจึงต้องแก้ทั้ง 2 ด้าน เพราะมีด้านคนให้ด้วย เรื่องแบบนี้จึงอยู่ที่ค่านิยมด้วยเช่นกัน"

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลเสนอโมเดลปฏิรูปข้ามขั้น เพราะยังไม่ได้เปิดเวทีกลางให้คู่ขัดแย้งร่วมแสดงความคิดเห็นนั้น พงศ์เทพ บอกว่า เรื่อง "เวทีกลาง" เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอขึ้นมา รัฐบาลไม่ได้เสนอเอง รัฐบาลแค่อำนวยความสะดวกและคิดรูปแบบเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งรูปแบบที่ว่านี้เป็นเพียงตุ๊กตา สามารถไปคิดรูปแบบอื่นมาก็ได้

"เราก็ช่วยคิดให้ ไม่อย่างนั้นเอกชนก็เหนื่อย คุณขับเคลื่อนเองทั้งหมดก็ได้ รัฐบาลไม่ยุ่ง แต่พอรัฐบาลเข้าไปช่วย ก็จะสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือของรัฐได้ งบประมาณก็มีสนับสนุน ไม่ต้องเสียเงินเอง"

ในประเด็นที่มีนักกฎหมายหลายสำนักระบุว่า ข้อเสนอตั้งสภาปฏิรูปของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เพราะมีการใช้งบกลางและผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปนั้น พงศ์เทพ ยืนยันว่า เราไม่ได้ตั้งงบใหม่ ไม่ได้ใช้งบกลาง รัฐบาลดูรัฐธรรมนูญหมดแล้ว ส่วนกลไกที่จะทำงานก็ดูแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดให้เรื่องใดต้องขออนุญาต กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ก่อน เราก็ขอ

สำหรับเรื่องการผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป เราไม่ได้ผูกพัน เราแค่ให้รัฐบาลชุดต่อไปพิจารณา ถ้าคิดว่าดีก็เดินต่อ ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย เชื่อว่าจะเป็นน้ำหนักมากขึ้นในการสานงานต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------------

ไฟการเมืองลามข้ามปี รัฐบาล ตั้งรับ-ป.ป.ช.รุก แดง เริ่มเคลื่อนไหว..!!?

ปี 2556 เป็นปีที่ประเทศไทยฟันฝ่าอุปสรรคมานานัปการ โดยเฉพาะประเด็นเสียวไส้อย่างความขัดแย้งในข้อพิพาทพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร กรณีเขาพระวิหาร ที่ศาลโลกมีกำหนดตัดสินนั้น...หลายฝ่ายเกรงว่าจะก่อเกิดความวิบัติให้ไทยและกัมพูชา

หากแต่ด้วยทีมงานฝ่ายไทยที่มีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการต่อสู้คดีสามารถคลี่คลายความอึมครึมลงไป ด้วยการแจกแจงข้อต่อสู้ในชั้นศาล กระทั่งผู้พิพากษาศาลโลกยอมรับ

ผลการพิจารณาของศาลโลกจึงออกมาในลักษณะเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ

ชายแดนกลับคืนสู่ความสงบ การค้าการขายเป็นไปตามปกติ ความบาดหมางระหว่างชาติลดน้อยถอยลงไป

แต่ขณะเดียวกัน การเมืองภายในประเทศไทยกลับปะทุขึ้นถึงระดับจุดเดือด !

เมื่อพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากนิรโทษกรรมเฉพาะชาวบ้านให้กลายเป็นฉบับสุดซอย ...นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ทำให้ฟืนที่เคยเปียกกลับชุ่มโชกไปด้วยน้ำมัน และปะทุกลายเป็นม็อบจำนวนมากออกมาไล่ต้อนรัฐบาล จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายก็ไม่ยุติ เพราะม็อบในนาม กปปส. ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขับเคลื่อน "เป่านกหวีด" ไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี กดดัน บีบคั้นจน น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงกับร้องไห้ และเปลี่ยนท่าทีจาก "ถอย" มาเป็นการ "ตั้งรับ"

"ตั้งรับ" ด้วยความเป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกา หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศว่าต้องทำเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย

ความตั้งใจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศเอาไว้นั้น อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้สะดวกนัก เพราะแม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็พยายามทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องมีอันเป็นไป...เลื่อนออกไปก่อน

ดังนั้น ความวุ่นวายจึงเริ่มต้นตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมยกขบวนเข้าปิดล้อมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงไว้ กระทั่งต้องเปิดทางให้ผู้สมัครเข้าแจ้งความต่อ สน.ดินแดง เป็นหลักฐานว่ามาสมัครและหาทางจับสลากเลขหมายผู้สมัคร

ความรุนแรงเพิ่มดีกรีขึ้นเมื่อ กลุ่ม คปท.เข้าล้อมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง แทนกลุ่มม็อบราชดำเนิน และเปิดฉากบุกและเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บกว่า 20 นาย ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บมากเป็นร้อย

มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ก่อนการนัดหมายจับสลากที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง รัฐบาลได้ทำหนังสือถึง กกต. ขอให้เปลี่ยนแปลงสถานที่จับสลากโดยประสานงานกับฝ่ายทหารเพื่อขอใช้สถานที่ของกองทัพ แต่ กกต.ปฏิเสธ

สุดท้าย กกต. ประชุมกันและมีมติขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไป

หากแต่รัฐบาลโดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงสวนกลับ

รัฐบาลไม่ยินยอม ... กกต.จึงมีมติอีกครั้ง เดินหน้าเลือกตั้งต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวขององค์กรอิสระที่นัดหมายกำหนดการต้นเดือนมกราคม 2557 ...ลับดาบเตรียมลงทัณฑ์

นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงแจ้งข้อหา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา โดยเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีผู้กระทำการส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 กรณีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จึงเรียกนายสมศักดิ์และนายนิคมมารับทราบข้อหาในวันที่ 10 มกราคม 2557

ส่วนของ ส.ส.และ ส.ว. 381 คน ที่ถูกร้องในข้อหาเดียวกัน เพราะไปโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.จะสรุปสำนวนและมีมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 381 คน ในวันที่ 7 มกราคม 2557 ได้หรือไม่?

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ขยับเกี่ยวกับคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในช่วงเวลาเดียวกัน

น่าสังเกตว่า การขยับขององค์กรอิสระดังกล่าวล้วนมีผลสะเทือนต่อนักการเมือง พรรคการเมืองซีกรัฐบาล และกระทบต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ก่อเกิดเป็นกระแสข่าวตุลาการภิวัฒน์ขึ้นมาอีกครั้ง

จับตาแวดวงฝ่ายทหารต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง พบว่า ฝ่ายทหารพยายามวางตัวเป็นกลาง

การพบปะระหว่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อหน้าผู้บัญชาการกองทัพไทย และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้รับการถ่ายทอดจากปากคำของนายสุเทพว่า "ทหารจะยืนข้างประเทศไทย"

การประกาศจุดยืน "เป็นกลาง" แม้จะทำให้รัฐบาลเบาใจลงไปบ้าง แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้ชุมนุมก็นำไปอ้างว่า "ทหารไม่เข้าข้างรัฐบาล"

หน่วยงานที่ถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างหนักจึงเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำหรับกองทัพ แม้ว่าภายหลังฝ่ายทหารนำโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. จะจัดเวทีที่กองทัพไทยและเสนอให้ กปปส.แจกแจงวิธีที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้นโดยสุจริต แต่นายสุเทพก็ยืนยันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากการรักษาการ

ลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศ แล้วอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญปี 2550 มาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

หากแต่วิธีการดังกล่าวรัฐบาลรับไม่ได้ และยังเดินหน้าให้ทุกฝ่ายไปเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

ขณะเดียวกัน ได้บังเกิดกลุ่มชนชั้นนำบางส่วน ต้องการเห็นทุกอย่างยุติลง และสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาล จึงพยายามจะหาคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปประเทศ เพื่อถ่วงดุลข้อครหาว่า สภาปฏิรูปประเทศที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีคำสั่งแต่งตั้งนั้น "เอียงไปทางรัฐบาล"

กลุ่มคนดังกล่าวได้เสนอชื่อ นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้รับการยอมรับให้เข้ามาทำหน้าที่อันหนักอึ้งนี้

ขณะที่ทุกอย่างกำลังเคว้งคว้าง กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มมองว่า รัฐบาล "ตั้งรับ" มากเกินไป ปล่อยให้ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ดำเนินการรุกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยล่าสุด นายสุเทพได้ประกาศเคลื่อนไหวใหญ่หลังปีใหม่ที่จะถึง

ณ วันนี้ แม้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จะบอกให้กลุ่มคนเสื้อแดงอดทน แต่เริ่มมีความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่ออกอาการกระสับกระส่าย

ร่ำๆ ว่าอยากจะระดมพล

การเมืองปี 2556 จึงลุกลามข้ามไปสู่ปี 2557 ทุกอย่างแลดูเลวร้ายลง เพราะคู่ขัดแย้งยังคุยกันไม่รู้เรื่อง

ที่มา.มติชนออนไลน์
-----------------------------------