--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รบ.วางรากฐาน การเติบโตที่ยั่งยืน !!??

ขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเสี่ยง และมีแนวโน้มที่เดินเข้าสู่เส้นทางของความยากลำบากมากขึ้น จากที่สภาพัฒน์ได้แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของไทย ที่พบว่ามีการขยายตัวเพียง 2.8% ทั้งปรับลดคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจทั้งปีลงมาอยู่ที่ 3.8-4.3% พร้อมปรับลดตัวเลขส่งออกจาก 7.6% ลดลงเหลือ 5% จนทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเดินสู่ "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" หรือไม่

สอดคล้องกับที่เกิดคำถามและกระตุ้นเตือนจากหลายภาคส่วน รวมทั้ง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาขาดการวางรากฐานเพื่อการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ผลระยะสั้น โอกาสนี้ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายประสารถึงมุมมองต่อปัญหา แนวคิด และกลไกที่จะขับเคลื่อนไปสู่การวางรากฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

- แนวทางสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

เพราะนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลัง ๆ เป็นการมองระยะสั้น โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินการคลังช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นนโยบายด้านดีมานด์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดผลระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งหากพูดกันแค่นี้คงไม่สามารถพาประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ เช่น นโยบายการเงินส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ดูแลเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยน ส่วนนโยบายการคลังก็พูดถึงเรื่องการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอุปโภคบริโภค อย่างโครงการรถคันแรก เหล่านี้ไม่มีผลเป็นลูกโซ่ให้ประเทศเข้มแข็งในระยะยาว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงให้คนหันมาสนใจด้านซัพพลาย ที่จะเป็นตัวพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งในระยะยาวและยั่งยืนได้ ซึ่งหมายถึงการสร้างความพร้อมของประเทศในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพคน ด้านความรู้เทคโนโลยี วัฒนธรรม และความพร้อมของตลาดแรงงาน เหล่านี้คือซัพพลายไซด์ที่จะเป็นรากฐานของการสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศ

- มีกลไกหรือเครื่องมืออะไรที่จะทำให้ฝ่ายการเมืองเห็นพ้อง

ก็เป็นความท้าทาย เวลานี้ก็เห็นบทเรียน อย่างอียิปต์มีเลือกตั้ง อีกข้างหนึ่งก็ล้ม มีความขัดแย้งกัน เราก็หวังว่าในบ้านเราจะไปแบบสันติได้ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันทุกฝ่าย เริ่มต้นต้องมีฝ่ายคิดจากนักวิชาการต่าง ๆ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายประชาชน และภาคเอกชน ต้องประกอบกันหมด คนที่คิดก็ต้องคิดอย่างมีหลักการ มีเหตุผล ฝ่ายการเมืองที่อาศัยฐานประชาชน หากการมีส่วนร่วมประชาชนมีทั้งปริมาณและคุณภาพก็จะมีพลังมากขึ้น สำหรับภาคเอกชนที่มีบทบาทเยอะในทางเศรษฐกิจก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้ดี พร้อมกับมีหลักธรรมาภิบาลรวมถึงการใช้กฎหมายหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้นำทางการเมืองต้องมีหน้าที่ประกาศวิสัยทัศน์และนโยบายที่มีความต่อเนื่อง อย่างเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบเวลา 5 ปี เวลาฝ่ายการเมืองออกนโยบาย แม้จะเป็นระยะสั้นก็ต้องอ้างอิงถึง อย่าทำอะไรที่ขัดกัน

- ในส่วนของ ธปท.ทำอะไรได้บ้าง

ธปท.ก็พยายามทำส่วนของเรา เช่น ที่จะจัดสัมมนาเชิงวิชาการในเดือน ก.ย.นี้ หัวข้อ "การวางรากฐานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย" เพราะก็รู้อยู่ว่าเครื่องมือที่มีอยู่ เช่น นโยบายการเงิน ก็ทำได้ระดับหนึ่งในการดูแลเสถียรภาพระยะสั้น ที่เปิดโอกาสให้เสริมศักยภาพในระยะยาวได้ แต่การจะสร้างศักยภาพระยะยาว เรารู้ว่าข้อจำกัดนโยบายการเงินไปไม่ถึง ก็พยายามสร้างความรู้ความเข้าใจร่วม เปิดเวทีให้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นช่วยกันในมุมต่าง ๆ

- จะทำอย่างไรไม่ให้เรื่องนี้อยู่แค่ในวงวิชาการ

เชื่อว่าทางการเมืองก็คงจะนำไปคิดบ้าง เพราะเราพยายามจะพูดเสมอว่า การกระตุ้นอุปโภคบริโภค หากทำเพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ชุมนุมทางการเมือง สึนามิแบบญี่ปุ่น การกระตุ้นช่วงสั้น ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นการกระตุ้นด้วยการลงทุนจะยั่งยืนกว่า โดยเฉพาะที่ประเทศไทยเวลานี้มีการลงทุนน้อยกว่าในอดีต เดิมมีงบฯลงทุนกว่า 20% ของจีดีพี เวลานี้ก็เหลือเพียง 15-16% ทำให้งบฯลงทุนแต่ละปีก็น้อย

ตอนนี้รัฐบาลก็มีการพูดถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราก็ยังมีเรื่องที่ไม่อยากให้ทำต่อเนื่องไปเยอะ เช่น โครงการรับจำนำข้าว รถยนต์คันแรก

- ลงทุน 2 ล้านล้านถือว่าตอบโจทย์ความยั่งยืนหรือไม่

เรื่องนี้เป็นโจทย์ 2 อันซ้อน ถ้าถามถึงความจำเป็นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แน่นอนเราสนับสนุนให้มีนโยบายที่ทำต่อเนื่อง เพราะเวลานี้ค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ของไทย 15% ของจีดีพี แต่ของอเมริกาแค่ 8% ของจีดีพี พูดง่าย ๆ เราสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 100 บาท เสียไปกับค่าขนส่ง 15 บาท แต่อเมริกาเสียแค่ 8% เท่านี้เราก็เสียเปรียบแล้ว

แต่คำถามที่สองต่อมา คือ โครงการใด และวิธีการใด ตรงนี้มีรายละเอียดที่มีการตั้งคำถาม อย่างเช่น ไฮสปีดเทรน เหมาะสมหรือไม่ หรือการลงทุนจะใช้เงินงบประมาณรายปีได้หรือไม่ เพราะการใช้เงินกู้นอกงบประมาณ จะไม่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลต่าง ๆ อันนี้ก็มีความเห็นที่หลากหลาย มีรายละเอียดที่มีความซับซ้อน ถ้าไม่เอาข้อมูลมากางก็คงไม่สามารถตัดสินได้

- เรื่อง 2 ล้านล้านรัฐบาลควรเอาข้อมูลมากางก่อนตัดสินใจ

บนเวทีสัมมนาวิชาการของ ธปท.จะมีการเสนอ 6 หัวข้อ จะมีเรื่องกฎหมายธรรมาภิบาลอยู่ด้วย ซึ่งก็จะสามารถแก้โจทย์ข้อสองได้ จะมีการนำเสนอการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับกติกาภาครัฐ และประสิทธิภาพของตลาด ก็จะเกี่ยวกับสเตรตคอนโทรลหรือไม่สเตรตคอนโทรล เช่น เรื่องจำนำข้าว และเรื่องวัฒนธรรม สถาบันและการเติบโตระยะยาว ที่พูดถึงเรื่องธรรมาภิบาล คอร์รัปชั่น เพราะในขณะที่เราอยากเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็จะมีเรื่องคอร์รัปชั่น ความไม่โปร่งใสเข้ามา ดังนั้น ซัพพลายไซด์ไม่ใช่เรื่องของแรงงานหรือเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพเท่านั้น ก็ต้องมีเรื่องกฎกติกาต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างหลักธรรมาภิบาลด้วย

- ในแง่เอกชนต้องให้การสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษหรือไม่

ภาคเอกชนมีความตระหนักรู้อยู่แล้ว ไม่ใช่โจทย์ใหม่ แต่ว่าสิ่งที่เราต้องเพิ่มคือระดับนโยบาย ตั้งแต่การแถลงทิศทางของประเทศ และนโยบายที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเป็นขบวนและสอดคล้องกัน ประกาศแนวทางที่ชัดเจนของประเทศ ให้เขารู้ว่าประเทศกำลังเดินไปในทิศไหน พร้อมกับการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม คืออย่าไปสร้างอุปสรรคให้กับภาคธุรกิจ

- ความเสี่ยงในครึ่งปีหลังมีอะไรบ้าง

ไม่มีอะไรที่เป็นตัวหนัก ๆ ที่จะมาน็อกเอาต์ ให้ปัจจัยสนับสนุนการทำงานของเศรษฐกิจไม่ทำงาน อาจมีเร่งไปบ้าง พักฐานบ้างในบางช่วง ส่วนความเสี่ยงที่จับตามอง เรื่องความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังมีอยู่ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ดังนั้น ธปท.ยังติดตามความเสี่ยงอยู่

ปัจจัยเสี่ยงในประเทศ คือ ระดับหนี้ของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จะกระทบสภาพคล่องของผู้บริโภค มีผลต่อกำลังซื้อ แม้รายได้ประชากรไม่ตก แต่การมีหนี้เพิ่มขึ้นย่อมฉุดกำลังซื้อออกไป ดังนั้นเราจึงต้องติดตามว่า การผิดนัดชำระหนี้จะมีผลต่อกำลังซื้ออย่างไร ความเสี่ยงอีกเรื่องคือ แรงกระเพื่อมทางการเมือง ไม่แน่ใจว่าจะกระทบต่อนโยบายการลงทุนหรือไม่ หากโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน มีข้อโต้แย้งทางกฎหมายอยู่ อาจมีผลทำให้เลื่อนลงทุนออกไป แต่หากภาครัฐมีแผนสำรอง โดยใช้กรอบงบประมาณปกติซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทันเวลาก็สามารถช่วยได้ คงไม่เสียหายมากนัก

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ภาคเอกชนวอน..สภาไทย อย่าเลียนแบบไต้หวัน !!??

บางคนชอบใจแต่บางคนเน็จอนาจใจอับอายขายหน้าชาวโลกที่การประชุมรัฐสภาของผู้ทรงเกียรติช่วง2-3 วันที่ผ่านมาปั่นป่วนสับสนวุ่นวายสภาไทยกลายเป็นเหมือนสภาไต้หวันไปเสียแล้ว  นับเป็นบทเรียกแรกกับประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ว.ยังยืดเยื้อนบานปลายเท่านี้ ต่อไปถึงคิวพิจาณาพ.ร.บ.งบประมาณปี 57,พ.ร.บ.  เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทยิ่งจะไม่ยื้อกันไปใหญ่โตทำร้ายเศรษฐกิจที่กำลังจมน้ำอยู่เวลาให้ดำดิ่งยิ่งนักแล้วประชาชนคนรากหญ้ายิ่งจะลำบากแสนเข็ญเดือนร้อนกว่าเก่า
   
ไม่เท่านั้น หากเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.ปรองดองหรือพ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องอื่นๆประเทศนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา  จะยิ่งขัดแย้งรุนแรงกลายเป็นชนวนเกิดสงครามกลางเมืองเอาตัวอย่างอียิปต์ก็ได้
   
ดังนั้น วันนี้มารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนว่าเขามองการประชุมสภาอย่างไรและเขาขอฝากวิงวอนอะไรเพื่อบ้านเพื่อเมือง เพื่อประชาชนคนจนๆกันบ้าง

พยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ภาคเอกชนมองการประชุมรัฐสภาพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนุญว่าด้วยที่มาของส.ว.1-2 วันที่ผ่านมาเป็นอย่างไรและเห็นว่าควรเป็นอย่างไร
   
คงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์มากนัก แต่ว่าการประชุมนั้นก็มีกฎระเบียบอยู่ การประชุมแล้วประชุมให้แล้วเสร็จจะเป็นเรื่องที่ดีต่อส่วนรวม ผมคิดว่าอย่างนั้นคงไม่อยากวิจารณ์ในเชิงลึก  ผมคิดว่าคงเข้าใจกันได้ว่า สิ่งที่ออกมานั้นสะท้อนถึงอะไรบ้าง ไม่ว่าเรื่องอะไร คิดว่ามีการประชุมตามกฎระเบียบของการประชุมตามขั้นตอนอะไรต่างๆในระเบียบวินัยที่เขาใช้อยู่ในสภา  โดยปกติอยู่แล้วจะดีกว่า
   
แต่ช่วงหลังๆการประชุมสภาของเรารู้สึกจะมีเรื่องของอะไรที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีตมากขึ้น ไม่ว่าครั้งก่อนที่มีความวุ่นวายอยู่ช่วงหนึ่ง มาคราวนี้รู้สึกว่าจะเยอะกว่าคราวที่แล้วอีกด้วย

ต่างประเทศเขามองการเมืองเราแบบว่าด้อยประชาธิปไตยหรือด้อยพัฒนาหรือเปล่า
     
เมื่อเป็นอย่างนี้คงอยู่ที่ความเข้าใจด้วย จริงๆเขาคงอยากเห็นการประชุมที่ไปตามเหตุผล กฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว ทำให้ให้เห็นไปตามกฎระเบียบที่ใช้กันมานานแล้ว

 ความคิดเห็นที่แตกต่างของนักการเมืองในสภาจะแก้ไขได้อย่างไร
     
เข้าใจว่าประเด็นความเห็นเขามีต่างกันมากอยู่แล้วสุดท้ายก็คงใช้วิธีการของสภาในการที่จะพูดคุยกันนะครับ

 การประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ว.ยังยืดเยื้อวุ่นวายมากขนาดนี้แล้วการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท พ.ร.บ.การบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ถ้ายืดเยื้ออีกจะมีปัญหาต่อประเทศเพราะกระทบเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง
     
ใช่ ครับ ถ้าหากยืดเยื้อเราจะเสียเวลาในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ รวมทั้งด้านการพัฒนาและทุกคนคงอยากจะเห็นการพัฒนาทางด้านต่างๆมากขึ้น

จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี
นายกสมาคมค้าทองคำ

 ขอความเห็นกรณีการประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความวุ่นวายเรื่องที่มาของส.ว.นั้นเป็นอย่างไร
     
เท่าที่รับฟังๆมาแล้วมันไม่ดีหรอก ครับ ไม่ดีเหมือนกับสภาไต้หวัน ไม่ว่าใครถูกหรือใครผิด  ดูภาพรวมที่ปรากฎออกมาแล้วไม่ดี

การประชุมสภายิ่งวุ่นวายยิ่งกระทบภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอยู่ในขณะนี้
     
ผมว่ามันควรจะหาวิธีพูดคุยกัน น่าจะคุยกันดีๆ ไม่อยากให้มีปัญหา ตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ยิ่งถดถอยก็ไม่ดีอยู่แล้ว
     
ผมว่าแต่ละคนช่วยกันถอยออกมาสักนิดหนึ่ง แล้วพูดคุยกันก็จะดีนะครับ
ถ้าต่างคนต่างถือทิฐิ มันก็มีปัญหาถ้าคุยกันแล้วได้ตกลงกันได้  น่าจะดีเหมือนกันน่าจะเป็นที่ออกที่ดีที่สุดของประเทศ

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิยาล สถาบันพระปกเกล้า

ขอความเห็นต่อการประชุมรัฐสภาที่เกิดความวุ่นวายขึ้น
     
ผมคิดว่าไม่น่าที่จะเกิดอะไรวุ่นวายแบบนี้ ไม่เคยเห็นกันมาก่อน อีกหน่อยคงเป็นเหมือนกับสภาไต้หวันแล้วจะเห็นความวุ่นวาย บางทีผุ้หญิงก็มาขว้างสิ่งของหรือมีชกต่อยกัน ซึ่งไม่ดีเลย ตอนนี้ประเทศเราถือว่าเป็นประเทศที่เรียกได้ว่าพัฒนาแล้ว การประชุมสภาน่าจะมีความเป็นอะไรที่อาริยะมากกว่านี้
     
ขอฝากไปถึงทุกฝ่ายการทำแบบนี้ไม่ทำให้ใครได้ประโยชน์มีแต่ประเทศชาติที่เสียประโยชน์ ประเทศของเราจะตกต่ำไปลงไปเรื่อยๆ  ยิ่งเวลานี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่รายได้น้อย ข้าวงยากหมากแพงยิ่งจะเดือดร้อน น่าจะออกกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายที่จะมีผลออกมาช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศได้
     
ความจริงแล้วน่าที่จะยอมโดนอ่อนผ่อนให้กันขอกันทีแบบนี้ไปก่อนได้ใหม่ คราวหน้าค่อยว่าแก้กันใหม่ ยอมกันบ้างก็ได้ ตอนนี้ต่างฝ่ายเขาคงคิดว่าไม่มีทางออก ต้องเอาชนะกันใหม่ได้ แต่ผมว่าจริงๆทางออกมีเยอะแยะ เพียงแต่ไม่เลือกเอาเท่านั้น

  ที่มา.สยามรัฐ
////////////////////////////////////////////////////

พาณิชย์ดิ้น ปรับวิธีประมูลข้าว !!??

นิวัฒน์ธำรง” ชง กขช. อนุมัติขายตรงข้าวในสต็อก ให้รัฐวิสาหกิจ-เอกชนต่างประเทศ พร้อมปรับเงื่อนไขประมูลใหม่ เตรียมหารือชาวนาถกแนวทางจำนำรอบใหม่ 2556/57 พร้อมดึงเงินกองทุนส่งออก 240 ล้านบาท วางมัดจำระบายข้าวผ่านเอเฟต ล็อตแรก 1.4 แสนตันต้น ก.ย.นี้
   
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการระบายข้าว ได้พิจารณาแนวทางการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลเพิ่มเติม โดยเห็นชอบแนวทางการเปิดระบายข้าวให้กับรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ หรือเอกชนต่างประเทศที่ติดต่อขอซื้อเข้ามาโดยตรง แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องซื้อข้าวสต็อกรัฐไม่ต่ำกว่าราคาประมูลทั่วไป และราคาที่แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับต่างประเทศ พร้อมกับจะต้องมีการส่งออกจริง หรือมีเอกสารการส่งออกมายืนยัน
       
แนวทางดังกล่าวจะต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) อนุมัติก่อน ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 26 ส.ค.นี้ เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลระบายข้าวในสต็อกได้มากขึ้น และขณะนี้ก็มีเอกชนต่างประเทศเข้ามาเสนอซื้อข้าวในสต็อกหลายราย ทั้งจากจีน และประเทศในตะวันออกกลาง
   
ส่วนวิธีการประมูลข้าวให้กับภาคเอกชนในประเทศ ยังจะใช้วิธีนี้อยู่ แต่จะมีการปรับหลักเกณฑ์การประมูลจากเดิมที่ให้ประมูลแบบยกคลัง เป็นสามารถซื้อย่อยแยกกองได้ เพื่อจูงใจให้เอกชนมาเข้าร่วมประมูลมากขึ้น
   
สำหรับการกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำฤดูกาล 2556/57  จะมีการหารือกับตัวแทนเกษตรกร ทั้งจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสมาคมชาวนาข้าวไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการรับจำนำข้าวในรอบใหม่ ทั้งเรื่องราคาและหลักเกณฑ์ เมื่อได้ข้อสรุปจะนำแนวทางทั้งหมดเสนอให้ กขช.พิจาณาว่าจะเลือกแนวทางใด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป คาดว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะทันกับการเปิดรับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่ในเดือน ต.ค.นี้
   
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมชี้แจงโครงการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนภาคเอกชนที่สนใจ ได้ศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการในการประมูลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดประมูลข้าวในตลาดเอเฟต โดยการนำข้าวออกมาประมูลผ่านตลาดเอเฟต ถือเป็นการสะท้อนราคาตลาดที่แท้จริง และจะทำให้เกิดความโปร่งใส สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก
   
สำหรับข้าวล็อตแรก จะเป็นข้าวขาว 100,000 ตัน และข้าวหอมมะลิ 40,000 ตัน รวมเป็น 140,000 ตัน ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากการชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว จะเริ่มประมูลรอบแรกในต้นเดือน ก.ย.นี้ และจะมีการรับมอบข้าวตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป
   
ส่วนการติดขัดในขั้นตอนการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมในการนำข้าวสต็อกรัฐบาลในการซื้อขายผ่านตลาดเอเฟต จำนวน 240 ล้านบาทนั้น นายนิวัฒน์ธำรงได้เห็นชอบที่จะนำเงินจากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาใช้ในการค้ำประกัน โดยระบุว่าไม่ได้ผิดหลักเกณฑ์ในการใช้เงินกองทุน เพราะเป็นเพียงการนำเงินมาค้ำประกันเท่านั้น.

ที่มา.ไทยโพสต์
/////////////////////////////////////////////

อัยการนัดสั่งคดี มาร์ค-สุเทพ กรณีคำสั่งสลายการชุมนุม !!??

นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ผู้ต้องหาคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีที่ ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการกระชับพื้นที่ เพื่อขอคืนพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 บริเวณถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ว่า ทางอัยการได้นัดสั่งคดีดังกล่าวในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาสำนวนคดีว่าจะสามารถสั่งคดีในวันดังกล่าวได้ทันหรือไม่ โดยทางอัยการอาจจะแถลงความคืบหน้าให้ทราบอีกครั้งในวันที่ 26 สิงหาคม นี้

ส่วนกรณีที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภาจะต้องเลื่อนการสั่งคดีออกไปก่อนหรือไม่นั้น ทางนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็ยังไม่ได้แจ้งขอเลื่อนมาแต่อย่างใด โดยคาดว่าคงจะต้องรอในวันดังกล่าวอีกครั้งว่าผู้ต้องหาจะขอเลื่อนนัดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากทางอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ยังไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลได้เนื่องจากติดสมัยประชุมสภา ก็คงจะต้องเลื่อนนัดออกไปก่อนจนกว่าจะปิดสมัยประชุมสภา

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////////////////

วรงค์หอบหลักฐานยัน ข้าวไทย ถูกตีกลับจริง !!??

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงยืนยันกรณีข้าวไทยที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา 4 หมื่นกิโลกรัม แต่ถูกตีกลับ 3.2 หมื่นกิโลกรัม โดยนำเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มมาแถลงยืนยันด้วย นอกจากนี้ยังนำตัวอย่างข้าวที่ถูกตีกลับมาแสดงประกอบการแถลงข่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารดังกล่าวระบุว่า นำข้าวหอมมะลิไทย (ข้าวขาว 100% ชั้น 2) บรรจุกระสอบ 2 ชั้น ซึ่งระบุในหมายเหตุว่าเป็นสินค้านำกลับ ตามใบขนขาออกส่งออกจำนวน 4,000 ถุง นำกลับ 3,200 ถุง นำเข้าเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 โดยต้นทางบรรทุกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และระบุท่าเรือนำเข้าคือสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สถานที่ตรวจปล่อยคือ สถานี 3(c) รพท.การรถไฟ ฯ ลาดกระบัง สสล.?

ทั้งนี้ นพ.วรงค์ กล่าวว่า? ข้าวล็อตนี้เป็นข้าวของบริษัทเอกชน ที่ขายต่อเอกชนสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ขายแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อบริษัทเอกชนดังกล่าว ?โดยประเด็นคือมีความเป็นห่วงว่า ข้าวที่สหรัฐฯตีกลับเพราะมีสารปลอมปนไม่ได้มาตรฐาน จะถูกนำกลับมาผสมขายในประเทศ เพราะเวลานี้กระจายออกจากท่าเรือไปหมดแล้ว ? และแม้ว่าสหรัฐฯจะมีมาตรฐานสูงในเรื่องการตรวจสอบคุณภาพนำเข้า แต่เรื่องนี้สร้างความวิตกว่าข้าวล็อตดังกล่าวจะมีสารปลอมปนเป็นอันตรายแค่ไหนอย่างไร รัฐบาลจึงควรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าข้าวล็อตดังกล่าวที่ออกจากท่าเรือไปแล้วไปอยู่ที่ใดตอนนี้ รวมทั้งต้องหาหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือมาตรวจสอบคุณภาพและแถลงให้ประชาชนทราบ

ที่มา.เนชั่น
//////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิกฤตแรงงานไทยสะท้อนอันตราย นโยบายทุนนิยม !!??

นอกเหนือจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศ  ที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าครึ่งปีหลังนี้ต้องลุ้นระทึกว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์จะนำประเทศฝ่าฟันทุกอุปสรรคปัญหาไปได้หรือไม่ กับผลกระทบจากระบบทุนนิยม ก็คือการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างที่กำลังประสบวิกฤตด้านปริมาณแรงงาน และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

ทั้งนี้จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้  ระบุภาพรวมภาวะเศรษฐกิจประเทศ   พบว่าภาคการก่อสร้างในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 5 โดยเฉพาะการก่อสร้างภาคเอกชนที่ลดลงต่อเนื่อง เนื่องมาจากปัญหาแรงงานขาดแคลน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังมานานกว่า 1 ปี จนทำให้การก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

สอดรับกับข้อเท็จจริงจาก นายอธิป  พีชานนท์ ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและนายกกิตติมศักดิ์  สมาคมอาคารชุดไทย ที่ให้ข้อมูลว่า  ปัญหาแรงงานไทยในธุรกิจก่อสร้างไม่เพียงพอ ที่ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้ว  ทำให้ผู้รับเหมาเกือบทุกรายต้องหันไปใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคการก่อสร้างขณะนี้จะหมดไป  เพราะการใช้แรงงงานต่างด้าว ก็ยังมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่าย และแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก หากโครงการเมกะโปรเจกต์รัฐเกิดขึ้น เพราะจะสภาะการณ์ดูดแรงงานจากภาคเอกชนไปใช้ในโครงการของรัฐสูงขึ้น

ขณะที่สภาพการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ช่วงครึ่งปีแรก 2556 ก็สะท้อนว่าในส่วนของผู้บริโภคเอง  ก็ส่งสัญญาณชะลอการตัดสินใจซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะสถานการณ์ด้านรายได้ที่ไม่สอดรับกับค่าใช้จ่ายและมูลหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

ข้อควรพิจารณาหนึ่งว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่  มาจากการรายงานความก้าวหน้างานโยธา  โครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบขององค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.) เพราะเมื่อกลับไปดูการให้สัมภาษณ์ของ นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล  ผู้ว่าการ รฟม. ที่ยอมรับว่าทุกการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทมีความล่าช้ากว่าแผนงานทั้งหมด  ซึ่งปัญหาก็มาจากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างอย่างหนัก ไม่นับรวมปัญหาทางเทคนิค

จากข้อมูทั้งหมดก็พอจะมองเห็นภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์การลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมต้องเร่งผ่านร่าง   พ.ร.บ.กู้เงิน  เพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการนำ 3.5 แสนล้าน และ  ร่าง พ.ร.บ.  โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  2 ล้านล้านบาท  ทั้งที่โครงการเดิม ๆ ก็ยังล่าช้าเพราะหลายปัจจัยเกี่ยวเนื่อง ซึ่งก็รวมถึงวิกฤตการณ์ด้านแรงงาน และจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจเอกชน

ที่มา.ทีนิวส์
/////////////////////////////////////////////////////////////

จาก ตุรกี ถึง อียิปต์ สังคมไทย ได้บทเรียนอะไรบ้าง !!??

เชื่อว่าวันนี้ กระแสที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเหตุวุ่นวายในอียิปต์ หลังจากรัฐบาลของ โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดี ที่มาจากการเลือกตั้งหนแรกหลังโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของ ฮอสนี มูบารัค เมื่อปี 2554 ถูกกองทัพยึดอำนาจ ทำให้กลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนนายมอร์ซีออกมาชุมนุมประท้วงจนเกิดการปะทะกันกับทหารและกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านนายมอร์ซี ที่ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไปเกือบพันศพแล้ว

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่ตุรกีก็มีเหตุชุมนุมประท้วง ต่างกันแต่เพียงจบเร็วและไม่นองเลือดเท่านั้น สาเหตุที่ระบุอย่างเป็นทางการ เกิดจากโครงการสร้างสวนสาธารณะ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของ เรเซ็ป ไตยิบ เอดวน นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา หากแต่มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า..ความวุ่นวายทั้งในตุรกีและอียิปต์ เป็นไปด้วยสาเหตุที่ซับซ้อนกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของข้อขัดแย้งทางความเชื่อในหมู่ประชาชน

โลกเก่า VS โลกใหม่

“อียิปต์เป็นประเทศที่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังโลกสมัยใหม่ ก็เหมือนกับไทยที่ผ่าน 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภา กว่าจะมีประชาธิปไตยได้ แต่ทีนี้ในโลกมุสลิม มันแตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่ว่าอิสลามเข้าไปมีบทบาทสำคัญ ในเรื่องสังคมและการเมือง”

มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะนักวิชาการผู้สนใจการเมืองโลกมุสลิม อธิบายถึงลักษณะทางสังคมในโลกอาหรับที่อาจจะต่างไปจากสังคมอื่นๆ ของโลกใบนี้ เนื่องจากศาสนาอิสลาม มีจุดเด่นสำคัญคือไม่ใช่เพียงพิธีกรรมอย่างศาสนาอื่นๆ เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปยังวิถีชีวิตของผู้นับถือทุกย่างก้าว ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

นักวิชาการด้านมุสลิมศึกษารายนี้ เปรียบเทียบถึงวัฒนธรรมที่เคยคล้ายกันอย่างศาสนาคริสต์ในโลกตะวันตก ที่ครั้งหนึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนไม่ต่างกัน จนกระทั่งถูกท้าทายจากกระแสปฏิวัติวิทยาการ สังคมยุโรปเริ่มตื่นตัวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้อิทธิพลของศาสนาเสื่อมลง และถูกกันออกไปนอกวิถีของการเมือง หรือที่เรียกว่า รัฐฆราวาส (Secular State) ซึ่งกระแสนี้ได้แพร่ขยายไปทั่วโลก พร้อมๆ กับการล่าอาณานิคม

“โลกตะวันตกจะละทิ้งศาสนา แต่ในอิสลามไม่ใช่ ฉะนั้นพลังในโลกมุสลิมมันมีพลังอันหนึ่ง เรียกว่าพลังของอิสลาม เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่บอกว่าคือระเบียบของชีวิต มันเป็นระบบหนึ่ง เหมือนๆ กับ Socialist (สังคมนิยม) Democracy (ประชาธิปไตย) อะไรเหล่านั้น อิสลามมีพลังตรงนี้ แต่โลกมุสลิมก็มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก”

อ.มูฮัมหมัดอิลยาส เล่าต่อไปถึงการปะทะทางวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยม ที่ต้องต่อสู้กับบรรดามหาอำนาจตะวันตก กับยุคกระแสสมัยใหม่ (Modernization) ที่พูดถึงสิทธิสตรี ความเท่าเทียมของมนุษย์ หรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้ถือเป็น “คุณค่าใหม่” ที่สังคมอาหรับไม่คุ้นเคย แต่ที่เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น คือกลุ่มที่นิยมตะวันตกมีจำนวนน้อยกว่า จึงหันไปหากองทัพที่ฉวยโอกาสออกมาทำรัฐประหาร

ความลักลั่นของอุดมการณ์

ประเด็นถัดมา เมื่อพูดถึงข่าวการประท้วงในตุรกีและอียิปต์ เรื่องที่บรรดานักวิชาการ ตลอดจนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสีต่างๆ ในไทยนำมาพูดถึง คือความเหมือนกันของทั้ง 2 ชาติ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสายเคร่งเลือกตั้งเข้ามา ทั้งพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาของตุรกี และพรรคภราดรภาพมุสลิมของอียิปต์ จากนั้นก็เกิดข้อสงสัยกันว่า..เหตุใดพรรคที่มีนโยบายเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม-ศาสนานิยม จึงได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ มากกว่ากลุ่มการเมืองที่อิงตะวันตก และเน้นเสรีนิยมแบบรัฐฆราวาส

อ.มูฮัมหมัดอิลยาส ชี้ให้เห็นถึงความลักลั่นเชิงอุดมการณ์บางอย่าง ในอียิปต์ กลุ่มหรือพรรคภราดรภาพมุสลิม พยายามช่วยเหลือคนยากจน ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล สำนักงานทนายความ หรือโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ทั้งที่ควรจะเป็นนโยบายของกลุ่มอำนาจเก่าที่อ้างความเป็นรัฐฆราวาส อันเชิดชูหลักการสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมแบบตะวันตก

เช่นเดียวกับสถานการณ์ในตุรกี ที่กว่าพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องบ่มเพาะฐานเสียงเป็นเวลาหลายสิบปี ผ่านการเข้าไปให้ความรู้กับประชาชน จนกระทั่งมีพลังมวลชนมากพอจะเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ซึ่งใช้ศาสนาเป็นตัวจักรสำคัญ เพราะกับชาวบ้านรากหญ้าทั่วไปแล้ว ศาสนาเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายที่สุด

“เขา(ภราดรภาพมุสลิม) มีทุกอย่าง ที่รัฐบาลทหารไม่สามารถจัดหาให้ได้ แต่ Muslim Brotherhood หาให้ได้ คนตายที่ไหน คนเจ็บที่ไหนเขาไปถึง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงชนะ แต่พวก Liberal หรือพวก Secularist เขาไม่เคยอยู่กับประชาชน นี่คือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เรื่องรัฐอิสลามมันถกกันจบไปแล้ว เขาแค่ใช้คุณค่าแบบอิสลามเข้าไปให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมเท่านั้นเอง พรรคยุติธรรมของตุรกีก็เหมือนกัน” อ.มูฮัมหมัดอิลยาส กล่าว

ต้อง‘พูดคุย’เพื่อลด‘ความกลัว’

ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิมรายนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่จริงแล้วกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ทุกวันนี้ไม่ได้ต้องการสถาปนารัฐอิสลามที่มีความสุดโต่ง อย่างที่บรรดากลุ่มนิยมรัฐฆราวาส ตลอดจนชาติตะวันตกหวาดกลัวกัน เพราะอุดมการณ์ดังกล่าวที่อาจได้รับความนิยมในยุคต่อต้านการล่าอาณานิคม แต่เมื่อภัยดังกล่าวสิ้นสุดลง ความนิยมในลัทธิดังกล่าวก็ลดลงไปด้วยตามลำดับ ไม่ต่างจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เคยเฟื่องฟูไปทั่วโลก ทว่าวันนี้คงไม่มีประเทศใดเรียกหาอีกเพราะล้าสมัยไปแล้ว

“มีการปลุกความคิดว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะตั้งรัฐอิสลาม ก็จะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล ต่อกลุ่ม Liberal (เสรีนิยม) ต่อกลุ่ม Secular (รัฐฆราวาส) ดังนั้นเขาเลยพยายามสร้าง Mentality (กระแสความเชื่อ) สร้างความรู้สึกต่อต้านให้มันเกิดขึ้น พอเห็นอะไรอิสลามหน่อยก็กลัว ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ยึดอำนาจเลย แล้วแขวนคอคนได้เลย

ก็เหมือนกับไทยที่เคยกลัวผีคอมมิวนิสต์ ก็สร้างความกลัวตรงนี้ขึ้นมา เป็นการสร้างให้เกิดการคุกคามจากภายนอก มันเป็นการสร้างอำนาจอย่างหนึ่งให้จอมพล หรือทหารทั้งหลายในตอนนั้น” อ.มูฮัมหมัดอิลยาส เปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแนวคิดต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมอาหรับเท่านั้น แต่เกิดขึ้นไปทั่วโลกระหว่างผู้นิยม “คุณค่าตะวันตก” ที่เชิดชูเสรีภาพของปัจเจกบุคคล กับคุณค่าอื่นๆ นอกจากขนบอิสลามที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมี “ขนบตะวันออก” เช่นวาทะของลี กวน ยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ เกี่ยวกับคุณค่าแบบเอเชีย หรือไทยเองก็มีความเชื่อแบบ “แสวงหาคนดี” มาบริหารบ้านเมืองเช่นกัน

“ปัญหาในการเข้าสู่ความเป็น Modern (ทันสมัย) กลุ่มตะวันตกบอกว่า ถ้าคุณจะ Modern คุณมีทางเดียวคือต้องเป็น Secular คุณต้องเดินทางนี้ ต้องแยกศาสนาออกไป ตะวันตกมีประสบการณ์อย่างไรคุณต้องเอาแบบนั้นมาใช้ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ทั้งกลุ่มอิสลาม กลุ่มตะวันออก หรือกลุ่มละตินอเมริกา บอกว่าเราจะเข้าสู่ Modern ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์แบบตะวันตก เรา Modern ได้ ในขณะที่เรายังมีศาสนา มีแบบแผนประเพณีอันดีงามของเรา คือมันเป็นข้อถกเถียงในเรื่อง Modernity”

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับแนะนำว่า ที่ลัทธิสุดโต่งเกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ เพราะสังคมนั้นๆ ไม่มีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายมาพูดคุยกัน ทำให้ฝ่ายต่างๆ มีแต่จะหวาดกลัวซึ่งกันและกัน หรือไปเล่าลือปากต่อปากกันเองในทางลับ ปลุกระดมจนเติบโตเป็นกลุ่มที่แข็งกร้าวขึ้นมาได้ โดยยกตัวอย่าง “อินโดนีเซีย” เป็นประเทศที่บรรดานักคิดของอิสลามสายต่างๆ สามารถถกเถียงทางศาสนาได้อย่างเต็มที่นำมาซึ่งความเข้าใจและการแสวงหาทางออกร่วมกัน จนกลุ่มหัวรุนแรงสุดขั้วยากจะขยายตัวได้อย่างพื้นที่อื่นๆ

บทเรียนจากอียิปต์และตุรกี สะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญ 2 ประการ เรื่องแรกคือ การแสวงหาคุณค่าใหม่ๆ ทางสังคม พบว่า
แม้แต่คุณค่าที่ถูกยกย่องว่าเป็นสากลที่สุดตามที่โลกตะวันตกรับรองอย่างรัฐฆราวาส ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกใช้ไปเพื่อประชาชนคนรากหญ้าอย่างแท้จริง ตรงกันข้าม ค่านิยมอื่นๆ ที่ถูกตะวันตกตัดสินว่าล้าหลัง อย่างรัฐอาจมีบางส่วนที่อิงกับศาสนาบ้าง กลับมีแนวโน้มยืนอยู่ข้างประชาชนมากกว่า

อีกเรื่องหนึ่ง ความที่ทั้ง 2 สังคม เป็นสังคมที่รัฐค่อนข้างเป็นไปในทางบีบบังคับประชาชนในการแสดงออก ทั้งอียิปต์ที่เป็นเผด็จการมานาน ขณะที่ตุรกีแม้จะเป็นประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาก็มีการตั้งข้อสังเกตบางประการ เช่นการออกกฎหมายห้ามสตรีมุสลิมสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมผม) โดยอ้างว่าเพื่อขจัดอิทธิพลของศาสนา ว่าเป็นความหวาดกลัวเกินไปของผู้มีอำนาจรัฐ จนต้องลิดรอนเสรีภาพของประชาชนหรือไม่? สิ่งเหล่านี้เมื่อถึงจุดหนึ่ง จึงระเบิดออกมาเป็นเหตุรุนแรงดังกล่าว

ส่วนสังคมไทยจะซ้ำรอย 2 ประเทศนั้นหรือไม่? วันนี้ยังไม่มีใครกล้ารับรอง

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////////////////////


สหรัฐฯ ตีกลับ ข้าวไทย !!??




นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เกาะติดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว Warong Dechgitvigrom อ้างว่า ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่า ข้าวหอมมะลิของไทย ที่ส่งออกขายอเมริกา ถูกตีกลับ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา เพราะมีสารปนเปื้อน พร้อมตำหนิ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า เหตุใดถึงปล่อยให้ข้าวล็อตดังกล่าว กลับเข้าประเทศ ทั้งๆ ที่ควรจะกัก หรือทำลาย ซึ่งสุดท้ายแล้ว คนไทยจะเป็นเหยื่อข้าวปนสารปนเปื้อน หรือไม่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงในเรื่องนี้

นพ.วรงค์ ระบุไว้ดังนี้

ผมได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือและยืนยันได้ว่า ข้าวหอมมะลิของไทยเราส่งออกไปอเมริกาแต่ถูกทางการอเมริกาตีกลับช่วงเดือนที่ผ่านมา(ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม2556) เพราะมีสารปนเปื้อน โดยปกติแล้วถ้ามีสารปนเปื้อน ทางอย.จะต้องตรวจดูก่อนถ้ามีอันตรายจะต้องกักข้าวล็อตนั้นไว้หรือเอาไปทำลาย แต่ข้อมูลยืนยันมาว่ามีการปล่อยให้นำข้าวล็อตดังกล่าวกลับเข้าประเทศ จุดที่น่าห่วงคือเอากลับมาขายคนไทยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงมาตรฐานคุณภาพชีวิตคนไทยครับ ผมว่ารัฐบาลต้องชี้แจงครับ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อิทธิพลเขื่อนสามโตรก -Three Gorges Dam ต่อไทย



ผมมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ China Three Gorges Museum ที่มหานครฉงชิ่ง ไปเห็นแล้วน่าตกใจถึงความยิ่งใหญ่ที่ได้พบถึงกระบวนการของการก่อสร้างอภิมหาโครงการของโลก คือเขื่อนสามโตรก หรือ  Three Gorges Dam ซึ่งมีการประเมินกันไปต่าง ๆ นานา ว่าเขื่อนดังกล่าวจะกั้นน้ำปริมาณมหาศาลซึ่งอาจจะทำให้แกนโลกเอียงไป และอาจจะมีส่วนทำให้โลกร้อนตามสถานการณ์ได้ นอกจากนั้นก็มีการโจมตีถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสังคมที่ต้องอพยพคนนับล้าน กระทบต่อชุมชน โบราณวัตถุ วัฒนธรรม วิถีชีวิตมากมาย ซึ่งก็ว่ากันไป


แต่ที่น่าสนใจคือแนวคิด นโยบายและวิสัยทัศน์ของจีนที่สร้างโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งนอกจากนัยยะทางเศรษฐกิจแล้ว  ก็ว่ากันว่าจีนทำโครงการนี้ด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองด้วย  นั่นคือแสดงให้โลกเห็นถึงพลังอำนาจของจีน  ซึ่งชาติตะวันตกคงไม่สามารถทำโครงการที่ต้องอพยพผู้คนนับล้านเช่นนี้ได้อย่างแน่นอน และยังเป็นการสำแดงฝีมือด้านวิศวกรรมของประเทศด้วย ซึ่งก็ตอกย้ำได้ดีว่าขณะนี้จีนก็ส่งยานอวกาศเสิ้นโจวประสบความสำเร็จและมีแผนที่จะบุกดาวอังคารและดวงจันทร์อีก ซึ่งก็คงจะจริง


แต่ในทางกลับกันก็มีการมองกันว่าแบบนี้จีนก็สุ่มเสี่ยงเกินไป เพราะเขื่อนดังกล่าวจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศหากมีการก่อวินาศกรรม หรือภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำที่มหาศาลจะโถมทับไปยังมหานครของจีนที่เป็นศูนย์กลางและหัวใจของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ พูดง่าย ๆ ว่าเพียงมีประเทศใดอุตริตั้งขีปนาวุธโดยมีเป้าหมายที่เขื่อนสามโตรกก็หนาวแล้ว


มิติที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งของการสร้างเขื่อนดังกล่าวก็ได้ผ่านภาพยนตร์เรื่อง Still Life หรือ ซันเสียห่าว เหริน ที่คว้ารางวัลใหญ่ "สิงโตทองคำ" ซึ่งเป็นผลงานของ เจี่ยจางเคอ ผู้กำกับชาวจีนไฟแรงวัย 36 ที่มีเรื่องราวต่อต้านการสร้าง The Three Gorges Dam หรือ เขื่อนสามโตรกของทางการจีน ที่ใช้เวลาก่อสร้างมาแล้วถึง 12 ปี และเขือนนี้จะกลายเป็นงานวิศวกรรมโยธาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อมันเปิดใช้ในปี 2009 แต่ผลของการสร้างเขื่อนดังกล่าวยังผลให้ชาวบ้านรอบๆ บริเวณดังกล่าวตั้งเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมและต้องย้ายถิ่นฐานกันถึง 1.3 ล้านคน โดยในเรื่องกล่าวถึงคนงานสองคนที่กลับไปตามหาภรรยาในหมู่บ้านที่กลายเป็นเมืองบาดาลอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขือนยักษ์ดังกล่าว ซึ่งก็น่าหดหู่เช่นกัน แต่ที่ผมได้ไปดูแผนการย้ายคนของเขาก็ทำเป็นขั้นเป็นตอนในการย้ายเมือง ย้ายคนแถมสวัสดการเพียบ แต่ก็คงไม่คุ้มกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือความผูกพันบ้านเกิด ความรู้สึกในใจที่ยากจะหาอะไรมาทดแทนได้






ทั้งนี้ The Three Gorges Dam (เขื่อนสามโตรกมีชื่อที่ชาวจีนเรียกว่า ‘ซานเซี้ยต้าป้า’ เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยการก่อสร้างของรัฐบาลจีน กั้นแม่น้ำแยงซี เมืองอี้ชาง มณฑลหูเบ่ย ประเทศจีน มีมูลค่างานก่อสร้างกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.2 ล้านล้านบาท ตัวเขื่อนมีความกว้าง 2,309 เมตร ความสูง 185 เมตร  โดยมีเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้า (generators) จำนวน 26 ตัว เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้ามากกว่า18,000 เมกะวัตต์ วัสดุที่ใช้งานก่อสร้าง ประกอบด้วย ซีเมนต์ 10.8 ล้าน ตัน เหล็กเส้น 1.9 ล้านต้น และไม้แบบ 1.6 ล้านตัน เริ่มก่อสร้างปี1993 คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 2009 และต้องอพยพพลเมือง 1.3 ล้านจะต้องอพยพโยกย้ายออกไปจากพื้นที่นํ้าท่วม เป็นเขื่อนจีนใหญ่กว่าเขื่อนพลังไฟฟ้าฮูเวอร์ (Hoover Dam) ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเกือบ 10 เท่า





นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้จากดวงจันทร์ นับตั้งแต่กำแพงเมืองจีนเป็นต้นมา โครงการสร้างเขื่อนใช้คนงานทั้งสิ้น 25,000คน รัฐบาลจีนมีแผนการก่อสร้างเขื่อนสามโตรกนี้มาตั้งแต่ปี 1919 ในสมัยของ ดร.ซุนยัทเซ็นเพื่อป้องกันน้ำท่วมแต่ยังไม่สามารถเริ่มได้ เนื่องจากต้องอพยพประชาชนริมฝั่งแม่น้ำกว่า 3 ล้านคนออกจากถิ่นที่อยู่ ไม่เช่นนั้นบ้านเรือนของประชาชนต้องจมอยู่หลังเขื่อน ภายหลังจึงเริ่มก่อสร้างในปี 1994 (โดยไม่มีรายงานว่าอพยพคนไปไว้ที่ไหนและเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา The Three Gorges Dam จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่นที่ไม่เคยหยุดพักของจีนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก



วันที่ 21 ธันวาคม 2001 รัฐบาลจีนได้ประกาศ "มาตรการมุ่งสู่ภาคตะวันตก" (Imple-mentation Measures of the Go-West Policy)ครอบคลุมการให้สิทธิพิเศษภาษีทั้งจากภายในและต่างประเทศ และเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านทรัพยากรและพลังงาน เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของภูมิภาคนี้ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่สำคัญต่างๆ ตัวอย่างโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ การสร้าง "เขื่อนสามโตรก" (Three Gorges Dam) ซึ่งจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนสามช่องแคบของแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)




หากเขื่อนขนาดยักษ์นี้สร้างได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้จะช่วยก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับมณฑลใกล้เคียงหลายแห่ง รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในด้านการขนส่ง ทำให้เรือเดินทะเลขนาด 10,000 ตันสามารถเดินทางถึงมหานครฉงชิ่ง (ปัจจุบันนี้ เรือขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดที่จะผ่านไปฉงชิ่งได้มีขนาดเพียง 1,500 ตัน) ช่วยเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากฉงชิ่ง เพื่อออกสู่ทะเลบริเวณมหานครเซี่ยงไฮ้



มีการประเมินและวิเคราะห์กันว่าวันใดที่เขื่อนสามโตรกสร้างเสร็จ ราคาสินค้าของจีนที่ผลิตจากทางภาคตะวันตก จะราคาถูกกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัวเนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลงมาก นอกจากนั้นค่าขนส่งยังจะถูกกว่าและรวดเร็วกว่านี้อีกมาก เมื่อเขื่อนสามโตรกเสร็จ จะทำให้เกิดทะเลสาบยาวถึง 600 กม. เรือเดินสมุทรขนาด 10,000 ตัน จะสามารถแล่นเข้าไปในใจกลางของจีน คือ นครฉงชิ่ง ได้อย่างสบายใจเฉิบ ตอนที่ผมตระเวนสำรวจตรวจตราดินแดนต่างๆ ของจีนนั้น รถราวิ่งได้สบาย 
ที่สำคัญสินค้าย่อมจะลงมาสู่ทางมณฑลยูนนานผ่านทางแม่น้ำโขงและถนนคุนหมิง  กรุงเทพฯ ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงตอนนั้นเขื่อนใหญ่ของสินค้าจีนก็พร้อมทะลักท่วมไทยอีกไม่นานวันแน่นอน

ซันเสียห่าว เหริน!!!!

ที่มา.โอเคเนชั่น
//////////////////////////////////////////////

พฤติกรรมผู้บริโภค เออีซี !!??

โดย ณกฤช เศวตนันท์

ในปี พ.ศ. 2558 แต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC)

เมื่อ AEC เปิดตัวแล้ว ประชากรจากชาติสมาชิกประมาณ 600 ล้านคนจะทำให้เกิด ตลาดของผู้บริโภค ขนาดใหญ่ เหมาะแก่การเข้าไปลงทุนทำการค้าในทั้ง 10 ประเทศสมาชิก

ในคอลัมน์ฉบับนี้เราจะมาดูกันถึง พฤติกรรมการบริโภค ของประเทศสมาชิกเพื่อนบ้าน AEC เพื่อเป็นข้อมูลให้ทราบว่า แต่ละประเทศมีพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเข้าไปติดต่อหรือลงทุนในแต่ละประเทศได้อย่างเหมาะสม



ประเทศกัมพูชา เป็นชาติที่ประชากรมีพฤติกรรมคล้ายกับคนไทย จึงทำให้คนกัมพูชาชื่นชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญประชากรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 20 ปี และพร้อมจะรับสิ่งใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน

ดังนั้น ประชากรกัมพูชาจึงกำลังนิยมนำสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเครื่องแต่งกายที่นำสมัยหากมีราคาที่ไม่แพงมาก เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของประชากรยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากนัก

ส่วน ประเทศสิงคโปร์ เป็นชาติที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด และขนาดประเทศเล็กที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยความที่เป็นประเทศเล็ก การผลิตสินค้าและบริการในสิงคโปร์จึงทำได้ยาก การบริโภคของคนสิงคโปร์จึงอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

อีกประการคือ เศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ค่อนข้างดี ประชากรมีอำนาจในการซื้อสูง คนสิงคโปร์มักนิยมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพค่อนข้างสูง และเนื่องจากวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์ทางตะวันตกมีอิทธิพลมากในสังคมสิงคโปร์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยังอ่อนไหวต่อกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกสูง จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่อมาคือประเทศอินโดนีเซีย ประชากรร้อยละ 86 ของอินโดนีเซียเป็นชาวมุสลิม แต่ไม่ค่อยเคร่งครัดมากนักเมื่อเทียบกับมาเลเซีย เห็นได้จากเหล้าและเบียร์นั้นยังหาซื้อได้ง่าย แต่ตัวสินค้าที่มีตราฮาลาลก็ยังได้รับความนิยมมาก การบริโภคและสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปนั้นดูจะเป็นที่นิยมมากกว่าสินค้าประเภทอาหารสด

โดยภาพรวมคนอินโดนีเซียเป็นชาติที่ใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสูง ซึ่งมีรายงานพบว่า ชาวอินโดนีเซียใช้จ่ายกว่าร้อยละ 51 ของรายได้ทั้งหมดเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน

แต่ทั้งนี้ คนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาสินค้า ทำให้ไม่ค่อยนิยมสินค้านำเข้าที่ราคาแพง หรือสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ราคาสูง

สำหรับอีกประเทศสมาชิก AEC ชนชาติลาว มีอุปนิสัยเหมือนคนไทย และพูดภาษาไทยได้ พรมแดนก็ติดกันกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยจึงได้รับความนิยมมากในประเทศลาว นอกจากนั้น จากการที่ลาวเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อน ทำให้สินค้าประเภทอาหารฝรั่งเศสได้รับความนิยมจากคนลาวเช่นกัน เพียงแต่กำลังซื้อสินค้าบริการที่มีราคาสูงยังไม่ได้รับความนิยมจากคนลาวนัก เนื่องจากรายได้โดยรวมของคนลาวยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ชาติในอาเซียน

ส่วนประเทศเวียดนาม คนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีกลายเป็นกำลังซื้อสำคัญ เพราะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อและอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว จึงนิยมใช้สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง สินค้าเทคโนโลยี และอาหารสำเร็จรูป การตัดสินใจซื้อขึ้นอยู่กับการออกแบบ สไตล์ วัสดุ ประโยชน์ใช้สอย และบุคลิกภาพของสินค้า รวมทั้งการให้บริการขณะซื้อสินค้า บริการหลังการขาย และบริการของพนักงานขาย

สินค้าประเภทอาหารมีความนิยมในการจับจ่ายสินค้าประเภทอาหารสด โดยเฉพาะพืชผักมากกว่าอาหารกระป๋องสำเร็จรูป

จึงเห็นได้ว่ารสนิยมการบริโภคนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านรากฐานทางวัฒนธรรม ศาสนา อิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้าน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือระดับการศึกษาของผู้บริโภค

นักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลของแต่ละประเทศอย่างลึกซึ้งก่อนเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ สำหรับในคราวหน้าจะเสนอข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคที่ยังเหลืออยู่ของอีก 4 ประเทศให้ได้รับรู้กันต่อ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

แบงก์ชาติ ยันเศรษฐกิจไทย ไม่ถดถอย !!??

"ประสาร"ยันเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่าย "ภาวะถดถอย" เป็นแค่ทางเทคนิค มั่นใจไตรมาส 3 เป็นบวก รับศก.ไทยชะลอตัวตามภูมิภาคเอเชีย

การแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

สำนักข่าวบีบีซีและสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่ง ระบุว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริง หลังจาก สศช.ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือ 3.8-4.3% และไตรมาส 2 ขยายตัว 2.8% แต่เมื่อพิจารณาจากจีดีพีที่ปรับฤดูกาลแล้ว ในไตรมาส 2 ติดลบ 0.3%

การตีความว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจาก จีดีพี ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส โดยก่อนหน้านี้ สศช.แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก ขยายตัว 5.4% แต่เมื่อปรับฤดูกาล ติดลบ 1.7%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงสองไตรมาสติดต่อกัน แต่ถือว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

นายประสาร ชี้แจงว่าหากดูตัวเลขเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 ปี 2555 อัตราการเติบโตถือว่าสูงมาก ซึ่งเป็นผลจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายปี 2554 จึงทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4 ปี 2555 เติบโตขึ้นค่อนข้างมาก มีผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ชะลอตัวลงตามไปด้วย เมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส อย่างไรก็ตามหากปรับเรื่องฤดูกาลออก ไตรมาส 2 ก็ไม่ได้ติดลบ

"คำว่า Technical Recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค) ตามนิยาม ก็คือ เศรษฐกิจชะลอตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาส ติดต่อกันสองไตรมาส แต่อันนี้เป็นการนิยามที่หยาบๆ เพราะปกติคนจะดูว่า การเปรียบเทียบเป็นการเทียบกับฐานที่ปกติหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ฐานปกติ ก็จะมีการปรับเรื่องฤดูกาลออก พอปรับใหม่ตัวเลขก็ไม่ได้ติดลบ ซึ่งไตรมาส 4 ปี 2555 ของเรานั้น เป็นการเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2554 ที่เราเจอน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ไตรมาส 4 ปี 2555 มันสูงลิ่ว พอเราเอาไตรมาส 1 ปี 2556 ไปเทียบ มันจึงติดลบและก็มีผลต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 ด้วย" นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 3 ธปท.ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่าอัตราการเติบโตจะไม่ติดลบเมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส ในขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ก็เชื่อว่ายังเติบโตได้ แม้จะไม่สูงมากนัก

"การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้แม้จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็เป็นทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจอื่นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย"

คลังรับ'เชิงเทคนิค'เข้าสู่ภาวะถดถอย

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ตัวเลขของ สศช.ต่ำกว่าที่ สศค.ประมาณการไว้ที่ 3% และหากจะมองทางเทคนิคก็จะถือว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะชะลอตัวต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส

นายเอกนิติ กล่าวว่า หากมองทางปัจจัยพื้นฐานแล้ว จะเห็นว่ามาจากฐานที่สูงในปีก่อนและไตรมาสที่ 2 ยังมีเรื่องก๊าซในพม่าที่ปิดโรงงานไป 10 วันในเดือนเม.ย. ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมพอสมควร แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ส่วนหนึ่งก็มาจากฐานที่ต่ำเช่นกัน

"สศค.กำลังนำตัวเลขจริงที่สภาพัฒน์ประกาศมาใส่เข้าไปแบบจำลอง เพื่อปรับประมาณการเศรษฐกิจตัวเลขทั้งปีใหม่ในเดือนก.ย. ซึ่งกำลังรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.ค. ด้วยเช่นกันว่า ตัวเลขเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร รวมถึงรอตัวเลขของสัญญาณต่างๆ ที่ สศค.มองว่า เริ่มส่อแววว่าจะดีขึ้น หรือ GREEN SHOOT เช่น ยอดการส่งออกสินค้าไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวมถึงการค้าขายกันเองในกลุ่ม TIP หรือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการท่องเที่ยวว่า ตัวเลขออกมาดีตามคาดหรือไม่"นายเอกนิติ กล่าว

ศก.ไทยช่วงไตรมาส3น่าฟื้นตัว

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นเช่นเดียวกับนายประสาร โดยกล่าวว่าการนิยามของคำว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ตามหลักสากลแล้ว หมายถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจเมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดต่อกันอย่างน้อย 2 ครั้ง ดังนั้นตัวเลขที่ สำนักงาน สศช. ประกาศออกมานั้น ตามเทคนิคต้องถือว่าเป็นภาวะถดถอย

ทั้งนี้ การดูว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริงหรือไม่นั้น ต้องดูรายละเอียดหรือไส้ในของตัวเลขด้วย กรณีของไทยนั้น มีปัจจัยเสริมเข้ามา ทั้งในเรื่องของน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งทำให้ตัวเลขไตรมาส 4 ปี 2555 เปรียบเทียบกับตัวเลขช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าออกมาค่อนข้างสูง ประกอบกับในปี 2555 ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเข้ามาด้วย จึงทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4 ปี 2555 เติบโตค่อนข้างมาก ดังนั้นหากนำมาเทียบกับไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2556 จึงทำให้การเติบโตติดลบ

"กรณีที่สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น ถ้าดูเฉพาะตัวเลขอย่างเดียวตามเทคนิคแล้วก็ถือว่าใช่ เพียงแต่โดยปกติแล้วเวลาจะดูก็ต้องดูไส้ในด้วยว่า ที่ติดลบเกิดจากอะไร กรณีของไทยนั้น มาจาก 2 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจช่วงปี 2555 เพิ่งฟื้นตัวจากน้ำท่วม และครึ่งหลังของปี 2555 ยังมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาด้วย เลยทำให้ตัวเลขไตรมาส 4 ออกมาค่อนข้างสูง" นายเชาว์กล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 3 น่าจะฟื้นตัวขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะว่าขณะนี้เริ่มเห็นออเดอร์การส่งออกที่เข้ามามากขึ้น

คาดเศรษฐกิจเริ่มฟื้นปีหน้า

ด้าน นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวระดับ 4% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยคาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะกลับมาขยายตัวกว่า 5%

"ยอมรับว่าครึ่งปีหลังของปีนี้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ และการเมืองมีความผันผวน ซึ่งคงต้องรอการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในปีหน้า ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ"

บาทอ่อนรวดเดียว30สต.-คาดเห็น 32 บาท

สำหรับค่าเงินบาท วานนี้ (20 ส.ค.) อ่อนค่าลงรวดเร็ว หลังจากเปิดตลาดที่ระดับ 31.42-31.44 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเช้า มีแรงซื้อดอลลาร์จากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเฮดจ์ฟันด์จำนวนมาก จนทำให้ตลอดทั้งวันเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 30 สตางค์ ทะลุแนวต้านสำคัญตามลำดับ จนมาอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 31.73 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปีกับอีกเกือบเดือน โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อเงินบาทมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด จนเกิดแรงขายในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเงินบาทเช่นกัน

ส่วนแนวโน้มต่อไป คาดว่าจะเห็นการพักฐานเล็กน้อยก่อนจะอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านเดิมได้หากเงินบาททะลุระดับ 31.75 บาทต่อดอลลาร์ และอาจเห็น 32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.55-31.75 บาทต่อดอลลาร์

ด้าน นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการบริหาร บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ภาวะเงินทุนไหลออกขณะนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ที่มีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ ทั้งความกังวลในเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเอเชียที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก จนค่าเงินอ่อนค่าอย่างรุนแรง

ในระยะสั้นเชื่อว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก โดยอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าถึงระดับ 31.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ภายใน 1 เดือนนี้

'ประสาร'ชี้ต้นเหตุจากตัวเลขเศรษฐกิจ

นายประสาร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะข่าวตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา แต่อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าลงดังกล่าวถือว่าไม่น่ากังวล เพราะยังอยู่ในกรอบพื้นฐาน รวมทั้งเศรษฐกิจไทยเองก็ไม่ได้มีปัญหา ในขณะที่นักลงทุนยังให้ความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย

"ของเราเองไม่ได้มีปัญหาอะไร จะเห็นว่าดุลบัญชีเดินสะพัดช่วงนี้ แม้ขาดดุลบ้าง ซึ่งเรามองว่าครึ่งปีแรกอาจขาดดุลประมาณ 1% ของจีดีพี แต่เชื่อว่าทั้งปีจะทรงตัว ไม่ได้ติดลบอะไร ซึ่งสำนักวิจัยฯ ต่างๆ เอง ก็มองในทิศทางเดียวกัน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

100สิ่ง(เขาว่า) ควรกิน เมื่อยังมีชีวิต !!??

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด นสพ.ข่าวสด

ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร เว็บไซต์ http://www.foodnetworksolution.com สนับสนุนโดยสภาวิจัยแห่งชาติ ที่นำคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์เดอะ ซัน เรื่อง "100 สิ่งที่ควรกินก่อนตาย" มาโพสต์ไว้ หลังจัดทำแบบสำรวจในเฟซบุ๊ก

1.หอยเป๋าฮื้อ เป็นหอยสองฝา ราคาแพง รสชาติดี เนื้อสัมผัสนุ่ม 2.แอบซีนธ์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 70-90% 3.เนื้อจระเข้ เป็นเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และคอเลสเตอรอลต่ำ 4.บาบา กาโนช มะเขือม่วงเผาสับปรุงรส 5.เบกัลและล็อกซ์ ขนมปังเบกัลโปะแซลมอนรมควัน 6.บาคลาวา พายถั่วพิทาชิโอ 7.ซี่โครงย่างบาร์บีคิว 8.เบลลินี ค็อกเทลชนิดหนึ่งของเวนิซ 9.ซุปรังนก 10.บิสกิตและเกรวี

11.ไส้กรอกดำ ทำจากเลือดสัตว์ มีสีดำ 12.เห็ดทรัฟเฟิลดำ 13.บอร์สช์ ซุปบีตรูตของรัสเซีย 14.คาลามารี เมนูปลาหมึกของอิตาลี 15.ปลาคาร์พ 16.คาร์เวียร์ 17.ชีสฟองดู 18.เมนูไก่และวอฟเฟิล 19.ติ๊กก้า มาซาลา แกงไก่อินเดีย 20.ชิลลี เรลเลโน พริกยัดไส้

21.เครื่องในหมู 22.ชูร์รอส โดนัทสเปน 23.ซุปหอยลาย 24.คอนยัก 25.เครปเค้ก 26.จิ้งหรีด 27.เคอร์รีวุร์สต์ ไส้กรอกราดซอสผงกะหรี่ของเยอรมัน 28.ไวน์แดนดีไลอัน 29.ดุลเซ่ เดอ เลเช่ นมข้นตุ๋น 30.ทุเรียน

31.ปลาไหล 32.ไข่เบเนดิกต์ 33.ปลาทาโก้ 34.ฟัวกราส์ 35.เปาะเปี๊ยะสด 36.ปลาดุกทอด 37.มะเขือเทศดิบทอด 38.กล้วยทอด 39.ฟริโต พาย 40.ขากบ

41.ฟุกุ ปลาปักเป้า 42.ฟันเนลเค้ก เค้กทอด 43.ซุปกาซปาโช่ 44.เนื้อแพะ 45.นมแพะ 46.กูลาช สตูเนื้อของฮังการี 47.ซุปกัมโบ 48.ฮักกิส ไส้กรอกสกอตดั้งเดิม ยัดด้วยเครื่องในแกะหรือลูกวัว 49.เฮดชีส ทำจากหัวหมูและเนื้อหมู คล้ายหมูหนาว หรือแกงกระด้าง 50.มะเขือเทศแอลูม

51.รังผึ้ง 52.พายผลไม้ ฮอสเทสส์ 53.อูเอโวส รันเชโรส อาหารเช้าเม็กซิกัน 54.ไก่สะบัดของจาเมกา 55.เนื้อจิงโจ้ 56.พายมะนาว 57.เนื้อโกเบ 58.ลาสซี่ โยเกิร์ตปั่นของอินเดีย 59.กุ้งมังกร 60.ผักกระเฉด

61.พายช็อกโกแลตสอดไส้มาชเมลโลว์ยี่ห้อมูนพาย 62.เห็ดโมเรล 63.ชาตำแย 64.ปลาหมึกยักษ์ 65.ซุปหางวัวของเกาหลี 66.พาเอลลา ข้าวผัดสเปน 67.ปะนีร์ ชีสอินเดีย 68.ปาสตรามี ออน ไรน์ ขนมปังข้าวไรย์กับเนื้อสไลด์ 69.ฟัพโลวา ขนมไข่ขาวของนิวซีแลนด์ 70.แกงกะหรี่ฟาอัล

71.ฟิลลีชีสสเต๊กแซนด์วิช 72.เฝอ ก๋วย เตี๋ยวเวียดนาม 73.สับปะรดกับเนยแข็งคอตเทจ 74.ไอศกรีมถั่ว พิตาชิโอ 75.โพบอย แซนด์วิชเนื้อของอเมริกา 76.ป๊อกกี้ ขนมญี่ปุ่น 77.โปเลนตา ข้าวโพดบดอิตาลี 78.กระบองเพชร พริกลี แพร์ 79.สตูกระต่าย 80.หอยนางรมดิบ

81.รูตเบียร์ 82.ขนมหวานยี่ห้อซัมมอร์ 83.ซาวเคราต์ กะหล่ำปลีดองของเยอรมัน 84.เม่นทะเล 85.ฉลาม 86.หอยทาก 87.งู 88.ปูนิ่ม 89.ส้มตำ 90.สเปตเซล ก๋วยเตี๋ยวเยอรมัน

91.อาหารกระป๋องยี่ห้อสแปม 92.กระรอก 93.สเต๊กทาร์ทาร์ สเต๊กเนื้อดิบ 94.มันฝรั่งทอดหวาน 95.ตับอ่อนลูกวัวหรือลูกแกะ 96.ต้มยำ 97.บ๊วยแห้งญี่ปุ่น 98.เนื้อกวาง 99.ถั่วเคลือบวาซาบิ 100.ดอกคูร์แก็ต

ส่วนใหญ่เป็นอาหารคุ้นลิ้นนานาชาติ และส่วนใหญ่ค่อนไปทางไม่กินก็ได้มั้ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////