--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จีนตะวันตก .

โดย : รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐบาลกลางของจีนมีนโยบาย "มุ่งสู่จีนตะวันตก" (Go-West Policy) อย่างจริงจังมาตั้งแต่ต้นปี 2000 ที่เริ่มประกาศใช้ "นโยบายพัฒนาภาคตะวันตก" (Xibu Da Kaifa) ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนก้าวกระโดดต่อไปได้ทั้งๆ ที่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง จนทำให้ประเทศต่างๆ ถูกกระทบจนเดี้ยง ไปถ้วนหน้า

การเบนเข็มมาเน้นจีนตะวันตกที่ประกอบด้วย 6 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง และ 1 มหานคร ช่วยให้เศรษฐ-กิจจีนเดินหน้าต่อไปได้ ดังจะเห็นได้จากใน ช่วงปี 2000-2008 อัตรา GDP ของจีนตะวันตกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.7 ต่อปี ในแต่ละปี รัฐบาลกลางของจีนจัดสรรงบประมาณด้านการลงทุนมากกว่าร้อยละ 43 ของการลงทุนทั้งหมดไปยังจีนตะวันตก เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ

ในฐานะนักวิชาการไทย ดิฉันให้ความสนใจกับจีนตะวันตกเป็นพิเศษ และนับตั้งแต่สามารถเติมฝัน (ตัวเอง) ในการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับเศรษฐกิจมณฑลจีนแบบเจาะลึกชิ้นแรกของประเทศไทยได้สำเร็จโดยได้เลือกที่จะเน้น "มณฑลจีนตะวันตก" ดิฉันก็ไม่เคยหยุดที่จะติดตามพัฒนาการของจีนตะวันตก ภูมิภาคที่สำคัญยิ่งของจีน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากไทย

ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ดิฉันได้เริ่ม เดินทางไปตะลุยตระเวนจนครบ 12 มณฑล จีนตะวันตกที่ครอบคลุมภายใต้นโยบาย Go-West Policy รวมทั้งการไปสำรวจเส้นทางสายไหม (Silk Road) ตั้งแต่นครซีอานในมณฑลส่านซี ไปจนถึงนครอุรุมชีในซินเกียง ตลอดจนเส้นทางจากมองโก เลียในไปจนสุดทางที่ทิเบต ซึ่งล้วนมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นแตกต่างกันไป

ในแต่ละครั้งที่ได้ไปสัมผัสมณฑลจีน ตะวันตกเหล่านั้น ก็ต้องทึ่งกับการเปลี่ยน แปลงที่รวดเร็ว และยากที่จะหยุดยั้ง โดย เฉพาะถนนหนทางและโครงข่ายคมนาคม ต่างๆ ที่นำความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังมณฑลตอนในของจีน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังคงมีความยากจนและความ ล้าหลังหลงเหลืออยู่ในชนบทของจีนตะวัน ตกเช่นกัน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขจัดความยากจนเหล่านั้นให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินจีนที่แสนจะกว้างใหญ่ไพศาล

หลายครั้งที่ดิฉันเลือกเดินทางไปลงพื้นที่จีนตะวันตกโดยไม่ใช้เครื่องบิน แต่ จะใช้วิธีล่องแม่น้ำโขง หรือไม่ก็ใช้เส้นทาง บกจากภาคเหนือของไทยผ่านพม่าไปจีน ตามแนวเส้นทาง R3W รวมทั้งการใช้เส้น ทางบกสุดฮิตที่ผ่านลาว คือ เส้นทาง R3E หรือ R3A (เส้นเดียวกันแต่มีสองชื่อเรียก) ไล่ลัดเลาะไปตามแนว "เส้นทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ" ไปจนถึงนครคุนหมิงในมณฑลยูนนาน แล้วต่อไปยังมณฑลอื่นๆ ของจีนตะวันตก ทำให้มีโอกาสได้พบเห็นสภาพความเป็นจริงของการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงตลาดจีนตะวันตก

แม้ว่าจีนตะวันตกจะมีจุดอ่อนทางธรรมชาติ ในการเป็น landlocked ไม่มีทางออกทะเล หากแต่เป็นภูมิภาคที่มีความ อุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร อาทิ ถ่าน หินและน้ำมันดิบ และได้รับความสำคัญในเชิงนโยบายจากรัฐบาลกลางเสมอมา โดยเฉพาะการทุ่มเทงบประมาณในการสร้างเขื่อนยักษ์ "สามโตรก" (Three Gorges Dam) และการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำแยงซีเกียง จนในขณะนี้ สินค้าต่างๆ ที่ผลิตในมณฑลจีนตอนใน อาทิ รถยนต์ที่ผลิตในฉงชิ่ง สามารถขนส่งลำเลียงไปตามแม่น้ำแยงซีเกียงเพื่อไปออกทะเลที่ปากแม่น้ำในมหานครเซี่ยงไฮ้ ด้วย ระยะทาง 2,660 กิโลเมตร และขนส่งตรง ต่อไปทางทะเลจนถึงประเทศปลายทาง เช่น อิหร่าน

ดิฉันได้มีโอกาสไปล่องและพักค้างกลาง "มหานทีแยงซีเกียง" หรือ "ฉางเจียง" ในภาษาจีนกลางมาแล้วถึง 3 รอบ (ปี 2004  ปี 2006 และล่าสุดปี 2009) เพื่อสำรวจเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำและติดตามพัฒนาการในการก่อสร้าง เขื่อนสามโตรก สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ในการพัฒนาจีนตะวันตก ด้วยระยะเวลาก่อสร้างนานถึง 17 ปี  

นอกจากนี้ ผู้บริโภคในจีนตะวันตก ซึ่งมีประมาณ 370 ล้านคน ได้เริ่มอยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากรายงานปี 2009 อัตรา การขยายตัวของการค้าปลีก (retail sale) ใน 12 มณฑลจีนตะวันตกรวมกันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19 และมีอัตราสูงกว่าอัตราการ เติบโตของการค้าปลีกของทั้งประเทศ รวม ไปถึงอัตราการขยายตัวของการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในจีนตะวันตกสูงถึงร้อยละ 38.9 มูลค่าราว 3.16 ล้านล้านหยวน ตลอด จนการติดต่อค้าขายกับตลาดโลกมากขึ้น และการหลั่งไหลเข้ามาของเงินลงทุนจาก ต่างประเทศ มีบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ตบเท้า เข้าไปลงทุนในจีนตะวันตกจำนวนมาก อาทิ เช่น การลงทุนของ Intel ในเสฉวน ส่งผลให้จีนตะวันตกในวันนี้ จึงมิใช่ "ดินแดนหลังเขา" ดังเช่นในอดีต

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

ยุโรปหลุดพ้นภาวะถดถอยแล้วจริงหรือ !!??

นับเป็นช่วงเวลาที่คนจำนวนมากเฝ้ารอคอย หลังจากหนึ่งปีครึ่งของความซบเซา เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) เติบโตอีกครั้ง ปัจจัยบ่งชี้อื่นๆ ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน หรือนี่จะเป็นการยุติช่วงเวลาแห่งความเหน็บหนาวอันยาวนาน?

การประกาศอย่างชัดเจนของมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ว่า "ช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดจบลงแล้ว" นั่นเป็นการพูดถึงวิกฤตยูโรเมื่อเดือนมีนาคมปี 2555 แต่ทว่า เขาคาดผิดไป อย่างน้อยถ้าพิจารณาจากเศรษฐกิจที่แท้จริง

เมื่อตอนที่ดรากีคาดคะเน ไว้นั้น ผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมของกลุ่มประเทศยูโรโซนร่วงลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากนั้นก็ร่วงลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี

ทว่าตอนนี้ หลังจากภาวะถดถอยยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นใช้เงินสกุลร่วมเป็นต้นมา เศรษฐกิจของยูโรโซนได้ส่งสัญญาณถึงการฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่

จากการประเมินของสำนักงานสถิติยุโรปหรือยูโรสแตท สมาชิกยูโรโซน 17 ชาติแสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 คิดอัตราปรับตามฤดูกาลที่ 0.3 เปอร์เซ็นต์

ในโปรตุเกสเศรษฐกิจขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง ด้วยอัตราที่มากถึง 1.1 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลตัวเลขใหม่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันกล้าเสี่ยงที่จะประกาศอย่างชัดเจน คล้ายกับที่ดรากีได้เคยกล่าวไว้เมื่อ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา

"เรากำลังประสบแนวโน้มที่พลิกกลับด้าน ช่วงที่ยากลำบากที่สุดได้ผ่านไปแล้ว" มิชาเอล ฮูเธอร์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจโคโลญจ์บอก ขณะที่ ไค คาร์สเทนเซน หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์เศรษฐกิจ ของสถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจไอเอฟโอในนครมิวนิก ให้ความคิดเห็นในการวิเคราะห์ที่คล้ายๆ กัน "ทุกอย่างกำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง นั่นคือดีขึ้น"

ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้เดียวที่มีความหวัง

บริษัทต่างๆ ในยูโรโซนมองภาพสถานการณ์ขณะนี้ในทางบวกมากขึ้นกว่าเมื่อ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา

ดัชนี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของมาร์กิต บริษัทในอังกฤษที่จัดทำผลสำรวจ เพิ่มจาก 48.7 จุดมาอยู่ที่ 50.5 จุด ขึ้นมาอยู่เหนือระดับเส้นแบ่งที่หมายถึงมีอัตราการเติบโต

นอกเหนือไปจากบรรดาเจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลร่วมยังมองไปในทางบวกมากขึ้นเช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ในเยอรมนี การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขึ้นค่าแรงและการจ้างงานเพิ่ม

สัญญาณที่ให้ กำลังใจบางอย่างยังมาจากประเทศยุโรปทางตอนใต้ที่เผชิญกับวิกฤต โดยก่อนหน้าที่จะมีการประกาศการเติบโตทางเศรษฐกิจ โปรตุเกสเพิ่งจะรายงานว่าอัตราการว่างงานลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เช่นเดียวกับสเปน ทั้ง 2 ประเทศสามารถลดต้นทุนด้านแรงงานและเพิ่มการส่งออกของตนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

แม้แต่เด็กมีปัญหาอย่างกรีซก็สามารถเพิ่มอัตราการส่งออกและประสบ ความสำเร็จในการลดการกู้ยืมเงินก้อนใหม่ของรัฐบาลลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของกรีซระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลง 4.6 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีการคาดหมายถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากกรีซและไอร์แลนด์ อยู่แล้ว

สถานการณ์ที่เคยผันผวนในตลาดพันธบัตรก็สงบลงด้วย ระยะห่างของอัตราดอกเบี้ยสำหรับประเทศที่ประสบวิกฤตและสำหรับเยอรมนีลดลง อย่างมากจากเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม อิตาลีและสเปนมีเหตุผลที่จะยินดีปรีดาได้ นั่นคือช่วงห่างของผลตอบแทนพันธบัตรระยะเวลา 10 ปีของทั้ง 2 ประเทศเมื่อเทียบกับเยอรมนี ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ยังคงเร็วเกินไปที่จะแสดงอาการดีใจออกมาอย่างเต็มที่ เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏออกมานั้นแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจ ของประเทศใหญ่แห่งอื่นๆ ในยูโรโซนอย่างเช่นอิตาลีและสเปนยังคงหดตัวต่อไป แม้ว่าจะน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้านี้มาก โดยอิตาลีร่วงลง 0.2 เปอร์เซ็นต์ และสเปนร่วงลง 0.1 เปอร์เซ็นต์

เยนส์ บอยเซน-โฮเกรเฟ แห่งสถาบันเศรษฐกิจโลกคีล กล่าวว่า มันจะเป็นเรื่องที่ "น่าประหลาดใจมาก" หากอัตราการเติบโตของยูโรโซนยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า "ภาพรวมของปี 2557 พัฒนาขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ"

ปัจจัยอื่นๆ บ่งชี้เช่นกันว่า การฟื้นตัวจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่คาดหวังกัน

ในช่วงสิ้นสุดปี 2555 เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ หดตัวลงอย่างมาก และยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 การขยายตัวในหลายประเทศในปัจจุบันจำเป็นจะต้องดูบริบทของพัฒนาการนั้นประกอบ กันด้วย

ในเยอรมนีอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้ทำงานเพื่อชดเชยการชะลอตัวในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อย่างยาวนาน คาร์สเทนเซนแห่งไอเอฟโอบอกว่า "อัตราส่วนที่โดดเด่นของการเติบโตมาจากงานที่คั่งค้าง"

การว่างงานยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของยุโรป ด้วยอัตราว่างงานที่สูงถึง 12.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกรกฎาคม การไม่มีงานทำภายในยูโรโซนไต่ขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการจดบันทึก สถิติเมื่อปี 2538 เป็นต้นมา

ข้อเท็จจริงคือ ในประเทศอย่างกรีซและสเปน ผู้คนมากกว่า 1 ใน 4 ไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ปัจจัยบ่งชี้ตัวอื่นๆ ดูเหมือนจะออกมาในทางบวก นั่นคือต้นทุนด้านแรงงานลดลงเพราะว่าคนงานที่มีผลิตภาพน้อยกว่าถูกปลดออกไป และดุลการค้ากับประเทศอื่นๆ ดีขึ้นเพราะว่าชาวยุโรปใต้มีความสามารถในการบริโภคได้น้อยลง

สถานการณ์ที่ดีขึ้นส่วนใหญ่มาจากอีซีบี นโยบายดอกเบี้ยต่ำของพวกเขาส่งเสริมความร้อนแรงให้ตลาดหุ้น และการประกาศว่าจะซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัดเป็นการควบคุมการเก็งกำไร แต่ในเวลาเดียวกัน ทั้ง 2 มาตรการไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศที่เกิดวิกฤตเลย ข้อเท็จจริงคือ นั่นอาจนำไปสู่การชะลอการปฏิรูปออกไปและกระตุ้นให้เกิดฟองสบู่รอบใหม่

สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกก็ยังคงไม่แน่นอน จากผลสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจโลกของไอเอฟโอ บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา ทว่าในเอเชียกลับลดลงอีกครั้งหลังจากที่ดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 ความไม่แน่นอนสามารถชี้ชัดได้ที่จีน

รัฐบาลจีนส่งสัญญาณว่า พวกเขาอาจจะออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อปกป้องอัตราการเติบโต 7 เปอร์เซ็นต์ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาเพิ่งจะเริ่มต้นออกกฎระเบียบเข้มงวดเพื่อควบคุมตลาด การเงินที่เริ่มจะร้อนแรงเกินไปในหลายพื้นที่

เมื่อพิจารณาทั้งหมดแล้ว แม้ว่าหลายๆ อย่างดูเหมือนจะพัฒนาขึ้นในยูโรโซนและมีความหวังจากหลายประเทศที่ประสบปัญหา ว่า เยอรมนีอาจจะผ่อนคลายความต้องการให้รัดเข็มขัดลงหลังการเลือกตั้งในวันที่ 22 กันยายนผ่านพ้นไป

แต่ฮูเธอร์แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจโคโลญจ์เชื่อ ว่า เยอรมนีจะไม่ผ่อนปรน และพวกเขาอาจโต้แย้งได้ว่าพัฒนาการนี้แสดงให้เห็นว่า การรัดเข็มขัดนั้นได้ผล

ที่มา : นสพ.มติชน
------------------------------------------

ทำไม รบ.นี้ถึงอยากให้ มาร์ค กุมอำนาจ ปชป.ไปเรื่อยๆ  !!??

คอลัมน์ที่นี่ไม่มีปรองดองนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล "ก็ถ้าเล่นการเมืองแบบค้านไปเรื่อย หยุมหยิมไปทุกเรื่องนอกจากจะเข้าทางรัฐบาลแล้วก็ยังมีสิทธิ์โดนศอกกลับเป็นธรรมดาอย่างที่รองนายกฯสุรพงษ์ สอนฝ่ายค้านกลางสภาว่าที่ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องไปเยือนต่างประเทศก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้มีการลงทุนค้าขายกับไทย สาเหตุก็เพราะหลังจากที่มีรัฐบาลสั่งกระชับพื้นที่การชุมนุมของประชาชนจนประชาชนเสียชีวิตนั้น สังคมโลกเขาไม่ยอมรับแถมยังสวนด้วยว่าที่กล่าวหารัฐบาลจ่ายเงินค่าจ้างให้โทนี แบลร์ อดีตนายกฯอังกฤษ 20 ล้านบาท นั้นไม่จริง ไม่ได้เสียเงินค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว... มิน่ารัฐบาลนี้ถึงอยากให้แก็ง มาร์ค กุมอำนาจพรรคประชาธิปัตย์ไปเรื่อยๆ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ถือเป็น “พีอาร์ แมน”คนหนึ่งในรัฐบาลชุดนี้ ล่าสุดไปเป็นประธานปล่อยแถวสายตรวจดูแลรถเมล์ รถสาธารณะในกรุงเทพฯ ใช้ทั้ง ผู้ตรวจการกรมขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ขสมก. และตำรวจจากบก.จร. ให้ช่วยกันตั้งด่านกวดขัน เน้นไปที่จุดที่มีปัญหา อย่าง ห้างมาบุญครอง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และย่านลาดพร้าว ดูเหมือนดี แต่ผลคือยิ่งวุ่นวายหนัก จริงๆปัญหารถเมล์ไม่เข้าป้าย เข้าป้ายไม่ได้ หรือวิ่งเร็วนั้น แค่ให้ ขสมก.เข้มงวดตามสัญญาก็เหลือกินแล้ว ไม่ต้องตีล่อโก๊ะซะขนาดนี้ แต่ที่สำคัญสุดคือคนขับรถ ซึ่งไม่ใช่แค่รถเมล์ แต่รถทัวร์ รถบรรทุก รถเทรเล่อร์นี่แหละตัวดี ทำคนตายเป็นเบือ ไม่เห็นทำอะไร ปล่อยให้เรื่องเงียบหาย ถ้าแก้ปัญหาให้ตรงจุดไม่เป็นก็ให้คนอื่นเข้ามาทำบ้างดีมั้ย

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

จริงๆแล้วเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ตอนนี้ลงไปเล่นกับศพ เอกยุทธ อัญชันบุตร จนออกนอกหน้า ทำให้หลายคนสงสัยว่าอาจจะกำลังคิดจะไปเอาดีด้านชัณสูตรศพเสียแล้วกระมัง เพราะเป็นตุเป็นตะราวกับท่องบทมาว่า เป็นการถูกฆ่าด้วยกระบวนท่าพิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ หลายคนสงสัยดูหนังมากไปหรือเปล่า แต่ที่โดนถล่มหนักสุดก็คือ เป็นหน้าที่ของ กสม.หรือที่ต้องพิสูจน์การตายขนาดนี้ ถ้าใช่แล้วที่ผ่านๆมาทำไมไม่ทำแบบนี้กับศพอื่นๆบ้าง เดือดร้อนอะไรหนักหนากับศพอดีตเจ้ามือแชร์ชาร์เตอร์รายนี้ รู้หรือไม่ว่าทำให้ “กสม.”เสียชื่อเสียง เพราะมีคนไปแปลเป็น “กรรมการสิทธิมนุษยชนของแมลงสาป”ไปแล้ว!!!

ธาริต เพ็งดิษฐ์

ออกมาพูดตามหน้าที่ และพูดตามที่คนไทยเรียนหนังสือมาตั้งแต่ชั้นประถม ว่าโครงสร้างการบริหารประเทศของไทยเรานั้น แบ่งเป็น 3 เสาหลัก คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประมุขฝ่ายบริหาร และประมุขฝ่ายตุลาการ ทำหน้าที่ดูแลและถ่วงดุลอำนาจกัน ซึ่งเด็กนักเรียนท่องกันปาวๆ แต่พอ อธิบดีธาริตพูดถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นประมุขฝ่ายบริหารเท่านั้น ทั้งม็อบสนามม้าภาค 2 ม็อบหน้ากากขาว ดิ้นพล่านเตรียมยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เล่นงาน ก็ตะแบงกันแบบนี้แหละ บ้านเมืองถึงได้จมปลักขัดแย้งไม่เลิก มาดูกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะบ้าจี้ตามหรือไม่

รอ. ทรงกลด ชื่นชูผล

ถือเป็นสาวกระดับแถวหน้าที่ปักใจเชื่อข้อมูลม็อบขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนทำให้ “ไม่เอาแม้ว”เข้าสายเลือดมาจนทุกวันนี้ โดยมองว่าเป็นระบอบชั่วร้าย คอรัปชั่นโกงกิน ก็ไม่ว่ากันที่จะเชื่อแบบนั้น แต่หลายคนสงสัยไยความจำสั้น สมัยที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ผู้กองปูเค็ม คนนี้และที่ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลร้องเรียนว่ามีทุจริตในหน่วยงานที่สังกัดอยู่ ผลคือนอกจากรัฐบาลชุดนั้นไม่ทำอะไรแล้ว ผู้กองปูเค็มยังถูกคำสั่งจำคุก ฐานสร้างความเสื่อมเสียแก่ต้นสังกัด ยังจำได้ไหม.. แต่ที่สำคัญ กองทัพบกไม่ดูแลเลยหรือ ที่อดีตทหารนอกราชการ กลับแต่งเครื่องแบบทหารมาเพ่นพ่านสารพัด... จะให้ชาวบ้านมองเครื่องแบบทหารยังไง

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง

ถูกโยงตลอดว่า มีคดีความอยู่กับ เอกยุทธ อัญชันบุตร อาจจะทำให้การดูแลคดีการตายของอดีตเจ้ามือแชร์ชาร์เตอร์ ถูกรวบรัด ไม่รอบคอบเท่าที่ควร เพราะแม้ญาติพี่น้องคนตายจะไม่ติดใจ แต่ทนายความ กับ กรรมการสิทธิมนุษยชน ยังสนใจมากเป็นพิเศษ ฉะนั้นคดีนี้จบง่ายๆไม่ได้ บิ๊กแจ๊ส เลยต้องออกมายืนยันว่า คดียังสรุปไม่เสร็จ จะหากินหาผลประโยชน์จากศพกันหรือไง อย่างที่ระบุว่ามีการจ้างฆ่าด้วยท่าพิเศษ เป็นตำรวจยังไม่เข้าใจเลยว่าท่าพิเศษคืออะไร หรือที่บอกว่าผู้ต้องหากลับคำให้การนั้น อย่าดีแต่พูด แต่มาให้การกับตำรวจเลยดีกว่า ...

ป๊าด ใครจะเสี่ยงกับข้อหาให้การเท็จกันล่ะ พูดวงนอกไปเรื่อยๆสนุกปากกว่าเยอะ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////////

สคบ.สั่งตรวจสอบ สินค้าอันตรายต่อสุขภาพ !!??

นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบนโยบายจากนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ สคบ.จัดเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจสินค้าและบริการที่เป็นอันตราย และไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยจะเริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้หากตรวจพบสินค้าต้องสงสัย สคบ.จะประสานกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) หรือเซ็นทรัลแล็บ ให้ช่วยตรวจสอบสินค้า หากพบว่า สินค้าไม่มีมาตรฐาน หรือคุณภาพต่ำลงจากเดิม จะถือว่าผู้ประกอบการมีความผิดต้องได้รับโทษทันที

สำหรับสินค้าที่จะสุ่มตรวจ 6 กลุ่ม คือ 1.อาหารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นม อาหารสำเร็จรูป ผักและผลไม้ เป็นต้น 2.เครื่องดื่ม น้ำ น้ำแร่ เป็นต้น 3.ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 4.สินค้าเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ย 5.สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม กระเป๋าผ้า เป็นต้น และ 6.สินค้าที่ทำจากพลาสติก เช่น กล่องใส่อาหาร อาจมีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรืออาจมีสารเคมีละลายเจือปนในอาหารขณะนำไปอุ่นด้วยความร้อน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกอีกหลายอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทั้งหมดจะจัดเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

ที่มา.ข่าสด
//////////////////////////////////////////////////

พาณิชย์งัดมาตรการ คุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ !!??

รับมือครึ่งปีหลังสินค้าจ่อปรับราคา หลังแบกต้นไม่ไหวขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคายาวถึงสิ้นปี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการดูแลราคาสินค้าและลดค่าครองชีพประชาชนช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน โดยกำหนดให้ใช้มาตรการในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เชื่อว่าจะไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะว่าเป็นมาตรการที่ดูแลครบทุกภาคส่วน ยึดหลักราคาสมเหตุสมผล

การดูแลค่าครองชีพเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล ต้องทำอย่างเหมาะสม ทั้งคุมสินค้าไม่ให้ขึ้นราคา ไม่ให้มีการเอาเปรียบ และต้องกระตุ้นการใช้จ่ายไปพร้อมๆ กัน ผ่านงานขายสินค้าซึ่งเป็นเครื่องมือที่กระทรวงมีอยู่ให้ประชาชนใช้จ่ายได้ในราคาย่อมเยา"

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า สินค้าที่มีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนค่าแรงและค่าเช่าสูงขึ้น ซีอิ๊ว ใช้วัตถุดิบนำเข้าซึ่งราคาถั่วเหลืองสูงขึ้น เช่นเดียวกับนมสดพร้อมดื่ม สินค้า 2 รายการนี้ ได้ขอปรับราคาแล้วแต่อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนน้ำตาลทรายบรรจุถุง 1 กิโลกรัม ต้นทุนค่าแรง ค่าภาชนะบรรจุเพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนวัตถุดิบเท่าเดิม ซึ่งได้ขอปรับขึ้นราคาแล้วแต่ยังไม่เห็นชอบ นอกจากนี้ยังมีอาหารสัตว์ (ยกเว้นไก่ไข่และหมู) เพิ่มขึ้น 4.32-11.01% น้ำปลาตราทิพรส ปรับขึ้นจากขวดละ 25 บาท เป็น 27 บาท ปูนซีเมนต์ ซึ่งราคายังไม่เกินเพดานกำหนด ก๊าซหุงต้ม ปรับราคาวันที่ 1 ก.ย. นี้

วางมาตรการดูแลราคาสินค้า

สำหรับมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าครึ่งปีหลัง ประกอบด้วย การกำกับดูแลราคาสินค้า ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้มีราคาสมเหตุสมผลเป็นธรรมและปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป มาตรการขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาสินค้าถึงสิ้นปี 2556 ประสานธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่จัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนส.ค. จนถึงสิ้นปี 2556 มาตรการจัดงานธงฟ้าราคาประหยัดทั่วประเทศเพิ่มขึ้นในพื้นที่ระดับจังหวัดและอำเภอ และมาตรการทางกฎหมายในกรณีที่สินค้าปรับเพิ่มขึ้นมาก จะประกาศเป็นสินค้าควบคุม

นอกจากนี้ มีมาตรการเสริมผ่านการออกตรวจสอบพฤติกรรมทางการค้า โดยช่วงเดือนต.ค. 2555 - ก.ค. 2556 ตรวจสอบ 263,097 ราย พบผิด 82 ราย ปรับเป็นเงิน 55,200 บาท ตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัด 3,917,138 เครื่องต่อหีบห่อ พบผิด 16,080 เครื่องต่อหีบห่อ

ขณะที่เครือข่ายที่เป็นเครื่องมือกำกับดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพ ได้แก่ โครงการธงฟ้า จัดขึ้น 2,003 ครั้ง ลดภาระค่าครองชีพประชาชน 6.015 ล้านคน เป็นเงิน 606.39 ล้านบาท ร้านถูกใจ 5,009 แห่ง ร้านธงฟ้า 5,953 แห่ง อาสาธงฟ้า 1569 มีสมาชิก 5,500 ราย ตลาดสดดีเด่น 290 แห่ง ร้านค้าก๊าซหุงต้มชั้นดี 171 ร้าน การรับประกันคุณภาพสินค้าและบริการ 52 ราย ยุวชนธงฟ้า 45 โรงเรียน 4,500 คน และน้ำมันเต็มลิตร 1,150 แห่ง

คุมเข้มสินค้าจำเป็น

กระทรวงพาณิชย์ ยังได้กำหนดมาตรการเฉพาะสำหรับสินค้าจำเป็น ได้แก่ การกำกับดูแลอาหารสำเร็จรูป (อาหารจานเดียว) 3 แนวทาง ได้แก่ 1.กำกับดูแลต้นทุนวัตถุดิบไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมากด้วยการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากผู้ผลิต 2.ขอความร่วมมือร้านอาหารในค้าปลีกสมัยใหม่ ศูนย์อาหารราชการ ตลาดสด ให้มีอาหารบางรายการจำหน่ายตามราคาแนะนำ และ 3.จำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงราคาถูกแก่ร้านอาหารธงฟ้าเพื่อตรึงราคาหรือลดราคาอาหาร ซึ่งจะมีการนำข้าวสารบรรจุถุงจากโครงการรับจำนำข้าวจำหน่ายให้ร้านอาหารธงฟ้าต่อไป

ส่วนสินค้าสุกร กำหนดโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร ตามที่ Pig Board เสนอให้สหกรณ์/สมาคมผู้เลี้ยงสุกรรับซื้อสุกรเพื่อส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน เป้าหมาย 1.5 แสนตัว ให้ดำเนินการเมื่อราคาสุกรภาคกลาง เท่ากับหรือมากกว่ากิโลกรัมละ 55 บาท โดยสนับสนุนค่าขนส่งจากต้นทางถึงปลายทางและค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการเฉลี่ยตัวละ 400 บาท ไข่ไก่ โครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ปี 2555 EGG Board เสนอชดเชยการปลดแม่ไก่ยืนกรงไม่เกิน 65 สัปดาห์ ตัวละ 10 บาท เสนอให้ส่งออกต่างประเทศ ชดเชยฟองละ 0.50 สตางค์ และรณรงค์บริโภคไข่ไก่ ทั้งนี้ EGG Board ให้ตรึงราคาไข่ได้ไว้ที่ฟองละ 3.70 บาท

ชู3โครงการช่วยค่าครองชีพ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมการค้าภายในเร่งศึกษารูปแบบโครงการลดปัญหาค่าครองชีพ โดยให้รวมโครงการร้านถูกใจ ร้านโชวห่วยโชว์สวย ร้านอาหารธงฟ้า ซึ่งแนวทางต่างๆ จะนำเสนอต่อนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณาเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นมองว่าจะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการทั้งหมด อาทิ การขนส่ง ระบบคอลเซ็นเตอร์รับคำสั่งซื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการสร้างความเข้มแข็งธุรกิจค้าส่งปลีกไทย 5,212 ราย ซึ่งจะได้รับการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ฯลฯ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่าร้านค้าส่งมียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13% ต่อเดือน ร้านค้าปลีกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17% ต่อเดือน

สหพัฒน์ยันไม่ขยับราคาถึงสิ้นปี

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือนก.ย. นี้ เป็นต้นไป เชื่อว่าไม่กระทบต่อต้นทุนผลิตและขนส่งสินค้า ทำให้บริษัทต้องปรับราคาสินค้าแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งค่อนข้างน้อย

"สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การขยับราคาสินค้าของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ก๊าซแอลพีจีค่อนข้างมาก อาจทำให้ร้านค้าฉวยจังหวะขึ้นราคา 5-10 บาท ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพผู้บริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องขอความร่วมมือร้านเหล่านี้ให้ตรึงราคาขาย หากจำเป็นต้องขึ้นควรขยับเพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อเทียบกับต้นทุนก๊าซ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

โดย สหพัฒน์ ยืนยันว่า จะตรึงราคาสินค้าจนถึงปลายปีนี้ ซึ่งสถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขณะนี้ ไม่เอื้อต่อการปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะการแข่งขันสูง แต่ละค่าย กลับ "ลดราคา" กระตุ้นกำลังซื้อและยอดขายอีกด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คลิปถั่งเช่าแค่สะเทือน... !!??

เริ่มต้นรายการในวันนี้กับกระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงกลาโหมของพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา จากกรณีคลิปเสียง.. ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงเรื่องความเหมาะสมอย่างหนัก

ล่าสุดมีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และ รมว.กลาโหม เจรจากับ พล.อ. ยุทธศักดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากมองว่ากรณีคลิปเสียง กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่พล.อ.ยุทธศักดิ์ก็ยังไม่สามารถชี้แจงสังคมได้

แหล่งข่าวยืนยันว่าพล.อ.ยุทธศักดิ์ได้ตัดสินใจจะลาออกจากตำแหน่งปลายเดือน ส.ค.นี้ โดยจะใช้เหตุผลมีปัญหาสุขภาพ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีในเดือน ก.ย.นี้    

อย่างไรก็ตามแกนนำพรรคเพื่อไทยได้มีการทาบทามอดีตนายทหารระดับสูงหลายรายเพื่อเข้ารับตำแหน่ง รมช.กลาโหมแทน อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.จิรเดช คชรัตน์ อดีตรองผบ.ทบ. และ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4

ซึ่งล่าสุดมีชื่อของ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม ที่มีโอกาสสูงว่าจะถูกโยกมาเป็น รมช.กลาโหมแทนมากที่สุด เนื่องจากมีฐานะเป็นบิดาแฟนสาวของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ

กระแสข่าวดังกล่าวมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อวันนี้พล.อ.ยุทธศักดิ์ เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลา1ชั่วโมง จากนั้นจึงได้เดินทางกลับ

อย่างในก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ข่าวว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะลาออกจากตำแหน่ง รมช.กลาโหม โดยกล่าวสั้นๆ ว่า “ยังไม่เคยคุยกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ในเรื่องนี้ และไม่รู้เหมือนกันว่าข่าวนี้มาจากไหน”      

พล.อ.ยุทธศักดิ์ได้ปฏิเสธตอบคำถามดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า “เป็นเพียงข่าวลือ ผมเฉยๆ กับข่าวที่ออกมาในวันนี้ และไม่ได้สนใจว่าข่าวดังกล่าวนั้นออกมาจากทางไหน ซึ่งขณะนี้ผมยังไม่ได้คุยกับนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่ให้ผมพูดอะไร ขอให้อยู่เฉยๆ ทั้งนี้ ผมขอยืนยันว่าไม่ลาออกจากตำแหน่ง

สำหรับเนื้อหาที่ปรากฏในคลิปเสียง ที่จะเป็นสาเหตุให้พล.อ.ยุทธศักดิ์ ไม่สามารถทนอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหมต่อไปได้ ก็น่าจะเป็นประเด็นของการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง และการไม่ให้เกียรตินายทหารในกองทัพ

ก่อนหน้านี้แม้กระทั่ง พล.อ.อำนวย ถิระชุณหะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และอดีตนักเรียนเตรียม ทหารรุ่น 10 (ตท.10) รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า ว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ต้องลาออก เนื่องจากสถานการณ์ที่รัฐบาลเจอในปัจจุบันก็หนักแล้ว มี 2 เรื่องใหญ่ๆ ยังไม่เคลียร์คือ

1.เรื่องรับจำนำข้าว ที่ตอนนี้กำลังมีการลากคอคนทุจริตระดับเจ้าหน้าที่ และโรงสี และ 2.เรื่องความมั่นคง ภาคใต้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วต้องอย่าลืมเรื่องคดีปราสาทพระวิหารจะมีการตัดสินในปลายปีนี้อีก

สำหรับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ หากรัฐบาลยังเตี้ยอุ้มค่อมรัฐบาลจะตาย ถามว่าท่านมีคุณงามความดีอะไรถึงจะต้องไปอุ้ม ดังนั้นสิ่งที่ท่านทำได้คือ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งก็เห็นข่าวว่าท่านจะลาออก จึงคิดว่าอย่าไปเบรก แต่ต้องขอบคุณที่ท่านจะเสียสละ ทุกคนใน ครม.จะโห่ร้องประกาศขอบคุณอย่างกึก ก้อง

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เมื่อถอดรหัสจากคลิปเสียงแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่าใครคุยกับใคร เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผู้ที่รู้ดีที่สุด คือตัว พล.อ.ยุทธศักดิ์ เอง จึงอยากเรียกร้องให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ออกมาพิสูจน์ว่า เป็นบทสนทนาจริง หรือถูกตัดต่อ เป็นเสียงของท่านหรือไม่ เพื่อธำรงไว้ในศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของกองทัพ เพราะคนที่มีแนวคิดเช่นนี้ ไม่สมควรอยู่ในฐานะที่มอบนโยบายให้แก่กองทัพต่อไป ชายชาติทหาร กล้าทำต้องกล้ารับ      

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวต่อว่า ถ้าเป็นเสียงของ พล.อ.ยุทธศักดิ์จริงก็ไม่สมควรอยู่ ต้องลาออกไป เพราะกระทบต่อเกียรติและศักดิ์ศรี ของกองทัพ รวมไปถึงวงศ์ตระกูลและลูกหลานท่านที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ด้วย เป็นถึงพลเอก และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม........แถมยังยกย่องเป็นดังราชสีห์ ส่วนตัวเป็นหนูน้อยที่คอยช่วยเหลือ ถือเป็นการดูถูกตัวเอง

ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกองทัพบกและกองทัพอากาศ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่างเป็นทางการ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาเยี่ยมกองทัพบก พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ผช.ผบ.ทบ. พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ผช.ผบ.ทบ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก ให้การต้อนรับบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบกโดยได้จัดพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมห้องพระบารมีปกเกล้าและห้องแสดงอาวุธภายในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบก

จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง เพื่อตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายอย่างเป็นทางการ ในโอกาสรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ
       
นายกรัฐมนตรีได้ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ โดยมีเครื่องบินเอฟ 16 บินเพื่อเป็นเกียรติด้วย จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้วางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทหารอากาศ และวางพานพุ่มถวายสักการะพระอนุสาวรีย์จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ พระบิดากองทัพอากาศ ก่อนที่จะรับฟังบรรยายสรุปภารกิจการดำเนินงาน ปัญหาการทำงานของกองทัพอากาศ และเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศในด้านต่างๆ

ที่มา.ทีนิวส์
////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ขยะพิษ สารเคมีเกษตร ชีวิตบนเส้นด้ายของคนไทย !!??

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ข้อมูลใหม่ที่เพิ่งได้ยินมาและน่าตกใจไม่น้อยก็คือ ประเทศไทยกำลังตกอยู่ท่ามกลาง "วัตถุมีพิษ" มากกว่าที่คิด ๆ กันหลายเท่านัก

ที่ผ่านมาเรารับรู้กันว่า บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ หลังหมดอายุการใช้งาน ถูกปล่อยทิ้งกลายเป็นขยะ เป็นอันตรายต่อชีวิต และสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากส่วนประกอบภายในตัวเครื่อง สามารถแปรเปลี่ยนเป็นวัตถุมีพิษ หากไม่จัดการให้ถูกต้อง

ความน่าตกใจเรื่องนี้มีที่มาจากซากอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกและอิเล็กทรอนิกส์ กำลังเพิ่มขึ้นมหาศาล

สืบเนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนกำลังเปลี่ยนไป

ทุกบ้านต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก อยากได้ทีวีเครื่องใหม่ อยากได้ตู้เย็นใหญ่ขึ้น อยากได้พีซีที่ประมวลผลได้เร็วกว่าเดิม เมื่อของใหม่มาก็ต้องโยนของเก่าทิ้ง

ผลศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเมินว่า เมื่อปี 2555 มีเครื่องรับโทรทัศน์ถูกทิ้งเป็นขยะ เพราะใช้งานต่อไม่ได้ หรือเพราะต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่มากถึง 2.37 ล้านเครื่อง ตัวเลขนี้กำลังจะเพิ่มเป็น 2.79 ล้านเครื่องในปี 2559

ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นกับข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ เครื่องปรับอากาศ จาก 6.96 แสนเครื่อง เป็น 7.96 แสนเครื่อง คอมพิวเตอร์พีซี จาก 1.78 ล้านเครื่อง เป็น 2.63 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์-โทรสาร จาก 1.49 ล้านเครื่อง เป็น 1.54 ล้านเครื่อง

ที่กำลังมาแรงแซงทุกผลิตภัณฑ์สินค้า คือ โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์บ้าน จาก 8.52 ล้านเครื่อง เป็น 10.90 ล้านเครื่อง

นี่ยังไม่รวมตู้เย็น เครื่องซักผ้า และอื่น ๆ อีกมากมาย

ไม่น่าเชื่อนะครับ ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังกองเป็นพะเนิน บ้านเรากลับไม่มีมาตรการใด ๆ ที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีกฎหมายใด ๆ มาควบคุมการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ที่หมดสภาพเหล่านี้โดยตรง

มีข่าวดีอยู่บ้างก็คือ กรมควบคุมมลพิษยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่เหลือบ่ากว่าแรงถึงขนาดควบคุมไม่ได้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเครื่องพีซีและมือถือถูกแปรสภาพไปเป็นสินค้ามือสอง แต่ถ้าจะให้ถึงขั้นมีธุรกิจรีไซเคิลมารองรับ คัดแยกอุปกรณ์

ซึ่งถือเป็นวิธีที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดเหมือนในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งคงต้องรอกันต่อไป

และไม่รู้อีกเมื่อไรถึงจะเกิดขึ้น

เท่ากับว่าด้านหนึ่งในขณะที่เราสุขสบายขึ้น อีกด้านหนึ่งเรากลับซุกซ่อนขยะพิษเอาไว้ใต้พรม ราวกับไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น

คล้ายกับปัญหาการใช้สารเคมีนานาชนิดในสินค้าเกษตร ซึ่ง "ประชาชาติธุรกิจ" นำเสนอข่าวสารเชิงให้ความรู้ไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ลำพังสารเมทิลโบรไมด์ที่ใช้กัน

ในข้าวถุง เพื่อกำจัดมด มอด ถือเป็นเรื่องน้อยนิดไปทันทีเมื่อเทียบกับสารเคมีสารพัดชนิดที่เราใช้ในสินค้าเกษตร ซึ่งรายงานระบุว่า แต่ละปีประเทศไทยใช้สารเคมีทาง

การเกษตรไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน

ประมาณกันว่าสารเคมีเหล่านี้มากกว่า 90% ถูกใช้ในนาข้าว นับตั้งแต่ขั้นตอนการหว่านไถ ปักดำ กระทั่งข้าวออกรวง เก็บเกี่ยว กลายเป็นสารตกค้างอยู่ในพื้นดิน แหล่งน้ำ และพืชผลทางการเกษตร

ความจริงที่น่าเจ็บปวด สารเคมีทางการเกษตรบางประเภทที่แพร่หลายในประเทศไทย ถูกห้ามใช้ในสหภาพยุโรป-สหรัฐ แต่ปรากฏในบ้านเราภายใต้ชื่อการค้าอื่น ๆ

ขึ้นต้นด้วยขยะอิเล็กทรอกนิกส์ ลงท้ายด้วยสารพัด

สารเคมีในนาข้าว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ครือ ๆ กัน เพราะล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อโลก ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราทั้งสิ้น

ท่ามกลางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการค้า

บ้านเรายังมีเรื่องประหลาด ๆ ทำนองนี้อีกมาก ไม่เพียงเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือสารเคมีที่ใช้ในนาข้าว

หากภาครัฐยังรี ๆ รอ ๆ อยู่แบบนี้


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////

ประชาชนไม่มีบทบาท ในกระบวนการงบประมาณ !!??

สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างงบประมาณราชการแผ่นดิน ปี 2557 ซึ่งในที่สุด ร่างงบประมาณฯ นี้ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
   
การจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ปี 2557 ยังคงเป็นการเป็นไปตามระบบงบประมาณแบบเดิม ๆ ที่ทำกันมานานกึ่งศตวรรษ
   
กระบวนการพิจารณางบประมาณและการตรวจสอบ ก็ยังคงเป็นไปตามแนวที่ทำกันมากึ่งศตวรรษเช่นกัน
   
ปัญหาสำคัญที่สุดคือรัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามข้อเสนอความต้องการของกระทรวง ทบวง กรม
   
มิได้จัดสรรตามความจำเป็น ความเร่งด่วน ของปัญหาประชาชนในพื้นที่
   
ปัญหารองลงมาคือ รัฐบาลมิได้จัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือพื้นที่ซึ่งคุณภพชีวิตประชาชนต่ำ ก็จะได้งบประมาณน้อย  
   
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้สรุปและเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขไว้แล้วใน "แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"
   
"ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ซึ่งมิได้จัดทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท หากจัดทำตามคำขอของหน่วยราชการที่กำหนดขึ้นโดยภารกิจของรัฐ เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ใช้กรมเป็นฐาน มิได้ใช้พื้นที่หรือจังหวัดเป็นฐาน กรมที่ได้รับงบประมาณไปก็คำนึงถึงภารกิจของตน มิได้คำนึงถึงความต้องการของประชาชน ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณและมิได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐ
   
ข้อมูลจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างงบลงทุนรายจังหวัดต่อหัวและระดับความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ตามดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievment Index) ในแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมาก  กลับได้รับการจัดสรรงบลงทุนต่อหัวในระดับที่น้อยกวาจังหวัดที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนในระดับสูง ทั้งในแง่ของงบลงทุนภาพรวม และงบลงทุนในรายสาขา  เช่น การศึกษา การขนส่งและการสื่อสาร หากการจัดสรรงบประมาณยังคงเป็นไปลักษณะดังกล่าว ก็เป็นการยากที่จะทำให้ช่องว่างของคุณภาพชีวิตของผู้คนในจังหวัดต่าง ๆแคบลง เพราะจังหัดที่ยากจนก็มิได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความยากจนและเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ อย่างเพียงพอ
   
ดังนั้นการปรับงบประมาณลงไปสู่พื้นที่โดยตรงมากขึ้น จึงถือเป็นการเพิ่มอำนาจของประชาชนที่สำคัญประการหนึ่ง พร้อม ๆ กันกับการปรับกระบวนการจัดสรงบประมาณที่จะต้องแปรผกผันกับระดับการพัฒนา เพื่อทำให้ช่องว่างของระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศแคบลง และจะต้องปรับกระบวนการงบประมาณให้เป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่เริ่มต้นกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ไปจนถึงการติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ
   
ข้อเสนอการปรับระบบงบประมาณนี้จึงเป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณ โดยการเพิ่มอำนาจของประชาชนในกระบวนการงบประมาณแผ่นดิน อันจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" (จาก "ข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" คณะกรรมการปฏิรูป วันที่ 10 มกราคม 2554)

ที่มา.สยามรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมต่ำสุด 7 เดือน พิษการเมือง กำลังซื้อหด !!??

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ต่ำสุด 7 เดือน แตะระดับ 91.9 เหตุกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว ปัญหาการเมือง น้ำท่วมในหลายจังหวัด ส.อ.ท.แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้น หุ้นปิดร่วง 7 จุด นักลงทุนสถาบันเทขาย "จรัมพร" ฟุ้ง 20 บจ.เข้าใหม่ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท
   
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน ก.ค.2556 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 91.9 ลดลงจากเดือน มิ.ย.ที่อยู่ระดับ 93.1 โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับจากต้นปี 2556
   
สาเหตุสำคัญเกิดจากความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย
   
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.2 ปรับลดลงจากระดับ 98.7 ในเดือน มิ.ย.2556 จากยอดคำสั่งซื้อโดยรวมลดลง ยอดขายโดยรวมลดลง ปริมาณการผลิตลดลง ขณะที่ต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น จากความผันผวนเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
   
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือน ก.ค.2556 นี้ คือ ขอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน รวมถึงเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการสนับสนุนให้ใช้สกุลเงินบาทเพื่อการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังเสนอให้ภาครัฐมีการปรับปรุงจุดผ่านแดน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินพิธีการศุลกากร เพื่อเชื่อมโยงการค้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน  สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 15 ส.ค.เคลื่อนไหวในแดนลบเกือบทั้งวัน โดยปิดครึ่งวันเช้า ดัชนีติดลบ 8.40 จุด  และช่วงบ่ายยังอยู่ในแดนลบ จนมาปิดที่ระดับ 1,453.07 จุด  ลดลง 7.56 จุด มูลค่าการซื้อขาย 43,730.53 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2,505.06 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 524.65 ล้านบาท ต่างประเทศซื้อสุทธิ 1,682.38 ล้านบาท และรายย่อยในประเทศซื้อสุทธิ 298.04 ล้านบาท
   
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นครึ่งปีหลังยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี ดังนั้น นักลงทุนยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สำหรับนักลงทุนต่างชาติยังเข้าออกตามปกติและเป็นไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาค
   
อย่างไรก็ตาม ตลท.ตั้งเป้าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้ 30 บริษัท โดยปัจจุบันมีบริษัทเข้าจดทะเบียนแล้ว 20 บริษัท คิดเป็นมูลค่า 120,000 ล้านบาท นับว่าเป็นมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์.

ที่มา.ไทยโพสต์
/////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เขตการค้าชายแดน จีน-ลาว-พม่า-ไทย !!??

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่าง ประเทศ ณ นครคุนหมิง รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาชนชาติไต ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเร่งผลักดัน "เขตการค้า ชายแดนจีน-ลาว-พม่า-ไทย" เพื่อรองรับ เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และเพื่อให้มณฑลยูนนานเปิดกว้างสู่ภายนอก

เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน มีดินแดนติดกับประเทศอาเซียน คือ ลาว พม่าและเวียดนาม ยังตั้งอยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด มีความใกล้ชิดและติดต่อกับไทยมานานตั้งแต่มีความร่วมมือกันภายใต้กรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ แม้ว่าจะไม่มีพรมแดนติดต่อกันโดยตรง แต่สามารถใช้เส้นทางถนนเส้นทางรถยนต์ R3E โดยผ่านประเทศลาว (เชียงของ-บ่อหาน ระยะทาง 245 กิโลเมตร) (คุนหมิง- ลาว - กรุงเทพฯ ระยะทาง 1,800 กิโลเมตร) และสามารถใช้เส้นทางการขนส่งทางแม่น้ำโขงหรือชางเจียง (สิบสองปันนา- เชียงของ) รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จะแล้วเสร็จในปลายปี 2556 ทำให้จีน ไทย ลาวและพม่า สามารถติดต่อค้าขายกันโดย ตรงทางการค้าชายแดน

ภายใต้แผนความร่วมมือการค้าข้าม แดนบ่อหาน-บ่อเต็น (จีน-ลาว) ได้มีการผลักดันก่อตั้ง "เขตการค้าชายแดน" ครอบคลุมเขตบ่อหานในสิบสองปันนา หลวงน้ำทา-บ่อแก้วในลาว เชียงของ จังหวัดเชียงรายของไทย และเชียงตุงของ พม่า รวม 4 ประเทศ และยกระดับการเปิดกว้างการค้าของมณฑลยูนนาน เพื่อให้ เขตสิบสองปันนาเป็นเมืองหน้าด่านหรือประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายหลัว หง เจียง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เปิดเผยว่า ได้กำหนดให้เขตความร่วมมือการค้าข้ามแดนบ่อหาน-บ่อเต็น เป็นจุดเปิดสำหรับความร่วมมือและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีเส้นทางขนส่งทางถนนคุน มั่นกงลู่ ที่สร้างเสร็จแล้ว หรือทางรถไฟฟ่านย่าที่กำลังจะก่อสร้างซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ สำหรับพื้นที่แห่งนี้ นอกจากนี้ จะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยาแผนโบราณของชน ชาติไต ชาผูเอ่อร์ และอาหารชีวภาพที่ปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้สิบสองปันนาเป็น "เขตการค้าชายแดน" อย่างสมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างและยกระดับความสามารถของท่าเรือจิ่งหง และท่าเรือกวานเหล่ย รวมทั้งเร่งโครงการ "ผักสดแลกน้ำมัน" "ดอกไม้แลกผลไม้" ผลไม้เมืองหนาวแลกผลไม้เมืองร้อน ตลอดจนก่อสร้างตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าในแนวชายแดน (จีน-ลาว-ไทย) และผลักดันเชียงตุงของพม่าเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมเร่งแก้ปัญหา "ผ่านแต่ไม่คล่อง" ของการขนส่งสินค้าทางรถยนต์

นางชไมพร เจือเจริญ กงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครคุนหมิง กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาปี 2555 อยู่ที่ 1,360 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 40.5 มีบริษัทลงทุนจากต่างประเทศ 57 บริษัท ซึ่งได้เข้ามาลงทุนแล้วกว่า 63,840,000 เหรียญสหรัฐ คาดว่าภายในสองปีข้างหน้ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะมีมากกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

"โอกาสการค้าในสิบสองปันนาและ มณฑลยูนนานมีมาก สำหรับผู้ประกอบการ ไทยที่สนใจจะนำสินค้าไทยไปขาย เนื่อง จากคนจีนมีกำลังซื้อและชอบสินค้าไทย แม้ว่าราคาจะสูงกว่าสินค้าจีน แต่เขาก็ชอบ ที่จะบริโภค เคยคุยกับผู้ประกอบการจีนที่ เอาสินค้าไทยไปขายอยู่แล้ว เขาบอกว่าอยากได้นมผงอัดเม็ดมาก ถ้าได้ราคาขาย ส่งเขาพร้อมซื้อทันที ในเมืองไทยขาย 10 บาท แต่ที่โน่นขาย 10 หยวน หยวนละ 5 บาท เท่ากับ 50 บาท ซึ่งสูงมากกว่า 5 เท่า เขาก็บอกให้ช่วยหาผู้ขายในเมืองไทยหน่อย เพราะเขาอยากได้จริงๆ สินค้าบริโภคอย่าง อื่น เช่น เครื่องแกงสำเร็จรูป น้ำพริก น้ำปลา ก็เป็นที่ต้องการของตลาด หรืออย่างน้ำผลไม้ แทนที่จะบริโภคของเขา ไม่เอาจะบริโภคน้ำผลไม้ไทย ซึ่งในเมืองไทยขายกล่องละ 55-60 บาท ที่นั่น 150-160 บาท"

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////

โอกาสของไทยที่จะค้นพบแหล่ง Shale Gas ขนาดใหญ่มีมากแค่ไหน

ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้เขียนถึงประเทศสหรัฐ อเมริกาว่าต่อไปจะกลายเป็นมหาอำนาจทางด้านพลังงาน โดย จะเปลี่ยนจากประเทศผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลก มาเป็น ประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่แทน ทั้งนี้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่เรียกกันว่า Horizontal Drilling และ Hydraulic Fracturing หรือ "Fracking" ที่ทำให้สหรัฐฯสามารถผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่เรียกว่า Shale Oil และ Shale Gas ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนเพียงพอต่อการใช้ในประเทศ และเหลือใช้จนต้องส่งออกในอนาคต

มีผู้ถามผมว่าแล้วประเทศไทยล่ะ จะมีโอกาสพบแหล่ง พลังงานแบบ Shale Oil และ Shale Gas ในสหรัฐฯบ้างหรือไม่ ประกอบกับมีผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้รอบรู้ด้านพลังงานบางคนออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนผ่านสื่อ โดยอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานสารสนเทศด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมากสูงถึง 5-10 ล้านล้านลบ.ฟุต คิดเป็นหนึ่งในสามของปริมาณก๊าซในอ่าวไทย และมีโครงสร้างที่ใหญ่มาก คาดว่าใหญ่กว่าซาอุดีอาระเบีย เสียอีก ผมจึงอยากนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา EIA ได้ออกรายงานเกี่ยวกับการประเมินถึงแหล่งทรัพยากรทางน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในชั้นหินดินดานที่อาจจะค้นพบได้ทางเทคนิค (Technically Recoverable Shale Oil and Shale Gas Resources) ในประเทศต่างๆ 41 ประเทศนอกจากสหรัฐอเมริกา

โดยในส่วนของ Shale Oil นั้น 10 ประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดคือ

ดูตารางที่ 1 ประกอบ
 

ในขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพด้าน Shale Gas สูงสุด 10 อันดับคือ

ดูตารางที่ 2 ประกอบ


ในส่วนของประเทศไทยนั้น EIA ได้รายงานเอาไว้ว่า เนื่องจากยังไม่เคยมีรายงานการสำรวจเกี่ยวกับ Shale Oil/Shale Gas มาก่อนเลยในประเทศไทย แต่ดูจากรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยาและชั้นหิน และนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งที่มีลักษณะแบบเดียวกันในสหรัฐฯแล้ว คาดว่าประเทศไทยมีโอกาสมาก (significant prospective) ที่จะมีแหล่ง Shale Gas และมีศักยภาพ (Potential) ที่จะพบ Shale Oil โดยโอกาสที่จะพบ Shale Gas จะมีมากกว่า Shale Oil

โดย Shale Gas นั้นมีโอกาสที่จะพบในแหล่งที่เรียกว่า Khorat Basin ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง EIA ประเมินว่าจะมีปริมาณก๊าซตั้งต้น หรือที่เรียกกันในศัพท์ ทางวิชาการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมว่า "Risked Shale Gas In-Place" ประมาณ 22 ลล.ลบ.ฟุต แต่คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซที่ค้นพบได้ทางเทคนิค (Risked Technically Recoverable Shale Gas Resources) เพียง 5 ลล.ลบ.ฟุต เท่านั้น

ถึงตรงนี้ต้องบอกว่าปริมาณ Shale Oil/Shale Gas ที่พูดๆ กันในรายงานของ EIAฉบับนี้นั้น ไม่ใช่ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserve) นะครับ เพราะยังไม่มีการขุดเจาะและสำรวจกันแต่อย่างใด จึงป็นแค่การคาดการณ์ว่าน่าจะมี ซึ่งต้องทำการสำรวจยืนยันกันอีกครั้ง ว่ามีจริงหรือไม่ และถ้ามีจริง จะมีมากอย่างที่คาดการณ์กันหรือเปล่า

เรื่องปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พูดกันอยู่ในบ้านเรานี่ทำเอาคนไทยสับสนกันมากนะครับ เพราะเอาคำว่า Recoverable Resources ซึ่งหมายความถึงทรัพยากรที่คาดว่าจะค้นพบได้ มาปนกับคำว่า Petroleum Reserve ซึ่งหมายถีงปริมาณ สำรองปิโตรเลียมที่มีการสำรวจและค้นพบแล้ว แล้วเอาไปพูดทำให้คนเข้าใจผิดไข้วเขวกันไปหมด

ในทางวิชาการปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีการสำรวจและค้นพบแล้วยังแบ่งออกได้เป็นสามประเภท คือ

1.Proved Reserve (P1) คือ ปริมาณสำรองที่สำรวจแล้วมีความมั่นใจ 90% ว่ามีแน่นอนตามที่ได้ประเมินเอาไว้ ซึ่งตัวเลขนี้เมื่อประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งสำนักงานการบัญชี ผู้ตรวจสอบ และสถาบันทางการเงิน ยอมให้ประเมินเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน (Asset) ของบริษัท

2.Probable Reserve (P2) คือ ปริมาณสำรองที่ผู้สำรวจมีความมั่นใจ 50% ว่ามีแน่ตามที่ประเมินเอาไว้ ซึ่งเอาไปใช้ประเมินเป็นทรัพย์สินไม่ได้ แต่ยังสามารถเอาไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ได้

3.Possible Reserve (P3) คือ ปริมาณสำรองที่ผู้สำรวจมีความมั่นใจเพียง 10% ว่ามีแน่ และไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันใดๆ ทางการเงินได้ แต่ก็ถือว่ามีการสำรวจ แล้ว มีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าได้ค้นพบแหล่งปิโตรเลียมแล้ว

จะเห็นได้ว่าแม้แต่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่สำรวจและค้นพบแล้ว ยังมีการแบ่งแยกออกเป็นประเภทต่างๆ ตามความไม่แน่นอนในผลของการสำรวจ ซึ่งนี่ก็คือความเสี่ยง ในการทำธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าในชั้นของการสำรวจทางธรณีวิทยาและสภาพทางกายภาพของชั้นหินจะบ่งบอกว่าที่ใดมีความเป็นไปได้หรือมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมจำนวนมาก แต่พอไปทำการสำรวจจริงๆ กลับไม่พบหรือพบในจำนวนไม่มากอย่างที่คาด ดังนั้นในกรณีรายงานของ EIA ที่ว่านี้ เราจึงยังไม่ควรตื่นเต้นกันมากจนเกินไปนัก จนกว่าจะมีการเปิดให้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะกันอย่างจริงจัง

ข้อสำคัญผมไม่อยากให้มีการใช้ประโยชน์ จากการให้ข่าวที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า เราเป็นประเทศที่ร่ำรวยพลังงาน มีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่มาก สำรองเยอะ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือสำรวจด้วยซ้ำไป จึงอยากให้รับฟังข้อมูลอย่างระมัดระวังและรู้จริงครับ

สำหรับผู้ที่รับข้อมูลมา ถ้ามีโอกาส คงต้องฝากให้ช่วยถามแทนด้วยว่า ที่บอกว่ามีปริมาณสำรองเยอะ มากกว่าซาอุดีอาระเบียนั้นน่ะ ท่านหมายถึง P1 P2 P3 หรือหมายถึงอะไร !!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

ปชป.ตกต่ำ ล้มเหลว หลักการผุกร่อน !!??

โดย.นพคุณ ศิลาเณร

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภา เมื่อ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 300 ต่อ 124 เสียง

ตามกติกาการออกกฎหมายแล้ว เส้นทางเดินร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังฟันฝ่าด่านอุปสรรคอีกยาวไกล

จากนี้ไปต้องเข้าสู่ขั้นแปรญัตติของคณะกรรมาธิการ แล้วกลับมาสภาลงมติวาระสองและวาระสาม เมื่อผ่านจึงเป็นหน้าที่ของวุฒิสภาพิจารณาอีก 3 วาระ

ทุกด่านฝ่าฟัน ย่อมเจอมรสุมปาก จากพรรคประชาธิปัตย์คอยป่วนทั้งสิ้น ซ้ำร้ายอาจเจอม็อบนอกสภากดดันเข้าอีก พิจารณาอารมณ์เดือดทางการเมืองแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเดิน ด้วยความราบเรียบ

ดังนั้น การต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ยังอีกหลายยก และทุกยก ทุกมาตรการต่อต้านนับจากนี้ไปมีแนวโน้มเพิ่มความ รุนแรงหนักมือขึ้นทุกขณะ

แม้ในยกแรก พรรคประชาธิปัตย์ "แพ้" หมดรูปมวยพรรคการเมืองเก่าแก่กว่า 60 ปี แต่ในยกต่อๆ ไปยากที่จะประเมิน "ทีเด็ด" ได้

หากถอดรหัสการต่อต้านในยกแรกแล้ว คงพอเห็นความ "น่ากลัว" ในอนาคตได้ค่อนข้างเป็นภาพความรุนแรงใกล้ก่อตัวขึ้นอย่างน่าสะพรึง และฉุดลากให้เศรษฐกิจ เอกชนเกิดการชะงักอยู่มิใช่น้อย

ภาพการทุ่มสุดตัวของพรรคประชาธิปัตย์สะท้อนอารมณ์การเมืองผ่านมุมมองและการเคลื่อนไหวของแกนนำที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หัวหมู่ทะลวงที่มากด้วยอารมณ์เถื่อนดิบในการต่อสู้

สิ่งไม่ธรรมดาและควรใส่ใจอย่างยิ่งอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้ "อดีตนายกรัฐมนตรี" ถึง 2 คน คือ "ชวน-อภิสิทธิ์" ออกมาก่อม็อบเคลื่อนไหวนอกสภาอย่างเอาการเอางาน

อดีตนายกรัฐมนตรีมาเล่นการเมืองข้างถนน ไม่เคยปรากฏในการเมืองไทย แต่พรรคประชาธิปัตย์จัดสร้างให้กลายเป็น บันทึกไปแล้ว... ตรงนี้มีมิติความสำคัญอยู่ลึกๆ

โดยเฉพาะ "นายชวน" ผู้เป็นนักการเมืองที่ได้ชื่อว่า เป็น "น้ำดี" ของพรรคที่เต็มไปด้วยจุดยืน "มนุษย์หลักการ" ในการต่อสู้ทางการเมืองด้วยวาทะลือลั่นว่า "ผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา"

แปลความง่ายๆ คือ ใช้เวทีรัฐสภาต่อสู้ ทางการเมือง ไม่นิยมเล่นบทบาท "ผู้นำม็อบ" พาประชาชนออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา แต่พรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว การเมืองนอกสภาเคลื่อนมวลชน ข้างถนนจึงเป็นเกมส่วนหนึ่งในการเอาชนะ

การต่อสู้ครั้งนี้ "นายชวน" สลัดภาพ "เจ้าแห่งหลักการระบบรัฐสภา" ทิ้ง แล้วปลุกระดมมวลชน นำการเคลื่อนไหวม็อบเดินขบวนไปสู่สภาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา

นายชวนให้เหตุผลอธิบายการต่อสู้ในระบบรัฐสภาว่า ระบบรัฐสภามี 2 แบบคือ แบบนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี แต่การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อต้านระบบประธานาธิบดี

บทบาทของนายชวนจึงน่าสนใจและประเมินอารมณ์ต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องเล่น แรง จัดหนัก เอาพรรคทั้งพรรคมาเดิมพัน หากแพ้นั่นย่อมหมายความว่า ตาย (ทาง การเมือง) กันยกพรรค

ยกแรก พรรคประชาธิปัตย์แพ้ ทั้งการนำม็อบข้างถนนนอกสภาและตีรวน ปั่นป่วนในสภา

ยกแรกประชาธิปัตย์เล่นแรง เร่งโหม โฆษณา "สิงหาเดือด" ม็อบชนม็อบ นายสุเทพเป่านกหวีดคนมาเป็นล้าน รัฐบาลล้มแน่ สื่อมวลชนเลือกข้างช่วยปลุก แต่งานออกมากร่อย และสุเทพอาจต้องอยู่ในรู หากจริงจังกับคำพูดบนเวทีผ่าความจริง

บทบาทม็อบข้างถนนของพรรคประชาธิปัตย์ สมควรบันทึกไว้อย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่พรรคนี้เข้ามาจัดสร้าง และนำม็อบบุกสภา...

ก่อนเดือนสิงหาคม ประชาชนหวั่นใจ ระทึก เศรษฐกิจชะงัก ล้วนตระหนักว่า การเมืองร้อนแน่นอน ม็อบเตรียมการกันมา อย่างดี ทั้งม็อบหน้ากากขาว ม็อบสนามหลวงของไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ม็อบกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย พร้อมๆ กับการโฆษณาราวกับกรุงเทพฯ จะราบเป็นหน้ากลองด้วยม็อบข้างถนนที่จะระดมกันมาเป็นเรือนล้าน

แต่ของจริงกลับจบเอาดื้อๆ จบแบบหักมุม โดย "อภิสิทธิ์" บอกให้มวลชนกลับบ้าน ไม่ต้องไปส่งเข้าประชุมสภาแล้ว เสียราคาคุย โอ้อวดจนซ้ำรอยการถูกกล่าวหาว่า "ดีแต่พูด"

หากไล่เรียงการโฆษณาทางการเมือง ด้วยรหัสข่มขวัญว่า "สิงหาเดือด" แล้ว ย่อมเห็นพัฒนาการการนำม็อบและการปลุก มวลชนของ "ชวน" เพื่อประเมินการต่อสู้ในยกต่อๆ ไป

วันที่ 4 สิงหาคม ม็อบคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณภายใต้การสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มปักหลักที่สวนลุมพินี ม็อบ โฆษณาใหญ่มีคนมาเป็นหมื่นเป็นแสน เอาเข้าจริงมาเพียงหลักพันไม่เกิน 3,000 คน

เย็นวันที่ 6 ที่ใต้ทางด่วนแยกอุรุพงษ์ พรรคประชาธิปัตย์ชุมนุมในรหัส "เวทีผ่าความจริง" ปลุกระดมประชาชนครั้งสุดท้ายก่อนยกขบวนผ่าด่านสกัดของตำรวจเข้าประชุมสภาในวันที่ 7 สิงหาคม แต่คนมาน้อยราว 2,000 คน ล้มเหลวไม่เป็นท่า งาน นี้ต้องสละมวลชนที่เดินตามเป็นขบวน โดย เรียกร้องปล่อยให้กลับ

สรุป คือ ม็อบพรรคประชาธิปัตย์ที่เล่นเกมการเมืองนอกสภา "ถือว่าจบไปแล้วในทางยุทธศาสตร์" นั่นเป็นภาพรวมของม็อบข้างถนนภายใต้การจัดสร้างของพรรค ประชาธิปัตย์

แต่อย่าประเมินพรรคประชาธิปัตย์ต่ำ แม้แพ้ในยกแรก แต่ยังไม่ได้แพ้ราบคาบ การต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมยังมีการต่อสู้อีกหลายยก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าประเมินม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ผ่านบทบาทการลงมาเล่นเกมข้างถนนของนายชวนแล้ว สะท้อนได้ว่า งานนี้มีเกมยาวแน่นอน

เกมยาวที่ต้องลากเชื่อมไปสู่ยุทธศาสตร์ที่ "อภิสิทธิ์" เคยวิเคราะห์การเมืองว่า จะเกิดการยุบสภาปลายปี 2556 ดังนั้น เป้าหมายทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จึงอยู่บนเส้นทาง "ยุบสภา" โดยใช้เงื่อนไข "ป่วนกฎหมายนิรโทษกรรม" มาก่อหวอด

นี่คือ สงครามของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นสงครามที่นายชวนลงมาเคลื่อนไหว ด้วยตัวเอง แน่นอนงานนี้ต้องไม่ธรรมดา และไม่จบกันง่ายๆ แค่การแพ้ในยกแรกเท่านั้น โปรดรอความระทึกในภาคแก้มือของ พรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตอันใกล้

รับรองสะใจ กรุงเทพฯ คงราบเป็น หน้ากลองด้วยพลังมวลชนเป็นแสน ก่อพลังล้มรัฐบาลก็คราวนี้ โปรดรอและอย่าประมาทนายหัวชวนเด็ดขาด

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////