--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ฟิทช์-มูดี้ส์ เก็บข้อมูล ธปท.ยันสถาบันการเงินไทยแข็งแรง !!??

พร้อมรับมือเศรษฐกิจจีนชะลอ-เฟดลดขนาดคิวอี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัทจัดอันดับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ วานนี้ (17 ก.ค.) ว่า มีความเห็นตรงกันกับทาง ฟิทช์ เรทติ้งส์ ว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของไทยถือเป็นอีกส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ซึ่งทางรัฐบาลจะเข้าไปดูแลข้าราชการในส่วนปฏิบัติงานในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นด้วยเพื่อให้แรงจูงใจในการคอร์รัปชันลดลง

เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย เป็น"A-" จากระดับ "BBB+" ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัว และการปรับเครดิตเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เงินทุนไหลเข้า จนส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่าได้ชี้แจงกับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ว่า การพัฒนาประเทศช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาของรัฐบาลและแนวทางที่ประเทศไทยจะเดินหน้าปรับสมดุลเศรษฐกิจมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการวางแผนเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบระยะสั้น แต่ต้องการทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องระยะยาว เหมือนกับช่วงที่ลงทุนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเมื่อลงทุนเสร็จได้ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

"ทิศทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่มีแนวคิดไปอัดฉีด ใครก็ตามที่ออกมาเรียกร้องให้ หรืออยากให้รัฐบาลอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขอให้เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทำเช่นนั้น และส่วนที่ดีมากช่วยนำรายได้เข้าประเทศคือการท่องเที่ยว ถือเป็นส่วนสำคัญมาปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ และในส่วนรัฐบาลก็จะทำงานเต็มที่รวมถึงพยายามเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อนำไปประกอบกับการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งเป็นอีกส่วนที่สำคัญ"นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้าน นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ทาง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ได้เดินทางมาพบ ธปท. เพื่อสอบถามและขอข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ในไทย ซึ่งไม่ได้หยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษ และเข้าใจว่า มูดี้ส์ เตรียมจะออกรายงานเกี่ยวกับฐานะของสถาบันการเงินไทยในเร็วๆ นี้

ก่อนหน้านี้ มูดี้ส์ เข้าพบ นายกิตติรัตน์ โดยสอบถามข้อมูลด้านเศรษฐกิจของประเทศและแนวนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา มูดี้ส์ ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทและสกุลเงินตราต่างประเทศของประเทศไทย (Local and foreign government bonds) อยู่ที่ระดับ Baa1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความแข็งแกร่งทางการเงินของรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและโครงสร้างที่อยู่ในระดับปานกลาง และความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อยู่ในระดับต่ำ

"ปกติเขาจะออกรายงานปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนมี.ค. จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศ ส่วนของแบงก์จะออกช่วงเดือนส.ค. หรือเดือนก.ย. ซึ่งเขาก็มาพบเราเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ส่วนคำถามที่ถาม ก็แล้วแต่ขึ้นกับสถานการณ์ในช่วงนั้น อย่างตอนที่เราเจอน้ำท่วม เขาก็ถามว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวหรือไม่ เอ็นพีแอลเป็นอย่างไร ส่วนช่วงนี้เขาไม่น่าจะห่วงอะไรเป็นพิเศษ เพราะคำถามก็เป็นคำถามทั่วๆ ไป" นางฤชุกรกล่าว

ส่วนกรณีที่ มูดี้ส์ ออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศเอเชีย รวมถึงการปรับลดแนวโน้ม 3 ธนาคารพาณิชย์ของสิงคโปร์นั้น นางฤชุกร กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ของสิงคโปร์มีโครงสร้างแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะว่า ธนาคารพาณิชย์ไทย มีรายได้หลักจากภายในประเทศ แต่ธนาคารพาณิชย์ของสิงคโปร์ ค่อนข้างเปิดกว้าง

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทย ยังมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งยังมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่สูงมาก ในส่วนของ ธปท. เองก็ไม่ได้มีความเป็นห่วงในเรื่องพวกนี้แต่อย่างใด รวมทั้งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ ก็มีการทำแบบทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress test) อยู่เป็นระยะๆ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คณะราษฎร เผด็จการในคราบประชาธิปไตย !!??

ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกประจำวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556 นับว่าเป็นที่พูดถึงมาโดยตลอดสำหรับจุดยืนในการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ของสำนักข่าวทีนิวส์ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่มีความมั่นคง และยืนหยัดต่อกรกับด้วยหลักการและสติปัญหา กับกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้าม ที่พยายามโค่นล้มเปลี่ยนแปลง สถาบันพระมหากษัตริย์

แม้กับกรณีของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขณะนี้ถูกซ่อนเร้นอยู่ในร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับญาติผู้สูญเสีย ตามความมุ่งหวังของบุคคลบางกลุ่ม ที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน แล้วใช้ความสูญเสียของเครือญาติผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 มาเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การต่อสู้ของสำนักข่าวทีนิวส์กับขบวนการล้มเจ้าและกลุ่มบุคคลที่มีประสงค์ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกล่าวหาเรื่อยมาว่าเป็นขบวนการล่าแม่มด เพราะฉะนั้นในโอกาสนี้ทางสำนักข่าวทีนิวส์จึงเห็นสมควรว่าจะได้นำเสนอหลักการที่เป็นทั้งความเข้าใจและความแน่วแน่ต่ออุดมการณ์ในการนำเสนอข่าว ให้กับคุณผู้ชมได้ทำความเข้าใจ

โดยจะขอยกตัวอย่างจากกรณีการนำเสนอประโยคข้อความของคณะบุคคล ทำการสื่อสารว่า

“ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

ประโยคข้างต้นที่เป็นปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ภายหลังจากทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ที่มีเนื้อหาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เนื้อหาดังกล่าวปรากฏอยู่ใน ประกาศคณะราษฎร  ฉบับที่  1 ย่อหน้าที่ 4 เพื่อทำการดิสเครดิตและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นเหตุผลความจำเป็นหนึ่งของการปฏิวัติ โดยระบุว่าราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า  ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร  ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง  บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก  พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน  เงินเหล่านี้เอามาจากไหน?  ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง  บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง  ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา  เพราะทำนาไม่ได้ผล  รัฐบาลไม่บำรุง  รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด  นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ  จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม  เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย  บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย  นายสิบ  และเสมียน  เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ  ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ  จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน  แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่  คงสูบเลือดกันเรื่อยไป  เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ  คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม  ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก  การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

ในขณะเดียวกันทางคณะราษฎรยังได้ระบุถึงภารกิจภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเอาไว้อย่างสวยงามในการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เราก็จะได้มาพิสูจน์กัน

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย  เช่นเอกราชในทางการเมือง  ในทางศาล  ในทางเศรษฐกิจ  ฯลฯ  ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ  ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
               
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ  โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ  จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ   ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
               
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน  ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้
               
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ  มีความเป็นอิสระ  เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก  ๔  ประการดังกล่าวข้างต้น
               
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร              

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร  และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  เช่น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี  เป็นตัวประกัน

ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม  พระยาพหลพลพยุหเสนา  หัวหน้าคณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง  ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี  ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร  เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ  รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว      

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ  และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม  พุทธศักราช 2475  ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย  เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า  "ชั่วคราว"  ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ  นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย  ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม  พระราชวังดุสิต

ทั้งนี้สมาชิกคณะราษฎรประกอบด้วยราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน จำนวน 115 คน

หัวหน้าคณะราษฎร

ประกอบไปด้วย 4 ทหารเสือก็คือ
พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
รวมไปถึงนายทหารหนุ่มที่ชื่อ หลวงพิบูลสงคราม
ส่วนคณะราษฎร สายพลเรือน นำโดย
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นด้วยความเรียบร้อยนั้น ไม่ใช่การเพราะความสามารถของคณะราษฎรที่สามารถควบคุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือวางแผนเตรียมการมาอย่างรอบคอบ หรือเป็นเพราะคณะฝ่ายเจ้าไร้ซึ่งอำนาจใดๆ

แต่เป็นเพราะสายพระเนตรที่ยาวไกลและทรงเข้าใจดีถึงสถานการณ์ในขณะนั้นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าหากทรงตัดสินใจสู้เพื่อรักษาอำนาจกับคณะราษฎร ซึ่งไม่มีใครทราบว่าฝ่ายไหนจะชนะ เนื่องจากฝ่ายเจ้าที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานย่อมมีการจัดสรรกำลังพลที่จงรักภักดีและพร้อมที่จะต่อสู้เช่นเดียวกัน

แต่ทว่าเพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไม่ปราถนาให้เกิดการต่อสู้ ที่จะแลกมาด้วยการบาดเจ็บล้มตายของไพร่พล จึงทรงตัดสินพระหัย ให้คณะราษฎรยึดอำนาจด้วยความเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นความเสียสละของพระองค์ท่าน ด้วยการคำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ

๒๔  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ หลังจากคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ พระตำหนักไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงตัดสินพระทัยที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสงบ ดังความตามพระราชหัตถเลขา ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ที่ทรงเขียนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ไม่ลงวันที่ พระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๒ ความดังนี้

“ ฉันรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่เขามิได้คิดจะถอด (depose) ฉัน และฉันยังเสียใจอยู่จนบัดนี้ ความรู้สึกขั้นแรกก็คือจะลาออก (abdicate) ทันที แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะถ้าทำเช่นนั้นอาจมีการรบกันจนนองเลือดทั้งยุ่งยากต่างๆ จนอาจมีฝรั่งเข้ามายุ่งและชาติเราอาจเสียอิสรภาพได้...”

ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้  แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯอาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้... สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯแนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และ ช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครองโดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ

ในที่สุดมีทางจะทำได้ ๒ ทางคือ จะหนี หรือ จะกลับกรุงเทพฯ ฉันยอมรับว่าฉันตัดสินใจไม่ได้ทันทีว่าจะทำอย่างไรดี เราเพิ่งได้ยินคำแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียงอันรุนแรง ดูราวกับจะไปทางบอลเชวิค  ถ้าเช่นนั้นการที่จะกลับไปให้เขาตัดหัวดูออกจะไร้ประโยชน์ เป็นการเสียสละอันไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย แต่นั่นแหละ คำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นถ้อยคำของผู้ที่ออกจะคิดสั้นและรุนแรงรวดเร็วจัดคนหนึ่ง และไม่ใช่นโยบายจริงของคณะ ฉันเลยตกลงใจเสี่ยงโดยให้ผู้หญิงเขาเลือก คือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และหญิงอาภา พระมารดา ตกลงเลือกให้กลับอย่างแน่วแน่และฉันเห็นว่าทั้งสองควรจะได้รับเกียรติอย่างเต็มที่ ในการตกลงใจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น เพราะในเวลานั้นเราอาจจะกลับไปสู่ความตายก็ได้ ผู้หญิงเขาเลือกเอาความตายดีกว่าการเสียศักดิ์  เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน (and that was enough for me) ”

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่กลุ่มคนบางกลุ่มพยายามหยิบยกมาสดุดีวีรกรรมของคณะราษฎร ในลักษณะที่เป็นคุณูประการ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่กลับไม่ได้ทำความเข้าใจถึงความเสียสละของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

และที่คนกลุ่มนี้ พยายามปิดกั้นข้อมูลเรื่องการเสียสละและการยึดมั่นต่อประโยชน์ของประชาชนของรัชกาลที่ 7 ในขณะที่ เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนถ่ายมาอยู่ในมือของคณะราษฎรแล้ว คณะราษฎรก็ใช้อำนาจที่ได้รับมาอย่างบ้าคลั่งเกิดการแก่งแย่งอำนาจจนสร้างความเสียหายและสูญเสียให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล

หาได้เป็นไปตามข้ออ้างตามประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างและโฆษณาชวนเชื่อว่าภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรจะบรรดารทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดความชอบธรรม

ยิ่งไปกว่านั้นการบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2475ของคณะราษฎร ก็ไม่ต่างไปจากการโยกอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ในมือของคณะราษฎร ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารเสียเอง ดังสาระสำคัญที่ระบุเอาไว้ว่า

คณะกรรมการราษฎร มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสภา. ทั้งนี้ ให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆ รับผิดชอบต่อ คณะกรรมการราษฎร. คณะกรรมการราษฎร จะมีประธาน 1 คน และมีกรรมการอีก 14 คน ทั้งนี้ ให้สภา เลือกสมาชิกในสภา เพื่อมาทำหน้าที่ประธารกรรมการราษฎร และให้ประธานกรรมการ เลือกกรรมการราษฎร อีก 14 คน

ในขณะที่การคัดเลือก พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย แต่ทว่าโดยข้อเท็จจริงอำนาจก็ยังคงอยู่ที่ฝ่ายของทัพโดยคณะราษฎร ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามแย่งชิงอำนาจกันเองของบุคคลในคณะราษฎรอย่างน่าเศร้า

พระยามโนปกรณนิติธาดา จบการศึกษาวิชากฎหมายระดับเนติบัณฑิต จากประเทศอังกฤษ เป็นข้าราชการตุลาการผู้ที่ได้ชื่อว่ามือสะอาด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยมาตลอดชีวิตการรับราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้รับเลือกจากคณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มีด้วยกันทั้งหมด 70 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง และได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ด้วยหวังว่าท่านจะเป็นคนกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นิยมการปกครองแบบเก่า และกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ระหว่างการบริหารประเทศของพระยามโนปกรณนิติธาดา นายปรีดี พนมยงค์ ที่เปรียบดังมันสมองของคณะราษฎรและผู้มีความคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับประชาธิปไตยมากที่สุด ได้เสนอสมุดปกเหลือง

หลังจากมีกรณีเรื่อง "สมุดปกเหลือง" ซึ่ง เป็น เค้าโครงเศรษฐกิจที่มีการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน ของนายปรีดี พนมยงค์ ประกาศออกมาเมือ 15 มีนาคม พ.ศ. 2476

แต่ทว่าสมุดปกเหลืองนี้ถูกนำไปใช้เป็นข้อกล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และทำให้เกิดความแตกแยกในรัฐบาลอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงกำหนดให้ปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และเป็นที่มาของการรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย

พระยามโนปกรณ ฯ ที่ไม่เห็นชอบด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช จึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมทั้งได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นฉบับแรกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าท่านกระทำรัฐประหารด้วยการใช้ "ปากกาด้ามเดียว" ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคณะราษฎรที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

เหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้บานปลายนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้รัฐประหารคณะรัฐบาล และเนรเทศพระยามโนปกรณ ฯ ไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัวนายปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งพระยามโนปกรณนิติธาดาก็ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่ปีนัง ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

สาระข้อเท็จจริงที่ทำให้สุมดปกเหลืองของนายปรีดีถูกต่อต้านจากคณะราษฎรอย่างหนักก็เป็นเพราะแนวคิดการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ไปให้ถึงประชาชนอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นผู้กุมอำนาจอย่างคณะราษฎรที่ต้องการรักษาอำนาจเอาไว้ และทำการต่อต้านพร้อมกับสร้างข้อหาคอมมิวนิสต์ให้กับนายปรีดี

สาระสำคัญของเนื้อหาในเค้าโครงเศรษฐกิจ คือ เริ่มแรกจะมีคำชี้แจ้งว่าในการพิจารณาหรืออ่านเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ ควรวางใจเป็นกลาง ไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนตน และควรขจัดทิฐิมานะออก และในส่วนเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 11 หมวด ปรีดี พนมยงค์ได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยต้องการให้บรรลุหลักข้อ 3 ของประกาศคณะราษฎร หลักซึ่งเกี่ยวแก่เศรษฐกิจของประเทศมีความว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” และได้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นนี้รัฐบาลทำได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยเค้าโครงเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นแบบสหกรณ์เต็มรูปแบบแต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี นายปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่สามารถทำงาน หรือทำงานไม่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือชราหรืออ่อนอายุ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจในชื่อร่าง พ.ร.บ.“ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติ และออกสลากกินแบ่งเพื่อระดมทุนให้แก่รัฐบาล

นี่เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นและตัวอย่างของการบริหารอำนาจ ที่ปากฎการแก่งแย่งชิงดีกันในหมู่ของคณะราษฎร จนนำมาสู่การทำรัฐประหารกันเอง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะติดตามมาด้วยการแย่งชิงอำนาจ และการรัฐประหารเป็นว่าเล่น หาได้เป็นไปตามเส้นทางประชาธิปไตย ตามประกาศของคณะราษฎรได้โฆษณาชวนเชื่อเอาไว้

โดยรายละเอียดของการแย่งชิงอำนาจของคณะราษฎร สำนักข่าวทีนิวส์จะได้นำเสนอให้คุณผู้ชมได้รับทราบในลำดับต่อไป

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรที่ทุกฝ่ายทั้งในอดีตและปัจจุบันจะได้ทำการพิจารณาก็คือการสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัยตามความในพระราชหัตถเลขา ดังนี้

เมื่อพระยาพหลพลพยุหะเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว  ได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียง ในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆอันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป
ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้วและกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น  โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง  เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้  แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  หาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่  และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง

และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ จะพึงเห็นได้ว่า  อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆนั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ  จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ก็ยังให้มีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง ๑

การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น  จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น  ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ

นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง  จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง  จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยคำแนะนำของคณะรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น  ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯกับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒  และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการ มิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้โอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ  จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้นถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย   เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริงเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน  คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียง ก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญมีผลได้เสียแก่พลเมือง  รัฐบาลก็ไม่ยินยอม  และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องคำร้องขอต่างๆของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดลออเสียก่อน  เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว

นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก  คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย  ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม.

ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ทรงฉายกับพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และ โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า  ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป  ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวงซึ่งเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์พระบรมราชานุสาวรีประทับที่หน้าอาคารรัฐสภา

ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.

ประชาธิปก.ปร.
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗
เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที

และในตอนต่อไปสำนักข่าวทีนิวส์จะได้นำเสนอให้คุณผู้ชมได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ที่กลุ่มของคณะราษฎร ที่มีการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จไม่ต่างไปจากเผด็จการ มิหนำซ้ำยังเกิดการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง

และที่สำคัญตลอดระยะเวลา 24 ปีที่อยู่ในอำนาจ คณะราษฎรได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศตามที่ประกาศเอาไว้ หรือได้ใช้อำนาจสนองต่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเองเท่านั้น

ที่มา.ทีนิวส์
/////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เปลี่ยนเมืองเชียงของ ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนของไทย !!??

โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ชื่อบทความเดิม “การค้ากับการเปลี่ยนเมืองชายแดน: กรณีอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย”

1.ประเทศไทยได้มีการเปิดด่านและประกาศเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรในเมืองชายแดนตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ทำให้การค้าขายชายแดนเกิดการขยายตัวมากขึ้น

ในส่วนของอำเภอเชียงของได้มีการขยายพื้นที่ค้าขายมาทางทิศเหนือ ทำให้มีการก่อสร้างบ้านเรือนเพื่อทำการค้าขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทำถนนลาดยางเพื่อความสะดวกต่อการขนส่ง ปริมาณการค้าซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการค้ากับประเทศลาว ขณะที่ประเทศลาวมีการกระจายสินค้าไปยังแขวงและเมืองต่าง ๆ เช่น หลวงน้ำทา ปากแบง หลวงพระบาง ห้วยทราย โดยใช้เส้นทางการขนส่งทางแม่น้ำโขงเป็นหลักในการขนส่งสินค้า

นอกจากการขนส่งทางเรือแล้ว ในปี พ.ศ. 2543 ได้เริ่มมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่จากประเทศจีนพร้อมกับดำเนินการขุดลอกและระเบิดเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือขนส่งขนาด 150 ตัน สามารถเดินทางมาถึงท่าเรือเชียงของได้ตลอดทั้งปี แต่ได้ถูกคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้านในอำเภอเชียงของรวมถึงประชาชนและนักวิชาการต่าง ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องชะลอโครงการระเบิดเกาะแก่งดังกล่าวออกไป ขณะที่ท่าเรือน้ำลึกยังคงดำเนินการก่อสร้างอยู่

การค้าชายแดนของอำเภอเชียงของมีพัฒนาการเริ่มต้นจากการค้าขายระหว่างคนไทยและคนลาวตามแนวชายแดนมาตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งเป็นชุมชน มีลักษณะของรูปแบบการค้าแบ่งได้ 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงแรก ก่อนเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวร (ก่อน พ.ศ. 2532) ในช่วงนี้จะเป็นการค้าในลักษณะแบบดั้งเดิมที่ส่วนใหญ่ใช้สิ่งของมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเนื่องจากระบบเงินตรายังไม่เป็นที่แพร่หลาย
ช่วงที่สอง หลังเปิดเป็นด่านถาวร ถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเชียงของ (พ.ศ. 2532-2545) มีการใช้เงินตราและมีการติดต่อค้าขายสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นแต่ยังไม่กระจายสู่ประเทศอื่นมากนัก

ช่วงที่สาม หลังเปิดท่าเรือน้ำลึกเชียงของ ถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2546-2555) (เปรมประชา 2550) แต่ละช่วงของการค้ามีลักษณะหรือผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป ในช่วงนี้มีการเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาด้านการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น มีการก่อสร้างท่าเรือทำให้เรือสินค้าเข้ามามากขึ้น มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น สินค้ามีความหลากหลายจากประเทศต่าง ๆ การส่งออกและนำเข้าสินค้าประเภทต่าง ๆ บางส่วนมีความผันแปรตามปัจจัยของสังคมโลก

กลุ่มผู้ค้าสำคัญในการค้าชายแดนของอำเภอเชียงของมีทั้งผู้ค้ารายย่อยและผู้ค้ารายใหญ่ที่เป็นคนท้องถิ่นและต่างจังหวัด การติดต่อค้าขายมีทั้งในระบบและนอกระบบโดยอาศัยการขนส่งทางเรือที่มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเป็นหลักในการข้ามพรมแดน และใช้การขนส่งทางบกในการกระจายสินค้าไปยังเมืองต่าง ๆ
การค้าในช่วงระยะนี้ได้เริ่มส่งผลกระทบเชิงลบกับชุมชนและเมืองในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาการจราจร เนื่องจากปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ใช้ในการขนส่งสินค้าขณะที่ขนาดและสภาพการรับน้ำหนักของถนนไม่สามารถขยายและก่อสร้างได้ เพราะการปลูกสร้างบ้านเรือนของประชาชนที่ชิดติดแนวถนน
ปัญหามลภาวะทางอากาศ ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการจารจรและการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ปัญหาการใช้น้ำในแม่น้ำโขงเพื่อการอุปโภคบริโภค เพราะท่าเรือถูกสร้างขึ้นบริเวณต้นน้ำเหนือเมือง และปัญหาโรคติดต่อจากภายนอก เพราะมีการติดต่อค้าขายกับประชาชนในหลายพื้นที่

ภายหลังมีการปรับปรุงถนนเชียงราย – เชียงของ โดยรัฐบาลลาวได้ประกาศให้เมืองห้วยทรายแขวงบ่อแก้วเป็นด่านสากลเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2537 ทำให้เมืองเชียงของและเมืองห้วยทรายได้ทวีความสำคัญต่อการค้าชายแดน มีการนำเรือเฟอร์รี่เข้ามาให้บริการขนส่งเคลื่อนย้ายบริเวณท่าเรือบั๊ค เพื่อรองรับการค้าที่ขยายตัว



ตลาดน้ำ ปากแม่น้ำโขง ภาพจาก wikipedia

การค้าเริ่มมีลักษณะที่เป็นทางการ มีการเปิดเครดิตให้กับคู่ค้าแต่ยังคงชำระเงินโดยเงินสดเป็นหลัก ประเภทของสินค้าที่ยังคงมีการซื้อขาย คือ สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น น้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ

สาเหตุที่การค้าชายแดนส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศลาว เนื่องจากสินค้าจากประเทศจีนจะซื้อขายกันบริเวณท่าเรือเชียงแสนมากกว่า เพราะมีบริเวณใกล้กัน ขณะที่ด่านเชียงของอยู่ไกลกว่าและมีเกาะแก่งในช่วงของการเดินทางมามากมาย เรือใหญ่ไม่สามารถเดินทางมาได้สะดวก รวมถึงยังไม่มีท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับ

2.ในส่วนการสร้างท่าเรือน้ำลึกเชียงของเป็นท่าเทียบเรือขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 180 เมตร ด้านหน้าติดแม่น้ำโขง ด้านหลังติดถนนซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 (ปีงบประมาณ 2547) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2546 โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการนำเข้า – ส่งออกสินค้าและส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่าง 4 ประเทศ ตามข้อตกลง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาชนลาว และประเทศไทย

ภายหลังการเปิดใช้พบว่ามีปริมาณเรือสินค้าและการเข้าออกของรถขนส่งสินค้าที่มาใช้บริการมีมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้ปริมาณการจัดเก็บอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมของท่าเรือเชียงของเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงมูลค่าสินค้านำเข้าและส่งออกจากท่าเรือเชียงของโดยภาพรวมมีปริมาณเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเดินเรือจากประเทศต่าง ๆ เพื่อมาติดต่อค้าขายที่ท่าเรือเชียงของยังคงติดปัญหาเรื่องของการเดินเรือขนาดใหญ่โดยเฉพาะเรือจากประเทศจีน เนื่องจากโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง บริเวณแก่งคอนผีหลวง ตำบลริมโขง ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านรวมถึงประชาชนและนักวิชาการต่าง ๆ ทำให้เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเดินทางมาท่าเรือเชียงของได้ จะเดินทางได้ในเฉพาะฤดูน้ำหลากเท่านั้น ส่วนเรือขนาด 60 ตันยังคงสามารถเดินทางได้แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการขับเรือ

หากเป็นหน้าแล้งจะมีเรือขนาด 30 ตันเท่านั้น ท่าเรือน้ำลึกที่เชียงของจึงค้าขายไม่คึกคักเหมือนที่ท่าเรือเชียงแสนส่งผลทำให้ท่าเรือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แต่ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

โดยเรือขนาด 60 ตัน จะเดินทางขนส่งสินค้าตามเส้นทาง หลวงน้ำทา-เชียงแสน-ห้วยทราบ-เชียงของ-ปากแบง-หลวงพระบาง ส่วนการขนถ่ายสินค้าขนาดเล็กและปริมาณน้อย ยังคงใช้บริการเรือหางยาวเล็กข้ามฝาก หากเป็นสินค้าปริมาณมาก ๆ ที่จะส่งไปเมืองห้วยทรายยังคงใช้เรือเฟอร์รี่ในการบรรทุกรถยนต์ไปส่ง (เปรมประชา 2550 : 51-54)

การค้าชายแดนเริ่มมีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการสร้างถนนทางขนานเลียบแม่น้ำโขงเพื่อลดความแออัดของถนนสายกลาง การเจริญเติบโตทางการค้าของเชียงของในช่วงนี้พัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงของเพื่อเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

การก่อสร้างสะพานเชื่อมเส้นทาง R3E การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการเกษตร และศูนย์กระจายสินค้า เพื่อทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นจุดศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มีการเข้ามาลงทุนของคนต่างพื้นที่มากขึ้น

ในอนาคตหลังจากมีการก่อสร้างสะพานทางตอนล่างของตำบลเวียง มีแนวโน้มจะขยายตัวไปทางทิศใต้ บริเวณหมู่บ้านสถานซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ทำให้เริ่มมีการเก็งกำไรที่ดินจากนายทุนบางราย เศรษฐกิจในภาพรวมของอำเภอเชียงของจะได้รับประโยชน์มากขึ้นแม้ว่าสะพานจะไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริเวณชุมชนในปัจจุบัน แต่พื้นที่ทางตอนล่างของชุมชนยังสามารถบุกเบิกและพัฒนาได้อีกมาก

ธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบหลังจากการสร้างสะพานคือ เรือเฟอร์รี่ เพราะการขนส่งสินค้าจะใช้เส้นทางบกมากกว่าเนื่องจากมีความปลอดภัย ขณะที่การขนส่งทางเรือยังไม่มีการประกันความเสียหายสินค้าหากเรือประสบอุบัติเหตุ ส่วนเรือหางยาวข้ามฝากนั้นคงจะไม่มีผลกระทบมากในช่วงแรกเนื่องจากบริเวณที่คาดว่าจะสร้างสะพานยังไม่มีชุมชน และอยู่ไกลจากแหล่งชุมชนพื้นที่ทางเศรษฐกิจ (เปรมประชา 2550 : 56)

การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) บริเวณบ้านปากอิงเหนือ ต.เวียง อ.เชียงของ ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร ทางตอนใต้ มีวงเงินก่อสร้างรวม 1,487 ล้านบาท โดยไทยและจีนรับผิดชอบค่าก่อสร้างฝ่ายละครึ่ง โดยโครงการได้เริ่มก่อสร้างแล้วเมื่อ มิถุนายน 2553 และมีกำหนดแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2555 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนงานดินและตอกเสาเข็มแล้ว

โดยมีความก้าวหน้าของงานร้อยละ 12 เร็วกว่าแผนก่อสร้างเล็กน้อยโดยเฉพาะในส่วนงานก่อสร้างฝั่งไทย และอยู่ระหว่างการปรับปรุงขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรระยะทาง 30 กิโลเมตรแรกจากอำเภอเชียงของมายังจังหวัดเชียงราย

ในส่วนของ สปป.ลาว ก็สร้างแล้วเสร็จเพียงร้อยละ 5 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณในส่วนของจีน ทำให้กำหนดการแล้วเสร็จของสะพานอาจล่าช้าไปถึงประมาณปี 2557-2558 จะทำให้การค้าระหว่างไทยและลาวสะดวกขึ้น และเพิ่มปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยใช้แสนทาง R3A

ส่วนการค้าทางเรือผ่านด่านเชียงแสนก็จะลดความสำคัญลงอย่างมาก เพราะการค้าทางบกมีความสะดวก มีต้นทุนที่น้อยกว่า และสามารถขนส่งได้ทั้งปี ไม่ต้องวิตกต่อปริมาณน้ำ และไม่สามารถขนส่งในช่วงฤดูแล้งได้



สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชื่อมสู่ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ภาพจากสปริงนิวส์

การสร้างสะพานจะทำให้การค้าและการลงทุนบริเวณพื้นที่เชียงของ – บ่อแก้วเพิ่มมากขึ้น เพราะมีนโยบายและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากขึ้น มีการก่อสร้างถนนตามเส้นทาง R3E และสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของและแขวงบ่อแก้ว มีการพัฒนาเมืองเชียงของตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนบนระยะ 10 ปี (2542-2551) และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชียงราย-เชียงใหม่-ลำพูน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของรัฐบาลลาว (เปรมประชา 2550 : 88)

3.เมืองเชียงของกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนได้ทำให้ที่ดินในเขตอำเภอเชียงของสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น การสะท้อนของลุงเสรี บริบูรณ์ (สัมภาษณ์วันที่ 12 ริมน้ำโขง อ.เชียงของ) ที่เล่าว่า “…เชียงของเปลี่ยนไปจากอดีตเยอะ เพราะมีคนนอกพื้นที่เข้ามาซื้อที่ดินในเชียงของตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534-2535 ยุค พล.อ. ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนายทุนนอกพื้นที่ (กรุงเทพฯ ภาคกลาง) เข้ามาซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร ทำให้ที่ดินในเชียงของราคาสูงมาก เช่น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2534-2535) ราคาที่ดินไร่ละ 200,000 บาทถือว่าแพงมากแล้ว

ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2555) ราคาไร่ละ 10,000,000 บาท จากราคาที่ดินที่สูงขึ้นทำให้ชาวบ้านจำนวนมากขายที่ดินของตน และได้กลายเป็นแรงงานรับจ้างจำนวนมาก”

การเปิดด่านถาวร ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมใหม่ในพื้นที่ และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการพัฒนาก็นำมาซึ่งปัญหาในหลายด้านที่ต้องมีการแก้ไข และปรับปรุงเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนากับการรักษาคุณค่าของชุมชน

ในส่วนของปัญหาของการค้าชายแดนส่วนใหญ่ในอำเภอเชียงของ คือ
ปัญหาด้านกายภาพที่ประเทศลาวขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ไม่สามารถส่งของสดที่มีระยะเวลาจำกัดได้ รวมถึงไม่สามารถขนส่งในปริมาณมากๆ ได้
การขนส่งทางเรือมีความเสี่ยงสูง ท่าเรือและจำนวนเรือยังขาดความเหมาะสม
การชำระเงินที่อาจก่อให้เกิดหนี้สูญ
ความสะดวกในการติดต่อผ่านธนาคาร กฎระเบียบต่าง ๆ ของประเทศลาวที่ยังขาดความชัดเจน ความเข้าใจในระเบียบทางการค้า
การค้านอกระบบ เป็นการค้าหนีภาษี เนื่องด้วยพื้นที่ติดต่อกว้างขวาง ยากแก่การควบคุม
อำนาจในการซื้อของคนลาวที่มีน้อย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลาวยังกระจายอย่างกว้างขวาง

เศรษฐกิจไทยที่โตกว่าลาวเป็นแรงดึงดูดให้คนลาวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และยากแก่การควบคุม

ความเติบโตของการค้าชายแดนทำให้เชียงของเปลี่ยนไปจากอดีต ส่งผลต่อราคาที่ดิน วิถีชีวิตผู้คน ฯลฯ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ถ้าเรายังไม่มีแผนในการจัดการพื้นที่ และปฏิบัติอย่างจริงจัง เชียงของก็อาจสูญเสียอัตลักษณ์ของตนอย่างไม่อาจหวนคืน

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด หมอเลี๊ยบ กรณีแก้สัญญา สัปทานดาวเทียม เอื้อชินแซท !!?

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) มีมติ 6: 2 ระบุนายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความผิด หลังอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิชอบ จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

นายไกรสร  พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ(ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงไอซีที)  ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3  ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 อีกด้วย

หลังจากนี้ ป.ป.ช. จะส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตร 92 และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องผู้ถูกกล่าวหา ที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง

นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์  ปลัดกระทรวงไอซีที ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาที่3 เปิดเผยกับ  “ประชาชาติธุรกิจ” ยืนยันว่าไม่เคยทุจริต หลังจากนี้จะต่อสู้ตามกระบวนการศาลต่อไป

 ด้านแหล่งข่าวภายในกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า กระบวนการภายในกระทรวงหลังจากนี้จะต้องรอให้ทาง ป.ป.ช. ส่งหนังสือแจ้งมติอย่างเป็นทางการเพื่อให้กระทรวงรับทราบ  จากนั้นกระทรวงจะนำเข้าคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกระทรวง ซึ่งมีรัฐมนตรีไอซีทีเป็นประธาน เพื่อประชุมพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยต่อไป

“ปกติจะมีมาตรฐานการกำหนดโทษอยู่ว่า แต่ละความผิดต้องรับโทษในรูปแบบใดบ้าง  แต่ อ.ก.พ. จะพิจารณาเหตุผลประกอบด้วยว่า เป็นการกระทำผิดโดยจงใจหรือประมาท และมีเหตุลดหย่อนโทษเฉพาะตัวหรือไม่ อาทิ รับราชการมานาน เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับใดมาบ้าง  ซึ่งโดยปกติกระบวนการทั้งหมดกว่าจะได้ข้อยุติก็อย่างน้อย 30 วัน  ถึงจะทราบว่าปลัดไชยยันต์จะยังได้ทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจาก อ.ก.พ. ก็ยังเป็นปลัดกระทรวงอยู่  ส่วนการลงโทษจะอยู่ในระดับใดคงไม่สามารถบอกได้ เพราะตั้งแต่ตั้งกระทรวงไม่เคยมีกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแบบนี้เลย”

ส่วนกรณีอดีตปลัดไกรสร  พรสุธี ซึ่งได้ลาออกจากราชการไปตั้งแต่ มี.ค. 2550 นั้น คงต้องดูอีกครั้งว่าฐานความผิดจะครอบคลุมการลงโทษทางวินัยได้แค่ไหน  เพราะปกติหากเกษียณอายุราชการไปแล้ว 180 วัน บางฐานความผิดไม่มีผลกระทบไปถึงบำเหน็จบำนาญที่ได้รับไปแล้ว แต่ในกรณีที่ลาออกจากราชการคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ด้วย

สำหรับปลัดกระทรวงไอซีทีคนปัจจุบัน นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2547 ถึง 28 ธ.ค. 2553  ก่อนที่จะเป็นรองปลัดกระทรวงไอซีทีเมื่อ 29 มิ.ย. 2555 และขึ้นเป็นปลัดกระทรวง 1 ต.ค. 2555  มีกำหนดจะเกษียณอายุราชการในอีก 6 ปีข้างหน้า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ยุทธการ ต้าโจว !!???

จะเข้าใจความรู้สึกเคียดแค้นและชิงชังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเข้ากระดูกดำจากบางภาคบางฝ่ายในแวดวงการเมืองได้

จำเป็นต้องย้อนไปยังยุค "ต้าโจว"

นอกเหนือจากจะอาศัยอุปกรณ์จากหนังสือเรื่อง "จักรพรรดินีโหด" อัน กิติมา อมรทัต แปลจากต้นฉบับของ หลิน ยู่ถัง แล้ว

น่าจะต้องอ่านชุด "ตี๋เหรินเจี๋ย นักสืบคู่บังลังก์"

เป็นงานเขียนของ เฉียนเยี่ยนซิว และเป็นงานแปลอย่างมีคุณภาพยอดเยี่ยมของ เรืองชัย รักศรีอักษร

คนชื่อ "เรืองชัย" มักแฝง "ทีเด็ด" เสมอ

ไม่ว่าจะเป็น เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ อดีตบรรณาธิการ "มติชนสุดสัปดาห์" และบรรณาธิการอำนวยการ "ศิลปวัฒนธรรม"

ไม่ว่า เรืองชัย รักศรีอักษร ผู้ฝึกวิทยายุทธ์จาก "จงหยวน"

เรื่องราวในยุค "ต้าโจว" สะท้อนความเคียดแค้น ชิงชังต่อบูเช็คเทียนฮ่องเต้ เรื่องราวทั้งหมดจึงแวดล้อมและแสดงความพยายามในการโค่นล้มและทำลาย

ทำลาย "ต้าโจว"

ทั้งๆ ที่บูเช็คเทียนเคยเป็นสนมของพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ และเคยเป็นมเหสีของพระเจ้าถังเกาจงฮ่องเต้

แล้วเหตุใดจึงมีคนไม่ชอบ มีคนเคียดแค้น อาฆาต

คำตอบอยู่ที่ 1 บูเช็คเทียนไต่ทะยานจากการเป็นฮองเฮาไปสู่ไทเฮา และที่สุด สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้

เป็นฮ่องเต้ "หญิง" คนแรกและคนเดียว

ขณะเดียวกัน คำตอบ 1 อยู่ที่บูเช็คเทียนฮ่องเต้ไม่เพียงมีความสามารถในการยึดอำนาจ หากยังมีความยอดเยี่ยมในการรักษาอำนาจให้อยู่ยั้งยืนยง

การรักษาอำนาจต้องอาศัยความเฉียบขาด เหี้ยมหาญ

ปรากฏว่า อำนาจที่ถูกทำลายคืออำนาจของคนตระกูลหลี่อันเป็นรากฐานแห่งราชวงศ์ถัง คนของตระกูลหลี่จึงเคียดแค้น ชิงชังและอาฆาตมาดร้ายต่อบูเช็คเทียนอย่างล้ำลึก

ไม่ยอมอยู่ร่วมฟ้า ร่วมแผ่นดิน

การก่อกบฏหลายครั้งมาจากคนตระกูลหลี่ การก่อการร้าย ลอบสังหาร บ่อนทำลายมาจากขบวนการของคนตระกูลหลี่และบริษัทบริวาร แม้กระทั่งขบวนการเส่อหลิงอัน เป็นองค์กรลับใต้ดินก็มาจากฝีมือของคนตระกูลหลี่

ล้ม "ต้าโจว" ชู "ต้าถัง"

ขอให้หยิบหนังสือ "ตี๋เหรินเจี๋ย นักสืบคู่บัลลังก์" เล่ม 2 ตอนว่าด้วยเงาปริศนาที่ชายแดน จะทำให้เข้าใจเงื่อนงำบางเงื่อนงำทางการเมือง ทางการทหาร

เป้าหมาย 1 ทางการเมือง คือ ปล่อยข่าวทำลาย

เป้าหมาย 1 ทางการทหาร คือ การสมคบกับชนเผ่าน้อยทูเจี๋ย ชนเผ่าน้อยชี่ตัน อาศัยกำลังเหล่านี้ก่อกวนทางชายแดน

ประสานกำลังต่างชาติ เข้ากับกำลังภายใน

อย่าได้แปลกใจหากปฏิบัติการในประเทศไทยยุคโค่นล้มและทำลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อาศัย NGO เกาหลีเล่นงาน "เค วอ-ต้ม"

อาศัยการร่วมมือกับพ่อค้า ตลาดข้าวโลก วิพากษ์โจมตีโครงการจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ไม่ว่าจะผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ ไม่ว่าจะผ่านนิตยสารชั้นนำอย่างไทม์แห่งสหรัฐ

ในที่สุด ปล่อยข่าวอ้าง USFDA อย่างไร้ความเป็นจริง

ในที่สุด อาศัยภาพ "คนดี" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "ข้าวคุณธรรม" เล่นงานธุรกิจข้าวถุงไทยว่าอาจตายได้ภายใน 5 นาที

ต้องการโค่น "ยิ่งลักษณ์" ทำลาย "ข้าวไทย"

แปลกอย่างประหลาดยิ่งในท่าทีอันเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

มิได้ตระหนักในการสมคบของบางส่วนในประเทศกับนานาชาติ มิได้ตระหนักในยุทธวิธีอันชั่วร้ายเพื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการทำลายทางการเมือง

ทั้งๆ ที่ปลายหอกกำลังทิ่มแทงมา

ที่มา.มติชน
//////////////////////////////////////////////////////////

ตั้งรับเศรษฐกิจขาลงครึ่งปีหลัง !!???

ก้าวสู่ช่วงครึ่งปีหลังไม่ทันไร ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศก็เริ่มส่อเค้าว่าจะเป็นไปในทิศทางที่หลายฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ สัญญาณอันตรายจากความสุ่มเสี่ยงผันผวนของค่าเงิน ตลาดหุ้น ราคาทองคำปรากฏชัดเจนเรื่อย ๆ

ขณะที่วิกฤตส่งออก กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง สวนทางกับภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น กลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ ผลกระทบเกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม คนระดับกลางไปจนถึงรากหญ้า น่าห่วงไม่แพ้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกโหมกระพือให้ร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน พ.ค. 2556 ที่ผ่านมาว่า การใช้จ่ายและการผลิตทั้งระบบชะลอตัวลง ทั้งดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

โดยในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน เดือน พ.ค.หดตัวลง 1.7% เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่หดตัว 0.3% มูลค่าส่งออกหดตัว 1.2% มูลค่าการนำเข้าหดตัว 4.8%

แม้แต่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาครัฐก็อยู่ในภาวะหดตัวลงด้วย

สศช.ประเมินว่าปัจจัยลบทั้งหมดนี้จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมช่วงไตรมาส 2 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก มีแต่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง เป็นความหวังท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน

แม้รัฐบาลเตรียมตั้งรับโดยนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Work Shop เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งหลายหน่วยงานยังใช้จ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้า ก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะสามารถขันนอต ผลักดันมาตรการกระตุ้นไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน

จะหวังพึ่งการใช้จ่ายงบฯบางส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์น้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทก็คงยาก เพราะแม้แผนเดิมจะเริ่มเดินหน้าภายในปีนี้ แต่เจอกระแสต่อต้านและปัญหาข้อกฎหมาย ก็อาจล่าช้าออกไป

นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำควบคู่กันไปด้วย คือการนำกรอบการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจรวม 22 มาตรการ ซึ่งจัดทำโดย สศช.และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 มาเป็นโรดแมปแก้ปัญหา แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในแผ่นกระดาษหรือถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก เพราะอย่างน้อยก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย

ขณะเดียวกันต้องรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลเตรียมรับมือเศรษฐกิจขาลง บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรวดเร็วทันการ โดยเฉพาะการดูแลภาคการผลิตและการค้า บริการซึ่งเป็นภาคการผลิตที่แท้จริง เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมทบทวนนโยบายประชานิยม ลดภาระหนี้สาธารณะ หันมาเน้นเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวแทน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

รัฐสวัสดิการ ในเอเชีย !!??

คนเอเชียจำนวนมาก เชื่อว่าสวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนนั้น จะทำให้ประชาชนพึ่งพิงรัฐ จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  แต่ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในเอเชียเริ่มจัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างกว้างขวาง  รายงานชิ้นนี้จะพาไปดูว่า ประเทศใดในเอเชียจัดสวัสดิการให้ประชาชนมากที่สุด

 เดิมทีภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่รัฐบาลจัดสวัสดิการให้ประชาชนน้อย แนวคิดที่ว่า รัฐต้องจัดสวัสดิการดูแลประชาชนนั้น ถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่จะทำให้คนขี้เกียจ และเคยชินกับการพึ่งพิงรัฐ จนไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง  ดังเช่นที่ นายโก๊ะจ๊กตง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เคยกล่าวว่า สวัสดิการของรัฐจะทำให้ประชาชนเดินด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยรัฐเป็น "ไม้ค้ำยัน"

แต่เราก็อาจต้องตั้งคำถามว่า หากรัฐไม่มีหน้าที่ช่วยค้ำจุนประชาชนที่ตกยากแล้ว ใครเล่าจะมีหน้าที่นี้? ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ประเทศในเอเชียที่เคยเชื่อว่ารัฐไม่มีหน้าที่ต้องค้ำจุนประชาชนที่ตกยาก ก็เริ่มปฏิเสธแนวคิดนี้ แล้วเริ่มสร้างระบบสวัสดิการให้ประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้เริ่มจัดสวัสดิการให้ผู้เกษียณอายุทั่วประเทศทุกคน โดยไม่จำกัดเฉพาะข้าราชการ  ส่วนจีนขยายระบบประกันสุขภาพสำหรับชาวชนบท จากที่เมื่อ 10 ปีก่อน เคยครอบคลุมประชากรเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ จนขณะนี้ครอบคลุมประชากรถึง 97.5 เปอร์เซ็นต์

อินเดียขยายระบบประกันสุขภาพจนครอบคลุมประชาชนกว่า 110 ล้านคนแล้ว  ในขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ขยายระบบประกันสุขภาพอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ครอบคลุมประชากรเพียง 62 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

อินโดนีเซียออกกฎหมายที่กำหนดว่า รัฐบาลต้องขยายระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศภายในต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ระบบประกันสุขภาพของอินโดนีเซีย เป็นระบบที่ครอบคลุมจำนวนคนมากที่สุดในโลก  กฎหมายอินโดนีเซียฉบับนี้ ยังกำหนดให้รัฐบาลขยายเงินสวัสดิการผู้เกษียณอายุ และเพิ่มจำนวนผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยอุบัติเหตุจากการทำงาน ภายในกลางปี 2558

หากพิจารณาที่สัดส่วนของประชากรที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐแล้ว ประเทศที่จัดสวัสดิการครอบคลุมประชากรมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น รองลงมาคือเกาหลีใต้ ตามมาด้วยสิงคโปร์ จีน และไทย

อย่างไรก็ดี การพิจารณาระดับการจัดสวัสดิการนั้นต้องพิจารณาจำนวนเงินที่รัฐใช้จัดสวัสดิการต่อหัวประชากรด้วย แม้ระบบสวัสดิการของจีน และไทยจะครอบคลุมประชากรจำนวนมาก แต่สวัสดิการที่จัดให้ต่อหัวก็ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่นและมาเลเซีย

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียสร้างดัชนีชี้วัดระดับการให้สวัสดิการประชาชนโดยรัฐ โดยคิดจากจำนวนเงินที่รัฐใช้ในการจัดสวัสดิการ และสัดส่วนประชากรที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ  ผลปรากฏว่า ภูมิภาคในเอเชียที่ได้คะแนนสูงสุดคือเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ และมองโกเลีย  ส่วนภูมิภาคที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ เอเชียใต้ ซึ่งประกอบด้วย อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และปากีสถาน

เมื่อจัดอันดับประเทศ ปรากฏว่า ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีระดับการให้สวัสดิการประชาชนสูงสุด  รองลงมาคือ อุซเบกิสถาน มองโกเลีย และเกาหลีใต้

ที่น่าสนใจคือ เอเชียกลาง และเอเชียตะวันตก แม้จะเป็นภูมิภาคที่ยากจนเช่นเดียวกับเอเชียใต้ แต่ก็จัดสวัสดิการให้ประชาชนสูงกว่าเอเชียใต้อย่างมาก  ส่วนหนึ่งก็เพราะประเทศเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต จึงมีระบบสวัสดิการซึ่งเป็นมรดกจากแนวคิดคอมมิวนิสต์

ในหมู่ประเทศอาเซียน ประเทศที่มีระดับการจัดสวัสดิการให้ประชาชนสูงสุดคือ สิงคโปร์  รองลงมาคือมาเลเซีย  เวียดนามเป็นอันดับ 3 ไทยเป็นอันดับ 4  และฟิลิปปินส์เป็นอันดับ 5

ที่มา.news.voicetv
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แดงตาสว่างเพิ่มอีก.รัฐบาล-นปช. ไม่จริงใจ นิรโทษกรรม !!??

เหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป อันเป็นที่รอคอยของบรรดาคนเสื้อแดง ที่กำลังใจจดใจจ่ออยู่กับร่างพรบ.นิรโทษกรรม ที่ถูกดันขึ้นมาอยู่ในวาระแรก

แต่ทว่าสถานการณ์อาจไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะพรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาลเตรียมที่จะขยับเอาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557มาพิจารณาก่อนนั่นเอง

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่าการเปิดประชุมสภาวันที่ 1 ส.ค. เพื่อพิจารณากฎหมายที่ยังค้างอยู่ ทั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย นั้น คาดว่าจะนำพ.ร.บ.งบประมาณ 2557 มาพิจารณาในวาระแรกก่อน ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะช่วยเหลือประชาชน ส.ส.ของพรรค และส.ส.กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คงจะไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจก่อน ไม่น่าจะมีปัญหาหรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ก่อนหน้านี้ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้เข้าชื่อเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม  กล่าวว่า แม้ร่างพรบ.นิรโทษกรรมจะถูกบรรจุในวาระแรก แต่เมื่อไปดูวันที่ 1 ส.ค.ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดี ให้เป็นวันของการตอบกระทู้ต่างๆ ซึ่งวางไว้อยู่แล้ว เป็นเรื่องของเทคนิค จึงทำให้ร่างพรบ.นิรโทษกรรม จะยังไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในทันที ส่วนตัวมองว่าร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่จำเป็นต้องนำมาใช้งาน คงจะถูกนำมาพิจารณาก่อน ส่วนเรื่องพรบ.นิรโทษกรรม อาจจะพิจารณาในวันพุธสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือนส.ค.หรือระหว่างนั้นถ้ามีเรื่องอะไรจำเป็นเร่งด่วน เช่น พรบ.เงิน 2 ล้านล้านหรือเรื่องอื่นอย่างรัฐธรรมนูญก็อาจนำมาพิจารณาก่อนก็ได้      

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่ปรากฏก็เท่ากับว่าบรรดาคนเสื้อแดง ก็อาจจะดีใจเก้อ เพราะท้ายที่สุดการเลื่อนวาระร่างพรบ.นิรโทษกรรมขึ้นมารออยู่ในวาระแรก แต่พอถึงเวลากลับไม่เป็นไปตามนัด ก็ทำให้กระแสความรู้สึกของฝ่ายคนเสื้อแดง เริ่มชักไม่แน่ใจกับความจริงใจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย



เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 นายอรุณศักดิ์ เลื่อนไธสง พี่ชายนายเกรียงไกร เลื่อนไธสง คนขับรถแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 ร่วมแถลงเปิดตัวร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน

นางพะเยาว์กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเปิดร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของประชาชน เพราะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแต่ละฉบับที่ผ่านมาไม่เคยมีฉบับใดที่ผ่านความคิดเห็นของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต หรือญาติผู้ถูกจองจำ เป็นการร่างกันขึ้นมาเองของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าทุกร่างที่เสนอไปแล้วจะมีการสอดไส้ให้นิรโทษกรรมยกเข่ง และไม่ได้มอบความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองอย่างแท้จริง จึงมีการพูดคุยกันในกลุ่มญาติว่าควรร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น โดยจะไม่สอดไส้ และเป็นไปอย่างโปร่งใส        

แม่น้องเกดกล่าวต่อว่า ทางกลุ่มญาติจะนำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยื่นให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 16 ก.ค. เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นจะเดินสายขอความสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนจะยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในวันที่ 24 ก.ค. เพื่อขอให้บรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภา ในสมัยประชุมสภาที่จะเปิดในเดือนส.ค.

สำหรับร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้เรียกว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ คือ ให้นิรโทษกรรมประชาชน และ เจ้าหน้าที่ โดยแยกแยะการกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ การเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชน ตลอดจนการกระทำเกินกว่าเหตุของ ผู้ปฏิบัติการ การออกคำสั่งบังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายออกจากการนิรโทษกรรม เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และป้องกันไม่ให้การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำในภายหลัง

สาระสำคัญ ประกอบด้วย มาตรา 3 ระบุว่า (1) การกระทำใดๆ ของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือข้อกำหนดที่ออกตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งได้ประกาศใช้ อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ให้ผู้กระทำ พ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

(2) การกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวน และการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หากเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียว หรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

(3) การกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงการเมืองในเขตท้องที่ หรือพื้นที่ตามมาตรา 3 (2) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 (1) หรือมาตรา 3 (2) ตลอดจนการกระทำใดๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ 19 ก.ย.2549-9 พ.ค.2554 ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

(4) การกระทำใดๆ หรือการตระเตรียมการของบุคคลใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมโดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ รวมถึงการกระทำอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการ กระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย โดยให้รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นด้วย

นอกจากนี้ ในมาตรา 4 ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งการบังคับบัญชา และ/หรือไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ ให้ผู้กระทำพ้นความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการ หรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ รวมถึงการ กระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมายให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

โดยบทบัญญัติในวรรคที่สองให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น

ขณะที่มาตรา 5 ระบุว่า เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าผู้กระทำตามมาตรา 3 (1) (2) และ (3) ยังไม่ได้ถูกฟ้อง ต่อศาล หรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวน หรือการฟ้องร้อง หาก ผู้ถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 6 ระบุว่า ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น

มาตรา 7 ระบุว่าการดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการ ตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

ว่าด้วยความไม่พอใจของบรรดาญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุม ยังลุกลามไปถึงการทำหน้าที่ของประธานนปช. ด้วยการตั้งคำถามที่แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก

นางพะเยาว์กล่าวยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการช่วยเหลือนักโทษการเมือง จึงขอย้ำว่าการที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า กลุ่มญาติมุ่งเป้าเพียงหาฆาตกรโดยไม่ได้ ช่วยเหลือนักโทษการเมืองนั้นไม่เป็นความจริง ถามว่านางธิดาได้ศึกษาอย่าง ถี่ถ้วนแล้วหรือไม่ เพราะกลุ่มญาติได้ ทุ่มเทประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้าน กฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อจัดทำร่าง กฎหมายฉบับนี้ แต่ที่ผ่านมาทาง นปช.กลับไม่เคยขับเคลื่อนช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง เอาแต่แถลง ทุกสัปดาห์ในสิ่งที่เป็นนามธรรม เอาแต่พูดจับโกงเลือกตั้ง แต่ไม่เคยติดตามคดีความผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และ ไม่เคยทำสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา

การตั้งคำถามของนางพะเยาว์ต่อการทำหน้าที่ของนางธิดา ตรงกับการวิพากษ์ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการแนวร่วมคนเสื้อแดง เอาไว้ชนิดที่อาจจะทำให้เห็นถึงธาตุแท้อะไรบางอย่างเลยทีเดียว

ทำไมคุณทักษิณ-รบ.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่คิดจะออก พรก.นิรโทษกรรม ให้มวลชลเสื้อแดงครับ? ง่ายกว่า แผนการออก พรก.นิรโทษกรรม คุณทักษิณ ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยเท่าแน่ๆ

วันก่อน ที่ผมเขียน "อนุสนธิจากคลิปเสียง" ผมได้เสนอประเด็นนึงว่า ตามแผนนิรโทษกรรมทีคุณทักษิณ กับยุทธศักดิ์ พูดคุยกันนั้น คงออกมาในลักษณะ "เหมาเข่ง" แน่ เพราะเป็นไปได้ยากทีจะคิดว่า จะเสนอ พรก.นิรโทษกรรม ให้เฉพาะคุณทักษิณฝ่ายเดียว อย่างน้อยๆต้องรวม ทหาร ไว้ด้วย และค่อนข้างแน่นอนว่า ต้องรวม รบ.อภิสิทธิ์ ด้วยเช่นกัน เพราะไม่งั้น จะยิ่งยากชนิด เรียกว่า เป็นไปไม่ได้

ในการแถลงข่าว นปช เมื่อพุธ ที่แล้ว อ.ธิดา พูด "แตะ" ประเด็น พรก.นิรโทษกรรม ที่คุยในคลิปเสียงเหมือนกัน แต่พูดแบบผ่านๆ ทำนองว่า "เราไม่รู้ว่า พรก. มีรายละเอียดยังไง.." แล้วก็เลยไปยืนยันว่า นปช ยังยืนยันเรือง พรก. ตามที่เคยเสนอ ที่ไม่รวมแกนนำ

เพื่อให้เห็นภาพการอธิบายความของนายสมศักดิ์มากยิ่งขึ้นในประเด็นการแถลงข่าวของนางธิดาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำนองว่าไม่รู้ไม่ชี้กรณีคลิปเสียงลับ แล้วก็พูดผ่านๆไปที่เรื่องของการออกพรก.นิรโทษกรรมของนปช.เลยหรือไม่


นายสมศักดิ์ระบุต่อว่า ต่อให้ ยอมรับแบบ "พาซื่อ" ว่า พรก.นิรโทษกรรม ที่คุณทักษิณ-ยุทธศักดิ์ พูดกันนั้น ไม่มีรายละเอียด และอาจจะไม่ใช่แบบ "เหมาเข่ง" ก็ได้ แต่ผมว่า ประเด็นสำคัญมากๆ ทีปฏิเสธไม่ได้คือ คลิปดังกล่าวตั้งคำถามใหญ่มากๆว่าทำไม คุณทักษิณ และ รบ.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่คิดจะออก พรก.นิรโทษกรรม ให้มวลชน เสื้อแดง?

ทั้งๆที่ พรก.ดังกล่าว จะต้องง่ายกว่า พรก.นิรโทษกรรม ทักษิณ ทีวางแผนจะออก อย่างชนิดเทียบกันไม่ได้ เผลอๆ ไม่ต้องหาทางไป "ผ่าน" ทหารก่อนให้มันยุ่งยากด้วย หรือต่อให้คิดจะให้ "ดูก่อน"ก็ไม่มีทางจะยากเท่ากรณีทักษิณ

ใครที่ตามอ่านผมมานาน อาจจะจำได้ว่า ผมได้เสนอ ตั้งแต่มีการตั้ง รบ.ยิ่งลักษณ์ ใหม่ๆ เมื่อ 2 ปีก่อน เรืองที่ รบ.ควรช่วยมวลชนเสื้อแดงออกมาก่อน โดยแยก กับกรณีแกนนำ และทักษิณ

ตั้งแต่แรก คนทีเชียร์ ทักษิณ-รบ.-นปช แบบสุดๆ จำนวนมาก ก็มาโจมตี และแก้ตัว ทำนองว่า "ทำไม่ได้" "อำนาจไม่ได้อยู่ในมือ รบ." ตอนหลัง พอ นปช เริ่มเปลี่ยนท่าที เสียงทำนองนี้ เริ่มน้อยลงไปบ้าง แต่ทุกครั้ง ถ้าผมหรือใครพูดทำนองนี้ ก็จะมีการมาแก้ตัวทำนองที่ว่าอีก

แต่ผมว่า คลิปเสียง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ประเด็น ช่วยมวลชนนั้น เป็นแบบที่ผมเขียนมาตลอดคือ ปัญหาไมใช่อยู่ทีว่า "ทำไม่ได้" หรือ "อำนาจไม่อยู่ในมือ" อะไรตามที่อ้าง

แต่อยู่ที่ การให้ความสำคัญ หรือการให้ priority มากกว่า ถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ ให้ priority จริงๆ ก็ทำได้ หรือ ลองทำได้

อย่างที่ผมเขียนมาตลอดว่า เวลาช่วยคุณทักษิณ - ซึ่งผมก็ไม่เคยปฏิเสธ - รบ. จะ "กระตือรือร้น" และทุ่มเทมาก เช่น คราว ผลักดัน พรบ.ปรองดอง แต่กรณีมวลชนนั้น ไม่เคยแม้แต่จะ "นับหนึ่ง" จริงๆด้วยซ้ำ  และนี่เป็นประเด็นสำคัญ ที่ "เกี่ยว" กับเสื้อแดง แน่ๆ

ถ้าเป็นไปอย่างที่นายสมศักดิ์ว่าก็คือรัฐบาลและพ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความจริงใจที่จะนิรโทษกรรมให้กับคนเสื้อแดง ก็ทำให้พอมองเห็นว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆเกิดขึ้นหากตัวเองไม่ได้ประโยชน์ ใช่หรือไม่ หรือจะเรียกว่าเป็นการจับเอาคนเสื้อแดงเป็นตัวประกัน

ก็ให้ลองพิจารณาจากความพยายามของบรรดาญาติผู้สูญเสียที่เริ่มรอไม่ไหว้กับการผัดวันประกันพรุ่งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่พร้อมจะหาสารพัดเหตุผลมาเป็นข้ออ้างต่อคนเสื้อแดง

และถ้าหากในเร็วๆนี้มีการนำเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับของญาติผู้สูญเสียเข้าสภาก็จะทำให้มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการล้างผิดมีมากถึง 7 ฉบับด้วยกัน

ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับที่ค้างการพิจารณามาตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 31 พ.ค. 2555 คือ

1.ร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ
2.ร่างของ นายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
3.ร่างของ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย  พรรคเพื่อไทย
4.ร่างของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
5.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
6.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

และ7.ถ้าหากมีการเสนอและบรรจุในวาระการประชุมของสภาก็คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549

ทั้งนี้ดูเหมือนว่าร่างพรบ.ฉบับสุดท้ายจะมีชื่อที่ยืดยาวและแฝงให้เห็นถึงเจตนาซ่อนเร้นบางประการหรือไม่ โดยเฉพาะการที่บอกว่าเป็นการนิรโทษกรรมผลที่มาจากการกระทำตั้งแต่การยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยเลือกที่จะใช้คำหรือประโยคที่อาจทำให้เกิดการตีความเรื่องการทำรัฐประหาร กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่มา.สำนักข่าวทีนิวส์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ดิ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปรับลดจีดีพี ลุ้นกลุ่ม CLMV กู้ส่งออก !!??

 สป.ถกเอกชน-กูรู หาทางออกเศรษฐกิจไทย หลังทุกสำนักพยากรณ์ปรับจีดีพีลงยกแผง "สศช." ร่ายยาวหลากปัจจัยทุบศก.ชาติ "สศค." ระบุกลุ่ม CLMV พระเอกขี่ม้าขาวกู้ส่งออกไทย "ธนิต" เตรียมชงแนวทางฟื้นศก.เสนอ จี้รัฐเร่งรัดยาโด๊ปเป็นรูปธรรมเดือนก.ค.นี้ ย้ำต้องไม่สร้างภาระหนี้เพิ่ม "บันลือศักดิ์" ปูดผู้ประกอบการส่งออกอ่วมคู่ค้ายื้อจ่าย/โยนผู้ผลิตอุ้มสต๊อกแทน

ธนิต โสรัตน์ธนิต โสรัตน์    นายธนิต โสรัตน์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เปิดเผยในงานสัมมนาโฟกัส กรุ๊ป เรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2556 ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในระดับติดลบในครึ่งปีหลัง หากเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากขาดกลไกในการขับเคลื่อนส่วนเพิ่มที่มาจากโครงการภาครัฐ ซึ่งเคยมีในปีที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกและนำเข้ายังขยายตัวได้ต่ำจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งทำคือหามาตรการและโครงการต่างๆ ที่ชัดเจน เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวในระดับต่ำเกินไปโดยมาตรการไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก
   
การส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 1.8% จากที่ประเมินว่าจะขยายตัว 7% โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกติดลบสูงถึง 16.4% ขณะเดียวกันการบริโภคภาคประชาชนยังชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ผลจากหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 16% นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านการเมืองภายใน เสถียรภาพรัฐบาล และความไม่นิ่งของนโยบายต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงและกระทบเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ผู้นำกระทรวงเศรษฐกิจต้องเป็นมืออาชีพ รู้ปัญหาจริง บริหารงานโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและใช้หลักนิติรัฐอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 4-4.5% จากปีก่อนที่ขยายตัว 6.5%"
   
สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคการเงิน การคลัง สป. กล่าวว่า สป.เตรียมเสนอแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจแก่รัฐบาล โดยเฉพาะแนวทางการกระตุ้นในระดับรากหญ้า เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชนหวังพยุงการบริโภคภายในประเทศไม่ให้ชะลอตัว รวมถึงแนวทางในการดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้มีราคาที่เหมาะสมไม่เป็นภาระกับประชาชน นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุน เร่งรัดการส่งออกและเพิ่มอัตราเงินชดเชยมุมน้ำเงินให้ผู้ส่งออกชั่วคราว ช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกที่ประสบปัญหา เช่น ตั้งกองทุนช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ผู้ส่งออก ให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลและออกมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
   
ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้มีหลายปัจจัย คือ

1.เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวช้า

2. เศรษฐกิจโลกยังไม่เอื้อต่อการส่งออกและราคาสินค้าในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว

3.อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

4. การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/55 มีอัตราการเติบโตในลักษณะฐานสูง จากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายภาครัฐ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300บาทต่อวัน รถคันแรก บ้านหลังแรก การบริโภคและการใช้จ่ายหลังน้ำท่วม ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องดูแลกำลังการใช้จ่ายของภาคประชาชน ที่อาจลดลงซึ่งอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจหลังการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง และ

5. งบดุลและหนี้ภาคครัวเรือนที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้ สศช. ปรับลดประมาณการจีดีพีลงจาก 4.5-5.5% เป็น 4.2-5.2%
   
ขณะที่นางวิภารัตน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักได้ ขณะนี้จึงมีเพียงตลาดเดียวที่การส่งออกของไทยยังพึ่งพาได้ คือ ตลาดอาเซียน 4 (ตลาดของกลุ่มประเทศติดลุ่มแม่น้ำโขง หรือกลุ่ม CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยการส่งออกในกลุ่มประเทศดังกล่าวในช่วง 2 ดือนแรกของไตรมาสที่ 2/56 ยังขยายตัวในระดับที่เป็นบวก 2.7% ขณะที่อาเซียน 5 (สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน) ยังคงติดลบ 2.8% เชื่อว่าครึ่งปีหลัง ตลาด CLMV จะเป็นเพียงตลาดเดียวที่ยังมีอัตราการเติบโตแบบไม่ติดลบ
   
ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น ไทยยังมีงบประมาณค้างท่อรอการอนุมัติในโครงการต่างๆ อีกมาก ซึ่งเร็วๆ นี้ทาง รมว.คลังจะหารือพร้อมหาแนวทางการกระจายงบประมาณไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันยังมีงบประมาณติดค้างในหลายส่วน คาดจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้
   
ส่วนนายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การส่งออกครึ่งปีหลังเจอผลกระทบทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น แนวโน้มวัตถุดิบภาคการเกษตรเริ่มขาดแคลน มีการแบ่งพื้นที่เพาะปลูกในพืชหลายกลุ่ม การซื้อเพื่อเก็บสต๊อกเริ่มลดลงโดยเริ่มเห็นผู้ซื้อเริ่มโยนภาระให้กับผู้ผลิตเป็นฝ่ายเก็บสต๊อกแทน บางรายให้เก็บนานไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน และเมื่อใดต้องการสินค้าจึงค่อยสั่งเพิ่ม ขณะเดียวกันยังเริ่มมีหลายธุรกิจที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร หลังจากมีการส่งมอบแล้วถูกประวิงเวลาการจ่ายค่าสินค้าให้นานขึ้น

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เตือนประชานิยมก่อหนี้เกินตัว !!??

ผ่ามุมมองนักเศรษฐศาสตร์ในงานเสวนา"สุมหัวคิด...Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!" เตือนประชานิยมก่อหนี้เกินตัว เศรษฐกิจตกเหว "ไม่รู้ตัว

เสวนา"สุมหัวคิด...Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!"จัดโดย ThaiPublica Forum โดยนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน แสดงความเป็นห่วงแนวโน้มหนี้สาธารณะของไทยที่ปรับสูงขึ้นจากนโยบายประชานิยม อีกทั้งแสดงความสงสัยตัวเลขภาระหนี้ที่แท้จริง ขณะนักเศรษฐศาสตร์จากกระทรวงการคลังไม่เป็นห่วง มั่นใจดูแลในกรอบความมีเสถียรภาพด้านการคลังในอีก 7 ปีข้างหน้า มีประเด็นดังนี้]

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อเสวนา”สุมหัวคิด...Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!”ซึ่งจัดโดย ThaiPublica Forum ครั้งที่ 6 ว่า ภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้น ถือว่า เรายังไม่ได้เผชิญกับ Fiscal cliff หรือ หน้าผาทางการคลังจนถึงขั้นต้องปรับนโยบายการคลังอย่างรุนแรง แต่ในอนาคตนั้น เราอาจจะเผชิญกับปัญหานี้ หากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลยังเป็นไปในลักษณะที่จะพาเราเดินลงเหวไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตต่อปัจจัยที่จะพาเราเข้าสู่หน้าผาการคลังอยู่ 5 ประการ คือ ประการแรก เรากำลังติดกับดักกับนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมีการแข่งขันในการดำเนินนโยบายดังกล่าว แม้แต่การเลือกตั้งของท้องถิ่น ซึ่งเป็นการให้สวัสดิการที่เกินพื้นฐานที่ประชาชนควรได้ เช่น โครงการรถยนต์คันแรก พักหนี้ รวมถึง จำนำข้าว ซึ่งการแข่งขันในลักษณะนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และยกเลิกยาก สุดท้ายงบประมาณส่วนนี้จะเข้าไปกินงบประมาณประจำ ทำให้งบลงทุนของประเทศลดลง

"ในอดีตงบประมาณประจำอยู่ที่ประมาณ 70% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ตอนนี้ อยู่ที่ประมาณ 80% เราจึงได้เห็นว่า ขณะนี้ รัฐบาลต้องออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินมาลงทุน จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรากำลังเดินลงเหว"

ประการที่สอง คือ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยโดยรวมเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งลดลงมากในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ประหลาดใจที่เห็นเอกชนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งที่ตั้งของการลงทุนนั้น จะเป็นฐานรายได้หรือภาษีหลักๆให้แก่ประเทศเหล่านั้น ฉะนั้น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นวาระสำคัญที่เราไม่ค่อยคิด

ขณะเดียวกัน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศยังขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐที่ส่งเสริมด้วย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า รัฐเองได้มีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจของภาคเอกชน ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งปัจจุบันแบงก์รัฐเองได้เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ได้สิทธิประโยชน์มากกว่าแบงก์เอกชน นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมข้าวที่รัฐเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด หรือ แม้แต่นโยบายค่าแรง 300 บาทที่กระทบต่อการทำธุรกิจในพื้นที่ห่างไกล

ประการที่สาม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรไทย ถือเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่ข้างหน้า เพราะรายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มแน่นอน การที่รัฐบาลมีนโยบายดูแลกลุ่มคนดังกล่าวแบบปลายเปิด ขณะที่ รายจ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเนื่องจากคนวัยทำงานจะต้องดูแลคนแก่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะกระทบฐานะการออมของประเทศ ฉะนั้น ความคาดหวังที่ให้การใช้จ่ายครัวเรือนเพื่อเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะดังกล่าวก็น้อยลง

ประการที่สี่ ความสามารถและประสิทธิภาพของผู้นำทางของเรา กรณีนี้ หมายถึง รัฐ ซึ่งรวมถึง นักการเมืองและข้าราชการ ที่ต้องมองไกลและกล้าบอกในการเปลี่ยนเส้นทาง สำหรับนักการเมืองเองเราทราบดีว่า จะไม่ได้มองไกลมากนัก ขณะที่ การมองไกลของข้าราชการก็น้อยลง โดยให้ความสำคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายเศรษฐกิจ

ประการที่ห้า เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ การบริหารความเสี่ยงภาครัฐ โดยในท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ไว้หลายแนวทางเลือก ซึ่งเป็นการเผื่อไว้หากเกิดปรากฎการณ์ลูกโซ่ที่อาจจะมีผลกระทบจาก senario หนึ่งไปยังอีก senario หนึ่ง แต่ขณะนี้ พบว่า ยังไม่ค่อยมีการดำเนินการในลักษณะนี้มากนัก

"ถ้าดูจากหนี้สาธารณะตอนนี้ไม่น่ากลัว เรายังไม่มีปัญหาหน้าผาการคลัง แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวที่ทำให้อนาคตเราอาจเดินลงจากเขาไปเรื่อยๆ และลงไปสู่เหวโดยไม่รู้ตัว"

แนะคุมหนี้ไม่ให้โตเร็วกว่าจีดีพี

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด(มหาชน)กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันนั้น ถือว่า อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และ หากสามารถคุมหนี้ไม่ให้โตเกินกว่าจีดีพี ก็จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ในกรอบ แต่ประเด็นที่ต้องดู คือ ตัวเลขหนี้สาธารณะที่นับนั้น ครบถ้วนหรือไม่ โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการนับหนี้สาธารณะอยู่หลายประการ

ประการแรก คือ การใช้เงินนอกงบประมาณในจำนวนที่มากขึ้น ถือเป็นการผ่อนคลายข้อจำกัดของกรอบความยั่งยืนการคลัง เช่น การใช้เงินของแบงก์รัฐเพื่อนโยบายจำนำข้าว ซึ่งภาระสุดท้ายจะตกอยู่กับงบประมาณ และ เงินก้อนนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันแบงก์รัฐหลายแห่งมีการเติบโตจนมีสัดส่วนถึง 30% จาก 10% ของธุรกิจ สะท้อนว่ารัฐบาลมีบทบาทในการระดมเงิน เป็นข้อสังเกตที่น่าระวัง เพราะหากเกิดปัญหาก็จะกระทบต่อแบงก์เอกชน

ประการที่สอง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐเข้าไปใช้เงินลงทุนด้วย แม้จะปรากฏเป็นหนี้สาธารณะ แต่ก็ไม่ได้นับรวมภาระการอุดหนุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประการที่สาม หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถในการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายทางการคลังในการพิสูจน์ และประการที่สี่ ภาระที่เกิดขึ้นจากกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ เช่น กองทุนน้ำมัน กองทุนประกันสังคม ซึ่งสุดท้ายเมื่อเกิดความเสียหายก็จะตกเป็นภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ สำหรับความเสี่ยงต่อภาระหนี้มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.ภาระที่ยังไม่เกิดแต่เกิดแน่ คือ ภาระที่รัฐต้องดูแลสวัสดิการของประชาชน ยกตัวอย่าง กองทุนประกันสังคมที่ถือเป็นระเบิดเวลาสำหรับภาระที่จะเกิดจากการขาดทุน ประการที่สอง คือ ภาระที่ยังไม่เกิด และ ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่ ซึ่งก็คือความมีเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และ ประการที่สาม คือ ความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ จุดนี้ เรามีทุนรองรับกรณีเศรษฐกิจชะลอหรือไม่ เพราะเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ ลดรายได้และเพิ่มรายจ่ายตลอดเวลา

แนวทางที่ควรจะต้องดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไม่เดินไปสู่ภาวะหน้าผาการคลัง คือ การรักษากรอบและวินัยในการกู้เงินอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังการออกโครงการต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่าผลชัดเจนที่จะเกิดในอนาคตเป็นอย่างไร เช่น โครงการรับจำนำข้าว

"โครงการจำนำข้าว ถือเป็นภาระปลายเปิดที่ต้องระมัดระวัง ถ้าทำไปอีก 2-3 ฤดูกาลเราไม่รู้ผลที่จะเกิดขึ้นเลย มันต้องมีโครงการมาเปรียบเทียบ ดังนั้น จึงถือเป็นความเสี่ยงทางการคลัง เพราะไม่รู้ต้นทุนจริง และไม่ถูกต้องในแง่วินัยการคลัง" นายพิพัฒน์กล่าว

หนี้สาธารณะสูงสุดไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2556 อยู่ที่ 5,121 พันล้านบาท คิดเป็น 44.2% ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่ายังมีความมั่นคง

นอกจากนี้ โครงสร้างเงินกู้ของหนี้สาธารณะไทยส่วนใหญ่ 97% เป็นหนี้ระยะยาว และเป็นหนี้สกุลเงินบาท ดังนั้น จึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาระอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ภายในช่วง 7 ปีจากนี้ (2557-63) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2559 โดยอยู่ที่ 50%ต่อจีดีพี และจากนั้นจะเริ่มลดลง โดยในปี 2560 อยู่ที่ 49.8% ต่อจีดีพี ปี 2561 อยู่ที่ 49.2% ต่อจีดีพี, ปี 2562 อยู่ที่ 47.6% ต่อจีดีพี และปี 2563 อยู่ที่ 45.7% ต่อจีดีพี

"ในช่วงเวลานี้ ได้คิดรวมการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐไว้แล้ว ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปฏิบัติการ ถอนขนห่าน !!??

เบญจา. เครื่องร้อนไล่บี้สรรพากรรีดภาษีปีงบ 56 ให้ได้ตามเป้า 1.77 ล้านล้านบาท แม้ช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีจะส่อแววไม่ค่อยดี พร้อมสั่งติดตามการเสียภาษีของบริษัทใหญ่ หวังหนุนรายได้ที่เสียจากนโยบายหั่นภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ของรัฐบาล
   
นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.การคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพากรและกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ถึงนโยบายการทำงานแล้ว ยอมรับว่าการจัดเก็บภาษีในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีงบ 2556 มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย และคงต้องติดตามในเดือน ส.ค. ที่เป็นช่วงของการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลช่วงครึ่งปีแรกของ 2556 ที่มีการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% โดยในการปรับลดภาษีนิติบุคคลในช่วงที่ผ่านมากระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรค่อนข้างมาก แม้ว่ากรมฯ จะนำผลกระทบตรงนี้ไปประเมินในประมาณการการจัดเก็บภาษีแล้วแต่การจัดเก็บจริงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมายังลดต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้
   
ทั้งนี้ ยังสั่งการให้ทีมที่ดูแลการจัดเก็บภาษีรายใหญ่ (แอลทีโอ) ไปสอบถามแต่ละบริษัทว่าจะมียอดเสียภาษีเท่าใด เนื่องจากแต่ละบริษัทนั้นได้ทำบัญชีเป็นรายเดือนต้องทราบข้อมูลของบริษัทตัวอย่างดีแล้วว่าจะเสียภาษีในรอบครึ่งปีเท่าใด เพื่อนำมาประเมินแนวโน้มการจัดเก็บในปีงบ 2556 ว่าเป็นไปตามหมายของกรมฯ ที่วางไว้ 1.77 ล้านล้านบาท หรือไม่
   
ส่วนการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ยืนยันว่าจะเร่งผลักดันให้ทันกับที่รัฐบาลรับปากไว้ว่าจะให้มีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2556 ที่ต้องยื่นแบบแสดงภาษีในเดือน ม.ค.-มี.ค.2557 หากแก้กฎหมายไม่ทัน ก็สามารถออกเป็นกฎกระทรวง หรือใช้เป็นพระราชกฤษฎีกา แล้วค่อยมาแก้เป็น พ.ร.บ.เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ถาวร ในลักษณะเดียวกับการลดภาษีนิติบุคคล
   
สำหรับการลงทุนระบบไอทีกรมสรรพากรมูลค่า 2 พันล้านบาทที่กรมฯ มีแผนไว้ ได้ให้ข้อสังเกตไปว่าการลงทุนดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อเอสเอ็มอี หากออกมาแล้วมีผลกระทบอาจต้องชะลอการใช้กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการออกระเบียบแล้วกระทบผู้ประกอบการต้องชะลอการประกาศใช้ และจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ โดยได้ให้ข้อสังเกตไปว่าถ้าใช้ประสิทธิภาพ และคนของกรมฯ ในการดำเนินการแทนจะได้หรือไม่
   
นางเบญจา กล่าวอีกว่า ในส่วนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ส่งออกนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งของกระทรวงการคลังและของกรมสรรพากร หากมีข้อสรุปว่ามีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอีกรอบหนึ่ง โดยเรื่องนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
   
ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนดูแลกรมภาษี 2 แห่ง จะพยายามดูว่ามีจุดไหนที่เกิดช่องโหว่ทำให้เกิดการทุจริตหรือไม่
   
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ยืนยันว่า ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังสอบสวนพยาน และหลักฐาน ซึ่งใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว และเชื่อว่าต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจกับเรื่องดังกล่าวด้วย.

ที่มา.ไทยโพสต์
/////////////////////////////////////////////

อย่าปิดปาก รัฐต้องเปิดเผยความจริง !!??

ขณะนี้ คนไทยกำลังถูกหลอนด้วย “ข้าวสารปนเปื้อนสารพิษ” – “ข้าวสารอันตราย” – “ข้าวเน่า” ฯลฯ

1. นายยรรยง พวงราช รมช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พยายามยืนยันว่า กระบวนการผลิตข้าวถุงของไทยมีคุณภาพ ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอน เป็นไปได้ยากที่จะมีสัตว์ แมลง และสิ่งแปลกปลอมปน

“อยากให้คนไทยมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวถุงไทย และอยากให้ชาวนา รวมถึงโรงสี และผู้ผลิตรายต่างๆ พลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ข้าวไทย และเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลไม่ให้ข้าวไทยมีสารปนเปื้อน ซึ่งการลดการใช้สารเคมีลงตั้งแต่การปลูกจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย”

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย อ้างว่า การโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับปัญหาคุณภาพข้าวไทยนั้น เป็นความต้องการดิสเครดิตรัฐบาล

อย่าเผาป่าล่าหนูอีกเลย เพราะความเสียหายในเรื่องนี้ประเมินมูลค่าไม่ได้  และขอให้ยุติการทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ”

แถมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังออกหน้า ข่มขู่ประชาชน ไล่ดำเนินคดี หวังปิดปากประชาชนไม่ให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นลบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของข้าวสารที่จำหน่ายในท้องตลาด

ถ้าแน่จริง... คนของรัฐบาล ตั้งแต่นายกฯ จนถึงโฆษกพรรค น่าจะตั้งโต๊ะ รับประทานข้าวโชว์ โดยเอาข้าวถุงที่นำไปแจกชาวบ้านน้ำท่วม และข้าวถุงที่มีสภาพปนเปื้อน แต่อ้างว่าปลอดภัยนั่นแหละ โดยให้เครือข่ายผู้บริโภคเป็นคนเลือกถุงให้ นำมาหุงให้เห็นๆ แล้วกินโชว์ทุกมื้อ ตลอดเวลาหนึ่งเดือน

 2. ลำพังการโพสต์ข้อความบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระบุว่า ข้าวสารบางยี่ห้อมีสารปนเปื้อน ไม่ละลายน้ำ ทำให้หนูตายใน 5 นาที ฯลฯ คนไทยก็คงไม่ให้น้ำหนัก หรือเก็บมาวิตกเป็นสาระ

แต่เพราะโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั่นเอง ที่ตอกย้ำความน่าสะพรึงกลัว

โครงการดังกล่าวได้ทำให้มีการกักเก็บข้าวสารไว้ในสต็อกของรัฐจำนวนกว่า 18 ล้านตัน ซึ่งไม่เคยมีภาระเช่นนี้มาก่อน เมื่อซื้อข้าวมาแพงมาก ส่งออกไม่ได้ ระบายไม่ออก ต้องเก็บข้าวสารเอาไว้นานๆ ก็ต้องหาวิธีเก็บรักษาสภาพเอาไว้ เช่น รมยา รมสารเคมี เป็นต้น

ยังไม่นับปัญหาข้าวเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ ถูกมอดกิน แมลงกินบ้าง เพราะเก็บในรูปข้าวสารไว้นาน

3. ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีเกษตร ระบุว่า สารเคมีที่นิยมใช้รมข้าวเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชในประเทศไทย อยู่มี 3 ชนิด คือ "อลูมิเนียมฟอสไฟด์" (Aluminium Phosphide), "เมทิลโบรไมด์" (Methyl bromide) และ "คลอโรพิคริน"  (Chloropicrin)

สารอลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือ "ฟอสฟีน" เป็นสารเคมีที่ใช้ผสมกับอาหารเพื่อฆ่าหนู นำมาใช้รมควันพืชผลทางการเกษตรเพื่อฆ่าแมลง ฆ่าเชื้อรา และใช้อบรมควันในเรือพาณิชย์ที่ใช้ขนส่งอาหารต่างๆ มีพิษสูงมาก ทำลายระบบหลอดเลือดและหัวใจและอวัยวะภายใน ทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เคยให้สัตว์ทดลองสูดดมแล้วตายทันทีถึงร้อยละ 50

ส่วน "เมทิลโบรไมด์" มีพิษทำลายอวัยวะภายใน ปอด หากได้รับปริมาณมาก อาจทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือส่งผลให้ระบบประสาทเสียหายแบบถาวร เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

สุดท้าย คือ "คลอโรพิคริน" เป็นสารที่มีฤทธิ์ร้ายแรง นิยมใช้ร่วมกับเมทิลโบรไมด์ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ทางการหายใจ กิน และดูดซึมเข้าทางผิวหนัง อาจทำให้กระจกตาลอก ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง ฯลฯ หากสูดดมเข้าไปแค่เพียง 119 ส่วนในล้านส่วนในเวลา 30 นาที อาจทำให้เสียชีวิตได้จากภาวะปอดบวมน้ำ  ถ้าไม่เสียชีวิตจะมีอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อนานต่อเนื่องหลายสิบวัน

จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจเลย เมื่อโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังผลให้มีการเก็บสต็อกข้าวสารจำนวนมหาศาล จะต้องมีการใช้สารเคมีเพื่อรักษาสภาพข้าวสารไว้เป็นเวลานาน เพราะระบายข้าวไม่ออก ประชาชนผู้บริโภคข้าวย่อมหวาดระแวง วิตกกังวล และไม่สบายใจที่จะบริโภคข้าว หากข้าวนั้นระบายออกมาโกดังข้าวสารโครงการรับจำนำ

 4. ท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พยายามจะปิดปากประชาชน จึงไม่ใช่หนทางที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของข้าวสาร

แทนที่จะข่มขู่หรือไล่ฟ้องชาวบ้าน ซึ่งมีแต่จะนำปัญหาเข้าไปสู่ที่มืด จะแปรสภาพข่าวสารเป็น “ข่าวลือ”

รัฐบาลควรจะสนับสนุนให้มีการสอดส่อง ให้รางวัลกับการตรวจจับข้าวเน่า ข้าวปนเปื้อนสารพิษ เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตข้าวต้องระมัดระวังและรับผิดชอบต่อคุณภาพข้าวให้มากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลควรจะเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบายข้าวสารในโครงการรับจำนำ ว่าได้มีการระบายล็อตไหน จำนวนเท่าใด ราคาเท่าใด ระบายให้ใคร และถูกนำไปจัดทำข้าวสารบรรจุถุงที่โรงงานยี่ห้อใด

นี่คือข้อมูลสำคัญที่ผู้บริโภคมีสิทธิจะรู้

จากนั้น เอกชนผู้ผลิตข้าวถุงก็จะต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เปิดเผยกระบวนการผลิต ที่มาของข้าว การดูแลควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งเอกชนแต่ละรายต้องการโฆษณาข้าวของตนเองอยู่แล้ว

รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภค มิใช่ปกปิดเพื่อผลกำไรของนายทุน

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////