--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กิตติรัตน์ ชี้ขาดทุน 2.6 แสนล้าน รวมสินค้าเกษตร !!?

กิตติรัตน์.แจงตัวเลขขาดทุนจำนำข้าว 2.6 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขนับรวมพืชผลการเกษตรหลายชนิด สั่งสศค.ทำข้อมูลแจ้งมูดี้ส์

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีตัวเลขการขาดทุนจำนำข้าว 2.6 แสนล้านบาท ว่า เป็นตัวเลขจากคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลและกระทรวงการคลัง โดยมี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน แต่ยืนยันว่าตัวเลขการขาดทุนดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเพียงโครงการเดียว แต่เป็นตัวเลขการขาดทุนที่รวมพืชผลทางการเกษตรหลายสินค้าเกษตรและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณารายรับของแต่ละรายสินค้า ราคาสินค้า ค่าเสื่อมสภาพของสินค้าเกษตรอื่นๆด้้วย

โดยหลังจากนี้ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำข้อมูลชี้แจ้ง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ จำกัด เพื่อให้มูดีส์ได้ทราบข้อมูลที่แท้จริงของกระทวงการคลังมากกว่าข่าวที่ออกไปจากสาธารณะ

นอกจากนี้ ได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ใช้ข้อมูลเดียวกับคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเท่านั้น เพื่อป้องกันข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ส่วนวงเงินการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต2554/2555 จะเกินวงเงินที่ตั้งไว้ที่ 500,000 ล้านบาทหรือไม่นั้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ แต่ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังขยายวงเงินรับจำนำได้ โดยหากในช่วงที่ดำเนินการยังไม่มีงบประมาณก็สามารถดึงงบประมาณส่วนอื่นมาใช้ก่อนได้แล้วค่อยตั้งงบประมาณชดเชย โดยขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการตั้งวงเงินงบประมาณชดเชย 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่เคยตั้งเอาไว้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อดีต รมต.คลัง ย้ำตัวเลขขาดทุนข้าว ติงกั๊กข้อมูล ยิ่งหมดเครดิต !!?

 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ( ครม.ปู 1) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ชื่อ username ว่า Thirachai Phuvanatnaranubala ให้ความเห็นต่อตัวเลขการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ยังไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขออกมา ในขณะที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ออกมาเปิดเผยตุวเลขการขาดทุนโครงการว่าขาดทุนราว 2.6 แสนล้านบาท โดยระบุว่า ครม.อนุมัติงบประมาณโครงการนี้ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 6 แสนล้านบาท

อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ถ้ารับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลก 10,000 บาทต่อตัน ก็มีโอกาสจะขาดทุน เฉพาะจากส่วนต่างราคา เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 วงเงิน 6 แสนล้าน ก็มีโอกาสขาดทุน 2 แสนล้านเข้าไปแล้ว และยังจะมีขาดทุนอีก จากค่าบริหาร ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวหาย ฯลฯ

เมื่อรัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูล นักวิเคราะห์ทั่วไปเขาจะประเมินเองอย่างนี้ เขาจึงจะมองในทางร้ายไว้ก่อน แต่หากรัฐบาลจะบอกว่าขาดทุนน้อยกว่านี้ รัฐบาลก็ต้องชี้แจงโดยให้ตัวเลขทั้งหมดอย่างโปร่งใส ถ้าจะกั๊กตัวเลข โดยอ้างว่ายังประเมินขาดทุนไม่ได้ เพราะยังขายออกไปไม่หมด หรือจะให้ตัวเลขแบบบางส่วน เช่น เปิดเฉพาะปีที่หนึ่ง แต่ปิดตัวเลขปีที่สอง นักวิเคราะห์เขาก็จะไม่เชื่อถือ การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จะยิ่งตอกย้ำให้เขาใช้ตัวเลขที่เลวร้ายที่สุด

ข้อความที่นายธีระชัยโพสต์ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว

การจำนำข้าว มีมติ ครม. อนุมัติใช้เงินทั้งสองปีจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

ปี 54/55 269,160 ลบ
ปี 55/56 ครั้งที่ 1 240,000 ลบ
ปี 55/56 ครั้งที่ 2 105,000 ลบ

รวมวงเงินทั้งสองปีกว่า 6 แสนล้านบาท

คิดแบบง่ายๆ ถ้ารับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลก 10,000 บาทต่อตัน ก็มีโอกาสจะขาดทุน เฉพาะจากส่วนต่างราคา เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 อยู่แล้วครับ

วงเงิน 6 แสนล้าน ก็มีโอกาสขาดทุน 2 แสนล้านเข้าไปแล้ว และยังจะมีขาดทุนอีก จากค่าบริหาร ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวหาย ฯลฯ

ข้อมูลเหล่านี้ปิดบังไม่ได้ ถ้าจะขาดทุนน้อยกว่านี้ รัฐบาลจะต้องแสดงอภินิหาร ขายข้าวให้ได้ราคาสูงกว่าตลาดโลก ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก ใครเขาจะมาช่วยซื้อข้าวของเรา แพงกว่าที่เขาจะซื้อจากคู่แข่ง

เมื่อรัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูล นักวิเคราะห์ทั่วไปเขาจะประเมินเองอย่างนี้ เขาจึงจะมองในทางร้ายไว้ก่อน

แต่หากรัฐบาลจะบอกว่าขาดทุนน้อยกว่านี้ รัฐบาลก็ต้องชี้แจงโดยให้ตัวเลขทั้งหมดอย่างโปร่งใส

ถ้าจะกั๊กตัวเลข โดยอ้างว่ายังประเมินขาดทุนไม่ได้ เพราะยังขายออกไปไม่หมด หรือจะให้ตัวเลขแบบบางส่วน เช่น เปิดเฉพาะปีที่หนึ่ง แต่ปิดตัวเลขปีที่สอง นักวิเคราะห์เขาก็จะไม่เชื่อถือ

การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จะยิ่งตอกย้ำให้เขาใช้ตัวเลขที่เลวร้ายที่สุด ที่เขาประเมินของเขาเองครับ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////

เครือข่ายครอบครัวร้อง กสทช. สอบ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ กรณี เอมเมอรัล !!?

เครือข่ายครอบครัวร้องกสทช.สอบ ‘ไทยแลนด์ก๊อตฯ’ ออนแอร์ ‘เอมเมอรัล’ ซัด 3 กรรมการไร้จรรยาบรรณ ‘สุภิญญา’ จี้สภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพฯ แก้ปัญหาร่วม



 มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ผ่านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ให้ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ซีซั่น 3 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีการนำเสนอเนื้อหาลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สำหรับการแสดงความสามารถของ ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’

โดยเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้แสดงที่ใช้ชื่อว่า ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’เพื่อสร้างความกระจ่างกับสังคมอันจะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการนำเสนอตามจริยธรรมและจรรยาบรรณ รวมถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ

2.หากพบว่าผู้แสดงคนดังกล่าวมีสุขภาพจิตที่เปราะบางหรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ดำเนินการต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และบริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตามโทษที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายอย่างสูงสุดและเคร่งครัด พร้อมกับให้ผู้ผลิตรายการตลอดจนสถานีแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยถอดรายการนี้ออกจากผังรายการ เพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตรายการและการออกอากาศรายการที่รัดกุม โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางสังคม ตลอดจนการไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า

3.ขอให้เชิญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงมาพิจารณาและดำเนินการใช้กลไกการกำกับดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ให้กรณีที่พิสูจน์แล้วว่าผิดจริงตามกฎข้อบังคับต่าง ๆ

4.ขอให้กสทช. ลงโทษขั้นสูงสุดกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามม. 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชน

น.ส.สุภิญญา กล่าวยอมรับเมื่อได้ชมรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์เทปดังกล่าวรู้สึกหดหู่และเสียใจ โดยกรณี ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’ นั้น สะท้อนให้เห็นว่าสื่อโดยเฉพาะฟรีทีวีอย่างช่อง 3 มีดุลยพินิจในการกำกับตัวเองที่มีปัญหา เห็นได้จากการเซ็นเซอร์ละครเหนือเมฆที่เสียดสีผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้สื่อทีวีต่างพากันอ่อนไหวมาก แต่เมื่อใดที่มีเหตุกระทบต่อกลุ่มบอบบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนยากจน สื่อทีวีกลับไม่มีความระมัดระวังที่จะปกป้องคุ้มครองแต่อย่างใด

จึงเรียกร้องไปยังช่อง 3 บริษัท เวิร์คพ้อยฯ และผู้ดำเนินรายการออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป พร้อมเสนอให้สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงแสดงท่าทีต่อการกำกับดูแลกันเองต่อกรณีดังกล่าวให้เกิดขึ้นในสื่อทีวีอย่างแท้จริง

กรรมการกสทช. กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องวันนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บอร์ดกสท.) ในวันที่ 10 มิ.ย. 56 โดยจะเสนอเป็นวาระเร่งด่วน และจะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการการกำกับเนื้อหาและผังรายการพิจารณาควบคู่ด้วย แต่จะให้ตอบว่ารายการดังกล่าวผิดม.37 หรือไม่ คงยังตอบไม่ได้

ด้านนางปิยนุช โชติกเสถียร ผู้ปกครองเด็กพิเศษ กล่าวว่า คณะกรรมการและผู้ดำเนินรายการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการตัดสินการแสดงโชว์ของ ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ควรแสดงพฤติกรรมที่เสมือนย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนี้

ขณะที่นายสมปอง เกิดแสง ผู้แทนสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าวว่า ไทยมีคนพิการที่จดทะเบียนแล้วราว 1.3 ล้านคน โดยมีประเภทความพิการทางจิตรวมอยู่ด้วย ซึ่ง ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’ ก็เป็นผู้พิการทางจิต แต่ทั้งนี้การแสดงออกของผู้ดำเนินรายการและคณะกรรมการเรียกว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับคำว่า ‘หน้าที่คณะกรรมการ’

“คณะกรรมการต้องสามารถที่จะทนดูได้จนกระทั่งผู้แสดงจบ นั่นคือคณะกรรมการ และผู้ดำเนินรายการไม่ควรมาแสดงสีหน้าท่าทางไม่ชอบแบบนี้ ส่วนผู้ชมจะแสดงออกมาอย่างไรก็เป็นสิทธิพึงมี อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณช่อง 3 ที่เปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงความสามารถ” ผู้แทนสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าว.










ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

จำนำข้าวกับมูดี้ส์ !!?

เรื่องจำนำข้าวจะยังเป็นปัญหาถกเถียงโต้แย้งกันต่อไปอีก จะนานแค่ไหนนั้นก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถในการหมุนเงินของรัฐบาล
   
และการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจำนำข้าวก็มิได้เกิดเฉพาะภายในประเทศไทย แต่สื่อต่างประเทศ , องค์กรต่างประเทศก็ให้ความสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันด้วย ที่น่าสนใจคือสื่อต่างประเทศนั้นวิจารณ์ในแง่ลบ ตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น บทความของ ฟิลิป เบาว์ริง ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอลสตรีทภูมิภาคเอเชีย วิจารณ์นโยบายอุดหนุนราคาข้าวและยางพาราของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผ่านพ้นมา 1 ปี ว่าเห็นได้ชัดว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้ กำลังเพิ่มปัญหายุ่งยากต่อการคลังของประเทศ และไทยยังมีปัญหาสำคัญกว่าที่ซ่อนอยู่ใต้นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ไม่เข้าท่านี้ คือปัญหาช่องว่างรายได้ระหว่างคนชนบทกับคนเมืองที่ยังถ่างกว้าง
   
เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักข่าวรอยเตอร์ก็วิพากษ์วิจารณ์อีก และที่กำลังฮือฮากันมากก็คือ เรื่องที่ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ระบุในรายงาน "แนวโน้มเครดิตของมูดีส์" ฉบับวันที่ 3 มิ.ย.2556 ว่า ความเสียหายในช่วงที่ผ่านมาจากโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554-2555 และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปนั้น จะทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นที่รัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 และเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ Baa1 โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ
   
ในสายตามูดี้ส์นั้น โครงการรับจำนำข้าวเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย
   
ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องโต้แย้งกลับ
   
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า กรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยระยะยาวนั้น รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะทำโครงการรับจำนำข้าวถาวร และที่ผ่านมาภาครัฐพยายามจัดทำโซนนิ่งเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับชาวนาไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนโครงการรับจำนำในปีต่อไปยืนยันว่ามีเงินใช้เพียงพอจากกรอบเดิม 4.1 แสนล้านบาท ไม่ต้องกู้เพิ่ม
   
ชาวนาไทยต้องรับทราบด้วยว่า ข้าราชการระดับสูงบอกว่า "รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะทำโครงการรับจำนำข้าวถาวร" หมายความว่าอาจจะเลิกรับจำนำข้าวเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
   
ทางฝ่ายการเมืองนั้น   นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวว่า ได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าวของมูดีส์แล้ว และคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) น่าจะมีการให้ความเห็นและคำอธิบายเรื่องนี้ตอบกลับไปยังมูดีส์ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา มูดีส์อาจได้ข้อมูลโครงการนี้จากสาธารณชนมากกว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นทางการ
   
ผลการขาดทุนอะไรเท่าไหร่ ตัวเลขของมูดี้ส์ไม่ตรงกับของทางการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ท่านบอกว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลย่อมขาดทุนแน่นอน เพราะเป็นการซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูง เพื่อช่วยพยุงสร้างรายได้แก่เกษตรกร แต่จะต้องระบายออกในราคาใกล้เคียงกับราคาตลาด อีกทั้งโครงการรับจำนำไม่ใช่เป็นโครงการที่แสวงหาผลกำไร ดังนั้น การขาดทุนจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ตัวเลขการขาดทุนไม่น่าจะมากถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะใช้เงินสำหรับโครงการรับจำนำปี 54/55 รวม 2 รอบ 3.37 แสนล้านบาท และเงินที่คาดการณ์ว่าจะใช้ของปี 55/56 อีก 3.02 แสนล้านบาท ขณะที่การคืนเงินจากการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กระทรวงการคลังนั้น ยังถือว่าใกล้เคียงกับแผนที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด แต่อาจล่าช้าบ้างเพราะผู้ซื้อยังขนข้าวไม่หมด
   
ก็อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า เรื่องนี้ยังต้องเถียงกันไปอีกนาน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรลืมคำเตือนของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ที่มา.สยามรัฐ
========================================

สรรพากร เตรียมรับศึกหนัก แจงเก็บ VAT- ภาษีนิติบุคคลยอดลดลง !!?

“สรรพากร” เตรียมรับศึกหนักจัดเก็บรายได้ครึ่งปีหลัง เผยภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับลดลง ล่าสุด รายได้ 8 เดือนแรกงบปี 56 รายได้โตแค่ 2.72% พร้อมแจงเก็บแวตได้ลดลง
     
       นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2556 ว่า กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้ได้จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือ 2.72% ในจำนวนนี้ เป็นรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 2.08 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10.93% ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ประมาณ 2.89 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.93 หมื่นล้านบาท หรือ 6.27% ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 4.69 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3.2 พันล้านบาท หรือ 0.69%
     
       นอกจากนี้ ยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บได้จำนวนประมาณ 1.04 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.78 หมื่นล้านบาท หรือ 20.63% ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้ 3.16 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5.6 พันล้านบาท หรือ 21.78% อากรแสตมป์ 8.46 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.47 พันล้านบาท หรือ 21.17% และรายได้อื่นๆ 183 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 24 ล้านบาท หรือ 15.70%
     
       ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ในเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่า จัดเก็บได้ 2.9 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือ 4.28% ส่วนสำคัญเป็นผลจากยอดการจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคล ซึ่งปรากฏยอดการจัดเก็บรายได้ จำนวน 1.14 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 18.03% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จัดเก็บได้ 5.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.5 พันล้านบาท หรือ 7.56%
     
       “ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงเป็นผลจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 23% แต่เราก็มีรายได้ตัวอื่นมาทดแทน ทำให้ยอดรวมการจัดเก็บ 8 เดือน ยังเกินกว่าเป้าหมาย 2.9 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าทั้งปีเรายังจะจัดเก็บได้ตามประมาณการ ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงนั้น เป็นเพราะภาษีที่เก็บจากการนำเข้าลดลง แต่ภาษีที่เก็บจากการบริโภคในประเทศยังเป็นไปตามเป้าหมาย” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
     
       นายสาธิต กล่าวว่า กรมสรรพากรยังเหลือศึกหนักจากการจัดเก็บรายได้นิติบุคคลในครึ่งปีหลัง เพราะเป็นช่วงของอัตราภาษีที่ลดลงเหลือ 20% อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ใช้นโยบายในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการล่วงหน้า เพื่อประเมินรายได้ทั้งปีของผู้ประกอบการ โดยนำรายได้ของปีก่อนๆ มาอ้างอิง ซึ่งจะทำให้กรมฯ สามารถรู้ยอดรายได้ที่จะเข้ามาว่าจะมีจำนวนเท่าใด เมื่อเราตามติดอย่างใกล้ชิด จะทำให้การยื่นภาษีที่ผิดปกติมีน้อยลง

ที่มา.ผู้จัดการ
--------------------------------------------------

เงิน 5 ล้านล้าน ในมือรัฐบาล !!?

คอลัมน์ สามัญสำนึก

เรียกได้ว่าต่อแต่นี้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีเม็ดเงินรองรับการใช้จ่ายและลงทุนร่วม 5 ล้านล้านบาท เพราะนอกจากเงินงบประมาณที่สภาเพิ่งผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท รัฐบาลยังมีเงินกู้จาก พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่อยู่ในมือนักการเมือง ทำให้เกิดความเป็นห่วงในวิธีการใช้เงิน โดยเฉพาะประเด็น "ทุจริตคอร์รัปชั่น" คงจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่คงทวีความรุนแรงขึ้นตามเม็ดเงินการลงทุน

แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการลงทุน หลังจากที่ประเทศไทยห่างหายจากการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์มานาน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้รับการแก้ไข หรือตรวจสอบในระดับเข้มข้น แน่นอนว่าจะทำให้ความคุ้มค่าการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐลดทอนไปตามลำดับ ทั้งความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือผลต่อการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ "บรรยง พงษ์พานิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร หนึ่งในนักธุรกิจที่ประกาศจุดยืนต่อต้านคอร์รัปชั่นระบุว่า นอกจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนของรัฐบาล "ล้มเหลว" ก็คือ การตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานข้อมูลที่ผิดพลาด

แต่ประเด็นนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดพลาดในการประเมินข้อมูลของทางการ หรือว่าเป็นความตั้งใจทำข้อมูลให้สวยหรูเพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุน

เช่นบทเรียนจากโครงการ "แอร์พอร์ตลิงก์" ที่มีการใช้เงินลงทุนไปราว 4 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.6 แสนคนต่อวัน แต่ข้อเท็จจริงมีแค่ 4 หมื่นคนต่อวันเท่านั้น

ผลที่ออกมาคือ การดำเนินโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ประสบปัญหาขาดทุน เฉลี่ยเดือนละเกือบ 2 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าที่ประมาณการก่อการลงทุนมาก

จึงเกิดคำถามต่อว่า ข้อมูลที่รัฐบาลประมาณการผู้ใช้บริการเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนนั้น อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ-หนองคายที่รัฐบาลต้องใช้งบฯลงทุนราว 1.79 แสนล้าน โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยราว 4.1 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่มี

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูลแย้งว่า ณ ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินเข้าสู่ 6 จังหวัดภาคอีสานวันละกว่า 3 พันคนเท่านั้น และประชาชนที่เดินทางโดยรถทัวร์เข้าสู่อีสานอีกประมาณ 4-5 หมื่นคนต่อวัน

ขณะที่กระทรวงคมนาคมประเมินว่า จะมีคนนั่งไฮสปีดเทรนไปหนองคายจังหวัดเดียววันละกว่า 4 หมื่นคนน่าจะสูงเกินจริง ? และที่สำคัญอัตราค่าโดยสารไฮสปีดเทรนก็ไม่ได้ต่ำจนที่จะทำให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเดินทางด้วยไฮสปีดเทรนเป็นว่าเล่นได้ทุกวัน

หากข้อมูลเพื่อการลงทุนของภาครัฐไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริงเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อความคุ้มค่าการลงทุนโครงการของภาครัฐ ที่อาจกลายเป็นเพียงแค่การละเลงงบประมาณโดยที่ไม่มีใครตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ภาครัฐนำมาใช้อ้างอิง "ไม่ถูกต้อง"

แล้วจะมีใครสนใจว่า เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่อยู่ในมือรัฐบาลนั้น ที่สุดแล้วจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้มากแค่ไหน ตามที่โฆษณาชวนเชื่อไว้

หรือไม่ เพราะวันนี้ทุกฝ่ายขอเพียงแค่ให้รัฐบาลควักเงินออกมาใช้ไม่ว่าจะใช้แบบไหน เพื่อหวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติ

นาคิน-ภัทร กล่าวว่า การลงทุนของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าการลงทุนจะดีจะเลวแบบไหน ในระยะสั้นจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกคนได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่การลงทุนที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นจะทำให้ประเทศอ่อนแอลงเรื่อย ๆ แบบไม่รู้ตัว...

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------------

น่าจะได้เวลา กลับสู่สามัญแบบทันสมัย !!?

โดย ไสว บุญมา
คอลัมน์ ระดมสมอง

ในช่วงเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้รับการยกย่องว่าพัฒนาได้รวดเร็วที่สุดในโลก เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรากว่าร้อยละ 10 ต่อปีติดต่อกันเป็นเวลานาน ถนนหนทางถูกสร้างขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ตึกรามขนาดใหญ่เปลี่ยนสภาพบ้านเมืองให้ดูทันสมัยไม่ต่างกับในประเทศที่ก้าว หน้ามาก่อน

ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มก้าวเข้าสู่สภาพกินดีอยู่ดีและมี เศรษฐีเกิดขึ้นรายวัน ข่าวเรื่องชาวจีนไปกว้านซื้อสินค้าราคาแพงในตลาดโลกเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเหล้าองุ่นราคาขวดละหลายแสนบาท รถยนต์ราคาคันละหลายสิบล้านบาท หรือเพชรนิลจินดาที่แทบไม่ต้องถามราคากัน

ฉะนั้นมันจึงดูจะขัดความ รู้สึกอยู่บ้าง เมื่อนิตยสาร Bloomberg Businessweek ประจำวันที่ 6-12 พฤษภาคมที่ผ่านมา พาดหัวบทความหนึ่งว่า "ชาวจีนเครียดพากันไปอยู่ในป่าเขา" แล้วให้เหตุผลสั้น ๆ ก่อนที่จะเสนอรายละเอียดว่า เพราะ "อากาศเลว อาหารเลว จราจรเลว สิ่งเหล่านี้ไม่มีในมณฑลยูนนาน"

เหตุผลสั้น ๆ นั้นน่าจะกระจ่างพอสำหรับผู้ที่ติดตามความเป็นไปในจีนหลาย ๆ ด้าน สื่อรายงานไม่ขาด เรื่องอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เรื่องอาหารขาดมาตรฐานทางคุณค่าและสุขอนามัย เรื่องความแออัดและความติดขัดของการจราจรตามเมืองใหญ่ ๆ เรื่องการแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการหารายได้ หรือในด้านการบริโภคแบบสุดโต่งเพื่อโอ้อวดสถานะทางสังคม

มณฑลยูนนาน ไม่มีสิ่งเหล่านั้นเพราะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของการพัฒนา และความก้าวหน้าร่วมสมัย โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เมืองขนาดยักษ์ เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ยังไม่เกิด โรงงานขนาดใหญ่ เช่น ในแถบตะวันออกของประเทศ ก็ไม่มี ป่าไม้และภูเขายังไม่ถูกทำลาย สายน้ำลำห้วยยังใสสะอาด และอากาศยังปราศจากหมอกควัน

ชาวจีนผู้มอง เห็นโทษของความก้าวหน้า เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญกว่าความทันสมัยของชีวิตในเมืองขนาดใหญ่ในย่าน ตะวันออกของประเทศ พากันอพยพไปตั้งหลักแหล่งในมณฑลยูนนาน แม้มันจะอยู่ห่างจากนครปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้หลายพันกิโลเมตรก็ตาม

บท ความนั้นยกตัวอย่างผู้จัดการโรงงานในย่านนครเซี่ยงไฮ้คนหนึ่ง ซึ่งอายุเพียง 28 ปี และมีรายได้สูง เขาขายสมบัติ เช่น ห้องชุด และรถยนต์ เมื่อ 6 ปีก่อน แล้วอพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่อยู่ในเมืองเล็ก ๆ ทางตะวันตกของมณฑลยูนนาน ชื่อ ลิเจียง ซึ่งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้เกือบสามพันกิโลเมตร

เขา เลี้ยงชีพด้วยการทำบ้านพักแรมเล็ก ๆ สำหรับผู้ไปพักผ่อนชั่วคราว เพื่อสูดอากาศอันบริสุทธิ์ และชมทิวทัศน์อันงดงามของลิเจียง ซึ่งอยู่ ณ ตีนเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 5.6 กิโลเมตร

ย้อนไป 15 ปี แทบไม่มีใครจากภายนอกเข้าไปตั้งหลักแหล่งในลิเจียง แต่ ณ วันนี้ ร้อยละ 95 ของประชากรราว 2 หมื่นคนของเมืองนี้เป็นผู้ที่ลี้ภัยความก้าวหน้ามาจากส่วนต่าง ๆ ของจีน ลิเจียง เป็นหนึ่งในหลายเมืองของมณฑลยูนนานที่กำลังเป็นที่นิยมของชาวจีนที่มีความ คิดเช่นเดียวกับผู้จัดการโรงงานดังกล่าว

สำหรับผู้ติดตามวิวัฒนาการด้านการพัฒนามาเป็นเวลานาน ปรากฏการณ์ที่ เกิดขึ้นในจีนนั้นมิใช่ของใหม่ เนื่องจากมันเกิดขึ้นในหลายส่วนของโลกที่พัฒนาก้าวหน้ามาก่อนจีน แต่เรื่องราวของพวกเขามักไม่เป็นข่าว เนื่องจากจีนพัฒนารวดเร็วกว่าพวกเขามาก พร้อมกับมีผู้คนมากกว่าพวกเขานับสิบนับร้อยเท่าด้วย

ผลพวงทางด้าน ลบของการพัฒนาที่เกิดขึ้นในจีน จึงมองเห็นได้อย่างเด่นชัดในช่วงเวลาอันสั้น และชาวจีนที่ลี้ภัยจากผลพวงนั้นก็เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างรวดเร็วด้วย ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นที่ประจักษ์ต่อนักพัฒนาและชนชั้นผู้มีการศึกษาสูง ของโลก แต่นโยบายของทุกประเทศยังมุ่งไปที่การพัฒนาให้ก้าวหน้าดังที่ทำกันมานับ ศตวรรษ

แทนที่จะหยุดคิดสักนิดหนึ่ง ว่าการพัฒนาที่ทำกันมานั้นมีผลจริง ๆ อย่างไร

คงด้วยเหตุนี้ เมื่อมีผู้ถามท่านทะไล ลามะ ว่า "อะไรที่มนุษยชาติทำให้ท่านแปลกใจที่สุด" ท่านตอบว่า "มนุษย์ยอมเสียสุขภาพเพื่อหาเงิน แล้วก็ยอมเสียเงินเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ"

กระบวน การและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น อาจมองได้ว่าอยู่ในลักษณะของสามเหลี่ยม นั่นคือย้อนไปในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า และการพัฒนายังไม่ก่อให้เกิดรายได้ถึงขนาดที่ใช้บริโภคกันแบบสุดโต่ง อย่างกว้างขวาง

สังคมต่าง ๆ ตั้งอยู่ ณ จุด A หลังเกิดเทคโนโลยีใหม่ ทุกสังคมตะเกียกตะกายเพื่อจะไปยังจุด B ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่เอื้อให้คนส่วนใหญ่สามารถบริโภคได้แบบสุด โต่ง แต่การตะเกียกตะกายนั้น ทำลายทั้งสุขภาพของบุคคลและความสมดุลของโลกจากความเครียด จากการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จากความแออัด และจากการบริโภคแบบสุดโต่ง

กระบวนการนี้มีผู้มองเห็นว่าไม่คุ้มค่า พวกเขาจึงพากันกลับไปใช้ชีวิตจำพวกที่ไม่ต้องมีสิ่งต่าง ๆ ดังที่จุด B มีอยู่ หรืออาจเรียกว่าพวกเขาพยายามกลับไปสู่สามัญก็น่าจะได้

แต่ เนื่องจากพวกเขาเข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากกว่าผู้คนในสมัยที่ยังไม่เริ่มกระบวน การพัฒนาจาก A ไปยัง B พวกเขาจึงเคลื่อนไปอยู่ ณ จุด C ซึ่งไม่มีการบริโภคแบบสุดโต่ง อันเป็นปัจจัยหลักของการทำลายสุขภาพของตัวเอง และทำลายความสมดุลของโลก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ อาจพูดได้ว่ามีผู้คนไม่เกินร้อยละ 0.01 ที่ตระหนักในกระบวนการดังกล่าว และพยายามดำเนินชีวิตแบบที่อยู่ ณ จุด C ส่วนที่เหลือร้อยละ 99.9 ไม่ใส่ใจ จึงยังตะเกียกตะกายหาเงิน แม้การหานั้นจะทำลายสุขภาพ ทำให้ต้องใช้เงินที่หามาได้ทำลายทรัพยกรโลกต่อไปเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

ในขณะเดียวกัน การหารายได้นั้นก็ทำลายทรัพยากรโลก ส่งผลให้ต้องใช้ทรัพยากรของโลกเพื่อฟื้นฟูความสมดุลของโลกอีกทอดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้

จึงอาจสรุปได้ว่า การพัฒนาที่ผ่านมา มิได้วางอยู่บนฐานของปัญญา มันจึงกำลังพาโลกไปสู่ความล่มสลายก่อนเวลาอันควร นอกเสียจากว่า คนส่วนใหญ่จะพากันกลับไปสู่สามัญในเร็ววันขึ้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------------------------

ถวิล เปลี่ยนสี ดิ้นสู้คืนตำแหน่งเก้ออี้เลขาฯสมช. ยิ่งลักษณ์. ยื้อถึงฎีกา !!?

เป็น เวลากว่า 1 ปี 8 เดือน ที่ "ถวิล เปลี่ยนสี" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ตำแหน่ง "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" (สมช.) กลับคืนมา หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งโยกเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 เพื่อเปิดทางให้คนที่รัฐบาล "ไว้ใจ" มาคุมหน้าที่งานด้าน "ข่าวกรอง" แทน

แต่พลันที่ศาลปกครองกลางมีคำ สั่งเพิกถอนคำสั่งโยกย้ายดังกล่าว "ถวิล" ก็ลุกจากกรุขึ้นมาทวงความชอบธรรมที่สูญเสียไป ด้วยการขอกลับไปนั่งเก้าอี้เลขาฯ สมช.ตามเดิม และปฏิเสธที่จะไม่ขอไปนั่งไลน์ปลัดกระทรวง แม้จะเป็นตำแหน่งระดับ 11 เท่ากันก็ตาม

หากปฏิบัติการทวงคืนเก้าอี้ของ "ถวิล" มิใช่ของง่าย เพราะ "ถวิล" ถูกมองว่าเป็นข้าราชการต่างขั้วอำนาจ เป็นเด็กของ "พรรคประชาธิปัตย์" หากให้ "ถวิล" มานั่งเลขาฯ สมช. อาจกลายเป็น "หอกข้างแคร่" คอยทิ่มแทงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เพราะที่ผ่านมา "ถวิล" เคยเดินขึ้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ปากคำกรณี "ชายชุดดำ" ว่าเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของคน 91 ศพ ในเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 ทั้งที่ฝ่ายคนเสื้อแดงและคนในพรรคเพื่อไทยต่างออกมาถามว่า "ใครคือชายชุดดำ"

สำคัญกว่านั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้คืนตำแหน่งของ "ถวิล" นั่นคือ "พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร" เลขาฯสมช.คนปัจจุบัน ที่ถูกมองว่าเป็นสายตรงของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ผู้มีบารมีตัวจริงในพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด ย่อมเลือกหนทาง "ยื้อ" จนถึง "ฎีกา" ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน ตามกฎหมายที่เปิดช่องเอาไว้

"พิชิต ชื่นบาน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรค และยังเป็นทีมกฎหมายส่วนตัวของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ออกมาย้ำความคิดของรัฐบาลว่า "พล.ท.ภราดร" เลขาฯ สมช.คนปัจจุบัน ทำหน้าที่แข็งขันกว่า "ถวิล" ในเรื่องปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นรัฐบาลควรยื่นอุทธรณ์

"ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง แล้ว พบว่าไม่มีการระบุว่าการโยกย้ายเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง เพียงแต่มีการรีบเร่ง ซึ่งข้อเท็จจริงคือรัฐบาลต้องการปรับเปลี่ยนเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะนั้น โดยฝ่ายบริหารคิดว่าจะต้องเอาคนที่เหมาะสมเข้ามาดูแลสถานการณ์แทน ซึ่งเลือกไปที่ พล.ท.ภราดร"

อย่าง ไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลหวังเล่นเกมยื้อคืนเก้าอี้เลขาฯ สมช. โดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แล้วรอจนกว่าศาลจะตัดสิน เพื่อให้ "ถวิล" เกษียณอายุราชการไปก่อน

เหมือนครั้งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เล่นเกมยื้อคืนตำแหน่งให้กับ "พีรพล ไตรทศาวิทย์" อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกเด้งเข้ากรุไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กว่าศาลปกครองจะตัดสิน "พีรพล" ก็อำลาราชการไปแล้ว

แต่ครั้งนี้การ เดินเกมยื้อของ "ยิ่งลักษณ์" อาจยากกว่ายุค "อภิสิทธิ์" เพราะ "กล้านรงค์ จันทิก" กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ช่องให้ "ถวิล" สามารถแจ้งข้อกล่าวหา "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อ "ยิ่งลักษณ์" ได้ทันที หากนายกฯไม่ยอมคืนเก้าอี้เลขาฯ สมช.

จึงต้องจับตาดูว่ามหากาพย์ เก้าอี้เลขา สมช.จะลงเอยอย่างไร เพราะย้อนไปกว่า 1 ปี 8 เดือนที่ "ถวิล" ต้องพ้นจากเก้าอี้ เนื่องจากฝ่ายการเมืองต้องการ "ขยับ" เก้าอี้ "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ซึ่งขณะนั้นเป็นของ "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" เพื่อเปิดทางให้ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์" พี่ชาย "คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์" อดีตภรรยาของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แทนที่ "พล.ต.อ.วิเชียร"

รัฐบาล ยิ่งลักษณ์จึงต้องหมุนวงรอบการโยกย้าย โดยให้ "ถวิล" ลุกออกจากเก้าอี้เลขาฯ สมช. เพื่อเปิดช่องให้ "พล.ต.อ.วิเชียร" ได้ย้ายจาก ผบ.ตร.มานั่งเลขาฯ สมช.

ก่อนจะเด้ง "ถวิล" เข้ากรุสำนักนายกฯ

และพลันที่ ตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมว่างลงในปีต่อมา ครม.ยิ่งลักษณ์ก็ย้าย "พล.ต.อ.วิเชียร" มานั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม แล้วจึงหยิบชื่อ "พล.ท.ภราดร" ขึ้นมาจากกรุในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ขึ้นมาเป็นเลขาฯสมช. อันมีผลเมื่อ 1 ตุลาคม 2555

ท่ามกลางแรงการเมืองที่ผันผวน ปัญหาไฟใต้ยังไม่มีท่าทีเบาบางลง แม้รัฐบาลจะเปิดเวทีพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีหน่วยงาน สมช.เป็นตัวจักรสำคัญ มี "พล.ท.ภราดร" เป็นหัวหอก

การที่ศาลปกครอง กลางเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกฯที่โยกย้าย "ถวิล" พ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน 2554 อันมีผลให้ "ถวิล" กลับเข้าสู้เก้าอี้เลขาฯ สมช.

อันเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกอาจมีผลต่อการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ มีผลต่อการวางหมากทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย

นี่เป็นที่มาของมหากาพย์การช่วงชิงเก้าอี้เลขาฯ สมช. ที่กินเวลาการต่อสู้ยาวนานเกือบ 2 ปี

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------------------

จับตา : การประชุมเศรษฐกิจนานาชาติ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จะเริ่มขึ้นในอีก 15 วัน

สาระสำคัญของจัดการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) ปี 2556 คือ “การหาทางออกเพื่อสร้างเศรษฐกิจโลกยุคใหม่” ('Finding Resolve to Build the New Global Economy')

ผู้เข้าร่วมการประชุมจะประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตัวแทนด้านการเมือง ภาคธุรกิจ และด้านการเงินจากประเทศชั้นนำทั่วโลก เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะหารือกันเกี่ยวกับแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและยั่งยืนสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง

          ในปีนี้ ผู้บริหารจากบริษัทรายใหญ่ใหญ่หลายแห่งซึ่งติดอันดับของนิตรสารฟอร์บและฟอร์จูน ได้ยืนยันเข้าร่วมการประชุม SPIEF เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วย นายเจอร์เกน ฟิทส์เชิน (ธนาคารดอยช์แบงก์ เอจี), นายคลอส เคลนเฟล์ด (อัลโค อิงค์), นายฮูเบอร์ตัส ฟอน กรึนเบิร์ก (เอบีบี กรุ๊ป), นายแพทริก ครอน (อัลสตอม กรุ๊ป), นายโจฮันเนส เทย์สัน ((E.ON SE),นายจอห์น ที แชมเบอร์ส (ซิสโก ซิสเต็ม อิงค์), นายอีแวน กลาเซนเบิร์ก (เกลนคอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, นายไมเคิล เดล (เดล อิงค์), นายเร็กซ์ ดับเบิลยู ทิลเลอร์สัน (เอ็กซอนโมบิล คอร์เปอเรชั่น), โรเบิร์ต ดัดลีย์ (บีพี จำกัด), พาล กิบสการ์ด (ชลัมเบอร์เกอร์ ลิมิเต็ด), ไมเคิล แอล คอร์แบต (ซิตี้กรุ๊ป อิงค์), พอล โพลแมน (ยูนิลีวอร์ เอ็นวี), เฮอร์มาน เกรฟ (สเบอร์แบงก์), อเล็กซีย์ มิลเลอร์ (ก๊าซพรอม โอเจเอสซี), อิกอร์ เซคชิน (รอสแนฟ ออยล์ คอมพานี), วาจิท อเล็กเปรอฟ (ลุคออยล์ โอเจเอสซี) และผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ

          กำหนดการอย่างเป็นทางการของการประชุม SPIEF จะมุ่งเน้นที่ประเด็นหลักๆ ดังนี้ “ประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก” (The Global Growth Agenda), “รัสเซียในประเด็นระดับโลก” (Russia in the Global Agenda), “แรงกระตุ้นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (New Catalysts for Change) และ “การสนทนาเพื่อสร้างความแตกต่าง” (Conversations to Make a Difference)

          เนื่องจากรัสเซียรับเป็นประธานการประชุม G20 ดังนั้นในวันที่ 20 มิถุนายนในปีนี้ SPIEF จึงจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดทางธุรกิจ B20 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาที่จะมาประชุมร่วมกันเพื่อทำงานด้วยวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลก สร้างงานใหม่ และปรับปรุงระบบการคลังและการเงิน โดยประเด็นดังกล่าวจะนำเสนอในที่ประชุมสุดยอด G20 ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก การประชุมครั้งนี้จะเป็นสถานที่จัดการประชุมทางธุรกิจระหว่างรัสเซียและกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้นำทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ได้มีส่วนในการสร้างวาระการประชุมระดับโลก

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
-------------------------------------------------------------

นายสมชัย สัจจพงษ์ ติง มูดีส์ ใช้ตัวเลขรับจำนำข้าวผิดพลาด. !!?

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า ที่ประชุม ฯไม่ได้หารือกรณีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ทำหนังสือสอบถามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย

และเตรียมปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตของประเทศลง จากการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นภาระทางการคลัง และทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น

ผอ.สศค. ยังได้กล่าว ตำหนิการทำงานของมูดี้ส์ ที่นำข้อมูลที่ผิดพลาดมาพิจารณา ในการรายงานข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งกรณีนี้ สศค.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว เพื่อทำหนังสือชี้แจงให้มูดี้ส์รับทราบอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงทำให้กระทรวงการคลังขาดข้อมูลในการชี้แจงต่อมูดี้ส์ แต่ยอมรับว่าการรวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำเป็นเรื่องยาก เพราะกระทรวงการคลังรับทราบเพียงข้อมูลเงินกู้ที่ใช้ในโครงการจำนวน 4.1 แสนล้านบาท และสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. อีก 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 5 แสนล้านบาทเท่านั้น

เบื้องต้นกระทรวงการคลังจะชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการรับจำนำข้าวรอบใหม่ ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร และจะใช้เงินจากส่วนใด เพราะมูดี้ส์จับตามองว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าว ซึ่งทำให้ฐานะการคลังของประเทศมีปัญหา และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ถูกลดเครดิต

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
----------------------------------------------

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อินเดีย : โอกาสและข้อจำกัด !!?

คอลัมน์ คิดนอกรอบ

ประเทศที่กำลังส่องแสงเจิดจรัสเตะตานักลงทุนจากทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ "อินเดีย" เป็นอีกประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว และเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีน และญี่ปุ่น แต่นับเป็นอันดับ 10 ของโลก

ปัจจัยสำคัญที่สร้างโอกาสให้แก่อินเดีย ประการแรก คือการเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนกว่า 1,200 ล้านคน ประการที่สอง คือเป็นประเทศที่ยังอุดมด้วยทรัพยากร และมีพื้นที่มาก ประการที่สาม คืออัตราการเติบโตของรายได้ประชากรในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้หลายปีที่ผ่านมา สภาพเมืองในชนบทจะล้าหลัง มีความเจริญน้อยมาก แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไป และด้วยเหตุผลอีกนานัปการ ทำให้อินเดียหรือดินแดนภารตะแห่งนี้กลายเป็นประเทศที่ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวผู้พิสมัยการผจญภัยจากทั่วทุกสารทิศจะชมชอบเดินทางไปท่องเที่ยว และแสวงหาความหมายของชีวิตเท่านั้น

สำหรับนักลงทุนทั่วโลกต่างหมายตามองดินแดนแห่งนี้อย่างมีความหวัง เนื่องเพราะเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญที่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล

"อินเดีย" วันนี้จึงมีทั้ง "โอกาส" และ "ข้อจำกัด" อยู่ที่ว่าใครจะสามารถพิเคราะห์มองเห็นความเป็นไป และแปรเปลี่ยนให้เป็น "ความจริง" ได้

แม้ลู่ทางการลงทุนในอินเดียดูสดใสเปิดกว้าง แต่ใช่ว่าจะไร้ซึ่งปัญหาอุปสรรคเสียทีเดียว เพราะอินเดียยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากการที่เศรษฐกิจอินเดียมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ดังนั้น ปัจจัยภายนอกจึงส่งผลกระทบต่ออินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา วิกฤตด้านราคาอาหาร และเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อสภาวะเงินเฟ้อในอินเดีย ที่กลายเป็นปัญหาทางสังคมและการเมือง ที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขต่อไป รวมถึงยังมีปัญหาและอุปสรรคอื่น ๆ อีกมาก

ทั้งนี้ อุปสรรคปัญหาที่ถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่น ๆ 2.การขาดแคลนพลังงาน 3.ความล่าช้าในการผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุน 4.อัตราเงินเฟ้อ ปี 2553 สูงถึงร้อยละ 12 ก่อนจะลดลงบ้างในปีถัดมา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเผชิญอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง "พลังงาน" ธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานอาจต้องมีแผนการรองรับด้วยการมีเครื่องสำรองไฟไว้ เพราะปัจจุบันอินเดียมีไฟฟ้าไม่พอใช้ ในบางพื้นที่ถูกตัดไฟถึงเดือนละ 15 วัน แผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในอินเดียไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างต่อไปได้ เนื่องจากถูกชาวบ้านออกมาประท้วง

อีกประเด็นหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน คือปัญหาการถือครองที่ดินซึ่งมีความซับซ้อนมาก แม้กระทั่งปัญหาแรงงานภายใต้ผู้คนที่มีความหลากหลาย ในหลักศรัทธาความเชื่อและพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องภาษา อินเดียมีภาษาฮินดีเป็นภาษาทางการ แต่ในความเป็นจริง รัฐในอินเดีย ซึ่งมี 27 รัฐนั้น มีภาษาพูด และนับถือศาสนาที่

แตกต่างกัน และในด้านสภาพสังคมนั้นก็เป็นประเทศที่มีทั้ง "วรรณะ" และ "ชนชั้น" ซึ่งในแต่ละวรรณะและชนชั้นนั้นก็มีการแบ่งแยกระดับแตกต่างกันอีก พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไป

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนเข้าไปลงทุน

ในส่วนของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มเข้าไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในอินเดียตั้งแต่ปี 2533 หรือกว่ายี่สิบปีมาแล้ว โดยในปี 2535 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลอินเดียให้ก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารกุ้งที่เมืองเชนไน (Chennai) จนถึงปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในฐานการลงทุนสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์

เส้นทางสู่แดนภารตะของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูล โดยมีข้อมูลจากทางราชการของอินเดีย และจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินใจควบคู่ไปกับการเข้าไปสำรวจพื้นที่ สำรวจตลาด รวมถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอินเดีย มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อไป แม้ว่าความเร็วของการเติบโตจะชะลอตัวลงบ้าง แต่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญต่อการสานต่อนโยบาย และให้ความสำคัญต่อ 3 ประเด็น คือการสนับสนุนรายได้เกษตรกร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการลดแรงกระตุ้นสภาวะเงินเฟ้อ

ภายใต้ "วิกฤตย่อมมีโอกาส" ภายใต้ ความสับสนอลหม่านย่อมถูกขจัดได้ด้วย

"ข้อมูล" ที่ถูกต้องแน่ชัด เพียงแต่นักลงทุนจะ "เปิดใจ" และพร้อมเรียนรู้ศึกษาปัจจัยรอบด้านเกี่ยวกับอินเดีย เพื่อ

ปรับแนวทางการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ ได้อย่างไร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

อัพเกรดเชียงใหม่เมืองลองสเตย์ โยง ท่องเที่ยว 4 จังหวัด !!?



กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ผลักดันธุรกิจลองสเตย์เต็มที่ วางเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เผยญี่ปุ่นย้ายมาปักหลักแล้วกว่า 3 หมื่นคน คาดจะเติบโตอีก 20% ชี้กฎระเบียบภาครัฐและภาษายังเป็นอุปสรรค เอกชนชี้ต้องแบรนดิ้งเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางเมืองลองสเตย์ ดันรายได้พุ่งปีละหมื่นล้าน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ มีข้อได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละหลาย 10 ล้านคน ดังนั้นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) มีความพร้อม สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว หรือ Long Stay ในอนาคตได้ โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ไปยังทุกจังหวัดในกลุ่ม

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือการแพทย์ (Medical Tourism) เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกลุ่มจังหวัด โดยให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในภูมิภาค ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจทุกกลุ่ม เช่น โรงพยาบาล คลินิก บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม สถานพักฟื้น นวดแผนไทย สปา

ในอนาคตอันใกล้จะมีผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเดินทางมาพำนักที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ปัจจุบันเข้ามาพำนักอยู่แล้ว 3,800-4,000 คน และยังมีผู้สูงอายุประเทศอื่นอีกในสัดส่วนใกล้เคียงกัน จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุหรือวัยปลดเกษียณชาวญี่ปุ่นมีประมาณ 8 แสน-1 ล้านคน และมีผู้ที่อายุเกิน 60 ปีในญี่ปุ่นประมาณ 7-8 ล้านคน โดยสัดส่วน 18% จะชอบเดินทางไปพำนักในประเทศอื่น ๆ ดังนั้น

จะต้องทำให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ชาวญี่ปุ่นจะต้องเดินทางมาท่องเที่ยวให้ได้

ด้านนายวิทยา ฉุยกลัด ผู้ช่วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นมาพำนักอาศัยในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กว่า 3 หมื่นคน ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด ขณะนี้ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเข้าใจตลาดลองสเตย์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับภาคธุรกิจ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ การบริการสุขภาพ อาหาร ที่พัก สันทนาการ การขนส่ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดลองสเตย์ทั้งในและต่างประเทศได้

"โครงการจะเน้นการประชุมพบปะกันระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจลองสเตย์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กับตัวแทนชาวญี่ปุ่นที่พำนักในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ พร้อมทั้งมีโครงการคัดเลือก

โรงพยาบาล ที่พัก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการสุขภาพ อาหาร ฯลฯ ประมาณ 30 คน ไปร่วมทริปสำรวจศักยภาพ และจับคู่ธุรกิจลองสเตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น"

ขณะที่นายเฉลิมชาติ นครังกุล ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 ญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 50% ของประชากร ทำให้เหลือวัยทำงานราว 30% ซึ่งในอนาคตเชียงใหม่จะเป็นเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น หรือจากประเทศทางตะวันตกที่จะมาพำนักเพิ่มขึ้น โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาธุรกิจลองสเตย์ เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต

นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 1 กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากศักยภาพของการเป็นเมืองน่าอยู่ ประกอบกับแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลก รวมทั้งแรงกระตุ้นจากค่าครองชีพและภัยพิบัติในญี่ปุ่น เป็นตัวเร่งให้จำนวนผู้พำนักระยะยาวในเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบภาครัฐ ภาษา และการตลาด

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะสั้นคือจังหวัดเชียงใหม่ต้องเร่งสร้างแบรนด์เชียงใหม่ให้เป็นที่จดจำ และเป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรกในใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5 พันล้านบาท ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ การกำหนดให้เชียงใหม่เป็นเมืองแรกที่นักท่องเที่ยวจะนึกถึงสำหรับการท่องเที่ยวแบบ Long Stay ในทวีปเอเชีย และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท

 ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------