--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปมทะเลจีนใต้ : สหรัฐฯ หวังผล 5 เด้ง !!?


สหรัฐ'หวังผล5เด้ง'ปมทะเลจีนใต้ "ภราดร"ย้ำมีความจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของชาติ

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ท่าทีและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยต่อกรณีสถานการณ์ในทะเลจีนใต้" เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการและความมั่นคงเข้าร่วมอภิปรายอย่างคับคั่ง

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความอ่อนไหวและกระทบต่อความมั่นคง ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับประเทศจีนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือต้องมีจุดยืนที่แสดงต่อประชาคมระหว่างประเทศ โดยต้องคำนึงถึงกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความร่วมมือทางการทหาร ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีการแสดงจุดยืนของประชาคมอาเซียนก่อนจึงจะแสดงท่าทีต่อจีนได้

นายประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้เริ่มดีขึ้นจากที่เคยขัดแย้งอย่างหนักถึงขั้นรบกันในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมีปฏิญญาว่าด้วยกรอบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ DOC แล้ว ทุกอย่างก็ดูดีขึ้น เริ่มมีการเจรจา เน้นในเรื่องของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง วิเคราะห์ว่ามาจากมิติทางเศรษฐกิจของทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐทำให้สถาณการณ์คุกรุ่นมากขึ้น

"การเข้ามาของสหรัฐเหมือนเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 5 ตัว คือ 1.เพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคนี้ 2.ปิดล้อมจีนทางทหาร 3.ยุให้จีนโกรธ 4.ทำให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และ 5.ทำให้อาเซียนแตกแยก ฉะนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยต้องรู้ว่าวาระซ่อนเร้นของสหรัฐคืออะไร ของจีนและคู่กรณีต่างๆ คืออะไร ขณะเดียวกันเราจะทำอย่างไรให้ทั้งจีนและสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดี หากไทยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทั้งสองได้ ก็จะกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้ง"
ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนต่างๆ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในทะเลจีนได้ แต่สุดท้ายปัญหาหมู่เกาะอาจทำให้ความสัมพันธ์พังลงได้ ส่วนประเทศไทยในฐานะผู้ประสานระหว่างอาเซียนกับจีน ต้องรักษาประโยชน์และวางตัวให้เหมาะสม พร้อมหาทางแก้ปัญหา โดยการเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

"วิธีการจัดการปัญหา ผมแนะนำว่าเราต้องมุ่งเจรจาเพื่อเปลี่ยน DOC ไปสู่การปฏิบัติเพื่อถ่วงเวลาทุกอย่างไว้ไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้ และจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct for the South China Sea หรือ CoC) ให้สำเร็จ ส่วนการสร้างไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ไทยต้องผลักดันนโยบายความโปร่งใสทางทหาร การแจ้งล่วงหน้าหากมีการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ มุ่งสู่การยุติความเคลื่อนไหวทางทหาร เพิ่มการแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางทหาร แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้คืออาเซียนไม่เป็นเอกภาพ เห็นได้จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปีที่แล้วก็มีความแตกแยกกัน จึงต้องเร่งให้เกิดการเจรจาโดยเร็ว" นายประภัสสร์ กล่าว

ขณะที่ นายชุมพร ปัจจุสานนท์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่พูดเรื่องเส้นเขตแดนหรือใครเป็นเจ้าของเขตแดน เพราะปัญหาจะไม่จบ แต่เมื่อทุกฝ่ายต้องการผลประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ก็ควรตกลงกันหรือแบ่งเค้กกันให้ชัดเจน

พล.ต.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร กล่าวว่า ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีมาก นักการศึกษาด้านความมั่นคงจะเห็นว่าโลกขณะนี้เป็นของเอเชียแปซิฟิก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาของภูมิภาค ย่อมเป็นปัญหาของประเทศด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

ต่างด้าวเป็นเจ้าของที่ดินในไทย !!?


ระบบการค้าเสรีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น  ซึ่งประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการและถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้  ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

หากเป็นบริษัทต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  สามารถซื้อที่ดินได้ แต่ต้องใช้เพื่อเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  และเมื่อเลิกประกอบกิจการก็ต้องขายที่ดิน นอกจากนี้ ชาวต่างด้าวยังสามารถซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่  โดยจะต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท  และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่าห้าปี   ทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยแสดงหลักฐาน คือ

1) หนังสือรับรองการลงทุนจากผู้ขายพันธบัตรว่า ได้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย

2) หนังสือรับรองการลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว่าได้ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักฐานการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว

3) หลักฐานการลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล และบัตรส่งเสริมที่แสดงว่านิติบุคคลดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

4) หลักฐานการลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล และหนังสือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ระบุว่ากิจการที่นิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการอยู่เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้

5) หลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร หรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุน

               ในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทต่างด้าวและชาวต่างด้าวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อาศัยช่องว่างของกฎหมาย  เช่น ตั้งเป็นบริษัทไทยและให้คนไทยถือหุ้นแทนและซื้อที่ดิน หรือคนต่างด้าวที่สมรสกับคนไทย  หรือการว่าจ้างให้คนไทยซื้อที่ดินและให้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับชาวต่างด้าว

                การที่ชาวต่างประเทศสนใจซื้อและถือครองที่ดินในประเทศไทยนั้น  มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน หากเป็นบริษัทต่างด้าวจะมุ่งการลงทุนในเชิงธุรกิจ เช่น การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การทำกสิกรรมขนาดใหญ่ และยังรวมถึงการขายเก็งกำไร  ส่วนชาวต่างด้าวที่เป็นเอกชนจะซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย  หรือเป็นบ้านพักตากอากาศ  และหากมีโอกาสก็อาจจะขายเพื่อทำกำไร

                รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถร่วมกันตรวจสอบการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเข้าข่ายการทำธุรกรรมอำพราง   ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในนิติบุคคลสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นจากนิติบุคคลไทยเป็นนิติบุคคลต่างด้าวหรือมีการเพิ่มทุนจนมีสภาพที่เป็นนิติบุคคลต่างด้าวแต่เคยรับโอนที่ดินในขณะที่เป็นนิติบุคคลไทย  นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ควรสอดส่องดูแล คนในท้องถิ่นที่มีพฤติการณ์ช่วยคนต่างด้าวหลีกเลี่ยงกฎหมาย หากมีการซื้อขายที่ดินในท้องที่ของตน

                การถือครองที่ดินโดยชาวต่างด้าวที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ   เพราะที่ดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต  และเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หากปล่อยให้ที่ดินถูกถือครองโดยคนต่างด้าวโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายในอนาคตอันใกล้ย่อมทำให้คนไทยได้รับความเดือดร้อน ต่อไปลูกหลานคนไทยจะมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินได้ยากขึ้น  อาจถึงขั้นต้องรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัย และเช่าที่ดินจากชาวต่างประเทศเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำมาหากิน

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายความรับผิดชอบ !!?


ในยุคนี้  องค์กรรัฐที่ใหญ่โตมหึมานั้นเป็นสิ่งล้าหลัง  ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว
   
องค์กรรัฐที่รวมศูนย์ก่อตัวขึ้นมาตามขั้นตอนพัฒนาการทางสังคม  มันเป็นสิ่งที่จำเป็นในช่วงการก่อตัวเป็นรัฐชาติ (nation state)  แต่ในยุคนี้  รัฐควรกระจายงานออกไป  ลดขนาดองค์กรรัฐ  เพื่อให้คล่องตัว  ทำงานได้รวดเร็ว  และบริการรับใช้พลเมืองในท้องถิ่นได้ตรงกับภาวะรูปธรรมของแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น
   
สังคมไทยเราก็เริ่มเกินหน้าเรื่องนี้มานานแล้ว  จนผู้คนคุ้นเคยกับคำว่า "กระจายอำนาจ"
แต่ในทางเป็นจริง  การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์  ยังไม่เป็นไปตามอุดมคติ
งานหลายอย่างที่ควรจะโอนให้ อปท.ไป  ก็ยังทำไม่ได้
อปท.บางแห่งก็มีการโกงกินกันอย่างหน้าด้าน ฯลฯ
ปัญหาการเรียกร้องส่วนแบ่งของเงินงบประมาณของ อปท. ขณะนี้  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด
   
เงินงบประมาณจำนวน 30%  จะต้องจัดสรรให้แก่ อปท. เป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนมานานแล้ว  แต่ทุกรัฐบาลดึงเรื่องเอาไว้  โดยอ้างว่า  ไม่มีเงินงบระมาณพอ
   
มันไม่ใช่เรื่อง  มีเงินหรือไม่มีเงิน
เงินงบประมาณมีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น  โดยรัฐบาลกลางมีสิทธิ์ใช้ 70%  ส่วนอีก 30% แบ่งให้ อปท.ใช้
รัฐบาลก็ต้องทำงานตามงบประมาณที่มีเท่านั้น  ทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น
   
ถ้า อปท.ได้งบประมาณไปตามข้อกำหนดคือ 30% แล้ว  ทำงานพัฒนาท้องถิ่นไม่ได้  ผู้บริหาร อปท.แห่งนั้นก็ต้องรับผิดชอบ
   
ถามว่าชาวบ้านเขากลัวไหม  เขาไม่กลัวหรอก  เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ อปท.ทำได้ง่ายกว่าตรวจสอบรัฐบาล  กระทั่งจะขับไล่ ผู้บริหารระดับ อปท. ก็ทำได้ง่ายกว่าขับไล่รัฐบาลเยอะ
   
เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย  รัฐบาลก็ควรให้สำนักงบประมาณเขาตัดเงินไปเลย 30%  แล้วรัฐบาลก็ทำงานตามที่มีเงินงบประมาณ  งานหลาย ๆ อย่างต้องโอนให้ อปท.ไป  
อย่าหวงเอาไว้เลย  ปล่อยไปเถิด  แล้วรัฐบาลจะสบายตัวขึ้นเยอะ
   
การเปลี่ยนแปลงงบประมาณในปี 2557 คงทำไม่ทัน  ก็ไม่เป็นไร  ทาง อปท.เขาก็คงมีเหตุมีผล  ยอมรับไปก่อนได้  ถ้ารัฐบาลให้คำมั่นสัญญาแน่นอนว่า  จะเริ่มจัดสรรงบประมาณให้ครบแน่เริ่มตั้งแต่ ปี 2557  เป็นต้นไป
   
ซึ่งต่อจากนั้น  อปท.ก็จะต้องรับผิดรับชอบกันเอาเองแล้ว
   
ถ้าทำตัวไม่ดี  ก็ให้คนท้องถิ่นจัดการเสียให้เข็ด  !!  

ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////

อดีต รมว.คลัง แนะแก้บาทแข็ง กิตติรัตน์-ประสาร ผนึกกำลัง เลิกตั้งป้อม !!?


เมื่อ ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ กระทบตรงถึงธุรกิจการส่งออก ร้อนถึงทุกองคาพยพที่รับผิดชอบต่อนโยบายการเงินการคลังของประเทศ จำเป็นต้องระดมสมองหาทางแก้ไข

ฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผู้รับผิดชอบโดยตรงชื่อ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รมว.คลัง และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำนำทัพโดย "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กินเวลาหลายเดือนที่ 2 องค์กรใหญ่ระดมสมอง เพื่อค้นหายุทธวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ที่สุด

"กิตติรัตน์" มีความเห็นให้ ธปท. ผลักดัน ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือเพื่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่ "ประสาร" เสนอมาตรการจากอ่อนไปถึงเข้มรวม 4 ข้อ เพื่อสกัดเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่จนถึงวินาทีนี้ "บาทแข็ง" ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกจากปาก 2 ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินการคลังของประเทศ
ปรากฏเพียงแต่ภาพงัดข้อประลองกำลังระหว่าง "กิตติรัตน์-ประสาร" ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ผู้เคยผ่านสมรภูมิรบ 2 องค์กรข้างต้น เคยเป็นทั้ง รมว.คลังคนแรกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเคยนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าการ ธปท. เพื่อวิเคราะห์หาทางออกอีกแรงหนึ่ง

ถามความเห็นเรื่องแรงกดดันจาก รมว.คลัง ถึงการปลดผู้ว่าการ ธปท. เขาบอก "no comment" และขอพูดแต่เรื่องปัญหาค่าเงินเพียงอย่างเดียวโดย ทั้งหมดเป็นความเห็น บทวิเคราะห์ล่วงหน้า 3 วัน ก่อนที่ "กิตติรัตน์" จะเรียกประชุมทุกหน่วยงานเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พ.ค. โปรดติดตามได้บรรทัดต่อจากนี้

- มอง 4 มาตรการที่เสนอโดย ธปท. อย่างไร

เมื่อ มองดูแล้วว่าโจทย์วันนี้เป็นเรื่องของบาทแข็ง 4 มาตรการนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ ผมคิดว่าสิ่งที่เขาเสนอเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมาตรการ capital control ที่ต้องการควบคุมเงินทุนไหลเข้าโดยตรง ซึ่งเป็นมาตรการที่ ธปท.ออกแบบจากอ่อนไปหาเข้มอยู่แล้ว ทั้งหมดสามารถทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ โดยประเมินปฏิกิริยาของนักลงทุนควบคู่ไปด้วย

ผมขอยกตัวอย่าง หากเราบังคับให้นัก ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ว่าต้องมีการคุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยน ผลตอบแทนที่เขาได้ก็จะน้อยลงทันที อาจเริ่มต้นคุ้มครอง 10-30% ก่อนที่จะไปถึง 100% แล้วสังเกตดูว่าเงินยังไหลเข้ามาหรือไม่ นี่คือการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และทำได้ทันทีโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย

- ถ้าดำเนินการตามข้อเสนอ ธปท. ก็ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย

ผม ว่าเรื่องมาตรการของ ธปท. และการลดดอกเบี้ย แยกส่วนเป็นอิสระต่อกัน ฉะนั้นการประชุมวันจันทร์จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่า เศรษฐกิจในต่างประเทศมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเศรษฐกิจภายในยังคงมีความร้อนแรงหรือเบาบางลง เมื่อได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน กนง.ก็อาจจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็ได้

สิ่ง ที่ ธปท.เสนอมา ทั้งการเก็บภาษี การบังคับให้เงินไหลเข้าต้องคุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยน ผมไม่มั่นใจว่าเป็นอำนาจของ ธปท.หรือไม่ แม้แต่การห้ามซื้อพันธบัตร ธปท. ก็อาจเป็นอำนาจของเขาหรือไม่ แต่ตามมารยาทการทำงาน ข้อเสนอทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก รมว.คลัง เพราะทุกมาตรการเป็นการใช้อำนาจของ ธปท.ที่เกินกว่ากรณีปกติ

ประเด็น คือ เราจะไปเน้นว่ามาตรการใดเป็นอำนาจของใครมันเป็นเรื่องรอง เพราะทุกมาตรการล้วนมีผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน และจำเป็นต้องอธิบายให้สังคมรับรู้ ฉะนั้นเรื่องหลักคือ Big Move ที่ ธปท.จะได้ตัดสินใจอะไรก็ควรได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมืองอย่างเต็มที่

- ที่ผ่านมาทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ต่างมี Big Move คนละเส้นทาง

มันเป็นการตั้งป้อม ผมก็ไม่อยากจะวิจารณ์มากว่ามันมีอะไรอยู่นอกเหนือเรื่องนี้หรือไม่

- แต่ละมาตรการควรใช้เมื่อไรถึงจะเหมาะสมที่สุด

ต้องกลับ มาดูเรื่องอัตราค่าเงิน นี่เป็นสิ่งที่ตอบยาก เพราะถามแต่ละคนว่าค่าเงินระดับไหนสมควรทำอะไร ก็จะให้คำตอบแตกต่างกัน ฉะนั้นในแง่ระดับค่าเงินบาท ผมคิดว่า ธปท.จำเป็นต้องหาข้อมูลอย่างกว้างขวางจากภาคเอกชน จากผู้เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจ ซึ่งการที่ รมว.คลัง นัดประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องเสียที หลังจากที่ตั้งป้อมยิงปืนใหญ่ใส่ ธปท.มาโดยตลอด

- การตั้งป้อมยิงอย่างนี้มีแต่ผลเสีย

เป็น ผลเสียมากกว่า ผมว่าต้องเลิกตั้งป้อมยิงเสียที ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลตามที่อยากได้ เพราะ กนง.มีหน้าที่ตามกฎหมาย เขาต้องรับผิดชอบเศรษฐกิจโดยภาพรวม หมายความว่าปัญหาค่าเงินเป็นแค่ไพ่ใบเดียวในมือ กนง. ฉะนั้นการดำเนินการโดยให้ตั้งเป้าหมายไปที่ใบเดียวคงเป็นไปไม่ได้

ดัง นั้นการที่ รมว.คลังเป็นเจ้าภาพนัดหารือ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ผมเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วว่า ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำจะต้องเอาหัวชนกัน ไม่ใช่ขวิดเขาใส่กัน และเวลานี้ก็ต้องเอาภาคธุรกิจมาคุยด้วยก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

- บางฝ่ายวิเคราะห์ว่า การตั้งป้อมอย่างนี้ก็ช่วยให้นักลงทุนถอยออกไปส่วนหนึ่ง

ถ้า ผมเป็น รมว.คลัง และมีข้อตกลงกับผู้ว่าการ ธปท.ชัด ๆ ผมจะเดินออกมาพูดพร้อมกันว่า เรามีความเห็นว่าเงินไหลเข้าประเทศมากไปแล้วนะ หรือเงินบาทแข็งขึ้นไปหน่อยแล้วนะ ผมว่าทำแค่นี้เงินทุนก็ไหลกลับไปเอง หัวใจคือทุกฝ่ายต้องพูดเป็นเนื้อเดียวกันถึงจะจูงตลาดได้

- หากเป็น รมว.คลังอยู่จะแก้ปัญหาอย่างไร

สมัย ที่ผมดำรงตำแหน่ง สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการหารือกับภาคเอกชนเป็นประจำ เพราะข้อมูลจากส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญ และโดยตำแหน่ง รมว.คลังเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ธปท. คุมอำนาจทางการเมือง คุมอำนาจรัฐ และเป็นผู้ดูแลกฎหมาย ธปท. ในแง่นี้ ผมจะนัดคุยกับ ธปท. และภาคเอกชนแบบเงียบ ๆ แสดงข้อกังวล เสนอทางออกให้เขาเต็มที่ ทำแบบเงียบ ๆ และต้องแสดงให้คนข้างนอกเห็นว่า ผู้บริหารการเงินการคลังยังผนึกกำลังเป็นเนื้อเดียวกัน

- ทำไมต้องหารือทุกฝ่ายแบบเงียบ ๆ

การ ถกเถียงระหว่าง รมว.คลัง กับ ธปท. ในที่สาธารณะ มันก็เหมือนเอาผ้าปูที่นอนที่เปื้อนแล้วมาซักในที่สาธารณะ เรื่องขัดแย้งทางความคิดมันคุยกันได้แบบเงียบ ๆ เหมือนสมัยท่านสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ท่านนัดประชุมแบบเงียบ ๆ เป็นประจำ เราเรียกว่า breakfast meeting เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งกินข้าวกันไป หารือกันไป แบบนี้มันทำให้ประเทศมีความราบรื่น

นโยบายทางการเงินการคลัง มันมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีข้อมูลต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่ทุกฝ่ายทำได้คือให้ข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจรับรู้อย่างเต็มที่

- หากเป็นผู้ว่าการ ธปท. ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำอย่างไร

ใน มุมนี้จะยากนิดหนึ่ง เพราะขึ้นอยู่กับหมากที่ รมว.คลังจะเดินอย่างไร สมัยนี้ต้องยอมรับว่าเหนื่อย เพราะ รมว.คลังออกมาพูดเรื่องขาดทุน ที่เป็นการตีราคาทางบัญชี อีกส่วนหนึ่งเป็นการขาดทุนจากการ

ออก พันธบัตรเพื่อดูแลปริมาณการเงิน ซึ่งการขาดทุนจากการตีราคานี้เกิดจากการที่ ธปท. มีทรัพย์สินเป็นดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินอ่อนตัว ทรัพย์สินทางบัญชีก็ย่อมขาดทุน

ผมไม่ได้หมายความว่าทรัพย์สินเหล่า นี้เกิดจากที่ท่านประสารเป็นผู้ซื้อมา แต่มันซื้อมาตั้งแต่สมัยผู้ว่าการคนเก่า ๆ ฉะนั้นจะเหมารวมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือท่านประสาร ผมว่ามันก็ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก

มองลึกลงไปจะพบว่า กรณีขาดทุนของ ธปท. ทำเพื่อให้เงินบาทแข็งตัวช้าลง ให้เวลาคนปรับตัวมากขึ้น ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะล้มหายตายจาก เกิดการปลดคนงาน วุ่นวายไปหมด ฉะนั้นสิ่งที่ ธปท.ยอมขาดทุน

มันทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับประเทศ เราจะมามองแต่การขาดทุน แต่ไม่มองกระจกเงาที่สะท้อนกลับมาไม่ได้

- เมื่อฝ่ายการเมืองตั้งต้นแนวคิดอย่างนี้ ธปท.ที่เป็นข้าราชการประจำควรทำอย่างไร ตอบโต้หรือก้มหน้ารับผิดชอบ

มัน เป็นสิ่งที่ยากทั้งสองทาง ถ้าออกมาอธิบายมาก คนก็หาว่าอวดดี แก้ตัว แต่ในความเห็นผม ท่านประสารควรออกมาอธิบายมากกว่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลานี้ก็มีความเสี่ยงที่คนจะไม่ฟัง เพราะมันมีคนตั้งป้อมรออยู่แล้ว

- เศรษฐกิจไทยตอนนี้ถึงเวลาลดดอกเบี้ยหรือไม่

ผม เองไม่ได้ตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เลยแสดงความเห็นไม่ได้ แต่ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่าภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนตัว จากจีน ยุโรป สหรัฐ ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หากรัฐบาลไทย

ไม่ได้เหยียบคันเร่งนโยบายประชานิยมเข้าไปผสม ไม่อัดเงินผ่านนโยบายการคลังลงไป กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยได้ง่ายกว่านี้

- ถ้าสุดท้ายต้องมีการลดดอกเบี้ย

จะ ถือว่า ธปท.แพ้แรงกดดันหาก กนง.ประเมินแล้วว่า ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอฉับพลัน จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องของเขา แต่ต้องให้เวลาเขาดูไพ่ทั้งมือ ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเสียก่อน

ภาพรวมมาตรการที่เสนอผ่านมาทั้งของ ธปท. และของกระทรวงการคลังที่พยายามจะใช้หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นสิ่งที่ตลกมาก เพราะ รมว.คลังเสนอมาตรการในความรับผิดชอบของ กนง.

ขณะ ที่ ธปท.กลับเสนอมาตรการที่เป็นหน้าที่ของคลัง มันสวนทางกัน ดังนั้นกระทรวงการคลังทำอะไรได้มากกว่าการกดดัน ธปท.ให้ลดดอกเบี้ย ทำอะไรได้มากกว่าการใช้หนี้รัฐวิสาหกิจเยอะแยะ โดยเฉพาะมาตรการที่ ธปท.เสนอมาเป็นอำนาจของท่านรัฐมนตรีโดยเฉพาะ อยู่ที่ว่าท่านจะทำหรือไม่เท่านั้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อลงกรณ์ ฉุนขาด! ซัดขาใหญ่ ปชป.มั่ว !!?


อภิสิทธิ์. แจงแถลงปฏิรูปประชาธิปัตย์ ยันให้เลื่อนเหตุ “อลงกรณ์” ติดภารกิจ สั่ง “เฉลิมชัย” คุยรองหัวหน้าอีกรอบ ลั่นรักษาอุดมการณ์เดิม ด้านโฆษกพรรคระบุไม่มีผิดปกติ ด้าน “อลงกรณ์” โวยขาใหญ่จ้อสื่อมั่วหาว่า “ชวน” โกรธ แถมดิสเครดิตยับ ซัดไม่ใช่ลูกผู้ชาย ก่อนแจงยิบวิถีปฏิรูปพรรค ย้ำไม่ กก.บห.ไม่ขัด
     
       ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการเลื่อนการแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ว่าตนเองก็เดินทางไปถึงตอนก่อนเวลาแถลง กรรมการบริหารก็มากันหลายคนแล้วก็รอนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ภาคกลางอยู่ เพราะช่วงเช้าก็ยืนยันว่าจะมาแถลงตอนบ่าย 2 แต่ว่าติดภารกิจด่วน และอยู่ระหว่างขับรถจะไปเพชรบุรี ตนจึงให้เลื่อนการแถลงข่าวออกไปก่อนเพราะอยากให้ทุกคนมาร่วมกันแถลง เพราะว่าบรรยากาศในการประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี และทุกคนก็อยากมีส่วนร่วม และตนก็บอกว่าต่อไปนี้การปฏิรูปนั้นถ้าจะเป็นงานสำคัญต้องเป็นงานที่ทุกคนมาพูดด้วยกัน เคลื่อนให้มันเป็นเอกภาพถึงจะเกิดพลังขึ้น
     
       เมื่อถามว่า การแถลงข่าวเป็นเรื่องของกรอบแนวคิดการปฏิรูปพรรคใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในการประชุมก็ได้หารือประเด็นใหญ่ๆ ที่คิดว่ามีสิ่งที่จะต้องเดินหน้าในการปรับปรุงแต่ก็จะเกี่ยวข้องในเชิงตัวโครงสร้างของการบริหารพรรค ไปจนถึงการบริหารจัดการในตัวสำนักงาน บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่จะต้องทำคือขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำงาน และยังไม่ถือเป็นกรอบกำหนด แต่ว่าในรายละเอียดที่อาจจะต้องไปแก้ไขข้อบังคับ หรือโครงสร้างนั้นจำเป็นจะต้องไปจัดทำกันขึ้นมา ในกรอบเวลาประมาณ 1 เดือนนี้ก็ไปทำมาให้เสร็จเรียบร้อย และถ้าจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขข้อบังคับ จะได้มีการเรียกประชุมใหญ่ด้วย ส่วนจะมีการแถลงได้เมื่อไรนั้น เวลานี้ให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคไปติดต่อนายอลงกรณ์อีกครั้ง
     
       “เป้าหมายเราคือชัยชนะของอุดมการณ์ของพรรค การชนะการเลือกตั้งเป็นความต้องการความปรารถนาทั้งของสมาชิก ของผู้สนับสนุนอยู่แล้ว แต่ว่ามันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แปลว่าจะเอาชนะการเลือกตั้งโดยอะไรก็ได้ มันต้องเป็นการเดินหน้าที่รักษาอุดมการณ์ แล้วก็มุ่งไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง และการทำงานให้แก่ประเทศ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
     
       ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขอยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดผิดปกติ แต่นายอลงกรณ์ดูแลพื้นที่ภาคกลางติดภารกิจด่วน ซึ่งพรรคไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ก็ไปร่วมสัมมนากับภาคกลางที่จังหวัดนครนายกด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาพรรค เพื่อตอบสนองการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดเร็วขึ้นกว่ากำหนด
     
       อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าหลังจากที่นายอลงกรณ์อ้างว่าติดภารกิจด่วนที่ จ.เพชรบุรี จึงไม่มาเข้าร่วมการแถลงข่าวเมื่อวานนี้นั้น ทำให้มีการล้มเลิกนัดหมายแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปพรรค และผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อนายอลงกรณ์ได้ ล่าสุดวันนี้เวลาประมาณ 08.00 น.นายอลงกรณ์ได้ใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์เขียนข้อความโดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าแหล่งข่าวอาวุโสในพรรคอ้างว่านายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ โกรธมากที่ข้อเสนอการปฏิรูปพรรคของตนขัดอุดมการณ์พรรคที่เน้นประชานิยม โดยแหล่งข่าวอาวุโสในพรรคให้ข่าวแบบบิดเบือน หลังจากที่ผมเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อ 13 พ.ค. การกล่าวหาว่า ข้อเสนอปฏิรูปพรรค ขัดอุดมการณ์พรรค เน้นประชานิยม เลียนแบบพรรคเพื่อไทย นั้นนับว่า บิดเบือนและเป็นการดิสเครดิต
     
       “ผมรักษาวินัยโดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อใดๆ หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค แต่กลับมีบางคนให้ข่าวใส่ร้ายบิดเบือนการปฏิรูป การอ้างคำพูดท่านชวนที่ผมให้ความเคารพแบบจงใจพูดโกหกขาวเป็นดำเช่นนี้ไม่ใช่ลูกผู้ชาย จะทำร้ายผมได้แต่อย่าทำร้ายการปฏิรูป 22 ปีไม่เคยไปไหน พรรคให้เป็นประธานตรวจสอบทุจริตยุคทักษิณเรืองอำนาจสูงสุด 5 ปีเต็ม เสี่ยงคุกเสี่ยงตาย คนแบบนี้ไม่มีอุดมการณ์หรือ” นายอลงกรณ์ระบุ
     
       นายอลงกรณ์กล่าวว่า นายชวนเป็นต้นแบบต่อต้านการซื้อเสียงและคอร์รัปชัน ตนก็ต่อสู้พวกซื้อเสียงพวกทุจริตและไม่สนับสนุนนโยบายประชานิยมแบบมอมเมา ตนเชื่อมั่นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเอง นายชวนและนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ทำเรื่องเอทานอลตามแนวพระราชดำริก็ทุ่มเททำงานจนวันนี้มีแก๊สโซฮอล์ขายทั่วประเทศ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ให้ตนเป็นประธานตรวจสอบทุจริตสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจสูงสุด 5 ปีเต็ม (ปี 45-49) จนโดนฟ้องโดนแจ้งความเกือบ 20 คดี นายอภิสิทธิ์ให้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์และลอจิสติกส์ตอนเป็น รมช.พาณิชย์ ก็บริหารจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและอาเซียน นายอภิสิทธิ์ให้ตนปฏิรูปราชการเพราะขีดความสามารถประเทศลดลงโดยเฉพาะการเริ่มต้นธุรกิจในไทยก็สามารถลดเวลาจาก 4 วันเหลือ 60 นาที ตนเชื่อเรื่องปฏิรูปเพราะการปฏิรูปราชการที่ว่ายากยังสามารถปรับปรุงระบบและพัฒนาคนจนสำเร็จทำให้กรมพัฒนาธุรกิจได้รางวัลที่ 1 ของประเทศ ตนนำร่องปฏิรูปภาคกลาง เช่น จัดอบรมแกนนำสมาชิกตั้งแต่ต้นปีกว่า 1,200 คนเน้นปลูกฝังอุดมการณ์สร้างวิสัยทัศน์ คิดเก่ง-ทำเก่ง
     
       “ตัวอย่างที่ยกมาเพื่อให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการกล่าวหาใส่ร้ายว่าผมเป็นคนไร้อุดมการณ์ ไร้หลักการจริงหรือไม่ หรือการกล่าวหาใส่ร้ายเกิดขึ้นเพราะผมและเพื่อนๆ เสนอ พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค และความพ่ายแพ้ซ้ำซาก 21 ปี” แบบตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนใส่ร้ายข้อเสนอการปฏิรูปพรรคอีกต่อไป จึงต้องเผยแพร่พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์” นายอลงกรณ์ระบุ
     
       นายอลงกรณ์ระบุว่า พิมพ์เขียวปฏิรูปมี 36 หน้า หน้า 1 ถึง 19 เป็นการกล่าวถึงความเป็นมาของการปฏิรูปพรรคและการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและปัญหา หน้า 20 ถึง 36 เป็นแนวทางการปฏิรูปพรรค ซึ่งตนจะนำเสนอเฉพาะข้อเสนอในส่วนนี้เท่านั้น โดยจุดยืน 1. ยึดมั่นประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ 2. ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง 3. ต่อต้านคอร์รัปชัน ขณะที่วิสัยทัศน์ปฏิรูปพรรคนั้น (1. เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประชาชนและประเทศชาติ (2. เพื่อปฏิรูปการเมืองสู่การเมืองคุณภาพและสร้างสรรค์ (3. ปฏิรูปพรรคเพื่อเอกภาพและประสิทธิภาพของพรรค (4. ปฏิรูปพรรคสู่ความทันสมัยก้าวหน้า วิสัยทัศน์กว้างไกล
     
       ขณะที่เป้าหมายการปฏิรูปพรรค นายอลงกรณ์ระบุว่า 1. เพิ่มจำนวน ส.ส.และเพิ่มความศรัทธาที่มีต่อพรรค 2. เพิ่มโครงสร้างและระบบการดูแลประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศ 3. สร้างพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองและองค์กรทันสมัยทรงประสิทธิภาพเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน 4. สร้างสรรค์พรรคสู่ทางเลือกที่ดีของประชาชนและสู่ความหวังของชาติด้วยอุดมการณ์คุณธรรมนำการเมือง 5. Democrat Effects ส่งผลต่อการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน 6. Democrat Effects ส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศไทยสู่อนาคตที่ดีกว่า 7. เพื่อเป็นพรรคที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเป้าหมายการปฏิรูปพรรคทั้ง 7 ข้อ คือความฝันของประชาธิปัตย์ (Democrat Dream) และต้องทำให้เป็นความหวังของชาติ (Nation's Hope)
     
       รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า แนวทางการปฏิรูปพรรคแบบองค์รวม 1. ต้องปฏิรูปพร้อมกันทุกด้าน 2. ต้องปฏิรูปพรรคอย่างต่อเนื่อง 3. ต้องปฏิรูปพรรคแบบมีส่วนร่วม โดยมี 3 ด้าน 1. ปฏิรูปโครงสร้างและระบบ มี 5 แนวทาง 2 โครงสร้างใหม่ ดังนี้ 1. แนวทางขับเคลื่อนแบบบนลงล่าง ล่างขึ้นบน 2.มีโครงสร้างในการสื่อสารภายในและภายนอกที่มีประสิทธิภาพ 3.มีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา 4.มีโครงสร้างระดับพรรค ภาค โซน จังหวัด เขตเลือกตั้ง อำเภอ ตำบล หมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ 5.มีโครงสร้างและพื้นที่ทำงานให้แก่ผู้มีความสามารถไม่ว่าจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่าได้ทำงาน
     
       ขณะที่โครงสร้างใหม่ประกอบด้วย 1.โครงสร้างใหม่สำนักงานใหญ่ ได้แก่ 1. สำนักวิจัยและพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ 2. สำนักวิจัยและพัฒนางบประมาณแผ่นดิน 3. สำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย 4. ศูนย์ปราบปรามคอร์รัปชั่น 5. ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน 6. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ 7. สำนักกิจการสาขาและสมาชิก 8. สำนักกิจการสตรีและยุวประชาธิปัตย์ 9. สถาบันประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่พัฒนาบุคคลากรและคิดค้นนวัตกรรมการบริหารจัดการรวมทั้งงาน e-Library 10. สำนักกิจการรายได้ 11. สำนักงานอำนวยการ โดยมีผู้อำนวยการพรรคเป็นนักบริหารมืออาชีพทำงานเต็มเวลา โดย เน้นภารกิจหลักของพรรคการเมือง (funtional designed organisation) รองรับงานไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน การวิจัยและพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ประเทศ กฎหมายและงบประมาณแผ่นดินสำคัญสำหรับอนาคตประเทศเช่นเดียวกับการดูแลประชาชนและปราบทุจริต 2. โครงสร้างส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 1. สำนักงานภาค 5 ภาค 2. สำนักงานโซน (กลุ่มจังหวัด) 3. คณะกรรมการจังหวัด 4. สำนักงานสาขาพรรค 5. คณะกรรมการอำเภอ 6. ศูนย์ตำบล ทั้งนี้ โครงสร้างส่วนภูมิภาคในทุกระดับต้องบริหารโดยนักบริหารมืออาชีพหรือผู้มีทักษะด้านบริหารภายใต้การกำกับของคณะกรรมการฝ่ายการเมือง
     
       นายอลงกรณ์ระบุว่า 2. ปฏิรูปการบริหารจัดการพรรค การบริหารจัดการเน้นความเด็ดขาดฉับไวในการตัดสินใจและปฏิบัติโดยกระจายอำนาจและมอบอำนาจชัดเจน ต้องปฏิรูประบบงบประมาณพรรคเน้นเป้าหมายและภารกิจโดยมีตัวชี้วัดผลลัพท์ชัดเจน การบริหารงานการเมืองแบ่งงานเป็น 2 ส่วน 1. งานตรวจสอบนโยบายโดยรัฐบาลเงา (shadow government), อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.อาวุโส 2. งานการเมืองเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์, วิปฝ่ายค้านและ ส.ส. การบริหารองค์กรระดับสำนักงานใช้นักบริหารมืออาชีพหรือผู้มีทักษะบริหารทำงานเต็มเวลามีคณะกรรมการการเมืองกำหนดนโยบาย เป้าหมาย โดยสรุปแล้ว การปฏิรูปการบริหารพรรคเน้นการบริหารโดยนักบริหารมืออาชีพเน้นความฉับไวเด็ดขาดและแยกงานตรวจสอบนโยบายจากงานการเมือง
     
       นายอลงกรณ์ระบุต่อว่า 3. ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและบุคคลากรของพรรค มี 7 ข้อ 1.สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบเปิดกว้าง 2. ปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตย 3. พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลทันสมัย 4. ปรับวัฒนธรรมองค์กรสู่การทำงานเชิงคุณภาพ 5. พัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นเลิศทางบริหารและคุณธรรม 6.สร้างพื้นที่งานและความรับผิดชอบให้บุคลากรทั้งเก่า ใหม่อย่างชัดเจน 7. นำระบบไพรมารี่และคอคัสมาใช้ในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.และท้องถิ่นเพื่อสร้างวัฒนธรรมแบบเปิดกว้างและเสมอภาคเป็นธรรม
     
       “การปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ เน้นประสิทธิภาพของพรรค อุดมการณ์ประชาธิปไตยและคุณภาพของคนเพื่อคุณภาพของการเมืองและคุณภาพของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิรูปแบบองค์รวมต้องยกเครื่องใหญ่ ต้องกลับมาเป็นทางเลือกที่ดีไม่ใช่เป็นทางเลือกสุดท้าย ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการบริหารควรใช้พิมพ์เขียวปฏิรูปเป็นร่างหลักแล้วส่งให้ที่ประชุม ส.ส.กับสภาที่ปรึกษาพิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ” นายอลงกรณ์ระบุ
     
       อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ได้เขียนข้อความชี้แจงสมาชิกเพิ่มเติมโดยระบุด้วยว่า กรรมการบริหารพรรคไม่มีความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปฏิรูปพรรคก็ไม่เกี่ยวประเด็นการเมืองเรื่องปรองดองกับใครทั้งนั้น

ที่มา.ผู้จัดการ
//////////////////////////////////////////////////////////////

ไทยคม - 6 เลื่อนยิงไปปลายปี เร่งจัดหาดาวเทียม ดวงอื่นมาให้บริการแทน !!?


ไทยคม.เร่งจัดหาดาวเทียมมาให้บริการรองรับธุรกิจบรอดแคสต์โตดีมานด์การใช้ช่องสัญญาณพุ่งทั้งยอมรับแผนจัดส่งไทยคม 6 เลื่อนจากกลางปีไปปลายปี

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม เปิดเผยว่า เพื่อรองรับความต้องการการใช้งานช่องสัญญาณของลูกค้า ไทยคมได้จัดหาดาวเทียมมาให้บริการที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกเป็นการชั่วคราวก่อนการส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งตามแผนที่กำหนดไว้ ดาวเทียมดังกล่าวจะเริ่มให้บริการได้ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

โดยดาวเทียมที่นำมาให้บริการชั่วคราวนี้ มีลักษณะทางเทคนิคที่เหมาะสมสามารถรองรับการใช้งานของลูกค้าได้อย่างเพียงพอตามความต้องการ โดยเฉพาะการให้บริการด้านโทรทัศน์ดาวเทียมและการให้บริการตามกฎ Must Carry ของช่องโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial Television; DTT) ของ กสทช.

และดาวเทียมดวงดังกล่าวจะเดินทางมาถึงตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก และเริ่มให้บริการภายในปลายเดือนกรกฎาคมนี้   และเมื่อดาวเทียมไทยคม 6 ได้รับการส่งขึ้นสู่วงโคจรและพร้อมจะให้บริการแล้วก็จะย้ายดาวเทียมดวงนี้ออกไป ซึ่งการจัดหาดาวเทียมมาให้บริการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดของสัญญาสัมปทาน และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงไอซีทีแล้ว

เดิมดาวเทียมไทยคม 6 มีกำหนดการส่งดาวเทียมในช่วงกลางปี 2556 ล่าสุด บริษัท สเปซ เอ็กซพลอเรชั่น เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น (Space Exploration Technologies Corporation- SpaceX) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้รับจัดส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร ได้แจ้งว่า เกิดความล่าช้าในกำหนดการส่งของดาวเทียมดวงอื่นที่มีลำดับการส่งขึ้นสู่วงโคจรก่อนดาวเทียมไทยคม 6 ทำให้กำหนดการส่งดาวเทียมไทยคม 6 ต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปีนี้

“การเลื่อนกำหนดการจัดส่งดาวเทียม ในการดำเนินธุรกิจดาวเทียมถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้  เพราะการยิงดาวเทียมแต่ละดวงมีปัจจัยหลายประการที่สามารถจะส่งผลกระทบต่อกำหนดการส่งดาวเทียม อย่างกรณีนี้ ก็เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการจัดส่งดาวเทียมดวงอื่นที่มีลำดับการส่งขึ้นสู่วงโคจรก่อนดาวเทียมไทยคม 6 แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา เพราะการจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 6 ยังคงเป็นไปตามแผนงานและขั้นตอนทางเทคนิคที่กำหนดไว้  และไทยคมก็สามารถจัดหาดาวเทียมมาให้บริการเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าก่อนการส่งไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร” นางศุภจีกล่าว
       
การจัดหาดาวเทียมมาให้บริการในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ลูกค้าที่ใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมจะมีช่องใช้ตามความต้องการซึ่งเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยรวมของประเทศทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเติมจากการให้บริการของดาวเทียมดังกล่าวและในส่วนของไทยคมเองก็จะมีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาก่อนการยิงดาวเทียมไทยคม 6 อีกด้วย
       
“การจัดหาดาวเทียมที่มีลักษณะทางเทคนิคที่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีนั้น มิใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจดาวเทียมของทีมงานของไทยคม ประกอบกับความตั้งใจที่จะหาแนวทางดำเนินการเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุดโดยยึดถือประโยชน์ของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญทำให้ไทยคมประสบความสำเร็จในการจัดหาดาวเทียมเพื่อมาให้บริการในครั้งนี้” นางศุภจีกล่าวเพิ่มเติม
       
ปัจจุบัน ไทยคม สามารถขายช่องสัญญาณล่วงหน้าบนดาวเทียมไทยคม 6 ได้แล้วกว่าร้อยละ 60 ซึ่งดาวเทียมไทยคม 6 จะช่วยตอกย้ำความเป็นดาวเทียม Hotbird ที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกของไทยคมต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นายกฯ ห่วงค่าเงินบาท หวังทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน !!?


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาค่าเงินบาทในขณะนี้ว่า สื่อมวลชนคงได้ติดตามการหารือระหว่างนายกิตติรัตน์ ณระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน และส่วนหนึ่งรัฐบาลได้ชี้แจงมาตรการของรัฐบาลไปแล้ว วันนี้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ฝากให้นายกิตติรัตน์ เรียกประชุมอย่างต่อเนื่องในส่วนภาคเอกชนร้องขอ รวมถึงการติดตามแก้ปัญหาการเงินการคลังโดยองค์รวมต่อไปเพราะเราเป็นห่วงเสถียรภาพค่าเงินบาท ซึ่งเราเข้าใจปัญหาของเอกชนผู้ส่งออก ความผันผวนที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันในการติดตามแก้ไขอย่างใกล้ชิด หวังว่าหน่วยงานทุกหน่วยงานที่รับฟังปัญหาเอกชนในการหารือเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาคงจะนำข้อคิดข้อเรียกร้องต่าง ๆ ไปแก้ในส่วนของผู้ที่รับผิดชอบต่อไป

สถานการณ์การทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาดีขึ้นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราหวังเห็นการแก้ปัญหาด้วยกัน เพราะต่างคนต่างแก้คงจะไม่สามารถทำงานสัมพันธ์กันได้ โดยเฉพาะที่ผู้เดือดร้อนคงอยากจะเห็นการคาดหวังในการทำงานร่วมกันแต่ต้องเรียนว่าเราต้องแยกบทบาทในฐานะรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรีในฐานะรมว.คลังนั้นมีหน้าที่ดูในองค์รวม แต่รายละเอียดการปฏิบัตินั้นในส่วนมาตรการการเงินคงเป็นเรื่องของธปท.ที่จะหารือในวิธีการ แต่เป้าหมายเราต้องการเห็นเป้าหมายเดียวกันคือการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพของค่าเงินบาท

เมื่อถามว่า แต่ดูเหมืองทางรัฐบาลกับธปท.เข้าใจไม่ตรงกันหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นั่นคือวิธีการแต่ผลคือทุกคนอยากเห็นเหมือนกัน แต่วิธีการแน่นอนว่าแต่ละคนมีวิธีการต่างกัน แต่หวังว่าวิธีการนั้นจะนำมาสู่ผลเดียวกันก็คงฝากประเด็นนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลยังรับมือได้กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มันเริ่มผันผวนเป็นระยะ ๆ ได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า ก็ทำอย่างเต็มที่

เมื่อถามถึงการคัดเลือกตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.กม.เขต 12 ดอนเมือง แทนนายการุณ โหสกุล ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบเพียงว่า "อยู่ที่การประชุมพรรคเพื่อไทยวันนี้"
ส่วนที่ขณะนี้มีกระแสข่าวจะมีการปรับครม.แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สนใจที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยเดินเลี่ยงออกจากวงล้อมผู้สื่อข่าวและก้าวขึ้นรถไปทันที

ที่มา.เนชั่น
///////////////////////////////////////////

คลัง-ธปท.โต้ซดเกาเหลา ถกกดดัน กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย !!?


กิตติรัตน์.เผยไม่ได้กดดันกนง.ลดดอกเบี้ยแค่ขอให้ใช้มาตรการดูแลบาทเหมาะสม ด้านผู้ว่าฯ ธปท.รับหารือคลัง-กนง.-เอกชนสร้างสรรค์ไม่มีแรงกดดัน เอกชนมั่นใจจีดีพีปีนี้โตเกิน 5% หากรัฐ-เอกชนบูรณาการแก้ปัญหาบาทมีเสถียรภาพ
   
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เกิดการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนเดิม 3.ทิศทางและกำลังซื้อของผู้บริโภค 4.สถานการณ์การส่งออกและการท่องเที่ยว
   
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯเห็นตรงกันว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตได้ดี แม้ในปี 55 เศรษฐกิจจะเผชิญความยากลำบากจากการเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ในปลายปี 54 รวมทั้งปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ส่วนการส่งออกในปีนี้ เห็นว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกัน นอกเหนือจากเรื่องการดูแลปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน
   
ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น เห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปและมีความผันผวนจะทำให้การส่งออกขยายตัวลำบาก ทุกภาคส่วนควรดูแลและทำงานร่วมกันให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพไม่มีความผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินของทั้งประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง เพื่อให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งค่าเงินที่สามารถแข่งขันได้นั้นจึงไม่ควรเทียบเฉพาะสกุลดอลลาร์เท่านั้น แต่ต้องเทียบกับทั้งสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่งด้วย
   
ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศนั้น จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยและพำนักของชาวต่างชาติ ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกได้มีการหารือกันถึงการรักษาฝีมือแรงงาน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ
   
วันนี้ไม่ได้พูดเจาะจงเรื่องการส่งออก แต่พูดถึงเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ถึง เพราะเมื่อรวมกลจักรเศรษฐกิจอื่นๆ ก็น่าจะขยายตัวได้" นายกิตติรัตน์ กล่าว
   
พร้อมมองว่า กรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ได้หารือกัน แต่โดยภาพรวมวันนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และต้องทำให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นจึงต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนในระดับเหมาะสม
   
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนไม่ได้คาดหวังถึงการเข้าไปควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก แต่ต้องการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลช่วยพิจารณาแนวทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ดังนั้น กนง.และธปท.ต้องสามารถสื่อสารระหว่างกัน และขอฝากให้มีการพิจารณาให้มากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทอย่างรอบคอบระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีเสถียรภาพ
   
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่าว่า ที่ประชุมในวันนี้ ยังไม่มีการพูดถึงการออกมาตรการใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ตลอดจนไม่ได้พูดถึงแนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เป็นเพียงการหารือในภาพรวมของเศรษฐกิจ และความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่จะต้องเผชิญในระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งความต้องการของภาคเอกชนที่ขอให้ช่วยดูแลเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่ผันผวน
   
ที่ประชุมวันนี้ได้หารือถึงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนการรับทราบข้อมูลปัญหาของภาคเอกชน เช่น การขาดแรงงาน, ประสิทธิภาพด้านการผลิต และความสามารถในการแข่งขัน โดยต่างเห็นตรงกันว่ายังมีปัญหาที่ต้องเผชิญและเป็นความท้าทายในทุกภาคส่วน พร้อมมองว่ายังมีความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงโดยทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
   
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีความเข้าใจร่วมกันว่า แม้เงินบาทจะมีความผันผวน แต่จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเช่นเดียวกับทิศทางสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่อ่อนค่าลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ถือเป็นอุธาหรณ์ว่าไม่ควรประมาทหรือวางใจแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย โดยต้องมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขสำหรับภาพรวมในระยะกลางและระยะยาวที่ยังมีปัญหาต้องเผชิญในอีกหลายมิติ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ใช่เฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหรือการเงินโลกเท่านั้น
     
ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการประชุม กนง.ในวันที่ 29 พ.ค. และการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรร มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันไม่เฉพาะแต่เรื่องการเงินเท่านั้น
   
พร้อมเชื่อว่า การประชุม กนง.ในรอบถัดไปจะได้รับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงและใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะแถลงภาวะเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 1/56 และแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ กนง.ได้รับทราบข้อมูลล่าสุดก่อนที่จะนำไปใช้ตัดสินใจในเรื่องการดูแลค่าเงินบาทต่อไป
   
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าฯ ธปท.ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่อง 4 มาตรการที่ธปท.เคยนำเสนอต่อกระทรวงการคลังไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมองว่าการออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอาจทำให้ต่างประเทศตีความไปเกินจำเป็นได้
     
นายประสาร กล่าวด้วยว่า รมว.คลังได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่าการประชุมในลักษณะเช่นนี้ควรจะจัดให้มีขึ้นอีก แต่อาจเปลี่ยนหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่ง ธปท.ก็ยินดีที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพราะหลายปัญหาต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย
     
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ไม่ได้หยิบยกมาตราการใดมาหารือเป็นพิเศษ รวมถึงการลดดอกเบี้ย เพียงแต่ ธปท.ได้รับฟังปัญหาของทางภาคเอกชน โดยธปท.ยืนยันว่าจะดูแลอย่างใกล้ชิด และเพื่อรับทราบถึงผลกระทบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน
   
ทั้งนี้ ถือว่าบรรยากาศการพูดคุยวันนี้เป็นไปด้วยดี เชื่อว่าหากภาครัฐและภาคเอกชนยังร่วมมือกันทำงานแบบนี้ ยังมีโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตในระดับเกิน 5% ขึ้นไปได้
   
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้สะท้อน ข้อมูลผลกระทบเรื่อง Supply Chain จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาค่าเงินบาทได้ได้เข้าไปมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์
   
พร้อมกันนี้ ภาคเอกชนยืนยันว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจเข้ามาช่วยกันการทำงาน ก็เป็นการตอกย้ำการทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและดูแลค่าเงินบาทในช่วงเวลาที่เหมาะสม
     
นายพยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า อยากให้ดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับภูมิภาค เนื่องจากหากเทียบกับเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นแล้ว เงินบาทถือว่ามีช่วงห่างกับเงินเยนค่อนข้างมาก
     
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังได้พูดถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งที่ประชุมฯเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอยู่จึงจำเป็นต้องดูแลให้ดี

ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////////////////

กำลังซื้อเปิดเทอมวูบ ของแพงเบียดเงินพ่อแม่หมดแรงจ่าย !!?


วงการค้าปลีกชี้กำลังซื้อชาวบ้านวูบกว่า 20 % ชี้รถคันแรกเบียดงบใช้จ่ายประจำวัน  ม.หอการค้าไทยชี้เงินเปิดเทอมสะพัดกว่า 5.3 หมื่นล.แต่ยังต่ำกว่าคาดการณ์  ของแพงซ้ำเติมผู้ปกครองจำใจปรับตัว จำกัดงบซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ลูกหลาน โรงตึ๊งเผยลูกค้ายุคนี้จำนำทองน้ำหนักน้อยลง หลังปล่อยทองเส้นใหญ่หลุดตั้งแต่ตอนราคาดิ่งเหว คนแห่เข้าดิสเคาต์สโตร์ยักษ์แทน เหตุของครบ ติดราคาชัด แถมอัดฉีดราคาถูกกว่าตลาด

 แม้ทางการได้ปรับเพิ่มเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2556 ขึ้นจากเดิม เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจหลักในไตรมาสแรกขยายตัวต่อเนื่อง แต่ล่าสุดทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต่างชี้ตรงกันว่า เมื่อเทียบตัวเลขเดือนต่อเดือนพบว่า มีเศรษฐกิจไทยสัญญาณแผ่วตัวลง สะท้อนผ่านการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภค โดยตัวเลขการบริโภคมีทิศทางลดลงในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ชี้ว่าประชาชนมีข้อจำกัดเรื่องรายได้ ทำให้ต้องชะลอการใช้จ่าย นั้น

-ยันกำลังซื้อหด 20 %
   
นายประพจน์  นันทวัฒน์ศิริ  กรรมการสมาคมสบู่  ผงซักฟอก และผลิตภัณฑ์ซักล้าง และอยู่ในวงการซัพพลายเออร์ระดับประเทศ  เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตั้งแต่ต้นปีมานี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงไปจากปกติแล้วประมาณ 20 % เป็นผลจากนโยบายรถคันแรก ที่ทำให้ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้น จึงชะลอการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันลง ขณะที่ราคาสินค้าได้ปรับเพิ่มมากขึ้นด้วย  จากต้นทุนการผลิตต่าง ๆ  ที่สูงขึ้น ประกอบกับเวลานี้เป็นช่วงเปิดเทอม ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียน มีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ยิ่งทำให้กำลังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต้องถูกจำกัดลงไปอีก เชื่อว่ากำลังซื้อจะกลับมาเป็นปกติได้ ในช่วงหลังการเปิดเทอมไปแล้ว
   
"สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังซื้อในตลาดลดลงคือ  เจ้าของสินค้าและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เร่งกระตุ้นยอดขาย ด้วยการแข่งขันเสนอโปรโมชัน มีการลดแลกแจกแถมกันอย่างรุนแรง อาทิ  ซื้อสินค้าครบ 800 บาท จะได้รับเงินคืน 80 บาท เป็นต้น  หากภาวะเศรษฐกิจดีคนมีกำลังซื้อมาก  ก็ไม่จำเป็นจะต้องจัดโปรโมชัน เพราะสินค้าของกินของใช้เป็นของจำเป็นที่ขายได้เรื่อย ๆ  แต่ปัจจุบันของแพงขึ้น  กำลังซื้อลดลงจึงต้องกระตุ้นยอดขาย  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเข้ามาแก้ไขเลย" นายประพจน์  กล่าว
   
ด้านดร.ลักขณา  ลีละยุทธโยธิน  ประธานกรรมการบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ บริษัท เซเรบอส แปซิฟิก จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารเสริม อาทิ แบรนด์, วีต้า เป็นต้น   กล่าวว่า  ช่วงไตรมาสแรกภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับผลกระทบบ้าง จากนโยบายรถคันแรก  แต่ในส่วนของบริษัทยังคงเติบโตจากสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค การทำตลาดและกระตุ้นกำลังซื้อสำหรับฐานลูกค้าเดิม  แต่สำหรับลูกค้ารายใหม่อาจจะดึงกำลังซื้อได้ยากขึ้น  แต่เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติกำลังซื้อจะกลับมาเหมือนเดิม

เปิดเทอมภาระพ่อแม่เฉียดหมื่น
   
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ปกครอง ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีนี้  ว่า  น่าจะมีเงินสะพัด 53,614  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากปีก่อน แต่ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่า จะเติบโต 8-10 % คิดเป็นมูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท   ซึ่งแม้มูลค่าเม็ดเงินจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนชิ้นในการซื้อสินค้าและอุปกรณ์การเรียนลดลง  โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 9,128 บาทต่อ
   
สำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเกี่ยวกับการเล่าเรียนของบุตร พบว่า  เป็นค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิต 10,455 บาท เพิ่มจากปีก่อนที่ 8,608 บาท ค่าบำรุงโรงเรียน 1,422 บาท เพิ่มขึ้นจาก 1,247 บาท ค่าแป๊ะเจี๊ยะ 7,400 บาท เพิ่มจาก 7,062 บาท ค่าหนังสือ 1,371 บาท เพิ่มจาก 1,095 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 992 บาท เพิ่มจาก 673 บาท ค่าเสื้อผ้า รองเท้า 1,721 บาท เพิ่มจาก 1,226 บาท ค่าบริการพิเศษ ค่าประกันชีวิต 1,515 บาท เพิ่มจาก 1,290 บาท
   
ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ให้การจับจ่ายในปีนี้ชะลอตัวมากที่สุดคือ ปัญหาราคาสินค้าที่แพงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งตัว ทำให้ผู้ปกครองมีความระมัดระวังในการใช้เงิน  ขณะที่การจำนำสินค้าและการกู้นอกระบบในปีนี้ก็ลดลงไปจากปกติด้วย  สะท้อนเรื่องของกำลังซื้อที่หายไป ขณะที่การจับจ่ายผ่านบัตรเครติดมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มตามไปด้วย
   
สำหรับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัว กระทบถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้การจับจ่ายในภาคเกษตรกรรมลดลง ส่งผลไปสู่กำลังซื้อทั่วประเทศ ดังนั้นจึงควรมีการดูแลอย่างใกล้ชิด  หากมีความจำเป็นควรลดอัตราดอกเบี้ย  และหากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.5-29  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วประเทศ ยังคงเติบโตไปตามเป้าหมายที่วางไว้ระดับ 4.8-5.2 %

ลูกค้าลดซื้อ ลดจ่าย

สำรวจกำลังซื้อช่วงเปิดเทอม พบผู้ปกครองจำกัดจำเขี่ยงบประมาณเต็มที่  โดยที่ "ศูนย์การค้าเอ็นมาร์ท" (น้อมจิตต์)  ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าสำหรับนักเรียน นักศึกษา มีลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก เพราะมีสินค้าครบครัน พร้อมบริการปักชื่อและตราโรงเรียน แต่เทียบแล้วน้อยลงกว่าปีก่อน ไม่ต้องต่อแถวหรือรอคิวซื้อสินค้าอย่างเคย  เช่นเดียวกับร้านจำหน่ายชุดนักเรียนย่านดินแดง ลูกค้ามาซื้อสินค้าบางตา รวมทั้งเลือกซื้อน้อยชิ้นลง โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยคนละ 1.5 -2 พันบาท ซึ่งจะได้เสื้อ พร้อมกระโปรงหรือกางเกงนักเรียน 2 ชุด รวมถุงเท้า รองเท้าเท่านั้น

 -จำนำทองแค่ครึ่งสลึง
   
ขณะที่การใช้บริการโรงรับจำนำก็เงียบเหงาลงเช่นกัน โดยนายสุทธิชัย  อภิวัฒนานุกุล  ผู้จัดการ โรงรับจำนำบางหว้า  เขตภาษีเจริญ  กรุงเทพฯ กล่าวว่า  บรรยากาศการรับจำนำในช่วง 10 วันแรกของเดือนพฤษาภาคมนี้  ค่อนข้างซบเซาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  โดยจำนวนลูกค้าลดลงไปถึง 20%  ขณะที่สินค้าที่นำมาจำนำก็มีมูลค่าลดลงไปกว่า 50%  ซึ่งสินค้าหลักยังเป็นทองคำรูปพรรณ  โดยมีน้ำหนักทองคำที่นำมาจำนำอยู่ที่ครึ่งสลึงถึง 50 สตางค์  จากในช่วงปีที่ผ่านมา น้ำหนักจะเฉลี่ยที่ 1 บาท ส่วนสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า  มีลูกค้านำมาจำนำน้อยมาก
   
บรรยากาศปีนี้คนนำของมาจำนำน้อยมาก  สาเหตุสำคัญเพราะคนไม่มีของมาจำนำแล้ว    โดยเฉพาะทองคำที่ช่วงก่อนหน้าราคาบาทละ 2.2-2.3 หมื่นบาท  และราคาได้ลดลงมาเหลือ 1.7-1.8 หมื่นบาท  คนเลยทิ้งไม่มาไถ่ถอนคืนทำให้ตอนนี้ไม่มีของมาจำนำอีก  แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  แม้ว่าปีนี้จะมีการปรับค่าแรงขึ้น 300 บาท แต่สินค้าของกินของใช้ก็ปรับราคาเพิ่มขึ้นพอ ๆ กัน  คนเลยไม่มีกำลังซื้อมากขึ้น  ตอนนี้โรงรับจำนำให้ราคาทองที่มาจำนำถ้าครึ่งสลึง 2.1 พันบาท  และถ้าน้ำหนัก 1 บาทจะให้ประมาณ 1.7-1.8 หมื่นบาท"
   
ที่ย่านบางกะปิมีผู้ปกครองมาใช้บริการโรงรับจำนำน้อยลงเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ประจำโรงรับจำนำ เผยว่า  ค่อนข้างเงียบเหงา เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่เป็นช่วงโค้งท้ายใกล้เปิดเทอมซึ่งปกติจะมีพ่อแม่ ผู้ปกครองมาใช้บริการโรงรับจำนำจำนวนมาก เพื่อนำเงินไปจับจ่ายซื้อเสื้อผ้า  รองเท้า อุปกรณ์การเรียน ตลอดจนจ่ายค่าเล่าเรียน จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะลดลงราว 10-15%   ขณะที่ทองคำยังเป็นสินค้าที่นิยมนำมาจำนำมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ส่วนที่เหลือเป็นนาฬิกา  กล่องถ่ายรูป โทรทัศน์  คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เป็นต้น
   
เท่าที่พูดคุยกับลูกค้า พบว่าหลายคนหันไปกู้นอกระบบ  เพราะไม่ต้องมีสินทรัพย์ และยังให้กู้ยืมง่าย"

-โรงตึ๊งกทม.ลดดอกดูดลูกค้า
   
ส่วนโรงรับจำนำกทม.กลับมา ลูกค้าคึกคัก โดยนายชัชวาล ศรีนนท์  ผู้อำนวยการสถานธนานุบาล กทม.(โรงรับจำนำกทม.) กล่าวว่า  ปัจจุบันประชาชนยังใช้บริการอย่างคึกคักมาตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.ที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตลอดไป  อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาทองคำยังค่อนข้างผันผวน จึงมีนโยบายให้ทุกสาขาติดตามแนวโน้มราคาทองคำ และสามารถปรับเพิ่มหรือลดวงเงินรับจำนำตามสถานการณ์ เช่น สูงสุด 87.5 %หรือปรับลด 85 %
   
โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา สถานธนานุบาล กรุงเทพมหานคร ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ประกอบด้วยเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตรา 0.25 % ต่อเดือน สำหรับเงินต้น 5,001 - 15,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.00 % ต่อเดือน ส่วนเงินต้นเกิน 15,000 บาทนั้น แบ่งเป็น เงินต้น 2,000 บาทแรก คิดดอกเบี้ย 2 %  และส่วนเกิน 2,000 บาทขึ้นไปคิดดอกเบี้ย 1.25 % ต่อเดือน

-หนีซื้อของห้างดิสเคาต์ยักษ์
   
ขณะที่นายกุฎาธาร นาควิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)  กล่าวว่า  ปีนี้มีผู้ปกครองมาซื้อสินค้าช่วงเปิดเทอมที่บิ๊กซี จำนวนมากเป็นพิเศษ  น่าจะเกิด 2 ปัจจัยคือ มีการติดป้ายราคาที่ชัดเจน และมีราคาถูกกว่าสินค้าที่วางจำหน่ายทั่วไป 20-30 %  มีสินค้ามากกว่า 20  แบรนด์ และมีขนาดให้เลือกได้หลากหลาย สามารถเลือกซื้อได้ครบครันและอยู่ในงบประมาณที่วางไว้
   
เดิมเราตั้งเป้าที่จะมียอดขายเติบโตขึ้น 8-10% ตลอดช่วงที่จัดโปรโมชัน แต่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโค้งท้ายของการจับจ่ายก่อนเปิดเทอม พบว่ามีลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลให้มียอดขายเติบโตกว่า 10 % เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้  อีกทั้งเป็นการเติบโตทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมลูกค้า เลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่ามากขึ้น"
   
ด้านนางจินดา เมฆบุตร  ผู้จัดการ บริษัท อินซไพรด คิดดิ จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า  กล่าวว่า   บริษัทขายส่งชุดนักเรียนให้กับร้านค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ  ซึ่งยอดการสั่งชุดนักเรียนมีเข้ามาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย   โดยมีลูกค้าใหม่ที่เข้ามาซื้อสินค้าไปขายต่อเพิ่มขึ้น 30% สาเหตุคงเป็นเพราะบริษัทมีช่องทางอินเตอร์เน็ตในการสั่งซื้อสินค้า  และราคาขายส่งของบริษัทปรับราคาเพิ่มขึ้นเพียงชุดละ 5 บาทจากปีที่ผ่านมาเท่านั้น  แม้ต้นทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 30 %  ที่สำคัญชุดนักเรียนเป็นสินค้าจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องซื้อ  อย่างน้อย 2-3 ชุดต่อคน  ทำให้ยอดขายในปีนี้จึงยังดีต่อเนื่อง

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประสาร. เผยหารือ กิตติรัตน์. เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ถูกกดดันให้ลดดอกเบี้ย !!?


ประสาร. เผยหารือร่วม “คลัง-กนง.-เอกชน” วันนี้ บรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ยหลังเงินบาทอ่อนค่าลง พร้อมปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่อง 4 มาตรการ ซึ่งเคยนำเสนอต่อกระทรวงการคลังไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมองว่าการออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอาจทำให้ต่างประเทศตีความไปเกินจำเป็นได้
     
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ ยังไม่มีการพูดถึงการออกมาตรการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ตลอดจนไม่ได้พูดถึงแนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เป็นเพียงการหารือในภาพรวมของเศรษฐกิจ และความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่จะต้องเผชิญในระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งความต้องการของภาคเอกชนที่ขอให้ช่วยดูแลเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และไม่ผันผวน
     
ที่ประชุมวันนี้ ได้หารือถึงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งระยะสั้น และระยะยาว ตลอดจนการรับทราบข้อมูลปัญหาของภาคเอกชน เช่น การขาดแรงงาน ประสิทธิภาพด้านการผลิต และความสามารถในการแข่งขัน โดยต่างเห็นตรงกันว่า ยังมีปัญหาที่ต้องเผชิญและเป็นความท้าทายในทุกภาคส่วน พร้อมมองว่า ยังมีความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงโดยทั้งภาครัฐ และเอกชนต้องเตรียมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
     
 ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีความเข้าใจร่วมกันว่า แม้เงินบาทจะมีความผันผวน แต่จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเช่นเดียวกับทิศทางสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่อ่อนค่าลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ถือเป็นอุทาหรณ์ว่าไม่ควรประมาท หรือวางใจแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย โดยต้องมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขสำหรับภาพรวมในระยะกลาง และระยะยาวที่ยังมีปัญหาต้องเผชิญในอีกหลายมิติ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ใช่เฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยน หรือการเงินโลกเท่านั้น
     
ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการประชุม กนง.ในวันที่ 29 พ.ค. และการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันไม่เฉพาะแต่เรื่องการเงินเท่านั้น พร้อมเชื่อว่า การประชุม กนง.ในรอบถัดไปจะได้รับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นจริง และใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงภาวะเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 1/56 และแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ กนง.ได้รับทราบข้อมูลล่าสุดก่อนที่จะนำไปใช้ตัดสินใจในเรื่องการดูแลค่าเงินบาทต่อไป
     
 อย่างไรก็ดี ผู้ว่าฯ ธปท.ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่อง 4 มาตรการที่ ธปท.เคยนำเสนอต่อกระทรวงการคลังไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมองว่า การออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอาจทำให้ต่างประเทศตีความไปเกินจำเป็นได้
     
 นายประสาร กล่าวด้วยว่า รมว.คลังได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า การประชุมในลักษณะเช่นนี้ควรจะจัดให้มีขึ้นอีก แต่อาจเปลี่ยนหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่ง ธปท.ก็ยินดีที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุม และรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพราะหลายปัญหาต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย

ที่มา.ผู้จัดการ
////////////////////////////////////////////////////////

ชาติจนคนรวย !!?


ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่า..เรื่องค่าเงินบาทนั้น..ระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย..ใครเป็นฝ่ายถูกใครเป็นฝ่ายผิด

และเรื่องราวถูกผิดในเรื่องนี้นั้นจะส่งผลต่ออนาคตของประเทศชาติอย่างไรเช่นไร..และจะทำให้เกิดความล่มสลายอย่างในปี 2540 หรือไม่

ทว่าก่อนหน้าจะถึงปี 2540..ประมาณปี 2534..ประเทศนี้ได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้นเรียกว่าปฏิวัติ รสช. ..เหตุผลที่ รสช. นำมาใช้ในการปฏิวัติกับความเป็นจริงเป็นคนละเรื่องกัน และยิ่งกว่านั้นฝ่ายยึดอำนาจยังใช้มาตราการตรวจสอบความมั่งคั่งมีการยึดทรัพย์สินของนักการเมืองไว้ตรวจสอบ

ครั้งนั้น..เราได้เขียนบทความไว้ว่า..ในอนาคตข้างหน้าปัญหาเงินจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ
เพราะว่าเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินหรือการอายัดทรัพย์อย่างเป็นวงกว้างเช่นนี้..เป็นเรื่องไม่ปรกติทางการเมือง..เกรงว่านับตั้งแต่วันนั้นจะไม่มีข้าราชการหรือนักการเมืองหรือพ่อค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับแวดวงการเมือง..จะไว้วางใจในระบบฝากเงินผ่านสถาบันการเงิน

เงินการเมืองแบบนี้..จะถูกฝังไว้ในที่ที่ปลอดภัย..และในที่สุดจะถูกลำเลียงออกไปฝากนอกประเทศ..ในเกาะการเงินต่างๆ หรือแม้แต่เกาะสิงคโปร์

เราประเมินไว้ว่า..ประเทศไทยจะเหลือแต่ลูกหนี้

ก่อนหน้านั้น..รัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้สร้างปรากฏการ์ณทางเศรษฐกิจมาใหม่..นั้่นคือ ทำให้หุ้นในท้องตลาดขึ้นไปสูงถึง 1700 จุด..

แต่เพราะวิบากกรรมคนไทยยังไม่สิ้น..การปฏิวัติที่เกิดขึ้นจึงกระชากชาติลงสู่ความพินาศ..กว่าการเมืองจะนำชาติมาสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง..ก็ต้องมีการทำให้บาดเจ็บล้มตาย

แต่ผลพวงของการกล่าวหาเพื่อการกล่าวหาเพื่อการปฎิวัติ..จึงนำประเทศชาติไปกลายเป็นต้มยำกุ้ง..และประวัติศาสตร์จะกลับมาเป็นอนาคต..ตราบเท่าที่เงินตรายังหลั่งไหลออกไป..เพราะเก็บไว้ไม่ได้ในประเทศไทย

ธนาคารมีแต่บัญซีลูกหนี้..ที่หมดกำลังในการชดใช้หนี้..

ธนาคารจะมีแต่ลูกหนี้..เพราะจะมีแต่คนขอกู้..แต่ไม่มีเงินฝากก้อนใหญ่..เพราะเงินบาทไทยนั้นวันนี้อยู่แต่ในมือของผู้ที่หวาดหวั่นกับการตรวจสอบ

ไปตรวจกันดูก็ได้..คนที่ว่ามั่งคั่ง..ไม่มีใครฝากไว้กับธนาคารในประเทศ

โดย.พญาไม้.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////

การเมืองมาเลเซียจะก้าวกระโดด...จริงหรือ !!?


ควันหลงที่ยังคงมีไออุ่นของ "การเมืองมาเลเซีย" ที่ยังน่าจะมีความครุกรุ่นของความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายอันวาร์ อิบราฮิม
   
จริงๆ แล้ว ถ้าจะให้คาดการณ์ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมคาดล่วงหน้าว่าน่าชนะแบบสูสีชนิดอาจต้องใช้กล้องถ่ายรูปก็เป็นได้ แต่ปรากฎว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ "พรรคแนวร่วมแห่งชาติ" นำโดย "พรรคอัมโน" คว้าชัยชนะเลือกตั้งทั่วไป ทำให้นายนาจิบ ราซัก หวนกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และจะได้ยึดครองอำนาจบริหารประเทศไปได้อีก 5 ปี ทั้งๆ อายุเพียง 59 ปีเท่านั้น
   
จำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ 222 ที่นั่ง พรรคแนวร่วมแห่งชาติพรรคอัมโนคว้าชัยชนะได้ 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เพียง 89 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด
   
ถามว่า การที่นายอันวาร์ อิบราฮิม ปฏิเสธการพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติมาเลเซียว่า "โกง!" จนต้องมีการประท้วงเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แต่ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงไต่ระดับสู่ความยุ่งเหยิง เหตุผลเพราะว่า นายนาจิบ ราซัก ปฏิญาณตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองเรียบร้อยแล้ว พร้อมบริหารชาติบ้านเมืองต่อทันที
   
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ "การโกงการเลือกตั้ง" นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องด้วยชาวมาเลเซียที่มีสิทธิมีเสียงในการลงคะแนนเลือกตั้งจำนวน 13 ล้านคน ผู้มีสิทธิประมาณร้อยละ 80 หรือคิดเป็นจำนวน 10 ล้านคน ใน 8,000 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ จึงขอย้ำว่า "โปร่งใส-ธรรมาภิบาล" ที่สุด และนอกเหนือจากนั้น การเลือกตั้งในประเทศมาเลเซียไม่เคยถูกครหานินทาว่ามีการโกงแต่ประการใด
   
ว่าไปแล้ว พรรคอัมโนยึดครองอำนาจการเมืองมายาวนานหลังผูกขาดอำนาจทางการเมืองมามากถึง 56 ปี นับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2500 เพราะฉนั้น ความรู้ความเข้าใจของประชาชนชาวมาเลเซีย ที่น่าจะสืบทอดอุปนิสัยใจคอที่มี "วินัย" ทางการเมืองที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมายาวนาน น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ตลอดรัฐธรรมนูญก็ยังมีชาวอังกฤษเป็นผู้ร่วมร่าง
   
ทั้งนี้ การที่ประเทศมาเลเซียเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น จะนับว่าดีหรือไม่ต้องอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคน เพียงแต่ว่า อังกฤษเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย ที่ยึดมั่นในความถูกต้องและระเบียบวินัย จะเห็นได้จากการซึมซับวัฒนธรรมอังกฤษ จนมาเลเซียวันนี้มีระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่มั่นคง ซึ่งมีประชากรเพียง 30 ล้านคนเท่านั้น แต่บ้านเมืองของเขาสวยงาม มีระเบียบ ถนนหนทาง ต้นไม้รายล้อมทั่วบ้านทั่วเมือง
   
จริงๆ แล้วน่าจะผิดกับสิงคโปร์ที่ขอหยาบคายเรียกว่าเป็น "สังคมพลาสติค (PLASTIC SOCIETY)" กล่าวคือ จะเป็นโลหะก็ไม่ใช่ เสมือนของปลอมคล้ายพลาสติค ที่มีกรอบวินัย และผู้คนเคารพกฎหมาย (หรือกลัวกฎหมาย) บ้านเมืองเจริญทันสมัย เพียงแต่อาจจะ "วัตถุนิยม (MATERIALISTIC)" และ "ของปลอม" กับ "ของแท้" แตกต่างกันมากแค่ไหน!
   
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าทั้งสองประเทศยึดมั่นในระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องตอบว่า "แน่นอน!" เพียงแต่ว่าทั้งวัฒนธรรมและค่านิยมของชาวมาเลเซียกับชาวสิงคโปร์อาจจะแตกต่างกันมากพอสมควร เนื่องด้วยชาวสิงคโปร์เวลามาเที่ยวหาดใหญ่หรือกรุงเทพฯ จะสูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่และหมากฝรั่งเกลื่อนกลาด ทั้งนี้มิได้หมายความว่าทุกคนปฏิบัติกัน เพียงแต่บางคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ปฏิบัติกัน ถามว่าทำไมมักจะตอบว่า เมืองไทยสามารถทำได้ เพราะไม่ผิดกฎหมาย "ว่าไปนั่น!?!"
   
การเมืองในมาเลเซียไม่น่ามีอะไรที่จะต้องวิตกแต่ประการใด ถึงแม้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะประท้วงอย่างไร พรรคอัมโนจะยึดครองอำนาจการเมืองต่อไปอีก 5 ปี จนยาวนานถึง 61 ปีทีเดียว
   
ดร.มหาเธร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียหลายสมัย เป็นยุคที่มาเลเซียก้าวกระโดดอย่างมาก จนเกิดแนวคิดพัฒนาวิสัยทัศน์ประเทศจนถึงค.ศ.2020 และเป็นผู้ที่ปลดนายอันวาร์ อิบราฮิม ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และติดคุกในข้อกล่าวหา ทุจริตคดโกงและประพฤติผิดทางเพศ จึงน่าจะเป็นบ่วงที่ดึงคะแนนนิยมและการยอมรับนายอิบราฮิม
   
ประวัติของนายนาจิบ ราซัก นั้นสืบทอดจากบิดาที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย ประกอบกับนายนาจิบ ราซัก นั้นอาจมิเคยคิดเล่นการเมือง เพราะหลังจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและทำงานที่บริษัทน้ำมันปิโตรเลียม บังเอิญบิดาเสียชีวิตทำให้ตำแหน่งในสภาว่างลง ทำให้นายนาจิบ ลงสมัครเล่นการเมือง และได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ อายุเพียง 23 ปี
   
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกเหนือจากนายนาจิบ ราซัก ได้ปฏิญาณตนแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แสดงความยินดีต่อชัยชนะของนายนาจิบแล้ว บวกกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะทำให้การเมืองมาเลเซียวุ่นวายยุ่งเหยิง
   
ประเด็นสำคัญที่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)" จะเริ่มปลายปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) อีกเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น บ้านเรายังคงมีตายรายวันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่น่าจะมีแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายภูมิภาคที่ต้องการ "นครรัฐอิสระ" แยกจากประเทศไทยและมาเลเซีย
   
จึงต้องถามว่า มาเลเซียจริงใจมากน้อยเพียงใดกับความร่วมมือกับประเทศไทยในการ "ผลักดัน-กดดัน" มิให้เกิด "นครรัฐอิสระ" ขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เพียงแต่ว่ามาเลเซียสามารถเป็นประเทศที่ 3 หรือ ที่ 4 จากการเป็นกลุ่มผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
   
ต้องคอยติดตาม!

ที่มา.สยามรัฐ
////////////////////////////////////////////