--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

สำนักงบ-สศช.หนุน 2 ล้านล้าน นักวิชาการค้าน....


สำนักงบหนุน พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ชี้ก่อหนี้ผูกพันงบฯมีข้อจำกัด สศช.ระบุสร้างความเชื่อมั่น นักวิชาการ-ส.ว.ค้าน ใช้เงินไม่ผ่านระบบนิติบัญญัติ

สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาวาระ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีเสียงสะท้อนอย่างหลากหลายในการกู้เงินดังกล่าวมีความจำเป็นหรือไม่ และการกู้เงินยังสร้างภาระหนี้ระยะยาวให้กับประเทศไปเป็นระยะเวลา 50 ปี

นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องใช้วิธีการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากประเทศมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ที่มีรายจ่ายประจำค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังมีงบลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้นโอกาสที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายๆ โครงการ โดยใช้งบประมาณปกติเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
สำหรับวิธีการใช้การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ก็ถือว่ามีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจากในแต่ละปีจะสามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้เพียงไม่กี่โครงการเท่านั้น จึงไม่เหมาะสมในการใช้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หากตั้งเป็นการผูกพันงบประมาณข้ามปีก็อาจกระทบกับงบประมาณหน่วยงานอื่นๆ ได้

"การกู้เงินในโครงการ 2 ล้านล้าน มีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ จะกู้ตามโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างในแต่ละปี หากโครงการยังไม่มีความพร้อมหรือติดขัด ก็จะยังไม่มีการกู้เงินในส่วนนั้น" นายวรวิทย์ กล่าว

สศช.ชี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นลงทุน

ด้าน นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเสนอความคิดเห็นและคัดกรองโครงการที่มีความจำเป็น ซึ่งบรรจุอยู่ในเอกสารแนบท้าย พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่มีความสำคัญ ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและช่วยให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ที่เห็นทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะเวลา 7-10 ปี เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีการกำหนดแหล่งเงินทุนรองรับแน่นอน และ สศช. มีหน้าที่ศึกษาและให้ความเห็นประกอบโครงการต่างๆ ตามขั้นตอนปกติ ซึ่งหมายความว่าในขั้นตอนที่จะมีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการต่างๆ หน่วยงานเจ้าของโครงการ ต้องเสนอโครงการให้ ครม.เห็นชอบ

ส.ว.ค้านกู้ 2 ล้านล้านเชื่อขัดรธน.

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา กล่าวในงานเสวนา "มุมมองวุฒิสภา : ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท" ว่า เห็นด้วยกับโครงการลงทุนที่รัฐบาลเตรียมที่จะดำเนินการ แต่ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีการกู้เงิน ซึ่งอาจจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และ เห็นว่า การใช้จ่ายเงินผ่านกฎหมายดังกล่าว จะเป็นการพลิกโฉมการใช้เงินภาครัฐ ซึ่งจะไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ

"ผมมั่นใจว่า ร่างกฎหมายนี้ จะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหมวด 8 มาตรา 166-170 และ จะต้องพบกันที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่ ขณะนี้ ก็กำลังล่ารายชื่อสมาชิกวุฒิสภาให้ครบ 65 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความ"นายคำนูณ กล่าว

นอกจากนี้ ยังไม่เห็นว่า รัฐบาลได้พยายามเต็มที่ในการที่จะใช้จ่ายเงินลงทุนดังกล่าว ผ่านระบบงบประมาณประจำปีปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลก็มีคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาฯในการดำเนินโครงการอยู่แล้ว

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณางบลงทุนในแต่ละปีที่รัฐบาลระบุว่า จะใช้ประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี เมื่อบวกกับ งบประมาณเพื่อการลงทุนในระบบงบประมาณตามปกติอีก 3 แสนล้านบาท ในทางการเมือง ก็เท่ากับว่า รัฐบาลชุดนี้ จะมีเม็ดเงินที่จะใช้จ่ายถึง 7 แสนล้านบาทต่อปี ในระยะ 7 ปีข้างหน้า ถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการใช้จ่ายเงิน

ทีดีอาร์ไอชี้รัฐตีเช็คเปล่าใช้เงินนอกงบ

ด้าน นายสมชัย จิตสุชน ผู้แทนสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่า ไม่ค้านในหลักการที่รัฐบาลจะลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะเงินไหลเข้า ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ต้นทุนการลงทุนต่ำ แต่มีข้อกังวล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับแนวทางการใช้จ่ายเงิน เพราะเท่าที่พิจารณาร่างกฎหมายจะพบว่า หากบัญชีแนบท้ายไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย ก็เท่ากับว่าเป็นการใช้จ่ายเงินเหมือนกับนอกงบประมาณ หรือ เป็นการจ่ายเช็คเปล่า ที่สามารถโยกงบการใช้จ่ายได้ และไม่มีการันตีว่า งบที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องผ่านสภาอีกหรือไม่

เขากล่าวว่า ความต่อเนื่องของการลงทุนถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะดีต่อนักลงทุนที่จะสามารถวางแผนการลงทุนได้ แต่คำถามคือว่า ถ้าเป็นการใช้จ่ายผ่านระบบงบประมาณปกตินั้น จะสามารถทำได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะเท่าที่พิจารณาบางโครงการในแผนลงทุนนั้น จะพบว่า สามารถทำการลงทุนที่ต่อเนื่องได้ ฉะนั้น ก็สะท้อนว่า การใช้จ่ายผ่านงบประมาณปกติก็สามารถทำให้การลงทุนต่อเนื่องได้

สำหรับกรณีข้อกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดหรือที่มาของระดับหนี้สาธารณะที่กระทรวงการคลังได้ประเมินว่า จะไม่เกินกรอบความยั่งยืนการคลังที่ 50%ต่อจีดีพี แต่ในส่วนทีดีอาร์ไอประเมินว่า จะสูงถึง 60%ต่อจีดีพี

"ที่เตะตามากๆ คือ เงิน 1.2-1.3 ล้านล้านบาท หรือ 65% ของ 2 ล้านล้านบาทนั้น เป็นงบที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ไม่มั่นใจว่า การบริหารจัดการงบตัวนี้จะทำได้ดีหรือไม่" เขากล่าว

ปลัดคลังลั่นลงทุนคุ้มค่าจีดีพีขยายตัว

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นการพลิกระบบเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ โดยภาพใหญ่ของการลงทุนจะเกิดขึ้น หลังจากที่กฎหมายนี้ผ่านการพิจารณา

"ผลของการลงทุนนี้ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีอัตราการเติบโตพื้นฐานเฉลี่ย 4.5% ตลอดระยะเวลา 7 ปี และ เพิ่มขึ้นอีก 1% ขณะเดียวกันภาระหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50%ต่อปี ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่เกิน 1.9%ต่อจีดีพี อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม 0.3% แต่เราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านน้ำมันได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าคิดระยะ 10 ปี ก็เท่ากับประหยัดไป 1 ล้านล้านบาทแล้ว"

เขากล่าวด้วยว่า การกำหนดกรอบหนี้สาธารณะไว้ในระดับไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี จะทำให้เรามีศักยภาพที่จะกู้เงินได้อีก กรณีที่เศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้ไม่ตามเป้าหมาย ซึ่งอาจจะมีปัญหาจากปัจจัยต่างๆ แต่ถ้ามีปัญหาถึงขั้นเศรษฐกิจช็อก เราก็สามารถชะลอการกู้เงินได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราสามารถบริหารจัดการได้

สำหรับเหตุผลที่ต้องออกเป็นพ.ร.บ.เพื่อกู้เงินดังกล่าว เขากล่าวว่า ไม่ได้เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้เงินในงบประมาณ แต่เห็นว่า เมื่อเราต้องการลงทุนครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมานาน เราจำเป็นต้องมีแนวทางที่จะต้องทำให้การลงทุนได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง

"เมื่องบลงทุนด้านการคมนาคมไปใส่ไว้ในเงินกู้นี้ ต่อไปนี้ งบประมาณที่จะจัดสรรให้แก่กระทรวงคมนาคมด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเราก็จะหายไป แต่จะเอางบส่วนนี้ ไปลงทุนด้านสังคม หรือ สวัสดิการแก่ประชาชนของประเทศ"

ย้ำระบบจัดซื้อจัดจ้างเหมือนงบปกติ

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชันในโครงการนั้น เขากล่าวว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องเหมือนกับเงินในงบประมาณ จะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ ไม่มีการจัดจ้างวิธีพิเศษ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้จัดให้มีการปรับปรุงวิธีการคำนวณราคากลางที่มีความโปร่งใสและตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น เปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับขั้นตอนการประมูลทั้งหมดด้วย

ที่สำคัญไม่ต้องห่วงเรื่องการโยกงบประมาณ เพราะในบัญชีแนบท้ายมียุทธศาสตร์การใช้จ่ายเงินกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดก็จะเป็นโครงการลงทุนด้านคมนาคมเท่านั้น

"การที่เรามีมาตราของกฎหมายที่น้อย ก็เพราะเราจะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างเหมือนกันกับการใช้จ่ายเงินในงบประมาณ ส่วนจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่ได้ผิดกฎหมาย"

"เฉลิม-สุนัย" รับบทองครักษ์ "ยิ่งลักษณ์"

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในการเตรียมรับมือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท วันที่ 28-29 มี.ค. นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะกล่าวเปิดในภาพรวม ถึงความจำเป็นของการออกร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม จะเป็นผู้ชี้แจงในภาพรวม โดยมี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุมเกมในสภา
ทีมยุทธศาสตร์พรรคได้วางตัวให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้แจงเป็นระยะๆ กรณีที่ถูกพาดพิง โดยจะชี้แจงในลักษณะภาพรวมกว้างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งบัลลังก์ตลอด เนื่องจากมีห้องส่วนตัวเพื่อทำงานด้านอื่นและฟังการประชุมได้

สำหรับบุคคลที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ เป็นหลัก ยังคงเป็นหน้าที่ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และทีมนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และนาย สุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่ควบคุมการประชุม คอยประท้วง หากฝ่ายค้านอภิปรายนอกเรื่อง เช่น ไปพาดพิง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ตั้งวอร์รูม 2 ชุดตอบโต้ฝ่ายค้าน

นอกจากนี้ทีมยุทธศาสตร์พรรค ยังได้เปิดห้อง 3310 อาคารรัฐสภา เพื่อตั้งเป็นวอร์รูม ในการมอนิเตอร์การชี้แจงในสภา และประเด็นต่างๆ ที่จะมีตอบโต้กันทางการเมืองของบาท โดยให้ นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นั่งประจำห้องดังกล่าวตลอดทั้ง 2 วัน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็จะมีวอร์รูม อีกหนึ่งชุด ซึ่งนำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และทีมยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายนพดล ปัทมะ, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุชน ชาลีเครือ และ นายชูศักดิ์ ศิรินิล

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

เศรษฐศาสตร์การเมืองในร่างอุ่นๆ (Warm Body and Political Economy)


โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้า (ธนบุรี)

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองรวมถึงนักวิชาการในสาขาอื่น ตัวอย่างเช่น สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Zizek) หรือ ไมเคิล ชาพิโร (Michael Shapiro) ล้วนชื่นชอบในการวิเคราะห์ภาพยนตร์ สรวิช ชัยนาม (2555) ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์หนังสือวิเคราะห์ภาพยนตร์ชื่อ จากปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์

โดยอธิบายสาเหตุที่นักวิชาการนิยมวิเคราะห์ภาพยนตร์เพราะ 1. ภาพยนตร์นั้นเป็นรูปสัญญะที่มีเพรียบพร้อมทั้งแสง สี เสียง ให้ได้ตีความ 2. นักศึกษาในปัจจุบันก็สนใจที่จะบริโภคภาพยนตร์ โดยเฉพาะ Hollywoodในฐานะสิ่งบันเทิงอยู่แล้วทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะชี้ชวนให้เรียนรู้จากมัน (อย่างน้อยก็คงง่ายกว่าการชักชวนให้อ่านวรรณกรรม ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการเข้าถึง) บทความนี้ก็จะหยิบยกนำภาพยนตร์เรื่อง Warm Body ขึ้นมาใช้ในการวิเคราะห์ร่วมกัน

Warm Bodies movies photo from stuffpoint.com
Warm Body เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโลกในวันที่คนส่วนใหญ่กลายเป็นผีดิบ (Zombie) และมีมนุษย์เหลืออยู่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น โดยมนุษย์ส่วนที่เหลือได้สร้างกำแพงใหญ่กันพื้นที่อาณานิคมสุดท้ายของตนเองเอาไว้เพื่อความปลอดภัย

สำหรับตัวละครหลักในด้านของผีดิบนั้น จะแบ่งออกเป็นสองชนิด ชนิดแรกเรียกว่าคอร์ปส์ (Corps) ซึ่งเป็นผีดิบทั่ว ๆ ไป ยังมีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ เพียงแต่ตัวซีด (แน่นอนเพราะไม่มีเลือดไหลเวียน) ไร้ความเจ็บปวด และต้องกินมนุษย์โดยเฉพาะส่วนของสมองเป็นอาหารนอกจากจะเพื่อให้อิ่มท้องแล้ว การกินสมองยังช่วยทำให้คอร์ปส์รู้สึกมีชีวิติอีกครั้งด้วยการดื่มด่ำกับภาพความทรงจำของเหยื่อที่ผีดิบกินเข้าไป

เมื่อคอร์ปส์ดำเนินชีวิตเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดหวังและยอมแพ้กับ (ความไร้) ชีวิตของตนเอง คอร์ปส์ก็จะกลายเป็นผีดิมที่ถลำลึกยิ่งขึ้นเรียกว่า โบนีย์ (Boney) โบนีย์นี้จะเริ่มจากการฉีกทึ้งรูปลักษณ์ของตนเองออกจนกระทั่งเหลือเพียงเนื้อในศพน่ารังเกียจ โบนีย์จะไม่มีความคิดใด ๆ อีกนอกจากความต้องการกินมนุษย์เป็นอาหาร และจะไม่ฆ่าคอร์ปส์แต่ก็ไม่สุงสิงกัน

การแบ่งมนุษย์และผีดิบออกจากกัน โดยฝ่ายผีดิบต้องการจะกินมนุษย์เป็นอาหาร และมนุษย์ต้องการจะฆ่าผีดิบเพื่ออยู่รอดก็มีความสัมพันธ์ที่เอาความขัดแย้งเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของมโนทัศน์แบบเศรษฐศาสตร์การเมือง ความขัดแย้งที่ Warm body นำเสนอนั้นเป็นความขัดแย้งซึ่งผีดิบเป็นฝ่ายกระทำและมนุษย์เป็นฝ่ายปฏิกิริยา โดยความอยากไร้ที่สิ้นสุดในการได้กินมนุษย์ ความไร้เลือดและมีเพียงความกระหายนั้นก็ดูเข้าได้ดีกับ “ความโลภ” ซึ่งเป็นแรงขับดันสำคัญกระทั่งกล่าวได้ว่าเป็น “สถาบันหรือกฎระเบียบของโลกทุนนิยม” มากกว่าอย่างอื่น

หากเราตีความรูปสัญญะของผีดิบให้เป็นนายทุน (ซึ่งเดินตามกฎเกณฑ์ของระบบทุนนิยม) เสียแล้ว มนุษย์ในเรื่องก็ไม่สามารถเป็นสิ่งอื่นไปได้ นอกเสียจากบุคคลที่เป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมอันเลวร้าย ความขัดแย้งระหว่างผีดิบและมนุษย์ใน Warm body จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความโลภของทุนนิยม

แม้ว่าเราอาจจะแบ่งนายทุน (ผีดิบ) ออกจากผู้ที่ได้รับผลร้ายจากระบบทุนนิยม (มนุษย์) แต่ก็ใช่ว่าจะจบอยู่เพียงเท่านั้น อันที่จริงท่ามกลางผีดิบเองก็ยังมีความหลากหลายอยู่ภายใน (Heterogeneity) ที่ชัดเจนที่สุดคือ อย่างน้อยคอร์ปส์และโบนีย์ก็ไม่เหมือนกัน ทำไมผู้ประพันธ์ต้องทำให้ผีดิบแตกต่างกันทั้ง ๆ ที่หนังผีดิบทั่วไปมักไม่เน้นความแตกต่างของผีดิบ (เดินเน่าๆ วิ่งเข้ามาไล่กัดคนอย่างเดียว) นั้นเป็นเรื่องน่าสนใจจะอภิปราย

เราอาจจะตีความได้ว่า คอร์ปส์นั้นหมายถึง กลุ่มคนหรือกลุ่มทหารเลยโดยตรงตามตัวภาษาอังกฤษนัยว่าคอร์ปส์คือกลุ่มทหารเลวของบรรดาผีดิบ ทว่า จริงๆ แล้วคอร์ปส์ก็อาจจะโยงไปถึง Corp (oration) s ได้ด้วยซึ่งตอกย้ำให้เข้าใจว่าคอร์ปส์นี่ก็คือบริษัททั่วๆ ไปในระบบทุนนิยม หรือคือนายทุนทั่วไป และหากไม่เป็นการกล่าวจนเกินไปเราอาจจะตีความไปถึงผู้ที่ทำงานเป็นแรงานในบริษัทเหล่านั้นอีกด้วย

ในขณะที่บรรดาโบนีย์ ก็น่าที่จะมาจากคำว่า โบน (Bone – กระดูก) หรือโบนียาร์ด (Boneyard – สุสานป่าช้า) ซึ่งส่อนัยว่า ผีดิบเหล่านี้ก็คือบรรดานายทุนที่ปฏิเสธจะเข้าใจมนุษย์โดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่คิดจะคงรูปลักษณ์ (อันเป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์เพียงประการเดียวที่เหลืออยู่ของผีดิบ) แล้วเข้าสู่การใช้สัญชาตญาณของความโลภ การหิวเนื้อมนุษย์ด้วยกันแต่เพียงอย่างเดียว พวกนี้ก็คือคอร์ปส์ที่ถลำลึกไปสู่ความโลภ สัญชาติญาณในการหิวกระหายที่จะกินมนุษย์ “เข้ากระดูกดำ” ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นมนุษย์ทั่ว ๆ ไปได้อีก

what make you feel alive? photo from fanpop.com
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของพระเอกที่เป็นผีดิบ ไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของมนุษย์อย่างเช่นหนังผีดิบทั่ว ๆ ไป ภาพยนตร์เริ่มต้นจากมุมมองสายตาของผีดิบที่เป็นพระเอกชื่อ R เมื่อเริ่มเรื่อง R มองไปยังเพื่อนผีดิบด้วยกันและมักที่จะทายถึงอาชีพของคอร์ปส์ตัวอื่น ๆ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เช่น ยามเฝ้าสนามบิน พนักงานรักษาความสะอาด ลูกคุณหนูนักท่องเที่ยว เป็นต้น

คอร์ปส์เหล่านี้ได้แต่เดินไปเดินมาอย่างเฉื่อยชาตลอดทั้งวัน และทำในสิ่งที่ตนเองคุ้นเคยตามอาชีพต่างๆ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์เพื่อฆ่าเวลาระหว่างที่ยังไม่หิว (เมื่อหิวก็หันมาฆ่าคนแทน) พฤติกรรมของคอร์ปส์ผ่านมุมมองของ R นี้เองชวนให้นึกถึงสิ่งที่ สลาวอย ชิเชค เรียกว่า “คน (หรือในบริบทของภาพยนตร์นี้คือผีดิบ) แบบ Cynical” ซึ่งหมายถึง คนที่แม้จะเข้าใจถึงภัยของการหิวกระหายและปัญหาจากการเล่นตามเกมทุนนิยมอย่างสุดโต่ง (แบบโบนีย์) ว่าเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์

แต่กระนั้นก็ตาม คน (ผีดิบ) เหล่านี้ก็ไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาปฏิเสธต่อระเบียบโลกแบบทุนนิยม เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินตัวและได้แต่บ่นไปวัน ๆ ผีดิบเหล่านี้จึงเกลายเป็นอะไรที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เหมือนคอร์ปส์ที่ทั้งเหมือนมีชีวิตแต่ก็ไม่มีชีวิต เหมือนมนุษย์แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์และกินมนุษย์

R บรรยายความเป็น Cynical ของเขาอย่างชัดเจนโดย เขาแสดงความรู้สึกผ่านบทสทนากับตนเองว่า เขาขยะแขยงโบนีย์และไม่ได้รู้สึกดีกับตนเอง กระนั้นก็ตาม R ก็ทำในสิ่งที่เขาต้องทำในฐานะคอร์ปส์นั่นก็คือการกินมนุษย์รวมถึงแฟนของนางเอกที่เป็นมนุษย์ในเรื่องด้วย เมื่อ R ได้พบกับนางเอก เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในขั้นแรกได้แก่การที่เขาไม่กินนางเอกเป็นอาหาร

นอกจากนี้ R ยังช่วยนางเอกให้หนีจากการถูกกินอีกด้วย วิธีการก็คือทำให้ตัวนางเอกมีกลิ่นเหมือนตนเอง และให้นางเอกทำท่าทางแบบผีดิบเพื่อให้กลมกลืนกับคอร์ปส์อื่น ๆ พฤติกรรมเช่นนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของการแบ่งแยกกันด้วยกลิ่น (Essence) ซึ่งจริง ๆ แล้วมีความหมายเดียวกับแก่น (Essence) และพฤติกรรมท่าทาง กล่าวคือ การจะไม่ถูกผีดิบกินนั้นก็จะต้องเปลี่ยนแก่นของตนเองไปให้เหมือนกับผีดิบ หรือสยบยอมต่อทุนนิยมนั่นเอง

ในจังหวะที่นางเอกกำลังจะถูกกิน นางเอกก็ไม่มีทางเลือกใดอีกนอกจากจะต้องยินยอมเปลี่ยนแปลงกลิ่น/แก่น ของตนเองไปเป็นแบบผีดิบ/ทุนนิยม R จับนางเอกไปซ่อนไว้ที่อยู่ส่วนตัวของเขา (R มักแยกกับคอร์ปส์คนอื่นๆ มาอยู่บนเครื่องบินเพียงลำพัง) เมื่อนางเอกมาถึงที่อยู่ของ R เธอพบว่าผีดิบตัวนี้มีบางอย่างน่าสนใจ R เป็นนักสะสมซึ่งชอบเก็บของที่น่าสนใจตามที่ต่าง ๆ ในระหว่างออกล่ามนุษย์กลับมาเก็บเอาไว้

การสะสมของ R นั้นก็น่าสนใจมากเพราะ สะสม (Collect) กับการรวมหมู่ (Collective) นั้นก็มีรากศัพท์ที่เชื่อมโยงกัน หมายความว่า R นี่แม้จะเป็นคอร์ปส์แต่โดยพื้นเพของเขากลับโหยหาการรวมหมู่ (Collectivism/Communism) ในขณะที่คอร์ปส์ตัวอื่น ๆ กลับไม่ค่อยพูดคุยกันซึ่งสะท้อนลักษณะแบบปัจเจกนิยม (Individualism)

ในแง่นี้ นางเอกได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง R ไปจากเดิมที่เพียงบ่นๆ แล้วก็นิ่งเฉยต่อสภาพที่เป็นอยู่ (Cynical) มาสู่การไม่เห็นด้วยแล้วลงมือกระทำบางอย่างแต่ R ก็ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อนคอร์ปส์อื่นๆ อย่างถอนรากถอนโคน R เลือกที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่ตนเองพึงพอใจเท่าน้ัน ไม่ต่างอะไรกับการจ่ายค่ากาแฟตราสินค้าหรูแพงขึ้น เพื่อให้นำเศษเงินไปส่งต่อให้แก่เกษตกรเกษตรไร้สาร หรือเหมือนบริษัทที่ปล่อยน้ำเสียตัดป่าไม้แล้วค่อยมาทำโครงการปลูกป่าเอาทีหลัง

ชิเชค เรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า “สัจจะนิยมแบบทุน (Capitalist realism)” ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่กลับทำให้ชีวิตของระบบทุนนิยมยืนยาวยิ่งขึ้นไปอีก ก็เหมือนกับการที่ R ช่วยเหลือนางเอกก็ส่งผลกระทบต่อกลุ่มทหารมนุษย์ ที่จะปฏิวัติและสังหารเหล่าผีดิบ

ผลจากพฤติกรรมสัจจะนิยมแบบทุน สะท้อนชัดในพฤติกรรมของนางเอก ซึ่งก็เริ่มเปิดใจกับ R มากขึ้นเป็นลำดับ ฉากสำคัญได้แก่ ฉากที่ R สารภาพกับนางเอกว่าเป็นคนกินแฟนนางเอกเอง และนางเอกก็ตอบกลับไปว่า “ฉันคิดว่าฉันรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่อยากให้เป็นจริงเท่านั้นเอง” นั่นสะท้อนว่า ตลอดเวลานางเอกก็ทราบว่า เพื่อน/แฟน ของเธอก็ล้วนเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมที่เธอรู้จัก (R) ก็มีหัวใจนะ และเธอก็แอบหวังลึก ๆ ว่า R จะไม่ใช่คนที่ฆ่าแฟนเธอแม้ว่าเธอจะรู้อยู่เต็มอกว่า R เป็นคนทำ

ถึงจุดนี้ คงต้องทำความเข้าใจต่อตัวนางเองและมนุาย์คนอื่น ๆ มากขึ้นว่า นางเอกเป็นลูกสาวของผู้นำฝ่ายมนุษย์ การปรากฏตัวของมนุษย์ในเรื่องเป็นการปรากฎตัวในฐานะ “ทหาร” มากกว่าชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ฉากแรกที่เราเห็นมนุษย์ในเรื่องคือบรรดาคนหนุ่มสาวที่กำลังจะเสี่ยงชีวิตออกไปนอก “กำแพง” เพื่อที่จะหาอาหารกลับมาเลี้ยงดูมนุษย์คนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ การแสดงภาพของมนุษย์ที่เป็นทหารซึ่งพร้อมจะต่อสู้กับผีดิบนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นการเมือง (Political) ของการปรากฏตัว ความการเมืองของการสลายความเป็นเอกภาพและยืนยันถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งบางอย่างในโลกที่แตกต่างไปจากผีดิบ อันเป็นกระแสหลัก ณ ขณะเวลาในภาพยนตร์

แต่พ่อของนางเอกไม่ได้พึงพอใจเพียงการแสดงตัวตนว่ายังมีมนุษย์อยู่ในโลกเท่าน้ัน หากยังชิงชังและอยากจะฆ่าผีดิบให้หมดไปจากโลกอีกด้วย พ่อของนางเอกจึงเป็นตัวแทนของการ “ปฏิวัติของบรรดาคนที่ตกเป็นเหยื่อของทุนนิยม” ผู้ที่ลุกขึ้นมาประกาศว่า มนุษย์ไม่ใช่คนที่พร้อมจะถูกทำให้ตายได้ตลอดเวลา (Homo Sacer) หรือก็คือเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่มนุษย์สามารถตอบโต้และกระทำการในฐานะกองกำลัง (Militant) ได้เช่นเดียวกัน

การที่ R เองก็ละเว้นหรือกระทั่งหวังดีต่อนางเอกก็เป็นการทรยศต่อบรรดากฎระเบียบที่กำกับความหมายของ “ผีดิบ/ทุนนิยม” อยู่ในขณะเดียวกัน การที่นางเอกใจอ่อนต่อ R และ นั้นก็เป็นการหักหลังต่อการขบวนการปฏิวัติของพ่อเธอเอง ทว่า ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เนื่องจาก การต่อสู้กับผีดิบ/ทุนนิยมทั้งโลกนั้น ก็ช่างเป็นความต้องการที่ไม่อาจจะบรรรลุได้ (Unfulfilled need)

R-Julie-warm-bodies-movie, photo from fanpop.com
ดังนั้น หากพิจารณาพฤติกรรมของนางเอกและ R เข้ากับแนวทางจิตวิเคราะห์ของ จ๊าก ลาก็อง (Jaques Lacan) ก็จะพบว่า นางเอกและ R ต่างก็เป็นภาพตัวแทน/ภาพฝัน (Fantasy) ที่ต่างฝ่ายต่างสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะปลอบประโลมใจและเพื่อทดแทนแรงปารถนา (Desire) ที่จะหลุดจากระเบียบโลกแบบผีดิบ/ทุนนิยมนั่นเอง แต่ภาพฝันตรงนี้ก็กลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิวัติ เพราะภาพฝันนี้เองที่ทำให้แนวทางต่อสู้แบบแข็งกร้าว เพื่อปกป้องมวลมนุษย์ต้องชะงักขาดตอน

เพราะเหตุว่าภาพฝัน/ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผีดิบและมนุษย์ (ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างทุนนิยม/คนที่ได้รับผลกระทบจากทุนนิยม) ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการชะงักของขบวนการปฏิวัติ ในทัศนะของชิเชค ภาพฝันนี้จึงเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอได้อย่างน่าสนใจอีกด้านหนึ่งโดยชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงผู้นำการปฏิวัติจะเห็นว่าแนวทางนี้อันตรายแล้ว กลุ่มผีดิบแบบโบนีย์ หรือทุนนิยมเข้ากระดูกดำนั้นก็ปฏิเสธพฤติกรรมของบรรดา “คอร์ปส์ที่เริ่มมีหัวใจ” ด้วย ทำให้โบนีย์ต้องออกล่าเพื่อที่จะฆ่า R และนางเอก ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาความปั่นป่วนทั้งฝั่งของขบวนปฏิวัติและของผีดิบเอง (คอร์ปส์อื่น ๆ เริ่มหัว “ใจเต้น” เมื่อได้เห็น R และนางเอกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และนั่นทำให้คอร์ปส์เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น)

ในท้ายที่สุด บรรดาคอร์ปส์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองตาม R ก็ได้เข้าร่วมกับมนุษย์เพื่อป้องกันเมืองจากการโจมตีของโบนีย์ แต่เรื่องไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะ พ่อของนางเอกซึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังทหารมนุษย์ยังไม่ยอมรับว่าคอร์ปส์เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวอย่างถึงที่สุด การที่คอร์ปส์เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ในการต่อสู้กับโบนีย์นั้นยังก่อให้เกิดความน่าสงสัยหวาดระแวงมากกว่า เพราะเป็นพฤติกรรมที่อยู่นอกเหนือไปจากระบบความเข้าใจ หรือระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผีดิบและมนุษย์ที่มีอยู่เดิม

ดังนั้นแม้ว่า R จะช่วยชีวิตนางเอก คอร์ปส์จำนวนมากจะเข้าช่วยต่อสู้กับโบนีย์ พ่อของนางเอกก็ยังจะฆ่า R อยู่ดี จนกระทั่งลั่นกระสุนใส่ R และพบว่า R มีเลือดไหล การที่คอร์ปส์มีเลือดไหลและเจ็บปวดนั่นเองทำให้พ่อนางเอกยอมรับว่าคอร์ปส์เปลี่ยนแปลงได้ ตรงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์

กล่าวคือ การเอื้ออาทรที่มากขึ้นของทุนนิยมที่มีหัวใจนั้นอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดในทัศนะของผู้ประพันธ์บทภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่การที่ต้องยอมสละตนเองให้เจ็บปวด (Sacrifice) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสมานความแตกแยกระหว่างทุนนิยมและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทุนนิยมต้องพร้อมที่จะอดทนต่อความรุนแรงของฝ่ายต่อต้าน จุดสรุปสุขสันต์ (Happy ending) ของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความรักข้ามความขัดแย้งระหว่างผีดิบและมนุษย์แต่อย่างไร หากอยู่ที่ความเจ็บปวด การสละตนเองอย่างอดทนอดกลั้นโดย R ที่มีต่อมนุษย์ทุกคนต่างหาก (เพราะหาก R อดทนต่อนางเอกเพียงคนเดียว แล้วกระโดดกัดคอพ่อนางเอกเพราะโกรธที่โดนยิงใส่ เรื่องก็คงไม่จบสวยงามเช่นนี้)

เอาเข้าจริงแล้ว แม้หนังเรื่องนี้จะมองผ่านแว่นตาของ ชิเชค ได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันก็จะพบว่า มุมมองของภาพยนตร์กลับไม่ได้ให้ข้อสรุป หรือจุดยืนเกี่ยวกับทางออกของความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมและผู้ที่ได้รับผลกระทบแบบชิเชค แต่อย่างไร เพราะ ชิเชค เองเป็นคนที่ต่อต้านแนวคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรมและอดทนอดกลั้น แต่กลับเห็นด้วยกับแนวทางของพ่อนางเอกมากกว่า นั่นคือ ยิ่งหัวผีดิบแ่งให้หมด น่าจะดี ท้ายสุดนี้ผมคิดว่า ไม่ว่าผู้อ่านทุกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่กับชิเชค บทความนี้หรือผู้ประพันธ์ภาพยนตร์ แต่ก็คุ้มค่าที่จะดูหนังเรื่องสักรอบโดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่สนใจในเศรษฐศาสตร์การเมือง ยิ่งต้องดูครับ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประธานสภาฯ มั่นใจถกเงินกู้ 2 ล้านล้าน สภาไม่ล่ม แก้รธน.รายมาตราไม่เกิด เม.ย.เดือด แจงรื้อม.68 !!??


ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในวันที่ 28-29 มี.ค.นี้ ว่า การดูแลการประชุมจะเป็นไปตามปกติ เชื่อว่าบรรยากาศน่าจะดีเพราะทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ แม้ส.ส.รัฐบาลเตรียมอภิปรายประเด็นพาดพิงพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องโครงการไทยเข้มแข็งและโครงการมิยาซาว่าก็ตาม แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับการประชุม เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา หากทุกฝ่ายยึดข้อบังคับ และคัดค้านด้วยเหตุผล อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ และไม่น่าจะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ เหมือนที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเป็นญัตติสำคัญเช่นเดียวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ และคงไม่เกี่ยวกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สไกป์ผ่านที่ประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทยกำชับให้ร่วมประชุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ

 แต่เรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่ส.ส.ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่ผ่านมาวาระที่ไม่สำคัญอาจมีปัญหาบ้าง แต่ถ้าเทียบกับสภาฯ สมัยที่แล้วก็ถือว่าเป็นหนังคนละเรื่อง ทั้งนี้สำหรับรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น ตนยังไม่ได้ดู  แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าออกเป็นพระราชกำหนด ส่วนที่ไม่ได้ใช้ระบบงบประมาณปกติแต่ใช้การออกกฎหมายกู้เงินแทนเป็นการหลีกเลี่ยงระบบตรวจสอบหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องชี้แจงเอง และฝ่ายที่เห็นต่างก็ต้องฟังเหตุผลด้วย

 นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้เดือนเม.ย.เป็นเดือนเดือดทางการเมือง เพราะสาระที่แก้ไม่มีอะไรมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 190 หรือมาตรา 237 แต่ที่อาจจะมีการมองต่างมุมก็คือมาตรา 68 และเรื่องของ ส.ว. และการลงชื่อเพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ก็ไม่มีใครถูกหลอกให้ร่วมลงชื่อ เพราะทุกคนมีวุฒิภาวะและมีความคิดเป็นของตัวเอง การยื่นแก้ไขมาตรา 68 ก็ไม่ใช่การยัดไส้เข้ามาแต่เป็นสิทธิของสมาชิก และเป็นปัญหาเล็กน้อยไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาการเดินขบวน

 เพราะประเด็นนี้ตนไม่คิดว่าเป็นการตัดสิทธิประชาชนเป็นเพียงขั้นตอนการตรวจสอบเท่านั้น คือแทนที่จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งรับเรื่องเอง ตรวจสอบเอง ชงเอง กินเอง คงไม่ได้ ต้องมีการคานอำนาจ และการปิดช่องทางไม่ให้ประชาชนยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่การตัดสิทธิของประชาชน เนื่องจากยังมีสิทธิยื่นต่ออัยการสูงสุดได้ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลดีกว่าจะให้องค์กรเดียวไปรับผิดชอบทุกเรื่อง จึงไม่ใช่การปูทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ค้างการพิจารณาวาระ3 ในรัฐสภา เพราะเรื่องนี้เป็นแนวทางที่เขาจะทำอยู่แล้ว ดังนั้นอะไรที่เป็นเรื่องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้  ถ้าไม่ถูกต้องก็ทำไม่ได้

 เมื่อถามว่าหากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 50 หากประชาชนพบปัญหาการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือล้มการปกครองสามารถที่จะยื่นได้สองช่องทางคือ อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อแก้ไขแล้วจะทำให้เหลือเพียงช่องทางเดียวคือยื่นต่ออัยการสูงสุดจะถือเป็นการมัดมือชกประชาชนหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีตำรวจ อัยการ ให้มีศาลแค่องค์กรเดียวดีหรือไม่ ก็คงทำไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นการคานอำนาจ

ที่มา.ข่าวสด
///////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

กองทุน เอไอเอฟ !!?


โดย ณกฤช เศวตนันทน์

แม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ ผ่านมา แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจยังถือได้ว่าล้า หลังมาก

หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัดด้วยอัตราส่วนของจำนวนทางหลวง ทางรถไฟ และการเข้าถึงไฟฟ้าต่อประชากรแต่ละคน

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน หรือ ASEAN Finance Ministers จึงมีแนวคิดร่วมกันให้มีการจัดตั้ง "กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน" (ASEAN Infrastructure Fund) หรือที่เรียกโดยย่อว่า "กองทุน AIF" ขึ้น

การจัดตั้งกองทุน AIF เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือทางการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค

โดย มีวัตถุประสงค์ในการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายในและระหว่างพรมแดนของประเทศสมาชิกอาเซียน กับทั้งส่งเสริม "การนำเงินออม" ภายในภูมิภาคอาเซียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

กองทุน AIF มีสถานะทางกฎหมายเป็น บริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็เป็นชาติที่ลงเงินทุนเบื้องต้นสูงที่สุด คือ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กอง ทุน AIF มีคณะกรรมการบริหารกองทุน (Board of Directors-BOD) ซึ่งประกอบด้วยผู้ถือหุ้นทุกรายจะมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ โดยจะแบ่งประเด็นการตัดสินใจออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

1.ประเด็นทั่วไป จะต้องได้รับการตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการออกเสียงในกองทุน AIF รวมกันมากกว่าร้อยละ 50 (1 ประเทศ 1 เสียง) 2.ประเด็นพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมในกองทุน AIF ของผู้ถือหุ้นใหม่ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินทุนของกองทุน การตัดสินใจเรื่องสถานที่ตั้งของกองทุน และ การยกเลิกกองทุน ซึ่งผู้ถือหุ้นจะต้องหาข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวโดยฉันทามติ ภายใน 30 วัน

หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จะต้องได้รับการตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการออกเสียงในกองทุนรวม กันมากกว่าร้อยละ 67 และได้รับการสนับสนุนจาก

ผู้ถือหุ้นจำนวนมากกว่าร้อยละ 67

กอง ทุน AIF มีอำนาจในการทำสัญญาและดำเนินการต่าง ๆ ในนามของตนเอง มีทุนเริ่มต้นทั้งหมด 485.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินร่วมลงทุนที่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 335.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ยกเว้นประเทศพม่า ซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมในกองทุนนี้

นอกจากนี้ ยังมาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank : ADB จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ADB นอกจากจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกองทุนนี้แล้ว ยังทำหน้าที่เป็น ผู้บริหารกองทุน และเป็น ผู้ให้ความมั่นใจ ว่าการลงทุนทั้งหลายของกองทุน AIF นี้ จะดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลในทางการเงินด้วย

สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนการลงเงินทุนจัดตั้ง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 450 ล้านบาท และมีสิทธิในการออกเสียงร้อยละ 3.09

การ ชำระเงินเข้ากองทุน AIF จะแบ่งออกเป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องชำระเงินงวดแรกภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 งวดที่เหลือจะต้องชำระเมื่อครบรอบของแต่ละปีของการชำระเงินงวดแรก

ส่วนเป้าหมายของกองทุน คือ การให้การสนับสนุนเงินกู้กับโครงการต่าง ๆ ประมาณ 6 โครงการต่อปี

ใน แต่ละโครงการมีเพดานการกู้ยืม (Project Limit) ไม่เกิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการที่จะได้รับเงินทุนจากกองทุน AIF นอกจากจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังต้องเป็นโครงการที่สามารถลดความยากไร้ ส่งเสริมการค้า และกระตุ้นการลงทุนได้

และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับกอง ทุน ในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินการกองทุน AIF จะให้เงินกู้เฉพาะโครงการที่เป็นของภาครัฐ หรือโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น

เมื่อกองทุนได้รับการจัดอันดับความ

น่าเชื่อถือได้ตามเป้าหมาย คือที่ระดับ AA แล้ว กองทุนจึงจะพิจารณาโครงการของภาคเอกชน (Private Sector Development) ต่อไป

โดย ภายใน ค.ศ. 2020 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ตั้งความหวังว่าโครงการนี้จะสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพิ่มขึ้นในระดับ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าทางการเงินด้านต่าง ๆ รวมทั้งหมดสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์

กองทุน AIF จึงถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมลงทุนจัดตั้งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งในด้านการซื้อขาย การขนส่งสินค้า การค้า บริการ และการลงทุนภายในภูมิภาค

กับทั้งกองทุน AIF ยังจะเป็นส่วนสำคัญในการลดช่องว่างของพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

เพราะปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศประสบความสำเร็จได้ก็คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เพียงพอนั่นเอง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////

พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน เปิดทางบฯ ส.ส.คืนชีพ !!?


ปรีชา สุวรรณทัต ชี้ช่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เปิดทางงบฯ ส.ส.คืนชีพ เผยมีโอกาสกู้เกิน! จวกยับทำลายวินัยการเงิน สวนทางก.ม.เพดานหนี้

นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการเจาะข่าวเช้านี้ ทางสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 ถึงกรณี พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... ว่าจะมีปัญหามาก เนื่องจาก เงินกู้ตามกฎหมายฉบับนี้อยู่นอกงบประมาณรายจ่าย ซึ่งการจ่ายเงินนอกงบประมาณถือว่าอันตรายมากเนื่องจากผิดวินัยการเงินการคลัง ที่ผ่านมาวินัยเราดีมาก การนำเงินแผ่นดินไปจ่าย ต้องทำเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีเข้าสภา เนื่องจากจะเกิดความโปร่งใสระดับหนึ่ง ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ ม.169 บัญญัติว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะว่าด้วยกฎหมายงบประมาณรายจ่าย กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา168 เป็นการวางกรอบการจ่ายเงิน พร้อมระบุห้าม ส.ส. ส.ว. กมธ. เข้ามามีส่วนได้เสียในการใช้งบประมาณไม่ว่าโดยตรงโดยอ้อม หรือที่เมื่อก่อนเราเรียกว่างบ ส.ส. การออกกฎหมายเช่นนี้ทำให้ซิกแซกได้ ตนดักคอไว้ก่อนเพราะเหมือนทำให้งบ ส.ส.กลับมา

นายปรีชา กล่าวว่า หากเป็นงบประมาณรายจ่าย เมื่อสภารับหลักการแล้วไม่สามารถเพิ่มเติมได้งบประมาณได้ แต่หากเป็นร่างฉบับนี้ ส.ส.อาจแปรญัตติเพิ่มเติม อาจจะทำให้ยอดมากกว่า 2 ล้านล้านบาทได้ ซึ่งขัดแย้งกันเองกับชื่อกฎหมาย ประเด็นนี้สำคัญมากและซ่อนอยู่ในตัว

นายปรีชาระบุต่อว่า ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เคยออกออกกฎหมายบริหารการกู้เงิน ที่ชื่อ่าการบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อปี 2548 กำหนดเพดานเงินกู้ว่าไม่เกิน 10% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ดี แต่ปรากฏว่าเมื่ออกกฎหมายฉบับนี้เป็นการกู้เกินกว่ากฎหมายบริหารหนี้สาธารณะที่รัฐบาลกำหนดไว้เอง รัฐบาลกำลังทำลายวินัยการคลังที่กำหนดขึ้นมาเอง

"รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงด้วยเทคนิคของกฎหมาย วันนี้ท่านถือว่าท่านมีเสียงข้างมาก กฎหมายนี้รวบรัดต้องผ่านแน่ๆ แต่เมื่อผ่านก็ยังมีช่องทางที่เมื่อผ่านสภาแล้ว ส.ส. ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความได้ ผมก็หวังว่าจะมี ส.ส. ส.ว. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และจะทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป"

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า นายปรีชา เคยทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ และตอน รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออก พ.ร.ก.กู้เงินฯแปดแสนล้านเห็นด้วยหรือไม่นายปรีชากล่าวว่า ตอนนั้นตนก็ไม่เห็นด้วยแต่พรรคประชาธิปัตย์ก็อาศัยช่องตามความเห็นกฤษฎีกาเอามาเบิกจ่ายเงินไทยเข้มแข็ง ตนก็ติงมาตลอดว่าไม่ถูกต้อง มาวันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ลอกกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์มาเหมือนกันตอนน้ำท่วม ตนเสนอให้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับว่ามันผิด แต่ทำตามความเห็นกฤษฎีกา เหมือนพระก็ต้องปลงอาบัติ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ต้องเข้าชื่อ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ต้องทำแม้จะเข้าเนื้อแต่ตนไม่แน่ใจ บอกตรงๆ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////

พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ลุยเปิดสัมปทานปิโตรฯ กรมเชื้อเพลิงแก้ข่าวว่อนเฟซ แจงผลิตได้เองแค่วันละแสน !!?


′เพ้ง′เต้น สั่งกระทรวงพลังงานชี้แจง สยบกระบวนการต้านเปิดสัมปทานปิโตรฯรอบใหม่ ว่อนเฟซบุ๊กแฉไทยผลิตน้ำมันได้เองวันละล้านบาร์เรล แต่ส่งออกหมด ปล่อยคนไทยใช้ของแพง กรมเชื้อเพลิงยันผลิตได้แค่วันละแสน เตรียมหารือด่วนดึงมาใช้ในประเทศแทน

 แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้คณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เพราะเดิมแผนการเปิดสัมปทานดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในกลางปีนี้ แต่จากกระแสข่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์กและการเดินสายให้ข้อมูลเพื่อต่อต้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 โดยอ้างว่าค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และอัตราภาษีอื่นๆ ไม่เหมาะสมทำให้เสียประโยชน์ และการปล่อยข่าวว่าประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบวันละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เน้นส่งออก ทำให้ไทยต้องใช้น้ำมันแพง ทั้งที่ข้อมูลแท้จริงไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 145,000 บาร์เรลต่อวัน และส่วนหนึ่งส่งออกเพราะมีค่าทางเคมีใช้ในประเทศไม่ได้

"การสร้างความเข้าใจและสกัดข่าวดังกล่าวจะต้องทำให้สำเร็จภายในปีนี้ เพื่อให้การเปิดสัมปทานเดินหน้าภายในปี 2557 สอดรับกับปริมาณปิโตรเลียมไทยที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะแหล่งใหญ่สุด คือ อ่าวไทย ที่ปัจจุบันกำลังผลิตสูงสุดแล้วโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะผลิตลดลงไม่เกิน 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องหาแหล่งก๊าซเพิ่ม" แหล่งข่าวกล่าว

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานกรรมการปิโตรเลียม กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบข้อมูลการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของประเทศในรอบปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 145,000 บาร์เรลต่อวัน มาจากแหล่งในทะเล 111,640 บาร์เรลต่อวัน และแหล่งบนบก 33,360 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นกระแสข่าวเรื่องปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจึงไม่เป็นความจริง

"สัมปทานรอบ 21 จะมีทั้งสิ้น 22 แปลงสำรวจ ทั้งบนบกและในทะเล หากสำรวจพบก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบ 10-20 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณใกล้เคียงกับก๊าซในอ่าวไทยในปัจจุบัน" นายณอคุณกล่าว

นายณอคุณกล่าวว่า ส่วนข่าวอัตราการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีที่ระบุไม่เหมาะสมนั้นไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะไทยกำหนดอัตราเก็บค่าภาคหลวงและภาษีไว้ 2 ช่วง อัตราอยู่ในระดับกลางของโลก คือ ไทยแลนด์วัน สัมปทานตั้งแต่ปี 2514 กำหนดไว้ที่ 12.5% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50% และไทยแลนด์ทรี ซึ่งเป็นสัมปทานตั้งแต่ปี 2532 กำหนดไว้ที่ 5-15% ตามความสามารถในการขุดเจาะ หากลงทุนน้อยแต่ได้ปิโตรเลียมมากจะต้องเสียค่าผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพิ่มด้วย ขณะที่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50% เช่นกัน

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะเรียกประชุมผู้ผลิตปิโตรเลียม โรงกลั่นน้ำมัน และสถาบันปิโตรเลียม เพื่อหารือว่าจะดึงน้ำมันดิบที่มีการส่งออก 40,000 บาร์เรลต่อวัน มาใช้ในประเทศได้หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นในไทย โดยมีสารปรอทและกำมะถันสูง ซึ่งจะสามารถผลิตเบนซินได้มากกว่าดีเซลในขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ดีเซลจำนวนมาก

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

สุนี. ติงสภาคว่ำ ร่างฯประกันสังคมฯ ภาคปชช.ส่อเจตนาเอื้อประโยชน์นักการเมือง !!?


คปก. ฉะ สภาฯ ทิ้งร่างฯ ปชช. ใช้อำนาจไม่ชอบ ส่อเจตนาดึงกองทุนประกันสังคม เข้าใต้ปีก ก.แรงงาน เอื้อประโยชน์นักการเมือง ลั่นจะร่วมภาคประชาสังคมตรวจสอบเข้มกว่าเดิม



นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร มีการลงมติในวาระแรก ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่....) พ.ศ..... ไม่รับหลักการในร่างฯฉบับภาคประชาชน ว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรอาศัยเสียงข้างมากของพรรครัฐบาล ลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อของประชาชน เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ร่างของประชาชนตกไปทั้งฉบับ แม้ว่ารัฐบาลอ้างว่าจะให้ตัวแทนประชาชนผู้เสนอชื่อเข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญ 1 คน ถือเป็นการใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรทำตามอำเภอใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การพิจารณากฎ หมายของสภาผู้แทนราษฎร


"รัฐบาลและเสียงข้างมากในสภาฯ สามารถทำเช่นนี้ได้เท่ากับว่าเจตนารมณ์และบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คนเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา
ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางหนึ่งในการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน และมีกำหนดชัดเจน ให้มีสิทธิเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 1 ใน 3 ของ
คณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการพิจารณากี่ร่างกฎหมายก็ตาม เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญ มาตราดังกล่าวได้ถูกฉีกทิ้ง"

นางสุนี กล่าวต่อว่า การลุแก่อำนาจด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ ครั้งนี้จะมีผลให้ร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนที่กว่าจะไปรวบรวมรายชื่อ กว่าจะไปร่างกฎหมายเข้ามาใช้ทั้งเวลาและเงินทุน
จำนวนมาก และกำลังรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกนับสิบร่างก็จะไม่มีความหมายใดๆ ซึ่งบางร่างรอการพิจารณามากว่าสองปี รวมทั้งยังมีการเตรียมร่างกฎหมายเข้าชื่อประชาชนอีกจำนวน
มากอยู่ในขณะนี้ ขณะที่รัฐสภาเองก็ได้ผ่านกฎหมายการเข้าชื่อของประชาชน ฉบับใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับใหม่ได้ยืนยันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และการมีสิทธิเป็น
กรรมาธิการ วิสามัญ 1 ใน 3 และให้มีองค์กรต่างๆมาสนับสนุนภาคประชาชน ในการจัดทำร่างกฎหมายเพิ่มจากเดิม รวมทั้งลดเงื่อนไขเวลาและเงินทุนให้ประชาชน ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากการ
ต้องมีทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นเพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน อย่างเดียวเท่านั้น

กังขาเหตุคว่ำร่างฯ ภาคปชช.

นางสุนี กล่าวอีกว่า น่าสนใจมากว่าทำไมรัฐบาลและเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรจึงตัดสินใจเสี่ยงที่จะทำเช่นนี้ ทั้งท้าทายต่อเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ทั้งกระทบต่อความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าและแข็งขันของขบวนแรงงานทั้งในระบบ แรงงานนอกระบบ หลายสิบล้านคน ที่รัฐบาลควรจะดูแลและรับผิดชอบในฐานะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
และขบวนผู้คนเหล่านี้รณรงค์และเฝ้ารอคอยร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้ คำตอบดูจะชัดเจนมากจากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการพิจารณาและปรับปรุงกฎหมาย
ด้านสวัสดิการสังคม กว่า 1 ปีที่ผ่านมา จนได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ในวันอภิปรายวาระที่ 1 ของร่าง 4 ฉบับดังกล่าวซึ่ง คปก.เห็นชอบและกำลังจะ
ลงนามโดยประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมทั้ง 4 ร่างฯ ดังกล่าวตั้งแต่ต้นของการพิจารณา

ชี้จุดต่างร่างฯ ภาคปชช.เน้นโปร่งใส เป็นอิสระ พ้นก.แรงงาน

นางสุนี กล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญที่ร่างของประชาชน และร่างของ ส.ส.นคร มาฉิม ต่างจากร่างของรัฐบาลที่ยังคงเป็นส่วนราชการ อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานเช่นเดิม แต่ร่างประชาชน
ให้สำนักงานกองทุนประกันสังคม มีการบริหารที่เป็นอิสระมากขึ้น ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน แต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการประกันสังคม
ที่มีองค์ประกอบและที่มาจากการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนหลากหลายและชัดเจนขึ้น ขยายการครอบคลุมจากแรงงานในระบบไปสู่แรงงานหลากกลุ่มมากขึ้น มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อประกัน
ความเป็นอิสระโปร่งใสตรวจสอบได้จริงจังกว่าที่ผ่านมา และให้มีคณะกรรมการบริหารการลงทุนที่เป็น มืออาชีพ มีการสรรหาที่จริงจัง โดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมไม่ใช่ข้าราชการ
แต่มาจากการสรรหาด้วย เพราะวันนี้แม้กองทุนประกันสังคมจะจำกัดเฉพาะแรงงานในระบบเพียงประมาณ 10 ล้านคน แต่เงินกองทุนที่มาจากการสมทบของนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลก็สูงมาก
เป็นล้านล้านบาท ต่อไปในร่างใหม่ยิ่งจะขยายผู้ประกันตนมากขึ้นๆ เงินกองทุนก็จะมีมหาศาล

"คำตอบที่รัฐบาลต้องอธิบายต่อ แรงงานทั้งหมด ต่อสังคม ต่อสื่อมวลชนคือ เงินกองทุนมหาศาลนี้ไม่ใช่เงินที่รัฐบาลจ่ายตามลำพัง และที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะ
ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนให้ดีเพียงพอ และความไม่โปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก เท่ากับว่ากฎหมายครั้งใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาหัวใจสำคัญคือความเป็น
อิสระ โปร่งใส มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตนได้และไม่สามารถจะทำให้กองทุนประกันสังคมพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกันตนได้อย่างแท้จริง"

ตั้งข้อสังเกตดึงกองทุนฯ ใต้ปีก ก.แรงงาน เอื้อนักการเมือง

การใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของเสียงข้างมากในสภาฯ ครั้งนี้ นางสุนี กล่าวว่า มีเจตนาชัดเจนเพื่อดึงเอากองทุนประกัน สังคมอยู่ใต้กระทรวงแรงงานเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองโดย
ไม่สนใจไยดีต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายสิบล้านคนเพราะเมื่อร่างประชาชนและร่าง ส.ส.นคร มาฉิมถูกลงมติให้ตกไปก็ไม่มีหลักการความเป็นอิสระของสำนัก งานประกันสังคม และไม่มีกลไก
คณะกรรมการที่เป็นอิสระและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง รวมทั้งการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกว่าเดิม อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของรัฐบาลและเสียงข้างมากในสภาฯครั้งนี้จะยังไม่จบลงไปอย่างง่ายๆ ภาคประชาชนทั้งในส่วนร่างกฎหมายประกันสังคม และร่างกฎหมายเข้าชื่ออีกจำนวนมาก รวมทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคม จะยังมีประเด็นตรวจสอบและผลักดันรัฐบาลต่อไป

เปิดเวทีสาธารณะถกความเป็นอิสระ โปร่งใสของกองทุนฯ

นางสุนี กล่าวด้วยทาง คปก. และคณะกรรมการด้านสวัสดิการสังคมก็จะดำเนินการต่อไปตามที่เตรียมการไว้ คือร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยทำงานวิจัยให้สำนักงานประกันสังคม
เมื่อหลายปีมาแล้ว และเสนอให้เป็นองค์การมหาชนที่เป็นอิสระโดยจะจัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอ 4 ร่างนี้ในประเด็นความเป็นอิสระของกองทุนประกันสังคมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมี
ประสิทธิภาพ ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคมนี้ ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะเสนอบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของ คปก.ต่อร่างกฎหมายประกันสังคม
ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และมีการเกาะติดเรื่องนี้ไปอย่างต่อเนื่องเพราะร่างกฎหมายประกันสังคมมีความหมายต่อการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมของคนทำงานจำนวนหลายสิบล้านคน
และเป็นข้อต่อในการพัฒนาระบบสวัสดิการการดูแล "ตั้งแต่ครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน" ตามที่ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์เคยเสนอและมีการขานรับจากสังคมอย่างกว้างขวางมายาวนาน
แต่ยังไม่ประสบผลเสียที

"กองทุนประกันสังคมเป็นเจตนารมณ์ที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขร่วมกัน และมีเจตจำนงที่คนทำงานทุกรูปแบบต่างมุ่งหวังจะมีส่วนร่วมในการพัฒนากองทุนร่วมกับนายจ้าง และรัฐบาล โดยมิใช่มุ่งหวังการแบมือร้องขอจากรัฐแต่ฝ่ายเดียว"

ที่มา:สำนักข่าวอิศรา
///////////////////////////////////////////////

บาทยิ่งแข็งเสียงจาก ธปท. ยิ่งเงียบ ลุ้นออกมาตรการ สกัดเงินร้อน !!?


ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่ารายวัน ทุบสถิติใหม่รอบ 16 ปี โดยค่าเงินบาทวิ่งลงมาระดับทดสอบ 29.06 บาท/ดอลลาร์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แข็งค่าจากเมื่อสิ้นปี 1.54 บาท หรือ 5%

น่าคิดว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น สถานการณ์ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะทุก ๆ 1.0% ที่เงินบาทแข็งค่าจะฉุดจีดีพีหล่นไป 0.1-0.3% ขณะที่ปริมาณเงินที่ไหลออกมาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้บ่งชี้ชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐยังเดินหน้า QE และจะปล่อยเงินออกมาสู่ระบบเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ต่อไป

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เงินทุนจึงไหลบ่าเข้ามาไม่ขาดสาย ส่งผลให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นแข็งค่า โดยเฉพาะเงินบาทไทยแข็งค่าแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่ปริปากเปิดเผยว่าจะงัดมาตรการใดออกมารับมือสถานการณ์ที่ร้อนแรงเช่นนี้

ดังนั้นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจึงได้งัดมาตรการออกมาใช้เพื่อสกัดกันเงินร้อนเป็นระลอก เช่น จีนปรับตั้งอัตราสำรองของธนาคารพาณิชย์ให้มากขึ้น และใช้มาตรการ QFII หรือการลงทะเบียน

นักลงทุน เพื่อคัดกรองนักลงทุนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

ส่วนธนาคารกลางฟิลิปปินส์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ในระดับสูงจากบัญชีต่างชาติที่ไม่มีการโอนย้ายอินโดนีเซียกำหนดอายุการซื้อพันธบัตรและการถือครองให้ครบตามกำหนด เพื่อลดความผันผวนกระแสเงินทุน ขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์เรียกเก็บอากรแสตมป์อัตรา 15% จากการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองของชาวต่างชาติ

แต่ประเทศไทยไม่มีมาตรการพิเศษอะไรออกมา แน่นอนว่าการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ธนาคารกลางย่อมต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน แม้ผู้ว่าการแบงก์ชาติจะเคยเปิดเผยว่ามี 5 ด่านรับมือเงินทุนผันผวน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น การสนับสนุนให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ การแทรกแซงค่าเงิน การป้องปราบ หรือแคปปิตอลคอนโทรล และสุดท้ายคือการใช้อัตราดอกเบี้ยดูแล

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตาและพุ่งความสนใจมากขึ้นตามระดับค่าเงินบาทที่แข็งโป๊กต่อเนื่องอยู่ที่มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือแคปปิตอลคอนโทรล ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่า มีเครื่องมือในสต๊อกแบบเบา ๆ เช่น การให้รายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินเข้าออกในประเทศ การลงทะเบียนการกู้เงินต่างประเทศ การกำหนดให้ถือครองหลักทรัพย์ต้องมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี และแบบจัดหนัก เช่น ใช้มาตรการตั้งสำรองเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามาลงทุน 30% และเก็บภาษีเงินตราที่เข้ามาลงทุนในประเทศ

ขณะที่ "สมชัย สัจจพงษ์" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการใหม่ โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นยาแรงแบบการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า เรายังมีเครื่องมือในปัจจุบันนี้ที่ทำได้ ก็ทำไปเท่าที่มี

ในขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่เสียงจาก ธปท.กลับยังเงียบงัน จนทำให้นักลงทุนในตลาดมีความกังวลกับความไม่แน่นอน เหมือนสถานการณ์ลมสงบก่อนพายุจะมา ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนพลิกผันจากเงินบาทเคลื่อนไหวนิ่ง ๆ ในเดือนก่อน กลับมาแข็งค่าทำนิวไฮติดต่อกันหลายวันในเดือนนี้ จากตลาดหุ้นร้อนแรงเป็นกระทิงดุ กลับตกร่วงเกือบ 100 จุด ในรอบ 1 สัปดาห์ ด้วยเสียงแว่วเพียงว่า ธนาคารกลางกำลังพิจารณามาตรการพิเศษบางอย่าง เพื่อสกัดเงินร้อนไหลเข้า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

พื้นฐานเปลี่ยนจริงหรือ ?


โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์

แม้หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทย แต่นักลงทุนยังมีความมั่นใจและพร้อมเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนี SET ปิด ณ วันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ 1,598 จุด เพิ่มขึ้นเกือบ 15% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้นเกือบ 22% นับตั้งแต่ต้นปี ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายหนาแน่นและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังพร้อมเข้าลงทุนหุ้น ณ ระดับราคาที่ PE สูงกว่า 40 เท่าอีกด้วย คำถามที่เกิดขึ้นคือ "ฤๅพื้นฐานของประเทศหรือตลาดหุ้นได้เปลี่ยนไป ?"

ก่อน ที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผมนึกถึงข้อมูลที่ได้รับจากการเข้าชมนิทรรศการ "THAILAND 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก" ที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์มากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยตั้งงบประมาณการลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาทใน 7 ปีข้างหน้า เน้นโครงสร้างพื้นฐานระบบรางถึง 78% ซึ่งได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 10 สาย เป็นต้น

การ ลงทุนครั้งมหาศาลนี้ ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีโครงการรองรับเป็นรูปธรรม นอกจากจะกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่พัฒนาและยกระดับการแข่งขันของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางและการขนส่ง ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น กล่าวคือ "หากทำสำเร็จตามแผน" ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นฐานและศักยภาพของประเทศไทย เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงได้เช่นกัน การลงทุนครั้งนี้จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อบริษัทจดทะเบียนหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่ชนะการประมูล กลุ่มผู้รับเหมาช่วงต่อ บริษัทแต่ละรายน่าจะมีงานล้นมือในอีกหลายปีข้างหน้า และจะต้องมีผลประกอบการที่ดี หากราคาต่ำสุดที่ชนะการประมูลเป็นราคาที่ดีมีกำไร และสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างทั้งราคาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร พลังงาน แรงงาน ตลอดจนเงินกู้และดอกเบี้ยจ่าย ส่งมอบงานได้ตรงตามกำหนดเวลาโดยไม่ถูกปรับในทุกกรณี

กลุ่มสอง คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร กลุ่มเหล็ก กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ บริษัทที่จะมีผลประกอบการ

ที่โดดเด่นต้องมีกระบวนการผลิตที่มี ประสิทธิภาพสูง สามารถบริหารจัดการต้นทุน ความผันผวนราคาวัตถุดิบและค่าเงิน และรักษาระดับการทำกำไรได้ดี แม้จะเผชิญสภาวะที่มีการแข่งขันสูงขึ้นก็ตาม

กลุ่มสาม คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

กลุ่ม พาณิชย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทางอ้อม ธนาคารพาณิชย์และบริษัทไอซีทีที่จะได้ประโยชน์สูงสุดต้องสร้างความแตกต่าง ของสินค้าและบริการ เพื่อไม่ให้ถูกต่อรองจนได้รับผลกระทบต่อระดับการทำกำไร และต้องไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

ส่วนกลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จะได้รับผลดีจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง และมีโอกาสขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดตามความเจริญที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการที่ดีขึ้นจะเกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์ของ Economy of scale ที่สูงขึ้นนั่นเอง

กลุ่มสุดท้าย กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ การเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาสินค้าและบริการตรงกับความต้องการ ของ

ผู้บริโภค ทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยยังมีระดับการทำกำไรที่ดี

ที่ กล่าวมาเป็นเพียงกรณีตัวอย่าง "เชิงบวก" ที่คาดว่าประเทศไทยและกลุ่มบริษัทจดทะเบียนจะได้รับจากการลงทุนครั้งสำคัญ นี้ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ ความโปร่งใสและปัญหาคอร์รัปชั่น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากสถานการณ์เปลี่ยนหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

เกิดขึ้น โครงการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นเพียงบางส่วน หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้

กล่าว โดยสรุป คือ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าพื้นฐานของประเทศ หรือตลาดหุ้นเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยสำคัญ คือ "ความไม่แน่นอน" อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ระดับราคา

หุ้นที่นักลงทุนทั่วไปซื้อขายในปัจจุบันนั้น

ดูเหมือนว่าเป็นการประเมินเชิงบวกทั้งสิ้น และมองข้าม "ตัวแปรความไม่แน่นอน" อย่างสิ้นเชิง

ใน ภาวะตลาดกระทิงเช่นปัจจุบัน Value Investor ทุกคนต้องวิเคราะห์ถึงทุก "ปัจจัยเสี่ยง" ที่อาจเกิดขึ้น และต้องหลีกเลี่ยงหากมีโอกาสที่จะกระทบเชิงลบต่อกิจการอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตนตกอยู่ในภาวะ High Risk Low Return นั่นเอง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มชาติพันธุ์ร้อง กสม.รัฐห้ามเผาป่า !!?


โดย : จันทร์จิรา พงษ์ราย

มติครม.แก้หมอกควันบานปลาย กลุ่มชาติพันธุ์ร้องกสม. ละเมิดสิทธิมนุษยชน ห้ามเผาไร่เลื่อนลอย ชงเสนอ "ปลอดประสพ" ทบทวนแนวปฏิบัติ

สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควันจากไฟป่าในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด คือจ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน ซึ่งส่อแวววิกฤติมากขึ้น ทั้งที่ยังอยู่ในช่วง 100 วันอันตราย ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว ยังนำมาสู่การฟ้องร้องว่ากระทบต่อสิทธิมนุษยชน ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจาก 3 หมู่บ้านในเขตจ.เชียงใหม่ และลำปาง ที่ร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย

กสม. จี้"ปลอดประสพ"แก้แนวปฏิบัติ

วันนี้(21มี.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ทางกสม. ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านที่ร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า เข้าชี้แจงกรณีที่ได้รับผลกระทบถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินวิถีชีิวิต

จากมติครม. วันที่ 21 ม.ค.56 ที่เห็น ชอบในหลักการมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำ 2556 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่เปลี่ยนจาก “ควบ คุมการเผา” เป็น “ไม่มีการเผา” ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะกระทบต่อวิถีของชาวบ้านในพื้นที่สูง เนื่องจากยังไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติอีกด้วย รวมทั้งยังขัดแย้งต่อตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงด้วย

" จากการรับฟังปัญหาชาวบ้านไม่ได้ดื้อ แต่ถูกละเมิดสิทธิในการใช้อำนาจของรัฐ ที่เกิดจากความไม่ชัดเจนจากมติครม.ไม่ให้เผา โดยหน่วยงานปฏิบัติไม่ได้แยกแยะระหว่างห้ามเผาป่า กับห้ามเผาไร่เลื่อนลอยที่ชาวบ้านทำกินอยู่ในพื้นที่ป่า และยังเป็นละเมิดภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงโดยพยายามเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปให้เขาใช้การไถกลบ ไม่ให้ทำไร่หมุนเวียน ซึ่ง หลังรับฟังในครั้งนี้ ทางกสม.จะทำข้อสรุปข้อเสนอจากเวทีเสนอไปที่ นายปลอดประสพ และผวจ.9 จังหวัดโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นมติครม.ที่ละเมิดสิทธิ และขอให้ทบทวนแนวทางการจัดการแก้ปัญหาไฟป่า" นพ.นิรันดร์ กล่าว

ประสานกต. เตือนเพื่อนบ้านยุติการเผา

น.ส.จงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าสูงสุดในรอบปี 2556 แล้ว โดยมีค่าเฉลี่ย 69-428 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มก./ลบม.) สูงสุดที่สถานีสนง. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.เมือง จ.เเม่ฮ่องสอน 428 มก./ลบ.ม. รองลงมาที่จ.เชียงใหม่ 200 มก./ลบม. ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอัน ตรายต่อสุขภาพแล้ว สาเหตุมาจากการเผาในเขตพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตร กรรมทั้งในประเทศไทย และตามแนวตะเข็บชายแดนไทย ลาว และพม่า

"ขณะนี้ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเตรียมทำหนังสือขอความร่วมมือในการลดการเผาพื้นที่การเกษตรที่ทำให้เกิดหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในเขตภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะที่แม่ฮ่องสอนที่มีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกะทะ ทำให้หมอกควันแช่ตัวอยู่นาน นอกจากนี้วันที่ 30-31 มี.ค.นี้ ทางคพ.ยังได้เตรียมประชุมกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน 6 ชาติได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา เพื่อหารือถึงมาตรการควบคุมป้องกันและการลดการเผาจากประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมถ้าเทียบกับช่วงเวลานี้ พบว่าจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกิน 120 มก./ลบม.มี 17 วัน ขณะที่ปี 55 จำนวนวันสูงถึง 35 วัน ซึ่งยังไม่มีมีมติครม.เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน" น.ส.จงจิตร์ กล่าว

นายมาโนช การพนักงาน ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน สำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ยืนยันว่า มติครม.ทั้ง 8 ข้อที่กำนดในช่วง 100 วันห้ามมีการเผาระหว่างวันที่ 21ม.ค. -30 เม.ย.นี้ เพื่อต้องให้หน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการทั้ง 9 จังหวัดสามารถทำงานแบบบูรณาการในแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ที่มักจะเกิดขึ้นรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง
ชงเสนอ " ปลอดประสพ" แก้มติครม.

"หลังจากพบว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ ปัญหาหมอกควันไฟป่าได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนภาคเหนือจำนวนมาก และยังกระทบท่องเที่ยวในภาคเหนือซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อของฤดูหนาว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี และครม.ได้หารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการทั้ง 8 ข้อออกมา และเน้นมาตรการป้องกัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น การกำหนดจัดระเบียบการเผา โดยให้นายอำเภอและท้องถิ่นทำความเข้าใจกับชุมชน รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการเผามาเป็นการไถกลบ และการทำหมู่บ้านมาตรฐานปลอดการเผา เป็นต้น โดยให้ผวจ.9 จังหวัดภาคเหนือบริหารงานแบบซิงเกิลคอมมานด์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการทำให้กระทบกับวิถีชีวิตของชนเผ่า โดยจะเอาสิ่งที่ชาวบ้านกังวลไปเสนอนายปลอดประสพ เพื่อปรับแนวทางดำเนินงานต่อไป เนื่องจากยังมีประเด็นต่างๆที่กำหนดไว้ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ เช่น การไถกลบ หรือการขออนุมัติการทะยอยเผา เป็นต้น" นายมาโนช ระบุ

ปิ๊งไอเดีย ชี้ซื้อใบไม้ลดเชื้อเพลิง

นางนฤมล ปาลวัฒน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันที่แม่ฮ่องสอนวิกฤติหนัก มีปริมาณฝุ่นสูงถึง 428 มก./ลบม. แล้ว และฝุ่นจะแช่ตัวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกะทะ ทำให้อากาศกดตัวฝุ่นไม่สามารถลอยตัว ดังนั้นจึงเตรียมประสานขอฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว และทำให้มีคนป่วยโรคทางเดิยหายใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์กับชนเผ่าเพื่อขอความร่วมมือในการเลื่อนการเผาพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นช่วงหลังเม.ย.นี้ ซึ่งจะมีเงินสนับสนุนจากรัฐมาช่วยชาวบ้านจริง และขณะนี้เงินยังไม่ได้รับการอนุมัติ นอกจากนี้ยังพยายามสนับสนุนการปลูกกาแฟ ต้นแมคาเดเมียทดแทนการปลูกพิชเชิงเดี่ยว เช่น ไร่ข้าวโพดที่ต้องเผาตอซัง และพืชหมุนเวียนอื่นๆ รวมทั้งยังมีแนวคิดที่รับซื้อใบไม้ที่ร่วงหล่น จากชาวบ้านเพื่อลดการสะสมตัวเป็นเชื้อเพลิงด้วย และนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และกระดาษสา แต่ตรงนี้อาจไม่ทันกับปีนี้" ผวจ. แม่ฮ่องสอน กล่าว

ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ กล่าวว่า มติครม.นี้ส่งผลกระทบต่อการทำไร่หมุนเวียนของชาวเขา และไม่เป็นธรรมอย่างมาก เพราะไม่ได้แยกแยะพื้นที่ และต้นเหตุของการเผา แต่โทษว่าชาวเขาที่ต้องเผาไร่หมุนเวียนเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ยาวนานมานับศตวรรษ จนกระทั่งปัจจุบันทางกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ระหว่างการผลักดันให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ขณะที่การห้ามเผาครั้งนี้ยังไม่ไม่ชัดเจนจากแนวปฏิบัติ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

ระทึกมติ กกต. ฟัน สุขุมพันธุ์ เพื่อไทย ส่ง พงศพัศ. ลงซ้ำ !!?






แม้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะจบลงด้วยชัยชนะของ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" และ พรรคประชาธิปัตย์

แต่สงครามครั้งนี้ยังไม่จบ พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถนับศพทหารได้อย่างเบ็ดเสร็จ และไม่สามารถประกาศชัยเหนือเมืองหลวงได้อย่างเต็มปาก


เพราะ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ยังมีชนักติดหลังเป็น 2 คำร้อง 3 ประเด็น ที่เสี่ยงถูกเขี่ยพ้นจากคำว่าผู้ชนะ โดยมีประเด็นหลัก คือ กรณีที่ "ศิริโชค โสภา" ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อปี 2553 และกรณีที่ "ดร.เสรี วงษ์มณฑา" นักวิชาการ โพสต์

เฟซบุ๊กว่า "ไม่เลือกเรา เขามาแน่"

ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำกรุงเทพมหานคร ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ใหญ่ ให้ชี้ขาดว่าจะฟันใบเหลือง ใบแดง หรือใบขาว

"สดศรี สัตยธรรม" กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า "เมื่อ กกต.จังหวัดเสนอมาว่ารับเป็นคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ทำให้ กกต.กลางจะต้องดำเนินการต่อให้เสร็จเรียบร้อย เนื่องจากสำนวนที่ กกต.กทม.เสนอมายังไม่ได้เชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ดังนั้น เมื่อสำนวนมาถึง กกต.กลาง ก็ต้องเข้าอนุกรรมการไต่สวนของ กกต.เพื่อตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ แล้วเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ เช่น นายศิริโชค มาชี้แจงก่อนสรุปสำนวน แล้วบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ กกต.เพื่อวินิจฉัยคำร้อง"

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสถิติการรับรองผลผู้ว่าฯ กทม.ย้อนหลังในห้วงที่ 5 เสือ กกต.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ พบว่ามีการเลือกตั้ง

ผู้ว่าฯ กทม.2 ครั้ง คือการเลือกตั้ง

5 ตุลาคม 2551 ครั้งที่ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ครั้งนั้น กกต.ประกาศรับรองในวันที่ 8 ตุลาคม ห่างจากวันเลือกตั้ง 3 วัน

ครั้งที่สอง คือการเลือกตั้งเมื่อ

11 มกราคม 2552 ที่พรรคประชาธิปัตย์

ส่ง "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ลงครั้งแรก

โดย กกต.รับรองผลในวันที่ 14 มกราคม

ห่างจากวันเลือกตั้ง 3 วันเช่นกัน เนื่องจากทั้ง 2 ครั้งไม่ปรากฏว่ามีคำร้องทุจริต

แตกต่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 3 มีนาคม 2556 แม้ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง แต่ก็ยังร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะไม่มีวี่แววว่า กกต.กลางจะรับรองในเร็ววัน สืบเนื่องจากพิษ 2 คำร้อง 3 ประเด็น ที่ กกต.กทม.ชงให้ กกต.กลางลงดาบ

แต่ในมุมของผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริต

อย่างพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์โอกาสรอดมีมากกว่าโดนเชือด

แม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และโหรการเมืองอีกหลายสำนัก

จะโหนกระแส วิเคราะห์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะอาการสาหัส

เสี่ยงรับโทษรุนแรงจากใบเหลือง-ใบแดง หากแต่เป็นมุมมองที่สวนทางกับคนวงใน ที่เลือกใช้ยุทธวิธี "นิ่งสงบ สยบเคลื่อนไหว" แทนที่จะออกมาปะทะคารมกับคู่ตรงข้าม ตามคำบัญชาของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค

โดยยืนยันหลักการเดิมต้องเคารพกระบวนการตรวจสอบ ไม่ควรทำอะไร

ที่สร้างแรงกดดันให้ กกต. "อภิสิทธิ์"

เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

ตรวจสอบตามปกติ และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรผิดกฎหมาย และเมื่อกางกฎหมาย คำนวณความน่าจะเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด กกต.แจกได้แค่ใบเหลือง ไม่มีใบแดง

สอดรับกับผลวิเคราะห์ ประเมินผลจากฝ่ายกฎหมายพรรคที่มองว่า โอกาสที่จะมีความผิด มีความเป็นไปได้น้อยมาก

เพียงแต่กังวลในท่าทีตีฆ้องร้องทุกข์ของฝ่ายตรงข้าม อาจเปลี่ยนสถานะ

ผู้ตรวจสอบอย่าง กกต. กลายเป็นจำเลย

ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด

"การที่เพื่อไทยออกมาแสดงท่าที

อย่างนี้ มันมีแต่ผลเสีย หาก กกต.ตัดสินว่ามีความผิด ก็จะถูกตีตราว่าถูกการเมืองชี้นำ

แต่ตัดสินตรงกันข้ามก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่มีความยุติธรรม ดังนั้นเราควรเงียบ และปล่อยให้ กกต.ทำงานของเขา"

"ตามกระบวนการตรวจสอบ หาก กกต.กลางพบว่าส่อเค้าว่าจะมีความผิด จะต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง แต่จนบัดนี้ไม่ว่าจะเป็นนายศิริโชค และ ดร.เสรี

หรือแม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ก็ยังไม่เคยถูกเรียกตัวไปชี้แจง นั่นย่อมเห็นแล้วว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาในทิศทางไหน"

ด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าจะไม่มีผลลัพธ์เป็นลบ ทั้งพรรคจึงเชื่อมั่นว่า

ควรรอฟังคำตัดสินอย่างสงบ ไม่ตอบโต้ ปะทะคารมทางการเมือง

มีเพียงหนึ่งใน "จำเลยจำเป็น" อย่างนายศิริโชค ที่ออกมาตอบโต้ ยืนยันความบริสุทธิ์ใจ โดยแถลงข่าวชี้แจงเรื่องที่มาที่ไปของภาพตัดต่อที่ถูกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่มีทางที่จะผิดกฎหมาย

"ไม่ว่าจะดูมุมไหนก็ไม่ผิดกฎหมาย ผมไม่ได้ใส่ร้าย พล.ต.อ.พงศพัศ

พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาบ้านเผาเมือง ผมระบุชัดเจนว่า มีคนตัดต่อภาพฉากหลังที่มี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (รมช.พาณิชย์)

ขึ้นรถหาเสียง ทำให้ชวนคิดถึงเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง"

"หากเทียบกับการเลือกตั้งใหญ่

เราถูกโจมตี กล่าวหาว่าสั่งฆ่าประชาชน

นายณัฐวุฒิก็เป็นคนทำไว้ ซึ่ง กกต.ก็วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์นี้ก็จะเหมือนกัน ผมอยากให้กลับไปดูภาพตัดต่อจากกลุ่ม Red Club มากกว่า ที่นำศิลปิน ดารา นักมวย ออกมาชี้นำให้เลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ผมว่านั่นต่างหากที่ผิดกฎหมายชัดเจน"

หากแต่ในมุมของศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทย ที่มี "ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรคเป็นประธาน ที่อยู่ฝ่ายผู้ปราชัย กลับคาดการณ์คำวินิจฉัยของ กกต.ว่าจะออกเป็นใบเหลือง

เนื่องจากการกระทำของ "ศิริโชค" เข้าข่าย

ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยม

ดังนั้น วอร์รูมพรรคเพื่อไทยจึงส่ง

สัญญาณให้บรรดาลูกทีมอยู่ในสภาพ "พร้อมรบ" ทุกเมื่อ หาก กกต.เป่านกหวีดให้ใบเหลือง

"พล.ต.อ.พงศพัศ" ที่หลบหลังฉากอยู่ในเวลานี้ จะกลับมาปรากฏตัวอยู่หน้าฉากอีกครั้ง นโยบายไร้รอยต่อจะถูกเข็น

ออกมากางสู่สาธารณะ ควบคู่กับการชี้แจงคำครหา "เผาบ้าน เผาเมือง" ของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการนำคำวินิจฉัยของศาลแพ่ง ที่พิพากษาว่าการเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่การก่อการร้ายมาชี้แจงกับ

ประชาชน

เคราะห์กรรมของ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ยังคงต้องลุ้นต่อไป เพราะชัยชนะที่ได้มายังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เข้าคำโบราณที่ว่า สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

//////////////////////////////////////////////

ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก ประพัฒน์ โพธิวรคุณ-ไพศาล ลือพืช ไม่แจ้งทรัพย์สิน ป.ป.ช. !!?

ศาลฎีกาฯสั่งจำคุก 4 เดือน “ประพัฒน์ โพธิวรคุณ”ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช. นั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง “ไพศาล ลือพืช” เลขาฯรมว.แรงงาน โดน 2 เดือน แต่ให้รอลงอาญาทั้งคู่
k210356

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาจำคุก นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ คดีไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะเป็นประธานกรรมการ และกรรมการของรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงในประเทศไทยหลายแห่ง โดยให้จำคุกกระทงละ ๒ เดือนและปรับกระทงละ ๔,๐๐๐ บาท ๔ กระทง รวม จำคุก ๘ เดือน ปรับ ๑๖,๐๐๐ บาท

แต่นายประพัฒน์ให้การรับสารภาพให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งแล้ว รวมเป็นจำคุก ๔ เดือน และปรับ ๘,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยต้องโทษทางอาญามาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ และห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ( คดีหมายเลขดำที่ อม. ๕/๒๕๕๕ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๒/๒๕๕๖)


ก่อนหน้านี้วันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ ศาลฎีกาฯ พิพากษานายไพศาล ลือพืช กรณีไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ตอนดำรงตำแหน่งเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑๙ การกระทำของผู้คัดค้าน เป็นความผิดสองกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละ ๒ เดือน และปรับกระทงละ ๔,๐๐๐ บาท

ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณาคดี เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กระทงละกึ่งหนึ่ง รวมให้จำคุก ๒ เดือน และปรับ ๔,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยรับ โทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ มีกำหนด ๑ ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ และห้ามผู้คัดค้าน ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ วรรคสอง ( คดีหมายเลขดำที่ อม. ๖/๒๕๕๕
คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๖)

คำพิพากษา คดี นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ดังนี้

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่า นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการฯ และกรรมการของรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงในประเทศไทยหลายแห่ง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๙ (๑๕) และมาตรา ๔ ผู้คัดค้านจึงต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้อง ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง ทุกสามปีที่อยู่ในตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี

ผู้คัดค้านได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินต่อผู้ร้อง ครั้งแรกกรณีเข้ารับตำแหน่งกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๔ โดยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔ และยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในฐานะกรรมการรัฐวิสาหกิจในกรณีต่าง ๆ ตามวาระแต่ละครั้ง อีกหลายครั้ง แต่ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง ในตำแหน่งกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๔) กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี สำหรับตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีและตำแหน่ง กรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี รวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง

ผู้ร้องได้พิสูจน์เจตนาของผู้คัดค้าน โดยมีหนังสือถึงผู้คัดค้านเพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว โดยส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยของผู้คัดค้าน ซึ่งมีผู้รับหนังสือไว้แทนผู้คัดค้านแต่ผู้คัดค้านไม่ชี้แจงเหตุขัดข้องต่อผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องได้ประชุมพิจารณากรณีผู้คัดค้านไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแล้วมีมติ เป็นเอกฉันท์ว่า ผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในกรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๔) ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) ในกรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) และในกรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) รวม ๙ บัญชี

แต่การจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง สำหรับกรณี พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดำรงตำแหน่งกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๔) กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) และกรณีเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) ขาดอายุความแล้ว คงมีการกระทำผิดของผู้คัดค้านที่ยังอยู่ในอายุความ ดำเนินคดีคือ ผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง หน้า ๓ เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๒๗ ก ราชกิจจานุเบกษา ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำ หนด กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่ง ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ( ครั้งที่ ๒) กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำ แหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในตำแหน่งกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) รวม ๕ บัญชี

ผู้ร้องจึงได้มายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นคดีนี้เพื่อขอให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่ วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือวันที่ตรวจพบการกระทำดังกล่าว แล้วแต่กรณี ห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๔๑ กับให้ลงโทษผู้คัดค้านตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑

ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริง เพียงพอที่จะวินิจฉัยไปได้โดยไม่จำต้องไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้าน จึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนพิเคราะห์คำร้อง เอกสารประกอบคำร้องและคำรับสารภาพของผู้คัดค้านแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ผู้คัดค้านเคยเป็นกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ผู้คัดค้านไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวม ๙ ครั้ง ได้แก่กรณีพ้นจากตำแหน่งกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๔) กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๔) กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) กรณีเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่ง ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) กรณีพ้นจากตำแหน่ง กรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) และกรณีพ้นจากตำแหน่ง มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) ผู้ร้องเคยมีหนังสือแจ้งให้แก่ผู้คัดค้านมาชี้แจงแล้วรวม ๔ ครั้ง

ซึ่งผู้คัดค้านได้รับหนังสือของผู้ร้องแล้ว แต่ไม่ไปชี้แจง ผู้ร้องมีความเห็นว่าผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เห็นควรยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาลงโทษผู้คัดค้านและห้ามผู้คัดค้านมิให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง แต่มีคดีบางส่วนที่ขาดอายุความไปแล้วคงมีคดีซึ่งผู้ร้องเห็นว่ายังไม่ขาดอายุความคือ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) และกรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคดีนี้

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเห็นว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ผู้คัดค้าน ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ กรรมการรัฐวิสาหกิจของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งตามลำดับ ผู้คัดค้าน จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๔ มีหน้าที่ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบสำหรับตัวผู้คัดค้าน คู่สมรสและบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้องภายในสามสิบวันนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง ทุกสามปีที่อยู่ในตำแหน่ง เมื่อพ้นจากตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ตามมาตรา ๓๙ (๑๕) แต่ผู้คัดค้าน ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินรวม ๙ ครั้ง แต่ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ลงโทษผู้คัดค้านคดีนี้มี ๕ กรณี ได้แก่ กรณีพ้นจากตำแหน่ง มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) กรณีพ้นจากตำแหน่งกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒)

ก่อนหน้านี้ผู้คัดค้านเคยยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงมาบ้างแล้ว แต่ต่อมากลับไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ผู้ร้องเคยมีหนังสือ แจ้งให้ผู้คัดค้านชี้แจงเหตุที่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ผู้คัดค้าน ได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่ชี้แจง องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินจริง แต่เห็นว่า กรณีผู้คัดค้านไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) นั้น แม้ตามคำร้องของผู้ร้องระบุว่า ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ แต่ปรากฏว่าตามหนังสือของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เรื่องขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐาน ที่ วท ๕๒๐๑/๗๔๖ ฉบับลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ แจ้งต่อผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าววันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๗ และครบวาระวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ ตามคำสั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ ๗๙/๒๕๔๗ เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๗ เอกสารหมาย ร. ๒ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๙ มิใช่วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ ดังที่ปรากฏในคำร้องของผู้ร้อง เมื่อได้ความว่าผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๙ วันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี จึงต้องเป็นวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๐ ซึ่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจาก ตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีภายในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ อายุความจึงเริ่มนับถัดจากวันดังกล่าว เป็นต้นไป

ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องและได้ตัวผู้คัดค้านมาดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองภายในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๕ จึงจะไม่ขาดอายุความ คดีนี้แม้ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้อง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ แต่เมื่อยังไม่ได้ ตัวผู้คัดค้านมา จนล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปี คดีในส่วนที่ขอให้ลงโทษผู้คัดค้านสำหรับการไม่ยื่นบัญชี หน้า ๖ เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๒๗ ก ราชกิจจานุเบกษา ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖ แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตําแหน่งประธานกรรมการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๑) องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก เห็นว่าคำร้องในส่วนนี้จึงขาดอายุความ แม้ผู้คัดค้านจะให้การรับสารภาพแต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจ พิพากษายกฟ้องผู้ร้องในส่วนนี้ได้ ส่วนที่ผู้ร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยด้วยว่า ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน หรือนับแต่วันที่ตรวจพบว่ามีการกระทำดังกล่าว แล้วแต่กรณี กับห้ามมิให้ผู้คัดค้าน ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ และพ้นจากตำแหน่งกรรมการธนาคาร เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

แต่ปรากฏว่า ตามเอกสารหมาย ร. ๒ ระบุว่า ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ ผู้คัดค้านจึงพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๑ มิใช่วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ ตามที่ปรากฏในคำร้องของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งทั้งสองดังกล่าว เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๑ และวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ จึงถือว่าผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนั้น นับแต่วันดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งที่ผู้ร้องเสนอเรื่องให้วินิจฉัยมาแล้วก่อนศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยการให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งตามคำร้องของผู้ร้องอีก

ดังนั้นเมื่อการกระทำความผิดของผู้คัดค้านในคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน วันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวจึงต้องถือ วันพ้นจากตำแหน่งตามความเป็นจริงคือผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๑ และพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ ๒) วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ การห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปี จึงต้องนับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งครั้งสุดท้าย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๑ พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑๙ การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินและเอกสารประกอบ จำคุกกระทงละ ๒ เดือนและปรับกระทงละ ๔,๐๐๐ บาท ๔ กระทง รวม จำคุก ๘ เดือน ปรับ ๑๖,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งแล้ว รวมเป็นจำคุก ๔ เดือน และปรับ ๘,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยต้องโทษทางอาญามาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ และห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๑ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก



คำพิพากษา คดีนายไพศาล ลือพืช มีดังนี้

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือที่เรียกโดยย่อว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่า นายไพศาล ลือพืช ผู้คัดค้าน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตามคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ ๘๙/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ และคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ ๑๕๕/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะพร้อมเอกสารประกอบต่อผู้ร้องภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๙, มาตรา ๒๖๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔

มาตรา ๓๒, ๓๓ ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทั้งสองครั้ง เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๑ และวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ตามลำดับ เนื่องจากผู้สั่งแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่ง ผู้คัดค้านเคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีเข้ารับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ครั้งที่ ๑) เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และกรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ แต่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งครบกำหนดการยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ ในการเข้ารับตำแหน่งเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ครั้งที่ ๒) ผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๒ แต่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งครบกำหนดการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ ต่อมาผู้ร้อง ได้ดำเนินการพิสูจน์เจตนาของผู้คัดค้านโดยมีหนังสือให้ผู้คัดค้านชี้แจงสาเหตุที่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบแล้ว ๓ ครั้ง ผู้คัดค้านได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่ชี้แจงข้อเท็จจริง หรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบแก่ผู้ร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องเห็นว่า ผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ กรณีพ้นจากตำแหน่ง มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทั้งสองครั้ง การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดตามกฎหมายหลายกรรมต่างวาระกัน ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๓๔, ๑๑๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ และห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพและไม่ยื่นคำคัดค้าน

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริง เพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยไปได้ จึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนพิเคราะห์คำร้อง เอกสารประกอบคำร้องและคำรับสารภาพของผู้คัดค้านแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ (๑๗) โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรวม ๒ ครั้ง ครั้งแรกตามคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ ๘๙/๒๕๕๑ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง แต่งตั้งผู้คัดค้าน ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ เป็นต้นไป หลังจากนั้นผู้คัดค้านต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง โดยพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๑ ต่อมาผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงานอีกเป็นครั้งที่ ๒ ตามคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ ๑๕๕/๒๕๕๑ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ และพ้นจากตำแหน่งครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ เนื่องจาก ผู้สั่งแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งอีก

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๙, ๒๖๐ กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้องภายใน ๓๐ วัน กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่งและในวันครบหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องได้รับโทษ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑๙ แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเฉพาะเมื่อเข้ารับตำแหน่ง และเมื่อพ้นจากตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ แต่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งเป็นเวลาหนึ่งปีทั้งสองครั้ง ซึ่งกำหนดให้ ผู้คัดค้านต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ ตามลำดับ ทั้งที่ผู้ร้องได้มีหนังสือแจ้งเตือนและผู้คัดค้านได้รับหนังสือแจ้งเตือนแล้ว ตามหนังสือขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและหนังสือตอบรับ เอกสารหมาย จ. ๗ ถึง จ. ๙

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นข้าราชการการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามที่กฎหมายกำหนด ผู้คัดค้านเคยยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินไว้บ้างแล้วกรณีเข้ารับตำแหน่งและกรณีพ้นจากตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง เป็นเวลาหนึ่งปีสำหรับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทั้งสองคราว ย่อมแสดงว่า ผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้อง และเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ลงโทษ ผู้คัดค้านเป็นคดีนี้ ผู้คัดค้านก็ให้การรับสารภาพ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑๙

สำหรับที่ผู้ร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ในพรรคการเมืองมีกำหนดระยะเวลา ๕ ปี นั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๔ วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวันที่ความปรากฏต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ระยะเวลาห้าปีตามวรรคหนึ่งให้นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว ในคดีนี้ระยะเวลาห้าปีในการห้ามดำรงตำแหน่งของผู้คัดค้านจึงนับแต่วันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ ๒ คือวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ อันเป็นวันพ้นตำแหน่ง ครั้งสุดท้าย พิพากษาว่า นายไพศาล ลือพืช ผู้คัดค้าน มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑๙ การกระทำของผู้คัดค้าน เป็นความผิดสองกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละ ๒ เดือน และปรับกระทงละ ๔,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณาคดี เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กระทงละกึ่งหนึ่ง รวมให้จำคุก ๒ เดือน และปรับ ๔,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยรับ โทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ มีกำหนด ๑ ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ และห้ามผู้คัดค้าน ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ วรรคสอง

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
///////////////////////////////////////////////////////////////