--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

เชียงใหม่...ก็เหมือนกรุงเทพฯ โจทย์การพัฒนาเมืองหลัก...!!?



โดย รัตนา จีนกลาง

การลงทุนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอิ่มตัวทั้งในด้านตลาด และราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนแห่แหนกันไปต่างจังหวัดเพื่ออยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ใกล้ตลาด และส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน มีการช่วงชิงทำเลทองในจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ

วันนี้ชี้ไปจุดไหนในต่างจังหวัด ราคาที่ดินมีแต่ขึ้นกับขึ้น ใครสายป่านยาว ทุนหนา ก็กว้านซื้อที่ดินไว้เก็งกำไร

หัว เมืองใหญ่ เมืองรอง เมืองชายแดนเต็มไปด้วยการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม การขยายสาขาของธุรกิจ การเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และโลจิสติกส์

หากโฟกัสไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เวลานี้ถือว่าขึ้นแท่นเป็นเมืองหลวงของภาคเหนือเต็มตัว

วันนี้อะไรที่กรุงเทพฯ มี ที่เชียงใหม่ก็มีครบเช่นกัน..!

การลงทุนที่กำลังร้อนแรงที่สุดในเมืองเชียงใหม่ตอนนี้ก็คือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ด

ข้อมูล ล่าสุดที่สำรวจโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เห็นได้ชัดเจนว่า การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่เติบโตมาก

แยก แยะให้เห็นกันชัด ๆ ก็คือ การลงทุนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โครงการของภาครัฐที่จะลงทุนในพื้นที่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง และการลงทุนด้านที่พักอาศัยทั้งคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ขณะที่การซื้อขายที่ดินก็คึกคักมาก

ปัจจุบันพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่มีที่อยู่อาศัยระหว่างการขายทั้งสิ้น 149 โครงการ ประมาณ 19,800 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 105 โครงการ จำนวน 13,700 หน่วย ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เปิดขายในรอบ 3 ปีล่าสุดตั้งแต่ปี 2553-55 มูลค่าโครงการบ้านจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท

สำ หรับเทรนด์ที่อยู่อาศัยฮอตสุดก็คือ คอนโดมิเนียม มีทั้งสิ้น 44 โครงการ จำนวน 6,100 หน่วย ส่วนมากจะเปิดขายในช่วงปี 2554-55 และต่อเนื่องถึงปีนี้ เช่น มีโครงการที่เพิ่งเปิดขายใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนมากถึง 19 โครงการ ประมาณ 3,000 หน่วย มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท

นี่ยังไม่นับรวมค้าปลีกประเภทคอมมิวนิตี้มอลล์ที่จะเกิดขึ้นอีกนับสิบแห่งทั่วเมืองเชียงใหม่

สิ่ง ปลูกสร้างที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ ต้องยอมรับว่าเพราะศักยภาพของเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ และเชื่อมกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

แต่ตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มทุนโหมก่อสร้างคอนโดมิเนียมเกือบ 50 โครงการ ก็เพื่อหลีกหนีการประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ที่จ่อจะบังคับใช้กฎหมายราว เดือนเมษายนนี้ หลังจากผังเมืองเกิดสุญญากาศมานานเกือบ 6 ปี

หากดูจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่กำลังเกิดขึ้น ต่อไปเมืองเชียงใหม่จะไม่ใช่เมืองที่สงบเงียบอีกต่อไปแล้ว

ที่ นี่มีสภาพที่ไม่ต่างจากเมืองหลวง มีที่กิน ที่ช็อป ที่พัก ที่เที่ยว สถานบันเทิงเหมือนกรุงเทพฯ รวมถึงสภาพของความแออัดของเมืองที่เนืองแน่นไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง อาคารสูง มลพิษ

รวมถึงความพลุกพล่านของจำนวนประชากร และนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวตามการเติบโตของเมือง

นี่ยังไม่นับรวมนักท่องเที่ยวจีนที่

หลั่งไหลเข้ามาเยือนเชียงใหม่ไม่ขาดสายอีกปีละหลายแสนคน

ด้วย ศักยภาพของเชียงใหม่เองที่เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ การประชุมสัมมนา และอนาคตก็จะมีรถไฟความเร็วสูง ปัจจัยบวกเหล่านี้ทำให้นักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจที่จะขยายการลงทุนเข้า มายังเชียงใหม่หนาตายิ่งขึ้น

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังประเมินด้วยว่า หากมีการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่เชื่อมระหว่างอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประมาณกลางปี 2556 นี้เป็นต้นไป เสมือนเป็นการเปิดประตู

เชื่อมระหว่างจีนตอนใต้กับประเทศไทยครั้งใหญ่ เพราะชาวจีนในโซนเมือง

เชียงรุ่ง เมืองสิบสองปันนา และนครคุนหมิง สามารถที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านเข้ามาใน สปป.ลาว โดยใช้เส้นทางถนน

อาร์สามเอข้ามฝั่งมาเชียงราย เชียงใหม่ มุ่งสู่กรุงเทพฯได้อย่างสะดวกสบาย

วันนี้ใครไปเชียงใหม่เริ่มเจอปัญหารถติด อากาศไม่ดี มีแต่สิ่งปลูกสร้าง และผู้คนจากต่างถิ่น

ใครที่โหยหาธรรมชาติ อยากที่จะสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาอาจผิดหวังก็ได้ เพราะการเติบโตของเมืองได้กลืนวิถีคนพื้นถิ่นไปมากแล้ว

เสน่ห์ล้านนากำลังเลือนหายไปกับการเปลี่ยนแปลง..!

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////

สวมสิทธิ์จำนำข้าว : รัฐเสียหาย 1.36 แสนล้านบาท !!?



เปิดเส้นทางสวมสิทธิ์จำนำข้าว!กำหนดผลผลิตต่อไร่สูงเกินจริง เกิดข้าวส่วนเกิน9.1ล้านตัน เปิดช่องชาวนาขายสิทธิ์"พ่อค้า-โรงสี"รัฐเจ๊ง1.36แสนล.

นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ และวิถีความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนา สร้างความแข็งแกร่งและความมีเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องการดึงผลผลิตข้าวเข้ามาอยู่ในการควบคุม เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาและยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นทั้งระบบ คือ นโยบายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว

ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ยังเป็นปัญหาหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งบประมาณที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ รอบที่มีการรับจำนำ การรั่วไหลของการใช้จ่ายงบประมาณ และขั้นตอนการตรวจสอบที่ไม่รัดกุมทำให้เกิดช่องว่างของโครงการรับจำนำข้าว เกิดการสวมสิทธิ์โครงการรับจำนำข้าวอย่างที่หลายฝ่ายมีการพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา เป็นการสวมสิทธิ์โดยใช้ข้าวในท้องตลาด หรือไม่ก็ใช้ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน

ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่องว่างของโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ทำไมถึงมีการสวมสิทธิ์โครงการรับจำนำเกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุผลใด ข้าวที่จะนำมาใส่ในโครงการมาจากไหน

แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงสีข้าว กล่าวว่า ช่องทางที่ทำให้เกิดช่องว่างการสวมสิทธิ์ ส่วนใหญ่มาจากการที่รัฐบาลกำหนดตัวเลขผลผลิตต่อไร่สูงเกินจากความเป็นจริง ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรแต่ละราย คำนวณตามพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัดที่ได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และผลิตรวมของเกษตรกรตามหนังสือรับรองที่กรมส่งเสริมการเกษตร ออกให้เกษตรกรเป็นข้อมูลประกอบ กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการรับจำนำ สูงกว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยให้ปรับเพิ่มได้อีก 20% (ณ ความชื้น 15%) โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นข้าวเปลือกของเกษตรกรเอง เพื่อแจ้งต่อคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลและตรวจสอบ

ทั้งนี้ ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกใบประทวนแยก 2 ส่วน กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำเกิน 20% ของปริมาณผลผลิตเฉลี่ย ส่วนแรกให้ออกใบประทวนในจำนวนผลิตไม่เกินผลผลิตเฉลี่ย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำสัญญาจ่ายเงินให้เกษตรกรไปจับจ่ายใช้สอยได้ ส่วนที่เหลือให้ออกใบประทวนในจำนวนผลผลิตส่วนเกิน 20% และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน

กำหนดผลผลิตต่อไร่สูงเกินจริง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาใหญ่เกิดจากการคำนวณผลผลิตข้าวต่อไร่ที่สูงเกินไป จากการตรวจสอบเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท นครปฐม สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย ฉะเชิงเทรา และ กรุงเทพมหานคร บางส่วน พบตัวเลขผลผลิตข้าวต่อไร่ที่ สศก.ออกใบรับรองให้เกษตรกรไปใช้สิทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 730 กก. (ความชื้นที่ 15%) ดังนั้นหากรัฐเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยให้อีก 20% เมื่อนำผลผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรที่ 730 กก.ต่อไร่คูณด้วยส่วนที่เพิ่ม 20% เท่ากับว่ามีส่วนต่างเกิดขึ้น 146 กก.ต่อไร่ ซึ่งตัวเลขรวมข้าวที่รัฐกำหนดว่าเกษตรกรจะได้รับอยู่ที่ 876 กก.ต่อไร่

ขณะที่ข้าวที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่เป็นข้าวสด อยู่ที่ 800 กก.ต่อไร่ ที่ความชื้น 25% ดังนั้นเมื่อนำข้าวเข้าโครงการรับจำนำเกษตรกรจะถูกหักน้ำหนักตามเกณฑ์ให้เหลือความชื้นอยู่ที่ 15% โดยความชื้นทุกๆ 1% จะถูกหักออก 15 กก. เกษตรกรจะเหลือน้ำหนักข้าวแห้งที่จำนำจริงเพียง 680 กก.ต่อไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่โรงสีหักออก ดังนั้นหากคำนวณแล้วจะพบว่าปริมาณผลผลิตรวมต่อไร่ที่ สศก. ระบุไว้ที่ 876 กก.ไร่ข้างต้น เมื่อหักปริมาณข้าวที่เกษตรกรจำนำได้จริง 680 กก.ต่อไร่ เท่ากับว่าเกิดส่วนต่างขึ้น 196 กก.ไร่ หากคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่า จะมีส่วนต่างอยู่ที่ 28.82%

พาณิชย์แจงผลรับจำนำข้าว 31.9 ล้านตัน

ดังนั้น ตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แหล่งข่าว จากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าผลรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554/55 นาปรัง 2555 และนาปี 2556/56 โดยผลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ณ วันที่ 19 มี.ค. 2555 รับจำนำในปริมาณ 6,798,286 ตัน เป็นของ อคส. ประมาณ 4.306 ล้านตัน และ อ.ต.ก. 1.6 ล้านตัน ธ.ก.ส. 0.107 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเปลือกเจ้า 2,915,341 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 3,089,919 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 15,242 ตัน และ ข้าวเปลือกเหนียว 442,359 ตัน

การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 ณ วันที่ 18 ม.ค. 2556 ปริมาณรวม ปริมาณรวม 14,700,000 ตัน แยกเป็น อคส. 11,192,158 ตัน ของ อ.ต.ก. 3,507,842 ตัน การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 ณ วันที่ 6 มี.ค. 2556 ปริมาณรวม 11,013,316 ตัน ของ อคส. 9,066,944 ตัน ของ อ.ต.ก. 1,946,438 ราย จำแนกเป็นข้าวเปลือกเจ้า 6,542,495 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 3,318,773 ตัน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 480,108 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 25,140 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 646,801 ตัน ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศที่จะรับจำนำเพิ่มอีก 7 ล้านตัน

ชี้ข้าวส่วนเกินทำรัฐเสียหาย 1.36 แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม ในปริมาณการรับจำนำข้าวของรัฐบาลข้าวที่ไม่ค่อยมีปัญหาส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวเนื่องจากมีปริมาณน้อย ส่วนข้าวที่มีปัญหาจะเป็นข้าว 5% ในจำนวนดังกล่าวในส่วนของข้าวหอมมะลิก็มีอยู่บางส่วน แต่สำหรับข้าวเหนียวแทบจะไม่มีเพราะปริมาณข้าวมีน้อย ดังนั้นจะเห็นว่าข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำอยู่ที่ประมาณ 31.9 ล้านตันโดยเฉลี่ย ในจำนวนนี้เมื่อนำไปคำนวณกับเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างต่อไร่อยู่ที่ 28.82% พบว่าจะมีข้าวเปลือกส่วนเกินอยู่ประมาณ 9.1 ล้านตัน ที่สามารถสวมสิทธิ์ได้ ซึ่งในจำนวนนี้จะเกิดช่องว่างทำให้มีพ่อค้า โรงสี ชาวนาฉวยโอกาสสวมสิทธินำข้าวจากที่อื่นเข้ามา หากเป็นความชื้นข้าว 15% ที่รัฐบาลตั้งไว้ตันละ 14,800 บาท ในจำนวนนี้ทำให้รัฐเสียหายประมาณ 1.36 แสนล้าน

"ชาวนา-พ่อค้า-โรงสี"ใช้ช่องว่างสวมสิทธิ์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้าวส่วนเกินที่เกิดขึ้น ทำให้มีกลุ่มคนเข้าไปหาผลประโยชน์ ซึ่งมีตั้งแต่เกษตรกร โรงสีบางกลุ่ม พ่อค้าท้องถิ่น โดยในส่วนของเกษตรกรก็จะมีการสวมสิทธิกันเองในหมู่บ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อให้ได้ตามปริมาณที่ได้รับ ส่วนพ่อค้าท้องถิ่นก็จะใช้วิธีการรวบรวมสิทธิเกษตรกรมาขายให้กับโรงสี หรือไม่โรงสีก็จะขอซื้อสิทธิจากเกษตรกรโดยตรง ทั้งหมดนี้จะทำกันเป็นกระบวนการ ที่สำคัญต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อรวบรวมสิทธิได้ พ่อค้าก็จะหาซื้อข้าวจากท้องตลาดในราคาตันละประมาณ 10,000 บาท ก็หาซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ

หรือไม่ก็ใช้วิธี "เปาเกา" คือ นำข้าวที่เกิดจากการประมูลของรัฐมาใส่แทน เพื่อส่งเข้าโครงการรับจำนำในนามเกษตรกร เพื่อนำไปออกใบประทวน รับเงินจาก ธ.ก.ส.แทนพ่อค้าข้าว ที่ตันละ 14,800 บาท

เปิดสูตรแบ่งปันประโยชน์ถ้วนหน้า

"ข้าวที่หามาใส่ในโครงการรับจำนำจะอยู่ที่ตันละ 10,000 บาท แต่สามารถส่งเข้าโครงการรับจำนำได้ถึงตันละ 14,8000 บาท ส่วนต่าง 4,800 บาทก็จะแบ่งกัน หักให้กับเกษตรกรในการขายสิทธิให้ตันละ 500 -1,000 บาท ส่วนพ่อค้าจะได้ส่วนต่างจากโรงสีอยู่ที่ตันละ 1,000 บาท ส่วนโรงสีก็จะได้รับตันละ 1,000-2,000 บาทแล้วแต่ข้อตกลง รวมทั้งการแบ่งผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโกดังเพื่อง่ายต่อการนำข้าวเข้าโกดัง" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากกลุ่มหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำเพราะเป็นโครงการที่ทำมานานแล้ว จนมีกลุ่มคนบางกลุ่มมองเห็นช่องทางการหาผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาตรวจสอบ ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่เซ็นชื่อรับรองเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบที่ไปที่มาอย่างแท้จริง ดังนั้นจะเห็นว่าการกำหนดปริมาณผลผลิตที่สูงจนทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลกระทบทำให้รัฐต้องสูญเสีบงบประมาณจำนวนมาก "จริงๆ แล้วโครงการรับจำนำข้าว หากมีการเข้มงวดตรวจสอบที่ดีกว่านี้ คงไม่ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณ 3-4 แสนล้าน อย่างที่เป็นอยู่ แต่การละเลยที่เกิดขึ้นเป็นเหตุทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก"

ชี้ซื้อกัมพูชา6,500ขายรัฐ14,800บาท

ขณะที่ นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลได้กายเป็นช่องโหว่เกิดคอร์รัปชันสูง การนำข้าวมาสวมสิทธิถือว่าทุกฝ่ายร่วมมือกันตั้งแต่ชาวนา โรงสีพ่อค้า ทำกับเป็นกระบวนการ ชาวนาเองก็มีการขายสิทธิให้ เพื่อนำไปออกใบประทวนกับอ.ต.ก.และอ.ค.ส. ทุกวันนี้มีการขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิจำนวนมาก อย่างข้าวที่กัมพูชามีการรับซื้อกันที่ตันละ 6,500-7,000 บาท เอามาทำเป็นข้าวแห้งความชื้น 15% ขายเข้าโครงการรับจำนำตันละ 14,800 บาท วันหนึ่งๆ เข้ามาหลายพันตัน ใช้รถพ่วงขับกันเข้ามาจำนวนมาก ตรงส่วนนี้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก แต่กลุ่มที่ทำกันก็จะได้รับผลประโยชน์เท่าตัว

"ผมว่าการที่รัฐบาลสัญญาจำนำทุกเมล็ดจึงเป็นเหตุทำให้เกิดการทุจริตขึ้น เพราะไปเอาข้าวที่ไหนมาก็ได้ ชาวนาก็เหมือนกันแจ้งทำนา 5-6 แปลงพอข้าวตัวเองเสียก็ไปเอาจากที่อื่นมาใส่ หรือไม่ก็ขายสิทธิให้ทั้งพ่อค้าและโรงสีซึ่งเกิดขึ้นเยอะมาก"

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบก็ไม่มีประสิทธิภาพทุกฝ่ายรู้เห็นเป็นใจเพราะได้รับผลประโยชน์ทั่วถึง ในส่วนของโกดังเก็บข้าวเช่นกันหากไม่จ่ายใต้โต๊ะให้กับโกดังก็จะไม่มีสิทธิที่จะนำข้าวเข้าไปได้ รวมทั้งบริษัทเซอร์เวเยอร์ หากไม่จ่ายก็จะตรวจสอบไม่ผ่าน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบและเข้มงวดส่วนนี้มากขึ้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เตือนเศรษฐกิจ ไทยส่อฟองสบู่ !!?


เตือนเศรษฐกิจไทย อาจเกิด "ฟองสบู่" จากเงินทะลักเข้าภูมิภาค แนะ ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะเพื่อรักษาเสถียรภาพ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวภายในงานสัมมนา "มองโลก มองไทย สู่ปี 2015" ถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นว่าแม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นคอขาดบาดตาย แต่เริ่มเห็นสัญญาณการเกิดภาวะฟองสบู่บ้างแล้ว

ดังนั้น ต้องระวังและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ใน 3 เรื่อง คือ เงินทุนที่ไหลบ่าเข้ามาภูมิภาคเอเชียมากถึงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเป็นระยะ เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แข็งหรืออ่อนค่าจนเกินไป

นอกจากนี้ ต้องระวังการตรวจสอบราคาทรัพย์สินที่สูงเกินราคาพื้นฐาน เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้นและพันธบัตร และการปล่อยสินเชื่อที่ต้องเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีการปล่อยสินเชื่อมากเกินไป

“วันนี้ทุกอย่างยังดีอยู่ แต่ต้องระวังใน 3 เรื่องหลัก เพราะสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังใช้มาตรการคิวอี ใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อลดอัตราการว่างงานลง ส่วนไทยเองมีการลงทุนจากภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งภาคท่องเที่ยวเองยังมีเม็ดเงินสะพัดอยู่มาก ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีมากถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ สามารถใช้ได้ถึง 7-8 เดือนด้วยซ้ำ” นายศุภชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ต้องทำงานแบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงกันหมดทั้งภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลมีการลงทุนในระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ใช่เพียงแค่ระบบราง รถไฟฟ้าความเร็วสูงเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงระบบโทรคมนาคมด้วย

นอกจากนี้ สนับสนุนนักลงทุนไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพราะจะช่วยลดแรงกดดันเรื่องค่าเงินบาทได้ และการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน ยังจะเป็นแต้มต่อของประเทศไทย ผลักดันเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง คาดการณ์เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 6% ในปีนี้ สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้จะอยู่ที่ 5%

'ณรงค์ชัย'เตือนรับมือตลาดทุนโลกป่วน

ด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่าความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกในช่วงนี้ สาเหตุหลักเป็นผลจากปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนโยกเงินไปลงทุนในประเทศที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า แต่ที่สำคัญต้องเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจดีด้วย เชื่อว่าแนวโน้มความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกยังมีต่อเนื่อง

“จำนวนเงินในโลกนี้เยอะมาก แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากปริมาณเงินที่มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วปริมาณเงินไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ปัญหาเกิดจากดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เงินทุนเหล่านี้ไหลออกไปหาที่ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า” นายณรงค์ชัย กล่าว

สาเหตุที่มองว่าปริมาณเงินไม่ได้เป็นปัญหาที่สร้างความปั่นป่วนในตลาดเงินโลกมากนัก เพราะหากพิจารณาจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ใช้วิธีอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (คิวอี) ซึ่งทำออกมาแล้วทั้งหมด 7.6 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่าเงินส่วนใหญ่กลับไหลมาคืนที่เฟด โดยมีปริมาณเงินที่ออกไปจริงๆ น้อยมากไม่ถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยซ้ำ

ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่ที่ปริมาณเงิน แต่อยู่ที่ดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ระดับต่ำ ข้อมูล ณ สิ้นเดือนม.ค. 2556 พบว่า เงินที่อยู่ในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำ ปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 65 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นการถือครองผ่าน 14 ประเทศ มีทั้งจีนและไทยรวมอยู่ด้วย เงินเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะออกไปหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

กนง.ให้น้ำหนักเสถียรภาพ-การเงินโลก

"อย่างกองทุนพิมโก้ (Pimco Total Return Fund) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ของสหรัฐ ที่มีมูลค่าใหญ่สุดในโลก เทขายบอนด์สหรัฐทิ้งหมดเลย เพราะผลตอบแทนต่ำแล้วไปลงทุนยังที่อื่นที่สามารถให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า" นายณรงค์ชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 3 เม.ย. นี้ ต้องกลับมาถกเถียงในปัจจัยระหว่างเงินทุนไหลเข้ากับฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ หรือไม่ และ กนง. ให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากกว่ากัน นายณรงค์ชัย กล่าวว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. มีวิธีในการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งคนมักเข้าใจกันว่า ธปท. ดูแต่เครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่จริงแล้ว ธปท. ดูแลหมด ทั้งเครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงสินเชื่อ

"การพิจารณาคงให้น้ำหนักเรื่องเดิม คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่วนเรื่องฟองสบู่นั้น มีเป็นจุดๆ ก็คุมเป็นจุดๆ อยู่แล้ว แต่โดยรวมยังไม่ได้เกิดเป็นฟองสบู่" นายณรงค์ชัย กล่าว

คลังยันไม่ใช้ภาษีสกัดเงินไหล

สำหรับมาตรการสกัดเงินทุนนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลังหลายรายระบุตรงกันว่ายังไม่เคยเตรียมมาตรการทางภาษีเพื่อสกัดเงินทุนระยะสั้น แต่พยายามใช้มาตรการที่เป็นไปตามกลไกตลาด เช่น การชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจก่อนกำหนด การส่งเสริมให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยลง

“การลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นการทำตามกลไกตลาด แต่การที่จะใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าผ่านกลไกภาษีนั้นทางกระทรวงการคลังมองว่าเป็นมาตรการที่จะนำไปสู่การบิดเบือนกลไกตลาด” นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าว

การบังคับใช้มาตรการสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2549 เพื่อสกัดเงินไหลเข้าในปี ถือว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและทำให้ตลาดขาดความเชื่อถือในนโยบายของไทย ส่วนการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า หรือ capital control อาจจะให้กรมสรรพากรเก็บภาษีนักลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยผ่านการซื้อ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือซื้อพันธบัตร แต่ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้หารือกันในเรื่องมาตรการภาษี

บาทแตะ 29.51 แข็งค่าสุดรอบ 28 เดือน

นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่ง กล่าวว่า ค่าบาทวานนี้ (15 มี.ค.) เคลื่อนไหวปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยระหว่างวันปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน แตะที่ระดับ 29.51 บาทต่อดอลลาร์ หรือปรับตัวแข็งค่าขึ้น 0.4% หลังจากแตะระดับ 29.54 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2553 โดยเป็นผลจากอุปสงค์ของกองทุนต่างประเทศ

การที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าซื้อดอลลาร์ที่ระดับต่ำ ขณะที่ กลุ่มผู้นำเข้าเข้าซื้อดอลลาร์ด้วย นักลงทุนทั่วไปกำลังรอเข้าซื้อบาทเมื่อพิจารณา จากกระแสเงินจากกองทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

"มีการแทรกแซงเพื่อชะลอการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ต่อบาท แต่กระแสเงินไหลเข้าเป็นปัจจัยสำคัญ และบาทแข็งแกร่งอย่างมาก" นักค้าเงินกล่าว

หุ้นจ่อทะลุ1,600จุด

ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (15 มี.ค.) ยังปรับขึ้นต่อเนื่องตามภูมิภาค โดยปิดที่ 1,598 จุด เพิ่มขึ้น 11.34 จุด ซึ่งระหว่างวันดัชนีปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,599.89 จุด มูลค่าการซื้อขาย 76,830 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,325 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 352 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 3,988 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 2,310 ล้านบาท

มูลค่าการซื้อขายสะสมในช่วง 1-15 มี.ค. สถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 632 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 2,106 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 11,469 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 14,207 ล้านบาท

นายกรภัทร วรเชษฐ์ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หุ้นไทยไม่ผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1,600 จุด แต่มีโอกาสเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1,600 จุดในช่วงสัปดาห์หน้า โดยแรงลงทุนหลักอยู่ในกลุ่มธนาคาร กลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มไอซีที ทั้งนี้ เป็นผลพวงจากการทำราคาเพื่อปิดพอร์ตลงทุนรายไตรมาส (WINDOW DRESSING) ซึ่งตามสถิติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย. ของทุกปี

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า เชื่อว่าดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบขาขึ้น และมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1,600 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ฝ่ายวิจัยมองว่าจะได้เห็นในเดือนมี.ค. นี้ โดยเชื่อว่าสัปดาห์หน้ามีโอกาสที่จะเห็นหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 25 จุด จากระดับ 1,600 จุด หรือ หากปรับฐานลดลงก็จะไม่ลดไปมากกว่า 25 จุดเช่นกัน

ต่างชาติซื้อตราสารมากที่สุด

สำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่อง โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่ามีมูลค่าการซื้อขายรวม 84,597 ล้านบาท โดยประเภทของตราสารที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด คือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 66,769 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 77.2% รองลงมา พันธบัตรรัฐบาล มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 14,813 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.1% และหุ้นกู้เอกชน มีมูลค่าการซื้อขาย 2,362 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.7%

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิ 9,093 ล้านบาท กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซื้อสุทธิ 5,481 ล้านบาท และกลุ่มนิติบุคคลในประเทศ ซื้อสุทธิ 8,696 ล้านบาท โดยผลตอบแทน (Yield) ค่อนข้างคงที่ในทุกช่วงอายุของตราสาร ซึ่งปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจ คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมทั้งอุปทาน (Supply) พันธบัตรรัฐบาล

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

แถลงการณ์ : กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยขอบคุณกลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ " !!?


จากเหตุการณ์ที่รายการตอบโจทย์ประเทศไทยแห่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้นำเสนอการพูดคุยว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญยิ่งในสังคมและการเมืองไทย ในวันที่ 11-15 มีนาคม 2556 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ตอน โดยได้เชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย ได้แก่ คุณสุรเกียรติ เสถียรไทย พล.ต.อ.วศิษฐ เดชกุญชร อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาพูดคุยกันในเรื่องนี้ และได้ออกอากาศแล้ว 4 ตอน โดยในตอนล่าสุดเป็นการดีเบตกันระหว่างอาจารย์สมศักดิ์และอาจารย์สุลักษณ์ในรอบแรก มีเนื้อหากล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันและแก้ไข ม 112 เป็นเหตุให้กลุ่ม “คนไทยผู้รักชาติ” เกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่ารายการนี้จะมีเจตนาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักอย่างหาที่สุดมิได้ของปวงชนชาวไทย จึงได้ออกมาประท้วงกดดันสถานีโทรทัศน์ให้งดออกอากาศเทปบันทึกรายการตอนสุดท้าย เป็นการดีเบตระหว่างอาจารย์สมศักดิ์และอาจารย์สุลักษณ์ในรอบที่สอง ซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 15 มีนาคม 2556 จนเป็นผลสำเร็จนั้น

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยต้องขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อกลุ่ม “คนไทยผู้รักชาติ” ที่ได้ออกมาประท้วงกดดันในครั้งนี้ เนื่องจากการประท้วงของพวกท่านได้จุดกระแสให้เกิดการถกเถียงกันเป็นอันมากถึงการละเมิดเสรีภาพสื่อ เท่าที่เห็นได้ในระยะเวลาอันสั้นคือกระแสในสังคมออนไลน์ หลายๆ คนที่ไม่เคยพูดถึงก็อาจจะออกมาพูดกันมากขึ้น และก็ไม่วายจะต้องถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน การกระทำของพวกท่านทำให้หลายๆ คนจะได้มีเรื่องพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสนุกสนานมากขึ้น และก็เป็นการตอกย้ำปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมและการเมืองไทยยิ่งขึ้นไปอีก วันที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะถูกแก้ไขหรือยกเลิกก็จะเร่งเข้ามาใกล้มากขึ้นเช่นกัน

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยอยากจะขอเรียกร้องด้วยว่า ขอให้กลุ่ม “คนไทยผู้รักชาติ” กระทำการเช่นนี้ต่อไปในภายภาคหน้า ให้ปัญหาที่มีอยู่แหลมคมยิ่งขึ้นไป

ทางกลุ่มขอกล่าวขอบคุณอีกครั้ง และจะขอจดจำคุณูปการครั้งนี้มิรู้ลืม



หมายเหตุ1 : ทางกลุ่มได้อ่านหนังสือข้อเรียกร้องต่อสถานีโทรทัศน์ของกลุ่มท่านแล้ว มีจุดที่ต้องท้วงติงอยู่ คือ อาจารย์สมศักดิ์เขามีนามสกุลว่า เจียมธีรสกุล ไม่ใช่ เจียมสกุน

หมายเหตุ 2 : ทางกลุ่มมีข้อสงสัยเล็กน้อยว่าเวลาเขียนชื่อกลุ่มของพวกท่านต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (“”) ด้วยทุกครั้งหรือเปล่า

หมายเหตุ 3 : ทางกลุ่มต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่ต้องพิมพ์ชื่อกลุ่มของท่านว่า “คนไทยผู้รักชาติ” เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์ที่พิมพ์แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นรุ่นที่ค่อนข้างใหม่ แป้นพิมพ์จึงไม่มีตัว ค.คน แล้ว มีแค่ตัว ค.ควาย เท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
ไทยพีบีเอสงดฉาย-ทบทวนเทปตอบโจทย์ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" - "ส.ศิวรักษ์" หวั่นความขัดแย้ง
'ไทยพีบีเอส' ชี้แจงกรณีงดรายการตอบโจทย์ 'สมศักดิ์-ส.ศิวรักษ์'
Tags: บทความ การเมือง สิทธิมนุษยชน การศึกษา กลุ่มคนไทยผู้รักชาติ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย รายการตอบโจทย์ สื่อมวลชน ไทยพีบีเอส

ที่มา.ประชาไท
///////////////////////////

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

ครม.ปู 4 จตุพร มา ชัจจ์ ไป เพื่อไทยต้องชัดเจน !!?


หากเพื่อไทยมองเมินคุณค่านักรบ อนาคตจะมีใครมาช่วยร่วมรบอีก นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. เปรียบไว้ว่าคนเสื้อแดงเป็นเสมือนเรือที่นำรัฐบาลเพื่อไทยไปถึงฝั่งฝัน หวังว่าทั้งเพื่อไทย... นายกฯปู... และบรรดาบิ๊กๆ ที่กุมอำนาจในเวลานี้ คงเข้าใจและคงไม่ลืม

ฉะนั้นหากยังขืนปล่อยให้มีการกระทบกระทั่ง มีการกระทืบเรืออยู่เรื่อยๆ วันที่ท้องเรือทะลุขึ้นมามันจะยุ่ง

ขึ้นต้นวันนี้ด้วยคำพูด ประธาน นปช. ที่ถือเป็น”เกราะแดง-กำแพงเหล็ก” ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์พิง เพราะเหตุผลที่ว่า อย่าปฏิเสธเลยว่าความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐบาลกับคนเสื้อแดง คือ “ความจริงล้านเซ็นต์”

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็พูดออกมาชัดเจนว่า ต้องให้คนเสื้อแดงเข้ามาส่วนในการบริหารร่วมกับเพื่อไทย (อดิศร เพียงเกษ นำมาพูดในรายการ ตรงไปตรงมา ในทีวี เอเซียอ๊พเดท หรือทีวีช่องเสื้อแดง)

การเมืองวันนี้ น่าจะเปรียบเปรยได้ว่า......

“น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน” เป็นทั้งบทเพลงดังเพลงอมตะในอดีต และเป็นเหมือนข้อเตือนใจ
โดยเฉพาะท่ามกลางกระแสลมแรงของข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จาก “ปู3” ไปเป็น “ปู4” ที่สร้างความสยองขวัญสั่นประสาทเป็นยิ่งนัก

เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าการปรับครม.จะต้องมีแน่ๆ หนีไม่พ้น เนื่องจากอย่างน้อยต้องมี 1 ตำแหน่งแทนนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯและรมว.การท่องเที่ยวและกีฬาที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว

ปัญหาก็คือ ไม่มีใครเชื่อว่า ปรับ ครม.ทั้งทีจะมีการปรับแค่เก้าอี้เดียว ทำให้มีการจับตามมองกันเขม็งไปที่พรรคเพื่อไทย ว่ารอบนี้จะมีการเล่นเก้าอี้ดนตรีให้แย่งชิงกันกี่เก้าอี้ และเป็นการจัดสรรในลักษณะสมบัติผลัดกันชม หรือว่าเป็นไปในโทน “เด็กข้าใครอย่าแตะ”

ทำให้มีการมองกันว่าในพรรคเพื่อไทยเที่ยวนี้ มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่อาจจะมีประมาณ 3-4 เก้าอี้ที่ต้องสลับสับเปลี่ยนตัวเล่น แต่หากเฮี้ยนหรือเพี้ยนถึงสุดๆ อาจจะได้เห็นกันถึง 6-7 เก้าอี้โน่นเลย???

แค่คิดว่าถ้าเป็นสูตรปรับเล็ก 4-5 เก้าอี้ ก็หมายถึงว่าจะต้องมีรัฐมนตรีระดับว่าการของพรรคเพื่อไทยอย่างน้อย 2 คนที่กลายเป็นอดีตรัฐมนตรี และน่าจะมีระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการที่ต้องพ่วงขบวนอำลาไปด้วยอีกสองคน เท่านี้ก็เล็งเห็นความวุ่นวายแล้ว

หลักการสมบัติผลัดกันชมนั้น อาจจะถูกต้อง... แต่ปัญหาคือทุกคนอยากที่จะเป็นคนที่ได้ชม ไม่อยากจะเป็นคนที่ต้องผลัดนี่สิ... ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาทั้งภายในพรรคและภายนอกพรรค

ทำให้เวลานี้มีการอ้างสายตรงกันอุตลุดไปหมด ทั้งสายตรงดูไบ สายตรงนายกฯปู สายตรงเจ๊แดง สายตรงนายใหญ่ สายตรงนายหญิง และอีกสารพัดสายชนิดที่ไม่รู้ว่าถ้าเปรียบเป็นสายบะหมี่สำเร็จรูป นี่จะพันกันอีรุงตุงนังขนาดไหน

ก็เลยเกิดการปล่อยข่าวกันสนุก ไล่ดะฉะมั่วกันมาตั้งแต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีพลังงาน บุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีพาณิชย์ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลากเล็งไปถึง ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปด้วยเลย
ในขณะที่ระดับรัฐมนตรีช่วย ปล่อยข่าวสนุกว่าจะหลุดแบบยกพวง คือไปทั้ง พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และ ประชา ประสพดี

เก็งว่าปรับไม่เกิน 3-4 เก้าอี้ดันมีรายชื่อออกมาเป็นขโยง แต่แน่นอนว่าใครที่เป็นสายตรง ใครที่เป็นเด็กดัน ฟังแล้วก็อาจจะหัวเราะแบบไม่ใส่ใจ เพราะรู้ว่าอย่างไรก็ไม่หลุด ส่วนคนที่มีระยะห่างก็ได้แต่อกสั่นขวัญแขวนไปตามๆกัน

ปัญหาก็คือ แนวทางสมบัติผลัดกันชมเที่ยวนี้ ถูกจับตามองไปที่คนที่จะเข้ามามากเป็นพิเศษ และหนีไม่พ้นที่ทุกส่ายตาจะจับจ้องมองไปที่คนชื่อ “จตุพร พรหมพันธุ์” ตู่...อีกแล้ว!!!

รอบที่แล้ว ปู 3 ตู่ก็ถูกมองว่าจะได้โควตารัฐมนตรีของแกนนำกลุ่มเสื้อแดง เพราะครั้งนั้นว่ากันว่ามีการเอ่ยปากดิบดีจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด

แต่สุดท้ายก็ผิดพาด ตู่วืดมาตลอด จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ตั้งโต๊ะแถลงข่าวหลัก ปู3 คลอดหมาดๆ ว่า พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะทอดทิ้ง “นักรบแผลเหวอะ” เพราะคิดว่าเป็นการประคองภาพลักษณ์ของรัฐบาลเอาไว้เช่นนั้นหรือ???

ต้องจูน ต้องอาศัยไหว้วานพี่ใหญ่ของบรรดาคนเสื้อแดง เป็นกาวใจสมานรอยร้าวไปตั้งหลายหลอด ไม่รู้ว่าบรรดาบิ๊กๆในพรรคเพื่อไทยยังจำได้หรือไม่

ถ้าจำได้ คำถามก็คือ แล้วจะให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกเช่นนั้นหรือ???

หากมองว่า ตู่ จตุพร ต้องคดีเป็นนักรบเสื้อแดงที่มีบาดแผล จะทำให้พรรคมีปัญหา ทำไมไม่ลองมองไปที่พรรคคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ดูบ้างว่า ขนาดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดนแต่ละคดีหนักๆทั้งนั้น โดยเฉพาะคดีการสลายการชุมนุมกระทั่งมีคนตาย 99 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน

ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร??? แต่พลพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนใจสักนิด ยังชูยังอุ้มคนทั้งคู่เอาไว้อย่างเต็มที่

แต่พรรคเพื่อไทยกลับไม่ใช่ ขนาดพ่ายคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็ยังดันมีคนทะลึ่งออกมาบอกว่า แพ้เพราะมีชื่อว่า ตู่ จตุพร จะเข้าไปเป็น รองผู้ว่าฯ หาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้เป็นผู้ว่าฯ

เรียกว่าโยนกันมาแบบหน้าด้านๆ ทั้งๆที่น่าจะรู้ว่า ลึกๆแล้วขนาดได้มา 1.07 ล้านเสียงก็ยังแพ้นั้น เป็นเพราะสู้อยู่กับใคร??? และพ่ายแพ้เพราะอะไร???

ขยันป้ายสีกันเองแบบนี้แหละที่ทำให้พรรคเกิดรอยร้าวทั้งจากภายในพรรค และจากแนวร่วมสำคัญอย่างกลุ่มคนเสื้อแดง

จริงๆแล้วนายกฯปูจะตั้งใคร หรือไม่ตั้งใคร หลังจากที่เคลียร์กันเองแล้ว ก็ทำให้มันชัดเจนไปเลยจะดีกว่าหรือไม่?

ถ้าหากเห็นว่า บาดแผลจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ ตู่ จตุพร ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ไม่กล้าตั้ง ก้บอกให้ชัดเจนไปเลยว่า จะไม่ตั้ง คนจะได้เลิกลือ ตู่จะได้ไม่ต้องลุ้นไม่ต้องคาดหวัง และสังคมจะได้ไม่ต้องมาลือมาวิเคราะห์กันให้มั่วซั่ว

แต่หากเห็นว่า ตู่ มีความเหมาะสมที่จะได้เป็นรัฐมนตรีเที่ยวนี้ ก็พูดให้ชัดไปเลยว่าจะตั้ง... ใครจะทำไม… แบบนี้น่าจะเป็นการดีกับทุกฝ่าย

การที่มัวแต่อิหลักอิเหลื่อ กล้าๆกลัวๆ ไม่มีความชัดเจน แบบนั้นน่าจะยิ่งทำให้เกิดรอยร้าวหนักยิ่งขึ้น เพราะบรรดาบิ๊กๆในเพื่อไทยทั้งหลายจะต้องรู้ว่า นี่ไม่ใช่รอบแรกที่มีชื่อของตู่เข้ามาเป็นแคนดิเดท
คนเรา มีชื่อโผล่ในโผทุกครั้ง ต่อให้ไม่คิดไม่หวัง แต่เมื่อยังเป็นปุถุชนคนเดินดินมันก็อดเคลิ้มคล้อยไม่ได้ แต่สุดท้ายกลับวืดทุกรอบ มันก็ย่อมแปล๊บเจ็บจี๊ดในใจได้เหมือนกัน เมื่อจี๊ดบ่อยๆ มันก็ไม่จอย มันก็ร้าวได้

ฉะนั้นเที่ยวนี้ ขอชัดๆไปเลยดีมั้ย

อย่างน้อยพวกที่เหน็บว่า ตู่ ไม่ได้เป็นเพราะหน้าไม่หล่อเหมือนนักการเมืองบางคนบางพรรค ที่หน้าหล่อแถมพูดเก่ง จะได้หุบปากกันเสียบ้าง เพราะสิ่งที่สังคมไทยต้องการ ไม่ใช่นักการเมืองที่หล่อแต่หน้า แต่ใจจะต้องหล่อด้วย หากเป็นประเภทหน้าหล่อแต่ใจดำ แบบนั้นจะเอามั้ย???

ส่วนตู่หน้าอาจจะไม่หล่อ แต่ขอโทษหากใครรู้จักดีแล้วจะอึ้ง ทึ่ง ตะลึงตึงตึง

ที่สำคัญตู่นั้นมีหัวใจที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชนิดเต็มร้อย... ฉะนั้นหากคุณสมบัติข้อนี้รัฐบาลเห้นว่าเป้นสิ่งที่ดี เป็นเพื่อนร่วมรบมาด้วยกัน ก็ควรจะทำให้ชัดเจนไปเลย จะตั้งไม่ตั้งพูดกันตรงๆ หัวใจมีเลือดมีเนื้อจะถูกกร่อนหลายๆรอบมันไม่ดีแน่

แล้วอย่าลืมว่า ไม่ว่าอย่างไรตู่ก็เป็นแกนนำที่โดดเด่นคนหนึ่งของคนเสื้อแดง

เช่นเดียวกับกรณีของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ที่ปรับ ครม.กี่รอบ ก็ติดโผคนที่ต้องเด้ง คนที่ต้องหลุดมันทุกเที่ยวทุกครั้ง... ใจเขาใจเรา เอาใจมาใส่ในอกตัวเองว่าเป็น พล.ต.ท.ชัจจ์ ดูบ้างแล้วจะรู้ว่ามันเจ็บลึกขนาดไหน

ในเวทีต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไปหลังเวทีเมื่อไหร่เป็นต้องเจอ พล.ต.ท.ชัจจ์ เมื่อนั้น แถมคนเดียวยังไม่พอ ยังมีลูกสาวสุดเลิฟมาเป็นกำลังหลักของกลุ่มคนเสื้อแดงอีกคนหนึ่งด้วย การทุ่มเทต่อสู้ให้ขนาดนี้ จริงๆแล้วไม่ควรจะเป็นแค่ รัฐมนตรีช่วย แต่ควรเป็นรัฐมนตรีว่าการด้วยซ้ำไป

แต่กลายเป็นว่าได้แค่ รัฐมนตรีช่วย แถมมีข่าวหลุดโผทุกครั้งที่ปรับ ครม. จนแม้แต่ทีมงาน แม้แต่นักรบรอบข้างยังงุนงง แถมเซ็งอีกต่างหาก ว่าตกลงแล้ว ระดับผู้กุมอำนาจบริหารในพรรคเพื่อไทยมองอะไร
ในขณะที่บรรดาอีแอบทางการเมือง บรรดาโจรมุมตึกที่โผล่มาเสวยสุขหลังการต่อสู้ กลับได้รับการยกย่องเชิดชู แต่คนที่ต่อสู้มาอย่างหนักกลับไม่ได้รับการไยดี

เลยกลายเป็นประเด็น กลายเป็นคำถามว่า ตกลงแล้วรัฐบาลไม่ไยดี และต้องการที่จะห่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงใช่หรือไม่ คิดว่าคนเสื้อแดงเป็นตุ้มคอยถ่วง เป็นสนิมของรัฐบาลเช่นนั้นหรือ???

ที่มา.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////

ความฝัน ของรัฐบาล !!?


คอลัมน์ สามัญสำนึก

ขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ. กู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้

โดย รัฐบาลวาดฝันว่า แผนกู้เงินดังกล่าวเพื่อการลงทุนในระยะ 7 ปีข้างหน้า จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทย ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้จีดีพีโตปีละ 1% และเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสฟัง "พันศักดิ์ วิญญรัตน์"

ประธาน ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" บรรยายเรื่องแนวเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย จากแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน เป็นการลงทุนระบบโลจิสติกส์ทั้งหมด แบ่งเป็นระบบราง 78% ถนน 19% ทางทะเล 1.5% ระบบศุลกากร 0.6% และทางอากาศ 0.04%ที่เป็นไฮไลต์ก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน ประธานที่ปรึกษาของนายกฯระบุว่า การลงทุนไฮสปีดเทรนไม่ใช่แค่ลงทุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ

แต่เป็นโครงกระดูกหลักในการขนส่งสินค้า ที่จะส่งให้ประเทศไทยเป็น "ฮับ" ด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค และส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

นอก จากขนคน เป้าหมายของไฮสปีดเทรนคือ การขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ดอกไม้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยรถไฟความเร็วสูง (250 กิโลเมตร/ชั่วโมง) 1 ขบวน ขนสินค้าได้ 100 เมตริกตัน เทียบเท่ากับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกถึง 200 คัน

"ไฮสปีดเทรนไม่ใช่แค่รถไฟ แต่หมายถึงอนาคตของประเทศที่จะวิ่งไปพร้อมกับไฮสปีดเทรน" นายพันศักดิ์กล่าวและว่าเมื่อรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ จะทำให้การขนส่งด้วยรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 80% ช่วยประหยัดการบริโภคน้ำมันได้ถึง 35% ต่อปี หมายถึงลดการนำเข้าน้ำมันกว่า 4 แสนล้านบาท/ปี ทั้งลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าคงคลัง 7.2 แสนล้านบาท/ปี ไปจนถึงลดอัตราการเน่าเสียของผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรในการขนส่ง

ขณะ ที่เส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงตัดผ่านก็กลายเป็นเขตเศรษฐกิจและเขตอุตสาหกรรม เกิดขึ้นได้ทุก ๆ ที่ ทำให้คนไทยฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บ้านหลังใหญ่ติดขอบธรรมชาติ ที่สามารถตื่นขึ้นมาแล้วขึ้นรถไฟความเร็วสูงมาทำงานในเมืองได้อย่างสบาย

ทั้งหมดนี้คือ การขายฝันของรัฐบาล !

เชื่อว่าใครได้ฟังแนวคิดนี้เป็นต้อง "เคลิ้ม" นอนฝันถึงวันที่จะเป็นจริง

ขณะ ที่หลายฝ่ายก็กังวลกับปัญหา "คอร์รัปชั่น" เพราะหลายคนส่งสัญญาณว่าให้เร่งลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ เกรงว่าจะเสียโอกาส

เช่น ที่นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า "ขณะนี้ภาครัฐและเอกชน กลัวว่าการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น มากกว่ากลัวเรื่องคอร์รัปชั่น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเสียโอกาสลงทุนไปมากแล้ว หากประเทศไทยไม่ลงทุนครั้งนี้ จะทำให้ไม่สามารถแข่งกับเพื่อนบ้านได้"

จึงหวังว่าโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน ที่สร้างภาระหนี้สาธารณะเพิ่มอีก 7% จะไม่กลายเป็นขุมทรัพย์หาประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจบางกลุ่ม

เรื่องแบบนี้ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง หรือข้าราชการรู้ดีเพราะ ทุกครั้งที่เกิดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แม้ว่าประเทศชาติได้ประโยชน์ แต่ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลทำให้เงินที่ตกหล่นตลอดทางก็มหาศาลเช่นกัน

และ เพียงแค่โหมโรงผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ด้วยการจัดงาน "Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลก นิทรรศการการลงทุนของประชาชน...เพื่อประชาชน" ที่ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) เมื่อ 9-12 มี.ค.ที่ผ่านมา

วงในแจ้งว่า รัฐบาลใช้เงินไม่ต่ำกว่า 45 ล้านบาท และหลังจากนี้ยังมีแผนงานประชาสัมพันธ์และอีเวนต์อีกเพียบ

รัฐบาลจะทำอย่างไรให้เงินกู้ 2 ล้านล้านก่อประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

รมว.คลังเรียกร้อง ธปท.ดึงเงินบาทอ่อนค่าลง !!?


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินบาทยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาท ไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าจนผิดธรรมชาติ และให้อัตราดอกเบี้ยต่ำจนผิดธรรมชาติ แต่ต้องการให้ผ่อนคลายลง

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เนื่องจากนโยบายการเงินที่ดำเนินการอยู่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าผิดปกติ และอัตราดอกเบี้ยสูงผิดธรรมชาติจนกระทบต่อผู้ส่งออก และหากไม่ดำเนินการใด ๆ จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก แม้จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก แต่รักษาค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับเหมาะสมถือว่าเป็นระดับที่น่ายินดี

สำหรับแนวทางการแก้ไขกฎหมายภาษีซ้อน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยนำเงินออกไปลงทุนหรือทำการค้าในต่างประเทศ เมื่อนำผลกำไรสุทธิกลับมาในประเทศแล้วไม่ต้องเสียภาษีนั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า แม้จะเป็นการส่งเสริมนำเงินออกไปลงทุนได้ดี แต่ต้องระวังการหาประโยชน์จากฐานภาษีต่ำจากหลายประเทศ โดยจะทำให้มีเงินลงทุนเข้ามาหาประโยชน์ในระยะสั้น ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะระดับภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 20 ในปัจจุบัน มองว่ายังเป็นระดับที่ยังไม่เหมาะในการยกเลิกภาษีซ้อน เมื่อเทียบกับฐานภาษีในหลายประเทศ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

คะแนนเสียงเป็นล้าน มาจากไหน !!?


ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ ให้เห็นว่า นักการเมืองเก่าเหล่านี้ กำลังถูกท้าทายด้วยนักคิดรุ่นใหม่ที่มาในรูปของสื่อสังคมออนไลน์ คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ทั้งอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม แต่เป็นสัจจะนิยม

 สื่อต่างประเทศทุกสำนัก รายงานข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ออกไปในทำนองคล้ายกันมากคือ ผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าคนในเมืองหลวง ปฏิเสธผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากทักษิณ ชินวัตร ทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนน เทเสียงให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สูงถึง 1.2 ล้านคะแนน ทำลายสถิติของ นายสมัคร สุนทรเวช ในเวลาเดียวกัน ผู้สมัครมาจากพรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้เข้าป้ายอันดับสองก็ตาม แต่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเพราะทำคะแนนทะลุหลักล้านได้เหมือนกัน

ผลของคะแนนทิ้งห่างกันประมาณสองแสนคะแนน ทำให้ผู้สังเกตการณ์ ยกหลักวิชาการหลักสถิติขึ้นมาเปรียบเทียบ มาวิเคราะห์หาที่มาที่ไปของคะแนน ของ พท.(เพื่อไทย) และปชป.(ประชาธิปัตย์) แฟนๆประชาธิปัตย์ หลายคนหวั่นไหวจากผลคะแนนที่ทิ้งกันไม่ห่างเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ส่วนผู้สนับสนุนเพื่อไทย ก็บอกว่านี้เป็นชัยชนะของคนแพ้

ใช้สามัญสำนึกธรรมดา บวกกับมองย้อนหลังไปที่การเลือกตั้งในอดีต กับธรรมชาติของการเลือกตั้งในเมืองหลวง พบว่า คนที่เลือก ปชป.เป็นพวกอนุรักษ์นิยมเหนียวแน่น ส่วนผู้ที่เลือก พท.มีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองไปทางอำนาจนิยม ที่มองจากมุมนี้เพราะ พบว่า พท.เอง ไม่มีฐานคะแนนใน กทม.เป็นของตัวเองคะแนนที่ได้มาหลั่งไหลมารวมกัน จากอดีตพรรคพลังธรรม พรรคประชากรไทยและพรรคมวลชน บวกคะแนนของกลุ่มนักธุรกิจการเมือง ที่ได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากนโยบายของพรรคไทยรักไทย(ทรท.)

กลับไปดูการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พบว่า เป็นพรรคที่รวบรวมเอานักการเมืองเก่า ในเมืองหลวงมาจากพรรคพลังธรรม และในปี 2550 นายสมัคร สุนทรเวชทิ้งพรรคประชากรไทย มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นการเกิดใหม่ของ ทรท.จึงทำให้ฐานการเมืองเก่าของพลังธรรมกับประชากรไทยมารวมอยู่ในพรรคพลังประชาชน มาถึงปี 2554 คะแนนเสียงที่เคยมีอยู่บ้างในพรรคมวลชนของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็ผนวกเข้ามาอยู่ใน พท.เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าคะแนนเสียงทะลุล้านของ พท.มาจากไหน

ก่อนมีการเลือกตั้งทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งอดีตเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคพลังธรรม ได้ออกมาประกาศตัวช่วยเหลือผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเต็มที่ นอกจากนั้น พลังธรรมเก่าแก่ผู้อุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งกันและกันกับผู้ก่อตั้งไทยรักไทยตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ได้ร่วมมือกับกลุ่มบ้านพระอาทิตย์โหมหาเสียงทางอ้อมให้กับผู้สมัครพรรคเพื่อไทยเต็มที่ ตัดคะแนน ปชป.ทางอ้อม โดยการโจมตี ปชป.ทางสื่อในสังกัด แสร้งทำเป็นสนับสนุนผู้สมัครอิสระ ไม่ศรัทธาระบอบพรรคการเมืองทั้งๆ ที่ตัวเองกระสันอย่างมากที่จะกระโจนเข้าสู่วงการเมือง แต่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วล้มเหลวไม่เป็นท่า

จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมกลุ่มการเมืองเก่าไม่ว่าจะเป็น พลังธรรม ประชากรไทย มวลชน และกลุ่มบ้านพระอาทิตย์ถึงได้ระดมสรรพกำลังทั้งหมดมาสนับสนุนเพื่อไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแต่มีแค้นฝังเข็มอยู่กับ ปชป.ทั้งทางการเมือง และ เรื่องธุรกิจส่วนตัว

กลุ่มบ้านพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีฐานคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นของตัวเอง แต่ใช้วิธีเอาธุรกิจส่วนตัวไปอิงการเมืองตลอดมา ในอดีตเคยทุ่มเงินสนับสนุนพรรคมวลชน เจ้าตัวเองก็ออกมาลำเลิกบุญคุณที่เคยช่วยหัวหน้าพรรคมวลชน ที่เคยซื้อรถยนต์ราคาแพงให้ กลุ่มนี้ทุ่มเงินจำนวนมากช่วยเหลือพรรคชาติไทยในช่วงที่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจกับ นายฮุนเซ็น ในระยะแรกๆ ที่เขมรสร้างความสัมพันธ์กับไทย ติดสินบน ฮุนเซ็นด้วยการซื้อนาฬิการาคาเรือนแสนให้ ฮุนเซ็น เจ้าตัวออกมาทวงบุญคุณกับ ฮุนเซ็น และประณามว่า ฮุนเซ็นเป็นคนเนรคุณ ตอนที่รณรงค์เรื่องเขาพระวิหาร กลุ่มธุรกิจการเมือง กลุ่มนี้ มีสันดานลำเลิกบุญคุณภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการลำเลิกบุญคุณกับ สล้าง บุนนาค กับ เฉลิม อยู่บำรุง และ กับนายฮุนเซ็น สุดท้ายมาลำเลิกบุญคุณกับ ปชป.

กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ติดสินบนกับคนที่อยู่ในอำนาจ และเอื้อประโยชน์ให้ทุกพรรค แต่มีพรรคเดียวที่ไม่สามารถทำได้คือ ปชป.นอกจากติดสินบนไม่ได้แล้ว ยังถูก ปชป.ขัดขวางการฉ้อโกงจนทำให้ถูกตัดสินจำคุกถึงยี่สิบปี

สำหรับคนที่ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงจงเกลียดจงชัง ปชป.ให้นึกย้อนไปถึงอดีต สมัยที่ พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น มีการปั่นหุ้น ปั่นราคาที่ดินกันอย่างมโหฬารทำเอาพวกนายทุนเจ้าเล่ห์ ร่ำรวยมหาศาล กลุ่มธุรกิจการเมืองกลุ่มนี้ ถูกตรวจสอบขัดขวางโดย ปชป.จากการปั่นหุ้นการตบแต่งบัญชีหลอกตลาดหลักทรัพย์ฯและธนาคาร ทำให้ถูกดำเนินคดี และในที่สุดเมื่อปี 2554-2555 ศาลตัดสินลงโทษจำคุกถึง 85 ปี แต่ให้มีโทษจำจริง 20 ปี

เบื้องหลังความเจ้าเล่ห์ของคนกลุ่มนี้ยังมีอีกมาก แต่วันนี้ตั้งใจจะเขียนให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าคะแนนเสียงทะลุล้านของเพื่อไทย มาจากไหน ส่วนเรื่องที่วิเคราะห์ว่า ผู้ที่เลือก ปชป.อนุรักษ์นิยม และ ผู้ที่เลือก พท.มาจากฐานเก่าของผู้สนับสนุนอำนาจนิยม จากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาสี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เห็นภาพแตกต่างอันนี้อย่างชัดเจน

ปชป.ได้รับความนิยมสูงมากหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่กลับถูกพรรคกิจสังคมซึ่งมีเพียง18 ที่นั่ง แย่งตั้งรัฐบาลได้ ในปี 2519 ปชป.ได้เสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เพราะความเป็นอนุรักษ์นิยมไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด ไม่กล้าสั่งการหยุดยั้งกลุ่มการเมืองขวาจัดถึงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นพวกอำนาจนิยมโกรธ ปชป.หันไปทุ่มคะแนนให้กับนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นนักการเมืองอำนาจนิยมขวาจัดอยู่ ปชป.และออกไปตั้งพรรคประชากรไทยเป็นของตัวเอง

ในการเลือกตั้งปี 2522 ประชากรไทย กวาดที่นั่ง กทม.เกือบหมด เหลือไว้ให้ ปชป.เพียงที่นั่งเดียว แต่หลังจากนั้นการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับมาสนับสนุน ปชป.อีก ถึงปี 2526 คะแนนเสียง ปชป.ตีตื้นขึ้นมาก ขณะที่ประชากรไทยกำลังถดถอย และ ปชป.กำลังฟื้นตัวคนกรุงเทพฯก็ค่อยๆ กลับมาสนับสนุนอีก ในปี 2528 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กำลังรุ่งเพราะเป็นเลขาฯพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ตั้งกลุ่มพลังธรรมขึ้นมา สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้รับการเลือกตั้งในคราบของผู้สมถะ แต่ถ้ามองให้ชัดจะเห็นว่า จำลอง เป็นหนึ่งในกลุ่มยังเติร์ก พวกอำนาจนิยมที่อยากได้อำนาจมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และเป็นอำนาจนิยมที่เอาแต่ใจตัวเอง ตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางของอำนาจทั้งหมด

หลังจากได้เป็นผู้ว่าฯกทม. พรรคพลังธรรม ก็เกิดขึ้น คะแนนเสียงใน กทม.ถึงคละกันระหว่าง ปชป. ประชากรไทย และพลังธรรม แต่หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 พลังธรรม ตกม้าตายเพราะวาทกรรมที่ว่า “พาคนไปตาย” ปชป.พลิกกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกมาก สวนทางกับ พลังธรรม และประชากรไทย พลังธรรมเหลือเพียงคนเดียว ประชากรไทยเหลือ 3 คน

คะแนนเสียงของ ปชป.จะเป็นพื้นฐานที่ขึ้นลงตามอารมณ์ของผู้คนกับเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เคยทิ้งปชป. มีสั่งสอนบ้างในบางครั้ง ส่วนกลุ่มอำนาจนิยม มักจะไหลไปรวมกับกลุ่มอำนาจนิยมที่กำลังอยู่ในอำนาจ เพราะฉะนั้นเมื่อ พท.เป็นกลุ่มอำนาจนิยม กับนักธุรกิจการเมืองมารวมกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คะแนนของ พท.ทะลุล้าน

ทั้งหมดที่พูดมาเป็นกลุ่มการเมืองเก่าที่มีพฤติกรรมต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตามผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองเก่าเหล่านี้ กำลังถูกท้าทายด้วยนักคิดรุ่นใหม่ที่มาในรูปของสื่อสังคมออนไลน์ คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ทั้งอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม แต่เป็นสัจจะนิยม

เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่ไม่มีในทฤษฎีรัฐศาสตร์ เป็นกลุ่มที่มีความคิดเป็นปัจเจก ซึ่งเป็นตัวแปลและมีอิทธิพลสูงต่อชัยชนะของ ปชป.ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ และจะเป็นตัวแปลสำคัญในการเลือกตั้งในอนาคต

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////

เมืองไทยนี้ดี มีทั้งเขา และเรา ความหลากหลายบนมายาคติ-จินตภาพลวงๆ !!?

โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ชื่อบทความเดิม “จินตภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย (1) : ภายใต้มายาคติเมืองไทยนี้ดี”

1

[บทความนี้ผมได้แรงบันดาลใจอย่างสำคัญจากการเรียนกับอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ และการอ่านหนังสือของท่าน จึงระลึกคุณท่านมา ณ ที่นี้ แต่การสรุป เข้าใจเป็นความคิด หรือความผิดพลาดนั้น ถือเป็นของผมเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้]

ในอดีตที่ผ่านมา มักมีภาพของสังคมไทยและเมืองไทยว่า เป็นเมืองที่ดี เมืองที่มีสุข เป็นเมืองที่มีแต่ความสงบสุข มีความสามัคคี ผู้คนที่อยู่ในเมืองนี้จะมีแต่ความเอื้ออาทรกัน ไม่เบียดเบียน ทุกคนจะอยู่อย่างสันติ เคารพซึ่งกันและกัน ใช้ระบบอาวุโสในการไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ภาพเมืองไทยที่ดีนี้เกิดจากจินตภาพของนักคิด ที่สร้างและวาดภาพให้สังคมไทยเป็นอย่างที่ต้องการ เช่น หลวงวิจิตรวาทการ กรมดำรงราชานุภาพและแบบเรียนต่างๆ ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น (ดูรายละเอียด ใน สายชล สัตยานุรักษ์ 2545; 2546; 2550)

ภาพที่จำลองสังคมไทยออกเป็นสังคมขนาดเล็ก ทุกคนในสังคมรู้จักกันหมดทุกคน มีความเอื้ออาทรต่อกัน เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็สามารถแก้ได้ด้วยเมตตาธรรม ความเห็นอกเห็นใจ พูดง่ายๆ คือ การลดทอนเมืองไทย ชาติไทย ให้เป็นแค่ชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีปัญหาอะไรมาก หรือพูดว่าแทบไม่มีปัญหาอะไรเลยในสังคมไทย เป็นเมืองที่น่าอยู่ และก็จะสอนคนไทยให้รักชาติ ต้องยอมสละทุกอย่างเพื่อชาติ แม้ชีวิตก็ยอมสละได้เพื่อชาติ
ภาพจาก Triphole

นอกจากนี้ ภาพของสังคมไทยยังเป็นภาพที่เสนอในลักษณะมีความหลากหลาย เช่น มีชาวนา ชาวสวน นายทุน ชาวเขา ฯลฯ แต่เป็นความหลากหลายที่ไม่ซับซ้อน เป็นความหลากหลายที่สงบราบเรียบภายใต้การนำของระบบราชการ หรือข้าราชการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และคนของภาครัฐ

เมื่อมีการทอนลดภาพของชาติลงมาอยู่ในระดับหมู่บ้านในระดับชุมชนแล้ว ความสัมพันธ์ที่บอกว่าเมืองไทยนี้ดีก็จะเป็นภาพของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เป็นเรื่องบุญคุณ ผ่านสายใยของ “ระบบอุปถัมภ์” เพราะระบบอุปถัมภ์เป็นระบบที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ และพันธนาการสังคมไทยไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ช่วยเชื่อมร้อยคนในสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์มีความไม่เท่าเทียมของการเข้าสู่อำนาจ และทรัพยากร ทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรได้ไม่เท่าเทียม ทำให้ต้องยึดโยงกับผู้มีอำนาจเพื่อให้เข้าถึงทรัพยากร และผู้มีอำนาจสามารถช่วยเหลือให้เข้าถึงทรัพยากร

ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยเป็นระบบที่เป็นทางการเป็นแนวคิดและแนวทางทางการเมืองภายใต้การปกครองในระบบศักดินา ที่แบ่งคนออกเป็น 2 ชนชั้น คือ นาย (ผู้ปกครอง) และไพร่/ทาส (ชนชั้นถูกปกครอง) ระบบนี้ยังมีการอุปถัมภ์ในชนชั้นตัวเองอีกด้วย โดยมีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ
1. เป็นระบบที่ไม่มีความเท่าเทียมในการแลกเปลี่ยน
2. เป็นแนวดิ่ง คือ จากผู้อุปถัมภ์ถึงผู้รับอุถัมภ์โดยตรง
3. เป็นระบบที่ไม่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลคล ส่งผลให้ความภักดีทางการเมือง (political loyalty) ของคนไทยส่วนมากไปกระจุกตัวอยู่ในหมู่คณะ (อคิน รพีพัฒน์ 2527; 2541; อมรา พงศาพิชญ์ 2539)

อย่างไรก็ดี ระบบอุปถัมภ์ก็มิใช่ระบบที่เอาเปรียบ แต่เป็นระบบที่มีคุณธรรม ผู้ปกครองมิได้เอาเปรียบผู้ใต้อุปถัมภ์ แต่คอยช่วยเหลือเกื้อกูล ทำให้ผู้ใต้อุปถัมภ์สำนึกในบุญคุณ ยังมีการแบ่งงานกันทำและการแบ่งงานก็แบ่งกันอย่างเสมอภาค ผู้เข้าถึงทรัพยากรมากก็จะคอยสนับสนุนผู้ที่ด้อยโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าคนอื่น เป็นสังคมของความเอื้ออาทรต่อกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ เมืองไทยยังมีลักษณะที่ว่า เป็นครอบครัว ซึ่งต้องมีผู้นำ ผู้นำก็ต้องเก่ง เด็ดขาด และนำพาเราสู่ความเจริญก้าวหน้า และจากการมองแบบนี้ทำให้สังคมไทยหรือเมืองไทยที่ดีต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เด็ดขาด มีเมตตาธรรม เช่น ในอดีตผู้นำในดวงใจก็คือ จอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น

ซึ่งภาพที่สร้างว่าเมืองไทยนี้ดีทำให้คนไทยถวิลหาผู้นำ เช่น จอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์ แม้ว่าเบื้องหลังจะดีหรือทุจริตอย่างไร คนไทยก็ไม่สนเท่าไร ส่วนผู้นำที่ทำงานช้า ทำอย่างมีระเบียบ ขั้นตอนมาก อย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมท นายชวน หลีกภัย เป็นผู้นำแบบที่ในภาพสังคมไทยมองว่าไม่กล้าตัดสินใจ เป็นเต่าบ้าง ฤาษีบ้าง ซึ่งปัจจุบันผู้นำอย่าง ทักษิณ ชินวัตน์ (ดูการเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร: การสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ? (ตอนที่ 1) และ การเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร: ประชานิยมกับการเมืองมวลชน (ตอนที่ 2)) ก็คือ ผู้นำที่เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ และเอื้ออาทร จึงเป็นผู้นำที่คนไทยถวิลหา และได้รับความนิยมสูง เป็นผู้นำในอุดมคติของสังคมไทย

ที่สำคัญคือ การมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแก่นแกนของชาติ ที่ไม่อาจทำลาย ทำร้าย หรือแตะต้องได้ ถ้าใครลบหลู่ ดูหมิ่น เกลียดชัง ฯลฯ ต่อแก่นแกนของชาติ ผู้นั้นคือคนทรยศชาติ หรือแม้แต่มีแนวคิดที่แตกต่าง อย่างกรณี “คนเสื้อแดง” ก็คือ คนนอกที่สามารถ “ทำลาย ทำร้าย” และ “ฆ่า” ได้อย่างไม่ผิดบาป

ชาติไทย เมืองที่ดี ต้องสงบสุข ร่มเย็น แก้ไขปัญหาได้ ไม่มีความขัดแย้ง แบ่งแยกฉะนี้แล

2
ภาพสะท้อนเอกลักษณ์ไทยในระดับโลก - ภาพจาก google
ภาพสะท้อนเอกลักษณ์ไทยในระดับโลก – ภาพจาก google


จินตภาพเรื่องเมืองไทยนี้ดียังให้ภาพ “พวกเขา” “พวกเรา” สร้างพวกเขาเพื่อให้พวกเรารวมตัวกันหนาแน่นมากขึ้น เช่น สมัย ร. 6 มีการสร้างคนจีนเป็นพวกเขา เป็นพวกที่คอยกดขี่พวกเรา (คนไทย) ฉะนั้น พวกเราต้องรวมตัวกันเพื่อต่อรอง ต่อต้าน และทำลายพวกเขา ที่เข้ามาเบียดเบียนพวกเรา

หรืออีกกรณี คอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 2510 – 2520 ก็คือ คนอื่น ที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เป็นศูนย์รวมใจ และเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ที่ไม่อาจแตะต้องได้ ฉะนั้น ผู้ที่คิดเปลี่ยนแปลง ทำลาย หรือ ฯลฯ ก็คือ “พวกเขา” และสามารถ “ฆ่าได้” ดังวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เพราะคอมมิวนิสต์ไม่ใช่คน การ “ฆ่า” จึงเป็นการฆ่ามาร

หรือกรณีปัญหาชายแดนภาคใต้ที่มีการบอกว่าพวกที่ก่อการร้ายหรือพวกที่ก่อความไม่สงบไม่ใช่พวกเรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขานั้นเอง เป็นพวกที่ไม่หวังดีกับชาติ เราต้องทำการปราบปราม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องฆ่าพวกนี้ให้หมดเพื่อจะได้ไม่เกิดความระแวง โดยบางครั้ง พวกเขาเท่ากับ “ไม่ใช่คน”

แต่การฆ่าไม่ใช่การแก้ปัญหา เรามีบทเรียนช่วงปราบคอมมิวนิสต์ว่า ฆ่าคนหนึ่งแต่เกิดขึ้นมาแทนเป็นแสน พูดง่ายๆ ก็คือ ฆ่ามากก็มีคนมาแทนมาก ตราบใดที่เรายังไม่มองรากฐานของปัญหาอย่างแท้จริงว่าเกิดจากอะไร อะไรทำให้เกิด และจะทำเงื่อนไขที่ผลักให้เกิดอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

และจากการแบ่งพวกเขา “พวกเรา” ก็ทำให้เราต้องมาทบทวนเรื่องทีเรามองว่าเมืองไทยนี้ดี ยอมรับความหลากหลาย ซึ่งเรายอมรับจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายาคติที่ใช้หลอกเด็กไป วันๆ ที่เสนอข้างต้นว่าสังคมไทย หรือเมืองไทยนี้ดี มิได้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง เช่น กรณีชาวเขา ซึ่งมักถูกมองว่าไม่ใช่ไทย ถูกนำมาล้อเล่นเสมอ ทั้งความไม่รู้ ไม่ทันสมัย ไม่สะอาด มักนำมาเล่าเป็นโจ๊กตลกเสมอ แสดงให้เห็นว่านี่ก็ไม่ใช่พวกเรา เป็นคนอื่น

หรืออีกกรณีก็คือ กรณีของเพศที่ 3 ซึ่งมักถูกตั้งข้อรังเกียจต่างๆ จากสังคมทั้งจากสื่อ ทั้งจากระบบราชการเอง เช่น ห้ามพวกเพศที่ 3 รับราชการเป็นครู แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีความรู้มากน้อยแค่ไหน นี้ก็แสดงว่าบนความหลากหลายในภาพเมืองไทยนี้ดี ก็คือ ภาพทับซ้อน ของ “พวกเขา” “พวกเรา” แล้วนี่จะพูดว่า “หลากหลาย” ได้จริงหรืออย่างไร

นอกจากนี้ ภาพเมืองไทยที่ดีจะต้องมีภาพของความมีเอกภาพมีการรวมศูนย์ ซึ่งอดีตรวมศูนย์ที่ตัวของกษัตริย์ว่าเป็นผู้ผลักวิถีทางประวัติศาสตร์ให้เมืองไทยก้าวสู่ความเจริญ สู่ความทันสมัย ถึงยุคที่กษัตริย์หมดบทบาทผู้ผลักวิถีทางประวัติศาสตร์ พวกข้าราชการ พวกนายกฯ พวกรัฐมนตรี นักการเมือง คนชั้นกลาง ชั้นสูง ก็เข้ามาแทนที่ ซึ่งคนเล็กคนน้อยอย่างประชาชนตาดำๆ อย่างพวกเราไม่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างเมืองไทยที่ดี ต้องอาศัยเทวดาข้างต้นมาดลบันดาล เมืองไทยจึงเจริญก้าวหน้า ทำให้เป็นปัญหาเรื่อง การมองคนเล็กคนน้อยในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย

ประการต่อมาก็คือ ภาพเมืองไทยที่ดีมักลดทอนปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือพูดง่ายๆ คือปัญหาเชิงโครงสร้างลดเหลือเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม คือ ปัญหาที่เกิดจากคนบางคนขาดศีลธรรม ไม่มีคุณธรรม มองปัญหาในเชิงปัจเจก ไม่มองเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการทิ้งน้ำเน่าลงในแม่น้ำลำคลองของโรงงานบอกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวของเจ้าของโรงงาน เป็นความโลภ ตะกละ ไม่มองเชิงเศรษฐกิจ สังคม ว่าเขาทำอย่างนั้นเพราะเหตุใด

การตัดไม้ทำลายป่า เกิดจากความเห็นแก่ตัว ความมักได้ ฯลฯ ซึ่งทำให้ขาดการมองว่าผู้ที่ตัดคือใคร และเงื่อนไขที่ผลักให้เขาทำนั้นเกิดจากอะไร เช่นกรณีนี้นำมาสู่การตีตราว่า ชาวเขาเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า เพราะต้องการเงินโดยไม่มองมิติอื่นๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม

ฉะนั้นเมืองไทยที่ดีต้องกำหนดตีตราด้วยคำว่า “ศีลธรรม” แต่ว่าศีลธรรมอันนั้นใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดด้วยวัตถุประสงค์ใด จินตภาพแบบเมืองไทยที่ดีมักละทิ้ง ลดทอน ไม่มอง ซึ่งบางครั้งกลายเป็นปัญหาต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง นำไปสู่การแก้ปัญหา ทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน

ขอให้เชื่อมั่นในประเทศไทย !!
จินตภาพเรื่องเมืองไทยนี้ดี

คือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมือง การสร้างความเจริญนี้ก็มุ่งพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม สร้างชาติบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยกระบวนการพัฒนาบางครั้งก็กดขี่ ดึงทรัพยากรไปจากคนเล็กคนน้อยในสังคมอย่างไร ในจินตภาพ เมืองไทยที่ดีก็ไม่มองว่าเป็นปัญหากับเป็นการที่คนเล็กคนน้อยเหล่านั้นต้องสละ อุทิศ ถวาย เพื่อความเจริญของชาติ

เช่น กรณี การสร้างเขื่อน แม้เกิดผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในการผลิตไฟฟ้า และการชลประทาน แต่แท้จริงอย่างไรไม่รู้ ถ้าไม่อพยพก็ถูกตีตราว่าไม่ให้ความร่วมมือกับชาติบ้านเมือง หรือกรณีการอพยพคนให้ออกจากป่า แล้วประกาศให้เป็นเขตสงวน เขตอนุรักษ์ เพื่อรักษาป่าไม้ของชาติ แม้คนจะอยู่มานานเท่านานก็ต้องออก เพราะนั่นเป็นการให้ชาติรุ่งเรืองพัฒนา เป็นต้น

จากจินตภาพนี้ทำให้สังคมไทยที่พัฒนา (หรือไม่) ทั้งคนเล็กคนน้อย หรือเราเรียกว่าคนชายขอบบ้าง คนด้อยโอกาสบ้าง ไว้ข้างหลังของการพัฒนาชาติไทย ที่ดีให้รุ่งเรืองศิวิไลซ์ ตามแบบตะวันตก (ดู วาทกรรมอนุรักษ์: การเมืองเรื่องทรัพยากร และการเกษตร เปลี่ยนผู้อยู่ป่า ให้เป็น ผู้บุกรุก)

ประเด็นต่อมาก็คือ การสร้างความทันสมัยมิติเดียว คือ ทันสมัยตามแบบตะวันตก ทันสมัยทางด้านวัตถุ ทันสมัยอย่างที่รัฐต้องการ ใครทำต่างจากแนวทางนี้ถือว่าไม่ทันสมัย ไม่พัฒนา จากประเด็นนี้ทำให้ท้องถิ่นต่างๆ เร่งพัฒนา จนละทิ้งวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตท้องถิ่นของตนเอง เพื่อให้ทันสมัยตามแบบเมือง จนเกิดปัญหาไร้รากทางวัฒนธรรม มุ่งพัฒนาทางด้านวัตถุ ทำให้การพัฒนาทางด้านจิตใจไม่มี นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการติดยาเสพติด ปัญหาทางวัยรุ่นต่างๆ มากมายในสังคมปัจจุบัน

ประเด็นสุดท้าย ที่ผมอยากนำเสนอในเรื่องจินตภาพเรื่องเมืองไทยที่ดีก็คือ การส่งออกวัฒนธรรมกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาคต่างๆ ของชาติ ทั้งภาษา การแต่งกาย กิริยามารยาท ซึ่งนำไปสู่ประเด็นปัญหาคือ ทำให้เด็กละทิ้งวัฒนธรรมท้องถิ่น แถมด้วยการดูถูก ดูแคลน วัฒนธรรมท้องถิ่น มิหนำซ้ำ บางครั้งยังดูแคลนเหยียดหยามพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของตนว่าล้าสมัย เชย ไม่รู้เรื่อง ฯลฯ

จินตภาพเมืองไทยนี้ดีแบบนี้ทำให้สังคมมีทางเลือกในการพัฒนาน้อยลง ต้องพัฒนาตามกระแสหลักเท่านั้น ถ้าต่างจากนั้นถือว่าผิดนอกประเด็น ต้องแก้ไข แท้จริงคืออะไร และใครคือผู้กำหนดถูกผิด เมืองไทยนี้ดีจึงคับแคบ เบียดขับ และกีดกัน

3
ตัวสร้าง ขยายจินตภาพเรื่อง “เมืองไทยนี้ดี”

เมืองไทยนี้ดีจึงผ่านระบบที่หลากหลายและซับซ้อน เพื่อให้เกิดสังคมแนวเดียว ซึ่งเกิดจากระบบดังนี้

1. ระบบการศึกษาที่เป็นระบบรวมศูนย์ ผ่านหลักสูตรทางการศึกษาที่ส่งออก ส่งตรงจากส่วนกลาง จากกระทรวงศึกษาธิการ คนของส่วนกลาง ทั้งหมดเป็นผู้กำหนดหลักสูตร ว่าควรเรียนอะไรและไม่ควรรู้อะไร สอนให้จำ ไม่สอนให้คิดที่แตกต่าง โดยกำหนดแบบเรียนต่างๆ ตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึง ม.6 มักสร้างภาพของเมืองไทยอย่างตัวแบบที่อภิปรายข้างต้น

คนในท้องถิ่นต่างๆ ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรหรือไม่มีส่วนในการคิด จินตภาพเมืองไทยจึงมีมิติเดียว และแบบเรียนต่างๆ ก็ได้ผลอย่างยิ่ง เด็กไทย 99.99% เรียนอย่างเดียวกัน รับรู้จินตภาพเมืองไทยอย่างเดียวกัน และเมืองไทยก็ดีอย่างว่า แต่แท้จริงแล้วดีหรือไม่เราก็ไม่รู้ ต้องอภิปรายถกเถียงกันต่อไป

2. สื่อ ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ในไทยมาจากส่วนกลาง และบางส่วนสื่ออยู่ในการควบคุมของรัฐ ฉะนั้น “จินตภาพเมืองไทยนี้ดี” จึงเสนอมาอย่างต่อเนื่อง และได้ผลผ่านทางรายการต่างๆ เช่น เพลงก็ใช้ภาษา กรุงเทพฯ ภาษาภาคกลาง การแต่งตัวก็อาศัยวัฒนธรรมของภาคกลาง การนำเสนอปัญหาต่างๆ ก็สรุปอย่างตื้นเขินจนไม่มีทางให้คิดแตกหน่อออกผล จากรายการต่างๆ ก็ล้วนมอมเมาไม่สร้างสรรค์ เช่น รายการละครน้ำเน่าก็เสนอจินตภาพเรื่องชู้สาวเสียจนคนชมไม่คิดอะไรมากไปกว่านี้ และวัฒนธรรมที่เสนอก็วัฒนธรรมกรุงเทพฯ เสียอีก แล้วจะไม่ทำให้เมืองไทยไม่ดีได้อย่างไรกรอกหูทุกวันว่าดี

3. นอกจากนี้ที่เป็นข่าวสารต่างๆ ก็บอกว่าหน่วยงานราชการต่างๆ ออกมาแก้แล้ว ประชาชนไม่ต้องห่วง แล้วอย่างนี้คนเล็กคนน้อยในสังคมจะมีช่องว่างช่องไหนเล่าในการกลายเป็นผู้แสดงเองบ้างแทบไม่มีเลย จะมีก็พวกขูดต้นกล้วยหาหวยบ้าง บ้านนี้งูออกลูก 3 หัวบ้างละ พอได้แสดงก็ถูกตรีตราเสียอีกว่าแบบนี้ไม่พัฒนา ไม่ทันสมัย งมงาย ไม่ควรเชื่อ จินตภาพเมืองไทยนี้ดีก็มีผู้แสดงเมืองไทยไม่ดีเพื่อย้ำว่าเมืองไทยนี้ดีเสียอีก

ตัวแสดงทั้ง 3 ตัวที่ยกตัวอย่างถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างภาพเมืองไทยนี้ดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่ช่วยสร้างภาพเมืองไทยนี้ดี เช่น นักวิชาการ งานเขียนต่างๆ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะอาจมีอิทธิพลน้อยกว่าตัวอย่างข้างต้น

ข้างต้นผมได้นำเสนอภาพ “เมืองไทยนี้ดี” ตามความเข้าใจของผม แต่ผมคิดว่าภาพนั้นเป็นภาพที่บางครั้งสร้างความแตกแยก และบางครั้งนำมาสู่การแก้ปัญหาและสร้างปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง บางครั้งยัดเหยียดคนบางกลุ่มให้กลายเป็นคนชายขอบ และเมืองไทยก็มิได้ดีเสียทุกอย่าง ดังที่เข้าใจกัน ซึ่งผมอยากให้เสนอมโนทัศน์เรื่องเมืองไทยใหม่ 2 ภาพ คือ “เมืองไทยมีความหลากหลาย” และ “เมืองไทยมีปัญหาที่ต้องแก้ไข” ซึ่งจะอภิปรายในบทความหน้า

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

โลกนี้ไม่เคยมี : พระพุทธเจ้าน้อย !!?



โดย:จิตกร บุษบา

นับวัน ชาวพุทธในประเทศไทยจะค่อยๆ หลงลืมหัวใจของการเป็นชาวพุทธไปแล้วข้อหนึ่ง นั่นคือ การใช้ “ปัญญา” พิจารณาไตร่ตรอง ก่อนที่จะเชื่อ แต่หันไปเทน้ำหนักให้แก่ “ศรัทธา” คือความเชื่อ จนเกิดสำนวน “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” แทนการคิดว่า “ควรใช้ปัญญาไตร่ตรองก่อนที่จะเชื่อ” เพราะการไม่เชื่อไม่จำเป็นต้องแปลว่าลบหลู่ แต่เพราะมันเต็มไปด้วยความไม่น่าเชื่อเท่านั้นเอง

บางอย่างก็ไม่ต้องใช้ความเชื่อ เช่นเรื่อง “พระพุทธเจ้าน้อย”ในโครงการของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”

ถามว่า เป็นชาวพุทธกันมาทั้งชีวิต เคยได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้าน้อยกันมาก่อนบ้างไหม

ผมเองจะอายุ 41 ปี บริบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ เพิ่งจะมาได้ยินว่าโลกนี้มี “พระพุทธเจ้าน้อย” ก็ครั้งนี้เอง

หลายคนเข้าใจผิด ว่าคำว่า “พระพุทธเจ้า” นั้น หมายถึงตัวบุคคลหรือเป็นชื่อคน เปล่าเลย พระพุทธเจ้าเป็น “สภาวะ” ของผู้ตัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งหลาย หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ เป็นผู้ตรัสรู้ อยู่ในภาวะตื่น รู้ และเบิกบานอยู่เป็นนิจ

ในกาลสมัยของพวกเรานั้น เรียกว่าภัททกัปป์ มีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาแล้ว 4 พระองค์ด้วยกัน คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และพระโคตมะ หรือสมณะโคดม ก็คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่เรากราบไหว้ผ่านรูปเคารพกันอยู่นี่เอง และในอนาคต จะมีพระองค์ที่ 5 จุติมาเพื่อตรัสรู้ แล้วพามนุษย์ข้ามห้วงกิเลสทั้งหลาย นั่นคือ พระศรีอาริย์

ทว่า ตัวบุคคลนั่น มิได้สำคัญเท่า “พระธรรม” คือ คำสั่งสอน หรือ แนวทางการประพฤติปฏิบัติทั้งกาย จิต ปัญญา

“อานนท์! ความคิดอาจมีแก่พวกอย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา”
ดังนี้. อานนท์! พวกเธออย่าได้คิดอย่างนั้น.

อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย. ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ
ทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา.

อานนท์! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่

อานนท์! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา, ภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ใน สถานะอันเลิศที่สุดแล.

(มหา.ที.๑๐/๑๕๙/๑๒๘)

กระนั้นก็ตาม ด้วยความยึดเหนี่ยวกับตัวบุคคลผู้ให้กำเนิดคำสอน กาลต่อมาได้มีการสร้าง “รูปเคารพ” ขึ้น ในพระพุทธศาสนาของเราก็เรียกว่า “พระพุทธรูป” คือ รูปที่เตือนให้ระลึกนึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นบรมศาสดา เป็นบรมครูเป็นผู้นำทางพ้นทุกข์”

ต่อมาจากรูปเคารพธรรมดาๆ ก็เริ่มสร้างเป็น “ปาง” ต่างๆ

คำว่าปางนั้น หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็น “กิริยา” ของพระพุทธรูป แท้จริงแล้วเป็น “เหตุการณ์” เช่น คำว่าแต่ปางก่อน แต่ปางหลัง แต่ปางกระโน้น ปางจึงมิใช่กิริยา หากแต่เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งกระโน้น โดยการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็เพื่อดึงผู้คนกลับไปสู่เหตุการณ์สำคัญๆ ในสมัยพุทธกาล เพื่อให้รู้ว่า “หนทาง” ของพระพุทธองค์ จากมนุษย์ธรรมดาๆสู่การเป็น “พระพุทธเจ้า” นั้น ต้องผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญอะไรมาบ้าง

ที่สร้างมากที่สุด ก็คือ ปางมารวิชัย พระประธานในอุโบสถของประเทศไทย เกือบๆ จะร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นปางนี้หมดปางมารวิชัยหรือชนะมารนี้ สำคัญมาก ไม่ได้สำคัญเฉพาะการที่รูปแห่งพระพุทธเจ้าแสดงกิริยาเอื้อมพระหัตถ์ขวามาแต่พื้นพระธรณี กิริยานั้นเป็นเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่า นี่เป็นปาง คือเป็นเหตุการณ์ตอนไหน ก็ตอนที่พญาวสวัตตีมาร ยกพลมาเพื่อขัดขวางการตรัสรู้ของนักบวชชื่อ “สิทธัตถะ” คือ เจ้าชายหนุ่มผู้ทรงสละโอกาสแห่งการเป็นพระมหากษัตริย์ ละเรือนใหญ่อันแสนสุขสบาย มาเป็นผู้ไม่มีเรือน มาครองผ้าเพียงไม่กี่ชิ้นมาครองชีวิตเรียบง่าย เมื่อมารมาขัดขวาง ท่านก็ทรงเอื้อมพระหัตถ์ขวาแตะพื้นดิน เพื่อให้แม่พระธรณีมาเป็นสักขีพยานแห่งทานบารมีที่เคยกระทำในชาติภพก่อนๆ ให้พญามารประจักษ์ แม่พระธรณีจึงปรากฏกายขึ้นมา แล้วบีบมวยผม จนมีสายน้ำหลากไหลออกมาพัดพาขี้ข้าบริวารของพญามารแตกกระจัดกระจายไป นำความยำเกรง เลื่อมใส มาสู่พญามาร กระทั่งวางอาวุธ เปลี่ยนเป็นกิริยานบไหว้

พระพุทธรูปปางนี้ จึงสะกิดชาวพุทธที่ศึกษา ที่มีปัญญาให้รู้ว่า นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านจากมนุษย์ผู้เป็นทาสกิเลสตัณหาอารมณ์ทั้งหลาย ไปสู่การเป็น “พุทธะ” คือผู้ตรัสรู้ ผู้อยู่เหนือเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย และเนื่องจากท่านเป็นเจ้าแห่งผู้ตรัสรู้ทั้งหลาย เราก็เรียกท่านว่า “พระพุทธเจ้า”

ให้เราตระหนักว่า มนุษย์ผู้หนึ่ง เข้าถึงการ “รู้แจ้งเห็นจริง” ได้ เราทุกคนซึ่งเป็นมนุษย์ ก็พึงเดินตาม “หนทาง” ที่ท่านเดินนำไปและตรัสบอกไว้ เราก็มีโอกาสเข้าถึงการตรัสรู้นั้น หรือเข้าถึงการหลุดพ้นนั้น

ซึ่งพระสมณะโคดม หรือ “โคตมะ” นี้ ท่านออกบวชเมื่ออายุ 29 ปี ตรัสรู้เป็น “พระพุทธเจ้า” เมื่ออายุ 35 ปี ก่อนหน้านั้นท่านดำรงชีวิตแบบเจ้าชายอยู่ในพระราชวัง ชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะ

ดังนั้น รูปเคารพที่สร้างขึ้นมา แล้วเรียกว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” นี้ น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง คือ ในยามนั้นท่านมิใช่ “พระพุทธเจ้า” เป็นแต่เพียง “สิทธัตถะราชกุมาร” คือผู้จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อรอวันตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นเพียงแค่ “เจ้าชายน้อย” หรือ “พระโพธิสัตว์น้อย” ยังมิได้เข้าถึงภาวะแห่ง “พระพุทธเจ้า” แต่อย่างใดไม่

รูปเคารพแบบนี้ สร้างกันมานาน หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในประเทศไทย คือในกรุเจดีย์วัดมหาธาตุ สุโขทัย ต่อมาพบ
อีกองค์ในกรุเจดีย์องค์หนึ่ง ภายในวัดพระธาตุหริภุญไชย ที่จังหวัดลำพูน

ในประเทศไทย มีการจัดสร้างพระพุทธรูปปางนี้ไม่มากเนื่องจากเป็นสายความเชื่อทางมหายาน แต่ก็ไม่เรียกว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” เรียกว่าปางประสูติ ซึ่งแปลว่า เป็นเหตุการณ์ตอนพระนางสิริมหามายา ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะออกมา ดังนั้น เวลาจัดสร้าง มักไม่สร้างรูปเจ้าชายสิทธัตถะเดี่ยวๆ แต่จะสร้างร่วมกับบริบทของเหตุการณ์ คือ อย่างน้อยๆ ก็จัดสร้างรูปพระนางสิริมหามายาด้วย

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ก็โปรดให้สร้าง “วิหารประสูติ” ขึ้น เป็นหนึ่งในบรรดาวิหารทิศทั้งหมด ข้างในก็สร้างปางประสูตินี้ขึ้น

ยังมีอีกหลายวัดเก่าแก่ ที่สร้างพระปางนี้ แล้วเรียกเหมือนกันว่าปางประสูติ ไม่มีใครเรียกว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” ด้วยว่าท่านยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวัยเยาว์ขณะนั้น

1. ผมจึงคิดว่า การที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และคณะได้จัดสร้างรูปเคารพของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกประสูติ และสื่อสารมายังสังคมว่าเป็นรูป “พระพุทธเจ้าน้อย” จึงอาจสร้างการเรียนรู้ที่ผิดให้แก่สังคมได้ ควรที่จะเรียกว่า พระพุทธรูปปางประสูติ (เหตุการณ์เมื่อครั้งที่ พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ประสูติ) จะถูกต้องกว่า เนื่องจากโลกนี้ ยังไม่มีผู้ตรัสรู้เป็น “พระพุทธเจ้า” ตั้งแต่แรกเกิด หรือขณะยังอยู่ในวัยเยาว์ จึงไม่มีพระพุทธเจ้าน้อยในโลก

2. อย่าไปอ้างถึงคำว่า Baby Buddha เลยครับ เพราะนั่นก็แปลว่า พระพุทธเจ้าในวัยทารก ซึ่งก็ตรงกับคำว่าปางประสูติ คือ เมื่อครั้งแรกประสูตินั่นเอง เรามีคำไทยเรียกอยู่แล้ว และตรงกับความเป็นจริงด้วย จะประดิษฐ์คำว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” มาให้คนยิ่งเขลา ยิ่งเข้าใจผิดกันไปไย

3. พร้อมกันนี้ ก็ควรสร้างความเข้าใจที่ตรงกันด้วยว่า บุญแห่งการระดมปัจจัยไปบูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า มิใช่เกิดจากการบูชารูป “พระพุทธเจ้าน้อย” นี้ หากแต่อยู่ที่การได้ “ร่วมกันสละซึ่งปัจจัยของตน” นำไปเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้การบูรณะปฏิสังขรณ์ “สถานที่เตือนใจ” อันเป็น “เจติยะ”หรือ “เจดีย์” ชนิดหนึ่ง ในการรำลึกถึงพระพุทธองค์และหนทางที่ทรงตรัสชี้ไว้นั้นต่างหาก ที่เป็นบุญอันประเสริฐ ส่วนรูปเคารพนี้ ก็เป็นเพียง “ที่ระลึก” ในการร่วมกันระดมทุนครั้งนี้ต่างหาก ไม่ใช่จุดมุ่งหมายใหญ่ของการกราบไหว้ หรือปลายทางของการระดมทุน ในเมื่อเรามี “สถานที่” (place) เป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกอยู่แล้ว จะนำรูปเคารพ (Subject) ไปบดบังหรือแย่งชิงความสำคัญจากสถานที่เดิมแท้เสียทำไม

4. อย่าให้รูปเคารพนี้ เป็น “อัตตาของเจ้าภาพ”เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของผู้จัดสร้าง ในพระพุทธศาสนา มิได้สอนให้คนปะพอกอัตตาให้ใหญ่โต มีแต่สอนให้ฝึกสลายอัตตา นั่นรวมไปถึงผู้ร่วมทำบุญ ก็ควรมีจิตอนุโมทนาต่อเป้าหมายที่ถูกต้อง คือ การบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า มิใช่ทำบุญเพื่อบูชา “พระพุทธเจ้าน้อย” หรือบูชา “นางสุดารัตน์”นางสุดารัตน์เป็นเพียงผู้ริเริ่ม และอาศัยบารมีของตนดึงดูดผู้คนฝ่ายต่างๆ มาร่วมด้วย เพื่อให้การหาทุนไปบูรณะครั้งนี้ เป็นผลสำเร็จ และเปิดโอกาสให้ผู้มีศรัทธาได้มาร่วม พูดกันตามตรง ลำพังเงินของนางสุดารัตน์ที่มี กับพรรคพวกอีกไม่กี่คน ก็เกินพอที่จะใช้ในการบูรณะ แต่การดึงเอาเรื่องนี้มาเป็นกิจกรรมประกอบการแห่แหนและทำพิธีให้เอิกเกริกขึ้น มองด้านงามก็คือ สุดารัตน์ มีใจเป็นกุศล เปิดทางให้คนทั่วไปได้มาร่วมกันทำ แต่ต้องระมัดระวังวิธีการกระทำ ว่าอาจจะเหวี่ยงไปในทางร้ายได้ หากทำเกินงาม หรือทำด้วยใจที่ไม่บริสุทธิ์ ก็เป็นการเอากิจกรรม (Event) นี้มาเป็นเครื่องมือกู้ชื่อในทางการเมือง คือ หมายเอาบุญล้างตัว จึงทำเงียบๆ ไม่ได้เพราะพลังแห่งการชะล้าง ต้องมาจากการรับรู้ของคนในสังคมซึ่งเป็นคู่กรณีทางการเมือง อันเป็นมลทินมัวหมอง

5. ชาวพุทธทั่วไปก็อย่าเสพติดบุญใหญ่ จนลืมการบำเพ็ญบุญเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว คนไทยพุทธชอบแห่ไปทำบุญกับพระดังหรือวัดดัง ทิ้งขว้างวัดในชุมชนของตนเองให้สกปรกรกร้าง คนโบราณทำบุญในวัดกลางชุมชนของตน ไม่ทิ้งวัดในหมู่บ้านตนไปวัดอื่นพร่ำเพรื่อ ทั้งนี้ พระเณรก็ได้รับการอุปถัมภ์พร้อมๆ กับคุมประพฤติจากชุมชน ชุมชนก็ได้รับอานิสงส์จากพระเณรที่ดี
เสาะหาความรู้ เป็นแบบอย่างของการประพฤติ และดูแลวัดให้สะอาดสะอ้านสวยงาม เพื่อต้อนรับญาติโยมในทุกวันพระ
ฝึกแสดงธรรมให้ฉะฉานลุ่มลึก โยมก็ได้พัฒนาพระ พระก็ได้พัฒนาโยม

6. จากกรณี “พระพุทธเจ้าน้อย” นี้ น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเรื่อง “ของที่ระลึก” จากงานบุญ ว่าควรปล่อยวางการสร้างวัตถุ มาสู่การสร้างปัญญากันเสียที พระพุทธรูปจะเต็มโลกแล้วครับ แต่ “หนังสือธรรม” หรือ “เสียงธรรม” ยังขาดแคลน คนเอาแต่เคารพวัตถุ จนย่อหย่อนทางปัญญา แล้วจะไปถึงการมีศีล มีธรรม กระทั่งตรัสรู้กันได้เมื่อไหร่ เลิกสร้างวัตถุที่ระลึกที่เป็นเพียงเครื่องกราบไหว้ มาสู่สิ่งที่เป็นเครื่องประกอบการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ถ่องแท้กันดีกว่า แทนการสร้างพระพุทธเจ้าน้อย มาสร้างพระไตรปิฎกฉบับย่อ ชาดกฉบับต่างๆ หนังสือรวบพระธรรมเทศนาของธรรมจารย์รูปต่างๆ มาจัดพิมพ์เผยแพร่ หรือทำเป็นซีดีเสียงสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ที่สายตาฝ้าฟาง คนเจ็บคนไข้ ผู้พิการทางสายตา จะเกิดประโยชน์ยิ่งกว่าอย่างมหาศาล

บ้านเรา นักการเมืองชอบเอาศาสนาเป็นบ่อชุบตัว

ความที่จิตใจมิได้คิดสร้างบุญอันบริสุทธิ์ บางครั้งจึงมุ่งไปที่รูปแบบ คือ ต้องทำให้ใหญ่โต ให้มีมูลค่ามหาศาล จนบางครั้งพากันออกนอกลู่นอกทาง นอกความมีสติปัญญาไปได้ง่ายๆ

ถึงเวลาที่จะต้องจัดการกับความอยากของตนให้เป็น “สัมมา” คือทำให้มันธรรมดา เรียบง่าย แต่มีความหมายในการ “สร้างคน-สร้างปัญญา” มากกว่าสร้างชื่อของตน ทั้งคนนำบุญและคนสมทบทุนแล้วล่ะครับ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รื่นเริงใน ชัยชนะ !!?


สวมวิญญาณ “ตาขวาง” วางก้ามขัด “รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กันทุกจังหวะ
“พรบ.นิรโทษกรรม” กับ “พรบ.ปรองดอง” ๒ สิ่งนี้ ที่จะแก้ วิกฤติของชาติ
ไม่หนุน แต่จ้อง หลอกเตะสับขา ตลอดจาก “พรรคประชาธิปัตย์”
ที่สำคัญอยากให้แยกแตกจากกัน กับ เสียงมหาชน ๑ ล้าน ๒ แสนเสียง กับคดีต่าง ๆ ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กับ คู่หู-คู่กรรม “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ถูกโจ๊ะเล่นงานกันหลายคดี
ประชาธิปัตย์มีข้อหา...เลิกเตะถ่วงชักช้า...เดินหน้าโซ้ยให้จมเขี้ยวบ้างได้มั้ยล่ะพี่

+++++++++++++++

สมบัติผลัดกันชม
เดือนมีนานี้, “รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรับ ครม.ใหม่ เตรียมชมโฉม
เต็งหาม..ถูกนำออกจากทำเนียบตึกไทยคู่ฟ้า
“บุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์, “พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก” มท. ๓, “ประชา ประสพดี” มท. ๓ ผลงานไม่เข้าตา
ที่ถูกแซะเป็นรายวัน “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ “เดอะโต้ง” กิตติรัตน์ ณ. ระนอง ที่มีคนอยากให้ผ่องถ่ายออกไป ทั้งเช้า ทั้งเย็น
ติดที่ว่าเป็นสาย “นายกฯปู”..จึงยังใหญ่อยู่..ใครแคะรูปู ก็ไม่มีสิทธิ์ กระเด็น

++++++++++++

นั่งยัน-นอนยันเสร็จสรรพ
กู่ก้องปกป้องปากมาจาก “คุณพี่เสริมศักดิ์ การุณ” อดีตรัฐมนตรีแรงงาน มาขอรับ
ว่า “พ่อใหญ่จิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นนายใหญ่ตัวเอง ไม่รับนินมต์เดินจงกลม เข้ามาเป็น “รองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายความมั่นคง”
แต่พร้อมเดินหน้า เพื่อที่จะดับไฟภาคใต้ ๓ จังหวัด ให้มอดลง
“บิ๊กจิ๋ว” อิ่มในอำนาจวาสนา ฉะนั้น,ขออยู่นอกวง นอกเวที อย่ามาก่นด่า กันให้วุ่น
เสพอำนาจมาจนพอ...ขอหยุดแล้วล่ะหนอ...อย่ามาด่าทอ “บิ๊กจิ๋ว” เลยนะคุณ

++++++++++++

เคาะเวลาดี ได้เหมาะสม
เสาร์ที่ ๑๖ มีนานี้, เวลา ๙โมงเช้า “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาฯ และ ประธานผู้แทนราษฎร จัดประชุมงานใหญ่ ณ. โรงแรมวิเวอร์วิว จังหวัดนครพนม
ดึงฝ่ายนิติบัญญัติ ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ไทย-ลาว-เวียตนาม-กัมพูชา มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เพื่อสัมมนา ด้านคมนาคม แรงงาน และบทบาทสตรีการเมือง ให้โดดเด่น
ไทยเป็นหัวเรือหลัก ..โดย “ท่านประธานสมศักดิ์” ผลักดันเรื่องนี้ อย่างเต็มที่
พูดกันคนละภาษา...แต่ยังร่วมสัมมนา...เพื่อสร้างสรรค์ หาความสามัคคี

+++++++++++++

สถิติมีเอาไว้ทำลาย
เรื่องไม่เข้าท่าเข้าทาง เขาก็มีสิทธิ์ให้แก้กฎหมายได้
เมื่อเห็น “ทีวีสื่อสาธารณะ” ไทยพีบีเอส ใช้เงิน “ภาษีบาป” ไปเลือกข้าง ไม่เดินทางสร้างกลาง อย่างเป้าหมายหลัก ที่วางไว้ดูดี
รัฐบาลโดย “พรรคเพื่อไทย” ก็แก้ระเบียบจัดการ พวกฝักฝ่ายเลือกข้าง เสียสิ
ปล่อยให้ “ไทยพีบีเอส” ถลุงเงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาทกันบานฉ่ำ..แต่ตอกยำให้ชาติหน้าฉีก
ถึงเวลาแล้วที่ต้องน็อก...เป็นอำนาจรัฐบาลที่จะปลดล็อก..ไม่ให้มีการเดินนอกทาง กันอีก

ที่มา.คอลัมน์ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

ธ.ก.ส.จับมือ กรมการพัฒนาชุมชน ยกระดับกลุ่มการเงินในชุมชน เป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน !!?


ธ.ก.ส. ร่วม กรมการพัฒนาชุมชน หนุนองค์กรกองทุนการเงินต่างๆในหมู่บ้านและชุมชน รวมกลุ่มเป็นสถาบันการเงินชุมชน พร้อมเพิ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการ และต่อยอดด้านเงินทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของชุมชนให้เติบโต โดยวางเป้าสร้างสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน 462 แห่ง
       
นายอรรถพร สิงหวิชัย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนกลุ่มองค์กรกองทุนการเงินในระดับหมู่บ้านและชุมชน ร่วมบูรณาการและเชื่อมโยงด้านการบริหารจัดการ เงินทุนของชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่สมาชิก พร้อมต่อยอดทั้งด้านความรู้ เงินทุน เพื่อสร้างสถาบันการจัดการเงินทุนที่เข้มแข็ง สู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. มีนโยบายที่จะให้เกษตรกรและประชาชนในชนบทได้มีโอกาสเข้าถึง และได้รับบริการด้านการเงินที่สะดวกรวดเร็ว เฉกเช่นคนในเมือง ดังนั้นการเข้าไปพัฒนากลุ่มการเงินและกลุ่มอาชีพ ภายในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนกลุ่มอาชีพ องค์กรสตรี กลุ่มกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น ให้ยกระดับเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนที่มีประสิทธิภาพ จึงสอดคล้องกับนโยบายของ ธ.ก.ส. เพราะสถาบันการเงินดังกล่าว มีความใกล้ชิด และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะส่งเสริมให้กลุ่มการเงิน องค์กร ชุมชนต่างๆ ในหมู่บ้าน/ชุมชน มีการบูรณาการและเชื่อมโยงด้านการบริหารจัดการทั้งด้านเงินทุน การส่งเสริมอาชีพ โดยร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และร่วมกันดำเนินการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญให้กับสมาชิก โดย ธ.ก.ส.จะเข้าไปให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน กรรมการ และสมาชิกสถาบัน ในเรื่องการจัดทำระบบบัญชี การตรวจสอบบัญชี การดำเนินการรับ-ถอนเงินฝา การวิเคราะห์สินเชื่อ การจัดทำบัญชีด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเงินทุน รวมถึงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจของสถาบัน

ในส่วนของกรมพัฒนาชุมชน จะเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการจัดทำแผนชุมชน การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การจัดตั้งและพัฒนาวิสาหกิจของชุมชน รวมถึงพัฒนาด้านการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่สมาชิกในชุมชน ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวยึดหลักความต้องการของชุมชนและความพร้อมในการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชนเพื่อสรางการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินโครงการครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับกลุ่มการเงินในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ให้เป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนเบื้องต้น 462 แห่ง

นายลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการ และการจัดทำบัญชีด้วยโปรแกรมระบบบัญชีกองทุนหมู่บ้านให้แก่กองทุนหมู่บ้านในการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน โดยปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ ธ.ก.ส.ดูแลอยู่ จำนวน 39,191 ชุมชน วงเงินสินเชื่อ 22,506 ล้านบาท และภายในปี 2559 ธ.ก.ส. มีเป้าหมายการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านให้เป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จำนวน 3,000 แห่ง ซึ่งในขณะนี้สามารถพัฒนากองทุนหมู่บ้านไปสู่การเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนแล้ว จำนวน 300 แห่ง สนับสนุนสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 900 ล้านบาท

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////