--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

คิดอะไรไม่ออกบอก สคบ.1166


สัมภาษณ์พิเศษ
               
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโรค หรือ สคบ. เรียกร้องให้ผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ ออกมาใช้สิทธิ์ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม 5 ประการตามกฎหมายกำหนด ที่สายด่วน สคบ.1166 หรือรับแบบฟอร์มร้องเรียนที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น พร้อมทั้งตอบรับนโยบายนายกรัฐมนตรี เพิ่มช่องทางร้องเรียนให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมต้อนรับเออีซี ด้วยการเปิดโครงการผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค และพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนา "Thai Young Consumer Leader To Asian" เชิญเยาวชนจาก 9 ประเทศกลุ่มอาเซียน ร่วมสัมมนาในเดือนกรกฎาคม
               
จิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ.เป็นหน่วยกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค ตามสิทธิที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 กำหนดไว้ โดยมีการกำหนดวิศัยทัศน์ที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภค 8 กระทรวง 20 กลุ่ม ซึ่งแต่หน่วยงานก็ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบ แต่ สคบ.คุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิผู้บริโภค 5 ประการ ได้แก่
               
1.สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณา หรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริง และปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอ ที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยไม่เป็นธรรม

2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำ หรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้น

4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ตามข้อ 1, 2, 3 และ 4
               
กฎหมายให้อำนาจ สคบ.ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคจนถึงศาลฎีกา โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น สคบ.จะเป็นหน่วยงานกลางในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผมมีนโยบายชัดเจน ไม่คุ้มครองตามอำเภอใจ หมายความว่า หากผู้ประกอบได้ดำเนินการชดเชยให้ผู้บริโภคตามความเหมาะสมแล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่พอใจ สคบ.จะปิดบัญชี ให้ผู้บริโภคไปดำเนินการฟ้องร้องเอง เพราะถือว่าผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบตามสมควรแล้ว ผมเป็นหน่วยงานภาครัฐ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย แต่ สคบ.ก็ถูกผู้บริโภคฟ้องกลับเหตุเพราะไม่พอใจในคำตัดสิน ผมขอยืนยันว่า สคบ.ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงอยากจะเรียกร้องให้ผู้บริโภคออกมาใช้สิทธิ์ร้องเรียนตามกฎหมายกำหนด คิดไม่ออก บอก สคบ.1166"
               
ด้านนโยบายที่ วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายโดยตรงจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้มาทำหน้าที่ ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นั้น เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า รัฐมนตรีวราเทพ เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่แทน ซึ่งท่านเห็นชอบกับวิศัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของ สคบ.ที่มีอยู่เดิม แต่ขอให้เพิ่มเติมในส่วนของผู้ประกอบการที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการที่ไม่แน่ชัดว่าตั้งใจเอาเปรียบประชาชน หรืออาศัยช่องว่างของกฎหมายเอาเปรียบผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่ไม่มีผู้ร้องเรียน เช่น การคิดอัตราค่าจอดรถตามอาคารต่างๆ ที่เอาเปรียบ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยอมแก้ไข สคบ.สามารถประกาศให้สาธารณชนรับได้ และให้ สคบ.ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
               
ในส่วนของผู้บริโภค รัฐมนตรีวราเทพ อยากให้ สคบ.เพิ่มช่องทางในการร้องเรียนให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางในการร้องเรียนคือ สายด่วน สคบ.1166 หรือขอรับแบบฟอร์มร้องเรียนที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วประเทศ แต่อยากให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สคบ.ตามห้างสรรพสินค้าทุกแห่งที่มีสาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ก็อยากให้มีการขยายเครือข่าย สคบ.จากที่มีอยู่ให้มากขึ้น ไม่อยากให้เป็นไฟไหม้ฟาง อยากให้ทำอย่างต่อเนื่อง"
               
สำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สคบ. เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจการให้บริการท่องเที่ยว เนื่องจากมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ประกอบกับเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเห็นควรมีการป้องปรามและทำความเข้าใจกับ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว อันจะเป็นการป้องกันการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยการจัด โครงการผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค
               
สคบ.จะออกตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มธุรกิจบริการจัดทัวร์ท่องเที่ยว ไกด์ ให้บริการเช่ารถยนต์ อุปกรณ์ดำน้ำ เรือเช่า สถานที่พัก โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าของฝาก ร้านจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณี เครื่องเงิน ทองคำ และจัดสัมมนาเพื่อทำความเข้าใจและให้ความรู้ผู้ประกอบธุรกิจถึงหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายครั้ง อาทิ เชียงราย เมืองพัทยา ชลบุรี นครพนม ตรัง เป็นต้น"
               
นอกจากนี้ สคบ.ยังได้จัดการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์และนักเรียน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ โครงการ Thai Smart Young Consumer หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ อาทิ GS1 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
               
รวมทั้งมีแนวคิดเปิดโครงการใหม่ ชื่อว่า "Thai Young Consumer Leader To Asian" ที่ได้รับแนวความคิดเมื่อครั้งไปดูงานที่ประเทศบรูไน ซึ่งบรูไนต้องการให้มีประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นแกนนำในการสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ที่ส่งเสริมการดูแลผู้บริโภค สคบ.จึงถือโอกาสนี้ เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมสัมมนา "Thai Young Consumer Leader To Asian" โดยตั้งใจว่าจะเชิญเยาวชนจาก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียนมาร่วมสัมมนาในเดือนกรกฎาคม เพราะมั่นใจว่า สคบ.ของไทยมีความพร้อมจากโครงการ Thai Smart Young Consumer ที่มีเครือข่ายในสถานศึกษา และมีหลายประเทศมาขอดูงาน เช่น อินโดนีเซีย โอมาน
               
โครงการ “สคบ.สัญจร” ที่จะเป็นการลงพื้นที่จาก สคบ.ส่วนกลางการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่เดิม สคบ.ทำเพียงให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ต่อจากนี้ จะแทรกเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่เออีซีด้วย และปีนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้สอดคล้องกับกิจกรรมหรือเทศกาลสำคัญๆ ของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดประโยชน์สูงสุด
               
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต สคบ.กำลังเร่งดำเนินการในเรื่องขอการมอบตราสัญลักษณ์การคุ้มครองผู้บริโภคแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะมอบได้ในวันที่ 30 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทยให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจได้ใน 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจทองคำ ทองรูปพรรณ โรงเรียนกวดวิชา และธุรกิจขายตรง เนื่องจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ มีความพร้อม และจากการตรวจสอบ มีการปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมกับการตั้งกองทุนเยียวยา เพื่อชดเชยผู้บริโภคที่มาร้องเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องรอผ่านกระบวนการฟ้องร้องทางศาล
               
เลขาธิการ สคบ.ย้ำว่า การทำงานของ สคบ.ดำเนินไปโดยศึกษาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสังคมในสถานการณ์ต่างๆ และพร้อมปรับตัวเพื่อให้รับมือกับปัญหานั้นๆ ให้ดีที่สุด พร้อมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และยึดมั่นที่จะเป็นองค์กรกลางความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

ที่มา.คมชัดลึก
.........................................

พาณิชย์เปิดเจรจา FTA ไทย-ยุโรป !!?


บุญทรงเตรียมประกาศเปิดเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ลั่นมีผลดีมากกว่าผลเสีย แถมยังช่วยทดแทนการถูกตัดสิทธิ์ GSP เล็งดึงสวีเดนลงทุนในไทยเพิ่ม  
   
นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 4-7 มี.ค.นี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์  รมว.พาณิชย์ ได้ร่วมคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนสหภาพยุโรป (อียู) และสวีเดนอย่างเป็นทางการ โดยระหว่างการเยือนอียู นายบุญทรงจะพบปะหารือกับ Mr.Karel De Gucht กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เพื่อหารือถึงการเตรียมการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู
   
ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-อียู จะส่งผลดีกับประเทศไทยมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะเพื่อทดแทนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ไทยจะถูกตัดสิทธิ์สิ้นปี 2557 ส่วนข้อกังวลของหลายๆ ฝ่าย กระทรวงพาณิชย์ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาแล้ว
   
นอกจากนี้ ไทยจะผลักดันให้อียูรับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุงเพิ่มเติมอีก หลังจากที่อียูได้รับจดทะเบียน GI ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังย้ำให้อียูใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงอากร (AC) อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย
   
สำหรับสวีเดนนั้น นายบุญทรงจะพบปะหารือสองฝ่ายกับ Ms.Ewa Bj?rling รัฐมนตรีการค้าของสวีเดน เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยจะใช้ช่องทางจากการที่ไทยและสวีเดนมีแผนปฏิบัติการร่วมไทย-สวีเดน ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเน้นเรื่องการเกษตร พลังงานและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งการดึงดูดให้สวีเดนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และใช้ไทยเป็นฐานการเข้าสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC).

ที่มา.ไทยไพสต์
+++++++++++++++++++++++++

นักวิชาการลั่นไม่เห็นด้วย พงศพัศ กลับเป็น ตร.


สุขุม. ลั่นไม่เห็นด้วย"พงศพัศ"กลับไปเป็นตำรวจ เพราะการลงสมัครผู้ว่าฯสังกัดพรรค เท่ากับประกาศตัวว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นกรณี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าสังกัดพรรคเพื่อไทย อาจจะกลับไปรับราชการตำรวจ ว่า "ผมไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการกลับไปเป็นทำงานสายบัญชาการ เพราะการมาลงสมัครผู้ว่าฯสังกัดพรรค เท่ากับประกาศตัวแล้วว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง หากกลับไปเป็นตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งการทำหน้าที่พิทักษ์ความยุติธรรม จะเป็นที่หวาดระแวง"

ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกพงศพัศผู้สมัครผู้ว่ากทม.สามารถยื่นเรื่องขอกลับเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ภายใน 30 วัน หลังกกต. กทม. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยจะต้องทำหนังสือยื่นต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อพิจารณาก่อนที่จะส่งเรื่องมาให้ก.ตร.พิจารณา

"แม้คุณพงศพัศ จะมีสิทธิขอกลับไปได้ แต่ผู้บังคับบัญชาก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ทางที่ดีท่านควรจะอยู่ในเส้นทางการเมืองไปเลย เพราะถือว่าตัดสินใจแล้วว่าเลือกเดินอีกหนทาง หากกลับไปอีกก็เท่ากับ "กั๊ก" กันท่าคนอื่น เพราะคนอื่นก็หวังความก้าวหน้าเหมือนกัน" นายสุขุม กล่าว

นายสุขุม บอกด้วยว่าหาก พล.ต.อ.พงศพัศ จะกลับไปเป็นข้าราชการ ก็ควรจะโอนย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

ด้านนายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเส้นทางอนาคตของพล.ต.อ.พงศพัศ หลังจากที่ได้รับความพม่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ว่า การตัดสินใจทั้งหมดคงจะต้องขึ้นอยู่กับตัวของพล.ต.อ.พงศพัศ เองว่าจะตัดสินใจที่จะเลือกอนาคตและเส้นทางชีวิตอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจน เพราะหากจะเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตราชการตำรวจเหมือนเดิมนั้น ตนเห็นว่าพล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องมีความชัดเจน และจะสลัดสีเสื้อของนักการเมืองออกไปให้ได้

"ผมคิดว่าเรื่องนี้พล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องมีความชัดเจนไม่ควรจับปลาสองมือ คือ อยากกลับข้าราชการประจำ แต่ไม่ยอมสลัดภาพนักการเมืองออกไปให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานข้าราชการประจำได้ เพราะมันจะมีภาพเช่นเดียวกับพล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าอิงการเมือง ซึ่งหากพล.ต.อ.พงศพัศ จะเลือกแบบนี้จริง ผมเชื่อว่าจะส่งกระทบต่อการทำงานในอาชีพข้าราชการตำรวจได้ โดยเฉพาะการดูแลประเด็น เรื่องมวลชนที่อาจจะยังมีความขัดแย้งทางการเมืองดังเช่นในปัจจุบัน " นายไชยันต์ กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

ชัยชนะ ปชป.ที่เพื่อไทยหายใจรดต้นคอ บทเรียนที่่ต้องสังคายนา !!?


โดย : นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์

ถึงแม้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ออกมา ประชาธิปัตย์(ปชป.)จะยังคงรักษาแชมป์สมัยที่ 4 เอาไว้ได้...

แต่คะแนนโหวตให้ ปชป.ไปต่อ...ที่ออกมานั้น ย่อมมีความหมายและนัยทางการเมืองมากกว่าแค่ "ชัยชนะในการเลือกตั้ง"

ผลคะแนนระหว่างคู่ชิงอย่างไม่เป็นทางการ ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ได้ 1,256,231 คะแนน เอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเพื่อไทย ที่ได้ 1,077,899 คะแนน โดยตัวเลขฝ่ายชนะกับฝ่ายแพ้ขยับเข้ามาใกล้กันยิ่งขึ้น ทิ้งห่างกัน 178,332 คะแนน ขณะที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ 2,715,640 คน หรือคิดเป็น 63.98%

หากเทียบกับการครองแชมป์ 3 สมัย ที่ผ่านมา ปชป.ที่เป็นตัวยืน เคยรักษาระยะห่างกว่า 3 แสนคะแนนจากคู่แข่งที่มีพรรคเพื่อไทยสนับสนุนทั้งเบื้องหลังเบื้องหน้ามาตลอด แต่รอบนี้ถึงแม้ผู้สมัครทั้ง 2 พรรคจะทำลายสถิติได้คะแนนทะลุหลักล้านทั้งคู่ แต่ในมุมของแชมป์เก่าอย่างปชป.กลับเห็นสัญญาณ อาการทรงๆ และทรุดลงของความนิยม ที่อาจสะท้อนได้ถึงความความ"เบื่อหน่าย" ทั้งตัวผู้สมัครและทั้งพรรคปชป.ของแฟนคลับที่สนับสนุนพรรคนี้มายาวนาน

คะแนนชนะครั้งนี้ เทียบกับครั้งที่แล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เคยชนะมา 934,602 คะแนน โดยรอบนี้ขยับขึ้นมา 321,629 คะแนน ขณะที่ครั้งที่แล้วเพื่อไทยส่ง "ยุรนันทน์ ภมรมนตรี" ได้มา 611,669 คะแนน รอบนี้ส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ ได้คะแนน(ความนิยม)บวกเพิ่มขึ้นมา 466,230 คะแนน หากดูเฉพาะคะแนนที่เพิ่มขึ้นมา พล.ต.อ.พงศพัศจากเพื่อไทย ได้มากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากปชป.ถึง 144,601 คะแนน

เมื่อแยกดูรายเขตแล้ว ครั้งนี้ ปชป.ชนะเพื่อไทย 39 เขต (หรือแพ้ 11 เขต) ต่างจากรอบที่แล้ว ซึ่งเป็นสมัยแรกของ"สุุขุมพันธุ์" ชนะเพื่อไทย 46 เขต (หรือแพ้แค่ 4 เขต) และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งอภิรักษ์ โกษะโยธิน ปชป.ปรากฎว่า ปชป.เคยได้ชัยชนะทั้ง 50 เขต

สำหรับปรากฎการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คนที่ 16 ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจาก "การปั่นกระแสการเมืองระดับชาติ" ที่ 2 พรรคใหญ่ พยายามดึงเรื่องการเมืองใหญ่มารวมกับการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ยึดโยงกับนโยบายรัฐบาล สถานการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ปัญหาน้ำท่วมทั้วประเทศ จนทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ได้มองแค่ว่าตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.เป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นที่แยกขาดกับการเมืองระดับชาติ และอาจทำให้รู้สึกหวาดกลัวในประเด็นต่างๆ ที่ถูกนักการเมืองพยายามชี้นำ

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของ ปชป.ครั้งนี้ ถึงแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ผลคะแนนที่ออกมา ก็จะกลายเป็นประเด็นที่น่าวิเคราะห์อย่างยิ่ง

ฐานเสียง ปชป.เดิมคะแนนยังแน่น เพราะก่อนที่สุขุมพันธุ์จะลงเลือกตั้งสมัยแรก ฐานเสียงของ ปชป.ชัดเจนอยู่แล้วประมาณ 9 แสนเศษ การ "บวก"หรือ"ลบ"คะแนนพรรคออกไป ไม่ว่าจะด้วยตัวผู้สมัครอย่างสุขุมพันธุ์ หรือตัวพรรคเอง ก็ตาม คือการสะท้อนความรู้สึกของแฟนคลับ ปชป.ในกทม.อย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้ คนกทม.มองประเด็นการเมืองเป็นหลัก ไม่อยากไม่อยากให้เพื่อไทยคุมเบ็ดเสร็จทั้งประเทศ
ซึ่งประเด็นนี้ ส.ส.กทม.ของปชป.บางส่วน ก็สะท้อนว่า การลงพื้นที่ในช่วงแรกของ มีเสียงจากชาวบ้านว่า "ผิดหวัง"ที่ ปชป.ส่งสุขุมพันธุ์" จนกระทั่งบอกว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง แต่พอระยะหลังๆ ที่โพลล์สำนักต่างๆ เริ่มชี้ว่า"พงศพัศ"มีคะแนนนำมาตลอด ทำให้แฟนคลับปชป.เกิดกระแส"กลัว"ว่าเพื่อไทยจะชนะ ทำให้เริ่มเปลี่ยนท่าที่จะออกไปเลือก"สุขุมพันธุ์"เพื่อไม่ให้เพื่อไทยชนะ

อีกประเด็นหนึ่ง ที่อาจจะมีผลต่ออารมณ์คนกทม. คือการจดจำประเด็นเก่าๆ ได้ เพราะสมัยแรกที่ "สุขุมพันธุ์ลงสมัคร ยังไม่มีเรื่อง"เผาเมือง"ในเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย ที่ปชป.ถล่มเพื่อไทยด้วยสปอต เรื่อง"เผาเมือง" เรื่อง"ปัญหาน้ำท่วมใหญ่" เพื่อเตือนความจำคนกรุง

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ "ปั๊มคะแนน"อาจมีส่วนช่วย เนื่องจากในช่วงโค้งสุดท้าย แกนนำพรรค ส.ส.พรรคระดมสรรพกำลังเต็มที่

ทั้งกรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯพรรค สั่ง ส.ส.กทม.ทุกคน ให้ลงพื้นที่หาคะแนนเพิ่ม โดยยึดหลักจากฐานเสียงเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2554 แล้วเดินทุกบ้านเคาะประตูขอคะแนนช่วยพรรค ช่วยสุขุมพันธุ์ จากกลุ่มที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ออกจดหมายเปิดผนึกและเผยแพร่คลิปผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อขอคะแนนช่วย หรือแม้แต่ ชวน หลีกภัย ที่ทั้งเดินขอเสียง ทั้งขึ้นเวทีปราศรัย

ขณะที่ประเด็นการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถม ที่แทบไม่ต่างกัน หรือยุทธศาสตร์ขอทำงานต่อ หรือนโยบายไร้รอยต่อ ของทั้งสองฝ่ายก็อาจมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการตัดสินใจของกลุ่มผู้สนับสนุน หรือคะแนนจัดตั้ง

ขณะที่มุมมองจากภายในพรรค ปชป.เอง ประเมินว่า ปัจจัยที่ ปชป.รักษาแชมป์ไว้ได้ และเป็นกรณีศึกษาของพรรค
คือเรื่อง "โพลล์" สร้างกระแส ที่ ปชป.ระบุว่า เสียงสะท้อนจากเขตหลักๆของ ปชป.บอกกับส.ส.กทม.ในช่วงโค้งสุดท้ายที่โพลล์ของ"พงศพัศ"นำ"สุขุมพันธุ์" ทำนองว่า "ถ้าไม่ไปลงให้ ไม่ได้แล้ว เพราะโพลล์แพ้ ต้องไปช่วยกันลง" ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นในช่วง 3-4 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส.บางคนมั่นใจว่า กระแสต่างจากช่วงแรกๆมาก

ทั้งนี้ ปชป.มองว่า โพลล์ที่เพื่อไทยนำมาตลอด มีผลย้อนกลับ เป็นเรื่องดีสำหรับ ปชป. ที่ถึงแม้ฐานคะแนนปชป.จะดีกว่าเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่ส่วนที่ดีกว่าก็ "ไม่พอใจ" เลยอยากอยู่เฉยๆ แต่คนพวกนี้ คือ"แฟนคลับพันธุ์แท้" ถึงไม่ไปเลือก"สุขุมพันธุ์" แต่ก็ไม่ลงคะแนนให้คนของเพื่อไทย แต่พอโพลล์ที่ออกมาเพื่อไทยนำตลอด จึงกลับลำออกมาช่วย ที่น่าสนใจคือครั้งนี้ มี "กลุ่มเสื้อเหลือง" เข้ามาช่วยอีกทางเพราะรับ"กลุ่มเสื้อแดง"ไม่ได้

อีกกรณีศึกษา ที่ปชป.มองว่าเป็นกระแสตีกลับ คือการใช้อำนาจรัฐจับผิดฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการระดมตำรวจเข้ามาช่วย กลายเป็นผลลบกับเพื่อไทยมากกว่าบวก "วันนี้ ตำรวจในกทม.ได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปคนที่ช่วยปชป. กลางคืนมีการไปเคาะประตูบ้าน มาบอกให้ช่วยประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง และขอถ่ายรูปไว้ด้วย เพื่อรายงานนาย รวมทั้งจับตาทีมหาเสียงของปชป.แล้วให้สายสืบไปถ่ายรูป ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีกระแสต่อต้าน เรามองว่าตรงนี้เพื่อไทยเล่นผิด ซึ่งในต่างจังหวัดคนอาจจะกลัว แต่สำหรับ คนกทม.กลัวไม่ลง" ส.ส.กทม.ผู้หนึ่งระบุ

อย่างไรก็ตาม การเมืองใน กทม.ซึ่งเป็นเมืองหลวง ก็ไม่ต่างกับทั่วโลก ที่กระแสในตัวเมืองหลวง ฝ่ายค้านจะดีกว่ารัฐบาลอยู่แล้ว แต่บังเอิญที่ช่วงแรกที่"สุขุมพันธุ์"เป็นแชมป์ ก็มีจุดอ่อนให้ถูกโจมตีไม่น้อย แต่พอเริ่มหาเสียงจริง แม้คะแนนพื้นๆ ของฝ่ายค้านจะดีกว่า แต่การเมืองท้องถิ่นในกทม.ซึ่งเป็นภาพรัฐบาลท้องถิ่นที่ซ้อนเข้ามา ก็เสียเปรียบในช่วงแรกๆ ถูกกระหน่้ำอย่างเดียว ไปๆ มาคนเริ่มมองว่า ถ้าไม่ลงให้ เพราะเหตุผลว่าไม่พอใจการทำงาน การบริหารงาน ก็จะทำให้ทางเพื่อไทยชนะ

ขณะที่ ด้านนโยบาย ที่พรรคเพื่อไทยคู่แข่ง หาเสียง"เลยธง"ไปมาก จนคนรู้สึกว่า นโยบายประชานิยมที่ประกาศออกมา จะทำได้ทุกอย่างหรือไม่ แล้วจะหาเงินที่ไหนมาทำ ตรงนี้เชื่อว่าคนกทม.เริ่มคิดและเปรียบเทียบกับนโยบายหาเสียงการเมืองระดับชาติที่ผ่านมา และวันนี้ ก็ต้องยอมรับว่า กระแสข่าวทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลใหญ่เองก็มีมาก ถ้าเอานโยบาย"ไร้รอยต่อ"ของกทม.ไปร่วมกับรัฐบาล ก็อาจถูกตั้งแง่ว่าปัญหาการทุจริตจะมีมากขึ้นหรือไม่

วันนี้ ปชป.ที่ยังสามารถรักษาแชมป์สมัยที่ 4 เอาไว้ได้ แม้คะแนนที่ "ทะลุหลักล้าน"จะทำลายสถิติที่ สมัคร สุนทรเวช เคยทำได้ 1,016,096 คะแนน แต่หากดูคะแนนชนะที่ทิ้งห่างจากเพื่อไทย 178,332 คะแนน และสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นก็ใกล้เคียงกับพท.แล้ว ก็คงทำให้ปชป.ต้องกลับไปทบทวนตัวเอง เพราะนี่คือสัญญาณเตือน ปชป.อีกครั้ง นับตั้งแต่การเป็นรัฐบาล กระทั่งการแพ้เลือกตั้งใหญ่ ว่าความจริงแล้ว สถานการณ์ของปชป.กำลังถดถอยลงเรื่อยๆหรือไม่

อย่าชะล่าใจกับชัยชนะที่ได้มาจาก "กระแสกลัวเสียกรุง" เพราะถ้าเทียบคะแนนกันแล้ว ฐานคะแนนปชป.อาจถูกลบด้วยกระแสเบื่อตัวผู้สมัครอย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขณะที่ฐานคะแนนเพื่อไทยในกทม.กลับบวกเพิ่มจากคะแนนนิยมส่วนตัวของ"พงศพัศ" จนทำให้เพื่อไทยขยับขึ้นแบบ"หายใจรดต้นคอ"... ถึงเวลาหรือยังที่ปชป.จะต้องสังคายนาตัวเอง?

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------

กูรูแนะวิธีลดแรงกดดันกระแสทุนไหลเข้า ออกบอนด์ดึงเงินนอกอยู่ยาว !!?


ณรงค์ชัย”และคลังประสานเสียงแนะรัฐบาลควรฉวยโอกาสดึงเม็ดเงินต่างชาติด้วยการออกบอนด์ระยะยาว ระดมทุนขับเคลื่อนโครงการรัฐ  ด้าน”จรัมพร”เตือนหุ้นบางตัวแพงเกินจริง ต้องเช็คข้อมูลกันเจ๊ง เจพีมอร์แกนแนะแก้กฎหมายเอื้อต่างชาติปักหลักลงทุนไทย

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวในงานสัมมนาMFC Finance Forum ครั้งที่ 12หัวข้อ "การลงทุนในสภาวะเงินท่วมโลก" ว่า เงินทุนต่างชาติที่ทยอยไหลเข้ามายังไม่มากเกินไปตามที่หลายฝ่ายกังวล อีกทั้งต่างชาติยังมองว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทำได้ดีในสายตาของต่างชาติ จึงเกิดความเชื่อมั่นนำเงินเข้ามาลงทุน

โดยเงินทุนของธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นอัดฉีดออกสู่ระบบเพื่อซื้อสินทรัพย์จากภาคเอกชนจำนวน 7.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ส่วนใหญ่ได้กลับเข้าไปฝากกับธนาคารกลางทั้งสามประเทศทั้งสิ้น มีบางส่วนที่ไหลออกไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับการไหลเข้ามายังไทยจึงมองว่าไม่สูงเกินไปจนน่าห่วงโดยเฉพาะการไหลเข้ามาเพื่อลงทุนในระยะยาว ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีควรต้อนรับแต่ควรจับตาดูการไหลเข้ามาเพื่อลงทุนเก็งกำไรในระยะสั้น สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้ามาขณะนี้ไม่น่ากระทบต่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เพราะธปท.ได้ส่งสัญญาณไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ระวังการปล่อยกู้ และการเก็งกำไรในตลาดหุ้น

แต่ควรใช้โอกาสนี้ดึงเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในขณะนี้มาลงทุนผ่าน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรอายุ 10-15 ปี ให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ยังไม่ถือว่าต่ำและจะได้รับความสนใจจากเงินทุนต่างชาติ เพราะการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลอายุน้อยกว่า 15 ปี ถือว่ายังมีระดับไม่สูงนัก แม้รัฐบาลต้องการให้กู้เงินภายในประเทศเป็นหลัก แต่การกู้เงินต่างประเทศบางส่วนจะช่วยบริหารเงินทุนไหลเข้าได้ดีขึ้น

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่ารัฐบาลมีแผนลงทุนในระยะยาวจึงควรใช้โอกาสนี้นำเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในโครงการลงทุนระยะยาว เพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว เงินทุนเหล่านี้จะไหลกลับไปหาผลตอบแทนยังประเทศของตัวเอง ขณะที่อีกด้านได้พยายามส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจ นำเข้าสินค้าทุนในช่วงเงินบาทแข็งค่า หรือบริษัทเอกชน นักลงทุนรายย่อยได้ทยอยนำเงินทุนออกไปชำระหนี้ออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ยอมรับว่าภาษีเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อนำผลตอบแทนกลับเข้ามาในประเทศทำให้ภาคเอกชนเสียภาษีซ้ำซ้อนคาดว่าจะออกมาตรการได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อเสนอต่อรมว.คลังพิจารณา ทั้งนี้เตรียมนำข้อเสนอของภาคเอกชนมาศึกษา ลดภาระภาษีซ้ำซ้อน เมื่อนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เมื่อนำผลตอบแทนกลับเข้ามา ทั้งในรูปรายได้ กำไร ผลตอบแทนกำไรจากลงทุนในหุ้น  เพื่อศึกษารูปแบบจากสิงคโปร์ มาเลเซีย รองรับการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน เพราะประเทศเหล่านี้ไม่เก็บภาษีจากนักลงทุนเพื่อนำผลตอบกลับเข้าประเทศ

แต่อีกด้านต้องดูว่ารัฐบาลได้ทยอยลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ลดเหลือ 20% ต้องดูว่าจำเป็นอีกหรือไม่ในการลดภาษีดังกล่าวลงอีก เพราะต้องระวังว่าการยกเว้นเก็บภาษีดังกล่าวอาจเป็นช่องทางใหม่ไม่ให้ประเทศกลายเป็นแหล่งหลีกเลี่ยงภาษีของต่างชาติ และมองว่าหาก ธปท.ยังแทรกแซงค่าเงินบาทต่อเนื่อง อาจประสบปัญหาขาดทุนไม่มีจุดจบ เพราะกระทรวงการคลังยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีช่องว่างให้ลดได้อีก เพื่อลดแรงเงินทุนไหลเข้า อีกทั้งมองว่าสุดท้ายคงต้องออกมาตรการมาควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังมีความเข้มแข็ง คงไม่น่ากังวลมากนัก หากสหรัฐ ยุโรป หยุดการออกมาตรการอัดฉีดเงินออกสู่ระบบและเกิดปัญหาเงินทุนไหลกลับเหมือนกับในช่วงไทยมีปัญหาการเมือง จนทำให้เงินทุนไหลออกถึง 68,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าหุ้นบางตัวราคาปรับสูงขึ้นเกินจริง นักลงทุนจึงควรระวัง เนื่องจากค่า P/E (ราคาต่อผลตอบแทน)ของตลาดหลักทรัพย์ฯประมาณ 15-16 เท่า ขณะที่ค่า P/E ของหุ้นบางตัวปรับสูงมาก จากเดิมค่า P/E เกิน 40 เท่า มีอยู่ 24 ตัว มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ได้ปรับสูงขึ้นมาถึง 71 ตัว มูลค่าสูงถึง 580,000 ล้านบาท

ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องกลับไปดูพื้นฐานหุ้นเหล่านี้ให้ชัดเจน  เพราะค่า P/E สูงๆนั้นเป็นการมองแผนอนาคตว่าในช่วง10 ปีข้างหน้าบริษัทที่เข้าไปลงทุนต้องปรับปรุงครั้งใหญ่มีการเติบโตมากกว่า 30 %โดยต้องปรับภาพลักษณ์ ผลิตภัณฑ์แทนพลิกกลยุทธ์ หุ้นดังกล่าวมีแผนเช่นนี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบตามมา

มล. ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เจพี มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันโลกการลงทุนมีความซับซ้อนขึ้นการที่ สหรัฐอเมริกาเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเพราะให้กู้เงินมากเกินไปขณะที่ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากต่างชาติค่อนข้างมากโดยประเทศไทยเคยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแต่ช่วงหลังตกไปเป็นของจีนแต่คาดว่าเร็วๆนี้ประชาคมอาเซียนกำลังจะเป็นฐานการผลิตที่ได้รับความสนใจเพราะมีราคาถูกขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควรแต่ต้องไม่แจกจนเจ๊งเหมือนประเทศอื่น

“เงินที่ไหลเข้าจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไทยเป็นที่ที่เขาอยากมาลงทุน ภาคการเงินเราสามารถสู้ได้ แต่กฎหมายเรายังมีปัญหาไม่เอื้ออำนวยเพียงพอ ควรปรับกฏหมายเพื่อรองรับต่างชาติให้ได้ดีที่สุด ปรับภาพให้เป็นฮับของอาเซียน ทำอุตสาหกรรมทำธุรกิจให้มีความหลากหลายที่สุด คิดให้ง่ายและมองให้กว้าง

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
**************************

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

สงครามเย็นตกยุค !!?


โดย.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลได้เชิญ คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ มาเป็นวิทยากรสนทนาเรื่อง “นักโทษการเมือง : ภาพสะท้อนสงครามเย็นตกยุค” มีประเด็นที่สำคัญกว่า กลุ่มชนชั้นนำของไทยนั้น เป็นกลุ่มที่เคยผ่านบทเรียนและประสบการณ์สมัยสงครามเย็น แม้ว่าในขณะนี้ สงครามเย็นในโลกจะยุติไปนานแล้ว แต่ทัศนะแบบสงครามเย็น ทำให้ชนชั้นนำไทยเห็นประชาชนเป็นศัตรู และใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ และการปราบปรามแบบยุคสงครามเย็น จึงทำให้เกิดการกวาดล้างเข่นฆ่าประชาชน และจับกุมคุมขังคนที่คิดต่าง ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศอันล้าหลังทางการเมือง โดยประจักษ์พยานสำคัญก็คือ การคุมขังนักโทษการเมือง ซึ่งก็คือนักโทษทางความคิดนั่นเอง

ประเด็นที่คุณภควดีเสนอมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าพิจารณาว่า ยุคแห่งสงครามเย็นในโลก เป็นยุคเริ่มต้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยสถานการณ์โลกในขณะนั้น คือ การเผชิญหน้าระหว่างสองอภิมหาอำนาจที่มีอุดมการณ์ต่างกัน นั้นคือ สหรัฐอเมริกา ผู้นำฝ่ายโลกทุนนิยม  และ สหภาพโซเวียต ผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ อภิมหาอำนาจทั้งสองมีความขัดแย้ง และแข่งอำนาจกันในดินแดนทั่วโลก แต่ไม่สามารถที่จะก่อสงครามกันโดยตรงได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์มหาศาล เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการต่อสู้สมัยสงครามเย็นก็คือ การใช้สงครามจิตวิทยา หรือการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลด้านเดียวโฆษณาให้เห็นความเลวร้ายของฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับฝ่ายของตน

ในยุคสงครามเย็นนั้น ชนชั้นนำไทยก็ได้นำประเทศเข้าร่วมอยู่ในฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายร่วมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์โซเวียต และต่อมา ก็คือ ต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่และเวียดนามเหนือ ในการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้มีการใช้สงครามจิตวิทยา วาดภาพให้ราวกับคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจร้าย ใช้ข้อกล่าวหาอันปราศจากเหตุผลมาโจมตี เช่น คอมมิวนิสต์เอาผู้หญิงเป็นของกลาง เอาคนชราไปทำปุ๋ย ฯลฯ และที่สำคัญคือ คอมมิวนิสต์เป็นพวกขายชาติ ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาพคอมมิวนิสต์จะมี 2 ลักษณะ คือ เป็นระบบการเมืองสังคมตามที่เป็นจริง นั่นคือ เป็นระบบที่ปฏิเสธทุนนิยม สร้างสวัสดิการโดยรัฐ ใช้เศรษฐกิจวางแผน ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้าย แต่ที่เลวร้ายกว่าคือ ผีคอมมิวนิสต์ที่ถูกวาดขึ้นมาตามจินตภาพของชนชั้นนำไทยที่เป็นอนุรักษ์นิยม และหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง และความกลัวผีคอมมิวนิสต์นี้เอง ที่นำมาสู่การเข่นฆ่าประชาชนในชนบทจำนวนมาก ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเช่นเดียวกัน คือ การนำมาสู่การกวาดล้างเข่นฆ่านักศึกษาในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

ต่อมา สงครามเย็นในโลกผ่อนคลายและยุติลง เนื่องจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก พ.ศ.2532 แล้วนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ.2534 ส่วนจีนก็เปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศไปสู่วิธีการแบบทุนนิยม การเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศในเวทีการเมืองโลกลดลง ในขณะที่ระบบการเมืองของประเทศอื่นในโลกก้าวไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น จนกระทั่งแทบจะไม่เหลือประเทศที่เป็นเผด็จการทหารเลย  แม้กระทั่งในลาตินอเมริกา และอัฟริกา ก็กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น ประเทศไทยก็ดูเหมือนจะก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยเช่นกัน จนกระทั่ง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ก็เกิดการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ย้อนยุคอย่างไม่น่าเชื่อ

การสนับสนุนให้กองทัพยึดอำนาจเพื่อโค่นรัฐบาลที่ชนชั้นนำไม่ถูกใจ โดยไม่ต้องสนใจเสียงของประชาชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในยุคสงครามเย็น ที่สหรัฐฯเข้ามาสนับสนุนเผด็จการในประเทศเอเชีย เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพียงแต่ว่าในวันนี้ สหรัฐฯไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหารแล้ว แต่เป็นชนชั้นนำไทยเองที่เลือกใช้วิธีการนี้ ทั้งนี้เพราะกรอบความคิดของชนชั้นนำไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ไม่เห็นว่าประชาชนเป็นที่มาแห่งอำนาจที่ชอบธรรม แต่มีความคิดย้อนยุคแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เท่านั้นเป็นที่มาแห่งความชอบธรรมทางการเมือง ดังนั้น การล้มล้างประชาธิปไตยจึงไม่เรื่องเสียหาย ตราบเท่าที่สถาบันกษัตริย์ยังมั่นคง

และเพื่อสร้างความชอบธรรมในลักษณะนี้อย่างเป็นกระบวนการ ก็คือ การสร้าง”ผีทักษิณ”ในลักษณะเดียวกับผีคอมมิวนิสต์ในอดีต เช่นกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นที่มาแห่งความชั่วทุกอย่างในสังคมไทย และที่ร้ายแรงคือ การสร้างภาพให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นศัตรูกับสถาบันกษัตริย์และมีความต้องการที่จะล้มเจ้า ซึ่งเป็นวิธีการแบบสงครามจิตวิทยาที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในสงครามเย็น และเพื่อจะหล่อเลี้ยงข้อหาลักษณะนี้ จึงต้องมีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ในการจับกุมบุคคลที่คิดต่างมากขึ้น

แต่ปัญหาของชนชั้นนำไทยในสมัยหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็คือ ไม่สามารถควบคุมและโน้มน้าวการสนับสนุนของประชาชนได้ ในที่สุด ก็นำมาสู่การพัฒนาของมวลชนคนเสื้อแดง ที่กลายเป็นพลังสำคัญมากขึ้นทุกที ข้อเสนอหลักที่ฝ่ายขบวนการเสื้อแดงต้องการผลักดันก็คือ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ถือเสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์อย่างแท้จริง กรณีที่กลายเป็นกระแสใหญ่ที่สุด ก็คือ การเคลื่อนไหวของขบวนการคนเสื้อแดงที่นำโดย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) เมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นประชาธิปไตยธรรมดาที่ไม่มีความแหลมคมด้วยซ้ำ

ปรากฏว่าชนชั้นนำไทยได้ตอบโต้อย่างเต็มรูปแบบลักษณะเดียวกับสมัยสงครามเย็น เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉินขั้นร้ายแรงและระดมทหารติดอาวุธพร้อมมารับมือกับประชาชน จากนั้น ก็มีการอุปโลกน์ผังล้มเจ้าขึ้นมา แล้วสร้างกระแสใส่ร้ายป้ายสีขบวนการเสื้อแดงโยงเข้ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาว่าจะล้มเจ้า แล้วก็ใช้กำลังทหารเข้าเข่นฆ่าปราบปราม วิธีการทั้งหมดนี้ มาจากทัศนะที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู แทนที่จะเห็นว่าเป็นเพียงพวกมาเรียกร้องความเป็นธรรม จึงเลือกใช้วิธีการทางการทหารมาปกป้องอำนาจรัฐจากประชาชน แล้วก็ใช้วิธีการใส่ร้ายป้ายสีโจมตีฝ่ายคนเสื้อแดงว่ามีอาวุธร้ายแรง ซึ่งไม่ต่างกับการใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาเมื่อครั้งกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ว่า สะสมอาวุธจำนวนมากไว้ในธรรมศาสตร์นั่นเอง

หลังจากที่ใช้การเข่นฆ่าสังหารจนมีประชาชนเสียชีวิตนับร้อยคน และบาดเจ็บนับพันคนแล้ว ก็กวาดล้างโดยการจับประชาชนฝ่ายต่อต้านดำเนินคดีและขังคุก จนก่อให้เกิดนักโทษการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะในคดี 112 ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีนักโทษทางความคิด จนกลายเป็นที่กังขาในโลกนานาชาติ ต่อมา กระบวนการใส่ร้ายอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการโจมตีว่าล้มเจ้าแล้ว ยังสร้างกระแสโจมตีเรื่องการเผาบ้านเผาเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมในหมู่ชนชั้นกลาง และเป็นวิธีการที่ใช้ในยุคสงครามเย็นเช่นกัน

ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่ยังคงรุนแรง และหาทางสมานฉันท์ได้ยากในขณะนี้ จึงมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นนำไทยที่มีทัศนคติอันตกยุคสมัย คือยังยึดอยู่กับความคิดในบริบทแบบสงครามเย็น เห็นประชาชนเป็นศัตรู และใช้วิธีการที่สู้กับคอมมิวนิสต์มาต่อสู้กับประชาชน การแก้ไขสถานการณ์คงจะทำได้ยาก นอกจากจะต้องรณรงค์ให้เห็นว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องเหลวไหล ตกยุค และไม่เหมาะกับการเมืองแบบประชาธิปไตย และประชาชนก็จะต้องก้าวให้พ้นชนชั้นนำอันล้าหลังเหล่านี้

ที่มา.ประชาไท
//////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

ฟองสบู่ อ่อนๆ


แม้ เวลาจะผ่านมานาน ทว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ยังหลอนคนไทยไม่เลิก หลาย ๆ คนยังติดตากับค่าเงินบาทที่อ่อนไปห้าสิบกว่าบาท ส่งผลถึงธุรกิจหนี้สินพอกพูนถึงขั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปไหว ตามมาคือสถาบันการเงิน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ล้มระเนระนาด ซึ่งยังปรากฏร่องรอยตึกร้างสร้างไม่เสร็จให้เห็น

นาทีนี้ "ฟองสบู่" อสังหาริมทรัพย์ถูกจับตากันอีกรอบ และกลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง ฝ่ายหนึ่งบอกให้ระวัง อีกฝ่ายบอกไม่เห็นมีอะไรให้น่าวิตกกังวล

แน่นอนว่าฝ่ายแรกคือหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีหมวกเป็นผู้ตรวจสอบ ฝ่ายหลังคือผู้ประกอบการ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่

ฝ่าย แรกตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้านเราโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เวลานี้ร้อนแรงและมีเพดานราคาสูงเกินจริงไปเยอะ ชนิดหาเหตุผลมารองรับไม่ได้

ทั้งยังยกตัวอย่างให้เห็นว่า หัวเมืองภาคอีสานบางแห่งมีคอนโดมิเนียมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และมีราคาจำหน่ายน้อง ๆ กรุงเทพฯ แต่เมื่อมองถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่ พบว่าไม่ค่อยสัมพันธ์กัน จนหวั่นว่าจะเกิดภาวะล้นตลาดเกิดขึ้น หรือเมืองท่องเที่ยวชายทะเลบางแห่งปรากฏภาวะดังกล่าวเช่นกัน

ไม่นับ รวมถึงส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้า ราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาอาคารชุดคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นเกินกว่าแสนบาทต่อตารางเมตร จนนึกไม่ออกว่าประเทศไทยเรามีคนร่ำรวยมากมายเพียงนั้นแล้วจริง ๆ หรือ

ขณะ ที่ฟากผู้ประกอบการยืนยันว่ายังไม่มีสัญญาณบอกเหตุใดว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้น ยังไม่มีการเก็งกำไร ซื้อขายใบจองเป็นทอด ๆ พอมีปัญหาก็ทิ้งดาวน์กัน เหมือนเมื่อปี 2540

หากให้แจกแจงคนที่ซื้อคอนโดมิเนียมในขณะนี้เป็น กลุ่ม ๆ จะพบว่าผู้ที่ซื้อเพื่ออาศัยจริง ๆ นั้นมีประมาณ 2 ใน 3 ส่วนผู้ซื้อเพื่อลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งให้เช่า หรือเพื่อเก็งกำไรมีสัดส่วนอยู่ 1 ใน 3

ที่สำคัญคนที่โดดเข้ามาลง ทุนในอาคารชุดเป็นกลุ่มที่มีสตางค์จริง ๆ ขายดาวน์ไม่ได้ก็ยังมีกำลังขอสินเชื่อผ่อนชำระ ไม่ได้เกิดการทิ้งดาวน์จนสร้างภาระให้เจ้าของโครงการ

แต่นั่นแหละ พอมีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้น น้ำหนักความเชื่อจะตกไปอยู่ที่ภาครัฐมากกว่าผู้ประกอบการ ซึ่งมักถูกมองว่ากำลังปกป้องธุรกิจของตัวเองเอาไว้

ขณะเดียวกันแวด วงธุรกิจต่างรู้ดีว่า การปั่นตลาดจนร้อนแรงเกินเหตุด้วยฝีมือผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่นั้นมีจริง ๆ ไม่ใช่การกล่าวหากันจนไร้ที่มาที่ไป

การปั่นตลาดที่ว่านี้มีทั้งการ สร้างดีมานด์เทียมเพื่อไล่ราคา บางแห่งใช้กลยุทธ์ปั่นกระแสขายหมดทั้งโครงการในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อตอกย้ำความคึกคัก ซื้อไปแล้วถึงอย่างไรก็สามารถขายต่อได้

บางแห่งเหนือเมฆ ใช้วิธีให้เครือข่ายธุรกิจของตัวเองเข้าไปจองสิทธิ์ดักเอาไว้ เพื่อฟันกำไร "ขายดาวน์" กับผู้มาทีหลัง

กระนั้นก็ตาม แม้จะมีการใช้กลยุทธ์การตลาดมาปั่นกระแส ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนี้กำลังจะมีปัญหาฟองสบู่

สอด คล้องแวดวงการการเงินการธนาคารซึ่งเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ยืนยันว่าถึงจะเริ่มมีสัญญาณฟองสบู่เกิดขึ้น แต่ยังเป็นฟองสบู่แบบอ่อน ๆ ไม่ถึงขั้นมีอะไรน่าตกใจ และถ้าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ปล่อยปละละเลย ช่วยคนละไม้ละมือ คอยตรวจสอบ

ไม่น่าจะเกิดปัญหาลุกลามใหญ่โตเหมือนในอดีต

ผมเองชอบข้อเสนอที่ว่า การควบคุมปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มีด้วยกันหลายวิธี

สำคัญที่สุด ต้องแยกแยะปัญหาให้ออกว่ามีที่มาจากอะไร

ถ้า ปัญหาเกิดจากการเก็งกำไรของคนไทยด้วยกันเองก็ใช้วิธีเพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์ ซะ ถ้าเกิดจากแรงเก็งกำไรของต่างชาติ ใช้แนวทางของสิงคโปร์และฮ่องกง เก็บภาษีซื้อและขายเฉพาะคนต่างชาติก็ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ

เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังไม่ได้ป่วยไข้

ถึงขนาดต้องใช้ยาแรง ๆ มารักษา ไม่จำเป็นต้อง

เหวี่ยงแหจนเกิดการแตกตื่นไปทั้งตลาด



คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วงวิชาการถกชำแหละ ชนชั้นนำอาเซียน !!?


การดำรงอยู่ของ "ชนชั้นนำ"เป็นจุดร่วมของสังคมในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีบทบาทยิ่งต่อการเมืองเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในความเข้าใจเบื้องต้นอาจกล่าวได้ว่า "ชนชั้นนำ" มีที่ยืนเด่นในสังคมเป็นที่ถูกจับตามองและสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ด้วยสถานะที่ตนดำรงอยู่

ส่วนในสายตาประชาชนคนธรรมดาอาจกล่าวได้ว่า "ชนชั้นนำ" เป็นบุคคลพิเศษที่ได้รับ "อภิสิทธิ์" ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรในสังคมเดียวกันได้มากกว่า รวดเร็วกว่า โดยไร้มาตรฐานการตรวจสอบ

เมื่อ "ความเท่าเทียม"ถูกพูดถึงในสังคมวงกว้างของบรรดาประเทศอุษาคเนย์ การทำความเข้าใจกับชนชั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกทำให้แพร่หลาย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการประจำปีอุษาคเนย์ 2556เพื่อขยายความรู้ในประเด็น "ชนชั้นนำ"จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ "ชำแหละ!! ข้อดี หรือ เล่ห์กลชนชั้นนำอาเซียน"

จุดเกิด "ชนชั้นนำ"

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ"อาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ชนชั้นนำ" หรือในภาษาอังกฤษว่า "Elite" เป็นการนิยามทฤษฎีที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยนักสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาชาวตะวันตก ที่เข้ามาศึกษาสังคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เหล่านักสังคมวิทยามองความเปลี่ยนแปลงจากสังคมโลกเก่ามาสู่สมัยใหม่โดยเห็นว่ามีกลุ่มคนหนึ่งจะสามารถนำมาได้ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของประเทศในแถบนี้นั่นก็คือ"ชนชั้นนำ"

ทฤษฎี "ชนชั้นนำ" เกิดมาจากทฤษฎีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสังคมเข้าสู่สมัยใหม่หรือระบบ Modernization ที่เกิดการขยายอาณานิคมของประเทศตะวันตกมายังประเทศแถบตะวันออก หลังประสบความสำเร็จในการสร้างระบบอุตสาหกรรมขึ้นในสังคมพร้อมๆ กับการพัฒนาระบบการเมืองในโลกตะวันตกที่เริ่มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

 "ชนชั้นนำใหม่ในอาเซียน"

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" ให้มุมมองว่าแต่เดิมชนชั้นนำในอาเซียนคือ กลุ่มผู้นำที่สืบทอดมาตามจารีตประเพณี ศาสนาและบุญบารมีที่สั่งสมมาในอดีต เรียกได้ว่า "ชนชั้นนำทางจารีต"

ส่วนในปัจจุบัน หลังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการเปลี่ยนแปลงสังคมเข้าสู่สมัยใหม่มาแล้วอำนาจของชนชั้นนำจึงไม่ได้เป็นไปในแนวดิ่งอย่างเดียวหลายประเทศแถบนี้อำนาจเหล่านั้นถูกบั่นทอนไปเกือบหมดแล้วในสมัยล่าอาณานิคมของตะวันตกส่วนไทยถือว่ารักษา"ชนชั้นนำทางจารีต"ไว้มากสุด

"ชนชั้นนำสมัยใหม่"จะขึ้นมาอยู่ในอำนาจพร้อมกับการมาของเศรษฐกิจระบบทุนนิยม ดังนั้น ปัจจัยทางการศึกษาและเศรษฐกิจจึงส่งผลอย่างสูงต่อการขึ้นมาเป็น "ชนชั้นนำสมัยใหม่"

กรณีของไทยเห็นได้ชัดเจนจากการที่นักเรียนนอกก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำสมัยใหม่โดยตำแหน่งขุนนางในกระทรวงต่างๆแต่ยังคงมีอำนาจทางชนชั้นที่สืบทอดมาจากชาติตระกูลอยู่ส่งผลให้ไทยยังมีบุคคลในระดับบริหารประเทศตำแหน่งสูงๆมาจากชาติตระกูลที่เป็น"ชนชั้นนำทางจารีต"อยู่

ด้าน "ดุลยภาค ปรีชารัชช"อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มุมมองของ "ชนชั้นนำสมัยใหม่" ว่า ทุนนิยมข้ามชาติเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของอำนาจชนชั้นนำการรวมอาเซียนที่ใช้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำทำให้อำนาจของชนชั้นนำในอาเซียนวัดกันที่นโยบายการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจและความแข็งแรงของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ

"ชนชั้นนำ" จำต้องถูก"ชำแหละ" ???

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" กล่าวว่าสังคมมีภาพชนชั้นนำในด้านลบ หากต้องมองว่าเราจำต้องชำแหละชนชั้นนำ ซึ่งหากมองชนชั้นนำในสังคมอุษาคเนย์ในรุ่นแรก ตรงกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนมาถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ไม่ว่าจะเป็น โฮจิมินห์นักปฏิวัติและประธานาธิบดีของชาวเวียดนาม, ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย, นายพลอองซานนักปฏิวัติคนสำคัญของพม่า รวมถึงอ.ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ของไทย

ชนชั้นนำรุ่นแรกเหล่านี้มีที่มาจากบริบททางการเมือง ด้วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านลัทธิอาณานิคม และสู้เพื่อเอกราช ด้วยคุณสมบัติและคุณูปการของชนชั้นนำรุ่นนี้เราไม่สามารถ "ชำแหละ" พวกเขาได้เลย เราต้อง "ยกย่อง"เท่านั้น

ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าชนชั้นนำนั้นเลวร้ายและต้องถูกชำแหละจึงไม่จริงเสมอไปและใช้อธิบายไม่ได้กับชนชั้นนำรุ่นแรกในสังคมอุษาคเนย์

ความเข้าใจที่ว่า "ชนชั้นนำ"จำต้องถูก "ชำแหละ" เพิ่งมาเกิดในยุคหลัง

เนื่องจากชนชั้นนำในยุคหลังไม่มีความเป็นอิสระในการใช้อำนาจถูกบงการจากอำนาจนอกประเทศซึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯและขยายอิทธิพลเข้ามาสู่อุษาคเนย์เพื่อคานอำนาจกับโซเวียต และยึดเอาดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติ

จุดมุ่งหมายของสหรัฐฯที่ชัดเจนคือ การควบคุมชนชั้นนำในอุษาคเนย์ให้ขึ้นอยู่กับตนเท่านั้น

ข้อสำคัญอีกประการคือชนชั้นนำรุ่นใหม่ในอุษาคเนย์ยุคที่สหรัฐฯแผ่อำนาจนี้ ไม่มีฐานมวลชนในประเทศรองรับไม่มีความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ

ดังนั้น การเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศยุคนี้จึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นในกรณีของไทย เห็นได้ชัดเจนจากการที่กองทัพยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร ส่งผลให้อ.ปรีดี ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ นับแต่ปี 2490

"หนทางประชาธิปไตยในการสร้างความชอบธรรมให้ชนชั้นนำจึงไม่เกิดขึ้นเปิดโอกาสให้หนทางในการใช้ระบอบอำนาจนิยมเข้ามาสู่การขึ้นมาของชนชั้นนำรุ่นหลัง"

กรณีชัดเจน ราวช่วงปี 2510 ชนชั้นนำหลายประเทศในอุษาคเนย์ ดึงเอาอำนาจนิยมเข้ามาปกครองโดยไม่อิงการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาแต่อย่างใด ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ของไทย, ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย และมาร์กอส ในฟิลิปปินส์

ส่งผลให้ ชนชั้นนำเหล่านี้มีอำนาจมากตรวจสอบไม่ได้ และดึงเอาพรรคพวกเดียวกันมามีบทบาท ส่งผลให้เกิดการ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง"

ส่งผลให้ชนชั้นนำรุ่นใหม่ไม่มีความชอบธรรมในการครอบครองอำนาจตามวิถีประชาธิปไตยและเป็นจุดเริ่มของภาพลักษณ์ด้านลบของชนชั้นนำในสังคม

 ความพิสดารของ "ชนชั้นนำ" อาเซียน

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ"ตั้งข้อสังเกตุถึงที่มาของ "ชนชั้นนำ" อาเซียนเปรียบเทียบกับการขึ้นมาเป็น "ชนชั้นนำ" โดยยกกรณีการขึ้นเป็นผู้นำของ"โอบามา" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หากจำลองภาพนั้นว่าเกิดขึ้นในสังคมไทยจะเปรียบเทียบได้ว่า "โอบามา" เป็นลูกหลานของชนเผ่าส่วนน้อยในสังคมอาจเทียบได้กับเผ่าปะกากะญอ หรือกระเหรี่ยงในไทย ซึ่งหากชนกลุ่มน้อยในไทยได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเกิดการถกเถียงและวิจารณ์แน่นอน

แต่เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ถูกตั้งคำถามในสังคมอเมริกาและทั่วโลก เนื่องจากการขึ้นมาเป็นผู้นำของ"โอบามา" คือ การขึ้นมาตามระบอบรัฐธรรมนูญ ในวิถีทางประชาธิปไตยเป็นการขึ้นทางอำนาจมีกระบวนการที่แน่นอน ที่มีกฎหมายกำกับซึ่งเป็นกระบวนการที่สูงส่งและศิวิไลซ์แล้วนั่นเองส่วนการขึ้นมาของชนชั้นนำไทยเป็นไปในทางตรงข้าม

นี่จึงเป็นความพิสดารอีกประการของ"ชนชั้นนำในอุษาคเนย์"

การอยู่รอดของ "ชนชั้นนำ"

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" กล่าวว่า ที่ผ่านมาชนชั้นนำทางอำนาจของไทยอยู่รอดได้เพราะความสามารถในการสร้างรัฐและอำนาจทั้งนี้ สังคมไทยสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านผู้นำด้วยอำนาจมาโดยตลอด

พูดได้ว่าชนชั้นนำทางอำนาจของไทยไม่มีความสุขเลยตราบเท่าที่การใช้อำนาจนอกระบบยังมีอยู่

ส่วนชนชั้นนำทางเศรษฐกิจนั้นอาศัยการอยู่รอดโดยอิงฝ่ายกุมอำนาจรัฐเป็นหลักในขณะที่ระบบการเมืองไม่มั่นคง

ที่ผ่านมาชนชั้นนำไทยไม่เคยมีประสบกับการจัดการปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องจากการเข้าถึงทรัพยากรมาก่อน

บรรดาชนชั้นนำมีเพียงปัญหาแย่งชิงอำนาจในแวดวงกันเองส่วนในอนาคตการอยู่รอดของชนชั้นนำจะขึ้นอยู่กับระบบการเมืองประชาธิปไตยว่าจะเปิดกว้างและอิงอยู่กับประชาชนหมู่มากเพียงใด

"โจทย์สำคัญคือชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจต้องแก้ปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนให้ได้หากยังแก้ปัญหาแบบเดิมๆโดยการใช้กำลังทำลายหรือฆ่าดังที่ผ่านมาอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้นทางออกของสังคมหากเกิดปัญหาเช่นนี้คือชนชั้นนำต้องยอมรับความหลากหลายในสังคมทั้งภาครัฐและภาคประชาชนถึงจะอยู่ได้หากคิดถึงแต่ประโยชน์เฉพาะส่วนจะอยู่ไม่รอด"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

ศุภชัย พานิชภักดิ์ : เตือนรับมือสภาพคล่องท่วม ปั่นฟองสบู่ !!?


"ศุภชัย" ผ่ามุมมองค่าเงิน-อัตราแลกเปลี่ยน ส่งสัญญาณเตือนภูมิภาคเอเชีย เตรียมรับมือฟันด์โฟลว์ กดดันค่าเงินแข็ง ปั่นฟองสบู่!สินทรัพย์เสี่ยง

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนมีมุมมองที่น่าสนใจ ท่ามกลางการวิพากษ์จารณ์เรื่องค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของโลก

ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ได้รับการสดุดีอย่างกว้างขวางตั้งอยู่บนพื้นฐานของนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีแรงงานเข้มข้น เชื่อมโยงกับนโยบายการแข่งขันทางการค้า ด้วยการมีระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง

ช่วงจังหวะของการพัฒนาอุตสาหกรรมได้รับการเอื้ออำนวย โดยเคลื่อนย้ายการลงทุนจำนวนมาก จากประเทศญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 70 และ 80 โดยเฉพาะหลังจากการมีข้อตกลงของพลาซา (PlazaAccord)ในปี 1985 ที่มีผลให้ค่าเงินเยนลอยตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นหันมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น การประสานนโยบายที่สอดประสานระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นเอกลักษณ์ของการใช้นโยบายเศรษฐกิจอีกประการหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่ส่งผลให้นโยบายมีการปฏิบัติที่มีประสิทธิผลอย่างสูง

สูตรสำเร็จในยุคนั้น ซึ่งได้ใช้กันมากว่าสองทศวรรษ จึงมีส่วนประกอบที่สำคัญของ

ก) บทบาทนำในด้านเศรษฐกิจพัฒนาของรัฐ
ข) นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม นำโดยนโยบายรัฐ
ค) นโยบายส่งเสริมการส่งออกที่เข้มข้น
ง) การสอดประสานระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ

จุดแข็งของสูตรสำเร็จเช่นนี้ในอดีต คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการใช้แรงงานที่มีอัตราค่าจ้างในระดับที่ต่ำเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมนโยบายนี้ ประกอบกับการใช้นโยบายส่งเสริมการส่งออกที่กว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งมีผลให้ประเทศเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง

ข้อดีของนโยบายดังกล่าวนี้ชัดเจนในแง่ของการขยายตัวของการส่งออก และน้ำหนักของการส่งออกต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประสบการณ์จากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา สอนให้เราเข้าใจความจำเป็นที่ทั้งโลก ต้องช่วยกันดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมดุลยภาพเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อช่วยทำให้นโยบายที่ผ่านมา มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น และมิใช่เพื่อการส่งเสริมการค้าเสรีแต่อย่างเดียว ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ (inclusive development)และยั่งยืน จากนโยบายที่ผ่านมามีลักษณะน่าเป็นห่วงดังต่อไปนี้

1. การพึ่งพาการส่งออกและอุปสงค์จากภายนอกประเทศ อาจจะมีน้ำหนักมากจนเกินไป และทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดระดับสูงได้รับผลกระทบจากกระบวนการโลกาภิวัฒน์เชิงลบมาก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกจะปะทุขึ้นบ่อยครั้งกว่าก่อน ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เปิดมาก และขาดดุลยภาพกับการพัฒนาตลาดภายในประเทศ มีโอกาสจะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ยาก

2. การกดค่าจ้างและอัตราเงินเดือนให้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยี ที่มีการใช้ประโยชน์จากการที่มีค่าจ้างในระดับที่ต่ำจนเกินไป ทำให้ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับที่สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะทำให้ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ ไม่มีดุลยภาพกับอุปสงค์จากภายนอก และมักจะนำไปสู่ปัญหาของการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนและสมบูรณ์ ควรอยู่บนพื้นฐานของสัดส่วนของค่าจ้างที่เหมาะสมในรายได้รวมประชาชาติ และอัตราค่าจ้างควรสัมพันธ์กับระดับทักษะ การศึกษา และระดับผลิตภาพ

3. การพัฒนาอุตสาหกรรมที่รัฐเน้นบทบาทนำมากเกินไป อาจนำไปสู่การสร้างกำลังการผลิตที่เกินความต้องการของตลาด และนำไปสู่นโยบายที่มีการบิดเบือนราคาที่มีผลเสียต่อการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม จึงควรมีการผสมผสานระหว่างการชี้นำโดยรัฐ และยึดโยงกับลักษณะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก และเน้นการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อรองรับแรงงานไหลออกจากภาคการเกษตร

4.อัตราแลกเปลี่ยนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางนโยบาย ในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 70 บางครั้งอัตราแลกเปลี่ยนถูกปล่อยให้แข็งเกินความเป็นจริง ซึ่งมักเป็นกรณีในอดีตที่มีการนำนโยบายส่งเสริมการผลิต ทดแทนการนำเข้าเมื่อราคาสินค้านำเข้าถูกกดต่ำลงเมื่อเทียบเป็นเงินสกุลภายในประเทศ ในภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนมาใช้นโยบายส่งเสริมการส่งออก จึงได้มีการใช้มาตรการของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีค่าอ่อนกว่าความเป็นจริง ข้อพิพาทในกรณีอัตราแลกเปลี่ยน มีมาโดยตลอดในอดีต และปรากฏชัดในตัวอย่างของ Plaza Accordในปี ค.ศ. 1985 เมื่อญี่ปุ่นถูกบังคับให้ปล่อยให้เงินเยนลอยตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงมาก

กรณีของการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเอาเปรียบคู่แข่งขัน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า เพื่อทำให้เพื่อนบ้านกลายเป็นยาจก (beggar-thy- neighbour) เป็นนโยบายที่ได้รับการโจมตีมาโดยตลอดว่า ไม่มีส่วนช่วยทำให้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศดีขึ้น คือในแง่สุทธิไม่ได้ช่วยทำให้ผลผลิตรวมของโลกดีขึ้นหรือการจ้างงานของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น

ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นการแบ่งย้ายทรัพยากรจากเศรษฐกิจหนึ่งไปอีกเศรษฐกิจหนึ่ง เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ผลประโยชน์ที่แท้จริงจากนโยบายการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน มักจะไม่ปรากฏชัด และยังมีผลข้างเคียง ที่อาจจะไม่ช่วยประเทศที่ใช้นโยบายเช่นนี้เสมอไป

1. การปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลดค่าลงจนเกินพอดี มักจะนำไปที่ปัญหาของการปล่อยให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงาน อาจจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงได้ ยกตัวอย่างของปัญหาเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนี้ที่ปล่อยค่าเงินปอนด์ให้อ่อนลงอย่างมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และขณะนี้กำลังก่อปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากในอังกฤษที่เป็นผลจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนเกินควร

2. หลายประเทศในเอเชียเคยดำเนินนโยบายการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เพื่อต้องการให้มีเสถียรภาพทางอัตราแลกเปลี่ยนในยุคที่ยังไม่มีตลาดล่วงหน้าของสกุลเงิน แต่เนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์มีแนวโน้มลดต่ำลงมาในระยะยาว มักจะมีผลให้สกุลเงินของเศรษฐกิจในเอเชียได้อานิสงส์จากค่าเงินที่อ่อนลงตามไปด้วย นโยบายในลักษณะนี้เป็นการยึดเรื่องของเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการใช้นโยบายที่ทำให้เพื่อนบ้านเป็นยาจก

3. อัตราแลกเปลี่ยนมักจะไม่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เสมอไป ดังจะเห็นได้จากการที่สหรัฐฯ มีค่าเงินดอลล่าร์ที่มีแนวโน้มอ่อนลงมาโดยตลอดในระยะยาว แต่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ กลับมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ (ตั้งแต่ระดับ 300 กว่าเยน มาจนถึงต่ำกว่า 100 เยนต่อดอลล่าร์) แต่ญี่ปุ่นก็มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกตลอดมา เหตุการณ์ในระยะหลังคือที่ปรากฏกับเงินปอนด์อังกฤษที่ได้ลดค่ามากที่สุด (เมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ) หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 จนถึงบัดนี้ แต่ก็ปรากฏว่าอังกฤษยังมีปัญหาเรื่องการลดลงของส่วนแบ่งของตลาดส่งออกในตลาดโลก และเศรษฐกิจอังกฤษก็ยังไม่ฟื้นจากภาวะที่ตกต่ำตั้งแต่วิกฤตการณ์ที่ผ่านมา

4. ตลาดเงินตราในยุคของ hedge fund มักจะไม่สามารถช่วยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกต้องได้เสมอ เนื่องจากกิจกรรมการเก็งกำไรในตลาดสูงมาก โดยเฉพาะในรูปแบบของ carry trade ซึ่งเกิดขึ้นจากการกู้เงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก เช่น เงินเยน และนำเงินนี้ไปลงทุนในสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น เงินดอลล่าร์ออสเตรเลีย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนอ่อนลง และเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียแข็งตัวขึ้นโดยไม่มีสาเหตุจากดุลการชำระเงินใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีการลดหรือ unwindการเก็งกำไรแบบ carry trade ก็จะมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนพุ่งสูงขึ้นโดยไม่มีสาเหตุมาจากมาตรการใดของทางการทั้งสิ้น

5. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วผ่านการผลักเงินของธนาคารกลาง เข้าสู่บัญชีของธนาคารพาณิชย์ ในมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ คำสัญญาของธนาคารกลางยุโรปที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลยุโรปไม่จำกัด เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของภาระหนี้ของยูโรโซน ทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ โดยที่ไม่ถูกดูดซึมไปใช้ในเศรษฐกิจภาคการผลิตแท้จริงได้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในกระบวนการชำระล้างบัญชีหนี้สิน(unwinding) อยู่ เงินสภาพคล่องเหล่านี้จึงไหลไปสู่เศรษฐกิจที่มีโอกาสเก็งกำไรได้โดยมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า และมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ปกติ ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงต่อประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องรองรับสภาพคล่องเหล่านี้ และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนของตนเองสูงขึ้น กระบวนการนี้ที่นำไปสู่การผันแปรอย่างรุนแรงก็ไม่ได้เป็นผลจากนโยบายทำให้เพื่อนบ้านเป็นยาจกอย่างใดทั้งนั้น แต่เพียงเป็นผลจากความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศพัฒนาแล้วอย่างรุนแรงเท่านั้นเอง

6.ระบบเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายลูกโซ่ (Global Value Chain) ที่ครองโลกอยู่ในขณะนี้ (ร้อยละ 80 ของการค้าโลกเกี่ยวโยงกับระบบบรรษัทข้ามชาติที่บริหารเครือข่ายดังกล่าวนี้) ทำให้เกิดปัญหาของการนับซ้ำ (double - counting) เมื่อส่วนประกอบการผลิตถูกนำมาผลิตซ้ำ ข้ามจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

ข้อมูลจากการศึกษาของ UNCTAD พบว่า การนับซ้ำนี้ทำให้มีข้อมูลการค้าสูงกว่าความเป็นจริงกว่าร้อยละ 28 นอกจากนี้เมื่อมีการแก้ไขการนับซ้ำโดยคำนวณข้อมูลปริมาณการค้าบนพื้นฐานของมูลค่าเพิ่ม (value - added) จะปรากฏว่า ข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น การเกินดุลของจีนกับสหรัฐฯ จะมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 30 (ตัวอย่างของ iPhone ที่ขายในราคาปลีก 500 ดอลล่าร์ต่อเครื่อง มีมูลค่าเพิ่มในการผลิตในประเทศจีนเพียง 6 ดอลล่าร์เท่านั้นเอง) หากจะมีการใช้ดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน จึงอาจจะไม่ได้สะท้อนให้เห็นค่าเงินสกุลต่างๆ อย่างแท้จริงอีกเช่นกัน (ข้อมูลของไทยที่อ้างกันว่าสินค้าส่งออกมีส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติสูงถึงร้อยละ 70 จึงควรถูกปรับให้ต่ำลง โดยหักมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทย และนับเฉพาะส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่มของการส่งออกที่เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น จะไม่น่าแปลกใจเลยถ้าหากข้อมูลนี้ถูกปรับจากร้อยละ 70 มาเหลือเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ซึ่งก็จะมีความหมายว่า แท้จริงแล้วไทยอาจจะไม่ได้พึ่งพาอุปสงค์ภายนอกมากจนเกินความพอดี)

ปัญหาของตลาดเงินตราต่างประเทศ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัวและมีการเก็งกำไร เครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ ระบบเงินสกุลเดียวของยูโรโซน ฯลฯ ทำให้การสะท้อนค่าของเงินแต่ละประเทศอย่างแท้จริง ออกมาในรูปอัตราแลกเปลี่ยน จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง

การใช้คำว่า "สงครามสกุลเงินตรา" (currency war) เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเงินตราที่เป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั่วไป จึงไม่ถือว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเท่าไรนัก

หากเราจะกล่าวถึงการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน ก็ควรจะกล่าวถึงค่าของเงินตราที่แท้จริง ซึ่งค่าของเงินตราที่แท้จริงควรจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์มักจะเรียกค่าของเงินนี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงถ่วงน้ำหนัก ( real effective exchange rate) โดยการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในตลาด ประกอบกับอัตราค่าจ้างต่อหน่วย หรืออัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาการผลิตต่อหน่วย หรือผลิตภาพ(productivity) ในกรณีของประเทศจีนที่ถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนตัวกว่าปกติ จะปรากฏว่าข้อมูลจริงนั้น ค่าเงินหยวนกลับมีแนวโน้มที่แข็งขึ้น เมื่อคิดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง โดยเมื่อคำนึงถึงอัตราค่าจ้างต่อหน่วยที่สูงขึ้นตลอดเวลาในประเทศจีนในระยะ 3 - 4 ปีหลังนี้ เท่ากับเป็นการสูญเสียระดับความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจคู่แข่งอื่นที่อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยกว่า

กรณีของความแตกต่างระหว่างค่าเงินตราแท้จริง และอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาด ( nominal) อาจจะเห็นได้จากการที่ยูโรโซนมีเงินตราเพียงสกุลเดียวที่ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นระดับความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ เช่น เยอรมันและกรีซ ที่มีความสามารถแตกต่างกันมาก ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดของยูโรที่เฉลี่ยในขณะนี้ที่ 1.33 ดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อคิดเป็นค่าแท้จริงแล้วก็นับว่าอ่อนไปสำหรับเยอรมัน ซึ่งควรจะอยู่ที่ระดับสูงขึ้น คือ อาจจะเป็น 1.5 ดอลล่าร์สหรัฐต่อยูโร ส่วนของกรีซที่ระดับที่ 1.33 ดอลล่าร์สหรัฐ ก็นับว่าแข็งเกินไปเมื่อคิดเป็นค่าแท้จริง ซึ่งกรีซอาจจะแข่งขันได้ตามความสามารถ หากมีอัตราในตลาดที่ 1.2 ดอลล่าร์ เป็นต้น แต่เนื่องจากตลาดยูโรมีอัตราแลกเปลี่ยนร่วมกันเพียงอัตราเดียว นโยบายที่มีผลต่อค่าของเงินที่แท้จริง จึงได้แก่นโยบายการปรับลดอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในกรีซ และนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างในเยอรมัน เพื่อยกระดับกำลังซื้อในตลาดยูโร

ในกรณีของไทยที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นในระดับสูง ซึ่งจะมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง หรือ ค่าเงินบาทแท้จริงมีค่าแข็งขึ้นกว่าระดับสมดุล เมื่อผนวกกับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดที่แข็งขึ้นอีกต่างหากเนื่องจากภาวะเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาก อาจจะมีผลให้ระดับค่าเงินบาทที่แท้จริงแข็งเกินที่จะช่วยสะท้อนความสามารถของไทยในการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศได้ อาจจะมีผลในทางลบต่อดุลการค้าหากไม่มีการเร่งรัดพัฒนาผลิตภาพของแรงงานให้สูงขึ้นโดยเร็ว เพื่อชดเชยกับการแข็งขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยน

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่มีการเก็งกำไร ความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การแก้ไขการไร้ดุลยภาพในเศรษฐกิจไม่มีความคืบหน้า การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด (nominalrates ) จะมีความผันแปรอย่างมาก ยากที่แต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อปรับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดให้อยู่ในระดับที่จะทำให้ค่าเงินแท้จริง(realexchangerates) อยู่ในระดับที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจได้ ความร่วมมือของประเทศในระดับโลกและระดับนานาชาติเท่านั้นที่จะสามารถช่วยผ่อนคลายภาวการณ์เช่นนี้ได้อย่างจริงจัง (ในขณะที่แต่ละประเทศก็ต้องพยายามช่วยเหลือตนเองด้วยมาตรการที่มีอยู่ เช่น การควบคุมการเข้าออกของเงินทุนระยะสั้น และการเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น ) โดยที่อาจจะมีข้อพิจารณาในแนวทางดังต่อไปนี้

1. ระบบการเงินระหว่างประเทศต้องมีความโปร่งใส และมีระบบและกฎเกณฑ์ชัดเจน เฉกเช่น ระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีข้อตกลงและกฎเกณฑ์ระดับพหุภาคี โดยเฉพาะเพื่อปิดกั้นการเก็งกำไรที่มากเกินเหตุ และสามารถลดความผันผวนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีผลเสียกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา

2. ควรมีข้อตกลงในระดับพหุภาคี (ซึ่งแม้ G20 ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้) ว่าดัชนีทางด้านดุลยภาพทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศควรเป็นตัวแปรอะไรบ้าง เช่น ควรจะเป็นบัญชีการค้าลักษณะใด หรือ ควรจะเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร หรือ ควรจะเป็นข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค เช่น ระดับการออม การลงทุน หรือ ภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น ดัชนีเช่นนี้ควรจะเป็นสัญญาณเตือนให้มีการเข้าร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมหภาค ก่อนที่ภาวะการขาดดุลยภาพจะก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินที่รุนแรงต่อไป

3.ควรเปิดโอกาสให้ IMF นำระบบ SDR มาเสริมสภาพคล่องในระดับโลกอย่างเสรียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรร SDR ให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นธรรม จะช่วยทำให้การผันแปรของสภาพคล่องในตลาดโลกมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น ปัจจุบัน การจัดสรร SDR กำหนดโดยโควต้าการถือหุ้นที่ IMF โดยประเทศสมาชิก ซึ่งทำให้โควต้าการจัดสรร SDR ให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนของกองทุนในระดับต่ำมีจำนวนน้อยตามไปด้วย

4. IMF ให้ความช่วยเหลือแนะนำประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องแก้ไขปัญหาทางด้านการเคลื่อนย้ายของเงินทุนระหว่างประเทศที่มีจำนวนสูง และนำไปสู่การผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สะท้อนค่าเงินแท้จริงของประเทศเหล่านั้น การบริหารแทรกแซงเงินทุนที่ไหลเข้าออกประเทศอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องป้องกันการไหลเข้าของเงินระยะสั้นเก็งกำไร ที่อาจจะก่อให้เกิดราคาสินทรัพย์ในประเทศเกินความเป็นจริง เป็นสาเหตุให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้นมาได้ ในทางกลับกันการไหลออกของเงินเก็งกำไรจำนวนมากในระยะสั้นอาจก่อให้เกิดการชะงักงันของเศรษฐกิจได้( ในกรณีของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สามารถมีมาตรการเด็ดขาดที่ช่วยตัวเองได้ เช่น โดยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระดับสูงสุด (threshold) ของเงินสวิสฟรังก์ไว้ที่ 1.2 สวิสฟรังก์ต่อยูโร โดยที่ธนาคารกลางสวิสจะรับซื้อเงินยูโรที่เข้ามาทั้งหมดหากจะมีเงินยูโรระยะสั้นไหลเข้ามามากและกดดันให้เงินสวิสฟรังก์แข็งจนเกินระดับที่จะรักษาสภาพการแข่งขันของเศรษฐกิจสวิสไว้ได้ )

5.ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้มีการสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนสูงมาก และมีเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวในระดับที่ดีที่สุดของโลก จึงจะต้องเตรียมรับกับภาวการณ์การไหลเข้าของสภาพคล่องมากขึ้นอย่างแน่นอน แนวโน้มของการมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากจะมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งตัวขึ้นในระยะยาว รวมทั้งความเสี่ยงในการเกิดขึ้นของฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์
การรองรับสถานการณ์เช่นนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับการแทรกแซงระยะสั้นในตลาดเงินตราอย่างเดียว แต่จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจที่มีผลให้ผลิตภาพสูงขึ้น ด้วยการลงทุนทางเทคโนโลยีการค้นคว้าและพัฒนาอย่างจริงจัง แนวทางการร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ข้อตกลงเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ที่กำลังได้รับการขยายขอบเขตมาเป็นลักษณะของกองทุนพหุภาคีมากขึ้น อาจจะนำไปสู่การร่วมกำหนด Code of conducts เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง คือค่าเงินตราแท้จริงให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดชดเชยเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริงน้อยที่สุด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////

บรรหาร น้ำตาตก ธนกิจการเมือง ซ้อนเกมอำนาจ !!?


การจากไปอย่างเป็นนิรันดร์ของ “ชุมพล ศิลปอาชา” รองนายกฯ และ รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ก่อให้ เกิดแรงกระเพื่อมตามมาโดยอัตโนมัติ เป็นเหตุผลให้เก้าอี้เสนาบดีถึง 2 ตำแหน่ง ได้ว่างลง..จนเป็น “เงื่อนไข” ที่นำไปสู่คิวปรับ คณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 4” ในโควตาของพรรคชาติไทยพัฒนา... “มังกรเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา ประธาน ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้ลงรักปิดผนึกรายชื่อเสนาบดีคนใหม่ ส่งถึงมือ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไปแล้วพักใหญ่ รอแค่วัน ว. เวลา น. ที่รัฐบาลเพื่อไทย จะได้ฤกษ์ปรับกันเมื่อไหร่?!! ซึ่งความเป็นไปได้สำหรับคิวปรับ ครม. เที่ยวล่าสุด หากปรับเฉพาะโควตาของ “ชาติ ไทยพัฒนา” ก็คงกินเวลาไม่นานสักเท่าไร.. แต่หากเป็นการปรับใหญ่ คงต้องรอให้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จบสิ้นไปก่อน ซึ่งเท่ากับ ว่าปาเข้าไปหลังวันที่ 3 มีนาคม เพราะหาก ปรับแบบผิดฝาผิดตัว หรือทำให้ซีกมวลชนที่เป็นผนังทองแดง..กำแพงเหล็กของ “รัฐบาล พรรคเพื่อไทย” เกิดอาการไม่พอใจ ย่อมจะ ส่งผลกระทบไปถึง “ฐานคะแนนเสียง” ในกรุงเทพฯ ที่โพลหลายสำนักชี้ตรงกันว่า “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” ผู้ท้าชิงสังกัด ค่ายเพื่อไทย กำลังมีคะแนนนิยมนำ “ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร” แชมป์เก่าจากค่ายประชาธิปัตย์

ถ้าสมมติฐานด้วย “เงื่อนเวลา” ว่ากันว่า..คิวปรับเล็กหรือปรับใหญ่ น่าจะขยับ ไปหลังวันเลือกตั้ง 3 มีนาคม ซึ่งเท่ากับว่าเหล่านักวิ่งยังมีเวลาเหลือพอให้ล็อบบี้ก่อนจะถึง “วาระตกผลึก”...!!!

ด้วยท่าทีและเสียงเรียกร้องให้มีการปรับ ครม.แบบปัจจุบันทันด่วน ผ่านแรงเขย่า ของ “บรรหาร” ก็ดูเหมือนไม่อาจทำให้ “ปู..เปลี่ยนใจ” เพราะการปรับหนนี้ย่อมมิใช่ความต้องการของข้างพรรคเพื่อไทย หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง..ต่อนายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่คงทอดเวลา “ปรับทัพเสนาบดีใหม่” ยาวนานจนน่าผิดสังเกต สอดรับกับจังหวะที่ “ยิ่งลักษณ์” รวมไปถึง “ระดับนำ” ในค่ายเพื่อไทยเอง พยายาม จะใช้ “ความไม่ปกติ” จากสถานการณ์ไฟใต้ มาเป็น “ข้ออ้าง” ยื้อเกมปรับ ครม. “ปู 4” กรองสถานการณ์ล่าสุดในคิวปรับ ครม.หนนี้ “นายใหญ่” แห่งค่ายชาติไทยพัฒนา ได้กางโผ “รัฐมนตรีใหม่” เสียบเข้า ไปแทนโควตาเดิม ที่ว่ากันว่า “สมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเด็กในคาถาที่ “บรรหาร” ไว้วางใจยิ่ง..จะถูกส่งขึ้นไปยึดเก้าอี้ รมว.กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา ส่วน “ยุคล ลิ้มแหลมทอง” รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะควบตำแหน่งรองนายกฯ

กระนั้น เมื่อโผเสนาบดีใหม่ส่งไปสู่มือ “ยิ่งลักษณ์” ปรากฏว่าชื่อของ “สมศักดิ์” โดนตีกลับแบบเฉียบพลัน ซึ่งข่าววงในหลุด มาว่า...“ไวทยากรแห่งรัฐนาวา” อย่าง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”...ไม่เอาด้วย!!! พร้อมกำชับให้มีการ “เปลี่ยนตัว” ให้บุคคลอื่นเข้ามานั่งเก้าอี้ “ว่าการท่องเที่ยวและกีฬา” คนใหม่ ว่าไปถึงเหตุผลที่ “ทักษิณ” คัดค้านโผรัฐมนตรีใหม่ของ “ชาติไทยพัฒนา” อาจเป็นเพราะ “สมศักดิ์” ถือเป็นสายตรงของ “บรรหาร” ทำให้พรรคเพื่อไทยเข้าไป “สั่งการ” ได้ยากลำบาก ยิ่งที่ผ่านมา “สมศักดิ์” ก็ไม่เคยติดต่อใกล้ชิดกับ “คนในเพื่อไทย” มาก่อนเลย ดังนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการประสานงาน

ยิ่งเมื่อรู้ข่าวว่า “โผเสนาบดี” ถูกตีกลับ..แว่วมาว่า “บรรหาร” ถึงกับหัวเสีย แต่ก็ต้องยอมกลืนเลือด เพราะ “ชาติไทยพัฒนา” ไร้ซึ่งอำนาจต่อรองอย่างสิ้นเชิง จึงจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนโผใหม่ โดยรายชื่อแรกๆ นั้น ได้มีการทาบทาม “สุวัตร สิทธิหล่อ” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มารับตำแหน่ง “รัฐมนตรี” กระทรวงเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ “สุวัตร” เคยปฏิเสธมาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะไม่อยากลาออกจากราชการเพื่อเข้ามาสู่การเมือง เช่นเดียวกับ “แผนฉุกเฉิน” ของ “มังกรเติ้ง” หากปลัดสุวัตร ยืนกรานไม่รับตำแหน่งนี้ ก็พร้อมเสนอชื่อ “สมบัติ คุรุพันธ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งน่าจะเข้าทาง “เพื่อไทย” มากกว่า.. เพราะ “สมบัติ” เป็นที่รู้กันดีว่า ปูมหลังมีความใกล้ชิด “ทักษิณ” เป็นอย่างมาก เป็นความพยายามยิ่งยวดของ “พรรค ชาติไทยพัฒนา” ที่ปล่อยรายชื่อ “รัฐมนตรีใหม่” ผ่านสื่ออย่างจงใจ แต่กลับดูเหมือนว่า สิ่งที่ “บรรหาร” เรียกร้องยังไม่ได้รับการสนองตอบแต่อย่างใด

กระทั่งล่าสุดได้ปรากฏข่าวว่า “บรรหาร” ถึงขั้นลงทุนบินไปเจรจากับ “ทักษิณ” ด้วยตัวเองมาแล้ว พร้อมหนีบ “โผรัฐมนตรีใหม่” เข้าไปต่อรอง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงนิ่งสงบ ด้วยสถานการณ์เช่นที่ว่านี้ แน่นอนว่าถ้า “มังกรเติ้ง” ยิ่งปล่อยให้ยืดเยื้อยาว นานออกไปมากเท่าใด การเผชิญแรงบีบจาก ขั้วแกนนำรัฐนาวาย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น จน ส่งผลต่อ “เสถียรภาพ” ของ “ชาติไทยพัฒนา” ที่กำลังถูกลดบทบาทในรัฐบาลไปทุกทีๆ...!!! ประจวบเหมาะกับกระแสข่าวที่ “พรรคภูมิใจไทย” พร้อมเปิดตำนาน “งูเห่ากลับใจ..” ขอกลับเข้าร่วมรัฐบาล

ในพลันที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บินไปเคลียร์ใจกับ “ทักษิณ” ที่ฮ่องกง เมื่อไม่นานมานี้ ก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกนำมายึดโยงกับคิวปรับ ครม.ในโควตาของ “ชาติไทยพัฒนา” ยิ่งระยะหลังตัวเลขหุ้นของ “ซิโนไทย” ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พุ่งขึ้นอย่างผิดหูผิดตา เพียงแค่ 3 เดือน จากสิบกว่าบาท ก็ทะยาน ไปแตะที่ 27 บาท ที่ว่ากันว่า...มาคู่ขนานกับ “สัมปทาน” ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเป็นมรรคผล เหล่านี้ยิ่งไป “เพิ่มน้ำหนัก” ให้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือได้

ล่าสุดก็เป็น “วัฒนา เมืองสุข” อดีต รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ที่หลุดกลางวงสัมมนา “นิรโทษกรรม” ที่ว่าพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมรัฐบาล?!! หลุดกลางวงไม่เท่าไหร่...แต่ที่หลุดนอกวงคือ “เสี่ยแม้ว” กับ “เสี่ยหนู” คุยกัน ถึงขั้นจะยุบรวมพรรคแล้วบริหารประเทศแบบพรรคอัมโนของมาเลเซีย ที่มีการจัดการ บริหารผลประโยชน์แบบ “กลุ่ม ก๊วน มุ้ง วัง” ในลักษณะรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีตที่ “แบ่งแยกชัดเจน” นั่นยิ่งทำให้สังคมเข้าใจว่าสถานการณ์ ของ “ภูมิใจไทย” สั่นไหวสั่นสะเทือนไปถึง “ที่ยืน” ในรัฐบาลของ “ชาติไทยพัฒนา” โดยสาเหตุสำคัญที่ “อนุทิน” พยายาม ขอเข้าร่วมขบวน “ปู 4” ก็ล้วนเป็นเรื่อง “ธนกิจการเมือง” ของ “กลุ่มซิโนไทย” ที่ทับซ้อนไปกับ “อำนาจทางการเมือง”

การเข้าร่วมครั้งนี้ของพรรคภูมิใจไทย ว่ากันว่าไม่มีการต่อรองขอกระทรวงใหญ่เหมือนที่เคยเป็นมา เพราะปมมันถูกเชื่อมโยงไว้กับเกมธุรกิจที่ “อนุทิน” ต้องใช้ความพยายามยิ่งยวดในการรักษาพรรค และธุรกิจของตัวเองเอาไว้ บทเรียน “รถไฟฟ้าสายสีแดง” ถูก คู่แข่งอย่าง “อิตาเลียนไทยฯ” ตัดหน้าไปได้ มันล้วนมีผลกระทบทางธุรกิจโดยตรง การพ่ายแพ้อย่างเจ็บแสบครั้งนี้ ล้วน เป็นเหตุผลสำคัญที่ “ภูมิใจไทย” ต้องการเข้าร่วมรัฐบาล เพราะหากมองไปข้างหน้าในกรณีที่มีแนวโน้มว่า “รัฐบาลเพื่อไทย” จะอยู่ยาว...หากนกดีไม่เลือกกิ่งเกาะ!! ก็มีความ เป็นไปได้เช่นกัน ที่การประมูลเมกะโปรเจกต์ ในอนาคต “กลุ่มชิโนไทย” อาจต้องแพ้พ่ายซ้ำแล้วซ้ำอีก หาก “กลุ่มซิโนไทย” อยู่ไม่ได้ “พรรค ภูมิใจไทย” ก็คงอยู่ลำบาก...ท่ามกลาง “แรงเหวี่ยง” ทางการเมืองที่คละคลุ้งไปด้วย “ปัจจัย” ที่ว่าด้วย “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” เมื่อถึงคราวปรับ ครม.เมื่อไหร่...ยิ่งต้องลุ้นระทึก!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

ไทยโชติช่วง : พบขุมทองปิโตรเลียม !!?


นับถอยหลังอีก 10 ปีก๊าซธรรมชาติของไทยจะหมดเกลี้ยง ถ้าหากไม่มี การขุดเจาะพบเพิ่มเติมจากทุกวันนี้ที่มีปริมาณสำรองอยู่ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ ฟุตต่อวัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3.5 พัน ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ยอดการใช้ได้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 4.4 พันล้านลูกกบาศก์ฟุตต่อวัน นั่นหมายความว่าประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณการใช้ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นที่มาของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า 2 แหล่งคือ แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา และเยตากุน เมื่อถึงเวลาแหล่งก๊าซทั้งสองแห่งหยุดซ่อมประจำปี จึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชนิดสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ จากการพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ

หันมาดูศักยภาพการผลิตปิโตรเลียมของไทยเรา นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2555 ประเทศไทยสามารถจัดหาปิโตรเลียม แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ 3,680 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 91,000บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ 145,000 บาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ความต้องการใช้สำหรับก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และน้ำมันดิบอยู่ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศไทยจึงต้องพึ่งพาพลังงานจากการนำเข้าจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดสัมทานปิโตรเลียมในประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีแหล่งปิโตรเลียมที่มีการผลิต จำนวน 60 แปลง มีสัมปทานที่ดำเนินการอยู่ 61 แปลง 76 แหล่งสำรวจ ได้แก่ บนบก 38 แปลงสำรวจ อ่าวไทย 35 แปลงสำรวจ และอันดามัน 3 แปลงสำรวจ

ในปี 2556 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังจะเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมใหม่ รอบที่ 21ครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

การเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมใหม่ รอบที่ 21 รวม 22 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง ภาคอีสาน 11 แปลง และอ่าวไทย 5 แปลง โดยยึดหลักการเลือกเปิดเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง หลีกเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหว วงเงินลงทุน 3,200 ล้านบาท คาดว่าจะได้ปิโตรเลียมคิดเป็นมูลค่า 9.6 แสนล้านบาท

สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยนายภูมี ศรีสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาศักยภาพเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า จากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของประเทศไทยพบว่า มีโครงสร้างของปิโตรเลียมกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานได้ขุดพบก๊าซธรรมชาติแล้วที่แหล่งดงมูล อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ และคาดว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพอีก ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือก็มีหลายพื้นที่พบว่า มีปิโตรเลียม เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา ภาคกลางที่จังหวัดพิษณุโลก และอ่าวไทย รวมถึงฝั่งอันดามัมบริเวณรอยต่อชายแดนไทยกับพม่าตามแนวสันทราย และด้านใต้อันดามันไปทางเกาะสุมตรา เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ประเทศพม่า

ต้องลุ้นกันต่อไปเมื่อเปิดสัมปทานแล้วจะพบปิโตรเลียมกี่แปลงจากทั้งหมด 22 แปลง เมื่อผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมสำรวจพบและลงทุนพัฒนาจนผลิตและขายปิโตรเลียมได้จะต้องจ่าย “ค่าภาคหลวง” ให้กับรัฐอัตรา 5-15% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย และเมื่อผู้รับสัมปทนเริ่มมีกำไรรายปีจะต้องเสียภาเงินได้ปิโตรเลียมให้ไก่รัฐอีก 50% ของกำไรสุทธิในปีนั้น นอกจากนี้ รัฐยังมีรายได้จากผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ (SRB) ซึ่งเป็นเงินที่เก็บเมื่อผู้รับสัมปทานในปีนนั้นมีรายได้รายปีสูงเกินควรอันเกิดจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวกับเงินลงทุน เช่ น ราคาปิโตรเลียมสูงขึ้นมากในช่วงนั้น หรือผลิตได้มากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้

และถ้าพื้นที่มีการผลิตปิโตรเลียมบนบก อย่างเช่น “แหล่งดงมูล” จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกว่า สุดเฮงทีเดียว เพราะค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จากสัมปทานในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะส่งเป็นรายได้ให้แผ่นดิน 40% และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60% แบ่งเป็น อบต.และเทศบาลในเขตพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม 20% อบต.และเทศบางอื่นที่อยู่ในจังหวัดที่มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม 10% อบต.และเทศบาลที่อยู่ในจังหวัดอื่น 10% และอบจ.ในเขตพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม 20%

ที่สำคัญถ้าขุดพบปิโตรเลียมเป็นบ้านเรือน ไร่นา หรือที่ดินของประชาชนไม่ต้องห่วง จะได้รับผลตอบอย่างงาม และที่ผ่านมาไม่เคยใช้กฎหมายเวนคืนบีบบังคับ เผลอๆ จะกลายเป็นเศรษฐีในพริบตา

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

รู้ไหม เอรียา. ไม่ชนะเพราะเหตุใด !!?


สัปดาห์ที่แล้วมีอยู่วันหนึ่งเล่าเรื่องความเชื่อของคนอเมริกันที่งานวิจัยของสถาบันวิจัยทางศาสนาของอเมริกาเขาทำสำรวจว่าคนอเมริกันเชื่อหรือไม่ว่าการแข่งขันกีฬาทุกนัดทุกแมตช์พระเจ้าท่านได้กำหนดผลการแข่งขันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะให้ใครแพ้ ใครชนะ หรือท่านต้องการให้ผลออกมาเสมอกัน

เชื่อไหมครับว่าคนอเมริกัน ค.ศ.นี้ 27 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าพระเจ้า "ล็อกผล" ล่วงหน้าไว้แล้ว

ในจำนวนคนที่เชื่อว่าพระเจ้าล็อกผล ปรากฏว่าเป็นคนนับถือศาสนาคริสต์ 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแยกเป็นนิกาย 38 เปอร์เซ็นต์ เป็นโปรเตสแตนต์ 29 เปอร์เซ็นต์ เป็นคาทอลิก

เมื่อแยกเป็นภูมิภาค ปรากฏว่าคนอเมริกันในรัฐทางตอนใต้เชื่อว่าพระเจ้าล็อกผลล่วงหน้าไว้แล้วมากกว่าภาคอื่นๆ คือ 36 เปอร์เซ็นต์ เชื่อน้อยสุดคือภาคตะวันตก 15 เปอร์เซ็นต์

ผมเขียนถึงพระเจ้าล็อกผลการแข่งขันไว้ล่วงหน้าเพื่อปลอบใจแฟนกอล์ฟชาวไทยที่ชมการถ่ายทอดสดกอล์ฟ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2013 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทุกคนหัวใจสลายแบบคาดไม่ถึงที่เห็น เอรียา จุฑานุกาล ไม่ได้แชมป์ทั้งๆ ที่เมื่อเหลืออีกหลุมเดียวเธอทำคะแนนนำ ปาร์ก อิน บี ถึง 2 แต้ม แถมหลุมสุดท้ายเป็นหลุมพาร์ 5 ซึ่งถือเป็นหลุมง่ายสำหรับนักกอล์ฟอาชีพ

ตอนที่เอรียาเดินลงจากแท่นทีออฟหลุมสุดท้าย ผู้ชมทั้งสนามมั่นใจว่าเธอคือคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้แชมป์แอลพีจีเอ ทัวร์ ได้แชมป์โดยที่คู่แข่งของเธอทั้ง 60 คน คือนักกอล์ฟที่เก่งที่สุดของโลก ณ เวลานี้

ทุกคนมั่นใจเพราะเธอตีช็อตแรกของหลุมสุดท้ายลูกไปอยู่กลางแฟร์เวย์ พอช็อตแรกอยู่ในแฟร์เวย์ งานที่เหลือก็ง่ายแล้ว

ขนาดผู้บรรยายภาษาอังกฤษที่บรรยายการแข่งขันแพร่ภาพไปทั่วโลกยังพากย์ว่าสาวไทยวัย 17 ปีเป็นแชมป์ 99 เปอร์เซ็นต์แล้ว

เธอไม่พูดว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เพราะคิดว่าเอรียาจะพลาด ที่ไม่พูดเพราะต้องรักษามารยาท เนื่องจากการแข่งขันยังไม่จบ

ไม่มีใครคิดว่าหลุมสุดท้ายพาร์ 5 เอรียาจะตี 8 ที หลุมเดียวเสีย 3 คะแนน จากนำ 2 แต้มกลายเป็นแพ้ 1 แต้ม นักกอล์ฟเกาหลีใต้ได้แชมป์ไปแบบเธอเองก็คาดไม่ถึง


เย็นวันอาทิตย์จนถึงเที่ยงวันจันทร์ผมรับโทรศัพท์จากเพื่อนฝูงและคนรู้จักที่เป็นนักกอล์ฟสิบกว่าคน

ทุกคนโทร.มาบ่น มาปรับทุกข์ว่ามันเป็นไปได้อย่างไร

ผมก็บอกอย่างที่อ่านงานวิจัยของฝรั่งเพื่อปลอบใจเขา ว่าสงสัยพระเจ้าท่านกำหนดผลมาแล้ว ไม่อย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้หรอก

ไม่เชื่อลองให้เอรียากลับไปเริ่มเล่นช็อต 2 ที่หลุมสุดท้ายใหม่อีกห้าพันรอบก็ได้ รับรองว่าเธอตีไม่เกิน 6 ที ต่อให้เธอใช้เหล็ก 7 อันเดียวเล่นทั้งไดรฟ์ ชิพ และพัตต์ เธอก็ยังตีไม่เกิน 6 ที ได้แชมป์แน่นอน

แล้วทำไมช็อต 2 เธอจึงใช้หัวไม้ตีกะ 2 ออนทั้งๆ ที่ลูกอยู่ในตำแหน่งหน้าต่ำหลังสูง แทนที่จะใช้เหล็ก 6 หรือเหล็ก 7 ตีวางตัวแบบให้อยู่ในแฟร์เวย์ล้านเปอร์เซ็นต์ เพื่อว่าช็อตที่ 3 จะได้ตีเหล็กสั้นจากไลดี ทำอีก 2 พัตต์ ได้แชมป์แบบไม่ต้องเสี่ยงแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว?

คำตอบ...เพราะพระเจ้ากำหนดผลไว้แล้วไงครับ

จึงทำให้อะไรก็ไม่รู้ดลใจให้เธอตีบุกแล้วท็อปหัวลูกวิ่งลงหลุมทรายซึ่งอยู่ห่างธงประมาณ 65 หลา

แล้วสิ่งที่ผู้ชมทั้งสนามไม่เห็น แต่ผู้ชมทีวีทางบ้านเห็นแล้วใจหายวาบก็คือลูกกอล์ฟของเอรียาไปค้างอยู่กับชายแผ่นผ้าสังเคราะห์ที่ปูรองพื้นหลุมทรายเพื่อป้องกันไม่ให้ดินผสมกับทราย-ซึ่งเป็นเทคนิคปกติของการสร้างสนามกอล์ฟ

และช่างบังเอิญเหลือเกินที่ลูกกอล์ฟพุ่งมาด้วยความแรงที่พอเหมาะพอเจาะชนิดที่ตีอีก 1 ล้านครั้งก็ไม่มีทางไปอยู่ตรงนั้นได้

หนักหรือเบากว่านี้นิ้วเดียวลูกจะไหลลงไปอยู่กลางทรายได้สบาย

เมื่อเห็นลูกกอล์ฟไปติดค้างอยู่ตรงชายแผ่นผ้าสังเคราะห์และอยู่ใต้ขอบด้านหน้าของหลุมทราย เอรียายืนมองแล้วนึกไม่ออกว่าจะตีอย่างไร ตีออกด้านข้างก็ไม่ได้

ถามกรรมการว่าฟรีดร็อปมั้ย (เร่ตำแหน่งของลูกโดยไม่ต้องโดนปรับ 1 แต้ม)

กรรมการบอกว่าไม่ใช่

สุดท้ายเธอยอมโดนปรับ 1 แต้มแล้วหยิบลูกดร็อปในหลุมทราย

ตอนแรกผมคิดว่าเธอโชคดีที่ดร็อปในทรายแล้วลูกไหลไปหยุดในไลลอยดีมาก

แต่ในสภาพที่ถูกกดดันทำให้เธอสวิงแรงและตีไกลกว่าที่ตั้งใจประมาณ 3 หลา ลูกตกเลยกรีนและเลยธงไปอยู่ในไลที่นักกอล์ฟทุกคนไม่ต้องการไปอยู่ตรงนั้นถ้าธงอยู่ส่วนหลังของกรีน เนื่องจากช็อตต่อไปเป็นไลลงเนินอย่างแรง

ช็อตที่ 5 เธอใช้พัตเตอร์นอกกรีน (ซึ่งในทางทฤษฎีเป็นการเลือกที่ถูกต้องเมื่ออยู่ในภาวะถูกกดดัน)

แต่วินาทีนั้นวัยของเธอรับมือกับความกดดันไม่ไหว เธอพัตต์ไปได้แค่ 2 หลาเท่านั้นเองเพราะถ้าพัตต์แรงกลัวถูกวิ่งตกกรีน พัตต์ต่อไประยะคันธงเศษทั้งลงเนินและข้างเนินซึ่งเป็นช็อตที่ 6...

ถ้าลงเธอได้แชมป์

แต่ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าเธอจะพัตต์ลง เพราะไลน์ยากมาก บรรยากาศกดดันสุดขีด

ทุกคนภาวนาว่าจากตรงนี้ทำอีก 2 ที รวมเป็น 7 เสมอกับ ปาร์ก อิน บี ได้ออกไปเพลย์ออฟ แต่เอรียาพัตต์เลยหลุมไป 2 ฟุตครึ่ง แล้วพัตต์อีกทีลูกสะบัดปากหลุม กระฉอกออกมา

เธอทำ 8 ทีที่หลุมสุดท้ายพาร์ 5...

เธอกอดพี่สาวร้องไห้ข้างกรีนทันทีที่จบการแข่งขัน

วันรุ่งขึ้นขณะนั่งรถออกจากบ้านไปสนามบินเพื่อเดินทางไปเล่นรายการต่อไปที่สิงคโปร์ เธอกอดแม่แล้วร้องไห้สะอึกสะอื้น

เธอบอกแม่ว่าเสียใจที่สุดในชีวิต

แม่ปลอบได้น่ารักว่าให้รีบลืมซะ ให้คิดว่าลูกได้ที่ 2 สองรายการติดต่อกันของการเริ่มต้นแข่งในฐานะนักกอล์ฟอาชีพ 2 ทัวร์นาเมนท์ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมมาก

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
//////////////////////////////////////////////////////////////