--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การเมืองไทย !!!?

ทายยาก
การเมืองไทยวันนี้..ดูเหมือนดี..แต่ไม่..
มีสิ่งบอกเหตุมากมายที่อธิบายได้ว่า..พรรคเพื่อไทยกับอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้ง..ยังไม่เสถียรเพียงพอ
ที่จะนำการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่ถาวร..
อีก 2 ปีกว่าๆ ที่จะทำการเมืองให้ครบสมัย..ยังดูไกลเกินไปกว่าจะไปให้ถึงวันนั้น..
สูตรทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ยังแข็งแกร่งและสามารถบันดาลความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหลือเชื่อ..ไม่มีส่วนใดอ่อนแอแต่กลับแข็งแกร่งและสุขุม
ล้ำลึกกว่าเก่า
เหมือน เอชไอวี...ที่แฝงกายฝังร่างไว้รอวันอ่อนแอลงของสังขาร..วันที่ภูมิต้านทานมีปัญหา..
ชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว..เป็นการถอยเล็กๆ ของแกนแห่งอำนาจฟากตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย
แต่แน่นอนว่า มันไม่ใช่การปราชัยและไม่มีใครในฝ่ายนั้นคิดเช่นนั้น..
กองศพของประชาชน..บนการชุมนุมเรียกร้องของคนเสื้อแดง..ทำให้ประเทศได้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง..และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล...อดีตกำลังกลับมาเป็นอนาคต
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย..ถูกกัดกร่อนบุบสลาย..ความสามัคคีในระหว่างการต่อสู้เสื่อมคลาย..การชิงดี
ชิงเด่นแข่งกันประจบเอาใจ..เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์..ปรากฏขึ้นในทุกหนทุกแห่ง..
นักรบถูกดูแคลน..ตลบตะแลงตอแหล กลับได้ดิบได้ดี
...กระสือกระหังเพ่นพล่านไปทั่วทุกโครงงาน..ข้าทาสบริวารเฟื่องฟู..
กลิ่นศพของนักรบเสื้อแดงยังไม่จางหาย..กลิ่นอายของความพ่ายแพ้ครั้งใหม่เริ่มตั้งเค้า..
อำนาจมันจะยั่งยืนอยู่ได้ก็ด้วยการเสียสละส่วนตน..เพื่อเป็นผลิตผลของพี่น้องผองเพื่อน..อำนาจจะสถาพรอยู่ได้..แผ่นดินต้องมั่นคงพลเมืองต้องมั่งคั่ง..
แต่เรื่องราวบนแต่ละสื่อ..บนการรับรู้ของสาธารณชน..มันก็คือ..เรื่องราวเก่าๆ ความหิวโหยอย่างไม่รู้จบของวงศาคณาญาติ..
ถ้าชาติในความหมายของท่าน คือ จานอาหารและเหมืองสมบัติขนาดใหญ่..จงรับรู้ไว้บนความปราชัย
เบื้องหน้า..
คือ หายนะแบบถาวร..

โดย.พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ธุรกิจเบียร์ไทย: กับตลาดใน อาเซียน !!?

ปัจจุบัน ธุรกิจเบียร์ไทย ต้องเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการแข่งขันในตลาดทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและ เบียร์นำเข้า รวมทั้งการเติบโตของตลาดในประเทศที่มีการขยายตัวไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมาและความเข้มงวดของมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเบียร์ไทยมุ่งรุกขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการขยายตัวทั้งทางด้านของประชาชน และ กำลังซื้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากการรวมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ในปี 2558 นอกจากนี้ ตลาดเบียร์ในอาเซียนก็นับว่ายังเป็นตลาดที่มีการบริโภคต่อหัวเติบโตในอัตราที่สูงเมื่อ เทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จึงยิ่งเป็นปัจจัยช่วยเสริมให้ตลาดเบียร์อาเซียนมีศักยภาพ ในการขยายตลาดและการลงทุนในมุมมองของผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติตลาดเบียร์ปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.2 (YoY) จากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น

ภาพรวมของตลาดเบียร์ในประเทศปี2555 คาดว่าจะมีแนวโน้มสดใสกว่าในช่วง4 ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณจำหนำยเบียร์ในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นสูงถึงประมาณ 2,000 ล้านลิตร หรือขยายตัวร้อยละ 14.5 (YoY) และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 125,000 ล้านบาทหรือขยายตัวร้อยละ 4.2 (YoY) โดยมีปัจจัยหนุนมาจากกำลังซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ การปรับขึ้น เงินเดือนข้าราชการและค่าแรง 300 บาท ตลอดจนแรงหนุนจากการแข่งขันฟุตบอลยูโรในปีนี้ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการทำการ ตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการ และเพิ่มโอกาสในการดื่มเบียร์ในช่วง ระหว่างที่ติดตามชมและเชียร์การแข่งขัน อย่างไรก็ตามเป็นที่นำสังเกตว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดเบียร์ในประเทศ จะมีรูปแบบที่ขยายตัวไปในกลุ่มเบียร์ระดับ อีโคโนมี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีราคาขายถูกกว่ากลุ่มอื่น โดยสัดส่วนของมูลค่าตลาดเบียร์ในกลุ่มอีโคโนมีเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 80 ในปี 2548 เป็นร้อยละ85 ในปี 2555

สำหรับทิศทางการแข่งขันของตลาดเบียร์ในอนาคต คาดว่าจะยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศ และเบียร์นำเข้า ที่เริ่มกลับมานำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2554 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 58 (YoY) และมีแนวโน้มที่การนำเข้าเบียรในปี 2555 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการนำเข้าเบียร์ในปี2555 จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 (YoY)

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมาตรการกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยในปัจจุบันมาตรการ ดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการควบคุมการจำหนำย(กำหนดช่วงเวลาขาย กำหนดสถานที่ห้ามจำหนำย กำหนดระยะเวลาในการ เปิดให้บริการสถานบริการ/สถานบันเทิงที่จำหนำยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)การจำกัดกลุ่มผู้บริโภค(ห้ามเด็กซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอล กอฮอล์ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะขณะขับขี่ หรือขณะโดยสารในรถ)การควมคุมการโฆษณา (กำหนดช่วงเวลาในการโฆษณาเงื่อนไขในการโฆษณาผ่านป้ายกลางแจ้ง)ตลอดจนการควบคุมข้อความบนฉลากสินค้า(ระบุห้ามจำหนำยแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีระบุคำเตือนเรื่องความสามารถในการขับขี่ในขณะเมาสุรา)อาเซียน…ตลาดเป้าหมายของผู้ประกอบการในธุรกิจเบียร์

อาเซียน นับว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูงในการขยายตลาดในมุมมองของผู้ประกอบการเบียร์ทั้งไทยอาเซียน รวมไปถึงผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำในระดับโลกโดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้
ปริมาณการบริโภคเบียร์ต่อหัวในอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างสูง แม้ว่าการบริโภคต่อหัวในปี 2553 จะมีปริมาณเพียง 11 ลิตรต่อคนต่อปี แต่หากพิจารณาอัตราการขยายตัวในการบริโภคนับว่าเป็นอัตราที่สูงถึงร้อยละ 6 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาและยุโรปที่มีฐานการบริโภคเบียร์ค่อนข้างใหญ่ และแนวโน้มการบริโภคเบียร์ชะลอลงด้วยเหตุนี้ ทำให้การขยายตลาดไปยังอาเซียนจึงสามารถทำได้ง่ายกว่าภูมิภาคอื่นๆ

การขยายตัวของจำนวนประชากรในอาเซียน ปัจจุบันจำนวนประชากรในอาเซียนมีประมาณ 612 ล้านคน ขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ต่อปี (ข้อมูลจาก United nation)ซึ่งนับว่ามีการเพิ่มขึ้นของประชากรมากกว่าประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว เช่น ทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรของอาเซียน ส่วนใหญ่ประมาณ400 ล้านคน เป็นประ ชากรในวัยทำงาน(อายุ 15-60) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในสินค้าเบียร์ด้วยเหตุนี้ จึงยิ่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจของผู้ประ กอบการธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มแอลกฮอล์อื่นๆ มากยิ่งขึ้น

การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดอุปสรรคด้านการค้าต่างๆ เช่น การเก็บภาษีศุลกากรขาเข้า การเพิ่มความ สะดวกในกระบวนการทางศุลกากร รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบทางด้านการลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าไปทำตลาดภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

ข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีพรมแดนติดกับกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบกับการมีโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศซึ่งจะเสริมให้การคมนาคมขนส่งเชื่อมถึง กันทั้งทางบกทางน้ำ ช่วยเพิ่มจุดแข็งจากข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนการขนส่งกระจายสินค้าและลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าภายในอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีพรมแดนติดกับไทย

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการเบียร์ไทยจะเข้าไปมีบทบาทในตลาดเบียร์อาเซียนเพิ่มขึ้น ลำพังเพียงการส่งออกสินค้าไปจำหนำย อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะช่วงชิงโอกาสด้านการตลาด เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ อาทิ สินค้าคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาแข่งขัน รวมทั้งสินค้าเบียร์ท้องถิ่นที่ครองส่วนแบ่งตลาดค่อนข้าง สูงในตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการ/กลยุทธ์อื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน อาทิ การเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างเต็มที่ หรือการเข้าไปควบรวมหรือซื้อกิจการ หรือลงทุนร่วมกับธุรกิจท้องถิ่น เพื่อให้ได้ผู้ร่วมทุนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดรวมทั้งความแข็งแกร่งทางด้านเครือข่ายการจัดจำหนำย/กระจายสินค้าไปสู่ร้านค้าหรือผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจรูปแบบดังกล่าว จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก่อนที่จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (สยามรัฐ)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อกังวลใจของ สื่อลาว !!?

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน



โจทย์ในการเปิดประเทศของ สปป.ลาว ยังมีอีกหลายเรื่องหลายด้านที่ต้องเร่งพัฒนา ด้านข้อมูล ข่าวสาร และสื่อมวลชน เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลลาวให้น้ำหนักในการพัฒนา เพื่อก้าวสู่ความเท่าเทียมกับชาติเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกอาเซียน

ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ในประเทศลาวที่เป็นที่รู้จักดีคือเวียงจันทน์ ไทมส์ (Vientian Time)ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1994 และวางแผงรายวัน 6 ฉบับต่อสัปดาห์ โดยยกเว้นวันอาทิตย์ มียอดพิมพ์อยู่ที่ 3,000-5,000 ฉบับต่อวัน และมีนักข่าวอยู่ราว 60 คน ทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวฝรั่งเศส นอกจากจะตีพิมพ์แล้ว เวียงจันทน์ ไทมส์ยังเปิดให้บริการข่าวสารผ่าน SMS ทั้งภาษาลาวและอังกฤษ

ส่วนตลาดหนังสือพิมพ์นอกเหนือจากเวียงจันทน์ ไทมส์แล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่น ๆ อีกราว 9 ฉบับ หนังสือพิมพ์เฉพาะทางที่เสนอข่าวสารด้านธุรกิจ 2 ฉบับ และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอีก 2 ฉบับคือ Vientian Mai และ KPL

ข่าวสารของ สปป.ลาวไม่หวือหวา และมีหลักการคัดเลือกคือ ไม่ให้กระทบต่อสังคม ความสงบสุข และความปรองดองของคนในชาติ น้ำหนักของการสนใจข่าวสารของชาวลาวคือ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น อาชญากรรม อัคคีภัย และที่ได้รับความสนใจสูงในขณะนี้คือ ภัยพิบัติต่าง ๆ

นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว สปป.ลาวยังมีสถานีโทรทัศน์ของรัฐ หรือที่เรียกว่า "สถานีโทรภาพ" โดยออกอากาศ 2 ช่องคือ สทล.1 แพร่ภาพ 13 ชั่วโมงต่อวัน เป็นรายการข่าว สาระความรู้ต่าง ๆ โดยรายงานทั้งข่าวภาคภาษาอังกฤษและภาษาชนเผ่า ส่วนอีกช่องคือ สทล.3 แพร่ภาพ 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นช่องบันเทิงและกีฬา

นอกจากนี้ สปป.ลาวก็กำลังพัฒนาทีวีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งร่วมทุนระหว่างโทรภาพลาวที่ถือหุ้น, บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีลาว, ประเทศจีน และเวียดนาม

ในปัจจุบันทีวีดิจิทัลให้บริการอยู่ใน 4 แขวงคือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต และจำปาศักดิ์ โดยวางแผนจะพัฒนาให้บริการทั่วประเทศด้วยการเซ็นเอ็มโอยูกับจีน เพื่อกู้เงินจำนวน 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะสำเร็จก่อนปี 2558 ปีที่เข้าสู่ประชาคมอาเซียน

หากมองภาพรวมผู้ชมโทรทัศน์ใน สปป.ลาวทั้งประเทศ ช่อง สทล.3 ได้รับความนิยมสูง แต่ขณะนี้ยังขาดรายการบันเทิงในรูปแบบที่หลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นรายการเพลง และแพร่ภาพละครของไทย ยังไม่มีเกมโชว์ ทอล์กโชว์ หรือละครของ สปป.ลาวที่ผลิตเองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เนื่องมาจาก สปป.ลาวขาดบุคลากรที่จะผลิตเนื้อหาและรูปแบบรายการที่หลากหลาย โดยปัจจุบันกำลังเร่งพัฒนาบุคลากรเข้ามาทำงานในสาขานี้มากยิ่งขึ้น

อีกสาเหตุที่ยังไม่มีผู้ใดเข้ามาเริ่มทำรายการบันเทิงและละครใหม่ ๆ ใน สปป.ลาว คือ ชาวลาวทั่วทั้งประเทศนิยมดูโทรทัศน์ไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครไทย จึงทำให้ยังไม่เกิดการพัฒนาของรายการที่หลากหลายมากนัก โดยที่ผ่านมา สปป.ลาวเคยมีทอล์กโชว์ แต่ออกอากาศได้เพียง 2-3 ปีก็ต้องล้มเลิกไป

ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สปป.ลาวต้องโชว์ศักยภาพให้นานาชาติได้เห็น โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting-ASEM) ครั้งที่ 9 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงเวียงจันทน์ ที่มีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ มาเข้าร่วม 46 ประเทศ นี่เป็นโอกาสที่ สปป.ลาวจะพัฒนาศักยภาพของสื่อมวลชนลาว

แต่ขณะนี้สิ่งที่ สปป.ลาวยังคงหนักใจคือ เครื่องไม้เครื่องมือ และบุคลากรที่ยังไม่พร้อมนักในการถ่ายทอดสดงานระดับนานาชาติครั้งนี้ ความท้าทายนี้กำลังจะมาเยือนลาวในอีก 1 เดือนข้างหน้า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม มาตรฐานตัดสินเหลือง-แดง !!?

วันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดงานรำลึก 4 ปี เหตุสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาอย่างคึกคัก

กิจกรรมครบรอบ 4 ปี มีทั้งทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ 86 รูป เพื่ออุทิศแก่ผู้เสียชีวิต

งานพบปะรื่นเริงของคนคอเดียวกันที่บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ มีศิลปินเข้าร่วม เช่น
แฮมเมอร์, สุกัญญา มิเกล, หว่อง คาราวาน

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1569/2552 ระหว่างนายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2

กรณีมีคำสั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรฯที่ปิดทางเข้า-ออกรัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

เป้าหมายคือ หากรัฐบาลแถลงนโยบายไม่ได้ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องแลถงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน

คำสั่งศาลปกครองกลางสรุปได้ว่า จากข้อเท็จจริงทั้งรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สื่อมวลชน และพยานบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้ให้ถ้อยคำที่สอดคล้องตรงกันว่า

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 นับแต่เวลา 05.00-24.00 น. ตำรวจได้นำอาวุธปืน วัตถุระเบิดชนิดต่างๆที่มีอันตรายโดยสภาพมาใช้ในการสลายการชุมนุม โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานสากลที่ต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่เป็นผลจึงจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก

การสลายการชุมนุมดังกล่าว ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตรงเข้าไปยังผู้ชุมนุมโดยตรง มีการยิงใส่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รถพยาบาล โดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่แพทย์-พยาบาลที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ

แสดงให้เห็นว่าแผนกรกฎ 48 ที่นำมาใช้เป็นเพียงการอ้างหลักการตามมาตรฐานสากล แต่การปฏิบัติจริงหาได้เป็นไปตามหลักการให้ความเมตตาต่อผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างดังที่เขียนไว้ในแผนปฏิบัติการแต่อย่างใด

นอกจากนี้ระยะเวลาในการสลายการชุมนุมยังมีต่อเนื่องยาวนานถึง 4 ช่วง รวม 18 ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจดค่ำ ทั้งที่การสลายการชุมนุมมีเป้าประสงค์เพื่อเปิดทางให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา เข้าประชุมและเดินทางกลับออกจากรัฐสภาได้

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า รัฐสภาปิดการประชุมตั้งแต่เวลา 11.30 น. สมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีออกจากสภาแล้วเสร็จตั้งแต่เวลา 18.00 น. จึงไม่มีเหตุที่ต้องสลายการชุมนุมในช่วงเวลา 18.00-24.00 น. แต่กลับยังมีการใช้อาวุธระเบิดชนิดต่างๆยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมในเวลากลางคืน เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส

เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำโดยจงใจ กระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม

…ผู้ถูกฟ้องทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดี ซึ่งกำหนดค่าเสียหายให้กับผู้รับความเสียหายตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ม.ค. 2555 เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง

รวมเงินชดใช้ค่าเสียหาย 32,378,296.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ต.ค. 2552 จนกว่าจะทำการชำระเสร็จ โดยให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน และหากภายใน 2 ปีนับแต่มีคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดี ผู้ร้องสอดรายใด ยังคงต้องรักษาอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากการกระทำละเมิด ศาลยังสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้เพิ่มเติมได้อีก

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น หากคู่ความไม่พอใจยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นน่าสนใจตรงที่ว่า

หากการสลายการชุมนุมของตำรวจเป็นการกระทำโดยจงใจ กระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม จนนำมาซึ่งคำสั่งให้จ่ายค่าชดใช้

แล้วการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ใช้ยุทธศาสตร์ทางทหารเข้าดำเนินการ ใช้อาวุธสงคราม ใช้ปืนซุ่มยิง ใช้รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ ใช้เฮลิคอปเตอร์ปาแก๊สน้ำตา

จะเรียกได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจ กระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุมได้หรือไม่?

ความเสียหายที่เกิดกับผู้ชุมนุมทั้งตัวเลขคนเจ็บ คนตาย ระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงต่างกันไม่รู้กี่สิบเท่า

ไม่รู้ว่ามีใครในกลุ่มผู้เสียหายคนเสื้อแดงไปยื่นฟ้องศาลปกครองเอาไว้บ้างหรือไม่

หากไม่มีใครไปยื่นฟ้องไว้ ก็น่าจะลองไปยื่นฟ้องกันดู

ยื่นฟ้องเพื่อพิสูจน์มาตรฐานคำตัดสินของศาลปกครองดูหน่อยเป็นไรว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

แบบอย่างที่ดี !!?

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค ยกย่อง อองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย อันเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้ใช้ความพยายามและการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ต่อนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาล
เต็ง เส่ง ซึ่งเป็นผู้นำพะม่าคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ท่ามกลางการจับตามองและเฝ้ารอรับฟังของบรรดาชาติมหาอำนาจทั้งหลาย
ในการกล่าวยกย่อง ออง ซาน ซูจี อย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง กล่าวว่า...
ในฐานะตัวแทนของชาวพม่า เขาขอแสดงความยินดีต่อทุกรางวัลและการยกย่องที่ออง ซาน ซูจี ได้รับระหว่างการเยือนสหรัฐ ซึ่งเป็นผลตอบแทนความพยายามต่อสู้เพื่อสันติภาพอันยาวนานของเธอ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการต่อสู้เพื่อดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศต่อไป
ในการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งที่แล้วนี้ ออง ซาน ซูจี ได้ไปรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และได้รับรางวัลเหรียญทองคำ อันเป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดจากรัฐสภาสหรัฐ กับได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ
ภายหลังจากที่ใช้ระบอบเผด็จทหารปกครองพม่ามานาน ๕๐ ปี พม่าก็ได้เปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ดำเนินโยบายหลายอย่าง ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแต่มีขั้นตอน
ทำให้นักวิเคราะห์คาดหมายว่า...พม่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญของภูมิภาคในอนาคต โดยมีผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากเอกลักษณ์แห่งความยึดมั่นในชาติของคนพม่า
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ นักการเมืองและภาคส่วนต่างๆ ของพม่าไม่ได้ทะเลาะแย่งชิงผลประโยชน์กันเหมือนที่เป็นอยู่ในประเทศไทยเรา พวกเขาช่วยกันทำทุกอย่างและร่วมกันคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศและประชาชน
ออง ซาน ซูจี นั้น หลังจากที่ได้รับการปลดปล่อยจากการถูกคุมขังนานกว่า ๒๐ ปี ก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เป็นผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่ทั่วโลกมีต่อพะม่าเพิ่มมากขึ้น
มิใช่ไปด่ารัฐบาลปาวๆ อย่างเดียว
หลังการเยือนของ ออง ซาน ซูจี มักจะตามไปด้วยการเยือนของ เต็ง เส่ง เพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการแทบทุกครั้ง แสดงถึงการร่วมมือระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประเทศพม่าโดยส่วนรวม
สิ่งนี้แหละที่เป็นจุดแข็งอันสำคัญของพลังสร้างชาติของพม่ายุคใหม่

โดย.ศรี อินทปันตี, บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ธ.ก.ส.แถลงรับเงินคืนจำนำข้าวเกือบ แสนล้าน !!?

ธ.ก.ส.แถลงรับเงินคืน โครงการรับจำนำ จากการระบายข้าวของรัฐบาล เกือบแสนล้านบาท ช่วงบ่ายวันนี้ ที่กระทรวงการคลัง

รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า วันนี้(8ต.ค.) เวลา 14.00 น. ธ.ก.ส.จะแถลงข่าว รับเงินคืนโครงการจำนำข้าวเกือบแสนล้านบาท ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ถ.พระราม 6

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีได้รับรายงานของกระทรวงพาณิชย์เรื่องการระบายข้าว ตามโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งปัจจุบันมีการระบายข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 8.3 ล้านตัน คงเหลือ 4.175 ล้านตัน คาดว่าจะได้รับเงินคืนจากการขายข้าวของโครงการดังกล่าวถึงสิ้นปี 2556 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้เงินที่ได้รับคืนมา ก็จะนำมาใช้หมุนเวียนสำหรับดำเนินการในโครงการต่อไป นอกจากนี้ยัง ได้ให้ความเห็นชอบโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาล 2555-2556 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนข้าวเปลือกข้าวนาปี 2555/56 จำนวน 15 ล้านตัน 2.4 แสนล้านบาท โดยให้ดำเนินโครงการตั้ง 1 ต.ค. 2555 เป็นต้นไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โครงการจำนำข้าว v.s. โครงการประกันรายได้ นโยบายใดที่ชาวนาได้รับประโยชน์มากที่สุด !!?

โครงการรับจำนำข้าว โครงการประชานิยมสำหรับเกษตรกรที่หลายฝ่ายกำลังมองว่าเป็นปัญหา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีการออกมาล่ารายชื่อจากกลุ่มนักวิชาการเพื่อยื่นต่อศาลให้ยุตินโยบายดังกล่าวโดยมองว่าเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและเอื้อต่อการทุจริต

ภาพจากไทยรัฐ

นอกจากนี้ ประเด็นที่โหมกระแสเล่นกันอยู่ตามหน้าสื่อต่างๆ ก็มีอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เช่น..
  • บทความเรื่อง ไทยเสียแชมป์ส่งออกจนได้ หรือ
  • ยืนยันว่าไทยเสียแชมป์โลก ส่งออกข้าว…ใครรับผิดชอบ?
  • จากบทสัมภาษณ์ของกรุงเทพธุรกิจ หอการค้าชี้ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว
  • หรือจากฝ่ายค้าน ปชป.ซัดรบ.ทำปท.เสียแชมป์ส่งออกข้าว
  • กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาแก้ข่าว ปูให้ก.พาณิชย์แจงไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว “บุญทรง” ลั่นไม่เกี่ยวรับจำนำ
SIU จึงอยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันทบทวน ระหว่างการรับจำนำกับการประกันรายได้ แต่ละนโยบายที่ใช้มีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง

โครงการจำนำข้าว

ในโมเดลนี้รัฐจะทำตัวเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าวจากชาวนาโดยการนำข้าวไปที่โรงสี ตามด้วยการตรวจวัดความชื้นโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำโรงสีคอยควบคุม จากนั้นจึงออกใบประทวนให้ชาวนาเพื่อรับเงินจาก ธกส และโรงสีจะสีข้าว นำไปเก็บเพื่อรอขาย

จากโมเดลนี้ชาวนาเลือกขายข้าวให้กับผู้ที่ให้ราคาดีกว่าแต่อีกด้านพ่อค้าก็จำเป็นต้องซื้อข้าวไปขายเช่นกันจึงต้องรับซื้อจากชาวนาในราคาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับตัวขึ้นโดยที่รัฐไม่ต้องไปรับซื้อข้าวทั้งหมดจากตลาด
ภาพจากข่าวสด

ประเด็นเรื่่องการทุจริต

การทุจริตยังมีอยู่จริง จากการเอาข้าวไปผ่านโรงสีกลายเป็นช่องทางในการเอาข้าวเก่ามาสับเปลี่ยนกับข้าวใหม่ที่รับจำนำมาบ้าง หรือในเรื่องการลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกเกินจริงของชาวนา โดยร่วมมือกับโรงสีเพื่อที่โรงสีจะนำข้าวจากที่อื่นมาสวมสิทธิ หรือชาวนาถูกโกงโดยโรงสีจากการวัดความชื้นทำให้ได้ราคาจำนำที่ถูกลงในบางรายโรงสีไม่จ่ายใบประทวนให้เกษตรกรแต่จ่ายเงินสดด้วยราคาที่น้อยกว่ารัฐ นอกจากนั้นโรงสีก็จะได้รับผลประโยชน์จากการสีข้าวให้รัฐบาล และจากค่าเช่าสถานที่เก็บข้าว
หากมองในเชิงการเมือง การจำนำข้าวคือนโยบายหลักที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะจากฐานเสียงของเกษตรกร ดังนั้นการทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้จึงเป็นการรักษาฐานเสียงของพรรค อีกทั้งประโยชน์ที่น่าจะเอื้อต่อการหล่อเลี้ยงผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เช่น กลุ่มนายทุนโรงสี ที่น่าจะเป็นทั้งฐานเสียงและหัวคะแนนให้กับพรรคในการเลือกตั้ง จะใช่หรือไม่คงต้องตามดูกันต่อไป

เรื่องการบิดเบือกลไกตลาดน่าจะเป็นประเด็นรองที่ควรจะนึกถึงกัน แต่ควรจะห่วงเกษตรกรก่อน ตราบใดที่อุตสาหกรรมข้าวไทยยังอ่อนแอ ควรต้องปกป้องชาวนาก่อนกลไกตลาด ??

จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องยึดติดกลไกตลาดขณะที่เรายังไม่พร้อมจะแข่งขัน เราจะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศ เช่นอเมริกาที่มักอ้างเรื่องการค้าเสรี หลายครั้งๆ ก็ยังต้องออกมาปกป้องสินค้าของตนเองเพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถอยู่ได้
 
ภาพจากไทยรัฐ

ประเด็นเรื่องงบประมาณ

โครงการนี้ใช้งบประมาณมากขึ้น แต่เป็นงบหมุนเวียน (ย้ำ งบหมุนเวียน) ไม่ใช่งบเสียเปล่าเพราะจะต้องมีเงินคืนกลับมาจากการขายข้าวโดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง โครงการรับจำนำข้าวใครได้ประโยชน์? ว่าในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่ต้องรับจำนำข้าวหมดทั้งประเทศ
เพราะเมื่อข้าวตกอยู่ในมือของรัฐบาลมากขึ้น ตลาดเอกชนก็จะมีข้าวน้อยลง ทำให้ราคาตลาดเอกชนสูงขึ้นไปเอง ชาวนาทั่วไปก็จะขายข้าวในตลาดเอกชนได้ราคาสูงตามไปด้วยโดยไม่ต้องเข้าโครงการจำนำ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เม็ดเงินตกไปที่ชาวนาเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น

ผลทางจิตวิทยาที่ตามาคือ พ่อค้าข้าวในประเทศจะเป็นผู้ซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่ใกล้เคียงกับรัฐบาลเพราะถ้าราคาต่างกันมากชาวนาก็จะขายข้าวให้กับรัฐบาลแทน โดยปัจจุบันยอดจำนำข้าวสิ้นเดือนกันยายน 2555 มีข้าวเข้ามาจำนำในโครงการที่ 14.39 ล้านตัน ( ร้อยละ 57.56) จากข้าวทั้งหมด 25 ล้านตัน เท่ากับว่าข้าวอีก 42 % อยู่ที่พ่อค้าข้าวและข้าวที่พ่อค้าซื้อจากชาวนาซึ่งก็คงจะไม่รับซื้อในราคาที่ต่างจากรัฐบาลมากนัก

ด้าน นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง ไทยโพสต์ ว่าโครงการจำนำทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่าโครงการประกันราคาถึง 6.8 หมื่นล้านบาท โดยเปรียบเทียบจากราคาอ้างอิงช่วงประกันราคาข้าวที่กำหนดไว้ 8,000 บาท/ตัน

เรื่องงบประมาณนั้นเราคงต้องรอดูว่ารัฐบาลขายข้าวได้เงินกลับมาเท่าไหร่ หักลบกันแล้วการรับจำนำจะใช้เงินมากกว่าหรือน้อยกว่าการประกันรายได้หรือไม่

นโยบายจำนำข้าวกับการเสียแชมป์ของไทย?

อวสานแชมป์ ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ
หลายท่านอาจภูมิใจกับตำแหน่งนี้มากเพราะคิดว่าการส่งออกข้าวได้มากชาวนาก็จะได้เงินมากขึ้น แต่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าการส่งออกอันดับ 1 ของโลกนั้นได้มาซึ่งการกดราคาข้าวจากพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันรายได้ช่วยส่งเสริมให้พ่อค้าคนกลางกดราคาข้าวให้ถูกลง
ถามว่า ชาวนาจะภูมิใจกับตำแหน่งดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน? หากตนเองขายข้าวได้ในราคาที่ถูกเพื่อจะไปแข่งขันกันด้านราคาให้ประเทศไทยได้แชมป์ส่งออกข้าว

ในสถานการณ์ปัจจุบันราคารับจำนำข้าวของไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากราคาข้าวในตลาดโลกไม่ขยับไทยอาจจะต้องเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ในขณะที่ชาวนาจะได้เงินมากขึ้นเพราะราคารับจำนำข้าวที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะต้องโยนคำถามกลับไปที่ชาวนาในฐานะผู้ปลูกข้าวว่าการรักษาแชมป์ส่งออกข้าวกับการขายข้าวได้ราคาดีขึ้นอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ??

โครงการประกันรายได้



โครงการประกันรายได้เกษตรกร มาจากฐานคิดเรื่องหลักประกันความเสี่ยงเนื่องจากความผันผวนของราคาหรือกรณีเกิดการเสียหายของพืชผลการเกษตรจากภัยพิบัติต่างๆซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าเกษตรกรจะได้เงินชดเชยกลับไปบ้าง โดยรัฐไม่ต้องไปเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ในตลาด

เพราะรัฐจะชดเชยส่วนต่างของราคาสินค้าให้เกษตรกร เช่น รัฐประกันราคาข้าวไว้ที่ตันละ 10,000 บาท แต่เกษตรกรขายข้าวได้ 5,000 บาท รัฐก็จะชดเชยให้อีก 5,000 บาท ซึ่งเราเข้าใจกันแบบบนั้น แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ในเรื่องการชดเชย รัฐจะมีลิมิตในการชดเชยซึ่งรัฐจะทำการคำนวนคร่าวๆไว้แล้วว่าพื้นที่ปลูกข้าว 1ไร่ จะได้ข้าวกี่ตัน และรัฐจะชดเชยตามที่คำนวนให้ สมมติ 1 ไร่/1 ตัน ซึ่งรัฐจะทราบจำนวนไร่ของชาวนาจากการรลงทะเบียนของชาวนา

ประเด็นการทุจริต

การทุจริตจะอยู่ที่ขั้นตอนลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกหากชาวนาลงทะเบียนเกินพื้นที่จริงจะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินส่วนต่างเกินความเป็นจริง บางรายลงทะเบียนทำนาแต่ไม่ได้ทำจริงก็มีเพราะที่ดินบางส่วนไม่สามารถทำนาได้เนื่องจากระบบชลประทานไม่ทั่วถึง ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินประกันให้ผู้ลงทะเบียนที่ไม่ได้ทำนา

เช่น คนมีที่นา 10 ไร่ ทำได้จริงแค่ 3 ไร่ เพราะอีก 7 ไร่ไม่สามารถทำนาได้อยู่แล้วแต่ก็จะได้เงินชดเชยจากการประกันรายได้อีก 7 ไร่ที่ไม่ได้ทำอีกด้วยเพราะการประกันราคาไม่ได้ดูว่าชาวนาทำนาจริงหรือไม่ ดูแค่จำนวนที่นาที่ลงทะเบียนและประเมินว่านา 1ไร่จะได้ผลผลิตเท่าไหร่ และรัฐจะจ่ายส่วนต่างหากชาวนาขายข้าวไม่ถึงราคาประกัน


ทุจริตประกันรายได้ ภาพจากผู้จัดการ

นอกจากนั้นยังเอื้อให้เจ้าของที่นาปล่อยที่ให้คนอื่นเช่าทำนา อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการโกงคนที่ทำนาอีก เพราะเมื่อเจ้าของนาไปลงทะเบียนประกันรายได้ แต่ตอนทำนาไม่ได้ทำเอง แต่ให้เกษตรกรรายอื่นไปเช่าทำต่อ เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินประกันรายได้รัฐบาลไม่ได้จ่ายให้คนที่เช่านา แต่รัฐต้องจ่ายให้กับผู้ลงทะเบียนก็คือเจ้าของที่นา เงินจึงไม่ตกไปที่เกษตรกรตัวจริง

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการประกันรายได้ที่เราคิดว่าชาวนาจะได้ส่วนต่างจากราคาประกัน เช่นประกันไว้ 10,000 บาท ขายได้ 5,000 บาท รัฐจะชดเชยให้ 5,000 บาท แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลไม่รู้ว่าชาวนาขายข้าวได้เท่าไหร่ เพราะราคาข้าวนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว รัฐบาลจึงได้กำหนด “ราคาอ้างอิง” เพื่อใช้แทนราคาขายจริง แต่ราคาอ้างอิงของทางการกลับสูงกว่าราคาขายจริง
เช่น ประกันราคาไว้ที่ตันละ 10,000 บาท ชาวนาขายได้จริงตันละ 5,000 บาท ก็ควรจะได้รับชดเชยตันละ 5,000 บาท แต่ราคาอ้างอิงทางการอยู่ที่ 8,000 บาท ผลก็คือ ชาวนาได้รับชดเชยจริงแค่ตันละ 2,000 บาท รวมเป็นราคาที่ชาวนาได้รับจริง คือ เงินจากการขายข้าวให้พ่อค้า 5,000 บาท + เงินชดเชยจากรัฐ 2,000 บาท เท่ากับได้ ตันละ 7,000 บาท ไม่ใช่ตันละ 10,000 บาทตามที่รัฐบาลประกันไว้

อีกทั้งยังทำลายความจูงใจในการผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาเพราะเมื่อรัฐชดเชยรัฐจะชดเชยเป็นจำนวนไร่ สมมติรัฐให้ 1ไร่/1ตัน ชาวนามีนา10ไร่ รัฐจะชดเชย 10ตัน แต่หากชาวนาปลูกข้าวขายได้รวมกัน 11ตัน แล้วอีก 1ตัน ที่เกินมาชาวนาก็ไม่ได้รับการชดเชยอยู่ดี

ซึ่งก็ไปทำลายแรงจูงใจที่จะให้ชาวนาปลูกข้าวต่อไร่ให้ได้ผลผลิตสูง และไปเพิ่มความต้องการในการสะสมที่นาของแหล่งทุนหรือเพิ่มแรงจูงใจในการทุจริตแจ้งจำนวนที่นาปลูกข้าวเกินจริงเพื่อจะรับเงินประกันตามพื้นที่

ประเด็นเรื่องงบประมาณ

ถือเป็นข้อดีของการประกันรายได้คือเป็นโครงการที่รัฐไม่เหนื่อยมากเท่าการรับจำนำ ไม่ต้องใช้เงินหมุนเวียนสูงอย่างโครงการรับจำนำ โดยงบประมาณปีที่แล้วรัฐต้องให้เงินชดเชยไปร่วม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็เยอะแต่ยังน้อยกว่าโครงการรับจำนำหลายเท่าตัว (หากเทียบกับงบหมุนเวียน) และเกษตรกรยังได้รับเงินจากรัฐทั่วถึงจากโครงการนี้แม้เฉลี่ยแล้วต่อผลผลิตต่อตันรัฐจะชดเชยให้น้อยกว่าก็ตาม
คลิกเพื่อขยายภาพทำความเข้าใจโครงการประกันรายได้ผ่านผังภาพ

โครงการประกันรายได้กับการเสียแชมป์การส่งออกของไทย?

หากใช้นโยบายประกันรายได้จะมีโอกาสน้อยมากที่ไทยจะเสียแชมป์ในการส่งออก เพราะกลไกของการได้มาซึ่งแชมป์การส่งออกนั้น ชาวนาจะขายข้าวให้พ่อค้าคนกลาง โดยพ่อค้าก็อาจจะกดราคาข้าวให้ต่ำที่สุดเพื่อให้พ่อค้าได้ ต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้พร้อมกับการแข่งขันกับส่งออกกับประเทศต่างๆ
เพราะพ่อค้าทราบดีว่าถึงยังไงแล้วรัฐก็ต้องจ่ายส่วนต่างให้ชาวนา และเมื่อส่งออกข้าวไปแข่งขันกับข้าวที่มาจากเวียดนามที่คุณภาพข้าวต่ำกว่า แต่พ่อค้าไทยขายในราคาไล่เลี่ยกัน เพราะซื้อมาในราคาแสนถูก คงไม่แปลกอะไรที่คนจะเลือกซื้อข้าวไทย ด้วยเหตุนี้ไทยจะยังคงรักษาแชมป์ส่งออกข้าวต่อไป
สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ทาง Voice TV ของนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่กล่าวว่า ปัญหาหรือกระแสข่าวเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงความต้องการของกลุ่มคนบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งไม่สามารถที่จะกดราคาซื้อข้าวให้ต่ำตามที่ต้องการได้

บทสรุป จำนำข้าว V.S. ประกันรายได้ เลือกอะไรดี?

การประกันรายได้นั้น กำไรจากการขายข้าวจะตกไปอยู่ที่ พ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อไปขายในราคาตลาดโลกที่แพงกว่ามาก

การที่นักวิชาการบางกลุ่มออกมาท้วงติงว่ารัฐไปแทรกแซงเอกชน (พ่อค้าข้าว) ไปจนถึงการเสียแชมป์ส่งออกข้าวนั้น เท่ากับว่านักวิชาการกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องเพื่อพ่อพ่อค้าใช่หรือไม่? อันที่จริงก็มีอีกหลายนโนยบายประชานิยมที่สุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับที่นักวิชาการควรจะออกมาปกป้องท้วงติง หากมองผ่านกรอบความคิดที่ว่านโยบายดังกล่าวสนับสนุนหรือให้ประโยชน์แก่คนชั้นกลางเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นกลุ่มคนที่แสดงสิทธิแสดงเสียงแล้วสังคมได้ยินมากกว่า ก็อาจเป็นสาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องต่อต้าน (ดูเพิ่มเติม: นโยบายรถคันแรกอาจกลายเป็นวิกฤตซับไพรม์ไทยในอนาคต)


คลิกเพื่อขยายภาพทำความเข้าใจ โครงการรับจำนำข้าว ผ่านผังภาพ

การรับจำนำข้าว แม้ชาวนาจะได้เงินมากขึ้น เพราะการเข้ามาแทรกแซงด้วยการรับซื้อข้าวในราคาสูงของรัฐบาล อีกด้านก็ทำให้พ่อค้าต้องซื้อข้าวจากชาวนาในราคาใกล้เคียงกัน หรือไม่พ่อค้าก็ต้องมาซื้อตอนรัฐบาลเปิดประมูล แต่ในระบบนี้ โรงสีจะได้ผลประโยชน์จาก ค่าจ้างจากการสีข้าวให้รัฐ เอื้อให้โรงสีโกงได้อีก ทั้งยังใช้งบหมุนเวียนสูง ซึ่งควรจะจำกัดการจำข้าวปีละ 2 ครั้ง

ดังนั้นการรับจำนำข้าวนั้นก็คงไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุด จากข่าวไม่กี่วันที่มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่และอีกหลายพื้นที่เสี่ยงต่ออุทุกภัย เช่นภาคเหนือตอนล่างที่หน้าน้ำหมุนเวียนมากี่คราก็จะได้รับผลกระทบ ทั้งยังต้องแบกรับภาระในการเป็นพื้นที่ทางผ่านของน้ำเป็นที่รับน้ำให้คนกรุงเทพ ซึ่งพอน้ำมา ผลผลิตก็เสียหายและเกษตรกรคงไม่มีพืชผลมาจำนำกับรัฐบาลแน่นอนแม้ว่าจะได้ราคาดีแค่ไหน

อีกด้านคงต้องยอมรับว่าทั้ง 2 โครงการไม่ได้ต่างกันคือสามารถเกิดการทุจริตขึ้นได้ง่าย เราคงจะต้องแยกเรื่องระหว่างการทุจริตกับโครงการรับจำนำอย่าพึ่งไปเหมารวมว่าทั้งโครงการไม่ดีเพราะมีชาวนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้อีกมาก ทั้งยังเป็นนโยบายที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็ควรจะต้องยอมรับมติมหาชน? ส่วนการทุตริตที่มีอยู่ก็ควรบริหารจัดการให้โปร่งใส ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่
ทั้ง 2 โครงการนั้นใช้เงินจากภาครัฐ ไม่ว่าจะใช้มากหรือน้อยเพียงใด สุดท้ายรัฐยังต้องจ่ายเงินขั้นต่ำอยู่ที่หลัก 10,000 ล้านบาท ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือ ถ้ารัฐจ่ายเงินไปแล้วในทั้งสองโครงการ ผลที่จะได้กลับมาคืออะไร ??

ทั้ง 2 โครงการเป็นมาตรการที่ทุกรัฐบาลนิยมใช้เพราะเห็นผลเร็วที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่เยอะและไม่ยั่งยืน โจทย์เหล่านี้ต่างหากที่น่าจะนำไปขบคิดต่อสำหรับทุกรัฐบาล คือระหว่างทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงแบบที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังจะทำอยู่ ด้วยการพยามเจราจาตั้งกลุ่มประเทศผู้ขายข้าว “สหพันธ์ผู้ค้าข้าว” เพื่อยกระดับราคาข้าว ซึ่งหากทำได้ก็น่าจะส่งผลดีในการทำให้ต้นทุนเกษตรกรต่ำ อันไหนทำได้ง่ายกว่าและยั่งยืนกว่ากัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ เราคงต้องยอมรับกันว่าโครงการประชานิยมนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย มีหลายๆ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากประชาชานิยมในโครงการต่างๆ เช่น ชนชั้นกลางกับโครงการรถคันแรก เงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท ตลอดจนการลดภาษีนิติบุคลให้กับกลุ่มบริษัทซึ่งผู้ได้ประโยชน์ก็คงหนีไม่พ้นบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งก็ล้วนเป็นชนชั้นนำของประเทศ

กระทั่งการทุ่มงบไปกับการดูแลชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างมหาศาล การนำทรัพยากรมากระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งหากมองจากมุมนี้ทุกคนก็ล้วนได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ซึ่งนโยบายใดๆ ก็ตามก็ย่อมส่งผลกระทบต่อรายรับรายจ่ายของรัฐเช่นกัน

กรวิจัยข้าว ภาพจาก cp e-news

ข้อเสนอแนะ

รัฐควรจะหาวิธีการที่ทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรกรรมลดลง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการโครงสร้างระบบชลประทานที่ดีเพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง และการส่งเสริมการวิจัยข้าว เช่น ทำอย่างไรให้ข้าวไทย คุณภาพดี เก็บได้นาน เพื่อยกระดับคุณภาพข้าวไทยโดยไม่ต้องไปแข่งขันเรื่องราคากับประเทศอื่นๆ
หรือการคิดค้นสายพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาวะต่างๆ เช่น น้ำท่วม หรือฝนแล้งร่วมเดือน พันธุ์ข้าวนั้นๆ ก็ยังทนอยู่ได้ ขณะนี้เริ่มมีพันธุ์ข้าวดังกล่าวบ้างแล้ว เป็นการคิดค้นเพื่อลดความเสียหายจากสภาพอากาศ ลดการขาดทุนให้ชาวนา

หากพูดกันตามจริง งบประมาณด้านการวิจัยของไทยยังน้อย หากเทียบกับประเทศในอาเซียน อย่างเวียดนามในปี 2010 เวียดนามใช้งบ 3,000 ล้านบาทขณะที่ไทยใช้งบประมาณร่วม 200 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบกับงบการวิจัยในประเทศโซนเอเซียด้วยกันในปี 2011 หากคิดเป็น GDP ไทยอยู่ที่ 0.25% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.3% เกาหลีใต้อยู่ที่ 3.0% สิงคโปร์อยู่ที่ 2.2% จีนอยู่ที่ 1.4% อินเดียอยู่ที่ 0.9% และ มาเลเซีย อยู่ที่ 0.69% (ดูข้อมูลเพิ่มเติม AEC: จากความถดถอยของข้าวไทย สู่อนาคตที่สดใสของข้าวเวียดนาม)

ส่วนมาตรการด้านราคาทั้งจำนำและรับประกันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้นไม่ยั่งยืน เราทราบกันดีว่าปี 2015 ไทยจะข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้าจะทำได้ง่ายมากขึ้น ฉะนั้นมาตรการในการตรวจสอบสินค้าตามแนวชายแดนก็ต้องรัดกุมมากขึ้นอีกเพื่อป้องกันการทุจริต รัฐบาลจะรับภาระหนักมากขึ้นหากยังดำเนินนโยบายการจำนำข้าวต่อไป
ทางเลือกที่เห็นผลลบน้อยสุด คือการหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตให้ได้ เมื่อสินค้ามีต้นทุนต่ำจะมีศักยภาพในการขายแข่งกับใครก็ได้ ยิ่งสินค้ามีคุณภาพดีมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เรามีความจำเป็นน้อยมากที่ต้องไปฟาดฟันขันแข่งราคากับใคร

ในเรื่องการการกำหนดมาตรการด้านราคาสามารถทำได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่เรื่องของปัจจัยพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ถึงเวลาหรือยังที่รัฐควรจะคิดนโยบายใหม่เพื่อรับมือการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีในปี 2015 โดยเฉพาะ “ข้าวไทย”

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

111คืนบัลลังก์ จาตุรนต์. จ่าฝูงเพื่อไทย พงษ์ศักดิ์. นั่งแม่บ้าน !!?

ย้ำเป็นรอบที่ร้อย “นายกฯ ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร” นั่งยันนอนยัน ไม่ปรับ ไม่โละ ไม่ยกเครื่องทีมเสนาบดี..ตอกลิ่มอาการอ่อนนอกแข็งใน ที่ “น้องสาว” เล่นบทดื้อตาใสกับ “พี่ชาย” อย่าง “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” แต่จะด้วยเงื่อนไขส่วนตัวที่ต้องการกระเตงหิ้ว “เสี่ยโต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคู่ใจเพียง 1 เดียวใน ครม. หรือเงื่อนไขเหนือการควบคุม เกรงรัฐบาลจะติดหล่มใหญ่ในก้นเหวลึกบนมาตราอันละเอียดอ่อน มันก็ล้วนไม่มีผลดีกับฝ่ายบริหาร เมื่อตำแหน่งใหญ่อย่าง มท.1 ต้องเกิด สุญญากาศจากกรรมเก่าที่ติดจรวดไล่ทันของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ”..ยิ่งฟางเส้นสุดท้ายตกลงบนหลัง อูฐ พลันที่ “ยงยุทธ” สละทุกอย่างด้วยการลาออกจากสถานะผู้ทรงเกียรติและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทอดยอดเป็นเอลนีโญ่โดยอัตโนมัติ เนื่องด้วยกรรมการบริหารพรรคย่อมหมดสภาพไปในคราวเดียวกัน ในพลันที่จ่าฝูงเพื่อไทยโยนติ้วไขก๊อก ลำดับความใหม่ตั้งแต่ต้น ยึดตามเงื่อนไขที่เกินกำลังที่จะควบคุมได้ “พี่ชาย” กับ “น้องสาว” ยื้อยุดเกมปรับ ครม. มาตั้งแต่พฤษภาป่าช้าแตก มันย่อมเห็นเค้าลางการประลองกำลังภายในบนเวทีศึกสายเลือดได้อย่าง น่าดูชม

“อดีตนายกฯ ทักษิณ” ย้ำนักย้ำหนาว่าอย่างไรเสีย “บ้าน 111” ต้องมีส่วนร่วมในหมากกระดานนี้..“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ก็ย้ำนักย้ำหนาว่าอย่างไรเสียก็จะไม่มีการ ปรับ ครม.ในเร็ววันนี้เช่นกัน..ผลการเอาเถิดเจ้าล่อเฉพาะหน้า ก็พอจะทราบบ้างแล้วว่าวาระ “ดื้อตาใส” แกล้งหูดับไม่รับสัญญาณจาก “รีโมต” คนไกล แต่ปรากฏการณ์การจากไปในทุกตำแหน่งของ “ยงยุทธ” มันล้วนไม่ต่างจากจุดหักเห ที่โมเมน ตั้มจะสวิงกลับไปที่คนไกลแต่ไม่ใช่คนอื่นอย่างน่าสนใจยิ่ง

หากว่ากันตามทฤษฎีเบาไปหาหนักในการกระชับอำนาจ ประหนึ่งว่า จิ๊กซอว์เกมนี้ถูกวางไว้อย่างแยบคาย จะด้วยปฏิบัติการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส หรือ จงใจวางยาทางอำนาจ..แต่เคราะห์กรรมของ “ยงยุทธ” ซึ่งเป็นสายตรงของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” มันก็ได้สร้างความผันผวนทางอำนาจการต่อรองที่เริ่มสะบัดหลุดออกจากมือทีละนิดละน้อยการทิ้งเก้าอี้รองนายกฯ และ มท.1 ของ “ยงยุทธ” มันพอจะมีเหตุผลเพียงพอที่ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” จะชักแม่น้ำทั้งห้ากับพี่ชาย ในการยื้อออกไปหลังอภิปรายไว้วางใจได้ แต่ในมุมอำนาจทาง การเมืองการไขก๊อกจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค และทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเกิดสุญญากาศ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ผู้มีสถานะเป็นเพียงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ย่อมไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนักในการเล่นเกมการเมืองภายในพรรค มองไปรอบๆ โดยรวม วัดจากพรรษาบารมี มองกัน ณ ขณะนี้ ดูยังไง คนที่เหมาะสมมันก็ไม่พ้นสมาชิกบ้าน 111 นั่นมันก็เป็นข้ออ้างโดยง่ายทำให้ละม่อมได้ไม่ยาก ในเมื่อ “น้องสาว” ไม่ยอมปรับ ครม.ในห้วงนี้ มันก็น่าจะมีตำแหน่งมีสถานะให้สมาชิกบ้าน 111 บ้าง

ลำดับชื่อวัดเครดิต มันก็มีหัวหมู่ทะลวงฟันหลายคนที่พร้อมสำหรับ เก้าอี้ตัวนี้ แต่ถ้าหากมองอย่างเป็นกลางและภาพลักษณ์ในสังคมที่ไม่สุดโต่ง และกล้าออกหน้าอย่างพอดี ชื่อของ “เสี่ยอ๋อย-จาตุรนต์ ฉายแสง” ย่อมเข้า ข่ายน่าสนใจที่จะหยิบจับมาใช้ในช่วงเฉพาะหน้า

แม้ประวัติที่ผ่านมาในทางการเมืองช่วงไทยรักไทยรุ่งโรจน์ สเปกอย่าง “เสี่ยอ๋อย” อาจจะไม่ใช่ประเภทที่ “นายใหญ่” จะสามารถกดรีโมตหันซ้ายหัน ขวาได้ แต่หากมองในเรื่องความทะยานอยากในอุดมการณ์ทางการเมือง บวกกับการที่ต้องอยู่นิ่งๆ ไปถึง 5 ปีเพราะโดนโทษแบนยุบพรรคมันก็น่าจะเป็นเงื่อนไข ที่พอจะพูดจาพูดคุยกันได้ กระนั้นถ้ามองในแง่เฉพาะหน้า เพื่อเอาภาพสร้างความเชื่อมั่นให้พรรคเพื่อไทยมีสภาพเป็นสถาบันทางการเมืองแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ มันก็ไม่น่าจะเป็นใครอื่นไปได้ เพราะบ้าน 111 ที่เหลือ ซึ่ง “นายใหญ่” วางใจได้ ก็ล้วนเป็นสเปก “สหาย สายป่า” ที่นอกจากจะไม่ยอมเปลืองตัว แต่ลำพังเพียงแค่ภาพลักษณ์มันก็ไม่เหมาะที่จะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคหรืออาจจะมองไปข้างหน้า ในกรณีที่รีโมต “นายใหญ่” เกิดอาการสัญญาณขัดข้อง ไม่สามารถเทก-คอนโทรล “เสี่ยอ๋อย” ได้อย่างถนัดใจ ว่ากันในเรื่องซื้อเวลาสร้างภาพให้พรรค มันก็สามารถยื้อไว้จนกว่า “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” จะหลุดเดดล็อก “บ้าน 109” อีก 1 ปีข้างหน้าได้

เมื่อระยะเวลา บวกกับโอกาสลงล็อกเหมาะเหม็ง แถมมีแผนรองรับเพื่อผ่อนสั้นผ่อนยาวในทางอำนาจ แคนดิเดตผู้มาแทน “ยงยุทธ” สปอตไลต์ดูไบย่อมฉายจับมาที่ “เสี่ยอ๋อย” อีกตำแหน่งที่น่าสนใจคือ เก้าอี้เลขาธิการพรรคที่ว่างลง ว่ากันด้วยสภาพแวดล้อมทางบารมี และทางธุรกิจ ชื่อของ “เสี่ยเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” กุนซือใหญ่ผู้มีกระทรวงในอาณัติคุมถึง 7 กระทรวงหลัก แถมยังเป็นสายตรง “นายหญิง” แห่ง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” รวมไปถึงการเป็นนอมินีแอดวานซ์กระเป๋าเงินใบเขื่องให้ “คนไกล” แถมมาก ด้วยคอนเน็กขั้นเทพ มันย่อมรวมมาเป็นคุณสมบัติอันเป๊ะเว่อร์ ที่จะดันให้ “เสี่ยเพ้ง” ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้แม่บ้านพรรคแดงอย่างไม่เก้อเขินและไม่มีใครกล้าถกเถียง

สำหรับในบรรดาเก้าอี้กรรมการบริหารพรรค มันก็ไม่ต้องคิดมากว่าทีมเทพบ้าน 111 ที่เดินอยู่ข้างหลังมาอย่างยาวนาน ย่อมได้รับโอกาสจาก “นายใหญ่” ให้ขึ้นมายืนแถวหน้า ประมาณว่าเป็นการเรียกน้ำย่อยทางอำนาจ เพื่อรอเงื่อนเวลาปรับครม.ตกผลึก ซึ่งมันย่อมไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด ซึ่งคนที่เป็นกรรมการบริหารพรรค แถมมากด้วยความสามารถ จะก้าวข้ามบันไดขั้น สุด ท้าย..กลายร่างเป็นเสนาบดีในท้ายที่สุดเรียกได้ว่า “พี่ชาย” กระชับอำนาจ “น้องสาว” ไปอย่างเนียนๆ ด้วยการปูพรมแดงให้ “บ้าน 111” คืนบัลลังก์..วิน วิน!!!
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นักวิชาการ-ทุนผูกขาด ล้มจำนำข้าว..ซ้ำเติมชาวนา !!?

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อคณาจารย์จากสถาบันนิด้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษาจำนวน 146 คน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 เพื่อยับยั้งหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นักวิชาการกลุ่มนี้อ้างว่า ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1) ที่ระบุว่า “รัฐต้องสนับสนุนระบบ เศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน”

เป้าหมายของนักวิชาการกลุ่มนี้ คือ ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญ “ยุติหรือชะลอ” โครงการจำนำ ข้าวของรัฐบาล และให้รัฐบาลเปลี่ยนเงื่อนไขของโครงการ 3 ประการ คือ 1.ปรับราคาการรับซื้อที่ไม่ขัด กับกลไกการค้าเสรี 2.ทำให้โครงการรับจำนำข้าวเป็น การจำนำข้าวอย่างแท้จริง และ 3.มีการจำกัดจำนวน การรับซื้อข้าว ถัดมาอีกวัน คือ 28 กันยายน 2555 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นสนับสนุน กลุ่มนักวิชาการจากนิด้าทันที

สรุป การต่อต้านการรับจำนำข้าวที่เปิดตัวจาก ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธาน ทีดีอาร์ไอ สมาคมผู้ส่งออกข้าว บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูงอย่างนาย อานันท์ ปันยารชุน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล และสื่อมวลชนโหมโจมตีการ ทุจริตของการรับจำนำข้าวมาต่อเนื่องนั้น ถึงขณะนี้ความคิดทั้งมวลได้เชื่อมประสานมาสู่ กลุ่มนักวิชาการจากนิด้า ให้กลายเป็น “นักแสดงอำนาจ” ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรับจำนำข้าวให้เป็นรูปธรรม

ความจริงคือ ราคาข้าวในประเทศถูกกำหนด โดยธุรกิจส่งออกข้าว ย่อมสะท้อนว่า การส่งออกข้าวก็คือธุรกิจผูกขาดข้าวของไทย เมื่อกลุ่มนักวิชาการจากนิด้าและพรรคประชาธิปัตย์เจตนาต้องการล้มโครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นฝ่ายสนับสนุนยืนเคียงข้างกลุ่มธุรกิจส่งออกข้าว และต้องการให้กลุ่ม ธุรกิจส่งออกข้าวผูกขาดราคาข้าวอีกตามเดิม

- กลุ่มนักวิชาการ กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ในประเด็นข้อกฎหมาย ที่กลุ่มนักวิชาการนิด้า อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) และการยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้สะท้อนถึงเจตนาอย่างรีบเร่ง คือ มีเป้าหมายอยู่ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจมาชะลอโครงการรับจำนำข้าวไว้ก่อน โดยกลุ่มนักวิชาการเหล่านี้นำปัญหาการใช้มาตรา 68 มาต่อต้านการ แก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 มาเทียบเคียงการเคลื่อนไหว จนศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ชะลอการลงมติ สำหรับการต่อต้านการรับจำนำข้าวก็มุ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นเช่นนั้น

ผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการนิด้าคือ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะ นิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เขาคนนี้เป็นทั้งผู้ให้ความคิด ชี้ช่องทางรัฐธรรมนูญ และกำหนดการเคลื่อนไหว หลังยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดร. อดิศร์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะปรึกษากับนายบรรเจิดถึงแนวทางการต่อสู้ทางข้อกฎหมายในอนาคต

ดร.บรรเจิด เป็นคนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อต่อต้านการรับจำนำข้าว และเขาให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ FM 97 โดยยอมรับว่า ได้แนะนำกระบวนการที่ถูกต้องในการยื่นหนังสือ ควรไปยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่การที่ไปศาลรัฐธรรมนูญคงจะไปในเชิงสัญลักษณ์และคิดว่าคง ไม่ได้ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดย ตรง เพราะกรณีนี้จะต้องไปยื่น เรื่องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญ

ดร.บรรเจิด เป็นนักวิชาการสนับสนุน และขึ้นเวทีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขาสนับสนุนให้ทหารยึด อำนาจจนได้ เป็นคณะกรรมการ ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิด ความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ปัจจุบันตั้งกลุ่ม “สยามประชาวิวัฒน์” เผยแพร่แนวความคิดต่อต้านคณะนิติราษฎร์

เมื่อนายอานันท์ ต่อต้านการรับจำนำข้าว ดร. บรรเจิด ก็ใช้ “นิด้า” สถาบันการศึกษาที่สนับสนุนกลุ่มอำนาจชนชั้นสูง เป็นฐานเคลื่อนไหวกับหมู่ปัญญา ชนเสื้อเหลือง และนำ ดร.อดิศร์ ในฐานะผู้อำนวย การศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแกนกลางสะท้อนการเชื่อมโยงการต่อสู้เชิงแนวคิดระหว่าง “เศรษฐกิจพอเพียงกับประชานิยม”

ด้วยเหตุนี้ ดร.บรรเจิดจึงเป็นผู้ให้ทั้งความคิด และวางแผนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการนิด้าไปยื่นหนังสือกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์

- แนวคิดคู่ขัดแย้ง : แย่งชิงมวลชน

ในฐานะหน้าที่นักวิชาการแล้ว ดร.อดิศร์ได้สะท้อนแนวคิดว่า สนใจการพัฒนาสังคมตามกรอบคิด “ความพอเพียง” แต่เหตุผลที่เขาเคลื่อนไหวยื่น หนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างระบบเศรษฐกิจเสรี กลไกตลาด ซึ่งเป็นกรอบคิดพื้นฐานของระบบทุนนิยม ที่มีแก่นหลักอยู่ที่ “การสะสมกำไร” แล้วใช้กำไรไป “หมุน” ความมั่งคั่งของเอกชน นั่นย่อมบ่งบอกถึงการ “ขัดกัน” ของจิตสำนึก สาธารณะในเนื้อสมองและจิตใจ เพราะดูประหนึ่งว่า เขาอำพรางแนวคิดทุนนิยมของตัวเองไว้ในภาพความพอเพียงว่ากันตรงๆ แล้ว แนวคิดความพอเพียงเป็นคู่ขัดแย้งกับประชานิยม เพราะต้องแย่งชิงมวลชนระดับรากหญ้า หรือชาวนาชาวไร่ ที่เรียกว่า “เกษตรกร” มาเป็นฐานการเคลื่อนไหวและครอบงำสังคม

เมื่อนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาสูงกว่า ราคาตลาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีกลุ่มเป้าหมายมวลชนกลุ่มเดียวกันกับ “ความพอเพียง” จึงไปขัดขวางการขยายฐานและช่วงชิงมวลชนจากเศรษฐกิจ พอเพียง จนทำให้กลุ่มนักวิชาการออกมาต่อต้าน เพื่อดำรงเป้าหมาย 3 ระดับ คือ หนึ่ง ขัดขวางการแย่งชิงมวลชนจากนโยบาย รับจำนำข้าว สอง เป็นแนวร่วม ในการต่อต้านนโยบาย รัฐบาลกับกลุ่มธุรกิจส่งออกข้าว และสาม เป็นนักแสดงทางอำนาจแทนกลุ่มอำนาจเบื้องหลัง เพื่อกระตุ้น จุดยืนของระบบยุติธรรมและกำลังทหารในการต่อต้านรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

กล่าวโดยสรุปแล้ว หากเชื่อมความสัมพันธ์ย้อนกลับจาก ดร.บรรเจิด ถึง ดร.สุรพล ถึงกลุ่มอำนาจเบื้องหลัง และการเคลื่อนไหวของ ดร.อดิศร์ จากนิด้า จึงสะท้อนถึงกลุ่มอำนาจเบื้องหลังที่แสดงผ่านการต่อต้านรับจำนำข้าวว่า ได้พัฒนาไปสู่การลงลึกในด้านมวลชน ดังนั้น รหัสการเคลื่อนไหวย่อมมีแนวโน้มไปสู่การลากสถาบันอำนาจทหารและกระบวนการยุติธรรมให้มาเป็นแนวร่วมการต่อสู้ในอนาคต ย่อมเป็นไปได้สูงยิ่ง

- จุดอ่อนข้อกฎหมายของกลุ่มต่อต้าน

กลุ่มนักวิชาการจากนิด้า อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) มาใช้สิทธิ์ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อต่อต้านการรับจำนำข้าวว่า เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐไปผูกขาดการค้าข้าว

ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ประชาชนไม่สามารถฟ้อง ศาลรัฐธรรมนูญได้ เว้นแต่อาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ในกรณีมีข้อโต้แย้งว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ใช้ช่องทางอื่น จนสิ้นทุกเส้นทางแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ความเห็นสิทธิการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญของประชาชนเช่นกัน แต่จุดอ่อนของความเห็นทั้งดร. บรรเจิดและนายสมฤทธิ์ อยู่ที่การอธิบาย รัฐธรรมนูญมาตรา 212 ไม่จบกระบวนความหมายสำคัญ เพราะมาตรา 212 กำหนด เนื้อหาไว้ “สองวรรค” ดังนี้

“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำ ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” โปรดขีดเส้นใต้หนาๆ ที่ข้อความ “คำวินิจฉัย ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐ ธรรมนูญได้” ซึ่งสะท้อนถึงสาระสำคัญในการใช้สิทธิ ของประชาชนไป “ฟ้องตรง” กับศาลรัฐธรรมนูญได้กระจ่างชัดว่า ต้องเป็นกรณี “บทบัญญัติของกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของ รัฐบาล ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ดังนั้น การใช้สิทธิประชาชนมา “ฟ้องตรง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 212 จึงทำไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ นโยบายรัฐบาลเป็นกรณีการบริหารงาน แถลงต่อสภา และการรับผิดชอบต่อสภา ต่อประชาชน รวมทั้ง “ผลทางการเมือง” ที่จะเกิดตามมาในกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น

จุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มนักวิชาการนิด้าเลือกใช้ มาตรา 84 (1) มาเพื่อ “สร้างภาพ” และต้องการเพียงให้สื่อกดดันการรับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง เพราะความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดเนื้อหามาตรา 84 มีถึง “สิบสี่วงเล็บ” และอีกวงเล็บที่สำคัญบรรจุในมาตรา 84 (8) ที่กำหนดว่า

“คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้ผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกรเพื่อวางแผน การเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร”

โปรดขีดเส้นใต้อีกครั้งในข้อความ “ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้ผลตอบแทนสูงสุด” ย่อมบ่งชี้ได้ เป็นอย่างดีว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่ได้ขัด กับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 84 (1) แต่ประการใดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำมาตรา 84 (8) มาพิจารณาประกอบมาตรา 84 (1) แล้ว สะท้อนถึงเจตนา ของมาตรา 84 (8) ได้ดียิ่งว่า เป็นการถ่วงดุลเศรษฐกิจ เสรีและกลไกตลาด (ในมาตรา 84 (1)) ตามระบบทุน นิยม เพราะรัฐธรรมนูญต้องการให้รัฐบาลสร้างหลักประกันรายได้ให้กับเกษตรกรประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น มาตรา 84 (8) เทียบเคียงได้กับ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ไร้โอกาสในการกำหนดราคาผลผลิต ดัวยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อยกระดับมาตรฐานราคาผลผลิตที่มีราคาในระดับการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม แปลความได้ว่า นโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดด้วยราคาสูงกว่าตลาดจึงสอดคล้องและไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่ประการใด เพราะฉะนั้น การที่กลุ่มนักวิชาการนิด้าเคลื่อนไหว จึงน่าจะมีเจตนาแอบแฝง

- สรุป จิตสำนึกประชาชนนักวิชาการกลุ่มต่อต้านข้าว

เมื่อพิจารณาเป้าหมายหลักของกลุ่มนักวิชาการนิด้าที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว ต้องพิจารณา ตรงเหตุผลที่บอกผ่านสื่อของ ดร.อดิศร์ ที่ต้องการคือ 1.ปรับราคาการรับซื้อที่ไม่ขัดกับกลไกการค้าเสรี 2.ทำให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นการจำนำข้าวอย่างแท้จริง 3.มีการจำกัดจำนวนการรับซื้อข้าวความต้องการทั้ง 3 ข้อนั้น สะท้อนได้ทันทีว่า กลุ่มนักวิชาการนิด้า ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่การ “ล้มโครงการรับจำนำข้าว” แต่ต้องการ “ล้มราคา” รับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อคงรูปนโยบายรับจำนำข้าว ในรูปแบบเดิมๆ เมื่อ 20 ปีเอาไว้

สิ่งที่นักวิชาการต้องการอย่างมากคือ ให้รัฐบาล กำหนดราคารับจำนำต่ำกว่าราคาตลาด และรัฐบาลต้องจำกัดปริมาณการรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละ รายด้วย ทั้งหมดนั้น เป็นข้อสรุปได้ชัดเจน และแสดงถึงความต้องการให้กลุ่มธุรกิจส่งออกข้าวได้เข้าไปแทรกแซงการรับซื้อข้าวแข่งกับรัฐบาล เพื่อจะได้ “กดราคาข้าว” และมีข้าวส่งออกตามสัญญาการซื้อ ขายล่วงหน้าที่ทำไว้กับต่างประเทศ ดังนั้น ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักวิชาการนิด้า จึงเคลื่อนไหวไปเพื่อกลุ่มธุรกิจส่งออกข้าว และยังบ่งบอกถึงจิตใจของกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้ด้วยว่า ยังต้องการให้ระบบทุนนิยมเอาเปรียบชาวนาหรือเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความต้องการของกลุ่มนักวิชาการแล้ว ย่อมเห็นความชัดเจนใน 2 ระดับว่า..หนึ่งต้องการใช้นโยบายรับจำนำข้าว เป็นเงื่อนไข นำไปสู่การสร้างและสะสมพลังกดดันชุดใหม่ต่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์สอง การสร้างพลังกดดันนั้น ต้องการให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม พร้อมๆ กับสร้างภาพรัฐบาล ทุจริตผ่านนโยบายรับจำนำข้าว เพื่อตอกย้ำให้เกิดภาพการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย หรือกำหนดนโยบาย เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยทั้งหมดทั้งปวงมีเป้าหมายการกดดันอยู่ที่การล้มรัฐบาลอีกครั้งด้วยพลังอำนาจสถาบันทหาร เพื่อช่วงชิงอำนาจกลับมาสู่กลุ่มอำนาจเดิม

แต่มียุทธศาสตร์ใหม่ในสังคม เป็นยุทธศาสตร์ ระดับสูงคือ สร้างกติกาเข้าสู่อำนาจใหม่ของสถาบัน โดยผ่านเงื่อนไขการกดดันและล้มรัฐบาลนั่นเอง ซึ่งสะท้อนถึงระบบคิดเก่าๆ พยายามฟื้นกลับมามีอำนาจอีกครั้งกลุ่มนักวิชาการนิด้า ใช้การแสดงออกแบบเศรษฐกิจพอเพียงมารับใช้ระบบทุนนิยมผูกขาด พวกเขาต้องการนโยบายที่ส่งเสริมให้นายทุนผู้ส่งออกข้าวได้กดราคาข้าวไว้เพียงตันละ 8,000 บาท พวกเขามีความสุขกับความร่ำรวยและมั่งคั่งของผู้ส่งออกข้าว..ส่วนเกษตรกรกลับมีชีวิตเป็นแค่ปุ๋ยการสร้าง “กำไร” ให้พ่อค้าข้าวส่งออก นักวิชาการไหน เป็นอย่างไร ต้องวัดกันที่ “จิตสำนึกประชาชน” จึงจะรู้ว่าเป็นของแท้หรือของปลอมที่เอาแต่สร้างภาพ ปั่นราคาให้เกิดกระแส กับสื่อเท่านั้น

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ลาออก หน.-สส. จารุพงศ์ รักษาการแทน !!?

ยงยุทธ"โชว์จริยธรรม ไขก๊อกหัวหน้า พท.-ส.ส.บัญชีรายชื่อ อ้างไม่อยากใฟ้พรรคที่รักถูกวิพากษ์วิจารณ์ แจ้ง"แม้ว-ปู"ก่อนประกาศทิ้งตำแหน่ง "ยิ่งลักษณ์"บอกเสียดาย แต่เคารพการตัดสินใจ

"ยงยุทธ"ไขก๊อกหน.พรรค-ส.ส.


นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมเป็นต้นไป หลังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นเรื่องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส.ของนายยงยุทธ ที่เชื่อว่าขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) กรณีอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติไล่ออกจากราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีที่ดินอัลไพน์ สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ นายยงยุทธพร้อมนายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้า พท. และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. ร่วมแถลงข่าวที่ พท. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม โดยนายยงยุทธกล่าวว่า ขอลาออกจากหัวหน้า พท.และจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตั้งแต่วันนี้ (4 ตุลาคม) เป็นต้นไป แม้ว่าจะมีหน่วยงานราชการ ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นหน่วยงานที่ตีความกฎหมาย และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่เป็นผู้คุมกฎและดูแลวินัยข้าราชการพลเรือนจะยืนยันแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดักคอสื่อซัดขาดจริยธรรม

นายยงยุทธกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดซึ่งมีอำนาจทางกฎหมายออกมายืนยันว่าไม่มีคุณสมบัติ มีแต่พรรคตรงข้ามและกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ออกมาบอกว่าไม่มีคุณสมบัติ ทั้งที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่ พท.เป็นพรรคของประชาชนจำนวนมากของประเทศ จึงไม่อยากให้มาวิพากษ์วิจารณ์พรรคที่ตนรักว่าขาดจริยธรรม ไม่ทำตามกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐนิติธรรม และเพื่อความชัดเจน จึงแสดงจริยธรรมเพื่อไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ พท.ไปในทางเสียหาย

"ผมได้ปรึกษาผู้ใหญ่สองท่าน และได้เรียนท่านนายกฯ ขณะที่นายกฯก็รับทราบและเคารพการตัดสินใจของผม หลังจากนี้การพาดหัวข่าวของผมคงมีไม่กี่วัน หากผมไม่ออกก็จะลงข่าวว่าผมหน้าด้านหน้าทน แต่ถ้าออกก็บอกว่าหนี ดังนั้น ขอให้สื่อเขียนให้คนอ่านทราบความจริงบ้าง เชื่อว่าสื่อจะมีจรรยาบรรณ" นายยงยุทธกล่าว และว่า เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างพรรคและอยู่มานาน ดังนั้น จะเป็นสมาชิกเพื่อช่วยงานพรรคต่อไป ส่วนจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่ เป็นเรื่องอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าวได้มีกรรมการบริหารพรรค ส.ส. เจ้าหน้าที่พรรค และประชาชน มอบดอกกุหลาบให้กำลังใจนายยงยุทธเป็นจำนวนมาก

"พร้อมพงศ์"ยกสปิริต-ไร้กดดัน

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ถือเป็นมาตรฐานทางการเมืองของ พท. ที่นายยงยุทธแสดงสปิริตโดยไม่มีใครกดดัน การลาออกของนายยงยุทธครั้งนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาประชาชน อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้น นี่คือสปิริตและมาตรฐานทางการเมืองของ พท.ที่ไม่ยึดติดตำแหน่งแต่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ ไม่อยากให้ ปชป.ออกมากล่าวหาว่า การลาออกครั้งนี้เพื่อหนีการตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายยงยุทธ เป็นผลให้กรรมการบริหาร พท. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 18 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่จะทำหน้าที่รักษาการจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองการลาออกของนายยงยุทธ จากนั้น พท.ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายใน 60 วัน โดยระหว่างนี้กรรมการบริหารพรรคจะเรียกประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคแทนนายยงยุทธ ทั้งนี้ มีรายงานว่าจะเป็นนายจารุงพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรักษาการเลขาธิการ พท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อของนายยงยุทธ จะทำให้นางมาลินี อินฉัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 71 เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน

เผยแจ้ง"ปู-แม้ว"ก่อนลาออก

รายงานข่าวจาก พท.แจ้งว่า ก่อนนายยงยุทธจะประกาศลาออกจากหัวหน้า พท.และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้แจ้งต่อนายสาโรจน์ หงษ์ชูเวช รองผู้อำนวยการ พท. นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. เพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน และตัดสินใจทางการเมือง ทั้งนี้ นายยงยุทธแจ้งว่า ต้องการแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรรค แม้ฝ่ายกฎหมายจะยืนยันต่อนายยงยุทธว่าในข้อกฎหมายนายยงยุทธจะยังสามารถอยู่ในตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรคต่อไปได้ แต่นายยงยุทธยังยืนยันจะแสดงสปิริตลาออกเพื่อเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง ทั้งนี้ นายยงยุทธได้แจ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพื่อขอลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรคในก่อนหน้านี้แล้ว

"การลาออก ก็เพื่อให้พรรคมีการปรับโครงสร้างพรรคในปีที่ 2 และต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งเดินหน้าในการแก้ปัญหาให้ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ในเมื่อขณะนี้ยังมีความเห็นในข้อกฎหมายอยู่ หากผมอยู่ในตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรคต่อก็จะเป็นภาระข้อกฎหมายที่อาจมีการโจมตีพรรคและรัฐบาลได้ ผมจึงขอแสดงสปิริตไม่ยึดติดต่อตำแหน่งด้วยการลาออก" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายยงยุทธ

"ปู"เสียดาย-เคารพการตัดสินใจ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเสียดาย เพราะนายยงยุทธทำงานกับพรรคมานานและทุ่มเทให้พรรค ทั้งนี้ นายยงยุทธมีความปรารถนาที่จะเข้ามาช่วยงาน ไม่ว่าจะในด้านสังคมหรือด้านต่างๆ เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก เชื่อว่าจะมีโอกาสเข้ามาช่วยเหลืองานด้านอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม เคารพในการตัดสินใจของนายยงยุทธ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการกดดันอะไรหรือไม่ที่ทำให้นายยงยุทธต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.และหัวหน้าพรรค น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "จริงๆ ก็มาก แต่เรื่องดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของนายยงยุทธที่มีความประสงค์ดี และไม่ต้องการให้ทุกคนเป็นกังวล"

เมื่อถามว่า นายกฯยังรับไหวใช่หรือไม่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวย้ำว่า "วันนี้ก็ทำเต็มที่ค่ะ ดิฉันเองก็ยังแข็งแรงอยู่ ขอเรียนว่าจะทุ่มเทด้วยความสามารถที่ตัวเองจะทำได้ แต่แน่นอนคนเดียวก็คงจะไม่มีความแข็งแรงพอ เพราะเราต้องทำกันเป็นทีม มีทั้งคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการต่างๆ ที่จะต้องทำงานร่วมกัน"

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงการเลือกหัวหน้า พท.คนใหม่ว่า ขึ้นอยู่กับกระบวนการของพรรค และขั้นตอนของคณะกรรมการบริหารพรรค ขณะนี้ยังไม่มีการคุยกันหรือวางตัวใครไว้ เมื่อถามว่า จะต้องปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "ไม่ค่ะ ท่านไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรอกค่ะ เรื่อง ครม.เป็นเรื่องของดิฉันเอง ต้องมาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเมืองไทย ยืนยันว่าทุกอย่างอยู่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ครม.หรือหัวหน้าพรรค"

โฆษกมท.ชี้ยังมีพวกจ้องล้ม

นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกเสียดาย แต่ต้องเคารพในการตัดสินใจของนายยงยุทธ เชื่อว่าเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกเพื่อเป็นการรักษาบรรทัดฐานและจริยธรรมทางการเมืองให้ดีที่สุด การลาออกในครั้งนี้ นายยงยุทธได้เสียสละอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า การลาออกในครั้งนี้เป็นเพราะ ปชป.ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส.หรือไม่ นายพิพัฒน์ชัยกล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีผลให้นายยงยุทธตัดสินใจ แต่ต้องขอชื่นชม ปชป.ที่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างเหี้ยมโหดมาก และเล่นการเมืองแบบเอาเป็นเอาตาย คิดว่าเมื่อถึงที่สุดปลายทางสังคมก็จะเห็น เพียงแต่ขณะนี้รู้สึกเป็นห่วงหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ พท.ตั้งหลักจัดทัพไม่ดี เพราะกระบวนการที่จ้องจะล้มล้างรัฐบาลยังมีอยู่

ปชป.ชี้ตัดไฟไม่ให้ลามพรรค

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ปชป. กล่าวถึงการลาออกจาก ส.ส.และหัวหน้า พท.ของนายยงยุทธ ว่า ถือว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ลามไปถึงพรรค และสกัดไม่ให้มีการตีความคุณสมบัติ เพราะถ้า กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. จะทำให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงเรื่องที่ส่ง ส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีการตีความกันอีกว่า เรื่องที่นายยงยุทธได้ทำมานั้นชอบหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้แค่การป้องกันไม่ให้มีปัญหากระทบต่อ พท.เท่านั้น

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ปชป. กล่าวว่า การลาออกของนายยงยุทธ คงส่งผลต่อคำร้องที่กลุ่ม ส.ส.ปชป.ยื่นต่อประธานสภา เพราะเมื่อนายยงยุทธลาออกก็ถือว่าเป็นที่ยุติแล้ว เมื่อประธานสภาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

"การที่นายยงยุทธบอกว่าลาออกเพื่อจริยธรรมการเมือง ถือว่าเป็นการโกหก เพราะถ้าทำเพื่อจริยธรรมจริงๆ ควรลาออกตั้งแต่ อ.ก.พ.มหาดไทยมีมติแล้ว แต่สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะ พท.พลาดเอง เนื่องจากไปเขียนข้อบังคับพรรคโดยลอกจากรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของพรรคจะขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) คือต้องไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการ ดังนั้นการกระทำการในตำแหน่ง ส.ส.หรือหัวหน้าพรรคจะกลายเป็นโมฆะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หรือการส่งผู้สมัคร ส.ส. นายยงยุทธจึงจำเป็นต้องประกาศลาออก โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมใดๆ" นายสาธิตกล่าว

ส.ว.ชื่นชมเป็นตัวอย่างที่ดี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การลาออกของนายยงยุทธ เป็นความพยายามหาทางออกจากปัญหาของ พท.และถอยตัวเองออกจากการตกเป็นข่าว การประกาศลาออกก่อนที่กระบวนการทางกฎหมายจะแล้วเสร็จ ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักการเมืองหรือผู้นำต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยส่วนตัวมองด้วยว่าการประกาศลาออกของนายยงยุทธอาจเป็นการยอมรับว่าคุณสมบัติอาจจะมีปัญหาจริง

นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี กล่าวว่า เป็นการแสดงสปิริตทางการเมืองที่น่าชื่นชม เพราะการตัดสินใจของนายยงยุทธ ที่ลาออกก่อนการพิจารณาของ กกต.เป็นสิ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่ควรนำไปเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ไม่คิดว่าฝ่ายค้านจะนำประเด็นการลาออกไปโจมตีกันทางการเมืองอีกว่าเป็นการเอาตัวรอด หรือตัดตอนกระบวนการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส.

กกต.ยุติตรวจสอบคุณสมบัติ

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า เมื่อนายยงยุทธลาออกจาก ส.ส.และหัวหน้า พท. กกต.ได้จำหน่ายคำร้องของนายยงยุทธที่เคยยื่นให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็น ส.ส.และหัวหน้า พท.เพราะเรื่องยุติไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม กรณีของนายยงยุทธยังมีผู้ร้องยื่นเรื่องเข้ามาให้ กกต.ตรวจสอบอีก 3 คำร้อง ที่อาจเกี่ยวโยงไปถึงการยุบพรรคการเมือง รวมถึงประเด็น พ.ร.บ.ล้างมลทิน ซึ่งทั้ง 3 คำร้อง ต้องเข้าที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาให้ครบถ้วนทุกประเด็น โดยหลังจากนี้จะพิจารณาว่ามีประเด็นใดบ้างที่จะต้องยุติการพิจารณาต่อไป ไม่ใช่ว่านายยงยุทธจะประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส.และหัวหน้าพรรคแล้ว คำร้องทุกคำร้องจะต้องยุติไปทั้งหมด

"เฉลิม"บินฮ่องกงอ้างไปเที่ยว

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนเดินทางไปเกาะฮ่องกง ว่าไม่ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พำนักอยู่ที่เกาะฮ่องกง โดยพาภรรยา ลูก และหลานชายไปเที่ยวแค่ 2 วัน แต่บังเอิญมีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางมาฮ่องกงด้วยพอดี และไม่ทราบว่าจะมาจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้นัดหมายกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และถ้าจะไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณจริงๆ คงไม่พาครอบครัวไปด้วย

นายกฯชี้พบ"แม้ว"เรื่องส่วนตัว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับ ครม.ว่ายังไม่มี ส่วนที่มี ส.ส.และแกนนำ พท.เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เกาะฮ่องกง คงเป็นเรื่องส่วนตัว ครม.ไม่สามารถหารือตรงนั้นได้ ยืนยันเหมือนเดิมว่ายังไม่มีการปรับ ครม.

เมื่อถามว่าไม่มีใครสามารถกดดันนายกฯ ได้ใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "ใช่ค่ะ อย่าใช้คำว่ากดดันเลย เพราะต้องดูที่ความเหมาะสม การเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ จริงๆ มันไม่ถึงกับเป็นการเคลื่อนไหวอะไรหรอก แต่คงอาจจะอยากเสนอความคิดเห็นมากกว่า ก็รับไว้แต่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวบอก"

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเตือนพวกที่ออกข่าวกดดันนายกฯ ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ได้รับตำแหน่งเลย นายกฯ ยืนยันว่า ยังไม่ปรับก็แปลว่าไม่ปรับ ต้องฟังนายกฯ คนอื่นมาพูดออกข่าว ถามว่ามีอำนาจหรือเปล่า ก็ไม่มี แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่เคยมาเกี่ยวข้อง

พท.รอเฟ้นคนชิงผู้ว่าฯกทม.

นายภูมิธรรม เวชยชัย ผู้อำนวยการพรรค เพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของ พท.ว่า พท.ไม่ได้เฉยเมยการส่งผู้สมัครแต่ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำนโยบาย อีกทั้งจะต้องดูว่าจะเลือกใครที่เหมาะสม โดย ปชป.ก็ยังไม่ได้เลือกใครว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. จะพร้อมลงสมัคร แต่ ปชป.ก็ยังไม่ตอบรับ ทั้งนี้ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่ พท.จะต้องทำนโยบายก่อน การเลือก พท.จะต้องเป็นการเลือกอนาคตด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องรอให้ ปชป.เปิดตัวผู้สมัครก่อนหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า พท.ไม่ได้เอา ปชป.เป็นที่ตั้ง การเมืองที่ พท.ทำ ไม่ได้เอาคู่ต่อสู้กำหนดทิศทาง การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของพรรคมากกว่า และอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะพิจารณาตัวผู้สมัคร ส่วนกรณีที่มีชื่อของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะลงสมัครในนาม พท.นั้น เพิ่งเห็นจากสื่อเสนอมาเท่านั้น ทั้งนี้ พรรคมีการทำโพลและดูความคิดเห็นจากสื่อ ขณะนี้ยังมีเวลาอยู่

อวยพรวันเกิด"เนวิน"54ปี

ด้านนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้เปิดบ้านพัก ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ ให้ ส.ส.ภท. นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ และคนใกล้ชิดเข้าอวยพรเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 54 ปี โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการจัดงานเลี้ยงวันเกิด

นายเนวินให้สัมภาษณ์หลังพ้นโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ว่า จะไปที่ชอบที่ชอบ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขดีอยู่แล้ว เลิกเล่นการเมืองชีวิตก็มีความสุขดี ทุกวันนี้ชีวิต 70 เปอร์เซ็นต์คือ ฟุตบอล อีก 30 เปอร์เซ็นต์คือ มอเตอร์ไซค์ การดำรงตำแหน่งทางการเมือง การลงรับสมัครเลือกตั้ง ไม่มีอีกแล้วในชีวิตต่อจากนี้ไป ถึงจะถูกเชิญไปเป็นรัฐมนตรีก็จะไม่เป็น ถามหน่อยเป็นไปทำไม เอาทุกข์มาใส่ตัวทำไม

"การเมืองถ้ายังเวียนว่ายอยู่แต่นักการเมืองกลุ่มเดิมๆ ที่ยังคงติดอยู่กับความขัดแย้งอยู่อย่างนี้จะไม่มีวันจบสิ้น ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนสู่รุ่นใหม่ที่ไม่มีความขัดแย้ง ตัวผมยอมรับว่ามีความขัดแย้งในสังคมการเมืองสูง ดังนั้นการกลับเข้าไปสู่เส้นทางการเมืองของผม จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ถ้านักการเมืองที่รู้ตัวว่าเป็นชนวนความขัดแย้ง ช่วยกันชักฟืนออกจากไฟคนละท่อน ไฟในสังคมก็จะสามารถมอดลงได้ สังคมจะกลับสู่ความสงบสุข" นายเนวินกล่าว

มัชฌิมาคุย"แม้ว"ขอร่วมรบ.

รายงานข่าวจาก ภท.แจ้งว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองใน ภท.เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งกลุ่มของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา และกลุ่มของนายอนุทิน

ชาญวีรกูล ว่าที่หัวหน้า ภท. โดยนายอนุทินมีความเคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อที่จะเข้าร่วมรัฐบาล ก่อนที่จะมีการปรับ ครม.ในครั้งหน้า อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมัชฌิมาก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยนายสมศักดิ์ได้มีการส่งคนเดินทางไปเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกาะฮ่องกง โดยมีการยืนยันท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณว่าต้องการที่จะให้กลุ่มมัชฌิมาเข้าร่วมรัฐบาลมากกว่า

ดีเอสไอนัด"เหวง"ให้ปากคำ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ในวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้นัด พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองจเรตำรวจ (สบ 7) เข้าให้ปากคำกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 98 ศพ จากนั้นเวลา 14.00 น. นัด นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดงเข้าให้ปากคำที่ห้องประชุมชั้น 7 ดีเอสไอ ทั้งนี้มีรายงานว่า พล.ต.ต.วิชัยได้แจ้งเลื่อนการให้ปากคำออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

โกตี๋ แดงนอกคอก !!?

โดย.ประชา บูรพาวิถี

ก่อนเคลื่อนพลสู่ทำเนียบและบุกนิด้า "โกตี๋ แดงนอกคอก" ดีเจเสียงดังแห่งสถานีวิทยุประชาชน

เอฟเอ็ม 104.10 คลองสาม ปทุมธานี ได้ประกาศผ่านเครือข่ายออนไลน์

"ชาวนาทั่วแผ่นดินควรลุกขึ้นสู้ เพื่อปลดพันธนาการจากระบอบทุนนิยมเผด็จการอำมาตย์"

ศัพท์แสงภาษาซ้ายโบราณถูกนำมาใช้ใน "สงครามชนชั้น 2012" โดยเฉพาะกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และแนวร่วมที่ยกขบวนไปประท้วงที่หน้านิด้า (ก่อนที่ "โกตี๋" จะตามมาสมทบทีหลัง) ก็เขียนป้ายคำขวัญทำนองเดียวกัน

"ชีวิตชาวนาต้องดีขึ้น นักวิชาการมาขวางทำไม? จะกดหัวชาวนาไปอีกนานแค่ไหน?"

ในหมู่คนเสื้อแดงเชื่อว่า นักวิชาการที่คัดค้านโครงการรับจำนำข้าว เป็นตัวแทนแนวคิดกลุ่มทุนอำมาตย์ ที่เอารัดเอาเปรียบชาวนามานาน

สำหรับบทบาท "โกตี๋ แดงนอกคอก" วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ดีเจวิทยุเสื้อแดงนั้น ในชั่วโมงนี้ เขากลายเป็น "ฮีโร่" ของกลุ่มแดงอิสระหรือกลุ่มแดงไม่เอา นปช.

โกตี๋เป็นใคร? มาจากไหน? และเขาเป็นคนสนิทของนักการเมืองเพื่อไทยหรือเปล่า?

เดิมทีคนเสื้อแดงปทุมธานี มีองค์กรเดียวคือ "กลุ่มปทุมธานีรักษ์ประชาธิปไตย" ที่มีการจัดตั้งเมื่อต้นปี 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ปทุมธานี อาทิ ชูชาติ หาญสวัสดิ์ ,สุเมธ ฤทธาคณี และพรพิมล ธรรมสาร

"กำนันต้อย" สมบุญ ขุนทองไทย รับบทประธานกลุ่มปทุมธานีรักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งแดงปทุมได้แสดงพลังเป็นทัพหน้าในยุทธการต้านอำมาตย์ปี 2552 ตั้งแต่พัทยาจนถึงราชดำเนิน จึงได้รับความไว้วางใจจากแกนนำ นปช.ให้เป็นกำลังหลักในการบุกยึดสถานีไทยคม ลาดหลุมแก้ว ในเดือนเมษายนปีต่อมา

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ชื่อของ "กลุ่มกำนันต้อย" ก็ค่อยๆหายไปยุทธจักรคนเสื้อแดง และเริ่มมีแดงกลุ่มใหม่เกิดขึ้นมาจาก "คลื่นวิทยุชุมชน" 3-4 แห่ง

ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 สองดีเจวิทยุเสื้อแดง "โกตี๋" กับ "ศรรักษ์ มาลัยทอง" สร้างความฮือฮาด้วยการเปิด "หมู่บ้านเสื้อแดง" ขึ้นที่ปทุมธานี

อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านเสื้อแดงของโกตี๋ ไม่ได้ขึ้นตรงกับสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่มี ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหะสุริยะ เป็นประธาน และ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงษ์ เป็นประธานที่ปรึกษา

"โกตี๋" และคู่หู "ศรรักษ์" มิเพียงจะประกาศตัวเป็น "แดงอิสระ" ไม่ขึ้นต่อ นปช.ส่วนกลาง เขายังตัดพ้อต่อว่านักการเมือง "บ้านใหญ่" แห่งเมืองปทุม ที่ปล่อยให้ กอ.รมน. กับดีเอสไอยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ บุกเข้ายึดเครื่องส่งวิทยุชุมชนเสื้อแดงเมืองปทุมฯ

อย่างไรก็ดี โกตี๋มีความสนิทสนมกับแกนนำ นปช. สายไม่เอาธิดา อาทิ ชินวัฒน์ หาบุญพาด, พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์, พายัพ ปั้นเกตุ, ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ และ 'โด่ง' อรรถชัย อนันตเมฆ

ช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา "โกตี๋-ศรรักษ์" ร่วมกับ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ นำมวลชนออกมาชุมนุมกดดันให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ จนกลายเป็นคดีความกับผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 ปทุมธานี และการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี กลุ่มโกตี๋ และเครือข่ายวิทยุชุมชนเสื้อแดง ได้ให้บทเรียนแก่พรรคเพื่อไทย จนประสบความพ่ายแพ้ทั้งสองสนาม เนื่องจากไม่พอใจ ส.ส.สุเมธ ที่ลาออกกลางคัน

3-4 เดือนที่ผ่านมา โกตี๋ผนึกกำลังวิทยุเสื้อแดงเขตปริมณฑล ตามไล่บี้ "อภิสิทธิ์" ในทุกเวที รวมถึงการยกพลไปท้าทายอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่สนใจ นปช.ส่วนกลาง

โกตี๋มีอิสระในการเคลื่อนไหว และบ่อยครั้งที่เขาชื่นชมในแนวทางการปฏิรูป 3 สถาบันของคณะนิติราษฎร์ผ่านคลื่นวิทยุชุมชน

นี่เป็นบางเสี้ยวในฉากชีวิตอันโลดโผนของ "แดงนอกคอก" ที่กำลังถูกจับตามองว่า เขารับใช้ใคร?

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วีรพงษ์ ย้ำเป้าส่งออก-ค่าเงิน เรื่องเดียวกัน !!?

"วีรพงษ์"ย้ำเป้าหมายส่งออก-อัตราแลกเลี่ยน เรื่องเดียวกัน ลั่นบาทต้องอ่อน! หวังสูงสุด 8 เดือนที่เหลือในตำแหน่งประธานบอร์ด ปรับความเข้าใจธปท.

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ ว่า  ขณะเหลือเวลาทำงานอีก 8 เดือนเต็ม ระบุห่วงการขาดทุนของธปท. และหวังว่าจะปรับความเข้าใจนโยบายการเงินกับธปท.ได้ บอกหากทำได้ถือเป็นผลงานยิ่งใหญ่ไม่แพ้สมัยขอ “ป๋าเปรม” ลดค่าเงิน มีรายละเอียดดังนี้

 นายวีรพงษ์ กล่าวว่าค่อนข้างเป็นห่วงผลการขาดทุนของ ธปท. เพราะจนถึงขณะนี้เชื่อว่าผลการขาดทุนคงไม่น้อยกว่าระดับ 5 แสนล้านบาทแล้ว

"เวลาที่ผมเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการไม่ว่าบริษัทไหน วันแรกที่ผมจะดู คือ งบดุล พอมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติวันแรก ผมก็ขอดูงบดุลเลย ซึ่งก็พบว่าขาดทุนบักโกรก โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. แบงก์ชาติมียอดขาดทุนสะสมกว่า 4.7 แสนล้านบาท และตอนนี้คงเป็น 5 แสนกว่าล้านบาทแล้ว เพราะมันขาดทุนทุกเดือน"นายวีรพงษ์กล่าว
การขาดทุนของธปท.นั้น แม้วันนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน แต่อนาคตหากยังขาดทุนต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธปท.ขาดทุน คือ ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งตรงนี้ธปท.ต้องพิมพ์เงินออกมาจ่าย การพิมพ์เงินออกมาเยอะๆ ก็ควรต้องระมัดระวังเพราะอาจเป็นการแพ้ภัยตัวเองได้

"ตามอุคมคติแล้ว ธนาคารกลางไม่ควรขาดดุล และไม่ควรกำไร งบดุลควรเป็นศูนย์ บางปีอาจขาดทุนบ้าง บางปีกำไรบ้าง แต่ระยะยาวต้องเป็นศูนย์ แต่ถ้ามันขาดทุนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การตีกลับมาก็คงยาก ตอนนี้ติดลบ 5 แสนล้านบาท ยังพอตีกลับมาได้ แต่ถ้าเป็น 1 ล้านล้านบาทแล้ว การตีกลับมาคงจะยาก"นายวีรพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ นายวีรพงษ์ ยังตั้งคำถามขึ้นมาด้วยว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้จริง การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% เท่ากับเป็นการทำร้ายตัวเอง เพราะเวลาออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ธปท.ต้องออกที่อัตราดอกเบี้ย 3% ด้วย

ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่สูง ยังเป็นช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคา (Arbitrage) ได้ด้วย เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่ที่ 1% ทำให้นักลงทุนต่างชาติบางกลุ่ม กู้เงินต่างประเทศมาเพื่อมารับดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ 3%

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา ได้เสนอให้ธปท.จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อศึกษาแผนลดขาดทุนของธปท. ซึ่งขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยแนวทางเบื้องต้นที่จะดำเนินการ คือ หาแนวทางเพิ่มผลตอบแทน และลดรายจ่ายลง ซึ่งความพยายามในการเพิ่มผลตอบแทนนั้น จะเน้นไปที่ตราสารหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ส่วนตราสารทุนนั้นยังไม่อยากให้มีการลงทุน เพราะความเสี่ยงยังมีอยู่มาก

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้เชิญเจ้าหน้าที่ของธปท.ที่ดูแลเรื่องการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศมาหารือ ซึ่งเขาได้อนุมัติเรื่องเรทติ้งของประเทศในการลงทุน โดยอนุญาตให้ลงทุนในประเทศที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าประเทศไทยได้ไม่เกิน 2 ขั้น

"เดิมนั้นเราเอาประเทศไทยเป็นที่ตั้ง หากเครดิตต่ำกว่าไทยก็ลงไม่ได้ ซึ่งทำให้เหลือประเทศที่ลงทุนได้ไม่กี่ประเทศเท่านั้นและผลตอบแทนก็ต่ำมากด้วย ผมก็ถามไปว่าแล้วกลุ่ม BRIC อย่าง บราซิล ลงทุนได้หรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเครดิตต่ำกว่าไทย 2 ขั้น ผมจึงเสนอให้เอาขั้นสุดท้ายเป็น บราซิล" นายวีรพงษ์กล่าว

ส่วนอีกประเด็นที่ นายวีรพงษ์ เสนอให้สามารถนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนได้ คือ พันธบัตรกึ่งรัฐบาล เช่น ตราสารหนี้ที่ออกโดยมลรัฐต่างๆ ที่อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดี เช่น ตราสารหนี้ของลอนดอน เป็นต้น และอีกอันที่เสนอ คือ พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจประเทศต่างๆ ที่อันดับเครดิตไม่น้อยกว่าประเทศนั้น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลของประเทศนั้นคงไม่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจตัวเองเบี้ยวหนี้(Default) อย่างแน่นอน

สำหรับข้อเสนอเรื่องให้ลงทุนในตราสารทุนนั้น เรื่องนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ได้เสนอให้ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ทริปเบิ้ลเอ ขึ้นไปได้ แต่ในความเห็นของเขาแล้วมองว่ามันยังมีความเสี่ยงอยู่จึงขอไว้ว่าอย่าเพิ่งไปลงทุนในตราสารประเภทนี้เลย แต่ให้เน้นไปที่ตราสารหนี้เป็นหลักก่อน

นายวีรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธปท.นั้น เพราะต้องการทราบแนวคิดด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจการเงินของธปท. เพื่อที่จะจูนเข้าหากัน ซึ่งหลังเขาเข้ารับตำแหน่งนี้ได้ 4 เดือน ก็ทำให้ทราบอย่างชัดเจนแล้วว่า มีตรงไหนที่ไม่ตรงกันบ้างและเพราะอะไร

"ผมเข้าไปเพราะเห็นว่าหลักคิดและเหตุผลของนโยบายมหภาคกับนโยบายการเงิน ของผมกับทีมงานผู้ว่าการฯ ในแบงก์ชาติไม่ตรงกัน ซึ่งก็คือ การมองเป้าหมายนโยบายการเงินว่าควรอยู่ที่ใด ตัวผมเห็นว่าไม่ควรดูเงินเฟ้อ แต่ควรดูอัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจบ้าง" นายวีรพงษ์กล่าว

นายวีรพงษ์กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของธปท.มา 15 ปีแล้ว นับตั้งแต่ ธปท. เริ่มศึกษาแนวนโยบายการเงินโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเมื่อ 14 ปีก่อน และตัวเขาก็ค้านแนวคิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
"สำหรับผม เป้าส่งออกกับอัตราแลกเปลี่ยนมันเป็นของอย่างเดียวกัน ถ้าเราจะหนุนการส่งออก เงินบาทก็ควรต้องอ่อนลง ซึ่งนโยบายการเงินหากดูตรงนี้เป็นกรอบ แนวคิดก็จะตรงกัน"นายวีรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ภาคการส่งออกถือเป็นหัวจักรหลักของเศรษฐกิจไทย เพราะไทยเป็นตลาดเล็ก ผลิตอะไรนิดเดียวก็เกินความต้องการใช้ในประเทศแล้ว เนื่องจากความสามารถการผลิตเรามีสูงกว่ากำลังการบริโภคในประเทศ ดังนั้นการส่งออกจึงถือเป็นทุกอย่างของประเทศไทย และสัดส่วนการส่งออกของไทยในปัจจุบันที่ 70% ของจีดีพี ยังถือเป็นระดับที่ต่ำ เพราะตัวเลขนี้มีโอกาสสูงเกินกว่า 100% ของจีดีพีได้
นายวีรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ซึ่งไม่มีเรื่องกำแพงภาษี ดังนั้นราคาสินค้าทุกอย่างจึงถูกกำหนดโดยตลาดโลก ซึ่งไทยเป็นประเทศเล็กไม่สามารถฝืนราคาตลาดโลกได้ อย่างกรณีน้ำมัน แม้เราไปฝืนมัน แต่ทำได้เพียงเล็กน้อยพอประทังไม่ให้ราคาปรับขึ้นเร็วเกินไปเท่านั้น ดังนั้นแล้วในเรื่องเงินเฟ้อระยะยาวเราจึงทำอะไรได้ไม่มาก เมื่อเป็นอย่างนี้จะไปดูแลทำไม ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันดีกว่า

"ถามว่าเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เสถียรภาพของเศรษฐกิจหรือ เสถียรภาพที่สำคัญไม่ได้มีแต่เงินเฟ้อเท่านั้น อย่างอเมริกาเสถียรภาพที่สำคัญของเขา คือ การว่างงาน ถ้าเป็นประเทศด้อยพัฒนา เสถียรภาพ คือ การขยายตัวเศรษฐกิจ แต่ประเทศกลางๆ แบบเรา เสถียรภาพควรมุ่งไปที่อัตราแลกเปลี่ยน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เงินเฟ้อและการส่งออก สามารถโยกเยกได้"นายวีรพงษ์กล่าว

สำหรับช่วงเวลาที่เหลืออีก 8 เดือนในตำแหน่งประธานคณะกรรมธปท.นั้น เขาหวังว่าจะสามารถปรับความเข้าใจเรื่องการดำเนินนโยบายต่างๆ ระหว่างเขากับธปท.ให้ตรงกันได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นความหวังอันสูงสุดของเขา หากทำได้จะถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สมัยที่เขาขอให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ลดค่าเงินบาทเลย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////