--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แกงเขียวหวานฟีเวอร์ญี่ปุ่นคลั่งหนัก เมืองไทยกระแสแรง !!?

ค่ายผลิตอาหารบูมกระแส ‘Green Curry Fever’ หลังพบชาวญี่ปุ่นคลั่งแกงไทยอย่างหนัก หลากแบรนด์ผุดแย่งเวทีปรุงสำเร็จ แบรนด์ ‘รอยไทย’ ประสบความสำเร็จล้นหลาม มุ่งขยายตลาดทั่วอาเซียน ด้านตลาดในประเทศคึกคัก ชี้เขียวหวานขึ้นแท่นเมนูปรุงยาก ออกผงปรุงสำเร็จเอาใจแม่บ้าน ขณะที่ “มาม่า” ร่วมดึงกระแสเขียวหวานบูมตลาด

ในสมัยก่อนนั้น แกงไทยๆ จะเป็นแกงเลียง ซะส่วนใหญ่ และเป็นแกงป่าตามมา ต่อมามีแกงใส่กะทิเข้ามา โดยช่วงแรกแกงไทยจะใช้พริก แดงเป็นส่วนใหญ่ และพัฒนามาเป็นการใช้พริกสีเขียวแทนและใส่ใบพริกสดลงไปตำด้วยในน้ำพริกแกงนั้นๆ เพื่อให้มีสีเขียวที่เด่นชัดขึ้น เกิดเป็น “แกงเขียวหวาน” คำว่าแกงเขียวหวาน ไม่ได้หมายความถึง แกงที่มีรสหวาน แต่หมายถึงสีเขียวนวลหรือเขียวหวาน ไม่ใช่เขียวจัดจ้านนั่นเอง

ปัจจุบันแกงเขียวหวาน กลายเป็น 1 เมนูคู่ครัว และเป็นเมนูหลักที่คนไทยคุ้นชิน โดยเฉพาะในร้านข้าวแกง ซึ่งมักจะมีแกงเขียวหวานอยู่ในเมนูประจำวัน เราอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของอาหารไทย อันเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ทั้ง “ผัดไทย” หรือ “ต้มยำกุ้ง” แต่ “แกงเขียวหวาน” ก็เป็นหนึ่งในแกงไทยที่ได้รับความนิยม โดยเริ่มจากกลุ่มร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จวบจนปัจจุบันเมนูแกงเขียวหวาน กำลังเข้าสู่ครัวของชาวต่างชาติมากขึ้น ด้วยการบุกตลาดของผู้ผลิตเครื่องแกงคนไทยนั่นเอง

> แม่บ้านญี่ปุ่นคลั่งแกงเขียวหวาน

และปรากฏการณ์ของแกงเขียวหวานในต่างประเทศ ก็เริ่มเด่นชัดขึ้นในปีนี้ โดยเมื่อต้นปี สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฟูกูโอกะ รายงานว่า หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ด้านการตลาดยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานว่า กระแสความนิยมแกงเขียวหวานไทยของคนญี่ปุ่นกำลังมาแรงเป็นอย่างมาก

แต่เดิมแกงญี่ปุ่นที่แม่บ้านญี่ปุ่นนิยมปรุงรับประทานทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยมันฝรั่ง แครอต หอมหัวใหญ่ และเนื้อหมูหรือเนื้อวัวนั้น มาปีนี้แนวโน้มดังกล่าวได้เปลี่ยนไป แกงของประเทศ ทางแถบเอเชียได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกงเขียวหวานของไทยที่สตรีชาวญี่ปุ่นนิยมปรุงรับประทานในครอบ ครัว หรือเวลาที่เชิญแขกมาบ้าน เนื่องจากเครื่องปรุงต่างๆ สามารถหาซื้อได้ง่าย และใช้เวลาปรุงเพียงไม่กี่นาที อีกทั้งยังมีร้านอาหารไทย ที่ทำการเปิดสอนคอร์สปรุงเมนูแกงเขียวหวานให้กับชาวญี่ปุ่นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัท House Food Corp บริษัทจำหน่าย อาหารรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ออกผลิตภัณฑ์เครื่องแกงเขียวหวานสำเร็จรูป “Mild Green Curry” ราคาซองละ 178 เยน หรือประมาณ 73 บาท ส่วนบริษัท S&B Food Inc. ได้วางแผน ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ประเภทที่มีเครื่องปรุงครบถ้วน อุ่นและเปิดทานได้ทันที เข้าสู่ตลาดภายใต้ชื่อ “Thai Green Curry” วางตลาดไปแล้วเมื่อต้นปี

> ‘รอยไทย’ เผยปีนี้ส่งญี่ปุ่นกว่า 100 ล้าน

นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า จากการทำตลาด น้ำแกงพร้อมปรุงรสรอยไทย ได้รับความนิยมอย่างมากใน 30 ประเทศ โดยประเทศที่มีการเติบโตดีที่สุดคือ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมนูแกงเขียวหวาน ซึ่งกลายเป็น “แกงเขียวหวาน ฟีเวอร์” อยู่ในขณะนี้ นอกจากจะมีเมนูแกงเขียวหวานตามร้าน อาหารแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์รสชาติแกงเขียวหวานออกมา อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากนั้นชาวญี่ปุ่นยังสนใจทำแกงเขียวหวานเพื่อการรับประทานเองมากขึ้น โดยอาศัยน้ำแกงพร้อมปรุง ซึ่งบริษัทได้เข้าไปทำตลาดแล้ว

สำหรับน้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทย เปิดตัวเมื่อปี 2553 โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในธุรกิจมะพร้าวที่พัฒนาเป็นกะทิ บวกกับความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตพริกแกงแบรนด์ “แม่พลอย” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยช่วงเริ่มต้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในตลาดเมืองไทย จากนั้นได้เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่น โดยจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นแล้ว 300 สาขา โดยเมนูที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “แกงเขียวหวาน” และจะขยายช่องทางการจำหน่ายในญี่ปุ่นไปอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกน้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทยไปยังญี่ปุ่น 10 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็น 50% ของเป้าหมายที่วางไว้ว่า ในปีนี้จะมีการจำหน่ายแกงปรุงรสรอยไทย 240 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายที่รวมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เติบโตจากปีที่ผ่านมา 30% ความสำเร็จของรอยไทยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาจากกระแส “แกงเขียวหวาน ฟีเวอร์” จะเป็นต้นแบบที่ใช้ในการบุกตลาด ฮ่องกง และ สิงคโปร์ และประเทศในอาเซียนต่อไป โดยวิธีการทำตลาด คือการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำอาหารไทย

> บูมแม่บ้านรุ่นใหม่สอนทำแกงผ่านแอพฯ

สำหรับตลาดในประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมา “รอยไทย” จะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากคนไทยยังไม่เชื่อมั่นในตัวสินค้า จึงต้องอาศัยการให้ประสบการณ์และความรู้ในการใช้ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย จากเดิมที่คิดว่า น้ำแกงพร้อมปรุงเป็นตลาดของคนรุ่นใหม่ แต่จริงๆ แล้ว น้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทย เหมาะทั้งคนรุ่นใหม่และคนที่ทำอาหารเป็นแล้ว เนื่องจากสูตรของผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นน้ำแกงชนิดพื้นฐานของแกงชนิดนั้นๆ และสามารถปรุงรสเพิ่มได้ตามต้องการ

นอกจากนั้น บริษัทได้พัฒนา RoiThai Application บนไอแพด เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าไปดูวิธีทำอาหารเมนูต่างๆ ซึ่งได้จัดทำเป็นวิดีโอให้ความรู้ขั้นตอนและเคล็ดลับในการทำอาหารจากน้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทย โดยมีเมนูหลากหลายมากกว่า 45 รายการ แบ่งเป็น เมนูรอยไทย เกร็ดรอย ไทย และรอยไทยไอเดีย

> ตลาดเมืองไทยลุยแกงเขียวหวานสำเร็จ

สำหรับตลาดในประเทศ แม้ว่าปัจจุบันเราจะสามารถหาเมนูแกงเขียวหวานรับประทานได้โดยทั่วไป แต่ในส่วนของการปรุงอาหารเองที่บ้าน ตลาดเครื่องปรุงรส ก็หันมาจับตลาดนี้ โดยมีแกงเขียวหวานเป็น 1 ในเมนูหลักที่ค่ายปรุงรสออกมาทำตลาด อาทิ การบุกตลาดของ “คนอร์” ด้วย “คนอร์ สูตรสำเร็จ” เพื่อเป็นการขยายพอร์ต โฟลิโอในกลุ่มแบรนด์คนอร์ จากเดิมที่มี 1.ซุปก้อน 2.ซุปผง และ 3.โจ๊ก ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยระบุว่า จากการสำรวจตลาดของรีเสิร์ชอินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า คนไทยนิยมทานข้าวในบ้านมากกว่า 90% และแม่บ้านกว่า 51% โดยในช่วงแรกคนอร์ผลิตออกมา 4 สูตร คือ แกงส้ม แกงเขียวหวาน และเมนูพะโล้ ต้มยำ เนื่องจากเป็นเมนูที่ทำค่อนข้างลำบากและต้องมีเครื่องปรุงเครื่องเคียงมาก ขณะที่เวลาของแม่บ้านสมัยนี้น้อยลง

อีกทั้งจากการสำรวจพบว่า เมนูแกงทั้ง 4 ชนิดนี้ เป็นเมนูยอด ฮิตที่คนไทยบริโภครวมกันมากกว่า 1,500 ล้านจานต่อปี และไม่นานมานี้ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ก็ได้แนะนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติ ใหม่ “มาม่า แกงเขียวหวานไก่” ตอบรับกระแสแกงเขียวหวานฟีเวอร์ในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เป็นการยืนยันความฮอตฮิตติดตลาดของแกงเขียวหวานได้เป็นอย่างดี

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ชวน หลีกภัย ทอล์คโชว์แขวะ ทักษิณ อ้างเคยเตือนจะไม่มีแผ่นดินอยู่ !!?

ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เวลา 19.00 น. วันที่ 25 มิ.ย. ที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ถ.เพชรบุรี กทม. บลูสกาย ชาแนล กับพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันจัดงานทอล์คโชว์การกุศล “2575 เจาะเวลาสู่อนาคต” ขึ้นไทม์แมชชีนสำรวจอดีตการเมืองไทย 2475 สู่อนาคต 2575 โดยการเป็นการทอร์คโชว์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้งานดังกล่าวมีจำหน่ายบัตรที่นั่งในราคาที่นั่งละ1 พันบาท จำนวน 800 ที่นั่ง ขณะที่ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่เป็นแฟนคลับของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกายฯ

นายชวนขึ้นทอล์คโชว์เป็นคนแรก กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเคยเตือนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าจะไม่มีแผ่นดินอยู่ และมีคนกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองมากเกินไป แต่เห็นว่าไม่มีการเมืองไม่ให้เล่นก็ไม่เป็นไร แต่ให้ระวังคนที่ทำกับประเทศเหมือนกับเป็นบริษัทของตัวเองก็ให้ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่ แต่ขณะนี้พต.ท.ทักษิณ ก็มีแผ่นดินอยู่มากกว่าเรา ยกเว้นประเทศไทย

ซึ่งในปัจจุบันอย่าเข้าใจว่าประเทศไทยแย่กว่าคนอื่น แต่ประเทศเรามีดีอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การเมืองอย่างเดียว แต่มีเศรษฐกิจ เกษตรกรรม ความมั่นคง การศึกษา รายได้ประชากรก็ดีขึ้น แต่อย่าวัดตัวนี้เป็นมาตรฐานว่าดีหรือไม่ และเรายังมีอะไรเป็นของตัวเองอยู่อย่ามองเป็นปมด้อย เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เรามีสินค้าเกษตรส่งออกเป็นที่หนึ่งของโลกแต่วันนี้กลับลดลงแล้ว และการเสียอะไรไปก็อยากให้ทบทวนสิ่งที่ได้มาด้วย 80 ปีที่ผ่านมามีทั้งสิ่งดีสิ่งร้าย และสิ่งที่ดีผ่านเข้ามาแล้วก็มีสิ่งที่เป็นสิ่งไม่ดีเข้ามาเช่นเดียวกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ของเรานั้นถือว่าเบาไม่สูญเสียมาก แต่เพียงไม่ถึง 2 ปี รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติและมีราชหัตถเลขา

นายชวน กล่าวต่อว่า ประชาธิปไตย 80 ปี มีอุปสรรคเบื้องต้นคือทหารยึดอำนาจ ทำหลายครั้งทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ และหากสำเร็จก็จะเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลทหาร แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการปกครอง ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แทรกแซงอำนาจตุลาการ ซึ่งก่อนปี 2475 ตุลาการก็เข้มแข็งอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 18 ฉบับ มีขึ้นในช่วงตนเป็นนักการเมือง 11 ฉบับ

ซึ่งทั้งหมดหากปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ปัญหาวิกฤตหลายครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากผู้ปฎิบัติ ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญไม่ดี แต่เกิดจากคนไม่ดี ไม่ใช่เพราะกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้เกิดรัฐประหารปี 2549 เพราะเขาละเมิดกฎหมาย ปฏิบัตินอกกฎหมายเหล่านั้น ขณะที่ธุรกิจการเมืองที่ร้ายแรงคือ “ระบอบทักษิณ” ที่แทรกแซงองค์กรทั้งหมาย มีการซื้อพรรคการเมืองให้มากจนทำอะไรไม่ได้ก็ไม่เหมาะสม

และสิ่งที่ผิดคือการซื้อวุฒิสมาชิก ทั้งนี้การเมืองยุคนี้มีการข่มขู่คุกคามศาล โดยนักการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายตลอด 80 ปีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสาเหตุให้เกิดความวุ่นวายและทำให้บ้านเมืองเป็นปัญหา และในอนาคตหากไม่แก้ปัญหานี้ประชาธิปไตยก็จะเดินไปอย่างไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม

นายชวน กล่าวด้วยว่า ตนเล่นการเมืองมา 43 ปี แม้ความรู้นักการเมืองจะมากขึ้นแต่รูปแบบเลวลงคือใช้เงินซื้อเสียง และคิดว่าจะถอนทุนคืนหรือไม่ เพราะใช้เงิน 50 ล้าน แต่รับเงินเดือนกว่าแสนบาท แต่ก่อนมีการใช้ปลาทูเค็มซื้อเสียงแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว รวมทั้งใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ชนะ มองประชาธิปไตยเป็นธุรกิจการเมือง มองแต่ผลกำไร ทำทุกวิธีทางให้อีกฝ่ายต้องตายให้ได้ แทรกแซงทุกองค์กร..

***************************************************************************

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เผยยุทธศาสตร์สหรัฐฯ การปรับสมดุลใหม่ในเอเชีย !!?

หลังจากทีมีแหล่งข่าวเผยแพร่จำนวนมากในประเด็นที่ ”นาซา” จะเข้ามาศึกษาตาม “โครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study (SEAC4RS)

โดยนักวิทยาศาสตร์จะขึ้นเครื่องบินที่ดัดแปลงใส่อุปกรณ์เฉพาะขึ้นไปตรวจวัดทางกายภาพและทางเคมีของเมฆ อุณหภูมิ และความชื้นในชั้นบรรยากาศ พร้อมรับส่งข้อมูลเชื่อมโยงกับดาวเทียมในการตรวจความผิดปกติของชั้นบรรยากาศที่เกิดจากการเผาชีวมวล (Biomass) และการปล่อยแก๊สต่างๆ เครื่องบินจะขึ้นไประดับความสูงจากพื้นดินประมาณ 12 กม.

ระยะเวลาในการดำเนินการเก็บข้อมูลเริ่มเดือนสิงหาคม-กันยายน 2555 และเป็นที่มาของความวิตกกังวลของคนไทยจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าโครงการของนาซานี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้ SIU จึงขอใช้โอกาสนี้แปลบทปาฐกถาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายลีออน พาเน็ตตา (Leon Panetta) ถึงยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกากับการปรับสมดุลใหม่ในเอเชีย โดยแบ่งเป็น 2 ตอน สำหรับงานชิ้นนี้จะนำเสนอในภาคแรก ดังนี้



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลีออน พาเน็ตตา: ขอบคุณมากครับ จอห์น สำหรับความกรุณาในเรื่องคำแนะนำผมให้กับที่ประชุม

ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมงานสัมมนาแชงกรีลาเป็นครั้งแรกนี้ ผมขอชื่นชมสถาบันนานาชาติเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (International Institute for Strategic Studies) ในการจัดการอภิปรายที่สำคัญนี้ ซึ่งเป็นการเสวนาที่สำคัญยิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ในช่วงสุดสัปดาห์นี้
เท่าที่ผมทราบ ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 ที่เข้าร่วมในการเสวนานี้ ที่มีผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้บริหารจากทั้ง 2 พรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงตำแหน่งแห่งที่ของสหรัฐในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยพลวัตและมีความสำคัญยิ่งของโลกใบนี้
ด้วยจิตวิญญาณเช่นนี้เองที่ทำให้ผมมาเยือนสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางทั่วเอเชียเป็นเวลา 8 วัน ซึ่งเวียดนามและอินเดียก็อยู่ในการเดินทางครั้งนี้ของผมด้วย

จุดประสงค์ของการเดินทางครั้งนี้และการบรรยายของผมในวันนี้ ก็เพื่ออธิบายยุทธศาสตร์ทางการทหารชุดใหม่ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้เริ่มดำเนินการและพูดถึงสาเหตุที่สหรัฐอเมริกาจะเล่นบทบาทพันธมิตรที่ยั่งยืนและหยั่งรากมากขึ้นในการเดินหน้าด้านความมั่นคงและความรุ่งเรืองของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอธิบายถึงวิธีการที่กองทัพสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้โดยการปรับสมดุลของทั่วทั้งภูมิภาคนี้เสียใหม่

นับตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ขยับขยายประเทศออกไปทางตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 เราก็ได้กลายเป็นประเทศแปซิฟิกไปแล้ว ตัวผมเองเกิดและเติบโตขึ้นแถบเมืองชายฝั่งในแคลิฟอร์เนียที่ชื่อมอนเทอเรย์ และผมได้ใช้เวลาค่อนชีวิตในการเฝ้ามองข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกออกไป ด้วยเหตุที่เป็นชุมชนชาวประมง เป็นท่าเรือ มหาสมุทรย่อมเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเรา ความทรงจำครั้งยังเยาว์วัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผมได้เฝ้ามองกองทัพอเมริกันเคลื่อนพลผ่านชุมชนของผมเพื่อไปเข้ารับการฝึกที่ค่ายทหารที่เรียกว่า ฟอร์ดออร์ด และเดินทัพต่อไปเพื่อเผชิญศึกในแปซิฟิก

ผมยังจำได้ถึงความหวาดกลัวที่เข้าครอบงำชุมชนของเราในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาเมื่อสงครามระเบิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี ทั้งที่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์แบ่งแยกเราออกจากกัน ผมยังคงเข้าใจดีเสมอว่าชะตากรรมของสหรัฐอเมริกามีความผูกพันอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้กับภูมิภาคนี้ได้อย่างไร
ความจริงในข้อนี้เองที่ชี้นำการปรากฏตัวและการเป็นพันธมิตรของกองทัพสหรัฐในภูมิภาคนี้มามากกว่าหกทศวรรษ คือท่าทีในแง่ความมั่นคง ซึ่งควบคู่ไปกับความช่วยเหลือในทางต่างประเทศ ที่ช่วยนำมาสู่ยุคแห่งความมั่นคงและความรุ่งเรืองที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

ในศตวรรษที่ 21 นี้ สหรัฐอเมริกาตระหนักดีว่าความมั่นคงและความรุ่งเรืองของเราขึ้นกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้นทุกที นอกเหนือไปกว่านี้ ภูมิภาคนี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก คือ จีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ในเวลาเดียวกันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประชากรจำนวนมากที่สุดในโลก และมีกำลังทหารที่ใหญ่โตที่สุดในโลก สถาบัน IISS แห่งนี้ได้คาดการณ์ว่างบประมาณด้านกลาโหมในเอเชียได้ล้ำหน้ายุโรปไปแล้วในปีนี้ และไม่ต้องเป็นที่สงสัยว่างบยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อมองแนวโน้มนี้ ประธานาธิบดีโอบามาจึงได้กล่าวว่าสหรัฐอเมริกาจะเล่นบทบาทที่กว้างขวางมากขึ้นในภูมิภาคนี้สำหรับทศวรรษที่กำลังจะมาถึง ความพยายามนี้จะวางอยู่บนความเข้มแข็งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เราเล่นบทบาทนี้มิใช่ในในฐานะที่เป็นมหาอำนาจที่อยู่ห่างไกลออกไป หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศทั้งหลายในครอบครัวแปซิฟิก เป้าหมายของเราคือการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศทั้งหลายในภูมิภาคนี้ที่จะเผชิญต่อความท้าทายต่อส่วนรวม และเพื่อสนับสนุนสันติภาพ ความรุ่งเรืองและความมั่นคงต่อประเทศทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เพื่อนร่วมงานและมิตรที่ดีของผม คือคุณฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เคยให้ภาพร่างของการกลับมาเน้นหนัก (refocus) ในเอเชียแปซิฟิก และได้ให้การเน้นย้ำเป็นอย่างยิ่งต่อส่วนที่สำคัญที่ว่า การทูต การค้า และการพัฒนา จะเป็นเรื่องหลักในการการมีส่วนร่วมของเรา

สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในจุดวกกลับทางยุทธศาสตร์หลังจากทศวรรษแห่งสงคราม เราได้ทำให้ภาวะการนำและความสามารถในการโจมตีของประเทศอื่นๆ ของอัลกออิดะห์อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ เราได้ส่งสารที่ชัดเจนว่าจะไม่มีใครที่มาโจมตีสหรัฐอเมริกาแล้วหนีพ้นไปได้ ภารกิจทางการทหารในอิรักได้ยุติลงแล้วและมีการสถาปนาใหม่ขึ้นมา คือการสถาปนาอิรักที่สามารถดำรงตนและปกครองตนเองได้

ภาพจาก Voice of America

ในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีชาติเอเชียแปซิฟิกจำนวนมากได้แสดงบทบาทที่สำคัญในพันธมิตรนานาชาติ เราได้เริ่มการเปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศที่มีคนอัฟกันเป็นแกนนำในการสร้างความมั่นคง และประเทศอัฟกานิสถานซึ่งสามารถทำการปกป้องและปกครองตนเองได้ การประชุมล่าสุดในชิคาโก นาโตและพันธมิตร มากกว่า 50 ประเทศ ได้มาพบปะกันเพื่อสนับสนุนแผนของนายพลอัลเลนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ นอกจากนี้เราได้ร่วมมือกับความพยายามของนาโตที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนลิเบียให้เป็นของประชาชนลิเบีย

แต่แม้นว่าเราจะสามารถมองอย่างมีความหวังว่าสงครามนี้จะยุติลง แต่ปัจจุบันเราได้กำลังเผชิญความท้าทายระดับโลกที่มีความซับซ้อนและกว้างขวางมากยิ่งขึ้นทุกที จากภัยก่อการร้าย — การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามโลก — จากภัยก่อการร้ายมาเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของอิหร่านและเกาหลีเหนือ จากการขยายตัวของอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นภัยคุกคามใหม่ของการโจมตีในไซเบอร์ จากภาวะยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในตะวันออกกลางมาเป็นความขัดแย้งด้านพรมแดนในภูมิภาคนี้

ในเวลาเดียวกันสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ได้กำลังเผชิญกับหนี้ก้อนโตและภาวการณ์ขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งนี่ทำให้กระทรวงกลาโหมต้องลดงบประมาณไปเกือบครึ่งล้านล้านเหรียญ หรือราว 4.87 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการอำนวยการให้ลดลงจากสภาคองเกรสโดยกฎหมายควบคุมงบประมาณในทศวรรษหน้านี้

และด้วยความเป็นจริงทางการคลังอันใหม่นี้ ซึ่งก็เป็นความท้าทายต่อหลาย ๆ ประเทศในทุกวันนี้ด้วย ทำให้เรามีโอกาสในการออกแบบยุทธศาสตร์กลาโหมใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งทั้งทำให้เราสามารถเผชิญกับภัยคุกคามที่มี และยังดำรงสถานะการเป็นกองทัพที่เข้มแข็งที่สุดในโลกได้

ยุทธศาสตร์นี้เป็นที่ชัดเจนต่อกองทัพสหรัฐอเมริกา ถูกต้องครับ กองทัพจะต้องมีขนาดเล็กลง กองทัพจะต้องแบนราบลง แต่ก็ยังมีความคล่องตัวและยืดหยุ่น สามารถวางกำลังได้อย่างรวดเร็ว และจะมีการใช้งานเทคโลโลยีที่ทันสมัยในอนาคต และเป็นที่ชัดเจนพอกันว่าในขณะที่กองทัพสหรัฐอเมริกายังคงเป็นกำลังระดับโลกในแง่ความมั่นคงและการสร้างเสถียรภาพ เรายังจำเป็นต้องปรับสมดุลใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย เรายังคงปรากฏตัวอยู่ทั่วโลก เรายังคงดำเนินการด้วยการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกำลังที่สร้างสรรค์เพื่อเน้นย้ำในการเสริมสร้างเพื่อนและพันธมิตรใหม่ ๆ ด้วย เรายังคงมีการลงทุน ลงทุนในไซเบอร์ ลงทุนในอวกาศ ลงทุนในระบบที่ไม่เปิดเผยตัวตน ลงทุนในหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เราจะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่และเราจะลงทุนในความสามารถในการเคลื่อนย้ายเดินทางได้อย่างรวดเร็วหากมีความจำเป็น

เราได้เลือกและเราได้กำหนดลำดับความสำคัญ และเราได้เลือกอย่างถูกต้องที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีความสำคัญ

การดำเนินการของเราในการบรรลุเป้าหมายระยะยาวในเอเชียแปซิฟิกก็คือการยืนหยัดเพื่อจะยืนยันถึงชุดหลักการพื้นฐานร่วม ซึ่งก็คือหลักการที่จะสนับสนุนกฎกติกาสากลและระเบียบที่จะนำพาสันติภาพและความมั่นคงมาสู่ภูมิภาค ขยายและหยั่งรากความร่วมมือทั้งด้านทวิภาคีและพหุภาคี ดำเนินการขยายและปรับตัวการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐอเมริกาอย่างมั่นคงในภูมิภาคนี้ และดำเนินการลงทุนใหม่ ๆ ให้มีขีดความสามารถที่จำเป็นในการวางกำลังและการปฏิบัติการในเอเชียแปซิฟิก

ผมขอขีดเส้นใต้ประโยคที่ว่านี่ไม่ใช่หลักการใหม่ คำมั่นที่เข้มแข็งของเราที่จะเสริมสร้างกติกาที่จะต้องมีการปฏิบัติตามนี้เป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนสันติภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้

เรากำลังพูดถึงอะไร? กติกาเหล่านี้รวมถึงหลักการในเรื่องการค้าที่เปิดกว้างและเสรี ระเบียบในความยุติธรรมสากลซึ่งเน้นย้ำเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบของทุกชาติ และความเที่ยงตรงต่อบทบัญญัติด้านกฎหมาย เช่นการเปิดกว้างให้กับทุกฝ่ายต่ออาณาบริเวณส่วนรวมทั้งใน ภาคพื้นทะเล ท้องฟ้า อวกาศ และ ในไซเบอร์สเปซ รวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งโดยปราศจากการข่มขู่บังคับหรือการใช้กำลัง

การสนับสนุนต่อวิสัยทัศน์นี้รวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้ด้วยวิถีทางการทูต การสนับสนุนต่อหลักการเหล่านี้เป็นภารกิจที่สำคัญของกองทัพสหรัฐอเมริกาในเอเชียแปซิฟิกมามากกว่า 60 ปี และจะกลายเป็นภารกิจที่สำคัญในอนาคต ความหวังของผมในการรักษากติกาและระเบียบสากลว่ามีความจำเป็นนั่นก็คือการที่สหรัฐอเมริกาจะร่วมกับอีก 160 ประเทศในการอนุวัตรกฎหมายสนธิสัญญาทางทะเลในปีนี้

หลักการอันที่สองก็คือเรื่องของหุ้นส่วน กุญแจสำหรับการเข้าถึงความพยายามในเรื่องนี้ก็คือการพัฒนาให้ทันสมัย และการสร้างความเข้มแข็งของพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในภูมิภาค สหรัฐอเมริกามีสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และ ประเทศไทย เรามีหุ้นส่วนสำคัญในอินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ และเราทำงานอย่างหนักในการพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับจีน

ภาพจาก GlobalTimes

ในขณะที่เราขยายหุ้นส่วนออกไป เราก็เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรของเราด้วย พันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจะยังคงเป็นรากฐานของความมั่นคงและความรุ่งเรืองในภูมิภาคในศตวรรษที่ 21 นี้ และด้วยเหตุนี้ ทั้งสองกองทัพจะยังคงขยายขีดความสามารถที่จะฝึกซ้อมและการปฏิบัติการร่วมกัน และจะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทั้งในด้านความมั่นคงทางทะเลและงานข่าวกรอง การตรวจตราความปลอดภัยและการลาดตระเวน เรายังคงร่วมมือในการพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งระบบป้องกันขีปนาวุธยุคหน้า และแสวงหาความร่วมมือในอาณาบริเวณใหม่ ๆ เช่นในอวกาศและในไซเบอร์สเปซ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตร และเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่กว้างขวางขึ้นในภูมิภาคและการปรับแผนเพื่อโยกกำลังนาวิกโยธินจากโอกินาวามายังเกาะกวม แผนนี้จะทำให้การคงกำลังในโอกินาวามีความยั่งยืนทางการเมืองมากขึ้น และยังช่วยพัฒนากวมให้กลายเป็นศูนย์รวมทางยุทธศาสตร์สำหรับกองทัพสหรัฐในแปซิฟิกตะวันตก ปรับปรุงขีดความสามารถในการตอบสนองเหตุฉุกเฉินที่หลากหลายมากขึ้นในเอเชียแปซิฟิก

แกนหลักอีกชิ้นหนึ่งในความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิกก็คือพันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐเกาหลี ในขวบปีแห่งการเปลี่ยนผ่านและการยั่วยุในคาบสมุทรเกาหลี การเป็นพันธมิตรนี้เป็นเรื่องจำเป็น และผมได้กำหนดลำดับความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในอนาคต เพื่อให้ถึงเป้าหมายนี้ แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็จะลดกำลังภาคพื้นดินทุกส่วนในช่วงปีที่ผ่านมาในหนทางของการเปลี่ยนผ่านข้ามไปช่วงห้าปีนี้ เราจะดำรงการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญในเกาหลี

เราจะเสริมสร้างงานข่าวกรองและการแบ่งปันข้อมูลกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งต่อการท้าทายที่ไม่เป็นมิตรจากเกาหลีเหนือ ในขณะที่การปรับโฉมพันธมิตรให้มีขีดความสามารถใหม่เพื่อเท่าทันความท้าทายระดับโลกได้มีการดำเนินไป

หลักการส่วนร่วมที่มีความสำคัญก็คือการปรากฏตัว ในขณะที่เราเสริมสร้างพันธมิตรดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและดำรงการปรากฏตัวของเราที่นั่น ในส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับสมดุลนี้เราก็ได้เสริมสร้างการปรากฏตัวของเราในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย
ส่วนประกอบสำคัญของความพยายามนี้ก็คือคำประกาศของข้อตกลงในฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วสำหรับการสับเปลี่ยนกำลังนาวิกโยธินและการวางกำลังอากาศยานในภาคเหนือของออสเตรเลีย

การวางกำลังนาวิกโยธินชุดแรกจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน และกำลังภารกิจนาวิกโยธินภาคพื้นดินจะมีความสามารถในการวางกำลังได้อย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นั่นทำให้เราจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพกับหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดียเพื่อรับมือกับความท้าทาย เช่นภัยพิบัติจากธรรมชาติ และความมั่นคงทางทะเล

กำลังนาวิกโยธินเหล่านี้จะทำการฝึกซ้อมและทำการปฏิบัติการทั่วทั้งภูมิภาค และกับออสเตรเลีย เพื่อการเสริมสร้างหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของเรา และสร้างเป็นการเสริมสร้างในทศวรรษที่มีประสบการณ์ร่วมกันของการปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน ด้วยคำกล่าวเช่นนี้ ผมยินดีตอบรับและขอแสดงความชื่นชมคำประกาศของออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะเล่นบทบาทผู้นำในทีมปฏิบัติการร่วม Uruzgan และจะเล่นบทบาทนำในความพยายามด้านความมั่นคงที่นั่นไปจนถึงปี 2014

เราจะยังคงดำเนินปฏิบัติการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรที่มีมาอย่างยาวนานของเรา คือประเทศไทย การซ้อมรบประจำปี คอบร้า โกลด์ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นการฝึกซ้อมพหุพาคีระดับโลก และปีนี้เราจะหยั่งรากในความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองทันต่อความท้าทายในภูมิภาค

เราจะยิ่งเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตรกับประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนที่แล้วในวอชิงตัน ผมได้ร่วมกับรัฐมนตรีคลินตันในการประชุม คู่ต่อคู่ (2+2) กับคู่เจรจาฟิลิปปินส์ของเรา การทำงานร่วมกันนั้นทำให้ กำลังของพวกเราประสบความสำเร็จในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย เรายังได้แสวงหาการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันจากการขยายขีดความสามารถ และการทำงานเพื่อปรับปรุงการคงกำลังในภาคพื้นมหาสมุทรของฟิลิปปินส์ ประธานเดมพ์เซย์จะเดินทางจากที่นี่ไปยังฟิลิปปินส์เพื่อเข้าร่วมภารกิจทางทหารเพิ่มเติม
ข้อพิสูจน์อันเด่นชัดที่เป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่งของคำมั่นในการปรับสมดุลก็คือการเติบโตในความสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับประเทศสิงคโปร์ ความสามารถของเราในการปฏิบัติการกับกองกำลังสิงคโปร์และกองกำลังอื่นในภูมิภาคจะเติบโตขึ้นอย่งมีนัยยะสำคัญในขวบปีที่กำลังจะมาถึง เมื่อเราดำเนินการในการวางกำลังเรือรบลิตโตรัลในสิงคโปร์

เมื่อเราได้ดำเนินทิศทางของพันธมิตรและหุ้นส่วนไปยังทิศทางใหม่ ความพยายามในการปรับสมดุลใหม่นี้จะก่อให้เกิดผลพวงในการขยายการเป็นหุ้นส่วนไปยังประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และ นิวซีแลนด์ อีกด้วย

ในช่วงปีที่กำลังมาถึงนี้ ผมจะเดินทางไปยังเวียดนามเพื่อเดินหน้าความร่วมมือทางการกลาโหมแบบทวิภาคี เพื่อทำสิ่งที่อยู่ในบันทึกความเข้าใจที่ครอบคลุมซึ่งทั้งสองประเทศได้มีการลงนามกันเมื่อปีที่แล้วให้เกิดเป็นจริง

จากเวียดนาม ผมจะเดินทางไปยังอินเดียเพื่อยืนยันความตั้งใจของเราในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับประเทศที่ผมเชื่อว่าจะแสดงบทบาทอันสำคัญในการสร้างอิทธิพลต่อความมั่นคงและความรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 21 นี้

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ทำการเสริมสร้างหุ้นส่วนในภูมิภาคเหล่านี้ เราก็จะแสวงหาหนทางที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งกับประเทศจีนด้วย เราเชื่อว่าจีนจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนา สันติภาพ ความรุ่งเรือง และความมั่นคงของเอเชียแปซิฟิกในศตวรรษที่ 21 และผมหวังว่าจะเดินทางไปที่นั่นในไม่ช้าจากคำเชิญของรัฐบาลจีน รัฐบาลของเราสองต่างก็ตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดในโลก พวกเราในสหรัฐอเมริกามีภาพอันแจ่มชัดเกี่ยวกับความท้าทาย ที่จะไม่ดำเนินหนทางที่ผิดพลาดในเรื่องนี้ และเรายังจะคว้าโอกาสในการสร้างความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นอีกด้วย

โดยส่วนตัวแล้วผมขอให้คำมั่นที่จะสร้าง ความสัมพันธ์ ที่เข้มแข็ง สถาพร มั่นคง และต่อเนื่องยาวนาน อย่างใกล้ชิด กับประเทศจีน ผมมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพรองประธานาธิบดีสี และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพลเหลียง ที่เพนตากอน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป้าประสงค์ของเราก็คือเพื่อดำเนินการปรับปรุงความไว้วางใจทางยุทธศาสตร์ซึ่งจำเป็นต่อประเทศของเราสอง รวมทั้งการพูดคุยเกี่ยวกับการดำเนินการ่วมเพื่อจะแบ่งปันความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกัน
เรากำลังร่วมมือกับจีนเพื่อดำเนินแผนความร่วมมือระหว่างกองทัพต่อกองทัพที่แข็งแกร่งในช่วงหลังของปีนี้ และเราจะแสวงหาการดำเนินการด้าน ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การต่อต้านการค้ายาเสพติด และ การต่อต้านการแพร่กระจายอาวุธ กับหุ้นส่วนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น..
ติดตามปาฐกถาตอนจบเร็วๆ นี้

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชาวบ้าน ฮือต้านทำเขื่อน-แก้มลิง ส่งผลโครงการป้องกันน้ำท่วมฟันหลอ !!?

ชาวบ้านฮือต้านก่อสร้างเขื่อนคันดินริมเจ้าพระยา ผู้รับเหมาผวาไม่กล้าเข้าพื้นที่ ส่งผลโครงการป้องกันน้ำท่วมฟันหลอ หวั่น กทม.-ปริมณฑลน้ำมาเร็วและแรงกว่าปี"54 "เสรี ศุภราทิตย์" จี้รัฐเปิดข้อมูลพื้นที่รับน้ำนอง

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยเร่งด่วน และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมในปีนี้ พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลโอกาสเสี่ยงประสบปัญหาน้ำท่วม 20% โดยระดับน้ำอาจเท่าปี 2549 และน้อยกว่าปี 2554 ที่ผ่านมา ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อพื้นที่ตอนบนไม่เอาน้ำแล้ว นิคมอุตสาหกรรมกว่า 30,000 ไร่ไม่เอาน้ำ ชุมชนเทศบาลต่าง ๆ ยกคันเพิ่มขึ้นไปอีก ฉะนั้นน้ำจะวิ่งลงมาข้างล่าง จ.พระนครศรีอยุธยาอาจเจอน้ำท่วมรุนแรงขึ้นเพราะพื้นที่ต่ำ เช่นเดียวกับ กทม.-ปริมณฑลที่อาจประสบปัญหาจากกระแสน้ำที่มาเร็วและแรงขึ้น

หลัง จากเดือนกรกฎาคมจะชัดเจนว่าควรรับมืออย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยากรณ์ฝนได้แม่นยำมากขึ้น โดยดูจากจำนวนพายุที่จะเข้ามา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินงบประมาณที่ภาครัฐอนุมัติไว้ 120,000 ล้านบาท ขณะนี้มีการเบิกจ่ายไม่ถึง 12,000 ล้านบาท จึงมีปัญหาว่าหากนำตรงนี้มาวัดการทำงานถือว่าการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง น้ำยังไม่ถึง 20% ประมาณ 18% เท่านั้น ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าในทุก พื้นที่ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร บางแห่งที่กำลังทำ บางแห่งยังทำไม่ได้

ขณะ เดียวกันพื้นที่รับน้ำนองที่กำหนดไว้ 2 ล้านไร่เศษ ตกลงเป็นอย่างไร เพราะชาวบ้านถามว่า เขาอยู่ในพื้นที่รับน้ำนองหรือไม่ เพราะไม่มีการประกาศเขตชัดเจน เท่าที่ทราบเวลานี้ชาวบ้านหลายพื้นที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะ ประกาศกำหนดพื้นที่รับน้ำนองโดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้หรือแสดง ความคิดเห็น

เห็นได้ชัดเจนจากกรณีก่อสร้างโครงการป้องกันพื้นที่ เศรษฐกิจ การทำคันกั้นน้ำ 300 กิโลเมตร ปรากฏว่าไม่มีใครเห็นด้วย มีความขัดแย้งสูง หลายโครงการประมูลก่อสร้างเขื่อนคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ แต่ผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าพื้นทีก่อสร้างได้ ชาวบ้านไม่ยินยอม ส่งผลให้เขื่อนและคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นฟันหลอ หลายจุด ไม่สามารถป้องกันน้ำได้ สุดท้ายพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลอาจประสบปัญหารุนแรงกว่าเดิมเพราะกระแสน้ำจะเร็วและแรงขึ้นกว่า น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา

ด้านแหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผย ถึงความคืบหน้าในการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองว่า จำแนกเป็น 4 กลุ่มพื้นที่ คือ 1.พื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำน่าน 2.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน 3.พื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำยม และ 4.พื้นที่ตอนต้นแม่น้ำเจ้าพระยา

ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีพื้นที่รับน้ำนองเป็น 7 พื้นที่ ได้แก่

1.ฝั่ง ซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาทถึงแม่น้ำลพบุรี 2.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำลพบุรี 3.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำลพบุรีกับคลองชัยนาท-ป่าสัก 4.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย 5.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำท่าจีน 6.ฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน และ 7.ทุ่งผักไห่ เจ้าเจ็ด บางบาล

แบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 1.พื้นที่เกษตรชลประทาน 2.8 ล้านไร่ 2.พื้นที่พักน้ำชั่วคราว ซึ่งไม่มีพื้นที่ใดเข้าเกณฑ์ 3.พื้นที่แก้มลิงแม่น้ำ 4.9 พันไร่ และ 4.พื้นที่ลุ่มต่ำหรือทุ่งรับน้ำที่น้ำไหลเข้าออกตามธรรมชาติ 9.8 แสนไร่ รองรับน้ำได้ทั้งสิ้น 6.6 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะเร่งด่วนปีนี้หากฝนตกหนักและมีน้ำหลากมากเหมือนปี 2554 จะใช้พื้นที่รับน้ำนองที่มีระบบปิดล้อมและควบคุมน้ำเข้าออกได้ คือพื้นที่เกษตรชลประทาน 2.8 ล้านไร่ รองรับน้ำ 4.3 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุม 10 จังหวัดในพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และเจ้าพระยาตอนล่าง ใน จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี

ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ ชดเชยความเสียหาย 2 กรณี 1.จ่ายตอบแทนทุกพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำนอง 650 บาท/ไร่ 2.จ่ายช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษหากได้รับความเสียหาย แยกเป็นข้าวนาปี 4,900 บาท/ไร่ พืชไร่ 6,875 บาท/ไร่ และพืชสวน 11,125 บาท/ไร่

สำหรับราย ละเอียดของพื้นที่รับน้ำนองแต่ละแห่งมีดังนี้ พื้นที่รับน้ำนองพลายชุมพล ใน อ.เมือง อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก และ อ.เมือง อ.สามง่าม และ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร รวม 1.36 แสนไร่ ความลึกน้ำเฉลี่ย 1-2 เมตร พื้นที่รับน้ำนองดงเศรษฐี อ.เมือง จ.พิจิตร 9.1 พันไร่ พื้นที่รับน้ำนองดงเศรษฐี 2 ใน อ.เมือง จ.พิจิตร 4.3 พันไร่ ความลึกน้ำเฉลี่ย 1 เมตรฯลฯ

พื้นที่รับน้ำนองพลเทพฝั่งขวาแม่น้ำท่า จีน อ.หันคา จ.ชัยนาท 7.5 พันไร่ ความลึกน้ำ 0.80 เมตร สามชุก ทุ่งโคกยายเกตุฝั่งขวาแม่น้ำท่าจีน ใน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 7.3 พันไร่ ความลึก 1 เมตร ทุ่งศาลาขาวฝั่งขวาแม่น้ำท่าจีน ใน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 5.3 พันไร่ ความลึก 0.80 เมตร สามชุก ทุ่งท่าว้า อ.เมือง อ.อู่ทอง และ อ.บางระจัน จ.สุพรรณบุรี 1.03 หมื่นไร่ ความลึกน้ำ 1 เมตร เป็นต้น


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สำรวจ : รอยเลื่อนตุลาการ-การเมือง ??

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเด็นการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญถือเป็นประเด็น เผ็ดร้อน ในกระแสการเมืองจนอาจก่อให้เกิดเรื่องบาน-ปลายหากมีการตะแบงดึงดัน ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในวงวิชาการเองเรื่องนี้ก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในหลายวงเสวนา แต่ก็เชื่อว่าอาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ได้หากนักการเมืองจะเปิดใจรับฟัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเสวนาวิชาการ จัดโดยวิทยาลัย นานาชาติปรีดี พนมยงค์ เรื่องปรีดี พนมยงค์หลักการแบ่งแยกอำนาจตามหลักประชาธิปไตย ตุลาการ vs. นิติบัญญัติ ภายในงานดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต สสร.รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งสารภาพว่า สสร. 2540 ทำบาปสร้างองค์กรอิสระให้กลายเป็นอำนาจที่ 4 อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร รวมถึงนายโภคิณ พลกุล อดีต ประธานรัฐสภา และ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจ ก้าวล่วงมาวินิจฉัยและมีคำสั่งกรณีการลงมติแก้ไขรธน. วาระ 3 ของรัฐสภาครั้งนี้ เป็นบาปที่เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีอำนาจอื่นเข้ามาใช้อำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ “อาจจะเป็นบาปของผมด้วย เพราะตอนนั้นผมเป็นสสร. 2540 คือสถานการณ์ตอนนั้นมันเลวร้ายมาก จึงจำเป็นต้องหามือปราบ หาเปาบุ้นจิ้นมา ในขณะนั้นเรามีความหวังกันมาก ในรธน. 2540 ก็หวังว่าการเมืองจะใสสะอาด การเลือกตั้งจะไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่โกงกัน นักการเมืองก็จะทำงานกันอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใส เพราะกลไกต่างๆ มันมัดไว้หมดเลย เรามีองค์กรอิสระ กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งองค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้ มี อีกหลายองค์กรล้วนแค่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเปาบุ้นจิ้นปราบนักการเมืองที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบ นี่เป็นกระแสของความรู้สึก ในขณะนั้น เรามีรธน. เขียนออกมาก็เฮโลเห็นดีเห็นงามกันไป ผมเองก็คัดค้านว่านี่คือการสร้างระบบขุนนางขึ้นมา ไม่ได้ผ่านความเห็นดีเห็นงามของประชาชนเลย ผ่านการสรรหาทั้งสิ้น แล้ว กรรมการก็ล้วนแต่อำมาตย์”

“การมีองค์กรอิสระก็เพื่อจะควบคุมการบริหารแผ่นดินโดย การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามระบอบรัฐสภา ศาล หรือองค์กรอิสระต่างๆ นั้นแนวคิดพื้นฐานเพื่อเอามาควบคุมรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยสรุปคือองค์กรต่างๆ เหล่านี้มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในความรู้สึกผม หลังจากที่เหตุการณ์มันพัฒนามาถึงปัจจุบันนี้แล้ว ผมคิดว่าอันที่จริงแล้วตอนที่เราทำรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น หลักการคานอำนาจ ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงโดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แหม เรา รู้สึกภูมิอกภูมิใจเหลือเกินว่าเราสร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมา แต่มันได้ทำลายระบอบรัฐสภาลงโดยสิ้นเชิง เป็นการสร้าง ระบอบนี้ขึ้นมาเป็นอำนาจที่สี่ ควบคุมอีกสามอำนาจที่เหลือ”

“ถ้ามีช่องเมื่อไหร่ท่านก็จะอ้างอำนาจทันที นี่คือตุลาการภิวัตน์ เรามาถึง รธน. 2550 นี่จึงไม่น่าแปลกใจเลย เริ่มจากใคร เป็นสสร.-ตุลาการเข้ามาเต็มไปหมดเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ศาล รธน. สร้างอำนาจตรงนี้ ออกคำสั่งมายังสภา ถือว่าผิดต่อหลักการ กระจายอำนาจไหม”

การตีความของศาลรัฐธรรมนูญในการใช้ ม.68 ว่า ศาลคงตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายล้างรัฐธรรมนูญ และอ้างว่าตัวเองเป็นผู้แทนของอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

“แต่ผมอยากจะถามว่าถ้าเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นจริง แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนไว้ทำไมในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เวลาฟังท่านฟังให้ดีๆ นะครับ เพราะเวลาพูดแล้วฟังดูลื่นมาก ถ้าไม่มีท่านก็ไม่มีใครทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

สสร. 2540 ผู้นี้ยืนยันว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็น คำสั่งที่ไม่ชอบ แต่หลายฝ่ายอาจจะรู้สึกแหยงเพราะผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นน่าแขยง ทั้งการพจนานุกรมมา ตีความ การยุบพรรคการเมืองชนิดที่ทำผิดคนเดียวก็ถือว่าผิดทั้งหมู่

“เรากำลังอยู่ในวิกฤติรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญที่สุด และไม่รู้ จะหาใครเป็นคนตัดสิน ในเมื่ออำนาจในการตัดสินอยู่ที่ท่าน ในเมื่อรัฐสภาเองก็ยังลงมติไม่ได้ว่าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่มีความเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่ง แต่การโต้แย้งนี้ ไปยื่น ต่อศาลซึ่งผลก็เท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจโดยปริยาย แล้วถ้าศาลตัดสินว่าใช่ตามที่ผู้ร้องเขาร้องแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็ขอให้คิดกันต่อไป”

หากจะผ่าทางตัน..“พนัส” เสนอวิธีการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหากรณีศาลรธน. สั่งชั่วคราวระงับการลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรนูญของ รัฐสภา เพื่อรอการพิจารณคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ส.ส. ต้องไม่กลัว เพราะที่ศาลรธน. ทำคือต้องการให้หยุด แต่ ส.ส. และ ส.ว.จะไม่ฟังคำสั่งก็ไม่ได้ เพราะเสี่ยงต่อการจะถูกถอดถอน

อย่างไรก็ตาม ส.ส. ต้องมีความกล้าให้มาก ในเมื่อรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชน เสียงข้างมากของสภาต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกับพวกกลับขัดขวาง ดังนั้น มีทางเลือก 2 ทาง คือ หนึ่ง ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไป แล้ว ส.ส. เข้าชื่อกันใหม่ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง เลยโดยไม่ต้องมีสสร. และในอันดับแรกที่จะแก้ไขคือ ยกเลิกศาล รัฐธรรมนูญเสีย แต่แนวทางนี้ต้องอาศัยความกล้า ส่วนประธาน รัฐสภาที่ไม่มีความกล้าต้องเอาออกไป

ทางเลือกที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการขัดขวางความต้องการของประชาชน เมื่อขัดขวางประชาชนก็ต้องเอาอาวุธของประชาชนมาใช้คือลงประชามติ โดยวิธีการประชามตินั้นทำได้โดยนายกรัฐมนตรี ปรึกษาประธาน สภาผู้แทนและประธานวุฒิสภาโดยมีเหตุผลว่าขณะนี้เกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ประชาชนลงประชามติเพียงอย่างเดียวว่า ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และในการลงประชามตินั้นก็สามารถให้ประชาชนลงประชามติไปพร้อมกันเลยว่าต้องการให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

“นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องเลิกไปดูน้ำเสียที มาปรึกษาหารือกัน ว่าจะแก้ลำเขาอย่างไร ดูสิว่าจะสู้กับอำนาจประชาชนได้หรือไม่”

ด้านโภคิณ พลกุล อดีตประธานรัฐสภา เห็นว่าความวุ่นวายในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีที่มาจากรัฐประหาร พยายามจำกัดอำนาจ ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ให้เป็นไปตามหลักยุติธรรมที่ควรจะเป็น ฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญตามประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ควรกระทำ อะไรที่ไม่เป็นไปตามหลักก็ต้องทำให้ถูกหลักนิติธรรม ความไม่เหมาะสมของรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และการวินิจฉัยของตุลาการที่มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคเป็นการตีความย้อนหลังและเหมาเข่งเอาคนที่ไม่เกี่ยว ข้องไม่ได้กระทำผิดให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองยาวนานถึง 5 ปีไปด้วย นี่คือตัวอย่างที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

โดยทั่วไปแล้วกฎหมายมีมาตรฐานเดียว แต่คนตีความกฎหมายพยายามใช้ 2-3 มาตรฐาน และการจะยื่นถอดถอนศาล รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาจำนวนมากแล้วจึงส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเห็นได้ว่ากลไกเหล่านี้ ถูกวางไว้หมดแล้ว เขาจึงเสียกลไกนี้ไปไม่ได้

“พวกคนไม่ชอบอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีคนเสนอว่าหากจะให้บ้านเมืองสงบพ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องมาติดคุก แต่ถ้าไปดูจริงๆ แล้วจะเห็นว่ากระบวนการที่กล่าวหาอดีต นายกฯ มีที่มาไม่ถูกต้องเกิดจากการรัฐประหารจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคตส.รวมถึงหน่วยงานต่างๆ มาทำตรงจุดนี้ ทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามให้ฉุกคิดว่าการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ไปได้ทั่วโลกยกเว้น ประเทศไทย แสดงว่าหลักนิติธรรมทั้งโลกแย่กว่าประเทศไทยใช่หรือไม่”

ไม่ว่าผลของพิจารณากรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่นี่จะเป็นกรณีที่ทำให้คนหูตาสว่างมากขึ้น และอยากให้ทุกคนก้าวพ้นความกลัว (ภยาคติ) เพราะความกลัวทำให้เสื่อมทุกอย่าง ก็จะไม่เดินหน้า หากเราก้าวข้ามความกลัว ส.ส.เลิกกลัว ประชาชน เลิกกลัว แล้วเดินหน้าเลิกเราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทาง ที่ดีขึ้น โดยไม่ยอมให้เขาทำเราอยู่ฝ่ายเดียว เป็นคำสรุปของ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”..ที่ไม่จำเป็นต้องขยายต่อ...

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อีเวนต์การเมือง : ข้างถนน ปะทุศึกม็อบชนม็อบ !!?

บนความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังถอดสลักวาระแห่งความขัดแย้ง ด้วยการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้กรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง...ปรองเดือด แม้ดูเหมือนกับว่าทุกขั้วการเมืองพากันถอยกลับสู่ป้อมประตูค่าย เพื่อสงบศึกเป็นการชั่วคราว แต่นั่นก็เป็นเพียงความ นิ่งสงบ ก่อนหน้าพายุใหญ่จะพัดถล่ม ยิ่งตลอดหลายวันที่ผ่านมา การเผชิญหน้าของขั้วการเมือง กลุ่มมวลชน กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปอย่างถึงลูกถึงคน หลังมีความชัดเจนว่าฝ่ายการ เมืองกำลังตกอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ หาก คิดจะฝ่าด่านอรหันต์ เพื่อดันแก้รัฐธรรมนูญ “วาระ 3” ผ่านกระบวนการในสภา

เวลานี้ จังหวะก้าวในซีกรัฐนาวา ยัง คงมีความสุ่มเสี่ยงในการถูก “ยัดเยียดข้อหา” โดยเฉพาะในเรื่องการตีความมาตรา 68 ที่ยังมีความเห็นต่างกันสุดขั้วภายใต้ข้อกฎหมายตัวเดียวกัน เช่นที่ว่านี้ เมื่อมีระฆังสั่งพักยกให้ต่างฝ่ายถอยกันไปคนละก้าว! สัญญาณดังกล่าวจึงถูกมอง เป็นแค่การสลับเวทีเล่น เปลี่ยนจากการลับฝีปากในสภา ย้ายวิกมา สู่เกมการเมืองข้างถนนเท่านั้นเอง โดยทาง พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ก็ยังดาหน้า ถล่มกันผ่านอีเวนต์การเมือง ทั้งการเปิดเวทีปราศรัยและวงเสวนา ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็น การแลกกันคนละหมัด โดยไม่มีใครเก็บงำ อาการอีกต่อไป แต่เหนืออื่นใด การที่พรรคการเมือง ใหญ่ทั้งคู่มุ่งขยายประเด็นเผือกร้อนดังกล่าว ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองทวีความ รุนแรง ขยับเข้าไปใกล้จุดแตกหักมากขึ้นทุกที

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวในภาค ประชาชน ก็ไม่ได้มีแค่ “ม็อบเสื้อเหลือง” หรือ “เสื้อแดง” เท่านั้น ทว่ายังรวมไปถึง “แนวร่วมรบ” ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก้อนอำนาจทางการเมือง ตลอดจนมวลชน จัดตั้งที่ออกมาตีปีกเชียร์! การทำหน้าที่ของ คณะตุลาการและคัดค้านโรดแมปปรองดอง-รธน.แก้กรรมของรัฐบาล เช่นการนัดชุมนุมที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี โดยมีกลุ่มมวลชนในภาคอีสาน กว่า 5 พันคน ภายใต้ชื่อกองทัพปลดแอก ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ได้แห่กันมาร่วมเวทีปราศรัยเพื่อปกป้องและสนับสนุนคณะ 7 ตุลาการศาล รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หลังจากศาล รธน.ถูกโจมตีอย่างหนัก กรณีไปล้วงลูกฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยการออกคำสั่งให้ “รัฐสภา” ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “วาระ 3” ออกไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งทางมวลชน กลุ่มนี้กล่าวอ้างว่าศาล รธน.มีอำนาจและ มีความชอบธรรม

บนเวทีไฮด์ปาร์คที่ทุ่งศรีเมือง “คมสัน โพธิ์คง” อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี 2550 และนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ได้ขึ้นปราศรัย พร้อมกล่าวโจมตีผู้ที่ออกมา เคลื่อนไหวต่อต้านคำสั่งดังกล่าว ไม่ยอมรับ มติของตุลาการศาล พร้อมแจกจ่ายแถลงการณ์ต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุม โดยแถลงการณ์ระบุว่า ขณะนี้ได้มีบุคคลและกลุ่มบุคคลบางพวกที่ไม่ยอมรับ ไม่เคารพต่อคำสั่งจากสถาบันตุลาการ ศาล รัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย ของปวงชนชาวไทย โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง อันจะเกิดมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงต่อ ประเทศชาติ ตามที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.และพวก ได้กระทำการตั้งโต๊ะออกล่ารายชื่อเพื่อดำเนินการถอดถอน คณะตุลาการ เพราะมีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ในฐานะประชาชนคนไทยผู้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจอธิปไตย ภายใต้กฎหมาย รัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศ จึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่าการกระทำดังกล่าว ของกลุ่ม นปช.ถือเป็นการข่มขู่ คุกคาม คณะตุลาการอย่างให้อภัยมิได้ และถือว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น จึงขอเรียกร้อง ให้ทางกลุ่ม นปช.ได้ยุติพฤติกรรมดังกล่าว นั้นโดยเด็ดขาด

ทางด้านความเคลื่อนไหวในภาคประชาชน ทั้งในระดับพื้นที่และในหัวเมือง ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเวลานี้เต็มไปด้วยความ อึมครึมไม่แพ้กัน เพราะทุกม็อบจากทุกสี ต่างพากันเปิดเวทีปลุกระดม! ภายใต้ มหกรรม หลากสีเสื้อ ซึ่งถือเป็นการ “จัดแถว” เพื่อรอคำสั่งเคลื่อนพลจากส่วนกลาง เช่นเดียวกับการเป่านกหวีดเรียก “คนเสื้อแดง” ให้ออกมาชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 มิ.ย. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดย “ธิดา ถาวรเศรษฐ” ประธาน นปช. ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า...จะเดินหน้าต่อต้าน “ฝ่ายอำมาตย์” ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะยังมีความพยายามในการจ้องล้ม รัฐบาล และมุ่งทำลายกลุ่มคนเสื้อแดง “สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีความพยายามตัดสิทธิ์การทำหน้าที่ ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึง มีการแฝงตัวในกลุ่มพวกเรา เพื่อหวังทำลายเสื้อแดง”

ขณะที่หนึ่งในแกนนำอย่าง “จตุพร พรหมพันธุ์” ได้ขอให้กลุ่มคนเสื้อแดง เก็บความน้อยอกน้อยใจกรณีที่ไม่ถูกยับยั้งการ ลงมติวาระ 3 เอาไว้ก่อน เพราะเวลานี้คนเสื้อแดงยังต้องสามัคคีเพื่อร่วมกันต่อสู้ โดยย้ำถึงความพยายามในการล้มรัฐบาล จากการดำเนินการขององค์กรอิสระ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยความเชื่ออย่างลึกซึ้งว่า..เป็น “เจตนา” และ “จงใจ” ที่จะนำมาซึ่งการล้มกระดาน “อำนาจแห่งรัฐนาวา” พร้อมเรียกร้องให้คนเสื้อแดง ออกมารวมพลังในการชุมนุม!!


ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อู่ตะเภา - เขาวิหาร สันดาน แมลงสาป !!?

กษิต พูดชัดรัฐบาลสหรัฐฯไม่ทำเพื่อคนๆเดียว ถือเป็นประเด็นร้อนแรง ปลุกกระแสสังคมได้สมเจตนาของขั้วการเมืองที่ต้องการทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้กระแสต้านแม้ว กระแสไม่เอาทักษิณ เงียบหายไป

โดยครั้งนี้เปิดประเด็นว่า รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ไปเขียวให้สหรัฐอเมริกามาใช้พื้นที่อู่ตะเภาตั้งฐานปฏิบัติการได้ เพื่อแลกกับวีซ่าเข้าสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่กองทัพไทยในยุคนี้ก็ไม่ได้มีการคัดค้านอะไรเลย

เจอข่าวปล่อยออกมาแบบนี้ กระแสเลือดรักชาติก็ย่อมพลุ่งพล่านเป็นธรรมดา และยิ่งหากเป็นพวกที่ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่แล้ว ยิ่งเดือดเป็น 2 เท่า

ซึ่งบังเอิญเรื่องที่ปล่อยออกมานี้ก็มีข้อมูลจริงอยู่ส่วนหนึ่ง คือมีโครงการเกี่ยวกับองค์การการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา หรือ “นาซา” จะมาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อทำการศึกษาสภาพภูมิอากาศ ในโครงการ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study หรือ SEAC4RS จริงๆ

แต่เรื่องที่เอาไปโยงว่านี่คือการยกแผ่นดิน การเปิดประตูให้รุกล้ำอธิปไตยของชาติเพียงเพื่อแลกกับวีซ่าเข้าสหรัฐให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นเป็นเรื่องจินตนาการกับความจงใจของคนปล่อยข่าว เพราะรู้ว่าประเด็นนี้ปล่อยออกมาแล้วแรงแน่ คนไทยจะเดือดแน่ๆ แล้วรัฐบาลก็จะเอียงกระเท่เร่ได้ง่ายๆ

เป็นประเด็นที่คล้ายหรือเหมือนกันกับกรณีพื้นที่เขาวิหาร ที่มีการปลุกเร้ากระแสรักชาติจนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาเกือบจะต้องรบกันนั่นแหละ

แต่ที่รอบนี้ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ ก็เป็นเพราะหลังจากที่เปิดประเด็นสร้างกระแสออกมาจนทำท่าว่าจะจุดติด รัฐบาลต้องเร่งชี้แจงเป็นพัลวัน ว่ากรณีนี้คือสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์สำรวจชั้นบรรยากาศ และ เป็นศูนย์กู้ภัยพิบัติธรรมชาติประจำภูมิภาคเอเชียเท่านั้น

ไม่ได้มีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีเพนตากอน เข้ามาแอบแฝงพัฒนาโครงการดาวเทียมหรือเครื่องบินสอดแนมเพื่อคุกคามจีน และที่สำคัญไม่ได้มีเรื่องวีซ่าเข้าสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวเลยสักนิด

เพราะต้นตอจุดเริ่มต้นของการเจรจาเรื่องนี้ ไม่ใช่มาจากรัฐบาลชุดนี้ แต่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นแล้ว

กลายเป็นเรื่องกลับตาลปัตร โอละพ่อ ขึ้นมาในทันที ว่าอ้าวแล้วจริงๆมันอย่างไรแน่

ซึ่งแรกๆก็ตามสไตล์ ปชป. ที่ถูกล้อเลียนว่าชอบเอาดีเข้าตัว เอาชั่วโยนให้คนอื่นนั่นแหละ แต่บังเอิญรอบนี้ นายกษิต ภิรมย์ อดีต รัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นคนที่ออกมาแถลงเรื่องการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์การนาซ่าขอใช้พื้นที่ด้วย เพื่อจอดอากาศยานและขึ้นทำการบินตรวจสภาพอากาศ

ยอมรับอย่างชัดเจนว่า โครงการนี้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

ว่าเป็นการเสนอไปที่จะให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการพูดคุยกับ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และเวิลด์ฟู๊ด โดยทางนั้นขอเสนอให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯ ส่วนทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็จะทำเรื่องนี้เป็นนโยบายของอาเซียน

ซึ่งเรื่องนี้มีการพูดชัดเจนในอาเซียน ว่าจะทำเรื่องนี้ในกรอบของสหประชาชาติ โดยได้มีการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เคยหารือกันและมาสำรวจพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาว่าจะสามารถใช้พื้นที่ไหนในการทำศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯได้บ้าง

เพียงแต่ว่าพอมาในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงไอซีที กลับไม่มีการแถลงข่าวความคืบหน้าความชัดเจนในเรื่องนี้ จึงก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีของประชาชน

ทั้งที่จริงเรื่องนี้เราเป็นฝ่ายไปเจรจาเองในการขอความร่วมมือในการมาช่วยเหลือภัยพิบัติในอาเซียน ส่วนจะไปเกี่ยวกับ มาตรา 190 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหา เพราะด้านความมั่นคงเรามีกรอบความร่วมมือกับสหรัฐฯเราอยู่แล้ว

“การที่องค์การน่าซ่ามาขอใช้ก็มาในช่วงปลายสมัยที่ผมเป็น รมว.ต่างประเทศ จนเสนาธิการทหารสหรัฐมาให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ คนไทยจึงมาทราบเรื่อง ส่วนเรื่องขอนาซ่ามาขอใช้ด้วยนั้น ทางเสนาธิการทหารสหรัฐฯบอกว่าเรื่องนาซ่าไม่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่ผลงานของนาซ่าในการสำรวจอวกาศจะช่วยให้เราสามารถรู้ถึงการเกิดภัยพิบัติล่วงหน้า และจะทำให้เราสามารถเตือนภัยและป้องกันภัยได้ ข้อมูลของน่าซ่าก็จะเป็นประโยชน์กับเรา”นายกษิต กล่าว

ชัดเจนแจ่มกระจ่างกันแล้วว่าโครงการนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลใด

แถมยังบอกด้วยว่าเรื่องนี้กลุ่มพันธมิตรเข้าใจผิด ส่วนการต่างตอบแทนเรื่องวีซ่าเข้าสหรัฐฯของ พ.ต.ท.ทักษิณ แลกกับการใช้สนามบินอู่ตะเภานั้น นายกษิต พูดชัดเลยว่า รัฐบาลสหรัฐฯสูงส่งกว่าเรื่องนี้เยอะ เขาเคารพกฎหมาย คงไม่ใช่ประเทศที่จะมาทำเพื่อผลประโยชน์ของคนๆเดียว

“เรื่องนี้จริงๆแล้วไทยได้ประโยชน์ ได้ความรู้ ได้เทคโนโลยี และไม่ได้เสียอธิปไตยแน่นอน เพราะเราเป็นคนอนุญาตให้เขามาใช้พื้นที่ของเราเอง เขาเข้ามา เราก็มีอธิปไตยอยู่”นายกษิต สรุป

เล่นเอาแม้แต่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยังต้องออกมาขอบคุณนายกษิต ที่กล้าพูดสวนทางกับนายอภิสิทธิ์ ที่ก่อนหน้านี้กล่าวหาว่าความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐครั้งนี้ เพื่อแลกกับวีซ่าของพ.ต.ท.ทักษิณ

และยังกล้าหักต้นสังกัดเดิมคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ระบุว่าการให้สหรัฐใช้สนามบินอู่ตะเภา ทำให้เสียดินแดน เป็นความเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตามในเรื่องการต่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบาง และหลายครั้งถูกลากโยงมาเป็นเครื่องมือการเมือง เพราะปลุกระดมแล้วจุดติดง่าย เช่น กรณีคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ยืนยันไม่มีอะไรที่ไทยเสียประโยชน์และไม่กระทบกับความสัมพันธ์กับประเทศใดๆ ในภูมิภาคแน่นอน

เมื่อเจอแบบนี้ นายอภิสิทธิ์ จึงมีการอ้างว่าการใช้สนามบินอู่ตะเภาในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะเน้น2ด้านคือ

1.ภารกิจการช่วยเหลือด้านภัยพิบัติและมนุษยธรรม

2.เป็นความร่วมมือในระดับพหุภาคีและในแง่ของการร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค ซึ่งยังรวมไปถึงการพูดถึงสหประชาชาติและมิตรประเทศต่างๆ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องระหว่างสหรัฐกับไทย ซึ่งเหตุผลที่ขอใช้ในขณะนี้ต้องมีความชัดเจนว่า ใช้โดยใครและอย่างไร หากเป็นเรื่องของการตกลงทวิภาคีระหว่างไทยและสหรัฐก็ไม่ใช่แนวทางที่เคยวางไว้

ส่วนคำขอจากสหรัฐได้ส่งมาจริง ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด และก็ตามสไตล์คือเรียกร้องว่าเรื่องนี้ต้องโปร่งใสและต้องชี้แจง ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เลยสักนิดว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์

กับนายอภิสิทธิ์ยังพูดให้ล่อแหลมอีกว่าต้องให้มิตรประเทศของเราในภูมิภาค เช่น ประเทศจีนมีความเข้าใจ เพราะสหรัฐมียุทธศาสตร์ปิดล้อมประเทศจีน

พูดแบบนี้จีนอาจจะสบายใจ แต่สหรัฐอาจจะไม่สบายใจที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอย่างนายอภิสิทธิ์พูดว่าสหรัฐมียุทธศาสตร์ปิดล้อมประเทศจีนก็เป็นได้

ซึ่งเมื่อต้องการความกระจ่าง เพราะคนไทยไม่รู้มาตลอดตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว นายธานี ทองภักดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงในเรื่องนี้ว่า

1. การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติระดับภูมิภาค (Humanitarian Assistance and Disaster Relief – HADR) ในประเทศไทย เป็นข้อริเริ่มของฝ่ายไทยในรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้เสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน - สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ในปี 2553 ด้วยเห็นว่าภูมิภาคประสบภัยพิบัติในหลายรูปแบบ และที่ผ่านมาหลายประเทศได้ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือ

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี จึงเห็นว่าการจัดตั้ง HADR ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและภูมิภาค อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งยังต้องมีการพิจารณาในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดต่อไป

2. องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Aeronautic and Space Administration - NASA) ซึ่งเป็นองค์กรของพลเรือนได้ขอดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study - SEAC4RS) ในประเทศไทย ซึ่งโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ได้เคยดำเนินการแล้วในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น และคอสตาริกา โดยจะใช้ท่าอากาศยานในประเทศเหล่านั้นทำการบินเพื่อเก็บตัวอย่างของอากาศในพื้นที่และสำรวจสภาพอากาศในพื้นที่ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ ประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ ตลอดจนการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ

ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อเสนอโครงการแล้ว ซึ่งโดยสรุปเห็นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของไทย และช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการพยากรณ์และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ หน่วยงานปฏิบัติหลักของไทยคือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)

สำหรับฝ่ายไทยที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ อาทิ การตรวจอุปกรณ์ การทำการบิน ซึ่งจะมีทั้งนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย อาทิ สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร เป็นต้น

อีกทั้งการใช้พื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะต้องขออนุญาตทำการบินผ่านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการบินสำรวจเหนือน่านน้ำสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมการบินของไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ได้รับความยินยอมจากสิงคโปร์และกัมพูชา และได้แจ้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว ซึ่งไม่มีประเทศใดคัดค้าน ด้วยเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการ และก่อประโยชน์ให้แก่ภูมิภาคโดยรวม

ก็เป็นเรื่องที่ชี้แจงออกมาชัดเจนแล้ว ส่วนเรื่องวีซ่านั้น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต กล่าวว่า ข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลไทยยอมให้สหรัฐเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนกับวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีจริงๆ และไม่เกี่ยวกันเลย พ.ต.ท.ทักษิณสามารถเดินทางเข้าออกประเทศไหนก็ได้อยู่แล้ว แม้แต่ประเทศอังกฤษ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เข้าไปได้เลย ถือเป็นเรื่องเล็ก แต่หากจะขอแลกเปลี่ยนกันต้องขอมากกว่านี้

ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากแหล่งข่าวความมั่นคงแจ้งว่า นาซาได้คัดเจ้าหน้าที่ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ของนาซาที่มีเชื้อสายไทยร่วมคณะมาด้วย รวมทั้ง ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรไทยคนเดียวในนาซา เพื่อให้ไทยสบายใจขึ้นว่า นาซามาเพื่อสำรวจสภาพอากาศจริงๆ

ไม่ได้แอบส่งเครื่องบินหรือดาวเทียมจารกรรมมาสอดแนมจีน

งานนี้เป็นอีกกรณีที่ทำให้เห็นชัดว่า ที่ไทยมีปัญหากับประเทศต่างๆในรัฐบาลก่อนหน้า หรือที่มีการปลุกเร้ากระแสรักชาติเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารจนหวิดเกิดเรื่อง และกระทั่งมาถึงเรื่องอู่ตะเภาในครั้งนี้

ก็น่าจะเป็นเพราะสไตล์หรือนิสัย แมลงสาป นั่นแหละที่ชอบก่อเหตุ


ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ลับ ลวง พราง กับการเจรจา วาระรัฐธรรมนูญหลอน เพื่อไทยหวัง ศาลวินิจฉัยบวก !!?

เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทีมยุทธศาสตร์ พร้อมหน่วยงานด้านความมั่นคง ส่งสัญญาณให้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมถอยในเกมแก้รัฐธรรมนูญ

ทำให้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารของรัฐบาล
ต้องยอมทำตามคำสั่งของฝ่ายตุลาการ
กระนั้นก็ตาม แกนนำพรรคเพื่อไทยที่เคยหวาดกลัว หวั่นไหวต่อการเผชิญหน้ากับขบวนการตุลาการภิวัตน์ ก็ยังเชื่อเรื่อง "เกมใต้ดิน" และการ "เจรจาลับ"

เป็นเกมที่นักการเมืองใกล้ชิดฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าผลการเจรจากับฝ่ายตุลาการจะทำให้เกิดผลทางบวกกับพรรคเพื่อไทย

จากนี้ไปจึงเป็นตารางการเมือง ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากสมมติฐานในทาง "คิดบวก" และไม่คิดว่า "จะถูกหลอก" อีกครั้ง

ภายใต้แนวคิดนี้จะทำให้ฝ่ายเพื่อไทยได้เป็นฝ่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ราวต้นปี 2557

เริ่มต้นจากสมมติฐานคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยคำร้องเรื่องการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 ภายในเดือนกรกฎาคม 2555

จากนั้นรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีขอตรา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อจะกำหนดวันลงมติวาระ 3 ทันที

หรือเมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว จึงค่อยขอให้คณะรัฐมนตรีตรา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลงมติวาระ 3

หรือเมื่อเปิดสมัยประชุมสมัยสามัญทั่วไปแล้ว จึงค่อยเสนอลงมติวาระ 3 ในสมัยประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปตามปกติ

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่เป็น "คุณ" กับพรรคเพื่อไทย โดยยกคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มิได้ล้มล้างการปกครองหรือเปลี่ยนรูปแบบรัฐ

เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการยกมือโดยเสียงข้างมากได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และส่งขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อตราเป็นกฎหมาย และโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว ปฏิทินของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเริ่มต้นนับจากวันประกาศลงในราช

กิจจานุเบกษาในวันถัดไป ประเมินคร่าว ๆ คาดว่าจะเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2555

จากนั้น คณะรัฐมนตรีจะออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. 3) จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน โดยใช้เวลาประมาณ 15 วัน ซึ่งตรงกับต้นเดือนกันยายน 2555

ขั้นตอนต่อไป ให้ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงจังหวัดละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 77 คน โดยเดินคู่ขนานกับกระบวนการสรรหา ส.ส.ร.ในรัฐสภาอีก 22 คน โดยทั้งสองกระบวนการจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน

ดังนั้นราวกลางเดือน "พฤศจิกายน 2555" ก็จะเห็นโฉมหน้า ส.ส.ร. ที่จะมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแทนคนไทยทั้ง 99 คน

เมื่อ ส.ส.ร.ทั้ง 99 คน ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนแล้ว ตามมาตรา 291/9 จะต้องมีการประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรกภายใน 30 วัน นับจากที่มีการเลือกตั้ง + สรรหา ครบจำนวน เพื่อให้มีการประชุมเพื่อเลือกประธาน และรองประธาน โดยห้วงเวลาในขั้นตอนนี้จะตรงกับกลางเดือนธันวาคม 2555

หลังมี ส.ส.ร.ครบทั้ง 99 คน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" กำหนดกรอบเวลาทั้งสิ้น 240 วัน เท่ากับใช้เวลาหมด 8 เดือนพอดิบพอดี จะตรงกับช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556

เมื่อได้ ส.ส.ร.ยกร่างพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อตรวจสอบว่าขัดต่อมาตรา 291/11 วรรค 5 ที่ระบุว่า "ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้" หรือไม่

หากประธานรัฐสภาเห็นว่าไม่ขัด ก็จะส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กกต.ภายใน 7 วัน เพื่อให้จัดการออกเสียงประชามติจากมหาชนว่า "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ภายใน 45-60 วัน

ช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในช่วงต้น-กลางเดือนพฤศจิกายน 2556

จากนั้น กกต.ก็จะใช้เวลารับรองผลคะแนนประชามติอีก 15 วัน หากเสียงข้างมากโหวตว่า "เห็นชอบ" ประธานสภาก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย และประธานรัฐสภาก็จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจเป็นต้นปี 2557

ทั้งหมดนี้คือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเป็น "บวก" และเปิดทางให้ฝ่ายเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่หากเป็นกรณี "เลวร้าย" ตามคำวิเคราะห์ของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง

หัวขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ 90% คือการแก้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำบาตร ก็จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของรัฐบาล

"ยิ่งลักษณ์" อาจต้องจากไปก่อนเวลาอันควร

ที่เหลืออีก 10% คือแรงกดดันของมวลชน มีผลต่อคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ ทำให้เกิดการหาทางลง และกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้

ทางรอดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในทรรศนะจาตุรนต์ คือ "ผมภาวนาให้ผมวิเคราะห์ในส่วนของ 90% ผิด"

เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีลุ้นทุกขณะ จนกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นคำตอบสุดท้าย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรากฎการณ์ : เดจาวู กรีซ กับ 3 สมมติฐาน ยูโรโซน !!?

ผลเลือกตั้ง "กรีซ" ที่ออกมาอาจทำให้หายใจโล่งไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ดูเหมือนเอเธนส์จะหนีไม่พ้นปรากฏการณ์เดจาวู ท่ามกลางภาวะใกล้ถังแตกเข้าไปทุกขณะ

แม้ว่าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่หนุนแนวทางรัดเข็มขัดแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน จะคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบนี้ แต่เป็นการเฉือนชนะพรรคซิริซาที่ปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัดอย่างชัดเจนเพียงไม่ถึง 3%

ผลเลือกตั้ง ที่ออกมาอาจช่วยให้หายใจโล่งขึ้นในยามที่ผู้คนวิตกถึงการโบกมือลายูโรโซนของกรีซ แต่ยังต้องรอลุ้นการจัดตั้งรัฐบาล เพราะนี่ไม่ใช่ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามลำพัง สถานการณ์นี้ คล้ายกับผลการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งพรรคประชาธิปไตยใหม่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 และพรรคซิริซาตามมาเป็นที่ 2 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ขณะที่ การจัดตั้งรัฐบาลอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญในยามนี้ เพราะกรีซกำลังใกล้ภาวะถังแตกมากขึ้นเรื่อยๆ ประเมินกันว่าภายในวันที่ 15 กรกฎาคม ทางการเอเธนส์อาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่าย

ถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีพรรคใดบ้างที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปไตยใหม่ แต่สื่อกรีซประเมินว่าหนึ่งในนั้นน่าจะมีชื่อของพรรคสังคมนิยมปาสก คู่แข่งที่ทำคะแนนมาเป็นอันดับ 3

นอกจากนี้ ผลเลือกตั้งครั้งล่าสุด ยังจุดคำถามตามมา เพราะชาวกรีกที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 38% ไม่ออกไปใช้สิทธิหย่อนบัตร ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากกว่าคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่ได้คะแนนนำ 29.7% ได้ 129 ที่นั่ง จากทั้งหมด 300 พรรคซิริซา 26.9% หรือ 71 ที่นั่ง และพรรคปาสก 12.3% ยึด 33 ที่นั่ง

ที่น่าสนใจ คือ กรีซยังหนีไม่พ้นวังวนแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งนี่ส่งแรงกดดันไปยังสเปนและอิตาลี เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 และอันดับ 3 ของยูโรโซน ซึ่งลำพังสเปนประเทศเดียวมีขนาดใหญ่กว่าไอร์แลนด์ โปรตุเกส และกรีซ 3 เกลอที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วรวมกันเสียอีก ทำให้อยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ "ทั้งใหญ่เกินกว่าจะอุ้ม และใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม"

โดยสถานการณ์ของสเปน ยังคงต้องจับตา หลังเพิ่งได้รับเงินช่วยเหลือภาคธนาคารไป 1 แสนล้านยูโร ถึงมาตรการนี้จะช่วยบรรเทาคลื่นลมในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรได้ แต่ก็ไม่ยั่งยืนเพียงพอ เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสเปนพุ่งขึ้นแตะระดับ 7% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนมูดี้ส์ก็ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสเปนลง 3 ขั้นรวด อยู่เหนือระดับขยะเพียงขั้นเดียว ขณะที่อัตราว่างงาน 24% และราคาบ้านที่ทรุดฮวบ สำหรับเศรษฐกิจอิตาลีก็น่าจะหดตัว 2% ในปีนี้

คำถามสำคัญ นับจากนี้ คือ อนาคตของยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไป มี 3 สมมติฐานหลักๆ โดยสมมติฐานแรก คือ การล่มสลายของยูโรโซนแบบไม่มีระเบียบแบบแผน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายหนักหนาที่สุด เริ่มต้นจากกรีซที่ไม่มีใครชนะอย่างชัดเจน และเกิดรอยแตกร้าวระหว่างชาวกรีก ในขณะที่เงินในคลังร่อยหรอจนเกือบหมด จากนั้นแพร่สู่สเปนและอิตาลี ส่วนเยอรมนีเลือกเดินบนทางที่ไม่ผ่อนปรน ผลที่ตามมาจึงไม่พ้นเศรษฐกิจยุโรปเดินสู่หายนะ ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ที่จะตามมา การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย และภาวะถดถอยยาวนานทั่วยุโรป

สมมติฐานต่อมา ยุโรปอาจวุ่นวาย แต่ยังผนึกภาคการเงินและการคลังได้ ซึ่งเกิดจากการประนีประนอมระหว่างกรีซและทรอยก้า หรือคณะตรวจสอบวินัยการคลังแห่งยุโรป ที่ประกอบด้วยไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสหภาพยุโรป แนวทางนี้จะช่วยให้กรีซพ้นจากสถานการณ์เลวร้าย โดยบทบาทของเยอรมนีภายใต้สมมติฐานนี้จะยอมรับเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย รวมถึงจัดตั้งสหภาพการธนาคารเพื่อสร้างหลักประกันแก่ผู้ฝากเงิน การใช้นโยบายภาษีร่วมกัน นโยบายหนี้ภาครัฐและการจัดการภาวะถดถอย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาจุดร่วม แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อเยอรมนีที่ส่งออกในยุโรปคิดเป็นสัดส่วนถึง 60%

สมมติฐานสุดท้าย คือ การบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศยังไม่สามารถผลักดันไปสู่จุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการเปิดตลาดแรงงานเสรี การตรวจสอบภาคการเงิน หรือการผนึกระบบภาษีร่วมกัน แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้แรงหนุนจากชาวยุโรปที่ไม่เชื่อมั่นในผลประโยชน์ร่วมกันจากการบูรณาการเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นิธิ ชี้ต้องกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำ ปรับตัวอยู่ร่วมประชาคมโลก !!?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "แผ่นดินเดียวกันแต่เหมือนอยู่คนละโลก: การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อการอยู่ร่วมโลกเดียวกับคนอื่น จินตนาการสู่อนาคต" ในการประชุมสังคมวิทยาระดับชาติ ครั้งที่ 4 ที่ รร.มิราเคิลแกรนด์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์กับโลกข้างนอก คนไทยมักมองในเชิงการแข่งขัน เช่น เมื่อจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มักมองว่าเราจะแข่งขันกับประเทศสมาชิกได้อย่างไร ทั้งที่ส่วนตัวมองว่า AEC เกิดขึ้นเพื่อให้เราร่วมมือกันเพื่อให้เป็นตลาดที่ใหญ่โตพอที่คนอื่นจะเข้ามาลงทุนต่อ ซึ่งวิธีการมองโลกในลักษณะการแข่งขันดังกล่าวเข้าใจว่าน่าจะมากับวัฒนธรรมอเมริกัน ที่รู้สึกว่าเราต้องเป็นที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์กับคนในประเทศ เรามักนึกถึงความเป็นธรรม

นิธิกล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดและมีมานานพอสมควรในไทย คือ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง รัฐ ทุนและสังคม ที่ขาดความสมดุลต่อกัน โดยอำนาจบางกลุ่ม เช่น รัฐ หรือทุน มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรสูง จนสังคมไม่สามารถถ่วงดุลและตรวจสอบได้ โดยทรัพยากรในที่นี้มีความหมายกว้าง กินความถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองและสังคม

ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเห็นได้จากคำพิพากษาที่ปรับชาวสวนชาวไร่ที่บุกเบิกที่ ซึ่งอ้างว่าไม่ใช่ที่ของเขา ด้วยข้อหาทำให้โลกร้อน เป็นแสนเป็นล้านบาท ท่ามกลางรถยนต์-โรงงานที่ปล่อยควันพิษ แต่ไม่มีใครโดนปรับ ทำให้คนที่จนที่สุดในสังคมกลับเป็นผู้รับผิดชอบโลกร้อนในสังคมเรา รวมถึงตัวเลขแสดงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจำนวนมาก แม้แต่งบประมาณบริการของรัฐ เช่น การศึกษา กลุ่ม 20% บนสุดเข้าถึงมากกว่า 10% ขณะที่กลุ่มล่างสุด เข้าถึงน้อยกว่า 10%

นิธิ กล่าวว่า การจะเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรเสียใหม่ ต้องทำให้อำนาจของการบริหารจัดการกระจายไปยังคนกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและประนีประนอมกันเอง โดยการกระจายการบริหารจัดการในเชิงการปกครองให้ลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น จะเป็นกุญแจแรกในการจัดการทรัพยากรด้านอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา คือ อำนาจที่กระจายไปตกกับชนชั้นนำจำนวนน้อยในท้องถิ่น จึงต้องออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นใหม่ ให้มีสถาบัน-องค์กรอื่นเข้ามาต่อรองอำนาจได้ รวมถึงต้องให้พลังทางการเงินกับท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อจัดการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นเอง


ที่มา.ประชาไท
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช: จับตารัฐยะไข่ จุดวาบไฟการเมืองโลก !!?

 ประชาไท สัมภาษณ์ อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิธีกรรายการ ASEAN Weekly ทางเว็บไซต์ประชาไท ต่อกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวอาระกัน ในรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า

นอกจากการกล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญของรัฐอาระกันที่ทำให้ความขัดแย้งดำรงทั้งเรื่องความแตกต่างทางเชื่อชาติ สภาพพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติส่งไปยังจีนและอินเดีย รวมทั้งเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงในสายตาของกองทัพพม่า โดยก่อนหน้านี้มีการย้ายที่ตั้งกองบัญชาการทางทหารภาคตะวันตก ที่อยู่ในรัฐอาระกัน จากเมืองชายทะเลซิตตเหว่ เข้าไปยังเมืองอานที่อยู่ตอนในแผ่นดิน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เรียกร้องให้คนในชาติปรองดอง และว่าเหตุขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนาจะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยนั้น ดุลยภาคแสดงความเห็นว่าท่าทีรอมชอม โอนอ่อนผ่อนปรน และใช้วาทกรรมสร้างสันติและความสมานฉันท์นี้ อยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยที่เต็ง เส่งวางไว้และสอดรับกับ "ผู้ใหญ่" ในพม่า ที่ต้องการเปิดประเทศเสริมภาพลักษณ์ประเทศ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าหากไม่หยุดสร้างความรุนแรง ไม่หยุดสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ แล้วรัฐบาลเหลือแรงที่จะควบคุม คงปฏิเสธไม่ได้ ที่จะให้กองทัพมาเคลียร์สถานการณ์

ในตอนท้ายการสัมภาษณ์ดุลยภาคประเมินว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป เมื่อจัดการสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว ความเป็นไปได้แรกคือ พม่าจะทบทวนเรื่องสิทธิพลเมือง ความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงยาให้ดีขึ้น เพื่อกันการแทรกแซงจากโลกภายนอก แต่ในทางปฏิบัติจะดูแลเช่นนั้นหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง ความเป็นไปได้อีกประการคือ รัฐบาลพม่าสามารถจัดระเบียบสถานการณ์ได้ แต่หลังจากนี้เป็นต้นไปสถานการณ์ของรัฐอาระกันจะถูกทำให้เป็นจุดวาบไฟทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือจุดวาบไฟทางชาติพันธุ์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งความรุนแรงจะเกิดและหยุด เกิดและหยุดไปเรื่อยๆ แต่อัตราจังหวะเดี๋ยวรุนแรง เดี๋ยวหยุดนี้จะเป็นตัวที่คอยกระตุ้นให้องค์กรระหว่างประเทศ เอ็นจีโอ หรือมหาอำนาจการเมืองโลกเห็นความสำคัญของรัฐอาระกันในหลายมิติ และเริ่มเข้ามาเป็นตัวแสดงในรัฐอาระกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหาบานปลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ โดยรายละเอียดของการสัมภาษณ์มีดังนี้




ประชาไท - กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยากับชาวอาระกันที่กำลังดำรงอยู่ในขณะนี้ มีมูลเหตุความขัดแย้งพื้นฐานมาก่อนหรือเปล่าจึงทำให้สถานการณ์ดูจะปะทุอย่างที่จะหาความสงบระยะสั้นได้ยาก

อันดับแรก ต้องเข้าใจสภาวะแวดล้อมพื้นฐานของรัฐอาระกันในหลายๆ มิติก่อน ในเรื่องของทำเลที่ตั้งนั้นเราจะเห็นงว่ารัฐอาระกัน ตั้งอยู่ฟากตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า ลักษณะสัณฐานค่อนข้างยาวเรียว มีแนวแม่น้ำนาฟ เป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างพม่ากับบังคลาเทศ แต่จุดสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐอาระกันก็คือว่ามีท่อก๊าซจากคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน พาดผ่านตอนกลางของพม่า แล้วมาลงที่รัฐอาระกันเพื่อสูบน้ำมัน

สองก็คือมีท่อก๊าซจากอินเดียมาลงที่อาระกันเพื่อสูบน้ำมันแล้วขึ้นไปที่มณีปุระ ตรีปุระ แล้วเข้ากัลกัตตา

ประการที่สามก็คือทางหลวงสายเอเชียใต้ ที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะลุผ่านเอเชียใต้ เซาท์อีสเอเชีย หรือ ASEAN+BIMSTEC นั้นผ่านที่รัฐอาระกัน ประการที่สี่คือ บ่อน้ำมัน หลุ่มก๊าซธรรมชาติประมาณ 18 แห่งทั้งในทะเลลึก ทะเลชายฝั่ง และบนบกบางส่วนกระจัดกระจายอยู่ในรัฐอาระกัน

ประการสุดท้าย คือ เขตแดนพิพาททางทะเลที่เป็นเกมแย่งชิงน้ำมันรอบอ่าวเบงกอลระหว่างพม่ากับบังคลาเทศ รวมถึงความขัดแย้งในแนวแม่น้ำนาฟ ก็อยู่ที่รัฐอาระกัน เพราะฉะนั้นหากเราดูตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิยุทธศาสตร์ ก็จะเห็นความสำคัญของมันว่าอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ แม้กระทั่งในอนาคตเพราะว่าภูมิรัฐศาสตร์ของมันนั้นจะผูกโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ นี่คือมิติแรก
มิติที่สอง คือประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ เวลาพูดถึงอาระกัน นักวิชาการฝรั่งจะนึกถึง The Kingdom of Arakan เป็นอาณาจักรยุคโบราณที่มีความรุ่งเรือง เป็นอาณาจักรแบบพุทธผสมกับอิสลาม คณะผู้ปกครองก็เป็นกษัตริย์พุทธผสมกับสุลต่านที่มีสายสัมพันธ์กับสุลต่านใน East เบงกอลของบังคลาเทศ ขึ้นหมุนสลับกันเป็นช่วงๆ อาระกันถือเป็นอาณาจักรที่ร่วมสมัยกับพระนครศรีอยุธยาและพะโค เป็นศูนย์การค้า พ่อค้าอาหรับวาณิชเข้ามาที่อาระกัน เรือสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาที่อาระกัน

อิสลามภิวัฒน์จากตะวันตออกกลางเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ซึมผ่านอาระกันในบางมิติ นี่คือาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และพุทธกับบมุสลิมอยู่ร่วมกันมาเนิ่นนาน แต่ดูประวัติศาสตร์ในยุคอดีตเราจะไม่เห็นความขัดแย้งกันมากนักระหว่างชาวมุสลิมกับชาวพุทธ จนกระทั่ง พ.ศ. 1785 พระเจ้าปดุง กษัตริย์ราชวงศ์คอนบอง สำเร็จในการพิชิตนรัฐอาระกัน จากนั้นมีการเทครัวมุสลิมไปอยู่อังวะ อมราปุระในพม่า แล้วมีประชากรพุทธบางส่วนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

แต่จุดแตกหักอยู่ที่สมัยนายพลเนวิน ที่ใช้ยุทธการณ์ทางการทหารขับไล่ที่ทำให้ชาวโรฮิงยาต้องถอยร่น ตกทะเล บ้างเข้าไปอยู่ในบังกลาเทศนี่เป็นปฐมบทของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติในรัฐอาระกัน จากประวัติศาสตร์ในช่วงโบราณถึงปัจจุบัน สืบย้อนไปเชื่อมกับโลกทัศน์ของรัฐบาลพม่าก็จะได้ความว่ารัฐบาลพม่าทั้งในสมัยนายพลเนวิน สมัย รัฐบาล SLORC (สภาเพื่อฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) รัฐบาล SPDC (สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) และรัฐบาลปัจจุบันก็มีกรอบคิดที่มองโรฮิงยาในแง่ลบ หนึ่ง คือมองว่าเป็นชุมชนต่างประเทศ นอกวงต่างจากคนพม่าโดยทั่วไป ประการที่สอง คิดว่าลุ่มนี้อาจเชื่อมต่อกับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ ประการที่สาม แม้ว่ารัฐบาลบังคลาเทศจะไม่ยอมรับโรฮิงยา แต่พม่ามองว่ามีสายสัมพันธ์

สุดท้ายแล้วจากฐานที่พูดไปสักครู่นี้ก็ผูกโยงมาได้ว่าความขัดแย้งมันเริ่มปะทุคุโชนสมัยนายพลเนวิน เรื่อยมามาจนปัจจุบัน เพราะพม่ามีการอพยพและสร้างแนวร่วมกับชาวยะไข่ที่เป็นพุทธ เข้าตั้งหมู่บ้านเข้าไปลอมกรอบโรฮิงยา มองโรฮิงยาว่าผิดแผกร้ายแรงกว่าชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม มีปฏิบัติการทางทหารรุกไล่ และคนพม่าหลายส่วนก็รู้สึกไม่พอใจ ไม่ค่อยเข้า ไม่สมานฉันท์กับโรฮิงยาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องตรวจสอบว่าในพื้นที่ว่าจริงๆ บางพื้นที่มีการอยู่กันอย่างสมานฉันท์ แต่บางพื้นที่มีความขัดแย้ง เป็นไปได้ว่าอาจมีปัจจัยทางการเมืองหรือแรงกดจากรัฐบาลพม่าเข้าช่วย

การประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่รัฐอาระกันโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือทำไมท่าทีรัฐบาลเต็งเส่ง จึงต่างจากการปราบผู้ชุมนุมในปี 2550 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลหรือสื่อของรัฐบาลก็กล่าวหาผู้ชุมนุม ประณามสื่อต่างชาติและสื่อพลัดถิ่นพม่าว่าทำให้เกิดความไม่สงบ แต่ในความขัดแย้งรอบนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กลับแถลงเรียกร้องให้เกิดความสมัคคีในชาติ ว่าถ้าขัดแย้งกันจะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย

และขณะเดียวกันสื่อของรัฐเองก็ระมัดระวังในการนำเสนอ ทำไมความขัดแย้งรอบนี้ผู้สนับสนุให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารปราบชาวโรฮิงยากลับเป็นสื่อภาคเอกชน หรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของพม่า และเป็นไปได้ไหมว่ากองทัพพม่าจะกลับมาเพราะสถานการณ์ไม่สงบในรัฐอาระกัน

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจ ประเภทของระบอบ และเงื่อนเวลาแห่งการดำรงอยู่ของแต่ละรัฐบาลในแต่ละห้วงสมัย การปฏิวัติของผู้ครองจีวรในปี 2007 ยังเป็นการดำรงอยู่ของทหาร พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ยังอยู่ในอำนาจ เพียงแต่ช่วงนั้นมีการพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยสู่การเลือกตั้ง ช่วงนั้นเป็น

รัฐบาลทหาร เวลามีเหตุจลาจล มีผู้ประท้วง มีการลุกฮือเกิดขึ้น เป็นธรรมดาที่ตอนนั้นมีความเกรี้ยวกราด มีการตอบโต้ที่ดุดัน โจ่งแจ้ง และอย่าลืมว่าเหตุการณ์ขณะนั้นเกิดที่เมืองสำคัญอย่างย่างกุ้งและแพร่ไปตามเมืองยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ล่อแหลมต่อภัยคุกคามประเทศ และกระทบต่อกระบวนการประชาธิปไตยที่กองทัพค่อยๆ จัดระเบียบ หากปล่อยให้แพร่ระบาดเกินไปจะทำให้การวางเกมของรัฐบาลทหารชะงักหยุดลง เพราะฉะนั้นเขาถึงมีการประณามสำนักข่าวต่างประเทศ สื่อพลัดถิ่นต่างๆ ที่รุนแรงพอสมคร และมีการปฏิบัติการทางทหารที่เด็ดขาด ฉับไว รวดเร็ว เพื่อคุมสถานการณ์ไม่ให้ยุ่งเหยิง ท่าทีขณะนั้นเป็นรัฐบาลทหาร เพียงแต่เหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวรอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เขาจึงปิดเกมให้เรา

ส่วนในปี 2012 รัฐบาลคือรัฐบาลพลเรือน ประธานาธิบดีเต็ง เส่งมีท่าทีรอมชอม โอนอ่อนผ่อนปรน ใช้วาทกรรมสร้างสันติและความสมานฉันท์ของชาติ ท่าทีนี้อยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยที่เต็ง เส่งวางไว้และสอดรับกับ "ผู้ใหญ่" ในพม่าหลายๆ คนที่ให้เปิดพม่าเป็นประชาธิปไตย เพื่อเสริมภาพลักษณ์ประเทศ รัฐบาลเต็ง เส่ง จะแสดงความเกรี้ยวกราดคงไม่เหมาะ สิ่งที่แสดงออกคือสันติ สมานฉันท์ ชุมชนพหุสังคม พหุพรรคเพื่อประชาธิปไตย นี่คือท่าทีที่เต็ง เส่ง แสดงออกไป

แต่เต็ง เส่ง ก็พูดมาว่า หากพี่น้องทั้งพุทธและมุสลิมขัดแย้งบานปลายจนแพร่ระบาดแล้วยากที่จะควบคุม จะส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศ นี่เป็นการเตือนอย่างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือหนึ่ง หากคุณอยากได้

ประชาธิปไตยจริงๆ คุณต้องยุติความรุนแรง คุณต้องยอมรับความต่างของชาติพันธุ์วรรณาและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจงหยุดเถิด นี่คือนัยยะแรก ส่วนนัยยะประการที่สอง หากไม่หยุดสร้างความรุนแรง ไม่หยุดสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ แล้วรัฐบาลเหลือแรงที่จะควบคุม คงปฏิเสธไม่ได้ ที่จะให้กองทัพมาเคลียร์สถานการณ์ และคงจะว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ที่ต้องทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังกลับเล็กน้อย เพราะเป็นการกระทำของพวกคุณ นี่คือวาทกรรมของรัฐที่ลุ่มลึกมาก คือส่วนหนึ่งบอกให้สันติสมานฉันท์ แต่อีกส่วนหนึ่งก็แอบเตือนว่าถ้ากองทัพต้องเข้ามาจริงๆ ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล แต่เป็นความผิดของพวกคุณที่ทะเลาะกัน พวกที่ทะเลาะกันก็จะกลายเป็นเหยื่อการเมือง

ส่วนพื้นที่ยุทธศาสตร์ พื้นที่เกิดเหตุคือรัฐอาระกัน มันไกลจากศูนย์กลางอำนาจ และไม่ได้แพร่ระบาดเหมือนการลุกฮือที่ย่างกุ้งในปี 2550 รัฐบาลก็พยายามจำกัดวงไม่ให้แพร่กระจาย แต่สิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่ออนาคตคือจะจำกัดวงได้แค่ไหน เพราะหากไม่สามารถทัดทานวงสวิงที่เหวี่ยงมาจากความรุนแรงนั้น พม่าจะโกลาหลอย่างยิ่ง นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยม อย่างแกนกลางของทิน อ่อง มิ้นท์ อู ซึ่งไม่ได้เป็นรองประธานาธิบดีแล้ว อาจจะกลับมาสยายปีกอีกรอบหนึ่ง กองทัพจะเข้ามาควบคุมมากขึ้น

อีกประการหนึ่งรัฐอาระกันไม่ใช่พื้นที่ชายแดนปกติ เป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงต่อพม่าหลายประเทศ ทรัพยากรและภูมิรัฐศาสตร์ที่ผมวาดไว้ก่อนหน้านั้น ทำให้มหาอำนาจสนใจ พฤติกรรมแบบนี้สังเกตได้เมื่อก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ รัฐบาลพม่าได้สั่งย้าย บก.กองทัพภาคตะวันตก จากเมืองซิตตเหว่เข้าไปที่เมืองอาน ที่อยู่ลึกเข้าไปในชายฝั่ง และมีการวางโครงสร้างเครือข่ายที่สลับซับซ้อนทางทหารไว้ที่นั่น เพราะรัฐนี้อุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยาการ และเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากโลกภายนอก โดยเฉพาะการยกพลขึ้นบกจากองทัพต่างชาติ แต่สิ่งที่จะเป็นเหตุชักนำให้มหาอำนาจเข้าพม่าได้ อย่างถูกต้องชอบธรรม ถูกกาละเทศะ นั่นก็คือความขัดแย้งชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่ปะทุคุโชนนี้เองมันจะทำให้ไฟแดงกระพริบที่พม่า และจะมีตัวแสดงอื่นเข้ามาเล่นเช่น สหประชาชาติ

นี่คือโลกทัศน์ของรัฐบาลพม่าที่มองรัฐอาระกัน ถือเป็นพื้นที่ที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน ธรรมชาติของ power politic ระดับโลกก็คือที่ไหนที่มีทรัพยากรอันล้ำค่า และมีเปราะบางทางการเมือง และชาติพันธุ์ ที่นั้นแหละจะเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจ มาวันนี้เราอาจจะเห็นไม่ชัด แต่อนาคตอาจเห็นเป็นห้วงๆ รัฐอาระกันอาจจะเป็นด่านหน้าของการแพร่ระบาดของการปฏิวัติ หรือความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่แพร่มาในภูมิภาคอาเซียน "ยะไข่โมเดล" อาจเป็นต้นตำรับให้เกิดโมเดลคล้ายๆ กันเช่นที่อาเจะห์หรือในจังหวัดต่างๆ ของฟิลิปปินส์หรือไทยบางส่วนก็เป็นได้

มองบทบาทของพรรคเอ็นแอลดี และออง ซาน ซูจี อย่างไรบ้าง ที่อดีตนักศึกษารุ่น 88 ที่เคยมีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตย บางส่วนก็แสดงจุดยืนสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร

อันดับแรกคือดูชีวประวัติ พื้นภูมิ หรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองของออง ซาน ซูจี จะเห็นว่าบิดาของเธอคือนายพลออง ซาน มีปฏิสัมพันธ์ที่ค่อนข้างต่ำกับโรฮิงยา พ่อขอองออง ซาน ซูจี อาจจะสัมพันธ์กับฉานหรือคะฉิ่นในนามข้อตกลงปางโหลง ส่วนตัวเธอเองอาจสัมพันธ์กับนักศึกษารุ่น 88 ที่ถูกเบียดขับจากศูนย์กลางไปตั้งฐานที่มั่นที่ชายแดนด้านตะวันออกและไปร่วมกับกระเหรี่ยงคริสต์ของนายพลโบเมี๊ยะ หรือเคเอ็นยู เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแนบแน่นกว่าที่เธอมีกับกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มผู้คน ชายแดนด้านตะวันออกจะเหนียวกว่าทางตะวันตก อย่างรัฐอาระกัน เพราะตัวเธอเองกิจกรรมที่มาพบปะชาวมุสลิมแทบไม่เห็นเลย เป็นการมองผ่านดีกรีความสัมพันธ์ที่ไม่แนบแน่น ซึ่งส่งผลต่อท่าทีของเธอที่ไม่ชัดด้วยเพราะไม่ใช่กลุ่มที่เธอสนิทสนมมากนัก

ประการที่สองคือ ที่สำคัญคือมันเป็นความอยู่รอดทางการเมืองบางอย่าง คืออองซานซูจีประสบความสำเร็จในการมาเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (WEF) แล้วขึ้นไปเยี่ยมแรงงาน ก็เก็บคะแนนเสียงได้ แต่เธอรู้ดีว่ารัฐบาลพม่าปล่อยเธอไปทำเรื่องแบบนี้ แต่เธอก็ต้องระวังตัวในแสดงความเห็นบางอย่างที่จะกระทบต่ออนาคตของเธอโดยเฉพาะกับเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ดังนั้นประเด็นละเอียดอ่อนขณะนี้คุโชนอยู่ที่รัฐอาระกัน ทุกอย่างยังอยู่ในภาวะที่ยุ่งยาก อาจจะเสี่ยงเกินไปที่จะแสดงท่าทีที่ชัดเจนในช่วงนี้ ถ้าไปประณามรัฐบาลพม่ามาก การออกนอกประเทศก็อาจไม่สะดวก ถ้าประณามโรฮิงยามากๆ ก็จะถูกหลายๆ กลุ่มโดยเฉพาะแวดวงต่างประเทศ และเครือข่ายมุสลิมโจมตีก็เป็นได้ นี่จึงอาจเป็นยุทธศาสตร์ของนางออง ซาน ซูจีด้วยเช่นกัน

อันที่สามที่อยากจะกล่าวคือ ความรู้สึกของผู้คนและเชื่อชาติจริง คือความรู้สึกของคนชาติพันธุ์พม่า ไม่ว่าคุณจะเป็นอดีตผู้นำนักศึกษายุค 1988 แกนนำในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD แกนนำพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ล้วนมองชุมชนมุสลิมในประเทศ

พม่าที่แตกต่างกัน โดยใช้ศัพท์ว่า "กะหล่า" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่อพยพมาจากอนุชมพูทวีป โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นมุสลิม ฮินดู หรือซิกข์ หรือเรียกว่า Indian Burmese Mestizo ลูกผสมพม่า-อินเดีย โดยกลุ่มชาวโรฮิงยาจะถูกเหมาเรียกในบริบทนี้เช่นกัน เพียงแต่การใช้คำนี้ไปเรียกโรฮิงยา หรือคนที่มาจากอินเดียอื่นๆ แล้ว ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าโรฮิงยาเป็นชุมชนต่างประเทศ ไม่ใช่ชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม มองว่าสวนทางเป็นปฏิปักษ์ หรือผิดพวกกับคนพม่า วัฒนธรรมพม่า ทั้งภาษาพูด ทั้งอัตลักษณ์ หรือแม้กระทั่งผิวพันธุื

ในบางประเด็นว่าเป็นคนละพวกกัน และความรู้สึกของคนพม่าโดยรวมค่อนข้างหวาดระแวง ประกอบกับมีการไหลบ่าของประชากรอันแน่นขนัดจากบังกลาเทศ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 140 ล้านคน ที่เข้ามาเป็นแรงงานผิดกฎหมายในพม่า และเข้ามาแย่งงานคนพม่าในรัฐอาระกันด้วย ทำให้ปัญหานี้เกิดบานปลาย
ปฏิบัตินี้เห็นได้ชัดคือรัฐบาลพม่าสร้างรั้วเดี่ยวขึ้นมา คร่อมพรมแดนระหว่างพม่ากับบังกลาเทศ เพื่อปิดไม่ให้แรงงานพวกนี้เข้ามาในพม่า ขณะเดียวกันแนวร่วมที่เป็นพุทธในรัฐยะไข่ ก็เอาด้วยกับรัฐบาลพม่า และมีปฏิบัติการร่วมบางอย่างในการรุกรวบทางวัฒนธรรม ทำให้พี่น้องโรฮิงยาเป็นคนไร้รัฐ ถูกกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ เบียดขับผลักไสออกนอกประเทศ ข้ามแม่น้ำนาฟไปก็เจอทหารบังกลาเทศถือปืนยืนจังก้าไม่ให้เข้ามาบังคลาเทศ เพราะบังกลาเทศแม้จะเป็นมุสลิมเหมือนกันแต่อัตลักษณ์ก็แตกต่างกัน และที่สำคัญคือบังคลาเทศจน เขาก็กลัวว่าจะมาแย่งงาน ดังนั้นกลุ่มโรฮิงยาก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกประกับระหว่างรัฐพม่าและรัฐบังกลาเทศ และระหว่างประชากรบะหม่า (Burman) กับเบงกาลี และตัวโรฮิงยาที่เป็นประชากรตัวเล็กๆ และไร้รัฐ

มองว่าปัญหาความขัดแย้งจะจบแบบไหน พอจะคาดการณ์หรือประเมินว่าทิศทางที่เรื่องนี้จะคลี่คลายจะไปทางไหนบ้าง

ซีนารีโอหรือฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นอาจจะทำนายยากอยู่ เช่น สถานการณ์แรก รัฐบาลพม่าสักพักนับจากนี้ไปสามารถปิดเกมได้ อาจเพิ่มตำรวจ ทหาร ปฏิบัติการเข้ากดดันพื้นที่ และใช้เคอร์ฟิวส์จัดระเบียบ และเมื่อสถานการณ์สงบ รัฐบาลพม่าอาจใช้นโยบายหรือใช้โฆษณาบางอย่าง เช่น เสนอหรือบอกประชาคมโลกว่าจะทบทวนเรื่องสิทธิพลเมือง ความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงยาให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการลดแรงกดดัน และกันการแทรกแซงจากโลกภายนอก แต่ในทางปฏิบัติจะดูแลเช่นนั้นหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง

สถานการณ์ที่สองคือ รัฐบาลพม่าสามารถจัดระเบียบ ควบคุมสถานการณ์ได้ต่อเนื่องจากสถานการณ์ที่ 1 แต่หลังจากนี้เป็นต้นไปสถานการณ์ของรัฐอาระกันจะถูกทำให้เป็นจุดวาบไฟทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือจุดวาบไฟทางชาติพันธุ์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงจะเกิดและหยุด เกิดและหยุดไปเรื่อยๆ แต่อัตราจังหวะที่เดี๋ยวรุนแรง เดี๋ยวหยุดนี้จะเป็นตัวที่คอยกระตุ้นให้องค์กรระหว่างประเทศ เอ็นจีโอ หรือมหาอำนาจการเมืองโลกเริ่มเห็นความสำคัญของรัฐอาระกันในหลายมิติ และจังหวะที่เดี๋ยววูบเดี๋ยวสว่างจะทำให้มหาอำนาจเริ่มเข้ามาฝังตัว เป็นตัวแสดงในรัฐอาระกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหาบานปลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

เพราะฉะนั้น สมมติรัฐบาลคุมได้ในอนาคต เรื่องนี้ก็จะบานปลายอีก แต่ถ้ารัฐบาลพม่าคุมไม่ได้ตอนนี้ เรื่องนี้ก็จะยิ่งบานปลายยิ่งกว่า และบีบให้กองทัพพม่าจะเข้ามาจัดระเบียบ แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนความสำคัญของรัฐอาระกันในศตวรรษที่ 21 ว่าการจำลองการทูตเชิงน้ำมันและท่อก๊าซแบบภูมิภาคเอเชียกลางเข้ามาอยู่ในด่านหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะท่อก๊าซจีน อินเดีย บริษัทข้ามจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเข้ามาลงทุนในรัฐอาระกันแล้ว เพราะฉะนั้นพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นกระดานหมากรุกทางการเมืองโลก

ประเด็นที่สองคือ หากแนวคิด "The Clash of Civilizations" ความขัดแย้งทางอารยธรรมที่เสนอไว้โดยแซมมวล ฮันติงตัน (Samuel P.Huntington) นักวิชาการรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งมองว่าการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็นจะเป็นการปะทะระหว่างอู่อารยธรรมสำคัญ หนึ่งในนั้นคืออารยธรรมของอเมริกันกับอิสลามแบบเคร่งจารีต ส่วนอิสลามกับพุทธไม่รู้จะชนกันบ้างหรือเปล่าในบางมิติ กรอบของฮันติงตันไม่ได้มองเรื่องศาสนาอย่างเดียว เพราะศาสนาบางทีก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน อยู่แบบสันติก็ได้ แต่เขาเอาเรื่องศาสนาไปจับกับกำลังวังชาของมหาอำนาจเจ้าของอารยธรรม และนำการเมืองระหว่างประเทศไปเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ด้วย สุดท้ายศาสนาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งการเมืองภายในและระหว่างประเทศจนปะทุบานปลาย

เรื่องยะไข่โมเดลหรืออาระกัน อาจเป็นจุดที่มองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมพุทธกับอิสลาม และมันจะเชื่อมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องก็ยกประเด็นนี้อยู่ ก็เชื่อมเรื่องสงครามเชื้อชาติได้อีก ความขัดแย้งในรวันดากระตุ้นให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง นี่ก็เป็นได้ แต่ยังไม่รุนแรงในปัจจุบัน แต่ในอนาคตไม่แน่ และจะมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้เหมือนคาบสมุทรบอลข่านอย่างอดีตยูโกสลายเวีย บางทีสหรัฐอเมริกาและสประชาชาติก็เข้ามาแทรกแซง และการทำให้เป็นแบบตะวันออกกลางกรณีปาเลสไตน์ก็น่าสนใจ อย่างปาเลสไตน์บอกว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ วันดีคืนดียิวเข้ามาบอกว่านี่เป็นดินแดนแห่งพันธะสัญญาที่โมเสสประกาศไว้แล้วมีมหาอำนาจเข้ามาหนุนหลัง มีการสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นมาเป็นสะพานให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาด้วย แล้วทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางปั่นป่วน โดยใช้เรื่องอารยธรรมแบบยิวกับอารยธรรมแบบยิวกับอิสลามตีกัน

ในอนาคตรัฐอาระกันก็ไม่แน่เหมือนกัน ผมคิดว่าในอนาคตมหาอำนาจต้องเข้ารัฐอาระกันแน่นอน และจะเป็นสะพานโดมิโนให้มีการแพร่ระบาดของความขัดแย้งชาติพันธุ์ และอิทธิพลการเมืองจากภายในและภายนอก สลับตีกันเป็นห้วงๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาระกันเป็นด่านหน้า โจทย์ที่ต้องมองให้ออกคืออาเซียนจะเข้ามามีบทบาทแค่ไหน รัฐบาลพม่าจะคุมได้หรือเปล่า ทิศทางในอนาคตคือจะมีตัวแสดงหรือชาติอื่นๆ เข้ามาแสดงท่าทีในเรื่องนี้ อเมริกาเริ่มแล้ว อังกฤษเริ่มแล้ว เดี๋ยวจะมีจีน เดี๋ยวมีอาเซียน แต่ชาติที่น่าจับตามองคืออินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน เพราะโรฮิงยาผูกโยงกับสามประเทศนี้พอสมควร เช่น โรฮิงยาที่เข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่อินเดีย

แม้อินเดียจะเป็นรัฐฮินดูก็ตาม แต่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนการศึกษา การศาสนาให้คนเหล่านี้ สื่อสิ่งพิมพ์ของพี่น้องโรฮิงยาแปลมาจากภาษาอูรดู จากปากีสถาน และพี่น้องบางส่วนก็เข้าไปขอความช่วยเหลือที่อิหร่าน อิหร่านแม้ไม่มีสถานทูตที่ย่างกุ้ง แต่สถานทูตอิหร่านที่

กรุงเทพฯ จะดูเรื่องรัฐอาระกัน และดูแลเรื่องโรฮิงยา แม้มุสลิมโรฮิงยาจะเป็นสุหนี่ แต่อิหร่านเป็นชีอะห์ แต่อิหร่านให้ความช่วยเหลือโรฮิงยามานาน มาวันนี้เราจะเห็นแกนนำแนวร่วมเข้าไปขอความช่วยเหลือจากสถานทูตอิหร่าน อิทธิพลเปอร์เซียจะเข้ามาด้วย ในอนาคตจะมีตัวแสดงอื่นๆ เข้ามาโลดแล่นในรัฐอาระกัน บวกกับคุณค่าภูมิยุทธศาสตร์ และภูมิรัฐศาสตร์ จะทำให้อาระกันกลายเป็น "Flash Point" คือจุดวาบไฟ สิ่งท้าทายคือรัฐบาลพม่าจะเอาอยู่ไหม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บรรหาร โต้หักหลัง ทักษิณ ซัด พท.ไม่เคลียร์ลงมติต้านคำสั่งศาลรธน. !!?

บรรหาร. เผยเคลียร์ใจ “ทักษิณ” แล้ว โวยเพื่อไทยไม่ชัดเจนเองว่าจะลงมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้เสียงขาด ฟุ้งหากบอกก่อนรับรองไม่ขาดแม้แต่เสียงเดียว ด้านเพื่อไทยเตรียมลงโทษ 16 ส.ส. ไม่กล้าลงมติ ถามกลัวอะไร เพราะอีก 300 กว่าคนที่ลงมติยังไม่กลัว “อภิสิทธิ์” จี้ทบทวน พ.ร.บ.ปรองดอง หากไม่ปรับแก้เปิดสภามามีปัญหาอีก “นพดล” มั่นใจอดีตนายกฯชี้แจงคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้ได้ ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พรรคจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับ ส.ส.พรรค 16 คน ที่ไม่ร่วมลงมติไม่รับคำสั่งศาลที่ให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 อย่างไรก็ตาม จะเปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อน หากชี้แจงไม่เคลียร์ต้องมีมาตรการลงโทษ

“บางคนที่ไม่กล้าลงคะแนนเพราะกลัวผิดกฎหมาย อยากถามว่าทำไมอีก 300 กว่าคนถึงไม่กลัว ถ้ากลัวแล้วมาเล่นการเมืองทำไม เมื่อเป็นนักการเมืองต้องกล้าโต้แย้งในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราเป็นพรรคหลักในรัฐบาล หากทำแบบนี้จะทำให้พรรคร่วมมองด้วยความหวาดระแวง”

นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ที่มี ส.ส. ของพรรคขาดลงมติไม่รับคำสั่งศาล เพราะวิปรัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการลงมติเรื่องนี้หรือไม่ ไม่ใช่เราเบี้ยวหรือหักหลัง ต่อไปเวลาจะลงมติสำคัญประธานวิปรัฐบาลต้องประสานใกล้ชิดกว่านี้

“ความจริงพรรคเราขาดลงมติเพียง 2-3 คนเท่านั้น อีก 4-5 คนติดงานกับป่วย ส่วนคนที่ขาดกำชับไปแล้วว่าอย่าให้เกิดเรื่องอย่างนี้อีก อยากจะขอพรรคเพื่อไทยว่าต่อไปเอาให้ชัด ไม่ใช่พูดไปคนละทางว่าจะลงมติไม่ลงมติ เพราะแม้แต่ในพรรคเพื่อไทยก็ขาดหลายคน อย่างไรก็ตาม ได้ทำความเข้าใจกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว เพราะหลังลงมติวันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็โทร.มาเลย ชี้แจงไปว่าไม่ชัด หากชัดเจนว่าลงมติแน่รับรองเสียงเดียวก็ไม่ขาด”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า แม้จะปิดสมัยประชุมสภาแล้ว หากไม่มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เมื่อเปิดประชุมสภามาก็จะเกิดปัญหาเดิมๆอีก ซึ่งหลายคนก็ทักท้วงแล้ว หากรัฐบาลไม่ฟังก็ชัดเจนว่ามีเป้าหมายทำเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกให้พ้นผิดเท่านั้น

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การที่อัยการส่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ 9,000 ล้านบาท ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะมีความกดดันให้ฟ้องมานานแล้ว เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหาร

“แม้ว่าธนาคารกรุงไทยจะเป็นธนาคารของรัฐ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆในการปล่อยกู้ เป็นเรื่องของกรรมการธนาคาร ขนาดคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังสั่งการไม่ได้ มั่นใจว่าเรื่องนี้ชี้แจงต่อศาลได้”

ที่มา.หนังสือพิมห์โลกวันนี้

**********************************************************************