--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ธรรมศาสตร์ การเมือง !!?

มาตรา 112 โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ในขณะนี้มีสภาพไม่ต่างไฟป่าที่ตีโอบล้อมเข้าสู่ศูนย์กลาง คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พานให้ร้อนไปถึงเก้าอี้ผู้ปกครองสถาบันบ่มเพาะการศึกษาด้านการเมือง การปกครองอันเก่าแก่ อย่าง “อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์”

“วันนี้คนไทยพูดเรื่องมาตรา 112 กันมาก แม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่า กลุ่มนิติราษฎร์มีเจตนาไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคนมาเผาหุ่น อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่คณะนิติศาสตร์ ในการเปิด หอประชุมเล็ก ก็ยังมีคนมาคาดคั้นให้กลุ่มนิติราษฎร์ต้องตอบคำถามให้ได้ ซึ่งเป็น ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น”

เป็นอธิการฯ มธ.ก็ลำบากหน่อย เพราะ 1.แสดงความไม่เห็นด้วยทางวิชาการ กับนิติราษฎร์ก็มีคนออกมาประท้วง ด่าและข่มขู่คุกคาม ให้ปลดจากตำแหน่ง 2.อนุญาต ให้นิติราษฎร์ใช้ที่มหาวิทยาลัยก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมากดดันคัดค้านต่อว่า 3.เห็นว่าควร พอได้แล้วกับ 112 (หลังจากอนุญาตไปแล้ว 4-5 ครั้ง) คนกลุ่มแรกก็ออกมาอีก 4.เห็น ว่าไม่ควรไล่ล่าแม่มดก้านธูป คนกลุ่มแรกออกมาชม คนกลุ่ม 2 ออกมาว่าอีกสังคมไทยไม่ยอมให้คนยืนบนความถูกต้องและพอดีพองามเลยหรือไง..อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้โอกาสนิติราษฎร์ใช้สถานที่ในการจัดงานเสวนามาหลายครั้งแม้ว่าตัวอธิการบดีเองจะไม่เห็นด้วยในเรื่องของการแก้ไข มาตรา 112 แต่ก็มองว่าธรรมศาสตร์เป็นสถานที่เปิดกว้างในด้านของความคิด แลกเปลี่ยน ในเชิงวิชาการแต่เมื่อเรื่องดังกล่าวถูกแปลประเด็นไปในเชิงการเมือง สร้างให้เงื่อนไขจน ธรรมศาสตร์เองแทบลุกเป็นไฟเพราะการเปิดกว้างทางความคิดครั้งนี้

สุดท้าย อ.สมคิด ต้องสั่งระงับการใช้พื้นที่ของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยฉับพลันเพื่อไม่ ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายไปมากกว่านี้เพราะไม่ว่าบรรดาศิษย์เก่าและปัจจุบัน ได้ออกมา ต่อต้านการกระทำของคณะนิติราษฎร์อย่างรุนแรง ที่ใช้ชื่อมหาวิทยาลัย สร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่มีการเรียกร้องให้สอบวินัย และปลดคณาจารย์ที่ร่วมในกลุ่มนิติราษฎร์ด้วย

สำหรับในเรื่องดังกล่าว อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ได้แสดงความเห็นผ่านบันทึกชื่อ “วิพากษ์ผู้วิพากษ์” และนำไปแบ่งปันบนเฟซบุ๊กของนายสมคิด มีเนื้อหาว่า “มีหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์เคลื่อนไหวเรื่อง ม.112 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกต่อไป โดย มองว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นี่ก็เป็นมุมมองหนึ่งที่เข้าใจได้ครับ แต่ผมอยากให้พวกเรามองอีกมุมมองหนึ่งด้วยว่า การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องออกมาตรการนี้ คงเป็นกรณีฉุกเฉินเพราะเกรงว่าอาจจะลุกลามจนกลายเป็น ‘6 ตุลาครั้งที่สองได้’ และถ้าจะเกิดก็คงจะเกิดที่ธรรมศาสตร์เหมือนเมื่อปี 2519...เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่ามาตรการนี้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็น ‘การตัดไฟแต่ต้นลม’ มากกว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพครับ เพราะที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ก็เปิดโอกาสให้กลุ่ม นิติราษฎร์ใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่เคลื่อนไหวมาหลายครั้งแล้ว...สรุปก็คือผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยครับ”

ในด้านของฝ่ายต่อต้านการตัดสินใจของอธิการบดี ซึ่งเห็นว่าคำสังนี้เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางความคิด ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสถาบันแห่งนี้ อย่างองค์การ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้มีการออกหนังสือคัดค้านว่าองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ขอแสดงจุดยืนที่มีต่อ มติดังกล่าว ดังนี้

1) อมธ. ร้องขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ตามที่ท่านอธิการบดีได้ระบุไว้ข้างต้น เพราะมติดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสาระสำคัญแห่ง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

2) มหาวิทยาลัยเปรียบได้กับห้องทดลองในทางสังคมศาสตร์เป็นสถานที่หลัก ในการขับเคลื่อนพัฒนาการในทางวิชาการ เปรียบได้กับพัฒนาการในทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องอาศัยห้องทดลองเป็นสำคัญ การไม่อนุญาตให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ต่างอะไรกับการทำลายเสาค้ำยันในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพในทางความคิดทิ้งไป

3) เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ท่านอธิการบดี ชี้แจงถึงมติดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน
สุดท้ายนี้ อมธ. ยังคงยืนยันในจุดยืนแห่งการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรายังคงเคารพในความเห็นที่แตกต่าง ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม ตราบเท่าที่ความคิดเห็นเหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ทั้งนี้ อมธ. ในฐานะผู้แทนของนักศึกษาซึ่งมีความหลากหลายทางความคิด ขอรับรองว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองใด และไม่มีกลุ่มทาง การเมืองใดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแต่ความสวยงามในความคิดเห็นที่แตกต่างคือภาพสะท้อนแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แท้จริง

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวจะจบลงในรูปแบบไหนก็ถือว่าไม่มีถูก ไม่มีผิด หากเป็นเพียงเรื่องของวิชาการองค์ความรู้ หากแต่ถูกเชื่อมโยงไปในประเด็นการเมืองก็นับว่าน่าเป็นห่วงเพราะเป็นเรื่องที่บอบบางและเกี่ยวเนื่องกับสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของคนทั้งประเทศ

ที่มา.สยามธุกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ถอดเนื้อหาสัมนาบูรพาภิวัตน์ ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่ ฤาโลกจะกลับขั้วอํานาจ...

กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต

เวทีสัมมนาใหญ่ “บูรพาภิวัตน์: ฤาโลกจะกลับขั้วอำนาจ” งานสัมมนาที่จะให้มุมมองยุทธศาสตร์ประเทศไทย รับกระแสเอเชียผงาดในวันอังคาร ที่ 31 มกราคม 2555 เวลา 13.00-16.30 น. ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล


 

กล่าวต้อนรับโดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานนโยบายสาธารณะที่ดี


เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปตั้ง แต่ต้นศตวรรษที่ 21 สหรัฐอเมริกา เริ่มเสื่อมถอยทางธุรกิจ เอเชียกำลังผงาดขึ้น จีนได้เข้ามามีอำนาจเป็นผู้นำปรากฎการบูรพาภิวัติน์ และอินเดียที่กำลังตามเข้ามา นอกจากนี้ยังมีประเทศผู้นำเศรษฐกิจใหม่อย่าง บราซิล เม็กซิโก อิหร่านอิน ตุรกี เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้ล้วนเข้ามาแทนประเทศตะวันตก ขณะที่หลายๆประเทศจะก้าวต่อไป แต่ประเทศไทยกำลังอยู่ในวังวลโกลาหลทั้งการเมืองและอุทกภัย คนไทยจำเป็นจะต้องตื่นตัวและมองไปรอบๆ และพลิ้วไหวไปในโลกาภิวัตน์และบูรพาภิวัตน์

ปาฐกถาพิเศษ “บูรพาภิวัตน์ ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่” โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมทำงานชิ้นนี้ทำไปก็ค่อยข้างมีความสุขที่มีความสุข เพราะไม่คิดว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ตอนผมเป็นเด็กประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมก็พึ่งพ้นจากความเป็นอาณานิคม ตอนนี้ผมอายุ 58 ไม่คิดว่าจะประเทศต่างๆจะพัฒนาขนาดนี้ ทั้งจีน อินเดีย สิงค์โปร์ มาเลเซีย 200 ปีที่ผ่านมาสมัยรัชการที่ 3 ท่านจะเห็นว่าเราอยู่ในโลกที่ตะวันตกเป็นใหญ่มานาน ไม่ต่ำว่า 200 ปี โดยเฉพาะช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ตะวันตกเหนือกว่า และมีอำนาจมากกว่า แต่ตอนนี้ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นกลับกลายเป็นผู้นำนำได้อย่างน่าพิศวง ท่านทั้งหลายคงทราบว่าจีนเจริญก้าวหน้า แต่ไม่เพียงแค่จีน อินเดียก็ตามาห่างไม่เร็วเท่าจีน แต่ภายใน 10 ปี คาดว่าอินเดียคงเติบโตเร็วกว่าจีน จีนจะเริ่มช้าลง อินเดียมีอะไรดีๆอีกมากนออกจากสังเวชนียสถานที่เราชอบไปกันอินเดียมีอะไรเจริญกว่านั้นอีกเยอะ

ถัดจากอินเดียก็ตะวันออกลาง เรามักคิดถึงเฉพาะการก่อความไม่สงบ แถวซีเรีย อิสราเอล อิรัก อิหร่าน แถบนี้เจริญมีอย่างมาก มหาวิทยาลัยมีชื่อกำลังไปเปิดที่ดูไบ กาตาร์ พิพิธพันธ์ louvre ก็จะเปิดสาขาแถวนี้ และกำลังทำเมืองสีเขียวชื่อเมืองมัสก้า ที่สำคัญคือตะวันออกกลางมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ในการลงทุนที่ต่างๆ เช่น มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งติดแอฟฟริกา อินเดีย จนกระทั่งถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้ง 3 จังหวัดภาคใต้ก็อาจจะมีโอกาสได้รับการลงทุนด้วย ที่ตะวันออกกลางรวยขึ้นมาก็เพราะจีนอินเดียเพิ่มกำลังการซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้นมาเมื่อก่อนตะวันออกกลางขายแต่ตะวันตกทำให้ตะวันออกกลางร่ำรวย อิหร่านและตุรกีต่างจากตะวันออกส่วนอื่นเพราะพื้นที่ใหญ่มาก อิหร่านมีความสำคัญกับการต่างประเทศสูง ตุรกีพยามเข้าไปอยู่ตะวันตกแต่ไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้อยากมาตะวันออกแล้วด้านบนของตุรกีคือทะเลดำด้านล่างคือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตุรกีอยู่ชิดกับตะวันออกของยุโรป แต่ EU ไม่สนใจ ตุรกีเลยทำตัวเป็นตัวเชื่อมก๊าซและน้ำมันเหล่านี้ ซึ่งตอนนี้ตุรกีเศรษฐกิจดีมากทั้งที่เมื่อก่อนเป็นคนป่วยของยุโรป แต่ตอนนี้เป็นจีนของยุโรป

ฉะนั้นทุกวันนี้ท่านอย่าติดภาพเดิมๆที่เคยได้ยิน รัสเซียเองตอนนี้ก็ร่ำรวยจากก๊าซธรรมชาติ บราซิลตอนนี้เป็นเจ้าหนี้ใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีอุตสาหกรรมทำเครื่องบินไอพ่นเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีเทคโนโลยีการเกษตรไม่แพ้สหรัฐอเมริกา
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ


ผมรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ประมาณ 2000 ปีที่แล้ว เอเชียมีระบบเศรษฐกิจประมาณเกือบ 80% ของโลก ศาสนาพุทธอยู่ในยุคที่เจริญที่สุด เป็นยุคของจีนและอินเดียและค่อยๆลดลงเรื่อยๆ แต่ในปี 1990 สัดส่วนเศรษฐกิจของเอเชียกำลังเพิ่มขึ้น บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ต่อไปจะเป็นผู้เล่นหลัก รูปขนาดเศรษฐกิจต่างๆ อีก 10 ปีข้างหน้า สหรัฐจะใกล้กับจีนขนาดของเศรษฐกิจจะใกล้เคียงกันมากและยุโรปจะติดอันดับลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม11ประเทศต่อไปที่จะเข้ามามีบทบาท บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปินส์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิยิปต์ ตุรกี ไนจีเรีย เม็กซิโก เวียดนาม แต่ที่ผมดูๆมาไม่มีประเทศไทยเลยก็ค่อนข้างน่าตกใจ

การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะเห็นว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียมีการเติบโตมากขึ้น


การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตในปี ค.ศ. 2025


การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตในปี ค.ศ. 2032


ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าตะวันตกเศรษฐกิจจะเริ่มถดถอยลง แต่ส่วนที่ไม่ค่อยถอย คือแคนนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่ไม่ถอยเพราะเขาปรับนโยบายมาทางตะวันออกมากขึ้น

ส่วนยุโรปหนี้สาธารณะสูงมาก เยอมันที่เราคิดว่าเศรษฐกิจเขาดี ก็มีหนี้สาธารณะสูงเช่นกัน เงินยูโรก็อาจจะต้องผลักบางประเทศออกไป ตอนนี้ยุโรปกำลังป่วย ซึ่งยุโรปเป็นต้นแบบ AEC บ้านเราฉะนั้นต้องกลับมาดูทบทวน AEC ด้วย ผมว่าเราต้องคิดให้ดีว่าจะทำอย่างไร เราอาจต้องใช้สมองชุดใหม่คิด



กลับมามองไทยควรทำอะไร

เรามีปัญหาเยอะ แต่เรามีที่ตั้งที่ดีเหลือเกิน ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศผมมองว่าเราต้องใช้ปัจจัยนอกประเทศ เพราะปัจจัยในประเทศยังอ่อนล้าเหลือเกิน จากทางภูมิประเทศ ทางตะวันตกคือมหาสมุทรอินเดียซึ่งในยุคบูรพาภิวัตน์จะกลับมาเป็นมหาสมุทรที่สำคัญที่สุด ซึ่งติดกับอินเดียและตะวันออกกลาง ด้านขวามือเราออกจากอ่าวไทยคือ มหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ ติดจีน ประเทศไทยอยู่ในระหว่างทางเชื่อมไทยและอินเดีย ต่อมาช่องแคบมะละกา ซึ่งสตูลเป็นปากช่องแคบมะละกา และมีสิงคโปร์ สินค้าผ่านช่องนี้ 2 เท่าครึ่ง คอคอดกละ ผมว่าน่าทำมาก จีนก็อยากทำแต่ไทยก็เฉยๆ ไทยเป็นพวกเฉยๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรกับเขาเลย ผมคิดต่อว่าถ้าเราทำรถไฟร่วมกับจีนอย่าหยุดที่ภาคใต้ อยากให้ไปต่อที่มาเลเซียและต่อไปอีก 30 กิโลเมตรไปสุมาตรา จากนั้นไปเชื่อมต่อกับชวา ถ้าทำที่ชวาได้ประชากรที่นั่น 100 กว่าล้านคน ไทยควรจะเป็นตัวเชื่อมอาเซียนคนประมาณ 200 ล้าน ตอนนี้อินเดียก็อยากมาที่อาเซียนตัวที่เชื่อมอาเซียนคือ พม่ากับไทย การที่นายกไปปรากฏตัวที่อินเดียที่ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ผมว่าการที่โลกเปลี่ยนมันเป็นโอกาสที่ดี เราต้องปรับปรุงตัวเองหลายอย่าง เช่น การศึกษา ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความรู้ชุดเดียวจากตะวันตก

การพัฒนาประเทศอย่าไปมองแค่กรุงเทพ อย่างภาคเหนืออย่าคิดว่าคือส่วนปลายของประเทศต้องคิดว่าคือส่วนเชื่อมต่อกับพม่า อิสานก็เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับเวียดนาม ภาคใต้ก็ติดมาเลเซีย เวลาวางแผนต้องทำให้ทุกจุดเป็นศูนย์กลางของประเทศได้ทั้งหมด

ปาฐกถาพิเศษ “เมื่อเอเชียผงาด: ไทยจะปรับตัวอย่างไร” โดย ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ

ผมดีใจที่อาจารย์เอนกพูดไว้ดีมาก คือพวกเราไม่ค่อยสนใจนอกประเทศหรือสนใจก็แต่ประเทศที่เคยค้าขายจะไปไหนก็ไปแต่ประเทศที่เคยไป แต่ตอนนี้เราเข้าสู่บูรพาภิวัตน์ ผมขอเกริ่นนำก่อนตอบคำถาม มีตัวเลขที่น่าสนมากเป็นตัวเลขและยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ อย่างแรก คือการเคลื่อนจาก G7 ไป G20 ซึ่งสำคัญมากแต่เราไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะนอกจาก 7 ประเทศที่มีความสำคัญด้านอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาแล้ว ในนั้นมีจีน อินเดีย บราซิล แอฟฟริกาใต้ เมื่อมี ASEAN 10 ก็จะเชิญประเทศที่เป็นเจ้าภาพที่ไปประชุมด้วยทุกปีใน G20 ฉะนั้นการตัดสินใจในเศรษฐกิจโลกก็จะมีหลายประเทศเข้าไปตัดสินใจ

จากากรเสื่อมถอยของเศรษฐกิจทั้งอเมริกา ยุโรป และ การชะลอตัวของญี่ปุ่นชี้เราเห็นเป็นตัวเลข เมื่อปี 2001 สัดส่วนเศรษฐกิจของเอเชียเป็น 30% ของโลกข้อมูลจากที่อาจารย์เอนกนำเสนอไปในปี 2020 คาดว่าสัดส่วนทางเศรษฐกิจ จะเกือบครึ่งหรือเกินครึ่งของของสัดส่วนGDP ของโลก จำนวนประชากรเกินครึ่งหนึ่งของโลก เงินสำรองก็จะเกินครึ่งหนึ่งของโลกในไม่ช้านี้ การนำเข้าในเอเซียเกิน 1 ใน 4 ของโลก ผู้ผลิตน้ำมันในเอเซียก็ติด 1 ใน 4 ของโลก ผู้บริโภคน้ำมันก็ 1 ใน 10 ก็อยู่ในเอเชีย ตะวันออกกลางที่เราเรียกกัน ซึ่งผมชอบเรียกเอเชียตะวันตก เราเองชอบเรียกอะไรตามยุโรป เราชินกับคำว่า Far East ซึ่งผมก็ถามเสมอว่ามัน far from where มันคือ far from London นั่นแหละครับ และเรามักจะเรียกว่า Near East ก็คือมัน Near London และเราก็จะชินกับ Middle East ก็ตะวันออกกลาง และต้องถามว่ามันอยู่ตรงกลางระหว่างลอนดอนกับตะวันออกไกล

เราก็ต้องมาคิดว่าทำไมเราไม่นั่งในเอเชีย เหมือนที่ยุโรปเขานั่งในยุโรปแล้วเรียกยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ยุโรปใต้ ทำไมเราไมนั่งอยู่เอเชีย แล้วบอกว่าเอเชียตะวันออกคือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เอเชียตัวนออกเฉียงใต้คืออาเซียน เอเชียใต้คือปากีสถานบังคลาเทศ อินเดีย ภูฏาน เอเชียกลางก็พวกปากีสถาน และสถานทั้งหลาย พวกตะวันออกกลางกลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council) 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์



สิ่งที่น่าสนใจคือ อินเดียมีชนชั้นกลางที่พูดภาษาอังกฤษและพร้อมจะ take off อยู่ 300 ล้านคน มีคนจน 700 ล้านคนที่พร้อมจะเป็นชนชั้นกลาง จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก เป็นผู้ค้าอันดับต้นๆของประเทศต่างๆทั่วโลก ดูไบมีสนามบินรองรับคนได้ 120 ล้านคนต่อปี ท่าเรือ ที่ UAE มีคนใช้บริการเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ทางด้านยุทธศาสตร์ ทั้งในและนอกเอเชียบ้าง ออสเตรเลียใช้ภาคตะวันออกเชื่อมเอเชียอยู่ในความร่วมมือ Indian Ocean Rim จัดเป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย นิวซีแลนด์เปิดการค้าเสรีกับหลายประเทศ

อเมริกาเริ่มเห็นว่าต้องให้ว่าต้องปรับนโยบายใหม่หลายอย่าง เช่นกับจีนโดยเลิกไปกดดันจีนเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและเรื่องค่าเงิน โดยเริ่มดึงจีนเข้ามาร่วมในอะไรต่างๆ ก็ตามและจำกัดไว้ไม่ให้โตเกิน อเมริกาเข้ามาหาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างน่าอัศจรรย์เพื่อคานจีน เมื่อ 2 ปีที่ แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับพม่าก่อนที่จะมีเลือกตั้ง อเมริกาคิดอยู่ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความร่วมมือทางแม่น้ำโขงที่ไม่มีจีน อเมริกาเห็นว่าจีนมีความร่วมมือกับกลุ่มแม่น้ำโขงที่เรียกว่า GMS อเมริกาจึงคิดขึ้นมาใหม่ว่า US Lower Maekhong พออเมริกาเรียกว่าช่วงล่างของแม่น้ำโขงได้ ก็สามารถตัดพม่ากับจีนออกได้ร่วมมือกันได้อย่าไม่ตะขิดตะขวง ซึ่งอเมริกาแต่เดิมไม่เคยสนใจประเทศในลุ่มน้ำโขงเลย

ในอาเซียนของเรามีความร่วมมือ และมีการประชุมสุดเอเชียตะวันออกอยู่เรียกว่า East Asia Summit ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญของการจำกัดความภูมิศาสตร์ ว่ามันเรียกว่า East Asia แต่จริงๆแล้วมันมีอินเดียซึ่งอยู่เอเชียใต้ และมีสมาชิกในแปซิฟิกอย่าง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมอยู่ด้วยแต่เรียกว่า East Asia Summit เมื่อปีที่แล้วอเมริกามาก็ไม่ได้สมัครอะไรหรอกครับ มาถึงก็บอกว่าข้าพเจ้าจะเป็นสมาชิก East Asia Summit ด้วย อาเซียนก็ไม่รู้จะว่ายังไงในที่สุดก็ได้เป็นสมาชิก เราก็พยามให้เกิดความสมดุลย์ด้วยการไปดึงรัสเซียเข้ามาด้วยฉะนั้นการจำกัดความของเอเชียตะวันออกก็ตะเหลิดเปิดเปิงไปไกล จะเห็นได้ชัดว่าภูมิศาสตร์ไม่ได้ช่วยอะไร แต่สิ่งที่เห็นคือทุกประเทศกำลังโดดเข้ากระบวนรถด่วนบูรพาภิวัตน์

อเมริกามียุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจได้น่าจับตามอง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 1997 เรามีปัญหาทางเศรษฐกิจท่านคงได้ยินชื่อ Washington Consensus ที่เขาตกลงกันมาในปี 1970 ที่ว่าหลักเศรษฐกิจที่ถูกต้องจะต้องมีวินัยการเงินการคลังอย่างไร ต้องเปิดเสรี ต้องพึ่งมือที่มองไม่เห็น ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในปี 1997 ที่เราเกิดวิกฤต IMF ซึ่งรับความคิดเหล่านี้มาเต็มๆจะใช้เงินภาษี ประชาชนไปอุ้มธนาคาร ไปซื้อหนี้เสียไม่ได้ เวลานี้เมื่อเกิดกับอเมริกา อเมริกาบอกว่าต้องเอาเงินภาษีไปอุ้มธนาคาร ประกันภัย ให้หมด แต่ของไทยบอกว่าให้รัฐขายทันทีเข้าใจว่าต่ำสุดคือ 8 % ของมูลค่า สูงสุดคือ 28% แต่ตอนอเมริกาบอกว่าห้ามขายทรัพย์สินเพราะราคาจะตกและตั้งกองทุนขึ้นมาเอาภาครัฐเอกชนเข้ามาร่วมกันประครองทรัพย์สิน

ฉะนั้นแล้วอเมริกาเขาไม่ใช้แล้ว Washington Consensus เขาใช้ Post Washington Consensus คือไปพึ่งมือซึ่งมองเห็น เช่นการพึ่งรัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วย แล้วพวกเราก็ถามกันว่าธรรมาภิบาลการเงินคืออะไร สิ่งไหนคือถูกต้อง สิ่งที่สหรัฐทำคือไม่พึ่ง Consensus แล้ว

ญี่ปุ่นก็เข้ามาที่แม่น้ำโขงอยากจะมี Japan-Mekong Cooperation โดยไม่มีจีน รัฐเซียให้ความสำคัญก็เข้ามา เป็นข้อเสนอของไทยที่คิดขึ้นมาเรียนกว่า ACD หรือ Asia Cooperation Dialogue หรือที่เรียกว่าเวทีความร่วมมืออาเซียน ซึ่งสำคัญมากมีประเทศสมาชิกประมาณ 30 ประเทศแต่ไทยไม่ให้ความสำคัญเพราะเราไม่มีความต่อเนื่องเชิงยุทธศาสตร์ รัฐเซียมีพื้นที่ยื่นมาทาง Asia ประมาณ 70% คนรัสเซียหน้าตาก็ไม่ต่างกันคนเอเซีย ในที่สุดรัสซียก็ได้เข้ามาใน East Summit และให้ความร่วมมือเป็นอันมาก

แคนนาดาก็น่าสนใจ The Asia-Pacific Gateway and Corridor Initiative ประตูเชื่อมเอเชียเขาสร้างสิ่งต่างๆ ท่าเรือ รถไฟ เชื่อมเมือง ต่างๆในเอเชีย เช่นที่โตเกียว เซี่ยงไฮ้ พูซาน เซินเจิ้น สิงคโปร์ อินเดียก็เน้นเอเชียกลางสร้างท่าเรือให้อิหร่าน สร้างทางรถไฟกรณีของ SAARC (South Asian Association for Regional Cooperation) สมาชิกได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกาและได้เชิญอัฟกานิสถานเป็นองค์กรความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในแง่ประชากร (1 ใน 5 ของประชากรโลก) กำลังสร้างทางส่งน้ำมันขึ้น เกิดการรวมกลุ่ม Brazil, Russia, India และ China รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อให้ชาติมหาอำนาจฟัง ตอนหลังมาเป็น BRISA มีแอฟริกาใต้เข้ามาด้วย

ส่วนจีนใช้ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก สร้างท่าเรือรอบมหาสมุทรอินเดียเพื่อเชื่อมเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออก เท่ากับว่าจีนมียุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก จีนเสนอความร่วมมือ Pan-Beipu Gulf Economic Cooperation หรือ PBG ใช้หลักคิด 1 แกนสองปีก ซึ่งตอนหลังได้ไทยได้เข้ามาร่วมภายหลังในปี 2009 เพราะเราทะเลาะกันมากจนเขาไม่รู้จะคุยกับใคร

(อธิบายเพิ่ม) หนึ่งแกน คือ แกนกลาง ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมทางบก จากนครหนานหนิงไปยังสิงคโปร์ โดยแบ่งเส้นทางออกเป็น 2 สาย คือ

1 เส้นทางทางบกเลียบฝั่งตะวันออก คือ หนานหนิง-ฮานอย-ดานัง-โฮจิมินห์-พนมเปญ-กรุงเทพฯ-มาเลเซีย-สิงคโปร์

2 เส้นทางทางบกสายกลาง คือ หนานหนิง-ฮานอย-บินห์-เวียงจันทน์-หนองคาย-กรุงเทพฯ-มาเลเซีย-สิงคโปร์

สองปีก คือ ปีกของกรอบความร่วมมือ

1 ปีกด้านซ้าย คือ กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ประกอบด้วย จีน (ยูนนาน และกว่างซี) ไทย พม่า กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม

2 ปีกด้านขวา คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวตังเกี๋ย (เป่ยปู้) (Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation – PBBG) ประกอบด้วย จีน (กว่างซี กวางตุ้ง ไหหลำ) เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน

โดยระบุวัตถุประสงค์ของแนวคิดดังกล่าวว่า เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่ง ในเรื่องการขนส่งทางทะเล อุตสาหกรรมท่าเรือ พัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจทางทะเล พัฒนาความร่วมมือระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวตังเกี๋ย (เป่ยปู้) รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินการภายใต้ความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อสร้างเขตความเจริญแห่งใหม่ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และจีนทุ่มงบมหาศาลไปในแผนนี้

หลายประเทศเทศพยามสร้างความร่วมมือลดความขัดแย้งต่อเพื่อนบ้าน

แอฟฟริกาใต้ เสนอยุทธศาสตร์ผีเสื้อ คือ แอฟฟริกาใต้เป็นตัวผีเสื้อ และให้อินเดียและบราซิลเป็นปีกผีเสื้อ
ตุรกี เสนอยุทธศาสตร์ใหม่และใช้มาตลอด Zero Problem With Neighbor Policy คือไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านซึ่งอันนี้อาจจะไม่คุ้นกับประเทศไทยช่วงที่ผ่านมานะครับ อินโดนีเซีย Thousand, Friends Zero Enemy ซึ่งภาษาไทยแปลว่าเพื่อนมากมายศัตรูไม่มีเลย แต่บางประเทศกลับใช้เพื่อนน้อยศัตรูเยอะ
เรื่องพลังงานเกิด East West Corridor ได้เชื่อมจีน เอเชียกลาง ยุโรป ต่อไปอาเซียนจะเป็นอ่าวเปอร์เชียของก๊าซธรรมชาติแต่ไทยกับกัมพูชาพูดกันไม่รู้เรื่อง ที่ผมพูดมาต้องการจะให้เห็นการเชื่อมโยงต่างๆ เช่น ทางกายภาพ ทางพลังงาน นโยบายเศรษฐกิจ ทางยุทธศาสตร์ เช่น กลุ่มต่างๆเชื่อมธุรกิจการค้าบริการอาหาร พลังงาน เชื่อมโยงทางวิชาการ นวัตกรรมต่างๆ และการเชื่องโยงทางวัฒนธรรม กีฬา ภาพยนตร์

มาตอบคำถามว่าไทยจะปรับตัวอย่างไร มี 6 ประการด้วยกัน

ทัศนคติแปลกๆ ของคนไทย คือเราชอบคิดว่าเราเป็นมหาอำนาจ ไม่รู้ว่ามาจากไหน สังเกตว่าเราทำอะไรที่ไหน ใครมาแหยมเรานิดนึงเราจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่สนใจประเทศเพื่อนบ้านว่าเขามีอะไรติดกับภาพเก่าๆของเขา เราชอบสบายชอบค้าขายประเทศเดิมๆ เราชิน ชอบอะไรเดิมๆมาตลอด

1 พิจารณายุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ เช่นจีน EU ญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย รัสเซียเขามีต่ออาเซียอย่างไร
การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบก่อนและหลัง Washington Consensus ผลเป็นอย่างไร

2 เราต้องวิจัยยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้าน
ลองดูบ้านว่าสอดคล้องกับเราไหม เช่น ลาวเขาจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย เราคิดยังไงทำอะไรบ้าง พม่า กัมพูชาก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราเข้าใจเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียสร้างความโดดเด่นในอาเซียนได้เป็นสมาชิก G20 เขาเป็นเจ้าภาพจัด World Economic Forum เมื่อปีที่แล้วสิ่งต่างๆเหล่านี้เราได้ศึกษาไหม

3 ศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์ประเทศที่มีบทบาทในภูมิภาคเรา
เช่น ตะวันออกกลางเราได้ศึกษา การ์ตา บาเรนห์ โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เราได้มองหรือมียุทธศาสตร์กับเขาอบ่างไรบ้างไหม

4 วิเคราะห์ศึกษายุทธศาสตร์การร่วมกลุ่มของประเทศต่างๆ
เช่น การรวมกลุ่มของ BRIC,BRICSA ว่าเขามีนโยบายอย่างไรต่อกัน ยุทธศาสตร์เขาคืออะไร และเราจะอยู่ตรงไหน

5 ศึกษาประเด็นทางยุทธศาสตร์
อย่างแรก Politics of Oil การเมืองเรื่องน้ำมัน อันนี้เป็นชนวน ส่งผลต่อการมีนโยบายวางท่อน้ำมันของประเทศต่างๆ เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ต่อมา การขนส่งทางเรือ ท่าเรือที่เกิดขึ้น ทำไมจีนญี่ปุ่นและอินเดียถึงสนใจจะแย่งลงทุนที่ทวาย

6 ศึกษายุทธศาสตร์ของอาเซียน และกลุ่มมหาอำนาจว่าเขามีต่ออาเซียนอย่างไร เราจะใช้อาเซียนให้สอดรับกับยุทธศาสตร์เราอย่างไร

สิ่งที่กล่าวมาคือรู้เขา ต่อไปที่จะกล่าวคือรู้เรา

1 ต้องสร้างสมดุลให้มหาอำนาจที่สนใจภูมิภาคของเรา ปัญหาเราจะสร้างสมดุลอย่างไร เราจะได้อยู่ในระดับพอดีกับจีน สหรัฐ อินเดีย และมหาอำนาจต่างๆ เพราะว่าหากใกล้ไปก็ร้อน ไกลไปก็หนาว เราต้องมียุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุล

2 เราต้องรู้จุดแข็งของประเทศไทยคือที่ตั้ง ความสามารถในการเชื่อมประเทศต่างๆได้หลายทิศทาง ประเทศจึงมีลักษณะเชื่อมเป็นศูนย์กลาง จุดแข็งที่สองคือสินทรัพย์ของเรา คือความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านเรา ทำให้เรามีอำนาจในการต่อรอง อีกอันหนึ่งคือความพอดีของเราในอาเซียน ใครทะเลากันเราเป็นเพื่อนเราหมด เราเชื่อมได้ทั้งอาเซียนเก่าและใหม่มีอะไรก็มาคุยกัน ฉะนั้นเรื่องที่เขาไม่เข้าใจกันเขาก็ให้เราอธิบาย แต่ช่วงที่ผ่านๆ มาเราก็มีปัญหาบ้างเพราะเราลงไปทะเลาะกับเขาด้วย เราสามารถเชื่อมมหาอำนาจได้ เราจะเป็นสะพาน ฉะนั้นใครมีปัญหามาคุยที่ไทยทุกคนสบายใจ

3 เราต้องมีบทบาทที่ต่อเนื่องในเวทีที่เรามีบทบาท ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรามีนโยบายไม่ต่อเนื่อง ขาดยุทธศาสตร์ในการประชุมแต่ละครั้ง เช่น ACD เราควรจะเน้นเพราะมี 30 ชาติจากทุกภูมิภาค

4 เราต้องมีกรรมการถาวรระดับชาติเสียที เฉพาะเรื่องการต่างประเทศ โดยยุทธศาสตร์ต้องสะท้อนด้านต่างๆ เช่นพลังงาน การค้า บริการ รวมกันเป็นแพคเก็จและสะท้อนยุทธศาสตร์ของชาติเรา หรือมีสถาบันยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนนายก เปลี่ยนรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติไม่เปลี่ยนหากจะเปลี่ยนก็ต้องมาคุยกันว่าเปลี่ยนเพราะอะไร

เมื่อเศรษฐกิจตะวันตกชะงักและเสื่อมถอย : ผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้



เนื่องจากเศรษฐกิจของตะวันตกหยุดชะงัก ใครจะคิดว่า Lehman Brothers ที่มีทรัพย์สิน 6 แสนล้านจะล้มละลาย ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากภาคการเงินของอเมริกาและยุโรป ภาคสินเชื่อมีความไม่แน่นอน การใช้จ่ายเงินเกินตัวของสหรัฐ ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ตะวันตกสามารถใช้เงินเกินตัวได้นานก็เพราะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ประเทศที่มีเงินเยอะอย่างตะวันออกกลางมีเงินเยอะไม่รู้จะเอาไปไหนก็เลยเอาไปไว้ที่สหรัฐและตะวันตก ผมเคยเจอ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผมเจอเขา เขาก็พูดเชิงเล่นๆว่า เพราะพวกคุณนั่นแหละเอาเงินมาให้เราใช้เกินจนเกิดวิกฤติ


ผมอาจจะเห็นต่างจากสองท่านที่ผ่านมานะครับ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ต่อไปโลกจะมีหลาย center โลกที่เป็นขั้วนำคือเอเชียแปซิฟิก ขั้วเหมือนเก้าอี้สี่ขา มีเอเชีย สหรัฐ ยุโรป ตะวันออกกลาง ณ เวลานี้ผมมองว่าเอเชียแปซิฟิกเป็นตัวนำ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ของใหม่ มันเคยเกิดขึ้นในปี 1600 ถึง 1800 คือตอนที่ตะวันตกมาเอเชีย แต่ผมยังมองว่าสหรัฐยังเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่ รองลงมาก็ยุโรป ส่วนตะวันออกกลางผมมองอยู่สองเรื่องคือเรื่องการปกครองจะเอาแบบไหน เรื่องต่อมา ยิวกับอาหรับตีกันไม่เลิกเป็นปัญหาต่อเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา


ผมมองว่าพื้นฐานของเอเชียดีดูอย่างวิกฤติทางเศรษฐกิจ ปี 2008 เราทรุด ปี 2009 เราฟื้นมาอย่างรวดเร็ว ตอนนี้ทุกอย่างกลับกันไปมา เมื่อก่อนอินเดียโวยว่าตะวันตกแย่งงานซึ่งเนรูห์ก็เคยกล่าวเช่นกันในบันทึก (อธิบายเพิ่ม เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีเครื่องมือที่ทันสมัยทดแทนการใช้แรงงานเช่นอุตสาหกรรมทอผ้า) แต่สมัยนี้เอเชียก็แย่งงานกลับมา จีนเป็นโรงงานขนาดใหญ่ของโลก อินเดียพูดภาษาอังกฤษเก่งก็ทำ call center แย่งงานตะวันตก






สำหรับเนื้อหาของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ในงานสัมมนากรุณาเข้าไปที่ลิงค์ด้านล่าง
ยุทธศาสตร์การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21: บทเรียนจากงานสัมมนา “บูรพาภิวัตน์”

ที่มา:Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เกษียร เตชะพีระ ชี้ไทยมีโครงสร้าง ปชต. แต่ ปชช.ยังคิดแบบสมบูรณาฯ ย้ำ มธ.ไม่มีล้มเจ้า.. !!?

ที่ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง "ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยมีนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. และนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนา

นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวว่า ผู้สำเร็จการศึกษามีภารกิจสองด้าน หน้าที่หนึ่งยืนหยัดประชาธิปไตย หน้าที่ที่สองต้องช่วยให้ประชาชนใกล้ชิดประชาธิปไตยมากขึ้น นั้นคือเหตุผลว่า ทำไมต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าคณะราษฎรเกิดขึ้น เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2475 และมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกรอบว่าคนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน รวมทั้งผู้นำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย อาจารย์ปรีดีไม่เคยถกเถียงเรื่องประชาธิปไตย แต่ถกเถียงเรื่องคำ 3 คำคือ สิทธิ เสมอภาค และเสรีภาค และสิ่งที่อาจารย์ปรีดีต้องการบอกคือ อย่างแรก เราต้องทำการผลิตมนุษย์ยุคใหม่เพื่อเข้าสู่ระบอบทางการเมืองใหม่ ภารกิจของ มธ.คือผลิตคนที่จบ มธ.เข้าสู่การเป็นราชการและนักการเมือง อาจารย์ปรีดีจึงสถาปนาชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อบอกนักศึกษาทุกคนว่า คุณต้องเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าคุณจะต้องการหรือไม่ ดังนั้น นักศึกษา มธ.จึงต้องยืนยันหลักการทางการเมืองต่อไป

นายธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า คำถามที่นักศึกษาของตนมักจะถามคือ ทำไมต้องเกิดคณะราษฎรขึ้น และทำไมต้องมีการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2475 คำตอบก็คือ เพราะเราไม่สามารถแยกออกจากกระแสโลก คณะราษฎรสามารถบรรลุความสำเร็จได้ เพราะการรวมตัวของคน 7 คน แต่ตนจะชี้ประเด็นว่า 7 คนนี้อายุสูงสุดคือ 29 ปี คือร้อยโทแปลก พิบูลสงคราม คน 7 นั่งคุยกันแล้วบอกว่าบ้านเมืองเราวันนี้ไม่ศิวิไลซ์ ถามต่ออีกว่าแผ่นดินนี้เป็นของใคร คณะราษฎรบอกว่าแผ่นดินนี้เป็นของราษฎร ดังนั้น เราต้องทำให้แผ่นดินนี้ศิวิไลซ์ลงไปสู่ราษฎรและรัฐธรรมนูญคือความศิวิไลซ์ และนี่คือพลังอันสำคัญ เมื่อคณะราษฎรประสบความสำเร็จ จึงเกิดหลัก 6 ประกัน คือ เอกราช ความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ที่สำคัญเรามักจะบอกว่าการปฏิวัติในสมัย 2475 เป็นการปฏิวัติที่ไม่นองเลือด แต่มันมีการนองเลือดหลังจากนั้น เห็นได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นมรดกที่ได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2475

ผมเคยตั้งคำถามว่า หากมีกรณีของนิติราษฎร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น จะเกิดเหตุการณ์แบบที่นี่หรือไม่ คำตอบคือ เกิดไม่ได้ ทั้งนิติราษฎร์และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว เพราะการกำเนิดของ มธ. เป็นแบบพิเศษ นิติราษฎร์ไม่สามารถไปเกิดที่ไหนได้ นอกจากที่ มธ. และเมื่อเกิดที่ มธ. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกสมัยต้องเผชิญหน้า เวที มธ.เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคมไทยตลอดมา แน่นอนเมื่อคุณก่อให้เกิดสิ่งใหม่คุณต้องเจ็บปวด ในด้านผู้บริหารนับแต่ปี 2500 มา ผู้บริหาร มธ.ได้รับแรงกดดันมาตลอด แต่ท่านจะเล่นบทนั้นอย่างไร ขอบอกว่าท่านต้องเล่นบทสองหน้า คือบอกกับสังคมว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ อาจารย์และนักศึกษาต้องถกเถียงกัน เพราะหากท่านเล่นบทหน้าเดียว นั่นหมายความว่าท่านได้สวามิภักดิ์แล้ว” นายธำรงศักดิ์กล่าว

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า มธ.เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐ แต่ขณะเดียวกันในสถานที่ราชการก็มีพื้นที่สาธารณะ แต่ มธ.อาจจะแตกต่างจากสถานที่ราชการอื่น ที่ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เราเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์ปรีดีเรียกในวันเปิดมหาวิทยาลัยว่า เสรีภาพทางการศึกษา แต่เสรีภาพทางวิชาการได้มีการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดว่ามีความหมายแค่ไหน อย่างไร เพราะยุคปัจจุบัน อาจเป็นวิกฤตทางภาษา เพราะมีคนใช้คำๆ เดียว แต่หลายความหมาย สิ่งที่ยังเป็นวาทะกรรมถกเถียงกันในการปฏิวัติเมื่อปี 2475 คือ คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ เพราะประชาชนยังไม่มีความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่อีกฝ่ายเถียงว่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยก็มีผู้มีการศึกษาค่อนข้างสูงเกิดขึ้น และเท่าที่ตนได้ศึกษา คิดว่ายุคนั้นน่าจะมีเสรีภาพทางความคิดและมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุคนี้ ขณะที่เสรีภาพทางวิชาการหรือการแสดงออกทางความคิดเห็นในยุคหลัง มธ.ได้ชื่อว่า ณ สถานที่แห่งนี้เรามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ดังที่อธิการบดีคนปัจจุบันก็ยืนยัน โดยประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายพนัสกล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2500 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นใน มธ.มาก และจริงๆ เป็นการดิ้นรนต่อสู้ของนักศึกษารุ่นพี่ มธ. โดยมีการต่อสู้ของนักศึกษามาทุกรุ่นเป็นจิตวิญญาณที่อาจารย์ปรีดีประสาทให้ ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน มธ.ขณะนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ ถ้าคิดแบบนักกฎหมาย ต้องมากำหนดกันว่า เสรีภาพทางวิชาการต้องมีขอบเขต เสรีภาพระบอบประชาธิปไตยต้องมีขอบเขต เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตคืออนาธิปไตย คำถามคือ เสรีภาพทางวิชาการใน มธ. มีมากน้อยเพียงใด แต่ประกาศของอธิการบดีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น เสดงให้เห็นว่าเสรีภาพใน มธ. มีทุกตารางนิ้ว ยกเว้นเรื่องเลขสามตัว ซึ่งอาจเป็นประเด็นนำไปสู่การตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่อย่างน้อยที่สุดจุดเริ่มต้นก็เกิดที่ มธ. ที่อาจารย์กลุ่มเล็กๆ จุดขึ้นในฐานะอาจารย์นิติศาสตร์คนหนึ่งตนมีความภูมิใจ

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า อาจารย์ปรีดีบอกว่า ราษฎรไม่โง่ ต่อมาคือความรู้ใดที่ราษฎรขาด หมายถึง ประชาชนไม่สามารถคุมอะไรได้เลย ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีอำนาจอะไรเลย ในระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนไม่สามารถมีอำนาจใดๆ เลย แต่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น อาจารย์ปรีดีจึงตั้ง มธ. เพื่อสอนวิชากฎหมายและการเมืองให้ประชาชน เพื่อให้ความรู้ประชาชน
"เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมีคนวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คุณจะโกรธและรับไม่ได้ จึงทำให้ประมวลกฎหมายมาตรา 112 เกิดปัญหามาก ทันทีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่ขัดแย้งกับความคิดของคุณที่มีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุณก็คิดทันทีว่าต้องเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คุณดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาต่ำ ท่านคิดแบบนี้ได้ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเกิดปัญหา ทำลายความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข รู้หรือปล่าว" นายเกษียรกล่าว

นายเกษียรกล่าวต่อว่า ตนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน มธ. บางช่วง เช่น วันที่ 20 สิงหาคม 2518 นักศึกษาอาชีวะบุกเผา มธ. วันที่ 21 สิงหาคม 2519 มีอันธพาลการเมืองยิงถล่มกระทิงแดง และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยกเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่า นี่เป็นพันธสัญญาที่ชาว มธ.พึงมีและหาทางแก้ น่าเสียใจที่ประกาศห้ามใช้พื้นที่ของ มธ. ลืมและละทิ้งความรับผิดชอบและศีลธรรมดังกล่าวไปเสีย เพราะทั้งหมดเกิดมาโดยกระบวนการเดียวกัน วิธีการเดียวกัน สุดท้ายตนคงต้องบอกว่าไม่ต้องกลัว มธ. เท่าที่ตนทราบไม่ใครใน มธ.คิดล้มเจ้า แม้แต่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. แต่สิ่งที่คนใน มธ.คิดจะล้มคือ ล้มการเมืองที่คิดจะใช้เจ้าเป็นเครื่องมือไล่ล้างทำลายคนดีไปจากแผ่นดินไทย

นายเกษียรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ตนไม่เห็นด้วยกับประกาศผู้บริหาร มธ.อย่างมาก คือ ตนวิเคราะห์ว่า เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ 6 ตุลาคม ประการที่สอง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แม้จะมีเสียงข้างมาก แต่ความชอบธรรมยังบกพร่อง เป็นรัฐบาลที่สั่นคลอน รัฐบาลที่คลอนจะใช้เวลามากในการตัดสินใจ ไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น รัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอแบบนี้ โดยตัวรัฐบาลเอง ไม่น่าจะใช้กำลัง และประการที่สาม เรื่องใหญ่ที่สุดของไทยคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นถ้าเป็นความรุนแรงแบบจัดตั้งจากรัฐ ตนคิดว่าไม่มี แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ม็อบที่เกิดแบบเป็นไปเอง แบบปลุกความโกรธ ความเกลียด อะไรก็ว่าเขาล้มเจ้า ทั้งที่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่รักในหลวง แต่คุณใช้คำพวกนี้เพราะอะไร เพราะคุณกลัวว่าจะไม่ได้ใช้เจ้าเป็นข้ออ้างทางการเมืองอีกต่อไป การเปิดพื้นที่ใน มธ. ถ้าจะเปิดก็ไม่ควรเลือกข้าง และการตัดสินใจควรมีกระบวนการปรึกษาหารือ และถ้ามติการบริหารมีปัญหา ก็ควรจะมีกระบวนการแก้ไข การรับผิดไม่ใช่เรื่องน่าอาย

ที่มา: มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เผด็จการข้าวราดแกง

คงว่างมากจนไม่มีอะไรจะทํา

กรมการค้า ภายในกระทรวงพาณชิย์...ถึงไปคิดคุมราคาข้าวแกง ไม่ให้เกินจานละ 25 บาท... รวม ไปถึง ข้าวผัด ข้าวผัดกระเพรา ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว

ก็ต้องถามไว้ตรงนี้ว่า...กรมการค้าภายในลุ แก่อํานาจจนเกินไปหรอืเปล่า...
เรื่องราวของข้าวแกงหรือข้าวราดแกงนั้น... มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้ขายหรือ ผู้ซื้อ..ซึ่งเกินกว่าจะมีผู้ใดเข้าไปแทรกแซงได้...

ร้านข้าวแกงที่ตั้งอยู่ติดกัน..ร้านหนึ่งมีคน นั่งกินแน่นหนา อีกร้านหนึ่งว่างเปล่า...มันไม่ใช่ เรื่องของราคาแต่เป็นเรื่องของฝีมือในการ ประกอบกับข้าวที่ทำไว้ราดข้าว

ข้าวราดแกง...ไม่ใช่อาหารกระป๋องที่ผลิต ขึ้นมาบนสายพานการผลิต...
ข้าวราดแกงกับราคาของข้าวราดแกง เป็นการ ตกลงเฉพาะกรณี ระหว่าง…ผู้ซื้อกับผู้ขาย... มันจึงไม่สามารถกําหนดราคาบนป้ายได้.. ราคาเป็นเรื่องสมยอมกันระหว่าง..ปริมาณ-คุณภาพ-และสัมพันธไมตรี..ระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภค

ข้าวราดแกงเนื้อโพนยางคํา หรือโคขุน.. จะมีราคาเดียวกับข้าวราดแกงที่ทำจากเนื้อใน ตลาดปกติธรรมดาได้อย่างไร..

ปริมาณทีตักใส่..ก็ไร้สติปัญญาจะชั่ง ตวง วัด ไม่ว่าจะอยากวัดอยากทํากันอย่างไร..เพราะเป็นเรื่องของน้ำจิตน้ำใจและมิตรไมตรีระหว่างกัน

อีกประการหนึ่ง..กรมการค้าภายในเอากําลังคนที่ไหน เพื่อทําให้กฎหมายนี้มีผลในทางบังคับใช้..และตํารวจสถานีไหน..จะรับ แจ้งความเรื่องขายเกินราคาของแม่ค้าข้าวแกง

เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่ความโง่แล้วขยันของผู้ออกกฎนํามาบังคับใช้..แต่น่าจะเป็นความฉลาดที่จะให้ อํานาจครอบงําเหนือประชาชนคนที่ต้องอยู่ใต้ บังคับแห่ง กฎหมาย

เพื่อผลประโยชน์ในการจับกุมมาเปรียบเทียบปรับ

เพราะการจะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยพร้อมเพรียงกันน้ัน..ไม่มีทางเป็นไปได้.. เป็นกฎหมายหรือข้อบังคับที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เค้า ..ปฏิวัติ !!?

คลื่นสัญญาณความถี่ ส่งกระแสแรงเป็นอันดับ...เพื่อโค่น รัฐบาลปูจ๋า ของ “นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ “หลวงปู่?”.. เล่นเปิดอารามวัด เป็น “เซฟเฮ้าส์”ฐานลับ กองบัญชาการเรียกระดมพล เพื่อล้างหน้าไพ่ ไล่ “คุณปู” ให้พ้นทำเนียบฯ
เรียกนายพลปลดระวาง มาประชุมยุทธศาสตร์ ล้ม “นายกฯปู”เงียบ..เงียบ
ได้ “แม่นม” ของ “อดีตผู้นำหัวหน้าแกงค์ไอติม” ร่วมแจม ให้การสนับสนุนเสร็จสรรพ
ชาติจะถอยหลังลงคลอง...ก็เพราะพวกไร้สมอง?...ที่จ้องจะปฏิวัติพวกนี้แหละครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เดือนอันตราย
ช่วงระหว่าง “กุมภาฯ-มีนาฯ-เมษาฯ” รถถังอาจแอ่น..แอ๊น ออกมาอาละวาด ได้
ขืนให้ “รัฐบาลปู” โชว์ออฟ สร้างผลงานจากงบประมาณกันได้...พรรคบางพรรคไม่มีสิทธิ์ทะลึ่งก้าวมาเป็น “รัฐบาล”อีก
ยิ่งไปถึงเดือน พฤษภาฯ สมาชิกบ้านเลขที่ ๑๑๑ ซึ่งเป็นผู้บริหารแถวหน้า เบอร์หนึ่งนัมเบอร์วัน พ้นโทษเว้นวรรคการเมือง กลับมาเป็น “รัฐมนตรี”ได้..สมรรถภาพ “รัฐบาลปู” ยิ่งจะสยายปีก
อย่าแปลกใจ ที่มีนักการเมือง ผนึกกำลังร่วม กับ นายทุน อดีตนายทหารนอกราชการ สื่อโสโครก เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะล้ม “รัฐบาลปู” กันเต็มสตีม..แม้แต่จะ “ปฏิวัติ” ก็ยังทำ
พวกนี้ลุแก่อำนาจ....ไม่เคยเห็นแก่ชาติ?...ขาดสติจริงคิดอะไร แต่ด้านต่ำ..ต่ำ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เสือ ๒ ตัวอยู่ถ้ำเดียวไม่ได้
หันหลังตัดไมตรี เว้นวรรคไม่คบค้าสมาคมกันมานาน..แต่บัดนี้ ข่าวว่ามาพบกันใหม่
ความสัมพันธ์ ของ ๒ ผู้ยิ่งใหญ่ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กับ “บิ๊กสงค์” น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
แขนซ้ายแขนขวา ของ “บิ๊กป๋า” กลับมาหวานชื่น กันอีกที
หันมาปรองดอง เป็นทองแผ่นดินกันอีกหน
เฒ่าชำแรแก่ก็ชรา .....จะมากินใจอะไรกันนักหนา!....มารักกันดีกว่า จริงมั้ยล่ะแม่หน้ามล

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วิญญาณ “เสธ.แดง”เรียกร้อง
ไม่ตายเปล่า สำหรับชีวิตนายพลนักประชาธิปไตย “พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล” ที่ถูกสไนเปอร์ม่องดับไป ไงล่ะพี่น้อง
ทางลับตรงกันกับ ที่ “บิ๊กเหลิม” ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แย้มพรายออกมาล่วงหน้า
เป็นฝีมือ “สีกากาใหญ่” ที่บัญชาการ สั่งฆ่า
เวรกรรมตามทัน..คิดว่าเป็น “อัศวิน”ม้าขาวในการสังหาร “เสธ.แดง”แล้วจะได้ดี..กลายเป็นว่า “อัศวิน”คนนี้ บั้นปลายชีวิตมีแต่จะดับ
“อัศวิน”ของเผด็จการ...ไม่มีใครอยู่ได้นาน?....มันต้องชดใช้เวรกรรม แน่นอนเลยล่ะครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ใหญ่ชนใหญ่
“เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ ยังใหญ่ ..ใครก็ไล่ไม่ไป
ห้องทำงาน “เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์” ยังอยู่ห้องเก่า...มิได้ย้ายออก
“เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคที่โลกลืมนั่งตาปริบ ๆ เจ็บลึก ๆ อยู่ไม่หยอก
ซึ่ง “เทพเทือก” นั้น ยังเป็น “เลขาธิการพรรค”สั่งการหลังฉาก...และมองก้าวไกลว่า “รัฐบาลปู” ต้องล่องจุ้นใน ๒ เดือน ขอรับเจ้านาย
ประกาศิต จาก “สุเทพ”..เขามีสะเต็ป?..เก็บกวาดไล่ “รัฐบาลปู” ให้ได้

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////////////////

แฉ !!? แผนบิดเบือนข้อเสนอนิติราษฎร์ล้มรัฐบาลก่อน เม.ย.

“จตุพร” อ้างมีกลุ่มคนจ้องบิดเบือนข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์ เพื่อกล่าวร้ายและขยายผลไปสู่การล้มล้างรัฐบาลให้ได้ภายในเดือน เม.ย. นี้ ยอมรับเพื่อไทย เสื้อแดง นิติราษฎร์พวกเดียวกัน แต่ต่างมีจุดยืนของตัวเอง “เฉลิม” ไล่นักวิชาการ 16 ประเทศ หากอยากแก้มาตรา 112 ให้แก้ในประเทศตัวเอง ย้ำเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา หากไม่สนับสนุนไม่มีทางสำเร็จ “มาร์ค” ห่วงความขัดแย้งในธรรมศาสตร์บานปลาย ไม่เห็นด้วยจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ
+++++++++++++++++
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่ม “วารศาสตร์ต้านนิติราษฎร์” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รวมตัวแสดงพลังคัดค้านคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่เคลื่อนไหวเสนอแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ โดยนายยุทธนา มุกดาสนิท เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ถึงอธิการบดี ขอให้ตั้งกรรมการสอบความเหมาะสมของนิติราษฎร์ เพราะเห็นว่าแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวล่วงละเมิดสถาบัน ขอให้สอบเอาผิดทั้งวินัยและอาญา ขอให้รัฐบาลแสดงจุดยืนปกป้องสถาบัน ขอให้สื่อมวลชนใช้วิจารณญาณเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรา 112 และขอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันต่อต้านแนวคิดแก้มาตรา 112

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง ระบุว่า กำลังมีความพยายามบิดเบือนข้อเสนอของนิติราษฎร์เรื่องมาตรา 112 เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการล้มล้างรัฐบาลให้ได้ก่อนเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้

“ข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่ต้องการปกป้องสถาบัน แต่ถูกบิดเบือนให้ร้าย เราไม่เคยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แต่พรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง และนิติราษฎร์ ต่างก็มีเสรีภาพทางความคิดของตัวเอง ผมไม่ใช่พวกตกใจชิ่งหนี แต่ผม เพื่อไทย และนิติราษฎร์ ต่างคนต่างก็ยืนอยู่ที่จุดของตัวเอง”

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิชาการ 244 คน จาก 16 ประเทศ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 และสนับสนุนให้แก้ไขว่า หากนักวิชาการต่างประเทศอยากแก้ก็ให้ไปแก้ที่ประเทศของเขา พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรานี้ และจากการลงพื้นที่ก็ไม่พบว่ามีประชาชนสนับสนุน

“แก้กฎหมายต้องทำกันในสภา พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใครจะไปเคลื่อนไหวกันอย่างไรไปห้ามไม่ได้”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ผู้บริหาร มธ. ควรเชิญผู้เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจก่อนเรื่องจะบานปลาย การแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการต้องมีอยู่ ถ้าเห็นรูปแบบกิจกรรมมีปัญหาค่อยเรียกมาตกลงกันว่าจะทำแบบไหน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าไปสั่งห้ามทั้งหมด ไม่อยากให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และอาจารย์ทะเลาะกัน ส่วนตัวเชื่อว่าที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง และกำลังขยายความขัดแย้งออกไปโดยไม่จำเป็น

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

จตุพร-ก่อแก้ว..ไม่ร่วมเวทีเสื้อแดงอุดร !!?

กลุ่มเสื้อแดงส่อแตกแยก “จตุพร-ก่อแก้ว” ไม่ร่วมขึ้นเวทีปราศรัยที่จัดโดย “ขวัญชัย” อ้างไม่ใช่กิจกรรมของคนเสื้อแดง ระบุ “ณัฐวุฒิ” ต้องไปร่วมในฐานะรัฐมนตรี ด้าน “ประชาไท” แพร่จดหมายเสื้อแดงถาม “จตุพร” ยังมีอุดมการณ์เหมือนเดิมหรือเปล่าหลังลอยแพนิติราษฎร์

+++++++++++++++

นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การจัดปราศรัยใหญ่ที่จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 21 ก.พ. ที่ตรงกับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ซึ่งจัดโดยนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร จะไม่มีแกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง เข้าร่วม เพราะถือว่าไม่ใช่งานของคนเสื้อแดง

“น่าจะมีเพียงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เข้าร่วม เพราะเป็นหนึ่งในรัฐมนตรี และเวทีนี้ก็มีเป้าหมายให้รัฐมนตรีและ ส.ส. ได้พบปะประชาชน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การแตกคอของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง แต่เป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้”

ด้านเว็บไซต์ประชาไทได้เผยแพร่จดหมายจากผู้อ่าน : ความในใจสุดท้ายจากคนเสื้อแดงคนหนึ่งถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ “กูคือไพร่แต่ไม่ใช่ทาส” มีเนื้อหาสรุปได้ว่า หลังจากได้ฟังนายจตุพรแถลงเรียกร้องให้นิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขการทำรัฐประหาร และถึงเดินหน้าต่อไปก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะไม่มี ส.ส. หรือ ส.ว. คนไหนกล้ายกมือโหวตให้นั้น อยากฝากคำถามไปถึงนายจตุพรว่าหากนิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหว นึกหรือว่าเขาจะไม่เอาเรื่องอื่นมาหาเรื่องปฏิวัติ และที่บอกว่าไม่มีใครกล้ายกมือโหวตให้กฎหมายข้อนี้ แล้วอุดมการณ์ที่นายจตุพรและพรรคพวกพร่ำเพ้อวันละ 3 เวลาหลังอาหารและก่อนนอนให้คนเสื้อแดงต้องออกไปเจ็บไปตายแทน ที่ว่าจะต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ภราดรภาพ และความเท่าเทียมกันของคนไทยทุกคนหายไปไหน

จดหมายระบุอีกว่า สิ่งที่นิติราษฎร์เคลื่อนไหวทั้งหมดตอบโจทย์ได้ทุกข้อสำหรับคนเสื้อแดงที่เสียเลือดเสียเนื้อต่อสู้กันมา แล้วทำไมท่าน (รัฐบาลพรรคเพื่อไทย) ไม่ร่วมสู้ไปกับนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดในตอนนี้ แทนที่จะมัวกลัวซ้ายกลัวขวาว่าจะโดนปฏิวัติ ก็ในเมื่อมีอำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว ทำไมถึงไม่หาทางป้องกันหรือหยุดยั้ง และแทนที่นายจตุพรจะออกมากลัวการปฏิวัติให้เสียภาพลักษณ์ ทำไมไม่อธิษฐานให้รีบปฏิวัติไวๆ ทุกอย่างจะได้จบลงไปในคราวเดียว เหมือนที่นายจตุพรเคยพร่ำบ่น หรือว่าเมื่อได้เป็น ส.ส. แล้วความรู้สึกแบบนั้นหายไป

การออกมาลอยแพ (แถมยังแอบกระทืบซ้ำ) นิติราษฎร์นั้น คือการทรยศต่ออุดมการณ์ในการต่อสู้ของพี่น้องเสื้อแดงทั้งหมด เพราะทุกข้อที่อาจารย์นิติราษฎร์คิดและเขียนออกมาคือความต้องการและความในใจของคนเสื้อแดงทั้งนั้น จริงอยู่ ก่อนเลือกตั้งเราคือคนสำคัญของพวกท่าน แต่พอหลังเลือกตั้ง แม้แต่กฎหมายที่ประชาชนต้องการแก้ที่สุด ท่านยังกล้าประกาศว่าจะคว่ำเสียตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่ม ไม่ทำร้ายจิตใจกันไปหน่อยหรือ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

วิชาการ วิชามาร การเมืองแอบแฝง ถึงเวลา มธ. พิสูจน์ตัวเอง !!?



วิชาการ วิชามาร การเมืองแอบแฝง ถึงเวลา'ธรรมศาสตร์'พิสูจน์ตัวเอง

จะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อหรือไม่ เมื่อน้ำผึ้งหยดเดียวแต่หยดใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากกลุ่มนิติราษฎร์ได้ทำการใช้พื้นที่เพื่อถกประเด็นเสวนาเรื่องวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในตอนแรกดูว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่กลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากไปแตะโดนมาตรา 112 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ถึงเรื่องเรื่องดังกล่าวจะเป็นการพูดคุยในเชิงวิชาการก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมากในสังคมไทย ที่มีขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิติราษฎร์ได้ออกมาระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเสนอเพื่อต่อยอดทางความคิด และควรตกผลึกให้สังคมได้คิดต่อออกแขนงไปสู่มวลชน แต่สำหรับคนในสังคมบางกลุ่มนั้น เขาอาจจะมองไม่เห็นว่า เรื่องที่ทำการเสนอของนิติราษฎร์ ไม่ใช่วิชาการและมีแนวโน้มว่าเป็นการอิงการเมืองมากกว่า ทำให้ตกผลึกทางความคิด และที่รับไม่ได้คือความเห็นที่หมิ่นเหม่ว่าสุ่มเสี่ยง จึงยอมไม่ได้ที่จะให้นิติราษฎร์ได้เคลื่อนไหวในการใช้พื้นที่กระจายความคิดอันแยบยล และมีความเคลือบแคลงสงสัยในเป้าหมายที่แท้จริงตามที่คนกลุ่มหนึ่งคิด

แม้ก่อนหน้านี้ กลุ่มนิติราษฎร์จะออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกโยธิน โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นโต๊ะแถลง เหตุหนึ่งก็เพราะว่าอาจารย์และผู้ที่เสนอแนวทางต่างๆ นั้น มาจากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นการสะดวกที่จะใช้พื้นที่ของตนเอง ในการแสดงความคิดเห็น เมื่อมีการแถลงการณ์ออกมาหลายครั้ง ในการเคลื่อนไหวทุกครั้ง จึงทำให้บุคคลภายนอกนั้นไม่เข้าใจ จะคิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดจากธรรมศาสตร์ทั้งหมด ที่สุดแล้วกลุ่มที่ไม่สามารถทนได้ในพวกเดียวกันเอง จึงต้องลุกขึ้นมาเพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการที่มีความคิดเห็นสวนทาง และบอกผ่านการตรงๆ ว่าไม่เห็นด้วยในครั้งนี้ เช่นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์’ หรือขยายความว่าเป็นกลุ่มของศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์และการสื่อสารสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเอง

หลังจากเกิดกระแสก่อนการรับลูกของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะออกมามาเบรกเกม เพื่อไม่ให้มีการใช้มหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มบางกลุ่ม ที่ต้องการความมุ่งหวังทางการเมือง เพราะเชื่อว่าเป็นการตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ที่อาจจะมีความหวั่นเกรงว่าจะลุกลาม และเกิดการควบคุมไม่ได้ก็ตาม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ว่านี่จะถือว่าเป็นการปิดกั้นทางความคิดหรือไม่อย่างไร เพราะธรรมศาสตร์นั้น ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับออกกฎที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของบุคลากรตนเองเสียนี่

เชื่ออย่างสุจริตใจว่า กลุ่มนิติราษฎร์เองนั้น มีการเสนออะไรก็แล้วแต่ หลายอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่หนทางที่ดีขึ้นในสังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าบาง ‘ข้อเสนอ’ ก็สุดแสนจะเกินทำใจรับได้ของคนในสังคม และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกิดทนไม่ไหว ทำให้เหตุการณ์รุนแรงเพราะทั้งสองฝ่าย ต่างมีความสุดโต่งกันทั้งคู่ อยากถามว่าจะรับผิดชอบไหวหรือไม่? กับการกระทำที่ได้ทำลงไป จะเอาอยู่หรือไม่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ในฐานะคนกลางอย่างอธิการบดี ย่อมเล็งเห็นว่ากรณีดังกล่าว ควรจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม แต่กระนั้นก็ทำให้โดนมองว่า เป็นเกมการเมืองที่ถูกสั่งมาให้หยุดพวกนิติราษฎร์เช่นกัน เมื่อมองได้สองมุม แต่ละกลุ่มก็มีมุมในการเลือกมองของตน ย่อมทำให้ความเห็นไม่ตรงกันบังเกิดขึ้น ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ แต่มันกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงทำให้ธรรมศาสตร์ในวันนี้เกิดเสน่ห์ขึ้นอีกครั้ง ของความประชาธิปไตยที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ในการนำเสนอของแต่ละคนที่เป็นศิษย์ก้นกฏิของลูกหลาน นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์และการเมืองเอง

ณ ขณะนี้ ธรรมศาสตร์กำลังต้องพิสูจน์ตัวเอง ในการสนับสนุนแนวทางตามประชาธิปไตย ว่าจะสามารถจัดการระบบภายในตัวเองได้หรือไม่ กับการแสดงความคิดเห็นที่ขัดกันเอง แต่อย่างหนึ่งที่น่ายอมรับ คือ การกล้าลุกขึ้นมาสู้กันแบบปัญญาชนของแต่ละกลุ่มในสถาบันเดียวกัน โดยไม่คิดจะใช้ความรุนแรงนำมวลชนกดดัน และสามารถจัดการให้ความจำกัดความอย่างไร กับการเดินตามเจตจำนงคำว่า ‘วิชาการต่อยอดความคิด’ หรือเป็น ‘เกมการเมืองแอบแฝง’.
ที่มา: ไทยรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คณะวารสารฯ มธ.สั่งห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหว แจงคณะไม่มีส่วนสนับสนุนหรือคัดค้านกรณี ม.112

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ www.jc.tu.ac.th เรื่อง จุดยืนในการใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการแสดงออกทางความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการนำเสนอความเห็นทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ให้สังคมทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น พบว่าจากข้อเสนอดังกล่าวได้มีกลุ่มประชาชนในแวดวงต่างๆ ที่มีความเห็นสนับสนุนและคัดค้านข้อเสนอทางวิชาการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ในการนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับสาธารณชน ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอชี้แจงถึงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ประการที่หนึ่ง เรื่องการใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องกฎหมายมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะปฏิบัติตามมติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 ในการไม่อนุญาตให้บุคคล/กลุ่มบุคคลต่างๆ ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวในกรณีที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในมหาวิทยาลัย จนอาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่ได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการ อีกทั้งการอนุญาตต่อไปอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น

ประการที่สอง จุดยืนเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ ตราบใดที่ความคิดเห็นนั้นๆเป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อหลักการของสังคมประชาธิปไตย

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ขอแสดงจุดยืนทั้ง 2 ประการข้างต้น และขอทำความเข้าใจว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและคัดค้านการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

ทั้งนี้คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มุ่งให้เกิดสังคมที่มีความเข้าใจ ใช้ตรรกะและเหตุผลในการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสื่อสารที่สมานฉันท์ในระยะยาว
อนึ่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค.กลุ่มศิษย์เก่าและปัจจุบันของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ ได้ประกาศนัดรวมตัวกันชุมนุมเพื่อต่อต้านไม่ให้กลุ่มนิติราษฎร์หน้าคณะวารสารฯ ม.ธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ เวลา 14.00 น.

26 นักวิชาการชี้มติผู้บริหารมธ.เป็น "อธรรมศาสตร์" อย่างยิ่ง แนะเปิดมหาวิทยาลัยเป็นพท.กลางให้แต่ละฝ่ายเสนอความเห็นเรื่อง 112

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการจำนวน 26 คน โดยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย กรณีคณะกรรมการบริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112 จดหมายดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้

สืบเนื่องจากอธิการบดีธรรมศาสตร์แจ้งในเฟสบุ๊กเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป โดยอ้างว่าการอนุญาตอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเอง หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมหาวิทยาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้

พวกเรานักวิชาการซึ่งมีรายชื่อด้านล่างนี้มีความเห็นว่า

1. มติดังกล่าวทำลายหลักเสรีภาพทางวิชาการและพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักประกันให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางปัญญาและแก้ไขปัญหาสาธารณะให้กับสังคมผ่านการถกเถียงทางวิชาการ หากขาดหลักประกันนี้แล้วมหาวิทยาลัยย่อมไม่มีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น มติดังกล่าวยังขัดต่อปรัชญาการก่อตั้งและจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ นับแต่การก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นปราการปกป้องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งมีคำขวัญกล่าวว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" มติดังกล่าวจึงมีลักษณะ "อธรรมศาสตร์" เป็นอย่างยิ่ง

2. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะให้แก่กลุ่มต่างๆ ในการถกเถียง เคลื่อนไหว และดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสาธารณชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในทางตรงข้ามการเปิดเวทีสาธารณะของธรรมศาสตร์กลับสร้างเกียรติภูมิให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด

3. มติดังกล่าวเท่ากับเป็นการผลักให้การถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสังคม ออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย และหลุดลอยจากวงวิชาการออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความรุนแรงมากกว่าการที่มหาวิทยาลัยจะเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล และเป็นวิชาการ

4. เห็นได้ชัดเจนว่า สังคมไทยกำลังต้องการทำความเข้าใจให้กระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ทำให้เกิดฝ่ายที่หวาดระแวงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแสดงบทบาทนำในการให้ความรู้แก่ประชาชน โอกาสนี้จึงถือเป็นวาระสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนดับอุณหภูมิความร้อนของความแตกต่างทางความคิด ให้กลายปัญญาเพื่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยห่วงใยข้างต้น เราขอเสนอรูปธรรมของการแก้ปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพและตัวกลางในการจัดกิจกรรมทางวิชาการหลากหลายรูปแบบในประเด็นมาตรา 112 เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เช่น การจัดเวทีให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างกันผลัดกันนำเสนอความคิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการโต้วาทีที่มุ่งเอาชนะซึ่งกันและกัน เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างตัวอย่างให้แก่สาธารณะว่าการถกเถียงปมปัญหาใดๆ ก็ตาม และไม่ว่าจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมเพียงใด ก็สามารถทำได้อย่างสุภาพ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม การจัดกิจกรรมเช่นนี้กลับจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของสาธารณชนที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยกังวลได้เป็นอย่างดี

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาธรรมศาสตร์ทบทวนมติดังกล่าว และส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น


วันที่ 31 มกราคม 2555


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สลิสา ยุกตะนันทน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์)
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอุมา เตพละกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาดาดล อิงคะวณิช Centre for Research and Education in Arts and Media, University of Westminster
สร้อยมาศ รุ่งมณี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา.มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เขาควาย

การจับกุม นายอาทริส ฮุสเซน ชาวสวีเดนสัญชาติเลบานอน ในความผิดตามพระราชบัญญัติการควบคุมยุทธภัณฑ์ เพราะมีแอมโมเนียมไนเตรทอยู่ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาติ

นับเป็นข่าวใหญ่ของโลกและทำให้ประเทศต่างๆ 18 ประเทศ รวมทั้งอเมริกาออกประกาศเตือนมิให้พลเมืองของตนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย

เพราะข่าวที่ปรากฎออกไปนั้นมีว่า...ผู้ก่อการร้าย “กลุ่มฮิซบอลเลาะห์” ได้วางแผนจะก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ

นายอาทริส ฮุสเซน ถูกจับจากการชี้เป้าของหน่วยสืบราชการลับอิสราเอล แต่หากสังเกตให้ดีแล้วจะพบความเหมือนและความต่างของเรื่องนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับการจับกุม นายวิคเตอร์ บูธ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อค้าอาวุธระดับโลกชาวรัสเซีย และการยึดเครื่องบินยูเครนที่ขนอาวุธจากเกาหลีเหนือจะไปส่งอิหร่าน ที่เกิดจากการชี้เป้าของหน่วยสืบราชการลับอเมริกา

แม้จะเกิดจากการชี้เป้าของหน่วยสืบราชการลับต่างชาติ และสองกรณีแรก หน่วยงานความมั่นคงของไทยเรา ก็ทำอะไรลงไปอย่างผลีผลาม จนในที่สุดเกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่ตัวเองเอง

แต่กรณีหลังนี้เห็นได้ชัดเจนว่า...ไทยเราทำอะไรลงไปด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา อันรวมถึงการตั้งข้อกล่าวหาที่มิได้ระบุลงไปว่า...ผู้ถูกจับเป็นพวกก่อการร้ายแต่อย่างใดด้วย

เหตุนี้กระมังจึงมีการเปิดเผยว่า...รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของทางการสหรัฐฯ เพียงเพราะไปช่วยต้อนรับขับสู้ประธานาธิบดีซิมบับเวและภริยา

และทำให้ต้องให้ความสนใจต่อคำให้สัมภาษณ์ของ นายอาทริส ต่อสื่อมวลชนสวีเดนที่อ้างว่า...

แอมโมเนียมไนเตรทจำนวน 4 ตันที่ตำรวจไทยยึดจับได้ น่าจะเป็นการจัดฉากของหน่วยสืบราชการลับอิสราเอล

พร้อมๆ กับการจับกุม นายอาทริส ก็มีรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโลกอาหรับ

โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม มะห์มุด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ได้ส่งสารมาแสดงความขอบคุณที่ประเทศไทยรับรองความเป็นเอกราชของปาเลสไตน์

หลังจากมี 125 ประเทศขานชื่อรับรอง...ขณะที่ไทยเป็นประเทศแรกในศักราชใหม่ปี 2555 ที่ให้การรับรองความเป็นเอกราชของปาเลสไตน์

และในวันเดียวกันนั้น นายเอกเม เลดดิน อิชาโนกลู เลขาธิการองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี ก็ได้แถลงชื่นชมประเทศไทยที่รับรองฐานะของปาเลสไตน์

และก่อนหน้าเมื่อวันที่ 17 มกราคม ผู้แทนถาวรของไทยประจำสหประชาชาติ ได้ส่งสารถึงปาเลสไตน์แจ้งให้ทราบว่า...

ประเทศไทยยอมรับในสถานะความเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเองอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลไทยประสงค์ที่จะเริ่มกระบวนการสถาปนาความสัมพันธ์ทุกอย่างที่เป็นทางการกับปาเลสไตน์ในระยะเวลาอันใกล้นี้

ซึ่งจากสารฉบับนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศปาเลสไตน์กล่าวว่า เป็นการรับรองฐานะของรัฐเอกราชปาเลสไตน์เหนือดินแดนที่ครอบครองอยู่ในปี 2510

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปาเลสไตน์ได้ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชกสหประชาชาติ แต่สหประชาชาติยังไม่ได้ลงมติในเรื่องนี้ และสหรัฐยืนยันว่า...จะขัดขวางโดยใช้สิทธิ์ยับยั้ง

โดย:คนชายขอบ(ศรี อินทปันตี),บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เมื่อ ดร.โกร่ง คุยเรื่องหนี้สาธารณะ!!?

หมู่นี้มีข่าวเรื่องหนี้สาธารณะ หลายคนที่เคยเกี่ยวข้องกับการสร้างหนี้สาธารณะดูจะเดือดร้อน กระโจนเข้ามาร่วมวงถกเถียงกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งก็นับว่าเป็นผลดีต่อประชาชน ต่อสภาผู้แทนราษฎร ต่อวุฒิสภา และผู้คนที่สนใจจะได้ไม่ลืม

ปกติหนี้สาธารณะถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน ก็คือข้อผูกพันที่รัฐบาลมีต่อผู้อื่นที่จะต้องชำระหนี้ทั้งในปัจจุบันและ อนาคต ข้อผูกพันที่ว่ามีคำจำกัดความหลายแบบหลายอย่าง บางประเทศก็ให้หมายความรวมไปถึงข้อผูกพันที่รัฐบาลมีกับข้าราชการ พนักงานของรัฐ ที่จะต้องจ่ายค่าสวัสดิการ บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ ด้วย

แต่ ที่ใช้กันทั่วไปก็คือ ข้อผูกพันของรัฐบาลที่อาจจะผูกพันงบประมาณแผ่นดิน อันได้แก่หนี้ของรัฐบาลโดยตรงในกรณีที่รัฐบาลออกพันธบัตรขายให้กับสถาบันการ เงินและประชาชน ทั้งที่เป็นเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ ถ้าเป็นเงินบาทก็เรียกว่าหนี้ในประเทศ ถ้าเป็นเงินตราต่างประเทศก็เรียกว่าหนี้ต่างประเทศ

มีหนี้สาธารณะอีก ประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่หนี้ของรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะด้วย คือหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจนั้นจะอยู่ในรูปองค์การ หรือบริษัทจำกัดทั้งที่เป็นบริษัทมหาชน บริษัทจำกัดธรรมดา หนี้ที่รัฐวิสาหกิจไปก่อขึ้นไม่ว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือไม่ ก็ถือเป็นหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลคงไม่ยอมให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นล้ม เพราะถ้ารัฐบาลปล่อยให้รัฐวิสาหกิจผิดสัญญาชำระหนี้ สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็จะสามารถเรียกให้รัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ให้ชำระหนี้ได้ ทั้ง ๆ ที่หนี้อื่น ๆ รวมทั้งหนี้รัฐบาลโดยตรงยังเป็นหนี้ดีอยู่

สำหรับหนี้ที่รัฐบาลค้ำ ประกันนั้นก็ต้องถือว่าเป็นหนี้ของรัฐบาลโดยตรง เพียงแต่รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ให้ นอกเสียจากรัฐวิสาหกิจ นั้น ๆ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สำหรับบริษัทจำกัดหรือบุคคลใด ๆ ห้ามไม่ให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน เพราะสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลเคยไปค้ำประกันหนี้ของบริษัท บูรพาสากล จำกัด เป็นบริษัทจำกัดเอกชน ธนาคารก็ยินดีให้กู้โดยรัฐบาลค้ำประกัน ในที่สุดบริษัทล้มไม่สามารถชำระหนี้ได้ รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดใช้หนี้ให้

สำหรับ ยอดหนี้สาธารณะยิ่งต่ำก็ยิ่งดี เพราะไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากร แต่ในขณะเดียวกันประเทศชาติก็ต้องพัฒนาก้าวหน้าต่อไป การลงทุนของภาครัฐซึ่งหมายความรวมทั้งการลงทุนโดยรัฐบาลโดยตรงหรือการลงทุน โดยองค์กรของรัฐ หรือโดยรัฐวิสาหกิจก็ยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ การลงทุนของภาคเอกชนยังมีน้อยหรือไม่มี ก็ควรเป็นภาระของภาครัฐบาลที่จะลงทุนเองให้มากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อจะไม่เกิดภาวะการว่างงาน

ยิ่ง ตอนนี้อเมริกาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ยุโรปก็มีทีท่าว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ยังไม่เห็นทางออก ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ของราคาถูก เพราะเครื่องจักร การประมูลก่อสร้าง จะมีราคาถูกลง เพราะยุโรปต้องแข่งขันกับจีนเพื่อความอยู่รอด

สำหรับ เอเชียไม่ได้อยู่ในฐานะเดียวกับอเมริกาและยุโรป จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลควรจะเพิ่มการลงทุนในการพัฒนายกระดับมาตรฐานโครง สร้าง พื้นฐานที่ประเทศไทยล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน หมดแล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ขยับขยายลงทุนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างไม่เป็นอันตรายต่อฐานะการเงินและ การคลังของประเทศ เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศของเราก็อยู่ในระดับสูง เพราะความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนของผู้ส่งออกของเรา ไม่ใช่ความสามารถของรัฐบาลในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐบาลเป็นตัวถ่วงด้วยซ้ำไป

การระดมทุนของภาครัฐบาลก็มีวิธีใหญ่ ๆ อยู่ 3 วิธี วิธีแรกคือการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มอัตราภาษี แต่ก็ไม่ควรทำในช่วงเวลาเศรษฐกิจไมค่อยจะรุ่งเรืองนัก วิธีที่สองคือระดมทุนจากประชาชนผ่านตลาดทุน วิธีที่สามคือกู้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกู้จากสถาบันการเงินต่างประเทศ หรือระดมทุนจากตลาดทุนในต่างประเทศ

หนี้สาธารณะที่เป็นการระดมทุนจาก ภายในประเทศจะเป็นวิธีที่เสี่ยงน้อยที่สุด เพราะไม่มีผลเสียทางด้านวินัยทางการเงิน ไม่ทำให้ปริมาณเงินในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะในขณะที่ขายพันธบัตรในประเทศก็เท่ากับดูดเงินจากมือประชาชน เมื่อภาครัฐใช้จ่ายในการลงทุนก็เท่ากับปล่อยเงินกลับไปสู่มือประชาชนตามเดิม ปริมาณเงินในมือของประชาชนจึงมีเท่าเดิม เพียงแต่ยอดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทรัพย์สินของภาครัฐบาลก็เพิ่มขึ้น กล่าวคือถนนหนทางระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น ทางรถไฟเพิ่มขึ้น มีระบบขนส่งสินค้า ขนส่งประชาชนเพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง หรือกรมชลประทานก็ใช้จากการกู้ยืมในประเทศ จึงเป็นวิธีชดเชยการลงทุนที่เกือบจะไม่มีผลเสีย ถ้าฐานะการคลังอยู่ในระดับที่รับชำระดอกเบี้ยได้

การลงทุนภาครัฐโดย ระดมทุนจากต่างประเทศจะมีผลเสีย คือทำให้ประเทศมียอดหนี้ต่างประเทศมากขึ้น และจะมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศโดยตรง ยิ่งถ้าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่แข็งแรง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับไม่แข็งแรงเมื่อคิดเป็นจำนวนเดือนของ มูลค่าการนำเข้า ในสมัยก่อนที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศยังอ่อนแอ ยังขาดดุลอยู่อย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองเกิดจากการเกินดุลบัญชีเงินทุน เราจึงบังคับรัฐวิสาหกิจว่าถ้าจะนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ก็ต้องมีแหล่งเงิน กู้จากผู้ขายหรือผู้นำเข้าด้วย จะได้ไม่ไปกระทบต่อบัญชีเงินทุนและดุลการชำระเงิน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

ส่วนยอดหนี้สาธารณะควรจะมี เพดานเท่าใด ปกติยอดหนี้สาธารณะจะวัดว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เพดานของหนี้สาธารณะควรจะเป็นเท่าใดจึงจะไม่เป็นอันตรายต่อฐานะทางการคลัง ของประเทศนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ถ้าประเทศนั้นมีฐานะทางการเงินอ่อนแอกล่าวคือ แนวโน้มภาวะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่แข็งแรงและเป็นทุนสำรองที่เกิดจากการกู้ยืมระยะ สั้นจากต่างประเทศมาเป็นทุนสำรอง ไม่ได้เกิดจากการทำมาค้าขายกับต่างประเทศจน เกินดุล หนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วนของ รายได้ประชาชาติ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะสูงเกินไป แต่ถ้าดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล ทุนสำรองยังสูง รายได้ประชาชาติยังขยายตัวในอัตราสูงกว่า 4-5 เปอร์เซ็นต์ ยอดหนี้สาธารณะจะสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไปได้

ที่สำคัญงบประมาณชำระต้นและดอกเบี้ยของรัฐบาลไม่เกิน 15-20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายก็ยังนับว่าปลอดภัย เคยมีช่วงหนึ่งที่งบประมาณใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่าย ทำให้ไม่มีงบประมาณเหลือสำหรับการลงทุนเลย เงินเดือนข้าราชการก็ขยับไม่ได้ รัฐบาลต้องคอยแต่ตัดงบประมาณกลางปีทุกปี เพราะภาษีไม่เข้าเป้า แต่ทุกวันนี้พอถึงกลางปีต้องตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มขึ้น เพราะรายได้รัฐบาลเกินเป้าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ เมื่อสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศเปลี่ยนไป วิธีคิดของการบริหารเศรษฐกิจมหภาคก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย จะมานั่งคิดเหมือนเดิมไม่ได้

ส่วนรัฐวิสาหกิจหากจะหลุดจากการเป็นรัฐ วิสาหกิจโดย "กองทุนวายุภักษ์" ซึ่งเป็นกองทุนที่ยังอยู่ในการควบคุมของกระทรวงการคลัง ก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวของฝ่ายบริหารทั้งฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายการเงินและฝ่ายพนักงาน เรื่องสวัสดิการเงินเดือนค่าจ้างโบนัสยืดหยุ่นได้มากกว่า คนที่ห่วงควรจะเป็นเจ้าหนี้ บางกรณีเจ้าหนี้มักจะมีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจจึงจะให้กู้ แต่บางแห่งก็ไม่มีปัญหาเพราะเครดิตดีกว่าของประเทศเสียอีก

ลองคิดดูให้ดี ๆ เป็นการบ้าน

โดย วีรพงษ์ รามางกูร
คอลัมน์ คนเดินตรอก
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โรคผวาน้ำ !!?

หลังจากที่ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่เดินทางไปต่างประเทศนานถึง 6 วันติดต่อกันเพื่อร่วม การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ก่อนจะเลี้ยวไปเยือนประเทศอินเดียเพื่อร่วมฉลองวันชาติ อย่างเป็นทางการ

ทันทีที่ล้อแตะพื้น กระแสข่าวที่ไม่น่า ฟังก็พรั่งพรูเข้าสู่โสตประสาทพาลให้จิตขุ่นมัวจากปัญหาเนื่องด้วยปัญหาความขัดแย้ง ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เมื่อสารพัด Professor ต้องออกมา บริภาษถึงการทำงานภายในองค์กรที่ไม่ค่อยจะต้องตา ต้องใจเสียเท่าไหร่นัก

โดยเรื่องราวดังกล่าวออกมาจากปากของ ดร.สมิทธ ธรรมสาโรช กรรมการ กยน. ซึ่งออกมาบ่นถึงการทำงานในขณะนี้ว่าแผนบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นแค่แผนแบบกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะบริหารจัดการอย่างไร แต่หากแผนออกมาและเห็นว่าไม่น่าจะคุ้มค่ากับงบประมาณก็จะขอ ลาออกทันที ซึ่งนอกจากตนเองแล้ว ยังมีนายปราโมทย์ ไม้กลัด และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ก็คงจะถอยออกมาเช่นกัน

ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เอง แม้จะยืนยันว่าไม่ได้ลาออกแต่ก็ยอมรับว่า ระยะหลังๆ มานี้ ก็หาได้เข้าร่วมประชุมกับ กยน.ไม่..ด้วยเหตุผลโดยส่วนตัวแล้ว โดยตำแหน่งของท่านที่รับผิดชอบอยู่คือ เป็นที่ปรึกษา เมื่อขอคำปรึกษาก็ได้ให้ไปตลอด ขณะนี้แผนเสร็จแล้วและเริ่มออกมาเป็นรูปธรรม จึงเหลือการปฏิบัติให้เป็นไปตาม ที่วางไว้ให้เร็วที่สุด เร่งด่วนคือต้องขุดลอก คูคลอง งานจะลงไปที่กระทรวง กทม.และ หน่วยงานต่างๆ การรับมือกับน้ำที่จะมา ต้องลงมือทำ ไม่ใช่ใช้กระดาษรับน้ำ!!..

ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานและกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) แม้จะยืนยันว่าอย่างไรก็จะยังไม่ลาออกจาก กยน.แต่ ก็เคยพูดถึงการทำงานของ กยน.ว่า สำหรับการทำงานร่วมกับรัฐบาลนั้น ได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดแผนแม่บท หรือยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ ตนมองว่าในส่วนของแผนแม่บทและกระบวน การทำงานต่างๆ ในระยะยาวนั้น ยังไม่มีการจัดทำอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

ส่วนใหญ่มีแต่การออกมาพูดเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสำรวจและทำอย่างเป็นระบบโดยเร็วอีกทั้งยังมองด้วยว่า การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น อาทิ การซ่อมแซมสิ่งที่พังเสียหายไม่ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เสียหาย และไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งหากในปี 2555 นี้ ปริมาณน้ำมากเท่าเดิม ก็ต้องพังเหมือนเดิม เช่น เดียวกับกรณีของประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ที่ไปสร้างขวางทางน้ำ หากน้ำมาเท่าเดิมก็สู้กระแสไม่ได้แน่นอน และต้องนำความผิดพลาด ในปี 2554 มาแก้ไข และโดยตามจริงแล้วมีหลายหน่วยงานที่มีการนำข้อมูลออกมาแสดงแต่ข้อมูลกลับไม่ตรงกันเลยเสียงสะท้อนจาก Professor ทั้ง 3 ท่านเหมือนกับจะบอกว่าที่ยังอยู่ไม่ใช่เพราะอยากอยู่ แต่ทนอยู่เพื่อประชาชน ในขณะที่ท่านนายกฯ เองก็ได้แต่วอนขอว่า อย่าเพิ่งทิ้งกันเพราะแค่เรื่องเข้าใจผิด

ตอนนี้รัฐบาลถือว่า การบริหารจัดการน้ำถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงค่อยๆ ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการไปแล้ว และ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทุกอย่างมีแผน งานที่ชัดเจน แต่อาจจะไม่ทันใจคณะกรรมการที่มีความเป็นห่วง จึงต้องทำความเข้าใจกัน และเห็นใจคณะกรรมการที่ทำงานด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นภารกิจหลักของประเทศที่ต้องติดตาม แต่ยืนยันได้ว่า ได้มีการเตรียมความพร้อม และมีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับฤดูฝนที่ใกล้จะมาถึงนี้

อย่างไรก็ดี เรื่องของการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ถือเป็นเรื่องที่ชี้ชะตาของรัฐบาล เชื่อว่างานนี้จะทำเป็น เล่นไม่ได้ เพราะถ้าปีนี้น้ำมาปูเจ๊ง!!..ที่ว่ากลัวนี่กลัวจริง กลัวถึงขนาดยอม เสียวินัยการคลังแบบไม่ฟังเสียงใครถึงขนาด ออกร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหาร หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสาธารณะการเงิน ร่างพระราชกำหนดเงิน กู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย ร่างพระราชกำหนดจัดตั้งกองทุนประกันภัย และร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย คือการพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเปิดทางรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม โดยมี “อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง” นำทีม จับคู่กับ “นิพัทธ พุกกะณะสุต” เตรียมขายหุ้นที่คลังถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจทั้ง ปตท.และการบินไทยจาก 51% เหลือ 49% เพื่อให้ทั้งสองบริษัทสิ้นสุดสถานะรัฐวิสาหกิจ

โดยมีเป้าหมายเดียวกับ พ.ร.ก.คือเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลสร้างหนี้สาธารณะได้มากขึ้น ของปตท. 252,000 ล้าน ของการ บินไทย 132,000 ล้าน ก็แปรสภาพเป็นหนี้ บริษัท เปิดช่องกู้สนองนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขนเงินไปถมน้ำท่วมรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลได้เต็มที่ซึ่งงานนี้เท่ากับตีเช็คล่วงหน้า ซึ่งอนาคตเราอาจมีสภาพไม่ต่างจากประเทศกรีซ!!..งานนี้นอกจากจะน่าเป็นห่วงในเรื่อง วินัยการคลังของประเทศแล้ว พ.ร.ก. ฉบับ นี้ยังอาจเป็นโมฆะด้วยในอนาคต

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++