--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนะประเดิมแก้ ม.309 ล้างรัฐประหารสร้างหลักประชาธิปไตย !!?

โภคิน. แนะให้แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อตัดปัญหา และควรเริ่มต้นที่การแก้มาตรา 309 ที่รับผลการกระทำและผลผวงจากการรัฐประหารก่อน เพราะขัดแย้งกับมาตรา 3 เพื่อสร้างหลักประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ “สามารถ” ชี้หากทำประชามติต้องได้มากกว่า 23 ล้านเสียงจึงแก้ไขได้ นิติราษฎร์เซ็งฝ่ายการเมืองไม่ตอบรับข้อเสนอเดินหน้าลงมติวาระ 3 ปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ให้เป็นแนวทางไปปรับใช้ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญเผยคำวินิจฉัยกลางเสร็จแล้ว เผยแพร่ได้ภายในสัปดาห์หน้า

+++++++++++

นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คำวินิจฉัยกลางคดีล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 เสร็จแล้วอยู่ระหว่างตรวจทานความถูกต้องก่อนเผยแพร่ คาดว่าจะส่งถึงผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ตามกำหนดภายในวันที่ 28 ก.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหลักเป็นไปตามที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยแล้วทั้ง 4 ประเด็น แต่จะมีคำอธิบายเพิ่มเติม เชื่อว่าเมื่อสังคมได้อ่านแล้วจะเข้าใจ

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด พยานฝ่ายผู้ถูกร้องคดีแก้รัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครอง ระบุว่า ต้องรอคำวิจิยฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวออกมาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไปอย่างไร เพราะยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น การแก้มาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถือเป็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

“ทางเลือกที่ดีที่สุดควรแก้เป็นรายมาตรา และแก้มาตรการที่ขัดกันเองในรัฐธรรมนูญ เช่นมาตรา 309 ที่นิรโทษกรรมและรับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร ผลพวงจากรัฐประหาร ซึ่งขัดกับมาตรา 3 จึงควรแก้ไขเพื่อสร้างหลักประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้า ไม่ใช่เป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ถูกตั้งข้อสงสัย ส่วนการแก้เรื่องขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้ดี หากจะแก้ต้องระบุให้ชัดว่า ต่อไปการรับเรื่องตามมาตรา 68 ต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนเท่านั้น”

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า สภาควรปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอลงมติวาระ 3 ตกไป เพื่อจัดทำประชามติสอบถามประชาชนว่าเอารัฐธรรมนูญปี 2550 หรือหากไม่เอาจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงเพื่อประกาศใช้แทน ส่วนตัวเห็นว่าควรเอาฉบับปี 2517 มาปรับปรุงแก้ไขเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด หลังปรับปรุงแล้วก็จัดทำประชามติอีกครั้งก่อนประกาศใช้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 15 เดือน โดยไม่ต้องมี ส.ส.ร.

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวว่า หากจะทำประชามติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอยู่ประมาณ 46 ล้านคน หมายความว่าถ้าได้คะแนนไม่ถึง 23 ล้านเสียงก็ไม่มีสิทธิแก้ไข

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจให้เด็ดขาดตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเสนอแนะว่าจะเอาอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เรื่องจบ บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะนี้ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายแล้ว อยู่ที่หัวหน้ารัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำคณะนิติราษฎร์:นิติศาสตร์เพื่อราษฎรกล่าวว่า แม้ไม่มีฝ่ายการเมืองตอบรับข้อเสนอเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นอะไร เพราะเป็นการเสนอทางวิชาการที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

“คณะนิติราษฎร์มีแนวคิดที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฏร์ขึ้นมา เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญต้นแบบที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแนวคิดในการปรับแก้รัฐธรรมนูญ เนื้อหายังคงความเป็นราชอาณาจักรไทย และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งมีความเป็นนิติรัฐมากขึ้นด้วย”

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ญัตติสงคราม !!?

ดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว...ว่ากันตามภาษาชาวบ้านก็ต้องว่า...ปัสสาวะไม่เสด็จน้ำ และดูเหมือนว่าจะนำไปสู่ความบาดหมางที่แก้ได้ยากกว่า..ในอีกไม่นานข้างหน้า

เพราะ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นคุณกับตนเองว่า..มีอำนาจเทียบเท่าหรือมากกว่า อัยการสูงสุด..ทั้งๆ ที่ทุกตัวอักษรในรัฐธรรมนูญจอมยุ่ง..ก็บัญญัติไว้แจ่มชัดว่า..พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก

แต่หากมองผ่านกระจกที่วางกลับด้านแล้วละก้อ...คนที่นอนหันหัวไปทางทิศตะวันออกก็สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นทางจากปลายตีนเตียงได้เช่นกัน..เพียงแต่ท่านจะทึกทักเอาเองว่ามันเป็นเรื่องจริง..

เพราะหากท่านมีอำนาจเช่นว่า ท่านก็ต้องมีหน้าที่ เมื่อท่านมีหน้าที่ ท่านก็ต้องมีบุคลาการ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานและติดตามเรื่องราว ต้องมีแผนกขึ้นมาสนับสนุนในการไปสืบเจาะหาข้อเท็จจริงมาประกอบ
และสำคัญที่สุด..ท่านต้องมีงบประมาณเพื่อการนี้

ประเทศจะไม่มีวันให้ท่านควักเงินเดือนมาใช้จ่าย..แต่เพราะท่านไม่มีอำนาจและหน้าที่..ประเทศจึงให้คำร้องทั้งหลายต้องไปผ่านอัยการสูงสุด..ซึ่งมีบุคลากรและงบประมาณพร้อมเบิกจ่าย..

อีกประการหนึ่ง..ไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลก..จะให้อำนาจเผด็จการกับองค์คณะใดองค์คณะหนึ่งโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด..ดั่งเช่นที่ท่านทึกทักว่าท่านมี..

แม้แต่ขึ้นเงินเดือนให้กับตนเองและคนในบังคับบัญชายังต้องเสนอผ่าน..ประสาอะไรกับอำนาจชี้ชะตากรรมประเทศและการคงอยู่หรือไปของสถาบันทั้งหลาย ภายใต้การตีความที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและผูกพันส่วนราชการสำคัญทั้งสิ้น

คงไม่มีใครยอมรับอำนาจเผด็จการใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย..ตามที่พวกท่านวินิจฉัยยืนยัน
ดังนั้น..เรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญคือญัตติสงครามเรื่องใหม่...ที่จะจบยาก จบลำบากเกินกว่าจะบรรยายหรือพยากรณ์..

ประชาชนทั้งหลาย...คงทำใจไม่ได้กับอำนาจที่ไม่ใช่ครอบงำรัฐสภา..แต่เป็นอำนาจที่ครอบครองรัฐสภา..ไม่ต่างอะไรกับสารถีที่ชักบังเหียนรถม้า..โดยมีผู้แทนทั้งรัฐสภาเป็นม้า 650 เชือกให้ท่านสนตะพาย
ประชาชนกับรัฐสภาเห็นตรงกัน..มีแต่อาวุธเท่านั้นถึงจะเชิดชูท่านไว้ได้

โดย.พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกมบังคับ เพื่อไทย. กลับไปสู่ประชาชน !!?

ทางออกเพื่อดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ตามช่องทางมาตรา 291 ให้สำเร็จลุล่วงตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แม้พอมีทางอยู่ แต่ต้องระดมแรงมหาประชาชนมาถากถางกันยกใหญ่

เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้สร้าง "ปมปัญหา" ผูกมัดไว้แน่นหนา หันหน้าขยับไปทางไหน ยังแต่สุ่มเสี่ยงและเสียหายทางการเมืองใหญ่หลวง

จนทำให้แกนนำพรรคอยู่ในอาการ "ยิ้มฝืดๆ" จะดีใจก็ไม่ให้ เมื่อร้องไห้ยังไร้น้ำตาเปื้อนเกม

คำวินิจฉัย 3 ประเด็น ราวกับเป็น "เกมการเมือง" ให้พรรคเพื่อไทยตั้งรับ แล้วหาทางแก้ลำให้ได้ที่สำคัญแก้อย่างไร ย่อมส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพรัฐบาล และเอกภาพพรรคเพื่อไทย

ประเด็นหนึ่งทั้งศาลรัฐธรรมนูญและอัยการสูงสุดมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 วรรคสองได้

อีกประเด็นหนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบตั้ง "สมาชิกสภายกร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ใหม่ทั้งฉบับ" ต้องขอ "ประชามติจากประชาชน" แต่แก้ไขเป็นรายมาตราดำเนินการได้

และสุดท้าย ยกคำร้อง "การล้มล้างการปกครอง" ในระบอบประชาธิปไตยภาพใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 68 วรรคแรก

เพราะคำวินิจฉัยซับซ้อน เต็มไปด้วยเกมที่ออกแบบไว้เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ของเหล่าทหารยึดอำนาจให้ดำรงอยู่อย่างเหนี่ยวแน่นไปอีกนานๆ

เอากันง่ายๆ เป็นเบื้องต้น แม้คำวินิจฉัยได้บรรจุสิ่งดีๆ ไว้ คือ การสถาปนา "อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ขึ้นมา โดยความตั้งใจหรือจำยอมให้เป็นไปก็ตามที แต่ "อำนาจประชาชน" เป็นใหญ่เพียงไร ต้องพิจารณาคำวินิจฉัยที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้อง "ขอประชามติจากประชาชน"

ดังนั้น การหันหน้า "กลับสู่ประชาชน" จึงเป็นเสียงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสังคมความขัดแย้งแห่งอำนาจในยุคนี้

บัดนี้ ภารกิจศาลรัฐธรรมนูญพ้นไปแล้ว แต่คำแนะนำให้ "กลับไปสู่ประชาชน" ได้สั่นสะเทือนทั้ง "สภาและรัฐบาล" ที่พรรคเพื่อไทยต้องกุมหัว แค้นใจในการสะสาง หาทางออกให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองอย่างละมุนละม่อมที่สุด

เนื่องจากทางเลือกของพรรคเพื่อไทยมีน้อย หนำซ้ำยังถูก "บีบบังคับ" ให้ต้องเลือกในช่องทางที่ศาลขีดเส้นให้เดิน

หนึ่ง เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 วาระ 3 ให้เสร็จสิ้นกระบวนการฝ่ายสภา เพื่อหยุดเส้นทางปัญหาที่ยืดเนื้อมากกว่าเดือน ยังลำบากเอาการถึงขนาดนี้

แล้วพรรคเพื่อไทยยังจะเดินหน้าในแนวทางใด เพื่อไปบรรลุการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายการมาตราในครั้งใหม่ได้เล่า มันช่างอับจนเหลือเกิน

สิ่งเหล่านี้ บ่งชี้ถึง "กรรม" จากอาการ "กลัว" ของ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภาที่ไม่กล้าลงมติวาระ 3 ตั้งแต่แรก กลับตัดสินใจรอคำวินิจฉัยของศาล จนได้เรื่องและดิ้นหลุดยากหนักเข้าไปอีก

สอง เป็นหนทางเดินไป "สู่ประชาชน" เพื่อขอประชามติตัดสินอนาคตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 ที่คาราคาซังอยู่

คำถามต้องตอบให้กระจ่างมีว่า จะเอากฎหมายใดมารองรับการขอประชามติก่อนลงมติวาระ 3 ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องขอประชามติก่อนลงมติวาระ 3 ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องขอประชามติจากประชาชนถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ขอประชามติเพื่อ "แก้ไข" ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตาม "คำแนะนำ" ที่อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ครั้งที่สอง ขอประชามติเพื่อ "ใช้" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/13

นี่คือ "ปมปัญหา" ที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ในคำแนะนำให้ "ขอประชามติ" แม้เป็นทางออกให้พรรคเพื่อไทย รัฐบาลและสภา ได้สวยงดงาม แต่กลับเต็มไปด้วยขวากหนาม

ว่ากันตามจริงแล้วตามเส้นทางเดิน "กลับไปสู่ประชาชน" สอดคล้องกับจะยืนประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ถ้าพรรคเพื่อไทยเลือกเช่นนี้เท่ากับนำเสียงประชาชนมา "ต่อสู้" และเป็นหลับพิงอำนาจประชาธิปไตยของประชาชน

แต่สังคมไทยกำลังอยู่ "ท่ามกลางความขัดแย้ง" เมื่อพรรคเพื่อไทย เดินหน้าไปสู่การขอประชามติย่อมเท่ากับทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางความคิดของมวลชน "สองฝ่าย" แล้วมีโอกาสนำไปสู่ "กลุ่มคนไม่หวังดี" ก่อความรุนแรงให้เกิดการเผชิญหน้ายิ่งขึ้น

ถึงที่สุด สังคมขัดแย้งภายหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังเต็มไปด้วยปัญหาการ "ชิงอำนาจ" แบบเดิม ซ้ำร้ายการขอประชามติยังจะกลายเป็นสมรภูมิการเผชิญหน้าครั้งใหม่ของมวลชนทั้งสองฝ่ายเข้าไปอีก

"มวลชนเสื้อแดง" อารมณ์และจุดยืนชัดเจน "ต้องการสร้างประชาธิปไตยของประชาชน" จึงสนับสนุนการ "ขอประชามมติ" เพื่อสร้าง "สังคมใหม่ประชาธิปไตยใหม่" ให้เกิดขึ้นเป้นจริง "สมเจตนารมณ์" ในการต่อสู่มานานถึง 6 ปี

ในซีกพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายอำมาตย์ และโครงสร้างสังคมเดิมๆต้องสู้ "สุดกำลังมี" เพื่อไม่ให้ประชามติผ่าน

ดังนั้น ในทางเลือกทั้งหลายทั้งปวงของพรรคเพื่อไทย ราวกับเป็น "ปม" ที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นไว้ในคำวินิจฉัยประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยุคปี 2555

และเป็นทางเลือกที่พรรคเพื่อไทยต้องปวดหัว แม้ "เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง" แต่กลับเสียทางการเมืองทั้งหมดเมื่อทุกหนทางเลือกมีปัญหาต้องเผชิญหน้าแล้ว พฤติกรรมรักษาอำนาจของพรรคเพื่อไทยที่แสดงออกมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คือ เฉยและหยุดนิ่งอยู่กับที่

ดังนั้น ทางเลือกของพรรคเพื่อไทย-รัฐบาล อาจถนัดทาง "เฉยค่อยไปทางถอย" เพื่อปล่อยปัญหาไปเรื่อยๆ ยื้อเวลาตัดสินใจแบบไม่มีอนาคต

นั่นสะท้อนถึงอาการ "เสื่อม" เริ่มเกาะแน่น ยากจะสกัดทิ้งได้ ดีไม่ดีอาจขั้น "ยุบสภา" ล้างกระดานใหม่เพื่อกลับไปสู่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง...ยังมีความเป็นไปได้อยู่

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

โค้งหักศอก.. 10 วันอันตราย จับตาเกมล้มอำนาจรัฐ !!?

เป็นการคลี่คลายวิกฤติแห่งรัฐธรรมนูญ หลังคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7-1 “ให้ยกคำร้อง” กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ไม่ขัดมาตรา 68” เพราะเห็นว่ายังไม่มีการกระทำที่จะเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเคาะกันตามเกม!! ที่สุดพรรคเพื่อไทย และ “กลไกนิติบัญญัติ” ก็สามารถล้าง “อาถรรพ์ศุกร์ 13” ได้แล้วแต่กระนั้น แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็น “หนทาง” ซึ่งประนีประนอมกันมากที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่ง “เงื่อนไข” ที่ให้แก้เป็นรายมาตรามิใช่แก้ทั้งฉบับ ได้มีการกล่าวถึง “จินตภาพแห่ง รธน.” ที่ไม่ว่า “ผลลัพธ์” จะออกมาในแง่บวกหรือลบ นั่นย่อมกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” แห่งชะตากรรมของการเมืองไทยทั้งระบบ และย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยในเรื่องการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง “ฝ่ายตุลาการ” และ “ฝ่ายนิติบัญญัติ”

เมื่อมองไปถึงการเคลื่อนไหวใน “ซีกมวลชน” แต่ละขั้ว ไม่ว่าฝ่าย “ผู้ร้อง” และ “ผู้ถูกร้อง” ก็มีแนวโน้มที่ว่า...ต่างฝ่ายยอมหักไม่ยอมงอ นั่นคือ การเปิดประตูไปสู่ความวุ่นวาย! “ปะ-ฉะ-ดะ” บนเกมการเมืองข้างถนน ทั้งในปีกคนเสื้อแดง หรือกระทั่งเสื้อเหลือง ที่จะออกมา “เคลื่อนไหว” ไปพร้อมๆ กับ “ม็อบบลูสกาย” ยิ่งในเบื้องลึกแล้ว! การเผชิญหน้า ระหว่างมวลชนขั้วตรงข้าม ในจังหวะการเคาะ “คำตัดสิน” อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถือเป็นการต่อสู้กันอย่างเปิดเผยระหว่าง “กลุ่มมวลชน” ที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

ทว่าเวลานี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่า เพราะ มี “สัญญาณ” จากแกนนำในรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ตีธงออกมาเป็นทิศทางเดียวกันว่า “ศุกร์ 13” ยังมิใช่จุดที่ “วิกฤติ” อย่างแท้จริง หากแต่สถานการณ์อันล่อแหลม หลังวันที่ 13 ก.ค.ไปแล้ว ดูจะยิ่งข้นคลั่ก ทำให้ทุกฝ่ายมิควรคลาดสายตา!! จะเห็นได้ว่า การระดมมวลชนทั้ง จาก “ฝ่ายต่อต้าน” และฝ่ายพิทักษ์ตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รุนแรงหรือไม่มากอย่างที่มีการ “ประโคมข่าว” กัน เอาไว้ เช่นเดียวกับ กระแสเสียงใน “ภาคประชาชน” ที่แม้จะมีมุมความคิดต่างกันไป ทว่าได้มีทรรศนะที่ตรงกันว่า “โมเดลแก้ รธน.” จะเป็นชนวนร้าวที่นำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ “น.พ.ประเวศ วะสี” ราษฎรอาวุโส ย้ำหัวตะปูว่า สิ่งที่กำลังดำเนินไปอยู่ขณะนี้ คือการกระพือความเกลียด ชังกันในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงที่เรียกว่า “มิคสัญญีกลียุค”

“แม้ปัญหาความขัดแย้งยังมี แต่ไม่ควรกระพือความเกลียดชัง เราต้องช่วยกันสร้างสังคมที่ความเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำมาก ทำให้นำไปสู่ปัญหาต่างๆ รวมทั้งความขัดแย้ง คนไทยไม่ว่าจะสีแดง สีเหลือง สีเขียว หรือไม่มีสีก็ตาม การตื่นตัวทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดความวุ่นวาย”

ทั้งหมดทั้งปวง สอดรับกระแสใน ช่วง 10 วันอันตรายนับจากนี้ไป ที่ดูจะ สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก และคงต้อง ระมัดระวังทุกย่างก้าว เพราะ 13 กรกฎาคม คือวันชี้คดี แก้รัฐธรรมนูญว่าจะขัดมาตรา 68 อันเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่... ซึ่งก็รู้ผลลัพธ์กันไปแล้ว ส่วน 23 กรกฎาคม เป็นวันชี้ชะตากรรมทางการเมืองของแกนนำเสื้อแดง “จตุพร พรหมพันธุ์” ซึ่งถูกเพิกถอนประกันตัวต่อศาลอาญา หลังถูกชี้ว่ามีพฤติกรรมข่มขู่ศาล

แม้เวลานี้ “จตุพร” กำลังตกอยู่ใน “วงล้อม” แห่งความยากลำบาก แต่กระนั้นเขาก็ยังคง “วาดหวัง” กับการ “ปูนบำเหน็จ” ในเก้าอี้เสนาบดีแห่งรัฐ หลังมี “สัญญาณให้เตรียมตัว” ส่งมาจากคนแดนไกล จะ..“วืด” หรือจะ..“สมปรารถนา” ?! และ “จตุพร” จะเอาตัวเองพ้นคุก ได้หรือไม่?! ทั้งหมดทั้งปวงย่อมจะเป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” ให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง...ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งที่พอจะเป็น “ธงในใจ” และพอจับเค้าใจความได้ นั่นคือการที่ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ออกมายอมรับว่า สิ่งที่เขารู้สึกเป็นห่วง ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของมวลชนหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนต้องกระทำภายใต้กรอบของกฎหมายภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอย่าง “อำนาจนอกระบบ” ต่างหากที่ฝ่ายยุทธศาสตร์เพื่อไทย อดวิตกกังวลไม่ได้ว่า “ประวัติศาสตร์” กำลังจะย่ำซ้ำรอยเก่าอีกครั้ง

แถมมีการออกมาปูดกระแส ว่าด้วย “อำนาจนอกระบบ” ดูจะสอดคล้อง กับจังหวะก้าวของ “แกนนำคนเสื้อแดง” โดยเฉพาะสายฮาร์ดคอร์หลายคน ที่ผลัดเวียนกันออกมา “โยนระเบิดกลางวง” ว่า...เวลานี้กำลังมีรายการ “ลงขัน” เพื่อ “ล้มรัฐบาล” จากฝ่ายอนุรักษนิยม 3 กลุ่ม เคาะวงเงินกันสูงถึง 6 พันล้านบาท!!

และตามมาด้วยการแฉ “แผนบันได 2 ขั้น” โดย “วรชัย เหมะ” แดงสายฮาร์ดคอร์ และ ส.ส.ปากน้ำ พรรค เพื่อไทย ได้กล่าวอ้างว่า “ขั้นที่ 1” จะใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกแรกเพื่อล้มรัฐบาล และหากยังไม่สำเร็จ จะตาม มาด้วยบันไดขั้นต่อไป คือการดึง “กองทัพ” ให้ออกมา “ปฏิวัติ”

เช่นที่ว่านี้ การออกมาให้ความเห็น ของคนในซีกรัฐบาลและแกนนำเสื้อแดง กำลังบ่งชี้ให้เห็นถึง “ชนวนร้าว” ที่จะเป็นหมายเหตุแห่งความวุ่นวายหลังหลุดพ้น “อาถรรพ์ศุกร์ 13” ไปแล้ว..ใช่หรือไม่ ?!! ต้องไม่ลืมว่า การระดมมวลชนไม่ว่าจะเสื้อสีใดก็ตาม คงต้องเผชิญกับ คำสั่ง “ให้แตะเบรก” จากเจ้าของอำนาจที่กำกับฉากอยู่เบื้องหลัง เพราะ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเดินเกมผิดพลาด ย่ำเข้าสู่ “กับดัก” ด้วยการเป็นฝ่ายเล่นเกมแรงก่อน ก็อาจเป็นฝ่ายล้มคว่ำไปเสียเอง เชื่อเหลือเกินว่า หากใครเริ่มก่อน คงไม่แคล้วเป็น “มวยแพ้หมดรูป” ตามโจทย์แห่งความชอบธรรม ที่สุดแล้วก็จะ กลายเป็น “เงื่อนไข” ที่นำมาซึ่ง “ปฏิบัติ การกวาดล้าง” เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และยิ่งทำให้ฝ่ายที่ก้าวพลาด ตายตกเป็น “จำเลย” ที่สร้างความปั่นป่วนขึ้นในสังคม

ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังสุกงอม ก็ดูน่าแปลกสำหรับการเคลื่อนไหวของ ฝ่ายต่อต้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง อยู่ในอารมณ์อันคุกรุ่น “สวนทาง” กับจังหวะการก้าวของ “ฝ่ายไม่เอาทักษิณ” หรือฝ่ายองครักษ์พิทักษ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ทั้งเหลือง หลากสี หรือม็อบบลูสกาย ตลอดจนแนวร่วมฯ ทั้งหลายแหล่ ที่เวลานี้ดูสงบเรียบร้อย...ผิดปกติ ไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

แม้จะมีการลั่นปี่กลองออกมาเป็น ระยะ แต่บนความเคลื่อนไหวของ “แกนนำสารพัดสี” ในซีกอนุรักษนิยม กลับยังไม่แน่ชัด และไม่สะท้อนให้เห็นถึง “ความแรง” ที่มากพอ หรือการจุดกระแสให้เกิดเหตุ “ประจันหน้า” กันอย่างที่คาดกันเอาไว้ เหล่านี้ยิ่งทำให้ขุมข่ายอำนาจในซีกรัฐบาล ประเมินสถานการณ์การสู้รบได้อย่างยากลำบากยิ่ง!

กระนั้นในเรื่อง “ทุนล้มรัฐบาล” แม้ดูเป็นการพูดกันอย่างเลื่อนลอย แต่ก็ดูมีน้ำหนักขึ้นมาเยอะ หากเทียบเคียงกับพฤติการณ์ “นิ่งเงียบ” ของหมู่มวลพันธมิตรฯ เพราะยากจะปฏิเสธได้ ว่าเวลานี้ “ม็อบ” กำลังขาดน้ำเลี้ยง!!! ในความเงียบที่ดูไม่ปกตินี้ จะเป็นเพียงแค่ “คลื่นกระทบฝั่ง” หรือจะบานปลายถึงขั้นเป็น “มรสุมลูกใหญ่” ผ่านการเดินเกมเขย่ารัฐบาลทั้ง “ใต้ดิน-บนดิน” ผ่านทุกเส้นใยอำนาจ ที่จะเป็น “ตัวแปร” ไปสู่การพลิก-หมากการเมืองทั้งกระดาน?!!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เบื้องหลังทักษิณเจรจา อำมาตย์แดง เกมบีบรัฐบาลลูกไก่ในกำมือ !!?

การเคลื่อนไหวทั้งบนดินและใต้ดินของเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีจุดมุ่งหมาย 2 ปลายทาง

ทางแรก ใช้เครือข่ายฝ่าย "แดงอำมาตย์" เจรจากับกลุ่มอำมาตย์ ด้วยการเปิดทางให้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" และฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อไทยบริหารได้อย่างราบรื่น ไม่ติดล็อกขั้นตอนกฎหมาย

ทางที่สอง ใช้แนวร่วมมวลชน "เสื้อแดง" เคลื่อนไหวกดดันฝ่ายอำมาตย์ ให้ "ถอย" ห่างไปจากโครงสร้างอำนาจ ทั้งในฝ่ายองค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการ

ทั้ง 2 ปลายทาง เพื่อเป้าหมายเปิดทางตรงให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ทะลุถึงเป้าหมายการเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างราบรื่น ครบวาระ เพื่อเป้าหมายทางอ้อมให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการคลี่คลายทางคดี และได้เริ่มต้นชีวิตทางการเมือง มีอำนาจอีกหน

การพาดพิงอ้างถึงการเจรจาระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับกลุ่มคน ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ใช้สรรพนามว่า "ข้างบน" หรือ "พวกเขา" จึงไม่ใช่ไม่มีที่มา

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า มีวงในเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่าย "อำมาตย์แดง" กับตัวแทนฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณจริง วาระที่ถูกยกขึ้นโต๊ะเพื่อต่อรอง คือการปิดสมัยประชุมสภา กับถอนวาระปรองดอง แลกกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างราบรื่น

แต่เมื่อฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณมีอาการชักเข้า-ชักออก วาระทั้ง 3 คือแก้ไขรัฐธรรมนูญคั่นกับวาระปรองดอง และพยายามจะถ่วงถ่างเวลาการปิดสมัยประชุมสภา ทำให้ฝ่าย "แดงอำมาตย์" ผิดคำพูดกับเครือข่ายอำมาตย์ด้วยกัน

เกมเจรจาลับจึงล้ม

แหล่งข่าวอีกรายให้ความเห็นจากความเชื่อว่า การเจรจาจะไม่มีทางสำเร็จ และไม่เป็นผลดีกับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และตัวแทนฝ่าย "อำมาตย์แดง" ไม่ใช่เป็น "พวกของจริง" มีแต่พวก "อ้างถึง"

การดึงเกมกันระหว่างฝ่ายอำมาตย์ตัวจริง กับ พ.ต.ท.ทักษิณตัวเป็นเป็น จึงยังต้องต่อเวลาไปอีกระยะ

ย่อมหมายถึงฝ่ายแดงเพื่อไทยยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล้มกระดาน

คนในบ้านเลขที่ 111 ที่เพิ่งพ้นโทษการเมือง วิเคราะห์ว่า หากยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยและพวกจะยังต้องเผชิญหน้ากับวาระเสี่ยง ดังนี้

วาระแรก เสี่ยงต่อการถูกยื่นยุบพรรคการเมือง

วาระที่สอง เสี่ยงต่อการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะ

วารที่สาม เสี่ยงต่อการถูกยื่นให้มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ

ทำให้สภาพรัฐบาลเพื่อไทย แม้มีเสียงข้างมาก แต่เป็นเสียงข้างมากที่ตกเป็นลูกไก่ในกำมืออำมาตย์

หากรัฐบาลลูกไก่ในกำมืออำมาตย์ ไม่ทำตามข้อเสนอของคนเสื้อแดง ก็จะถูกบีบจนยากจะหายใจ

แต่ถ้ารัฐบาลลูกไก่มีจุดมุ่งหมายอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายประชาธิปไตย ก็จะมีจุดแข็ง สามารถปีกกล้า ขาแข็ง จิกมืออำมาตย์ให้ผ่อนคลายมือออกได้เป็นระยะ

สมมติฐานรัฐบาลลูกไก่ ถูกไขรหัสโดย "จาตุรนต์ ฉายแสง" แกนนำทางความคิดสายเพื่อไทย ที่อธิบายปรากฏการณ์รัฐบาลลูกไก่ไว้ว่า "จุดแข็งอยู่ที่ประชาชน ตราบที่รัฐบาลยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ประชาชนก็ไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนฝ่ายชนชั้นนำ หรือฝ่ายอำมาตย์ และเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ฝ่ายชนชั้นนำแก้ไม่ตก"

พ.ต.ท.ทักษิณเคยปราศรัยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนต์เข้ามาที่พรรคเพื่อไทย และในเวทีชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า "พี่น้องต้องไม่กลับบ้านมือเปล่า"

เช่นเดียวกับการเสี่ยงของฝ่ายชนชั้นนำ ที่หนุนให้ฝ่ายตุลาการ "ปราม" ฝ่ายเพื่อไทย ย่อมไม่เสี่ยงและเปลืองตัว จ่ายต้นทุนมือเปล่า

การวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเกมที่ต่างฝ่ายต่างต้องมีต้นทุนที่ต้องจ่าย

สอดคล้องกับความเห็นของ "จาตุรนต์" ที่ว่า "เวลานี้เขาเสื่อมไปมาก จากการเล่นเกมขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมเข้าใจว่าเขาคงคิดว่าการจะได้อะไรมาต้องลงทุน ต้องแลก แต่เมื่อ

ยอมลงทุนไปมาก ยอมเสียหายไปมากแล้ว จะให้กลับมือเปล่าคงไม่ได้ แต่ถ้าทำแบบเดิมต่อไปมันก็จะเสื่อม"

การเมืองเวลานี้ ยากที่ฝ่าย พ.ต.ท. ทักษิณจะได้กำไรฝ่ายเดียวทั้ง 2 ทาง เช่นเดียวกับฝ่ายอำมาตย์-ชนชั้นนำยากที่จะเอาชนะ พ.ต.ท.ทักษิณไปอย่างไม่ต้องเสียต้นทุน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จนมุม !!?

คดี “หนีทหาร” หลบเลี่ยง ไม่ไปรายงานตรวจ เพื่อเกณฑ์ทหาร “จับใบดำ-ใบแดง” คดีที่ค้างเติ่งมาตั้งแต่เดือนเมษาฯ ปี ๓๐..คนผิดถึงเวลา “ลงหลุม”
เมื่อ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งลงโทษตามความผิด ที่มีการเสนอขึ้นมา
คืนความเป็นธรรมให้ประเทศ ไม่ให้คนผิด “ลบหลู่” กองทัพบก แล้วมาลอยหน้าลอยตา
จากปี ๓๐ ถึงปี ๕๕ ผ่านมา ๒๕ ปี ..คนที่ทำหลักฐานเท็จ ใบ “สด.๔๓” ต่อพัศดี เขตพระโขนง กทม. คิดว่าจะหลอกลวง “กองทัพ” ได้นั้น สุดท้ายก็โดนลงโทษเสร็จสรรพ
ถึงจะมี “อภิสิทธิ์ชน”ตลอด..สุดท้ายก็ไม่รอด?..ต้องจอด ดอดไปนอนในคุกขอรับ

+++++++++++++++++++++++++++++++

ตอกย้ำ “คดีหนีทหาร”
ว่ากันว่า...เรื่องนี้มีความเห็นเสนอให้ลงโทษกันมาแล้วหลายรัฐบาล
มีการสั่งให้ตัด กันอย่างจังหนับบุเรงนอง เมื่อสมัย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ นั่งแท่น แอ่นอก เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” มาแล้วล่ะพี่
แต่ไม่รู้ว่าใครเก็บดอง แช่แข็งเอาไว้..จึงไม่มีคำสั่ง เล่นงาน “คน ๒ สัญชาติ” เสียที
และครั้งเมื่อ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีเรื่องนี้ส่งขึ้นมา แต่ก็เงียบหายไปกลางทาง..ที่เรื่องมาถึงมือ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต นั้น เพราะเอกสารหลักฐานที่ทำกันนั้น “หยาบ-ชุ่ย” เหลือที่จะรับ
ขืนให้เอกสารปลอมผ่านไปได้..แตกตากันง่าย ๆ ..ก็เสียชื่อกองทัพตาย เท่านั้นสิครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++

“เนวิน” ยังสุดยอดความคิด
เมื่อครั้งตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร “เนวิน ชิดชอบ” เสนอไอเดียกระฉูด ปฏิเสธไม่เอาคนนี้เป็น “นายกรัฐมนตรี”..เขาคนนั้นก็คือ “นายอภิสิทธิ์”
โดย “เนวิน” ดันสุดลิ่มทิ่มประตู ที่จะให้ “นายหัวชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะรู้อนาคตข้างหน้า “ผู้นำฟันน้ำนม” จะพารัฐบาลไปล้มเหลว อย่างไม่มีดี
เหมือนเช่นใน พ.ศ.นี้ คนใน “พรรคประชาธิปัตย์” เรียกร้องให้ “บิ๊กชวน ลูกแม่ถ้วน” กลับมาเป็นนายกฯอีกหน
เชิด “อภิสิทธิ์” กันต่อไป...พรรคประชาธิปัตย์มีแต่ล้มละลาย..เชิดทำไม ให้เสียคน

++++++++++++++++++++++++++++++++++

เป็นเช่น “งูเห่า”กับ “พังพอน”
พบเจอะปะกันเมื่อไหร่ ก็ต้องกัดกันเอาไว้ก่อน
หาก “ท่านชวน หลีกภัย” คัมแบ็คกลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ..โดยไม่สนใจที่จะเอา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ใส่ตะกร้าล้างน้ำ กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” นั้น
คนที่เดือดร้อนใจ ก้อ, “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ
เพราะตลอดเวลา ที่ “เทพเทือก” เป็นผู้จัดการรัฐบาล ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ดูเหมือน “ชวน เจ้าหลักการ” จะปฏิเสธแนวคิดยีนส์ทางสมอง ที่ “สุเทพ” นำมาปฏิบัติทุกเรื่องเสร็จสรรพ
ถ้า “ชวน”กลับมาใหญ่มาดัง..อำนาจ “สุเทพ”น่าถูกล้างบาง..ให้พ้นทางแน่เลยครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++

เป็น “โรคขี้กลัว” ขึ้นสมอง
ชักเป็นห่วง “ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มากขึ้นทุกที แล้วล่ะพี่น้อง
“นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรติ ที่ “ฮิลลารี คลินตัน” รมว.ต่างประเทศ ให้ไปพบกับนักธุรกิจอเมริกา ยังประเทศเขมร หาว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน
เรื่องออก “ทีโออาร์” หาบริษัทมาป้องกันน้ำท่วม ก็บังอาจไปต่อขาน “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รมว.พลังงาน ว่าปิดบังข้อมูล เข้าข่ายว่า น่าจะมีรายการงาบกับฟันโยก ฟันคลอน
ทั้งที “นายกฯปู” ไปอย่างเปิดเผยท้าสาธารณะชน..อีกทั้งการขอ “ทีโออาร์” ทาง “คุณปลอดประสพ” พร้อมให้เอกสาร แก่ “นายอภิสิทธิ์” ดูทั้งต้นฉบับ และร่างก๊อปปี้
ผิดกับ “รัฐบาลมาร์ค” ในวันสุดท้าย..อนุมัติงบ ๓ แสนล้านมหาประลัย..ทิ้งทวนกันยกใหญ่..ไฉนใย ไม่สงสัยตัวเองเลยล่ะพี่

โดย.คอลัมน์ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คุก.. มีไว้ขังคนจน (คอนเฟิร์ม) เพราะยุติธรรมชราภาพ คนไทยมีสิทธิ์ไม่เท่าเทียมกัน !!?

เสียดสีกันมานานเป็นสิบๆปี กับคำว่า “คุก มีไว้ขังคนจน... มีไว้ขังหมา” แต่เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่ดีขึ้น บรรดานักวิชาการ โดยเฉพาะนักกฎหมาย หรือแม้แต่บรรดามูลนิธิช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทำได้เพียงแค่รำพึงรำพันเป็นครั้งคราว ว่าหลายๆกฎหมายในบ้านนี้เมืองนี้ “ชราภาพ”แล้ว น่าที่จะต้องมีการแก้ไข

แต่ก็ไม่เคยมีใครคิดที่จะแก้ไขอย่างจริงจังเสียที เกิดเรื่องขึ้นมาแต่ละครั้ง ก็ค่อยมานั่งสะเทือนใจสะเทือนอารมณ์ แล้วก็ช่วยเหลือเยียวยากันไปเท่าที่พอจะทำได้ แต่เมื่อเรื่องจางลงไปก็ปล่อยหายไปกับสายลม รอสะเทือนใจรอบใหม่เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เวียนว่ายกันอยู่แบบนี้สำหรับระบบยุติธรรมของไทย
ล่าสุดกรณี นายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา พนักงานประจำรถขยะกทม. ที่ตกเป็นจำเลยฐานขายแผ่นซีดี

โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรค 1 ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 2 แสนบาท นายสุรัตน์ยื่นอุทธรณ์ ก็ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ต้องยึดตามตัวบทกฎหมายพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือปรับ 2 แสนบาท

เสียงสะท้อนในสังคมดังระงม เพราะการเอาซีดีมือ 2 มาวางขายกันนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กันโน่นแล้ว วิกฤตครั้งนั้นทำให้คนจำนวนมากเอาของเหลือใช้ ของเก่าเก็บ หรือของมือสอง มาเปิดท้ายขายของกันตามแหล่งชุมชน ซึ่งซีดีมือ 2 นี่ขายกันเพียบ

แถมมีกระทั่งพิสดารสุดๆ คือแทนที่จะเปิดท้ายขายของ กลับเปิดท้ายเมียขายเสียงั้น... ก็ยังมี
เพราะวิถีของการเปิดท้ายขายของ ผสมกับการที่ได้เห็นแผงแผ่นผีซีดีเถื่อนเกลื่อนเมืองไปหมด ตามแหล่งชุมชนอย่าง หน้ารามฯ อนุสาวรีย์ชัย และโดยเฉพาะที่คลองถม สะพานเหล็ก มีให้เกลื่อนไปหมด

ทั้งแผ่นก็อป แผ่นละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่กระทั่งแผ่นโป๊ แผ่นลามก ขายกันเกลื่อน ขายกันโจ๋งครึ่ม
ถ้าตำรวจจะจับกันจริงๆ ชนิดที่ไม่กลัวว่ารายได้จากส่วยของใครบางคน หรือบางกลุ่มจะหดหาย รับรองได้ว่าคุกไม่พอขัง ศาลได้พิจารณาคดีกันเหนื่อยแย่ เผลอๆยอดค่าปรับอาจจะสูงกว่ารายได้กรมจัดเก็บภาษีบางกรมเสียอีก

กรณีนายสุรัตน์ใช่ว่าศาลจะไม่รู้สึกถึงความชราภาพของกฎหมาย เพราะผู้พิพากษาเองยังออกปากเลยว่า คดีนี้โทษปรับคือตั้งแต่ 200,000 ถึง 1,000,000 บาท นี่ก็ตัดสินโทษต่ำสุดแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว

ในขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมเอง ก็ได้ยื่นมาช่วยประกันตัวให้เมื่อตอนศาลชั้นต้นแล้วรอบหนึ่ง

เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า แม้แต่คนในระบบยุติธรรมเอง ก็อึดอัดกับกฎหมายบางอย่างที่มีอยู่ เพราะการที่ต้องตัดสินคนจนคนทุกข์ยาก ประเภทไม่มีนมให้ลูกกินต้องไปขโมยนมจากดิสเคาท์สโตร์มาเลี้ยงลูก ซึ่งผิดกฎหมาย แต่ศาลก็รันทดเป็น ที่เห็นแม่อยู่ในคุกส่วนลูกเล็กไม่มีใครเลี้ยงต้องเอามาวิ่งอยู่หน้าคุก

ซึ่งกรณีนายสุรัตน์ หากไม่มีใครยื่นมือมาช่วย ลำพังเงินเดือน 9,000 กว่าบาท ครอบครัว ภรรยาและลูกก็บอกแล้วว่าไม่มีปัญญาจ่ายค่าปรับแน่.. ซึ่งตามกฎหมายเมื่อไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ต้องติดคุก
อาการเศร้า อาการเจ็บลึกของลูกเมียที่รู้ว่าพ่อรู้ว่าผัวต้องติดคุกนั้นสะเทือนอารมณ์คนที่พบเห็นยิ่งนัก จนทำให้กระแสคำถามว่าคุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้นหรือ ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้งในสังคม

เพราะหากมองถึงกรณี “สาวซีวิค” ที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ไปขับรถจนเกิดอุบัติเหตุมีคนตายถึง 9 ศพ จนวันนี้คดีความก็ยังไม่ไปไหน ผู้สูญเสียยังคงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และคอมเมนท์ในโลกออนไลน์ ก็ตอกย้ำคำว่า “คุกมีไว้เฉพาะเพื่อขังคนจนเท่านั้น”เช่นกัน เนื่องจากสาวซีวิคนั้น สังคมเชื่อกันว่าที่คดีความไม่คืบ การชดใช้ชดเชยยังไม่ได้มีการสำนึกหรือกระตือรือล้นเจรจาชดใช้ ก็เพราะมีนามสกุลดัง

ประเด็นที่อ้างความเป็นเยาวชนยังไม่บรรลุนิติภาวะนี่ก็เช่นกัน กรณีคนร้าย 2 คนอายุ 15 กับ16 ปี ลวงแท๊กซี่อายุ 60 ปีไปปล้น แล้วฆ่าปาดคอ ครอบครัวลุงขับแท๊กซี่เดือดร้อนทุกข์ยากอย่างหนัก แต่เพราะกฎหมายบอกว่าเป็นเยาวชน ทำให้แม้แต่หน้าตาของคนร้าย สังคมก็ยังไม่ได้เห็น ว่าทำไมจึงเหี้ยมโหดนัก

และแม้แต่กรณีสาว ม.3 โชคร้ายสุดๆ โดนทั้งคนในครอบครัว ทั้งตำรวจ ทั้งแท็กซี่ข่มขืน เป็นคดีครึกโครมก็อายแย่อยู่แล้ว กฎหมายยังบอกว่าต้องขึ้นให้การในศาลว่าถูกข่มขืนอย่างไร รวมทั้งตำรวจก็ต้องให้ยืนเผชิญหน้าชี้ตัวคนที่กระทำการข่มขืน... อะไรกันนักหนา ทำไมไม่มีการสังคายนากฎหมายดูแลผู้เสียหายกันบ้าง

รับรู้เสียทีเถิดว่านี่คือความรู้สึกของสังคม ที่มีต่อความลักลั่นพิกลพิการของกฎหมายในวันนี้
ก็เพราะระบบยุติธรรมชราภาพอย่างนี้หรือไม่ ที่ทำให้แม้แต่เรื่องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ สังคมยังต้องมานั่งลุ้นระทึกว่าตุลาการจะวินิจฉัยอย่างไร แล้วบ้านเมืองจะวุ่นวายจริงมั้ย จะรุนแรงแค่ไหน

สังคายนาระบบยุติธรรมไทยเสียทีได้หรือยัง???

ที่มา.บางกอกทูเดย์ออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

พายุสุริยะกระหน่ำโลก-เชื่อไม่ทำลายดาวเทียม !!?



คลื่นพายุสุริยะลูกใหม่ความรุนแรงระดับกลางเคลื่อนตัวถึงโลกเมื่อช่วงบ่ายวันเสาร์ (14 ก.ค.) เชื่อไม่ทำความเสียหายต่อดาวเทียม-ระบบสื่อสาร

ศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศสหรัฐ ในสังกัดสถาบันมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (โนอา) รายงานการเคลื่อนตัวของพายุสุริยะระดับ จี1 หรือ พายุแม่เหล็กภูมิศาสตร์ขนาดย่อม เคลื่อนตัวจากดวงอาทิตย์ปะทะโลกในช่วงบ่ายวันเสาร์ (14 ก.ค.) และจะมีพายุสุริยะระดับ จี 2 หรือพายุแม่เหล็กภูมิศาสตร์ระดับปานกลางเมื่อเข้าปะทะโลกตามมาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

พายุสุริยะครั้งล่าสุด เกิดจากการปะทุบนพื้นผิวดวงอาทิตย์เมื่อวันพฤหัส (12 ก.ค.) ซึ่งความรุนแรงของพายุสุริยะที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจจะทำให้ระบบการส่งไฟฟ้า การสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และ การนำทางเครื่องบินเกิดขัดข้อง

แต่สำนักงานอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) เปิดเผยว่า พายุสุริยะดังกล่าวไม่มีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้ดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกได้รับความเสียหาย นายมาร์คัส ลานกราฟ เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมดาวเทียมของอีเอสเอในเยอรมนี กล่าวว่าปรากฏการณ์ล่าสุดจะเกิดขึ้นต่อเนื่องราว 2-3 วัน และ ก่อให้เกิดการปั่นป่วนของสนามแม่เหล็กในวงกว้าง

ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตตอนเหนือของโลกอาจจะเห็นปรากฏการณ์แสงเหนือหรือ ออโรร่า ระหว่างการปะทะของพายุสุริยะกับสนามแม่เหล็กขั้วโลกเหนือ

ด้านเว็บไซต์ สเปซอดอทคอม รายงานว่าได้จับตาการเกิดพายุสุริยะภายหลังเกิดการปะทุบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ตั้งแต่วันพฤหัส (12 ก.ค.) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแผ่คลื่นแม่เหล็กในครั้งนี้มายังโลก

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด วิน-วิน หรือไม่ต้องอ่านช้าๆ ชัดๆ....

ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ?

มีประเด็นที่พรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 3 ยื่นคำร้องคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อกฎหมายในประเด็นที่ 3 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณาวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 68 ได้หรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรค 1 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

และวรรค 2 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่บุคคหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรค 1 ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิ แก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรค 1 ที่จะใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และประการที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุด เพียงแต่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ เมื่อผู้ร้องได้เสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วชอบที่จะใช้สิทธิ

ประการที่ 2 ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลเห็นว่า การแปลความดังกล่าวนี้ จะสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ ในมาตรา 68 ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่ทำไปเพื่ออำนาจในการปกครองของประเทศ โดยวิธีที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นไปตามการใช้สิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางซึ่งบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องกำลังดำเนินการอยู่ และยังไม่บังเกิดผล

ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะยังมีคำวินิจฉัย สั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้ หาไม่แล้ว คำวินิจฉัยรธน.ตามมาตรา 68 วรรค 2 ก็จะเป็นการพ้นวิสัย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ทั้งสิทธิพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นี้ มีหลักการมุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้อง พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ ให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นจะอันตรายต่อระบบการปกครองและเป็นล้มล้างรธน.ให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยแก้ไขให้กลับคืนดีได้ เช่นนี้แล้ว ประชาชนผู้ทราบเหตุตามาตรา 68 วรรค 2 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิของตนต่อต้านการกระทำนั้นโดยสันติวิธี มิได้มุ่งหมายการลงโทษทางอาญาหรือการลงโทษตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเพิกถอนการกระทำที่มิชอบ ตาม ม. 68 วรรค 1 เสียก่อน ที่การกระทำนั้นจะบังเกิดผล

การมีอยู่ของมาตรา 68 และมาตรา 69 นี้ จึงเป็นไปเพื่อรักษาหรือคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเองตลอดจนหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองหรือกำหนดกรอบไว้ ให้เป็นเจตนารมณ์หลักทางการเมืองหรือชาติ คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และป้องกันการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีทางซึ่งเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ความมุ่งหมายในรัฐธรรมนูญประการนี้ต่างหากที่ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรธน.ที่จะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรธน. ซึ่งแม้ถึงจะเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาเจตนารมณ์ของรธน.ได้ แต่ความเห็นของผู้ร่างรธน.คนใดคนหนึ่งก็มิใช่เจตนาปกครองตามรธน.

แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายงานของสภาร่างรธน. ทั้งการร่างรธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และรธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ยังพิจารณาได้ว่า สาระสำคัญของการอภิปรายนั้น มีเจตนาร่วมกันอยู่ที่การจะให้ประชาชนสามารถร่วมกันใช้สิทธิพิทักษ์ รธน.ผ่านกลไกของศาลรธน. ตามมาตรานี่เป็นสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของตัวบุคคล ผู้ที่มีสิทธิเสนอคำร้องการตีความเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงควรต้องตีความไปในแนวทางของการยอมรับสิทธิมิใช่จำกัดสิทธิ ที่อาจมีปัญหาตามาตรา 68 วรรค 1 เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้สมเจตนาของบทบัญญัติดังกล่าว โดยมีอัยการตรวจสอบข้อเท้จจริง ตามม.68 วรรค 2 แล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งใดจากอัยการสูงสุด หากปล่อยให้กระบวนการลงมติในวาระ 3 รับไปแล้ว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวนั้น เป็นไปโดยมิชอบตามมาตรา68 วรรค 1 ของการกระทำนั้น ก็จะไม่สามารถบังคับคำวินิจฉัยทางใดได้อีก รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นจากการะทำดังกล่าวได้ ศาลรธน.จึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตามรธน. มาตรา 68 วรรค 2

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

ประเด็นพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 จะนำไปสู่การไก้ไขบทบัญญัติของรธน. ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ ได้หรือไม่นั้นเห็นว่า

อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจในสถาปนารธน. เป็นอำนาจการก่อตั้งองค์กรทั้งหลาย และถือว่ามีอำนาจเหนือรธน.ที่ก่อตั้งระบบบทกฎหมาย และก่อตั้งองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เป็นอำนาจสูงสุด อันเป็นที่มาในการให้กำเนิดรัฐรรมนูญ เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรธน.เองกลับไปแก้ไขรธน.นั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขรธน.ธรรมดา

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรธน.ที่จะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรธน.ไว้เป็นวิธีพิเศษ แตกต่างจากกระบวนการกฎหมายทั่วไป

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชานผู้มีอำนาจสถาปนารธน.ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรธน.ฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภา จะใช้อำนาจในการแก้รธน.เป็นรายมาตราจะเป็นความเหมาะสมทางอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าสนี้ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนาของ รธน. มาตรา 291

ประเด็นข้อที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้าง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรธน.นี้ หรือเพื่อให้ได้มาในอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติ รธน.นี้ ตามรธน.มาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขรธน.มาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีแก้ไขรธน.เพิ่มขึ้นเป็นรายมาตรา เพื่อปฏิรูปการเมืองและปรับปรุงโครงสร้างการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นอำนาจที่รธน.แห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเองหรือจากข้อเท็จจริงที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน

ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ ... พ.ศ. ... จึงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 29 1 อันถือได้ว่ามีที่มาจากรธน.ฉบับปัจจุบัน

หากพิจารณารธน.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ ... พ.ศ. ... การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตราที่ 291 เพื่อให้มีสภาร่างรธน.มาจัดทำร่างแก้รธน.ฉบับใหม่ และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างแก้รธน.ฉบับใหม่ ดังนั้น ดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 จะเห็นได้ว่า กระบวนดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ว่า เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างอีกทั้งขึ้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรธน.ก็ยังไม่เป็นรูปร่าง

การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรธน.มาตรา 291 (1) วรรค 2 ซึ่งเป็นข้อแก้ไขเพิ่มเติม รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในการแก้ไขว่า ญัตติขอแก้ไขรธน.เพิ่มเติม ที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้ ประกอบกับบันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างรธน.แห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมที่ ... พ.ศ. ... ให้เหตุผลว่า จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป และบทบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังบัญญัติคุ้มกันรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบที่สำคัญแห่งรัฐว่า ร่างรธน.ที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ และหากร่างรธน.มีลักษณะตามวรรค 5 ดังกล่าวให้ร่างรธน.ตกไป ตามมาตรา 291 (11) วรรค 6

อย่างไรก็ตาม หากสภาร่างรธน. ในร่างรธน.ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรนัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและสภาฯ ก็มีอำนาจยับยั้งร่างรธน.นั้นเป็นอันตกไปได้

รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรธน.นี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงทุกเหตุการณ์ ที่บุคคลนั้นทราบ ตามที่ม.68 ยังมีผลบังคับใช้

ประการสำคัญเมื่อพิจารณาคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงไต่สวนข้อเท็จจริง จากฝ่ายผู้ถูกร้องอาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา ผู้แทนคณะรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา และนายภราดร ปริศนานันทกุล ล้วนต่างเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการ เพื่อให้มีการจัดทำ จัดการร่างรธน.ฉบับใหม่ว่า มิได้มีเจตนารมณ์เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ และผู้ถูกร้องทั้งหมด ยังแสดงถึงการตั้งมั่นว่า จะดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เช่นเดิม

พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า ข้ออ้างของผู้ร้อง ทั้ง 5 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะวินิฉัยได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 6 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้ออ้างทั้งหมดจึงยังคงเป็นเพียงการคาดการณ์ เป็นความห่วงใยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังห่างไกลต่อเหตุที่จะเกิดขึ้นตามที่กล่าวอ้าง

ข้อเท็จจริงจึงไม่ฟังว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้แต่อย่างใด

ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่ได้ว่า มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 68 วรรค 1 ศาลจึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้

เมื่อวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 4 อีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง

(ที่มา:มติชนออนไลน์)
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ทักษิณสมควรตาย จากสังคมไทยไปนานแล้ว และตำนานว่าด้วย ปีศาจทักษิณ !!?

พาดหัวแบบนี้ไม่ได้เป็นการแช่งชักอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่กำลังหมายถึงความหมายของคำว่า “ทักษิณ” ที่ถูกชักโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 6 – 7ปี ที่ผ่านมา คำว่า”ทักษิณ” นั้นมีพลังมากกว่าตัวอดีตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ต้องย้อนไปในปี 2548 ที่ได้เริ่มมีการตั้งต้นการรวมตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดย 5 แกนนำ นำโดย นาย สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตมีเดียไทคูนของเอเชียและอดีตคนรักกันที่เคยมาชื่นชมว่าทักษิณเป็นนายกฯที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา

สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตคนรักกันผู้ปลุกวิญญาณ ปีศาจทักษิณ
สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตคนรักกันผู้ปลุกวิญญาณ ปีศาจทักษิณ

ยุทธศาสตร์ในครั้งนั้นคือการสร้างทักษิณให้มีภาพลักษณ์ที่ น่าเกลียดน่ากลัว ขายชาติ ต่ำช้าเลวทราม หรืออาจจะเรียกในภาษาที่สื่อใช้ว่า “ผีทักษิณ” หรือ “ปีศาจทักษิณ” หากจะวิเคราะห์ตามทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคม ก็คือการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเป็น “พวกเขาและพวกเรา” ที่ชัดเจน คือใครที่ไม่สนับสนุนแนวทางของ พธม.ก็ให้ถือว่าเป็นผู้นิยม “ระบอบทักษิณ” ในปี 2549 ไม่ใช่ปีที่ดีของ ทักษิณ ชินวัตร เรียกได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง จากบทบาทหน้าที่และอำนาจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย แล้วทำไมทักษิณ ที่หมายถึงต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกสร้างและนิยามโดย พธม. ถึงไม่ตายไปจากสังคมไทย? ลองมาทบทวนกัน

เมื่อทักษิณใช้อำนาจประกาศยุบสภาและมีการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ….พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน กลับเลือกที่จะบอยคอตการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย

เมื่อทักษิณไปปฏิบัติภารกิจยังต่างประเทศในเดือนกันยายนและพธม.ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 กันยายน 2549…… คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทักษิณ ตัดสินใจไม่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และนำไปสู่เครือข่ายต้านรัฐประหารต่างๆที่มองว่าการรัฐประหารนั้นเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยก่อนที่จะพัฒนากลายเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.)

เมื่อพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นต้นสังกัดของอดีตนายกฯทักษิณและอีก 4 พรรคการเมืองถูกฟ้องในคดียุบพรรคการเมือง ……..พรรคไทยรักไทย และพรรคเล็กที่ถูกจ้างให้ลงเลือกตั้งถูกวินิจฉัยให้ยุบพรรคและพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่รอดพ้นความผิด

เมื่อเกิดการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พร้อมกับวาทกรรม “รับๆไปก่อนแล้วค่อยแก้” ………. รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะโหวตล้มรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รวมไปถึงปฏิบัติการแทรกแซงทางการทหาร แต่กลับมีผู้ที่ไม่รับร่างดังกล่าวถึง 10.7 ล้านเสียง และรับเพียง 14.7 ล้านเสียง ทั้งที่รัฐบาลทหารสามารถคุมกลไกได้เบ็ดเสร็จ

เมื่อเกิดการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ได้พยายามมีกลไกเพื่อที่ผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยจับมือร่วมกับพรรคชาติไทย และ พรรคมหาชน ประกาศตนตั้งรัฐบาลล่วงหน้า ทหารสนับสนุนพรรคเพื่อแผ่นดิน และพธม.สนับสนุนพรรคมัชฌิมาธิปไตย ….. สุดท้ายพรรคพลังประชาชน โดย นายสมัคร สุนทรเวช ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และพรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคมหาชนได้กระโดดเข้ามาร่วมรัฐบาล รวมไปถึงพรรคประชาราชของนายเสนาะ เทียนทอง อดีตคนสนิททักษิณที่เคยปราศรัยโจมตีทักษิณบนเวทีพธม.ก็เข้าร่วมรัฐบาล เป็นบทเรียนเมื่อพธม.และกองทัพประเมินนักเลือกตั้งอาชีพผิดพลาด

เมื่อเกิดรัฐบาลจากการเลือกตั้งของนาย สมัคร สุนทรเวช โดยมี นาย นพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ …… พธม. ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยชูประเด็นชาตินิยมสุดโต่ง ทั้งวาทกรรมขายชาติ และเสียแผ่นดิน และท้ายที่สุดนำไปสู่การหลุดจากตำแหน่งของ นาย สมัคร ด้วยการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความด้วย “พจนานุกรม” คำว่า “ลูกจ้าง” และ “รับจ้าง”

เมื่อเกิดการตัดสินคดีที่ดินรัชดา 2 สิงหาคม 2551 ทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศและมีการตัดสินรับหลังด้วยการจำคุก 2 ปี นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร ……… พธม.ประกาศยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ชุมนุม นายสมชายเป็นนายกฯที่ไม่เคยเข้าทำงานที่ทำเนียบ และวันที่รัฐบาลสมชายต้องการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา พธม.ได้ทำการขัดขวาง จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด 7 ตุลาฯ 51 ซึ่งจากบันทึกของวิกิลีกส์ บันทึกว่าคนในระดับแกนนำพธม. ต้องการใช้เหตุการณ์ดังกล่าวสร้าง “เงื่อนไข” เพื่อนำไปสู่ความรุนแรง

เมื่อเกิดการรวมตัวของนปก. ที่ยกระดับเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ในเดือน พฤศจิกายน 2551 ………… กองทัพนำโดยผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ออกรายการช่อง 3 อ.ส.ม.ท. “ปฏิวัติเงียบ” เพื่อขอให้รัฐบาลสมชายลาออกจากตำแหน่ง พธม.เข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองในปลายเดือนพฤศจิกายน 2551

เมื่อเกิดคดียุบพรรค 2551 โดยมีพรรคพลังประชาชน ในกรณีเป็นนอมินีให้กับพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 …… ผลศาลรัฐธรรมนูญโดย นาย ชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น มีคำสั่งให้ยุบทั้งสามพรรค ชนิดที่นาย บรรหาร ศิลปอาชา เรียกว่า “มีการให้ปากคำเช้า แล้วพิจารณาตัดสินตอนบ่าย เป็นไปได้อย่างไร?” นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายท่านวิเคราะห์ว่าการตัดสินนั้น “มีธง”

เมื่อหลังจากคดีการยุบพรรคพลังประชาชน ได้มีการพยายามฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ….. รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลเสียงข้างนอกที่ถูกครหาว่า “จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” คนในตระกูลศิลปอาชาบอกว่า “เป็นคำขอร้องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้” และการเกิดงูเห่าภาคสองจาก นาย เนวิน ชิดชอบ ทำให้พรรคภูมิใจไทยอาศัยบุญคุณที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำตาม โดยสละตำแหน่งสำคัญๆในรัฐบาลให้กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อที่จะทำทุกวิถีทางรักษาตำแหน่งรัฐบาลไว้ให้ได้

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศ โดยประกาศนโยบาย 99 วันทำได้จริง และปราศจากคอร์รัปชั่น ……… หลายๆนโยบายไม่สามารถทำได้จริง จนนำไปสู่วาทกรรม “ดีแต่พูด” และการคอร์รัปชั่นมโหฬาร ทั้งในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องปลากระป๋องเน่าหลังจากรับตำแหน่งไม่ถึง 3 เดือน และพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย อย่างโครงการ ถนนปลอดฝุ่น การประกันราคา และการเช่ารถเมล์ NGV แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ไม่กล้าที่จะปรับคณะรัฐมนตรี เพราะเกรงกระทบเสถียรภาพรัฐบาลมากกว่าการรักษากฏเหล็กที่ตนเองได้ตั้งขึ้น

ตุลาการภิวัฒน์ อีกหนึ่งในแรงเสริมของปีศาจทักษิณ - ภาพจาก ทีนิวส์
ตุลาการภิวัฒน์ อีกหนึ่งในแรงเสริมของปีศาจทักษิณ – ภาพจาก ทีนิวส์

เมื่อเกิดการยึดทรัพย์ อดีตนายกฯทักษิณ 46,000 ล้านบาท เมื่อปี 2553 ทำให้คนเสื้อแดงรู้สึกว่าทักษิณถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งเกิดการถกเถียงทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เกิดการชุมนุมใหญ่ของ นปช. บริเวณผ่านฟ้าและราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ยุบสภา ……. นำไปสู่การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ระหว่าง เมษายน – พฤษภาคม 2553 การอัดสื่อประชาสัมพันธ์ข้างเดียวโดยปิดกั้นสื่อขั้วตรงข้ามและเว็บไซต์กว่าแสนเว็บ การสร้างวาทกรรม ชายชุดดำและการเผาบ้านเผาเมือง และรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ในขณะนั้นเมื่อมีการเจรจาปรองดองกับแกนนำสัญญาว่าะยุบสภา ตุลาคม 2553 แต่ก็อยู่ในอำนาจจนมายุบสภา พฤษภาคม 2554

เมื่อเกิดเหตุการณ์ตุลาการภิวัฒน์ด้านเดียว เมื่อกกต.ยื่นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาการเมือง 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ โดยกระบวนการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายเลยกำหนด 15 วัน!!? …….. ประชาธิปัตย์กลับไปทะเลาะกับพธม. จนเสียงแตกออกจากกันอย่างชัดเจน มีการขุดคุ้ยแฉกันไปมา

เมื่อยุบสภาและจะมีการจัดเลือกตั้ง 3 กรกฏาคม 2554 พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นได้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อต่อการเลือกตั้งในแบบปาร์ตี้ลิสต์ รัฐบาลใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ผลงานจำนวนมหาศาล ………. การเลือกตั้ง 3 กรกฏาคม 2554 จบด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างท่วมท้น

เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยก็ทำคะแนนเสียงตกหายทั้งกรณีแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเศรษฐกิจ และการบริหารความสัมพันธ์ที่ผิดพลาดกับคนเสื้อแดง ….. พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านกับเล่นการเมืองในรูปแบบเก่า โจมตีในประเด็นยิบย่อย และล่าสุดแสดงพฤฒิกรรมใช้ความรุนแรงระหว่างการประชุมสภาเมื่อมีการแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภา เข้าไปบีบคอส.ส.ฝั่งรัฐบาล และขว้างปาสิ่งของ

เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประกาศขอมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ …….. ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวเพราะตีความว่าอาจเข้าข่ายล้มล้างระบอบการปกครอง ทั้งๆที่เคยแก้ไขเมื่อปี 2554 โดยพรรคประชาธิปัตย์ โดยศาลใช้ดิกชันนารีและรัฐธรรมนูฐ 2550 ฉบับภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานในการรับคำร้อง จนมีคำตัดสินในวันที่ 13 กรกฏาคม 2555 โดยหลังศาลอ่านคำวินิจฉัย โฆษกศาลแถลงว่า ข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัย คือ มาตรา 68 สรุปว่าไม่ได้มีการล้มล้างการปกครองฯ แต่พอถูกนักข่าวถามว่า ศาลวินิจฉัยเรื่อง มาตรา 291 ว่าห้ามแก้ไขทั้งฉบับ หรือไม่ โฆษกกลับตอบว่า เป็นข้อเสนอแนะ เป็นความเห็น หากรัฐสภาดำเนินการต่อ ต้องรับผิดชอบเอง

แม้แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องมาเล่นวาทกรรม "ขี้ข้าทักษิณ" จนถูกอัดกลับ - ภาพจากเพจศาสดา
แม้แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องมาเล่นวาทกรรม “ขี้ข้าทักษิณ” จนถูกอัดกลับ – ภาพจากเพจศาสดา

หากวิเคราะห์อย่างแท้จริงแล้วทักษิณไม่ได้แข็งแกร่งด้วยตัวของทักษิณเอง หากไม่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคปค. ทักษิณในขณะนั้นอยู่ในช่วงขาลง ประชาชนเริ่มลดการสนับสนุน และเป็นการเรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตยของประชาชนที่ต้องอาศัยการอดทนรอ แต่การรัฐประหารเป็นการตัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดเพราะขาดความอดทนตามระบอบประชาธิปไตย และคิดว่ารัฐประหารจะแก้ไขสถานการณ์ทุกอย่างได้ แต่กลับเป็นจุดเริ่มของปัญหาและระเบิดเวลาทางการเมืองของประเทศไทย เมื่อพวกเขาใฝ่หาประเทศไทยที่มีความสุขดั่งเดิม แต่กลับมีส่วนผลักดัน ให้สถานการณ์เข้าไปสู่จุดเปราะบางมากยิ่งขึ้นๆ

ในตำนานปรัมปรามีปีศาจตนหนึ่งนั้นจะแปลงกายไปเรื่อยๆตามความอ่อนแอของจิตใจของเหยื่อ เมื่อจิตใจเราเข้มแข็งปีศาจนั้นก็มีอำนาจอ่อนแอลง แต่ถ้าหากเรายิ่งผิดพลาดและหวาดกลัวปีศาจที่เราสร้างในจินตนาการนั้นก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น และเมื่อเราปล่อยจิตให้ว่าง ปราศจากอคติ เมื่อนั้นปีศาจตนนั้นก็จะปรากฏโฉมที่แท้จริงของมันว่าแท้จริงเป็นคนธรรมดาๆเหมือนเรา ที่มีทั้งข้อดีและข้อผิดพลาด แต่ดูเหมือนว่าองคาพยพทางสังคมมีส่วนสร้างให้ปีศาจทักษิณมีความเข้มแข็งขึ้นทุกวันๆ จากความผิดพลาดและอคติส่วนบุคคล และบางทีมันแข็งแกร่งเกินกว่าทักษิณเองจะคิดถึงเสียอีก ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาและก้าวให้พ้นเรื่องทักษิณ จงมองทักษิณให้เป็นคนไม่ใช่ปีศาจ!!

ปีศาจทักษิณ เข้มแข็งด้วยความอ่อนแอของฝ่ายตรงข้าม - ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ
ปีศาจทักษิณ เข้มแข็งด้วยความอ่อนแอของฝ่ายตรงข้าม – ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ


ที่มา:Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////// 

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จาตุรนต์. งง-ตีความคำวินิจฉัยศาลรธน. แก้รายมาตราใช้เวลา 10 ปี !!?

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวหลังจากการวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้หารือกัน แต่เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความสับสน เนื่องจากบอกว่ายกคำร้องเพราะไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ไม่สามารถแก้ทั้งฉบับได้ ให้ลงประชามติก่อน ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจใดในการวินิจฉัย

ดังนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นกึ่งความเห็นกึ่งคำวินิจฉัย แต่ปัญหาที่จะเกิดต่อไป คือ ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงได้ และศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานว่ามีอำนาจตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภาได้ ซึ่งการวินิจฉัยว่าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ ไม่มีการระบุในรัฐธรรมนูญ คงเป็นเรื่องที่รัฐสภาและคนที่เกี่ยวข้องต้องไปพิจารณาต่อว่าจะลงมติวาระ 3 อย่างไร หรือจะต้องทำประชามติก่อน และต้องคิดว่าการลงประชามติต้องใช้กฎหมายใดรับรอง อย่างไรก็ตามการจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรต้องมาตีความคำวินิจฉัยกันอีกครั้ง

นายจาตุรนต์ยังเห็นว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ใช้เวลา 10 ปี ก็ไม่เสร็จ เพราะพรรคประชาธิปัตย์จะอภิปรายทุกมาตรา ฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญแต่ละหมวดซึ่งมีหลายมาตรา จึงใช้เวลานานมาก

ที่มา:มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วรเจตน์. ชี้ตรรกะในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญขัดกันเอง !!?

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวี ชี้ตรรกะในคำวินิจฉัยขัดกันเอง ระบุเรื่องนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแต่ต้น เพราะเป็นการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา


(แฟ้มภาพ: ประชาไท)

13 ก.ค. 55 หลังจากการอ่านคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วอยซ์ทีวีได้ทำการสัมภาษณ์อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ต่อประเด็นการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดย อ.วรเจตน์ ชี้ว่าตรรกะในคำวินิจฉันขัดกันเอง โดยระบุว่ามีความเห็นแต่แรกแล้วว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแต่ต้น เพราะนี่เป็นการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา
“ไม่ต้องพูดเรื่องต้องผ่านอัยการหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการใช้อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำได้”

“เพราะไม่เช่นนั้น ต่อจากนี้ไป หากองค์กรของรัฐทำอะไรก็ตาม ก็จะมีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เองและไม่มีผลผูกพันองค์กรใดๆ ของรัฐ แต่ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐสภาไม่ได้ยืนยันอำนาจของตัวเองในการลงประชามติผ่านวาระสาม”

อ.วรเจตน์ ให้ความเห็นต่อไปว่า ในการวินิจฉัยว่าถ้าแก้ทั้งฉบับต้องลงประชามติก่อนนั้น ศาลพูดแต่เพียงว่า "ควรจะประชามติ" ก่อน เพราะศาลก็รู้ว่าไม่มีบทบัญญัติที่ไหนเลยที่บอกว่าถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทังฉบับนั้นต้องลงประชามติ และแม้จะมีการยกร่างฯ ใหม่ ก็ต้องลงประชามติอยู่ดี และประชาชนก็จะมีโอกาสเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญเก่า กับร่างฯ ใหม่แต่ถ้าประชามติไปถามเฉยๆ ว่าจะแก้หรือไม่นั้นไม่เกิดประโยชน์เสียงบประมาณเปล่าๆ นี่เป็นการยกขึ้นมาโดยศาลเองโดยไม่มีอำนาจ

ส่วนประเด็นสุดท้าย เรื่องการไม่ล้มล้างการปกครองฯ นั้น อ.วรเจตน์ ระบุว่าเหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญ จะบอกว่าถ้าแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ ถ้าทำต้องแก้รายมาตรา ถ้าบอกว่าแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ แต่ศาลก็ไม่ได้บอกว่า แก้ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองหรือเปล่า ตรรกะของศาลเป็นปัญหาในตัวเอง

ที่มา.ประชาไท
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////