--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิถีแห่งภราดรภาพไขปัญหาความขัดแย้ง

เรื่องของความขัดแย้งในสังคมไทย ณ ขณะนี้แม้จะดูเป็นเรื่องที่มีประเด็นรองมาจากปัญหาปากท้องของคนไทยแต่ก็ยังถือเป็นปัญหา ใหญ่ ที่ทุกภาคฝ่ายต้องช่วยกันเร่งสะสาง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศต่อไป

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน รำลึก 112 ปี ปรีดี โดยมีการจัดงานอย่างสมเกียรติแต่ในส่วนที่ น่าสนใจเห็นจะอยู่ที่การเสวนา เรื่อง “ปรีดี พนมยงค์ กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ” ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับปัญหาในปัจจุบัน งานนี้มี ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และรศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ให้ความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงความขัดแย้งว่า เป็นสภาวะปกติของสรรพสิ่งและสังคม ทุกสังคมมีความขัดแย้งทั้งสิ้น ซึ่งหากเรามองความ ขัดแย้งในทรรศนะที่เป็นบวก ความขัดแย้งจะนำมาซึ่งพัฒนาการ ที่จะดีขึ้นหรือแย่หรือจะไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นในระบบสังคมและเศรษฐกิจแล้วแต่ความขัดแย้งนั้น

ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า แนวคิดอย่างหนึ่งคือแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ที่ถือว่า เป็นระบบแบบสังคมนิยมอ่อนๆ ที่เคารพเสรีภาพในการประกอบ การด้วย แต่ทั้งนี้แนวคิดที่สำคัญคือ สัทธิโซลิดาริสม์ หรือ ภราดรภาพนิยม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหลักพุทธศาสนากับมนุษยธรรม

“หลักภราดรภาพมีรากฐานทางความคิดที่มีอิทธิพลจากความคิดในสังคมนิยมโดยรัฐในรูปแบบหนึ่ง หรือแนวความคิดแบบ รัฐสวัสดิการ ซึ่งความคิดนี้ในทางการเมืองจะช่วยให้การเผชิญหน้าและความขัดแย้งลดลง นั่นเพราะทุกคนจะมองว่า เราทุกคน เป็นพี่น้องกันในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมในทุกวันนี้ ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน” ดร.อนุสรณ์ กล่าวและว่าแนวคิดนี้จะสามารถนำมาแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ เนื่องจากสอดคล้องกับกฎแห่งธรรมชาติ แสดงให้เห็นชัดว่า การกระทำของแต่ละคนนั้น จะมีผลกระทบทั้งในแง่ร้ายและแง่ดีให้กับคน ในทุกสังคม

ทั้งนี้ ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันและอนาคตว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์แบบ ฉะนั้นการเมืองในอนาคตต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะมีเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของโครงสร้างทั้งหมดในสังคม ทั้งนี้หากในอนาคตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้สังคมไทยเปลี่ยนก็จะส่งผลให้กลุ่มอนุรักษนิยมนั้นออกมาต่อต้านความเปลี่ยนแปลงจนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้อีก ซึ่งเหล่านี้นำมาสู่การเรียกร้องการมีผู้นำที่เสียสละ และสามารถที่จะประนีประนอมในสิ่งที่สามารถทำได้

“หวังว่าชนชั้นผู้นำจะตระหนักว่าทุกอย่างนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างมีพลวัต ดังนั้นแล้วในอนาคตการจะทำอะไรต้องวิเคราะห์ แบบมีพลวัต ซึ่งต้องมีการปฏิรูป ในหลายประเทศนั้นที่เกิดการปฏิวัติจนนำไปสู่ความรุนแรงก็เนื่องมาจากชนชั้น ไม่นำไปปฏิรูปหรือปฏิรูปช้า ทั้งนี้มองว่า สังคมจะหาทางออกได้ดีกว่าสังคมอื่น เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมพุทธ และความเข้าใจในความอนิจจัง ของบ้านเมือง และเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้”

ด้านนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความขัดแย้งถือว่าเป็นเรื่องปกติและสังคมต้องเรียนรู้กับความขัดแย้งดังกล่าวนั้น สำหรับในสมัย ที่นายปรีดีมีชีวิตอยู่ก็ได้เผชิญหน้าและมีส่วนเกี่ยวข้องจนไปถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหลายครั้ง เช่น ก่อนการเปลี่ยนการปกครองพ.ศ.2475 เหตุการณ์กบฏบวรเดช การเสนอเค้าโครง เศรษฐกิจ ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ซึ่งทุกความ ขัดแย้งนายปรีดีสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการยึดหลัก 4 แนวทาง คือ เสียสละ ประนีประนอม ปล่อยวาง ใช้กฎหมาย

“ความขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยอาจารย์ปรีดี คือ การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเวลานั้นไม่ผ่านการพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดความผิดหวังเป็นอย่างมาก แต่นายปรีดีก็ไม่เคยคิดจะแตกหักกับคณะราษฎรโดยเลือกใช้วิธีปล่อยวางเพราะเห็นว่าเมื่อได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วแต่ไม่สำเร็จก็ต้องปล่อยวาง เพื่อไปทำงานอย่างอื่นแทน” นายนครินทร์ กล่าว

นายนครินทร์ กล่าวว่า ที่สำคัญนายปรีดีถือเป็นแบบอย่าง สำคัญการเสียสละทั้งชีวิตครอบครัว และชีวิตส่วนบุคคลเพื่อต้องการไม่ให้เกิดความวุ่นวายกับประเทศ โดยเฉพาะกรณีกบฏวังหลวงพ.ศ.2492 นายปรีดีตัดสินใจลี้ภัยในต่างประเทศเพื่อให้ประเทศเกิดความสงบและถึงแม้ในเวลาต่อมานายปรีดีจะสามารถ เลือกเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้ แต่นายปรีดีก็ไม่ทำ เพราะเวลาเกิดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกแยกอยู่ นายปรีดี จึงคิดว่าถ้ากลับไทยแล้วจะเกิดปัญหาจะไม่ขอกลับมาโดยขอเลือก ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศแทน

“มีคำถามว่าสังคมไทยจะสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้หรือไม่ ยอมรับว่าส่วนตัวยังคิดไม่ออกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากสังคมไทยมักศึกษาและพูดคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์เพียงแค่เป็นเรื่องสนุกปากเท่านั้น ไม่เคยคิดนำมาเป็นบทเรียนแต่อย่างใด” นายนครินทร์ กล่าว

จากแนวคิดภราดรภาพนิยม ของ อ.ปรีดี ที่ดร.อนุสรณ์ ยกขึ้นมาว่า เราทุกคนเป็นพี่น้องกันในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม น่าสามารถนำมาแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ ทำให้สอดรับกับข้อเสนอของ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ทำข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกฎหมายการก่อการร้าย โดยระบุว่า เป็นหนึ่งในหนทางที่นำไปสู่ความปรองดองได้ เนื่องจากเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญา กรณีความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายเกิดขึ้นในระบบกฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา 2546 ซึ่งถือเป็นการไม่เคารพเสียงข้างน้อยในรัฐสภา ทำให้ส่งผลกระทบต่อการนำมาใช้ในปัจจุบันที่มีการดำเนินคดีในลักษณะเหวี่ยงแห ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

ดังนั้น คอป. ขอเสนอให้รัฐบาล รัฐสภาฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มแสดงความกล้าหาญทางการเมืองโดยร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1/1 ความผิดเกี่ยวกับ การก่อการร้าย เพื่อจะได้กลับไปสู่การเริ่มต้นที่ดีใหม่ พร้อม ยืนยันว่า เมื่อภาคการเมืองทุกฝ่ายดำเนินการยกเลิกความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้ายแล้วจะทำให้เงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วย กรณีดังกล่าวจะทำให้คดีความที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนเจ้าพนักงานเป็นอันยุติลง สำหรับคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น ก็จะยุติลงโดยศาลจะสั่งให้จำหน่ายคดีไป การยกเลิกกฎหมายครั้งนี้ถือเป็น การใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการบัญญัติฐานความผิดก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญาภายหน้าก็สามารถทำได้ โดย ดำเนินการผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายยังมีนัยยะสำคัญต่อการขอโทษประชาชนในความ ผิดพลาดในอดีตซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของการสร้างความ ปรองดองในประเทศด้วย

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วิวาทะร้อน ตั๊ก-บงกช ไร้กึ๋นอคติทางความคิด !!?

เวรกรรมของ..อากง! กลายเป็น “วิวาทะร้อน” ในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และยิ่งทำให้สังคมไทยอยู่ในภาวะ “แก้วที่แตกร้าว” ภายหลัง “ตั๊ก-บงกช คงมาลัย” นางเอกสาวทรงโต.. ได้โพสต์ ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เหยียบย่ำการเสียชีวิตของ “อากง” จนมีการขยายผลเป็น “ความ ขัดแย้ง” และในที่สุดประเด็นนี้ ได้ขยายวงไปสู่โลกแห่งความ จริง

เมื่อคนกลุ่มใหญ่กว่า 30 คนในเมือง พัทยา ได้รวมตัวกันขับไล่ “ตั๊ก-บงกช” ที่เดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพราะยัง “ขัดข้องหมองใจ..” กับ การที่ “ดาราสาว” ไปโพสต์ข้อความหยามเหยียดกรณีการเสียชีวิตของ “อากง” โดยมีเนื้อความว่า...

“เวรกรรมอากง แต่อากงไม่อยู่ก็ดีนะคะ แผ่นดินจะได้ดีขึ้น จริงๆ แผ่นดินก็ดี อยู่แล้ว จะได้ดียิ่งขึ้น ถึงฉันจะเปิดนม เปิด อะไร หรือมีชื่อเสียงไม่ดี หรืออะไรก็ตามที่คุณสรรหามาด่า..แต่ฉันก็ไม่โง่ แล้วทำไม คุณกล้าสู้เพื่ออากง แล้วเมื่อไรคุณจะตาย คะ จะได้ไปช่วยอากงในนรก เพราะอากง คุณตกนรกแน่ จากกรรมที่หมิ่นพ่อของฉัน คุณรักอากง ฉันก็รักครอบครัวพ่อของฉัน ทำไมเหรอ..” เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ! ที่เวลานี้ “อากง” หรือนายอำพล ตั้งนพกุล เหยื่อมาตราร้อน 112 ที่เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในคดี หมิ่นเบื้องสูง กำลังถูกดึงมาเป็น “เหยื่อของคนเป็น” เพราะแทนที่สังคมไทยจะรู้จักอโหสิกรรมให้แก่กัน ทว่าได้มีคนบางกลุ่ม..บางคน ออกมาแช่งชักหักกระดูกคน ที่ตายไปแล้วอย่างเสียๆ หายๆ...

“เกษียร เตชะพีระ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ล่อแหลมนี้ 2 ข้อความ

โดยข้อความแรก เป็นการเขียนถึง “ตั๊ก บงกช” ว่า...การแสดงความรักที่ไม่กอปรด้วยปัญญาและความเข้าใจ อาจทำร้ายผู้อื่นที่เจ็บปวดอยู่แล้วได้ ด้วยความ เขลาและขาดความรับผิดชอบ การทำด้วย ความรัก โดยตัวมันเองไม่ผิด แต่สิ่งที่ทำนั้น หากขาดความรู้ความเข้าใจที่รอบคอบรัดกุมรองรับ ก็อาจกลายเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมทำร้ายผู้อื่นที่เจ็บปวดสูญเสียอยู่แล้วให้เขาเสียใจยิ่งขึ้นได้ ลองคิดถึงกรณีทำนองเดียวกันแล้วมีคนมาโพสต์ด้วยน้ำเสียง เลือดเย็นคล้ายๆ กันกับการจากไปของน้อง โบว์ดู แล้วญาติมิตรของเธอจะรู้สึกอย่างไร? มันถูกต้องหรือไม่? เป็นสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ควรทำต่อกันหรือไม่? เนื้อความที่ “อาจารย์เกษียร” ได้โพสต์ ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงตระหนัก เป็นการเตือนให้ผู้ที่กำลังตกอยู่ท่ามกลาง “ความขัดแย้งทางความคิด”..ได้สติ!!

ยิ่งเมื่อเทียบกับ “วิวาทะร้อน!” ของตั๊ก-บงกช กับคำถามของ “โด่ง-อรรถชัย อนันตเมฆ” ในจดหมายหัวข้อ “ตั๊ก..คงไม่รู้!” ที่ระบุไว้บางส่วนว่า.. ไม่ใช่เรื่องผิดที่ “ตั๊ก” จะแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์?! นอกจากนี้ ยังมีความคิดที่ยังไม่เข้าใจเรื่องราว และสิ่งที่ได้ทำไปนั้น เป็นเพราะความไม่รู้..ที่ไม่รู้เพราะ “ไม่ฟัง!” และการ ไม่ฟังอาจเกิดจากอคติ! แท้จริงแล้วประเด็น ของ “อากง” มันเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่า..อากงผิดจริงหรือไม่! ไม่ใช่เรื่อง “หมิ่นสถาบัน” อย่างที่ตั๊กเข้าใจ!!!

เช่นเดียวกับอีกข้อความหนึ่งที่ “เกษียร เตชะพีระ” เขียนถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวขับไล่ “ตั๊ก” โดยชี้ว่า..การ ขับไล่ยังไม่สะใจเท่ากับสามารถดึงตั๊ก และ คนอื่นๆ ให้เปลี่ยนใจมาเห็นใจอากง

กูรูด้านรัฐศาสตร์ยังระบุอีกว่า “งาน การเมืองคืองานหาพวก ปฏิบัติการบางอย่างพอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมจึงทำและก็อาจสะใจสาสมกับความรู้สึกโกรธแค้น แต่ เปลี่ยนใจคนดู และตั๊กไม่ได้ มีแต่ทำให้โกรธ และกลัว แต่หากทำให้ตั๊กและคนดูทั่วไปเปลี่ยนจิตสำนึก และกลับใจ โดยหันมาเห็นใจ และเข้าใจอากง...นั่นแหละคือชัยชนะอย่าง แท้จริง! เป็นชัยชนะที่น่าภาคภูมิใจมากกว่า ชัยชนะที่ได้มาจากการบีบบังคับให้ผู้ใดเห็นพ้องตามตัวเอง”

ทั้งหมดนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า... ความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้น มีเหตุแห่งความไม่เข้าใจกันและกันปะปนกันอยู่มาก! ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในเวลานี้ ก็คือเหนี่ยวรั้งสติกลับคืน แล้วร่วมกันแสวงหา ความจริงให้ได้เสียก่อน

ฉะนั้นแล้ว อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล หรือปล่อยให้ความคิดมาบดบังข้อเท็จจริง กระทั่งไม่สนใจความรู้สึกอ่อนไหวของผู้คนในสังคม!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศาลยกไม่รับฟ้อง จำลอง ฟ้องหมิ่น จตุพร !!?

ศาลอาญายกไม่รับฟ้อง'จำลอง' ฟ้องหมิ่น 'จตุพร' แถลงโต้พธม.เรียกคนชุมนุมค้าน MOUไทย-เขมร

17 พ.ค.55 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่ง ในคดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 6 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. พร้อมพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 , พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย.53 นายจตุพร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ทำนองว่า โจทก์ทั้งหก ร่วมกับทหารบางกลุ่ม ใช้บันทึก MOU 43 ปลุกกระแสชาตินิยม และออกมาชุมนุมเพื่อสร้างความวุ่นวาย โดยมีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ลงในเว็บไซต์ และลงพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ทั้งนี้ โดยศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็น สส.และแกนนำ นปช. ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวสัมภาษณ์และจำเลยที่ 2 นำไปตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ มีลักษณะเป็นการโต้ตอบทางการเมืองโดยทั่วไป ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่แต่ละฝ่ายจะต้องแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนด้วยการวิพากษ์วิจารณ์หรือติชมฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นวิถีการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

เมื่อโจทก์ทั้ง 6 เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเรื่องเขตแดนไทยและกัมพูชา บริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหาร จำเลยที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์และติชมเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ทั้งหก จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม

แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวว่า “ สร้างความวุ่นวายในประเทศ และรัฐบาลคุมสถานการณ์ไม่ได้” ก็เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ทั้งหก ที่เรียกร้องให้ประชาชนมาชุมนุมว่าเป็นการไม่สมควรเท่านั้น ส่วนข้อความที่ว่า “ เพื่อเปิดช่องให้ทหารยึดอำนาจ” ก็เป็นการกล่าวตามความเข้าใจของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงถือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นความผิด พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ ฯ พรบ.คอมพิวเตอร์ ฯ คดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา

ที่มา.คมชัดลึก
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ฮือฮา.ทักษิณ แตกหัก เสี่ยไพโรจน์ !!?

จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับคนสนิทที่ชื่อ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ แตกคอกันเสียแล้ว

ทั้งที่หลังจากทักษิณถูกรัฐประหาร ต้องหลบลี้หนีคดี ระเหเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ ก็มีไพโรจน์คนนี้เองที่ติดตามไปแทบทุกที่ คอยอยู่เป็นเพื่อน เอาใจใส่ดูแล ช่วยเหลือทุกอย่างในต่างแดน

ทว่า วันนี้ทั้งคู่กลับ "แตกหักกันสิ้นเชิง แบบไม่เผาผี" ทั้งที่ในยามทุกข์ยาก ทั้งคู่แทบเหมือนเงาตามตัวกัน ไปไหนไปกัน ทำอะไรทำด้วยกัน กินอะไรกินด้วยกัน หรือแม้แต่นอนไหนก็นอนด้วยกัน แต่วันนี้ เหตุไฉนสัมพันธ์ทั้งคู่ถึงได้ขาดกันอย่างไม่มีเยื่อใย

ย้อนอดีตของทั้งคู่ กลับไปในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไพโรจน์ ประสบความยากลำบากในชีวิต กลายเป็นบุคคลล้มละลายตามคำฟ้องของบริษัทเงินทุน สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) แต่ไม่นานนัก กลับพลิกสถานการณ์ได้ชนิดหลังมือเป็นหน้ามือ เมื่อรับเป็น "นายหน้าขายอีลิทการ์ด" ให้กับรัฐบาลทักษิณ

โดยได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากนักธุรกิจมหาเศรษฐีคนหนึ่ง และเดินทางเข้าออกเพื่อติดต่อธุรกิจนอกประเทศเป็นว่าเล่น กระทั่งต่อมา เปิดบริษัทติดต่อทำธุรกิจในอังกฤษและดูไบ

ระหว่างที่ทักษิณหนีไปอยู่ที่อังกฤษ และเริ่มทำธุรกิจซื้อสโมสรฟุตบอลและทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไพโรจน์ ซึ่งมีธุรกิจในต่างประเทศอยู่แล้ว ได้อาสาเข้าไปช่วยเหลือ ช่วยประสานผลประโยชน์ทุกๆ เรื่อง รวมถึงติดต่อจัดการให้ทักษิณได้ไปอาศัยอยู่ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมวิ่งเต้นซื้อบ้านที่ดูไบให้ด้วย ก่อนจะร่วมกันทำธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในดูไบด้วยกัน แต่แล้วธุรกิจนี้ ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ไพโรจน์ ยังดูแลจัดการทุกอย่างให้ทักษิณ แม้กระทั่งเรื่อง "สัญชาติมอนเตเนโกร" ไพโรจน์ ก็วิ่งเต้นไปหาเพื่อนที่ทำธุรกิจเดินเรือในตุรกี ซึ่งมีสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองทรงอิทธิพลในมอนเตเนโกร จนสามารถช่วยให้ทักษิณได้เป็นพลเมืองชาวมอนเตเนโกร เพื่อให้สามารถใช้พาสปอร์ตเข้าออกประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของความสนิทสนมของสองคน

ความสนิทจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ที่นำไปสู่การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยกันในเบื้องต้นก็จริง แต่ปมแตกหักของทั้งคู่ก็มาจากธุรกิจร่วมกันของทั้งคู่ในอังกฤษและดูไบเช่นกัน ว่ากันว่า เพราะเงินที่ได้จากธุรกิจไม่ถึงมือทักษิณ แต่ถูกนำไปใช้ในการเก็งกำไรสินทรัพย์ตัวอื่นๆ จนในที่สุด ก็ไปไม่รอด เมื่อมีเรื่องค้างคาใจจากปัญหา "เงินล่องหน" แล้วหามาใช้คืนไม่ได้ ซึ่งทำให้ทักษิณมีความรู้สึกไม่ไว้ใจไพโรจน์นับแต่นั้นมา

เสียงร่ำลือเรื่องทักษิณไม่เอาไพโรจน์ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นออกปากฝากไปกับทุกคนที่บินไปหา ทำนองว่า "ไม่มีอะไร ไม่เอาแล้ว" สัญญาณอย่างนี้ เรียกว่าแตกหักกันแล้วก็ว่าได้

กระทั่ง ล่าสุด เมื่อทักษิณบินเข้าอังกฤษ ไปชมศึกแดงเดือด "แมนซิตี-แมนยูฯ" เมื่อทักษิณเห็นไพโรจน์แล้วถึงกับผงะเหมือน "เห็นผี" ที่หนีหัวซุกหัวซุน ไปทุกๆ สนามบิน แม้แต่จะกินกาแฟบังเอิญไปเจอกันยังต้องเปลี่ยนร้านหนี นี่คงเป็นการตอกย้ำว่าทั้งคู่ต่อไม่ติดแล้วจริงๆ

ระยะหลังมานี้ ทักษิณ บ่นกับคนรอบข้างเสมอ ว่า "ชีวิตนี้ไม่รู้ว่า (ไพโรจน์) จะต้องหนีไปอีกนานแค่ไหน ถ้าเป็นผี ก็หลอกแค่กลางคืน กลางวันหายไป แต่นี่มันเล่นหลอกหลอนทั้งกลางวันและกลางคืน"

ความจริงแล้ว เรื่องเหลี่ยมธุรกิจ น้อยนักที่ทักษิณจะเสียเชิง แต่งานนี้ น่าจะมีความพิเศษบางอย่าง ที่ทำให้ทักษิณต้องเรียนรู้ไปจนวันตาย...เมื่อสรุปความสัมพันธ์กับ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ คนเคยสนิทว่า "ผมกับเขาไม่มีอะไรต่อกันแล้ว"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้ว่า..สุดารัตน์ .....

จนถึงวันนี้...พรรคเพื่อไทย...ยังไม่มีการตัดสินใจจะส่งใครลงมาสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร...
พรรคเพื่อไทย...ไม่อยากจะพลาดในการเลือกตั้งในกรุงเทพ...จำนวนที่นั่งของผู้แทนราษฎร์ที่น้อยกว่าประชาธิปัตย์ครึ่งต่อครึ่ง...สร้างความลำบากใจให้กับการตัดสินใจ...จะส่งใครมาเป็นผู้ว่า...
มีผู้คนมากมายอาสา...แต่ไม่มีใครสักคนที่ทำให้แน่ใจ

หากจะมองไปให้ครบถ้วนกระบวนการและตอบได้ทุกคำถามสำหรับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น่าจะเป็นตัววางที่ดีที่สุด
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า...หากผู้สมัครของพรรคไม่ได้รับการสนับสนุนจากสุดารัตน์ และทีมงาน...โอกาสชนะก็จะเท่ากับศูนย์

ในอดีตมีการแข่งขันกันระหว่าง สมัคร สุนทรเวช ปวีณา หงสกุล และ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ครั้งนั้น สมัคร สุนทรเวช ชนะไปด้วยคะแนนเสียงล้านกว่า...ในขณะที่คะแนนเสียงของ สุดารัตน์ และ ปวีณา รวมกันก็เกือบ 1 ล้านเสียง
ปัจจุบันนี้...สมัคร สุนทรเวช ผู้ล่วงลับ...สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ ปวีณา หงสกุล...อยู่ในฟากฝ่ายเดียวกันทางการเมือง
คะแนนของประชาชนผู้สนับสนุนของคนทั้ง 3 เกือบ 2 ล้านคะแนนเสียง...ย่อมไม่ใช่คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์

เพียงครึ่งเดียวของคะแนนของคนทั้ง 3 รวมกัน...เก้าอี้ผู้ว่าฯ กรุงเทพ ก็จะกลับมาเป็นของผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย...และผู้ที่สมควรที่สุดในการชิงชัยกับประชาธิปัตย์ คือ...สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
เพราะ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ต้องการเสียงเพิ่มเพียง 4 แสนเสียง...จากคะแนนที่กองอยู่ 1 ล้าน 3 แสนเสียง...เพื่อจะมีคะแนน 1 ล้านเสียง

ในขณะที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์...จะต้องรักษาคะแนนเสียง 1 ล้านเสียงไว้ให้ได้...ซึ่งไม่ใช่ของง่ายสำหรับ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร...และยิ่งไม่ง่ายไปใหญ่ สำหรับผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์
และประชาธิปัตย์จะแพ้เด็ดขาด...หากส่งผู้สมัครที่ไม่ใช่ หม่อมสุขุมพันธุ์...และหม่อมสุขุมพันธุ์ ลงสู้ในฐานะผู้สมัครอิสระ
ถ้าเพื่อไทยตัดสินใจ...ก็แสดงความยินดีล่วงหน้ากับผู้ว่ากรุงเทพคนใหม่...สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

โดย.พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เพื่อไทย ตั้ง19โซน ดักทาง111คืนรัง !!?

เปิดชื่อ รมต.เพื่อไทยอาสารับผิดชอบ 19 โซน คาดสัปดาห์หน้าถกใหม่หลังหลายชื่อส.ส.สะท้อนยังผิดฝาผิดตัว

สำหรับการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทยใหม่โดยแบ่งเป็น 5 ภาค 19 โซนนั้น ประกอบด้วย 1.ภาคเหนือ 17 จังหวัด 3 โซน แบ่งเป็นโซนที่ 1 จำนวน 6 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพะเยา มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ โซน 2 จำนวน 6 จังหวัดคือ น่าน แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร มีนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลังเป็นผู้รับผิดชอบ และโซน 3 จำนวน 5 จังหวัดคือ นครสวรรค์ อุทัยธานี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพิจิตร มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบ

2.ภาคอีสาน 20 จังหวัด 6 โซน แบ่งเป็นโซนที่ 1 จำนวน 5 จังหวัดคือ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร มีนายศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ โซน 2 จำนวน 4 จังหวัดคือ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ มีนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ โซน 3 จำนวน 3 จังหวัดคือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา มีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ โซน 4 จำนวน 2 จังหวัดคือชัยภูมิ และขอนแก่นมีนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ โซน 5 จำนวน 3 จังหวัดคือ เลย หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ และโซน 6 จำนวน 3 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด มีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ

3.ภาคใต้ 14 จังหวัด 3 โซน แบ่งเป็นโซนที่ 1 จำนวน 4 จังหวัดคือ ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ มีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปู้รับผิดชอบ โซน 2 จำนวน 4 จังหวัดคือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง มีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ และโซน 3 จำนวน 6 จังหวัดคือ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ

4.ภาคกลาง 25 จังหวัด 4 โซน แบ่งเป็นโซนที่ 1 จำนวน 8 จังหวัดคือ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด มีพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบ โซน 2 จำนวน 7 จังหวัดคือ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบ โซน 3 จำนวน 7 จังหวัดคือ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี มีนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบ และโซน 4 จำนวน 3 จังหวัดคือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ

5.กทม. 33 เขต แบ่งเป็น 3 โซนคือ โซนที่ 1 กทม.ชั้นในมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ โซนที่ 2 กทม.ฝั่งตะวันออก มีน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้รับผิดชอบ และโซนที่ 3 กทม.ฝั่งธนบุรี มีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้คุมโซนทั้ง 19 โซนนั้น ในการประชุมพรรคเพื่อไทยสัปดาห์หน้าจะมีการนำมาหารือกันอีกครั้ง เพราะขณะนี้ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยหลายคนเริ่มสะท้อนความเห็นกลับมายังพรรคบ้างแล้วว่า รัฐมนตรีบางคนที่ได้รับมอบหมายให้ไปคุมโซนต่างๆ นั้น บางคนยังเหมือนผิดฝาผิดตัว โดยเฉพาะนายวรวัจน์ที่ส.ส.หลายคนสะท้อนความเห็นว่า นายวรวัจน์นั้นไม่ใช่คนพื้นที่ ดังนั้นอาจจะไม่รู้ถึงเบื้องลึกของปัญหาในพื้นที่ ไม่รู้วัฒนธรรมของคนใต้ในหลายเรื่อง ทั้งๆ ที่ปัญหาในภาคใต้นั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาทิ กรณีจ.ภูเก็ตที่มีการต่อต้านการตั้งหมูบ้านเสื้อแดงนั้น ควรจะเป็นคนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนใต้เข้าไปแก้ปัญหาจะได้ประโยชน์มากกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจกับส.ส.ในเบื้องต้นว่า รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับผิดชอบในโซนต่างๆ นั้นเป็นเพียงแค่การพูดคุยกันในเบื้องต้นเท่านั้นว่า รัฐมนตรีท่านไหนจะอาสารับผิดชอบในโซนไหนบ้าง แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ถือเป็นมติที่เป็นทางการแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีส.ส.หลายคนที่เสนอให้นายยงยุทธเข้ามาดูแลรับผิดชอบแทนนายวรวัจน์อีกด้วย โดยให้เหตุผลว่า แม้นายยงยุทธอาจจะต้องควบถึง 2 โซน แต่ในแต่ละโซนนั้นก็จะมีคณะกรรมการโซนที่คอยช่วยแบ่งเบางานให้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่มีการหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สำหรับการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทยซึ่งแบ่งเป็น 5 ภาค 19 โซนนั้น เกิดจากกลุ่มคนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หารือกันเพื่อเตรียมรองรับกรณีที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะกลับสู่สนามการเมือง เนื่องจากเกรงว่าอาจาจะมีการตั้งกลุ่มก๊วนหรือมุ้งของตัวเองขึ้นมาอีกเหมือนกับสมัยพรรคไทยรักไทย ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนเข้าไปดูแลในโซนย่อยเพื่อเป็นการป้องกันแกนนำหรือนายทุนใหญ่ที่จะเข้ามาครอบงำพรรคจนอาจจะสร้างอำนาจต่อรองกับพ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องโควตารัฐมนตรีได้

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การแบ่งโซนครั้งนี้มีหลายพื้นที่ที่รัฐมนตรีซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น แต่กลับต้องเข้าไปดูแลรับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้เข้าไปดูแลพื้นที่ฐานเสียงของตัวเอง อาทิ ภาคอีสาน โซน 1 จำนวน 5 จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหารนั้น มอบหมายให้นายศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการและส.ส.ร้อยเอ็ดเป็นผู้รับผิดชอบ โซน 2 จำนวน 4 จังหวัด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ มีนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข และส.ส.ชัยภูมิเป็นผู้รับผิดชอบ โซน 3 จำนวน 3 จังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา มีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ และส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้รับผิดชอบ ภาคใต้โซน 1 จำนวน 4 จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ มีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ และโซน 3 จำนวน 6 จังหวัดคือ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับภาคกลางโซน 4 จำนวน 3 จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การไปขับเคลื่อนนโยบายภาคใต้ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ส่วนที่มีการตั้งให้นายวรวัจน์เข้ามาดูแลโซนภาคใต้4จังหวัดอันดามันนั้น เรื่องนี้เคยมีคนค้านไปแล้วว่าไม่เหมาะ ส่วนตัวอยากให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคที่เป็นคนใต้เข้ามาดูแลในโซนนี้ด้วย เพราะภาคใต้ต่างกับภาคอื่น มีความละเอียดอ่อน ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ กลุ่มคนเสื้อแดงจะไปตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงที่จ.ภูเก็ต ก็ถูกคนบางกลุ่มมาล้อมต่อต้าน ซึ่งคนที่จะไปคุมโซนดังกล่าวได้นั้นต้องเข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจคนใต้ เพื่อจะได้ไปพูดคุยประสานไม่ให้เกิดปัญหา หากให้รัฐมนตรีบางคนที่ไม่ได้ชำนาญในพื้นที่มาพูดคุย หรือไม่เข้าใจในความละเอียดอ่อนก็อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ ทั้งนี้ รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับผิดชอบในโซนต่างๆ นั้นเป็นเพียงแค่การพูดคุยกันในเบื้องต้นเท่านั้นว่าจะอาสารับผิดชอบในโซนไหนบ้าง แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ถือเป็นมติที่เป็นทางการ

นอกจากนี้ ยังมีส.ส.หลายคนที่เสนอให้นายยงยุทธเข้ามาดูแลรับผิดชอบแทนนายวรวัจน์อีกด้วย โดยให้เหตุผลว่า แม้นายยงยุทธอาจจะต้องควบถึง 2 โซน แต่ในแต่ละโซนนั้นก็จะมีคณะกรรมการโซนที่คอยช่วยแบ่งเบางานให้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่มีการหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า การปรับโครงสร้างพรรคเป็น 5 ภาค 19 โซนนั้น ก็เพื่อต้องการกระจายอำนาจให้คนท้องถิ่นดูแลกันเอง ไม่ใช่เพื่อต้องการสลายมุ้งหรือเปิดช่องให้บ้านเลขที่ 111 เข้ามาบริหารในโซนนั้นๆ แต่หากใครมีความสามารถหรือชำนาญในพื้นที่จะมาดูแลบ้างก็ไม่เป็นอะไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการใหม่ อำนาจศูนย์กลางไม่ได้อยู่ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สั่งการได้หมดเหมือนที่เคยถูกกล่าวหา

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตอบทุกประเด็น : ศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำไมไทยไม่เป็นภาคี !!?

โดย:วรางคณา อุ๊ยนอก 

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ(ICC) ในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยกับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ” มีวิทยากรรวม 5 คน ได้แก่ วารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนายการกองกฎหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ, พนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.และนักกฎหมาย, ปิยบุตร แสงกนกนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุนัย จุลพงศธร สส.และประธานการกรรมาธิการฯ กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในช่วงเม.ย.- พ.ค. 53 ว่ามีการฆ่าประชาชนในที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการเมืองของไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว ดังนั้นจึงต้องหากติกามาคุ้มครองชีวิตคนไทย แต่กติกาในประเทศมีความซับซ้อนมาก จึงต้องหันมองต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเข้ามาศึกษาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้นายแพทย์เหวง โตจิราการ ก็ได้ล่ารายชื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 55 เพื่อขอให้พิจารณาธรรมนูญแห่งกรุงโรม มาตรา12 (3) ที่ใช้มติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการในคดีใดคดีหนึ่ง โดยไม่ได้มีเจตนาเอาผิดกับใคร แต่เพื่อลดทอนความรุนแรงลง เพราะแน่นอนว่าญาติผู้เสียชีวิตซึ่งมีจำนวนมาก ย่อมรู้สึกโกรธ ดังนั้นจึงต้องลดความรุนแรงทางจิตใจลง

ประเด็นการสัมมนามี 5 ข้อ ได้แก่
                                                                                                                         
1. ศาลICCคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

2. บทบาทอำนาจหน้าที่ ฐานความผิดกว้างขวางเพียงใด
           

3. เงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับการใช้เขตอำนาจศาลมีอะไรบ้าง
           

4. ผู้ที่เสียหายคือใคร และมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร การร้องทุกข์
กล่าวโทษ กระบวนการสืบสวน การพิจารณา การพิพากษา การอุทรหรือทบทวนคำพิพากษา
ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างภาคีสมาชิกต้องทำอย่างไร
           

5. การให้สัตยาบรรณของไทยมีผลดีหรือผลเสียในภาพรวมด้านใดบ้าง
1. ศาลอาญาระหว่างประเทศ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

วารุณีกล่าวว่าธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court: ICC) เป็นสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นจากการประชุม ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อจัดตั้งศาลที่มีลักษณะถาวรสำหรับพิจารณาความผิดของบุคคลธรรมดาที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงสูงสุด เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีในลักษณะนี้เป็นเพียงศาลเฉพาะ ธรรมนูญกรุงโรม ได้รับการรับรองเมื่อปี2541 โดยสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ160 ประเทศ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่1 ก.ค. 2545 ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมและได้ลงนามเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2543

การก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุดถูกปล่อยไปโดยไม่ได้รับการลงโทษ เป็นการยับยั้งการก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่อาจจะเกิดในอนาคต ส่งเสริมความยุติธรรมในระดับสากลและเสริมความยุติธรรมของรัฐภาคี

ปิยบุตรขยายความ ความหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ ว่าไม่ใช่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก การดำเนินคดีมุ่งไปที่ตัวคน ไม่ใช่รัฐกับรัฐ มีลักษณะพิเศษคือเป็นศาลถาวร ไม่เฉพาะเจาะจงกับคดีใดคดีหนึ่ง เป็นศาลเสริมอำนาจศาลภายในคือ ต้องให้มีกระบวนการยุติธรรมในประเทศก่อน และศาลอาญาระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพราะความสมัครใจของแต่ละรัฐเอง แม้ว่าจะลงนามแล้วแต่ก็ต้องให้สัตยาบรรณด้วยจึงจะมีผลใช้บังคับ ปัจจุบันมี 121 ประเทศ ที่ลงนามแล้ว และให้สัตยาบรรณแล้ว และมี 32 ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ ประเทศที่ลงแล้วถอนก็มีเช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ไม่ลง เช่น จีน อินเดีย

2. บทบาทอำนาจหน้าที่ ฐานความผิดกว้างขวางเพียงใด
วารุณีให้ข้อมูลว่า ความผิดที่ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจพิจารณาคดี ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่มีเขตอำนาจเหนืออาชญากรรมร้ายแรงที่สุด4ประเภท คือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

สำหรับอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน มีการประชุมทบทวนเพื่อกำหนดคำนิยาม องค์ประกอบความผิดและเงื่อนไขที่ให้ศาลใช้เขตอำนาจในภายหลัง คือเมื่อ 31พ.ค.- 11 มิ.ย. 2553 ที่ประเทศอูกันดา ซึ่งตามกำหนดต้องแก้ไขทบทวนธรรมนูญเมื่อครบ 7 ปีหลังจากที่ธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ผลการประชุม สามารถกำหนดคำนิยามและองค์ประกอบความผิดที่ค้างอยู่ได้ กำหนดเงื่อนไขที่ให้ศาลใช้เขตอำนาจ เพิ่มฐานความผิดย่อยเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามจากเดิมที่ได้กำหนดไว้แล้ว และเลื่อนเวลาสำหรับเขตอำนาจศาล

พนัสกล่าวว่านอกจากกรณีการฆ่าสังหาร การเอาคนไปลงโทษจำคุกก็เข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เพราะการดำเนินคดีไม่ได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ทำให้คนติดคุกจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผิดต่อมนุษยชาติซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นระบบ ในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ก็เข้าข่ายด้วย ถ้ามีการรับดำเนินคดี การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้มีความผิดแน่นอน

3. เงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับการใช้เขตอำนาจศาลมีอะไรบ้าง

วารุณีกล่าวถึงการใช้เขตอำนาจศาลว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจเฉพาะกับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คือวันที่1 ก.ค. 2545 ดังนั้นศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันดังกล่าว ส่วนรัฐที่เข้าเป็นภาคีภายหลังที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจใช้อำนาจได้เฉพาะกับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในประเทศที่เข้าเป็นภาคีนั้น


สำหรับเงื่อนไขการใช้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ การที่รัฐใดรัฐหนึ่งเข้าเป็นภาคีธรรมนูญถือเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในอาชญากรรม 4 ประเภท ที่กล่าวมา ศาลฯ อาจใช้เขตอำนาจ ตามกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

(1)เมื่อรัฐภาคีเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่อาชญากรรมถูกกระทำขึ้น หรือเป็นรัฐที่จดทะเบียนเรือหรืออากาศยานในกรณีที่อาชญากรรมกระทำขึ้นบนเรือหรืออากาศยาน
(2)รัฐภาคีนั้นเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม
(3)สำหรับรัฐที่ไม่ใช่ภาคี รัฐนั้นๆ อาจตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะกรณีได้ เมื่ออาชญากรรมกระทำขึ้นในดินแดนของตน บนเรือ หรืออากาศยานของตนหรือโดยคนชาติของตน ด้วยการส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียน และรัฐดังกล่าวต้องให้ความร่วมมือแก่ศาลโดยไม่ชักช้าและโดยไม่มีข้อยกเว้นใด

อย่างไรก็ตามศาลอาญาระหว่างประเทศมีฐานะเสริมอำนาจศาลภายในของรัฐภาคีเท่านั้น ดังนั้นก่อนอื่นเป็นหน้าที่ของรัฐภาคีที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับอาชญากรรมมากที่สุดจะต้องใช้อำนาจศาลภายในก่อน แต่เมื่อศาลภายในไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจพิจารณาคดี ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเข้ามาใช้เขตอำนาจเหนือคดีนั้นได้

วารุณีขยายความของคำว่าไม่สามารถและไม่สมัครใจว่า ไม่สามารถ(unable) หมายถึงรัฐไม่สามารถดำเนินกระบวนการยุติธรรมภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถใช้อำนาจตุลาการได้ เช่นในประเทศที่มีการสู้รบอย่างรุนแรง หรือเกิดอาชญากรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง รัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่สมัครใจ(unwilling) หมายถึงรัฐมีความมุ่งประสงค์ที่จะปกป้องผู้กระทำความผิด ทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้า ไม่เป็นอิสระหรือไม่เป็นกลาง แต่ศาลฯจะไม่รับพิจารณาในกรณีที่ ศาลในประเทศรับพิจารณาคดีอยู่ หรือคดีไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

ด้านปิยบุตร กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของธรรมนูญนี้ว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องสนธิสัญญามีว่า รัฐใดแม้ลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ ก็ห้ามกระทำการที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของธรรมนูญ เช่น หากประเทศไทยจะเขียนรัฐธรรมนูญว่า จะไม่ให้สัตยาบรรณกับธรรมนูญ ถือว่าทำไม่ได้ นั่นคือธรรมนูญยังไม่ผูกมัด แต่ก็ห้ามเขียนกฎหมายภายในต่อต้าน หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับธรรมนูญนี้
เงื่อนไขของการรับคำร้อง แบ่งตามเขตอำนาจดังนี้

1. เขตอำนาจในทางเวลา
สำหรับรัฐที่ลงนามและให้สัตยาบรรณแล้ว ธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่
1 ก.ค. 45 ไม่มีการย้อนหลัง และสำหรับรัฐที่ให้สัตยาบรรณหลังจากนั้น ธรรมนูญก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่หลังให้สัตยาบรรณ 60 วัน ดังนั้นสมติว่าประเทศไทยให้สัตยาบรรณวันนี้ ก็ไม่สามารถนำความผิดที่เกิดก่อนหน้านี้มาเข้าสู่ศาลฯได้
ในประเด็นนี้ปิยบุตรได้เสนอช่องทางการเอาผิดต่อผู้กระทำอาชญากรรมโดยที่ไม่ต้องให้สัตยาบรรณว่า รัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคี สามารถทำคำประกาศฝ่ายเดียวเพื่อยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีได้ ซึ่งมีประเทศที่ทำสำเร็จมาแล้ว คือ อูกันดา และไอวอรีโคสต์ ในกรณีไอวอรีโคสต์ไม่ได้ให้สัตยาบรรณ ก็ได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลในวันที่ 18 เม.ย. 46 แต่ขอยอมรับเขตอำนาจศาลตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 45 เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศจัดการกับความผิดที่เกิดก่อนหน้าการประกาศ หมายความว่าสามามารถถอยหลังกลับไปได้ แต่ถอยได้ไม่เกินวันที่ 1 ก.ค. 45 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะได้ลงนามกับธรรมนูญกรุงโรมไว้แล้ว

ทั้งนี้การประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลก็ไม่ได้หมายความว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาจัดการกับคดีได้ทันที แต่มีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก กระนั้นก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 คือ คณะรัฐมนตรีไม่ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่นายกรัฐมนตรีสามารถลงนามได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ พนัสเห็นว่า น่าจะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่าต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ เพราะการกระทำต่างๆ ต้องเข้าสู่สภา จึงต้องมีการทบทวนกันให้ถ่องแท้ว่าทำกันได้มากน้อยเพียงใด ส่วนการให้สัตยาบรรณก็น่าจะผ่านสภาไปได้ยากมาก

2. เขตอำนาจในทางเนื้อหา คือความผิด 4 ประเภทที่กล่าวมา

3. เขตอำนาจในทางพื้นที่ คือความผิดเกิดในดินแดนของรัฐภาคี

4. เขตอำนาจในทางบุคคล คือ ผู้ที่ถูกกล่าวหามีสัญชาติของรัฐภาคี

แต่เงื่อนไขสุดท้ายคือต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศทำหน้าที่ก่อน เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักอำนาจอธิปไตย และที่สำคัญต้องเป็นกรณีที่ร้ายแรงเพียงพอ ซึ่งสามารถดูได้จากเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเสียหาย และดูผู้เสียหายว่าได้รับความทุกข์ทรมานมากเพียงใด และสุดท้ายผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องไม่ถูกศาลพิพากษาซ้ำในการกระทำเดียวกัน

ในกรณีของซูดาน ประชาชนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม และจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งก็หมายความว่ารัฐไม่สมัครใจ(unwilling)ที่จะดำเนินคดี ฉะนั้นศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเข้ามาได้

เช่นเดียวกับพ.ร.บ.ปรองดอง ของไทยซึ่งจะมีการนิรโทษกรรมก็มีความชัดเจนว่า จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาดำเนินการกับนายอภิสิทธิ์ได้ ส่วนที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ก็อาจอาศัยช่องทางที่นายอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศภาคีให้จัดการได้ แต่เมื่อดูที่ตัวเลขของการร้องเรียน มีคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศมากกว่า 3000 คำร้อง แต่มีคดีอยู่ในศาลเพียงแค่ 15 คดี และมีเพียง 7 คดี ที่มีการสืบสวนสอบสวนอย่าง

เป็นทางการแล้ว และมีเพียง 1 คดีที่ตัดสินไปแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมากและการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องใช้เวลานาน
พนัสได้เสนอ ว่า ในกรณีการประกาศรับรองเขตอำนาจศาล น่าจะศึกษากรณีฮอนดูรัส ซึ่งมีการรัฐประหารและมีการประกาศภาวะฉุกเฉินคล้ายกับไทย คนที่ฝ่าฝืนการประกาศถูกจับไปเป็นพันคน แต่ส่วนใหญ่ถูกขังในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ 12ชั่วโมง มีการกระทำทารุณกรรมเกิดขึ้นไม่มาก การรัฐประหารมีความรุนแรงทำให้คนเสียชีวิตไป 20 คน ที่เจตนาฆ่าจริงๆ มีเพียง 8 คน นอกนั้นเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งแน่นอนว่าการสลายการชุมนุมของไทยรุนแรงกว่า

นอกจากนี้ปิยบุตรยังเสนอช่องทางในการร้องเรียน การถูกกระทำจากรัฐอีกช่องทางหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR) ที่ประเทศไทยลงนามไว้แล้ว มีการรับรองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ถ้าเอกชนเห็นว่ารัฐละเมิดสิทธิตัวเองก็จะร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำสหประชาชาติ แล้วจะมีการดำเนินการต่อไป หากเห็นว่ารัฐกระทำการขัดกับหลักสิทธิตามที่ระบุไว้ ก็จะมีการออกมาตรการ เช่น ให้แก้กฎหมายภายใน หรือชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการถูกดำเนินคดีตามาตรา112 ก็สามารถไปร้องเรียนได้ แต่ทุกกรณีจะร้องเรียนได้ต่อเมื่อรัฐได้ลงนามพิธีสารอีกฉบับหนึ่งที่เสริมขึ้นมา แต่ไทยยังไม่ได้ลง แต่ประชาชนสามารถกดดันให้รัฐบาลไปลงได้
4. ผู้ที่เสียหายคือใคร และมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร การร้องทุกข์กล่าวโทษ กระบวนการสืบสวน การพิจารณา การพิพากษา การอุทธรณ์หรือทบทวนคำพิพากษา ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างภาคีสมาชิกต้องทำอย่างไร
ในส่วนของการริเริ่มคดี วารุณีกล่าวว่ากำหนดให้ รัฐภาคี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เสนอต่ออัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศหรืออัยการเป็นผู้ริเริ่มคดีเองก็ได้ หลังจากนั้นก็จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศต่อไป โดยที่
           
- รัฐภาคี ต้องเสนอข้อมูลต่ออัยการ ให้เอกสารสนับสนุน มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
           
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เช่นตัวอย่างการสังหารประชาชนโดยรัฐบาลในเขตดาฟู เพราะมองว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลระหว่างปีค.ศ.2003-2008 กรณีนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้เสนอเรื่องต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ หลังจากตรวจสอบพยานหลักฐานสืบพยานผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 ปาก ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีค.ศ.2005
           
- อัยการเป็นผู้ริเริ่มคดีเอง โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรัฐ องค์กรสหประชาชาติ องค์การระหว่างรัฐบาลหรือองค์การที่ไม่ใช่รัฐบาลหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆที่น่าเชื่อถือ

เมื่ออัยการพิจารณาแล้วลงความเห็นว่ามีหลักฐานสมเหตุผลที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป หรือผู้เสียหายอาจยื่นคำให้การต่อองคณะพิจารณาคดีเบื้องต้นได้ เมื่อองค์คณะตุลาการพิจารณาคดีเบื้องต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลเหตุที่สมเหตุผลที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อและกรณีดังกล่าวดูเหมือนว่าจะอยู่ภายในเขตอำนาจศาล จึงจะอนุญาตให้อัยการเริ่มการสืบสวนสอบสวนได้ หากองค์คณะฯ ปฏิเสธคำร้องขอของอัยการที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ อัยการก็มีสิทธิ์ยื่นคำร้องในภายหลังได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่

เมื่ออัยการยื่นสืบสวนสอบสวนข้อมูลด้วยตัวเองและวิเคราะห์ความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับแล้วเห็นว่าข้อมูลนั้นไม่มีพื้นฐานที่สมเหตุผลสำหรับการสืบสวนสอบสวน อัยการจะต้องแจ้งแก่ผู้ให้ข้อมูลได้ทราบ แต่ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิ์อัยการในการพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม

สุดสงวน กล่าวถึงบุคคลที่สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้ ได้แก่ ผู้เสียหายหรือเหยื่อเอง องค์กรเอ็นจีโอ เช่น Human right watch และAmnesty หลังจากนั้นอัยการจะพิจารณาว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจหรือไม่ ต่อมาอัยการจะจะต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงพอหรือไม่ เช่นในกรณีของประเทศไทย 90 กว่าศพมากพอหรือไม่ ซึ่งไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องมีการตายเยอะๆ การสั่งฆ่าประชาชนเพียงคนเดียวก็ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ว ต่อมาอัยการจะสืบสวนสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจะยื่นหลักฐานทั้งหมดที่ควรจะดำเนินคดีไปที่หน่วยการพิจารณาคดีเบื้องต้น แล้วผู้พิพากษาจะพิจารณาสิ่งที่อัยการทำขึ้นมา ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะรับหรือปฏิเสธคดีก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจ โดยส่วนตัว สุดสงวนเชื่อว่าผู้พิพากษามีความเป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสียกับประเทศไทย และหากผู้พิพากษารับแล้วก็จะมีหมายจับไปยังบุคคลที่ต้องถูกดำเนินคดี ในระหว่างการสอบสวน ไม่สามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ และจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์ควบคุมประเทศเนเธอแลนด์ จนกระทั่งการพิจารณาคดีจนเสร็จ ในขั้นตอนก่อนการตัดสิน จะมีผู้พิพากษา 3 คนที่จะฟังกรณีและตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด หากผิดจะถูกจำคุกตามคำสั่ง

ผู้พิพากษาซึ่งอาจมากถึง 30 ปีหรือตลอดชีวิต แต่ไม่มีโทษประหารชีวิต
อย่างไรก็ตาม ICC ไม่มีคุกเป็นของตัวเอง ดังนั้นจะส่งนักโทษกลับไปยังประเทศสัญชาติ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของ ICC หากจำเลยถูกตัดสินว่าไม่ผิด ก็ไม่ได้หมายความว่าความผิดจบลง แต่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องได้อีก ซึ่งเมื่อถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกออกหมายจับแล้ว จำเลยยังอยู่ที่ประเทศสัญชาติของตน ICC ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุมตัว เว้นแต่บุคคลนั้นจะเดินทางออกนอกประเทศ แต่พนัสกล่าวว่าต้องไปดูในธรรมนูญภาค10 การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในข้อ103 ศาลจะต้องตั้งรับ ว่ารัฐใดซึ่งเป็นภาคสมาชิกจะสมัครรับเอานักโทษไป ส่วนเรื่องการจับกุม รัฐภาคีที่มีตัวผู้กระทำผิดอยู่ในพื้นที่ก็ต้องให้ความร่วมมือ ถ้าพบตัวผู้กระทำความผิดในรัฐใด รัฐก็ต้องส่งตัวให้กับศาล ไม่ว่ารัฐนั้นจะให้สัตยาบรรณแล้วหรือไม่ก็ตาม

พนัสให้ข้อมูลว่าโครงสร้างของศาลประกอบด้วยอัยการ 1 คน ผู้ช่วย 1 คน และผู้พิพากษาหรือตุลาการ รวม 18 คน โดยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาคดี ฝ่ายพิจารณาคดี และฝ่ายรับเรื่องอุทธรณ์ ซึ่งอัยการเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะกลั่นกรองว่าคดีมีมูลหรือไม่ ตรงนี้แตกต่างกับอัยการของไทย เพราะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและฟ้องคดีอยู่ในตัว ขั้นตอนที่ว่าจึงเป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างอัยการกับศาล ต่อเมื่ออัยการเห็นว่าคดีมีมูลจึงขอให้ฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาสอบสวนคดีนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่อัยการส่งมามีหลักฐานเพียงพอที่จะสอบสวน ศาลก็จะอนุมัติให้อัยการทำการสอบสวนได้ เมื่ออัยการสอบสวนแล้ว ก็จะได้ข้อสรุปว่าต้องเอาผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีหรือไม่ ถ้าสมควรก็ขอให้ศาลออกหมายเรียก โดยที่ศาลก็มีดุลพินิจคานกันอยู่ จะไม่ถูกผูกพันโดยการตัดสินหรือวินิจฉัยของขั้นตอนก่อนหน้า นี่คือระบบที่แตกต่างกับศาลไทย ดังนั้นการพิจารณาคดีแต่ละขั้นจึงมีความยุ่งยาก โดยเฉพาะข้อพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีหรือไม่

5. การให้สัตยาบรรณของไทยมีผลดีหรือผลเสียในภาพรวมด้านใดบ้าง
วารุณีชี้ว่าประเทศไทยลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ จึงยังไม่ได้เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม คณะกรรมการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดการประชุมแล้ว สรุปว่าหากประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรม ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้กำหนดฐานความผิด ครอบคลุมความผิดที่เป็นอาชญากรรม 4 ประเภทที่ระบุในธรรมนูญกรุงโรม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษ จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติส่งผู้ร่ายข้ามแดน พ.ศ.2542 ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 ต้องแก้ไขพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 เป็นต้น

“ตอบคำถามที่ว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่เข้าเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อ27 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญศาลนี้ ไม่ว่ากรณีใดและจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ นี่เป็นข้อติดขัดประการหนึ่ง ซึ่งหากไทยจะเข้าเป็นภาคี ก็จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อรองรับพันธกรณีตามข้อ27 ซึ่งไทยจะต้องคำนึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีสถานะพิเศษในบริบททางสังคม การเมืองและกฎหมายของไทย จะต้องมีการศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา”

แต่ในกรณีนี้ปิยบุตรเสนอว่า ธรรมนูญกรุงโรม ในมาตรา27เขียนไว้ว่า เอกสิทธิ์ความคุ้มกันต่างๆ ที่ให้กับประมุขของรัฐทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ให้เอามาใช้กับธรรมนูญกรุงโรม ประเทศไทยน่าจะกังวลเรื่องนี้ และน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ไม่ยอมให้สัตยาบรรณ แต่ใน 121 ประเทศที่ให้สัตยาบรรณไปมีหลายประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ และมีตัวบทเหมือนมาตรา 8 ของไทย คือองค์พระมหากษัตริย์ละเมิดมิได้ แต่หมายถึงว่า องค์พระมหากษัตริย์จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ว่าในทางใดๆ ทั้งวินัย แพ่งหรืออาญา ซึ่งไม่รวมถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ กระนั้นประเทศเหล่านี้ก็สามารถให้สัตยาบรรณได้ ไม่ว่าจะเป็น สเปน สวีเดน อังกฤษ เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น แต่ของไทยกลับยังเป็นปัญหา ทั้งที่ในความจริงแล้ว มาตรา 8 จะบังคับใช้ไม่ได้ในทันที แต่ต้องเข้าเงื่อนไขว่าพระมหากษัตริย์จะไม่กระทำการใดๆ ตามลำพัง คนที่กระทำและรับผิดชอบผลของการกระทำคือผู้รับสนองพระบรมราชองโองการ จึงไม่ต้องกังวลเลยว่าพระมหากษัตริย์จะถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะคนที่รับผิดชอบคือผู้ลงนามรับสนองฯ

ก่อนเข้าสู่การซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วารุณีกล่าวว่าในเร็วๆ นี้กระทรวงการต่างประเทศจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาตัวธรรมนูญกรุงโรมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาการเข้าเป็นภาคี โดยที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย มิใช่ของกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเดียว ต้องผ่านครม. รัฐสภา ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา190 โดยคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมนูญนี้และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป

ที่มา.ประชาไท
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ย้ายบ้าน !!?

เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ผู้ว่าการไฟฟ้าฯคนหนึ่งซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ ได้ทำเรื่องเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าแห่งนั้น แจ้งให้ทราบว่า...จะย้ายบ้าน จากบ้านที่เคยเป็นของตระกูลเก่าแก่ของตนไปอยู่ที่บ้านใหม่

ด้วยความสงสัย นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้มีการสืบสวนอย่างลับๆ ว่า...ทำไมท่านผู้ว่าจึงจะย้ายบ้าน เพราะฟังเรื่องที่เสนอมาแล้วมันรู้สึกพิกล

ผลการสืบสวนได้ความว่า...เรื่องย้ายบ้าน มันเกี่ยวพันกับการที่ท่านผู้ว่ามีเอกสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าทั้งหลายที่ “ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี”

และบังเอิญท่านผู้ว่าได้สร้างคอนโดมีเนียมขนาดมหึมาขึ้นหลังหนึ่งเพื่อให้ฝรั่งเช่า ท่านจึงคิดจะประหยัดค่าไฟฟ้าคอนโดมีเนียมดังกล่าวจึงทำเรื่องแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการย้ายบ้าน

เพราะเมื่อมีชื่อของท่านผู้ว่าอยู่ในคอนโดมีเนียมดังกล่าว มันก็ทำให้คอนโดมีเนียมหลังนั้นสามารถใช้ไฟฟ้าฟรี ไม่ต้องเสียสตางค์

สรุปแล้วก็เป็นเรื่องของคนที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น และมีความโลภอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด

ผิดกับคนไทยอีก 60 กว่าล้านคนที่ต้องมีชีวิตอยู่กับค่าไฟฟ้าด้วยความทรหดอดทนและหวานอมขมกลืน

โดยในขณะที่พนักงานการไฟฟ้ามีสิทธิ์ใช้ไฟฟรี แต่พวกเราจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้า คือยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงมากขึ้นเป็นขั้นบันใด

เดือนพฤษภาคมนี้พวกเราจะต้องเสียค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีกหน่วยละ 30 สตางค์ และอีกสามเดือนข้างหน้าก็จะต้องจ่ายแพงขึ้นอีกหน่วยละ 30 สตางค์ด้วย

พร้อมๆ กับที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่เรียกว่า “ก้าวหน้า”และค่าไฟฟ้าก็แพงขึ้นๆอย่างเดียว ไม่เคยมีการลดราคาลง

กำไรของการไฟฟ้า...ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและโรงฟฟ้าเอกชนที่ขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็มีกำไรมากมายถึงขั้นสะดือบวม

โดยการไฟฟ้าทั้งระบบมีกำไรรวมกันประมาณ 100,000 ล้านบาท

เงินโบนัสและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจึงสูงลิบลิ่ว ชวนให้พนักงานลูกจ้างในอุตสาหกรรมอื่นอิจฉาจนน้ำลายหก

ถ้าค่าไฟฟ้าของเราราคาไม่แพงเหมือนกับต่างประเทศที่เจริญแล้ว มันก็น่าจะทำให้ชาติบ้านเมืองของเราเจริญก้าวหน้าไปมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว

การผลิตทุกอย่างไม่ว่าการเกษตรหรืออุตสาหกรรมต่างๆจะสามารถพัฒนาไปได้อีกมากมาย

เป็นเรื่องที่ควรจะได้มีการทบทวนแก้ไข แต่อย่างว่านั่นแหละมันแทบจะมองไม่เห็นหนทางเลยว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไรสำหรับประเทศที่ได้ชื่อว่า “ไทยแลนด์แดนอภิสิทธิ์” แห่งนี้

เขียนถึงเรื่องนี้แล้วก็มีเรื่องที่นับเป็นข่าวดีของคนไทยมาบอกกล่าว นั่นคือเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นซึ่งเคยมีโรงไฟฟ้าปรมาณู 50 โรงก็ได้ปิดโรงไฟฟ้าปรมาณูที่ใช้มาแล้ว 42 ปีทั้งหมด

นับเป็นประเทศที่สองในโลกที่เลิกใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าปรมาณู

โดยประเทศแรกที่เลิกใช้ คือ เยอรมัน ปรากฎการณ์นี้น่าจะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งกระเหี้ยนกระหือรือจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูจำต้องคิดหนัก

อย่าลืมว่า...ญี่ปุ่นกับเยอรมันเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัยเข้มแข็งที่สุดในโลกแล้วระเบียบวินัยของเราเป็นอย่างไร

กลัวจะยิ่งกว่าเชอร์โนบิล

โดย.คนชายขอบ,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จี้ทบทวน ม.112 เร่งด่วนสอบหมอ-พยาบาลละเลยช่วยชีวิต อากง !!?

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลแถลงการณ์จี้รัฐบาลตั้งกรรมการสอบแพทย์ พยาบาลที่อาจละเลยช่วยชีวิต “อากง” ก่อนสิ้นลมหายใจ ให้รัฐสภาทบทวนการดำรงอยู่ของมาตรา 112 โดยด่วน และให้ฝ่ายตุลาการตรวจสอบผู้พิพากษาที่ใช้ดุลยพินิจเหนือหลักนิติธรรม “ลูกเสธ.แดง” จัดทำบุญครบรอบ 2 ปีพ่อถูกลอบสังหารโหด ระบุอย่าทำร้ายน้ำใจญาติผู้เสียชีวิตด้วยคำว่าปรองดอง ต้องไม่ละเลยค้นหาความจริงเพื่อเอาคนฆ่ามาลงโทษตามกฎหมาย ปชป. ชี้ยิ่งขยายหมู่บ้านเสื้อแดงยิ่งแตกแยก

ที่หน้าสำนักงานศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล (Declaration of Justice) ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและแนวร่วมคนเสื้อแดง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่องการเสียชีวิตของนักโทษการเมือง นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง”

แถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล อันเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวให้ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง ต้องการให้สถาบันหลักทั้งสามในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแสดงความรับผิดชอบดังต่อไปนี้

จี้สภาทบทวนมาตรา 112

สถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นต้นธารของการออกกฎหมาย มาตรา 112 อันเป็นเหตุให้ประชาชนเช่นนายอำพลถูกคุมขังโดยมิชอบ ต้องทบทวนถึงการคงอยู่ของกฎหมายมาตรานี้อย่างเร่งด่วนและซื่อตรงต่อประชาชน

สถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นเครื่องมือของการใช้ตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องตรวจสอบตุลาการที่ใช้ดุลยพินิจเฉพาะกิจอยู่เหนือหลักการนิติธรรมจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของประชาชน เพราะนอกจากไม่สามารถดำรงความยุติธรรมให้เกิดในสังคมไทยได้แล้ว ยังนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศในขั้นรุนแรงอีกด้วย

ต้องสอบหมอ-พยาบาล

สถาบันบริหาร ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการองค์กรของรัฐทุกองค์กรที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล ต้องตรวจสอบส่วนงานราชการที่มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการดูแลรักษาโรคของผู้ถูกคุมขัง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์ พยาบาลผู้ละเลยการให้การรักษาพยาบาลอย่างไร้จรรยาแพทย์โดยทันที

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจะติดตามการแก้ไขปัญหาของทุกสถาบันอย่างใกล้ชิด และจะเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกว่านักโทษการเมืองจะได้รับการปล่อยตัว และศักดิ์ศรีความเป็นคนของนักโทษการเมืองทั้งที่ได้วายชนม์แล้วและยังถูกคุมขังได้รับกลับคืนมา

เสื้อแดงพัทยาไล่ “ตั๊ก-บงกช”

ด้านกระแสความไม่พอใจดาราสาว “ตั๊ก-บงกช คงมาลัย” ของคนเสื้อแดงสืบเนื่องจากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อการเสียชีวิตของนายอำพล กลางดึกวันที่ 12 พ.ค. ผ่านมาขณะที่ดาราสาวไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ได้มีกลุ่มเสื้อแดงจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อขับไล่

ทั้งนี้ ฉากที่ดาราสาวกำลังถ่ายทำเป็นการนั่งรถมากับดาราฝรั่ง เมื่อคนเสื้อแดงเห็นจึงขี่จักรยานยนต์เข้าประกบและตะโกนขับไล่ ทำให้รถดาราสาวต้องขับหนีด้วยความเร็ว และกองถ่ายต้องยกเลิกกะทันหัน โดยตั๊กได้เปลี่ยนไปขึ้นรถตู้ที่ปั๊มก๊าซช่วงสุดเขตเมืองพัทยา จากนั้นทีมงานก็ขับออกไปทางอำเภอสัตหีบอย่างรวดเร็ว

ดาราสาวไม่ติดใจเอาผิด

ล่าสุดตั๊กให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยอมรับได้เพราะถือเป็นสิทธิในการแสดงออกของคนที่ไม่เห็นด้วย คงไม่แจ้งความดำเนินคดีกับใคร และจะกลับไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่พัทยาอีกครั้ง ซึ่งได้ประสานกับตำรวจให้เข้ามาดูแลความเรียบร้อยแล้ว

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนเสื้อแดงมักไม่ยอมรับคนที่มีความเห็นแตกต่าง ทั้งที่สิทธิการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน คนเสื้อแดงไม่มีสิทธิไปคุกคามใคร ขอเรียกร้องให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาปรามคนเหล่านี้และจับกุมดำเนินคดี และขอเตือนให้หยุดการขยายหมู่บ้านเสื้อแดง เพราะเป็นการขยายความแตกแยกให้กว้างขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มให้เกิดความรุนแรงรอบใหม่

ทำบุญครบรอบ 2 ปี “เสธ.แดง”

ที่บริเวณสวนลุมพินี (แยกศาลาแดง) น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.พรรคเพื่อไทย บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พร้อมคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งร่วมกันจัดงานรำลึกครบ 2 ปีการเสียชีวิตของ เสธ.แดงซึ่งถูกลอบยิงที่ศีรษะขณะมีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 โดยมีการทำบุญเลี้ยงเพลพระ 37 รูป และช่วงค่ำมีการจุดเทียนรำลึกพร้อมการปราศรัยของแกนนำคนเสื้อแดงบางส่วน

น.ส.ขัตติยาให้สัมภาษณ์ว่า แม้เวลาผ่านไป 2 ปีแล้วแต่ยังคิดถึงพ่อทุกวัน อยากให้กระบวนการยุติธรรมเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้

ย้ำต้องเอาคนฆ่ามาลงโทษ

“2 ปีผ่านไปดูเหมือนว่าสถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้น แต่กระบวนการค้นหาความจริงและการเอาคนผิดมาลงโทษไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จึงอยากวิงวอนให้ผู้ที่มีข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพ่อนำหลักฐานเหล่านั้นมารวมกันเพื่อให้มีความแน่นหนามากขึ้น จะได้เอาคนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพ่อมาลงโทษ”

น.ส.ขัตติยากล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไรกับการสร้างความปรองดอง เพราะการปรองดองเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลนี้ แต่อยากให้การสร้างความปรองดองเดินควบคู่ไปกับการค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

“เราต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต ซึ่งญาติๆของเขาทุกคนต่างอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นผู้กระทำ การสร้างความปรองดองจึงต้องเดินคู่ไปกับการค้นหาความจริง เพื่อไม่ให้เสียความรู้สึก จะได้มีความรู้สึกที่ดีๆด้วยกันทุกฝ่าย เมื่อความจริงปรากฏแล้วก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการ”


ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

**********************************************************************

เฟอร์กี้ยินดีแมนซิตี้ ข่มขวัญฤดูกาลหน้าแมนยูเอาคืน !!?

 

บีบีซีรายงานควันหลงการปิดฤดูกาลพรีเมียร์ลีก ด้วยการคว้าแชมป์สุดดราม่าของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในการพลิกเกมช่วงทดเวลาเจ็บ ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แชมป์เก่า พลาดทำสถิติคว้าแชมป์ลีกครั้งที่ 20 ไปอย่างฉิวเฉียด โดยสองทีมมีสกอร์เท่ากัน แต่ประตูรวมแมนซิตี้เยอะกว่า 8 ลูก

หลังเกม เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โค้ชใหญ่แมนยู กล่าวว่า "ในนามของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขอแสดงความยินดีกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ชนะแชมป์พรีเมียร์ลีก ลีกที่ไม่ง่ายเลยที่จะชนะ และใครที่ชนะได้ ก็สมควรแล้วกับตำแหน่ง เพราะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน"

อย่างไรก็ตาม เซอร์อเล็กซ์ไม่วายกล่าวข่มขวัญคู่ต่อสู้ร่วมเมืองด้วย ว่าฤดูกาลหน้าแมนยูจะกลับมาแกร่งกว่าเดิมเพื่อเอาคืนแมนซิตี้ให้ได้

"พวกเขา (ซิตี้) จะตั้งเป้าหมายไปต่ออย่างไรก็ได้ อย่างที่คุณคาดไว้ แต่ประวัติศาสตร์ของเรายังคงอยู่กับเราเสมอ เราไม่จำเป็นต้องวิตกเรื่องนี้ ผมคิดว่าเรามีประวัติศาสตร์ชัยชนะที่เปี่ยมล้น ดีกว่าใครๆ ทั้งนั้น พวกเขาคงต้องอาศัยเวลาเป็นศตวรรษหากจะสร้างประวัติศาสตร์มาถึงระดับของเราได้"

"สำหรับเรา ยังมีความท้าทายรออยู่ และเราก็เก่งในการเผชิญความท้าทายต่างๆ นักเตะผิดหวังมากก็จริง และคงไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่นไปได้ พวกเขาเล่นกับซันเดอร์แลนด์ได้ดีมาก เล่นฟุตบอลได้สวยงาม ถ้าไม่มีผู้รักษาประตูคนนี้ คงได้ซัก 6-7 ประตู ฟอร์มที่เล่นได้ดีขนาดนี้ทั้งที่อยู่ในภาวะกดดัน ทำได้สุดยอดอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ผมพอใจกับการเล่นของนักเตะในฤดูกาลนี้ และแต้ม 89 คะแนนก็ถือว่าดีมาก ดีพอจะคว้าแชมป์ได้ในหลายๆ ลีก"

เซอร์อเล็กซ์ กล่าวด้วยว่า จะใช้ความผิดหวังนี้มาเป็นพลังและประสบการณ์สำหรับฤดูกาลหน้า

"ประสบการณ์คือสิ่งที่ดีที่จะกระตุ้นให้คนเราฮึดสู้ แม้แต่ประสบการณ์ที่แย่ๆ ก็อาจนำความเด็ดเดี่ยวมาเสริมให้คุณได้ นักเตะของเราที่มีอยู่ นักเตะรุ่นใหม่ๆ คงจะนำไปใช้ได้ดี เพราะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมอยู่แล้ว การเสียแชมป์คงจะไม่ทำพวกเขาท้อแท้ ถึงพวกเขาจะไม่ชอบ แต่สุดท้ายแล้ว คุณต้องเดินหน้าต่อไป ต่อสู้กับอุปสรรค เพราะเราเก่งในเรื่องนี้"


ที่มา.ข่าวสดออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถอดรหัส : โมเดล 111 กระชับอำนาจรัฐ !!?

เข็มทิศการเมืองกำลังหวนคืนสู่จุดเดิม! เพราะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า กำหนดโทษ.. เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ของสมาชิกบ้าน “ตองหนึ่ง” จะถึงกาล-สิ้นสุด

เมื่อคุกการเมืองอยู่ในสภาพกรุแตก! หลังการปลดพันธนาการอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ที่นับถอยหลังรอเวลากลับสู่ยุทธจักรการเมืองอีกครั้ง...นั่นย่อมกลาย เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญ

คงยากจะปฏิเสธได้ว่า “สงครามการเมือง” ที่กินเวลายาวนานมาตลอดหลายขวบปี ได้กีดกันและขัดขวาง “ตัวจริง” ที่เคยอยู่แถวหน้าให้ถอยห่างออกไปจากวงการเมือง ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศไร้หัวไร้หาง! ในห้วงเวลาหนึ่ง จนขาดซึ่ง “มืออาชีพ” ที่จะเข้าไปบริหารประเทศ ตลอดจนการทำหน้าที่ของฝ่าย นิติบัญญัติ

ยิ่งอยู่ท่ามกลางปัญหารุมเร้าสารพัด! ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีล็อตใหญ่ก็เริ่มออกมาหนาหู โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะ มีการยกเครื่องทีมรัฐมนตรีในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ แม้ว่า “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ยังไร้ซึ่งท่าที หรือแบ่งรับแบ่งสู้กับการปรับขบวน “ครม.ยิ่งลักษณ์ 3” ให้เป็น..ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก! ของรัฐบาล หรือแม้การที่ “ทนายหน้าหอ-นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะบุคคลใกล้ชิด..ผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐนาวา จะยืนกรานว่า..ยังไม่ถึงเวลา!

แต่บนความเคลื่อนไหว “วงใน” กลับเป็นตรงกันข้าม เป็นเพราะชาวคณะตองหนึ่ง ล้วนมีโควตา หรือ “นอมินี” ของตัวเองอยู่ในรัฐบาล ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็อยากได้พวกมือเก๋า-เพดานบินสูง เข้ามาเสียบแทนพวกมือใหม่หัดขับ! ที่ทำให้ “ครม.ทักษิณส่วนหน้า” ตกอยู่ในสภาวะเพลี่ยงพล้ำ เท่ากับเป็น “จังหวะ” และ “โอกาสสำคัญ” ในการปฏิรูปภายใน เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บครั้งใหญ่ ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากทางการเมือง

กระนั้นแม้หลายฝ่ายจะมองว่า การปรับ ครม.รอบหน้า “ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง” ก็ตามที แต่เมื่อรัฐบาลกำลังกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ฉะนั้นการเอาคนบ้าน 111 เข้ามาแทน ก็อาจเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะเกือบหนึ่งขวบปีภายใต้ธงบริหารของ พรรคเพื่อไทย ยังไร้ซึ่ง “ผลงาน” ที่จะมาการันตีคุณภาพคับแก้วของรัฐบาลชุดนี้

เวลานี้รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายไปมากมาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาปากท้อง การขึ้นค่าแรง 300 บาท ...เงินเดือนคนจบ ป.ตรี 15,000 บาท ตลอดจนการรับจำนำข้าว ล่าสุดคือการ กดปุ่มลงทะเบียนพักหนี้เกษตรกรไม่เกิน 5 แสนบาท เช่นเดียวกับการเปิดศึกน้ำลายกับซีกฝ่ายค้านในสภา ทั้งเรื่องการเปิดหมาก “ปรองดอง” หรือการปลดล็อก มาตรา 291 เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550

ทว่า.. การขับเคลื่อนนโยบายก็ดำเนินไปแบบถูลู่ถูกัง! ไม่เป็น ไปตามเป้าหมายที่มีไว้พุ่งชน..! ของรัฐบาล โดยเฉพาะกระบวนการจัดการ และการหวังผล ได้ ซึ่งเป็น “จุดเด่น” ของระบอบทักษิณเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น การอธิบายความและการกำหนดนโยบายก็ยัง คงเป็นจุดอ่อน! หลายต่อหลายครั้ง แทนที่รัฐบาลจะเป็น “ฝ่ายรุก” กลับโดนฝ่ายค้านลูบหน้าปะจมูกกรีดใส่รัฐบาลจนตกอยู่ในความเพลี่ยงพล้ำ ที่สุดเลยต้องเป็นฝ่ายตั้งรับไปเสียอย่างนั้น ยิ่ง การอธิบายถึงผลงานของรัฐบาล เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน แทนที่จะเป็นเรื่อง “ง่าย” กลับยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะความดียังไม่ปรากฏ ผลงานรัฐบาลยังไร้ซึ่งความชัดเจน ที่สำคัญ ยังปรากฏว่า “แนวรับทางการเมือง” ก็เริ่มประสบปัญหา

แม้องค์ประกอบหลักของรัฐนาวา “ยิ่งลักษณ์” จะยังเป็นโมเดลเก่าเหมือนสมัยรัฐบาลไทยรักไทย คือมีนโยบายที่ดี ..ประชานิยมบานสะพรั่ง แถมยังมีกลไกที่ใช้การได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ “คนที่เข้ามาจัดการ” หรือก็คือคณะรัฐมนตรี ที่เวลานี้ยังเป็นเพียง “อะไหล่” หรือ “ตัวสำรอง!” ที่ถูกย้ำหัวตะปูว่า เป็นนักการเมืองแถวสอง-แถวสาม หรือพวกด้อยประสบการณ์ทางการเมืองนั่นเอง

ขณะเดียวกัน การปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ /3 ยังคงมีเงื่อนไข สำคัญคือ การรอดูท่าทีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่าย ค้าน ที่ประกาศจองกฐินทันทีในช่วงเปิดสมัยประชุมทั่วไป 1 ส.ค.นี้

เกมสับขาหลอก...เวียนเก้าอี้ดนตรีหนนี้! ดูเหมือนว่ายังต้อง รอทิศทางลมไปก่อน เพราะมีศึกซักฟอกคั่นไว้ตรงกลาง ซึ่งกลวิธีนี้ เคยใช้ได้ผลมาแล้วในรัฐบาลทักษิณ เพื่อลดแรงเสียดทานทางสังคม และทำให้พรรคฝ่ายค้านหัวหมุนในการเตรียมข้อมูลซักฟอก รัฐบาล เหนืออื่นใดเมื่อสถานการณ์ยังไม่สุกงอม! ขาใหญ่หลายคน ในกลุ่ม 111 ที่รอเวลาปลดแอกมา 5 ปีเต็ม คงต้องอดใจอีกสักระยะ เพื่อรอรับสัญญาณจากแดนไกล และให้สถานการณ์เข้าที่-เข้าทางมากกว่านี้

อย่างไรก็ดี “ขุนพลตัวหลัก” ในโควตาบ้าน “ตองหนึ่ง” ที่ยังมีโอกาสก้าวเดินบนถนนสายการเมืองในการปรับ ครม.รอบหน้า มีชื่อแคนดิเดตอย่างอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย “จาตุรนต์ ฉายแสง” บุคคลที่มีภาพของนักประชาธิปไตย และมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “ผู้มากบารมีแห่งรัฐนาวา” ซึ่งได้มีกระแสข่าวหนาหูว่า จะเข้าไปเสียบเก้าอี้ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ หรือจะ เป็น “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” มือกฎหมายชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ก็รอเวลาที่สุกงอมเข้ามานั่งเก้าอี้ใหญ่ในรัฐบาลเช่นกัน

ส่วนบุคคลเบื้องหลังอย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” และ “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” ก็น่าจะมาแชร์เก้าอี้เสนาบดีตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งก็มีแนวโน้มว่า “คีย์แมน” อย่าง “เฮียเพ้ง” ไม่แคล้วจองคิว “ว่าการคมนาคม” ไว้แล้ว! ด้าน “หมอมิ้ง-น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” หากไม่อยากเป็นบุคคลเบื้องหลังฉาก ก็น่าจะเปิดหน้าทวงเก้าอี้ใหญ่ในรัฐบาลเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกับหัวหมู่เสื้อแดงอย่าง “จตุพร พรหมพันธุ์” ยังมีคิวต้องลุ้นชะตากรรมทางการเมืองของตัวเอง หากมีคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ชี้ให้เขาต้องหมดจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.แล้ว ย่อมหมายความว่า “นายใหญ่” คงเป็นธุระในการจัดหาที่ยืนให้..เพื่อเป็นการตอบแทนและสยบกระแสฮือต้านจากคนเสื้อแดง โดยมีให้เลือก 2 เก้าอี้ คือ มท.2 หรือ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เสียบแทน “นลินี ทวีสิน” ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ “วราเทพ รัตนากร” อดีตขาประจำยุคทักษิณ ก็ถูกวางตัวโดย “เจ้าแม่วังบัวบาน” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งอาจเข้ามาคั่วเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจกระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง มีให้เลือก 2 ขา ... “คลัง” หรือ “พาณิชย์” โดยทั้งหมดล้วนเป็นขุนพลชั้น 26 แห่งศูนย์บัญชาการตึกชินวัตร ที่รอเวลาเปิดตัวครั้งใหม่ เพื่อใช้เป็น “ไพ่ใบสำคัญ” สยบการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “ขั้วตรงข้าม”

ด้านพรรคร่วมรัฐบาล ก็ชัดเจนแล้วว่า “สนธยา คุณปลื้ม” แกนนำพรรคพลังชน จะเข้ามายึดเก้าอี้นอมินีคืน หลังส่งภรรยาสุดเลิฟ “สุกุมล คุณปลื้ม” นั่ง รมว.กระทรวงวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ที่น่าจะมาแทนที่ “ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์” รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม

แน่นอนว่า หลังป่าช้าแตก! เกมการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ /3 น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในโมเดล “กระชับอำนาจ” นำไปสู่ การผลักดันนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งหนทางที่ “สั้น” และ “ง่าย”.. ที่สุด! คือการปลดปล่อยสมาชิก 111 เข้าไปสู่หมากกระดาน สำคัญ เพราะคนเหล่านี้ถือเป็น “มือเก๋า” ที่เจนจัดในสังเวียน การเมือง และมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัดในการบริหาร อำนาจรัฐมาแต่ครั้งอดีต!?!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไว้อาลัยอากง ลื้อกลับบ้านได้แล้ว..!!?

กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อย ตัวลื้อแล้ว..”

เป็นเสียงสะอื้น..ร่ำไห้จากภรรยาหลังการเสียชีวิตของ “อำพล ตั้งนพคุณ” หรือ “อากง-เอสเอ็มเอส” ...เหยื่อมาตรา ร้อน 112 จากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 20 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112
การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ “อากง” ได้ทำให้เรื่องของมาตรา 112 “ร้อน” ขึ้นมาอีก! โดยมีประชาชนใส่ชุดดำ ไปรวมตัวกันหน้าเรือนจำทันที ส่วนอีกกลุ่ม หนึ่งก็แต่งดำไปร่วมกิจกรรม.. จุดเทียนไว้อาลัยที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในวันที่ “อากง” เสียชีวิต... โดยมีกลุ่มนักวิชาการ และคนที่ให้การสนับสนุนแนวทาง “คณะนิติราษฎร์” พร้อมใจกันมาอย่างคับคั่ง!

ในวันเดียวกัน ได้มีการปราศรัยโดยนักกิจกรรม มีการอ่านจดหมายฉบับสุดท้าย ของ “อากง” ต่อมา...ไม้หนึ่ง ก.กุนที ได้อ่านบทกวีถึง “อากง” และร่วมกันยืนสงบนิ่งไว้อาลัย จากนั้น “สุดา รังกุพันธุ์” นักวิชาการเสื้อแดง เป็นตัวแทนอ่านจดหมาย ที่เพิ่งเขียนโดยนางรสมาลินภรรยา “อากง” พร้อมกับมีการจุดเทียนไว้อาลัย

“จรัล ดิษฐาอภิชัย” อดีตแกนนำ นปก.รุ่นสอง กล่าวปราศรัยบนเวทีว่า เหตุการณ์การเสียชีวิตของ “อากง” เป็นเรื่องที่ศาลยุติธรรมจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะว่าถ้าเกิดศาลยุติธรรมได้อนุญาต ให้ “อากง” ประกันตัว “อากง” ก็จะสามารถ เข้ารับการรักษาอาการป่วยอย่างเหมาะสม และคงจะไม่ต้องมาเสียชีวิต นอกจากนั้น “จรัล” ยังได้เสนอข้อเรียกร้องต่อกรมราชทัณฑ์ว่า จะต้องสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ “อากง” และแถลงการณ์การสอบสวนอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกร้อง ให้รัฐบาลหันมาสนใจในกรณีการเสียชีวิตของอากง และช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวด้วย

ด้าน “ธิดา ถาวรเศรษฐ” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวแสดงความเสียใจว่า “..รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตของอากง ถือว่าเป็นความบกพร่อง ของกระบวนการยุติธรรมไทย ผู้ต้องหาไม่ ได้รับการดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัยเท่าที่ควร และผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ตัดสินคดีความยังไม่ได้รับการประกันตัว การเสียชีวิตของอากงจะไม่เสียเปล่า โดย นปช. จะเพิ่มข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อ เพิ่มน้ำหนักให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาทางการเมือง ที่ถูกคุมขังโดยมิชอบ”

ขณะเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีกิจกรรมคู่ขนานไปกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ และมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมจากกรุงเทพฯ ไปที่เชียงใหม่ด้วย โดยมีการอ่านบท กวี กล่าวไว้อาลัย ยืนสงบนิ่งที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับในเวลาใกล้เคียงกัน

เวลานี้กระแสสังคม..! กำลังไหวเอน กับกรณีการเสียชีวิตของ “อากง” ที่นับเป็นบทเรียนหนึ่งสำหรับสังคมไทยและสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นักกฎหมาย ตลอดจนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเกี่ยวกับ “การเลือกปฏิบัติ...อย่างไม่เป็นธรรม” ต่อบุคคลที่มีความคิดต่างทางการเมือง การตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรง และ การจำกัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคล ตลอดจนสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในช่วงก่อนที่ “อากง” จะเสียชีวิต ก็ได้ปฏิเสธเรื่องการส่งข้อความหมิ่นฯ และบอกด้วยว่า..ยังไม่รู้วิธีการส่ง “เอสเอ็มเอส” ทางโทรศัพท์เลยด้วยซ้ำไป เขาร่ำไห้ขณะอยู่ในกระบวนการของศาล และ กล่าวว่า “ผมรักในหลวง..!”
หนังเรื่องยาวได้รูดม่านไปพร้อมกับ ลมหายใจสุดท้าย...ขอร่วมไว้อาลัย “เหยื่อ 112” วันนี้สิ้นสุดการต่อสู้แล้ว...อากง!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++