--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

ช่างแม่มัน.. ของทักษิณ อาจไม่ใช่ Let it be ของ The Beatles !!?

เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาในวันที่ 14 เมษายน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร้องเพลง “Let it be” ที่เวทีลานศูนย์วัฒนธรรมเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยแปลชื่อเพลงดังกล่าวว่า “ช่างแม่มัน” โดยได้รับเสียงเชียร์จากกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยกพลไปต้อนรับอย่างหนาแน่น (แม้จะร้องเพลงเสียงเพี้ยนมากๆ) โดยเฉพาะเมื่อจบท่อนสุดท้ายที่ว่า “ถ้าใครจะขวางปรองดอง ช่างแม่มัน พรรคไหนขวางแก้รัฐธรรมนูญ ช่างแม่มัน” ได้รับเสียงปรบมือกันเกลียวกราว



เพลง Let it Be เป็นเพลงจากสตูดิโออัลบั้มสุดท้ายจาก “คณะสี่เต่าทอง” The Beatles ซึ่งเป็นชื่ออัลบั้มด้วย ในช่วงการทำอัลบั้มดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเกิดความขัดแย้งในบรรดาสมาชิกของวง โดยเฉพาะบทบาทของ โยโกะ โอโนะ ภรรยาของจอห์น เลนนอน ที่มีส่วนทำให้สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนแย่ลง เพลงนี้ถูกร้องนำโดย พอล แมคคาร์ทนีย์ มือเบสและนักร้องนำของวง โดยการประพันธ์ร่วมกับของเขาและจอห์น เลนนอน ซิงเกิ้ลดังกล่าวถูกปล่อยออกมาในเดือนมีนาคม 1970



ที่มาของเพลงนี้คือ พอล ได้นอนฝันถึงคุณแม่ของเขาที่เสียชีวิตไปเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น เขาได้เล่าปัญหาและความตึงเครียดต่างๆให้กับแม่เขาฟัง โดยแม่เขาพูดประโยคปลอบใจพอลว่า “It will be all right, just let it be.” ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นท่อนขึ้นของเพลงว่า

“When I find myself in times of trouble, Mother Mary comes to me
Speaking words of wisdom, let it be”

“ในยามที่ฉันรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ แม่ของฉัน(แมรี่) มักจะกล่าวกับฉันด้วยประโยคเตือนสติว่า…จงปล่อยวางมันไป ” เป็นคำแปลที่สะท้อนของการไม่ยึดติดกับสิ่งที่เผชิญและคอยกดดันตัวเองอยู่ (อัสนี – วสันต์ เคยได้แรงบันดาลใจจากเพลงนี้จนไปประพันธ์เป็นเพลง “ให้มันเป็นไป” โดยมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน) ทีนี้ลองมาฟังเนื้อหาเต็มๆของเพลง Let It Be กัน (ดูคำแปลจาก ลิงก์ ที่นี่) โดยขอคัดลอกเวอร์ชั่นจากบล็อก คุณ PuhAporlo จาก Exteen

When I find myself in times of trouble
เมื่อฉันค้นหาตัวเองในยามที่แสนยากเข็ญ
Mother mary comes to me
แม่แมรี่จะมาหาฉัน
Speaking words of wisdom, let it be.
พูดคำๆนึงที่แสนฉลาด “ปล่อยมันไป”
And in my hour of darkness
และในชั่วโมงที่มืดมิด
She is standing right in front of me
เธอยืนเคียงอยู่ข้างๆฉัน
Speaking words of wisdom, let it be.
พูดกับฉันคำนึงที่แสนจะฉลาด “ปล่อยมันไป”
Let it be, let it be.
ปล่อยมันไป ปล่อยมันไป
Whisper words of wisdom, let it be.
กระซิบถ้อยคำอันปราดเปรื่อง “ปล่อยมันไป”

And when the broken hearted people
เมื่อยามที่ผู้คนที่หัวใจร้าวราน
Living in the world agree,
มาพานพบในโลกที่ยอมรับกัน
There will be an answer, let it be.
พวกเขาจะพบคำตอบว่า “ปล่อยมันไป”
For though they may be parted there is
ถึงแม้ว่าพวกเขาจะแยกจากกัน
Still a chance that they will see
แต่ก็ยังมีโอกาศจะได้พบกันอีก
There will be an answer, let it be.
แล้วจะพบคำตอบว่า “ปล่อยมันไป”
Let it be, let it be. yeah
ปล่อยมันไป ปล่อยมันไป
There will be an answer, let it be.
แล้วจึงจะพบคำตอบว่า “ปล่อยมันไป”

And when the night is cloudy,
เมื่อยามที่ค่ำคืนปกคลุมด้วยเมฆทะมึน
There is still a light that shines on me,
จะยังคงมีแสงฉายอยู่บนตัวฉัน
Shine on until tomorrow, let it be.
ส่องสว่างตราบจนวันพรุ่งนี้ “ปล่อยมันไป”
I wake up to the sound of music
ฉันตื่นขึ้นมาพบกับเสียงเพลง
Mother mary comes to me
ท่านแม่แมรี่มาหาฉัน
Speaking words of wisdom, let it be.
พูดคำๆนึงที่ปราดเปรื่อง “ปล่อยมันไป”
Let it be, let it be.
ปล่อยมันไป
There will be an answer, let it be.
จึงจะได้พบคำตอบว่า “ปล่อยมันไป”
Let it be, let it be,
ปล่อยมันไป ปล่อยมันไป
Whisper words of wisdom, let it be.
กระซิบคำที่ปราดเปรื่อง “ปล่อยมันไป”

การที่ทักษิณกำลังบอกว่าจะต้อง “ช่างแม่มัน” นั้นมีนัยยะที่กำลังบอกว่า ในส่วนของตัวเขานั้นที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองมาตลอดระยะเวลา 6 ปีจะปล่อยทุกอย่าง “ช่างแม่มัน” แล้วจะหันหน้ากลับไปปรองดอง โดยไม่แคร์ว่าใครจะมาขวางกระบวนการดังกล่าว แน่นอน!ทักษิณ กำลังจะพยายามลืมทุกๆสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเขา เพียงแต่ความหมายของ เพลง Let It be ของ The Beatles นั้นไม่ได้มีนัยยะแบบนั้นเท่าไหร่นัก เมื่อคนอื่นๆรอบตัวของทักษิณก็ไม่พร้อมที่จะช่างแม่มันไปด้วย ทั้งจากขั้วตรงข้ามและที่สำคัญขั้วเดีวกันที่เคยสนับสนุนโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่ได้ยึดติดกับตัวคุณทักษิณ ดังนั้น Let it be ในความหมายของคณะสี่เต่าทองยังแฝงนัยยะแห่งความรับผิดชอบและกล้าที่จะเผชิญหน้ากับชะตากรรม ซึ่งต้องถามกลับไปยังคุณทักษิณว่าหากกระบวนการทั้งหมดย้อนกลับไปก่อน 19 กันยายน 2549 มีการยุบทิ้ง คตส. และให้ทักษิณกลับสู่กระบวนการยุติธรรมตามปรกติเขาจะยอมหรือไม่? หรือเขาจะเลือกในแนวทางปัจจุบันคือทุกๆอย่างผ่านไป และเขาจะไม่กลับไปสู่กระบวนการยุติธรรม อะไรที่เกิดแล้วก็ปล่อยมันไป และจะกลับบ้านแบบเท่ๆ



ไม่สามารถคาดเดาคำตอบได้ ได้แต่เปรยกับตัวเองเบาๆว่า “ช่างแม่มัน ให้มันเป็นไป และจงปล่อยวาง”

ที่มา.Siam Intelligence Unit

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

10 เรื่อง ควรรู้ก่อน นิวไอแพด มาไทย !!?



สาวก "แอปเปิล" ต่างรอคอยให้ถึงวันที่ 27 เมษายน เพราะเป็นวันแรกที่ "นิว ไอแพด" แทบเล็ตรุ่นล่าสุด เริ่มวางขายในเมืองไทย พร้อมๆ กับอีก 8 ประเทศ

นิว ไอแพด สร้างความฮือฮาตั้งแต่เปิดตัว กระทั่งเริ่มวางขายครั้งแรกใน 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ก่อนจะทยอยวางขายใน 37 ประเทศก่อนไทย ซึ่งเป็นรอบที่ 4 เฉพาะในสัปดาห์แรกหลังเริ่มจำหน่าย ไอแพดเวอร์ชั่นล่าสุดทำยอดขายทุบสถิติที่ 3 ล้านเครื่อง

ก่อนหน้าที่ "นิว ไอแพด" จะเข้าเมืองไทยอย่างเป็นทางการ มี 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รุ่นล่าสุด ซึ่งมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย

ข้อแรก "นิว ไอแพด" ไม่ใช่ "ไอแพด 3" อย่างที่เก็งกันไว้ก่อนหน้านี้ เพราะไอแพด 3 อาจเป็นชื่อที่คาดเดาได้ง่ายเกินไป และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แอปเปิลตั้งชื่อแบบธรรมดาๆ เพราะมีหลายครั้งที่บริษัทอัพเดทเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล "ไอพอด" โดยไม่ใส่หมายเลขรุ่นกำกับ เช่นเดียวกับแล็บทอป "แมคบุ๊ค" และเดสก์ทอป "ไอแมค"

ข้อ 2 มาพร้อมหน้าจอเรตินา แอปเปิลอวดว่าหน้าจอเรตินาบนนิว ไอแพด ให้ภาพคมชัดมากกว่าหน้าจอทีวีความละเอียดสูงทั่วไป และเป็นจอที่มีความละเอียดสูงสุดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์แบบพกพาด้วยกัน โดยจอแสดงผลมีความละเอียดสูงถึง 3.1 ล้านพิกเซล ให้ความคมชัดทั้งในแง่ตัวอักษร รายละเอียดภาพและวิดีโอ

ข้อ 3 นิว ไอแพด หนา-หนักกว่าไอแพด 2 เพราะฟีเจอร์มากขึ้น ทำให้ต้องใช้แบตเตอรี่ทรงพลังขึ้น ไอแพดเจนเนอเรชั่น 3 นี้มีความหนา 9.4 มิลลิเมตร (0.37 นิ้ว) เทียบกับไอแพด 2 ที่หนา 8.8 มิลลิเมตร (0.34 นิ้ว) ส่วนน้ำหนักรุ่นไว-ไฟ เท่ากับ 652 กรัม รุ่น 3จี และ 4จี หนัก 662 กรัม เทียบกับไอแพด 2 รุ่นไว-ไฟ หนัก 601 กรัม และ 3จี หนัก 613 กรัม

ข้อ 4 ไอแพด 2 ราคาลดลง หลังเปิดตัวนิว ไอแพด แอปเปิลประกาศลดราคาไอแพด 2 ลงทันที 100 ดอลลาร์ รุ่นไว-ไฟ 16 กิกะไบต์ เหลือ 399 ดอลลาร์ และรุ่น 3จี อยู่ที่ 529 ดอลลาร์

ข้อ 5 อายุการใช้งานแบตเตอรี่เท่าๆ กับรุ่นเดิม แม้ว่าความจุของแบตเตอรี่นิว ไอแพด จะเพิ่มขึ้นราว 70% เมื่อเทียบกับไอแพด 2 เพราะขนาดที่ใหญ่ขึ้น แต่อายุการใช้งานแบตเตอรี่นิว ไอแพด ยังเท่ากับไอแพดรุ่นเก่า 10 ชั่วโมง โดยมีสาเหตุจากความละเอียดของหน้าจอที่เพิ่มขึ้น 4 เท่า ทำให้กินแบตฯ มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการชาร์จแบตฯ ของนิว ไอแพด กินเวลานานกว่ารุ่นเดิมๆ ด้วย

ข้อ 6 กล้องหลัง "ไอไซต์" (iSight) ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ซึ่งพัฒนาให้มีความคมชัด และใช้เลนส์เซ็นเซอร์แบบแบ็คไซด์ อิลลูมิเนชั่น (backside illumination) ที่ช่วยให้ถ่ายภาพได้ดี แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะแสงน้อย และสามารถบันทึกวิดีโอความละเอียดสูง 1080 พิกเซล อีกทั้งยังรองรับบริการไอคลาวด์ที่ทำให้ผู้ใช้เก็บข้อมูลไว้บนระบบเครือข่ายที่สามารถเรียกใช้จากที่ไหนก็ได้ แทนที่จะเก็บไว้บนอุปกรณ์พกพา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นข้อมูลรูปภาพและวิดีโอ แต่ยังรวมถึงเพลง เอกสารอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 7 โปรเซสเซอร์ใหม่ A5X ที่ใช้ชิปประมวลผลแบบ 2 แกน (dual core) และตัวประมวลผลกราฟฟิคแบบ 4 แกน ขณะที่หน่วยความจำหลัก (RAM) น่าจะอยู่ที่ 1 กิกะไบต์ เพิ่มจาก 512 เมกะไบต์ ในไอแพด 2

ข้อ 8 รองรับสัญญาณ 4จี แอลทีอี ที่มีความเร็วสูงกว่าเทคโนโลยี 3จี ถึง 10 เท่า แต่ขึ้นอยู่กับว่าประเทศใดมีความพร้อมของเครือข่าย 4จี ซึ่งปัจจุบันมีแต่สหรัฐและแคนาดา

ข้อ 9 มี 2 เวอร์ชั่น คือ ไว-ไฟ และไว-ไฟ + 4จี แบ่งเป็นรุ่น 16 กิกะไลต์ 32 กิกะไบต์ และ 64 กิกะไบต์ มี 2 สี คือ ดำ และขาว

ข้อ 10 นิว ไอแพด ร้อนขึ้นกว่ารุ่นก่อนเมื่อเล่นเกมแนวแอ็คชั่น โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 116 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 46 องศาเซลเซียส) เทียบกับไอแพด 2 ที่มีอุณหภูมิเพียง 39.5 องศาเซลเซียส

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ค่าแรง 300บาท ก๊าซขึ้นราคาฉุดมูลค่าส่งออก หาย1.2แสนล้าน !!?

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ประเมินผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี-เอ็นจีวี จะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยน้อยลง คาดเม็ดเงินหาย 120,000 ล้านบาท

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และการปรับเพิ่มของราคาพลังงานทั้งก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างและราคาพลังงานจะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนเพิ่ม กระทบมูลค่าการส่งออกสินค้าในปีนี้ที่จะหายไปประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่จะมีประมาณ 264,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถปรับตัวกับค่าแรงและค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้ จะเริ่มเห็นผลชัดในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าที่การส่งออกจะชะลอตัวลดลงชัดเจน เพราะการปรับเพิ่มค่าแรงจะทำให้มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 40% โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกประมาณ 30% คาดว่าจะปรับตัวได้ยาก ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่อาจได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะสามารถจัดหาเครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัยมาใช้ทดแทนแรงงานได้ และจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ”

ด้านนายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้พม่าได้ซ่อมบำรุงท่อส่งเอ็นจีวีเสร็จแล้ว หลังปิดมาตั้งแต่วันที่ 8-17 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขาดแคลนในบางพื้นที่ เพราะแหล่งผลิตเอ็นจีวีสินภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี หยุดจ่ายก๊าซ แต่จะกลับมาจ่ายได้อีกครั้ง

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

**********************************************************************

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

ไชน่า ซิตี้ ดอดลงเชียงใหม่ ขน 5 หมื่นล้าน ช็อป SMEs สวมสิทธิ์ เมดอินไทยแลนด์ !!?

ทุนจีนซุ่มเงียบลงเชียงใหม่ กำเงิน 5 หมื่นล้าน ตั้ง “นอมินี” ไล่ซื้อธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ทั้งอาหาร สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ หวังใช้เป็นฐานแรงงานและฐานการผลิตส่งสินค้าจีนขายทั่วโลก ภายใต้สัญลักษณ์ “เมดอินไทยแลนด์” แหล่งข่าวพาณิชย์ยันเป็นโมเดลเดียวกับ ไชน่า ซิตี้ พร้อมเรียกร้องนักธุรกิจไทยปรับตัวสู้กับคลื่นทุนที่ไหลเข้าไทย

ภายหลังรัฐบาลจีนมีความพยายามจะสร้างเมืองพาณิชย์หรือโครงการไชน่า ซิตี้ มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 4.5 หมื่นล้านบาทในไทย บริเวณถนนบางนา-ตราด ใช้เป็นศูนย์นำเข้าสินค้าเพื่อส่งออก (รี-เอกซ์ปอร์ต) สินค้าที่ผลิตในจีน โดยเลี่ยงการถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูง ซึ่งจะมีผู้ค้าชาวจีนมากกว่า 70,000 ราย เข้ามาดำเนินกิจการในศูนย์แห่งนี้ โดยศูนย์การพาณิชย์แห่งนี้ มีลักษณะคล้ายกับตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหมือนกับศูนย์จำหน่ายสินค้าในเมืองอี้อูทางตะวันออกของจีน

แต่ภายหลังดำเนินการก่อสร้างไประยะหนึ่งก็ติดปัญหากฎหมายผังเมืองจนต้องชะงักไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวไม่ได้ล้มหายตายจากไปแต่อย่างใด หากยังพยายามจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป แต่เปลี่ยนรูปแบบไม่ให้ขัดกับกฎหมายไทย โดยแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า โครงการไชน่า ซิตี้ได้ลงหลักปักฐานในจังหวัดเชียงใหม่แล้วอย่างเงียบๆ ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวสอดรับกับความเคลื่อนไหวในกระทรวงพาณิชย์ที่มีคณะนักธุรกิจจากจีนเดินทางเข้าพบรัฐมนตรีในกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน วันละหลายคณะ คำถามแรกที่นักธุรกิจถามเมื่อเจอหน้าข้าราชการไทยคือ “มีบริษัทลอจิสติกส์ไหนสนใจขายกิจการบ้าง เขาพร้อมจะซื้อทั้งหมด” ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าจีนต้องการใช้บริษัทลอจิสติกส์เหล่านี้ขนส่งสินค้าในโครงการไชน่าซิตี้กระจายไปในตลาดโลก

ทั้งนี้ “สยามธุรกิจ” ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ กับแหล่งข่าวระดับสูงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งให้คำตอบว่า มีความพยายามจะสร้างโครงการไชน่า ซิตี้ในเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นเจรจาตกลงจะซื้อขายที่ดินแล้วกับเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ในเชียงใหม่ ในขณะที่กระแสข่าวอีกด้านระบุว่าเอกชนไทยและจีนได้มีการลงนามเอ็มโอยูกันแล้วเพื่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าขนาด 1 แสนตารางเมตร เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท โดยจะมีการนำสินค้าจากเมืองอี้อูมาจำหน่ายเช่นเดียวกับศูนย์กระจายสินค้าที่ถนนบางนา-ตราด แต่ติดกระแสต่อต้าน ทำให้โครงการนี้ยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่

“เท่าที่ทราบล่าสุด กลุ่มนักธุรกิจจีนได้ตั้ง ‘นอมินี’ คนไทยขึ้นมากลุ่มหนึ่งเพื่อเป็นนายหน้าขอซื้อธุรกิจที่น่าสนใจของไทยที่ต้องการจะขาย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs เรายังบอกไม่ได้ว่าเขากว้านซื้อธุรกิจ SMEs เหล่านั้นเพื่อนำไปรวมไว้ในโครงการไชน่าซิตี้หรือเปล่า แต่เดาได้ว่าเหตุผลหนึ่งในการซื้อคือขนสินค้าจากจีนมาแปรรูปในเมืองไทย แล้วใช้แหล่งกำเนิดสินค้า “เมดอินไทยแลนด์” ส่งไปขายทั่วโลก ซึ่งมีภาพลักษณ์ดีกว่าสินค้าที่ผลิตภายใต้สัญลักษณ์เมดอินไชน่า” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายประสิทธิ์ ศิริศรีสกุลชัย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดลำปาง แสดงความเห็นเมื่อถูกถามถึงประเด็นดังกล่าว ว่า สาเหตุที่กลุ่มทุนจีนสนใจจังหวัดเชียงใหม่ เพราะว่าอยู่ใกล้กับบริเวณเชื่อมต่อชายแดนจีนตอนใต้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ธุรกิจส่วนใหญ่ก็มีมาตรฐาน การเข้ามาใช้จังหวัดเชียงใหม่เป็นฐานการผลิตสินค้าจีน หรือกระจายสินค้าจีน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

สำหรับจังหวัดลำปางยังไม่มีกลุ่มทุนของจีนเข้ามาซื้อกิจการ ทราบแค่ว่าเคยมีนาย หน้ามาติดต่อเท่านั้น ซึ่งเขาก็สนใจหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ โดยบอกว่านักลงทุนกลุ่มนี้มีเงินทุนประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ก็พอจะเดาได้ว่าน่าจะเป็น นักธุรกิจจากจีน เพราะนักลงทุนไทยคงไม่มีเงินมากขนาดนั้น

ขณะที่นายสุพจน์ กลิ่นประณีต ประธาน หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังไม่มีการเข้ามาของกลุ่ม ทุนจีน แต่ถ้าถนนโครงการเส้นทางแนวตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมพม่า ไทย ลาว เวียดนาม เส้นทางในแนว R9 ที่ได้รับการสนับสนุนโดย องค์การสหประชาชาติ องค์การอาเซียน ตลอดจนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีเส้นแนวสำคัญๆ ได้แก่ โครงข่าย ถนนจากย่างกุ้งหรือมะละแหม่งในพม่า ผ่านแม่สอดของไทย พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร เมืองสะหวันนะเขตของลาว เมืองเว้ และดานังของเวียดนาม บริเวณนี้ก็อาจจะเป็นบริเวณหนึ่งที่นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุน

แม้ด้านหนึ่งจะมีกระแสต่อต้านการรุกเข้าของทุนจีน แต่อีกด้านหนึ่งก็มีผู้สนับสนุน โดยกล่าวว่า เมื่อเขตการค้าเสรีเปิดหมด เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และต้องเข้าใจว่า โครงการไชน่า ซิตี้ของจีนไม่ได้มีแต่ในเมืองไทย แต่เปิดแล้วในหลายเมืองทั่วโลก สิ่งสำคัญคือจะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างไร หรือจะเข้าไปใช้ประโยชน์ผลิตสินค้าและบริการร่วมกับเขาอย่างไร และ ที่สำคัญนักธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าการผลิตสินค้าวันนี้ ผลิตเพื่อคน 580 ล้านคนทั่วอาเซียน ไม่ใช่ผลิตเพื่อคน 60 ล้าน คน เมื่อจีนเข้ามาสร้างฐานในเมืองไทยได้ เรา ก็ออกไปสร้างฐานในลาว พม่า หรือเวียดนามได้เหมือนกัน เราปิดกั้นเขาไม่ได้ เพราะยิ่งปิดกั้น เราก็จะยิ่งโดดเดี่ยว

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไขวิวาทะ บวรศักดิ์ ปรองดองฉบับแก้กรรม !!?

วุ่นวายกันไปพักใหญ่.. ป่วนกันสภาแทบจะแตก! สำหรับการเปิดเวที “สร้างปรองดอง” ในวงประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จนแล้วจนรอดก็ยังกัดกันไม่เลิก ทั้งกับรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า และรายงานฉบับโมดิฟายของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ชุดที่มี “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นหัวหน้าคณะ..ก็ล้วน แล้วแต่ “สร้างความไม่ปรองดอง”

เหนืออื่นใดยังมี “สิ่งที่ไม่ปกติ” และสังคมกำลังตั้งคำถาม นั่นเพราะผู้ที่เสนอให้มีการปรองดองโดยการนิรโทษกรรมและล้มล้างผลพวงในคดีของคณะกรรมการ ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กลับเป็นผู้กระทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนกระแสความขัดแย้งบานปลาย ก่อความแตกแยกในบ้านเมืองมากว่า 5-6 ปี

นั่นเท่ากับเป็นการยอมรับว่า การรัฐประหาร 19 กันยาฯ 49 คือ “ต้นไม้พิษ” และผลพวงการรัฐประหารก็เป็น “ผลไม้พิษ” ที่เป็น “ชนวน” แห่งความไม่ปรองดองของคนในชาติ

ขณะที่กระแสต้านก็ออกมาหนาหู ทั้งเสียงแดกดันจาก “หล่อดีเลย์” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ออกมาค้านหัวชนฝา ..ไม่เอาปรองดอง! ส่วน “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ก็ออกมาเต้นเร่า..เร่า! ขู่ถอดถอนรายงานผลวิจัยปรองดองของตัวเอง

แต่ที่สุดแล้ว...สภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีมติ “เสียงข้างมาก” 307 ต่อ 0 เสียง.. “เห็นชอบ” กับรายงานฉบับดังกล่าว และโยนเรื่องส่งให้คณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณา เพื่อสร้างความปรองดองในชาติต่อไป

ด้วยเหตุนี้ หลังไฟเขียวร่างปรองดอง! ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างกว้างขวาง ทั้งบนหน้าสื่อและในทุกวงสนทนา ว่ากันว่าฝ่ายที่ไม่เอาด้วย ได้เปิดหน้าชกว่าเป็น “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” หรือไม่ก็..พวกมากลากไป กระทั่งวลี “ปรองดอง..ที่ยังไม่ก้าวข้ามทักษิณ”

ในทางตรงกันข้าม “กระแสสังคม” ส่วนใหญ่ยังคงตีกลับ..สับฝ่ายที่ออกมาป่วน หรือกีดขวาง “รถไฟสายปรองดอง” ขบวนนี้ โดยเฉพาะกับ “บวรศักดิ์” ที่เจอของหนัก โดนก้อนอิฐ..มากกว่าดอกไม้! หลังถูกตั้งข้อกังขาว่า นี่เป็นความเห็นส่วนตัวในฐานะเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หรือกรรมการที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการแผ่นดินกันแน่

อีกประเด็นที่ไม่ปกติ ก็เพราะ “บวรศักดิ์” ออกโรงเบิกวาทกรรมว่า “อย่าเอาความยุติธรรมของผู้ชนะ..มาใช้กับผลการศึกษานี้ ไม่อย่างนั้นสถาบันพระปกเกล้าจะถอนงานวิจัยออกมา”

ทั้งหมดนี้ ได้กลายเป็นวาทกรรมประดิษฐ์! ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่า “ข้อเรียกร้อง” หรือ “เสียงขู่” ที่ว่า..อย่าเอาเสียงข้างมาก มารับรองโมเดลปรองดองฉบับนี้

อย่างไรก็ดี หลังการประกาศจุดยืน 5 ข้อในแถลงการณ์ “สถาบันพระปกเกล้า” เพื่อหวังยับยั้งกระบวนการที่รวบรัดในสภาฯ ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผล แล้วยังทำให้ “บวรศักดิ์” ถูกตีกระหนาบจาก 9 ส.ส.พรรคเพื่อไทย บีบให้ “ถอนตัว” ออกจากเก้าอี้เลขาธิการ ซ้ำยังโดน ขั้วการเมืองซีกรัฐบาล เปิดฉากไล่ถล่มจนงอมพระราม

ขณะที่พรรคเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” ที่คราคร่ำไปด้วยมือกฎหมายชั้นเซียน ต่างก็ดาหน้าถล่มผลวิจัยชิ้นนี้ว่า..ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จนถึงขั้นระบุว่าเป็น “รายงานเถื่อน” และอาจนำมาซึ่ง “ความขัดแย้ง” ในบั้นปลาย

และดูเหมือนว่า “กูรูกฎหมาย” อย่าง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ก็แทบจะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง..กันเลยทีเดียว

เหล่านี้ล้วนเป็นวาทกรรมปรองดอง ที่แปรเปลี่ยนเป็น “วิวาทะ” เหตุพูด กันไปคนละภาษา ก็ย่อมเป็นเรื่องที่จะเอา “เหตุผล” มาหักล้างกันไม่ได้ ฉะนั้น ต่อให้ยืดการประชุมออกไปเป็นเดือนเป็นปี หรือจะเปิดกลไกพิเศษเพื่อทำคลอด “โมเดลปรองดอง” ฉบับแก้กรรมเช่นไร.. ก็คงมิอาจลงเอยกันได้!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

พม่า: เสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย หรือแมวขี้โรค !!?

วันวลิต ธารไทรทอง
นักวิจัยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
เมษายน 2012

รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้เริ่มปิดประเทศต่อโลกนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ส่งผลให้พม่าถอยหลังเข้าคลอง จากประเทศที่เคยเฟื่องฟูในภูมิภาคนี้กลายเป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม พม่ากำลังเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศขนานใหญ่ โดยหันมาเปิดกว้างและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

อย่างที่ทราบดี พม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายมหาศาล ตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศใหญ่ที่กำลังรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดีย ขณะที่ประชากรประมาณ 65% อยู่ในวัยแรงงาน 15-60 ปี
เมื่อประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานเอื้อต่อการพัฒนาเช่นนี้ และช่วงเวลาหนึ่งได้ถูก “ปิดกั้น” ศักยภาพไว้ เมื่อยกที่ “ปิดกั้น” ออก คงทำให้เศรษฐกิจพม่าเติบโตสูงไปอีกระยะหนึ่ง
พม่าจึงเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ

ภาพประกอบจาก Flickr/Creative Commons โดย Roger Price (antwerpenR)

นักธุรกิจทั่วโลกตอนนี้คิดคล้ายๆ กันว่า ถ้าสามารถหาช่องทางเข้าไปลงทุนในพม่าได้ พวกเค้าจะยิ่งรวยมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันนักธุรกิจจีน อินเดีย สิงคโปร์ และไทย ได้เข้าไปลงทุนในพม่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ โดยเน้นลงทุนในธุรกิจท่าเรือ ท่อส่งแก๊ส ก่อสร้าง และโรงไฟฟ้า อาทิเช่น ปีที่แล้วบริษัทพลังงานแห่งชาติจีนได้เริ่มก่อสร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันจากชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพม่าเชื่อมต่อไปยังมณฑลยูนานทางใต้ของจีนความยาว 771 กิโลเมตร บริษัทพลังงานของอินเดียได้เข้าไปลงทุนทางด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 1,300 ล้านดอลลาร์ และบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ได้เซ็นสัญญา 8,600 ล้านดอลลาร์ กับรัฐบาลพม่าเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน นักธุรกิจในยุโรปและอเมริกาก็กลัวจะตก “ขบวนรถไฟ” จึงกดดันอย่างหนักให้รัฐบาลตนเองลดการคว่ำบาตรต่อพม่า เพื่อพวกเค้าจะได้เข้าไปหาประโยชน์ได้คล่องตัวขึ้น

ไม่เพียงแต่ในภาคเศรษฐกิจจริงเท่านั้นที่พม่ากำลังเปิดกว้างต่อโลก ในภาคการเงินเอง รัฐบาลพม่าได้กำหนดเป้าหมายจะพัฒนาตลาดหุ้นให้เป็นระบบในปี 2015 แต่จะเริ่มนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจเข้าขายตั้งแต่ปีหน้า พร้อมกันนี้จะเปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้าทำธุรกิจในพม่าเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้เสรีขึ้น โดยการปรับมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ

มองเห็นได้ไม่ยากว่า การที่พม่าเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น และปล่อยให้เงินทุนหลั่งไหลเข้าไปเหมือนสายน้ำเช่นนี้ คงจะทำให้เศรษฐกิจพม่าร้อนแรงไปอีกหลายปี และนี่เองเป็นสาเหตุให้ถูกมองว่า พม่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย เดินตามรอยประเทศจีน
แต่ความท้าทายมีอยู่ว่า พม่าจะทำอย่างไรให้การเปิดประเทศประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่จีนเคยทำ
ผมคิดว่า มีโอกาสน้อยมากที่พม่าจะประสบความสำเร็จอย่างจีน

การเปิดประเทศของพม่ามีรูปแบบเฉพาะตัว และเป็นการเปิดอย่างรวดเร็วเกินกว่าใครจะคาดคิด ซึ่งแตกต่างจากกรณีการเปิดประเทศของจีน จีนเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน และมีหลากหลายกลวิธีในการดูดเอาประโยชน์จากนักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญ การพัฒนาภาคการเงินของจีนทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

ในขณะที่พม่าเร่งรีบเปิดประเทศ ขาดยุทศาสตร์การพัฒนา และยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลพม่าจะทำอย่างไรที่จะดูดซับเงินทุน เทคโนโลยี องค์ความรู้วิทยาการบริหารจัดการธุรกิจ และดึงประโยชน์ที่จะเกิดจากการลงทุนของต่างชาติให้อยู่ในประเทศพม่ามากที่สุดและนานที่สุด

มิหนำซ้ำ พม่ายังขาดปัจจัยทางด้านสถาบัน องค์กร ตัวบทกฎหมาย ระบบธรรมภิบาล ทั้งยังมีปัญหาความยากจน การขาดประสิทธิภาพการผลิตในภาคชนบท ขณะที่ในภาคเมืองก็ยังขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ
เหนือสิ่งอื่นใด การตัดสินใจเกือบทุกอย่างถูกกองรวมกันไว้ในมือของรัฐเผด็จการทหารกับเครือข่ายนักการเมืองและข้าราชการกลุ่มเดียว แต่ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีกก็คือ พม่ามีปัญหาเรื่องคอรัปชั่นสูงมาก จากข้อมูลขององค์กรต่อต้านการคอรัปชั่นระหว่างประเทศ (Anti-corruption Watchdog, Transparency International) พม่ามีปัญหาการคอรัปชั่นมากกว่าประเทศอัฟกันนิสถานเสียอีก ดังนั้น โอกาสที่ข้าราชการและนักการเมืองพม่า จะมีพฤติกรรมเหมือนข้าราชการและนักการเมืองของหลายประเทศในอาเซียน คือ รับสินบนจากบริษัทข้ามชาติเป็นไปได้สูง และการเข้าไปของบริษัทข้ามชาติต่างๆ ก็จะไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศและคนพม่าอย่างแท้จริง

โดยสรุป โลกเศรษฐกิจแบบตลาดเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยิ่งเป็นโลกเสรีการเงินด้วยแล้ว ยิ่งเต็มไปด้วยความผันผวนและไร้เสถียรภาพ การเปิดประเทศของพม่าครั้งนี้จึงดูจะสุ่มเสี่ยงไม่น้อย ผลของการเปิดประเทศอย่างไม่เลือกสรรและขาดทิศทางการวางแผนของพม่า เชื่อได้ว่า นอกจากจะนำมาซึ่งปัญหาสังคมต่างๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้แล้ว โอกาสที่พม่าจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจยังมีความเป็นไปได้สูงอีกด้วย

แม้การกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของพม่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่การเปิดแบบไม่มีจังหวะจะโคน ไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี ยากมากที่พม่าจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย อย่างดีก็คงเป็นได้แค่แมวขี้โรค

ที่มา.Siam Intelligence Unit

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

นายกฯปู. บินพบ เหวินเจียเป่า 17 เม.ย. ชักชวน 14 เอกชนชั้นนำ จีนลงทุนในไทย !!?


ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-20 เม.ย.2555 คณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จะเดินทางไปจัดกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำคณะผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ของไทย เข้าร่วมหารือข้อราชการกับนายเหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และวันที่ 18 เม.ย.2555 จะมีกิจกรรมการจัดสัมมนา "โอกาสการลงทุนในไทย" และการประชุมธุรกิจไทย-จีน โดยนายกฯ จะร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การสร้างอนาคตของประเทศไทย" ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชั้นนำของจีนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังทิศทางและนโยบายของการส่งเสริมการลงทุน โอกาสและศักยภาพของการลงทุนในประเทศไทย

นอกจากนี้ นายกฯ จะพบปะกับผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของจีน 14 บริษัท เพื่อหารือถึงแผนการลงทุนในไทย นโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและการให้ความช่วยเหลือในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมเครื่องจักรอุตสาหกรรม พลังงานทดแทน ยานยนต์ เป็นต้น ตลอดจนนโยบายด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน

"การเยือนจีนครั้งนี้จะมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนและต่อเนื่องของไทย รวมถึงการจูงใจให้กลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของจีนทั้งที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในภูมิภาคภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปี 2558 รวมถึงพิจารณาการเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์และการลงทุนจากจีนเพิ่มมากขึ้น" ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าว

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จีนเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการลงทุนทั้ง 2 ทางระหว่างจีนและไทยเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ พลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมบริการ เกษตรแปรรูปและอาหาร เป็นต้น สำหรับภาพรวมการลงทุน 2 ฝ่ายมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2554 มีการยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนของจีนในไทยอยู่ที่ 36 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 28,495 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ในขณะที่ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 7 โครงการ มูลค่า 1,945 ล้านบาท

ที่มา:ข่าวสดรายวัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บ้าน 111 จ่อร่วมรัฐบาลพ.ค.นี้ สุดารัตน์-ภูมิธรรม นำทีมช่วย ยิ่งลักษณ์. ปั๊มผลงาน !!?

ยิ่งลักษณ์. จ่อปรับ ครม. รับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษเว้นวรรคการเมืองเดือน พ.ค. นี้ สะพัด “สุดารัตน์-ภูมิธรรม-พงษ์เทพ-วราเทพ” คัมแบ็กคุมงานใหญ่เพื่อช่วยปั่นผลงานให้กับรัฐบาล ทั้งในกระทรวงคมนาคม ยุติธรรม ไอซีที และคลัง ด้าน “สนธยา” ได้เวลาแสดงเอง โยก “สุกุมล” พ้นรัฐมนตรีวัฒนธรรม พร้อมขอเปลี่ยนโควตาพรรคพลังชลคุมงานใหญ่ขึ้น ขณะที่ “ชูศักดิ์” กลับมารับงานเป็นมือกฎหมายให้รัฐบาลเหมือนเดิม

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยคาดหมายว่าใกล้เวลาที่การเมืองจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจากที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษเว้นวรรคทางการเมืองในช่วงเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ประมาณ 5-6 ตำแหน่ง

“เท่าที่ทราบนายภูมิธรรม เวชชัย คนสนิทคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แทนนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรค ที่จะถูกโยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายวราเทพ รัตนากร จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แทนที่นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล จะมารับงานเป็นมือกฎหมายให้รัฐบาล ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แทน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีคนปัจุบัน และจะมีการเพิ่มโคตารองนายกรัฐมนตรีให้กับกลุ่มกรุงเทพฯอีก 1 ตำแหน่ง”

แหล่งข่าวคนเดิมระบุอีกว่า ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยพรรคพลังชลจะให้นายสนธยา คุณปลื้ม ที่พ้นโทษเว้นวรรคทางการเมืองมารับตำแหน่งรัฐมนตรีแทนนางสุกุมล คุณปลื้ม ภรรยา ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒธรรม แต่นายสนธยาจะได้โควตารัฐมนตรีในกระทรวงที่ใหญ่ขึ้น

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ถอดบทเรียนยักษ์ล้ม-เกิดอะไรขึ้นกับ โซนี่ !!?

โซนี่"เคยเป็นแบรนด์ที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจแต่วันนี้อาณาจักรที่เคยมั่นคงกำลังซวนเซและยังไม่แน่ว่าจะกลับมายืนแถวหน้าได้อีกหรือไม่

ปัญหาที่รุมเร้าของโซนี่ สะท้อนผ่านการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูง โดย "คาซูโอะ ฮิราอิ" เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของโซนี่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แทนที่ "โฮเวิร์ด สตริงเจอร์" อดีตซีอีโอต่างชาติที่พยายามจะกอบกู้อาณาจักรแห่งนี้ แต่ไม่เป็นผล

แม้ฮิราอิ จะให้คำมั่นว่า โซนี่จะต้องกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ แต่ถึงเวลานี้ ทั้งคนในและนอกองค์กรยังไม่อาจมั่นใจได้เต็มที่นัก เพราะโซนี่ ที่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ด้วยผลิตภัณฑ์สุดเจ๋งอย่างวอล์คแมน ทีวีไตรนิตรอน และถือครองกิจการโคลัมเบีย พิกเจอร์ส ตอนนี้กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

"นิวยอร์ก ไทม์" ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนภาวะขาลงของเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งบรรดา "เจแปน อิงค์" ที่ไม่ได้มีเพียงแค่โซนี่ ดูเหมือนจะไม่มีวันตาย แต่ทุกวันนี้ทั้งโซนี่และผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นต่างเผชิญกับแรงกดดันสารพัด ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งในเอเชียที่เพิ่มขึ้น เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาก และในกรณีของโซนี่ ปัญหาสำคัญ คือ การขาดไอเดียใหม่ๆ ซึ่งดูเหลือเชื่อ แต่เป็นเรื่องจริง

ความยากลำบากของโซนี่ เห็นได้จากการที่บริษัทประกาศว่า ในปีนี้บริษัทอาจขาดทุนหนักหนากว่าที่ประเมินไว้ โดยอาจขาดทุนมากถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โซนี่ไม่เคยทำกำไรได้เลยนับตั้งแต่ปี 2551 และเหตุผลก็อยู่ที่โซนี่ไม่มีผลิตภัณฑ์ยอดฮิตบุกตลาดเลยในรอบหลายปีมานี้

ราคาหุ้นของโซนี่ แตอยู่แถวๆ 1,444 เยน หรือราว 1 ใน 4 ของมูลค่าเมื่อทศวรรษก่อน และเมื่อสมัยวอล์คแมนอาละวาด ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาดของโซนี่คิดเป็น 1 ใน 9 ของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 30 ของแอปเปิล

แม้แต่ในญี่ปุ่น ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากยังคงภักดีต่อแบรนด์ ผู้บริโภคหลายรายเริ่มปันใจจากโซนี่ จังหวะก้าวที่ผิดพลาดของโซนี่ สะท้อนถึงเรื่องราวของบริษัทที่ภูมิใจในตัวเองมาก จนไม่ต้องการหรือไม่สามารถปรับตัวรับความจริงที่เกิดขึ้น โดยความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ของโซนี่อยู่ที่ความล้มเหลวในการขี่ยอดคลื่นยักษ์ของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี นั่นคือ กระแสดิจิทัล ซึ่งเปลี่ยนสู่ยุคซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ต

ทุกๆแนวรบของโซนี่ ไล่ตั้งแต่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การสื่อสาร จนถึงเนื้อหา ยิ่งน่าปวดหัวมากขึ้นจากคู่แข่งรายใหม่ๆ และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างความขัดแย้งและแตกแยกภายในองค์กร

ที่จริงแล้ว โซนี่ มีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับสร้างสรรค์เครื่องเล่นเพลงแบบไอพอดได้ก่อนแอปเปิล เพราะผู้ก่อตั้งร่วม "อากิโอะ โมริตะ" มองเห็นการผนวกรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับเนื้อหาบนสื่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้ใช้ ตั้งแต่ต้นยุค 1980 แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะฝ่ายวิศวกรคานอำนาจกับแผนกมีเดีย แต่ก็ได้คิดค้นระบบเครื่องเล่นเพลิงดิจิทัลของตัวเอง ที่ไม่เกี่ยวกับรูปแบบไฟล์เอ็มพี3 ซึ่งอาจกระทบต่อยอดดาวน์โหลดเพลงหรือทำร้ายศิลปิน

แต่กว่าโซนี่จะผลักดันให้แผนกต่างๆ ร่วมมือกันได้ บริษัทก็สูญเสียที่ยืนในธุรกิจทีวีและเครื่องเล่นเพลงพกพา ซึ่งจอแบนและไอพอดมาแรงมาก

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตจากเกาหลีใต้ จีน และที่อื่นๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และตัดราคาแข่งกับโซนี่และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไฮเอนด์รายอื่นๆ ดังนั้น เมื่อแบรนด์โซนี่ไม่เปล่งประกาย ก็เป็นเรื่องยากที่จะตั้งราคาสินค้าแบบพรีเมี่ยม

"ซี-จิน ชาง" ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "โซนี่ ปะทะ ซัมซุง: เรื่องราวการต่อสู้ของยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลก" ระบุว่า ณ จุดนี้ โซนี่ต้องการกลยุทธ์ เป็นกลยุทธ์อะไรก็ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่มีเลย

หนึ่งในพื้นที่ที่โซนี่ยังประสบความสำเร็จในตอนนั้น คือ วิดีโอเกม ที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและโลกที่อินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง "เพลย์สเตชั่น 3" เป็นระบบความบันเทิงในบ้านที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและทีวีได้ แต่ความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีบลูเรย์ กลับทำให้คู่แข่งอย่างนินเทนโดและไมโครซอฟท์แซงหน้าไปไกล

กรณีของโซนี่ สะท้อนปัญหาที่หยั่งลึกของบริษัทที่เคยร่ำรวยนวัตกรรม ทว่าตอนนี้กลับขาดแคลนไอเดีย เมื่อบวกกับเงินเยนที่แข็งค่าจนกระทบการส่งออก และไม่สามารถแข่งขันเรื่องต้นทุนราคาถูก

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นสูญเสียความเป็นผู้นำในหลายๆ ด้าน ทั้งที่เมื่อ 10 ปีก่อน บริษัทเหล่านี้เป็นผู้กำหนดเทรนด์ผลิตภัณฑ์อย่างทีวี กล้องดิจิทัล เครื่องเล่นเพลงพกพา และคอนโซลเกม ผิดกับตอนนี้ที่บทบาทลดลงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างแอปเปิลและซัมซุง

วัฒนธรรมองค์กร ที่มีแต่วิศวกรและผู้บริหารมั่นใจในตัวเองมากๆ ทำให้ไม่เกิดความร่วมมือระหว่างกัน และมีแนวคิดว่าการลดต้นทุนเป็นศัตรูของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแม้ในอดีตความเป็นอิสระตรงนี้มีความสำคัญ แต่สถานการณ์ตอนนี้แตกต่างไปมาก

นอกจากนี้ สินค้าของโซนี่ ยังมีมากเกินไป และบางทีก็แข่งกันเอง อาทิ ทีวีกว่า 30 รุ่น ซึ่งสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค เทียบกับค่าย "แอปเปิล" ที่ผลิตมือถือแค่ 2 สี ซึ่งดีที่สุด รวมถึงกลยุทธ์ออนไลน์ที่บูรณาการแพลตฟอร์มเพลง หนัง และเกม ก็ใช้เวลานานกว่าจะปรับให้ใช้ร่วมกันได้

ความเป็นไปได้ที่โซนี่ จะเดินหน้าต่อคือ การลดไลน์ผลิตภัณฑ์ลง อาทิ ธุรกิจเคมีคัล แต่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของธุรกิจทีวี ซึ่งแม้ซีอีโอป้ายแดงจะประกาศโฟกัส 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอุปกรณ์พกพา อาทิ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ธุรกิจกล้องถ่ายภาพและกล้องวิดีโอ และธุรกิจเกม แต่เขาก็จะไม่ทิ้งทีวี ทั้งที่ขาดทุนมหาศาล

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

เปิดคำแปรญัตติแก้ไข รัฐธรรมนูญ ม.291 ..



ประชุมร่วมรัฐสภาเคาะสเป็ก ส.ส.ร. ปชป.-ส.ว. เสนอเพิ่มจำนวน ห้ามยุ่งการเมือง ไม่เเตะหมวดสถาบัน

การประชุมร่วมกันของสมาชิสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ในวาระ 2 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ(ปธ.กมธ.)พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยในการพิจารณาของกมธ.เรียงลำดับ ตามมาตราทั้ง 5 มาตรา และที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนให้ยึดเสียงข้างมาก ซึ่งกมธ.เสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็น โดยมีผู้แปรญัตติสงวนคำแปรญัตติจำนวน 178 คน มานำเสนอในที่ประชุมร่วม วาระ 2 ในวันที่ 10-11 เมษายน 2555 ซึ่งผู้แปรญัตติส่วนใหญ่เป็นกรรมธิการเสียงข้างน้อยของพรรคประชาธิปัตย์และส.ว. ส่วนเนื้อหาในมาตรา 291/1 ที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ตามร่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ คณะกมธ.เห็นชอบ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละหนึ่งคน
2. สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองตามมาตรา 291/6จำนวนยี่สิบสองคน ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 6 คน(ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 6 คน(ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินเศรษฐกิจ สังคมกฎหมายหรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนดจำนวน10คน

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาผู้แปรญัตติอภิปรายโดยมีสาระสำคัญดังนี้

นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาในฐานะประธานวิปวุฒิสภามาตรา 291/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน ในกรณีตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

ส่วน ส.ว.สรรหา อาทิ นายวันชัย สอนศิริ, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย,รศ.นรีวรรณ จินตกานต์,นางกีระณา สุมาวงศ์, รศ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา เสนอให้ มาตรา 291/1 มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวนสมาชิกของแต่ละจังหวัดให้คำนวณตามสัดส่วนของจำนวนประชาชนทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิก200คนจำนวนสมาชิกที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีให้นำจำนวนประชาชนในจังหวัดนั้นมาคำนวณเฉลี่ยตามวรรคสองจังหวัดใดมีประชาชนไม่ถึงเกณฑ์ต่อสมาชิก1คน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกได้1คนจังหวัดใดมีประชาชนเกินเกณฑ์สมาชิก1คนให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนประชาชนที่ถึงเกณฑ์จำนวนประชาชนต่อสมาชิก1คน

นายกรณ์จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอ มาตรา 291/1ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้ 1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเขตจังหวัดนั้นๆได้1คนให้แต่ละจังหวัดมีจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนราษฎร 300,000 คนต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ1คน เมื่อได้ที่จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พึงมีในแต่ละจังหวัดตามวรรคสามแล้วหากจังหวัดใดมีเศษของจำนวนราษฎรที่เหลือจากการคำนวณมากกว่า 150,000 คน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง 2.สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมของรัฐสภาจำนวน 22 คน ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 6 คน (ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 6 คน(ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด จำนวน 10 คน

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. เสนอ มาตรา 291/1ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน 2.สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองตามมาตรา 291/6 จำนวน 22 คน ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวน 6 คน (ข)ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 6 คน (ค)ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจสังคมกฎหมายหรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนดจำนวน 10 คน

โดยส่วนใหญ่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ มาตรา 291/1ให้มีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แก้ไขจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยการคำนวณราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายโดยให้ใช้เกณฑ์ประชากรจำนวน 300,000 คน ต่อจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน จังหวัดใดมีประชากรไม่ถึงจำนวนดังกล่าวให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ 1 คน จังหวัดใดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณดังกล่าวหากมีจำนวนประชากรเกิน 100,000 คน ขึ้นไปก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้อีก 1 คน (2)สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตาม (1)จำนวน 25 คน ดังต่อไปนี้(ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 6 คน (ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 6 คน (ข/1) ผู้เชี่ยวชาญสาขาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการศึกษาจำนวน 3 คน (ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด จำนวน 10 คน

สำหรับมาตรา 291/2 บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร. ตามมาตรา 291/1(1) ผู้ขอแปรญัตติในมาตรานี้ส่วนใหญ่เป็นกรรมาธิการและส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอให้เพิ่มเติมข้อความ โดยนายเทพไท เสนพงศ์ เสนอเพิ่มข้อความว่า ไม่เป็นส.ส. ส.ว.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง, ไม่เป็นสมาชิกพรรคมาแล้ว 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง และไม่เป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขณะที่ ส.ว. อาทิ นายเจริญ ภักดีวานิช นายประเสริฐ ชิตพงษ์ นายนิคม ไวยรัชพานิช นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นายวันชัย สอนศิริ นางทัศนา บุญทอง ขอแปรญัตติให้เพิ่มเติมในส่วนวุฒิการศึกษาว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

มาตรา 291/3 บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.นั้น ส่วนใหญ่จะขอแปรญัตติให้เพิ่มเติมข้อความ อาทิ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ (กมธ.) เสนอให้เพิ่มข้อความคุณสมบัติต้องห้ามคือ เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. ส.ว.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นสมาชิกพรรคหรือดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคและพ้นจากตำแหน่งใดๆ ในพรรคมาแล้วยังไม่เกิน 3 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายธนา ชีรวินิจ นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายวิรัช ร่มเย็น (กมธ.) เสนอให้ระบุเป็นสมาชิกพรรคหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคแล้วยังไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งเป็นบิดามารดา คู่สมรส พี่น้องและบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ส่วนนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ขอแปรญัตติโดยให้ตัดบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส.ตามมาตรา 102 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (9) (12) (13) หรือ (14) มาเป็นเรื่องติดยาเสพติดให้โทษ, บุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล, เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง, เคยถูกไล่ออกหรือปลดออกจากราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริต, เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 263 และเคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง มาตรา 291/5 ให้กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.ตามมาตรา 291/1(1) ให้เสร็จภายใน 75 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ และให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม การวินิจฉัยขาดเกี่ยวกับการตัดสิทธิการเลือกตั้ง การเพิกถอนผลเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ร.ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์ได้รับคำร้อง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอให้กกต.จัดการเลือกตั้งส.ส.ร.เสร็จภายใน 90 วัน และเมื่อเลือกตั้งเสร็จให้กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นส.ส.ร.จังหวัดนั้น ส่วนมาตรา 291/11 สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่วันถัดจากวันประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก

ขณะเดียวกัน กมธ.จากพรรคปชป. ส่วนใหญ่จะเสนอให้ขยายเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จ ภายใน 300 วัน และให้ส.ส.ร.นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นต้นแบบในการยกร่างและให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกจังหวัดโดยทั่วถึงก่อน นายวิรัช ร่มเย็น เสนอให้เสร็จภายใน 360 วัน เช่นเดียวกับนายวิรัตน์ กัลยาศิริ เสนอให้เพิ่มข้อความด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ยกเลิก ยุบ ปรับ เปลี่ยน องค์กรอิสระ ศาลทั้งหลายจะกระทำไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นการแก้ไขจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนิรโทษกรรมบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งมีความผิดหรือต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลใดๆ และจะต้องไม่จัดทำในลักษณะให้มีผลย้อนหลังลบล้างความผิดใดๆ ซึ่งองค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 วินิจฉัยหรือลงมติว่าบุคคลนั้นมีความผิด ด้านนายอภิสิทธิ์ขอแปรญัตติว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ต้องให้อิสระกับองค์กรตุลาการและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และต้องไม่มีผลให้ลบล้างอำนาจตุลาการที่ผ่านมา

มาตรา 291/13 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา และให้กกต.กำหนดวันออกเสียงประชามติไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน กมธ.เสียงข้างน้อย และส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้สงวนคำแปรญัตติ โดยเสนอว่ากรณีส.ส.หรือส.ว.จำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิก เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 291/11 วรรคห้า ให้เสนอร่างนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 7 วัน และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน หากร่างดังกล่าวมิได้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 291/11 วรรคห้า ก่อนส่งร่างให้กกต.จัดทำประชามติ ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนทำประชามติ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอแปรญัตติว่า การวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ ควรให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ประธานรัฐสภา

มาตรา 291/14 เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กมธ. อาทิ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ขอสงวนคำแปรญัตติโดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอแปรญัตติ 60 คน ให้ตัดประธานรัฐสภาเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยระบุว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของส.ส.ร. ต้องไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

มาตรา 291/16 ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไป ให้ ครม. โดย ส.ส. มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภามีมติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้ นายอภิสิทธิ์และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอสงวนคำแปรญัตติโดยเสนอให้ตัดมาตรานี้ทิ้ง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ใช่หลักที่ถูกต้องที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่บ่อยครั้ง

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมพิจารณาได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศอินโดนีเซีย โดยทางวิป 3 ฝ่ายได้หารือกัน ให้ปิดการประชุมเพื่อให้ส.ส. ลงพื้นที่ดูแลประชาชน และจะมีการประชุมพิจารณาต่อในวันที่ 18-19 เม.ย.

โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า จะมีการลงมติวาระ 3 ใน วันที่ 8 พ.ค.นี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

บทบาทผู้นำ: ในสถานการณ์วิกฤตของประเทศจากเหตุภัยพิบัติ !!?

หลังจาก SIU ได้นำเสนอบทความวิพากษ์บทบาทสื่อกระแสหลักในยามที่ประเทศต้องประสบภัยพิบัติไปแล้ว อีกบทบาทสำคัญที่เราต้องหันกลับมามอง คงไม่พ้นบทบาทของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อปกป้องพลเมืองภายในประเทศบ้างว่า ในภาวะวิกฤตที่ทั้งไทยและเทศต้องเผชิญมาหลากหลายนั้น ความเป็นจริงต้องเป็นเช่นใด ควรเล่นบทบาทใดให้พลเมืองรู้สึกได้ถึงความมั่นคง ปลอดภัย

ไม่ว่าประเทศใดจะมีการปกครองแบบเผด็จการ แบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย หรือแบบคอมมิวนิสต์ ฯลฯ ล้วนแต่ต้องนำพาประเทศให้มีความกินดีอยู่ดี หรืออย่างน้อยก็ต้องตอบสนองความต้องการหลักของพลเมืองภายในประเทศเพราะความต้องการพื้นฐานหลักของชีวิตมนุษย์หรือแม้แต่ชีวิตสัตว์ไม่ว่าชนิดใด ต่างก็ต้องการความรู้สึกที่มั่นคง ปลอดภัย แม้ในห้วงยามที่พลเมืองยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจนกระทั่งบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต แต่การขาดความรู้สึกปลอดภัยเพราะขาดข้อมูลในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจ

ประสบการณ์ในภาวะวิกฤตจากภัยพิบัติของประเทศอื่น

นิตยสาร TIME เล่าถึงญี่ปุ่น เมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๐๑๑ ว่า สาเหตุใดที่ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำในการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ สาเหตุสำคัญเกิดขึ้นเมื่อสายวันหนึ่ง ของวันที่ ๑ กันยายน ๑๙๒๓ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเขตคันโต สร้างความปั่นป่วนและส่งผลกระทบทั่วเมืองอุตสาหกรรมทั้งโตเกียวและโยโกฮามา กระแสลมแรงจากพายุใต้ฝุ่น สร้างความเสียหายทั่วทุกพื้นที่

ภาพโดย USGS/George A Lang Collection จาก theatlantic

ข่าวลือแพร่สะพรัดไปทั่วทุกหัวระแหง อาทิ ชาวเกาหลีถูกปล้นสะดมภ์และคนนับพันรายถูกฆาตกรรมหมู่ ช่วงเวลานั้น บริเวณเขตคันโตมีผู้คนเสียชีวิตนับ ๑๐๐,๐๐๐ ราย พื้นที่ส่วนใหญ่ ถูกทำลายจากหายนะของภัยพิบัติจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง ด้วยความแรงของแผ่นดินไหวขนาด ๗.๙ ริกเตอร์ ดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นจะกลายเป็นผู้นำโลกในด้านการเตรียมความพร้อม จะเห็นได้ว่า ทุกๆ ปี นับจาก ค.ศ. ๑๙๖๐ ญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันที่ ๑ กันยายน เป็นวันแห่งการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ (Disaster Prevention Day) ทั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศผู้เชี่ยวชาญในการตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นมา (early-warning system) ระบบเตือนภัยสึนามิของญี่ปุ่น ตั้งขึ้นในปี ๑๙๕๒ ถูกออกแบบเพื่อคาดการณ์ความสูง ความเร็ว พื้นที่ และบริเวณที่สึนามิจะเคลื่อนตัวมาถึง กล่าวคือ ก่อนที่จะกลายเป็นผู้นำระดับโลกว่าด้วยการเตือนภัยสถานการณ์จากเหตุภัยพิบัติ ต้องสูญเสียอย่างมหาศาลก่อน แล้วประเทศอื่นๆ ที่เห็นความเลวร้ายจากภัยพิบัตินั้น จะไม่คิดนำมาปรับแก้ หรือใช้บทเรียนของประเทศอื่นให้เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองในประเทศที่ตนปกครองบ้างเลยหรือ

ภาพโดย USGS/George A Lang Collection จาก theatlantic

ขณะที่ The Economist ก็ออกบทความในห้วงเวลาเดียวกันเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๐๑๑ โดยพูดถึงอีกด้านหนึ่งของญี่ปุ่น หรือความล้มเหลวจากการดำเนินนโยบายของญี่ปุ่น เขาพูดถึงหายนะจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น และสะท้อนภาพถึงวิกฤตจากภาวะความเป็นผู้นำ เขาฉายภาพให้เห็นถึงความเสียหายจากภัยพิบัตินั้น นำไปสู่ความหวาดกลัว ความรู้สึกตื่นตระหนก และการขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำ และพูดถึงลัทธิสโตอิก (stoic) ที่เป็นการแสวงหาความสงบทางจิตใจของผู้อยู่รอด ที่เป็นการตอบสนองต่อโชคชะตาที่พานพบ ด้วยการทำใจให้สงบ

ทั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากที่ดูจะเกรี้ยวกราดมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลนาโอโตะ คัง ที่พยายามจัดการกับสถานการณ์ที่อันตรายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima Dai-Ichi No. 1 หากเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวเมื่อปี ๑๙๙๕ มีผู้เสียชีวิต ๖,๔๐๐ ราย ช่วงนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นตอบสนองช้ากว่าเกาหลีใต้ในการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อให้ความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนเสียอีก แถมกลุ่มยากุซ่า ที่เป็นมาเฟียของญี่ปุ่น ยังเป็นกลุ่มแรกที่ตั้งครัวสำหรับทำซุปให้เหยื่อ (จากภัยพิบัติแผ่นดินไหว) ได้ทานกัน

The Economist เห็นต่างจากนิตยสาร TIME ที่ว่า ญี่ปุ่นสูญเสียความเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพมาเนิ่นนานแล้ว จนทำให้ญี่ปุ่นติดกับดักทศวรรษที่สูญหายไป (lost decade) นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “ผมอยากจะทำให้แน่ใจได้ว่า รัฐบาลจะเตรียมการสำหรับภัยพิบัติร่วมกับประชาชน ดังนั้น อาจทำให้ท่านมั่นใจได้ว่า การเตรียมพร้อมคือการป้องกัน” สุดท้ายก็จำต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่ล่าช้าเกินไป จนทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาล ผู้คนล้มตายถึง ๒๐,๐๐๐ ราย ที่พักอาศัยพังพินาศ ๑๒๕,๐๐๐ หลังคาเรือน สูญงบประมาณราว ๒๕ ล้านล้านเยน (๙.๔ ล้านล้านบาท)

ภาพจาก AssignmentHelpExperts

บทบาทที่พึงเป็นในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญภัยพิบัติ: ของผู้นำ/ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อปกครองประเทศ

ขณะที่ เว็บไซต์ Margaretwhealey เรื่อง The Real World: Leadership Lessons from Disaster Relief and Terrorist Networks ได้พูดถึง ความเป็นผู้นำในยามที่เกิดภัยพิบัติ กรณีศึกษาจากพายุเฮอริเคนแคทรีนา ระบุว่า โลกมีประสบการณ์จากภัยพิบัติที่หลากหลาย ในยามที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่จะสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์พร้อมกับสะท้อนให้เห็นความย่ำแย่และความผิดพลาดของระบบราชการ สิ่งแรกที่ต้องตอบสนองต่อประชาชน คือ ทำทุกวิถีทางที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือ ช่วยชีวิต และรักษาชีวิตของประชาชนไว้ให้ได้

โดยอ้างถึง TIME ที่กล่าวไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังพายุเฮอริเคน คือ ในทุกระดับของภาครัฐ มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น กล่าวคือ สับสนว่า ใครคือผู้มีความสำคัญในห้วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติ “ผู้นำหวั่นเกรงที่จะแสดงบทบาทนำ รวมทั้งการแสดงให้เห็นถึงขอบเขตอำนาจในการปกครอง และในตัวบทกฎหมาย” ผู้นำจำเป็นต้องมีความอิสระในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด โดยตั้งอยู่บนการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน

งานของผู้นำคือ การทำให้แน่ใจว่า พวกเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้และต้องทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าตนมีชีวิตที่ปลอดภัยและมั่นคงท่ามกลางภัยพิบัติด้วย บทความน่าสนใจจาก preservearticles พูดถึงหลักสำคัญที่สัมพันธ์กับภาวะผู้นำ ๕ ประการ คือ ๑. ต้องมีบุคลิกภาพที่สามารถปกครองผู้อื่นได้ ๒. ความชาญฉลาด ๓.ความมั่นใจในตนเอง ๔.มีสมรรถนะสูง ๕.มีความรู้ทั้งในด้านการเมืองหรือการจัดการ ภาวะความเป็นผู้นำในสถานการณ์ภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทั้งในระดับท้องถิ่น หรือในระดับประเทศ ที่ต้องประสบกับภาวะเข้าตาจนเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติท่ามกลางขนบธรรมเนียมในสังคม เป็นเรื่องยากยิ่งที่ต้องตัดสินใจ

แต่การขาดแคลนข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน และการติดต่อสื่อสารที่ถูกขัดจังหวะเพราะสภาพปัญหาจากภัยพิบัติ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการในการตัดสินใจต้องประสบภาวะชะงักงัน อีกทั้งการสูญเสียหรือการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ เครื่องมือ การขนส่ง ก็ยิ่งทำให้ส่งความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยได้ยากยิ่ง

นอกจากนี้ บทความ “การตอบสนองต่อภัยพิบัติ บทบาทผู้นำในห้วงวิกฤต” ใน Excellent Leadership ของ Point Eight Power ได้อ้างถึงความเป็นผู้นำ ในห้วงที่เกิดความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาว่า ส่งผลกระทบในหลายระดับทั้งมนุษย์ ทรัพย์สิน และสถานะทางเศรษฐกิจ เขาได้กำหนดแผนการ ๕ เสาหลัก ที่ผู้นำจำต้องทำ (แม้ว่า ภัยพิบัติจากสึนามิยังไม่กระทบต่อไทยมาก แต่จะไม่ดีกว่าหรือ หากจะเรียนรู้)

ภาพจาก TSUNAMI LABORATORY

๑.ประชาชนต้องมาก่อน นั่นคือ การตอบสนองแรกที่ผู้นำพึงกระทำต่อประชาชนของเขา อย่างน้อย ก็ตอบสนองด้วยการสร้างเกราะคุ้มกันภัยให้แก่เขา จัดเตรียมอาหาร น้ำ ยา หรือเงิน

๒.การติดต่อสื่อสารคือประเด็นสำคัญยิ่ง การขาดหายของช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ทำให้เกิดข่าวลือและเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด เราต้องรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และมีการติดต่อสื่อสารในเชิงลึก

๓.ความชาญฉลาดที่ต้องประสานเข้าด้วยกัน ในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอนอย่างช่วงที่เกิดภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมียุทธศาสตร์ร่วมที่ดี

๔.การจัดการด้านกำลังใจหรือการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องเรียกคืนกำลังใจกลับคืนมา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอน

๕.ชื่อเสียง เกียรติยศ และความพยายามที่กล้าหาญ ในภาวะวิกฤตจะนำมาซึ่งโอกาสในการแสดงความกล้า อยู่ที่ว่า ความเป็นผู้นำจะผลักดันให้ผู้นำมีความกล้าที่จะแสดงออกถึงความกล้าแค่ไหน
ความไม่กล้าตัดสินใจของผู้นำจะฉายภาพชัดเจนในภาวะวิกฤต แน่นอนช่องทางสื่อสารทางสังคมที่มาจากสื่อมวลชน จะแสดงออกในห้วงเวลาที่เหมาะสมช้าหรือเร็วเพียงใด เราได้เห็นภาพกันแล้ว แต่การลำดับความสำคัญในการตัดสินใจของผู้นำ ในการแสดงบทบาทนำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาประเทศให้พ้นภัยจากภาวะวิกฤตของภัยพิบัติเช่นกัน


ที่มา.Siam Intelligence Unit

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

ค่าแรง 300 บาท กับก้าวแรกของโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ !!?

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยจดจ้องไปยังวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่าการประกาศการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในจังหวัดนำร่อง 7 จังหวัดนำโดยกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดภูเก็ตจะเป็นเช่นไรบ้าง

ตัวนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่การเลือกตั้งโดยพรรคเพื่อไทยในครั้งที่ผ่านมาและทำการประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด แต่ทว่าในมุมของนักธุรกิจซึ่งมองว่าค่าแรงขึ้นต้นทุนสำคัญตัวหนึ่งในการบริหารธุรกิจทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่ค้านรัฐบาลอย่างเต็มที่หลังจากพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว
แน่นอนว่าไม่ว่าใครทำธุรกิจทุกวันนี้ล้วนต้องคุมเข็มขัดของค่าใช้จ่ายไว้อย่างระมัดระวังไว้อย่างมาก ยิ่งการขึ้นค่าแรงคนงานในองค์กรธุรกิจไม่น้อยมีการพิจารณาผลประกอบการ ผลการทำงานของแรงงานอย่างเข้มงวดใครไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างดีก็อาจกระเด็นออกมาหรือถูกปรับเงินเดือนขึ้นมาน้อยมากเพราะทุกธุรกิจล้วนยังมีความทรงจำต่อวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไว้และรวมทั้งวิกฤติการเงินล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาเป็นตัวตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงการบริหารกิจการที่ยากลำบากมากขึ้นในทุกวันนี้

แต่เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและค่าแรงของผู้จบปริญญาตรีไว้ที่ 15,000 บาท ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น ต้นทุนธุรกิจและต้องโดนต่อต้านอย่างแน่นอน เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลไม่รู้หรือว่าจะเกิดแรงต้าน และกระแสการไม่เห็นด้วยนี้ ทำไมเราไม่เอาค่าแรงที่ยังน้อยอยู่มาเป็นจุดเด่นของธุรกิจไทยซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักต่อไป
ถ้ามองไปรอบบ้านของไทยจะพบว่าประเทศที่ค่าแรงถูกนี้อยู่รอบประเทศไทยไม่ว่ามองไปทางซ้ายเราก็เจอพม่า มองไปทางขวาก็เจอทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ค่าจ้างต่ำกว่าไทยมาก

ตารางเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ข้อมูลจาก National Wages and  Productivity Commission Philipines
ข้อมูลจาก National Wages and Productivity Commission Philipines

ขณะที่ประเทศลาวมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 31,700 บาทต่อปี พม่าอยู่ที่ 401 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 12,030 บาทต่อปี ถ้าดูจากตารางจะยิ่งชัดว่าประเทศรายรอบเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ค่าจ้างต่ำที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก และจากสภาพที่เป็นเช่นนี้เราจึงใช้นโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวราคาถูกเข้ามาทำงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม ประมงหรือภาคบริการหลายสาขาในประเทศไทยโดยเฉพาะตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา ทำให้เรายังคงค่าจ้างต่ำมาได้กว่าทศวรรษ การขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งถูกจำกัดไว้มาก ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงที่ขึ้นมาตลอด

ด้วยสภาพที่เป็นเช่นนี้ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ถูกกดทับไว้มายาวนาน ทั้งเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ยังต่ำอยู่มาก ถ้าแรงงานไม่ได้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ต้องการแรงงานมีทักษะฝีมือสูง แต่ถ้าแรงงานอยู่ในกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กการพัฒนาฝีมือมีน้อยมาก

การพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในระบบเศรษฐกิจไทยจึงกลายเป็นตัวฉุดรั้งหนึ่ง ทั้งจากต้นทุนต่ำ ไม่จำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานเพราะจากสภาพธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยีมากนัก เมื่อดูตัวเลขแรงงานต่างด้าวในประเทศกว่า 4 ล้านคนทั้งในและนอกระบบนั่นหมายถึงเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานต่างด้าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากๆ (high labor intensive)
แต่ทว่าเมื่อมองรอบบ้านในเวลานี้การพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้นการเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม ลาว และในพม่าหลังการเปิดประเทศครั้งใหญ่ แนวโน้มการไหลกลับของแรงงานต่างด้าวไปยังประเทศตนเองจะเกิดขึ้นแน่นอน การขาดแคลนแรงงานในระบบโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นมีแนวโน้มเกิดมากขึ้น

ถ้ามองว่าเป็นกับดักก็เป็นกับดักที่เตรียมวางไว้ และถ้าไม่เตรียมการเราคงเหยียบกับดักนี้จังๆ อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะกลุ่มระบสาธารณูปโภคได้เริ่มประสบปัญหาแล้ว

อีกด้านหนึ่ง ประเทศหนึ่งที่เรามองมาตลอดว่าเป็นประเทศค่าแรงถูก ส่งออกสินค้าราคาถูกไปทั่วโลกโดยชูจุดเด่นที่แรงงานราคาถูกมากๆมาหลายทศวรรษอย่างจีนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายโดยรัฐบาลจีนล่าสุดได้ให้ความสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากๆไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นโดยในประเทศจะเริ่มให้ภาคธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสินค้าผ่านเทคโนโลยีระดับสูง การออกแบบ การบริหารจัดการ พร้อมทั้งเตรียมขึ้นค่าจ้างในประเทศให้สูงขึ้นเพื่อลดช่องว่างรายได้ที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆให้ลดลง

การขยับตัวของยักษ์ใหญ่อย่างจีนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปยังเศรษฐกิจฐานความรู้ เศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยไม่สามารถสู้ค่าแรงถูอย่างจีนได้ และถัดจากนี้เราก็อาจไม่สามารถแข่งในด้านนวัตกรรมได้เช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นของการขึ้นค่าแรงรอบนี้จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและทางเลือกของไทยที่จะเลือกเดินว่าจะเป็นอย่างไร จะเลือกไปยังประเทศที่ใช้ฐานแรงงานมีฝีมือสูง ใช้เทคโนโลยี ใช้ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าแรงงานและสินค้า หรือเลือกเดินในเส้นทางของประเทศฐานการผลิตของประเทศพัฒนาแล้วแทนใช้เทคโนโลยีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใช้แรงงานราคาต่ำต่อไป

การปรับตัวของการขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้เป็นสัญญาณการเตือนของการที่ต้องปรับตัวและเริ่มวางทิศทางของตนเอง และอาจเป็นจุดเริ่มของการปรับทิศทางในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สำคัญที่สุดเพราะทางเลือกของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีน้อยลงไปเรื่อยๆ และถ้าไม่รีบปรับตัววันนี้วันหน้าเราปรับตัวไม่ทัน เพราะการถูกให้ปรับโดยรู้ตัวย่อมดีกว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้ต้องปรับตัว

ที่มา.Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++