--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

ดาบที่ประหารเสรีภาพ

นักปรัชญาชายขอบ

สิ่งที่จริงกว่าคำขวัญที่ว่า “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพประชาชน” นั่นคือ “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของสื่อ” แต่เมื่อสื่อที่พยายามให้พื้นที่เสรีภาพต้องถูกละเมิดเสรีภาพ สื่อทั้งหลายทำอะไรกัน?
 
คำขวัญที่ว่า “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพประชาชน” อาจไม่จริง เพราะที่จริงกว่าคือ “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของสื่อ” เนื่องจาก
 
ประการแรก สื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือของเอกชนก็ล้วนแต่เป็นสื่อที่มี “เจ้าของ” สื่อของรัฐตามหลักการแล้วประชาชนคือเจ้าของ แต่โดยพฤตินัยรัฐบาลคือเจ้าของ ฉะนั้น สื่อของรัฐจึงถูกใช้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล และมันก็ไม่มียุคไหนที่สื่อของรัฐจะถูกใช้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล และกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างน่าเกลียดเท่ากับยุคนี้ 
 
ส่วนสื่อของเอกชน ถ้าเจ้าของสื่อพยายามรักษาอุดมการณ์และจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ก็เป็นไปได้ว่าเสรีภาพของการเสนอและวิเคราะห์ข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นอื่นๆ จะดำเนินไปในทิศทางที่ปกป้องเสรีภาพของประชาชน แต่ถึงอย่างไรสื่อก็เป็นธุรกิจที่ทำธุรกิจโฆษณากับทั้งธุรกิจภาคเอกชน และงบโฆษณาของภาครัฐ เงื่อนไขทางธุรกิจก็อาจจำกัดเสรีภาพของสื่อได้ โดยเฉพาะในสงครามแห่ง “สี” สื่อที่ต้องคำนึงถึงลูกค้าจากทุกสีอาจไม่กล้าพอที่จะเปิดพื้นที่ให้กับ “ความจริง” หรือ “ความเห็น” ของสีใดสีหนึ่ง หรือเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองสีโต้แย้งกัน
 
ข้อจำกัดอีกอย่างคือ สื่อเป็น “พื้นที่ความเห็น” ของคนเพียงไม่กี่คน คือคอลัมนิสต์ไม่กี่คน แม้พื้นที่เปิดนอกเหนือจากคอลัมนิสต์ก็เป็นพื้นที่ความเห็นของคนมีชื่อเสียง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าคนธรรมดาสามัญ โนเนม หรือคนชั้นล่างแทบไม่ได้มีโอกาสใช้พื้นที่สื่อเหล่านี้เสนอความเห็นของตัวเอง
 
ที่แย่กว่านั้นคือ สื่อบางสื่อถึงขนาดมีกฎว่า ห้ามเสนอข่าว ความคิดเห็น บทความของบุคคลชื่อนั้นชื่อนี้ หรือของคนสีนั้นสีนี้ และที่แย่หนักเข้าไปอีกคือเวลาสื่อบางสื่อลงข้อคิดเห็น หรือบทความวิพากษ์วิจารณ์บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปแล้ว พอมีบทความหรือข้อคิดเห็นอีกด้านที่อธิบายข้อเท็จจริงและเหตุผลของผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความเสียหายไปแล้วนั้น สื่อ (ที่อ้างว่าเป็น “สื่อคุณภาพ” ด้วยซ้ำ) ก็ไม่นำเสนออีกด้านเฉยเลย ซึ่งตัวอย่างพื้นๆ เหล่านี้มันแสดงให้เห็นว่า “เสรีภาพสื่อ” ไม่อาจแทน “เสรีภาพประชาชน” ได้
 
ประการที่สอง ที่ว่าการปฏิรูปสื่อต้องให้สื่อตรวจสอบกันเองนั้น ก็มีข้อจำกัดมาก เพราะวัฒนธรรม “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน” เป็นวัฒนธรรมที่แข็งของวงการสื่อ ไม่ต่างจากวงการอื่นๆ คนในวงการสื่อวิจารณ์คนอื่นได้หมดนอกจากคนในวงการตนเอง ปัจจุบันนี้เห็นมีวิจารณ์กันบ้าง แต่วิจารณ์ด้วยเงื่อนไขแห่ง “สี” ไม่ใช่วิจารณ์ด้วยเงื่อนไขของการปกป้อง/ไม่ปกป้องเสรีภาพประชาชน
 
ที่น่าเศร้าคือ เวลาที่สื่อด้วยกันถูกคุกคามเสรีภาพ มีสื่อฉบับไหนบ้างที่ “ทำข่าว” เชิงเจาะลึกในเรื่องดังกล่าว ที่เห็นกันอยู่คือเสนอข่าวแบบผ่านๆ ไม่ขึ้นหน้าหนึ่งเหมือนข่าวดาราทำผู้หญิงท้องด้วยซ้ำ! 
 
ผมแปลกใจมากว่า ทำไมเมื่อสื่อถูกคุกคามเสรีภาพ เช่น กรณี ผอ.ประชาไท ถูกจับด้วยข้อกล่าวหาทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ ทำไมสื่อที่ต่างก็ชูคำขวัญว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” ไม่ทำข่าวแบบเจาะลึก เช่น ไปสัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุม องค์กรสิทธิมนุษย์ชน ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ว่ามีความเห็นอย่างไรกับกฎหมายหมิ่นฯ เอาเนื้อหากฎหมายหมิ่นฯ มาวิพากษ์ว่ามันเป็นกฎหมายละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่จะพูดความจริงของประชาชนหรือไม่?
 
หรือไปถามนักนิติปรัชญาว่า กฎหมายเช่นนั้นเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมหรือไม่? ถ้านึกไม่ออกว่าจะไปถามใคร ก็ไปถามคณะกรรมการปฏิรูประเทศ เช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน คุณหมอประเวศ วะสี นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ได้ว่า สมควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นหรือไม่? เพราะคนเหล่านี้ต่างก็เคยเรียกร้อง “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” มาเป็นสิบๆ ปี แล้วการปฏิรูปประเทศถ้าไม่เปลี่ยน “โครงสร้างอำนาจ” หรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพูดความจริงของประชาชน ภาษีประชาชนที่เป็นค่าปฏิรูปฯ 60 ล้านบาท จะเสียเปล่าไหม?
 
สื่ออย่างประชาไทพยามเป็นอิสระจาก “ทุน” หรือไม่สังกัดนายทุนใดๆ ที่จะมีอำนาจบงการทิศทางการทำหน้าที่สื่อ และพยายามเปิดพื้นที่เสรีภาพสำหรับทุกความเห็นจริงๆ นำเสนอข้อเท็จจริงบางเรื่องที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าเสนอ ฯลฯ ซึ่งความพยายามเหล่านี้คือความพยายามขยายพื้นที่เสรีภาพของประชาชน
 
“การขยายพื้นที่เสรีภาพ” มันต่างจากการพยายาม “ให้ปัญญา” ตรงที่อย่างหลังคุณรวบเสรีภาพไว้ที่ตัวคุณ แล้วก็ใช้เสรีภาพในการนำเสนอความคิดของคุณอย่างเต็มที่ และเสนออย่างผู้อบรมสั่งสอนราวกับว่าเป็น “สื่อศาสดา” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้าง “กลุ่มศาสนิกสื่อ” ที่เลื่อมใสศรัทธาในสื่อนั้นๆ แต่การขยายพื้นที่เสรีภาพคือการขยายพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ใครก็ได้เข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ 
 
แต่ความเสี่ยงที่หนักหนาสาหัสของสื่อที่มุ่งขยายพื้นที่เสรีภาพคือ การถูกลงดาบด้วยกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ดาบดังกล่าวนี้มีไว้ใช้เพื่อฟาดฟันฝ่ายที่มีความเห็นต่างทางการเมือง และข้อเท็จจริงก็คือว่าประชาไทเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกสี เพียงแต่ว่าสีแดงอาจเข้ามาใช้มากกว่า สีเหลืองที่เข้ามาก็ด่าสีแดงได้เต็มที่ นี่คือ “เสรีภาพ” แต่ในที่สุดแล้วคนที่มาใช้พื้นที่ตรงนี้ก็จะรู้เองว่าการใช้เหตุผลน่าสนใจกว่าการด่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะค่อยๆ พัฒนาไป ไม่ใช่เถียงด้วยเหตุผลไม่ได้ ด่าสู้ไม่ได้ แล้วจะเรียกหาดาบมาฟาดฟันอีกฝ่าย หรือผู้รับผิดชอบเว็บฯ
 
แต่ก็นั่นแหละครับ ตราบที่ยังมีดาบอยู่ มันก็ต้องมีผู้ใช้ดาบอยู่วันยังค่ำ คำถามคือ ถ้าสังคมสังคมหนึ่งอนุญาตให้มีดาบเล่มหนึ่งที่ใครจะใช้มันฟาดฟันคนอื่นๆ ได้เลย หากเขาเชื่อว่า ตีความว่า เห็นว่า บุคคลคนนั้น (ที่ทำมาหากิน มีภาระรับผิดชอบจิปาถะ) เหมือนเขานี่แหละไปพูดความจริงด้านที่ไม่บวกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สังคมนี้นับถือ และมันก็เป็นไปได้สูงมากว่าดาบอันนี้จะถูกใช้ฟาดฟันศัตรูทางความคิด ศัตรูทางการเมือง และ ฯลฯ สังคมเช่นนี้จะเป็นสังคมที่น่าอยู่ไหม? การที่รัฐยื่นดาบให้ประชาชนทุกคนใช้ประหัตประหารเสรีภาพกันได้ มันคือการยื่นหลักประกันความสงบสุขของสังคมหรือ?
 
หรือหากมองลึกลงไปถึง “แก่นสาร” (essence) ความเป็นคนคือ “การมีเสรีภาพ” กฎหมายหมิ่นฯ เป็นกฎหมายที่ขัดแย้งกับ “ความเป็นคน” ดังกล่าวนี้หรือไม่? สื่อหากจะยังยืนยันคำขวัญ “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพประชาชน” ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องความเป็นคนดังกล่าวนี้อย่างหนักแน่นเพียงใด? 
 
โดยเฉพาะเมื่อสื่อด้วยกันเองที่พยายามยืนยันเสรีภาพของประชาชน ต้องถูกละเมิดเสรีภาพ สื่อทั้งหลายทำอะไรกันอยู่???! 

10 ปี"a day"กับ"วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" ความเชื่อ ความฝัน และ Question ถึงนายกรัฐมนตรีชื่อ มาร์ค !

ที่มา. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" บรรณาธิการอำนวยการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ เป็นหนุ่มช่างคิด ช่างฝัน และชอบคิดสร้างสรรค์นอกกรอบอยู่เสมอ

10 ปีที่แล้ว "วงศ์ทนง" และผองเพื่อน สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการธุรกิจนิตยสารเมืองไทย ด้วยการก่อตั้งนิตยสารที่มีเนื้อหา แปลก แหวก และ แนว ... นามว่า a day

มาวันนี้ 10 ผ่านไป a day ไม่ใช่แค่นิตยสารเด็กแนว หรือถือแล้วเท่ อย่างเดียว แต่สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงในวงการธุรกิจนิตยสาร ได้อย่างไม่อายใคร

ขณะที่สื่อในเครือ เดย์ โพเอทส์ กำลังเติบโตอย่างน่าจับตามอง โดยเฉพาะ a day BULLETIN ที่ชั่วโมงนี้ กลายเป็นฟรีก็อปปี้ยอดนิยมของคนเมืองยุคนี้ไปแล้ว

ไม่นับรวม การผลิตคอนเทนต์สู่สื่อทีวี และ ดิจิทัล มีเดีย อย่างมีนัยยะสำคัญ

อะไร ทำให้ a day อยู่ในวงการธุรกิจนิตยสารมาได้ถึง 10 ปีเต็ม ?

ทิศทางและอนาคตข้างหน้าของ a day และ วงศ์ทนง จะไปทางไหน ?

 ชวนคุณผู้อ่านหยุดเม้าท์เรื่อง "ฟิล์ม-แอนนี่" สักครู่ พักสมองเรื่องค่าบาทแข็งลงสักหน่อย หรือ ปลงๆ กับปัญหา 3G ซะบ้าง (ก็ดี)

แล้วนั่งลงจิบชาหรือกาแฟ หรือไม่ก็ซดนำขิงสักถ้วย อ่านแนวคิดนอกกรอบของ "วงศ์ทนง ในวาระฉลองครบรอบ 10 ปี นิตยสาร a day นิตยสารที่ “วงศ์ทนง “ ท้าทายว่า ...ต่อให้มีเงินเท่าไหร่ ก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ !

@ อะไรทำให้ a day ยืนหยัดอยู่บนแผงหนังสือมาได้ถึง 10 ปี

สารภาพเลยว่าตอนที่ทำ a day เล่มแรก ผมคิดไม่ออก มองไม่เห็นเลยว่าหนังสือจะมีอายุมาถึง 10 ปี ได้ยังไง ตอนนั้น ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องเงินทุน หรือเรื่องต่างๆ กระทั่งเรื่องตัวตนในวงการหนังสือ เรามันเล็กมาก เราไม่ใช่นายทุนร่ำรวยที่หอบเงินมาทำธุรกิจหนังสือ

ฉะนั้น ไม่นึกฝันหรอกว่าจะอยู่ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี หรือนานแค่ไหน ฝันที่ไกลที่สุดในตอนนั้นของผมคือ ได้ออก a day สัก 3 เล่ม เฮ้ย ...สุดยอดแล้ว พอใจแล้ว คือ ได้ทำหนังสือแบบที่เราชอบ ตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ให้คนได้เห็นเราแฮ๊ปปี้แล้วนะ แล้วถ้ามันจะเจ๊ง เราก็คงไม่เสียใจอะไรมากมาย

แต่ในที่สุดก็สามารถยืนหยัด สามารถประกาศตัวตน สามารถปักหลักฐานที่มั่นคงในวงการธุรกิจนิตยสารเมืองไทยได้ เป็นเรื่องที่ดีใจและภาคภูใจด้วย

ผมว่าที่ a day สามารถอยู่ได้ 10 ปี โดยได้รับความนิยมอยู่ องค์ประกอบมาจากเหตุผลหลายๆ อย่าง อย่างแรกผมว่า ตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมา หนังสือ a day มันแปลกใหม่ ทั้งด้านการก่อกำเนิด ที่คนอ่านหนังสือและคนทำหนังสือมาร่วมลงขันกัน

แปลกใหม่ในแง่คาแรกเตอร์ เนื้อหา การออกแบบ พูดง่ายๆว่า โพสิชั่นของมัน ไม่เคยมีหนังสือแบบนี้มาก่อนในเมืองไทย ฉะนั้นมันสามารถเซ็ตโพสิชั่นใหม่ของตัวเองขึ้นมาได้ เป็นโพสิชั่นนิตยสารเด็กแนว(หัวเราะ) ซึ่งก่อนหน้านี้ คำว่าเด็กแนวไม่ค่อยมีนะ

คำว่าเด็กแนวมันเกิดมาพร้อมกับ a day เกิดมาพร้อมกับ independent มีเดีย ต่างๆ อ่านแล้วได้สนุก ได้แรงบันดาลใจ ไม่นับเหตุผลยิบย่อยๆ ที่มันมีความเท่อยู่ในตัว มีความเป็น fationnable ถือแล้วเท่ ดูแนว (หัวเราะ) ทั้งหมดประกอบกัน ก็เลยทำให้ a day สามารถยืนหยัดอยู่ได้

@ ในแง่เนื้อหาล่ะ มีกระบวนการคิดและลงมือทำยังไงให้น่าสนใจ

เชื่อมั๊ยว่า a day ตั้งแต่ปีที่ 1 ถึง ปีที่ 10 คอนเทนต์ไม่เคยเปลี่ยนนะ คอนเทนต์ a day ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. เรื่องคน ว่าด้วยคนเก่ง คนดี คนมีของ คนหน้าใหม่ คนมีความสามารถ เรียกว่า somebody 2. คือ เรื่องราวความประทับใจในอดีต เรตโทร และ 3. เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ไอเดีย

นี่คือแกนของ a day ไม่เคยเปลี่ยน ที่เปลี่ยนอาจจะเป็นรายละเอียดยิบย่อย เรื่องคอลัมน์ นักเขียน คอลัมนิสต์ หรือเรื่องดีไซน์ แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า a day ก่อนที่มันจะออกมา ผมผ่านการตกตะกอนตัวเองอย่างข้นขลัก รู้เลยว่าชีวิตนี้อยากทำหนังสือแบบไหน แล้วก็มองเห็นมันทะลุปรุโปร่ง ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายว่าหนังสือเล่มนี้ที่มีอยู่ 180 หน้า จะประกอบด้วยอะไรบ้าง ผมชัดเจนกับมันมาก ผมเทที่ผมชอบทั้งหมดลงในหนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยชัดเจนมาก จนเกิดความเป็น original ขึ้นมา เป็น original ที่ข้นเพียว ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

ผมท้าเลย a day เป็นหนังสือที่ต่อให้คุณมีเงินเท่าไหร่ คุณก็เลียนแบบไม่ได้ เพราะมันทำออกมาด้วยจิตวิญญาณ แบบอาจารย์เฉลิมชัย (โฆสิพิพัฒน์) ทำมาจากด้านลึกของความมุ่งมั่นปรารถนาภายใน แล้วก็ประสบการณ์

@ ในแง่ธุรกิจ a day ถือว่าไปได้ดีโดยตลอดหรือเปล่า

อย่างที่บอก เราเริ่มต้นจากที่ไม่เคยทำธุรกิจหนังสือมาก่อน ความรู้เรื่องธุรกิจจึงมีน้อยมาก แต่โชคดีที่เราและเพื่อนชื่อคุณ นิติพัฒน์ สุขสวย เรามีเซ้นต์ในเรื่องค้าๆ ขายๆ อยู่บ้าง สิ่งที่เหลือนับจากนั้นก็คือ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราเหมือนคนที่ไม่เคยเป็นพ่อค้าเลย แต่ตัดสินใจเปิดร้านของตัวเองขึ้นมา ด้วยความรู้นิดๆ หน่อยๆ ที่เคยรู้มา จากการทำงานในบริษัทต่างๆ

แต่สิ่งสำคัญที่มันสอนเราทุกๆ วันก็คือ มันสอนให้เราจำเป็นต้องเข้าใจและรู้เรื่องธุรกิจไปในตัว เพราะว่าหนังสือมันอยู่รอดไม่รอดอยู่ที่ธุรกิจจริงๆ คือ โมเดลของธุรกิจนิตยสาร มันไม่ได้ผูกไว้กับยอดจำหน่ายหนังสือเป็นหลัก เหมือนธุรกิจหนังสือของอเมริกาหรือยุโรป ซึ่งรายได้จากการจำหน่าย isssue มันเยอะมากพอที่จะซัพพอร์ตได้

แต่ธุรกิจหนังสือในประเทศไทย ในช่วง 30 ปีให้หลัง ไม่ได้พึ่งรายได้หลักจากตัวหนังสือแล้ว รายได้สำคัญมาจากค่าโฆษณา ฉะนั้น เราต้อง concern ตรงนั้น มากๆ แต่ว่าที่สุดแล้ว เราก็ตอบโจทย์โฆษณา ตอบโจทย์เอเจนซี่ได้ง่ายๆ เลย เขาจะลงโฆษณาในหนังสือที่เขาเชื่อว่าป็อบปูล่า ขายดี ได้รับความนิยม แล้ว a day ก็ทำ จนกระทั่งมีคุณสมบัติตามนั้นได้

ปีแรกที่เราทำอะเดย์ ถ้าจำไม่ผิดบิลลิ่งเราประมาณ 2 ล้าน (หัวเราะ) 4-5 เล่มแรกไม่มีโฆษณาเลย ผมออกไปขายโฆษณาเอง ไปนั่งรอเขา ไม่มีใครซื้อเลย แต่ล่าสุด บริษัทเรามีบิลลิ่ง 100 กว่าล้าน ถ้าเทียบเป็น (บัญญัติตระยาง ) ก็ถือเป็นการเติบโตที่น่าพอใจ

@ เคยสำรวจมั๊ยว่า แฟนๆ ของ a day มีมากขนาดไหน

ปริมาณผมไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ถ้าพูดชื่อ a day ไป คนสักล้านคนน่าจะรู้จัก (หัวเราะ) แล้วในจำนวนนั้นสัก 2 แสนคน อาจจะบอกว่าเคยอ่าน a day โว้ย แล้วก็มีสัก 3 หมื่นคนที่ซื้อประจำ เชื่อว่าอย่างนั้นนะ แต่ดูจากฟีดแบ็กต่างๆ ดูที่ผมใช้โซเชียลมีเดีย อยู่ด้วย ก็พอจะบอกว่า มีแฟนๆ a day มากทีเดียว

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผมยอมรับเลยว่า ผมไม่ได้ทำ a day ให้เด็กๆ อ่านนะ เพราะตอนนั้นผมอายุ 30 แล้ว ความสนใจของผม คือ อยากทำหนังสือให้คนทำงานอ่านด้วยซ้ำ คนทำงานต้นๆ เพิ่งจบมหาวิทยาลัย ซึ่งพอออกมา มันก็ใช่จริงๆ คนกลุ่มนี้ก็อ่าน a day แต่ไปๆมาๆ ที่แปลกก็คือ กลุ่มผู้อ่านอายุลดลงเรื่อยๆ

ตอนนี้ผมเจอเด็กมัธยมต้นอ่าน a day ไปจัดงานบุ๊คแฟร์ที่เอสพลานาด เด็กม.3 เขาก็มาขอลายเซ็นต์ผม แต่ถามไปถามมา บอกว่า อ่านตั้งแต่ม.1 แล้ว ผมเข้าใจว่า a day มันกลายเป็นส่วนของ pop culture ไปแล้ว คือ วัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม ฉะนั้น อะไรที่มันป็อบ คนก็อยากรู้จัก อยากจะลองใช้ ลองฟัง ลองอ่าน แต่ที่สุดแล้ว ผมว่า เป็นเรื่องดีนะ เวลาเด็กๆ อ่านหนังสือ ดีกว่าไปติดเกม

@ แล้วคิดยังไงกับผลสำรวจเรื่องคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก

จริงๆ ผมเชื่อว่าผลสำรวจนี้ คงไม่ได้ทำแบบชุ่ยๆ หรอก แต่อาจจะไม่ครอบคลุม และคำถามอาจจะไม่ละเอียดสักเท่าไหร่ โดยส่วนตัวที่คลุกคลีอยู่กับผู้อ่าน ผมเชื่อว่า คนไทยอ่านหนังสือไม่น้อยหรอก โดยเฉพาะคนเมือง อ่านหนังสือเยอะ วัยรุ่นก็อ่านหนังสือไม่น้อย

แต่สิ่งที่น่า concern มากกว่าก็คือ ในจำนวนการอ่านที่ไม่น้อย เขาอ่านอะไรกันอยู่ ผมเชื่อว่า ถ้าประเทศเรามีตัวเลขคนอ่านหนังสือเยอะมาก แต่ประเภทหนังสือที่อ่านเป็นหนังสือที่น้อยสาระ หรือไม่ได้ให้ภูมิปัญญา ความคิดความอ่านสักเท่าไหร่ ออกไปทางหนังสือบันเทิงเริงรมย์ซะมาก ซึ่งผมเกือบจะอยากจัดว่า นั่นไม่ใช่การอ่านด้วยซ้ำ เพราะการอ่านที่ดีในความหมายของผมคือการที่เราสามารถได้ความรู้ ความคิด สติปัญญา รวมถึงจิตใจจากการอ่านนั้นด้วย

@ ขึ้นปีที่ 11 a day จะมีความเคลื่อนไหวอะไรใหม่ๆ ให้คนอ่านหนังสืออย่างไรบ้าง

ความจริง a day เป็นหนังสือที่มีนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลานะ คือ เป็นหนังสือที่มีไดนามิก ไม่ใช่รอให้ 3 ปีปรับปรุง 5 ปี มาเปลี่ยนคอนเทนท์ที ไม่ใช่ a day แต่ละเล่ม ผมอยู่กับมันผมรู้นะว่า ทีมงานกว่าจะทำออกมาแต่ละเล่ม คิดกันหัวแทบแตก ทำเข้มข้นมาก เรียกว่ากว่าจะออกมาได้แต่ละเล่ม เต็มที่ไม่มีผ่อน

ฉะนั้น ใน a day แต่ละเล่ม ด้วยความที่ตัวหนังสือค่อนข้างยืดหยุ่น คือ ไม่ใช่หนังสือผู้หญิง ผู้ชาย หนังสือเด็ก หนังสือรถ หนังสือบ้าน แต่ถ้าดูจริงๆ a day เป็นนิตยสารสารคดีรูปแบบหนึ่งนะ ผมมักจะบอกบก.ผมว่า a day คืออะไรก็ได้ คือง่ายต่อการทำ เปิดกว้างในการใส่จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้

a day สามารถทำเรื่องสนุกๆ อย่างเรื่องท่องเที่ยวก็ได้ ทำเรื่องซีเรียสหน่อยอย่างมุสลิมก็ได้ หรือ สวิงไปทำเรื่องกราฟฟิกดีไซน์ก็ได้ หรือทำเรื่องศาสนาพุทธได้ ฉะนั้น ตัวหนังสือ a day ไม่ต้องปรับอะไร เพราะเราปรับอยู่ทุกเดือน

ผมว่า สิ่งที่เป็นโพสิชั่นของบริษัทต่อไปนับจากปีที่ 10 เนี่ย คือ เราอาจจะวางตัวเองว่า เราไม่ได้ทำนิตยสารอย่างเดียวแล้ว เนื่องจากว่า มีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมามันแตกสาย มันผุดขึ้นใหม่ๆ มากมาย มีเดียไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือหรือในโทรทัศน์หรือวิทยุแล้ว แต่มันเข้ามาอยู่ในโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต โน๊ตบุ๊ค หรือแม้กระทั่งในนิวมีเดียต่างๆ

ฉะนั้น ผมวางไว้ว่าต่อไป a day อาจไม่ใช่ magazine maker แล้วล่ะ แต่มันคือ content provider คือ ผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งสามารถจะไปออกในมีเดียอะไรก็ได้ คือ เราเชื่อว่าเราแข็งแรงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรามีคาแร็กเตอร์ มีจุดขายในเรื่องการเป็นบริษัทที่ให้แรงบันดาลใจ ฉะนั้น เราก็ไม่จำกัดตัวเองแค่ในกระดาษอย่างเดียว

เราไปออกอากาศแล้ว คือ รายการ "ดิ ไอดอล คนบันดานใจ" ทางช่อง 9 และเร็วๆ นี้เรากำลังจะเอาคอนเทนต์ของ a day ไปลงในไอแพ็ดซึ่งเราร่วมกับทรูดิจิทัล กำลังพัฒนาอยู่ อีกไม่นานอาจจะได้เห็น ซึ่ง a day น่าจะเป็นหนังสือ เล่มแรกๆ ในเมืองไทยที่คุณอ่านได้จากไอแพ็ด

@ a day จะบุกตะลุยในโซเชียล มีเดีย

ใช่ ผมติดตามวงการสื่อมาตลอด ผมก็สนใจว่าทิศทางหรือรูปแบบสื่อในโลกมันจะเคลื่อนไปทางไหน แล้วเราก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า นิวมีเดีย และโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันมาจริงๆ แล้วนับวันก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น เราไม่ใช่แค่ตั้งรับกับมัน แต่ต้องกระโจนเข้าไปร่วมวงด้วย ฉะนั้น สิ่งที่ผมและบริษัทกำลังทำอยู่ก็คือ ให้ความสำคัญกับการ ผลิตคอนเทนท์เพื่อที่จะไปออกในโซเชียลมีเดีย นิวมีเดีย ตอนนี้ เรามีโครงการพัฒนาอยู่หลายๆ อัน ซึ่งน่าจะเป็นก้าวที่สำคัญของ a day

@ แสดงว่าคุณเองก็เสพสื่อเยอะมาก

ผมอ่านหนังสือพิมพ์ครึ่งหนึ่ง (มั้ง) ที่มีอยู่ในเมืองไทย แต่บางทีก็อ่านในเน็ต ผมเล่นทวิตเตอร์ เพราะมีอะไรให้อ่านเยอะ แต่ไม่เล่นเฟซบุ๊ก เพราะผมว่า เฟซบุ๊กมันเหมือนบ้านที่เปิดประตูกว้างไปหน่อย ผมไม่ค่อยชอบรับแขกสักเท่าไหร่ (หัวเราะ) ทวิตเตอร์มันยังเลือกคนได้ แต่ผมดูหนังเยอะมาก เฉลี่ย 2 วันต่อเรื่อง เดือนหนึ่ง ก็ดูสักประมาณ 15 เรื่อง ความคิด ความอ่านดีๆ มันมีอยู่ในหนังเยอะมาก แล้วก็ซื้อนิตยสาร หนังสือเยอะมาก

@ นอกจากโปรเจ็กเรื่องโซเชียลมีเดียแล้ว a day กำละงจะมีโปรเจ็กต์อะไรใหม่ๆ อีกบ้าง

ครบรอบ 10 ปี a day ผมจะทำ a day เล่มพิเศษออกมาชื่อ a day LEGEND เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนไทยที่เป็นตำนาน 25 คน จากทุกวงการ โดยผมเชิญมือดีมาเขียนเรื่องราวคนเหล่านี้หลายคน เช่น คุณวินทร์ เลียววาริณ บินหลา สันกาลาคีรี เวียง วชิระ โตมร ศุภปรีชา จะวางแผงออกเดือนตุลาคมนี้

แล้ววันที่ 10 เดือน 10 จะมีคอนเสิรต์ เป็นตีม LEGEND เหมือนกันที่สกาลา ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลอง ครบรอบ 10 ปี แต่ว่า ไมล์สโตน ต่อไปสำหรับผมเอง คือ ผมวางตัวเองไว้ 3 ช่วงว่า 20 ปีแรกของผม จะทำเพื่อครอบครัว ทำหน้าที่ลูก ช่วงที่ 2 คือ ทำหน้าที่เป็นคนทำงาน เป็นผู้นำบริษัท ผู้นำองค์กร เป็นคนทำสื่อ ปกครองคนในองค์กรให้อยู่ได้ สบายดี

ส่วน 20 ปีสุดท้าย ผมอยากจะทำอะไรเพื่อสังคม ผมกำลังจะตั้งมูลนิธิชื่อ a day Foundation ขึ้นมาภายในปีนี้ จะเรียกมันว่า CSR ก็ไม่เชิง คือ ที่ผ่านมาผมสนใจเรื่องนี้มานาน ทั้งในแง่ส่วนตัว ผมก็ทำอยู่เพียงแต่ไม่ได้บอกใคร

ในแง่คน ๆหนึ่ง ผมก็บริจาคให้องค์กรต่างๆ มา 20 กว่าปีแล้ว ผมเชื่อว่าสังคมมันจะดี มันไม่ใช่แค่ใครคนใดคนเดียวทำ มันต้องช่วยกัน เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาในสังคมเรามันมีเยอะ

ฉะนั้น ก่อนหน้านี้ เท่าที่ทำได้ ถ้าไม่มีเวลาทำ ผมก็บริจาคให้คนที่เขาทำอยู่แล้วให้เขาทำต่อไป แต่หลังจาก a day มันผ่าน 10 ปี ตอนนี้บริษัทผม เรียกได้ว่าค่อนข้างมั่นคง พูดง่ายๆ ว่า ไม่มีอะไรจะต้องห่วงมาก มีคนดูแลงานในบริษัทอยู่ทุกจุด ในด้านธุรกิจ เราก็เลี้ยงตัวเองได้ ผมเลยอยากเอาเวลา ไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเราดูบ้าง

a day Foundation ผมวางรูปแบบไว้เป็น agency ของ volunteer ง่ายๆ เลย คือ ผมคิดว่า คนที่คิดอยากทำอะไรเพื่อคนอื่นมีเยอะนะ แต่เขาไม่รู้จะไปเริ่มต้นที่ไหน กับใคร ฉะนั้น a day Foundation จะเหมือนเป็นเอเจนซีที่ว่า เฮ้ย …คุณสนใจอะไร เป็นคอมมูนิตี้ที่รวบรวมคน แล้วก็ไปคิดโปรเจ็กมา เราเป็นพวกช่างคิดนี่ แล้วคิดคอนเซ็ปที่จะช่วยกลุ่มคนในสังคมได้

อีกอย่างคือ ผมสนใจหลายด้าน ผมไม่ได้เป็นคนที่สนใจสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว หรือสนใจเรื่องเด็ก หรือคนพิการอย่างเดียว ผมว่าปัญหาทุกอย่างต้องได้รับความสนใจ

ฉะนั้น a day Foundation คงจะไปแตะทุกด้าน สนุกดีเหมือนกันนะ ผมฝันว่าผมอยากทำให้การช่วยเหลือคนอื่น หรือการเป็นอาสาสมัคร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเท่ในอนาคตเว้ย ต่อไปอาจจะมีคนบอกว่า ฉันเป็น volunteer คิดถึงคนอื่นก่อนที่คิดถึงตัวเองบ้าง รอดูล่ะกัน (หัวเราะ)

@ คุณมักพูดเรื่องความเชื่อ ความฝัน และการใช้ชีวิตบ่อยครั้ง คุณมีวิธีเติมความคิด ความฝัน หรือสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับตัวเองยังไงบ้าง

มันอาจจะเริ่มต้นมาจาก ผมเป็นคนอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วมั้ง คือ ชอบรู้ไปหมด อยากรู้อยากเห็น ฉะนั้น ผมก็เหมือนกับฝึกฝนตัวเอง ให้มีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องราวรอบด้าน เคยมีคนถามผมว่า ในชีวิตสนใจอะไรบ้างมั๊ย

ผมก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันนะ เพราะผมสนใจทุกเรื่อง ผมสนใจเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สนใจการเมือง หรือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ผมก็ชอบ เรื่องการออกแบบ แฟชั่น ผมก็สนใจ ผมชอบดูหนัง ชอบฟังเพลง ชอบอ่านหนังสือ เล่นโซเชียลมีเดีย แล้วก็ดูซีรีส์ด้วย (หัวเราะ)

ก็เลยไม่รู้ว่า อะไรคือลำดับในความสนใจของผม ซึ่งผมมาพบภายหลังว่า ลักษณะเช่นนี้มันดีต่อการทำสื่อมวลชน ทำให้เวลาเราจะวิเคราะห์หรือเขียนอะไร หรือวิพากษ์อะไรสักเรื่อง ไม่เขียนแบบติสต์ เขินๆ ผิวๆ แต่เราสามารถเชื่อมโยงความรู้ในสาขาต่างๆ เข้าด้วยกันได้ มันทำให้ความคิดเห็นหรือข้อเขียนของเรามีมิติลึกซึ้ง

ฉะนั้น ผมเติมตัวเองเยอะ เงินเดือนกว่าครึ่งของผมหมดไปกับการซื้อหนังสือ ซื้อหนัง ซื้อเพลง เดินทาง ซึ่งมันเป็นการ educate ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผมเสพสื่อเยอะมาก ผมพบปะพูดคุยกับผู้คนพอสมควร

ทุกวันนี้ ผมมักจะนัดพูดคุยกับคนอยู่เสมอ บางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก็ขอคุยด้วยได้มั๊ย กินข้าวก็ได้ (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าการ ได้คุยแลกเปลี่ยนกับคนเก่งๆ ในสาขาต่างๆ มันทำให้เราได้ไอเดีย ความรู้ใหม่ๆ ก้าวข้ามไปในพื้นที่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน

จริงๆ ผมไม่ค่อยเป็นคนออกสังคม(นะ) แต่ผมเจอคนเยอะ คือ ผมไม่ได้ออกสังคมแบบไร้สาระ ไปปาร์ตี้ ถ่ายรูป กลับบ้าน แต่ผมจะนัดคุยกับคน อย่างที่บอก ทั้งนักธุรกิจ นักออกแบบ นักการเมือง ผู้กำกับ นี่จึงเป็นชีวิตในช่วงหลังของผม ผมจึงได้ไอเดีย ความคิด ได้ชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา

@ แล้วเคยมีอารมณ์หมดไอเดีย คิดสร้างสรรค์อะไรไม่ค่อยบ้างมั๊ย ในช่วง 10 ปีมานี้

ไม่เคยเลยนะ ผมเชื่อว่าความคิดใหม่ๆ มันผลิตได้ตลอด แต่แน่นอนว่า มันจะดีมากถ้าช่วยกันผลิต ไม่ใช่ผลิตแค่คนเดียว a day เป็นทีมเวิร์ก คือคนที่ทำงาน a day ระดับหนึ่งได้ผ่านการคัดสรรค์มาแล้วว่าเป็นพวกช่างคิด ก็เลยช่วยกันคิด เสริมส่ง แตกหน่อ ต่อยอดความคิดได้ ฉะนั้น เรื่องไอเดีย เรื่องความคิดไม่เคยตันเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แล้วก็เชื่อว่ายังคิดได้อีกเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ด้วยซ้ำ เพราะเราเป็นพวกสนุกคิดและทำ

ผมว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือความเหนื่อยหนักของผม น่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ เพราะมันเกี่ยวโยงกับหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หรือแม้กระทั่งเรื่องการตลาดที่เปลี่ยนไป เรื่องโฆษณา เรื่องจีดีพี กระทั่งเรื่องภัยธรรมชาติ ทุกอย่างเกี่ยวข้องหมด

ฉะนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผมต้องบาลานซ์มากๆ คือ การรักษาสมดุลและความแข็งแรงทางธุรกิจของเราให้อยู่ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สูญเสียตัวตนของคนอยากทำหนังสือดีๆ ไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็มันส์ดี

@ ความผูกพันระหว่างคุณกับ a day ดูลึกซึ้งจัง

เคยมีคนถามว่า มีอะไรที่สำคัญในชีวิตผมบ้าง ผมก็ตอบว่า a day ตอบพร้อมๆ กับคำว่าครอบครัวด้วยซ้ำ a day และครอบครัว เพราะว่ามันเป็นความฝันสูงสุดในชีวิตของผมไงครับ คือ ผมอยากทำหนังสือที่ผมสามารถชอบตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ทำหนังสือจากความคิด ความสนใจ ความเชื่อของผมเอง แบบไม่ประนีประนอมกับใครด้วยนะ แล้วผมก็ทำมันออกมาได้ แบบชอบมัน 100 %

ผมก็เลยรู้สึก อิ่มเอม ปลื้มเปรมใจมาก แล้วก็อาจจะเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ผมเคยทำสำเร็จก็ได้ ฉะนั้น a day คือ ส่วนหนึ่งในชีวิตผม ซึ่งมันแนบแน่นกับชีวิตปกติและชีวิตจริงผมมาก

ผมมักบอกหลายคนว่า ทุกวันนี้ ผมไม่ได้มาทำงาน แต่ผมมาทำชีวิต เนื่องจากว่างานที่ผมทำอยู่เนี่ย ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เป็นสิ่งที่ผมชอบ เพราะชีวิตผมชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนหนังสือ ชอบเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ชอบเจอ ชอบคุยกับคนเก่งๆ ชอบรู้จักคนเจ๋งๆ คนดีๆ แล้วก็ชอบมีความสุขกับเรื่องที่มันรื่นรมย์ ทั้งหมดคือ ผมชอบ ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังทำงาน a day กับผม กลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียว แยกกันไม่ได้

@ ทุกวันนี้ชีวิตคุณมีความสุขมั๊ย

ผมแฮ๊ปปี้จะตาย ดูก็รู้ (หัวเราะ) ที่ผมแฮ๊ปปี้ เพราะผมไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองมากไง วันแรกที่ผมทำ a day ผมได้กลับมาเป็นตัวเองอย่างแท้จริงทุกกระเบียดนิ้ว คนที่มันเป็นตัวเอง มันจะสบายใจ มันจะมีความสุข ชีวิตมันจะสมู๊ทมาก ไม่ต้องฝืนเลย ผมถึงบอกไงว่า ผมไม่ใช่แค่ทำหนังสือ หรือ a day แต่ผมทำชีวิตผมด้วย

@ มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำอีกบ้าง

ผมอยากไปล่องเรือดูปลาวาฬโผล่มากจากน้ำ ดูในดิสคัฟเวอรี่บ่อย ๆ อยากเดินทาง หรือช่วงนี้ขอขับรถไปต่างจังหวัดสัก 2 อาทิตย์ ผมก็จะบอกบัดดี้ผมว่า (กู)ไปก่อนนะ ฝากดูบริษัทด้วย ผมก็ไปขับรถเที่ยว แต่ผมถือว่าเป็นงานนะ เพราะมันทำให้ผมกลับมามีพลังในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นในการทำงานและใช้ชีวิตต่อไป

@ เหตุการณ์ฝันร้ายเมื่อเดือนเมษา-พฤษภา ในเมืองไทย คุณเป็นยังไงบ้าง

ผมเครียดนะ ก็เหมือนคนไทยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตใจ เราไม่เคยเห็นความขัดแย้งที่รุนแรงขนาดนี้ ผมเกิดไม่ทันตุลา 2516 หรือ 2519 ยังเด็กอยู่ แต่ พฤษภา 2535 อาจจะใกล้เคียงหน่อย เพราะผมไปเดินประท้วงที่ราชดำเนินด้วย

แต่เหตุการณ์ครั้งล่าสุด ก็รู้สึกเป็นทุกข์ แต่ก็อยากให้มันคลี่คลาย แต่เหตุการณ์นี้สำหรับผมดีนะ ไม่รู้เพราะผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีหรือเปล่า ผมว่าอย่างน้อยที่สุด มันเปิดเผยบางด้านและบางเรื่องราว ในสังคมที่ถูกซุกซ่อนปกปิดเอาไว้ให้คนในวงกว้างได้รับรู้ ไม่มากก็น้อย

เรื่องราวเหล่านี้ จะเกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างชนชั้นก็ได้ ผมยอมรับว่า ผมได้อานิสงฆ์จากเรื่องนี้พอสมควร เราอาจจะมองคนไทย เพื่อนร่วมชาติในกลุ่มที่เราไม่เคยเหลียวแลเขาเลย ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปก็ได้ ผมว่าดี

@ จำได้ว่า คุณเคยทำหนังสือสัมภาษณ์นายกฯ อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เมื่อหลายปีก่อน วันวานกับวันนี้ คุณมองเขาอย่างไรบ้าง

ตอนที่ผมตัดสินใจทำหนังสือสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ บอกตรงๆ ว่าตอนนั้น ผมอยากจะเชียร์เขานั่นแหละ แต่ที่มาก็คือ ผมติดตามบทบาทและผลงานเขาในฐานะนักการเมือง ผมว่า เขาเป็นนักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจดี ผมก็เลยอยากทำหนังสือให้เขาสักเล่มหนึ่ง ก็ออกมาเป็น Question Mark

แต่ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่วันนี้ที่เป็นนายก ฯ นี่ให้วิพากษ์นายกฯเลยเหรอ (หัวเราะ) โอเค ในฐานะประชาชนที่ไม่เหลืองไม่แดง ผมเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งเหลืองทั้งแดงว่า ผมเห็นด้วย กับความคิดความอ่านบางอย่างของเสื้อเหลือง

ผมเห็นด้วยกับอุดมการณ์บางอย่างของเสื้อแดง ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่างของเสื้อเหลือง ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่างของเสื้อแดง ผมมีเหตุผลของผม

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงนายกฯในฐานะพลเมืองไทคนหนึ่ง ผมเห็นใจท่าน(นะ) เพราะในสถานการณ์ที่ผ่านมา มันหนักหนามากหลายรูปแบบและรอบด้าน คนที่ประคองตัวเองและรัฐบาล และอาจจะรวมถึงประเทศให้ผ่านวิกฤตมาได้ ผมว่าไม่มากก็น้อยต้องให้ค่าเขาล่ะ

แต่แน่นอนว่า สิ่งที่ท่านทำ ไม่สามารถถูกใจหรือตอบโจทย์คนได้ทั้งหมด เพราะโจทย์ที่เรามีอยู่มันต่างกัน ฉะนั้น คำตอบคำตอบเดียว ไม่สามารถถูกทุกโจทย์หรอก ผมเชื่อว่าท่านกำลังจะตอบโจทย์ให้ครบทุกโจทย์ เพียงแต่ช่วงนี้ จะตอบเรื่องนี้ก่อน อีกช่วงอาจจะตอบโจทย์บางโจทย์ที่มันค้างอยู่ ซึ่งผมจะรอดูว่าโจทย์บางโจทย์ที่มีคนซุกๆ เอาไว้ แล้วยังไม่ได้ตอบ แล้วเมื่อไหร่จะตอบ

แต่ผมอยากเห็นนายกฯเอ่ยปาก ขอโทษได้ จริงๆ ... ขอโทษประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบางเรื่อง ก็น่าจะขอโทษ ถึงแม้ในแง่กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมจะทำอะไรได้ไม่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำ สามารถทำได้คือ การแสดงความเสียใจและขอโทษ

ผู้บริสุทธิ์

ข่าวสดรายวัน
เหล็กใน

กระบวนการนิรโทษกรรมขับเคลื่อนโดยเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย

กับกระบวนการปรองดอง ผลักดันโดยเสธ.หนั่น กุนซือใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนา

ซึ่งกำลังคึกคัก โครมคราม ต่างก็เน้นจุดขายประเด็นเดียวกัน

ช่วยเหลือ 'ผู้บริสุทธิ์' ให้พ้นมลทิน ความผิด

ผู้บริสุทธิ์?

นักการเมืองใหญ่ระดับชี้เป็น ชี้ตายรัฐบาล ออกมาเคลื่อนไหวเต็มตัวขนาดนี้

ย่อมยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า มีผู้บริสุทธิ์ถูกจับกุม คุมขัง จากการชุมนุมทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา

ในเมื่อเป็น 'ผู้บริสุทธิ์' ถูกละเมิด ได้อย่างไร?

และในเมื่อเป็น 'ผู้บริสุทธิ์' ก็ต้องไม่มีมลทิน ความผิด มาตั้งแต่ต้น

แล้วจะนิรโทษกรรมให้ใคร ทำไม อย่างไร ไม่ทราบ?

เพราะนิรโทษกรรม ความหมายมันชัดเจน

คือได้กระทำความผิดสำเร็จ เสร็จสิ้นแล้ว แต่ได้รับยกเว้นโทษ ไม่ถูกลงโทษ

ถ้ายอมรับนิรโทษกรรม ก็เท่ากับยอมรับความผิด!

นำมาสู่คำถามข้อต่อไป ในเมื่อไม่ได้กระทำผิดแต่ถูกละเมิด จับกุม คุมขัง แล้วอยู่ๆบอกปรองดองกันดีกว่า

มันเอาเปรียบ เหยียบย่ำ ซ้ำเติมกันเกินไป!!

ทั้งๆที่สิ่งที่ 'ผู้บริสุทธิ์' ควรจะได้รับโดยเร็วที่สุด

ก็คือ การช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย

ควบคู่กับดูแลขบวนการต่อสู้กับความอยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ

ภายใต้ข้อเท็จจริง ไม่มีมลทิน ความผิด มาตั้งแต่ต้น

บุคคลใด หน่วยงานไหน กระทำกับ 'ผู้บริสุทธิ์' ต้องเอาผิด และลงโทษ อย่างตรงไปตรงมา

ยิ่งถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ กระทำผิดเสียเอง ยิ่งต้องเอาผิด และลงโทษสถานหนัก

บุคคลพิเศษระดับ เนวิน เสธ.หนั่น

หรือพรรคการเมืองระดับ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา

หากจริงจัง จริงใจ อยากช่วยเหลือจริงๆ

ด้วยปัญญา ความสามารถ ศักยภาพ ช่วยได้อยู่แล้ว

เพียงแต่ไม่ใช่ นิรโทษกรรม ให้ 'ผู้บริสุทธิ์'

หรือเรียกร้อง 'ผู้บริสุทธิ์' ปรองดอง กับผู้กระทำละเมิดพวกเขา

สิ่งควรทำก็คือ ช่วย 'ผู้บริสุทธิ์' ต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม อยุติธรรม

ต่อสู้กับบุคคล หน่วยงาน ที่จับกุม คุมขัง 'ผู้บริสุทธิ์'

นำตัวมาลงโทษ!?

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

มลทิน 91 ศพ !!??

โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ตัดพ้อน้อยใจกรณีคนไทยเสียชีวิต 91 ศพในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ผ่านมากว่า 4 เดือน เหมือนรัฐบาลไทยจะไม่ให้คุณค่าความ สำคัญกับชีวิตคนไทยเลย เปรียบเทียบกับช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตแค่ 1 คน แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทวงถามความเป็นธรรมถึงประเทศไทย

ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีผลการชันสูตรพลิกศพและการสอบสวนของคณะกรรมการใดๆออกมาเลย แต่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และผู้นำกองทัพ รวมถึงรัฐบาล กลับออกมายืนยันว่าทหารไม่ได้ฆ่าประชาชน และกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายและโยงถึงคนเสื้อดำไม่กี่คน ที่วันนี้ก็ยังไม่สามารถจับได้แม้แต่คนเดียว

การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความยุติธรรมของภาคประชาชน ญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่าใครคือฆาตกร คนเสื้อดำยิงคนเสื้อแดงจริงหรือไม่ ศอฉ. สลายการชุมนุมตามหลักปฏิบัติสากลหรือ ไม่ ทหารใช้กระสุนจริงหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะ “พื้นที่การใช้กระสุนจริง” และกรณีสังหารโหดที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ฯลฯ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนและสื่อที่ต้องออกมาทวงถามถึงความคืบหน้า อย่างวันเสาร์ที่ 25 กันยายน ที่ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) จัดเวที “ไต่สวนสาธารณะ” มีการไต่สวนปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ “การขอคืนพื้นที่” และ “การกระชับวงล้อม” การอภิปรายทางวิชาการหัวข้อ “การแสวงหาข้อเท็จจริงกับกระบวนการรับผิด” กรณีสลายการชุมนุม

หรือกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ย้ำเตือนรัฐบาลไทยให้ตระหนักถึงพันธกรณีที่มีต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่จะต้องสอบ สวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนระหว่างการชุมนุม และต้องให้ทีมทนายของผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงพยานหลักฐาน

แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ตอบสนองถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง รวมถึงบท บัญญัติกรุงโรม ซึ่งเป็นรากฐานของศาลอาญาระหว่างประเทศที่บัญญัติให้ทหารหรือพลเรือนผู้มีอำนาจเหนือประชาชนที่ล้มเหลวในการดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต้องรับผิดชอบหากปรากฏชัดว่ากลุ่มคนดังกล่าวจงใจเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ระบุชัดแจ้งว่าผู้ใต้บังคับ บัญชามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว ตามบทบัญญัติกรุงโรม มาตรา 28 (b) (III)

ดังนั้น ไม่ว่านายอภิสิทธิ์จะยืนยันความบริสุทธิ์หรือเดินสายสร้างภาพต้องการสร้างความปรองดองก็ไม่อาจหนีมลทิน 91 ศพได้ จนกว่าจะมีผลการสอบสวนจากคณะกรรมการที่เป็นอิสระและประชาชนยอมรับ

**********************************************************************

‘ป๊อก’ภาคอวตาร?

นักเลือกตั้งเล่นบทอึมครึม เซียนเขี้ยวการเมืองสับขาหลอก เดินสายปรองดอง ด้วยลีลา “ตีปลาหน้าไซ” ถางขาหยั่ง “เหยียบเรือสองแคม” ประหนึ่ง หวังรักษาพื้นที่ผลประโยชน์ ลดความเสี่ยง สกัดไม่ให้ดุลอำนาจทะลักออกจากมือ

สถานการณ์ทางการเมืองรูปแบบแปร่ง บังเกิดขึ้นแบบรายวัน สารพัดความร้าวฉานผ่านข้อพิพาทต่างๆ นานา หลุดออกมาให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน จู่ๆ อาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหญ่หายไปจากค่ายทหารเมืองลพบุรีอย่างไม่มีเงื่อนงำ วันต่อมาระเบิดดังโครมครามสนั่นย่านราชวัตร ประติดประต่อเหตุการณ์ ไปๆ มาๆ สุดท้ายไม่มีอะไรในก่อไผ่

“ท่าน ผบ.ทบ.ป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เทก แอ็กชั่นขีดเส้น 8 วัน ไล่ล่าแมวขโมย ท่ามกลางอาการคิดดังๆ ของ “นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผ่านวาทกรรม “เกลือเป็นหนอน”

ก่อนฉากการเมืองจะตัดสลับมาที่ศึกสายเลือด “น้ำเงิน-ฟ้า” ท่านผู้นำเตะตัดขาว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยจอมค้ำถ่อ “มงคล สุระสัจจะ” ด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบกรณีคอมพ์ฉาวกระทรวงมหาดไทย ยื้อเวลาขึ้นแท่น “ท่านปลัดฯ” ออกไปอีกเดือน

เปิดช่องให้ “ทีมงานไวกว่าแสง” เหน็บแนมประชาธิปัตย์ กระทบชิ่งวาระเข็น “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” ขึ้นแท่น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ทั้งๆ ที่ยังมีชนักปักหลัง สองมาตรฐานแม้กระทั่งในซีกรัฐบาล กลายเป็นข้อพิพาทที่ พูดกันอย่างกว้างขวางและสนุกปากในแวดวงสภากาแฟ

ละครสั้นตัดฉากว่องไวปานกามนิตหนุ่ม คล้อยหลัง พูดไม่ทันน้ำลายบูด “นายตำรวจใหญ่” ผู้ที่ “ซาอุดีอาระเบีย” ไม่ปลื้ม ยอมยกธงขาวประกาศไม่รับตำแหน่ง ที่เผอิญเกิดขึ้นในวันเดียวกันกับการประกาศเลื่อนวันลงมติเชือด “ปู่จิ้น-ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในกรณีเมียและลูกถือหุ้นบริษัทที่มีเอี่ยวกับงานประมูลสัมปทานรัฐ

อีกหนึ่งความบังเอิญ คือ บังเอิญที่ “ครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ” เดินหน้าล่าชื่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่แยแสเสียงค้านจากพรรคอันดับหนึ่งอย่างประชาธิปัตย์ แต่บังเอิญไปกว่านั้น คือการปล่อย “คาราวานปรองดองฉบับปลาไหล” ผ่าน “โรดแมปชาละวัน” ของ “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” ที่ดำเนินคู่ขนานไปกับการชูธงหนุน “ภารกิจนิรโทษกรรม” ของพรรคภูมิใจไทยอย่างมีนัยยิ่ง???

ประติดประต่อเหตุการณ์ภายในซีกรัฐบาล เปิดหน้าซัดกันนัวเนีย โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกจาก พรรคเพื่อไทยเข้ามาร่วมต้มยำทำแกง แว่วเสียงเอ็ดตะโรที่ดังขึ้น ฟังไปแล้วคล้ายเป็นลางบอกเหตุว่างานเลี้ยง “เทพประทาน” ใกล้ถึงกาลเวลาเลิกรา แต่หากมองไปที่เค้กงบประมาณปี 54 ที่ซีกพรรคร่วมยังไม่ได้ร่วมหม่ำสักสตางค์แดงเดียว มันยิ่งทำให้เกิดอาการสับสนทางความคิดถึงหงุดหงิดทางจิตใจ

ว่าเหตุแห่งความบาดหมางของคนกันเอง มันเกิดจากวาระ “สะตอจอมเขี้ยว” หรือ “สตอเบอร์แหล???”ปริศนาจะไปจบลงตรงไหน จับชีพจรได้ไม่ยาก อ่านทางกันง่ายๆ เช็กได้จากโหงวเฮ้ง “ท่านผบ.ทบ.ป๊อก” ในห้วงลักคนาตุลาฯ อาถรรพ์ ทำนายทาย กันว่า หากวันสิ้นสุดชีวิตราชการทหาร เป็นวันอวตารเกิดใหม่ของ “บิ๊กป๊อก” ในร่าง รมช.กลาโหม หรือ รมว.มหาดไทย

สุดท้ายมันย่อมมีคำตอบอยู่ในตัวของมันเองว่า ฝ่ายกุมอำนาจประเทศ แม้จะทั้งรักทั้งเกลียดกันปานใด แต่ก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะผลประโยชน์ที่เคลือบฉาบมันยิ่งใหญ่เกินกว่ามิจฉาทิฐิของฝ่ายกุมอำนาจประเทศ จะยอมตัดใจจากได้!!!

ส่งผลให้ในท้ายที่สุด กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จึงต้องจำยอมกล้ำกลืนรวมเป็นเนื้อเดียว กัน ด้วยอาการปากมัน แล้วค่อยว่ากันใหม่ก่อน ถึงโค้งอันตรายยุบพรรค

ที่มา.สยามธุรกิจ
************************************************************************

ทำไมนักกฎหมายรับใช้เผด็จการ!?

บทความนี้เรียบเรียงจากบทความที่เขียนขึ้นเพื่อประกอบการอภิปรายของนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนพฤษภาอำมหิต อนาคตสังคมไทย” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ซึ่งกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์และเพื่อนอาจารย์เปิดเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ซึ่งมีมุมมองในการรัฐประหาร 3 ประเด็นคือ 1.ความสำเร็จของรัฐประหาร รัฐประหารดำรงและสำเร็จได้อย่างไร 2.ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน และ 3.รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับพฤษภาอำมหิต 2553

1.ความสำเร็จของรัฐประหาร

รัฐประหารโดยตัวของมันเองอาจไม่มีน้ำยาอะไร แต่รัฐประหารจะสำเร็จและดำรงอยู่ต่อไปได้จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุน การลงมือกระทำรัฐประหารมีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร ปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่

หนึ่ง แรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก อาจเกิดจากวัฒนธรรมการเมืองของประเทศนั้นๆที่ประชาชนอาจเชื่อว่ารัฐประหารเป็นวิธีสุดท้ายในการแก้ปัญหาทางการเมือง หรือเป็น The last word of politic แรงสนับสนุนอาจเกิดจากการโหมกระพือของปัญญาชนและสื่อสารมวลชนมาก่อนหน้านั้น เพื่อเร่งเร้าให้สถานการณ์สุกงอมพอจนทำให้คณะรัฐประหารมั่นใจว่ารัฐประหารแล้วจะไม่มีประชาชนต่อต้านมาก

สอง การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อปราบปรามการต่อต้านรัฐประหาร เช่น จับกุมคุมขัง นำทหารออกมาควบคุมสถานการณ์จำนวนมาก ปราบปราม ลอบฆ่า อุ้มหาย ปิดกั้นสื่อ ห้ามชุมนุม

สาม การใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น ตรารัฐธรรมนูญรับรองความชอบธรรมของรัฐประหาร คำพิพากษาของศาลรับรองรัฐประหาร

สี่ ประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุนรัฐประหาร เช่น รัฐประหารในอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายประเทศที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างลับๆ

ห้า บุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์รับรองรัฐประหาร เป็นต้น

แปลความในทางกลับกัน ถ้าปราศจากซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จเด็ดขาด หากรัฐประหารปราศจากคนไปมอบดอกไม้ ปราศจากสื่อสารมวลชนร่วมเชียร์ ปราศจากมาตรการรุนแรงของเผด็จการในการปราบปราม หรือหากมีผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งตัดสินว่ารัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลบล้างรัฐประหาร และผลพวงลูกหลานของรัฐประหาร หากบุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์แสดงต่อสาธารณะว่าตนไม่สนับสนุนรัฐประหาร รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ และกลายเป็นความพยายามรัฐประหารหรือกบฏเท่านั้น

2.ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน

เอกลักษณ์ร่วมกันของรัฐประหารคือกระทำการโดยคณะบุคคล มีคนร่วมมือกันไม่กี่คน และยึดอำนาจโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ณ เวลานั้น ซึ่งรัฐประหารของแต่ละประเทศจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป แต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจสรุปได้ 3 ข้อ

1.รัฐประหารที่พรากความเป็นพลเมือง (ซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว) ให้หายไป

ตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองประการหนึ่งคือ ความเสมอภาคทางการเมือง

ความเสมอภาคทางการเมืองแสดงออกให้เห็นได้จาก “หนึ่งคน หนึ่งเสียง” พลเมืองทุกคน ไม่ว่าชาติกำเนิดใด ศาสนาใด ความเชื่อใด ฐานะเศรษฐกิจอย่างใด เมื่อเดินไปหน้าคูหาก็มี 1 เสียงเท่ากัน

พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้แทนฯและรัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แน่นอนนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจำเป็นต้องเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เคารพเสียงข้างน้อย มีองค์กรตุลาการคอยตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย

เมื่อฝังรากลึกแล้วกลไกประชาธิปไตยแบบผู้แทนฯก็มีปัญหาในตัวมันเอง เมื่อนั้นก็ค่อยๆพัฒนากลไกตรวจสอบต่างๆตามมา แต่อย่างไรเสียสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม และองค์กรผู้ใช้อำนาจสาธารณะทั้งหลายล้วนต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชน ก็เป็นหลักการพื้นฐานอันดับ 1 ตรงกันข้ามกับบ้านเราได้มาง่าย ง่ายเกินไปจริงๆ ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ก็เขียนใส่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการดี แต่เมื่อได้มาง่ายก็ดูเหมือนไม่มีค่า ประกอบกับโดนขบวนการสถาปนาอุดมการณ์ “ราชา-ชาตินิยม” บดขยี้ด้วยการสร้างวาทกรรม “นักการเมืองเป็นคนชั่วร้าย” “ชาวบ้านโง่เขลาโดนซื้อ” สิทธิการเลือกตั้งแบบทั่วไป-เท่าเทียมจึงเป็นเหมือนของไร้ราคา มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ใครมาพรากเอาไปรู้สึกเฉยๆ

ผมเห็นว่าความเสมอภาคทางการเมืองมาก่อนความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ผมเชื่อของผมเองว่า “ความเสมอภาคทางการเมือง” เป็นบ่อเกิดของสังคมเสรีประชาธิปไตย

หากปราศจากสิ่งนี้ เราไม่อาจอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบบการเมือง ไม่ใช่รูปแบบของรัฐบาล แต่เป็นรูปแบบของการรักษา “สนาม” ที่เปิดให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกรสนิยมได้ถกเถียงกัน และ “ความเสมอภาคทางการเมือง” ก็เป็นเครื่องมือในการรักษา “สนาม” นี้ให้เกิดการถกเถียงอย่าง “ฟรี” และ “แฟร์” เมื่อนั้นใครจะผลักดันรสนิยมทางการเมืองของตนย่อมได้ทั้งนั้น จะขวาหรือซ้าย จะอนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้า จะเสรีนิยมทางเศรษฐกิจหรือสังคมนิยม จะเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า ย่อมสามารถถกเถียง-รณรงค์ได้อย่างเสรี

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการเหยียบย่ำสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม ขบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการประกาศซ้ำว่าที่แห่งนี้ไม่อนุญาตให้มี “ความเสมอภาคทางการเมือง”

รัฐประหาร 19 กันยายนได้พรากเอาความเป็นพลเมืองไป ลดสถานะพลเมืองให้กลายเป็นไพร่ กระบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหารยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อตอกย้ำความเป็นไพร่ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

2.รัฐประหารเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้มั่นคงสถาพรตลอดกาล

ชื่อของคณะรัฐประหารบอกไว้ชัดเจนว่า “คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” บุคคลที่ครองอำนาจหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แนวทางของรัฐบาลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายนก็เป็นไปในทางฟื้นฟู “พระราชอำนาจ” เทิดพระเกียรติและใช้กฎหมาย 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จัดการคน ดังจะเห็นได้จากจำนวนคดีมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการปิดกั้นสื่อจำนวนมาก ทั้งใช้อำนาจรัฐและการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อ

3.รัฐประหารของนักกฎหมาย

“กฎหมาย” มีความสำคัญกับรัฐประหารในสามแง่มุม หนึ่ง-เป็นกลไกรับรองความชอบธรรมและสนับสนุนรัฐประหาร สอง-เป็นกลไกปราบปรามศัตรูของคณะรัฐประหารและพวก และปราบปรามอุดมการณ์ตรงข้ามกับรัฐประหาร สาม-เป็นกลไกรักษาและเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐประหาร ซึ่งอุดมการณ์ของรัฐประหาร 19 กันยายน คือประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

คณะรัฐประหารประกอบด้วยทหารไม่กี่นาย ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่มีความสามารถเสกสรรปั้นแต่งกฎหมายเพื่อรับรองและรับใช้รัฐประหารได้ เช่นนี้แล้วนักกฎหมายจึงจำเป็นต่อรัฐประหาร 19 กันยายน

นักกฎหมายเข้าไปมีบทบาทกับรัฐประหาร 19 กันยายน ตั้งแต่การแนะนำเทคนิคทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหารถึงการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของรัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญ การยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง เก็บฉบับใดไว้บ้าง การยกเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดบ้าง เก็บองค์กรใดไว้บ้าง และควรสร้างองค์กรทางกฎหมายใหม่ใดขึ้นมาบ้างเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู

จากนั้นนักกฎหมายต้องเข้าไปรับใช้คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น และเพื่อให้รัฐประหาร 19 กันยายนสำเร็จเด็ดขาดจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาจัดการกับการตอบโต้รัฐประหารและศัตรูของคณะรัฐประหารและพวก กลไกที่ว่าต้องเป็นกลไกทางกฎหมาย เพราะสามารถเอาไปอ้างความชอบธรรมได้ว่ากระทำการตามกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐ เราจึงเห็นนักกฎหมายไปช่วยออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญ 2550 เราจึงเห็นนักกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นกรรมการองค์กรต่างๆเต็มไปหมด

พวกนักกฎหมายมีความสามารถเอกอุ สามารถเขียนกฎหมายรองรับรัฐประหาร ปิดรูโหว่ อุดรูนั้น ปิดรูนี้ ไหนจะวางกลไกทางกฎหมายไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู เช่น เขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรคให้มีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีก่อนหน้า หรือเขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรค ลากเอาความผิดของกรรมการบริหารมาเป็นเหตุให้ยุบพรรค หรือเขียนรัฐธรรมนูญรับรองรัฐประหารและลูกหลานไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ให้ไม่เป็นคุณต่อพรรคการเมืองขั้วศัตรู

บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือถูกกลไกของรัฐประหารเล่นงานอาจร้องขอความเป็นธรรมเอากับศาล ให้ศาลช่วยตรวจสอบรัฐประหาร ดังนั้น ศาล (คือผู้ปฏิบัติทางกฎหมาย แต่การกระทำของศาลมีอานุภาพมหาศาลกว่าการกระทำของผู้ปฏิบัติการทางกฎหมายอื่นๆ) จึงต้องเข้ามารับรองรัฐประหารผ่านคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐประหาร “สมบูรณ์” ในนามของนิติรัฐ ดังปรากฏให้เห็นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551

รัฐประหารและกระบวนการต่อเนื่องยังอาศัยนักกฎหมายตามไล่บี้ ไล่ทุบ ปราบปรามศัตรู ดังปรากฏให้เห็นในปรากฏการณ์ที่เขาเรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งได้อภิปรายและเขียนไว้ในหลายที่

3.รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับพฤษภาอำมหิต 2553

รัฐประหาร 19 กันยายน บอกเราว่าชนชั้นนำจารีตประเพณีไม่อนุญาตให้ประเทศนี้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ รัฐบาลไหนขึ้นมาทำตัวหน่อมแน้ม สุภาพเรียบร้อย บริหารไปวันๆเหมือนงานรูทีนก็ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งได้ รัฐบาลไหนที่ขึ้นมาดำเนินนโยบายมากมาย สร้างฐานมวลชน แย่งชิงฐานลูกค้าจากชนชั้นนำประเพณี ได้รับความนิยมเท่ากันหรือสูงกว่าชนชั้นนำประเพณี รัฐบาลนั้นต้องมีอันไป

กล่าวให้ถึงที่สุดต้นตอความขัดแย้งของสังคมไทยคือชนชั้นนำจารีตประเพณีนอกระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากวัตรปฏิบัติ ประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อและการเผยแพร่อุดมการณ์หลักของรัฐไทยปะทะกับนักการเมืองในระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงแสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียง และทำให้พลเมืองเกิดความรู้สึกว่าคะแนนเสียงมีค่า

ปะทะกันจนชนชั้นนำจารีตประเพณีรู้สึกว่าตนถูกคุกคามอย่างหนัก หากปล่อยไว้ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของตน เพื่อรักษาสถานะเดิมของตนจึงต้องจัดการ วิธีการจัดการคือรัฐประหาร 19 กันยายน

เราไม่อาจแยกรัฐประหาร 19 กันยายนกับเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตออกจากกันได้ ผมได้ยินความเห็นหลายคน รวมทั้งอาจารย์ในคณะบางคนพูดทำนองว่า “พูดกันแต่เรื่อง 19 กันยายน ไม่เบื่อกันหรือไร ผ่านมาตั้งนานแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่าว่าจะจัดการสังคมอย่างไร” หรือผู้นำความคิดรุ่นใหม่บางคนแอ๊บเนียนว่า “ตนเองไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่ควรหมกมุ่นกับรัฐประหาร รัฐประหารเป็นเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นแล้วในอดีต ถ้าอ้างว่าทุกอย่างสืบมาไม่ถูกต้อง เลยไม่สนใจจะดูว่าเกิดอะไรขึ้น แบบนี้ก็ไม่ถูก”

ผมเห็นว่าวันนี้เราไม่พูดถึง 19 กันยายนไม่ได้เลย เพราะ 19 กันยายนเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์ปัจจุบัน ณ เวลานี้เรายังคงอยู่ในรัฐประหาร 19 กันยายน เป้าประสงค์ของรัฐประหารยังคงอยู่ครบถ้วน และจำเป็นต้องพูดต่อไป พูดทุกโอกาส เพราะถ้าไม่พูดเดี๋ยวก็ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานคณะรัฐประหารและพวกทั้งทางตรงและทางลับ แต่จนวันนี้มาทำเนียนว่าไม่เห็นด้วย ต้องช่วยกัน และไม่อยากพูดถึงแล้ว ผ่านไปแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่า

หากถามผมว่าเบื่อไหม ขอตอบว่าเบื่อมากที่ต้องพูดเรื่องนี้ แต่ต้องถามกลับไปยังพวกเขาเหล่านั้นว่า แล้วพวกคุณไม่เบื่อบ้างหรือที่ไปรับรองรัฐประหาร ไปสนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานรัฐประหาร หรือขลุกอยู่กับกระบวนการรัฐประหารและพวกแล้วมันอิ่มอำนาจ อิ่มท้อง อิ่มใจที่ศัตรูได้พ้นจากอำนาจ

เมื่อรัฐประหาร 19 กันยายน ไม่ต้องการให้ “คะแนนเสียง” ของพลเมืองมีความหมาย พวกเขาจึงจัดการไล่รัฐบาลที่พลเมืองเลือกมาออกไป และเมื่อรัฐบาลขั้วเดียวกันกลับมาได้อีก เพราะพลเมืองยังเลือกกลับเข้ามาอีก ลูกหลานของรัฐประหารก็ต้องหาหนทางกำจัดรัฐบาลนั้นออกไปอีก

สีแดงก็ไม่ได้เป็นสีแดงเหมือนกันทั้งหมด มันยังมีเฉดสี มีระดับ มีความแตกต่างหลากหลายภายในสีแดงนั้นเอง แต่อย่างน้อยจุดยืนร่วมกันที่เราพอสังเคราะห์ออกมาได้คือ “ความเสมอภาคทางการเมือง” เมื่อการมาของ “สีแดง” เป็นไปเพื่อสิ่งนี้ เมื่อจำนวนของ “สีแดง” มากขึ้นเรื่อยๆย่อมสะเทือนไปถึงบรรดาผู้ไม่ปรารถนาให้สังคมไทยมี “ความเสมอภาคทางการเมือง” เพราะหากทุกคนเสมอกันหมด หากไพร่เกิดจิตสำนึกทางการเมืองมาร้องขอเป็นพลเมืองกันทั้งแผ่นดินละก็ สถานะของบรรดาชนชั้นนำจารีตประเพณีย่อมสะเทือนเช่นนี้ ใบอนุญาตให้ฆ่าจึงเกิดขึ้น 10 เมษาก็แล้วยังเอาไม่อยู่ จึงต้องเกิด 19 พฤษภาอีกสักหน

เพื่อประกาศให้รู้ว่าพวกเอ็งคนเสื้อแดงมิได้เป็นพลเมือง ให้เป็นไพร่ดีๆก็ไม่เอา คิดกำเริบเสิบสาน เมื่อหือกับข้ามากนัก ไพร่ข้าก็ไม่ให้เป็น เอ็งเป็นแค่ Homo sacer ใครก็ฆ่าเอ็งได้ ฆ่าแล้วไม่มีความผิด

การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเป็นเรื่องไร้สาระ บุคคลที่เข้าร่วมเป็นกรรมการปฏิรูปแม้จะอ้างเหตุผลใดๆก็ตามล้วนแล้วแต่ไม่มี ethics ทางการเมือง หากเชื่อว่าโลกนี้มี “ดี” มี “เลว” จริง มีมาตรฐานที่พอจะวัดได้ว่าใคร “ดี” ใคร “เลว” ผมเห็นว่าบุคคลที่เข้าไปร่วมกับสารพัดกรรมการที่อภิสิทธิ์ตั้งขึ้นนั้น “เลว” คนตายต่อหน้าต่อหน้า ตายกันเกือบร้อย ตายกันกลางเมืองหลวง ตายด้วยการซุ่มส่องสไนเปอร์ กลับมองไม่เห็น หรือแกล้งมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่คิดคำนึง

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนห่าเหวอะไรอีก ทำไมต้องมี fact finding ตั้งกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเมื่อเห็นกันคาตา รูปก็มี คลิปวิดีโอก็มี รายงานข่าวก็มี พยานบุคคลก็มี เห็นกันเต็มสองตาว่ามีคนตาย มีคนตายจากการถูกทหารยิง

สิ่งที่ต้องทำ ต้องตรวจสอบ จึงเหลือเพียงประการเดียว ใครสั่ง ใครกดปุ่ม ใครออกใบอนุญาตให้ฆ่า

ผมขอปิดอภิปรายด้วยเรื่องสั้น Die Bäume หรือ “ต้นไม้” ของ Franz Kafka สำนวนแปลโดยอาจารย์ถนอมนวล โอเจริญ ว่า

“พวกเราเปรียบเสมือนขอนไม้บนหิมะ ดูเหมือนขอนไม้เหล่านี้วางเรียงกันเป็นธรรมดา ถ้าใช้แรงผลักเพียงนิดเดียวก็คงขยับเขยื้อนมันได้ แต่มิใช่เช่นนั้นดอก ไม่มีใครขยับเขยื้อนมันได้ เพราะขอนไม้เหล่านั้นติดแน่นอยู่กับพื้น แต่ดูสิ นี่เป็นเพียงดูเหมือนว่าเท่านั้น”

ใครเป็น “พวกเรา”

ใครเป็น “ขอนไม้”

และตกลงแล้วขอนไม้เขยื้อนได้หรือไม่

ทุกท่านมีเสรีภาพในการพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญาแห่งตน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอแบคโพลชี้ ถ้าเลือกตั้งวันนี้ ปชป.ชนะเพื่อไทยแบบไม่ขาดได้แค่50% ขรก.-พนง.รัฐวิสาหกิจลังเลหนุน

มติชนออนไลน์

 ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (  เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 กันยายนถึงผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง  เปิดใจสาธารณชน วิเคราะห์เชิงลึกกลุ่มผู้ที่ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งใหม่วันนี้ พรรคการเมืองใหญ่สองพรรค ใครจะได้เป็นรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งและตัดสินใจแล้วใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ  จำนวน 4,312 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 25 กันยายน  2553 ผลการสำรวจพบว่า  ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ประชาชนที่ตัดสินใจแล้วประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.7  ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ 

ขณะที่ประมาณเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 16.3 จะเลือกพรรคอื่นๆ

เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกข้อมูลทางสถิติจำแนกลักษณะของผู้ตัดสินใจจะเลือกตั้ง พบความแตกต่างระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาย และหญิง โดยผู้หญิงมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่ากลุ่มผู้ชาย คือร้อยละ 54.8 ต่อร้อยละ 46.7

ขณะที่กลุ่มคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนของผู้ชาย มากกว่า ผู้หญิงคือร้อยละ 37.2 ต่อร้อยละ 28.8 อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่จะเลือกพรรคอื่นๆ ไม่พบความแตกต่างกัน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อวิเคราะห์กลุ่มคนตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มคนที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยในทุกช่วงอายุ และ กลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด คือ   ร้อยละ 56.3

ขณะที่ กลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่ร้อยละ 42.4

แต่เมื่อจำแนกตามอาชีพประจำของคนที่จะเลือกตั้ง พบว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้ใจมากที่สุดอยู่ที่กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน คือร้อยละ 57.7 

แต่ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มอาชีพถูกแบ่งออกในสัดส่วนพอๆ กันที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย กลับกลายเป็นกลุ่มอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ คือร้อยละ 47.8 ระบุจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 40.5 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 11.7 จะเลือกพรรคอื่นๆ

จากข้อมูลที่ค้นพบนี้จะเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนไม่ถึงครึ่งคือ ร้อยละ 47.8 กับร้อยละ 47.5 คือในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสหกิจ และกลุ่มเกษตรกร กับผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า ถ้าคนที่มีรายได้สูงคือมากกว่า 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปจะมีสัดส่วนผู้จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุดคือร้อยละ 59.3

ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยคือต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพียงร้อยละ 45.5 เท่านั้น

เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้ที่มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 และร้อยละ 56.6 ที่สูงกว่าปริญญาตรีจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์

แต่ถ้าต่ำกว่าปริญญาตรีมีเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.3

เมื่อจำแนกตามเขตที่พักอาศัย พบว่า คนที่พักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าคนที่พักอยู่นอกเขตเทศบาล คือร้อยละ 52.9 ต่อร้อยละ 49.6

ในขณะที่สัดส่วนของคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่นอกเขตเทศบาลมากกว่าในเขตเทศบาล คือร้อยละ 35.7 ต่อร้อยละ 29.3

ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงตั้งใจจะเลือกพรรคเพื่อไทย มากกว่า คนในภาคอื่นๆ โดยพบว่า เกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย

ในขณะที่ร้อยละ 32.1 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และเกือบ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 18.9 จะเลือกพรรคอื่นๆ

 แต่เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนเกินครึ่งในสองภูมิภาค คือ ภาคกลาง ร้อยละ 50.7 และภาคใต้ ร้อยละ 92.0 

หากพิจารณาภูมิภาคที่จะต่อสู้กันสูสีมากที่สุดคือ ภาคเหนือ ที่พบว่า ร้อยละ 43.9 จะเลือกประชาธิปัตย์ และร้อยละ 41.7 จะเลือกพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 45.9 จะเลือกประชาธิปัตย์ แต่ร้อยละ 36.7 ซึ่งถือว่า มีจำนวนมากพอสมควรจะเลือกพรรคเพื่อไทย และที่เหลือคือร้อยละ 17.4 จะเลือกพรรคอื่นๆ ตามลำดับ

ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้ากลไกและ “กติกา” การชนะการเลือกตั้งอาศัยคะแนนเสียงของสาธารณชนเป็นหลัก และฝ่ายการเมืองยึดถือธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมา พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ ถ้าฝ่ายการเมืองยึดเอาจำนวนตัวเลขหรือ “โควต้า” ของ ส.ส. เป็นหลัก พรรคขนาดกลางน่าจะยังเป็นตัวแปรสำคัญว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลในวัฏจักรเดิมๆ ที่เคยเห็นกันมา โดยอาจนำมาซึ่ง การต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ ให้ระวังเทคนิคที่แยบยลปฏิบัติการ “ถอนทุนคืน” ของฝ่ายการเมืองเพื่อใช้เป็นทุนในการเลือกตั้งครั้งใหม่

“เพราะถ้าเลือกตั้งใหม่วันนี้ พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคยังไม่สามารถครอบครองใจสาธารณชนให้ตัดสินใจเลือกตั้งจนมีเสียงมากพอจะชนะขาดและจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในฐานข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดอ่อนอยู่ในกลุ่มเกษตรกร รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย แต่ถ้ามองการเมืองในเชิงสังคม มีความน่าเป็นห่วงคือ กลุ่มอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจกลับมีความแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มที่มีฐานมากพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ “ประชาชน” ในภาคเหนือ ที่จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันดุเดือดสูสี จึงต้องให้ฝ่ายการเมืองช่วยกันพิจารณา อย่าให้การแข่งขันทางการเมืองทำลายความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของพี่น้องประชาชน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามในการช่วยเหลือเกื้อกูลมีน้ำใจต่อกันของคนในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ตามเอกลักษณ์ของคนไทย” ดร.นพดล กล่าว
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อย่ากดดันแบงก์ชาติให้ต้อง 'ปะ ชุน แปะกอเอี๊ยะ'

ประชาชาติธุรกิจ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบคำถามประเด็นร้อนเรื่องค่าเงินบาทแบบตรงไปตรงมาในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ธปท.เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา โดยเป็นคำถามนอกรอบที่เขียนขึ้นไปถามบนเวที เป็นคำถามโดนใจหลายคน คือ นโยบายเกี่ยวกับการปรับอัตรา ดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรที่เป็นรูปธรรม และถ้าจะให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นในอนาคต ต้องให้ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์เข้มแข็งก่อนไหม และควรจะทำแบบจีนไหมที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

"เรื่องค่าเงินจริง ๆ จะบอกว่า เราไม่ช่วยก็ไม่ได้ มาตรการช่วยเหลือจริง ๆ จะบอกให้รอภาคธุรกิจเข้มแข็งทุกภาคแล้วให้ปล่อยค่าเงินเคลื่อนไหวเสรี จริง ๆ เราไม่ได้ปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเสรี หากดูงบดุลของ ธปท.ปีที่แล้วจะเห็นว่าทุนสำรองเพิ่มขึ้นถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7-8 แสนล้านบาท นั่นคือวิธีที่เราพยายามช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้"

นายไพบูลย์ชี้ว่า ถ้าเราไปดูตัวเลขจริง ๆ ความผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค ค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยที่สุดอยู่ที่ 3% ต่อปี เราได้บอกกับประชาชน บอกกับตลาด บอกกับภาคธุรกิจตลอดว่า นโยบายของเราคือการดูแลความผันผวนไม่ให้มากจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราอยากจะไปช่วยเซ็กเตอร์ใดเซ็กเตอร์หนึ่ง นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเรา

"ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย เราไม่สามารถมีเป้าหมายทั้งระดับราคาและอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน ขอโทษที่โลกแบน เพราะนั่นคือข้อเท็จจริง และ ก็คงจะต้องเป็นอย่างนั้นต่อไป"

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ยังระบุว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายถ้าเราถูกแรงกดดันจากความผันผวนของตลาดระยะสั้น ความเคลื่อนไหวทุนระยะสั้นมาจี้ให้เราต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาปะ ชุน แปะกอเอี๊ยะ แล้วไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจมีการปรับตัว

"ถ้าทำมาตรการไม่ควรเป็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น แต่เราพยายามทำให้การเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงิน" นายไพบูลย์กล่าว

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ระบุถึงแนวนโยบายการเงินของ ธปท.ว่า จะให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.นโยบายการเงินมีเป้าหมายดูแลอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ช่วงต่อไปการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพราคาเป็นเป้าหมายหลัก 2.ดูแลให้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทไม่ผันผวนมาก และไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจมากเกินไป และ 3.จะดูแลความสมดุลของเงินไหลเข้า-ออก

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หลักฐานโผล่

ข่าวสดรายวัน
เหล็กใน

ตลอดเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการคลี่คลายคดี 91 ศพเหยื่อปืนจากเหตุการณ์สลายม็อบแดง ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย

ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯในฐานะผอ.ศอฉ. ไม่เคยให้ความสำคัญกับคดีความที่คนเสื้อแดงตกเป็นผู้เสียหาย

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คลี่คดี 91 ศพโดยตรงก็ทำงานแบบอืดอาด

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต

ทวงถามความคืบหน้าในการชันสูตรศพไปแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรเลยจากปากนายธาริต

ไม่ว่าจะเป็นคดีสังหารหมู่ 6 ศพในวัดปทุมวนาราม

หรือคดีสังหารนักข่าวญี่ปุ่นและอิตาลี

นายธาริตกลับบอกว่ารู้แค่ว่าถูกยิงที่จุดไหน แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนฆ่า !?

ผิดกลับคดีการไล่เช็กบิลบรรดาเสื้อแดง นายธาริตดูจะกระตือรือร้นเป็นพิเศษ

ให้ความสำคัญยิ่งกว่าการตาย 91 ศพ

แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าญาติผู้เสียชีวิตจะมีความหวังขึ้น

เมื่อทีมสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ นำเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 คนขึ้นไปตรวจสอบบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีสยามสแควร์ไปถึงบริเวณหน้าวัดปทุมวนาราม

และจากการตรวจสอบอย่างละเอียดนาน 4 ชั่วโมง พบหลักฐานที่น่าสะพรึงกลัว

เจอปลอกกระสุนปืนเอชเคหลงเหลือตกอยู่ในซอกใต้รางรถไฟฟ้า

เป็นปลอกกระสุนที่เก็บไปไม่หมดหลังเกิดเหตุใหม่ๆ

หลักฐานเหล่านี้ทำให้คดี 91 ศพโดยเฉพาะฆ่าหมู่ 6 ศพวัดปทุมฯดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

เพราะไปสอดคล้องกับภาพและคลิปของกลุ่มคนสวมชุดเขียว !!

นอกจากนี้ยังมีการใช้เลเซอร์ตรวจสอบวิถีกระสุนจากบนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯ พบว่าตรงกับจุดที่ 'น้องเกด'กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสากับเพื่อนๆ ถูกยิงตาย

ในชั้นนี้คงยืนยันได้แล้วว่า 6 ศพในวัดปทุมฯถูกกระหน่ำยิงจากบนรางบีทีเอสจริงๆ

ปลอกกระสุน ร่องรอยเขม่าปืน ขวดน้ำเปล่า ถือได้ว่าเป็นหลักฐานเด็ดจริงๆ

แต่ก็ยังไม่มั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของดีเอสไออีกหลายขั้นตอน

ยังไม่อาจฟันธงลงไปได้ชัดเจน !?

เพราะไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ

อาจเห็นใครออกมานั่งแถลง สรุปว่าปลอกกระสุนที่เจอเป็นของกลุ่มชายชุดดำทำหล่นไว้หรือเปล่า

เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในรัฐบาลยุคนี้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

คืนเงิน 'พจมาน' ผ่าทางตันการเมือง?


จับตา!! ที่ดินรัชดาโมฆะ!!
กรณี “ที่ดินรัชดา” เป็นหนึ่งในคดีที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส. อ้างว่าเป็นผลงานที่สามารถเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้อย่างชัดเจน

ว่าการที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ สมัยที่ยังเป็นภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าไปร่วมประมูลซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น ถือเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่รัฐ

ยกข้อกฎหมายว่า เพราะขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่สามารถทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้นเมื่อคุณหญิงพจมานซึ่งเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย ถือเป็นบุคคลเดียวกัน เมื่อไปทำสัญญาซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟูฯ จึงเป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมาย
ซึ่งสุดท้าย ทำให้กรณีนี้มีคำพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี

เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ม็อบพันธมิตร และ คมช.มีพลังอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นกับสังคมได้ เพราะส่วนใหญ่จะงุนงงกับผลงานชิ้นโบแดงของ คตส.ชิ้นนี้เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามในทางการเมืองยังมีความพยายามที่จะเล่นต่อเนื่องไม่เลิก จึงยังคงมีความพยายามที่จะริบเงินค่าซื้อที่ดิน พร้อมกับยึดคืนที่ดินรัชดาให้กลับมาเป็นของรัฐแบบฟรีๆอีกด้วย

จึงทำให้ต้องมีการต่อสู้กัน เพราะคุณหญิงพจมานเอง ก็ยอมรับไม่ได้กับการที่ถูกกระทำเช่นนี้ จึงต้องต่อสู้เพื่อขอความมเป็นธรรม และทำให้กลายเป็นคดีหนึ่งที่สังคมพากันจับตามองว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

หน่วยงานรัฐจะสามารถริบเงินและยึดที่ดินรัชดามาได้จริงๆหรือไม่???
หลังจากคาราคาซังมานาน ปรากฏว่าในวันที่ 24 กันยายน ที่ห้องพิจารณาคดี 712 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ 5379/2552 ที่ นายพศิน ทิพยรักษ์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีแพ่ง รับมอบอำนาจจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยเรื่องโมฆะกรรมขอให้ศาลเพิกถอนรายการจดทะ เบียนขายโฉนดที่ดินรัชดาภิเษก 4 แปลงจำนวน 33 ไร่เศษมูลค่า 772 ล้านบาท และให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินคืน

ขณะที่ทางคุณหญิงพจมาน ฟ้องแย้งในสำนวนเดียวกัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กองทุนฟื้นฟูคืนเงินซื้อขายที่ดินจำนวน 772 ล้านบาท พร้อมค่าเสียหาย ค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างจำนวน 39 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่นัดชำระ

โดยคดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2546 คุณหญิงพจมานจำเลย เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาซื้อที่ดินผืนนี้ ซึ่งต่อมา กองทุนฯประกาศให้เป็นผู้ชนะในการซื้อที่ดิน 4 แปลงในราคาสูงสุดเป็นเงิน 772 ล้านบาทโดยกองทุนฯและคุณหญิงพจมาน จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2546 และได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้คุณหญิงพจมาน จำเลยในวันที่ 30 ธ.ค.2546

สำหรับสัญญาซื้อขายที่ดินมีข้อความว่า กองทุนฯโจทก์ ผู้ขายตกลงยอมขายและคุณหญิงพจมานจำเลย ผู้ซื้อตกลงยอมซื้อ

แต่ต่อมาภายหลังจากทำสัญญาซื้อขาย คุณหญิงพจมาน จำเลย และ พ.ต.ท.ทักษิณ สามีถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ต่อมาวันที่ 17 ก.ย.2551 ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดให้จำคุก 2 ปี การที่คุณหญิงพจมานจำเลยเสนอตัวเข้ายื่นซองจนชนะการประกวดและเข้าทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินกับกองทุนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่นายกฯเป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแล โดยคุณหญิงพจมานจำเลยรู้และตระ หนักดีว่าตนเองเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ดังนั้นการเข้าทำนิติกรรมสัญญาย่อมเป็นการทำโดยมีวัตถุประสงค์ขัดกันระหว่าง ผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัวซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 100 เมื่อคุณหญิงพจมานจำเลย มีเจตนาจงใจเข้าทำนิติกรรมสัญญาทั้งที่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 4 แปลงจึงตกเป็นโมฆะทันที ตามประมวลกฎ หมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

ศาลแพ่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัย ข้อที่ 1 ว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกองทุนฯ กับคุณหญิงพจมาน เป็นโมฆะหรือไม่...
วินิจฉัยว่า การที่คุณหญิงพจมาน เป็นภรรยาโดยชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่มีการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท ถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การกระทำนิติกรรม ซื้อขายที่ข้อพิพาท ระหว่างกองทุนฯ และคุณหญิงพจมาน การดำเนินการดังกล่าวของคุณหญิงพจมาน ถือเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องห้ามมิให้กระทำตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องการและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) คุณหญิงพจมาน จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม ในการเป็นคู่สัญญาทำนิติกรรมกับกองทุนฯ โดยผลของกฎหมาย นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
ประเด็นข้อพิพาทที่ 2 เมื่อฟังว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ กองทุนฯมีสิทธิ์เรียกที่ดินคืนจากคุณหญิงพจมาน หรือไม่ และกองทุนฯจะต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่คุณหญิงพจมานหรือไม่

มีคำวินิจฉัยว่า นิติกรรมที่เป็นโมฆะ ถือว่าเสียเปล่าใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ต้น ไม่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์และหน้าที่ของคู่กรณี การที่กองทุนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินพิพาททั้ง4 แปลงให้คุณหญิงพจ มาน หรือการที่คุณหญิงพจมาน ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่กองทุนฯเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับทรัพย์สิน เพราะการที่อีกฝ่ายหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมายได้

ทั้งสองฝ่ายจึงมีหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ได้รับไปจากอีกฝ่ายหนึ่ง
คุณหญิงพจมาน มีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง คืนให้แก่กองทุนฯ

ส่วนกองทุนฯมีหน้าที่คืนเงินค่าที่ดิน ที่รับไว้จากคุณหญิงพจมาน ทั้งหมด และต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ คุณหญิงพจมาน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อ ปี นับตั้งแต่วันที่ คุณหญิงพจมาน ยื่นคำให้การ และฟ้องแย้งเป็นต้นไป
ศาลแพ่งจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียน นิติกรรมการซื้อขายที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ 2298,2299,2300 และ 2301 แขวงและเขตห้วยขวาง กทม.ระหว่างกองทุนฯและคุณหญิงพจมาน ให้คุณหญิงพจมาน ส่งมอบการครอบครองที่ดินทั้ง 4 แปลง คืนให้แก่กองทุนฯ และให้กองทุนฯ ชำระเงินจำนวน 772 ล้านบาท คืนให้แก่คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 25 พ.ย.52 ซึ่งเป็นวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป

ภายหลังนายพลพีร์ ตุลยสุวรรณ ทนายความคุณหญิงพจมาน กล่าวว่า จะแจ้งผลคำพิพากษาให้คุณหญิงพจมาน ทราบต่อไป เข้าใจว่าคุณหญิงพจมาน จะพอใจกับผลคำพิพากษาที่ศาลให้กองทุนฯ คืนเงินค่าซื้อที่ดิน
ส่วนที่ศาลไม่ได้กำหนดให้กองทุนต้องชำระ ค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างในที่ดินที่คุณหญิงพจมาน ระบุไว้ในคำฟ้องแย้งจำนวน 39 ล้านบาทนั้น คิดว่าคุณหญิงพจมาน คงไม่ติดใจประเด็นนี้

ทั้งนี้หากกองทุนฯ ติดใจในผลคำพิพากษา สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายตนไม่หนักใจอะไร พร้อมต่อสู้คดี หากจะมีการอุทธรณ์คดีจริง กองทุนฯ จะต้องนำเงินซื้อขายที่ดิน 772 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจนถึงขณะนี้คิดเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท นำมาวางเป็นเงินประกันต่อศาลไว้ด้วย

ขณะที่อัยการที่ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดีนี้ กล่าวเพียงว่า ต้องนำคำพิพากษาทั้งหมดไปมอบให้กองทุนฯ เพื่อพิจารณาต่อไปว่าจะประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่

ด้าน นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะ ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า หลังจากนี้ กองทุนฟื้นฟูฯจะทำหนังสือสอบถามไปยัง อสส. เพื่อหารือแนวทางในการดำเนินการต่อไปอย่างไร หลังจากนั้น จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯพิจารณาต่อไป

“เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา และยังมั่นใจว่า กระบวนการที่ทำ ก็ทำอย่างโปร่งใส กระบวนการผู้ซื้อก็ถูกต้องตามที่กองทุนประกาศไว้ทุกอย่าง” นางทองอุไร ระบุยืนยัน

การเป็นโมฆะกรรมของการซื้อขายที่ดินผืนรัชดาในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการจับตามองอย่างเขม็งของซีกการเมือง ว่าจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณได้อหรือไม่?

ในเมื่อทุกอย่างเป็นโมฆะกรรมทางกฎหมายมาตั้งแต่ต้นแล้วเช่นนี้
หากเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้แก้ต่าง เชื่อมโยงถึงได้ โอกาสที่ปัญหาทางตันการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 49 เป็นต้นมานั้น ก็อาจจะสามารถคลี่คลายลงได้

เพราะไม่ว่าอย่างไรกก็ตามต้องยอมรับว่า 4 ปีที่ผ่านมาประเทศชาติบอบช้ำมากพอแล้ว และมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากเกินไปแล้ว
หรือนี่จะเป็นโอกาสแห่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆก็ตาม

แต่มีความหวังแม้สักน้อยนิด ก็ยังดีเสียกว่าที่จะมืดมิดไปหมดเช่นที่ผ่านมา

ที่มา.บางกอกทูเดย์

"ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์"สวมหมวกปฎิรูป คนมีอำนาจมาก มีเงินมาก ท้าทายสถาบัน เพราะเป็นอุปสรรคของเขา

ที่มา.  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
1 ใน 20 อรหันต์ เข้าประจำการในบ้านพิษณุโลก เพื่อปฏิรูปประเทศไทย
 
หลายคนมีสีเสื้อติดตัว-ตีตรา กากบาท แสดงตัวตนว่ามาจากสังกัด "ขั้ว" การเมืองฝ่ายไหน
 
บางคนเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้าย
 
บางรายเป็นข้าราชการฝ่ายขวา
 
บางคนก้าวหน้า นั่งเผชิญหน้าสภาวะฝ่ายอนุรักษนิยม
 
บางคนมาจากชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง
 
ภารกิจหัวรถจักร ขับเคลื่อนประเทศไทย ออกจากรถไฟขบวนแดง-เหลือง จึงเป็นส่วนหนึ่งของพันธะของชีวิตวัย 77 ของ "ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์" ที่แทบทั้งชีวิต ผูกติดอยู่กับชุมชน-สลัมและคนจน
 
"ม.ร.ว.อคิน" ที่ปรากฏตัวท่ามกลางปัญญาชน-สามัญชน และทายาทอำมาตย์ แห่งบ้านพิษณุโลก   
@ เดิมทำงานกับภาคประชาสังคม นี่เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่ทำงาน ขับเคลื่อนสังคมในฝ่ายรัฐบาล
              
การเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ความจริงอันนี้ก็ไม่ใช่รัฐบาลนะ ต้องแยกออกจากรัฐบาล ที่มาทำเพราะผมทำงานกับชาวบ้านมาเยอะแล้ว ตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้วก็ทำงานสลัมเรื่อยมา ผมถือว่าคราวนี้เป็นโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือ หลังจากที่เรียนรู้เกี่ยวกับคนยากจน เมื่อก่อนก็ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่เขียนไปว่าไป ตอนนี้คิดว่าน่าจะมีช่องทางช่วยได้จริง ๆ ความจริงก็แก่แล้วน่าจะหยุดได้สักที
 
@ คณะปฏิรูปประเทศไทยมีความคาดหวังว่าจะได้นำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน
               
เราคงจะมีมาตรการอะไรออกมาในไม่ช้า ผมหวังว่าอย่างนั้น ในเมืองไทยมี 2 อย่าง นักวิชาการที่อยากจะปฏิรูปแบบรื้อโครงสร้างทำโครงสร้างใหม่ แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ แล้วผมพยายามผลักดันมาก ผมคิดว่าปัญหาเร่งด่วนที่ชาวบ้านมีความทุกข์ควรจะแก้เดี๋ยวนี้ ควรจะจัดการโดยเร็ว ทางคณะกรรมการเข้าใจ เราได้พูดถึงเรื่องมาตรการเร่งด่วน มาตรการปานกลาง และระยะยาว เป็น 3 ระยะ
 
@ ระหว่างนี้ไปถึง 3 ปี จะมีมาตรการอะไรออกมาต่อเนื่อง 
 ใช่ ผมคิดว่าอย่างนั้น บางมาตรการควรจะเริ่มภายในไม่กี่เดือนก่อนสิ้นปี เป็นมาตรการเร่งด่วนที่พอจะทำได้ มาตรการเร่งด่วนหมายความว่า เป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่เวลานี้ ยกตัวอย่างเรื่องที่ดินมีเยอะมากไปประกาศเป็นอุทยาน ไปทับชุมชนที่เขาอยู่แล้วก็มีการจับกุม เอาไปติดคุกก็มี แล้วที่ยังไม่พิสูจน์ว่าเป็นที่ของชุมชนหรือเป็นที่ของประกาศอุทยานไปทับที่ของชุมชนเก่าหรือเปล่า ต้องช่วยคนที่ลำบาก ผมคิดว่ามันก็ไม่น่าจะยากอะไร
 
@ มาตรการเกี่ยวกับที่ดินของคนที่มีปัญหากับรัฐน่าจะทำได้ภายในสิ้นปีนี้
               
ช่วยคนที่ต้องติดคุก หรือคนที่ถูกจับ และมาตรการที่น่าจะทำได้ คือการหยุดยั้งการกระทำ เช่น ขอว่าอย่าไปจับเขาในกรณีเช่นนี้ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินเป็นของใคร แล้วก็อาจจะหยุดยั้งการประกาศที่ดินเป็นเขตหวงห้าม ต้องให้เขาหยุดยั้งไว้ก่อน
 
@ เวลานี้คณะกรรมการมีข้อมูลทั่วประเทศแล้วหรือยัง               
  ทางเรามีข้อมูล เพราะมีประชุม ประเด็นพวกนี้เป็นของที่ชาวบ้านร้องขอมาเยอะมาก เพราะเขาประกาศอยู่เรื่อย ทั้ง ๆ ที่อุทยาน... มันไม่ใช่อุทยานอย่างเดียว กรมเจ้าท่าก็ประกาศที่ดินอันหนึ่ง รัฐก็ประกาศที่ดินอันหนึ่ง แล้วบางทีก็เอาไปจากชาวบ้าน ไปให้พวกนายทุน ทำรีสอร์ต เราก็ต้องให้ยับยั้งการประกาศพวกนี้
               
 ทางภาคใต้ มีที่ดินที่ชาวบ้านเขาอยู่มาก่อนแล้ว พอสึนามิ ชาวบ้านก็หลบไป พอกลับมาอีกที กลายเป็นที่มีโฉนดไป แล้วของนักการเมืองก็เยอะ
 
@ กรรมการปฏิรูปเข้าไปจัดการ ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน แบบนี้ก็ขัดผลประโยชน์นักการเมือง              
  ก็ต้องคุยกัน เพราะผมยังไม่รู้มาตรการเราจะทำอย่างไร แต่ผมคิดว่าถ้าจะประกาศให้เขาหยุด ก็คงต้องคุยกับเขาด้วย 
               
คือตอนนี้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะราบรื่นขนาดไหน จากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ก็ทำให้คนรู้สึกว่าอยากจะร่วมมือ ชักชวนให้ร่วมมือแก้ไขปัญหา ไม่ให้บ้านเมืองวิกฤตเรื่อยไป ที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของรัฐและของคนที่ร่ำรวยอยู่ไม่กี่คนหรอก ที่เหลือที่ชาวบ้านอยู่มันน้อยมาก จะต้องมีการกระจายที่ดินกันใหม่ แต่จะทำได้แบบไหน
 
 เรื่องโฉนดชุมชน ในที่ประชุมก็มีบางคนค้านเพราะไม่เห็นด้วยกับโฉนดชุมชน ในกลุ่มย่อย...ที่เขาพูดคล้าย ๆ กับว่าชาวบ้านจะตีกันเอง
 
  @ การจัดการที่ดินของรัฐถ้าไม่เร่งทำแล้ว ประเทศจะลุกเป็นไฟ
               
ใช่ คือปัญหาเรื่องที่ดิน ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ไม่หยุดยั้ง คนที่ไม่พอใจจะมีมาก ๆ
 
 
@ งานชุมชน-สลัมที่อาจารย์ศึกษา มา30-40 ปีจะมาผลักดันผ่านการปฏิรูปคราวเดียวหรือเปล่า
              
 
 ผมคิดว่าคณะกรรมการปฏิรูปมีของที่จะทำสำเร็จภายใน 3 ปี และมีของเยอะที่จะไม่ทำสำเร็จภายใน 3 ปี หน้าที่อย่างหนึ่งคือต้องสร้างองค์กรอะไรสักอย่างของประชาชนที่จะทำหน้าที่แทนเรา สภาประชาชนประกอบด้วยกลุ่มเครือข่ายชุมชน กลุ่มเอ็นจีโอ และตั้งแต่ระดับล่าง ทำคู่ขนานกับองค์กรของรัฐอย่าง อบต. และรัฐบาล 

@ คณะกรรมการปฏิรูปส่วนใหญ่มีความคิดคล้าย ๆ กันหรือเปล่า               
ในคณะกรรมการปฏิรูปมีคนที่มีความคิดแตกต่างกันเยอะแยะ คุณคิดดู อย่างอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช กับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตรงกันข้ามกันนะ ผมคิดว่าไม่เลว ถ้าในใจผมประเมินดู ผมว่าประธานของเราเก่งมาก ท่านอานันท์เก่งมาก ท่านสามารถที่จะตะล่อมคนที่หลายความคิดเข้ามาสรุป
 
@ ข้อเสนอของคณะปฏิรูปต้องใช้ความกล้าหาญ คิดว่าจะผลักดันไหวไหม
               
ผมว่าเราผลักไม่ไหว แต่ถ้าเราร่วมกับประชาชนอาจจะไหว ต้องไปด้วยกัน ทางเราต้องพยายามให้อำนาจประชาชน เราเสนออะไรที่ประชาชนอยากได้ ก็หวังว่าประชาชนจะสนับสนุน 
 
@ ปัญหาความขัดแย้งเฉพาะหน้าจะได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการปฏิรูปแค่ไหน  
เรามีเวทีก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ
 
 @ คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ตอบสนองรัฐบาลฝ่ายเดียว
               
 ไม่ได้ตอบสนองรัฐบาลฝ่ายเดียว ความจริงเราตอบสนองประชาชนมากกว่า
 
 @ 3 ปีดูยาวนานเกินไปไหมสำหรับการแก้ปัญหา
               
 ไม่ เพราะเราทำอะไรด่วนก็ทำก่อน แต่มีอะไรที่เลย 3 ปีไปอีกกว่าจะทำได้ กว่ากฎหมายจะออก แล้วถ้าเผื่อบางอย่างนักการเมืองไม่ชอบ ยิ่งนานไปใหญ่ ยิ่งไปกันใหญ่
 
@ ข้อเสนอมีแนวโน้มจะถูกค้านจากฝ่ายการเมือง 
นักการเมืองยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินเยอะ ครอบครองที่ดินเยอะ ผมก็ไม่รู้จะเป็นยังไง สุดแท้แต่ว่าเราจะสามารถทำให้เขาเห็นแก่บ้านเมืองได้ขนาดไหน

 
@ หัวรถจักรขับเคลื่อนประเทศไทยทั้งหมด 4 หัว ทั้งรัฐบาล มีคณะกรรมการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ คณะกรรมการปรองดอง จะผนวกหัวที่ 5 ของคุณทักษิณและเพื่อไทยด้วยหรือเปล่า   
 
ทั้ง 4 หัวก็ต้องร่วมมือประสานกันมาก ๆ เพราะมีหลายเรื่อง ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านมันมีมานานแล้ว แต่พรรคการเมืองที่เข้ามาเอาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ดึงความเดือดร้อนนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของตัวเอง อันนี้ก็ลำบากว่าเราจะสามารถดึงคนมาทางเราได้มากแค่ไหน ปัญหาอยู่ที่นักการเมือง มันเป็นเรื่องการเมืองจริง ๆ ทำไงให้ประชาชนรู้ว่ามีอีกอย่าง ทุกวันนี้เขาก็รู้ว่านักการเมืองเป็นยังไง
 
@ 4 หัวขบวนของฝ่ายรัฐเปิดช่องให้นักการเมืองอีกฝ่ายด้วยหรือไม่
              
  ผมไม่รู้นักการเมืองฝ่ายไหนเป็นยังไง อย่างคณะกรรมการนี้ก็เป็นอิสระจากกรรมการมากพอสมควร อย่างข้อเสนอให้เลิก พ.ร.ก. อันนั้นก็ชัดว่าเราไม่ได้เป็นพวกเดียวกับรัฐบาล แล้วเราก็ไม่ใช่พวกเดียวกับคุณทักษิณ ทีนี้ใครที่พอจะเป็นกลาง ๆ ที่จะดึงทั้ง 2 ฝ่าย เรามีความตั้งใจจะสร้างให้ประชาชนมีพลัง หวังว่าคนกลาง ๆ ที่มีอยู่ทั้ง 2 ข้างจะเข้ามาหาเรา เห็นว่าเราพยายามทำให้เขา
                
@ ปัญหาที่ผ่านมามีการพูดเรื่องชนชั้นเป็นอุปสรรค อาจารย์มองอย่างไร
               
 (ถอนหายใจ) ก็เถียงกันอยู่ว่าประเทศไทยมีชนชั้นหรือเปล่า ถ้าสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์มาก ๆ เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง ชนชั้นซึ่งเป็นความสัมพันธ์แนวราบก็จะไม่มี นี่เป็นหลักการที่ผมกับอาจารย์นิธิเถียงกันมานมเน อาจารย์นิธิบอกว่าเมืองไทยไม่มีระบบอุปถัมภ์ เพราะเปลี่ยนไปมากจนไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นคนกลุ่มหนึ่งคิดว่าเมืองไทยมีชนชั้น อีกกลุ่มคิดว่าไม่มี แต่เป็นระบบอุปถัมภ์

@ ผู้ชุมนุมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลได้หยิบยกเรื่องชนชั้นผู้เสียเปรียบกับได้เปรียบ
               
 ใช่ ก็มีคนเถียงเขาอยู่ว่ามีชนชั้นผู้เสียเปรียบและชนชั้นผู้ได้เปรียบ เขาใช้คำว่าอำมาตย์ใช่ไหม แต่อำมาตย์มันมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น แสดงว่าเขามองเห็นว่าเมืองไทยมีลักษณะ ฟิวดัล (feudalism) แล้วเปลี่ยนมา แล้วชนชั้นอำมาตย์นี้คือชนชั้น ฟิวดัล อันนี้เขาไปแรงนะ อันนี้แรง เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน ใช่ไหม คล้าย ๆ กับชนชั้นอำมาตย์ก็คือข้าราชการมาเชื่อมกับพวกนายทุน ใช่ไหม เป็นชนชั้นหนึ่งที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
 
 @ เป็นการสร้างวาทกรรมอำมาตย์ และชนชั้นผู้ได้เปรียบ
               
สมัยนี้มันมีปัญหา ผมเป็นพวกหัวโบราณ คิดไม่เหมือนพวกสมัยใหม่ คือสมัยนี้เขาคิดว่า สื่อมีอำนาจมาก ก็มีความคิดอย่างฟูโก (มิเชล ฟูโก Michel Foucault) มาพูดเรื่องนี้แล้วมีอิทธิพลมาก คือคนเราสามารถใช้สื่อทำให้คนเชื่อ ตั้งมาเป็นวาทกรรม ทำให้คนเชื่อ
 
 
@ หัวใจที่ทำให้วาทกรรมคำว่าอำมาตย์ดำรงอยู่ได้ เพราะมีชุดความจริงสนับสนุนอยู่หรือเปล่า
          
  มี ก็มีอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่ผมทำงานมาในชนบท พ.ศ. 2511-12 ไล่มาเรื่อย ผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เคยพบเห็นในชนบท คือชาวบ้านเขาไม่ชอบข้าราชการ เขาไม่ชอบด้วยความรู้สึก 2 อย่าง บางทีเขาก็หัวเราะ บางทีเขาก็โกรธ คือเขาไม่ชอบ ว่ามาเอาเปรียบเขา อย่างการขุดคลองชลประทาน มาวัดมาบอกว่าจะให้เงินค่าที่ดินที่เอามาทำคลอง แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เงิน เมื่อนำมาพูดเปรียบเทียบ ทำให้ชาวบ้านก็รู้สึกว่ามันมีความจริงอยู่
  

@ ช่วงชีวิตของอาจารย์ มองเห็นพัฒนาการคำว่าอำมาตย์ และคนที่มีเชื้อเจ้า ในขณะนี้ถือว่าถูกท้าทายที่สุดหรือเปล่า
               
 ที่สุดหรือไม่ที่สุด ผมไม่รู้ รู้แต่ว่ามีการท้าทาย เป็นการสร้างวาทกรรม บางอย่างก็เอามารวมกัน แต่ไม่รู้มันจะเวิร์กขนาดไหน เพราะในอีกด้านหนึ่งคือคนไทยยังมีความจงรักภักดี และอีกอย่างคือการปฏิบัติองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
 @ ทำไมจู่ ๆ คนถึงลุกขึ้นมาท้าทาย
               
 ผมคิดว่ามันคุกรุ่นมานาน ความจริงมันเป็นเรื่องตลกที่การท้าทายสถาบัน แต่อาจจะไม่ได้ทำโดยชาวบ้าน แต่คนที่ท้าทายสถาบัน... ซึ่งความจริงสถาบันถูกท้าทายมาหลายหนแล้ว โดยมากจะเป็นผู้มีอำนาจมาก เช่น เมื่อก่อนทหารมีอำนาจมาก ก็มีการท้าทาย สมัยจอมพลแปลก ก็มีการท้าทายพอสมควร อันนั้นก็เป็นสาเหตุอันหนึ่ง ที่จอมพลสฤษดิ์ลุกขึ้นมา...อ้างอย่างงั้น จอมพลสฤษดิ์ก็อ้างอย่างนั้น
               
 ทุกครั้งที่มีคนที่มีอำนาจมากก็จะท้าทายสถาบัน เพราะการใช้อำนาจของเขาก็จะติดขัดอยู่ที่สถาบัน ใช่หรือเปล่า เขาใช้อำนาจไม่ได้เต็มที่เพราะติดขัดที่สถาบัน ทีนี้มาถึงสมัยนี้ คนที่มีอำนาจมากคือใคร ก็คือคนที่มีเงินมาก คนที่มีเงินมาก เขาก็ต้องการที่จะ....สถาบันก็กลายมาเป็นอุปสรรคของเขา
 

 ถ้าเขามีเงินมาก เขาก็คิดว่าสามารถที่จะใช้เงินเอามาพัฒนาการใช้อำนาจ เพราะสมัยนี้อำนาจอยู่ที่เงิน แต่เมื่อก่อนอำนาจอาจจะอยู่ที่อื่น ครั้งหนึ่งอาจจะอยู่ที่คุณทำความดีอะไรต่าง ๆ นานา แต่เดี๋ยวนี้อำนาจไม่ได้อยู่ที่คุณธรรมความดี แต่มาใส่ในเงินตรา ถ้าคุณมีเงินคุณก็มีอำนาจ อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น
 
 @ อาจารย์มองว่าคนที่ท้าทายไม่ใช่ชาวบ้าน
               
 
แต่เขารวมชาวบ้านที่มีปัญหา ที่มีความทุกข์ยากมาเป็นพวกได้
 
 
@ อำนาจเงินกับชาวบ้านมาผนวกกันทำให้มีพลังต่อรองหรือไม่
               
ใช่ เขาใช้เงิน เอาชาวบ้านมาเป็นพวกได้ ก็แปลกนะ ความจริงเขาก็ใช้ระบบอุปถัมภ์ แต่ว่ามันเปลี่ยนจากฐานเก่า สมัยเก่าอยู่ที่สถาบันและสถาบันอยู่ที่คุณธรรม แต่เดี๋ยวนี้ฐานมันอยู่ที่เงิน
 
@ เรื่องคนชนบทกับคนในเมืองเป็นเกณฑ์การแบ่งแยกปัญหาได้หรือไม่ ในเมื่อในเมืองก็มีคนจนจำนวนมาก
               
คนจนในเมืองไม่ได้ขัดกับคนจนในชนบท ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน คนในเมือง ในสลัมก็อพยพมาจากชนบท มาจากอีสานจำนวนมาก คุณจะรู้ว่าคนในสลัมส่วนมากเป็นเสื้อแดงนะ ผมก็รู้จักเขาเยอะนะ อย่างบ่อนไก่ เคยคุ้นอยู่

@ คนในสังคมเอาปัญหาที่สะสมมาฝากความคาดหวังไว้ในคณะกรรมการปฏิรูป 
               
ใช่ ๆ ความจริงคนก็หวังเยอะนะ เขาคาดหวังกันมาก แต่ผมไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร
                
@ ในช่วง 3 ปีอาจจะเปลี่ยนรัฐบาล 
               
คณะกรรมการอยู่ต่อ แต่จะเข้ารูปหรือจะแตกเยอะ ผมไม่ทราบ อนาคตมันทายยาก มันเปลี่ยนเยอะ โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนปรับตัวไม่ทัน มันลำบากมาก จากการทำนายของนักสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา ทำนายอนาคตผิดทุกวัน (หัวเราะ)