--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

เปรียบเทียบ : นโยบาย ประยุทธ์ - ยิ่งลักษณ์ !!?


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาxยิ่งลักษณ์ ชินวัตรxนโยบายxกรุงเทพธุรกิจxสนช.xเลือกตั้งxทหาร
ส่อง ครม.เลือกตั้ง กับ รัฐบาลทหาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเปิดปฏิบัติการ "เดี่ยวไมโครโฟน" แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะเริ่มลุยงานกันอย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่เมื่อวานซืน เริ่มมีเนื้อหาของนโยบายที่จะแถลงหลุดออกมา บางส่วนมีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน และมีเสียงตอบรับทำนองว่านโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีเนื้อหาครอบคลุม ลงลึก และมีข้อผูกมัดเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี มีหลายเสียงเหมือนกันที่เห็นค้าน...

หยิบนโยบายที่จะแถลงต่อ สนช. ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ย.57 เทียบกับนโยบายของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.54 ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดยเน้นในด้านความมั่นคงภายในและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

เริ่มด้วยสิ่งแรกที่เหมือนกันก่อน คือ การอ้างแนวทางการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศตาม "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งสองรัฐบาลอ้างอิงเอาไว้ไม่ต่างกัน

ส่วนประเด็นที่แตกต่าง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการกำหนดนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก (หมายถึงจะเริ่มทำในปีแรก ไม่ใช่ทำให้สำเร็จในปีแรก) มุ่งไปที่การสร้างความปรองดอง, การสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), การเยียวยาผู้สูญเสียและผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนในช่วงนั้น

นอกจากนั้นในส่วนของนโยบายเร่งด่วน ยังมีนโยบายที่เป็นจุดขายของรัฐบาล คือ การเร่งปราบปรามยาเสพติด และนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ เช่น ขึ้นเงินเดือนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท, ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท, พักหนี้เกษตรกรรายย่อย, เงินเพิ่มกองทุนหมู่บ้าน, ตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท, ขยายกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน หรือเอสเอ็มแอล เป็นต้น

ส่วนนโยบายการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เขียนเอาไว้สั้นๆ ผิดกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เขียนเอาไว้ค่อนข้างยาว แต่ของ ครม.ยิ่งลักษณ์ก็ครอบคลุมแทบทุกด้าน เช่น ธรรมาภิบาล, การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, การบังคับใช้บทบัญญัติเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมให้ครอบคลุมผู้ใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งสำคัญและตำแหน่งระดับสูงอย่างทั่วถึง ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรม

ขณะที่นโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ นโยบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่า "จะส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ" ทำให้มีการตีความกันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อแนวนโยบายตั้ง "นครปัตตานี" หรือองค์กรปกครองรูปแบบพิเศษที่รวมเอาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่แล้วเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเป็น "ผู้ว่าการนครปัตตานี" ตามที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นได้หาเสียงเอาไว้ แต่สุดท้ายนโยบายนี้ก็ไม่ได้สานต่อ

นอกจากนั้น นโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ระบุถึงการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่มีการริเริ่มกระบวนการพูดคุยอย่างเปิดเผยและเป็นทางการในรัฐบาลชุดของเธอ ผิดกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เขียนเรื่องนี้เอาไว้ ความว่า "ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ" แต่ไม่มีเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่

และอีกตอนหนึ่งยังให้ความสำคัญกับปัญหาภัยแทรกซ้อน ซึ่งเป็นการมองปัญหาของกองทัพอยู่แล้ว "ขจัดการฉวยโอกาสก่อความรุนแรงแทรกซ้อนเพื่อซ้ำเติมปัญหา ไม่ว่าจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง"

นอกจากนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังมีนโยบายไม่เร่งด่วน คือจะดำเนินการในช่วง 2-4 ปีตามอายุของรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เขียนไว้กว้างๆ แต่บางเรื่องก็ลงลึกมาก เช่น นโยบายด้านกีฬา นโยบายส่งเสริมการออกกำลังกาย รวมถึงการปฏิรูประบบกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ที่เน้นให้บังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียม และมีมาตรฐานเดียว

ที่น่าสนใจอยู่ในหัวข้อ "พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ" มีการระบุให้ "สนับสนุนสิทธิและหน้าที่กำลังพลของกองทัพเพื่อให้เป็นทหารอาชีพในระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งข้อความนี้ไม่มีในนโยบายด้านเดียวกันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับรายละเอียดในคำแถลงนโยบายของ ครม.ประยุทธ์ พบว่าหลายนโยบายเขียนผูกติดไว้กับการปฏิรูป เช่น ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง ฯลฯ คือใช้คำว่า "ปฏิรูป" หลายแห่งมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับกระแสสังคมในปัจจุบัน และมีการแยกนโยบายเกี่ยวกับอาเซียนเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ในหัวข้อ "การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน"

อีกจุดหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก คือ ข้อความในนโยบายปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เขียนด้วยภาษาแรงๆ ตรงไปตรงมาสไตล์ทหาร ตัวอย่างตอนหนึ่งระบุว่า "จะใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจหรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สำนึกและความผูกพันภักดีของคนอีกเป็นจำนวนมาก"

อย่างไรก็ดี การแถลงนโยบายต่อสภา จะว่าไปแล้วก็เป็นแค่พิธีกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น แทบจะไม่มีบทลงโทษอะไรด้วยซ้ำหากมีพฤติกรรมบิดพลิ้ว ไม่ทำตามที่แถลง ฉะนั้นบทพิสูจน์จึงอยู่ที่การกระทำและแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่า

โดยเฉพาะการเห็นผลอย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายประเทศ หาใช่แค่ไฟไหม้ฟางหรือสร้างกระแสเพื่อเรียกความนิยม

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

รู้แล้วทึ่ง ประโยชน์ของ สารกันความชื้น (Silica gel)



ประโยชน์ของซองกันความชื้น หรือ Silica Gel ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ หากมีซองกันความชื้นอยู่ในมืออย่าเพิ่งทิ้ง มาใช้ประโยชน์เหล่านี้กันเถอะ

เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่มักจะโยนซองกันความชื้นทิ้งลงถังขยะ หลังจากนำของที่เพิ่งซื้อมาใหม่ออกมาใช้ แต่หลังจากนี้คุณอาจจะอยากเก็บพวกมันเอาไว้มากกว่า หากได้รู้ถึงประโยชน์ของซองกันความชื้นที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งบางอย่างอาจเป็นอยู่เหนือความคาดหมายเลยด้วยซ้ำ และต่อไปนี้ก็คือประโยชน์ของซองกันความชื้นที่ทุกคนมองข้ามไป

1. ลดความเสียหายของโทรศัพท์มือถือหลังตกน้ำ



ไม่ว่าคุณจะเผลอทำโทรศัพท์มือถือตกน้ำ ก็สามารถทำให้โทรศัพท์มือถือกลับมาใช้งานตามปกติได้อีกครั้ง เริ่มจากการนำโทรศัพท์ขึ้นมาจากน้ำให้เร็วที่สุด จากนั้นถอดซิมการ์ดออก แล้วนำโทรศัพท์พร้อมกับซองกันความชื้นไปใส่รวมกันไว้ในถุงซิปล็อก และวางทิ้งไว้เช่นนั้นประมาณ 1-2 วัน ทั้งนี้แนะนำว่าไม่ควรเปิดเครื่องในระหว่างการเก็บรักษา เพราะอาจทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรภายในตัวเครื่องได้

2. ช่วยรักษาสภาพอัลบั้มรูปถ่าย



หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอัลบั้มรูปภาพเก็บไว้มากมาย และเพิ่งเห็นว่ามีบางส่วนที่เปียกแฉะหรืออับชื้น ให้นำอัลบั้มรูปภาพเหล่านั้นมาเป่าด้วยลมร้อน ก่อนที่จะนำกลับไปเก็บ ควรสอดซองกันความชื้นเอาไว้หลังรูปภาพเหล่านั้นด้วย เพื่อให้ซองกันความชื้นช่วยดูดซึมความชื้นที่อาจจะยังซ่อนตัวอยู่ในเนื้อกระดาษ แล้วค่อยนำออกมาหลังจากที่อัลบั้มภาพแห้งสนิทดีแล้ว

3. ปกป้องเอกสารสำคัญจากความชื้น



หากคุณเก็บเอกสารสำคัญเอาไว้ในโต๊ะทำงาน ตู้เก็บของ กล่องกระดาษ กล่องพลาสติก หรือแม้กระทั่งตู้ใส่ซองจดหมาย แค่ใส่ซองกันความชื้นตามลงไปด้วย ประมาณ 1-2 ซอง ก็ช่วยป้องกันเอกสารสำคัญ เช่น ใบแจ้งเกิด สมุดบัญชีธนาคาร หรือสัญญาต่าง ๆ จากความชื้นที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นอับกับเชื้อราได้แล้ว

4. ลดระดับความชื้นตามมุมอับภายในบ้าน



นอกจากจุดที่คุณเอาไว้เก็บเอกสารสำคัญแล้ว ซองกันความชื้นยังสามารถตามติดสิ่งของต่าง ๆ ไปดูดซับความชื้นได้ทุกที่ และคงจะดีกว่าหากมีพวกมันวางปะปนเอาไว้กับสิ่งของ โดยเฉพาะตามมุมอับภายในบ้าน ได้แก่ ห้องเก็บของทั้งในและนอกบ้าน โรงจอดรถ รวมไปถึงบ้านที่มีชั้นใต้ดิน หรือสถานที่ ที่คาดว่าจะเกิดความชื้นได้ง่าย

5. ยืดอายุการใช้งานให้ของตกแต่งตามเทศกาล



เนื่องจากของตกแต่งบ้านตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น ของตกแต่งบ้านวันปีใหม่ วันวาเลนไทน์ และวันคริสต์มาส เป็นสิ่งของที่มีโอกาสนำออกมาใช้ได้น้อยมากหรือแค่เพียงปีละครั้ง ดังนั้นคงจะดีกว่าหากนำซองกันความชื้นใส่ลงไปในกล่องที่เอาไว้เก็บสิ่งของเหล่านี้ด้วย จะได้ช่วยดูดซับความชื้นพร้อมทั้งรักษาสภาพของใช้ให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ในปีต่อไป


เห็นไหมว่ามีวิธีนำซองกันความชื้นกลับมาใช้ได้หลากหลายวิธีเลย ฉะนั้นหลังจากนี้หากมีซองกันความชื้นหลงเหลืออยู่ในบ้าน ก็อย่าเพิ่งทิ้งไปเปล่า ๆ แต่ที่สำคัญคือควรเก็บให้ห่างจากมือเด็กและห้ามให้เอาเข้าปากเด็ดขาด

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : naibann
-----------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ถ้าเปลืองตัวถอนตัวได้ !!?

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม
ผู้เขียน: พระพยอม กัลยาโณ

ฉบับที่แล้วอาตมาทิ้งท้ายว่า มีอธิบดีกรมที่ดินคนไหนบ้างที่เคยจ่ายเงินให้กับพระพยอม หรือวัดสวนแก้ว ถ้ามีจริงอาตมาจะให้ 1 ล้านบาทเลย แต่ถ้าไม่มีคนที่กล่าวหา อาตมาขอสัก 10,000 บาทได้ไหม จะเอาไปช่วยผู้สูงอายุ

วันนี้มาต่อกัน มีการกล่าวหาเรื่องการซื้อที่ดินปรปักษ์ โดยมีสีกามาซื้อเหมือนกับสมรู้ร่วมคิดวางแผนกันทำตามคำสั่งพระพยอม ให้สีกาขายที่ดินให้วัด ต่อมาทายาทของเจ้าของที่ดินเก่ามาร้องศาลจึงเพิกถอนการจัดการ เท่านั้นแหละพระพยอมก็ออกมากล่าวหากรมที่ดินท่าโน้นท่านี้ต่างๆนานาว่าจะเอาเงินคืน จะเก็บภาษีอะไรต่างๆ ขอภาษีคืน ออกทีวี. แล้วทิ้งท้ายว่าออกทีวี.ในรายการของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดูจะรู้ข้อเท็จจริงหมดแล้ว

พอมาถึงคุณพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบัน ก็ว่าจะหาเงินไปซื้อที่ดินให้ ช่างไม่ละอายกันเสียเลย นี่แหละที่เรียกว่าข้าราชการบางคนไม่ยินดีกับการที่จะทำให้วัดได้คืน กลับกลายเป็นตรงกันข้าม กลับยินร้าย อิจฉาริษยา พวกนี้ต้องเรียกว่า “พวกต่อมมุทิตาเสื่อม” คนเราธรรมดาแล้วถ้าศาสนาจะได้อะไรที่เสียไปคืน มีคนจะมาช่วยให้ได้มาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มีแต่จะพลอยยินดีด้วย

เป็นอันว่าอย่างนี้ก็แล้วกันญาติโยม ความหวังของวัดสวนแก้วคงล่มสลาย วัดตั้งใจที่จะออกมารับมุขของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะมาคืนดี มาประสานสมานฉันท์ คืนความสุขกันตามนโยบายของ คสช. จะได้เกิดอวสานโฉนดฉาวที่ขัดข้องหมองใจกันมา ทั้งๆที่ท่านอธิบดีพีระศักดิ์อาจมีเจตนาดี แต่ว่าพวกอำนาจเก่าแอนตี้ อาตมากลัวว่าท่านอธิบดีพีระศักดิ์จะถอดใจเสียก่อน หรือไม่อย่างนั้นก็ถูกพวกนี้ลงขันเล่นงานเอา

ตอนแรกอาตมาแพ้ใจอธิบดีท่านเพราะเห็นท่านมีภาพการ์ตูนล้อว่าเป็นข้าราชการที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่มีความตั้งใจจะเยียวยา เป็นอธิบดีที่ถือทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ บางคนเอาแต่นิติศาสตร์ เอาแต่ข้อความอย่างเดียว คือผู้รับโอนไม่มีสิทธิเหนือผู้โอน ผู้โอนย่อมมีสิทธิเหนือผู้รับโอน ดังนั้น ไม่ต้องมีอะไรกันแล้ว จบ ไม่ต้องมีคำว่าจ่ายค่าทดแทน ถูกต้อง โปร่งใส ซื้อโดยเปิดเผย คือมีมุมกฎหมายอยู่ 2 มุมคือ 1.มุมผู้ให้โอนย่อมมีสิทธิเหนือว่ากว่าผู้รับโอน 2.ถ้าผู้ซื้อจ่ายโดยโปร่งใส ถูกต้อง อันนี้อาจจะได้เยียวยากันบ้าง แต่เขาไม่เอามุมนี้ ไปเอามุมกฎหมาย

เพราะฉะนั้นบ้านเมืองเราถึงบอกว่า “นิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์” ไม่สอดคล้องกัน ก็เลยแยกทางกันเดิน เพราะอย่างนี้จึงมีความแตกแยก มาตรฐานกฎหมายไม่ค่อยได้รับความเคารพนับถือกันเท่าไร ยังไงข้าราชการก็รักษาตัวให้ดี อย่าให้เกลือเป็นหนอน อย่าให้เหมือนกับกรมคุกถูกย้าย ถูกไล่ ยังไงก็ขอให้กรมที่ดินกลับเนื้อกลับตัวกัน อย่าให้ถูกย้าย ถูกไล่ เหมือนกรมอื่นก็แล้วกัน

อาตมาขอให้ท่านที่คิดว่าไม่อยากร่วมกุศลทอดผ้าป่า เพราะโทษว่าอาตมาไปปลุกผีเก่าตายไปนานแล้ว แล้วผีใหม่ที่โผล่มาหน้าสลอน เช่น ผีโฉนดบุญชู ผีโฉนดสิรินาถที่จังหวัดภูเก็ต ผีปากช่อง ตัวใหญ่ๆโผล่มาใหม่ๆน่ากลัวกว่าผีเก่าอีก ทำไมไม่กลัวกัน ถามหน่อยว่าระหว่างเอี่ยวทอดผ้าป่าซื้อที่ดินคืนให้วัด กับไปเอี่ยวทำโฉนดให้นายทุน ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไปยึดครองที่ดิน อันไหนมันน่าละอายกว่ากัน

อาตมาเดี๋ยวนี้สบายใจแล้ว เพราะได้แนวร่วม ได้ผู้ที่มีชะตากรรมร่วมกัน ถูกถอนสิทธิแพงกว่าอาตมาอีก ของอาตมาเล็กน้อย ก็ขอฝากถึงท่านอธิบดี ถ้าท่านโดนลูกน้องแอนตี้มาก ท่านโดดเข้ามาช่วยวัดแล้วเปลืองตัว ท่านถอนตัวออกไปได้ เพราะไม่มีความผิดอะไร ที่ท่านทำก็เพราะท่านตั้งใจดี เจตนาดี แต่พวกแอนตี้ไม่ยินดีด้วยก็แล้วไป

เจริญพร
///////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ความเสี่ยง : โดย วีรพงษ์ รามางกูร !!?

มนุษย์เราทุกคนต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ความเสี่ยงในด้านต่างๆตลอดเวลา เป็นต้นว่า ความเสี่ยงต่อร่างกายและทรัพย์สิน ความเสี่ยงต่อเกียรติยศชื่อเสียง ความเสี่ยงต่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน ความเสี่ยงต่อความมั่นคงของครอบครัว ความเสี่ยงต่ออิสรภาพและเสรีภาพ

ความเสี่ยงที่ว่าเรามักจะหมายถึงความเสี่ยงที่จะสูญเสีย ความเสี่ยงที่จะเสียหาย ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้ามีโอกาสที่จะร่ำรวยขึ้น สุขสบายขึ้น หน้าที่การงานดีขึ้น เรามักจะไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยงแต่จะถือว่าเป็นโอกาสมากกว่า

การเข้าไปเล่นการพนันก็ดี การเสียเงินแทงหวยก็ดี ซื้อลอตเตอรี่ก็ดี กลับเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นการเสี่ยงโชค ทั้งๆ ที่โอกาสเสียเงินทองที่ลงไปมากกว่าโอกาสที่จะมีโชคได้เงินจากการพนันหรือการซื้อหวยหรือซื้อลอตเตอรี่

ความเสี่ยงที่ผู้คนส่วนใหญ่เกรงกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงเพราะถ้าเกิดความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นย่อมก่อให้เกิดความเสียหายความเจ็บปวดทั้งทางร่างกาย และจิตใจกับตนเองกับครอบครัว ญาติมิตรทั้งปวงทั้งนั้น บางครั้งก็ต้องยอมจ่ายเงิน จ่ายทอง หรือปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงหรือขจัดความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ออกไป ธุรกิจประกันความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ จึงเกิดขึ้นและรุ่งเรืองมาจนบัดนี้

ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะคน ก็อาจจะหลีกเลี่ยงหรือจ่ายเงินทองหรือปฏิบัติตนเพื่อลดหรือขจัดความเสี่ยงเหล่านั้นไปได้ ในขณะเดียวกันความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้อาจจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันและอาจจะเป็นเหตุผลของกันและกันได้

แต่มีความเสี่ยงอีกอันหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงของสังคมและประเทศชาติ ซึ่งอาจจะอยู่เหนือการควบคุมของสังคมและคนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นความเสี่ยงที่มีต้นทุนสูงกว่าและน่ากลัวกว่าความเสี่ยงใดๆ ความเสี่ยงเช่นว่านั้นมีศัพท์ทางวิชาการว่า "ความเสี่ยงทางการเมือง" หรือ "political risk"

"ความเสี่ยง" ทางการเมืองนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นบ่อเกิดของความเสี่ยงต่างๆ 5-6 ประการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้ทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นความเสี่ยงที่เราแต่ละคนทำอะไรเพื่อป้องกันความเสี่ยงเช่นว่านั้นไม่ได้ ต้องยอมรับสภาพไป

ความเสี่ยงทางการเมือง ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าความมั่นคงในเรื่องต่างๆ ลดลง หรือไม่มีความมั่นคงเลยก็ได้ หากตนมีความคิดที่แตกต่าง หรือตนประพฤติ ปฏิบัติ พูดจา แสดงออก ในทางที่ขัดแย้งกับกระแสทางการเมือง หรือกับผู้มีอำนาจทางการเมือง

ระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยขึ้นอยู่กับคนคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว หรือคนส่วนน้อย ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกในหมู่ผู้คนที่ไม่มีส่วนในการใช้อำนาจนั้นว่าตนกำลังผจญอยู่กับความเสี่ยงทางการเมืองแต่ในขณะเดียวกันถ้าการเมืองเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดมีส่วนในการปกครอง ไม่ว่าจะในฐานะเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อยก็ตาม ความเสี่ยงทางการเมืองในความรู้สึกของผู้คนในสังคมก็จะลดลง หรือหมดไป เพราะ "ความไม่แน่นอนทางการเมือง" หรือ "political uncertainty" ก็จะลดลงหรือหมดไปด้วย

ถ้าความไม่แน่นอนทางการเมืองมีสูง ความเสี่ยงของผู้คนในสังคมก็จะมีสูง ถ้าการเมืองมีความแน่นอนหรือมีเสถียรภาพสูง ความเสี่ยงทางการเมืองก็จะต่ำลง ความแน่นอนทางการเมืองหมายถึงความแน่นอนของระบบการเมืองการปกครอง ไม่ได้หมายถึงความแน่นอนหรือเสถียรภาพของรัฐบาลเท่านั้น

ดังที่กล่าวมาแล้ว ความแน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของความเสี่ยงทางการเมืองนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่าระบอบหรือสภาพการเมืองนั้น มีผู้ที่สามารถมีส่วนร่วมหรือมีส่วนในการตัดสินใจในโชคชะตาของประเทศหรือสังคมนั้นเพียงใด ถ้าขึ้นอยู่กับคนคนเดียวความเสี่ยงทางการเมืองก็สูง ถ้ามีคนเข้าไปร่วมมากความเสี่ยงก็น้อยลง ถ้าคนในสังคมทุกคนมีส่วนร่วมความเสี่ยงทางการเมืองหรือความไม่แน่นอนทางการเมืองก็จะมีน้อยที่สุด

ความไม่แน่นอนทางการเมืองpolitical uncertainty และ political risk มีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของ "ความมั่นใจ" หรือ "confidence" ของสังคมนั้นๆ การติดต่อค้าขายการลงทุนระยะยาว ทั้งในตลาดการเงิน ตลาดทุน การลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าและบริการ "ความมั่นใจ" ในระบบเศรษฐกิจนั้นๆ ย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และมักจะตีราคาออกมาเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่ง รวมทั้งค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงก็จะมีความเสี่ยงทางการเมืองนับรวมเข้าไปด้วยเสมอ

ในสังคมที่มีระบอบการเมืองการปกครองแบบอนารยะมีกฎระเบียบแบบแผนที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก หรือจินตนาการหรือ "มโน" ของคนคนเดียวที่มีอำนาจปกครอง แม้จะอ้างว่ามีที่ปรึกษามากมายหลายคณะ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องประกันรับรองความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงทางการเมือง

การแสดงอารมณ์ การแสดงความรู้สึก หรือจินตนาการที่ปราศจากข้อมูลหลักฐาน และที่สำคัญคือตรรกะของคนคนเดียว ความพยายามยัดเยียดสิ่งเหล่านั้นให้กับสังคมย่อมทำให้เกิดความรู้สึกว่า เรากำลังมีความเสี่ยงทางการเมืองสูง แม้จะไม่มีเสียงคัดค้านเพราะสังคมกำลังอยู่ใน "ความเงียบ" ก็ตาม ซึ่งความเงียบที่แท้จริงนั้นไม่มี

ระบอบการเมืองที่เป็นของอารยชนกับระบอบการเมืองของอนารยชนย่อมมีความแน่นอนและความไม่แน่นอนผิดกัน เพราะโลกในหลายศตวรรษที่ผ่านมาย่อมเคลื่อนย้ายไปข้างหน้า มีพลวัตและมุ่งสู่ความเป็นอารยะอย่างไม่หยุดยั้ง หากจะถอยหลังกลับไปสู่ระบอบอนารยะ ผู้คนย่อมคิดและหวังว่า "การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" หรือ "political changes" จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ไม่อย่างสันติก็อย่างรุนแรง

การเปลี่ยนถ่ายอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจการปกครองในขณะที่สังคมมีระบอบการปกครองที่มีความเสี่ยงทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงย่อมก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจะไม่เป็นไปอย่างสันติวิธี อาจจะเกิดความรุนแรง การเปลี่ยนถ่ายอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นที่เป็นไปโดยสันติวิธี

ทุกประเทศ ทุกสังคม การพัฒนาทางการเมืองย่อมต้องเดินไปข้างหน้า เหมือนกงล้อประวัติศาสตร์ย่อมไม่หมุนถอยหลัง มีแต่จะหมุนไปข้างหน้า กงล้อประวัติศาสตร์ของจีนก็หมุนไปข้างหน้า แต่ยังอยู่ข้างหลังเรา กงล้อของเราจะหยุดหมุนหรือหมุนกลับไปรอกงล้อของจีนย่อมเป็นไปไม่ได้ ใครคิดอย่างนั้นก็ผิด

การมีสภานิติบัญญัติ การมีคณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่ตุลาการที่มีคนคนเดียวเป็นผู้แต่งตั้ง ก็เป็นการเมืองการปกครองโดยคนคนเดียว เพียงแต่เป็นการจัดหาไม้ประดับมาตกแต่งให้สวยงามให้น่าดูเท่านั้น หรือแม้แต่จะมีการเลือกตั้งแต่เป็นการเลือกตั้งบนพื้นฐานของกติกาที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม สิทธิการเลือกตั้งมิได้เป็นไปอย่างเท่าเทียมกันของประชาชนทั่วไป หรือที่ฝรั่งเรียกว่า "universal suffrage" ความเสี่ยงทางการเมือง หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองก็จะไม่ลดลง แต่จะเพิ่มขึ้น

สังคมทุกสังคมมีแนวโน้มที่จะมีแรงดึงกลับไปสู่สภาพปกติที่พัฒนาไปข้างหน้า การหยุดชะงักหรือการดึงให้ย้อนกลับไปข้างหลัง หรือการดึงออกจากสภาพปกติที่ควรจะเป็น สภาพการณ์อย่างนี้จะทำให้มีแรงดึงกลับ แรงดึงกลับจะเบาหรือหนัก เป็นไปอย่างสันติหรือเป็นไปอย่างรุนแรง อย่างรวดเร็วหรือค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับการดึงกลับไปสู่สภาวะไม่ปกติจะเป็นไปด้วยสันติวิธีหรือเป็นไปด้วยอำนาจปากกระบอกปืน เป็นไปด้วยเหตุผลหรือการข่มขู่ เป็นระยะเวลาอันสั้นหรือยาวนาน เป็นไปตามการคาดหวังของสังคมหรือขัดต่อความคาดหวังของประชาชน การให้สัญญามากมายทุกๆ สัปดาห์ จะสามารถทำตามสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นความเสี่ยงทางการเมือง ดังคำพูดของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ว่า

ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูด หลังพูดคำพูดเป็นนายของเรา

ที่มา:มติชน
/////////////////////////////////

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

คำวินิจฉัยของศาลที่สั่นสะเทือนสังคมไทย !!?


โดย. สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 09.30 น. ศาลอาญาได้อ่านคำวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (เลขาธิการ กปปส.) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฐานผู้ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำการหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 ทันทีที่คำวินิจฉัยถูกอ่านจบลงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหว

ผู้เขียนขอยืนยันในเรื่องนี้เพราะหลังเกิดการปฏิรูปประเทศไทยไม่มีนักข่าวโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์ผู้เขียนเหมือนก่อนมีการปฏิรูป แต่จากการที่ผู้เขียนต้องรับโทรศัพท์จากนักข่าวหลายสำนักเพื่อสอบถามปัญหาของคำวินิจฉัยคดีนี้สะท้อนให้เห็นว่าผลของคำวินิจฉัยนี้ก่อให้เกิดความสะเทือนต่อสังคมไทยโดยทั่วไปหลายๆ วงการ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้เขียนต้องเขียนบทความนี้เพื่อตอบสังคมแทนการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ นี่คือคำสัญญา

ก่อนเขียนบทความนี้ต้องขอยืนยันด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลอาญา ซึ่งเป็นสถาบันศาลยุติธรรมที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ถึง 36 ปี และขอถอดจิตวิญญาณของความเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและกรรมการ ป.ป.ช.ออกไป คงเหลือแต่จิตวิญญาณของอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายและประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ไม่เคยมีอคติต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดในหัวใจ

สาระสำคัญของคำวินิจฉัยนี้โดยสรุปก็คือศาลเห็นว่า"การที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพื่อการผลักดันการชุมนุม หรือสลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่ หรือขอคืนพื้นที่ตามที่โจทก์ฟ้องมานั้นล้วนแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ. ..................... หลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งสิ้น กรณีไม่ได้เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือไม่ได้กระทำที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ได้คัดค้าน............"

เพื่อความเข้าใจง่ายของคนทั่วไปขออธิบายว่าศาลยกฟ้องคดีนี้โดยอ้างเรื่องเขตอำนาจของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เรื่องเขตอำนาจศาลนั้นนับเป็นเรื่องสำคัญในการฟ้องคดี ซึ่งมีบัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ถึงมาตรา 23 ยกตัวอย่างเช่น ศาลแพ่ง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ส่วนศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา การยกฟ้องหรือคำร้องเมื่อมีการนำคดีมาฟ้องหรือร้องผิดศาลเป็นอำนาจของศาลย่อมกระทำได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลในคดีนี้น่าจะมีปัญหาดังต่อไปนี้

1.การกระทำของจำเลยทั้งสองในคดีนี้แม้จะเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายบท เรื่องการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทนั้นขอยกตัวอย่างเช่น จำเลยเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องนอน จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และมาตรา 362 ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งมาตรา 276 และมาตรา 362 แม้จะเป็นการกระทำในครั้งเดียวกัน และหากฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องศาลก็จะลงโทษจำเลยโดยบทหนักที่สุดคือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นไปตามหลักของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เช่นเดียวกับความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ โจกท์ฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83, 84 และมาตรา 157 เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยแม้จะเป็นกรรมเดียวแต่ก็ผิดกฎหมายหลายบท โดยสามารถแยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83, 84 ต่อศาลอาญาซึ่งมีเขตอำนาจ ส่วนความผิดตามมาตรา 157 โจทก์ (อัยการ) ก็มีอำนาจที่จะฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจอีกศาลหนึ่งและอยู่ในอำนาจไต่สวนของกรรมการ ป.ป.ช.

2.ที่ศาลอาญาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นถูกต้อง แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยตามมาตรา 157 ตามที่ศาลยกฟ้องในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ฟ้องตามมาตรา 288, 83, 84 ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลอาญา เพียงแต่โจทก์อ้างในฟ้องถึงมูลเหตที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งดังกล่าวว่าเนื่องจากขณะนั้นจำเลยทั้งสองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ศาลได้ทราบถึงที่มาที่ไปของคำสั่งเท่านั้น

3.หากศาลอาญาจะยกฟ้องในเรื่องคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอาญาก็ควรจะอ้างเฉพาะข้อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9(1) ซึ่งบัญญัติถึงเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นต้น แต่ศาลอาญากลับไปวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีว่า "ล้วนแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองในฐานะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี... โดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งสิ้น กรณีไม่ได้เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือไม่ได้กระทำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง..."

มีความหมายว่าจำเลยออกคำสั่งตามหน้าที่ มิได้ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่แต่อย่างใด ดังนี้ นอกจากศาลอาญาจะวินิจฉัยเรื่องอำนาจศาลแล้วยังก้าวล่วงไปวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยว่าไม่ผิดตามมาตรา 288 และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในขอบอำนาจหน้าที่ไม่ผิดตามมาตรา 157 ด้วย (ก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจของ ป.ป.ช. รวมทั้งอำนาจในการวินิจฉัยคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย)

4.การที่ศาลใช้อำนาจวินิจฉัยคดีเกินคำฟ้องโจทก์ (โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 288, 83, 84) เป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" (อัยการโจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลลงโทษตามมาตรา 157 เพราะอัยการย่อมทราบดีว่ามาตรา 157 อยู่ในอำนาจไต่สวนของ ป.ป.ช.)

5.ศาลอาญายกฟ้องในเรื่องงอำนาจศาลอันเป็นข้อกฎหมาย แต่กลับก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในข้อเท็จจริงคดีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ จำเลยให้สิ้นกระแสความจึงอาจมีข้อผิดพลาดได้มากและผิดหลักการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล

6.องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83, 84 กับองค์ประกอบความผิดของมาตรา 157 นั้นต่างกัน ผลคำวินิจฉัยของศาลอาญาฉบับนี้ ทำให้ความผิดของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลอาญาไม่ได้รับคำวินิจฉัยอย่างรอบคอบถี่ถ้วน จากคำพยานโจทก์จำเลย แต่กลับไปวินิจฉัยข้อกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ ขณะนี้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ก็ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนของกรรมการ ป.ป.ช. หากไต่สวนแล้วกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าการะกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่เป็นความผิด ก็จะต้องมีมติให้คดีนี้ตกไป ความผิดตามมาตรา 157 ที่ศาลอาญาอ้างว่าอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่มีโอกาสได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด

7.หากเกิดกรณีตามข้อ 6 สังคมไทยคงต้องกังขาและสั่นสะเทือนโดยเฉพาะความหนาวสะท้านในหัวใจของพ่อแม่พี่น้องคนที่เสียชีวิต 99 ศพ เพราะคนตายเกือบร้อยคน จะพึ่งฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ได้ ฝ่ายบริหารก็ไม่มีทาง คงเหลือแต่ฝ่ายตุลาการคือศาล แต่ศาลอาญาท่านก็ว่าท่านก็ไม่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ครั้นจะไปขอความเป็นธรรมจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีเขตอำนาจคดีก็อาจจะไปไม่ถึงศาลหากคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ไต่สวนแล้วมีมติให้คดีตกไป คดีนี้ก็จะปิดฉากลง

ทั้งๆที่คนตายก็คือคนไทยด้วยกันและเขาเหล่านั้นก็หาใช่อาชญากรของแผ่นดินแต่อย่างใดและผู้ที่เป็นต้นเหตุให้เขาตายก็ใช้อำนาจที่มีอยู่สั่งประหารพวกเขาทั้งๆที่ไม่ใช่ศาลซึ่งเป็นสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ความผิดที่อาจพอจะมองเห็นได้ก็คือเขาเหล่านั้นมีความคิดเห็นในทางการเมืองตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศในขณะนั้นเท่านั้น ความผิดเพียงเท่านี้สมควรแล้วหรือที่เขาจะถูกพิพากษาประหารชีวิต โดยมิได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่พอครอบครัวของผู้ตายเดินเข้ามาขอความเป็นธรรมตามสิทธิที่พวกเขาพึงมีพึงได้

แต่ก็กลับถูกปฏิเสธ จึงเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากนอกจากคนตายซึ่งเป็นคนไทยแล้วยังมีชาวต่างประเทศถูกสังหารด้วย หากเรื่องนี้มิได้ถูกดำเนินการโดยกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรมแล้วผลเสียหายก็จะบังเกิดแก่ประเทศชาตินี้อย่างใหญ่หลวง แต่ในความมืดมิดก็ได้ปรากฏการณ์มีแสงสว่างเกิดขึ้นเมื่อท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ใช้อำนาจของท่านตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้......"

ความเห็นแย้งของท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาจึงน่าจะมีน้ำหนักที่ใช้ในการประกอบดุลพินิจของศาลสูงเมื่อมีการอุทธรณ์ฎีกาโดยพนักงานอัยการโจทก์ต่อไป

ที่มา.มติชนรายวัน
/////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

งานศพผิดวัด ครั้งใหม่ !!?

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย คุณอานันท์กล่าวถึง "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ดูเหมือนเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหาร นั่นคือประชาธิปไตยของไทยไม่สมบูรณ์ และการรัฐประหารคงจะนำประเทศไปสู่หนทางเริ่มต้นที่จะบรรลุประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้

คุณอานันท์อาจแตกต่างจากคนอื่นตรงที่สามารถบอกได้เลยว่า อังกฤษและสหรัฐนั้น ได้บรรลุ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ในปี ค.ศ.อะไร เช่นอังกฤษเพิ่งบรรลุเมื่อ 1928 เพราะยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกับผู้ชาย ส่วนสหรัฐเมื่อทศวรรษ 1960 เมื่อยอมรับสิทธิอันเท่าเทียมของคนผิวสี

แล้วมัน "สมบูรณ์" จริงหรือครับ ลองถามคนดำและคนขาวจำนวนมากในเมืองเฟอร์กูสัน มิสซูรีในตอนนี้ พวกเขาคงโวยวายว่าไม่จริง ถึงต้องออกมาประท้วงในท้องถนน ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากในสหรัฐออกมา "ยึด" หรือ occupy โน่นนี่เต็มไปหมดหลายเมือง ด้วยข้ออ้างถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสุดขั้วในสังคมตนเอง การหลั่งไหลของชาวมุสลิมเข้าไปตั้งหลักแหล่งภูมิลำเนาในยุโรปตะวันตก เผยให้เห็นอคติต่อชาติพันธุ์และศาสนาของคนในระบอบ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ทั่วไปในเกือบทุกประเทศ รวมทั้งอังกฤษด้วย

ไม่มีหรอกครับ ประชาธิปไตย "ที่สมบูรณ์" ในโลกนี้ เราอาจนิยามประชาธิปไตยด้วยอุดมคติ เช่น ใช้คำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส-เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพก็ได้ หรือของลิงคอล์น-รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนก็ได้ หรือของนิธิ-อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันของทุกคนและทุกกลุ่มในทุกเรื่อง แต่นี่เป็นอุดมคติเท่านั้น ประชาธิปไตยไม่ได้ทำงานด้วยอุดมคติ หากทำงานด้วย "สำนึก" ครับ โดยเฉพาะสำนึกของประชาชนทั่วไป ขึ้นชื่อว่าสำนึกก็ไม่อยู่คงที่แน่นอน บางสำนึกก็หลุดหายไปหรือได้รับความสำคัญน้อยลง บางสำนึกก็เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากสังคมแปรเปลี่ยนไปตลอด แต่สำนึกใหม่เหล่านี้มักถูกบิดเบือน ขวางกั้น หรือทำลายโดยผู้มีประโยชน์ปลูกฝัง (vested interest) อยู่เสมอ

ยกตัวอย่างสิทธิสตรีก็ได้นะครับ ในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น ผู้หญิงมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะเมียพ่อค้าและแม่บ้านชนชั้นแรงงานซึ่งต้องซื้อขนมปังในราคาแพงขึ้นตลอด พากันออกมาก่อจลาจลต่างๆ ในปารีสเพื่อประท้วงผู้ปกครอง (ทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และผู้นำการปฏิวัติในเวลาต่อมา) ผมไม่ทราบว่าเมื่อผู้นำปฏิวัติพูดถึงเสมอภาพ เขาคิดถึงผู้หญิงหรือไม่ แต่สิทธิทางการเมืองของผู้หญิงก็ถูกจำกัดมาตั้งแต่ระยะแรกๆ และอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะจำกัดอำนาจทางการเมืองของมวลชนด้วย

หลังจากผู้หญิงได้สิทธิเท่าเทียมทางการเมืองในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงก็หาได้รับความเสมอภาพเหมือนผู้ชายในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไม่ ผู้หญิงก็ไม่รู้สึกอะไรจนกระทั่งสำนึกใหม่มาเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเกิดการเคลื่อนไหวใหม่ที่จะเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมแก่ผู้หญิงในมิติอื่นๆ ด้วย จนถึงทุกวันนี้ความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีก็หาได้ยุติลง เพราะยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ "สำนึก" ของผู้คน ไม่ว่าหญิงหรือชาย

สำนึกใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเกิดพร้อมกับอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งก็เป็น "สำนึก" อีกชนิดหนึ่ง เช่น เพศที่สามไม่เคยมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตนเอง แต่เมื่อเกิดสำนึกใหม่ถึงตัวตนที่มีอยู่จริงของเพศที่สาม ปลดเปลื้อง "ตราบาป" ต่างๆ ออกไปได้แล้ว ก็เกิดอัตลักษณ์ใหม่ที่ทำให้ต่างจากผู้หญิงหรือผู้ชาย เกิดอัตลักษณ์ใหม่ก็ทำให้คิดถึงสิทธิเสมอภาพของตนเองได้ กลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อเรียกร้องสิทธิเสมอภาพของเพศที่สาม

สำนึกใหม่และอัตลักษณ์ใหม่เป็นอนิจจังครับ เกิดดับได้ไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่เคย "สมบูรณ์" สักที และเพราะไปคิดถึงความสมบูรณ์ที่หยุดนิ่งเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้สลิ่มไทยจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ "สำนึก" ที่เปลี่ยนไปแล้วของมวลชนระดับล่าง ปรารถนาให้คนเหล่านั้นไม่ใส่ใจการเมืองระดับชาติเหมือนเดิม เลือกผู้แทนมาอย่างเบี้ยหัวแตก เพื่อให้สลิ่มสามารถจัดตั้งและควบคุมรัฐบาลได้เหมือนเดิม

เราจึงอาจมองรัฐประหารได้สองอย่าง หนึ่งคือมองอย่างคุณอานันท์ว่า เพราะประชาธิปไตยไทยไม่ "สมบูรณ์" จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาทำให้ "สมบูรณ์" หรือมองแบบผมก็คือประชาธิปไตยไทยในระยะนี้ มีพลวัติที่แรงและเร็วเกินปัญญาและประสบการณ์ของชนชั้นนำจะปรับตัวได้ จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาหยุดพลวัติของประชาธิปไตยไว้ที่กรอบแคบๆ ตามเดิม

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณอานันท์พูดถึงคือ "ทฤษฎีฝรั่ง" ที่คนไทยมักนิยมยกย่องจนเหมือนเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่ (ความโดยนัยยะ ไม่ใช่คำพูดคำต่อคำ) แต่ตั้งแต่เกิดจนบัดนี้ ผมยังไม่เคยเห็นใครโต้เถียงกับ "ทฤษฎีฝรั่ง" เท่าฝรั่ง หากผมเห็นด้วยกับฝรั่งที่โต้แย้งทฤษฎีฝรั่งที่คุณอานันท์ไม่ชอบ ผมยังเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่อยู่หรือไม่ โดยสรุปก็คือความเห็นอันไร้สาระเช่นนี้ไม่ได้เป็นของคุณอานันท์คนเดียว แต่เป็นของผู้มีการศึกษาไทยอีกมาก รวมทั้งนายพลที่ทำรัฐประหารด้วย

ที่เรียกว่า "ทฤษฎี" คืออะไร พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ "มุมมอง" นั่นเอง ไม่ว่าเราจะศึกษาอะไรก็ตาม เราต้องมี "มุมมอง" อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อาจโดยไม่รู้ตัวอย่างที่คนไทยทั่วไปมักไม่รู้ตัว เพราะปราศจากมุมที่จะมองเลย ก็ไม่เห็นอะไร สิ่งที่เราศึกษานั้น มองจากมุมนี้ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง มองจากอีกมุมหนึ่งก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง มุมที่จะมองจึงมีความสำคัญอย่างมาก

มุมที่จะมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น เป็นมุมที่นำไปมองอะไรอื่นด้วยมุมเดียวกันได้อีกมาก เช่น ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง อาจใช้มองเทหวัตถุอื่นๆ ได้ทั้งจักรวาล ไม่จำกัดเฉพาะลูกแอปเปิลและดวงจันทร์เท่านั้น แต่ "มุมมอง" นี้ก็มีข้อจำกัดซึ่งการค้นพบในสมัยหลังชี้ให้เห็น เช่น ที่ไม่ใช่เทหวัตถุก็อาจตกอยู่ใต้อำนาจของแรงโน้มถ่วงได้เช่นแสง เป็นต้น การเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เล็กมากๆ เช่น อะตอมหรือในนิวเคลียสของอะตอม ก็เคลื่อนที่ด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงนิวเคลียร์ ทฤษฎีหรือมุมมองของฝรั่งคนแรกจึงมีข้อจำกัด กล่าวคือใช้มองบางอย่างได้ แต่มองบางอย่างไม่ได้ (นี่ก็พ่อแม่ฝรั่งเป็นคนชี้ให้เห็นอีก)

แต่น่าประหลาดที่คนไทยผู้มีการศึกษาจำนวนมากมักไม่คิดว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นมุมมองอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ จึงสามารถรับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าพ่อแม่ของตนจะเปลี่ยนสัญชาติไป วิทยาศาสตร์โชคดีกว่าสังคมศาสตร์ตรงที่ว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งโลก (หรือทั้งเอกภพ?) ในขณะที่ปรากฏการณ์ทางสังคมแปรผันไปตามแต่ละสังคมและยุคสมัย แต่ก็ไม่ต่างอะไรจากการสร้างทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์รวบรวมข้อเท็จจริงจากสังคมต่างๆ จำนวนมาก เพื่อ "สังเกตการณ์" ว่าในประเด็นที่เขาสนใจนั้นมีอะไรที่เหมือนกัน และมีอะไรที่ต่างกัน แล้วค้นหาพลัง (หรือบางคนเรียกว่า "กฎ") ที่กำกับควบคุมให้ปรากฏการณ์กลุ่มนั้นๆ เหมือนกันหรือต่างกัน แล้วจึงเสนอมุมมองใหม่ที่ทำให้สามารถใช้เป็นมุมสำหรับมองปรากฏการณ์กลุ่มนี้ในสังคมทั่วๆ ไปได้ มีอำนาจอธิบายเพิ่มขึ้น และมีอำนาจพยากรณ์ได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่แม่นยำเหมือนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีก็มีความหมายเพียงเท่านี้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หากใครนับถือแล้วจะต้องเสียผู้เสียคนไป

ไม่ปฏิเสธว่า ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ของฝรั่งนั้น มักสำรวจจากสังคมฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ (ปัจจุบัน เนื่องจากฝรั่งหันมาสนใจสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งมากขึ้น ทฤษฎีรุ่นใหม่จึงอาจเป็นผลจากการสำรวจที่กว้างขวางกว่าเก่า) ดังนั้น เมื่อนำมาใช้อธิบายสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งก็อาจมีปัญหา ผมได้ยินเสียงบ่นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยเห็นนักวิชาการไทยชี้ให้ชัดว่า ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไรและอยู่ตรงไหน เพราะเอาเข้าจริง นักวิชาการไทยก็มีความรู้ในเชิงประจักษ์กับสังคมตัวเองไม่มากนัก จึงมองเห็นได้ไม่ชัดว่า มันมีข้อยกเว้นในทฤษฎีฝรั่งอะไรบ้างเมื่อนำมาอธิบายสังคมไทย

ดังนั้น เมื่อเอาทฤษฎีประชาธิปไตยมาอธิบายการเมืองไทย ปัญญาญาณของไทยจึงมีแต่กุดๆ แค่ว่าไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะเป็นทฤษฎีฝรั่งเท่านั้น สังคมฝรั่งกับไทยไม่เหมือนกัน เขามีเวลาปรับตัวนานกว่าเราเป็นศตวรรษ บล่ะๆๆๆ กลวงๆ ไปอย่างนั้น

คนไทยจึงถูกสาปให้ยืนอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ เพราะปัญญาญาณของชนชั้นนำไทยและนักวิชาการไทยกุดอยู่ที่ปลายจมูก หากจะแหลมออกมาบ้างก็เป็นแค่นกหวีด

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือเลือกตั้ง ได้ยินกันมานานแล้วว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว บางคนก็พูดเลยไปถึงว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งไปโน่นเลย ความหมายก็คือเราอาจเป็นประชาธิปไตยโดยไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ อย่างที่นักปราชญ์ไทยชอบยกรัชสมัยที่เชื่อกันว่า "ดี" บางรัชสมัย (เช่นรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง) ว่านั่นก็เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งเลย

แต่ในปัจจุบัน มีใครหรือครับที่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย แม้แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้พูดอย่างนั้น รัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหารต่างหากที่ยืนยันว่าตัวมาจากการเลือกตั้ง และได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา จึงมีความชอบธรรมเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย คนเสื้อแดงเองเสียอีกที่บอกว่า การเลือกตั้งและเสียงสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพแทรกแซงเช่นนั้น ไม่สามารถให้ความชอบธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยได้

แม้กระนั้น การเลือกตั้งก็เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย เพราะเป็นกลไกที่ให้อำนาจประชาชนในการกำกับควบคุมฝ่ายบริหาร ก็จริงแหละครับว่า จะกำกับควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพจริง ยังต้องมีกลไกอื่นๆ อีกด้วย เช่น สื่อที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงตามอาชีวปฏิญาณของตนเอง ความรู้ที่ทำให้เท่าทันอำนาจทางการเมืองทุกฝ่าย (แม้แต่ฝ่ายที่ไม่ได้เปิดหน้าเล่นการเมือง) ความรู้ที่จะทำให้มองเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านในระยะสั้นและระยะยาว พื้นที่สาธารณะหลายรูปแบบที่เปิดให้คนต่างกลุ่มสามารถแสดงตัวตนของตัว รวมทั้งถูกคนอื่นตรวจสอบได้อย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ ถ้ากลไกอื่นเหล่านี้มีคุณภาพ ก็ยิ่งทำให้กลไกการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเมื่อกลไกอื่นยังไม่พร้อม จึงต้องระงับการเลือกตั้งไว้ก่อน เพราะยิ่งระงับการเลือกตั้ง กลไกอื่นก็ยิ่งไม่พัฒนาขึ้นมาให้พร้อมสักที

ทำไมหรือครับ ก็เพราะกลไกเหล่านี้ทำงานร่วมกัน ยิ่งเลือกตั้งดำเนินไปได้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ กลไกอื่นก็ยิ่งพัฒนาขึ้น เช่น พื้นที่การต่อรองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีลักษณะหลากหลายมากขึ้น จึงเปิดให้แก่คนที่มีปูมหลังต่างกันเข้าถึงได้ทั่วหน้ากว่าเดิม พื้นที่เช่นนี้มีมากขึ้นก็ทำให้คนใช้วิจารณญาณได้กว้างไกลขึ้นในการลงบัตรเลือกตั้ง อย่ามองอะไรเป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่สัมพันธ์กันเลย ทั้งสองขั้วเป็นกระบวนการเดียวกัน เมื่อรัฐประหารขั้วใดขั้วหนึ่งไปแล้ว อีกขั้วหนึ่งก็เหี่ยวเฉาไปเอง กลายเป็นความสงบแห่งชาติอย่างที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในเชิงรูปธรรม หากการเลือกตั้งหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาสามารถดำเนินไปได้เป็นปรกติ แม้จะถูกบอยคอตจากพรรคฝ่ายค้านบางพรรค สังคมไทยและพรรคฝ่ายค้านบางพรรคก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า หนทางเอาชนะทางการเมืองนั้น ไม่มีวิถีทางอื่นนอกจากแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน (อย่างฉลาด) ย่อมจำเป็นอยู่เองที่ต้องหันกลับมาเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เลิกโยนเก้าอี้ในสภา หรือเลิกขว้างสิ่งของใส่ประธาน เข้าร่วมในพื้นที่สาธารณะที่ปลอดความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อเสนอความเห็นและการติติงที่สร้างสรรค์แก่สังคม คนไทยก็จะมองเห็นทางเลือกของนโยบายสาธารณะได้อีกหลายแบบ

คุณอานันท์คิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยไทยจะเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง ทั้งๆ ที่ "ความพร้อม" อีกหลายด้านของสังคมไทยในการเป็นประชาธิปไตยยังไม่มีหรือยังไม่พัฒนาไปไกลพอ

ที่มา:มติชนรายวัน
//////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นอกตำราประวัติศาสตร์ ศ.ดร.ชาญวิทย์ ข้อเสนอแนะถึงนักปฏิรูป !!?

โดย. อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล

หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรื่องการ "ปฏิรูป" ก็ถูกขับเคลื่อนทันที

ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นไม่กี่วันก่อน คือเรื่อง "ปฏิรูปการศึกษา" ตามแนวนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะยกเครื่องการศึกษาไทยทั้งระบบ

และหนึ่งในภาควิชาที่ต้องปรับโฉมการเรียนการสอนใหม่ คือ วิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้วางกรอบ มุ่งส่งเสริมเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติไทย ความมีวินัย มีคุณธรรม ศีลธรรม

การปฏิรูปจะเพิ่มเนื้อหาที่จะใช้ในการเรียนการสอนตามจุดเน้นของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ การส่งเสริมความรักชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ เอกลักษณ์ของชาติ วัฒนธรรมไทย

ซึ่งการปรับเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ได้นำหนังสือเรียนที่ใช้กันอยู่เดิมมาปรับปรุงและเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด เช่น เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เพิ่มเติมเนื้อหาของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เช่น เรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ท้าวสุรนารี เป็นต้น

ที่มองว่า เดิมในวิชาประวัติศาสตร์ใช้เรียนกันอยู่ก็มีเนื้อหาเหล่านี้อยู่แล้ว แต่อาจจะมีแค่บางส่วนและเนื้อหาไม่ละเอียด จึงต้องปรับปรุงใหม่เพราะประวัติศาสตร์ไทยมีเรื่องราวให้เขียนมากกว่า 2 บรรทัด

เเม้เพิ่งจะเริ่มต้น เเต่การยกเครื่องครั้งนี้เป็นที่จับตามองอย่างมากโดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา

หนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของสยามประเทศ

เพราะปัญหาเรื่องการศึกษาของประเทศไทยสะสมมายาวนาน ยิ่งในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดหมาง ประวัติศาสตร์บาดแผล ความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่อดีตที่สร้างผลกระบทบกับเพื่อนบ้านมาโดยตลอด และอนาคตอาจส่งผลต่อการรวมเป็นประชาคมอาเซียน

"ปฏิรูปการศึกษา" โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการชำระประวัติศาสตร์ครั้งนี้ มาถูกทางหรือไม่ หรือควรเป็นแบบไหน?

"นักปฏิรูป" ทั้งหลายลองฟัง ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ลักษณะของวิชาประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างไร?

ประวัติศาสตร์ไทยโดยรวมมีลักษณะเป็นพงศาวดาร เป็นตำนานเสียมาก ลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์มีค่อนข้างจะน้อย ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ซ้ำซากน่าเบื่อ ถ้าเราพลิกดูตำราแบบเรียนประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่ามีความซ้ำซ้อนเยอะ เช่น เรื่องสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ มีการพูดซ้ำหลายหนอยู่ในตำราเรียนระดับมัธยม เป็นการสร้างความเบื่อหน่ายแต่แรก เมื่อมาถึงระดับมหาวิทยาลัยวิชาประวัติศาสตร์ไม่หนีไปจากเรื่องเดิมนัก เป็นความเบื่อหน่ายในแง่ที่ไม่เห็นประวัติศาสตร์สังคมโดยรวม เห็นแต่ระดับข้างบน ซึ่งเป็นเรื่องของมหาบุรุษ มหาสตรี

ผมคิดว่าตรงนี้ยิ่งทำให้วิชาประวัติศาสตร์เมืองไทยไม่น่าสนใจ เป็นวิชาที่คนเรียนไม่อยากเรียน คนสอนไม่อยากสอน อาจารย์หลายคนก็เฉไฉว่าสอนวิชาสังคมศึกษาไม่ได้สอนวิชาประวัติศาสตร์ ประโยชน์ของประวัติศาสตร์ คือเอาไว้อ้างว่าเราห่วงใยประเทศชาติ แต่ในความเป็นจริงเป็นวิชาที่ไม่มีใครอยากเรียน

ผมเรียนประวัติศาสตร์มา มีความรู้สึกว่าเป็นวิชาที่เพื่อนร่วมรุ่นที่จบมัธยมปลายด้วยกันมาดูถูกดูแคลนมากกว่าเรียนอะไรวะ (หัวเราะ) ซึ่งผมยังไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

ความสำคัญของวิชานี้?

ประวัติศาสตร์ไทยที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐสมัยใหม่ เริ่มประมาณรัชกาลที่ 4-6 เป็นต้นมา ใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรวมชาติ ในการรักษาอำนาจ ดังนั้น แม้ด้านหนึ่งประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่อีกด้านประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือการปกครองของรัฐบาล หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจในการควบคุมรัฐบาล ที่ต้องการให้เขียนประวัติศาสตร์หรือรักษาประวัติศาสตร์ให้เป็นไปตามแนวทางที่เขาต้องการ ในขณะเดียวกัน สังคมก็มีคนใหม่ๆ ขึ้นมา เรียกร้องประวัติศาสตร์ในแบบที่พัฒนาก้าวหน้ากว่านั้น เป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงการตีความประวัติศาสตร์ 



มองการปฏิรูปตามแนวทางของนายกฯอย่างไร?

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้มีการชำระปฏิรูปประวัติศาสตร์ ทำให้ผมต้องไปค้นตำราประวัติศาสตร์ ซึ่งตำราระดับมัธยมมีความน่าสนใจมาก มีเรื่องราวประวัติศาสตร์พอสมควร และมีมากกว่า 2 บรรทัด ตำราระดับมัธยมปลายเป็นเรื่องของยุโรปอเมริกา รวมความแล้วผมไม่แน่ใจว่าปัญหาอยู่ที่ตำราเรียน หรืออยู่ที่คนสอนและคนเรียนกันเเน่

เพราะเวลาเราพูดถึงปัญหาเรื่องการศึกษา เราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา มักคิดถึงการแก้หลักสูตร เราไม่ได้พูดถึงการแก้ที่คนสอนหรือคนเรียน

ส่วนเรื่องการปฏิรูป ผมมองว่าเป็นคำของฝ่ายมีอำนาจ ถูกนำขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้าง ล่าสุดคือการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ถ้ามองเฉพาะหน้า เป็นข้ออ้างในการล้มการเลือกตั้ง ส่วนความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปประวัติศาสตร์ เพราะเกิดปัญหาว่าการศึกษาของเราล้าหลัง ไม่ทันต่อสถานการณ์ และคับแคบ ตรงนี้เป็นเรื่องจริงที่ต้องทำ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนปฏิรูป ที่เราเห็นเป็นการปฏิรูปโดยตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าเป็นส่วนใหญ่ เป็นตัวแทนของความคิดเก่า คนที่อายุมากแล้ว

ในแง่ของวิชาประวัติศาสตร์ ผมมองว่าเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงจะปฏิรูปสยาม พระองค์พระชนมายุ 20 พรรษา เท่านั้น ซึ่งกว่าจะสำเร็จ ทรงเวลานานหลายสิบปี และกว่าจะปฏิรูปการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาล ระบบการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม แบบที่เรารู้จักกันดีใช้เวลานานถึง 30 ปี และเป็นการปฏิรูปโดยกลุ่มคนที่มีพลัง มีอำนาจ และมีอายุไม่มาก ซึ่งขณะนั้นก็ยังคงยากเย็น

ผมเองมองไม่เห็นเรื่องการปฏิรูปในวันนี้ ไม่ค่อยเชื่อว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเป็นตัวแทนของกลุ่มปฏิรูปจะสามารถปฏิรูปได้ แต่ละท่านอายุมากกันแล้ว ไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้สำเร็จ เป็นความพยามที่จะรักษาอำนาจเดิม ความคิดเดิมมากกว่า

ทิศทางการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ควรเป็นแบบไหน?

ผมว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์จะต้องเปิดให้กว้าง ให้มีอิสรเสรีมากกว่านี้ คือต้องปลดปล่อยประวัติศาสตร์ออกจากพันธนาการของกลุ่มอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะกลับไปสู่ปัญหาเดิม

การผลักดันประวัติศาสตร์ภาคประชาชนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะในวิธีคิดของนักประวัติศาสตร์ทั่วไปยังยึดติดอยู่กับกรอบเดิมอยู่ ซึ่งเป็นกรอบที่มีลักษณะเป็นพงศาวดาร กรอบที่เน้นบทบาทของมหาบุรุษ มหาสตรี แต่ในระยะหลังๆ ผมคิดว่าเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญ คือมีนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ที่โดดเด่นมากๆ คือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งมีวิธีมองที่เห็นในภาคสังคมมากกว่า มีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากขึ้น

รูปแบบการปฏิรูปที่ออกมา?

หลักสูตรใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกมา เป็นการตอกย้ำความคิดเดิมของกลุ่มอำนาจเดิมอย่างชัดเจน ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกเบื่อหน่ายอยู่แล้วน่าเบื่อยิ่งขึ้น ผมคิดว่าคนเรียนคงไม่อยากเรียน คนสอนคงไม่อยากสอน เพราะไม่มีอะไรใหม่ เป็นการตอกย้ำรูปแบบเก่า เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ อาจจะมีเนื้อหาเพิ่มแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นความคับแคบ มองไม่เห็นสังคมกว้าง มองไม่เห็นโลก ไม่เห็นประวัติศาสตร์ร่วมของภูมิภาคอาเซียน เน้นไปทางชาตินิยม ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง

การรักชาติเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ารักชาติมากจนเกินเลยจะทำให้เรื่องของภูมิภาคไร้ความหมาย

การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์อาเซียนในปัจจบัน?

ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจสูงสุดในแง่ของการผันตัวเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีการพูดคุยเรื่องอาเซียน

จากการศึกษา ในยุคสงครามเย็น วิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ก่อเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลอเมริกา ที่จะมาทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น พูดได้ว่าวิชาเหล่านี้เป็นกำเนิดที่มากับการเมือง ในช่วงที่ผมไปเรียนต่างประเทศ ได้ให้ความสนใจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมากโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะเป็นช่วงของสงครามเย็น เป็นช่วงที่อเมริกามารบในอินโดจีน และเป็นช่วงที่อเมริกามามีฐานทัพในเมืองไทย ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้

สิ่งหนึ่งที่เหมือนตีแสกหน้าเราคือ เพื่อนร่วมชั้นในอเมริกาพูดอย่างดูถูกดูแคลนเราว่า "ไม่รู้เหรอว่าสงครามในอินโดจีน ท่านอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ บอกว่าเป็นสงครามที่ป่าเถื่อนที่สุด และประเทศไทยเป็นฐานทัพให้ไปถล่มเวียดนาม ลาว กัมพูชา" ตรงนี้ทำให้ผมฉุกใจคิดว่าเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับบ้านเรา ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านเราเลย และสิ่งที่ผมไปพบแล้วทำให้ช็อกมากก็คือ อยุธยาไปตีนครวัดนครธม ทำให้ประเทศกัมพูชาเสียกรุงศรียโสธรปุระ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมมึนงงมากว่าเป็นไปได้อย่างไร ในยุคที่ผมเรียนประวัติศาสตร์ไม่มีเรื่องนี้ ในปีที่แพ้คดีเขาพระวิหารผมยังออกไปเดินขบวนประท้วงเลย เราถูกสร้างให้เกลียดประเทศกัมพูชาอย่างรุนแรงมากในตอนนั้น

และผมจำได้ว่าในตอนที่ยังเป็นนักศึกษา เรามีความรับรู้ว่าขอมไม่ใช่เขมร ขอมสร้างนครวัดนครธมแล้วสูญหายไปเลย เหลือแต่เขมรที่ไม่ได้เรื่อง ซึ่งถ้าไปอ่านงานของ หลวงวิจิตรวาทการ จะเห็นเลยว่าเรื่องนี้เป็นทัศนคติว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้มา ถ้าจะชำระ จะปรับปรุง จะปฏิรูปเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอก ถามว่าตรงนี้จะทำอย่างไร?

ความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ไทยกับอาเซียน?

เรื่องของประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ยังไม่เชื่อมโยงกันเท่าไหร่ เพราะต่างคนต่างเขียน ต่างคนต่างมองจากความเชื่อของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ ประวัติศาสตร์ของชาติไม่ว่าจะเป็นชาติไทย ชาติลาว ชาติกัมพูชา ฯลฯ ก็มองจากด้านของตัวเอง อย่างประเทศไทยมีเรื่องน่าตกใจคือ ไม่ใช่เราเสียกรุงศรีอยุธยาเพราะพม่าไปตี แต่เราได้กรุงศรียโสธรปุระจากกัมพูชา เราได้กรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง ร่มขาวเวียงจันทน์ ในสมัยเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งข้อมูลนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อยู่ในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ต้องมองจากหลายด้าน ต้องข้ามพรมแดนของประเทศชาติให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความเข้าใจกันได้ ตรงนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ มีความพยายามในระดับยูเนสโกที่จะระดมสมอง ด้วยการนำตัวแทนของประเทศต่างๆ มาประชุมปรึกษากันว่าจะเขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่มองคับแคบเฉพาะจากสายตาของประเทศตัวเองได้อย่างไร ตรงนี้เป็นความพยายามที่เขากำลังทำกันอยู่ เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะมักจะถูกบดบังโดยลัทธิชาตินิยม อาจจะพูดได้ว่าเป็นความล้าหลังความคลั่งชาติด้วยซ้ำไป

การเขียนประวัติศาสตร์ร่วม ในอนาคตต้องเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและอาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรค หรืออาจจะเจอตอ อย่างกรณียุโรปที่ไปเจอกรณีของความคลั่งชาติมาก จนฆ่ากันตายเป็นจำนวนหลายล้านคนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เป็นบทเรียนที่ดีว่าเราจะต้องหันหน้าเข้าหากันเป็นประชาคมแบบยุโรป

ประวัติศาสตร์ไทยกับเพื่อนบ้านมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

มีความคล้ายคลึงกันมาก แกนนำส่วนใหญ่อยู่ในลัทธิชาตินิยม ทำให้เกิดความพยายามสร้างศัตรู บัดนี้ การจะทำให้เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดความปรองดองเป็นไปได้ยากมาก จะต้องมีการพบปะแลกเปลี่ยนกัน พูดคุยกัน คนเราจะเป็นมิตรกันได้ ต้องมีการคบหาสมาคมกัน แต่ผมคิดว่าโอกาสเกิดมีมากขึ้น อย่างกรณีอาเซียน เดิมเป็นเหมือนสมาคมของข้าราชการ เป็นเรื่องระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่ในตอนนี้ อย่างน้อยในระดับล่างลงมาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อายุยังน้อย อคติก็จะไม่มากในการคบหาสมาคม

ความตื่นตัวและความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน?

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความตื่นตัวสูงมาก ผมคิดว่าการผลักดันจากระดับรัฐบาลได้ผลสำเร็จพอสมควร มีการพูดถึง มีการจัดกิจกรรม มีการทำหนังสือ การสัมมนาอภิปรายมากมาย ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดี นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจกับการเรียนภาษาที่ 3 นอกเหนือจากการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า เวียดนาม

ในเรื่องความพร้อม วันนี้คนระดับกลางระดับล่างดูจะพร้อมมากกว่าระดับบนๆ เหมือนกับเรื่องประชาธิปไตย คนระดับกลางล่าง ลงไประดับรากหญ้าดูเหมือนจะเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าคนระดับบน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่พัฒนาในเรื่องความคิดความอ่าน เป็นคนระดับบน เป็นผู้ดี เป็นชาวกรุง มีการศึกษาสูง หรือไปโตที่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีอคติในการคบหาสมาคมกับเพื่อนบ้านสูงมาก นี่คือปัญหา

ประวัติศาสตร์บาดแผลมีผลต่อประชาคมอาเซียนหรือไม่?

มีอย่างมาก แต่ทำอย่างไรถึงจะแก้เรื่องนี้ได้ ปัญหานี้สำหรับประเทศไทยสั่งสมมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยพงศาวดาร สมัยตำนาน และถูกตอกย้ำในสมัยของอำมาตยาธิปไตย สมัยหลวงวิจิตรวาทการ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยมารวมถึงละครอิงประวัติศาสตร์ทั้งหลาย เป็นเหมือนการตอกย้ำ ผมคิดว่าถ้าคนที่คุมกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ไม่เคยอ่านผลงานของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผลงานของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็จะจมปลักอยู่แบบนี้

ส่วนประเทศในอาเซียนทุกชาติ พบว่ามีการใช้ข้อมูลในแง่ของอคติทางประวัติศาสตร์หรือใช้ข้อมูลของประวัติศาสตร์บาดแผลมาปลุกระดม ซึ่งทุกประเทศเผชิญปัญหานี้ ประเทศไทยมีกับกัมพูชา พม่า และลาว ประเทศอินโดนีเซียกับมาเลเซีย หรือมาเลเซียกับสิงคโปร์ หากเราจะคบค้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรื่องของประวัติศาสตร์นอกจากจะชำแหละแล้วยังต้องชำระด้วย ถ้าเราอยากจะเป็นแบบอียู เราต้องไปดูว่าประเทศในยุโรปซึ่งมีการสู้รบกันมาหลายชั่วคน ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ปัจจุบันเขาเขียนประวัติศาสตร์กันอย่างไร อย่างกรณีของฝรั่งเศสกับเยอรมนี เคยแย่งแคว้นอาลซัสกัน ซึ่งคล้ายกับกรณีของประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา เขามีทางออกอย่างไร

สถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะมีผลกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือไม่?

สถานการณ์ปัจจุบัน สวนทางกับการเปิดประเทศ ดูเหมือนเป็นการปิดมากกว่า รัฐบาลใหม่ก็ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ถ้าดูลึกๆ จะเห็นว่าปัญหาเยอะมาก ปัญหาระยะเวลาที่สั้น ในหนึ่งปีต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ต้องมีการเลือกตั้ง ทุกอย่างรัดตัวหมด ซึ่งจะมีปัญหามากทำให้ คสช.และรัฐบาล ไม่สามารถดำเนินการปกครองได้โดยง่าย โดยรวมแล้วน่าวิตก

ส่วนปัญหาการเมืองของเราต่อประเทศในอาเซียนอาจจะมีไม่มาก เพราะในอาเซียน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่พอพูดได้แบบไม่ขายหน้าคือ อินโดนีเซีย ขณะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนจะเป็นกลุ่มคณาธิปไตย

ดังนั้น ในอาเซียนด้วยกันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ถ้าจะมีก็คงเป็นกับประเทศมหาอำนาจมากกว่า

ที่มา.มติชนออนไลน์
//////////////////////////////////////////////

อสังหาริมทรัพย์ วันนี้ !!?


มองปัญหาก็เห็นแต่ปัญหา มองโอกาสก็เห็นโอกาส มองพัฒนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็พอจะเห็นทิศทางอนาคตของธุรกิจนี้

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้านจัดสรรนั้น หากจะนับเริ่มต้นอย่างเป็นทางการก็ต้องเริ่มในปี 2515 ปีที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมการจัดสรรที่ดิน (ปว.286) เป็นครั้งแรก ช่วงนี้เป็นระยะการพยายามบังคับใช้กฎหมายและการปรับตัวให้เข้ากับกฎหมายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

ปี 2525 เป็นยุคที่เริ่มนำการตลาดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจบ้านจัดสรร เป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างบ้านจัดสรรกับบ้านที่สร้างโดยผู้รับเหมาทั่วไป เริ่มสร้างบ้านจัดสรรที่เป็นบ้านหรูราคาแพงแสดงให้ตลาดยอมรับว่าบ้านจัดสรรไม่ใช่บ้านโหล

หลังปี 2530 เป็นต้นไป เป็นยุคบูมครั้งใหญ่ของอสังหาริมทรัพย์ทั้งประเทศ บริษัทอสังหาฯ เริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการออกตั๋วเงินกู้กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธุรกิจอสังหาฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเก็งกำไรที่ดินจำนวนมาก การปล่อนสินเชื่อจำนวนมหาศาล

เหตุการณ์ "ฟองสบู่แตก" ก็ระเบิดขึ้นในกลางปี 2540 ธุรกิจอสังหาฯ พังราพณาสูร รายใหญ่ที่กู้เงินต่างประเทศมีหนี้สินทั่วนับหมื่นล้าน รายกลางรายเล็กล้มระเนระนาด ต้องไปเข้าคิวรอซื้อโครงการของตนเองคืนจากกองทุนฝรั่ง เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างบทเรียนอย่างลึกซึ้งแก่อสังหาฯ ไทย กลายเป็นประเพณีความเชื่อในการระมัดระวังการกู้เงิน เน้นการเติบโตแบบมั่นคงและสมดุล

หลังปี 2550 เป็นต้นมา เริ่มเกิดการเติบโตของอสังหาฯ ภูมิภาคบริษัทอสังหาฯ กรุงเทพฯ เริ่มขยายโครงการไปต่างจังหวัดมากขึ้น พร้อมกันนั้นเกิดการบูมของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ปริมณฑล แล้วขยายลามไปยังเมืองใหญ่ในภูมิภาคอย่างเต็มที่ในช่วงปี 2555-56 จนตลาดอิ่มตัวในหลายพื้นที่

อสังหาริมทรัพย์วันนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

มีบริษัทอสังหาฯ ที่มียอดขายหมื่นล้านบาทต่อปีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีบริษัทอสังหาฯ ยอดขายพันล้านบาทในจังหวัดใหญ่ในภูมิภาค แชมป์เศรษฐีหุ้นมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ถูกครอบครองโดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาตลอดในระยะ 10 กว่าปีหลัง

ความก้าวหน้าของอสังหาริมทรัพย์ไทย ด้านการเงิน นอกจากการเข้าไประดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังมีการออกหุ้นกู้ออกตราสารต่างๆ การออกทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ ระดมเงินทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

การดีไซน์โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบแนวสูง ในยุคแรกเริ่มมีการนำแบบจากต่างประเทศมาดัดแปลงใช้กันมากมาย แต่ปัจจุบันอสังหาฯ ไทยได้พัฒนางานออกแบบของตัวเองก้าวหน้าไปมาก บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทมีทีมพัฒนาวิจัยศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและออกแบบตอบสนองได้อย่างเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย

การก่อสร้างได้ก้าวมาในระดับสร้างโรงงานหล่อชิ้นส่วนสำเร็จรูป การหล่อในไซต์งานเพื่อทดแทนแรงงานและเพื่อคุณภาพความรวดเร็วในการก่อสร้าง

ล่าสุด ผู้นำตลาดอสังหาฯ หลายรายได้หันมาให้ความสำคัญกับการให้บริการการบริหารชุมชน หลายรายทำสำเร็จไปแล้ว

40 กว่าปีมานี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยพัฒนาก้าวหน้าไปมากในทุกๆ ด้าน สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ ของตนเอง

หากเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน พูดได้ไม่อายปากว่าเราอยู่อันดับต้น

เทียบในเอเชียก็ยังอยู่ในระดับแถวหน้า

ด้านอื่นๆ ของประเทศอาจล้าหลังบ้าง

แต่ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เราเป็นหนึ่ง

ที่มา.มติชน
////////////////////////////////////////////////////////////////////


วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิเคราะห์การเมือง ยุค คสช.ครองอำนาจ !!?


สัมภาษณ์พิเศษ 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์และวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ของกลุ่มขั้วการเมืองต่างๆ ที่เคยขัดแย้งกันมาก่อนรัฐประหาร ทั้ง กปปส. นปช. พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจและบริหารราชการแผ่นดิน

@ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังมีกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร แต่ท้ายที่สุดแล้วจะพ่ายแพ้ต่ออำนาจกระบอกปืนหรือไม่

คืออย่างนี้ โดยธรรมชาติอำนาจทุกชนิดมันมีข้อจำกัดในตัวมันเอง เช่น กระบอกปืน คุณไม่ได้ยิงใครได้สุ่มสี่สุ่มห้า แม้ว่าเขาอยากยิง ในเวลานี้แต่มันยิงไม่ได้ เช่น อย่าง น.ส.กริชสุดา คุณแสน ถ้าเขาไม่ออกมาโวยวายว่าหายไปไหน ป่านนี้คงหายไปจริงๆ แล้ว ในที่สุดก็ต้องปล่อยออกมาถูกไหม เพราะฉะนั้นอำนาจมันมีขอบเขตจำกัด เป็นต้นว่า การยอมรับจากนานาชาติทั่วโลก หรือมิฉะนั้น การคงรักษาไว้ซึ่งกฎอัยการศึก อาจจะทำให้สามารถใช้ปากกระบอกปืนบังคับให้คนอยู่นิ่งๆ ได้

แต่คำถามก็คือว่าแล้วคุณจะใช้กฎอัยการศึกไปชั่วกัลปาวสานได้ยังไง มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต่างประเทศจ้องมองอยู่ว่าจะเลิกเมื่อไหร่ เพราะการใช้กฎอัยการศึกถูกคัดค้านจากนานาชาติทั้งหลายว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย

คุณจะมีกฎอัยการศึกไปเพื่ออะไร ในที่สุดก็ต้องเลิก และเลิกเมื่อไหร่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีคนเต็มอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แม้ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญไว้ว่า คสช.สามารถออกมาตรการอะไรๆ ก็แล้วแต่ แต่การบังคับใช้กว่าจะใช้ก็มีคนออกมาเต็มถนนไปหมดแล้ว ถึงตอนนั้นคุณอยากจะใช้ปืนอีกหรือ การใช้ปืนออกมาบังคับ ขู่เข็ญ ไม่ได้แปลว่าจะชนะนะ

ถามว่าเมื่อปี 2553 การใช้ปืน ทำให้คุณสามารถรักษารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ตลอดไปหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้ ตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ เพราะคุณใช้ปืนครั้งนั้นทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องตัดสินใจยุบสภา เป็นแต่เพียงขอระยะเวลาที่ตัวหวังว่าจะได้สร้างฐานคะแนนเสียงตัวเองให้ได้เท่านั้น

ทันทีที่ลั่นปืนข้อจำกัดมันจะยิ่งเพิ่มขึ้นทันที ไม่ใช่ยิ่งลดลงนะ แต่คนที่มีปืนอยู่ในมือรู้หรือไม่ คุณเอาปืนไปปล้นเขา ถ้าเขาให้ทรัพย์คุณดีๆ ก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ให้แล้วคุณยิงเขาเลย เป็นคดีอาญาเรื่องฆ่าคนไปอีกคดีละ คดีปล้นนี่ก็ผิดอย่างหนึ่ง คุณยังยิงอีก ก็ทำผิดซ้ำสอง ผู้ร้ายทุกคนถ้าไม่จำเป็นมันไม่ใช้หรอกปืน เพราะว่าปืน ไม่ใช่อำนาจ ทุกอย่างในโลกนี้มันมีภาระที่คุณต้องรับผิดชอบกับมันทั้งนั้นแหละ

@คิดว่ากลุ่ม กปปส. พอใจกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และสามารถไปกันได้ดี คสช.หรือไม่

จนถึงนาทีนี้ ยังไม่เห็นว่ามันดีนัก เป็นต้นว่าหัวหน้าของ กปปส. ก็ต้องไปบวช อย่างนี้เป็นต้น เวลาคุณพูดถึง กปปส. ประหนึ่งว่า มันเป็นองค์กรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ คสช. ซึ่งผมไม่เชื่อ เหมือนกับเวลาที่พูดถึงเสื้อแดงว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยหรือนปช. ผมก็ไม่เชื่ออีก กปปส.ประกอบด้วยคนที่หลากหลายมาก ถามว่ากปปส.จะไปกับ คสช.ได้ไหม ตัวองค์กรที่มีเป็นแกนหลักที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เป็นแกนนำอาจจะไปไม่ได้ แต่ใน กปปส.มันมีกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าไปร่วมอีกเยอะแยะ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้อาจจะไปได้

@วิเคราะห์ นปช.ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร สุดท้ายจะพ่ายแพ้ราบคาบและสลายไปในที่สุดหรือไม่

เขาไม่ได้เลิกต่อสู้ คนเสื้อแดงก็เหมือนคนอื่นๆ ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เป็นเสื้อแดง ที่บอกว่า ถ้าเมื่อไหร่มีการประท้วงต่อต้าน เขาก็พร้อมที่จะเข้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะนำโดยแกนนำเดิมหรือไม่ก็ตามแต่ เขาไม่ได้สนใจเรื่อง นปช. คือถามว่า นปช.เวลานี้แกนนำ จะเสื่อมอิทธิพลลงไหม ผมว่าเสื่อม เพราะว่าเท่าที่ได้รู้จัก ได้พูดคุยกับเสื้อแดง หลายคนก็ผิดหวังมาก ซึ่งจริงๆ ก็เห็นใจพวกแกนนำอยู่เหมือนกัน คือว่า ผมก็เตือนเขาตั้งแต่ก่อนหน้ามีรัฐประหารหลายเดือนแล้วว่า เตือนโดยบทความนะ เพราะผมไม่ได้รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัว ว่าคุณใช้วิธีการดำเนินการทางการเมืองด้วยการชุมนุมใหญ่แบบนี้ไม่ได้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว คุณต้องกระจายการดำเนินการทางการเมืองไปสู่ระดับท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่แน่นอนมันก็อาจจะไม่มีเวลาพอจะทำ หรือทำแล้วแกนนำเองก็จะหมดอำนาจลงไป เพราะว่าอำนาจการนำมันจะกระจายไปสู่จุดเล็กๆ แต่ถ้าคุณไม่ทำแบบนั้นคุณไปไม่รอดหรอก

@วิเคราะห์พรรคเพื่อไทยนับจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

จะไปห่วงอะไรพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ หรือแม้จะยุบไปเลยก็ยังได้ ตั้งพรรคใหม่แล้วก็หาชื่อใหม่ก็ได้ ไม่มีความหมายอะไรหรอก แต่ถามว่า จะมีพรรคการเมืองที่ต้องยึดแนวทางประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพรรค โดยไม่ได้ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยเลยนั้นมีหรือไม่ ตอบว่ามี จะชื่ออะไร ใครเป็นคนทำ ผมไม่ทราบ แต่ประเทศไทยมันสายไปแล้วที่จะมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีหรอกมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

@วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในยุค คสช.อย่างไร โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ผมไม่ทราบ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ พอจะทราบอยู่บ้าง เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งมานานพอสมควร ได้ติดตามการบริหารของแกอยู่บ้าง ไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง แต่ว่านั่นไม่สำคัญ

อย่าว่าแต่ พ.ต.ท.ทักษิณเลย เชอร์ชิลศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ผมยังไม่แน่ใจเลย คือประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการให้คนดีมาปกครอง แต่คุณต้องสร้างระบบให้เขาไม่สามารถที่จะเบี้ยวได้ คนชั่วก็ยังชั่วเหมือนเดิมก็ได้ แต่มันจะไม่มีโอกาสจะเบี้ยว

นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ผมไม่สนใจ แต่ตราบเท่าที่เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นนักการเมือง ตัวระบบ เราจะต้องสร้างให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนักการเมือง ข้าราชการ หรือใครก็แล้วแต่ที่จะขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศ จะไม่สามารถจะบิดเบี้ยวประชาธิปไตยให้เป็นเผด็จการได้

ที่มา.มติชน
////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คลังรื้อใหญ่ ภาษีสรรพสามิต !!?

คลังรื้อใหญ่ภาษีสรรพสามิต เก็บจากราคาขายปลีก แทนหน้าโรงงาน ยุบรวมกม.7ฉบับ คาดเสนอสนช.เดือนหน้า

สรรพสามิตเตรียมแก้กฎหมายครั้งใหญ่ ยับรวม 7 ฉบับ เหลือ ฉบับเดียว หวังใช้เป็นมาตรฐาน เล็งใช้"ราคาขายปลีก"เป็นฐานคำนวณ จากเดิมจัดเก็บ "ราคาหน้าโรงงาน" ค่ายเบียร์สิงห์ค้าน ชี้ให้อำนาจ"ร้านสะดวกซื้อ-โมเดิร์นเทรด"เป็นผู้กำหนดภาษี ขณะค่ายไฮเนเก้น รอประกาศจริงก่อนประเมินผลกระทบ คาดเสนอสนช.ในเดือนก.ย.นี้

กรมสรรพสามิตเตรียมแก้กฎหมายครั้งใหญ่ โดยยุบรวมกฎหมาย 7 ฉบับเหลือฉบับเดียว ถือว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมายที่ทำได้ยากในรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม โดยการแก้กฎหมายในครั้งนี้จะทำให้การจัดเก็บเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดในสินค้าทุกประเภท เหมือนประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร

การปรับภาษีดังกล่าว กรมสรรพสามิตมีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนมาแล้วหลายครั้ง โดยจะเร่งสรุปเพื่อเสนอรัฐบาลในเร็วนี้

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้จะรวมกฎหมายสรรพสามิตจำนวน 7 ฉบับ จะเหลือฉบับเดียว เรียกว่า ร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้โครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าต่างๆมีความเป็นธรรม โปร่งใส และ เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

สำหรับกฎหมาย 7 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2497 , 2. พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 , 3.พ.ร.บ.ไพ่ 2486 ,4. พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2527 , 5.พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 , 6.พ.ร.บ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต 2527 , 7.พ.ร.บ.จัดสรรเงินภาษีสุรา พ.ศ.2527

นายสมชาย กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว คือ จะได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต กล่าวคือ ปัจจุบัน กรมฯได้ใช้ฐานในการคำนวณภาษีจากราคาหน้าโรงงานสำหรับทุกสินค้า ยกเว้น สินค้าสุราและเบียร์ ที่ปรับเปลี่ยนมาคำนวณจากราคาขายส่งช่วงสุดท้าย

"แต่กฎหมายใหม่จะทบทวนให้มีการคำนวณภาษีจาก ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับทุกสินค้า"

นอกจากนี้ จะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณ จากเดิมใช้วิธีการคำนวณภาษีจากปริมาณ หรือ มูลค่า ของสินค้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าการจัดเก็บภาษีแบบใดจะสูงกว่ากัน โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นนำทั้งปริมาณและมูลค่ามาคำนวณภาษี

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาเรื่องการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตทั้งระบบ และกรมสรรพสามิตได้นำผลการศึกษามาพิจารณา จากนั้นก็ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการจากทั้งสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

“หลังจากเราได้ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้ว เราก็นำมาพิจารณา และ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ รวมถึง ผู้ประกอบการ คาดว่า จะสามารถสรุปได้เร็วๆนี้ และ จะจัดให้มีการแถลงให้ทราบเกี่ยวกับผลการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายสรรพสามิตด้วย”นายสมชาย กล่าว

ยันไม่กระทบผู้บริโภค

นายสมชาย ยืนยันว่าการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวจะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งภายใต้ร่างประมวลกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่นี้ จะกำหนดให้อำนาจกรมฯในการตรวจสอบราคาสินค้าของผู้ประกอบการในการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำที่ตรงกับความเป็นจริง

รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมักจะแจ้งราคาสินค้า ณ ราคาหน้าโรงงาน เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีในอัตราต่ำ ขณะที่ ราคาขายที่แท้จริงอยู่ในระดับที่สูง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่กรมฯต้องปรับปรุงฐานในการคำนวณภาษี

เบียร์สิงห์ค้านเกณฑ์คำนวณภาษีใหม่

ด้าน นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า หากกรมสรรพสามิต จะนำ "ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย" และ "ราคาขายปลีก" มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีแทนการคำนวณจากราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับคำนวณจากปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ในกรณีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เห็นว่า จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้กับผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้ และยังขัดกับเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ต้องการเข้ามาแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

"ยืนยันว่าเกณฑ์การคำนวณภาษีแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมที่สุด คือการพิจารณาจากปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เกือบทั่วโลกใช้กัน"

ยันส่งผลกระทบผู้บริโภคแน่

นายปิติ กล่าวว่าการคำนวณภาษีจากราคาขายส่งช่วงสุดท้าย จะกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคเป็นห่วงโซ่ เพราะต้องยอมรับว่าราคาสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางร้านสะดวก หรือ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) จะมีราคาสูงกว่าร้านค้าทั่วไป (โชห่วย) เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า (เอ็นทรานซ์ ฟี) รวมไปกับการจัดโปรโมชั่นหมุนเวียนกับแบรนด์ต่างๆ ในแต่ละเดือน

การคำนวณภาษีจากเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการลักลั่น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เพราะแต่ละแบรนด์มียอดขายสินค้าต่างกันตามความต้องการของผู้บริโภค สินค้าขายดีอาจถูกตั้งราคาขายสูงขึ้น เพื่อนำไปชดเชยกับสินค้าที่ขายไม่ดี แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อมาคือเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปลายปี 2558 จะทำให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันเพิ่มอีก

ค้านใช้ราคาร้านสะดวกซื้อ-โมเดิร์นเทรด

"มีการหารือว่าจะใช้ ราคาขายปลีก จะใช้เกณฑ์การตั้งราคาขายในร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าปลีก มาเป็นบรรทัดฐานในการคำนวณภาษี หากเป็นเช่นนั้นความเป็นธรรมของผู้ประกอบการอยู่ตรงไหน เพราะหากห้างค้าปลีกจะเรียกเก็บค่าโปรโมชั่น ค่าวางสินค้า ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสินค้าปรับตัวสูงขึ้น กลายเป็นว่าโมเดริ์นเทรด และร้านสะดวกซื้อเป็นผู้กำหนดภาษี แทนที่จะคิดภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ไม่ได้คิดจากราคา ที่สำคัญรัฐจะเก็บภาษีแพงก็ไม่ว่ากันแต่ขอให้มีมาตรฐานเดียวกันและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเพื่อให้การแข่งขันอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน"

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คำนวณจาก 2 ฐาน คือคิดตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และราคา ณ โรงอุตสาหกรรมซึ่งไม่มีความเป็นสากล เพราะ 95% ของประเทศทั่วโลก จะคำนวณภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีกรีต่ำๆ

ไฮเนเก้นเชื่อเป็นธรรม-จัดเก็บภาษีง่ายขึ้น

ด้านนายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น กล่าวว่า ขณะนี้อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายของกรมสรรพสามิต โดยที่ผ่านมามีกฎหมายหลายฉบับบังคับใช้ในการคำนวณภาษีสินค้าแต่ละประเภท ก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ รัฐจึงต้องการยกเลิกกฎหมายฉบับเดิม และร่างประมวลกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ขึ้นมาบังคับใช้กับการจัดเก็บภาษีสินค้าทุกประเภท

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวพยายามสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม และง่ายต่อการจัดเก็บภาษีมากขึ้น กรมสรรพสามิตจึงประสานกับภาคเอกชน ภาคธุรกิจอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ให้ตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ชี้ต้องรอดูประกาศจัดเก็บใช้จริง

นายปริญ กล่าวว่าการระบุว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีการคำนวณภาษีสินค้าโดยพิจารณาจากราคาขายปลีก ณ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์หนึ่งนั้น เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถอ้างอิงราคาขายจากแหล่งใดได้ เนื่องจากมีอุปสรรคหลายด้าน อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงร่างที่ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐจะเลือกวิธีคำนวณภาษีแบบใด ในฐานะผู้ประกอบการจึงไม่ต้องการตีตนไปก่อนไข้

"ก็ต้องรอดูว่าอัตราภาษีที่เก็บจะเป็นยังไง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกด้วยว่าจะเก็บในอัตราเท่าไร ส่วนการนำราคาขายในร้านสะดวกซื้อมาเป็นเกณฑ์และมีการพูดถึงตอนนี้ เป็นแค่ตุ๊กตา หรือตัวอย่างที่ยกมาเท่านั้น ประกอบกับที่ผ่านมาการคำนวณภาษีไม่รู้จะอ้างอิงราคาจากที่ไหน ก็เลยคิดว่าอ้างจากราคาขายปลีกแล้วกัน และที่เสนออยู่ก็เป็นเพียงร่างเท่านั้น ยังไม่แล้วเสร็จ แต่คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะเสนอต่อสนช.ภายในเดือนกันยายนนี้"

สหพัฒน์ระบุกระทบยอดขายช่วงสั้น

ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า การที่กรมสรรพสามิตจะพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตทั้งระบบ ระยะแรกอาจทำให้สินค้าแต่ละรายการยอดขายลดลง

"การพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีทุกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อการบริโภค และยอดขายสินค้าให้ลดลงเล็กน้อยเป็นเวลาหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อการบริโภคและยอดขายตกลง ก็ต้องมีการปรับขึ้น"

ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2557 ประกอบด้วย ผู้บริหารกรมสรรพสามิต ผู้แทนสอท. ผู้แทนสภาหอการค้าฯ และมีการประชุมครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. โดยรายละเอียดในการประชุมมีการพิจารณาการคำนวณภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากราคาขายส่งช่วงสุดท้ายและราคาขายปลีก

ทั้งนี้ การใช้ราคาขายปลีกเป็นฐานในการคำนวณภาษี สามารถตรวจสอบได้ 3 วิธี ได้แก่ พิจารณาจากราคาขายปลีกของห้างโมเดิร์นเทรด 2.พิจารณาจากราคาที่มีจำนวนของการขายมากที่สุด และ 3.พิจารณาจากผลต่างของกำไรกับต้นทุนราคาสินค้า

เอกชนส่งเรื่องเสนอ"ประจิน"

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ประกอบการบางส่วนมองว่าไม่ควรนำราคาขายส่งช่วงสุดท้ายมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของการควบคุมราคา ส่วนการกำหนดราคาขายปลีกนั้นก็ควรพิจารณาถึงความเป็นธรรมและความชัดเจนด้วย

แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่ม กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้หารือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แก่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้รับทราบถึงปัญหาและความไม่โปร่งใสในการจัดเก็บภาษีในอดีต เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2556 กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ คิดตามมูลค่า และตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ส่งผลให้สุราขาว สุรากลั่น เบียร์ ไวน์ สุรานำเข้า ปรับราคาขึ้นถ้วนหน้า

ที่มา.กรุงเพพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สิ่งที่ต้องปฏิรูปเร่งด่วนใน สนช. !!?

ผู้เขียน: เรืองยศ จันทรคีรี

หากจะว่าโดยเนื้อหาแล้ว สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เคยถูกมองว่าแท้จริงแล้วคงเป็นส่วนหนึ่งของ คสช. นั่นเอง! มุมมองเช่นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือนักวิชาการประชาธิปไตยทั่วไป ซึ่งจะว่าไปแล้วการเฝ้ามองเช่นนี้มีเหตุมีผลของมันอยู่เหมือนกัน ดังเราจะเห็นได้ว่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลนั้น ได้มีกระแสเสียงโจมตีเกี่ยวกับระบบรัฐสภาของไทย เป็นทั้งข้อหาและวาทกรรมว่า “สภาทาส” จนกลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีเผด็จการระบบรัฐสภา

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาจากเหตุผลเรื่องสภาทาส สำหรับกลุ่มฝ่ายที่เห็นดีด้วยกับวาทกรรมนี้ เมื่อมีโอกาสที่จะเข้าสู่วงจรอำนาจ และเป็นวงจรอำนาจที่ต้องเกี่ยวข้องกับระบบรัฐสภา ย่อมจำเป็นมากที่จะต้องกวาดล้างไม่ให้มีระบบสภาทาส ดุจเดียวกับการกวาดล้างระบอบทักษิณให้หมดไปจากประเทศไทย

เรื่องทั้งเรื่องนั้นถ้าจะพูดแบบภาษาไทยเก่าๆก็ต้องว่า “เมื่อเราว่าเขาก็ขอให้อิเหนาอย่าเป็นเอง” หากเป็นเพียงว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองก็ไม่ต่างจากการกลืนน้ำลายลงคอ หรืออาจจะเลวร้ายกว่านั้นคือ เป็นการขากเสลดและไม่ถ่มออกมา แต่กลืนลงไปในกระเพาะอาหารตนเอง ลองพิจารณาแล้วกันว่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายแค่ไหน อาจทำให้สังคมเกิดตั้งคำถามขึ้นมาได้ว่า แล้วระบอบที่เข้ามาแทนระบอบทักษิณจะดีกว่าระบอบทักษิณตรงไหนกัน?

ผมได้อ่านรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีอยู่บทหนึ่งที่เขียนโดย น.ส.นิรัญ ดอนสุวรรณ นับว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจมาก เป็นมุมมองจากข้อสังเกตที่เกี่ยวเนื่องมาจากการทำบทบาทของ สนช. ที่ น.ส.นิรัญยกตัวอย่างออกมาให้เห็นชัดๆจาก 2 กรณี

เรื่องแรกนั้นคือ การยกมือผ่านการพิจารณางบประมาณแผ่นดินด้วยเสียง 183 ต่อ 0 และข้อที่ 2 ซึ่งผ่านไปหมาดๆคือ การยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย โดยมติของ สนช. ที่ออกมามีเสียงสนับสนุนถึง 194 เสียง และมีบางเสียงงดออกเสียง

ในสภาวะที่เป็นอยู่จริง น.ส.นิรัญบอกว่าเป็นเรื่องที่พอเข้าใจกันได้สำหรับการที่เราต้องพยายามมีรัฐบาลซึ่งมีอำนาจเต็ม และเป็นการสิ้นสุดของอำนาจรัฐประหาร! แต่จากความจริงที่เราพยายามเข้าใจนี้ก็มีอีกคำถามตามมาว่า แม้กระทั่งหน้าที่ของ สนช. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยสำทับว่าขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ให้มีการตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม พอจะมองอีกได้ว่า สนช. นั้นมีพิมพ์เขียวที่ต้องยกมือของตัวเองหรือไม่? หรือพูดอีกทีนึงว่าสภาบล็อกโหวตหรือไม่? และมีแนวโน้มที่พอจะเข้าใจได้ว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้น นี่จึงเป็นจุดอ่อนประการสำคัญที่จะต้องแก้ไข แก้ไขด้วยเหตุผลที่ว่าอย่าให้ประชาชนไทยไปคิดและเข้าใจเอาเองว่า สนช. นั้นแท้จริงแล้วมีสภาวธรรมไม่ต่างจากวาทกรรมเรื่องสภาทาสที่เคยถูกใช้โจมตีในการบริหารงานของรัฐบาลเท่าที่ผ่านมา

เรื่องนี้อาจจะยังไม่สายเกินไป หรือจะบอกว่าบางครั้งอาจต้องทำผิดบ้างเพื่อผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของประเทศไทย ตั้งแต่ผลประโยชน์เรื่องผ่านงบประมาณปี 2558 และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ แต่เมื่อผ่านเงื่อนไขและขั้นตอนเหล่านี้ไปแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงจากความเข้าใจผิดที่คนจะเห็นว่าตัวเองเป็นสภาทาสแล้วตีความ ก็เป็นสภาที่ไม่แตกต่างไปจากรัฐสภาในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา

 ดังนั้น น.ส.นิรัญ ดอนสุวรรณ จึงสรุปว่า สนช. จำเป็นจะต้องตั้งต้นตัวเองและปฏิรูปบทบาทเสียใหม่ นั่นคือบทบาทของการเสนอกฎหมายและการตรวจสอบรัฐบาล คงมีความจำเป็นจะต้องว่ากันอย่างตรงไปตรงมาและมีเหตุมีผลกันมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการพยายามทำให้ประชาชนไทยมองเห็นว่าบทบาทของ สนช. ในฐานะรัฐสภาดีกว่ารัฐสภาในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นสภาทาส

หากไม่แก้ไขจุดอ่อนตรงนี้แล้วคนอาจจะเหมาเข่งเอาได้ว่าแท้จริงแล้วรัฐสภาของไทยมีทาส 2 ลักษณะคือ เป็นสภาทาสแบบเก่า และสภาทาสแบบใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปบทบาทตนเองให้ได้ ทำงานอย่างเต็มที่และให้มีความโปร่งใส อย่าให้คนเห็นว่า สนช. ไม่แตกต่างไปจากสภาทาสในระบอบทักษิณแต่อย่างใด?

เพราะถ้าเป็นไปเช่นนั้นแล้วจะมีเสียงถามตอบกลับมาว่า ระหว่างนายทาสเก่ากับนายทาสใหม่จะแตกต่างกันที่ตรงไหน

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
///////////////////////////////////////////////

ใจคนไวยิ่งกว่าแสง !!?

โดย. วิไล อักขระสมชีพ

ปีนี้เดือนสิงหาคมจัดเป็นเดือนที่มีความคึกคักสุด ๆในรอบปีทีเดียว หลังผ่านเมฆหมอก "การเมืองกีฬาสี" มาได้ ก็เพิ่งจะเห็นเดือนนี้ที่จุดพลุ "ความสุขคนไทย" ติดขึ้นมาได้

เพราะเป็นเดือนแห่งเทศกาลวันแม่ ถือเป็นเดือนแห่งการทำยอดขายกันทีเดียว หวังชดเชยยอดขายช่วงครึ่งปีแรกที่หงอยเหงา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ถึงผู้คนจะพาแม่และครอบครัวไปทานอาหารนอกบ้านกัน ทำให้เม็ดเงินจะสะพัดสู่ธุรกิจร้านอาหารถึงราว 1,120 ล้านบาท ในช่วงวันหยุดยาว 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-12 สิงหาคม 2557

ขณะที่ด้านโซเซียลมีเดียก็ถูกใช้เป็นเวทีแสดงความรู้สึกระหว่างครอบครัวกันอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะ "แม่-ลูก" ซึ่งแต่ละคู่ก็จะมีเรื่องราวสายใยผูกพันว่ากันไปมากมาย ยิ่งเวที "เฟซบุ๊ก" แม้เป็นพื้นที่สาธารณะแต่ก็ถูกใช้เป็นสื่อกลางถ่ายทอดผ่านตัวอักษรและภาพต่าง ๆ ที่มามอบให้กัน แม้จะมีบางเสียงที่บอกทำทุกวันอยู่แล้ว แต่พอถึง "วันแม่" วันที่ 12 ส.ค. ก็ไม่วายที่จะต้องทำไหลตามกระแสนี้ไปเช่นกัน

นี่คือกระแสด้านบวกที่เกิดขึ้นของสังคมครอบครัวไทย

มองสวนกลับไปที่มุมมืดของสังคมไทย กระแสข่าวฉาว "อุ้มบุญ" ก็ถูกตีแผ่กันหลายสัปดาห์ ช่างคนละอารมณ์กันทีเดียว แถมกลายเป็นปัญหาที่บานปลายไปสู่ประเด็นการค้ามนุษย์ หลังจากที่เดือนก่อนหน้านี้ประเทศไทยเพิ่งถูกสหรัฐอเมริกาปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ตกมาอยู่อันดับ 3 ซึ่งเกิดจากปมร้อนเรื่องแรงงานต่างด้าว มารอบนี้ก็มีการตีประเด็นโยงกระแส "อุ้มบุญ" เป็นการ "ขายชีวิตของเด็กทารก" เพื่อเชิงพาณิชย์หรือทำธุรกิจกันมากเกินไป เพราะอยากได้เงินคราวละเป็นหลักแสน ๆ บาททีเดียว

ขณะที่ล่าสุดทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย 15 ฉบับ เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหนึ่งในร่างกฎหมายทั้งหมดนั้นจะมีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิด โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ...เป็นกฎหมายเร่งด่วน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ

แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ยิ่งสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำคนไทย ภายใต้สังคมที่ถูก "ทุนสามานย์" ครอบงำจนกัดกร่อนคุณภาพชีวิตคนไทยหายไปตามสังคมที่บริโภคความศิวิไลซ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่มุมหนึ่งของสังคมไทยจะเห็นกลุ่ม "ผู้หญิง" วัยทำงานยอมหันมารับจ้างอุ้มท้อง เพียงเพราะต้องการ "หาเงิน" โดยยอมแลกกับความรู้สึกผูกพันที่ตั้งครรภ์มายาวนาน 9 เดือน บางคนยอมรับจ้างอุ้มท้องหลายคน เพื่อเห็นว่าเป็นช่องทางหาเงินได้ง่ายและได้ก้อนโตด้วย

ขณะที่เมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสดูหนังเรื่อง "ฝากไว้ในกายเธอ" ของค่ายดัง GTH แม้จะมีกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ถึงความไม่สมจริงหรือไม่คุ้มค่าตั๋วหนัง อะไรก็ตามแต่ของมุมมองแต่ละคน

ทว่าสำหรับดิฉันได้มีโอกาสเดินเข้าไปดูหนังเรื่องนี้เพราะต้องการรู้และเห็นด้วยตัวเอง และได้ข้อคิดระหว่างดูถึงการใช้ชีวิตเด็กนักเรียนไทยยุคโซเชียล เน็ตเวิร์ก ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ หากใจมีความต้องการ "ครอบครอง" เกิดขึ้น ขณะดูไปจู่ ๆ ก็นึกถึงคำสอนทางธรรมะ "ใจคน" ไวยิ่งกว่าแสง

เพราะพล็อตของเรื่องนี้คือ เด็กหนุ่มนักเรียนชายคนหนึ่งแย่งแฟนสาวจากเพื่อนสนิทมาครอบครอง ขณะที่ฝ่ายผู้หญิงที่เป็นแฟนสาวดูเหมือนจะมีจิตสำนึกว่ามีแฟนอยู่แล้ว แต่พอจี้ถูกจุดว่า "มีใจให้ตรงกัน" ก็ถึงกับทำให้ตัดสินใจเลือกเพื่อหันมาคบกันและเลยเถิดถึงขั้น "ท้อง" เมื่อทั้งคู่ก็ไม่สามารถรับผิดชอบ "เด็ก" ที่เกิดขึ้นได้ ก็นำมาสู่การทำแท้งเด็ก หลังทำแท้งเสร็จ แฟนสาวก็ตัดสินใจบอกเลิกเพื่อจะกลับไปหาคนเดิม อุ๊ตะ !! เปลี่ยนใจไวยังกะปรอททีเดียว แต่สุดท้ายแฟนสาวก็ต้องตายในมือตัวเอง แม้ตอนจบเด็กนักเรียนที่ทำผิดจะลอยนวล แต่ก็อยู่กับตราบาปที่หลอนตลอดชีวิต

คนพล็อตเรื่องนี้กำลังสะท้อน "จุดบอด" ของคุณภาพเด็กไทยที่กำลังจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ

ที่น่าห่วงอย่างยิ่ง คนที่เข้าไปดูเป็นเด็กวัยรุ่นกันจำนวนมาก ขณะที่หนังกำลังตั้งเป้าหมาย "เชิงธุรกิจ" ที่อยากจะโกย "เงินร้อยล้าน" เพราะผู้กำกับคาดหวังว่าจะบอกกันปากต่อปากเข้าไปชมหนังเรื่องนี้ ซึ่งยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเหล่านี้อินหรือซึมซาบไปกับเรื่องราวพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เห็นในหนังเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่เป็นที่รู้กันว่า ระบบการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายของโลก และวิธีการเรียนการสอนก็ยังไม่ได้พัฒนาให้เด็กรู้จักการคิด-วิเคราะห์เท่าที่ควร ซึ่งผู้เขียนเข้าใจได้ว่า ผู้กำกับหนัง GTH ต้องการยกระดับการสร้าง "หนัง" ของวงการภาพยนตร์ไทย

แต่อีกด้าน ค่าย GTH ก็ไม่ควรละทิ้งการสร้างสรรค์สังคมไทยที่ดีให้เด็กรุ่นใหม่ด้วย ไม่ใช่พล็อตเรื่องแรง ๆ แล้วปล่อยปมปริศนาไว้ให้ "คนดู" คิดไปหลาย ๆ ทาง เพียงเพราะค่าย GTH จะเลียนแบบหนังฝรั่งหรือไร อย่าลืมว่า "หนัง" ก็หล่อหลอมความคิดคนได้ระดับหนึ่ง และจะนำมาสู่ผลลัพธ์ "ด้านลบ" อีกมากมายอย่างไรในสังคมไทยที่คุณเองก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่เหมือนกัน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////