พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเปิดปฏิบัติการ "เดี่ยวไมโครโฟน" แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะเริ่มลุยงานกันอย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่เมื่อวานซืน เริ่มมีเนื้อหาของนโยบายที่จะแถลงหลุดออกมา บางส่วนมีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน และมีเสียงตอบรับทำนองว่านโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีเนื้อหาครอบคลุม ลงลึก และมีข้อผูกมัดเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี มีหลายเสียงเหมือนกันที่เห็นค้าน...
หยิบนโยบายที่จะแถลงต่อ สนช. ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ย.57 เทียบกับนโยบายของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.54 ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดยเน้นในด้านความมั่นคงภายในและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
เริ่มด้วยสิ่งแรกที่เหมือนกันก่อน คือ การอ้างแนวทางการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศตาม "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งสองรัฐบาลอ้างอิงเอาไว้ไม่ต่างกัน
ส่วนประเด็นที่แตกต่าง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการกำหนดนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก (หมายถึงจะเริ่มทำในปีแรก ไม่ใช่ทำให้สำเร็จในปีแรก) มุ่งไปที่การสร้างความปรองดอง, การสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), การเยียวยาผู้สูญเสียและผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนในช่วงนั้น
นอกจากนั้นในส่วนของนโยบายเร่งด่วน ยังมีนโยบายที่เป็นจุดขายของรัฐบาล คือ การเร่งปราบปรามยาเสพติด และนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ เช่น ขึ้นเงินเดือนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท, ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท, พักหนี้เกษตรกรรายย่อย, เงินเพิ่มกองทุนหมู่บ้าน, ตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท, ขยายกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน หรือเอสเอ็มแอล เป็นต้น
ส่วนนโยบายการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เขียนเอาไว้สั้นๆ ผิดกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เขียนเอาไว้ค่อนข้างยาว แต่ของ ครม.ยิ่งลักษณ์ก็ครอบคลุมแทบทุกด้าน เช่น ธรรมาภิบาล, การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, การบังคับใช้บทบัญญัติเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมให้ครอบคลุมผู้ใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งสำคัญและตำแหน่งระดับสูงอย่างทั่วถึง ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรม
ขณะที่นโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ นโยบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่า "จะส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ" ทำให้มีการตีความกันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อแนวนโยบายตั้ง "นครปัตตานี" หรือองค์กรปกครองรูปแบบพิเศษที่รวมเอาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่แล้วเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเป็น "ผู้ว่าการนครปัตตานี" ตามที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นได้หาเสียงเอาไว้ แต่สุดท้ายนโยบายนี้ก็ไม่ได้สานต่อ
นอกจากนั้น นโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ระบุถึงการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่มีการริเริ่มกระบวนการพูดคุยอย่างเปิดเผยและเป็นทางการในรัฐบาลชุดของเธอ ผิดกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เขียนเรื่องนี้เอาไว้ ความว่า "ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ" แต่ไม่มีเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่
และอีกตอนหนึ่งยังให้ความสำคัญกับปัญหาภัยแทรกซ้อน ซึ่งเป็นการมองปัญหาของกองทัพอยู่แล้ว "ขจัดการฉวยโอกาสก่อความรุนแรงแทรกซ้อนเพื่อซ้ำเติมปัญหา ไม่ว่าจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง"
นอกจากนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังมีนโยบายไม่เร่งด่วน คือจะดำเนินการในช่วง 2-4 ปีตามอายุของรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เขียนไว้กว้างๆ แต่บางเรื่องก็ลงลึกมาก เช่น นโยบายด้านกีฬา นโยบายส่งเสริมการออกกำลังกาย รวมถึงการปฏิรูประบบกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ที่เน้นให้บังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียม และมีมาตรฐานเดียว
ที่น่าสนใจอยู่ในหัวข้อ "พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ" มีการระบุให้ "สนับสนุนสิทธิและหน้าที่กำลังพลของกองทัพเพื่อให้เป็นทหารอาชีพในระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งข้อความนี้ไม่มีในนโยบายด้านเดียวกันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
สำหรับรายละเอียดในคำแถลงนโยบายของ ครม.ประยุทธ์ พบว่าหลายนโยบายเขียนผูกติดไว้กับการปฏิรูป เช่น ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง ฯลฯ คือใช้คำว่า "ปฏิรูป" หลายแห่งมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับกระแสสังคมในปัจจุบัน และมีการแยกนโยบายเกี่ยวกับอาเซียนเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ในหัวข้อ "การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน"
อีกจุดหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก คือ ข้อความในนโยบายปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เขียนด้วยภาษาแรงๆ ตรงไปตรงมาสไตล์ทหาร ตัวอย่างตอนหนึ่งระบุว่า "จะใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจหรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สำนึกและความผูกพันภักดีของคนอีกเป็นจำนวนมาก"
อย่างไรก็ดี การแถลงนโยบายต่อสภา จะว่าไปแล้วก็เป็นแค่พิธีกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น แทบจะไม่มีบทลงโทษอะไรด้วยซ้ำหากมีพฤติกรรมบิดพลิ้ว ไม่ทำตามที่แถลง ฉะนั้นบทพิสูจน์จึงอยู่ที่การกระทำและแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่า
โดยเฉพาะการเห็นผลอย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายประเทศ หาใช่แค่ไฟไหม้ฟางหรือสร้างกระแสเพื่อเรียกความนิยม
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น