--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

ภารกิจแรก พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ..!!?

เบื้องลึก:สมรภูมิแดงที่อักษะ ภารกิจแรกของ "ผู้การแดง" นายทหารสาย "วงศ์เทวัญ" แต่กลับเป็นที่รักของหัวแถวของ "บูรพาพยัคฆ์"

ช่างเป็นภารกิจแรกที่เหมือน "ฟ้าลิขิต" ของ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ฯ (ผบ.พล.1 รอ.) ในการเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของ นปช.ที่ถนนอักษะ วันที่ 5-6 เมษายนนี้

ว่ากันว่า "ผู้การแดง" พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะเข้าร่วมการบัญชาการเหตุการณ์กับ ศอ.รส. ที่ร้านอาหารชื่อดัง บนถนนอักษะ

เอ่ยชื่อ "ผู้การแดง" ถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดง เนื่องจากในเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช.เมื่อปี 2553 ในฐานะผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ฯ (ผบ.ร.11 รอ.) "ผู้การแดง" จัดว่าแม่ทัพเอก ในการจัดการกับม็อบของเครือข่ายระบอบทักษิณ

บนเส้นทางปืน "ผู้การแดง" เป็นนายทหารสาย "วงศ์เทวัญ" แต่กลับเป็นที่รักของหัวแถวของ "บูรพาพยัคฆ์"

อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 พรรคเพื่อไทย กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง "ผู้การแดง" ต้องขยับออกไปติดยศ "พล.ต." เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (ผบ.พล.ร.11) จ.ฉะเชิงเทรา และย้ายไปเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 (ผบ.มทบ.15) จ.เพชรบุรี

เหมือนว่าชะตาชีวิตของ "ลูกชายบิ๊กจ๊อด" พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ จะต้องระหกระเหินอยู่บ้านนอกบ้านนา จนกระทั่ง เกิดการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ส่งผลให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องยุบสภา และมีรัฐบาลรักษาการชั่่วคราว

จังหวะนี้เอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงพา "ผู้การแดง" เข้าพบนายกฯยิ่งลักษณ์ เพื่อเคลียร์ใจกันและกัน ก่อนจะโยกผู้การแดง จากเพชรบุรี เข้าสู่เมืองหลวง คุมเหล่าทหารวงศ์เทวัญสมใจ ผบ.ทบ.

ที่น่าสนใจ "ผู้การแดง" เป็นเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 (จปร.รุ่น 31) นายทหารรุ่นนี้ถือว่าเป็น "ยังเติร์ก 2014"

เพื่อนรักของผู้การแดงคือ "ตู่เล็ก" พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี คือผู้สืบทอด "ขุนศึกบูรพาพยัคฆ์" ตัวจริงเสียงจริง

ขุมกำลัง "พล.ร.1 รอ." และ "พล.ร.2 รอ." คือทัพหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากว่า สถานการณ์เรียกร้องให้ทหารต้องออกมาดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------




วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

มติเหล่าทัพ !!?

มติเหล่าทัพ ภายหลังการประชุมร่วมกันของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการหารบก (ผบ.ทบ.), พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 ถึงสถานการณ์การเมืองที่กลุ่มการเมืองใหญ่ 2 กลุ่มจะชุมนุมในวันที่ 5 เมษายน 2557  ออกมาว่า ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.มีมติร่วมกัน จะทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเกิดความปลอดภัย และร้องขออย่าใช้ความรุนแรงในการชุมนุม โดยให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมเสียงดังฟังชัด พร้อมกับ ย้ำ ว่า ไม่ต้องการที่จะเป็น พระเอก เพียงคนเดียว

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ต้องการรับ บทพระเอก
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า บทพระเอก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประกาศปฏิเสธ นั้น ใคร เป็นผู้พยายามหยิบยื่นให้

และน่าสนใจยิ่งกว่าคือ คำว่า พระเอกใน ความหมาย ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นคืออะไร

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ถือว่าเป็น โมฆะ…สังคมไทยแทบจะไม่มีทางออกใดๆ ให้ผ่านพ้น สุญญากาศ ที่เกิดขึ้นไปได้
ทางออกเดียว ที่ชัดเจน และมองเห็นว่าเป็น ทางออกที่สันติวิธีที่สุด ในบรรยากาศอึมครึมเช่นนี้ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องจัดให้มี “การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย”

ซึ่งถ้าทุกฝ่ายยอมรับและกลับมาเดินไปตามกติกาประชาธิปไตย … ก็นับว่า การเลือกตั้ง ยังคงเป็น ทางออก ที่ทำให้ประเทศบอบช้ำน้อยที่สุด

การจะอ้างว่าต้อง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ คิดได้-พูดได้-เสนอได้ แต่ ต้องตอบให้ได้”เสียก่อนว่า หนทางที่จะนำไปสู่ “การปฏิรูป” ดังที่พูดพร่ำกันมาระยะเวลาหนึ่งนั้น จะสามารถเป็นไปได้ด้วยวิธีการใด

โดยเฉพาะ ด้านกฎหมาย เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกร่างโดย คณะปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 นั้นชัดเจนว่า ไม่ได้มีบทบัญญัติมาตราใด ที่เปิดทางให้สามารถ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ได้

หนทาง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่ ท่องจำ ตามกันมานั้น หากจะทำให้ได้จริงๆ อาจจะต้อง งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ หรือ ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปเลยหรือไม่

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น…ก็ไม่ต่างอะไรกับ ฉีกรัฐธรรมนูญ โดย คณะบุคคล ที่อ้าง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทั้งๆ ประเทศไทยเพิ่งผ่าน การรัฐประหาร-ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยอ้าง ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน กันมาได้ไม่กี่ปี

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือกรณีที่บางฝ่ายพยายาม สร้างทางตัน เพื่อเปิดช่องให้ นายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยใช้หนทาง นายกฯ มาตรา7 ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

แม้ บุคคล ที่จะได้รับการเสนอชื่อ ให้ขึ้นเป็น นายกฯคนกลาง หรือ นายกฯมาตรา 7 จะได้รับยืนยันว่าเป็น คนดีที่เลิศเลอเหนือมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปมากแค่ไหน แต่เส้นทาง นายกฯมาตรา 7 นั้นค่อนข้างชัดเจนว่าอาจจะ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งถ้าเป้าหมาย นายกฯคนกลาง แล้วเดินตามทาง นายกฯ มาตรา 7 ก็อาจจะต้อง งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ หรือ ฉีกรัฐธรรมนูญ อีกหรือไม่

เหล่านี้คือ คำถามเบื้องต้น ที่ผู้สนับสนุน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และร่วมผลักดัน นายกฯมาตรา7 ควร ตอบ ให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะออกมาเรียกร้อง เสนอหนทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เพราะหากสามารถยืนยันได้ว่า จะสามารถไปสู่ “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และ “นายกฯมาตรา 7” ได้โดยตาม “กติกาประชาธิปไตย” และ “ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ” … ก็จะทำให้คนไทย ใจชื้นได้ระดับหนึ่งว่า จะไม่มีบุคคลกลุ่มใด มาผลักดันให้ “ความหมาย” ของคำว่า “พระเอก” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ไปสู่หนทางที่ ไม่เป็นประชาธิปไตย

ประการต่อมาคือถ้ากลุ่มอ้าง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และพยายามผลักดัน นายกฯคนกลาง มาตรา 7 ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการไปสู่ความต้องการเหล่านั้น จะต้อง ฉีกรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ก็เท่ากับว่า สังคมไทย มี ความเสี่ยง อย่างมาก ที่จะเกิดปฏิบัติการณ์ ทำลายประชาธิปไตย ไม่หนทางใดก็หนทางหนึ่ง

และหนทางที่รวดเร็วที่สุดและเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือการพยายามปั่นกระแสให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เลือก “คำจำกัดความ” ของคำว่า “พระเอก” ให้โน้มเอียงไปในทางที่ใกล้ชิดกับ “เผด็จการ”!!
เพียงแต่การเลือกที่โน้มเอียงไปในหนทางที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ดังกล่าวนั้น จะต้องพบเจอกับ “กระแสเรียกร้องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย” ที่เพิ่มมากขึ้นๆ ทุกวันๆ

ยิ่ง ไม่มีการเลือกตั้ง ยาวนานแค่ไหน พลังแห่งความต้องการประชาธิปไตย ของประชาชนก็จะยิ่งมากขึ้นๆ … เป็นธรรมชาติ

ซึ่ง “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่เคยเลือกที่จะเล่น “บทพระเอก” ด้วยการ “รัฐประหาร 19 กันยายน2549” และได้ลิ้มรส “ความพ่ายแพ้” ไปแล้ว แบบไม่เหลือสารรูปของ พระเอก

บทเรียนความพ่ายแพ้ ลักษณะนี้ พร้อมเกิดขึ้นกับ เผด็จการ ตลอดเวลา … แม้บางครั้งมันจะแฝงมาในคราบ พระเอก ก็ตาม

ที่มา.พระนครสาส์น
/////////////////////////////////////////////////

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล : หนุนปฏิรูปคุมประชานิยม.!!?

ประสาร.ผู้ว่าฯธปท.มองทางออกประเทศ แนะ2ฝ่ายเปิดใจเจรจานำไปสู่การเลือกตั้งเพื่อปฏิรูป เตือนทุกฝ่าย ใช้สติ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ : เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดจนความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติที่มีต่อการปฏิรูป และการเลือกตั้ง

ตอนนี้มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปไม่ใช่แต่เฉพาะด้านการเมือง แต่รวมถึงระบบเศรษฐกิจ และข้าราชการด้วย โดยรัฐบาลบอกว่าต้องเลือกตั้งก่อนปฏิรูป แต่ในอีกฟากก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะถ้ายังเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมจะมีปัญหา... ประเด็นนี้ แบงก์ชาติ ในฐานะที่ต้องวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ มองว่า ควรเลือกตั้งก่อนหรือหลังปฏิรูป จึงจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ย่ำแย่อย่างที่คิด

มันเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบว่า จะเลือกตั้งก่อนปฏิรูปหรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้งก็ได้ เพราะทั้ง 2 คำเป็นเพียงกระบวนการหรือกลไก โดยการเลือกตั้ง คือ การเลือกผู้แทนมาทำงานบางอย่าง ถ้าเป็นสูตรเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูปก็น่าจะทำได้เหมือนกัน

ความจริง 2-3 เดือนมานี้ ผมก็พยายามคิดว่า ประเทศจะมีทางออกอย่างไร ซึ่งทางออกอันหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบ คือมีการตกลงกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่สำคัญ ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็เป็นพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรค แต่แน่นอนก็ต้องคิดถึงภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

ถ้าเป็นสูตรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ก็อาจจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องมีข้อตกลงว่า หลังเลือกตั้งแล้ว รูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาล หรือโจทย์ของรัฐสภา คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น ต้องทำเรื่องปฏิรูปต่างๆ และหลังจากเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ต้องนำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ใครชนะก็ต้องเป็นผู้ชนะ แต่แน่นอนว่า ผู้ชนะจะเป็นผู้ชนะแบบใหม่ โดยเป็นผู้ชนะที่ฟังเสียงข้างน้อยด้วย

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งหลังจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่สามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และนำไปสู่การบริหารประเทศเต็มรูปแบบ ส่วนการเลือกตั้งครั้งแรกอาจมีโจทย์เฉพาะที่ต้องทำก่อน ซึ่งวิธีนี้ดูจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และสายตาของชาวโลกก็น่าจะรับได้ และภายในผมคิดว่าก็น่าจะลดแรงกระหึ่มของฝ่ายต่างๆ ลงได้

แต่ทั้งหมดนี้ท้ายสุด คงต้องอยู่ที่เนื้อหาว่า การปฏิรูปที่ว่านี้ ปฏิรูปอะไร รูปแบบกลไกที่เห็นไม่ตรงกัน จะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างไร

ส่วนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ต้องกลับมาที่เนื้อหาว่า ใครที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะเวลานี้ฝ่ายที่ประท้วงยังเปิดเผยตรงนี้ออกมาไม่ชัดว่า ใครที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการ และคนที่มาตรงนี้มายังไง ซึ่งเวลานี้โจทย์ปัญหาในบ้านเมืองมีเต็มไปหมด จะทำอะไรก่อนหรือหลัง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า ท้ายที่สุดคงต้องเลือกลำดับความสำคัญ จะทำทุกอย่างพร้อมกันคงไม่ได้

สำหรับแบงก์ชาติเอง ก็พยายามช่วยคิดในเรื่องนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาเราได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องการปฏิรูป โดยดูว่าโจทย์อะไรที่ดูแล้วเรามีความถนัด ดูแล้วเราสามารถช่วยคนอื่นได้ ในลักษณะที่เพิ่มเติมจากที่คนอื่นทำ และไม่เป็นการไปทำอะไรที่ซ้ำกับเรื่องที่คนอื่นทำโดยที่เขามีความถนัดมากกว่าเรา

ที่แบงก์ชาติทำเน้นเรื่องอะไร

เราเน้นเรื่องการคลัง พวกนโยบายประชานิยม ว่าต่อไปควรมีกรอบอย่างไรที่จะไม่มาสร้างความเสี่ยงภัยให้กับประเทศ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะไม่ถูกใช้เป็นกลไกทางการเมืองเพื่อไปทำโน่นทำนี่ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารออมสิน เป็นต้น โดยโจทย์พวกนี้เป็นอะไรที่แบงก์ชาติมีความถนัด

อีกอันหนึ่งที่อยากทำ คือ การต่อต้านคอร์รัปชั่น แน่นอนว่าเรื่องนี้มีคนมาชวนเราเยอะ เพียงแต่เราคิดว่ามันไม่มีความหมายอะไรที่แบงก์ชาติจะไปขึ้นเวทีเพื่อเซ็นคำแถลงการณ์ร่วมต่างๆ ในเรื่องเหล่านี้ เพราะหากแบงก์ชาติคิดที่จะทำเรื่องพวนี้ จะต้องมีเนื้อหาที่มากกว่านั้น เช่น การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ พวกนี้ก็เป็นโจทย์ที่เรากำลังคิดว่าจะทำมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

สำหรับคณะกรรมการชุดที่ดูเรื่องเหล่านี้ จะเป็นการทำงานโดยอิงสายงานเดิมของแบงก์ชาติเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะมีการทำงานร่วมกับสายงานที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานข้างนอกเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่แค่เราคิดฝ่ายเดียว

ตอนนี้ได้ข้อสรุปบ้างแล้วหรือยัง

มีบ้าง ซึ่งเวลานี้เราอยู่ในขั้นตอนที่คิดว่า การดำเนินการอาจไม่ได้ทำเฉพาะแบงก์ชาติหน่วยงานเดียว เรากำลังคิดถึงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจากภายนอก เช่น กระทรวงการคลัง หรือ สภาพัฒน์ ตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและอยากทำ ซึ่งพวกนี้เป็นอะไรที่สามารถปรึกษาหารือกันได้

กลับมาที่โจทย์เรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตรงนี้ก็ต้องคิดว่าจะปฏิรูปอะไร กลไกไหนจะเป็นคนทำ และที่ต้องระวัง คือ กระบวนการเหล่านี้ ถ้าจะเดินไปมันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจะมีความรู้สึกอย่างไร เรารับฟังเสียงเขาอย่างไร พวกนี้เป็นโจทย์ในมิติการเมือง ซึ่งเราเองไม่ถึงกับถนัด แต่เท่าที่เราดูเหตุการณ์จากประเทศต่างๆ ที่คล้ายๆ กับเรา เช่น แอฟริกาใต้ หรือ อินเดีย เขาก็มีความขัดแย้งคล้ายๆ กับเรา แต่สุดท้าย ทุกคนไม่สามารถที่จะยืนอยู่บนข้อเรียกร้องของตัวเองทั้ง 100% ซึ่งต้องมีฝ่ายที่ยอมถอยบ้าง ซึ่งก็นำไปสู่อะไรที่มีความยั่งยืนพอประมาณ

ผมไม่ได้ไปยึดติดกับการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะเราควรจะคิดถึงเนื้อหาสาระซักนิดหนึ่งว่า ปฏิรูปอะไร อะไรคือลำดับสำคัญ และหากความเห็นไม่ตรงกันจะตัดสินใจอย่างไร เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากกว่า

สูตรนายกฯ คนกลางมองอย่างไร

อันนี้ก็คิดหนัก โจทย์อันนี้มันเป็น Trade-off คือ มันมีได้มีเสีย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ใจผมชอบแบบแรกมากกว่า โดยผู้มีส่วนได้เสียตกลงกันแล้วนำไปสู่การเลือกตั้ง

หากเป็นการ Compromise (เจรจาประนีประนอม) ของทั้ง 2 ฝ่ายล่ะ

ถ้าเป็นกรณีนี้ ถือว่าน่าสนใจ แต่ถ้าเป็นลักษณะจู่โจมอยู่ข้างเดียว ผมก็เกรงๆ อยู่ ในเรื่องความไม่สงบที่จะเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด ทำให้ต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทยเขาก็ไม่สนใจ แต่ถ้าเป็น Compromise แล้วสร้างการปฏิรูปที่ชัดเจน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียสำคัญยอม และได้คนที่ทุกคนยอมรับ กรอบเวลาไม่เนิ่นนาน มีภารกิจชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ ดีกว่าสถานการณ์ที่ทหารจะเข้ามายึดอำนาจ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นถือว่าหนักเลย ต่างประเทศเขาไม่เอาเลย เนื่องจากโลกเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ จะทำให้การบริหารเศรษฐกิจติดขัดไปด้วย

มีใครเคยมาชวนพูดคุยนอกรอบเรื่องทางออกประเทศชาติหรือไม่

เรื่องคุยกันมีอยู่แล้ว แต่ประเภทที่เลยไปจนเป็นข่าวลือ อันนั้นเป็นการหยอกล้อทีเล่นทีจริงมากกว่า

แต่ก็มีการเอ่ยชื่อ ดร.ประสาร ในฐานะนายกฯ คนกลางด้วย ถ้ามีการทาบทามมาจะทำอย่างไรดี

คิดว่าเวลาจะเลือกเข้าทำงานอะไรซักอย่าง ผมมักจะถามตัวเองว่า Up to it (ฝีมือถึง) หรือไม่

แต่ในภาวะบ้านเมืองวิกฤติอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าฝีมือถึงอย่างเดียว อาจจะอยู่ที่ความเชื่อถือ หรือผลงานที่เคยทำมา

แต่เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะหากจะรับอะไรมาก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งนั้นด้วย

แปลว่าไม่ปฏิเสธซะทีเดียวหากมีการทาบทามมา

ผมว่า ค่อนไปในทางปฏิเสธนะ คือ หนึ่งเราไม่ได้ up to it เท่าไร มันต่างจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่มีคนทาบทามมาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ คิดว่าจะทำมั้ย เราคิดว่าถ้าเรารับแล้วเราทำอะไรได้หรือไม่ ซึ่งการเข้าสู่ตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อันที่ยากกว่า คือ เมื่อเราได้ตำแหน่งแล้วจะทำอะไร สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ผมไม่คิดว่าผม up to it เพราะมันมีมติอื่นๆ อีกมาก เช่น มติในเรื่องของความมั่นคง

โจทย์ง่ายๆ คือ จะไปแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร จะคุยกับนายพลทั้งหลายอย่างไร จะดูแลอำนาจการปกครองผ่านมหาดไทยอย่างไร ซึ่งเยอะมาก

ตอนที่เขาทาบทามให้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติไม่ลังเล แต่ถ้าทาบทามมาเป็นนายกฯ คนกลางลังเล

ลังเล เพราะอันนั้น Gap (ความห่าง) ระหว่าง up to it หรือไม่ up to it มันไม่สูง เรารู้ว่าจะทำอะไร ซึ่งผมก็เห็นใจ หากใครจะขึ้นมา (เป็นนายกฯ คนกลาง) เพราะภารกิจก็หนักเอาการอยู่ แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการจัดลำดับความสำคัญ อะไรเป็นเรื่องระยะสั้น ระยะยาว และต้องอธิบายกับสาธารณชน ซึ่งจะให้กำลังใจเต็มที่ และหากยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็จะสนับสนุนตามกำลังของเรา หรือมติที่เราทำได้

สุดท้าย ในสถานการณ์บ้านเมืองของเราอย่างนี้ อยากจะบอกอะไรกับคนไทยบ้าง

เรื่องความมี “สติ” เวลานี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ผมดูทีวี ดูการปราศรัยต่างๆ ก็เป็นห่วงเหมือนกันว่า ถึงจุดหนึ่งเราจะขาดตรงนี้ไป แน่นอนว่าการสู้รบกันบางทีต้องหวังชนะ แต่ก็หวังว่าผู้นำเหล่านี้เขายังมีสติอยู่ แต่ถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะต้องใช้ให้มากขึ้น และลักษณะที่โจมตีกัน ก็ต้องระวังไม่ให้เกินเลยไป เพราะหากเกินเลยไปมันไม่ดี มองลึกๆ กับคำพูดที่ว่า “เราอยากทำดีเพื่อบ้านเมือง” ซึ่งเราควรต้องซีเรียสกับมัน ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรม

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------

อึ้งคำตอบ : อานันท์ ปันยารชุน.



ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ นายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และอดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ถึงทางออกของสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า การเมืองเป็นเรื่องที่คาดเดายากไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจซบเซา แต่เชื่อว่ารัฐบาลรักษาการจะสามารถประคองเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีรัฐบาลที่สามารถดำเนินนโยบายได้ตามปกติ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ช้าลงและทำให้เหนื่อย

ส่วนกรณีที่มีการเสนอทางออกให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง เพื่อเข้ามาปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้งใหม่นั้น นายอานันท์กล่าวว่า ไม่อยากออกความเห็น แต่เห็นว่านายกรัฐมนตรีคนกลางในความหมายที่แท้จริงแล้วต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เปิดเผยรายชื่อบุคคลสำคัญที่คาดว่าจะได้รับการทาบทามได้รับตำแหน่งนายรัฐมนตรีคนกลาง นายอานันท์ กล่าวว่า เรื่องนี้ ใครเป็นคนพูด ถ้าณัฐวุฒิพูด ก็ให้ไปถามณัฐวุฒิ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า มีการทาบทามนายอานันท์ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะรับตำแหน่งหรือไม่ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องอนาคต ผมไม่พูดเรื่องถ้า... จะพูดแต่เฉพาะเรื่องจริงเท่านั้น

ที่มา.มติชน
------------------------------------

วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

เจาะหลักฐานเด็ด ป.ป.ช. อ้าง หมัดน็อค จำนำข้าว..!!?

ชัดเจนแล้วว่า ที่ประชุม “ป.ป.ช.” มีมติออกมา ไม่รับข้อเสนอ “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะ “ผู้ถูกร้อง” ที่จะให้มีการสอบพยานเพิ่มเติมจำนวน 11 คน โดยจะเปิดโอกาสให้เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น ที่ “ป.ป.ช.” พอใจจะเปิดโอกาสให้ชี้แจง

ในส่วนของ “ป.ป.ช.” นั้นมี “พยาน” ที่ “กรรมการ ป.ป.ช” หมายหมั้นปั้นมือมานานว่าจะสามารถให้ข้อมูลเป็นหลักฐานได้ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ยอมเปิดเผยให้ทราบว่ามีใครอยู่บ้าง แต่ก็พอจะอ่านออกว่า “ผู้นำฝ่ายค้าน-ส.ส.ฝ่ายค้าน-ผู้สมัครรับการสรรหาเป็น ป.ป.ช.ที่ต้องการจะสร้างผลงาน” ต่างมีชื่อกันอยู่ครบ!!!
แต่ที่ “ป.ป.ช.” มั่นใจว่า สามารถเอาชนะ “โครงการจำนำข้าว”ได้แน่ๆ ภายหลัง “รวมสำนวน” กรณี “การยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง”และ “กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าท่านได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่” เข้าด้วยกันเสร็ตสรรพเรียบร้อย ก็คือ การที่ “ป.ป.ช.” อ้างว่า นายกรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่” ภายหลังจาก “ป.ป.ช.” มีหนังสือเสนอแนะให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการทุจริต !!
หากอ่านเผินๆอาจจะทำให้มองได้ว่า “รัฐบาล” ไม่ได้สนใจในคำแนะนำ-ข้อเสนอของ ป.ป.ช.หรืออย่างไร ถึงได้ทู่ซี้ดำเนิน “โครงการรับจำนำข้าว” ไม่เชื่อในข้อเสนอของ “องค์กรอิสระ” ที่อุตส่าห์เสนอหน้าเข้ามาแทรกแซง ด้าน “นโยบาย” ของ “ฝ่ายบริหาร”
แต่ในข้อเท็จจริงเมื่อตรวจสอบจะพบว่า หนังสือที่ ป.ป.ช.อ้างว่าได้ส่งข้อเสนอแนะโครงการรับจำนำข้าวให้กับ “นายกรัฐมนตรี” จะพบว่า “ป.ป.ช.” ใช้เวลาเพียง 20 กว่าวันเท่านั้นในการ “ตัดสินถูก-ผิด” พร้อมแนะนำให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ???
โดยจากการตรวจสอบพบว่า “ป.ป.ช.” ได้มี “หนังสือ ด่วนมากที่ ปช 0003/0118 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554” ถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตจากการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำในยังรัฐบาล พร้อมข้อเสนอแนะให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและนำระบบการประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าวมาดำเนินการแทน
ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเงื่อนเวลาต่างๆ ที่ “รัฐบาล” เข้ามารับหน้าที่ในการบริหารประเทศ หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 จะพบว่า “รัฐบาล” ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 23 สิงหาคม 2554 จากนั้น “คณะรัฐมนตรี” ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 เมื่อ “วันที่ 13 กันยายน 2554” ซึ่งเป็นการเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/2554 ระยะเวลาโครงการวันที่ 7 ตุลาคม 2554-29 กุมภาพันธ์ 2555 ส่วนภาคใต้ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 2555
แต่ที่ถือว่าเป็น “วันกดปุ่มเริ่มโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายหาเสียง” จริงๆ ก็คือ “วันที่ 7 ตุลาคม 2554”
ซึ่งเท่ากับว่า “ป.ป.ช.” ใช้เวลา เพียง 45 วัน (23 สิงหาคม -7 ตุลาคม 2554 )นับจากวันที่รัฐบาลเข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศวันแรก ในการตัดสินว่า “ควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว” !
และ “ป.ป.ช.” ใช้เวลาเพียง 24 วัน (13 กันยายน-7 ตุลาคม 2554) ในการติดตามการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว และพิสูจน์ว่าจะมีการทุจริตในการดำเนินโครงการ !!
และที่สำคัญคือ “ป.ป.ช.” ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 วัน (7 ตุลาคม 2554 ) ในการพิพากษาว่า “โครงการรับจำนำข้าว” จะมีการ “ทุจริต” เกิดขึ้นและจะต้อง “ยกเลิกโครงการ” เพียงสถานเดียว


แม้ “ป.ป.ช.” จะมีหนังสือถึง “รัฐบาล” อีกครั้ง คือ “หนังสือที่ ปช 0003/0189 ลงวันที่ 30 เมษายน 2555” เพื่อเตือนเกี่ยวกับ “โครงการรับจำนำข้าว” พร้อมข้อเสนอแนะ อีกครั้ง
แต่หนังสือฉบับที่ 2 ของ “ป.ป.ช.” ดังกล่าว จะสามารถเชื่อถือได้แค่ไหน อย่างไร ??
ในเมื่อ “หนังสือฉบับแรก” ที่ “ป.ป.ช.” ส่งมา ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโครงการรับจำนำข้าว … ได้แสดงให้เห็นถึง “ทิศทาง” ความเชื่อของ “ป.ป.ช.” แล้วว่า “โครงการรับจำนำข้าว” มีการ “ทุจริต”

เพราะเห็น “ธง” ทิวปลิวไสว … ตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ !!!

ที่มา.พระนครสาส์น
-----------------------------------------------------

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

ผบ.เหล่าทัพ นัดถกปิดเกม !!?

โดย.ศรุติ ศรุตา

สถานการณ์การเมืองต้นเดือนเมษายน เมื่อดูปัจจัยทางการเมืองแล้ว ดูจะร้อนยิ่งกว่าอุณหภูมิช่วงก่อนวันสงกรานต์กันเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่า รักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. คดีปล่อยให้โครงการรับจำนำข้าวเดินต่อไปไม่ฟังเสียงเตือน แล้วเกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง นั่นคือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ร้อน ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกขณะ

เดิมทีนั้นมีกระแสข่าวว่า รักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ด้วยตนเอง ทำให้มีกระแสข่าวด้วยเช่นกันว่า หากไม่ไปชี้แจงด้วยตนเอง ป.ป.ช.จะ "ลุยไฟ" สรุปสำนวนแล้วชี้มูลคดีไม่เกินวันที่ 5 เมษายน แต่เมื่อมีการเดินทางไปชี้แจงแล้วก็เร็วไปที่ ป.ป.ช.จะรวบหัวรวบหางเอาในวันนั้น

แต่ในยุคนี้ อะไรมันก็เกิดขึ้นได้เสมอ ดูเอาแค่ตอนสรุปคดีแล้วมีชื่อรักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โผล่มาเป็นผู้ถูกร้องในคดีจำนำข้าว หลังจากนั้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ก็เรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

ความจริงการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.จะไม่มีปัญหาอะไรเลย หากว่า ไม่มี "มวลชนคนเสื้อแดง" ที่เป็นฝ่ายที่อยู่เคียงข้างกับรักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ นัดหมายการชุมนุมใหญ่ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน

เช่นเดียวกับ กลุ่ม กปปส.ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ก็นัดแกนนำ กปปส.จากทั่วประเทศมาชุมนุมกันที่สวนลุมพินีด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อแกนนำ กปปส.จากทั่วประเทศมาทั้งที ก็คงจะไม่มาแต่เพียงคนเดียวแน่ ย่อมต้องมีมวลชนติดสอยห้อยตามมาด้วย

หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินแล้วว่า ลำพังการเดินทางมาชุมนุมของมวลชนคนละขั้ว ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันอยู่แล้ว แต่หาก ป.ป.ช.ชี้มูลผิด และรักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ "ความรุนแรง" น่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ

มีการประสานงานกับกลุ่ม กปปส.ให้หลีกเลี่ยงการปะทะ หรือการเผชิญหน้ากับกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง

ถ้ามีปัญหาจริง แล้ว กปปส.อยู่ในที่ตั้งที่สวนลุมพินีไม่ได้ ก็ให้สลายการชุมนุมเพื่อรักษาชีวิตมวลชน

โดยเฉพาะกรณีเกิดการจลาจลขึ้นมา

จากนั้นกองทัพก็คงจะต้องรอดูหัวจิตหัวใจของ ศอ.รส.ว่าจะเอายังไง หากเกิดจลาจลกันขึ้นมาจริงๆ และดูทรงแล้วบานปลายจนอาจควบคุมหรือพูดคุยกันดีๆ ไม่ได้ ศอ.รส.จะทำอย่างไร

คำตอบจาก ศอ.รส.จะเอาอย่างไรไม่อาจรับรู้ได้ เพราะจะต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน แต่สำหรับกองทัพนั้น หากเห็นว่า ศอ.รส. "เอาไม่อยู่" แล้ว ก็คงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะประกาศกฎอัยการศึก เพื่อเปิดทางให้ทหารออกมาควบคุมสถานการณ์

ก่อนที่จะไปสู่เหตุการณ์นั้น กระแสข่าวว่า ผบ.เหล่าทัพได้นัดหารือกันในวันสองวันนี้ เพื่อหาบทสรุปให้เร็วที่สุด ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายไปจนถึงการใช้ความรุนแรงของมวลชนทั้งสองฝ่าย

เพราะชัดเจนแล้วว่า ความ "แรง" ของ กปปส.นั้น ลดระดับลงมาแล้ว เช่นเดียวกับท่าทีของรักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์

จากที่เคยบอกว่า ต้องลาออกสถานเดียว ต้องนายกฯ คนกลาง ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ให้ปฏิรูปการเมืองก่อน ก็ลดระดับไปอยู่ในจุดที่เรียกว่า พูดคุยกันได้ ภายใต้ "ตุ๊กตาทางออก" ที่ผู้คน 2-3 กลุ่ม ได้บทสรุปมาแล้ว

ในส่วนของรักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็เริ่มมีท่าทีที่พร้อมรับทุกข้อเสนอ แม้กระทั่ง "ยอมเสียสละ" เพียงแต่ที่ผ่านมามักจะมีเสียงลึกลับกระซิบว่า "ทำแบบนั้นไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้"

ส่วนเมื่อพูดถึงคดีความของตนซุ่มเสียงที่ออกมา จึงเทไปในทางที่ว่า "ต้องให้ความเป็นธรรม"

ปัญหามันก็เลยค้างคากันมาจนถึงวันนี้ !

แต่เมื่อสถานการณ์เดินมาจนถึงวันที่คดีความเกิดขึ้นแล้วจริง มองเห็นแนวโน้มความรุนแรงว่าจะเกิดขึ้นจริง และมองเห็นท่าทีของ ผบ.เหล่าทัพแล้วเช่นกันว่า "พร้อมเอาจริง" หนทางเดินของรักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงถูกจำกัดให้เดินลำบากมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้เสียงเชียร์ให้สู้จะดังกระหึ่ม แต่คำถามของเหล่าทัพก็ดังก้องอยู่ในหัว

เพราะมันไม่ใช่การถามเพียงแค่ครั้งเดียว แต่เป็นทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพบปะกัน !

ต่างกันก็แค่หนักเบา แล้วแต่โอกาสเท่านั้น

น่าสนใจว่า หากวันสองวันนี้มีการประชุมถกสถานการณ์บ้านเมืองขึ้นจริง จะเป็นการพูดคุยครั้งสุดท้ายก่อนที่สถานการณ์การเมืองจะเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ศาลยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม..!!?

กรณีอุ้มฆ่ามูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ผ่านไป 24 ปีวันนี้ศาลยกฟ้อง "พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม" และพวก 5 คน โดยศาลพิเคราะห์ว่าคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์ พยานหลักฐานต้องชัดเจน แต่คดีกลับมีแต่พยานบอกเล่า ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนัก จึงให้ยกฟ้อง ขณะที่ญาติรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เตรียมแถลงข่าวร่วมกับสถานทูตซาอุดิอาระเบียบ่ายนี้



มูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกสังหาร (แฟ้มภาพ)

ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก. สภ.สบเมย จว.แม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จว.อุบลราชธานี พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และจ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง จำเลยที่ 1- 5 ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้องฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาฯ จากกรณีอุ้มฆ่า นายมูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย และพระญาติกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ ไม่มีผู้ใดเบิกความยืนยันได้ว่า จำเลยทั้ง 5 คน ทำร้ายร่างกาย และสังหารนายอัลรูไวรี่ อีกทั้งไม่ชัดเจนว่า แหวนที่พันตำรวจโทสุวิชชัย แก้วผลึก พยานในคดีอ้างว่า เป็นของนายอัลรูไวลี่ เป็นของจริงหรือไม่ เนื่องจากมารดาและเพื่อนสนิทของนายอัลรูไวลี่ ไม่สามารถยืนยันได้ อีกทั้งหาก พันตำรวจโทสุวิชชัย ได้แหวนมาจริงตั้งแต่ปี 2546 เหตุใดจึงไม่นำให้ผู้บังคับบัญชา แต่กลับนำแหวนไปดัดแปลงสภาพ และจัดพิธีทางศาสนา ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับนายอัลรูไวลี่แต่อย่างใด เหมือนเป็นการสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ พยานหลักฐานต้องชัดเจน แต่คดีนี้มีแต่พยานบอกเล่า ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดจริง จึงพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ด้านนายอาทิก อัลรูไวลี่ น้องชายของนายโมฮัมเหม็ด กล่าวภายหลังศาลมีคำสั่งว่า รู้สึกผิดหวัง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากนี้ญาติและเจ้าหน้าสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย จะร่วมกันแถลงข่าว ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ในเวลา 13.00 น.

สำหรับคดีดังกล่าวอัยการฟ้องร้อง พล.ต.ท.สมคิด และพวกรวม 5 คนเมื่อเดือนมกราคม 2540 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน ภายหลังการหายตัวไปของนายมูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย และพระญาติกษัตริย์ซาอุิอาระเบีย เมื่อปี 2533 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ก่อนที่ในวันนี้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ทูตซาอุดิอาระเบียแสดงความกังวลเพราะมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ได้พบหารือกับอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมนายมูฮัมหมัด อัลลูไวรี่ นักธุรกิจและพระญาติกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย โดยแสดงความกังวลการเปลี่ยนผู้พิพากษาในคดี ก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพียงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งทำให้ฝ่ายซาอุดิอาระเบียมองว่า อาจเป็นความพยายามของฝ่ายจำเลยในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลและราชวงศ์ระดับสูงของซาอุดิอาระเบีย หวังที่จะเห็นความยุติธรรมในคดีนี้ และคณะกรรมการติดตามคดีของซาอุดิอาระเบีย และครอบครัวนายอัลลูไวรี่ จะเดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ด้วยตนเอง

นายสุรพงษ์ ยังยืนยันว่ารัฐบาลได้ดูแลการดำเนินคดีอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้แต่งตั้งให้ตนเองเป็นประธานคณะกรรมการติดตาม และกำกับดูแลการดำเนินคดีพิเศษ ที่เกี่ยวข้องกับซาอุดิอาระเบีย ซึ่งได้เร่งรัดให้คดีต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และหวังว่าผลการตัดสินนจะจะเป็นก้าวสำคัญ ที่นำไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียให้ดีขึ้นได้

ที่มา.ประชาไท
-------------------------------------------------


เมื่อ ทักษิณ อยากจะ บอยคอต..!!?

ไม่มีคำปฏิเสธหลังปรากฏข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็น “ศูนย์กลางอำนาจ” ทางการเมืองในพรรคเพื่อไทย “สไกป์” เข้ามาระหว่างการประชุมคณะกรรมการกิจการพรรคที่มี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีศักดิ์เป็น “น้องเขย” ของตัวเองเป็นประธาน

ข่าวระบุว่าช่วงหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวกับที่ประชุมว่า หากการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยต้องลงเลือกตั้งอีก เพราะนอกจากจะไม่มีคู่แข่งแล้ว เชื่อว่าการเลือกตั้งจะถูกขัดขวางเหมือนกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา

ข่าวระบุว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าว ที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะต่างมองว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยยืนยันในหลักการรักษาประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งมา พร้อมมองสถานการณ์ไกลออกไปว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการจะถูก “ชี้มูล” จาก ป.ป.ช. ในคดีโครงการรับจำนำข้าวแต่ก็ยังมีรองนายกรัฐมนตรีรักษาการทำหน้าที่ต่อไปได้อยู่ โดยรัฐบาลรักษาการจะพ้นไปก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่

รัฐบาลชุดใหม่ที่ว่านี้ พรรคเพื่อไทยน่าจะหมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

หลังปรากฏข่าวดังกล่าวออกไม่มีคำชี้แจงจากแกนนำพรรคเพื่อไทย มีแต่เพียง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงเพียงว่า พรรคเพื่อไทยไม่ใช่ “ตัวปัญหา”

แม้ในการประชุมของ 53 พรรคการเมืองเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาจะมีมติให้ กกต. เร่งจัดการเลือกตั้ง “รอบใหม่” ให้เกิดขึ้น แต่หากดูจากสถานการณ์การเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะหากจัดการเลือกตั้งไปท่ามกลางความไม่พร้อมและเกิดเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความวุ่นวาย วิธีการแก้ไขปัญหาทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งจะถูก “ปิดตาย” ลงทันที

น่าคิดว่าทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเสนอแนวคิด “บอยคอต” การเลือกตั้ง หากพรรคประชาธิปัตย์ “บอยคอต” การเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2

ต้องไม่ลืมว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคมว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งมีความหมายทั้งลงสมัครและไม่ลงสมัคร แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจเพราะรอ “เงื่อนไข” สำคัญทางการเมืองซึ่งก็คือ “คดีความ” ใน ป.ป.ช. เพราะจากข้อมูลหลักฐานพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถูกชี้มูลและโครงการรับจำนำข้าวจะกลายเป็น “จุดถดถอย”สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญหากมีการระบุถึงพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็น “ข้อรังเกียจ” ที่สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เมื่อนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถ “ตัดสินใจ” ทางการเมืองได้

ข้อเสนอที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุออกมาน่าจะมาจาก “หลักคิด” ที่ว่าแม้ ป.ป.ช. จะชี้มูลหรือจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ที่มี ส.ว. ไปยื่นเรื่องให้วินิจฉัย เพราะมองว่าเป็นการกระทำที่ “ต้องห้าม” ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่น่าจะทำให้ “อำนาจ” ทางการเมืองเปลี่ยนมือจากรัฐบาลรักษาการได้

ข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ช่างสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ นปช. ซึ่งก็คือมวลชนของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะท่าทีของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ที่ออกมา “ตีระนาด” ถึงชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง ซึ่ง กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ หมายมั่นปั้นมือจะให้เกิดขึ้น

“เป้าหมาย” ของการออกในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่การกระพือให้เกิดกระแส “ไม่เอา” นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถึงตอนนี้ก็น่าจะชัดเจนว่า หาก “อำนาจ” ทางการเมืองหลุดจากมือพรรคเพื่อไทยด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มวลชนของ นปช. ก็พร้อมที่จะออกมา “ต่อต้าน” ซึ่งเมื่อสถานการณ์ถึงจุดนั้นก็มี “ทางเลือก” เพียงแค่ 2 ทาง ทางหนึ่งคือ ทุกฝ่ายเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง กับอีกทางคือ ให้ทหารทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจ

กรณีทหารทำการ “รัฐประหาร” ไม่น่าจะใช่ทางออกของสังคมไทย เพราะบทเรียนที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า ใช่แต่ปัญหาทางการเมืองเท่านั้นที่ต้องจัดการ ปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะเป็นปัญหายิ่งกว่า

เมื่อสถานการณ์ “บีบ” ไปจนถึงจุดนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า กปปส. จะเดินหน้าทางการเมืองต่อไปอย่างไร การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการหรือไม่หรือ สุดท้ายทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาเจรจากันโดยทั้งหมดน่าจะจบลงที่การเลือกตั้งสถานเดียว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดไว้ก่อนหน้านี้ไม่นานนักว่า “พร้อม” ที่จะ “ตาย” คาสนามประชาธิปไตย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมที่จะสู้จนถึงที่สุดแม้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไปหรือไม่

ในมุมของทหารโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พูดมาตลอดว่า อยากให้ทุกฝ่ายเคารพกติกา เคารพกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบ

หากต้องการที่จะชนะทางการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณว่ากันว่ามีวิธีเดียวคือต้องทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายของระบอบทักษิณ “พ่ายแพ้” ในการเลือกตั้งเท่านั้น เพื่อที่จะไม่สามารถ “อ้าง” ได้ว่ามาจากการสนับสนุนของประชาชนคนส่วนใหญ่

จึงน่าเชื่อว่าที่สุดแล้วไม่ช้าก็เร็ว การเลือกตั้งก็น่าจะเป็น “วิธีการ” คลี่คลายสถานการณ์ที่ดีที่สุด แต่ในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายกำลังใช้ “กลศึก” เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองซึ่งกันและกันและกำลังที่จะพัฒนาจนนำไปสู่ความรุนแรงนั้น การเลือกตั้งไม่น่าจะใช่ “คำตอบ” ในเวลานี้

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “วัดความอึด” กันทั้งสองฝ่าย.

ที่มา.เดลินิวส์
//////////////////////////////////////////////

นายกฯ คนกลาง !!?

ในช่วงที่กระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและยังไม่สามารถที่จะคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ ทั้งทางออกของความขัดแย้ง จุดสิ้นสุดของปัญหาทางการเมือง แม้กระทั่งวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปหรือยุติปัญหาลงได้ ประเด็นความขัดแย้งมีหลายประเด็นหลายคู่ซ่อนไว้ด้วยกัน แต่ปรากฏเด่นชัดเหลือเพียงประเด็นเดียว คือการต่อสู้ระหว่างปีกประชาธิปไตยและปีกที่ไม่เอาประชาธิปไตย

เมื่อความขัดแย้งที่ควรหาข้อสรุปบนวิถีทางประชาธิปไตยที่คนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย กระนั้นเองก็ได้สร้างกระแสการหา ระบอบคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถเข้ามาบริหารจัดการพัฒนาให้ประเทศชาติได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง วิธีการนั้นคือการหานายกคนกลาง อาจะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เคยมีนายก นายกคนกลางมาแล้ว และในครั้งนี้ ได้ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมว่าบุคคลใดเหมาะสมจะเข้ามาเป็นนายกคนกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,118 คน ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2557 เกี่ยวกับกระแสข่าวการจะเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.47 ระบุว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันได้

ขณะที่ รองลงมา ร้อยละ 22.90 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง เคารพการตัดสินใจของประชาชน และอันดับ 3 ร้อยละ 12.12 คิดว่าเรื่องนายกฯ คนกลาง อาจเป็นเพียงข่าวลือหรือต้องการสร้างกระแสทางการเมืองเท่านั้น

ส่วนคำถามว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนคิดว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะมีนายกฯ คนกลาง พบว่า ร้อยละ 36.23 ระบุว่า จำเป็น เพราะอาจช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ประเทศชาติเดินต่อไปได้ ร้อยละ 32.85 ระบุ ไม่แน่ใจ เพราะต้องดูก่อนใครจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนกลาง และที่เหลืออีกร้อยละ 30.92 ระบุว่า ไม่จำเป็น เพราะถึงจะมีนายกฯ คนกลางบ้านเมืองก็ยังวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างแย่งผลประโยชน์ นายกรัฐมนตรีจึงควรมาจากการเลือกตั้ง

และสำหรับความเห็นว่าใครสมควรจะเป็นนายกฯ คนกลางบ้างนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.55 เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน


ซึ่งผลสำรวจในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างของวิธีคิดภายใต้ความเชื่อระบอบคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถ ว่ายังดำรงมีอยู่ในสังคมไทย กรอบคิดเหล่านี้คือการพร้อมและยอมสูญเสียหลักการอะไรบางอย่างที่สำคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปด้วย การได้มาของนายกคนกลางที่คิดว่าเป็นคนดี เหมาะสมเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งหรือเป็นไปในมติของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

คนยังเชื่อมั่นว่านายกคนกลาง สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมากกว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง หากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ การเปิดโอกาสให้นายก มาจากคนนอกได้อาจทำให้ปัญหาตัวแทนหรือ Principle-Agent Problem มากยิ่งขึ้นอีก

ปัญหาตัวแทนเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเจ้าของบริษัท (principle) ที่จ้างผู้จัดการ (agent) เข้ามาบริหารบริษัท ด้วยเหตุที่เจ้าของบริษัทไม่สามารถทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการบริหารงานของผู้จัดการได้ ทำให้การบริหารจัดการบริษัทของผู้จัดการอาจจะไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัท แต่อาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้จัดการเสียเอง

การที่นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับให้ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนทำหน้าที่เลือกนายกฯ จากใครก็ได้ อาจไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เพราะก่อนเลือกตั้งประชาชนไม่ทราบข้อมูลเลยว่า ตัวแทนของเขาจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ เท่ากับว่าตัวแทนสามารถใช้อำนาจอย่างอิสระ ไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน

นอกจากนี้ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมมีแรงจูงใจในการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน น้อยกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งต้องพยายามที่จะบริหารประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด เพราะมีแรงจูงใจว่า จะต้องนำพรรคของตนกลับมาบริหารประเทศอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกที่ทำให้นายกฯมีความรับผิดชอบต่อประชาชนได้มากกว่า

ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่งคือ(Accubility) การตรวจสอบ ไม่ว่าใครจะเป็นคนดีหรือไม่ดี ทุกคนต้องสามารถตรวจสอบได้ แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมาของนายกพระราชทานภายใต้ความเชื่อคนดีคนเก่ง ไม่โกงนั้น พื้นฐานการเข้าถึงหรือการตรวจสอบนั้นเป็นไปได้ยากมาก

ซึ่งหากยกตัวอย่างนายกคนกลางที่ผ่านมาอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย( 2535) ซึ่งไม่เคยผ่านการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ก้าวขึ้นมาเพราะความบังเอิญของเหตุการณ์ทางการเมืองที่กำลังประสบปัญหาไร้ข้อยุติ ภายใต้ทุนทางสังคมที่สูงเป็นถึง ลูกของมหาอำมาตย์ตรีพระยาปรีชานุสาสน์ จบการศึกษาในวิชากฎหมายจากมหาลัยชื่อดังในเมืองผู้ดีอังกฤษ และประสบการณ์ทำงานด้านการทูตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมากมาย แถมยังเคยได้ รับฉายาว่า “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ซึ่งป็นบุคคลที่พูดเรื่อง ความโปร่งใส เป็นห่วงเป็นใยเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมาโดยตลอด

ในสมัยนายกฯอานันท์ฯ(2535) ได้มีการขายหุ้นของโรงกลั่นไทยออยล์ ให้กับเอกชนที่ชื่อเกษม จาติกวณิช เป็นเงิน 8,000ล้านบาท โดยในการจ่ายเงินเป็นลักษณะเช็คเปล่าใบเดียว ในขณะที่มีบุคคลอื่น เช่น นายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และเป็นพ่อค้าส่งน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ออกมาฉะแหลกรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน โดยให้เหตุผลว่าการขายโรงกลั่นน้ำมันครั้งนี้ไม่โปร่งใส และราคาขาย 8,000 กว่าล้านบาทนั้น เป็นราคาที่ถูกเกินไป ซึ่งนายวัฒนาเองก็พร้อมที่จะซื้อในราคา 15,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่เปิดประมูล นั้นหมายถึงการขายสมบัติชาติในราคาถูก การกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน จึงไม่โปร่งใส ขัดกับหลักการ และเหตุผลที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสิ้นเชิง


และก็ยังมีข้อพิพาทผลประโยชน์ทับซ้อนในสมัยที่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ภาคเอกชนมีสิทธิเข้ามาลงทุนในกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทสหยูเนี่ยน

ที่มา.Siam Intelligence Unit
///////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

ค้านปฏิรูปตำรวจ สังกัด ผวจ. ...!!?

กลุ่มนักวิชาการด้านยุติธรรม แนะปฏิรูปคน-จิตสำนึกมากกว่ากฎหมาย "วสิษฐ"ค้านปฏิรูปตำรวจสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เหตุเปลืองงบประมาณ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานวิชาการรำลึกศาสตรจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่19 เรื่อง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ, นายกิตติพงศ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายณรงค์ ใจกล้าหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยพล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจเคยมีความพยายามดำเนินการมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทัศนคติของผู้พิจารณาและกลั่นกรองร่างกฎหมายที่ไม่ตรงกันของผู้เสนอร่างกฎหมาย ทั้งนี้ในสมัยที่ตนร่วมทำงานกับคณะกรรมการพัฒนางานตำรวจ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจ โดยมีสาระสำคัญเพื่อปรับรูปแบบของการบริหารงานตำรวจ ให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับจังหวัด แทนการผูกขาดอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และผบ.ตร. เพียงอย่างเดียว และได้ยกร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมกาารอิสระเพื่อตรวจสอบงานตำรวจ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่พบว่าไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเนื่องจากผู้พิจารณาไม่มีความรู้ความเข้าใจ เมื่อมีการยุบสภา ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยุติการพิจารณา ตนมองด้วยว่าในระบบงานตำรวจมีสิ่งทีต้องเร่งปรับปรุง คือ การพัฒนาบุคลากรของตำรวจในสายงานสอบสวน ที่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านกฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาดในการลงโทษ โดยตนเคยเสนอให้นำโรงเรียนนายร้อยออกนอกระบบและยกให้เป็นสถาบันวิชาการโดยเฉพาะแต่ไม่ได้รับการพิจารณา และสิ่งที่ต้องพิจารณาแก้ไจ คือการรับงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจมาดำเนินการ เช่น การตรวจคนเข้าเมือง, การแพทย์

"สำหรับแนวคิดการปฏิรูปตำรวจที่พูดกันว่าจะให้ตำรวจไปสังกัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ เป็นตำรวจท้องถิ่น นั้นผมมองว่าเป็นการปฏิรูปที่ปลายทาง และมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีตำรวจแห่งชาติ เพราะหากให้ตำรวจไปขึ้นอยู่กับส่วนจังหวัด อาจจะเกิดความสิ้นเปลืองในงบประมาณของชาติได้ อาทิ ปัจจุบันมีห้องแล็บในส่วนกลาง หากให้ตำรวจสังกัดจังหวัดออาจต้องมีสร้างห้องแล็บตามจังหวัด, เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามในหลายประเทศที่มีตำรวจท้องถิ่นก็มีแนวคิดไม่ต้องการ เช่น ประเทศออสเตรเลีย" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

ด้านนายคณิต กล่าวว่าหลักการปกครองที่ดีต้องใช้หลักนิติศาสตร์มาดำเนินการแทนการยึดเฉพาะหลักรัฐศาสตร์ เพราะหลักนิติศาสตร์ถือเป็นกระบวนการที่ให้และสร้างความเป็นธรรมกับสังคม แต่หากกระบวนการยุติธรรมไม่ดีก็ต้องเลิก หากคนไม่ดีอยู่ในกระบวนการต้องจัดการคน ทั้งนี้ตนมองว่าในกระบวนการยุติธรรมของประเทศหากพิจารณาและตัดสินเรื่องใด แล้วมีคนไม่รับในคำตัดสิน เชื่อว่าสังคมจะไม่สงบสุขแน่นอน อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมของไทยมีหลายประเภท อาทิ ทางปกครอง, ทางแรงงาน, รัฐธรรมนูญ ซึ่งตามหลักแล้วกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการให้รวดเร็วและเป็นธรรม ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทั้งจากการรู้หรือไม่รู้นั้น โดยตนมองว่าส่วนหนึ่งมาจากการเรียนการสอนของสถาบันคือสอนให้จำ แทนการสอนแบบให้คิดแบบเป็นลำดับ เช่น การออกหมายจับ ตามลำดับต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่อาศัยความรู้สึก และต้องมีพยานหลักฐาน จากนั้นพิจารณาว่าจำเป็นต้องออกหมายจับหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าในประเด็นการออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นไม่เป็นไปตามหลัก

"การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต่อประเด็นการแก้ไขกฎหมายนั้น ผมว่าแท้จริงแล้วข้อกฎหมายมีปัญหาน้อยมาก หากเราพิจารณาและสร้างความเข้าใจในข้อกฎหมายให้ดี" นายคณิต กล่าว

ขณะที่นายกิตติพงษ์ กล่าวว่าหัวใจของการการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือ คน และจิตสำนึก เพราะหากมีกฎหมายดีอย่างไร แต่คนขาดจิตสำนึก ไม่เข้าใจในระบบยุติธรรม ทำให้เกิดคนทีืตีความหมายของกฎหมายแบบศรีธนญชัย และทำให้การปฏิรูปเป็นไปได้อยาก เช่น กระบวนการคุ้มครองสิทธิ์ของบุคคล อาจจะถูกละเมิดและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ โดยเฉพาะการอุ้มหาย นอกจากนั้นตนมองว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องพิจารณในหลายส่วนร่วมร่วมกัน เช่น การปฏิรูปหลักนิติธรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองสิทธิ์, การจัดสรรทรัพยากร และการบังคับใช้กฎหมาต้องยึดหลักเสมอภาค ตรวจสอบได้ และต้องให้ความเป็นธรรม นอกจากนั้นต้องคำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและหลักธรรมาภิบาล

"การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอ อย่ามองแค่มุมกฎหมาย แต่ต้องมีความเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะหลีกกฎหมายและหลักนิติธรรม ถือเป็นหลักของพื้นฐานสังคมสงบสุข และหลักประชาธิปไตย หากกฎหมายไม่ดี ก็จะทำให้สังคมไม่สงบสุขและประชาธิปไตยก็จะไม่เกิด ส่วนการปฏิรูปที่ภาคสังคมให้ความสนใจ คือ การปรับอำนาจของฝ่ายการเมือง หากเพิ่มการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปประเทศมีความสมบูรณ์" นายกิตติพงษ์ กล่าว

ส่วนนายภัทรศักดิ์ กล่าวยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบมีปัญหา ทั้งเรื่องความโปร่งใส, การถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ, การเลือกปฏิบัติ, การขาดการตรวจสอบ, การคุกคามศาลจากบุคคลภายนอก นอกจากนั้นยังพบด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีบทบัญญัติแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจศาล เช่น การขายซีดีเถื่อน ที่กำหนดโทษให้ปรับเป็นเงินหลักแสน และมีโทษจำคุก ดังนั้นควรมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม และที่สำคัญกฎหมายบางฉบับมีความล้าสมัยควรพิจารณายกเลิก

กระบวนการยุติธรรม ต้องมองการทำงานตั้งแต่ต้นทาง คือ คน ในฐานะที่มาเป็นพยาน ที่ต้องตระหนักในการมีส่วนร่วม อย่ามองเฉพาะในส่วนการพิจารณาของศาลที่เป็นปลายทาง กระบวนการยุติธรรมเหมือนระบบสายพาน หากในจุดใดจุดหนึ่งของสายพานมีความไม่ดี เชื่อว่าปลายทางของสายพานย่อมเกิดผลไม่ดีด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

เศรษฐศาสตร์การเมือง: พรรคเพื่อไทยต้องปฏิเสธตุลาการรัฐประหาร

เศรษฐศาสตร์การเมือง: พรรคเพื่อไทยต้องปฏิเสธตุลาการรัฐประหาร: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2557 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ที่ให้การเลือกตั้ง...

ป้องกันและปราบปราม การทุจริตคอร์รัปชั่น !!?

โดย สร อักษรสกุล

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ในทำนองว่า "ประเทศไทย หากปราศจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ถนนทุกสายสามารถปูได้ด้วยทองคำ"

นั่น แสดงให้เห็นว่า เงินทองที่ถูกทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง จากทั้งข้าราชการชั่ว นักการเมืองเลว และผู้ที่มีส่วนในการใช้เงินที่เก็บมาจากภาษีของประชาชน มีจำนวนมหาศาล

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เสียชีวิตไปนานกว่า 15 ปีแล้ว แต่ปัญหาการทุจริต ฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือที่หลายคนมักเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "คอร์รัปชั่น" (Corruption) ในประเทศไทย ยังไม่มีทีท่าจะลดลงแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำกลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก เห็นได้จากการจัดลำดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยและมากขึ้นตามลำดับ ขององค์กรเพื่อความโปร่งใส หรือ Transparency International-IT ที่จัดลำดับความโปร่งใสของประเทศไทย ปรากฏว่าลำดับยัง คงที่ หรือ เพิ่มขึ้น

นั่นหมายความว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยไม่ได้ลดลง

ปี 2554 องค์กร IT จัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 80 ของประเทศที่มีความโปร่งใสน้อย จากจำนวน 183 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 3.4จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านของไทยได้ 9.2 จากคะแนนเต็ม 10

กว่า 10 ปีก่อน เรามักได้ยินเรื่อง การชักเปอร์เซ็นต์ ของนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ จากโครงการที่บริษัทเอกชนชนะการประมูลจากกระทรวงนั้น ๆ จำนวน 15% ของงบประมาณโครงการ แต่ต่อมาเปอร์เซ็นต์ที่นักการเมืองเจ้ากระทรวงให้ลูกน้องคนสนิทไปแจ้งกับบริษัทที่ชนะการประมูลโครงการเพื่อหักเปอร์เซ็นต์ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้การชักเปอร์เซ็นต์สูงถึง 30% ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าวนี้ทำให้นักการเมืองดี ๆ (ที่มีอยู่ไม่มากนักในบ้านเรา) พลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย

ข้าราชการหลายระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุด เช่น ปลัดกระทรวง จนถึงระดับล่างบางคน ยังคงหาช่องทางที่จะหารายได้พิเศษ โดยการเรียกร้องเงินทองจากประชาชนที่มาใช้บริการและต้องการความสะดวก ความรวดเร็ว ประชาชนบางคนจึงยอมจ่าย เงินพิเศษ หรือ เงินใต้โต๊ะ ให้กับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ซึ่งแรก ๆ มักเรียกว่า "กินตามน้ำ" เพราะผู้ที่มาใช้บริการเสนอให้เอง เนื่องจากต้องการความสะดวก

ความรวดเร็วมากขึ้น ต่อ ๆ มากลายเป็น"กินทวนน้ำ" คือเจ้าหน้าที่จะเรียกจากผู้ที่มาใช้บริการเอง จนกลายเป็นนิสัย

ประเทศ สิงคโปร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ASEAN ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในเอเชียนั้น รัฐบาลของเขาตั้งเงินเดือนให้ข้าราชการค่อนข้างสูง รวมทั้งมีสวัสดิการที่ดี นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์มีเงินเดือนสูงมาก สูงกว่าเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และสูงกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้มีคนถามว่าหากให้เงินเดือนข้าราชการไทยสูง ๆ อย่างสิงคโปร์ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทยจะลดลงหรือไม่ ตอบได้เลย ว่าการคอร์รัปชั่นในเมืองไทยจะยังคงมีเหมือนเดิม เพราะบริบทและค่านิยมของสังคมสิงคโปร์กับสังคมไทยไม่เหมือนกัน

การแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย คนที่คิดจะแก้ปัญหาจะต้องรู้จักพฤติกรรมของคนไทยด้วยกันให้ดีพอ เนื่องจากคน ไทยส่วนมากยังยกย่องเชิดชูคนที่มีฐานะ โดยเพียงดูจากภายนอกเช่น มีบ้านใหญ่โต มีรถยนต์หรูราคาแพง เท่านั้น แต่ไม่สนใจที่มาของรายได้ของคนเหล่านั้น ว่าได้มาโดยสุจริต ถูกต้อง หรือคดโกงมา นอกจากนั้นคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ปากว่าเขา แต่พอตนเองมีโอกาสก็กระทำ (คอร์รัปชั่น) เช่นกัน

เข้าทำนอง "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง"

หาก คนไทยส่วนมากยังคงยกย่อง เชิดชู คนที่มีฐานะทางสังคม โดยไม่สนใจที่มาของรายได้ ที่อาจได้มาโดยมิชอบ รวมทั้งคนไทยจำนวนไม่น้อยยังเป็นพวก "วัตถุนิยม" (Materialism) จึงยากที่จะแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองลงได้ ซึ่งผิดกับบางประเทศ เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยมาก เนื่องจากประชาชนในประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีค่านิยมไม่ยกย่องคนที่มีฐานะร่ำรวย รวมทั้งคน

ที่มีฐานะดีในประเทศของเขาก็ไม่แสดงตัวโอ้อวด และหากทราบว่าใครที่มีประวัติการคอร์รัปชั่น สังคมของเขาจะไม่ยอมรับและไม่คบค้าสมาคมด้วย (Social Sanction) ซึ่งการลงโทษทางสังคมเช่นนี้ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรง ทำให้คนคนนั้นแทบจะอยู่ในสังคมของเขาอย่างยากลำบาก เพราะคนรอบข้างไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย

ประเทศบางประเทศที่ไม่ไกล จากไทยนักอย่างเกาหลีใต้ อดีตประธานาธิบดี โรห์ แต วูได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเมื่อหลายปีก่อน เมื่อทราบว่าภรรยาของตนมีส่วนในการรับสินบนและทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ตนยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ ซึ่งในประเทศไทยของเรารับรองไม่มีเรื่องอย่างนี้แน่นอน

เพราะสังคมไทยไม่ค่อยประณามคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ตรงกันข้าม โดยเฉพาะคนที่รู้จักกันกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น มักให้อภัยและให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นด้วย

ตัวอย่าง ที่ไม่ดีเหล่านี้ เด็ก เยาวชน และนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต่างรับรู้ รับทราบจนกลับกลายมาเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง บางคนมีทัศนคติว่า คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นไม่เป็นไร ขอให้มีผลงาน ถือเป็นทัศนคติที่อันตรายอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

ในบ้านเมืองเรา ซึ่งในปัจจุบันนี้ประเทศไทยถือว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก และแทบจะทุกระดับ ดังที่เป็นข่าวตามสื่ออยู่เนือง ๆ

การ ทุจริตคอร์รัปชั่นระบาดไปทุกวงการ ไม่ว่าจะระดับกระทรวง กรม กอง จังหวัด และในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้ง "กินตามน้ำ" และ "กินทวนน้ำ" ที่เลวร้ายคือคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับยอมรับและยกย่องคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เพียงเพราะเห็นว่าคนคนนั้นมีเงินทองและทรัพย์สินมาก

แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในบ้านเราได้ผลอย่างจริงจัง ซึ่งผู้เขียนขอเสนอไว้ 2 แนวทาง ดังนี้

การแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยการลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และ ควรให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ (จะด้วยการแก้กฎหมายให้ไม่มีการหมดอายุความของคดีการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือด้วยวิธีการอื่น) นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานจากภาครัฐ ควรมีการพบปะกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เพื่อตกลงที่จะไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์

เพื่อ ให้ราคาโครงการถูกลงมาจากราคากลางได้อีก โดยมีสื่อมวลชนเป็นสื่อกลาง ดังที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้กระทำกับผู้แทนขององค์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และสภาหอการค้าฯเมื่อไม่นานมานี้ เพราะกระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้น ฐาน (Infrastructure) ค่อนข้างสูง

การแก้ปัญหาระยะยาว การปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีความคิด ค่านิยม และมีทัศนคติว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่ง

ที่เลวร้าย เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ รวมทั้งการไม่ยอมรับคนรวย คนที่มีฐานะดี แต่มีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส ตัวอย่าง เช่น นักการเมืองในบ้านเราบางคนที่ก่อนเข้ามาเล่นการเมือง ก่อนเป็นรัฐมนตรี มีฐานะธรรมดามาก แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับมีฐานะมั่งคั่ง ร่ำรวย อย่างนี้สันนิษฐานได้ว่า คนคนนั้นมีรายได้ที่ไม่สุจริตระหว่างที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการไม่ยอมรับทางสังคม (Social Sanction) ในบ้านเรา ในอนาคตอาจได้ผลเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป และอาจทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทยลดลงได้

ข้อสำคัญ คนไทย ข้าราชการไทย รัฐบาลไทย เหนืออื่นใด สังคมไทย จะต้องรณรงค์และเอาจริงกับการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ให้หมดสิ้นไปจากเมืองไทย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------