--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ญวนเปิดศึกข้าวไทย...!!?



เวียดนามดั๊มพ์ตลาดสู้ไทย เอกชน34รายแย่งซื้อสต็อก5แสนตัน โรงสีชี้ข้าวไทยแนวโน้มอ่อนตัวลง เหตุรัฐเร่งระบาย ชาวนาอ่วม

เวียดนาม ประกาศลดราคาข้าวขาวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน หวังกระตุ้นการส่งออก ลดภาระสต็อกหลังผลผลิตเข้าตลาด ด้านพาณิชย์เปิดประมูล 5 แสนตัน เอกชน 34 รายแห่ยื่นซอง ชี้รัฐขายข้าวแข่งชาวนาฉุดราคาลงต่อเนื่อง เผยประมูลข้าวต่างจังหวัดใช้ทีโออาร์เดียวกับส่วนกลาง

รัฐบาลกำลังเร่งระบายข้าวในสต็อกที่ยังเหลือกว่า 16.7 ล้านตันอย่างเต็มที่ เพื่อหวังนำเงินมาใช้หนี้ชาวนาที่นำข้าวเข้าโครงการจำนำปี 2556/57 โดยรัฐบาลยังคงค้างหนี้ชาวนากว่าแสนล้านบาท แต่การระบายข้าวรัฐบาลกำลังมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อเวียดนามในฐานะผู้ผลิตรายสำคัญกำลังลดราคาข้าวในตลาดโลกอย่างรุนแรง เพื่อแข่งขันกับข้าวจากไทย

แหล่งข่าวในสมาคมอาหารเวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามลดราคาฐานสำหรับส่งออกข้าวเกรดต่ำ เป็นครั้งที่สองในรอบ 1 เดือน เนื่องจากต้องการกระตุ้นการส่งออกในช่วงที่ปริมาณข้าวทั่วโลกล้นตลาด

แหล่งข่าวระบุว่า เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ปรับลดราคาฐานสำหรับการส่งออกข้าว 25% เกรดต่ำลงอีกเกือบ 3% เหลือ 355 ดอลลาร์ต่อตัน หลังจากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเวียดนามได้ลดราคา สำหรับการส่งออกเหลือ 365 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อช่วยบรรดาผู้ส่งออกให้สามารถแข่งขันกับประเทศไทย อินเดีย และปากีสถานได้ แต่ยอดส่งออกข้าวของเวียดนาม ในเดือนม.ค.-ก.พ. ยังคงลดลง 12% จากปีก่อนเหลือ 702,000 ตัน

ทั้งนี้ ข้าวเกรดต่ำประกอบด้วยข้าวหักระหว่าง 25%-100%

หนังสือพิมพ์ทางการของเวียดนาม รายงานอ้างคำพูดของประธานสมาคมข้าวเวียดนาม ว่า ฟิลิปปินส์เตรียมเปิดประมูลซื้อข้าวปริมาณ 800,000 ตัน ถือเป็นปริมาณสูงสุดในการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว สะท้อนให้เห็นว่าฟิลิปปินส์กำลังขาดแคลนข้าว

ด้านผู้ค้ารายหนึ่งจากบริษัทค้าข้าวต่างชาติ ในนครโฮจิมินห์ ซิตี้ กล่าวว่า บรรดาผู้ซื้อต่างชาติยังคงรอให้ราคาข้าวในเวียดนามลดลง ขณะนี้จึงยังไม่ได้สั่งซื้อข้าวเพิ่มเติม

เวียดนามดั๊มพ์ราคาแข่งไทย

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ข้าวขาว 25% ไทยโค้ดราคา 378 ดอลลาร์ต่อตัน เวียดนามโค้ดราคา 365 ดอลลาร์ต่อตัน ก่อนปรับลงอีกครั้งวานนี้ ขณะที่ข้าว 5% ไทยโค้ดราคา 448 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนเวียดนามขายที่ 400 ดอลลาร์ต่อตัน

"ราคาข้าวขาว 25% ห่างกันอยู่ 13 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ราคาไทยกับเวียดนามขยับมาใกล้เคียงกัน ทางเวียดนามจึงต้องปรับลดราคาลงไปอีก และจากการประเมินสต็อกของไทย ที่กำลังระบายออกมา ทำให้ราคาตลาดโลกลดลง เข้าใจว่าเวียดนามพร้อมดั๊มพ์ราคาสู้อย่างแน่นอน เพื่อระบายผลผลิตออกไปให้ได้" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ราคาข้าวเวียดนามร่วงลงอย่างหนัก จากการที่ชาวนาเริ่มเกี่ยวข้าวในพื้นที่เพาะปลูกลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ โดยคาดว่าการเก็บเกี่ยวจะเพิ่มขึ้นสูงสุดราวกลางเดือนมี.ค. นี้

ชี้สต็อกข้าวไทยกดราคาข้าว

นายเกา ดึ๊ก รัฐมนตรีเกษตรเวียดนาม ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเวียดนามว่า บริษัทท้องถิ่นจะเริ่มต้นการซื้อข้าวเพื่อเก็บสำรองตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.นี้ โดยจะมีระยะเวลาการรับซื้อนาน 1 เดือน

ขณะที่ สมาคมอาหารเวียดนาม กล่าวเพิ่มเติมว่า การเก็บสำรองข้าวจะดำเนินการตั้งแต่เดือนมี.ค. ถึงกลางเดือนเม.ย. โดยจะเป็นการสำรองข้าวในคลัง 1 ล้านตัน เพื่อช่วยพยุงราคาข้าว ช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกซบเซา และการแข่งขันจากผู้ส่งออกรายอื่นๆ ทั้งไทย อินเดีย และ พม่า เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน เวียดนามต้องรับมือกับการแข่งขันในตลาดส่งออกข้าวที่รุนแรงอย่างมากในปีนี้ เพราะสต็อกข้าวที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในไทย และข้าวราคาถูกจากอินเดีย และปากีสถาน ได้ดึงดูดผู้ซื้อที่แต่เดิมเคยเป็นลูกค้าของเวียดนาม อย่าง ประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ไป

พาณิชย์ยันไม่ขายราคาต่ำ

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การเปิดประมูลข้าววานนี้ (10 มี.ค.) รวม 5.17 แสนตัน ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นจำนวนมากถึง 34 ราย และคาดว่าน่าจะระบายได้หมด โดยวันนี้ (11 มี.ค.) จะเปิดซอง และเจรจาต่อรองกับผู้ที่เสนอราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดมากที่สุด หากผู้ประกอบการรายใดเสนอต่ำกว่าเกณฑ์ราคากลางก็จะไม่พิจารณา และยืนยันว่าไม่ระบายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าตลาดแน่นอน

ทั้งนี้ การขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับ คอฟโก คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน จำนวน 1 ล้านตัน ก็ขายในราคาสูงกว่าเวียดนามถึง 20% และคาดว่าราคา รวมถึงความต้องการซื้อข้าวจะดีขึ้น เพราะมีสถานการณ์ภัยแล้ง

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้จำหน่ายข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 นาปรัง ปีการผลิต 2555 ปีการผลิต 2555/56 (รอบ 1) และปีการผลิต 2556/57 เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและ/หรือส่งออกต่างประเทศ แบ่งเป็นชนิดข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ข้าวหอมจังหวัด ข้าวปทุมธานี ข้าวขาว 5% และปลายข้าวขาวเอวันเลิศ ปริมาณรวม 5.17 แสนตัน

โรงสีไม่ซื้อเก็บสต็อกหวั่นขาลง

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เอกชนให้ความสนใจมากขึ้น เพราะราคาข้าวในตลาดปรับลดลง และแนวโน้มยังลดลงต่อเนื่อง จากการระบายข้าวของรัฐ ขณะที่การซื้อขายข้าวในตลาดค่อนข้างซบเซา และโรงสีไม่ซื้อข้าวมาเก็บสต็อกไว้ เพราะกังวลแนวโน้มราคาอาจปรับลดลงอีก โดยขณะนี้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 7,500 -7,800 บาท ส่วนข้าวขาว 5% อยู่ที่ ตันละ 12,500 บาท แต่ชาวนาอาจขายได้ราคาต่ำกว่านี้ เพราะความชื้นสูง

แหล่งข่าวจากโรงสีข้าวกล่าวว่า ราคาข้าวไทยขณะนี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงไปอีก เนื่องจากรัฐบาลมีการขายข้าวแบบเร่งด่วน มีคาดว่าเสนอซื้อจะเฉลี่ยที่ ตันละ 9,000-10,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวในตลาด อยู่ที่ ข้าวขาว 5% ตันละ 13,000 บาท ข้าวนึ่ง ตันละ 12,800 -13,000 บาท และยิ่งหมดโครงการรับจำนำ จะทำให้ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีราคาเฉลี่ยที่ตันละ 7,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลดต่ำลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว

ชี้รัฐบาลขายข้าวแข่งชาวนา

"สภาพการค้าข้าวของไทย เมื่อมีผลผลิตจะต้องเร่งขายทันที ไม่สามารถเก็บไว้ที่ชาวนาได้ ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ตลาดข้าวในประเทศ เข้าสู่การแข่งขันกันระหว่างข้าวจากชาวนาและข้าวจากรัฐบาลที่ต้องแย่งกันเข้าสู่ตลาด ส่งผลให้ทิศทางราคาข้าวเปลือกน่าจะลดลงต่อเนื่อง"

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีจำนวนผู้เสนอซื้อ ข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มีการเปิดประมูลข้าวนั้น เพราะโรงสีให้ความสนใจเสนอซื้อร่วมด้วย ขณะที่ผู้ส่งออกยังมีผู้ประกอบการรายสำคัญๆ และผู้ประกอบการทั่วไปให้ความสนใจเสนอซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ส่งออกต้องหาข้าวส่งมอบให้ได้ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ได้รับไว้

พาณิชย์เชื่อราคาไม่ลงอีก

สำหรับทิศทางราคาข้าวในตลาดโลกไม่น่าจะตกต่ำไปกว่านี้ เพราะราคาข้าว เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน เริ่มมีเสถียรภาพทำให้ปัจจัยภายใน จะไม่กระทบต่อราคาข้าวไทยให้ลดต่ำลงไปอีก

ส่วนแผนการระบายข้าวในภูมิภาค กรมการค้าต่างประเทศ จะใช้ทีโออาร์เดียวกันกับที่ส่วนกลางใช้ แต่เปลี่ยนเฉพาะคลังที่จะเปิดขายซึ่งจะกำหนดให้อยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกส่วนสามารถเข้าเสนอซื้อข้าวได้ และรักษาหลักการการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันไว้ ส่วนผลการเคาะราคาขายจะต้องเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้พิจารณาและเสนอให้รมว.พาณิชย์อนุมัติเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องราคาและรู้ข้อมูลรายละเอียดโกดังข้าวแต่ละแห่งว่าได้ถูกระบายไปก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ และมีความพร้อมสำหรับเปิดขายหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ จะเปิดประมูลข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) ปริมาณ 2 แสนตัน ซึ่งเป็นการเปิดประมูลข้าวผ่านเอเฟท ครั้งที่ 6 มั่นใจว่าการระบายข้าวในแต่ละเดือน จะเป็นตามเป้าหมาย เดือนละ 1 ล้านตัน และส่งเงินคืนกระทรวงการคลังได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท

34 เอกชนแห่ประมูลสต็อกรัฐ

รายชื่อเอกชนที่ร่วมยื่นซองเสนอราคา ได้แก่ บริษัท ประกรวรรณรวมการ จำกัด, บริษัท กำแพงเพชร เอ๊กซ์ปอร์ต จำกัด, บริษัท ทีเอ็มมีไรซ์มิลล์ จำกัด, บริษัท เจ.พี.ไรซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1998) จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพรกิจอินเตอร์ไรซ์, บริษัท สหธัญ จำกัด, บริษัท โรงสีขุนศรี จำกัด, บริษัท โรงสีข้าวทวีพัฒนา จำกัด (นครปฐม), บริษัท กิจเจริญพรชัยชุมพล, บริษัท กิจเจริญชัยรุ่งเรือง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจประเสริฐ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟสมบูรณ์การค้า, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีนิวัตรพาณิชย์, บจก.โรงสีเทพมงคล, บจก.มหาทรัพย์พีค, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟศรีกรุงลาดกระบัง, บจก.เจียเม้ง, บริษัท อุดมสุขไรซ์ จำกัด, บจก. อิสเทิร์นไรซ์, บริษัท โกลเด้นเกรนเอ็นเตอร์ไพรส์, บริษัท โรงสีข้าวหนองหานไทยง่วน, ห้างหุ้นส่วนกำจัดสมบูรณ์พืชผล, ห้างหุ้นส่วนจำกัด มโนรมย์ธัญญกิจ, บจก.โรงสีข้าวเจริญผล, บจ.โรงสีข้าวยิ่งไพบูลย์ (2007), บจก.กรุงไทยพืชผล, บจก.เอเชียโกลเด้นไรซ์, บจก.ข้าว ซี.พี., บจก.โคสตอล เทรดดิ้ง, บริษัท ไทยฟ้า (2511) จำกัด, บริษัท นครหลวงค้าข้าว, บจก. พงษ์ลาภ หจก.โรงสีไฟทรัพย์เจริญ, บริษัท ย้งเซี๊ยะ จำกัด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

4 ทศวรรษ ตระกูล ศรีวิกรม์..

จากยุค ชอบทุกพรรค รักทุกคน สู่ยุคเลือกข้าง-การเมืองท้องถนน

ุกลางปี 2531 เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อตัดสินใจนำทีม "กลุ่ม 10 มกรา" ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ มาจัดตั้ง "พรรคประชาชน" โดยตัวเขาเองนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค

ในการเลือกตั้งทั่วไปปีเดียวกันนั้น "เฉลิมพันธ์" นักอุตสาหกรรม และแลนด์ลอร์ดย่านถนนสุขุมวิท หิ้วกระเป๋าใบใหญ่ไปลงสมัคร ส.ส.นครราชสีมา

จำได้ว่า "เจ้าสัวเฉลิมพันธ์" ให้สัมภาษณ์นิตยสาร "สู่อนาคต" (ฉบับวันที่ 22-28 มิ.ย.2531) ว่าด้วยการเข้ามาสู่วงการการเมืองอย่างหมดเปลือก จึงเป็นที่มาของคำโปรยตรงหน้าปกว่า "เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หมดไปแล้ว 20 ล้าน" และเงิน 20 ล้านบาทเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา

จากรุ่นพ่อรุ่นแม่อันโด่งดัง ตระกูล "ศรีวิกรม์" ไม่เคยห่างหายไปจากถนนการเมืองสายเลือกตั้ง และเมื่อถึงวันหนึ่ง "ลูกสาว-ลูกเขย" ออกไปเล่นการเมืองบนท้องถนน ก็นำมาซึ่งความวุ่นวายภายในครอบครัว

"เจ้าสัวเฉลิมพันธ์" จากไปแล้ว เหลือแต่ "คุณหญิงศศิมา" ที่ยังต้องดูแลธุรกิจของตระกูล และเป็นเสาหลักของครอบครัว

ก้าวแรกนำโดย "คุณหญิงอ๋อย"

ก่อนจะมาเป็น "คุณหญิงอ๋อย" หรือ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ นั้น มีนามสกุลเดิมว่า "วุฑฒินันท์" เป็นบุตรีของ พ.ต.อ.สวงศ์ วุฑฒินันท์ กับ ประกอบกูล อภัยวงศ์

คุณตาของคุณหญิงศศิมาคือ พระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งในวงการเมืองทราบดีว่า ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนแรกเป็นทายาทของพระยาอภัยภูเบศร์ แต่ตอนที่คุณหญิงศศิมาเล่นการเมือง กลับไม่เลือกพรรค ปชป.

จุดหักเหของชีวิตคุณหญิงอ๋อย คือการพบรักกับ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หนึ่งในทายาทของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ ผู้ที่เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทรณ์

พระยาศรีวิกรมาฑิตย์ ลาออกจากราชการก็ดำเนินธุรกิจค้าขายทองและซื้อขายที่ดิน จนมีที่ดินในกรุงเทพฯ มากมายกลายเป็นแลนด์ลอร์ดแห่งมหานครกรุงเทพฯ และส่งมอบมรดกกับลูกทั้งสาม คือ ท่านผู้หญิงสมศรี, สิทธิพงศ์ และเฉลิมพันธ์

ว่ากันว่า เฉลิมพันธ์ทำธุรกิจพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคุณหญิงอ๋อยยืนอยู่เคียงข้าง บุกเบิกทำธุรกิจใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ

หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ประชาธิปไตยบานสะพรั่งบานพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด

พงส์ สารสิน เพื่อนของคุณหญิงอ๋อย มาชักชวนให้ไปอยู่พรรคกิจสังคม ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคกิจสังคม พ.ศ.โน้นคือศูนย์รวมของกลุ่มทุนใหม่ และที่สุด คุณหญิงศศิมา ก็ตัดสินใจเล่นการเมืองครั้งในชีวิต ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคกิจสังคม โดยรับหน้าที่เป็นรองเลขาธิการพรรค

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2518 คุณหญิงศศิมา ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตพระโขนง แต่ผลออกมาแพ้ พิชัย รัตตกุล ผู้สมัครพรรค ปชป.เพียง 200 กว่าคะแนน

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2519 คุณหญิงศศิมาลงเขตเดิมคือเขตพระโขนง แข่งกับคนเดิม แม้เธอจะค่อนข้างมั่นใจ แต่ก็ปรากฏว่าพ่ายแพ้ไปพันกว่าคะแนน

บนถนนการเมือง ดูเหมือนคุณหญิงศศิมาจะไม่ค่อยมีโชคนัก แม้การเลือกตั้งปี 2531 เธอจะกลับมาลงสมัคร ส.ส.เขตพระโขนง ในสีเสื้อพรรคประชาชน (พรรคที่มาสามี-เฉลิมพันธ์ ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรค) ก็ยังสอบตกอีกครั้งจนได้

"เฉลิมพันธ์" เดิมพันการเมือง

แม้จะเป็นคู่คิดกันในเรื่องการทำธุรกิจ แต่ในการเมือง เฉลิมพันธ์คิดไม่ตรงกับภรรยา เฉลิมพันธ์ชอบพรรค ปชป.มานานแล้ว แถมยังชักชวนให้คุณหญิงอ๋อยเข้า ปชป.ตอนแพ้เลือกตั้งปี 2518

พอคุณหญิงศศิมาวางมือ เฉลิมพันธ์จึงเข้าพรรค ปชป.ในยุคตกต่ำ หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 โดยเวลานั้น พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค และเฉลิมพันธ์เคยเป็นเลขาธิการของพรรค

เฉลิมพันธ์ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกที่เขตพระโขนง ในสีเสื้อ ปชป. ก็สอบตก พ่ายกระแสประชากรไทยฟีเวอร์ และเว้นวรรคไปหนึ่งสมัย ก่อนจะมาลงสนาม ส.ส.อีกครั้งปี 2529 จึงได้เป็น ส.ส.กทม.สมัยแรก

ปี 2531 สมาชิกพรรค ปชป.ส่วนหนึ่งหนุนให้เฉลิมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. แต่ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเหตุนี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งกันเองในพรรค และสุดท้ายเฉลิมพันธ์กับอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่งก็ลาออกจากพรรค อันเป็นตำนาน "กลุ่ม 10 มกรา" ให้เล่าขานกันจนถึงบัดนี้

เมื่อตั้ง "พรรคประชาชน" เฉลิมพันธ์ ย้ายสนามไปลงสมัคร ส.ส.ที่นครราชสีมา ด้วยการชักชวนของ เลิศ หงษ์ภักดี อดีต ส.ส.นครราชสีมา (เลิศ หงษ์ภักดี เป็นบิดาของระนองรักษ์ และเป็นพ่อตาของไพโรจน์ สุวรรณฉวี)

ปี 2533 เฉลิมพันธ์ในฐานะ ส.ส.โคราช และหัวหน้าพรรคประชาชน ได้นำพรรคไปรวมตัวกับพรรคก้าวหน้าของ อุทัย พิมพ์ใจชน พรรครวมไทยของ ณรงค์ วงศ์วรรณ และพรรคกิจประชาคมของ บุญชู โรจนเสถียร กลายเป็น "พรรคเอกภาพ"

หลังรัฐประหาร 2534 คณะทหาร รสช.จั้งตั้ง "พรรคสามัคคีธรรม" โดยมีพ่อเลี้ยงณรงค์ เป็นหัวหน้าพรรค เฉลิมพันธ์ถูกดึงเข้าไปร่วมด้วยและมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2535/1 เฉลิมพันธ์ไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่ก็หนุนช่วย ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ลูกเขยของ เลิศ หงษ์ภักดี เป็น ส.ส.นครราชสีมา สมัยแรกได้สำเร็จ

กล่าวสำหรับเฉลิมพันธ์ บุตรชายคนสุดท้องของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ แต่งงานกับคุณหญิงศศิมา มีบุตรรวม 4 คนคือ พิมล, ชัยยุทธ, วิกร และทยา เมื่อเขาวางมือทางการเมือง ก็มีบุตรชายคนโตเข้ามาเล่นการเมืองในยุคมนต์รักประชานิยม

"ลูกคนโต" ใต้ร่มเงาทักษิณ

ก่อนจะก้าวสู่สังเวียนการเมืองเหมือนบิดามารดา "เอ" พิมล ศรีวิกรม์ เคยเป็นอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2543-44 พิมลติดสอยห้อยตาม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาร่วมก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย และได้เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเป็นเลขานุการของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ

นอกจากนั้น พิมลยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย 2 สมัย หลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 พิมลถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคการเมือง

ปี 2550 พิมลได้ช่วย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก่อตั้งกลุ่มธรรมาธิปไตย แล้วจึงไปร่วมกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

เงียบหายไปพักใหญ่ พิมลก็หวนกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2555 ซึ่งเวลานั้น น้องสาวคนเล็กได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง ในฐานะรองผู้ว่า กทม. โดยมีน้องเขยเป็นผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์

อีกด้านหนึ่ง พิมลเป็นที่รู้จักของสาธารณชน จากการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ปี 2550 โดยมีเพื่อนรักของเขาคือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นเลขาธิการสมาคมเทควันโดฯ

"เอ พิมล" กับ "ตั้น ณัฏฐพล" เป็นทั้งเพื่อนและญาติ เมื่อณัฏฐพลแต่งงานกับ "อีฟ ทยา" น้องสาวสุดรักของพิมล

"ลูกเขย-ลูกสาว"ก้าวสู่ท้องถนน

ชั่วโมงนี้ "อีฟ" ทยา ทีปสุวรรณ ลูกสาวคนเล็กของคุณหญิงศศิมา และสามี "ตั้น" ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กำลังเด่นดังในฐานะแม่ทัพ กปปส.

"ตั้น ณัฏฐพล" เกิดที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของ วีระพันธ์ ทีปสุวรรณ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และผู้บริหารองค์กรธุรกิจอีกหลายแห่ง

ณัฏฐพลเคยดูแลกิจการของครอบครัวภรรยาเช่น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรีย์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัลไทย จำกัด ประจำสาขาดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูแลการขยายตลาดพรม แบรนด์ Royal Thai ในพื้นที่ประเทศตะวันออกกลาง

ปี 2550 ณัฏฐพลเข้ามาสู่ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ส.เขต 10 กทม. ตอนแรกสอบตก แต่มีเลือกตั้งซ่อมปี 2552 จึงสอบได้ และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการพรรคฯ ส่วนภรรยา "ทยา" ก็เข้ามารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.

นัยว่า ทั้งณัฏฐพล-ทยา ต่างก็เป็นคนสนิทสายกำนันสุเทพ แม้ว่า "ลุงกำนัน" จะวางมือในฐานะเลขาธิการพรรค แต่ ณัฏฐพล ก็ยังเป็น ผอ.พรรค จนถึงวันที่ลาออกมาเป็นแกนนำ กปปส.

แล้วสถานการณ์การเมืองในตระกูล "ศรีวิกรม์" ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกสาว-ลูกเขย ในฐานแกนนำ กปปส.ไปเป่านกหวีด แสดงการประท้วง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร

จากนั้น ก็มาด้วยการเหตุปาระเบิดใส่บ้านใหญ่ของตระกูลศรีวิกรม์ ที่สุขุมวิท, ยิงกราดบ้านพักตากอากาศของคุณหญิงศศิมาที่เขาใหญ่ และแขวนระเบิดที่บ้านของณัฏฐพล ย่านสุขุมวิท

7 มี.ค.2557 ทยาได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า จะขอเว้นวรรคทางการเมือง ขอยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองชั่วคราวและคงจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมอีก แต่ณัฏฐพล-สามีในฐานะแกนนำ กปปส.ยังเคลื่อนไหวต่อไป

ก่อนหน้าที่ทยาจะตัดสินใจเว้นวรรคทางการเมือง พิมลได้โทรไปขอโทษคุณหญิงพจมาน ซึ่งฝ่ายหลังได้รับคำขอโทษ และบอกว่าไม่เป็นไร และพิมลยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลายสำนักทำนองว่า ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของน้องสาวและน้องเขย รวมทั้งการเคลื่อนไหวของ กปปส.ที่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ

ไม่ว่าการเมืองเรื่องของครอบครัว "ศรีวิกรม์" จะลงเอยอย่างไร? แต่สังคมการเมืองไทย ได้บันทึกไว้ว่า ตระกูลศรีวิกรม์ เป็นต้นแบบของการเล่นการเมืองสไตล์ "ชอบทุกพรรค รักทุกคน"

อยู่มาวันหนึ่ง คนในตระกูลศรีวิกรม์ ออกไปเล่นการเมืองบนท้องถนน ก็เจอทั้งปืน และระเบิด ซึ่งไม่เคยพานพบมาก่อน

40 ปีแล้วที่คนไทยได้เห็นตระกูลศรีวิกรม์โลดแล่นอยู่ในหลายพรรคการเมือง อาทิ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคเอกภาพ พรรคสามัคคีธรรม พรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป "ตระกูลศรีวิกรม์" คือบันทึกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย จากยุคนักเลือกตั้ง สู่ยุคนักเคลื่อนไหวบนท้องถนนเรียบร้อยแล้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ภริยา ตุลาการรัฐธรรมนูญ...?

โกงที่ดิน 51แปลง ปลอมหนังสือ หลอกโอนที่ดินเป็นของตัวเอง ศาลสั่งโอนคืน/ชดใช้ค่าเสียหายอ่วม 45 ล้าน

ไม่เพียงแค่ แทน เทือกสุบรรณ เท่านั้นที่มีชนักติดหลัง ปมปัญหา เรื่อง โกงที่ดิน

แต่หากย้อนเวลากลับไป “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำ กปปส. ผู้เป็นพ่อ ก็เคยสร้างความอื้อฉาวมาแล้ว เมื่อครั้งเป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”สมัย “รัฐบาล ชวน หลีกภัย” พ.ศ.2538 (ชวน 1 ) แล้วดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินเกษตรกร “สปก.4-01” เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในภาคใต้ แต่สุดท้ายมีแต่ชื่อ “นายทุน” และ “คนใกล้ชิดนักการเมือง” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยเฉพาะ “ทศพร เทพบุตร” สามีของ “อัญชลี เทพบุตร” เลขานุการส่วนตัวสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าถือครองที่ดิน สปก.4-01 ด้วย

ซึ่งเรื่องนี้ สุดท้ายแล้วมี “คำพิพากษาศาลฎีกา” ออกมาให้มีการ “คืนที่ดิน สปก.” อย่างชัดเจน

อีกกรณีที่น่าสนใจ ก็คือ “การถือครองที่ดินเขายายเที่ยง” จ.นครราชสีมา ของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานทท์” องคมนตรี ที่เรื่องอื้อฉาวขึ้นมาขณะดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จนสุดท้ายต้องจำใจ ย้ายสำมะโนครัว ลงมาจากเขายายเที่ยงในท้ายที่สุด

กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละกรณีดังที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เกิดกับ “กลุ่มคน” ที่ “มวลมหาสาวกประชาธิปัตย์(ปชป.)” เชิดชูว่า “คนดี” ทั้งสิ้น

แต่ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีข่าวกระเส็นกระสายมาตลอดว่า “คู่ชีวิต” ของหนึ่งใน “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ก็มี “คดีความ” เกี่ยวกับเรื่อง “ที่ดิน” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

โดย “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คนนี้ก็เป็นอีกคนที่ “มวลมหาสาวก ปชป.” นั่งยัน ยอนยันว่า “คนดี๊-คนดี” เช่นกัน !!!

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาเลขที่ 435/2556 กรณีที่ พ.ต.หญิงสินเสริม เลขะวนิช โดยนางกัลยาณี รุทระกาญจน์ มูลนิธิสินเสริมธรรม และ น.ส.สุภา วงศ์เสนา ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้องร้อง นางทีปสุรางค์ ภักดีธนากุล (สกุลเดิม สุนทรพันธ์) ภรรยานายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนางจินดา สุนทรพันธ์ กรณีที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20550 และ 23716 ถึง 23765 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวม 51 แปลง โดยเมื่อปี 2538 ได้ดำเนินการรวมทั้งดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นแปลงเดียวกันแล้วแบ่งเป็นแปลงย่อยไม่เกินแปลงละ 50 ตารางวา เพื่อนำออกขายแก่บุคคลทั่วไป โดยนางทีปสุรางค์ ภักดีธนากุล ตกลงรับเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทย์เพื่อยื่นเรื่องราวของรวมโฉนดที่ดินแล้วแบ่งแยกที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง

จากนั้นนางทีปสุรางค์นำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจประมาณ 15 ฉบับ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ ซึ่งไม่ได้กรอกข้อความไว้ โดยนางทีปสุรางค์ อ้างว่าจะนำไปกรอกข้อความที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจนโจทก์หลงเชื่อได้ลงลายมือชื่อ และมอบหนังสือมอบอำนาจทั้ง 15 ฉบับ ให้นางทีปสุรางค์ไป ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2540 โจทก์ทราบว่านางทีปสุรางค์ มิได้รวมและแบ่งแยกโฉนดที่ดินทั้ง 51 แปลง ตามเจตนาของโจทก์ตั้งแต่แรก แต่กลับสมคบกับจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ดังกล่าว ไปกรอกข้อความจดทะเบียนโอนที่ดินไปเป็นของจำเลยทั้งสอง โดยนางทีปสุรางค์ กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจจำนวน 5 ฉบับ

โดยหนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 1 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 11 แปลง ให้แก่นางทีปสุรางค์เอง และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 2 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 24 แปลงแก่นางทีปสุรางค์เอง และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 3 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 7 แปลงแก่จำเลยที่ 2 โดยใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 4 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 7 แปลงแก่จำเลยที่ 2 และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538

และ หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 5 นางทีปสุรางค์ ร่วมกับพวกกรอกข้อความอ้างว่าเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดิน รวม 2 แปลงแก่จำเลยที่ 2 และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้ตัวเอง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2539

ซึ่งการกรกอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์มิได้ขายที่ดินและไมเคยได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปโดยผิดเจตนาของโจทก์ การกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เป็นการร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือมอบอำนาจทั้ง 5 ฉบับ จึงเป็นเอกสารปลอม จะนำมาใช้จดทะเบียนนิติกรรมใดๆไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสอง นำไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินจึงเป็นโมฆะ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินแล้วทะเบียนโอนคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์เกิดความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันที่ดินมีราคาเป็นเงิน 45,000,000 บาท และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวทั้ง 5 ฉบับข้างต้นทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 51 แปลงและจดทะเบียนโอนคืนแก่โจกท์โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนให้ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าที่ดิน จำนวน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จตามโจทก์

โดยในการพิพากษาของ “ศาลฎีกา” ได้วินิจฉัยว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่เป็นกรณีที่ นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยไม่ได้กรอกข้อความแล้วนำไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตัวเอง และจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นไปตามเจตนาของโจทก์และโจทก์ร่วม ที่มอบอำนาจให้นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 ไปแบ่งแยกที่ดินพิพาท เป็นแปลงย่อยเพื่อขายต่อเท่านั้น การกระทำของนางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นความเสียหายต่างๆ หากเกิดขึ้นจริงดังที่นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ก็เกิดจากการทำผิดกฎหมายและศีลธรรมทั้งสิ้น

โดยพิพากษากลับให้นางทีปสุรางค์ จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม โอนขายที่ดินตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 ทุกฉบับ ระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทจำนวน 35 แปลงแล้วทะเบียนโอนกลับมาเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ร่วม โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม การโอนขายที่ดิน ตามหนังสือมอบอำนาจ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2538 และฉบับลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 ระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในที่ดินพิพาทจำนวน 16 แปลง แล้วจดทะเบียนโอนกลับมาเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนที่ดินกลับมาเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ชดใช้ราคาที่ดิน 45,000,000 บาท ให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสามศาลแทนโจทก์และโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียม ในส่วนของฟ้องแย้งทั้ง 3 ศาลให้ !

คนดี…คนดี !!!









ที่มา.พรนครสาส์น
----------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

เพื่อไทย : จัดทัพใหม่ โละคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ทิ้ง.


เพียงแค่เดินหน้าให้ ส.ส.ผลักดัน นิรโทษกรรม ฉบับ สุดซอย ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ทั้งกระดาน

เพียงแค่ตัดสินใจให้ ส.ส.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องเจอข้อหาล้มล้างการปกครองไม่ว่ารายมาตรา หรือ ทั้งฉบับ

เพียงแค่กดปุ่มให้ ส.ส.เดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดินมาอยู่ดีๆ ต้องล้มคว่ำไปนับแต่นั้น

ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่มี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานทั้งสิ้น

แม้ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะประกอบด้วยบุคคลระดับ บิ๊กเนม เขี้ยวลากดินทางการเมือง ไม่ว่าแกนนำเสื้อแดงอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ วีระ มุสิกพงศ์ – จาตุรนต์ ฉายแสง ภูมิธรรม เวชยชัย โภคิน พลกุล ฯลฯ

แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้าย กลับผิดพลาด หลายครั้ง หลายครานำพรรคไปสู่ทางตัน

นั่นเพราะ แต่ละคนล้วนมีต้นทุน แบ๊คอัพส่วนตัว ทำให้ต่างคนต่าง โชว์เพาเวอร์ ในวงประชุม บางครั้งอ้างคำสั่งตรงจากดูไบ บางครั้งอ้างความชำนาญส่วนตัว บางครั้งอ้างคอนเนคชั่น

เสียงล่ำลือที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง อันมาจากความผิดพลาดที่ต้องการ โชว์พาวเวอร์ -โชว์ภูมิ  เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็มาจากการตัดสินใจของ “โภคิน พลกุล” เพียงคนเดียว

หรือบางครั้งก็มีการอ้างสัญญาณพิเศษว่า “เคลียร์ทุกระดับ” แล้ว แต่เอาเข้าจริงกลับ “เจอหลอก”

กระทั่งกลายเป็นคลื่นใต้น้ำในพรรค เพราะ ส.ส.ต่างไม่พอใจ บางครั้งแปลงชื่อจากวงยุทธศาสตร์กลายเป็น คณะยุทธสัตว์ แม้แต่ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รมว.แรงงาน มือบู๊ของพรรคก็เอ่ยเหน็บแนมคณะกรรมการดังกล่าวอยู่เสมอ

ผมไม่เชื่อคณะกรรมการชุดนี้

หลังความพ่ายแพ้ทั้งหมด นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในพรรคเพื่อไทย นั่นคือ เปลี่ยนโครงสร้างกรรมการยุทธศาสตร์พรรคใหม่ ให้ ส.ส.ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในพรรคมากขึ้น ก่อนที่รอยร้าวจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

กระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นจากแหล่งข่าวใน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันอังคารที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา มีการแจ้งต่อที่ประชุมว่าว่า พรรคได้ยุบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ไม่เชื่อมโยงกับความคิดของ ส.ส.ของพรรค ทำให้การประเมินสถานการณ์การเมือง เพื่อกำหนดทิศทางของพรรคหลายครั้งเกิดความผิดพลาด เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเหตุให้พรรคต้องตกที่นั่งลำบาก ทั้งนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยุบคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อลดขั้นตอนในการตัดสินใจของพรรคลง

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาทิศทางของพรรคในโครงสร้างใหม่นั้น จะมาจากข้อสรุปของคณะกรรมการภาคต่างๆ ของพรรค จากนั้นจะนำข้อสรุปแต่ละภาคมาให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคตัดสินว่าจะเลือกทางไหน เช่น กรณีมติของคณะกรรมการภาคใต้ ที่เสนอให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันทที่ 30 มีนาคม ก่อนข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ส.ส. แล้วจึงเป็นมติของพรรคเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

“คนเสื้อแดงไม่เอาอำมาตย์เช่นไร ส.ส.ไม่อยากได้คณะกรรมการยุทธศาสตร์แบบเดียวกัน เพราะอำมาตย์คอยคั่นกลางระหว่างประชาชนกับสถาบัน แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง เวลาตัดสินใจให้พรรคทำอะไรก็ไม่เคยฟังเสียง ส.ส.เลย ถูกหลอกตลอด ส.ส.รู้แค่รับคำสั่งจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ในโครงสร้างใหม่คนที่เคยนั่งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็จะลงมานั่งในที่ประชุมกับ ส.ส. ไม่ได้นั่งบนเวทีเหมือนก่อน แต่ให้ประธานภาคต่างๆ ขึ้นไปนั่งบนเวทีประชุมแทน” แหล่งข่าว กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งจากพรรคให้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการ แต่ยอมรับว่าพรรคมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์จริง แต่ไม่ได้ถึงกับยุบคณะกรรมการดังกล่าวทิ้งไป เพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เป็นคณะกรรมการประสานภารกิจ และปรับโครงสร้างใหม่โดยให้ ส.ส.ในพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทิศทางพรรคมากขึ้น โดยประธานการคณะกรรมการยังคงเป็นนายสมชายเช่นเดิม และมีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ ขณะเดียวกันที่ประชุมใหญ่พรรคก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยให้ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่ประธานการประชุมและมีนายชวลิตทำหน้าที่เลขานุการ

“สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มาเป็นคณะกรรมการประสานภารกิจ เพราะต้องการให้การสื่อสารระหว่างคณะกรรมการกับ ส.ส.มีความชัดเจนขึ้น ไม่เกิดความสับสน และคณะกรรมการจะไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทางพรรคทั้งหมด แต่จะให้ที่ประชุมพรรคร่วมโหวตทิศทางต่างๆ ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

การเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ แม้เป็นการปรับเปลี่ยนเล็กๆ แต่นัยยะไม่ธรรมดา

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

M-79 กับปริศนาที่ไขยาก !!?

โดย : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์

แก๊งเอ็ม79 กับปริศนาที่ไขยาก ตำรวจลุยค้น8จังหวัดสกัด ฮาร์ดคอร์.

จากคดีระเบิดที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เวทีปราศรัยสี่แยกราชประสงค์ และเวทีปราศรัยในตลาดกลาง อ.เขาสมิง จ.ตราด ทำให้เด็กผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปถึง 4 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมากนั้น นับเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วประเทศ

ถือเป็นความรุนแรงจากผลของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยากจะยอมรับ...

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ท่าทีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไป แม้กระทั่งตำรวจ จากเดิมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง "เกียร์ว่าง" หรือ "เข้าข้างรัฐบาล" ก็มีการเร่งรัดงานสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอย่างคึกคักขึ้น กระทั่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ออกไปรับมอบช่อดอกไม้จากกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ด้วยตนเอง เมื่อครั้งที่ กปปส.เดินทางไปเยี่ยมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 26 ก.พ.

หลังจากนั้นไม่ทันข้ามวัน ก็มีการแถลงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนในหลายๆ คดีที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับความเสียหาย โดยมีการนำหลักฐานไปขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมทั้งคดียิง นายสุทิน ธราทิน แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่หน้าวัดศรีเอี่ยม เขตบางนา ก็สามารถขอหมายจับชายตามภาพที่ถืออาวุธปืนด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ท่าทีของตำรวจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันกลับมาตั้งความหวังว่าตำรวจจะช่วยคลี่คลายคดีเพื่อขจัดกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงให้หมดสิ้น และทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย สมดั่งที่ได้รับการขนานนาม "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์"

โดยเฉพาะคดียิงเอ็ม 79 พล.ต.อ.อดุลย์ ก็ได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษขึ้นมาคลี่คลายคดี พร้อมมอบหมายให้ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้ช่วย ผบ.ตร. รับผิดชอบภารกิจนี้

พล.ต.ท.วินัย เปิดใจกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การทำคดีระเบิดเอ็ม79 ที่เกิดขึ้นทั้ง 10 คดีในช่วงการชุมนุม กปส.ที่ผ่านมา ค่อนข้างยาก เพราะ 1.เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ทำให้หาพยานหลักฐานยาก ต่างจากคดีที่เกิดกับบุคคลทั่วไป ซึ่งมีสาเหตุเพียงไม่กี่อย่าง จึงสืบสวนสอบสวนได้ไม่ยาก และ 2.อาวุธประเภทนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เวลายิงไม่มีเสียง เมื่อยิงไปแล้วระยะที่ลูกระเบิดตกห่างจากจุดยิงถึง 300-400 เมตร ทำให้ไม่ค่อยมีประจักษ์พยาน เมื่อกระสุนตกก็ระเบิดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้ยากต่อการตรวจพิสูจน์และหาวัตถุพยาน

แต่ถึงกระนั้น พล.ต.ท.วินัย บอกว่า ในจำนวนคดีเอ็ม79 ที่เกิดขึ้นทั้ง 10 คดี มีบางคดีที่พอจะได้เบาะแสของผู้ต้องสงสัยเช่นกัน โดยเฉพาะคดียิงเอ็ม79 ใส่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มีพยานเห็นและมีภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ยืนยันว่าคนร้ายมีทั้งหมด 3 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 ยิงกระสุนขนาด 40 มม.จากซอยวิภาวดี 60/1

เครื่องยิงลูกระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นแบบบรรจุลูกระเบิดทีละลูก เพราะพยานเห็นพฤติกรรมคนร้ายขณะก่อเหตุ ได้หักปืนเพื่อบรรจุลูกระเบิด ฉะนั้นจึงไม่ได้ใช้เครื่องส่งแบบบรรจุที่ละ 6 ลูกตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน" ผู้ช่วย ผบ.ตร.ระบุ

พล.ต.ท.วินัย บอกด้วยว่า นอกจากสาเหตุหลักๆที่ทำให้การสืบสวนเป็นไปด้วยความยากลำบากแล้ว ชุดสืบสวนยังต้องเผชิญกับปัจจัยแทรกซ้อนที่เกิดกับการตรวจสอบเบาะแสภาพผู้ต้องสงสัยหรือยานพาหนะจากกล้องซีซีทีวีในหลายๆ จุดด้วย

แม้ว่าจะมีอุปสรรคในการสืบสวนคลี่คลายคดี แต่การสืบสวนสอบสวนไม่ได้จำกัดเฉพาะหลักฐานจากที่เกิดเหตุเท่านั้น โดย พล.ต.ท.วินัย กล่าวว่า ชุดสืบสวนได้นำข้อมูลจากอีกหลายส่วนมาร่วมวิเคราะห์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลคดียิงเอ็ม79 ที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 48-49 และที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 52-53

หรือข้อมูลการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามในช่วงการชุมนุมปี 53 และครั้งอื่นๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อตัดกลุ่มผู้ต้องสงสัยให้แคบลง นอกจากนั้นยังอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากการสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มฮาร์ดคอร์ร่วมวิเคราะห์ด้วย

"จากการสืบสวนเราพบว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกลุ่มฮาร์ดคอร์ แต่ละกลุ่มมีเป็น 10 คน แต่ว่าจะมีไม่กี่กลุ่มที่ใช้ระเบิดชนิดนี้ เพราะการใช้ต้องอาศัยความชำนาญ และต้องจัดหาเครื่องยิงและลูกกระสุนได้ด้วย จึงต้องมีศักยภาพพอสมควร" หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษคลี่คลายคดีเอ็ม79 ระบุ

ทั้งนี้ ชุดสืบสวนพิเศษชุด พล.ต.ท.วินัย ไม่ได้รับมอบหมายเพียงเข้าไปคลี่คลายคดีเพื่อจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีเท่านั้น แต่ยังมีภารกิจในการหยุดยั้งกลุ่มฮาร์ดคอร์ไม่ให้ก่อเหตุป่วนด้วย โดยในส่วนของการหยุดยั้งการก่อเหตุรุนแรง ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ ที่รับผิดชอบพื้นที่เป้าหมายเข้าไปกดดันเพื่อป้องปรามแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการจัดกำลังลงพื้นที่กดดันกลุ่มฮาร์ดคอร์ในหลายจังหวัด

"เราระดมตรวจค้นมาแล้วกว่า 100 จุด แต่ก็ยังไม่พบอาวุธใดๆ โดยจุดต่างๆ ที่เข้ากดดัน อยู่ในพื้นที่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ"

นอกจากรับผิดชอบคลี่คลายคดีระเบิดเอ็ม79 แล้ว ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.วินัย ยังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ทั้งที่เป็นผู้ต้องหาก่อเหตุรุนแรง และแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีหมายจับติดตัวด้วย

ต่อข้อถามว่า ในการก่อเหตุแต่ละครั้งนั้น กลุ่มคนร้ายมีการแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ มีชุดล่วงหน้า ชุดลงมือ ชุดหลบหนี มีเซฟเฮาส์สำหรับซ่อนตัวหรือไม่ พล.ต.ท.วินัย ได้ยกตัวอย่างคดีปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 19 ม.ค.57 ซึ่งศาลได้อนุมัติหมายจับ นายกฤษดา ไชยแค ตามภาพจากกล้องวงจรปิดเมื่อไม่นานมานี้ จากการตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า เขาก่อคดีเพียงคนเดียว โดยขี่รถจักรยานยนต์มาจากคลองเตย แล้วมาก่อเหตุ เพื่อปาระเบิดแล้วก็หลบหนีไปคนเดียว

"จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหารายนี้มีแนวคิดรุนแรงทางการเมือง และก่อเหตุคนเดียว นอกจากเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้แล้วยังตกเป็นผู้ต้องสงสัยปาระเบิดที่ถนนบรรทัดทอง (เมื่อ 17 ม.ค.57) ด้วย"

ส่วนที่มีกระแสข่าวพาดพิงว่าพวกฮาร์ดคอร์เหล่านี้เป็นคนของ "นายพลเฒ่า" คนหนึ่งนั้น พล.ต.ท.วินัย บอกว่า เป็นการคาดการณ์กันไป แต่ตำรวจจะพูดอะไรต้องมีหลักฐาน ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้...

แต่หากพยานหลักฐานไปถึงใคร หรือกลุ่มใด ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งหมด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

ไครเมียลงมติแยกตัวไปอยู่กับรัสเซีย !!?

รัฐสภาสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียลงมติขอไปอยู่กับสหพันธรัฐรัสเซียและขอให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย พิจารณาคำขอดังกล่าว ซึ่งจะเปิดให้ชาวไครเมียลงประชามติในวันที่ 16 มีนาคมนี้

นายอาร์เซนี ยัตเซยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี หลังจากการเจรจากับบรรดาผู้นำสหภาพยุโรปหรืออียูในการประชุมฉุกเฉินฉุกเฉินเรื่องวิกฤติยูเครนว่ามติของรัฐสภาเขตไครเมียในการแยกเขตไครเมียไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั้นเป็นการตัดสินใจ “ผิดกฎหมาย”และกล่าวเพิ่มเติมว่าขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลรัสเซียว่าอย่าสนับสนุนพวกที่คิดแบ่งแยกดินแดน

ทั้งนี้ ส.ส.ที่สนับสนุนรัสเซียในเขตไครเมีย ยื่นข้อเรียกร้องไปยังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ขณะที่กองทัพรัสเซียยังคงยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ในคาบสมุทรไครเมียอยู่ต่อไป โดยการจัดการแสดงประชามติดังกล่าวซึ่งเลื่อนมาจากแผนการเดิมวันที่ 30 มีนาคม สมาชิกรัฐสภาไครเมียคนหนึ่งเผยว่า สมาชิกสภา 78 คน จากทั้งหมด 86 คน ลงมติสนับสนุนญัตติ 2 เรื่องในวันนี้ เรื่องแรกเป็นการขอเข้าร่วมกับรัสเซีย โดยได้ขอให้ผู้นำและรัฐสภารัสเซียพิจารณาคำขอนี้แล้ว เรื่องที่สองเป็นการกำหนดลงประชามติในวันที่ 16 มีนาคม ให้ชาวไครเมียลงประชามติใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียหรือไม่ ประเด็นที่สองคือ ต้องการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2535 ที่ให้อำนาจในการปกครองตนเองอย่างกว้างขวางไม่ต่างจากการเป็นรัฐเอกราชหรือไม่

ไครเมียเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียตั้งแต่ปลายคริสศตวรรษที่ 18 ต่อมานายนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต ได้ยกให้เป็นของขวัญแก่ยูเครนในปี 2497 ซึ่งในขณะนั้นทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียตที่ต่อมาล่มสลายในปี 2534

ที่มา.มติชน
//////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ข้อหาแยกประเทศ VS ข้อหา-ข้ออ้าง !!?

ประเด็นว่าด้วยเรื่อง แยกประเทศ เป็นหัวข้อร้อนแรงประจำสัปดาห์......

มิใช่เพียงเพราะแกนนำของม็อบนกหวีดหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการโจมตีรัฐบาล

หรือเพียงเพราะ ผบ.ทบ.ออกคำสั่งให้ทหารในสังกัดไปดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ "เข้าข่าย" เท่านั้น

แต่ยังเพราะกรณีดังกล่าวได้รับการตอบโต้-ชี้แจงอย่างหนักหน่วงเอาจริงเอาจังไม่แพ้กันจากผู้ถูกพาดพิง

และไม่บ่อยนักที่นายกรัฐมนตรีจะแสดงจุดยืน "ชัดเจน" เช่นนี้

4มี.ค. หลังการประชุมสภากลาโหม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า วันนี้ได้เน้นย้ำว่าจะต้องร่วมมือกันและไม่ให้เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกดินแดน เพื่อที่จะนำความสงบความสามัคคีมาสู่ประเทศไทย

"ตอนนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเข้าใจของประชาชนก็จะเกิดปัญหา จะต้องดำเนินการทางกฎหมาย พร้อมกับควบคู่การทำความเข้าใจกับประชาชน

"และจะต้องปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่เช่นเดียวกัน

"โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ"

ย้อนกลับไปวันที่ 2 มี.ค. พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. สั่งการให้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จ.เชียงใหม่ กับ กลุ่มเสื้อแดง จ.พะเยา

ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ กรณีการแบ่งแยกดินแดน จัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนา (สปป.ล้านนา)

ย้อนกลับไปอีก 1 วัน หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งระบุว่า ได้สัมภาษณ์ นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำ นปช.กลุ่ม "รักเชียงใหม่ 51" ซึ่งยืนยันว่าทางกลุ่มมีการพูดคุยกันเรื่องแบ่งแยกประเทศมาแล้วกว่า 6 เดือน

และเมื่อเรื่องบานปลายออกไป เครือสื่อดังกล่าวยังยืนยันในวันที่ 3 มี.ค.ว่า ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์นายเพชรวรรตทางโทรศัพท์ และตลอดการสัมภาษณ์ได้ถามย้ำเรื่องดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด

ขณะที่นายเพชรวรรตเปิดแถลงข่าวตอบโต้ว่า ผู้สื่อข่าวรายดังกล่าวถามว่า สปป.ล้านนา เป็นอย่างไร ตนก็ตอบกลับไปว่า "มันเป็นอย่างไร คือ สปป.ลาวหรือ?" เพราะไม่รู้จักกับคนที่ตั้งกลุ่ม สปป.ล้านนา จริงๆ

เมื่อผู้สื่อข่าวรายดังกล่าวมีการถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการแบ่งแยกประเทศ ก็ชี้แจงไปว่า การแบ่งแยกประเทศทำไม่ได้เพราะคนในประเทศมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ภาษาเหมือนกัน มีในหลวงองค์เดียวกัน ส่วนในทางวิชาการแล้ว บางกรณีประเทศหนึ่งอาจมีรูปแบบการปกครองหลายแบบ เช่น จีนที่มีฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษ

และถ้ามีใครฟ้องมา ก็จะสู้คดี รวมทั้งจะฟ้องกลับด้วยที่ทำให้เสื่อมเสีย

และที่ร้อนแรงไม่แพ้กันคือแถลงการณ์ของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยต่อผู้บัญชาการทหารบก ว่า ชื่อเต็มของ สปป.ล้านนา คือ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา จุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่มีนโยบายแบ่งแยกดินแดนใดๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งกองทัพบกควรตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อข่าวนั้นมาจากสื่อที่มีพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูลเป็นนิจศีล

และแม้ว่า สปป.จะเห็นว่าความคิดเห็นดังกล่าวยากที่จะเป็นจริงได้ แต่ก็สะท้อนความรู้สึกคับแค้นใจของประชาชนต่อความอยุติธรรมที่เกิดจากการไม่เคารพสิทธิ การทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มผู้มีอำนาจ

ฉะนั้น แทนที่จะมุ่งเอาผิดทางกฎหมายต่อประชาชน ผู้มีอำนาจและกลุ่มการเมืองต่างๆ พึงตั้งคำถามและตอบคำถามนี้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง

เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยแตกแยกมากไปกว่านี้

แยกประเทศจะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพียงข้ออ้างน้ำผึ้งหยดใหม่ เพื่อเปิดฉากการเมืององก์ต่อไป

น่าสนใจ น่าติดตาม

ที่มา:มติชน
//////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปรากฏการณ์ : Unfriend .

สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราวันนี้หนักหนา หันไปทางไหนมีแต่เรื่องไม่สบายใจที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะเป็นแบบนี้ไป อีกนานแค่ไหน ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมร้าวลึกจนยากที่จะคลี่คลายได้ ไม่น่าเชื่อว่าเราจะเดินมาไกลถึงจุดนี้ 

เมื่อไรจะจบ จะจบแบบไหน ถามนักธุรกิจรายไหนรายนั้น วันนี้ได้คำตอบแค่ว่าจะจบแบบไหนก็ได้ขอให้จบสักที จบได้เร็วที่สุดยิ่งดี เพราะเมื่อไรที่จบได้ก็จะได้เริ่มต้นทำมาหากินกันต่อไป จะวางแผนลงทุนอะไรใหม่ ๆ จะจัดกิจกรรมการตลาดอัดฉีดยอดขาย ก็เริ่มต้นกันได้สักที 

แต่ถ้าเป็นไปแบบนี้ก็ไม่มีใครกล้าขยับอะไรมาก เดินหน้ากันไปแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ ไม่รู้อนาคต 

ความไม่แน่นอนไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่เฉพาะกับธุรกิจ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการดำเนินชีวิตประจำวันปกติก็ไม่เว้น 

เดี๋ยวนี้ก่อนออกจากบ้านต้องดูข่าวเช็กข้อมูลในทวิตเตอร์ว่า มีปิดถนนที่ไหนบ้าง จะไปไหนทีต้องตรวจสอบเส้นทางและเผื่อเวลา 

กูรูเศรษฐกิจนักธุรกิจใหญ่พูดตรงกันว่า เป็นแบบนี้ต่อไป ไม่เกินกลางปีพังกันไปหมดแน่ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร 

สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ คำกล่าวนี้ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ 

เราจะต้องลงทุนลงแรงและใช้เวลาปฏิรูปกอบกู้บ้านเมืองและเศรษฐกิจบนซากปรักหักพังเป็นเวลานานแค่ไหน กว่าที่จะกลับมาแข็งแรง เดินและวิ่งได้อีกครั้ง จะใช้เวลานานแค่ไหนอาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เราจะเริ่มต้นกันได้เมื่อไร 

จบเมื่อไรสำคัญก็จริง ขอให้จบสักทีก็สำคัญ แต่จบแบบไหนไม่ได้สำคัญน้อยกว่าจบเมื่อไร เพราะถ้าจบแบบไม่จบจริง
แค่กลบฝังปัญหาบางอย่างไว้ ก็เท่ากับรอวันปะทุอีกครั้งเท่านั้นเอง 

แต่นาทีนี้เชื่อว่า ใคร ๆ ก็อยากเห็นบรรทัดสุดท้ายโดยเร็ว 

เราทั้งนั่งดู และเข้าไปเป็นตัวประกอบในบางฉากบางตอนของหนังเรื่องนี้ยาวนานเกินไปแล้ว ฉันเองเชื่อมั่นจริง ๆ ว่า ไม่ว่าเราจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันสักแค่ไหน 

แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังรักและหวังดีต่อบ้านเมือง อยากเห็นประเทศสงบสุข กลับมาเป็นสยามเมืองยิ้มเหมือนที่เคยเป็นอีกครั้ง แม้ในใจจะแอบคิดว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะอะไร ก็ ถึงขนาดที่ญาติพี่น้องคนในครอบครัวเราเองยังมีความคิดเห็นต่างกัน และไม่ใช่แค่แตกต่างธรรมดา ในบางครอบครัวถึงขั้นแตกแยก จนไม่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการเมืองกันได้เลย ถ้าแม้แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ กว่าทุกอย่างจะคลี่คลายเหมือนเดิมคงใช้เวลาอีกนาน 

ปัญหาในบ้านสะท้อนถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าในบ้านเมืองในประเทศของเรา คำว่า "คนไทยลืมง่าย" จะยังใช้ได้อยู่อีกไหม 

ขยับจากบ้านมายังสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง "เฟซบุ๊ก"เห็นได้ชัดเจนมาก และคนส่วนใหญ่ในเวลานี้มีประสบการณ์ที่ไม่แตกต่างกันนัก 

เมื่อก่อน การแชร์ความคิดความเห็นและข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัวภายในเครือข่าย"เพื่อน" ทั้งที่เป็น "เพื่อน" กันในชีวิตจริงหรือ แค่คนรู้จัก และอาจไม่รู้จัก แต่ถ้ายอมรับให้มาอยู่ในเครือข่ายเพื่อนของแต่ละคน ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา แต่ในห้วงที่การเมืองร้อนแรง ความคิดความเห็นแตกต่าง มีปรากฏการณ์ "ยกเลิกการเป็นเพื่อน" เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง 

การสกรีนหรือเลือก เพื่อนให้เข้ามาอยู่ร่วมในเครือข่ายของเรา อันที่จริงนับว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำ เพราะก็แปะป้ายอยู่แล้วว่า คนที่อยู่ในเครือข่ายของเรา 

เรายอมรับเขาในฐานะ "เพื่อน"การ จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวของเราเองว่าเราทำอะไรในแต่ละวัน คิดเห็น และมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ก็ควรที่จะแบ่งปันกันเฉพาะในหมู่เพื่อนฝูง 

ลองค้นหาความหมายของคำว่า "เพื่อน" ในกูเกิล ได้คำตอบว่า เพื่อน คือบุคคลที่คบกับเราในลักษณะที่เราเป็นอยู่โดยเราไม่ต้องใส่หน้ากาก เพื่อน คือผู้ที่รักใคร่ชอบพอกัน และกระทำความดีต่อกันเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ ไม่เลือกเพศ วัย ความรู้ ชาติ ศาสนา 

ลองค้นหาต่อมาถึงคำว่า "มิตร" หมายถึง เพื่อนผู้รักใคร่คุ้นเคยกัน เป็นผู้มีไมตรีเยื่อใยต่อกัน 

ในเฟซบุ๊กของเราเอง ถ้าเรายอมรับใครเข้ามาเป็นเพื่อนในเครือข่ายของเรา ก็สมควรที่จะต้องเป็นกลุ่มคนที่เป็นเพื่อนในความหมายข้างต้น 

ถ้าที่ผ่านมากดรับเป็นเพื่อนโดยไม่เคยสกรีน แค่เคยรู้จัก คลับคล้ายคลับคลา หรือแค่คุ้นชื่อคุ้นหน้าก็รับเข้ามา การอันเฟรนด์ หรือยกเลิกความเป็นเพื่อนจึงไม่น่าจะผิดปกติอะไร 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้กลับไม่ปกติธรรมดา เพราะมีไม่น้อยที่อันเฟรนด์เพื่อนในชีวิตจริงที่ใช้เวลาไม่ใช่น้อยสร้างมิตรภาพนั้นขึ้นมา แต่วันนี้ต้องมายกเลิกความเป็นเพื่อน ถึงจะใน "เฟซบุ๊ก" ก็เถอะ ไม่ใช่แค่การขึ้นป้ายห้ามรบกวนชั่วคราว แต่ได้ก้าวข้ามไปสู่การปิดประตูบ้าน แยกคนที่เห็นแตกต่างไปอยู่อีกฟากฝั่ง ใช่หรือไม่ว่า ถ้าอีกฟากเป็นขาว อีกฝั่งก็ต้องเป็นดำ ถ้าอีกด้านดี อีกด้านก็ต้องเลวเท่านั้น จึงอย่าต้องมารับมารู้ความเป็นไปของกันและกัน ไม่ต้องพูดคุย ทักทาย หรือจะแค่กดไลก์ก็ตาม 

ใช่หรือไม่ว่า ปรากฏการณ์อันเฟรนด์ใน "เฟซบุ๊ก" เป็นภาพสะท้อนของร่องรอยปริแยกในความสัมพันธ์ในชีวิตจริง ระหว่างเพื่อน ระหว่างคนในบริษัทในสังคม และในประเทศของเรา ในโปรแกรมแชต "ไลน์" ก็ไม่ต่างจากพื้นที่ใน เฟซบุ๊กมากนัก คนที่ใช้ไลน์แต่ละคนมักจะมีไลน์กรุ๊ปคนละหลายกรุ๊ป มีทั้งกลุ่มเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย กลุ่มเพื่อนในที่ทำงาน หรือกลุ่มเพื่อนที่รู้จักในการงานอาชีพ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผ่านมา

ในแต่ละกรุ๊ปก็ทักทายเฮฮาสัพเพเหระ แบ่งปันข่าวสารข้อมูลกันเป็นปกติธรรมดา แต่วันนี้หลายคนเลือกที่จะออกจากกรุ๊ปไลน์โน่นนี่ "ไลน์" ต่างจากเฟซบุ๊กตรงที่เมื่อคนตั้งกลุ่มไลน์ดึงเราเข้ากลุ่มแล้ว ถ้าเราจะไม่อยู่ในกลุ่มก็ต้องเลือกดีลีตตนเองออกจากกลุ่มไปเอง 

ไม่น่าเชื่อว่า เราเดินมาถึงจุดที่ไม่สามารถยอมรับฟังกันและกันได้อีกต่อไป 

ถึงอย่างนั้นฉันก็ยังเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ยังรักและหวังดีต่อบ้านเมืองของเรา และอยากเห็นปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายโดยเร็ว เพื่อที่เราจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างแท้จริง 

ขอเพียงแต่เริ่มต้นไปสู่จุดนั้นได้ ไม่ว่าฝั่งไหน ต้องไม่คิดว่า เป้าหมายคือ "ชัยชนะ" เมื่อมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้ การเดินหน้าไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าจึงไม่ใช่การเร่งปิดเกมเพื่อกำชัยชนะ แต่คือการเปิดใจ เลิกแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา หันหน้ามาคุยกันว่า เราจะเดินร่วมกันต่อไปได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ตัวเราเองหรือพวกพ้อง แต่เพื่อประเทศชาติของเราทุกคน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

นายกฯย้ำ..... ที่ประชุมสภากลาโหม ต้องปฏิบัติกับประชาชนอย่าง เสมอภาคเท่าเทียมทุกกลุ่ม !!

หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม ประจำเดือนมี.ค. โดยมีผบ.สส.และผบ.เหล่าทัพเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatra มีเนื้อหาระบุว่า วันนี้ในที่ประชุมสภากลาโหมได้เน้นย้ำกับหน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพ ให้ดูแลเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดกฎหมายและที่อยู่นอกเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยได้เน้นย้ำว่าจะต้องร่วมมือกันและไม่ให้เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกดินแดนเพื่อที่จะนำความสงบความสามัคคีมาสู่ประเทศไทย

ประเด็นต่างๆตอนนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเข้าใจของประชาชนก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นจะต้องดำเนินการทางกฎหมาย พร้อมกับควบคู่กับการทำความเข้าใจกับประชาชนและจะต้องปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่เช่นเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาคและจังหวัดต้องช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่ค่ะ" นายกฯ ระบุ

ที่หอประชุม 80 ปี บก.ทอ. พ.อ.ปภาธิป สว่างแสง โฆษกกห. แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ประจำเดือนมี.ค. ซึ่งมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานการประชุม มีผบ.สส.และผบ.เหล่าทัพเข้าร่วม โดยกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอให้หน่วยขึ้นตรงและเหล่าทัพที่รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามสร้างความเข้าใจ ความมั่นใจ ในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” รวมทั้งให้นำแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยสันติวิธีของรัฐบาล มาใช้อย่างจริงจัง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งยังฝากชมเชยกำลังพลทุกนาย ซึ่งทุ่มเทเสียสละปฏิบัติหน้าที่


ที่มา.ข่าวสด
//////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ : การแบ่งแยกดินแดนของประเทศไทย !!?

สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จากการเกิดกระแสของการแบ่งแยกดินแดน แบ่งแยกประเทศ ในทางเหนือ หรือแม้กระทั่งปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน หากดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรื่องการแบ่งแยกประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่มีมานานแล้ว

นัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย (Thai Geopolitics implication) ที่ต้องการคงศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากการคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ ทหาร การเมือง เอาไว้ที่กรุงเทพฯ (GDP ของกรุงเทพฯ มีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ) สอดคล้องกับการที่มีข้าราชการที่ขึ้นกับส่วนกลาง (อย่างเช่นกระทรวงมหาดไทย) แทรกตัวไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไปประเทศ และการระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของทุกฉบับว่ามาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
 

อย่างไรก็ตามในระยะหลังเริ่มมีการพูดถึงการกระจายอำนาจไปยังการปกครอง ส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรูปแบบที่เป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตปกครองที่หลากหลาย ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนในท้องที่ หรือกรณีอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ (แบบเดียวกับจีนที่มีเขตปกครองพิเศษในฮ่องกง หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ) และความสำคัญของการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค แบบคลัสเตอร์จังหวัดมากขึ้น

แต่จากประสบการณ์ของรัฐไทยที่ผ่านการแบ่งแยกและรวมศูนย์อำนาจมายาวนาน รัฐไทยมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับการกระจายอำนาจออกไปให้ส่วนท้องถิ่น ดังนั้นในระยะยาว รัฐไทยจะต้องหาสมดุลระหว่าง การกระจายอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับส่วนท้องถิ่น และการควบคุมองคาพยพต่างๆในส่วนท้องถิ่นจากศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ ซึ่งบางครั้งการมีแนวทางแบบอนุรักษ์นิยมมากเกินไป ก็จะมีการผ่อนคลายจากการบีบบังคับจากมหาอำนาจโลกที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจของศูนย์กลางอำนาจรัฐไทยทั้งระบบ เช่นกรณีสนธิสัญญาเบอร์นี และสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4[1] หรือกรณีการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในกรณีสงครามโลกครั้งที่สอง การร่วมกับสหรัฐฯในการต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และการเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ขั้วอำนาจใหม่ที่เป็นคู่ขัดแย้งจากขั้วอำนาจเก่าในศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯก็อาจอาศัยสถานการณ์แบบนี้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วงชิงอำนาจได้

ความจำเป็นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐไทย ที่มีลักษณะเช่นนี้เพราะการเปลี่ยนผ่านจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐคู่ในสมัย สุโขทัย-อโยธยา และการแบ่งส่วนอำนาจให้กับหัวเมืองฝ่ายเหนือ อโยธยา-พิษณุโลก[2] และความจำเป็นในการต้องการพื้นที่ป้องกันศูนย์อำนาจจากการขยายอิทธิพลจากรัฐคู่แข่ง ทางเหนือคือรัฐล้านนา, ทางตะวันออกคือพื้นที่แถบอีสาน (ยังคงมีช่องว่างในดินแดนภาคตะวันออก-กัมพูชาที่ยังไม่มีพื้นที่จำเป็นป้องกัน), ทางตะวันตกจะมีแนวพรมแดนธรรมชาติ ส่วนทางใต้คือรัฐมลายู แต่มีปัญหาจากการบุกรุกจากทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ปัญหาจุดอ่อนจากพื้นที่ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ สอดคล้องกับแผนที่ประเทศญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง แนวทางเคลื่อนทัพของประเทศญี่ปุ่นเดินทัพมาจากสองทิศทางนี้

แนวพรมแดนเหล่านี้ในประวัติศาสตร์มีการเคลื่อนตัวเข้าและออกไปจากแนวชายแดนของประเทศไทยปัจจุบัน ตามความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ เช่นสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีพื้นที่ไกลไปถึงรัฐไทยใหญ่ ตะวันออกจดเวียดนาม และทางใต้ตลอดแหลมมลายู แต่ในช่วงการล่าอาณานิคมรัฐไทยต้องเสียดินแดนเหล่านี้ให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ในขณะที่รัฐไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำสงครามอินโดจีน กับฝรั่งเศสได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคืนมา เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งทหารยึดเมืองเชียงตุง และได้เขตสี่จังหวัดในแหลมมลายูคืนมาจากอังกฤษ
ลักษณะสำคัญ

นัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย จึงว่าด้วยความจำเป็นจากลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ และจะมีอิทธิพลสำคัญกับการกำหนดนโยบายของรัฐไทย ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ หรืออุดมการณ์ของรัฐไทยไปอย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของนัยยะภูมิรัฐศาสตร์ไทย ประกอบด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้ที่กรุงเทพฯ
การสร้างสมดุลการกระจายอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ ยังคงสามารถควบคุมและผูกพันรัฐไทยเอาไว้ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การคงพื้นที่ป้องกันศูนย์อำนาจจากกรุงเทพฯจากการขยายอิทธิพลจากรัฐคู่แข่ง ทางเหนือคือรัฐล้านนา, ทางตะวันออกคือพื้นที่แถบอีสาน (ยังคงมีช่องว่างในดินแดนภาคตะวันออก-กัมพูชาที่ยังไม่มีพื้นที่จำเป็นป้องกัน), ทางตะวันตกจะมีแนวพรมแดนธรรมชาติ ส่วนทางใต้คือรัฐมลายู แต่มีปัญหาจากการบุกรุกจากทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ปัญหาจุดอ่อนจากพื้นที่ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ สอดคล้องกับแผนที่ประเทศญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง แนวทางเคลื่อนทัพของประเทศญี่ปุ่นเดินทัพมาจากสองทิศทางนี้
การใช้แนวทางดุลอำนาจหากเผชิญมหาอำนาจที่มีอิทธิพลระดับโลก โดยใช้คู่แข่งอำนาจที่มีความทัดเทียมกัน แต่ในที่สุดจะคงความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้
การเป็นรัฐค้าขายมากกว่ารัฐทางทหาร

กบฏในต่างจังหวัด
กบฏในต่างจังหวัด หรือ กบฏหัวเมือง มักเกิดจากการที่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ เพิ่มอำนาจการควบคุมชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับภาษีใหม่ๆ เช่นภาษีรัชชูปการ บางครั้งกบฎได้รับแรงหนุนจากเจ้าเมืองหรือกรมการที่ถูกลดอำนาจไป ในบางกรณีผู้ก่อกบฎจงใจต่อต้านคนสยามหรือการก้าวก่ายจากศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ โดยตรง หรือไม่ก็เกิดจากการที่กรุงเทพฯ พยายามเข้ามาควบคุมท้องถิ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนชนบทกับกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมักมีปัญหาจากความแปลกแยกในด้านเชื้อชาติเดิมฝังรากลึกอยู่แล้ว ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ก่อเหตุกบฎจะยกเอาสาเหตุนี้มาเป็นข้ออ้างหลักในการปลุกระดมมวลชน


กบฎในเขตภาคเหนือ


ปี 2432-2422 เกิดกบฏพญาผาบ เกิดการประท้วงที่เชียงใหม่ นำไปสู่การปะทะกันระหว่างชาวบ้านกว่าสามพันคนกับกองทหารของทางการ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านหลายคนสนับสนุนพวกกบฏ รัฐบาลกรุงเทพฯ เชื่อว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่สนับสนุนพวกกบฏอยู่ในที
ปี 2440 ชาวบ้านในหมู่บ้านภาคเหนือทำร้ายข้าราชการจากรุงเทพฯ คนแรกที่เข้ามาเพื่อเก็บภาษีจนเสียชีวิต
ปี 2445 เกิด กบฏเงี้ยว มีการลุกขึ้นสู้ของชาวนาที่จังหวัดแพร่ มีคนงานรัฐไทยใหญ่ชักชวนให้เจ้าผู้ครองเมืองและขุนนางสนับสนุนพวกเขาขับไล่ข้าราชการสยามออกไป รัฐบาลที่กรุงเทพฯ สงสัยว่าเจ้านายเหล่านี้วางแผนคบคิดก่อกบฏตั้งแต่ต้น
ปี 2453 พระสงฆ์นำขบวนก่อกบฏที่ลำปางหลายครั้ง
ปี 2467 ชาวบ้านก่อกบฏที่จังหวัดเลย เพื่อต่อต้านการเก็บภาษีรัชชูปการ

กบฎในเขตภาคอีสาน


ปี 2438 เกิด กบฏสามโบก บางหมู่บ้านที่ขอนแก่นก่อกบฏและสามารถสร้างเขตปลอดข้าราชการในท้องถิ่นที่หมู่บ้านของตนได้เป็นเวลานานถึงสามปี
ปี 2445 เกิด กบฏผู้มีบุญ มีกบฏชาวนาอย่างกว้างขวางในอีสาน การกบฏครั้งใหญ๋ที่สุดมีชาวนาประมาณสองพันห้าร้อยคน รวมตัวกันยึดหัวเมืองเอาไว้ได้ หลังจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เก็บภาษีรัชชูปการเมื่อปี พ.ศ. 2442
ปี 2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน โดย ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง ต่อรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์

กบฎในเขตภาคใต้


ปี 2445 เกิดกบฏรัฐมลายู มีการประท้วงขึ้นที่เขตชายแดนภาคใต้ โดยมีกรมการระดับล่างที่มองว่าอำนาจของตนถูกดึงไปโดยรัฐบาลศูนย์กลางเป็นผู้นำ กบฏนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากเจ้าเมืองรัฐมลายูต่างๆ
25 – 28 เมษายน พ.ศ. 2491 เกิด กบฏดุซงญอ เป็นเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับกลุ่มชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ หมู่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
28 เมษายน พ.ศ. 2547 เกิดกรณีกรือเซะ[1]
25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เกิด กรณีตากใบ

กรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย



อาจพิจารณา “ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง” ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เคลื่อนไหวทั้งในเขตภูเขาในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ว่าอาศัยจุดอ่อนตรงนี้ของรัฐไทยในการขับเคลื่อนการต่อต้านศูนย์อำนาจรัฐได้ด้วย ที่มั่นสำคัญของพคท. ในเขตภาคเหนือคือ แพร่, น่าน, และตาก[2], ภาคอีสานคือ เลยและภูพาน (และหลายแห่งในอีสานใต้), ภาคใต้คือสุราษฎรธานี
ปฏิกิริยาจากศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ

รัฐบาลสามารถปราบปรามการกบฏทั้งหลายได้สำเร็จ แต่กบฏที่เกิดึ้นหลายครั้งทำให้รัฐบาลเห็ฯความจำเป็นที่จะก่อตั้งกองทหารประจำการ ขยายข่ายงานของตำรวจ และก่อตั้งระบบศาลสถิตยุติธรรมที่ส่วนกลาง พร้อมกันนั้นคิดโครงการสร้างรัฐชาติ โดยใช้ระบบการศึกษา ศาสนา และอุดมการณ์จากศูนย์กลางเป็นเครื่องมือ



พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทรงเป็นแม่ทัพกองทัพสยาม ในสมัยรัชกาลต้นๆ มีทหารประมาณเจ็ดหมื่นนาย ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 กิจกรรมทางการทหารลดความสำคัญลง ชื่อเสียงของกองทัพเสื่อและระบบเกณฑ์แรงงานประสบปัญหาหลายประการ จนพระมหากษัตริย์ทรงมีทหารประจำการน้อยกว่าสองพันคน และส่วนมากจะเป็นคนประเภทจรจัด โครงการปฏิรูปกองทัพใช้วิธีการเดียวกับกรณีของการคลังและมหาดไทยในช่วงที่ีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งมหาดเล็กหลวงภายในวังและให้ได้รับการฝึกฝนในระบบกองทัพยุโรป

พ.ศ. 2423 ทรงใช้หลักเกณฑ์เดียวกันจัดตั้งทหารประจำการขึ้นที่กรุงเทพฯ ทรงใช้วิธีอาสาสมัครแทนการเกณฑ์ ทหารประจำการดังกล่วมีประมาณห้าพันนาย ส่วนใหญ่เป็นคนลาว เขมร และมอญที่ไม่ถูกสักเลขโดยหลีกหนีการเกณฑ์แรงงาน รัฐบาลใช้ทหารประจำการเหล่านี้ควบคุมชายแดนลาวใน พ.ศ. 2428 – 2429

พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าดูแลกลาโหมโดยตรง พระองค์ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอและผู้ใกล้ชิดจำนวนหนึ่ีงให้มีตำแหน่งสำคัญในกองทัพ และทรงสัญญาที่จะปฏิรูประบบการทหารตามแนวยุโรป แผนการดังกล่าวประสบปัญหาทางการเงินและการคัดค้านจากลุ่มขุนนางที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม กองทหารประจำการสมัยใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นก็สามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายในเขตชนบท และในบางครั้งรัฐบาลส่งไปปราบปรามการจราจลของคนจีน และต้านทานการรุกรานจากฝรั่งเศสทางชายแดนตะวันออกและชายแดนภาคเหนือได้

ในช่วงแรกความพยายามปฏิรูปกองทัพยังไม่เห็นผลชัดนัก แต่ภายหลังเมื่อเกิดกบฏใน พ.ศ. 2445 ทั้งเหนือ อีสาน และใต้ ก็กระตุ้นให้ทรงตัดสินพระทัยแน่นอนให้มีการปฏิรูปกองทัพ เพราะเมื่อเกิดกบฏขึ้นครั้งใด ทรงต้องใช้กองทหารประจำการจำนวนน้อยจากกรุงเทพฯ ปราบ โดยเกณฑ์ทหารเพื่อภารกิจดังกล่าวเป็นคราวๆไป นายกองไม่กี่นายที่มีประสบการณ์ปราบปรามโจรในภาคกลางเป็นผู้นำ กองทหารรัฐบาลมักเป็นฝ่ายพ่านแพ้ในตอนต้น และต้องใช้เวลานานกว่าจะดึงกองทหารให้กลับมาอยู่ในวินัยอีกครั้ง แม่ทัพนายกองจึงเสนอว่า ควรจะมีกองทัพประจำการใกล้เขตกบฏเพื่อปราบปรามได้ทันท่วงที หนึ่งปีจากนั้น เจ้าฟ้าซึ่งเป็นผู้ดูแลการทหารเสนอให้มีระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับ

สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลก่อตั้งทหารประจำการได้สำเร็จเมื่อต้นทศวรรษ 2440 เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารเพิ่มขึ้นจากสองล้านเก้าแสนบาท เมื่อ พ.ศ. 2441 เป็น 13.8 ล้านบาทใน พ.ศ. 2448 ในปีเดียวกันนั้นเองรัฐบาลประกาศยกเลิกระบบแรงงานเกณฑ์และก่อตั้งกองทัพอย่างเป็นทางการ

พ.ศ. 2453 สยามมีกองทหารประจำการประมาณสองหมื่นนาย และมีทหารสำรองอีกสามถึงสี่หมื่นนาย มีกองทัพเรือประจำการห้าพันนาย มีทหารเรือสำรองประมาณสองหมื่นนาย

ดูเพิ่มเติม : กองพลที่ 1 รักษาพระองค์
ตำรวจ

รัฐบาลเริ่มขยายระบบตำรวจจากศูนย์กลาง ซึ่งในขณะนั้นกล่าวกันว่ามักมีพื้นเพเป็นโจร ทาสหนีนาย ขี้ยา ขี้เหล้า และนักเลงหัวไม้มาก่อน รัฐบาลมักใช้กองทหารเพื่อปราบจราจลมากกว่าตำรวจ หลังจากปี 2440 รัฐบาลก็เริ่มมีการปฏิรูปและก่อตั้งกรมตำรวจเพื่อดูแลตำรวจในเขตหัวเมือง และต่อมาก็มีการก่อตั้งระบบศาลยุติธรรมขึ้น[3]
แนวคิดสันติวิธีจากพลังเสรีนิยมใหม่
แนวคิดสิทธิมนุษยชน
แนวคิดการกระจายอำนาจ
แนวคิดพหุนิยม แบบหลังสมัยใหม่
แนวคิดการแข่งขันแบบไม่ใช่ศัตรู (agonistic pluralism) ของ Chantal Mouffe (ตรงข้ามกับแนวคิด มาคีเวลเลียน)
แนวคิดสมานฉันท์ (อิงวิธีคิดเชิงพุทธ)
ข้อมูลเพิ่มเติม
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเกอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, SILK WORM BOOKS
ข้อมูลอ้างอิง
 สังเกตเห็นว่าใกล้เคียงกับการกบฏในช่วง 2445, ดูเพลงสปท. ” ฝั่งแม่น้ำน่าน
 ผาสุกและคริส, ibid, pp. 292-293
ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

คนกลาง พร้อมชิงอำนาจ !!?

พลากร สุวรรณรัฐ หนึ่งในแคนดิเดต “นายกฯคนกลาง”คุยกับคนใกล้ชิดระหว่างบินเชียงใหม่ ฉากจบส่อเว้นวรรค ปชต.ส่งสัญญาณทำใจ “กระทบ-เจ็บ-ตาย”นับ “หมื่น”!!ข่าวพาดหัวโล้ชิงช้า ! — 01 March 2014 “คนกลาง”พร้อมชิงอำนาจ!! หึ่ง “พลากร สุวรรณรัฐ”หนึ่งในแคนดิเดต “นายกฯคนกลาง”คุยกับคนใกล้ชิดระหว่างบินเชียงใหม่ ฉากจบส่อเว้นวรรค ปชต.ส่งสัญญาณทำใจ “กระทบ-เจ็บ-ตาย”นับ “หมื่น”!!

แม้ “ม็อบกบฏ กปปส.” ที่ชุมนุมยืดยาวมากว่า 120 วัน จะต้องครึ่งคราว ที่ประสบภาวะถดถอย มวลชนลดน้อย กระแสตก กระสุนฝืด จน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หัวหน้าม็อบกบฏ จำใจต้องตัดสินใจ “ยุบเวทีชุมนุม” เหลือเวทีเดียว ไปซุกตัวตั้งหลักอยู่ใน “สวนลุมพินี” แล้วก็ตาม แต่ “เครือข่ายกบฏ กปปส.” ก็ใช่ว่าจะยุติเคลื่อนไหว โดยเฉพาะ “เครือข่ายอำมาตย์” ที่ยังคงขยับอย่างต่อเนื่อง แม้โอกาสที่จะไปถึงฝั่งฝัน “เว้นวรรคประชาธิปไตย” จะลดน้อยถอยลงก็ตาม !

ก่อนที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะประกาศยุบเวทีการชุมนุม มีรายงานว่า ช่วง 09.20 น. “พลากร สุวรรณรัฐ” องคมนตรี ขึ้นเครื่องบินสายการบินยักษ์ใหญ่ เที่ยว กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ด้วย ที่นั่งชั้นพิเศษ  11A และ 11B คู่ไปกับ ข้าราชการผู้ใหญ่คนใกล้ชิด

ตลอดระยะเวลาเดินทางกว่าชั่วโมง มีรายงานว่า มีการพูดคุยกันออกรสออกชาด เรื่องสถานการณ์การเมืองไทย ไปจนถึงความคาดหวังต่อเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต้องห่วงอะไร เพราะสุดท้ายจะสงบราบรื่นไปได้ ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็จะมีทางออกจนได้”

เนื้อหาการสนทนา ส่วนหนึ่งออกมาว่า หลายคนพร้อมที่จะเสียสละเข้ามาช่วยคลี่คลายวิกฤติของบ้านเมือง พร้อมที่จะเข้ามาเป็น “คนกลาง” ที่จะมาแก้ไขสถานการณ์ต่างๆในขณะนี้ให้ดีขึ้น พร้อมที่จะมาเป็น “ผู้นำ” ในการสร้างความสามมัคคี แม้อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการควบคุมสถานการณ์
มีเสียงบอกว่า “ท่านเองก็เป็นหนึ่งคนที่ เหมาะสมอย่างยิ่ง ในการเสียสละเข้ามาแก้ไขวิกฤติ” !!!

นอกจากนี้ในระหว่างการสนทนา มีการพูดถึง การสูญเสียระหว่างเกิดวิกฤติการเมืองครั้งนี้ เพราะระยะเวลาแค่ 100 กว่าวัน  ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปแล้วนับร้อยราย

โดยเสียงตอบรับจากหนึ่งในคู่สนทนาออกมาว่า อาจจะมีผู้ได้รับผลกระทบบ้าง ครั้งนี้อาจจะมีคนได้รับผลกระทบเป็น “พันคน” หรือเป็น “หมื่นคน” แต่วิกฤติครั้งนี้ก็จะผ่านไปได้ เมื่อมี “คนกลาง” เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดนั้นทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปได้เอง
และ “ถ้าจะช่วยให้วิกฤติของบ้านเมืองคลี่คลายไปได้ ก็พร้อมที่จะเข้ามาเป็น “คนกลาง” ช่วยแก้ปัญหา” !!!

ข้อมูลล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปข้อมูล การชุมนุมของม็อบกบฏ กปปส. ตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2556-28 กุมภาพันธ์ 2557 เสียชีวิตไปแล้ว 23 ราย บาดเจ็บรวม 765 ราย
คำถามสำคัญก็คือ ถึง “นายกฯคนกลาง” หรือ “ใคร” ก็ตามที่จะอาศัยวิกฤติแทรกเข้ามาครอบครองอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ แทนอำนาจของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด คือ “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” จะต้องสังเวยให้ “คนกลาง” และ “ผู้นำ” ในสร้างความสามัคคี นับ “พันคน” นับ  “หมื่นคน” เลยหรือ ???

สำหรับ “นายพลากร สุวรรณรัฐ” องคมนตรีนั้น มีปรากฎชื่อทั้งในสื่อสารมวลชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่เหมาะสมจะเข้ามารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ร่วมกับรายชื่อของบุคคลอื่นๆ อาทิ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” องคมนตรี , นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม รวมไปถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. ที่มีการกล่าวถึงกันก่อนหน้านี้ !!!

ที่มา.พระนครสาส์น
/////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

ขายข้าว จีทูจี ล็อตแรก 4 แสนตัน !?

เผย กรมการค้าต่างประเทศเตรียมเซ็นสัญญาขายข้าวจีทูจีให้จีนล็อตแรก 4 แสนตัน คาดส่งมอบได้เดือนเม.ย. นี้

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับรัฐบาลจีนจำนวน 1 ล้านตันต่อปีว่าได้รับรายงานจากนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศจีนว่ากรมการค้าต่างประเทศได้ตกลงในเบื้องต้นที่จะลงนามในการขายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีนล็อตแรกจำนวน 4 แสนตัน โดยคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญากับรัฐบาลจีนภายในเดือนมี.ค.นี้

นายนิวัฒน์ธำรง คาดว่าจะมีการส่งมอบข้าวในจำนวนดังกล่าวให้กับจีนได้ในเดือนเม.ย.นี้ โดยรัฐบาลจีนยอมรับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญาที่กำหนดว่าจะไม่ผูกพันกับรัฐบาลต่อไปและในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัญญาได้ในส่วนข้าวที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้กับรัฐบาลจีน หากรัฐบาลต่อไปไม่เห็นด้วยกับสัญญานี้

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่าในเดือนก.พ. ได้ระบายข้าวไปแล้ว 8 แสนตัน จากเป้าหมาย 1 ล้านตันต่อเดือน เพื่อให้ได้เงิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการระบายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) ได้อีกในปริมาณ 1.1 แสนตัน ส่วนเงินจะทยอยเข้ามาตามการส่งมอบข้าวให้กับเอกชน ซึ่งมั่นใจว่าระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2557 จะมีเงินเข้ามาจากการระบายข้าวเดือนละประมาณ 8,000 ล้านบาท รวมเงินจากการระบายข้าว 2.4 หมื่นล้านบาท

เมื่อรวมกับเงินที่รัฐบาลขอยืมจากงบกลางนำไปจ่ายค่ารับจำนำข้าวอีก จำนวน 2 หมื่นล้านบาท และอีก 712 ล้านบาท ที่จะจ่ายให้กับเกษตรกรจำนวน 3,900 ราย ซึ่งค้างจ่ายมาตั้งแต่ปีการผลิต 2555/2556 ก็จะมีเม็ดเงินที่จ่ายให้กับชาวนาในเดือนมี.ค.นี้ ประมาณ 4.5 - 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อนุมัติให้สำนักงบประมาณดำเนินการจัดเงินให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 712 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปจ่ายชาวนา เนื่องจากเห็นว่าเป็นเงินที่ค้างชำระจากโครงการเก่า

สถานทูตจีนแจงซื้อข้าวช่วยไทย

ด้าน สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ส่งอีเมลตอบคำถาม เกี่ยวกับการซื้อข้าวว่า จะเร่งซื้อข้าวตามข้อตกลงเดิมคือปีละ 1 ล้านตันเป็นเวลา 2 ปี เพื่อช่วยเหลือชาวนาไทย

ข้อมูลจากสถานทูตจีนระบุว่า “จีนนำเข้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และสินค้าเกษตรอื่นๆ จากประเทศไทยทุกปี เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว บริษัท คอฟโก (COFCO) ของจีนและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทยได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่ว่า จีนจะซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน เป็นเวลา 2 ปี

ประเทศจีนกับประเทศไทย เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความสนิทชิดเชื้อกัน เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและชาวนาไทย และช่วยเหลือชาวนาไทยอย่างแท้จริง ทั้งสองฝ่ายจะเร่งปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ให้เกิดผลโดยเร็ว ส่วนรายละเอียด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายต้องหารือกันต่อ”

แจงขายข้าวจีนแบ่ง2ล็อต

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่ได้ตกลงกับรัฐบาลจีนไทยจะขายข้าวแบ่งเป็นล็อตแรก 4 แสนตัน และล็อตที่สอง 6 แสนตัน รวมเป็น 1 ล้านตัน และปีต่อไปอีก 1 ล้านตัน จะเป็นแบบค่อยๆ ทยอยรับมอบ ซึ่งเป็นวิธีการธรรมดาของการขายข้าวทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับจีนครั้งนี้ ทางการจีนน่าจะให้ซื้อขายผ่านรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลาง คือ คอฟโก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่า การซื้อขายจีทูจีต้องซื้อขายโดยรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลกลางเท่านั้น

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่าในสัญญามีการระบุด้วยว่า หากไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็อาจยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งฝ่ายจีนยินยอม เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยให้คำแนะนำมาก่อนหน้านี้ว่าในระหว่างรัฐบาลรักษาการ กระทรวงพาณิชย์ยังสามารถขายข้าวในสต็อกรัฐแบบจีทูจีได้ แต่ต้องไม่เป็นภาระผูกพันถึงรัฐบาลชุดใหม่

ทั้งนี้ จีนเสนอจะซื้อข้าวจากไทยต่อเนื่อง 5 ปีๆ ละ 1 ล้านตัน แต่ในระยะเร่งด่วนนี้ จีนจะขอซื้อก่อน 2 ล้านตัน หรือภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีข้าวหลายชนิด ทั้งข้าวขาว 5% ข้าวขาว 100% ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น

"สมชัย"ระบุไม่อยู่ในอำนาจกกต.

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่าการลงนามเอ็มโอยูเพื่อขายข้าวให้กับรัฐบาลจีนนั้น ไม่เกี่ยวกับกกต.และไม่อยู่ในอำนาจที่กกต.จะต้องตีความ เนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องคำนึงว่าการจะลงนามทำสัญญาอะไรต้องไม่มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไปด้วย

นายสมชัย กล่าวว่ากรณีนี้จะเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่ต้องให้กกต.รับพิจารณาหรือไม่นั้น ไม่ขอตอบ เพราะไม่มีอำนาจไปตีความข้อกฎหมาย และคิดว่ารัฐบาลก็คงไม่ยื่นเรื่องดังกล่าวมาให้กกต.พิจารณา

ไทยส่งออกข้าวเดือนม.ค. เพิ่ม 19.9%

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่าการส่งออกข้าวในเดือนม.ค. 2557 มีปริมาณทั้งสิ้น 696,558 ตัน มูลค่า 12,372 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 19.9% ขณะที่มูลค่าส่งออกลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2556 ที่มีการส่งออกปริมาณ 580,983 ตัน มูลค่า 12,487 ล้านบาท

การส่งออกข้าวในเดือนม.ค. 2557 มีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการส่งออกข้าวขาว เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน ในขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่งลดลงจากเดือนก่อนพอสมควร

สถานการณ์ราคาส่งออกข้าวในช่วงนี้ ราคาข้าวของไทยในตลาดต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลงและอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนัก โดยในขณะนี้ราคาข้าวของไทยห่างจากประเทศคู่แข่งประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อตัน โดยสมาคมฯคาดว่าในเดือนก.พ. นี้ จะมีการส่งออกข้าวประมาณ 600,000 ตัน เนื่องจากราคาข้าวของไทยสามารถแข่งขันได้

กรมบัญชีกลางรอกกต.-พร้อมจ่ายงบกลาง

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ใช้งบกลาง 2 หมื่นล้านบาทไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวว่า ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ยื่นเรื่องเสนอขอใช้งบกลาง ดังนั้นขณะนี้ ก็ต้องรอขั้นตอนการหารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณก่อน เพราะกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินตามที่สำนักงานงบประมาณจัดสรรงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าว หากกกต.มีคำตอบชัดเจน สำนักงบประมาณจะเป็นผู้จัดสรรวงเงินดังกล่าวให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้ตั้งเบิกจ่ายเข้ามา

นายมนัส กล่าวในฐานะ กรรมการ ธ.ก.ส. ว่า ในส่วนของการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำข้าวก็ยังมีการจ่ายเงินเป็นระยะๆ เพียงแต่ไม่มากนัก เพราะมีเงินที่ได้จากการระบายข้าวทยอยส่งเข้ามา และจากนี้ไปก็จะมีเงินที่มีความต้องการช่วยเหลือเกษตรกรนำเงินมาบริจาคสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนา ตามที่ธ.ก.ส.ได้จัดตั้งขึ้น โดยจะเริ่มในวันที่ 3 มี.ค.นี้ และเชื่อว่าน่าจะถึง 2 หมื่นล้านบาทตามเป้าหมาย

สำหรับกรณีที่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เชิญชวนรัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมประมูลตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) และปิดรับไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ. นั้น นายมนัสกล่าวว่า เท่าที่ทราบมีรัฐวิสาหกิจยื่นเข้ามาเพียง 1 ราย จึงได้ล้มประมูลไป ดังนั้น เงินที่จะนำมาจ่ายให้เกษตรกรที่ยังค้างอยู่ก็คงเป็นเงินจากกองทุนและระบายข้าวไปก่อน

สปส.ยันไม่ซื้อพันธบัตรจำนำข้าว

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากองทุนประกันสังคมจะไม่เข้าไปลงทุนในโครงการรับจำนำข้าว เพราะขณะนี้ได้จัดสรรเงินลงทุนพันธบัตรตามกรอบการลงทุนหมดแล้ว และในปีนี้จะไม่เข้าไปลงทุนด้านการเกษตร

"ปีนี้ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านโภคภัณฑ์ โดยให้ความสนใจเฉพาะลงทุนซื้อทองคำเท่านั้น ส่วนการลงทุนด้านพลังงานและเกษตรไม่มีการลงทุน เนื่องจากเห็นว่าให้ผลตอบแทนน้อย และหากการลงทุนทางเลือกในส่วนของทองคำได้ผลตอบแทนน้อย ก็สามารถปรับสัดส่วนไปเพิ่มการลงทุนในส่วนอสังหาริมทรัพย์แทนได้"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------