--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พล.ร.9 นิ่งเงียบ ยังไม่ส่ง 4 ทหาร ให้ปากคำ



ปมตกเป็นผู้ต้องหายิง "ขวัญชัย ไพรพนา"

ค่าย พล.ร.9 ยังนิ่งไม่ตอบรับ เรื่องส่ง 4 ทหารเข้าให้ปากคำกรณี ตกเป็นผู้ต้องหายิง "ขวัญชัย ไพรพนา" รวมทั้งรถปิกอัพ 2 คันที่คาดว่าเป็นพาหนะของคนร้าย ซึ่งจากหลักฐานเชื่อว่าเป็นรถใช้ในราชการก็ยังไม่ส่งมาให้ตรวจ ด้านตร. อุดรฯเตรียมพร้อมหากเข้ามอบตัวคาดใช้ค่ายเสนีย์รณยุทธ ของตชด.เป็นที่สอบปากคำ เพราะสามารถควบคุมได้ง่าย ผกก.เมืองอุดรเชื่อคุยกับคนเสื้อแดงได้เพราะในวันทำแผนฯครั้งแรก มีมวลชนจำนวนมากแต่ก็ไม่เกิดเหตุวุ่นวายใดๆ เผยตามระเบียบการสอบสวนต้องทำในพื้นที่ซึ่งตร.จัดไว้ ไม่ใช่พื้นที่ที่ทหารกำหนด เนื่องจากเป็นคดีที่มีพลเรือนร่วมก่อเหตุด้วย

ความ คืบหน้าคดียิงนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำม็อบเสื้อแดงอีสาน ซึ่งตำรวจออกหมายจับทีมอาก้ารวม 7 คน จับกุมได้แล้ว 1 คน ในจำนวนนี้มีทหารสังกัดกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี ถึง 4 นาย ประกอบด้วย ร.ต.ปรัชญา จันรอดภัย จ.ส.อ. มาวิน ยางบัว จ.ส.ท.วิโรจน์ พิมพ์สิงห์ และส.อ.ชานนท์ ทับทิมทอง ก่อนเจ้าหน้าที่จะขอส่งตัวทหารทั้งหมดมาสอบสวน แล้วได้รับการติดต่อเข้าพบตำรวจในวันที่ 17 ก.พ.นั้น

เมื่อ วันที่ 16 ก.พ. พ.ต.อ.โกวิท เจริญวัฒนศักดิ์ ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี กล่าวว่าเตรียมความพร้อมถึงวันมอบตัว มีคนเสื้อแดงจะมาเฝ้าสังเกตการณ์การสอบสวนด้วย ทำให้ทางตำรวจต้องเตรียมควบคุมฝูงชนไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งในวันที่ทำแผนประกอบคำรับสารภาพของนายมะดือนัง มะแซ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ก็มีมวลชนมาเฝ้าสังเกตการณ์จำนวนมาก แต่ใช้การประชาสัมพันธ์ขอร้องให้ทางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ จึงไม่มีปัญหาอะไร มวลชนคนเสื้อแดงเข้าใจง่าย ไม่น่ามีปัญหาอะไร

ใน ส่วนของการสอบสวน มีพ.ต.อ.จักร กฤษณ์ จันทรรัตน์ รอง ผบก.ภ.อุดรธานี เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดี มีพนักงานสอบสวนชำนาญการควบคุมการสอบสวนอีกที ประกอบด้วย พ.ต.อ.ศักดิ์ดา เหมือนโพธิ์ พงส.ผชช., พ.ต.อ.ชวนชัย ชนะบัว พงส.ผทค. และพนักงานสอบสวนของ สภ.เมืองอุดรธานี อีกหลายนาย เตรียมความพร้อมไว้ที่ห้องสอบสวนบริเวณชั้นสองของ สภ.เมืองอุดรธานี ด้วยหากมีการแยกสอบสวน โดยห้องหลักคือห้องประชุมฉัตรไพฑูรย์ บริเวณชั้นสองของ ภ.จว.อุดรธานี เป็นห้องสอบ สวนที่เตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าหลายวันแล้ว"ผกก.สภ.เมืองอุดรกล่าว

รายงาน ข่าวแจ้งความในวันที่ทหารเข้ามอบตัว มีความเป็นไปได้ที่จะคุมตัวผู้ต้องหาไปสอบสวนที่ค่ายเสนีย์รณยุทธ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 กองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษ เนื่องจากมีความพร้อมด้านความปลอดภัยจากกลุ่มคนเสื้อแดง และเป็นสถานที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตามระเบียบจะต้องคุมตัวสอบสวนในส่วนของตำรวจ ไม่ใช่สถานที่ของฝ่ายทหาร และเป็นการกระทำผิดร่วมกับพลเรือน ต้องควบคุมและดำเนินคดีในศาลจังหวัดอุดรธานี

ในส่วนของคน เสื้อแดงพื้นที่จ.อุดรฯ สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร มี "ดีเจ. จ.ใจเดียว" นายประสิทธิ์ วิชัยรัตน์ และ"ดีเจ.ก้อง" นายจักรพงษ์ แสนคำ แจ้งข่าวความเคลื่อนไหวและความคืบหน้าในคดีให้สมาชิกทราบโดยตลอด พร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกโทร.เข้ามาแสดงความคิดเห็น และสอบถามอาการบาดเจ็บของนายขวัญชัย บางคนก็เขียนจดหมายมาฝากเอาไว้ที่สถานี บางคนก็เดินทางมาสอบถามด้วยตัวเอง

พล.ต.ท.อนุชัย เล็กบำรุง ผบช.ภาค 4 เปิดเผยความคืบหน้าการประสานขอตัวทหาร 4 นาย ที่ถูกออกหมายจับมาพบพนักงานสอบสวนว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางต้นสังกัดของผู้ร่วมก่อเหตุแต่อย่างใด จึงไม่ทราบว่าจะมาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันพรุ่งนี้(17 ก.พ.)หรือไม่ ส่วนความคืบหน้าทางคดีนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อ ตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป

ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า ทางพนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างรอต้นสังกัดผู้ร่วมก่อเหตุทั้ง 4 ราย ประสานมา โดยล่าสุดยังไม่มีใครให้คำตอบได้นอกจากทางต้นสังกัดพล.ร.9 จ.กาญจนบุรี แจ้งมาเท่านั้น อย่างไรก็ตามคาดว่ารถยนต์กระบะที่ใช้ก่อเหตุทั้ง 2 คัน ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในค่ายทหาร อาจจะไม่ได้ถูกส่งมาให้ตรวจสอบด้วย

ที่มา.ข่าวสด
-----------------------------

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จับสัญญาณขอคืนพื้นที่ เปิดประตูทางลงให้ ม็อบ.

กระแสข่าวการเจรจาทั้งในทางลับและเป็นทางการระหว่าง "คู่ขัดแย้ง" รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย กับ กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. โดยมีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายร่วมโต๊ะเจรจา เพื่อผ่าทางตัน-วิกฤตการเมืองที่เกิด

สัญญาณของการเจรจาเริ่มเห็นชัดเมื่อ ศูนย์รักษาความสงบ ภายใต้การนำของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส. ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาลและถนนราชดำเนิน โดยปราศจากการขัดขวาง ต่อต้าน ปะทะกันถึงขั้นเจ็บหนัก โดยหลายฝ่ายมีการวิเคราะห์และประเมินกันออกมาว่า น่าจะมีการเจรจากันมาในระดับหนึ่งแล้ว

สำหรับวิกฤตข้อขัดแย้งทางการเมืองที่ทุกฝ่ายเห็นว่าการเจรจาจะเป็นทางออกให้กับทุกฝ่ายได้ดีที่สุดนั้น พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า เท่าที่ติดตามข่าวสารทราบว่ายุทธวิธีขอกระชับพื้นที่คืนของเจ้าหน้าที่ ศรส. มีการปฏิบัติการตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมองว่าเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนน้อย เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ง่ายที่สุด โดยไม่มีการต่อต้านคัดค้านจนเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายหรือรุนแรง แตกต่างไปจากเวทีกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ที่ไม่ยอมคืนพื้นที่ให้โดยง่าย เกิดการต่อต้านและคัดค้านจนท้ายที่สุดทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องถอยกลับไป เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงสโลว์ดาวน์ของฝ่าย กปปส. หมดพลังและเริ่มอ่อนแอ เพราะมีการชุมนุมมาเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น โอกาสที่จะถูกสลายการชุมนุมจึงมีสูงมาก

"ในอดีตคาดการณ์ว่าจากความขัดแย้งทั้งหมดอาจนำไปสู่สงครามการเมือง โดยเฉพราะ กปปส.สามารถเรียกประชาชนออกมาเป็นจำนวนหลักแสน หลักล้าน แต่ระยะเวลาผ่านมายังมองไม่เห็นว่าจะเกิดสัญญาณเหตุการณ์แบบนี้เลย เนื่องจากโอกาสที่ กปปส.จะฟื้นขึ้นทำให้ประชาชนออกมามากเหมือนเดิมแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีประเด็นที่จะทำให้ประชาชนออกมาได้จำนวนมาก ยกเว้นแต่รัฐบาลใช้กำลังทำให้คนบาดเจ็บ ล้มตายก็อาจะมีส่วนทำให้ประชาชนลุกฮือออกมาอีกครั้ง และนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้น การปฏิบัติการยุทธศาสตร์ขอกระชับพื้นที่ของฝ่ายรัฐบาลมีความเสี่ยงสูงมาก" พล.อ.เอกชัย ให้ความเห็น

ส่วนการเจรจาของกลุ่มต่างๆ เพื่อหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งนั้น พล.อ.เอกชัยระบุว่า เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้มีการพูดคุยกัน เพราะการเจรจาไม่จำเป็นต้องจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ถ้าจัดตั้งเป็นทางการมันก็จะเกิดไม่ได้ สำหรับนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็เคยปฏิบัติงานกับรัฐบาลนี้มาก่อน และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง ขณะเดียวกัน นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่าย ปชป.ก็มีความสนิทสนมกับนายวิษณุ เป็นการส่วนตัว ก็อาจมีส่วนช่วยสานสัมพันธ์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น บวกกับมีความเกี่ยวข้องกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. ก็อาจจะเป็นตัวเชื่อมโยงอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ มองว่าการเจรจาน่าจะมีการเชิญผู้แทนจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาร่วมวงด้วย เพราะจะทิ้งกลุ่มนี้ไม่ได้ เนื่องจาก นปช.ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐบาล เพราะฉะนั้น หากมีข้อสรุปใดกลุ่ม นปช.อาจจะไม่ยอมรับก็ได้ ดังนั้น ควรที่จะเชิญผู้แทน นปช.มาร่วมวงหารือพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายมาตั้งวงเจรจาร่วมกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็น่าจะลดลงได้ มาตกลงร่วมกันว่าสุดท้ายการปฏิรูปประเทศจะไปทางใด จะได้ลดความขัดแย้ง แต่หากเอาคู่ขัดแย้งสองฝ่ายมาเจรจาตกลงเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะการเจรจาต้องจบด้วยการมาช่วยกันสร้างอนาคตร่วมกัน

ขณะที่นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สถานการณ์หลังการขอคืนพื้นที่บริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล ว่าทางฝ่ายรัฐบาลคงประเมินแล้วว่าจำนวนผู้ชุมนุมนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณ 3 คืนที่ผ่านมา จำนวนผู้ชุมนุมลดลงอย่างมาก เข้าใจว่าที่ตัวเลขต่ำลงนี้รัฐบาลคงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำพื้นที่ในบางส่วนคืน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลถูกมองว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถใช้ทำเนียบรัฐบาลได้ ส่งผลให้ภาพพจน์ของรัฐบาลถดถอยลง หรือพูดง่ายๆ คือเป็นรัฐบาลแต่ไม่สามารถเข้าทำเนียบได้ ก็ต้องไปอาศัยกระทรวงต่างๆ ทำงาน และไม่ว่าจะไปที่ไหน แค่เกริ่นม็อบก็จะตามไปทันที หลายฝ่ายจึงวิจารณ์ว่ารัฐบาลทำตัวล่องลอยไปมา ทำให้ความเป็นรัฐบาลถดถอยลง รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะจากที่ผ่านมา ตัวแทนของรัฐบาลที่มีอำนาจในศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ก็ได้แต่ออกมาพูดทุกวันว่าจะขอพื้นที่คืนๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งก็เป็นการดิสเครดิตของรัฐบาลเองเหมือนกัน เพราะเหมือนกับรัฐบาลทำได้แค่ให้คนที่มีอำนาจใน ศรส.ออกมาขู่แบบวันเว้นวัน ดังนั้น รัฐบาลกำลังแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลพูด รัฐบาลก็ทำจริงๆ เหมือนกัน

ส่วนที่หลายฝ่ายประเมินกันว่าเหมือนมีการเจรจากันไว้ก่อนหรือไม่นั้น ดร.สุรชาติมองว่า ถ้าถามในมุมของคนที่ติดตามข่าวจากการนำเสนอของสื่อมวลชนนั้น เราจับข้อมูลลึกๆ ไม่ได้ แต่เราก็พูดกันว่ามีการตกลงกันหรือเปล่าที่จะทำม็อบบางม็อบที่มีคนไม่มากมีทางลง ซึ่งสื่อน่าจะตอบได้ดีกว่าใคร แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ก็ต้องดูกันต่อไปว่าที่สุดในบางจุดนั้นมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ชุมนุมว่าจะต่อสู้กับรัฐบาล หรือจะดำเนินการอย่างไรต่อ วันนี้เรายังไม่เห็นอะไรมาก

ที่มา.มติชนออนไลน์
---------------------------------

ก.คลัง งัดเครดิตไลน์แบงก์รัฐ ช่องทางหาเงินกู้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า.

เปิดเบื้องหลังแบงก์ออมสินปล่อยกู้ธ.ก.ส.วงเงิน2หมื่นล้านจ่ายโครงการจำนำข้าว

แผนการปล่อยกู้เงินของธนาคารออมสินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ผ่านการกู้เงินระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นการปล่อยกู้ก้อนแรกเพื่อแก้ปัญหาการจ่ายหนี้ค่าข้าวให้กับชาวนาที่กำลังเป็นปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่าขณะนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ขอความร่วมมือไปยังสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SSI) ประกอบด้วยธนาคารรัฐ 4-5 แห่ง อาทิเช่น ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารออมสิน เป็นต้น ที่มีศักยภาพในการปล่อยกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ผ่านอินเตอร์แบงก์วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 1.78-2.5% ระยะเวลา 30 วัน โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว เพื่อนำไปจ่ายหนี้ตามใบประทวนของชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของธ.ก.ส.ครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีหนังสือยืนยันการค้ำประกันการกู้เงินให้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ผ่านอินเตอร์แบงก์ ที่เป็นเครดิตไลน์ของธนาคารรัฐ กรณีที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ซึ่งกรณีของธ.ก.ส.แม้จะไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่การกู้เงินครั้งนี้เพื่อต้องการนำไปใช้จ่ายหนี้ชาวนาซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะให้ดำเนินการลักษณ์ดังกล่าว

คลังงัด"เครดิตไลน์"หาเงินช่วยชาวนา

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายของธ.ก.ส.ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2557 ที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้แหล่งเงิน ที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นวงเงินก้อนใหม่ และยังมีความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกาว่ากระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้

"แนวคิดในการกู้ผ่านเครดิตไลน์ เป็นข้อเสนอจากการหารือร่วมกับนายแบงก์ใหญ่ของรัฐแห่งหนึ่ง ที่เสนอให้ใช้แนวงทางดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการต่อต้านและขัดหลักกฎหมาย เพราะถือเป็นการบริหารสภาพคล่องของธนาคารปกติ" แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ธ.ก.ส.ได้รับเงินงวดแรกมาแล้ว 5,000 ล้านบาท ได้เตรียมทยอยจ่ายให้แก่ชาวนาพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานในสัปดาห์หน้า ซึ่งธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำไปแล้วตั้งแต่ต้นฤดูผลิตปี 2556/57 ทั้งสิ้นจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท ปริมาณข้าว 3.6 ล้านตัน ชาวนา 5 แสนราย จากใบประทวนที่รับจำนำไว้ทั้งหมด 1.79 แสนล้านบาท จำนวนข้าว 10.8 ล้านตัน จำนวนชาวนา 1.4 ล้านราย โดยมีวงเงินที่ยังค้างจ่ายแก่ชาวนาทั่วประเทศขณะนี้อยู่ที่ 1.14 แสนล้านบาท ชาวนา 9 แสนราย

อ้างมติครม.ยันกู้ผ่านอินเตอร์แบงก์ได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า การปล่อยกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ของธนาคารออมสินครั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ โดยอาศัยมติครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 ที่อนุมัติให้ขยายกรอบวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 เพิ่มเติมอีก 1.3 แสนล้านบาท จากรอบวงเงินเดิม 5 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงิน

"กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือผ่านสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ การปล่อยกู้ให้แก่ธ.ก.ส. โดยแต่ละสถาบันการเงินจะช่วยเหลือสภาพคล่องตามศักยภาพที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินของตัวเอง พร้อมกันนี้ก็ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนร่วมปล่อยกู้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะมีธนาคารแห่งใดที่จะปล่อยกู้ให้ได้บ้าง "แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกหลังจากธ.ก.ส.กู้เงินผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ ซึ่งเป็นตลาดเงินกู้ระยะสั้นแล้ว กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาล อายุระหว่าง 3-5 ปีจำหน่ายให้แก่ รัฐวิสาหกิจที่มีสภาพคล่องจำนวนมาก เพื่อระดมเงินมาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากตลาดอินเตอร์แบงก์ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 30 วัน เบื้องต้นนายกิตติรัตน์ ได้ประสานกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งไปบ้างแล้ว อาทิ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

"ธีระชัย"เตือนธ.ก.ส.ซิกแซกส่อผิดอาญา

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตถึงการกู้เงินผ่านระบบอินเตอร์แบงก์ของธ.ก.ส.ว่าขณะนี้ ธ.ก.ส .มีสภาพคล่องสำหรับธุรกิจปกติอยู่หลายหมื่นล้านอยู่แล้ว การดิ้นรนไปกู้สภาพคล่องให้บานตะไทออกไปอีก ย่อมอยู่ในข่ายน่าสงสัย ธ.ก.ส. ดำเนินการโครงการนี้ ตามคำสั่งของรัฐบาล จึงต้องแยกบัญชีออก ต่างหากจากธุรกิจปกติอื่นๆ และการกู้ยืมเพื่อโครงการนี้ ก็โดยอนุมัติของกระทรวงการคลัง และมีคลังค้ำประกัน โดยจะมีการเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติก่อนดำเนินการแต่ละครั้ง

ดังนั้น หาก ธ.ก.ส. จะใช้เงินสภาพคล่องที่ ธ.ก.ส. หาเอง ก็จะเป็นการเปลี่ยนวิธีไปจากเดิมและจะไม่แตกต่างจากกรณีก่อนหน้านี้ ที่รัฐมนตรีคลังเคยเรียกร้องให้ ธ.ก.ส. นำเอาสภาพคล่อง ที่มีไว้เพื่อรองรับธุรกิจอื่นๆ ให้เอามาใช้ในโครงการนี้ แต่สหภาพไม่ยอมและเนื่องจากจะไม่มีรัฐบาลค้ำประกัน (มีแต่จดหมายรับรู้การกู้เท่านั้น) ธ.ก.ส. จึงจะต้องเสี่ยงเอาเอง

"วิธีการ คือบอร์ดต้องอนุมัติ หากเกิดเสียหายบอร์ดและผจก. ก็ต้องร่วมกัน หารสั้น หารยาว เฉลี่ยความรับผิดชอบทางแพ่ง แต่ยังมีอีกปัญหา คือที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ไม่เคยมีการโอนรายการ ข้ามจากบัญชีปกติ ไปใช้ในบัญชีนโยบายทางการ ซึ่งแยกต่างหาก หากมีการทำอะไร ที่ผิดแผกแหวกแนวไปจากปกติเดิม ก็จะเข้าข่าย ถูกสงสัย ว่าร่วมมือกับรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดผลดีแก่พรรคร่วมรัฐบาล คราวนี้จะติดกันเป็นพรวน จะมีความผิดอาญาด้วยอีกโสดหนึ่ง"

"วรวิทย์"ปัดคลังค้ำประกัน

ด้านนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยันว่า ธนาคารได้ปล่อยเงินกู้ในตลาดอินเตอร์แบงก์ ให้กับธ.ก.ส.ไปแล้ว 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีกระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันแต่อย่างใด และการปล่อยกู้ครั้งนี้ธนาคารก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว

“เราปล่อยกู้ระหว่างแบงก์กันเองไม่มีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการให้กู้ตามข้อตกลงระหว่างกลุ่มธนาคารรัฐว่า จะช่วยเหลือสภาพคล่องซึ่งกันและกัน โดยธนาคารออมสินเปิดวงเงินไว้ 2 หมื่นล้านบาท” นายวรวิทย์ กล่าว

แบงก์ออมสินยันคุยสหภาพฯแล้ว

ส่วนปัญหาการต่อต้านจากสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน ต่อการปล่อยเงินกู้ให้โครงการรับจำนำข้าวนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่าได้คุยกับสหภาพแรงงานฯแล้ว ถึงการปล่อยกู้ครั้งนี้ โดยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว แต่เมื่อธนาคารรัฐอื่น มีความเดือดร้อนเรื่องสภาพคล่องก็ต้องเข้าไปช่วยในตลาดอินเตอร์แบงก์

การปล่อยกู้ในอินเตอร์แบงก์นั้น คิดดอกเบี้ยตามตลาด อายุไม่เกิน 30 วัน ส่วนจะยืดอายุเงินกู้ออกไปหลายๆรอบหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายกิตติรัตน์ ได้สั่งให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ธ.ก.ส. โดยกระทรวงการคลังค้ำในลักษณะ ออกเป็นหนังสือ Letter of comfort ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่แสดงความประสงค์ ที่กระทรวงการคลัง อยากจะค้ำประกัน แต่ยังไม่สามารถทำได้ก็จะพูดให้กำลังใจไว้ก่อน เอาไว้เมื่อพ้นสภาพรักษาการณ์ค่อยออกหนังสือค้ำประกันจริงๆ ภายหลัง

แหล่งข่าวจากธ.ก.ส. กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกิน 1.8 แสนล้านบาท หากต้องหักในส่วนของการดำรงค์เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แล้วทางธ.ก.ส.

ก็ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาปล่อยสินเชื่อปกติของธนาคาร

สหภาพธ.ก.ส.ชี้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบผิดกม.

นายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.กล่าวว่า ทางสหภาพฯจะตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ธนาคารได้เข้าไปกู้เงินอินเตอร์แบงก์กับธนาคารออมสิน โดยคาดว่า จะทราบรายละเอียดที่แท้จริงวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.นี้ เพราะเป็นเวลาทำการตามปกติ แต่เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้ ยังไม่พบว่า มีเงินโอนเข้ามาหรือจ่ายออกไปสำหรับโครงการจำนำข้าวแต่อย่างใด

เขากล่าวว่า หากธนาคารดำเนินการกู้เงินดังกล่าวจริง จะต้องตรวจสอบว่า กู้ไปดำเนินงานด้านใด เนื่องจาก โดยหลักการของการกู้ลักษณะนี้ คือ กู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ขณะนี้ ธนาคารไม่ได้มีปัญหาด้านสภาพคล่องแต่อย่างใด และ มีกฎหมายใดที่รองรับการกู้และใช้จ่ายเงินตัวนี้ หากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทางฝ่ายบริหารหรือผู้ที่เข้าไปดำเนินการกู้นั้น จะต้องรับผิดชอบ

"จะต้องดูว่า เงินกู้นี้ มีกฎหมายใดรองรับ และมีความเสี่ยงต่อธนาคารหรือไม่ เพราะการกู้ลักษณะนี้ ธนาคารต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ ขณะเดียวกัน ก็ยังกระทบต่อสัดส่วนการกู้ในภาพรวมของธนาคารด้วย"

เสนอรวมใบประทวนทำซิเคียวริไทซ์

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่าข้อเสนอการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทซ์) เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือนร้อน ถือเป็นข้อเสนอที่ดี ในความเห็นส่วนตัวแล้ว การทำซีเคียวริไทซ์ทำได้ เพียงแต่ไม่ควรนำสต็อกข้าวมาเป็นหลักทรัพย์ในการออกตราสาร แต่ควรใช้หนี้ที่รัฐบาลติดชาวนามาเป็นหลักประกันในการออก คือการนำเอาใบประทวนมาเป็นหลักทรัพย์ในการออกตราสาร

“ความจริงแล้วการที่ชาวนาเอาข้าวไปจำนำคือชาวนาขอกู้ โดยเอาใบประทวนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้รัฐบาลหรือธ.ก.ส. เป็นเจ้าหนี้ชาวนา ดังนั้นธ.ก.ส.ควรขายหนี้ส่วนนี้ โดยอาจตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อทำซีเคียวริไทซ์ ถ้าทำแบบนี้ใบประทวนก็จะตามมาพูดง่ายๆคือเอาหนี้ที่อยู่ในรูปใบประทวนมาออกเป็นตราสารซีเคียวริไทซ์ ถ้าทำได้ชาวนาก็อยู่รอดได้”นายนิวัฒน์ กล่าว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การออกขายตราสารชนิดนี้ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปว่า การทำลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการช่วยรัฐบาลแต่เป็นการช่วยชาวนา โดยเปิดขายให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อลงทุนได้ หากทำเช่นนี้ได้สถาบันการเงินก็กล้าเข้ามาลงทุนโดยไม่ต้องกลัวความเสี่ยงว่าจะถูกประชาชนแห่ถอนเงิน

จริงๆแล้วสาเหตุที่แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ให้รัฐบาลมี 2 เรื่องหลัก คือเกรงว่าจะมีความเสี่ยงในแง่กฎหมาย กับความกลัวเรื่องกระแสสังคม กลัวว่าคนจะแห่ถอนเงิน ดังนั้นต้องแก้ 2 ปัญหานี้ ให้ได้ถึงจะถึงให้สถาบันการเงินกล้ามาลงทุน เพราะหากดึงให้คนทั่วไปร่วมลงทุนโดยมองว่าเป็นการช่วยชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้ช่วยรัฐบาล ผมเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้ดีขึ้น ประชาชนไม่ว่าจะอยู่สีเหลืองหรือสีแดงก็สามารถลงทุนเพื่อช่วยชาวนาได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เช็กลิสต์ วัคซีน ในผู้ใหญ่...

โดย พ.ญ.ธนีศา ภานุมาตรัศมี คลินิกวัคซีน ร.พ.พญาไท 1

เมื่อพูดถึงวัคซีน คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า วัคซีนเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ววัคซีนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกวัย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยปัจจัยดังกล่าวคือ

1.เพศ ในเฉพาะบางวัคซีนเท่านั้น เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) แต่ในปัจจุบันทางการแพทย์แนะนำให้ผู้ชายในกลุ่มรักร่วมเพศรับวัคซีนชนิดนี้ด้วย

2.อายุ ในคนทั่วไปอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปทุกคน แนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม เนื่องจากถ้าเกิดการติดเชื้อที่ปอดแล้ว โรคปอดบวมอันตรายถึงชีวิตได้

3.อาชีพ เพราะบางอาชีพต้องรับวัคซีนเฉพาะ เช่น สัตวแพทย์ คนที่ทำงานคลุกคลีกับสัตว์ ควรต้องรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย

4.ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ง่ายกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคตับ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ กลุ่มนี้จำเป็นต้องรับวัคซีน ป้องกันโรคมากกว่าคนทั่วไป เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม วัคซีนป้องกันโรคไอกรน เป็นต้น

"วัคซีน"... คืออะไร ?

วัคซีน คือสารที่ให้แก่ร่างกายของคนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคนั้นขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ถาวรตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรคนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย

การให้วัคซีนเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มีความคุ้มค่ากว่าเมื่อต้องทำการรักษาหลังจากติดเชื้อหรือเป็นโรคนั้นแล้ว และต้องไม่ลืมว่าโรค

บางโรคได้สูญหายไปจากโลกนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากการนำวัคซีนมาใช้ เช่น โรคฝีดาษ และโรคบางโรคกำลังใกล้จะถูกกำจัดให้หมดไปด้วยการใช้วัคซีน

ผลดีของ "วัคซีน"

เป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุด การลงทุนด้านการฉีดวัคซีนถือว่าเป็นการลงทุนทางด้านสุขภาพที่คุ้มค่าที่สุด รองลงมาจากการลงทุนให้มีน้ำสะอาดไว้ดื่ม โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนส่วนใหญ่เป็นโรคที่เป็นแล้วมีความรุนแรง รักษายาก เช่น โรคบาดทะยักในผู้สูงอายุ บางโรคทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน บางโรค

หากเป็นแล้วอาจกลายเป็นโรคเรื้อรังหรือจบลงด้วยการเป็นมะเร็ง เช่น โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี, โรคติดเชื้อไวรัสเอสพีวี (HPV) เป็นต้น

ความเป็นจริงคือวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกวัย เพียงแต่ว่าแพทย์จำเป็นต้องประเมินความต้องการวัคซีนเป็นรายบุคคล ซึ่งแพทย์จะตรวจสอบข้อมูลความเสี่ยงต่อโรคและความคุ้มค่าของการใช้วัคซีนของท่านจากข้อมูลดังนี้

1.เพศ

2.อายุ

3.อาชีพ

4.สถานที่อยู่อาศัย เช่น พักหอพักในมหาวิทยาลัย, เข้าค่ายทหาร, ต้องเดินทางไปต่างประเทศ, ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา

5.การมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข, แมว, กระต่าย, กระรอก

6.ประวัติการเจ็บป่วย เช่น ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส, เป็นโรคอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายกว่าปกติ หรือหากแพ้วัคซีนอาจมีความรุนแรง

7.ความเสี่ยง เช่น การมีความเสี่ยงต่อไวรัสตับอักเสบเอ, การมีหรือไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี

8.ประวัติการได้รับวัคซีนก่อนหน้านี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

มือมืดยิงปืนใส่บ้าน อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/somsakjeam ระบุว่า "เมื่อครู่นี้ มีคนร้าย 2 คนบุกเข้ามายิงใส่รถและบ้านผม (ทั้งด้วยกระสุนจริงกระสุนยาง) ขว้างก้อนอิฐใส่บ้าน ฯลฯ ขณะผมอยู่ในบ้าน และต่อหน้าเพื่อนบ้านหลายคน"

 ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) แถลงว่า ทบ.ตรวจพบการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในช่วงที่ผ่านมา มีบางข้อความอาจมีเนื้อหาไม่ค่อยเหมาะสมต่อสังคมไทย โดยเฉพาะบางข้อความอาจมีโอกาสเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

 "ทบ.จะได้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าข้อความใดเข้าข่ายเป็นการหมิ่นสถาบันฯหรือจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ เนื่องจาก ทบ. เป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องสถาบันและดำรงพระเกียรติยศ การกระทำใดเป็นการใส่ความด้วยความเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือเชื่อมั่นต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทบ.จำเป็นต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาดำเนินการ ควบคู่กับการใช้มาตรการทางสังคมเพื่อกดดัน และ ปฏิเสธพฤติกรรมการกระทำที่ไม่ถูกต้อง"

 พ.อ.วินธัยกล่าวว่า กองทัพบกอยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันดูแลเฝ้าระวัง อย่าให้ผู้ใดมาจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันอันเป็นที่รักได้

 ด้านนายสมศักดิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กในวันที่ 6 ก.พ.เช่นกันว่า "ไม่ทราบว่า ทบ. อ่านภาษาไทยอย่างไรนะครับ
คนรักเจ้าอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ 112 ตั้งแต่เมื่อไร และการที่ผมวิจารณ์คนรักเจ้าและการรักเจ้าแบบเอาเจ้าเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่รู้จักการตื่นรู้ เป็นการละเมิด 112 ไปได้อย่างไร"

ที่มา.ข่าวสดออนไลน์
----------------------------------

เมื่อ กรุงเทพฯ ถูกปิด !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อ กลุ่มผู้ชุมนุมหรือม็อบประชาธิปัตย์ประกาศปิดกรุงเทพฯหรือใช้ศัพท์เพื่อ สร้างกระแสว่า Shut Down Bangkok ในวันที่ 13 มกราคม 2557 โดยจะปิดสี่แยกที่เป็นย่านธุรกิจสำคัญ 20 แห่ง ต่อมาลดลงเหลือ 8 แห่ง จะเป็นเพราะประเมินแล้วว่ามีกำลังไม่เพียงพอก็ได้ แต่ที่แปลกก็คือผู้ที่ทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนตกอกตกใจ กลับไม่ใช่ฝ่ายผู้ชุมนุม แต่กลับเป็นฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ทำเสียเอง จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่ทราบ

กรุงเทพ มหานครอมรรัตนโกสินทร์นั้น สถาปนาขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2325 เวลา 06.54 น. โดยถือเอาวันเวลาที่ลงเสาหลักเมืองตามฤกษ์ยามที่ได้เตรียมมาก่อนล่วงหน้า แล้ว

หลังจากตั้งกรุงเทพฯ พระเจ้ากรุงอังวะพม่า ก็พยายามยกมาตีกรุงเทพฯ แต่ก็เข้ามาไม่ถึง เพราะกองทัพสยามเปลี่ยนยุทธวิธีจากการตั้งรับในพระนคร ออกไปตั้งรับอยู่ชายแดน ยุทธการที่สำคัญคือ "ศึกลาดหญ้า" ที่กาญจนบุรีอันเลื่องลือ ในอีก 20 ปีต่อมา นโปเลียน โบนาปาร์ต จึงเอาไปใช้ที่ยุโรป

ในช่วงการล่าอาณานิคม ตั้งแต่รัชกาลที่ 4เรื่อยมาถึงรัชกาลที่ 6 กรุงเทพฯก็รอดพ้นจากการถูกยึดหรือ "ถูกปิด" หรือถูก Shut Down โดยเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศส แบบเดียวกับที่ทำกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา

ตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลากว่า 230 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีผู้ใดสามารถปิดหรือยึดกรุงเทพฯได้เลย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่น ยื่นคำขาด ขอให้กองทัพลูกพระอาทิตย์ผ่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม สู้อยู่ไม่กี่วันก็ประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับพันธมิตร ญี่ปุ่นจึงมิได้ยึดกรุงเทพฯ

สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะแพ้สงคราม เมืองหลวงของญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลีถูกพันธมิตรยึดครองหมด แต่กรุงเทพฯเมืองหลวงของไทยก็ไม่ได้ถูกยึดหรือถูกปิด ยังเป็นกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรไม่มีวันตายอยู่เหมือนเดิม จะเป็นเพราะดวงชะตาบ้านเมืองที่ทรงวางไว้อย่างนั้นหรือไม่ก็ไม่ทราบ

เมื่อมาถึง พ.ศ.2557 ก็นึกไม่ออกว่ากรุงเทพฯจะถูกปิดโดยผู้ชุมนุมโพกผ้าเหลืองพันแขนด้วยแถบธงชาติ คล้องคอด้วย
นกหวีดได้อย่างไร ดวงชะตาบ้านเมืองจะคอดกิ่วถึงขนาดนั้นเชียวหรือ เพราะรัฐบาลทำการประชาสัมพันธ์ใหญ่โตว่ากรุงเทพฯจะถูกปิด ให้ผู้คนเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง ไฟฟ้า เตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ ชาร์จถ่านโทรศัพท์มือถือไว้ให้พร้อม เพื่อจะได้ทำงานที่บ้านได้ บริษัทห้างร้านที่ตกอกตกใจก็เตรียมการ กลัวจะเกิดวิกฤตการณ์กรุงเทพฯถูกปิด สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองก็เตรียมพร้อม

ผู้คนที่ไม่เคยใช้ระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟใต้ดินและบนดินก็เตรียมตัว ไปหาแผนที่ระบบขนส่งมวลชนมาศึกษาทางหนีทีไล่ การขนส่งทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ คลองพระโขนงก็ถูกนำกลับมาศึกษาว่าถ้าหากกรุงเทพฯถูกปิด ถนนหนทางทางผ่านใช้ไม่ได้จะทำอย่างไร

ข้อที่น่าสังเกตก็คือคน กรุงเทพฯไม่โกรธ ไม่โมโหที่กรุงเทพฯจะถูกปิด อาจจะเป็นเพราะมีใจเข้าข้างผู้ชุมนุมก็ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายผู้ชุมนุมโดยไม่ออกจากบ้าน ตั้งมั่นอยู่กับที่ หยุดทำงานทำการ เพื่อให้กรุงเทพฯเป็น "เมืองร้าง"

เหมือน ถูกปิดตามที่แกนนำผู้ชุมนุมอยากให้เกิดขึ้น กลับกันต่างก็หาทางเดินทางไปทำงานด้วยวิธีต่าง ๆ จนได้ระบบขนส่งมวลชนก็ดี รถเมล์ก็ดี เรือเมล์ก็ดี กลับแน่นขนัดในขณะที่ถนนหนทาง ทางด่วนโล่ง รถยนต์ก็วิ่งได้อย่างสะดวก คล้าย ๆ กับวันหยุดยาว เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ ตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 13-19 การจราจรทางถนน ทางหลวง ทางด่วนจึงโล่ง แต่ขนส่งมวลชนรถเมล์กลับแน่น

เมื่อเริ่มสัปดาห์ใหม่ วันจันทร์ที่ 20 มกราคม ถนนหนทางในกรุงเทพฯ รถก็ติดเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศ "เปิดกรุงเทพฯ" หรือ "Open Up Bangkok" จนถึงเทศกาล "ตรุษจีน" แล้ว กรุงเทพฯก็ยังเป็นเมืองฟ้าอมร ยังไม่ตาย ยังเหมือนเดิม

เมื่อมีการประชาสัมพันธ์การปิดกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Shut Down ก็ตกใจว่า กรุงเทพฯที่รอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกามาโดยตลอดกว่า 230 ปี จะมาอับจนถูกปิดคราวนี้ ดวงชะตาบ้านเมืองที่วางเอาไว้ตั้งแต่วัน อาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 จะมาอับจนเสียแล้วหรือ เมื่อกรุงเทพฯถูกยึดถูกปิด เมื่อจะเปิดกรุงเทพฯใหม่ก็คงต้องหาฤกษ์ หายามลงเสาหลักเมืองใหม่ แล้วจะมีฤกษ์ยามวิเศษ ที่อาทิตย์เป็นอุจจ์ กุมลัคน์ มีอังคารนำหน้าลัคน์ พฤหัสฯเป็นเกษตร อย่างเดิมได้อย่างไร ฤกษ์เช่นนี้ไม่ได้หาได้ง่าย ๆ

คนไทยนี่แปลก เป็นคนที่มีอารมณ์สนุก มีอารมณ์ขัน ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่กำลังทำเป็นสิ่งตึงเครียด เพราะกำลังทำเพื่อล้มทั้งรัฐบาลและล้ม "ระบอบทักษิณ" ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องคอขาดบาดตาย เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ข้อหากบฏในราชอาณาจักร" มีโทษถึงประหารชีวิต

แต่บรรดาผู้ที่มาชุมนุมก็เปลี่ยนบรรยากาศ การชุมนุมที่ควรจะตึงเครียดให้เป็น "งานคาร์นิวัล" หรือเป็นเทศกาลงานวัดสมัยใหม่ มีวงดนตรี มีศิลปินมาขับกล่อม มีเต้นรำทำเพลง พร้อม ๆ กับมีอาหารอันโอชะมาจากที่ต่าง ๆ ไว้รับรอง กล้องทีวีก็จะแพนไปจับภาพผู้ชุมนุม สาวสวยขนาดขึ้นประกวดนางงามได้ สลับกับการ์ดหน้าดำถมึงทึงไว้หนวดเฟิ้ม มีนกหวีดคล้องคอ พร้อมแถบธงชาติพันแขน แม้จะนั่งดูอยู่ที่บ้านก็ไม่ตึงเครียด สนุกสนาน กระชุ่มกระชวยไปกับผู้ชุมนุมด้วย แม้จะมีหมายจับก็ไม่ เป็นไร ไปถึงศาลศาลก็ปล่อยตัว เพราะศาลก็คงสนุกไปด้วย ต่อเมื่อแกนนำขึ้นเวทีจึงค่อยเปลี่ยนไปช่องอื่น ทำเช่นนี้ก็จะทำให้ชีวิตมีรสชาติมากกว่าดูข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศ และละครน้ำเน่าเป็นไหน ๆ กรุงเทพฯจึง "สมเป็นนครมหาธานี" จริง ๆ

ที่เป็นประโยชน์จริง ๆ เห็นจะเป็นรายการสนทนาของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่แจ้งเกิดมากมาย ทำให้ประเทืองสติปัญญา ตั้งแต่นักวิชาการสายกฎหมายรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น นักวิชาการสายกฎหมายมหาชน "นิติราษฎร์" หรือนักวิชาการ "ผังเมือง" ที่ออกมาอธิบายความเป็นกรุงเทพมหาธานี มาอภิปรายต่อสู้กับนักวิชาการวิชาเกินฝ่ายมวลมหา ประชาชนได้เห็นถึงจริยธรรม อคติ และวาทศิลป์ของฝ่ายต่าง ๆ ที่ผู้ฟังสามารถเลือกที่จะสนุกสนานได้ตามจริตของตน ซึ่งมีไม่บ่อยนักสำหรับประเทศของเรา เป็นการเปิดสมองทดสอบความอดทนของตัวเราได้เป็นอย่างดี ถ้ารู้จักคิด รู้จักฟัง รู้จักแยกแยะด้วยสติปัญญา

แทนที่กรุงเทพฯจะถูกปิดด้วยสิ่ง กีดขวางทางจราจร กลับกลายเป็นว่ากรุงเทพฯกลับถูกเปิดอย่างที่สุด ถูกเปิดด้วยสติปัญญา ถูกเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง หลักการกับหลักกู ระบอบรัฐสภากับระบอบข้างถนน คนกรุงเทพฯเลือกแบบไหน

กรุงเทพฯถูกปลด ปล่อยอย่างถึงที่สุด ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ไม่ถูกจำกัดด้วยจารีตประเพณี ไม่ถูกจำกัดด้วยมารยาท ไม่ต้องดัดจริต ทุกอย่างเป็นไปตามสภาพธรรมชาติ สุดแท้แต่มนุษย์จะเลือกเอา เพราะ "อำนาจรัฐ" อ่อนแอลงจนเกือบจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า "รัฐไทย" ยังคงดำรงอยู่ แต่ "รัฐไทย" ก็ยังดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง เพราะกรุงเทพฯก็ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ได้ตายอย่างที่กลัวกัน

ในช่วงที่มีการประกาศปิดกรุงเทพฯจึงมีผลตรงกันข้าม กล่าวคือ กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองเปิดที่สุด มีชีวิตชีวา "สวยงามหนักหนา

ยามราตรี" ที่สุด สภาวะการจราจรแทนที่จะติด ถนนกลับโล่ง ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะแต่งตัวอย่างไรก็แต่งอยากจะพูดอะไรก็พูด ปลดปล่อยอารมณ์ได้อย่างเต็มที่

เหตุการณ์ ประกาศปิดกรุงเทพฯครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ นอกจากมีร่างกายแล้วยังมีชีวิตและยังมีจิตวิญญาณด้วย

ทางด้านกายภาพ มีระบบร่างกายสลับ ซับซ้อน เจริญเติบโตโดยธรรมชาติ ไม่มีการวางแผน มีสภาพการตื่นตลอดเวลา ไม่เคยหลับ ไม่เคยนอน ดำรงอยู่เป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้านของประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีจิตวิญญาณด้วย ไม่ใช่มีเพียงร่างกายและชีวิต แต่จิตวิญญาณของการเป็นกรุงเทพฯนั้น ยากที่จะอธิบาย

แต่รับรองได้ว่าจะไม่มีใครมายึดครองได้ เป็นชีวิตที่ยากจะทำลายได้ โอ้เมืองแก้วเลิศแล้วราตรี ทุกสิ่งล้วนมีชีวิตชีวา !

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-----------------------------------------------

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตกหน้าผาจำนำข้าว !!

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตกหน้าผาจำนำข้าว สุดท้ายแค่ซื้อเวลาลากยาว กู้เงินผิดรัฐธรรมนูญ-ข่าวล่องหน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประจำปีงบประมาณปี 2557 ครั้งที่ 1 ถือเป็นวิธีการพยายามกู้เงินของกระทรวงการคลัง เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวในฤดูผลิตนาปี 2556/57

จากข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการวันที่ 1 ต.ค. 2556 ถึงวันที่ 30 ม.ค. 2557 มีข้าวเข้าโครงการทั้งสิ้น 178,681.55 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินไปแล้ว 56,132.96 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในช่วงค่ำของวันเดียวกับที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่พิจารณาการขอกู้เงินของรัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำ ที่รัฐบาลติดค้างชำระใบประทวนชาวนาทั่วประเทศกว่าแสนล้านบาท

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยน"แผนก่อหนี้" ด้วยการ"ยกเลิก" แผนกู้เงินในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ที่เดิมมีแผนจะกู้เงินในปี 2557 ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทออก เนื่องจากพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และแผนการก่อหนี้ใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ให้ปรับลดวงเงินกู้ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

จากนั้น เพิ่มรายการ"ใหม่" จำนวน 2 รายการ รวมเงิน 143,244 ล้านบาท ได้แก่ 1.เงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล 13,244 ล้านบาท และ 2.เงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 130,000 ล้านบาท

นั่นคือ เงินกู้ที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

แต่เนื่องจากรัฐบาลยุบสภา ทำให้มีปัญหาว่าไม่สามารถดำเนินโครงการหรือนโยบายใดที่ผูกพันไปยังรัฐบาลต่อไปได้ ซึ่งจุด"ตาย"ของนโยบายนี้ เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่าง"รุนแรง" หากไม่ได้เงินกู้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าว เพื่อนำเงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนได้

หากฟังความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกาในการประชุมครม.วันนั้น ก็จะรู้ว่าการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการนี้ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า หากการที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามกรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว และการพิจารณาอนุมัติดังกล่าวจะไม่มีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป คณะรัฐมนตรีก็ย่อมพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามที่เสนอได้

แต่ทางกระทรวงการคลังเห็นว่าความเห็นกฤษฎีกายังไม่ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ จึงเสนอให้ตีความอีกครั้งว่าทำได้หรือไม่ ในวันที่ 23 ม.ค.

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบกลับว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่โครงการใหม่

แต่ประเด็นปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อมีการตีความว่าความเห็นของกฤษฎีกาในวันเสนอครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.นั้น เป็นการประชุมในรูปแบบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนความเห็นเมื่อวันที่ 23 ม.ค.นั้น เป็นความเห็นของนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ความสับสนจึงเกิดขึ้น เพราะกระทรวงการคลังได้สั่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทำแผนกู้เงินจากตลาดเงินงวดแรก 20,000 ล้านบาท จากนั้นกู้เงินในทุกสัปดาห์ แต่ความเห็นขอบสบน.ระบุว่าอาจสุ่มเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญ

ปรากฏว่าการประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินมาปล่อยเงินกู้ในครั้ง มีเพียงสถาบันการเงินต่างชาติเพียงรายเดียว โดยเสนอดอกเบี้ยสูงลิ่วถึง 18% ส่วนสถาบันการเงินอื่นไม่ยื่นข้อเสนอเพื่อประมูลปล่อยกู้ในครั้งนี้

นักการธนาคารหลายคนระบุตรงกันว่าไม่มีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องการรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หากมีการตีความว่าการกู้เงินในครั้งผิดรัฐธรรมนูญ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ไม่มั่นใจว่าจะสามารถกู้ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นความเห็นของเลขาธิการเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ใช่ความเห็นในลักษณะขององค์กร อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้ว การที่จะระบุว่า ขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะต้องขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ

ในเมื่อกระทรวงการคลังไม่สามารถกู้เงินในตลาดเงินได้ จึงพยายามหาช่องทางต่างๆ เพื่อหาเงินมาใช้ในโครงการ เพราะยิ่งปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานเท่าไร ความเดือดร้อนของชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการนี้ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐบาลติดค้างชาวนามานาน บางพื้นที่ค้างจ่ายมานานถึง 6 เดือน

ดังนั้น จึงมีความเคลื่อนไหวพยายามหาแหล่งเงิน ไม่ว่าจะร้องขอธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ให้ยอมปล่อยสภาพคล่อง แต่ก็ถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงาน รวมทั้งมีข่าว ว่าจะขอให้ธนาคารออมสินมาปล่อยกู้ แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงต่อต้านเช่นเดียวกัน แม้แต่ธนาคารกรุงไทย

แต่เมื่อถูกต่อต้าน ก็มีข่าวว่ารัฐบาลพยายามหาทางกู้แหล่งเงินที่มีสภาพคล่องสูง อย่างกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ซึ่งล่าสุดได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน

เจ้าหน้าที่รายเดียวกัน กล่าวอีกว่า แผนการหาเงินด้วยการกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในขณะนี้ เรียกได้ว่า "แทบเป็นไปไม่ได้" เนื่องจาก ติดปัญหาว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) และ (4) ที่ห้ามรัฐบาลรักษาการ ทำงานหรือโครงการที่มีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป และ ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ ที่ทำให้มีผลต่อการเลือกตั้ง ทำให้ข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่ดังกล่าวไม่กล้าที่จะเสนอแผนการกู้เงิน

เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเสนอเงินกู้ หรือ แม้แต่ทางรัฐมนตรีคลังนั้น ก็ทราบกันดีว่า การกู้เงินดังกล่าวจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังทำเรื่องเสนอเงินกู้ และเมื่อเสนอแล้ว ก็พบว่า มีแบงก์แห่งเดียวที่เสนออัตราดอกเบี้ยเข้ามาร่วมประมูล ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องการทำเรื่องกู้เงิน เพราะกังวลว่า จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย

เจ้าหน้าที่รายนี้ กล่าวอีกว่า ข่าวที่ออกมาว่ากระทรวงการคลังเตรียมไปกู้เงินจากแหล่งต่างๆนั้น ถือว่า เป็นข่าวที่ปล่อยออกมาเพื่อให้ดูว่า รัฐบาลกำลังหาเงิน เพื่อมาจ่ายให้ชาวนา แต่แท้จริงแล้ว รัฐบาลกำลังซื้อเวลา เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ดังนั้น แนวทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหา คือ การเร่งระบายข้าว

แต่การระบายข้าวก็อาจสร้างปัญหาตามมาอีก เพราะหากรัฐบาล"เปิดโกดัง"เพื่อขายข้าวให้แก่ผู้ส่งออก ก็อาจพบได้ว่ามีข้าวสารในบางโกดังหายไป และข้าวเสื่อมสภาพ อาจถูกกดราคาหรือไม่มีใครสนใจประมูล

ปัญหาโครงการนี้สะท้อนได้จากผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพราะผ่านเข้าสู่ฤดูผลิตปีที่ 3 แล้ว แต่ยังไม่มีการปิดบัญชี

ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีบัญชีใน 3 ฤดูกาลผลิต นับตั้งแต่ฤดูการผลิต 2554/55 โดยตัวเลขสินค้าคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล ณ เดือน พ.ค. 2556 มีข้าวสารในสต็อกรวม 13 ล้านตัน

ในปีที่แล้ว ที่รัฐบาลได้ประกาศตรวจสอบสต็อกข้าวของรัฐบาลพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งก่อนตรวจสอบทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.)ได้แจ้งว่ายังมีข้าวสารที่ยังไม่ลงบัญชีอีก 2.98 ล้านตัน

ดังนั้น เมื่อมีการตรวจนับปริมาณข้าวในสต็อกปริมาณข้าวที่นับได้จะต้องมีมากกว่าที่บันทึกไว้ในบัญชี 2.98 ล้านตัน แต่ในทางตรงกันข้าม หลังจากตรวจสอบทั่วประเทศในครั้งนั้น กลับพบว่า มีปริมาณข้าว ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในบัญชี 1.5 ล้านตัน

เมื่อรวมปริมาณข้าว ที่ระบุว่าไม่ได้ลงบัญชี แต่กลับหาไม่พบ 2.98 ล้านตัน กับตัวเลขข้าวที่มีอยู่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในบัญชี 1.5 ล้านตัน เท่ากับว่า มีปริมาณข้าวหายไปจากสต็อกประมาณ 4.5 ล้านตัน ซึ่งจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีการชี้แจง หรือ สืบสวนหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้

ถือเป็นภาวะ กลืนไม่เข้า คลายไม่ออก ของรัฐบาล แต่ที่ทำได้ขณะนี้คือการซื้อเวลาออกไปให้ยาวนานที่สุด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
-----------------------------------

กิตติรัตน์ : ยันชาวนาได้เงินจำนำข้าวแน่ ย้ำธนาคารพร้อมปล่อยกู้ !!?

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงเรื่องการจ่ายเงินในโครงงการรับจำนำข้าวให้กับชาวนาว่า การจัดหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนา ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องมีมติครม.อีก เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการ แต่มีความล่าช้าเพราะขั้นตอนในเรื่องดังกล่าวประสบปัญหาหลังมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและมีความไม่เรียบร้อยทางการเมือง ซึ่งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณถูกปิดที่ทำการมานานเกือบเดือน ทำให้กระบวนการจัดการประชุมแผนบริหารหนี้สาธารณะ รวมถึงเมื่อมีการยุบสภาฯทำให้มีขั้นตอนเพิ่มเติมที่รัฐบาลต้องดำเนินกการอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ซึ่งรัฐบาลได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รวมถึงขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งยังดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้ความตั้งใจที่ดีของสถาบันการเงินที่อยากช่วยเกษตรกรในการให้เงินกู้กับโครงการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย

 “ผมขอเวลาอีกระยะหนึ่งในการทำตามขั้นตอนของกฎหมายมีความเรียบร้อย ลงตัว และเมื่อการดำเนินการตรงนี้มีความเข้าใจกันดีแล้ว เกษตรกรจะได้รับเงินในเวลาที่ไม่นานนัก”  นายกิตติรัตน์ กล่าว พร้อมยืนยัน  ใบประทวนที่ชาวนาได้นำไปจำนำไว้กับองค์การคลังสินค้า(อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ถือเป็นสิทธิ์ที่ชาวนาผู้จำนำจะได้รับเงินเต็มจำนวนใบประทวน จึงขอให้ทุกคนสบายใจได้ นอกจากนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งมีภาคเอกชนรวมอยู่ด้วย ได้ประสานงานเข้ามาบ้าง ประสงค์ที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับชาวนาที่ถือใบประทวนซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในระหว่างที่รัฐบาลกำลังใช้เวลาดำเนินการ เพราะแม้รัฐบาลจะเริมจ่ายเงินจำนำข้าวให้ได้ แต่คงมีชาวนาบางส่วนที่ต้องรอเงินอีกระยะหนึ่ง ขณะนี้ชาวนาที่นำข้าวมาจำนำเมื่อเดือน ต.ค.-พ.ย.2556 กำลังจะได้รับเงิน ต่อด้วยชาวนาที่นำข้าวมาจำนำในเดือน ธ.ค.2556- ม.ค.2557 ซึ่งขอเวลาจัดความลงตัวเพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ มีความเข้าใจและมั่นใจในเรื่องการปล่อยกู้

 เมื่อถามว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่ชัดเจนตามที่ชาวนาเรียกร้องได้หรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า คงสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่ต้องการกลายเป็นประเด็นการสัญญาว่าจะให้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินการอยู่ในอีกไม่กี่วัน ก็จะสามารถจ่ายเงินได้เพิ่มขึ้นให้กับชาวนาในกลุ่มแรกๆ

 “ขอยืนยันว่าผู้ที่ถือใบประทวนจะได้รับเงินอย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนมีการยุบสภา และมีความชัดเจนว่าการดำเนินโครงการนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

 เมื่อถามว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลและชาวนาเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ล้มเหลว และชาวนาไม่พอใจต่อความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว จากนี้ต่อไปรัฐบาลจะส่งคนไปเจรจากับทนายความกับกลุ่มชาวนาอีกครั้งหรือไม่ นายกิตติรัตน์ กลาวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลไม่หยุดจ่ายเงินแต่ยังจ่ายอยู่เรื่อยๆ ด้วยการนำเงินจากแหล่งเงินต่างๆ และการระบายข้าว รวมถึงวงเงินเดิมที่จัดเอาไว้ เพียงแต่อาจไม่รวดเร็วทันใจตามที่เกษตรกรต้องการ และขอชี้แจงว่ารัฐบาลไม่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการของธนาคาร แต่มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่เตรียมจัดวงเงินกู้ระยะชั่วคราวให้กับชาวนาที่มีใบประทวนมาขอกู้เงิน

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะให้ความมั่นใจกับธนาคารต่างๆ อย่างไร เพื่อให้ยอมปล่อยกู้ระยะสุดท้าย นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เคยมีการหารือกันว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 หรือไม่ ซึ่งกระบวนการตรงนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของ กกต.แล้ว โดยกกต.มีความเห็นว่าไม่ขัดข้องอะไร แต่ก็มีประเด็นหนึ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปให้ความเห็นที่ชัดเจนแล้วส่วนราชการต่างๆ อาทิ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงบประมาณ เป็นต้น ได้ประชุมหารือกันและมีมติว่ารัฐบาลเป็นผู้จัดงบประมาณในการดูแลโครงการนี้ได้ในอนาคต จึงถือว่ามีความชัดเจนแล้ว ในส่วนของสถาบันการเงินแม้จะมีความตั้งใจที่อยากช่วยเหลือชาวนา แต่ดูเหมือนมีความไม่เรียบร้อยในการค้านหรือทักท้วง แต่เชื่อว่า สถาบันการเงินอยากช่วยชาวนาเพราะรู้ดีว่า ถ้าชาวนาได้รับเงินจะทำให้เศรษฐกิจไม่หยุดชะงักซึ่งจะส่งผลดีต่อธนาคารเหล่านั้นด้วย แต่การที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลเพราะเกรงว่าจะถูกปิดหรือถูกขัดขวางถึงมีความสงสัยในโครงการรับจำนำข้าว

 เมื่อถามว่า  รัฐบาลยืนยันได้หรือไม่ว่ามีเงินเพียงพอที่จะมาใช้หนี้ชาวนาได้ นายกิตติรัตน์ กล่าวยืนยันว่า เงินของรัฐบาลที่เป็นไปตามระบบงบประมาณเงินคงคลังถือว่าเรามีเงินคงคลังในระดับที่สูงมาก สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มาชี้แจงอีกครั้ง ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องของบัญชีแยกและการจัดหาเงินด้วยวิธีการกู้เงินมาเพื่อจ่ายค่าจำนำข้าวในช่วงต้นฤดูกาลเราก็ได้นำข้าวไปขายเพื่อให้มีสภาพคล่องกลับคืนมา ซึ่งดำเนินการกันตามขั้นตอนปกติและทำมาแล้ว 4 ฤดูกาลเพาะปลูก โดยไม่มีข้อติดขัดอะไร

 เมื่อถามว่าถ้ารัฐบาลมีแหล่งเงินกู้แล้ว นายกิตติรัตน์พร้อมลงนามขอกู้เงินเองในครั้งนี้ได้เลยใช่หรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เมื่อมีการตีความข้อกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว และผู้ที่ให้กู้เกิดความสบายใจแล้วกระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ดำเนินการไปตามมติ ครม. อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าชาวนาส่วนใหญ่เข้าใจรัฐบาล และมีชาวนาหลายรายที่ได้รับเงินไปแล้ว รวมถึงชาวนาก็คงทราบความตั้งใจดีของรัฐบาลในการดูแลชาวนา ดังนั้นในเรื่องของเกมการเมืองก็อาจเกิดอะไรต่างๆ ขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้าชาวนาคนใดที่ยังไม่ได้รับการชำระเงินจำนำข้าวก็มีกลไกระบบธนาคารที่ดูให้ชาวนามีสภาพคล่องในระดับตามสมควร

ที่มา.มติชนออนไลน์
------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ดับทุกข์ชาวนา !!?

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ชาวนาประมาณ 1.4 ล้านคน ที่มีใบประทวนซึ่งไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/2557 (นาปี) ย่อมต้องเดือดร้อนแน่นอน เพราะเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้วนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงกุมภาพันธ์ 2557 ไม่ว่าจะเพราะวิกฤตการเมืองหรือความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลก็ตาม ทำให้ชาวนาทั้งแผ่นดินเป็นทุกข์

ชาวนาคนหนึ่งขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ร่ำไห้และถามว่าทำไมรัฐบาลใจดำ แต่ก็มีคำถามว่าทำไมไม่ถาม กปปส. และเครือข่ายที่ดาวกระจายไปข่มขู่และปิดล้อมไม่ให้สถาบันการเงินต่างๆให้รัฐบาลกู้เงินช่วยเหลือชาวนาว่าทำไมใจดำเช่นนั้น คงต้องให้ชาวนาทั้งประเทศเป็นคนตอบเอง

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เช่นกัน แม้รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนามีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การจัดการและภาวะเศรษฐกิจกลับไม่เอื้ออำนวยจนเกิดผลกระทบต่องบประมาณ โดยเฉพาะการทุตริตที่ถูก กปปส. และกลุ่มต่างๆนำมาโจมตีในขณะนี้ ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวไม่มีแน่นอน ทั้งที่ข้อเท็จจริงในโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าวล้วนมีการทุจริตทั้งสิ้น แต่รัฐบาลจะทำอย่างไรให้การทุจริตเป็นไปได้น้อยที่สุดเท่านั้น

ประเด็นที่ว่าควรใช้นโยบายโครงการรับจำนำข้าวหรือการประกันราคาข้าวนั้น ต้องไม่ให้เงื่อนไขทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องให้สังคมยอมรับว่าการช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้พอจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือซึ่งจะกระทบต่องบประมาณจำนวนหนึ่ง เพราะข้าวและพืชผลการเกษตรอยู่ภายใต้กลไกตลาดที่ชาวนาและเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด

ขณะที่ชาวนาไทยมีประมาณ 20 ล้านคน แม้ปัจจุบันกระบวนการผลิตจะเปลี่ยนไป แต่ต้นทุนต่างๆกลับสูงขึ้น ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องต้นทุนมากหรือน้อย หากยังมีกำไร ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนารู้ว่าเมื่อหักต้นทุน ค่าความชื้นและความไม่ได้มาตรฐานต่างๆแล้วจะเหลือเงินตันละเท่าไร จากการสำรวจพบว่าชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวจะมีรายได้ที่สูงกว่าชาวนาที่ไม่เข้าร่วมโครงการค่อนข้างมาก คือกำไรต่อไร่ต่างกันเกือบ 3 เท่า

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจึงทำให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาตลาดยิ่งเห็นความแตกต่าง ทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ให้ชาวนา 20 ล้านบาท ปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เข้าถึงคนรากหญ้าอย่างแท้จริง

ระบบเศรษฐกิจและการตลาดในปัจจุบันจึงไม่อาจปฏิเสธการช่วยเหลือชาวนาและผู้ทำอาชีพเกษตรกรได้ ไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารต่างก็รู้ดี แต่ทำอย่างไรให้นโยบายเกิดประโยชน์สูงสุดและมีปัญหาการทุจริตน้อยที่สุด ไม่ใช่เอาทุกข์ของชาวนามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างในขณะนี้

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
-----------------------------------

เส้นทางค้าข้าว ปูดเงินสูญหาย 1.15 แสนล้าน.

เปิดเส้นทางรัฐขายข้าวในสต็อกให้บริษัทนายหน้า เครือข่ายการเมือง ราคาถูกกว่าตลาดถึง 50 % ปริมาณ 12.75 ล้านตัน ขาดทุน 1.15 แสนล้าน

สัมภาษณ์นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย หลังเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวโดยเฉพาะในขั้นตอนการระบายสต็อกและผลเสียหายจากโครงการ

นายวิชัย กล่าวว่า ปปช.ได้เรียกไปให้ถ้อยคำ การดำเนินการโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล โดยการส่งออกของไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเสียแชมป์ไปให้กับอินเดียและเวียดนาม โดยยอดส่งออกลดลง 35%ในปี 2555 มูลค่าที่ได้ก็ลดลง 25% ขณะที่ปี 2556 ปริมาณการขายข้าวก็ลดลงอีก2 % ขณะที่มูลค่าลดลง 6 % โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปริมาณลดลง 37 %มูลค่าลดลงรวม 31% เงินเข้าประเทศลดลงและยังมีข้าวค้างสต็อกอีกรวมปี 2556/57 เข้าไปเป็นปริมาณ 20 ล้านตัน

รัฐบาลใช้เงินไปกับการจำนำข้าว 7.8 แสนล้านบาท จ่ายเงินคืนจากการขายข้าวให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท หมายความว่าเงินทุก 100 บาทที่รัฐบาลจ่ายไปนั้นได้รับเงินกลับคืนมา 18 บาท

"วิชัย"ชี้2ปมใหญ่ทำเงินหาย

เขากล่าวว่า เม็ดเงินที่หายไปเกิดจาก1.การคอร์รัปชัน 2.ไปตั้งราคาสูงกว่าตลาดเกิน 50% ทั้ง 2 ประเด็นทำให้รัฐบาลเงินหายไปประมาณ 2 ใน 3

"ผมคำนวณดูต้นทุนการจำนำข้าวต้นทุนต่อกิโลกรัมใกล้ๆ 30 บาทหรือ 29 บาทเศษ พ่อค้าส่งออกขายไปต่างประเทศราคาตลาดเฉลี่ย 20-21 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลกลับนำข้าวออกขายให้กับบริษัทนายหน้าหรือหน้าม้าของตัวเองเฉลี่ย 10-11 บาทต่อกิโลกรัม เกิดส่วนต่างที่ไปเข้ากระเป๋ากระบวนการพวกนี้กว่าแสนล้านบาท เมื่อคิดรวมๆทั้งหมดจากวิธีการเช่นนี้ตัวเลขกลมๆทุนกิโลกรัมละ 30 ได้เงินคืนมากิโลกรัมละ 10 บาท ทั้งหมดแล้วเงินที่เสียหายเฉียด 5 แสนล้าน จากเงินเกือบ 8 แสนล้านที่จ่ายไป"

นายวิชัย กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาส่งออกได้ปีละ7 ล้านตัน แต่ปีที่ผ่านมาส่งออกได้ประมาณ 6.6 ล้านตัน ดังนั้นข้าวที่เหลือในสต็อกอีก 20 ล้านตัน ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี หากส่งได้ปีละ 7 ล้านตัน คงต้องใช้เวลา 3 ปีถึงจะขายหมด

"ผมว่ามันรุนแรงมาก ทำกันจนกระทั่งเงินเข้าประเทศที่จะเอามาคืนโครงการรับจำนำก็คืนไม่ได้ เอาเงินไป 7-8 แสนล้าน คืนมาได้แค่ 1.4 แสนล้านบาทช่วง 2 ปีนี้ นั่นหมายถึงทุกๆ100 บาท เอามาคืนได้แค่ 18 บาท ถ้า Cash flow เป็นแบบนี้ มันทำต่อไม่ได้แน่นอน ชาวนาก็รอเงินค่าข้าวใบประทวนมาแล้วแต่ไม่ได้เงิน"นายวิชัย กล่าว

ตั้งราคาซื้อแพงต้นเหตุเสียแชมป์

นายวิชัย กล่าวว่าในอดีตเมื่อ 30 ปี เราเป็นแชมป์เพราะใช้วิธีกลไกตลาดค้าขาย เกษตรกรจะปลูกมากหรือน้อย สามารถขายให้หมดในราคาที่ดีที่สุดเท่าที่ให้ได้ แต่เวลานี้รัฐบาลมาต่อว่าพ่อค้า โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วบอกว่า พ่อค้า แข่งราคากัน ตัดราคากันจนทำให้เกษตรกรยากจนได้ราคาไม่ดี

"ผมบอกว่าถ้าราคาไม่ดี เกษตรกรไม่ปลูกมากหรอกช่วง 30 ปี ที่เราเป็นแชมป์โลก เขาก็พออยู่ได้ เราก็พออยู่ได้ กลไกตลาดมันบังคับ ให้พ่อค้าคนกลางอย่างผม เอาใจผู้ปลูกก็ไม่ได้ เอาใจผู้ซื้อก็ไม่ได้ ต้องเป็นคนกลางจริงๆเพื่อให้ 2 ฝ่ายอยู่กันได้ เราก็ทำสำเร็จ เวลานี้มีปัญหาเพราะเกษตรกรปลูกข้าว และเริ่มไม่ได้ตังค์ เพราะตั้งราคาสูงเกินไป"

ดังนั้นวิธีแก้ก็ต้องกลับไปที่กลไกตลาดง่ายที่สุด และต้องกลับไปให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะให้สมดุล เพราะราคาเป็นเรื่องหลักในกลไกตลาดทั่วโลก ถ้าตั้งราคาผิดเมื่อไหร่ มีเรื่องกรณี ของไทยมีการตั้งราคา ที่สูงกว่าตลาด 50%จึงขายได้น้อยลง เป็นเรื่องที่ผิดไม่ควรทำ กลไกตลาดไม่มีใครให้ตั้งราคาแบบ ซี้ซั้ว แต่รัฐบาลกล้าตั้ง ตั้งราคาเดียว 2 ปี มีที่ไหนราคาสินค้าเกษตรแบบนี้

โวยอ้างพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ

นายวิชัย กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลบอกว่าที่ผ่านมา พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบชาวนาเลยต้องตั้งราคาแบบนี้ นายวิชัย มองว่านี่เป็นข้ออ้าง จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ พ่อค้าคนกลางมีฐานะดีกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ เราได้กำไรน้อยมาก 1-2% ในการค้าข้าว แต่เราร่ำรวย เพราะแต่ละคนส่งข้าวเป็นแสนเป็นล้านตันไม่กี่คน ส่วนเกษตรกรได้กำไรมากว่าอยู่ที่ 50% หรือไม่ก็ 100% แต่เขายังจน เพราะเขามีข้าวไม่กี่ตันต่อราย พอคูณออกมาก็ได้เงินนิดเดียว จึงทำให้เกษตรกรร่ำรวยไม่ได้ ที่สำคัญเกษตรกรมีจำนวนมากมีที่นาจำกัด นั่นคือปัญหาหลัก แต่ประชาชนไม่เข้าใจ

ตั้งราคาสูงหลอกชาวนา

ส่วนรัฐบาลพอมาเล่นการเมืองก็หลอกประชาชน ว่าจะตั้งราคาให้สูงๆ แต่ไม่ยอมบอก ว่าตั้งราคายิ่งสูง ยิ่งขายไม่ได้ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาเราสูงเกินไปจึงขายลดลงไป 37% ไม่ใช่ตั้งราคาสูงแล้วขายได้ เงินเข้าประเทศก็น้อย แต่เกษตรกรไม่รู้เรื่องนี้ ถ้าเมื่อไหร่ เขารู้ว่าที่พ่อค้าให้ราคาเป็นราคาที่เหมาะสมที่สุดทำได้ทุกปี ตลอด 30 ปี ที่ทำมาจนเป็น แชมป์ เพราะราคาที่ตั้งมันยุติธรรมเหมาะสม ถึงได้ชนะ แต่พอรัฐบาลเข้ามาชก 2 ปีก็ไปแล้ว จนจ่ายเงินให้เกษตรไม่ได้ ถือเป็นบทเรียนชัดเจนว่า ราคายุุ่งไม่ได้ แต่ต้องช่วยเกษตรกรด้วยวิธีอื่น จุนเจือเรื่องรายได้

ปูดขบวนการหน้าม้าค้าข้าว

นายวิชัย ย้ำว่าปัญหาใหญ่ของวงจรจำนำข้าว มี 2 ประเด็น 1.ตั้งราคาผิด 2.มีการคดโกง เพราะรัฐบาลหลังจากหมอวรงค์ (นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม) ออกมาเปิดเผยในสภา และนอกสภา ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีหน้าม้า ขบวนการซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ราคาถูก และถูกกว่าตลาดมาก เป็นขบวนการที่เมื่อก่อนคิดไม่ออก จนกระทั่งหมอวรงค์ มาเปิดเผยว่าเสี่ยเปี๋ยง เป็นใคร โจ เป็นใคร ทุกคนเกี่ยวข้องกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของจริง แต่เป็นของปลอม แต่อ้างให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลขายข้าว แต่ไม่รู้ว่าขายไปราคาเท่าไหร่ ส่วนตนรู้ว่าราคาเท่าไหร่ เพราะตนคำนวณได้อยู่ที่กิโลกรัมละ10 บาท

"ผมเลยจับ 2 เรื่องมาชนกัน เรื่องที่คุณหมอวรงค์ นำมาเปิดเผยว่ามันมีหน้าม้า ชื่อนั้นชื่อนี้ จีทูจี ใครตัวแทนใครผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็โยงใยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน แล้วก็มาซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ 10 ล้านตัน รัฐบาลขายข้าวทั้งหมดประมาณ 13 ล้านตันข้าวสาร ได้เงินคืนธ.ก.ส ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 11 บาท แล้วพวกหน้าม้าเอามาขายต่อให้ผู้ส่งออกที่ต้องกราบกรานซื้อในราคา 20 บาทต่อกก. ทำภายใต้ 2 เรื่อง คือจีทูจี 10 ล้านตัน ทำข้าวถุงอีกไม่รู้เท่าไหร่ ขายกิโลกรัมละ 8 บาทกว่าบางกรณีข้าวกิโลละ 5 บาทกว่า มันไม่มีข้าวในตลาดที่ถูกแบบนี้ จะด้วยวิธีอะไร แต่มีหน้าม้า มาซื้อได้ ราคาถูก เงินก็รั่วไหล น่าจะเป็นแสนกว่าล้าน เฉพาะที่ขายแล้ว ที่เรายังไม่รู้อีกก็ยังคำนวณไม่ได้ " นายวิชัย ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากนำสต็อกทั้งหมดประมาณ 26-27 ล้านตัน ถ้า 1 ตันหายไป 10 บาท เท่ากับ 2.7 แสนล้านบาท ที่หายไปมันเรื่องใหญ่มากที่ได้กำไรง่ายๆ พวกเราก็ไม่มีข้าวจะส่งออกต้องวิ่งไปกราบไหว้คนที่มีข้าวคือหน้าม้า เขาตั้งราคามา อยากได้กิโลกรัมเท่าไหร่ก็ต้องเอา เลยทำให้ยอดส่งออกลดลงเกือบ 40% เพราะราคาที่เขามาบังคับให้เราซื้อแพงเกินไปเลยเป็นปัญหา

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิเคราะห์ : เลือกตั้ง 2 ก.พ.57

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

เช้าวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ก่อนเข้านอนใจระทึกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะแกนนำประชาธิปัตย์มากหน้าหลายตาจัดการชุมนุมปลุกกระแสให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งรณรงค์ปฏิรูปหลังเลือกตั้ง หรือพร้อมๆ กับการเลือกตั้ง วาทกรรมปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่สื่อมวลชนก็ดี ผู้นำองค์กรต่างๆ ก็ดี นักวิชาการก็ดี หลงประเด็นพากันไปตามกระแส

ที่ใจระทึกก็เพราะว่า ถ้าเกิดไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตามที่เครือข่ายคนชั้นสูงและประชาธิปัตย์ร่วมกันกระพือ ก็หมายความว่าจะต้องมีรัฐประหาร แล้วคณะรัฐประหารก็จะดำเนินการตามที่แกนนำม็อบผู้ชุมนุมเสนอ คือตั้งสภาประชาชนหรือสภาปฏิรูป แล้วก็ตั้งนายกรัฐมนตรี "คนกลาง" ซึ่งเป็น "คนดี" ซึ่งยังไม่ทราบว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มาดำเนินการปฏิรูป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปขึ้นมาใหม่ การเรียกร้อง "ปฏิรูป" นั้นเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีความวุ่นวายทางการเมือง แล้วเราก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปมาหลายฉบับแล้ว

นอกจากไม่แน่ใจว่าจะได้ไปเลือกตั้งแล้ว ยังระทึกใจว่าจะมีความรุนแรงอย่างที่กรรมการเลือกตั้งขู่ไว้หรือไม่ เพราะมีกรรมการเลือกตั้งคนหนึ่งเดินสายขู่ว่าจะต้องมีความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออกในหน่วยเลือกตั้ง ถ้าเกิดมีกรณีอย่างนั้นก็จะได้ไม่ไป เพราะอาจารย์ป๋วยเคยเขียนไว้ในหนังสือ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ว่า "ถ้าจะตายก็ขออย่าตายอย่างโง่ๆ เพราะความขัดแย้งทางการเมือง" ก่อนไปจึงเปิดโทรทัศน์ดูว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงแล้วจึงขับรถออกจากบ้าน เพื่อจะไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง

เมื่อไปถึงหน่วยเลือกตั้งที่ 13 เขตดินแดง ประมาณ 09.00 น. เห็นจักรยานยนต์รับจ้างจอดเรียงรายอยู่เต็มหน้าหน่วยเลือกตั้ง มีกระดานปิดใบสมัครรับเลือกตั้ง ปิดรูปผู้สมัครและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่หน่วยเลือกตั้งปิด ไม่มีกรรมการประจำหน่วย ไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วย ทีแรกคิดว่ามีการย้ายหน่วยเลือกตั้ง เพราะหน่วยเลือกตั้งตั้งอยู่ในที่ของเอกชน เมื่อถามผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างจึงทราบว่าหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดในเขตดินแดงไม่เปิดให้เข้าไปเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถนำหีบบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์การเลือกตั้งออกมาจากเขตดินแดงได้

ทันทีที่ทราบว่าหน่วยเลือกตั้งปิด ไม่ให้เลือกตั้ง ความรู้สึกแรกก็คือรู้สึกว่าตนเองถูก "ปล้น" ความเป็นเจ้าของประเทศไปเสียแล้ว รู้สึกว่าเราเป็นเพียง "คนอาศัย" อยู่ในประเทศนี้ เหมือนๆ กับชาวต่างประเทศที่เข้ามารับจ้างทำงานที่บ้านหรือที่อื่นในประเทศนี้เท่านั้น ไม่ได้แคร์ว่าใครจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้งเหมือนคราวก่อนๆ

สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน ที่มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ หากสิทธิอันนี้ถูก "ปล้น" เอาไป ก็เท่ากับปล้นความเป็นพลเมืองของเราไปด้วย เป็นการก่ออาชญากรรมทางการเมือง เท่าๆ กับการทำรัฐประหารโดยทหารเช่นเดียวกัน

เมื่อกลับมานั่งสงบสติอารมณ์อยู่ที่บ้าน เปิดโทรทัศน์ดูข่าวจึงทราบว่ามีหน่วยเลือกตั้งที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปเลือกตั้ง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่คิดทั่วประเทศและในกรุงเทพฯ ยังสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าไปลงคะแนนได้

เมื่อทราบว่ามีประชาชนในเขตดินแดงรวมตัวกันไปที่สำนักงานเขตดินแดง เพื่อขอพบผู้อำนวยการเขต จึงทราบว่าบัดนี้คนไทยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดต่างก็หวงแหนสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ไม่เหมือนสมัยที่เรามีประชาธิปไตยครึ่งใบที่คนกรุงเทพฯไม่ค่อยสนใจการเลือกตั้งนัก ไม่เหมือนกับคนต่างจังหวัดที่เขาสนใจการเลือกตั้งมานานแล้ว

ที่แปลกใจก็คือภาพของผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดไม่ว่า ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.สส. ทุกคนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเปิดเผยสง่างาม ไม่เกรงใจผู้ชุมนุมที่เขาชุมนุมเพื่อปูทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหารเลย ที่แปลกใจก็เพราะคิดว่าแม่ทัพนายกองคงจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามที่แกนนำการชุมนุมประกาศ

แต่ขณะเดียวกัน ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในเขตทหาร เช่น เขตดุสิต บางเขน พญาไท ทหารระดับล่างกลับไปลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย ผลออกมาอย่างนี้ผู้บังคับบัญชาก็คงจะต้องเก็บเอาไปคิดเหมือนกัน หากจะทำรัฐประหารตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มคนชั้นสูงในวงการต่างๆ ในกรุงเทพฯ

เสียดายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ หน่วยเลือกตั้งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งไม่เปิด เพราะกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยมาไม่ครบ มิฉะนั้นก็จะได้เห็นคนได้รับรางวัลจาก ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล และได้ไปรับประทานอาหารกับเธอในภัตตาคารหรูที่สุดในเอเชีย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ผิดหวังรองลงมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัดโดยแกนนำประชาธิปัตย์ ก็คงจะเป็นเครือข่ายผู้กุมอำนาจรัฐต่างๆ เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และ ป.ป.ช. ที่พยายามสกัดกั้นพรรคเพื่อไทย พยายามขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์เกลียดที่สุด แต่โทรทัศน์ก็ไม่ได้เสนอภาพประธานและตุลาการศาลต่างๆ เหล่านั้นไปหย่อนบัตรเลือกตั้งกับเขาหรือไม่ เลือกตั้งคราวหน้าสื่อมวลชนน่าจะติดตามแบบเดียวกับติดตามนักการเมือง ผู้นำทหาร เพราะบัดนี้ท่านเหล่านั้นล้วนมีบทบาททางการเมืองไม่น้อยเหมือนกัน

ต่อไปนี้ก็คงจะต้องปรึกษากันว่า จะโยนให้ศาลที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรอิสระอื่นวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะได้อย่างไร ซึ่งก็คงทำได้ไม่ยาก เพราะเรื่องที่ยากกว่านี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มามากกว่านี้ก็ยังทำได้ แต่ขอให้เขียนคำวินิจฉัยให้มีเหตุผล ให้มีตรรกะดีกว่านิสิตนิติศาสตร์ปีที่ 1 เขียนคำตอบในการสอบหน่อยก็จะดี

ที่ฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้ง นิยมระบอบประชาธิปไตย เตรียมฝันหวานว่าจะมีการเลือกตั้งซ่อมอีก ในเขตและหน่วยที่มีปัญหา คงจะเป็นการฝันกลางวัน เมื่อประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาเป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะรับลูกวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะอย่างไม่ต้องสงสัย รัฐบาลคงต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ คราวนี้ประชาธิปัตย์ ก็คงจะลงเลือกตั้ง และก็แพ้เลือกตั้งอีก และก็จะทำอย่างเดิมอีกคือต่อต้านการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ

มีพรรคพวกหลายคนที่เป็นนักคิด พยายามหาคำตอบทุกทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่สลับซับซ้อน แต่ก็มาฉุกคิดว่า บางทีสำหรับประเทศที่ยังอ่อนด้อยในการพัฒนาความคิดในทางการเมือง ที่ไม่ใช่เป็นรูปธรรมอย่างเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องผังเมืองหรือเรื่องอื่นๆ สำหรับประเทศที่ความคิดทางการเมืองยังล้าหลังอยู่นี้ ความยึดถือในตัว "บุคคล" หรือ "บุคลาธิษฐาน" หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า "personality cult" ยังมีความสำคัญยิ่งกว่าความรู้สึกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความคิดในเรื่องประชาธิปไตย

ประชาชนที่ถูกครอบงำด้วยความคิดในเรื่อง "บุคคล" ไม่ว่าด้วยกระแสของสังคม ด้วยการอบรมสั่งสอนหรือด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างที่เราเห็นในประเทศค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เมื่อไม่นานมานี้ ย่อมจะมีความรู้สึก "เกลียด" และรู้สึก "รัก" อย่างรุนแรง แต่เมื่อค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ล่มสลายไป ยังคงเหลือแต่เกาหลีเหนือและคิวบาเท่านั้นที่ยังใช้ระบบบูชาผู้นำหรือ "บุคลาธิษฐาน" อยู่ นอกนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคแล้ว จะคงเหลือก็แต่ประเทศจีน เวียดนาม คิวบา เกาหลีเหนือ และประเทศเล็กอื่นๆ ไม่กี่ประเทศ แต่ก็มีการปฏิรูป มีการปรับปรุงให้เกิดการแข่งขัน หรือระบอบประชาธิปไตยภายในพรรคทั้งนั้น "ลัทธิบุคลาธิษฐาน" ค่อยๆ ละลายหายไปกลายเป็นการยึดถือ "ระบอบ" แทน

ถ้ามองว่าขณะนี้ประเทศของเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม คนชั้นกลางและคนชั้นสูงในเมือง ฝ่ายหนึ่งเป็นคนชั้นล่างในต่างจังหวัด ระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านคงจะไม่ยาวมากนัก สงครามกลางเมืองในประเทศอังกฤษใช้เวลา 8 ปี สหรัฐอเมริกากินเวลา 4 ปี ของเราคงจะไม่ถึงอย่างนั้น ขอเพียงอย่ามีความรุนแรงบาดเจ็บล้มตาย

เมื่อไปลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งไม่ได้ และได้ยินว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่ปิด ก็เข้าใจว่าอารมณ์ความเกลียดของผู้คนที่ยังยึดตัวบุคคลยังรุนแรงอยู่ ก็ไม่เป็นไร เมื่อเวลาผ่านไป ตัวบุคคลในองค์กรอิสระเช่นศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป มีการเลือกตั้งบ่อยๆ เข้า วันหนึ่งสถานการณ์ก็คงจะเข้ารูปเข้ารอยเอง ไม่ต้องใจร้อนใช้ความรุนแรงให้เสียเลือดเสียเนื้อ

แม้แต่รัฐธรรมนูญ คมช.ฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมชาติอยู่หลายบทหลายตอน และต้องการการแก้ไขหรือยกร่างทั้งฉบับ วันหนึ่งการแก้ไขหรือการยกร่างทั้งฉบับก็คงจะเกิดขึ้น เมื่อเวลาอันเหมาะสมเกิดขึ้น กงล้อประวัติศาสตร์ย่อมหมุนไปข้างหน้าไม่หยุดหย่อน

ความสับสนทางความคิดที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็แสดงอาการของมันออกมาจากความวุ่นวาย เละเทะ ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่เคารพกฎหมายในวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ต้องถือว่าเป็นของธรรมดา อย่าไปตื่นเต้น เมื่อเวลาผ่านไป 10-20 ปี แล้วหันกลับมาดูก็จะมีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง

ให้เวลาเป็นตัวแก้ปัญหาทางอารมณ์ไป เมื่ออารมณ์ผ่อนคลายลง เหตุผลก็จะกลับเข้ามาแทนที่ สมกับคำว่า "น้ำเชี่ยวอย่าเรือขวาง"

กำลังรอฟังว่าเขาจะให้ไปเลือกตั้งใหม่วันไหน หรือศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ หรือใครจะออกมาปฏิวัติ จะได้ปฏิบัติตัวให้ถูกในฐานะ "คนอาศัย" ของประเทศนี้

จะเอาอย่างไรก็บอกมา


ที่มา:มติชน
--------------------------------------------

ชี้ปฏิรูปต้อง ไม่ซ้ำรอยเดิม !!?

สถาบันอนาคตไทยศึกษาแนะปฏิรูปการเมืองต้องไม่ซ้ำรอยเดิม ต้องเสร็จ "เร็ว" เน้นผลลัพธ์-ปฏิบัติได้จริง 3 ปีผลาญงบ 1.3 พันล้าน แต่ไม่มีการปฏิบัติ

สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้เปิดเผยถึงแนวทางในการปฏิรูปครั้งใหม่ในแต่ละครั้งที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย หรือเกิดความขัดแย้ง การปฏิรูปจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นกระบวนการในการหาทางออกให้กับประเทศครั้งแล้วครั้งเล่าถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตที่ไม่ไกล ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการ "ปฏิรูป" มาแล้วอย่างน้อย 3 คณะใหญ่ ยังไม่รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปคณะย่อย ๆ อีกหลายคณะ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งข้อเสนอที่ได้จากคณะกรรมการแต่ละชุดขึ้นไปอยู่บนหิ้ง ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาสานต่อ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ในวันนี้ประเด็นการปฏิรูปก็ถูกชูขึ้นมาเช่นเคยแต่ถ้าเรายังขืนเดินซ้ำรอยเดิม และเดินหน้าปฏิรูปด้วยกระบวนการเดิมๆ ทุกอย่างก็จะจบแบบเดิมอีก และท้ายที่สุดการปฏิรูปก็จะไม่เกิดขึ้นจริงที่ผ่านมา เราก็เคยมีคณะปฏิรูปมาแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ 4 คณะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ใช้งบประมาณไปเกือบ 1,300 ล้านบาท ผลิตข้อเสนอ 94 เรื่อง แต่ถ้าเราลองคิดดู มีซักกี่เรื่องที่ถูกนำไปปฏิบัติจริงๆ

จากการศึกษา พบว่าจากบทเรียนของกระบวนการปฏิรูปที่ผ่านๆมา แนวทางการปฏิรูปใหม่จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้หนึ่งกระบวนการต้องเร็ว โดยเลือกปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ เพียงไม่กี่เรื่องที่ผ่านมาเราคิดมาแล้วในหลายคณะกรรมการปฏิรูปแล้ว ครั้งนี้จึงไม่ควรต้องเริ่มจากศูนย์ เราสามารถต่อยอดจากข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปครั้งที่ผ่านๆ มา บวกกับสิ่งที่มีคนเสนออยู่ตอนนี้ สองต้องเป็นข้อเสนอที่มีตัวชี้วัดชัดเจน เน้นไปที่ผลลัพธ์ นำไปปฏิบัติได้ ตรวจสอบได้ และมีการกำหนดกรอบเวลาแน่นอน และสามต้องสร้างเป็น "ข้อตกลงร่วมกัน" ระหว่างรัฐบาลกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม อย่างภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันตรวจสอบ และสร้างแรงจูงใจให้นำไปปฏิบัติจริง

เพราะที่ผ่านมา เราพบว่าคณะกรรมการปฏิรูปบางคณะใช้เวลายาวนานถึง 3 ปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องที่ควรปฏิรูป บางคณะเสนอข้อเสนอรวมถึง 94 ข้อ ส่วนใหญ่ของข้อเสนอมักเสนอให้รัฐบาล "ส่งเสริม" หรือ "สนับสนุน" แต่ก็ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลต้องส่งเสริมอย่างไรและยากที่จะบอกได้ว่ารัฐบาลทำเสร็จแล้วหรือไม่ และในที่สุดก็แทบไม่มีข้อเสนอใดเลยที่ถูกนำมาใช้ แม้จะมีบางเรื่องที่ทำจนเสร็จถึงขั้นที่มีการเสนอเป็นร่างพรบ.แล้วก็ตาม

ทางสถาบันฯ หวังว่ารายงานจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการการพูดคุยเรื่องปฏิรูป และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การปฏิรูปต้องซ้ำรอยเดิม จึงต้องการที่จะเสนอกระบวนการปฏิรูปในรูปแบบใหม่ๆใน 2 เรื่องด้วยกันหนึ่งเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปครั้งใหม่ดำเนินการได้เร็วขึ้น และไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ทางสถาบันฯ จึงได้รวบรวมข้อเสนอที่มีอยู่ทั้งในปัจจุบัน อย่างข้อเสนอของ 7 องค์กรเอกชน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงสิ่งที่ได้จากคณะกรรมการปฏิรูปในครั้งก่อนหน้าจากคณะสมัชชาปฏิรูป และคปร. นำมากลั่นกรอง และสรรหาจุดร่วม/จุดเด่น เพื่อให้ได้ประเด็นสำคัญๆ ที่มีความจำเป็นต้องปฏิรูปโดยเร่งด่วน รวม 8 เรื่อง เช่น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการเปิดเผยข้อมูล เพิ่มบทลงโทษ และเร่งดำเนินคดีคอร์รัปชั่น การสร้างกลไกตรวจสอบ ควบคุม ถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐให้เข้มแข็งขึ้น โดยการจัดตั้งสำนักงบประมาณของรัฐสภาการสร้างเพิ่มธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง และการเพิ่มธรรมาภิบาลของการบริหารงานองค์กรอิสระ โดยการเผยแพร่รายงานประจำปี เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ก็ได้จัดทำ "ตัวอย่างข้อเสนอแนวทดลอง" ในเรื่องคอร์รัปชั่นเพื่อเป็นต้นแบบของข้อเสนอที่มีรายละเอียดที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงมีตัวชี้วัดที่เน้นผลลัพธ์ซึ่งจะช่วยในการติดตามประเมินผล พร้อมทั้งมีกำหนดเวลาในการปฏิบัติชัดเจนว่าแต่ละเรื่องควรบรรลุเป้าหมายโดยใช้เวลาเท่าใดการปฏิรูปในรูปแบบนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียเองก็มี "โครงการปฏิรูปภาครัฐ"ที่รัฐบาลมาเลเซียให้คำมั่นกับประชาชนไว้ และดำเนินการด้วยวิธีการเดียวกันนี้ คือมีการวางแผนปฏิบัติการโดยละเอียด มีการระบุตัวผู้รับผิดชอบในแต่ละแผนงาน และมีการประเมินผลความสำเร็จจากตัวชี้วัดที่มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์เช่นกัน ที่สำคัญคือรัฐบาลมาเลเซียสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น จากที่เคยอยู่อันดับ 60 ในปี 2554 ก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 53 ในปี 2556

"ทุกวันนี้คนไทยเอาแต่เถียงกันแต่เรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ทำให้เราลืมไปว่ามีอีกหลายเรื่องที่เราเห็นร่วมกันอยู่ จากที่ได้ทบทวนงานปฏิรูปทั้งของเก่าและของใหม่ ก็ได้เห็นว่ามีหลายเรื่องที่หลายฝ่ายก็เห็นตรงกันอยู่ อย่างเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่ควรถ้าจะปฏิรูปเราก็น่าจะเริ่มจากเรื่องที่เราเห็นตรงกันก่อนได้"นายเศรษฐพุฒิกล่าวปิดท้าย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////