--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รัฐธรรมนูญ ม. 68, 291 กับศาลรัฐธรรมนูญ !?

โดย.อ.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล และการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระยะนี้ประชาชนชาวไทยกำลังรู้สึกเครียดกับเรื่องม็อบต่างๆ ซึ่งดาวกระจายไปตามสถานที่ราชการหลายแห่ง เป็นเหตุให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ความมั่นคง ถึงกระนั้นฝ่ายรัฐก็ไม่กล้าใช้อำนาจเต็มที่ตามที่มีในบทบัญญัติของกฎหมาย จึงต้องใช้วิธีพูดคุยโดยสันติ ซึ่งก็คงต้องทำในสภาพบ้านเมืองปัจจุบันนี้ เพราะบุคคลมักไม่เกรงกลัวกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาการตามกฎหมาย เพราะสั่งอะไรก็ไม่ทำตาม แต่กลับไปเชื่อฟังผู้นำม็อบมากกว่า

ผู้เขียนก็เห็นว่าประชาชนชุมนุมได้ตามสิทธิ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ได้ให้สิทธิดังกล่าวนี้ไว้ แต่อ่านมาตรา 63 แล้ว ก็อย่าลืมพลิกไปดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 28 ซึ่งบัญญัติว่า

"บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน...Ž "

การที่ต่างพากันเดินดาวกระจายไปตามถนนสายต่างๆ เกือบทั่วกรุงเทพมหานคร อันเป็นเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เขาจำเป็นต้องใช้ถนนหนทางไปทำกิจส่วนตัวของเขาโดยปกติสุขต้องวนไปใช้เส้นทางอื่น จนทำให้เขาต้องกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจนั้น ก็ลองคิดดูว่าท่านละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 28 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่ ถึงแม้ท่านจะใช้สิทธิตามมาตรา 63 ได้ก็ตาม

นอกจากเรื่องม็อบต่างๆ แล้วก็ยังมีเรื่องสับสนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะไม่สับสนได้อย่างไรเพราะมีนักการเมืองบางกลุ่มที่ได้รับผลเสียจากการวินิจฉัยของศาลครั้งนี้ออกมาตอบโต้ว่าไม่ยอมรับอำนาจศาล ส่วนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ออกมากล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบที่ไม่ยอมรับอำนาจตุลาการ

ไม่ใช่แค่นักการเมือง ยังมีนักวิชาการทางด้านกฎหมายก็แบ่งแยกความคิดเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดยให้เหตุผลในทางวิชาการไว้อย่างน่าคิดทั้งสิ้น คนที่ไม่ใช่นักกฎหมายในบ้านเมืองนี้จึงงงเป็นไก่ตาแตกไม่รู้จะเชื่อฝ่ายใดดี แง่คิดง่ายๆ ไม่ต้องคิดลึกก็คือ การแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใดๆ ก็ตามจะกระทำมิได้

ขออนุญาตอ้างอิงคำตอบของท่านอดีตประธานวุฒิสภา และอดีตประธานรัฐสภาที่ว่า เราเป็นประชาชน ไม่ใช่อันธพาล จึงต้องปฏิบัติตามคำตัดสินอันเป็นที่สุดของศาล ต้องประพฤติตนตามกติกาของบ้านเมือง การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยย่อมทำได้และเป็นของธรรมดา แต่จะปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ หรือไม่รับรู้เห็นจะไม่ได้ เพราะถ้าบ้านเมืองไร้ขื่อแป จะมีผลต่อเราโดยตรง ไม่เหมือนคนที่เป็นนักการเมือง ที่กอบโกยเงินทองไว้ล้นเหลือ ที่ถึงเวลาเขาก็หอบเงินและลูกเมียไปเสวยสุขยังต่างประเทศได้Ž

เป็นคำตอบที่ครบและค่อนข้างชัดเจนในกรณีเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยออกมาแล้ว บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล จะอ้างว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นแต่ไปวินิจฉัยคดีที่ศาลไม่มีอำนาจ ผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นน่าจะไม่ชอบ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้คนที่ไม่ใช่นักกฎหมายเข้าใจ เช่น คนที่ไม่มีเงินในกระเป๋าสักบาทเดียว จะเอาเงินที่ใดไปใช้ซื้อสิ่งของเล่า

พิจารณาดูคำแถลงการณ์ของผู้เสียประโยชน์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วน่าจะเป็นเรื่องแถลงการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ในรัฐสภา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการไม่ยอมรับอำนาจศาล ซึ่งหมายถึงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล

เมื่อเราพูดถึง "ศาล"Ž จำเป็นต้องพิจารณาให้เข้าใจใน 2 เรื่องดังนี้

1.เขต หรือเขตอำนาจศาล ซึ่งหมายถึงเขตทางภูมิศาสตร์หรือเขตทางการปกครอง ยกตัวอย่างพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ศาลแพ่งและศาลอาญา มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้Ž หมายความว่า ถ้าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลใดก็ต้องฟ้องให้ถูกเขตศาล มิฉะนั้น ศาลก็ไม่มีอำนาจรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษา

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีปัญหาด้านการพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจศาล เพราะมีศาลเดียวในประเทศไทย

2.อำนาจศาล ซึ่งหมายถึงประเภทของคดี เช่น คดีแพ่งก็ต้องฟ้องที่ศาลแพ่ง คดีอาญาก็ต้องฟ้องที่ศาลอาญา คดีที่มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท ก็ต้องฟ้องที่ศาลแขวง ยกตัวอย่าง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรี มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่นŽ เช่น คดีแพ่งที่เกิดในเรือหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร (ตาม ป.วิ.พ. ม.3 (1))

วรรคสอง บัญญัติว่า ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญาธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณีŽ เช่น ความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย หรือความผิดที่การสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น (ตาม ป.วิ.อาญา ม.22 (2))

ส่วนเกี่ยวกับศาลแขวงนั้น พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 บัญญัติว่า ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่งŽ เช่น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท ทั้งนี้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5)

เรื่องอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญมากในการพิจารณาเกี่ยวกับระบบศาลไม่ว่าศาลใด เพราะถ้าผู้ฟ้องหรือผู้ยื่นคำร้องไปยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องนั้นๆ ศาลรับคดีไว้วินิจฉัยไม่ได้ หากพิจารณาในด้านของศาล ก็เป็นเรื่องที่ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถูกสถาปนาหรือเกิดมีขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้ ได้ตรวจดูโดยละเอียดรอบคอบแล้ว

รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 และเมื่อตรวจดูบทบัญญัติมาตรานี้ทุกอนุมาตรา ตั้งแต่อนุมาตรา 1 จนถึงอนุมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว (หมายถึงกระทำตามอนุมาตรา 1 ถึง 6 แล้ว) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลมŽ

มาตรา 150 บัญญัติว่า "ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้Ž

มาตรา 151 บัญญัติว่า "ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"Ž

พิจารณาบทบัญญัติทั้ง 3 มาตราซึ่งเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อยู่ 3 องค์กรเท่านั้นคือ

1.พระมหากษัตริย์

2.รัฐสภา

3.นายกรัฐมนตรี

บุคคลอื่นหรือสถาบันอื่นนอกจากนี้จึงไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง และนอกจากจะไม่กล่าวถึงอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และถ้าตรวจดูบทบัญญัติดังกล่าวให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่าไม่มีการเว้นช่องว่างของระยะเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบได้เลย เพราะตามมาตรา 150 บังคับนายกรัฐมนตรีให้ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตาม นายกรัฐมนตรีต้องมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะรอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบหรือส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างข้อบังคับตามมาตรา 155 ไม่ได้เพราะมาตรา 291 ไม่ได้ให้อำนาจไว้เหมือนกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 154 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการ เพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวข้างต้นจึงต้องยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภาตามมาตรา 291 ข้อสำคัญที่สุดคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ต้องถือว่าร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในพระราชอำนาจที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ ฉะนั้น นอกจากจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการมิบังควรที่จะทำการวินิจฉัย ที่สมควรทำคือส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมคืนและไม่รับวินิจฉัย

มีผู้แนะนำให้นายกรัฐมนตรีขอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนมาก่อน แต่ผู้เขียนเห็นว่าจะให้นายกรัฐมนตรีขอคืนกลับมาด้วยเหตุผลใด เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้มีคำวินิจฉัยให้เลิกการกระทำ เพราะสั่งไม่ได้เนื่องจากเกินเวลาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่อาจสั่งการ แล้วจะให้นายกรัฐมนตรีบังอาจขอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืนมาทั้งๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีทำเช่นนั้นได้หรือ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยใช้มาตรา 68 ได้หรือไม่

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจนำรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มาใช้กับบุคคลหรือพรรคการเมืองในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำในรัฐสภา ตามมาตรา 291 ซึ่งอยู่ในหมวด 15 ส่วนมาตรา 68 อยู่ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา

2.กระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบ เพราะการยื่นคำร้องในกรณีนี้ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและเป็นผู้ยื่นคำร้อง (ดูบทความของผู้เขียนเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68Ž จะเข้าใจแจ่มแจ้ง)

3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะผิดหลักการเขียนคำพิพากษา เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องผิดตามมาตรา 68 วรรค 1 ซึ่งต้องมีคำสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว ที่ไม่สั่งหรือไม่สามารถสั่ง น่าจะเป็นเพราะรัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 และลงมติไปเรียบร้อย จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้นำร่างดังกล่าวทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

4.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถสั่งให้เลิกการกระทำ จึงไม่อาจสั่งให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการของพรรคการเมืองนั้นได้ ที่ว่าคำวินิจฉัยผิดหลักการเรื่องเขียนคำพิพากษาก็เพราะคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า อาศัยเหตุดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การดำเนินการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมายรัฐธธรมนูญ... อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1Ž

หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าผู้ถูกร้องกระทำความผิดตามมาตรา 68 วรรค 1 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องให้ผู้ถูกร้องเลิกการกระทำดังกล่าว แต่กลับไม่สั่งโดยไม่ให้เหตุผลว่าเมื่อวินิจฉัยว่าเมื่อผู้ถูกร้องกระทำผิด แล้วเหตุใดจึงไม่สั่งให้เลิกการกระทำนั้น แต่กลับไปวินิจฉัยว่า ส่วนที่ผู้ร้องขอยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองเหล่านั้น เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 68 วรรค 3 และวรรค 4 จึงยกคำร้องในส่วนนี้Ž อ่านแล้วคลุมเครือจนผู้ถูกร้องก็ไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร เพราะถ้าพิจารณามาตรา 68 แล้วเงื่อนไขยุบพรรคหรือไม่ ตามวรรค 3 และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามวรรค 4 หรือไม่ มิใช่ตามเงื่อนไขในวรรค 3 และวรรค 4 แต่หากเป็นเงื่อนไขตามวรรค 2 คือศาลต้องสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว เพราะผู้ถูกร้องผิดตามมาตรา 68 วรรค 1 เสียก่อน จึงจะสั่งตามมาตรา 68 วรรค 3 และวรรค 4 ซึ่งศาลจะสั่งหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องผิดตามวรรค 1 ศาลต้องสั่งให้เลิกการกระทำตามวรรค 1 จะไม่สั่งไม่ได้ เพราะวรรค 2 บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าวŽ

ถ้าจะถามว่าถ้า ส.ส. หรือ ส.ว. กระทำความผิดตามมาตรา 68 วรรค 1 ไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะให้องค์กรใดมีอำนาจดำเนินการ ก็จะตอบได้ว่า ถ้านักการเมืองเหล่านั้นมิได้กระทำการตามมาตรา 68 วรรค 1 ในสภา แต่ไปประชุมกันลับๆ หรือมี ส.ส. ส.ว. เสนอความเห็นให้มีการกระทำในวรรค 1 จึงอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 แต่ถ้ามีการทำในสภาก็มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนตามมาตรา 272 ไต่สวนแล้วก็ส่งให้วุฒิสภามีมติถอดถอน ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนแล้วถ้ามีมติว่ามีมูลความผิดจะส่งไปที่อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19 (2)

ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 (5) นั้น คำวินิจฉัยนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะการจะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลก็จริงอยู่ แต่ศาลก็ต้องดำเนินการไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง และในวรรคสอง บัญญัติว่า ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายŽ

ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนได้พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกอบเจตนารมณ์ของ ส.ส.ร. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว มีความเห็นโดยสุจริตใจว่า

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

2.กระบวนการที่ยื่นตามมาตรา 68 ไม่ถูกต้องเพราะไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยอัยการสูงสุดก่อนตามมาตรา 68 วรรค 2

3.เกินกำหนดเวลาที่ศาลจะวินิจฉัย เพราะนายกรัฐมนตรีได้นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

4.เป็นคำวินิจฉัยที่คลุมเครือ คือวินิจฉัยว่าผู้ร้องกระทำผิดตามมาตรา 68 วรรค 1 แต่ไม่สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกระทำการแก้ไขอย่างไร เป็นเหตุให้สถาบันดังกล่าว เช่น รัฐสภา, นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ทราบจะปฏิบัติต่อไปอย่างไร

5.ไม่มีผลบังคับตามมาตรา 216 วรรค 5

6.มีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น มีผู้นำคำวินิจฉัยนี้ใช้อ้างเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ของมวลชนว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมเพราะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้

7.จากผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้อำนาจตุลาการเข้าไปก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ เพราะถ้าศาลมีอำนาจเข้าไปวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้ว บุคคลที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดๆ ก็จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบทุกระยะไป ไม่ว่าในวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 ผลแห่งการนี้จึงดูเสมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญคุมอำนาจในการร่างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

ที่มา:มติชนรายวัน
------------------------------------

สะพาน เชียงของ-บ่อแก้ว ดันเชียงราย Hub ชายแดน !!?

ศักยภาพของเชียงรายไม่ใช่ "เพชรในตม" อีกต่อไป เมื่อเหลี่ยมคมได้ถูกเจียระไนให้ส่องประกายกับการเปิดสะพาน ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 "อำเภอเชียงของ-แขวงบ่อแก้ว" เมื่อวันที่ 11 เดือนธันวาคม 2013 หรือ 11-12-13 ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเชียงรายให้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของอาเซียน ระบายสินค้าไทย เข้าสู่สปป.ลาวออกจีนทะลุสู่ตลาดโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นการผ่องถ่ายสินค้าจากจีนไปสู่อาเซียน

จึงไม่แปลกที่จะมีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากจีนที่ได้ร่วมมือกับทุนไทย จัดตั้งบริษัทลอจิสติกส์ ภายใต้ชื่อ "เจี๋ยวฟงลอจิสติกส์" รวมถึงกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน ที่เข้าไปซื้อที่ดินไว้ในพื้นที่อำเภอเชียงของกว่า 3,000 ไร่ เพื่อจัดสร้างเป็นคลังและศูนย์กระจายสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยดำเนินในนามบริษัท ซินเซียง รับเบอร์ จำกัด กลุ่มสหฟาร์มที่เข้าไปตั้งโกดังซื้อข้าว โพดผลิตอาหารสัตว์ ขณะที่ห้างโลตัส และไทวัสดุในเครือเซ็นทรัลก็ได้เข้า ไปสำรวจพื้นที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัท ดอยตุงขนส่ง จำกัด ได้มีการซื้อที่ดิน กว่า 15 ไร่ ในการสร้างสำนักงานแบบครบวงจร บริเวณเส้นทางหลวง หมายเลข 1020 เส้นทางเทิง-เชียงของ เพื่อเชื่อมต่อไปยังเส้นทาง R3A ซึ่งมุ่งสู่สปป.ลาวและเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ประเทศจีน

"สยามธุรกิจ" มีโอกาสคุยกับ "ชไมพร เจือเจริญ" กงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครคุนหมิง ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน อธิบายว่า เมื่อสะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 สร้างเสร็จ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน แนบแน่นขึ้น โดยเฉพาะจีนฝั่งตะวันตกอย่างนครคุณหมิง ซึ่งเป็นเมือง ชายแดนติดกับสปป.ลาว และสปป. ลาวใกล้ชิดกับไทยมาก จะพูดว่าไทยกับคุนหมิงมีพื้นที่ติดกันก็น่าจะได้ การขนส่งสินค้าจากไทยไปคุนหมิงจึงสะดวก โดยขนส่งผ่านอำเภอเชียง ของ จังหวัดเชียงราย ข้ามสะพานไป ยังบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว จากนั้นวิ่งไปตามถนน R3A เข้า สิบสองปันนา-เชียงรุ่ง-คุนหมิง

"วันนี้สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชียงของ-บ้านห้วยทราย แขวงบ่อ แก้วสร้างเสร็จแล้ว และเปิดอย่าง เป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านชายแดนด้านนี้รวดเร็วยิ่งขึ้น" กงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครคุนหมิง กล่าว

เชียงรายถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการลงทุน เนื่องจากมี ชายแดนสำคัญ 3 จุด นั่นคือที่อำเภอแม่สาย เขตติดต่อกับท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ที่อำเภอเชียงของติดกับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว และอำเภอเชียงแสนติดกับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาวเช่นดียวกัน

นอกจากมีจุดค้าชายแดนใหญ่ๆ ทั้ง 3 จุดแล้ว ยังมีปัจจัยเอื้ออื่นๆ อีก เช่น การคมนาคมในแม่ น้ำโขง บริเวณท่าเรือแห่งใหม่อำเภอ เชียงแสน ที่เปิดใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา รองรับเรือสินค้าจากจีน และประเทศเพื่อน บ้านใกล้เคียง

สำหรับการค้าชายแดนด้านจังหวัดเชียงรายกับจีนตะวันตกเฉียงใต้สหภาพเมียนมาร์ และสปป. ลาว ปี2555 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 35,977.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีมูลค่ารวม 29,771.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.84 นับได้ว่าเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ค่อนข้างสูง

หากโฟกัสไปในอำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 พบว่ามีการจัดรูปแบบเมืองภายใต้สโลแกน "1 เมือง 2 แบบ" คือ เขตเมืองเก่าจะใช้เป็นฐานการผลิตทางเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยวเดิม ส่วนพื้นที่เขตเมืองใหม่จะเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและการขนส่งบนเส้นทางคมนาคมระดับภูมิภาค รองรับการเกิดของสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4

หมายความว่าแม้จะมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมยุคใหม่ ก็จะไม่ทิ้งวัฒนธรรมรากเหง้าเดิม

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม หัวหน้าคณะผู้วิจัยโครงการภูมิวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า เชียงรายเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งเปลี่ยนจากสังคมชาวนาแบบอยู่เป็นกลุ่มมีประเพณีของตัวเองมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม เนื่องจากมีภูมิประเทศที่ดีที่สุดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความอุดมสมบูรณ์ นายทุนอยากเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เราจึงต้องสนับสนุนให้คนท้องถิ่นตื่นตัว มิฉะนั้นจะกลายเป็นสังคมร้อยพ่อพันแม่ ไม่มีการสร้างสำนึกร่วมและบูรณาการทางวัฒนธรรม มีแต่คนเข้ามาขุดทอง เช่นเดียวกับการเข้าอาเซียนเราก็ต้องรู้จักตัวเองก่อน ให้ความสำคัญย้อนไปถึงบรรพบุรุษ ไม่ใช่แค่รู้แต่ภาษาอังกฤษ

ที่มา.สยามธุรกิจ
--------------------------------------------

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หอการค้า เตือน รบ.ใหม่ เลิกจำนำข้าว ช่วยเท่าที่จำเป็น .

ม.หอการค้าแนะ รบ.ใหม่ เลิกจำนำข้าว หรือช่วยเท่าที่จำเป็น อย่าเหมาแพคเกจ ชี้มีแต่ขาดทุน แบกภาระงบประมาณอื้อ ด้านสมาคมชาวนาหนุนปรับสูตรคำนวณค่าชดเชยจากต้นทุนจริง บวกกำไรไม่เกิน 30%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ช่วงต้นปีหน้า รัฐบาลใหม่ควรมีการทบทวนและยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว หรือหากไม่มีการยกเลิก ต้องมีการปรับวิธีการและหลักเกณฑ์โดยจำกัดจำนวนผู้ได้รับสิทธิจำนำข้าว เหลือชาวนาที่มีรายได้น้อยจริงๆ โดยหันไปใช้วิธีการช่วยเหลือหรือชดเชยการเพาะปลูกและลดต้นทุนการเพาะปลูกแทน เพราะเป็นผลดีต่อการลดภาระงบประมาณและขาดทุนจากการดำเนินโครงการรับจำนำ แม้จะมีการตั้งราคารับจำนำสูง แต่ชาวนามีปัญหาต้นทุนสูง และการจ่ายเงินตามใบประทวนล่าช้า ทำให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่เต็มที่

"จำนำข้าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การไม่จำกัดจำนวนผู้ได้สิทธิและวงเงินต่อรายค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระมากเกินไป การจ่ายส่วนต่างน่าจะเป็นวิธีการที่นำมาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจภาคเอกชนที่ผ่านมา ที่เห็นควรให้เลิกการจำนำหรือลดเงื่อนไข ช่วยเฉพาะที่เดือดร้อนจริง ไม่ควรใช้เป็นแพคเกจเดียวกันกับเกษตรกรทั้่งหมด" นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังแสดงความเป็นห่วงต่อนโยบายแต่ละพรรคการเมือง ที่ไม่ควรนำประเด็นการเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ มาเป็นเครื่องมือในการหาเสียงและกำหนดนโยบาย เพราะจะเพิ่มแรงกดดันต่อการลงทุน การทำธุรกิจต่างๆ รวมถึงบั่นทอนเศรษฐกิจในระยะยาว

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เห็นด้วยหากรัฐบาลใหม่ เลิกจำนำข้าวในราคาสูง และหันมาจ่ายเงินชดเชย ลดต้นทุนและหาตลาดระบายข้าวให้ชาวนา เพราะการรับจำนำข้าวในปริมาณและวงเงินสูงๆ ได้พิสูจน์แล้วว่าทำให้มีปัญหาในระยะยาวในเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณ แต่ควรคำนวณสูตรจ่ายชดเชยที่คิดจากต้นทุนจริง บวกกับกำไรที่ชาวนาอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 30%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาของการจำนำข้าวในขณะนี้ คือ รัฐยังค้างค่าข้าวรับจำนำ 6 พันล้านบาท สำหรับข้าวเปลือกที่เปิดจำนำส่วนต่างจากโครงการรับจำนำปี 2555/56 และเงินคงค้างตามใบประทวนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 ที่ได้จำนำไว้แล้วกว่า 6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รวมถึงการชะงักของการอนุมัติระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 16 ล้านตัน หลังยุบสภาและรอการนโบบายจากรัฐบาลใหม่ จะทำให้เงินระบายข้าวที่ต้องส่งถึงกระทรวงการคลังตามแผนกระทรวงพาณิชย์ เดือนละ 2-3 หมื่นล้านบาท ต้องชะลอไว้ก่อน

ที่มา : นสพ.มติชน
----------------------------------------

หายนะจำนำข้าว !!?

โครงการจำนำข้าวป่วน รัฐบาลค้างจ่ายเงินชาวนาแสนล้าน ออกใบประทวนไร้ขีดจำกัด 7.3 ล้านตัน ธ.ก.ส.ยันเกินกรอบวงเงินต้องรอ กขช.ไฟเขียว

โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2556/2557 ที่เปิดโครงการมาตั้งแต่เดือนต.ค. ที่ผ่านมา ไปสิ้นสุดเดือนก.พ. 2557 เริ่มจะประสบปัญหาแหล่งเงินที่จะมานำมาใช้ดำเนินโครงการ หลังจากมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กำหนดกรอบวงเงินสำหรับใช้ในโครงการปี 2556/2557 ไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาท ผลผลิตข้าว 15 ล้านตัน แต่ขณะนี้ปรากฏว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเกษตรกรบางส่วน ยังไม่สามารถรับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ เนื่องจากยังไม่มีมติกขช.รองรับ โดย ธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรตามใบประทวนไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือต้องรอมติอนุมัติจาก กขช. ก่อน เพราะวงเงินที่ใช้เกินกรอบเดิมไปแล้ว

เผยรัฐค้างจ่ายชาวนาแสนล้าน

แหล่งข่าวจาก กขช. เปิดเผยว่า โครงการจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกใบประทวนให้เกษตรกร และยังไม่สามารถนำมาขึ้นเงินจาก ธ.ก.ส. ได้ขณะนี้มีจำนวน 1.15 แสนล้านบาท แบ่งเป็นใบประทวนที่ อคส. ออกไป จำนวน 1.04 แสนล้านบาท ผลผลิตข้าว 6.3 ล้านตัน และ อ.ต.ก. จำนวน 1.58 หมื่นล้านบาท ผลผลิต 0.97 ล้านตัน รวมผลผลิตที่รับจำนำไปแล้ว 7.3 ล้านตัน โดยเหตุผลที่เกษตรกรไม่สามารถนำไปขึ้นเงินจาก ธ.ก.ส.ได้นั้น เนื่องจาก ธ.ก.ส.ยังไม่ได้รับอนุมัติจาก กขช.ให้ดำเนินการ เพราะหากอนุมัติตามใบประทวนจะทำให้วงเงินที่ใช้ดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือก รวมทั้งหมดเกินกรอบวงเงินที่ครม.เคยอนุมัติไว้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยตัวเลขผลดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 11 ธ.ค. อยู่ที่ 6.9-7.1 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งเกินกรอบวงเงินมาแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุมครม.พิเศษเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการควบคุม การออกใบประทวนจำนำข้าว ไม่ให้เกินกรอบวงเงินที่เคยอนุมัติไว้ เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มักเสนอขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มภายหลังตลอด

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา นางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการรมช.คลัง จึงได้เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำมาประชุมนอกรอบที่กรมศุลกากร เพื่อกำชับไม่ให้มีการรับจำนำและออกใบประทวนเกินกว่ากรอบที่ครม.เคยอนุมัติไป ซึ่งในที่ประชุมได้กำหนดเกณฑ์เบื้องต้นว่าให้ดำเนินการรับจำนำในรอบนาปี (สิ้นเดือนก.พ. 57) ภายในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น และแบ่งสัดส่วนการออกใบประทวน ของ อคส. ไว้ที่ 1.12 แสนล้านบาท และ อ.ต.ก. จำนวน 3.7 หมื่นล้านบาท โดยได้รายงานมติดังกล่าวในที่ประชุม กขช.วันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมาด้วย

"ยิ่งลักษณ์"สั่งคุมไม่เกิน5แสนล้าน

การประชุมเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นั้น มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกฯและรมว.คลัง, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ร่วมประชุมพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อคส. และ อ.ต.ก. ซึ่งมีมติร่วมกันว่า หากมีการออกใบประทวนเกินกว่าที่กำหนดไว้ ทั้ง อคส. และ อ.ต.ก.ต้องรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายตามใบประทวนเอง ขณะที่กระทรวงการคลังจะไม่รับรู้หรือหาแหล่งเงินให้

แหล่งข่าวยังบอกว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 รอบแรกนี้ มติ ครม.กำหนดกรอบวงเงินรวม 3 ฤดูกาลผลิต (2554/2555 2555/56 และ 2556/2557) ไว้ทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท โดยกระทรวงการคลังต้องจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. จำนวน 4.1 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินส่วนของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุดมีกรอบวงเงินกู้เหลืออีก 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังอ้างว่าสามารถกู้ได้อีกเพียง 3.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิค ทั้งตลาดเงินไม่เอื้อ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เหมาะสม

"แม้ว่า ธ.ก.ส.จะได้รับเงินจากการระบายผลผลิตข้าวคืนจากกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา 1.64 แสนล้านบาท เมื่อหักเงินทุนของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท หักเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำปี 2555/2556 อีก 6.2 หมื่นล้านบาท เงินชดเชยโครงการ ปี 2555/2556 จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท รวมกับเงินระบายที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้อีก 7.4 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 2.9 หมื่นล้านบาท ทำให้เหลือเงินที่กระทรวงการคลังต้องจัดหามาให้อีก 4.5 หมื่นล้านบาท " แหล่งข่าวย้ำ

พาณิชย์คืนเงินขายข้าว1.3แสนล้าน

ขณะที่เงินจากการระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ทยอยชำระคืนให้ ธ.ก.ส. จนถึงสิ้นเดือนพ.ย. อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ชำระคืนดังกล่าว พบว่า มีเงินจากการขายมันสำปะหลังปี 2555 /2556 จำนวน 6.4 พันล้านบาท และเงินขายยางพารา ปี 2554/2555 จำนวน 2.6 พันล้านบาท เหลือเป็นเงินระบายข้าวเพียง 1.6 แสนล้านบาท แต่เมื่อในจำนวนนี้ยังแยกเป็นเงินขายข้าวจากโครงการก่อนปี 2554/2555 จำนวน 2.24 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินระบายข้าวปี 2554/2555 (นาปี) จำนวน 4.69 หมื่นล้านบาท ข้าวนาปรังปี 2554/2555 จำนวน 1.61 หมื่นล้านบาท นาปี 2555/2556 จำนวน 4.25 หมื่นล้านบาท และนาปรังปี 2555 จำนวน 5.03 หมื่นล้าน ดังนั้นเงินจากการระบายข้าวปี 3 ฤดู มีเพียง 1.3 แสนล้านบาทเท่านั้น

เดือนต.ค. กระทรวงพาณิชย์ คืนเงินระบายผลผลิต 9.1 พันล้านบาท จากเป้าหมาย 1.2 หมื่นล้านบาท เป็นเงินขายข้าว 5.2 พันล้านบาท และเงินขายมัน 3.8 พันล้านบาท เดือนพ.ย.กระทรวงพาณิชย์คืนเงินระบายผลผลิตได้ 7.7 พันล้านบาท จากเป้าหมาย 1.2 หมื่นล้านบาท เป็นเงินขายข้าวเพียง 5.2 พันล้านบาท และเงินขายมัน 2.5 พันล้านบาท สะท้อนได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวได้ตามแผนที่ประกาศต่อสาธารณะ โดยเฉพาะการขายแบบจีทูจี

"ขณะนี้มีปัญหาการกู้เงินใหม่จำนวน 1.4 แสนล้านบาท ตามกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการใหม่ปี 2556/2557 จำนวน 2.7 แสนล้านบาท เพราะอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการ ดังนั้นการกู้เงินในลักษณะการก่อหนี้สาธารณะคงทำไม่ได้ นอกจากนี้สำนักบริหารหนี้สาธารณะก็ยังไม่ได้จัดทำแผนการก่อหนี้เสนอครม. ซึ่งคงต้องรอรัฐบาลใหม่ ดังนั้นตอนนี้แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ หลังสิ้นเดือนก.พ. ปีหน้าไปแล้ว อาจประสบปัญหาแหล่งเงินได้ " แหล่งข่าวกล่าว

กิตติรัตน์ลั่นออกใบประทวนแล้วได้เงินแน่

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวฤดูกาลผลิต ปี 2556/57 รัฐบาลต้องรับจำนำข้าวนาปีให้แล้วเสร็จในสิ้นเดือนก.พ. ส่วนนาปรังต้องให้รัฐบาลชุดต่อไปเป็นผู้พิจารณา โดยยืนยันชาวนาที่ได้รับใบประทวนไปแล้วขณะนี้ จะได้รับเงินจำนำข้าวอย่างแน่นอน โดยกระทรวงการคลังจะบริหารเงินจำนำข้าวให้อยู่ในกรอบเงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยมาจากการเร่งระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ และเงินกู้ ซึ่งยังมีช่องว่างให้หาแหล่งเงินกู้มาบริหาร ในส่วนของการชดเชยปัจจัยการผลิตให้กับชาวสวนยางที่เหลือกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยังต้องจ่ายให้เหมือนเดิม เพื่อให้ครบจำนวนตามที่เกษตรกรขึ้นบัญชีไว้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สงครามการเมือง และการ Propaganda ความเกลียดชัง !!?

โดย.เมธา มาสขาว

ผมนั่งตั้งคำถามว่า หรือเราเกิดมาในยุคสงครามความเชื่อ ข่าวลือและการ Propaganda ความเกลียดชัง หลังจากอ่านข้อความข้อมูลข่าวสารต่างๆ ใน Social Network

ตั้งแต่ยุคของคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง จนกระทั่งถึง นปช. กปปส. และรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์-ทักษิณในปัจจุบัน ประชาชนแต่ละฝ่ายเลือกรับข้อมูลคนละด้าน ความจริงคนละชุด แม้ในเหตุการณ์เดียวกันก็ตามแต่พยานต่างอยู่คนละขั้วข้างทางการเมือง ไม่แปลกที่พวกเขาเลือกเชื่อในข้อมูลของฝ่ายตนเอง แต่แปลกที่พวกเขาเลือกเชื่อในข้อมูลที่ถูกนำเสนอด้วยความบิดเบือน

ขณะนี้การ Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเต็มไปหมดในโลก Internet หลายเรื่องเป็นการกล่าวหา ว่าร้าย ป้ายสี ใส่ความฝ่ายตรงข้าม บางเรื่องเป็นการยั่วยุประจานให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรง มีการ Share ข้อมูลต่างๆ จำนวนมากที่แม้ไร้หลักฐานการอ้างอิง จนดูเหมือนว่าเป็นสงครามปฏิบัติการข่าวสารไปแล้ว

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งจากการเผชิญหน้ากันของประชาชนขั้วข้าง ก็อาจเกิดขึ้นจากการสั่งสมอารมณ์ความโกรธแค้นและความเกลียดชังจากการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นไม่มากก็น้อย ในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทยที่สร้างกระแสใหม่ไปทั่วโลก เพราะต่างมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ให้ประชาชนติดตามยิ่งกว่ารายการ Reality Show ใดๆ และยิ่งกว่าในภาพยนตร์แห่งอนาคตเรื่อง Hunger Game เสียอีก

ท่ามกลางการปราศรัยทางการเมือง การให้ความรู้กับประชาชนของตนเองที่ติดตามอยู่นั้นเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ที่ผ่านมา การโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ และถ้อยความ Hate Speech เพื่อสร้างความเกลียดชังและปลูกฝังความรุนแรงกลับได้ขยายพื้นที่เต็มการเมืองแบบขั้วข้าง โดยเฉพาะในรายการของสถานีสีต่างๆ

ทุกวันนี้เราจึงเห็นการด่าทอเต็มหน้า Social-Network ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคำว่า สลิ่ม แมลงสาป ควายเหลืองหรือควายแดง เพื่อแบ่งแยกและ Propaganda ความเกลียดชังต่อกัน

เป็นเรื่องน่าเศร้าในสังคมไทยหากเราไม่สามารถยับยั้งสถานการณ์ความรุนแรงได้ เหตุที่ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างทางความคิดทางการเมืองของประชาชนขั้วข้าง ไม่สามารถพูดคุยกันได้ด้วยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อกัน ไม่มากก็น้อยก็มาจากการเสพและปล่อยข้อมูลข่าวสารด้านเดียว ตลอดจนสงครามข่าวลือต่างๆ




จริงๆ แล้วความหมายของคำว่า Propaganda ไม่ได้ตรงกับคำว่าการโฆษณาชวนเชื่อเท่าไหร่นัก เพราะผลกระทบของการโฆษณาชวนเชื่อดูจะอ่อนโยนเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบของ Propaganda คำแปลที่สื่อได้ชัดเจนกว่ามาจากประเทศเยอรมนีซึ่งมีประสบการณ์เรื่องการ Propaganda ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีโดยตรง

ตามความหมายใน Wikipedia ภาษาเยอรมัน ได้ให้ความหมายของคำว่า Propaganda ไว้ว่า

”ความพยายามอย่างเป็นระบบ ในการปลูกฝังแง่มุมความคิดเห็น, เบี่ยงเบนกระบวนการรับรู้ และควบคุมพฤติกรรม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีปฏิกิริยาตอบสนอง ตามที่ตนเองกำหนด”

การ Propaganda จึงมีความรุนแรงมากหากไม่มีการเฝ้าระวังดูแลจากสังคมอย่างจริงจัง เพื่อเฝ้าระวังการโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากบางทีมันอาจขยายบานปลายไปสู่ความรุนแรงทางสังคมและสงครามกลางเมือง ราวกับไฟลามทุ่งโดยไม่ทันคาดคิด เหมือนกับกระแสการล่าแม่มดต่างๆ ในโลก Internet ขณะนี้

เราอย่าลืมบทเรียนที่น่าเศร้าของประเทศรวันด้า (Rwanda) ในปี 2537 ซึ่งเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์อันปวดร้าวของโลก ประชาชนชาว Hutu ได้ทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์จนทำให้ชาว Tutsi เสียชีวิตไปเกือบ 1 ล้านคนในสงครามกลางเมืองครั้งนั้น

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการ Propaganda โดยตรง ความขัดแย้งระหว่าง 2 ชนเผ่าที่เกิดขึ้นมายาวนานนั้น ได้เดินทางมาถึงจุดแตกหักเมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดี Rwanda ชาว Hutu ถูกลอบยิงตกและเสียชีวิต ในที่สุดก็เกิดการปลุกระดมของนักการเมือง Hutu ทางวิทยุกล่าวหาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการวางแผนของชนเผ่า Tutsi และชนเผ่า Tutsi มีแผนจะฆ่าชนเผ่า Hutu ทั้งหมด หลังจากนั้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Tutsi ซึ่งเปรียบเหมือนดังแมลงสาบจึงได้เริ่มต้นขึ้น

เมื่อประชาชนขั้วข้างมีความจริงคนละชุด จากการ Propaganda สังคมก็จะยิ่งยากต่อการปรองดองสมานฉันท์ และจะยิ่งแตกร้าวลึกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนฝังใจ

ทุกวันนี้เราจึงมีความจริงที่มากกว่าหนึ่ง หรือ Truths แทนที่จะเป็น ความจริงหนึ่งเดียวคือ Truth แต่ละฝ่ายต่างมีชุดความจริงของตนเอง ในยุคประชาชนขั้วข้างนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการสร้างความจริง (establish the truth) ร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากสื่อมวลชนและปัญญาชนสาธารณะ โดยอาศัยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยการพิจารณาอย่างเป็นภาวะวิสัย

ประสบการณ์ของประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือการให้การศึกษาทางการเมืองที่เรียกว่า Civic Education พวกเขาแก้ปัญหาของยุคสมัยด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองดีๆ มากมายเพื่อให้เยาวชนคนหนุ่มสาวของเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความรู้ทางการเมือง เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพที่จะสามารถเลือกการเมืองในสิ่งที่ตนเองต้องการได้อย่างแท้จริงในระบอบประชาธิปไตย



ขณะที่การเมืองก็ได้เปิดเสรีให้แก่ทุกอุดมการณ์ได้ต่อสู้ทางความคิดและนโยบายในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยม พรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม พรรคกรีน หรือกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์

มีการออกแบบและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เยอรมันเป็นประเทศรัฐสวัสดิการและสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy)

ประเทศไทยก็สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบขั้วข้างได้เช่นกัน โดยการทำ Civic Education อย่างกว้างขวาง ให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างเต็มที่โดยไม่มีการปิดกั้น และเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงในระบบรัฐสภา

เพราะทุกวันนี้ มองเข้าไปในสภาครั้งใด ก็มีอยู่พรรคเดียวเท่านั้น คือพรรคนายทุน!

เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์โลกและเรา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
----------------------------------------------------------------------------

มวลมหาประชาชน !!?

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมได้เตือนทั้งในข้อเขียนและรายการทีวีว่า เมืองไทยปัจจุบันได้เกิดมวล (มหาประชา) ชนขึ้นแล้ว และการเมืองของมวลชนนั้นเป็นได้ทั้งสองทาง คือ ขยายกลไกและการมีส่วนร่วมเชิงประชาธิปไตยไปกว้างขวางขึ้น หากกลไกและสถาบันอื่นๆ ที่มีอยู่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปทางนั้น หรือทางที่สองคือ เกิดการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีมวล (มหาประชา) ชน

ที่พูดนี้ไม่ต้องการจะบอกว่า ผมปราดเปรื่องล้ำลึกกว่าคนอื่น เพราะผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า การเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะมาเร็วอย่างนี้

บทความเกี่ยวกับเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เขียนครั้งแรก ได้ความคิดจาก Hannah Arendt ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานของเธออีกครั้งหนึ่ง ความงุนงงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพจึงคลี่คลายลง ปัญหาที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณสุเทพมีใครหนุนหลังอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดคนจำนวนมาก (แม้ตัดพวกที่ขนมาจากภาคใต้ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี) จึงเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล

เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นอาจเกิดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ หรือเกิดกับรัฐคือ กลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้ แต่รัฐขนาดเล็กและมีประชากรน้อยอย่างไทยนั้น ในทรรศนะของ Arendt ไม่มีทางเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเกิดในรัฐเล็กๆ แบบไทยไม่ได้

และดังที่กล่าวแล้วว่า ฐานพลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จคือ มวลชน คำนี้ไม่ได้หมายถึงประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่น เครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น (ก็แม้แต่ชาวสลัมยังชื่นชมคุณชายและท่านชายราชตระกูลจุฑาเทพได้) กลายเป็นปัจเจกโดดๆ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยท้วงผมว่า ปัจเจกบุคคลยังคิดเองได้ ที่ถูกควรพูดว่าถูกแยกออกเป็นอณูต่างหาก ครับใช่เลย เป็นอณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ

สังคมไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอณู และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของอณูเหล่านี้ในสังคมไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีที่เรียกกันว่า "ล้นเกิน" ต่อสถาบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งกลายเป็นอณูมากกว่าใคร จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้อยู่เสมอ

ทั้งยังทำให้คาดได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จของคุณสุเทพมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ ประกอบด้วยอณู เพราะหากไม่เป็นอณูคนจะกลายเป็น "มนุษย์มวลชน" (ตามคำของ Arendt) ไม่ได้ และเพราะเป็นอณูจึงหลอมรวมเป็น "มวลมหาประชาชน" ได้ ไม่ใช่ถูกคุณสุเทพหลอมรวมนะครับ แต่เขาหลอมรวมกันเอง และหลอมรวมคุณสุเทพเข้าไปด้วย ทั้งหมดได้ค้นพบเป้าหมายแห่งชีวิตที่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวคือ การเป็นส่วนหนึ่งของ "มวลมหาประชาชน" ซึ่งมีชีวิตจิตใจของมันเอง คุณสุเทพคือตัวเขาเองที่พูดออกมา และ "มวลมหาประชาชน" ก็พูดแทนประชาชนทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ไปถามว่า "มวลมหาประชาชน" ของคุณมีจำนวนเท่าไร ห่างไกลจากตัวเลข 65 ล้านคน อันเป็นประชากรไทย การเมืองของเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณเป็นเสียงของใคร มีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหน เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก แม้แต่นาซีซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ก็เริ่มจากแก๊งอันธพาลข้างถนน รวบรวมกลุ่มคนที่ล้มเหลวในชีวิตทุกด้านไว้ด้วยกัน มุสโสลินียึดรัฐได้ด้วยเสียงข้างน้อยในสภา บอลเชวิคก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่เป็นตัวแทนของ "มวลมหาประชาชน" การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี

เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร

ด้วยเหตุดังนั้น อย่าถามถึงจำนวนเลย "มวลมหาประชาชน" ฟังไม่รู้เรื่อง

เมื่อทำลายหลักการของเสียงข้างมาก ก็ทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดของสถาบันที่อยู่กับเสียงข้างมากสูญสลายไปด้วย รัฐบาลที่มาจากการรับรองของเสียงข้างมากในสภาจึงเป็นโมฆะ แม้แต่สภาหรือรัฐสภาที่ให้การรับรองก็เป็นโมฆะ หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนโมฆะ ก็ย่อมโมฆะ

ทุกอย่างโมฆะหมด หรือทุกอย่างถูกแผ้วถางออกไปหมด เพื่อทำให้ "มวลมหาประชาชน" สร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีคนดีที่มาจากการเลือกสรรของคนดี ทูลเกล้าฯ ให้ได้รับการแต่งตั้ง

การคัดค้านว่าทั้งหมดนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการค้านที่ผิดฝาผิดตัว เพราะ "มวลมหาประชาชน" อันอ้างเป็นเสียงของประชาชนทั้งมวลนั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชั่วมีอำนาจอยู่แล้ว ที่ยังไม่ประกาศให้รู้ชัดๆ ไปเลยก็เพราะยังไม่ถึงเวลา

ทำไมจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า แผนการทางการเมืองของ "มวลมหาประชาชน" คืออะไร คำอธิบายของ Arendt นั้นลึกซึ้งมาก โครงการหรือแผนการใดๆ ทำให้อณูกลายเป็นปัจเจก เพราะต้องมีหลักที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งให้ยึดถือ ถ้าอณูเริ่มยึดถือหลัก เขาก็หมดความเป็นอณู เพราะต้องคิดสนับสนุนหรือต่อสู้กับการคัดค้าน เมื่อนั้นมวล (มหาประชา) ชนก็สลายตัว กลายเป็นแค่ม็อบ ที่ทุกคนต่างมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน การหลวมรวมตัวเข้าไปใน "มวลมหาประชาชน" จึงเกิดขึ้นไม่ได้

นี่คือเหตุผลที่ความเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" มีแผนได้แทบจะเฉพาะชั่วโมงต่อชั่วโมง และต้องคอยยกระดับกันทุกวัน เพราะเป้าหมายหรือแผนคือ การทำลายตนเองของ "มวลมหาประชาชน" อย่าลืมว่า เมื่อไรที่มีแผน เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ แล้วหลังจากนั้นล่ะ? นโยบายพรรคภายใต้สตาลินและเหมาเปลี่ยนได้ทุกปี เพื่อให้ "มวลมหาประชาชน" ต้องเข้มแข็ง เตรียมพร้อม และสู้รบตลอดไป

ต้องหาอะไรให้ม็อบทำ อย่าชุมนุมเฉยๆ เป็นคำอธิบายเชิงยุทธวิธี แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ มีอะไรที่ลึกกว่านั้นไปอีก

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพถูกโจมตีว่าทำผิดกฎหมายถึงขั้นกบฏ และบางครั้งก็อาจถูกโจมตีว่าทำผิดศีลธรรมด้วย ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บางคนขุดคุ้ยประวัติของคุณสุเทพขึ้นมา "แฉ" ทั้งหมดนี้เพื่อลดความชอบธรรมของ "มวลมหาประชาชน"

น่าประหลาดมากที่ Arendt ชี้ให้เห็นว่า การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มวล (มหาประชา) ชนเข้ามาหลอมรวมตัวกับผู้นำ ผู้นำของการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จหลายคนจะเล่าถึงประวัติอาชญากรรมของตนอย่างภาคภูมิใจ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล รับบนเวทีว่า ตนเคย "เหี้ย" (คำของเขา) มาอย่างไร และบัดนี้หันมาปฏิบัติธรรมจนห่างพระองคุลิมาลไม่ถึงคืบหนึ่งดี คำอธิบายง่ายๆ ของผมต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ มวล (มหาประชา) ชนเกลียดสังคมที่ทำให้ตนไม่รู้สึกสุขสงบ สังคมเช่นนั้นดำรงอยู่บนระบบกฎหมายและศีลธรรมชนิดที่ควรละเมิดนั่นแหละ จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาร่วมเป็นมวล (มหาประชา) ชน การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมยิ่งทำให้น่าวางใจว่า ขบวนการจะเดินไปสู่อะไรที่ใหม่และดีกว่าเก่า

จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ (ตัดม็อบว่าจ้างและคนที่ถูกขนมาจากเขตเลือกตั้งของตนแล้ว) ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ ไม่ได้เข้าร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่จะพูดว่ามีอุดมการณ์เดียวกับคุณสุเทพไม่ได้ เพราะอุดมการณ์เกิดขึ้นจากการคิดไตร่ตรอง ผ่านการถูกโต้แย้งและการตอบโต้มามาก หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่น ตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง

เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ

ผมคงสามารถยกคำอธิบายของ Arendt มาทำความเข้าใจกับมวล (มหาประชา) ชนของคุณสุเทพได้อีกมากมาย แต่ขอยุติเพียงเท่านี้ เพื่อจะบอกด้วยความแน่ใจว่า คุณสุเทพกำลังนำ "มวลมหาประชาชน" ไปในทิศทางของเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างชัดเจน คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ แต่มีคนอื่นทำมาแล้ว แต่ไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้

เราจะออกจากการเมืองมวลชนแบบที่นำไปสู่เผด็จการเช่นนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าการชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของขบวนการเช่นนี้ในทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งทำ แต่ไม่ใช่เพื่อบอกกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะมวล (มหาประชา) ชน ไม่มีหูจะรับฟัง แต่เราต้องทำความเข้าใจกับคนนอกอีกมาก ทำให้คนนอกเหล่านั้น ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตในสังคมอณูเช่นกันเชื่อว่า ทางเลือกในระบอบประชาธิปไตยยังมีอยู่ หากเราให้โอกาส

ม็อบแบบ "มวลมหาประชาชน" นั้นมีในทุกสังคมอณู แต่ไม่จำเป็นต้องมีพลังครอบงำทางเลือกของสังคมอย่างม็อบของฮิตเลอร์, มุสโสลินี, สตาลิน, หรือเหมา เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น มีสติ ความอดกลั้น และความเข้าใจเพียงพอ ที่จะไม่ปล่อยให้มวล (มหาประชา) ชนชักนำไปอย่างมืดบอดหรือไม่

เราทุกคน รวมทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในวิกฤตทางเลือกที่สำคัญขนาดคอขาดบาดตายสำหรับสังคมไทย หากคุณยิ่งลักษณ์และเราทุกคนช่วยกันประคองให้สังคมไทยหลุดรอดจากทางเลือกของการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไปได้ในครั้งนี้ หลานของผมและลูกคุณยิ่งลักษณ์จะมีชีวิตที่พูดอะไรก็ได้ตามความคิดของตน สามารถตอบโต้คัดค้านความคิดของคนอื่นได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า จะถูกมวล (มหาประชา) ชนลงโทษ ด้วยการเป่านกหวีดใส่ ไปจนถึงจำขัง, เนรเทศ หรือประหารชีวิต

ที่มา: มติชนรายวัน
-----------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เจษฎ์-เอกชัย จะสอนกฎหมาย ยังไง หาก กปปส. ชนะ

นายกฯปูประกาศยุบสภา เป็นผลพวงที่เกิดจากเสียงนกหวีดที่ดังกึกก้องยาวนานต่อเนื่องของมวลมหาประชาชนที่กดดันให้รัฐบาลต้องประกาศใช้สิทธิอำนาจในขั้นตอนสุดท้ายในการคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งนับว่าเป็นการชุมนุมของม็อบ"นกหวีด"ที่ประสบผลสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง

แต่ กปปส.ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง

ยังคงกดดันให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องลาออกจากการรักษาการสร้างภาวะ"สุญญากาศ"อันจะนำไปสู่การใช้มาตรา7 เพื่อขอ "นายกรัฐมนตรีพระราชทาน" และต่อเนื่องไปยังข้อเสนอ "สภาประชาชน" จึงจะนับว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริงของ กปปส.และมวลมหาประชาชน

ท่ามกลางเสียงขัดแย้งกันของนักวิชาการที่ออกมาโต้แย้งกันทางความคิดในเวทีเสวนาชนิดเรียกว่าวันต่อวันว่าข้อเสนอและวิธีการที่กกปส.นำเสนอนั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่เป็นข้อขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างนำเอาหลักการเอาแนวความคิดขึ้นมาสนับสนุนขึ้นมาชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนิติศาสตร์ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ต่างถูกหยิบยกขึ้นมาโต้เถียงกันอย่างต่อเนื่องทั้งมาตรา 3 มาตรา 7 และมาตรา 181

เกิดเป็นคำถามว่าหาก กกปส.ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ การเรียนการสอนในด้านนิติศาสตร์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด?

มาฟังความเห็นจากสองอาจารย์กฎหมายที่ได้แสดงจุดยืนที่แตกต่างในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกันระหว่างเจษฎ์โทณะวณิกคณบดีคณะนิติศาสตร์ กับเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสยาม ว่าจะมีความเห็นกับคำถามนี้กันอย่างไร




เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ (ซ้าย) เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ (ขวา)

เจษฎ์ โทณะวณิก

คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม

อย่ามองเรื่องนี้เป็นการแพ้ชนะ แต่มองว่าข้อเสนอทั้งหลายของ กปปส. สามารถที่จะดำเนินการได้ ก็จะต้องมีการอธิบายรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงทำได้ เช่นเดียวกันกับทางรัฐบาลที่ต้องอธิบายว่าเหตุใดจึงกระทำไม่ได้ ถ้าจะยืนยันแต่แค่บทบัญญัติในตัวบทรัฐธรรมนูญมันไม่ครบถ้วนความเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะที่เรียนมารัฐธรรมนูญนั้นมีอะไรที่มากกว่านั้น

อย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือรัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่สามารถที่จะทูลเกล้าฯขอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว.คืนได้เพราะไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ทำได้แต่รัฐบาลก็ทำไปแล้วขอทูลเกล้าฯพระราชทานไปและได้มีการพระราชทานคืนมาแล้ว ทำไมจึงทำได้ นี่เป็นหนึ่งสิ่งที่สามารถนำมาอธิบายโดยรัฐธรรมนูญได้ว่าเพราะอะไรจึงทำได้

แต่ไม่ใช่ว่าจะไปทำตาม กปปส. โดยที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งจะส่งผลให้การสอนหนังสือในอนาคตลำบากมาก ดังนั้น กปปส.ต้องอธิบายว่าการกระทำด้วยกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างไร ต้องมีความชัดเจนกว่านี้ว่าเป็นอย่างไร มีกลไกการปฏิบัติจริงอย่างไรจึงสามารถนำไปอธิบายต่อได้ ซึ่งผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านี้จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนกว่านี้ และอธิบายว่าความเป็นรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นเพียงแค่ถ้อยคำตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดูตามหลักของรัฐธรรมนูญ ทำประชาธิปไตยให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นมาตรา 7 จะไม่มีเสียงอะไรเลย

ถามต่อว่าทุกวันนี้ได้ชี้แจงแก่ลูกศิษย์อย่างไร?

อ.เจษฎ์บอกว่าให้ดูการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดและข้อเสนอต่างๆทั้งหมดและมาพิจารณาในสิ่งที่เราเรียนมาว่าการตีความกฎหมายถ้าหากมีถ้อยคำตามบทบัญญัติและถ้อยคำนั้นชัดเจนก็ตีความตามตัวบท แต่ถ้าถ้อยคำตามตัวอักษรไม่มีความชัดเจนเราจะต้องตีความตามเจตนารมณ์ ซึ่งจะอยู่ในส่วนอารัมภบท ก่อนที่จะเข้าสู่มาตรา 1

"จะบอกกับนักศึกษาเสมอว่าอย่าเพิ่งไปเชื่อ แต่ให้พิจารณาแล้วเอามาดูว่าจะต้องตีความอย่างไร แล้วทุกคนจะพบทางออกของตัวเอง ไม่ใช่ทางออกของ กปปส. ทางออกของรัฐบาล"

ก่อนที่จะย้ำทิ้งท้ายว่า ถ้าข้อเสนอต่างๆ ของ กปปส.ถูกนำมาใช้ปฏิบัติ ต้องสามารถอธิบายในกรอบของรัฐธรรมนูญให้ได้ เพื่อที่จะนำมาเป็นหลักในการเรียนการสอนในอนาคตต่อไป

เอกชัย ไชยนุวัติ

รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม

(หัวเราะเล็กน้อยเมื่อฟังคำถามจบ) ข้อเรียกร้องของ กปปส.หรือกลุ่มต่างๆ รัฐบาลจะต้องรับฟัง เพราะในส่วนของสาระเป็นข้อเรียกร้องโดยชอบธรรมตามหลักของสิทธิมนุษยชนที่ต้องรับฟัง

แต่วิธีการที่ กปปส.เรียกร้องนั้นผิดกฎหมาย และถือว่าเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้เป็นไปในทางประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้า กปปส.ชนะขึ้นมาก็จะต้องใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า "Might is Right" ซึ่งแปลว่า "อำนาจ คือ ความถูกต้อง" ซึ่งถ้าเป็นตามหลักนิติรัฐที่แท้จริงแล้วจะต้องสลับกันเป็น "Right is Might" ที่มีความหมายว่า "การกระทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นคืออำนาจ" ดังนั้นการกระทำของ กปปส.ก็มิต่างกับการปฏิวัติโดยอาวุธ คือการใช้อำนาจเพื่อบังคับให้เกิดกฎหมายให้ประชาชนจำยอม ซึ่งเป็นที่พิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่า ไม่มีใครยอมรับ

ก่อนที่จะเสริมด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเน้นย้ำว่า ถึงแม้ว่าในประเทศไทย ศาลฎีกาได้ยึดหลักว่าถ้าทำปฏิวัติชนะถือเป็นผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อนิติรัฐ เพราะนิติรัฐคือ Right is Might ไม่ใช่ Might is Right

"ดังนั้นการเรียนการสอนทั้งหมดคงจะต้องเผาทิ้งไป และถ้าหากมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าการกระทำเช่นนี้คืออะไร การกระทำของ กปปส.เป็นการสร้างแบบอย่างให้แก่สังคม หากในอนาคตมีผู้ที่ไม่ชอบ กปปส. พวกเขาก็จะออกมาทำในแบบที่ กปปส.ทำ มันก็จะไม่จบ"

อ.เอกชัยย้ำ ก่อนที่จะเสริมในกรณีการใช้มาตรา 7 ในข้อเสนอของ กปปส. ว่า เป็นการทำลายหลักการรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้แทนราษฎร ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 171 ปี 2550 นี่คือหัวใจหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าหากคุณจะเป็นนายกฯ คุณต้องเป็น ส.ส. ซึ่งหากเกิดนายกฯคนกลางที่เป็นคนนอกก็ขัดกับเจตนาของรัฐธรรมนูญ

"ซึ่งหากไม่ได้มีระบุไว้ในมาตรา 171 จะเป็นนายกฯคนกลางผมจะไม่ว่าเลยแม้แต่น้อย แต่นี่เขียนตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาถึง 2550 เป็นหลักการที่ใหญ่ที่สุด เพราะอยากให้ประชาชนทุกคนได้เลือกนายกรัฐมนตรี"

เมื่อถามถึงการสอนต่อไปในอนาคตหาก กปปส.ชนะ อ.เอกชัยตอบกลับมาทันทีว่าจะยังคงสอนต่อไป แต่คงจะสอนแบบคนอมทุกข์ คงไม่มีใครรับได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คงต้องสอนในลักษณะ Might is Right ซึ่งจะไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป

สองความเห็นในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน ในมุมมองที่แตกต่างกับการเรียนการสอนในอนาคต ที่ไม่สามารถรู้ได้ชัดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เช่นเดียวกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันที่ยังคงคลุกฝุ่นควันฟุ้งมองไม่เห็นทางที่แน่ชัดข้างหน้าเช่นกัน

ที่มา นสพ.มติชน
///////////////////////////////////////

ไม่ชอบใจ 2 พรรคใหญ่ ก้อยังมีพรรคทางเลือกที่ 3

ยิ่งนับวันอาการ จบไม่ลง.. ของการเมืองไทยยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นทุกที ตราบเท่าที่การเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ยังวนเวียนอยู่กับความต้องการส่วนตัวที่สวนทางกับความเป็นจริง
ฝ่ายรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าถอยเต็มที่แล้ว หากถอยมากกว่านี้ก็จะผิดกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องโดนเล่นงานด้วยมาตรา 157 อีก หากทำตามเสียงเรียกร้องของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.

น้ำตาคลอให้เห็นกันทั่วประเทศ และแพร่ภาพออกไปทั่วโลก ว่าจะเล่นงานกันถึงขั้นไม่ให้มีที่ยืนบนแผ่นดินไทยกันเลยอย่างนั้นหรือ???

เล่นเอานายสุเทพ ต้องออกมาว่า ไม่มีสิทธิที่จะเนรเทศใครได้ เพราะหากทำเช่นนั้นก็ผิดกฎหมาย
จึงเป็นที่ชัดเจนว่าลึกๆแล้วนายสุเทพก็กลัวกฎหมายเหมือนกัน เพียงแต่เลือกที่จะกลัว หรือเลือกที่จะเล่นกับกฎหมายในหลายๆเรื่องที่สามารถช่วยให้เป็นต่อได้ในการตรึงจำนวนประชาชนที่มาร่วมชุมนุม
ซึ่งก็จริงอย่างที่นายสุเทพพูด ว่าไม่มีอำนาจที่จะเนรเทศใคร ไม่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ หรือคนในตระกูลชินวัตรทุกคน

แต่การยอมรับความจริว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานะที่จะเนรเทศใครได้ตามอำเภอใจก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านายสุเทพจะใจอ่อนในศึกช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองในครั้งนี้

เพราะนายสุเทพยังคงยืนกรานเช่นเดิมว่า นางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี จะมาทำหน้าที่รักษาการระหว่างที่จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้

หากไม่ออกตามที่ยื่นคำขาด นายสุเทพก็จะตรึงประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เกลียดชังทักษิณ ให้อยู่ยืดเยื้อไปเรื่อยๆแบบ “นัน สต๊อป”

ที่สำคัญไม่ได้ยิ่นคำขาดแต่เฉพาะกับนางสาวยิ่งลักษณ์เท่านั้น ยังสั่งให้ข้าราชการระดับสูงทั้งข้าราชการเหล่าทัพ และข้าราชการพลเรือนให้มารายงานตัวกับนายสุเทพ ประหนึ่งว่าเป็นการทำปฏิวัติรัฐประหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รวมทั้งออกคำสั่งต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ให้ทำตามคำสั่งของนายสุเทพโยเคร่งครัด
ทำให้มีการลือกันกระฉ่อนว่า การที่นายสุเทพ มั่นใจสูงลิบขนาดนี้ คงเป็นเพราะมีทีเด็ดกบไต๋เอาไว้ในมือ ซึ่งก็วิเคราะห์กันว่านอกจากขั้วอำนาจพิเศษต่างๆหนุนหลังแล้ว หรือว่าบรรดาผู้นำกองทัพก็แอบหนุนหลังนายสุเทพ อย่างที่นายสุเทพพยายามจะแสดงออกให้รับรู้กันกลายๆอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุดก็มีการปล่อยข่าวออกมาว่า นายสุเทพได้มีการไปพบปะกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมชุดรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่านจินดา อดีต ผบ.ทบ.คนก่อนหน้า และ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คนปัจจุบันร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

ข่าวลือเรื่อง แก๊ง “3ป.”ก็เลยยิ่งกระหึ่มหนักขึ้นไปอีก... ยิ่งทำให้เชื่อมากขึ้นไปอีกว่าดูท่าทหารคงจะหนุนหลังนายสุเทพแล้วจริงๆ

แต่เอาเข้าจริงๆกลายเป็นหนังคนละม้วน เพราะบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร บอกไม่เคยพบ กำลังดูหนังอยู่ที่บ้าน แถมไม่ค่อยสบายเป็นหวัดอีกต่างหาก ส่วน บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ ก็อยู่ต่างประเทศ แล้วจะพบกับนายสุเทพได้อย่างไร

เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่รู้ที่สิ่งที่นายสุเทพพยายามแสดงออกให้ผู้คนเข้าใจไปเอง หรือข่าวลือที่ถูกปล่อยออกมานั้น ตรงข้ามกับความจริงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

หรือนั่นแปลว่าการศึกครั้งนี้ยังไม่บรรลุผลที่ต้องการ ฉะนั้นก็ต้องสู้กันต่อไป ก็ต้องตรึงประชาชนที่ออกมาแสดงพลังให้อยู่ต่อไปเรื่อยๆให้ได้

ซึ่งเมื่อมองในแง่มุมนี้แล้ว โอกาสในการเจรจาเพื่อที่จะหาทางออกให้กับประเทศชาติ ระหว่างรัฐบาลกับนายสุเทพ คงเป็นเรื่องยากราวกับเข็นครกขึ้นภูเขานั่นเลยทีเดียว

เพราะแม้แต่นักวิชาการในยามนี้ จะชัดเจนว่าแบ่งแยกแตกขั้วทางความคิดกันไปแล้วด้วยเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการประกาศตั้งสภาประชาชน การประกาศตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการคนใหม่ การประกาศให้นางสาวยิ่งลักษณ์ลาออก ไม่ต้องทำหน้าที่รักษาการตามที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

นักวิชการที่สนับสนุนและเลือกยืนฝั่งนายสุเทพ ก็พยายามพลิก เฟ้นหาเหตุผลสารพัดขึ้นมากล่าวอ้างว่าทำได้ ในขณะที่นักวิชาการที่ยึดแนวทางรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยก็ยืนยันว่าทำไม่ได้

ที่หัวหมุนเป็นลูกข่าง หรือมึนตึ๊บเหมือนจิ่งหรีดถูกปั่นหัว ก็หนีไม่พ้นประชาชนทั้งหลายนั่นแหละ ตกลงทำได้หรือทำไม่ได้กันแน่ พวกอาจารย์นักวิชาการเหล่านี้เรียนมาตำราเล่มเดียวกันหรือเปล่า???

แล้วแบบนี้จะไปสอนลูกศิษย์ลูกหาอย่างไร ออกข้อสอบมาจะใช้ธงคำตอบของใคร เด็ไทยไม่สอบตกกันยกประเทศหรือ หากตอบแล้วไม่ถูกใจอาจารย์เพราอาจารย์ดันทะลึ่งมีขั้วสี

มิน่าการศึกษาไทยถึงได้ล้าหลัง ร่วงไปเป็นอันดับที่ 8 ของชาติในอาเซียน ก็เพราะมีครูบาอาจารย์ที่ไม่แยกแยะระหว่างการศึกษากับขั้วสีที่ชื่นชอบนี่แหละ

เพราะแบบนี้หรือไม่ที่แม้จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว และได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันเลือกตั้งใหญ่ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทยก็ยังเชื่อว่า ต่อให้มีเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาก็คงไม่จบ เพราะนายสุเทพบอกแล้วว่า จะไม่รับผลการเลือกตั้งของประชาชน หากว่ายังไม่ยอมให้นายสุเทพจัดระเบียบจัดกติกาใหม่เสียก่อน

รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์เองก็ทำท่าว่า หากลงสมัครแล้วจะแพ้อีกเป็นปีที่ 22 ของความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ก็อาจจะบอยคอต ไม่ลงเลือกตั้งทั้งพรรคอีก ในเมื่อของมันเคยๆทำมาแล้วก็ไม่ยากหากจะทำอีก

หลายคนจึงกังวลว่า แล้วแบบนี้การเลือกตั้งจะช่วยให้ปัญหาจบได้หรือ

ท่าทีระหว่างนายสุเทพ กับ รัฐบาล ที่เป็นไปในลักษณะพูดกันไม่รู้เรื่องเช่นนี้ หากเป็นเรื่องพิษรักเรื่องปัญหาครอบครัวแบบบ้านๆแล้ว มีหวังต้องจบลงแบบที่เป็นข่าวเศร้าให้เห็นในสังคมไทยมาตลอดนั่นแหละ คือต้องฆ่ากันตายไปข้างนึง ประเภทเมียตาย ผัวติดคุก หรือไม่ก็ผัวตายตามไปด้วยนั่นแหละ
แต่เพราะนี่เป็นเรื่องของบ้านเมือง เป็นเรื่องของอนาคตของประเทศชาติ เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของคนทั่วโลก ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องยึดกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเขายึดถือกัน หากว่าไทยเรายังอยากเป็นสมาชิกของประชาคมโลกอยู่ต่อไป

จึงเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจริงๆได้มีสิทธิออกเสียงเลือกอนาคตของประเทศชาติด้วยมือของทุกคน ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ฉะนั้นจึงได้ยืนยันในเรื่องของการเลือกตั้ง และเรื่องของการหาทางออกด้วยพรรคทางเลือกใหม่ๆ
ก็เหมือนกับที่ นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ที่พูดถึงข้อเสนอของกลุ่ม กปปส.ที่ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากรัฐบาลรักษาการว่า หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออก จะเกิดสูญญากาศทางการเมืองและมีปัญหาต่อการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทันที

จึงขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอย่าลาออก อยากให้สู้มากกว่านี้ เพราะเมื่อเกิดสูญญากาศ ก็จะนำไปสู่สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง อีกทั้งขณะนี้ก็เหมือนการปฏิวัติแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากอดีตที่เคยใช้กำลังทหารมาเป็นประชาชน แต่ยังเป็นการปฏิวัติที่ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้านายกฯ ลาออก ก็อาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

สถานการณ์ขณะนี้ก็เปรียบเหมือนการปฏิวัติอย่างที่ได้กล่าวไว้ ทำสำเร็จก็มีอำนาจ เช่นเดียวกันเมื่อยึดอำนาจเสร็จ ก็ประกาศนิรโทษกรรมให้ตัวเอง การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ มีอำนาจอะไรที่อยู่ข้างหลังอีกหรือเปล่า เราก็ไม่ทราบ รัฐบาลก็ต้องต่อสู้กันต่อไป”

ชัดเจนว่า กกต.สดศรีเห็นด้วยกับการที่จะต้องมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
ส่วนที่มีคำถามมายังกอง บก.บางกอก ทูเดย์ ว่า แล้วจะเลือกพรรคใด หากไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แล้วจะมีพรรคทางเลือกใหม่เกิดขึ้นมาให้เลือกทันการเลือกตั้งครั้งนี้หรือ???
ถ้าไม่มีพรรคทางเลือกใหม่ๆแล้วจะทำอย่างไร?

ที่สำคัญถ้าพรรคประชาธิปัตย์บอยคอต การเลือกตั้งจะไม่ล้มหรือ? จะไม่มี ส.ส.ภาคใต้หรือ?

แต่ในความเป็นจริงไม่ได้น่าวิตกเช่นนั้น เพราะพรรคทางเลือกใหม่ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีพรรคตั้งขึ้นมาใหม่เพียงอย่างเดียว พรรคการเมืองที่มีอยู่ในเวลานี้ ก็สามารถจะเป็นทางเลือกให้กับทางออกของประเทศไทยได้เช่นกัน

วันนี้พวกบ้านเลขที่ 109 ได้พ้นโทษแบนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา หากไม่เลือกเพื่อไทย ไม่เอาประชาธิปัตย์ ทำไมจะเลือกพรรคชาติไทยพัฒนา เลือกนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือเลือกพรรคชาติพัฒนา เลือกนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้

ถ้าพร้อมใจกันเลือกให้พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติพัฒนา มีเสียง ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ทำไมนายสุวัจน์ หรือนายบรรหารจะเป็นนายกฯไม่ได้

หรือหากว่ายังอยากจะมองทางเลือกอื่น จะลองเลือกพรรคภูมิใจไทย ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลุ้นได้มีความหวังที่จะเป็นายกรัฐมนตรีอย่างที่ฝัน ทำไมจะทำไม่ได้

แม้กระทั่งว่าหากจะสนุกสุดขั้วจะเลือกพรรครักประเทศไทย ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ก็ถือว่าเป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย

ส่วนที่กลัวว่า ส.ส.ภาคใต้จะไม่มีหากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งให้ประชาธิปัตย์บอยคอต รอบนี้ก็ไม่ต้องห่วง เพราะมีพรรคมาตุภูมิ ของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ที่พร้อมจะยึดหัวหาดภาคใต้อยู่แล้ว หากประชาธิปัตย์ฝืนจะเล่นมุกเดิมๆ ครั้งนี้ตายหยังเขียดแน่นอน

ฉะนั้นในกติกาประชาธิปไตย ในระบบการเลือกตั้ง ประชาชนคนไทย 67 ล้านคนยังสามารถที่จะแสดงพลังบริสุทธิ์ได้อยู่ โดยไม่ต้องไปใส่ใจกับ 2 ขั้วความขัดแย้งที่แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองกันอยู่ในเวลานี้

หากประชาชนเห็นว่า นักการเมืองที่มีประสบการณ์สูง มีสไตล์สมานฉันท์อย่างนายสุวัจน์ สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เมืองไทยพ้นปลักความชัดแย้งเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ก็ต้องเลือกพรรคชาติพัฒนากันเยอะๆ ให้ชนะขาดไปเลยยิ่งดี

หรือถ้าคิดว่าต้องการให้นายบรรหารเป็นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ก็ต้องเลือกพรรคชาติไทยพัฒนา
ลองนึกภาพดู สมมุติว่าหากคนที่เกลียดทักษิณไม่เอาเพื่อไทย ก็หันมาเลือกพรรคชาติพัฒนา คนที่ชิงชังรังเกียจพฤติกรรมการเมืองของประชาธิปัตย์ก็หันมาเลือกชาติพัฒนา จากพรรคทางเลือก ก็จะกลายเป็นพรรคใหญ่ขึ้นมาในทันที ถึงวันนั้นพรรคการเมืองที่ปั่นป่วนวุ่นวายทำลายระบบนั่นและที่จะจ๋อย
ฉะนั้น 2 กุมภาพันธ์ 2557 เลือกพรรคทางเลือกใหม่ พรรคใดก็ได้...
นี่คืออำนาจอธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------------

กองทัพยึดหลักกรอบ รธน.ให้มีการเลือกตั้ง !!?

ปลัดกระทรวงกลาโหมยันกองทัพพิทักษ์และรักษารัฐธรรมนูญ หนุนเลือกตั้ง จัดกำลังพลดูแลให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ตามที่มีหนังสือจากกลุ่มนายทหารนอกราชการที่ภักดีต่อสถาบันฯ และยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถึงปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 นั้น พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับเป็นที่เรียบร้อย และขอบคุณที่ทุกท่านได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง และกองทัพที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ในส่วนของแนวทาง ในการแก้ไขปัญหายังคงยืนยันในอุดมการณ์เดิมคือ กระทรวงกลาโหมจะต้องพิทักษ์ รักษารัฐธรรมนูญการปฏิบัติใด ๆ ก็ตามจะคิดและปฏิบัติในกรอบของรัฐธรรมนูญไทยเท่านั้น และในส่วนของการที่จะนำกำลังพลของกองทัพเข้ามาดูแล สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง จะต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำเรื่องเสนอถึงแนวทางว่า จะให้กองทัพเตรียมการและดำเนินการและสนับสนุนอย่างไร

พ.อ.ธนาธิป กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดการประชุมเสวนาในเรื่อง “ประเทศไทยของเรา จะไปทางไหน” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้มีผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ นักวิชาการอิสระ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยมีผู้แทนของแต่ละส่วนงานได้เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา ในส่วนของข้าราชการทหาร มีปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนในการชี้แจงในภาพรวมของกระทรวงกลาโหม โดยได้ชี้แจงถึง 1.จุดยืนของกระทรวงกลาโหม จะดำเนินการพิทักษ์และรักษารัฐธรรมนูญ 2. การดำเนินการใด ๆ ก็ตาม จะคิดและปฏิบัติในกรอบตามรัฐธรรมเท่านั้น 3.กองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง และพร้อมจัดกำลังพลดูแลให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ถูกต้อง ยุติธรรม สำหรับข้อมูลดังกล่าว เป็นผลมาจากข้อสรุปของการเสวนาสาธารณะ เพื่อความสงบสุขและประโยชน์สูงสุดของประเทศ ณ กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2556 และมีการแถลงข่าว โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตามที่มีการนำเสนอข่าวให้ทราบกันไปแล้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ยุบสภา-เลือกตั้ง วิกฤต 2 นครา !!?

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เลือกวิธีแก้ปัญหาการชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วยการประกาศยุบสภา

จุดใหญ่ใจความก็เพื่อ คืนอำนาจให้ประชาชนŽ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิในการเลือกตั้งภายใน 60 วันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนด

เวลาการประกาศยุบสภา คือ 08.30 น. วันที่ 9 ธันวาคม ก่อนเวลา 09.39 น. ที่กลุ่มประชาชนต้องการขับไล่รัฐบาลนัดเดินกันทั่วกรุงเทพฯ โดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางที่ทำเนียบรัฐบาล

เท่ากับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศยุบสภาก่อนเวลานัดหมายของกลุ่มผู้ชุมนุม

ต่อมา พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลจึงถอยฉาก ปล่อยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เข้ามาทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้ว บนเวทีราชดำเนินได้ยืนยันท่าทีว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยุบสภา แต่ก็ยังรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ จึงเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากการรักษาการนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งต่อมาได้เรียกร้องคณะรัฐมนตรีทั้งหมดลาออกจากตำแหน่งรักษาการด้วย เพื่อทำให้ประเทศไม่มีผู้บริหาร และเปิดทางใช้มาตรา 7 รัฐธรรมนูญฯ ตั้งนายกฯใหม่

ขณะที่แนวร่วมเดิมของกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มแสดงความลังเล เพราะเห็นว่า การยุบสภานั้นคือการคืนอำนาจให้ประชาชน และการเลือกตั้งทั่วไปคือการที่ประชาชนใช้อำนาจ

ดังนั้น การเลือกตั้งใหม่จึงควรเป็นคำตอบของปัญหาแล้ว

หากแต่ในข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่เลิกรากลับบ้าน เพราะพอมองเห็นว่าใครจะมาใครจะไปหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น

กลุ่มผู้ชุมนุมจึงต้องการให้กำหนดกติกาใหม่ โดยใช้กลุ่มคนที่เรียกว่า สภาประชาชนŽ เป็นกลไก และมีคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 7 คอยคุมเชิง

เหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะสภาพของสองนคราประชาธิปไตยตามแนวคิดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังแผ่อิทธิพลอยู่ในขณะนี้

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน นายเอนกได้เขียนบทความวิชาการโดยใช้มิติทางสังคมไปมองการเมืองไทย และพบว่า คนไทยมีความเชื่อทางการเมือง 2 ความเชื่อ ซึ่งความเชื่อเหล่านั้นเป็นไปตามปูมหลัง ระหว่าง คนเมืองŽ กับ คนชนบทŽ

ความเชื่อที่แตกต่างดังกล่าวทำให้มองการเมืองแตกต่างกัน ดังนั้น การเมืองไทยจึงมีปัญหา ประชาธิปไตยไทยจึงสะดุด

คนชนบทŽ เลือก คนเมืองŽ ล้ม !

เหตุการณ์การยุบสภาครั้งล่าสุด แม้ในกลุ่มผู้ชุมนุมจะมี คนชนบทŽ ร่วม และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล จะมี คนเมืองŽ ผสม แต่ภาพรวมของการเมืองไทยก็ยังเกาะกุมแนวคิด 2 นคราประชาธิปไตยของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อยู่ดี

ดังนั้น จึงมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลง !

ขณะนี้ดูเหมือนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐบาลกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา โดยส่งสัญญาณผ่านองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น มติของหัวหน้าหน่วยราชการหลัก ที่มี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เสนอให้ทำสัญญาประชาคมว่าจะปฏิรูปประเทศ ก่อนจะเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

หรือการที่เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน เปิดรับกลุ่มผู้ชุมนุมชี้แจงและซักถามแนวทางของประเทศ และความพยายามเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปรับวิธีพบปะ โดยการเปิด วงกว้างŽ ให้ทุกฝ่ายที่สนใจ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมเสวนาหาทางออกประเทศในวันที่ 14 ธันวาคม ที่กองบัญชาการกองทัพไทย

ส่วนฝ่ายรัฐบาลเองก็มีทีท่าโอนอ่อน ด้วยการอำนวยความสะดวกให้นายธงทอง จัดประชุมฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อหาทางออกในวันที่ 15 ธันวาคม

จากความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ พอจับเค้าได้ว่า ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายกองทัพ รวมไปถึงนักธุรกิจ และนักวิชาการ ต่างมีบทสรุปร่วมกันว่า ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง และประเทศไทยก็ต้องมีการเลือกตั้ง

เพียงแต่บางฝ่ายเห็นว่า ควรเลือกตั้งแล้วจึงปฏิรูป ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่า ควรปฏิรูปแล้วจึงเลือกตั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยที่อยู่ในสังคมโลก จำเป็นต้องมีการบริหารงานโดยรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากโลก ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลี_กเลี่ยง

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไข รากของปัญหาŽ อันเนื่องมาจากความคิด สองนคราŽ นั้นก็ยุ่งยากซับซ้อน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และใช้เวลานาน...การรอให้ทุกอย่างปฏิรูปเสร็จก่อนค่อยเลือกตั้งนั้นอาจเป็นปัญหา นอกจากนี้ การผลักดันให้แนวคิดปฏิรูปเป็นจริงได้นั้น ยังจำเป็นต้องใช้กลไกของรัฐสภา

เมื่อมองเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงประเทศแล้ว ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการเลือกตั้ง

และหากประชาชนลุกฮือกันมาควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาลได้เยี่ยงนี้ ไม่ว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเป็นใคร หรือเป็นพรรคการเมืองไหน ก็น่าเชื่อว่ารัฐบาลรวมไปถึงรัฐสภา จะไม่กล้าใช้อำนาจอย่างหักหาญอีกต่อไป

เพราะทั้งสองฝ่ายมีมวลชนจับจ้องเฝ้าดู

รัฐบาลชุดต่อไปจึงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน และพร้อมจะถูกมวลชนโค่นได้อีก หากไม่สามารถปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปการเมือง และปฏิรูปประเทศไทย

นี่คือ "หุบเหว"Ž และ "เปลวไฟ"Ž ที่คนไทยต้องร่วมกันฟันฝ่าไปให้จงได้

ที่มา:มติชนรายวัน

---------------------------------------

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ยิ่งเหยียดหยามกัน ยิ่งต้องสู้เพื่อความยุติธรรม !!?

โดย.นิติ ภวัครพันธุ์

3 แสนเสียงใน กทม. แต่เป็นเสียงที่มีคุณภาพ ย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงใน ตจว. แต่ไร้คุณภาพ

นี่คือเสียงที่คนไทยได้ยินได้รับรู้กันมากในช่วงนี้ และดูเหมือนว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยหรือคล้อยตามกับทัศนะดังกล่าว จริงๆ แล้วผมไม่แปลกใจเลยกับคำพูดประเภทนี้ คำดูหมิ่นเหยียดหยามคนต่างจังหวัดเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อยๆ สองสามปีก่อนก็มีคำพูดโด่งดังที่ว่า “คนอีสานเป็นได้แค่คนรับใช้กับเด็กปั้ม” จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว สร้างความโกรธเคืองในหมู่คนอีสานจำนวนมากมาย

นี่ไม่ใช่เพิ่งเกิด

นักวิชาการอเมริกันนาม ชาร์ลส์ คายส์ เคยเสนอความเห็นไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้วว่าคนอีสานรู้สึกว่าพวกตนถูกดูแคลนว่ายากจน เป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าคนในเมือง โดยเฉพาะในสายตาของคนกรุงเทพฯ (ซึ่งเราอาจสรุปได้ว่าการเหยียดหยามเช่นนี้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขด้านชนชั้นหรือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) นอกจากนี้คนอีสานยังรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะถูกสงสัยโดยรัฐบาลไทยว่าเกี่ยวพันกับผู้ก่อการร้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นอีกด้วย (ซึ่งก็อาจตีความได้ว่านี่คืออคติทางการเมืองในอดีต)

คำถามสำคัญประการหนึ่งที่คณะวิจัยของเรา (ดูรายละเอียดในงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว – อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และ นิติ ภวัครพันธุ์, ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2556)) พยายามทำความเข้าใจและอธิบายคือความคับข้องใจ ความอัดอั้นตันใจ ของคนอีสานที่เรียกตนเองว่า “คนเสื้อแดง” ที่ถูกระบายออกมาจากความรู้สึกว่า

- ตนถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะ (คนในเมืองเห็นว่า) ตนมีฐานะยากจน (มี) ความรู้น้อย

- สังคมมีการแบ่งชนชั้น

- ไม่มีความยุติธรรมในสังคม เพราะ “(คน) เสื้อแดงทำอะไรก็ผิด” โดยยกตัวอย่างเรื่องการเดินทางเข้าไปร่วมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กรุงเทพฯ ว่า “ไปม็อบ (ตนเอง) นั่งพื้นก็ผิด” คนเสื้อแดง “เฮ็ดหยังก็ผิด” จนทำให้ตนรู้สึกคับแค้นใจ ยิ่งรู้สึกว่าตนต้องต่อสู้ ต้องเข้ามาร่วมในการประท้วงของคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย เพื่อ “ ขอ (ทวง) สิทธิเราคืน” (ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่)
- “เมื่อก่อนไปกรุงเทพฯ ไม่กล้าพูดภาษาอีสาน เพราะกลัวคนกรุงจะดูถูก”

นัยของความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

เราจะอธิบายความรู้สึก “น้อยเนื้อต่ำใจ” ที่คนเสื้อแดงอีสานใช้ในการแสดงความโกรธ ความขุ่นเคือง ไม่พอใจของพวกเขาได้อย่างไร? นักสังคมวิทยาที่ศึกษาอารมณ์ (emotions) ของผู้คนในสังคม ได้เสนอความเห็นไว้ว่าในความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันและเกี่ยวกับอำนาจ เราจะพบว่ามีอารมณ์หรือความรู้สึกที่ผู้คนมีร่วมกันหลายลักษณะ แต่ที่น่าสนใจและอาจใช้วิเคราะห์ได้ในที่นี้คือ “Resentment” และ “Vengeance, vengefulness”

“Resentment” หมายถึงอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดจากความโกรธหรือการไม่มีความสุขเพราะคนเราคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม (ซึ่งมีความหมายแทนคำว่า “ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม” อันเป็นคำพูดของชาวบ้านที่ใช้ระบายความรู้สึกของพวกเขา) ความรู้สึกไม่พอใจของคนเรานี้เป็นอารมณ์ที่ประสานหรือเชื่อมโยงไปสู่อารมณ์ประเภทอื่น เช่น ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม (vengeance หรือ vengefulness) อารมณ์ที่เกิดจากความโกรธหรือการไม่มีความสุขเพราะผู้คนคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคมนี้ เป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีบนฐานแห่งความชอบธรรม (“moral” emotion) ในแง่ที่ว่าปัจเจกชนรู้สึกโกรธหรือไม่มีความสุขเพราะตนเห็นผู้อื่นได้มาซึ่งอำนาจหรือความร่ำรวยทางวัตถุ ทั้งๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนบรรทัดฐานและความคาดหวังทางวัฒนธรรม ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมอาจเป็นความรู้สึกที่เราตระหนักหรืออยู่ในจิตสำนึก แต่ก็เป็นไปได้ที่มันอาจมีอิทธิพลต่อความคิดของเราและมีผลต่อการกระทำของเราโดยที่เรามิได้สำนึกก็ได้ ทั้งนี้เพราะเกี่ยวข้องการกระจายของทรัพยากร ซึ่งมักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม เมื่อคนเราเห็นว่าผู้อื่นได้รับทรัพยากรอะไรก็ตามที่คนๆ นั้นไม่ควรได้ คนก็มักเกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม ยิ่งหากเป็นประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องประสบกับการสูญเสีย ในขณะที่ประชากรอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมก็จะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนี้มิได้เกิดขึ้นระหว่างคนต่างชนชั้นทางสังคมเท่านั้น หากยังอาจเกิดขึ้นในบางส่วนหรือบางกลุ่มคนในชนชั้นเดียวกันก็ได้ หากคนกลุ่มนั้นเห็นว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ควรได้ทรัพยากรแต่กลับได้รับ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางชนชั้นหรือระหว่างกลุ่มคนในชนชั้นเดียวกันก็อาจเกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมขึ้นได้ หากมีคนเห็นว่าการแบ่งปันทรัพยากรนั้นไม่เท่าเทียมกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมนั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม (vengeance, vengefulness) ซึ่งในที่นี้มิได้มีความหมายเชิงจิตวิทยาที่เน้นความรู้สึกเคียดแค้นหรือต้องการล้างแค้นในระดับปัจเจกชนเท่านั้น หากมีนัยทางสังคมเพราะเป็นอารมณ์ที่เคลื่อนไหวไปกับอำนาจ ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีอำนาจเมื่อคนกลุ่มนี้รู้สึกว่า “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของตนถูกปฏิเสธหรือละเมิดโดยผู้มีอำนาจ สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นคำที่มีความหมายเชิงปรัชญาสังคม อันมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ในที่นี้หมายถึงสิทธิที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคม และความร่วมมืออย่างมีความหมายกับผู้อื่น ซึ่งผูกพันกับประเด็นเรื่องสถานภาพและบทบาท กล่าวคือเมื่อสิทธิที่นำมาซึ่งสถานภาพทางสังคมของปัจเจกชนและบทบาทที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างมีความหมายกับผู้อื่นของพวกเขาถูกปฏิเสธ นั่นก็เท่ากับว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนเหล่านั้นถูกปฏิเสธ เมื่อสิทธิที่ว่านี้ถูกละเมิด ผู้ที่ถูกละเมิดจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะยืนยันในสิทธิของพวกเขา และพวกเขาก็อาจเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจรังแกพวกเขา ดังนั้นการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานจึงอาจกระตุ้นให้เกิดได้ทั้งความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม

ทว่าต้นเหตุของอารมณ์ทั้งสองนี้แตกต่างกัน ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากการรับรู้ว่ามีกลุ่มบุคคลที่สามใช้อำนาจปฏิเสธที่จะให้สถานะในความสัมพันธ์ทางสังคมแก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงผลักดันให้คนกลุ่มนั้นลุกขึ้นมากู้สถานะของตน พร้อมๆ กับลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจในการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา ตรงกันข้ามความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ว่าผู้อื่นได้รับสถานภาพมากกว่าที่ผู้นั้นควรจะได้รับ (ซึ่งมีนัยว่าบุคคลผู้นั้น/กลุ่มนั้นจะได้รับทรัพยากรหรือผลประโยชน์มากกว่าที่ควรจะได้ ในขณะที่ผู้อื่น/กลุ่มอื่นที่ควรได้รับทรัพยากรหรือผลประโยชน์กลับต้องได้รับน้อยกว่าหรือไม่ได้เลย) ตามกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจคือบ่อยครั้งที่ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมนำไปสู่ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม เมื่อผู้คนรับรู้ว่าผู้มีอำนาจทำผิดจริยธรรมของตน

ผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่ามักจะไม่ได้รับสิทธิในการได้มาซึ่งสถานะและบทบาทที่มีความหมายในความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งจะส่งผลให้คนเหล่านี้เกิดความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม และอาจออกมาเคลื่อนไหวร่วมกัน อารมณ์หรือความรู้สึกเช่นนี้จะถูกผันแปรเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าคนเหล่านี้อาจขาดทรัพยากรทางการเมืองหรือทางวัตถุก็ตาม นอกจากนี้ยิ่งสังคมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ก็จะมีตำแหน่งหรือสถานะและบทบาทใหม่ๆ ที่ปัจเจกชนอาจเห็นว่าตนอ้างสิทธิเป็นของตนได้ จริงๆ แล้วผู้คนอาจอ้างสิทธิในสถานะต่างๆ ที่คนในอดีตอาจคิดว่าไม่สำคัญเลยก็ได้ ดังนั้นความหลากหลาย (differentiation) และการแตกกระจาย (fragmentation) ของโครงสร้างสังคม (เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม) จึงเปิดโอกาสให้เกิดอ้างสิทธิในการอ้างสถานะใหม่ๆ ในสังคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเมื่อผู้คนบางกลุ่มไม่ได้รับสิทธิเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อการกระจายความร่ำรวยทางวัตถุและอำนาจได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโอกาสที่ปัจเจกชนจะได้รับสถานภาพและบทบาทต่างๆ ทั้งนี้เพราะผู้มีอำนาจและความร่ำรวยทางวัตถุอาจใช้ทรัพยากรที่ตนมีในการเข้าครอบครองตำแหน่งและบทบาทที่จะช่วยให้ตนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้อื่นไม่อาจเข้าถึงได้ หรือบางคนที่ไม่ควรได้สถานะหรือตำแหน่งเหล่านี้ก็กลับได้ ในแง่นี้ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความหลากหลายทางโครงสร้างสังคม ทั้งนี้เพราะผู้คนกล้าที่จะแสดงออกและเรียกร้องในสิทธิที่พวกเขาคิดว่าตนควรได้รับ

ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงมีนัยสำคัญทางสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับการกระจายทรัพยากรระหว่างผู้คนต่างกลุ่มในสังคม และกับการได้รับสถานภาพและบทบาท (ซึ่งก็คือผลตอบแทน) ที่ผู้คนในสังคมเห็นว่าเหมาะสม ผู้ใดควรได้และผู้ใดไม่ควรได้ หากเราเข้าใจนัยเหล่านี้ก็จะไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยเห็นชาวบ้านจำนวนมหาศาลเรียกร้องสิทธิทางการเมือง สนับสนุนการเลือกตั้ง ต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมที่พวกตนควรได้รับ

ที่มา.ประชาไท
------------------------------------------

EU ยึดไทยฐาน SME

 สสว. เผยเอสเอ็มอีสหภาพยุโรปจ่อย้ายฐานลงทุนเข้าไทยในปีหน้า หนีการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ ใช้ไทยเป็นฐานผลิต ก่อนขยายเข้าสู่เออีซีเต็มตัว ชี้ปี 57 เป็นปีก้าวกระโดดของเอสเอ็มอีไทย ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญออกไปลงทุนเพื่อนบ้านมากขึ้น พร้อมกับผลักดันขยายฐานเอสเอ็มอีขึ้นเป็น 2.9 ล้านรายภายในปี 2559
   
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกิจการวิสาหกิจของสหภาพยุโรปได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีระหว่างกันเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ที่กำลังบอกว่านักลงทุนจากสหภาพยุโรปหรืออียู กำลังให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เหมือนกับกรณีของนักลงทุนเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นที่ได้ย้ายการผลิตมาปักหลักอยู่ในไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในเวลานี้
   
"เหตุผลหลักการเข้ามาลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากอียูเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ที่สำคัญต้องการขยายตลาดให้เปิดกว้างมากขึ้น ที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตก้าวสู่ตลาดในภูมิภาคจากที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 ที่สำคัญอียูมองเห็นศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางของเอสเอ็มอีในภูมิภาค ที่ สสว.ได้ประกาศเป้าหมายไว้ภายในปี 2560 ที่จะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีของทุกประเทศมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาสามารถเลือกซื้อสินค้าเอสเอ็มอีจากประเทศต่างๆในที่เดียวได้ ซึ่งเอสเอ็มอีของอียูที่จะเข้ามาช่วงแรกๆ จะเป็นอุตสาหกรรมประเภทสินค้าแฟชั่น อัญมณีเครื่องประดับและพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งมองว่าในปีหน้าจะเห็นภาพการเข้ามาลงทุนชัดเจนขึ้น"
   
ขณะเดียวกันในปีหน้าจะเป็นปีแห่งการก้าวกระโดดของเอสเอ็มอีไทย โดยจะเห็นผู้ประกอบการออกไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมามีอุตสาหกรรมบริการ เช่น ด้านสุขภาพ การทำสปา ออกไปดำเนินธุรกิจก่อน เนื่องจากลงทุนไม่มากและมีความเสี่ยงน้อย เมื่อเทียบกับการออกไปลงทุนตั้งกิจการที่จะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก
   
"กฎระเบียบด้านการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นจากการปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเปิดรับการลงทุน จากที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมองว่าเป็นความเสี่ยง ทำให้ไม่มั่นใจที่จะออกไปลงทุน ซึ่งขณะนี้ทาง สสว.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ว่าจะมีสิทธิประโยชน์สนับสนุนให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนนอกประเทศให้ได้รับความสะดวกได้อย่างไร โดยเฉพาะการจัดทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอีของประเทศเพื่อนบ้านในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้ประกอบการออกไปลงทุน"
 
ด้านนายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งว่า ในช่วงที่จะบริหารงาน 4 ปีนี้ จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเอสเอ็มอีของภูมิภาคให้ได้เหมือนกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อยู่ในขณะนี้ โดยจะรวบรวมสินค้าเอสเอ็มอีจากประเทศที่อยู่ในเออีซีเข้ามาอยู่ในไทยทั้งหมด เพื่อให้ผู้สนใจทั่วโลกเมื่อมาไทยแล้วจะสามารถเลือกซื้อสินค้าเอสเอ็มอีจากประเทศต่างๆมาไทยได้ทั้งหมด พร้อมกับผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยมีการเติบโตมากยิ่งขึ้นโดยวางเป้าหมายไว้ที่ 2.9 ล้านรายภายในปี 2559 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 ล้านราย
   
"แผนเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการเพื่อรับการเปิดเออีซีในช่วง 6 เดือนนี้ จะจัดทำข้อมูลช่วยเหลือเอสเอ็มอี จากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ต่างๆ รองรับไว้ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ทันกับเวลา อย่างกรณีการปรับค่าจ้าง 300 บาท ทาง สสว.ก็ได้มีแผนเข้าไปช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการน้อยรายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งขณะนี้ สสว.ได้พัฒนาระบบเตือนภัยของเอสเอ็มอีขึ้นมา หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ผู้ประกอบการสามารถนำระบบไปวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของสสว.เอง ที่จะต้องทำงานเป็นทีมมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน"
   
ขณะที่ในปีหน้าจะเร่งผลักดันให้มีศูนย์การจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีขึ้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าและส่งออกสินค้าไปสู่ภูมิภาคได้ อีกทั้งจะเข้ามาช่วยดูระบบโลจิสติกส์หรือการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความชำนาญในการกระจายสินค้า เป็นต้น
   
ทั้งนี้ สสว.ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีจีของเอสเอ็มอีจะต้องกลับไปเติบโตอยู่ในระดับ 42% ของจีดีพีประเทศเมื่อสิ้นสุดแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี (2555 - 2559) ที่ปัจจุบันทำได้เพียง 38% เท่านั้นหรือคิดเป็นมูลค่ารวม 4 ล้านล้านบาท

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////////