--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การเมืองไทย-กัมพูชา จบแบบไหน.

วิกฤติการเมืองไทยกลับสู่จุด เดือดทางออกมีหลายทาง แต่ไม่มีใครยอมออก ต่างมีจุดยืนของตัวเอง กลาย เป็น..ตัวกู..ของกู..

วิกฤติการเมืองไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาก็กำลังเจอภาวะคล้ายคลึงกัน ผู้ชุมนุมนับหมื่นปักหลักประท้วงนายก-รัฐมนตรี สมเด็จฮุนเซน ชนิดไม่เคยเกิดมาก่อน

เหตุเนื่องมาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ของนายสม รังสี ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าพรรครัฐบาลของสมเด็จฮุนเซนโกงการเลือกตั้ง โดยผลการเลือกตั้งประกาศว่า พรรคของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นฝ่ายชนะได้ 68 ที่นั่ง จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง และพรรค CNRP ของนายสม รังสี ได้ไป 55 ที่นั่ง แต่พรรค CNRP ปฏิเสธที่จะยอมรับผลดังกล่าว อ้างว่ามีความผิดปกติร้ายแรงเกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง

ท่าทีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยน แปลงอย่างล้นหลาม การชุมนุมเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม และเริ่มรุนแรงขึ้นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ

โดยคำแถลงของพรรค CNRP ระบุว่าจะจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 10 ธ.ค. ที่ตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล ใน จ.เสียมราฐ และจัดชุมนุมประท้วงอีกครั้งในวันที่ 15 ธ.ค. ที่สวนเสรีภาพในกรุงพนมเปญ และยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. พรรคจะจัดการชุมนุมประท้วงทุกๆ วันอาทิตย์

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ข้อเรียกร้องของพรรค CNRP ยังคงเป็นข้อเรียกร้องเดิมคือ ต้องการจัดให้มีการสอบสวนย้อนหลัง ในข้อกล่าวหาว่ามีความผิดปกติระหว่างการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน โดยองค์กรอิสระ หาก ยังไม่มีการสอบสวนการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว พรรคกู้ชาติกัมพูชาจะยังคงคว่ำบาตรรัฐสภาต่อไป

บรรยากาศการประท้วงก็ไม่ต่างจากบ้านเรา มีการขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย ได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ นายเจียม เยียบ สมาชิกอาวุโสของพรรคประชาชนกัมพูชา ที่เป็นพรรครัฐบาล กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่สามารถทำได้ แต่ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมาย การชุมนุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

เช่นเดียวกับการเมืองบ้านเราเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน จากปัญหาต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม บานปลายกลายเป็นต่อต้านรัฐบาล ต้อง การล้มล้างระบอบทักษิณ จัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาบริหารประเทศแทน ซึ่งมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนถาโถมเข้ามา ด้วยบทสรุปว่าทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการเจรจากัน

ดังความคิดเห็นของเครือข่ายภาคเอกชน อันได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งและการกระทำที่นำไปสู่อุบัติการณ์ที่ร้ายแรง ซึ่งได้ทำความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ และอาจจะลุกลามโดยไม่มีข้อยุติ จึงเรียกร้องร่วมกัน ดังนี้

1.ภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย โดยยึดถือหลักการของกฎหมาย ความถูกต้องชอบธรรม ตามหลักของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี โดยจะร่วมกับสถาบันต่างๆ อาทิ สถาบันภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน รวมทั้งผู้ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม

2.ปัญหาข้อขัดแย้งควรแก้ไขด้วยการเจรจา ไม่ใช้ความรุนแรงหรือการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมายและกติกาประชาธิปไตย ทั้งนี้ ภาคเอกชน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่ทุกๆ ฝ่าย ที่ได้ริเริ่มให้มีการเจรจากันแล้ว และยินดี เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทุกทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศอันเป็นที่รักของเรา

3.การแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิอันชอบธรรมภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ทำให้เกิดความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาของชาติ ผู้ที่ใช้ความรุนแรงจนทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย และเสียเลือดเนื้อ จะถูกจดจำและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

4.ภาคเอกชน เห็นว่าหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่สันติ คือการทำตามกติกาโดยหาทางออกในวิถีประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในลักษณะเดิมภายหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา จึงขอเสนอให้มีการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยว-ข้องทุกฝ่ายเพื่อให้มีข้อยุติเบื้องต้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยมีผู้แทนองค์กรที่เป็นที่ยอมรับของทุกๆ ฝ่าย ร่วมในการเจรจาประเด็นต่างๆ

ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่อย่างยืดเยื้อ ก็จะทำให้ประเทศไทยถูกจัดเป็น "Failed State" และ/หรือ "อนาธิปไตย" ทั้งนี้ ภาคเอกชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ได้โปรดหาทางออกให้กับประเทศของเราอย่างสันติวิธีโดยเร็ว

ไทยกับกัมพูชา ใครจะหาทาง ออกได้ก่อนกัน ใครจะถูกทิ้งไว้ปลายแถวกลุ่มประเทศอาเซียน!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
----------------------------------------

ADB คาด ศก.อาเซียน ขยายตัวลดลง เหตุการเมืองไทย-พายุถล่มฟิลิปปินส์.

รายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่าจากการที่แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาดีขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทาให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะยังคงขยายตัวได้ดีรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียปี 2556 ฉบับล่าสุดนี้ ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 45 ประเทศในเอเชียจะขยายตัวโดยรวม 6% ในปี 2556 และขยายตัวดีขึ้นเป็น 6.2% ในปี 2557 ตามที่คาดไว้เดิมในรายงานฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “ถึงแม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง เศรษฐกิจของประเทศกาลังพัฒนาในเอเชียยังคงรับมือได้ ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดี และจะสามารถได้รับประโยชน์จากการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักในปีหน้า” นายชางยองรี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีกล่าว

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น จะสามารถขยายตัวได้ 0.9% ในปี 2556 ตามที่คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับเดือนตุลาคม ส่วนในปี 2557 นั้น เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะขยายตัวได้ 1.9% สูงว่าที่คาดการไว้เดิมในเดือนตุลาคม 0.1% การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% จากที่คาดการไว้เดิมเป็น 7.7% ในปี 2556 และ7.5% ในปี 2557 โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยรวม จึงปรับขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน เป็น 6.7%

สำหรับปี 2556 และ 2557 เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอื่นในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นเหมือนที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมภูมิภาคเอเชียใต้คาดว่าจะมีการขยายตัวของเศรษฐกิจตามที่ประมาณการไว้เดิม คือ 4.7% ในปี 2556 และ 5.5% ในปี 2557 หลังจากที่การขยายตัวของเศรษฐกิจลงต่าสุดในไตรมาสแรก เศรษฐกิจอินเดียได้ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมและการเกษตรที่เพิ่มขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวได้ 4.7% ในปีงบประมาณ 2556 (สิ้นสุดมีนาคม 2014) และ 5.7% ในปีงบประมาณ 2557 ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม

มีการปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงเล็กน้อย เป็น 4.8% ในปี 2556 และ 5.2% ในปี 2557 ซึ่งเป็นการปรับลง 0.1% ทั้งสองปี จากที่คาดไว้เดิมในเดือนตุลาคม การปรับลงดังกล่าวเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยซึ่งมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งเกิดจากการส่งออกที่อ่อนแอ การบริโภคที่ลดลง และผลกระทบของเหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง โดยในปี 2556 ในส่วนของประเทศฟิลิปปินส์ พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2556 แต่คาดว่ากิจกรรมการซ่อมสร้างจะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2557 ดีขึ้น

เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียกลางค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จึงมีการปรับประมาณการจากที่คาดไว้เดิมในเดือนตุลาคมว่าจะขยายตัว 5.4% เป็น 5.7% ในปี 2556 และจาก 6.0% เป็น 6.1% ในปี 2557 โดยประเทศที่มีการขยายตัวดีขึ้นคือ คาซัคสถาน และเตอร์กเมนิสถาน

เศรษฐกิจของหมู่เกาะแปซิฟิคชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะชะลอตัวลงจาก 7.1% ในปี 2555 เป็น 5.0% ในปี 2556 ก่อนที่จะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 5.4% ในปี 2557 ประมาณการดังกล่าวเป็นการปรับลง 0.2% สาหรับปี 2556 และ 0.1% สาหรับปี 2557 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมในเดือนตุลาคม โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าในตลาดโลกที่ลดลงส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร แร่ และป่าไม้ ของประเทศเช่น ปาปัวนิวกินี และ หมู่เกาะโซโลมอนอัตราเงินเฟ้อของประเทศกาลังพัฒนาในเอเชียคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6% ในปี 2556 และ 3.7% ในปี 2557 ไม่ต่างจากที่คาดไว้เดิม

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

เลื่อนจ่ายเงินจำนำข้าว นักวิชาการชี้ส่อวิกฤติ.

คลังหารือกกต.ยันเดินหน้าจำนำข้าวนาปี2556/57 ได้ แม้ยุบสภา นักวิชาการชี้โครงการเริ่มส่อวิกฤติ หลังชะลอจ่ายเงิน เชื่อรัฐไม่มีเงินดำเนินการต่อ

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (10 ธ.ค.) ว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2556/57 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดย กกต. ยืนยันว่าโครงการยังสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้

ขณะนี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการวันละหลายพันล้านบาท ขณะนี้จ่ายเงินให้เกษตรกรรวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่ยังมีปัญหาการรับเงินจากโครงการล่าช้าตั้งแต่เดือนต.ค. นั้น คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่นำใบประทวนมาขึ้นเงินได้ครบภายในกลางเดือนม.ค. 2557

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มรับจำนำวันที่ 1 ต.ค. ถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2556 มีข้าวเข้าโครงการแล้ว 5.91 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 ล้านตัน

นายทนุศักดิ์ กล่าวว่าในส่วนของโครงการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังปี 2557 รัฐบาลจะต้องรอสอบถามจาก กกต. ว่าจะยังสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะดำเนินการได้ทัน เพราะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยจะเปิดให้เกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการภายในวันที่ 28 ก.พ. 2557 และนำใบประทวนมาขึ้นเงินไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2557

นายอำพน กิตติอำพน รักษาการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวยังดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ได้เป็นการอนุมัติงบประมาณที่ผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาลต่อไป และไม่ต้องขออนุญาตกับกกต.ก่อน เพราะงบประมาณที่ต้องขออนุญาตจาก กกต.อย่างชัดเจน คือ งบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

นายอำพน กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่สามารถออกได้เพราะอาจจะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป ยกเว้นกรณีตอนนี้ที่เศรษฐกิจ และการส่งออกไม่สามารถเติบโตได้เลย ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่จะสามารถออกมาตรการได้เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระบุไว้ชัด คือเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

นักวิชาการชี้ปีที่3เข้าขั้นวิกฤติ

นายสมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวในปีที่ 3 จะสร้างวิกฤติจากงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการ แต่หากรัฐบาลมีการระบายข้าวเร็วก็จะต่ออายุโครงการได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งการออกพันธบัตรเพื่อมาใช้ในโครงการ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชะลอจ่ายเงิน และกระทรวงการคลังไม่สามารถหาช่องอื่นได้ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไม่มีประสิทธิภาพในการระบายข้าว

นายสมพร กล่าวว่า ปัญหาการจ่ายเงินให้กับชาวนาในฤดูกาลผลิตใหม่ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวได้ หรือแม้จะขายข้าวได้ แต่ได้ในราคาต่ำ โดยเฉพาะการขายข้าวระดับรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก็ไม่คิดว่าจะได้ราคาสูง

"ในที่สุดหนี้จะกลับมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งเป็นภาษีที่จ่าย ในที่สุดก็จะไปกระทบด้านอื่น จะถูกดึงมาเรื่องข้าว ตอนนี้ทรัพยากรของกระทรวงอื่นที่เกี่ยวกับจำนำข้าวมันวิ่งมาอยู่ที่จำนำข้าวหมดแล้ว ไม่มีทำอย่างอื่น"

นายสมพร กล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าความไม่มีประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องระบายข้าวออก เพราะฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น มันจะลามไปเศรษฐกิจมหภาค

"ผลกระทบวันนี้ก็คือ มันจะถูกตีขนาบมาจากภายนอก ภายนอกจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้โครงการเหล่านี้ เครดิตของประเทศจะลดลง คนไทยตระหนักว่าโครงการนี้ไม่มีประโยชน์ ถึงตอนนั้นโครงการนี้จะอยู่ไม่ได้ ผมยังเชียร์ให้เขาระบายออก แต่ต้องยอมรับว่าขาดทุนเยอะขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเน่าเหมือนลำไย ก็จะขาดทุนหนักอีก"

คาดขาดทุนตันละหมื่นบาท

นายสมพร กล่าวว่า ผลขาดทุนจากโครงการนี้คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนตันละ 1 หมื่นบาท รวมทั้งหมดของโครงการทั้งหมดในเวลานี้ รัฐบาลจะขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

"ตอนนี้ถึงจุดเริ่มเสื่อมแล้ว สู่ภาวะคุณภาพเริ่มเสื่อมเร็วกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนเก็บได้ 1-2 ปี ผมคิดว่าแม้รัฐบอกว่าระบายข้าวได้ส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การระบายสู่ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เป็นตัวกดดันให้ราคาข้าวสารในประเทศไม่ได้สูงขึ้น ในแง่ของเอาใจผู้บริโภค ใช่ แต่ดูราคาข้าวสารกับราคาข้าวเปลือก จะเห็นว่าราคาข้าวสารต่ำกว่า ราคาข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาท ตอนนี้ราคาข้าวสารที่โรงสีขายอยู่ที่ 1.3 หมื่นบาท ข้าวเปลือก 1 ตันสีเป็นข้าวสารได้ 650 กิโลกรัม ดังนั้น ข้าวเปลือก 1 ตันที่รัฐบาลซื้อมานั้น ขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท จากราคาตลาดตอนนี้"

นายสมพร ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ขาดทุนอยู่แล้วจากโครงการนี้ หากใช้ข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดถึง ต้องยอมขาดทุน 300-360 ดอลลาร์ต่อตัน นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเกิดขึ้น แล้วเราเอา 300-360 คูณด้วย 31 บาท ก็อยู่ที่หมื่นบาทขึ้นไปต่อตัน

เชื่อรับจำนำข้าวไปไม่รอด

นายสมพร กล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินนโยบายต่อไป จะเกิดผลเสียที่สังคมเห็นชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้สังคมเริ่มเห็นชัดเจนกว่าเมื่อปีแรกๆ

"ต่อไปผมคิดว่าเน่าเฟะ ไม่สามารถเอาใบบัวไปปิดช้างตายได้แล้ว ผลที่สุดก็ต้องเลิก ประเทศอื่นก็เลิก เมื่อคุณอุดหนุนมาก ในที่สุดก็จะสะท้อนกลับมาที่ตัวเอง การศึกษาเราก็จะตกต่ำ สาธารณสุขก็แย่ ตัวนี้เป็นเคพีไออย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศที่จะก้าวไป เครดิตของประเทศก็จะกระทบ ในที่สุดก็กระทบลงทุน ถึงวันนี้ รัฐบาลก็ควรตระหนักข้อเท็จจริงว่าฝืนกลไกตลาดไม่ได้"

นายสมพร กล่าวว่า อียูเคยทำก็เคยอุดหนุนสูง แต่ในที่สุดหลังจากทำไปได้ 8-9 ปี ก็ต้องเลิก สินค้าแข่งขันไม่ได้ ก็ถอนตัวออก ออสเตรเลียก็ถอนตัวออกในเรื่องอ้อย ปรับไปใช้กลไกตลาด เกษตรกรก็ต้องปรับตัวเองให้แข่งขันได้

ชี้ปีหน้าราคาข้าวช่วงขาลง

นายสมพร กล่าวว่า ในปีนี้ ข้าวอยู่ในช่วงขาลง แม้ฟิลิปปินส์จะมีปัญหาเรื่องอุทกภัย อินโดฯ จะนำข้าวเพิ่มขึ้น แต่ว่าพม่าจะเป็นตัวแปร และละตินอเมริกาคนจะหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เมื่อข้าวมีราคาแพง ข้าวจากละตินอเมริกาก็จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์และอินโดฯ ก็พยายามพึ่งตัวเอง แม้แต่จีน 140 ล้านตันข้าวสาร ปีที่แล้ว 2 ล้านตัน ปีนี้อาจนำเข้ามากขึ้น ในที่สุดก็พึ่งพาตนเอง แม้แต่เกาหลี ญี่ปุ่น ก็พยายามพึ่งพาตนเอง

"โอกาสสำหรับตลาดข้าวไม่มี เพราะทุกคนพยายามพึ่งตนเอง อีกทั้งเทคโนโลยีไปเร็วมาก ประเทศกัมพูชาและพม่าก็พยายามเข้ามาในตลาด"

นายสมพร กล่าวว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า ราคาข้าวโลกยังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งหากไม่มีภัยพิบัติขนาดใหญ่จริงๆ เนื่องจากมีผู้ส่งอีกรายใหม่เข้ามา เช่น พม่า หากส่งออกเพิ่มอีก 2-3 ล้านตัน ก็ทำให้ตลาดแย่ลงอีก ซึ่งพม่าสามารถทำได้แน่นอน ขณะเดียวกันอินเดียมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวกดราคาในตลาดโลก

"ราคาข้าวจะลงมาระดับ 380-390 ความแปรปรวน จะอยู่ 390-440 แต่ไม่ขึ้นไปถึง 500 หรือ 600 รัฐบาลหวังว่าราคาข้าวจะอยู่ 500 ปลายๆ เราซื้อมา 800 ขาดทุนตันละ 3000 บาทเราก็อยู่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ตันละ 3 พันบาท แต่ตันละหมื่นบาท คงยากลำบากที่จะเอาเงินไปอุดหนุน"

อย่างไรก็ตาม หากรัฐยอมลดราคารับจำนำจาก 1.5 หมื่นบาท มาเป็น 1.2 หมื่นบาทต่อตัน ตลาดเอกชนก็จะทำงานได้ เอกชนก็สามารถซื้อแข่งได้ การทำข้าวนึ่ง เนื่องจากข้าวไทยเป็นข้าวเปลือก เราพัฒนาพันธุ์มาดี ข้าวนึ่งมีคุณภาพมากกว่าเวียดนาม ต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะตามทัน การส่งออกของเอกชน ส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นข้าวนึ่ง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

ถ้าไม่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง พึงระวังสงครามกลางเมือง !!?

การถอยแบบ “สุดซอย” ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่น่ายกย่อง ในฐานะการใช้กลไกทางการเมืองเพื่อเลี่ยงการปะทะที่อาจเสียเลือดเนื้อ และช่วยลดอารมณ์ที่รุนแรงของผู้ชุมนุมที่สนับสนุน กปปส. ลงมาบ้าง

แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาเท่านั้น เพราะม็อบ กปปส. เองก็ประกาศข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่า ไม่พอใจกับแค่การยุบสภาหรือการเลือกตั้ง แต่ต้องการให้รัฐบาลรักษาการณ์ลาออก เพื่อเปิดทางไปสู่ “รัฐบาลพิเศษ” ที่อ้างว่าสามารถใช้มาตรา 3 และ 7 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นฐานอำนาจทางกฎหมายได้

(ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ม็อบ กปปส. ยังชุมนุมยืดเยื้ออยู่รอบทำเนียบรัฐบาล)



(ภาพจากเพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)

SIU เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับท่าทีของหลายภาคส่วนของสังคมที่เสนอให้ “กลับสู่การเลือกตั้ง” คืนอำนาจกับประชาชนตามวิถีทางของประชาธิปไตยสากล โดยให้ “ประชาชนทั้งประเทศ” เป็นผู้ตัดสินใจผ่านคูหาเลือกตั้งอีกครั้งว่าอยากให้พรรคการเมืองใดทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป

และเราขอน้อมเตือนม็อบ กปปส. ด้วยความหวังดีว่าการกดดันให้รัฐบาลรักษาการณ์ลาออกเพื่อเปิดช่องให้เกิด “สภาประชาชน” นั้นไม่เป็นผลดีแก่ประเทศไทยเลย ทั้งด้วยเหตุผลว่าเป็นกลไกที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และไม่ใช่กลไกที่เป็นไปได้ตามกรอบอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือ การกดดันโดยไม่รู้จักผ่อนปรนของ กปปส. จะสร้าง “ความโกรธแค้น” ให้กับฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล ที่ยังไม่ได้ออกมาแสดงตัวชัดเจนนัก เว้นเสียแต่กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่มาชุมนุมกันที่สนามรัชมังคลากีฬาสถานเพียงไม่กี่วันเท่านั้น (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้สนับสนุนรัฐบาลมีเพียงเท่านี้)

ณ จุดนี้ ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่าไรนัก และยังมองไปถึงการแสดงพลังผ่าน “การเลือกตั้ง” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อยู่ โดยผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยยังมองว่าคะแนนเสียงของฝ่ายตนยังเป็นต่อและน่าจะชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง

แต่ถ้าหากมี “อุบัติเหตุทางการเมือง” ทำให้การเลือกตั้งที่เป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้น “ความโกรธแค้น” ที่สั่งสมมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะ “ปะทุ” ออกมาเป็นการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อาจยิ่งใหญ่ไม่แพ้การชุมนุมในปี 2553

และถ้าหากผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายมาปะทะกันบนท้องถนน สถานการณ์อาจลุกลามกลายเป็น “สงครามกลางเมืองในประเทศไทย” (Thailand civil war) ที่คงไม่มีฝ่ายใดอยากเห็น

ถ้าย้อนเวลาไปไม่นานนัก “กลุ่มคนเสื้อแดง” ถือเป็นแรงปฏิกริยาที่เกิดจากความเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อเหลือง” ที่สนับสนุน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงปี 2548-2549 เป็นต้นมา กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจความเป็น “ม็อบมีเส้น” ของกลุ่มคนเสื้อเหลือง การล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และการก่อตัวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจากกรณี “งูเห่า 2″ ทำให้เกิดผลออกมาเป็นการชุมนุมในปี 2552 และ 2553 จนเกิดความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากมาย

เราสามารถเปรียบเทียบ “ม็อบ กปปส.” ได้เฉกเช่นเดียวกับ “พันธมิตรฯ” (และในความเป็นจริงแล้ว แกนนำของทั้งสองม็อบก็มีความซ้อนทับกันอยู่มาก อ่าน ใครเป็นใครใน กปปส.) ดังนั้น กปปส. เองก็ควรพึงระลึกว่า การออกมากดดันทางการเมืองด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมจะสร้าง “ปฏิกริยา” ในหมู่คนเสื้อแดงที่อาจจะรุนแรงกว่าปี 2553 ด้วยซ้ำ

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง “สงครามกลางเมือง” ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด กปปส. ควรชะลอความเคลื่อนไหวที่อยู่นอกวิถีทางของรัฐธรรมนูญ และกลับเข้าสู่กลไกของการเลือกตั้งโดยเร็ว

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่น ได้เล็งเห็น “ความเสี่ยง” ของสงครามกลางเมืองนี้มาก่อนแล้ว และได้เตือนผ่านบทกวีไว้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน ว่า


ก่อนจะถึงชัยชนะไม่ว่าของฝ่ายใด
ท่านเห็นหรือไม่ว่าสงครามใหญ่รออยู่เบื้องหน้า
และใช่จะมีแต่ทัพของท่านที่ดาหน้า
เสียงกลองที่ดังมาแต่ไกลๆ ทั่วนครา
คือการยาตราทัพใหญ่ของฝ่ายตรงข้าม

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////



ที่มา.

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ธีรยุทธ์ บุญมี มองอนาคตหลังปฎิวัตินกหวีด !!?

ธีรยุทธ : การปฏิวัตินกหวีด มองเชื่อมโยงกับปัญหาอนาคตการเมืองไทย

การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว

1. คนไทยจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านได้ไหม? ประเทศไทยเลยเวลาที่จะปฏิรูปมาเนิ่นนานแล้ว เพราะ

- ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาธิปไตยเลือกตั้งมีการใช้เงินและผลประโยชน์ซื้อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงขั้นการใช้นโยบายประชานิยม แจกเงินโดยตรงแก่ประชาชน

- การคอร์รัปชั่นพัฒนาไปทุกรูปแบบ เป็นคอร์รัปชั่นด้วยนโยบาย เช่น การจำนำข้าว การเปิดเสรีรัฐวิสาหกิจ ฯ นักการเมืองกินเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% การส่งส่วยของตำรวจจากผู้น้อยไปสู่ผู้ใหญ่มีทุกระดับ การใช้เงิน การรับใช้ทางการเมืองหรือเรื่องสกปรกแลกตำแหน่งมีทุกวงการ หลังสุดถึงขั้นว่าเมื่อส่วนกลางจัดงบประมาณให้หน่วยงานต่างจังหวัด หน่วยงานจะต้องส่งคืนกลับ 10-20% ให้ผู้บังคับบัญชาที่อนุมัติ

- ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ คนทุกกลุ่มเลิกสนใจคุณธรรมหน้าที่ต่อบ้านเมือง มีการสมคบร่วมกันแย่งทึ้งประเทศชาติ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะได้เปรียบไม่เสียเปรียบคนอื่นในทุกวงการ อย่างที่โบราณว่าไว้ว่า “ฝูงแร้งสมจร ฝูงแร้งด้วยกัน” ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาบ่งว่าเราอยู่ใต้ระบบสมจรของทักษิณ ใต้รัฐบาลสมจรหุ่นของทักษิณ และสภาก็คือขี้ข้าทักษิณมาสมจรกัน

- การใช้อำนาจของนักการเมืองมีลักษณะเหิมเกริม ไร้ความละอายมากขึ้นเรื่อยๆ

- ข้าราชการสมคบสยบยอมนักการเมืองเปิดเผยชัดเจนเกือบทั้งหมด

- นโยบายจำนำข้าวเป็นดัชนีที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจประเทศล้มเหลวและเกิดปัญหาร้ายแรงในที่สุด

ทั้ง 6 ปัจจัยนี้จะทำให้ประเทศและสังคมไทยแตกวิ่นเป็นกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์กลุ่มเล็กและใหญ่กระจายไปทั่ว และจะแตกวิ่นในลักษณะภูมิภาค ท้องถิ่น ชนชั้น กลุ่มอาชีพ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เคยเป็นมา ทั้ง 6 ปัจจัยเป็นเหตุผลให้ควรเร่งแก้วิกฤติการเมืองไทยอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบขอไปที

2. ทำไมประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปสำเร็จ ที่ปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะมีไทยเฉยเยอะ ที่เป็นไทยเฉยมี 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1) ชาวบ้านในเมือง รากหญ้าในชนบท เฉย ไม่ใช่เพราะโง่เง่าหรือขาดการศึกษา แต่เพราะต้องดิ้นรนทำกิน และปัจจุบันก็ตื่นตัวในเรื่องข้อมูลข่าวสาร สิทธิของตนเองมากขึ้น ทั้งในแนวเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือในขบวนการนกหวีด

2) ชนชั้นกลางเฉยเพราะต้องตั้งเนื้อตั้งตัว แต่ก็ดีขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจสีลม อโศก รัชดา กลุ่มอาชีพต่างๆ

3) ผู้ดี ราชครูปุโรหิตทำหน้าที่สรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวเฉยๆ แต่ไม่กล้าหาญพอจะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุ ในการรักษ์ความยุติธรรม ป้องกันการโกง การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนแทนพระองค์

4) ข้าราชการ เสนาอำมาตย์ เฉย ไม่นำพาต่อการโกงกินบ้านเมือง แม้คนเป็น 1-2 ล้านออกมาเรียกร้องก็ไม่นำพา กลับเริ่มเสวยสุขกับนักการเมืองโกงกินทั้งหลาย

5) เจ้าสัวเฉย ไม่ยอมลงทุนเพื่อสร้างสรรค์การเมือง มีแต่ลงทุนเฉพาะทางธุรกิจเพื่อให้ครอบครัวร่ำรวย และออกมาคร่ำครวญเดือดร้อนอย่างน่าเห็นใจทุกคนเมื่อมีวิกฤติการเมือง

3. มองพลังประชาชนอย่างมีความหวัง ขบวนนกหวีดที่เริ่มขึ้นเล็กๆ จากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ที่อุรุพงษ์ กลุ่มกองทัพธรรมที่ผ่านฟ้า กลุ่มคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่สามเสนและราชดำเนิน จนเกิดเป็น กปปส. ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านมีโอกาสเป็นจริงขึ้นได้ เราสามารถอธิบายได้ว่าการแข็งขืนของ กปปส. หรือ “ขบวนนกหวีด” ครั้งนี้ โดยแก่นแท้ไม่ใช่ปัญหาว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่หรือเป็นขบถ

แต่เป็นทั้งการใช้ “สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้” สิทธิและหน้าที่ที่ว่าก็คือ การต่อต้านล้มล้างรัฐบาลที่ฉ้อฉลหรือเป็นทรราช (tyrannicide) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีและปรัชญาการเมืองประชาธิปไตย และมีการกระทำที่เป็นจริงมาตั้งแต่สมัยประชาธิปไตยของกรีก โรมัน งานของนักคิดสำคัญๆ จำนวนมาก เช่น Juan de Mariana, Hugo Grotius, John Locke ซึ่งเป็นบิดาของการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ ล้วนยืนยันสิทธิในการขับไล่ล้มล้างรัฐบาลฉ้อฉลทั้งสิ้น เช่น Locke มองว่าสิทธิในการปฏิวัติของประชาชนเป็นการป้องกันให้พ้นจากระบบทรราช

และถือว่าเมื่อมีการละเมิดผลประโยชน์ของประชาชนภายใต้สัญญาประชาคม ประชาชนมีสิทธิปลุกระดมเพื่อก่อการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน (ดูงาน Mariana, De rege et regis institutione (1598), Locke, Two Treatise of Government (1689), Grotius, Truth of the Christian Religion (1627) และ The Rights of War and Peace, including the Law of Nature and of Nations (1901))

โทมัส เจฟเฟอร์สัน, เบนจามิน แฟรงคลิน ต่างใช้สิทธิและหน้าที่นี้ในการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ ดังแฟรงคลินได้เสนอแบบเหรียญมหาลัญจกรของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อความการขับไล่ทรราชเป็นพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้าในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่เขียนไว้ว่า “เมื่อการใช้อำนาจไม่ชอบ การฉกฉวยดำเนินไปต่อเนื่องไม่ผันแปร … จะเป็นระบบทรราชแบบสมบูรณ์

จึงเป็นสิทธิเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะล้มล้างรัฐบาลเช่นนั้นเสีย” ในคำปรารภรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี 1793 ก็มีกำหนดไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 27 “… เมื่อรัฐบาลละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนย่อมต้องลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยถือว่าเป็นสิทธิที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และเป็นหน้าที่ที่จักขาดเสียไม่ได้มากที่สุด” และยังมีคำยืนยันสิทธินี้ในรัฐธรรมนูญอีกหลายประเทศ และยังมีกำหนดไว้โดยนัยยะในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน

การใช้สิทธิดังกล่าวส่วนใหญ่ต้องมีการยกเลิกกฎหมายหรือละเมิดกฎหมายบางข้อ แต่ก็มีการอ้างได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชนสูงสุดของประเทศชาติ เช่น โทมัส เจฟเฟอร์สัน กล่าวว่า “การเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นหน้าที่ที่สูงส่งอย่างไม่ต้องสงสัยของพลเมืองที่ดี แต่การรักษาประเทศของเราจากอันตรายเป็นพันธกิจที่สูงกว่า การสูญเสียประเทศของเราโดยการติดยึดกับกฎหมายที่ตราไว้โดยสำนึกทางศีลธรรมของเรา จะเท่ากับเป็นการสูญเสียระบบกฎหมายทั้งหมด ชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินทั้งหมดของเรา จึงเท่ากับเป็นการเสียสละเป้าหมาย (ประเทศและชีวิต) เพื่อรักษาเครื่องมือ (คือตัวบทกฎหมายบางข้อ – ผู้เขียน) ไว้อย่างไร้เหตุไร้ผลโดยสิ้นเชิง”

อย่างไรก็ตาม ศาลมักเตือนว่าการใช้สิทธิดังกล่าว รัฐธรรมนูญ กฎบัตรต่างๆ มักพิจารณาให้ใช้ในสภาวะที่เป็นความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นมาตรการสุดท้าย โดยการไตร่ตรองด้วยเหตุผลและสามัญสำนึก ไม่ใช่การโน้มน้าวจูงใจด้วยอารมณ์หรือความเคียดแค้นชิงชัง

4. การปฏิวัตินกหวีด หรือ ประชาภิวัฒน์ กปปส. ปฏิเสธการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทางเลือกของ กปปส. จึงเหลือเพียง 2 ทาง ทางแรกคือการกดดันให้เกิด “สุญญากาศ” ทางการเมือง เพื่อใช้มาตรา 3 มาตรา 7 แต่คาดว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ยินยอม และหนทางดังกล่าวจะทำให้เกิดความอึดอัดไม่สบายใจของฝ่ายต่างๆ ที่จะตีความรัฐธรรมนูญหรือปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว

อีกหนทางไม่เคยเกิดในประเทศไทย คือการปฏิวัติของประชาชน ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการปฏิวัติของทหารร่วมกับพลเรือน เพื่อล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนมีส่วนเฉพาะการโค่นล้มระบอบเผด็จการ

แต่ไม่มีส่วนในการออกแบบระบอบการเมืองที่ใช้กันต่อมา เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ประชาภิวัฒน์หรือ “การปฏิวัตินกหวีด” จึงอาจถือเป็นการ “ปฏิวัติประชาชน” ครั้งแรก เพราะเรียกร้องสภาที่ประชาชนมีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เนื่องจากระบอบการเมืองที่ถูกล้มไป

มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม [หมายเหตุ การปฏิวัติกับประชาธิปไตยเป็นคนละสิ่งกัน การปฏิวัติไม่เคยเกิดจากประชาชนหมดทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิแบบการเลือกตั้ง ไม่ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ (1688) การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) การประกาศอิสรภาพของอเมริกา (1776) การปฏิวัติกำมะหยี่ (1989) ของเชกโกสโลวาเกีย การปฏิวัติสีส้ม (2004) ของยูเครน

ล้วนเป็นประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งอ้างเจตนารมณ์ร่วม (General Will) ของประชาชนทั้งสิ้น อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศทั่วโลกก็มาจากตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ทำการปฏิวัติทั้งสิ้น]

จึงอธิบายได้ว่าประชาชนทำปฏิวัติได้ เพียงแต่ต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่า “การปฏิวัติประชาชน” ครั้งนี้จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมาก มีสิทธิเสรีภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่า มีความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น ทำให้ประเทศมีสภาพที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาเลวร้ายที่เรียกว่าระบอบทักษิณได้จริงหรือไม่ บ่อยครั้งการอ้างความเป็นตัวแทนของประชาชนก็ไม่เป็นจริง แม้ในสหรัฐเองตัวแทนจากหลายรัฐก็มาจากอภิสิทธิ์ชนเกือบทั้งหมด สวิสเซอร์แลนด์อาจเป็นข้อยกเว้นประเทศเดียว (ดู R.R.Palmer, The Age of the Democracy Revolution vol.I,II (1989)) ประเด็นสำคัญคือเนื้อหาและการปฏิบัติให้เป็นจริงมากกว่า

5. ความยากลำบากที่สุดของการนำพาให้การปฏิวัติประชาชนสำเร็จ และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในเมืองไทย การปฏิวัติประชาชนเกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะของประเทศไทยในครั้งนี้ซึ่งอาศัยเพียงนกหวีดเป็นอาวุธ และโดยประเพณีในการเมืองไทยต้องประกอบไปด้วยปัจจัย

ก. การรับรองจากประมุขของประเทศ

ข. การยอมรับจากกองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ

ค. ในปัจจุบันประชาชนซึ่งตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยมีมากขึ้น การยอมรับของประชาชนทุกส่วนและภาคเอกชนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง

ผู้เขียนสนับสนุนแนวทางการปฏิวัติของประชาชน เพราะเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการตระหนักถึงสิทธิอำนาจของประชาชน อยากให้ประสบความสำเร็จ ให้มวลมหาประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้สมหวัง จึงขอออกแรงในทางความคิดเสนออย่างจริงจังและตั้งใจจริง ดังนี้

กปปส. ควรตระหนักว่า การประกาศทวงอำนาจสูงสุดคืออำนาจอธิปไตยคืนเป็นของประชาชน ซึ่งโดยนัยยะมี กปปส. เป็นตัวแทนถืออำนาจนั้น เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำคัญมาก ไม่เคยปรากฏมาก่อนในบ้านเรา เพราะมันหมายถึงการยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองอำนาจในการจัดการสิทธิเสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน ของแต่ละคน รวมทั้งทิศทางทั้งหมดของประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่ กปปส. ต้องตระหนักดังนี้

ก. การเร่งรัดให้คนกลุ่มอาชีพต่างๆ ยอมรับการตัดสินใจของ กปปส. โดยไวเกินไป ยิ่งทำให้คนลังเล การใช้เวลาให้คนส่วนใหญ่ได้ครุ่นคิด ตริตรอง ทำความเข้าใจ และมีโอกาสได้ไต่ถามพูดคุยกับ กปปส. กระบวนการเกิดนโยบายหรือการจัดตั้งสภาประชาภิวัฒน์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรต้องเป็นการปรึกษาหารือเพื่อสร้างฉันทามติอย่างกว้างขวางจริงใจ จากนั้นอาจต้องผ่านประชามติและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน กปปส. ควรแสดง

1) การมีเจตจำนงการเมืองที่แน่วแน่ (Political Will) ที่จะบรรลุภารกิจที่ตัวเองประกาศไว้ นั่นคือการแก้ไขการขยายตัวของการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นตัวฉุดดึงทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของชาติ ให้ล่มสลายตามไปด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เข้มงวด มีการสร้างหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นที่มีอำนาจสูง การปฏิรูประบบยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ให้ทำงานสอดคล้องกัน พิสูจน์ลงโทษให้เห็นชัดเจน

2) ต้องมีคำประกาศอุดมการณ์การเมืองที่ชัดเจน ผูกมัดตัวเอง ผูกมัดสังคมที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาคมและชุมชน ท้องถิ่น จริงจัง ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยไว

3) ต้องมีอุดมการณ์เศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งควรเป็นเสรีนิยมที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นประชานิยมเอียงซ้าย หรือชาตินิยมแบบอเมริกาใต้ ซึ่งนำความเสื่อมโทรมมาสู่เศรษฐกิจชาติอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเป็นธรรม อำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร ความมั่งคั่งที่กระจายอย่างยุติธรรมมากขึ้น

4) ควรเน้นเนื้อหาการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค เน้นการเคารพการตัดสินใจในการดูแลผลประโยชน์ของท้องถิ่น

5) เคารพภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอาใจใส่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

6) พัฒนาแลกเปลี่ยนระดับความรู้ของทุกภูมิภาคให้เท่าเทียมกัน ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย การพัฒนา

7) ดังที่ได้ย้ำหลายหนว่า การปฏิวัติเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีการอ้าง “อำนาจประชาชน” หรือเจตจำนงของประชาชน โดยไม่เคยเป็นประชาธิปไตย 100% ทุกที่ แต่ก็ต้องให้สภาประชาภิวัฒน์หรืออื่นๆ มีลักษณะเป็นระบบตัวแทนที่กว้างขวางที่สุด

ข. กปปส. มีความสามารถในการโน้มน้าวจูงใจ แจกแจงเหตุผลให้กับมวลชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งก็คือลักษณะของขบวนการต่อต้านคัดค้านรัฐบาล (protest movement) เป็นทุนหรือเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ แต่แม้จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมอีกก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้

แต่การจะได้มาซึ่งอำนาจอธิปัตย์โดยเฉพาะการยอมรับจากประมุขประเทศ และการสนับสนุนถึงขั้นให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน มารายงานตัว ยังต้องอาศัยการยอมรับ ความไว้วางใจในเจตจำนงทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง บุคลิกท่วงทำนองประชาธิปไตย การเคารพซึ่งกันและกัน การอดทนต่อความแตกต่าง บุคคลเข้าร่วมหรือพร้อมจะเข้าร่วมที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถด้านต่างๆ มาประกอบ ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ กปปส. และมวลมหาประชาชนเป็นเสมือนฐานราก ยังจำเป็นต้องมีส่วนอื่นๆ คือ เสา ฝา หลังคา รั้ว เพื่อประกอบเป็นโครงสร้างหน้าที่ที่สมบูรณ์

ถ้าใช้ศัพท์การเมืองก็คือการมีองค์กรแนวร่วม (united front) ที่ประกอบด้วยบุคคลที่เสมือนเป็นทุนทางสังคม ทุนทางสัญลักษณ์ ทุนทางศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ความสามารถและมีประสบการณ์ ซึ่งที่จริง กปปส. สามารถที่จะแสวงหาทรัพยากรเหล่านี้ได้ไม่ยาก

ทั้งจากผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่แล้ว และจากพรรคประชาธิปัตย์ จากองค์กรภาคธุรกิจเอกชน 7 องค์กรที่ประกาศพร้อมจะเป็นคนกลาง บุคคลผู้อาวุโสในสังคม เทคโนแครตบางส่วน การเน้นคนเหล่านี้อาจถูกหาว่าเป็นอภิชนนิยม การเปิดทางให้ชนชั้นสูงเป็นใหญ่ (elitism แต่ถ้าเน้นเฉพาะหลักการให้การเลือกตั้งเป็นตัวสินในทุกสถานการณ์ ก็เป็นแนวธนานิยม moneyism คือแนวโน้มการให้อำนาจเงินเป็นใหญ่ไปอีกทาง) จึงควรมีองค์ประกอบจากตัวแทนรากหญ้า ผู้นำปัญญาชนการเมืองท้องถิ่นทุกจังหวัดด้วย

โครงสร้างแนวร่วมประชาภิวัฒน์ที่ควรจะเป็น

การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว และถ้ารักษาพลังนี้ได้เราก็อาจได้แนวร่วมของขบวนการตรวจสอบภาคการเมืองต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคตได้

ธีรยุทธ บุญมี

แถลงที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

10 ธันวาคม 2556 วันรัฐธรรมนูญ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
------------------------------------------

นายกฯแจง 4 เหตุผล ประกาศยุบสภา !!?

ขณะที่นักวิชาการชี้ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ

ในที่สุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพูล) ว่าได้ตัดสินใจยุบสภา ซึ่งถือว่าพลิกความคาดหมายไม่น้อย เพราะหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่ารัฐบาลยังยื้อสถานการณ์ต่อได้ และยังมีไพ่ให้เลือกเล่นอีกหลายใบ

งานนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลแสดงท่าที "ถอยสุดซอย"

แต่คำถามคือการยุบสภาในจังหวะเวลานี้ จะช่วยให้สถานการณ์การเมืองดีขึ้นจริงหรือไม่?

นางสาวยิ่งลักษณ์ ให้เหตุผลของการตัดสินใจทูลเกล้าฯ ถวาย ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 จำนวน 4 ข้อ คือ

1.การยุบสภาเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศที่ใช้ระบอบนี้ ขณะที่ประเทศไทยก็มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับ

2.ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อถึงจุดที่ความคิดขัดแย้งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ และมีความรุนแรงจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นวิถีทางที่เป็นไปตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางใด และจะให้ใครมาบริหารประเทศตามแนวทางนั้น

3.เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะย่อมพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามมาตรา 180 (2) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ซึ่งกำหนดไว้ด้วยว่า คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว

4.ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งจะได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงการกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

ด้านความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การประกาศยุบสภาของนายกฯ ไม่สามารถสยบการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ออกมาชุมนุมได้ อีกทั้งยังเป็นการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งๆ ที่บ้านเมืองไม่มีความพร้อม อาจจะยิ่งทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งข้อเสนอของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) คือต้องการ "สภาประชาชน" แต่รัฐบาลเลือกที่จะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อาจทำให้การเมืองทั้ง 2 ขั้วไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน และส่งผลให้สังคมไม่สงบได้

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ขอถามไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ทำไมถึงประกาศยุบสภาในช่วงที่มีการเดินขบวนของประชาชนแล้ว มองว่าสถานการณ์ตอนนี้ไปไกลกว่าที่จะมีการยุบสภาหรือเจรจาระหว่างแกนนำทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนทางออกของประเทศตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่เมื่อพิจารณาดูรายละเอียดของสถานการณ์ เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งทางออกในตอนนั้นคือผู้นำรัฐบาลเผ่นออกจากประเทศ

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออกของปัญหาทางการเมือง แต่เมื่อรัฐบาลเลือกจะยุบสภาแล้ว ฝ่ายทหารควรออกมามีบทบาทเรียกร้องให้มวลชนยุติการชุมนุม เพื่อยุติความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศ และหลังจากนั้นต้องแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิถีประชาธิปไตย เช่น ให้แกนนำตัวจริงมาคุยกัน โดยผ่านคนกลางที่ได้รับการยอมรับ หรือให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เจรจากับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ต้องการและให้ประชาชนเป็นสักขีพยาน

นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การยุบสภาถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเพื่อเลี่ยงการนองเลือด แต่อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด และหลังจากนี้มองว่ากลุ่มมวลชนควรจะถอยด้วย ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่จบ อาจส่งผลให้สังคมเป็นอัมพาต เศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมถึงทำให้เกิดสภาพของความตึงเครียดได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จาตุรนต์โพสต์ไม่ฝ่าฝืน รธน.เพื่อยอมการขู่เข็ญเเบบนี้ !!?


นายจาตุรนต์ ฉายเเสง รักษาการรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวช่วงเที่ยงวันนี้ว่า "สวัสดีครับทุกท่าน เห็นมีประเด็นเรื่องรัฐบาลรักษาการกับสภาประชาชน ก็เลยจะขอให้ความเห็นสั้นๆก่อนครับ รัฐธรรมนูญมาตรา 180 บัญญัติว่า เมื่อยุบสภาแล้วรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นจะลาออกอีกก็ไม่ได้แล้ว จะลาออกต้องลาออกตอนยังมีตำแหน่งอยู่คือก่อนยุบสภาเท่านั้นครับ

รัฐธรรมนูญมาตรา 181 บอกต่อไปว่า"คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่" รัฐธรรมนูญใช้คำว่า"ต้อง"ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่ได้บอกว่าควรจะหรืออาจจะ หมายความว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้เป็นอย่างนั้น การเสนอให้ครม.ทั้งคณะไม่ปฏิบัติหน้าที่แล้วให้หาคนอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน หรือมาเป็นรัฐมนตรีใหม่จึงเป็นความจงใจให้เกิดการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

ถ้าจะมีการตัดสินใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เช่น ป่วยหรืออยู่ในสภาพที่ไม่อาจทำงานได้ แต่ก็จะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะตัดสินใจแทนกันไม่ได้ เช่นครม.จะมีมติให้ครม.ทั้งคณะไม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่ได้ ไม่มีผลบังคับแก่รัฐมนตรีเพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สมมุตินายกฯไม่ปฏิบัติหน้าที่ รองนายกฯก็ต้องปฏิบัติหน้าที่แทน ไม่ใช่จะต้องหานายกฯใหม่จากคนนอกครม. ถ้ารองนายกฯไม่ปฏิบัติหน้าที่อีกก็ไล่เรียงไปทีละคน จนกว่าจะหมดทุกคน จะหาครม.ใหม่ก็ไม่ได้

สิ่งที่เสนอกันอยู่เวลานี้คือ จงใจให้เกิดการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การมีสภาประชาชน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ทำไม่ได้แล้วเพราะยุบสภาแล้ว หากจะมีสภาประชาชนขึ้นก็เหลือแต่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในขณะนี้คือควรจะมีการหารือหลายฝ่ายๆเพื่อให้แน่ใจ สบายใจกันว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายให้มากที่สุดดีที่สุด ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ามาถึงขั้นนี้ผู้ที่ยึดมั่นหลักประชาธิปไตยยังทำอะไรกันได้อีกหลายอย่างเพื่อรักษาประชาธิปไตยไว้ถึงแม้จะยากลำบากมากก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่ควรทำก็คือการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเองเพียงเพื่อยอมตามการการบังคับขู่เข็ญตามอำเภอใจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้"

ที่มา.เนชั่น
////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นวัตกรรม.. ไทยแชมป์นำเข้าเครื่องจักรไฮเทค !!?

ซังซุง. ของเกาหลีใต้เคยเป็นแบรนด์ล้าหลังถูกวางซุกตามซอกมุม ท่ามกลางการอวดโฉมอย่างสง่างามของโซนี่ พลัน! เมื่อ ลี คุน ฮี ประธานบริษัท ซัมซุงไปพบสินค้าของเขาถูกซุกซ่อนอยู่อย่างเหนียมอาย แทนการสิ้นหวัง ท้อแท้ ห่อเหี่ยว เขาคิดกลับด้าน ถึงเวลาต้องผ่าตัดครั้งใหญ่

เขานำนวัตกรรมมาปลุกความอับเฉา เปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ จากเดิมวิศวกรออกแบบวงจรเสร็จ ฝ่ายดีไซน์ต้องทำแพ็กเกจจิ้งครอบวงจรที่ถูกออก แบบมาเปลี่ยนเป็นฝ่ายดีไซน์ออกแบบก่อน แล้วให้วิศวกรหาทางนำวงจรมากมาย ยัดใส่เข้าไปในทีวีบางเฉียบให้ได้ ดีไซน์กลายเป็นจุดขายของซัมซุง พลิกแบรนด์ที่เกือบจะถูกลืมให้กลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่ ประดุจนกฟีนิกซ์ฟื้นคืนชีพจากกองไฟ

นวัตกรรมคืออาวุธใหม่ที่จะถูกนำมาห้ำหั่นในสงครามการค้าแห่งศควรรษที่ 21 ใครมีนวัตกรรมเหนือกว่าคู่แข่ง คนนั้นคือผู้ชนะ

กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัด การใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า สินค้าอุตสาห-กรรมจะไม่ใช่แค่สินค้าพื้นฐาน (Commodity) ที่มีอยู่ทั่วไปอีกต่อไป แต่จะเป็นสินค้า ที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ การวิจัยและพัฒนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เขายกตัวอย่างนวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน อาทิ นวัตกรรมบ้านแห่งอนาคตที่ช่วยลดการใช้พลังงานในบ้าน ให้ความสบายด้วยระบบป้องกันและระบายความร้อนออกจากตัวอาคาร ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลัง งานแสงอาทิตย์เพื่อเป็นแหล่งจ่ายกระแส ไฟให้กับบ้านในเวลาปกติ และมีระบบไฟฟ้า สำรองที่ผลิตจาก Fuel Cell ในกรณีที่กระแสไฟฟ้าหลักดับ  

นวัตกรรมพลาสติกเพื่อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ในชีวิต เช่น พลาสติก สำหรับบรรจุภัณฑ์ช่วย เก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้คงความสดสะอาดได้ยาวนานและปลอดภัยมากขึ้น ขวดน้ำที่มีส่วนผสมจากพืชสามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง นวัตกรรม พลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการประหยัดพลังงาน ด้วยคุณสมบัติพิเศษคือน้ำหนักเบา เมื่อนำมาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงทำให้ประหยัด น้ำมันได้มากขึ้น นวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE สำหรับท่อทนแรงดันสูงใช้ในระบบขนส่งน้ำ ก๊าซ และแร่ ใช้งาน 100 ปี รีไซเคิลได้เอง พลาสติกผลิตท่อน้ำแรงดันสูงสามารถดักจับและยับยั้งเชื้อโรคในน้ำ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีน้ำที่สะอาดมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ในงาน METALEX 2013 งานแสดงสินค้าเครื่องจักรระดับโลก ก็จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Innovation & Integration for Excellence นวัตกรรม และการบูรณาการสู่ความเป็นเลิศ" มีผู้ประกอบการต่างชาตินำสินค้ามาโชว์มากมาย หนึ่งในนั้นคือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องจักรแห่งไต้หวัน

เบอร์ตัน ชิว ที่ปรึกษาอาวุโส สำนัก งานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (TECO) กล่าวว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา ไต้หวันคือผู้ส่งออก ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และคาดว่าในปี 2558 ไต้หวัน จะก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่อง จักรที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยมูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากญี่ปุ่น และเยอรมนี

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือคำกล่าว ของ จัสติน ไต ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าไต้หวันในไทยที่บอกว่า "ในบรรดาประเทศแถบอาเซียน ทั้งหมด ประเทศไทยนับเป็นประเทศส่งออกหลักของไต้หวันในด้านผลิตภัณฑ์เครื่องจักร"

เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล ไทยปัจจุบันให้การส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีการค้า การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ล้วนส่งผลดีต่อการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างเสริมให้ไทยคงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ภาคการผลิตของไทยนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ด้วยความโดดเด่นทางด้านนวัตกรรมและอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ด้วยนวัตกรรมเหล่านี้ คงพออุ่นใจได้บ้างว่า แม้จะมีปัญหาการ เมือง ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ แต่ขีดความ สามารถของอุตสาหกรรมไทยน่าจะยังแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------

เออีซี กับบทบาท SMEs ของไทยในอนาคต.

โดย เวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย


ประเด็น ที่น่าจับตามองของกิจการ SMEs ไทยในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า คงหนีไม่พ้นเรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างแน่นอน

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเสรีทางการค้าและลดอุปสรรคในด้านต่าง ๆ อาทิ การลดอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ การบริการ การลงทุน และแรงงาน เป็นต้น ย่อมส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่พ้นSMEs มีส่วนสำคัญต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย โดยการสร้างผลผลิตและการจ้างงานของประเทศ

ในอดีตจุดแข็งของ SMEs ไทยคือการเข้าถึงในตลาดท้องถิ่นได้ดี มีทักษะและความเชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจบริการ หัตถกรรม ท่องเที่ยว และอาหารค่อนข้างสูง ประกอบกับค่าจ้างแรงงานมีอัตราที่ต่ำ ตลอดจนง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ แต่ทว่าในอนาคตข้างหน้าจุดแข็งดังกล่าวจะเริ่มไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ CLMV (ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง และยังมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก กลุ่มประเทศเหล่านี้จึงเป็นทั้งแหล่งผลิตและตลาดใหม่ที่น่าสนใจของภูมิภาค

ดังนั้น สิ่งที่ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมและบริการจะต้องริเริ่มปรับกระบวนการเชิงกลยุทธ์ให้ขับ เคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อให้ตอบสนองกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต อาทิ

1) ผู้ประกอบการควรเริ่มมีการขายสินค้าในตลาดที่ใหญ่ขึ้น และเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ จากกลุ่มประเทศสมาชิก

2) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง

3) การเปิดและเจาะตลาดกลุ่มประเทศสมาชิกและคู่ค้าของอาเซียน

4) ปรับเปลี่ยนทัศนคติมุมมองต่อกลุ่มประเทศ CLMV เสียใหม่

5) ลงทุนในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการบริการให้ได้มาตรฐาน

6) กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง (Differentiation) หรือสิ่งที่เรียกว่าความเป็น "นวัตกรรม (Innovation)" ควบคู่ไปกับการชูนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม กิจการ SMEs ไทยก็ต้องมีกลยุทธ์ในการรับมือผลกระทบ หลังจากการเปิด AEC อย่างเป็นทางการ ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เช่น

1) การเปิดเสรีทางการค้าอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจบางสาขาที่มีความอ่อนไหว จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยการลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง

2) ออกมาตรการรับมือ กรณีเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยไปประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า

3) เรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพ และพัฒนาประสิทธิภาพด้านภาษา เทคโนโลยี บริการ และระบบโลจิสติกส์

4) ขยายช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก จากการสนับสนุนของธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานของรัฐ

จะเห็นได้ว่า SMEs ไทยในอนาคต ยังสามารถเพิ่มบทบาทและความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นได้อีก

ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันลดอุปสรรคและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการขยายตัวของ SMEs ตลอดจนออกกฎระเบียบต่าง ๆ

อย่าง รัดกุมและชัดเจน เพื่อปกป้องและส่งเสริมกิจการ SMEs ไทย และพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับตัวสินค้าและตอบสนอง ความต้องการความหลากหลายของผู้บริโภคให้สามารถรับประโยชน์สูงสุดจากการเข้า สู่ AEC ในอนาคต

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-----------------------------------

ถนนยุทธศาสตร์ เออีซี

โดย ณกฤช เศวตนันท์

บทความฉบับที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงความสำคัญของเส้นทางสายเศรษฐกิจ R 9 (East-West Economic Corridor : EWEC) หรือแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกไปแล้ว ฉบับนี้จะขอพูดถึงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเช่นกัน (Greater Mekong Subregion : GMS) อันได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน



เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ หรือเส้นทาง R3A (North South Economic Corridor : NSEC) เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมการขนส่งทางบกระหว่างนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน กับกรุงเทพมหานครของไทย มีระยะทางยาว 1,800 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า ลดต้นทุนในการขนส่ง สร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนรายได้ต่ำ กับทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ชนบทและชายแดน รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

เส้นทาง R3A จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางระหว่างนครคุนหมิงของจีน กับกรุงเทพมหานคร จากเดิม 48 ชั่วโมงเหลือเพียง 20 ชั่วโมงเท่านั้น

เส้นทางเศรษฐกิจ R3A นี้ตัดผ่าน 3 ประเทศ คือ จีนตอนใต้ สปป.ลาว และประเทศไทย มีต้นทางเริ่มจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายของไทย ต่อด้วยเมืองบ่อแก้ว หลวงน้ำทา บ่อเต็นของประเทศลาว บ่อหาน เชียงรุ่ง หรือจิ่งหง ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของประเทศจีน ทั้ง 3 ประเทศได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจจากเส้นทางดังกล่าว

ประเทศไทยได้กำหนดการจัดตั้ง เขตนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดเชียงรายและการพัฒนาท่าเรือเชียงแสน ส่วน สปป.ลาว อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่จุดแวะพัก (Rest Areas) บนเส้นทางที่แขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทา และก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ในฝั่ง สปป.ลาว ที่ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90 เหลือเพียงการทำถนนเชื่อมตัวอาคารด่านตรวจพรมแดน ไปยังสะพานและสะพานย่อยอีก 2 จุดเท่านั้น

ส่วนประเทศจีนกำหนดนโยบายมุ่งใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A เพื่อกระจายสินค้าทางการเกษตรจากจีนตอนใต้และส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวสินค้าหลักที่มีการทำการค้าของแต่ละประเทศบนเส้นทาง R3A มีอยู่จำนวนมาก

สำหรับสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปยังตลาดลาวและจีน ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน สินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้สดและวัสดุก่อสร้าง สปป.ลาวจะส่งออกถ่านหินลิกไนต์ ผลิตภัณฑ์เกษตร อะไหล่รถยนต์ และยาปฏิชีวนะมายังประเทศไทย และส่งออกไม้แปรรูปไปยังประเทศจีน

สำหรับประเทศจีนส่งออกพืชผัก เช่น บร็อกโคลี ผักกาดแก้ว ดอกไม้อย่างกุหลาบ กล้วยไม้ และผลไม้อย่างแอปเปิล ลูกพีช ส้ม และลูกพลับมายังประเทศไทย โดย นายหลี่ ซือ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เขตปกครองพิเศษโมฮาน มณฑลยูนนาน ได้กล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณสินค้าผ่านถนน R3A ถึงด่านเมืองโมฮาน มณฑลยูนนาน ประมาณ 70,000 ตันต่อปี

แต่ปรากฏว่าในปี 2555 ที่ผ่านมามีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.27 ล้านตันแล้ว มูลค่าทั้งหมดประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ มีรถเข้าออกกว่า 270,000 คัน ซึ่งหากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เปิดใช้ก็จะทำให้มูลค่าการค้ายิ่งเพิ่มขึ้นอีกมาก

หากดูกันในด้านสถิติการค้าชายแดน ผ่านอำเภอเชียงของไปยัง สปป.ลาว ผ่านเส้นทางสาย R3A ที่ผ่านมาในปี 2554 มีการนำเข้า 2,000 กว่าล้านบาท ส่งออกเกือบ 6,000 ล้านบาท ปี 2555 นำเข้า 3,000 กว่าล้านบาท ส่งออก 9,000 กว่าล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงเดือนมิถุนายน 2556 มีการค้าเกิดขึ้นมากกว่า 12,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30

การเปิดเส้นทางเศรษฐกิจ R3A นี้จะเห็นได้ว่าทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอาเซียนและมีความเจริญมากขึ้น ถือเป็นการกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และระหว่างภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และจีน ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ ด้านการแพทย์ ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์บนพื้นฐานของความร่วมมือได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------

สงครามกลางเมืองที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ .

บทความ"พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์"วิพากษ์สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยเรื่อง"สงครามกลางเมืองที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"

ฝ่ายจารีตนิยมได้ก่อการรุกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีมานี้ โดยระดมองคาพยพทั้งหมดของตนออกมาล้อมกรอบขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ฉวยโอกาสที่พรรคเพื่อไทยกระทำความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

การใช้เล่ห์เพทุบายทางสภาผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่งโดยพรรคเพื่อไทยได้สร้างความโกรธอย่างรุนแรงทั้งในหมู่มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและในหมู่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯที่มีจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคเพื่อไทยอยู่ก่อนแล้ว พวกจารีตนิยมได้ฉวยโอกาสที่พรรคเพื่อไทยตกในสถานะโดดเดี่ยวจากมวลชนของตนและจากความโกรธของชนชั้นกลาง ก่อกระแสคลื่นการเคลื่อนไหวมวลชนขนาดใหญ่ขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลโดยอ้างวาทกรรม “ต่อต้านนิรโทษกรรมคนโกง” มีเป้าหมายที่จะโค่นล้มนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำลายล้างตระกูลชินวัตรและขบวนประชาธิปไตยทั้งหมดในคราวเดียว

นี่เป็น “สงครามเผด็จศึกครั้งใหญ่” ของพวกจารีตนิยม พวกเขาจึงระดมสรรพกำลังออกมาอย่างเป็นระบบ ทั้งอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการ โรงพยาบาล รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนและลูกจ้าง ไปจนถึงข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม และสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหมด จนกลายเป็นกระแสการรุกที่มีลักษณะชนชั้นและลักษณะปฏิกิริยาถอยหลังอย่างชัดเจน

การปะทะกันทางการเมืองครั้งนี้มีลักษณะทางชนชั้นอย่างเด่นชัด พลังมวลชนที่เป็นหลักของฝ่ายจารีตนิยมก็คือ คนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมือง ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการขับไล่นายกรัฐมนตรีสุจินดา คราประยูรเมื่อพฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พวกจารีตนิยมตระหนักถึงพลังทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ และนับแต่นั้นมา ก็ได้ดำเนินการอย่างแยบยลเข้าครอบงำและแบ่งปันผลประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบทั้งในมหาวิทยาลัย สื่อมวลชนกระแสหลัก และองค์กรธุรกิจใหญ่ ทำให้คนชั้นกลางเหล่านี้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบอบการปกครองและการพัฒนาเศรษฐกิจนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

แต่การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2535 ก็ทำให้ประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทได้เข้าสู่ระบบตลาดของทุนนิยมอย่างเต็มตัว สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้น ประกอบกับการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย ทำให้พวกเขาเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยจนสามารถเข้ามากำหนดผลของการเลือกตั้งและกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลในกรุงเทพฯได้อย่างเด็ดขาด แบ่งปันอำนาจบริหาร ทรัพยากรและงบประมาณไปพัฒนาเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทได้เป็นครั้งแรก บางคนจึงเรียกประชาชนเหล่านี้ว่า ชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นกลางเก่าที่กลายเป็นหางเครื่องของศักดินาและจารีตนิยม

การปรากฏขึ้นของประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทในฐานที่เป็นพลังการเมืองแบบใหม่ เข้ามาท้าทายและแบ่งปันอำนาจในระบบการเมืองแบบเลือกตั้งนี้เองที่ได้สร้างความตกใจอย่างมากในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจ สถานะ ผลประโยชน์ ทรัพยากรและงบประมาณกับคนชนชั้นล่างเหล่านี้

ความขัดแย้งทางการเมืองนับแต่ต้นปี 2549 ถึงปัจจุบัน เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่ยืดเยื้อระหว่างประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท (หรือ “ชนชั้นกลางใหม่”) ฝ่ายหนึ่งซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนและมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ กับกลุ่มเผด็จการจารีตนิยม กลุ่มทุนเก่าที่เกาะกินอยู่กับจารีตนิยมมานับร้อยปี และประชาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมือง (หรือ “ชนชั้นกลางเก่า”) อีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีกลไกรัฐ ทั้งกองทัพ ศาล ตุลาการ ข้าราชการ และพรรคประชาธิปัตย์เป็นเครื่องมือ

กระแสการรุกของฝ่ายเผด็จการครั้งนี้ยังมีลักษณะปฏิกิริยาถอยหลัง เพราะนอกจากจะมุ่งทำลายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและขบวนประชาธิปไตยทั้งหมดแล้ว พวกเขายังจะทำลายระบบการเลือกตั้งและระบอบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ของพวกเขาเองอีกด้วย แทนที่ด้วยระบอบการปกครองที่ให้ “คนดีมาปกครองบ้านเมือง” ที่เป็นเผด็จการของพวกจารีตนิยมอย่างเต็มรูปแบบ เป็นการฝืนกระแสประชาธิปไตยและกระแสเสรีนิยมอันเป็นที่ต้องการของประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่สุดและที่กำลังเป็นกระแสสะพัดไปทั่วโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ปัจจุบัน การปะทะกันในปัจจุบันจึงเป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างประชาธิปไตยเสรีนิยมแห่งโลกาภิวัฒน์ กับเผด็จการจารีตนิยมที่ล้าหลังเข้าคลองอีกด้วย

การต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางนี้ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จึงนับเป็นสงครามกลางเมืองอย่างแท้จริงเมื่อประเทศแตกแยกออกเป็นสองค่ายที่ฝ่ายหนึ่งมีมวลชนทั้งประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีกลไกรัฐและพลังทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ยังเป็น “สงครามกลางเมืองที่ไม่หลั่งเลือด” เพราะถึงแม้จะมีการปะทะใหญ่ด้วยกำลังแล้วสองครั้งคือ กรณีสงกรานต์เลือด 2552 และการสังหารหมู่ประชาชนเมษายน-พฤษภาคม 2553 แต่รูปแบบหลักของการต่อสู้ถึงปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นการใช้กลไกทางการเมืองที่ไม่รุนแรงคือ การเลือกตั้ง การระดมมวลชน พรรคการเมือง และตุลาการ

ในการปะทะครั้งล่าสุดนี้ ฝ่ายจารีตนิยมกำลังผลักดันความขัดแย้งให้คลี่คลายขยายตัวไปสู่ “สงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือด” อย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวคนชั้นกลางในเมืองออกมาขับไล่รัฐบาล การให้สื่อมวลชนกระแสหลักเร่งปั่นกระแสอนาธิปไตยและจลาจล การติดอาวุธให้กลุ่มมวลชนที่บ้าคลั่งเข้ายึดสถานที่ราชการ ทำร้ายบุคคลและประชาชนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย การใช้ตุลาการเข้ามาบิดเบือนหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญที่พวกตนร่างขึ้นมาเอง ตลอดจนการใช้อันธพาลติดอาวุธก่อกวนและทำร้ายประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และท้ายสุดคือ การใช้กองทัพเข้ามาโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในครั้งนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยได้เติบใหญ่เข้มแข็ง มีฐานมวลประชาชนอยู่ทั่วประเทศจะไม่ยินยอมให้ดำเนินไปได้โดยง่ายอีกต่อไป หนทางข้างหน้าจึงเป็นการปะทะแตกหักระหว่างสองชนชั้นและสองแนวทางอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ประสบการณ์ในประเทศที่เป็นอารยะและเป็นประชาธิปไตยแล้วคือบทเรียนที่เราจะต้องศึกษา ประเทศไทยไม่ได้แปลกพิเศษและไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่อย่างใด การได้มาซึ่งประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลก ที่เรียกว่า “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ล้วนผ่านการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางที่ยืดเยื้อ รุนแรง และนองเลือดมาแล้วทั้งสิ้น ระหว่างประชาชนส่วนข้างมากที่ต้องการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมือง กับอีกฝ่ายที่เป็นคนส่วนข้างน้อยที่ต้องการผูกขาดอำนาจ สถานะอันเป็นอภิสิทธิ์ และโภคทรัพย์ไว้ในมือตน ฝ่ายหนึ่งมีจำนวนคนมากกับสองมือเปล่า ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีจำนวนคนน้อย แต่สองมือเต็มไปด้วยอาวุธร้ายแรง

ปัจจัยชี้ขาดว่า ความขัดแย้งจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือดหรือไม่นั้น ถูกกำหนดโดยผู้ปกครองที่มีกำลังอาวุธอยู่ในมือ หากเขาไม่ยินยอมให้สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคแก่ประชาชนส่วนใหญ่ แล้วมิหนำ ยังใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชน กดหัวให้ยอมจำนนแล้ว เมื่อนั้น สงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือดก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------

หุ้นดิ่ง บาทอ่อน วิตกการเมือง ถอนคิวอี !!?

ต่างชาติขายหุ้นกดดัชนีร่วง15จุด บาทอ่อนค่าสุดรอบ3เดือนแตะ32.33บาท นักค้าเงินระบุนักลงทุนกังวลการเมือง-สหรัฐฯถอนคิวอีเร็วขึ้น

สกุลเงินของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ท่ามกลางภาวะซื้อขายเบาบาง โดยเฉพาะเงินบาท และเปโซร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน เพราะนักลงทุนยังคงระมัดระวัง ก่อนการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) เมื่อใด

ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศ เริ่มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังเกิดการปาประทัด และยิงการ์ด จนได้รับบาดเจ็บในกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณกระทรวงการคลัง และบริเวณราชดำเนิน

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทเทียบดอลลาร์เปิดตลาดที่ 32.24-32.26 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทปรับตัวขึ้นลงตามแรงซื้อขายที่เข้ามา โดยอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 32.35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นอ่อนค่าสุดรอบ 3 เดือน จากก่อนหน้านี้ที่ทำระดับอ่อนค่าสุดที่ 32.47 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะมาปิดตลาดที่ 32.32-32.33 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทวานนี้ มาจากปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ทำให้เกิดความกังวลว่าเฟด จะปรับลดมาตรการคิวอีลงในเร็ววันนี้เป็นประเด็นที่ต้องจับตา และจะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้า

แนวโน้มเงินบาทสัปดาห์หน้า ต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ และการเมืองในประเทศ โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก และอาจไปทดสอบระดับการอ่อนค่าในระดับ 32.47-32.48 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติเดิมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้

“ขณะนี้ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐว่าจะออกมาเท่าไร และดีกว่าที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ แต่ที่เห็นเงินบาทอ่อนค่าวานนี้ เป็นผลจากการเมืองในประเทศมากกว่า ที่เริ่มกลับมาชุมนุมต่อและดูเหมือนจะร้อนแรงขึ้น เห็นได้ว่าค่าเงินในภูมิภาคยังเคลื่อนไหวในทางแข็งค่า ซึ่งตลาดยังจับตาดูสถานการณ์การเมืองช่วงเสาร์อาทิตย์นี้ด้วยว่า จะพัฒนาการไปอย่างไร เพราะจะมีการนัดรวมตัวกันอีกครั้งของทั้งสองฝ่ายในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ด้วย”

ในสัปดาห์นี้ สกุลเงินส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย นำโดยรูปีพุ่งขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ผลสำรวจ เอ็กซิทโพลล์คาดว่า พรรคฝ่ายค้านจะชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในการเลือก ตั้งระดับรัฐเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านถูกมองว่ามีความเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจมากกว่า และตั้งใจที่จะทำการปฏิรูป ขณะที่การเลือกตั้งทั่วประเทศ จะมีขึ้นในต้นปีหน้า ในสัปดาห์นี้หยวนแข็งค่าขึ้น 0.2% และดอลลาร์สิงคโปร์ปรับตัวขึ้น 0.1% ขณะที่วอนและดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าเช่นกัน แต่บาทร่วงลง 0.7% และเปโซอ่อนค่าลง 0.5%

ขณะเดียวกัน ปัจจัยดังกล่าว ยังมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ดัชนีปรับลดลงอยู่ในแดนลบตลอดวัน และดัชนีปรับลดลงต่ำสุดที่ระดับ 1,355.02 จุด ปรับสูงสุดที่ระดับ 1,376.71 จุด และปิดตลาดที่ระดับ 1,361.57 จุด ลดลง 15.06 จุด หรือ 1.09% มูลค่าการซื้อขาย 30,147 ล้านบาท โดยต่างชาติขาย 3,726.01 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขาย 815.11 ล้านบาท สถาบันซื้อสุทธิ 121.44 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 4,419.68 ล้านบาท

คิวอี-การเมืองกดหุ้นดิ่ง-บาทอ่อน

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวเงินบาทที่อ่อนค่า และตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงวานนี้ จะเป็นทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศผสมกัน เพราะปัจจัยนอกประเทศ ตัวเลขการว่างงานที่ดีขึ้นของสหรัฐ ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้กำหนดกรอบเวลาการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี 3 ได้แล้ว ทำให้นักลงทุนมองการปรับลดมาตรการคิวอี น่าจะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนนี้ รวมไปถึงปัจจัยการเมืองที่ยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง หากยังยืดเยื้อส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกไปได้อีก

จากการสังเกต พบว่า ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว กว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมที่มองว่าค่าเงินบาท จะอ่อนค่าแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงกลางเดือน แต่กลับอ่อนค่าในช่วงต้นเดือน แสดงให้เห็นถึงเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกต่อเนื่อง ซึ่งฝั่งตลาดทุน นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มถือหุ้นสั้นลง เพราะคาดการณ์มาตรการคิวอี จะถูกปรับลดลงช่วงสั้น ทำให้การถือหุ้นไม่ยาวอย่างที่คาด

การชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อกว่า 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง ทั้งความเชื่อมั่น และการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเริ่มปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยว ใช้เวลาในกรุงเทพฯน้อยลง และออกไปยังหัวเมืองอื่นๆ และหากการเมืองยืดเยื้ออาจจะกระทบถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2557 ด้วย

ทั้งนี้มาตรการที่รัฐบาล โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะทำออกมาตามบัญชาของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีมาตรการอย่างไรในการกระตุ้นเศรษฐกิจและจะช่วยการเติบโตในปีหน้าได้อย่างไรบ้าง

การเมืองไร้ข้อยุติกดหุ้นไทยดิ่ง

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้บริหารสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์และกลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลดแรงช่วงบ่ายของวันกว่า 20 จุด ซึ่งมองเป็นการตอบสนองปัจจัยการเมืองล่วงหน้า โดยนักลงทุนกังวลว่าการชุมนุมทางการเมืองมีโอกาสที่จะปะทะกันได้อีก จึงสร้างแรงกดดันให้ตลาด และยังมีปัจจัยจากต่างประเทศคือ นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการลดขนาดมาตรการคิวอีของสหรัฐ

สอดคล้องกับ บล.ฟิลลิป วิเคราะห์ว่า หุ้นไทยปรับตัวลงมากกว่าภูมิภาค สาเหตุหลักมาจากปัจจัยการเมือง ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ รวมถึงปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้หลายตัว ก็กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้นๆ จากความกังวลเรื่องการลดคิวอี จะเริ่มเร็วกว่าที่คาดไว้

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินว่า น่าจะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงเดือนสุดท้ายของปี และมองว่าบทบาทต่างชาติในเดือนนี้ น่าจะน้อยลง หลังมีการขายอย่างหนักมาในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ตามสถิติย้อนหลัง พบว่าในเดือน ธ.ค. บทบาทการซื้อขายของต่างชาติต่อตลาดจะน้อยกว่าเดือนอื่นๆ ตรงกันข้ามกับทางนักลงทุนสถาบันที่จะมีบทบาทต่อตลาดในเดือน ธ.ค.มากกว่าเดือนอื่นๆ โดยเฉพาะแรงซื้อจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) จึงคาดว่าการปรับลงเป็นโอกาสให้ทยอยเข้าซื้ออยู่ โดยประเมินแนวรับเบื้องต้น ที่ 1,360 จุดก่อน

ลดเป้าดัชนีปี 2557 ตปท.ทิ้งตลาดเกิดใหม่

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า สมาคมฯ จะปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2557 ใหม่ เพราะปัจจัยที่เข้ามากระทบ มีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบมากขึ้น จึงส่งแบบสำรวจให้สมาชิกทบทวนทั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ กำไรบริษัทจดทะเบียนและดัชนีสิ้นปี 2557 ซึ่งคาดว่าสมาชิกจะปรับลดเป้าดัชนีลงจากเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่าอยู่ที่ 1,700 จุดในสิ้นปี 2557

ส่วนดัชนีสิ้นปีนี้ คงไม่มีการทบทวนใดๆ โดยจะให้น้ำหนักไปที่ปีหน้ามากกว่า เพราะการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อยาวนาน ทำให้มีผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้คาดเติบโตต่ำกว่า 3% ทำให้การลงทุนภาครัฐในหลายโครงการชะลอออกไป ยอดขายของเอกชนต่ำกว่าที่คาดไว้ ส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนและมูลค่าหุ้นลดลง

นอกจากนี้ ในปี 2557 สหรัฐจะเริ่มลดขนาดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ทำให้เชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติยังมีแรงขายออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมทั้งตลาดหุ้นไทย แม้ตั้งแต่ต้นปีต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยแล้ว 170,000 ล้านบาท แต่คาดว่ายังมีแรงขายออกมาอีก เพราะที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสะสมหุ้นไทยในระดับดัชนีที่ต่ำประมาณ 300,000 ล้านบาท

"หวังช่วงกลางเดือนนี้ จะมีแรงซื้อจากกองทุนแอลทีเอฟ และอาร์เอ็มเอฟอีกหลายหมื่นล้านบาท คงจะมีส่วนช่วยดัชนีในช่วงปลายปีให้ปรับตัวขึ้นได้บ้าง"

ชะลอคิวอีเสี่ยงตลาดเกิดใหม่

นายศรชัย สุเนต์ตา รองกรรมการผู้อำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การชะลอมาตรการคิวอีเร็วกว่าเดือนมี.ค.นั้นแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้น แต่ก็ยังเป็นเสียงส่วนน้อย เพราะสหรัฐยังมีปัญหาเพดานหนี้ที่ต้องจัดการก่อนช่วงกลางเดือนม.ค. 2557 จึงจะสามารถชะลอมาตรการคิวอีได้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐได้ ดังจึงมองว่า การชะลอมาตรการคิวอี จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนแก้ปัญหาชะลอหนี้ ซึ่งควรจะปล่อยให้ประธานเฟดคนใหม่เป็นผู้จัดการปัญหา

เขายอมรับว่า การชะลอมาตรการคิวอี จะเป็นความเสี่ยงต่อตลาดใหม่โดยรวม แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว และดอลลาร์แข็งค่า จะทำให้ค่าเงินตลาดเกิดใหม่โดยรวมมีทิศทางอ่อนค่าลงจากการเกิดภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเงินทุนไหลออกมาสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ถ้ามองแรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา มีการซื้อสุทธิ 188,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันได้ขายไปเกือบหมด หรือขายหุ้นไทยออกไปแล้ว 167,000 ล้าน โดยแรงขายรุนแรงตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. เป็นต้นมา โดยเดือนพ.ย. เดือนเดียวขายออก 63,000 ล้านบาท

"เหตุผลหลักที่ขายออกเพราะมีกำไรจากการลงทุนหุ้นไทย และหากคิดผลตอบแทน แม้ขายไปแล้ว ก็ยังมีกำไร 190% นับจากปี 2552 โอกาสจะขายหนักๆ หลังจากนี้เชื่อว่าจะเบาบาง เพราะหุ้นไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับน่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนระยะยาว ทยอยซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------