--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่4 พร้อมเปิด11/12/56

รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ว่า  ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม   เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเชียงของนำคนงานเร่งทำความสะอาดและตกแต่งที่ทำการด่านเพื่อรองรับพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4  หลัง 3 ประเทศคือไทยลาวและจีน ได้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะมีกำหนดพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ธันวาคม 2556(11/12/13) โดยมีสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี

นายศรชัย สร้อยพงษ์พราย นายด่านศุลกากรเชียงของ กล่าวว่าขณะนี้ในส่วนของตัวสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4  โครงสร้างพื้นฐานและสะพานสร้างเสร็จแล้ว รวมถึงที่ทำการด่านศุลกากรเชียงของแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางด่านเศรษฐกิจและให้บริการด่านศุลกากรอาทิอาคารด่านพรมแดนสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วพร้อมให้บริการ ตลอดจนได้เตรียมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เรื่องอาคารสถานที่จัดเตรียมเครื่องมือต่างๆประกอบด้วย เครื่องมือสื่อสาร ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ระบบการควบคุมทางศุลกากรเช่นCCTV เครื่องตรวจสอบสินค้า เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจสอบสัมภาระต่างๆ

นายศรชัยกล่าวด้วยว่าในปี 2555 การค้าขายผ่านด่านศุลกากรเชียงของมีมูลค่า 12,500 ล้านบาท และในปีนี้ 2556 เพิ่มขึ้น 8.93% มีมูลค่ากว่า 13,600 ล้านบาท เมื่อสะพานเปิดใช้แล้วจะช่วยทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกขึ้นทำให้ค่าขนส่งลดลงจากที่ต้องเสียค่าแพขนานยนต์ 1,800 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์จะเหลือเพียง 500 บาทซึ่งลดลงไปถึง 3 เท่าตัว เชื่อว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มมากขึ้นโดยการพยากรณ์ของกรมศุลกากรคาดว่าจะมีการขยายตัวการค้าขายผ่านสะพานแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านบาท ในปี 2558 ถือเป็นการรองรับเศรษฐกิจอาเซียนพอดี

นายทรงฤทธิ์ แก้วสุทธิ นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่า ทางอำเภอได้กำหนดเส้นทางเสด็จฯไว้ 3 จุดหลัก คือบริเวณหน้าบริษัทสินธานีฯสาขาเชียงของ บริเวณหน้าโรงเรียนเชียงของวิทยาคม-โลตัสเชียงของและบริเวณแยกเข้าสะพานฯหน้าสหกรณ์การเกษตรสาขาเชียงของ โดยเตรียมการรับเสด็จฯเป็นไปอย่างเรียบร้อยยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติฯ เพราะถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์และวันแห่งเกียรติยศของชาวเชียงของ โดยให้ประชาชนผู้ร่วมงานแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองชนเผ่าหรือชุดประจำถิ่น ชุดเมืองล้านนาเพื่อความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของเชียงของรวมทั้งต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะเจ้าบ้านเพื่อเผยแพร่วิถีชาวเชียงของสู่สายตาคนทั้งประเทศและทั่วโลก

ขณะที่นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานโครงการประสานเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือกล่าวว่าสะพานข้ามน้ำโขงแห่งนี้จะทำให้ระบบจอลิสติกส์ของประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะผ่านถนนอาร์ 3 เอ ผ่าน สปป.ลาว ไปถึงเมืองสืบสองปันนาและเมืองซือเหมา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีประชากรหลายร้อยล้านคนได้ ซึ่งจะมีผลทำให้การค้าและการท่องเที่ยวผ่านสะพานและด่านเชียงของมีความคึกคักมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ที่สำคัญหากเปิดสะพานใช้อย่างเป็นทางการเชื่อว่าจะทำให้เป็นประตูเชื่อมระหว่างนานาประเทศ โดยมี จ.เชียงราย เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะมีผลทำให้การค้าชายแดนที่ปกติทั้ง 3 ด่านคือด่านแม่สาย ด่านเชียงแสน และด่านเชียงของมีประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท อาจทะลุขึ้นไปเป็นหลักแสนล้านบาทได้ อย่างยิ่งเมื่องมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี.ในปี 2558ที่จะถึงอีก 2 ปีข้างหน้า

ที่มา.มติชน
------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ก่อน ปฏิรูป !!?

โดย. วรศักดิ์ ประยูรศุข

เข้าสู่ห้วงเวลาของงานเฉลิมพระชนมพรรษา ความสุขสงบกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง

พักรบ 1 วัน แล้ววันที่ 6 ธ.ค. จะกลับมาเคลื่อนไหว

กันใหม่ เพื่อเผด็จศึกระบอบทักษิณ ปฏิรูปประเทศ

ปฏิรูปยังไง กำลังเป็นที่สนใจ

จากคำแถลง คำปราศรัยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุว่า การปฏิรูปจะดำเนินการโดย "สภาประชาชน" ประกอบด้วยคนจากหลายอาชีพ

และ "รัฐบาลประชาชน" ซึ่งจะนำโดยนายกรัฐมนตรี  ที่จะได้มาภายใต้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 7 บัญญัติว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรานี้จะให้กำเนิดนายกฯได้หรือไม่ยังสงสัย แต่คอการเมืองคงจำได้ว่า ในอดีตเมื่อปี 2549 มีการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการขอพระราชทานนายกฯ มาตรา 7

โดยเปรียบเทียบย้อนไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้ามาเป็นนายกฯแทน จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ

ตอนนั้นเรียกอาจารย์สัญญาว่าเป็น "นายกฯพระราชทาน"

การเรียกร้องในปี 2549 ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมาตรา 7 มีเนื้อความเหมือนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราโชวาท ในเรื่องนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 นี้ ในวันที่ 25 เม.ย. 2549 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เมื่อ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ และ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

พระบรมราโชวาท กรณีมาตรา 7 นี้ รวมถึง "นายกฯพระราชทาน" เมื่อปี 2516 อ่านได้ที่ http://prachatai.com/journal/2006/04/8196

สำหรับในครั้งนี้ นายสุเทพกล่าวว่า มีฝ่ายกฎหมายยืนยันว่านายกฯ ม.7 ทำได้ แต่หลังจากมีข่าวออกไป มีนักกฎหมายออกมาทักท้วงกันเป็นแถวเหมือนกัน

และแนะนำว่าถ้าเดินหน้าเอากันจริงๆ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 171 ที่ให้นายกฯมาจากเลือกตั้ง และมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาประชาชน

ดูแล้วก็ไม่ง่าย และเป็นเรื่องใหญ่

การปฏิรูปการเมืองตามแนวนี้ นายสุเทพ มั่นใจว่าจะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ การเมืองที่มีคุณภาพ ไม่มีการซื้อเสียง ไม่มีคอร์รัปชั่น และได้คนดีเข้ามาปกครองประเทศ

ก็เป็นเจตนาที่ดี แต่หลักสำคัญคือ หากเป้าหมายที่ต้องการคือการเมืองประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ วิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ว่านั้น ก็ต้องเป็นวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการสร้างประชาธิปไตยด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งไม่แน่ใจว่าผลจะเป็นยังไง

สังคมปัจจุบันนี้ ไม่อนุญาตให้คิดแทนกันแล้ว ยิ่งถ้าเชื่อในประชาธิปไตยทางตรง ยิ่งต้องฟังความเห็นให้กว้างๆ

ไม่อย่างนั้น ผลที่จะตามมา อาจเป็นหนังคนละเรื่องก็ได้

ที่มา.มติชนออนไลน์
-------------------------------------------

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐกิจขาลง....!!?

โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

ภาคธุรกิจบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ขณะนี้ต่างรู้สึกได้ว่าเศรษฐกิจของเรากำลังอ่อนกำลังลง หลาย ๆบริษัทกำลังทบทวนแผนการดำเนินงาน สำหรับปีหน้าที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากยอดขายทั้งที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศ และที่ขายภายในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว งบประมาณสำหรับการตลาด เช่น งบโฆษณากำลังคน และอื่น ๆ รวมทั้งแผนลดการผลิตต้องนำมาพิจารณา

ความรู้สึกเช่นนี้ของภาคธุรกิจ สอดคล้องกับตัวเลขความเจริญเติบโตที่ธนาคารโลกก็ดี หน่วยงานของทางราชการ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี ทุกสำนักต่างก็ทบทวนตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 4 และตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปีหน้าลง

ธนาคารโลกลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2556 จาก 4.5 เปอร์เซ็นต์ มาเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังทบทวนอัตราการขยายตัวของปีนี้ลงจาก 3.7 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่คิดว่าอัตราการขยายตัวของปีนี้คงได้ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้ 3.8 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความต้องการสินค้าและบริการทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของปีนี้

อัตราการขยายตัวของมูลค่าของการส่งออกปีนี้เกือบจะไม่มีคือคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ขยายตัวเลย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เท่าที่จำได้ การส่งออกของเราขยายตัวอย่างสม่ำเสมอในอัตรา 15-16 เปอร์เซ็นต์เรื่อยมา เหลือเพียงรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้นที่ยังคงเป็นรายได้หลักของประเทศมองไปถึงปีหน้า ตลาดหลักของเราคืออเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน อนาคต
ก็ยังไม่ค่อยสดใส ข่าวที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนก็ไม่น่าจะเป็นความจริง

ข่าวว่าอเมริกาจะผลิตพลังงานใช้เองเพราะสามารถเจาะทะลุชั้นหินดาน เอาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันขึ้นมาใช้ได้ ก็แผ่วลง มาตรการคิวอี ใช้มาถึง 3 คิวอีแล้วก็ยังเลิกไม่ได้ แค่มีข่าวว่าจะผ่อนลงก็เกิดเรื่องทันที ยุโรปก็ยังอยู่ในอาการหนักถึงขนาดคนอดอยาก จี้ ปล้น อาชญากรรมเพิ่มขึ้น ยังไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ญี่ปุ่นนำเอามาตรการคิวอีมาใช้เพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนตัว ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นส่งออกได้มากขึ้น การผลิตในประเทศดีขึ้นการนำเข้าน้อยลง แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศคู่ค้านัก เพราะญี่ปุ่นส่งออกมากขึ้น ไม่ใช่นำเข้ามากขึ้นเศรษฐกิจของจีนมีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จนพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องทบทวนแผน 5 ปี ประกาศลดเป้าหมาย

การขยายตัวทางเศรษฐกิจเหลือเพียงเฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า แทนที่จะเป็นตัวเลข 2 หลักอย่างที่เราเคยได้ยินกัน

ตลาดสำคัญ ๆ ของสินค้าไทยมองดูในปีหน้ายังไม่เห็นมีใครคิดว่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อัตราการขยายตัวของการส่งออกของเราจึงอยู่ใกล้ศูนย์ หรืออาจจะติดลบก็เป็นไปได้

หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วม อุตสาหกรรมหลายอย่างที่เราเคยผลิตเพื่อส่งออกก็หมดสมัยพอดี เพราะมีของใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เช่น Hard Disk และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายอย่างเขาเลิกใช้ หรือที่ยังใช้อยู่ก็ย้ายไปผลิตประเทศอื่น

สินค้าการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง นโยบายจำนำพืชผลการเกษตร ทำให้ราคาแพงเกินไป ขายไม่ออก
รัฐบาลต้องเก็บไว้เอง ขณะเดียวกัน คุณภาพก็เสื่อมลงเรื่อย ๆ ราคายางพาราก็ลดลง เพราะขยายการปลูกยางพาราทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมทั้งจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความต้องการจากประเทศจีนก็อิ่มตัว ราคายางคงไม่กลับไปที่เดิมแล้ว ปีหน้าก็คงจะลดลงกว่านี้อีก เพราะต้นยางใหม่ที่กรีดได้จะมากขึ้น
เมื่อการส่งออกสินค้าลดลง รายได้โดยส่วนรวมจากการส่งออกไม่เพิ่ม จึงทำให้กำลังซื้อในประเทศอ่อนตัวลงประกอบกับนโยบาย "รถยนต์คันแรก" ทำให้ชาวบ้านนำเงินออมมาดาวน์รถยนต์ นำรายได้มาผ่อนรถยนต์กันหมด ทำให้เหลือเงินที่จะบริโภคในปีต่อไปน้อยลง ขณะเดียวกัน ครัวเรือนก็มีหนี้เพิ่มขึ้นจากการซื้อรถยนต์ใหม่ การบริโภคในครัวเรือนจึงลดลง อันเป็นสาเหตุอันที่ 2 ที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำ

ขณะเดียวกัน การลงทุนขยายกิจการของภาคเอกชนก็ชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากการส่งออกและการบริโภคของครัวเรือนอ่อนตัวลง แต่หนี้สินของครัวเรือนขยายตัวสูงขึ้น เหตุการณ์เช่นนี้คงจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

เมื่อรัฐบาลประกาศโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยการตราพระราชกำหนดให้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ผู้คนในระบบเศรษฐกิจก็คาดหวังว่าเม็ดเงินคงจะออกมาในเร็ววัน ภายในปีนี้และปีหน้าก็ปรากฏว่าไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาจจะเป็นเพราะลืมหรืออ่านกฎหมายผิดก็ไม่ทราบ ต้องมาเริ่มทำประชาพิจารณ์กันใหม่ ปีหน้าจะเสร็จทันประมูลได้ผู้รับเหมาหรือไม่ก็ไม่ทราบ การลงทุนต้องเลื่อนไปอีก

โครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ทางหลวง ทางด่วน ขนส่งมวลชน ระบบรางคู่และระบบรางรถไฟความเร็วสูง ก็ติดปัญหาการเมือง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะวินิจฉัยว่า
ขัดรัฐธรรมนูญแน่ หรือไม่ก็เก็บไว้ ถ้ามีการยุบสภา พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ตกไป โครงการก็คงจะไม่ได้เกิด ดังนั้น การลงทุนของภาครัฐบาลที่จะมาชดเชยการอ่อนตัวของภาคเอกชนก็คงจะไม่เกิด ในระยะยาวก็คงไม่มี เพราะติดปัญหาการเมืองอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าจะใช้วิธีตั้งงบประมาณประจำปีก็คงไม่ได้ผล เพราะโครงการรถไฟรางคู่มีการอนุมัติโครงการมากว่า 10 ปีแล้ว ได้งบประมาณบ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะสภาท่านแปรญัตติไปใช้ทางอื่นเสียก็คงเหลือแต่เพียงรายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ยังขยายตัวอย่างคงเส้นคงวาอยู่จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนจีนรวยขึ้นจึงเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น และก็ชอบมาเที่ยวเมืองไทย เพราะไทยกับจีนมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ อาหารการกินคล้ายคลึงกันมาก
ก็คงต้องรักษาตลาดจีนไว้ให้ดี การยกเลิกวีซ่าเข้าเมืองไทย เขาขอมาหลายปีแล้วก็เพิ่งจะอนุมัติเมื่อไม่นานมานี้เอง

สิ่งที่ต้องช่วยกันประคับประคองไม่ให้นักท่องเที่ยวเกิดความวิตกว่าการเดินทางมาประเทศไทยนั้นไม่ปลอดภัย สถานที่ท่องเที่ยวที่โรงแรมที่พักหลายแห่ง หรือแม้แต่สนามบินไม่ปลอดภัย ขณะนี้ประเทศจีนก็ดีประเทศต่าง ๆ ในยุโรปก็ดี ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต่างก็ออกประกาศเตือนประชาชนของตนให้ระมัดระวัง หากจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งรายได้อันเดียวที่จะนำมาชดเชยการชะงักงันของรายรับจากการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเราเอง เป็นผลมาจากภาวะซบเซาของตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ที่สำคัญคือผู้ที่เป็นลูกค้าประจำของเราเขามีทางเลือกที่จะซื้อสินค้าอย่างเดียวกันจากประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งของเราได้ด้วย หากเขาเห็นว่าการผลิตและการส่งมอบสินค้าของเราอาจจะมีปัญหา จากภาวะไม่แน่นอนทางการเมือง จากการปิดถนน จากการปิดสถานที่ราชการ และถ้ายิ่งระบบราชการทำงานไม่ได้ คำสั่งซื้อสินค้าของเราก็คงจะชะงักงันยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งมองไปข้างหน้า ปัญหาความขัดแย้งจะคงดำรงอยู่ไปอีกนาน เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม การลงทุนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จะทำไม่ได้เลย ไม่ว่าฝ่ายใดรวมทั้งรัฐบาลจากการรัฐประหาร การคาดการณ์ของฝ่ายธุรกิจมองไปในแง่ร้าย การลงทุนทั้งจากทุนของเราเองและจากต่างประเทศก็คงจะชะงักงันไปด้วย ตามภาวะชะงักงันทางการเมืองภาพข้างหน้าทางเศรษฐกิจจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------------

การใช้ความเป็นชาตินิยมของตนเองลดทอนสิทธิของชาติอื่น !!?


โดย กิตติภัต แสนดี

เอกสารลับพิเศษที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองสหรัฐอเมริกา กำลังทยอยเผยแพร่จนทำให้คำว่า NO FORN ที่ติดอยู่บนเอกสารกลายเป็นจุดน่าตลกขบขันนั้น ไม่ได้สร้างความสะเทือนให้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอเมริกาและเหล่าพันธมิตรที่อเมริกาแอบดักฟังข้อมูลการสนทนาของผู้นำและประชาชนของพวกเขาเท่านั้น เพราะความขัดแย้งขณะนี้ กำลังเลยเถิดไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาติอื่นๆ ด้วย

ล่าสุด รัฐบาลอินโดนีเซีย ตัดสินใจเรียกเอกอัครราชทูตของตนที่ประจำการอยู่ ณ ประเทศออสเตรเลียกลับประเทศ อันเป็นสัญญาณที่ตีความง่ายๆ ว่า เขากำลังลดระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจให้อเมริกายืมมือขอดักฟังข้อมูลการสื่อสารของผู้นำและประชาชนในประเทศอินโดนีเซีย

แต่เรื่องที่น่าตลกสำหรับเรื่องนี้คือความพยายามของรัฐบาลอเมริกา ที่จะแถลงต่อประชาชนในตอนที่เกิดเหตุช่วงกลางปีว่า “เป้าหมายการดักฟังนั้นไม่ได้พุ่งไปยังคนอเมริกัน” แล้วพยายามยกตัวอย่างคุณูปการของการดักฟังชาติอื่น ว่าทำให้หาข้อมูลป้องกันการก่อการร้ายได้แต่เนิ่นๆ ป้องกันชีวิตคนได้มากมาย



photo from the New York Times

ความตลกนี้ไม่ได้เกิดเพราะว่าเรื่องถูกเปิดเผยภายหลังว่า คนอเมริกันก็ตกเป็นเป้าหมายการสืบเสาะคัดกรองข้อมูลนี้ด้วย หากแต่มันเกิดจากความนัยระหว่างบรรทัดของคำกล่าวอ้างนี้เองคือ ถ้าโครงการนี้ไม่ได้พุ่งเป้าที่คนอเมริกา ก็ต้องนับว่าเป็นสิ่งที่รับได้ นั่นก็เท่ากับกำลังกล่าวว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัวของคนในประเทศอื่นไม่สำคัญเท่าสิทธิส่วนบุคคลของคนในประเทศตนเอง

การเลือกปฎิบัติ (“ประติบัติ” ในภาษากฎหมายระหว่างประเทศ) ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีสองปี เพราะเรามีแนวคิดเลือกปฎิบัติให้ความสำคัญกับคนในชาติตัวเองเหนือชาติอื่นฝังอยู่ในทุกมิติ เช่น ในเรื่องสิทธิของที่อยู่อาศัย ซึ่งแม้จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่กฎหมายไทยก็ยังห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินได้ด้วยตัวเอง

ในเรื่องสิทธิการเดินทางนั้น คนต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ก็จะถูกริดรอนสิทธินี้ไปอย่างร้ายแรง สมมุติว่าโครงการของอเมริกานี้ ไม่ได้มีเป้าหมายไปที่คนในชาติตัวเองจริงๆ เช่นนี้เราจะถือได้หรือไม่ว่า การกระทำนั้นๆ เป็นการลดทอนความสำคัญของสิทธิของคนในชาติอื่น ให้อยู่เหนือชาติตัวเองนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามจริยธรรมแล้ว หลายคนอาจมีประสบการณ์สุดจะไม่ประทับใจในบริการของลัทธิชาตินิยม พร้อมยกตัวอย่างอันไม่จรรโลงใจทั้งหลาย

เช่น การทำสงคราม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่หากเรามองอย่างเป็นธรรมแล้ว ความนิยมและภูมิใจในชาติตนเองแค่เงื่อนไขเดียวนี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์สุดโต่งเหล่านั้นได้เลย มันกลับต้องอาศัยการปลุกปั่นยุยงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพียงเพราะเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ได้พิสูจน์เพียงพอว่าชาตินิยมเดี่ยวๆ ในตัวมันเองนั้น เป็นความคิดที่บกพร่อง สิ่งที่เราต้องทำอันดับแรกคือการแยกแนวคิดชาตินิยมออกมาจากเหตุการณ์สุดโต่งเหล่านี้

หากเราจะต่อต้านแนวคิดการให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลของคนในชาติตัวเองก่อนนั้น ข้ออ้างแรกที่จะปรากฎขึ้นมา คือ สิทธิเหล่านี้เป็นของสากล การเลือกให้ความสำคัญกับสิทธินี้แก่คนกลุ่มหนึ่ง แล้วไปลดทอนสิทธิเดียวกันกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในทางตรรกะ

แต่จะเป็นไปได้หรือที่เราจะรักษาสิทธิพื้นฐานของคนในชาติโดยไม่ต้องไปรบกวนสิทธิของคนในชาติอื่น หากเรากำลังพบว่ามีภัยร้ายที่กำลังเข้าแทรกแซงประเทศ และจะทำให้แม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขของคนในชาตินั้นจะไม่มีอยู่จริงเลยตั้งแต่แรก เช่นนี้เราจะไม่รีบเยียวยาแก้ไขเลยหรือ



photo from the Telegraph

เป็นไปได้หรือไม่หากเราจะมีคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือ ที่จะได้รับการปกป้องก็ต่อเมื่อเราได้รวมกลุ่มเป็นชาติแล้วเท่านั้น และถ้าชาติไม่รีบใช้สิทธิการปกป้องนี้ ท้ายที่สุดสิทธิทุกอย่างก็อาจไม่ถูกปกป้องเลย นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลกว่าหรอกหรือ กล่าวอ้างแบบนี้ก็น่าฟัง เพราะการจะมีค่านิยมรักความเป็นส่วนตัว รักตัวรักชีวิตได้ อิทธิพลจากชุมชนที่อาศัยอยู่ก็เป็นเหตุสำคัญ

หากเราเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวบนเกาะร้างที่ไม่มีรูปแบบวัฒนธรรมร่วมกันใดๆ เรื่องสิทธิต่างๆ คงเป็นเรื่องไม่จำเป็นต้องคิดถึง และที่สำคัญคือ แม้หากเราจะคิดถึงความเป็นส่วนตัว ก็จะไม่มีกลไกใดๆ มารับรองปกป้องสนับสนุน ไม่มีกลไกใดๆ ที่มีความชัดเจนว่าจะเยียวยาฟ้องร้องกันได้อย่างไรหากมีการละเมิด

ดังนั้น หากไม่ให้ความสำคัญกับชาติตนเองก่อนแล้ว สิทธิพื้นฐานหลายอย่างก็จะบังคับใช้ไม่ได้จริง หรือร้ายแรงที่สุดก็อาจถึงขั้นไม่มีจริงในจินตนาการของทุกคนเลยก็ได้ แต่หากเราให้เหตุผลแบบนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราก็สามารถบอกได้อีกว่า สังคมนานาชาติก็ถือว่าเป็นกลุ่มชุมชนหนึ่งที่ต้องรวมตัวกัน เพื่อปกป้องรักษาสิทธิ หรือคุณค่าบางอย่างร่วมกันด้วย โดยเฉพาะในเรื่องความสงบระหว่างประเทศ ที่หากเรามีหรือไม่มีคุณค่าที่พื้นฐานที่สุดนี้แล้ว การจะรักษาสิทธิที่ซับซ้อนกว่าตามความเชื่อของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไปนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

จะมีสิ่งใดที่ทำลายความสงบสุขได้มากไปกว่าการสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐบาล เช่นการดักกรองข้อมูลการสื่อสารของเหล่าผู้นำนานาประเทศนี้ ดังนั้น การเข้าแทรกแซงสิทธิส่วนบุคคลของคนในชาติอื่น จะสั่นคลอนคุณค่าในเรื่องความสงบสุขที่ชุมชนนานาชาติมีหน้าที่ต้องร่วมกันปกป้อง และเมื่อคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวถูกสั่นคลอน คุณค่าในเรื่องชีวิต ทรัพย์สินต่างๆ ของคนในชาติเอง ก็ยังตกอยู่ในแดนอันตรายไปด้วย

ดังนั้น นโยบายดักกรองข้อมูลที่แม้ไม่ได้พุ่งไปยังคนในชาติ ก็น่าจะไม่ชอบในแง่จริยธรรม ถ้าเราเชื่อว่าสิทธิความเป็นส่วนบุคคลเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ คนชาติอื่นเป็นมนุษย์ ดังนั้น คนชาติอื่นมีสิทธิเต็มที่ที่ควรได้รับความเคารพ แต่หากเราเชื่อในคุณค่าพื้นฐานที่ชุมชนต้องรวมหมู่กันปกป้อง เราก็ไม่ควรลืมชุมชนนานาชาติ ที่กำลังทำหน้าที่ปกป้องสภาวะพื้นฐานที่ทำให้ชาติแต่ละชาติสร้างคุณค่าแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนย่อยด้วย

โดยเฉพาะคุณค่าในเรื่องสันติภาพ ความสงบสุข ที่หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ความคิดพื้นฐานอื่นๆ ของแต่ละชุมชนย่อย ก็จะเกิดเป็นจริงขึ้นมาไม่ได้

ทีมา.Siam Intelligence Unit
--------------------------------------------

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มหาวิทยาลัยรามคำแหง: การเมืองเชิงอำนาจ !!?

โดย.พรชัย ยวนยี

หากพูดถึงสถานะการเมืองในหลายๆ พื้นที่ ในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ ที่ทุกคนล้วนอยากมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอำนาจ ยศ บรรดาศักดิ์ การงานที่ดีในอนาคต และผลประโยชน์ด้านรายได้ และการคุมพื้นที่อำนาจเสมือนมาเฟีย

เหล่าบุคคลเหล่านี้ล้วนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ฐานรากไปจนถึงระดับสูง เปรียบเสมือนพีระมิด ที่เหล่าผู้อยู่ใต้ฐานล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้อยู่ส่วนบนของฐานซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในการเชื่อมโยงถึงผู้มีอำนาจในเครือข่ายอื่นๆ ต่อไปในสังคม เช่น นักการเมือง ทหาร ตำรวจ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน

พื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ พื้นที่ ในสังคมไทย ที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจข้างต้นได้แพร่กระจายและมีผลประโยชน์มากมายในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องด้วยมีหลายๆ เงื่อนไขให้ดำรงซึ่งสภาพความสัมพันธ์ดังกล่าว

โดยเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้อำนาจดำรงซึ่งสภาพเช่นนี้ ดังเช่น สภาพความเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ที่ไม่จำกัดอายุของผู้เข้าศึกษา และรับไม่จำกัดของเหล่านักศึกษาที่อยากเข้าศึกษา และการพัฒนาเป็นชุมชนอย่างรวดเร็วในพื้นที่ดังกล่าว และอื่นๆ อีกมากมาย โดยจะอธิบายต่อไป



แน่นอนว่าหากกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจข้างต้น เป็นสิ่งที่ยากอธิบาย เนื่องด้วยไม่มีเอกสารอ้างอิงที่เป็นชิ้นเป็นอัน เสมือนงานวิจัยความรู้อื่นๆ ทั่วไป หากแต่ใช้ความใกล้ชิด และความคุ้นเคยในพื้นที่ดังกล่าว และเป็นเรื่องที่น่าสนใจในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่ออธิบายให้กระจ่างชัด จึงขอแยกออกเป็นประเด็น ดังนี้
1. อำนาจที่แตกต่าง: การเมือง พื้นที่ นักศึกษา คณาจารย์ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ด้านจำนวนนักศึกษา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีปริมาณนักศึกษาที่มากที่สุด กว่าสามแสนห้าหมื่นคน รวมทุกวิทยาเขต หากแต่ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งตั้งอยู่เขตหัวหมาก ก็มีนักศึกษากว่าแสนคน ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้แยกออกไปตั้งศูนย์ใหญ่อีกแห่ง คือ เขตบางนา ซึ่งเหล่านักศึกษาต้องเรียนทั้งสองแห่งตามรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน เนื่องด้วยปริมาณนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

ด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ทำให้ไม่จำกัดจำนวนนักศึกษา ไม่จำกัดอายุนักศึกษา และสามารถเรียนได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดจำนวนปีในการศึกษา แม้ว่าจะมีระเบียบให้ศึกษาได้แค่ 8 ปี แต่ก็สามารถโอนหน่วยกิตที่เรียนผ่านมาแล้วเข้าเรียนในปี 1 ใหม่ได้ เปรียบเสมือนเรียนปี 9 ก็สามารถทำได้ ทำให้มีคนทุกรุ่นเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้

ด้านการเมือง ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการเลือกตั้งอธิการบดีเอง ตามสัดส่วนประชาคมในมหาวิทยาลัย คือ คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ในสัดส่วน 1:1:1 และมีการเลือกตั้งประธานองค์การนักศึกษาเฉกเช่นมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่มีความเข้มข้นมากกว่า ดังจะอธิบายต่อไป

ด้านนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการจัดการโดยแยกออกเป็นองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา พรรคนักศึกษา ชมรมนักศึกษากว่า 60 ชมรมและซุ้มนักศึกษากว่า1,000 ซุ้ม โดยชมรมนักศึกษาและซุ้มนี้ อาจแบ่งตามความสนใจของเหล่านักศึกษา เช่น ซุ้มตามบ้านเกิดของต้น ซุ้มตามภูมิภาคของตน หรือแบ่งตามความเชื่อและความสนใจของตน เช่น ชมรมพัฒนาค่ายอาสามหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรุมมุสลิม หรืออาจเป็นซุ้ม เช่น ซุ้มสุราษฎร์ธานี ซุ้มกลุ่มคนรักศิลปะ เป็นต้น

ด้านงบประมาณ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่มีงบประมาณมาก ทั้งจากการช่วยเหลือของรัฐบาลเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่อีกด้านหนึ่งได้จากการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา ซึ่งมีปริมาณเยอะมากเมื่อเข้าศึกษาแต่ละภาคการศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก

จากที่กล่าวมาข้างต้น ในอำนาจที่แตกต่างทั้งด้านการเมือง พื้นที่ นักศึกษา คณาจารย์ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์เพื่อพึ่งพากัน เช่น ในการเหลือกตั้งอธิการบดี พรรคนักศึกษาที่ได้คุมองค์การนักศึกษาคือตัวแปรสำคัญในการหาเสียงให้กับผู้สมัครในตำแหน่งอธิการบดี

และในขณะเดียวกันหลังได้เป็นอธิการบดีก็ต้องช่วยเกื้อหนุนทั้งด้านงบประมาณลับและด้านอื่นๆ ต่อกลุ่มที่ช่วยเหลือหลังได้เป็นอธิการบดี เสมือนการคอรัปชั่น ในขณะเดียวกันชมรมและซุ้มที่ให้การช่วยเหลือองค์การนักศึกษา ก็ได้ผลประโยชน์โดยการได้งบประมาณเยอะขึ้นในการทำกิจกรรมของชมรมหรือซุ้ม ในปีงบประมาณที่พรรคนักศึกษาที่กลุ่มตนให้การสนับสนุนหลังได้ควบคุมองค์การนักศึกษา

สิ่งเหล่านี้ คือลูกโซ่เชิงอำนาจของการเมืองในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ ตลอดจนถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ที่กล่าวมายังไม่พอ ยังมีการเมืองภายนอกพื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป



2. อำนาจที่แตกต่าง: พื้นที่ย่อยล้อมรอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง

หากพูดถึงการสร้างชุมชนในเขตหัวหมาก โดยเฉพาะถนนรามคำแหงนั้น ต้องยอมรับว่าสภาพความเป็นชุมชนใหม่นี้ เกิดขึ้นจากการสร้างมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นจุดหลัก ทำให้เกิดชุมชนใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านศูนย์กลางอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตลอดถนนเส้นนี้มีปฏิสัมพันธ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนธุรกิจ และวัฒนธรรม

ด้านภาครัฐ จะเห็นสภาพอำนาจที่เข้าไม่ถึงพื้นที่เขตมหาวิทยาลัยรามคำแหง เช่น การไม่สามารถจัดการกับทางเดินเท้า ในการเปิดให้มีร้านขายของตลอดเส้นทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้เกิดปัญหาการจราจร ที่ถือว่าเป็นเส้นที่รถติดมากที่สุด โดยเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็นในวันและเวลาทำงาน และเป็นเส้นที่มีรถเมล์ผ่านมากที่สุด

ด้านภาคธุรกิจเอกชน ด้วยความเป็นชุมชนใหม่ มีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนมาก ทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ แบบไม่เป็นระเบียบ เช่น การสร้างตึกรามบ้านช่อง วินมอเตอร์ไซด์ หรือจะเป็นการสร้างหอพักในการบริการนักศึกษาที่เข้าเรียนในพื้นที่มหาวิทยาลัย และธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินแบบเสมือนตามใจตัวเอง

ด้านวัฒนธรรม ด้วยการสร้างมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีจุดประสงค์ให้คนมีรายได้น้อยได้ศึกษาเข้าเรียน ทำให้นักศึกษาส่วนมากมาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจากภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งมีในปริมาณมากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ทำให้มีความเป็นพหุวัฒนธรรมมาก และมีการดูแลกลุ่มตนเองตามแบบฉบับของตน

จากความสัมพันธ์ทั้งสามด้านที่ยกตัวอย่างมา จะเห็นได้ว่าสภาวะที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง และการโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเอกชน ทำให้ความสัมพันธ์ไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดการจัดการโดยคนที่อาศัยล้อมรอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยการเกิดผู้เจรจา ตัวแทน จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของมาเฟีย ผ่านการจ่ายส่วย

เช่น การขายของริมฟุตบาท ที่ภาครัฐไม่สามารถเจรจาได้ จึงปล่อยเลยตามเลย และเป็นหน้าที่ของเหล่ามาเฟีย ในการจัดการ หรือจะเป็นการสร้างหอพัก ที่ถึงแม้จะขออนุญาตจากภาครัฐแล้วยังต้องขออนุญาตจากผู้มีอำนาจในพื้นที่หรือมาเฟียนั้นเอง


3. พีระมิดการเมือง: จากฐานรากสู่ปลายส่วนบน: การเมืองนักศึกษา-มาเฟียท้องถิ่น-การเมืองระดับชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นความสัมพันธ์ที่มีมิติของการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันสูง ผ่านการจัดการที่ลงตัว ที่แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างแต่ก็ยังถือว่าเล็กน้อย เช่น การเลือกพรรคเข้าควบคุมองค์การนักศึกษา ล้วนได้รับการสนับสนุนจากมาเฟียท้องถิ่น หรือนักการเมืองระดับชาติ

ซึ่งมาเฟียท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์โดยการควบคุมองค์การรามคำแหงอีกทอดหนึ่ง เช่น คนที่เป็นประธานองค์การรามคำแหง อายุมากเมื่อเทียบกับวัยศึกษา ซึ่งคนที่เลือกอาจเป็นมาเฟียก็เป็นได้(ทัศนะของผู้เขียน) ผ่านการจัดการการเลือกตั้งอธิการบดี ที่จะได้งบประมาณหรือเงินใต้โต๊ะ หรืองบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์หรือตึกภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง

และฐานความถูกต้อง ปกป้องตัวเองจากกฎหมาย ของกลุ่มมาเฟีย ผ่านการให้การคุ้มครองโดยนักการเมืองท้องถิ่น หรือนักการเมืองที่เคยศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงในอดีต และปัจจุบันใหญ่โต ซึ่งเอื้องบประมาณให้กับพรรคในมหาวิทยาลัยที่ตนสังกัดในอดีตหรือชมรม ซุ้ม ซึ่งเอื้อผ่านการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองตนในระดับชาติ

การควบคุมกันเป็นชั้นๆ อย่างมีนัยยะนี้ น่าสนใจที่ว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัยทีมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับชาติเกือบทุกเหตุการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านมาระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 1 ธันวาคม 2556 และเป็นสถาบันที่มีความใกล้ชิดทางการเมืองระดับชาติอย่างสูง เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในสังคมไทย

แน่นอนว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับชาติของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่มีทั้งเป็นไปด้วยเจตนา บริสุทธิ์และน่าภาคภูมิใจ แต่บางกลุ่มบางพวกเจตนาแฝงไปด้วยผลประโยชน์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเกื้อกูลกันเป็นลำดับชั้น เช่น ฐานพีระมิด ซึ่งคงสภาพปัญหาให้เป็นเช่นนี้ นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรปฏิรูปเพื่อสร้างประชาสังคมมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การค้าชายแดน ทะลุ1ล้าน ล.

สัมภาษณ์พิเศษ 'สุรศักดิ์ เรียงเครือ' อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบและบริหารการนำเข้า-ส่งออกสินค้า แก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อ กีดกันทางการค้า เพื่อทำให้ผู้ส่งออกมีช่องทางการส่งออกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปกป้องไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้ามาอย่างผิดกฎ ระเบียบจนทำลายผู้ประกอบการภายใน ประเทศ สุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศถึงทิศทางในอนาคตก่อนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

- เห็นว่ากรมฯจะโฟกัสการค้าชายแดนมากขึ้น?

เราจะให้น้ำหนักการค้าชายแดนมากขึ้น หากช่วงไหนมีเรื่องพิเศษเข้ามาก็ว่ากันไป แต่ถ้าไม่มีอะไรเข้ามาเราก็เอาการค้าชายแดนเป็นหลัก

- ดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง?

ปกติเรามีหน้าที่ควบคุมดูแลสินค้านำเข้า-ส่ง ออกระหว่างประเทศไทยกับทั่วโลก การค้าชายแดน เป็นสวนหนึ่งที่เราต้องดูแล สินค้าไหนที่ผ่านเข้า-ออก ประเทศไทย เราต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิด บางสินค้าเป็น สินค้านอกอาเซียนแต่มาสวมสิทธิประเทศอาเซียน ส่งเข้ามาดัมพ์ตลาดเราก็ต้องมีเครื่องมือโต้ตอบ หรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหากจะนำเข้ามาเราก็มีพระราชบัญญัติควบคุมว่าต้องมาขออนุญาตจากเรา

- หมายความว่าแม้จะเป็นเออีซีปี 58 ก็ไม่เสรี 100%?

หลักการเออีซีคือไม่มีอุปสรรคในเรื่องภาษี แต่ว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องคุณภาพและปริมาณการส่งออก-นำเข้า ซึ่งทุกประเทศจะพยายามขจัดให้น้อยลง แต่ต้องไม่ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศ เดือดร้อนจนอยู่ไม่ได้ เช่น สินค้าบางชนิดประเทศที่ผลิตได้มากก็ส่งเข้ามามาก จนเข้าข่ายดัมพ์ตลาด เราก็ต้องใช้กฎหมายแอนตี้ดัมปิ้ง กฎหมายเซฟการ์ด หรือกฎหมายซีวีดี ปกป้องการนำเข้า เหมือนที่เราเคยดำเนินการกับเหล็กและกระเบื้องที่นำเข้ามาจำนวนมาก ในขณะเดียวกันประเทศที่เขาเล่นงานสินค้าส่งออกของเรา ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบ เราก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ

- เปิดเออีซีการค้าใต้ดินจะเป็นยังไง?

นับวันจะหมดไปเรื่อยๆ เพราะว่าถ้าเราเปิดเสรีและลดอุปสรรคทางการค้า ทุกอย่างจะขึ้นมาบนดินหมด ไม่มีใครอยากค้าขายใต้ดินหรอก แต่ในอดีตกฎระเบียบไม่ชัดเจน ปัญหาอุปสรรคมาก มาย เขาจึงต้องหาวิธีหลบเลี่ยง

- มีโอกาสเปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?

เราทำเรื่องขอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติให้มีการเปิดด่านมากขึ้น อนาคต อันใกล้ด่านถาวรจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ด่านชั่วคราวจะกลายเป็นด่านถาวร ด่านที่เปิดบ้างปิดบ้างก็จะเป็นด่านชั่วคราวที่มั่นคงมากขึ้น ปัจจุบันถ้ารวมด่าน ทั้งหมดรอบประเทศเรามีเกือบ 100 ด่าน ต่อไปเป็นเออีซี ไม่มีชายแดนเลย จะเป็นผลดีกว่านี้

- ปี 57 มิติใหม่จะเห็นอะไรก่อน?

ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ปัจจุบันเรามีสำนักงานในแนว ชายแดนประมาณ 10 แห่ง ผมวางแผนจะเอากำลัง คนไปลงมากขึ้น ซึ่งเริ่มทำแล้ว

- มูลค่าการค้าชายแดนเติบโตมากน้อยแค่ไหน?

ปีนี้มูลค่าการค่าเติบ โตในภาวะที่น่าพอใจ แม้จะไม่มากเท่าไหร่แต่ถือว่าน่า พอใจในภาวะแบบนี้ เนื่องจากการค้าต้องอิงกับเศรษฐกิจโลก ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัว เศรษฐกิจ อื่นก็ถึงกันหมด ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาถึงแม้จะมีปัญหาชายแดนการขัดแย้งต่างๆ แต่ดูแล้วไม่มีอะไรมาก บรรยากาศยังเป็นไปตามปกติ ประชาชน ที่ค้าขายกันอยู่เขาก็ไม่ได้ตระหนกตกใจ

- มูลค่าปีนี้จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทไหม?

เป็นเป้าที่เราตั้งไว้ ถ้าไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจโลก ถึงไปตั้งนานแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าเรานับสินค้าเข้า-ออกที่ไม่ได้แจ้งทางการตัวเลขทะลุ 1 ล้านล้านบาท แล้ว แต่ผมพูดถึงมูลค่าการค้าที่แจ้งตัวเลขอย่างเป็นทางการ

- เมื่อไหร่จะทะลุ 2 ล้านล้านบาท?

ปีนี้ทะลุ 1 ล้านล้านก่อน หลังจากนั้นอีก 3-4 ปี น่าจะทำได้

- ไทยทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ มีคนมาใช้สิทธิหรือ เปล่า?

ปัจจุบันเรามีเอฟทีเอประมาณ 10 ข้อ ตกลงกับทั่วโลก หน้าที่ของกรมฯคือทำยังไงให้ผู้ประกอบการมาใช้สิทธิมากขึ้น ตอนนี้น่าจะอยู่ประมาณ 70% แต่ก็มีการส่งออกไปบางประเทศยังใช้ไม่ถึง 70% เอฟทีเอ เป็นประโยชน์มหาศาล ถ้าไม่มีข้อตกลงเอฟทีเอต้องเสียภาษี 10-20% พอมีข้อตกลงเหลือ 0-5% ซึ่งอุตสาหกรรมใหญ่ๆ จะรู้ แต่อุตสาหกรรม ขนาดกลางและขนาดย่อมบางแห่งไม่รู้ว่ามีข้อตกลง หลงจ่ายภาษีเท่าเดิมมาตั้งนาน บางแห่งคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เลยไม่มาใช้ กรมฯ ก็ต้องทำอุปสรรคที่เขาคิดว่ายุ่งยากให้น้อยที่สุด เช่น ขยายพื้นที่ บริการให้มากขึ้น

- เอฟทีเอไทย-อียูจะเรียบร้อยเมื่อไหร่?

พยายามให้เร็วที่สุด เพราะอียูจะตัดสิทธิภาษี จีเอสพีกับสินค้าไทยหลายรายการ เนื่องจากเราไม่มี คุณสมบัติที่จะได้รับจีเอสพีแล้ว เพราะเป็นประเทศ ที่มีรายได้ต่อหัวปานกลางขึ้นมาแล้ว พูดง่ายๆ คือเริ่มรวย สิทธิจีเอสพีเขาจะให้กับประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งถ้ามีเอฟทีเอเราก็หันมาใช้สิทธิทางภาษีจากข้อตกลง เอฟทีเอแทน ตอนนี้มีสินค้าบริการบางประเภทเท่า นั้นที่ยังเจรจาไม่ลงตัว ใช้เวลาไม่นานคงจะเรียบร้อย

- รู้สึกยังไงกับตัวเลขส่งออกปีนี้ของไทย?

ผมไม่อยากให้มองว่าปีนี้ส่งออกเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ถ้าไม่ถึง 7% แสดงว่าไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่อย่างนั้น ควร มองสัมพันธ์ในเชิงเปรียบมากกว่า ถ้าเศรษฐกิจโลก ไม่ดี ผู้ซื้อไม่มีกำลังซื้อ เราทำงานเก่งแค่ไหนก็บังคับ ให้เขาซื้อไม่ได้ ในขณะเดียวกันต้องดูประเทศอื่นเปรียบเทียบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ติดลบทั้งนั้น ถ้าเราทำได้แค่ 0% หรือ 0.5% ก็ชนะทุกคนแล้ว เป้าก็คือเป้า แต่ความเป็นจริงก็คือความเป็นจริง

- การระบายข้าวจะทำยังไง?

เหมือนที่ท่านรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าเราเร่งระบายอย่างต่อเนื่อง มีการลงนามกับจีนและอีกหลายประเทศ ทั้งซื้อเป็นเงินสด ทั้งบาเตอร์เทรดเช่นข้าวแลกรถไฟฟ้า

- โครงการข้าวแลกน้ำมันเป็นไปได้หรือเปล่า?

ผมมองว่าอะไรก็ตาม ถ้าเราได้ประโยชน์ก็น่า จะทำ แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้อาจเป็นเพราะตกลงราคา กันไม่ได้ หรือเป็นเรื่องที่ไม่ได้เปิดเผยทำให้คนสงสัย ถ้าทำอย่างโปร่งใส ทุกคนรู้หมด มีหน่วยงานกลางเข้ามาตรวจสอบก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การปฏิวัติการเมืองไทย : ภายใต้อำนาจ คุณธรรม !!

โดย : เรืองยศ  จันทรคีรี

เรื่องราวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ถือเป็นไฮไลท์ที่ต้องกล่าวถึงและพูดถึงไปอีกนาน มิใช่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เฉพาะแวดวงวิชาการหรือสื่อสารมวลชนไทยเท่านั้น แต่สื่อสารมวลชนระดับโลกยังกล่าวถึงด้วย

โดยข้อเท็จจริงแล้วการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ บางคนเห็นว่าน่าจะทำให้พอใจทุกฝ่าย เพราะคู่ขัดแย้งต่างได้ประโยชน์จากคำพิพากษา ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หรือจะเรียกว่าฝ่าย “ระบอบอำมาตย์” ก็พึงพอใจ เนื่องจากอย่างน้อยก็สามารถสกัดความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับพรรคเพื่อไทยแม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญเตะสกัดโดยไม่มีใบแดงหรือใบเหลือง และยังไม่ถูกยุบพรรคการเมือง ทั้งบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ถูกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ถูกถอดถอนพ้นจากสมาชิกภาพ

เมื่อมองอย่างเผินๆอาจเข้าใจว่า ฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลตลอดจนมวลชนที่สนับสนุนน่าจะพึงพอใจระดับหนึ่ง

แต่ถ้ามองในเบื้องลึก เรื่องราวครั้งนี้มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย และหลายคำถามก็ยังหาคำตอบไม่ได้?

เป็นต้นว่า การห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหลักการทางกฎหมายแล้วศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตราใดของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างและอำนาจในการตัดสิน

คำถามที่ติดตามมาอีกคือ ข้อสงสัยว่าปฏิบัติการครั้งนี้เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจของประชาชนมาอ้างอิงเพื่อสถาปนาอำนาจของตัวเองเพิ่มขึ้นหรือไม่

ข้อนี้ดูจะเป็นธรรมชาติของศาลรัฐธรรมนูญไปเสียแล้ว เนื่องจากการตัดสินคดีสำคัญๆทางการเมือง นอกจากจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแล้ว ในแต่ละครั้งก็ดูเหมือนจะใช้ช่วงจังหวะสถาปนาอำนาจของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อำนาจที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จึงเป็นข้อน่าสงสัยว่าจะนำไปสู่ข้อสรุปอะไรในอนาคต?

ในคำพิพากษาดังกล่าวมีเหตุผลตอนหนึ่งระบุว่า …การแก้ไขให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งเท่ากับเป็นการทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญ จะทำให้อำนาจทางการเมืองเข้าไปครอบงำการทำงานของสมาชิกวุฒิสภาได้ ถือเป็นการเสียหายต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำเช่นนี้นอกจากเป็นอันตรายของการใช้เสียงข้างมากแล้ว ยังเท่ากับเป็นการนำบ้านเมืองถอยหลังเข้าคลอง…

ตรรกะง่ายๆตรงนี้แปลความง่ายๆได้ว่า การแก้ไขให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าจะเป็นการนำบ้านเมืองถอยหลังเข้าคลอง และโดยนัยกลับกัน ต้องมี ส.ว. จากการแต่งตั้งที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร เท่ากับนำบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าสู่ความทันสมัยของโลก

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญอ้างตรรกะเช่นนี้ก็ต้องสรุปออกมาอย่างนี้

ฝ่ายที่เห็นต่างกับศาลรัฐธรรมนูญและวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่เกรงอกเกรงใจก็ให้ความเห็นอย่างรุนแรงว่า เป็นการ “รัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ” แสดงว่าอำนาจตุลาการเป็นอำนาจในด่านสุดท้ายที่ยังเป็นกลไกเกี่ยวเนื่องจากฝ่ายอำนาจนิยมหรืออำนาจรัฐประหารนั่นเอง

เหตุผลของแต่ละฝ่ายและการทำใจยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ไม่สนิทใจนัก จนกระทั่งมีบางเสียงเห็นว่าการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เท่ากับเป็นการ “สถาปนาอำนาจของตัวเอง” เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ใช้หลักการของกฎหมายเป็นหลัก เพราะไม่มีข้ออ้างอิงในมาตราใดๆจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเลย และไม่มีรัฐธรรมนูญข้อใดที่ระบุห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ลงท้ายแล้วก็ต้องบอกว่าอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้นั้นไม่ใช่อำนาจของกฎหมายตามตัวหนังสือในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซ้ำยังไม่ใช่เหตุผลและหลักการที่ยึดถือตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐอีกด้วย

จึงมีคำถามว่าแล้วเป็นหลักการและเหตุผลอะไร?

ข้อนี้ต้องตอบว่าหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเอามาใช้คือ หลักความเชื่อ เป็นความเชื่อที่ระบุว่าการทำหน้าที่ของตัวเองเป็นหลักคุณธรรมอันสูงสุด จึงเป็นอำนาจเหนือฟ้าเหนือดินที่ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงอะไรอีกแล้ว!

มันจึงเป็นหลักของคุณธรรมและความวิเศษ ซึ่งบางคนวิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ได้แทรกแซงเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังก้าวก่ายล่วงเกินไปถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อีกด้วย!

ดังนั้น หลักการที่เหนือกว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องเป็นหลักแห่งคุณธรรมและหลักความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นอำนาจของเทวดาที่เหนือฟ้าเหนือดินและเหนือทุกสรรพสิ่งในโลกนี้

                ลงท้ายแล้วต้องนิยามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนว่า เป็นการปฏิวัติทางการเมืองในประเทศไทยโดยอำนาจของกลุ่มเทวดา ภายใต้หลักเหตุผลของคุณธรรมและความวิเศษ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบคุณธรรมทางการเมืองแห่งแรกในโลกนี้

อาจเปรียบเทียบได้กับความศักดิ์สิทธิ์และความขลังระดับปรัชญาทางการเมืองประชาธิปไตยแบบกรีกและโรมันโบราณ กล่าวคือ ทั้งกรีกและโรมันเป็นตำนานของประชาธิปไตยทันสมัยในยุคอดีตอันไกลโพ้นมานับพันๆปี ส่วนประเทศไทยก็เป็นการปกครองระบอบคุณธรรมที่อ้างอิงอยู่กับความโบราณและเก่าแก่อันศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยปัจจุบันแห่งเดียวในโลก

การปฏิวัติโดยอำนาจของเทวดาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ภายใต้ระบอบคุณธรรมอันวิเศษ จึงถือเป็นการปฏิวัติด้วยระบอบคุณธรรมเป็นครั้งแรกของมวลมนุษยชาติ

ต่อให้ใครตายแล้วเกิดใหม่อีก 10 ชาติก็คงหาไม่ได้อีกแล้วปรากฏการณ์ระดับโลกเช่นนี้ เพราะมีอยู่เพียงประเทศเดียวเท่านั้นคือประเทศไทยที่ยังเป็นดินแดนสนธยา

เมื่อมีคุณธรรมสูงสุดแล้ว บรรดาหลักการและเหตุผลใดๆก็ไม่มีความหมาย จึงป่วยการที่จะหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน เพราะทุกอย่างดำรงอยู่ด้วยความเชื่อที่เป็นสรณะ

ความเชื่อทั้งหมดจึงเป็นโซ่ตรวนผูกมัดความเป็นอิสระทางความคิดให้ผู้คนต่างพากันสำนึกและต้องเชื่อในระบอบคุณธรรมของอำนาจเทวดา

เมื่อเชื่อว่าตัวเองอยู่กับฝ่ายคุณธรรมสูงสุดแล้ว จะทำอะไรก็ไม่เป็นอะไร

เมื่อระบอบคุณธรรมเป็นอย่างนี้ อำนาจของเทวดาก็จะสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป!

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
------------------------------------------

จบอย่างไรก็หายนะ !!?

 ไม่ได้เหนือความคาดหมายที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำต้านระบอบทักษิณ จะประกาศเผด็จศึกให้ได้ภายในวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคมนี้ให้ได้ เพราะเชื่อว่าคนที่ระดมมาจากภาคใต้และคนกรุงเทพฯ จะออกมาเป็นแสนอีกครั้ง หลังจากวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งมีประชาชาทั้งที่ระดมจากภาคใต้และคนกรุงเทพฯมาร่วมเป็นแสน แต่ก็ ไม่สามารถกดดันจนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกลาโหมให้ลาออกไม่ได้

                นายสุเทพและแกนนำจึงต้องเปลี่ยนมาใข้ยุทธวิธีดาวกระจายอย่างที่พันธมิตรเสื้อเหลืองเคยใช้ แต่เพิ่มระดับความรุนแรงเป็นการยึดกระทรวงและศาลากลางจัหงวัด เพื่อให้เป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าได้ยึดอำนาจบริหารจากรัฐบาลแล้ว

                แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงใดๆ เพื่อไม่ให้นายสเทพนำไปใช้ปลุกระดมยกระดับให้ประชาชนโกรธแค้นและออกมามากยิ่งขึ้น

                นายสุเทพจึงไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ จากรัฐบาล เพราะเป็นจุดสุดท้ายที่ชี้ชะตานายสุเทพเช่นกันว่าจะแพ้หรือชนะ การทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ไทยสปริง” พร้อมๆ กับการเพิ่มระดับความรุนแรงด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาลที่เป็นศูนย์อำนาจของรัฐบาลจึงเป็นมาตรการเผด็จศึก เช่นเดียวกับที่พันธมิตรเสื้อเหลืองทำมาแล้ว

                จึงไม่แปลกที่การประกาศตั้งเป็น “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)” จะมีบรรดาแกนนำที่เปิดตัวบนเวทีล้วนเป็นแกนนำพันธมิตรเสื้อเหลืองที่เคยเคลื่อนไหว แม้นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือน.ต.ประสงค์สุ่นศิริ ฯลฯ จะไม่ขึ้นบนเวที แต่ก็รู้ดีว่ามีส่วนสำคัญในการวางแผนและติดต่อกับผู้มีอำนาจที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ข้อเสนอทางออกมากมายของนักวิชาการไม่ว่าจะเอียงไปข้างไหน หรือกลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ จึงไม่มีความหมายขณะนี้  เพราะสถานการณ์ถึงจุดแตกหักแล้ว

ถ้ารัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรง ม็อบก็จะเข้ายึดสถานที่สำคัญ รวมทั้งทำเนียบรัฐบาลได้ แต่ถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม นายสุเทพและแกนนำก็จะถูกนำไปขยายผลเพื่อประณามรัฐบาลว่าขาดความชอบธรรมและกดดันให้กองทัพออกมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน หรือโดยใครก็ตาม เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเข้ากับแผนของแผนของนายสุเทพที่จะให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ

สถานการณ์ขณะนี้ รัฐบาลจึงมีแต่นับถอยหลัง  เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็ไม่มั่นใจว่ากองทัพจะออกมาเผชิญหน้ากับประชาชนหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าเบื้องหลังของอำนาจยังมีคนที่มีอำนาจ (หน้าเดิมๆ) อยู่เบื้องหลังซึ่งทุกฝ่ายทราบดี

สถานการณ์วันนี้จึงจบแน่ แต่จะจบอย่างไรนั้น บ้านเมืองก็มีแต่หายนะ ไม่ว่าจะถอยหลังเข้าคลองหรือตกเหวไปเลย

เพราะกลียุคเกิดขึ้นแล้ว เมื่อบ้านเมืองไม่มีกฎกติกา นอกจากกฏกติกของพวกกูเท่านั้น !

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
-------------------------------

แถลงการณ์ : กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลหนุนรัฐบาลไม่ยุบสภา.

แถลงการณ์กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

เรื่อง เรียกร้องรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของปวงชนชาวไทยจงกำแน่นถือครองอำนาจรัฐไว้อย่างมั่นคงเพราะมีความชอบธรรมเต็มเปี่ยมตามหนทางประชาธิปไตย

เนื่องมาจากมีกลุ่มคนอ้างเหตุความวุ่นวายและแนวโน้วการก่อจลาจลกดดันให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาและลาออก กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจึงมีข้อเสนอต่อเรื่องนี้ดังนี้

1.เนื่องจากรัฐบาลและรัฐสภานี้ มาจากการเลือกตั้งวาระ 3 กรกฎา 2554 อันเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการอุทิศเลือดเนื้อชีวิต , การทุพลภาพ , การสิ้นไร้อิสระภาพ , และการต้องคดีความ รวมทั้งการบ้านแตกสาแหรกขาดของประชาชนในจำนวนมหาศาล ที่ออกมาต่อสู้เมื่อปี 2553 และเสียงที่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยได้ชนะเลือกตั้งก็เกินกว่า 15 ล้านเสียง การยุบสภาเท่ากับการไม่คำนึงถึงคุณค่าของขบวนการประชาชนที่ทุ่มเทในครั้งนั้น และถือเป็นการไม่เคารพเจตนารมณ์เสียงส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการได้รัฐบาลที่มีความสามารถนำพาประเทศออกจาก วิกฤตการเมืองการปกครอง วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตประชาชน อันเป็นผลของการรัฐประหาร 19 กันยา 2549

2.นโยบายข้อสำคัญที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในสนามเลือกตั้ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นภาระกิจสำคัญสูงสุดในทางปฏิบัติที่จะนำประเทศออกจากวิกฤตอย่างเป็นรูปธรรมยังไม่บรรลุ รัฐบาลต้องอยู่ทำหน้าที่ที่ค้างคาและมีความสำคัญสูงสุดนี้ลุล่วงก่อนหมดวาระ 4 ปี ให้จงได้

3.ในสถานการณ์ความวุ่นวายจากกลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ การยุบสภาไม่ใช่หนทางออกที่จะยุติความโกลาหลนี้ได้ เพราะกลุ่มผู้แสดงตัวเป็นกบฏกลางกรุงเทพโดยเสนอโครงสร้างการปกครองใหม่ที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีระบบรัฐสภาและพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ประกาศยืนยันหลายครั้งต่อสาธารณะว่า แม้ยุบสภาหรือคณะรัฐบาลจะลาออกเขาก็จะยังไม่หยุด เพราะเป้าหมายแท้จริงของพวกเขาคือต้องการโค่นล้มสิ่งที่พวกเขาเรียกกันเองว่าระบอบทักษิณ และไม่ต้องการให้ครอบครัวชินวัตรยังหลงเหลือเครือข่ายอยู่บนแผ่นดินไทย
และผนวกกับโครงสร้างอันซ้อนเหลื่อมของการเมืองไทยที่ปนเปกันไประหว่างอำนาจตามรัฐธรรมนูญและอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ที่คนไทยทั้งชาติเคยมีประสบการณ์ร่วมกันมาแล้ว จึงไม่มีหลักประกันใดยืนยันว่า เมื่อยุบสภาแล้วรัฐบาลรักษาการจะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่กำหนดตามกฏหมาย

4.ประชาชนที่กล้าหาญออกมาต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยา 2549 แล้วพลาดพลั้งตกเป็นนักโทษการเมืองอยู่ในเรือนจำหลายแห่งภายใต้นโยบายผู้ต้องคดีการเมืองและเรือนจำการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง จะอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่นโยบายนี้อาจถูกเลิกล้มไปหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยุบสภา แล้วมีกลไกอันวิปริตสร้างรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นตามแนวทางที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอต่อสาธารณะ ผู้กล้าหาญที่ประเทศประชาธิปไตยควรยกย่องแต่ต้องตกอยู่ในคุกการเมืองขณะนี้ อาจถูกส่งกลับไปจองจำในสถานที่ยัดเยียดแออัดราวกรงขังสัตว์ แทนที่จะคืนเกียรติยศศักดิ์ศรีให้พวกเขาตามอุดมคติของสังคมประชาธิปไตยและอำนาจรัฐของพรรคการเมืองที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ

5.จากการเรียกร้องให้ยุบสภาของนักวิชาการบางกลุ่ม และในที่ประชุมอธิการบดี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากรัฐบาลคล้อยตามเท่ากับปล่อยให้ ทฤษฎี "2 นัครา ประชาธิปไตย" อันหมายถึง ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดเลือกพรรคการเมืองตั้งรัฐบาล แล้วถูกเสียงส่วนน้อยในกรุงเทพมาล้มรัฐบาล นั้นจะทวีความเลวร้ายขึ้นเป็น ทฤษฎี "2 ชนชั้น ประชาธิปไตย" อันหมายถึง เสียงส่วนใหญ่จากชนชั้นรากฐานของประเทศเลือกพรรคการเมืองเพื่อตั้งรัฐบาล แล้วถูกนักวิชาการปัญญาชนชั้นกลางส่วนน้อยล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถตีความถึงอำนาจในการปกครองตนเองของปวงชนชาวไทยนั้น ถอยห่างจากอุดมคติประชาธิปไตยสมบูรณ์ไปไกลขึ้นทุกวัน

6.การประชุมของรัฐสภาในสมัยสามัญที่ผ่านมา ได้มีการผ่าน พรบ.อนุมัติกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟรางคู่ความเร็วสูง ซึ่งจะนำความเปลี่ยนแปลงทางบวกครบด้าน กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลเชื่อมั่นว่า มีแต่รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายก้าวหน้าเท่านั้น ที่จะใช้เงินกู้นี้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยยุบสภา อาจมีการแทรกซ้อนทางการเมืองทำให้พรรคประชาธิปัตย์ที่ชูนโยบายอนุรักษ์นิยม หรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยมมากกว่า นำเงินกู้นี้ไปใช้ผิดเป้าหมายและสร้างหนี้สินรายหัวให้ประชาชนแบกรับเหมือนที่ผ่านๆมา

ดังนั้นกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลขอให้รัฐบาลจงยืนหยัด ใช้อำนาจรัฐที่ยึดโยงจากประชาชน ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้อย่างมั่นคง

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล
ผู้ประสานงานหลัก
สุดา รังกุพันธุ์
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
29 พฤศจิกา 2556

ที่มา.ประชาไท
-----------------------------------------------

เศรษฐกิจและการเมืองตกต่ำ ฉุดค่าเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.14/16 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวเทียบกับระดับปิดตลาดวันพุธที่ (27/11) ที่ 32.13/16 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดตลาดในช่วงเช้า ค่าเงินบาทก็ขยับอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปแตะระดับ 32.20 บาท/ดอลลาร์ หรือ 0.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวานนี้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% พร้อมระบุถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคมลดลง 4.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 2.90% ในเดือนกันยายน ซึ่งลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน อีกทั้งยังได้ปรับลดคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในปี 2556 หดตัว 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5-0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตไม่สูงมาก นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ในส่วนของตลาดต่างประเทศ มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาของทางสหรัฐ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสิ้นสุดวันที่ 23 พฤศจิกายน ลดลงเกินคาด 10,000 ราย สู่ 316,000 ราย และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 330,000 ราย ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปลายเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 75.1 จาก 73.2 ในเดือนตุลาคม โดยสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ 73.5 และดัชนีผูเจัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโกเดือนพฤศจิกายนลดลงสู่ระดับ 63.0 จาก 65.9 ในเดือนก่อน แต่ยังสูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 60.0 อย่างไรก็ดี วันนี้ตลาดเงินสหรัฐหยุดในวันทำการเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างวันอยู่ที่ 32.12-32.21 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.13/15 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3570/72 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 1.3604/06 ดอลลาร์/ยูโร เหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายสัปดาห์นี้อยู่ที่ประเด็นการเมืองของประเทศใหญ่ ๆ ในยูโรโซน ฝั่งประเทศอิตาลี วุฒิสภาอิตาลีประกาศถอดถอนนายชิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้ หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาโกงภาษี ซึ่งการขับนายแบร์ลุสโคนีออกจากรัฐสภาจะส่งผลให้สถานการณ์การเมืองมีความตึงเครียดมากขึ้นและเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปเศรษฐกิจอิตาลี อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกระยะสั้นของภูมิภาคยูโรโซนคือข้อตกลงทางการเมืองของประเทศเยอรมนี โดยพรรคอนุรักษ์นิยมของนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้บรรลุข้อตกลงกับพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยรัฐบาลใหม่นี้อาจสามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 1.3562-1.3617 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3606/09 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 102.15/17 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดวานนี้ที่ระดับ 101.77/78 เยน/ดอลลาร์ อันเป็นผลจากการให้ความเห็นของนางซายูริ ชิราอิ กรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่กล่าวว่าบีโอเจควรพิจารณาการขยายมาตรการกระตุ้นทางการเงินออกไปอีก ถ้าหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นและระดับราคาเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต่างจากระดับคาดการณ์ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ อยู่ที่ระดับ 101.91-102.27 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 102.17/19 เยน/ดอลลาร์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.8/5.0 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 12.0/15.0 สตางค์/ดอลลาร์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

ห่วงปปช.ไต่สวน 312 ส.ส.-ส.ว.สภาบริหารไม่ได้ !!?

นักวิชาการระบุป.ป.ช.ชี้มูลความผิด312ส.ส.-ส.ว.มีผลต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะไต่สวนเสร็จไม่ครบองค์ประชุมสภาบริหารไม่ได้ เป็นเกมที่ถูกวางไว้

นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นในกรณีการยื่นถอดถอนส.ส.และส.ว.ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า กระบวนการยื่นถอดถอนในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)จะมีการชี้มูลได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาป.ป.ช.ได้มีการทำงานคู่ขนานกับคดีของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดี ที่ผ่านมาเมื่อคำร้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วป.ป.ช.ก็ได้ตั้งคณะทำงานคู่ขนานเพราะฉะนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวเสร็จ ทางป.ป.ช.ก็สามารถที่จะสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ หมายความว่ามีการตั้งเรื่องอยู่เเล้ว ทำให้เห็นว่าการทำงานของป.ป.ช.ในช่วงหลังๆจะมีการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น เพราะว่าเมื่อศาลตัดสินแล้วไม่ได้มีการชี้มูลดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดข้อกังขา ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเรื่องที่ป.ป.ช.ได้ปรับปรุง

แต่ในขณะเดียวกันต้องระมัดระวังประเด็นทางการเมืองต้องอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจด้วยว่าการชี้มูลโดยเร็วนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องการกลั่นแกล้งทางการเมือง การชี้มูลจะต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหลักฐานองค์ประกอบต่างๆ ส่วนคำวินิจฉัยของศาล ก็เป็นในแง่ของคำวินิจฉัย ซึ่งจะผิดหรือไม่ผิดมีมูลหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่างๆที่ทางป.ป.ช. จะไปรวบรวมมาเพราะฉะนั้น ตัวหลักฐานต่างๆจะเป็นตัวกำหนดเเละอธิบายให้กับประชาชนว่าอะไรคือข้อเท็จจริง สุดท้ายแล้วถ้าหากป.ช.ช.ชี้มูลและมีการนำเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้เป็นที่ปรากฏคลายข้อสงสัย ปัญหาก็อาจจะน้อยลงในทางการเมือง

อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่าเป็นการทำการขัดรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะไปรวบรวมหลักฐานมา และท่ามกลางสถานการณ์ความขัดเเย้งทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุ การชี้มูลของป.ป.ช.จะต้องจะต้องระมัดระวัง ต้องครบถ้วนในหลักฐาน

หากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดของส.ส.และส.ว.จำนวน 312 คน ต่อไปก็เป็นเรื่องทางกฏหมาย ที่ผู้ที่ถูกคดีต้องไปต่อสู่กันในชั้นศาล ระหว่างการต่อสู้ในั้นศาลในกฏหมายก็ระบุชัดเจนว่าให้ยุติการปฏิลบัติหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือส.ส.จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และรัฐสภาจะต้อหาทางออกใหม่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้การทำงานของสภาต้องหยุดชะงัก ซึ่งเคยมีเกิดขึ้นแล้วในกรณีที่ป.ป.ช.ชี้มูลก็ต้องกลับไปดูแนวปฎิบัติเดิม เพียงแต่ว่าคราวนี้จำนวนอาจจะมาก แต่แนวทางปฏิบัติก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่

ทางออกมี3ทาง

1. รัฐบาลต้องเตรียมตัวในการเลือกตั้งใหม่ก่อนวาระอยู่แล้ว คือยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ สามารถยุบสภาได้เร็วเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกตั้งผู้เเทน ที่ไม่มีปัญหาทางด้านคดีหรือกฏหมายเข้ามา

2.ดูเป็นรายบุคคลว่าจะมีการเลือกตั้งซ่อมได้หรือไม่ ยังต้องไปดูข้อกฏหมาย ก็ไม่ได้มีการยุบสภาแต่เป็นการหาคนมาทดแทน

3.ทำหน้าที่ต่อไปเนื่องจากจะเห็นได้ว่ามีการปฏิเสธอำนาจศาล หากดูจากแนวโน้มจะมีการปฏิเสธต่ออำนาจอื่นๆหรือไม่ แต่เเนวโน้มข้อนี้ไม่น่าจะทำได้ถ้าถึงทำได้ก็จะมีปัญหาทางการเมืองตามมาเยอะ แต่อาจจะมีการยืดเวลาออกไป ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ภายหลังจากการชี้มูลของป.ป.ช.คาดว่าสถานการณ์ทางการเมืองคงจะยังไม่ดีขึ้นมาก ถ้าหากว่าทางฝั่งพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งสัญญาณให้ชัดเจนในการปฏิบัติตามกฏหมาย ซึ่งก็รู้สึกว่าเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับการทำตามกฏหมายซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องส่งสญญาณให้ชัดว่าจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายไม่งั้นระบบก็จะมีปัญหามาก แต่ว่า ก็เป็นการจัดสินใจทางการเมืองด้วย

ในกรณีที่ว่ายังไม่ชี้มูลหรือว่าตัดสินใจลงเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่มีการยุบสภาแล้วมีการชี้มูลทีหลัง แต่ว่าก็ยังเดินหน้าเลือกตั้งทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นปัญหาให้กับระบบค่อนข้างมาก ถ้าจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ชัดเจนว่าจะปฏิบัติตามกฏหมาย ปัญหาก็จะน้อยลง เพราะว่าในทางกฏหมายมันมีทางออกในตัวของมันเองอยู่เเล้ว แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฏหมายก็จะมีความซับซ้อน อาจจะมีอะไรที่เหนือความคาดหมายหรือว่าไม่เคยปฏิบัติมาก่อนจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น

ตอนนี้มีวิกฤติการณ์การเมืองซ้อนกันอยู่ 2 วิกฤติ วิกฤติการณ์อย่างแรกคือเรื่องกฏหมาย ซึ่งเราสามารถบรรเทาวิกฤตินี้ไปได้ เพียงแค่ปฏิบัติตามกฏหมาย ตามเจตนารมย์ของกฏหมายซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาโดยตลอดหลายปี องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ต้องมีการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดจริงจัง วิกฤตินี้ก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง

วิกฤติต่อมาคือการแข่งขัน การเผชิญหน้า ความขัดแย้งที่ค่อนข้างรุนแรง ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ 2พรรค ของไทย โดยเฉพาะในบางความขัดเเย้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับส่วนตัว เรื่องตัวบุคคล บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพรรค เป็นเรื่องของความอยู่รอด เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการ ทั้งหมดเหล่านี้ มันมีพัฒนาการยาวนานมาถึง 12 ปีหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาสู่วงการเมือง ตรงนี้คงไม่ง่ายที่จะแก้ไข โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองที่ไม่สามารถจะพูดคุยกันได้โดยตรง ซึ่งก็จะเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตามในการหาทางออกจากวิกฤติที่เกิดขึ้นยังจำเป็นต้องมีทั้ง 2 พรรคเป็นหลัก การเเข่งขันกันของสองพรรคใหญ่ที่มีความขัดแย้งในแง่ของตัวบุคคลตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหา ที่ยืดยาวมาถึง 12 ปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเปลี่ยนไป จะเห็นได้จาก 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งใหญ่ว่านั้นก็คือเป็นความขัดแย้งที่คนไทยเกือบทั้งหมด ต้องการให้เห็นว่าพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ตอบสนองต่อประเด็นสำคัญที่ใหญ่กว่าความขัดแย้งระหว่างพรรค การทะเลาะของคนที่มาชุมนุมคือต้องการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูประบบราชการ จริงๆแล้วผู้ที่สนับสนุนทั้ง2พรรคการเมืองให็ก็เห็นตรงกันว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปในเรื่องเหล่านี้

ในแง่การพูดคุยในอนาคตจะง่ายขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีคนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองโดยตรงหรือความขัดแย้งส่วนตัวแต่เป็นประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้ระบบราชการดีกว่านี้ ทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างกว่านี้ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมกับคนยากจน คนชั้นกลาง ทำอย่างไรให้ให้ตำรวจโกงกินคอรัปชั่นน้อยลงกว่านี้ และทำอย่างไรให้ระบบราชการโดยเฉพาะในระดับสูงไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้อย่างจริงจังเพราะว่ามีคนออกมาเป็นจำนวนมาก ทุกสี ที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดความเป็นธรรม

ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายมหาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประเด็นอยู่ที่กระบวนการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.ผลทางกฏหมายก็คือหากผู้ใดดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นส.ส.-ส.ว.ถูกชี้มูลความผิด จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ช่วงคราวจนกว่า ทางวุฒิสภาจะจัดประชุมเพื่อลงมติเพื่อถอดถอนหรือไม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการปกติคือหากชี้มูลว่าผิด ก็แค่รอพัก1-2วัน แล้วให้ส.ว.เรียกประชุม ซึ่งส.ว.จะประชุม2-3วันหรือ 1 อาทิตย์ก็แล้วแต่ ถ้าหากผลการลงมติส.ว.ออกมาว่า ผิดจริง ก็ถอดถอนไป ถ้าหากส.ว.ลงมติว่าไม่ผิดก็กลับมาทำหน้าที่ต่อ

แต่ประเด็นที่จะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมาหากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดขึ้นมา จะมีส.ว.ประมาณ 50 คน ที่อยู่ในรายชื่อ 312 คน ซึ่ง 50 คน เป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ว.ทั้งหมด 150 คน ถ้าหากส.ว.เหล่านี้ถูกชี้มูลไปด้วย หรือบางส่วนถูกชี้มูล ปัญหาคือส.ว.ที่เหลือจะประชุมกันอย่างไร ซึ่งองค์ประชุมไม่ครบอย่างแน่นอน หรือถึงแม้ครบองค์ประชุม และคำถามที่เกิดขึ้นคือ ตามรัฐธรรมนูญการใช้มติถอดถอนต้องใช้เสียง 3ใน5 ซึ่งถ้าหากที่ประชุมมีส.ว.ไม่ถึง 3ใน 5 ของจำนวนทั้งหมดได้ แล้วจะประชุมได้หรือไม่

ถ้าหากป.ป.ช.ชี้มูลรายบุคคล เช่น นายกรัฐมนตรีหรือประธานสภาฯ จะไม่ยุ่งยากเท่ากับชี้มูลทั้งหมด ถ้าเกิดชี้มูลทั้งหมด สิ่งที่น่ากังวลคือ จะมีคนบอกว่าส.ว.ไม่สามารถชี้มูลตัวเองได้ ดังนั้นจึงประชุมไม่ได้ เมื่อประชุมไม่ได้องค์ประชุมจึงไม่ครบ ผลที่ตามมาคือการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.จึงมีผลต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าป.ป.ช.จะไต่สวนเสร็จซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ และถ้าหากการไต่สวนเกิดล่าช้า ส.ส.และส.ว.ที่จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้ระบบรัฐสภาหยุดชะงัก ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้

และในกรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกชี้มูลความผิดในฐานะที่เป็นส.ส.ที่ไปประชุมในสภาแล้วต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส. คำถามที่ตามมาในทางกฏหมาย คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นสภาพความเป็นนายกฯหรือไม่ ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ ซึ่งมี 2 ทฤษฎี 1.คุณสมบัตินายกฯไม่ได้มีผลกระทบอะไรเพราะว่าผลของมาตรา 273 ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเป็นผลเฉพาะว่าผู้ที่ถูกชี้มูล ไม่ควรจะทำหน้าที่ในระหว่างนั้น ซึ่ง ในเมื่อถูกชี้มูลในนามส.ส. นายกฯก็แค่ไม่ต้องไปประชุมสภาไม่ต้องไปลงมติใดๆทั้งสิ้น แต่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรียังมีอยู่ 2.เป็นนายกฯและเป็นส.ส.เมื่อทำหน้าที่ส.ส.ไม่ได้ก็หมายความว่าทำหน้าที่นายกฯไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นนายกฯต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย คำถามที่ตามมาคือถ้าหากนายกฯยุติการปฏิบัติหน้าที่แล้วครม.ทั้งชุดจะเกิดอะไรขึ้น จะยุติตามด้วยหรือไม่ หรือบุคคลอื่นทำหน้าที่นายกฯแทน

ตรงนี้จะนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมายจนอาจนำไปสู่การฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อเป็นการได้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความโกลาหลทางการเมือง และเมื่อถึงช่วงเวลานั้นหากบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สิ่งที่ตามมาคือหากนายกปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ยุบสภาไม่ได้ ถ้านายกฯยุบสภาไม่ได้แล้วทางออกจะเป็นอย่างไร

"ทั้งหมดนี้คือหมากที่ถูกวางไว้"

ป.ป.ช.จะสามารถอ้างได้หรือไม่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร ดังนั้นป.ป.ช.จึงจำเป็นต้องชี้มูล ส่วนตัวมองว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน.มีผลผูกพันธ์ต่อองค์กรก็จริง แต่ผูกพันธ์เฉพาะส่วนที่เป็นการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

การตีความของศาลรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันธ์ทุกองค์กรแต่มีข้อเเม้ว่าจะต้องเป็นการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีการไปชี้มูลความผิดมันไม่ใช่เรื่องของการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญ นี่คือการไปตีความพฤติกรรมและข้อเท็จจริง ซึ่งในกรณีศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีมาตรา 68 กรณีแก้ที่มาส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตีความทั้งตัวบทกฏหมาย ตัวบทรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่ง แต่อีกเรื่องคือการตีความ พฤติกรรม ข้อเท็จจริง การกระทำ ของ ส.ส.-ส.ว. 312 คน ส่วนแรกที่ศาลรธน.ไปตีความรัฐธรรมนูญตามตัวบทอาจะบอกได้ว่าผูกพันธ์ทุกองค์กรถ้าถูกต้อง แต่ถ้าหากเป็นการตีความข้อเท็จจริง แม้การตีความข้อเท็จจริงนั้นศาลจะเห็นถูกต้องหรือไม่ ก็ไม่ผูกพันธ์องค์กรอื่น ต้องชัดเจนว่าการตีความรัฐธรรมนูญผูกพันธ์เพราะว่า ป.ป.ช.เองถูกผูกพันธ์โดยตรงกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อตัวบทรัฐธรรมนูญถูกตีความให้กระจ่างชัดขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยย่อมก็ต้องผูกพันธ์ป.ป.ช.ไปด้วย

ส่วนข้อเท็จจริงที่สมากชิกรัฐสภา ส.ส.-ส.ว. 312 คน ทำผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลตีความเป็นข้อเท็จจริงเฉพาะคดีไม่อาจนำไปอ้างในคดีอื่นได้ การที่ป.ป.ช.จะชี้มูล 1.ต้องบอกให้ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยไม่ได้ผูกมัดป.ป.ช. ผูกมัดเฉพาะส่วนการตีความกฏหมาย 2.มาตรฐานในการชี้มูลความผิดป.ป.ช.ไม่เหมือนมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญ คือมาตรฐานของการกระทำทั่วไปตามมาตรา 68 กับ มาตราฐานที่ต้องจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยมีลักษณะทุจริตรวยผิดปกติมาตรา270ต้องเเยกเป็นกรณีต่างหาก

สรุปได้ว่า 1.คำวินิจฉัยผูกพันธ์เฉพาะข้อกฏหมายไม่ผูกพันธ์ข้อเท็จจริง 2.ถ้าดูข้อกฏหมายมาตรา270 ต่างกันกับมาตรา68 ดังนั้นจึงเอามาเทียบกันไม่ได้ 3.แม้ดูข้อกฏหมายก็ไม่เหมือนกัน ข้อเท็จจริงก็ไม่เหมือนกันเข้าไปใหญ่ เพราะว่าการกระทำที่ถูกชี้มูลโดยป.ป.ช.เป็นการกระทำที่จะต้องดูเป็นรายบุคคลอย่างชัดเเจ้งว่าใครทำผิดบ้าง แต่การกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ชี้แบบรวมๆ ไม่ได้เจาะจงว่าใครทำผิดหรือไม่ แต่บอกว่ามีการส่งเอกสารผิดพลาด มีการเสียบบัตรแทนกัน มีเวลาอภิปรายน้อยเกินไป แยกเป็นแต่ละกรณี

กรณีส่งเอกสารดูว่าใครเป็นคนส่ง คนส่งคือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขาของรัฐสภา เพราะฉะนั้นส.ส.-ส.ว.ทั้ง 312 คน ไม่เกี่ยวข้องหรือรับรู้ว่ามีการส่งเอกสารอย่างไร รู้แต่เพียงว่าเอกสารมาถึงแล้วอ่าน เพื่อลงมติ ไม่ได้มีการทำผิดพลาดแต่อย่างใด

กรณีที่เวลาในการอภิปรายแปรญัตติน้อยเกินไป คำถามคือใครเป็นคนกำหนดเรื่องการแปรญัตติซึ่ง 312 ไม่ได้เป็นคนกำหนด มันอยู่ในข้อบังคับแล้วผู้ที่ตีความข้อบังคับคือประธานสภาฯ แล้วตีความว่า312คน ทำผิดเรื่องนี้ จึงไม่ใช่

กรณีการเสียบบัตรแทนกัน ที่มีการเสียบบัตรแทนกันจำนวน 8 ใบ เพราะฉะนั้นจะเหมารวมทั้ง 312 คน มาอยู่ใน 8 ใบนี้ได้อย่างไรอย่างมากที่สุดป.ป.ช.ไม่สามารถชี้มูลทั้งก้อนได้ต้องชี้มูลเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ คนที่กระทำเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นในทางกฏหมายไม่สามารถเอาคำวินิจฉัยมาอ้างได้ แม้มาดูข้อกฏหมายของสองมาตราคือ มาตรา68และมาตรา270 ก็ใช้มาตรฐานต่างกัน เอามาเทียบกันไม่ได้ ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ศาลอ้างในคดีนั้นนำมาใช้ไม่ได้เลยเนื่องจากเป็นการพิจารณาแบบตีขลุม ไม่ใช่การพิจารณาที่ละเอียดแต่อย่างใด

ส่วนตัวมองว่าป.ป.ช.ไม่ควรจะชี้มูลทั้ง 312 คน ถ้าจะชี้เฉพาะบางคนก็ต้องไปดูในข้อกฏหมายหลักฐานเป็นอย่างไร ถ้าหากชี้มูลทั้งหมด312 คน จะทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นแน่นอน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------

ยกเลิก ม.112 ปล่อยนักโทษการเมือง : เดินหน้าสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ

โดย.พจนา วลัย องค์กรเลี้ยวซ้าย

หลังจากที่วุฒิสภาปัด“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง การเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....” ตกไปเพราะร่างฯนี้ ล้างผิดให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พลพรรคประชาธิปัตย์ พวกเสื้อเหลืองที่นิยมลัทธิทหาร ทำให้พรรคเพื่อไทยถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ค้างอยู่ในสภาทั้งหมด ซึ่งนั่นเท่ากับว่านักโทษการเมืองจะยังถูกคุมขังต่อไป หลังจากที่รอคอยความยุติธรรมมานานกว่าสามปีแล้ว   โดยพรรคอ้างเหตุผลว่า ต้องการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะปรองดองแล้วยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง เพราะ

1.ผู้ถูกกระทำหลังการรัฐประหารปี 49 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติจากระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน และถูกทหารสลายการชุมนุมปี 53 เข่นฆ่าพวกเขา แต่ยังลอยนวลอยู่ในสังคม

2.พื้นที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังไม่ถูกรื้อฟื้น ก.ม.หมิ่นฯ 112 ยังคงถูกบังคับใช้ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง   นักโทษการเมืองถูกใช้ต่อรองทางการเมือง ปรองดองกับเผด็จการทหาร ฝ่ายอนุรักษณ์นิยม

3.การปรองดองกับฝ่ายเผด็จการสนับสนุนรัฐประหารต้องการผูกขาดอำนาจและความศรัทธาไว้แต่เพียง ฝ่ายเดียว เพื่อรักษาผลประโยชน์ คงสภาพสังคมเดิมไว้ ทำให้นับวันพรรคเพื่อไทย และแกนนำหัวขบวนเสื้อแดง กองเชียร์ของพรรค จะทำผิดพลาดมากขึ้นทุกวัน จนถูกคนเสื้อแดงที่เป็นอิสระทางความคิดบางกลุ่มประณามว่า หักหลังประชาชนที่ร่วมต่อสู้กับพรรค ต้านอำมาตย์ที่โค่นล้มระบบเลือกตั้ง

นอกเหนือจากความผิดพลาดที่พรรคเพื่อไทยเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับเหมาเข่ง เข้าสู่สภา และการไม่มีนโยบายรื้อฟื้นประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ถูกทหารแทรกแซงกลับคืนสู่สังคม  ยังประสบปัญหาจากการใช้แนวนโยบายประชานิยม ที่กำลังเดินไปสู่ทางตัน คือรายได้ งบประมาณของรัฐจำกัดมากขึ้น  ไม่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก อีกทั้งความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจยังดำรงอยู่

ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อผิดพลาดของรัฐบาลและหัวขบวนเสื้อแดง ปัญหาสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และทางออกสำหรับขบวนการเสื้อแดง ให้หลุดพ้นจากการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจ ทำรัฐประหาร กดขี่ประชาชนของชนชั้นนำ

ข้อผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย

1.การยกโทษให้แก่ฆาตกร ฆ่าประชาชนผู้ชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 ในขณะที่คนพวกนี้ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

2.การคงกฎหมายเผด็จการ ก.ม.อาญามาตรา 112 และทอดทิ้งนักโทษคดีนี้ไม่ให้รับความยุติธรรม แม้แต่สิทธิในการประกันตัว

3.การล้างผิดให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมีชนักติดหลัง สะท้อนให้เห็นว่า คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าหลักสิทธิเสรีภาพของนักโทษการเมืองและความยุติธรรม โดยใช้อุบายเอาเสรีภาพของนักโทษ กฎหมายเผด็จการ 112 แลกกับการกลับมาของทักษิณ ปรองดองทำแนวร่วมกับฆาตกร และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร เพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไป

ข้อผิดพลาดของแกนนำเสื้อแดง คือการไม่ทำอะไรเพื่อรื้อฟื้นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง กล่อมเกลาให้มวลชนเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยมากกว่าสร้างความเป็นอิสระทางความคิดและมีวาระการเมืองที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนส่วนใหญ่  ซ้ำล่าสุดโจมตีกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม 53 ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัยตั้งแต่แรก ด้วยท่าทีที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของร่างฯนี้ เช่น หาว่าจะทำให้นักโทษการเมืองถูกขังต่อไปบ้าง  ไม่ได้นิรโทษผู้ที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำโดยเฉพาะคดีเผาทำลายทรัพย์สิน และคดีอาญาร้ายแรงต่างๆ มากกว่ามีท่าทีหนุนหลักการเอาผิดคนสั่งฆ่าและฆ่าประชาชน และหลักสิทธิในการประกันตัวนักโทษการเมือง

ความผิดพลาดนำมาสู่การฟื้นอำนาจของฝ่ายตรงข้าม วาทกรรมคนดีมีศีลธรรม รักชาติรักแผ่นดิน รักพระมหากษัตริย์ของพรรคประชาธิปัตย์และพวกเสื้อเหลืองก็หวนคืนสู่การเมืองบนท้องถนน ในฐานะที่มองว่าถูกรัฐบาลกระทำจากร่างพ.ร.บ.เหมาเข่ง ล้างผิดให้ทักษิณ คนโกงชาติ และมีผู้ชุมนุมมาร่วมแสดงพลังนับแสน  โดยชูธงล้มรัฐบาล ขจัดตระกูลชินวัตรออกไปจากการเมือง เพราะเป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งหมด  โดยอ้างตรรกะเผด็จการรัฐสภาเหมือนเช่นก่อนการรัฐประหารปี 49 คือ ระบอบทักษิณทำให้ระบบรัฐสภาเป็นเพียงตรายางของนายทุน ให้เข้ามามีอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งที่ทุจริต ซื้อเสียง สภากลายเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา เกิดสภาทาส เป็นศูนย์รวมอำนาจของระบอบทักษิณ คุกคามศาล ใช้คนยากจนเป็นเครื่องมือ กดขี่ขูดรีด   จึงนำไปสู่การเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทย ตั้งสภาประชาชนแทน  เชิดชูการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยสมบูรณ์ แบบ (จากนั้นก็กลายเป็นการเชิดชูระบอบการปกครองด้วยกษัตริย์)  และได้ลงชื่อถอดถอนส.ส. 310 คน ประกาศขอให้มีการหยุดงาน

และความผิดพลาดก็ได้นำไปสู่การเสนอให้ยุบสภาของกลุ่มนักวิชาการที่เห็นใจเสื้อแดง เพราะไม่ต้องการเห็นการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม

ส่วนปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คือการเรียกหาพลังคนเสื้อแดง คานอำนาจกับพวกประชาธิปัตย์ ด้วยวาทกรรมต่อต้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ รักษารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง  การแก้ไขก.ม.ร.ธ.น.เป็นอำนาจของรัฐสภา เพราะรัฐสภามาจากอำนาจของประชาชน จะต้องไม่มีอำนาจนอกระบบ มือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง  และปฏิเสธคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของ สมาชิกวุฒิสภา ที่ให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นโมฆะ เพราะขัดกับร.ธ.น.มาตรา 68 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง

การเมืองล้าหลังของชนชั้นนำไทย

การเมืองของผู้นำ ชนชั้นนำสองฝ่ายข้างต้นวนเวียนอยู่กับข้อถกเถียงเก่าๆ ช่วงชิงอำนาจรัฐมากกว่าการผลักสังคมไปข้างหน้า พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงคิดภายใต้กรอบเสรีนิยมที่ยื่นเสรีภาพเฉพาะระดับผู้นำ นายทุน ไม่พ้นกรอบทักษิณ แทนที่จะแก้ไขระบบยุติธรรม แล้วนำทักษิณกลับมาพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง  

ส่วนพวกประชาธิปัตย์ เสื้อเหลืองที่หนุนรัฐประหารมีทัศนะการเมืองล้าหลังดักดานยิ่งกว่า เนื่องจากยังใช้วาทกรรมรักชาติรักแผ่นดิน  แม้จะมีการเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทยสภาประชาชน แต่ไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะมีที่มาของการล้มระบบเลือกตั้ง เป็นการปฏิรูปสังคมภายใต้กรอบวัฒนธรรมของฝ่ายขวา  ยินยอมให้แกนนำจากพรรคปชป.นำการชุมนุม  ยอมรับที่จะรักษาก.ม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรง ข้าม  นั่นคือพวกปฏิรูปที่พร้อมใช้แนวฟาสซิสต์ทำลายประชาธิปไตย ทำลายคนที่เห็นต่าง

สำหรับขบวนการภาคประชาชนที่สนับสนุนการต่อสู้ตามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นักพัฒนาเอกชนออกมาต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่ล้างผิดให้ทักษิณ มากกว่ากล่าวถึงการเอาคนสั่งฆ่าประชาชนปี 53 มาลงโทษ  แม้จะมีสอดแทรกประเด็นปัญหาสิทธิเสรีภาพของแรงงาน แต่พูดภายใต้กรอบอุดมการณ์ฝ่ายขวา ดังเห็นจากแถลงการณ์ของสรส.  (สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แถลงการณ์ฉบับที่ 4 เรื่อง ร่วมสำแดงพลังเปลี่ยนแปลงประเทศไทย. ที่มา เว็บไซด์ สรส. http://www.thaiserc.com/ ) ที่ต้องการปฏิรูปประเทศที่ให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมตามสัดส่วน  พร้อมกับยอมรับเรื่องระบบสรรหาส.ว.ตามคำตัดสินของศาลร.ธ.น. (เครื่องมือรับใช้ผู้ก่อการรัฐประหาร 49)  การเคลื่อนไหวของแรงงานกลุ่มนี้ วนเวียนอยู่กับฐานคิดจุดยืนเดิม มุ่งเอาชนะทุนทักษิณอย่างเดียวโดยไม่สนใจกติกาประชาธิปไตย

กรอบคิดของฝ่ายขวากำลังโกหกคำโตว่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยได้ เพราะ

1.สภาประชาชนข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เจตนากีดกันคนเสื้อแดงรากหญ้าออกไป และลดทอนระบบการเลือกตั้งระดับชาติ โดยอ้างระบบรัฐสภาเผด็จการเสียงข้างมาก แล้วให้คนดีที่เคยสนับสนุนเผด็จการรัฐประหารมาปกครองแทน  ซึ่งเท่ากับกำลังบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

2.ประชาชนรากหญ้าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของประเทศ ควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐ ตัวแทนของตนได้อย่างไร หากไม่มีอำนาจอยู่ในมือ เช่น อำนาจศาล ตุลาการที่ยังไม่สามารถเลือกตั้ง ตรวจสอบ ถอดถอนได้ แล้วจะเรียกได้อย่างไรว่า อำนาจตุลาการคืออำนาจอธิปไตยอำนาจหนึ่งของประชาชน ตามที่พร่ำสอนกันในสถาบันการศึกษา  องค์กรอิสระ องค์กรสิทธิมนุษยชน ส.ว. ที่มาจากการสรรหาที่ผ่านมาก็ล้วนเลือกปฏิบัติกับคนเสื้อแดง ไม่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ฉะนั้น จึงหาหลักประกันอะไรไม่ได้ที่ คนยากจน ผู้ใช้แรงงานจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้เสมอหน้ากับผู้มีอำนาจรัฐ และกลุ่มทุนทุกกลุ่มได้

3.การส่งเสริมสิทธิในการชุมนุม รวมตัว เพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองของแรงงาน คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้จริงภายใต้รัฐเผด็จการอำนาจนิยม หรือการนำของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ที่คอยเป่าหูสาธารณชนอยู่ตลอดเกี่ยวกับเผด็จการรัฐสภา แต่ตัวเองเอาชนะใจประชาชนไม่ได้ แข่งขันไม่ได้   ก็ฉวยโอกาสขึ้นสู่อำนาจด้วยการเข้าข้างเผด็จการทหารและมือเปื้อน เลือด  ทั้งไม่มีข้อเสนอปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้โปร่งใส ขจัดปัญหาคอรัปชั่น และส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองสู่ประชาชนในท้องถิ่น  ฉะนั้นการพูดถึงปัญหาคอรัปชั่นที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องโกหก

4.ประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และในอดีตของไทย แรงงาน คนยากจนต่อต้านเผด็จการทหาร ที่คอรัปชั่นอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชน  เพราะวัฒนธรรมทหารนิยมที่โน้มเอียงใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบไม่สามารถแก้ไข ปัญหาวิกฤตใดๆ ได้

5.การอวดอ้างความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ถูกมองว่าเป็นคนดี เอาเข้าจริงลัทธิชาตินิยมมีผลประโยชน์เดียวกันกับประชาชนหรือไม่  ความมั่งคั่งของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาจากอะไร ศาสนาสอนให้เรามีสิทธิเสรีภาพได้จริงหรือ ชาติที่ว่าหากเป็นของประชาชนแล้ว ทำไมยังยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทหาร ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ แล้วจะสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบ การปกครองตนเองของประชาชนได้อย่างไร

6.การทำลายเสรีภาพในการถกเถียงความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้า ไม่อนุญาตให้ประชาชนมีอำนาจที่สมบูรณ์ โดยการใช้กฎหมายเผด็จการปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน  ฉะนั้นหากจะสู้เรื่องประเด็นสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ต้องยอมรับกรอบชาตินิยม มาปิดปากตัวเองไม่ให้วิจารณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์กับทหารอย่างนั้นหรือ  ยอมตกเป็นทาสระบอบคนดีที่วิจารณ์ไม่ได้ใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น เมื่อไรมวลชนจะมีความคิดก้าวหน้า แข่งขันการเมืองของพวกชนชั้นปกครอง และเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น การเมืองของฝ่ายขวา ที่จ้องขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากก็ได้เข้าทำลายระบบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน และนิยมการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาการเมือง ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่ได้ประโยชน์จากการเมืองของพวกล้าหลังนี้

ทางออก : ไปให้ไกลกว่ากรอบคิดเสรีนิยมและประชานิยม

เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้คาดหวังอะไรจากพรรคเพื่อไทย แต่คาดหวังให้ขบวนการเสื้อแดงเอาชนะฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ และเอาชนะใจมวลชนมากขึ้น  ฉะนั้น จึงควรแก้ไขข้อผิดพลาดข้างต้น ไม่ให้ถูกฝ่ายตรงข้ามฉุดกระชากการเมืองไทยให้ถอยหลัง ต้องปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก 112 เดินหน้าสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ ไปให้ไกลกว่ากรอบคิดเสรีนิยมและประชานิยม

ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลเริ่มส่อแววถึงทางตัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่สามารถกระจายปัจจัย ทรัพยากร ความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม ไม่ช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่น  และแนวเสรีนิยม (มือใครยาวสาวได้สาวเอา) ที่ปัญญาชนและนักการเมืองกระแสหลักเชียร์อยู่ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยให้ ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

แน่นอน รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชน คนยากจน ผู้ใช้แรงงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่จากการอ่านบทวิเคราะห์เรื่องนโยบายประชานิยม และติดตามบางโครงการ เช่น โครงการรับจำนำข้าว เงินเดือนป.ตรี 15,000 ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 มองว่า ประเด็นปัญหาหลักคือ ประชาชนยังยากจนอยู่ รายได้และสวัสดิการต่ำ คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ทำงานหนักแต่ไม่มีหลักประกัน ตกงานง่าย เพราะรัฐไม่มีรายได้พอที่จะดูแลประชาชน ทั้งๆ ที่เงินมีเยอะ และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน

ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวล่าสุด ที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งผู้เขียนมองว่า ไม่ใช่ปัญหาการขาดทุนสองแสนล้านบาท อย่างที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยกมาเป็นข้อวิจารณ์หลัก เพราะสนใจแต่เรื่องปัญหาวินัยการคลัง การแทรกแซงกลไกตลาดราคาข้าว เกิดปัญหาระบายข้าวในราคาที่ต่ำและทำให้รัฐขาดทุน  (นิพนธ์  พัวพงศกร. 27 มิ.ย. 56 ปัญหาจากการล่มสลายของโครงการรับจำนำข้าว. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.  )   ผู้เขียนกลับมองว่า จะทำอย่างไรให้การช่วยเหลืออุดหนุนของรัฐมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือชาวนายากจนมากกว่านี้   ซึ่งองค์กรเลี้ยวซ้ายได้มีข้อเสนอแก้ปัญหาผู้ผลิตให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาผู้บริโภคให้สามารถซื้อข้าวในราคาถูก  ด้วยการให้รัฐรับซื้อข้าวราคาแพงจากชาวนา และขายข้าวราคาถูกให้แก่ผู้บริโภค ในส่วนต่างนั้นรัฐก็นำเงินภาษีที่เก็บในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยมากๆ  โดยเฉพาะพวกโรงสี พ่อค้าส่งออกข้าว ในอัตราสูงพิเศษมาอุดหนุน หรือไปลดงบประมาณอื่นๆ ที่สิ้นเปลือง เช่นงบประมาณทหาร และงบพิธีกรรมต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมใน วัฒนะ วรรณ. 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556. ลดเงินจำนำข้าว ความอัปลักษณ์ของพวกคลั่งกลไกตลาด. เว็บไซด์องค์กรเลี้ยวซ้าย )

การเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า บทพิสูจน์ความรักต่อประชาชน

ขบวนการคนเสื้อแดงจะต้องพิสูจน์ว่าผู้นำของตัวเองรักประชาชนจริงหรือไม่  แรงงานก็ต้องพิสูจน์เช่นกันว่า ผู้นำแรงงานมีวิสัยทัศน์และความจริงใจในการสร้างผลประโยชน์ทางชนชั้นและ ประชาธิปไตยของแรงงานหรือไม่  เพราะการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจะต้องไม่มีข้อยกเว้นให้กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกันกับระบบในอังกฤษ  และเพิ่มอัตราการเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและรายได้นิติบุคคลจากคนรวยมากๆ  เพราะคนรวยจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศมีรายได้เท่ากับ 50%-60% ของจีดีพี มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ถือครองที่ดินจำนวนมาก ซื้อขายที่ดินเก็งกำไร เล่นหุ้น  ระดับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นบริษัทมีรายได้มากกว่าพนักงาน 60-100 เท่า  แต่การจัดเก็บรายได้โดยภาพรวมของไทยอยู่ในระดับต่ำ อยู่ที่ร้อยละ19 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มอาเซี่ยน  และค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว   ฉะนั้นหากเพิ่มฐานการเก็บภาษีทรัพย์สินจากคนรวยจำนวนสามแสนกว่าคน จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่ำร้อยละ 22 ของจีดีพี

แต่รัฐบาลกลับผลักดันนโยบายลดอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพื่อนำเงินไปใช้บริโภคมาก ขึ้น หลังจากที่ลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้บริษัทเพื่อจูงใจนักลงทุน  โดยหวังว่าเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น ก็ใช้จ่ายมากขึ้น และหวังว่าการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยดึงดูดผู้มีรายได้ให้เข้า สู่ระบบฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น (ปัจจุบันมีผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระบบประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้น) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศได้มาก ขึ้น (เว็บไซด์ อาร์วายทีไนน์. รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556,

http://www.ryt9.com/s/mof/1781630 )   แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ใช้แรงงานให้เพียง
พอต่อการค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก และเพิ่มหลักประกันความมั่นคงตั้งแต่เกิดจนตาย  เช่น จัดสวัสดิการเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี เงินบำนาญให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า  ซึ่งเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะตกเป็นภาระของปัจเจก /ครอบครัวแบบตัวใครตัวมัน   เมื่อรัฐบาลไม่ได้รักไม่ได้จริงใจต่อประชาชน ฉะนั้นจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของคนเสื้อแดง ผู้รักประชาธิปไตยที่จะทวงคืนความยุติธรรม สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นด้วยการกดดันรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องที่สร้างประชาธิปไตย ตามกรอบที่เสนอมา

หมายเหตุผู้เขียน: *บทความนี้ปรับปรุงจากบทความเรื่อง"มองการเมือง (ถอยหลัง)ของชนชั้นนำผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนที่2" จากเว็บไซต์องค์กรเลี้ยวซ้าย  )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: มองการเมือง (ถอยหลัง)ของชนชั้นนำผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนที่2"

ที่มา.ประชาไท
-----------------------------