--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นัดชี้ชะตา ตัดสินพระวิหาร !!?

โดย. ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

เหลือระยะเวลาอีกเพียง 2 วัน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ก็จะอ่านคำพิพากษาคดีพระวิหารปี 2505 นับเป็นการอ่านคำพิพากษาท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นของทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายกัมพูชา

สถานะของสมเด็จฮุน เซน หัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชา กำลังถูกท้าทายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง โดยสามารถรักษาที่นั่งของ ส.ส.ได้เพียง 68 ที่นั่ง จากเดิม 90 ที่นั่ง

ส่วนพรรคกู้ชาติกัมพูชาของนายสม รังสี ได้รับเลือกตั้งเข้ามาถึง 55 ที่นั่ง จากเดิม 29 ที่นั่ง พร้อมกับข้อกล่าวหาว่าพรรคประชาชนกัมพูชาโกงการเลือกตั้ง เกิดการประท้วงเป็นวงกว้างในกรุงพนมเปญ

ในขณะที่รัฐบาลไทย นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ก็กำลังตกอยู่ในสถานะลำบาก หลังจากดึงดันที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมายกเข่ง โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากภาคส่วนใหญ่ในสังคม ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เรียกระดมพลออกมาต่อต้านตามท้องถนนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์ทางการเมืองของทั้ง 2 ประเทศที่มีข้อพิพาทเรื่องพระวิหารกำลังขมวดเกลียวขึ้นมานั้น เป็นผลมาจากคำขอของฝ่ายกัมพูชาที่ให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ซึ่งได้ตัดสินมีสาระสำคัญไปแล้วว่า อำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชากับประเทศไทย มีพันธะที่จะต้องถอนหน่วยทหารที่ได้เข้าไปตั้งประจำอยู่ ณ บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหารออกไป

ประเทศไทยเห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกครบถ้วนแล้วทุกประการ โดยเป็นการปฏิบัติตามมติ ครม. 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตของพื้นที่พิพาทในคดีนี้ และฝ่ายกัมพูชาก็เห็นตรงกันตามความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายมาตลอดตั้งแต่ปี 2505

ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชา (ท่าทีหลังปี 2505 หลังจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ฝ่ายไทยคัดค้าน) เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ต้องถอนทหารออกไปอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาเรียกว่า บริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนของกัมพูชา หรือ "Vicinity" ซึ่งเป็นดินแดนที่กัมพูชาได้อ้างว่า ได้ปักปันไว้ในอาณาบริเวณปราสาทและบริเวณใกล้เคียงด้วยเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 (มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก) ซึ่งคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505 ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาคดี

หลังการยื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ฝ่ายไทยได้ต่อสู้ว่าคำฟ้องของกัมพูชาครั้งนี้เป็น "เสมือนคำอุทธรณ์" ที่ซ้อนมาในรูปของคำขอตีความ ให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลโลกได้เคยปฏิเสธไปแล้ว ซึ่งได้แก่ เส้นเขตแดนและเรื่องสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาใช้กล่าวอ้าง

ส่วนเรื่อง Vicinity หรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามคำพิพากษาปี 2505 (ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร) ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นไปตามเส้นบนแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรักนั้น ฝ่ายไทยมีข้อต่อสู้ว่าเป็นคนละเรื่อง ดังนั้น "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" จึงไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตเป็นเส้นเขตแดน ประกอบกับได้มีความพยายามที่จะชี้ให้ศาลโลกเห็นว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาใช้อ้างในการตีความคดีปัจจุบันนั้น ไม่ตรงกับเส้นที่กัมพูชาอ้างไว้ในคดีเมื่อปี 2505

ฝ่ายไทยได้คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของคำพิพากษาจะออกมา 4 แนวทาง คือ 1) ศาลโลกไม่มีอำนาจตีความ (ตามคำขอของกัมพูชา) หรือ มีอำนาจแต่ไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 2) ตัดสินว่า Vicinity เป็นไปตามเส้นบนแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก 3) ตัดสินว่า Vicinity เป็นไปตามมติ ครม.ไทยปี 2505 และ 4) ตัดสินแบบกลาง ๆ ด้วยการให้ความกระจ่างในข้ออ้างเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 เพื่อเป็นแนวทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับไปเจรจากันต่อไป

แต่ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ทั้ง 2 ประเทศได้แสดงท่าทีออกมาแล้วว่า การปฏิบัติตามคำพิพากษาจะมีการหารือกันในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) ต่อไป ส่วนจะหารือกันได้แค่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับแรงกดดันทางการเมืองที่แต่ละฝ่ายจะได้รับเป็นสำคัญ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------

ใครกันแน่ !!??

โดย.พญาไม้

ถอยหนึ่งก้าว..ไม่ใช่ถอยกันคนละก้าว

พรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะมีผู้ปฏิเสธกันอย่างไร..วันนี้ครอบครัวชินวัตรก็ต้องหลีกเลี่ยงกระแสแห่งมหาชนที่กำลังก่อตัวเป็นพายุใหญ่

ว่ากันว่า..

คลื่นใหญ่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุและเมื่อมหาชนโดนปลุกจนเป็นกระแสนั้น..เหตุผลจะหายไป

การใช้เสียงข้างมากลากไปในสภา..ปลุกให้คนทั่วหวาดหวั่นต่ออำนาจที่อยู่เบื้องหลัง..และสร้างปฏิกิริยาสท้อนกลับให้เป็นแรงต้าน

ฝ่ายตรงกันข้ามกับทักษิณ..ประสพความสำเร็จเป็นครั้งแรกในการจัดม็อบ..จากความดึงดันของพวกชินวัตรเอง

ศัตรูของทักษิณพบจุดอ่อนของอำนาจของครอบครัวชินวัตรในทางการเมือง..คนจำนวนหนึ่งเริ่มเชื่อว่า สามารถทานอำนาจของรัฐบาลชินวัตรได้

แทนการผสานกำลังให้แข็งแกร่งในยามเผชิญศึกอยู่ข้างหน้า..บางคนใน สกุลชินวัตร ยังหันหลังมาระบายโทสะใส่พละกำลังของตนเอง น่าเวทนาในความอ่อนด้อยของสติปัญญา..
ยิ่งทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามฮึกเหิม

ทหารแห่งกรุงศรีอยุธยา ตากสิน พากองทัพปีนกำแพงเมืองก่อนพม่าจะเข้าไปฆ่าและเผา..เพราะสติปัญญาของครองอำนาจมีปัญหา..นั่นเป็นหนึ่งในเรื่องราวของประวัติศาสตร์..

พรรคเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตรกำลังถูกผู้สืบต่ออำนาจที่โง่เขลา..ขับไล่กองกำลังที่สามารถ.. ออกไปในขณะที่ศัตรูกำลังไล่ล่า

หายนะดาหน้าเข้าหาแจ่มชัด

ถอยหนึ่งก้าวอาจจะทุเลาความปราชัยให้ถอยห่างออกไปได้ก็เพียงชั่วขณะ..แต่สติปัญญาในการศึกการสงครามเช่นเก่า ก็เปิดประตูเชิญความพินาศให้มาเหยียบเยือนจนได้ในวันหนึ่ง..ข้าศึกที่กำลังคึกคนองจะเดินหน้าเข้ามา สองก้าว!!?

อำนาจที่กำลังจะปราชัยต้องการขวัญและกำลังใจความรักสมัครสมาน ไม่ใช่พายุอารมณ์ ที่โหมใส่และวาจาเลวร้าย..พรรคการเมืองไม่ใช่เรือนขังทาส..กองทัพที่เต็มไปด้วยความรักของนายทัพ กับไพร่พลผจญศึกได้ดีกว่ากองทัพที่มีแต่การชี้หน้าด่ากราดเหล่าข้าทาสว่ากินบนเรือนแล้วขี้บนหลังคา

เพราะ..ไอ้ที่ส่งเขาไปตายแล้วสบายอยู่ครอบครัวเดียวต่างหาก..ที่กินบนเรือนแล้วขี้ใส่หลังคา !!?

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------------

เพื่อไทยเจ๊ง.. ไปไม่สุดซอย แต่สุดโง่ !!?


แพง มว๊าก..!!?
ถอย คือ ชนะ
ดันทุรัง คือ พ่ายแพ้
เมื่อไม่เข้าใจถึงความจริงข้อนี้ พรรคเพื่อไทยจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤตและอันตรายอย่างที่สุด

เพราะแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยอมรับว่ามีการประเมินยุทธศาสตร์ผิดพลาด จนขณะนี้ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการแถลงการณ์แสดงท่าทีว่าจะไม่ดื้อดึงไปแล้ว จะยอมรับดุลยพินิจของวุฒิสภา

หากจะคว่ำก็คือคว่ำ... ไม่ว่าอะไร

แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้มีแค่บรรดาขาประจำเจ้าเก่าเท่านั้น แต่ขยายวงต่อต้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่งออกไปทั่วหมดแล้วเช่นนี้

ไม่รู้จริงๆว่า ต่อให้ถอยแล้วก็ตาม คู่อาฆาตทางการเมืองและขั้วตรงข้าม จะยอมปล่อยโอกาสทางการเมืองครั้งนี้หรือไม่???

เห็นได้ชัดจากเสียงที่ออกมาจากกลุ่มม็อบขาประจำ ที่ว่าจะไม่หยุดแค่นี้แน่ จะรุกคืบต่อ เพื่อให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ รวมถึงมีความพยายามที่จะไปให้ไกลถึงการขับไล่ตระกูลชินวัตรออกจากแผ่นดนไทยเลยด้วยซ้ำ

แม้จะหวังว่า ประชาธิปัตย์จะเป็นประเภทนักเลงจริง คือ จบเป็นจบ โดยไม่คิดอาฆาตลึกถึงความพ่ายแพ้ทางการเมืองมาตลอด 20 ปี และยังไม่มั่นใจว่าจะชนะในทางการเมืองได้อย่างไรในอนาคต คงไม่ฉวยโอกาสนี้ ทำลายคู่แข่งทางการเมืองแบบนอกกติกา เพื่อจะได้ไร้เสี้ยนหนามในการแข่งขันเลือกตั้งตลอดไป

เพราะการที่มีการจุดกระแสว่าจะไล่ทั้งตระกูลนั้น ต้องถามว่าตระกูลเกี่ยวอะไรด้วย เด็กเล็กเกี่ยวอะไรกับการทำลายล้างทางการเมืองหรือ???

ถ้าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ก็ไม่ควรที่จะเห็นด้วยกับการเล่นงานเหมาเข่งยกทั้งตระกูลด้วยเช่นกัน... จริงหรือไม่

ตอนที่ประชาชนเรียกร้องให้หาคนผิดที่บงการจนมีคนตาย 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ก็มุ่งที่เฉพาะตัวบุคคล คือพุ่งเป้าไปแค่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เท่านั้นไม่ใช่หรือ???

ไม่เคยมีการพูดถึง ตระกูลเวชชาชีวะ และตระกูลเทือกสุบรรณ ให้ลูกเด็กเล็กแดงต้องหวาดวิตกเลยสักนิด

การเมืองไทยน่าจะเดินผ่านยุคมืดยุคทมิฬกันมานานแล้ว นานเกินกว่าที่จะเดินย้อนกลับไปสร้างประวัติศาสตร์การเมืองที่เลวร้ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เพราะเชื่อว่าบรรดาคณาจารย์ นักวิชาการ นักกฎหมาย บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกมาแสดงพลังคัดค้านนั้น เป็นการคัดค้านการออกกฎหมายที่ขัดหลักการนิติธรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้มุ่งหวังถึงขั้นจะทำลายล้างทางการเมืองใดๆแน่

อย่างการออกมาเดินชูธงของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนพรึ่บไปทั้งสยามสแควร์

หรืออย่างการที่ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ชาวธรรมศาสตร์ รวมตัวกันที่ลานปรีดี แล้วเคลื่อนขบวนไปรัฐสภา แวะประกาศแถลงการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่จะยื่นข้อเรียกร้องให้กับวุฒิสภานั้น

ก็เป็นการไปเพื่อทวงสัจจะวาจา ว่าจะคว่ำกฎหมายฉบับนี้จาก ส.ว.เท่านั้น

ไม่ได้เลยเถิดหวังผลทางการเมืองที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกระบบแต่อย่างใด

แต่เพียงแค่นี้ก็เป็นบทเรียนราคาแพงแสนแพงสำหรับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแล้ว!!!

ในวันที่นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องมาแถลงการณ์น้ำตาคลอตา น่าจะสื่อไปยังบรรดานักเชลียร์ภายในพรรคได้รู้สึกตัวบ้างว่าทำสิ่งที่พลาดมหันต์เพียงใด รวมทั้งน่าจะสื่อไปถึงผู้ใหญ่บางคนภายในพรรค ที่แนะนำเรื่องแบบนี้โดยคิดว่าข้าเก่งข้าแน่ทางด้านกฎหมาย ได้หันมาสำนึกเสียทีว่า

ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมหาศาลนั้น มันเป็นเรื่องที่เกินกว่าจะมาใช้ข้อกฎหมายกล่าวอ้าง

ไม่ต้องมองความรู้สึกของประชาชนที่หลากหลาย เอาแค่ความรู้สึกของคนเสื้อแดง ที่เคยเป็นมิตรร่วมรบมาด้วยกันกับพรรคเพื่อไทย ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการรัฐประหาร และขั้วอำนาจเดิมมาด้วยกัน

ก็ยังเจ็บปวดใจจนเกินกว่าที่จะรับได้

แม้ในหลักการประชาธิปไตย คนเสื้อแดงยังพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากอำนาจนอกระบบหรือขั้วตรงกันข้ามจะใช้เกมนอกกติกามาล้ม

ในวันที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาประกาศความเจ็บช้ำใจในสิ่งที่มิตรกระทำ ก็ยังยืนยันตลอดว่า แต่หากมีการกระทำใดๆนอกระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น คนเสื้อแดงก็จะลุกขึ้นสู้เพื่อช่วยปกป้องรัฐบาลอยู่ดี... เพราะนั่นคือหลักการประชาธิปไตย

แต่ก็เช่นกันจะให้รับการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง มันก็เกินกว่าที่หัวใจจะรับไหวจริงๆ

อย่าลืมว่าคนเสื้อแดง หัวใจล้วนมีเลือดมีเนื้อ มีความเจ็บปวดจากภาพความทรงจำที่เลวร้ายในปี 2553 ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางรับได้หากฆาตกรจะลอยนวล!!!

นี่คือความจริงที่สะท้อนออกมาจากปากของแกนนำเสื้อแดง ซึ่งจริงๆหากคนในพรรคเพื่อไทยไม่หน้ามืดตามัว หรือตามืดบอดเพราสำคัญผิดในอำนาจแล้ว... ความรู้สึกของคนเสื้อแดงก็ใช่ว่าจะอ่านยากอะไรเลยสักนิด

ดังนั้นสิ่งที่ไม่เข้าใจก็คือ ในภาวะที่การต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจเก่าที่ต้องการอนุรักษ์ กับอำนาจใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงยังมิได้ยุติเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ทำไมจึงได้มีกุนซือ หรือใครก็ตาม เสนอให้มองข้ามความรู้สึกของคนเสื้อแดงเช่นนี้

ยิ่งการถอดรายการของแกนนำคนเสื้อแดงออกจาก เอเชีย อัพ เดท ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า “ยิ่งกว่าโง่”จริงๆ

เพราะอย่างที่คนเสื้อแดงบอกนั่นแหละ เอาคนที่จะพูดความจริงออกไปจากจอ แล้วจะให้ผู้คนไปฟังความจริงจากที่ไหน? หรือจะให้หันไปฟังดราม่าจากช่องบลูสกายแทน

คนทำเรื่องโง่สุดบรรยายครั้งนี้เคยคิดบ้างหรือไม่?

ถ้ามีวิญญาณของความเป็นสื่อที่เข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่างของมวลชนสักนิด จะต้องทำเหมือนหนังสือพิมพ์รายวันบางแห่ง ที่รู้กันทั้งประเทศว่า มีนักเขียนที่ยืนข้างเสื้อแดง และนักเขียนที่เป็นเสื้อเหลือง เขียนอยู่ในฉบับเดียวกันได้

แต่นี่กลับมีใครบางคนที่คุ้นเคยกับการทำสิ่งโง่ๆ สิ่งที่อื้อฉาวจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถล่มแหลกมาโดยตลอด ออกมาสั่งการให้ทำอะไรที่ผิดพลาด เพราะเป็นการ“ผลักมิตรให้ถอยห่าง”อย่างไม่น่าให้อภัย

อย่าลืมว่าที่ผ่านมา ขั้วอำนาจเก่าที่จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่กล้าที่จะทำอะไรนั้น ก็เป็นเพราะความกริ่งเกรงที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ยังมีคนเสื้อแดงเป็นมิตรร่วมรบนั่นเอง

แต่กลับมีคนซื่อบื้อ ทำให้คนเสื้อแดงรู้สึกว่าถูกละเลยความรู้สึก ถูกมองข้ามคุณค่า จนกลายเป็นรอยร้าวในใจขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ยินดีปรีดาไชโยโห่ฮิ้วอยู่ในใจสำหรับรอยร้าวที่เกิดขึ้นระหว่างคนเสื้อแดง กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลนั้น

ก็คือขั้วตรงกันข้ามนั่นเอง!!!

กรณีของกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง สุดโต่งแบบโง่ๆครั้งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงก็เตือนมาตลอดว่าให้ระวังนะจะเข้าทางขั้วตรงข้าม ซึ่งที่ผ่านมาทุกม็อบที่จุดไม่ติด ก็เพราะถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรม เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์การเมือง

แต่กลายเป็นว่าเวลานี้ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาล กลับไปมอบความชอบธรรมให้กับขั้วตรงข้ามนำมาใช้ทำร้ายตัวเอง

และส่อแววว่า กำลังมองข้ามชอต จะไม่หยุดปลุกกระแสแม้รัฐบาลเพื่อไทยจะยอมถอยร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเจ้าปัญหาก็ตาม แต่จะปลุกกระแสต่อถึงขั้นยกระดับเล่นงานยกตระกูลชินวัตรกันเลยทีเดียว

อย่าคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอดีตเมื่อครั้ง 14 ตุลา 16 บรรดานักศึกษาที่คิดว่าชนะขั้วอำนาจ สามารถนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทยได้แล้ว ยังถูกทำลายย่อยยับจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ขั้วอำนาจอนุรักษ์ในขณะนั้นใช้เวลา 3 ปี ก็ทำลายพลังนักศึกษา และดึงอำนาจกลับมาได้เหมือนเดิม

นั่นคือบทเรียนในอดีตที่เกิดขึ้นมาแล้ว

ครั้งนี้ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงจะเดินซ้ำรอยความผิดพลาดเช่นนั้นอีก

ยังไม่สายที่จะถอย ยังไม่สายที่จะกลับมาจูนกันใหม่กับมิตรร่วมรบ กับคนเสื้อแดง

เลิกฟังนักเชลียร์นักหลบเสียทีเถอะ อย่าลืมภาษิตฝรั่งที่ว่า History repeat itself! เป็นอันขาด

“ถอย” คือ ชนะ.... “ดันทุรัง” พังแน่นอน อย่าลืม

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-------------------------------------------------

จี้รัฐทำเพื่อชาติ (สื่อนอกมองไทยดินแดน ทักษิณ )



สื่อนอกมองไทยไม่ต่าง "สาธารณรัฐแห่งทักษิณ" แนะรัฐบาลทำเพื่อประชาชน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เลิกขยันหาช่องทางพา"ทักษิณ"กลับบ้าน

บลูมเบิร์กเปิดเผยบทความของวิลเลียม เปเซค หนึ่งในคอลัมนิสต์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของไทยในปัจจุบันผ่านบทความที่มีชื่อว่า "Thailand's Big Brother Drama" ระบุว่า ประเทศไทยเปรียบได้ว่าเป็น 'สาธารณรัฐแห่งทักษิณ' เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้มีความเกี่ยวเนื่องและมุ่งเป้าต่อผลประโยชน์ของ อดีตนายกรัฐมนตรีท้กษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น

เปเซค เริ่มต้นบทความโดยระบุว่า "ขอต้อนรับเข้าสู่สาธารณรัฐแห่งทักษิณ" โดยแม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ได้เห็นข้อความดังกล่าวติดอยู่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่เชื่อได้เลยว่า สยามเมืองยิ้มแห่งนี้ได้กลายสภาพไปเป็นดินแดนของบุคคลที่ชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร เสียแล้ว เพราะถึงแม้ว่าอดีตนากยรัฐมนตรีถูกโค่นล้มลงจากตำแหน่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่เงาของทักษิณ ยังคงปกคลุมและมีบทบาทต่อการเมืองไทยอยู่ดี เห็นได้จากขณะนี้ น้องสาวคนเล็กของทักษิณ ซึ่งก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ขึ้นนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย

ผู้เขียนระบุว่า เป็นธรรมดาของความผูกพันฉันท์พี่น้อง ที่ผลักดันให้ ย่ิงลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะน้องสาว ต้องคอยดูแลพี่ชายในสายเลือด ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของความพยายามผลักดันผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เพื่อให้ทักษิณตลอดจนนักการเมืองคนอื่นๆพ้นความผิดในคดีต่างๆ จนกลายเป็นมหากาพย์ทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปี ภายหลังจากมีประชาชนจำนวนมากออกมารวมตัวคัดค้านครั้งใหญ่

"และแม้ว่ายิ่งลักษณ์ ได้ออกมาประกาศที่จะยุติการพิจารณาร่างดังกล่าว แต่ใครที่คิดว่า การประกาศดังกล่าว ถือเป็นจุดจบของฝันร้ายของไทย ก็ผิดมหันต์ เนื่องจากมหาเศรษฐีอย่างทักษิณ ก็ไม่ต่างอะไรกับ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีสามสมัยของอิตาลีที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดีเช่นเดียวกัน ที่จะไม่ล้มเลิกความคิดที่จะกลับบ้าน เพราะต้องการที่จะกลับมาทวงคืนเงินที่รัฐยึดทรัพย์ไป พร้อมกับทวงเก้าอี้คืน" บทความระบุ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า ภายหลังจากมีการประกาศยุติพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ได้มีการมุ่งเป้าความสนใจไปว่า ทักษิณจะได้รับผลกระทบอะไรจากการชะลอร่างครั้งนี้บ้าง ซึ่งเปเซคมองว่า แท้จริงแล้วควรหันกลับมาวิตกกังวลว่า ความวุ่นวายทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหนเสียดีกว่า

"แทนที่นักการเมืองไทยและผู้กำหนดนโยบาย จะทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ที่จะพาทักษิณกลับบ้านให้ได้ ควรนำเวลาเหล่านั้นมาพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก และหาหนทางหลีกเลี่ยงกับดักชนชั้นกลาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชนชั้นกลางและล่างให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคงจะดีกว่า" ผู้เขียน ระบุ

นอกจากนี้ คอลัมนิสต์ของบลูมเบิร์ก ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลไทยว่า เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ถอดแบบมาจากช่วงที่ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง คือพยายามที่จะบิดเบือนนโยบายให้สอดรับกับความต้องการและผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเอง ส่งผลให้ในปัจจุบัน ไทยต้องนั่งจมอยู่กับปริมาณข้าวในคลังจำนวนมหาศาล เท่ากับปริมาณส่งออกถึง2ปี จนบิดเบือนราคาข้าวในตลาดและส่งผลให้ไทยเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย

"ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่สาธารณรัฐแห่งทักษิณ ควรลดความสนใจจากบุคคลเพียงคนเดียว และหันมาตอบสนองความต้องการของมวลชนหมู่มากได้แล้ว" ผู้เขียนกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เมื่ออำนาจใหม่ บังอาจเจริญรอยตาม นิรโทษกรรม แบบอำนาจเก่า !!?

ในสถานการณ์บ้านเมืองสับสน โลกโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก เป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่งที่เราได้ระบาย และถกเถียงแลกเปลี่ยน แม้บางครั้งจะกระทบกระทั่งกันหนักบ้างเบาบ้าง ก็ไม่ว่ากัน เป็นธรรมดาใน “ยุคสมัยวิกฤตภูมิปัญญา” ที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่โดยรวมแล้วหากตัดส่วนเล็กน้อยที่เกี่ยวกับลีลาท่าทีหรืออารมณ์ออกไป เราก็อาจได้สิ่งที่เกิดประโยชน์มากว่า แม้แต่คนที่ด่าเรา หากการด่านั้นมี “เหตุผล” ก็ถือว่ามีประโยชน์
ขอยกเรื่องที่น่าจะมีประโยชน์จากการวิเคราะห์ของ Pathai Pudha's status. (ซึ่ง อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริแชร์มาอีกที) บางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้

การนิรโทษ
เป็นสนามช่วงชิงแดนกัน
ระหว่างอำนาจเก่า อำนาจใหม่
+ + + + +

ในอาณาอำนาจเก่า ที่ผ่านมา
อำนาจเก่า เคยออก พ.ร.บ.นิรโทษมาหลายครั้งแล้วก็จริง
แต่เป็นนิรโทษให้แก่พวกตัวเอง พวกลูกน้องของตนเอง
อำนาจใหม่ จะทำในสิ่งเดียวกัน ก็เป็นการชิงแดนอำนาจ

เพราะอำนาจเก่าเขาเป็นผู้จับ/จองจำ/ทำโทษ พวกของอำนาจใหม่
ถึงขั้นขอแลกตัวประกันด้วยคำว่า "นิรโทษทุกสีเสื้อ"
มันก็ยังเป็นข้อต่อรองที่ไร้ค่า ฟังน่าขันสำหรับอำนาจเก่า
เพราะพวกเสื้อเหลืองที่ยึดทำเนียบยึดสนามบิน
ไม่ได้ถูกจับ/จองจำ/คุมขัง…

หากย้อนประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลา, ๖ ตุลา, พฤษภา ๓๕ ที่นักศึกษาประชาชนถูกปราบปรามบาดเจ็บล้มตายกันเป็นเบือ “อำนาจเก่า” ก็นิรโทษกรรมแก่พวกตนเองทั้งนั้น

เพราะอำนาจเก่า “ทำอะไรไม่ผิด” มาตลอดจึงทำให้เกิดเอกลักษณ์ของรัฐไทยดังที่เบเนดิก แอนเดอร์สันเรียกว่า “ฆาตกรรมทางการเมืองด้วยน้ำมือกลุ่มผู้ปกครองเป็นบุคลิกปกติของเมืองไทย”
และกลุ่มผู้ปกครองก็ทำ “ฆาตกรรมกลางเมือง” บนฐานคิดที่ต้องการรักษาอำนาจของพวกตนไว้โดยไม่สนใจว่าประชาชนต้องตายกันเท่าไร ดังข้อสังเกตของป๋วย อึ้งภากรณ์

... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษาและประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม ๒๔๑๖ เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่าถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน ๒๕๑๙ ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์” และกิตติวุฑโฒนวพลภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป” ถึงแม้ในกันยายน-ตุลาคม ๒๕๑๙ เองก็ยังมีผู้กล่าวว่า การฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก ๓๐,๐๐๐ คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก

ความพ่ายแพ้ของทักษิณและพรรคเพื่อไทยวันนี้อาจไม่เกิด หากดำเนินการไปตามร่าง พ.ร.บ.ของวรชัย เหมะ ที่พวกตนยกมาโต้ข้อกล่าวหา “ล้างผิดคนโกง” มาโดยตลอด แต่พอลักไก่ไปนิรโทษกรรม “(ไม่)เหมาเข่ง” (ที่ไม่มีคดี 112 อยู่ในเข่ง) ทำให้ข้อกล่าวหา “ล้างผิดคนโกง” เป็นจริงขึ้นมาทันที

ข้อโจมตีมาตลอดที่ว่า “ทักษิณไว้ใจไม่ได้” ของฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นจริงอย่างเถียงไม่ได้ ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นมันทำให้ความไม่มั่นใจว่าทักษิณและเพื่อไทยจะเป็นที่ไว้วางใจได้ของมวลชนเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตย มันชัดแจ้งแดงแจ๋ว่าทักษิณและเพื่อไทยไว้ใจไม่ได้จริงๆ และไม่รู้ว่าจะให้พวกเขาเชื่อถืออีกต่อไปได้อย่างไร

การเดินตามรอยนิรโทษกรรมแบบอำนาจเก่าทำไว้ รัฐบาลประชาธิปไตยต้องไม่ทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อคุณปฏิเสธ “รัฐประหาร” คุณจะเดินรอยตามความไม่ถูกต้องที่รัฐประหารทำไว้ได้อย่างไร ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการสละชีวิตเลือดเนื้อและอิสรภาพของประชาชน ยิ่งต้องสร้างบรรทัดฐานให้ความยุติธรรมกับพวกเขาตามครรลองประชาธิปไตยและหลักมนุษยธรรม

นอกจากไม่ชอบธรรม ยังแสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงอำนาจใหม่ไม่มีทางจะ “ทาบรอย” ทำตามอำนาจเก่าได้เลย ที่แย่กว่านั้นคือการประกาศ “ถอย” ของพรรคเพื่อไทย ที่สั่งให้ ส.ส.ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกร่าง โดยไม่มีทางออกว่าจะช่วยให้นักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกได้รับอิสรภาพอย่างไร ยิ่งแสดงถึงการ “ไม่รับผิดชอบ” และ “ขาดมนุษยธรรม” ของพรรคเพื่อไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่จะอย่างไรก็ตาม การ “เป่านกหวีด” ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เรียกรวมพลปัญญาชนเดินขบวนต้าน “(ไม่) เหมาเข่ง” แต่กลับเน้นวาทกรรม “ต้านการล้างผิดคนโกง” เป็นด้านหลัก (ตามพรรคประชาธิปัตย์) โดยแทบจะไม่พูดถึงปัญหาการปล่อย “ฆาตกร” สังหารประชาชนให้ลอยนวล และไม่เรียกร้องความยุติธรรมแก่ “นักโทษการเมือง 112” เลย ก็ไม่ได้สะท้อนเสียงแห่ง “มโนธรรมทางสังคม” ที่เที่ยงตรงเลย

มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ในอดีตผู้บริหารเหล่านี้ก็ไม่ได้ออกมาต้านรัฐประหาร นอกจากไม่ต้านรัฐประหารแล้ว ยังมีบางคนไปเป็น “เนติบริกร” ให้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอีก อีกทั้งในอดีตมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ไม่เคยเป่านกหวีดต้านการนิรโทษกรรมให้พวกเดียวกันของกลุ่มอำนาจเก่าเลย

จึงยังยากจะเชื่อมั่นได้ว่า หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” เป่านกหวีดต้านรัฐประหารแบบที่ทำกันในขณะนี้หรือไม่

ที่พูดนี้ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการต้าน “(ไม่) เหมาเข่ง” เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ แต่ว่า ควรสื่อสารออกมาอย่างมี
“มโนธรรมทางสังคม” ที่เที่ยงตรง ให้สาธารณะรับรู้ว่ามหาวิทยาลัยต้าน “ทุกฝ่าย” ทั้งฝ่ายนักการเมืองและอำมาตย์หรือใครก็ตามที่ทำผิดหลักการประชาธิปไตย

การถอยของรัฐบาลเพื่อไทย อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า การเมืองของนักการเมืองนั้นแม้จะเลวร้ายสักเพียงใด ก็ยังอยู่ในการตรวจสอบควบคุมได้ของประชาชน แต่ “การเมืองที่มองไม่เห็น” นั้นยากที่จะควบคุม

ถ้าสังคมเรายังมี “การเมืองที่มองเห็น” ที่ตรวจสอบควบคุมได้ กับ “การเมืองที่มองไม่เห็น”  หรือมีอำนาจใหม่ อำนาจเก่าคู่ขนานกันไปอยู่แบบนี้ โดยอำนาจใหม่ไม่สามารถเป็น “อำนาจนำ” ในทางประชาธิปไตยได้ นึกไม่ออกว่าปัญหาขัดแย้งจะดำเนินต่อไปอย่างไร

ยิ่งถ้าใน “ระยะเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน” เช่นนี้ หากอำนาจใหม่ไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง และทุ่มสุดตัวจริงๆ ที่จะสร้างระบบสังคมการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็ยากที่สังคมจะอยู่ในครรลองของการแก้ปัญหาขัดแย้งต่างๆ ด้วยสันติวิธีตามวิถีทางประชาธิปไตยได้

ที่มา.ประชาไท
------------------------------------------

2 ล้านล้าน ผ่าน..ไม่ผ่าน แต่รถไฟความเร็วสูงเกิดแน่นอน

ยังเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันจนนาทีสุดท้ายว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) จะผ่านความเห็นชอบ ของวุฒิสภาหรือเปล่า หลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว...

ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมของ วุฒิสภาก็ได้รับร่างดังกล่าวในวาระแรกแล้ว ด้วยมติเสียงที่ประชุม 86-41 และงดออกเสียง 8 เสียง

เสียงส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยมองว่า งบประมาณ ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนเสียงไม่เห็นด้วยเป็นห่วงการใช้หนี้คืน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และความคุ้มค่าของการลงทุน เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดโครงการอย่างชัดเจน

ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงยังมีความเป็นไปทั้ง 2 ทางคือ 1. พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ประกาศใช้ได้จริง หรือ 2.ถูกล้มกระดาน

ว่ากันว่า หากโครงการ 2 ล้านล้านถูกล้มกระดานจะกระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงแน่

แต่ "ประกายดิน" มองอีกมุมว่า หากเกิดเอ็กซิเด้นท์ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน มีปัญหาผ่านไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่เห็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น

เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นหนึ่งที่อยู่ นอกโครงการงบประมาณ 2 ล้านล้าน คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสาย "แพนเอเชีย" ที่จีนเป็นผู้ลงทุน โดยมีต้นทางจากนครคุณหมิง มณฑลยูนนาน และสิ้นสุดระยะทาง ณ ประเทศสิงคโปร์

ปัจจุบันเส้นทางรถไฟในประเทศจีนเริ่มทยอย ก่อสร้างแล้ว ตามแผนของรัฐบาลจีนคือจะเปิดใช้ในปี 2563 ออกจากนครคุนหมิงผ่านชายแดนจีน เข้านครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว ทะลุมา ผ่านภาคอีสานของไทยผ่านหนองคาย-ขอนแก่น-กรุงเทพฯ ออกกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย และ เข้าสิงคโปร์ ระยะทางทั้งหมด 3,900 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่ารัฐบาลไทยจะเปิดโครงการบาเตอร์เทรด นำสินค้าเกษตรแลกรถไฟฟ้า

"ประกายดิน" มองว่าหากเป็นการบาเตอร์กันจริงๆ ก็คงเป็นรถไฟสายนี้ เพราะเป็นสายที่จีนเริ่มลงทุนสร้างไปแล้วบางส่วน เมื่อผ่านเข้ามาในประเทศไทยก็อาจจะตกลงว่ารัฐบาลจีนลงทุน 50% อีก 50% เป็นการลงทุนของรัฐบาลไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมองว่าแทนที่จะลงทุนเป็นเงินสดก็ใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าที่เรามีในสต็อกน่าจะดีกว่า

วิน วิน ทุกฝ่าย

สอดคล้องกับที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์พิเศษสถานีวิทยุซีอาร์ไอ ภาค ภาษาไทย ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงของจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า สนับสนุนแนวทางการขยาย และพัฒนาเส้นทางรถไฟ แต่รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการลงทุนและประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ซึ่งการใช้เงินกู้ลงทุนจะมีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้น ขอเสนอให้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เพื่อ ให้สอดคล้องกับนโยบายของจีนที่ต้องการเชื่อมและเปิดประเทศไปสู่ภูมิภาคได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์

หากรัฐบาลไทยต้องการลงทุนในระบบลอจิสติกส์ ก็น่าจะนำเงินงบประมาณไปลงทุนในระบบ รถไฟรางคู่จะเกิดประโยชน์มากกว่า

ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ได้รับรายงานจากเว็บไซต์ ยูนนานว่า ชาวยูนนานต่างยินดีกับโครงการ "ข้าวแลกรถไฟฟ้า" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากจีนได้ให้ความคิดเห็นว่า หากโครงการ "ข้าวแลกรถไฟฟ้า" สามารถปฏิบัติได้จริง จะทำให้โครงการก่อสร้างรถไฟสายแพนเอเชียสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น มณฑลยูนนานจะกลาย เป็น "ป้อมหัวสะพาน" นำสินค้าไทยและสินค้าอาเซียนเข้าไปในตลาดยูนนานมากขึ้น และสามารถขยายเข้าไปในมณฑลชั้นในของจีนอีกด้วย ในขณะเดียวกันชาวจีนสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยได้สะดวกและง่ายมากขึ้น

รถไฟสายแพนเอเชีย คุนหมิง-สิงคโปร์ จะเป็นรถไฟสายประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากสายหนึ่ง ที่จะเชื่อมโยงการคมนาคมของกลุ่มประเทศในอาเซียนเข้าด้วยกัน

"ประกายดิน" จึงมองว่า ไม่ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะประกาศใช้ได้หรือไม่ โครงการรถไฟ ความเร็วสูงจะพาดผ่านประเทศไทยแน่นอน

ที่มา.สยามธุรกิจ
---------------------------------------

หอกข้างแคร่อาเซียน

ความเป็นกังวลร่วมกันของอาเซียนในประเด็นความขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้นี้ จะเห็นเริ่มแรกมาจากมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นต่อการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธี แถลงการณ์ดังกล่าวนี้ มีออกมาจากการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1992 คือ "แถลงการณ์อาเซียนเรื่องทะเลจีนใต้"

แถลงการณ์ดังกล่าวนี้ กล่าวย้ำถึง "ความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาบรรดาประเด็นเรื่องอันเกี่ยวกับอธิปไตยและเขตแดนอำนาจที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ โดยวิธีการอันสันติหลีกเลี่ยงการใช้กำลังต่อกัน และกระตุ้นเร้าให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามนี้"

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ออกแถลงการณ์ดังกล่าวไปแล้ว ทางฝ่ายอาเซียนเองก็ยังไม่มั่นใจนักว่าทางปักกิ่งจะเห็นเป็นเรื่อง จริงจังแค่ไหน เพราะจะเห็นว่าปักกิ่งแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่เป็นไปด้วยกันเลย ระหว่างนโยบายของจีนที่ประกาศออกมากับการปฏิบัติจริงๆ ของฝ่ายจีน ต่อกรณีที่เป็น ปัญหาอยู่ในทะเลจีนใต้นี้

ตัวอย่างในกรณีนี้ จะเห็นได้จากการประชุม ARF ที่บรูไน ในปีค.ศ.1995 รมต.ต่างประเทศสร้างความประหลาดใจต่อที่ประชุม โดยประกาศยอมรับตราสารขององค์การสหประชาชาติ (รวมถึงกฎหมายทะเล) ให้เป็นพื้นฐานหลักในการแก้ไขปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งนับว่าแหกธรรมเนียมจีนที่มีนโยบายกร้าวในการอ้างสิทธิเหนือเกาะต่างๆ บนพื้นฐานของ "สิทธิอันมีมาแต่ประวัติศาสตร์" (Histrionic right)

ในขณะเดียวกันนั่นเอง โฆษกของกระทรวงต่างประเทศของจีน ก็ประกาศว่าการอ้างสิทธิของจีนมีอธิปไตยเหนือเกาะแก่ง ต่างๆ และน่านน้ำที่ต่อเชื่อมกันนั้นเป็นสิ่งซึ่งบิดพลิ้วเป็นอื่นไปไม่ได้และยังปฏิเสธบทบาทของ ARF ในการพูดถึงประเด็นเหล่านี้

ถ้าติดตามดูให้ดีตลอดมาก็จะเห็นว่า บางครั้งนั้นจีนทำเมินเฉยต่อการเอ่ยอ้างสิทธิของฟิลิปปินส์และมาเลเซียในเขตแดน ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่ มีช่วงหนึ่งที่ประธานาธิบดี คอราซอน อาคิโน ของฟิลิปปินส์ เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อปีค.ศ. 1988 มีรายงานของฝ่ายจีนว่าจีนจะไม่โจมตีกองกำลังของฟิลิปปินส์ที่ตั้งอยู่บนเกาะสแปรตลีย์

อดีตนายกรัฐมนตรีของจีนท่านหนึ่ง คือ นาย หลี่ เผิง ซึ่งเคยเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ ในปีค.ศ.1990 ก็กล่าวกับทางสิงคโปร์ว่า ฝ่ายจีนเต็มใจที่จะไม่นำเอาประเด็นเรื่องอธิปไตยมาพูด และยินดีร่วมมือกับบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอันที่จะให้มีโครงการพัฒนาร่วมกันขึ้นมา

แต่อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายปักกิ่งก็ยังคงกล่าวอ้างสิทธิทางดินแดน โดยจะเห็นว่า ฝ่ายจีนได้ออกกฎหมายทะเลของตนขึ้นมาใหม่ฉบับหนึ่งในปีค.ศ.1992 ซึ่งตามกฎหมายนี้อ้างสิทธิทั้ง หมดเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ และตามกฎหมายนี้ยังเปิดให้ใช้กำลังได้ด้วย หากการอ้างสิทธิของจีนเหนือหมู่เกาะดังกล่าว ถูกละเมิดสิทธิขึ้นมา

จากการนำกฎหมายนี้มาใช้ ต่อมาก็จะเห็นว่าทางฝ่ายจีนได้ให้สัมปทานแก่บริษัทอเมริกันแห่งหนึ่ง เป็นสัญญาสามปีให้ทำการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตทะเลจีนใต้ในอาณาบริเวณ 60 กิโลเมตร จากฝั่งของเวียดนามเท่านั้นเอง ยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า จีนได้เข้าไปยึดหมู่เกาะที่เรียกว่า Mischief Reef (ที่เพิ่งมา รู้กันในปีค.ศ. 1995 นี้เอง)

เขตที่จีนยึดไปนี้เป็นเขตที่ฝ่ายฟิลิปปินส์อ้างสิทธิครอบครอง อยู่ การอ้างสิทธิของจีนจึงเท่ากับจีนปิดล้อมเขตแดนต่างๆ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนกล่าวอ้างสิทธิไว้แต่แรกนั่นเอง

จากกรณีนี้เองที่นำไปสู่เหตุรุนแรงครั้งแรกที่เกิดขึ้นระหว่าง จีนกับประเทศอาเซียนในเดือนมีนาคม ค.ศ.1995 เมื่อกองเรือประมงของจีนยิงปืนเข้าใส่กองเรือนาวีของมาเลเซีย ในเขตน่านน้ำ ซึ่งมาเลเซียอ้างสิทธิครอบครองไว้ การสู้รบขนาดย่อยดังกล่าวยังมีต่อเนื่องในบริเวณ Mischief ที่ทางฟิลิปปินส์อ้างสิทธิครอบครองระหว่างกองเรือของจีนกับกองกำลังนาวีของฟิลิปปินส์

ทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์นั้น มีกองกำลังทหารตั้งอยู่ที่หมู่เกาะสแปรตลีย์แล้ว ประธานาธิบดีรามอส ของฟิลิปปินส์ กล่าว เตือนว่า ความขัดแย้งนี้ กระตุ้นเร้าให้เกิดการแข่งขันกันด้านอาวุธ ขนาดเล็กในเขตแดนเอเชียแปซิฟิก ดังในกรณีของมาเลเซีย ซึ่งถือว่า สแปรตลีย์อยู่ในแผนป้องกันความมั่นคงของชาติ คือ ยกจากระดับสองขึ้นมาเป็นระดับ ซึ่งได้รับความสำคัญสูงสุดมาก อันเป็นผลตามมาจากการสู้รบทางทะเลระหว่างจีนกับเวียดนามในเดือนมีนาคม 1988 นั่นเอง

แม้กระนั้นก็ตาม อาเซียนก็ยังสามารถกล่าวอ้างได้ถึงผลสำเร็จบางอย่างในการข้องเกี่ยวกับจีน ในประเด็นปัญหาเกาะ สแปรตลีย์นี้ กล่าวคือเรื่องนี้นั้นทางฝ่ายจีนคัดค้านการนำประเด็นดังกล่าวจัดเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุม ARF แต่ทางฝ่ายอาเซียน ก็ยังสามารถทำความตกลงกับฝ่ายปักกิ่งในอันที่จะให้มีการปรึกษาหารือในกรอบพหุภาคีในประเด็นความมั่นคงต่อกัน รวมถึงเรื่องความขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้ด้วย

นอกเหนือจากนี้แล้ว ฝ่ายอาเซียนก็ยังสามารถนำเอาข้อ ตกลงกับจีนมาแสวงหาข้อยุติซึ่งทำให้ลุกยืนของจีนผ่อนคลาย ลง ด้วยการตกลงที่จะจัดการความขัดแย้งภายในกรอบของกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ ค.ศ.1982 และให้หลักประกันในเสรีภาพของราชนาวีในเขตน่านน้ำที่อ้างสิทธิต่อ กัน ความพยายามของอาเซียนจึงเท่ากับนำเอาประเด็นความ ขัดแย้งเข้าสู่ระบบการแก้ไขของนานาชาติ โดยวิถีทางการทูต และที่ทางปักกิ่งจะใช้อาวุธในการตัดสินความขัดแย้งต่อกัน

ความพยายามในการเจรจาเรื่อง "กฎจรรยาบรรณ" หรือ Code of Conduct นี้ เป็นไปอย่างเชื่องช้าอืดอาดมาก ข้อตกลงในกรอบทวิภาคีนั้นมีการสรุปร่วมกันระหว่างจีนกับเวียดนาม ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1993 ซึ่งผูกพันทั้งสองฝ่ายไม่ให้ใช้กำลัง และหลีกเลี่ยงต่อปฏิบัติการใดอันจะทำให้สถานการณ์เสื่อมทรามลง

คงต้องมาคุยต่อในสัปดาห์ต่อไปละครับ เนื้อที่หมดพอดี เสาร์หน้าผมจะสรุปเสียทีว่า ในบรรดาข้อตกลงทั้งหลายในทะเลจีนใต้ ระหว่างบรรดาประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจีน ซึ่งมีรัฐในอาเซียน 4 ประเทศ อันได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม (กับไต้หวันนอกอาเซียน) ว่ามันไม่ได้ผลอย่างไร

จีนไม่ได้ยอมรับ Code of Conduct ของอาเซียนเลยแต่อย่างใดและนี่เองที่เป็นปัญหาคาใจและค้างคาอยู่ในอาเซียนจนได้เกรงกันไปว่า ปัญหาทะเลจีนใต้ และมันจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่น่ากังวลยิ่งต่อไป

ที่มา.สยามธุรกิจ
-----------------------------

จีนชะลอนำเข้ายางไทย !!?

คาดจีนชะลอนำเข้ายางจากไทย หลังสต็อกในประเทศพุ่งสูง และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นักวิเคราะห์หวั่นฉุดราคาตลาดโลกร่วงอีกครั้ง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจีนจะไม่สั่งนำเข้ายางจากไทยเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้สั่งซื้อยาง อาร์เอสเอส 54,000 ตัน หรือเท่ากับ 1.3% ของอุปสงค์ของจีนที่คาดไว้ในปีนี้ ในราคาตันละ 20,400-21,500 หยวน หรือ 3,300-3,500 ดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบริษัทไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสตรี กรุ๊ป, ซิโนเคม อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชั่น, ฟาวเดอร์ คอมโมดิตีส์ และ อันฮุย เทคโนโลยี อินพอร์ท แอนด์ เอ็กซ์ พอร์ท

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจีนจะนำเข้ายางรวม 200,000 ตัน แต่การไม่สั่งเพิ่มเป็นผลมาจากสต็อกยางของบริษัทต่างๆ สูงขึ้น และสูงสุดในรอบ 3 เดือน รวมถึงผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

"การซื้อยางจากต่างประเทศและในประเทศจะยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ และสิ่งนี้จะเป็นตัวฉุดราคายางในตลาดโลก หลังจากที่ราคาร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปีในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จากความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก"

ด้านนายกู่ จอง นักวิเคราะห์จากยูทากะ โชจิ กล่าวว่าขณะนี้ความเชื่อมั่นย่ำแย่ลง และแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวรัฐบาลจะซื้อยางรอบต่อไปในเดือน ม.ค. 2557 แต่การนำเข้า 54,000 ตัน ที่เป็นข่าวออกมาแล้ว จึงไม่มีใครพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

"สต็อกยางจำนวนมากในคลังสินค้าของเซี่ยงไฮ้บ่งชี้ว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเพิ่มสต็อกยาง เพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนแต่อย่างใด"

ขณะที่เจ้าหน้าที่สมาคมอุตสาหกรรมยางจีนปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้

ในส่วนของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ประเมินว่า ความต้องการยางของจีนจะอยู่ที่ระดับ 4.18 ล้านตันในปีนี้ เพิ่มขึ้น 9% แต่ก็อาจจะมีการทบทวนปรับลดลง ถ้าเศรษฐกิจจีน ยังคงไม่มีเสถียรภาพ และคาดว่า ผลผลิตยางของจีนจะอยู่ที่ 868,000 ตัน ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 9.2%

ขณะที่สต็อกยางในคลังสินค้าของตลาดสัญญาล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ พุุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2553 หลังจากที่จีนทำการซื้อก่อนช่วงวันหยุดยาวในเดือนที่แล้ว และนักเก็งกำไรบางรายใช้ยางเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ ทั้งนี้หากสต็อกยางพุ่งสูงกว่าปี 2553 ที่ 152,000 ตัน ก็จะทำให้ปริมาณสต็อกอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า จีนอาจจะซื้อยางจำนวนมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน ม.ค.ปีหน้า

ทางด้านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจของจีนว่า ต้องรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 7.2% เพื่อรับรองว่าตลาดจ้างงานจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำสุดในรอบ 23 ปีในปีนี้ที่อัตรา 7.5% ขณะที่ยอดส่งออกก็ชะลอตัวเช่นกัน เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่ซบเซา

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้ !!?

ความร้อนแรงยังไม่จบ แม้ (แทบ) จะถูกกลบด้วยกระแสการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ดังสนั่นครึกโครมอยู่ในขณะนี้ แต่ ‘ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. …’ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ต.ค.56 ก็ยังคงถูกจับตามองอย่างตามติดเช่นเดียวกัน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลาอันใกล้นี้
 
หนึ่งในเวทีพูดคุยอย่างถึงเนื้อครั้งล่าสุด ศูนย์สังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้’ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.56 เชิญนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรม นักกฎหมาย รวมทั้งผู้ที่สนใจในเรื่อง ‘วัฒนธรรมไทย’ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเนื้อหาโดยละเอียดมากขึ้น

 
 
 

ทำความรู้จัก อนุสัญญาฯ ยูเนสโก ต้นร่างของกฎหมายไทย?

ดังที่ทราบกันว่า ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2552 มีมรดกภูมิปัญญาพื้นบ้านขึ้นทะเบียนแล้ว 218 รายการ และการจัดทำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เพื่อรองรับพันธกิจในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก (UNESCO) ฉบับปี 2546
 
เพื่อสะท้อนความเข้าใจว่า เนื้อหาตามร่างกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย เป็นไปตามอนุสัญญาฯของยูเนสโกแค่ไหน เพียงไร ก่อนอื่นใดคงต้องไปทำความเข้าใจกับอนุสัญญาฯ ฉบับนี้กันก่อน

 
 
อเล็กซานดรา เดอเนส (Alexandra Denes) นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า กว่าจะมาเป็นอนุสัญญาดังกล่าวได้ต้องผ่านการถกเถียงมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่มีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (The World Heritage Convention) เมื่อปี 2515 (1972) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ก็มีปัญหาเพราะหัวใจหลักของอนุสัญญานี้เป็นการอนุรักษ์ สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ ที่กำลังเสื่อมโทรม แต่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลายเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว และกลายเป็นจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน
 
ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มีจุดเริ่มต้น เมื่อปี 2516 (1973) จากการวิพากษ์วิจารณ์ว่ายูเนสโกมุ่งเน้นเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และมองข้ามมรดกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีประเพณีและดนตรี โดยผู้ที่เรียกร้องให้ยูเนสโกหันมาสนใจเรื่องนี้คือรัฐมนตรีของโบลิเวีย เนื่องมาจากพบว่ามีวงดนตรีต่างชาติที่นำเพลงพื้นเมืองของเปรูและโบลิเวียมาแต่งเป็นเพลงชื่อ ‘If I could’ ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมถูกแปรรูเป็นสินค้าเพื่อส่งออก
 
ต่อมายูเนสโกทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปกป้องประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อปี 2532 (1989) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการบันทึกและเก็บข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐที่เป็นภาคี ในรูปแบบเชิงวิชาการ ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช้การอนุรักษ์หรือปกป้อง เน้นแต่เก็บข้อมูล ขณะที่วิถีชีวิตกำลังจะหายไป และเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่มีกลไกการบังคับใช้ แทบไม่มีผลอะไรกับประเทศภาคี
 
ในปี 2540 (1997) มีการจัดการประชุมระดับนานาชาติ “World forum on the protection of folklore” ที่ภูเก็ต โดยยูเนสโกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ ไวโพ (World Intellectual Property Organization: WIPO) แต่ในการประชุมครั้งนี้ทั้ง 2 องค์กรมีแนวทางความคิดที่ต่างกัน
 
ไวโพเน้นว่า ควรมีการป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยสร้างระบบในการขึ้นทะเบียนและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งก็มีคนคัดค้านว่าสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ว่าดนตรี การแสดง หรือพิธีกรรมต่างๆ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ และมันจะทำลายโดยทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้หยุดนิ่ง ขณะยูเนสโกเน้นการให้เกียรติ ส่งเสริม สร้างจิตสำนึกในมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกคุกคามโดยกระแสโลกาภิวัตน์
 
การประชุมครั้งต่อมาในปีเดียวกันที่โมร็อกโก มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและนักวิชาการเข้าร่วมพูดคุยกันถึงการป้องกันพื้นที่ทางวัฒนธรรม Jamaa’ el-fna square ที่ โมร็อกโกซึ่งถูกคุกคามโดยการพัฒนาของเมือง นำไปสู่ปี 2541 (1998) ที่มีการประกาศรายการมรดกวัฒนธรรมบอกเล่าและมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Proclamation of Masterpieces of Oral and Intangible Cultural Heritage of Humanity 2001-2005)
 
อีกทั้ง ในปี 2544 มีประกาศในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Declaration on Cultural Diversity)
เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนากรอบแนวคิดของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปี 2546 (2003)
 
นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวว่า ระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีการถกเถียงเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และระหว่างการร่างอนุสัญญาฯ ในช่วงปี 2544-2546 ก็มีการประชุมถกเถียงกันหลายครั้งโดยมีนักมานุษยวิทยา คนทำงานด้านมรดกวัฒนธรรมเข้าร่วม จนได้มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อนุสัญญาฯ ต้องเน้นบทบาทของเจ้าของวัฒนธรรมและชุมชนเป็นหลัก เพราะเห็นปัญหาจากประกาศ ข้อตกลง รวมทั้งเครื่องมือที่มีอยู่เดิม
 
นอกจากนี้ ในการประชุมมีการถกถียงกันอย่างมากเรื่องการขึ้นทะเบียน เพราะหลายฝ่ายเห็นว่าการขึ้นทะเบียนจะทำให้เกิดเป็นการแข่งขันกันระหว่างรัฐเพื่อแสดงถึงความสวยงามของวัฒนธรรม ไม่ได้เน้นที่ชุมชน แต่ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจำเป็นต้องใช้การขึ้นทะเบียน เนื่องจากเห็นความสำเร็จของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเพื่อสร้างความตระหนักในมรดกทางวัฒนธรรม จึงอยากใช้การขึ้นทะเบียนต่อไป ซึ่งก็ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขึ้นทะเบียน
 
อเล็กซานดรา กล่าวว่า หลักการของอนุสัญญาฯ ของยูเนสโกที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ระบุไว้ทั้งในมาตรา 1 ที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ มาตรา 2 ที่ว่าด้วยคำนิยาม และในมาตรา 15 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง อีกทั้งในอนุสัญญาของยูเนสโกไม่ได้ใช้เกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนว่าต้องเป็นวัฒนธรรมที่เลอค่า หรือเป็นมาสเตอร์พีซ แต่สิ่งที่เน้นคือความหมาย คุณค่าตามเจ้าของและความเสี่ยงที่จะสูญหายไป
 

แม้บอกว่าเน้นการมีส่วนร่วม ก็ไม่ใช่ไร้ซึ่งปัญหา

อเล็กซานดรา ให้ข้อมูลว่า อนุสัญญาฯ ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดย ริชาร์ด คูริน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับการร่างอนุสัญญาฯ ว่า ถึงแม้ในอนุสัญญาฯ จะเน้นให้เจ้าของวัฒนธรรมในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบันทึก ทำวิจัย นำเสนอ สืบทอด หรือโปรโมทจารีตประเพณี วิถีชีวิตของเขาเอง แต่นั่นสร้างความตึงเครียด เนื่องจากบางรัฐบาลสามารถพูดแทนพลเมืองของตัวเองได้ และอาจไม่ยอมมอบอำนาจให้กับชมชนโดยเฉพาะกับชุมชนชายขอบหรือชนกลุ่มน้อย ในบางบริบทไม่มีความหมายเลยเมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน
 
คูริน ระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญในอนุสัญญาฯ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ดนตรีต่อต้าน ตำนานที่เกี่ยวกับการต่อสู้ หรือความรู้ความทรงจำที่เกี่ยวกับการโยกย้าย การยึดครองดินแดนดั้งเดิม ทั้งหมดนี้อาจถูกมองว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของรัฐชาติ เขาย้ำว่ากฎบัตรสิทธิมนุษยชนพยายามป้องกันคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบจากการควบคุมของรัฐ แต่ถ้าอาศัยหน่วยงานรัฐเพื่อขึ้นทะเบียนสุดท้ายก็จะเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
 
นอกจากนี้ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ คือทำอย่างไรจึงจะมีกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมได้จริง เพราะการขึ้นทะเบียนโดยนิยามแล้วก็หมายถึงการคัดเลือก เป็นการจัดลำดับระบบการยืนยันความเป็นจริง การร่วมมือและทำงานกับชุมชนกลายเป็นการสร้างรูปแบบและระเบียบในการเลือกมรดกทางวัฒนธรรมที่จะเป็นมรดกของรัฐชาติ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่เห็นด้วย
 
ทั้งนี้ เคยมีคนเสนอว่าทำไมไม่รวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมทั้งหมด แต่ก็จะเกิดความยุ่งยากและเป็นข้อมูลที่ใหญ่มาก
 

เทียบร่าง พ.ร.บ.มรดกทางวัฒนธรรมฯ ไทย กับอนุสัญญาฯ ยูเนสโก แตกต่างอย่างมีนัยยะ

อเล็กซานดรา กล่าวว่า หากร่างกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยนำเอาอนุสัญญาฯ ยูเนสโกมาเป็นต้นแบบจริงก็น่าสงสัยว่าทำไมจึงไม่มีมาตราที่ว่าด้วยเรื่องบทบาทของชุมชน คำว่า บทบาท สิทธิ หน้าที่ การมีส่วนร่วม แทบไม่มีให้เห็นในเนื้อหา หากการทำร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเป็นภาคีทำไมจึงไม่มีเรื่องนี้อยู่
 
เมื่อมาดูร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จะพบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกณฑ์ในการคัดเลือก เช่น ในมาตรา 5 มีการนิยามว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียน ต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ คุณค่าทางจิตใจ หรือผลงานควรค่าแก่การรักษาไว้ และมาตรา 22 มีการระบุถึงการพิจารณาขึ้นทะเบียนว่ามีหลักเกณฑ์ในเรื่องความโดดเด่นและคุณค่าเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความสงสัยในหลักเกณฑ์ดังกล่าว
 
เพราะเมื่อกลับไปเทียบกับอนุสัญญาฯ ยูเนสโกจะไม่มีเกณฑ์ในการคัดเลือกเช่นนี้ ดูได้จากมาตรา 2 โดยสิ่งที่สำคัญคือการมองความหมายและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมในสายตาของเจ้าของไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือบุคคล และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ใครเป็นผู้ตัดสินใจ และจะเอาอะไรมาเป็นตัววัดว่ามรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ ดีเด่น หรือมีคุณค่าในเชิงศิลปะหรือประวัติศาสตร์ 
 
นอกจากนี้ อเล็กซานดรา ยังกล่าวถึงมาตรา 19 และ 20 ในร่างกฎหมายของไทยที่พูดถึงคณะกรรมการระดับจังหวัดว่า วิธีการขึ้นทะเบียนค่อนข้างจะซับซ้อน แต่เข้าใจจาก พ.ร.บ.ว่าจังหวัดจะเป็นตัวเชื่อระหว่างชุมชนกับส่วนกลางและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยจะต้องขึ้นทะเบียนกับจังหวัดก่อน ซึ่งก็เกิดคำถามว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่ข้ามพรมแดนของจังหวัดจะจัดการอย่างไร
 
ตามมาตรา 21 เรื่องการนำเสนอขึ้นทะเบียนมี 2 วิธี คือ มีตัวแทนชุมชนที่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนกับทางจังหวัด และจังหวัดเองสามารถเสนอเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งเมื่อกลับไปดูอนุสัญญาฯ จะพบว่าได้พูดถึงบทบาทของมหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมด้วย แต่ไม่เห็นในร่างกฎหมายของไทย จึงเกิดคำถามว่าหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ จะมีสิทธิ์ในตรงนี้หรือไม่
 
ส่วนมาตรา 34 ที่พูดถึงการให้งบประมาณสำหรับมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนแล้ว นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียให้ความเห็นว่า การให้งบประมาณสนับสนุนเป็นรางวัลความดีเด่นของวัฒนธรรมอาจนำมาสู่ความขัดแย้งได้ ตรงนี้อาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้วย   
 
สำหรับมาตราที่มีการพูดถึงมาก อย่างมาตรา 39 ซึ่งระบุถึงการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้วไปใช้ว่า จะดัดแปลงหรือบิดเบือนให้แตกต่างไปจากสาระสำคัญไม่ได้ เว้นแต่จะระบุถึงแหล่งที่มาและแสดงถึงการประยุกต์หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่เพิ่มเติม นี่เป็นอีกมาตราหนึ่งที่ไม่ตรงเลยกับอนุสัญญาฯ ซึ่งไม่พูดถึงของแท้หรือต้นกำเนิด แต่สนับสนุนให้มีนวัตกรรม
 
และมาตรา 40 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนต่อศาสนา กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นไปในทางที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นี่เป็นมาตราที่สร้างความหวาดกลัว
 
มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมร่วม (Sharing Culture) อย่างดนตรีหรือตำนานที่มีทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาหรือลาว เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันมีผลต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ หรือตัวอย่างตำนานปาจิต-อรพิมที่มีในอีสานใต้รวมทั้งในประเทศลาว จะตีความอย่างไรว่ามรดกทางวัฒนธรรมนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติหรือเปล่า
 

แนะบรรเทาปัญหาการขึ้นทะเบียน ด้วยการเปิดโอกาสชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

อเล็กซานดรา แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการขึ้นทะเบียนจะยังคงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งและสร้างปัญหา เพราะอย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนก็เป็นการคัดเลือก เป็นการให้คุณค่ากับมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่าง เนื่องจากเห็นว่าต้องการการสนับสนุนส่งเสริมมากกว่ามรดกทางวัฒนธรรมอื่น อย่างไรก็ตาม
 
“แม้ว่าจะมีปัญหากับกระบวนการขึ้นทะเบียน แต่จะสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้หากมีความตั้งใจจริงที่จะให้มีการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำความเข้าใจคุณค่าและความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมจากมุมมองของเจ้าของจริงๆ แทนที่จะเอาความคิดนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในเชิงวิชาการ หรือคุณค่าในเชิงชาติมานับว่าอะไรควรจะขึ้นทะเบียน” อเล็กซานดรากล่าว 
 
นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวด้วยว่า ควรมีการตระหนักถึงวัฒนธรรมที่เป็น Sharing Culture ที่มีลักษณะข้ามพรมแดน เพราะตอนนี้โครงสร้างทั้งหมดของการขึ้นทะเบียนเป็นลักษณะจังหวัดแล้วขึ้นไปยังส่วนกลางซึ่งไม่ได้สะท้อนชีวิตของมรดกทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ อเล็กซานดรายังแสดงความห่วงใยเรื่องการเรียกร้องให้อ้างอิงจุดกำเนิด (origins) ว่า อาจก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากวิถีชีวิต วัฒนธรรมระบุได้ยากมาก เพราะมีความเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคน ซึ่งมาตรการนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การแย่งชิงกันได้ ยกตัวอย่าง กันตรึมโบราณซึ่งอำเภอหนึ่งใน จ.สุรินทร์มีความภาคภูมิใจว่าที่อื่นไม่มีเหมือนเขา
 
หรือกรณีวิถีประเพณี จากการลงพื้นที่ศึกษาเรื่อง ประเพณีสลากย้อมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวยอง ใน จ.ลำพูน ซึ่งถ้าจะอ้างอิงแหล่งกำเนิดจะเป็นที่ไหน ในท้องถิ่นหรือที่เมืองยองในประเทศพม่า อีกทั้งมีหลายหมู่บ้านที่จัดพิธีนี้หลังมีการฟื้นฟูกลับมากว่า 50 ปี ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร จึงยากที่จะเน้นความดั้งเดิมได้
 
ดังนั้น เธอจึงคิดว่าไม่ควรมีคำนี้ใน พ.ร.บ.วัฒนธรรมที่มีชีวิต
 
หมายเหตุ: การเสวนาวิชาการ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้’ จัดที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.56 ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา || ห้องภาพเมืองสุรินทร์, ภาสกร อินทุมาร || คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ภูมินทร์ บุตรอินทร์ || คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Alexandra Denes || สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา.ประชาไท
------------------------

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

2 ล้านล้าน บูม ภาคเหนือ มองเศรษฐกิจ 17 จังหวัด ทะลุการค้า 4 ประเทศ !!?

"ภาคเหนือ" อาณาเขตใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 93,691 ตร.กม. พรมแดนติดประเทศเมียนมาร์กับ สปป.ลาว ทำให้ตะเข็บชายแดนคึกคักจาก 4 ประตูการค้าสำคัญ "แม่สอด-แม่สาย-เชียงของ-เชียงแสน"

ยิ่งถ้าเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ประเมินว่าการค้าขายยิ่งจะบูมทวีคูณ ปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่ 12,176,000 คน รายได้ต่อหัว 68,015 บาท/คน และผลิตภัณฑ์มวลรวมภูมิภาคอยู่ที่ 828,151 ล้านบาท

ถมลงทุน 5 แสนล้าน


ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ภาคเหนือได้รับจัดสรรการลงทุนกว่า 567,997 ล้านบาท ครอบคลุมทางราง ถนน และสถานีขนส่งสินค้า กระจายไปใน 17 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานีโดยมีเมืองศูนย์กลาง 3 แห่งที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก และ 7 เมืองเศรษฐกิจคู่ขนานคือ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์

ปี57 ลุ้นประมูลทางคู่ 2 สาย

ในด้าน "ระบบราง" โครงการหลัก ๆ มี "รถไฟทางคู่ 3 สาย" ระยะทางรวม 759 กิโลเมตรที่สร้างคู่ไปกับเส้นทางสายเหนือ ต่อเชื่อมจาก "ลพบุรี-ปากน้ำโพ" 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท เริ่มประมูลในปี 2557 และจาก "ปากน้ำโพ-เด่นชัย" 285 กิโลเมตร 30,070 ล้านบาท เริ่มประมูลปี 2559

ขณะที่สายใหม่ "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" จะเปิดพื้นที่ใหม่ 4 จังหวัดคือ เชียงราย แพร่ ลำปาง พะเยา 326 กิโลเมตร วงเงิน 77,485 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มประมูล

ในปี 2557 มี 26 สถานี อาทิ สถานีเด่นชัย งาว ปงเตา มหาวิทยาลัยพะเยา ป่าแดด ฯลฯ ก่อสร้างบนแนวเขตทาง 50 เมตร เวนคืนที่ดิน 10,000 ไร่

ไฮสปีดเทรนฟู่ฟ่า

สำหรับ "รถไฟความเร็วสูง" ของสายเหนือจาก "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" 745 กิโลเมตร วงเงิน 387,821 ล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 2 เฟส ในเฟสแรก "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" 382 กิโลเมตร เตรียมเปิดประมูลไตรมาส 3/2557 วงเงินค่าก่อสร้าง 193,206 ล้านบาท

ส่วนช่วง "พิษณุโลก-เชียงใหม่" มีการปรับแนวใหม่เนื่องจากตัดผ่านเขาหลายแห่งตั้งแต่ จ.อุตรดิตถ์เป็นต้นไป โดยที่ปรึกษาเสนอให้เบี่ยงมาทาง จ.สุโขทัย

แนวเส้นทางคู่ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-สุโขทัย) เข้าสู่ถนนสาย 101 ผ่าน อ.ศรีสำโรง ไปบรรจบกับทางรถไฟสายเดิม จ.ลำปาง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาช่วงระหว่างเขาขุนตาล-เขาผาเมือง ตัดเข้าลำพูน สิ้นสุดที่เชียงใหม่ มี 5 สถานีคือ "สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่" จะทำให้ระยะทางสั้นลงจากเดิม 745 กม.เหลือ 669 กม.

เร่งสร้างถนนเชื่อมเออีซี

ด้าน "ถนน" มีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 4 โครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พะเยา เชียงราย ตาก ได้แก่ ถนนเลี่ยงเมืองแม่สอด รวมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 วงเงิน 1,750 ล้านบาท, ถนน 1021 สายดอกคำใต้-เทิง ตอน 1-2 วงเงิน 4,350 ล้านบาท และสาย 1020 สายเชียงราย-เชียงของ ตอน 4 วงเงิน 720 ล้านบาท

นอกจากนี้มี "ถนน 4 เลน" 10 โครงการ ใน 8 จังหวัด อาทิ สาย 12 หล่มสัก-น้ำหนาว ตอน 2 วงเงิน 1,960 ล้านบาท, สาย 101 สุโขทัย-สวรรคโลก 1,400 ล้านบาท, สาย 118 เชียงใหม่-เชียงราย ตอน 1-4 วงเงิน 4,450 ล้านบาท, สาย 12 ตาก-แม่สอด ตอน 3-4 วงเงิน 2,400 ล้านบาท เป็นต้น

อีกทั้งมีโครงการ "บูรณะทางสายหลักระหว่างภาค" อีก 24 โครงการใน 9 จังหวัด วงเงิน 10,950 ล้านบาท อาทิ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ช่วงเถิน-ลำปาง วงเงิน 900 ล้านบาท, ช่วงลำปาง-งาว วงเงิน 1,350 ล้านบาท, ช่วงแม่คำ-แม่สายตอน 1-2 วงเงิน 136 ล้านบาท, ช่วงตาก-พะเยา ตอน 1-2 วงเงิน 1,681 ล้านบาท, ช่วงนครสวรรค์-ตาก ตอน 1-2 วงเงิน 2,850 ล้านบาท ฯลฯ

ผุดโครงข่ายเชื่อมท่"เรือ-ด่านก"รค้า

นอกจากนี้มี "ถนนเชื่อมต่อด่านการค้า" เชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน โดยก่อสร้างถนน 2-4 ช่องจราจร เชื่อมต่อท่าเทียบเรือเชียงแสน จ.เชียงราย 3 โครงการ วงเงิน 2,773 ล้านบาท มีถนนสายแยกทางหลวง 1098-แยกถนนหมายเลข 1 วงเงิน 1,788 ล้านบาท, ถนนสายเชื่อมวงแหวนตะวันตก 176 ล้านบาท กับถนนสาย 4049-บ้านดอนงาน 808 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือเป็นสะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟที่ จ.อุตรดิตถ์ รวมถึงสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ ที่ อ.เวียง จ.เชียงราย รองรับกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เพื่อขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไทย-ลาว ในทางยุทธศาสตร์จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่เชื่อมโยงแนวเหนือ-ใต้ (Noth-South Corridor) รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าจากประเทศจีน อินเดีย ตะวันออกลาง แอฟริกาและยุโรป

สุดท้าย "สถานีขนส่งสินค้า" 5 แห่งในพื้นที่เมืองชายแดนและเมืองหลัก ได้แก่ เชียงราย ตาก เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ทั้งภายในและระหว่างประเทศให้มีความต่อเนื่องกันมากยิ่งขึ้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สงครามโจรสลัด !!?

โดย.พญาไม้

เมื่อไม่กี่วัน..ในประเทศประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก..ประเทศสหรัฐอเมริกา..
ประมุขแห่งแผ่นดิน..ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา..อันดับหนึ่งของผู้มาจากการเลือกตั้งสมัยที่สองของผู้ครอบครองอำนาจสูงสุด

ประธานาธิบดี โอบามา..ต้องแทบจะต้องคุกเข่าต่อหน้าสภา..เพื่อของบประมาณจากสภาไปกู้หน้าไปแก้ไขปัญหาประเทศ

ประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก....ประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกทางเศรษฐกิจ..ประธานาธิบดีกับรัฐบาลของเขา...มีหน้าที่เฉพาะที่เป็นหน้าที่..

กว่ารัฐสภาจะผ่านงบประมาณไปให้ประธานาธิบดี..ก็ต้องมีเรื่องต้องถามต้องตอบมากมาย
ในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญยิ่งใหญ่..อำนาจในการจับจ่ายใช้งบประมาณ..ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้ชนะการเลือกตั้ง..

สภาของประชาชนเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนบนผลประโยชน์ของประเทศ
ประชาธิปไตยของเขา..จึงคงทนถาวรและประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเสริมสร้างทำให้แผ่นดิน

เจริญก้าวหน้ามีกองทัพยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม..สำหรับไว้ต่อกรต่อสู้กับศัตรู..
แต่หันมาดูประเทศไทย..

รัฐบาล คือ เจ้าของงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่กวาดเก็บมาจากประชาชน..นายกรัฐมนตรีจะใช้งบประมาณอย่างไรก็ได้..ผ่านทางมติคณะรัฐมนตรี..หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีมอบให้..

เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ...เจ้าของงบประมาณแผ่นดินที่จัดเก็บไปจากประชาชน..ผู้คนทั้งหลายจึงแย่งกันเพื่อจะเป็นเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน..หรือสมคบกันเพื่อจะเป็นเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน
ในรัฐบาลในพรรคการเมืองมันถึงเต็มไปด้วยพ่อค้าผู้รับเหมา

เพราะเขาเหล่านั้น..หากไม่เข้าไปมีส่วนหรือเป็นรัฐบาล...เขาจะไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ ได้..
ประชาธิปไตยของประเทศไทย..จึงเป็นประชาธิปไตยของเหล่าโจรสลัดที่ผลัดกันขึ้นมาปล้นเรือมหา

สมบัติคือกองงบประมาณของแผ่นดินที่กองสุมกันอยู่ใต้โดมตึกไทยคู่ฟ้า..

การเมืองไทยจึงมีสถานะของ..สงครามแย่งชิงมหาสมบัติ..นั่นแหละ..ปัญหาของประเทศไทย

ที่มา.บางกอกทูเดย์
------------------------------

สุดซวย....พ่นพิษ.คนเริ่มมองหาทางเลือกที่ 3 !!?



สุดซอย.. ออกอาการ  สุดซวย... อย่างที่ได้เตือนเอาไว้จริงๆ

เพราะวันนี้ไม่ได้มีแค่บรรดาขาประจำเจ้าเก่าเท่านั้น แต่กำลังบานสะพรั่งขยายวงต่อต้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่งออกไปทั่วหมดทุกหัวระแหงแล้ว

คงต้องถามพรรคเพื่อไทยแล้วว่า การที่เปิดฉากแลกแบบล่อนจ้อนหมดเช่นนี้ เป็นการเดิมพันที่เกินเค้ามากเกินไปหรือเปล่า???

จริงๆ การที่ปล่อยให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่ต่อล้อต่อเถียงทางการเมือง จนอยู่มาได้ครบ 2 ปี แล้ว ถือว่ากำลังเดินมาถูกทาง

และกำลังจะมีเดิมพัน 2 ล้านล้านบาทให้สร้างผลงานอมตะ อภิมหาอลังการงานสร้าง จ่อลุ้นเป็นเดิมพันสำคัญอยู่ ซึ่งหากค่อยๆเล่นไปเรื่อยๆ ครั้งละล้าน 2 ล้าน ก็สามารถเล่นไปได้ 40-50 ปี โดยที่คู่แข่งทางการเมืองจะหมดสภาพไปเอง เพราแพ้ซ้ำซาก

ที่ผ่านมาการที่จะชนะประชาธิปัตย์ในสนามการเมืองไม่ใช่เรื่องยาก เพราะของมันเคยชนะกันมาตลอด หากอนาคตจะชนะไปอีกเรื่อยๆจะแปลกตรงไหน จุดนี้แหละที่ทุกคนไม่เข้าใจ ทำไมพรรคเพื่อไทยอุตริทุ่มเดิมพันชนิดหมดตัวเช่นนี้

ในเกม 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์แทบจะหมดเค้าเล่น กระจองอแงตีรวนไปเรื่อยๆ รือเสา รือพื้น รื้อผนังพังหลังคา เล่นเสงาะแสงะไปตามเรื่อง แบบไม่มีเค้าไม่มีเดินพันจะเอาชนะ

ยิ่งที่ผ่านมาประชาชนเองก็เบื่อหน่ายกับการเล่นการเมืองแบบมวยคู่อาฆาต ที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ทำให้กระแสของประชาธิปัตย์นับตั้งแต่ไปละทิ้งหลักการ โดดขึ้นเป็นรัฐบาลจากผลพวงของการัฐประหาร จึงยิ่งทำให้คนเห็นธาตุแท้มากขึ้น

เกมแบบนี้ เพื่อไทยชนะเห็นๆอยู่แล้ว นายกฯยิ่งลักษณ์ควรสร้างประวัติการณ์เป็นายกหญิงคนแรก แล้วก็เป็นนายกฯที่อยู่ครบเทอม 4 ปีได้ไม่ยาก... แต่พอมาเดิมพันแบบไม่ฉลาดเช่นนี้เลยเสียของอย่างน่าเสียดาย

ทั้งๆที่ต่อให้ชนะก็งั้นๆ

ในขณะที่หากพลาดพลั้งแพ้ ก็มีสิทธิพังครืนได้ง่ายๆ ก็ไม่รู้ว่าถูกใครวางยาให้ทุ่มเค้าเดิมพันแบบมึนๆ จนออกมาในรูปนี้

ที่สำคัญถ้าแพ้เพราะแรงของประชาชนจริงๆ นอกจากจะหมดเดิมพันแล้ว จะไม่ใช่แค่รัฐบาล หรือแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะต้องไป แม้แต่ตัวบุคคลก็พลอยเสี่ยงสูงไปด้วย

เพราะหากทำได้ เขากะเล่นกันยกตระกูล ให้อยู่เมืองไทยไม่ได้กันเลยด้วยซ้ำ... ไม่รู้จริงๆหรือ?
ถามจริงๆ มันคุ้มกันหรือไม่กับการเดิมพันเสี่ยงๆครั้งนี้

เดิมพันที่เล่นเอาบรรดากองเชียร์อกสั่นขวัญแขวน เล่นพิเรนทร์แบบนี้ ถามว่า ขณะนี้เดือดร้อนอะไรมากมายนักหรือ จึงต้องเทเค้าจนหมดตัวล่อนจ้อนแบบนี้

ยิ่งถ้าจะเล่นเพื่อความมันของคนชื่อ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” แล้วเอาลูกเอาหลานของุกคนมาเสี่ยงด้วยแบบนี้ สะใจมากใช่ไหมประยุทธ์!!!

อย่ามาอ้างให้เหม็นขี้ฟันเลยว่า ต้องการสร้างความปรองดอง ต้องการทำเพื่อสมานฉันท์
ใช้สมองส่วนไหนคิดว่า จะสร้างความปรองดองได้บนความขัดแย้ง
ลำพังไม่ได้มีร่างกฎหมายชนวนระเบิดฉบับนี้ คู่อาฆาตขั้วตรงข้ามทางการเมืองก็ถล่มกันเละจนไม่มีทางปรองดองได้ง่ายแล้ว

มามีกฎหมายฉบับวางยา เหมาเข่งเพื่อความสะใจเข้าให้เช่นนี้ ไหนล่ะความปรองดอง
มีแต่จะฆ่ากันตายล่ะไม่ว่า... จะตะบี้ตะบันหลอกลวงผู้คน หลอกลวงสังคมไปทำไมว่าสิ่งที่ทำจะสร้างความปรองดองได้ หลอกได้อย่างเก่งก็แค่หลอกตัวเองไปวันๆเท่านั้นแหละ

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ที่คิดว่าจะได้จารึกว่าเป็นผู้สร้างความปรองดอง จะได้เป็นรัฐมนตรี ระวังจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนที่ทำให้คนไทยลุกขึ้นมาฆ่าฟันกัน... ถึงวันนั้นจะรับผิดชอบไหวหรือ
รับได้หรือกับการที่จะถูกจารึกชื่อนามสกุลในฐานะคนบาป ที่ทำลายความปรองดอง
ใครก็ตามที่คิดเล่นเกมแบบนี้ได้ ต้องถือว่า Stupid สิ้นดีจริงๆ!!!

ฉะนั้นไม่แปลกที่วันนี้ คนส่วนหนึ่งในสังคม แถมทำท่าว่าจะเป็นคนส่วนใหญ่เสียด้วย เริ่มที่จะเบื่อหน่ายสภาพคู่กัดทางการเมือง จนเอือมระอาทั้งพรรคเพื่อไทย และเซ็งสุดๆกับพรรคประชาธิปัตย์ จนขยับมองหาทางเลือกใหม่ ทางออกใหม่กันบ้างแล้ว

กลายเป็นโอกาสทองของพรรคทางเลือกที่ 3 ไปในทันที

หลายคนพูดชัดอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ในเมื่อเห็นอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะเลือกเพื่อไทยหรือเลือกประชาธิปัตย์ ใครขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ต้องถูกอีกฝ่ายถล่มแน่นอน ซึ่งหากปล่อยให้ฟัดกันไปเรื่อยๆเป็นมวยคู่อาฆาตทางการเมืองเช่นนี้

บาปเคราะห์ก็จะตกอยู่กับประเทศชาติ ตกอยู่กับลูกหลานไทยในอนาคต
แค่ทุกวันนี้การเมืองไม่ได้สำนึกเลยว่า การที่สารพัดผลสำรวจออกมาว่า ประเทศไทยล้าหลัง หรือที่เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม สำรวจว่าการศึกษาของไทยเป็นอันดับที่ 8 ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศนั้น การเมืองไม่ได้รู้สึกอับอายบ้างเลยงั้นหรือ?

นักการเมืองเคยสำนึกบ้างหรือไม่ว่า ประเทศไทยนั้นดีทุกอย่าง ไม่ว่าสภาพภูมิอากาศ หรือทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่ดีมีแค่อย่างเดียยวคือนักการเมืองที่เล่นการเมืองแบบห่วยๆ จนประเทศชาติตกต่ำนั่นแหละ

ทุกวันนี้ที่ประเทศชาติจมปลักติดอยู่ในภาวะวิบัติ ก็เพราะการเมืองอ่อนแอ คิดแบบโง่ว่าผู้คนในประเทศโง่เขลา หลอกลวงให้อยู่กับรูปแบบเดิมๆได้ไม่อยากอย่างนั้นใช่หรือไม่
เชื่อจริงๆหรือว่า ผู้คนมองอะไรไม่เห็นนอกจากเห็นแค่หัวแม่เท้าตนเองใช่มั้ย

ถ้านักการเมืองเก่าๆคิดได้แค่นี้ก็สมควรจะต้องสูญพันธุ์แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ยอมก้มหน้ารับชะตากรรม โดยมองแค่หัวแม่เท้าอีกต่อไป แต่คนรุ่นใหม่เริ่มกล้าคิดกล้าแสดงออก และกล้าที่จะมีปฏิกริยา
อย่างน้อยที่ออกมาพรึ่บเต็มถนนในเวลานี้ ที่ไม่ใช่พวกหน้าเก่าเจ้าประจำ ก็น่าจะทำให้นัการเมืองสำนึกได้บ้างแล้วว่า

ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว!!!

คนรุ่นใหม่ๆคิดเป็น และจะไม่เลือกอดีตที่ฟัดกันไม่เลิกอีกต่อไปอย่างแน่นอน
หากมีทางเลือกที่ 3 ที่หน้าตาดีๆ ประวัติดีๆ คุณภาพดีๆ ออกมาเป็นทางลเอกให้กับประชาชนแล้ว รับรองได้ว่าทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละจะหนาว!!!

ซึ่งพรรคทางเลือกที่ 3 อาจจะไม่ต้องมีนโยบายอะไรให้มากมายเหมือนพรรคการเมืองในอดีตเลยก็ได้ เพราะผู้คนเอียนกับนโยบายที่สวยหรู แต่หลอกลวงไปเรื่อยๆ จนผู้คนเอือมระอาและเบื่อหน่ายที่จะฟังกันแล้ว เพราะฟังกันมาตลอด

ขอแค่พรรคทางเลือกที่ 3 มีแค่นโยบายหลักข้อเดียว คือ หากใครคอรัปชั่น ก็ยึดทรัพย์ และติดคุกตลอดชีวิต
แค่ลงโทษนักการเมืองเลวๆอย่างจริงจัง
รับรองได้ว่า พรรคการเมืองที่ยึดนโยบายข้อนี้ชนะชัวร์

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////