--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ADB : คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือโต 3.8% !!??

เอดีบีหั่นคาดการณ์ จีดีพีไทยปีนี้ เหลือโต 3.8% จากเดิมคาดโต 4.9% ส่วนปีหน้าคาด จีดีพีโต 4.9% ลุ้นโครงการลงทุนรัฐตามแผน

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า เอดีบีคาดปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.9% จากนั้นในปี 57 จะขยายตัวในระดับ 4.9% ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยคาดไว้ในระดับ 5% ทั้งนี้ อยู่บนสมมติฐานที่ภาครัฐสามารถเบิกจ่ายโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทได้มากขึ้น และเริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาทที่มีกำหนดระยะเวลา 7 ปีถึงปี 63 ช่วยให้เศรษฐกิจปีหน้าและปีต่อๆไปขยายตัวดีขึ้น

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ การส่งออกก็ชะลอตัวแรงกว่าที่คิด โดยปีนี้คาดจะขยายตัวได้เพียง 2% จากต้นปีคิดว่าน่าจะขยายตัวได้ 7% แต่ยืนยันไม่น่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 40 ตามที่หลายฝ่ายกังวล แม้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขาดดุล 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ในช่วงครึ่งแรกของปิ 56 แต่ประเมินว่าในปี 57 จะขาดดุลเพียงเล็กน้อยหรือสามารถกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ ประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงเพียงพอรองรับการนำเข้าได้ 7.6 เดือน"

อย่างไรก็ตาม เอดีบียังคงติดตามความเสี่ยงจากการลงทุนภาครัฐที่อาจล่าช้าออกไปอีกจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า รวมถึงความเสี่ยงจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก และจีนที่อาจต่ำกว่าคาดการณ์ และยังต้องจับตามองสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่อาจกลับมาตึงเครียดอีก

ทั้งนี้ เอดีบีมองว่าการอุปโภคบริโภคในประเทศคงเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจได้ยาก เพราะดัชนีความเชื่อมั่นยังปรับตัวลดลง จากหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมากระทบต่อการบริโภค ดังนั้น พระเอกในขณะนี้คือการลงทุนภาครัฐ หากทำได้เต็มที่ในปีหน้าก็จะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตามไปด้วย ขณะที่ปัจจัยดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.5% ซึ่งเอื้อต่อการลงทุนอยู่แล้ว อีกทั้งผลพวงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นน่าจะทำให้การส่งออกของไทยปีหน้าขยายตัวได้ในระดับ 7-8% และทำให้การลงทุนดีขึ้นตามไปด้วย

ส่วนผลกระทบจากปัญหางบประมาณของสหรัฐนั้น เอดีบีมองว่าภาวะ government shutdown จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นเพียงการต่อรองทางการเมืองภายในของสหรัฐ ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าทางการสหรัฐจะสามารถเจรจาตกลงในเรื่องนี้และการขยายเพดานหนี้ได้ในที่สุด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------

วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดประตู ภูฏาน : เพื่อนสนิทนอกอาเซียน !!??

เมื่อกล่าวถึงภูฏาน ประชาชนคนไทยต่างชื่นชมยินดีในพระกิจวัตรอันงดงามของพระราชวงศ์และประชาชน ชาวภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า "Land of Happiness" เป็นดินแดนที่คนไทยทุกคนใฝ่ฝันจะได้ไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ความสำคัญของภูฏานมิได้มีเพียงเท่านี้ แต่ภูฏานยังเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ทางการค้าการลงทุนที่ประเทศไทย ไม่ควรมองข้าม เพราะรัฐบาลภูฏานมี นโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างมาก และยินดีต้อนรับนักลงทุนจากประเทศไทย

แม้ภูฏานจะไม่ใช่สมาชิกอาเซียน หรือเป็นภาคีกับกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ สำหรับไทยกลับมีความรู้สึกว่าภูฏานคือหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งไทยมีความรู้สึกคุ้นเคยมากกว่าประเทศในอาเซียนบางประเทศเสียอีก ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตภูฏานอาจเข้ามาเป็นหนึ่งในภาคีของอาเซียนก็ได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้พยายามกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ล่าสุด เมื่อต้นเดือน นี้ไทยได้จัดการประชุมร่วมกับภูฏานเพื่อจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ (Trade and Economic Cooperation Agreement between Thailand and Bhutan) จนประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการเร่งขยาย การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตนและคณะได้ร่วมการประชุมกับภูฏาน ซึ่งประกอบด้วย Mr. Sonam P. Wangdi รองปลัดกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน เพื่อจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญของความตกลงฯ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว ก่อสร้าง สุขภาพและการรักษาพยาบาล การศึกษา พลังงาน ลอจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก ตลอดจนมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) เพื่อเป็นเวทีในการ ทบทวนพัฒนาการด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งหารือถึงแนวทางขยายการค้าระหว่างกัน โดยคาดว่าความตกลงฯ จะมีการลงนามภายในปลายปี 2556 หรือต้นปี 2557

นางพิรมล กล่าวอีกว่า ถึงแม้ภูฏานจะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีทางออกทะเล แต่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย มีการนำเข้าสินค้าไทยเป็น มูลค่าเฉลี่ยปีละ 150,000 เหรียญสหรัฐ และในปี 2556 การส่งออกจากไทยไปภูฏาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.97 นอกจากนั้นภูฏานยังเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในหลายกิจการ รวม ถึงกิจการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพัฒนาส่งออกพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ การพัฒนาศูนย์การศึกษาในประเทศ ศูนย์ผลิตพืชออ-แกนิค ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภูฏานได้มีความตกลง FTA กับหลายประเทศ อาทิ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น เป็นสมาชิก ความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค เช่น SAARC และ BIMSTEC จึงนับว่าภูฏานเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสให้นักลงทุนของไทยเข้าไปลงทุนและทำการค้ากับภูฏาน เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ภูฏานได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีเหล่านั้น

"โอกาสของประเทศไทย คือ การขยายการค้าการลงทุนไปตั้งในภูฏานเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีตาม FTA ที่ภูฏานมีกับคู่เจรจาสำคัญๆ ในเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ซึ่งจะง่ายกว่าการไปตั้งธุรกิจในประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ โครงการ ใหญ่ที่สำคัญกำลังจะเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ คือ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 10,000 เมกะวัตต์ และจะขยายเป็นอีก 3 เท่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อส่งไปขยายต่อยังอินเดียและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีอินเดียเป็นนักลงทุนรายใหญ่"

"โอกาสยังเปิดกว้างสำหรับธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไทยมีจุดแข็ง คือ ด้านดูแลสุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว รีสอร์ต ร้านอาหาร และธุรกิจบริการในด้านอื่นๆ" นางพิรมล กล่าว

ในปี 2556 ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 153 ของไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) การค้ารวมเฉลี่ยมีมูลค่า 12.06 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 134 ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555) 11.94 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 180 ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555) 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ ในการส่งออกไปภูฏาน ได้แก่ สิ่งทอ รถยนต์ และอุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผ้าผืน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น สินค้านำเข้าจากภูฏานที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------------------------------

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลกระทบ หากรัฐบาลสหรัฐฯ หยุดทำการ !!??

เป็นที่หวั่นเกรงว่าในช่วงต้นปีงบประมาณของสหรัฐฯ หากไม่สามารถตกลงเรื่องงบประมาณได้ในสภา ก็จะเกิดภาวะรัฐบาลกลางหยุดทำการ (Government shutdown) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าจะส่งผลสะเทือนต่อพื้นที่วอชิงตันหลายด้าน เช่นในแง่ผลกระทบต่อพนักงานรัฐหรือด้านบริการสาธารณะ

สำนักข่าววอชิงตันโพสท์นำเสนอการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตรืซึ่งกล่าวว่า หากเกิดเหตุการณ์รัฐบาลกลางสหรัฐฯ หยุดทำการ (Government shutdown) จะทำให้ในเขตวอชิงตันซึ่งมีพนักงานรัฐอยู่เป็นจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้ราว 200 ล้านดอลลาร์ต่อวัน และมีโอกาสที่พนักงานจำนวน 700,000 คนจะได้รับผลกระทบ

การหยุดทำการของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นหากรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องงบประมาณเพื่อหนุนโครงการของรัฐบาลในช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ โดยหน่วยงานของรัฐบาลจะหยุดให้บริการเว้นแต่หน่วยงานสำคัญ

สตีเฟน ฟูลเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์ภูมิภาคจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันกล่าวว่าหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจะส่งผลกระทบต่อด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจากรัฐอย่างพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, สวนสัตว์แห่งชาติ, พื้นที่ประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับทุนจากรัฐบาลแหล่งอื่นๆจะปิดทำการ โดยฟูลเลอร์กล่าวเปรียบเปรยว่าการหยุดทำการของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อพื้นที่ราว "คลื่นสึนามิ"

นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ผู้คนในพื้นที่ยังต้องเผชิญกับการถูกตัดงบประมาณด้านสวัสดิการ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการประกันสุขภาพ, สวัสดิการสังคม, เงินอุดหนุนสถานบริการดูแลเด็ก, ขาดเงินกู้ยืมเพื่อการซื้อบ้านหรือทำธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงเงินทุนเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามมีบริการบางส่วนเช่นบริการไปรษณีย์จะยังเปิดทำการเนื่องจากเป็นหน่วยงานอิสระ ส่วนแอมแทร็กซึ่งเป็นบริษัทการรถไฟของสหรัฐฯ ก็บอกว่าจะมีการเดินรถไฟตามปกติ ขณะที่บริการเก็บขยะและห้องสมุดอาจถูกปิดบริการชั่วคราว แต่นายกเทศมนตรีวินเซนต์ เกรย์ ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้โดยการประกาศให้พนักงานทุกคนมีความจำเป็น (essential) มีผู้แทนสภาพยายามผลักดันร่างกฏหมายเพื่อไม่ให้เมืองได้รับผลกระทบจากภาวะหยุดทำการของรัฐบาลเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา

การหยุดทำการของรัฐบาล (Government shutdown) เกิดขึ้นมาแล้ว 17 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1976 โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 1995 ซึ่งพรรคริพับริกันกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องงบประมาณ

ฟูลเลอร์กล่าวอีกว่าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจในพื้นที่เกิดความตกต่ำจะยิ่งเป็นการตอกย้ำทั้งกับพนักงานและผู้รับเหมา โดยได้ประเมินว่าจะกระทบพนักงานรัฐร้อยละ 60 ทำให้พนักงาน 377,000 คน กลายเป็น "ผู้ไม่มีความจำเป็น" (nonessential) และถูกให้พักงาน นอกจากนี้ผู้รับเหมาร้อยละ 20 ซึ่งปกติแล้วได้รับเงินจากรัฐบาล 75 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และเนื่องจากการถูกสั่งพักงานทำให้มีคนใช้เงินจับจ่ายกับร้านค้าหรือธุรกิจในท้องถิ่นลดลงไปด้วย

วอชิงตันโพสท์กล่าวอีกว่าการที่มีพนักงานบางส่วนถูกทำให้กลายเป็น "ผู้ไม่มีความจำเป็น" ทำให้การทำงานบางหน่วยงานลดประสิทธิภาพลงเช่น สนามบินมีกำหนดการล่าช้า มีคนงานน้อยลงในการจัดการสวัสดิการของรัฐ และแม้ว่าจะมีกฏหมายให้จ่ายค่าตอบแทนสมาชิกกองทัพแต่ทุนส่วนสวัสดิการของทหารผ่านศึกก็อาจหมดไปหากมีการหยุดทำการนานหลายสัปดาห์

ส.ส. เจอราด คอนนอลลี ของสหรัฐน เกรงว่าอาจจะเกิดปรากฏการณ์ลูกคลื่นทำให้การหยุดทำการส่งผลเสียหายมากกว่าปกติ ขณะที่ส.ส. แฟรงค์ วูลฟ์ เกรงว่าการหยุดทำการจะกระทบกับหน่วยงานเอฟบีไอ, หน่วยปราบปรามยาเสพติด, ซีไอเอ และหน่วยงานอื่นๆ

ในรายงานของสำนักงานวิจัยรัฐสภาสหรัฐฯ เปิดเผยว่าการหยุดทำการของรัฐบาลในปี 1996 ทำให้มีการปิดทำการสวนสาธารณะและอนุสรณ์สถานแห่งชาติ มีการหยุดบริการหนังสือเดินทางและวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติ รวมถึงการหยุดการขึ้นทะเบียนคนไข้ในการวิจัยทางการแพทย์ของสถาบันสาธารณสุข

เรียบเรียงจาก-Washington area could lose $200 million a day if shutdown occurs, economist says, Washington Post, 30-09-2013

ที่มา.ประชาไท
------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

จากทศวรรษที่สูญเสีย สู่แผน กู้ฟื้นประเทศ !!??

ผ่านไปเกินครึ่งทางแล้ว สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ "พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท" ที่รัฐบาล-ฝ่ายค้านได้เปิดเกมเดือดบนเวทีสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายวาระที่ 2 และเตรียมวางคิว "โหวต" เพื่อให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ต่อไป

กระนั้นแล้ว การต่อสู้ในเวทีสภาฯ คงไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับขับเคลื่อนเกม "นอกสภา" ที่หลังจากผ่านสภาฯ วาระ 2-3 ไปแล้ว ก็คงถึงคิว "จองกฐินรัฐบาล" ที่จะมีคนไปรอยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่างพระราชบัญญัติกู้เงินฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่..

สำหรับการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ถือเป็นการกู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยไม่มีการพัฒนามานานแล้ว โดยที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามชี้ให้เห็นว่า การ ลงทุนครั้งนี้จะเป็นการ "สร้างอนาคต" ให้กับประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางอาเซียน ได้อย่างแท้จริง

โดยสาระสำคัญใน "พ.ร.บ.เงินกู้" จะมีระยะเวลา 7 ปี (2556-2563) มีกรอบ การลงทุนครอบคลุม 5 ด้าน กอปรไปด้วย 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งด้วยระบบราง 1,185,692 ล้านบาท 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่ง ทางบก 429,794 ล้านบาท 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางน้ำ 126,435 ล้านบาท 4.การพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานระบบขนส่งทางอากาศ 66,989 ล้านบาท 5.โครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ 392,786 ล้านบาท ส่วนแหล่งเงินที่จะ ใช้ในการลงทุน "รัฐบาล" จะมุ่งเน้น "กู้เงินภายในประเทศ" เป็นหลัก หรือคิดเป็น 91%

ขณะเดียวกันมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ประเมินว่า ภาระหนี้ตาม พ.ร.บ.ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน รวม พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาท และโครงการอื่นๆ รวมกันแล้ว สัดส่วนหนี้ สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 43% ในปี 2555 ไปสูงสุดที่ 51.5% ในปี 2560 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ "รับได้" โดย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทฉบับนี้ รัฐบาลคาดหวังไว้อย่างสวยหรูว่าจะช่วยพัฒนาระบบขนส่งของไทยแบบก้าว กระโดด เป็นโอกาสจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

ทางด้าน "แกะดำ" ในปีกฝ่ายค้านอย่าง "อลงกรณ์ พลบุตร" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงการตัดสินใจ "กู้เงิน" มาพัฒนาประเทศของรัฐบาลว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยครั้งใหญ่ เพราะไม่มีการลงทุนในเรื่อง นี้มานานมากแล้ว เนื่องจากวิกฤติการเงิน และการเมือง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี การกู้เงินจำนวนมากนั้นอาจไม่จำเป็นต้องสร้างภาระถึง 2 ล้านล้านบาท เพราะรัฐบาลสามารถออกกองทุน การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ หรือที่เรียกกันว่า "อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์" ซึ่งเป็นการลงทุนที่บริษัทเอกชนในประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจและมีการตั้งขึ้นมาแล้วคือ "บีทีเอส" ที่ระดมทุนผ่านกองทุนนี้เพียงสัปดาห์เดียว ได้เงินมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่อยากให้รัฐบาลหันมาให้ความ สนใจในการพัฒนาด้านอื่นด้วย อาทิ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นและนำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการยกระดับประเทศไทยในอนาคต

ขณะที่ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ เฟซบุ๊กในหัวข้อ "ทศวรรษที่สูญหาย" โดยระบุถึง 10 ปีที่ไทยเสียโอกาสด้านการลง ทุน และความเสียหายมหาศาล

เพราะนับแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย เริ่ม ตั้งแต่การประท้วงรัฐบาล การปฏิวัติ การ ชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง เกิดมหาอุทกภัย โดยอาจสรุปได้สั้นๆ ดังนี้ รัฐประหาร 1 ครั้ง 7 รัฐบาล + 1 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ 7 พรรค การ เมืองถูกยุบ 1 มหาอุทกภัย ผู้เสียชีวิต 933 ราย (น้ำท่วมและความไม่สงบทางการ เมือง) ผู้บาดเจ็บ 2,200 ราย และความเสียหายมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สูญเสียเวลาที่มีค่าไปเกือบสิบปี จึงขอเรียกว่าเป็น "ทศวรรษที่หายไป"

"ในช่วงนี้ เราแทบไม่ได้มีการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลังจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเลย ผมเองคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครผิด ใครถูก คงต้องให้คนรุ่นต่อไปมองย้อนกลับมาวิเคราะห์กันอีกที แต่ที่สำคัญตอนนี้ เราคงต้องพยายามเอาสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน พยายามหาทางอยู่ร่วมกัน ลดความ ขัดแย้ง ร่วมกันเดินหน้า สร้างอนาคตประเทศไทยต่อไป มามองอนาคตร่วมกันดีกว่า ถ้ามองไปในอนาคต นอกเหนือจาก ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและการ ส่งออกแล้ว ยังคิดว่าตัวขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยคือ ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 16.5% และนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ปีละ 1.6 ล้านล้านบาท มีการกระจายตัวของเมือง และความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ต่าง จังหวัด การขยายตัวของเมือง การพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีกส่ง ตามเมือง ใหญ่และจังหวัดชายแดน การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับ AEC รวมถึงการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต และค้าขายกับกลุ่มประเทศอาเซียน การใช้จ่ายในประเทศ การกระตุ้นการลงทุน การสร้างงานและการใช้จ่ายในประเทศ"

"ตัวขับเคลื่อนเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้อง กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งสิ้น ถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่ดี ก็มีปัญหาต่อเนื่องไปถึงการท่องเที่ยว การกระจายตัวของเมือง การเชื่อม โยงกับเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นตัวกระตุ้นสำคัญสำหรับการใช้จ่ายในประเทศ เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน และใช้วัตถุดิบในประเทศจำนวนมาก"

"ชัชชาติ" ย้ำชัดเจนในจุดยืน คือ "ร่วมกันเดินหน้า สร้างอนาคตประเทศ ไทยต่อไป มองอนาคตร่วมกัน" ทำให้ "ทศวรรษที่หายไป" กลับคืนมา!!

แต่กระนั้น ดูเหมือน "ประชาธิปัตย์" ในฐานะฝ่ายค้านอาชีพ ยังคงประกาศจุด ยืนคู่ขนาน "ไม่เห็นพ้อง" กับโครงการนี้โดยสิ้นเชิง และเตรียมพร้อมจะโค่นล้ม "กฎหมายร้อน" ฉบับนี้ในทุกรูปแบบ

จะเห็นได้จากการประชุมสภาผู้แทน ราษฎรในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท "วาระที่ 2" นับตั้งแต่วันที่ 19-20 กันยายนเป็นต้นมา "ประชาธิปัตย์" ยังคงยึดแนวทางเดียวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นั่นก็คือ ดึงเกมยื้อเวลาและปั่นป่วน ให้มากที่สุด โดยให้ลูกหาบในค่าย ประชาธิปัตย์ ที่ร่วมแปรญัตติไว้ 115 คน จองกฐินถล่มรัฐบาลแทบจมกระเบื้อง!

ไม่ใช่แค่รายมาตรา หากแต่จะลงรายละเอียด ชนิดทุกถ้อยคำ ทุกตัวเลขทุกแผนงาน ทุกโครงการ และทุกยุทธศาสตร์ ลากยาวไปถึงบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. ที่ได้กำหนดกรอบแต่ละยุทธศาสตร์ว่ามีรายละเอียดอย่างไร และวงเงินเท่าไหร่ อีกทั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยังขอใช้สิทธิแปรญัตติปรับลดในรายละเอียด แบบถี่ยิบ

และที่เป็นไฮไลต์ ก็คือ การอภิปราย ชี้เป้าว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่ระบุไว้ว่า "การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ รายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประ-มาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประ-มาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง..."

ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำให้ พ.ร.บ. นี้ไม่ชอบธรรมแล้ว ยังเป็นการปูทางที่จะนำไปสู่การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

มันย่อมถือเป็นการ "ทิ้งไพ่" ใบสุดท้ายของประชาธิปัตย์ โดยหวังพึ่งพิง "องค์กรอิสระ" ให้เป็นกลไกขัดขวางกระบวนการของฝ่ายนิติ บัญญัติ!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
--------------------------------------------------------

ตัวแปรการเมืองอะไรบ้าง บ่งชี้สถานการณ์ ศก.ไทย 56-57 รอดหรือร่วง !!??

ก้าวสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ที่ต้องบอกว่าสถานการณ์การเมืองไทยกลับมาขมึงเกลียวอีกครั้งกับข้อขัดแย้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาสว.และที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา วาระ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ขณะที่สัญญาณด้านเศรษฐกิจปลายปีที่เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่านาทีนี้ยังคงสั่นคลอนด้วยแรงกดดันด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน

ข้อพิจารณาสำคัญก็คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนที่กระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคส่งออก รวมถึงภาวะค่าครองชีพที่ตรึงตัวของผู้มีรายได้น้อยกลับไม่ทำให้รัฐ บาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยี่หระกับการให้ความสำคัญมากกว่าการทะลุทะลวงในเรื่องการแก้ปัญหาการเมืองให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างการส่งออกพบว่า ช่วงม.ค.– ส.ค.56 มูลค่าการส่งออก ประมาณ 4.6 ล้านลบ. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 3.0 ขณะที่มูลค่านำเข้า ประมาณ 5.2 ล้านลบ. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 0.9  ทำให้ในรอบ 8 เดือนของปี 2556 ไทยต้องขาดดุลการค้ามูลค่าสูงถึงประมาณ 6.04 แสนลบ.เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียว กันของปี 2555  ที่ขาดดุลการค้ามูลค่าประมาณ 5.2 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 18.3  ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ  ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ยากที่การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 จะเติบโตในช่วงร้อยละ 4-7 ต่อปี และยังมองว่าใน 4 เดือนที่เหลือการส่งออกจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยในปี 2556 นี้ อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2 ต่อปีเท่านั้น

ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนก็ส่งสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน  จากความกังวลในเรื่องค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นมา อีกทั้งแนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 60 ของ GDP ในปี 2554 จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 75 ของ GDP ทำให้ประเมินเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.1 และทั้งปี 2556 จะขยายตัวที่เพียงร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปีที่ผ่านมา

โดยค่าดัชนีค่าครองชีพประจำเดือนส.ค.56   เทียบเดือนก.ค. 56 ลดลงร้อยละ 0.01    แต่ถ้าเทียบเคียงกับเดือนส.ค.55 พบว่ามีอัตราสูงขึ้นร้อยละ 1.59  และเทียบเฉลี่ยช่วงเดือนม.ค – ส.ค.55  ปรากฎว่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 2.47  

ทั้งหมดเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจบางส่วนของประเทศที่คนไทยทั้งประเทศรับรู้โดยการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่ข้าราชการบางคนกลับบอกว่าสินค้าราคาแพงเป็นแค่ความรู้สึก แถมรัฐบาลก็ยังเดินหน้าสนับสนุนประเด็นทางการเมือง อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่ให้น้ำหนักเรื่องปากท้องประชาชน ทั้งๆที่รู้ว่าจะนำไปสู่ข้อขัดแย้ง

ที่มา.ทีนิวส์
////////////////////////////////////////

ธ.ก.ส.เบรกจ่ายเงิน จำนำข้าว ค้างกว่า 3 แสนตัน ห่วงเกินงบ !!??

ธ.ก.ส. สั่งเบรกจ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกร หลังพบ อคส.-อ.ต.ก.เร่งออกใบประทวนค้างจ่ายปริมาณข้าวกว่า 3 แสนตัน หวั่นเกินวงเงินที่เหลืออีกประมาณ 4 พันล้าน ส่วนข้าวภาคกลางที่เข้าโครงการไม่ทัน รอ กขช.ตัดสินใจ หากช่วยต้องมีมติ ครม.รองรับ หวั่นมีความผิดโทษฐานทำเกินคำสั่ง คาดต้องใช้เงินอีกหมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีเกษตรกรมาขอเบิกเงินในโครงการรับจำนำในฤดูการผลิตปี 2555/56 กับ ธ.ก.ส.อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะปิดโครงการสำหรับพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา โดยพบว่า องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ได้ออกใบประทวนไปแล้วกว่า 3 แสนตัน ทั้งนี้ ธ.ก.ส.คงไม่สามารถจ่ายเงินได้ทุกราย เพราะต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่จะไม่จ่ายเงินให้กับใบประทวนที่ออกหลังวันที่ 15 กันยายน 2556 จึงได้สั่งตัดการเบิกจ่ายเงินแล้วทุกสาขาและกำชับให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งการจ่ายเงินจะต้องใช้รหัสในการเข้าไปสั่งจ่ายเงินและผ่านการอนุมัติจากส่วนกลางเท่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่าอย่างไรก็ตามขณะนี้ธนาคารได้จ่ายเงินจำนำข้าวไปแล้ว 3.41 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.45 แสนล้านบาท หรือเหลือเงินอีกเพียง 4 พันล้านบาท มีปริมาณข้าวเข้าโครงการแล้ว 21.6 ล้านตัน จากเป้าหมาย 22 ล้านตัน จึงยังเหลืออีกประมาณ 4 แสนตัน หากปล่อยให้จ่ายเงินทั้งหมดทีเดียว 3 แสนตันคาดว่า จะใช้เงินประมาณ 4 พันล้านบาท ที่เหลือหมดภายในสัปดาห์เดียว และมีความเสี่ยงที่จะเกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ จึงต้องชะลอการจ่ายเงินไว้ก่อน เพราะยังมีข้าวจากภาคใต้ที่ออกมาช้ากว่าภาคอื่นอีกจำนวนหนึ่ง

ช่วงใกล้จะปิดโครงการ อคส.และ อ.ต.ก.เร่งออกใบประทวนทั้งๆ ที่รู้ว่าปริมาณข้าวใกล้เต็มกรอบที่รับจำนำแล้ว ทำให้ขณะนี้มีใบประทวนค้างอยู่กว่า 3 แสนตัน โรงสีต่างๆ จึงมีการวิ่งเต้นให้การเมืองกดดันให้ ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงิน แต่ธนาคารจำเป็นต้องพิจารณาอย่างเข้มงวดและระมัดระวัง ไม่ทำเกินกว่าที่ ครม.อนุมัติไว้ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดในฐานการปฏิบัติงานด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของข้าวภาคกลางที่ยังเข้าโครงการไม่ทันและมีการเรียกร้องอยู่นั้น คงต้องรอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก่อนว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือผ่อนผันให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ หากให้เข้าโครงการได้ก็อาจจะใช้เงินอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ต้องมีมติ กขช.รองรับและนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของ ครม.ก่อน ธ.ก.ส.จึงจะดำเนินการเพิ่มเติมได้

ที่มา : นสพ.มติชน
--------------------------------------------------------

คมนาคมพร้อม ลงทุน 2 ล้านล้าน !!??

คมนาคมสั่งทุกหน่วยงาน เตรียมพร้อมแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าทันทีหลังกฎหมายบังคับใช้ เชื่อทุกโครงการเสร็จตามเป้า

วุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลมั่นใจว่าไม่มีปัญหา และคาดว่าจะประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปีนี้

ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา จะทำให้ไม่สามารถทูลเกล้าฯได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ถือเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ได้เตรียมดำเนินการทันทีหลังกฎหมายบังคับใช้ โดยจะผลักดันโครงการที่สามารถทำได้ก่อน ในขณะที่ราคาที่ดินในจังหวัดที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ราคาที่ดินบางพื้นที่ปรับสูงขึ้นถึง 100%

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หากพ.ร.บ.ได้รับความเห็นชอบสามารถดำเนินการได้ทันที

"โครงการที่จะดำเนินการได้ก่อน เช่น งานก่อสร้างทางถนน งานก่อสร้างด่านศุลกากร งานปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ"

นายจุฬากล่าวว่าตามกฎหมายฉบับนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องดำเนินการให้งานแล้วเสร็จภายในกำหนด หากการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน จะส่งผลกระทบกับโครงการของหน่วยอื่นด้วย เช่น งานก่อสร้างถนนไปยังท่าเรือ เมื่องานก่อสร้างท่าเรือเสร็จสมบูรณ์ งานก่อสร้างถนนเชื่อมท่าเรือต้องแล้วเสร็จด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าออกท่าเรือได้ หรือหากเป็นกรณีการปรับปรุงรถไฟทางคู่ การก่อสร้างจุดตัดถนนกับรถไฟต้องแล้วเสร็จด้วยเช่นกัน เพื่อให้รถไฟสามารถใช้ความเร็วได้ ทุกหน่วยงานจึงต้องรับผิดชอบงานที่อยู่ในความดูแลให้ดี จะอ้างว่างานไม่เสร็จหรือล่าช้า เพราะงบประมาณเหมือนในอดีตไม่ได้

"การดำเนินโครงการตามพ.ร.บ.เงินกู้จะเป็นชุดโครงการ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ จะมีตัวชี้วัดว่างานต้องเสร็จตามกำหนด เพราะในภาพรวมตัวชี้วัด จะมากกว่าที่ตัวเองต้องทำงานในส่วนที่รับผิดชอบ โดยเป้าหมายการดำเนินโครงการภายใต้แผนกู้เงินต้องเริ่มและแล้วเสร็จภายใน 7 ปี การประสานงานและการวางแผนการดำเนินโครงการร่วมกัน จึงจำเป็นและสำคัญมาก สนข.จะร่วมประสานทำความเข้าใจในการทำงานระหว่างหน่วยงาน"

ตั้งเป้ากลางปี2557ประมูลไฮสปีดเทรน

นายจุฬากล่าวว่าโครงการที่ สนข.ต้องเข้าไปช่วยในการทำความเข้าใจค่อนข้างมาก คือ การพัฒนาเมืองตามสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะมีหลายหน่วยงานดูแล ไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจะทำหน้าที่จัดรูปที่ดินใหม่ เนื่องจากในบางพื้นที่ต้องย้ายสถานีขนส่งให้มาอยู่ใกล้สถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง แม้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่จะไม่มีผลให้งานก่อสร้างอื่นๆ ล่าช้า เพราะเป็นโครงการใหม่ จะเกี่ยวข้องเฉพาะกับโครงการรถไฟ ซึ่งพื้นที่ใดที่ต้องใช้ร่วมกันต้องออกแบบไว้รองรับ โดยการออกแบบจะให้โครงสร้างของรถไฟความเร็วสูงอยู่ด้านบน และรถไฟธรรมดาอยู่ข้างล่าง เมื่อแผนการดำเนินโครงการชัดเจนว่าจะมีรถไฟความเร็วสูงแน่นอน จะออกแบบโครงสร้างเผื่อไว้ได้ ต่างจากการดำเนินงานก่อสร้างสถานีบางซื่อ ซึ่งไม่ได้ออกแบบรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้ตั้งแต่แรก จึงต้องปรับแบบก่อสร้างใหม่

สนข.รับผิดชอบศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง โดยล่าสุดเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเสนอได้ประมาณเดือนต.ค.นี้ และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน จะช้ากว่าเล็กน้อย คาดว่าภายในปีนี้จะเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้

"โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นงานก่อสร้างตามเขตทางรถไฟเดิม เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก หากจะมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นบริเวณสถานีรถไฟ ตามแผนคาดว่าภายในกลางปี 2557 จะเปิดประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมา และมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2562"

หวั่นท่าเรือปากบาราเจอแรงต้าน

นายจุฬามั่นใจว่าทุกโครงการตามแผนเงินกู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้แน่นอน เพราะทุกโครงการมีประโยชน์สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ ส่วนโครงการที่จะไม่ได้ก่อสร้างคงเป็นเรื่องการคัดค้านของประชาชน โดยโครงการที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่อาจไม่ได้ก่อสร้างคือโครงการท่าเรือปากบารา

"ประชาชนไม่ได้คัดค้านท่าเรือโดยตรง แต่คัดค้านอุตสาหกรรมที่จะมากับท่าเรือ เพราะกังวลว่าจะมีการย้ายนิคมอุตสาหกรรมจากมาบตาพุดมายังท่าเรือปากบารา ซึ่งรัฐบาลต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะตามแผนท่าเรือปากบาราจะเหมือนท่าเรือแหลมฉบังที่รับเรือสินค้าเข้าออกเท่านั้น แต่ไม่มีอุตสาหกรรมอื่น"

ขณะเดียวกันมั่นใจว่าเมื่อทุกโครงการเปิดให้บริการต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศจะลดลง 2% ตามเป้าหมาย และประชาชนจะหันมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้น อีกทั้งการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แน่นอน จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนได้ว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางรถไฟเมื่อใด รวมทั้งวางแผนว่าจะไม่ทำสัญญาจ้างรถบรรทุกหรือไม่ลงทุนซื้อรถบรรทุกใหม่ให้สอดคล้องกับระยะเวลาดังกล่าว

"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ แต่จากการที่โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถรองรับความต้องการดังกล่าวได้ เพราะมีปัญหาหลายอย่าง เช่น หัวรถจักรและแคร่ไม่เพียงพอ การมีรางเดียวทำให้ต้องเสียเวลารอหลีก แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมจะทำให้การบริการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าทันที"

ทั้งนี้ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทางรางมีความพร้อม ภาครัฐต้องพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์จากรางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นภาค 2 ต่อจากแผนลงทุน โดยเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งอาจต้องแก้ไขกฎหมายให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเป็นผู้ให้บริการรถไฟ เพื่อใช้ประโยชน์จากรางที่มีอยู่ได้เต็มประสิทธิภาพ ลักษณะเดียวกับการใช้ถนน ซึ่งภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างถนนและเปิดให้ผู้ขนส่งมาใช้ถนน

ชี้ปัจจัยเสี่ยง'แรงงาน-วัสดุก่อสร้าง'

นายจุฬากล่าวว่าอุปสรรคของโครงการจะเป็นปัจจัยด้านแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นหินและทราย ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากการศึกษาพบว่าช่วงเวลา 7 ปี จะมีตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้างเพิ่มอีก 280,000 ตำแหน่ง ขณะที่วัสดุก่อสร้างไม่เคยต้องจัดเตรียมรองรับงานก่อสร้างที่เริ่มพร้อมกันมากเท่านี้มาก่อน อาจต้องวางแผนให้สัมปทานระเบิดหินหรือขุดทรายเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินโครงการเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการตามพ.ร.บ.เงินกู้หรืองบประมาณปกติ จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรค แต่เรื่องของแรงงานและวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า เพราะหากเกิดปัญหาขาดแคลนอาจส่งผลให้โครงการล่าช้าได้ แต่จะไม่ทำให้ต้นทุนการดำเนินโครงการเพิ่มขึ้น เพราะมีการแข่งขัน

นายจุฬามั่นใจว่าในอนาคต หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลเชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้โครงการตามแผนกู้เงินต้องชะลอหรือยกเลิก เพราะเมื่อโครงการเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของประชาชน ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนโครงการ

"หากรัฐบาลใหม่ไม่ดำเนินการต่อไปหรือคิดโครงการใหม่ น่าจะได้รับการคัดค้านมากกว่าการสนับสนุน การผลักดันให้โครงการแล้วเสร็จย่อมได้รับคะแนนเสียงที่ดี"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ดราม่า:รถไฟตกราง 5 ปีมากกว่า 500 ครั้ง !!??

16 กันยายน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประกาศหยุดเดินรถไฟสายเหนือ เพื่อเปลี่ยนหมอนรองรางรถไฟจากหมอนไม้เป็นหมอนคอนกรีต ตั้งแต่สถานีรถไฟศิลาอาสน์-สถานีรถไฟ จ.เชียงใหม่ รวมระยะทางราว 300 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 16 กันยายน-31 ตุลาคมนี้

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.45 น. เกิดเหตุรถไฟขบวนที่ 172 ขาขึ้น สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ ตกรางจำนวน 4 โบกี้ ระหว่างเข้าจอดชานชาลาที่ 8 ก่อนถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงประมาณ 300 เมตร จนมีการวิจารณ์กันว่า อยู่หัวลำโพงยังตกราง

ก่อนหน้านี้ วันที่ 13 กันยายน เกิดเหตุรถไฟด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ขบวนที่ 36 วิ่งระหว่างสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ-กรุงเทพฯ ตกรางระหว่างออกจากสถานีรถไฟบางซื่อ 2 ก่อนถึงสะพานดำข้ามคลองบางซื่อ

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ฟันธงทันทีว่า รถไฟตกรางรายวัน ช่างประจวบเหมาะกับ "พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน" กำลังเข้าสภาวันที่ 19-20 กันยายน 2556

"ยิ่งตกบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผู้คนเขาเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะ "ปรับปรุง" ระบบรางรถไฟ หรือโลจิสติกส์ของไทยเสียที"

ไม่ใช่แค่ชูวิทย์ จะเชื่อเช่นนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับเตือนรัฐบาลเลยว่า อย่าเอาเหตุรถไฟตกรางบ่อยครั้งมาเชื่อมโยงว่า เหตุทั้งหมด จำเป็นต้องปรับปรุงระบบราง โดยการกู้เงิน 2 ล้านล้าน

นักการ เมืองทั่วๆ ไปอาจเชื่อว่ารถไฟตกรางบ่อยครั้ง เป็นดราม่า ปั่นกระแสเงินกู้ 2 ล้านล้าน แต่หากดูสถิติขบวนรถตกราง ปีงบประมาณ 2552-2556 จะพบตัวเลขที่น่าสนใจ ดังนี้ ปี 2552 จำนวน 94 ครั้ง ปี 2553 จำนวน 96 ครั้ง ปี 2554 จำนวน 113 ครั้ง ปี 2555 จำนวน 86 ครั้ง ปี 2556 จำนวน 115 ครั้ง (ถึงกันยายน)

สาเหตุความเสี่ยง ด้านหลักๆ ในช่วงปี 2552-2556 พบว่า เกิดจากล้อเลื่อน จำนวน 75 ครั้ง เกิดจากสภาพทาง จำนวน 132 ครั้ง เกิดจากผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 115 ครั้ง อยู่ระหว่างสอบสวน 119 ครั้ง ตัวเลขดังกล่าวมาจากฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย

จากตัวเลขสถิติบอกได้เพียงว่า จำนวนครั้งของรถตกรางเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนถึงยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแนวโน้มน่าจะเกิดบ่อยและถี่มากขึ้นเรื่อยๆ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 17 กันยายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สอบถามกระทรวงคมนาคม ว่า เหตุใดรถไฟจึงตกรางบ่อยครั้ง หากรถไฟสายใดไม่มีประสิทธิภาพให้ปรับปรุง หรือยกเลิกการใช้งาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ขณะที่ผู้ รับผิดชอบโดยตรง คือ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยความรู้สึกภายในว่า ตลอดเวลาเกือบ 9 เดือนที่เข้ามาทำงานได้ประกาศตั้งแต่วันแรกว่าไม่มีก๊ก ไม่มีฝ่าย ไม่มีแบ่งกลุ่ม มีแต่ ร.ฟ.ท. อย่างเดียว โดยวางเป้าหมายที่จะกลับไปสู่จุดที่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย

"หากใครมีการแบ่งพวกพ้องก็จะต้องมีปัญหา และพร้อมจะดำเนินการปรับโยกย้ายทันที และตั้งแต่เข้ามาทำงานใน ร.ฟ.ท. ได้ประกาศไว้ว่า มาคนเดียว มาทำงานแบบไม่มีพวกพ้อง และเชื่อใจในพนักงานทุกคน ถือว่าทุกคนมีเกียรติ และให้คะแนนทุกคนเต็ม จะไม่ทำงานแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า ขอให้ทุกคนทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ แต่หากคะแนนใครลดลงก็พร้อมจะโยกย้ายเปลี่ยนแปลง" ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าว

ในประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ สายเหนือ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการซ่อมทางรถไฟสายเหนือ ที่แขวงการบำรุงทางลำปาง นายประภัสร์ กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อว่า เมื่อปิดซ่อมทางบริเวณนี้แล้วเสร็จจะมีการตกรางอีกไม่ได้ หากตกต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งตนต้องเป็นคนแรก และพร้อมลาออกหากซ่อมเสร็จแล้วยังมีรถไฟตกรางในพื้นที่ซ่อมอีก เพราะประชาชนคงรับไม่ได้แน่นอน

ประโยคทองของนายประภัสร์ แสดงถึงความรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารเต็มร้อย แต่คนในการรถไฟฯ ฟันธงว่า นายประภัสร์ ได้ลาออกแน่ๆ เพราะความเสี่ยงและโอกาสรถตกราง ยังเกิดได้อีกเรื่อยๆ ตราบใดที่ใครๆ โดยเฉพาะนักการเมืองก็เอาแต่กระทืบรถไฟไทยจนติดดิน แต่ไม่คิดเรื่องการพัฒนาอย่างเป็นระบบ

เมื่อไม่นานมานี้ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวกับ "มติชนทีวี" ว่า ผมถึงบอกสงสารรถไฟกันบ้าง อย่าไปกระทืบรถไฟกันนัก บ่นกันอยู่นั่น ขนาดเป็นแบบนี้ ลูกค้ายังมี แล้วคิดดู ลองทำระบบให้ดีขึ้น ให้เครื่องไม้เครื่องมือรถไฟทำงาน ให้เงินเดือนถูกต้องยุติธรรม ตามงานของเขา แล้วคุณคิดว่า รถไฟไทย จะงี่เง่าเหมือนเดิมได้ยังไง เขาก็ดีขึ้นสิ เขาก็ภูมิใจขึ้นด้วยสิ

"สิ่งที่ผมให้คำปรึกษารัฐบาลไทยเรื่องการพัฒนารถไฟไทย ไม่ใช่ของใหม่ ผมไม่ได้เอาอะไรจากดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร แต่รถไฟไทยมีครัวทำผักบุ้งลอยฟ้า ต้มยำกุ้งได้ และปูเตียงเก่งกว่ารถไฟอเมริกัน ผ้าสะอาดกว่ารถไฟอเมริกัน รถเสียก็มาบอกอย่างเป็นมิตร บริการสุดประทับใจ แต่เครื่องไม้เครื่องมือมัน 108 ปี ไม่มีการลงทุนใหม่ ขาดทุน พนักงานก็เซ็ง ดูไม่มีอนาคต" นี่คือมุมมองจากคลังสมองของรัฐบาล

...ครั้งหน้า ถ้ารถไฟตกราง เราอาจต้องโทษนักการเมือง!!!

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

สะท้านยุทธภพ :เมืองคุนหมิง !!??



โดย : ปริญญา ชาวสมุน

อีกครั้งที่ลูกหลานมังกรจะเหินร่อนไปสู่ดินแดนบรรพบุรุษ ที่เคยเรียกว่าขั้นสุดคราวก่อนๆ อาจไม่ทำให้สะทกสะท้านเหมือนเดิม

แต่ยืนยันได้ว่ามีอะไรอีกหลายอย่างน่าตื่นเต้นและถือว่า 'สุด' เหมือนกัน

จากที่เคยผ่านบททดสอบจีนๆ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหนึ่งปีก่อน ครั้งนั้นผมกับจีนได้สบตากันแบบเต็มรักก็ที่ปักกิ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวง ประสบการณ์แบบสุดติ่งจึงเป็นแบบเมื้อง..เมือง อะไรต่อมิอะไรก็ดูทันสมัย ไฮเทคโนโลยีไปเสียหมด ทว่าคราวนี้ช่างเป็นประสบการณ์อันแตกต่างสุดขั้ว เพราะปักกิ่งคือเมืองหลวง แต่เมืองที่ผมเพิ่งกลับมาเล่าให้คุณฟัง (อ่าน) คือ คุนหมิง เรียกอย่างสุภาพแบบคนไทยก็คือ "เมืองชนบท" แต่ตรงไปตรงมานี่คือ "บ้านนอก" ของจีนกันเลยทีเดียว!

ชื่อคุนหมิงน่าจะคุ้นหูคุ้นตาคนไทยพอสมควร เพราะเมื่อหลายปีก่อนทัวร์ไทยไปลงที่เมืองนี้กันมาก โดยเฉพาะทัวร์อาม่าอากง แม้ไม่ถึงกับเป็นทัวร์แสวงบุญแต่ก็มี

อาม่าอากงหอบหิ้วกระเป๋าซื้อทัวร์ไปไหว้เทพเจ้ากันจนเต็มเมืองคุนหมิง

ด้วยค่าที่คุนหมิงอยู่ในมณฑลยูนนานซึ่งเป็นตำแหน่งขาไก่ (เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ประเทศจีนเป็นรูปไก่ตัวใหญ่) นั่นเท่ากับว่าเมืองนี้ค่อนข้างใกล้ภาคเหนือของไทยมาก...อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนไทยแห่กันไปเที่ยว

และสภาพอากาศแบบเย็นสบายตลอดทั้งปี ไม่หนาวจัด ไม่ร้อนตับแตก และได้ชื่อว่าเป็นเมืองนอกเมืองนาสำหรับชาวไทย...นี่ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกัน

-1-

เมื่อล้อเครื่องบินลำสีแดงของสายการบินแอร์เอเชียแตะพื้นรันเวย์ ก็สัมผัสได้ถึงไอเย็นและกลิ่นกรีนๆ ของป่าเขาซึ่งรายล้อมเมืองนี้อยู่ ที่กล่าวไปอาจคล้ายเกินจริง แน่นอนว่ามันเกินจริง (ยิ้ม) แต่ใช่ว่าผมจะกล่าวอ้างเกินสรรพคุณเสียทั้งหมด เพราะอากาศที่นั่นก็เย็นจริง และถ้าขยับออกไปนอกเขตเมืองก็เป็นป่าเขาเขียวขจีจริง เพียงแต่ตอนนี้ผมอยู่ที่ สนามบินฉางโส่ย สนามบินใหญ่อันดับที่สี่ของประเทศจีนซึ่งถูกสร้างขึ้นมาแทนสนามบินคุนหมิงเพื่อขยายพื้นที่ใช้สอยและสร้างบรรยากาศงดงาม ทันสมัยกว่า

หลังจากผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองจนเมื่อยมือ (เพราะต้องใช้ภาษาใบ้ตอบคำถามเจ้าหน้าที่หน้าตี๋ร่างใหญ่แต่ไม่พูดอะไรนอกจากภาษาจีน...แล้วผมจะฟังออกไหมครับ) ก็รีบออกไปจากสนามบินโดยพลัน เมื่อมองท้องฟ้าสลับกับยกนาฬิกาขึ้นดู เวลาห้าโมงกว่าช่างไม่สอดรับกับท้องฟ้าสีหม่นมืดเอาเสียเลย แต่พอนึกขึ้นได้ว่าเวลาของคุนหมิงเร็วกว่าไทยหนึ่งชั่วโมงจึงถึงบางอ้อ (บางอ้อที่คุนหมิงนี่ล่ะ) ไม่รอช้าบิดเม็ดมะยมจนเข็มหมุนตามครบวงรอบ ได้เวลาคุนหมิงเกือบทุ่มหนึ่ง

วันนี้คงไม่ทันกาลหากคิดจะไปไหนนอกจากเข้านอนแล้วค่อยว่ากันอีกทีเมื่ออรุณรุ่ง...

"เอ้กอีเอ้กเอ้ก...!" เสียงไก่ขันในฝันทำเอาผมสะดุ้งตื่น ที่แท้มันคือเสียงดังจากโทรศัพท์มือถือของผมเอง ตัวเลขตรงหน้าจอบอกเวลาตีห้า นั่นเท่ากับว่าที่คุนหมิงคือหกโมงเช้า (เพราะไม่ได้ตั้งเวลาคุนหมิงในโทรศัพท์) สำหรับบางคนมันเช้าเกินกว่าจะลืมตาดูโลก แต่สำหรับเมืองที่ผมไม่คุ้นเคยเวลานี้ช่างน่าเดินเตร็ดเตร่ยิ่งนัก

ก้าวออกจากโรงแรมปุ๊บลมเย็นๆ ก็กระแทกหน้าปั๊บ ตามธรรมชาติสายตาต้องหรี่เพื่อกรองลมที่จะเข้าสู่ดวงตา ในช่วงเวลานั้นเองจินตนาการโลดแล่นไปแล้วว่านี่คงเป็นเมืองที่งดงามมากอีกเมืองหนึ่งเป็นแน่ ทันทีที่ดวงตาเบิกกว้างเต็มที่ ภาพเบื้องหน้าของผมคือ "รถติด!" ถึงแม้ไม่ติดเหมือนกรุงเทพฯยุคนี้ แต่ก็ติดเหมือนเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง ประมาณนั้น ไม่ทันเดินไปไหนก็ขาสั่น ความจริงช่างโหดร้ายเหลือเกิน...

ผมเปลี่ยนแผนทันทีเพราะจะมีค่าอะไรหากต้องเดินชมรมควันเหมือนตอนอยู่กรุงเทพฯ จึงรอเวลาอันสมควร กระทั่งรถโดยสารของ สุริยา มัคคุเทศก์ท้องถิ่นชาวจีนแต่พูดไทยปล๋อ คำทักทายแรกของมัคคุเทศก์หนุ่มไม่ใช่คำว่า "หนีฮ่าว" หรือ "สวัสดี" แต่เป็นคำเตือนก่อนออกเดินทางว่า ถ้าลงไปเดินนอกรถเมื่อใดจะต้องสะพายกระเป๋าไว้ด้านหน้า ถ้าสะพายข้างหน้าเป็นของเรา สะพายข้างหลังเป็นของเขา สะพายข้างๆ เป็นของเราและเขาคนละครึ่ง เจอกันปุ๊บก็ประทับใจกันเลยทีเดียวนะสุริยา...

-2-

รถแล่นไปบ้างหยุดบ้างตามประสา จนกระทั่งพ้นเขตเมืองอันจ้อกแจ้กจอแจ ผมแทบไม่เชื่อสายตาว่าเมืองอะไรจะสุดขั้วได้ถึงเพียงนี้ พอพ้นเมืองปุ๊บสองข้างทางกลายเป็นทุ่งหญ้า ทุ่งนา ได้อารมณ์ชนบทขนานแท้

แล้วรถก็มาส่งผมลงที่กระท่อมขนาดกะทัดรัดหลังหนึ่ง ที่นั่นมีป้ายติดอยู่ เนื้อความประมาณว่าเป็นที่ขายตั๋วขึ้น เขาซีซาน แค่รู้ชื่อของเขาลูกนี้ก็อดนึกถึงหนังจีนกำลังภายในไม่ได้ ภาพจอมยุทธกวัดแกว่งกระบี่ฟาดฟันกับเจ้าสำนักพรรคมาร เหาะเหินเดินอากาศไปบนแนวเขา ปล่อยพลังภายในกันตูมตาม ผุดพรายขึ้นในหัวแทบสลัดทิ้งไม่ทัน

กลับสู่ความจริง ไม่มีจอมยุทธมาเหาะขึ้นเขาลูกนี้ มีแต่รถมินิบัสที่จะพานักท่องเที่ยวแบบผมให้ขึ้นไปสู่ข้างบนได้ หากคุณนึกไม่ออกว่าการขึ้นเขาซีซานเป็นอย่างไรให้นึกถึงดอยสุเทพเข้าไว้ ทั้งทางคดเคี้ยวเป็นงู และข้างทางมีทั้งต้นไม้และหุบเหว กระทั่งครบห้ากิโลเมตร ผมลงจากรถพลางคิดว่าถึงแล้วสินะ แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะนี่แค่จุดเริ่มต้น...

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า มีอาจารย์แกะสลักหินท่านหนึ่งเป็นชาวเสฉวนหลงรักหญิงสาวคนหนึ่งแต่ต้องอกหักรักสลาย ประจวบเหมาะกับได้เดินทางมาที่เขาซีซานจึงอยากระบายพร้อมกับลองวิชาบวกกับศรัทธา แกะสลักหินเป็นสิ่งต่างๆ ทั้งตัวอักษร ภาพ แม้กระทั่งเทพเจ้าในลัทธิเต๋า

ผมเดินไปตามไหล่เขา บางช่วงเป็นอุโมงค์ซึ่งเชื่อกันว่าอาจารย์ท่านนี้และลูกศิษย์อีกไม่กี่คนเป็นผู้สกัดไว้นานนับพันปีมาแล้ว โดยใช้เวลาทั้งหมด 72 ปีจึงแล้วเสร็จเป็นศิลปกรรมเหนือธรรมชาติอย่างที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา ตั้งแต่จุดแรกที่ขึ้นไปพบจนจุดก่อนสุดท้าย ผมและชาวจีนอีกมากมายซึ่งเดินตามกันเป็นพรวนได้ยกมือไหว้เทพเจ้าหลายองค์ อาทิ เทพหวังหลิงกวนตรงด่านแรก ถัดขึ้นมาหน่อยก็ไหว้เทพฉ่ายเส่งเอี๊ยะ (เชื่อกันว่าจะดลบันดาลให้ร่ำรวย) และถัดมาเป็นเทพเจินอู่ เทพศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิเต๋า

แต่ระหว่างทางที่ผ่านมาแล้วจะสังเกตเห็นโพรงคล้ายถ้ำขนาดย่อม มีรูปปั้น (หรือหินสลัก...ไม่แน่ใจ) รูปวัวนั่งอยู่ ข้างๆ คือบ่อน้ำใสไหลเย็น ถัดไปอีกมีรูปปั้น (หรือหินสลักอีกนั่นละ) รูปวัวตัวเล็กๆ อีกหนึ่งตัว ถามไถ่ได้ความว่านี่คือ บ่อน้ำกตัญญู เกิดจากตำนานแม่ลูกวัวคู่หนึ่ง บางตำนานบอกว่าวัวตัวนี้กตัญญูกับเจ้าของมาก เพื่อที่จะให้เจ้าของได้ดื่มน้ำที่บนภูเขาซีซาน มันจึงใช้เขาเจาะหน้าผาจนทะลุได้เป็นสายน้ำและเป็นบ่อน้ำเล็กๆ ให้เจ้าของได้ดื่ม แต่บางตำนานก็ว่าลูกวัวใช้เขาเจาะหน้าผาจนทะลุเพื่อให้แม่ของมันได้ดื่มน้ำ...ขนาดสัตว์ยังรู้จักกตัญญู เป็นคนก็คิดเอาเองแล้วกัน

เดินขึ้นบันได 333 ขั้นหมดแรงพอดิบพอดีผมมองหาที่นั่งพักหวังว่าจะมีแรงเดินต่อ แต่พอหันกลับมาชาวจีนมากมายที่เดินตามผมมาเมื่อครู่ก็หยุดเดินตาม ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นนักเลียนแบบตัวยง แต่เป็นเพราะเราได้มาถึงจุดสุดยอดของเขาซีซานแล้ว นั่นคือ ประตูมังกรหลงเหมิน สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์หมิง เชื่อกันว่าเป็นประตูแห่งสิริมงคล เดินลอดผ่านจะประสบความสำเร็จ เฮงๆ ยิ่งได้เอื้อมมือแตะ สะดือมังกร (ที่ปูดๆ อยู่บนคานประตู) จะโชคดีเป็นร้อยเท่า แต่ต้องยอมรับว่าผมไม่ได้เชื่อเรื่องแบบนี้มากนักจึงไม่ได้แตะสะดือมังกร เพราะมัวแต่มองลงมายังเบื้องล่าง คือ ทะเลสาบคุนหมิงเตียนฉือ ทะเลสาบน้ำจืดกว้างใหญ่ไกลสุดสายตา

ชื่นชมความงามของทะเลสาบจนอิ่มเอม หันมาก็ไม่เห็นกองทัพชาวจีนกลุ่มเดิมแล้ว คงได้เวลาลงจากเขาซีซานแล้ว ผมก้าวเท้าฉับๆ ผ่านประตูมังกรฯไป, แล้วเดินกลับมา ในใจก็แสร้งว่าลืมของไว้ไหมหนอ สรุปว่าได้ลอดประตูสี่รอบเลยเชียว...บอกแล้วผมไม่เชื่อ

ขณะที่รถมินิบัสของอุทยานพาผมลงจากเขา ภาพภูเขารูปทรงเหมือนในหนังจีนกำลังภายในเมื่อสักครู่ยังติดตา แต่ต้องสะดุดด้วยภาพคนเดินขึ้น - ลง ตลอดเส้นทางที่รถแล่นผ่าน สุริยา บอกผมว่าชาวจีนมักจะมาเดินขึ้นเขาเพื่อแสดงความจริงใจต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ระยะทางขึ้นห้ากิโลเมตร ลงห้ากิโลเมตร ไม่นับขึ้นลงบันไดรวม 666 ขั้น ผมว่าผมได้พบบรรดาจอมยุทธแห่งเขาซีซานแล้ว...

-3-

ผมยกนาฬิกาขึ้นดูจำไม่ได้ว่ากี่โมง แต่จำได้ว่าใกล้หมดวันแล้วหากจะไปไหนต่อยามนี้คงไม่เหมาะ เพราะดวงตะวันก็เริ่มหย่อนตัวลงเตรียมลับขอบฟ้าในอีกไม่ช้า ห้วงยามแบบนี้มีอยู่สถานที่หนึ่งที่สมควรแก่การส่งท้ายวัน ณ คุนหมิง นั่นคือ จตุรัสม้าทองและไก่หยก ตั้งอยู่กลางใจเมืองคุนหมิง พอผมมาถึงก็โพล้เพล้พอดี บนจตุรัสแห่งนี้มีซุ้มประตูศิลปะแบบจีนๆ ตระหง่านอยู่ถึงสองประตู ประตูหนึ่งชื่อม้าทอง ประตูสองชื่อไก่หยก ว่ากันว่าเมื่อดวงอาทิตย์กำลังตกดินจะตรงกับซุ้มประตูทั้งสองพอดีเป๊ะ!

นอกจากที่ผมจะได้นั่งรอชมดวงอาทิตย์ตรงประตู (ซึ่งก็ไม่ค่อยตรงเป๊ะสักเท่าไร) ยังได้เดินชมแต่ไม่ช้อป สินค้าที่จตุรัสแห่งนี้ด้วยเพราะตกค่ำจะกลายเป็นถนนคนเดินในทันที

. . .

เช้านี้โทรศัพท์มือถือไม่ส่งเสียงปลุกผมดังเมื่อวาน ด้วยรู้ว่าจะไปเตร็ดเตร่ก็คงไม่ได้ หนึ่ง-เพราะเข็ดขยาดภาพรถติดแน่นเอียด สอง-วันนี้ผมมีโปรแกรมน่าตื่นเต้นรออยู่...

สุริยา กับรถคันเดิมมารับผมตามเวลานัดหมาย เราออกจากโรงแรมกันแต่เช้าเพราะคำขู่ของสุริยาเมื่อวานที่ว่า หากไม่รีบไป "ป่าหินจะกลายเป็นป่าหัว!"

ใช่แล้วครับผมเดินทางมาถึง ป่าหิน แล้ว นี่คือสถานที่ขึ้นชื่อของคุนหมิง และก็น่าเชื่อว่าสมัยก่อนพวกทัวร์อาม่าอากงก็ต้องตรงดิ่งมาที่นี่ด้วยเป็นแน่ ผมมาถึงที่นี่ราวเก้าโมงกว่า แค่ทางเข้าก็ต้องใจสั่นแล้วกับจำนวนนักท่องเที่ยวมากมายราวกับมารอชมคอนเสิร์ตซูเปอร์สตาร์

เมื่อผ่านด่านคนและเสียสตางค์ถึงสองต่อ คือ ค่าเข้า 175 หยวน และ ค่ารถกอล์ฟพาเข้าไปอีก 25 หยวน สมกับเป็นพี่จีนจริงๆ เก็บทุกเม็ด

และนี่คืออีกครั้งที่ผมถูกดูดเข้าไปสู่โลกจินตนาการ ท่ามกลางหินสูงเสียดฟ้า รูปร่างพิสดาร คล้ายว่าจอมยุทธจะโผล่มาดวลวิทยายุทธกันอีกแล้ว ผมรีบสะบัดหัวไล่ความคิดเพ้อฝันออกทันที เพราะป่าหินจริงๆ ตรงหน้าผมน่าสนใจกว่า

ภายในอาณาบริเวณกว่า 400 ตารางกิโลเมตร มีหินรูปร่างแปลกประหลาดเหล่านี้เรียงรายอยู่เต็มพื้นที่ เชื่อกันว่าเมื่อ 300 ล้านปีก่อนเคยเป็นเพียงหินปูนซึ่งอยู่ใต้น้ำ ครั้นเวลาผ่านไปเปลือกโลกดันตัวสูงขึ้นจึงกลายเป็นป่าหินแห่งนี้ในที่สุด บ้างมองดูเหมือนภูผาในภาพวาดโบราณ บ้างเสมือนหญิงงามในวรรณคดี แต่ที่ถือเป็นสีสันคือ หินอาซือหม่า (อาซือหม่า คือ หญิงสาวชนเผ่าท้องถิ่น ใช่แล้วครับ...มีหินรูปร่างคล้ายอาซือหม่าตั้งอยู่ และที่นี่ก็ทำให้ผมเข้าใจว่า "ป่าหินจะกลายเป็นป่าหัว" คืออะไร

จบจากป่าหิน ก็ถึงโปรแกรมขั้นสุดของทริปนี้กันแล้ว ทันทีที่รถจอดที่ลานกว้าง ผมก็เริ่มเห็นป้ายคล้ายโปสเตอร์หนังจีนซึ่งผมคุ้นตา ยิ่งเดินเข้าไปก็ยิ่งเห็นป้ายมากขึ้น และใหญ่ขึ้น

"นี่มันเฮียเฉินหลงนี่นา!" ผมอุทานในใจ ใช่จริงๆ นอกจากนั้นยังมีภาพดาราเอเชียอีกมากมายในชุดจอมยุทธ เมื่อจับต้นชนปลายได้จึงร้องอ๋อ เพราะที่นี่คือ ถ้ำจิ่วเซียง สตูดิโอธรรมชาติ เพราะที่นี่คือสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง บางเรื่องคุณเองก็อาจจะคุ้นตา...ผมมั่นใจ

แต่ก่อนจะเข้าถ้ำ ผมได้เตรียมใจด้วยการล่องเรือไปตามแนวเขา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งฉากของหนังจีนกำลังภายในหลายเรื่อง ทว่าคงไม่พูดถึงมากเพราะจะว่าไปแล้วอารมณ์ขณะนั้นก็คล้ายๆ ล่องเรือล่องแพที่แม่น้ำแคว กาญจนบุรี

เอาละ! ได้เวลาเข้าถ้ำ ถ้ำจิ่วเซียงมีลำธารไหลผ่านภายในถ้ำ ประกอบด้วยธารน้ำตก หุบเขาลึก และถ้ำเล็กๆ อยู่มากมาย ด้วยค่าที่มีลำธารและน้ำตกนี่เองจึงทำให้พื้นภายในถ้ำเปียกชื้นและค่อนข้างลื่น จึงขอแนะนำว่าควรสวมรองเท้าผ้าใบที่มีดอกยางกันลื่นและกระชับเท้า

แต่ละย่างก้าวของผมไม่เร่งรีบนัก ผมค่อยๆ เดินผ่าน ก้มๆ เงยๆ ลอดถ้ำน้อยใหญ่ซึ่งประดับประดาด้วยแสงไฟหลากสีสมกับเป็นฉากถ่ายภาพยนตร์กำลังภายในยุคใหม่เสียจริง และต้องยอมรับว่าที่นี่มีถ้ำเยอะมากหากจะสาธยายไปก็คงเปลืองหน้ากระดาษจึงขอยกตัวอย่าง อาทิ ถ้ำช้างเผือก ถ้ำค้างคาว วังเทพธิดา แค่ชื่อเหล่านี้ก็ชวนให้นึกถึงจอมยุทธอีกแล้วใช่ไหมละ

ยิ่งเข้าไปลึกยิ่งตื่นตาตื่นใจกับความอัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างไว้ ทั้งหินงอก หินย้อย หลากหลายรูปร่าง เมื่อใส่จินตนาการเข้าไปก็ยิ่งได้อรรถรส เช่น หินขนาดใหญ่ที่ดูคล้ายสิงโตกำลังขย้ำเหยื่อ และสีสันอย่างหนึ่งคือ น้ำตกแฝด (Twin Water Falls) ขนาดมหึมา

เส้นทางภายในถ้ำมีทั้งเดินขึ้นและลง บรรยากาศคล้ายโลกใต้พิภพอันซับซ้อนและสวยงาม และแน่นอนว่ากว้างใหญ่ ยิ่งเดินยิ่งเมื่อย โดยเฉพาะเส้นทางสุดท้ายก่อนจะถึงทางออก คล้ายเราทุกคนต้องใช้เกียร์ต่ำก้มหน้าก้มตาเดินดุ่มๆ ขึ้นไปตามขั้นบันไดหินผ่านหินงอกหินย้อยและผนังถ้ำแปลกตาทว่าไม่มีจิตใจมองแล้วเพราะเมื่อยขา

กระทั่งผมเดินเข้าสู่แสงสว่างภายนอกถ้ำ เท่ากับว่าผมได้พิชิตถ้ำจิ่วเซียงสำเร็จแล้ว

ทว่า จะลงไปจากภูเขาสูงใหญ่นี้ได้อย่างไร ถ้าจะให้เดินย้อนกลับไปทางเดิมคงต้องคิดหนัก แต่อีกทางเลือกซึ่งแทบจะทุกคนต่างเลือกวิธีนี้ คือ นั่งกระเช้าแบบห้อยขาข้ามเขาสองลูกไปยังทางออก (ทางเดียวกับทางเข้า)

กระเช้าค่อยๆ พานักท่องเที่ยวทีละคู่ไปส่งยังจุดหมาย ผมยอมรับโดยดุษณีว่าไม่ถูกชะตากับความสูงนัก กระเช้าสุดเสียวนี่ก็เช่นกันย่อมไม่ใช่สิ่งอันปรารถนาของผม แต่เมื่อถึงคิว เจ้าหน้าที่ชาวจีนแท้ๆ ส่งเสียงเรียกแบบแปล่งๆ ว่า "มายืนตรงรอยเท้า มายืนตรงรอยเท้า"

ไม่ทันคิดอะไร กระเช้าเจ้ากรรมช้อนตัวผมขึ้นไปนั่ง แล้วก็เหาะเหินเดินอากาศข้ามภูเขาได้ดั่งจอมยุทธในหนังจีนกำลังภายใน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////

ป.ป.ช.ลุยต่อ คดีสรยุทธ์-ไร่ส้ม. !!??



ภักดี. เผย ป.ป.ช.เตรียมตั้งคณะทำงาน ลุยคดีสรยุทธ์-ไร่ส้มยักยอกเงินโฆษณา อสมท. 138 ล้านต่อ หลังสำนวนถูกตีกลับ ชี้ชัดคำตัดสินศาล ปค.กลางไม่มีผลต่อคดีนี้

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีการยักยอกเงินโฆษณาส่วนเกินของ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด กล่าวถึงกรณีที่ อัยการสูงสุด ตีกลับสำนวนคดี บริษัท ไร่ส้มจำกัด ยักยอกเงินโฆษณาเกินเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมผลิตรายการกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 138ล้านบาท ว่า เมื่ออัยการสูงสุด ส่งกลับมา แสดงว่ายังมีข้อที่ไม่สมบูรณ์ โดยต้องมีการพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นต่อไป ทั้งนี้ ทางอัยการสูงสุด จะแจ้งรายชื่อเพื่อเป็นกรรมการร่วมกับ ป.ป.ช. ในการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถทำให้สมบูรณ์ได้โดยความเห็นร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย คือ อัยการ กับ ป.ป.ช. ทางอัยการ ก็จะดำเนินการต่อไป เพื่อที่จะส่งฟ้องศาล แต่ถ้าคณะทำงานร่วมได้มีการพิจารณาร่วมกันแล้ว ยังมีประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ป.ป.ช. ก็ต้องส่งฟ้องเองตามหลักการ
 
ทั้งนี้ การดำเนินการที่เกี่ยวกับการไต่สวนคดีถือว่าจบไปแล้ว จะไม่มีการนำคำตัดสินของศาลปกครอง มาประกอบการพิจารณาอีก โดยจะมีการพิจารณาเฉพาะข้อที่ไม่สมบูรณ์ ที่ฝ่ายอัยการ แจ้งมาเท่านั้น ส่วนคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ที่ให้ บริษัท อสมท จ่ายเงินค่าโฆษณาเกินในสัญญาแก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด กว่า 55 ล้านบาท ก็ไม่เกี่ยวข้องกันกับการพิจารณา

ที่มา.ทีนิวส์
----------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กับ ภาคการเกษตร !!??

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ประมาณปลายปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็จะเปิดกันเต็มรูปแบบ ซึ่งก็หมายความว่าสินค้าส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริการ จะเปิดถึงกันอย่างเสรี ยกเลิกภาษีขาเข้าระหว่างกัน รวมทั้งกฎระเบียบอุปสรรคอย่างอื่นที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันก็คงจะยกเลิกไปด้วย เพื่อให้การค้าขายระหว่างกันเป็นไปอย่างเสรี จนจะกลายเป็นการค้าที่ไร้พรมแดนระหว่างกัน

การเปิดเสรีระหว่างกันเป็นการขยายตลาดอาเซียนให้ใหญ่โตขึ้น รัฐบาลก็ทำประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมากให้ประชาชนได้รู้ จะได้ปรับตัวให้ทันเมื่อเวลามาถึง

สำหรับประเทศไทย โดยส่วนรวมน่าจะได้ประโยชน์เพราะตั้งอยู่ใจกลางของประชาคม รายล้อมด้วยประเทศอาเซียนใหม่ อันได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อีกทั้งอยู่ใกล้จีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก เมื่อเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย ในแง่ของที่ตั้งและระดับของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เราน่าจะได้ประโยชน์กว่าประเทศอาเซียนเก่าอื่น ๆ

แต่เมื่อคำนึงถึงภาคเกษตรกรรมแล้วน่าห่วง โดยเฉพาะพืชหลักที่เราผลิตส่งออกเป็นจำนวนมาก เป็นผู้นำของโลก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม พืชดังกล่าวขณะนี้เป็นพืชที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรเป็นจำนวนมากชดเชยการผลิต ต้นทุนการผลิตสูงเพราะขาดแคลนแรงงาน ต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักร ใช้น้ำมัน รวมทั้งใช้แรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ในกรณีเรื่องข้าว ไทยคงได้เปรียบมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับสิงคโปร์นั้นไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร แต่เราก็ไม่ได้เปรียบพม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเทศเหล่านี้ก็เสียเปรียบในเรื่องระบบการขนส่ง แต่ต่อไปข้างหน้าเมื่อถึง พ.ศ. 2558 สินค้าเกษตรเหล่านี้จะสามารถส่งข้ามพรมแดนกันได้อย่างเสรี ถ้าประเทศไทยยังคงไม่มีการเตรียมตัวก็น่าจะมีปัญหาราคาข้าว ราคายางพารา ราคามันสำปะหลัง ราคาข้าวโพด ราคาลำไย ต้องเป็นไปตามราคาตลาด หากยังคงโครงการรับจำนำพืชผลต่าง ๆ ในราคาที่สูงกว่าตลาด สินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้านก็คงจะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ นำเข้ามาจำนำ ซึ่งที่จริงก็คือเอามาขายให้กับรัฐบาลไทยนั่นเอง รัฐบาลจะเอาเงินภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนไทยไปรับซื้อข้าวพม่า ข้าวกัมพูชา ข้าวเวียดนาม หรือไปรับซื้อยางพาราจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีก็ไม่ควรจะยอม

แม้ทุกวันนี้การที่รัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชนไปทำโครงการรับจำนำข้าว จำนำยางพารา มันสำปะหลัง ใช้เงินภาษีอากรไปชดเชยการขาดทุนจำนวนมหาศาล และชาวไร่ชาวนาก็ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่สูญเสียไปกับค่าขนส่ง ค่าเช่าโกดัง ค่าสินค้าสูญหาย เสื่อมสภาพ ความสามารถส่งออกไม่มี หรือมีก็ต่ำกว่าเอกชนผู้ส่งออก ประเทศผู้นำเข้าถ้าซื้อก็ซื้อกดราคาลง เพราะรู้หมดว่าประเทศไทยมีข้าว มียาง มีมัน เก็บอยู่ในโกดังเท่าไหร่ ประชาชนผู้เสียภาษียังไม่รู้สึก แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถรักษาวินัยทางการคลังไว้ได้และต้องขึ้นภาษี เมื่อนั้นผู้เสียภาษีคงจะรับไม่ได้

หากไม่เตรียมตัว ไม่ปรับตัวเสียแต่เนิ่น ๆ เกษตรกรที่เคยได้รับผลประโยชน์จนเคยชินจากนโยบายของรัฐบาลก็คงจะไม่เข้าใจและยอมรับไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัญหาการเมืองทันที จะไม่เกิดความโกลาหลขึ้นหรือเมื่อเวลานั้นมาถึง รัฐบาลก็คงจะเปลี่ยนวิธีมาใช้วิธีชดเชยตามเนื้อที่การเพาะปลูกเหมือนกับ

กรณีของยางพาราในขณะนี้ แต่ก็คงจะทำไปตลอดกาลไม่ได้ มิฉะนั้นก็เท่ากับเราเอาภาษีอากรของประชาชนไปอุดหนุนผู้นำเข้าในต่างประเทศเราควรจะต้องตระหนักว่า เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดเสรีสำหรับสินค้าเกษตรกรรมกับประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียน ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศเหล่านี้ต้องสอดคล้องกับราคาในตลาดโลก สามารถขึ้นลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก

เนื่องจากระดับการพัฒนาของประเทศอาเซียนเก่าสูงกว่าประเทศอาเซียนใหม่ แม้ว่าผลผลิตต่อไร่ของเราอาจจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราใช้เครื่องจักร ใช้พลังงาน ใช้ปุ๋ยในอัตราที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานเสียแล้ว ต่อไปข้างหน้าก็คงจะขาดแคลนยิ่งขึ้น

ถ้าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขยายตัวมากขึ้น การจะคงปริมาณการผลิตไว้ในระดับที่สูงแล้วชดเชยด้วยเงินภาษีอากร ก็ยิ่งจะเป็นภาระอย่างหนักกับประชาชนผู้เสียภาษี จะเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ไม่ให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

ไม่น่าจะมีทางเลือกอื่น นอกจากวางแผนลดการผลิตสินค้าเกษตรที่ต้องการเงินชดเชยช่วยเหลือลงตามลำดับ ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้ายังมัวแต่ตั้งงบประมาณจากภาษีอากรไปชดเชยราคาสินค้าที่เราไม่มีความได้เปรียบในการผลิตเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

อีกทางหนึ่งที่จะลดปริมาณการผลิตของสินค้าเกษตรราคาลงก็คือ จำกัดเนื้อที่เพาะปลูก ลดการส่งออกลง เพราะการชดเชยราคาให้เกษตรกรไทยก็เท่ากับรัฐบาลจ้างเกษตรกรไทยผลิตข้าว ผลิตยางพารา แล้วขายให้กับผู้บริโภคหรือ

ผู้ใช้ในต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่าต้นทุนการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตเมื่อรวมกับต้นทุนของเกษตรกรและต้นทุนจากภาษีอากรของประชาชนแล้ว มีอัตราสูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคและผู้ใช้สินค้าเกษตรของไทยจ่าย ในระยะยาวประชาชนผู้เสียภาษีก็คงจะยอมไม่ได้ ถ้ายังต้องใช้เงินเป็นแสน ๆ ล้านอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ทางเดียวก็คือต้องให้การศึกษากับสังคมว่า เราคงจะทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าราคาถูก เช่น ข้าวนาปรัง ต้องปรับเปลี่ยนระบบชลประทานที่มีให้เหมาะสมและคุ้มค่ากับสิ่งที่ผลิต เช่น สินค้าเกษตรชนิดอื่น หรือเปลี่ยนไปเป็นการประมง ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

เมื่อประเทศเพื่อนบ้านของเรา พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว พัฒนาระบบการขนส่งภายในประเทศของเขา เปิดพื้นที่อันกว้างใหญ่ของเขาให้ติดต่อตลาดโลก ประกอบกับจำนวนประชากรที่มาก ค่าแรงงานยังต่ำกว่าเรา ระดับการพัฒนายังต่ำกว่าเรา การเมืองได้รับการปฏิรูปให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกมากขึ้น นักลงทุนย่อมจะพากันไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น เราเองต้องถอยออกจากภาคเศรษฐกิจนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะอยู่กับความภูมิใจว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งต่อไปไม่ได้

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา คงจะมาถึงเร็วขึ้นจากการเกิดเออีซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมและบริการคงจะไม่มีผลกระทบอะไรมาก เพราะการลดภาษีขาเข้าและสิ่งกีดขวางทางการค้าได้ค่อย ๆ ลดลงมา ได้ปรับตัวกันมานานแล้วแต่ภาคเกษตรกรรมของเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////

เล็งผุดสนามบินเชียงใหม่สอง ล้อแผนยกศูนย์ประชุมสู่นานาชาติ !!??

นายนพรัตน์ เมธาวีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) กล่าวว่า จากกรอบแนวทางดำเนินงานเพื่อพัฒนาศูนย์ประชุมนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ให้ เป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการของประเทศและภูมิภาคอาเซียนภายในระยะ เวลา 5 ปีนั้น ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือระยะแรก ปี 2556 เน้นการทำตลาดภายในประเทศและวางรากฐานอุตสาหกรรมไมซ์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชียงใหม่เป็นเมืองยุทธศาสตร์ไมซ์ ระยะที่ 2 ปี 2557-2558 ขยายการส่งเสริมการตลาดระดับภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือในอนุภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และประเทศในอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ระยะที่ 3 ยกระดับเชียงใหม่ให้เป็นจุดหมายการประชุมระดับนานาชาติ

"แผนระยะที่ 2 นอกจาก สสปน.จะพัฒนาฐานข้อมูลไมซ์จังหวัดเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ยังร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ส่งเสริมตลาดในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มน้ำโขง และประเทศในอ่าวเบงกอล โดยกำหนดอุตสาหกรรมหลักเป็นหัวหอกในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ เช่น ศิลปหัตถกรรมและหัตถศิลป์ สิ่งทอ สมุนไพรและสปา สุขภาพและอาหาร โดยยังคงเสน่ห์ล้านนาด้านงานแสดงสินค้าภายในประเทศ พร้อมร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ส่งเสริมและดึงงานประชุมสัมมนาจากกลุ่ม GMS และ BIMSTEC เข้ามาจัดในเชียงใหม่ เชื่อว่าตั้งแต่ปี 2560 ศูนย์ประชุมนี้จะพร้อมรับการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ระดับนานาชาติแห่งใหม่ของไทย" นายนพรัตน์กล่าว

นายฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปี 2557 จะเพิ่มกิจกรรมต่างประเทศต่อเนื่อง พร้อมกับต่อยอดกิจกรรมในอดีต ตามแผนแม่บทเชียงใหม่ซิตี้ เน้นตลาดอาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลางเป็นหลัก ทั้งนี้ จังหวัดอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่สอง รวมถึงแผนการพัฒนาขนส่งมวลชนในตัวเมืองเชียงใหม่รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์ในอนาคต

"ปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมไมซ์ของเชียงใหม่จะเติบโตด้านจำนวนคน 5% เมื่อเทียบกับปี 2555 หรือคิดเป็นผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 72,424 คน ส่วนรายได้เติบโตสูงถึง 10% คิดเป็น 4,245 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ คาดว่าจะเติบโต 15% คิดเป็นจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 4.3 ล้านคน สร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศ 1.37 หมื่นล้านบาท" นายฤทธิพงศ์กล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน
--------------------------------------------------------------