โดย.เสรี พงศ์พิศ
เมื่อปี 2523 พลเอกหาญ ลีลานนท์ปิดเขาศูนย์ ที่ผู้คนหลายพันจากทั่วประเทศพากันไปขุดแร่ ซึ่งค้นพบและเริ่มขุดกันตั้งแต่ปี 2513 ร่ำรวยกันถ้วนหน้า เงินสะพัดตลาดทานพอ หรือตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อเขาศูนย์ปิด ชาวบ้านก็ต้องกลับไปทำมาหากินตามความถนัดของแต่ละคน ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา แต่ปัญหา คือ จะอยู่ได้อย่างไร เพราะยางพาราราคาไม่ดี ที่ไม่ดีอาจเป็นเพราะไปเปรียบเทียบกับรายได้จากการขุดแร่ ขายแร่
วิกฤติสร้างผู้นำชื่อประยงค์ รณรงค์ ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการอะไร ร่วมกับผู้นำชาวบ้านอีก 12 คนพบปะพูดคุยกันบ่อยๆ ว่าจะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้อย่างไร พบว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่ราคาที่พ่อค้าจะให้ยางแผ่นชาวบ้านเป็นเกรด 3 เกรด 4 แต่ให้ของรัฐและเอกชนเกรด 1 เกรด 2
เหตุผลที่พ่อค้ารับซื้อยางทำเช่นนั้น ก็เพราะยางแผ่นของชาวบ้านคุณภาพต่ำ ประเภท "ทำมือ" คือ กรีดเอง รีดเอง ผลผลิตจึงออกมาไม่สม่ำเสมอ ขณะที่ของรัฐและของเอกชนมาจากโรงงาน มีกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักร มีโรงอบ ไม่ใช่เอาไปตากแดดแขวนราวไม้ไผ่ไว้ยังกับผ้าอ้อมหน้าบ้าน
ลุงประยงค์กับเพื่อนๆ จึงคิดว่า ถ้าหากชาวบ้านมีโรงงานแปรรูปยางก็น่าจะแก้ปัญหาราคายางได้ จึงชวนกันไปขอเรียนรู้ดูงานในโรงงานยางของรัฐที่นาบอน และของเอกชนในพื้นที่ โดยไม่มีหน่วยงานของรัฐหรือของเอกชนไหนไปประสานงานหรือออกค่าใช้จ่าย พวกเขาคิดเองทำเองทั้งหมด
ไปดูงานมาแล้วก็ต้องคิดหนัก เพราะโรงงานแต่ละแห่งใช้เงินทุนเป็นสิบล้าน เกินความสามารถของชาวบ้านที่จะไปทำเอง แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ มาหาทางปรับขนาดโรงงานให้เล็กลงจนเหลือการลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท สามารถผลิตยางแผ่นได้วันละ 1 ตันครึ่ง
ปี 2527 โรงงานแปรรูปยางหรือโรงงานทำยางแผ่นของชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยก็เกิดขึ้นที่ตำบลไม้เรียง โดยชุมชนระดมทุน 1 ล้านบาท ลงมือสร้างโรงงานเอง บริหารจัดการเอง และพบว่า ราคายางแผ่นจากโรงงานของตนเองได้ราคาดีกว่ายางแผ่นจากโรงงานของรัฐและของเอกชนเสียอีก
ลุงประยงค์และชุมชนไม้เรียงสามารถแก้ปัญหาคุณภาพยางแผ่นได้รับการยอมรับว่าเป็นยางเกรดหนึ่งของเอเชีย และได้ราคาดีกว่าราคาตลาดทั่วไปถึง 4 บาท ซึ่งเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วที่ราคายางอยู่ที่ 20 กว่าบาท ถือว่าสูงมาก ทั้งนี้เพราะลุงประยงค์ติดต่อกับบริษัทผู้ส่งออกยาง และส่งยางจากไม้เรียงไปถึงท่าเรือคลองเตย ทำให้ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป
แต่เก่งขนาดนั้น ก็ยังพบว่าปัญหายางพารามีอะไรซับซ้อนกว่านั้นมาก ราคายางพาราขึ้นลงแบบที่น่าสงสัยว่าเป็นฝีมือการรวมหัวของนักการเมือง พ่อค้ากับข้าราชการ ส่วนชาวบ้านถ้าอยากได้ราคาสูงขึ้นต้องไปปิดถนน ปิดทางรถไฟ ไปเผาโรงงานยางโกดังยางที่ไหนสักแห่ง นี่คือวงจรอุบาทว์ของยางพารา
ลุงประยงค์มาปรึกษาที่มูลนิธิหมู่บ้าน อยากให้ช่วยทำการวิจัยว่า 100 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับยางพารา จะได้ "รู้อดีตเพื่อกำหนดอนาคต" อย่างที่ขงจื้อสอนไว้ ทั้งนี้โดยชุมชนเองก็จะร่วมวิจัยด้วยการเอาประสบการณ์ของพวกเขามาวิเคราะห์ เรื่องวิธีการปลูก การดูแล การลงทุน การจัดการต่างๆ
มูลนิธิหมู่บ้านไม่ได้ทำตามที่ลุงประยงค์ขอร้องโดยอธิบายว่า "ถ้าพวกผมวิจัย ได้ข้อมูล พวกผมก็จะมีอำนาจ เพราะข้อมูลคืออำนาจ ถ้าลุงและชุมชนอยากมีอำนาจก็ควรจะวิจัยเองทั้งหมด" ซึ่งลุงประยงค์และแกนนำชาวสวนยางนครศรีธรรมราชและเครือข่ายยมนา (ยาง ไม้ผล นา) ก็เห็นด้วยและลงมือทำวิจัยเอง
เราได้ให้คำแนะนำลุงประยงค์และผู้นำชุมชนว่าวิจัยอย่างไร ไปที่ไหน ไปหาใคร เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วทั้งชาวบ้านและมูลนิธิหมู่บ้านก็ช่วยกันวิเคราะห์ นำมาประกอบกับผลการศึกษาจากชุมชนเอง ได้สิ่งที่เรียกกันว่า "แผนแม่บทยางพาราไทย"
แผนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ผู้นำชุมชนเสนอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา ส่วนที่สอง เป็นเรื่องที่ชุมชนต้องนำไปปฏิบัติเอง ก่อนสรุปทั้งหมดได้มีการทำประชาพิจารณ์ในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ภาคใต้และภาคตะวันออก มีผู้เข้าร่วมนับหมื่น โดยชุมชนเป็นผู้จัดพิมพ์ร่างแผนแม่บทยางพาราไทยโดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกใดๆ
มีการนำเสนอแผนแม่บทบางพาราไทยให้รัฐบาลในปี 2540 รัฐบาลบอกว่า เรามียุทธศาสตร์ยางพาราแห่งชาติอยู่แล้ว ยืนยันความเชื่อที่ว่า นักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ น่าจะรวมหัวกันปั่นราคายางขึ้นลงเพื่อผลประโยชน์ของตน แผนแม่บทยางพาราไทยของชาวบ้านน่าจะไปขัดประโยชน์ของสามฝ่ายนั้น
ชาวบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร ลงมือทำในส่วนที่ชุมชนทำได้และต้องทำเอง เริ่มจากหลักคิดที่ว่า ต้องไม่เอาชีวิตไปแขวนไว้กับยางเส้นเดียว จัดการอาชีพให้มีหลากหลาย ทำหลายๆ อย่าง ไม่ใช่นั่งรอรายได้จากยางอย่างเดียว เวลามีเหลือเฟือ ไม่ได้กรีดกันทุกวัน และไม่ได้กรีดตลอดวัน
รัฐบาลไทยในปี 2544 รับแผนแม่บทยางพาราไทยของชาวบ้านไปเป็นนโยบาย แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ราคายางสูงขึ้น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียจับมือกัน บริษัทค้ายางยักษ์ใหญ่ที่สิงคโปร์ปิดตัวลง แล้วไปมาอย่างไร จากที่เคยขึ้นไปเกือบกิโลละ 200 จึงได้หัวทิ่มลงมา 60 กว่าบาท และมาถึงวิกฤติวันนี้
กำลังเล่าว่า ที่ผ่านมา ชุมชนเข้มแข็งเขาแก้ปัญหายางพารากันอย่างไร ถ้าไม่สรุปบทเรียน เมื่อไรยางตก เลือดคงออกต่อไปไม่สิ้นสุด
ที่มา.สยามรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////////////////
เมื่อปี 2523 พลเอกหาญ ลีลานนท์ปิดเขาศูนย์ ที่ผู้คนหลายพันจากทั่วประเทศพากันไปขุดแร่ ซึ่งค้นพบและเริ่มขุดกันตั้งแต่ปี 2513 ร่ำรวยกันถ้วนหน้า เงินสะพัดตลาดทานพอ หรือตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อเขาศูนย์ปิด ชาวบ้านก็ต้องกลับไปทำมาหากินตามความถนัดของแต่ละคน ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา แต่ปัญหา คือ จะอยู่ได้อย่างไร เพราะยางพาราราคาไม่ดี ที่ไม่ดีอาจเป็นเพราะไปเปรียบเทียบกับรายได้จากการขุดแร่ ขายแร่
วิกฤติสร้างผู้นำชื่อประยงค์ รณรงค์ ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการอะไร ร่วมกับผู้นำชาวบ้านอีก 12 คนพบปะพูดคุยกันบ่อยๆ ว่าจะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้อย่างไร พบว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่ราคาที่พ่อค้าจะให้ยางแผ่นชาวบ้านเป็นเกรด 3 เกรด 4 แต่ให้ของรัฐและเอกชนเกรด 1 เกรด 2
เหตุผลที่พ่อค้ารับซื้อยางทำเช่นนั้น ก็เพราะยางแผ่นของชาวบ้านคุณภาพต่ำ ประเภท "ทำมือ" คือ กรีดเอง รีดเอง ผลผลิตจึงออกมาไม่สม่ำเสมอ ขณะที่ของรัฐและของเอกชนมาจากโรงงาน มีกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักร มีโรงอบ ไม่ใช่เอาไปตากแดดแขวนราวไม้ไผ่ไว้ยังกับผ้าอ้อมหน้าบ้าน
ลุงประยงค์กับเพื่อนๆ จึงคิดว่า ถ้าหากชาวบ้านมีโรงงานแปรรูปยางก็น่าจะแก้ปัญหาราคายางได้ จึงชวนกันไปขอเรียนรู้ดูงานในโรงงานยางของรัฐที่นาบอน และของเอกชนในพื้นที่ โดยไม่มีหน่วยงานของรัฐหรือของเอกชนไหนไปประสานงานหรือออกค่าใช้จ่าย พวกเขาคิดเองทำเองทั้งหมด
ไปดูงานมาแล้วก็ต้องคิดหนัก เพราะโรงงานแต่ละแห่งใช้เงินทุนเป็นสิบล้าน เกินความสามารถของชาวบ้านที่จะไปทำเอง แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ มาหาทางปรับขนาดโรงงานให้เล็กลงจนเหลือการลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท สามารถผลิตยางแผ่นได้วันละ 1 ตันครึ่ง
ปี 2527 โรงงานแปรรูปยางหรือโรงงานทำยางแผ่นของชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยก็เกิดขึ้นที่ตำบลไม้เรียง โดยชุมชนระดมทุน 1 ล้านบาท ลงมือสร้างโรงงานเอง บริหารจัดการเอง และพบว่า ราคายางแผ่นจากโรงงานของตนเองได้ราคาดีกว่ายางแผ่นจากโรงงานของรัฐและของเอกชนเสียอีก
ลุงประยงค์และชุมชนไม้เรียงสามารถแก้ปัญหาคุณภาพยางแผ่นได้รับการยอมรับว่าเป็นยางเกรดหนึ่งของเอเชีย และได้ราคาดีกว่าราคาตลาดทั่วไปถึง 4 บาท ซึ่งเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วที่ราคายางอยู่ที่ 20 กว่าบาท ถือว่าสูงมาก ทั้งนี้เพราะลุงประยงค์ติดต่อกับบริษัทผู้ส่งออกยาง และส่งยางจากไม้เรียงไปถึงท่าเรือคลองเตย ทำให้ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป
แต่เก่งขนาดนั้น ก็ยังพบว่าปัญหายางพารามีอะไรซับซ้อนกว่านั้นมาก ราคายางพาราขึ้นลงแบบที่น่าสงสัยว่าเป็นฝีมือการรวมหัวของนักการเมือง พ่อค้ากับข้าราชการ ส่วนชาวบ้านถ้าอยากได้ราคาสูงขึ้นต้องไปปิดถนน ปิดทางรถไฟ ไปเผาโรงงานยางโกดังยางที่ไหนสักแห่ง นี่คือวงจรอุบาทว์ของยางพารา
ลุงประยงค์มาปรึกษาที่มูลนิธิหมู่บ้าน อยากให้ช่วยทำการวิจัยว่า 100 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับยางพารา จะได้ "รู้อดีตเพื่อกำหนดอนาคต" อย่างที่ขงจื้อสอนไว้ ทั้งนี้โดยชุมชนเองก็จะร่วมวิจัยด้วยการเอาประสบการณ์ของพวกเขามาวิเคราะห์ เรื่องวิธีการปลูก การดูแล การลงทุน การจัดการต่างๆ
มูลนิธิหมู่บ้านไม่ได้ทำตามที่ลุงประยงค์ขอร้องโดยอธิบายว่า "ถ้าพวกผมวิจัย ได้ข้อมูล พวกผมก็จะมีอำนาจ เพราะข้อมูลคืออำนาจ ถ้าลุงและชุมชนอยากมีอำนาจก็ควรจะวิจัยเองทั้งหมด" ซึ่งลุงประยงค์และแกนนำชาวสวนยางนครศรีธรรมราชและเครือข่ายยมนา (ยาง ไม้ผล นา) ก็เห็นด้วยและลงมือทำวิจัยเอง
เราได้ให้คำแนะนำลุงประยงค์และผู้นำชุมชนว่าวิจัยอย่างไร ไปที่ไหน ไปหาใคร เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วทั้งชาวบ้านและมูลนิธิหมู่บ้านก็ช่วยกันวิเคราะห์ นำมาประกอบกับผลการศึกษาจากชุมชนเอง ได้สิ่งที่เรียกกันว่า "แผนแม่บทยางพาราไทย"
แผนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ผู้นำชุมชนเสนอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา ส่วนที่สอง เป็นเรื่องที่ชุมชนต้องนำไปปฏิบัติเอง ก่อนสรุปทั้งหมดได้มีการทำประชาพิจารณ์ในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ภาคใต้และภาคตะวันออก มีผู้เข้าร่วมนับหมื่น โดยชุมชนเป็นผู้จัดพิมพ์ร่างแผนแม่บทยางพาราไทยโดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกใดๆ
มีการนำเสนอแผนแม่บทบางพาราไทยให้รัฐบาลในปี 2540 รัฐบาลบอกว่า เรามียุทธศาสตร์ยางพาราแห่งชาติอยู่แล้ว ยืนยันความเชื่อที่ว่า นักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ น่าจะรวมหัวกันปั่นราคายางขึ้นลงเพื่อผลประโยชน์ของตน แผนแม่บทยางพาราไทยของชาวบ้านน่าจะไปขัดประโยชน์ของสามฝ่ายนั้น
ชาวบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร ลงมือทำในส่วนที่ชุมชนทำได้และต้องทำเอง เริ่มจากหลักคิดที่ว่า ต้องไม่เอาชีวิตไปแขวนไว้กับยางเส้นเดียว จัดการอาชีพให้มีหลากหลาย ทำหลายๆ อย่าง ไม่ใช่นั่งรอรายได้จากยางอย่างเดียว เวลามีเหลือเฟือ ไม่ได้กรีดกันทุกวัน และไม่ได้กรีดตลอดวัน
รัฐบาลไทยในปี 2544 รับแผนแม่บทยางพาราไทยของชาวบ้านไปเป็นนโยบาย แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ราคายางสูงขึ้น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียจับมือกัน บริษัทค้ายางยักษ์ใหญ่ที่สิงคโปร์ปิดตัวลง แล้วไปมาอย่างไร จากที่เคยขึ้นไปเกือบกิโลละ 200 จึงได้หัวทิ่มลงมา 60 กว่าบาท และมาถึงวิกฤติวันนี้
กำลังเล่าว่า ที่ผ่านมา ชุมชนเข้มแข็งเขาแก้ปัญหายางพารากันอย่างไร ถ้าไม่สรุปบทเรียน เมื่อไรยางตก เลือดคงออกต่อไปไม่สิ้นสุด
ที่มา.สยามรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////////////////