--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สินเชื่อธุรกิจ ขอได้ไม่ยาก !!??

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์

จากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 805 กิจการ พบว่าแหล่งเงินทุนหลักของเอสเอ็มอีขนาดกลางร้อยละ 72.0 และขนาดใหญ่ร้อยละ 53.3 คือสถาบันการเงิน ในขณะที่เงินทุนหลักของกิจการขนาดย่อมมาจากสถาบันการเงินเพียงร้อยละ 35.7 เท่านั้น ที่เหลือเป็นเงินทุนส่วนตัว หรือการหยิบยืมจากญาติและเพื่อน มีผู้ประกอบการบางรายที่ยังพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่จากการสำรวจเดียวกันนี้พบว่าเอสเอ็มอีขนาดย่อมกว่าร้อยละ 62.58 เคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินมาแล้ว

ผลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการขนาดย่อม ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ของประเทศ มีศักยภาพที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่อุปสรรคที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญคือการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขาดแผนธุรกิจที่ดี และขาดประวัติการชำระเงินหรือเป็นกิจการใหม่นั่นเอง ดังนั้นผมจึงขอใช้โอกาสนี้แนะนำแนวทางในการแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้

กิจการขนาดย่อม (มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท) ที่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกันไม่เพียงพอสำหรับวงเงินที่ต้องการ สามารถขอรับการสนับสนุนจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ โดย บสย.มีหลายโครงการที่ให้ความช่วยเหลือด้านการค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการขนาดย่อม แต่กิจการต้องสามารถทำให้ บสย.และสถาบันการเงินเชื่อมั่นได้ว่าธุรกิจของท่านมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต และสามารถชำระคืนสินเชื่อได้ตามกำหนด ตลอดจนไม่มีประวัติผิดนัดชำระมาก่อน

แผนธุรกิจเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของทุกสถาบันการเงิน เนื่องจากแผนธุรกิจจะช่วยให้ผู้พิจารณาสินเชื่อมองเห็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การวางแผน และกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่กิจการเตรียมไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะยาวว่ามีความเป็นไปได้และรัดกุมเพียงใด

สำหรับผู้ประกอบการหรือทายาทที่ยังไม่เคยเขียนแผนธุรกิจมาก่อน หรือไม่มั่นใจว่าแผนธุรกิจของท่านนั้นมีเนื้อหาครบถ้วนแล้วหรือยัง สามารถสมัครเข้าร่วมอบรมการเขียนแผนธุรกิจซึ่งมีหลายธนาคารเปิดให้บริการคำแนะนำนี้อยู่

สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ประกอบกิจการมาแล้วไม่เกิน 3 ปี ก็สามารถขอรับการสนับสนุนด้านการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.ได้เช่นกัน แต่ต้องผ่านการอบรมหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจ อาทิ การจัดการ การตลาด การบัญชี และการผลิต จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่ บสย.เห็นชอบเสียก่อน

นอกจากการขจัดอุปสรรคดังที่กล่าวมาทั้ง 3 ด้านแล้ว ท่านผู้ประกอบการยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงินให้แก่กิจการของท่านได้ง่าย ๆ ด้วยการเดินบัญชีกับธนาคารอย่างสม่ำเสมอ การรักษาประวัติทางการเงินให้ไม่มีการผิดนัดชำระและไม่เคยมีกรณีเช็คคืน และการทำบัญชีอย่างถูกต้องครบถ้วน ตลอดจนการเก็บรักษาเอกสารทางการค้าไว้ให้สถาบันการเงินนำไปพิจารณาประกอบการอนุมัติสินเชื่อ

ในความเป็นจริง การขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินไม่ใช่เรื่องยาก หากกิจการของท่านมีศักยภาพทางธุรกิจและมีความพร้อมด้านเอกสาร ขณะที่สถาบันการเงินเองก็มีสินเชื่อหลากหลายรูปแบบให้เลือกตามความต้องการทางธุรกิจที่แตกต่างกันไว้บริการผู้ประกอบการอยู่แล้ว ฉะนั้น หาข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนขอสินเชื่อก็ไม่ยากครับ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////

รากแตก !!??

โดย.พญาไม้

ความยิ่งใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยในวันนี้ก็คือ..ความเป็นประชาธิปไตยของประชาชน

มองกลับเข้าไปในสภาเลือกตั้ง..ผู้ที่ประชาชนคลางแคลงใจมีจำนวนลดน้อยถอยลง..ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับความชื่นชมลดน้อยถดถอย

ปรากฏการณ์เช่นว่า..สอดคล้องกับการที่ประชาชนให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นและสููงกว่า..ความนิยมในตัวตน..

นโยบายของพรรคไม่ใช่เรื่องที่จะเอามากล่าวกันตอนหาเสียงอีกต่อไป...ศัพย์การเมืองใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมาเช่นคำว่า...ดีแต่พูด

ประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนออกมาสู้กับกองทัพบาดเจ็บล้มตายเพียงขอให้มีการเลือกตั้ง..และปฏิเสธการเดินตามให้กับการนำของพรรคและผู้ที่ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน..แม้ว่าจะสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้น..ในคะแนนเลือกตั้ง

การปรุงแต่งต่างๆ ไม่สามารถปิดบังได้อีกต่อไป..ผู้คนจำนวนที่มากกว่า..ใข้คำว่า "ตาสว่าง" และมองเห็นการเมืองเช่นที่มันเป็น..และไม่นิ่งดูดาย..

ประชาชนนิยมพรรคหนึ่งให้มาเป็นรัฐบาล..และเกือบจะเท่าๆ กัน..เลือกพรรคหนึ่งให้มาเป็นฝ่ายค้าน..
ให้พรรคทำงานเป็นเข้ามาเป็นผู้จับจ่ายและให้พรรคพูดเก่งเข้ามาเป็นผู้ควบคุม..ให้ประเทศทั้งประเทศกับพรรคทำงานเก่งและให้กรุงเทพกับพรรคค้านเก่ง..

ว่ากันไปแล้ว..ประชาชนให้โอกาศกับทั้งสองพรรค..ในการบริหารราชการแผ่นดิน..และการตรวจสอบ
ประชาธิปไตยนั้นไร้ปัญหา..นักการเมืองต่างหากที่เป็นปัญหา..

สถุลที่มากปัญหาถูกขจัดออกไปจากรัฐบาลและรัฐสภา..ผู้เพรียบพร้อมกว่าเข้ามาแทนที่..คนปลอมคนจำลองและปีศาจที่แอบอ้างอยู่ในร่างเทพ..ไม่ได้รับความเคารพเชื่อถือ..ผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ถูกไล่ถอนหงอกอยู่ทุกวี่วัน

ประชาชนและประชาธิปไตยไทยนั้นไปได้...นักการเมืองต่างหากที่..รากแตก..

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ม.เที่ยงคืน แถลงเดินหน้านิรโทษกรรมต้องเพื่อมวลชน โปร่งใส ไร้ประโยชน์ทับซ้อน !!??

ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายนิรโทษกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เข้ามาร่วมมือกันในการกดดันให้แต่ละฝ่ายยอมรับในหลักการสำคัญที่ว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้มุ่งออกกฎหมายเพื่อมวลชน โปร่งใส และ ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน” มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแถลง

14 ส.ค.56 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์นิรโทษกรรมต้องเพื่อมวลชน ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนและโปร่งใส โดยเรียกร้องว่าเป้าหมายของการนิรโทษกรรมต้องอยู่ที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นหลัก ส่วนผู้มีบทบาทโดยตรงในการสร้างความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แกนนำของทุกสี ชายชุดดำ นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบ ไม่สมควรได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ ส่วนคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรุนแรงโดยตรง โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสามารถรายงานข้อถกเถียงและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ได้อย่างเสรี เพื่อให้สาธารณชนสามารถมองเห็นจุดยืน บทบาท และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ

0000

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง นิรโทษกรรมต้องเพื่อมวลชน ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนและโปร่งใส

กฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาความเสียหายและการสร้างความเป็นธรรมให้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวนี้ยังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการที่มีผลให้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอาจไม่สามารถคืบหน้าต่อไปได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีข้อเสนอต่อการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมให้ห้วงเวลานี้ดังต่อไปนี้

ประการแรก เป้าหมายของการนิรโทษกรรมต้องอยู่ที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นหลัก

เนื่องจากในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามีประชาชนที่มีทัศนะทางการเมืองแตกต่างกันเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งในการเคลื่อนไหวก็ได้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยกระทำการที่เป็นการละเมิดกฎหมาย หากมีการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้ก็อาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไม่อาจบรรเทาลงได้ ดังนั้น ประชาชนหรือมวลชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมจึงต้องเป็นเป้าหมายหลักของการนิรโทษกรรมในครั้งนี้

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทโดยตรงกับการสร้างความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แกนนำของทุกสี ชายชุดดำ นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบ จึงต้องไม่ใช่ผู้ที่สมควรได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้

ประการที่สอง ในส่วนของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรุนแรงโดยตรง

กฎหมายนิรโทษกรรมจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงบุคคลหลายฝ่ายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ฉะนั้น บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเหล่านี้จึงต้องไม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ เพราะจะเป็นการบัญญัติกฎหมายโดยที่ตนเองมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ การปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในกระบวนการนี้อาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งในเรื่องความชอบธรรมและความเป็นกลางของการปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งมีผลในทางสร้างความไม่ไว้วางใจกับฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นในหลักการและผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้าไปเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้เหตุการณ์การเสียชีวิตของประชาชนจำนวน 6 รายในวัดปทุมวนารามว่าเป็นผลมาจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้นจึงเป็นผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้มีการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องความรับผิดหรือความเสียหายแก่บุคคลผู้เสียชีวิตไปก็ตาม แต่ในฐานะของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดของตนเองได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ จึงไม่อยู่ในสถานะที่มีความชอบธรรมต่อการดำรงตำแหน่งในกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวนี้

ประการที่สาม ต้องเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสามารถรายงานข้อถกเถียงและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ได้อย่างเสรี เพื่อให้สาธารณชนสามารถมองเห็นจุดยืน บทบาท และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่โดยมีเป้าหมายหรือผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝงหรือซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังหรือไม่

การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมที่บังเกิดขึ้นยังคงมีข้อถกเถียงที่ต้องทำความเข้าใจระหว่างแต่ละฝ่ายที่อาจมีความเห็นแตกต่างอย่างมากในแต่ละประเด็น ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของความผิดที่บุคคลได้กระทำลงไป ควรรวมเอาความผิดในมาตรา 112 หรือไม่ ฯลฯ ซึ่งการถกเถียงทั้งหมดนี้จะสามารถบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในหลักการพื้นฐานที่สำคัญเสียก่อน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายนิรโทษกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เข้ามาร่วมมือกันในการกดดันให้แต่ละฝ่ายยอมรับในหลักการสำคัญที่ว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้มุ่งออกกฎหมาย “เพื่อมวลชน” “โปร่งใส” และ “ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน”

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


ที่มา.ประชาไท
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ความจริงสภาปฏิรูปการเมือง เป้าหมายอยู่ที่แก้ รธน. !!??

ยังตามกันต่อกับเป้าหมายของการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามต่อจากคำตอบที่หลุดออกมาจากเฟซบุ๊คของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช่หรือไม่ ที่ได้ระบุ ในทำนองว่าการเชิญชวนให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็เพื่อการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั่นเอง

โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ซึ่งใจความตอนหนึ่งระบุว่า ผมได้เดินทางไปทั่วทุกประเทศในเขตอาเซียน บอกตรงๆว่า ศักยภาพไทยสูงที่สุด แต่วันนี้เรามีปัญหาตรง 2 อย่างคือ

1. ความขัดแย้ง ความอิจฉาเกลียดชังกันเอง ทำให้ขาดพลังในการสร้างความเจริญและแข่งขันกับโลกได้

และ 2. การมีองค์กรอิสระที่สร้างขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เกิดขึ้นเพราะจำเป็นต้องให้เกิด เลยเกิดบนพื้นฐานของความไม่ไว้เนื้อ

เชื่อใจกัน หาเรื่องกัน แกล้งกัน ทำให้การพัฒนาประเทศช้าและทำแทบจะไม่ได้ สิ่งที่ตามมาคือ เกิดวัฒนธรรมใหม่ในหมู่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ นั่นคือวัฒนธรรมที่ไม่ทำก็ไม่ผิด เพราะฉะนั้นจึงอยู่ไปวันๆ หนึ่ง ทำให้ประเทศขาดความก้าวหน้า ขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนาที่รองรับเศรษฐกิจและการแข่งขัน ไม่ทันโลก

เพราะฉะนั้น การที่ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้เชิญชวนทุกฝ่ายมาหันหน้าเข้าหากัน ออกแบบกติกาการอยู่ร่วมกันใหม่ หรือสร้าง Modern Social Contract Theory ใหม่ เพื่อเกิดรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่ Winner take all และเป็นการ inclusive มากกว่าการแบ่งฝ่าย ประเทศน่าจะพัฒนาได้เร็ว คนจนจะได้หมดจากแผ่นดินไทย ยกเว้นพวกสบายแล้ว ไม่อยากเห็นคนจนหายจนเท่านั้น พวกเขาคนจน กำลังนั่งรอเมตตาธรรมจากท่านที่เรียกว่า ท่านผู้เจริญแล้ว

ก็เอาเป็นว่าต้องช่วยกันรับผิดชอบชื่อเสียงประเทศให้มากๆ จะเล่นการเมืองอะไรกัน จะอิจฉากัน จะหมั่นไส้กันก็ให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้ชื่อเสียงประเทศเสียหายเป็นดีที่สุด

และจากข้อความดังกล่าวนี้เอง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ระบุเอาไว้ค่อนข้างที่จะชัดเจนเลยทีเดียวว่ากระบวนการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองก็เพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

และว่าด้วยเรื่องของการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ปรากฎความพยายามของรัฐบาลมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

เริ่มจากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านแผนการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือส.ส.ร.จำนวน 99 คน

แต่ทว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้และให้ไปแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่ก็ทำประชามติสอบถามความเห็นของประชาชนเสียก่อน

และจาก 2 ทางเลือกดังกล่าวในขณะนั้นเอง ก็ปรากฏความขัดแย้งกันเองระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณกับแกนนำนปช.โดยเฉพาะนายจตุพร ที่ต้องการให้โหวตวาระ3 ร่างแก้ไขมาตรา 291ไปเลย แต่ก็เป็นพ.ต.ท.ทักษิณที่หักหน้านายจตุพรบนเวทีคนเสื้อแดงว่าต้องทำเป็นประชามติ

แต่ทว่าจนแล้วจนรอดพ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้ตัดสินใจเลือกทำประชามติตามที่พูดเอาไว้ เพราะทราบดีว่าคะแนนเสียงจะไม่ถึง จึงหันมาแก้ไขเป็นรายมาตรา เฉพาะที่สำคัญและกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 เร็วๆนี้

1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่มาของวุฒิสภา แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ วรรคสอง มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๒๐ และมาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา ๑๑๓ และ มาตรา ๑๑๔

โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการได้พิจารณาจนได้ข้อสรุปแล้วก็คือให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งเป็นวาระ 6 ปี แต่เมื่อหมดวาระสามารถลงเลือกตั้งต่อได้ ไม่ต้องเว้นวรรค พร้อมทั้งงดเว้นเงื่อนไขต่างๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ส่วน ส.ว.สรรหานั้น สามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนกว่าจะครบวาระที่เหลืออยู่

2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๐ เรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

และ3.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘ และมาตรา ๒๓๗

เพราะฉะนั้นสัปดาห์ต่อจากนี้ไปจึงต้องจับตามองไปที่การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 ในร่างที่มาของส.ว. เนื่องจากสัปดาห์นี้คาดว่าจะเป็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวาระที่ 2

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนรษฎร กล่าวภายหลังเชิญตัวแทนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน หารือถึงกรอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2557 โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 2 วัน คือ วันที่ 14 - 15 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 09.30 – 24.00 น. ซึ่งหากไม่เพียงพออาจขยายเวลาเพิ่มเติมได้อีก 1 วัน โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ได้ขอร้องให้วิปทั้ง 2 ฝ่าย ได้กำชับสมาชิกว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ถือว่ามีความสำคัญ ประชาชนให้ความสนใจ เพราะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม ขอร้องให้อภิปรายอยู่ในเนื้อหาของงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะไปซ้ำซ้อนกับคนอื่นและไม่จำเป็นอย่าพาดพิงหรือเสียดสี ใส่ร้าย บุคคลอื่น การใช้สิทธิต้องเป็นการพาดพิงจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การทำหน้าที่ทุกครั้งประธานก็เป็นกลาง แต่จะทำให้ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะในการอภิปรายแต่ละครั้งประธานในที่ประชุมจะถูกตำหนิมากที่สุด

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ที่ประชุมพรรคได้กำชับให้ ส.ส. เข้าร่วมประชุม เพื่อรักษาองค์ประชุมให้ครบ และอดทนต่อการอภิปรายของฝ่ายค้านที่มีการแปรญัตติ เป็นจำนวนมากแต่ถ้ามีการพาดพิง ก็ขอประท้วงให้สั้น กระชับ เพื่อให้อยู่ในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. แสดงความจำนง ขออภิปรายสนับสนุนประมาณ 30 คน

อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี หากเรื่องใดพาดพิง ถึงรัฐมนตรีคนใดก็ให้คนนั้นชี้แจง

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมี ส.ส.ใช้สิทธิ์อภิปรายในฐานะผู้เสนอแก้ไขถ้อยคำจำนวน 163 คน ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้มีการจัดสรรเวลาการอภิปรายตามข้อเท็จจริงโดยต้องยึดว่าทุกคนต้องได้สิทธิอภิปรายทุกกคน เว้นแต่ไม่ประสงค์จะอภิปราย

ส่วนเนื้อหาการอภิปรายนั้นจะพุ่งเป้าหลายประเด็น เช่น การไม่สนใจวินัยการคลัง มีตัวเลขก่อหนี้สูงมาก และใช้งบประมาณมหาศาลบานปลายหลายโครงการ มีการใช้เงินคงคลังแล้ว แต่เก็บภาษีไม่เป็นตามเป้า รวมทั้งจัดสรรงบประมาณกระจุกตัวบางจังหวัด และความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะการจัดซื้อรถตู้ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กลายพันธ์เป็นโครงการรถตู้โรงเรียนดีศรีตำบล รวมไปถึงงบประมาณการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ซ่อนอยู่ในทุกกรมเป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลจะนำพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในปลายเดือนส.ค.นี้แน่นอน โดยเป็นการพิจารณาต่อจากเรื่องงบประมาณประจำปี และการแก้รัฐธรรมนูญที่มาของส.ว.

ส่วนสาเหตุที่ต้องพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงิน หลังการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เพราะมีรายละเอียดในการพิจารณามากกว่า และต้องการเปิดโอกาสให้รัฐสภาพิจารณาอย่างเต็มที่ โดยหวังให้ทุกฝ่ายพิจารณาโหวตคะแนนให้กับพ.ร.บ.กู้เงิน ด้วยการชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี ข้อเสีย ของโครงการที่จะดำเนินการตามพ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งเป็นโครงการที่มีความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และยืนยันว่าโครงการเหล่านี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสียแน่นอน

ที่มา.ทีนิวส์
////////////////////////////////////////////////////////////////////

อ่าวพร้าวค่า ปรอท เกินมาตรฐาน หลัง ปลอดฯ ลงว่ายน้ำโชว์ !!??

"กรมควบคุมมลพิษ" เตือนเลี่ยงเล่นน้ำอ่าวพร้าว จ.ระยอง เหตุค่า "ปรอทเกินมาตรฐาน"   -ด้าน"ปลอดประสพ"ส่อยุ่ง?? เหตุเคยลงไปว่ายน้ำโชว์สื่อ??

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ชายหาดและอ่าวต่างๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง จากการเฝ้าระวังเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล จังหวัดระยอง ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จำนวน 12หาด ที่เก็บตัวอย่างในวันที่ 3 สิงหาคม ปรากฏว่า ค่าความเป็นกรด - ด่าง ค่าออกซิเจนละลายน้ำ มีค่าปกติไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
       
ผลการตรวจวัดโลหะหนัก ทั้ง 12 หาด พบว่า สารหนูมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร แคดเมียมมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ที่ 0.5ไมโครกรัมต่อลิตร และค่าปรอทส่วนใหญ่มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ 0.1ไมโครกรัมต่อลิตร ยกเว้นอ่าวทับทิม มีค่า 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตร และ อ่าวพร้าวมีค่า 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร
       
สำหรับช่วงนี้ กรมควบคุมมลพิษ  ขอแนะนำประชาชน และ นักท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในพื้นที่อ่าวพร้าว อ่าวทับทิมของเกาะเสม็ด จนกว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำครั้งที่ 2 หรือจนกว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในภาวะปกติ  ซึ่ง คพ.จะลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าวอย่างต่อเนื่อง และจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป
       
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ ที่อ่าวพร้าวเกาะเสม็ด จ.ระยอง นายปลอดประสพ สรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาติดตามการกู้คราบน้ำมันดิบของ บ.พีทีทีซีจี รั่วไหลกลางทะเล หลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว นายปลอดประสพ ได้ขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดว่ายน้ำ และได้ลงเล่นน้ำบริเวณอ่าวพร้าว  โดยยืนยันว่า น้ำทะเลที่อ่าวพร้าวแห่งนี้ใสสะอาดปลอดภัย และหาดทรายขาวสะอาดแล้ว ซึ่งได้รับการฟื้นฟูจนกลับคืนสู่สภาพปกติเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ที่มา.ทีนิวส์
////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เงินกู้ 2 ล้านล้าน !!??

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งที่สื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามกันมากคือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อมาตั้งเป็นกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อันได้แก่ ระบบการขนส่งโดยราง ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ทางด่วน แต่ไม่เห็นพูดถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

อ่านข่าวดูแล้วก็อดสงสารประเทศไทยไม่ได้ เพราะมีนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน การคลัง ออกมาผสมโรงอยู่ด้วยมากมาย เหตุผลก็คือ กลัวรัฐบาลนี้จะสร้างหนี้ให้ลูกหลานต้องแบกภาระ

สาเหตุที่จะมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ก็เพราะว่าประเทศไทยมีเงินออมสูงกว่าเงินลงทุนมาตลอด 15 ปีแล้ว หลักฐานง่าย ๆ ตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นก็คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

มาตลอด 15 ปี จนบัดนี้ก็ยังเกินดุลอยู่ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแปลว่าเรามีเงินออมสูงกว่าเงินลงทุนมาตลอด 15 ปี

เงินออมส่วนเกินที่สูงกว่าเงินลงทุนนี้แหละคือหยาดเหงื่อของคนรุ่นเราที่อดออมไว้ให้ลูกหลาน นับ ๆ ดูแล้วก็กว่า 6-7 ล้านล้านบาท



เงินออมส่วนเกินจากหยาดเหงื่อรุ่นเรานี้ เมื่อไม่ลงทุนเป็นสิ่งของจริง ๆ ก็เอาไปให้รัฐบาลอเมริกันกู้บ้าง อังกฤษกู้บ้าง ยุโรปกู้บ้าง โดยไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลดอกเบี้ยถูก ๆ ของเขามาเป็นทรัพย์สินของชาติ

เรา แต่เป็นทรัพย์สินที่จะเสื่อมค่าลงทุกวัน ซึ่งเป็นความคิดของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาที่คิดไม่เป็น เพราะคิดว่าเราไม่มีเงิน ถ้าจะทำต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศมาลงทุน

ทางที่ถูกก็คือ ควรเปลี่ยนทรัพย์สินของชาติจากกระดาษที่ออกโดยรัฐบาลอเมริกัน อังกฤษ ยุโรป มาเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ ซึ่งจะมีมูลค่าราคาการลงทุนก่อสร้างแพงขึ้นเรื่อย ๆ ไว้ให้ลูกหลาน

เราใช้ เพราะถ้ารอให้ลูกหลานทำ ราคาคงแพงกว่านี้มาก อีกทั้งเงินออมในกระเป๋าเราที่อยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา อังกฤษ ยุโรป ก็คงเสื่อมค่าลงไปทุกวันด้วย

เมื่อจะลงทุนขนาดใหญ่ ใช้เงินมาก จะระดมเงินออมในประเทศที่มีอย่างเหลือเฟือมาลงทุนอย่างไร ก็มี 2 วิธี คือ ใช้จากภาษีอากร หรือไม่ก็กู้จากประชาชนผู้ออม ขอใช้คำว่ากู้จากประชาชนผู้ออม ไม่ใช่กู้จากต่างประเทศ

ลองมาดูว่าถ้าใช้จากภาษีอากรโดยบรรจุไว้ในงบประมาณประจำปี ซึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีการของบประมาณ ถ้ารายได้ไม่พอและเงินกู้ตามปกติติดเพดาน ก็ต้องขึ้นภาษีเอากับประชาชน ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะของเหล่านี้ใช้ไปถึงลูกถึงหลาน แล้วให้รุ่นเราจ่ายทั้งหมดก็ไม่น่าจะถูก เพราะโครงการที่ลงทุนมีอายุการใช้งานเป็นเวลานาน อาจจะเลยศตวรรษก็ได้

แต่ถ้าไม่เอาภาษีมาใช้โดยใส่ในงบประมาณประจำปี ก็ต้องกู้จากประชาชนผู้ออม ผู้ออมก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทนต่อการอดออมมาตลอด 15 ปี ดอกเบี้ยก็ไม่ได้แพงอะไรนัก แล้วก็ทยอยจ่ายเงินต้นไป 50 ปี ทั้ง ๆ ที่อายุการใช้งานของระบบราง สนามบิน ท่าเรือ ฯลฯ นั้น

ยืนยาวกว่า 50 ปีมากนัก อาจจะถึง 100 ปีก็ได้ ดูอย่างรางรถไฟ ทางรถไฟที่รัฐบาลพระพุทธเจ้าหลวงท่านไปออกพันธบัตรเงินปอนด์ที่ฝรั่งเศสมาลงทุน ใช้มา 120 ปี

แล้วก็ยังอยู่ ถ้ารุ่นเราต้องมาจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน ค่าราง อาจจะต้องรออีกจนเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างเดี๋ยวนี้ถึงจะทำได้

มรดกจากรุ่นพระองค์ท่านนี้ รับภาระหนี้มาตั้งแต่รุ่นทวดรุ่นปู่ แต่มีรางรถไฟให้รุ่นเราใช้ รางรถไฟของพระองค์ท่านนอกจากให้ผู้คนใช้เดินทางแล้ว ยังสามารถนำอำนาจรัฐไปสู่ท้องถิ่น ทำให้ประเทศไทยเป็น

"รัฐชาติ" อย่างสมบูรณ์ด้วย มิฉะนั้นป่านนี้ 4 จังหวัดภาคใต้กับ 7 จังหวัดภาคเหนือ แล้วยังจังหวัดภาคอีสานคงไม่ได้รวมอยู่ใน "รัฐไทย" แล้ว

ของที่มีอายุเป็นร้อย ๆ ปี และลงทุนด้วยเงินออมของประชาชนในประเทศ เป็นของที่ไม่อันตรายต่อฐานะการคลังของประเทศ จะคิดอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนของโครงการที่มีอายุยาว ๆ ขนาดนั้นคิดลำบาก

ที่สำคัญเมื่อกู้มา 2 ล้านล้านบาทแล้ว ไม่ได้กู้มาก่อสร้างสิ่งที่ไม่มีผลตอบแทนคืน เพราะกู้มาให้รัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการกู้ต่อ หรือบางอย่างอาจจะเอาไปร่วมทุนกับรัฐบาลกู้ต่อ ซึ่งจะมีผลตอบแทนคืนให้รัฐบาลไปใช้หนี้ประชาชนผู้ออมในอนาคตด้วย เพราะโครงการเหล่านี้ไม่ได้ใช้ฟรีเหมือนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบท แต่รัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการ

ย่อมต้องใช้หนี้คืนรัฐบาล ให้ไปคืนประชาชน ถึงตอนนั้นประชาชนผู้ออมอาจจะไม่

อยากให้ใช้คืนก็ได้ เพราะได้ดอกเบี้ยดีกว่าฝากธนาคารและมั่นคงกว่าฝากธนาคาร แม้ว่าจะสร้างรางให้ฟรีเหมือนทางหลวงแผ่นดินก็ยังคุ้มค่า ดีกว่าเอาไปซื้อพันธบัตรอเมริกันดอกเบี้ยถูก ๆ

คำถามที่ควรถามแต่ยังไม่ได้ถามก็คือ เมื่อลงทุนแล้วรัฐบาลจะจัดการบริหารอย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพและสามารถคืนทุนได้ภายใน 50 ปี รัฐบาลจะลงทุนเรื่องราง แล้วจัดประมูลสัมปทานให้เอกชนลงทุน

เรื่องรถ การเดินรถ การบำรุงรักษา โรงซ่อมบำรุง จะทำเองหรือให้เอกชนทำ ค่าโดยสารจะคิดเท่าไหร่

ระยะเวลาขาดทุนนานเท่าไหร่ 10 ปี หรือ 15 ปี กระแสเงินสดระหว่างนั้นจะจัดการอย่างไร ถ้าค่าโดยสารแพงไปคนอาจจะใช้น้อย ถ้าถูกเกินไปกระแสเงินสดจะไหวไหม จะขาดทุนแค่ไหน

ถ้าไม่ไหวจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันดู

ที่ควรจะทำก็คือ รางเป็นของรัฐบาลเหมือนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบท ลงทุนให้ฟรี ตั้งเงื่อนไขค่าโดยสารและคุณภาพของบริการ แล้วเปิดประมูลไปทั่วโลก ให้สัมปทานเอกชนมา

เดินรถ ทำนองเดียวกันกับรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพฯ

คราวนี้ ถ้ากู้จากแหล่งเงินทุนภายในประเทศ รัฐบาลเป็นลูกหนี้ แต่ประชาชนเป็นเจ้าหนี้ ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ลูกหลานรับภาระจ่ายคืนหนี้สินที่ตนเองก็เป็นเจ้าหนี้ด้วย แต่ประชาชนทั้งหมดเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่รัฐบาลจะลงทุน

การบำรุงรักษาซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากในการบริหารจัดการ ก็ควรจะตั้งเงื่อนไขแล้วเปิดประมูล หรือจะพ่วงไปกับการประมูลสัมปทานการเดินรถด้วยก็จะดี จะได้ไม่มีปัญหาระหว่างผู้บำรุงรักษาและผู้เดินรถ รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจอย่าทำเองเลย ได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งในแง่รายได้ รายจ่าย และคุณภาพของบริการ

สำหรับรถไฟรางคู่ความกว้าง 1 เมตรของเดิมก็ควรวางให้ทั่วประเทศ เอาไว้ใช้ขนสินค้าที่ไม่ต้องการความเร็ว และไว้บริการประชาชนรายได้น้อย รวมทั้งบริการฟรีสำหรับประชาชนที่ยากจน เป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน รวมทั้งสร้างสายใหม่ แต่ที่อยากเห็นคือรถไฟรางแคบก็ใช้ไฟฟ้า จะได้ประหยัดพลังงานได้ด้วยอีกโสดหนึ่ง

พวกเราเคยสร้างประวัติศาสตร์ค้านโครงการเขื่อนยันฮี หรือเขื่อนภูมิพล สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาแล้ว คราวนี้ก็คงเป็นประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน คือคัดค้านโครงการลงทุนไปเสียหมด เพราะกลัวการคอร์รัปชั่น ไม่ใช่กลัวการลงทุนมากเกินไป หรือลงทุนในโครงการที่ไม่มีประโยชน์

คราวนี้ก็คงเหมือนกัน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////

Shale gas กับ tight oil แหล่งปิโตรเลียมใหม่ของโลก !!??

ชาญชัย คุ้มปัญญา
นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ

ก๊าซธรรมชาติกับน้ำมัน (ปิโตรเลียม) ที่ใช้กันทั่วไปในโลกมีที่มาจากหลายแหล่ง สามารถแบ่งอย่างง่ายๆ ว่า เป็นแหล่งบนบกกับแหล่งในทะเล ในความเป็นจริงแล้ว ปิโตรเลียมแต่ละแหล่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน  มีความยากง่ายในการขุดเจาะไม่เท่ากัน ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมต่างกันออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การเลือกใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะขึ้นอยู่กับลักษณะของแหล่งนั้น  มีผลต่อต้นทุนการผลิต และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การที่ประเทศไทยเพิ่งจะขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาได้เมื่อปี ค.ศ.1981 ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุผลดังกล่าว

shale gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินดินดาน ส่วน shale oil คือ น้ำมันดิบที่พบในชั้นหินดินดาน คนทั่วไปมักใช้คำว่า shale oil กับ tight oil ในความหมายเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วมีความหมายต่างกัน shale oil คือ tight oil ประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติซึมซาบไหลผ่านช้า ในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ ใช้คำว่า tight oil เป็นหลัก เพราะเป็นคำที่กินความครอบคลุมและถูกต้องมากกว่าเนื่องจาก  tight oil พบได้ในหลายแหล่ง ไม่เฉพาะในชั้นหินดินดานเท่านั้น (เป็นที่มาของชื่อ shale oil)

มนุษย์รู้จัก shale gas กับ shale oil/tight oil มานานแล้ว แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กับต้นทุนการผลิต ที่ผ่านมา มนุษย์จึงใช้ปิโตรเลียมจากแหล่งทั่วไป การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ  10 ปีที่แล้ว เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ค้นพบเทคโนโลยีการผลิตซึ่งเรียกว่า "fracking”

"fracking” คือระบบวิธีการผลิตด้วยการผสมผสานสองเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing กับ Horizontal Drilling โดยจะฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดิน เพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เป็นเหตุให้ shale gas กับ shale oil/tight oil ที่ถูกเก็บกักอยู่ระหว่างชั้นหลุดออกมา กระบวนการดังกล่าวมิได้กระทำเฉพาะในแนวดิ่งเท่านั้น  แต่ยังกระทำในแนวราบด้วย จึงสามารถขุดเจาะได้บริเวณกว้าง และได้ปิโตรเลียมเป็นจำนวนมาก

ปริมาณ shale gas กับ shale oil/tight oil เป็นเรื่องที่วงการอุตสาหกรรมน้ำมันให้ความสำคัญ เพราะโลกแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงมีความจำเป็นต้องผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ  เพื่อให้ทันกับความต้องการ  รายงานล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (2013) ชี้ว่า ทั้งโลกมี shale oil/tight oil จำนวน 345 ล้านบาร์เรล จากทั้งหมด 42 ประเทศที่ทำการสำรวจ เพียงพอให้ทั้งโลกใช้เป็นเวลากว่า 10 ปี (คิดจากปริมาณการบริโภคราว 90 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซียมีปริมาณ shale oil/tight oil มากที่สุด ราว 75 พันล้านบาร์เรล รองลงมาคือสหรัฐฯ มีประมาณ 58 พันล้านบาร์เรล จีนมี 32 อาร์เจนตินา 27 และลิเบียมี 26 พันล้านบาร์เรล ปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่สำรวจพบในทางเทคนิค

ปริมาณที่สำรวจพบในทางเทคนิค หมายถึง ปริมาณที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตได้ โดยไม่คำนึงเรื่องราคาหรือต้นทุนการผลิต ต้นทุนการผลิตของแต่ละที่ แต่ละแหล่งไม่เท่ากัน หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โอกาสที่แหล่งต่างๆ  จะมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ก็จะมีมากขึ้น ดังนั้น ปริมาณที่มีอยู่จริงไม่ได้หมายความว่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

ส่วน shale gas พบว่า มีปริมาณมหาศาลเช่นกัน หากรวมก๊าซธรรมชาติจาก shale gas จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 หรือเท่ากับ 22,882 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอก็คือ การสำรวจระดับโลกยังอยู่ในขั้นเบื้องต้น ไม่ได้กระทำอย่างทั่วถึง ปริมาณที่มีอยู่จริงน่าจะมากกว่านี้

เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนของสหรัฐอเมริกา ข้อมูลล่าสุดพบว่ามีปริมาณ shale gas ทั้งหมด 7,299 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เพิ่มขึ้นจากรายงานปี 2011 ที่ 6,622 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วน shale oil/ tight oil พบว่ามี 345 พันล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ที่คาดว่ามีเพียง 32 พันล้านบาร์เรล (สังเกตว่าปริมาณที่สำรวจพบล่าสุดเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว)

แหล่งสหรัฐฯ เป็นแหล่งที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากมีปริมาณมากแล้ว ยังเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศในปัจจุบัน ที่ดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจาก shale gas คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่สหรัฐฯ ผลิตในปี 2012 ส่วนน้ำมันดิบที่ผลิตจาก shale oil/tight oil คิดเป็นร้อยละ 29 ของปริมาณน้ำมันดิบที่ประเทศผลิตได้ เหตุที่สหรัฐฯ สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวก่อนประเทศอื่นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ  ประการแรกคือ บริษัทเอกชนประสบความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยี "fracking” ได้ก่อนประเทศอื่นๆ ประการที่สองคือ กฎหมายอเมริกาให้ shale gas กับ tight oil ที่อยู่ใต้พื้นดินเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน จึงเอื้อต่อการลงทุนของบริษัทเอกชน และดึงขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว  ประการที่สามคือ มีโครงสร้างระบบท่อรองรับอยู่แล้ว (จึงสามารถขนส่งได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย) และมีแหล่งน้ำมากเพียงพอ ซึ่งจำต้องใช้ในขั้นตอน hydraulic fracturing

นักวิเคราะห์คาดว่า ในอนาคตสหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันได้มากขึ้น องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ประเมินว่า ก่อนปี 2020 สหรัฐฯ จะเปลี่ยนจากผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก มาเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าประเทศซาอุดิอาระเบีย
เมื่อพิจารณาความเกี่ยวข้องกับตลาดโลกพบว่า ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง shale gas ของสหรัฐฯ ไม่ค่อยมีผลต่อราคาก๊าซทั่วโลก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับราคาตลาดโลกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมัน ดังนั้นประเด็นที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญคือ ผลของ shale oil/tight oil ต่อตลาดโลก

ในระยะสั้นหรือสองสามปีที่ผ่านมา ไม่มีผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากเป็นช่วงที่อุปทานน้ำมันโลกมีความตึงตัว การที่สหรัฐฯ เริ่มผลิตน้ำมันดิบจาก shale oil/tight oil ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบโลกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในระยะปานกลางคือราว 5 ปี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า แม้จะค้นพบแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้จากหลายประเทศ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงมีผู้ผลิต shale gas กับ shale oil/tight oil รายใหญ่เพียงไม่กี่ประเทศ เนื่องจากแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการก่อตัวของชั้นดิน และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น กฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ แหล่งน้ำที่มากเพียงพอ  สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อต้นทุนการผลิต มีผลต่อแรงจูงใจว่าควรลงทุนหรือไม่ เมื่อไม่สามารถคาดการณ์กำลังการผลิต จึงไม่อาจคาดคะเนผลต่อราคาน้ำมันโลกได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า เทคโนโลยียังสามารถพัฒนาได้อีกมาก อีกทั้งการสำรวจอาจค้นพบแหล่งปิโตรเลียมจาก shale oil/tight oil เพิ่มขึ้น

ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ ผลกระทบในระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) ต่อราคาน้ำมันโลก ในด้านอุปสงค์เป็นที่ชัดเจนว่า โลกในศตวรรษที่ 21 จะบริโภคปิโตรเลียมมากขึ้น เศรษฐกิจหลายประเทศกำลังเติบโต ปริมาณคนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนเหล่านี้มีรถยนต์ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก งานวิจัยในอดีตจึงมีข้อสรุปว่า ไม่เกินปี 2030 โลกจะต้องหันมาพึ่งพาปิโตรเลียมจากองค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries หรือโอเปก) มากขึ้น เนื่องจากเมื่อโลกบริโภคพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ จะเกินกำลังแหล่งผลิตปิโตรเลียมของนอกกลุ่มโอเปก (non-OPEC) ทำให้ความเป็นไปของภูมิภาคตะวันออกกลางมีผลต่อราคาน้ำมันโลก แต่งานวิจัยล่าสุดคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันในระยะยาวน่าจะมีเสถียรภาพ ไม่เกิดภาวะปรับตัวขึ้นสูงผิดปกติ เพราะไม่ช้าก็เร็วโลกจะมีผู้ผลิต shale gas กับ shale oil/tight oil เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือผู้ผลิตน้ำมันรายเดิมจะลดความสำคัญ อิทธิพลของโอเปกที่มีผลต่อทิศทางราคาน้ำมัน ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาจะลดน้อยลง

สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางจะไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันดังเช่นในช่วงทศวรรษ 1990 – 2000 ที่สงครามอ่าวเปอร์เซียทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นอันมาก องค์การข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Energy Information Administration) เห็นว่า ในที่สุดแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งผู้ผลิตทั่วโลกจะใช้ตัดสินใจว่าจะผลิตมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นกับหลักอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการ "fracking” ทำให้มนุษย์สามารถดึงก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) และ shale oil/tight oil ที่สะสมอยู่ใต้พิภพนับล้านๆ ปีมาใช้ประโยชน์ ทุกวันนี้ มีเพียงสหรัฐฯ กับแคนาดาเท่านั้นที่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศอื่นๆ ก็จะสามารถผลิตได้เช่นกัน นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงกว่าเดิม ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อโลกบริโภคพลังงานมากขึ้นจะเป็นตัวจูงใจให้นานาประเทศสนใจ และอยากพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้ ความกังวลว่าน้ำมันจะหมดโลกคงจะถอยห่างออกไปอีกอย่างน้อยอีก 10 ปี

ในขณะเดียวกันหากมีประเทศผู้ผลิตมากขึ้น และสหรัฐฯ อาจกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (หรืออย่างน้อยไม่นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ) ย่อมส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลก เชื่อว่าราคาน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ที่สุดแล้วราคาตลาดโลกจะช่วยควบคุมปริมาณการผลิต ให้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน

หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งสำรวจว่า ประเทศตนมี shale gas กับ shale oil/tight oil หรือไม่  เปรียบเสมือนการค้นหาขุมทรัพย์ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่กำลังเร่งศึกษาเทคโนโลยีผลิตก๊าซธรรมชาติ  และน้ำมันจากแหล่งเหล่านี้ ในอนาคตจะมีอีกหลายประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยในยุคหนึ่ง ที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล

บรรณานุกรม:
1. ก๊าซธรรมชาติ, กระทรวงพลังงาน, http://www.energy.go.th/index.php?q=node/386, Accessed 18 June 2013.
2. World Has 10 Years of Shale Oil: US Department of Energy, CNBC/Financial Times, 11 June 2013, http://www.cnbc.com/id/100804970
3. Roy Nersesian, Energy for the 21st Century, second edition (N.Y.: M.E. Sharpe, 2010)
4. Technically Recoverable Shale Oil and Shale Gas Resources: An Assessment of 137 Shale Formations in 41 Countries Outside the United States, U.S. Department of Energy, http://www.eia.gov/analysis/studies/worldshalegas/pdf/fullreport.pdf
5. How the US Could be the World's Next Major Producer of Oil, CNBC, 13 January 2013, http://www.cnbc.com/id/100375838
6. Handel Jones, CHINAMERICA: The Uneasy Partnership that Will Change the World (USA: McGraw-Hill, 2010)
7. John Fanchi, Energy in the 21st Century, second edition (N.J.: World Scientific Publishing, 2011)
8. Bill Paul, Future Energy: How the New Oil Industry Will Change People, Politics and Portfolios (N.J.: John Wiley & Sons, 2007)

Keywords : shale gas, ก๊าซธรรมชาติ, tight oil, น้ำมันดิบ,  fracking, ชาญชัย คุ้มปัญญา
////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ดร.ชัยวัฒน์ : กับงานวิจัยพิมพ์เขียว ปฏิรูปการเมือง !!??

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นนักวิชาการด้านสันติวิธี เป็นหนึ่งในหลายคนที่ "สภาปฏิรูปการเมือง" ของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ส่งเทียบเชิญเพื่อให้เข้าร่วมองคาพยพ แต่สุดท้ายเขาปฏิเสธคำเชิญนั้น โดยบอกว่า เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัว

แต่ก่อนหน้านั้น เขาและลูกทีมหมกมุ่นอยู่กับงานวิจัยปัญหาความขัดแย้งทางสังคม-การเมือง เรื่อง "พื้นที่สันติวิธี/หนทางสังคมไทย"

"ดร.ชัยวัฒน์" จึงสังเคราะห์ความคิดที่ตกผลึกจากงานวิจัยผ่านหน้ากระดาษ แม้เขาไม่เข้าร่วมวงสภาปฏิรูปการเมือง แต่เขาได้วางวิธีพูดคุยแบบสันติวิธีอย่างน่าสนใจ

- สภาปฏิรูปการเมืองช่วยให้เกิดความปรองดองได้ไหม

ไม่ทราบว่านายกฯอยากเห็นอนาคตของสภาปฏิรูปการเมืองเป็นอะไร เท่าที่ฟังบอกว่าจะให้ใครต่อใครเข้ามา มีอะไรจะได้แลกเปลี่ยนกัน แต่การพยายามให้มีทุกฝ่ายในสังคมที่แยกขั้ว นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วเราเริ่มเห็นว่าคนจำนวนหนึ่งเข้ามา แต่คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมเข้ามา เรื่องสำคัญไม่ใช่คนที่มา แต่เป็นคนที่ไม่ยอมมา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีสะพานสร้างไปสู่คนเหล่านั้น เพราะถ้าไม่มีมุมมองจากคนเหล่านั้น มันก็จะเป็นที่ประชุมของคนที่มีความเห็นคล้ายกัน

- วิธีที่จะนำคนที่ไม่ยอมมา เปลี่ยนใจมาเข้าร่วมสภาปฏิรูปได้ต้องทำอย่างไร

มันเริ่มได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือ ทำอย่างไรถึงมองปัญหาจากมุมของเขา ในการศึกษาวิจัยด้านความขัดแย้งจะอธิบายเสมอว่า สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ มองเรื่อง ๆ เดียวกัน แต่อย่ามองในมุมมองของตัว ต้องมองมุมของอีกฝ่าย เราก็จะเห็นว่าเรื่องนี้ทำไมถึงสำคัญขนาดนี้กับเขา ทำไมเขาถึงรู้สึกว่าจะเป็นจะตาย

- คิดว่านายกฯมองจากมุมมองของฝ่ายตรงข้ามไหม

ถ้าคิดจากมุมของรัฐบาล คิดว่ารัฐบาลคงหาวิธี และวิธีที่รัฐบาลอยากทำ คือ อยากใช้วิธีที่ไม่อยากให้มีฝ่ายใดเสีย บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น สามารถเชิญฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาพูดคุยกันได้ก็เข้ามาก่อน ส่วนจะคุยได้ผลไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง วิธีนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เขาคิดออก ไปเชิญคนสำคัญของชาติบ้านเมืองเข้ามา ไม่ว่าคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ) คุณอุทัย (พิมพ์ใจชน) คนเหล่านั้นเขาเห็นดีเห็นงามด้วยก็มา

- การเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมเป็นคณะกรรมการ สามารถช่วยทำให้ปรองดองเกิดขึ้นไหม

ท่านเหล่านี้คงมีความเห็นอะไรของท่านอยู่ แต่ช่วยได้จริงไหม...มันตอบยาก คือแน่นอนคนต้องมองว่านี่เป็นวิธีการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล แต่เชื่อในที่สุดว่าคุยกันดีกว่าตีกัน แต่มันต้องมีวิธีการคุยเหมือนกัน บางเรื่องสำคัญ ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะพูดในที่สาธารณะ

- ปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ ควรคุยในที่ลับหรือที่แจ้งจะเหมาะสมที่สุด

ควรจะใช้ทั้งสองอย่าง แต่ควรดูเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่าอะไรควรนั่งคุยกันบนโต๊ะกาแฟตอนเช้าที่ไม่มีนักข่าวอยู่ เหตุผลคือความขัดแย้งบางเรื่องไม่ใช่แค่ประเด็นของเรื่อง สมมติญาติพี่น้องทะเลาะกันเรื่องมรดก บางทีนำเรื่องไปถึงศาล นำเรื่องไปลงหนังสือพิมพ์ พอเป็นอย่างนั้นสิ่งที่เสียหายไปไม่ใช่ใครจะได้ หรือใครจะชนะ แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ต้องซ่อม ซึ่งมันไม่ได้ซ่อมในที่สาธารณะ มันอาจจะค่อย ๆ ซ่อมในที่รโหฐาน หลังจากนั้นค่อยมาที่สาธารณะ แล้วจับมือกัน ถ่ายรูปกัน จริง ๆ ในการเจรจาระหว่างประเทศและเจรจาความเมืองมันมีเวทีต้องคุยกันก่อน มีคณะทำงานละเอียดรอบคอบ พอสุดท้ายค่อยบอกว่าเราตกลง เราจะเจรจากันแบบนี้นะ มันแบบนี้ทั้งนั้น

- ถ้าโฟกัสตัวคู่ขัดแย้งอย่างคุณทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ปรากฏผ่านคลิปเสียงคล้ายนักการเมือง คิดว่าความขัดแย้งจะจบไหม

เรากำลังอธิบายว่าความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ เป็นความขัดแย้งของคุณทักษิณกับคุณเปรม แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ คือผมมองว่าความขัดแย้งของบุคคลมันสัมพันธ์อยู่กับความขัดแย้งแบบอื่น ๆ ซึ่งฝังอยู่ในโครงสร้าง การดีกันในระดับบุคคลช่วยไหม...ช่วย แต่ทำให้ความขัดแย้งในโครงสร้างหายไปไหม...ไม่

- 6-7 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นความขัดแย้งลึกถึงโครงสร้าง

จึงไม่เห็นด้วยว่าทั้งหมดเป็นปัญหาของคุณทักษิณ หรือของคุณอภิสิทธิ์ ผมเห็นว่าคุณทักษิณหรือคุณอภิสิทธิ์อยู่ในบริบททางสังคมการเมือง และบริบททางสังคมการเมืองมีพลังสังคมการเมืองหลายอย่าง เช่น พลังเศรษฐกิจ พลังวัฒนธรรม ซึ่งเวลานี้สังคมกำลังเปลี่ยน และคนแต่ละคนอาจเป็นตัวแทนของพลัง 2 อย่างซึ่งต่างกัน พวกนั้นจำเป็นต้องหาวิธีอยู่กับมันให้ได้ ว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง

- ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง 

โจทย์ของนักวิจัยสันติภาพที่น่าสนใจ คือ อารมณ์ในสังคมไทย ซึ่งน่าสนใจ 2 อัน คือ อารมณ์ขัน กับความเกลียดชัง ซึ่งอารมณ์ขันเป็นพลังทางการเมืองได้จากกลุ่มบางกลุ่มที่ใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือ มีการใช้ในต่างประเทศ เช่น เซอร์เบีย ที่ต่อสู้กับเผด็จการสันติวิธีผ่านอารมณ์ขัน ส่วนด้านที่เป็นปัญหาคือความเกลียดชังที่เป็นปัญหาใหญ่ อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายที่สุด

- หลังจากวิจัยความขัดแย้งในปัจจุบัน อะไรที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความปรองดองมากที่สุด

การปรองดองที่เป็นภาพใหญ่มันยาก โดยเฉพาะการปรองดองที่เกิดหลังจากความรุนแรงไปแล้วมันเลยยิ่งยาก สังคมไทยตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน มันเกิดเหตุสำคัญ 2 อย่าง คือ การยึดอำนาจ 19 กันยา มันทำให้สังคมฉีกออกจากกัน ผลของมันทำให้ความมั่นใจในสังคมการเมืองไทยมันแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งไม่...การยอมรับการรัฐประหารคือการสูญเสียศรัทธาที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นฐาน แต่นั่นยังพอพูดกันได้อยู่บ้างในบางเรื่อง

แต่พอถึงการชุมนุมปี 2553 เกิดความรุนแรงบนท้องถนน ต่อสู้กัน นำไปสู่การเผาพื้นที่บางพื้นที่ มีผู้เสียชีวิต 90 คน บาดเจ็บ 1,700 คน พอทำอย่างนี้จึงทำให้ความปรองดองมันยาก รอยแผลแบบนี้มันจัดการลำบาก รอยแผลแบบนี้มันมีผู้เสียหายที่จะอยากเห็นความจริง อยากได้ความยุติธรรม แต่ทั้งความจริงและความยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขของการปรองดองมันมีต้นทุนต่อการปรองดองสูง คือโจทย์อันหนึ่งที่เรากำลังเจออยู่ในสังคมไทย

- จะแก้โจทย์ที่ยากได้อย่างไร

คงต้องไปดูตัวอย่างจากที่ต่าง ๆ บางเรื่องเชื่อว่าความจริงรักษาได้ทุกอย่าง บางทีเขาก็คิดว่าการลืมสำคัญ แม้กระทั่งตัวอย่างของประเทศแอฟริกาใต้ที่มักเอ่ยถึงเสมอ คือ คณะกรรมการสัจจะและการปรองดอง คนที่เป็นคนทำเรื่องนี้มี 2-3 คน คือ เนลสัน เมนเดลล่า, เดสมอนด์ ตูตู, เอฟ ดับบลิว เดอ เคลิร์ก ซึ่งเมลเดลล่าบอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้บางเรื่องมันต้องลืมบ้าง ผมตอบไม่ได้ว่าต้องทำอะไร แต่บอกเพียงว่ามีเงื่อนไขพวกนี้อยู่ เวลาเราคิดเรื่องปรองดองมันไม่ได้ไป Track เดียว

- แต่เมื่อศาลอาญาชี้ว่าคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม เป็นการถูกยิงจากเจ้าหน้าที่ ฝ่ายคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าเรื่องทั้งหมดมีคุณทักษิณและคนเสื้อแดงเป็นต้นเหตุ อย่างนี้จะหันหน้ามาแล้วลืมกันได้อย่างไร 

โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยมันเลยกลายเป็นว่าเราจะอยู่กับความจริงที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองอย่างไร แต่ความจริงที่มีอยู่ในสังคมไทยมี 2 ชั้นซ้อนอยู่เสมอ 1.ความจริงของเรื่องที่เราพูดถึง คือ ใครเป็นคนยิงที่วัดปทุมฯ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ 2.สังคมไทยเวลาที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น คนผิดชี้ตัวได้ว่าใครคนยิงคนสั่ง แต่สังคมไทยทั้งหมดได้ทำเพียงพอหรือเปล่าที่จะทำไม่ให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้น ถ้าคำตอบคือ ทุกคนยังไม่ได้ทำอย่างเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เราเองก็คงต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยในความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คนพวกนั้นเท่านั้น

เหมือนกับบอกว่า ในที่สุดมีคนยิง แต่ก่อนคนยิงจะเหนี่ยวไกก็มีผู้บังคับบัญชา ก่อนมีผู้บังคับบัญชาต้องมีการสั่ง ก่อนมีการสั่งต้องมีกระบวนการบางอย่าง ก่อนมีกระบวนการบางอย่างต้องมีการสร้างความเกลียดชัง ถ้าพูดอย่างนี้เราอาจเห็นมากขึ้นไหมว่า ไม่ใช่ฝั่งนู้นที่ผิดคนเดียว เราก็มีส่วนผิดด้วยแม้จะอยู่ไกลก็ตาม

- เราจะจัดสมดุลระหว่างผู้ที่เป็นเหยื่อ กับผู้ที่สั่งการตามกฎหมายอย่างไรให้ไปด้วยกันได้

วิธีคิดของผม ปืนทุกกระบอกเวลามันยิงมีเหยื่อ 2 ด้าน ด้านหนึ่งอยู่ที่ด้ามปืน อีกด้านหนึ่งอยู่ที่ปลายกระบอกปืน คนเรามักจะเห็นเหยื่อที่ปลายกระบอกปืน แต่เรามักไม่เห็นว่าคนที่ยิงเป็นเหยื่อเหมือนกัน ใครก็ตามที่เหนี่ยวไกในปี 2553 คนเหล่านั้นผมคิดว่าเขาก็ถูกหล่อหลอมมาว่า

อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ทำร้ายบ้านเมือง ในแง่นั้นเขาจึงเป็นเหยื่อ ดังนั้น หนึ่งในที่วิจัยจึงมุ่งไปที่ความเกลียดชังมาจากไหน กลไกอะไรที่ทำ ของพวกนี้ต่างหากที่สังคมไทยต้องเข้าใจ

- ทุกวันนี้วาทกรรมการสร้างความเกลียดชังก็ยังมีจากพรรคการเมือง 2 พรรค แม้ด้านหนึ่งรัฐบาลประกาศปรองดอง แต่ด้านหนึ่งก็ยังสร้างความเกลียดชังตลอดเวลา

คือเขาอาจทำไปโดยยังไม่ได้เห็นชัดเจนว่าความเกลียดชังมีประสิทธิภาพ การผลิตอารมณ์มันจึงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเมือง ฉะนั้น คนที่รู้ดีที่สุดในเรื่องนี้คือพวกนักการเมือง เพราะสิ่งที่เขาขับขี่มันไม่ใช่เรื่องเหตุผล เรื่องที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องอารมณ์ของผู้คน

- ถ้าเตือนนักการเมืองในฐานะที่เป็นผู้สร้างวาทกรรมการเกลียดชังได้จะบอกว่าอะไร

ก็จะตอบว่าความเกลียดชังมันเป็นยาพิษ เพราะยาพิษนี้ออกฤทธิ์ช้า เวลามันออกฤทธิ์มันรักษาลำบาก เพราะความเกลียดชังบางอย่างพอลงไปลึกแล้วมันก่อรูปเป็นอคติ แล้วเราก็มองโลกเป็นอีกแบบหนึ่ง โลกที่เรามองเห็นมันอันตรายต่ออนาคต มันทำร้ายอดีต และมันแย่งชิงปัจจุบันไปจากเรา

- ความปรองดองจะเกิดขึ้นอีกนานไหม

ตอบไม่ได้ มันยาก (หัวเราะ)

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

นักวิชาการอสังหาฯชี้ 6 เดือน หลังตลาดหดตัว !!??

นักวิชาการด้านอสังหาฯ ชี้ ตลาดครึ่งปีหลัง 2556 ชะลอตัว เหตุครึ่งปีแรกมีการพัฒนาคอนโดมิเนียมมากจนเกินโอเวอร์ซัพพลาย เชื่อผู้ประกอบการแข่งขันรุนแรง คาดสิ้นปีนี้มีซัพพลายเกิดใหม่ทั้งแนวราบ-แนวสูงรวมกันกว่า 200,000 ยูนิต
   
นายมานพ พงศทัต ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงแนวโน้มและทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ว่า มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีการลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาด ทั้งในพื้นที่กลางเมือง และจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต โดยตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว คือ ปัญหาการเมือง การเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน การหดตัวของจีดีพีในประเทศ และผลกระทบจากการพิจารณายกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ (QE 3)
   
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เองก็จะชะลอแผนการขยายการลงทุนออกไป และหันมาเร่งระบายสต็อกในมือออกไป เพื่อป้องกันปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยที่จะตามมาภายหลัง ในปีนี้คาดว่าจะมีซัพพลายใหม่ทั้งแนวราบและแนวสูงเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศประมาณ 200,000 ยูนิต  โดยกระจายอยู่ใน กทม.และปริมณฑล ประมาณ 120,000 ยูนิต ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในหัวเมืองต่างจังหวัด ทั้งนี้คาดว่าซัพพลายสะสมที่ตกค้างในตลาดและซัพพลายเกิดใหม่ในปีนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายออกนานกว่า 1-2 ปี” นายมานพ กล่าว

ส่วนของกลุ่มผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ยังมีการขยายตัวขยายตัวที่ระดับ7-8% หรือมีการซื้อเพื่ออยู่ประมาณ 70,000-80,000 ยูนิต, 2.กลุ่มผู้ซื้อเพื่อการลงทุน มีการขยายตัวสูงมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของดีมานด์ห้องเช่าในอนาคต ซึ่งมีลูกค้าหลักเป็นคนทำงานรุ่นใหม่ และกลุ่มลูกค้าต่างชาติ และ 3.กลุ่มผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไร ซึ่งจะลดลงอย่างมากเนื่องจากซัพพลายในตลาดยังค้างสต็อกอยู่จำนวนมาก.

ที่มา.ไทยโพสต์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

กรณี : เปปทีน !!??

เนื่องจากมีสมาชิกแพทยสภาจำนวนมากมายังแพทยสภา เกี่ยวกับโฆษณาเครื่องดื่มบำรุงสมองผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ เปปทีน ผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ในโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบ PEPTIEN GENIUS (PEPTIEN GENIUS GENERATION) และอีกหลายโครงการโดยมีการกล่าวถึงความต้องการของผู้ที่จะเข้าเรียนและแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งแพทยสภา อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 7(6) กำหนดให้เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย จึงได้ทำหนังสือปรึกษาหารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวิชาชีพแพทย์ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน

ซึ่งต่อมาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการ บริษัทโอสถสภา จำกัด (คุณรัตน์ โอสถานุเคราะห์) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าว จากการที่มีนิสิตนักศึกษาแพทย์รับหน้าที่เป็นตัวแทนโฆษณาให้แก่ผลิตภัณฑ์เปปทีนผ่านสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมต่อนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย และต่อสถาบันแพทย์ในสังกัดของนิสิตนักศึกษาดังกล่าว ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย ในหมวดข้อพึงปฏิบัติของนิสิตนักศึกษาแพทย์โดยทั่วไป ข้อที่ 1.6 ว่า “ละเว้นการรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องหรืออาจมีผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือนำไปสู่ความไม่เหมาะสมต่อความเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ องค์กรนิสิตนักศึกษาแพทย์ สถาบันแพทย์ และต่อวิชาชีพเวชกรรมหรือจรรยาบรรณแพทย์” โดยขอให้งดเว้นการนำนิสิตนักศึกษาแพทย์ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาเครื่องดื่มดังกล่าว

ต่อมาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ทำหนังสือถึงบริษัท โอสถสภาฯ เพื่อขอความร่วมมือให้งดแพร่ภาพการโฆษณาเครื่องดื่ม “เปปทีน”  โดยระบุว่า โฆษณาดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคได้ ทาง สคบ. จึงได้หารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันแพทยสภาและสำนักงาน อย. โดยพบประเด็นการโฆษณาที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คือ

1.การโฆษณาเกี่ยวกับสรรพคุณของเครื่องดื่มที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสมอง เช่น ทำให้สมองปลอดโปร่ง ช่วยจัดระบบความจำ เติมความรู้ที่ขาด รวมทั้งการสื่อให้เข้าใจว่าเมื่อดื่มแล้วจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์

2.การโฆษณาที่สื่อให้เข้าใจว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบจะสอบติดทั่วประเทศ

3.ความเหมาะสมของการนำนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มาโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง

4.การสื่อให้เข้าใจว่าหากเข้าร่วมโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบจะทำให้ได้เป็นแพทย์เกี่ยวกับสมองหรือแพทย์เกี่ยวกับตา ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นเพียงสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีเท่านั้น การที่จะเป็นแพทย์ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสมองหรือตา หรืออื่นๆ จะต้องเรียนต่อโดยสอบเข้าเฉพาะด้านที่สูงกว่าปริญญาตรี และการเข้ามหาวิทยาลัยตามปกติ

ต่อมา บริษัท โอสถสภา จำกัด ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่านายประธาน ไชยประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท โอสถสภาฯ ระบุว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและระงับแพร่ภาพการโฆษณาเครื่องดื่ม “เปปทีน” ที่มีนิสิตนักศึกษาแพทย์อยู่ในโฆษณาในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคแล้วนั้น ในนามของแพทยสภาขอขอบคุณ บริษัท โอสถสภา จำกัด ที่ได้ถอนโฆษณาเครื่องดื่มเปปทีนออกจากสื่อโฆษณาต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาของบริษัท

ในขณะนี้แพทยสภาได้ตั้งอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวยและการโฆษณา โดยมอบให้เลขาธิการแพทยสภาเป็นประธาน โดยมีหน้าที่เตือนประชาชน ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ให้ข้อสังเกตและทางเลือกแก่ประชาชน ตลอดจนควบคุมการประกอบวิชาชีพที่มีความเสี่ยงไม่น่าเชื่อถือ ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น โดยผ่านการประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ออกประกาศ ข้อบังคับของแพทยสภา เห็นเนื้องานแล้วเหนื่อยแน่คงต้องมีองค์ประกอบของอนุกรรมการที่เหมาะสม ต้องมีดุลพินิจที่แม่นยำมากและไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่จำกัดสิทธิโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองประชาชน ผมยินดีรับงานนี้ครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์

เลขาธิการแพทยสภา

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Fed ถอนมาตรการ QE สำคัญต่อเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไร!!??

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเกียรติจากสำนักงานข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ให้ไปบรรยายในงานเอ็กซ์โปสำหรับผู้จัดการกองทุนที่จัดในกรุงเทพฯ หัวข้อเรื่อง "อาเซียนจะสามารถพึ่งพากำลังเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเองไปนานแค่ไหน" หรือ "Riding on Domestic Demand : How far can ASEAN go ?" ผมจึงอยากนำส่วนหนึ่งของเรื่องที่ถกกันวันนั้นมาคุยกันที่นี่ครับ

หลังจากพายุการขายกระหน่ำโดยนักลงทุนต่างชาติในตลาดเอเชีย ที่ทำให้ทั้งหุ้น พันธบัตร และเงินตราติดลบตัวแดงค่อย ๆ แผ่วลง คนในแวดวงการเงินอยากจะมองว่านั่นเป็น ฝันร้าย ที่เมื่อผ่านไปแล้ว ทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาพปกติอีกครั้ง

เราทุกคนคงอยากจะคิดว่าทั้งหมดเป็นเพียงฝันร้ายที่ผ่านไปแล้ว และนักลงทุนต่างชาตินั้นตื่นตูมเกินไปกับ ความเสี่ยง ที่ธนาคารกลางของอเมริกา หรือ Fed จะถอนมาตรการ Quantitative Easing (QE) หรือแม้แต่ขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

แต่ผมว่าสิ่งที่เราควรจะถามตัวเองมากกว่า คือ สภาวะ "ปกติ" ของตลาดการเงินโลกจะเป็น "เหมือนเดิม" ที่เราคุ้นเคยหรือเปล่า

ที่ผ่านมาสภาวะ "เงินง่าย" (Easy Money) ที่เกิดขึ้นจากนโยบาย QE กับสภาวะดอกเบี้ยต่ำในเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่นี้ ทำให้ใคร ๆ ก็อยากลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน ส่งผลทำให้การระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชนนั้นง่ายมาก จะ IPO หุ้นอะไรมา นักลงทุนก็อยากซื้อ จะออกพันธบัตรมาเท่าไร นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมซื้อโดยไม่ขอดอกเบี้ยสูงด้วย จนพันธบัตรรัฐบาลของมาเลเซียที่ออกมาทั้งหมดใน 5 ปีที่ผ่านมาถูกซื้อโดยนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด

ส่งผลให้สัดส่วนของพันธบัตรรัฐบาลที่ต่างชาติเป็นเจ้าของสูงขึ้นถึง 49% (จากประมาณ 10% เมื่อ 5 ปีที่แล้ว) ประเทศไทยเราเองก็ไม่เบา เพราะสัดส่วนที่ว่านี้เพิ่มขึ้นจาก 2%-3% มาเป็นเกือบ 20% (เฉพาะพันธบัตรรัฐบาล ไม่รวมตราสารของ ธปท.)

ตอนนี้นักลงทุนทั่วโลกเรียกว่า ได้เห็น "หนังตัวอย่าง" ไปแล้ว ว่าเมื่อวันที่สภาพเงินง่ายนั้นจบลง และมาถึงผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้นน่ากลัวแค่ไหน ?

คงไม่แปลก หากต่อจากนี้ไปเราจะเห็นนักลงทุนต่างชาติระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุน เงินที่เคยเข้ามาง่ายอาจไม่ง่ายดังก่อน หรืออาจเข้ามาช้า แต่ออกไปเร็วกว่าเดิม ทำให้ตลาดและค่าเงินมีความผันผวนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

จุดจบของ QE แปลว่าอะไรสำหรับเศรษฐกิจอาเซียน

คำถามทางเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือ ที่ผ่านมา QE ได้ช่วยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่าง ๆ ในอาเซียนอย่างไรบ้าง ? คำตอบสั้น ๆ คือ สภาวะเงินง่าย (Easy Money) นั้น ทำให้เศรษฐกิจต่าง ๆ นั้น "เติบโตอย่างขาดความสมดุลได้ง่ายขึ้น"

โดยผ่านสองช่องทาง ได้แก่...

ช่องทางแรก QE ทำให้ประเทศต่าง ๆ หาเงินมาไฟแนนซ์ สภาวะขาดดุลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่าง การที่เงินทุนไหลเวียนเข้ามาเอเชียในปริมาณมากในสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Deficit) อยู่นั้น หาเงินมาชดเชยและอุดการขาดดุลได้โดยง่าย ไม่ต้องผจญกับแรงกดดันทางลบต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง

แต่ในสองเดือนนี้สถานการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน เมื่อนักลงทุนตื่นตูมว่า QE จะหมดไป ประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างอินเดียและอินโดนีเซียนั้นไม่สามารถหาเงินตราต่างประเทศมาอุดรอยรั่วได้ง่ายเหมือนก่อนเพราะต่างชาติเทขายทั้งหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินรูปีและรูเปียห์ จนธนาคารกลางต้องช่วยแทรกแซงโดยใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปหลายพันล้าน เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

ช่องทางที่สอง QE กดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียให้ต่ำกว่าปกติ

รัฐบาลของหลายประเทศยังมีความเชื่อว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอเมริกากับในประเทศของตนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการดูดเงินต่างประเทศเข้ามา ทำให้ค่าเงินแข็ง ส่งผลทำให้ผู้ส่งออกต้องเดือดร้อน และเงินที่เข้ามาอาจทำให้มีเม็ดเงินล้นตลาด เกิดสภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ไม่ว่าความเชื่อจะถูกหรือไม่ก็ตาม แนวคิดที่ค่อนข้างจะแพร่หลายนี้ได้ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชียต้องกดดอกเบี้ยนโยบายไว้ให้ต่ำกว่าปกติและจะทำเช่นนี้แม้เศรษฐกิจและสินเชื่อจะโตได้ดีอยู่ และแม้นโยบายการคลังได้ทำหน้าที่ "เหยียบคันเร่ง" ทางเศรษฐกิจอยู่แล้วก็ตาม ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เรียกว่าทุกประเทศ ยกเว้นมาเลเซีย ต่างมีการดำเนินนโยบายการเงินไปในแนวทางที่ว่านี้

ฟองสบู่กับหนี้ที่ถูก "ผลิตในประเทศ" (Home Made)

ที่เหมือนเป็นการประชดกันก็คือ มันกลายเป็นว่าการที่รัฐบาลของประเทศในเอเชียทั้งหลายนั้นมัวแต่ห่วงว่าเงินจากต่างประเทศจะไหลเข้ามามากจนเกินไปจนทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่ในรูปแบบที่คล้ายกับเมื่อตอนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นี่เองที่กลับทำให้เกิด "สภาวะเงินง่ายในประเทศ" ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่และการก่อหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือนและธุรกิจ เพราะเมื่อดอกเบี้ยยังคงต่ำอยู่นาน คนมีเงินก็อยากหาที่ลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงโดยพร้อมจะรับความเสี่ยง ในขณะที่คนขาดเงินก็กู้ได้สบายใจในอัตราดอกเบี้ยถูก โดยอาจลืมไปว่าสภาวะเงินง่ายไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เรียกได้ว่าปัญหาหนี้และฟองสบู่นั้นไม่ได้ถูกนำเข้า (Import) มาจากนอกประเทศ แต่เป็นการผลิตเองในประเทศ (Home Made)

ผลลัพธ์คือ สินเชื่อโตเร็วกว่า GDP อย่างต่อเนื่องเกือบจะทุกประเทศในอาเซียน ที่น่าเป็นห่วงคือ เงินและสินเชื่อเหล่านี้
ไม่ได้ไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่สร้างรายได้กำลังผลิตอย่างยั่งยืนให้ประเทศทั้งหมด แต่มักจะหลุดเข้าไปในภาคอสังหาฯเพื่อการเก็งกำไร หรือนำไปใช้ไฟแนนซ์การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย จึงไม่แปลกเลยที่บางครั้งเราจะเห็นสินเชื่อยังโตได้ดี แม้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นเริ่มชะลอตัวลงเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งทำให้น่าเป็นห่วง เพราะรายได้ของผู้กู้นั้นอาจลดลงในยามที่ภาระหนี้นั้นสูงกว่าเดิม

ขณะนี้เราเห็นมาเลเซียมีหนี้ภาคครัวเรือนสูงถึง 80% ของ GDP จนธนาคารกลางเขาเพิ่งออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อปรามการกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ประเทศไทยเองก็มีหนี้ครัวเรือนที่โตอย่างก้าวกระโดดมาในสองสามปีที่ผ่านมา จนมาอยู่ที่ระดับประมาณ 80% ของ GDP เช่นกัน

อาเซียนต้องระวังตัวอย่างไร เมื่อเราเริ่มนับถอยหลังไปสู่วันสุดท้ายของ QE

แม้จะบอกว่าน่าห่วง แต่จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจทุกประเทศในอาเซียนนับว่ายังอยู่ห่างจาก "ความเสี่ยง" ที่จะเกิด "วิกฤตเศรษฐกิจ" อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะดูจากอัตราส่วนกองทุนสำรองเงินตราต่อหนี้เงินสกุลต่างประเทศ สถานะเงินทุนของภาคธนาคารหรือการคลังก็อยู่ในเกณฑ์สอบผ่านกันหมด (อาจจะผ่านแบบคะแนนไม่ดีกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับน่าห่วง)

ที่สำคัญคือ ไม่ใช่ว่าพอคิดว่าวิกฤตยังไม่เกิด แล้วพากันนิ่งนอนใจ เราต้องไม่ลืมว่าการไม่เกิดวิกฤตไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจจะไปได้ดี ไม่มีปัญหา

จากการที่ผมมีโอกาสพูดคุย และให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนกับนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผม สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ นักลงทุนต่างประเทศต่อจากนี้คงให้ความสำคัญต่อความสมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค และความเสถียรภาพทางการเงิน (Macroeconomic Balance and Financial Stability) มากกว่าแต่ก่อน

โดยคงจะดูปัจจัยชี้วัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่กว้างขึ้นไปกว่าแค่อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงอัตราการเจริญเติบโตและอัตราส่วนหนี้ของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ต่อ GDP ทิศทางของบัญชีเดินสะพัด ภาระหนี้การคลังทั้งทางตรงและทางอ้อม พฤติกรรมการปล่อยกู้และจัดทุนสำรองของธนาคาร เป็นต้น ซึ่งแปลว่าต่อไปนี้คงไม่ง่ายนักที่รัฐบาลจะดึงดูดนักลงทุนมีคุณภาพเข้ามาด้วยการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth) ดูดีในระยะสั้น

ดังนั้น บทเรียนที่สำคัญของรัฐบาลในอาเซียน คือ ต้องพยายามต่อต้านความต้องการที่จะหยิบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคมาอัดฉีดเหยียบคันเร่งเพิ่ม เพียงเพื่อให้ตัวเลขดูดีในระยะสั้น นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องหันมาเน้นทำหน้าดูแล "เสถียรภาพ" และ "สมดุล" ทางเศรษฐกิจ แม้อัตราการเจริญเติบโตจะชะลอตัวลงบ้าง และในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจไม่หวือหวาเหมือนตอนต้นปีนี้ก็ตาม

ทั้งนี้ เราต้องดู อินเดีย กับ อินโดนีเซียที่กำลังต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุง "ค่าเงิน" ในยามที่การขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นกำลังชะลอตัวลงอย่างมากอยู่แล้ว เป็นเครื่องเตือนใจว่า แม้ทั้งสองประเทศจะไม่ล้มหนักถึงขั้นวิกฤต แต่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเหยียบคันเร่งมากเกินไปบนถนนที่ถูก "หล่อลื่นด้วย QE" จนลืมการรักษาสมดุลการทรงตัวนั้นอาจทำให้เจ็บตัวหนักได้

และทั้งหมดนี้เกิดในยามที่ QE ยังไม่ได้ หมดไปด้วยซ้ำ ถ้าประเทศในอาเซียนไม่หันมาสนใจเรื่องความสมดุลทางเศรษฐกิจมหภาคเหล่านี้ จนถึงวันที่ QE หมดไปจริง ๆ หรือแย่กว่านั้นคือวันที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวของโลกนั้นปรับตัวสูงขึ้น

ลองนึกดูครับว่าเศรษฐกิจเหล่านี้จะล้มหนักแค่ไหน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

เกม 2 ขา เพื่อไทย อุ้มพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กระชับพื้นที่ ประชาธิปัตย์ !!??

แม้จะผ่านยกแรกไปแล้วกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.... ฉบับของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากทั้งพรรคประชาธิปัตย์และมวลชนหลายกลุ่มจนมีการรวมตัวชุมนุมเพื่อต่อต้าน

สถานการณ์การเมืองที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้าในขณะนี้ ทำให้การก้าวย่างของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว ยุทธศาสตร์ที่แกนนำเพื่อไทยวางไว้ จึงจำเป็นต้องรับมือแบบ "คู่ขนาน" ทั้งศึกในและศึกนอก หลังจากประกาศเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จนถึงวาระ 3 ซึ่งจะกลายเป็นจุดเสี่ยงให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลลุกฮือมารวมกันต่อต้านครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง ไม่นับมือที่สามที่คอยเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนบานปลายไปสู่การเผชิญหน้า

ทั้งนี้ ไพ่ใบสำคัญที่รัฐบาลหยิบมาใช้ก็คือ การตั้ง "เวทีปฏิรูปการเมือง" เพื่อหวังถอดสลักระเบิดเวลาจากกลุ่มต่อต้านต่างๆ โดยทาบทามบุคคลสำคัญทางการเมืองให้เข้าร่วมและกระชับพื้นที่ประชาธิปัตย์

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เร่งผลักดันผ่านสากล โดยทาบทาม นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งได้รับยืนยันจากนายกฯว่าทั้งคู่ตอบรับเทียบเชิญร่วมสร้างความปรองดองในประเทศไทยแล้ว

ขณะเดียวกัน ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยทั้ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค เห็นตรงกันว่าเวทีปฏิรูปการเมือง จะเป็นทางออกและลดกระแสร้อนแรงตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองที่รอวันปะทุได้ หลังจากทุกฝ่ายตอบรับแล้ว

หากทุกอย่างราบรื่น ทุกฝ่ายยินยอม ไม่แน่ว่าอาจเห็นชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมด้วยก็เป็นได้

ส่วนเกมในสภา พรรคเพื่อไทยยังยืนยุทธศาสตร์ "รัฐบาลไม่เกี่ยว" โดยเฉพาะนายกฯยิ่งลักษณ์ ถูกกันออกจากเกมนี้ให้อยู่ในจุด "เซฟโซน" ปล่อยให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเป็นเรื่องของสภา เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ หลังออกมาชูประเด็นข้อกล่าวหาว่ามีวาระซ่อนเร้นเพื่อช่วยพี่ชาย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเข้าข่ายการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ conflict of interests

ประเด็นนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อเปิดดูรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ 35 คน มี นิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี และ "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อ19 ก.ย.2549 เข้าไปนั่งในโควต้ารัฐบาล แถมยังวางตัว "บิ๊กบัง" เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯเองด้วย เพื่อให้เกิดภาพความปรองดอง

และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ตามยุทธศาสตร์ 2 ขาของพรรคเพื่อไทยในการซื้อใจมวลชนคนเสื้อแดงให้เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กในการปกป้องรัฐบาลต่อไป ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เผื่อช่องทางสำหรับให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านแบบเท่ๆ พร้อมบีบพื้นที่ทางการเมืองของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ไปในตัว!

มท.1แจงดึง"แบลร์-โคฟี่"หวังเรียกเชื่อมั่น

สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดวานนี้ (10 ส.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแนวคิดการเชิญ นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น เข้าร่วมเวทีปฏิรูปประเทศไทย ว่า ถือเป็นประโยชน์และเป็นวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างของนายกรัฐมนตรี เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการคุยภายในประเทศอย่างเดียวไม่ให้ประเทศอื่นมีส่วนร่วมด้วยเลยคงไม่มีใครเชื่อมั่น พวกที่พูดว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ถือเป็นพวกผีที่กลัวความจริง กลัวโลกที่กำลังก้าวหน้าไป จึงพยายามฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

นายจารุพงศ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า เวทีนี้จะมีความเป็นรูปธรรม เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดเวทีสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย 108 เวทีขึ้นมา เพื่อหาทางทำให้ประเทศสงบสุข โดยเวทีดังกล่าวได้นำแนวทางที่สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ พล.อ.สนธิ ได้ทำการศึกษามาก่อนหน้านี้ มาเป็นหัวข้อในการพูดคุย

ทั้งนี้ การศึกษาของทั้ง 3 สถาบันมีความเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยจะสงบได้ต้องมีการพูดคุยเจรจากัน และควรถามประชาชน จึงได้จัดเวที 108 เวทีขึ้นมา โดยรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 116,000 คน และได้บทสรุปออกมาว่าอยากเห็นบ้านเมืองปรองดองกัน อยากเห็นความสงบในบ้านเมือง ให้หันหน้าเข้ามาคุยกัน นายกฯจึงมองว่าเมื่อประชาชนได้คุยกันแล้ว ก็ควรเชิญพรรคการเมืองมาคุยกันด้วย และเชิญบุคคลสำคัญในต่างประเทศเข้ามาร่วม นี่คือความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้บ้านเมืองนี้สงบอย่างเป็นรูปธรรม

ปชป.ถล่มแค่ปาหี่-เผย "โคฟี่" เคยมาไทยแล้ว

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) ของพรรค กล่าวเรื่องเดียวกันว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความชอบธรรม โดยนำต่างชาติมาเล่นปาหี่ให้เกิดความเกี่ยวโยงไปสู่สภาปฏิรูปการเมือง ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรมีความจริงใจโดยไม่มีความจำเป็นต้องให้ผู้นำต่างชาติเหล่านี้มาร่วม เพราะบางคนก็เคยเดินทางมาประเทศไทยแล้ว ทั้งยังได้เคยพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยไว้ ฉะนั้นถึงจะมาอีกครั้งก็คงพูดเหมือนเดิม

มีรายงานว่า รัฐบาลได้เชิญ นายแบลร์ นายอันนัน และ นายมาร์ตติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพ เข้าร่วมเวที Uniting for the future: Learning from each other's experiences ในวันที่ 2 ก.ย.นี้

ชี้"พิชัย"ร่วมวงปฏิรูปเป็นเรื่องส่วนตัว

ส่วนกรณีที่ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบรับเข้าร่วมเวทีปฏิรูปประเทศไทย และยังเคยวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ว่าชอบสร้างเงื่อนไขนั้น นายองอาจ กล่าวว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของนายพิชัยในการเข้าร่วมเวทีดังกล่าว ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขใดๆ รัฐบาลต่างหากที่สร้างเงื่อนไข มีพฤติกรรมอำพราง หมกเม็ดดันกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม การที่นายพิชัยออกมาพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์ และมั่นใจว่านายพิชัยยังเป็นเลือดแท้ของพรรคเหมือนกับสมาชิกพรรคทุกคนที่อาจมีความเห็นแตกต่างกันได้

นายองอาจ ยังกล่าวตำหนินายกรัฐมนตรีที่ไม่ให้ความสำคัญกับสภา เพราะไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเลย ทั้งๆ ที่เคยกล่าวไว้เองว่าความปรองดองจะเริ่มต้นที่รัฐสภา

กปท.หวั่นถกนิรโทษวาระ2มีสอดไส้

ที่สวนลุมพินี นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมแกนนำ กปท.ได้แสดงความกังวลต่อการแปรญัตติวาระ 2 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะอาจมีการสอดไส้ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกได้ประโยชน์ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีตัวแทนประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯด้วย

ส่วนการเชิญนายโทนี แบลร์ และนายโคฟี อันนัน มาร่วมเวทีปฏิรูปประเทศนั้น นายไทกร กล่าวว่า เป็นการดึงต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย อีกทั้งบุคคลทั้งสองก็ไม่ได้รับรู้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรและมากแค่ไหนด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////